[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 00:40:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 227 228 [229] 230 231 ... 236
4561  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ควอนตัมกับดอกบัว : การเดินทางสู่พรมแดนที่วิทยาศาสตร์และพุทธศาสนามาบรรจบ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:26:03

 
 
ชื่อหนังสือ : ควอนตัมกับดอกบัว
การเดินทางสู่พรมแดนที่วิทยาศาสตร์และพุทธศาสนามาบรรจบ
 
(The Quantum and the Lotus)
 
รหัสสินค้า : P-SM-0098
 
กลุ่มหนังสือ : ศาสนธรรมเพื่อสังคมร่วมสมัย & ชีวประวัติเพื่อแรงบรรดาลใจ
ผู้แต่ง : มาติเยอ ริการ์ และ ตริน ซวน ตวน เขียน /
กุลศิริ เจริญศุภกุล และ บัญชา ธนบุญสมบัติ แปล
พิมพ์ครั้งที่/ จำนวนหน้า/ กระดาษ : พิมพ์ครั้งที่ ๑
ขนาด ๑๖ หน้ายกพิเศษ (๑๔.๕ x ๒๑.๐ ซม.)
ความหนา ๕๑๒ หน้า
ราคา : ๔๒๐ บาท
 
รายละเอียดย่อ
 

 
เราทั้งมวลล้วนเกิดจากฝุ่นละอองของดวงดาว เป็นพี่น้องของผองสัตว์ป่า เป็นเครือญาติกับมวลดอกไม้ในท้องทุ่ง เราทั้งมวลล้วนบอกเล่าเรื่องราวของจักรวาล เพียงเราหายใจ เราก็เชื่อมโยงเข้ากับสรรพสิ่งที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้
 
รายละเอียดเต็ม
เพราะมีอยู่ในหนึ่งอะตอม
จึงมีอยู่ในทุกอะตอม
โลกทั้งมวลก้าวล่วงสู่ที่นั้น
ลึกล้ำจนมิอาจหยั่งถึง
 
(จากพระสูตรของพระพุทธเจ้า)
 
 
เพื่อเห็นโลกในเม็ดทราย
และสรวงสวรรค์ในดอกไม้ป่า
จงวางความเป็นอนันต์ไว้บนฝ่ามือ
และความเป็นนิรันดร์ไว้ในโมงยาม
 
(วิลเลียม เบลค)
 
 
 
เอกภพมีจุดกำเนิดหรือไม่? การปรับแต่งอย่างประนีตเหมาะเจาะจนน่าพิศวงของเอกภพ แสดงว่ามี "หลักการแห่งการสร้าง" บนโลกของเราใช่ไหม? หากใช่ ย่อมหมายความว่า โลกมีพระเจ้าผู้สร้างเช่นนั้นหรือ?
 
การตีความ ความจริง แบบฟิสิกส์ควอนตัมที่เปลี่ยนฐานคิดจากเดิม คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากการเข้าใจ ความจริง ของพุทธศาสนาอย่างไร?...และอีกหลายคำถาม
ควอนตัมกับดอกบัว จะนำผู้อ่านไปร่วมค้นหาคำตอบเหล่านี้ ผ่านบทสนทนาอันแหลมคมของสองสายธารความคิด ระหว่างคำสอนในพุทธศาสนาและผลการค้นพบของวิทยาศาสตร์ใหม่
.......................................................
คำนำโดย มาติเยอ ริการ์
 
ตลอดเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา มีการสนทนาระหว่างฝ่ายพุทธศาสนาและฝ่ายวิทยาศาสตร์ โดยสืบเนื่องมาจากความสนใจในวิทยาศาสตร์ของปราชญ์ชาวพุทธบางท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ทะไลลามะ ในปี 1987 อดัม เองเกิล (Adam Engle) ซึ่งเป็นนักธุรกิจ กับนักวิทยาศาสตร์ ฟรานซิสโก วาเลรา (Francisco Valera) ได้จัดให้มีการพบปะกันครั้งแรกระหว่างองค์ทะไลลามะกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่ง อันประกอบด้วย นักประสาทวิทยา นักชีววิทยา จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักปรัชญา ซึ่งการเสวนาวิสาสะในครั้งนั้นนำไปสู่การพบปะอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา บรรดาผู้เข้าร่วมการสนทนาบันทึกไว้ว่า
 
“การพบปะที่วิเศษยิ่งเหล่านั้นเป็นการแสดงทัศนะจากนักปฏิบัติชาวพุทธและนักวิทยาศาสตร์อย่างเปิดใจกว้าง แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายต่างกระตือรือร้นที่จะขยายโลกทัศน์ของตนเอง จากการเรียนรู้กลวิธีในการตั้งคำถามและการเข้าถึงองค์ความรู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง การตีพิมพ์บทสนทนาจากการพบปะภายใต้ชื่อ ‘จิตและชีวิต’ (Mind and Life) จึงได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ที่สนใจบทสนทนาข้ามวัฒนธรรมและศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติแห่งจิต”
 
หนังสือในชุดประกอบด้วย Gentle Bridges (สะพานอันอ่อนโยน) Healing Emotions (อารมณ์เพื่อการบำบัด) Sleeping Dreaming and Dying (การนอนหลับ การฝันและความตาย) และ Science and Compassion 3 (วิทยาศาสตร์กับความกรุณา) นอกจากนี้ยังมีหนังสือเพื่อการศึกษาเชิงลึกซึ่งช่วยอธิบายเรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่ The Embodied Mind4 (จิตอันปรากฏรูป) โดย ฟรานซิสโก วาเลรา และคณะ Choosing Reality (การเลือกความจริง) และ The Taboo of Subjectivity (ข้อต้องห้ามของอัตวิสัย) โดย บี. อลัน วอลเลซ (B. Alan Wallace) การสนทนาที่บันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็มีลักษณะและจุดมุ่งหมายในทำนองเดียวกันกับการบันทึกบทสนทนาต่างๆ ดังที่กล่าวมา .......................................................
 
 
 
http://www.suan-spirit.com/coming_book.asp?id=217
4562  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: พระพุทธศาสนา ไม่เคยทะเลาะ กับ วิทยาศาสตร์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:23:39




วิปัสสนากับควอนตัม


วิปัสสนาเป็นวิธีมองโลกที่ช่วยให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือสอนให้ใช้จิตมองจิตของเรา การมองจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา เราสามารถปลี่ยนความคิดให้บริสุทธิ์ขึ้น นั่นคือทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นสจิตปริโยทปนะคือทำจิตของเราให้ผ่องใส เราจะทำจิตผ่องใสได้ก็ต่อเมื่อผู้มองมีผลกระทบต่อกระแสจิตที่ถูกมอง


ฟิสิกส์ควอนตัมศึกษาความจริงที่คนทั่วไปยากที่จะเข้าใจเพราะโครงสร้างอะตอมนั้นเล็กมากขนาดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน คือ ศึกษาเรื่องจิตที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งยากที่จะเข้าใจถ้าไม่ฝึกปฏิบัติ


การค้นพบของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยสนับสนุนหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเรามองเห็นสิ่งต่างๆ ว่าไม่แน่นอนเช่นเดียวกับหลักการแห่งความไม่แน่นอน เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้แต่คนที่เราคบหามานานก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะมีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป เมื่อเราไม่สามารถที่จะรู้เหตุปัจจัยเหล่านั้นทั้งหมด เราก็ต้องทำใจยอมรับความไม่แน่นอน ตามหลักการแห่งความไม่แน่นอน นั่นคือตามหลักอนิจจัง คือความไม่เที่ยงในพระพุทธศาสนา


เหตุนี้คำสอนของพระพุทธศาสนาในหลายเรื่องจึงมีลักษณะเป็นเงื่อนไข เราไม่อาจฟันธงลงไปว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาที่เรามองเห็นสรรพสิ่งเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนั้นในตัวของมันเองหรือเราคิดไปเอง บางทีสรรพสิ่งที่เราเห็นนั้น มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหรือเราเข้าใจ มุมมองของเราต่างหากไปจัดให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้


ในฟิสิกส์ควอนตัม เมื่อมองในมุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าส่วนประกอบของอะตอมเป็นอนุภาค(Particle) เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นเป็นคลื่น(wave) ของสิ่งเดียวกันจึงมีสองลักษณะตามมุมมองของเรา ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันอาจจะมีทั้งคุณและโทษก็ได้ นั่นขึ้นอยู่ที่ว่าเรามองสิ่งนั้นในมุมไหน


โลกเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา ความจริงจึงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันไม่ได้จริงในตัวมันเอง มันสัมพันธ์กับมุมมองของผู้มอง ดังที่ทฤษฎีสัมพัทธ์ของไอน์สไตน์ถือว่ากาลเวลาขึ้นอยู่กับจุดของผู้สังเกตการณ์ เหมือนกับที่เราพูดถึงองค์ประกอบของอะตอมว่าเป็นอนุภาคหรือคลื่นก็แล้วแต่มุมมองของเรา เพราะฉะนั้นโลกที่เรารับรู้จึงไม่ได้เป็น “ปรวิสัย”ทั้งหมด บางอย่างเป็น ”อัตวิสัย” คือเป็นโลกแห่งประสบการณ์ที่เราสร้างขึ้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับโรหิตัสสะเทพบุตรว่า
“เราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับโลก ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญา มีใจครอง”

ในพุทธพจน์นี้ โลกก็คือโลกแห่งประสบการณ์ของแต่ละคน


ในปรัชญาปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) เราเรียกโลกแห่งประสบการณ์ว่า “Lived World” คือโลกที่เราอยู่ หมายถึงโลกแห่งประสบการณ์ของเรา ไม่มีโลกแบบปรวิสัย มีแต่โลกที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างเราผู้มองกับสิ่งที่ถูกมอง เราให้ความหมายแก่โลกรอบตัวเราต่างกันไป ความหมายสำหรับโลกของเราย่อมต่างจากความหมายที่คนอื่นให้แก่โลกของเขา ดังเช่น ภูเขาสวยงามสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา แต่ภูเขาเดียวกันนั้นเป็นความท้าทายสำหรับนักปีนเขาหรือเป็นขุมทรัพย์สำหรับพวกต้องการระเบิดหินไปสร้างถนน


เพราะฉะนั้น หน้าที่ของจิตก็คือการให้ความหมายแก่โลก (Meaning-giving activity) และข้อสำคัญก็คือ เราจะให้ความหมายแก่โลกภายนอกตัวเราอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง โลกภายนอกเป็นอย่างไรไม่สำคัญสำหรับเรา ที่สำคัญคือเราตีตราหรือกำหนดความหมายให้คุณค่าแก่มันอย่างไรต่างหาก ถ้าเราตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหา เราก็ตีค่าสถานการณ์ไปทางหนึ่ง แต่ถ้าเรามีธรรมประจำใจ เราก็ให้ความหมายแก่โลกไปอีกทางหนึ่ง


ธรรมะประจำใจช่วยสร้างกรอบในการมองโลกและให้ความหมายแก่โลกในทางสร้างสรรค์ ถ้าเรามองโลกด้วยเมตตา (ความรัก) และกรุณา (ความสงสาร) เราก็สามารถที่จะมองคนในแง่ดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ดังเช่นคนที่กำลังมีความรักย่อมมองโลกสดใสงดงาม แต่คนที่มองโลกด้วยความโลภ ความโกรธและความหลง โลกของเขาก็จะมีแต่ความเร่าร้อน


ดั้งนั้น “สุข” หรือ “ทุกข์” จึงชึ้นอยู่กับวิธีที่เรามองโลกหรือให้ความหมายแก่โลกแห่งประสบการณ์ของเรา ดังบทกลอนที่ว่า


สุขและทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ
ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุขใส
ถ้าไม่ถือก็ไม่ทุกข์พบสุขใจ
เราอยากได้ความสุขหรือทุกข์นา


ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทของเราที่สอนเรื่องวิปัสสนา หรือเป็นพระพุทธศาสนามหายานที่สอนสมาธิแบบเซนต่างก็บอกวิธีมองโลกแบบเดียวกัน คือมองโลกให้เห็นศูนยตาหรือความว่างในสรรพสิ่ง ศูนยตาในมหายานก็คืออนัตตาในเถรวาทนั่นเอง สรรพสิ่งเป็นอนัตตาคือไม่มีแก่นสารก็เพราะมันเป็นศูนยตาคือว่างจากแก่นแท้ถาวร เมื่อใดจิตใจของเราหยุดปรุงแต่ง เราก็จะเห็นความว่างในจักรวาล ปริศนาธรรมหรือโกอานของพระพุทธศาสนานิกายเซนสอนให้เรามองโลกแบบศูนยตาคือว่างจากการปรุงแต่งที่ใจเราสร้างขึ้น พระพุทธศาสนาเถรวาทเรียกการมองโลกแบบนี้ว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ แปลว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง

 
ปริศนาธรรมส่งท้าย

พระพุทธศาสนานิกายเซนตั้งปริศนาธรรมไว้ว่า เสียงปรบมือของมือสองข้างดังอย่างไรไม่ถาม แต่อยากทราบว่าเสียงของมือข้างเดียวดังอย่างไร ตอบว่า เสียงของมือข้างเดียวคือความเงียบที่เกิดจากการไม่ปรุงแต่ง สรรพสิ่งเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนกับเสียงปรบมือของมือสองข้าง ดังกรณีที่เราผู้มองโลกให้ความหมายแก่โลก หรือกรณีที่ปฏิสัมพันธ์ของอะตอมก่อให้เกิดสรรพสิ่งขึ้นในโลก เมื่อไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอะตอมก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจักรวาลนี้


ในเดือนกันยายน ๒๕๕๑ สถาบันฟิสิกส์ในเยอรมนีทดลองปล่อยให้โปรตอน 2 อนุภาควิ่งสวนกันด้วยความเร็วแสงในอุโมงค์ใต้ดินยาว 27 กิโลเมตร ถ้าโปรตอนชนกันก็จะเกิดพลังงานมหาศาล เรียกว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) ขนาดย่อม ซึ่งจะช่วยไขปริศนาที่ว่าจักรวาลนี้ก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร


การทดลองที่นักวิทยาศาสตร์ทำให้โปรตอน 2 อนุภาคชนกันอย่างนี้ช่วยให้เข้าใจเรื่องกำเนิดของจักรวาล ความเข้าใจเรื่องอะตอมในฟิสิกส์ควอนตัมนำไปสู่การไขปริศนาความลับของกำเนิดจักรวาล จากความรู้ในเรื่องจุลภาคนำไปสู่ความเข้าใจในระดับมหภาค ในทำนองเดียวกัน การรู้จักธรรมชาติของจิตใจของตนเองอย่างดีก็ทำให้พระพุทธเจ้าทรงเป็นโลกวิทูคือรู้จักโลกทั้งโลก เหมือนกับการที่เรารู้จักใบไม้หนึ่งใบเป็นอย่างดีก็ทำให้เรารู้จักใบไม้ในป่าทั้งป่า


การศึกษาทำความเข้าใจฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาในมุมองใหม่ได้มากขึ้น แม้จะมีความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับฟิสิกส์ควอนตัมอยู่บ้าง ความแตกต่างนั้นมีแต่จะทำให้เราเกิดความสนใจว่าทำไมจึงต่างกัน ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ว่า ผู้ที่เหมือนกันย่อมจะคบหากัน ผู้ที่แตกต่างกันย่อมจะสนใจกัน
 
 
 
 
ที่มา : สารจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
http://www.mcu.ac.th/site/
4563  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: พระพุทธศาสนา ไม่เคยทะเลาะ กับ วิทยาศาสตร์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:23:04

 
ควอนตัมกับพุทธธรรม

ความก้าวหน้าของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เราเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้มากขึ้นอย่างไร ?
 
ประการแรก ฟิสิกส์ควอนตัมช่วยสนับสนุนเรื่องอนัตตาในพระพุทธศาสนา นั่นคือทั้งพระพุทธศาสนาและทฤษฎีควอนตัมต่างยืนยันว่าไม่มีอะตอมหรืออัตตาที่แบ่งแยกไม่ได้ อะตอมหรืออัตตาเป็นสิ่งที่แบ่งย่อยออกไปได้ ไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารตั้งอยู่ได้ตามลำพังตนเอง ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ประการต่อมา หลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เราเข้าใจคำสอนเรื่องอนิจจังคือความไม่เที่ยงในพระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น
อนิจจังหรือความไม่เที่ยงนี้มีเหตุ มีปัจจัย มีตัวแปรมากมายเกินกว่าที่จะมาคิดในเชิงนิยัตินิยมแบบนิวตัน ดังที่หลักกรรมในพระพุทธศาสนากำหนดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนากับฟิสิกส์ควอนตัม คนมักสงสัยว่าความเชื่อของชาวพุทธในเรื่องกฎแห่งกรรมจะขัดกับหลักการของฟิสิกส์ควอนตัมหรือไม่?

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจกฎแห่งกรรมในมุมมองที่ว่า ใครก็ตามที่เชื่อว่าปัจจุบันที่เราเป็นอยู่นี้เป็นผลมาจากกรรมในอดีต





ความเชื่อนี้ถูกต้อง

แต่ใครที่เชื่อว่ากรรมที่เราทำทุกอย่างในวันนี้เราจะต้องได้รับผลในอนาคตอย่างแน่นอน


ความเชื่อนี้ผิดหลักพระพุทธศาสนา


เพราะอะไร? ก็เพราะถ้าคิดว่ากรรมที่เราทำทุกอย่างในวันนี้ เราจะต้องได้รับผลหรือวิบากตามในอนาคตทั้งหมด คนที่ทำบาปกรรมมามากก็ไม่สามารถจะเป็นพระอริยะได้เพราะเขาต้องไปชดใช้กรรมไม่รู้จักจบสิ้น

หลักคำสอนของพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า เราสามารถทำกรรมดีในปัจจุบันเพื่อล้างบาปกรรมในอดีตได้ เราจึงสามารถเปลี่ยนอดีตได้ ด้วยเหตุนี้ คนเคยทำบาปก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ชีวิตของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการทำกรรมดีในปัจจุบัน

หลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยทำให้เราสามารถสร้างอนาคตของเราได้ใหม่ ชีวิตของเราไม่ได้ถูกลิขิตตายตัวจากอดีต ชีวิตของเรามีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า ถ้าเราหมั่นทำดี เราก็จะเจริญก้าวหน้า

เป็นการยากที่จะพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าคนที่ทำดีอย่างนั้นๆจะได้ดีในอนาคตเมื่อไร เพราะมีตัวแปรมากมาย เนื่องจากคนเราทำกรรมทั้งดีและชั่วคละเคล้ากันไป จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าที่คนคนนี้ได้ดีครั้งนี้เพราะทำความดีนั้นไว้เมื่อวันนั้นวันนี้ในอดีต พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เส้นทางการให้ผลของกรรมเป็นอจินไตย คือเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดปัจจัยตัวแปรมากจึงมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาวัดหนองป่าพงถูกลูกศิษย์ขอร้องให้ทำนายทายทักโชคชะตาอนาคตของเขา ท่านทนรบเร้าไม่ไหวจึงบอกให้เขาแบมือยื่นมาให้ท่านดูลายมือ หลวงพ่อชาเพ่งดูลายมือลูกศิษย์อยู่พักใหญ่แล้วพึมพำว่า “น่าสนใจ น่าสนใจ” ลูกศิษย์ถามว่า “อนาคตผมเป็นอย่างไรหรือครับ” หลวงพ่อชาตอบว่า “อนาคตของคุณน่าสนใจเพราะมันมีแต่ความไม่แน่นอน”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “Uncertainty (ความไม่แน่นนอน)” ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของฟิสิกส์ควอนตัม ก็ตรงกับคำว่า “อนิจจตา (ความไม่เที่ยง)” ในพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาเรื่องโครงสร้างของอะตอมกลับยิ่งมาส่งเสริมความเข้าใจในเรื่อง “ทุกขัง (เป็นทุกข์)”


คำว่าทุกข์มี 2 ความหมายที่สำคัญคือประการแรกทุกข์หมายถึง “ทุกขเวทนา” ได้แก่ความไม่สบายกายไม่สบายใจซึ่งหมายของทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ในอีกความหมายหนึ่งคือ “ทุกขลักษณะ” ซึ่งเป็นทุกช์ในไตรลักษณ์ ทุกขลักษณะหมายความว่า สรรพสิ่งตกอยู่ภายใต้การบีบคั้นให้ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราโยนก้อนดินขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วมันก็ต้องตกลงมาแตกบนพื้นดิน การที่ก้อนดินตกลงมาแตกเป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง แต่เหตุที่ก้อนดินตกลงมาจากท้องฟ้าก็เพราะถูกแรงดึงดูดของโลกบีบคั้นให้ต้องตกลงมา ก้อนดินไม่อาจจะอยู่บนฟ้าเพราะมีแรงที่ไปกด ไปบีบ ไปดึงก้อนดินให้ตกลงมานั่นแสดงว่าก้อนดินเป็น“ทุกขัง” คือทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก
ในจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ถูกกระทำจากพลังอื่น อีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอนไม่ได้อยู่ตามลำพัง มันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันก่อให้เกิดพลังบีบถูกคั้นให้ต้องเปลี่ยนแปลง มันจึงเป็นทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้


การที่อนุภาคพื้นฐานของอะตอมอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ก็หมายถึงว่ามันเป็น“อนัตตา”คือไม่มีแก่นสารของตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ถาวรด้วยตัวของมันเอง สรรพสิ่งต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งมาจากคำว่า “ปฏิจจะ” แปลว่า อาศัยกันและกัน “สมุปบาท” แปลว่า เกิดร่วมกัน

ในโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่ได้ด้วยตัวลำพังของมันเอง เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ เรื่องนี้เรานำมาโยงกับเรื่องอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

มีทุกข์เพราะมีสมุทัยคือมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อดับเหตุได้ก็เกิดนิโรธคือความดับทุกข์ จะดับทุกข์ได้ก็ต้องมีมรรคคือวิธีการดับทุกข์ นี่คือประยุกต์ปฏิจจสมุทปบาทเอามาใช้ในชีวิตจริง
 
สติกับควอนตัม

ในการประยุกต์ปฏิจจสมุทปบาทเอามาใช้ในชีวิตจริงนั้น ตัวมรรคหรือวิธีปฏิบัติที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ “สติ” เรามักจะพูดว่า “สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา” เวลาที่เรามีความทุกข์ในใจ เวลาเราเครียด เวลาเรากลุ้ม เวลาเราโกรธ เราจะดับทุกข์ได้อย่างไร

สติมี 2 อย่างคือ 1. ระลึกรู้ทันสิ่งที่เกิดกับเรา อย่างเช่น มองเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกในขณะปัจจุบันนี้ หรือเสียงที่เข้าหูเรา ปัจจุบันอยู่ตรงไหนรู้ทันหมด เหมือนเราขับรถก็เห็นไฟเขียวไฟแดง นี่คือมีสติกับสิ่งภายนอก 2. ระลึกรู้ทันความคิดที่เกิดขึ้นในจิตของเรา เวลาเราเห็น เวลาเราฟังแล้วคิดอย่างไร เรารู้ทันความคิดที่มาเกิดขึ้นภายในจิตใจ เราก็เรียกความรู้ทันนี้ว่าสติ เช่น จิตโกรธก็รู้ว่าโกรธ เซ็งก็รู้ว่าเซ็ง เครียดก็รู้ว่าเครียด

ฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เข้าใจเรื่องสติได้อย่างไร ?

ทฤษฎีเรื่องความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมช่วยให้เราเข้าใจว่า เมื่อเราพยายามจะสังเกตความเร็วหรือธรรมชาติของอีเล็คตรอน เราก็จะต้องหยุดอีเล็คตรอนไม่ให้เคลื่อนที่ พออีเล็คตรอนหยุดมันก็จะเสียความเคลื่อนไหว ธรรมชาติของมันก็เปลี่ยนไป เราก็ศึกษาธรรมชาติของมันไม่ได้ นี่เรียกว่ามีผลกระทบจากผู้สังเกตต่อสิ่งที่ถูกสังเกต การสังเกตได้เข้าไปเปลี่ยนธรรมชาติของสิ่งที่ถูกสังเกต มันจึงมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เมื่อเราไปเข้าสังเกตหรือศึกษามันเมื่อใด มันก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็คือความไม่แน่นอน

แม้แต่ในทฤษฎีสัมพัทธ์ก็เหมือนกัน “กาละ” หรือ “เวลา” ขึ้นอยู่กับจุดที่เราสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหว คนคนหนึ่งไปสังเกตสิ่งหนึ่งตรงจุดนี้ เวลาขณะนั้นผ่านไปช้ามาก เช่น เวลาแห่งการรอคอยที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า อีกคนหนึ่งไปสังเกตสิ่งหนึ่งอยู่ที่อื่นเวลาก็ผ่านไปเร็วมาก ดังเช่น เมื่อเรามีความสุข เวลาผ่านไปอย่างกับมีปีกบิน เวลาจึงเป็นเรื่องของความสัมพัทธ์ตามทฤษฎีของไอน์สไตน์

ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่อยู่ภายในตัวเราคือจิต มันเคลื่อนที่เร็วมาก มันเกิดดับเร็วมาก โกรธขึ้นมาปั๊บเราไม่ทันรู้ตัวเราเลย เมื่อเครียดขึ้นมา ความเครียดก็ท่วมทับจิตใจของเรา โดยที่เราไม่ได้สังเกตมันเลย และเราก็มักจะปล่อยให้ความทุกข์มันท่วมหัว เราเครียด เราทุกข์ โดยไม่เคยหันมาสังเกต สภาวะจิตของเราในขณะนั้นเลย

ถามว่าเราจะสามารถสังเกตสภาวะของจิตในขณะปัจจุบันได้หรือไม่ ?

