[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 เมษายน 2567 09:42:41 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 228 229 [230] 231 232 ... 236
4581  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / สุขภาวะที่ทุกคนเข้าถึงได้ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:55:48
สุขภาวะที่ทุกคนเข้าถึงได้


โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2547

ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกอย่างผมไหมว่า เราแต่ละคนทุกวันนี้ นอกจากทำงานหนักและมีปัญหาคาใจกันแทบทุกคนแล้ว ไม่ว่าอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว หรือพูดคุยเมื่อพบหน้ากัน ดูจะมีแต่เรื่องรกหู รกตา รกใจเต็มไปหมด เหนื่อยกับงาน ยุ่งกับการทำมาหากินและสู้กับปัญหาไม่พอ ยังต้องรับรู้และหวั่นไหวระทึกใจไปกับปัญหา ข้อขัดแย้งและกระแสความเป็นไปต่างๆ ที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนทั้งใกล้และไกลตัว

ในภาวะเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี จึงจะทำให้สุขภาพจิต สุขภาพกาย “อยู่เย็นเป็นสุข” ท่ามกลางทุกอย่างที่แปรปรวน

บางคนบอกว่า ต้องมีอารมณ์ขันไว้ บางคนธรรมะธัมโมหน่อยบอกให้อ่านหนังสือธรรมะ ทำสมาธิ วิปัสสนา บางคนบอกให้ปลงเสียเถิด ฯลฯ ก็สุดแต่พื้นฐานและนิสัยปัจจัยของแต่ละคนจะเกื้อหนุนให้เป็นไป

ทว่า ... สำหรับผม ขอทำอย่างนี้ครับ

  • นั่งพักเงียบๆ ดูแมกไม้สีเขียว ดูฟ้า ดูน้ำ และดูนก
  • [/SIZE]
  • หลับตา หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง
  • [/SIZE]
  • ดื่มน้ำเย็นจืดสนิทใสสะอาด
  • [/SIZE]
  • ออกกำลังกายตามอัธยาศัย เช่น ทำสวน รดน้ำต้นไม้ เดินเล่น
  • [/SIZE]
  • เล่นกับสัตว์เลี้ยง
  • [/SIZE]
  • หยุดหมดทุกอย่าง หยุดพูด หยุดฟัง หยุดดู หยุดอ่าน หยุดเคลื่อนไหว
  • [/SIZE]
  • ฝึกใจปล่อยวางให้หมดทุกอย่าง
ถ้าทำได้เช่นนี้ ไม่ต้องมาก วันละ ๑๕-๒๐ นาที จะรู้สึกเบากาย เบาใจ สบายขึ้นทุกครั้งไป

จะว่าไป คนทั้งหลายจำนวนมากก็ทำเช่นนี้อยู่บ้างแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง เราจึงอยู่กันมาได้เป็นปรกติ

ก็ความเป็นปรกตินี่แหละคือชีวิตที่น่าเป็น ความเป็นปรกติแบบง่ายๆ ดังยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นวิธีเรียกกำลังใจกำลังกายของเรากลับคืนมา เสียแต่ว่าทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ เข้าใจ เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยทำกัน ทั้งนี้คงเพราะ “จิตไม่ว่าง” มีความยึดถือ คือมีมายาคติ มีอารมณ์หลายอย่างครอบงำเราอยู่มากเป็นสำคัญ

นอกเหนือจากพฤติกรรมตามปรกติวิสัยดังกล่าวแล้ว การเลือกรับรู้หรือเลือกทำเฉพาะเรื่องที่ดีงาม สร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เหมาะสมและเป็นผลดีแก่จิตใจเรา เช่น เลือกฟังเพลงเพราะๆ เลือกอ่านหนังสือดีๆ เลือกเล่นกีฬาที่ถนัด เลือกสนทนากับคนที่รักนับถือกันเป็นครั้งคราว หรือแม้แต่เลือกอาหารจานโปรดที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก เป็นต้น

โดยนัยนี้ ผมขอยกตัวอย่างสิ่งที่ผมเลือกรับรู้เมื่อเร็วๆ นี้มาเล่าสู่กันฟังสักเรื่องหนึ่ง กล่าวคือเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ลงข่าวและภาพพระภิกษุอายุมากแล้วรูปหนึ่งออกบิณฑบาตยามเช้าตรู่ ท่วงทีอันสง่างามและสงบเย็นของท่านดูน่าประทับใจมาก พระภิกษุรูปนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้ที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองรู้จักดี ท่านคืออดีต พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์

ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความเกี่ยวกับเกียรติภูมิของผู้ใหญ่ท่านนี้ อาการสงบเย็น สำรวม เรียบง่ายของท่านท่ามกลางเขตคามชนบท นำปีติสุขมาสู่ผม ผู้ได้อ่านข่าวได้ลึกเอาการ

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ได้อ่านเรื่องเดียวกันนี้คงรู้สึกคล้ายๆ กัน สำหรับผมแล้ว ขณะดูภาพท่านในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเข้าในโดยพลันว่า “นี่ไง ที่เรียกว่าเนื้อนาบุญอันไพศาล” ที่เราอาจเข้าถึงได้ในยุคสมัยนี้ ที่สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ (และสื่ออื่นๆ) ช่วยให้เป็นไปได้

นี่คือปีติสุขเงียบๆ ลึกๆ ที่เราหยิบฉวยเข้ามาสู่ใจเราได้จากอะไรๆ ที่เรียกว่ามีอยู่กลาดเกลื่อนธรรมดาๆ เสียอย่างเดียวคือ ข่าวและภาพดีๆ เช่นนี้มีน้อยเกินไปในยุคสมัยของเรา

เขียนมาได้ถึงตรงนี้ ผมได้ความรู้ ความเข้าใจผุดเกิดขึ้นประการหนึ่ง นั่นคือธรรมชาติเดิมแท้ที่เป็นศักยภาพแฝงเร้นอยู่ในตัวเราทุกคนคือ “สุขภาวะ” ที่รอการเปิดตัวออกมาทุกขณะที่มีการกระตุ้นอันเหมาะสม ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะสามารถเตรียมพื้นที่ทางใจและมีความอ่อนไหวเพียงพอที่จะจุดประกายให้สุขภาวะนั้นเบ่งบานออกมาจากภายใจตัวเรา เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมในการเข้าถึงสุขภาวะของแต่ละคน

ในภาวะปรกติของชีวิต ถ้าเราไม่เผลอตัว หมกมุ่นอยู่กับการงาน ภาระหน้าที่ หรือหัวชนฝาอยู่กับปัญหาที่ต้องผจญมากเกินไป รู้จักคลายเครียด หรือปล่อยวางเป็น เราก็น่าจะให้รางวัลชีวิตเราได้จากการรับรู้หรือการเปิดใจสัมผัสของธรรมดาๆ ที่อาจพบเห็นทั่วไป ได้แก่ ดูดอกไม้บานรับแสงตะวันยามเช้า (หรือดอกไม้ในแจกันก็ยังดี) ฟังเสียงหัวเราะหัวไห้ของเด็กๆ ดูต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มหน้าฝน ดูน้ำใสไหลเย็น (ถ้ามีหรือเดินทางผ่าน) แม้แต่เช้าได้สูดกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น ตอบรับยิ้มของลูกหลานหรือเพื่อนฝูงเมื่อพบกัน สุดแต่ว่าจะมีใคร อะไรผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน หากแต่เรารู้จักรับรู้ด้วยใจอันงาม ไม่อมทุกข์เกินไป เราก็จะพบมากขึ้นว่า ดีๆ ชั่วๆ ชีวิตนี้น่าจะพออยู่ได้

ข้อสรุปของผมในที่นี้คือ เราสามารถจะหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยๆ และหลายหลากได้จากของธรรมดาๆ นี่แหละ อะไรๆ เล็กๆ ไม่สลักสำคัญนี่แหละที่รวมกันแล้ว สามารถหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้สมดุลเข้มแข็ง ความเป็นปรกติธรรมดาดังนี้แหละที่ช่วยให้เราอยู่ได้ ดำเนินชีวิตได้เป็นปรกติ สำคัญอยู่ที่เราทำใจเป็นด้วยสติและปัญญาของเรา

หลายปีมาแล้ว เพื่อนๆ ของผมกลุ่มหนึ่ง สี่ห้าคน มีความเชื่อที่นำมาทักมายหยอกล้อกันบ่อยๆ คือเชื่อตรงกันว่า ชีวิตเราทุกวันนี้ อย่าไปมุ่งแสวงหาความสำเร็จยิ่งใหญ่อะไรนักเลย วางเฉยเสียบ้าง แล้วหันมาสนใจ “เก็บตก” รางวัลชีวิตเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้คิด ได้ทำโดยสุจริตใจ แล้วบังเอิญมันถูกต้อง ดีงาม เท่านี้ก็เพียงพอที่เราจะมีความสุข ความพอใจได้แล้ว เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ชัยชนะเล็กๆ” ที่ดูแล้วไม่สลักสำคัญ แต่เรารู้ดีว่าทำให้เราสบายใจก็แล้วกัน (ในกลุ่มนี้มีเพื่อนฝรั่งที่น่ารักรวมอยู่ด้วย คือ ลู เซตตี้ เราจึงเรียกชัยชนะหรือความสุขน้อยๆ นี้ว่า “small victories” ส่วนอีก ๔ คน ได้แก่ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์, คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์, คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และผม)

ครับ ผมจงใจหยิบเอาเรื่องเล็กๆ สิ่งปรกติธรรมดามาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ด้วยความตั้งใจเป็น “ฐาน” ของการพิจารณาเพื่อนำไปสู่ “สุขภาวะ” ที่เราแต่ละคนสามารถสร้างให้ตัวเราเองและให้ซึ่งกันและกันได้ไม่รู้จบ จนสามารถพัฒนาต่อเนื่องให้วิวัฒน์งอกงาม ยกระดับขึ้นเป็นจิตและกายที่เจริญมาก กอปรด้วยมโนธรรมสำนึกและความอ่อนไหวที่งดงามสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด




วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 13:20 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, เอกวิทย์ ณ ถลาง | 0 ความคิดเห็น
4582  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / วิทยาศาสตร์เก่าไม่ได้ผิด … แต่ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:54:28
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 28 สิงหาคม 2547

Theme หลักเรื่องหนึ่งของการพูดคุยในวงจิตวิวัฒน์ก็คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าและวิทยาศาสตร์แบบใหม่ แนวคิดหลักของความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถือว่ามี เซอร์ ไอแซค นิวตัน เป็นต้นแบบของความคิด ส่วนวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเริ่มตั้งแต่การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐

ที่เขียนแบบนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าความคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าจะเป็นเรื่องผิดพลาดหรือเลวร้ายที่สมควรจะถูกประณามอะไร ตรงกันข้าม วิทยาศาสตร์เก่าโดยเฉพาะนิวตันรวมไปถึงคนต้นคิดแรกๆ ได้แก่ นิโคลัส คอร์ปอนิคุส และกาลิเลโอ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีคุณอนันต์ต่อมนุษยชาติทั้งสิ้น เพียงแต่แนวคิดแบบเก่านั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบันซึ่งเข้ามาถึงศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว

ในบทความนี้ ผมอยากจะขอลองลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือให้เราได้มองเห็น “ความเป็นมา” ของวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญและจะช่วยให้เราได้พอมองเห็น “สิ่งที่ควรจะเป็นไป” ของวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ต้องถือว่า “การปฏิวัติทางความคิด” ของมนุษย์ตรงนี้เริ่มต้นมาจากคอร์ปอนิคุส ซึ่งเป็นคนแรกที่บอกว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เด็กประถมในสมัยปัจจุบันก็ทราบว่าเป็นเรื่องจริง หากแต่ความจริงข้อนี้ท้าทายต่ออำนาจของกรอบคิดแบบเก่าในสมัยนั้น เขาจึงถูกลงโทษด้วยการถูกจองจำและทรมานจนตาย การค้นพบกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอก็ยิ่งช่วยพิสูจน์ให้มนุษย์เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นิโคลัส คอร์ปอนิคุส นั้นถูกต้อง แต่กาลิเลโอก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไรมากจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

น่าแปลกเหมือนกันที่กาลิเลโอเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๖๔๒ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อต้นปี ค.ศ. ๑๖๔๓ พอดี นิวตันนั้นถือกำเนิดมาแบบผิดปกติคือคลอดก่อนกำหนด (Premature Baby) ดูเหมือนว่านิวตันจะรีบเกิดมา “เพื่อภารกิจ” อะไรบางอย่าง เพราะดูๆ แล้ว ด้วยการแพทย์ในสมัยนั้นเขาไม่น่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ แถมชีวิตในวัยเด็กก็ยังมีความยากลำบากเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาก็อยู่รอดจนกระทั่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่

นิวตันสร้างทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกและทฤษฎีกลศาสตร์ ซึ่งสามารถอธิบายให้มนุษย์ได้ “เห็นจริง” ของความเป็นไปของวัตถุที่มองเห็นด้วยตาเปล่าแบบจะจะ ได้ช่วยดึงและถือว่าทำให้เกิดการ “ปฏิวัติทางความคิด” หรือกรอบคิดของมนุษย์ในยุคนั้น “ได้สำเร็จสมบูรณ์” คือออกมาจากแนวคิดเดิมที่ตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบศาสนาในยุคกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔

ทฤษฎีของนิวตันเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของแนวคิด ทฤษฎีทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดยุคอุตสาหกรรมขึ้นมา มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีอายุเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น จากการที่วิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคระบาดหลายๆ อย่าง เช่น ไข้ทรพิษ กาฬโรค โปลิโอ อหิวาหตกโรค ฯลฯ มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเครื่องกลต่างๆ รถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตต่างๆ มากมาย

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ทำให้มนุษย์ค่อยๆ “ฝังรากแห่งความอหังการ” ที่คิดว่าตัวเองสามารถ “เอาชนะธรรมชาติได้เสมอ” และเกิดความคิดขึ้นมาถึงการต้องการจะ “ควบคุม” ทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในอำนาจของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เรื่องต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ก็คิดว่าเป็นเพราะยังพยายามไม่มากพอ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยออกมามากมายจนปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงขั้นไบโอเทคโนโลยีที่มุ่ง “ควบคุม” ระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และนาโนเทคโนโลยีที่ลงรายละเอียดไปถึงสิ่งเล็กจิ๋วของวัตถุต่างๆ ที่พยายามจะนำมาประยุกต์กับทุกสิ่งทุกอย่างภายใต้ความคิดหลักๆ ของการควบคุมและอหังการอย่างไม่รู้ตัว เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ ๒ เรื่องหลังก็คือไบโอเทคโนโลยีและนาโนเทคโนโลยี จึงยังเป็นเรื่องทันสมัยแต่อยู่ภายใต้กรอบคิดแบบเดิมๆ ที่แยกส่วนและมองสิ่งมีชีวิตเป็นกลไกแบบเครื่องจักรสไตล์นิวตันที่คิดจะควบคุมโลกให้ได้ ทำตัวเป็นพระเจ้า เหมือนกับที่นิวตันเคยพูดไว้ว่า ถ้าสามารถนำตัวเขาไปยังจุดๆ หนึ่งนอกโลกและสามารถหาไม้คานให้เขาหนึ่งอัน เขาจะสามารถงัดโลกให้กระเด็นไปได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ เพราะความคิดอหังการแบบนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นไปของธรรมชาติ เริ่มเลยออกจาก “จุดสมดุล” ของความพอดีไปสู่จุดที่ “เสียดุล” มนุษย์ลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีในรูปแบบที่ “ผิดทาง” เพราะไปทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำลายห่วงโซ่ของอาหาร สร้างสิ่งปนเปื้อนขึ้นมาในระบบนิเวศ และที่สำคัญที่สุดคือความอหังการที่มุ่ง “ควบคุมและจัดการ” กับโลกใบนี้ เหมือนกับที่นิวตันได้กล่าวไว้

