[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 09:43:15 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 117
1  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / คำฝอยพืชโบราณ ที่ยังใช้ในปัจจุบัน เมื่อ: วานนี้


คำฝอยพืชโบราณ ที่ยังใช้ในปัจจุบัน

ที่มา - คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง    มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ.2566


คําฝอยจัดเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาปลูกในบริเวณที่อยู่อาศัย เนื่องจากผลการศึกษาพบหลักฐานการปลูกก่อนคริสต์ศักราช หรือราว 2,500 ปีก่อนในแถบลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย หรือดินแดนอิรักในปัจจุบัน และการค้นพบหลุมฝังศพของชาวอียิปต์ก็มีหลักฐานยืนยันว่า มนุษย์รู้จักคำฝอยมาเป็นเวลานานกว่า 4,000 ปี เพื่อเป็นไม้ประดับ ใช้กลีบดอกเป็นสีย้อมผ้าให้สีเหลือง และใช้เป็นอาหาร

คำฝอยมีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายอาหรับ ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอ่าวเปอร์เซีย แพร่ออกไปสู่ทวีปแอฟริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออก รวมทั้งประเทศไทย ในเอกสารโบราณของไทยในยุคสยามรุ่งเรืองปรากฏว่ามีการเรียกดอกคำฝอยว่า “ดอกคำ” และคำฝอยนับเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่งที่มีบันทึกว่ามีการปลูกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรียกชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Safflower, False Saffron, Saffron Thistle มีชื่อท้องถิ่น เช่น คำยอง คำหยอง คำหยุม คำยุ่ง (ลำปาง) คำ คำฝอย ดอกคำ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน) หงฮัว (จีน) เป็นต้น

คำฝอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carthamus tinctorius L. เป็นไม้ล้มลุก สูง 40-130 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ออกดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก

เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม สีขาว ขนาดเล็ก

คําฝอยเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งมาก ปลูกได้ในที่แห้งแล้งแม้จะมีฝนตกน้อย เพียง 200-500 มิลลิเมตรต่อปี ประเทศที่ปลูกมากคือ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

สำหรับในประเทศไทยเอกสารบางแห่งกล่าวว่ายังไม่มีการปลูกเพื่อเป็นการค้า เนื่องจากทำรายได้ไม่สูงเท่าพืชอื่น แต่ในรายงานเอกสารบางแห่งกล่าวถึงการปลูกคำฝอยเพื่อการค้า แต่มีข้อสังเกตว่าคำฝอยที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยในระยะแรกนั้นเป็นพันธุ์ที่ใบและลำต้นมีหนามมาก ทำให้มีความลำบากเวลาเก็บเกี่ยว การปลูกจึงลดลง ต่อมาในปี พ.ศ.2542 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำสายพันธุ์ที่ไม่มีหนามเข้ามาปลูก จึงมีการปลูกกันมากขึ้น ซึ่งมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะปลูกกันมากใน อ.พร้าว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.พาน จ.เชียงราย

เมื่อราว 50- 60 ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปได้นำเอาเมล็ดคำฝอยมาสกัดน้ำมันที่มีคุณภาพสูง มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงถึงร้อยละ 90 จึงมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันผสมสี และน้ำยาเคลือบผิว ต่อมาวงการการแพทย์ค้นพบว่าน้ำมันดอกคำฝอยสามารถลดปริมาณการสะสมตัวของคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ จึงช่วยให้มีการบริโภคน้ำมันคำฝอยมากขึ้น ปัจจุบันยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายชนิด เช่น เครื่องสำอางและยารักษาโรคอื่นๆ ด้วย 

ในทางการแพทย์พื้นบ้านพบว่าในหลายประเทศใช้คำฝอยแก้อาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดมวนท้องและปวดท้องหลังคลอด รวมถึงแก้อาการบาดเจ็บและความเจ็บปวดของข้อต่อต่างๆ และนิยมใช้นำไปแต่งกลิ่นและเป็นสีย้อม

ในประเทศแถบตะวันออกกลางใช้เป็นยารักษาอาการไขข้ออักเสบ อัมพฤกษ์และอัมพาต โรคด่างขาวและจุดด่างดำ แผลในปาก ขับเสมหะ ถูกพิษต่างๆ มีอาการชาตามแขนและขา อาการซึมเศร้า

ในประเทศจีนใช้เป็นยารักษาสตรีที่ประจำเดือนคั่งค้างไม่เป็นปกติ อาการปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว โดยนำดอกคำฝอยมาต้มน้ำหรือแช่เหล้า หรือใช้วิธีตำพอก

ในตำรับยาไทย ใช้กลีบดอกซึ่งมีรสหวาน ใช้บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน เกสรใช้บำรุงโลหิต ทำให้ประจำเดือนของสตรีเป็นปกติ

ดอกแก่ ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง ชาจากดอกคำฝอย ช่วยเสริมสุขภาพ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด โดยใช้ดอกแห้ง 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) ชงน้ำร้อนครึ่งแก้ว เป็นเครื่องดื่มได้

เมล็ด ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม ขับประจำเดือน ตำพอกหัวเหน่าแก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร

น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ ในเมล็ดคำฝอย มีน้ำมันมาก

การศึกษาทางด้านเภสัชวิทยาและงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าดอกคำฝอย มีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ที่เรียกว่า “ไฮดรอกซีแซฟฟลอร์ เยลโลว์ เอ” (hydroxysafflor yellow A) สามารถเยียวยาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การแข็งตัวของเลือด การเกิดลิ่มเลือด การอักเสบ และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีรายงานบางส่วนเกี่ยวกับผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อภาวะเจริญพันธุ์ของชายและหญิง

การใช้คำฝอยจึงควรใช้ให้พอเหมาะพอดี การกินต่อเนื่อง กินปริมาณมากเกินไป อาจจะส่งผลต่อโลหิตจางได้ ทำให้มีเลือดน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ ผดผื่นคันขึ้นตามตัวได้ หรือกลายเป็นคนขี้โรคโดยไม่รู้ตัว สตรีที่กินมากเกินไปอาจจะทำให้มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ สตรีมีครรภ์ไม่ควรกินคำฝอยเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงเลือดและช่วยขับประจำเดือน จึงอาจทำให้แท้งบุตรได้ และควรระมัดระวังเมื่อใช้คำฝอยร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด (Anticoagulant) ด้วย

คำฝอยมีดอกสีแสดสวยงาม แม้เป็นพืชมาจากต่างถิ่น แต่ก็อยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ในอดีตยังเคยนำกลีบดอกมาย้อมจีวรพระ ถ้าได้เรียนรู้พืชโบราณนี้ให้ดีจะมีประโยชน์มาก •

2  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “โกโก้” เคยเป็นเงินแลกเปลี่ยนของชาวมายันและแอซเท็ก แถมมีค่ามากกว่าทอง! เมื่อ: วานนี้

เมล็ดโกโก้ (ภาพ : pixabay)

“โกโก้” เคยเป็นเงินแลกเปลี่ยนของชาวมายันและแอซเท็ก แถมมีค่ามากกว่าทอง!

ผู้เขียน - ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567


มีข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าด้วยเรื่องราคา “โกโก้” ที่พุ่งขึ้นสูง จนสามารถทำ All time high หรือแปลง่าย ๆ คือขึ้นทำราคาที่จุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการโกโก้ที่เพิ่มสูงมากขึ้น แต่ไม่สามารถผลิตให้เพียงพอได้ ช่วงนี้ของอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “โกโก้” หรือ “ช็อกโกแลต” ก็พานต้องขึ้นราคาหรือเปลี่ยนคุณภาพสินค้าเพื่อควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด

แต่ “โกโก้” ไม่ได้เพิ่งมีค่าหรือราคาสูงแค่ในช่วงนี้ เพราะเจ้าเม็ดสีน้ำตาลที่มีต้นตอมาจากฝัก ถือเป็นผลผลิตที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย 

ก่อนที่ โกโก้ จะกลายมาเป็นเม็ดหรือผงที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ ที่จริงแล้วคือการเอาเมล็ดที่อยู่ในฝักบนต้นโกโก้ ซึ่งอยู่แถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มาหมัก ตากแห้งและคั่ว

ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนคิดค้นการทำโกโก้ให้กินได้ แต่พบหลักฐานว่าหม้อและภาชนะของชาวโอลเมก เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล มีสารกระตุ้นแบบเดียวกับที่พบในช็อกโกแลตกับชา

คาดกันว่าพวกเขาน่าจะใช้โกโก้ทำเป็นเครื่องดื่มสำหรับเฉลิมฉลอง แต่เนื่องด้วยไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด จึงทำให้ไม่ทราบว่าเขาใช้โกโก้ผสมกับวัตถุดิบที่หาได้ หรือใช้แค่ส่วนรอบนอกที่เป็นสีขาว ๆ ในฝักกันแน่

ทว่าวันเวลาผ่านไป ความรู้ของชาวโอลเมกก็ได้เข้าไปสู่คนแถบอเมริกากลาง หรือชาวมายา ที่ปรากฏหลักฐาน บันทึกถึงการใช้ช็อกโกแลตเพื่อกินและบูชา ทั้งยังใช้เป็นเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของ

โกโก้ในสังคมของ ชาวมายา เรียกได้ว่าสำคัญอย่างมาก มันไม่ได้สงวนไว้เฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและอำนาจ แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ ว่ากันว่าหลาย ๆ บ้านของ ชาวมายา มักจะบริโภคโกโก้ในทุกมื้ออาหาร โดยลักษณะจะข้นเหนียว เป็นฟอง ผสมกับพริก น้ำผึ้งหรือน้ำ

ด้าน ชาวแอซเท็ก ก็ไม่น้อยหน้า ใช้โกโก้เพื่อการสดุดียิ่งกว่าหลายเท่า ทั้งยังเชื่อว่าโกโก้เป็นสิ่งที่พระเจ้าของพวกเขามอบให้ เหมือนกับเผ่ามายา เผ่าแอซเท็กมักนำเอาไปทำเป็นเครื่องดื่มร้อน เย็นและเผ็ด บรรจุไว้ในภาชนะหรูหรา ส่วนใหญ่มีเพียงกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ส่วนคนทั่วไปมักจะได้กินในวันแต่งงานหรือการฉลองสำคัญ ๆ เท่านั้น

ชาวแอซเท็ก เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “xocolatl” หรือช็อกโกแลตของชนชาวแอซเท็ก และยังใช้โกโก้เป็นเงินตราเหมือนกับชาวมายา ทั้งในวัฒนธรรมของพวกเขาก็ยกให้โกโก้มีมูลค่ามากกว่าทอง!!

กระทั่งเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช็อกโกแลตก็หลั่งไหลเข้าสู่สเปน มีตำนานเล่าขานมากมาย บ้างก็ว่าเป็นเพราะว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นำเข้ามา บ้างก็ว่า เฮอร์นัน คอร์เตส (Hernan Cortés) นักสำรวจชาวสเปน หรือบางคนก็เชื่อว่าเป็นกลุ่มนักบวช 

อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตก็กลายมาเป็นสิ่งที่คนในราชสำนักสเปนชื่นชอบ และนำเข้าเจ้าโกโก้เหล่านี้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็เริ่มรู้จักและหลงใหลในโกโก้และช็อกโกแลตเช่นเดียวกัน 

พวกเขาเริ่มนำช็อกโกแลตมาทำเป็นเครื่องบริโภคในสไตล์ของตัวเอง เช่น นำช็อกโกแลตร้อนไปผสมกับน้ำตาลอ้อย, อบเชย หรือวัตถุดิบที่สามารถหาได้ 

กระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ช็อกโกแลตก็เข้าสู่ประเทศอเมริกา และในสงครามปฏิวัติอเมริกา ช็อกโกแลตกลายมาเป็นเสบียงและค่าจ้างแทนเงิน รวมถึงเป็นเสบียงของทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

แล้วโกโก้แบบผงและช็อกโกแลตบาร์ อย่างที่เราเห็นและชอบกินกันในปัจจุบันเริ่มต้นตอนไหน?

โกโก้แบบผงเกิดขึ้นในปี 1828 จากการคิดค้นของ คอนราด แวน ฮูเต็น (Coenraad van Houten) ชาวดัตช์ เจ้าของแบรนด์โกโก้ชื่อดัง อย่าง Van Houten (แวน ฮูเต็น) ต่อมาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทรนด์การกินโกโก้ผสมกับน้ำเปล่าก็กลายเป็นนม จน เนสเล่ (Nestlé) บริษัทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและโภชนาการ ก็พัฒนาทำผลิตภัณฑ์ เอานมมาใส่ในช็อกโกแลต จนกลายมาเป็นแมสพรอดักส์  

ล่วงเลยมาที่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริษัทชั้นนำเรื่องช็อกโกแลตมากมายที่เรารู้จัก เช่น Cadbury (แคดเบอรี), เฮอร์ชีส์ (Hershey’s) ก็เริ่มผลิตสินค้าเกี่ยวกับช็อกโกแลตออกมามากมายให้เราได้อิ่มอร่อยกัน 

จนตอนนี้ “ช็อกโกแลต” ก็ยังเป็นขนมและรสชาติที่ทุกคนหลงใหลและหลงรัก ด้วยความหวานหอมติดขมหน่อย ๆ มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นเอง
3  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / แกงส้มผักรวม ยอดแกงต้านมะเร็ง เมื่อ: 25 เมษายน 2567 13:42:09


แกงส้มผักรวม ยอดแกงต้านมะเร็ง ชัวร์ไม่แกง

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567
คอลัมน์ - โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ.2567


ถ้าจัดกลุ่มสกุลแกงไทยก็ต้องนับว่าแกงส้มเป็นอาหารชาวบ้าน ไม่ใช่อาหารชาววังที่ใส่กะทิอย่าง “มัสมั่นแกงแก้วตาหอมยี่หร่ารสร้อนแรง” ในราชสำนักของรัชกาลที่ 2 หรือเป็นเมนู “คั่วแกงพะแนงผัดที่โรยหน้าพริกไทยใส่ผักชีเหมือนสีกา” ของพระภิกษุสุนทรภู่

แม้แกงส้มจะไม่เทียบชั้นกับอาหารชาววังอันเริ่ดหรู ที่ปรุงด้วยหัวกะทิ เครื่องเทศชั้นสูงจำพวกใบกระวาน กานพลู ดอกจันทน์ อบเชย ลูกผักชียี่หร่า ฯลฯ

แต่แกงบ้านๆ รสล้ำที่ใช้เครื่องแกงและเครื่องปรุงธรรมดาหาง่ายนี่แหละที่เป็นจุดแข็ง ซึ่งทำให้แกงส้มแพร่หลายกลายเป็นเมนูยอดฮิตของชาวไทย และชาวอุษาคเนย์

เริ่มจากสูตรเครื่องแกงตำเองง่ายๆ ประกอบด้วยเครื่องเทศไทยพื้นๆ แต่เพียบพร้อมสรรพคุณ ได้แก่ กระชายขาวตำครึ่งถ้วย มีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด ที่นอกจากจะช่วยให้แกงส้มมีกลิ่นหอมเฉพาะน่ารับประทานแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอความชรา บำรุงกำลัง กระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ช่วยย่อยอาหาร รักษาแผลในกระเพาะ แก้ท้องเสีย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แถมเสริมสรรถภาพทางเพศด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยไทยยังค้นพบว่ากระชายขาวสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ โดยสารสกัด 2 ตัว คือ แพนดูราทิน และพิโนสโตรบิน

กระเทียม 5 กลีบ สรรพคุณแก้กลุ่มอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ได้แก่ แก้ไอ หวัด หืดหอบ ขับเสมหะ ช่วยป้องกันการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดทั่วร่างกาย กำจัดไขมันในเลือดชนิดไม่ดี และเผาผลาญไขมันส่วนเกินในอวัยวะต่างๆ ช่วยควบคุมน้ำหนัก

ยิ่งกว่านั้นกระเทียมสดช่วยกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหารให้หลั่งออกมาย่อยอาหารในปริมาณมากขึ้น และเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสาร อาหารจำพวกโปรตีนและมีสารปฏิชีวนะยับยั้งเชื้อแบคทีเรียตัวร้ายในทางเดินอาหารด้วย

หอมแดงใหญ่ 1 1/2 หัว มีสรรพคุณคล้ายกระเทียม ส่วนที่เพิ่มเติมคือ ช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ และขับพยาธิ เป็นต้น

พริกชี้ฟ้า แห้ง 4 ดอก แช่น้ำให้นิ่มแล้วสับ เอาเม็ดออก ถ้าไม่ชอบเผ็ด พริกแห้ง อุดมไปด้วย ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามิน เอ ซี เค ที่มีคุณค่าสูงต่อสุขภาพ ช่วยย่อย ขับลมในกระเพาะ ช่วยลดน้ำหนัก มีสารแคปไซซินแก้ขัดตามข้อ ลดอาการปวดเมื่อยของร่างกาย แถมมีสารเอนโดรฟิน สร้างความสุข คลายเครียดด้วย

พริกแดง สด 2 ดอก สรรพคุณเหมือนพริกแห้ง

กะปิ อย่างดี 2 ช้อนชา เป็นโปรไบโอติกส์ชั้นดี มีคุณค่าปรับสมมดุลสภาพแวดล้อมในลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสที่ก่อโรครุนแรง อุดมด้วยวิตามินบี 12 ที่ช่วยสร้างเม็ดโลหิตแดง ป้องกันภาวะโลหิตจาง มีแคลเซียมสูงบำรุงกระดูกและข้อ มีสารแอสตาแซนตินบำรุงประสาทตา

และที่สำคัญคือ เพิ่มกรดไขมันชนิดดีช่วยลดโอกาสการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

เครื่องแกงส้มทั้งหมดตำแหลกพอทำแกงส้มหม้อเล็กได้ โดยปรุงกับผักและเนื้อสัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้ง ตามใจชอบ ทำให้ออกรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปรี้ยวข้นประมาณครึ่งถ้วย ซึ่งมีกรดทาร์ทาลิกที่ช่วยระบายอ่อนๆ แก้ไข้ ไอ หวัด ขับเสมหะ ลดความดันโลหิต

ส่วนผักรวมในที่นี้ ขอแนะนำผักรวมพื้นบ้านตระกูลถั่วที่หาง่าย ไร้สาร 2 อย่าง ได้แก่ ดอกแค ถั่วพู ซึ่งแน่นไปด้วยคุณค่าอาหารและยา

ดอกแค อุดมด้วยวิตามินบี 2 ช่วยในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน ในกระบวนการสร้างการเจริญเติบโตของเด็กและคนวัยเจริญพันธุ์

ช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม

ลดความเจ็บปวดจากไมเกรน ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา และเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น รักษาโรคปากนกกระจอก ช่วยต่อมหมวกไตผลิตคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารร่างกายมากขึ้น

มีแคโรทีนบำรุงสายตาและผิวพรรณ มีแคลเซียม ฟอสฟอรัสเสริมสร้างกระดูก ฟันให้แข็งแรง

ส่วนสรรพคุณยาที่คุ้นหู คือ แกงส้มดอกแค แก้ไข้หัวลม สร้างภูมิคุ้มกันหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล แก้ไซนัส หลอดลมอักเสบ บำรุงตับขับน้ำดี ช่วยให้เจริญอาหารกินได้ นอนหลับสบายไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ

ฝักถั่วพู อุดมไปด้วยใยอาหารและวิตามินเอ ซี อี และยังเป็นผักที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรง

ถั่วพูเป็นผักที่มีสารขัดขวางต่ำจึงช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ถึง 39.1-51.9 % เลยทีเดียว

ไฮไลต์ของแกงส้มผักรวมหม้อนี้ คือ เป็นอาหารไทยต้านมะเร็ง

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้วิจัยพบว่า แกงส้มเป็น 1 ใน ยอด 5 แกงไทยต้านมะเร็ง

เพราะแกงส้มมีสมุนไพรหลากชนิดในเครื่องแกงและในผักพื้นบ้าน ที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งแบบธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้เคมีบำบัดได้ถึงประมาณ 45%

อันนี้ชัวร์ ไม่แกง ใครจะ “แกง” แสร้งว่า แกงส้มไทยเป็นเมนูยอดแย่ อย่าไปน้อยใจ จงเชื่อมั่นในภูมิปัญญาอาหารไทย โดยเฉพาะในยามโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม และเต็มไปด้วยปัจจัยก่อโรคมะเร็งเช่นนี้

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องกลับมาพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพด้วยภูมิปัญญาอาหารไทยต้านโรค •
 
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_740042
4  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: เครื่องรางของขลัง เมื่อ: 25 เมษายน 2567 13:31:31

เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หน้า)


เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หลัง)

เหรียญนารายณ์ทรงครุฑ มงคล ‘หลวงปู่เพิ่ม วัดแค’ พระเกจิพระนครศรีอยุธยา

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2566


“วัดแค” หรือ “วัดร่างแค” หรือ “วัดท่าแค” เดิมชื่อ “วัดราชานุวาส” ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

เว็บไซต์ของกรมศิลปากร ลงเรื่องราววัดแค ไว้ใน “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ตอนหนึ่งว่า

“วัดแค เป็นวัดค่อนข้างใหญ่ มีความสำคัญมาก เป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่ และคงจะมีความสำคัญมาโดยตลอด จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 วัดแคจึงถูกทิ้งให้รกร้างปรักหักพังเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.2542 กรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ทำให้ได้เห็นรูปแบบศิลปะของโบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดแค ซึ่งสามารถกำหนดอายุการสร้างและบูรณะวัดแคในสมัยอยุธยา”