คำตอบก็คือไม่ได้


สมมติว่าตอนนี้เรากำลังมีความสุขเหลือเกิน มีความสุขจากการทานอาหารที่อร่อย ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าอร่อย เราเอาจิตมองมาที่ความรู้สึกของเรา จิตเกิดต่อกันเป็นกระแสอย่างนี้ จิตปัจจุบันจะไม่สามารถรู้ตัวของมันเอง จิตที่มีความรู้สึกว่าอร่อย มันเป็นคนละดวงกับจิตที่สังเกตความรู้สึกอร่อย

จิตผู้สังเกตเป็นดวงปัจจุบัน ขณะที่จิตที่ถูกสังเกตเป็นดวงจิตอดีต จิตที่เป็นปัจจุบันจะมองหรือเพ่งตัวเองไม่ได้ เหมือนกับคมมีดที่ไม่อาจจะตัดตัวมันเองหรือเหมือนกับไฟฉายที่ส่องไปที่อื่น ไฟฉายส่องตัวเองไม่ได้ จิตในปัจจุบันจึงสังเกตรู้จิตที่เป็นอดีตเท่านั้น เมื่อหนึ่งนาทีที่ผ่านมาท่านรู้สึกอย่างไร ท่านกำหนดรู้ได้ อธิบายได้ เพราะเป็นการใช้จิตปัจจุบันมองจิตอดีต

ถามว่าเป็น ‘อดีต’ ที่แท้จริงหรือเปล่า ?

นี่ก็เหมือนกับหลักการแห่งความไม่แน่นอนในทฤษฎีควอนตัม พอเราไปหยุดจิตเพื่อศึกษามัน มันก็ไม่เป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะจิตได้สูญเสียความเป็นผู้รู้ (subject) และกลายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดรู้ (object) ยกตัวอย่างการที่เราผิดหวังเพราะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ฟังข่าวครั้งแรกนี่ช็อคเลย ทำไมเจ้านายทำกับเราอย่างนี้ เราอุตส่าห์ขยันทำงาน บุญก็ทำมามาก เราช็อคจนทำอะไรไม่ถูกแล้วก็ไม่มีความสุข


พอผ่านไปอีก 5 วัน ความรู้สึกมันคลายลงไป หายช็อค หายทุกข์ หายเครียด แล้วเราก็มองย้อนกลับมาดูตอนที่เราได้ฟังข่าวครั้งแรกที่เราเครียด เราช็อค รู้สึกผิดหวัง เราย้อนมองความรู้สึกตอนนั้น ถ้าให้บรรยายราก็สามารถที่จะบอกได้ว่าช็อคอย่างนั้นเสียใจอย่างนี้

แต่สิ่งที่บอกเล่าวันนี้ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงเมื่อสามวันก่อน ยิ่งเวลาผ่านไปปีหนึ่ง เรายิ่งรู้สึกเฉยมากกับเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้เราพยายามจะฟื้นความรู้สึกนั้นมันก็ไม่กลับมา มันเป็นความทรงจำที่ลางเลือน ไม่เข้มข้นเต็มที่เหมือนตอนที่เราได้ฟังข่าวร้ายครั้งแรก

เพราะอะไร


ก็เพราะสถานะของเราในปัจจุบันมันไปกระทบกับสิ่งที่ถูกมอง เราไม่ได้ไปเสวยอารมณ์ในอดีต เรามองอดีตเหมือนกับสิ่งที่อยู่ภายนอก เหมือนกับไม่ใช่ตัวของเรา ผลก็คือผู้มองได้เปลี่ยนสถานะความเป็นจริง เปลี่ยนความเข้มข้นของสิ่งที่ถูกมองในกระแสจิตเดียวกัน


ทำไมต้องรอให้มันผ่านไปสามวัน เราค่อยมามองตัวเอง ทำไมจึงไม่มองตัวเองในวินาทีแรก?
ในขณะที่เรากำลังโกรธ ถ้าเราลองเอาจิตของเรามองความโกรธของเราเองทันที การมองจะเปลี่ยนสถานะของสิ่งที่ถูกมอง นั่นคือ ความโกรธจะลดลงทันที

นี่คือหลักในการปฏิบัติธรรม


ถ้าอธิบายด้วยหลักของฟิสิกส์ควอนตัมก็คือว่าผู้สังเกตได้ไปจับสิ่งที่สังเกตให้หยุดนิ่งจนมันเปลี่ยนสถานะ ตัวอย่างเช่น เรากำลังร้องเพลงคาราโอเกะอย่างสนุกสนานกับเพื่อนๆ ทันทีนั้นเรานึกถึงตัวเองว่าเรามาทำบ้าอะไรอยู่ที่นี่ ลูกกำลังอดข้าวอยู่ที่บ้านยังจะมาร้องเพลงอยู่อีกหรือ


เห็นอะไรไหม?
จิตเปลี่ยนไปเลยใช่หรือไม่?


เพราะผู้สังเกตได้เปลี่ยนสิ่งที่ถูกสังเกตนั่นก็คือเปลี่ยนตัวเอง เหมือนกับการปฏิบัติกรรมฐาน หลายคนพอนั่งกรรมฐานทีไรฟุ้งซ่านทุกที ลืมกำหนดหายใจเข้า หายใจออก คิดเตลิดไปไหนก็ไม่รู้ เห็นภาพอะไรเต็มไปหมด อาจารย์สอนว่า เวลาจิตคิดฟุ้งซ่านให้กำหนดรู้ว่าฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ เรากำลังฟุ้งคิดอะไรให้รู้ทันว่ากำลังคิด


พอเราเอาจิตไปมองจิตที่กำลังฟุ้ง มันจะหยุดกระแสของความฟุ้งซ่านทันที เพราะผู้สังเกตมีผลกระทบต่อสิ่งที่ถูกสังเกต ถ้าเวลาที่เราโกรธ เรามีสติกำหนดรู้ว่าเรากำลังโกรธ ความโกรธจะลดลงทันที ตรงกับหลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ที่ผู้สังเกตมีผลกระทบต่อสิ่งที่ถูกสังเกต เราเอาใจมองใจ ใจที่มองจะมีผลกระทบต่อใจที่ถูกมอง


แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีสติทันที เช่นพอโดนด่าว่าแล้วเกิดความโกรธ เราย้อน มองตัวเองทันทีว่าทำไมต้องโกรธ พอเรามองดูความโกรธเท่านั้น ความโกรธก็จะเจือจางลงทันที
ปัญหาก็คือ เราไม่ได้ฝึกสติ สติจึงมาไม่ทัน เราก็เลยสติแตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าสติมาปัญญาก็เกิด คือเห็นตัวเองตามความเป็นจริง แต่ถ้าสติเตลิด มักเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมเราต้องฝึกมองด้านในคือมองตน ดังคำกลอนที่ว่า


โลกภายนอกกว้างไกลใครๆ รู้
โลกภายในลึกซึ้งอยู่รู้บ้างไหม
จะมองโลกภายนอกมองออกไป
จะมองโลกภายในให้มองตน


โลกภายนอกในระดับมหภาคขึ้นอยู่กับกฎแห่งเหตุผลในฟิสิกส์ดั้งเดิม แต่โลกภายในอะตอมระดับจุลภาคขึ้นอยู่กับหลักการแห่งความไม่แน่นอนในฟิสิกส์ควอนตัม การที่พระพุทธศาสนาสอนให้มองด้านใน เราก็มองให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาภายในจิตใจ
4564  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: พระพุทธศาสนา ไม่เคยทะเลาะ กับ วิทยาศาสตร์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:22:31



ฟิสิกส์ควอนตัม


อย่างไรก็ตาม ฟิสิกส์ควอนตัมได้เข้ามาทำให้ความเชื่อเรื่องความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยแบบนี้หมดไป เปรียบเหมือนกับการที่เรากำลังยืนอยู่บนพรมแห่งความมั่นคงปลอดภัยของฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันแล้วอยู่ๆ ก็มีคนมากระตุกพรมออกจากใต้เท้าของเราจนเราล้มทั้งยืน ฟิสิกส์ควอนตัมทำลายความมั่นใจของฟิสิกส์ดั้งเดิมให้หมดไป


คำว่า “ควอนตัม (Quantum)” เป็นภาษาลาตินแปลว่า “ขนาดไหน” หรือ “จำนวนเท่าไร” เป็นคำที่ใช้พูดถึงจำนวนหรือขนาดพลังงานของอะตอม
คล้ายกับคำว่า “นาโน (Nano)” ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า “คนแคระ” เป็นคำที่ใช้วัดขนาดของสิ่งที่เล็กมากๆ เช่น อะตอม ดีเอ็นเอ ในนาโนเทคโนโลยี


 

 
 
ฟิสิกส์ควอนตัมเสนอภาพใหม่ของจักรวาลที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความคิดที่ว่าจักรวาลมีความเป็นเหตุเป็นผลที่เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้กลายเป็นความไม่แน่นอน จนกระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธ์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎีควอนตัมขึ้นมาก็ได้พยายามปฏิเสธทฤษฎีควอนตัมในบั้นปลายชีวิต โดยที่ไอน์สไตน์กล่าวว่าถ้าทฤษฎีควอนตัมเป็นจริง โลกใบนี้ก็จะไม่มีกฎระเบียบอะไรเลย ซึ่งเขาใช้คำว่าเพี้ยน (Crazy) ดูเหมือนว่าตอนนี้โลกเพี้ยนจริงๆ คือบางครั้งดูจะไร้กฎ ไร้ระเบียบ ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย ดังที่เรามักจะพูดว่าไม่มีอะไรแน่นอนนอกจากความไม่แน่นอน
ทฤษฎีควอนตันจึงโยงไปถึงคำสอนเรื่อง ‘อนิจจัง ความไม่ที่ยง’ ในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่าทฤษฎี ควอนตันได้เปิดเผยสภาวะที่เรียกว่าความไม่แน่นอน (Uncertainty) เนื่องจากว่า แนวคิดสำคัญประการหนึ่งของฟิสิกส์ควอนตัมก็คือหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)


ในฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน จักรวาลมีกฎระเบียบแน่นอนจนเราพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โลกนี้มีกฎธรรมชาติที่แน่นอน แต่ฟิสิกส์ควอนตันกลับเสนอว่าโลกนี้มีความไม่แน่นอน ดังนั้นไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า ถ้าทฤษฏีของฟิสิกส์ควอนตัมเป็นจริง มันจะไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีความเป็นกฎที่แน่นอน แสดงว่าเราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะมันเป็นไปตามหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมเสียแล้ว


ควรทราบว่า การที่ทฤษฏีควอนตัมทำให้ภาพของจักรวาลเปลี่ยนไป เพราะฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้ไปสนใจเรื่องกฎของจักรวาลแบบมหภาค ฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้สนใจเรื่องการโคจรดวงดาว เรื่องดวงจันทร์ หรือเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ฟิสิกส์ควอนตัมกลับสนใจศึกษาโครงสร้างของอะตอมที่เป็นอนุภาคพื้นฐานสำหรับสร้างจักรวาล ซึ่งถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานตรงนี้ เราจะเข้าใจภาพรวมของจักรวาลทั้งหมด ดังนั้น ฟิสิกส์ควอนตัมจึงเป็นการกลับไปหาจุดเริ่มต้นดั้งเดิมของจักรวาล
 


ภาพรวมของจักรวาลอย่างที่เราศึกษากันอยู่ในทุกวันนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นแนวคิดแบบฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องใหญ่แบบมหภาค แต่ฟิสิกส์ควอนตัมหันมาศึกษาเรื่องที่เล็กมาก แบบจุลภาค (Micro) นั่นคือโครงสร้างของอะตอมหรือปรมาณู จึงกล่าวได้ว่า ฟิสิกส์ควอนตัมสนใจส่วนที่เล็กที่สุดของจักรวาล


นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเชื่อว่า อะตอมไม่มีโครงสร้างอะไรเพราะมันเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดในจักรวาล คนสมัยก่อนเชื่อว่าอะตอมแบ่งแยกไม่ได้ตามที่นักปรัชญากรีกเชื่อกันมาเป็นพันๆ ปี แม้แต่ในอินเดีย ปรัชญาฮินดูสำนักไวเศษิกะก็สอนว่ามีอะตอมหรือปรมาณู ตรงกับที่เรียกว่า “อัตตา” หรือ “อาตมัน” นั่นคือ มีสิ่งที่แบ่งแยกย่อยต่อไปไม่ได้ เรียกว่า ปรมาณู อะตอม อัตตาหรืออาตมัน
 
ในบรรดาศาสนาสำคัญของโลกมีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ปฏิเสธอะตอม ปฏิเสธอัตตาหรืออาตมัน นั่นก็คือพระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ยืนยันว่าไม่มีแก่นสารทั้งในฝ่ายจิตและฝ่ายสสาร แก่นสารในฝ่ายจิตเรียกว่าอาตมันหรือวิญญาณอมตะ (Immortal soul) ส่วนแก่นสารในฝ่ายสสารเรียกว่าอะตอมหรือปรมาณู ศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูต่างสอนว่ามีอาตมันหรือวิญญาณอมตะในมนุษย์และมีอะตอมหรือปรมาณูในสสาร

 
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” แปลว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา” หมายความว่า สรรพสิ่งทั้งที่เป็นจิตและสสารล้วนไม่มีแก่นแท้ถาวร คือเป็นอนัตตา

 
เมื่อแปลคำว่าอนัตตาเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องใช้คำ 2 คำ นั่นคือ ถ้าใช้คำว่าอนัตตาให้หมายถึงว่าไม่มีอาตมันหรือวิญญาณอมตะในมนุษย์ เราต้องแปลว่า Not-self หรือ Non-ego แต่ถ้าใช้อนัตตาให้หมายถึงว่าไม่มีอะตอมหรือแก่นสารที่เที่ยงแท้ในสสาร เราต้องแปลว่า Non-substantiality (ไม่มีแก่นแท้ถาวร)


พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตาในจิตและสสารมากว่าสองพันปี พระพุทธศาสนาถือว่าไม่มีอัตตาหรืออะตอมสสาร ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีแก่นแท้ถาวรที่ตั้งอยู่ได้ในตัวของมันเอง สรรพสิ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตลอดเวลาตามหลักปฏิจจสมุปบาท ดังที่ควอนตัมฟิสิกส์ระบุว่าไม่มีอะตอมที่อยู่ได้ตามลำพังตัวเอง โครงสร้างอะตอมประกอบด้วยอีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอน อนุภาคของอะตอมที่เป็นประจุไฟฟ้าบวก(โปรตอน)และประจุไฟฟ้าลบ(อีเล็คตรอน)ต่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อีเล็คตรอนวิ่งโคจรรอบนิวเคลียสด้วยความเร็วที่สูงมาก การเกาะกลุ่มของประจุไฟฟ้าเหล่านั้นกลายเป็นอะตอม และประจุไฟฟ้าเหล่านั้นก็ไม่อาจอยู่ได้ตามลำพัง ทั้งหมดต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา


โดยสรุปแล้วภาพของจักรวาลในทฤษฎีควอนตัมต่างจากฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันก็คือ อะตอมถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นองค์ประกอบที่เล็กกว่าซึ่งเป็นประจุไฟฟ้าที่วิ่งวนกันเองคืออีเล็คตรอน โปรตอนและนิวตรอน อะตอมจึงเป็นสนามพลังงานขนาดจิ๋ว องค์ประกอบย่อยของอะตอมนั้นบางครั้งก็เป็นอนุภาค(Particle) บางครั้งก็เป็นคลื่น (Wave)


อีเล็คตรอนของอะตอมเคลื่อนที่รอบแกนกลางคือนิวเคลียสตลอดเวลา ขณะที่อีเล็คตรอนกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง อีเล็คตรอนปรากฎเป็นคลื่น ด้วยความเร็วระดับนั้น เราจึงไม่อาจกำหนดตำแหน่งที่ตั้งของอีเล็คตรอนนั้นในขณะใดขณะหนึ่งได้ ถ้าเราจะพยายามหาตำแหน่งที่ตั้งของมันก็ต้องจับให้อีเล็คตรอนหยุดนิ่งอยู่กับที่ซึ่งจะทำให้มันสูญเสียคุณสมบัติแห่งความเป็นคลื่น อีเล็คตรอนที่หยุดนิ่งจะกลายเป็นอนุภาคทันที ดังนั้น องค์ประกอบย่อยของอะตอมบางครั้งจึงเป็นอนุภาคบางครั้งก็เป็นคลื่น

 

ความเป็นทั้งอนุภาคและทั้งคลื่นนี้แหละที่ทำให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ (Unpredictable) ตราบใดที่อนุภาคของอะตอมยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง มันก็ปรากฎเป็นคลื่น เราไม่มีทางที่จะกำหนดคุณสมบัติที่แน่นอนของคลื่นนี้ได้ เมื่อเราพยายามหยุดมันไว้กับที่ มันก็สูญเสียคุณสมบัติของตัวมันเอง นอกจากนี้ วงโคจรของอนุภาครอบนิวเคลียสก็เปลี่ยนแปลงไปตามแรงที่กระทำต่อนิวเคลียส ดังนั้น พฤติกรรมขององค์ประกอบย่อยภายในโครงสร้างของอะตอมจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะมันมีคุณสมบัติที่เรากำหนดไม่ได้และมีวงโคจรที่ไม่แน่นอน นี่คือหลักการแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle)

 
หลักการแห่งความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมได้เปลี่ยนแนวคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิม ที่ชูธงเรื่องความแน่นอนที่เราสามารถจะพยากรณ์อะไรก็ได้ ความเชื่อเรื่องความแน่นอนเหล่านี้เป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับฟิสิกส์ควอนตัม
4565  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: พระพุทธศาสนา ไม่เคยทะเลาะ กับ วิทยาศาสตร์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:22:03



ฟิสิกส์ดั้งเดิม


ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีฟิสิกส์ไว้ 2 สำนักใหญ่คือ ฟิสิกส์ดั้งเดิม (Classical physics) กับฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum physics)
 
ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างฟิสิกส์ดั้งเดิมกับฟิสิกส์ควอนตัม ฟิสิกส์ทั้ง 2 สำนักมีแนวความคิดบางอย่างที่ขัดแย้งกัน แต่กลายเป็นว่าฟิสิกส์ควอนตัมกลับช่วยอธิบายหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตัน (Newton physics) ในเรื่องที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา 2 เรื่องคือ ปฏิจสมุทปบาทและไตรลักษณ์

ปฏิจสมุทปบาทหรืออิทัปปัจจยตาเป็นคำสอนที่ว่าด้วยการที่สิ่งต่างๆอาศัยกันและกันเกิดขึ้นที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยการตรัสรู้ ส่วนเรื่องไตรลักษณ์ ซึ่งก็คือคำสอนว่าด้วยลักษณะ 3 ประการของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ “อนิจจัง(ไม่เที่ยง) ทุกขัง(เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่มีแก่นสาร)” อันเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น

เราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ รู้แล้วละ รู้แล้ววาง ทุกวันนี้เราเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ได้ยากขึ้นเพราะมีแนวคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมมาขวางกั้นเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงธรรม เพราะฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตันมีแนวคิดหลักอยู่ที่ 4 หัวข้อคือ 1.อะตอม 2.กาละ 3.เทศะ และ 4.แรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของโลก

เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ถือว่าสรรพสิ่งมีมวลสารที่แบ่งแยกไม่ได้และตั้งอยู่ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเรียกว่าอะตอม(Atom) จริงๆ แล้วความคิดเรื่องอะตอมเป็นแนวคิดหลักของฟิสิกส์ดั้งเดิมที่ถือว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของสสาร(Matter)ในโลกที่ถูกแบ่งย่อยให้เล็กลงๆ ในที่สุดจะถึงจุดที่เล็กที่สุดซึ่งแบ่งย่อยต่อไปไม่ได้อีก ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบเล็กที่สุดสำหรับสร้างจักรวาล เราเรียกว่า “Building blocks” ก็เหมือนกับก้อนอิฐแต่ละก้อนสำหรับสร้างบ้านนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเราแบ่งอะไรต่อมิอะไรจนไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดแล้วมันจะถึงจุดที่แบ่งแยกไม่ได้ ในเชิงสสารจุดที่แบ่งแยกไม่ได้นี้เรียกว่า “อะตอม”
 

 
อะตอม(Atom) เป็นภาษากรีก แปลว่า “ตัดแบ่งไม่ได้ (Uncuttable)” อะตอมคือสิ่งที่เราไม่สามารถจะแบ่งย่อยต่อไปได้อีก หลักของเรื่องนี้ก็คือไม่ว่าเราแบ่งอะไรก็ตาม ในที่สุดมันต้องไปถึงจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายที่แบ่งต่อไปไม่ได้นั่นแหละคือ “อะตอม” ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร ความคิดอย่างนี้เราเรียกว่าเป็น “paradigm” หรือความเชื่อพื้นฐานของวิทยาศาสตร์โลกตะวันตกมากว่า 2,000 ปี จนมาถึงสมัยนิวตันก็ยังเชื่อว่ามีอะตอม

นิวตันเชื่อว่าสสารซึ่งมีองค์ประกอบที่เล็กที่สุดคืออะตอมได้สร้างจักรวาล สร้างดวงดาว สร้างอะไรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวก่อให้เกิดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อกันในกล่องใบใหญ่ซึ่งเป็นที่ว่างคือเทศะในจักรวาลอันว่างเปล่าใหญ่โตและขึ้นอยู่กับกาลเวลา

อีกประเด็นหนึ่งที่ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันเห็นขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาก็คือเรื่องกาลเวลา
นิวตันเชื่อว่ากาลเวลาเป็นเรื่องที่มีอยู่ในตัวของมันเอง แต่พระพุทธศาสนาถือว่ากาละหรือเวลา เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้น ในพระอภิธรรมเราเรียกว่าบัญญัติ คือคนเราคิดขึ้นมาโดยที่กาลเวลาไม่ได้มีอยู่ในตัวมันเอง แต่นิวตันถือว่ากาละหรือเวลาเป็นความจริงอีกมิติหนึ่งมีอยู่จริง

มวลสารของจักรวาลที่เรียกว่าอะตอมหรืออนุภาคที่เล็กที่สุดมารวมตัวกันเป็นสิ่งต่างๆ เช่นดวงดาวแล้วเคลื่อนไหวในเทศะหรือที่ว่างในอวกาศ ที่ว่างหรือเทศะนี้ก็เป็นความจริงอีกมิติหนึ่งเช่นเดียวกับกาละ สิ่งต่างๆในจักรวาลที่เคลื่อนไหวนั้นได้สร้างแรงที่กระทำต่อกันเรียกว่าแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วง สิ่งทั้งหลายเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันภายใต้กฎที่ชัดเจนแน่นอน เหมือนกับเครื่องจักรกลของนาฬิกาที่เดินอย่างเที่ยงตรงจนเราคาดเวลาล่วงหน้าได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรารู้ความสัมพันธ์ที่เป็นแบบแผนของสิ่งต่างๆว่าอะไรกระทำต่ออะไร ณ จุดไหนในจักรวาล เราก็สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนเมื่อไร
 

 
 
เพราะฉะนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันจึงถือว่า ถ้าเรารู้เทศะคือจุดที่สสารตั้งอยู่ และรู้แรงทั้งหมดที่มากระทำต่อสสารนั้นๆในเวลานั้น เราก็จะสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังที่นักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสชื่อปิแอร์ ซีโมน ลาปลาซ (Pierre Simon Laplace) กล่าวอย่างมั่นใจว่า
 
“ในขณะใดขณะหนึ่งที่กำหนดให้ปัญญาซึ่งรู้แรงทุกแรงที่กระทำอยู่ในธรรมชาติ และรู้ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นโลก สมมติว่าปัญญาดังกล่าวนั้นกว้างขวางพอที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ มันย่อมจะรวมสูตรการเคลื่อนที่ของก้อนวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลและของอะตอมที่เล็กที่สุดเอาไว้ด้วย ไม่มีสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับมัน และเช่นเดียวกับอดีต อนาคตจะปรากฏแก่สายตาของมัน”

คนเราทุกวันนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมแบบนี้ เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถบอกอดีต ทำนายอนาคต ทำให้เกิดการป้องกันต่างๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของกฎจักรวาล เมื่อเรารู้กฎวิทยาศาสตร์แล้วเราก็สามารถที่จะควบคุมตัวแปรต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้ และสามารถที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับอนาคตที่จะตามมาได้
ดังนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมได้สร้างภาพของจักรวาลให้เป็นเหมือนเครื่องจักรกลมโหฬารที่ค่อนข้างจะมีความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยจนมนุษย์สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยเหตุนี้ฟิสิกส์ดั้งเดิมจึงส่งเสริมความเชื่อแบบนิยัตินิยม (Determinism) คือแนวคิดที่ว่าทุกเหตุการณ์ในโลกนี้ถูกกำหนดล่วงหน้าไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นเมื่อนั้นเมื่อนี้
4566  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / พระพุทธศาสนา ไม่เคยทะเลาะ กับ วิทยาศาสตร์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:21:31

 
 
พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์
 
พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
 
 
 
