[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 14:56:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 ... 117
61  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 11 มกราคม 2567 15:49:56

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่รอด วัดสามไถ

เหรียญหล่อรูปเหมือน หลวงปู่รอด วัดสามไถ พระเกจิชื่อดัง-กรุงเก่า

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


“หลวงปู่รอด อินทปัญญา” อดีตเจ้าอาวาสวัดสามไถ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตพระเกจิเรืองนามแห่งกรุงเก่า เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นที่เคารพนับถือ

ในปี พ.ศ.2467 มีการจัดงานยกช่อฟ้าอุโบสถ ลูกศิษย์และชาวบ้านได้ขออนุญาตสร้างเหรียญหล่อรูปเหมือน โดยมีคณะกรรมการ 12 คน ประกอบพิธีหล่อที่วัด โดยมีหลวงปู่รอดจารแผ่นโลหะให้

ลักษณะเป็นเหรียญหล่อเนื้อทองผสม มีหูในตัว รูปทรงเสมา ด้านหน้าเป็นรูปจําลององค์หลวงปู่รอดนั่งอยู่เหนือรูปเสือ ขอบเหรียญ เขียนคำว่า “ในการยกช่อฟ้าอุโบสถวัดสามไถ”

ด้านหลังเป็นยันต์แปด ด้านบนยันต์ เขียนคำว่า “ที่ระฤก” ด้านล่างใต้ยันต์ เขียนคำว่า “พ.ศ.๒๔๖๗”

รุ่นนี้เป็นที่กล่าวขานในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องว่า เป็นเหรียญหล่อพระเกจิอาจารย์ยอดนิยมอันดับ 1 ของเมืองกรุงเก่า เป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างขึ้น

มีเรื่องเล่าว่า ในขณะที่ช่างนำแผ่นโลหะมาหลอม ปรากฏว่าแผ่นโลหะไม่หลอมละลาย คณะกรรมการจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่าแผ่นโลหะไม่ยอมละลาย หลวงปู่จึงบอกว่า หลอมละลายแล้ว เมื่อคณะกรรมการกลับมาดู ปรากฏว่าแผ่นโลหะได้ละลายแล้ว

หลังจากนั้น หลวงปู่รอดนำเหรียญทั้งหมดเข้าปลุกเสกในอุโบสถ โดยปลุกเสกเดี่ยวตลอดคืน ท่ามกลางเหล่าพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ตลอดเวลา

ปัจจุบัน หายาก





หลวงปู่รอด อินทปัญญา มีชื่อเดิมว่า รอด เกิดปีขาล พ.ศ.2384 ณ บ้านสามไถ จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาสืบค้นไม่ทราบชื่อ มารดาชื่อแม่เฒ่ากา เป็นคนเชื้อสายลาว มีพี่น้อง 3 คน

เมื่ออายุ 7 ขวบ นำท่านไปฝากให้เรียนอักขระกับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดสามไถ

ต่อมา บรรพชาเมื่ออายุ 11 ขวบ เล่ากันว่ามีอุปนิสัยชอบหาความสงบวิเวก หลังจากศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระอธิการแดงได้ 4 ปี จึงกราบลาไปศึกษาพุทธาคมทางภาคอีสาน

ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท แต่จากประวัติไม่ทราบได้อุปสมบท ณ วัดใด และใครเป็นพระอุปัชฌาย์ เพียงทราบว่าหลังจากที่ศึกษาวิทยาคมจนเชี่ยวชาญ จึงเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ และได้พบกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ซึ่งเป็นพระภิกษุรุ่นน้อง

มีเรื่องกล่าวขานบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อครั้งศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในกรุงเทพฯ ร่วมกับพระภิกษุรุ่นน้องเป็นคนอยู่บ้านเดียวกัน เมื่อทั้งสองรูปได้เรียนสำเร็จพระปริยัติธรรมแล้ว จึงเดินทางกลับภูมิลำเนา

ซึ่งการเดินทางกลับมาครั้งนี้ ได้มีคหบดีท่านหนึ่งชื่อ นายเทศ จัดงานเฉลิมฉลองเกียรติคุณให้แก่พระภิกษุทั้งสองรูปนี้ โดยจัดให้มีขบวนแห่ทางน้ำ ตั้งแต่อำเภอนครหลวง จนถึงอำเภอท่าเรือ ในขณะที่ประชาชนกำลังร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานอยู่กลางลำน้ำป่าสักนั้น เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทั้งที่ท้องฟ้าแจ่มใสและยังมีแดดจัด เม็ดฝนที่ตกลงมาทำให้ประชาชนที่ร่วมขบวนแห่เปียกปอนไปตามกัน

แต่กับพระภิกษุทั้งสองรูป สายฝนกลับไม่สามารถทำให้เปียกแต่อย่างใด

ต่อมาคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้แต่งตั้งให้หลวงปู่รอดเป็นเจ้าอาวาสวัดสามไถ เมื่อปี พ.ศ.2427 สืบต่อจากพระอธิการแดง ที่มรณภาพ

พ.ศ.2429 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ขณะที่มีอายุได้ 45 ปี พรรษา 25

หลวงปู่รอด อินทปัญญา เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มงวดกวดขันความประพฤติของพระภิกษุที่อยู่ในความปกครองให้ถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด

เช่น การกำหนดให้พระภิกษุที่อยู่ในวัดสามไถต้องมาปลงอาบัติกับท่านเป็นการส่วนตัวในช่วงเวลาเช้า ห้ามปลงอาบัติกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกัน ฯลฯ

หากพระภิกษุรูปใดทำผิดพลาดความประพฤติ ท่านจะลงโทษด้วยไม้เรียวทันที ด้วยถือว่าผู้ที่เป็นพระภิกษุเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมวินัยมาแล้ว จึงสมควรที่จะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีล

ด้วยเกียรติคุณที่แผ่ขยายออกไป ทำให้ได้รับความเคารพเลื่อมใส ต่างพาบุตรหลานที่มีอายุครบบวชมาอุปสมบทที่วัดสามไถ ซึ่งจากทัศนคติของท่านที่ว่า “การนำสาธุชนทั้งหลายเข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ในพระศาสนาทั้งสิ้น…”

ครั้งหนึ่งมีผู้ร้องเรียนถึงคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง โดยได้กล่าวหาว่าบรรพชาอุปสมบทให้พวกที่มีคดีติดตัวอยู่ เป็นเหตุให้พระญาณไตรโลกนาถ (ฉาย) เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขึ้นมายึดพัดอุปัชฌาย์และห้ามบวชนาคเป็นการชั่วคราว

ว่ากันว่าหลังจากที่พระญาณไตรโลกนาถยึดพัดอุปัชฌาย์จากหลวงปู่รอดไปแล้วยังไม่ถึง 7 วัน ก็เกิดความไม่สบายใจจนต้องนำพัดอุปัชฌาย์มาคืน ก่อนปรับความเข้าใจกัน พร้อมทั้งให้ความนับถือหลวงปู่รอดเป็นอย่างยิ่ง โดยจะเดินทางมากราบนมัสการเป็นประจำทุกปี

มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่กุฏิภายในวัด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2480 ตรงกับวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู

สิริอายุ 96 ปี พรรษา 75 •





เหรียญรุ่นแรก-หลวงปู่ทวด มงคล ‘พระอาจารย์นอง’ วัดทรายขาว จ.ปัตตานี

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2566
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


“พระครูธรรมกิจโกศล” หรือ “พระอาจารย์นอง ธัมมภูโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เป็นสหธรรมิกที่ใกล้ชิดกับพระอาจารย์ทิม โดยมีอายุน้อยกว่า 7 ปี

หากเอ่ยถึงวัตถุมงคลหลวงปู่ทวด สุดยอดพระเกจิแห่งแดนใต้ วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผู้สร้างตำนานศักดิ์สิทธิ์เลื่องลือเหยียบน้ำทะเลจืด

ที่ได้รับความนิยมจะมีวัตถุมงคลพระหลวงปู่ทวดของ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร และพระอาจารย์นอง ธัมมภูโต วัดทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีเท่านั้น

พระครูวิสัยโสภณ หรือหลวงปู่ทิม ธัมมธโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังวัดช้างให้ จ.ปัตตานี เป็นผู้สร้างตำนานพระเครื่องหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทุกวันนี้

ส่วนพระอาจารย์นอง เป็นผู้ที่มีส่วนให้กำเนิดพระเครื่องหลวงปู่ทวด เนื้อว่าน รุ่นแรก ของวัดช้างให้ จึงทราบส่วนผสมที่ดีเยี่ยมเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า พระหลวงปู่ทวด วัดทรายขาว คือพระคู่แฝดของวัดช้างให้นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นพระรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่

ยิ่งในยุคถัดมา ภายหลังจากพระอาจารย์ทิมมรณภาพ มีเพียงพระอาจารย์นองที่ได้รับการยอมรับว่าปลุกเสกวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดได้เข้มขลัง และมีประสบการณ์

gหรียญพระอาจารย์นอง รุ่นแรก : วัตถุมงคลสร้างกันหลายรุ่น ล้วนแต่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2534 สร้างในวาระอายุครบ 6 รอบ (72 ปี)

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง ขอบเหรียญเป็นลายกนก ด้านล่างใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อนอง”

ด้านหลังเป็นยันต์นารายณ์แปลงรูป มีเลขไทย “๒๕๓๔” ด้านบนมีตัวอักษรคำว่า “ครบรอบ ๗๒ ปี” ด้านล่างมีอักษรคำว่า “วัดทรายขาว จ.ปัตตานี”

เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นกูรอดตาย : ยังมีอีกเหรียญที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ เหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นกูรอดตาย ด้านหลังเป็นรูปพระอาจารย์นอง จัดสร้างในปี พ.ศ.2537

กล่าวขานกันว่า เหรียญรุ่นนี้ เป็นเหรียญที่อนุญาตให้จัดสร้างเหรียญขึ้นมา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ หลังฟื้นจากอาการอาพาธ

ด้วยเหตุที่พระอาจารย์นองอาพาธหนัก ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่านได้กล่าวปรารภว่า “ขอให้สร้างมณฑปเสร็จก่อน แล้วจะไป” ท่านจึงฟื้นมาอีกครั้ง อาการอาพาธของท่านค่อยดีขึ้นตามลำดับ จนหายเป็นปกติ ก่อนดำริให้ลูกศิษย์จัดสร้างเหรียญรุ่นนี้ โดยระบุคำว่า “กูรอดตาย”

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ทวดเต็มองค์นั่งขัดสมาธิ หน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อทวด วัดช้างให้”

ด้านหลังเป็นรูปเหมือนพระอาจารย์นองครึ่งองค์ หันหน้าไปด้านขวา รอบขอบเหรียญ เขียนคำว่า “พระธรรมกิจโกศล” (อ.นอง) รุ่นกูรอดตาย วัดทรายขาว ๓๐ พ.ค.๒๕๓๗”

ได้รับความนิยมมากอีกเหรียญเช่นกัน




พระอาจารย์นอง ธัมมภูโต  มีนามเดิม นอง หน่อทอง เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2462 ที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

ท่านเรียนจบชั้น ป.3 ที่โรงเรียนนาประดู่ ขณะมีอายุ 15 ปี ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน และบรรพชาเมื่ออายุ 19 ปี ที่วัดนาประดู่ โดยมีพระพุทธไสยารักษ์ (นุ่ม) วัดหน้าถ้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่บวชได้ 1 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวนต่อไประยะหนึ่ง

จนกระทั่งอายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2482 เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดนาประดู่ โดยมีพระครูวิบูลย์สมณกิจ (ชุ่ม) วัดตุยง เจ้าคณะเมืองหนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดำ วัดนางโอ และพระครูภัทรกรโกวิท (แดง) วัดนาประดู่ เป็นพระคู่สวด

จำพรรษาอยู่ที่วัดนาประดู่ได้ 12 พรรษา จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทรายขาว จนได้เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบลโคกโพธิ์

ยึดถือมาตลอดในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ยากดีมีจน ท่านจะเป็นผู้ให้มาโดยตลอด ทั้งเรื่องสร้างโรงพยาบาล ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา สร้างถนนหนทาง บริจาคทรัพย์ให้กับสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ ช่วยสร้างอุโบสถวัดต่างๆ

แม้กระทั่งบริจาคเงินให้กับชาวอิสลามที่อยู่แถบวัดทรายขาว ตลอดจนช่วยเหลือสงเคราะห์เรื่องต่างๆ จนได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอิสลามเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องของการบริจาคทรัพย์ซื้ออุปกรณ์การแพทย์นั้น บอกว่า สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้มาก ประโยชน์เกิดขึ้นทันที ด้วยการที่ท่านเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ท่านจึงเห็นคุณประโยชน์ของอุปกรณ์การแพทย์ บางครั้งเวลาอารมณ์ดีจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

พระอาจารย์นองเคยพูดให้ฟังเสมอว่า “คนที่เขาเดือดร้อนมาพึ่งเรา หากไม่เกินวิสัยแล้ว เราช่วยได้ก็จะช่วย บางคนมาไม่มีเงิน ค่ารถ ค่ากิน เราก็ให้ไป เรื่องบุญ เรื่องทาน ใครทำใครก็ได้ไป บุญยิ่งทำก็ยิ่งได้บุญ ทานยิ่งให้ทานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับมามากยิ่งๆ ขึ้น เป็นการสั่งสมบารมี ลดกิเลสลงไป”

ดำรงชีวิตอยู่ในสมณเพศด้วยความเรียบง่าย พัฒนาวัดทรายขาว จนมีความเจริญรุดหน้า

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2542 ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์

สิริอายุ 80 ปี พรรษา 60 •




พระพิมพ์สี่เหลี่ยม วัดส้มเสี้ยว นครสวรค์ หลวงปู่ศุขปรกปลุกเสก

มงคลพระพิมพ์สี่เหลี่ยม วัดส้มเสี้ยว นครสวรค์ หลวงปู่ศุขปรกปลุกเสก

ที่มา - คอลัมน์โฟกัสพระเครื่อง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มีนาคม 2566
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2566


“พระครูวิมลคุณากร” หรือ “หลวงปู่ศุข เกสโร” วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า จนได้รับสมญา “เจ้าสำนักพุทธาคมยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

เป็นพระอาจารย์พุทธาคมรูปแรกของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและใกล้ชิด

ทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยม ด้วยพุทธคุณเป็นเลิศ และยังคงเป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน อาทิ เหรียญรูปเหมือน พระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑล พระปรกใบมะขาม ตะกรุด ประคำ ฯลฯ

อีกวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “พระพิมพ์สี่เหลี่ยม วัดส้มเสี้ยว” เป็นพระเครื่องที่หลวงปู่ศุขสร้างและปลุกเสกให้วัดส้มเสี้ยว สมณาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์บูรณะเสนาสนะวัดส้มเสี้ยว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

ขณะนั้น พระครูนิรุติธรรมธร หรือหลวงพ่อน้อย ธัมมโชโต เป็นเจ้าอาวาสวัดส้มเสี้ยว และมีความสนิทสนมกัน หลวงปู่ศุขจึงสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นมา เพื่อมอบให้หลวงพ่อน้อยนำไปแจกที่วัดส้มเสี้ยว




หลวงพ่อน้อย ธัมมโชโต

ประวัติหลวงพ่อน้อย นามเดิมภาษาจีนว่า “เก็งลี้” เกิดเมื่อปี พ.ศ.2410 ที่บ้านส้มเสี้ยว บิดาชื่อ หย่วนเพียว มารดาชื่อ ปราง

วัยเยาว์ได้เรียนภาษาจีนที่โรงเรียนจีนบ้านสะแก เรียนภาษาไทยกับพระอาจารย์จง เคยเป็นเจ้าพนักงานเก็บภาษีอากรที่มีผู้ผูกขาดจากรัฐบาล

อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ที่วัดบางตาหงาย

เคยจำพรรษาที่วัดบ้านแก่ง วัดโบสถ์ เมืองอุทัยธานี วัดสระเกศ กทม. และวัดระฆังฯ กทม.