ในขณะเดียวกัน คือช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง มนุษย์ได้มีการค้นพบทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ๒ ทฤษฎีที่สำคัญมากๆ ก็คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ทั้ง ๒ ทฤษฎีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมองเห็นว่า ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้นเป็นจริงเฉพาะวัตถุที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่ได้เป็นจริงเสมอในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้านำวัตถุขึ้นยานอวกาศที่มีความเร็วเหนือแสง วัตถุจะไม่ได้แสดงตัวไปตามกฎของนิวตันเลย ขณะเดียวกันในระดับเล็กๆ ย่อยๆ จนถึงระดับอะตอมของวัตถุเดียวกันนั้น อิเลกตรอนก็ไม่ได้ทำตัวเป็น “ที่น่ารัก” ให้ควบคุมได้ แต่กลับชอบทำตัว “เป็นกบฏ” ไม่ได้เป็นไปตามกฎของนิวตันเช่นกัน ที่สำคัญคือมีความเชื่อมรวมเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ แบบกลไกตามแนวคิดแบบเก่า

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่ค้นพบทฤษฎีทางฟิสิกส์แบบใหม่นี้ ต่างก็งงงวยกับสิ่งที่ตัวเองค้นพบในห้องทดลอง หลายคนพูดว่า พระเจ้าเล่นตลกอะไร เพราะสิ่งที่เห็นที่พบในห้องทดลองนั้น “ขัดกับความรู้สึกที่เป็นมา” เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตลอด ที่คิดว่ามนุษย์สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ วิทยาศาสตร์ใหม่นี้สามารถอธิบายได้ทั้งหมด แถมยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของนิวตันในทางกลศาสตร์ได้ด้วย คือเป็นการ “ต่อยอดและหลอมรวมความคิดเก่า” (Transcend & Include)

วิทยาศาสตร์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่า “เป็นการปฏิวัติทางความคิด” “ครั้งใหม่” ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งมองเห็นทางออกของปัญหาได้ว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างศานติกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้อย่างมีความสุข

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่นี้เริ่มทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งค่อยๆ เริ่มมองเห็น “ทางออก” ของปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เกิดความนอบน้อมถ่อมตัวกับธรรมชาติมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้เท่านั้น แม้ว่าเราจะมีสิ่งที่พวกเราตั้งกันเองว่า “ความฉลาด” มากกว่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เรากลับมีความทุกข์และทำลายกัน ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมายแบบที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนทำมาก่อน

เซอร์ ไอแซค นิวตัน จะยังคงยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล หากว่ามนุษย์ตีความหมาย เข้าใจสิ่งที่เขาบอกอย่างถูกต้องและสามารถ “มองเห็นข้อจำกัด” ในทฤษฎีของเขาอย่างเป็นจริง ไม่ใช่ “ตะบี้ตะบันเชื่อ” ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไปตลอดชั่วกาลนานแบบที่เป็นกันอยู่ในสังคม




วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 13:16 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิธาน ฐานะวุฑฒ์ | 0 ความคิดเห็น
4583  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / วิกฤติน้ำมัน อนาคตอยู่ที่จิตของเรา โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:53:10
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กันยายน 2547

เร็วๆ นี้ได้หนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งเรื่อง Out of Gas: The End of the Age of Oil, David Goodstein, ๒๐๐๔) ที่อ่านแล้วตกใจว่าน้ำมันกำลังจะหมด อย่างน้อยจากตลาดน้ำมันโลกในเร็วๆ นี้ อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า น้ำมันที่ผูกติดกับสังคมวัตถุ ระบบเศรษฐกิจเสรี และเทคโนโลยีดุจฝาแฝด กำลังจะหมดจากตลาด (ข้อมูลของบริษัทเชลล์ เรียกว่าฮับเบิร์ทพีค หรือจุดสูงสุดที่เราสามารถดูดน้ำมันสำรองใต้ดินสู่ตลาดได้ หลังจากนั้น แม้ว่าน้ำมันสำรองใต้ดินยังมีอยู่ แต่ตลาดจะไม่มี) อย่างเร็วอาจในอีก ๕ ปีเศษๆ (www.hubbertpeak.com) หรืออย่างช้า ๔๐ ปี (บริษัทบีพี, www.bp.com) ซึ่งไม่นานพอสำหรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะปรับตัวได้ทัน นั่นเป็นเรื่องน่ากลัวและร้อนแรงสำหรับคนที่มองอะไรไม่เห็นนอกจากเงินกับเทคโนโลยี ที่เอามาบอกจนเราทุกคน (ยกเว้นส่วนน้อยนิดที่ปัดเศษทิ้งก็ได้) เชื่อว่านั่นคืออารยธรรม ความก้าวหน้า และเป็นวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ (ที่จะต้องอยู่เหนือธรรมชาติอันป่าเถื่อนและล้าหลัง) ดำรงอยู่แบบมีคุณภาพและศักดิ์ศรี เช่น ใส่สูท นั่งรถเบ็นซ์ เป็นต้น

เดวิด กู๊ดสไตน์ บอกว่าเวลาน้ำมันหมดนั้น มันหมดตลาด “ทันที” ซึ่งอาจจะขยายเพิ่มเติมว่า ก่อน“ทันที” คือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะเลวร้ายต่อเนื่อง ช้าหรือเร็วขึ้นกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อันที่จริง วิกฤติดังกล่าว ได้เริ่มไปบ้างแล้วตั้งแต่หลายเดือนหรือหลายปีก่อน แต่ถูกบดบังและเร่งให้เลวร้ายยิ่งขึ้นโดยสงครามอัฟกันและอิรัก ทำให้คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ก็ตาม น้ำมัน (ซากฟอสซิลคาร์บอน) ก็กำลังจะหมดลงจริงๆ และนั่นคือจุดสุดท้ายของอารยธรรมแบบที่เรารู้จัก (วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ที่ขึ้นกับเงินและเทคโนโลยี) ชื่นชมและคิดว่าเป็นจริงได้มาถึงแล้ว ประเด็นคือ สิ่งที่จะตามมาใน ๕– ๒๐ ปีข้างหน้านี้ มนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร?

ที่มองเห็นเฉพาะหน้าสั้นๆ คือตั้งแต่หน้าหนาวปีนี้ น้ำมันอาจจะมีราคา ๖๐-๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล และคงไม่มีทางลดลงมาอีก ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนก็ยังห่างไกลมากจนไม่ทันกับความวุ่นวายที่จะเกิดจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และกระทบกับทุกๆ สังคมแทบจะทันทีทันใด ตามมาด้วยสภาวะอนารยธรรมในทุกๆ หนแห่ง มากหรือน้อยเร็วหรือช้าขึ้นกับสถานภาพทางวัฒนธรรมและการศึกษาของคนในประเทศนั้นๆ

สิ่งที่ตามมา หากสรุปจากผลงานวิจัยของ ซูซาน แคนนอน (Susan Cannon) แห่ง California Institute of Integral Studies (CIIS) ที่ตีพิมพ์ใน Yes! A Journal of Positive Futures, Spring 2000 Issue, “Whose Story, What Future” คาดการณ์อนาคตของสังคมโลกในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ (ซูซานเชื่อว่า จะมีภัยจากธรรมชาติที่ปรับตัวไม่ทันกับอารยธรรมวัตถุ เช่น น้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง พื้นที่ด้านในจะแห้งแล้ง มีโรคระบาดร้ายแรงใหม่ๆ มากมาย และสาธารณูปโภคขาดแคลนในทุกๆ ด้าน เรียกว่า “The Shock of 2012”) สังคมอนาคตจะมี ๔ รูปแบบขึ้นกับสภาพการณ์ในตอนนั้น ๒ ประการคือ หนึ่ง มนุษย์สามารถมีวิวัฒนาการของจิตสู่กระบวนทัศน์ใหม่หรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Cultural Creatives)ได้ทันหรือไม่? หรือยังคงวัฒนธรรมเดิมคงวัตถุนิยมเดิมๆ ต่อไป สอง สังคมหรือรัฐบาลของประเทศใด มีความแข็งแกร่งมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และสามารถรักษาองค์กรการเมืองและสถาบันต่างๆไว้ได้เพียงใด ซูซานชี้ว่าสังคมหรือประเทศในโลกอนาคต (อาจเริ่มแต่ปี ๒๐๑๒) จะมีสภาพ ๑ ใน ๔ แบบ ๔ สมมติฐาน ต่อไปนี้

สมมติฐานที่หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ จิตใหม่ และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ทัน แต่ระบบต่างๆ ของสังคมหรือประเทศล่มสลาย ผล เกิดสังคมแห่งความจำเป็นที่เรียบง่าย (Necessary Simplicity) ประชากรจะกระจายอยู่เป็นชุมชนธรรมชาติทั่วทุกหนแห่ง กินใช้เรียบง่ายและเท่าที่จำเป็น สร้างความสุขทางจิตใจร่วมกันทางอินเตอร์เน็ต รัฐบาลและระบบต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภคแทบทั้งหมดล่มสลาย เพราะไม่มีงบประมาณหรือถูกใช้ในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เป็นผลสะท้อนกลับของอารยธรรมวัตถุแบบเก่า

สมมติฐานที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน ยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมวัตถุ และสังคมอ่อนแอ ทั้งรัฐบาลก็ไร้สมรรถภาพ ผล เข่นฆ่าวุ่นวายทุกหย่อมหญ้า (War and Pieces) ชีวิตขึ้นกับการดูแลตัวเองและการเอาตัวรอด ไร้ความปลอดภัยแบบบ้านป่าเมืองเถื่อน มีแต่การปล้นจี้หรือข่มขืนกันทุกๆ ซอกตรอกถนนในทุกๆ ก้าวย่าง แม้คนของรัฐเองก็ไว้ใจไม่ได้

สมมติฐานที่สาม ประชาชนยังแสวงหาวัตถุที่มีอยู่น้อย แถมสิ่งแวดล้อมก็ล่มสลาย โดยไม่มีวิวัฒนาการทางจิตเหมือนในปัจจุบัน แต่รัฐบาลและระบบยังเข้มแข็งมั่นคง ผล เกิดการเดินขบวนประท้วงประจำวันแบบที่ต่างฝ่ายต่าง “ไร้จิตไร้วิญญาณ” โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายที่ “มี” กับ “ไม่มี” (Soul-less Confrontation) รัฐบาลจะปกป้องทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้มีการแบ่งแยกเขตแดน กั้นรั้วสร้างกำแพงระหว่างนายทุนกับคนจนเหมือนในภาพยนตร์ หรือ ยิวกับปาเลสไตน์ ที่ยูเอ็นมีมติออกไป แล้วทำอะไรไม่ได้ นอกจากหัวเราะแหะๆ ตีขาตัวเองแปะๆ แก้เขิน

สมมติฐานที่สี่ ประชาชนเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ร่วมกันสรรค์สร้างสังคม โดยรัฐบาลกับระบบมีความเข้มแข็งและเป็นธรรม ผล เกิดบุพนิมิตแห่งการร่วมใจกันและรวมกันเป็นหนึ่ง (Integral Dawn) เป็นสังคมใหม่แห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความพอเพียง พอดีและยั่งยืน เป็นสังคมใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เน้นความเป็นชุมชน เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือเป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณ

เชื่อว่าเราทุกคนต้องการเห็นสังคมในรูปแบบสมมติฐานที่สี่ แต่ความอยากเห็นกับการเปลี่ยนแปลงจริงเป็นคนละเรื่องกัน การเปลี่ยนแปลงในมิติทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องยากที่ท้าทาย เพราะเราเคยชินกับวัตถุนิยมและแยกส่วนมานาน ที่สำคัญกว่านั้นคือเรามีเวลาน้อยเหลือเกิน

แต่เราส่วนใหญ่ต้องพยายามและอดทน (วิริยะและขันติธรรม) อย่ากลับไปที่เดิมอีก เผ่าพันธุ์ของเราจึงอาจจะอยู่รอดต่อไปได้

อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส (Elisabet Sahtouris) นักชีววิทยากรีก เขียนในหนังสือ Earth Dance (๒๐๐๐) ว่า “วิกฤติคือคาตาลิสต์สู่การเปลี่ยนแปลง” หรือ “จี่เว่ย” วิกฤติคือโอกาสของเต๋านั้นเอง เธอบอกว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างรู้ดีว่าวิถีอารยธรรมวัตถุนิยมคือวิถีแห่งความพินาศหายนะ ริชาร์ด ลีกตีย์ (Richard Leakey) นักดึกดำบรรพ์วิทยาศาสตร์ เขียนใน The Sixth Extinction (๑๙๙๖) ว่า โลกเราได้พบกับความพินาศอันยิ่งใหญ่มาแล้ว ๕ ครั้ง แต่ละครั้ง (ยกเว้นครั้งที่แล้ว ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน) เราไม่รู้สาเหตุแท้จริงทั้งหมด แต่ความพินาศครั้งที่ ๖ นี้ เรารู้ว่าเป็นเราเอง!