อีกตอนหนึ่งของเว็บไซต์กรมศิลปากร ลงไว้ว่า… “วัดแคแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า เคยเป็นที่พักอาศัยของ หลวงพ่อทวด วัดพะโคะ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อครั้งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระอภิธรรมที่วัดลุมพลีนาวาส…”

“หลวงพ่อทวดเป็นพระภิกษุที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระราชทานที่กัลปนาแก่หัวเมืองพะโคะ ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นภิกษุผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อภิญญาแก่กล้า จนได้สมญานามว่า ‘หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ และยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ อีกด้วย”

ย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2480 มีพระเกจิอาจารย์ผู้เคร่งครัดและแก่กล้าในญาณสมาบัติรูปหนึ่ง ซึ่งชาวเมืองกรุงเก่ารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ พระผู้สมถะไม่ยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ วัตถุมงคลที่สร้างมีประสบการณ์มากมาย

ที่ได้รับความนิยม “เหรียญหล่อพระนารายณ์ทรงครุฑ”

สำหรับการสร้างวัตถุมงคลนั้น ครั้งแรกไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตอนไหน แต่คาดว่าราว พ.ศ.2490 เนื่องจากแจกชาวบ้านในปีนั้นเป็นครั้งแรก

วัตถุมงคลนี้ คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ ขนาดสูงประมาณ 2 นิ้ว กว้างประมาณ 1.2 นิ้ว เนื้อโลหะผสม เทหล่อแบบโบราณ

ด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอุณาโลม 3 ตัวบนหัวยันต์ จำนวนสร้างคาดว่าคงไม่เกิน 1,000 องค์

ชาวบ้านเล่าว่า ในการสร้างพระเครื่อง หลวงปู่เพิ่ม จะแกะแม่พิมพ์เอง และทำทุกอย่างด้วยตัวท่านเอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านจะแจกให้ลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือทุกคนที่ไปกราบท่าน ทำให้พระรุ่นนี้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว

วัตถุมงคลไม่เคยนำออกให้เช่า มีแต่แจกเท่านั้น

ปัจจุบัน พระนารายณ์ทรงครุฑรุ่นนี้ หายากมาก




หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ  

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2424 ที่บ้านคลองทราย ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ คุณพระปริญญา เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.พระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อ เต่า

ในวัยเด็กท่านศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน และช่วยทางบ้าน ซึ่งมีฐานะดี เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร ท่านก็เข้ารับเลือกเป็นทหารอยู่ 7 ปี หลังจากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระเกศ กทม. ได้รับฉายาว่า ฐิติญาโณ ต่อมาท่านได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแค

เป็นพระที่สมถะ เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัย กิจวัตรของท่าน คือ วิปัสนากัมมัฏฐานทุกวัน ภายในวัดมีต้นตะเคียนเต็มไปหมด และร่ำลือกันว่ามีผีดุ บ้างก็ว่าชาวบ้านเคยถูกหลอกหลอน

วัดแคเป็นที่สงบวิเวก เป็นที่พอใจของหลวงปู่เพิ่ม และท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น

มีอยู่ครั้งหนึ่ง นั่งสมาธิอยู่ที่ในกุฏิ และถอดกายทิพย์ไปยืนอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ ในตอนเช้ามืด มีแม่ค้าขายผักพายเรือผ่านมาเห็นท่านเข้า ก็ยกมือไหว้และเอ่ยถามว่าจะออกรับบาตรหรือเจ้าคะ

ท่านก็ไม่ตอบอะไรแต่วักน้ำสาดหัวเรือและโบกมือไล่ให้ไป แม่ค้าคนนั้นก็รีบไปตลาด ปรากฏว่าผักที่แกนำมาขาย ขายดี ผักหมดในเวลารวดเร็ว ยังไม่สว่างก็หมดแล้ว

จากนั้นแม่ค้าคนนั้นก็เลยแวะซื้อหวย ก.ข. พอตอนสายหวยออกก็ถูกหวยอีก

จึงซื้อของเพื่อจะนำมาถวาย พอมาถึงวัดก็สอบถามถึงหลวงปู่เพิ่ม พระในวัดก็บอกว่า หลวงปู่ยังไม่ได้ออกมาจากกุฏิเลยตั้งแต่เช้า แม่ค้าก็บอกว่าเมื่อเช้ามืดเจอหลวงปู่ที่ท่าน้ำ พระที่วัดก็ยืนยันว่ายังไม่ได้ออกจากกุฏิเลย และเห็นนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิตั้งแต่ตี 4 ยังไม่ได้ไปไหน แม่ค้าจึงมองเข้าไปในกุฏิเห็นนั่งสมาธิหลับตาอยู่

หลวงปู่เพิ่มลืมตาขึ้นและถามแม่ค้าว่า “ถูกหวยมาละซี” และท่านก็บอกต่อว่า “ทีหลังอย่าไปเล่นหวยอีกนะ คราวนี้เรามีโชคก็ควรจะพอ ข้าวของที่เอามาก็ให้เอาไปฝากลูกหลานที่บ้านเถอะ เอาก๋วยเตี๋ยวแห้งไว้ห่อเดียวพอ”

แม่ค้าก็แปลกใจ เพราได้ซื้อก๋วยเตี๋ยวแห้งมาถวายหลวงปู่ด้วยพอดี แล้วรู้ได้อย่างไร

ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีผู้มาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก

มรณภาพลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2504 สิริอายุ 80 ปี •
5  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บันทึกโบราณบรรยายลักษณะไว้อย่างไร เมื่อ: 25 เมษายน 2567 12:57:08

สมเด็จพระนเรศวร ทรงเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราช
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม (ภาพโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บันทึกโบราณบรรยายลักษณะไว้อย่างไร

ที่มา- ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2525
ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567


“ไก่ชน” ของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในบันทึกโบราณบรรยายลักษณะไว้อย่างไร?

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2512 นายทหารจากจังหวัดพิษณุโลกได้ไปเรียนหลักสูตรนายร้อยที่ ศร. ปราณบุรี ได้ไปเยี่ยมหลวงอาที่วัดสัพพัง เขาย้อย จ. เพชรบุรี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้อ่านหนังสือใบข่อยสมัยก่อน มีใจความเรื่องไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พอสรุปได้ดังนี้

ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นไก่ที่ได้มาจากบ้านกร่าง รูปร่างลักษณะ

– เหลืองแก่ หางยาว (ดังฟ่อนข้าว)
– หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง หน้านกยูง
– มีเกล็ดพิเศษอีก 4 เกล็ดด้วยกัน ต้องดูที่นิ้ว ดังนี้

1. เกล็ดเสือซ่อนเล็บ
2. เกล็ดเหน็บชั้นใน
3. เกล็ดชัยบาดาล
4. เกล็ดผลาญศัตรู

– รูปร่างไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สูงโปร่ง คอยาว น่องสิงห์
– ลักษณะเดือยดําทั้งสองข้าง เล็บขาว ปากขาว


... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_30367?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR0eoOtiBRtA4yKz54IliD-NzbKC_2qNwYAeacx5BbWEQPwrwiU9oaPPnlY_aem_AR0ugRpH-cenP5pLRC4k1Xx-QMHTiuRRgk2tqYbIQp4aKbvSmWTP26CJwsKz785iNtkkT7RYinHHVuA1wNZu5wu4
6  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / อาณาจักร ” มายาโบราณ ” ที่ซ่อนในป่าหลายร้อยปี ด้วยเทคฯ สุดล้ำ! เมื่อ: 23 เมษายน 2567 16:11:41


ภาพถ่ายทางอากาศแทบไม่สื่อถึงขนาดที่แท้จริงของซีบันเชในคาบสมุทรยูกาตานของเม็กซิโก ไลดาร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลเซอร์
ที่ลบเรือนยอดไม้ออกด้วยเทคนิคดิจิทัล แสดงภาพเมืองมายาแห่งนี้ที่แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ถึง 20 ตารางกิโลเมตร


กระถางที่ใช้เผายางไม้ในพิธีกรรมต่างๆ ทำเป็นภาพเทพเจ้าแห่งยมโลกของชาวมายา พบที่โฮลมุล เมืองโบราณมายา ในกัวเตมาลา

อาณาจักร ” มายาโบราณ ” ที่ซ่อนในป่าหลายร้อยปี ด้วยเทคฯ สุดล้ำ!

โลกที่ชาวมายาโบราณ สร้างขึ้นซุกซ่อนอยู่กลางผืนป่ามาหลายร้อยปี ตอนนี้เทคโนโลยีปฏิวัติวงการกำลังเผยความยิ่งใหญ่ และความซับซ้อนอันน่าตื่นตะลึง

สองนักโบราณคดี ซึ่งเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกทั้งคู่ ใช้เวลารวมกันหลายสิบปีทำงานในผืนป่าของอเมริกากลาง ความร้อนและความชื้นสาหัสสากรรจ์ รวมถึงการเผชิญสัตว์ป่าอันตรายและโจรติดอาวุธ คือส่วนที่แยกไม่ออกจากการค้นพบขุมทรัพย์ของโลก มายาโบราณ อารยธรรมที่รุ่งเรืองอยู่หลายพันปีก่อนจะอันตรธานไปอย่างเป็นปริศนา ใต้ผืนป่าอันรกชัฎ

ด้วยเหตุนี้ จึงดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้งที่การค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดของพวกเขาจะเกิดขึ้นตอนนั่งล้อมวงหน้าคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานติดแอร์ในนิวออร์ลีนส์ ขณะที่เพื่อนร่วมงานของเขา ฟรันซิสโก เอสตราดา-เบลลี มองอยู่ มาร์เชลโล กานูโต จากมหาวิทยาลัยทูเลน เปิดภาพถ่ายทางอากาศของป่าผืนหนึ่งทางเหนือของกัวเตมาลา ตอนแรกหน้าจอไม่แสดงภาพอะไรนอกจากยอดไม้ แต่ภาพนี้ถ่ายด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (LIDAR ย่อมาจาก Light Detection And Ranging) โดยอุปกรณ์ไลดาร์ที่ติดตั้งบนเครื่องบินจะยิงเลเซอร์ลงมานับพันๆ ล้านครั้ง จากนั้นจึงวัดส่วนที่สะท้อนกลับมา เลเซอร์พัลส์เพียงน้อยนิดที่ทะลุทะลวงหมู่ไม้ลงไปให้ข้อมูลมากพอจะประกอบรวมเป็นภาพของพื้นป่าเบื้องล่างได้

ด้วยการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้ง กานูโตก็ลอกพืชพรรณออกด้วยวิธีดิจิทัลเพื่อเผยให้เห็นภาพสามมิติของพื้นดิน ภูมิภาคห่างไกลจากศูนย์กลางประชากรใดๆ ที่พวกเขามองอยู่นั้นเคยเชื่อกันว่าไม่มีผู้อาศัยเป็นส่วนใหญ่ ต่อให้เป็นช่วงที่อารยธรรมมายาเจริญถึงขีดสูงสุดเมื่อกว่า 1,100 ปีก่อนก็ตาม

แต่ทันใดนั้น สิ่งที่เคยดูเหมือนเชิงเขาทั่วไปกลับเต็มไปด้วยร่องรอยทั้งที่เกิดจากอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น พื้นที่เพาะปลูกแบบขั้นบันได และคลองชลประทาน สิ่งที่เคยปรากฏเป็นภูเขาลูกเล็กๆ ที่จริงคือพีระมิดขนาดใหญ่ ด้านบนเป็นอาคารประกอบพิธีกรรม ชุมชนหลายแห่งที่นักโบราณคดีหลายรุ่นสันนิษฐานว่าเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคกลับเป็นแค่ย่านชานเมืองของมหานครยุคก่อนโคลัมบัสที่ใหญ่โตกว่ากันมากและไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่ เชื่อมถึงกันด้วยทางหลวงเรียบยกระดับ

ทอมัส แกร์ริสัน หุ้นส่วนโครงการผู้เห็นข้อมูลนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่า “ผมคิดว่าเรากำลังรู้สึกแบบเดียวกันกับตอนที่นักบินอวกาศมองผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลครั้งแรก และได้เห็นว่า ห้วงอวกาศว่างเปล่าทั้งหมดเหล่านั้นจู่ๆ ก็เต็มไปด้วยดวงดาวและดาราจักรครับ นี่คือผืนป่ากว้างใหญ่ที่ทุกคนคิดว่าเกือบจะว่างเปล่า แต่แล้ว พอลอกต้นไม้ออกไปก็เห็นร่องรอยของมนุษย์อยู่ทุกหนแห่ง”

การใช้ไลดาร์กำลังปฏิวัติงานโบราณคดีมายา ไม่เพียงนำนักวิจัยไปสู่ตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นไปได้ แต่ยังเอื้อให้พวกเขาเห็นภาพใหญ่ของภูมิทัศน์โบราณ การสำรวจด้วยไลดาร์หลายสิบครั้ง รวมถึงโครงการสำคัญเมื่อปี 2018 ที่เปิดตัวในนิวออร์ลีนส์โดยได้ทุนจากมูลนิธิเพื่อวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของกัวเตมาลา หรือปากูนัม (Pacunam) พลิกภาพจำที่ยึดถือกันมายาวนานของอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในภูมิภาคที่น่าอยู่น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปแล้ว




สมาชิกทีมขุดสำรวจ คลารา อะเล็กซานเดอร์ ตรวจสอบหลุมศพใกล้โฮลมุลที่ถูกโจรขุดสมบัติพังเข้าไป
ขณะที่ไลดาร์เปิดเผยให้เห็นวิหาร หลุมฝังศพ และสิ่งปลูกสร้างยุคมายาอื่นๆ ที่ไม่รู้จักก่อนหน้านี้หลายพันแห่ง
 เช่นเดียวกับที่พบหลักฐานการลักลอบขุดค้นอย่างกว้างขวางด้วย

“แทบไม่มีทางพูดเกินความจริงถึงขอบเขตที่ไลดาร์สร้างความตื่นตัวให้วงการโบราณคดีมายาได้เลยครับ” นักโบราณคดีชาวกัวเตมาลา เอ็ดวิน โรมัน-รามิเรซ บอกและเสริมว่า “เราจะต้องออกไปขุดค้นเพื่อทำความเข้าใจผู้สร้างอาคารเหล่านี้เสมอครับ แต่เทคโนโลยีนี้กำลังเผยให้เราเห็นชัดลงไปว่า ต้องขุดที่ไหนและอย่างไร”

ที่ผ่านมา เรื่องสำคัญที่เราค้นพบจากเทคโนโลยีนี้ คือการพลิกแนวคิดที่ว่าพื้นที่ต่ำในดินแดนมายาเป็นภูมิทัศน์ที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง และมีนครรัฐปกครองตัวเองกระจายอยู่ไม่กี่แห่ง การสำรวจด้วยไลดาร์แต่ละครั้งทำให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า มายาคืออารยธรรมที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในขอบเขตและความซับซ้อนน่าตื่นตะลึง เป็นมหานครที่ประชากรหลายล้านเป็นเกษตรกร นักรบ และนักสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พิเศษเกินกว่าที่ใครเคยนึกภาพไว้

สำหรับกัวเตมาลา ซึ่งยากจนทางเศรษฐกิจ แต่มั่งคั่งทางวัฒนธรรมและขุมทรัพย์เชิงนิเวศ การค้นพบเหล่านี้นำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้น แหล่งโบราณคดีใหม่ๆ หลายแห่งอาจกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เอื้อให้ประเทศกรุยทางทางที่ยั่งยืนออกจากความยากจนได้ แต่สำหรับเอสตราดา-เบลลี และโรมัน-รามิเรซ ตลอดจนนักโบราณคดีและนักอนุรักษ์ชาวกัวเตมาลาอื่นๆ ภาพจากเทคโนโลยีล้ำยุคนี้ยังตีแผ่การพัฒนาที่น่ากังวลมากกว่าด้วย นั่นคือร่องรอยที่เห็นได้ชัดของโจรปล้นสมบัติ คนตัดไม้เถื่อน พวกกว้านซื้อจับจองที่ดิน และพวกลักลอบขนยาเสพติดที่ยึดครองป่าฝนใหญ่อันดับสองที่เหลืออยู่ในทวีปอเมริกา ชาวกัวเตมาลาจำนวนไม่น้อยกลัวว่าพวกเขาอาจแพ้เดิมพันในการเร่งปกป้องภูมิทัศน์และขุมทรัพย์ความเสี่ยงสูงต่างๆ เหล่านั้น









ขุมสมบัติมายาจากหลุมศพที่รอดพ้นเงื้อมมือโจรมาได้สองแห่งมีข้าวของอาทิ ชามระบายสี หน้ากากโมเสกทำจากหยก
หัวลูกศรออบซีเดียนที่นำมาทำใหม่ให้เป็นของประกอบพิธีกรรม


มรดกวัฒนธรรมสำคัญที่สุดส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเขตสงวนชีวมณฑลมายา (Maya Biosphere Reserve) ซึ่งผนวกรวมทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่สัมปทานป่าไม้ที่อนุญาตให้ชาวบ้านตัดไม้และเก็บผลิตผลจากป่าอื่นๆได้ เขตสงวนชีวมณฑลซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ราวหนึ่งในห้าของกัวเตมาลาเป็นที่อยู่ของเสือจากัวร์และนกมาคอว์แดง รวมถึงนก ผีเสื้อ สัตว์เลี้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด

ป่าดิบชื้นในอเมริกากลางแทบไม่เคยเผยความลับที่ฝังอยู่ออกมาง่ายๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า นักเขียนชาวอเมริกัน จอห์น ลอยด์ สตีเวนส์ กับเฟรเดอริก แคเทอร์วูด เพื่อนศิลปินชาวอังกฤษ ออกสำรวจเมืองมายาที่ถูกทิ้งร้างบางส่วนในคาบสมุทรยูกาตานของเม็กซิโก คำบรรยายและภาพวาดพีระมิดและพระราชวังในดงไม้รกเรื้อของทั้งคู่ ดึงดูดนักวิจัยอื่นๆ ให้ตามเข้าไป แต่หลังจากขุดสำรวจอยู่หลายสิบปี นักโบราณคดีก็เจาะหน้าต่างบานเล็กๆ เข้าสู่โลกของมายาได้ไม่กี่บานเท่านั้น

เมื่อปี 2009 นักโบราณคดีสองสามีภรรยา ไดแอนและอาร์เลน เชส ซึ่งปัจจุบันทำงานที่มหาวิทยาลัยฮิวสตัน พยายามลองทำสิ่งใหม่ที่การากอล เมืองโบราณในเบลีซที่พวกเขาขุดสำรวจกันมาตั้งแต่ปี 1985 เครื่องสแกนไลดาร์ที่เดิมใช้ในงานอุตุนิยมวิทยาและติดตามเทห์ฟ้า ได้รับการติดตั้งบนอากาศยานเพื่อช่วยทำแผนที่และสำรวจมากขึ้นเรื่อยๆ









ถ้วยสูงใส่ช็อกโกแลต รูปสลักเทพเจ้าข้าวโพดทำจากหยก และกระดูกต้นขามนุษย์ที่จารึกภาพวาดกษัตริย์มายา
ถูกฝังในหลุมหนึ่ง (ศิลปวัตถุทั้งหมดถ่ายภาพที่ห้องปฏิบัติการโครงการโบราณคดีโฮลมุล, แอนตีกัว, กัวเตมาลา)

“ตอนเริ่มโครงการ เราคิดว่าการากอลเป็นแค่กลุ่มพีระมิดกับวิหารไม่กี่หลังเท่านั้น” อาร์เลน เชส บอกและเสริมว่า “แต่พอใช้ไลดาร์สำรวจพื้นที่รอบนอก เราพบว่าที่จริงแล้วนี่คือเมืองขนาดใหญ่ที่มีการวางผังอย่างละเอียดซับซ้อนครับ”

ข้อค้นพบของทั้งคู่ทำให้นักโบราณคดีคนอื่นๆ ตื่นตัวกับศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ เมื่อปี 2021 การขุดสำรวจที่อิงข้อมูลของปากูนัมให้ผลน่าทึ่งแม้กระทั่งในตีกัล (Tikal) แหล่งโบราณคดีใหญ่ที่สุดของกัวเตมาลา เมืองนี้ใหญ่กว่าที่เคยคิดกันก่อนหน้าอย่างน้อยสี่เท่า และบางส่วนก็ล้อมรอบด้วยคูขนาดใหญ่และกำแพงป้องกันที่ทอดยาวหลายกิโลเมตร สิ่งที่เผยให้เห็นยังมีพีระมิดขนาดใหญ่และกลุ่มสิ่งปลูกสร้างที่เห็นได้ชัดว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนจาก เตโอตีอัวกัน มหาอำนาจโบราณที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกกว่า 1,250 กิโลเมตร

“การพบโบราณสถานสำคัญใหม่ๆ ใจกลางตีกัล ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางครอบคลมที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่มายา ตอกย้ำว่าไลดาร์กำลังเปิดประตูบานใหม่ๆ” โรมัน-รามิเรซ ผู้อำนวยการโครงการโบราณคดีตีกัลใต้ บอกและเสริมว่า “เรากำลังค้นพบหลายสิ่งที่เราไม่มีทางนึกภาพออก แม้กระทั่งตอนที่เราเดินอยู่บนนั้นก็ตาม”

เรื่อง ทอม ไคลน์ส
ภาพถ่าย รูเบน ซัลกาโด เอสกูเดโร
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย
7  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / อับดุล คาริม จากข้ารับใช้ สู่ “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย จวบจนวาระสุดท้าย เมื่อ: 20 เมษายน 2567 13:26:50

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และอับดุล คาริม
(ภาพ : https://rarehistoricalphotos.com/queen-victoria-abdul-karim-photos/)


อับดุล คาริม จากข้ารับใช้ สู่ “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

ผู้เขียน - สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนํรรม วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567


อับดุล คาริม ชาวอินเดีย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็น “ข้ารับใช้” สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วเป็น “มุนชี” หรือพระอาจารย์ เป็นราชเลขาธิการในพระองค์ ทั้งยังเป็น “มิตรแท้” คู่พระทัย “ราชินีวิกตอเรีย” ถึง 14 ปี จวบจนลมหายใจสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

แต่ทำไมราชวงศ์อังกฤษถึงลบชื่อเขาออกจากประวัติศาสตร์ ราวกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน?