ต่อมา กลับมาจำพรรษาที่วัดส้มเสี้ยว โดยเป็นเจ้าคณะหมวด วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2451 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูนิรุติธรรมธร ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงบรรพตพิสัย

มรณภาพเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2480 สิริอายุ 71 ปี และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิง ที่วัดส้มเสี้ยวเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2482

จากคำบอกเล่าของพระครูยุตธรรมศาสน์ (หลวงพ่อมหาแกร ฐาปโน) เจ้าอาวาสรูปถัดจากหลวงพ่อน้อย เล่าเรื่องพระพิมพ์สี่เหลี่ยมหลวงปู่ศุขให้ฟัง ว่า

“เมื่อครั้งนั้นหลวงพ่อน้อย มีดำริจะบูรณะและสร้างเสนาสนะของ วัดส้มเสี้ยว หลวงพ่อน้อยก็ได้ไปมาหาสู่หลวงปู่ศุขอยู่เสมอๆ จึงได้ไปปรึกษาและขอพระพิมพ์สี่เหลี่ยมจากหลวงปู่ศุข เพื่อสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคในครั้งนั้น หลวงปู่ศุขก็กรุณาจัดสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมพิมพ์นี้ขึ้น เพื่อมอบให้แก่หลวงพ่อน้อยไปแจกจ่ายหาทุนต่อไป”

พระพิมพ์สี่เหลี่ยม วัดส้มเสี้ยว เป็นพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่ว ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานสองชั้น ขอบด้านข้างมีกรอบซุ้มเรือนแก้ว

ด้านหลังมีจารตัวพุทธ และมีเส้นล้อมรอบตามแบบรอยจารของหลวงปู่ศุข

ปัจจุบัน หายาก สนนราคสูงพอสมควร กำลังเป็นที่เสาะหาอย่างมาก





หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า

สําหรับหลวงปู่ศุข เกิดในสกุล เกษเวช (ภายหลังใช้เป็น เกษเวชสุริยา) เป็นชาวชัยนาทโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันคือ บ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

บิดา-มารดาชื่อ นายน่วม-นางทองดี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและทำสวน มีพี่น้องรวมกัน 9 คน โดยท่านเป็นพี่ชายคนโต

ในวัยเด็กเป็นคนมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และเชื่อมั่นในตัวเอง จึงมักถูกยกให้เป็นผู้นำของเด็กในย่านตลาดวัดสิงห์

ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในแถบลำคลองบางเขน จ.นนทบุรี จนมีครอบครัวและมีบุตรชายหนึ่งคน ชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

แต่ด้วยจิตตั้งมั่นที่จะบวชทดแทนคุณบิดามารดา พออายุครบ 22 ปี จึงได้ลาไปอุปสมบท ที่วัดโพธิ์บางเขน (ปัจจุบัน คือวัดโพธิ์ทองล่าง) โดยมีหลวงพ่อเชย จันทสิริ เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่เป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ทั้งเป็นผู้ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระและวิทยาคมเข้มขลัง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระอุปัชฌาย์อย่างครบถ้วน

จากนั้น ก็เริ่มออกธุดงค์เพื่อปลีกวิเวกฝึกฝนวิทยาการต่างๆ พร้อมแสวงหาและศึกษาเพิ่มเติมจากพระเกจิผู้ทรงคุณหลายรูปในด้านพระกัมมัฏฐานและวิทยาคม อาทิ พระสังวราเมฆ ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น ที่สำนักวัดพลับ (วัดราชสิทธาราม), หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม ด้านการเล่นแปรธาตุและโลหะเมฆสิทธิ์ โดยพักอยู่กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ซึ่งเป็นสหธรรมิกในฐานะชาวชัยนาทด้วยกัน ฯลฯ

จึงเป็นผู้รอบรู้และแตกฉานทั้งพระไตรปิฎก วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ

เวลาล่วงเลยไป มารดาที่พำนักอยู่ที่บ้านมะขามเฒ่าก็แก่ชราลง จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดอู่ทอง ปากคลองมะขามเฒ่า แล้วขยับขยายออกมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่า จนเสร็จสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2447 โดยมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ เป็นกำลังสำคัญ

ที่ปรากฏเป็นประจักษ์พยาน คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯ บนฝาผนังพระอุโบสถ และภาพเขียนสีน้ำมันรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มองค์และถือไม้เท้า ที่ยังคงรักษาไว้อย่างสมบูรณ์

สมณศักดิ์สุดท้ายป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูวิมลคุณากร ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (ปัจจุบันคือเจ้าคณะอำเภอ) รูปแรกของ อ.วัดสิงห์ ก่อนมรณภาพลงในปลายปี พ.ศ.2466 สิริอายุ 75 ปี พรรษา 50

ทุกวันนี้ผู้เคารพศรัทธายังขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคลอย่างต่อเนื่อง

นาม “หลวงปู่ศุข” ยังทรงพุทธาคมมาจนถึงทุกวันนี้ •
62  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 09 มกราคม 2567 16:23:50

เหรียญรุ่นแซยิด-72 ปี มงคล ‘หลวงปู่หยอด’ วัดแก้วเจริญ อัมพวา

เหรียญรุ่นแซยิด-72 ปี มงคล ‘หลวงปู่หยอด’ วัดแก้วเจริญ อัมพวา

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


“หลวงปู่หยอด ชินวังโส” หรือ “พระครูสุนทรธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นักบุญลุ่มน้ำแม่กลอง

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูง คือ ไหมเบญจรงค์ 5 สี ที่ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจากหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เชื่อว่ามีอานุภาพทางเมตตาและแคล้วคลาดจากภยันตราย

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคลอื่น เช่น พระสมเด็จ พระปิดตา เหรียญกว่า 100 รายการ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญรุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2514 ในโอกาสฉลองอายุครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี จัดสร้างขึ้นด้วยเนื้อโลหะทองแดงและทองแดงกะไหล่ทอง

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ในวงกลมรูปไข่ ด้านบนมีอักขระยันต์เฑาะว์ พร้อมรัศมีแฉกจากขอบบน

ด้านล่างเป็นโบ ภายในมีอักษรภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูสุนทรธรรมกิจ” ด้านขอบล่างเหรียญเป็นมุมขยัก

ด้านหลังพื้นเรียบ มีอักขระอักษรไทย เขียนคำว่า “วัดแก้วเจริญ อายุครบ ๕ รอบ ๒๕๑๔”

เหรียญหลวงปู่หยอด รุ่นแรก นอกจากนี้ ยังมีเหรียญรุ่น 2

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2526 ในโอกาสฉลองอายุครบ 6 รอบ หรือ 72 ปี เนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองนั่งสมาธิเต็มองค์บนพรม ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ

ด้านบนมีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า อะ ระ หัง พุท โธ นะ โม พุท ธา ยะ ด้านล่างมีอักษรภาษาไทย เขียนคำว่า “พระครูสุนทรธรรมกิจ วัดแก้วเจริญ จังหวัดสมุทรสงคราม”

ด้านหลัง พื้นเรียบ มีอักขระยันต์เฑาะว์ ตรงกลางเหรียญ มีอักขระอักษรไทย เขียนคำว่า “งานอายุครบ ๖ รอบ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖”

จัดเป็นเหรียญหายากและเป็นที่นิยมของชาวอัมพวา




หลวงปู่หยอด ชินวังโส มีนามเดิมว่า สุนทร ชุติมาศ ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2454 ที่บริเวณตลาดบางน้อย (ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อโรงโขน) ต.ตาหลวง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ในวัยเยาว์ ศึกษาหาความรู้จากบิดาจนอ่านออกเขียนได้ เมื่อเติบโตได้เป็นกำลังช่วยมารดาค้าขาย แบ่งเบาภาระให้ครอบครัว

เมื่ออายุ 18 ปี ฝากตัวเข้าบรรพชากับพระครูเปลี่ยน สุวัณณโชโต เจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2472

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2474 มีพระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสุทธิสารวุฒาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเปลี่ยน สุวัณณโชโต วัดแก้วเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุดมสุตกิจ (พลบ) วัดปราโมทย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายา ชินวังโส มีหมายความว่า ผู้สืบวงศ์แห่งพระพุทธเจ้า

การศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น วิริยะ อุตสาหะ สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จนได้รับวิทยฐานะความรู้สามัญ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (สมัครสอบ) พ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ดูแลปรนนิบัติพระครูเปลี่ยน ซึ่งอาพาธอย่างใกล้ชิด ด้วยกตัญญูกตเวทิตา จวบจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2484

วันที่ 17 สิงหาคม 2484 พระราชมงคลวุฒาจารย์ เจ้าคณะอำเภออัมพวา จึงแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ และรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่

วัดแก้วเจริญ เป็นวัดโบราณของชาวรามัญ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรกร้างมานาน

มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยา อพยพหลบภัยพม่า เมื่อเสียกรุง พ.ศ.2310 มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้วเห็นว่ามีทำเลเหมาะสม จึงช่วยกันแผ้วถางป่าลึก เข้าไปประมาณ 3 เส้น พบวัดร้าง มีซากอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแลงปางต่างๆ มากมาย และพระพุทธรูปสร้างด้วยแก้ว มีใบเสมารอบอุโบสถ พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดไม่มีผ้าพาด

บริเวณวัดยังมีเจดีย์รามัญ 2 องค์ ชำรุดหักพังอยู่ ชาวบ้านเห็นว่าคงไม่เหมาะกับการสร้างที่อยู่อาศัย เพราะมีวัดร้างอยู่ จึงไปแผ้วถางสถานที่แห่งใหม่ ห่างจากวัดประมาณ 5 เส้น ตั้งเป็นหมู่บ้านท่าใหญ่ตามชื่อเดิมของผู้อพยพ

กระทั่งปี พ.ศ.2340 พระอธิการต่าย ปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพดีขึ้น โดยพระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้วเป็นปูชนียวัตถุสำคัญ ประชาชนจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดแก้ว

ต่อมาพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย และเห็นว่าควรจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จึงฝังไว้ที่ใต้ฐานชุกชีของพระประธาน แต่ปัจจุบันอยู่ภายนอกฐานชุกชีแล้ว

ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2375 ชื่อว่า “วัดแก้วเจริญ” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2529

พ.ศ.2487 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่-วัดประดู่

หลังจากได้รับตำแหน่ง พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทั้งการจัดการให้วัดเป็นสถานพยาบาลรักษาผู้ที่เดือดร้อนต่างๆ

แต่ที่โด่งดังมาก คือ การต่อกระดูก ประสานกระดูก เรียกว่าสมัยก่อนใครแขนหักขาหักมารักษาที่วัดแก้วเจริญกันแทบทั้งสิ้น

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2491 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสุนทรธรรมกิจ

พ.ศ.2499 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

ผลงานด้านการศึกษา เป็นเจ้าสำนักเรียนธรรมชั้นตรี-โท-เอก และเป็นกรรมการสงฆ์องค์การเผยแผ่ อำเภออัมพวา

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาและอุปสมบท ปกครองสงฆ์สำนักวัดแก้วเจริญ ในการอบรมสั่งสอนสามเณรและภิกษุในเรื่องจริยาวัตร กิจวัตรและศาสนพิธี จัดเทศนาอบรม สั่งสอนคฤหัสถ์ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ผลงานด้านสาธารณูปการ เป็นผู้นำบรรพชิตและคฤหัสถ์ ดำเนินการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ บำรุงรักษาวัดและศาสนสมบัติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ สืบทอดตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสในอดีต

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2541

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 •





มงคลพระกริ่ง 3 พิมพ์ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา เทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566


ในยุคสงครามอินโดจีน มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอยู่ 4 รูป ที่มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธามากมาย วัตถุมงคลเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะโดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เล่าลือกันปากต่อปากเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

พระเกจิอาจารย์นามพยางค์เดียว นิยมเรียกผูกติดกัน “จาด-จง-คง-อี๋”

ประกอบด้วย หลวงพ่อจาด คังคสโร วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และหลวงพ่ออี๋ พุทธสโร วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี

“หลวงพ่อจาด คังคสโร” หรือ “พระครูสิทธิสารคุณ” พระเกจิเรืองวิทยาคมแห่งวัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

วัตถุมงคลล้วนเป็นที่นิยมสะสม นอกจากเหรียญรุ่นแรก ที่ได้รับความนิยมแล้ว ยังมีพระกริ่งหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ออกที่วัดบางหอย อ.เมือง จ.นครนายก

พระกริ่งรุ่นนี้ ประกอบพิธีเททองที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยพระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร) หรือ “ท่านเจ้าคุณศรี” (สนธิ์) เป็นเจ้าพิธี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่วัดบางหอย จ.นครนายก เมื่อ พ.ศ.2485

มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 9 รูป นั่งปรกอธิษฐานจิต คือ 1.หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 2.หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม จ.ฉะเชิงเทรา 3.หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี 4.หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 5.หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง จ.นนทบุรี 6.หลวงพ่อเชิด วัดลาดบัวขาว อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 7.หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 8.หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม

ที่ขาดไม่ได้คือ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา

กล่าวสำหรับพระกริ่งรุ่นนี้มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก ทุกพิมพ์จะมีตัว “อุ” เป็นภาษาขอม หล่อติดอยู่ด้านหลังตรงฐานองค์พระทุกองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการระบุไว้

หลังเสร็จพิธีแล้ว หลวงพ่อจาดยังได้นำกลับไปปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้งที่วัดบางกระเบา ก่อนนำออกให้ทำบุญบูชา

ได้รับการยกย่องให้เป็นพระกริ่งยอดนิยม จ.ปราจีนบุรี





หลวงพ่อจาด คังคสโร มีนามเดิมว่า จาด วงษ์กำพุช เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2415 ตรงกับวันอังคาร เดือนสี่ ปีวอก แรม 6 ค่ำ ที่บ้านดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ช่วงวัยเยาว์ บิดายกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายถิน และนางหลิน สีซัง คหบดีชาวบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เมื่ออายุครบ 20 ปี บิดาบุญธรรมนำท่านไปฝากกับพระอาจารย์ที่วัดบ้านสร้าง เพื่อเรียนการขานนาค และการปรนนิบัติพระอาจารย์

เมื่อฝึกอบรมได้เป็นเวลาพอสมควร ในวันที่ 13 เมษายน 2436 พิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี โดยมีพระครูปราจีนบุรี แห่งวัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อ้วน วัดบ้านสร้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์หลี วัดบางคาง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เดินทางไปโปรดโยมบิดาที่วัดเกาะแก้วเวฬุวัน ต.ดงน้อย อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แล้วได้จำพรรษาที่วัดนี้

ขณะที่จำพรรษาที่วัดเวฬุวัน ได้มีโอกาสศึกษาวิชาจากพระอาจารย์จัน (บางตำราว่าชื่อ พระอาจารย์จีน) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น และยังเป็นผู้สอนภาคปฏิบัติ จึงได้ฝึกกรรมฐานจนแก่กล้า

ครั้นพรรษาที่สอง จึงได้ติดตามพระอาจารย์อ้วน ไปศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์อยู่ วัดไกรสีห์ บางกะปิ กทม. และเมื่อพรรษาที่ 4 จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดบางกระเบา

หลังจากนั้นออกธุดงค์อยู่ในป่าเป็นเวลาหลายปี ได้พบสหธรรมิกมากมาย อาทิ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม เป็นต้น

ศึกษาวิชาหลายแขนง เช่น คาถาการปล่อยคุณไสย เมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพัน

เมื่ออายุประมาณ 40 ปี จึงได้เดินทางกลับไปจำพรรษา ณ วัดบางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

เป็นพระที่เชี่ยวชาญวิทยาคม โดยเฉพาะในด้านวิชามหาอุดอยู่ยงคงกระพัน แต่จะไม่แสดงตนอวดวิชา แต่จะใช้วิชาดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

ยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา วัตถุมงคลของหลวงพ่อจาด จัดสร้างกันหลายครั้ง แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่และสร้างกันเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2483 ซึ่งพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิทยาคมทั่วประเทศ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลแจกเหล่าทหารหาญ

ได้รับอาราธนาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ร่วมประกอบปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หลวงพ่อจาด สร้างเป็นเหรียญนั่งเต็มองค์ ด้านหลังเป็นพระมหาอุตม์ นั่งอยู่กลางดอกบัว มีทั้งเนื้อเงินลงยาและทองแดง

เกียรติคุณแห่งเหรียญหลวงพ่อจาดได้มาประจักษ์ขึ้น เมื่อเครื่องบินฝรั่งเศสมาทิ้งระเบิด แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดปาฏิหาริย์เลื่องลือไปทั่ว จนได้รับสมญานามว่าเทพเจ้าแห่งภาคตะวันออก

หลวงพ่อจาด ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั่วไป และเป็นที่เคารพนับถือของพระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ)

ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2447 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระครูฐานานุกรม

พ.ศ.2457 เป็นเจ้าคณะแขวง อ.บ้านสร้าง

พ.ศ.2461 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูสิทธิสารคุณ

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2499 สิริอายุรวม 85 ปี
63  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / นายทองคำ “มนุษย์ประหลาดชาติไทย” ผจญภัยต่างแดน ร.6 ทรงสงสาร ชวนกลับก็ไม่ยอม เมื่อ: 09 มกราคม 2567 15:39:02


นายทองคำ “มนุษย์ประหลาดชาติไทย” ผจญภัยต่างแดน
ร.6 ทรงสงสาร ชวนกลับก็ไม่ยอม

นายทองคำ (นั่ง) ถ่ายกับนาย ต.เง๊กชวน (ยืน) เมื่อกลับจากอเมริกาไม่นาน ในพ.ศ. 2468 ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจากคุณไพบูลย์ ธันวารชร
ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2527
ผู้เขียน - เอนก นาวิกมูล
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ.2567


เขาควรเป็นมนุษย์ประหลาดชาติไทยจริง ๆ นายทองคำ … เพราะเขาเป็นคนไทยเมื่อเกือบร้อยปี เป็นเด็กบ้านนอกธรรมดา ๆ แต่รักการผจญภัยยิ่งนัก ได้หนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อออกไปใช้ชีวิตเผชิญโชคถึงยุโรป อเมริกาด้วยตัวคนเดียว

ด้วยความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว หาคนไทยคนไหนในยุคนั้นมาทัดเทียมได้ และจนถึงปัจจุบันก็เถอะ (พ.ศ.2527)

นายทองคำ เป็นชาวเพชรบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2425 …

อายุ 16 ปี หนีออกจากบ้านไปสมัครเป็นกลาสีเรือเดินสมุทรทั้ง ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศใดๆ ไม่ได้สักคำเดียว โชคดีกลาสีคนหนึ่งลาออกกะทันหัน กัปตันนอร์เวย์เลยรับเข้าทำงาน ต้องตักน้ำล้างเรือวันหนึ่งเป็นพันถัง

ข้ามไปอังกฤษ ไปเป็นลูกจ้างญี่ปุ่นนักกายกรรม เลยฝึกกายกรรมเป็นความรู้ด้วย และด้วยวิชานี้ เขาได้อาศัยเป็นเครื่องยังชีพอยู่นาน

อายุประมาณ 18 ปี ข้ามไปอเมริกาไปอยู่กับลูกชายหมอบรัดเลย์ ได้เข้าเฝ้า ร.6 ขณะเป็นมกุฎราชกุมาร