นับแต่ปี ๑๙๙๒ การประชุมสุดยอดโลกครั้งแรกที่ ริโอ เดอจาเนโร รวมทั้งอีกสิบกว่าครั้งหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามชี้ประเด็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการยั่วยุให้คนคลั่งไคล้วัตถุอย่างไม่บันยะบันยังของบรรษัทข้ามโลกข้ามชาติ เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกระบวนการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านโดยไม่ยกเว้น แต่นักอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากปฏิเสธที่จะเชื่ออย่างเด็ดขาด เหมือนกับผู้โดยสารเรือ “ติตานิก” (Titanic) ที่ชื่นชมและภูมิใจในเทคโนโลยีของเรือยักษ์ ไม่เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่จะนำพาพวกเขาไปตายที่ก้นมหาสมุทร ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้โดยสารบนนาวาโลกที่สุดภูมิใจในเทคโนโลยี “ไฮ-เทค” ใหม่ๆ ที่นักประดิษฐ์ผู้รับใช้บรรษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขึ้นมาล่อใจเป็นรายวัน และภูมิใจกับความเป็นอิสรชน “สิทธิของกู” ที่จะคลั่งไคล้อย่างไรก็ได้กับเทคโนโลยีนั้นๆ จึงยากที่คนรุ่นใหม่หัวเก่าจะยอมเชื่อว่าความอิสระและเทคโนโลยี คือสิ่งที่จะนำความฉิบหายและความตายมาให้ตนและชาวโลกอีกมาก เราประมาท อหังการ และโลภมากจนนำตัวเองสู่กับดักของตัวเอง

บางที น้ำมันที่จะขึ้นราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายจากตลาดไปอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้ (Hubbert’s Peak, Kenneth S. Deffeyes, ๒๐๐๑) หรือหมดเกลี้ยงใน ๔๐ ปีอย่างที่บริษัทบีพีคาดไว้ ผลที่จะตามมา คือความทุกข์ของเราแต่ละคนที่จะต้องอยู่กับความไม่เคยชิน จากความวุ่นวายของเราไปจนถึงสังคมประเทศชาติ แต่ความทุกข์ความวุ่นวายเหล่านั้นจะสะท้อนให้เราได้คิดมากขึ้นและล้ำลึกขึ้น ไม่ว่าในตอนนั้นเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม สมมติฐานทั้ง ๔ ที่ ซูซาน แคนนอน วิจัยมานั้น ทำให้เราได้คิดว่า มนุษยชาติคงกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่าเดิมคือ ยึดถือตัวตน คิดแยกส่วน วัตถุนิยม และฟุ่มเฟือยอย่างที่เคยเป็นเคยทำไม่ได้อีกแล้ว เราคงต้องเรียนรู้ใหม่มีวิธีคิดใหม่ว่า เราในฐานะเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ย่อมจะต้องมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกันหรือเป็นส่วนของกันและกันกับธรรมชาติทั้งหลายนั้นๆ น้ำมันที่หมดลงไปในด้านหนึ่ง คือตัวดึงดูด (attractor of the chaos system) หรือคาตาลิสต์ที่ อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส ว่า ทำให้เราเรียนรู้กับเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าทั้งหมดเป็นเราเองที่จงใจแยกตัวออกจากธรรมชาติและล้างผลาญธรรมชาติเพราะความไม่รู้ เรียนรู้ว่าเป็นเราเองที่อหังการ หยิ่งผยองในปัญญาด้านเทคโนโลยีที่แท้จริงแล้วเป็นอวิชชา ทำให้ธรรมชาติหวนกลับมาสนองตอบต่อเราทั้งเผ่าพันธุ์อย่างไร? การเรียนรู้ที่สุดเจ็บปวดนี้ สำหรับบางคนในเวลานี้และหลายคนในตอนนั้น อาจมีจิตวิวัฒน์ได้ ทำให้เราไม่กลับไปที่เดิมหรือใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีกต่อไป

เห็นจะมีแต่การเรียนรู้ที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะนำเราไปสู่สมมติฐานรูปแบบที่ ๔ คือบุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Integral Dawn)




วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2547 at ที่ 13:09 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, ประสาน ต่างใจ | 0 ความคิดเห็น
4584  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเพื่ออะไร? และเพื่อใคร? เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:52:22
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2547

ในระยะที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในไร่นาในประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยมากพอควร ทั้งในแง่วิชาการ เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งสองฝ่าย คือผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง และในขณะเดียวกันก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

บทความนี้ไม่ต้องการตัดสินหรือลงสรุปว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายฟังซึ่งกันและกันอย่างมีสติ ใช้ปัญญา โดยไม่โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างไปหาข้อมูลเพิ่ม พิจารณาให้รอบด้าน แล้วหันมาคุยกันใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย

ผู้เขียนเองได้ติดตามและรวบรวมข้อมูล ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์และส่วนที่เป็นโทษเป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับ GMO มากพอควร แต่จะไม่นำมาสรุป ณ ที่นี้ แต่จะนำเสนอข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นำไปคิด และอาจนำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่อง GMO แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า GMO คือ การแสวงหาและนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้สังคมมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรามีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันและในอนาคต เป็นความรู้แบบลดทอนแยกส่วนของตะวันตก (Reductionist Knowledge of the West) เป็นหลัก ซึ่งเป็นฐานคิดและทิศทางของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ลดทอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความรู้ สถาบันการศึกษา ทรัพยากรทางธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และทุกสิ่งให้เป็นตัวเงิน ให้เป็นรายได้

ฐานคิดดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบใหม่ของการร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา มีการให้ทุนทำวิจัย และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาพัฒนาเป็นธุรกิจการค้า เป็นการตัดแต่งต่อเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นการพาณิชย์ (Commercialization of Science) และความรู้ที่ค้นพบก็จะถูกจดลิขสิทธิ์เป็นของส่วนบุคคล (Privatization of Knowledge) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาค้าขายได้

ความก้าวหน้าเฉพาะทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปราศจากการยั้งคิดและพิจารณาผล กระทบอย่างรอบด้านและกว้างไกล ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางด้านไปไกลถึงขั้นที่ยากจะควบคุมได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาอาวุธเพื่อการทำลายล้างแบบอภิมหาทำลาย (Weapons of Mass Destruction) ทั้งที่เป็นไปโดยเจตนา เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และที่อาจจะไม่เจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น GMO, Human Cloning หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ก็อาจนำไปสู่การทำลายล้างระบบสังคมและสายใยทางศีลธรรมของมนุษย์ได้ในอนาคต

ลองทำใจให้เปิดกว้าง หันหน้ามาคุยกันอย่างกัลยาณมิตร แล้วพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ที่กลุ่ม
นักวิทยาศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อโลก (Scientists for Global Responsibility: SGR) ร่างโดย Dr. Mae-Won Ho นำเสนอเพื่อการอภิปรายในที่ประชุม World Summit on Sustainable Development (WSSD)

ความรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมความยั่งยืนของโลก
[/U] ควรหรือไม่ควรมีลักษณะใด
๑. ความรู้ควรเป็นของชุมชน และไม่สามารถนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้
๒. ความรู้ควรต้องช่วยให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ และมีความรับผิดชอบต่อสภาพนิเวศ ๓. ความรู้ควรตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอิสระจากการพาณิชย์และการควบคุมของรัฐบาล
๔. ความรู้ต้องไม่นำไปใช้เพื่อการทำลายล้าง การกดขี่ และการก้าวร้าวทางการทหาร
๕. ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) คำนึงถึงอารมณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น
๖. ความรู้ไม่ควรทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ควรเคารพในสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ฯลฯ

ความรู้ที่ควรสนับสนุน
[/U]
๑. ความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรกรรม
๒. ตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมทางสังคมของความยั่งยืน
๓. ตัวบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และชีวภาพของสุขภาพ
๔. ท้องถิ่นและภูมิภาค vs. โลกาภิวัตน์ ฯลฯ

เทคโนโลยีที่ควรระงับ
[/U] ได้แก่อะไรบ้างเช่น อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี

เทคโนโลยีที่ควรจะค่อยๆ ลดหายไป
[/U] เช่น พลังงานและการผลิตพลังงานจากฟอสซิล แอนติไบโอติกในทางเกษตรกรรม เคมีการเกษตรทั้งหลายเช่น สารเคมีฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี

เทคโนโลยีที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณากำกับดูแลอย่างสันติจากประชาคมโลก
[/U]
๑. พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)
๒. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

งานวิจัยที่ควรยุติ
[/U]
๑. งานวิจัยที่เกี่ยวกับ WMD (Weapons of Mass destruction) และสงครามชีวเคมี
๒. การดัดแปลงพันธุกรรมในสัตว์เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๓. การดัดแปลงพันธุกรรมในพืชทุกชนิดที่จะนำไปแพร่ในสภาพแวดล้อม เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๔. การโคลนนิ่งมนุษย์ (Human Cloning)
๕. การบำบัดรักษาทางยีน (Gene Therapy)

ประเด็นทั้งหมดเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ควรนำมาพิจารณาให้ลึกซึ้ง รอบด้าน ไม่รีบด่วนสรุป ไม่เอาความรู้หนึ่งใดมาข่มหรืออยู่เหนือความรู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้แบบลดทอนของตะวันตก หรือความรู้แบบองค์รวมของตะวันออก หรือความรู้เฉพาะของกลุ่มชน (Indigenous Knowledge) ที่หลากหลายในโลก โดยมีเป้าหมายร่วมคือ การแสวงหาและพัฒนาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความรู้อื่นๆ เพื่อการพัฒนาโลกแบบยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง




วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2547 at ที่ 13:01 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: จุมพล พูลภัทรชีวิน, บทความมติชน | 0 ความคิดเห็น
4585  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / สนทนา ศรัทธา และความรู้ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:51:18
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2547

เคยลองสังเกตบ้างไหมครับว่า เวลาเราพูดคุยกันเพื่อให้ได้ทั้งความรื่นรมย์และความรู้ใหม่ๆ อะไรคือเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยเหล่านี้มักดำรงอยู่เวลาเราหันหน้ามาพูดกัน

ประการแรก ชุดภาษาที่เลือกใช้ บ่อยครั้งทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความหมายร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความรู้ก็ตาม เช่น หากพูดเรื่องป่าหรือระบบเกษตร ชาวบ้านจะมีความรู้เยอะ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการ ดังนั้น แม้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อใช้ภาษาไม่เหมือนกัน ก็จำต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือความหมายร่วมในการสนทนาเสียก่อน

ประการที่สอง มิติเชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในทัศนคติของบุคคลและกลุ่ม อำนาจที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะมีอำนาจ หรือเพื่อกดทับการแสดงออกทางความรู้ของกลุ่ม มิติเชิงอำนาจนั้นไม่มีตัวตนในทางวัตถุ แต่ดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับ เช่น ในวงสนทนาที่มีเจ้านายกับลูกน้อง ครูใหญ่กับครูน้อย หรือคนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่สาม วิธีการถ่ายทอดความคิดออกไป โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นการนำเสนอด้วยความมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นเช่นนั้นจริง เป็นสัจจะ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่อยากให้เปลี่ยน ทั้งที่โดยทั่วไป ความคิดจะตั้งอยู่บนกรอบคิดหรือสมมติฐานหนึ่งๆ เสมอ

ประการที่สี่ การถือว่าความคิดเห็นเป็นของตน มีเจ้าของ ปัญหาจึงอยู่ที่ความคิดเห็นนั้นถูกยึดว่า “เป็นของ” เป็นสมบัติที่ต้องได้รับการปกป้อง หวงแหน ราวกับชีวิตตัวเอง

แต่หากวงสนทนานั้นๆ รู้เท่าทันและพยายามเป็นอิสระจากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ย่อมมีโอกาสก่อประกอบความรู้หรือปัญญาใหม่ๆ ร่วมกัน บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจ ความปรารถนาดีและความศรัทธา

เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องศรัทธากับการแสวงหาความรู้เท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่าศรัทธาเป็นผลมาจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงต้องอาศัยแรงศรัทธาในการต่อกรกับความไม่รู้ ยิ่งในทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม ศรัทธาเป็นอุปสรรคต่อความรู้เลยทีเดียว เพราะเป็นการเลือกเปิดให้กับความรู้บางชุด (ที่ศรัทธา) และปิดความรู้ชุดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด แต่ในทางศาสนานั้น ศรัทธาเป็นที่มาของประสบการณ์ตรงอันเป็นความรู้ของจิต จึงเป็นกิริยาที่ช่วยเปิดประตูเพื่อเข้าถึงความรู้ชุดหนึ่งซึ่งมีลักษณะกว้างใหญ่กว่าความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของความคิดหรือคำพูด คือเป็นอวจนปัญญานั่นเอง

จากมุมมองของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ในฐานะผู้เรียนรู้ เราไม่สามารถปลอดพ้นไปจากทัศนะใดๆ ได้ แต่มักจะมีกรอบหรือสมมติฐานในการมองเรื่องต่างๆ ซึ่งมีส่วนในการกำหนดตัวความรู้ที่เกิดจากการตีความของเรา ไม่มีความรู้ที่ปราศจากการตีความ ลักษณะที่ว่า เห็นอย่างเป็นเช่นนั้นเอง หรือ อย่างเป็นตถตา นั้น คงต้องฝึกกันอย่างมากเพื่อให้เท่าทันสมมติฐานของตัวเอง

แล้วศรัทธามันมาเกี่ยวอะไรกับการสนทนาเพื่อหาความรู้ล่ะ ก็ในการสนทนาแบบสืบค้นร่วมกัน (collective inquiry) หรือที่ตอนนี้เรียกกันอย่างคุ้นหูว่าสุนทรียสนทนานั้น ความสามารถในการเดินทางหรือนำพาตัวเองเข้าสู่พรมแดนของความไม่รู้นั้น จำต้องอาศัยความอดทนและศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า การเดินทางนั้นจะสิ้นสุดลงที่ใด เนื่องจากเป้าหมายของการสนทนาในลักษณะนี้ไม่ต้องการให้ไปพบที่สิ้นสุดของขอบแดนแห่งความรู้ หากต้องการเดินออกจากพรมแดนของความรู้อันจำกัดที่มีมาแต่เดิมมากกว่า

ดังนั้น การดำรงอยู่ในความไม่รู้นั้น จึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการเดินทาง การที่เรายังไม่สามารถหาข้อสรุปรวบยอดได้นั้นไม่เป็นไร หรือแม้จะไม่มีความจริงสูงสุดหรือสัจจะ แต่ก็กระทำการแบบเดินไปค้นหาไป ยิ่งค้นหาความหมายร่วมกับคนอื่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก็ยิ่งไม่เปล่าเปลี่ยว หากแช่มชื่นและมีพลัง เหมือนกับการเดินเก็บก้อนกรวดของเด็กน้อย ดังกวีบทข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายรักการแต่งงานของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ได้กล่าวถึงศรัทธาไว้อย่างชัดเจนว่า




ยังมีอะไรอีกมากรอให้เราค้นหา
เหมือนเด็กน้อยเดินเก็บก้อนกรวด
ฉันมีความสุขเหลือเกิน
เพราะเธอคือต้นธารแห่งปีตินั้น
เพราะเธอส่องรัศมีสว่างใส

ประตูนี้เปิดคอยเธออยู่
เพียงเธอก้าวเท้าเข้ามา
เธอก็จะพบความสัตย์ซื่อที่จริงใจ

ศรัทธานั้นสำคัญยิ่ง
อะไรอื่นก็ช่างมัน
เพราะศรัทธาคือช่องทางสู่ทุกสิ่ง

มาสิที่รักของฉัน
เริ่มต้นด้วยกัน
เผชิญการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เธอจะไม่มีวันเปล่าเปลี่ยว
ถ้าเราจูงมือไปด้วยกัน