จากดินแดนอาณานิคม สู่ “ใจกลาง” จักรวรรดิอังกฤษ

โมฮัมเหม็ด อับดุล คาริม (Mohammed Abdul Karim) เป็นชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม เกิดเมื่อ ค.ศ.1863 ในยุคที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้วเรียบร้อย คาริมในวัยหนุ่มทำงานเป็นเสมียนในเรือนจำกลางเมืองอัครา รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งนักโทษที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการทอพรมผืนงาม

ปี 1886 เรือนจำได้นำนักโทษและผลงานการทอพรมไปจัดแสดงที่เซาธ์ เคนซิงตัน ในอังกฤษ แม้คาริมจะไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ได้ช่วย จอห์น ไทเลอร์ (John Tylor) ผู้อำนวยการเรือนจำ จัดการการเดินทาง และยังช่วยเลือกของที่จะนำไปทูลเกล้าฯ เป็นของขวัญถวายแด่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งทรงเป็น “จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย” ด้วยอีกตำแหน่ง

ราชินีวิกตอเรีย ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดีย แต่ทรงสนพระทัยดินแดนตะวันออกแห่งนี้ จึงทรงมีรับสั่งให้ไทเลอร์จัดหาชาวอินเดีย 2 คน มาเป็นข้ารับใช้ใน “พระราชพิธีกาญจนาภิเษก” เฉลิมฉลองที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปี 1887

อับดุล คาริม และโมฮัมเหม็ด เบิกช์ (Mohammed Buksh) คือผู้ได้รับการคัดเลือก และการเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนครั้งนี้เอง ที่นำคาริมเข้าสู่แวดวงราชวงศ์อังกฤษแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ทั้งคู่เดินทางมาถึงอังกฤษในเดือนมิถุนายน ปี 1887 และหลังจากพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นวันที่ 20-21 มิถุนายน ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อย คาริมและเบิกช์ก็มาเป็นข้ารับใช้ในราชินีวิกตอเรีย

ชราบานี บาซู (Shrabani Basu) นักข่าวที่ค้นพบเรื่องราวของคาริม ระหว่างเข้าชมตำหนักออสบอร์น (Osborne House) ที่ไอล์ออฟไวต์ (Isle of Wight) ในปี 2003 นำสู่การค้นหาเบาะแสที่ร่วงหล่น รื้อฟื้นหลักฐานต่างๆ ขึ้นมา แล้วถ่ายทอดเป็นหนังสือ “Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant” บอกเล่าจุดเริ่มต้นมิตรภาพระหว่างราชินีวิกตอเรียกับคาริมว่า

หลังพระราชพิธีกาญจนาภิเษกไม่นานนัก ราชินีซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 68 พรรษา เสด็จไปประทับ ณ ตำหนักออสบอร์น ซึ่งเป็นตำหนักฤดูร้อน ที่นี่คาริมวัย 24 ปี สร้างความประทับใจแก่ราชินีวิกตอเรีย ด้วยการปรุงแกงกะหรี่ไก่กับดาลและข้าวพิลาฟถวายพระองค์ ซึ่งโปรดอย่างยิ่ง

ความที่พระองค์ทรงสนพระทัยวัฒนธรรมอินเดีย จึงทรงให้คาริมสอนภาษาอูรดู เพื่อจะได้สื่อสารกับเขาได้ รวมทั้งทรงสอบถามเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนในอินเดียจากคาริมด้วย




อับดุล คาริม “มิตรแท้คู่ใจ” ราชินีวิกตอเรีย

“เขาคุยกับพระองค์ในแบบเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่แบบข้าราชบริพารกับราชินี ในขณะที่ทุกคนรวมถึงพระราชโอรสและพระราชธิดารักษาระยะห่างกับพระองค์ แต่ชายหนุ่มชาวอินเดียผู้นี้กลับใสบริสุทธิ์ เขาเล่าให้พระองค์ฟังเกี่ยวกับอินเดีย ครอบครัวของเขา และรับฟังเมื่อราชินีทรงเล่าถึงครอบครัวของพระองค์” บาซู บอกถึงเหตุผลที่ทำให้คาริมเป็นคนโปรดของราชินีแห่งอังกฤษอย่างรวดเร็ว

จากข้ารับใช้ ในระยะเวลาไม่นานนักคาริมก็เลื่อนขั้นเป็น “มุนชี” (Munchi) หรืออาจารย์ จากนั้นก็เป็นเสมียน ให้คำแนะนำเรื่องเกี่ยวกับอินเดียถวายราชินีวิกตอเรีย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 12 ปอนด์ ก่อนจะเลื่อนขั้นขึ้นไปอีกเป็นราชเลขาธิการในปี 1888

ราชินีวิกตอเรีย โปรดให้ “มุนชี” ตามเสด็จไปยังหลายประเทศในยุโรป พระราชทานเกียรติยศมากมาย ทรงให้คาริมพำนักที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ (Frogmore Cottage) ภายในเขตพระราชฐานพระราชวังวินด์เซอร์ พระราชทานรถม้าส่วนตัว และโปรดให้คาริมกลับเมืองอัครา เพื่อพาภรรยามาพำนักที่อังกฤษกับเขา

ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงรับสั่งให้จิตรกรฝีมือดีวาดภาพของคาริมไว้ประดับตกแต่งอีกด้วย เช่น ปี 1887 ทรงให้ ลอริตส์ เรกเนอร์ ทูเซ็น (Laurits Regner Tuxen) จิตรกรชาวเดนมาร์ก วาดภาพคาริมเต็มตัวในรูปแบบสีน้ำมัน

ปี 1888 ทรงให้ รูดอล์ฟ สโวโบดา (Rudolph Swoboda) จิตรกรชาวออสเตรีย วาดภาพสีน้ำของคาริมครึ่งตัวในเครื่องแต่งกายแบบอินเดีย จากนั้น ปี 1890 รับสั่งให้ ไฮน์ริช ฟอน แองเจลี (Heinrich von Angeli) จิตรกรวาดภาพเหมือนชาวออสเตรีย วาดภาพคาริมครึ่งตัวในรูปแบบสีน้ำมันขึ้นมาอีกภาพ

ในจดหมายที่ราชินีวิกตอเรียทรงมีถึงจักรพรรดินีเฟรเดอริก พระราชธิดาองค์โตของพระองค์ ระบุว่า “เขา (จิตรกร) ไม่เคยวาดภาพชาวตะวันออกคนใดมาก่อนเลย และถึงกับตื่นตะลึงเมื่อได้เห็นใบหน้าอันหล่อเหลาของเขา… ฉันคาดว่าต้องออกมาดีมากๆ เป็นแน่”

เมื่อแองเจลีวาดภาพเสร็จ ตอนแรกพระราชินีไม่ทรงชอบ เพราะคิดว่าภาพดูมืดเกินไป แต่ต่อมาภาพวาดคาริมฝีมือแองเจลีก็ไปประดับอยู่ที่พระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ




ภาพวาดอับดุล คาริม โดย แองเจลี
(ภาพ : https://www.rct.uk/collection/406915/the-munshi-abdul-karim-1863-1909)

มิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษกับชายหนุ่มชาวอินเดีย ยังปรากฏผ่านจดหมายที่ราชินีวิกตอเรียทรงมีถึงคาริม ทรงลงท้ายจดหมายว่า “แม่ที่รักของเธอ” หรือไม่ก็ “เพื่อนสนิทที่สุดของเธอ” และบางฉบับก็มีรอยประทับจุมพิตปรากฏอยู่ด้วย

“บางโอกาส พระองค์ถึงขั้นประทับรอยจุมพิตลงในท้ายจดหมาย ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นการกระทำที่ไม่ธรรมดาอย่างมาก” บาซู บอกกับ BBC และบอกด้วยว่า เธอคิดว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ คือเป็นความสัมพันธ์แม่-ลูก ที่ผูกระหว่างความเป็นชายหนุ่มชาวอินเดียกับผู้หญิงที่ขณะนั้นมีอายุ 60 กว่าปีเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม มิตรภาพระหว่างราชินีวิกตอเรียกับคาริม สร้างความไม่พอใจ (และอาจเลยเถิดไปถึงขั้นอิจฉาริษยา) ให้ข้าราชบริพารในราชสำนักที่แวดล้อมสมเด็จพระราชินี ไม่ว่าจะเป็นการพระราชทานเหรียญตราเกียรติยศ การจัดให้คาริมร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับพวกเขา ที่ถือว่าเป็น “ชนชั้นสูง” และถือว่าชาวอินเดียเป็นพวกคนป่าเถื่อน ไม่มีอารยะ ทว่าพวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้นได้

ปลายทศวรรษ 1890 ราชินีวิกตอเรียทรงมีพระพลานามัยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ทรงมีพระราชประสงค์ให้คาริมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมไว้อาลัย ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์และพระสหายกลุ่มเล็กๆ ของพระองค์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้ทรงดำรงตำแหน่ง “จักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย” สวรรคตเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 1901 พระชนมพรรษา 81 พรรษา

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (Price Edward) รัชทายาท ที่ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คาริมเข้าเคารพและดูพระบรมศพเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดหีบพระบรมศพ

แต่หลังจากนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 รับสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ ที่คาริมและครอบครัวพำนัก ทรงให้นำจดหมายที่พระราชมารดาของพระองค์เขียนติดต่อกับคาริมออกมาเผาทิ้งทุกฉบับ และทรงมีพระราชบัญชาให้คาริมและครอบครัวเดินทางกลับอินเดียทันที ส่วน เจ้าหญิงเบียทริซ (Princess Beatrice) พระราชธิดาในราชินีวิกตอเรีย ก็รับสั่งให้ทำลายหลักฐานที่พระราชมารดาทรงบันทึกถึงคาริมให้สิ้นซาก

อับดุล คาริม ใช้ชีวิตอย่างสงบที่ คาริม ลอดจ์ เมืองอัครา บนที่ดินที่ราชินีวิกตอเรียพระราชทานให้ เขาได้รับเงินบำนาญจากอังกฤษ และจากไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน ปี 1909 ขณะอายุ 46 ปี เรื่องราวของเขาและราชินีแห่งอังกฤษถูกนำมาเล่าขานผ่านหนังสือ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง Victoria & Abdul (2017) ปลุกประวัติศาสตร์ยุคนั้นขึ้นมาอีกครั้ง



ภาพวาดอับดุล คาริม
โดย ลอริตส์ เรกเนอร์ ทูเซ็น
(Wikimedia Commons)
8  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / พระแสนแซว่ พระพุทธรูปที่ถูกตอกตะปูเย็บปาก ?!? เมื่อ: 20 เมษายน 2567 11:50:35


พระแสนแซว่ พระพุทธรูปที่ถูกตอกตะปูเย็บปาก ?!?

ผู้เขียน - วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567


หากกล่าวถึงเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยมักนึกถึง “เศียรธรรมิกราช” ที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร พบที่วัดธรรมิกราช พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นอกจากเศียรธรรมิกราชแล้ว ยังพบเศียรพระขนาดใหญ่อื่นๆ อีก เช่น เศียร “พระแสนแซว่” เชียงใหม่ ซึ่งมีเรื่องเล่าแปลกๆ ว่า ที่พระโอษฐ์ของท่านมีตะปูตอกอยู่

ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “เศียรพระแสนแส้ : พระพุทธรูปที่ถูกตรึงพระโอษฐ์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนกรกฎาคม 2545) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เศียรพระแสนแซว่ (แสนแส้) ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นเศียรพระพุทธรูปสำริด สูง 1.70 เมตร ถ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มองค์ (พระพุทธรูปนั่ง) จะสูงประมาณกว่า 6 เมตร เทียบสัดส่วนได้กับพระศรีศากยมุนีประดิษฐานในวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (สูง 8 เมตร)

ประวัติความเป็นมาของเศียรพระพุทธรูปองค์นี้ กล่าวว่า แต่เดิมพบที่วัดยางกวง (วัดร้างใกล้กับประตูเมืองเชียงใหม่) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นนั้น พระองค์ได้มีพระราชดำริให้รวบรวมและอัญเชิญพระพุทธรูปที่เป็นงานช่างชั้นเยี่ยม มีรูปแบบต่างๆ กันทั้งในและต่างประเทศ และมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน มาประดิษฐานรอบพระระเบียงพระอุโบสถ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้ดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการอัฐเชิญเศียรพระแสนแซว่จากเมืองเชียงใหม่มาในคราวเดียวกันนี้ด้วย แต่ไม่ปรากฏในทะเบียนประวัติพระพุทธรูปรอบพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรฯ แต่อย่างใด

เมื่อคราวที่ให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นในปี พ.ศ.2469 ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ มาจัดแสดง เศียรพระแสนแซว่จึงได้ย้ายมาจัดแสดงในคราวเดียวกันนี้ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2515 กรมศิลปากรได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ขึ้น ตามโครงการจัดตั้งมีนโยบายให้นำโบราณวัตถุที่เป็นของภาคเหนือนำกลับไปจัดแสดงด้วย ดังนั้นเศียรพระแสนแซว่จึงได้กลับคืนมาสู่ล้านนาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

“พระแสนแซว่” บางครั้งเข้าใจเป็น “พระแสนแส้” หรืออาจเขียนตามภาษาพูดเป็น “แสนแซว่” หรือ “แสนแสว้” ตามศัพทานุกรมภาคเหนือใช้ “พระแสนแซว่” ในภาษาถิ่นภาคเหนือไม่มีความหมาย ส่วนคำว่า “แซว่” ตามภาษาถิ่นหมายถึง สลักหรือกลอนที่ใช้ยึด หรือเชื่อมวัสดุหลายๆ ชิ้นเข้าด้วยกัน

การที่มีคำว่า “แสน” มาประกอบหมายถึงจำนวนนับ ดังนั้นคำว่า “แสนแซว่” จึงหมายถึงสลักหรือกลอนจำนวนเป็นแสนๆ ซึ่งเป็นวิธีการของชาวล้านนาในการใส่จำนวนนับ เช่น หมื่น แสน ล้าน นำหน้าคำเพื่อเป็นการบอกขนาด เช่น พระเจ้าฝนแสนห่า พระเจ้าล้านทอง พระเจ้าเก้าตื้อ และพระแสนแซว่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้กับตำแหน่งผู้ปกครอง หรือทหารอีกด้วย เช่น พระเจ้าแสนเมืองมา หมื่นด้ามพร้าคด แสนหล้า เป็นต้น

ด้วยเหตุที่พระแสนแซว่มีขนาดใหญ่มาก ในการหล่อจึงต้องแยกเป็นส่วนๆ แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้แซว่หรือสลักเป็นจำนวนมากนับเป็นแสนๆ จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “แสนแซว่” (เป็นคำที่คนรุ่นหลังกำหนดเรียกขึ้นตามขนาดของพระพุทธรูปที่ต้องประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น)

เศียรพระแสนแซว่ในปัจจุบันนี้ยังมีผู้ศรัทธามากราบไหว้อยู่เสมอ ในขณะที่ผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์] เป็นภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ นั้น ได้มีผู้มีเกียรติท่านหนึ่งมาขอพบและบอกว่า พระโอษฐ์ของพระแสนแซว่ถูกตะปูตอกตรึงไว้หลายปีแล้วจึงมีความประสงค์จะขอโอนตะปูออก

ผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์] ได้ตรวจสอบดูก็ปรากฏว่ามีตะปูตอกอยู่จริงทั้งริมพระโอษฐ์บนและล่างในลักษณะของการตอกเพื่อปิดพระโอษฐ์ไว้

แต่ในขณะนั้นก็ไม่ได้สอบถามประวัติและไม่ได้ดำเนินการอะไร ต่อมาจึงได้พยายามค้นหาประวัติความเป็นมาโดยเฉพาะในทะเบียนประวัติพระพุทธรูปรอบระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ก็ไม่พบว่ามีปรากฏว่ากล่าวถึง

เท่าที่ปรากฏหลักฐานคือทราบจากคำบอกเล่าเท่านั้น โดยผู้เขียน [ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์] ได้ข้อมูลจากคุณพายัพ บุญมาก อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับฟังเรื่องราวจากญาติผู้ใหญ่ของท่านที่มีอายุในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 เล่าถึงความเป็นมาของพระแสนแซว่ และสาเหตุของพระแสนแซว่ถูกตะปูตรึงพระโอษฐ์ว่า

เมื่อคราวสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงรวบรวมพระพุทธรูปจากแหล่งต่างๆ มาประดิษฐานรอบพระระเบียงพระอุโบสถ ได้อัญเชิญเศียรพระแสนแซว่จากวัดยางกวง จังหวัดเชียงใหม่ลงมาด้วย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถนำเข้าประตูพระระเบียงได้ หรืออาจจะมีเฉพาะพระเศียรเมื่อตั้งแล้วอาจไม่เข้ากับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ จึงให้ประดิษฐานไว้ใต้ต้นไม้นอกพระระเบียงนั้น

สาเหตุที่พระโอษฐ์ของพระแสนแซว่ถูกตอกตะปูเกิดขึ้นในราวรัชกาลที่ 6 สมัยที่มีการเล่นหวย ก ข สภาพของผู้เล่นหวยคงไม่แตกต่างจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือการบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้ถูกหวย และมีผู้มาขอหวยกับเศียรพระแสนแซว่ด้วย

และเป็นที่เรื่องลือมากว่าใบ้หวยแม่นและมีผู้ถูกอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เจ้ามือหวยเดือดร้อนจึงได้นำตะปูมาตอกเย็บพระโอษฐ์เพื่อไม่ให้ใบ้หวยอีกต่อไป ตะปูที่ตอกจึงติดมาจนถึงทุกวันนี้
9  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 17 เมษายน 2567 18:06:38

เหรียญหลวงพ่อหรุ่น

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2460 หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก พระเกจิดัง สมุทรสงคราม

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2566


กาลสมัยผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองถือเป็นแหล่งสรรพวิชา มากด้วยพระเกจิอาจารย์ นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยขาดหาย

แต่ถ้าให้กล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ที่เป็นจุดหมายปลายทางของพระธุดงค์สมัยก่อน วัดช้างเผือก ถือเป็นแหล่งรวมพระธุดงค์มากมายหลายรูป

เนื่องจากมีพระเกจิอาจารย์ผู้มากวิชาโดดเด่น ด้านการทำน้ำมนต์ และวิชามหาอุตม์ นั่นก็คือ พระอธิการรุฬ หรือหลวงพ่อหรุ่นนั่นเอง

“หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร” วัดช้างเผือก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ช่วงบั้นปลายชีวิต จัดสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกและแจกให้ผู้ที่มาร่วมบุญ ทุกรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม

“เหรียญรุ่นแรก” ได้รับความนิยมอย่างสูงไปด้วย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 เพื่อแจกในงานศพของท่านเอง มีพระเกจิชื่อดังสมัยนั้นปลุกเสกเป็นจำนวนมาก อาทิ หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกระพ้อม, หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต วัดช่องลม, หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย, หลวงพ่อช่วง อินทโชติ วัดปากน้ำ, หลวงพ่อใจ อินทสุวัณโณ วัดเสด็จ และลูกศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก

มีเนื้อเงินและเนื้อทองแดง สร้างน้อยมาก

ด้านหน้า ขอบเหรียญมีลายกนก ตรงกลางมีรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดสังฆาฎิ มีอาสนะรองรับ ระบุปี “พ.ศ.๒๔๖๐”

ด้านหลัง ด้านบนสุด เขียนคำว่า “วัดช้าง” ถัดลงมาเป็นยันต์ ความว่า “อะระหัง อะสัง วิสุโล ปุสะพุภะ”

แม้จะเป็นเหรียญตาย แต่ก็หายาก





หลวงพ่อหรุ่น พุทธสโร

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ที่บ้านไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บิดาชื่อ นายรุ่ง มารดาชื่อ นางล้อม มีอาชีพทำนาและค้าขาย

ครอบครัวฝ่ายมารดาเป็นชาวบางช้าง จ.สมุทรสงคราม บ้านใกล้กับวัดบางจาก เป็นญาติกับหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก ศิษย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

ต่อมาบิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอม ที่สำนักวัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่เป็นครู เรียนจนจบอ่านออกเขียนได้

พ.ศ.2492 อายุครบบวช จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดประตูสาร มีพระอาจารย์ภู่ วัดประตูสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี กับพระอาจารย์อ่วม วัดไทร เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

ศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องบทสวดมนต์จนจบ จำพระปาฏิโมกข์แม่นยำ ซึ่งถือว่าหาอาจารย์ที่แคล่วคล่องในระดับนี้ได้ยากมากสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังสนใจเรื่องธุดงควัตร จึงไปศึกษากับพระอาจารย์แสวง วัดบางปลาม้า ออกธุดงค์ไปหลายแห่งฝึกพลังจิตจนแก่กล้า