การค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมามีส่วนช่วยให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะว่าหลักของพระพุทธศาสนานั้นถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบสัจธรรมซึ่งมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงนำสัจธรรมนั้นมาประกาศแก่ชาวโลก ดังพุทธพจน์ที่ว่า
 
“อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุนั้นคือ ธรรมฐิติ (ความดำรงอยู่ตามธรรมชาติ) ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติ) อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่สรรพสิ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย) ก็ยังมีอยู่ พระตถาคตเจ้าย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้นแล้วบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย”
 
พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและประกาศเปิดเผยกฎธรรมชาติไว้เมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ต่อมาวิทยาศาสตร์สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ค้นพบกฎธรรมชาติเดียวกันนั้นหรือเพิ่มเติมอื่นใด สิ่งที่ศาสตร์ทั้งหลายค้นพบย่อมจะนำไปสู่ความจริงเดียวกัน นั่นคือสัจธรรม
 
พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ผูกขาดความจริง เรื่องสัจธรรม ดังนั้นสัจธรรมที่ศาสตร์ต่างๆ ค้นพบจะคลี่คลายขยายตัวมาส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ พระพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น
มีข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมวาทีคือผู้กล่าวสัจธรรม ผู้ที่เป็นธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับพวกธรรมวาทีด้วยกันเพราะต่างฝ่ายต่างพูดถึงสัจธรรมหรือความจริง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“นาหํ ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆในโลก” เมื่อพระพุทธเศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็เป็นธรรมวาที ที่กล่าวถึงสัจธรรมความจริงด้วยกัน จึงไม่มีอะไรที่จะต้องขัดแย้งกัน มีแต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น หากจะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็เพราะมีเป้าหมายที่ต่างกันในการแสวงหาความจริง วิทยาศาสตร์แสวงหาความจริงเพื่อเป็นนายเหนือโลกที่ควบคุมสภาวการณ์ต่างๆไว้ได้ ขณะที่พระพุทธศาสนาแสวงหาความจริง เพื่อความเป็นผู้พ้นโลกคือดับทุกข์
 
เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างนี้แล้ว เราจะมาลองเปรียบเทียบสัจธรรม ในพระพุทธศาสนา กับความจริงที่วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง คือฟิสิกส์ควอนตัมได้นำเสนอว่า มีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร
4567  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:19:40
2.9 ญาณทัศนะ


โดยทั่ว ๆ ไป แม้ว่าประสบการณ์อันลึกซึ้งในทางศาสนาจะไม่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่มิได้ฝึกฝนมาอย่างเพียงพอก็ตาม ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสรรพสิ่งก็เป็นที่ประจักษ์แก่ในเราได้ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนคุ้นเคยกับสภาวะที่เราได้ลืมชื่อของบุคคล หรือสถานที่หรือคำพูดบางคำ และไม่อาจนึกถึงมันได้แม้จะใช้สมาธิมากที่สุดก็ตาม มัน “ติดอยู่แค่ริมฝีปากของเรา” แต่ก็นึกไม่ออก จนเราเลิกใส่ใจกับมันและหันไปสนใจสิ่งอื่น และทันทีทันใดนั้นในชั่วพริบตา เราก็จำชื่อซึ่งหลงลืมไปนั้นได้ ไม่มีความคิดร่วมอยู่ด้วยในกระบวนการนี้ หากเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ฉับพลัน ตัวอย่างของการระลึกได้อย่างฉับพลันเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์ชัด โดยเฉพาะแก่พุทธศาสนา ซึ่งมีคำสอนว่าธรรมชาติเดิมของเราเป็นธรรมชาติแห่งพุทธะ และเราได้หลงลืมมันไป นักศึกษาเซนจะได้รับ โกอัน (Koan) ว่า “หน้าตาดั้งเดิมของเธอเป็นอย่างไร” และการ “ระลึกได้” อย่างฉับพลันถึงหน้าตาดั้งเดิมนี้ ถือเป็นการรู้แจ้งของผู้นั้น อีกตัวอย่างหนึ่งของญาณทัศนะอันเกิดขึ้นและเป็นไปเอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือเรื่องขำขัน ในวินาทีที่คุณเข้าใจเรื่องขำขันนั้น ๆ คุณได้ประสบกับขณะแห่งการรู้แจ้งเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะแห่งเหตุการณ์เช่นนี้ต้องเกิดขึ้นเอง มิได้เกิดจากการ “อธิบาย” เรื่องขำขันเรื่องนั้น นั่นคือ มิได้เกิดจากการวิเคราะห์ด้วยคิด ด้วยความรู้ที่ผุดขึ้นในใจอย่างฉับพลันถึงแก่นของเรื่องขำขันเท่านั้น เราจึงจะหัวเราะได้อย่างเต็มที่ตามที่ความมุ่งหมายของเรื่องนั้นประสงค์ ความคล้ายคลึงระหว่างญาณทัศนะในทางจิตวิญญาณและความเข้าใจในเรื่องขำขัน ต้องเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้บรรลุธรรม เนื่องจากท่านเหล่านั้นส่วนมากแสดงอารมณ์ขันออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซนซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องตลกและเกร็ดขำขันต่าง ๆ และในคัมภีร์เต๋าเตอจิงกล่าวไว้ว่า “หากไม่ถูกหัวเราะเยาะนั้นก็มิใช่เต๋า” (13) ในชีวิตประจำวันของเรา ญาณทัศนะซึ่งเจาะตรงสู่ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ นั้น โดยปกติจะเกิดขึ้นจำกัดอยู่ในระยะเวลาที่สั้นยาวนาน และในขั้นสัมบูรณ์จะกลายเป็นความหยั่งรู้อย่างต่อเนื่อง การตระเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการหยั่งรู้นี้ –การหยั่งรู้ในสัจจะโดยฉับพลัน ปราศจากความคิดปรุงแต่ง –เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของทุกศาสนาและของแนวคำสอนอื่น ๆ ในตะวันออก ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ได้มีการพัฒนาเทคนิค พิธีกรรม และศิลปะในแบบต่าง ๆ เพื่อนำให้บุคคลบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกรวมว่า การภาวนา ในความหมายที่กว้างที่สุดได้ จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานของเทคนิคเหล่านี้ คือการทำให้ใจที่เต็มไปด้วยความนึกคิดเงียบสงบลง เปลี่ยนความตระหนักรู้จากฐานของเหตุผลมาเป็นฐานของญาณทัศน์ ในการทำใจให้สงบนั้น วิธีภาวนาหลาย ๆ แบบได้แนะนำให้จดจ่อความสนใจอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว เช่น ลมหายใจ เสียงสวดมนต์ หรือนิมิตของมณฑล (ในพวกธิเบต) ในการภาวนาแบบอื่น ๆ แนะให้ใส่ใจในการเคลื่อนไหวของร่างกายซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปเองโดยไม่ถูกความคิดรบกวน นี่คือ วิธี โยคะ ของฮินดู และไท้จิฉวน (T’ai Chi Ch’uan) ของเต๋า การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเช่นนี้นำไปสู่ความรู้สึกสงบและสติเช่นเดียวกับวิธีการภาวนาแบบแรกความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ในการเล่นกีฬาบางชนิด เช่น การเล่นสกี เป็นต้น

2.10 ผู้แสวงหาเต๋าจะลดลง


ศิลปะของตะวันออกก็เช่นกัน เป็นศิลปะของการภาวนา ซึ่งมิใช่สื่อของการแสดงความคิดของศิลปินเท่านั้น แต่ยังมีความหมายมากกว่า คือเป็นวิถีทางแห่งการเข้าใจตนเองโดยผ่านการพัฒนาของญาณทัศนะ ดนตรีอินเดียไม่ได้เรียนกันด้วยการอ่านโน้ตคนตรีแต่โดยการฟังครูผู้สอนเล่นดนตรีซึ่งจะพัฒนาความรู้สึกในดนตรี เช่นเดียวกับไท้จีซึ่งไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่โดยการให้ฝึกร่วมกับครูซ้ำแล้วซ้ำอีกพิธีชงชาของญี่ปุ่นกอปรด้วยการเคลื่อนไหวที่แช่มช้าและเป็นพิธีกรรมมาก การเขียนตัวอักษรจีนต้องใช้มือที่เคลื่อนไหวอย่างไม่มีสิ่งยับยั้งและเป็นไปเอง ในตะวันออกความชำนิชำนาญเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สำหรับคนส่วนมากโดยเฉพาะนักคิด ปัญญาชน ความรู้สึกตัวเช่นนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ซึ่งไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย นักวิทยาศาสตร์คุ้นเคยกับความรู้แจ้งโดยตรงในภายในจากงานวิจัยของเขา เพราะว่าการค้นพบใหม่ ๆ ทุกอันเริ่มจากความรู้ที่แวบขึ้นมาในทันทีทันใด โดยปราศจากการคิดนึกมาก่อน ทว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สั้นมาก และเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเต็มไปด้วยข้อมูลและความคิด ตรงกันข้ามในการภาวนา จิตใจถูกทำให้ว่างจากความคิดทั้งมวล พร้อมสำหรับการรับรู้อันแจ่มชัดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ข้อแตกต่างระหว่างการคิดค้นวิจัย และการภาวนาอาจเปรียบเทียบจากคำของเหลาจื้อว่า ผู้แสวงหาการเรียนรู้จะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ผู้แสวงหา เต๋า จะลดลงทุกวัน (14)

2.11 วิถีแห่งนักรบ


เมื่อความคิดนึกเงียบสงบลง ความรับรู้ก็ชัดเจนขึ้น การรับรู้สภาพแวดล้อมก็ตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องกรองของความคิดนึก ในคำของจางจื้อ “จิตที่สงบนิ่งของผู้รู้ คือกระจกเงาสะท้อนภาพของสวรรค์และโลก –กระจกสะท้อนสรรพสิ่ง” (15) การหยั่งรู้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบข้างเป็นลักษณะสำคัญของการภาวนาขั้นนี้ เป็นภาวะการรับรู้ที่การแบ่งแยกในรูปแบบต่าง ๆ ยุติลง และรับรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง ในการภาวนาขั้นลึก จิตตื่นตัวอย่างเต็มที่ นอกจากความรู้เข้าใจในสัจจะ ซึ่งมิใช่ความรับรู้ทางประสาทสัมผัสแล้ว จิตก็ยังรับรู้เสียง ภาพ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยปราศจากการวิเคราะห์วิจารณ์ ความตั้งใจตื่นตัวของจิตไม่สูญเสียไปภาวะความตระหนักรู้เช่นนั้นเป็นเช่นเดียวกับภาวะจิตใจของนักรบ ที่มุ่งจู่โจมศัตรูด้วยความตื่นตัวเต็มที่โดยไม่ให้ทุกสิ่งรอบข้างมาหันเหความสนใจไปได้ อาจารย์เซน ยาสึตานิ โรชิ (Yasutani Roshi) ใช้ภาพพจน์อันนี้ในการอธิบายชิกัน ทะซะ (Shikan-taza) การฝึกภาวนาแบบเซนว่า ชิกัน ทะซะเป็นสภาวะของสติขั้นสูง ในภาวะนั้นปราศจากความเครียดหรือเร่งรีบและไม่เกียจคร้าน เป็นจิตใจของผู้เผชิญหน้ากับความตาย ให้ลองนึกว่าเรากำลังอยู่ในการต่อสู้ระหว่างซามูไรสองคน ขณะที่ท่านเผชิญหน้ากับศัตรู ท่านต้องมีจิตใจจดจ่อมั่นคงและพร้อมอยู่ตลอดเวลา หากท่านผ่อนความระมัดระวังลงแม้เพียงแวบเดียว ท่านก็อาจจะถูกฟันทันที ฝูงชนได้มามุงดูการต่อสู้ ในเมื่อท่านมิได้ตาบอด ท่านก็เห็นพวกเขาจากทางตาของท่าน ในเมื่อท่านหูไม่หนวก ท่านย่อมได้ยินเสียงของพวกเขา แต่ไม่มีแม้ขณะเดียวที่จิตใจของท่านถูกจับอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้ (16) เพราะความคล้ายคลึงของภาวะในการภาวนากับกรอบของจิตใจของเหล่านักรบ ภาพพจน์ของนักรบจึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางจิตวิญญาณและทางวัฒนธรรมของตะวันออก คัมภีร์ภควัทคีตา ของอินเดียซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสงคราม ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีของจีนและญี่ปุ่น อิทธิพลอันมากมายของเซนต่อวิถีชีวิตของซามูไรก่อให้เกิด บึชิโด “วิถีแห่งนักรบ” ศิลปะแห่งการใช้ดาบ ซึ่งญาณทัศนะของนักดาบได้บรรลุสมบูรณ์ถึงที่สุด ไท้จิฉวนของเต๋าซึ่งเป็นศิลปะการป้องกันตัวขั้นสุดยอดของจีน ได้โยงเอาการเคลื่อนไหวที่ช้าและเป็นจังหวะของโยคะเข้ากับความตื่นตัวเต็มที่แห่งจิตใจของนักรบได้อย่างประสิทธิภาพ

2.12 ข้อจำกัดของนิวตัน

ศาสนาตะวันออกมีพื้นฐานอยู่บนการเห็นแจ้งโดยตรงต่อสัจจะ ส่วนฟิสิกส์มีพื้นฐานอยู่บนการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสาขาทั้งสองการสังเกตได้ถูกแปลความหมาย และความหมายนั้นถูกสื่อสารด้วยภาษาคำพูด ในเมื่อภาษาคำพูดเป็นแผนที่ซึ่งย่อสรุปสัจจะอย่างคร่าว ๆ ดังนั้น การแปลความหมายการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือความเข้าใจภายในทางศาสนาออกเป็นภาษาคำพูดจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และไม่ละเอียดเพียงพออย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งฟิสิกส์สมัยใหม่ และศาสนาตะวันออกต่างตระหนักในความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี ในฟิสิกส์ การอธิบายความหมายของการทดลองนั้นเรียกว่าแบบจำลอง (model) หรือทฤษฎี (Theory) และความเข้าในที่ว่าแบบจำลองและทฤษฎีทั้งหมดเป็นประมาณการ (approximation) นั้น ถือเป็นพื้นฐานของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำพังเพยของไอน์สไตน์ที่ว่า “ตราบเท่าที่กฎทางคณิตศาสตร์อ้างโยงถึงความจริง มันก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และหากว่ามันเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว มันก็ไม่อาจอ้างโยงถึงความจริงได้” นักฟิสิกส์รู้ว่าวิธีการวิเคราะห์และการใช้เหตุผลเชิงตรรกไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมดในทันทีได้ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงเลือกเอาปรากฏการณ์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพยายามสร้างแบบจำลองขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์กลุ่มนั้น ในการกระทำดังกล่าว พวกเขาได้ละเลยปรากฏการณ์ส่วนอื่น แบบจำลองที่สร้างขึ้นจึงไม่อาจอธิบายถึงสภาพการณ์ทั้งหมดได้ อาจจะเนื่องจากปรากฏการณ์ส่วนที่มิได้นำมาศึกษานั้น ส่งผลน้อยมากจนกระทั่งว่าหากนำมารวมศึกษาด้วยก็จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทฤษฎีอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่เช่นนั้น ก็เพราะมันไม่เป็นที่ทราบกันในระยะเวลาที่มีการทฤษฎีสร้างขึ้น เพื่อให้เห็นประเด็นอย่างชัดเจน ลองดูแบบจำลองทางฟิสิกส์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดอันหนึ่ง ก็คือวิชากลศาสตร์สมัยเดิมของนิวตัน ผลของความต้านทานหรือแรงเสียดสีของอวกาศ มิได้ถูกนำมาเกี่ยวข้องในแบบจำลองนี้ เพราะโดยทั่ว ๆ ไปมันมีค่าน้อยมาก แต่ถึงแม้จะละเลยจุดนี้ไป กลศาสตร์แบบนิวตันก็ถูกถือว่าเป็นทฤษฎีสุดท้าย ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมดมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จนกระทั่งมีการค้นพบปรากฏการณ์ของไฟฟ้าและแม่เหล็กซึ่งไม่ปรากฏเลยในทฤษฎีของนิวตัน การค้นพบปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองดังกล่าวไม่สมบูรณ์ และเราอาจประยุกต์ไปใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ได้เพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของของแข็งเท่านั้น การศึกษาปรากฏการณ์ที่จำกัดอยู่บางกลุ่มอาจหมายความถึงการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของมันในขอบเขตที่จำกัดอันหนึ่งเท่านั้นซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทฤษฎีเป็นเรื่องของการประมาณการประมาณนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เพราะเราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าข้อจำกัดของทฤษฎีนั้นอยู่ตรงจุดใดเราต้องอาศัยประสบการณ์เท่านั้นจึงอาจจะบอกได้ ดังนั้นภาพพจน์ของกลศาสตร์สมัยเก่าจึงถึงเซาะทำลายมากขึ้นไปอีก เมื่อฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 ได้แสดงให้เห็นข้อจำกัดของมันในปัจจุบันเรารู้ว่าทฤษฎีของนิวตันใช้ได้สำหรับวัตถุซึ่งประกอบด้วยอะตอมจำนวนมาก ๆ และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่ำเมื่อเทียบกับความเร็วของแสง หากไม่ตรงกับเงื่อนไขประการแรกกลศาสตร์ต้องถูกแทนที่ด้วยทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) หากไม่ตรงกับเงื่อนไขประการที่สองต้องหันมาใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity Theory) นี่มิได้หมายความว่าทฤษฎีนิวตันนั้น “ผิด”หรือว่าทฤษฎีควอนตันและทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น “ถูก” ทุกทฤษฎีต่างเป็นการประมาณซึ่งจะใช้ได้ในขอบเขตหนึ่งๆ ของปรากฏการณ์ หากเลยขอบเขตนั้นไป มันก็ไม่อาจให้คำอธิบายที่น่าพอใจเกี่ยวธรรมชาติ จึงต้องหาทฤษฎีใหม่มาแทนทฤษฎีหรือขยายขอบเขตของทฤษฎีเก่าออกไป

2.13 เทพปรกรณัม


การที่จะชี้เฉพาะลงไปถึงข้อจำกัดของทฤษฎีหนึ่ง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหากเป็นงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งในการสร้างทฤษฎีขึ้นมา จอฟฟรีย์ ชิว ผู้สร้างทฤษฎี “บูตแสตรป” ซึ่งจะเป็นเนื้อหาในการพิจารณาของเราในบทต่อไปนั้นได้กล่าวว่า เมื่อมีการสร้างแบบจำลองหรือทฤษฎีขึ้น เราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามเสมอว่า เพราะเหตุใดมันจึงเป็นทฤษฎีที่ใช้การได้ อะไรเป็นข้อจำกัดของมันโดยแท้จริงมันเป็นการประมาณในลักษณะใด ชิวคิดว่าคำถามเหล่านี้เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ศาสนาตะวันออกตระหนักในความจริงที่ว่า คำอธิบายสัจจะทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตรงและไม่สมบูรณ์ ประสบการณ์โดยตรงในการหยั่งรู้สัจจะไปพ้นขอบเขตของความคิดและภาษา และในเมื่อศาสนาทั้งมวลมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์โดยตรงนี้ คำอธิบายในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์นั้นจึงเป็นจริงเพียงบางส่วน ในวิชาฟิสิกส์ ลักษณะที่ทุกประโยคสามารถอธิบายความจริงที่ต้องการพูดถึงได้เพียงโดยประมาณเท่านั้น ถูกกำหนดเป็นจำนวนและความก้าวหน้าก็คือ การปรับปรุงลักษณะการประมาณอย่างเป็นขั้นตอนหลาย ๆ ขั้นตอนต่อเนื่องกัน ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน ศาสนาตะวันออกจะจัดการอย่างไรกับปัญหาของการถ่ายทอดด้วยภาษาคำพูด แรกทีเดียวศาสนิกต่างมุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่ประสบการณ์ในการหยั่งรู้สัจจะมิใช่ที่คำอธิบายประสบการณ์ ดังนั้น โดยทั่วไปพวกเขาจึงไม่สนใจในการวิเคราะห์คำอธิบายนั้น ๆ และดังนั้น แนวคิดที่ชัดเจนจึงไม่ปรากฏมีในความคิดแบบตะวันออก ในทางตรงกันข้าม หากศาสนิกชาวตะวันออกต้องการจะถ่ายทอดประสบการณ์ของตน ก็จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดของภาษา จึงได้มีการพัฒนาวิธีการหลาย ๆ อย่างเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ศาสนาในอินเดียและโดยเฉพาะศาสนาฮินดู สร้างคำอธิบายในลักษณะของเทพปกรณัม โดยการใช้อุปมาอุปไมยและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ภาพพจน์ในเชิงกวีและนิทานต่าง ๆ ภาษาของเทพปกรณัมถูกจำกัดด้วยตรรกะและสามัญสำนึกน้อยกว่าภาษาสามัญ มันเต็มไปด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์และสิ่งที่ผกผันผิดธรรมดา ร่ำรวยด้วยภาพพจน์ และไม่เคยสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงสามารถเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดการประจักษ์แจ้งในสัจจะได้ดีกว่าภาษาสามัญ สวามีอานันทะกุมารกล่าวว่า “เทพปกรณัมเป็นวิธีแสดงสัจจะที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่ภาษาจะอำนวยให้”(17) จินตนาการอันมั่งคั่งของชาวอินเดียได้ก่อกำเนิดแก่เทพและเทพีจำนวนมากซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับการจุติและการปราบยุคเข็ญของโลกของเทพเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในมหากาพย์ต่าง ๆ ชาวฮินดู ซึ่งกอปรด้วยญาณทัศนะที่ลึกซึ้งทราบดีว่า เทพเหล่านี้ล้วนกำเนิดจากการสร้างสรรค์ของจิต ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเทพปกรณัมเหล่านี้มุ่งแสดงสัจจะในลักษณะต่าง ๆ กัน ในอีกแง่หนึ่ง ชาวฮินดูมิได้สร้างเทพปกณัมเหล่านี้เพียงเพื่อให้เป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจเท่านั้น แต่เป็นสื่อกลางที่จำเป็นในการแสดงหลักปรัชญาซึ่งมีรากฐานจากประสบการณ์ในทางจิตใจ ในจีนและญี่ปุ่น นักปฏิบัติธรรมใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปในการแก้ปัญหาข้อจำกัดของภาษา แทนที่จะแสดงสัจจะ ซึ่งโดยธรรมชาติขัดกับความรู้สึกสามัญในรูปสัญลักษณ์และภาพต่าง ๆ ในเทพปกรณัมซึ่งรับได้ง่าย ท่านเหล่านั้นกลับมุ่งแต่แสดงสัจจะโดยใช้ภาษาแห่งข้อเท็จจริง ดังนั้น พวกเต๋าจึงใช้คำผกผันผิดธรรมดาบ่อยครั้ง เพื่อที่จะให้เห็นข้อจำกัดและความไม่อาจวางใจได้ในการใช้ภาษาคำพูดวิธีการเช่นนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังพุทธศาสนาในจีนและญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาวิธีการขึ้นไปอีก จนถึงจุดสูงสุดในพุทธศาสนาแบบเซนในรูปโกอันปริศนาธรรม ซึ่งดูเหมือนเรื่องตลก แต่อาจารย์เซนหลาย ๆ ท่านได้ใช้มันในการถ่ายทอดคำสอนของตน โกอันเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะพิจารณากันต่อไป

2.14 เหนือจากภาษา

ในญี่ปุ่น ยังมีวิธีการอื่นอีกที่ใช้ในการแสดงทัศนะทางปรัชญา อาจารย์เซนนิยมใช้บทกวีซึ่งกระชับและมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวมาก ชี้ตรงไปที่ความเป็น “เช่นนั้นเอง” ( suchness) ของสัจจะ เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งถามท่านฟิเกจิ เอนโช (Fuketsu Ensho) ว่า “ในเมื่อทั้งคำพูดและความเงียบต่างไม่น่าเชื่อถือ เราจะผ่านมันไปโดยไม่พลาดได้อย่างไร” อาจารย์เซนได้ตอบว่า ฉันจำเกียวชูในเดือนมีนาคมได้เสมอ เสียงร้องของนกกระทา มวลบุปผาชาติซึ่งส่งกลิ่นหอมฟุ้ง(18) บทกวีแห่งจิตวิญญาณนี้ได้ถึงจุดสมบูรณ์ใน ไฮขึบทกวีดั้งเดิมของญี่ปุ่น อันมีเพียงสิบเจ็ดพยางค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเซน ญาณทัศนะที่หยั่งรู้ธรรมชาติแห่งชีวิตซึ่งแสดงออกในบทกวีไฮขึนี้ยังสามารถรู้สึกสัมผัสได้ แม้เมื่อได้รับการถ่ายทอดมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ใบไม้ร่วง กองทับถมกัน สายฝนกระหน่ำ (19) เมื่อใดก็ตามที่นักปราชญ์ชาวตะวันออกแสดงความรู้ของตนออกมาเป็นภาษาพูด ไม่ว่าจะในรูปของเทพปกรณัม สัญลักษณ์ต่าง ๆ บทกวีหรือถ้อยคำผกผันผิดธรรมดาก็ตาม ท่านเหล่านั้นต่างตระหนักดีในข้อจำกัดของภาษาและความเชิงเส้นตรง ฟิสิกส์สมัยใหม่มีทัศนะเกือบจะเช่นเดียวกันในการใช้ภาษาพูดในแบบจำลองและทฤษฎี แบบจำลองและทฤษฎีก็เป็นสื่อที่แสดงออกของสิ่งที่ประสงค์ได้อย่างคร่าว ๆ และไม่ชัดเจน มันเป็นสื่อในแนวทางเดียวกับเทพปกรณัมสัญลักษณ์ และบทกวีต่าง ๆ และสิ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งแสดงก็คือความคล้ายคลึงในระดับนี้ ตัวอย่างเช่น ความคิดอย่างเดียวกันในเรื่องวัตถุ ซึ่งชาวฮินดูแสดงออกในรูปการเริงรำของศิวะเทพ ในขณะที่นักฟิสิกส์แสดงออกในทฤษฎีสนามควอนตัมทั้งเทพและทฤษฎีทางฟิสิกส์ต่างเป็นสิ่งสร้างสรรค์ของจิต เป็นแบบจำลองที่จะอธิบายญาณทัศนะในสัจจะของแต่ละบุคคล
4568  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:19:01
2.5 ทุกสิ่งเป็นตัวเลข