เมื่อเปิดใจให้กับความไม่รู้ ให้ความหมายใหม่กับความไม่รู้ของเรา ว่าเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ยินดี มากกว่าเป็นความขาดพร่องที่จำต้องเติมเต็ม หรือกลบเกลื่อนปิดช่องโหว่ด้วยกลัวเสียหน้า หากสร้างความไว้วางใจว่า เมื่อสืบค้นร่วมกันแล้วก็จะไม่เปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ในจองจำของความรู้เดิม เราก็จะพบกรวดก้อนสวย สีสันแปลกตาแปลกใจออกไปเรื่อยๆ


วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 12:45 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: ณัฐฬส วังวิญญู, บทความมติชน | 0 ความคิดเห็น
4586  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / องค์รวมกับสุขภาวะบูรณาการ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:49:33
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2547

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วม “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๑” งานชุมนุมการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ โดยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๑-๕ กันยายน หนังสือเชิญไม่ได้ระบุให้ผู้เขียนเป็นวิทยากรหรือมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากไม่ทราบเรื่องนี้มานานพอที่จะจัดเวลาให้เหมะสมได้ จึงไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมตามคำเชิญ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ขอโทษท่านอธิบดีที่เป็นแพทย์รุ่นน้อง เป็นคนดีมีฝีมือและเรียกกันฉันญาติมานานร่วม ๓๐ ปี

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนี้จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๔๖ นี้เอง และวัตถุประสงค์อันหนึ่งคงจะต้องการแสดงว่าไทยไม่ล้าหลังฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกา (สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่นการแพทย์ทางเลือกหรือองค์รวมคืออะไร? ผู้ตั้งกรมนี้ขึ้นมาอาจคิดว่า ไม่เป็นไร เราคนไทยที่มักเรียนอะไรได้เร็ว อีกไม่นานก็คงจะสามารถเรียนได้ทั้งหมด) เพราะขณะนี้ ที่เมืองนอกนั้น ผู้ป่วยที่ไปหาแพทย์สมัยใหม่มีน้อยลงไปมาก (The Alternative Medicine Invades Medical Establishment, Clive Daniels, New Life, ๑๙๙๙) วันนี้อาจมีไม่ถึงหนึ่งในสามคน ในขณะที่สองในสามเขาหันไปหาแพทย์ทางเลือกแทน การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่า คนอเมริกันใช้เงินเพื่อสุขภาพและการรักษาโรคโดยวิธีอื่นๆ ของการแพทย์ทางเลือกไปถึงหนึ่งล้านล้านบาท (ไม่รวมอาหารเสริม) ส่วนที่บ้านเรานั้น ผู้เขียนบังเอิญได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นวิทยากรหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม โดยรูปแบบของการจัดตั้งเป็นกรมเป็นองค์กรขึ้นมานั้น หากพิจารณาจากชื่อตามที่ยกมาข้างบน ไม่ว่าโดยปรัชญาหรือนิยามที่ยอมรับกัน อาจรู้สึกว่าเหมือนกับมีความขัดแย้งกับคำว่าองค์รวมและสร้างความไม่เข้าใจกับผู้ที่สนใจอย่างจริงจังในเรื่องของการแพทย์องค์รวม หรือการแพทย์ผสมผสาน หรือการแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้ว เท่าที่เข้าใจกัน ปรัชญาและหลักการของธรรมชาติของชีวิต (ในที่นี้คือมนุษย์) คือการไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงแบบเชื่อมโยงกันของทุกๆ ส่วน ทุกๆ ระบบ และทุกๆ มิติที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ ในระดับแรกคือ กาย จิตใจ (ที่รวมอารมณ์ความรู้สึก) และจิตวิญญาณ และในระดับต่อมา ครอบครัว สังคมตลอดไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในไบโอสเฟียร์ ประหนึ่งทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกันโดยไล่ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างกันไปตามลำดับ ผู้เขียนเชื่อว่า มีแต่ความเป็นองค์รวมดังที่กล่าวมานี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจในคำว่า “สุขภาพ” และคำว่าการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก (ชื่อที่ใช้กันบนความเคยชิน) ซึ่งรวมผู้บำบัดรักษา บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วย และวิธีการอันหลากหลายได้อย่างชัดแจ้ง

ความเห็นที่เป็นส่วนตัวจากการได้คิดได้เขียนเรื่องของมนุษย์กับสังคม และโลกกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมานาน ผู้เขียนจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งกับอะไรก็ตามที่เน้นความเป็นสอง (dualism) และแยกส่วน (reductionism) ซึ่งผิดกระบวนการธรรมชาติอย่างเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นชื่อของกรมนี้หรือกรมกองไหนกระทรวงใดที่ชี้บ่งโลกทัศน์ของผู้ตั้งไปในทางนั้น (ส่วนมากเป็นนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์สังคมที่กลายมาเป็นผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลต่อกรมกองหนึ่งใดในขณะนั้นๆ) ผู้เขียนจึงเข้าใจดีต่อการที่เรายังจำเป็นต้องใช้คำเหล่านั้น การแพทย์ทางเลือกที่ต่างประเทศใช้กันในเบื้องแรกก็มีที่มาไปทางด้านนั้น และคิดว่าเรื่องนี้เรา ที่ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมสาธารณชนคนทั่วไปด้วย ต้องมาพูดกันและแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปหรือโต้แย้งกันจนหน้าตาแดงใส่กัน

ว่าจริงๆ แล้ว ทำไมต้องมีการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก? การแพทย์ที่ใช้กันอยู่มันไม่ถูกไม่ดีตรงไหน หรือมีปัญหาอย่างไร? ตอบรวมๆ ทั้งสองคำถามได้ว่า หนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นตั้งบนหลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์เก่าเดิมสมัยนิวตัน กาลิเลโอ เมื่อปีมะโว้ และชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เมื่อปีมะแว้ง ที่ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่าไม่สมบูรณ์ หรือกระทั่งผิด หรือไม่จริงเอามากๆ นั่นก็คือ วัตถุ (Materialism) เครื่องจักร (Machinism) และแยกส่วน (Reductionism) จึงเยือกเย็น แข็งกระด้าง ไร้ชีวิตชีวา และเครื่องจักรแห่งชีวิตที่ว่ามานั้นเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อมของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) สอง สุขภาวะและการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นสหปรากฏการณ์หรือสหมิติ (Multidimensional) และมิติขององค์ชีวิตนั้น ไม่ได้มีเพียงร่างกาย แต่ยังมีอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจ มีจิตวิญญาณ แถมยังมีสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งปุ๋ยหรือสารเคมี (คนเราจะมีสุขภาวะดีพร้อมได้อย่างไร? หากอากาศก็ป่วย ดินและน้ำก็ป่วยจากการปนเปื้อนสารเคมี) หรือแม้แต่ระบบการเมืองสังคมและเศรษฐกิจที่ป่วย ก็มีส่วนในการกำหนดสุขภาพและสภาวะโรค (คุณจับเอาผู้ก่อการร้ายไปตรวจ จับเอาตัวฮิตเล่อร์ หรือประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีบางคนไปเจาะเลือด เอ็กซ์-เรย์ แล้วทำ MRI ผลออกมาดีหมดแจ๋วแหวว แต่สุขภาวะของประชาชนในที่นั้นๆ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร?) เด็กวัยรุ่นที่วิ่งแทงคนบนรถเมล์ชี้บ่งโรคจิตแห่งสังคมได้อย่างชัดเจน หากพ่อก็ทุบตี แม่ก็ติดเหล้า ทะเลาะกันเป็นรายชั่วโมง แล้วจะให้เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นมีสุขภาวะดีเลิศหรือสมประกอบได้อย่างไร? อย่าได้คิดว่าที่พูดมานั้นไม่เกี่ยวกับการแพทย์หรือสุขภาพของประชาชน

ทุกวันนี้ ที่เมืองนอกมีนักเรียนแพทย์ที่ต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางน้อยลงไปมาก (Noetic Model Of Medicine, Marilyn Schiltz, IONs ๑๙๙๘) ก็เพราะไม่ต้องการเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่รักษาหุ่นยนต์ (คำพูดของ เคน วิลเบอร์ ที่ขยายจากคำว่า biophysical) ดังที่เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์แพทย์มักย้ำแล้วย้ำอีกกับนักเรียนหรือแพทย์ฝึกหัดว่า “จงอย่ามีความใกล้ชิดจนรู้สึกผูกพันหรือสงสารผู้ป่วยมากนัก เพราะจะทำให้การรักษาโรคหรือการตัดสินใจและประสิทธิภาพของแพทย์ต้องหย่อนยานลง” นั่นจริงๆ เป็นความหวังดีอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เก่า (วัตถุและแยกส่วน) แห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ภายในทศวรรษเศษๆ มานี้อาจารย์แพทย์ทุกคนที่อเมริการู้ดีว่า ที่เคยพูดเช่นนั้น มันผิดไปอย่างไร? เมื่อผลของการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์สายหลักสายตรงจำนวนมากเหลือเกินต่างล้วนชี้บางอย่างชัดแจ้งว่า อารมณ์กับความรู้สึกและความเมตตาของผู้รักษาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตใจและความรู้สึกของคนไข้ต่อแพทย์และการรักษา ให้ผลดีอย่างที่สุดกับผู้ป่วยและแพทย์ ที่เทียบกันกับหลักการรักษาแบบเดิมไม่ได้เลย ไม่ว่าโอกาสของการหายจากโรคได้ดีกว่าและเร็วกว่าแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปมาก (Integral Medicine: A Noetic Reader, Marilyn Schiltz and Tina Hyman, , to be published in ๒๐๐๕) นั่นอาจสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า การรักษาแบบที่หมอไม่ได้ใส่ใจหรือไม่มีความเมตตากับคนไข้นั้น นอกจากทำให้การรักษาต้องใช้เวลามากกว่าแล้ว แพทย์เองอาจกลายจากการเป็นผู้รักษาไปเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้ป่วยของตนเองก็ได้

ผู้เขียนคิดว่า การแพทย์ต้องมีเรื่องของจิตใจและจิตวิญญาณของผู้รักษาเป็นปฐม หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค กับประสบการณ์และศิลปะ การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นรูปแบบและแนวทางที่เราต้องนำมาผสมผสานกับการแพทย์ “สมัยใหม่” โดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำหน้างอ กระนั้นก็ดี แพทย์ทางเลือกเอง ที่คิดว่าตนเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นองค์รวมของจักรวาลได้หมดแล้ว ก็คงต้องสำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่า ตนมีความเข้าใจในเรื่องของสุขภาวะในรูปแบบขององค์รวมอย่างไร




วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 12:49 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, ประสาน ต่างใจ | 0 ความคิดเห็น
4587  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความท้าทายของวิวัฒนาการ เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:48:02
โดย เดวิด สปินเลน
วรนุช ชูเรืองสุข แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2547

ชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราต้องการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เราควรจะศึกษาพวกเอป (Ape) มากกว่าเอาเวลามานั่งอ่านงานเขียนของนักปรัชญาทั้งหลาย ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา นักสัตววิทยา เช่น เจน กูดอลล์ (Jane Goodall ) ได้ศึกษาพฤติกรรมของไพรเมตในเชิงลึก (ไพรเมต คือสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึง ลิง เอป และมนุษย์) การศึกษาเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมพื้นฐานบางอย่างของไพรเมตชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ๑. สัตว์กลุ่มนี้สนใจหาอาหารเพื่อประทังชีวิตแบบวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ๒. ต้องการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ๓. มีความห่วงใยเฉพาะกับตัวเอง ครอบครัวและกลุ่มของตัวเองเท่านั้น

มนุษย์เองก็มีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่กระนั้น เรายังมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างประกอบด้วย เช่น มีความสามารถในการคิดทบทวน ไตร่ตรอง คือสามารถรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือรู้อะไรบ้าง นอกจากนี้ มนุษย์ยังสามารถพัฒนาจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ และสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วย ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่า มนุษย์มีทั้งคุณลักษณะทางวิวัฒนาการแบบเก่า คือ ต้องการอาหารและความปลอดภัยในชีวิต ต้องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และมีกรอบความห่วงใยแคบๆ เฉพาะภายในครอบครัว นอกจากนี้ มนุษย์เรายังสามารถมีศักยภาพในการตระหนักรู้ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเริ่มขยายกรอบความห่วงใยที่กว้างกว่าเดิม ขยายกรอบความห่วงใยคืออะไรนะหรือครับ? ก็คือเริ่มสนใจและห่วงใยในเรื่องที่มากกว่าแค่การหาอาหาร หาข้าวของเครื่องใช้ไว้ใช้แค่ในช่วงสั้นๆ ใส่ใจดูแลแค่สมาชิกในครอบครัว พวกพ้อง หรือคนในประเทศของตัวเองเท่านั้นนะสิครับ

ตอนนี้เราลองมาดูกันคร่าวๆ ถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และดูว่าผู้นำของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ตลอดจนประชาชนทั้งหลาย จะยังคงมีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่ากันอย่างไร ทุกวันนี้ความกลัวในเรื่องที่ว่า เรา (ประเทศของเรา) จะไม่มีอาหารและทรัพยากรที่จำเป็น เช่น น้ำ น้ำมัน เพียงพอแก่การบริโภคแพร่ขยายไปทั่ว ฉะนั้นเราจึงพัฒนานโยบาย หรือแม้แต่ยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อยึดหรือครอบครองทรัพยากรเหล่านั้นไว้ สิ่งนี้สร้างความตึงเครียด โกรธเคือง และคับแค้นใจให้กับประชาชน และนานาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่สมดุลด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างกว้างขวางและรุนแรง การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะ “น้ำ” ของประชากรโลกเริ่มส่อเค้าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ อัตราการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรในเมืองใหญ่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีการเพิ่มขึ้นของบรรดาลัทธิจารีตนิยมทางศาสนา ซึ่งก็เป็นวิถีของวิวัฒนาการทางพฤติกรรมและความเชื่อแบบเก่านั่นแหละครับ คือเชื่อว่าพวกของข้าดีกว่าพวกของเจ้า ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ที่สามารถแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว

ท่าทีของบรรดาผู้นำเกือบทุกประเทศที่มีต่อปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นไปในลักษณะวิวัฒนาการแบบเก่า คือใช้เทคโนโลยีและวิธีการบีบบังคับ เข้าจัดการจากบนสู่ล่าง (Top-Down) สร้างความอึดอัดโกรธแค้นไม่พอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้สึกไร้อำนาจ จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้เรามีทั้งขบวนการผู้ก่อการร้ายและระเบิดพลีชีพกระจายอยู่ทั่วไป

โปรดสังเกตนะครับว่าปัญหาเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นปัญหาสากล เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหรืออาณาเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้กำลังจะชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาทางวิวัฒนาการอยู่ ว่าจะสามารถฝ่าฟันกระบวนการคิด การกระทำและพฤติกรรมอันจำกัด ไปสู่การมองที่เห็นว่ามนุษยชาติล้วนเป็นพี่น้องกันได้หรือไม่ หากไม่เช่นนั้นก็อาจต้องล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