พรรษาที่ 6 เดินทางมาในงานศพนางแจ่ม ซึ่งเป็นยายที่บ้านใกล้วัดบางจาก จึงได้รู้จักกับพระอุปัชฌาย์เอี่ยม วัดบางจาก

หลวงพ่อเอี่ยม จึงชวนให้มาอยู่ด้วยกัน ต่อมาบิดาเสียชีวิตลง มารดาจึงชวนกันอพยพกลับมาอยู่ที่บางจาก ก็เลยมาจำพรรษาที่วัดบางจาก

ชอบออกธุดงค์แบกกลดเข้าป่าเป็นประจำ ได้ศึกษาพุทธาคม สมุนไพร แพทย์แผนโบราณ จากพระอาจารย์ในป่าลึก ได้รับความรู้ต่างๆ มากมายจนเป็นที่พึ่งของภิกษุ สามเณร และชาวบ้านในแถบนั้น

ต่อมาวัดช้างเผือกว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาส ด้วยวัดช้างเผือกในขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก พอมาอยู่ที่วัดช้างเผือก ก็เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พัฒนาวัดเรื่อยมา มีพระและชาวบ้านมาขอเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยเป็นจำนวนมาก

เกิดความนิยมในหมู่พระสงฆ์ที่ออกธุดงค์ทั้งหลายว่า ต้องมาปักกลดที่วัดช้างเผือกเพื่อศึกษาวิชาด้วย จนทำให้พื้นที่ของวัดแน่นขนัดไปด้วยกลดจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านมาให้รักษาโรคแทบทุกวัน คนถูกผีเข้าเจ้าสิงก็มาให้รดน้ำมนต์กันจนแน่นวัด จนเป็นที่รู้จักกันทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง

ได้รับการถ่ายทอดวิชาทำผงวิเศษ 108 จากหลวงพ่ออ้น วัดบางจาก

หลวงพ่อหรุ่นเป็นพระที่มีเมตตาไม่ปิดบังวิชา ใครมาขอเรียนด้วยก็ยินดีสอนให้ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เช่น หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อหรีด วัดเพลง, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน และหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี เป็นต้น

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2458 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 •




เหรียญหล่อพิมพ์เศียรโล้น หลวงพ่อบ่าย


เหรียญหล่อพิมพ์เศียรแหลม หลวงพ่อบ่าย

เหรียญหล่อโบราณ หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม ยอดพระเกจิลุ่มแม่กลอง

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2566


พระเกจิอาจารย์สายลุ่มน้ำแม่กลอง อาวุโสรองจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย คือ “หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต” วัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม วัตถุมงคลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

เป็นทั้งน้องและศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย และเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมากกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิชื่อดังในยุคเดียวกัน

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ล้วนเป็นที่นิยมและเสาะแสวงหาอย่างสูง อาทิ เหรียญรูปเหมือน และเครื่องรางของขลังต่างๆ

แต่ที่ได้รับความนิยมได้แก่เหรียญหล่อ สร้างปี พ.ศ.2460 คือ “เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรโล้น”

เหรียญหล่อพิมพ์เศียรโล้น หลวงพ่อบ่าย 
ลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง องค์พระมีตัวอุ แทนเกศเปลวเพลิง จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้าย-ขวา องค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอม ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษร อ่านว่า “วัจชังลม”

ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัวอุ ใต้ตัวอุมีการผูกยันต์หัวใจพญาเสือโคร่ง “ภูภิภุภะ” และอักขระยันต์อื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหรียญหล่อโบราณที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญหล่อโบราณพิมพ์เศียรแหลม”

เหรียญดังกล่าว สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2460 เช่นเดียวกัน มีลักษณะเป็นรูปใบสาเก หล่อแบบเป้าประกบหน้า-หลัง มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ห่มจีวรเฉียงพาดสังฆาฏิ มีอาสนะรอง มีรูปพญานาคอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาขององค์พระ ใต้พญานาค มีอักขระขอม ส่วนด้านล่างใต้อาสนะเป็นตัวอักษรอ่านว่า “วจชง”

ด้านหลัง บนสุดมีอักขระขอมตัวนะ ใต้ตัวนะมีพระคาถา 4 แถวเรียงลงมา อ่านว่า “กิ ริ มิ ทิ” “กุ รุ มุ ทุ” “เก เร เม เท” “กึ รึ มึ ทึ” ส่วนด้านล่วงสุดเป็นตัวอักษร “อ”

เป็นอีกวัตถุมงคลที่ได้รับความศรัทธาและเชื่อมั่นในพุทธาคม





หลวงพ่อบ่าย ธัมมโชโต

ชีวประวัติ หลวงพ่อบ่าย ได้รับการบันทึกเป็นหลักฐานน้อยมาก แต่เท่าที่สืบค้นมาได้ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 8 ปีระกา ตรงกับพุทธศักราช 2404 ที่บ้านครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

เป็นเด็กกำพร้าซึ่งพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี พี่ชายหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่ออายุ 10 ปี ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีจากพระอาจารย์คล้ำ วัดสวนทุ่ง ก่อนบรรพชาเป็นสามเณร

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ มีหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์พุก วัดสวนทุ่ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ เป็นอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาที่วัดทองนพคุณ จ.เพชรบุรี

ด้านการศึกษาวิทยาคมนั้นเรียนกับหลวงพ่อพุก วัดสวนทุ่ง และพระอาจารย์เกตุ วัดทองนพคุณ อีกทั้งยังได้เรียนเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม พร้อมกับเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานและพุทธาคมควบคู่กันไปด้วย ท่านจึงมีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อแก้วเป็นอย่างยิ่ง

ปี พ.ศ.2437 ไปธุดงค์ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย โดยมีพระภิกษุติดตามไปด้วย 4 รูป คือ อาจารย์ไปล่ พระยา พระพลอย และโยมอุปัฏฐากหนึ่งคน ออกเดินทางในราวเดือน 12

เมื่อไปถึงและนมัสการพระพุทธบาทและพระพุทธฉายแล้ว พักแรมอยู่ประมาณเดือนเศษ ก่อนเดินทางต่อไปที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปนมัสการพระแท่นดงรัง ในราวเดือน 4 กลางเดือน พักแรมอยู่ที่พระแท่นดงรัง 7 วัน

ครั้นเสร็จภารกิจแล้ว ก็เดินกลับวัดช่องลม การไปธุดงค์ในครั้งนี้เป็นเวลา 4 เดือนเศษ

ขณะนั้นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม แทนหลวงปู่แก้ว ซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ในปี พ.ศ.2445

พ.ศ.2470 จึงย้ายที่ตั้งวัดใหม่ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งวัดช่องลม เดิมติดโค้งน้ำของแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งพังไปทุกปี จนท้ายที่สุดน้ำกัดเซาะพังจวนจะถึงกุฏิ จึงย้ายมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน

การก่อสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ นั้นไม่เคยบอกใคร ไม่เคยเรี่ยไรนอกวัด เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวว่าจะทำอะไร ก็จะมีผู้คนจำนวนมากมายมาร่วมทำบุญ บางรายถวายอิฐบ้าง บางรายถวายไม้บ้าง บางรายถวายกระเบื้องบ้าง บางรายไม่มีทรัพย์ก็เอาแรง บางรายถวายปัจจัยบ้าง สุดแต่ว่าใครมีอะไรก็นำมาตามกำลังศรัทธา

มีความประสงค์จะสร้างพระพุทธฉาย (ถ้ำไห) ซึ่งรับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ด้วยการบอกบุญกับชาวบ้านขอไหต่างๆ และก่อสร้างโดยพระสงฆ์ ขอร้องให้จางวางสอน (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง และสร้างแพะไว้หน้าถ้ำ 1 ตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพ่อบ่าย

ต่อมาในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามโลก พวกโจรมิจฉาชีพตัดหัวแพะ และถอดเอาตรีที่ปักยอดเจดีย์ไปเกือบหมด เพื่อหวังทรัพย์ จึงเหลืออยู่แต่ยอดบนๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ถือเป็นพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังที่มีวิทยาคมเข้มขลังในยุคนั้น ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ในงานหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ เมื่อปี พ.ศ.2481 และงานพุทธาภิเษกใหญ่แทบทุกงาน

วัตถุมงคลที่จัดสร้างล้วนแต่มีพุทธคุณโดดเด่น เป็นที่ปรารถนา ทั้งประเภทเครื่องรางของขลัง เหรียญหล่อโบราณ พระพิมพ์ พระผง ฯลฯ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2485

สิริอายุ 81 ปี พรรษา 60 •


10  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / ยาดมไทย ใครๆ ก็ทำได้ เมื่อ: 16 เมษายน 2567 17:23:19


ยาดมไทย ใครๆ ก็ทำได้

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 เมษายน 2567
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ.2567



ซอฟต์เพาเวอร์ จะหมายความอย่างไรแน่ยังไม่มีข้อสรุป แต่ก็กำลังเป็นความหวังสร้างเศรษฐกิจไทย

ยาดมไทยนับเป็นซอฟต์เพาเวอร์หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ต่างชาติหลายภาษามาไทยนิยมซื้อกลับไปใช้และเป็นของฝาก คนไทยเองก็พกพาสูดดมกันทั่วไปทุกภาค

ถ้าว่ากันตามเกณฑ์กระทรวงวัฒนธรรม ที่ประกาศมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดและระดับชาติ ก็ต้องบอกว่า ยาดมไทยยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน มีที่ใกล้เคียงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2556 คือ “ยาหม่อง” ในประเภท : การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน

ทางกระทรวงวัฒนธรรมให้ความรู้ไว้ว่า แต่ก่อนที่ผลิตยาหม่องออกมาขายนั้น บรรดานายห้างและร้านค้าได้จ้างลูกจ้างชาวพม่า (ซึ่งแสดงว่าไทยรับเอาแรงงานเพื่อนบ้านมานานแล้ว) ออกมาเดินเร่ขายตามบ้าน ชาวบ้านพากันเรียกยาขี้ผึ้งกันทั่วไปว่า “ยาหม่อง” เรื่อยมา

วิธีการปรุงยาหม่องแต่ดั้งเดิมนั้น จะใช้สมุนไพรหลายชนิดแล้วแต่สูตร แต่ก็มีสรรพคุณได้ทั้งยาทาและยาดม จึงพบสมุนไพรที่ใช้กันส่วนมากเป็นพวกให้น้ำมันหอมระเหยหรือมีกลิ่นหอมเย็น เช่น พิมเสน การบูร เกล็ดสะระแหน่ น้ำมันระกำ น้ำมันกานพลู น้ำมันอบเชย เป็นต้น และนำมาผสมในตัวขี้ผึ้งเพื่อให้เป็นเนื้อยาหม่อง

โดยในอดีตก็มักใช้ขี้ผึ้ง หรือไขสัตว์ต่างๆ ในปัจจุบันก็ใช้ตัวช่วยทันสมัยหาได้ง่ายจำพวกพาราฟินและวาสลีนในการทำยาหม่อง และมีสูตรผสมตามแต่จะต้องการสรรพคุณ เช่น แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้นวดแก้ปวดเมื่อย ฯลฯ และยาหม่องยังใช้สูดดมแก้วิงเวียน คัดจมูกได้ด้วย เข้าข่าย 2 in 1 นั่นเอง

สําหรับ “ยาดมไทย” มีดีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในมุมยาสมุนไพรยาดมช่วยให้ลมทั่วร่างกายเดินได้สะดวก สูดยาดมที่ไรช่วยให้จมูกโล่ง สมองโล่ง หายใจไม่ติดขัดออกซิเจนในเลือดก็เดินดี ช่วยให้การสูบฉีดโลหิตดีขึ้น ก็ทำให้หทัยวาตะหรือลมเลี้ยงหัวใจเดินคล่อง

ยาดมจึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หายง่วงและมึนงง และช่วยให้มีภูมิต้านทานโรคดีเพราะเลือดลมเดินดีด้วย

ตามภูมิปัญญาไทยเราร่ำรวยสูตรยาดม คนที่สนใจยาดมชื่อโบราณก็น่าจะเคยได้ยินยาดมส้มโอมือ ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งของส้มมะงั่ว หรือสูตรยาดมผิวส้ม 8 อย่างก็มี

ในครั้งนี้ขอเสนอสูตรยาดมที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยนำสูตรจากการเผยแพร่ของศูนย์ข้อมูล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำมาปรับประยุกต์และนำไปอบรมให้นักเรียนโรงเรียนประชานิเวศน์แผนกมัธยม และสอนให้เด็กในชุมชนในกรุงเทพฯ 2-3 แห่ง เพื่อทำไว้ให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายใช้พึ่งพาตนเอง

สูตรยาดมทั่วไปแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ประเภทเป็นน้ำหรือของเหลว และที่เป็นสมุนไพรบดใส่ถุงในกระปุกให้สูดดม สูตรยาดมที่ทางมูลนิธินำไปสอนให้ทำเองนั้น เป็นการผสมผสานให้เป็นยาดมที่มาจากสมุนไพรบดผสมกับสารให้กลิ่นหอม จึงได้ยาดมที่มีของเหลวผสมในสมุนไพรแห้งด้วย

ส่วนประกอบที่ใครๆ ก็ทำได้ ให้นํากระวาน 1 ผล โป๊ยกั๊ก 1 ผล กานพลู 5 ดอก อบเชย 1 ช้อนชา ลูกผักชี 1 ช้อนชา พริกไทยดำ 1 ช้อนชา สมุนไพรแห้งเหล่านี้หาซื้อตามร้ายขายวัตถุดิบยาไทย เคล็ดลับคือ ควรตำหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ จะดีกว่าไม่บด สมุนไพรที่ละเอียดจะให้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเฉพาะตัว หอมนวลเวลาสูดดม สัดส่วนที่กล่าวไว้เมื่อบดหรือตำแล้ว คลุกให้เข้ากัน ใส่ภาชนะไว้ก่อน

ส่วนประกอบจำพวกที่ผสมแล้วจะเป็นของเหลว คือ ใช้การบูรและพิมเสน อย่างละ 1 ช้อนชา ผสมในกระปุกปากกว้างมีฝาปิด คนเข้ากันจะเป็นของเหลว แค่การบูรและพิมเสนก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้ามีทุนทรัพย์ก็สามารถเติมสมุนไพรที่มีราคาแพงขึ้นได้อีก 2 ชนิด จะช่วยกลิ่นดียิ่งขึ้น คือ เติมเมนทอล 2 ช้อนชา ผสมลงไปเป็นของเหลว เมื่อละลายเข้ากันดีแล้ว เติมน้ำมันยูคาลิปตัสสัก 3 ม.ล. ปิดฝาไว้

สูตรสมุนไพรนี้ สามารถแบ่งสมุนไพรแห้งที่บดแล้วลงไปในขวดเล็กขนาด 7 ม.ล. ได้ถึง 3 ขวด จากนั้นก็เทน้ำมันสมุนไพรที่เป็นของเหลวที่เตรียมไว้ลงไปในขวดเล็กๆ ทั้ง 3 ขวด เคล็ดลับอีกประการคือ ให้หาผ้ากอซหรือสำลีเล็กๆ ขนาดพอดีกับปากขวด ปิดไว้จะช่วยให้กลิ่นอยู่นานขึ้น บางคนไม่ชอบกลิ่นพิมเสนการบูรจะไม่ใส่ก็ได้ และสารให้กลิ่นเหล่านี้ไม่ควรสูดดมถี่และมากไป จะทำให้ระคายเคืองจมูกได้ เด็กเล็กไม่ควรใช้

สมุนไพรในยาดมสูตรนี้หาได้ง่ายทั่วไป ทั้งกระวาน กานพลู อบเชย ลูกผักชี พริกไทยดำ แต่คงมีคนสงสัยว่า โป๊ยกั๊ก นี่เป็นสมุนไพรจีนมาได้อย่างไร ก็คงเพราะวัฒนธรรมผสมผสานไทยจีน หมอยาไทยเองก็เรียกว่าจันทน์แปดกลีบ ตามลักษณะรูปดาวแปดแฉก และชื่อ โป๊ยกั๊ก (โป๊ย = แปด, กั๊ก = แฉก) ซึ่งก็มีการนำมาใช้ตามสรรพคุณตำรายาไทยด้วยคือ ผลใช้ขับลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย แก้ไอ แก้เกร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้ปวดท้อง ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ ขับน้ำนม เพิ่มการไหลเวียนโลหิต

และยังมีการใช้น้ำมันหอมระเหยจากจันทร์แปดกลีบนี้ผสมในยาผงชนิดหนึ่งใช้แก้อาการหืดหอบ น้ำมันหอมจากโป๊ยกั๊กจึงมีกลิ่นช่วยระบบทางเดินหายใจได้และช่วยการไหลเวียนเลือด จึงเป็นกลิ่นหอมที่ดีในยาดมนั่นเอง

กิจกรรมครอบครัวทำยาดมไทยติดตัวติดบ้านได้ง่ายๆ แต่สำหรับ “ยาดมไทย” แม้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาชาติ แต่ก็เป็นซอฟต์เพาเวอร์สร้างมูลค่าการตลาดวงการสมุนไพรนับพันล้านแล้ว •



คอลัมน์   โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง   https://www.matichonweekly.com/column/article_760031
11  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 16 เมษายน 2567 17:14:30

พระเครื่อง ‘ชุดกิมตึ๋ง’ พระสี่กร-พระมอญแปลง-พระประคำรอบ-พระปรกชุมพล

พระเครื่อง ‘ชุดกิมตึ๋ง’ พระสี่กร-มอญแปลง ประคำรอบ-ปรกชุมพล

ที่มา -  คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อ งมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2566



จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกพื้นที่ที่มีการค้นพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก มีพุทธลักษณะที่หลากหลาย มีการตั้งชื่อเรียกเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากที่พบในแหล่งอื่นทั่วไป

ที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว ที่เรียกว่า พระขุนแผน ซึ่งใช้ชื่อตัวละครเอกในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่อง ขุนช้างขุนแผน กำหนดเรียก และรู้จักกันในฐานะพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม

สำหรับ “พระชุดกิมตึ๋ง” เป็นพระพิมพ์อีกหนึ่งของสุพรรณบุรีที่มีชื่อเรียก และพิมพ์ทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ


พระเครื่องชุดกิมตึ๋ง ประกอบด้วยพระ 4 องค์ คือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก หรือพระปรกชุมพล รวมเป็นสี่องค์

พระชุดนี้เป็นพระกรุที่ถูกพบที่วัดพลายชุมพล ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ติดกับเขตวัดพระรูป มีซากพระเจดีย์ที่พังทลายลงมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2446 ไม่มีใครทราบว่าพระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงอย่างไร เหลือแต่ฐานซึ่งกว้างมากประมาณ 50 เมตร นับว่าเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่องค์หนึ่งทีเดียว บริเวณรอบฐานพระเจดีย์ในปี พ.ศ.2446 มีพระเครื่องเนื้อดินเผาอยู่ปะปนกับเศษอิฐกองอยู่เต็มไปหมด
 
ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจกันนัก บ้างก็เห็นว่าเป็นของวัด ไม่ควรนำมาไว้ที่บ้าน และอีกอย่างหนึ่งคือ พระมีมากมายกองอยู่เต็มไปหมด

ต่อมามีพวกนักเที่ยว พวกวัยรุ่นคะนองสมัยนั้น เมื่อผ่านมา ต่างก็หยิบพระไปคนละองค์สององค์ บ้างก็เอาผูกกับผ้าคาดแขนไว้ บ้างก็อมไว้ในปาก แล้วไปเที่ยวตามถิ่นต่างๆ และเกิดกระทบกระทั่งกับเจ้าถิ่น เกิดมวยหมู่ ตะลุมบอนกัน ทั้งมีดทั้งไม้

ปรากฏว่าคนที่เอาพระกรุนี้ไปด้วย ไม่มีใครเลือดตกยางออก ส่วนคนที่ไม่ได้เอาพระติดตัวไป ปรากฏว่าได้เลือดทั้งสิ้น

หลังจากนั้น จึงทำให้ชื่อเสียงของพระกรุนี้โด่งดังไปทั่ว และมีประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านอยู่ยงคงกระพัน เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว พระกรุนี้จึงเริ่มถูกตามเก็บ จนร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด

พระกรุชุดดังกล่าว มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกัน มี 4 พิมพ์ ตามที่ได้กล่าวมา คือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระปรกชุมพล

“พระสี่กร” พิมพ์ทรงคล้ายผลมะปรางผ่าซีก สูงประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยอดบนค่อนข้างแหลมกว่าทุกองค์ องค์พระประธานประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย พระเกศสูงชะลูด พระพักตร์เลือนไม่ปรากฏรายละเอียด พระกรทั้งสองข้างเป็นคู่ตามชื่อเรียก เนื้อองค์พระส่วนมากหนึกแน่นและแกร่ง มีเม็ดทรายน้อย

“พระมอญแปลง” พิมพ์ทรงจะคล้ายผลมะปรางผ่าซีก มีทั้งพิมพ์ใหญ่ ความสูง 4-4.5 เซนติเมตร และพิมพ์เล็ก สูง 3 เซนติเมตร องค์พระแสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ไม่แน่นและแกร่งเท่าพระสี่กร

“พระประคำรอบ” พิมพ์ทรงคล้ายผลมะปรางผ่าซีก แต่ค่อนข้างกลมกว่าทุกพิมพ์ องค์พระแสดงปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีลักษณะคล้ายดอกจิก รอบซุ้มมีเม็ดกลมลักษณะเป็นลูกประคำ ตามชื่อเรียก