ร.6 ทรงสงสาร ชวนให้กลับเมืองไทยก็ขอไม่กลับ จะผจญภัยต่อ ร.6 ทรงประทานเงินก้นถุงให้ด้วยความเมตตา และทรงประทานพระบรมฉายาลักษณ์ให้อีกด้วย ภายหลังแผ่นดินไหวแรง (ในซานฟรานซิสโก พ.ศ.2449) พระบรมฉายาลักษณ์ที่เขาหวงแหนนั้นต้องพลอยจมหายไปในแผ่นดินด้วย

นายทองคำเป็นกรรมกร เป็นลูกจ้างแล้วไปเป็นนักกายกรรม สามารถเล่นกายกรรมจนมีชื่อเสียงในนาม “ตอมคูมา” คราวนี้เป็นยุครุ่งเรือง เนื้อหอมมาก

ชีวิตของเขาในต่างประเทศ 25 ปีเต็มไปด้วยความตื่นเต้น สนุกสนาน และพร้อมกันนั้น ก็ฉาบด้วยความรัก ความเศร้าราวกับนิยาย บางตอนในชีวิตของเขาเศร้าจนเราต้องถอนหายใจพลอยซึมโศกไปกับเขาด้วย

แต่ยามสนุกสิ ลีลาชีวิตของเขาทำให้เราได้หัวเราะอย่างเต็มที่ทดแทนความโศกได้พอกัน


นายทองคำกลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2468 ปลายสมัย ร.6 ขณะนั้นเขาพูดภาษาไทยแทบไม่รู้เรื่องเลย เมื่อกลับมาแล้ว เขาได้เข้าร่วมกับคณะละครไทยตระเวนไปตามที่ต่างๆ โดยทำหน้าที่เล่าเรื่องการผจญภัยต่างๆ ของเขาให้คนฟัง

“ทิดเขียว” นักพากย์หนังคนแรกของไทย ได้ให้สัมภาษณ์ชีวิตของนายทองคำมาเขียนลงพิมพ์ในหนังสือข่าวภาพยนตร์ และได้พิมพ์บทสัมภาษณ์แยกออกไปเป็นเล่มต่างหากโดยมีนาย ต. เง๊กชวน เจ้าของห้างแผ่นเสียงเป็นผู้จัดพิมพ์ ราคาขายเล่มละ 20 สตางค์

เข้าใจว่าจะชื่อ “สนทนากับนายทองคำ” หรือไม่ก็ “มนุษย์ปลาดชาติไทย”

ชีวิตของนายทองคำที่ลงในข่าวภาพยนตร์ เราได้พบแล้ว และนำมาตีพิมพ์ใหม่แล้ว (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2526)

แต่หนังสือเล่มเล็กที่นาย ต. เง๊กชวน พิมพ์ เรายังหาไม่พบเลยแม้แต่เล่มเดียว (พ.ศ.2527)

หนังสือเล่มนี้ผู้ใหญ่ที่เกิดทันสมัยร.6 ยืนยันว่ามีจริง และตัวเองเคยอ่าน



โฆษณาหนังสือ “มนุษย์ปลาดชาติไทย” ในข่าวภาพยนตร์
ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2468 สังเกตคำว่า พิมพ์ครั้งที่ 2


ทางสงขลาก็เคยอ่าน ทางเพชรบุรีก็เคยอ่าน ทางฉะเชิงเทราหรือกรุงเทพฯ ก็ยืนยันพ้องกันว่าเคยอ่าน (เนื้อความเห็นกล่าวว่ามีต่างไปจากที่ลงในข่าวภาพยนตร์บ้าง) แต่เชื่อไหมว่า เราไม่สามารถหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้แม้แต่เล่มเดียว

คุณพันคำ ลูกชายของ “ทิดเขียว” บอกว่า เคยมี แต่เนื่องจากบ้านถูกไฟไหม้ ทุกอย่างจึงไม่เหลือหรอ!

ร้าน ต. เง๊กชวน บางลำภู เคยพิมพ์ เคยจำหน่าย เคยมีจริง แต่ไม่รู้หายไปไหนหมด!! เหลือแต่รูปถ่ายนาย ต.เง๊กชวน ถ่ายคู่กับนายทองคำดังที่นำมาลงให้ดูนี้ โดยความเอื้อเฟื้อของคุณไพบูลย์ ธันวารชร ผู้เป็นเหลนของนาย ต.

ลูกหลานของนายทองคำ ได้ไปสืบหา และพบตัวแล้ว เคยอ่าน แต่…ไม่มีเหมือนกัน!!

เมืองเพชรบุรี หรือชาติไทย ควรภูมิใจกับนักเผชิญโชคชาวไทยคนนี้ ควรยกย่องสรรเสริญ และยกเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นปัจจุบันได้รู้จัก เพราะเขาเป็นสุภาพบุรุษ เป็น “นกนางนวล” ผู้แสวงหา เป็นผู้มีน้ำใจพร้อมมูล

รู้จักตัวเขาเถิด เราจะนับถือเขา และอยากให้ชาติของเรามีคนอย่างนี้บ้าง เพราะเราไม่เคยมีคนอย่างโคลัมบัส, อย่างกัปตัน คุก อย่างอังรี มูโอ ฯลฯ เลย

เรามีแต่คนผู้นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่ก็เป็นจำพวก “เกาะขาเก้าอี้” ไม่ยอมไปไหนมากเกินไป

นอนแบ็บอยู่กับบ้านท่าเดียว บ้านเมืองอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้วไม่รู้
64  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / กิน "กล้วยต้ม" ได้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง เมื่อ: 05 มกราคม 2567 16:30:24


กิน "กล้วยต้ม" ได้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง

"กล้วย" เป็นผลไม้ที่คนส่วนใหญ่ชอบรับประทาน ไม่ว่าจะปอกเปลือกแล้วทานสด หรือหั่นกล้วยแล้วใส่ลงในซีเรียล โยเกิร์ต สมูทตี้ ฯลฯ โดยขึ้นอยู่กับความชอบ อย่างไรก็ตามการต้มกล้วย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการทานกล้วย ถ้าไม่เคยทานกล้วยต้มมาก่อนมันอาจฟังดูแปลก ซึ่งคุณคงตั้งคำถามว่าทานกล้วยต้มมีประโยชน์ดีกว่ากล้วยดิบหรือเปล่า ซึ่งเราจะมาบอกว่าทำไมคนถึงกินกล้วยต้ม การกินกล้วยต้มนั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่ และมีข้อแตกต่างอะไรบ้างในด้านประโยชน์ต่อสุขภาพระหว่างกล้วยต้มกับกล้วยดิบ

เพราะอะไรคนจึงกินกล้วยต้ม
     การกินกล้วยต้มเป็นเรื่องปกติในหลายพื้นที่ของโลก โดยกล้วยต้มเป็นอาหารหลักในหลายประเทศแอฟริกา สำหรับประเทศไทยก็มีการนำกล้วยมาต้มและรับประทานเช่นกัน การนำกล้วยมาต้มนั้นนิยมใช้กล้วยดิบมาต้ม แต่กล้วยที่สุกเป็นสีเหลืองแล้วก็สามารถนำไปต้มทานได้เช่นกัน

กล้วยต้ม มีคุณค่าทางอาหารอย่างไร
     กล้วยขนาดกลางเฉลี่ยแล้วมีประมาณแคลอรี่ประมาณ 105 กิโลแคลอรี่ โดย 90 % มาจากคาร์โบไฮเดรต และประมาณ 75 % เป็นน้ำหนักจากน้ำ อย่างไรก็ตามสารอาหารที่แท้จริงของกล้วยจะขึ้นอยู่กับความสุกและขนาดของกล้วย โดยข้อมูลโภชนาการบอกว่า สำหรับกล้วยขนาดกลางมีสารอาหารเฉลี่ยดังนี้

     - แคลอรี่: 105
     - ไขมัน: 0.3 กรัม
     - คาร์โบไฮเดรต: 27 กรัม
     - ไฟเบอร์: 3.1 กรัม
     - น้ำตาล: 14.2 กรัม
     - โปรตีน: 1.1 กรัม
     - วิตามิน B6: 0.36 มิลลิกรัม
     - วิตามิน C: 8.7 มิลลิกรัม
     - โพแทสเซียม: 422 มิลลิกรัม
     - แมกนีเซียม: 32 มิลลิกรัม
     - แมงกานีส: 0.32 มิลลิกรัม

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้วยต้ม
     - การต้มกล้วยอาจส่งผลต่อปริมาณสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินซีอาจลดลงเล็กน้อย
     - กล้วยต้มจะมีปริมาณน้ำตาลเข้มข้นกว่ากล้วยดิบ
     -  โดยรวม กล้วยเป็นแหล่งที่ดีของโพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามิน B6 และไฟเบอร์

ความแตกต่างด้านโภชนาการระหว่างกล้วยต้มกับกล้วยดิบ
แม้ว่าโดยรวมแล้วปริมาณแคลอรี่ วิตามิน และแร่ธาตุของกล้วยเขียว และกล้วยสุกจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กล้วยต้มยังมีข้อแตกต่างด้านโภชนาการบางประการ
     - กล้วยต้มมีแป้งและไฟเบอร์มากกว่า: การต้มกล้วยเขียวจะเปลี่ยนแป้งบางส่วนให้เป็นชนิดย่อยง่าย ทำให้กล้วยต้มมีไฟเบอร์มากกว่า ช่วยให้อิ่มท้องนานขึ้น และส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร
     - กล้วยสุกมีน้ำตาลมากกว่า: เมื่อกล้วยสุก น้ำตาลก็จะเพิ่มขึ้น กล้วยสุกจึงมีรสชาติหวานกว่า กล้วยต้มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า แต่ก็ยังเป็นแหล่งที่ดีของพลังงาน
     - โภชนาการและประโยชน์ขึ้นอยู่กับวิธีปรุง: ทั้งกล้วยต้ม และกล้วยดิบสามารถนำไปปรุงต่อได้ หากนำกล้วยต้มไปทอด ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณไขมันและแคลอรี่ การปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล หรือเครื่องปรุงอื่น ๆ ก็มีผลต่อปริมาณโซเดียม น้ำตาล และโภชนาการรวม

ประโยชน์ของการกินกล้วยต้ม
     ประโยชน์ของการกินกล้วยต้มจะขึ้นอยู่กับว่าคุณกินกล้วยเขียวต้มหรือกล้วยสุกต้ม

ประโยชน์ของการกินกล้วยดิบต้ม
     - ไฟเบอร์สูง: กล้วยเขียวต้มมีปริมาณไฟเบอร์มากกว่ากล้วยสุก โดยเฉพาะเพคตินชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นไฟเบอร์ละลายน้ำ ช่วยให้อิ่มท้องนาน ปรับระบบขับถ่าย ป้องกันมะเร็งลำไส้ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
     - แป้งทนทาน: กล้วยเขียวต้มมีแป้งทนทาน ซึ่งเป็นแป้งที่ย่อยยาก ร่างกายดูดซึมน้อย ทำให้อิ่มนาน ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูง เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
     - บำรุงลำไส้: เพคตินในกล้วยเขียวต้มเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรีย ส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร

ประโยชน์ของการกินกล้วยสุกต้ม
     - พลังงานจากน้ำตาล: กล้วยสุกต้มมีน้ำตาลมากกว่ากล้วยเขียวต้ม เหมาะเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยเพิ่มความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
     - วิตามินและแร่ธาตุ: กล้วยสุกเป็นแหล่งที่ดีของโพแทสเซียม วิตามินบี6 แมกนีเซียม และแมงกานีส


https://www.sanook.com/women/246553/
65  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / บวชเป็นพระสงฆ์แล้วท่องเที่ยวได้ไหม เมื่อ: 05 มกราคม 2567 15:41:50


บวชเป็นพระสงฆ์แล้วท่องเที่ยวได้ไหม

บวชเป็นพระแล้วท่องเที่ยวได้ไหม  แค่คนธรรมดาในเครื่องแบบเที่ยวไม่ได้เลยหรือ คำถามคาใจหลายคน หลังกรณีพระสงฆ์ตะลุยเที่ยวฉ่ำเดินทางท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานพร้อมอัพลงโซเชี่ยลจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายเกิดข้อสงสัยว่า จริง ๆ แล้ว บวชพระแล้ว เดินทางไม่ได้เลยหรือ  เป็นพระสงฆ์แล้ว ญาติโยมจะพาท่องเที่ยวได้ไหม หรือเป็นพระแล้วต้องอยูแต่ในวัดหรือเปล่า คำตอบนั้นว่าด้วยข้อจำกัดซึ่งกำหนดในธรรมวินัย Sanook Traval ประมวลความว่าให้ได้เข้าใจกัน

พระสงฆ์ท่องเที่ยวเหมือนคนทั่วไปได้ไหม
การบวชเป็นพุทธศาสนิกชนคือการสละทางโลกเพื่อมุ่งสู่ทางธรรม ผู้ที่บวชเป็นพระจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งรวมถึงการเว้นจากการทำกิจที่เป็นการบันเทิงหรือความเพลิดเพลิน เช่น การเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยว การดูหนัง การฟังเพลง เป็นต้น

หากพระสงฆ์ไปท่องเที่ยวเหมือนคนทั่วไป ก็อาจทำให้ขาดจากความตั้งใจในการบวชได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะทำให้ชาวพุทธเข้าใจผิดว่าพระสงฆ์ยังยึดติดกับโลกียะ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งยกให้พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญในพระพุทธศาสนา ผู้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์เดินทางไปไหนได้บ้าง
พระธรรมวินัยกำหนดเรื่องการเดินทางของพระสงฆ์ไว้ว่า พระสงฆ์สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของพระธรรมวินัย หมายถึง พระสงฆ์ต้องเดินทางไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง เช่น การไปปฏิบัติธรรม การไปจาริกแสวงบุญ การไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา และไม่ควรเดินทางไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การไปท่องเที่ยว การไปหาความสนุกสนาน

พระสงฆ์ไม่ควรเดินทางไปในฤดูฝน อันเป็นช่วงเข้าพรรษา เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น ไปพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย ไประงับไม่ให้ภิกษุสึก ไปเพื่อธุระของสงฆ์ หรือมีกิจนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศล เป็นต้น

กรณีที่พระสงฆ์ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ กำหนดไว้ว่าต้องบวชแล้วไม่ต่ำกว่า 5 พรรษาพ้นเว้นแต่กรณีที่ไปราชการหรือกิจของคณะสงฆ์ มีความรู้พระธรรมวินัยพอรักษาตัวได้ และเป็นปกตัตตะและมีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม

หากพระสงฆ์จำเป็นต้องเดินทาง
เมื่อพระสงฆ์เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ควรเดินทางอย่างสงบ เรียบร้อย ไม่ประพฤติตนอึกทึก ครึกครื้น และควรพักในสถานที่อันสมควรแก่สมณวิสัย เช่น วัด อาราม เป็นต้น ไม่ควรพักในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น บ้านเรือนของบุคคลทั่วไป

สำหรับกรณีของพระสงฆ์ที่ไปศึกษาหรือปฏิบัติธรรมในต่างประเทศนั้น มหาเถรสมาคมได้กำหนดระเบียบปฏิบัติไว้ว่า พระสงฆ์ไม่ควรเดินทางไปต่างประเทศโดยพลการ พระสงฆ์ที่ไปศึกษาหรือปฏิบัติธรรมในต่างประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะผู้ปกครอง ให้ทราบถึงสถานที่ที่จะไป ระยะเวลาที่จะไป และวัตถุประสงค์ในการไป ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและวัฒนธรรมของประเทศที่ไป ต้องรักษาชื่อเสียงของพระพุทธศาสนา

ญาติโยมพาพระสงฆ์ไปเที่ยว บาปไหม
พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ เช่น การไปปฏิบัติธรรม การไปจาริกแสวงบุญ หรือไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ญาติโยมผู้สนับสนุนพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในการเดินทางเพื่อทางธรรมนับว่าได้บุญมาก

ส่วนญาติโยมที่นำพาพระสงฆ์ไปยังสถานที่ที่ขัดต่อธรรมวินัย ก็ได้ชื่อว่าวางตนเป็นอุปสรรค ขัดขวางการเจริญธรรมของพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พระสงฆ์เดินทางได้ แต่ท่องเที่ยวเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ไม่เพียงขัดต่อธรรมวินัยของพระสงฆ์ ยังกระทบต่อสังคมส่วนรวมทั้งหลักความเชื่อของชาวพุทธ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย 


https://www.sanook.com/
66  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ตำเนื้อแห้ง เมื่อ: 01 มกราคม 2567 17:38:18



ตําชิ้นแห้ง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ต๋ำจิ๊นแห้ง” หมายถึง ตำเนื้อแห้ง

ตำเนื้อแห้ง

ที่มา -   คอลัมน์   ล้านนาคำเมือง มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567
เผยแพร่ - วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2566



“จิ๊น” เป็นชื่อเรียกล้านนาสำหรับเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น จิ๊นงัว จิ๊นควาย จิ๊นหมู คือ เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมู

จิ๊นดิบ คือ เนื้อสดใช้ทำอาหารสดและทำเป็นอาหารเมนูพื้นบ้านทางภาคเหนือที่มีผู้นิยมกินเนื้อสด เช่น ลาบ หลู้ ส้า

ส่วนเนื้อสดที่จะนำเอามาทำเป็นเนื้อแห้ง ได้แก่ เนื้อวัว เฉพาะผู้ที่กินเนื้อวัวได้ แต่ส่วนใหญ่คนล้านนาจะไม่นิยมบริโภคเนื้อวัว และไม่นำมาทำเป็นอาหารด้วย เพราะมักถือเป็นอาหารแสลง คนเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคประจำตัวจะไม่กินเนื้อวัว