อย่างไรก็ตาม ญาณดังกล่าวจะเป็นสิ่งไร้ค่าแก่วิชาฟิสิกส์ หากว่าไม่สามารถนำใปใช้สร้างสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นและอธิบายเป็นภาษาสามัญได้ ลักษณะสำคัญของสูตรดังกล่าวก็คือการย่อสรุปดังที่ได้กล่าวแล้ว มันประกอบด้วยระบบของความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ก่อรูปขึ้นเป็นแผนที่ของความจริง แผนที่นี้แทนบางแง่มุมของความจริงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้อย่างชัดเจนว่าความจริงคืออะไร เนื่องจากเรารวบรวมแผนที่ของเราทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่ในวัยเด็กโดยมิได้มีการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ดังนั้นภาษาคำพูดของเราจึงไม่อาจระบุความหมายที่ชัดเจนได้ เมื่อเราได้ยินคำพูดสักคำหนึ่งซึ่งมักจะมีความหมายหลายประการส่วนมากมันจะผ่านเข้าไปในจิตใจของเราอย่างสลัว ๆ ไม่ชัดเจน และค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ความที่ภาษาของเรามีความหมายกำกวมไม่ละเอียดชัดเจนนั้น จำเป็นสำหรับกวี ซึ่งรังสรรค์งานของเขาโดยอาศัยความหมายของภาษาที่แฝงฝังในจิตใต้สำนึก และสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความหมายนั้นเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามวิทยาศาสตร์มุ่งที่จะจับฉวยภาษาที่มีความหมายชัดเจนและความเกี่ยวพันของภาษาที่ไม่กำกวม ดังนั้นจึงย่อสรุปภาษาอีกชั้นหนึ่ง โดยจำกัดความหมายของคำทำให้โครงสร้างของมันเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยกฏของตรรกศาสตร์การย่อสรุปดังกล่าวถึงขึ้นสัมบูรณ์ในคณิตศาสตร์เมื่อคำพูดถูกแทนด้วยสัญลักษณ์และความเกี่ยวโยงระหว่างสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดอย่างชัดเจนตายตัว ในลักษณะเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปเอาข้อมูลต่าง ๆ ลงในสมการทางคณิตศาสตร์เพียงสมการเดียว กล่าวคือสรุปลงเป็นสัญลักษณ์บรรทัดเดียว ซึ่งหากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมดาอาจใช้ความยาวหลายหน้ากระดาษ ทัศนะที่ว่าคณิตศาสตร์มิใช่อะไรอื่นนอกจากภาษาซึ่งย่นย่อสรุปและถูกอัดแน่นเท่านั้น ได้รับการท้าทายเช่นกัน โดยแท้จริงนักคณิตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าคณิตศาสตร์มิใช่เพียงภาษาซึ่งใช้อธิบายธรรมชาติ หากทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเองแล้ว ผู้ริเริ่มความคิดนี้คือ ปิทากอรัส ( Pythagoras) ผู้ซึ่งกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “ทุกสิ่งเป็นตัวเลข” และได้พัฒนารหัสยลัทธิอันมีลักษณะพิเศษในเชิงคณิตศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ปรัชญาของปิทากอรัสได้เสนอเหตุผลเชิงตรรกะเข้าสู่ขอบเขตของศาสนา จนพัฒนามาเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของปรัชญาศาสนาตะวันตก เบอร์ทรันด์ รัสเซล กล่าวว่า การเชื่อมโยงเอาคณิตศาสตร์และเทวศาสตร์เข้าด้วย ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปิทากอรัส ได้เป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาศาสนาในกรีก ในยุคกลางและในสมัยปัจจุบัน เรื่อยมาจนถึงคานต์...ในเพลโต เซนต์ออกุสติน, โทมัส อควินา, เดคาร์ต, สปิโนชา และเลียบนิซ มีการผสมผสานอย่างแนบแน่นระหว่างศาสนาและเหตุผล ระหว่าง ศีลธรรมและตรรกะของสิ่งซึ่งเป็นนิรันดร ซึ่งมาจากปิทากอรัส และเป็นสิ่งที่แยก เทวศาสตร์ของยุโรปที่เต็มด้วยเหตุผลความคิดนึก จากศาสนาของเอเชียซึ่งมี ลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า (7)

2.6 ตัวเลขที่คับแคบและอึดอัด


“ศาสนาของเอเชียซึ่งมีลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า” ย่อมไม่ได้รับเอาทัศนะทางคณิตศาสตร์ของปิทากอรัสไปอย่างแน่นอน ในทัศนะของตะวันออกคณิตศาสตร์ซึ่งมีโครงสร้างซึ่งแตกแขนงออกไปมากมายและสื่อความหมายอย่างชัดเจนนั้น เป็นส่วนของแผนที่ซึ่งเกิดขึ้นจากความคิดมิใช่ภาพของตัวสัจจะเอง สัจจะในประสบการณ์ของนักปราชญ์ตะวันออกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจวัดคำนวณเอาได้ ไม่อาจแบ่งแยกได้ วิธีการย่อสรุปในทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพ ทว่าเราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างเป็นสิ่งทดแทน เมื่อเราจำกัดระบบความคิดของเราให้ชัดเจนเพียงไร เมื่อเราจัดให้มันประสานสอดคล้องกันอย่างมีระบบ ก็ยิ่งไกลออกไปจากโลกที่แท้จริงมากเพียงนั้น ย้อนมาดูข้อเปรียบเทียบเรื่องแผนที่และอาณาเขตของคอร์เยฟซกี เราอาจกล่าวได้ว่าภาษาสามัญเป็นแผนที่แผ่นหนึ่งซึ่งในขอบเขตแห่งความเที่ยงตรงของมัน มีความยืดหยุ่นแก่การอธิบายหรือคิดโค้งไปตามอาณาเขตจริง ๆ ได้พอสมควร แต่เมื่อเราทำให้มันเป็นระบบที่จริงจังมากขึ้น ความยืดหยุ่นค่อย ๆ หายไปทีละน้อยและด้วยภาษาของคณิตศาสตร์เราได้มาถึงจุดซึ่งการเชื่อมโยงกับความจริงมีอยู่เพียงบางเบาจนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์และประสบการณ์ในการรับรู้ของเราไม่ปรากฏนี่คือเหตุผลที่เราจำต้องให้คำอธิบายด้วยภาษาธรรมแก่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และทฤษฎี แม้จะกำกวมและไม่ชัดเจนเท่าภาษาทางคณิตศาสตร์ก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเข้าใจความแตกต่างระหว่างแบบจำลองทางคณิศาสตร์และความหมายในภาษาพูดของมัน แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นภาษาที่มีโครงสร้างกระชับและแน่นอนมาก ทว่าสัญลักษณ์ในภาษาที่ใช้ไม่สัมพันธ์โดยตรงกับประสบการณ์ของเรา ในทางตรงกันข้าม ภาษาพูดซึ่งอธิบายแบบจำลองนั้น เป็นการใช้แนวคิดเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจโดยไม่ผ่านความคิดนึกในทางคณิตศาสตร์ แต่มักจะไม่ชัดเจนและค่อนข้างกำกวม ในแง่นี้ทั้งสองไม่ต่างไปจากแบบจำลองของความจริงทางปรัชญา และสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เป็นอย่างดี หากว่ามีส่วนซึ่งเป็นญาณทัศน์ในวิทยาศาสตร์ ก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเหตุผลในศาสนาตะวันออกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระดับความสำคัญของเหตุผลและตรรกะก็ต่างกันออกไปในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์พระเวทของฮินดู หรือคัมภีร์มัธยมิกะ (Madhyamika) ของพุทธมีคำสอนซึ่งเป็นเหตุเป็นผลอยู่มาก ในขณะที่เต๋าไม่ให้ความเชื่อถือต่อเหตุผลและตรรกะ เซนซึ่งแตกแขนงจากพุทธศาสนาโดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเต๋ากลับเน้นที่การ “ไร้คำพูด ไร้อรรถาธิบาย ไร้คำสอน ไร้ความรู้” เซนมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ประสบการณ์ของการรู้แจ้ง และให้ความสำคัญน้อยมากกับการอธิบายประสบการณ์ ดังกล่าว วลีของเซนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกล่าวว่า “ในขณะที่ท่านกล่าวถึงสิ่ง ๆ หนึ่ง ท่านก็พลาดจากสิ่งนั้นเสียแล้ว” แม้ว่าศาสนาตะวันออกอื่น ๆ จะไม่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ตัวประสบการณ์โดยตรงยังเป็นแกนสำคัญของทุกศาสนา แม้แต่ศาสนิกที่มีความสนใจในการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง ก็มิได้ยึดความนึกคิดเป็นแหล่งที่มาของความรู้ ทว่าใช้ความนึกคิดเพื่อวิเคราะห์และอธิบายประสบการณ์โดยตรงในการปฏิบัติศาสนธรรมของตน ความรู้ทั้งมวลตั้งอยู่บนประสบการณ์เช่นที่ว่านี้ ดังนั้นธรรมเนียมปฏิบัติของตะวันออกจึงมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การเฝ้าสังเกต ซึ่งผู้สอนมักจะเน้นอยู่เสมอ ดังเช่นที่ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่า ประสบการณ์ของบุคคลเป็น...รากฐานของพุทธปรัชญา ในแง่นี้พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งการสังเกตและทดลอง เหตุผลต่าง ๆ เกิดขึ้นภายหลัง เพื่อหยั่งถึง ความหมายของประสบการณ์แห่งการรู้แจ้ง (8)

2.7 นอกเหนือจากประสาทสัมผัส


โจเซฟ นีดแฮมได้นำเอาทัศนคติแห่งการเฝ้าสังเกตของเต๋ามาเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเขาชื่อ Science and Civilization in china เขาได้ค้นพบว่าทัศนคติเช่นนี้ได้ส่งให้เต๋าเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน นีดแฮมกล่าวเกี่ยวกับนักปรัชญาเต๋ารุ่นแรก ๆ ว่า เป็นผู้ที่ “ถอนตัวออกจากสังคม มุ่งสู่ถิ่นกันดาร ป่าเขา เพื่อภาวนาให้แจ้งต่อกฎของธรรมชาติและสรรพสิ่งอันหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งปรากฏแสดงของธรรมชาติ” (9) จิตวิญญาณทำนองเดียวกันได้แสดงออกในวลีของเซน ผู้ที่อาจจะเข้าใจในความหมายของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ คือผู้ที่เฝ้าสังเกต ฤดูกาลและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (10) ฐานของความรู้ซึ่งตั้งอย่างมั่นคงอยู่บนประสบการณ์ในศาสนาตะวันออกสอดคล้องกับฐานแห่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนการทดลอง ความสอดคล้องนี้มีมากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาธรรมชาติของประสบการณ์ในทางศาสนา ซึ่งได้รับการอธิบายในศาสนธรรมของตะวันออกว่าเป็นญาณทัศนะ ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรง อยู่นอกขอบเขตของความคิดนึกและได้มาด้วยการเฝ้าดูมิใช่ด้วยการคิดคำนึง ได้มาด้วยการมองด้านในและการเฝ้าสังเกต ในลัทธิเต๋า ความคิดในเรื่องการเฝ้าสังเกตได้ปรากฏในชื่อของโบสถ์แห่งเต๋า กูอัน (Kuan) ซึ่งมีความหมายเดิมว่า “การดู” พวกเต๋าจึงถือเอาโบสถ์เป็นสถานที่แห่งการเฝ้าสังเกต ในธยาน ซึ่งเป็นชื่อเรียกนิกายเซนในจีน การรู้แจ้งมักจะถูกอธิบายว่า “การเห็นซึ่งเต๋า” และการเห็นถือเป็นฐานของความรู้ในพุทธศาสนาทุกนิกาย คำสอนของพระพุทธเจ้าในอริยมรรคมีองค์แปด มรรคองค์แรกคือ การเห็นชอบ ตามด้วยการรู้ชอบ ดี.ที. สีซึกิ เขียนเกี่ยวประเด็นนี้ว่า การเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญที่ในญาณวิทยาของชาวพุทธ เพราะการเห็นเป็นพื้นฐาน ของการรู้ การรู้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากการเห็น ความรู้ทั้งมวลเริ่ม จากการเห็น ดังนั้นการรู้และการเห็นจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคำสอนของพระพุทธองค์ พุทธธรรมในขั้นปรมัตถ์จึงมุ่งสู่การเห็นสัจจะตามที่มันเป็น การเห็น คือ การมีประสบการณ์ของการรู้แจ้ง (11) ข้อความข้างบนนี้คล้ายคลึงกับคำสอนของดอน ฮวน อาจารย์แห่งเผ่ายาคี ซึ่งกล่าวว่า “ความพึงพอใจของข้าอยู่ที่การเห็น...เพราะด้วยการเห็นเท่านั้นที่มนุษย์ผู้ทรงปัญญาจะรู้ได้” (12) มีข้อควรระวังที่จุดนี้คือ ไม่ควรถือการเน้นที่การเห็นในธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาตะวันออกนั้นอย่างเถรตรงเกินไป แต่ต้องเข้าใจในเชิงเปรียบเทียบเนื่องจากประสบการณ์ต่อสัจจะในทางศาสนาโดยเนื้อแท้มิใช่ประสบการณ์ของประสาทสัมผัส เมื่อปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงการเป็น หมายถึงขบวนการรับรู้ซึ่งอาจรวมการมองเห็น แต่โดยสาระแล้วมีความหมายเลยพ้นออกไปถึงประสบการณ์ต่อสัจจะที่นอกเหนือจากประสาทสัมผัส อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท่านเหล่านั้นมุ่งเน้นเมื่อกล่าวถึงการเห็น การดู หรือการสังเกต คือลักษณะการที่ได้ความรู้จากการสังเกต ท่าทีการแสวงหาความรู้จากการสังเกตเช่นนี้ของปรัชญาตะวันออกได้เตือนให้ระลึกถึงการมุ่งเน้นอยู่ที่การสังเกตในวิทยาศาสตร์ โดยที่เป็นประเด็นแห่งการศึกษาเปรียบเทียบของเรา ขั้นตอนการทดลองในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาจเทียบได้กับการมองด้านในของศาสนาตะวันออก และแบบจำลองและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็อาจเทียบได้กับการอธิบายความหมายของญาณทัศนะ ซึ่งเกิดจากการมองนั้นในหลาย ๆ แบบ

2.8 ความซับซ้อนที่คล้ายๆกัน


ความคล้ายคลึงระหว่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ทางศาสนา ดูเป็นสิ่งน่าประหลาดเมื่อพิจารณาความแตกต่างของกระบวนการสังเกต ทดลองทั้งสองฝ่าย นักฟิสิกส์ทำการทดลองโดยมีผู้ร่วมงานซึ่งทำงานอย่างละเอียดลออและอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาก ในขณะที่ศาสนิกได้ความรู้จากการพิจารณาใคร่ครวญ โดยมิได้อาศัยเครื่องจักรใด ๆ ในช่วงเวลาแห่งการภาวนายิ่งไปกว่านั้น การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะกระทำซ้ำและได้ผลอย่างเต็มได้ ณ เวลาใด หรือโดยบุคคลใดก็ตาม ในขณะที่ประสบการณ์ทางศาสนาที่ลึกซึ้งดูจะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่อาจเข้าใจถึงได้ และในโอกาสพิเศษเฉพาะเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งลงไปก็จะพบว่า ข้อแตกต่างของการเฝ้าสังเกตสองแนวนั้น อยู่ที่วิธีการมากกว่าอยู่ที่ความเชื่อถือได้ หรือความซับซ้อนของมัน ใครก็ตามที่ต้องการทำการทดลองซ้ำและได้ผลเช่นเดิมนั้นในการทดลองทางฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม จะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลาหลายปีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถตั้งคำถามพิเศษเฉพาะแก่ธรรมชาติโดยผ่านทางการทดลองและสามารถเข้าใจคำตอบนั้นได้ โดยนัยเดียวกัน การจะได้ประสบการณ์ทางศาสนาที่ลึกซึ้ง ธรรมดาแล้วบุคคลนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลาหลายปี โดยมีอาจารย์ที่ชำนาญคอยแนะนำให้ และเช่นเดียวกับการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์ ระยะเวลาในการฝึกฝนมิได้เป็นสิ่งเดียวที่จะประกันความสำเร็จได้ หากว่านักศึกษาเหล่านั้นประสบผลสำเร็จ เขาก็สามารถที่จะทำการทดลองที่ให้ผลเช่นเดิมได้ การที่จะสามารถเข้าสู่ประสบการณ์ซึ่งได้บรรลุถึงแล้วได้อีกนั้น โดยเท็จจริงแล้วเป็นสิ่งจำเป็นของการฝึกฝนปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบและเป็นเป้าหมายอันสำคัญของคำสอนในทุกศาสนา ดังนั้น ประสบการณ์ทางศาสนาจึงมิใช่สิ่งพิเศษเฉพาะมากกว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในทางตรงกันข้ามซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าความซับซ้อนที่ปรากฏในรายละเอียดนั้นเป็นคนละชนิดกัน ความซับซ้อนและประสิทธิภาพของเครื่องมือทางเทคนิคของนักฟิสิกส์อาจเทียบกับความตระหนักรู้ในการปฏิบัติธรรมทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ ในขณะแห่งการภาวนาอันหยั่งลงอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นทั้งนักวิทยาศาสตร์และผู้ปฏิบัติธรรม ได้พัฒนาวิธีการที่มีรายละเอียดซับซ้อนในการเฝ้าสังเกตธรรมชาติซึ่งมิใช่วิสัยของสามัญชนจะเข้าใจได้

4569  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:18:29



บทที่ 2 การรู้และการเห็น


จากอสัตย์จงนำข้าฯสู่สัจจะ จากความมืดจงนำข้าฯสู่ความสว่าง จากความตายจงนำข้าฯสู่อมตะ อุปนิษัท ก่อนที่เราจะศึกษาความสอดคล้องระหว่างวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และศาสนาตะวันออก เราจะต้องพิจารณาปัญหาว่า เราจะเปรียบเทียบอย่างไรระหว่างวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายด้วยภาษาทางคณิตศาสตร์อันสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง กับวินัยปฏิบัติในทางศาสนาซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่การภาวนา และยืนยันว่า แท้จริงความรู้แจ้งในภายในนั้นไม่อาจอธิบายได้ สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบในที่นี้คือข้อความซึ่งกล่าวโดยนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์ของตะวันออกเกี่ยวกับความรู้ของตน เพื่อที่จะให้การเปรียบเทียบนี้มีประสิทธิภาพ ประการแรก เราต้องถามตนเองก่อนว่า “ความรู้” ชนิดใดที่เรากำลังพูดถึง พระภิกษุจากนครวัดหรือเกียวโตพูดถึง “ความรู้” ชนิดเดียวกับที่นักฟิสิกส์จากออกซฟอร์ดหรือเบิร์กเคยพูดถึงหรือไม่ ประการที่สอง ข้อความหรือประโยคชนิดใดที่เรากำลังศึกษาเปรียบเทียบ เราจะเลือกเอาสิ่งใดจากข้อมูลของการทดลอง สมการ หรือทฤษฎีในด้านหนึ่ง และจากคัมภีร์ทางศาสนา เทพปกรณัม (myths)* โบราณ หรือตำราทางปรัชญาในอีกด้านหนึ่ง บทนี้มุ่งที่จะทำความกระจ่างในประเด็นทั้งสองนี้ คือ ธรรมชาติของความรู้ซึ่งเรากำลังพิจารณาและภาษาที่ใช้ในการอธิบายความรู้นั้น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นมีสองลักษณะ คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล และความรู้ที่ผุดขึ้นในใจหรือญาณทัศน์ (rational and intuitive) ซึ่งเทียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนาตามลำดับ ในตะวันตกความรู้ชนิดหลังถูกถือว่าด้อยกว่าความรู้ในเชิงเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในตะวันออกความรู้นี้กลับตรงกันข้าม ความคิดของปราชญ์สองท่านของตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแสดงออกในประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรู้สองลักษณะ โสเครติสของกรีกกล่าวประโยคซึ่งมีชื่อเสียงว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” และเหลาจื้อของจีนกล่าวว่า “การไม่รู้ว่าตนรู้อะไร เป็นการดีที่สุด” ในตะวันออกคุณค่าของความรู้ทั้งสองประการปรากฏชัดเจนในชื่อที่เรียก ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวถึงความรู้อย่างสูงและความรู้สัมบูรณ์ หรือ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” ในทางตรงกันข้ามปรัชญาจีนกลับสอนว่าความรู้ทั้งสองประการนั้นสนับสนุนซึ่งกันและกันซึ่งแสดงออกในคู่หยินและหยังอันเป็นพื้นฐานของความคิดจีน ดังนั้นปรัชญาเต๋าและขงจื้อจึงเกิดขึ้นในจีนยุคโบราณเพื่อรองรับความรู้ทั้งสองลักษณะไว้อย่างสอดคล้องกัน

2.1 ความรู้สัมพัทธ์


ความคิดเชิงเหตุผลได้มาจากประสบการณ์ซึ่งเราได้เกี่ยวข้องกับวัตถุ บุคคล หรือเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมประจำวัน เป็นฝักฝ่ายของปัญญาซึ่งทำงานในการจำแนก แบ่ง เปรียบเทียบ วัด และจัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้จึง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกของความคิด เกิดสิ่งตรงกันข้ามซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุที่ชาวพุทธเรียกความรู้ชนิดนี้ว่าความรู้สัมพัทธ์ การย่อสรุป (Abstraction) จึงเป็นลักษณะสำคัญของความรู้ชนิดนี้ เพราะว่าในการเปรียบเทียบ การจัดแบ่งหมวดหมู่ตามความแตกต่างที่สำคัญของรูปลักษณะโครงสร้างและปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบตัวเรานั้น เราไม่อาจจะนำเอาทุกลักษณะของสิ่งนั้นมาพิจารณาได้ แต่เราต้องเลือกเอาลักษณะที่สำคัญบางลักษณะเท่านั้น ดังนั้น เราได้สร้างแผนที่ของความจริงขึ้นในความคิดคำนึงของเรา โดยย่นย่อสิ่งต่าง ๆ ให้เหลือเพียงโครงร่างคร่าว ๆ ของมันเท่านั้น ความรู้ในเชิงเหตุผลจึงเป็นระบบของความคิดและสัญลักษณ์ที่ถูกย่นย่อสรุป มีลักษณะโครงสร้างแบบลำดับการณ์เชิงเส้นตรง ซึ่งเป็นแบบฉบับของความคิดและการพูดของเรา ในภาษาพูดส่วนใหญ่ โครงสร้างเชิงเส้นตรงเช่นนี้ แสดงออกอย่างชัดแจ้งโดยการใช้ตัวอักษร ซึ่งสื่อสารประสบการณ์และความคิดออกมาเป็นข้อความยาว ๆ ในทางตรงกันข้าม โลกธรรมชาติเป็นสิ่งหลากหลายและซับซ้อน โลกซึ่งกอปรด้วยมิติหลาย ๆ มิติ มิได้มีเส้นตรงหรือรูปร่างที่แน่นอนสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์โลกซึ่งสิ่งต่าง ๆ มิได้ปรากฏเป็นลำดับ แต่ปรากฏพร้อม ๆ กัน โลกซึ่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่บอกเราว่า แม้อวกาศอันว่างเปล่าก็มีลักษณะโค้ง เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าระบบการย่อสรุปความคิดของเราไม่สามารถอธบายหรือเข้าใจความจริงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ในการคิดเกี่ยวกับโลก เราต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันที่นักเขียนแผนที่เผชิญ เมื่อเขาจะเขียนแสดงผิวโค้งของโลกบนแผนที่แผ่นราบ เราคาดหวังได้แต่เพียงสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงเท่านั้นในขบวนการดังกล่าว และดังนั้นความในเชิงเหตุผลทั้งหมดจึงอยู่ขอบเขตที่จำกัด อาณาเขตของความคิดในเชิงเหตุผล เป็นขอบเขตของวิทยาศาสตร์ซึ่งกอปรด้วยการวัดและกำหนดปริมาณ การจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ ข้อจำกัดของความรู้ใด ๆ ซึ่งได้มาโดยวิธีการเช่นนี้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ๆ ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ซึ่งได้แสดงให้เห็นดังคำกล่าวของเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก ว่า “คำพูดหรือความคิดที่กระจ่างชัดที่สุดก็มีขอบเขตการประยุกต์ใช้ได้อย่างจำกัด” (1)