“พระนาคปรก” หรือ “ปรกพลายชุมพล” พิมพ์ทรงจะคล้ายผลมะปรางผ่าซีกเช่นกัน มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก องค์พระประทับนั่งแสดงปางสมาธิ เศียรพญานาค 7 ตัวแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง พิมพ์ใหญ่เนื้อหยาบ ส่วนพิมพ์เล็กเนื้อค่อนข้างละเอียด

พิมพ์ด้านหลังพระชุดกิมตึ๋ง ทั้ง 4 องค์ มีลักษณะมนและขรุขระเล็กน้อย บางองค์มีรอยหยิบด้วยมือ บางองค์เป็นลายมือ

พระชุดนี้เป็นที่นิยมกันมากในสุพรรณบุรี ต่างก็เสาะกันมากและพยายามหาให้ครบ 4 องค์ และเรียกกันในสมัยนั้นว่า “พระชุดพลายชุมพละ”

ต่อมาพระเครื่องชุดนี้แพร่หลายเข้ามาสู่เมืองกรุง และได้รับความนิยมกันมากเช่นกัน และก็มีผู้ตั้งชื่อกันใหม่ว่า “พระชุดกิมตึ๋ง” แต่ก็สืบค้นไม่ได้ว่าใครเป็นคนตั้งชื่อนี้ “กิมตึ๋ง” เป็นชื่อที่มีความเป็นมาอย่างไร

สืบสาวราวเรื่อง พบว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการจัดประกวดโต๊ะหมู่บูชา อันประกอบด้วย ชุดถ้วยกระเบื้องเคลือบ และชุดกระเบื้องเคลือบที่ได้รับรางวัล มีชื่อเสียงได้รับคำยกย่องว่าสวยงามมาก คือ ชุดกิมตึ๋ง ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่พระยาโชฏึกราชเศรษฐี ได้สั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน มาจำหน่ายในประเทศไทย ถ้วยที่ส่งมาใต้ก้นประทับตราว่า “กิมตึ๋ง-ฮกกี่” แปลว่าเครื่องหมายอันวิเศษอย่างเต็มที่

ถ้วยที่ส่งมาชุดนี้ ส่งมาเป็นชุด 4 ใบ อาจจะเป็นเพราะพอดีกับพระชุดพลายชุมพลมี 4 องค์พอดี และมีคุณวิเศษอยู่ด้วย จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกพระชุดนี้ในเวลาต่อมาว่า “พระชุดกิมตึ๋ง” และเรียกกันมาจนทุกวันนี้

ส่วนชื่อกรุนั้น วัดพลายชุมพลซึ่งเป็นวัดร้างติดกับวัดพระรูป จนกลายมาเป็นกรุวัดพระรูปไปโดยปริยาย

บรรดานักนิยมสะสมพระเครื่อง ให้ความเห็นว่า พระชุดกิมตึ๋งอาจไม่สวยงามนัก เนื่องจากเป็นศิลปะแบบนูนต่ำตื้น แต่ก็เป็นเอกลักษณ์ของพระกรุดังกล่าว แต่คุณวิเศษที่เลื่องกันมากในด้านอยู่ยงคงกระพัน จนเป็นที่ยอมรับ และนิยมในหมู่ผู้ที่สะสมในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ถ้าเอาพระสมเด็จวัดระฆัง มาแลกกับพระชุดกิมตึ๋งทั้งชุด รับรองว่าเจ้าของพระชุดกิมตึ๋ง ต้องไม่ยอมอย่างแน่นอน

อีกประการหนึ่ง พระชุดนี้มีทั้งหมด 4 องค์ เวลานำมาห้อยคอ จึงมักนำพระมาเพิ่มอีกองค์หนึ่ง จะได้ครบ 5 องค์ และมักจะนิยมนำพระขุนแผนไข่ผ่ามาห้อยไว้ตรงกลาง เป็นอันครบ 5 องค์ •





พระลีลาทุ่งเศรษฐีหลวงพ่อนารถ

พระปางลีลาทุ่งเศรษฐี หลวงพ่อนารถ นาคเสโน วัดศรีโลหะฯ จ.กาญจนบุรี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2566



“พระครูโสภณประชานารถ” หรือ “หลวงพ่อนารถ นาคเสโน”  วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง หมู่ 1 ต.ท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปของเมืองกาญจน์

วิทยาคมไม่เป็นสองรองใครในยุคนั้น วัตถุมงคลได้รับความนิยมแทบทุกชนิด แต่บางอย่างหาชมของแท้ได้ยากยิ่ง

โดยเฉพาะ “พระลีลาทุ่งเศรษฐี” สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 จนถึงปี พ.ศ.2508

ลักษณะเป็นพระยืนปางลีลาทุ่งเศรษฐี โดยหลวงพ่อนารถ ผสมเนื้อและกดพิมพ์เองที่วัด โดยจะทยอยสร้างเรื่อยๆ ดังนั้น เนื้อพระจะมีสีอ่อนหรือเข้มแตกต่างกันไปตามแต่ส่วนผสมของมวลสารในครกนั้นๆ

เท่าที่พบเห็นสามารถแยกเนื้อพระออกเป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อสีขาวอมชมพู (แก่ผง) และเนื้อสีน้ำตาลเข้ม (แก่ว่าน) โดยองค์พระมีทั้งที่ทาทอง และไม่ทาทอง

ในพระชุดนี้ สันนิษฐานว่าหลวงพ่อนารถฝังตะกรุดไว้ทุกองค์ (บางองค์จะเห็นตะกรุดโผล่ออกมาให้เห็น)

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธปางลีลาทุ่งเศรษฐี บนฐานบัวหงาย องค์พระมีเส้นรอบพิมพ์ ที่ยอดขององค์พระมีการติดชันโรงเสกของหลวงพ่อ ในบางองค์จะมีการทาบรอนซ์ทอง

ด้านหลัง เรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

พุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี ปืนผาหน้าไม้ มีดหอกของแหลมไม่ระคายผิว ซึ่งผู้ที่มีวัตถุมงคลต่างมีประสบการณ์มากมาย

ได้รับความนิยมสูงและนับวันจะหายาก





หลวงพ่อนารถ นาคเสโน


เดิมท่านมีชื่อว่า นารถ เพิ่มบุญ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม 2444 ที่ที่บ้านหมู่ 1 ต.หุน้ำส้ม อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายพิมพ์ และนางสมบุญ เพิ่มบุญ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แต่ด้วยที่ฐานะทางบ้านยากจน พอเรียนจนมีความรู้พออ่านออกเขียนได้ จึงออกมาช่วยบิดามารดาทำนาปลูกข้าว เลี้ยงครอบครัว

พ.ศ.2473 อายุครบ 29 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2473 มีพระวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูยติวัตรวิบูล (พรต)  วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดจู วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า “นาคเสโน”

จำพรรษาอยู่ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อพรต และเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง พ.ศ.2488 สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังเดินทางไปศึกษาอาคมกับหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และไปศึกษาเพิ่มเติมจากหลวงพ่อนาก  วัดท่าน้ำตื้น

ด้วยความศรัทธาในการศึกษาหาความรู้ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปศึกษากับหลวงพ่อสด จันทสโร วัดปากน้ำ เกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชชาธรรมกาย โดยไปเรียนวิชาด้วยถึง 2 ครั้ง 2 ครา

ในส่วนของอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ไปศึกษาวิชาในทางแก้คุณไสยจากคุณแม่มูล และจากนายคำ สุขอุดม ศึกษาวิชาคงกระพัน และแก้คุณไสย จากนายขัน ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากนายหมุน ศึกษาตำรายาเกี่ยวกับโรคไตจากนางเลียบ

พ.ศ.2494 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโลหะฯ ว่างลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส และพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ

เป็นพระเถระที่มีบุคลิกเรียบร้อย พูดจาฟังง่าย เมตตาสูง และสิ่งหนึ่งที่ทำเป็นประจำไม่เคยขาด คือ การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน

ครั้งที่ยังมีพรรษาน้อย ชอบออกท่องธุดงค์ ศึกษาวิทยาคมต่างๆ ได้รู้จักและเป็นศิษย์กับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน

เชื่อกันว่า เป็นพระที่เก่งกล้าวิชาอาคมด้วยกันหลายแขนง โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิชาคงกระพัน และวิชาแก้คุณไสย

ปี พ.ศ.2519 หลวงพ่อนารถ พร้อมลูกศิษย์ขุดพบตะกั่วเก่า (ตะกั่วพันปี) จาก อ.ศรีสวัสดิ์ จำนวนหลายตัน หลอมเทเป็นก้อนขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายกับฝาขนมครก มีสนิมแดงเกาะอยู่ทั่วก้อนตะกั่ว เป็นตะกั่วชนิดเดียวกันกับพระท่ากระดาน กรุเก่า

เข้าใจว่า น่าจะเป็นตะกั่วที่หลอมเทไว้ทำพระท่ากระดานในสมัยโบราณยุคอู่ทอง ด้วยสถานที่ขุดพบ เป็นบริเวณเดียวกับที่พบกรุพระท่ากระดาน และภายในกรุที่ขุดพบพระท่ากระดาน ยังพบก้อนตะกั่ว ซึ่งมีลักษณะเดียวกัน ลงอักขระขอมโบราณ กำกับไว้บนก้อนตะกั่วบรรจุไว้ด้วยกันอีกจำนวนหนึ่ง

พ.ศ.2519-2520 นำตะกั่วเก่าที่ขุดได้ มาจัดสร้างพระเครื่องออกจำหน่าย เพื่อเป็นทุนในการสร้างโบสถ์ และอีกส่วนหนึ่งจัดเป็นทุนให้ชาวบ้านนำไปบูรณะวัดในเขต อ.ศรีสวัสดิ์

ทั้งนี้ การสร้างพระเครื่องนั้น จะใช้ตะกั่วเก่ามารีด แล้วกดเป็นพิมพ์พระ (ไม่มีการหลอมตะกั่ว) ส่วนใหญ่เป็นรูปพิมพ์เลียนแบบพระท่ากระดาน ยุคเก่า พิมพ์รูปแบบอื่นมีบ้าง แต่ไม่มากนัก

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2498 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2511 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูโสภณประชานารถ

พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

มรณภาพโดยอาการสงบจากโรคชรา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2530

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 57 •





เหรียญเสมาหลวงปู่รอด

เหรียญเสมาเนื้อฝาบาตร หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน พระเกจิชื่อดังสมุทรสาคร

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2566

 
“หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ” วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าวิทยาคมอีกรูป

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น เช่น ตะกรุดโทน เหรียญหล่อเหรียญปั๊มรุ่นแซยิด เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ เหรียญปั๊มพิมพ์เสมาอัลปาก้า เป็นต้น

ล้วนได้รับความเลื่อมใส นิยมนำไปคล้องคอติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล

ที่ได้รับความนิยมสูง คือ เหรียญเสมา พ.ศ.2482 เนื้อฝาบาตรช้อนส้อม ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูฐานานุกรมในปี พ.ศ.2482 อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เป็นผู้รับมอบหมายและดำเนินการสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ ด้านล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “พระครูรอด”

ด้านหลังเป็นอักขระภาษาขอมสี่แถว อักขระภาษามอญหนึ่งแถว อ่านได้ว่า “อะระหัง สัยยะ ยาวะเท อุเย อะเย เวี่ยเปี๊ยเที่ยจะ”

กล่าวขานกันว่าผู้ใดพกพาอาราธนาติดตัวว่าจะรอดพ้นจากภัยพิบัตินานัปการ ดลบันดาลให้มีความสุข ความเจริญ อายุยืนยาวนาน

ปัจจุบันนับเป็นที่นิยมและหายาก




หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน พ.ศ.2406 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 บิดา-มารดา ชื่อ นายทองดี และนางเกษม บุญส่ง มีเชื้อสายรามัญ

ช่วงเยาว์วัย บิดา-มารดา นำมาฝากหลวงปู่แค เจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน ให้เลี้ยงดู เนื่องจากเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก อ่อนแอ เป็นเด็กขี้โรค จึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมหลวงปู่แค ตั้งแต่นั้นมาก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หลวงปู่แคจึงตั้งชื่อให้ว่า “รอด”

อายุ 12 ปี เข้าพิธีบรรพชา ตรงกับปี พ.ศ.2418 ศึกษาพระปริยัติธรรม พร้อมทั้งศึกษาวิชาอาคม และวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงปู่แค

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีพระอธิการแค เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แจ้ง วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปั้น วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสัณโฑ”

เรียนและฝึกวิปัสสนารวมถึงพุทธาคมจากพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงปู่แคมรณภาพลง ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านและคณะสงฆ์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

สําหรับวัดบางน้ำวน ตั้งอยู่เลขที่ 81 หมู่ที่ 4 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 54 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ได้รับหนังสือรับรองสภาพวัด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 โดยกรมการศาสนา

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ก.ม.ที่ 40 จากกรุงเทพฯ อยู่ทางซ้ายมือ มีถนนเชื่อมต่อถึงวัดระยะทางประมาณ 1,600 เมตร บริเวณหน้าวัดติดกับคลอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน

วัดแห่งนี้ เป็นวัดเล็กๆ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2357 สร้างขึ้นโดยการนำของสามเณรและชาวมอญ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ตำบลนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสุนทาน เป็นแหล่งบวชเรียนและศึกษาวิชาความรู้ของบุตรหลานชาวมอญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยพระอาจารย์แค เมื่อปี พ.ศ.2407 และผูกพัทธสีมาในปีเดียวกัน

ในอดีตวัดบางน้ำวน บริเวณหน้าวัดจะมีน้ำวนที่เชี่ยวกราก ผู้ใดที่ไม่รู้จักร่องน้ำในการเดินเรือ เรือจมกันมาหลายต่อหลายลำแล้ว จนกลายเป็นที่มาของชื่อวัด

ด้วยวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน ต่างพากันมาช่วยเป็นกำลังในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรือง เป็นลำดับ ถึงความเจริญจะเข้าสู่วัดบางน้ำวนแล้ว ท่านก็ยังมีเมตตาช่วยเหลือพัฒนาวัดต่างๆ ด้วย เช่น วัดบางกระเจ้า วัดบางสีคต วัดนาโคก วัดบางลำพู วัดบางจะเกร็ง วัดเจริญสุขาราม ฯลฯ

นอกจากหลวงปู่รอดช่วยพัฒนาวัดวาอารามอื่นๆ แล้ว ยังช่วยพัฒนาในด้านการศึกษา จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และยังสร้างโรงเรียนประชาบาลไว้ให้กุลบุตร กุลธิดาได้ศึกษาเล่าเรียนกัน โดยมีชื่อของโรงเรียนว่ารอดพิทยาคม เพื่อเป็นอนุสรณ์

ออกธุดงค์ไปยังประเทศพม่าเป็นเวลาหลายปี ผ่านไปเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งเป็นตระกูลกำเนิดปู่ย่าตายาย จากนั้นผ่านเมืองย่างกุ้ง ข้ามมาระนอง เข้าเมืองกาญจน์

ระหว่างออกธุดงค์นั้น ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาเมตตามหานิยม วิชาคงกระพันชาตรี วิชาทำผ้ายันต์บังไพร วิชาทำธงไม่ให้ฝนตก วิชาเสกของหนักให้เบา วิชาแพทย์แผนโบราณ จากคณาจารย์ชาวมอญ พม่า กะเหรี่ยง

อีกทั้งสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นพิเศษ จึงจดจำตำรายาทุกชนิดได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเข้าสู่วัยชรา ชาวบ้านจึงขอร้องให้โปรดญาติโยมประจำที่วัดและได้ตั้งกฎระเบียบทำวัตรปฏิบัติธรรมของวัดบางน้ำวน คือ จากสองทุ่มถึงสี่ทุ่มทุกคืน จนเป็นกิจวัตรของวัดบางน้ำวน และมีการตีกลอง ระฆังย่ำค่ำจนถึงปัจจุบัน

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2437 เป็นเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน

พ.ศ.2447 เป็นเจ้าอธิการ (เจ้าคณะตำบล)

พ.ศ.2452 เป็นพระอุปัชฌาย์สามัญ

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2482 เป็นพระครูชั้นประทวน และพระครูกรรมการศึกษา

มรณภาพเมื่อเวลา 00.20 น.วันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ.2487

สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61 •

 

4
12  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 10 เมษายน 2567 15:36:44

เหรียญรัตโต หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

เหรียญหล่อรูปใบโพธิ์ หลวงพ่อดำ อินทสโร วัดตาลบำรุงกิจ ราชบุรี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2566
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2566


“หลวงพ่อดำ อินทสโร” วัดตาลบำรุงกิจ ต.สี่หมื่น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พระเถราจารย์ยุคเก่าราชบุรี มีชื่อเสียงโด่งดัง และลูกศิษย์ลูกหามากมาย มิใช่เฉพาะเมืองราชบุรีเท่านั้น

วัตถุมงคลเป็นที่นิยมสูงเป็นอันดับต้น ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

วัตถุมงคลยุคแรก ทำเครื่องรางตะกรุด ครั้นเมื่อผู้ได้รับนำไปมีประสบการณ์จนเป็นที่กล่าวขวัญ ทำให้โด่งดังมาก มีชาวบ้านแห่มาขออยู่เป็นประจำ

แต่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ เหรียญหล่อเนื้อทองเหลือง รูปหัวใจหรือรูปใบโพธิ์ เป็นเหรียญหล่อพระเกจิที่เก่าแก่ที่สุดอีกเหรียญ

สร้างในปี พ.ศ.2459 ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ มีหูห่วง ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนนั่งเต็มองค์ ห่มจีวรแบบลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีช่อมะกอกผูกด้วยโบด้านล่าง ใต้รูปเหมือน มีตัวเลขไทย “๒๔๕๙” ระบุปีที่สร้าง

ด้านหลัง เป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ ติ หัง จะ โต โล ทิ นัง พุท ธัง สัง มิ อินทสโร นะ ปะ ตะ กะ สะ”

มีคนเข้าไปขอกันมาก จนเหรียญหล่อหมด เป็นเหรียญพิเศษที่หายากยิ่ง ผู้มีไว้ครอบครองต่างหวงแหน




หลวงพ่อดำ อินทสโร

เกิดวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ปีขาล ตรงกับปี พ.ศ.2385 ที่บ้านคลองบางป่าใต้ ราชบุรี บิดาชื่อ นายปลิก มารดาชื่อ นางเหม

เป็นคนผิวดำ มารดาจึงเรียกท่านว่า “ดำ” ท่านเป็นคนนิสัยใจคอกล้าหาญมาแต่เด็ก พออายุสมควรเล่าเรียน บิดาจึงนำไปฝากเรียนหนังสือไทยและขอมที่สำนักวัดตาล

เนื่องจากพระอาจารย์เล็ก เป็นญาติทางบิดา เป็นครูที่ดุมาก กวดขันนักเรียนจนเป็นที่เกรงกลัว แต่เนื่องจากเป็นคนที่มีความตั้งใจสูงชอบศึกษาเล่าเรียน มีความอุตสาหะเล่าเรียนด้วยความขยัน ทำให้เกิดเมตตาจิตถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้ จนมีความรู้แตกฉาน

เมื่ออายุได้ 16 ปี จึงได้บรรพชา และศึกษาพระปริยัติธรรมจนอายุครบบวชในปี พ.ศ.2405 เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดตาลบำรุงกิจ มีพระครูอภัยมงคล (แดง) วัดจันทคาม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์ทอง วัดท่าสุวรรณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เล็ก วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ต่อมา จึงได้ออกธุดงค์และไปปริวาสธุดงค์กับพระอาจารย์อ้น วัดบางจาก อัมพวา โดยออกธุดงค์ไปทั่วประเทศคราวละ 2-3 ปี ได้พบพระอาจารย์เก่งๆ ในป่าลึก และได้รับถ่ายทอดวิชาต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังเสาะหาตำราเก่าๆ เอามาศึกษาฝึกฝนด้วยตัวเอง ระหว่างที่ได้ธุดงค์ไปนั้น ไปถึงไหนหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือชาวบ้านได้ ก็ช่วยอย่างเต็มกำลังเรื่อยไป จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส และก่อสร้างวัดต่างๆ ณ จุดที่ธุดงค์ผ่านเรื่อยไป

จนกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

พรรษาที่ 8 เจ้าอาวาสวัดตาลบำรุงกิจ ว่างลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์เห็นควรนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นวัดทรุดโทรมลงไปมาก จึงรับนิมนต์และได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา

วัดตาลบำรุงกิจ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เลขที่ 76 หมู่ 1 ต.สี่หมื่น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่

มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า นางตาล สร้างถวายเพื่อบำรุงพระศาสนา โดยบริจาคทรัพย์และที่ดิน วัดจึงตั้งชื่อวัดว่า วัดตาลบำรุง หรือเรียกสั้นๆ ว่าวัดตาล

ในอดีตมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น วัดตาลล้อม เนื่องจากตั้งอยู่บนเนินดินสูงมีต้นตาลรอบวัด หรือเรียกชื่อตามหมู่บ้านว่าวัดตาลสี่หมื่น

สมัยพระครูโสภณกิจจารักษ์ หรือหลวงพ่อเชย เจ้าอาวาสรูปถัดมา เห็นว่าชื่อห้วนเกินไป จึงเติมคำว่า “กิจ” เป็นวัดตาลบำรุงกิจ จนถึงปัจจุบัน

