[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 11:37:35 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 116
21  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / “วัดกันมาตุยาราม” สร้างจากพลังศรัทธาแม่เล้า เมื่อ: 20 มีนาคม 2567 10:48:35

พระอริยกันต์มหามุนี พระประธานของวัดกันมาตุยาราม (ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์)

“วัดกันมาตุยาราม” สร้างจากพลังศรัทธาแม่เล้า

ผู้เขียน - ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2567


หากถามผู้คนมากมายว่ารู้จัก วัดกันมาตุยาราม ซึ่งสร้างโดย “แม่เล้า” หรือไม่ จำนวนไม่น้อยอาจส่ายหน้าและเข้าใจว่ามีเพียง “วัดคณิกาผล” เท่านั้นที่สร้างโดยแม่เล้า แต่แท้จริงแล้ววัดกันมาตุยารามเป็นอีกวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับนางโลม ทั้งยังเกี่ยวข้องกับวัดคณิกาผล เนื่องจากผู้สร้างวัดคณิกาผลคือ “ยายแฟง” เป็นแม่ของ “นางกลีบ” ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม

วัดกันมาตุยารามตั้งอยู่ในย่านเยาวราช สร้างขึ้นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีที่มาจาก นางกลีบ เจ้าสำนักหอนางโลมย่านเยาวราช ที่อุทิศสวนดอกไม้ให้สร้างวัด ต่อมาลูกชายของนางกลีบคือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 นางกลีบจึงถวายวัดดังกล่าวแก่พระเจ้าอยู่หัว

จากนั้น รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานชื่อวัดว่า “วัดกันมาตุยาราม” มีความหมายว่าวัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง โดย “กัน” มาจากชื่อของนายกัน สาครวาสี ส่วน “มาตุ” แปลว่าแม่

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) เล่าถึงเกร็ดประวัติวัดว่า วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดธรรมยุตเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนา เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, วัดโสมนัสราชวรวิหาร ฯลฯ

วัดนิกายธรรมยุตจะแตกต่างจากวัดที่สร้างสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เช่น ไม่มีความคิดแนวจักรวาล ไม่มีเทพเทวดา ลดอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีความสมจริง เป็นมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องสัจนิยมมาจากตะวันตก


ความคิดดังกล่าวปรากฏภายในพระอุโบสถที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น อย่างจิตรกรรมด้านในพระอุโบสถจะเป็นการเล่าพระพุทธประวัติตามหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” หรือหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งก่อนประสูติจนถึงดับขันธ์ปรินิพพาน ไร้ซึ่งภาพวาดของเทวดาหรือจักรวาลไตรภูมิ

อพิสิทธิ์ยังเล่าอีกว่า นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่บานประตู เป็นรูปเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่พระไม่สามารถฉันได้ เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เป็นต้น ส่วนบานหน้าต่างยังมีจิตรกรรมเป็นรูปน้ำผลไม้หรือน้ำปานะที่พระพุทธเจ้าให้ฉันได้ และเมื่อไล่สายตาไปยังด้านบนหน้าต่างภายในพระอุโบสถ จะพบองค์พระพุทธรูป 37 องค์ และภาพพระสงฆ์หลายรูป ทว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระสงฆ์รูปใดบ้าง เนื่องจากบางภาพซีดจนแทบมองไม่เห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน หรือบางรูปก็หายไปจากการลักลอบขโมย

ไม่เพียงแค่การตกแต่งอันสวยงาม แต่พระประธานภายในพระอุโบสถคือ “พระอริยกันต์มหามุนี” ยังเป็นจุดเด่นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบของวัดนิกายธรรมยุต

โดยปกติแล้วพระประธานก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 จะเน้นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แต่ที่นี่เป็นองค์เล็กและเสริมความสวยงามด้วยบุษบก เช่นเดียวกับวัดปทุมวนาราม และวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร รวมถึงพระเศียรที่ไม่มีอุษณีษะ แต่มีพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวไฟปักลงพระเศียรลงไปตรง ๆ แทน เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงมองว่าแบบเดิมนั้นไม่สวยงาม

ภายในวัดกันมาตุยารามยังมี “เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา” สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปหรือสถานที่แสดงปฐมเทศนาในอินเดีย ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวนี้ไม่ได้พบเห็นในประเทศไทยบ่อยนัก แต่ปรากฏในวัด “กันมาตุยาราม”

จะเห็นได้ว่า วัดกันมาตุยาราม ซึ่งอยู่ในถิ่นฐานชาวจีนอย่างเยาวราชนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่เพียงสร้างด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของ “แม่เล้า” อย่างนางกลีบ แต่ยังมีงานศิลปกรรมทรงคุณค่าน่าชมอีกจำนวนมากที่รอให้ทุกคนค้นพบ
22  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ปากหม้อญวน-หมูยอ เมื่อ: 15 มีนาคม 2567 17:29:37



ปากหม้อญวน-หมูยอ

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กุมภาพันธ์ 2567
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


อาหารเวียดนามนอกจากจะมีรสชาติถูกปากคนไทยแล้ว ยังเป็นเมนูที่คนรักสุขภาพชื่นชอบ เพราะมีส่วนประกอบที่เป็นแป้งน้อย นิยมกินเคียงกับผักชนิดต่างๆ

วันนี้ขอนำเสนอ ปากหม้อญวน “บั๋นก๋วน” (Bánh cuốn) เสิร์ฟพร้อมหมูยอนึ่ง กินกับน้ำจิ้มหวาน และผักต่างๆ

อิ่มอร่อยและไม่อ้วนด้วย

ส่วนประกอบ
แป้งมัน, แป้งท้าวยายม่อม, แป้งข้าวเจ้า, เกลือ, หมูสับ, หมูยอ, ต้นหอม, พริกไทย, ซีอิ๊วขาว, ผงปรุงรส, น้ำมันพืช, ผักกาดหอม, กะหล่ำปลี น้ำตาล, น้ำส้มสายชู, หัวไชเท้าฝอย, แคร์รอตฝอย, หอมแดง

วิธีทำ
1. นำแป้งมัน แป้งท้าวยายม่อม แป้งข้าวเจ้ามาผสมกัน เติมน้ำ เกลือ คนให้เข้ากัน
2. นำแป้งมาเกลี่ยบนผ้าขาวบาง แล้วนึ่งเป็นแผ่นๆ พักไว้
3. นำหมูยอมาหั่นชิ้น แล้วนึ่งให้สุก พักไว้
4. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช เจียวหอมแดงหั่นฝอย ให้เหลือง หอม ตักขึ้นพักไว้
5. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช นำหมูสับลงไปผัดกับต้นหอมสับ ปรุงรสด้วยพริกไทย ซีอิ๊วขาว ผงปรุงรส
6. นำไส้หมูสับที่ผัดแล้ว ใส่ในแป้งม้วนให้สวยงาม จัดลงจานร่วมกับหมูยอนึ่ง โรยหอมเจียว
7. ทำน้ำจิ้ม โดยใช้น้ำส้มเล็กน้อย น้ำ น้ำตาล คนให้เข้ากัน ใส่หัวไชเท้าฝอย แคร์รอตฝอยลงไป

ยกเสิร์ฟพร้อมผักกาดหอม, กะหล่ำปลีซอย กินทั้งปากหม้อ หมูยอ กับน้ำจิ้ม อร่อยชัวร์ •
23  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / บัวสาย กินสบายหัวใจ บำรุงกำลัง เมื่อ: 15 มีนาคม 2567 17:24:57


บัวสาย กินสบายหัวใจ บำรุงกำลัง

ที่มา - คอลัมน์โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2567
เผยแพร่ -    วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2567


คราวที่แล้วกล่าวถึงบัวแดงหรือบัวขมในตำรายาไทย ไม่ว่าจะเป็นบัวชนิดใด เมื่อพูดถึงบัว ก็จะพาให้คนไทยโดยเฉพาะแวดวงพระพุทธศาสนานึกคิดไปถึงสัญลักษณ์ความดีความงาม ตามสุภาษิตที่มีการเปรียบเปรยว่าปฏิบัติตนให้ดีเหมือนบัวที่โผล่พ้นออกมาจากโคลนตมจนออกดอกสวยงาม โดยไม่แปดเปื้อนสิ่งสกปรกใดๆ

บัว มาจากภาษาบาลี 2 คำ คือ อุปฺปล (สันสกฤตเป็น อุตฺปล) ในภาษาบาลี อุปฺปล หมายถึง บัวสายหรือบัวก้านอ่อน มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Waterlily และคำว่า ปทุม หรือ ปทฺม ในภาษาบาลี หมายถึง บัวหลวงหรือบัวก้านแข็ง มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Lotus

บัวสายหรือบัวก้านอ่อนที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีหลายชื่อ เช่น บัวเขียว (อุบล) อุบล (บัวขาบ) บัวขาว (บุณฑริก) บุณฑริก (บัวขาว) บัวเผื่อน บัวแดง จงกลนี และถ้าใครศึกษาตำราการแพทย์แผนไทยในพิกัดบัวของยาไทย ประกอบด้วยบัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม ซึ่ง 2 ชื่อสุดท้ายอยู่ในกลุ่มบัวสาย

และจากการรวบรวมจนพอสรุปชื่อ บัวสายหรือบัวก้านอ่อน ที่ปรากฏในเอกสารของไทยน่าจะมีอยู่ 6 ชนิด คือ 1) บัวขาบหรือบัวเขียว 2) บัวขมหรือบัวขาว (บุณฑริก) 3) บัวเผื่อน 4) บัวผัน 5) บัวแดง และ 6) บัวจงกลนี

เมื่อได้พิจารณาจากฐานข้อมูลระดับสากลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว ซึ่งรายงานไว้ว่าบัวสายหรือบัวก้านอ่อนในโลกนี้ จำแนกตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมีจำนวน 65 ชนิด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชีย 10 ชนิด และมีถิ่นกำเนิดในไทยเพียง 4 ชนิด คือ

1) Nymphaea nouchali Burm.f. มีถิ่นกำเนิดในอาฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย มี 7 ชนิดย่อย ในจำนวนนี้พบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อย คือ Nymphaea nouchali var. nouchali คือ บัวขาบ และ Nymphaea nouchali var. versicolor (Sims) Guruge & Yakand. คือ บัวเผื่อนและบัวผัน

2) Nymphaea pubescens Willd. มีดอกหลายสี แดง ชมพูขาว ถ้าดอกแดงหรือชมพูเรียกว่า บัวแดง แต่บัวชนิดนี้ที่มีดอกเป็นสีขาวเรียกว่า บัวขม (และใช้ทำยาในตำรายาไทย)

3) Nymphaea rubra Roxb. ex Andrews บัวสตบรรณ

4) Nymphaea siamensis Puripany. บัวจงกลนี

สําหรับ บัวผัน บัวเผื่อน บัวขาบ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Blue Water Lily หรือ Frog’s Pulpit แต่ทั้ง 3 ชนิดแยกออกเป็นชนิดย่อยได้ 2 ชนิด คือ บัวขาบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. nouchali ส่วนบัวผันและบัวเผื่อนมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. versicolor (Sims) Guruge & Yakand. บัวผันกับบัวเผื่อนมีลักษณะคล้ายกัน กลีบดอกมีสีฟ้าอ่อน แต่บัวผันมีดอกใหญ่กว่าบัวเผื่อน มีกลิ่นหอม ส่วนบัวเผื่อน มีดอกขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 8 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาวอมฟ้าอ่อนๆ ปลายกลีบมีสีม่วง มีกลิ่นหอม

ทั้งบัวผันและบัวเผื่อนเป็นบัวที่มีดอกบานตอนกลางวัน ในการใช้เป็นสมุนไพรพบว่า ดอกมีรสฝาดหอมเย็น ใช้บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น บำรุงกำลัง แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ บำรุงครรภ์ เมล็ดเมื่อฝักแก่ดอกร่วงหมดแล้วเรียกว่า “โตนดบัว” มีเมล็ดเล็กๆ คล้ายเมล็ดฝิ่น คั่วรับประทานเป็นอาหารได้ รสหอมมัน บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง

หัวบัวลักษณะเป็นหัวตะปุ่มตะป่ำ เหมือนโกฐหัวบัว รสหอมมัน เผ็ดเล็กน้อย ใช้บำรุงร่างกาย ชูกำลัง บำรุงครรภ์รักษา บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ

ในตำรายาไทย บัวเผื่อนอยู่ในพิกัดบัวพิเศษ มี 6 อย่างคือ บัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม ใช้แก้ไข้ แก้ลม เสมหะ และโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงครรภ์ และในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ในตำรับยาหอมเทพจิตร มีดอกบัวเผื่อนเป็นส่วนผสมร่วมกับสมุนไพรอื่นอีกหลายชนิด ตำรับยานี้มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

บัวขาบ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Cape Blue Water lily หรือ Cape Water lily มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea nouchali var. nouchali ชื่อบัวขาบอาจไม่ไพเราะ แต่เมื่อกวีรจนาอักษรก็จะเรียกในภาษากวีสวยงามในหลายชื่อ เช่น บัวนิล นิลอุบล นิลลุบล นิโลตบล นิลุบล นิโลตบล บัวนิล (นิล แปลว่า สีขาบ สีน้ำเงิน สีเขียว สีดำ)

บัวจงกลนี มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pink Double Wit หรือ Frilled Petals มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphaea siamensis Puripany. จัดว่าเป็นบัวโบราณเฉพาะถิ่นหายาก ที่พบแต่ในประเทศไทยเท่านั้น

ในเอกสารของพิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่ามีหลักฐานอ้างอิงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1800-1962) ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงหลายครั้งในเอกสารหลายฉบับ และบ่งชี้ว่าเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาช้านาน ปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วงที่มีประวัติความเป็นมาประมาณ 700 กว่าปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์บัวที่ได้รับการยอมรับจาก Water Gardeners International แต่ก็ไม่เคยได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้มีการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาร่วมกับชีวโมเลกุลพบว่าเป็นบัวชนิดใหม่ของโลก จึงได้ตั้งชื่อว่า Nymphaea siamensis Puripany.

ปัจจุบันหาได้ยากตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ลักษณะของลำต้นคล้ายกับบัวสายทั่วไปที่แตกต่าง คือ ส่วนของดอก ดอกตูมทรงดอกโคนกว้างปลายเรียว สีเขียวขี้ม้า กลีบดอกเล็กเรียว ซ้อนกันมาก สีชมพูอ่อน ปลายกลีบสีชมพูเข้ม ขนาดของดอก 8-12 เซนติเมตร ดอกลอยบานตลอดเวลา บานแล้วบานเลยไม่หุบ บานอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วก็จะโรยไป มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมีสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวและมีสีเขียวสลับเมื่อใกล้โรย

แนะนำบัวหลายชนิดที่มีความงามแตกต่างกัน แต่ในการศึกษาพบว่าบัวเกือบทุกชนิดมีสรรพคุณทางยาคล้ายกัน โดยใช้ดอกบำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น บำรุงกำลัง แก้ร้อนใน เมล็ดบำรุงกำลัง ส่วนหัวบัว ใช้บำรุงครรภ์ บำรุงธาตุ ถ้าจะดียิ่งขึ้นน่าจะช่วยกันศึกษาสรรพคุณของบัวแต่ละชนิดให้ลึกซึ้ง เพื่อการใช้ประโยชน์จากบัวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป •
24  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / การค้นพบสูตรแกงท้ายสมุดไทยสมัยรัชกาลที่ 3 สำคัญอย่างไร? เมื่อ: 12 มีนาคม 2567 13:26:36

ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
(ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot)


การค้นพบสูตรแกงท้ายสมุดไทยสมัยรัชกาลที่ 3 สำคัญอย่างไร?

ผู้เขียน - ณัฎฐา ชื่นวัฒนา
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2567


การค้นพบสูตรอาหารท้ายสมุดไทยสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2391) โดย คุณชีวิน เหล่าเขตรกิจ เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ เรื่อง พบสูตร “แกงบวน-แกงพะแนง” หน้าสุดท้ายสมุดไทยสมัย ร.3 มีความสำคัญสำหรับการศึกษาวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์อาหารไทยอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ คือ

1. บันทึกฉบับนี้เป็นการบันทึกสูตรอาหารที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน โดยเก่าแก่กว่า “ตำรากับเข้า” ของ หม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์ ที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.2434 และ “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ของ ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ตำราอาหารโบราณฉบับสำคัญที่เป็น “เสาหลัก” ของการครัวไทยสมัยใหม่ ที่ถูกตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2452 โดยบันทึกท้ายสมุดไทยฉบับนี้มีอายุเก่าแก่กว่าตำราอาหารทั้งสองเกือบ 50 ปี!

ส่วนจุดประสงค์และเจ้าของสูตรอาหารทั้งสองนี้ยังเป็นปริศนา แต่ผู้เขียนคิดว่าสูตรทั้งสองอาจเป็นสูตรอาหารที่ได้มาพร้อมกับการสอบสวนขุนนางท้องที่เรื่องการเก็บอากรสมพัตสรจาก เมืองอุทัยธานี, เมืองชัยนาทพิจิตร, เมืองพิษณุโลก, เมืองพิชัย ที่อยู่ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง/ภาคกลางตอนบน และยังสันนิษฐานได้ว่าสูตรทั้งสองอาจมีที่มาเดียวกัน

2. นอกจากปัจจัยเรื่องอายุของเอกสารแล้ว บันทึกท้ายสมุดไทยฉบับนี้ยังเป็นชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนหน้า โดยสามารถฉายภาพสูตรอาหารที่ถูกปรุงในช่วงครึ่งศตวรรษก่อนหน้าในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือการปรุงอาหารไทยในยุค “pre-แม่ครัวหัวป่าก์” หรือ ยุคก่อนหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่นั่นเอง

พูดได้ว่า ประวัติศาสตร์อาหารไทยในช่วงก่อนหน้าตำราแม่ครัวหัวป่าก์ มีลักษณะคล้ายหลุมดำทางความรู้ด้วยสาเหตุหลัก คือ ข้อมูลจากเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับอาหารมีจำนวนน้อยและกระจัดกระจาย ทำให้ข้อมูลเรื่องอาหารการกินที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงน้อยและกระจัดกระจายไปตามกัน ส่งผลให้ภาพจำของ “อาหารไทยต้นแบบ” ของคนทั่วไป หยุดอยู่แค่ในนิยามการนำเสนอตาม “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งการค้นพบสูตรอาหารท้ายสมุดไทยนี้ ชิ้นส่วนที่มาเติมพื้นที่ของช่องว่างทางประวัติศาสตร์ ด้านอาหารการกินของไทยที่มืดมิดในยุคก่อน “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ให้ชัดเจนขึ้น

3. สูตรอาหารท้ายสมุดไทยนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับขนบการบันทึกสูตรอาหารไทยแบบเก่า ซึ่งท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้บันทึกไว้ด้วยความขุ่นข้องใจไว้ในคำนำของ “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ว่า

“…ซึ่งเราประกอบกิจทำอยู่เดี๋ยวนี้เป็นการอาศัยความชำนาญที่สังเกตจำต่อๆ กันมา ก็รสชาติของกับข้าวของกินที่ทำอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นชื่อชนิดเดียวกันก็ดี แต่รสชาตินั้นผิดเพี้ยนกันไป ไม่เป็นการเสมอยั่งยืนอยู่ เป็นการสบเหมาะที่มีรสชาติดีพิเศษเป็นครั้งหนึ่งคราวใด ก็เพราะคนทำครัวคะเนส่วนเครื่องปรุงสบเหมาะถูกคราวดีเข้าจึงได้มีรสอร่อยจึงไม่เคลื่อนคล้ายอร่อยคงที่ได้ ถ้าผิดส่วนไปบ้างรสชาติก็คลายไปเป็นเพราะการคะเน จึงเอาเป็นแน่ชัดไม่ได้…”