2.2 นิ้วชี้ที่ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่


ผู้คนโดยมาก ยากที่จะตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาถึงข้อจำกัดและความเป็นสิ่งสัมพันธ์ของความรู้เชิงเหตุผล เนื่องจากการจัดฉวยเอาสิ่งที่เป็นตัวแทนของความจริงนั้นง่ายกว่าการจับฉวยเอาตัวความจริงมาก เราจึงมักจะสับสนเกี่ยวกับตัวแทนและความจริง และทึกทักเอาว่าความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นตัวความจริงศาสนาของตะวันออกมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการที่จะขจัดความสับสนอันนี้พวกนิกายเซนกล่าวว่า นิ้วที่ชี้ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่และจางจื้อกล่าวว่า ไซมีไว้สำหรับจับปลา แต่เมื่อได้ปลา คนก็ลืมไซ แร้วมีไว้สำหรับดักกระต่าย แต่เมื่อได้กระต่าย คนก็ลืมแร้ว คำพูดมีไว้ถ่ายทอดความคิด แต่เมื่อจับความคิดนั้นได้แล้ว คนก็ลืมคำพูด (2) ในตะวันตก อัลเฟรด คอร์เยฟซกี (Alfred Korzybski) นักภาษาศาสตร์ได้ชี้ประเด็นเดียวกันด้วยคำขวัญของเขาว่า “แผนที่มิใช่ตัวอาณาเขต” สิ่งที่นักปราชญ์ทางตะวันออกกล่าวถึงหรือสนใจ คือ ประสบการณ์โดยตรงแห่งสัจจะ ซึ่งล่วงพ้นทั้งความคิดและการรับรู้ในทางประสาทสัมผัส ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า สิ่งใดไร้ลักษณ์ ไร้สรรพสำเนียง สัมผัสมิได้ เป็นอมตะ สิ่งใดไร้รส ไร้กลิ่น ไม่เปลี่ยนแปร ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ยิ่งใหญ่กว่ามหาราช คงสภาพอยู่นิรันดร์ เมื่อบุคคลหยั่งรู้สิ่งนั้น ย่อมรอดพ้นจากปากของมรณา (3) ชาวพุทธเรียกความรู้ซึ่งมาจากประสบการณ์เช่นนั้นว่า “ความรู้สัมบูรณ์” เพราะไม่ขึ้นกับการแบ่งแยก การย่อสรุป การจำแนกแจกแจงในทางปัญญา (ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นความรู้สัมพัทธ์ และเป็นความรู้ซึ่งมาจากการประมาณ) ความรู้สัมบูรณ์เป็นประสบการณ์โดยตรงต่อ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” (suchness) ซึ่งไม่มีการแบ่งแยก แตกต่าง ความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ต่อความเป็นเช่นนั้นเองเป็นแกนสำคัญของศาสนาตะวันออกและของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในทุกสายวัฒนธรรม ศาสนาตะวันออกเน้นย้ำอยู่เสมอว่า สัจจะสูงสุดมิใช่วัตถุที่ตั้งแห่งการคิดคำนึงหรือการอรรถาธิบาย คำพูดมิอาจจะอธิบายถึงสัจจะได้ครบถ้วน ทั้งนี้ เพราะสัจจะนั้นอยู่เหนือการรับรู้ทางอายตนะ เหนือความนึกคิดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนะและคำพูด คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวไว้ว่า ที่ซึ่งจักษุไม่อาจแลเห็น อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด จิตดำริไปไม่ถึง เราไม่อาจรู้ ไม่อาจเข้าใจ ใครจะสอนถึงมันได้อย่างไร (4)

2.3 เต๋าเตอจิง

เหลาจื้อเรียกสัจจะนี้ว่า “เต๋า” และบรรทัดแรกของคัมภีร์ เต๋าเตอจิง (Tao Te Ching) ของเหลาจื้อกล่าวไว้ว่า “เต๋าที่แสดงให้เห็นได้ มิใช่เต๋าอันเป็นนิรันดร์” ข้อเท็จจริงซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า มนุษยชาติมิได้มีปัญญามากขึ้น แต่อย่างใดตลอดเวลาสองพันปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้เชิงเหตุผลที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมาย เป็นสิ่งที่แสดงอย่างชัดเจนถึงการที่ไม่อาจถ่ายทอดความรู้สัมบูรณ์นั้นได้ด้วยคำพูด ดังที่จางจื้อกล่าวว่า “หาก (สัจจะ) เป็นสิ่งที่อธิบายได้ทุกคนก็คงจะบอกน้อง ๆ ของตัวแล้ว” (5) ดังนั้นความรู้สัมบูรณ์ จึงเป็นประสบการณ์แห่งสัจจะ ซึ่งนอกเหนือความคิดนึกโดยสิ้นเชิง เป็นประสบการณ์ซึ่งผุดโพลงขึ้นในสำนึกอันมิใช่สามัญ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าภาวะแห่ง “ฌาน” ภาวะดังกล่าวมีอยู่จริง ซึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน มิใช่แต่ในหมู่ศาสนิกของตะวันออกและตะวันตกเท่านั้น แต่ยังได้รับการชี้ชัดในการวิจัยทางจิตวิทยาด้วย ดังปรากฏในคำกล่าวของวิลเลียม เจมส์ว่า ความรับรู้สามัญของเรา ซึ่งเรียกกันว่าความรับรู้ในเหตุผล เป็นเพียงความรับรู้ ลักษณะหนึ่งเท่านั้น ยังมีความรับรู้อีกลักษณะหนึ่งซึ่งแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นความรับรู้ซึ่งมีศักยภาพสูง แยกจากความรู้สามัญด้วยเพียงฉากกั้นที่บาง ที่สุดเท่านั้นเอง (6) ถึงแม้ว่านักฟิสิกส์จะสัมพันธ์กับความรู้เชิงเหตุผลมาก และศาสนิกจะสัมพันธ์กับญาณปัญญา ทว่าความรู้ทั้งสองลักษณะเกิดขึ้นในทั้งสองสาขา เราจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราตรวจสอบวิธีการได้มาและการแสดงออกซึ่งความรู้ทั้งในฟิสิกส์และในศาสนาตะวันออก

2.4 วิธีทางวิทยาศาสตร์


ในวิชาฟิสิกส์ความรู้ได้มาจากกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีสามขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงในการทดลองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ซึ่งทำการศึกษา ขั้นตอนที่สองนำเอาข้อเท็จจริงจากการทดลองมาโยงเข้ากับคณิตศาสตร์ และสร้างเป็นโครงร่าง (scheme) ทางคณิตศาสตร์ขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างกระชับและเที่ยงตรง โครงร่างนี้เรียกว่าแบบจำลอง (model) ทางคณิตศาสตร์ หรือหากว่ามันสื่อสารความเข้าใจได้มาก ก็จะเรียกว่า ทฤษฎี (theory) ทฤษฎีนี้ก็จะถูกใช้ในการทำนายผลของการทดลองอันต่อไป ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ของทฤษฎีนั้น ในขั้นนี้นักฟิสิกส์อาจจะพึงพอใจเมื่อได้พบโครงร่างทางคณิตศาสตร์แล้ว และรู้วิธีที่จะใช้ทำนายการทดลองต่อ ๆ มา แต่กระนั้นก็ตาม เขาก็อาจจะต้องการที่จะแสดงผลของการทดลองของเขาแก่ผู้ที่มิใช่นักฟิสิกส์ ดังนั้นจึงต้องอธิบายมันในภาษาทั่ว ๆ ไป นั่นหมายความว่าเขาจะต้องสร้างแบบจำลองโดยอาศัยภาษาสามัญ ซึ่งจะอธิบายโครงร่างทางคณิตศาสตร์ของเขา แม้สำหรับนักฟิสิกส์เอง การสร้างแบบจำลองทางภาษาเช่นนั้น อันเป็นขั้นที่สามของการวิจัย จะเป็นบรรทัดฐานของความเข้าใจซึ่งเขาบรรลุถึง แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ ขั้นตอนทั้งสามไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง และไม่ได้เกิดตามลำดับเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์อาจจะคิดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้โดยอาศัยความเชื่อบางประการในทางปรัชญา ซึ่งเขาก็จะเชื่อในแนวคิดนั้น แม้ว่าจะมีการทดลองซึ่งแสดงผลในทางกันข้ามอยู่ก็ตาม ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามดัดแปลงแบบจำลองของเขาให้ครอบคลุมถึงการทดลองใหม่ ๆ ดังกล่าวด้วย แต่หากว่า ผลการทดลองยังคงขัดแย้งแบบจำลองของเขาเขาก็จะต้องทิ้งมันไป วิธีการสร้างทฤษฎีโดยอาศัยการทดลองเป็นพื้นฐานนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเราจะพบว่าในปรัชญาตะวันออกก็เป็นเช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม ปรัชญากรีกกลับมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่านักปรัชญากรีกหลายคนมีความคิดที่ลึกซึ้งมากเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมักจะคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ความแตกต่างอันสำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และปรัชญากรีกก็คือ ทัศนคติแห่งวิทยาศาสตร์ซึ่งถือการสังเกตเป็นหลัก อันเป็นสิ่งที่จิตใจแบบกรีกไม่คุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง ชาวกรีกสร้างแบบจำลองต่าง ๆ โดยอาศัยการคิดคำนึงเอาด้วยเหตุผลจากหลักการพื้นฐานหรือสัจพจน์บางประการ (deduction) มิใช่โดยการสรุปหลักการเอาจากสิ่งที่ถูกสังเกต (induction) ในทางตรงกันข้าม ศิลปะแห่งการคิดค้นหาความจริงเอาจากหลักเกณฑ์ทั่วไปของชาวกรีกนี้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับขั้นตอนที่ลองของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่กระชับใจความสำคัญ ดังนั้นมันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงเหตุผล เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทว่ามิใช่ทั้งหมด ส่วนที่เป็นเหตุผลในการวิจัยอาจจะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าหากไม่ได้รับการเสริมประกอบด้วยส่วนที่เป็นญาณทัศน์ (intuition) ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้น ญาณเช่นว่านี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และมิใช่ขณะเมื่อนั่งคิดสมการที่โต๊ะทำงาน แต่มักจะเกิดขึ้นในขณะแห่งการพักผ่อนในอ่างอาบน้ำในระหว่างเดินเล่นอยู่ในป่าหรือบนหาดทรายในขณะแห่งการพักผ่อนเช่นนี้เอง หลังจากการคิดค้นอย่างหนัก จิตใจดูเหมือนจะเอาชนะอุปสรรคของความคิดได้ และญาณอันในกระจ่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งยังมีความปิติและรื่นเริงในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก

4570  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:18:02



ในปลายศตวรรษที่ 15 เริ่มมีการศึกษาธรรมชาติด้วยจิตใจของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และมีการทดลองเพื่อทดสอบความคิดแบบคำนึงคำนวณนั้นขึ้นเป็นครั้งแรกพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ดำเนินควบคู่มากับความสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ในที่สุดได้นำไปสู่การสร้างสูตรของทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพื้นฐานจากการทดลองและแสดงออกมาในรูปแบบภาษาทางคณิตศาสตร์ กาลิเลโอเป็นคนแรกที่รวมเอาความรู้จากการสังเกตกับคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน ดังนั้นกาลิเลโอจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ถือว่ากำเนิดและพัฒนาขึ้นภายหลังพัฒนาการของปรัชญาและต่อมาได้ดำเนินควบคู่กันไปสู่ความคิดสุดโต่งแห่งการแบ่งแยกระหว่างจิตใจและวัตถุ สูตรสำเร็จนี้ปรากฏในปรัชญาของเดคาร์ต (Descartes) ในศตวรรษที่ 17 ความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของเขายืนพื้นอยู่บนการแบ่งแยกระหว่างสองอาณาจักรซึ่งเป็นอิสระจากกันและกัน นั่นคือจิตใจ (res cogitans) และวัตถุ (res extensa) แนวคิดของเดคาร์ตนี้นักวิทยาศาสตร์ได้รับเอาไว้ใช้ในการจัดการหรือศึกษาวัตถุ โดยถือว่าวัตถุเป็นสิ่งไม่มีชีวิตและแยกออกอย่างเด็ดขาดจากตัวนักวิทยาศาสตร์และมีทัศนะว่าโลกของวัตถุประกอบขึ้นจากวัตถุหลากหลายชนิดคุมกันขึ้นเป็นเครื่องจักรอันมหึมา ไอแซก นิวตัน ได้ยึดเอาโลกทัศน์ในเชิงกลจักร (mechanistic) ดังกล่าวในการสร้างวิชากลศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ดั้งเดิม แบบแผนของจักรวาลในเชิงกลจักรของนิวตันนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 จนกระทั่งถึงสิ้นศตวรรษที่ 19 แนวคิดนี้ดำเนินควบคู่กับภาพของพระเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ปกครองโลกจากสวรรค์เบื้องบนโดยกฎอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์กฎธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้าแสวงหาจึงถือว่าเป็นกฎของพระเจ้า ซึ่งครอบคลุมโลกโดยไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นนิรันดร์

ปรัชญาของเดคาร์ตไม่เพียงแต่มีอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของฟิสิกส์ดั้งเดิมเท่านั้น ทว่ายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดทั่วไปของตะวันตก แม้จนในปัจจุบันประโยคที่เลื่องลือของเดคาร์ตคือ “Cogito ergo sum” “ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงมีอยู่” ได้โน้มนำให้ชาวตะวันตกเปรียบเทียบตัวตนของเขาเท่ากับจิต มิใช่ชีวิตทั้งหมดจากทัศนะดังกล่าว ปัจเจกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีตัวตนอยู่ภายในร่างกาย จิตใจถูกแยกออกจากร่างกาย และถือว่าเป็นผู้ควบคุมร่างกาย ดังนั้นความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างเจตจำนงและสัญชาตญาณจึงตามมา ปัจเจกชนแต่ละคนถูกแบ่งแยกย่อยออกไปอีกตามกิจกรรมของเขา ความสามารถ อารมณ์ ความเชื่อ และอื่น ๆ ซึ่งตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งอันไม่รู้จบ ก่อให้เกิดความสับสนและบีบคั้นอย่างต่อเนื่องในทางอภิปรัชญา ทัศนะแบบองค์รวม การแบ่งแยกภายในตัวมนุษย์นี้ได้สะท้อนภาพทัศนะต่อโลก “ภายนอก” ซึ่งถือว่าเป็นรวมของวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แยกจากกันได้ สภาพแวดล้อมธรรมชาติถูกกระทำเหมือนมีส่วนประกอบที่แยกจากกันได้หลาย ๆ ส่วน และถูกตักตวงใช้และทำลายลงโดยกลุ่มผลประโยชน์หลาย ๆ กลุ่ม ทัศนะแห่งการแบ่งแยกนี้ได้แผ่ขยายไปในสังคม มีการแบ่งแยกเป็นชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ความเชื่อว่าส่วนย่อยต่าง ๆ เหล่านี้ ภายในตัวเรา ในสภาพแวดล้อม และสังคม แยกจากกันอย่างแท้จริง เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ในทางสังคม ทางนิเวศวิทยา และทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ทำให้เราห่างเหินจากธรรมชาติและจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้เกิดการแบ่งสันทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความยุ่งยากในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความรุนแรงขยายตัวขึ้น ทั้งที่เป็นไปเองและจากสถาบันต่าง ๆ สภาพแวดล้อมเป็นพิษและน่ารังเกียจ ส่งผลให้ชีวิตในทางร่างกายและจิตใจเสื่อมทรามลง ทัศนะในเชิงแบ่งแยกของเดคาร์ตและโลกทัศน์แบบกลจักรจึงมีทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน แนวคิดนี้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาฟิสิกส์ดั้งเดิมและเทคโนโลยี แต่ก่อให้เกิดผลเสียต่ออารยธรรมของเราติดตามมาเช่นเดียวกันน่ายินดียิ่งที่วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเริ่มต้นจากการแบ่งแยกตามแนวคิดของเดคาร์ตและโลกทัศน์แบบกลจักร ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเพราะทัศนะเช่นนั้นนำมาก่อนเท่านั้น ได้เอาชนะการแบ่งแยก และกลับไปสู่ความคิดในเรื่องเอกภาพ ซึ่งมีมาในปรัชญากรีกและปรัชญาตะวันออก ในทางตรงกันข้ามกับทัศนะในเชิงกลจักรของตะวันตก โลกทัศน์ของตะวันออกเป็นแบบ “องค์รวม” (Organic) ในสายตาของปราชญ์ชาวตะวันออก สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลซึ่งรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และเป็นเพียงการแสดงออกในหลายแง่มุมของสัจธรรมอันเดียวกัน แนวโน้มของเราในการแบ่งแยกโลกออกเป็นปัจเจกชนและสิ่งต่าง ๆ ที่แยกจากกัน และความรู้สึกว่ามีตัวตนของเราแยกต่างหากจากโลกนี้นั้น ล้วนเป็นภาพลวงของความคิดในการวัดและจัดระบบของเรา

ในพุทธศาสนาเรียกภาวะนี้ว่า อวิชชา ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของจิต และเป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ เมื่อจิตใจถูกรบกวน ความหลากหลายของสรรพสิ่งก็เกิดขึ้น เมื่อจิตใจเงียบสงบลง ความหลากหลายของสรรพสิ่งก็มลายไป เป็นหนึ่งเดียว 8 แม้ว่าศาสนาของตะวันออกจะแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด แต่ทั้งหมดล้วนมีคำสอนสำคัญที่มุ่งเน้นความเป็นเอกภาพของจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นฮินดู พุทธ หรือเต๋า เป้าหมายสูงสุดของศาสนาก็คือ การหยั่งรู้ความเป็นเอกภาพและความประสานสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง เพื่อก้าวล่วงความรู้สึกแห่งตัวตนซึ่งแบ่งแยกและรวมตนเข้ากับสัจธรรม ความหยั่งรู้นี้ เรียกว่า “การรู้แจ้ง” (enlightenment) มิใช่การกระทำทางความคิด แต่เป็นประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคลซึ่งอาศัยการปฏิบัติในทางศาสนา โดยเหตุนี้นักปรัชญาทางตะวันออกส่วนใหญ่จึงเป็นนักปรัชญาศาสนา ในทัศนะของตะวันออก การแบ่งแยกธรรมชาติออกเป็นวัตถุต่าง ๆ กัน มิใช่สิ่งพื้นฐาน และสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลตลอดเวลา ดังนั้นโลกทัศน์ของตะวันออกโดยเนื้อหาจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหว มีเวลาและการเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะสำคัญ เอกภพเป็นความจริงหนึ่งเดียวซึ่งไม่อาจแบ่งแยก เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีชีวิต เป็นองค์รวม เป็นทั้งจิตใจและวัตถุในเวลาเดียวกัน เมื่อการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติสำคัญของสรรพสิ่งแรงซึ่งผลักดันการเคลื่อนไหวนั้นจึงมิได้มาจากภายนอก ดังเช่นที่ปรากฏในทัศนะของกรีกโบราณ แต่เป็นคุณสมบัติภายในของวัตถุเอง ทำนองเดียวกัน ภาพของพระผู้เป็นเจ้าในความคิดของตะวันออกมิใช่ภาพของผู้ปกครองซึ่งกำหนดความเป็นไปของโลกจากเบื้องบน แต่เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งควบคุมสรรพสิ่งจากภายในเอง พระองค์สถิตอยู่ในสรรพสิ่ง แต่สรรพสิ่งมิใช่พระองค์ ไม่มีผู้ใดรู้จักพระองค์ สรรพสิ่งคือกายของพระองค์ พระองค์ทรงควบคุมสิ่งทั้งมวลจากภายใน พระองค์ คือ วิญญาณของท่าน ผู้ทรงควบคุมจากภายใน เป็นอมตะ บทต่อ ๆ ไปมุ่งที่จะเสนอแนะว่าแนวคิดของตะวันออก กล่าวโดยทั่วไปคือความคิดในศาสนาต่าง ๆ จะเป็นฐานทางปรัชญาที่สำคัญที่สำคัญแก่ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้ และการค้นพบในทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ สอดคล้องกับความเชื่อในทางศาสนาและเป้าหมายในทางจิตวิญญาณอย่างที่สุด ความคิดสำคัญสองประการในแนวนี้คือ ความเป็นเอกภาพกับประสานสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง และธรรมชาติแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในภายในของจักรวาล เมื่อเราเจาะลึกลงไปในโลกของอนุภาคที่เล็กเกินกว่าที่จะเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์มากขึ้นเท่าใด เราจะเข้าใจยิ่งขึ้นว่า เหตุใดนักฟิสิกส์สมัยใหม่จึงมีทัศนะเช่นเดียวกับปราชญ์ทางตะวันออก โดยเห็นว่าโลกเป็นระบบขององค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจแยกจากกัน มีปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน และเคลื่อนไหวอยู่เสมอ โดยมีมนุษย์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ได้อย่างไร หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มนี้มุ่งที่จะปรับปรุงภาพพจน์ของวิทยาศาสตร์โดยการแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่สำคัญระหว่างจิตใจแห่งปรีชาญาณของตะวันออกและวิทยาศาสตร์ตะวันตก ทั้งมุ่งเสนอแนะว่าวิทยาศาสตร์ไปไกลเกินกว่าเทคโนโลยีและวิถีทาง – หรือเต๋า –แห่งฟิสิกส์ อาจเป็นวิถีทางที่กอปรด้วยหัวใจ เป็นวิถีทางสู่ความรู้ในทางจิตใจและความเข้าใจตนเอง
4571  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:17:36

 
 
 
ภาคที่ 1 วิถีแห่งฟิสิกส์
 
 
 
บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่


หนทางที่กอปรด้วยหัวใจ ฟิสิกส์สมัยใหม่มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสังคมมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงไขพื้นฐานของการดำรงอยู่ของชีวิตบนพื้นพิภพนี้ ทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากความรู้ของวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม (Atomic Physics) และจากการประยุกต์ไปใช้ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ มันได้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางการเมืองของโลก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะด้านเทคโนโลยี หากก้าวเลยไปถึงความคิดและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์เปลี่ยนทัศนคติของตนต่อจักรวาลและต่อความสัมพันธ์ของตนกับจักรวาลด้วย การศึกษาสำรวจในขอบเขตของอะตอมและอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมในศตวรรษที่ 20 ได้เปิดเผยถึงข้อจำกัดของแนวคิดแบบดั้งเดิม และได้แสดงถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติพื้นฐานของเรา ยกตัวอย่างเช่นความคิดเรื่องวัตถุในวิชาฟิสิกส์ ที่ว่าด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความคิดในวิชาฟิสิกส์ดั้งเดิม เช่นเดียวกันกับความคิดในเรื่องอวกาศ เวลา หรือเหตุและผล ความคิดในเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานของทัศนะต่อโลกรอบตัวเรา และเมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง โลกทัศน์ของเราก็เริ่มเปลี่ยนเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เช่นว่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักฟิสิกส์และนักปรัชญาทั้งหลายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีน้อยคนเหลือเกินที่จะตระหนักรู้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นล้วนนำไปสู่ทัศนะที่คล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับทัศนะในศาสนาของตะวันออก แนวคิดในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่หลายประการ ล้วนแสดงความคล้ายคลึงกับความคิดในศาสนาของตะวันออกไกล ถึงแม้ว่าความคล้ายคลึงในทัศนะเหล่านี้ยังไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่นักฟิสิกส์ชั้นนำในยุคนี้หลายคนได้สังเกตเห็นได้ข้อนี้ เมื่อได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของตะวันออกไกลในระหว่างการเดินทางไปปาฐกถาในอินเดีย จีน และญี่ปุ่น ขอยกข้อความเหล่านี้เป็นตัวอย่าง ความคิดหลักหลายประการเกี่ยวกับความเข้าใจของมนุษย์...ซึ่งกระจ่างชัดขึ้น เพราะค้นพบในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมนั้น มิใช่สิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย มันมีมาแล้ว แม้ในวัฒนธรรมของเราเอง และยิ่งปรากฏชัดในศาสนาพุทธและฮินดู สิ่งที่เราจะได้พบ (ในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม) ก็คือการทำให้ภูมิปัญญาแต่โบราณกระจ่างชัดขึ้น มีข้อสนับสนุนหนักแน่นขึ้นและละเมียดละไมขึ้น จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (ถ้าหากเราต้องการ) สิ่งเทียบเคียงกับปัญหาในทฤษฏีอะตอม.. (เราต้องหันมา) สนใจกับปัญหาทางด้านญาณวิทยา ซึ่งนักคิดเช่นพระพุทธเจ้าและเหลาจื้อได้เผชิญมาแล้ว เมื่อพยายามที่จะหาเอกภาพระหว่างตัวเราในฐานะผู้ดูและตัวเราในฐานะผู้แสดง ในมหาอุปรากรแห่งการดำรงอยู่ นิลส์ บอหร์ คุณูปการสำคัญ ๆในทางทฤษฏีของวิชาฟิสิกส์ซึ่งมาจากญี่ปุ่นนับแต่หลังสงครามอาจเป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางปรัชญาของตะวันออกไกลกับปรัชญาของทฤษฏีควอนตัม เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก วัตถุประสงค์หลัก วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือ การศึกษาสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างความคิดในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ กับความคิดพื้นฐานในปรัชญาและศาสนาของตะวันออกไกล เราจะพบว่า รากฐานทั้งสองของวิชาฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 คือ ทฤษฏีควอนตัมและทฤษฏีสัมพัทธภาพ ได้ทำให้โลกทัศน์ของเราคล้ายคลึงกับโลกทัศน์ของชาวฮินดู พุทธ และเต๋าอย่างไร และความคล้ายคลึงนี้ดูเป็นจริงยิ่งขึ้นอย่างไร เมื่อเราศึกษาความพยายามที่จะรวมเอา 2 ทฤษฏีนี้มาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกของอนุภาคที่เล็กมากจนไม่อาจเห็นได้แม้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ นั่นคืออธิบายคุณสมบัติและปฏิกิริยาของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมซึ่งเป็นองค์ประกอบของสสารวัตถุทุกชนิด ตรงจุดนี้ ซึ่งเราพบความคล้ายคลึงอย่างยิ่ง และเรามักจะพบข้อความที่ไม่อาจที่จะบ่งบอกได้ว่า กล่าวโดยนักฟิสิกส์หรือโดยนักปราชญ์ของ ตะวันออกอยู่เสมอ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวถึง “ศาสนาตะวันออก” ข้าพเจ้าหมายถึงปรัชญาศาสนาฮินดู พุทธ และเต๋า แม้ว่าเรากำลังกล่าวถึงระบบปรัชญาและวินัยปฏิบัติซึ่งมีละเอียดอ่อนและแตกต่างกันมาก ทว่าโลกทัศน์พื้นฐานของปรัชญาศาสนาเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกัน ทัศนะเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในตะวันออก แต่จะพบได้เช่นกันในลัทธิศาสนาอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ กัน