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วย มณฑป หรือชาวบ้านเรียกวิหารไห ลักษณะชั้นล่างเป็นไหโบราณก่อเป็นรูปภูเขา ชั้นบนเทคอนกรีต ปูพื้นด้วยหินอ่อน เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลม วิหารแบบทรงไทยโบราณไม่มีลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปราบพญาชมพูทวีป (ปางรัตนโกสินทร์) หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว สูง 120 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ ตรงข้ามแม่น้ำมีวัดราชคามตั้งอยู่

ด้วยความเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ครั้นเมื่อขอความร่วมมือจากชุมชน ชาวบ้านจะมาร่วมงานด้วยความเต็มใจ

อายุ 40 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2425 เจ้าคณะตำบล ตามลำดับ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย คนทางหัวเมืองใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ต่างก็มาเรียนวิชาจากท่านเสมอ

ปกครองวัดเรื่อยมา จนถึงแก่มรณภาพ ในปี พ.ศ.2475 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70 •





เหรียญรัตโต พ.ศ.2516 วัตถุมงคลหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี

เหรียญรัตโต พ.ศ.2516 วัตถุมงคลหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2566


“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” วัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ยอดพระเกจิผู้มีชื่อเสียง ไม่เพียงแต่ในเพชรบุรีเท่านั้น

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ เป็นที่นิยมและเสาะหากันอย่างแพร่หลาย

หลังสร้างเหรียญรุ่นแรกจนได้รับความนิยมแล้ว ยังมีเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่นที่ยอดฮิต

ได้แก่ เหรียญรัตโต อันเป็นนามฉายา

จัดสร้างในปี พ.ศ.2516 โดยคณะศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้รับการออกแบบจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ มีความสวยงาม โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่

แต่การสร้างในครั้งนั้น มีจำนวนที่ไม่เพียงพอ ถัดมาในปี พ.ศ.2517 จึงสร้างขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่าปั๊มครั้งที่สอง

การสร้างเหรียญรัตโต ในปี พ.ศ.2516 มีจำนวน 3,400 เหรียญ เป็นเนื้อเงิน 400 เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้ามีรูปเหมือนหันข้างแบบครึ่งองค์ กึ่งกลางด้านซ้ายรูปเหมือน เขียนอักษรคำว่า “รตฺโต” บรรทัดถัดลงมา เขียนคำว่า “พระครูญาณวิลาศ” และบรรทัดล่างสุด เขียนคำว่า “(หลวงพ่อแดง)”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ มีขีด 2 ขีดเป็นรูปวงรีล้อมรอบอักขระยันต์ ด้านล่างใต้ยันต์ เป็นตัวเลขไทย “๒๕๑๖” ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ.ที่สร้าง ส่วนนอกวงรีมีอักขระล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ปัจจุบันค่อนข้างหายาก





หลวงพ่อแดง รัตโต

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล อ้นแสง ที่บ้านสามเรือน หมู่ที่ 4 ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันพุธขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2422 บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องรวมกัน 12 คน ท่านเป็นคนที่ 5

วัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ

ครั้นถึงวัยหนุ่ม พ่อแม่หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับพระอาจารย์เปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดเขาบันไดอิฐ ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีพระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า รัตโต

เคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติต่อพระอาจารย์เป็นอย่างดี พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเมตตสอนวิชาการวิปัสสนา และวิธีนั่งปลงกัมมัฏฐานให้ รวมถึงถ่ายทอดวิทยาคมให้อย่างไม่ปิดบัง

เหตุนี้ทำให้มีความปีติเพลิดเพลินในการศึกษาวิชาความรู้ ยิ่งนานวันก็ยิ่งสำนึกในรสพระธรรม ไม่มีความคิดลาสิกขาแต่อย่างใด จึงกลายเป็นพระปฏิบัติดีที่มีอาวุโสสูงสุด

กระทั่งพระอาจารย์เปลี่ยนมรณภาพลง จึงรับหน้าที่เป็นสมภารวัดเขาบันไดอิฐแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา และแม้จะได้เป็นสมภารซึ่งต้องมีภารกิจมาก แต่ท่านก็ยังปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิในถ้ำเพื่อแสวงหาวิมุตติภาวนาทุกวัน

ไม่เคยอวดอ้างในญาณสมาธิใดๆ แต่ผลของความศักดิ์สิทธิ์ในเลขยันต์เป่ามนต์ได้สำแดงออกมาให้ประจักษ์ว่าคุ้มครองป้องกันภัยได้

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ระหว่าง พ.ศ.2477-2480 เวลานั้นเกิดโรคระบาดสัตว์ วัวควายเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อร้ายแรง พากันล้มตาย สัตว์แพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการมาช่วยฉีดยา ราษฎรจึงพากันไปหาหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้

จึงปลุกเสกลงเลขยันต์ในผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายนำไปผูกปลายไม้ปักไว้ที่คอกสัตว์ ปรากฏว่า คอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์หลวงพ่อแดงไม่ตาย ทุกบ้านในตำบลใกล้เคียงวัดเขาบันไดอิฐ เมื่อรู้กิตติศัพท์จึงพากันมาขอยันต์หลวงพ่อแดงทุกวันมิได้ขาด

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มหาสงครามเอเชียบูรพา เมืองเพชรบุรีมีระเบิดลงทุกวันทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ บ้านเรือน โรงเรียนต้องสั่งปิด ข้าราชการไม่ได้ไปทำงาน ทุกหน่วยราชการปิดหมด

และปรากฏเรื่องเป็นที่ฮือฮาว่า บ้านคนที่มีผ้ายันต์หรือเหรียญหลวงพ่อแดง กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูญาณวิลาศ

เป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่า ว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ท่านห้ามขาด เพราะทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระ พระท่านก็ไม่คุ้มครอง

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74

ก่อนสิ้นลม ได้ฝากฝังกับพระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล รองเจ้าอาวาสขณะนั้น ว่า “เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้ และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ”

พระปลัดบุญส่ง รับปากและได้ทำตามประสงค์ไว้ทุกประการ

ทุกวันนี้ ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาไม่เสื่อมคลาย •





เหรียญหลวงปู่แจ้ง รุ่น ร.ศ.๒๑๒

เหรียญรุ่น ร.ศ.๒๑๒ หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ พระเกจิชื่อดัง-อัมพวา

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2566


“หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท” อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 4 ของวัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เล่ากันว่า หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ก็เคยธุดงค์มาต่อวิชาด้วย ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงเจ้าอาคมเป็นอย่างดี

สำหรับวัตถุมงคลเท่าที่ทราบ เป็นประเภทเครื่องรางส่วนใหญ่ ทั้งเชือกคาดเอว (ตะขาบไฟไส้หนุมาน) มีดหมอ พระเนื้อดิน และน้ำมนต์

สำหรับเหรียญหลวงปู่แจ้ง รุ่น ร.ศ.๒๑๒ สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2536

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นหลังจากท่านละสังขารมานานแล้ว แต่ได้พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมปลุกเสกมากมาย เหรียญสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่” ที่เหรียญมีการตอกโค้ด อุณาโลม

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า “นะโมพุทธายะ อะระหัง” บนสุดมีตัวอุนาโลม ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “ร.ศ.๒๑๒” ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2536

ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

สําหรับวัดประดู่ เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าคงสร้างในราวปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ.2320 จากการค้นคว้าพอจะถือได้ว่าเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในย่านจังหวัดสมุทรสงคราม

ตามประวัติอดีตเจ้าอาวาสที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นมาที่วัด คือ หลวงปู่แจ้ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส มีผู้รู้ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสต้นทางน้ำ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2447 โดยเรือพระที่นั่งผ่านคลองหน้าวัดประดู่ และทรงแวะทำครัวเสวย และพระกระยาหารเช้า พระองค์ทรงนึกแปลกพระทัยว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านจึงได้มาชุมนุมกัน ณ ที่ศาลาท่าน้ำกันมาก จึงตรัสให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปสอบถามพวกชาวบ้านที่มาชุมนุมกัน

จึงได้ความว่าเจ้าอาวาสวัดนี้ เป็นพระที่มีวิชาอาคมสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และที่เลื่องชื่อที่สุดก็คือน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บุคคลใดที่โดนผีเข้าหรือโดนคุณไสยถ้าได้มารับน้ำมนต์แล้วจะได้ผลทุกรายไป ผีตัวใดก็ไม่อาจทนอยู่ได้

ส่วนยาศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เช่นกัน ทำขึ้นจากใบมะกาใช้คู่กับน้ำมนต์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบความจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว พระองค์ท่านก็เสด็จออกจากวัดประดู่

จากนั้นมาไม่นาน ก็ได้รับนิมนต์เข้าไปในพระราชวัง เพื่อรักษาพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศดำรงค์ศักดิ์

เมื่อถวายการรักษาเสร็จจนมีพระอาการดีขึ้น ทำให้ทรงเลื่อมใสในความสามารถ ก่อนจะลากลับจึงพระราชทานเครื่องอัฐบริขาร เตียงบรรทม เก๋งเรือ ปิ่นโต ฯลฯ เป็นที่ระลึก




หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท


พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จมายังวัดประดู่ ตามประวัติศาสตร์นั้น พระองค์ทรงถวายเครื่องราชศรัทธาที่น่าสนใจไว้แก่วัดอีกหลายชิ้น

จึงได้รวบรวมสิ่งของที่ได้พระราชทานเหล่านั้นจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา รัชกาลที่ 5 เพื่อเก็บดูแลรักษาสิ่งของเหล่านี้ให้ทรงคุณค่าอยู่ตราบนานเท่านาน และเพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ชมได้ศึกษา รวมถึงร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่กับชาววัดประดู่ตลอดไป

ตามประวัติเล่ากันว่า หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ได้เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอปราบภูตผีปีศาจ ทางมหาประสาน เชือกคาดชื่อตะขาบไฟหรือไส้หนุมาน มาจากหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ นี่เอง

รักษาคนด้วยตัวยาสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิด คือ ใบมะกากับข่าพร้อมคาถาเสก และต้มยาให้กิน

นอกจากยาใบมะกากับข่าเสกแล้ว สิ่งที่ขึ้นชื่อเมื่อเอ่ยถึงอีกอย่างหนึ่งก็คือ “น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์”

เล่ากันว่า เมื่อรดใครแล้วหายจากโรคทุกคน ไม่ว่าจะถูกคุณไสย ลมเพลมพัด เป็นบ้าเสียสติอย่างไร เมื่อมารดน้ำมนต์ที่วัดประดู่กลับไปแล้วหายทุกคน

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่แจ้งรับอาราธนาเข้าไปในวัง เมื่อเดินเข้าไปถึงที่ประตูวัง ประกอบกับท่านห่มจีวรเก่าๆ ทำให้ทหารยามที่ยืนเฝ้าปากประตูไม่ยอมให้ท่านเข้า จึงบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 นิมนต์ จะเข้าไปสวดมนต์ ท่านว่า “ในหลวงนิมนต์ฉันมา ฉันจะเข้าไปสวดมนต์ ดูสิฉันยังเตรียมพัดมาด้วยเลย” พร้อมทั้งเปิดพัดให้ดู ทหารยามถึงกับตกตะลึง เพราะตาลปัตรที่หลวงปู่ถือ เป็นตาลปัตรมีตราประจำพระองค์ (พัดปักดิ้นทองตราพระนารายณ์ทรงครุฑ) ทหารยามคนนั้นจึงต้องรีบนำหลวงปู่ไปส่งถึงด้านใน

เมื่อไปถึงจึงสำนึกตัวเป็นพระผู้น้อย จึงขึ้นนั่งบนอาสนะหลังสุด สังฆการีเห็นเข้าก็กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปนั่งอันดับสองรองจากสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ได้นั่งหน้าสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป

คาดว่ามรณภาพช่วงปี พ.ศ.2465-2472 สำหรับอัฐินั้น วัดประดู่ยังเก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้

น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกประวัติไว้อย่างชัดเจน มีแต่เพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น •


4
13  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / 5 สูตรหมักผมด้วยมะกรูด ลดผมร่วง ห่างไกลปัญหารังแค เมื่อ: 10 เมษายน 2567 14:47:54


5 สูตรหมักผมด้วยมะกรูด ลดผมร่วง ห่างไกลปัญหารังแค
ที่มา https://www.vogue.co.th/beauty

โบกมือลาปัญหารังแคด้วย ‘มะกรูด’ สมุนไพรพื้นบ้านที่มักนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในการใช้บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอาการคันหนังศีรษะ ปัญหารังแค และลดผมร่วงได้ ยิ่งถ้านำมาผสมกับส่วนผสมดีๆ จากธรรมชาติอื่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลบำรุงเส้นผมมากยิ่งขึ้น โว้กบิวตี้รวม 5 สูตรหมักผมด้วยมะกรูดที่ทำได้ง่าย งบน้อย ผมสวยไม่ไกลเกินเอื้อมไว้ที่ด้านล่างนี้แล้ว




น้ำมันมะกอก + มะกรูด
เพียงแค่คั้นน้ำมะกรูดใส่ลงในภาชนะที่เตรียมเอาไว้ จากนั้นใส่น้ำมันมะกอกลงไป 3 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน เเล้วนำมาชโลมให้ทั่วเส้นผมเเละหนังศีรษะ หมักทิ้งไว้ 30 นาทีขึ้นไป เเล้วล้างออกด้วยการสระผมตามปกติ สูตรนี้จะทำให้เส้นผมนุ่มลื่น ไม่พันกัน ลดอาการคันที่ศีรษะ ปัญหารังแค และหนังศีรษะหลุดลอก




อัญชัน + มะกรูด
เริ่มจากการต้มน้ำจนเดือดแล้วใส่ดอกอัญชัน 10-15 ดอกลงไป ปิดฝาทิ้งไว้ให้เย็น ตักดอกอัญชันทิ้ง แล้วคั้นน้ำมะกรูดผสมลงไป จากนั้นนำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนจะใช้หมักผมแนะนำให้ล้างผมให้สะอาดก่อน 1 ครั้ง จึงค่อยนำน้ำมะกรูดที่ได้ชโลมให้ทั่วเส้นผมและหมักทิ้งไว้ 30 นาที ล้างออกด้วยการสระผมตามปกติ สูตรนี้จะช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ เงางาม มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น




กะทิ + มะกรูด
สูตรหมักผมด้วยกะทิผสมน้ำมะกรูด จะช่วยทำให้เส้นผมแข็งแรง แลดูมีน้ำหนัก นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาผมหงอกก่อนวัยได้อีกด้วย เพียงแค่ใช้มะกรูด 3-4 ผล ต้มแล้วคั้นเอาแต่น้ำพักไว้ และนำกะทิสดที่คั้นเองหรือซื้อแบบกล่องก็ได้ นำทั้งสองมาผสมในปริมาณเท่ากัน คนให้เข้ากัน จากนั้นล้างผม 1 รอบเช็ดให้แห้งหมาดๆ นำส่วนที่ผสมไว้มาชโลมให้ทั่วศีรษะหมักไว้ 30 นาที แล้วสระผมทำความสะอาด มอบผลลัพธ์ผมนุ่มสลวย ไม่พันกัน ทั้งยังมีกลิ่นหอมให้ติดเส้นผมอีกด้วย




น้ำซาวข้าว + มะกรูด
เริ่มจากการนำมะกรูด 2-3 ผล เผ่าไฟให้มีกลิ่นหอมแล้วคั้นเอาแต่น้ำมะกรูด จากนั้นนำมาผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งถ้วย คนให้เข้ากันทิ้งไว้ประมาณ 5–10 นาที ชโลมให้ทั่วศีรษะแล้วล้างออกตามปกติ สูตรนี้จะช่วยทำให้รู้สึกเบาสบายศีรษะ แก้ปัญหาหนังศีรษะคัน รังแคลดลง แถมยังแก้ปัญหาเชื้อราบนหนังศีรษะได้อีกด้วย




น้ำส้มสายชู + มะกรูด
บอกลาปัญหารังแคด้วยสูตรนี้ เพียงแค่นำน้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำมะกรูดเผาไฟ 3 ลูก คนให้เข้ากัน แล้วหมักทิ้งไว้บนศีรษะประมาณ 15 นาที กรดในน้ำส้มสายชูจะช่วยทำให้เส้นผมเงางาม คืนสภาพเส้นผมที่แห้งและแตกปลายให้กลับมีสุขภาพดีขึ้น แถมยังกำจัดปัญหารังแคให้หมดกังวลอีกด้วย
14  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / 2 ส่วนนี้ของ "หมู" ล้ำค่าดั่งทอง มีประโยชน์พอๆ กับโสม-รังนก แต่คนไม่ค่อยกิน! เมื่อ: 10 เมษายน 2567 14:28:52


รู้ไว้ดีกว่า 2 ส่วนนี้ของ "หมู" ล้ำค่าดั่งทอง
มีประโยชน์พอๆ กับโสม-รังนก แต่คนไม่ค่อยกิน!


ที่มา https://www.sanook.com/

2 ส่วนนี้ของ "หมู" ล้ำค่าดั่งทอง มีประโยชน์พอๆ กับโสม-รังนก แต่คนไม่ค่อยกิน!

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ แนะนำว่าหากไปตลาดแล้วเจอหมู 2 ส่วนนี้ อย่าลืมซื้อกลับมาทาน เปรียบล้ำค่าดั่งทองคำ มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโสมและรังนก ปรุงขึ้นโต๊ะอาหารบำรุงร่างกายได้ทั้งครอบครัว!

หางหมู

ตามการแพทย์แผนตะวันออก หางหมูมีรสหวาน เค็มเล็กน้อย และมีคุณสมบัติเย็น เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ให้พลังงานและบำรุงหละพลัง , รักษาปัญหาข้อและกระดูก รวมทั้งการบำรุงผิวด้วย ทั้งกักเก็บความชุ่มชื้นและป้องกันริ้วรอย โดยจะเห็นได้ว่ามันถูกใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลายชนิด

Mr. Nguyen Dac Danh ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของเวียดนาม ระบุว่า หางหมู 100 กรัม ประกอบด้วยโปรตีน 17.7 กรัม ไขมัน 33.5 กรัม วิตามินบี3 1.12 มก. วิตามินบี1 0.07 มก. วิตามินบี2 0.07 มก. แคลเซียม 14 มก. ฟอสฟอรัส 47 มก. โซเดียม 25 มก. 157 มก. และไม่มีคาร์โบไฮเดรต ทั้งนี้ หางหมูยังมีความโดดเด่นด้วยปริมาณสังกะสีที่ค่อนข้างสูง โดยหางหมู 100 กรัม จะมีสังกะสี 1.64 มก. ซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของมูลค่ารายวัน

“สังกะสีเป็นธาตุที่มีปริมาณน้อยในร่างกาย แต่มีความสำคัญมากในระบบอวัยวะส่วนใหญ่ ไม่เพียงแค่นั้นยังเป็นองค์ประกอบที่สร้างฮอร์โมนภายนอกที่ควบคุมพัฒนาการ ในร่างกายสังกะสีมีบทบาทในการรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือด สำหรับผู้ชายฮอร์โมนเพศชายเป็นฮอร์โมนที่มีผลกระทบอย่างมากต่อรูปลักษณ์ภายนอกและพัฒนาการทางเพศ"

สังกะสีถือเป็นแร่ธาตุของระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นยาที่มีคุณค่าสำหรับสุขภาพการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศของผู้ชาย การศึกษาพบว่าสังกะสีช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของตัวอสุจิด้วย การขาดสังกะสีเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ และการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยา ซึ่งหากการเคลื่อนที่ของอสุจิไม่ดี ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากในผู้ชาย

สังกะสียังมีบทบาทสำคัญในต่อมลูกหมาก การขาดสังกะสีอาจทำให้ต่อมลูกหมากโต และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในอวัยวะสืบพันธุ์ที่สำคัญนี้ แม้กระทั่งภาวะมีบุตรยากอีกเช่นกัน

“นอกจากคุณค่าที่นำมาสู่สุขภาพของผู้ชายแล้ว หางหมูยังอุดมไปด้วยโปรตีนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในผิวหนัง รวมถึงส่วนประกอบอีกมากมาย เช่น คอลลาเจน อีลาสติน...สารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการยึดเกาะโครงสร้างเซลล์อย่างแน่นหนา คงไว้ซึ่งความชุ่มชื้นและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ป้องกันริ้วรอยของผิว และปกป้องผิวจากการโจมตีของปัจจัยแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์”

นอกจากนี้ หางหมูยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แมกนีเซียม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างและบำรุงรักษาระบบกระดูกและข้อต่อ ป้องกันโรคกระดูกพรุน และป้องกันโรคโลหิตจาง โดยผู้เชี่ยวชาญรายนี้วิเคราะห์ว่า "แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกและฟัน ช่วยสร้างและรักษาความแข็งและโครงสร้างของกระดูก และยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสร้างและฟื้นฟูกระดูกเมื่อได้รับบาดเจ็บด้วย"

ถ้าพูดชื่อนี้คงมีหลายคนไม่รู้ว่าอยู่ส่วนไหนของหมู ที่จริงแล้วตำแหน่งที่เรียกกันว่า "กระดูกเสี้ยวพระจันทร์ " เป็นส่วนเนื้อติดกระดูกอ่อนส่วนขาหน้าของหมู ซึ่งเป็นบริเวณที่มีกระดูกโค้งงอคล้ายเสี้ยวพระจันทร์ หรือคล้ายเคียวอยู่ ส่วนใหญ่เป็นกระดูกอ่อน จึงมีความกรุบกรอบ นุ่ม และหวานมาก ส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้เคี่ยวซุปจะได้รสชาติกลมกล่อมมาก