ผู้เขียนขอเสริมท่านผู้หญิงเปลี่ยนในประเด็นนี้ด้วยว่า นอกจากสูตรอาหารไม่ได้ใส่มาตรฐานการชั่ง ตวง วัด ที่ชัดเจนในสูตรอาหารท้ายสมุดไทยแล้ว บันทึกนี้ยังไม่มีการระบุขั้นตอนการตระเตรียมเครื่องปรุง, การคัดเลือกพืชผักผลไม้ที่เป็นส่วนผสม, รวมทั้งระดับการใช้ความร้อนของแต่ละขั้นตอนในสูตรอาหาร ฯลฯ และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นในการปรุงด้วย

หากผู้เขียนเป็นคนโบราณที่เกิดปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ก็คงสามารถตีความสูตรนี้ได้ไม่ยากนัก เพราะช่องว่างด้านรายละเอียดของสูตรอาหารที่ไม่ได้ถูกบันทึกนี้ คงเป็นความรู้สามัญร่วมสมัยที่คนโบราณในสมัยก่อนรู้กันทั่วไป อาจทำให้ผู้บันทึกไม่เห็นความจำเป็นในการบันทึกรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้เอาไว้ ทำให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการตระเตรียมเครื่องปรุงและวัตถุดิบของสูตรอาหารโบราณบางส่วน ตกหล่นพลัดหายตามกาลเวลาไปอย่างน่าเสียดาย



สูตรอาหาร แกงบวน-แกงพระนัน (พะแนง) ในสมุดไทยสมัยรัชกาลที่ 3 เผยแพร่โดย คุณชีวิน เหล่าเขตรกิจ

นอกจากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อนำรายละเอียดของสูตรแกงทั้งสอง คือ พระนัน และ บวน จากข้อมูลการปริวรรตสมุดไทยต้นฉบับจากคุณชีวินมาสอบทานเทียบเคียงกับบริบททางประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลการปรุงของอาหารทั้งสองในตำรายุคหลังมาพิจารณา มีรายละเอียดดังนี้

บวน
“ต้มหมูให้สุก ๑, ตำใบขี้เหล็ก ๑, ตำใบตกรวย ๑, รวมเป็น ๒, ตำปลาย่าง ๑, ตำหอมกระเทียม ๑, ตำกะปิ ๑ เป็นน้ำแกง, หั่นตกรวยใส่ ๑, น้ำตาลละลายพอออกหวานๆ ๑, น้ำปลาร้า ๑, น้ำปลา ๑, ใบมะกรูด ๑ ใส่น้ำแกง”

สูตรแกงบวนนี้ถูกบันทึกในลักษณะแผนภูมิรายชื่อสั้นๆ กำกับหมวดหมู่ด้วยวงเล็บปีกกาเพื่อลำดับขั้นตอนก่อนหลังในการปรุงอาหาร การใช้วงเล็บปีกกาในการบันทึกรายการหรือรายชื่อ เป็นลักษณะการบันทึกรายการที่พบได้ทั่วไปในบันทึกจดหมายเหตุโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแกงบวนในสูตรนี้ใช้เนื้อหมูในการปรุง ไม่มีเครื่องในหมูเป็นส่วนประกอบหลักเหมือนสูตรแกงบวนในปัจจุบัน

ส่วนไวยากรณ์การปรุงหลักๆ ของแกงบวนโบราณนั้นยังคงเค้าโครงอยู่ในสูตรแกงบวนแบบปัจจุบันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการตำใบขี้เหล็กเพื่อคั้นน้ำสีเขียวเข้มที่มีรสเฉพาะตัวมาใส่แกง, การใช้ปลาย่างตำละเอียด, หอมกระเทียมตำ, กะปิ, และปรุงรสด้วยปลาร้า, น้ำปลา, และใส่น้ำตาลตัดรส

ที่น่าสนใจก็คือการมีอยู่ของ “ใบตกรวย” ในสูตรนี้ เพราะการใช้ “ใบตกรวย” ได้หายไปอย่างสิ้นเชิงในสูตรแกงบวนยุคหลัง คงเหลือเพียงการใช้ใบพืชชนิดอื่นๆ เช่น ใบเลียด, ใบย่านาง, ใบมะตูม, ใบตะไคร้, ใบมะขวิด และเนื่องจากสูตรถูกเขียนไว้อย่างรวบรัดและกำกวม นอกจากใบตกรวยแล้ว ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามีการใช้ส่วนอื่นของต้นกรวยในแกงบอนสูตรนี้หรือไม่ ในข้อความ “หั่นตกรวยใส่” หมายถึงส่วนอื่นใดของต้นตกรวยกันแน่

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า “ตกรวย” ที่ถูกกล่าวถึงนี้คือต้นไม้ประเภทใด อาจจะเป็นต้นกรวยป่า (Casearia grewiifolia), ต้นกรวยบ้าน (Horsfieldia irya) หรือต้นไม้ท้องถิ่นชนิดอื่นที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปแล้ว เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสันนิษฐานได้อย่างชัดเจนว่าพืชนี้คืออะไรและ “ต้นกรวย” ทั้งสองนี้สามารถกินได้โดยปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับกรวยในฐานะพืชวัตถุดิบในปัจจุบันได้หายไปจนสิ้นแล้ว จนทำให้ “ตกรวย” ในสูตรแกงบวนท้ายสมุดไทยนี้ เป็นวัตถุดิบที่หายไปตามกาลเวลาอย่างแท้จริง

พระนัน/ พะแนง
“ถั่วยาสงต้มตะไคร้ให้สุก ๑, พริกเทศ ๗ เม็ด, พริกไทยกำมือ ๑, ลูกผักชี ๑, ลูกยี่หร่า ๑, ลูกกระวาน ๑๐ ลูก, หอม ๓ หัว, กระเทียม ๒ หัว (เป็น) น้ำแกง, มะพร้าวสัก ๓ เยื่อใส่คั้นน้ำต้มไว้, ขิง ๒ หัว, ส้มมะขามนิด, น้ำตาลน้อยใส่แต่พอออกหวานๆ, น้ำปลานิด ใส่น้ำแกง”

บันทึกสูตรนี้ถูกเขียนในลักษณะบัญชีสั้นๆ ในลักษณะแผนภูมิ กำกับด้วยวงเล็บปีกกาเช่นเดียวกับสูตรแกงบวนก่อนหน้า ผู้เขียนสันนิษฐานสูตรแกงนี้น่าจะเป็นสูตร “พริกแกงพะแนง” ในแบบที่มีรูปแบบการเขียนต่างไป ซึ่งรูปแบบการสะกดที่แตกต่างของชื่ออาหารในตำราโบราณนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในตำรับอาหารโบราณอื่นๆ ด้วย เช่นในกรณีของสูตรแกง “มัสมั่น” บางครั้งถูกบันทึกในชื่อ “หมัดสมั่น” หรือ “มาชะมาน”  แต่รายละเอียดในสูตรก็เหมือนกับแกง “มัสมั่น” เป็นต้น

สูตรแกง “พระนัน” นี้เป็นหลักฐานแรกสุดที่ยืนยันฐานะของ “พะแนง” อีกสไตล์หนึ่งที่เป็น “แกงน้ำ” ที่ไม่ได้เป็น “ไก่ย่าง” ทาพริกแกงพรมน้ำกะทิ ดังที่ปรากฏอยู่ในตำรับของ หม่อมซ่มจีน จารุประพันธ์ และในข้อเสนอเรื่องแกงพะแนงของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผ่านคอลัมน์ “คึกฤทธิ์” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2515

ส่วนความพิเศษด้านมิติแห่งรสเผ็ดของแกง “พระนัน/พะแนง” สูตรนี้ก็คือ ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม มีการใช้พริกเทศ (Chili) คู่กับพริกไทย (Pepper) จำนวนมาก ทำให้แกงนี้น่าจะมีมิติของรสเผ็ดจากพริกเทศและรสร้อนจากพริกไทย ส่วนประกอบอื่นๆ ของแกง “พระนัน” ในสูตรนี้มีโครงร่างวัตถุดิบและการใช้เครื่องเทศที่คล้ายคลึงกับสูตร “ผะแนง” ที่ปรากฏใน “ตำรากับเข้า” ของหม่อมซ่มจีน จารุประพันธ์ อย่างมาก เว้นเพียงอย่างเดียวคือมี “ถั่วยาสง” หรือ “ถั่วลิสง” เป็นส่วนผสม ซึ่งสูตรแกงพระนันโบราณที่ใส่ถั่วลิสงนี้ ก็เป็นข้อมูลที่ยืนยันถึงข้อเสนอเรื่องการมีอยู่ของสูตรแกงพะแนงโบราณใส่ถั่วลิสง ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเสนอไว้

นอกจากนี้ แกงพระนันสูตรนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มี “ขิง” เป็นส่วนประกอบด้วย ซึ่งปกติแล้วแกงไทยโดยทั่วไปไม่มีขิงเป็นส่วนประกอบในพริกแกง มีเพียงข่าเท่านั้น ในสมัยใกล้เคียงกันนั้น “พริกแกง” บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “พริกขิง” เช่นกัน ดังนั้น การปรากฏตัวของขิงในสูตรแกงพระนัน อาจเป็นเค้าโครงที่บ่งบอกว่าครั้งหนึ่ง “พริกขิง/พริกแกง” ในตำรับแกงไทยโบราณอาจเคยมี “ขิง” เป็นส่วนประกอบจริงๆ ก็ได้

ข้อมูลจากสูตรอาหารโบราณคู่นี้ ทำให้ข้อมูลด้านรสนิยมในการปรุงอาหารโดยเฉพาะมโนภาพของผัสสะแห่งรสชาติของแกงโบราณมีภาพที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะการเน้นย้ำในเรื่อง “รสหวาน” ที่ดูจะเป็นรสที่ขาดไม่ได้

ซึ่งสูตรทั้งสองมีน้ำตาลเป็นเครื่องปรุงรสทั้งคู่ ซึ่งปริมาณการใช้น้ำตาลในสูตรทั้งสองก็เหมือนกัน คือ “ใส่แต่พอออกหวานๆ” ทำให้สรุปได้ว่าอาหารทั้งสองจานนั้นมีใช้รสหวานตัดรสอื่นๆ แต่แกงทั้งสองนี้คงมีรสเค็มไม่มากนัก เพราะสูตรทั้งสองไม่มี “เกลือ” เป็นส่วนประกอบเลย แต่มีการใช้เครื่องปรุงรสอื่น เช่น ปลาร้า ในการปรุงรสเค็มแทน

ซึ่งหลักฐานเอกสารนี้ได้ถ่ายทอดข้อมูลของผัสสะรสชาติของคนโบราณ ให้ประจักษ์ชัดว่า คนไทยโบราณบางกลุ่มนั้นกินแกงที่มีรส “ออกหวานๆ” มาแต่โบราณจริงๆ.
25  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / "คลื่นสี่เหลี่ยม" ปรากฏการณ์หาดูยาก ความสวยงามที่อันตรายสุดๆ เมื่อ: 11 มีนาคม 2567 10:54:29



"คลื่นสี่เหลี่ยม" ปรากฏการณ์หาดูยาก ความสวยงามที่อันตรายสุดๆ

เว็บไซต์ amusingplanet นำเสนอ "คลื่นสี่เหลี่ยม" หรือ คลื่นรูปร่างประหลาดที่มีลักษณะตัดกันแทบจะตั้งฉาก มีชื่อเรียกว่า "ครอสเวฟ" (Cross Wave) หรือ "ครอสซี" (Cross Sea) ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก มีต้นกำเนิดจากสภาพอากาศ 2 แห่งที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นนั่นเอง

แม้ดูผิวเผินจะมองว่าเจ้า คลื่นสี่เหลี่ยม นี้มีความสวยงามไม่น้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญถือว่าเจ้าสิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะกับเรือเดินทะเลที่จะต้องถูกปะทะกับคลื่นจาก 2 ทิศทางพร้อมกัน ซึ่งมีความรุนแรงระดับสามารถทำให้เรือคว่ำได้เลยทีเดียว

ธรรมชาติของคลื่นนั้น แม้ในวันที่เกิดพายุโหมกระหน่ำมันก็สามารถเดินทางได้หลายพันกิโลเมตรเหนือพื้นผิวน้ำได้ หรือแม้ในวันที่ฟ้าฝนสงบที่สุดก็สามารถเกิดคลื่นมากมายได้อยู่ดี รวมไปถึงลมทะเลทั่วไปด้วย เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่าง 2 คลื่น 2 ทิศทางที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดเป็นคลื่นสี่เหลี่ยมเช่นที่เห็นดังภาพ

แม้จะมีความอันตราย แต่คลื่นสี่เหลี่ยมก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก โดยเฉพาะการที่จะเห็นคลื่นไขว้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทั่วไปแล้ว ลมในท้องถิ่นจะทำให้เกิดคลื่นลมที่ด้านบน ซึ่งลมนี้สามารถพัดจากทิศทางใดก็ได้ แถมมีศักยภาพพอที่จะทำลายรูปร่างและทิศทางได้อย่างดี


ที่มา sanook.com
26  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / ปลาแดนีโอแนลลา ซีรีบรัม ตัวเล็กแค่ 1 ซม. แต่ส่งเสียงดังเท่ากับเครื่องบิน เมื่อ: 11 มีนาคม 2567 10:49:56


ปลาแดนีโอแนลลา ซีรีบรัม
ปลาแปลก ตัวเล็กแค่ 1 ซม. แต่ส่งเสียงดังเท่ากับเครื่องบิน ทำแก้วหูมนุษย์แตกได้!
 


นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ "แดนีโอแนลลา ซีรีบรัม" ปลาตัวจิ๋ว แต่ส่งเสียงดังเท่ากับเครื่องบิน ทำแก้วหูมนุษย์แตกได้!

ตามที่นักวิทยาศาสตร์ระบุ ปลาแดนีโอแนลลา ซีรีบรัม (Danionella cerebrum) ซึ่งเป็นปลาโปร่งใสขนาดเล็ก ความยาวไม่เกินครึ่งนิ้ว (1.27 ซม.) อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน แต่เมื่อมันใช้กระเพาะลมตีเป็นจังหวะแรงๆ สามารถส่งเสียงดังได้มากกว่า 140 เดซิเบล หรือดังพอที่จะทำให้แก้วหูแตกได้

Ralf Britz ผู้เขียนรายงานการศึกษา และนักวิทยาวิทยาที่พิพิธภัณฑ์เซนเคนเบิร์ก (Senckenberg) ในเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า "สิ่งนี้เทียบได้กับเสียงที่มนุษย์รู้สึกเมื่อเครื่องบินบินขึ้นที่ระยะห่างประมาณ 100 เมตร ซึ่งค่อนข้างไม่ปกติสำหรับสัตว์ขนาดเล็ก"

สัตว์ใหญ่มักจะส่งเสียงดังกว่าสัตว์ตัวเล็ก ตัวอย่างเช่น ช้างสามารถสร้างเสียงได้ถึง 125 เดซิเบลด้วยงวง อย่างไรก็ตาม สัตว์ตัวเล็กบางตัวสามารถส่งเสียงดังมากตามขนาดตัวของมันได้ รวมถึงกุ้งมือปืน (Pistol Shrimp) ที่ใช้คีมเพื่อสร้างเสียงที่ดังได้ถึง 250 เดซิเบล

แต่ปลาแดนีโอแนลลา ซีรีบรัม ดูเหมือนจะเป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เรื่อง "เสียง" มากที่สุดในบรรดาปลา เนื่องจากมันสามารถใช้การหดตัวของกล้ามเนื้อซ้ำๆ ที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายได้ ซึ่งไม่เคยมีการบันทึกกลไกนี้ในปลาชนิดอื่นมาก่อน

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ในวารสาร Journal of the Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States ระบุว่า “ไม่มีปลาสายพันธุ์อื่นใดที่ใช้การหดตัวของกล้ามเนื้อข้างเดียวซ้ำๆ เพื่อสร้างเสียง”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สัตว์ชนิดนี้ได้กลายเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ ปลาที่มีลักษณะใสๆ เช่นนี้ มักถูกใช้ในฐานะสิ่งมีชีวิตต้นแบบในการวิจัยทางชีวการแพทย์ เนื่องจากความโปร่งใสทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาอวัยวะและตัวอ่อนของปลาได้ง่าย

โดยนักวิจัยชี้ว่า "น่าสนใจที่จะเรียนรู้ว่ากลไกการสร้างเสียงต่างกันอย่างไร และความแตกต่างเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงเชิงวิวัฒนาการอย่างไร"

ทั้งนี้ เสียงที่ดังที่สุดในโลก คือการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ซึ่งมีความดังถึง 172 เดซิเบลในระยะไกลถึง 160 กม.


ที่มา https://www.sanook.com/
27  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “แป้งเย็นตรางู” ตำนานแป้งฝุ่นกระป๋องเหล็ก เมื่อ: 07 มีนาคม 2567 13:20:19

ภาพ: ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ในอดีต และภาพแป้งเย็นตรางู

“แป้งเย็นตรางู” ตำนานแป้งฝุ่นกระป๋องเหล็ก

ผู้เขียน - สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์
เผยแพร่ -  Silpawattanatham - ศิลปวัฒนธรรม   วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2567



“แป้งเย็นตรางู” ตำนานแป้งฝุ่นกระป๋องเหล็ก ขวัญใจคนไทยช่วงหน้าร้อน กับความเป็นมากว่า 130 ปี

เมื่อหน้าร้อนเมืองไทยร้อนแทบจะทะลุปรอท หลายคนจึงคิดหาวิธีดับร้อน หนึ่งในนั้นคือการใช้แป้งฝุ่นสูตรเย็น ซึ่งยี่ห้อที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือ “แป้งเย็นตรางู” ที่มีความเป็นมายาวนานย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่

ตอนนั้น นพ.โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ หรือ “หมอเฮส์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรัก และอดีตแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาลศิริราช ร่วมทุนกับ นพ.ปีเตอร์ กาแวน เปิดร้านขายยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ใช้ชื่อร้านว่า “บริติช ดิสเปนซารี” มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักหัว

แต่ยุคนั้น ชาวสยามยังไม่คุ้นกับการออกเสียงภาษาอังกฤษ จึงเรียกชื่อร้านตามสิ่งที่เห็น นั่นก็คือ “ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)”

กิจการของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ดำเนินไปด้วยดี ขยายกิจการหลายสาขา แต่ต่อมาหมอกาแวนต้องเดินทางกลับอังกฤษ จึงขายหุ้นให้หมอเฮส์ พอถึง พ.ศ.2449 หมอเฮส์ก็ขายกิจการทั้งหมดให้มิสเตอร์แมคเบธ ซึ่งเป็นผู้ปรุงยาในร้าน จากนั้นราว พ.ศ.2475 มิสเตอร์แมคเบธต้องการเดินทางกลับประเทศ จึงประกาศขายกิจการ

ผู้ที่ซื้อห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ใน พ.ศ.2471 ก็คือ ล้วน ว่องวานิช หรือ “หมอล้วน” นั่นเอง
.
หนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ภายใต้การดูแลของหมอล้วน คือ แป้งน้ำ “ควินนา” ที่เพิ่มสารให้ความเย็นและความหอมจากสูตรเดิม เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงสาว
.
ส่วน “แป้งเย็นตรางู” สินค้าซิกเนเจอร์ที่อยู่ยั้งยืนยงมาหลายทศวรรษ ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2490 เมื่อมีผู้มาหาหมอที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ด้วยอาการผดผื่นคัน แต่ทำอย่างไรก็ไม่หายสักที หมอล้วนจึงผสมแป้งและเพิ่มสารความเย็นให้นำกลับไปใช้ ปรากฏว่าได้ผลดี จึงเกิดการบอกปากต่อปาก
.
นอกจากช่วยให้ผู้ใช้สบายตัว เอกลักษณ์อีกอย่างของแป้งเย็นตรางูคือ “กระป๋องเหล็ก”


ทำไมต้องใช้กระป๋องเหล็ก?