ดังนั้นประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือเล่มนี้ก็คือ วิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ได้นำมาสู่โลกทัศน์ซึ่งคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับโลกทัศน์ของปราชญ์ตะวันออกทุกยุคสมัยและทุกวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งลึกซึ้ง (และดูลึกลับ) นั้นปรากฏอยู่ในทุกศาสนา และคำสอนส่วนที่ลึกซึ้งก็ปรากฏในปรัชญาตะวันตกหลายสำนักเช่นกัน ความสอดคล้องต้องกันกับวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ มิใช่มีเพียงคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวทของฮินดู หรือในคัมภีร์อี้จิง (I Ching) หรือใน พระสูตร ของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในลัทธิซูฟี ของอิบบ์ อราบี หรือในคำสอนของดอน ฮวน อาจารย์แห่งเผ่ายาคี* ความแตกต่างระหว่างคำสอนส่วนที่ลึกซึ้งของตะวันออกและตะวันตกก็คือ ในตะวันตกนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบที่ไม่สำคัญ แต่ในตะวันออกมันเป็นองค์ประกอบใหญ่และสำคัญของลัทธิศาสนาตะวันออกทั้งหมด ดังนั้น ข้าพเจ้าจะใช้คำว่า “โลกทัศน์แบบตะวันออก” แทนส่วนนี้เพื่อความสะดวก และจะอ้างถึงแหล่งที่มาอื่น ๆ ประกอบบ้าง ความหมายของฟิสิกส์ น่าสนใจที่จะติดตามศึกษาวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ตะวันตกซึ่งเริ่มจากปรัชญากรีกยุคแรก เติบโตและเบ่งบานเป็นพัฒนาการทางความคิดอันหันเหออกจากสายความคิดเดิม ซึ่งมีลักษณะเป็นรหัสยนัย มาสู่โลกทัศน์ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับทัศนะของตะวันออกไกล ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ตะวันตกกำลังจะเอาชนะทัศนะเช่นนี้ได้ในที่สุด และได้กลับมาสู่ความคิดของกรีกยุคต้นและปรัชญาตะวันออก อย่างไรก็ตามทัศนะในวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมิได้มีพื้นฐานอยู่บนญาณทัศน์เท่านั้น หากยังอยู่บนการทดลองซึ่งมีความละเอียดลออและเที่ยงตรง และบนสูตรทางคณิตศาสตร์ที่แน่นอนตายตัวด้วย รากฐานของฟิสิกส์ก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ตะวันตกแขนงอื่น ๆ ที่ได้ก่อตัวขึ้นในยุคต้นของปรัชญากรีกในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ในวัฒนธรรมซึ่งวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนามิได้แยกจากกัน นักปราชญ์แห่งสำนักไมลีเซียที่เมืองไอโอเนียไม่เคยใส่ใจกับการแบ่งแยกเช่นนั้นเลย เป้าหมายของพวกท่านคือ เพื่อค้นหาธรรมชาติหรือองค์ประกอบแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่า “ไฟซิส” (Physis) คำว่าฟิสิกส์ ซึ่งมาจากภาษากรีกคำนี้จึงมีความหมายดั้งเดิมว่า วิชาซึ่งพยายามค้นหาธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่ง นี่เป็นความมุ่งหมายของศาสนาทั้งหลายด้วย และปรัชญาของสำนักไมลีเซียก็มีกลิ่นอายของศาสนาปะปนอยู่ด้วย ชาวกรีกรุ่นหลังเรียกพวกไมลีเซียนว่า “ไฮโลโซอิสต์” (Hylozoists) หรือ “ผู้ที่คิดว่าสสารวัตถุมีชีวิต” เพราะว่าพวกเขาไม่ถึอว่ามีความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต จิตวิญญาณและวัตถุ พวกเขาไม่มีแม้คำเรียกวัตถุ เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นการปรากฏแสดงของ “ไฟซิส” ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ ดังนั้นธาเลสจึงกล่าวว่า สรรพสิ่งล้วนมีเทพเจ้าสถิตอยู่ และอแน็กซิมานเดอร์มีทัศนะว่า จักรวาลเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งถูกหล่อเลี้ยงอยู่ด้วย “นิวมา” (Pheuma) หรือลมหายใจของจักรวาล ในทำนองเดียวกับที่อากาศหล่อเลี้ยงร่างกายของมนุษย์ ความคิดของเฮราคลิตัส ทัศนะดังกล่าวของพวกไปลีเซียใกล้เคียงกับปรัชญาของอินเดียและจีนโบราณมาก ความสอดคล้องกับปรัชญาตะวันออกยิ่งชัดเจนขึ้นในปรัชญาของเฮราคลิตัสและเอเฟซัล เฮราคลิตัสเชื่อว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “แปรเปลี่ยน” (Becoming) อยู่ตลอดนิรันดร สำหรับเขาการเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งมวลไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นผลจากทัศนะที่ผิด และกฎของจักรวาลสำหรับเขาคือไฟสัญลักษณ์แห่งการเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของสรรพสิ่ง เฮราคลิตัสสอนว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในโลกเกิดขึ้นจากการขับเคี่ยวกันระหว่างสิ่งซึ่งตรงกันข้าม และคู่ของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามนั้น แท้จริงเป็นเอกภาพ เอกภาพซึ่งกอปรขึ้นจากสิ่งตรงข้ามแล้วไปพ้นแรงผลักระหว่างกันนี้เรียกว่า โลโกส (Logos) สำนักอีเลียเริ่มทำให้เอกภาพนี้สลายลง โดยสำนักนี้ถือว่ามีกฎเกณฑ์แห่งสวรรค์อยู่เหนือเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ในขั้นต้น กฎเกณฑ์นี้ก็คือความเป็นเอกภาพของจักรวาล แต่ต่อมาได้ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกระหว่างจิตและวัตถุและนำไปสู่ลัทธิทวิภาวะ (Dualism) ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาตะวันตก ก้าวสำคัญในทิศทางดังกล่าวเริ่มโดยปาร์เมนนิเดสแห่งอีเลีย ซึ่งเห็นแย้งกับเฮราคลิตัสอย่างรุนแรง เขาเรียกหลักการพื้นฐานของเขาว่า “สัต” (Being) ซึ่งไม่อาจแบ่งแยกและไม่เปลี่ยนแปลง

เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงไม่อาจมีได้และเป็นเพียงการลวงของประสาทสัมผัส ความคิดเรื่องวัตถุซึ่งไม่อาจทำลายได้ ทว่ามีคุณสมบัติต่าง ๆ กันเติบโตขึ้นจากปรัชญาสำนักนี้ และกลายเป็นความคิดพื้นฐานกระแสหนึ่งในปรัชญาตะวันตก อริสโตเติล ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล นักปรัชญากรีกพยายามที่จะหาทางออกสำหรับความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างปาร์เมนนิเดสและเฮราคลิตัส ระหว่างความคิดเรื่องสัตซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง (ปาร์เมนนิเดส) และความคิดเรื่องการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ (เฮราคลิตัส) พวกเขาได้ข้อสรุปว่าสัตปรากฏในวัตถุซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงการผสมผสานและการแยกออกของสสารวัตถุเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ความคิดนี้น่าไปสู่ความคิดเรื่องอะตอม หน่วยของวัตถุที่เล็กที่สุดซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ชัดเจนที่สุดคือ ลิวซิปปัสและเดโมครีตัสนักคิดเรื่องอะตอมชาวกรีกทั้งสองได้แบ่งแยกจิตและวัตถุอย่างชัดเจน และให้ภาพที่ว่าวัตถุประกอบด้วย “องค์ประกอบพื้นฐาน” หลาย ๆ หน่วยรวมเข้าด้วยกัน ไม่มีชีวิต และเคลื่อนไหวอยู่ในที่ว่าง ไม่มีการอธิบายถึงเหตุแห่งการเคลื่อนไหวนั้น แต่มักจะเกี่ยวข้องกับแรงผลักดันภายนอก ซึ่งมักจะสมมติว่ามาจากพลังของจิตวิญญาณ อันแตกต่างจากวัตถุโดยพื้นฐาน ในศตวรรษต่อมา ภาพพจน์อันนี้ได้กลายเป็นเนื้อหาสำคัญของความคิดแบบตะวันตก อันเป็นความแบบทวิภาวะ ซึ่งมีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝักฝ่ายระหว่างจิตและวัตถุ กายและวิญญาณ ในขณะที่ความคิดในการแบ่งแยกระหว่างจิตและวัตถุดำเนินไป นักปรัชญาได้หันความสนใจไปสู่โลกของจิตวิญญาณมากกว่าโลกของวัตถุ และให้ความสนใจกับวิญญาณของมนุษย์และปัญหาทางจริยศาสตร์เป็นหลัก ปัญหาเหล่านี้ได้ครอบคลุมกระแสความคิดของตะวันตกกว่า 2,000 ปี นับแต่เริ่มต้นของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของกรีกในศตวรรษที่ห้าและสี่ก่อนคริสตกาล ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ในสมัยโบราณถูกจัดระบบโดยอริสโตเติล ผู้ซึ่งวางโครงร่างพื้นฐานของทัศนะต่อจักรวาลของตะวันตกมานานถึงสองพันปี แต่โดยส่วนตัวของอริสโตเติลเองเชื่อว่า ปัญหาเกี่ยวกับวิญญาณของมนุษย์และการเพ่งพินิจต่อความสมบูรณ์ของพระเจ้า เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการสำรวจโลกทางวัตถุ เหตุที่แบบแผนเกี่ยวกับจักรวาลของอริสโตเติลไม่ถูกท้าทายเป็นเวลายาวนาน ก็เนื่องมาจากการขาดความสนใจในโลกของวัตถุดังกล่าวมานี้ ประกอบกับการสนับสนุนอย่างแข็งขันของคริสตจักรต่อความคิดของอริสโตเติลมาตลอดยุคกลาง ฉันคิด ดังนั้นฉันจังมีอยู่ พัฒนาการขั้นต่อมาของวิทยาศาสตร์ตะวันตกมาเริ่มเอาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เมื่อผู้คนเริ่มปลดปล่อยตนเองออกจากความเชื่อตามอิทธิพลของอริสโตเติลและศาสนจักร และเริ่มแสดงความสนใจแนวใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติ

4572  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / เต๋าแห่งฟิสิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:17:13
โหลดได้

http://www.ziddu.com/download/2928604/tao.pdf.html
4573  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / หันหน้าเข้าหากันแบบจิตวิวัฒน์ โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:16:03
หันหน้าเข้าหากันแบบจิตวิวัฒน์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2547

ผมชอบคนที่ผ่านกรำชีวิตมารอบด้านและเขียนบรรยายสิ่งต่างๆ เป็นตัวหนังสือน้อยลง แต่งดงามและเข้าสู่ใจกลางของประเด็น อย่างคำที่ว่า “หันหน้าเข้าหากัน” ซึ่งมากาเร็ต วีตเลย์ (Margaret J. Wheatley) ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเธอ และนี่คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะเห็นด้วยว่า เป็นกิจกรรมที่คนไทยต้องการมากที่สุดในเวลานี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนคนหนึ่งจัดอบรมที่เกี่ยวเนื่องในงานบริหารธุรกิจ ผมลองเอาความคิดของมากาเร็ตในหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเธอคือ Leadership and the New Science ที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ เป็นการพลิกมุมมองการบริหารจัดการโดยสิ้นเชิงจากความรู้กระแสหลักที่เราเชื่อในการบริหารจัดการอย่างทุกวันนี้ เรื่องหนึ่งก็คือเธอบอกว่า มันไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ข้างนอก จะในมหาวิทยาลัย หรือในบรรษัทที่ประสบความสำเร็จก็ดี หากคำตอบจะมาจากการคิดค้นของคนภายในองค์กรนั้นเอง และไม่มีดีที่สุด แต่จะมีที่เรียกว่า “ใช้การได้” และจะมีอะไรได้มากมายหลายหลากที่ใช้การได้ ก็ความรู้ความเข้าใจอย่างใช้การได้นี้เอง ที่จะเป็นการเรียนรู้และวิวัฒนาขององค์ความรู้ภายในขององค์กรนั้น และนี่คือการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

จะทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ทำให้การค้นพบแนวทางที่ใช้การได้เกิดขึ้นมากๆ ตลอดเวลา เราจะต้องเคารพและเชื่อในความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ของทั้งระดับปัจเจก ระดับกลุ่มงาน และระดับองค์กรย่อยๆ ทุกระดับ และความรู้ในระดับองค์รวมในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่กลุ่ม แผนก ฝ่าย องค์กรโดยรวมจะเกิดขึ้นได้จากการ “หันหน้าเข้ากัน” คือหันหน้าเข้าหากันพูดคุยในบรรยากาศที่ทัดเทียมกัน ถอดหัวโขนออกไป ให้เหลือแต่ความเป็นมนุษย์และความเป็นพี่เป็นน้องเท่านั้น ไม่เอาอำนาจและโครงสร้างอำนาจเข้ามา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการฟังอย่างมีคุณภาพ การฟังอย่างไม่สอดแทรกสวนกลับด้วยอำนาจหรือด้วยการเป็นผู้รู้แบบชาล้นถ้วย การฟังอย่างไม่ตัดสิน การฟังอย่างซึมซับเรื่องราว เจตนารมณ์ และอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดทั้งหมด ตรงนั้นจะเป็นเวทีแห่งปัญญา ที่จะก่อเกิดปัญญาของกลุ่มหรือปัญญาขององค์กร

ถ้าแบ่งช่วงแห่งพัฒนาการของการสนทนาเป็นสี่ช่วง คือช่วงเด็ก ช่วงหนุ่มสาว ช่วงผู้ใหญ่และช่วงผู้มีภูมิปัญญา ในสังคมของเรา พัฒนาการส่วนใหญ่จะอยู่แค่ช่วงเด็ก และช่วงหนุ่มสาวเท่านั้น คือติดอยู่ที่ช่วงแรกและช่วงที่สอง ช่วงแรกเป็นการสนทนาแบบสุภาพ แบบเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่คุ้นเคยกันมา มีการประชุมตามวาระ และเรื่องที่ไม่เคยนำมาพูดคุยกันมาก่อน ก็ไม่อาจนำเข้ามาได้ สรุปการสนทนาในพัฒนาการระดับนี้ ก็คือการสนทนาที่ไม่ได้มีใครพูดอะไรที่จริงจังออกมา ทุกคนดำเนินตามกรอบกติกาเดิมที่ปลอดภัย ทุกคนเพียงเอาตัวรอด ทุกคนไม่มีใครแหลมออกมารับผิดชอบเรื่องราวอันใด

หรือไม่อย่างเก่งที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ บางทีเราก็เข้าสู่ช่วงที่สองของการสนทนา ที่แต่ละคนเริ่มพูดเรื่องที่ตนเองคิด กล้าแหวกกรอบออกมา หลายที่ที่มีความจริงใจที่จะให้เกิดการคุยกันจริงๆ อาจจะมาได้เพียงระดับนี้ แต่ในระดับนี้หากไม่ก้าวล่วงไปสู่ช่วงแห่งพัฒนาการที่สาม ภาพปรากฏก็คือความขัดแย้ง และการเป็นคู่ตรงกันข้าม การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน การนำออกไปนินทากัน ปล่อยข่าวลือกัน ไม่มีการมองข้ามพ้นจุดยืนของตัวเองเพื่อเรียนรู้จุดยืนของคนอื่น จึงไม่เกิดการสังเคราะห์จุดยืนต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่มีการก่อประกอบความคิดใหม่ร่วมกัน อันเป็นพัฒนาการช่วงที่สามและสี่ตามลำดับ พอมาถึงช่วงที่สองที่ขัดแย้งซึ่งจะทำให้องค์กรอ่อนล้าเกิดขึ้นมากๆ แล้ว ก็มักจะกลับไปสู่ช่วงที่หนึ่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อลดดีกรีความรุนแรงที่ปะทุขึ้นให้คลายลงด้วยการประนีประนอม สุภาพ อย่างไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ ให้ลุล่วงไปได้จริง วนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ จึงเกิดข้อสรุปขึ้นพูดคุยกันไปก็เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะวงสนทนาของพวกเราทั้งประเทศยังไม่ก้าวล่วงความเป็นเด็กและความเป็นหนุ่มสาวไปได้นั้นเอง

แต่ในการสนทนาแบบสุนทรีย์ หรือการสนทนาแบบหันหน้าเข้าหากัน เราจะมีการพัฒนาไปสู่ช่วงที่สาม ที่เราเป็นผู้ใหญ่กันมากขึ้น เป็นการพัฒนาการต่อจากช่วงที่สอง ที่ทำให้การพูดความคิดของตนเองออกมาของหลายๆ คนของในช่วงที่สอง ถูกมองและได้รับการรับฟังในมุมมองใหม่ ไม่ได้มองจากมุมมองของจุดยืน แต่มองจากความมีประโยชน์และใช้การได้ของความคิดแต่ละความคิดที่ลำเลียงออกมา ถึงตอนนี้ เราไม่ได้มีเพียงความคิดนำเสนอและความคิดแย้งเท่านั้น แต่เราจะมีความคิดและมุมมองที่กว้างไกลและลึกซึ้งกว่านั้นเข้ามาเสริมด้วย ทำให้อะไรที่ดูเหมือนความขัดแย้งเดิม กลายเป็นมุมมองที่เสริมกันได้ และมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วในการขยายมุมมอง และทำให้ลุ่มลึกขึ้นในมุมมอง ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมซ้อนแห่งความคิดมากมาย ทำให้เราได้ตรึกตรองใคร่ครวญ เรื่องราวที่แต่ก่อนมาเพียงแต่คิดคร่าวๆ ในความรวดเร็วร้อนรนแห่งชีวิต มาบัดนี้ได้มีโอกาสไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ตรงนี้เองที่เราเริ่มเกิดความคิดใหม่ๆ มากมายที่มีประโยชน์

เมื่อเข้าถึงช่วงที่สี่ ความคิดต่างๆ เริ่มปลดตัวของจากความเป็นเขาเป็นเรา บางทีเราได้ยินความคิดของเราเอ่ยขึ้นมาในเสียงของผู้อื่น และบางทีผู้อื่นก็ได้ยินความคิดของพวกเขาสะท้อนอยู่ในเสียงของเรา ในความไม่เป็นตัวตนแห่งการคิดร่วมกัน การหันหน้าเข้าหากันนี้ เราสัมผัสได้ถึงไมตรีจิตอันอบอุ่น เราเริ่มสัมผัสได้ว่า กลุ่มมีชีวิตขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมา เหนือตัวตนของทุกๆ คน เราเริ่มเห็นคุณค่าของคนอื่นอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แม้คนที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับว่าฉลาดหลักแหลม แต่คำพูดของเขาในวันนี้ ไฉนจึงเต็มไปด้วยภูมิปัญญา ตรงนี้นี่เองที่เราตระหนักรู้ว่ากลุ่มคิดได้ และความคิดของกลุ่มลุ่มลึกกว่าความคิดของปัจเจกมาก หากเพียงแต่ว่าจะมีโอกาสแห่งการหันหน้าเข้าหากันหรือไม่? ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าทำอย่างไร? การสนทนาแบบนี้ จะได้เข้ามาเป็นหลักชัยในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ที่ทำให้เราสามารถประสานประโยชน์อันแตกต่างกันได้ด้วยภูมิปัญญาอย่างแท้จริง




วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2547 at ที่ 14:56 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิศิษฐ์ วังวิญญู | 0 ความคิดเห็น
4574  จากใจถึงใจ / สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก) / แจ้ง การย้าย กู้ข้อมูล มุ่งสู่ ยุควิไล ยุคพลังงานใหม่ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:14:44


 หัวเราะลั่น  พี่ลุย ย้าย ข้อมูลห้องจิตวิวัตน์ กระบวนทัศน์นิวเอจ อยู่ จ้า

พี่ลง ที่เขากะลาบอร์ดเก่าไป พันกว่ากระทู้ ฮี่ ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ค่อย ๆ ย้าย นะ น้องแม็ค หรือใคร ช่วยด้วยยยยย จ้า

บางห้อง พี่เพิ่งมีเวลา วันนี้เอง จะ ค่อย ๆ ลำเลียง
4575  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / คนยุค “สมัยใหม่” คิดว่าจิตคือสมอง ( ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ ) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:10:27
คนยุค “สมัยใหม่” คิดว่าจิตคือสมอง

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2547

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจคำว่า เราคนยุค “สมัยใหม่” ที่ผู้เขียนใช้ ว่าหมายถึงเราคนส่วนใหญ่ที่มักไม่คิดว่า โดยกระบวนการวิวัฒนาการ ไม่มีอะไรใหม่ไปได้ตลอดกาล และในความจริงแล้ว “สมัยใหม่” ที่ว่าก็กำลังจะกลายเป็นกระบวนทัศน์เก่ายิ่งขึ้นทุกขณะ (คำว่ากระบวนทัศน์ในที่นี้ คือรูปแบบ (กรอบ แนวและวิธีคิด) ของความคิด (ปัจเจกและโดยรวม) ว่าด้วยโลก ชีวิตและสังคม.)