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่ารสชาติก็คือคุณค่าทางโภชนาการ กระดูกเสี้ยวพระจันทร์อุดมไปด้วยคอลลาเจน โปรตีน และวิตามิน การบริโภคอวัยวะที่มีคุณค่านี้เป็นประจำสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน และเพิ่มภูมิคุ้มกัน

โดยพบว่าปริมาณแคลเซียมในหมูส่วนนี้ถือว่าสูงมาก เหมาะสำหรับเด็กในช่วงการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนด้วย และหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถทานเพื่อเสริมแคลเซียมได้ "ในปริมาณที่เหมาะสม" เช่นเดียวกัน

กระดูกเสี้ยวพระจันทร์ ยังอุดมไปด้วยสารสกัดที่มีไนโตรเจนที่ละลายน้ำได้ รวมถึงโปรตีนหลากหลายชนิด ซึ่งสามารถให้สารอาหารที่เข้มข้นและมีคุณภาพสูงสำหรับการทำงานหลักของร่างกายมนุษย์




กระดูกเสี้ยวพระจันทร์


15  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / พญารากดำ หรือ หญ้ารักนา เมื่อ: 09 เมษายน 2567 14:04:46


พญารากดำ หรือ หญ้ารักนา

ที่มา - คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2567
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ.2567


เมื่อกล่าวถึงสมุนไพรชื่อ “พญารากดำ” จะพบว่าในเมืองไทยของเรามีพืชที่เรียกว่า พญารากดำ ไม่น้อยกว่า 4 ชนิด

แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกันไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าเป็นคนละชนิด ได้แก่

1) Ludwigia octovalvis (Jacq.) P.H.Raven หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า หญ้ารักนา หรือเทียนน้ำ สมุนไพรชนิดนี้อยู่ในวงศ์ Onagraceae ซึ่งมีชื่อในภาษาไทยว่า วงศ์พญารากดำ

2) Diospyros defectrix H.R.Fletcher พญารากดำหรือมะเกลือกา

3) Diospyros variegata Kurz พญารากดำหรือดำดง ดงดำ ดีหมี อีดำ พลับดำ น้ำจ้อย

และ 4) Huberantha cerasoides (Roxb.) Chaowasku พญารากดำหรือกระเจียน สะบันงาป่า ค่าสามซีก

หากค้นหาฟังสรรพคุณของผู้รู้หรือพลิกตำรายาไทย รวมถึงมีผู้สนใจศึกษาวิจัยกันบ้างนั้น ก็จะกล่าวถึงพญารากดำที่เป็นไม้ยืนต้น แต่ในวันนี้จะขอนำเสนอ พญารากดำ ที่มาจากวงศ์พญารากดำ (Onagraceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ludwigia octovalvis (Jacq.) P.H.Raven หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หญ้ารักนา มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Mexican primrose-willow, Narrow-leaf Water Primrose, Seedbox, Mexican Primrose Willow

ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีการกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายชื่อ เช่น หญ้ารักนา (ภาคเหนือ) พญารากดำ (นราธิวาส) ตับแดง (ภาคใต้) เทียนน้ำ (ตรัง ปัตตานี) เป็นต้น

พญารากดำ หรือ หญ้ารักนา เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี สูง 60-120 เซนติเมตร

ใบออกแบบเรียงสลับ ใบแคบรูปไข่ถึงรูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 1-15 เซนติเมตร กว้าง 1-4 มิลลิเมตร สีเขียวเข้ม

ดอกมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบดอกรูปหัวใจ 4 กลีบ สีเหลือง บางและร่วงง่าย กลีบเลี้ยงเป็นหลอดยาว

ผลเป็นทรงกระบอก ยาว 20-45 มิลลิเมตร กว้าง 2-8 มิลลิเมตร

หญ้ารักนามีลักษณะคล้ายกับต้นเทียนนามากแต่เทียนนามีใบกว้างกว่า

ในประเทศมาเลเซียนิยมนำใบหญ้ารักนามาชงเป็นชา แต่ไม่มีหลักฐานว่าใช้เป็นเครื่องดื่มหรือใช้เป็นยา

และใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารไม่ปกติ เช่น ท้องร่วง (diarrhea) และ บิดมีตัว (dysentery)

ในฐานข้อมูลสมุนไพรของพืชในเขตร้อนกล่าวว่า พญารากดำหรือหญ้ารักนาเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ขับลม เป็นยาระบาย และขับพยาธิ ใช้ในการรักษาโรคท้องร่วง โรคบิด โรคทางระบบประสาท ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติในการระงับปวดและใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อใช้รักษาอาการปวดรูมาติก

นอกจากนี้ เมื่อนำใบมาขยี้จะมีลักษณะเป็นเมือก ใช้เป็นยาพอกรักษาอาการปวดต่างๆ รวมถึงอาการปวดหัว อัณฑะอักเสบ (orchitis) และต่อมน้ำเหลืองบวม ใช้เป็นยารักษาแผลในจมูก

และหญ้ารักนายังสามารถใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อให้มีประจำเดือน นอกจากนี้ ยังใช้แก้อาการคันด้วยการนำมาต้ม และใช้น้ำยาอุ่นๆ มาล้างส่วนที่คัน เช่น อาการคันที่เท้า

ฐานข้อมูลสมุนไพรของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงการใช้หญ้ารักนาเป็นยาสมานแผล ขับลม ขับปัสสาวะ และยาฆ่าแมลง

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นคุณสมบัติลดไข้ สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านเบาหวาน ในบรรดาชนเผ่าต่างๆ ในเกาะลูซอนตอนเหนือ

มีการใช้สารสกัดจากใบรักษาโรคอีสุกอีใส นำทั้งต้นมาบดแล้วนำไปแช่ในบัตเตอร์มิลก์ (Buttermilk) ใช้แก้ท้องเสียและบิด นำทั้งต้นไปทำเป็นยาต้มใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาขับลม ยาระบาย แก้อาการท้องอืด กินแก้ไอเป็นเลือดและระดูขาว

นำใบมาบดเป็นยาสมานแผล ใช้พอกบริเวณที่ปวดหรืออักเสบ รากใช้รักษาโรคผิวหนัง

ในอินเดีย ใช้ใบเป็นยาทาภายนอกกับแผลเปื่อย โดยเฉพาะกลากที่เป็นมานาน ในกลุ่มชาวทมิฬ ในอินเดีย ใช้น้ำที่คั้นจากใบบรรเทาอาการไอและเป็นหวัด ในเขตทูบาล (Thoubal) ของรัฐมณีปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ชุมชนเมเตอิ (Meitei) และ ลอย (Loi) นำทั้งต้นมาต้ม เพื่อให้ได้สารสกัดมาดื่มเพื่อรักษาโรคเบาหวาน

ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย น้ำใบใช้รักษาอาการไข้ที่ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และลดต่ำลงมาเป็นปกติ (intermittent fever)

ในเขต Tinsukia รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ชุมชนชาติพันธุ์นำต้นพญารากดำหรือหญ้ารักนามาผลิตเป็นครีมสมุนไพรแก้เชื้อราที่นิ้วเท้า

การใช้ของประเทศต่างๆ อีกจำนวนมาก เช่น ชาว Keffi ในไนจีเรียใช้รากในการรักษาโรคผิวหนัง โดยนำรากมาต้มให้ได้สารสกัด นำน้ำที่ได้มาดื่มวันละ 3 ครั้งเพื่อรักษาอาการที่ผิวหนัง ในเซนต์ลูเซีย (Saint Lucia) ใช้เป็นยาขับระดู (emmenagogue)

นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาขับพยาธิปากขอโดยนำมาต้มและใช้ล้างเท้า ในประเทศไนจีเรีย เนื้อพืชจะถูกต้มและใช้เป็นยาระบายและขับพยาธิ ในชวา (อินโดนีเซีย) ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยที่จมูก ในเวียดนามใช้ต้นสดเป็นอาหารเลี้ยงหมู

ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของพญารากดำหรือหญ้ารักนาเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้เป็นยาลดไข้ พบว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราเซตามอล ยาแก้ท้องร่วง สารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สรรพคุณปกป้องตับ สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านแบคทีเรีย สารต้านเบาหวาน คุณสมบัติเป็นยาแก้ไอ สารชะลอวัยและอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

พญารากดำหรือหญ้ารักนาที่มีอยู่ทั่วไปในไทยแลนด์นี้ จัดว่าเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เหตุนี้หรือไม่ที่เรามองข้ามและให้ความสนใจน้อยมาก ในขณะที่ภูมิปัญญาจากรอบบ้านเรามีการใช้ประโยชน์อย่างมาก

พญารากดำหรือหญ้ารักนา คือสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ แต่สรรพคุณมากเหลือ •

16  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 09 เมษายน 2567 13:56:24

พระกริ่งสุจิตโต

มงคล ‘พระกริ่งสุจิตโต’ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2566


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตโต) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกผนวชในปี พ.ศ.2499

เมื่อปี พ.ศ.2487 ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ มีพระชนมายุครบ 6 รอบ

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล ทรงจัดหล่อพระกริ่งขึ้นที่หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2487 ตั้งพิธีสวดพุทธาภิเษกในพระอุโบสถ ณ เวลา 09.08 น. สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงจุดเทียนชัยแล้วสวดมนต์ จบแล้วมีการสวดภาณวาร พุทธาภิเษกต่อ เวลา 13.51 น. พระกริ่งที่หล่อคราวนี้เป็นครั้งแรกในสมัยที่ทรงครองวัด ทรงมีพระประสงค์ให้เรียกว่า “พระกริ่งสุจิตโต” ตามพระนามฉายา

แต่ในสังคมพระเครื่องก็มักจะเรียกกันติดปากว่า “พระกริ่งบัวรอบ วัดบวร” เนื่องจากพุทธลักษณะของพระกริ่งรุ่นนี้ มีฐานเป็นกลีบบัวรอบฐานพระ การบรรจุเม็ดกริ่ง โดยการคว้านก้นเป็นโพรง บรรจุเม็ดกริ่ง แล้วปะก้นด้วยแผ่นทองแดงบัดกรีด้วยตะกั่ว ก้นมักเป็นแอ่งบุ๋มตรงกลาง จำนวนการสร้างประมาณ 300 องค์

เป็นพระกริ่งที่หายาก เนื่องจากจำนวนการสร้างน้อย และเป็นที่หวงแหน ปัจจุบันสนนราคาสูง




สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระนามเดิมว่า ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ทรงเป็นโอรสของหม่อมเจ้าถนอมกับหม่อมเอม นพวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2415 ตรงกับวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก จุลศักราช 1234

ทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส (พระองค์เจ้านพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส และทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งเยาว์วัยทรงศึกษากับครูชมที่วังของพระชนก มีพระนิสัยโน้มเอียงในทางพระศาสนา กล่าวคือ ได้ตามเสด็จกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ไปวัดอยู่เสมอ จึงทำให้ต่อมาได้บรรพชา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตโต) วัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2435 ทรงผนวช ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระนามฉายาว่า สุจิตฺโต

ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ และสถาปนาสมณศักดิ์เป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระสุคุณคณาภรณ์

พ.ศ.2446 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระญาณวราภรณ์ ได้รับพระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักทองเป็นพระเกียรติยศ

พ.ศ.2451 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ ได้ถวายพระพรลาออกจากสมณศักดิ์ด้วยมีประสงค์จะลาสิกขา แต่ด้วยความอาลัยในสมณเพศ จึงได้ยับยั้งตั้งพระทัยบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระญาณวราภรณ์ดังเดิม

พ.ศ.2455 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2464 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ

พ.ศ.2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีพระราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

พ.ศ.2488 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2493

พ.ศ.2499 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

ทรงปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดและมีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นหลายครั้งและหลายสิ่ง เช่น สร้างหอสมุดของวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2497 สร้างตึกสถานศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2498 สร้างตึกอุทิศนภวงศ์ด้วยทุนไวยาวัจกรส่วนพระองค์ สร้างตึกสามัคคีธรรมทาน ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดด้วยทุนที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุ 60 ปี

ทรงประพันธ์หนังสือไว้หลายเรื่อง เช่น ศาสนาโดยประสงค์ พระโอวาทธรรมบรรยาย ตายเกิดตายสูญ ทศพิธราชธรรม พุทธศาสนคติ ทรงชำระพระไตรปิฎกสยามรัฐ ฉบับพิมพ์ 2470 เล่ม 25-26 ทรงชำระอรรถกถาชาดกที่สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้ชำระ พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2467

สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2501 พระชนมายุ 86 พรรษา พรรษา 66

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิง ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส

และต่อมาได้พิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2503 •




พระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก หลวงปู่ไข่

‘พระกลีบบัวอรหัง’ ที่ระลึกอายุวัฒนมงคล หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2566


“หลวงปู่ไข่ อินทสโร” วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีพลังจิตที่เข้มขลัง นามขจรขจายไปไกล

ชื่อเสียงโด่งดังมาหลายทศวรรษ ในฐานะพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตา เนื้อผงคลุกรัก ที่มากด้วยพุทธคุณ

นอกจากนี้ ยังจัดสร้างวัตถุมงคล เครื่องราง เช่น ตะกรุด ผ้าประเจียด และรูปถ่าย เป็นต้น

สำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม มีราคาเช่าบูชากันสูงมาก โดยเฉพาะ “พระกลีบบัวอรหัง”

ประมาณปี พ.ศ.2470 ลูกศิษย์ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญเป็นที่ระลึกและแจกในงานทำบุญอายุ ซึ่งก็เป็นที่นิยมและหายากที่สุดของเหรียญพระเกจิอาจารย์ และมีราคาสูงมาก

นอกจากพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักและเหรียญแล้ว ยังมีพระเครื่องเนื้อดินเผาเคลือบ ที่เรียกกันว่า พระกลีบบัวอรหัง ซึ่งวัดเชิงเลนและลูกศิษย์ได้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้นด้วยเช่นกัน

พระกลีบบัวอรหัง เป็นพระเครื่องพิมพ์ทรงเป็นรูปหยดน้ำ ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนอาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ล่างสุดเป็นตัวอักขระขอมอ่านได้ว่า “อรหัง”

ด้านหลังบนสุดเป็นยันต์อุณาโลม ตรงกลางเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ผูกเป็นยันต์ตามช่องเป็นภาษาขอม

พระกลีบบัวอรหัง จัดสร้างเป็นจำนวนมาก เพื่อให้พอแจกแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา

ปัจจุบัน ยังพอหาได้ เนื่องจากสมัยก่อน มีจำนวนมาก หาได้ไม่ยาก และไม่ค่อยมีใครรู้จักกันแพร่หลายนัก



หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดเชิงเลน

อัตโนประวัติ เป็นชาวแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2400 ที่ ต.ท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา บิดา-มารดาชื่อ นายกล่อมและนางบัว จันทร์สัมฤทธิ์

อายุ 6 ขวบ บิดานำไปฝากกับหลวงพ่อปาน วัดโสธรฯ เพื่อให้เรียนหนังสือ ต่อมาจึงได้บวชเป็นสามเณร ฝึกหัดเทศน์จนมีชื่อเสียงในทางเทศน์มหาชาติ เมื่อหลวงพ่อปาน มรณภาพลง เดินทางไปอยู่กับพระอาจารย์จวง วัดน้อย อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

เมื่ออายุ 15 ปี พระอาจารย์จวง มรณภาพลง จึงเดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหงษ์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ เรียนพระปริยัติธรรมอยู่ 3 ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน จ.สมุทรสงคราม

จนอายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดลัดด่าน โดยมีพระอาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ภู่ วัดบางกะพ้อม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังจากนั้น ได้เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เมืองกาญจน์ แล้วจึงกลับมาอยู่ที่วัดลัดด่านอีกครั้งหนึ่ง ออกธุดงค์เป็นประจำทุกปี เวลาท่านธุดงค์ผ่านไปทางใด ถ้ามีผู้คนทุกข์ยากหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ช่วยรักษาให้หายโดยตลอด เกียรติคุณจึงเป็นที่รู้จัก จนมาถึงกรุงเทพฯ จึงมีผู้มานิมนต์ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ 1 พรรษา แล้วท่านก็ออกธุดงค์ไปในป่าอีก

ต่อมา เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเห็นว่าวัดบพิตรพิมุขฯ (วัดเชิงเลน) เป็นวัดที่เงียบสงบดี จึงได้เข้ามาจำพรรษามาตลอดมา

ระหว่างจำพรรษาปฏิบัติธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ อาทิ สอนพระกรรมฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมการทำบุญ เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา

ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น สร้างพระไตรปิฎก โดยลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน

ด้านวัตถุมงคล จัดสร้างพระเครื่อง พระปิดตาและเหรียญรูปเหมือน ซึ่งปัจจุบันเป็นพระที่หายากมาก นอกจากนี้ ยังมีพระกลีบบัวอรหัง ซึ่งสร้างไว้เป็นจำนวนมากในประมาณปี พ.ศ.2470

เป็นพระที่สมถะสันโดษ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงด้านการเทศน์มหาชาติ มีความสามารถทางแพทย์แผนโบราณ ศิษย์มีทั้งไทย จีน และชาวซิกข์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาหาให้ช่วยรักษา ซึ่งก็จะช่วยรักษาทุกครั้ง ไม่เคยแบ่งแยกชาติ ศาสนา เชื้อตระกูล

ราวปี พ.ศ.2470 เตรียมบาตร กลด และย่าม เพื่อจะออกธุดงค์ แต่บรรดาศิษย์ทั้งหลายปรึกษาหารือกันว่า ชราภาพมากแล้ว จึงได้นิมนต์ยับยั้งไว้ โดยขอให้อยู่สอนวิปัสสนากรรมฐานต่อไป

ต่อมาเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา ครั้นวันที่ 16 มกราคม 2475 เวลา 13.25 น. ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 74 ปี พรรษา 54

เล่ากันว่าก่อนเวลาที่จะมรณภาพ ข่มความทุกข์เวทนาอยู่ในเวลานั้น ให้หายไปได้ ประดุจบุคคลที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ แล้วขอให้ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ประคองตัวให้ลุกขึ้นนั่ง และให้จุดธูปเทียนบูชาพระ เมื่อกระทำนมัสการเสร็จแล้ว ก็เจริญสมาธิสงบระงับจิต เงียบเป็นปกติอยู่ประมาณ 15 นาที จนหมดลมหายใจ

ถึงวาระสุดท้ายศิษย์ผู้คอยเฝ้าพยาบาลอยู่ จึงประคองตัวให้นอนราบลง •



4
17  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ไทย-จีนพากันล่ำซำ ได้โอกาสปล้นทองที่ซ่อนตามวัด เมื่อ: 09 เมษายน 2567 13:23:07

ภาพวาดลายเส้นซากโบราณสถานปรักหักพังที่อยุธยา (สันนิษฐานว่าคือวัดพระราม)
(ภาพจากบันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์)


บันทึกฝรั่งชี้ เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ไทย-จีนพากันล่ำซำ ได้โอกาสปล้นทองที่ซ่อนตามวัด

ผู้เขียน - กานต์ จันทน์ดี
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567


การเล่าประวัติศาสตร์สมัย เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2310 พม่าย่อมตกเป็นผู้ร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อพม่าได้ชัยชนะแล้วก็เปิดฉากเผาและปล้นเอาทรัพย์สมบัติของกรุงศรีฯ ไปเป็นอันมาก คนไทยจำนวนหนึ่งถึงขนาดร่ำลือกันไปว่า ทองที่หุ้มเจดีย์ชเวดากองนั้นก็เป็นทองที่ปล้นไปจากอยุธยา

อย่างไรก็ดี เจดีย์ชเวดากองสร้างขึ้นก่อน “เสียกรุงศรีอยุธยา” หลายร้อยปี (นักประวัติศาสตร์คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-10) และประเพณีหุ้มทองเจดีย์ก็อาจมีมานานแล้วก็ได้ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ พม่าคงจะร่ำรวยขึ้นพอควรจากการปล้นกรุงศรีฯ ในครั้งนั้น

ในขณะเดียวกัน คนที่รวยขึ้นผิดหูผิดตาก็ไม่ได้มีแต่ฝ่ายพม่าเท่านั้น บาทหลวงฝรั่งเศส เล่าว่า หลังสงครามครั้งนี้ ไทย-จีน ก็พากันล่ำซำขึ้นไม่น้อย เพราะได้โอกาสปล้นวัดวาซึ่งถือเป็นแหล่งรวมความมั่งคั่งจากศาสนิกผู้ศรัทธาเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี

จดหมายของมองซิเออร์คอร์ ถึงมองซิเออร์มาธอน ลงวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1769 (พ.ศ.2312) บอกเล่าถึงสภาพบ้านเมืองครั้งนั้นว่า พอสงครามสิ้นสุดลง เศรษฐกิจก็ฝืดเคือง ข้าวยากหมากแพงเป็นอันมาก

“ค่าอาหารการรับประทานในเมืองนี้แพงอย่างที่สุด เวลานี้ข้าวสารขายกันทะนานละ 2 เหรียญครึ่ง คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างนั้นถึงจะหมั่นสักเพียงไร ก็จะหาซื้ออาหารรับประทานแต่คนเดียวก็ไม่พอ”

ฝรั่งต่างชาติจึงต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัด โดยเฉพาะ “พวกที่อ้างตัวว่าเป็นโปรตุเกสนั้นดูเหมือนจะเดือดร้อนยิ่งกว่าคนอื่นมาก เพราะพวกนี้ไม่ละความเกียจคร้านหรือลดหย่อนความหยิ่งของตัวเลย ร้องแต่ว่าทุนไม่มีจึงไม่ได้ทำการไร นอกจากนอนขึงอยู่บนเสื่อตั้งแต่เช้าจนเย็น ส่วนพวกเข้ารีตของเรานั้นพอจะเอาตัวรอดได้ เขาไม่ได้รบกวนใครแต่ทำมาหาเลี้ยงชีพของตัวเองไป”