เมื่อหน้าร้อนเมืองไทยไม่เคยปรานีใคร เพราะบางพื้นที่อุณหภูมิสูงขึ้นไปกว่า 40 องศาเซลเซียส หลายคนจึงคิดหาวิธีดับร้อน หนึ่งในนั้นคือการใช้แป้งฝุ่นสูตรเย็น ซึ่งยี่ห้อที่คนส่วนมากเคยใช้หรือเคยได้ยินชื่อก็คือ “แป้งเย็นตรางู” ที่มี ล้วน ว่องวานิช หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หมอล้วน” เป็นผู้พัฒนาสูตร จนครองใจผู้ใช้มาถึงทุกวันนี้

แป้งเย็นตรางู ซึ่งใช้สัญลักษณ์งูมีศรปักหัว หมายถึง “งูเปรียบเหมือนโรคภัยไข้เจ็บ ลูกศรที่ปักหัวงูหมายถึงการรักษาโรค” มีความเป็นมาย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5

ตอนนั้น นพ. โธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) หรือ “หมอเฮส์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางรัก และอดีตแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาลศิริราช ร่วมทุนกับ นพ. ปีเตอร์ กาแวน (Peter Gawan) เปิดร้านขายยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 ใช้ชื่อร้านว่า British Dispensary มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักหัว

แต่ในยุคนั้น ชาวสยามยังไม่คุ้นกับการออกเสียงภาษาอังกฤษ จึงเรียกชื่อร้านตามสิ่งที่เห็น นั่นก็คือ “ห้างขายยาอังกฤษ ตรางู”

ที่ตั้งของร้านอยู่ปากตรอกโรงภาษีข้าม มุมถนนสุรวงศ์ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นย่านที่ชาวตะวันตกอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เพราะเป็นที่ตั้งสถานทูตและบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ชั้นบนเปิดเป็นคลินิกรักษาผู้ป่วย ส่วนชั้นล่างเป็นที่ปรุงยาและขายยา ทั้งที่ทำเองและสั่งจากต่างประเทศ

กิจการดำเนินไปได้ดี ทั้งคู่เปิดสาขาอีก 2 แห่ง แต่ต่อมาหมอกาแวนจำเป็นต้องเดินทางกลับอังกฤษ จึงขายหุ้นให้หมอเฮส์ พอถึง พ.ศ.2449 หมอเฮส์ก็ขายกิจการทั้งหมดให้ มิสเตอร์แมคเบธ (Mr. Mcbeth) ซึ่งเป็นผู้ปรุงยาในร้าน

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ดำเนินการมาได้ 36 ปี มิสเตอร์แมคเบธก็ต้องการเดินทางกลับประเทศ จึงประสงค์จะขายกิจการ ทั้งทรัพย์สิน ตำรับยาต่างๆ และลิขสิทธิ์การเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซนลุกซ์ ในมูลค่า 100,000 บาท

ผู้ที่ซื้อกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ใน พ.ศ.2471 ก็คือ ล้วน ว่องวานิช นั่นเอง

ล้วน ว่องวานิช เป็นชาวจีน เกิดที่เกาะไหหลำ เมื่อ พ.ศ.2434 พออายุได้ 12 ปีก็เดินทางมาเมืองไทย ทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงงานน้ำอัดลม ใกล้กับสะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งหนึ่งในสาขาของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ก็ตั้งอยู่แถวนั้นด้วย

เมื่อจบชั้น ม.1 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขาเข้าทำงานที่ห้างขายยา ตราบัว มีหน้าที่ช่วยเภสัชกรผสมยา จากนั้นก็ย้ายมาทำงานที่ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) และห้างขายยาบางกอกดิสเปนซารี ตราช้าง

ความเป็นคนใฝ่รู้ ทำให้ล้วนศึกษาค้นคว้าเรื่องการผสมยาอย่างจริงจัง ทั้งยังได้รับความรู้จาก นพ. ชไนเดอร์ ชาวเยอรมัน ที่ถ่ายทอดความรู้ทางการแพทย์ให้ จุดนี้เองที่ทำให้ใครต่อใครเรียกเขาว่า “หมอล้วน”

ล้วนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้างขายยามาแทบจะตลอดชีวิต เมื่อมิสเตอร์แมคเบธประกาศขายกิจการห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เขาจึงตัดสินใจซื้ออย่างไม่ลังเล

หนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ภายใต้การดูแลของหมอล้วน คือ แป้งน้ำ “ควินนา” (Quina) ที่เพิ่มสารให้ความเย็นและความหอมจากสูตรเดิม เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหญิงสาว เพราะนอกจากช่วยคลายร้อนได้แล้ว กลิ่นกายยังหอมกรุ่นแตกต่างจากแป้งสูตรอื่น ซึ่งยังมีขายมาถึงตอนนี้

ส่วน “แป้งเย็นตรางู” สินค้าซิกเนเจอร์ที่อยู่ยั้งยืนยงมาหลายทศวรรษ ถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2490 เมื่อทนายความชื่อบริสเบนมาหาหมอโอคเลย์” (Oakley) ซึ่งเป็นหมอประจำห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ด้วยอาการผดผื่นคัน มีสาเหตุจากอากาศเมืองไทยที่ร้อนอบอ้าว หมอให้โลชั่นคาลาไมน์ไปทา แต่ก็ไม่หายสักที

ในที่สุด หมอล้วนจึงผสมแป้งและเพิ่มสารความเย็นให้นายบริสเบนนำกลับไปใช้ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี เขาหายจากผดผื่นคัน ทั้งยังสบายตัว ชื่อเสียงของแป้งเย็นตรางูจึงกระจายไปปากต่อปาก กระทั่งหมอล้วนผลิตเป็นสินค้าวางจำหน่าย

นอกจากเป็นแป้งเย็นช่วยให้ผู้ใช้สบายตัว เอกลักษณ์อีกอย่างของแป้งเย็นตรางูคือ “กระป๋องเหล็ก”

เรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่ พ.ศ.2495 ที่หมอล้วนคิดค้นวิธีเก็บความเย็นให้นานกว่าเดิม จึงเลือกใช้กระป๋องเหล็ก ตอนนั้นต้องนำเข้ากระป๋องจากฮ่องกง แต่ต่อมาเกิดปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยสามารถผลิตกระป๋องเหล็กแบบนี้ได้แล้ว หมอล้วนจึงเปลี่ยนมาใช้กระป๋องที่ผลิตในไทย

เมื่อเมืองไทยเป็นเมืองร้อน แป้งเย็นตรางูที่ช่วยสร้างความสบายตัวได้ดี จึงเป็นสินค้าขวัญใจผู้ใช้จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน




28  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / ความเชื่อ “นัต” ระบบผีท้องถิ่นนิยมในเมียนมา ที่พุทธศาสนาเอาชนะไม่ได้ เมื่อ: 05 มีนาคม 2567 14:08:15


สำรวจความเชื่อ “นัต” ระบบผีท้องถิ่นนิยมในเมียนมา ที่พุทธศาสนาเอาชนะไม่ได้

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2557
ผู้เขียน - องค์ บรรจุน
เผยแพร่ - วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ.2567


หากเปรียบร้านน้ำชาและร้านขายหมากพลูกับศาลนัต (Nat) ในเมืองพม่า จะมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ มีให้เห็นได้ทั่วทุกช่วงถนน ตั้งแต่หัวไร่ปลายนาชายป่าริมคลอง ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ไทรหนา ตลาดสด กระทั่งในวัด ทั้งที่ศาลนัตเคยถูกกวาดล้างจัดระเบียบครั้งใหญ่เมื่อสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ แต่ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ ลี้ลับขมังเวทย์ ยังคงอยู่ในสายเลือดคนพม่า นัต ของพม่าค่อนข้างจะมีสารบบแบบแผนมากกว่าผีไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นผีสามัญชนและมุ่งร้ายมากกว่าดี ขณะที่นัตของพม่าส่วนใหญ่เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน แต่ละตนมีที่มาที่ไปดีเด่น ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง

เป็นที่รู้กันว่า พระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์หนึ่งที่ถูกคุมไปเป็นองค์ประกันและไปเสียชีวิตที่เมืองพม่าก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 37 ตน ของนัตพม่าด้วยเช่นกัน รวมทั้งรูปปั้นนัตโบโบยีที่คนไทยเรียกว่าเทพทันใจ เทพองค์นี้เป็นนัตที่คนพม่าเคารพนับถือกันมาก

นักท่องเที่ยวไทยนับถือแค่ไหนไม่รู้ชัด เห็นแต่ชอบกราบไหว้ขอพรกันเอิกเกริก ในแทบทุกวัดจึงมักจะมีรูปปั้นนัตโบโบยี โดยแต่ละวัดจะมีรูปปั้นนัตไม่เท่ากัน น้อยวัดที่จะมีครบทั้ง 37 ตน ขึ้นอยู่กับความเคารพศรัทธา

เมื่อเพื่อนฝูงรู้ว่าผู้เขียนจะไปเที่ยวพม่า พากันแนะนําให้ไหว้ขอพรเทพทันใจ เทพที่เลื่องชื่อลือชาว่าให้พรรวดเร็วทันใจตามขอ คนพม่าเรียกนัตตนนี้ว่า นัตโบโบยี เท่าที่เห็นจากชุดแต่งกาย จะเป็นกึ่งผีกึ่งเทพ ใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางใจดี มือซ้ายถือไม้เท้า ส่วนมือขวาชี้ไปข้างหน้า หากใครต้องการขอพร ให้หาเครื่องบูชาที่มีวางขายเป็นชุด ประกอบด้วย กล้วย มะพร้าวอ่อน หมาก เมี่ยง ดอกไม้ ใบหว้า และธงฉัตรกระดาษไปสักการะ

จากนั้นนําธนบัตรใส่มือนัต 2 ใบ ไหว้ขอพรแล้วดึงกลับมาเก็บรักษาไว้ 1 ใบ เสร็จแล้วก้มให้หน้าผากสัมผัสกับนิ้วชี้ของนัต ส่วนธนบัตรอีกใบให้นําไปหยอดลงตู้บริจาค (สูตรเดียวกับหลวงพ่อคูณ) นัตตนนี้หรือเทพองค์นี้ดูท่าจะได้รับความนิยมกว่านัตตนไหน ดูจากดอกไม้ พวงมาลัย และผลหมากรากไม้ล้นเหลือ เห็นทีว่าคงจะมีงานบันดาลพรให้ใครต่อใครตลอดเวลาไม่มีวันหยุด

แม้พม่าจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่พุทธศาสนาฝังรากลึก พุทธศาสนิกชนตั้งมั่นในหลักธรรมคําสั่งสอนของ พระพุทธองค์ไม่เสื่อมคลาย แต่ในขณะเดียวกัน ความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีที่อยู่กับชาวพม่ามาตั้งแต่ก่อนพบพระพุทธศาสนายังฝังแน่นอยู่ในสังคมพม่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความเชื่อเรื่องผีที่แทบจะตีคู่มากับพระสงฆ์นั่น คือ “นัต” หากเราเข้าไปในบ้านของคนพม่า 9 ใน 10 หลัง ก็จะพบว่ามีทั้งหิ้งพระและทิ้งนัตอยู่ด้วยกันเสมอ บางบ้านถึงกับปลูกศาลนัดไว้หน้าบ้าน ส่วนตามที่สาธารณะ เช่น ลานโล่ง กลางหมู่บ้าน ลานวัด ลานพระเจดีย์ ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมทาง มักมีรูปปั้นนัตอยู่เสมอ ชาติภูมิเดิมมีทั้งที่เป็นรูปเทวดา กษัตริย์ นักบวช นักรบ ยักษ์ กระทั่งยาจกเข็ญใจ

ผู้รู้ชาวพม่าเชื่อว่านัต (Nat) มาจากคําว่า นาถ ในภาษาบาลี หมายถึงผู้เป็นที่พึ่ง เป็นต้นว่า พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระพรหม เทวดา พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สุริยเทพ จันทราเทพ อัคคีเทพ วาโยเทพ ดังนั้น นัตตามนัยของคําว่า นาถ คือเหล่าเทพดาบนสรวงสวรรค์ตลอดจนผู้มีอํานาจอันประเสริฐบนโลกมนุษย์ อันถือเป็นนัตตามความหมายในทางพุทธศาสนา

แต่ความเชื่อในสังคมพม่าทั่วไปหากพูดถึงนัต มักหมายถึงผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือพวกสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถคุ้มครองมนุษย์ได้ แต่ไม่รวมพระพุทธเจ้าและ พระอรหันต์ ที่สําคัญก็คือ นัตของพม่าจะต้องเป็นวิญญาณที่เกิดจากคนตายโหง กึ่งเทพกึ่งผี อยู่ระหว่างเทพและผี สูงศักดิ์กว่าผีทั่วไปสักหน่อย แต่ไม่เทียบชั้นเท่าเทวดา

ผู้ที่เป็นสาวกของนัตจึงต้องใช้ศัพท์แสงและปฏิบัติตนต่อนัดประดุจกษัตริย์ เทียบได้กับผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย ที่มีฐานันดรสูงส่งกว่าผีธรรมดาสามัญ



ผีนัตในเมืองมัณฑะเลย์

สารบบนัตของพม่ามีนัตทั้งสิ้น 37 ตน ใครก็ตามเมื่อตายไปสามารถเป็นนัตได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ร่ำรวยหรือยากจน กษัตริย์หรือสามัญชน หรือไม่แม้แต่เชื้อสายเผ่าพันธุ์ อะไร ตามประวัติของนัตแต่ละตน ล้วนแล้วแต่ตายโหงด้วยกันทั้งนั้น

บ้างถูกฆ่าตาย บ้างฆ่าตัวตาย งูกัดตาย เสือตะปบตาย พลัดตกจากชิงช้า ตรอมใจตาย เมาเหล้าตาย บ้างตายด้วยพิษไข้ โรคบิด โรคเรื้อน เป็นการตายในลักษณะที่เรียกว่า ตายอย่างน่าเวทนา

แต่ใช่ว่าผีตายโหงทุกรายจะกลายเป็นนัตได้ทั้งหมด นอกจากบุคคลนั้นจะตายด้วยความน่าสมเพช เวทนา หรือสะเทือนขวัญพรั่นพรึง จนเกิดความสะเทือนใจ เป็นที่โจษจันกันไปทั่ว เป็นเรื่องที่เล่าผ่านกาลเวลา จนกลายเป็นตํานานเล่าลือสืบต่อกันมาอย่างกว้างขวาง ในทํานองมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ก็มีความเมตตากรุณาเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้

เช่นนี้จึงจะครบองค์ประกอบของนัตที่ชาวบ้านรับรู้กันทั่วไป เรียกได้ว่า การมีคุณสมบัติของนัตครบถ้วน ก็ยังไม่สามารถเป็นนัตได้ หากไม่ได้พิสูจน์ฝีมือให้ชาวบ้านได้เห็นเสียก่อน วิญญาณของผู้นั้นจึงจะกลายเป็นนัตอย่างสมบูรณ์ตามความเชื่อ

ธรรมชาติของนัตมีทั้งดีและร้าย สามารถดลบันดาลให้ผู้คนได้ทั้งสุขและทุกข์ ดังนั้น เพื่อความอยู่เย็นเป็น สุขหรือเมื่อต้องการให้พ้นจากเรื่องทุกข์ จึงต้องเซ่นสรวงบัตรพลีทั้งผีดีและผีร้าย โดยทําไปตามอัตภาพของตน ด้วยการถวายข้าวตอกดอกไม้และอาหารนานาชนิด เป็นการแสดงความเคารพและหวังให้นัตคุ้มครองตนเพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยทํามาค้าขึ้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า กล่าวถึงนัตทั้ง 37 ตน ของพม่าซึ่งเรียกว่า แน็ตมิน (นัตมิน) หรือผีหลวง ส่วนตํารามหาคีตะเมคะนี (Maha Gita Megani) ที่ว่าด้วยเรื่องผีซึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกาพยุหะ อันเป็นตําราตามขนบจารีตพม่า ซึ่ง เซอร์ยอช สก็อต เป็นผู้เรียบเรียงไว้ในอภิธานเมืองพม่าเหนือ (Upper Burma Gazetteer) มีรายชื่อเมืองและประวัติของผีหลวงทั้ง 37 ตน บอกถึงธรรมเนียมเข้าทรงผี ซึ่งส่วนใหญ่คนทรงจะเป็นผู้หญิง (ต่างจากปัจจุบันที่มักเป็นงานของผู้ชายจิตใจหญิง) และนัตแต่ละตนจะมีการขับร้อง การฟ้อนรํา ที่มีเพลงและเครื่องดนตรีเฉพาะตน

ในวัดเจดีย์ชเวสิโกง เมืองพุกาม มีการสร้างรูปนัตแกะสลักจากไม้ขนาดเท่าหุ่นกระบอกที่มีครบอยู่ 37 ตน เพียงแห่งเดียว ซึ่งแต่ละตนต่างแต่งตัวด้วยอาภรณ์หลากสี ตั้งอยู่บนฐานชุกชีในวิหารยาวประมาณ 4 ห้อง มีนัตเพียงคนเดียวที่มีขนาดเท่าคนจริง สวมเครื่องทรงกษัตริย์ซึ่งคือพระอินทร์ ผู้เป็นหัวหน้าของนัตทั้งหมด

ส่วนในหนังสือเที่ยวเมืองพม่าของ ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์ กล่าวถึงนัตที่มีเพียง 37 ตน โดยในช่วงสมัย อาณาจักรพุกามเหลือนัตอยู่เพียง 22 ตน และได้เพิ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่ออีก 15 ตน

เหตุที่ต้องกําหนดให้นัตมี 37 ตน เข้าใจกันว่าเป็นเพราะถือเอาจํานวน 37 เป็นเลขมงคล ตรงกับโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ธรรมที่เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ นอกจากนี้เลข 37 ยังตรงกับองค์ความรู้ของพม่าหลายแขนง เช่น ทาส 37 ดุริยางค์ 37 ทํานองเพลง 37 ดาบ 37 ทวน 37 วิธีบังคับม้า 37 และกระบวนพาย 37 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นัตของพม่าแบ่ง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นัตพุทธ นัตใน และนัตนอก

นัตพุทธ” คือนัต 37 ตน ที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาดังกล่าวแล้วข้างต้น

นัตใน” หมายถึงนัต 37 ตน ที่ถูกพระเจ้าอโนรธามังช่อกําหนดให้อยู่เฉพาะในเขตกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง เมืองพุกาม ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงอัญเชิญพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากมอญผ่าน ชินอรหันต์เถระ และรับสั่งให้ประชาชนเลิกบูชานัต นัตบางตนมีชื่ออยู่ทั้งในคัมภีร์ศาสนาพุทธและพราหมณ์ ซึ่งมี 15 องค์ เช่น ท้าวจาตุมหาราช (นัตประจําทิศทั้งสี่) และพระอิศวร เป็นต้น

นัตหลายตนถือเป็นนัตท้องถิ่นพม่า มีด้วยกัน 22 ตน เช่น มะจี ปิ่งซ่องนัต (นัตรักษาต้นมะขาม) ชิงผยูชิงนัต (เจ้าช้างเผือก) และมยิงผยูชิงนัต (เจ้าม้าขาว) เป็นต้น นัตใน ส่วนใหญ่จึงเป็นนัตท้องถิ่นรวมกับนัตที่มาจากอินเดีย




สักการะ “เทพทันใจ” (ภาพจาก เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ https://www.youtube.com/watch?v=PPYbHFhSmrI)