เนื้อแห้งแบบพื้นบ้านล้านนาสมัยเก่านิยมใช้เนื้อควาย และเนื้อหมู โดยนำเนื้อควายหรือเนื้อหมูมาล้างน้ำ หั่นเป็นเส้นหรือแผ่นบาง ปรุงรสด้วยเกลือเม็ด กระเทียม ขมิ้นที่ตำละเอียด คลุกกับเนื้อให้เข้ากัน แล้วนำไปตากแดดพอแห้งเป็นเนื้อแดดเดียว

อีกวิธีหนึ่งคือ นำเนื้อไปย่างไฟอ่อนๆ จนเนื้อแห้งดี รอเนื้อเย็นห่อด้วยใบตองแห้งมัดด้วยตอกให้แน่นเก็บไว้ เนื้อที่ห่อจะเก็บได้นานถึง 7 วัน

ใช้ทำเป็นอาหาร เช่น ต้มยำเนื้อแห้ง อบเนื้อแห้ง แกงแคเนื้อแห้ง และตำเนื้อแห้ง



ตำชิ้นฯแห้งฯขอฯงกินฯบ่าเกั้าฅ฿นฯเถั้ากินฯลำค้ยฯวได้ลืนฯง่ายฯ
อ่านว่า ต๋ำจิ๊นแห้งของกิ๋นบ่าเก่า คนเถ้ากิ๋นลำ เกี๊ยวได้ ลืนง่าย
แปลว่า ตำเนื้อแห้งอาหารโบราณ คนแก่กินอร่อย เคี้ยวได้ กลืนง่าย


เมนูแนะนำ ตำเนื้อแห้ง จะใช้เนื้อแห้งหรือหมูแห้งก็ได้

เครื่องปรุงน้ำพริก นำพริกแห้งเม็ดใหญ่-เม็ดเล็ก 5 เม็ด กระเทียม 7 กลีบ หอมแดง 7 หัว กะปิ 1 ช้อนชา ไปปิ้ง ข่าซอย 5 แว่น เกลือ 1 ช้อนชา ตำเครื่องปรุงให้ละเอียด หอมแดงซอย 1 ถ้วย ต้นหอม ผักชี หั่นเตรียมไว้

วิธีทำ นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟให้เดือด ใส่ตะไคร้ทุบ 1 หัว และเนื้อแห้ง ต้มจนเนื้อนุ่ม ตักเนื้อออกจากหม้อ แล้วนำเนื้อแห้งต้มไปตำ จะได้เนื้อตำนุ่มฟู

นำหอมแดงมาเจียวจนเหลืองกรอบตักใส่ถ้วยพักไว้ เอาเครื่องปรุงลงผัดกับเนื้อตำในน้ำมันที่เหลือจากการเจียวหอมแดง ใส่น้ำต้มเนื้อลงไปให้มีน้ำขลุกขลิกคนให้เข้ากัน ชิมรส จะมีความเผ็ดของพริก หอมกลิ่นข่า เค็มมันครบรส ตักใส่ถ้วยโรยด้วยต้นหอมผักชีซอย หอมแดงเจียว

กินแกล้มกับผักไผ่ (ผักแพว) ผักชีฝรั่ง มะเขือเปราะ ก็อร่อยเข้ากันดี •
67  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / WHO ออกมาเตือน “ห้ามเหยียบแมลงสาบ” เมื่อ: 29 ธันวาคม 2566 16:44:50


WHO ออกมาเตือน “ห้ามเหยียบแมลงสาบ”

องค์การอนามัยโลก(WHO) และ นพ. วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)  ออกมาเตือนเหยียบแมลงสาบเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจาก

- แมลงสาบมีเชื่อแบคทีเลียที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ หลายโรค เช่น โรคท้องร่วง กาฬโรค ฝี ฯลฯ
- แมลงสาบมีหนอนพยาธิ ที่สามารถออกผ่านมูลของแมลงสาปได้เมื่อเราเหยียบ
- แมลงสาบมีเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคเกี่ยวกับผิวหนัง
- แมลงสาบมีเชื่อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบ
- แมลงสาบมีเชื้อโปรโตซัว เป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการในครรภ์ และ โรคบิด

การบดเหยียบแมลงสาบทำให้เชื่อที่มีอยู่ในแมลงสาบกระจายออกไปหรือเข้าสู่ร่างกายได้ โดยวิธีป้องกันคือ ใช้กับดักแมลงใช้ยาฆ่าแมลง


chiangmainews.
68  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ / Re: พระเครื่อง เมื่อ: 25 ธันวาคม 2566 11:36:27


เหรียญรุ่นแรก-รุ่น 2 หลวงพ่อแง วัดบางไผ่เตี้ย ต.บางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มกราคม 2566
คอลัมน์ - โฟกัสพระเครื่อง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2566


“หลวงพ่อแง ปาสาทิโก” อดีตเจ้าอาวาสวัดเจริญสุขาราม (วัดบางไผ่เตี้ย) บ้านบางไผ่เตี้ย ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคมที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยม แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือ “เหรียญรุ่นแรก”

ขึ้นในปี พ.ศ.2490 เพื่อหารายได้สร้างพระอุโบสถ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

เหรียญหลวงพ่อแง รุ่นแรก
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้ามีจุดไข่ปลาล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระทศพลญาณ พระประธานศักดิ์สิทธิ์ของวัด ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย รอบองค์พระเขียนว่า “ที่ระลึกการสร้างพระอุโบสถของพระอธิการแง ปาสาทิโก วัดเจริญสุขาราม”

ด้านหลังไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์

เหรียญหลวงพ่อแง รุ่น 2
นอกจากเหรียญรุ่นแรกอันโด่งดัง ยังมีเหรียญรุ่น 2 ด้วย

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2495 เพื่อแจกเป็นที่ระลึกที่สามารถสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้าเหรียญ มีรูปจำลองพระทศพลญาณ พระประธานศักดิ์สิทธิ์ของวัดเจริญสุขาราม ประทับบนฐานชุกชีสวยงาม รอบองค์พระด้านบนมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ที่ระลึกสร้างโบสถ์วัดเจริญสุขาราม” ใต้รูปองค์พระ มีอักขระภาษาไทย เขียนว่า “พระทศพลญาณ”

ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแงครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระยันต์มอญอ่านได้ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ด้านบนของรูปมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระอธิการแง(โกศล)”

ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทำให้หมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันหายาก





หลวงพ่อแง ปาสาทิโก

มีนามเดิมว่า แง รองทอง พื้นเพเป็นคนบางไผ่เตี้ย ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2442

พ.ศ.2477 อายุ 35 ปี เกิดความเบื่อหน่ายจึงได้ตัดสินใจอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดโพธิ์ (วัดโพธิ์ราษศรัทธาธรรม) อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2477

มีพระครูปุริมานุรักษ์ (หลวงพ่อคล้าย) วัดศิลามูล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เขียว เป็นพระกรรมาวาจาจารย์ และพระอาจารย์ยุทธ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปาสาทิโก

ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อคล้าย วัดศิลามูล แล้วจึงเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดดอนโฆสิตาราม ต.หนองบัว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และมีโอกาสสนิทสนมกับพระครูนาควุฒาจารย์ (หลวงปู่ตั้ง วัดใหม่เจริญราษฎร์), หลวงปู่แขก วัดบางปลา, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และหลวงปู่โน้ต วัดศิริมงคล

สําหรับวัดเจริญสุขาราม หรือวัดบางไผ่เตี้ย ก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2448 วัดตั้งอยู่บริเวณริมคลองหมาหอน ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยตระกูลปั้นอุดม และตระกูลมิลาวรรณ บริจาคที่ดินสร้างสำนักสงฆ์ ทั้งหมด 5 ไร่ ซึ่งในพื้นที่นี้มีไผ่ขนาดเล็กขึ้นเต็มพื้นที่

มีพระมหาเล่า เป็นเจ้าอาวาสปกครองรูปแรก ต่อมาเมื่อมรณภาพลง พระอาจารย์เปลี่ยน จึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสและปกครองสำนักสงฆ์ ตลอดมาจนถึงมรณภาพ

จากนั้น พระอาจารย์อ่อน จึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดต่อมา และในยุคนี้เอง ชาวบ้านเริ่มมีความศรัทธา เริ่มเข้าวัดมากขึ้น จึงได้ยกฐานะจากสำนักสงฆ์ ขึ้นเป็นวัดบางไผ่เตี้ย จวบจนสิ้นบุญของอาจารย์อ่อน

พระอาจารย์โอด ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และปกครองดูแลวัดจนมรณภาพลง ชาวบ้านบางไผ่เตี้ยมีความศรัทธามากขึ้นจึงได้จัดพิธีปลงศพให้อย่างสมเกียรติ และในช่วงงานพิธีปลงศพนั้น หลวงพ่อแง เดินทางมาร่วมพิธีด้วย

หลังจากพิธีปลงศพอาจารย์โอดเสร็จสิ้น อุบาสกอุบาสิกาตลอดจนผู้มีศรัทธากับวัดบางไผ่เตี้ย เห็นศีลาจารวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแง จึงพร้อมใจกันอาราธนาให้ช่วยรับหน้าที่ปกครองวัดบางไผ่เตี้ยไปก่อน

แม้ว่าจะปฏิเสธ ด้วยติดขัดเพราะสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย แต่ชาวบ้านก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค ถึงเวลาลงทำสังฆกรรมก็ต่างคนต่างทำสังฆกรรมในสังกัดของตนไป ก็อยู่ร่วมกันได้ไม่มีปัญหาอันใด จึงไม่มีเหตุให้ปฏิเสธได้ จึงรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดสืบต่อมา

หลังจากรับตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ รวมถึงการสร้างอุโบสถไม้สักแทนหลังเก่าที่ผุพัง

นอกจากนี้ ยังเทศนาสั่งสอนและกล่อมเกลาจิตใจของชาวบ้านให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมด้วย

ปกครองวัดเรื่อยมา จนกระทั่งมรณภาพลงเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2511 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวัดลอยกระทงในปีนั้นพอดี

สิริอายุ 69 ปี พรรษา 34 •
69  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เรื่องเล่าถึงวันวาน ‘ตะรุเตา’ สู่วันนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย เมื่อ: 22 ธันวาคม 2566 14:04:59


เรื่องเล่าถึงวันวาน ‘ตะรุเตา’ สู่วันนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย

ที่มา - คอลัมน์ รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2566
เผยแพร่ - วันพฤหัสที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2566


“ตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทยมาตั้งแต่ปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่เกาะกลางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย 52 เกาะ รวม 152 ตารางกิโลเมตร ห่างแผ่นดินแม่คือ จ.สตูล 43.8 กิโลเมตร และห่าง “เกาะลังกาวี” มาเลเซีย 4.8 กิโลเมตร กับห่าง “เกาะอาดัง-ราวี” 40 กิโลเมตร กับอีก 2 กิโลเมตรสุดท้ายคือ “ลิเป๊ะ” หรือ “หลีเป๊ะ” ที่รู้จักกันดี

ที่นี่มีธรรมชาติทางทะเลสวยงามน่าสนใจ และมีประวัติศาสตร์วันวานชวนติดตาม จนคนทั่วไปคิดวางแผนต้องเดินทางไปให้ถึงอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง แม้ปีหนึ่งทะเลแถบนี้จะปลอดมรสุม 7 เดือน มีคลื่นลมทะเลตีรวนนาน 5 เดือนก็ตามที…นั่นดูจะมิใช่ปัญหานักเดินทางท่องเที่ยว ที่ต้องการไปสู่ถิ่นซึ่งเคยลี้ลับมาก่อนอย่างช่องแคบมะละการะหว่างตะรุเตา-ลังกาวี

“ตะรุเตา” เป็นภาษามลายูเพี้ยนจาก “เตอลุกตาวาร์” บ้างก็ว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า “อ่าวน้ำจืด” ด้วยมีแหล่งน้ำจืดและมีพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ อาทิ ยาง ตะเคียน หลุมพอ ยูง สยา

ล่อเป้าให้เหล่ามอดไม้รุกรานก่อนกฎหมายจะต้วมเตี้ยมเข้าไปควบคุม

วันวานปี 2480 ขุนพิธานทัณฑทัยได้นำทีมสำรวจอ่าวตะโละอุดังฝั่งใต้กับตะโละวาวฝั่งตะวันออกเกาะตะรุเตา เพื่อใช้เป็นคุกธรรมชาติตาม พ.ร.บ.กักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายปี 2479 ปี 2481 จึงยกพื้นที่ป่ากันดารเคียงทะเลสงบขึ้นดังตั้งใจให้เป็นทัณฑสถานนิคมฝึกอาชีพนักโทษเด็ดขาด อีกทั้งนักโทษผู้มีสันดานเป็นโจรร้ายบนแผ่นดิน

ปี 2482 รัฐบาลคราวนั้นยังได้ส่งนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช 2476 กับกบฏนายสิบ 2478 ผสมโรงอีกจำนวน 70 นาย มาสมทบยังอ่าวตะโละอุดัง ทำให้มีนักโทษทั้งสิ้น 4,000 คน

และหนึ่งในนั้นมีนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นอัสสัมชัญกับพระยาอนุมานราชธนรวมอยู่ด้วย

พระยาศราภัยฯ ได้เขียนเล่าชีวิตอันแสนทารุณหฤโหด

ครั้งนั้นต้องเสี่ยงหนีข้ามทะเลลี้ภัยด้วยเรือตังเกสู่เกาะลังกาวีด้วยความยากลำบากกว่าจะสำเร็จ แล้วจึงเขียนประจานภายหลังถึงความชั่วร้ายขณะนั้นในชื่อ “ฝันร้ายของข้าพเจ้า”

โดยบางตอนระทึกไม่แพ้นักโทษ “ปาปิญอง” ซึ่งเขียนโดยเฮนรี่ ชาร์รีแอร์ ที่พยายามแหกคุกนิคมทัณฑสถานเฟรนซ์เกียนา ฝรั่งเศส และถูกจับกุมถึง 9 ครั้งจนสุดท้ายถึงสามารถฝ่าดงฉลามได้ฉลุย

ตอนหนึ่งของฝันร้ายพระยาศราภัยฯ… “ครั้นถึงเขตแดนหลักหินเราค่อยโล่งใจหน่อย แต่ก็ยังไม่ไว้ใจอยู่ดี เพราะค่ำคืนเช่นนั้นผู้ติดตามจับอาจมุ่งเอาตัวให้ได้ และไม่เคารพต่อสัญญาระหว่างประเทศ ล่วงล้ำเข้ามาจับเราก็ได้ พอพายมาสักครู่หนึ่ง เราเห็นเกาะลังกาวีตะคุ่มๆ หายใจสะดวกยิ่งขึ้นทุกที เลือดฉีดแรงกว่าปกติ ยิ่งเห็นหาดทรายชัด คนพายไม่ทันใจ อยากโดดน้ำว่ายไปหลายครั้งแต่กลัวฉลาม เราช่วยกันจ้ำด้วยพายอะไหล่ที่มีติดเรือมาแรงยิ่งขึ้น”

“เรือจึงเกยหาดทรายเวลา ๒ น. ของวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นวันเกิดของข้าพเจ้ายิ่งกว่าวันเกิดที่แท้จริงเสียอีก เราทั้ง ๕ คนเป็นอิสรภาพโดยปล่อยตัวเองเอาชีวิตเข้าแลก ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจบุญบารมีของผู้ใดทั้งหมด”





อดีตปี 2482 คราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะรุเตาเป็นนรกขุมหมกไหม้ที่สุด เหล่าผู้คุมและนักโทษต่างประสบปัญหาอาหารไม่มียาไส้ ไร้ยารักษาไข้ป่าโดยเท่าเทียมกัน ชีวิตต้องสังเวยไปกว่า 700 ศพ ส่วนชีวิตที่รอดต้องผันตัวเองเป็นโจรสลัดปล้นเรือสินค้าผ่านไปมาด้วยภาวะจำยอม

อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมาเลเซียขณะนั้น จึงส่งทหาร 300 นายจัดการกับหัวหน้าโจรคือขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์กับเพื่อนร่วมแก๊งแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยขีดวงให้นักโทษนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือห้ามลุกไปไหน ถึงสตูลแล้วยังสั่งให้เดินเปลือยเท้าเข้าไปประตูเรือนจำ

ระหว่างสงคราม…พระยาศราภัยฯ ซึ่งลี้ภัยได้ทำหน้าที่โฆษกวิทยุออสเตรเลีย ภาษาไทย สนับสนุนขบวนการเสรีไทย ปี 2488 ได้รับนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองไทยทั้งหมด ถึงได้กลับเมืองไทยและสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนจบชีวิตด้วยโรคหัวใจขณะวัย 79 ปีเมื่อปี 2511




ชุมชนเก่าบนเกะตะรุเตา


นับจากวันไฟสงครามดับลงหลังจากนั้นถัดมาอีก 2 ปี กรมราชทัณฑ์ถึงยุตินิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ทิ้งวันวานเหลือเพียงโซ่ตรวนกับกระทะทำอาหารเลี้ยงนักโทษมีสนิมจับเขรอะไม่น้อย สนิมหนาเตอะจับขั้วประวัติศาสตร์ชั่วร้ายครั้งกระนั้น ที่บ่งบอก…ตะรุเตาคือแดนนรกบนหาดทรายแสนสวยและป่าไม้แสนงามขณะนั้น