โดยกระบวนทัศน์เก่าที่อยู่กับเรามากว่า ๓๐๐ ปีกระทั่งทุกวันนี้ คือกระบวนทัศน์ที่ตั้งบนหลักสองประการ (โดยเฉพาะประการหลัง) คือหนึ่ง วัฒนธรรมหรือความรู้ที่ยอมรับร่วมกันเป็นความเชื่อ เป็นคุณค่า และความหมาย ที่เป็นฐานของความคิดต่อการดำรงอยู่ หรือวิถีชีวิตของเรา กับสอง ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะชีววิทยา ‘เก่าเดิม’ ที่เราคิดว่า ‘ใหม่’ และถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ทั้งสองประการคือรากฐานของระบบสังคมทุกๆ ระบบในปัจจุบัน ที่ผู้เขียนกำลังชี้บ่งว่า “ไม่สมบูรณ์” หรือ “ผิด” กระบวนการธรรมชาติ

นักประสาทวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์กายภาพแห่งความเป็น “สมัยใหม่” แต่ ‘เก่าเดิม’ นั้น ไม่รู้จักคำว่าจิตวิญญาณ หรือจิตทั้งแผงที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตยุคใหม่ใช้กัน (consciousness) การที่ผู้เขียนมักนำคำว่าจิตวิญญาณมาใช้ ก็เพื่อให้แยกจากคำว่าจิตเฉยๆ ซึ่งในสายตาของนักวิทยาศาสตร์กายภาพหรือคนยุค “สมัยใหม่” เป็นสิ่งเดียวกับจิตใจ (มนัส) หรือจิตรู้ (mind or conscious mind) หรือสมอง นั่นเอง

อิทธิพลของวิทยาศาสตร์กายภาพดังกล่าว ได้สรรค์สร้างสังคม “สมัยใหม่” กับคนยุค “สมัยใหม่” ให้คิดว่า จิตเป็นสิ่งที่โผล่ปรากฏขึ้นมาจากการทำงานที่ซับซ้อนของสสารวัตถุ ซึ่งในที่นี้คือสมอง (epiphenomenon or mind is emergent property of matter) อันเป็นองค์ความรู้ส่วนน้อยนิดในเรื่องของจิตทั้งหมดและจะยังคงน้อยนิดอยู่เรื่อยไป เพราะองค์ความรู้ที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์ “สมัยใหม่” ล้วนเป็นเรื่องของ “จิตรู้หรือจิตใจที่สัมพันธ์กับสมอง” (conscious mind or brain-mind) ซึ่งเป็นประเด็นทางกายภาพด้านเดียวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้เรื่องจิตทางกายภาพ โดยสรีระและหน้าที่ของสมอง จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดและรู้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางเท่านั้น แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง ควรที่สาธารณชนโดยเฉพาะผู้สนใจในเรื่องของจิตจะต้องรู้ไว้บ้างว่า การที่ชีวิตทุกชีวิต รวมถึงชีวิตที่ไม่ซับซ้อนเช่นไวรัสหรือแบกทีเรีย มีความแตกต่างกัน ก็เพราะเครื่องมือที่บริหารจิตหรือสมองมีขนาดและความละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันนั่นเอง แม้ว่าโดยหลักวิวัฒนาการ สัตว์ที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าพืชและแบกทีเรีย จะยังคงมีโครงสร้างระบบประสาทหรือสมองเก่าที่ได้วิวัฒนาการผ่านไปแล้วอยู่ ดังเช่น สมองของงูและตะกวด แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่และซับซ้อนกว่าปลาบ้าง แต่สมองส่วนซึ่งทำหน้าที่ให้จิตพื้นฐานหรือสัญชาตญาณ จะประกอบด้วยสมองส่วนท้าย (hindbrain) ที่เรียกว่าอาร์-คอมเพล็กซ์ เหมือนสมองของปลาแทบทั้งหมด ในขณะที่นกและแมมมอล หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขั้นต่ำ จะมีสมองส่วนกลางหรือระบบลิมบิก (limbic) ที่ให้อารมณ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปรุงแต่งสัญชาตญาณเพิ่มขึ้นมา ครอบอยู่โดยรอบ ด้านหน้าของอาร์-คอมเพล็กซ์ และโดยมีความโยงใยสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ส่วนสัตว์ชั้นสูง เช่นหมาแมวนั้น จะมีสมองส่วนหน้า (forebrain) ใหญ่กว่าหนูหรือกระต่าย สำหรับสมองส่วนหน้าในลิงหรือชิมแปนซีซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก โดยเชื่อมโยงกับสมองส่วนลิมบิกและสมองส่วนท้ายอย่างแนบแน่นนั้น จะมีหน้าที่ให้ปัญญาความคิดที่เชื่อมโยงปรุงแต่งอารมณ์และสัญชาตญาณ และสิ่งที่ทำให้มนุษย์ซึ่งมีสมองใหญ่และซับซ้อนที่สุดแตกต่างจากสัตว์ ก็เพราะมนุษย์มีสมองส่วนหน้า เรียกว่านิโอคอร์เท็กซ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงอย่างสลับซับซ้อนกับสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย ที่สัตว์ชนิดต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วมีอยู่เท่าๆ กับที่มนุษย์มี ดังนั้น ความแตกต่างอันซับซ้อนที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือชีวิตอื่นใด คือปัญญาและอัตตาตัวตนจากความจำที่ระลึกได้ (secondary repertory and Self) ต่างหาก ที่ทำหน้าที่ควบคุมและปรุงแต่งอารมณ์ที่ไปปรุงแต่งสัญชาตญาณต่ออีกทีหนึ่ง วิชาประสาทวิทยาที่พัฒนาเป็นองค์ความรู้มาตลอดศตวรรษกระทั่งถึงวันนี้ เรียนรู้และพิสูจน์สมอง-จิต หรือจิต แต่เพียงแค่นั้น คือเฉพาะสรีระวิทยาและหน้าที่พื้นฐานว่าด้วยการรับรู้ การสนองตอบทางระบบประสาทความรู้สึกและกล้ามเนื้อ รวมทั้งการควบคุมการทำงานของอวัยวะ ของเซลล์ และระบบต่างๆ ของร่างกาย

ผลงานวิจัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กายภาพในรอบศตวรรษมานี้ ล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดหรือการปรับเปลี่ยนแก้ไขประเด็นที่รู้บ้างแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เพียงห้าสิบปีก่อน เราคิดว่าสมองรับภาพผ่านตาเหมือนกับการผ่านเล็นส์กล้องถ่ายรูป แต่ปัจจุบันเรารู้ว่าสมองรับสัญญาณหรือข้อมูลในรูปของพลังงานที่ประกอบด้วยเสป็คตรัมของคลื่นแสง เล็นส์จะมีหน้าที่รวมประสานเสป็คตรัมของคลื่นเหล่านั้นให้เป็นเนื้อเดียวกันพร้อมๆ กับกำหนดจุดความเข้มหรือโฟกัส แล้วเรติน่าจะสร้างรูปแบบความพัวพันของคลื่นขึ้นมา จากนั้นสมองส่วนที่ทำหน้าที่แปล (visual cortex) ก็จะแปลและสร้างรูปแบบที่ว่านั้นให้เป็นภาพ

ข้อมูลก็เป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานหรือจิตที่บริหารโดยสมอง ข้อมูลจากภายนอกที่เข้ามาถึงสมองนั้น เรียกว่าการรับรู้ (perception) แต่ยังไม่ถือว่ารู้ เพราะการรู้ (cognition) คือสิ่งที่ตามมาหลังจากที่ข้อมูลได้รับการวิเคราะห์ เฉพาะข้อมูลที่สำคัญเราจะเก็บ (retention) ไว้เพื่อระลึกกลับคืน (re-cognition or recall) อันเป็นหน้าที่ของความจำ (memory) การทำงานของกระบวนการเหล่านี้ เมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว เราคิดว่าจะต้องมีร่องรอยของรูปแบบที่เรียกว่า “เอ็นแกรม” (engram) อันเป็นผลของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของกิ่งก้าน (dendrites) เซลล์ประสาท นักประสาทวิทยาจำนวนมาก รวมทั้ง คาร์ล ลัชคีย์ วิลเดอร์ เพ็นฟีลด์ ศัลยแพทย์ชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่เซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ประสาทสรีระแพทย์รางวัลโนเบล ในช่วงแรกๆ ต่างก็พยายามค้นหาเอ็นเแกรมที่ว่านี้ แต่ถึงแม้จะตัดสมองสัตว์ทดลองออกไปทั้งหมด ไม่ว่าสมองซาลามานเดอร์หรือสมองหนู (หลังจากที่ฝึกให้พวกมันจำเวลาหรือสถานที่วางอาหารได้) ก็ปรากฏว่า แม้ความทรงจำของสัตว์ทดลองทุกตัวจะเชื่องช้าลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่เป็นอย่างดี วิลเดอร์ เพ็นฟิลด์ ถึงได้พูดกับจอร์จ วอลด์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากฮาร์วาร์ดไว้ก่อนตายว่า “อย่าไปหาจิตในสมองเลย มันไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก” ส่วนเซอร์ จอห์น เอ็คเคิลส์ ก็พูดว่าจิตอยู่ในสนามจิตนอกสมองเท่าๆ กับที่อยู่ในสมอง ซ้ำยังประกาศว่าตนเองได้ค้นพบตำแหน่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย ว่าอยู่ที่กลีบปรีฟร็อนตัล (prefrontal) ที่เรียกว่าเอสเอ็มเอ (SMA) แล้วอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่แล้ว ได้เกิดทฤษฎี “เครือข่ายเซลล์สมอง” ขึ้นมาหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายการทำงานของจิตรู้ (neural networks theories) ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันมาก คือทฤษฎีของเจอรัลด์ อีเดลแมน นักชีววิทยารางวัลโนเบลชาวอเมริกัน ที่บอกว่า กระบวนการที่ให้จิตรู้ (mental process) นั้นเป็นผลงานของกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่ในทุกส่วนของสมอง ซึ่งแข่งขันกันเพื่อจะมีปฏิสัมพันธ์กับสัญญาณหรือคลื่นพลังงานที่มาจากภายนอก ทฤษฎีเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า กลุ่มเซลล์ประสาทหรือเซลล์สมองที่มีเป็นจำนวนพันถึงล้านๆ ตัว จะจับกันเป็นเครือข่ายในสองรูปแบบ คือหนึ่ง เป็นไปเองตามโค้ดทางพันธุกรรม (primary repertory) กับสอง พัฒนาเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น (secondary repertory) จากการกระตุ้นเตือนอย่างซ้ำซ้อนของข้อมูลจากภายนอกหรือความคิดจากภายใน ที่ร่วมกันให้รูปแบบการโผล่ปรากฏของจิตรู้และความทรงจำใหม่

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กายภาพของสมอง โดยหลักการก็มีเพียงแค่นั้น เพียงแต่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น จนทำให้เรารู้ว่ากระบวนการที่จิตรู้ของเรา เป็นความคิด มโนทัศน์ (concept) กระทั่งข้อมูลที่เป็นนามธรรมต่างๆ ต้องอาศัยกระบวนการบริหารข้อมูลที่ซับซ้อน และข้อมูลบางส่วนเกิดจากสมองจัดหามาให้จากภายใน แต่กระทั่งวันนี้ กระบวนการทางประสาทสรีระวิทยาต่อการเกิดของจิต แม้ในส่วนที่เป็นจิตรู้ก็ยังเหมือนเดิม คือ “ไม่รู้” อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์กายภาพของสมองไม่สำคัญ วิทยาศาสตร์อาจตอบความล้ำลึกลี้ลับในเรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณไม่ได้เลย แต่วิทยาศาสตร์กายภาพก็ทำให้เราสามารถเข้าใจและควบคุมผลการบริหารของสมอง ที่เรียกว่าจิตใจและอารมณ์ได้




วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 14:47 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, ประสาน ต่างใจ | 0 ความคิดเห็น
4576  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / รักกันอย่างไร ... ให้เป็นจิตวิวัฒน์? เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:09:12
รักกันอย่างไร ... ให้เป็นจิตวิวัฒน์?

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2547

เวลาคุณได้ยินคำว่า "จิตวิวัฒน์" แล้วนึกถึงอะไร?

คุณนึกถึงอะไรที่ยากๆ หรือเป็นนามธรรมหรือเปล่า?

คุณคิดว่ามันคืออะไรที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณใช่ไหม?

หากคุณเคยมีความรัก กำลังตกหลุมรัก หรือหวังว่าจะพบรัก คุณก็น่าจะได้รู้จัก "จิตวิวัฒน์" เพื่อที่จะได้เข้าใจความรักของคุณมากขึ้น!

ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง คุณเดวิด สปิลเลน ได้เล่าถึงการประชุมประจำปีของสถาบันโนเอติกไซนส์ (www.noetic.org) ที่ทำงานเรื่องการปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ว่ามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงความท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ คือ "การที่เราต้องเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับกระบวนทัศน์เก่าและเป็นหมอตำแยสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่" (To become a hospice to the old and a midwife to the new paradigm)

กระบวนทัศน์เก่า (ที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กระบวนทัศน์ "สมัยใหม่" แต่ "เก่าเดิม")

เกิดพร้อมการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่เป็นความคิดความเข้าใจโลกที่มีลักษณะของโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุ และเชื่อในความสามารถทำนายผลล่วงหน้าได้

ทำให้มนุษย์มีจิตเล็ก เข้าใจโลกอย่างแคบๆ

ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมองโลกอย่างเป็นองค์รวม ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตที่ใหญ่ ที่ไม่บีบคั้น ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความรัก และความสุข

สิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติของคำอธิบายโลกแบบเก่า ที่ใช้การไม่ได้ ต้องถูกแทนด้วยกระบวนทัศน์ใหม่

เราไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรให้ความรัก และช่วยให้กระบวนทัศน์เก่าจากไปด้วยความมีศักดิ์ศรี

ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเรียนรู้ เตรียมพร้อม และช่วยเหลือให้กระบวนทัศน์ใหม่หรือจิตสำนึกใหม่เกิดขึ้น

เรื่องที่คุณเดวิดเล่าเกี่ยวกับการดูแลการเกิด-การตายของกระบวนทัศน์ ชวนให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราเองต้องให้ความรักแก่กระบวนทัศน์เหมือนให้ความรักแก่คน ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังจะตาย ผู้เขียนนึกถึงความรักรูปแบบต่างๆ ทั้งความรักที่เรามีให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ (ยิ่งเพิ่งจะผ่านวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุมาไม่นาน) รักที่เราให้มีกับแฟน (รวมทั้งแฟนคลับ) รวมรักที่มีให้แก่เด็กๆ และรักอื่นๆ อีกมากมายหลายเฉดสี

แล้ว "ความรักคืออะไร"

พอล เมย์คิช เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เป็นคริสเตียน นักคิด และหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ชาวกรีกโบราณนั้นมีคำที่ใช้เรียกความรักถึงอย่างน้อยห้าคำ คือ storge, hybris, eros, philia และ agape

คำว่า storge (สตอร์เก้) เป็นคำเบาๆ ที่มีความหมายไปทาง "ชอบ" มากกว่ารัก

ส่วนคำว่า hybris (ไฮบริส) หมายถึงความรักตนเอง ที่เป็นฐานของความเย่อหยิ่ง

คำว่า eros (อีโรส) นั้นเป็นชื่อลูกของเทพอะโฟรไดท์ หรือวีนัส หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ คิวปิดนั่นเอง คำคำนี้เป็นที่มาของคำว่าอีโรติกด้วย โดยทั่วไปหมายถึงความรักแบบโรแมนติก

อีกคำคือ philia (ฟิเลีย) เป็นความรักที่พบในมิตรภาพ ในหมู่เพื่อน ในครอบครัว รักพ่อรักแม่ หรือในมนุษยชาติ อย่างที่เมืองฟิลาเดลเฟียนั้น หมายถึงเมืองแห่งความรักของพี่น้องหรือภราดรภาพ

คำสุดท้ายคือ agape (อะกาเป้) ใช้ในความหมายถึงการได้รับ การให้ความเคารพ โดยมีนัยะถึงพระเจ้า ความรักแบบนี้ไม่ให้ความรู้สึกน่าทึ่ง อัศจรรย์ วูบวาบเหมือนรักแบบโรแมนติก หรือความรู้สึกอบอุ่นแบบฟิเลีย แต่กลับให้ความรู้สึกกลางๆ มีลักษณะไปทางจิตวิญญาณหรือจิตปัญญา ไม่มีสีสันไม่ปรุงแต่ง ไม่ติดยึด ไม่เรียกร้อง

ความรักแบบที่สี่และโดยเฉพาะแบบที่ห้านี้หรือเปล่าหนอ ที่ก่อให้เกิดความรักที่เป็นอิสระ ข้ามพ้นการแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นความรักแบบจิตใหญ่ที่แท้จริง

เรื่องความรักในการดูแลระยะสุดท้ายและทำคลอดกระบวนทัศน์ บวกกับเรื่องความรักห้าแบบของกรีก ทำให้ได้คิด ได้สัมผัสความลึกซึ้งและงดงามของความรักในรูปแบบต่างๆ

และที่น่าทึ่งคือทั้งสองเรื่องไม่ได้มีความหมายโดดๆ หรือขัดแย้งกัน แต่สอดประสาน ซ้อนเหลื่อม เสริมพลัง เหมือนกับให้ภาพที่ซ้อนชัดขึ้นๆ

ดังที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู อธิบายว่า เหมือนกลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม เป็น spiral dynamic หรือแบบเกลียวสปริง เป็นการเรียนรู้ของสมอง ที่เป็นข่ายใย ไม่ใช่เชิงเส้น ทำให้เราเชื่อมโยงความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจต่างๆ ได้ดีขึ้น และในหลายบริบทมากขึ้น

ตัวอย่างเรื่องความรักนี้ยังทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสชัดเจนขึ้นถึงถ้อยคำที่ว่ากระบวนทัศน์ใหม่นั้นไม่ได้ละทิ้งหรือปฏิเสธกระบวนทัศน์เก่า หากแต่ก้าวพ้นและครอบคลุม (transcend and include) คือ อธิบายของเดิมได้หมด

แถมยังอธิบายสิ่งอื่นได้เพิ่มอีกด้วย ดังเช่น การที่ความรักแบบอะกาเป้และฟิเลีย เข้าใจและโอบอุ้มความรักแบบอื่นๆ ไว้ได้หมด

ภายในประเทศของเราก็มีตัวอย่างรูปธรรมของกลุ่มคนที่พยายามเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความรักและความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร

อาทิ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิวัฒน์ กระบวนทัศน์ใหม่ และการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีการพบปะกันทุกเดือนเพื่อศึกษาและเผยแพร่จิตสำนึกใหม่

กลุ่มเชียงราย-แพร่ เป็นเพื่อนๆ จากหลากหลายวิชาชีพ ที่ได้ลองเอาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับจิตใหญ่มาทดลองปฏิบัติกับตนเองในด้านต่างๆ ทั้งระดับบุคคลและองค์กร

หรือ กลุ่มปัญญาวิวัฒน์ (A Circle of Friends) ที่เริ่มก่อตัวจากเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ มีมุมมองหลากหลายจากสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความรัก ความปรารถนาดี อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศและสังคมโลก

กลุ่มหลังนี้ตระหนักว่าปัญหาที่ท้าทายโลกยุคนี้แก้ด้วยจิตที่เล็กไม่ได้ จึงพยายามรวมตัวกันเรียนรู้ให้ข้ามพ้นความเป็นปัจเจก ความจำกัดของวิชาที่ตนเองเรียนมา และสร้างจิตใหญ่ร่วมกัน ล่าสุดกลุ่มนี้ก็ได้พยายามให้มีการใช้ "สุนทรียสนทนา" ในการเรียนรู้เข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาในภาคใต้อีกด้วย

ตัวอย่างของกลุ่มที่มีความตั้งใจดี มีความรักเผื่อแผ่ถึงเพื่อนมนุษย์ พยายามเรียนรู้เพื่อขยายปริมณฑลของจิตให้กว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด มีจิตสำนึกใหม่ เช่นนี้ สังคมควรยกย่อง และส่งเสริมให้มีให้แพร่หลาย ทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เชื่อมโยงกัน ดังที่อาจารย์ประเวศ วะสี ได้เสนอแนะไว้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล-กลุ่ม-เครือข่าย (ปกค. หรือ INN:Individual-Node-Network)

เพราะจิตใหญ่นั้นนำมาซึ่งความรักและมิตรภาพอันไพศาล เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ




วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 14:44 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, สรยุทธ รัตนพจนารถ | 0 ความคิดเห็น
4577  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความรู้ กับ สภาวะแห่งการรู้ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:07:13
ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2547

เดวิด โบห์ม เป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ชั้นนำของโลก เขาเป็นชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๑๗ และเติบโตในรัฐเพนซิลเวเนีย แต่ในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๙๔ ชะตาชีวิตทำให้เขาต้องระหกระเหทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอาศัยต่างแดน โบห์มต้องอพยพจากสหรัฐอเมริกาเพราะถูกคุกคามเสรีภาพ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกเรียกตัวไปสอบสวนโดยคณะกรรมการตรวจสอบกิจการที่ไม่เป็นอเมริกัน (Un-American Activities Committee) ในยุครัฐบาลขวาจัดของสหรัฐอเมริกา

แต่โบห์มก็ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ และอพยพหลบหนีไปอยู่ที่บราซิลระยะหนึ่ง จากนั้นจึงอพยพไปอิสราเอล และมาปักหลักค้นคว้าวิจัยอยู่ในอังกฤษจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ตลอดชีวิตการทำงานของโบห์ม เขาได้เสนอทฤษฎีสำคัญเกี่ยวกับควอนตั้มฟิสิกส์ไว้หลายประการ และเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ควอนตั้มฟิสิกส์อื่นๆ อีกหลายคน ที่มักพบกับปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาและไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลหรือสามัญสำนึกปกติ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้โบห์มและนักวิทยาศาสตร์ ควอนตั้มฟิสิกส์อีกหลายคนหันมาสนใจศาสนาและปรัชญาตะวันออก

สำหรับโบห์ม ได้รับอิทธิพลจากกฤษณะมูรตินักปราชญ์ชาวอินเดีย และได้ให้ความสนใจสมาธิภาวนาอย่างมาก เขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์มีความรู้สมบูรณ์ขึ้น วิทยาศาสตร์กับศิลปะที่เคยเป็นคนละเรื่องกันอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนั้น จะผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวในที่สุด

เพราะความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์นั่นเอง ที่ทำให้ศาสตร์สาขาต่างๆ และศิลปะกลายเป็นคนละเรื่องแยกขาดออกจากกัน

สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์หันมาสนใจศาสตร์ตะวันออกเกี่ยวกับสมาธิภาวนาและการฝึกจิตมากขึ้นนั้น เป็นเพราะการทดลองและข้อค้นพบหลายอย่างในควอนตั้มฟิสิกส์ ได้ทำให้ความคิดวิทยาศาสตร์แบบเดิมเป็นปัญหา เช่นพบว่าสิ่งที่ถูกสังเกตในการทดลองเดิม ที่เคยยึดถือกันว่ามีคุณลักษณะคงที่แน่นอน กลับมีคุณลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามการสังเกตรับรู้ของมนุษย์

หรือจากเดิมที่เคยคิดว่า สสารและพลังงานเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเป็นสองสถานะที่แยกขาดจากกัน วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า สิ่งที่สังเกตตรวจวัดในการทดลองนั้นมีความไม่แน่นอนและไม่แบ่งแยกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเด็ดขาด ปรากฏการณ์เดียวกันนั้น บางขณะแสดงตัวเป็นอนุภาค แต่บางขณะกลับแสดงตัวเป็นคลื่น

เรียกว่า ประเดี๋ยวเป็นสสาร ประเดี๋ยวกลับกลายเป็นพลังงาน ขึ้นอยู่กับการสังเกตตรวจวัด และเครื่องรับรู้

จากวิทยาศาสตร์แบบเดิมที่ถือว่า ความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต้องเกิดจากการแยกผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตออกจากกัน และความรู้ที่เป็นสากลจะต้องไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์นั้น วิทยาศาสตร์ใหม่กลับพบว่า ปรากฏการณ์ทุกอย่างล้วนสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับการรับรู้อย่างแยกไม่ออก

จะเรียกว่า สรรพสิ่งเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจิตรับรู้ก็ได้

เมื่อความแน่นอนกลายเป็นไม่แน่นอน เพราะไปขึ้นกับการรับรู้ ความเป็นเหตุเป็นผลที่แน่นอนตายตัวและไม่ขึ้นกับจิต จึงกลายเป็นเรื่องที่สับสนอย่างยิ่งจนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้

แต่โบห์มต่างจากนักฟิสิกส์บางคนตรงที่เขาเชื่อว่า ภายใต้ความไม่แน่นอนและสับสนนั้น แท้จริงมีกฎเกณฑ์หรือความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่ ซึ่งโบห์มเรียกว่า Implicate order

แต่การที่จะเข้าถึงความเป็นระเบียบที่แฝงเร้นอยู่นั้น จะต้องอาศัยภูมิจิตภูมิปัญญาที่แตกต่างออกไปจากจิตคิดแบบวิทยาศาสตร์เดิม คือต้องเป็นจิตที่ผ่านการฝึกฝนมาดี และเป็นอิสระจากกรอบความคิด ภาษา และระบบสัญลักษณ์ ที่ได้กลายเป็นพันธนาการจองจำวิธีคิดของวิทยาศาสตร์แบบเดิมไปเสียแล้ว

ในแง่นี้ โบห์มให้ความว่า คณิตศาสตร์ก็เป็นระบบสัญลักษณ์อย่างหนึ่งด้วย และวิทยาศาสตร์เก่าได้ติดยึดกับคำอธิบายที่เป็นตัวเลขและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มากเสียจนไม่สามารถรับรู้ความจริงแบบอื่นได้

เรียกว่า ต้องทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขจึงจะคุยกันแบบวิทยาศาสตร์ได้

โบห์มคิดว่า กรอบความคิด ภาษา และสัญญะ เหล่านั้นมีปัญหา และการที่จะก้าวพ้นจากอุปาทานการติดยึดกับสิ่งเหล่านี้ได้ นักวิทยาศาสตร์ต้องฝึกให้รู้เท่าทันวิธีคิดและจิตรับรู้ของตนเองด้วย

ในระยะหลังนี้ เราจึงเห็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหันมาสนใจศาสตร์ทางจิตและศาสนาตะวันออกต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมีการจัดการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกับองค์ดาไล ลามะ แห่งธิเบตที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี ติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๗ แล้วนั้น ได้ทำให้เห็นได้ว่าศาสนาและภูมิปํญญาตะวันออกสามารถให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งได้อย่างน่าสนใจและลุ่มลึกยิ่งกว่าทัศนะแบบวัตถุนิยมกลไกของวิทยาศาสตร์เสียอีก

วิทยาศาสตร์กำลังอภิวัฒน์ตัวเองอย่างช้าๆ ด้วยการเรียนรู้จากภูมิปัญญาตะวันออก แม้เราจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิทยาศาสตร์ใหม่จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนไปก็คือ ทัศนะของวิทยาศาสตร์เดิมที่ถือว่า ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นความรู้สากล ไม่ขึ้นกับจิตรับรู้ของมนุษย์ หรือเรียกว่าความรู้กับสภาวะแห่งการรู้นั้นแยกขาดจากกันได้

ความรู้แบบวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่คนรู้คนหนึ่งเอามาอธิบายให้อีกคนหนึ่งรู้ได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องภายนอกที่บอกเล่า เรียนรู้กันได้จากการคิด โดยไม่เกี่ยวกับพื้นภูมิของจิต

แต่ภูมิปัญญาตะวันออกบอกว่า ความรู้กับสภาวะแห่งการรู้ที่แท้จริงนั้น มิอาจแยกจากกัน

และความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาวะแห่งการรู้นั้นคือปัญญา