นัตนอก” เป็นนัต 37 ตน ที่อยู่นอกกําแพงพระเจดีย์ชเวซีโข่ง หนังสือส่วนใหญ่ระบุชื่อเป็นภาษาพม่า ทั้งอ่านยากและไม่รู้ความหมาย ในหนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง มีการแปลชื่อผีนัตที่ได้อรรถรสแบบละคร หรือนิยายดี จึงขอยืมสํานวนแปลมาเพื่อให้ได้บรรยากาศ ดังนี้

ท้าวสักกะ (ตะจามิน) มินมหาคีรี (งะตินเด) เจ้านางหน้าทอง (ชเวเมียตหน่า) นางงามสามเวลา เจ้านางผิวขลุ่ย เจ้าสีน้ำตาลแห่งทิศใต้ เจ้าสีขาวแห่งทิศเหนือ เจ้าฉัตรขาว พระมารดาหลวง (ของเจ้าฉัตรขาว) เจ้าทั้งมวลแห่งปะเยมมา เจ้าเทพทองใหญ่ เจ้าเทพทองน้อย เจ้าปู่แห่งมัณฑะเลย์ นางขาโก่ง ชายชราข้างต้นกล้วยเดี่ยว เจ้าสิทธู เจ้าหนุ่มแห่งชิงช้า เจ้าผู้กล้าหาญแห่งจ่อส่วย กัปตันของกองทัพใหญ่แห่งอังวะ

นักเรียนนายทหารหลวง นางทองคํา (มารดาของนักเรียนนายทหารหลวง) เจ้าแห่งช้างห้าเชือก เจ้าแห่งความยุติธรรม หม่องโปตู ราชินีแห่งวังตะวันตก เจ้าแห่งช้างเผือก นางตัวงอ นอระธาทอง เจ้าอองดินผู้กล้าหาญ เจ้าขาวหนุ่มน้อย เจ้าเณร ตะเบ็งชเวตี้นางแห่งทิศเหนือ เจ้าแห่งมินกาวงแห่งตาวน์งู เลขานุการหลวง และกษัตริย์แห่งเชียงใหม่ (พระเจ้าเมกุฏิ) ปัจจุบัน คนพม่าไม่นิยมเรียก ยวนปะหยิ่นนัต แล้ว แต่เรียกโกชานปีญนัต กลายเป็นผีฉานเก้าหัวเมืองแทน

นัตนอก 37 ตน ถือเป็นนัตท้องถิ่นที่อยู่คู่สังคมพม่ามาช้านาน และมีอิทธิพลต่อการดําเนินชีวิตของคนพม่ามากที่สุด เป็นนัตกลุ่มที่ยังคงได้รับการกราบไหว้บูชาเสมอมา และส่วนใหญ่เป็นนัตที่นิยมอัญเชิญลงประทับทรง ยกเว้น ตะจามิง (Thagyamin) หรือพระอินทร์เท่านั้น ที่ไม่มีการประทับทรงและเป็นนัตเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นเทพ

นอกจากนั้นอีก 36 ตน เป็นผีตายโหง หากแยกตามเพศ เป็นชาย 26 หญิง 10 แยกตามฐานันดร เป็นกษัตริย์ 10 ราชบุตรราชธิดา 6 พระมเหสี 6 อํามาตย์และข้าราชบริพาร 8 พ่อค้าและคนยากจนอนาถา 6 แยกตามชนชาติ พม่า 28 มอญ 2 แขก 2 ไทใหญ่ 1 ไทยวน 1 (เข้าใจว่าเป็นพระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดขณะเป็นองค์ประกันอยู่ในพม่า) และเป็นพราหมณ์ไม่ระบุเชื้อชาติ 2

แยกตามสถานภาพขณะครองสมณเพศ เป็นภิกษุ 1 สามเณร 2 แยกตามลักษณะการตาย ถูกฆ่าตาย ฆ่าตัวตาย สัตว์ร้ายขบกัด และตรอมใจตาย 22 ตายด้วยพิษไข้ 11 ตายเพราะเมาฝืนและเหล้า 2 ตายด้วยโรคเรื้อน 1 แยกตามถิ่นกําเนิด เมืองพุกาม 12 อังวะ 8 ตะกอง มินดง ตองอู เมืองละ 3 เชียงใหม่ สะเทิม ปิงยะ อุกกะลาปะ ปูแต๊ะ กะตู และปิงแล เมืองละ 1 ตน

ปัจจุบัน นัตในคติความเชื่อของพม่าทั้ง 3 กลุ่ม กลุ่มละ 37 ตน รวมแล้ว 111 ตน ส่วนที่เป็นนัตนอก ซึ่ง ผู้คนนิยมบูชาและเชิญประทับทรง ปัจจุบันมีจํานวนเกินกว่าที่ระบุอยู่ในสารบบ 37 ตน ทั้งนี้เพราะในปัจจุบัน คนพม่าส่วนใหญ่นับถือนัตตามความนิยม ออกจะดูเป็นอิสระจากสังคมซึ่งกําหนดให้เชื่อถือตามประเพณี การนับถือนัตจึงเป็นความนิยมส่วนบุคคล เพราะช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะตนและเฉพาะกรณี

อย่างไรก็ตาม นัตที่นับถือและมีการเข้าประทับทรงส่วนใหญ่เป็นนัตนอก และในจํานวนนัตนอกหลายตนที่อยู่นอกสารบบนัตหลวง ที่เพิ่มจํานวนขึ้นตามกระแสสังคม นัตเหล่านี้บางตนได้รับความนิยมกราบไหว้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่านัตที่อยู่ในสารบบ ซึ่งนัตนอกในสารบบบางตน แทบจะไม่มีผู้รู้จัก อย่างไรก็ตาม นัตซึ่งเป็นที่นิยมกราบไหว้บูชาของคนพม่า ในปัจจุบันจึงเรียกได้ว่า เป็นนัตที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริง

นัตนอกที่คนพม่ารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ มินมหาคีรี ตลอดจนเครือญาติ ได้แก่ ชเวนะเบ (เมีย) ชเวเมียต หน่า (น้องสาวคนโต) โตงปั่งหละ (น้องสาวคนเล็ก) ลูกชาย 2 ตน และ ชิงแนมิ (หลานสาวซึ่งเป็นลูกน้อง สาวคนเล็ก) รวมกันเป็นนัตตระกูลมินมหาคีรีทั้งหมด 7 ตน ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี มินมหาคีรี เป็นนัตหลวงที่มีตํานานเล่าย้อนไปถึงสมัยพุกาม ยุคแรกก่อนพระเจ้าอโนรธามังช่อเสด็จขึ้นครองราชย์

มินมหาคีรีเกิดที่เมืองตะกอง ทางพม่าตอนเหนือ ชาวพม่าทุกระดับชนชั้นเคารพบูชามินมหาคีรี ที่ถือเป็นนัตหลวง และมีฐานะสูงสุดในบรรดานัตหลวงเดิมทั้ง 36 ตน อย่างสูงสุด

กษัตริย์พม่าทุกพระองค์ที่จะขึ้นครองราชย์จะต้องเดินทางไปเซ่นสรวงบูชา เพื่อขอคําชี้แนะในการปกครองบ้านเมือง รวมทั้งขอให้ช่วยค้ำจุนราชบัลลังก์เสริมบุญญาบารมี กระทั่งมีโคลงกล่าวสดุดีภูเขาโปปาที่ประทับของมินมหาคีรี ชื่อว่า โคลงโปปานัตคีรี (โปปานัตต่องลิงกา)




“วัดตุงคาลัท” (Taung Kalat Temple) บนเขาโปปา (Popa)

ต่อมา ในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (Anawrahta ครองราชย์ พ.ศ.1587-1620) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ พระองค์แรกที่สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรพม่า ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม ทรงได้รับความช่วยเหลือจากชินอรหันต์ พระเถระมอญ ผู้อัญเชิญพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากเมืองสะเทิมของมอญสู่พุกาม เพื่อแทนที่พุทธศาสนานิกายอารี ตลอด จนลัทธิฤาษีชีพราหมณ์ ที่ประพฤตินอกรีต อีกทั้งให้ยกเลิกพิธีบูชานัตที่เขาโปปา (Popa)

โปปา (Popa) มีรากมาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “ดอกจําปา” คงเนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้มีต้นจําปาขึ้นอยู่เป็นจํานวนมาก จึงได้ชื่อว่า “ภูเขาดอกจําปา” เขาโปปามีความสูง ประมาณ 4,981 ฟุต อยู่ห่างจากเมืองพุกามไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 50 กิโลเมตร ภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ลาวาภูเขาไฟสร้างตัวเองสูงตระหง่านโดดเด่นกว่าพื้นที่โดยรอบ

เขาโปปาได้รับการกล่าวถึงในบันทึก ประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่ในยุคแรกของการเลือกชัยภูมิสร้างเมืองพุกาม คนพม่าเชื่อว่าเขาโปปาแห่งนี้เปรียบเสมือน “เขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล” รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกับอีกมิติหนึ่งได้ อันเป็นที่สถิตของเหล่า “นัต” หรือ ที่คนพม่าเรียกว่า “มินนัต”

นอกจากนี้ บนยอดเขาโปปายังเป็นที่ตั้งของ “วัดตุงคาลัท” (Taung Kalat Temple) วัดสําคัญแห่งหนึ่ง ของเมืองพุกาม เป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากแห่งหนึ่ง บุคคลที่ต้องการขึ้นไปยังวัดจะต้องเดินเท้าขึ้นไปตามทางเดินขึ้นบันไดทั้งสิ้น 777 ขั้น

พระเจ้าอโนรธามังช่อรับสั่งให้รวบรวมนัตทั้งหลายมาไว้ที่พระเจดีย์ชเวซีโข่งให้ทําหน้าที่เฝ้าพระเจดีย์แทน การประทับอยู่ที่เขาโปปา พร้อมกันนั้นยังกําหนดให้ตะจามิง (พระอินทร์) ขึ้นเป็นประมุขของนัตทั้งหลาย ลดฐานะมินมหาคีรีให้เป็นรองตะจามิง เป็นการเปลี่ยนความหมายของนัตในหมู่ชาวบ้าน จากเดิมที่เคยนับถือมินมหาคีรี ซึ่งเป็นนัตท้องถิ่นอย่างสูงสุด ถูกแทนที่ด้วยตะจามิง (พระอินทร์) นัตพราหมณ์ต่างถิ่น

ดังนั้น จากเดิมที่มีนัต 36 ตนจึงกลายเป็น 37 ตน นัตท้องถิ่นที่เคยมีหน้าที่ดูแลสุขทุกข์ของชาวบ้านโดยตรง กลายเป็นผู้ดูแลพระศาสนาแทน นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธามังช่อได้รับสั่งให้ทําลายศาลนัตทั้งหลายตามใต้ต้นไม้และในบริเวณหน้าบ้านชาวบ้านชาวเมืองทั้งหมด จํากัดพื้นที่ให้นัตไปรวมกันไว้ที่เดียว เปลี่ยนความเชื่อชาวบ้านที่เคยพึ่งพานัตมาพึ่งพิงพระพุทธศาสนาแทน

พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงพยายามจํากัดความเชื่อเรื่องนัตในหมู่ชาวบ้าน แต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จนัก เนื่องจากความเชื่อถือเรื่องนัตหยั่งรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านยังเชื่อว่า นัตสามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจําวันของตนได้ดี จึงแอบบูชานัตกันในบ้านเรือน โดยรับเอามินมหาคีรีมาอยู่ที่ในบ้านเรือนของแต่ละคน โดยเชื่อกันว่านัตจะคอยช่วยปกป้องคุ้มครองบ้านเรือนและคนในครอบครัว

มินมหาคีรีจึงเปลี่ยนหน้าที่จากผู้ดูแลบ้านเมืองมาเป็นผู้ดูแลบ้านเรือน นัตจึงไม่ได้สูญสลายไปตามที่พระเจ้าอโนรธามังช่อทรงต้องการ แต่กลับกระจายไปทั่วทุกหนแห่งและอยู่ใกล้ประชาชนมากกว่าเดิม

ความเชื่อเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของนัตมีอยู่ในผู้นําพม่ามาทุกยุคสมัย เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อทรงนําศาสนา พุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า แม้ว่าพระเจ้าอโนรธามังช่อจะทรงสั่งห้ามบูชานัตเด็ดขาด จํากัดนัตให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะ เปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของนัตให้อยู่ภายใต้ร่มเงาพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง แต่การสั่งห้ามบูชานัตนั้นไม่ประสบความสําเร็จโดยสิ้นเชิง




หนั่นไกรแหม่ด่อ (ปะคูแหม่ด่อ) หรือ พะโคแหม่ด่อนัต ที่คนไทยเรียกว่า พระแม่นันไกร-แม-ด่อ
นัตในวงศาของพม่าตนหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากตำนานราชวงศ์เมืองหงสาวดี (พะโค) ของมอญ


ดังจะเห็นว่า กษัตริย์พม่าองค์ต่อ ๆ มาก็ยังคงเหลือความเชื่อทํานองนี้ประปรายเรื่อยมา ดังเช่นในสมัยพระเจ้ามินดง เมื่อพระเจ้ามินดงทรงสั่งรื้อศาลนัตที่อาละวาดทําร้ายผู้คนแห่งหนึ่งทิ้งไป ต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรอย่างหนัก หมอหลวงถวายการรักษาอย่างไรก็ไม่หาย

ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าจึงลงความเห็นว่า คงเป็นด้วยถูกนัตที่พระเจ้ามินดงสั่งให้รื้อศาลมาทําร้าย ด้วยยังไม่ได้ไปเกิดใหม่ดังที่พระเจ้ามินดงทรงยกขึ้นมาอ้างเพื่อหาเหตุให้รื้อศาล เหล่าข้าราชบริพารจึงทําศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้ามินดงก็ทรงหายพระประชวร เป็นอันว่าพระเจ้ามินดงต้องทรงยอมจํานนแก่นัต เพราะอำนาจความเชื่อที่หยั่งรากลึก

ความเชื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะค่อย ๆ ลดลงในราชวงศ์พม่า แต่กลับมาพอกพูนเพิ่มขึ้นในยุครัฐบาลทหารครองเมืองเมื่อไม่นานมานี้ นายพลหม่องเอ นายพลคิ่นยุ้น นายพลโซลวิน กระทั่งนายพลอาวุโสตานฉ่วย ต่างก็เชื่อถือเรื่องทํานองนี้ด้วยกันทั้งนั้น ว่ากันว่าเมื่อหมอดูประจําตัวทํานายทายทักชะตาเมืองว่าจะมีพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัย ถึงขนาดย้ายเมืองหลวงก็ต้องทํามาแล้ว

คนรู้จักคนหนึ่งที่ผู้เขียนเคารพคุ้นเคย ชื่นชอบทางจับยามสามตา และฤกษ์พานาที ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีครอบครูหมอดูยังประเทศพม่า เมื่อรู้ว่าผู้เขียนและคณะจะเดินทางไปพม่าจึงชวนให้รอไปพร้อมกัน แต่พวกเราเห็นควรที่จะรีบเดินทางเสียก่อน หากร่วมเดินทางไปกับเขาด้วยหมายความว่าเราต้องเข้าร่วมพิธีครอบครูพม่า 1 วันเต็ม

แต่ที่รู้สึกหนักใจมากกว่านั้นก็เรื่องฤกษ์ยามที่เคร่งครัด ลําพังผู้เขียนซึ่งออกจะมีบุคลิกค่อนข้างเฉยเมยเรื่องไสยศาสตร์คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก แต่สําหรับผู้อ่อนอาวุโสกว่าหรือคุณลุงคุณป้าที่โอนอ่อน ผ่อนตาม มักจะได้รับคําแนะนําให้ทําพิธีก่อนออกจากบ้าน เช่น ก้าวเท้าออกจากบ้านด้วยเท้าข้างไหน กี่โมง กี่นาที หากเป็นการเดินทางครั้งสําคัญ จะต้องจัดอาหารหวานคาว ดอกไม้บูชา ทําบุญตักบาตร จุดธูปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 8 ทิศ ทิศละ 8 ดอก และรอกระทั่งธูปมอด

การบอกกล่าวขอขมา การเคารพนบนอบเจ้าที่เจ้าทาง ให้เกียรติคนที่มาก่อนย่อมเป็นมงคลส่งให้ บุคคลนั้นน่ารักน่าใคร่ มีที่พึ่งทางใจ สมองพลอยสดใส ร่างกายตอบสนอง และเดินทางราบรื่นปลอด โปร่ง หากควันธูปทั้ง 64 ดอก ไม่รมดวงตาพร่ามัวจนเดินไปให้เดินชนสิ่งกีดขวางเสียก่อน จะว่าไปแล้ว การมีสารบบนัตชัดเจนอย่างพม่ายังดีเสียกว่าการนับถือพุทธผสมปนเปไปกับพราหมณ์และผีที่ไร้รูปแบบ มันเป็นความรู้สึกท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากจะบรรยายเสียจริง
29  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “กุมารี” เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงก่อนมีระดู และตราบาปที่ถูกมองเป็น “คนกินผัว” เมื่อ: 05 มีนาคม 2567 13:56:03

ภาพ “กุมารี” เทพเจ้าผู้มีชีวิตระหว่างร่วมพิธีในเมืองละลิตปุระ (Lalitpur) ใกล้กับกรุงกาฐมาณฑุ
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2016 (AFP PHOTO / PRAKASH MATHEMA)


“กุมารี” เทพเจ้าในร่างเด็กหญิงก่อนมีระดู และตราบาปที่ถูกมองเป็น “คนกินผัว”

ผู้เขียน - เมฆา วิรุฬหก
เผยแพร่ - เพจศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2567


กุมารี เทพเจ้าบนโลกของชาวเนปาลซึ่งได้รับการนับถือจากทั้งชาวฮินดูและชาวพุทธ เป็นเทพเจ้าในร่างของเด็กหญิงก่อนมีระดู ที่ชาวฮินดูเชื่อว่ากุมารีคือร่างประทับของ เจ้าแม่ทุรคา ขณะเดียวกัน เด็กสาวผู้เป็นกุมารีก็เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ มาจากวรรณะศากยะ (ระบบวรรณะเฉพาะถิ่นในเนปาล) ในชุมชน ชาวเนวาร์ (Newar) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลศากยะเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า

ชาวเนวาร์ เป็นชาวท้องถิ่นในหุบเขากาฐมาณฑุซึ่งมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและโดดเด่นยาวนานหลายร้อยปี โดยเดิมทีชาวเนวาร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ขณะนี้การนับถือพุทธและฮินดูในบรรดาชาวเนวาร์มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และประชากรรวมของชาวเนวาร์ก็มีจำนวนไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมดในหุบเขากาฐมาณฑุ

เมื่อมีการเฟ้นหา กุมารี องค์ใหม่ โดยปกติบรรดาพ่อแม่ของเด็กๆ จะเป็นผู้ผลักดันลูกๆ สู่กระบวนการคัดเลือก ซึ่งการได้ที่ลูกหลานได้เป็นกุมารีถือว่าเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลสำหรับชาวศากยะ แต่ก็ต้องแลกกับการห่างจากลูกเป็นเวลา 7-8 ปี

เด็กสาวจะต้องถูกตรวจสอบดวงชะตา และตรวจร่างกายว่าไม่ตำหนิ รอยแผลใดๆ และยังต้องมีลักษณะครบ 32 ประการของพระโพธิสัตว์ เด็กที่ได้รับเลือกมักมีอายุน้อยตั้งแต่ 2-3 ขวบ เธอจะถูกกักตัวอยู่ในวิหารจนกว่าเธอจะถึงวัยมีระดู โดยเธอจะมีโอกาสได้ออกจากวิหารเฉพาะเมื่อมีศาสนพิธีสำคัญเท่านั้น และการเดินทางเธอจะต้องถูกแบกหามตลอดเวลา เนื่องจากเท้าของเธอจะสัมผัสกับพื้นไม่ได้