ครั้นสงครามสิ้นสุดลง…เท่ากับเปิดโอกาสให้เหล่ามอดไม้นายทุนเริ่มหวนกลับมาคืนชีพบนเกาะตะรุเตาอีกครั้งหนึ่ง การโค่นล้มชักลากทางทะเลสู่โรงเลื่อยบนฝั่งเพื่อแปรรูปโดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลเป็นไปอย่างเสรี เนื่องด้วยมาตรการทางกฎหมายเวลานั้นยังไล่ตามแทบไม่ทัน

ขณะเดียวกันปัญหาใหม่จากราษฎรชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ไหลเข้าจับจองที่ดินทำกินโดยถางป่าทำนาและไร่ชา โดยปราศจากเอกสารสิทธิ์นับได้ 800 ครัวเรือน

นานจนถึงปี 2515 ที่ทรัพยากรจะย่อยยับไปมากกว่านี้ กรมป่าไม้ถึงได้ตื่นขึ้นมาป้องกันและปลุกปั้นตะรุเตากับอาดัง-ราวี และเกาะบริวารอีก 51 เกาะ เป็นอุทยานฯ ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ




การอพยพราษฎรออกจากเกาะตะรุเตา

ด้วยเหตุผลมีธรรมชาติป่าเขาหาดทรายสวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมบนบกและสัตว์น้ำสารพัดสารพันอยู่ในท้องทะเล จึงได้จัดส่งนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ไปสำรวจความเป็นไปได้

จากนั้นอีก 1 ปี…ถึงส่งนายบุญเรือง สายศร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคนแรกเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ปี 2503-2506 ไปดำเนินการเตรียมประกาศ

โดยรู้ทั้งรู้ว่า…การปฏิบัติงานครั้งนี้ย่อมเสี่ยงเผชิญกับปัญหารุนแรงอาจถึงขั้นแลกกันด้วยชีวิต ระหว่างกลุ่มนายทุนมอดไม้กับชาวบ้านดื้อแพ่ง 800 ครัวเรือนที่โมเมไม่ยอมสละพื้นที่เกาะทำกินเสียที

ที่สุดความขัดแย้งได้กลายเป็นปรปักษ์ระหว่างฝ่ายหนึ่งถือคัมภีร์กฎหมาย ขณะอีกฝ่ายถือการดื้อรั้นและอิทธิพลที่เบ่งบารมี จนคืนหนึ่ง…มีกลุ่มชายฉกรรจ์อาศัยเรือเร็วเป็นพาหนะแล่นมายังอ่าวพันเตมะละกา แล้วจากนั้นบุกขึ้นไปซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จนเกิดการปะทะกัน ครู่ใหญ่กลุ่มชายนิรนามจึงล่าถอยกลับไปลงเรือ โดยฝ่ายป่าไม้คิดว่านี่คือการจงใจข่มขู่เสียมากกว่า

มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานเพียงคนเดียวถูกกระสุนเจาะเข้าที่โคนขา ต้องรีบนำลงเรือโทงติดเครื่องของอุทยานฯ เพื่อส่งโรงพยาบาล จ.สตูล โดยใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง

ทว่า…เหยื่อเกิดสูญเสียเลือดมากกับเวลาที่เนิ่นนาน ทำให้เขาต้องสิ้นลมลงอย่างน่าอนาถที่สุด

ผิดกับฝันร้าย พระยาศราภัยฯ ที่การหลบหนีกลางแสงจันทร์คืนเดือนหงายสู่ลังกาวี ซึ่งมีแต่ภัยรายรอบทั้งสายตาผู้คุม ฝูงจระเข้กับฉลามพร้อมบูลลี่เกลื่อนทะเล – แต่รอดราวปาฏิหาริย์?




เกาะตะรุเตากลางช่องแคบมะละกา

วันวานต่อมา…หลังตะรุเตาเป็นอุทยานฯ ปี 2517 จนขจัดมอดไม้และอพยพชาวบ้านได้สำเร็จ จำนวนทัวร์ซอฟต์แอดเวนเจอร์วินเทจ คือย้อนความจำแสวงหาประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คืนหนึ่งขณะคน 20 ชีวิตกำลังสรวลเสเฮฮาตอยู่ในชายคาร้านอาหารสวัสดิการ มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งข่าวร้ายให้ทราบเกิดมี “วาฬ” ตัวหนึ่งพลัดหลงมาเกยตื้นหาดตะโละวาว

ทุกคนฟังแล้วรีบบึ่งด้วยรถเก่าๆ ของอุทยานฯ ไปยังหาดที่ห่าง 12 กิโลเมตรทันที พบวาฬผิวดำมะเมื่อมลำตัวยาวราว 10 เมตรกำลังนอนเกยชายหาดไม่ไหวติง พลางทำตาปริบๆ สันนิษฐานว่ามันคงตกใจกลัวการลอบทำประมงในเขตอุทยานฯ ซึ่งมีบ่อยครั้งจากลงอวนตาถี่หรือใช้ปืนฉมวกและระเบิดบึ้มปลาแบบมักง่าย วาฬถึงตื่นว่ายหนีอย่างเร็วจนเกิดอาการเสียศูนย์เกยหาด

อีกอย่างวาฬเป็นสัตว์มีครีบหางเหมือนเงือกในวรรณคดี ที่ตีน้ำขึ้นลงให้เคลื่อนไหว ส่วนปลาใช้ครีบหางแกว่งซ้ายขวาไปมาขยับสรีระ บวกน้ำหนักตัวมหึมา วาฬจึงยากที่มนุษย์จะช่วยยกหรือผลักดันให้ขยับเขยื้อนลงทะเลได้

ทางเดียวที่พอทำได้คือหาภาชนะช่วยกันวาดน้ำจากทะเลขึ้นมาใช้เลี้ยงลำตัวเอาไว้ไม่ให้แห้ง กับอาศัยวิทยุสื่อสารแจ้งหน่วยงานบนฝั่งให้จัดหาเรือพร้อมปั้นจั่นมาช่วย…นับจากนั้นเวลาที่ผ่านแต่ละนาทีล้วนมีค่าเทียบได้กับลมหายใจเข้าออก ทุกคนยินดีทำจิตอาสารดน้ำเลี้ยงวาฬตลอดคืนให้มีชีวิต…จนฟ้าเริ่มสางแววตานั้นยังขยับคล้ายบอกสัญญาณชีพแบบเหนื่อยล้า แล้วค่อยๆ หรี่ดับก่อนจะนิ่งสนิท ก่อนที่เรือกู้ชีพจะมาถึงเพียงไม่กี่นาที อนิจจา…ช่างน่าเวทนาที่สุด!

นี่คือดราม่าฉากรันทดที่เกิดกับ “ตะรุเตา” อันเป็นบทเล่าขานยาวนานจากวันวานถึงวันนี้










70  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / รู้จักตำนาน "ตะวันอ้อมข้าว" 22 ธันวาฯ วันเหมายัน กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี เมื่อ: 22 ธันวาคม 2566 13:07:20



ภาพประกอบ จาก IPST Thailand

รู้จักตำนาน "ตะวันอ้อมข้าว"
22 ธันวาฯ วันเหมายัน กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

จากเพจเฟซบุ๊ก IPST Thailand สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ออกมาเผย 22 ธันวาคม 2566 วันเหมายัน กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

โดยอธิบายว่า วันเหมายัน คือ อะไร

วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) หรือ Winter Solstice คือ วันที่แกนโลกทางซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือรวมถึงประเทศไทย มีกลางวันสั้นและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี

ตะวันอ้อมข้าว คืออะไร ทำไมถึงเรียกว่า ตะวันอ้อมข้าว

เหตุผลที่เรียกว่า ตะวันอ้อมข้าว เพราะว่าในวันเหมายัน ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะไม่เคลื่อนที่ผ่านเหนือศีรษะของผู้สังเกต ดังนั้น ชาวนาไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่อ้อมต้นข้าวไปทางทิศใต้ ทำให้นิยมเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “ตะวันอ้อมข้าว”

ด้วยความที่มีกลางวันที่สั้นและกลางคืนยาวนาน ทำให้มีอุณหภูมิสะสมลดต่ำลง หลายประเทศทางซีกโลกเหนือจึงถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูหนาว ขณะที่ประเทศทางซีกโลกใต้ถือเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูร้อน

โดยทาง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้

สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และเวลากลางวันที่สั้นที่สุด

ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ วันเหมายันยังนับเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

ในระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนมีนาคม

วันครีษมายัน (Summer Solstice) วันที่กลางวันยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนมิถุนายน

วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนกันยายน

วันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนธันวาคม


ข่าวสดออนไลน์
71  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “ก๋วยเตี๋ยว 8 สูตร” ยุคจอมพล ป. เมื่อ: 19 ธันวาคม 2566 13:54:35


(ภาพโดย Huahom จาก Pixabay)

ทีเด็ด “ก๋วยเตี๋ยว 8 สูตร” ยุคจอมพล ป. ต่างจากปัจจุบันอย่างไร มี “ก๋วยเตี๋ยวไบกาน้า-ผัดกะทิ”?


ผู้เขียน - ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2566


ก๋วยเตี๋ยว” เป็นเมนูอาหารยอดฮิตที่คนไทยคุ้นชินลิ้นและกินกันเป็นประจำ ด้วยส่วนประกอบที่สามารถเลือกสรรเองได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเส้น ทั้งเส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นบะหมี่ ฯลฯ หรือน้ำซุปที่ปรุงได้อย่างต้องการ เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล จึงทำให้ก๋วยเตี๋ยวกลายเป็นอาหารที่มีสูตรเฉพาะมากมาย และได้ชื่อว่าเป็นเมนูแห่ง “ประชาธิปไตย”

ย้อนไปในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บุกเบิกก๋วยเตี๋ยวให้มีชื่อเสียงในหมู่คนไทย ก็ได้รังสรรค์สูตรอาหารประเภทเส้นนี้ไว้ถึง 8 สูตร ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับปัจจุบัน แต่ก็มีบางชื่อหรือบางสูตรที่แทบไม่เคยเห็นในใบเมนูตามร้านทั่วไปอย่าง “ก๋วยเตี๋ยวไบกาน้า” (ใบคะน้า) และ “ก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ”

เริ่มต้นด้วย สูตรก๋วยเตี๋ยวแห้ง สูตรนี้กล่าวไว้ว่า เครื่องปรุงนั้นต้องประกอบไปด้วย เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหรือเส้นใหญ่ ถั่วงอก น้ำมันหมู กะเทียมเจียว เนื้อหมู ตับหมู กุ้งแห้งตัวเล็ก หรือกุ้งฝอย ถั่วลิสงป่น เต้าหู้เหลือง น้ำปลา น้ำตาล ตั้งฉ่าย น้ำส้มหรือมะนาว ผักชี ต้นหอม พริกแห้งป่น พริกดอง

วิธีปรุงก็ไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก คือต้มเนื้อหมูและตับหมูให้สุก หั่นให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมบาง ๆ ส่วนเต้าหู้เหลืองหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วลิสงคั่วบุบพอแตก จากนั้นต้มน้ำให้เดือด เอาเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ใส่ในตะกร้อลวดตาข่ายลวกประมาณ 10 วินาที แล้วนำไปสลัดน้ำ ใส่ถ้วย ผสมกับกระเทียมเจียวกลิ่นหอมคลุ้งชวนหิว คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงด้วยน้ำปลา น้ำตาล กุ้งแห้ง ตั้งฉ่าย พริกป่น ถั่วลิสง เนื้อสัตว์ น้ำส้มหรือมะนาว พริกดอง ต้นหอมหั่น โรยด้วยผักชี หากใครต้องการเพิ่มรสชาติใดเป็นพิเศษก็เพียงแค่ปรุงตามใจชอบ

สูตรที่ 2 ก๋วยเตี๋ยวน้ำ สูตรนี้ไม่แตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวแห้งมากนัก มีส่วนประกอบที่เหมือนกัน แต่วิธีการปรุงนั้นจะแตกต่างเล็กน้อย โดยต้องเอากระดูกหมูและกระดูกไก่ใส่ลงไปในหม้อต้ม ปรุงรสด้วยเกลือจำนวนหนึ่ง เพื่อรสชาติที่เข้มข้น แต่ถ้าจะให้รสชาติอร่อยเหมือนแสงออกปากต้องใส่ “กุ้งแห้งและปลาหมึก” เพิ่ม นำเนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในหม้อต้มด้วยกัน ก่อนจะลวกเส้นตามแบบฉบับสูตรแรก

เมื่อเตรียมวัตถุดิบทุกอย่างเรียบร้อยก็เอาทุกอย่างลงถ้วย ใส่ผักโรยหน้าหลากชนิดลงไป เช่น ต้นหอม ผักชี จนถึงตั้งฉ่ายหรือผักกาดเค็มลงไปพอสมควร เพื่อรสชาติกลมกล่อม ตรงนี้แตกต่างจากปัจจุบันนัก เพราะหลายร้านน่าจะไม่ใส่แล้ว มีเพียงร้านโบราณเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติอยู่ หลังจากนั้นก็จัดเสิร์ฟให้คนที่กำลังนั่งรอจนท้องหิว

ผ่านไป 2 สูตร ก็ถึงตา “สายเนื้อ” ที่ห้ามพลาดกับ “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว” สไตล์ยุคจอมพล ป. เครื่องปรุงก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่มีเส้นเล็กหรือใหญ่ตามชอบ ถั่วงอก ใบผักกาด ต้นหอม น้ำเต้าหู้ยี้ น้ำปลา พริกดอง น้ำส้ม

เริ่มต้นให้เอากระดูกวัวและเครื่องในวัวลงไปต้มในหม้อ คล้ายคลึงกับก๋วยเตี๋ยวน้ำที่ใส่หมู ส่วนเส้นก็นำไปลวกในน้ำซุปร้อน ๆ หอมกรุ่นประมาณ 15 วินาที สูตรนี้จะไม่ใส่ตั้งฉ่ายหรือผักกาดเค็ม แต่จะมีทีเด็ด ใส่เพียงผักกาดหอมไว้ที่ก้นชาม นำวัตถุดิบจากแป้งที่มีรสสัมผัสเหนียวนุ่ม สุกเต็มที่วางไว้ในชาม เติมเครื่องโรยหน้ามากมาย และทำน้ำจิ้มเคียงจากพริกดองและน้ำส้ม รสชาติเปรี้ยวชูให้วัวเนื้อนุ่มหวานเด้ง เข้ากันจนแทบขึ้นสวรรค์!

ตามมาติด ๆ ด้วย “ก๋วยเตี๋ยวไก่” และ “ก๋วยเตี๋ยวปูทะเล” สูตรนี้ก็ง๊ายง่าย ทำเหมือนกับก๋วยเตี๋ยวน้ำเด๊ะ ๆ เพียงแค่เปลี่ยนเนื้อสัตว์เป็นไก่หรือปูทะเล

ต่อมาคือ “ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก” มองจากเครื่องปรุงที่ถูกบันทึกไว้แล้วนั้นคลับคล้ายคลับคลากับ “ผัดไทย” ที่เรารู้จักกัน เพราะประกอบไปด้วยก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ถั่วงอก ไข่เป็ด หัวผักกาดเค็ม ถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตาล ใบกุ้ยช่าย พริกป่น มะนาว น้ำมันหมู กระเทียมเจียว ผักหัวปลี ผักใบบัวบก หรืออาจจะใส่ผักอื่น ๆ ที่ชื่นชอบแล้วแต่ใจปรารถนา

วิธีปรุงก็เอาเส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ส่วน ตามด้วยถั่วงอก 2 ส่วน พรมน้ำนิดหน่อยให้เส้นและถั่วงอกนิ่มขึ้นในกระทะร้อนจัด ผัดทุกอย่างให้เข้ากันดี จากนั้นแหวกเส้นก๋วยเตี๋ยวให้มีช่องตรงกลาง ต่อยไข่ลงไป 1 ฟอง ผัดรวมกันก่อนที่จะนำวัตถุดิบอื่น ๆ ใส่ตามลงมา แล้วเสิร์ฟคู่กับพริกป่น มะนาวซีกเล็ก หัวปลี และใบบัวบก เป็นอันรับประทานได้

แต่ทีเด็ดที่ไม่อยากให้หลายคนพลาดคือ 2 เมนูท้ายที่น่าจะไม่ค่อยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามเท่าไหร่นัก จานแรกคือ “ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้ง” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวผัดไบกาน้า” มีลักษณะคล้ายกับราดหน้าที่เราเข้าใจกัน หากอิงตามเครื่องปรุงและวิธีการทำ

เครื่องปรุงประกอบไปด้วย ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ น้ำมันหมู กระเทียม น้ำปลา แป้งมัน ไบกาน้า พริกดอง น้ำส้ม โดยนำเอาเนื้อสัตว์นานาชนิดใส่ไว้ในกระทะที่มีน้ำมันเดือด โยนกระเทียมลงไปพร้อมกัน ผัดให้สุกมีสีสันน่ากิน ใส่เส้นพร้อมกับแป้งมันละลายน้ำลงไปนิดหน่อย จากนั้นทุบและหั่นไบกาน้าลงไปผัดให้เข้ากัน ก็เสร็จเรียบร้อย

ส่วนอีกจานหนึ่งซึ่งเป็นจานสุดท้าย เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่เคยชม ชิม และคิดไม่ถึงกับการนำเส้นไปผัดกับน้ำกะทิ จนเกิดเมนูชื่อว่า “ก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ” เพียงแค่มีก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ถั่วงอก เต้าหู้เหลืองถั่วลิงสงป่น กุ้งแห้งป่น ตั้งฉ่าย หรือผักกาดเค็ม ใบกุ้ยช่าย น้ำปลา น้ำตาล มะนาว น้ำกะทิ หัวปลีก็สามารถทำได้

นำเอาทั้งหมดนี้มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เริ่มจากเส้น ถั่วงอก ผัดกับน้ำกะทิที่เคี่ยวไว้แล้ว ตามด้วยเต้าหู้เหลืองหั่นเล็ก ๆ ถั่วลิสงป่น กุ้งแห้ง หัวผักกาดเค็มหรือตั้งฉ่าย น้ำปลา น้ำตาล ใบกุ้ยช่าย ผัดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะตักใส่จานแนมกับหัวปลี และเสริมรสด้วยมะนาวข้างจานเป็นอันเสร็จสรรพ
72  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “ชาด” เครื่องสำอางที่ทำให้สาวจีนโบราณแก้มแดงระเรื่อ มาจาก สารขับถ่ายของแมลง”? เมื่อ: 16 ธันวาคม 2566 13:10:13

"Beauty Playing Go", a painting by an unknown Chinese artist of the Tang Dynasty period; the painting shows a woman playing Go.