ก็ทำไมเราไม่ทำเช่นนั้นละครับ ไม่เพียงแค่ลักษณะทางวิวัฒนาการที่เราได้รับสืบทอดมาดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เราพึงตระหนักไว้ นักจิตวิทยาได้จำแนกสภาวะของปฏิกิริยาที่คนหรือกลุ่มคนแสดงออกเมื่อเผชิญกับปัญหาวิกฤตเป็น ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ ระยะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ติดเหล้าติดยาส่วนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเวลาหมอบอกว่าตัวเองติดสิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมแบบนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือครับ เกือบ ๓๐ ปีมาแล้วที่บรรดารัฐบาลและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจต่างพร้อมใจกันไม่ยอมรับว่าทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาทางนิเวศและสิ่งแวดล้อม ระยะที่ ๒ ระยะแสดงอาการโกรธและชอบกล่าวโทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นตัวสร้างปัญหา คือถ้าไม่ใช่เพราะ “มัน” ฉันหรือเราก็คงไม่เดือดร้อนยุ่งยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ กำจัดมันเสีย หรือถ้าจำเป็นก็ “ฆ่า” มันเสียเลย ระยะที่ ๓ ของการตอบสนอง คือการแสดงอาการท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะคิดแต่ว่าปัญหาต่างๆ ช่างใหญ่เกินกำลัง รับมือไม่ไหว เอาชนะไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ระยะสุดท้ายคือ ยอมรับความเป็นจริง ว่าพวกเรากำลังเผชิญปัญหาซึ่งยากและซับซ้อนมาก มันทำให้ฉันโกรธและหดหู่ ฉันเห็นและยอมรับว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เอาล่ะ ถ้าเช่นนั้น เราควรจะทำอย่างไรกันดี

ตามความเห็นของผม วิวัฒนาการกำลังนำเราไปไกลพ้นจากตัวเอง จากการที่เราเป็นห่วงเฉพาะเรื่องแคบๆ เล็กๆ เห็นแก่ตัว เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องการทางออกในระดับโลกด้วยเช่นกัน ผู้นำในหลายประเทศไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่ธรรมชาติไม่ให้โอกาสเราเลือกมากนักหรอกครับ เราจะถูกผลักให้หันหน้ามาร่วมมือกัน หรือไม่ก็ตายไปด้วยกัน คุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์กำลังถูกเรียกร้องให้นำออกมาใช้ นั่นคือ ต้องนำจินตนาการเชิงสร้างสรรค์มาใช้สร้างวิสัยทัศน์สำหรับโลกอนาคต อันเป็นจุดหมายหลักของชุมชนโลกนั่นเอง

อุปสรรคยากเย็นที่เราเผชิญอยู่คือโอกาส เนื่องจากเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือศาสนา แต่เป็นวิกฤตทางวิวัฒนาการ วิวัฒนาการที่นับจากนี้ไปเป็นเรื่องของจิต หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ มันขึ้นอยู่กับคุณและผมแล้วละครับว่า จะก้าวข้ามการไม่ยอมรับความจริง ความโกรธ ความหดหู่ มายอมรับความจริงได้อย่างไร แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ตามวิถีทางเล็กๆ ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และพาตัวเองก้าวพ้นจากพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่าอันคับแคบให้ได้

เราคงไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่า ถ้าคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณก็เป็นศัตรูกับเรา แต่เราจะต้องตระหนักและเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า เรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้ด้วยกันทั้งหมด




วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 12:41 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, เดวิด สปินเลน | 0 ความคิดเห็น
4588  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / “อะไรง่ายๆ” กับจิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:46:36
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 25 ธันวาคม 2547

ครั้งหนึ่งที่เมื่อ ท่าน ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงรายได้มีโอกาสพบปะและได้พูดคุยกับ ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ท่าน อ.สุจินต์ จึงมีความคิดที่อยากจะนำไอเดียเรื่องจิตวิวัฒน์เข้ามาลองใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดูบ้าง จึงได้มอบหมายให้ อ.อภิสม อินทรลาวัณย์ ทำการประสานงานโดยมี อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และผม เข้ามาลองช่วยทำโครงการนี้กับนักศึกษา

จิตวิวัฒน์ครั้งแรกในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียนในต้นฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ นี้ โดยรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน ๓๐ คน โดยคิดกันว่าอาจจะเริ่มจากการพูดคุยสนทนากันถึงความเป็นมาเป็นไปของจิตวิวัฒน์ และ/หรือ ลองให้ความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์คืออะไร” กับนักศึกษา

มีความเห็นกึ่งคำถามหนึ่งจากนักศึกษาที่ผมคิดว่าน่าจะถือโอกาสทำความเข้าใจประเด็นนี้ในบทความนี้เสียเลย เพราะเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรแล้วก็อาจจะมีคำถามประมาณนี้เช่นกัน

ว่า “จิตวิวัฒน์เป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า” “เป็นพวกล้างสมองอะไรหรือเปล่า”

ผมไม่เชื่อว่าใครจะล้างสมองใครได้ มีแต่ว่าคนๆ นั้นเลือกที่จะมองโลกแบบไหนเท่านั้นเอง ผมอยากจะเรียนว่าพวกเราที่อยู่ในโครงการจิตวิวัฒน์นี้ต่างก็ได้มีโอกาสศึกษางานทดลองงานวิจัยทั้งทางสังคมและโดยเฉพาะงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พวกเราพบและเห็นตรงกันว่าการศึกษางานเหล่านี้ในระยะหลังๆ ล้วนชี้นำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์” จะต้องเป็นการ “พัฒนาที่จิตใจและความคิด”

คำว่า “พัฒนาจิตใจและความคิด” ไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ทุกคนต้องมา “นั่งสมาธิ” ไม่ได้หมายความว่า “ทุกคนจะต้องเข้าวัด” (แต่ถ้าคุณมองเห็นและเข้าใจประเด็นนี้แล้วอยากจะเข้าวัดก็เป็นเรื่องที่ดีนะ) ยิ่งไม่ได้หมายความไปไกลถึง “การฝึกพลังจิต” ประเภทใช้จิตใจยกช้อนได้หรือ “การสร้างปาฏิหาริย์แบบเหาะเหินเดินอากาศ” อะไรแบบนั้น

แต่หมายความถึง “อะไรง่ายๆ” ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน “อะไรง่ายๆ” ที่ปรับเพียง “มุมมองและความคิด” แล้ว “เราจะมีความสุขมากขึ้น” “ทำงานได้ดีขึ้น” “มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น” และผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ก็คือ “คุณก็ยังคงเป็นคุณ” ใช้ชีวิตเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ใช่แบบเดิมเท่านั้น ถ้าคุณมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

คุณยังสามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อคุณเข้าใจ “จิตวิวัฒน์” คุณอาจจะมีวิธีการทำมาหากินในรูปแบบที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อช่วงชิงกันแบบเดิมๆ อีกต่อไปเท่านั้นเอง เป็นต้น

ผมขอเล่าสั้นๆ พอสังเขปถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนถึง “การเคลื่อนไหวของแนวคิด” ของคนทั้งโลก คืองานวิจัยของ พอล เอ็ช เรย์ (Paul H. Ray, Ph.D.) ที่ทำในช่วงปี ๑๙๙๙ สรุปว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาจำนวน ๒๕% หรือประมาณ ๕๐ ล้านคน ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives) เป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องจิตเรื่องใจมากกว่าคุณค่าวัตถุภายนอก ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย นิยมการศึกษาทางเลือกและการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ มีจำนวนประชากรสูงขึ้นจากเดิมที่ในช่วงทศวรรษ ๘๐ มีประชากรกลุ่มนี้เพียงไม่ถึง ๑% ของประชากรสหรัฐ พอล เรย์ พบปรากฏการณ์ทำนองนี้ในกลุ่มประชากรยุโรปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เขายังคำนวณไว้ด้วยว่า จำนวนประชากรของคนที่เป็นกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมนี้จะมีจำนวนมากขึ้นประมาณ ๑% ทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้จำนวนประชากรชาวสหรัฐอเมริกาที่มีแนวคิดแบบนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ ๓๐% แล้ว

แบบนี้จะเรียกว่าเป็นลัทธิหรือเปล่า ผมเองก็คงจะตอบไม่ได้เหมือนกัน

ในวันนั้นมีคำถามอีกหลายคำถามจากนักศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบได้ตรงๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะตอบได้ด้วย “กิจกรรม” ที่ให้ลองสัมผัสประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง ผมคิดว่าเหมือนกับที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้ยกตัวอย่างอยู่เสมอถึงเรื่องการขี่จักรยาน การตอบคำถามเกี่ยวกับการขี่จักรยานว่าจะต้องใช้แรงยังไง ทรงตัวยังไง ถีบยังไง คงจะตอบได้ไม่ดีเท่ากับให้ “ลองขี่ดู” แล้วก็น่าจะได้คำตอบด้วยตัวเอง

กิจกรรมแรกที่ อ.วิศิษฐ์ ให้ลองทำในวันนั้นก็คือกิจกรรมการฟังแบบสะท้อนกลับ โดยให้จับคู่กันแบบสุ่มด้วยการเดินเป็นกลุ่มแล้วให้หันเข้าหาคนที่อยู่ใกล้ที่สุดจับคู่กัน กำหนดคนที่หนึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งคนที่สองเป็นหมายเลขสอง เริ่มจากการให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องของตัวเองสามนาที ว่าในวัยเด็กที่มีความสุขมีอะไรบ้าง มีจินตนาการที่ดีๆ อะไรบ้างให้หมายเลขสองฟัง เมื่อครบสามนาทีก็ให้หมายเลขสองทวนกลับเล่าให้หมายเลขหนึ่งฟังว่าได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้าง จากนั้นให้ทำสลับกันโดยให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองสามนาทีให้หมายเลขหนึ่งฟัง เมื่อครบเวลาให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาบ้าง

เมื่อกิจกรรมผ่านไปก็ให้ทั้งวงสนทนา ลองสะท้อนความรู้สึกออกมาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หลายคนสะท้อนว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่นึกและไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเล่าเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวให้กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนฟังได้ แต่ก็รู้สึกดีและรู้สึกสนิทสนมกับคู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าการจับคู่เล่าเรื่องแบบมั่วๆ นี้กลับทำให้ได้พบกับคนที่มีส่วนคล้ายๆ กัน เช่นชีวิตในวัยเด็กที่คล้ายๆ กัน อยู่จังหวัดที่ใกล้ๆ กัน ชอบกินหรือเล่นอะไรที่เหมือนๆ กัน ฯลฯ หลายคนบอกว่าไม่เคยมาย้อนดูตัวเองในเรื่องความสุขที่เคยมีมาก่อนเลยเพราะมัวแต่ยุ่งกับการเรียนการสอบและเกิดความเครียด ไม่นึกว่าแค่การลองนึกถึงเรื่องราวที่เคยมีความสุขในวัยเด็กจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้

จากเพียงแค่กิจกรรมง่ายๆ แบบนี้ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า ด้วยทฤษฎีทางชีววิทยาพื้นฐาน เพียงแต่เรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่า มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาจากเซลล์ๆ เดียวกัน มีความผูกพันซึ่งกันและกันที่ซึมลึกฝังรากอยู่ในโครงสร้างดีเอ็นเอของพวกเรากันอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งมี “ความเป็นญาติกัน” อยู่แล้ว ยิ่งเกิดมาในประเทศเดียวกัน หน้าตาผิวพรรณที่คล้ายๆ กัน ก็ยิ่งแสดงถึง “ความใกล้ชิดกัน” ของสายพันธุ์

“แล้วทำไมหรืออะไรที่ทำให้” มนุษย์ในสังคมปัจจุบันถึง “ขาดความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน เมื่อพบกับคนที่ไม่รู้จัก “เราจะตั้งการ์ดตั้งแง่วางฟอร์ม” “หวาดระแวงระแวดระวัง” ไว้ก่อนเสมอหรือเผลอไปตัดสินก่อนแล้วว่า “ต้องไม่มาดีแน่” อะไรแบบนั้น การทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ “ทดลองให้” เราได้มีโอกาส “หลุดไปจากเกราะกำบัง” ชั่วคราว ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้น รู้สึกคุ้นเคยกับคนที่ไม่รู้จัก มองเห็นสิ่งดีงามในเพื่อนมนุษย์และฝึกการ “ไว้ใจชีวิตได้มากขึ้น

จิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายเพียงแค่ “การฝึกฟังกันธรรมดาๆ” เป็น “อะไรที่ง่ายๆ” แบบนี้นั่นเอง



วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2547 at ที่ 18:56 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, วิธาน ฐานะวุฑฒ์ | 0 ความคิดเห็น
4589  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตวิวัฒน์ บนเวที สานจิตรเสวนา เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 13:45:26


โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2552

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน “สานจิตรเสวนา: มหกรรมความรู้เพื่อการพัฒนาจิต ครั้งที่ ๒” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ มีชั่วโมงเสวนาของขุมปัญญาด้านจิตวิญญาณของสังคมไทย ๔ รายการ ได้แก่ จิตวิญญาณในมุมมองสามศาสนา เสวนาพัฒนาจิตวิญญาณจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เสวนาจิตตปัญญาศึกษา และเวทีจิตวิวัฒน์

หลังเวทีจิตวิวัฒน์ คุณนุกุล พลอยบุตร จากโรงพยาบาลเชียงม่วน บรรยายความรู้สึกที่ได้รับจากการนั่งฟัง เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เรื่อง “มหัศจรรย์ใจกับงานสานจิตรเสวนา” มีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ

“ณัฐฬส วังวิญญู สมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์เล่าว่า จิตวิวัฒน์เป็นเหมือนเผ่าพันธุ์หนึ่ง นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมพูดคุยทุกเดือนแล้ว ยังได้ความสัมพันธ์ ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นความหวังในการแสวงหาความอยู่รอดของสังคม การค้นหาทางออกอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การได้อยู่ร่วมกันอาจมีความหมายมากกว่า ประทับใจกับเรื่องราวของอาจารย์ประมวลที่เดินทางไกลด้วยเท้าจากเชียงใหม่ถึงสงขลา และการเดินทางในอินเดีย เรื่องเล่าจากอาจารย์ประมวลทำให้คิดถึงการทำงานใหญ่เพื่อแสวงหาคำตอบให้สังคม ในขณะเดียวกันก็อย่าละเลยการดูแลคนในครอบครัว”

“ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่า เป็นครูมาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตอิงอยู่กับกรอบคิดและกฎเกณฑ์ของวิชาชีพครู ยึดเอาหลักการของวิชาครูมากำหนดตนเองนาน ๗๐ ปี จนกระทั่งมาพบกับจิตวิวัฒน์ แรกๆ เวลาเข้ากลุ่มแล้วได้ยินได้ฟังเรื่องราวอะไร จะดึงมาอิงกับทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา กลับไปดูบันทึกเก่าๆ พบว่าเต็มไปด้วยทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงของตนเองจะเป็นไปในลักษณะ transformation คือ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก วิธีฟัง คิด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะอาจารย์ประสานสอนว่า อะไรที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ มันก็ยังมีอยู่