กุมารีจะได้รับการดูแลอย่างดีไม่ให้เธอได้รับบาดเจ็บเลือดออก เนื่องจากเชื่อกันว่าหากเธอมีบาดแผล วิญญาณเทพเจ้าจะออกจากร่างของเธอ ด้วยเลือดถือเป็นสื่อกลางของวิญญาณเจ้าแม่ และเมื่อกุมารีเริ่มเติบใหญ่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนถึงการมีระดูเป็นครั้งแรกเธอจะถูกปลดจากตำแหน่งและไปใช้ชีวิตอย่างหญิงสาวธรรมดา

มีความเชื่อกันว่า หากกุมารีได้รับอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย หรือหากเธอร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว เมื่อนั้นจะเกิดภัยพิบัติขึ้นกับประเทศ การทำให้เธอกับสู่ภาวะสมดุลถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ

เหล่ากุมารี (กุมารีมิได้มีแต่เฉพาะกุมารีหลวงในกาฐมาณฑุ แต่ยังมีการตั้งกุมารีตามแต่ละท้องถิ่นด้วย) ยังคงมีความสำคัญทั้งในทางสังคมและการเมืองของเนปาล ชาวเนปาลเชื่อกันว่า การที่ระบบกษัตริย์ของเนปาลล่มสลายลงก็ด้วย กุมารีเกิดป่วยด้วยอาการของโรคผิวหนัง (ซึ่งทำให้เธอขาดจากความเป็นกุมารีไปด้วย) ทำให้ขณะนั้นไม่มีวิญญาณเทพเจ้าประจำเมืองช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ของเนปาลเอาไว้

เมื่อเข้าถึงยุคสาธารณรัฐ ผู้นำรัฐบาลก็ยังต้องได้รับพรจากกุมารี หาไม่แล้ว หายนะก็อาจเกิดกับรัฐบาลนั้น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลที่ไม่ได้รับพรจากกุมารียังถูกมองว่าไม่มีความชอบธรรม และต้องประสบกับความล้มเหลวในท้ายที่สุด

เมื่อกุมารีพ้นจากตำแหน่ง การมีวิถีชีวิตที่ต่างไปจากมนุษย์ปกติเป็นเวลาหลายปี สร้างความลำบากให้กับกุมารีวัยเกษียณที่จะต้องมาเริ่มหัดเดิน เรียนรู้การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นใหม่ในช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความเชื่อในหมู่ชาวบ้านว่า ชายคนใดแต่งงานกับอดีตกุมารีพวกเขาจะต้องอายุสั้นราวกับพวกเธอเป็น “คนกินผัว”

แต่จากปากคำของอดีตกุมารีอย่าง รัชมิลา ศากยะ (Rashmila Shakya) ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 32 ปี และเคยรับตำแหน่งเป็นกุมารีในช่วงวัย 4-12 ปี แสดงให้เห็นว่า ความเชื่ออันเป็นลางร้ายดังกล่าวมิได้กระทบต่อชีวิตของพวกเธอแต่อย่างใด

“มันเป็นแค่ความเชื่อทางไสยศาสตร์” อดีตเทพเจ้าในร่างมนุษย์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “อดีตกุมารีต่างก็แต่งงานกันทั้งนั้นแหละ อย่างฉันก็เพิ่งจะเข้าพิธีวิวาห์เมื่อหกเดือนก่อน เรื่องนี้ก็แค่เรื่องลือกันปากต่อปากเท่านั้น” ศากยะ กล่าวกับ ABC News สื่ออเมริกัน

กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่า ประเพณีการตั้งกุมารีเป็นการละเมิดสิทธิเด็กเนื่องจากมีการควบคุมเสรีภาพของเด็กอย่างเข้มข้น และยังตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ (แม้จะมีการสอนพิเศษในกับกุมารีถึงวิหารในระยะหลัง) ทำให้มีการยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกาในปี 2005 เพื่อพิจารณาว่าประเพณีดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

แต่ศาลฎีกาได้มีคำสั่งในปี 2008 ให้ยกคำร้องโดยให้เหตุผลย้ำไปที่ความสำคัญของประเพณีและความเชื่อ เหนือหลักการคุ้มครองเด็ก ทำให้ประเพณีการตั้งกุมารียังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และความสำคัญของกุมารียิ่งทวีขึ้นไปอีก เมื่อประเทศต้องประสบกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2015 เนื่องจากชาวบ้านต่างต้องการที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
30  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: เครื่องรางของขลัง เมื่อ: 01 มีนาคม 2567 14:48:41


ท้าวเวสสุวัณ เจ้าคุณศรี (สนธิ์)

รูปหล่อท้าวเวสสุวัณ ต้นตำรับ ‘เจ้าคุณศรี’ วัดสุทัศนเทพวราราม

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 เมษายน 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2566


ช่วงปี พ.ศ.2565-2566 กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โด่งดัง คงไม่พ้น “ท้าวเวสสุวัณ” ผู้ที่มีความศรัทธาไปกราบไหว้ขอพร เชื่อว่าจะบันดาลโชคลาภ ความสำเร็จ รวมถึงปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป

กล่าวกันว่า ท้าวเวสสุวัณ ในวัดหลายแห่ง มักจะทำรูปยักษ์ไว้ ซึ่งสร้างไว้เพื่อให้คุ้มครองป้องกันภัยให้กับวัดจากภูตผีปีศาจ จะไม่สามารถเข้ามาในเขตอารามได้

ท้าวเวสสุวัณ ความจริงเป็นเทพองค์หนึ่งที่คุ้มครองรักษาด้านทิศเหนือ ในทางศาสานาพราหมณ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ ซึ่งสถิตอยู่บนโลกเป็นผู้รักษาโลกตามทิศต่างๆ ถือกระบองเป็นอาวุธ ถือกันว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นนายของภูตผี ยักษ์ และอมนุษย์ทั้งปวง

ท้าวเวสสุวัณเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องเครื่องรางของขลัง โดยถือเอากระบองของท้าวเวสสุวัณมาเป็นเคล็ดเพื่อให้ภูตผีปีศาจกลัวเกรง

“พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร)” หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี”

เป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม

สร้างวัตถุมงคลพระเครื่อง และพระกริ่งรุ่นต่างๆ ไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมกว้างขวาง

กล่าวกันว่า ในสำนักวัดสุทัศน์ เคยสร้างรูปหล่อท้าวเวสสุวัณองค์เล็ก โดยท่านเจ้าคุณศรี

มูลเหตุการสร้างท้าวเวสสุวัณ เนื่องมาจากครั้งที่ท่านเจ้าคุณศรีไปก่อสร้างอุโบสถวัดศรีจอมทอง (วัดตีนโนน) อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านเกิด ชาวบ้านแถวนั้นมักจะปรารภเสมอว่า ในพื้นที่นี้มีภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนรบกวนอยู่เสมอ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ

“ท่านเจ้าคุณศรี” จึงสร้างรูปท้าวเวสสุวัณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2492 มอบให้แก่ช่างก่อสร้างและชาวบ้าน หลังจากนำรูปหล่อท้าวเวสสุวัณมาแจกแล้ว เรื่องผีปีศาจก็เงียบหายไป เป็นการบำรุงขวัญให้แก่ชาวบ้านแถบนั้นได้เป็นอย่างดี

ท้าวเวสสุวัณที่ “ท่านเจ้าคุณศรี” สร้างนั้น สร้างเป็นรูปท้าวเวสสุวัณยืนถือกระบอง เนื้อเป็นเนื้อทองผสม วรรณะออกเหลืองอมเขียว โดยนำเอาชนวนที่ได้จากการเทพระกริ่งรุ่นก่อนๆ มาผสมลงไปในเนื้อโลหะ เป็นการหล่อแบบเทตัน

เท่าที่พบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่ฐานมีผ้าทิพย์ กับแบบที่ฐานไม่มีผ้าทิพย์ แบบฐานมีผ้าทิพย์จะมีค่านิยมสูงกว่าแบบฐานไม่มีผ้าทิพย์

เชื่อว่าพุทธคุณเด่นในทุกด้าน โดยเฉพาะปราบภูตผีปีศาจ




พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร)

นามเดิม สนธิ์ พงศ์กระวี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2446 ที่ ต.บ้านป่าหวาย กิ่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายสุขและนาง ทองดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 11 คน

อายุ 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงนำมาฝากไว้กับพระภิกษุบุญ (หลวงตาบุญ) ซึ่งเป็นญาติที่วัดสุทัศนเทพวราราม คณะ 15 เพื่อให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้น คือ เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์

อายุ 13 ปี บรรพชาโดยมีพระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนถึงเดือนเมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในความปกครองของพระพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมขณะนั้น

จนถึง พ.ศ.2460 จึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ตามเดิม พ.ศ.2464 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที และยังอยู่ที่วัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า ยติธโร

พ.ศ.2468 สอบเปรียญธรรมได้ 4 ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2469 เวลาประมาณ 04.00 น.เศษ ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ถูกคนวิกลจริตฟันด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้น ทำให้อาพาธหนักไปประมาณ 3 เดือน เมื่อหายแล้วจึงกลับคืนอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ทรงรับสั่งว่า “อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ” แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะไว้แล้วทรงเป่าให้ 3 ครั้ง พร้อมกับทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว”

พ.ศ.2474 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

รับตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ตามลำดับ พร้อมกับได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งโหรศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2481 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสัจจญาณมุนี

วันที่ 8 ธันวาคม 2493 ได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี

เป็นผู้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระอุปัชฌาย์ ทรงประสาทศิลปวิทยาการ คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่ง ให้แก่ท่านจนหมดสิ้น

สืบสานพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ในเวลาต่อมาอย่างถูกต้องตามตำราทุกประการ

เมื่อว่างในด้านปริยัติศึกษา กลับเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นเนืองนิตย์ รวมทั้งต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที

ท้ายที่สุด เมื่ออาการอาพาธกำเริบ ทรุดหนัก จนสุดที่คณะแพทย์จะเยียวยา

คืนวันที่ 16 มกราคม 2495 เวลา 21.20 น. จึงมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ •
31  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ธรรมเนียม “สิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม” ในราชสำนักจีน เมื่อ: 01 มีนาคม 2567 14:18:27

จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) [ภาพจาก ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, 2560]

จุดอวสานธรรมเนียม “สิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม” ในราชสำนักจีน

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566


ประเพณีสิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม ปรากฏให้เห็นกันในหลายวัฒนธรรม เช่น “ราชสำนักจีน” กระทั่งมีจักรพรรดิบางพระองค์ คือ จักรพรรดิหมิงอิงจง ราชวงศ์หมิง และ จักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง ที่เห็นว่าธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องน่าชัง จึงสั่งยกเลิกก่อนสวรรคต

เมื่อครั้ง จักรพรรดิหมิงไท่จู (จูหยวนจาง) สวรรคต มีบันทึกว่าสนมที่พลีชีพตามเสด็จมีมากถึง 40 นาง ขณะที่ จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) เมื่อสวรรคต ก็มีสนมพลีชีพตามเช่นกัน ครั้งนี้มีบันทึกว่าพระสนมที่ตามเสด็จมี 30 นาง

หนังสือ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” บันทึกว่า กฎในสมัยราชวงศ์หมิง มีว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “กุ้ยเฟย” (ตำแหน่งหนึ่งของนางในพระราชสำนักจีน) หากมีโอรส และโอรสได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางผู้ครองหัวเมือง ถือว่าครอบครัวมีความดีความชอบ จะได้รับ “พระราชทานยกเว้น” การพลีชีพ

หากขยายความเพิ่ม นางในพระราชสำนักจีนที่ได้รับแต่งตั้ง มักมีสิทธิมากขึ้นตามไปด้วย เช่น มีนางกำนัลติดตามเพิ่มขึ้น หรือกรณีที่ได้เป็น “ไท่โฮ่ว” (พระมเหสีของจักรพรรดิองค์ก่อน เทียบเท่าพระพันปีหลวง) และ “ไท่เฟย” (พระมเหสีของจักรพรรดิองค์ก่อนที่ได้ประสูติพระราชโอรส) จะมีสิทธิเข้าอุทยานฉือหนิงกง อุทยานในหมู่พระตำหนักฉือหนิงกง ใช้สำหรับให้ไท่โฮ่วและไท่เฟยพักผ่อนและไหว้พระโดยเฉพาะ มีเนื้อที่ 6,800 ตารางเมตร ออกแบบเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ตกแต่งราว “สวรรค์ในแดนดิน” แต่บันทึกบรรยายว่า ส่วนใหญ่แล้วหมู่พระตำหนักที่จัดให้ไท่โฮ่วและไท่เฟย บรรยากาศภายในนั้นเงียบเหงาไม่น้อย

ขณะที่ปลาย “ราชวงศ์ชิง” มีบันทึกว่า ซูสีไทเฮาเข้าควบคุมราชกิจ ตลอดพระชนม์ชีพประทับที่พระราชฐานชั้นใน แทบไม่เคยเสด็จที่ฉือหนิงกง ประกอบกับจำนวนพระสนมในช่วงราชวงศ์หลังมีน้อยลง อุทยานที่เคยมีสีสันก็ไม่ค่อยมีใครใช้เป็นที่ดูแลบุพการีอีก

กลับมาที่ “ราชวงศ์หมิง” ประเพณีสิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม เป็น จักรพรรดิหมิงอิงจง ที่มีพระบรมราชโองการยกเลิก ซึ่งถือว่าเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่สุดของจักรพรรดิพระองค์นี้ทีเดียว ประเพณีพลีชีพตามเสด็จในจีนในราชวงศ์หมิงเป็นอันสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นราชวงศ์ชิง เมื่อจักรพรรดิซื่อจู่ (ซุ่นจื้อ) สวรรคต ก็ยังมีสนมพลีชีพตามเสด็จ 4 นาง แต่แล้วเมื่อ จักรพรรดิคังซี ใกล้สวรรคต พระองค์ทรงตรัสว่า

“จักรพรรดิตายก็ตายตาม เราชังนัก นับแต่เราเป็นต้นไปห้ามมิให้ทำอีก”

เมื่อ จักรพรรดิคังซี ทรงห้ามดังนี้ ราชสำนักที่เดิมทีคิดว่าจะให้สนม 40 นางตามเสด็จไปด้วยก็เป็นอันยกเลิก ถือว่าเป็นคุณูปการของพระองค์อีกหนึ่งประการ
32  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” สมัยอยุธยา? นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2567 15:45:28

ภาพวาดอยุธยา โดย Johann Christoph Haffner ราว ค.ศ.1700

ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” มูเตลูสมัยอยุธยา? นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - นิตยสารศิลปวัฒนธรรม   วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2566


นอกจากความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง และโชคลางแล้ว “เวทมนตร์คาถา” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งในแขนงแห่ง “ไสยศาสตร์” ที่ปรากฏหลักฐานในสมัย “อยุธยา” เช่น สมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าเสือ โดยเวทมนตร์คาถาเป็นถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกขึ้นสำหรับบริกรรมเสกเป่าตามวิธีที่กำหนด อาจใช้เพื่อป้องกันตัว ใช้ทำร้ายผู้อื่น ใช้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ใช้รักษาโรคภัย ใช้ป้องกันภูติผี หรือใช้ทำเสน่ห์ ฯลฯ


เวทมนตร์คาถา และมนต์ดำ สมัยอยุธยา

ในราชสำนักอยุธยา เวทมนตร์คาถาเป็นสิ่งสำคัญในพิธีกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝน ดังในสมัย สมเด็จพระมหาธรรมราชา เกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นต้นเหตุให้เกิดฝนแล้ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงทรงแก้ไขด้วยการรับสั่งให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ 2 องค์ ประกอบพิธีกรรมแก้ไข ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า

“บัดนี้เกิดภัยคือฝนแล้ง ราษฎรพากันอดอยาก ท่านอาจารย์ทั้ง 2 จะคิดประการใด จึงจะให้ฝนตกได้ พระอาจารย์ทั้ง 2 ก็อาสาว่า ถึงวันนั้นคืนนั้นจะทำให้ฝนตกให้ได้ แล้วพระอาจารย์ทั้ง 2 ก็ไม่กลับไปยังพระอาราม อาศัยอยู่ในพระราชวังตั้งบริกรรมทางอาโปกสิณ และเจริญพระพุทธมนต์ขอฝนด้วยอำนาจสมาธิและพระพุทธมนต์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้ง 2 นั้น พอถึงกำหนดวันสัญญา ก็เกิดมหาเมฆตั้งขึ้นทั้ง 8 ทิศ ฝนตกลงมาเป็นอันมาก”

ไสยศาสตร์ อย่าง เวทมนตร์คาถา ในสมัย “อยุธยา” ยังถูกนำมาใช้แก้หรือรักษาโรคร้ายต่าง ๆ เช่น เมื่อถูกผีเข้า หรือถูกคุณไสย ก็จำเป็นต้องแก้ไขด้วยเวทมนตร์ ด้วยการใช้หวายหวด โดยหวายนั้นต้องเสกเวทมนตร์คาถากำกับจึงจะได้ผล ดังที่ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้ ความว่า

“ชาวสยามเป็นโรคคลั่งเพ้อบางอย่างเรียกผีเข้า อาการโรคที่เป็นนั้น บางทีก็พิลึกมาก เชื่อกันว่าเป็นด้วยถูกเวทมนตร์คุณไสย…เป็นอำนาจปีศาจแผลงฤทธิ์คือผีเข้า จำต้องแก้ทางขับผี จึงรักษาคนไข้ด้วยใช้หวดด้วยหวายอาคมลงคุณพระ หรือไปหาคนดีมีวิชา…”

เมื่อเวทมนตร์คาถาถูกนำมาใช้ในด้านดี เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข หรืออำนวยสิ่งต่าง ๆ ให้เจริญขึ้นได้ฉันใด เวทมนตร์คาถาย่อมต้องถูกนำมาใช้ในด้านร้ายฉันนั้น หรือที่มักจะเรียกกันว่า “มนตร์ดำ” หรือ “คาถาดำ” นั่นเอง ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีการนำเวทมนตร์คาถามาใช้ในด้านร้าย พบเห็นตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไปไปจนถึงในราชสำนัก

ดังในสมัย สมเด็จพระยอดฟ้า ปรากฏมีการใช้เวทมนตร์คาถาโดย “หมอผี” ในแผนการลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ปรากฏในพงศาวดาร ฉบับ วัน วลิต ความว่า “…พระสนมได้สมรู้ร่วมคิดกับหมอผี ใช้เวทมนตร์สะกดพระเจ้าแผ่นดินและลอบปลงพระชนม์ ทุกวันพระสนมจะนำหมอผีไปยังห้องพระบรรทมและขออยู่ลำพังกับพระเจ้าแผ่นดิน…และเมื่อหมอผีได้ใช้เวทมนตร์คาถาสะกดพระเจ้าแผ่นดินได้แล้ว พระสนมก็นำยาพิษมาถวาย…”

หมอผีในที่นี้ก็คือ ขุนวรวงศาธิราช โดย เยเรเมียส วัน วลิต อธิบายว่า “หมอผีก็อาศัยอยู่ในวังนั่นเอง และด้วยความช่วยเหลือของพระสนม ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระขุนชินราช ซึ่งขัดกับความประสงค์ของขุนนางและประชาชนทั้งปวง…”