“ชาด” เครื่องสำอางที่ทำให้สาวจีนโบราณแก้มแดงระเรื่อ สุขภาพดี มาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?

ผู้เขียน - ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2566


“ชาด” เป็น เครื่องประทินโฉม ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน บ้างก็ว่าเกิดขึ้นในสมัยโจ้วหวังหรือราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล บ้างก็ว่าเกิดอย่างน้อยก็น่าจะไม่เกินสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ (ราชวงศ์ฉิน) หรือราชวงศ์ฮั่น แม้ไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วชาดถูกใช้เพื่อแต่งแต้มแก้มให้แดงระเรื่อตั้งแต่เมื่อใด แต่ใน ประเทศจีน อันยิ่งใหญ่กลับมีสูตรนานาชนิดที่รังสรรค์ “ชาด” ให้ออกมาสวยพร้อมเสิร์ฟเป็นจำนวนมาก และไม่ได้มีเพียง “ชาด” ที่ทำมาจากแร่หรือดอกไม้เท่านั้น ทว่าถึงขั้นทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง”?

ชาด จัดเป็น เครื่องประทินโฉม หรือเครื่องสำอาง มีสีแดงเป็นเอกลักษณ์ มักใช้ทาบริเวณแก้ม ปาก เพื่อให้ผิวเปล่งปลั่งฝาดแดงระเรื่อ สุขภาพดี เหมือนคนดื่มน้ำครบ 8 แก้วต่อวัน

อุปกรณ์เพิ่มความงามนี้มีหลากชนิด เริ่มต้นจากสมัยโบราณ ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะราชวงศ์โจว มักใช้แร่หรือจูซาเพื่อเสริมเติมแต่งความงาม โดยเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีสีม่วงแดง ทำให้เป็นผง ก่อนจะผสมกับน้ำดอกหงฮวา

ก่อนที่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นจะเกิดชาดจากดอกไม้ ซึ่งก็คือ “ชาดดอกหงหลาน” โดยชนเผ่าซุงหนูได้นำมาเผยแพร่ในจีนเนื่องจากศึกสงคราม จนหญิงจีนมากหน้าหลายตาได้รับวัฒนธรรมความงามนี้มา และเริ่มแต่งแต้มใบหน้าด้วยสีแดงจากชาดดอกไม้

“ชาดดอกหงหลาน” นี้ทำมาจากดอกหงหลาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เหลียงฮั่นและซีอวี้ (เอเชียกลาง) มีรสเผ็ด ลักษณะอุ่น ไม่มีพิษ จึงเหมาะกับการทำชาด

วิธีการทำชาดด้วยดอกหงหลาน ใน “ฉีหมินเย่าซู่ เล่มที่ 5” โดยเจี่ยซือเสีย สมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย ระบุไว้ว่า ต้องฆ่าดอกไม้ (หรือคือตำดอกไม้ให้ละเอียดนั่นแหละ) เสียก่อน ถึงจะเริ่มทำชาดได้ ในการฆ่าดอกไม้มีดังนี้

“นำดอกหงหลานมาตำให้ละเอียด ล้างด้วยน้ำ แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำสีเหลืองทิ้ง ตำอีก ล้างด้วยน้ำซาวข้าวฟ่างผสมกับน้ำส้มสายชูหมัก แล้วใส่ถุงผ้าคั้นน้ำ ได้น้ำสีแดง กากอย่าทิ้ง นำไปใส่ในอ่างกระเบื้อง ปิดผ้า พอรุ่งเช้านำมาตำให้ละเอียด วางบนเสื่อนำไปตากแดดพอหมาด แล้วปั้นเป็นแผ่น ในการปั้นต้องไม่แห้งเกินไป ให้ชื้นเล็กน้อย”

เมื่อฆ่าดอกไม้หรือตำดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาทำชาด ซึ่งระบุไว้ต่อมาว่า

“นำต้นลั่วหลี ต้นหลีเตี้ยว และต้นเฮามาเผาให้เป็นขี้เถ้า ถ้าไม่มีใช้ขี้เถ้าหญ้าก็ได้ แช่น้ำแล้วรินเอาแต่น้ำใส น้ำแรกที่ได้เข้มข้นเกินไป ใช้ฆ่าดอกไม้ไม่ได้ เอามาซักผ้าเท่านั้น ใช้น้ำที่แช่ครั้งที่ 3 นำมาขยำกับดอกไม้ ทำให้สีสวย ขยำ 10 รอบ ออกแรงเต็มที่ ใส่ถุงผ้าคั้นเอาน้ำ ใส่ชามกระเบื้อง นำทับทิมเปรี้ยวสองสามผล เขี่ยเมล็ดออก ตำละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าวฟ่างเล็กน้อย

คั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำคั้นดอกไม้ ถ้าไม่มีทับทิม ใช้น้ำส้มสายชูหมักกับน้ำซาวข้าวแทน ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู ใช้น้ำซาวข้าวที่เปรี้ยวจัดก็ได้ เติมแป้งข้าวเท่าพุทราจีน ถ้าแป้งเยอะจะทำให้ได้สีออกขาว ใช้ไม้ไผ่สะอาดคนเป็นเวลานาน ปิดฝาตั้งไว้ข้ามคืน แล้วรินน้ำใสทิ้งให้หมด ใส่ถุงผ้าแขวนทิ้งไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็แห้งหมาด ๆ ปั้นเป็นแท่งเล็กขนาดครึ่งหนึ่งของเชือกป่านผึ่งลมให้แห้งก็ใช้ได้”

ไม่เพียงแค่ดอกหงหลานเท่านั้น ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำชาด เพราะยังมี “ดอกซานเยียนจือ” ที่ทำให้เกิด ชาดซานฮวา, ชาดฮวาลู่ “ดอกกุหลาบ” ที่ทำให้เกิด ชาดกุหลาบ รวมไปถึง “ดอกซานหลิว” หรือ “ดอกตู้เจวียน” ที่มาของชาดดอกซานหลิว เป็นต้น

การใช้ชาดแต่งหน้าปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์จีนเรื่อยมา จนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงก็เกิด “ชาดหูเยียนจือ” ที่ทำมาจาก “สารขับถ่ายของแมลง” อย่าง “จื่อเหมา” ซึ่งปรากฏในตำราแพทย์ “ว่ายไถมี่เย่า” โดยหวังทาว ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเพียงกรรมวิธีภายในตระกูลไว้ว่า

“จื่อเหมา 1 ชั่ง บดละเอียด ไป๋ผี (เปลือกของต้นเว่ยเหมา-แยกต่างหาก) 8 สลึง บดละเอียด หูถงเล่ย (ยางไม้ต้นหยางหลิ่ว) ครึ่งตำลึง น้ำตาลกรวดเปอร์เซีย 2 ช้อน

เตรียมวัตถุดิบทั้งสี่ นำน้ำ 8 เซิงใส่ในภาชนะโลหะ ต้มด้วยไฟแรงจนเดือดพล่าน เติมจื่อเหมา ต้มจนเดือด เติมไป๋ผี คนให้ทั่ว จากนั้นเติมหูถงเล่ยและน้ำตาลกรวด ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหม่า ต้มจนเดือด รอให้จื่อเหมาตกตะกอนก็ใช้ได้ นำมากรองด้วยผ้าบาง ใช้ก้อนสำลีหรือผ้าจุ่มลงไปขนาดใหญ่เล็กตามใจชอบ พอจุ่มเสร็จใช้ไม้ไผ่ประกบเหมือนเนื้อเค็ม นำมาย่างบนเตาถ่าน ย่างจนแห้งแล้วจุ่มใหม่ ทำเช่นนี้หกเจ็ดครั้งก็ใช้ได้ ถ้าทำ 10 ครั้งขึ้นไปยิ่งดี สีจะเข้มสวยงาม” 

แม้ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะไม่นิยมนำชาดจากแหล่งธรรมชาติมาเสริมเติมแต่งใบหน้าแล้ว เนื่องจากเครื่องสำอางสมัยใหม่มีพัฒนาการไปมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีต “ชาด” เป็นเครื่องสำอางที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ขาดไม่ได้

73  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก / พระอินทโมลี (ช้าง) วัดบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท เมื่อ: 11 ธันวาคม 2566 12:25:29


พระอินทโมลี (ช้าง)
วัดบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท (พ.ศ.๒๓๘๕-๒๔๖๕)

พระอินทโมลีศรีบรมธาตุวรวิหาร สุวิจารรณ์สังฆปาโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ท่านมีนามเดิมว่าช้าง เกิดที่บ้านคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมื่อเดิน แปด พ.ศ.๒๓๘๒ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดาชื่อโชติ มารชื่อบัว ท่านเป็นบุตรคนโต มีสุขภาพร่างการแข็งแรงสมบูรณ์ บิดาจึงตั้งชื่อว่าช้าง เป็นคนอัธยาศัยดี มีเมตตากรุณามาแต่เด็ก การศึกษา เมื่อท่านอายุ ๙ ขวบ ย้ายไปอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเมือง บิดาได้นำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนกับพระครูเมธังกร (จู) วัดพระบรมธาตุ ด้วยท่านมีสติปัญญาดีเฉลียวฉลาดจึงเป็นที่ยกย่องและโปรดปรานของพระครูเมธังกร พออายุได้ ๑๓ ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรและเริ่มศึกษาภาบาลี เช่น คัมภีร์มูลกัจจายน์ธรรมบท และมงคลทีปนี จนแตกฉานสามารถแปลข้อความจากภาษาบาลีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการคงวัดบางกะพี้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า อินทสโร หลังจากได้ศึกษาด้านคันถธุระ จนสามารถค้นคว้าหลักธรรมะได้อย่างดีแล้วจึงมุ่งทางด้านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยได้รับการถ่ายทอดหลักปฏิบัติจากพระครูอินทชาติวรญาณ พร้อมทั้งเชี่ยวชาญด้านอิทธิปาฏิหาริย์ เช่น เสกของหลักให้เบาเหมือนนุ่น ร่นระยะทางให้สั้นได้

หน้าที่การงานและสมณศักดิ์ : พ.ศ.๒๔๑๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมในพระครูเมธังกร นามว่าพระใบฎีกาช้าง กาลต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ฯ สืบต่อจากเจ้าอาวาสองค์ก่อน ส่วนจะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันเดือนปีอะไรไม่มีหลักฐานแน่นนอน จึงมิอาจทราบได้นอกจากคะเนตามอายุการปกครองวัด คงจะในราวระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๔๓ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่าพระครูอินทโมลี พร้อมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมืองชัยนาท พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอินทโมลีบรมธาตุวิหารสุวิจารณ์สังฆปาโมกข์

ความดีที่ควรยกย่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ท่านได้พัฒนาวัดโดยการบูรณะก่อสร้างกุฎิ วิหาร และสนับสนุนการศึกษาเป็นอย่างดี การปฏิบัติธรรมของท่านได้รับยกย่องว่าเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ถือสันโดษ ยึดมั่นในระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ของประเพณีจนเป็นที่เกรงขามกันโดยทั่วไป อย่างเช่นตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ เจ้าเมืองชัยนาทขี่ม้าออกตรวจการเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรในเขตท้องที่และได้ขี่ม้าเข้าไปในวัดโดยไม่ถอดหมวก พระอินทโมลีได้ใช้อำนาจอาชญาวัด ใช้ไม้ตีเจ้าเมืองพร้อมทั้งถามว่า เข้ามาในวัดทำไมไม่ถอดหมวก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้น หลังจากได้รับถ่ายทอดวิชาจากพระครูอินทรชาติวรณาณ ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐานวิชาไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา การปลุกเสก จนเป็นที่พอใจของอาจารย์แล้วท่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาดังกล่าวจนมีคนมาขอศึกษากับท่านมากมายและตัวท่านเองก็มีวิชาอาคมเสมอกับพระครูวิมลคุณากร(ศุข) ถึงกับคนเก่าๆ ของเมืองชัยนาท เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อช้างกับหลวงพ่อวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านชอบพอกันมาตั้งแต่เด็ก มีวิชาดีด้วยกันทั้งคู่ เคยทดสอบวิชากันเช่นหลวงพ่อศุขวัดปากคลองฯ สร้างเสือสมิง หลวงพ่อช้างวัดพระบรมธาตุฯ สร้างควายธนู ทั้งเสือสมิงและควายธนูต่างก็นทำอะไรกันไม่ได้ หมายความว่ามีวิชาเสมอกัน  อนึ่ง เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นตามลำน้ำเจ้าพระยา มาถึงวัดพระบรมธาตุฯ ท่านนำพระสวดมนต์ถวายพระพร จนได้รับคำชมเชยว่าเสียงดัง ฟังชัด แม่นยำ และได้รับพระราชทานผ้ากราบ ผ้ารองย่าม เป็นที่ระลึก พระอินทโมลี (ช้าง) อาจารย์ผู้ยิ่งยงแห่งวัดพระบรมธาตุวรวิหาร หมู่ที่ ๖ ตำบลชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีชื่อเสียงทางด้านเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ประเพณี ได้ถึงแก่กาลมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ ๒๔๖๕ ขณะอายุของท่านได้ ๘๑ ปี
74  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน? เมื่อ: 08 ธันวาคม 2566 15:55:23


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี

“พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2566


พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เป็นพระอิสริยยศของเชื้อพระวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทุกวันนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วคำนำพระนามนี้มีที่มาจากไหน?

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายที่มาและความหมายของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอไว้ว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ คำนำพระนามของเจ้านายในรัชกาลก่อนก็ย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ และเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาที่มีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้า พระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระองค์ เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ก็จะกลายเป็นพระเจ้าหลานเธอ

เมื่อเป็นดังนี้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ใช้คำนำพระนามว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ โดยให้คงศักดินาเสมอพระเจ้าลูกเธอ คือ ศักดินา 6,000 ทรงกรมศักดินา 15,000 เพราะหากใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ” ศักดินาก็จะลดลงไปเป็นพระเจ้าหลานเธอ ศักดินาเท่าพระองค์เจ้าวังหน้า ที่ศักดินา 4000 ทรงกรมศักดินา 11000

คำนำพระนามพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ โดยใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตามพระเกียรติยศ

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายต่ออีกว่า ด้วยเหตุนี้ คำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 จึงเปลี่ยนมาใช้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงศักดิ์เป็นชั้น ลุง ป้า น้า อา หากมีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าทรงกรมชั้นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แต่หากมีพระสกุลยศชั้นพระองค์เจ้าและพระองค์เจ้าทรงกรม ที่มิได้เป็นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ก็ใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

เจ้านายที่ทรงมีคำนำพระนามพระเจ้าราชวงศ์เธอ มีเช่นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้น
75  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “คลุมถุงชน” มาจากไหน? การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2566 14:53:34


ภาพเขียนชื่อ “ก่อนพิธีวิวาห์” โดย Firs Sergeyevich Zhuravlev
ศิลปินรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังเป็นสมัยที่การคลุมถุงชนยังเป็นที่แพร่หลายในสังคมรัสเซีย


“คลุมถุงชน” มาจากไหน? การแต่งงานที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก

ผู้เขียน - ผิน ทุ่งคา
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


คลุมถุงชน หรือการแต่งงานด้วยการจัดแจงจากพ่อแม่ หรือผู้อาวุโสของบ่าวสาว โดยที่คู่สมรสไม่จำเป็นต้องสมัครใจยินยอมกับการแต่งงานนั้นๆ ถือว่าเป็นธรรมเนียมการแต่งงานที่มีมานานแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะค่อยๆ เสื่อมความนิยม (และไม่ได้รับการยอมรับ) เมื่อสังคมนั้นๆ เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐจะกำหนดให้ การแต่งงาน ต้องเกิดจากความยินยอมของบ่าวสาวเท่านั้น (และปัจจุบันก็มีหลายรัฐยอมรับการแต่งงานของ บ่าว-บ่าว, สาว-สาว แล้วด้วย)

เดิมทีชาวบ้านทั่วไปในอุษาคเนย์คงมิได้เข้มงวดกับการแต่งงานเท่าใดนัก เห็นได้จากบันทึกของ โจวต้ากวาน ทูตจีนที่เดินทางไปยังดินแดนเขมรเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ได้เล่าว่า

“เกี่ยวกับการมีสามีและการมีภรรยา แม้จะมีประเพณีรับผ้าไหว้ ก็เป็นเพียงแต่การกระทำลวกๆ พอเป็นพิธี หญิงชายส่วนมากได้เสียกันมาแล้วจึงได้แต่งงานกัน ตามขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขาไม่ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายและก็ไม่ถือเป็นเรื่องประหลาดด้วย”