อาจารย์เล่าว่าได้เรียนรู้ตนเองมากกว่าเดิม กรงที่ขังตนเองไว้เริ่มหลุดไปทีละซี่ ยิ่งได้คุยกับคนหนุ่มสาว ยิ่งทำให้กรงขังหลุดมากขึ้นๆ มารู้อีกทีเมื่อรู้ว่าตนเองหลุดออกจากกรงขังแล้ว คนยึดทฤษฎีไม่มีความสุข ชีวิตต้องอยู่เหนือการยึดติด ทำให้เรามีเสรีภาพ เมื่อมีเสรีภาพทำให้อาจารย์สามารถเขียนนวนิยายได้ จากที่แต่เดิมเขียนได้เพียงสารคดี

อาจารย์พบจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานกับคนที่คิดแบบเดิมๆ มีเมตตา นำไปสู่การปฏิวัติการศึกษาในตนเอง เพราะการศึกษาจะไปไม่รอดถ้าเรายึดวิธีสอนแบบเดิมๆ และการคิดใหม่ทำใหม่ทำอย่างไร”

“ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เล่าว่าช่วงแรกของการทำงานกับ สสส. อาจารย์ทำการวิจัยด้านจิตวิญญาณ การเริ่มต้นด้วยความไม่รู้เป็นการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ใหญ่มาก ทำงานโดยไม่มีอะไรมาครอบ เรียนรู้จากคนที่เราเชื่อว่าเขามีจิตวิญญาณอยู่ในตัว อาจารย์เปลี่ยนจากนักวิชาการที่อิงหลักวิชาการ ยึดติดกับทฤษฎี ไปเป็นคนธรรมดามากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น การเข้าไปในจิตวิวัฒน์บางช่วงทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเด็กไม่รู้อะไรเลย ฟังผู้ใหญ่และเด็กๆ พูด รู้สึกว่า ทำไมเราไม่รู้ บางช่วงรู้สึกว่าเราเป็นผู้รับ บางช่วงเป็นผู้ให้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดามากขึ้น”

“ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย เล่าว่า ๒ ปีของการเข้าร่วมวง เริ่มต้นจากถูกชักชวนให้อ่านหนังสือ ๓ เล่ม แล้วนำไปเล่าในวงจิตวิวัฒน์ วันที่ไปเล่ามีแต่อาจารย์ผู้ใหญ่ รู้สึกว่าท่านตั้งใจฟังเรามาก รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพราะในกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นหมอ ขณะที่ตนเองเรียนด้านวิศวะ แต่บอกตนเองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ค่อยๆ ซึมซับไป รู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่น่ารัก อาจารย์ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รู้ เห็นอาจารย์หมอประสาน อาจารย์ประเวศพูดคุยกันเหมือนเป็นเด็กๆ และประทับใจกับหลายเรื่องเล่าของผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม”

“จารุพรรณ กุลดิลก เล่าว่าเรื่องเล่าในวงมีพลัง อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู จะนำ Dialogue มาใช้มากในการสนทนา เวลานั่งฟังอยู่ในวงก็จะยิ้ม ฟังแล้วได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ ฟังแล้วเห็นจิตวิญญาณของคนเล่า”

“อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ สนใจจักรวาล ศาสนา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม มักคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ มองแต่เรื่องใหญ่ๆ การเรียนรู้ในจิตวิวัฒน์เป็นการเรียนในกลุ่มเล็กๆ เรื่องของการเสียสละ เรื่องเล่ากระตุ้นเร้าให้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน”

“นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เล่าเรื่องการเชิญคนที่ทำงานเพื่อสังคมมาเล่า เช่น คนทำงานกับมูลนิธิฉือจี้ ที่เดินบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เรื่องเล่าของ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ได้ใช้ศิลปะในการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง เรื่องเล่าในวงมักเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ตนเองทำ แต่จิตวิญญาณที่ทำอยู่ยิ่งใหญ่ไพศาล เคารพชีวิตด้านในตลอดเวลา อาจารย์มีโครงการเชิญชวนให้พวกเราเขียนเรื่องที่ได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจจากการได้เรียนรู้กับจิตวิวัฒน์ แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังออกมา”

“นพ.สกล สิงหะ เดิมเป็นครูที่คิดว่ามีหน้าที่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาซึ่งมีมาก แต่หลังๆ อาจารย์เปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอนนักศึกษาแพทย์ โดยให้พวกเขาเล่าว่ารู้สึกอย่างไร ไม่มีผิดถูก พบว่านักศึกษามีความสุขมากขึ้น การเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนเนื้อหาอะไรมากมาย เพียงแต่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง อาจารย์ขยายความต่อว่า ถ้าเราพยายามขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่การฟังเรื่องราวต่างๆ การมีชีวิตโดยใช้วิธีขอบคุณ ขวนขวายที่จะขอบคุณทุกสิ่ง จะทำให้เรามองงานเปลี่ยนไป”

คุณนุกุลปิดท้ายว่า การได้รับฟังเวทีจิตวิวัฒน์เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดความรู้สึกเป็นสุข อิ่มเอม และเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก การได้พบ ได้ฟัง ได้เห็นครูบาอาจารย์มาตั้งวงนั่งพูด นั่งคุยกัน เห็นความงามของการสนทนา รู้สึกถึงมิตรภาพที่คนต่างรุ่นมอบให้กันและกันด้วยความรัก ประทับใจกับหลากหลายเรื่องเล่าของการเปลี่ยนแปลงตนเองจากครูบาอาจารย์ จนตัวเองรู้สึกมหัศจรรย์ใจไปกับคุณภาพของการฟังเรื่องเล่าดีๆ

จิตวิวัฒน์มิใช่เรื่องลึกลับ แค่ชวนให้เรามาพูดคุย ฟังจากใจ ไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการพัฒนาจิตขึ้นได้




วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 at ที่ 15:00 น. by knoom    
ป้ายกำกับ: ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ | 1 ความคิดเห็น
4590  สุขใจในธรรม / รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน / แผ่นดินถล่มกลางเมืองที่กัวเตมาลา เมื่อ: 03 มิถุนายน 2553 08:59:09
<a href="http://video.mthai.com/player.php?id=6M1275471424M0" target="_blank" class="aeva_link bbc_link new_win">http://video.mthai.com/player.php?id=6M1275471424M0</a>



http://news.mthai.com/world-news/78208.html
4591  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความทรงจำนอกมิติ : ถึงเวลาที่ต้องยุติระบบต่างๆ ทางสังคมที่ผิด เมื่อ: 03 มิถุนายน 2553 08:32:19



 ปัญหาและวิกฤติของสังคมของมนุษย์ รวมทั้งความแตกแยกของสังคมไทยที่เกิดขึ้นเพราะมูลเหตุพื้นฐานเพียงอย่างเดียว นั่นคือ เพราะมนุษย์ไม่รู้ความจริงที่แท้จริง ถึงได้ทำให้สังคมโลกมีปัญหาและสังคมไทยต้องวิกฤติอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่าที่รู้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงสนใจในความจริงอันนั้น ดังนั้น จึงสนใจในปัญญาเป็นที่สุด และปัญญานั้นพุทธศาสนาสอนว่ามีอยู 3 ระดับ ระดับแรกเป็นระดับทุกคนแต่ละคน มีมาตั้งแต่เกิดโดยไม่ต้องสอน เรียกว่า จินตมยปัญญา คือหิวต้องกิน เจ็บต้องร้อง หรือแสดงออกทางประสาทของร่างกายเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่าจะมีสมองหรือไม่มีสมอง ระดับที่ 2 นั่นคือ สูตะมยปัญญา หมายถึงการได้ยิน ได้อ่าน ได้เรียนรู้ จนกระทั่งได้คิดได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ (โยนิโสมนัสสิการระดับแรกหรือระดับโลกียะ อังกฤษเรียกว่า intelligence) ซึ่งได้มาก็ด้วยการแสวงหาความรู้ รวมทั้งอะไรๆ ที่เรียกว่าความเชื่อ ซึ่งมีไม่น้อยที่ผู้เขียนคิดว่า - โดยอาศัยสติปัญญาเท่าที่หามาได้ร่วมกับการคิดจินตนาการอย่างไตร่ตรองหรือโยนิโสมนัสสิการที่ว่า - ซึ่งภาษาอังกฤษไม่มีหรือมีแต่ผู้เขียนไม่รู้ 3 ผู้เขียนอาจได้มาอย่างกะพร่องกะแพร่ง คิดว่าเป็นความจริงแท้ เรียกว่าปัญญาหยั่งรู้หรือปัญญาปรีชาญาณ (intuition ที่ผู้เขียนคิดว่าเราแปลผิดๆ ว่าลางสังหรณ์) ปัญญาระดับ 3 นี้ นักคิดนักเขียนเข้าใจว่า คือจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลของคาร์ล จี. จุง (universal unconscious continuum or archetype ของ CarlJung) เพราะฉะนั้น ผู้เขียนถึงได้สนใจชีวิตโดยรวม สนใจแต่มนุษย์ชาติโดยทั่วไป สนใจแต่โลกและสนใจจักรวาล ทั้งในทางวิทยาศาสตร์ทั้งเก่าทั้งใหม่ และศาสนาตามระบบและรูปแบบ โดยเฉพาะพุทธศาสนา ที่นักวิทยาศาสตร์ใหม่หลายคนคิดว่าสอดคล้องแนบขนานกับฟิสิกส์แห่งยุคใหม่จนกระทั่งบางคนมองว่า หรือผู้เขียน - ที่เขียนบทความร่วม 4,000 บทความ มาร่วม 20 ปี - ว่าผู้เขียนคงจะลืมกำพืดของตัวเองไปแล้ว เพราะแทบไม่ได้เขียนอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเลย

     เราที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเราในประเทศไทย ภายหลังจากการก่อการจลาจล - เพราะผู้เขียนคิดว่ารัฐบาลอาจจะประมาทไปสักหน่อย เพราะไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า - ในส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่ง - ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของประชาชนระหว่างคนรวยกับคนจน และคนเมืองกับคนชนบท ซึ่งคือความไม่เป็นธรรมของสังคมที่สำคัญจะสามารถก่ออันตรายได้อย่างที่สุด - จากกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นๆ - กลุ่มผู้ชุมนุมอันประกอบด้วยคนจนและคนชนบทที่สวมใส่เสี้อสีแดง จนกระทั่งสามารถก่อมิคสัญญีให้เกิดขึ้นได้จนกระทั่งมีการบาดเจ็บล้มตายจากการชุมนุมและการจลาจลนั้นๆ ไปถึงร่วมสองพันคน และทรัพย์สินทั้งของรัฐและเอกชนไปมากแสนมาก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นผู้เขียนเชื่อว่ามีสาเหตุไม่มากก็น้อยมาจาก หนึ่ง เราคนไทยที่ส่วนใหญ่มากๆ ที่ปากบอกว่านับถือพุทธ แต่ดังที่ผู้เขียนบอกในบทความครั้งที่แล้วว่ามักไม่เข้าใจในกฎแห่งกรรมที่ทางพุทธศาสนาและศาสนาที่มาจากลัทธิพระเวทล้วนบอกว่า กรรมไม่มีทางที่จะหนีได้พ้น เพราะกรรมคือแหล่งที่เกิดของสัตว์ ์โลก รวมทั้งมนุษย์ กรรมทำให้เราเกิดมาไม่เท่ากัน บางคนเกิดมารวยหรือเป็นผู้สูงศักดิ์ แต่บางคนเกิดมาจนและยากไร้ ที่จะเป็นไปตามกรรมใหม่นั้นๆ โดยไม่มีทางหลีกหนี สอง แต่เรากลับไม่เชื่อเช่นนี้ กลับไปเชื่อ ไปนับถือ และนำมาใช้ก็แต่ระบบของฝรั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ฯลฯ เชื่อก็แต่ในด้านกายภาพรูปธรรมสิ่งที่ตามองเห็นเท่านั้นว่าคือความจริง เช่น สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ความเจริญความก้าวหน้า พัฒนาหรือจีดีพี คือ ความสุขความถูกต้องชอบธรรมแต่เพียงอย่างเดียว ความเป็นตะวันตกในข้อที่ 2 นี้ เรารับมาเป็นวัฒนธรรมของไทยเราไปตั้งแต่กว่าร้อยปีก่อน ซึ่งนับวันจะยิ่งกัดกร่อนชอนไชเข้าไปในกระดูกดำของเรา  ด้วยระบบการศึกษาและวิทยาศาสตร์เก่า ชีววิทยาเก่าๆ แต่คิดจริงๆ ว่าเป็นความจริงแท้ที่สามารถมองเห็นด้วยตาและพิสูจน์ได้ด้วยเทคโนโลยีที่ให้ความจริงเท่าที่ตามนุษย์มองเห็นที่สุดแสนจะหยาบใหญ่ในระดับฟิสิกส์ใหม่ ระดับควอนตัมระดับอะตอมและอนุภาค และที่เราคิดว่าเป็นความจริงนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเพียงความสัมพันธ์หรือสัมพันธภาพ (relative) กับสิ่งอื่นๆ ในโลกในจักรวาลที่ทุกสรรพสิ่งทุกๆ ปรากฏการณ์จะพัวพันกันและกันเป็นองค์รวมซ้อนองค์รวมเป็นบูรณาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่คนไทยเรากว่าที่จะได้ติดตามและยอมรับกันเช่นนั้น ซึ่งก็คือฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ - แม้นักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์เองในปัจจุบัน - นั่นก็หายากยิ่งนัก

     ที่ตั้งเป็นหัวข้อของบทความของวันนี้นั้น  ผู้เขียนคิดเช่นนั้นจริงๆ และก็ช่วงนี้ดูจะเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมชุมชนของเราเพื่อให้ประเทศไทยเราเป็นผู้นำของโลกอนาคตอันใกล้นี้สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง (transform) ตัวเอง หรือโลกทั้งโลกให้ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติเสียที หลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกเดินทางผิด และมีวิถีชีวิตอย่างผิดๆ ตามประเทศทางตะวันตกมาเสียนานร่วมสามพันปี ดังที่เราทราบหรือคาดเดาจากปรัชญาของชาวกรีก โดยเฉพาะอริสโตเติลที่บอกว่า "คนเราหวังแต่จะมีชีวิตที่มีแต่ความสุข" และความสุขนั้นรับรองได้ว่าเป็นไปตามที่ตาเรามองเห็น แถมเอปิคิวรัสยังบอกอีกด้วยว่า ความสุขที่ว่าหมายถึงความสุขสนุกสนานทางกายภาพ (hedonism) เท่านั้น อันเป็นปรัชญาในเชิงรูปธรรมและคลี่คลายเป็นหลักการแยกส่วนกับวัตถุนิยมที่มีเหตุผลของมนุษย์อ้างอิง ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะขัดแย้งกับธรรมชาติหรือไม่ และเหตุผล (reason) ที่แท้จริงเป็นแค่ความคิดจินตนาการของนักปรัชญา (คน) ก็ได้ กลายเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เรียบร้อยไปในภายหลัง (scientific rationalism)