ด้านนอกวังนั้นเล่า มนตร์ดำก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพระไอยการลักษณะเบ็ดเสร็จ ก็มีการใช้เวทมนตร์คาถาอย่างแพร่หลาย จึงต้องมีกฎหมายควบคุม และกำหนดบทลงโทษผู้นำมนตร์ดำมาใช้ทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของคนในสมัยนั้นด้วยวิธีที่รุนแรง ดังเช่น

มาตรา 163 “ผู้ใดใส่ง้วนยาให้ท่านกิน ท่านเหงาเงื่องจะตายแล แก้รอดก็ดี อนึ่งผู้รู้กระทำให้ท่านปวดหัวมัวตาลำบากด้วยประการใด ๆ ก็ดี ท่านจับได้ ให้เอาตัวมันผู้นั้นมาง้วนยามาให้ท่านกินแลผู้กระทำท่านั้น ขึ้นขาหย่างประจารแล้วปลงลงทวนด้วยลวดหนัง 60 ที แล้วให้ไหมปลูกตัวเปนสินไหม พิไนย กึ่งแล้วส่งตัวจำไว้ ณ คุก โดยยถากำม ถ้าทำท่านตายให้ฆ่ามันเสีย”

มาตรา 165 “ผู้ใดให้ยาแก่ลูกท่านกินเปนบ้า ให้มันรักษาลูกท่าน ถ้ามันรักษาหายให้ทวนมันนั้น 30 ที ถ้ามันรักษามิหาย ให้ไหมปลูกตัวแล้วทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วจำไว ณ คุก”

มาตรา 168 “หญิงก็ดีชายก็ดีเปนชู้เมียกัน หญิงจะใคร่ให้ชายนั้นรัก ให้แม่มดพ่อหมอกระทำมนตร์ดนมกรูด ส้มป่อย สรรพการ เสน่ห์ ดั่งนั้น ท่านว่า หญิงทำแต่จะให้ชายรัก ชายทำแต่จะให้หญิงรัก หวังจะให้เปนประโยชน์ จำเริญแก่ตัวสืบไป แม้น ชาย หญิง ก็ดี เคราะห์ร้ายหากไข้เจ็บตาย จะใส่โทษแม่มดพ่อหมอนั้น มิได้เลย เปนกำมแก่ผู้ตายนั้น เทวดายังรู้จุติมนุษหฤๅจะอยู่ได้”

มาตรา 169 “ผู้ใดจะให้ผู้อื่นพิศวงงงงวยในตนแลปรกอบ กฤตยาคุณเปนยาแฝดด้วยสิ่งใด ๆ ให้ท่านกินก็ดี แลปั้นรูปฝังด้วยวิทยาคุณประการใด ๆ ก็ดี พิจารณาเปนสัจ ให้ทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารแล้วทะเวนบก 3 เรือ 3 วัน แล้วฆ่ามันเสีย ถ้าทำให้ชู้ผัวมันกิน รู้ด้วยประการใด ๆ พิจารณาเปนสัต ให้ลงโทษดุจเดียวแล้วส่งตัวให้ชายผัวตามแต่ใจมัน”

นอกจากนี้ ในกฎมณเฑียรบาล ก็มีการกล่าวถึงเวทมนตร์คาถา ในมาตรา 69 ความว่า “อนึ่งผู้ใดทำลูกกุญแจเรียนมนตร์คุณวุธิวิทยาคมเสดาะประตูวัง แลเปิดโขลนทวารเข้าไปในพระราชมณเฑียรสถาน ลักภาสาวใช้กำนัลแลลักพระราชทรัพย ให้ลงโทษโดยมหันตโทษแล้วให้ฆ่าเสีย ถ้าทรงพระกรรุณาบให้ฆ่าเสียไซ้ ให้ลงโทษ 5 สถาน โดยพระราชอาชาท่านกล่าวไว้”

เห็นได้ว่า มนตร์ดำเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำเสน่ห์ และการทำให้ผู้ที่เป็นศัตรูของตนล้มป่วยเจ็บไข้ หรือถึงขั้นมีอันเป็นไปเสียชีวิต


เวทมนตร์คาถาแสดงบุญญาบารมี

ในเรื่องการนำเวทมนตร์คาถามาใช้เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารนั้น กระทำไปเพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึกศัตรู หรือเพื่อแสดงบุญบารมีของกษัตริย์ เช่น

ในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยาตีเมืองเชียงใหม่ พระยาสีหราชเดโช แม่ทัพฝ่ายอยุธยา ใช้เวทมนตร์คาถาล่องหนหายตัวได้ ความว่า “พระยาสีหราชเดโชเห็นลาว [แต่ก่อนเรียกคนในภาคเหนือว่าลาว] นิ่งอยู่ไม่ออกมาสู้รบดังนั้น จึงถือดาบขึ้นหลังม้ากลั้นใจหายตัวควบไปควบมาให้ลาวแลเห็นแต่ดาบ กับได้ยินแต่เสียงมิได้เห็นตัว พวกลาวเห็นดังนั้นก็สะดุ้งตกใจกลัวพากันแตกหนีไปเป็นขบวน”

ขณะที่ สมเด็จพระนารายณ์ เองก็ทรงศึกษาศาสตร์เหล่านี้เช่นกัน ในสำนักของพระอาจารย์พรหม ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “เป็นผู้ชำนาญในทางเวทมนตร์ มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงมีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์มาก วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกชัยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงเอาพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์ ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึงรับสั่งให้น้ำขึ้นแล้วทรงพระแสงฟันลงอีก น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระนารายณ์มีพระราชประสงค์อย่างไรก็เป็นไปตามทั้งสิ้น”




ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีกรรมทางน้ำที่พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จฯ มาประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๒๖๒ (ภาพจาก “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, ๒๕๔๙)

กษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องมีอิทธิฤทธิ์ด้วยเวทมนตร์คาถา คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ ดังในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า “มีบุญญาภินิหารและอิทธิฤทธิ์ ชำนาญในทางเวทมนตร์กายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังกายเสด็จประพาส ฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร และทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนตร์ ให้เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนตร์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ ผู้ใดที่โอ้อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา”

นอกจากนี้ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) กล่าวถึงเวทมนตร์คาถาของสมเด็จพระเจ้าเสือ ขณะยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์ ไปลักพาตัวบุตรสาวของเจ้าพระยาราชวังสรรค์ ความว่า “ครั้นเวลาสักสองยามเศษ จึงเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ์นั้นกับบ่าวที่รักใคร่สนิทกัน จึงเข้าไปดูแยบคาย ครั้นได้ทีแล้วจึงเสกกรวดแล้วก็ปรายเข้าไปอันผู้คนทั้งนั้นก็หลับไปทั้งสิ้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์จึงเข้าไปดับไฟแล้วก็เข้าไปอุ้มเอาลูกสาวมา”

เหล่านี้เป็นเรื่องราวของ “เวทมนตร์คาถา” หรือที่ยุคนี้นิยมใช้คำว่า “มูเตลู” เพียงบางส่วนที่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมีเรื่องผีสางเทวดา ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลัง และโชคลาง ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็เป็น “ศาสตร์” แห่ง “ไสย” เช่นเดียวกัน
33  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / คุณไสย ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2567 10:20:14


"เถรขวาดทำเสน่ห์"
 จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย


คุณไสย ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ

ผู้เขียน - เสมียนนารี
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2566


“คุณไสย” ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ เช่น หนังควาย กรรไกร ฯลฯ

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา สังคมเริ่มมี “พระเครื่อง” เกิดขึ้น พระเครื่องนี้เข้ามาแทนที่บรรดาเครื่องรางของขลังที่ผู้คนในสังคมใช้ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ผ้าประเจียด, ตะกรุด, ผ้ายันต์ และวัตถุไสยศาสตร์อื่นๆ เพราะพระเครื่องนำเอาพุทธคุณมาผสมผสานกับความเชื่อที่เป็น “ไสยขาว” ทำให้กลายเป็นวัตถุสำเร็จรูปที่รวมของบรรดาของขลังที่พกพาสะดวก, ง่ายต่อการเอาใจใส่ และร่วมสมัยมากขึ้น

อีกด้านที่เป็น “ไสยดำ” มีไว้กำจัดศัตรูคู่แค้น

ดังที่เรามักได้ยินคำว่า “โดนของ” ด้วยการเสกสิ่งต่างๆ เข้าร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ตะปู, เข็ม, หนัง (ควาย) เข้าท้อง ฯลฯ ในภาพยนตร์, ข่าว, ในชีวิตจริงสำหรับบางคน เพราะในสังคมเก่า “คุณไสย” เป็นทั้งความรู้ เป็นเครื่องมือการป้องกันตนเอง และจัดการฝ่ายตรงข้ามในเวลาเดียวกัน ของผู้คนในหลากหลายเชื้อชาติ

ซึ่งหนึ่งผู้ที่ขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในด้านนี้คือ เขมร หรือ ส่วย

คนเขมรเรียกคุณไสยว่า “อำเปอ” หรือ วัตถุที่อยู่ในอำนาจเวทมนตร์ สามารถสั่งให้ไปทำอะไรได้ตามที่ใจต้องการ เช่น หนังควาย, ตะปู, ขี้ผึ้ง, ว่าน, กระดูก, เส้นผม ฯลฯ

แต่สิ่งที่นำเข้าร่างกายที่ร้ายกาจ และมีผลรุนแรงที่สุดได้แก่ “อำเปอ กรรไตร-เสกกรรไกรเข้าท้อง” ผู้ถูกกระทำจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน เพราะกรรไกรจะเข้าไปตัดลำไส้ภายในร่างกาย

แต่ที่รู้กันกว้างขวางคงเป็น “อำเปอ สะแบก-เสกหนัง (ควาย) เข้าท้อง” การเสกหนังเข้าท้อง จะเอาหนังควายทั้งตัวมาวางตรงหน้า แล้วใช้ต้นหวายขนาดเท่านิ้วมือร่ายมนต์เคาะหนังนั้น ที่จะค่อยๆ หดตัวเล็กลงๆ จนเท่านิ้วก้อย แล้วจึงสั่งให้ลอยไปเข้าท้องผู้เป็นเป้าหมาย แล้วเสกขยายให้ใหญ่ขึ้นๆ เท่าเดิม ทำให้คับท้องและอึดอัดตายในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีคุณไสยประเภทอื่นๆ เช่น คุณไสยที่ทำจากขี้ผึ้ง เส้นผม ว่าน ฯลฯ ที่ทำให้คนที่ถูกคุณไสยมีอาการฟั่นเฟือน บ้าคลั่ง, การฝังรูปฝังรอย ก็อาจทำให้เจ็บป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

เมื่อมีการใช้ก็ต้องมีการแก้ไขป้องกัน

การถอนคุณไสย มีตั้งแต่การรดหรืออาบน้ำมนต์ คุณไสยที่โดนก็จะออกจากร่างกายออกมา, การกินยาสมุนไพร เช่น ยาแก้คุณไสยที่ทำให้เป็นบ้า จะใช้รากชะอม ส้มป่อย รากกระถินพิมาน ตะปูที่ตอกโลงศพ และถ่านที่เขาเผาผี 7 ชิ้นมาผูกรวมกันด้วยด้ายดำต้มดื่ม, การสวดมนต์ถอน ฯลฯ

ส่วน การป้องกัน ก็ด้วยการพกพาพระเครื่อง แต่ก่อนหน้าที่ยังไม่มีก็ใช้ตะกรุด, ผ้ายันต์, รากไม้บางชนิด, มนต์บังตัวไม่ให้ถูกทำของ ฯลฯ แน่นอนว่าไสยศาสตร์ก็มีจุดอ่อน และบางครั้งก็ทำอะไรบางคนไม่ได้ นั่นก็คือคนที่มีผิวสีทองแดง (คือร่างกายสดชื่น จิตใจสงบดี สุขภาพกายใจดี)

ทุกวันนี้การใช้ไสยศาสตร์ทำลายศัตรูคู่อาฆาตไม่ค่อยมีให้เห็น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องแอบทำด้วยความผิดและการแก้แค้น แต่ที่สำคัญคือคนที่มีวิชาจริงลดน้อยลงนั่นเอง
34  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / “แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2567 10:09:14


(ซ้าย) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม
 (ขวา) รูปปั้นแม่นากพระโขนง ในศาลแม่นาก ข้างป่าช้าวัดมหาบุศย์ ถ่ายโดย เอนก นาวิกมูล พ.ศ.2521


“แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


ตำนาน “แม่นาก พระโขนง” เป็นเรื่องเล่าอมตะของคนไทยที่ร่ำลือกันมาหลายยุคหลายสมัย รายละเอียดแต่ละฉบับอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนหนึ่งมักมีเอ่ยถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยกันว่า พระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เริ่มถูกเชื่อมโยงเข้ากับ “ผีชาวบ้าน” ได้อย่างไร

เรื่องเล่าเหนือธรรมชาติในไทยที่เป็นชิ้นคลาสสิก ซึ่งแทบทุกสมัยก็ยังหยิบยกมาพูดถึงเสมอคือเรื่อง “แม่นาก พระโขนง” แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม

ต้นตอของเรื่องราวนี้ เอนก นาวิกมูล ผู้ค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายด้าน รวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับแม่นาก และเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดยต้นตำรับประวัติของ”แม่นาก” ที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดเป็นฉบับ นายกุหลาบ (ก.ศ.ร. กุหลาบ เกิดสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2377 ถึงแก่กรรมสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2464) เขียนลงใน สยามประเภท ฉบับมีนาคม ร.ศ.118 (พ.ศ.2422) เป็นการเขียนตอบผู้อ่านที่เขียนคำถามในรูปแบบโคลงสี่สุภาพมาถามผู้รอบรู้เรื่องเก่า

นายกุหลาบเขียนคำตอบเป็นร้อยแก้วความยาวหน้าครึ่ง ใจความว่า พระศรีสมโภช (บุศย์) ผู้สร้างวัดมหาบุศย์ เล่าเรื่อง “อำแดงนากพระโขนง” ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (วัดโพธิ์) เสด็จอุปัชฌาย์ของนายกุหลาบ เรื่องผีแม่นากตามข้อเขียนของนายกุหลาบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2367-2394)

เรื่องราวของนายกุหลาบสะท้อนว่า แม่นากมีตัวตนจริง แต่ผีที่เล่าลือกันนั้นเป็นผีปลอม เนื่องจากบุตรของนายชุ่ม-อำแดงนาก หวงทรัพย์ของบิดา กลัวบิดาจะมีภรรยาใหม่ จึงทำอุบายใช้คนไปขว้างปาชาวเรือตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนาก

แต่ข้อมูลจากหลักฐานตามคำของนายกุหลาบ ก็ยังไม่อาจปักใจเชื่อได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดเหตุผีแม่นาก

เมื่อพิจารณาจากพระนิพนธ์ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง “ชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ที่เล่าว่า ช่วงที่กรมพระยาดำรงฯ ยังเป็นนายทหารรักษาวังหลวง (ประมาณ ใกล้ๆ พ.ศ.2420) สมเด็จฯ กับเจ้าพี่เจ้าน้องเคยลองถามคนเข้าออกประตูวังว่า ในบรรดารายชื่อ “ท่านขรัวโต (สมเด็จพุฒาจารย์), พระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1, จำไม่ได้ว่าใคร และอีนากพระโขนง” ระหว่าง 4 ท่านนี้รู้จักใครบ้าง




สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

คนกลับรู้จัก “อีนากพระโขนง” มากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าคนรู้จักแม่นากกันมานานพอสมควรแล้ว

ส่วนคำถามว่า แม่นาก กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เอนกเขียนอธิบายไว้ว่า หนังสือชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่เขียนเมื่อ พ.ศ.2473 โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ

เนื้อหาตอนหนึ่งอ้างอิงมาจากคำบอกเล่าของเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังที่ไม่ปรากฏนาม เล่าให้พระยาทิพโกษาว่า พักหนึ่งสมเด็จฯ ท่านทำอะไรแปลกๆ อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเวลาว่างสักวัน ผู้คนไปมาไม่ขาดสาย ต้องเอาปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง ทาหัวบ้างจนหัวเหลือง และยังไปพักผ่อนในป่าช้าผีดิบวัดสระเกศ

เมื่อครั้งนางนากพระโขนงตายทั้งกลม ปีศาจของนางกำเริบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รู้เรื่อง ท่านลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ ตกค่ำก็ไปนั่งหน้าปากหลุม เรียกนางนากขึ้นมาสนทนา เรื่องราวจากนั้นก็เป็นไปตามที่ทุกท่านเล่าต่อกันมาคือ พระพุฒาจารย์เจาะกระดูกหน้าผากนางนาก ขัดเกลาเป็นมัน นำมาวัดระฆัง ลงยันต์เป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบ

ส่วนปั้นเหน่งนั้น เล่าต่อกันมาว่า สมเด็จฯ มอบให้หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์

เนื้อเรื่องเหล่านี้เป็นการอ้างอิงคำบอกเล่าจากเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลัง ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่อาจหาหลักฐานมายืนยันได้ ยังมีวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา บางท่านว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นพระผู้ใหญ่มาก การข้องเกี่ยวกับผีชาวบ้านอาจเป็นไปได้ยาก และท่านไม่น่ายุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์ขนาดเอาหน้าผากแม่นากมาคาดเอว

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่พระยาทิพโกษานำเรื่องแม่นากมาเขียนก็ห่างไกลเหตุการณ์มากแล้ว เขียนเมื่อ พ.ศ.2473 แต่ความเกี่ยวข้องระหว่าง แม่นาก กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เป็นด้วยการบอกเล่าประการนี้
35  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2567 09:59:40


คลองพระโขนงบริเวณหน้าวัดมหาบุศย์ ภาพนี้ เอนก นาวิกมลเป็นผู้ถ่ายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2532

คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย

ผู้เขียน -  เสมียนนารี
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


ในบรรดาคลองทั่วเมืองไทยที่มี หรือเคยมีแต่ตื้นเขินใช้การไม่ได้แล้ว “คลองพระโขนง” ต้องติดลำดับต้นของคลองที่มีผู้รู้จักมากที่สุดในประเทศคลองหนึ่ง สาเหตุในเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะคลองพระโขนงเป็นคลองเก่าแก่ หรือเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

หากเป็นเพราะเป็นเรื่องราวของ “แม่นาค” ที่เล่าลือ, บอกต่อ รวมทั้งฉายเป็นภาพยนตร์ ฯลฯ มาอย่างยาวนาน ผู้คนมักกล่าวชื่อ “คลองพระโขนง” เสมือนหนึ่งเป็นส่วนขยายชื่อต่อท้าย “แม่นาค” ว่า “แม่นาคพระโขนง” อยู่เสมอๆ

เช่นนี้ ชื่อ “คลองพระโขนง” จึงถูกกล่าว และเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

ส. พลายน้อย หรือ สมบัติ พลายน้อย เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “แม่น้ำลำคลอง” (มติชน, 2555) ว่า

“ที่กล่าวว่าคลองพระโขนงขึ้นชื่อลือชามากที่สุด ก็เพราะในคลองนี้มี วัดมหาบุศย์ เป็นวัดสำคัญ ตามประวัติว่า ‘มหาบุศย์’ เปรียญธรรม 5 ประโยค วัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้มาเยี่ยมญาติโยมในคลองพระโขนง ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ให้อยู่สร้างวัด ท่านก็ไม่ขัดข้อง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงเรียกกันว่า ‘วัดมหาบุศย์’

ส่วนผู้ที่ไม่ทราบประวัติก็แต่งเรื่องขึ้น อย่างนายช่วงแต่งนิราศ คลองประเวศ ก็แต่งว่า

‘ได้ยินข่าวท่านผู้เฒ่าเล่าสืบมา   ว่าบุตราเที่ยวเล่นเลยหายไป
เที่ยวค้นคว้าหาจบไม่พบปะ       จะเลยละก็ไม่สิ้นความสงสัย
เที่ยวค้นค้นจนพบลูกสายใจ      เห็นอยู่ในวัดนี้จงวิจารณ์
จึงให้นามอารามมาหาบุตร        มาเสื่อมทรุดโทรมหมดโบสถ์วิหาร


เหลือแต่ชื่อกับอิฐเป็นประธาน   ชาวเราท่านจึงได้เรียกต่อกันมา’

ตามกลอนนี้เห็นได้ชัดว่าแต่งเรื่องเข้าหาชื่อวัด เพราะนายช่วงไม่ทราบเรื่องเดิม ส่วนทางวัดก็เขียนขยายความต่อไปอีกว่า ‘วัดมหาบุศย์ ประชาชนนิยมเรียกอีกนามหนึ่งว่า วัดแม่นาคพระโขนง’

คลองพระโขนงเป็นคลองเก่า ยิ่งมีเรื่องผีนางนาคเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งทำให้คลองพระโขนงโด่งดังมากกว่าคลองอื่นๆ ที่ไม่มีเรื่องแปลกประหลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง”

แล้วคลองพระโขนงที่ว่าอยู่ตรงไหน? มีมาแต่เมื่อใด? สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 33 เรื่องที่ 3 คลอง บันทึกไว้ว่า

“คลองพระโขนง อยู่ในเขตพระโขนง และส่วนหนึ่งของเขตประเวศ กรุงเทพฯ ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ใกล้กับบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ ไปต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ผู้ดำเนินการขุดคือ พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค) เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ.2380 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2383 ยาว 362 เส้น 5 วา (14.5 กิโลเมตร)”

ส่วนทำไมจึงเรียก “แม่นาค [คลอง] พระโขนง” ไม่เรียกว่า “แม่นาค [วัด] มหาบุศย์” บ้าง อันนี้ยังจำกัดด้วยข้อมูล แต่ถ้าท่านผู้อ่านจะช่วยแถลงไขก็เป็นเรื่องน่ายินดี
36  สุขใจในธรรม / กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ / ไขปริศนาวันเวลาที่ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” มรณภาพ 20 ก.พ. หรือ 21 ก.พ. หรือ 22 มี.ค. เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2567 09:23:03



ไขปริศนาวันเวลาที่ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” มรณภาพ 20 ก.พ. หรือ 21 ก.พ. หรือ 22 มี.ค.?