ในเมืองไทยสมัยก่อนก็เช่นกัน การแต่งงานที่มีการควบคุมแบบเข้มงวดจากพ่อแม่ มักจะเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีหน้ามีตามีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไป ไม่ค่อยจะมาใส่ใจควบคุมว่าลูกหลานตัวเองจะไปหาคนแบบไหนมาเป็นคู่สมรส เหมือนอย่างที่ โยส เซาเต็น พ่อค้าฮอลันดาที่เดินทางมาอยุธยาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้เล่าถึงธรรมเนียมการแต่งงานของคนไทยสมัยนั้นเอาไว้ว่า

“ชาวสยามมีพิธีแต่งงานหลายอย่าง สำหรับผู้มั่งมีมีหน้ามีตาการแต่งงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพ่อแม่ เพื่อนฝูง และต้องมีการแลกของมีค่ากัน พิธีแต่งงานนั้น ไม่มีพิธีศาสนามาเกี่ยวข้อง แต่มีการละเล่นสนุกสนาน และมีการเลี้ยงดูกันอย่างครึกครื้นคู่สมรสย่อมมีสิทธิ์จะแยกจากกันได้ทุกเมื่อถ้ามีเหตุผลเพียงพอ”

การคลุมถุงชนจึงเกิดขึ้น เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ครอบครัวต่างๆ ใช้กลไกการแต่งงานเพื่อประโยชน์ในการรักษาสถานะทางสังคมหรือการเมือง เป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในบรรดาชนชั้นสูง และผู้มีฐานะเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะเอาอย่างบ้าง

ส่วนคำว่า “คลุมถุงชน” จะถูกใช้แทนการแต่งงานด้วยการจัดแจงของผู้ใหญ่ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผู้เขียนก็ไม่รู้แน่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นเมื่อมันกลายเป็นธรรมเนียม “ตลาดๆ” ที่คนทั่วๆ ไปคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากคำว่าคลุมถุงชนนั้นน่าจะมีที่มาจาก “บ่อนไก่” ดังที่ ภาษิต จิตรภาษา [1] นักเขียนผู้รอบรู้ด้านภาษาไทย เคยอธิบายไว้ว่า

“คลุมถุงชน มาจากการชนไก่. แต่ก่อนการเอาไก่ไปบ่อนเพื่อไปชนนั้น เขาจะเอาถุงคลุมไปแต่บ้านเพื่อกันไก่ตื่น, เมื่อถึงบ่อนก็เปิดถุงออกเอาไก่เปรียบแล้วชนกัน. แต่เจ้าของไก่บางคนกระสันมาก เห็นเพื่ออุ้มไก่มายังไม่ทันเปิดถุงดูรูปร่างหน้าตาก็ท้าชนเลย. เมื่อตกลงกันก็เปิดถุงปล่อยเข้าสังเวียนชนกันเลย ไม่มีข้อแม้เล็ก-ใหญ่. หนุ่ม-สาว ที่ไม่เคยรู้จัก-รักใคร่กันมาก่อน, พ่อ-แม่จัดให้อย่างไรก็เอาอย่างนั้น มันเหมือนกับการชนไก่แบบนี้ จึงเรียก ‘คลุมถุงชน’.”

ในเมืองไทยแม้การคลุมถุงชนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรแล้ว แต่ที่อินเดีย [2] ประเพณีนี้ยังคงเข้มแข็ง การสำรวจในปี 2013 พบว่า คนอินเดียรุ่นใหม่กว่า 74% เห็นดีเห็นงามกับการแต่งแบบคลุมถุงชน และการสำรวจอีกอันบอกว่า การแต่งงานในอินเดียกว่า 90% เป็นการคลุมถุงชนกันทั้งนั้น

ที่น่าแปลกใจก็คือ การแต่งงาน ที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรัก คู่สมรสกลับใช้ชีวิตคู่กันอย่างยืนยาว โดยในอินเดียการสมรสที่จบลงด้วยการหย่าร้างมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น

แต่จะเอาตัวเลขนี้มาบอกว่า การแต่งงานแบบคลุมถุงชนคือสาเหตุที่ทำให้คู่สมรสประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่ คงเป็นการด่วนสรุปเกินไป โดยมิได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ทัศนคติต่อการหย่าร้าง ซึ่งในสังคมแบบอนุรักษนิยมอย่างอินเดีย ยังคงไม่ยอมรับการหย่าร้าง การหย่าร้างจึงมักจะเกิดขึ้นในบรรดาคู่สมรสหัวสมัยใหม่ที่แต่งงานโดยสมัครใจเป็นหลัก (ซึ่งก็มีน้อยอยู่แล้ว)

ส่วนคนที่ยอมรับการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากครอบครัวอนุรักษนิยม ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบใจคู่สมรส ก็ไม่กล้าที่จะหย่าด้วยแรงกดดันทางสังคม รวมถึงความยากลำบากที่จะตามมาหลังการหย่าร้าง โดยเฉพาะคู่สมรสฝ่ายหญิงที่มักจะต้องพึ่งพาด้านการเงินจากสามี หลายๆ คู่จึงจำยอมรับสภาพการสมรสที่ขมขื่น มากกว่าจะเลือกการหย่าร้าง



อ้างอิง :
[1] “ภาษาประวัติศาสตร์”. ภาษิต จิตรภาษา. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2538
[2] “Why Are So Many Indian Arranged Marriages Successful?”. Psychology Today. <https://www.psychologytoday.com/blog/the-science-behind-behavior/201511/why-are-so-many-indian-arranged-marriages-successful>.




76  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / เจ้าจอม ม.ร.ว.แป้ม มาลากุล ผู้ซื่อสัตย์ได้ดูแลคลังสมบัติพระบรมราชินีนาถใน ร. 5 เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2566 14:11:05


เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล หรือ ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์
(ภาพโดย BillArthur1 จาก TU Digital Collections ใน Wikimedia Commons)


เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล
ผู้ซื่อสัตย์ได้ดูแลคลังสมบัติพระบรมราชินีนาถในร. 5

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


ความซื่อสัตย์สุจริตคือวิถีของมนุษย์ผู้เจริญ ส่วนความโลภ ริษยา ลุ่มหลง หรือความเลวร้ายประการอื่นใดทั้งปวงก็อาจทำให้ความซื่อสัตย์สุจริตนี้กลายเป็นความทุจริต แต่ความเลวร้ายเหล่านี้มิอาจมีอิทธิพลเหนือจิตใจผู้ที่มั่นคงกับความซื่อสัตย์สุจริต เฉกเช่น เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม มาลากุล ดูแลคลังสมบัติสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม คือผู้ดูแล “คลังสมบัติ” ของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่รู้ดีกันว่าในสมัยนั้น สำนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เป็นสำนักที่ใหญ่โต หรูหรา และมีอิทธิพลที่สุดในราชสำนักฝ่ายใน ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มากมายมหาศาล ดังที่นายแพทย์มัลคาล์ม สมิธ ชาวอังกฤษ แพทย์ประจำพระองค์ได้เขียนเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ไว้ว่า

“…พระราชทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมากมายของพระองค์ นอกเหนือจากเบี้ยหวัดเงินปีที่ทรงได้รับพระราชทานอยู่เป็นประจำแล้ว สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีรายได้ของพระองค์เองอีกส่วนหนึ่ง เป็นรายได้ที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าประมาณการจากที่พระองค์เคยตรัสให้ข้าพเจ้าฟังว่า รายได้ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วน่าจะตกประมาณ 80,000-90,000 ปอนด์ ต่อปี…”



สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงฉายกับพระราชโอรส
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
(ภาพจากหนังสือ “สมเด็จพระบรมราชินี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร ๒๕๔๗)

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงมีเครื่องเพชรหลายชุด เช่น ชุดเพชรรูปกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ และชุดเพชรรูปน้ำหยด แต่เชื่อว่าทรงมีเครื่องเพชรมากกว่านี้แต่ไม่ได้บันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบรรยายเรื่องเครื่องเพชรของพระอัยยิกา ครั้งประทับที่วังพญาไท ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริง ๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องเพชรย่อย ๆ ของท่านก็ดูคล้าย ๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป ข้าหลวงต้องขนมาเป็นถาด ๆ หลาย ๆ ถาด บางทีถาดเดียวจะมีธำมรงค์เพชรพลอยต่าง ๆ ตั้ง 60 วง…”


พระราชสมบัติเหล่านี้จะถูกเก็บไว้เป็นห้อง ๆ โดยผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลรักษาและรับผิดชอบคือ เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อย ไม่มีข้อบกพร่องหรือมลทินด่างพร้อย เล่ากันว่าโต๊ะทำงานและที่นอนของท่านอยู่หน้าห้องและข้างห้องเก็บพระราชสมบัติ เรียกว่า “ห้องทอง” เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม จึงมีสมญาว่า “คุณห้องทอง” ไปด้วย

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ถวายงานรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านพกกุญแจพวงใหญ่ที่ใช้ไขห้องทองไว้กับตัวตลอดเวลาทั้งยามหลับและยามตื่น ความซื่อสัตย์สุจริตนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย แสดงความเห็นว่าความซื่อสัตย์สุจริตนี้น่าจะสืบเชื้อสายมาทางสายโลหิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล”

สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นเจ้านายทรงกรมพระองค์หนึ่งที่ได้รับการระบุพระนามฐานะมีสิทธิในราชบัลลังก์ เป็นที่ริษยา เพ่งเล็ง สงสัยจากคนทั่วไป แต่พระองค์ได้พิสูจน์ว่าทรงมีความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ ถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความซื่อสัตย์มาโดยตลอด ทั้งพระโอรสธิดาก็ถวายงานรับใช้ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เช่น

ม.ร.ว. เปีย มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล รับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง

ม.ร.ว. โป้ย มาลากุล รับราชการเป็นเจ้ากรมพระราชพิธีสำนักพระราชวัง

และธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ หรือ หม่อมเจ้าขจร (พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์) 4 ท่านคือ ม.ร.ว. แป้น แป้ม แป้ว ปุย ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 และอยู่ในความอุปการะของ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เมื่อ ร.ศ.129


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้นราชสกุล “มาลากุล” (ภาพจาก wikipedia)

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ยังถวายงานรับใช้ในพระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทั้งในพระบรมมหาราชวังและครั้งเสด็จฯ มาประทับที่วังพญาไท โดยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจวบจนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ สวรรคต ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวทรงกันดาล” มีตำแหน่งบังคับบัญชาการพระคลังใน ถือศักดินา 1,000

ต่อมาวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าววรคณานันท อัพภันตรปตานี ราชนารีกิจวิจารณ์” เป็นใหญ่กว่าท้าวนางทั้งปวง และสำหรับตรวจสั่งสอนความผิดและชอบข้าราชการฝ่ายในทั้งปวง ถือศักดินา 3,000

เจ้าจอม ม.ร.ว. แป้ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้จึงแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้พระราชวงศ์จักรีมาโดยตลอดหลายแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้ กระทั่งท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.2502 สิริอายุ 83 ปี


77  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / ทรัฟเฟิล เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แพงกว่าทองคำเสียอีก! เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2566 18:33:10


เห็ดทรัฟเฟิล หั่นทานแบบสด ๆ กับคาโบนาร่า (ภาพโดย Vincent Dörig ใน Unsplash)

ทรัฟเฟิล ราชาแห่งเห็ด “เพชรของครัว” เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก แพงกว่าทองคำเสียอีก!

ผู้เขียน - ธนกฤต ก้องเวหา
เผยแพร่ - เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


ทรัฟเฟิล (Truffle) คือ เห็ด เป็นเห็ดราไร้พิษชนิดหนึ่ง อยู่ในกลุ่ม “ฟังไจ” (Fungi) หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์ ทรัฟเฟิลนั้นมีรสจัดและมีกลิ่นเฉพาะตัวอันโดดเด่น เป็นส่วนประกอบในหลายเมนูโดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่คลั่งไคล้เห็ดราชนิดนี้แบบสุด ๆ จนความนิยมแพร่กระจายไปทุกมุมโลกในเวลาต่อมา ทำให้ทรัฟเฟิลเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศและถูกยกย่องอย่างสูงในโลกของอาหาร พร้อมกับถูกขนานนามว่าเป็น “เพชรของครัว” (Diamond of the Kitchen) กลายเป็น “เห็ดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก” และแพงกว่าทองคำเสียอีก!

ทรัฟเฟิล ไม่สามารถเจริญเติบโตได้โดยปราศจากการพึ่งพิงต้นไม้ใหญ่ เห็ดชนิดนี้มีลักษณะเหมือนพืชที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน รูปร่างคล้ายขิง มีหูด และผิวขรุขระตะปุ่มตะป่ำ เจริญเติบโตเป็นวงอยู่ใต้ดินลึกลงไปประมาณ 5-40 เซนติเมตร ไม่ห่างจากรากต้นโอ๊กและต้นเอล์ม (รัศมี 1.2-1.5 เมตร) เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีรากแผ่กระจายอยู่รอบ ๆ จุดเกิดของมัน รากต้นไม้กับราสามารถแบ่งปันอาหารให้กันและกันได้ โดยต้นไม้รับน้ำและแร่ธาตุจากรา ส่วนรารับสารอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน และวิตามิน จากระบบรากของต้นไม้ เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่พึ่งพาอาศัยกัน เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” (Mycorrhizal)

สำหรับวิธีการหาทรัฟเฟิลมาประกอบอาหารนั้น เนื่องจากมันซ่อนอยู่ใต้ดินและไม่มีส่วนใดโผล่เหนือพื้นดินขึ้นมาแสดงตำแหน่งเลย การขุดหาจึงต้องใช้ “หมู” ดมกลิ่นตามพื้น เพราะหมูมีประสาทรับกลิ่นดี และไวต่อกลิ่นทรัฟเฟิลมาก แถมกลิ่นของเห็ดชนิดนี้ยังไปคล้ายกับฮอร์โมนของหมูตัวผู้ด้วย จึงมักใช้หมูตัวเมียเป็นนักล่าเห็ดทรัฟเฟิลนั่นเอง แต่ปัญหาคือ หมูจะกินเห็ดอย่างเอร็ดอร่อยทันทีที่มันขุดพบเห็ด จึงมีการฝึกสุนัขมาทดแทน โดยให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับกลิ่นทรัฟเฟิลตั้งแต่ยังเล็ก จากนั้นพาไปฝึกตามกลิ่นในพื้นที่เจริญเติบโตของเห็ด ก็จะได้นักล่าทรัฟเฟิลจมูกไวที่ไม่สวาปามทรัฟเฟิลเสียเองก่อนมนุษย์




ภาพเขียน การใช้ “หมู” ดมกลิ่นหาเห็ดทรัฟเฟิล (ภาพจาก Wikimedia Commons / Public domain)

มีเอกสารโบราณที่กล่าวถึงเห็ดทรัฟเฟิลในวัฒนธรรมมื้ออาหารของชาวสุเมเรียนเมื่อราว 1,600 ปีก่อนคริสตกาล รวมถึงในอารยธรรมกรีก-โรมัน และอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ก่อนจะนิยมอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศสราวปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อพ่อครัวชาวฝรั่งเศสพยายามลดการใช้เครื่องเทศจากตะวันออก เพราะมีรสจัดและกลิ่นฉุนเกินไป

ในระยะแรก ๆ ความนิยมบริโภคทรัฟเฟิลในอิตาลีกับฝรั่งเศสยังวนเวียนอยู่กับชนชั้นสูงเป็นหลัก เพราะเป็นสินค้าหายากที่ราคาสูงลิ่ว ส่วนวิธีรับประทานก็ไม่ซับซ้อน คือ กินสดโดยการหั่นบาง ๆ แทรกไปกับสเต็ก บ้างหมักกับตับห่าน (Foie Gras) แทรกในเครื่องในยัดไส้ หรือโรยผงทรัฟเฟิลบนผักสลัด พาสตา ตลอดจนใส่ผสมกับเนยแข็ง

เนื่องจากมีแหล่งกำเนิดเฉพาะตัวและวิธีเก็บเกี่ยวที่ยุ่งยาก ซับซ้อน (ใช่ว่าสุนัขทุกตัวจะถูกฝึกฝนให้ควานหาทรัฟเฟิลได้ง่าย ๆ) ทำให้เห็ดทรัฟเฟิลมีราคาสูงมาก ทรัฟเฟิลสายพันธุ์ยุโรปทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ทรัฟเฟิลดำ (Tuber Melanosporum) มีราคาถึง 3,500 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม (ราว 1.2 แสนบาท) กับ ทรัฟเฟิลขาว (Tuber Magnatum) ที่มีชื่อเสียงกว่า มีราคาสูงกว่าทรัฟเฟิลดำเกือบสองเท่าตัว เนื่องจากสายพันธุ์นี้สามารถพบได้เฉพาะที่เมืองอัลบา (Alba) แคว้นปีดมอนต์ (Piedmont) ทางตอนเหนือของอิตาลีเท่านั้น ทั้งมีรสและกลิ่นชัดกว่าทรัฟเฟิลดำ นอกจากสายพันธุ์ข้างต้น ยังมี “ทรัฟเฟิลทะเลทราย” ที่พบได้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งชาวเบดูอินนำมาประกอบอาหารกันมานานแล้ว