ส่วน พวกไทย-จีน นั้นเห็นจะไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะมีวัดเป็นที่พึ่ง คนกลุ่มนี้จึงหันเข้าหาวัด แต่มิได้หวังจะหาที่พึ่งทางธรรม หรือหาข้าวก้นบาตรประทังชีวิต กลับมุ่งหาทรัพย์สินที่ถูกซุกซ่อนตามวัด ไม่ว่าจะถูกฝังดิน ใส่เจดีย์ หรือเก็บซ่อนไว้ในองค์พระ ดังความที่มองซิเออร์คอร์ ท่านเล่าว่า

“ฝ่ายพวกจีนและพวกไทยเห็นว่าการเลี้ยงชีพเป็นการฝืดเคือง จึงได้หันเข้าหาวัดโดยมาก เพราะพวกไทยด้วยความเชื่อถืออะไรของเขาอย่าง 1 ได้เอาเงินและทองบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปเป็นอันมาก เงินทองเหล่านี้บรรจุไว้ในพระเศียรก็มี ในพระอุระก็มี ในพระบาทก็มี และตามพระเจดีย์ต่างๆ ได้บรรจุไว้มากกว่าที่แห่งอื่น ท่าน [มองซิเออร์มาธอน] คงจะคาดไม่ถูกเป็นแน่ว่าพวกไทยได้เอาเงินทองที่ซุกซ่อนไว้เป็นจำนวนมากมายสักเท่าไร”

“ในพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้นได้มีคนพบเงินถึง 5 ไห และทอง 3 ไห ผู้ใดที่ทำลายพระพุทธรูปลงแล้วไม่ได้เหนื่อยเปล่าจนคนเดียว เพราะฉะนั้นโดยเหตุที่พวกจีนมีความหมั่นเพียรและเป็นคนชอบเงินมาก ประเทศสยามจึงยังคงบริบูรณ์อยู่เท่ากับเวลาก่อนพม่ายกเข้ามาตีกรง ทองคำเป็นสิ่งหาง่ายจนถึงกับหยิบกันเล่นเป็นกำๆ”

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยว เจดีย์ที่ถูกทุบทำลายก็ถูกทำเป็น “เตาหลอม” โลหะมีค่าเสียเลย มองซิเออร์คอร์ยังบอกว่า “ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยถ่านและเศษทองแดง และตามทางเดินดำยิ่งกว่าปล่องไฟเสียอีก พระราชธานีของเมืองไทย ตลอดทั้งวัดวาอารามและบ้านของเรากับค่ายโปรตุเกสเหมือนกับเป็นสนามอันใหญ่ที่มีแต่คนขุดคุ้ยพรุนไปหมดทั้งนั้น”

ด้วยเหตุนี้ คงกล่าวได้ไม่ผิดว่า แม้พม่าจะถือเป็น “จำเลย” ตัวหลักในการสร้างความเสียหายให้กับกรุงศรีอยุธยา แต่จริงๆ แล้วยังมีจำเลยอีกกลุ่มที่ถูกมองข้ามมาตลอดก็คือคนท้องถิ่นที่รอดชีวิตมาได้ แต่หมดหนทางหากินจึงหันหน้าเข้าหาวัด (และปล้นเอาทรัพย์สินของวัด) นั่นเอง



สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด
ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
18  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / สูตร “ยาดองน้ำผึ้ง” ตามแพทย์แผนไทย เป็นยาอายุวัฒนะ เมื่อ: 07 เมษายน 2567 13:32:44


สูตร “ยาดองน้ำผึ้ง” ตามแพทย์แผนไทย เป็นยาอายุวัฒนะ

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กุมภาพันธ์ 2567
คอลัมน์ - โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


หลักวิชาการปรุงยาของการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ถึง 28 วิธี ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการดองยาสมุนไพรด้วย

ซึ่งการดองยาทำได้ เช่น ดองด้วยสุราที่เรามักคุ้นเคย ดองด้วยเกลือก็ได้ ดองด้วยน้ำมูตรหรือน้ำปัสสาวะก็กล่าวไว้ และดองด้วยน้ำผึ้งที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย

การดองยาเป็นวิธีการสกัดเอาตัวยาจากสมุนไพรออกมาอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการชงด้วยน้ำร้อน การต้มเดือดหรือต้มเคี่ยว โดยใช้น้ำเป็นการสกัดตัวยาหรือสารสำคัญออกมานั่นเอง

การดองด้วยสุราหรือแอลกอฮอล์ การดองด้วยน้ำผึ้งก็เป็นการค่อยสกัดเอาตัวยาอออกมา

และที่น่าสนใจของศิลปะการปรุงยาแต่ดั้งเดิมก็คือมีการใช้น้ำผึ้งดองกับสมุนไพรที่มีรสขมบ้าง รสฝาดบ้าง เพื่อให้กินยาง่ายขึ้น

และในเวลาเดียวกัน น้ำผึ้งก็เป็นสมุนไพรในตัวเอง มีสรรพคุณที่กล่าวถึงในการใช้ทั้งบำรุงสุขภาพและเรื่องความงาม ย้อนกลับไปได้นับพันปี

เช่น นางคลีโอพัตราแห่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ อารยธรรมลุ่มน้ำแยงซีเกียงของจีนก็ใช้ ในดินแดนชมพูทวีปอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ การแพทย์อายุรเวทรู้จักใช้น้ำผึ้งผสมผงอบเชยเป็นยาบำรุงร่างกายที่ดีมานานหลายศตวรรษแล้ว เป็นต้น

ภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยและประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านจำนวนไม่น้อย รู้จักใช้น้ำผึ้งเป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร โดยเฉพาะใช้เป็นยาบำรุงกำลัง โดยเฉพาะช่วยฟื้นฟูร่างกายแก้อ่อนเพลีย มีการแนะนำให้กินน้ำผึ้งแท้ๆ วันละ 1 ช้อนโต๊ะก่อนนอนทุกวัน สัก 7 วัน ช่วยบำรุงร่างกาย (ผู้ที่เสี่ยงเบาหวานไม่ควรใช้)

ภูมิปัญญาไทยเรายังนำน้ำผึ้งไปดองสมุนไพรที่น่าสนใจอีกหลายชนิด

แต่ก่อนที่จะไปถึงสูตรยาดองนั้น ขอเพิ่มเติมเรื่องน้ำผึ้งต่ออีกนิด

นํ้าผึ้งมาจากผึ้ง ผึ้งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ในการจัดอนุกรมวิธาน ผึ้ง เป็นแมลงที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ Hymenoptera รวมกันกับพวกมด ต่อ แตน

ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จำแนกผึ้งออกเป็น 7 วงศ์ (family) อย่างเป็นทางการ ได้แก่ Andrenidae Apidae Colletidae Halictidae Megachilidae Melittidae และ Sternotritidae

ดังนั้น ผึ้งที่บินอยู่ทั่วโลกก็อาจอยู่คนละวงศ์

สำหรับในประเทศไทยที่เราคุ้นเคยนั้น ผึ้ง (Honeybee) ที่ให้น้ำหวานเรากินอยู่ในวงศ์ Apidae สกุล Apis ตัวอย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ เช่น ผึ้งหลวง (Apis dorsata frabicius) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งโพรง (Apis cerana) ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) ซึ่งเข้าใจว่านำมาจากต่างประเทศจนกลายเป็นผึ้งที่อยู่ในไทยแล้ว เป็นต้น

ปัจจุบันมีการพูดถึงน้ำผึ้งชันโรง น้ำผึ้งชนิดนี้มาแรงแซงโค้งที่กล่าวถึงสรรพคุณและราคาแรงเช่นกัน นักวิชาการอธิบายว่า ชันโรง (Stingless Bee) เป็นแมลงจำพวกผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน จึงปลอดภัยไม่โดนต่อย

กล่าวกันว่าชันโรงจะมีความสัมพันธ์และวิวัฒนาการที่ใกล้ชิดกับผึ้ง (honey bee), ผึ้งหึ่ง (bumble bee) และผึ้งกล้วยไม้ (orchid bee)

ทั่วโลกพบชันโรงประมาณ 500 ชนิด ในประเทศไทย มีรายงานว่า ชันโรง สกุล Tetragonula พอที่จะจำแนกได้แล้วประมาณ 30 ชนิด อาศัยอยู่ทุกภาคของประเทศและมีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นด้วย

ซึ่งชื่อเรียกแต่ดั้งเดิม เรียก “ชันโรง” ภาคเหนือเรียก ขี้ตังนี ขี้ตัวนี หรือ ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุง ทางอีสานเรียก แมลงขี้สูด ภาคตะวันออกเรียก ตัวตุ้งติ้ง เป็นต้น

นํ้าผึ้งจากผึ้งชนิดใดก็นำมาดองยาสมุนไพรได้ทั้งหมด

แต่ในเวลานี้เราจะต้องช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อให้ผึ้งอยู่ได้ ก็จะได้น้ำผึ้งแท้ไม่ปลอมปนนำมาดองสมุนไพร

ที่นิยมกันทั่วไปมักจะดองกล้วยน้ำว้ากับน้ำผึ้ง กินเนื้อกล้วยวันละลูกและดื่มน้ำผึ้งด้วยวันละ 1 ช้อนชา ท่านว่าเพิ่มพลังกายบำรุงกำลังอย่างดี

วิธีดองไม่ยุ่งยาก นำกล้วยน้ำว้าสุกปลอกเปลือกออก จะใช้ทั้งลูกหรือหั่นกล้วยเป็นชิ้นๆ ลูกหนึ่งหั่นสัก 3-4 ชิ้นก็ได้ ใส่ในโหลที่มีฝาปิด เทน้ำผึ้งให้ท่วมกล้วย ปิดฝาไว้ แต่หมั่นเปิดฝาเพื่อถ่ายเทอากาศ เพื่อไม่ให้กลายเป็นการหมักไวน์

บางท่านแนะนำให้ใช้ผ้าขาวบางปิดฝาโหลมัดผ้ากันสิ่งสกปรก แต่ยังให้อากาศถ่ายเทได้

ตามตำราให้ดองน้ำผึ้ง 1 เดือน บางคนที่ใจร้อน ดองสัก 1 สัปดาห์ก็พออนุโลมนำมากินได้

สูตรที่ 2 บอระเพ็ดดองน้ำผึ้ง นำเถาบอระเพ็ดมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวสัก 1 นิ้วหรือใครจะหั่นเล็กกว่านี้ก็ได้ แล้วผึ่งให้แห้ง

บางท่านก็นำน้ำผึ้งมาดองเลย แต่ถ้าจะไล่ความชื้นในน้ำผึ้งออกบ้าง ก็นำน้ำผึ้งตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวไล่น้ำออก ทิ้งไว้ให้เย็น นำบอระเพ็ดที่เตรียมไว้ ใส่ลงในโหลประมาณครึ่งโหล ใส่น้ำผึ้งให้ท่วมยา

ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ 3 เดือน อย่าให้ถูกแดด

นำน้ำผึ้งที่ดองแล้วมากินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 1 แก้ว กินวันละ 2-3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เพื่อบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ

ตำรับยาพื้นบ้านอินเดียที่คนไทยก็นำมาดองกินเช่นกัน และเป็นที่รู้จักกันในครัวเรือนชาวอินเดีย คือ ชิงช้าชาลี (Tinospora baenzigeri Forman) ซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยพัน เถามีปุ่มเล็กน้อย และมีรสขม

ซึ่งหมอยาไทยถือว่าชิงช้าชาลีมีสรรพคุณเทียบเคียงกับบอระเพ็ด จึงมีการนำมาใช้ทดแทนกันได้

สูตรสุดท้ายที่ขอแนะนำ กระชายเหลืองดองน้ำผึ้ง

ให้นำแขนงรากกระชายสด (กระชายเหลือง) จำนวนเท่าอายุของผู้ใช้ ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง และใช้วิธีการดองเหมือนบอระเพ็ด

ยาดองน้ำผึ้งไทยไร้แอลกอฮอล์ ดองสมุนไพรได้หลากหลาย เช่น ยอ มะขามป้อม สมอไทย และสูตรตรีผลา เป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์สมุนไพรไทย •
19  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: เครื่องรางของขลัง เมื่อ: 07 เมษายน 2567 13:24:37

พระปิดตา พ่อท่านมุ่ย

พระปิดตาน้ำนมควาย วัตถุมงคล ‘พ่อท่านมุ่ย’ พระเกจิชื่อดังปากพนัง

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2567


“พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ” หรือ “พระครูนิโครธจรรยานุยุต” วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ชาวใต้ให้ความเลื่อมใสศรัทธา

หนึ่งในพระเกจิอาจารย์ในพิธีพุทธาภิเษก จตุคามรามเทพรุ่นแรก ปี 2530 พระเครื่องและวัตถุมงคลแต่ละชนิดแต่ละรุ่น เช่น พระปิดตา พระพิมพ์ประทานพร ลูกอม จะปลุกเสกเดี่ยว

พระเครื่องที่โด่งดัง เป็นที่นิยมกันมากและหายาก คือ “พระปิดตาน้ำนมควาย” สร้างจำนวนไม่มาก

รุ่นแรก มีทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ซึ่งพิมพ์ใหญ่จะเป็นที่นิยมมากกว่า

พระปิดตาน้ำนมควายรุ่นแรกนั้น กรรมวิธีการสร้างพิถีพิถัน และสร้างยากมาก ขั้นแรก จะทำแท่งดินสอที่จะนำมาเขียนอักขระ โดยทำจากข้าวเม่าตำผสมกับสมุนไพรและมวลสารต่างๆ ตามตำราโบราณ ปั้นเป็นแท่งใช้เขียนอักขระลงบนกระดานชนวนพร้อมบริกรรมคาถาไปด้วย แล้วลงอักขระทำผงปถมังด้วยนะต่างๆ จนผงทะลุกระดานชนวน

ในครั้งแรกๆ ผงหายไปหมด จึงไปปรึกษากับพ่อท่านหมุน วัดเขาแดงตะวันออก ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้รับคำแนะนำให้ใช้ใบกล้วยทองลงอักขระยันต์ผูกธรณีรองรับ จึงจะได้ผงปถมัง จากนั้นก็เพียรสร้างผงวิเศษเป็นเวลาหลายปีเก็บไว้ ก่อนจะนำมาสร้างเป็นพระเครื่อง โดยใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน

พ่อท่านมุ่ยบอกว่า “น้ำนมวัว น้ำนมควาย ชุบเลี้ยงคนบนโลกนี้มานานแล้ว เป็นสัตว์ที่มีคุณต่อมนุษย์”

ด้วยเหตุที่น้ำนมควาย มีความข้นกว่าน้ำนมวัว จึงใช้น้ำนมควายเป็นตัวประสาน ขั้นตอนในการเคี่ยวน้ำนมควายนั้นก็พิถีพิถัน ขั้นแรกก็ต้องนำก้อนเส้าที่จะใช้ทำเตามาลงอักขระบนก้อนเส้าทุกก้อน ฟืนก็ใช้ไม้มงคลต่างๆ และลงอักขระทุกท่อน ภาชนะที่จะใช้เคี่ยวน้ำนมควาย แม้แต่ไม้พายที่จะใช้ในการเคี่ยวก็ต้องลงอักขระทุกชิ้น ขณะเวลาเคี่ยวก็ต้องบริกรรมคาถาตลอดการเคี่ยวจนเสร็จ

เมื่อน้ำนมควายข้นดีแล้ว จึงนำมาคลุกเคล้ากับผงปถมังที่เขียนไว้ โดยมิได้ผสมปูนหรือสิ่งอื่นใดเลย เป็นเนื้อผงปถมังล้วน เมื่อเหนียวดีแล้ว จากนั้นจะกดลงบนพิมพ์ และตกแต่งที่ด้านหลังทุกองค์ ทุกขั้นตอนจะทำผู้เดียวตลอดทุกองค์ หลังจากนั้นจึงมาทาแล็กเกอร์บ้าง เชลแล็กบ้าง ในส่วนนี้มีลูกศิษย์มาช่วยทา

หลังจากนั้นจะนำพระไปปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานาน ส่วนมากก็จะตลอดช่วงเข้าพรรษา แล้วจึงนำมาแจก

จัดเป็นพระปิดตาที่หายาก เนื่องด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย




พ่อท่านมุ่ย จันทสุวัณโณ

มีนามเดิม มุ่ย ทองอุ่น เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2442 ที่บ้านป่าระกำ หมู่ที่ 6 ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บิดา-มารดาชื่อ นายทองเสน และนางคงแก้ว ทองอุ่น

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2462 ที่วัดป่าระกำเหนือ อ.ปากพนัง และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูนิโครธจรรยานุยุต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2498 และในปี พ.ศ.2477 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าระกำเหนือ และเจ้าคณะตำบลป่าระกำ ในปีเดียวกัน

ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระกับอาจารย์จืด และอาจารย์ศักดิ์ วัดถ้ำเขาพลู อ.ปะทิว จ.ชุมพร ออกธุดงค์ในป่าลึก แถบจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี เป็นเวลาหลายปี ร่วมกับหลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นสหธรรมิกที่รักใคร่นับถือกันมาก

เป็นพระวิปัสสนาธุระ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นเลิศ นอกจากนั้น ยังมีความรู้ด้านต่างๆ อีกมาก เป็นหมอยาสมุนไพร เป็นผู้รู้เวทมนตร์คาถา เป็นพระนักเทศน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

เป็นพระเถระที่มากด้วยเมตตาบารมี ประพฤติพรหมจรรย์มั่นคงยาวนานปี ศีลาจารวัตรเรียบร้อย เป็นที่เคารพนับถือ เป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปของนครศรีธรรมราช มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนทุกระดับชั้น

กล่าวสำหรับคลองใหม่พ่อท่านมุ่ย เป็นคลองขุดอยู่ในพื้นที่ตำบลชะเมา เป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองชะเมาที่บ้านโอขี้นาก เชื่อมกับคลองค้อที่บ้านหัวสวน เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2495 และขุดเสร็จเมื่อ พ.ศ.2497 มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ผู้ดำเนินการขุดคลองนี้ คือหลวงพ่อมุ่ยนั่นเอง

ขุดโดยใช้แรงงานคน ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ตำบลชะเมา ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง และ ต.เชียรเขา อ.เชียรใหญ่ มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบออกปากคนในหมู่บ้านไปขุด เริ่มแรกคลองมีขนาดกว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร คนทั่วไปเรียกชื่อคลองนี้ว่า “คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย” ตามชื่อของผู้ดำเนินการขุด

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ย มีประโยชน์ในด้านคมนาคมระหว่างคลองค้อกับคลองชะเมา แต่เดิมนั้นการเดินทางจากคลองค้อไปคลองชะเมาต้องไปออกทางบ้านเกาะแก ตำบลชะเมา คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยจึงช่วยย่นระยะทาง และช่วยให้การเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปบ้านหัวสะพานชะเมา บ้านเสาธง ในหน้าน้ำชาวบ้านเข้าไปหาไม้ในป่าพรุ และล่องแพมาทางคลองนี้ และยังมีประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม มีน้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเพื่อการทำนา เพราะทั้งสองฝั่งคลองนี้เป็นพื้นที่นาทั้งหมด

คลองใหม่พ่อท่านมุ่ยนี้ บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์พระนักพัฒนา ผู้นำและบารมีอย่างแท้จริง เป็นคลองประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ

มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2535 เวลา 04.46 น. สิริอายุ 93 ปี 1 เดือน 18 วัน พรรษา 73 •

20  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / หมึกไข่แดดเดียวทอด เมื่อ: 03 เมษายน 2567 17:12:07
.



หมึกไข่แดดเดียวทอด

ที่มา - คอลัมน์อาทิตย์ละมื้อ  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


หมึกไข่ หรือ ปลาหมึกไข่ นิยมกินกันมากขึ้นเพราะความหนึบอร่อย และยังมีความมันของไข่หมึกมาช่วยเพิ่มรสชาติ สามารถนำมาปรุงร่วมกับวัตถุดิบซีฟู้ดอื่นๆ แบบต้ม ผัด แกงได้หลายรูปแบบ

ที่ได้กินกันบ่อยๆ คือ หมึกไข่สดนึ่งมะนาว

แต่วันนี้ลองเปลี่ยนมาทำหมึกไข่แดดเดียว แล้วทอดให้สุกธรรมดา ก็จะได้รสหอมมัน กินเป็นกับข้าวและกับแกล้มได้เลย


ส่วนประกอบ
ปลาหมึกไข่, เกลือ, ซีอิ๊วขาว, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, ผักกาดหอม, น้ำจิ้ม


วิธีทำ
1. นำหมึกไข่มาล้างน้ำให้สะอาด
2. นำมาหมักเกลือ ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
3. นำไปตากแดดประมาณ 3-4 ชั่วโมง
4. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช ไฟกลาง นำหมึกไข่ที่ตากลงไปทอดให้สุกเหลือง
5. ตัดใส่จานเสิร์ฟ พร้อมผักกาดหอม และน้ำจิ้ม

จะเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มแบบน้ำจิ้มไก่, ซอสศรีราชา หรือน้ำจิ้มซีฟู้ด ก็ตามแต่ชอบเลย •
หน้า:  [1] 2 3 ... 117
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.522 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 26 เมษายน 2567 10:55:46