ที่มา - คอลัมน์ปริศนาโบราณคดี มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2560
ผู้เขียน - เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ - วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


มาอีกหนึ่งปริศนา (ปราบเซียน) ที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นคือเรื่องวันมรณภาพของท่าน

เนื่องจากที่ผ่านมานั้นในเอกสารแต่ละเล่ม ล้วนให้ข้อมูลสับสนหลายแนวทาง จนเรามิอาจรู้ได้ว่าที่ถูกต้องคือวันไหนกันแน่ ระหว่าง 20 กุมภาพันธ์, 21 กุมภาพันธ์ กับ 22 มีนาคม

ส่วนศักราชนั้น ระบุว่า พ.ศ.2481 ไม่ใช่ประเด็นปัญหา เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า หากนับแบบปัจจุบันก็คือต้นปี 2482 นั่นเอง เนื่องจากในอดีต ก่อนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนระบบใหม่ในปี พ.ศ.2484 นั้นเราเริ่มนับศักราชใหม่ในช่วงสงกรานต์

ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่า วันมรณภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แน่ชัดแล้ว

ถอดรหัสจาก “คร่าวร่ำ” เคลื่อนศพ
คําว่า “คร่าว” ภาษาล้านนาอ่านเสียง “ค่าว” เป็นรูปแบบคำประพันธ์ล้านนาประเภทหนึ่งที่ลักษณะละม้ายก้ำกึ่งระหว่างกลอนและร่ายของทางภาคกลาง ส่วนคำว่า “ร่ำ” คนเหนืออ่าน “ฮ่ำ” หมายถึงการพรรณนารำพึงรำพันร่ำไร

หลักฐานยืนยันว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (นับตามปฏิทินระบบเดิม หากนับแบบปัจจุบันคือปี 2482) หรือตรงกับวันอังคาร เดือน 6 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ ปีขาล นั้นมีปรากฏในคำประพันธ์ประเภท “คร่าว” ชื่อเรื่องว่า

“ค่าวฮ่ำจะเอาศพครูบาสีวิไชยมาเวียงลำพูน” บันทึกโดย “พ่อน้อยจี๋” ชาวบ้านอาศัยแถบประตูแสนปรุงชั้นนอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายศพ เขียนคำคร่าวเป็นตัวอักษรธัมม์ล้านนา

ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลาง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2537 โดย พ่อครูอินทร สิงหนาท อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ผู้ล่วงลับ โดยพ่อครูอินทรได้รับต้นฉบับมาจากพ่อน้อยเป็ง จ๊ะถา หมู่ที่ 2 บ้านห้วยแหน ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปัจจุบันคร่าวฉบับดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง

พ่อน้อยจี๋ เป็นหนึ่งในศิษย์ที่ติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งแต่ท่านยังมีชีวิต กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนศพครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดบ้านปางเข้าสู่วัดจามเทวี ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพได้ราว 1 ปีเต็ม

ตอนต้นของคร่าวระบุชัดว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพในวันอังคาร และปีขาล ทั้งสองข้อนี้ตรงกับวันและปีที่ท่านชาตะ สำหรับเดือนและวันตามจันทรคตินั้นเป็น เดือน 6 เหนือ (หรือเดือน 4 ภาคกลาง) วันออก (หมายถึง ขึ้น) 3 ค่ำ เมื่อตรวจสอบกับหนังสือปฏิทิน 120 ปีแล้ว ตรงกับ “วันที่ 21 กุมภาพันธ์”

จากการที่ท่านมรณะในเวลาก่อน 01.00 น. ของเช้าวันใหม่ แต่เลยเวลา 24.00 น. ของคืนวันก่อนไปแล้ว คือ 24.50 นาที 30 วินาที ถือเป็นเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่างคืนวันจันทร์เลยเที่ยงคืนเล็กน้อย กำลังย่างเข้าสู่เช้าวันใหม่ของวันอังคาร

ช่วงเวลาที่ท่านมรณภาพนั้น พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น (เสียชีวิต พ.ศ.2558 เมื่ออายุ 98 ปี เป็นหลานชายแท้ๆ ของครูบาเจ้าศรีวิชัย) เล่าไว้เป็นหลักฐานว่า เป็นตอนเช้ามืด ท่านจำได้อย่างแม่นยำ เพราะคืนก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมรณภาพนั้น พ่ออุ๊ยสี แสนอุ่น ได้ฝันไปว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยมาสั่งให้ตนเป็นผู้ดูแลวัด และเมื่อตื่นขึ้นมาจึงเกิดสงสัยว่า ทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องมาสั่งตนคนเดียว จึงรีบเดินไปวัดบ้านปาง เพื่อจะสอบถามกับครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ไปไม่ทัน ครูบาเจ้าศรีวิชัยดับจิตเสียก่อน

และวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพ มีชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านได้ยินเสียงฟ้าคำรามเบาๆ แต่ญาติโยมที่เฝ้าครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ได้ยิน เพราะมัวแต่ร้องไห้

ความที่ท่านมรณะในเวลาก่อนจะตีหนึ่ง แต่พ้นเที่ยงคืนนิดหน่อยเท่านั้น จึงมีบางท่านบันทึกว่าครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณะวันที่ 20 กุมภาพันธ์ อันตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 2 ค่ำ

ดังเช่นในแผ่นจารึกหินอ่อนป้ายสถูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันแตกหักเป็นสองท่อน ทำขึ้นใน พ.ศ.2490 ในคราวที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยครูบาศีลาภรณ์พิมล (ครูบาบุญมา สีลาภิรโต) มหาวงศ์ ภิกขุ ที่แผ่นจารึกเขียนวันมรณภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า เดือน 6 เหนือขึ้น 2 ค่ำ วันจันทร์ กุมภาพันธ์ 2481

คร่าวร่ำของ “พ่อน้อยจี๋” ระบุวันเวลาที่เริ่มเคลื่อนศพครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากวัดบ้านปางสู่วัดจามเทวี ว่าอยู่ในเดือน 6 เหนือ แรม 3 ค่ำ ปี 2482 (หมายถึงต้นปี 2483 คือเก็บศพที่วัดบ้านปางหนึ่งปีเต็ม)

ทั้งๆ ที่เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ได้เดินทางมาขอร้องให้ย้ายศพครูบาเจ้าศรีวิชัยไปไว้ที่วัดจามเทวีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2482 เพื่อสะดวกต่อการกราบไหว้ของประชาชนทั่วล้านนา

แสดงว่าพ่อน้อยจี๋ ย่อมทราบดีว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยละสังขารในปีขาล วันอังคาร เดือน 6 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ (ตรงกับ 21 กุมภาพันธ์) จึงพยายามอิดเอื้อนรั้งเวลาเก็บศพไว้ที่วัดบ้านปางให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็มีข้อต่อรองกับเจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน ได้ว่าขอเก็บศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ มาตุคามเป็นเวลา 1 ปีเต็ม




จดหมายแจ้งข่าวมรณกรรมครูบาเจ้าฯ
ครูบาทองสุขลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์


หลักฐานสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณะวันที่ 21 กุมภาพันธ์ อีกชิ้นหนึ่ง ก็คือราวปี 2530 ครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม แห่งวัดพระธาตุแสงแก้วมงคล จังหวัดพะเยา กำลังวางแผนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องบริขารครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง จึงเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาอานันท์ได้สัมภาษณ์ “ครูบาทองสุข ธมฺมสโร” (บั้นปลายชีวิตสึกเป็นหนาน พระลูกศิษย์ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้วางใจมาก เป็นผู้ที่เอาน้ำผึ้งกรอกปากครูบาเจ้าศรีวิชัยทันทีที่มรณะ และได้รับมอบหมายให้รักษาการเฝ้าวัดบ้านปางแทน จึงมีสถานะเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปางรูปที่ 2) ขณะนั้นมีอายุ 90 ปีกว่า เล่าให้ครูบาอานันท์ ฟังว่า

“ครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกกับศิษยานุศิษย์ในคืนวันจันทร์ว่า “เฮาจะละสังขารในวันที่เฮาเกิดเน้อ” (หมายถึงวันอังคาร) จากนั้นท่านก็ถามศิษย์ตลอดเวลาว่า เลยเที่ยง (หมายถึงเที่ยงคืน – ภาษาเหนือนิยมเรียกเที่ยงคืนแบบย่อๆ ว่าเที่ยงเท่านั้น) หรือยัง ถ้าถึงเที่ยงแล้วให้บอกด้วย ครั้นเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนเศษ ท่านก็ถามย้ำอีกว่าเลยเที่ยงแล้วใช่ไหม ลูกศิษย์ยังไม่อยากให้ท่านสิ้นลม ก็ไม่มีใครกล้าบอก แต่ก็อดสงสารท่านไม่ได้ เพราะสภาพสังขารท่านไม่ไหวแล้วจริงๆ จึงตัดสินใจบอกความจริงกับครูบาว่าล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่แล้ว จากนั้นครูบาก็ละสังขาร”

การยืนยันเจตนารมณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าท่านมีความประสงค์จะละสังขารในวันอังคารนั้น ตามความเชื่อของชาวล้านนา หากเมื่อคนเราเกิดและตาย ในวันหรือปีเดียวกัน จะเชื่อว่าผู้ตายได้หมดบุญที่มีมาแล้ว ถือเป็นการตายที่สมบูรณ์

หลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพได้เพียง 3 วัน ครูบาทองสุขได้เขียนจดหมายแจ้งข่าวต่อเครือข่ายศิษยานุศิษย์ทั่วล้านนา ในจดหมายลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมรณภาพในวันที่ 22 มีนาคม เพราะจักเป็นการขัดแย้งกับหัวจดหมาย (จดหมายฉบับนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านปาง โดยครูบาอานันท์ พุทฺธธมฺโม เป็นผู้ไปขอจดหมายจากทายาทของพ่อหนานอ้าย ชาวดอยสะเก็ด ผู้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ได้รับจดหมายของครูบาทองสุข)

หากนับตั้งแต่วันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเกิดคือ 11 มิถุนายน 2421 ถึงวันมรณภาพ 21 กุมภาพันธ์ 2481 (หรือนับแบบปัจจุบันคือ 2482) แล้ว สิริรวมอายุได้ 60 ปี 8 เดือน 10 วัน หรือมีอายุย่าง 61 ปี

ตรงกับข้อมูลสัมภาษณ์แม่ชีเทียมตา ไชยกันต์ จากบ้านแม่ช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ อายุ 91 ปี (เมื่อ พ.ศ.2559) เล่าว่ามีคร่าวซอขับร้องป่าวประกาศกระจายข่าวกันทั่วแผ่นดินล้านนาตอนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพใหม่ๆ ว่า

“หกสิบเอ็ด เป็นเสร็จธุระ สีวิไชยพระ ท่านเสี้ยงแก่กรรม”

เป็นที่รับรู้กันในสังคมล้านนาว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพในขณะที่อายุย่าง 61 ปีแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะระบุวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หรือ 21 กุมภาพันธ์ ก็มีค่าเท่ากัน ถือว่าไม่ผิดทั้งคู่ แต่หากจะยึดตามเจตนารมณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างแท้จริงแล้ว พบว่าท่านมีความประสงค์จะมรณภาพในวันอังคาร มิเช่นนั้นคงไม่อั้นลมหายใจให้ยืดยาวข้ามคืน

 

22 มีนาคม
การตีความที่คลาดเคลื่อน
ส่วนกรณีที่เอกสารบางเล่มตีความเป็นวันที่ 22 มีนาคมนั้น ปรากฏครั้งแรกในหนังสือที่พระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน จัดทำเพื่อบำเพ็ญกุศลศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี 2482

เป็นการนำระบบการนับเดือนทางจันทรคติไปเทียบกับภาคกลางแบบคร่าวๆ โดยไม่คำนึงถึงรายละเอียดปลีกย่อย คือคิดว่าในเมื่อโดยมาตรฐานแล้ว เดือน 6 เหนือ = เดือน 4 กลาง ดังนั้น คำว่าเดือน 4 ควรจะต้องเป็นมีนาคม และวันขึ้น 2 ค่ำ (หากยึดก่อนเที่ยงคืน) ในเดือนมีนาคม ก็จะตรงกับวันที่ 22 จึงได้ยึดเอาวันนั้นมาเป็นวันมรณะของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเทียบกับตารางปฏิทิน 120 ปี พบว่าวันที่ 22 มีนาคม 2481 (หรือ 2482 ตามแบบใหม่) ตรงกับวันพุธ ไม่ใช่วันอังคาร ซ้ำยังเข้าสู่ปีเถาะ ล่วงเลยจากปีขาลไป อีกทั้งเดือนมีนาคมตั้งแต่วันที่ 21 เป็นต้นมาก็เข้าสู่เดือน 5 ภาคกลาง หรือเดือน 7 เหนือไปแล้ว ไม่ใช่เดือน 6 อีกต่อไป

สำหรับประเด็นการที่มีหนังสือบางเล่ม ระบุวันที่ 22 มีนาคม ด้วยเช่นกันนั้น เข้าใจว่าเป็นการเขียนตามการตีความของพระวิมลญาณมุนี ที่เผยแพร่ไว้ก่อนแล้ว เพราะหนังสือของพระวิมลญาณมุนีได้พิมพ์แจกอย่างแพร่หลายในช่วงบำเพ็ญกุศลศพครูบาเจ้าศรีวิชัยตอนที่เคลื่อนศพมาวัดจามเทวีหลังมรณภาพ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ท่านที่เชื่อว่า 22 มีนาคมคือวันที่ถูกต้อง ก็ถือว่าสงวนไว้สำหรับความเห็นส่วนบุคคล เพราะท้ายที่สุด ผู้อ่านจะใช้วิจารณญาณของตนเองเป็นผู้ตัดสิน


37  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ทางรถไฟสายมรณะในพม่า ประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย เจ็บปวดไม่แพ้ในฝั่งไทย เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2567 09:06:20

สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินและ ทางรถไฟสายมรณะ ในฝั่งพม่า
ภาพสเก๊ตช์หาดูยากฝีมือเชลยศึกพร้อมด้วยข้อมูลที่สาบสูญ
(ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEW, 5 Jan.1946 ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)   


ทางรถไฟสายมรณะในพม่า ประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย เจ็บปวดไม่แพ้ในฝั่งไทย

เขียน - เสมียนนารี
เผยแพร่ -  ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

เมื่อนึกถึง “ทางรถไฟสายมรณะ” ก็จะคิดถึง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เป็นหลัก แต่ทางรถไฟสายมรณะไม่ได้สร้างอยู่ทางฝั่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ “กองทัพญี่ปุ่น” ยังได้สร้างทางฝั่งประเทศพม่าที่มีประวัติโหดร้าย เจ็บปวดไม่แพ้กัน แต่แทบไม่มีใครพูดถึง ในความเป็นจริงทางรถไฟสายมรณะมีระยะทางทั้งสิ้น 415 กิโลเมตร สร้างอยู่ในเขตแดนไทย 304 กิโลเมตร และอยู่ในเขตแดนพม่า 111 กิโลเมตร

หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ของอังกฤษ รายงานเบาะแสนี้เมื่อ พ.ศ.2489 ว่า บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ มีสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำสาละวิน ในเขตของพม่าใกล้เมืองตันบูซายัด และแน่นอนว่าที่นั่นมีเชลยศึกต่างชาตินับหมื่นคน ที่สังเวยชีวิตให้ทางรถไฟสายนี้ไม่น้อยไปกว่าทางสายรถไฟบนฝั่งไทย

กองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนตัวเข้าสู่พม่าต้น พ.ศ.2485 หลายเมืองถูกทำลายและเกิดความเสียหายอย่างหนัก อังกฤษเองก็ทำลายเครือข่ายทางรถไฟที่วางไว้ในพม่าอย่างไม่เสียดาย เพราะตระหนักว่า กองทัพญี่ปุ่น จะเข้ามาครอบครองทางรถไฟเดิมของตนใช้เคลื่อนพลเดินทัพ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในภาวะสงคราม และเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องเริ่มซ่อมสร้างทางรถไฟขึ้นใหม่ในพม่า เพื่อเดินทัพญี่ปุ่นอย่างรวบรัดและเร่งด่วนทดแทนของเก่าทันที

กองทัพญี่ปุ่น เร่งก่อสร้างทางรถไฟสายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ตันบูซายัด (ทางรถไฟสายไทย-พม่า) หรือที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “ทางรถไฟสายมรณะ” จนเปิดใช้เดินทางอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2486 จากนั้นกองทัพได้ระดมขนส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเป็นกองกำลังสมทบไปเสริมแนวหน้าของกองทัพญี่ปุ่นในพม่า ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาการถูกโจมตีกลับอย่างหนักจากกองกำลังของอังกฤษ ที่อยู่ตามแนวพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดีย

การลำเลียงทหารญี่ปุ่นและอาวุธหนักจากประเทศไทยผ่านทางรถไฟมีความสำคัญยิ่งขึ้น เมื่อทางรถไฟไทย-พม่า สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟเส้นเดิมของอังกฤษ ซึ่งได้รับการซ่อมแซม จากนั้นก็จะได้ตัดตรงขึ้นไปภาคเหนือเลียบแม่น้ำ “สาละวิน” มุ่งหน้าสู่ Burma Road ในแถบรัฐฉานที่ติดกับชายแดนจีน

ตามชายฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดารด้วยป่าเขา ไม่ต่างไปจากฝั่งแม่น้ำแควใหญ่แควน้อยในเขตไทย มีค่ายเชลยศึกตั้งเรียงรายอยู่ ดังเช่น ค่ายขนาดใหญ่อย่าง “ค่ายชองกูไร”