โบห์มเชื่อว่า การที่นักฟิสิกส์ต้องพบกับปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเป็นจริงแบบใหม่นี้ เป็นโอกาสดีที่จะเข้าถึงความรู้และสภาวะแห่งการรู้ใหม่ เพราะความจริงใหม่นี้จะท้าทายและรื้อเลาะอุปาทานที่เคยติดยึดอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ใหม่อาจเป็นหนทางหนึ่งของการเข้าถึงปัญญาที่แท้จริงได้

เพราะการทำงานวิทยาศาสตร์เพื่อให้รู้เท่าทันความคิดและให้จิตเป็นอิสระจากอุปาทานนั้น
แท้จริงก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง




วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 14:42 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ | 0 ความคิดเห็น
4578  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จุดเริ่มต้นในเส้นทางจิตวิวัฒน์ โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:05:21
จุดเริ่มต้นในเส้นทางจิตวิวัฒน์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2547

สำหรับคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ หรือคนในกระแสหลัก ที่ติดอยู่ในความกลัว ตกอยู่ในร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ การแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เรื่องแรกที่สำคัญก็คือการเข้าสู่สัมผัสแรกในมณฑลแห่งพลังซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

บางคนจะเข้ามาผ่านการปฏิบัติ เราอาจจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีกิจกรรมการสัมผัส อย่างเป็นสัมผัสแรกที่จะแปรเปลี่ยนการรับรู้ เพราะเมื่อเปลี่ยนการรับรู้ได้ก็จะเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกได้เช่นกัน

บางคนอาจเข้ามาทางความคิดและทฤษฎีก่อน เพราะชอบคิดใคร่ครวญ และได้เรียนรู้ว่า เราอาจมองและตีความโลกได้หลายอย่าง ไม่จำต้องติดอยู่ในกรอบๆ เดียวที่คุ้นเคย ซึ่งจะทำให้เขาหรือเธอเริ่มรู้สึกฉงนฉงายและเปิดเผยตัวตนออกมา

ในวงสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน การก่อประกอบโลก และความเข้าใจโลก ด้วยถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมาจะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนเข้าใจกติกา และเริ่มเห็นประโยชน์ในการตั้งวงสนทนาเช่นนี้ การฟังของเขาหรือเธอจะเปลี่ยนคุณภาพไป เมื่อการฟังเปลี่ยนคุณภาพ วิธีคิดและมุมมองต่อโลกก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะการฟังที่มีคุณภาพ ได้เปิดโอกาสให้ถ้อยคำของผู้อื่นหรือแม้แต่ของตัวเองที่พูดออกไป เข้ามาเปลี่ยนแปลงการมองโลกของตัวเรา

เมื่อผ่านพิธีอภิเษก (คำนี้เป็นคำเดียวกับราชาศัพท์ที่หมายถึงการแต่งงาน แต่ในมหายาน จะใช้กับการเริ่มต้นหรือสัมผัสแรกที่จะเข้าสู่กระแสธรรม) โลกก็จะเปลี่ยนไป ทุกอย่างทุกประสบการณ์ล้วนก่อให้เกิดความแตกต่างทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือ คุณภาพใหม่ที่นำไปสู่ความไร้ขอบเขตจำกัดในทางปริมาณ กล่าวคือ คุณภาพใหม่จะแตกออกดังเช่นระเบิดปรมาณู ส่งผลให้เกิดการปะทุแห่งความคิดใหม่ มุมมองใหม่อยู่ตลอดเวลา

เส้นแบ่งระหว่างคนเริ่มต้นใหม่กับคนเก่ามลายหายสูญไปสิ้น

บางคนอาจจะมีแนวโน้มในทางพุทธิปัญญามากกว่าบางคน และบางคนอาจจะออกไปทางงานศิลปะและการปฏิบัติมากกว่า นั้นเป็นแนวโน้มของแต่ละคน แต่ในคุณภาพลึกๆ แล้ว ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใครแต่อย่างใด

ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด เช่นได้ทำงานด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการหย่อนตัวกวนเข้าไปแทรกแซงในสารบบชีวิตของเขาหรือเธอ

แบบฝึกหัดหลายอย่าง ที่คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เขียนไว้ในหนังสือ หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ จะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ชี่กง ไท้เก๊ก การปฏิบัติธรรม การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การมองอย่างลึกซึ้ง การฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้ผ่านแบบฝึกหัดเล่านี้มาบ้างแล้ว คนๆ นั้นก็พร้อมสำหรับตัวกวนที่เราจะหย่อนลงไป

ตัวกวนที่ว่านี้ มีความคล้ายคลึงกับโกอานของเซน แต่อาจจะเป็นโกอานที่ปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว โดยมุ่งไปกระทำกับเทปม้วนเก่า หรือบางตอนของเทปม้วนเก่า เพราะเมื่อเทปม้วนเก่านั้นสั่นคลอน โอกาสที่องคาพยพทั้งหมดจะสั่นคลอนย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

อย่างเช่น แต่ละคนมักจะมีความคิดเกี่ยวกับตัวเองและโลกรอบๆ ตัวบางอย่างบางประการ ดังนั้น เราก็อาจจะแหย่ว่า “คุณไม่ได้เป็นเพียงเท่าที่คุณคิดเกี่ยวกับตัวเองหรอกนะ” คือคุณเป็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นในทางตรงกันข้ามเลยก็ได้ การที่คุณบอกว่าตัวเองเป็นอย่างไร ก็คือการจำกัดความเป็นไปได้ของตัวเอง ถ้าคุณลองพูดใหม่ว่าคุณเป็นคนอย่างไร อย่างตรงกันข้ามกับที่เคยพูดกับตัวเอง ก็จะพบว่า คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างที่เคยคิดเกี่ยวกับตัวเองแต่อย่างใด!

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมใช้บ่อยก็คือ “ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์อย่างไร ชีวิตของคุณไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดหรือขึ้นต่อตัวประสบการณ์นั้น สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่า คุณจะให้ความหมายแก่ประสบการณ์นั้นอย่างไรต่างหาก”

และผมก็ให้ตัวอย่าง ของการเป็นเด็กกำพร้าแบบของผม ที่แตกต่างจากแบบของคนบางคน และความแตกต่างนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเขาหรือเธอนั้นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวประสบการณ์

ข้อสำคัญในการใส่ “ตัวกวน” อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการรับรู้ความเป็นไปของคนๆ นั้นอย่างลึกซึ้ง และควานหาที่คันให้พบ ที่คันก็คือชนวนที่จะนำไปสู่การจุดระเบิด อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คนที่จะนำทาง ต้องฝึกฝนสุขุมรสหรือสัมผัสอันลุ่มลึกที่จะเข้าถึงอารมณ์ ความคิด ความปรารถนาของผู้คน จึงจะเกาถูกที่คันได้ และแบบอย่างของคนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีคนหนึ่งก็คือพระพุทธเจ้านั้นเอง โดยท่านจะมีวิธีสอนธรรมให้คนแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย!




วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2547 at ที่ 14:19 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิศิษฐ์ วังวิญญู | 0 ความคิดเห็น
4579  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จุดเริ่มต้นในเส้นทางจิตวิวัฒน์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:03:01
จุดเริ่มต้นในเส้นทางจิตวิวัฒน์

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2547

สำหรับคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ หรือคนในกระแสหลัก ที่ติดอยู่ในความกลัว ตกอยู่ในร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ การแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เรื่องแรกที่สำคัญก็คือการเข้าสู่สัมผัสแรกในมณฑลแห่งพลังซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

บางคนจะเข้ามาผ่านการปฏิบัติ เราอาจจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีกิจกรรมการสัมผัส อย่างเป็นสัมผัสแรกที่จะแปรเปลี่ยนการรับรู้ เพราะเมื่อเปลี่ยนการรับรู้ได้ก็จะเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกได้เช่นกัน

บางคนอาจเข้ามาทางความคิดและทฤษฎีก่อน เพราะชอบคิดใคร่ครวญ และได้เรียนรู้ว่า เราอาจมองและตีความโลกได้หลายอย่าง ไม่จำต้องติดอยู่ในกรอบๆ เดียวที่คุ้นเคย ซึ่งจะทำให้เขาหรือเธอเริ่มรู้สึกฉงนฉงายและเปิดเผยตัวตนออกมา

ในวงสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน การก่อประกอบโลก และความเข้าใจโลก ด้วยถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมาจะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนเข้าใจกติกา และเริ่มเห็นประโยชน์ในการตั้งวงสนทนาเช่นนี้ การฟังของเขาหรือเธอจะเปลี่ยนคุณภาพไป เมื่อการฟังเปลี่ยนคุณภาพ วิธีคิดและมุมมองต่อโลกก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะการฟังที่มีคุณภาพ ได้เปิดโอกาสให้ถ้อยคำของผู้อื่นหรือแม้แต่ของตัวเองที่พูดออกไป เข้ามาเปลี่ยนแปลงการมองโลกของตัวเรา

เมื่อผ่านพิธีอภิเษก (คำนี้เป็นคำเดียวกับราชาศัพท์ที่หมายถึงการแต่งงาน แต่ในมหายาน จะใช้กับการเริ่มต้นหรือสัมผัสแรกที่จะเข้าสู่กระแสธรรม) โลกก็จะเปลี่ยนไป ทุกอย่างทุกประสบการณ์ล้วนก่อให้เกิดความแตกต่างทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือ คุณภาพใหม่ที่นำไปสู่ความไร้ขอบเขตจำกัดในทางปริมาณ กล่าวคือ คุณภาพใหม่จะแตกออกดังเช่นระเบิดปรมาณู ส่งผลให้เกิดการปะทุแห่งความคิดใหม่ มุมมองใหม่อยู่ตลอดเวลา

เส้นแบ่งระหว่างคนเริ่มต้นใหม่กับคนเก่ามลายหายสูญไปสิ้น

บางคนอาจจะมีแนวโน้มในทางพุทธิปัญญามากกว่าบางคน และบางคนอาจจะออกไปทางงานศิลปะและการปฏิบัติมากกว่า นั้นเป็นแนวโน้มของแต่ละคน แต่ในคุณภาพลึกๆ แล้ว ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใครแต่อย่างใด

ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด เช่นได้ทำงานด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการหย่อนตัวกวนเข้าไปแทรกแซงในสารบบชีวิตของเขาหรือเธอ

แบบฝึกหัดหลายอย่าง ที่คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เขียนไว้ในหนังสือ หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ จะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ชี่กง ไท้เก๊ก การปฏิบัติธรรม การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การมองอย่างลึกซึ้ง การฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้ผ่านแบบฝึกหัดเล่านี้มาบ้างแล้ว คนๆ นั้นก็พร้อมสำหรับตัวกวนที่เราจะหย่อนลงไป

ตัวกวนที่ว่านี้ มีความคล้ายคลึงกับโกอานของเซน แต่อาจจะเป็นโกอานที่ปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว โดยมุ่งไปกระทำกับเทปม้วนเก่า หรือบางตอนของเทปม้วนเก่า เพราะเมื่อเทปม้วนเก่านั้นสั่นคลอน โอกาสที่องคาพยพทั้งหมดจะสั่นคลอนย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

อย่างเช่น แต่ละคนมักจะมีความคิดเกี่ยวกับตัวเองและโลกรอบๆ ตัวบางอย่างบางประการ ดังนั้น เราก็อาจจะแหย่ว่า “คุณไม่ได้เป็นเพียงเท่าที่คุณคิดเกี่ยวกับตัวเองหรอกนะ” คือคุณเป็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นในทางตรงกันข้ามเลยก็ได้ การที่คุณบอกว่าตัวเองเป็นอย่างไร ก็คือการจำกัดความเป็นไปได้ของตัวเอง ถ้าคุณลองพูดใหม่ว่าคุณเป็นคนอย่างไร อย่างตรงกันข้ามกับที่เคยพูดกับตัวเอง ก็จะพบว่า คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างที่เคยคิดเกี่ยวกับตัวเองแต่อย่างใด!

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมใช้บ่อยก็คือ “ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์อย่างไร ชีวิตของคุณไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดหรือขึ้นต่อตัวประสบการณ์นั้น สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่า คุณจะให้ความหมายแก่ประสบการณ์นั้นอย่างไรต่างหาก”

และผมก็ให้ตัวอย่าง ของการเป็นเด็กกำพร้าแบบของผม ที่แตกต่างจากแบบของคนบางคน และความแตกต่างนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเขาหรือเธอนั้นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวประสบการณ์

ข้อสำคัญในการใส่ “ตัวกวน” อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการรับรู้ความเป็นไปของคนๆ นั้นอย่างลึกซึ้ง และควานหาที่คันให้พบ ที่คันก็คือชนวนที่จะนำไปสู่การจุดระเบิด อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คนที่จะนำทาง ต้องฝึกฝนสุขุมรสหรือสัมผัสอันลุ่มลึกที่จะเข้าถึงอารมณ์ ความคิด ความปรารถนาของผู้คน จึงจะเกาถูกที่คันได้ และแบบอย่างของคนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีคนหนึ่งก็คือพระพุทธเจ้านั้นเอง โดยท่านจะมีวิธีสอนธรรมให้คนแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย!




วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2547 at ที่ 14:19 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิศิษฐ์ วังวิญญู | 0 ความคิดเห็น
4580  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / วิกฤต - วิวัฒนาการของจิต - สไปรัลไดนามิกส์ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:00:36
วิกฤต - วิวัฒนาการของจิต - สไปรัลไดนามิกส์


โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2547

อลิซาเบท ซาทัวริส (Elisabet Sahtoris) บอกว่า “วิกฤตคือคาตาลิสต์ ความเครียดจากการดำรงชีวิตนั้นเองที่ทำให้เราเปลี่ยน” ทุกวันนี้ เราอยู่ท่ามกลางความเครียดจากวิกฤตในแทบทุกด้าน ที่ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราเอง โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือและตัวเร่ง ที่ทำร้ายและทำลายระบบนิเวศธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ทำให้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เรามีที่เรารับเป็นมรดกตกทอดมาไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป นักปราชญ์ นักคิด และนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ระดับนำทุกคนล้วนกล่าวตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ทางด้านจิต หรือ “จิตวิวัฒน์” สู่สังคมใหม่ จิตวิญญาณใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และเจ็บปวดที่สุดของมนุษยชาติ ในเวลาอีกไม่ช้านี้

แต่ถึงแม้ว่าสหัสวรรษใหม่จะผ่านพ้นไปสามปีกว่าแล้ว เราส่วนใหญ่ราวๆ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ดูเหมือนจะยังไม่รู้ตัวจึงไม่เปลี่ยนตาม หรือเพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่เชิดชูวัตถุและแสดงออกเป็นความก้าวหน้าของสังคมด้วยเทคโนโลยี คือความจริงที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้น จึงยังคงมีโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบเก่า “ขอให้เหมือนเดิม” อยู่ (Paul H. Ray and Sherry Anderson: The Cultural Creatives, 2000; Duane Elgin and Colleen Ledrew: Global Consciousness Change, 1997; Michael Lerner: The Age of Extinction..., 1999) โดยไม่กังวลหรือไม่รู้ตัวว่า ความก้าวหน้านั้น จะหวนกลับมาทำลายลูกหลานหรือมรดกตกทอดทางเผ่าพันธุ์ที่เรารักและห่วงใยที่สุดอย่างไร?

ที่ว่าไม่กังวลหรือไม่รู้ตัว เพราะว่าความสุขสนุกสนานกับความเจริญก้าวหน้าได้บดบังตาเรา หรือทำให้มองเห็นว่าจิตมนุษย์เป็นอยู่เพียงแค่นั้น คือหยุดอยู่กับที่ แต่หากเรามองจากธรรมชาติของจักรวาล จะพบว่าธรรมชาตินั้นไหลเลื่อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกันตลอดเวลาเป็นวัฏจักร สถานภาพของมนุษย์และสังคมมนุษย์ในขณะนี้เป็นเพียงช่วงหนึ่งของวัฏจักรที่ว่าเท่านั้น ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่นเดียวกับจิตและจิตวิญญาณที่จะต้องวิวัฒนาการต่อไปเช่นกัน (Ken Wilber: Up From Eden; 1976)

ในบทสัมภาษณ์ ดอน เบ็ค (ผู้ร่วมกับ แคลร์ เกรฟส์ (Clare W. Graves) สร้างทฤษฎีสไปรัลไดนามิกส์ หรือ “จิตวิวัฒน์”, Don Beck and Spiral Dynamics; in: What is Enlightenment?; 2002) อธิบายว่า วิวัฒนาการของจิต คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญญา พฤติกรรม บุคลิกภาพของมนุษย์ (จิตปัจเจก) และรูปแบบ ความเชื่อ หรือค่านิยมของสังคม (จิตร่วมหรือวัฒนธรรม) รูปแบบของความเชื่อหรือค่านิยมนี้ เรียกว่า มีมส์ (Rechard Dawsons' memes นำมาใช้โดย Aaron Lynch: Thought Contagion, 1996) ซึ่ง ดอน เบ็ค นำมาอธิบายวิวัฒนาการของจิตโดยสัมพันธ์กับสี ๘ สี ๘ ระดับ (แบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างมี ๖ สี ๖ ระดับ และชั้นบนจะมี ๒ สี ๒ ระดับ) แต่ละสี จะบ่งบอกถึงโลกทัศน์ ปัญญา อุปนิสัย และพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อสังคมโดยรวมในชั่วขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับหรือสี

ประชากรโลกโดยส่วนใหญ่หรือกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จะมีระดับจิตหรือสีกระจายอยู่ระหว่างระดับสาม (สีแดง) ถึงระดับหก (สีเขียว) ระดับใดจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคนในสังคม (หรือชาติพันธุ์) ย่อยนั้นๆ ว่า มีวิวัฒนาการของจิตในระดับใดหรือสีอะไร (ที่จะชี้บ่งระดับของจิตร่วมทางสังคมหรือวัฒนธรรมของสังคมย่อยนั้นๆ อีกทีหนึ่ง)

มีเพียงไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกเท่านั้นที่มีวิวัฒนาการของจิตกระจายอยู่ในอีก ๔ ระดับของทั้งสองชั้นที่เหลือ ยกตัวอย่าง จะมีคนที่อยู่ในระดับต่ำสุด สีดิน หรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ (Beige) คือระดับจิตดำบรรพ์ของคนถ้ำ น้อยมาก ไม่ถึง ๐.๐๕ เปอร์เซ็นต์ ของประชาการทั้งหมด และที่มีน้อยกว่านั้นอีกได้แก่ระดับ ๘ หรือระดับจิตสูงสุด สีเขียวครามใส (Turquoise) อันเป็นระดับจิตของผู้มีปรีชาญาณเฉกเช่นศาสดา อรหันต์ ที่จิตได้วิวัฒนาการผ่านพ้นตัวตน สู่ความว่างอย่างแท้จริง ระดับทั้งหมดมีดังนี้

ชั้น I มี ๖ ระดับ หรือ ๖ สี

ระดับที่ ๑ ระดับล่างสุด สีดินหรือสีน้ำตาลอ่อนแห้งๆ
(Beige) เริ่มมีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ประมาณ ๑ แสนปีมาแล้ว, ลักษณะนำ ทำอะไรก็ได้เพื่อให้อยู่รอด
พฤติกรรม-นิสัย

  • ใช้สัญชาตญาณและความเคยชินนำ ชีวิตเป็นปัจจุบันขณะ
  • [/SIZE]
  • อัตตายังไม่มีหรือไม่ตื่น หรืออาจมีบ้างเฉพาะหน้าช่วงสั้นๆ
  • [/SIZE]
  • อาหาร น้ำ ความอบอุ่น ปลอดภัยและสืบพันธุ์ คือพฤติกรรม
  • [/SIZE]
  • ชีวิตขึ้นกับที่อยู่อาศัยในเวลานั้น เช่นสัตว์ทั้งหลาย
ระดับที่ ๒ สีม่วง (Purple) ๕ หมื่นปี, ลักษณะนำ ถ้าเจ้าพ่อ ผี มีความสุข เผ่าพันธุ์ก็สุข ปลอดภัย
พฤติกรรม-นิสัย

  • เชื่อในบัญชาของเจ้าพ่อเจ้าแม่ผีป่า บูชาสัญลักษณ์เร้นลับ
  • [/SIZE]
  • ปฏิบัติตามหัวหน้า ผู้เฒ่า บรรพบุรุษ และวินัยกลุ่ม
  • [/SIZE]
  • ปัจเจกสยบยอมต่อกลุ่ม
  • [/SIZE]
  • รักษาไว้ซึ่งสถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์ ความทรงจำ
  • [/SIZE]
  • เคร่งครัดศรัทธาต่อจารีตประเพณี การตาย การเกิด ฤดูกาล
ระดับที่ ๓ สีแดง (Red) ๑ หมื่นปีก่อน, ลักษณะนำ เป็นตัวของตัวเอง ไม่สนใจ อยากทำก็ทำ
พฤติกรรม-นิสัย

  • โลกคือป่าดงดิบ มีแต่เสือสิงห์กระทิงแรด
  • [/SIZE]
  • หนีการบังคับหรือแม้แต่หน้าที่ หากไม่ชอบก็ไม่ทำ
  • [/SIZE]
  • ข้าใหญ่ ข้าเท่ จึงเสนอหน้าและเรียกร้องต่อการรับรู้
  • [/SIZE]
  • เห็นแต่ความต้องการของตน ด้านได้อายอด
  • [/SIZE]
  • ก้าวร้าว ข้าต้องมาก่อนในทุกรูปแบบ โกงคือเก่ง คือฉลาด
ระดับที่ ๔ สีน้ำเงิน (Blue) ๕ พันปี, ลักษณะนำ ชีวิตมีทิศทางความหมายที่ฟ้าลิขิตไว้แล้ว
พฤติกรรม-นิสัย

  • เสียสละเพราะศรัทธาโดยไร้ข้อแม้ต่อศีลธรรม
  • [/SIZE]
  • ศีลและข้อปฏิบัติคือวิถีชีวิตที่กำหนดเด็ดขาดโดยเบื้องบน
  • [/SIZE]
  • ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในวันนี้ ต้องได้ดี (สวรรค์) ในวันหน้า
  • [/SIZE]
  • ความอยากเป็นความผิด ต้องปลง ต้องสำนึก
  • [/SIZE]
  • วัฒนธรรมและระเบียบวินัยเท่านั้น ที่สร้างคุณธรรมความดีงาม
ระดับที่ ๕ สีส้ม (Orange) ๓๐๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ แข่งขันเพื่อชนะ แต่อยู่ภายใต้กฎ เคารพข้อบังคับ
พฤติกรรม-นิสัย

  • ความเจริญก้าวหน้าคือเนื้อในของแต่ละคนที่มีมาโดยกำเนิด
  • [/SIZE]
  • ความเจริญก้าวหน้าขึ้นกับการเรียนรู้ความลับของธรรมชาติ
  • [/SIZE]
  • การหาประโยชน์จากธรรมชาติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าคือความถูกต้อง
  • [/SIZE]
  • เสี่ยง มองโลกในแง่ดี สู่ความสำเร็จ ข้าจะกำหนดตัวข้าเอง
  • [/SIZE]
  • สังคมก้าวบนเหตุผล การแข่งขัน ยุทธศาสตร์ และเทคโนโลยี
ระดับที่ ๖ สีเขียวใบไม้ (Green) เริ่มที่ ๑๕๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ สุขสงบอยู่ที่ภายใน ห่วงใยผู้อื่น
พฤติกรรม-นิสัย

  • จิตวิญญาณต้องถูกปลดปล่อยจากตัณหา จากการแยกแบ่ง
  • [/SIZE]
  • ห่วงใย อ่อนไหว คุณธรรม อยู่เหนือชาติ วัฒนธรรม และเหตุผล
  • [/SIZE]
  • ให้โอกาส แบ่งสรรธรรมชาติที่จำเป็นให้มนุษย์โลกเท่าๆ กัน
  • [/SIZE]
  • ตัดสินใจโดยฟังผู้อื่น ฝึกฝนปรับจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง
ชั้นที่ II มี ๒ ระดับ ๒ สี

ระดับที่ ๗ สีเหลือง
(Yellow) เริ่มมีเมื่อ ๕๐ ปีก่อน, ลักษณะนำ ชีวิตคือความรับผิดชอบ องค์รวม
พฤติกรรม-นิสัย

  • รู้ธรรมชาติ รู้ระบบ รู้ชีวิต รู้สังคม
  • [/SIZE]
  • วิกฤตและการเปลี่ยนแปลง คือบรรทัดฐานของจักรวาล
  • [/SIZE]
  • ยืดหยุ่น เชื่อมโยงพึ่งพากัน ไหลเลื่อนวนเวียนเป็นวัฏจักร
ระดับที่ ๘ สีเขียวครามกระจ่างใส (Turquoise) เริ่มมีมาเมื่อ ๓๐ ปีก่อนแต่ยังคงน้อยมาก
พฤติกรรม-นิสัย

  • องค์รวมแห่งกาย จิต จิตวิญญาณ
  • [/SIZE]
  • ความโยงใยเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ และสิ่งสูงสุด
  • [/SIZE]
  • พลังงาน (จิต) และข้อมูล (ปัญญาญาณ) ซึมแทรกทั่วทั้งโลก



วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 13:50 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, ประสาน ต่างใจ | 0 ความคิดเห็น
หน้า:  1 ... 227 228 [229] 230 231 ... 236
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.903 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 04 กันยายน 2566 20:31:01