ครั้งหนึ่ง ทรัฟเฟิล เคยเป็นของป่าหายากและพบได้เฉพาะพื้นที่ คนจำนวนมากจึงเชื่อว่าไม่สามารถเพาะปลูกหรือผลิตเห็ดชนิดนี้ได้เอง ต้องอาศัยโชคในการตามหา แต่ความจริงคือ มีการเพาะเลี้ยงเห็ดทรัฟเฟิลสำเร็จตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว เพราะมีผู้ทดลองเก็บลูกนัทจากต้นโอ๊กที่เคยมีเห็ดทรัฟเฟิลอยู่แล้วนำไปปลูก หลายปีต่อมาจึงเกิดเห็ดทรัฟเฟิลขึ้นรอบต้นโอ๊กเหล่านั้น ฟาร์มทรัฟเฟิลจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ นอกอิตาลีและฝรั่งเศสด้วยวิธีเพาะปลูกข้างต้น ก่อนกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ทรัฟเฟิลจากยุโรปยังคงได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติและกลิ่นดีที่สุด โดยเฉพาะทรัฟเฟิลขาวจากแคว้นปีดมอนต์ของอิตาลี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแหล่งผลิตและส่งออกทรัฟเฟิลใหญ่ที่สุดของโลกคือจีน ซึ่งสามารถผลิตทรัฟเฟิลส่งออกสู่ตลาดโลกได้ปริมาณมาก ส่งผลให้ตลาดการค้าทรัฟเฟิลเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากสินค้าหายาก มีเฉพาะถิ่น และมีมูลค่าสูง กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารหลาย ๆ ประเภท ดังจะเห็นว่ามีสินค้าหรืออาหารที่มีทรัฟเฟิลเป็นส่วนประกอบมากและหลากหลายขึ้น ทรัฟเฟิลจีนมี 3 ชนิด ดังนี้

1. Tuber Sinensis หน้าตาคล้ายทรัฟเฟิลดำ แต่ราคาถูกกว่าทรัฟเฟิลยุโรปมาก เพราะมีการผลิตจำนวนมาก ส่วนคุณภาพเรื่องรสชาติและกลิ่นไม่เท่าของยุโรป แต่มีการส่งออกไปขายฝั่งตะวันตกโดยเติมกลิ่นสกัดของทรัฟเฟิลดำเพิ่มเข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่า

2. Tuber Himalayansis เหมือนทรัฟเฟิลดำจนแยกแทบไม่ออก เป็น Tuber Sinensis ที่เพิ่มทั้งกลิ่นและรสชาติให้ดีขึ้นไปอีก แต่มีผลิตได้น้อยมาก

3. Tuber Ramiayyadis เหมือนทรัฟเฟิลขาวของอิตาลี แต่กลิ่นและรสชาติแตกต่างกัน



เห็ดทรัฟเฟิลดำ (ภาพโดย Uzan จาก Pixabay)

ทรัฟเฟิลไทย
เมื่อ พ.ศ.2557 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขาตั้งชื่อมันว่า “Tuber thailanddicum” ทั้งมีรสชาติเดียวกับทรัฟเฟิลขาวที่พบในอิตาลี ทีมนักวิจัยเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ทำงานวิจัยในอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องเห็ดมาเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช หนึ่งในสมาชิกของทีมจะพบเห็ดทรัฟเฟิลใกล้กับบริเวณที่เกิดดินถล่มโดยบังเอิญ มันจึงถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และผลการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเห็ดทรัฟเฟิลอย่างแน่นอน

ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ให้ข้อมูลว่า “ทรัฟเฟิลไทย” ไม่ได้เติบโตใกล้ต้นโอ๊กเหมือนทรัฟเฟิลตะวันตก แต่พบอยู่ใกล้ต้นเบิร์ช หรือต้น “กำลังเสือโคร่ง” ทีมงานยังเก็บตัวอย่าง “เห็ด” ดังกล่าวไว้ในห้องแล็บเพื่อกำลังปรับปรุงสายพันธุ์สำหรับใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าทรัฟเฟิลจะกลายวัตถุดิบ “ท้องถิ่น” ของไทยได้ ต่อมาทรัฟเฟิลไทยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ในขณะนั้น) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 โดยได้ชื่อว่า “เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์
78  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปรษณีย์ / “น้ำปลา” เครื่องปรุงรสเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏครั้งแรกเมื่อไหร่ เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2566 18:40:07

น้ำปลาพริก เครื่องปรุสรสเพิ่มเติมบนโต๊ะอาหาร
(ภาพจาก www.matichonacademy.com)



“น้ำปลา” เครื่องปรุงรสเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏครั้งแรกเมื่อไหร่

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม วันพฤหัสที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2566


น้ำปลา เป็นเครื่องปรุง รสอาหารที่ต้องมีกันทุกบ้าน หากเมื่ออาหารนั้นมาถึงมือถึงปากผู้กินแล้วยังไม่ได้รสชาติอย่างที่ต้องการน้ำปลา หรือบางทีอาจเป็นน้ำปลาพริก ก็เป็นสิ่งที่เรียกขอเพิ่มเติมได้ปกติในวัฒนธรรมการกินของไทย แต่ถ้าจะถามว่าเรากิน เราใช้ เราทำน้ำปลามาแต่เมื่อไร กลับยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

น้ำปลาปรากฏชัดเจนสมัยอยุธยาตอนปลายสุด ใน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ที่สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนหนึ่งที่ว่า

๏ หมากม่วงดิบห่ามฝาน ใส่ในจานพานตบะรอง

นั่งล้อมห้อมเนืองนอง จิ้มน้ำปลางาปิกิน ฯ

๏ หมากม่วงดิบห่ามให้ ปอกฝาน

งาปิน้ำปลาจาน จุ่มจิ้ม

นั่งล้อมห้อมกินกราน กินอยู่

เข็ดฟันผันหน้ายิ้ม อิ่มเอื้อนราถอย ฯ

[สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

คำว่า “งาปิ” เป็นภาษาชาววังหรือภาษาผู้ดี (บางคนว่ามาจากภาษาพม่า) หมายถึงกะปิ ส่วน “กะปิน้ำปลา” ที่กล่าวถึงมาจากไหน

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม : เอกสารจากหอหลวง อันเป็นบันทึกความทรงจำของคนรุ่นสุดท้ายที่เคยใช้ชีวิตในกรุงศรีอยุธยา เล่าว่า

“อนึ่ง เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 7 ศอก ชาวบ้านยี่สารบ้านแหลมเมืองเพชรบุรี แลบ้านบางตะบูนแลบ้านบางทะลุบันทุกกะปิน้ำปลาปูเคมปลากุเราปลากะพงปลาหูปลากะเบนย่างมาจอดเรือฃายแถววัดเจ้าพระนางเชิง 1”

นั่นคือกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม และปลาย่างปลาเค็มที่คนอยุธยากินกัน อย่างน้อยก็มีส่วนหนึ่งที่ส่งจากแถบยี่สาร (สมุทรสงคราม) บ้านแหลม บางตะบูน บางทะลุ (เพชรบุรี) แล้วล่องเรือมาขายแถววัดพนัญเชิง

บ้านแหลม บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ ล้วนเป็นย่านทำนาเกลือที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยหลัง ดังปรากฏรายชื่อเกลือจากท้องถิ่นเหล่านี้ รวมอยู่ใน “บาญชีเกลือต่างๆ”

สมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานเอกสารเพิ่มขึ้น เช่น ประกาศหมายรับสั่งในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 เรื่องให้เรียกกะปิ น้ำปลา ว่าเยื่อเคย น้ำเคย ความว่า

“คำบุราณราษฎรชาวบ้านเรียกกันว่า กะปิ น้ำปลา คำข้าราชการกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าน้ำเคย ว่างาปิ พระราชดำริทรงเห็นว่า เรียกว่างาปินั้นหาสมกับของดีบังเกิดในเยื่อเคยไม่ แลงาปินั้นชอบแต่จะเรียกว่าเยื่อเคยจึงจะต้องกับของที่บังเกิดจึงจะควร แต่น้ำเคยนั้น ข้าราชการเรียกว่าน้ำเคยก็ควร ด้วยเปนของบังเกิดแต่เยื่อเคย คำบุราณราษฎรเรียกว่ากันว่ากะปิ น้ำปลา เห็นหาควรกับของที่บังเกิดไม่ ตั้งแต่นี้ไปภายหน้าให้ข้าราชการพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง แลเจ้าต่างกรมเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ให้เรียกว่าเยื่อเคยน้ำเคย ตามพระกระแสพระราชบัญญัติจึงจะควร” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อักขราภิธานศรับท์ พจนานุกรมต้นรัชกาลที่ 5 พิมพ์ในปี 2416 ที่เก็บรวบรวมคำต่างๆ ก็ปรากฏคำว่าน้ำปลาด้วยเช่นกัน ดังนี้

กะปิ, ของคนเอากุ้งตัวเล็กๆ มาคลุกเข้ากับเกลือแล้วทำให้ละเอียดสำหรับแกงบ้าง ตำน้ำพริกบ้าง.

เคยกุ้ง, กะปิกุ้ง, คือกุ้งตัวเล็กๆ ที่สำรับทำกะปินั้น, เหมือนอย่างเคยตาดำเปนต้น.

น้ำเคย, น้ำปลา, คือน้ำใสที่ไหลตกออกจากกุ้งกะปิทั้งปวงนั้น, เช่นน้ำเคยในตะกร้อ, ฤๅน้ำปลา.

น้ำปลา, คือน้ำใสๆ ที่เกิดแต่ไตปลานั้น, เช่นน้ำเคยเกิดแต่กุ้งกะปิ.

ตำรับอาหาร แม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ปรากฏว่า เครื่องปรุง รสเค็มหลายชนิด  น้ำเคยดี (คือน้ำเคยอย่างดี) น้ำปลาญี่ปุ่น (ซอสถั่วเหลือง) และน้ำปลาร้า แต่สูตรอาหารส่วนใหญ่มักให้ใส่ “น้ำปลาดี”

สมัยรัชกาลที่ 6 หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2464 มีโฆษณาเกี่ยวกับน้ำปลา และระบุว่าทำจาก “เยื่อเคย”  ดังนี้

“อาหารของไทยเราจะมีโอชารสดีที่ใช้น้ำปลาดีและน้ำพริกดีเปนประมาณ น้ำพริกเผาที่ดีอย่างที่ 1 ผสมด้วยเนื้อปลากุเลา ราคาเพียงกะปุกละ 1 บาท คลุกข้าวและจิ้มอะไรรับประทาน มีรสอร่อย ถึงจะเดินทางไกลก็เอาไปได้สดวก กับน้ำปลาอย่างดีทำจากเยื่อเคยชั้นที่ 1 นั้น ก็เปนยอดแห่งอาหาร จะเปนแกงจืดแกงเผ็ดหรือผัดอะไร ถ้าได้เหยาะน้ำปลาดีลงไปแล้วก็ทำให้มีโอชารสขึ้นเปนอันมาก ราคาขายขวดละ 1 บาทเท่านั้น ท่านต้องการให้อาหารมีรสอร่อยแล้วไม่ควรจะทิ้งน้ำปลาดีหรือน้ำพริกเผาของร้านเลขที่ 1790 ริมถนนมหาไชย จังหวัดพระนคร” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

หนังสือชุดจังหวัดต่างๆ ที่รัฐบาลพิมพ์ขึ้นเนื่องในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หนังสือจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมน้ำปลาในจังหวัดว่า

“มีโรงอุตสาหกรรมทำน้ำปลาที่อำเภอขลุง แหลมสิงห์ และท่าใหม่ รวม 10 โรง เป็นโรงทำน้ำปลาขนาดกลาง ใช้ปลาทูและปลาเบญจพรรณ ผลิตได้ประมาณปีละ 200,000 ลิตร…รส กลิ่น ของน้ำปลายังไม่ดีเท่าน้ำปลาชั้นพิเศษของจังหวัดระยอง…”  [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
79  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ประเทศนิการากัว เมื่อ: 20 พฤศจิกายน 2566 18:35:04


ประเทศนิการากัว

สำหรับ มิสยูนิเวิร์ส 2023 ในปีนี้มาจากประเทศนิการากัว เรามาทำความรู้จักกับประเทศนี้กันว่ามีอะไรที่น่าสนใจ และสวยงามบ้าง

นิการากัว หรือ สาธารณรัฐนิการากัว เป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในอเมริกากลาง แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศฮอนดูรัส ทางใต้จรดประเทศคอสตาริกา ชายฝั่งตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งตะวันออกจรดทะเลแคริบเบียน ชื่อของประเทศมาจากการสนธิระหว่างคำว่า “นีการาโอ” (Nicarao) เป็นชื่อชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดขณะที่ชาวสเปนมาถึง กับคำว่า “อะกวา” (Agua) ซึ่งเป็นคำในภาษาสเปน แปลว่าน้ำ

ประเทศนิการากัว แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 จังหวัด (departamentos) กับ 2 เขตปกครองตนเอง มีรายละเอียด ดังนี้

    จังหวัดโบอาโก (โบอาโก)

    จังหวัดการาโซ (ฮิโนเตเป)

    จังหวัดชินันเดกา (ชินันเดกา)

    จังหวัดชอนตาเลส (ฮุยกัลปา)

    จังหวัดเอสเตลี (เอสเตลี)

    จังหวัดกรานาดา (กรานาดา)

    จังหวัดฮิโนเตกา (ฮิโนเตกา)

    จังหวัดเลออน (เลออน)

    จังหวัดมาดริซ (โซโมโต)

    จังหวัดมานากัว (มานากัว)

    จังหวัดมาซายา (มาซายา)

    จังหวัดมาตากัลปา (มาตากัลปา)

    จังหวัดนูเอบาเซโกเบีย (โอโกตัล)

    จังหวัดริบัส (ริบัส)

    จังหวัดริโอซานฮวน (ซานการ์โลส)

    เขตปกครองตนเองโกสตาการิเบนอร์เต (ปูเอร์โตกาเบซัส)

    เขตปกครองตนเองโกสตาการิเบซูร์ (บลูฟิลส์)

สำหรับ นิการากัว เป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในอเมริกากลาง แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศฮอนดูรัส ทางใต้จรดประเทศคอสตาริกา ในช่วงหลังมานี้การท่องเที่ยวในประเทศนิการากัว เติบโตเป็นอย่างมากจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสองที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมานิยมมาเที่ยวชมวัฒธรรม อาคารสถานที่โบราณต่างๆ การผจญภัย ชายหาด ทะเลสาบ และภูเขาไฟ ประเทศนิการากัวจึงเป็นตัวเลือกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพ็ก

นอกจากนี้ประเทศนิการากัว นักท่องเที่ยว ได้มีการเรียกขานกันว่า  “ดินแดนแห่งทะเลสาบและภูเขาไฟ” เนื่องจากประเทศนี้ขึ้นชื่อว่ามีทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง โดยประชาชนพื้นเมืองที่นั่นเรียกทะเลสาบนี้ว่า “โกซิบอลกา” ซึ่งหมายความว่า “ทะเลหวาน” ทะเลสาบนี้มีเกาะหลายร้อยเกาะและเป็นทะเลสาบน้ำจืดแห่งเดียวที่มีปลาทะเลหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น ฉลาม ปลากะโทงแทงดาบ หรือ ปลาทาร์พอน เป็นต้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย






80  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ / รูปปั้น “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” ที่สนามหลวง เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2566 13:39:50



“พระแม่ธรณีบีบมวยผม”
เทพีแห่งผืนดินกับฉากสำคัญในพุทธศาสนา กับรูปปั้นที่สนามหลวง

ผู้เขียน - ธนกฤต ก้องเวหา
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2566


กล่าวได้ว่า พระแม่ธรณี มีความเป็นมาอันยาวนานและผูกพันกับวัฒนธรรมไทยผ่านพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น เพราะพระแม่ธรณี เป็นมารดาแห่งโลก เทพีแห่งผืนดิน หรือผู้คุ้มครองแผ่นดิน

ดังปรากฏในพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ทรงผจญท้าววสวัตตีมาร พญามาร พร้อมด้วยเหล่ามารทั้งหลาย ที่ออกอุบายให้ทรงเกิดกิเลสตัญหา แต่พระพุทธองค์ทรงไม่ยินดียินร้าย

ครั้งนั้น พระแม่ธรณี ได้ออกมาแสดงปาฏิหาริย์ บีบมวยผมให้น้ำไหลบ่าท่วมกองทัพมารทั้งมวล จนถูกพัดพาพ่ายแพ้ไป เป็นที่มาของ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม” หรือปาง “อุทกทาน” หมายความว่า การให้ทานด้วยน้ำ หรือให้น้ำเป็นธรรมทานนั่นเอง

พระแม่ธรณีเป็นเทพีที่คนโบราณเคารพสักการะมาเนิ่นนานแล้ว ไม่เพียงแต่ในพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะพบได้ทั้งในตำนานฝ่ายพราหมณ์-ฮินดูด้วย เชื่อกันว่า พระแม่จะสถิตอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกหนแห่ง โดยสามารถบูชาได้ด้วยข้าว ผลไม้ และนม นำโภชนาหารเหล่านี้วางไว้บนก้อนหิน หรือประพรมลงบนผืนดิน หรือใช้เหล้าเป็นเครื่องสังเวย

พระแม่ธรณีมีศาลเก่าตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสนามหลวง ริมถนนราชดำเนิน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์ และสะพานผ่านพิภพลีลา เป็นปูนปั้นพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม ในอดีตเคยมีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม และสามารถใช้ดื่มกินได้ด้วย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ด้วยมีพระราชประสงค์ในการแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบริสุทธิ์แก่ราษฎร

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ จึงพระราชทานคำแนะนำให้สร้างอุทกทาน หรือ พระแม่ธรณีบีบมวยผม กระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคข้าวยากหมากแพง อุทกทานถูกชาวบ้านขโมยอุปกรณ์ท่อน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถใช้การได้ แม้จะมีการซ่อมแซมให้ใช้ได้ดังเก่าในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่สถานที่นี้ก็ไม่ได้ใช้เป็นที่แจกจ่ายน้ำสะอาดอีกต่อไป เป็นแต่ศาลศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนเข้ามาสักการะเท่านั้น
หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 ... 117
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.67 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 03:31:27