ค่ายชองกูไร คือ ชื่อของค่ายนรกแห่งใหม่ในแนวหลังด่านพระเจดีย์สามองค์ ในพื้นที่ป่าดงดิบลุ่มน้ำสาละวิน ค่ายนี้มีภารกิจสร้างสะพานทางรถไฟเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน ตามพิมพ์เขียวที่จะสร้างต่อไปยังเมืองตันบูซายัด วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2486 แม่ทัพญี่ปุ่นประจำสิงคโปร์มีคำสั่งให้เกณฑ์เชลยศึกสัมพันธมิตร ณ เรือนจำชางงี ราว 7,000 คน เดินทางไปยังค่ายพักพิงแห่งใหม่ที่มิอาจเปิดเผยได้ ในจำนวนนั้นมีเชลยราว 2,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยไม่พร้อมทำงาน แต่ก็ถูกลวงว่าจะย้ายพวกเขาไปค่ายพักฟื้น

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2486 รถไฟ 13 ขบวน นำทหารเชลยกลุ่มดังกล่าวมาถึงบ้านโป่ง (จังหวัดราชบุรี) ต่อจากนั้นพวกเขาก็ถูกบังคับให้เดินเท้าผ่านป่าดงจากชายแดนไทยบนระยะทาง 300 กิโลเมตร ท่ามกลางความมืดครึ้มของฤดูมรสุมอันเฉอะแฉะเปียกชื้น กับฝนที่ตกทั้งกลางวันกลางคืน จนถึง “ค่ายชองกูไร” ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2486 โดยมีอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดคอยต้อนรับอยู่เมื่อคณะไปถึง แต่งานก่อสร้างสร้างทางรถไฟก็ต้องดำเนินทันทีในวันรุ่งขึ้น

ค่ายชองกูไร ขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรคร้ายต่างๆ จึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ภายในค่ายแห่งนี้มีทั้งอหิวาต์, ไข้ป่า, ท้องร่วง, แผลเน่าเปื่อยพุพอง ฯลฯ ขาดก็แต่ยาที่จะรักษาให้หายขาด เชลยอังกฤษจำนวน 1,600 คน ที่ไปถึงค่ายชองกูไรในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2486 ป่วยหนัก และเสียชีวิตหลังจากไปถึงค่ายเพียงเดือนเดียวถึง 1,200 คน เมื่อเวลา 1 ปีผ่านไป เชลยรวมกันมากถึง 5,000 คน ถูกฝังร่างไว้ข้างทางรถไฟที่พวกเขาสร้างนั่นเอง

นี่คือเรื่องย่อๆ ของ ทางรถไฟสายมรณะ ในพม่า และ “สะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน” ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะในพม่า ที่กลืนเชลยศึก 5,000 ชีวิต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
38  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เจ้าชายอัลเบิร์ต “ผู้พรากรอยยิ้ม” ไปจากควีนวิกตอเรีย เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2567 13:11:15

เจ้าชายอัลเบิร์ต และควีนวิกตอเรีย ในพระราชพิธ๊อภิเษกสมรส

เจ้าชายอัลเบิร์ต “ผู้พรากรอยยิ้ม” ไปจากควีนวิกตอเรีย

ผู้เขียน - วิภา จิรภาไพศาล
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


ควีนวิกตอเรีย (ค.ศ.1819-1901) รัชกาลของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของควีนวิกตอเรียก็คือ “เจ้าชายอัลเบิร์ต” พระราชสวามีของพระองค์ ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง

เจ้าชายอัลเบิร์ต (ค.ศ.1819-1861)เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการปกครองคน จึงมีส่วนช่วยประสานงานกับรัฐบาล และเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ แทนควีนวิกตอเรีย ตลอดจนนำพาประเทศผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองไปได้หลายครั้งหลายหน ฯลฯ

วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1861 เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์โดยปราศจากคำอำลา ด้วยพระชนมายุเพียง 42 พรรษา หมอหลวงสรุปสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่าเกิดจากไข้ไทฟอยด์ และหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาการประชวรเป็นผลมาจากการทรงงานหนัก

การจากไปของ เจ้าชายอัลเบิร์ต สั่นคลอนราชบัลลังก์อังกฤษอย่างยิ่ง

ควีนวิกตอเรียเสียศูนย์ และทำใจไม่ได้กับเรื่องร้ายที่ขึ้น ผลักดันให้ควีนกลายเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัว และไม่ทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม) อีกเลย

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “…ตลอด 20 ปีของการใช้ชีวิตคู่ ควีนและพระสวามีช่วยกันกอบกู้ราชบัลลังก์อันเอียงเอนให้มั่นคงอีกครั้ง…เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นทุกอย่างในชีวิตของควีน เป็นพระสวามี เพื่อนสนิท คนคอยปรับทุกข์ ที่ปรึกษา เลขานุการ และองคมนตรีพร้อมสรรพในคนๆ เดียว ไม่มีสักเรื่องเดียวที่ควีนทรงเป็นกังวลแต่เจ้าชายอัลเบิร์ต ไม่ทราบ แม้เรื่องจุกจิกที่ราษฎรอย่างเราคาดไม่ถึง เช่น ควรจะใส่พระมาลา (หมวก) แบบไหนออกงาน

เป็นเวลาถึง 10 ปีภายหลังการเสวยราชย์ ควีนทรงพระครรภ์อย่างต่อเนื่องแบบหัวปีท้ายปี เจ้าชายอัลเบิร์ต ต้องกลายเป็นตัวแทนของควีนในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่กษัตริย์พึงกระทำเมื่อพระราชินีต้องดูแลครอบครัว แต่คนส่วนใหญ่ก็มองข้ามกันหมด จะรู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อไม่มีเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้วแต่ราชการแผ่นดินก็ต้องดำเนินต่อไป

ควีนยังทรงทำใจไม่ได้แม้เจ้าชายอัลเบิร์ตจะจากไปมากกว่า 2 ปีแล้ว พระนางก็ยังทรงซึมเศร้าเหมือนเดิมถ้าเป็นเรือก็เป็นเรือที่ขาดหางเสือ พระนางตรัสว่า ‘การสูญเสียอัลเบิร์ตไปเหมือนแล่เนื้อออกจากกระดูกของฉัน’ แล้วยังตรัสด้วยความรันทดว่า ‘คงไม่มีใครอยากเรียกฉันว่าพระราชินีอีกแล้ว’

ควีนทรงมีท่าที่ว่าจะไว้ทุกข์ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตไปจนตลอดชีวิต ยิ่งนานวันเข้าพระอาการก็ยิ่งหนักขึ้นกับภาวะซึมเศร้าอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ใช่พระนางองค์เดียวที่ต้องเผชิญชะตากรรม แต่พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ก็ต้องรับรู้ความทุกข์นี้ด้วย ภายในวังจึงไม่มีใครกล้าแต่งชุดสดใสและต้องอำพรางตนเองไว้กับความหม่นหมอง…

แม้นว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้วแต่ควีนก็ยังไม่คลายความโศกเศร้า ด้านนอกวังเกิดกระแสต่อต้านของประชาชน ประมาณปี ค.ศ.1869 นักการเมืองฝ่ายค้านปลุกระดมมวลชนเรียกร้องให้ควีนทรงสละราชสมบัติ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพระราชินีและมีการรณรงค์ให้ปลดพระนางออกจากตำแหน่ง

ความรู้สึกจากภายนอกวังทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดมีคนดักประทุษร้ายควีนบนรถม้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จฯ ออกมานอกวังเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ทำให้ราษฎรรู้สึกสมเพชเวทนาแม่หม้ายผู้ตกอับขึ้นมาจับใจ ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ไขปัญหา ทำให้ควีนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างคนปกติอีกครั้ง”

ค.ศ.1874 นายดิสราเอลลี่ (Disraeli) ได้รับเลือกตั้ง เขาคือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ควีนวิกตอเรียทรงสนับสนุน เป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ควีนคิดได้ในที่สุด ทำให้ควีนตั้งพระสติได้และหันมาประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองอีกครั้ง ด้วยสีหน้าอมทุกข์จนวันสุดท้ายของพระชนมชีพ
39  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / เผาตำรา-ฆ่าบัณฑิต วิธีกำจัดคนเห็นต่าง สร้างเอกภาพทางการเมืองของจิ๋นซี เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2567 13:05:31


จิ๋นซีฮ่องเต้ วีรบุรุษที่เกิดจากสถานการณ์ช่วงเสื่อมของราชวงศ์โจวตะวันตก
รวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็นจักรวรรดิเอกภาพ


เผาตำรา-ฆ่าบัณฑิต วิธีกำจัดคนเห็นต่าง สร้างเอกภาพทางการเมืองของจิ๋นซี

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567


“เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” วิธีกำจัดคนเห็นต่าง สร้างเอกภาพทางการเมืองของ “จิ๋นซี”

เมื่อ “ฉินสื่อหวง” หรือ “จิ๋นซี” รวบรวมอาณาจักร สถาปนาราชวงศ์ฉินจนเป็นปึกแผ่น ได้แต่งตั้ง “หลี่ซือ” ขุนนางสำคัญเป็นอัครมหาเสนาบดี หลี่ซือผู้นี้เป็นต้นคิดที่เสนอให้จิ๋นซีรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่จักรพรรดิแต่ผู้เดียว ขุนนางผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ทั้งทหารและพลเรือนแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยพระองค์เท่านั้น

ต่อมาในช่วง 213 ปีก่อน ค.ศ. เหล่าปัญญาชนแสดงความคิดให้รื้อฟื้นระบอบเจ้าที่ดินศักดินาอย่างสมัยก่อนรวมอาณาจักร ซึ่งเจ้าที่ดินปกครองดินแดนเขตแคว้นใหญ่น้อย หลี่ซือยืนกรานคัดค้านอย่างเด็ดขาดเขาเห็นว่าความคิดดังกล่าวเป็นภัยต่อบ้านเมืองและราชวงศ์ฉิน

หลี่ซือตำหนิปัญญาชนนักศึกษาเหล่านี้มีแต่ความดื้อรั้น นำความรู้เล่าเรียนมาคัดค้านลบหลู่ดูหมิ่นกฎหมายของบ้านเมือง ปลุกระดมผู้คนปล่อยข่าวลือไปทั่ว พฤติกรรมเช่นนี้ หากไม่ปราบปรามให้หมดสิ้น จะเสื่อมเสียพระเกียรติภูมิ

เขาเสนอให้เผาประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของทั้ง 6 แคว้น, เผาบทนิพนธ์ของสำนักปรัชญาการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากในยุคร้อยสำนัก, บทเพลงโบราณ, ตำรากฎหมาย ฯลฯ สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษากฎหมายต้องไปเรียนยังสำนักอาจารย์เท่านั้น ส่วนตำราที่ได้รับข้อยกเว้นไม่ถูกทำลาย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ของแคว้นฉิน, ตำราแพทย์, โหราศาสตร์ และการเกษตร

หากใครเก็บตำราดังกล่าวให้ทางการดำเนินริบตำราดังกล่าวและเผาทำลายเสีย ส่วนปัญญาชนที่บังอาจอ้างอิงตำราเหล่านั้น และเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นปิดบังความจริง ให้ประหารชีวิตในที่สาธารณะ

แนวคิดของหลี่ซือ ได้รับความเห็นชอบจากจิ๋นซีเห็น มาตรการ “เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” กลายเป็นกฎหมายบ้านเมือง และมีการบังคับใช้

หลังจากพระบรมราชโองการออกมาภายใน 30 วัน ถ้าเจ้าของหนังสือตามที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่ทำลายหนังสือเหล่านั้น แม้จะไม่ถูกประหารชีวิต แต่จะถูกสักหน้าและใช้แรงงาน 4 ปี โดยให้ไปทำงานหนักก่อสร้างกำแพงหมื่นลี้

เวลาผ่านไป 2 ปี แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ยังไม่สงบ จิ๋นซียังคงได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ การถูกลบหลู่เช่นนี้ทำให้กริ้ว และมีรับสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเหล่าปัญญาชนและนักศึกษาจำนวนมาก จากเหตุการครั้งนี้ปรากฏว่า มีบัณฑิตถูกฝังทั้งเป็นกว่า 460 คน

ซี.พี.ฟิตซเจอรัลด์ ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน อธิบายต่อกรณี “เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต” ว่า เสนาบดีหลี่ซือ มองเห็นอันตรายอันเกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของเหล่าปัญญาชน ที่เป็นศัตรูของระบอบการปกครอง คำโฆษณาของเหล่าบัณฑิตที่เผยแพร่แก่สาธารณะ มีพื้นฐานจากวรรณคดี ตลอดจนตำราต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงต่อระเบียบแบบแผนของทางการ เป็นอาวุธที่มีอันตรายต่ออาณาจักรใหม่

หลี่ซือก็ตัดสินใจทำลายระบอบการปกครองเดิมที่มีเจ้าที่ดินครอบครองเขตแดนศักดินาที่ต่างก็เป็นอิสระเหนือเขตแดนของตน ในลักษณะการกระจายอำนาจ แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอ แม้แต่ความทรงจำในอดีตก็ต้องกำจัดให้หมดสิ้น ประวัติศาสตร์โดยตัวของมันเองจึงต้องลบล้างออกไปให้หมด หลี่ซือจึงทูลองค์จักรพรรดิเสนอแผนเผาหนังสือของเขาขึ้น ทำให้ชื่อของหลี่ซือและจิ๋นซี เป็นที่เกลียดชังไม่มีวันจางหายไปได้ของบรรดานักศึกษาปัญญาชนรุ่นหลังๆ

ซึ่งจุดประสงค์สำคัญของการเผาตำรา ฆ่าบัณฑิต ของฉินสื่อหวงก็เพื่อทำให้เกิดเอกภาพทางความคิด แต่วิธีการเช่นนี้นับเป็นวิธีที่โหดร้ายและโง่เขลา ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อแหล่งวิทยาการความรู้และการพัฒนาเติบโตทางวัฒนธรรม
40  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / อย่าอวดสูงกว่าพ่อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจารย์ เมื่อ: 16 กุมภาพันธ์ 2567 14:01:10


อย่าอวดสูงกว่าพ่อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจารย์

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2566
คอลัมน์ - ล้านนาคำเมือง
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2566


คำว่า “สูง”ในที่นี้แปลว่า ทำตัวสูงส่ง หรือเหยียบย่ำ

คำว่า “แก่” มิได้หมายถึงอายุมาก แต่แปลว่า แก่กล้า อวดเก่ง อวดดี อะไรทำนองนั้น

โดยรวมสำนวนนี้สอนว่า ให้รู้จักเคารพพ่อแม่และครูบาอาจารย์ ให้นอบน้อมต่อความมีอาวุโส ตลอดจนรวมความไปถึงต้องมีความกตัญญูรู้คุณที่พ่อแม่ได้เลี้ยงดูและครูบาอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้

สังคมไทยเป็นสังคมตะวันออก ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งชมพูทวีป จีน และขอม นอกจากจะรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียแล้ว ยังมีอิทธิพลของทั้งศาสนาพุทธ ฮินดู และลัทธิขงจื๊อด้วย ทำให้คนไทยมีกฎเกณฑ์ทางมารยาทแบบประนีประนอม ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ตามประเพณี มีลำดับอาวุโส บิดามารดาอยู่ในสถานะสูงกว่าบุตร ครูบาอาจารย์อยู่สูงกว่าศิษย์

สังคมไทยสอนกันแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ในสังคมล้านนาก็ไม่เว้น ดังคำสอนล้านนาข้างต้นเป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

เรามีนิทาน หรือชาดกที่สอนคนรุ่นก่อนหน้าหลายเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญู ซึ่งจะให้ผลดีและเป็นเกราะป้องกันภัยให้ตัวลูกหลานเป็นอย่างดี และถูกเล่าสอนสืบๆ ต่อกันมา เช่น เรื่องปลาบู่ทอง เรื่องสิงโตเฒ่าเจ้าปัญญา เรื่องของนก ไก่ หงส์ ยอดกตัญญู ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ชาดกเรื่องสุวรรณสาม ท้าวรถเสนกับนางสิบสอง รวมทั้งทรพีทรพา เป็นต้น

จะลองฟื้นความทรงจำสักเรื่อง สิงโตเฒ่าเจ้าปัญญา

สิงโตฝูงหนึ่งอยู่ในทุ่งกว้าง สิงโตเฒ่าทำหน้าที่สอนสิงโตรุ่นหลังรู้จักหาอาหาร ต่อสู้ปกป้องฝูง รวมทั้งรู้จักกตัญญู ต่อมาเมื่อสิงโตเฒ่าชราลง สิงโตหนุ่มขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าฝูงแทน มันจึงขับสิงโตเฒ่าให้ออกจากฝูงไปอยู่ตามลำพัง

วันหนึ่งสุนัขจิ้งจอกจำนวนมากที่ร้ายกาจพาพวกมาล้อมฝูงสิงโตแล้วจะขับออกจากทุ่งหญ้านิวาสสถานเดิม ยกเว้นว่าฝูงสิงโตจะฟั่นเชือกจากขี้เถ้าได้ บรรดาสิงโตนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร จึงไปหาสิงโตเฒ่า

สิงโตเฒ่าแนะนำว่า ให้เอาหญ้าแห้งมาฟั่นเป็นเชือก เสร็จแล้วจึงจุดไฟเผา ก็จะได้ขี้เถ้าเป็นรูปเชือกไปให้ฝูงสุนัขจิ้งจอก

เมื่อแก้ปัญหาได้ สิงโตหนุ่มสำนึกในพระคุณคำสอนของสิงโตเฒ่าจึงแสดงความกตัญญูโดยเชิญกลับเข้ามาอยู่ในฝูงตามเดิม

ที่จริงลูกหลานไทยถูกสอนให้เคารพบิดามารดา เคารพครูอาจารย์ตลอดมาเป็นพันปี แต่อยู่มาวันหนึ่งมีใครไม่รู้มากรอกหูซ้ำๆ ว่า พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดมาเอง ลูกไม่ได้อยากมาเกิดสักหน่อย ไม่ต้องทดแทนพระคุณก็ได้ ส่วนครูก็ได้เงินเดือน ไม่ต้องเห็นแก่พระคุณครู ในที่สุดความคิดก็ก้าวร้าวเบี่ยงเบนไป กลายเป็นสังคมวุ่นวายแบบในปัจจุบันนี้

จึงต้องยกคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเป็นอุทาหรณ์ว่า

“ผมรู้สึกว่า พฤติกรรมของคนยุคนี้เหมือน tribal คือมักทำหรือคิดอะไรคล้อยตามคนอื่น เช่น เมื่อคุณรู้อยู่แล้วว่า 2+2 เป็นเท่าไร แต่เมื่อหลายๆ คนบอกว่า 2+2 เป็น 5 คุณก็เริ่มเชื่อ”

วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดถูก เรื่องความกตัญญูในสังคมไทยที่สั่งสมสั่งสอนกันมานาน แต่พอมีหลายๆ คนออกมาค้าน คนรุ่นใหม่ก็เริ่มมีความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไป •



อยฯ่าอวฯดสูงกวฯ่าพํ่อฯแม่ อยฯ่าอวฯดแก่กวฯ่าอาจาร์ยฯ
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “อย่าอวดสูงกว่าป้อแม่ อย่าอวดแก่กว่าอาจ๋าน”



สิงฯโตเถั้าหัลฯวฯกเนิ่อฯ
สิงโตเถ้าหลวักเน่อ
แปลว่า สิงโตแก่ฉลาดนะ

 
หน้า:  1 [2] 3 4 ... 116
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.441 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้