     นั่นคือพื้นฐานวิธีคิดของชาวฝรั่งอันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตะวันตกที่ได้กลายเป็นอารยธรรม "สมัยใหม่" ไปทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน นั่นคือพื้นฐานของความเจริญก้าวหน้าพัฒนาที่ทุกๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งสังคมที่บ้านเราพาลคลั่งไคล้กระวนกระวายแสวงหา นั่นคือสิ่งที่ตอกย้ำพิสูจน์ได้แต่เฉพาะรูปกายและความเป็นวัตถุ (materialism) ของหลักการทั้งหมด ความเป็นตะวันตกที่ผิดธรรมชาติอย่างยิ่ง และมนุษย์เรา - ที่ก็เป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ว่าฝรั่งที่มักแสดงว่าไม่ยอมรับ เช่น ฟรานซิส เบคอน หรืออเล็กซานเดอร์ โป๊ป - และที่เราจำต้องแก้ไขโดยด่วน หาไม่แล้วมนุษยชาติก็จะต้องสูญสลายหายไปทั้งเผ่าพันธุ์ในฉับพลันทันทีเหมือนกับไดโนเสาร์  เพียงแต่เวลาที่เราไม่รู้อย่างแน่นอนว่าเป็นเมื่อไหร่? แต่คิดว่าคงจะใกล้ๆ นี้ เพราะเหตุว่าเราได้ทำอย่างผิดธรรมชาติจริงๆ เรากระทั่งดูถูกดูแคลนและเบียดเบียนธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมาตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพราะว่า อารยธรรม "สมัยใหม่" ที่ว่าที่ทุกประเทศในโลกโดยไม่มีการยกเว้น เว้นแต่สังคมที่เราเรียกว่าบ้านป่าเมืองเถื่อนจริงๆ ออกไปไกลๆ หรือไปหายากจริงๆ เช่น แถวอะเมซอนนั่น พูดง่ายๆ นั่นคืออารยธรรมของโลกในปัจจุบัน เป็นแต่ราวๆ 2,500 ปีมาแล้ว ที่กรีซ และเพราะอริสโตเติลที่เชื่อว่าวัตถุประสงค์ของชีวิตทุกชีวิต คือการแสวงหาชีวิตที่ดี ซึ่งเขาสรุปว่าชีวิตที่ดีมีคุณภาพนั้นก็คือความสุขนั่นเอง และเนื่องจากอริสโตเติลมีความคิดเห็นเป็นตรงกันข้ามกับพลาโตอาจารย์ของเขา เพราะอริสโตเติลเชื่อเฉพาะโลกนี้ซึ่งเป็นโลกที่ตามองเห็นนี้เท่านั้นว่าเป็นความจริง (this world only) ซึ่งต่อมาด้วยเหตุผลข้อนี้กับวิทยาศาสตร์กายภาพของเซอร์ไอแซค นิวตัน ชีววิทยาของชาร์ลส์ ดาร์วิน และจิตวิทยาของซิกมันด์ ฟรอยด์ ทั้ง 3 องค์ความรู้ 3 วิทยาการที่สรรค์สร้างอารยธรรม "สมัยใหม่" ให้กับโลกใบนี้และกับมวลมนุษยชาติ อารยธรรมที่เมื่อก่อนนี้เป็นเพียงวัฒนธรรมของยุโรปตะวันตกที่ได้แพร่กระจายสู่อเมริกา และสุดท้ายแพร่กระจายสู่ที่อื่นและที่ต่างๆ ของโลกทั้งโลก โดยเฉพาะทางตะวันออก สู่อินเดีย จีนและประเทศไทย อารยธรรม "สมัยใหม่" ที่มีความรู้แยกส่วน และวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีกายภาพวัตถุนิยม (materialism) อันเป็นองค์ความรู้ที่ผิดไปจากธรรมชาติอย่างที่สุด ดูถูกธรรมชาติอย่างที่สุด ที่สำคัญคือไร้ทั้งจิตของปัจเจกบุคคลและจิตวิญญาณร่วมโดยรวมของจักรวาลอย่างที่สุด ฉะนั้น อารยธรรม "สมัยใหม่" จึงมีแต่จะก่อความแตกแยกร้าวฉาน กิเลสตัณหาและความอิจฉาริษยาให้แก่มนุษย์ ทั้งภายใน-ภายนอก เพราะอารยธรรมให้แต่ความจริงอย่างเดียวที่ตาเห็นเท่านั้น จึงมีแต่ผลิตความก้าวหน้าพัฒนาที่แยกส่วน สังคมใครสังคมมัน นอกจากนี้ความรู้และวิทยาศาสตร์กายภาพยังผลิตสร้างระบบทุกๆ ระบบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ฯลฯ ผิดไปทั้งนั้น นั่นคือ ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่ต่อต้านคัดค้านธรรมชาติอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด ผิวเผินที่สุด หยาบที่สุดที่เราได้รับมาจากทางตะวันตกนั้น ได้ทำให้ทุกๆ ประเทศทั่วทั้งโลกยอมรับอารยธรรม "สมัยใหม่" นั้นด้วยความยินดีและปรีดาอย่างสุดๆ

     ผู้เขียนเชื่อว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะทำอะไรที่กล่าวมานั้นให้สำเร็จ เราจะต้องคิดออกว่า การที่เราจะฟื้นฟู เยียวยา หวังในความปรองดอง ฯลฯ จากคนในสังคมเดียวกัน เหมือนพี่น้องกัน หากว่าแตกแยกร้าวฉานกันช้านานก็เป็นเช่นจานกระเบื้องที่แตกเป็นผุยผงนั้น ความเคียดแค้นชิงชังระหว่างกันนั้นจะเลวร้ายกว่าคนต่างเผ่าพันธุ์มากนัก แทบจะไม่มีทางหวนกลับมาคืนดีเหมือนเดิมได้เลย เช่น ยิวกับอาหรับที่เป็นศัตรูกันก่อนยุคของโมเสส แม้ว่าต่างก็เป็นเซมิติคด้วยกัน ลองกลับไปอ่านหนังสือของทอมัส คูห์น ใหม่อีกทีก็ได้ ความผิดพลาดไม่แน่นอนนั้นคือความจริงแท้ แต่เราที่เกิดเป็นมนุษย์นั้น อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองดำรงชีวิตตลอดเวลาเพื่อแก้ไข เราชอบใจหรือไม่ชอบใจอย่างไร? เราก็ต้องแก้ไขซ่อมแซมอยู่วันยังค่ำ หากเราไม่แก้ คนอื่นก็ต้องแก้ แก้ไขกันอยู่นั่นแล้ว เพราะชีวิตคือความทุกข์จึงต้องแก้ไข จนกว่าเราจะรู้ความจริงที่แท้จริง

     ความจริงที่แท้จริงคือความไม่แน่นอนและความทุกข์ และความจริงก็คือโลกนี้จักรวาลนี้ประกอบขึ้นด้วย 2 อย่างเท่านั้น คือนามกับรูป ซึ่งหมายถึงจิตรู้ (จิตสำนึก) กับรูปร่าง ซึ่งเมื่อไล่ไปแล้วก็คือจิตกับกายนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความเป็นตะวันตกที่มองเท่าที่ตาเห็น หูได้ยิน มองเห็นแต่กาย แต่รูปธรรมกาย-วัตถุที่ตั้งอยู่ภายนอกว่าเป็นความจริงที่แท้จริงแต่เพียงอย่างเดียวจึงผิดมากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้พัฒนามาทีหลัง เช่น ตรรกะและเหตุผล ความรู้ ระบบต่างๆ ของสังคมตั้งแต่ต้นเลยจึงผิดมากกว่า ในขณะที่ตะวันออกเอง แม้ว่าจะเห็นรูปกาย แต่กลับไปสนใจในสิ่งที่ตามองไม่เห็น  หูไม่ได้ยินว่าเป็นความจริงแท้เพียงอย่างเดียว คือสนใจในจิตใจหรือจิตมากกว่า จนพัฒนาต่อไปกระทั่งไปเป็นจิตนิยมที่งมงายหรือไสยศาสตร์ ตะวันตกที่มีแต่กายวัตถุจึงมีความเจริญก้าวหน้าทางกายภาพยิ่งนัก ซึ่งผิดเพราะความจริงนั้นต้องมีทั้งนามกับรูป หรือกายกับจิต จิตนั้นจะต้องไม่ใช่จิตนิยมที่งมงายหรือไสยศาสตร์อย่างว่า แต่จะต้องเป็น จิตวิญญาณ (spirituality) ที่จะนำไปสู่การตรัสรู้หรือนิพพาน.

http://www.thaipost.net/sunday/300510/22755
4592  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความทรงจำนอกมิติ : สภาวะจิตวิญญาณคือแก่นในของทุก ๆ ศาสนา เมื่อ: 03 มิถุนายน 2553 08:28:20



สภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่งไม่ใช่ศาสนาอย่างเป็นระบบ (organized religion) แม้แต่น้อย แต่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องใกล้ชิดซึ่งกันและกันอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองต่างก็เป็นคนละระบบและคนละรูปแบบ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป สภาวะจิตวิญญาณนั้นเป็นสิ่งที่มีมาก่อนศาสนาที่เป็นระบบมากยิ่งนัก คือได้มาจากปรัชญาโบราณ (perennial physilosophy) ที่ประกอบด้วย ดิน มนุษย์ ฟ้า ส่วนที่อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ต้นคือ มนุษย์จะมีฟ้าและมีดินอันสำคัญอย่างที่สุด โดยเป็นเรื่องความดีงามหรือความเป็นเทพเทวดา  (gods) ผู้บริสุทธิ์ซ่อนลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกของแต่ละคนเป็นปัจเจกของมนุษย์ทุกๆ คน โดยไม่มีการยกเว้นแม้แต่คนที่มีจิตใจทมิฬหินชาติอย่างที่สุด - ที่จะแสดงออกมาระหว่างภาวะที่สุดคับขัน ซึ่งจะแตกต่างจากอุปนิสัยสันดานของสัตว์ร้าย (beast or evil) ที่เป็นจิตใต้สำนึกที่อยู่ตื้นกว่าและแสดงออกง่ายกว่า อย่าลืมว่ามนุษย์ที่เป็นปกติธรรมดาทุกคนเลย (ในปัจจุบัน) นั้นยืนอยู่ระหว่างเทวดากับความชั่วร้าย เพียงแต่ความเป็นเทวดา หรือความดีงามจะอยู่ลึกกว่าความชั่วร้าย (evil) ซึ่งจะเกิดขึ้นในสภาวะคับขันเพื่อช่วยชีวิตของผู้ที่อยู่ในสภาวะคับขันนั้น
     ไม่ใช่เพราะไปเกิดและอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสมานาน จังหวัดที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามที่มีธรรมชาติระดับสูงเป็นคุณสมบัติหรืออัลเลาะห์ที่คือพระเจ้า และไม่ใช่เพราะภรรยานับถือคริสต์ศาสนาที่ทำให้ผู้เขียนซึ่งนับถือพระพุทธเจ้า และมีแม่เป็นนายกสมาคมพุทธศาสนาจังหวัดนราธิวาสแบบเชิงผูกขาดมาอย่างช้านานมากจนจำไม่ได้ คิดว่าอย่างน้อยก็ไม่น้อยไปกว่า 5-6 สมัย แถมไม่ใช่นับถือแต่กระพี้ หากแต่คิดว่าเป็นแก่นแกนของพุทธศาสนาอันมีพุทธธรรมหรือธรรมชาติทั้งสองระดับ หรือหยาบ กับละเอียด เป็นหลักการ หรือมีเพื่อนรุ่นน้องที่รักกันมากนับถือศาสนาเต๋าอย่างรู้แจ้งเห็นจริง ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีส่วนแม้แต่น้อยที่ทำให้ผู้เขียนเขียนบทความบทนี้ขึ้นมาตามหัวเรื่องหรือชื่อของบทความที่ตั้งมาข้างบนนั้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นเป็นเช่นที่กล่าวไว้นั้นจริงๆ ว่า ทุกๆ ศาสนาในโลก รวมทั้งลัทธิความเชื่อทุกๆ ลัทธิเลย ต่างล้วนมีเป้าหมายสูงสุดเป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของความเป็น "มนุษย์ผู้ประเสริฐ" อันเป็นสัตว์โลก - เผ่าพันธุ์ที่เป็นภพภูมิของชีวิตเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งสามารถจะมีวิวัฒนาการทางจิตไปสู่จิตวิญญาณ หรือสู่เส้นทางสู่ตรัสรู้ (enlightenment) นิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต - นั่นคือแก่นแกนที่แท้จริงของทุกศาสนาและทุกๆ ลัทธิความเชื่อ อันเป็นเรื่องของสภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) เพราะเหตุนี้ ผู้เขียนขอสนับสนุน เออร์วิน ลาซโล (Erwin Laszlo : The Quiet Dawn, 2002) ที่กล่าวว่า "น่าเสียใจ เพราะกาลเวลาได้ทำให้ชุมชนทั่วๆ ไปมองศาสนาเปรียบเหมือนกะลาที่ว่างเปล่า (กระพี้).....ที่แท้เป็นจิตวิญญาณ (spirituality) ต่างหาก หาใช่ตัวศาสนาที่เป็นเป้าหมายส่วนตัวที่ซึมแทรกความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างกัน ระหว่างแต่ละคนเป็นปัจเจก กับจักรวาลโดยรวม" พูดไปแล้วทำให้คิดถึงหลวงพ่อปราโมช ครูผู้สอนวิปัสสนากรรมฐานจากศรีราชาผู้กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่มากๆ ที่บอกว่าตัวเองนับถือพุทธศาสนานั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามีคนไทยที่รู้จักศาสนาพุทธอย่างแท้จริงทั่วทั้งประเทศถึงหนึ่งหมื่นคนหรือไม่? นั่นแปลว่าคนไทยมากกว่า 50 ล้านคน ล้วนไม่รู้จักแก่นแกนของพุทธศาสนาเลย หรืออย่างดีก็รู้จักแต่กระพี้ของศาสนา มิน่าเล่าที่มีคนไทยจำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้จักพุทธศาสนาดีพอ แต่ยังกลัวว่าศาสนาอื่นจะมาแย่งเอาพุทธศาสนิกชนของตนไป จึงหาทางเรียกร้องและป้องกันอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นมีแต่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติยิ่งกว่าความแตกแยกทางการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้เสียอีก ทำไมเราไม่ทำตามอย่างที่องค์ทะไล ลามะ พูดเสมอๆ ว่า "หวังอย่างยิ่งว่าจะไม่มีการแก่งแย่งกันในเรื่องของศาสนาอย่างน้อยในพุทธศาสนาของทิเบต" จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดเช่นเดียวกับองค์ทะไล ลามะ และเออร์วิน ลาซโล ว่า ทุกๆ ศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี มีศีลมีธรรม กอร์ปด้วยคุณธรรมความดีงามมาตลอด ฯลฯ แต่ทั้งสองคือสภาวะจิตวิญญาณอันหนึ่งกับศาสนานั้น แตกต่างกันที่นิยามและรูปแบบ จิตวิญญาณเป็นสภาวะของจิต หรือรูปแบบทางวัฒนธรรม คือสภาวะการวิวัฒนาการของจิตที่ภายใน แต่ศาสนาเป็นสถาบันของสังคม เป็นเรื่องของวิวัฒนาการของกายที่ภายนอกคือ เป็นเสมือนเรือหรือพาหนะที่นำพาจิตวิญญาณนั้นไปสูเป้าหมาย และสำหรับผู้เขียน ทั้งสองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เหมือนกับประเทศกับชาติ เหมือนกับสังคมกับวัฒนธรรม สภาวะจิตวิญญาณจึงอาศัยพาหนะ หรือสิ่งบรรจุเพื่อนำพาสภาวะจิตที่วิวัฒนาการต่อๆ ไปตลอดเวลาเช่นเดียวกันกับรูปหรือกายที่มีวิวัฒนาการ - จากสัตว์โลกต่างๆ มาเป็นลิงเป็นเอพส์ และเป็นมนุษย์ - คือ เรา "ต้องรู้" ว่ามนุษย์นั้นมีทั้งรูปกับนาม หรือกายกับจิต และเรา "ต้องรู้" ว่าจักรวาลมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ วิวัฒนาการ และทั้งสองอย่างนั้น คือมนุษย์กับจักรวาล มนุษย์จะรู้ได้ก็จะต้องมีปัญญา และปัญญานั้นเป็นธรรมชาติ หรือก็คือธรรมะนั่นเอง ส่วนจักรวาลต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวแล้ว การที่สภาวะจิตของมนุษย์ซึ่งมีการวิวัฒนาการที่เป็นเช่นเดียวกันกับรูปกาย หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยาดังที่กล่าวมาในพารากราฟข้างบนไปตามสเปกตรัมทางจิตผ่านสภาวะจิตวิญญาณไปสู่การตรัสรู้ (enlightenment) หรือนิพพาน รวมทั้งเป้าหมายเพียงอย่างเดียวของจักรวาล คือวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลง หรืออนิจจตากับปฏิจจสมุปปบาทในพุทธศาสนา ผู้เขียนคิดว่าเป็นเป้าหมายนั้น หรืออีกนัยหนึ่งผู้เขียนคิดต่อไปว่าเป้าหมายหรือวิวัฒนาการที่ว่านั้นก็คือ วิวัฒนาการของกายและจิตของมนุษย์ เพราะฉะนั้นท้ายที่สุดแล้วสภาวะจิตวิญญาณจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า นั่นคือวิวัฒนาการของจิตไปสู่จิตวิญญาณ ไปสู่การตรัสรู้และนิพพาน นั่นคือ สภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) หรือเป้าหมายสุดท้ายของวิวัฒนาการทางจิตที่ว่ามาหยกๆ นั้นคือ เป้าหมายอันสุดท้ายของชีวิตของสัตว์โลกต่างๆ ทั้งหมดที่มีประสาทสัมผัสรับรู้ภายนอก (sentience beings) และมนุษย์ทุกๆ คนจริงๆ
     นอกจากนั้น และเป็นความสำคัญอย่างที่สุดสำหรับสภาวะจิตวิญญาณ และศาสนาใหญ่ต่างๆ รวมทั้งลัทธิความเชื่อของทุกๆ วัฒนธรรม คือสิ่งที่ศาสนาพุทธและทุกๆ ศาสนาที่เกิดหรือเกี่ยวข้องกับลัทธิหรือวัฒนธรรมพระเวทบอกว่าคือกฎของธรรมชาติที่ใช้ควบคุมทุกสรรพสิ่ง โดยเฉพาะชีวิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของมนุษย์ นั่นคือ "กฎแห่งกรรม" ซึ่งโดยศาสนาพุทธกับโดยประสบการณ์ของผู้เขียน - ซึ่งเชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์เต็มอย่างมีเหตุผล - และเป็นเหตุผลซึ่งทำให้ผู้เขียนปฏิเสธเรื่องของสิทธิมนุษย์ชน และระบอบประชาธิปไตยตัวแทน และการเลือกตั้งแบบที่เรามีอยู่โดยไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีระบบประชาพิจารณ์ ไม่มีระบบประชาสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงใดๆ เลย (participating democracy) ฯลฯ เพราะเหตุว่า ทั้งสอง ทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยตัวแทนเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นเรื่องของกาย-วัตถุนิยมที่ทำงานแบบเครื่องจักรเครื่องยนต์ (materialism and mechanism) หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า - สำหรับบ้านเราและประเทศที่พัฒนาใหม่ๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะนักวิชาการกับนักวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต (life sciences) ส่วนใหญ่ มักจะกล่าวถึงวิวัฒนาการทางชีววิทยา หรือทางด้านของกายภาพของจักรวาลอันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เก่า นิวโตเนียน-คลาสสิคัลฟิสิกส์และนีโอดาร์วินิซึ่ม โดยไม่ได้ติดตามฟิสิกส์ใหม่ โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์ ชีววิทยาใหม่ จักรวาล วิทยาใหม่ ฯลฯ เท่าที่ควร
     บทความนี้ผู้เขียนจะพูดถึงกฎแห่งกรรมอันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล ผู้เขียนใคร่ขออธิบายกฎแห่งกรรม ซึ่งบางข้อยังไม่มีผู้ใดให้คำอธิบายมาก่อน และที่ผู้เขียนเข้าใจพุทธศาสนาทุกๆ นิกาย รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกรรมและการเกิดใหม่ของพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู และศาสนาที่เกิดขึ้นจากลัทธิพระเวท โดยนักปรัชญากับผู้เขียนชาวอินเดีย รวมทั้งการประชุมใหญ่และสัมมนาทางวิชาการทั้งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กเลย์ และที่มหาวิทยาลัยคาร์ลการีที่แคนาดา ทั้งหมดนี้ - ด้วยหลักการโดยทั่วไปของข้อมูล - ดังข้อสรุปต่อไปนี้ คือ หนึ่ง กฎแห่งกรรมนั้น ในทางศาสนาเชื่อว่าไม่มีทางที่ใคร และไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางหลบหลีกได้พ้น สอง กฎแห่งกรรมนั้น นอกจากจะไม่มีทางที่ใครจะหลีกหนีได้พ้น - ไม่ว่าใครจะตายไปจากโลกนี้หรือไม่ หรือเกิดใหม่หรือไม่ หรือเกิดในภพภูมิไหน - จะต้องรับรางวัลหรือรับการลงโทษจากผลกรรมนั้นอยู่วันยังค่ำ ทั้งยังต้องมีวิวัฒนาการ-เปลี่ยนแปลงของโลกของจักรวาลของสังสารวัต ทั้งกายและจิตอยู่วันยังค่ำ สาม หลักการกฎแห่งกรรม นอกจากมีวิวัฒนาการทางกายกับจิต ทั้งยังมีผลข้ามภพข้ามชาติดังได้กล่าวมาในข้อสองแล้วนั้น ซึ่งวิวัฒนาการทางจิต หรือทั้งสองคือทั้งทางกายและทางจิต ดังเช่นในภพภูมิของโลกนี้ หรือว่าเป็นในภพภูมิมิติใดของจักรวาลที่ซ้อนๆ กับจักรวาลนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อการวิวัฒนาการทางจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) ไปสู่การตรัสรู้และนิพพานทั้งนั้น และข้อสุดท้ายข้อที่สี่ การเกิดใหม่ในภพภูมิใด - หากเป็นภพภูมิเช่นโลกมนุษย์นี้ และมีวิวัฒนาการทั้งกายและจิตแล้ว - กฎแห่งกรรมจะต้องผ่านวิวัฒนาการของกายไล่สูงขึ้นไปตามลำดับ - จากไฟลัมถึงไฟลัม จากสปีชีส์ถึงสปีชีส์ จากสัตว์ชั้นต่ำสู่สัตว์ชั้นสูง จากคนพิการหรือผู้ยากไร้สู่คนปกติและเศรษฐีผู้สูงศักดิ์ซึ่งจะเป็นไปด้วยกรรมใหม่ของสัตว์โลกที่รวมทั้งมนุษย์คนนั้นๆ - ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในทำนองว่า มนุษย์มีสูง มีต่ำ มีดำ มีขาว มีรวย มีจน ไม่เท่ากัน จึงเป็นไปตามกรรมในชาติก่อนนั้นๆ มันจึงไม่มีคำว่าสิทธิมนุษยชน หรือคำว่าประชาธิปไตย หรือคำว่าวัตถุนิยม ฯลฯ เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปด้วยหน้าที่หรือพฤติกรรมที่ควบคุมโดยจิตหรือจิตวิญญาณและมนุษย์ทุกๆ คนจะต้องมีระดับจิตที่จะมีวิวัฒนาการได้เช่นนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว - หากว่าประชากรโลกมีไม่มากเกินกว่าคำว่าสมดุลพอเพียงพอดี อย่างเช่นในปี 2013 ซึ่งผู้เขียนคาดว่าอาจเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของสภาวะจิตวิญญาณของชาวโลกทั่วทั้งโลก และประชากรจะเหลือราว 20% เพราะภัยธรรมชาติและกรรมร่วมของมนุษยชาติที่กล่าวมาแล้วว่าไม่มีทางจะหลีกหนี.


http://www.thaipost.net/sunday/230510/22424
4593  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ ยอดแห่งปณิธาน เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2553 08:25:45

 
 
บันทึกการสนทนาของ..พระวิศวภัทร เซี่ยเกี๊ยก
 
 
 
คืนวันมาฆบูชา (28 กุมภาพันธ์ 2553)
 
 
 
 
 
 
 
หลังจากที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว และพระเมตไตรยพุทธเจ้ายังมิเสด็จมาตรัสรู้ สรรพสัตว์ดุจว่าไร้ซึ่งที่พึ่ง แล้วใครเล่าที่ที่รับภาระแบกรับสรรพสัตว์ในชมพูทวีปต่อจากพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งก็คือพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ พระศาสดาทรงมอบพวกเราให้กับพระกษิติครรภ์ ดังนั้นพวกเราจึงต้องรู้จักและเข้าใจพระโพธิสัตว์องค์นี้ เพราะด้วยความรู้จักและเข้าใจจึงทำให้เกิดความศรัทธา สิ่งแรกจะต้องรู้จักความหมายของคำว่า “กษิติครรภ์” เสียก่อน คำว่า “กษิติ” (地) คือ แผ่นดิน ความหมายของดินตามพระนามของพระโพธิสัตว์คือ สงบขันติประดุจมหาปฐพี 「安忍不動,猶如大地。」และคำว่า “ครรภ์” (藏) คือลุ่มลึกประดุจคลัง 「靜慮深密,猶如秘藏。」
 
 
 
 
 
 
 
สงบขันติประดุจมหาปฐพี แสดงถึงอำนาจสมาธิฌานของพระกษิติครรภ์ เมื่อท่านออกจากสมาธิฌานจึงทำให้เกิดฤทธิ์ ได้นิรมาณกายหรือแบ่งกายไปมีจำนวนนับแสนโกฏิ (1 โกฏิ คือ สิบล้าน) บรรดาโลกต่างๆ ไม่มีประมาณในจักรวาลที่มีนรก พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ก็แบ่งกายไม่มีประมาณไปยังนรกเหล่านั้นเพื่อโปรดสัตว์ และบรรดาพุทธเกษตรต่างๆ ไม่มีประมาณในจักรวาล พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ก็แบ่งกายไม่มีประมาณไปยังพุทธเกษตรเหล่านั้น แต่ละกายหนึ่งๆ ที่แบ่งภาคไปนั้นก็สามารถโปรดสัตว์จำนวนไม่มีประมาณ
 
 
 
“ลุ่มลึกดุจคลัง” หมายถึงเพราะความประณีตแห่งสมาธิฌานของพระกษิติครรภ์จึงทำให้เกิดปัญญาญาณ เมื่อมีปัญญาญาณ จึงสาสารถแล้วพุทธธรรมต่างๆ โปรดสัตว์ประเภทต่างๆ แต่หากจะอธิบายความหมายของคำว่า “กษิติครรภ์โพธิสัตว์” ง่ายๆ นั้นก็คือสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดและเติบโตโดยอาศัยดิน และดินก็ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง พื้นมหาปฐพีมีความเสมอภาคต่อสรรพสัตว์ คือไม่เคยลำเอียงเลย ไม่ว่าสิ่งสวยงามน่ารักก็เติบโตบนพื้นดิน สิ่งน่ารังเกียงกรวดหินก็ตั้งอยู่และเกิดจากพื้นดิน พระโพธิสัตว์ก็แบบนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นคนดี หรือคนไม่ดี พระโพธิสัตว์ก็แลมองด้วยสายตาแห่งเมตตาเท่าๆ กัน
 
 
 
คำว่า “กษิติ” หรือพื้นดินไม่เพียงแต่รองรับสิ่งสวยงามหรือสกปรกน่ารังเกียจเท่านั้น แม้แต่เพชร ทอง อัญมณีต่างๆก็เกิดจากพื้นดิน แต่พื้นดินก็ไม่ได้มีจิตยินดี หากพวกท่านขับถ่ายลงบนพื้นดิน พื้นดินก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจแต่ประการใด พระโพธิสัตว์ก็แบบนี้ ที่ไม่ว่าจะสดุดีชื่นชม ท่านก็ไม่เกิดจิตยินดี แม้จะด่าว่าพระโพธิสัตว์ท่านก็ไม่เคืองโกรธหรือต่ำต้อยน้อยใจ
 
 
 
คำว่า “ครรภ์” หรือคลังสมบัติ ก็คือ ใต้พื้นมหาปฐพีนี้มีคลังมหาสมบัติซ่อนอยู่มากมาย เพื่อชุบเลี้ยงสรรพชีวิต เช่น ดอกไม้ ต้นไม้ พืชพรรณ ธัญญาหาร ล้วนเกิดจากคลังสมบัติคือแร่ธาตุภายในดิน มนุษย์เองก็ถือเอาทอง เงิน รัตนชาติเป็นคลังสมบัติ พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์นี้มีคลังสมบัติแห่งบุญกุศลบารมีมากมายประมาณไม่ได้ เพื่อยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ พวกเราทั้งหลายหากต้องการความแข็งแรง ความมีอายุยืน ความร่ำรวย ก็จะได้ตามนั้น เหตุนี้จึงได้ชื่อว่า “ครรภ์” หรือ “คลังสมบัติ”
 
 
 
คำว่า “โพธิสัตว์” เป็นคำบาลี-สันสกฤต คำว่า “โพธิ” คือมรรค คือธรรม “สัตว์” ก็คือจิต หรือสิ่งมีชีวิตที่มีใจครอง ดังนั้น “โพธิสัตว์” จึงแปลได้ว่า “สิ่งมีชีวิตที่มีธรรม สิ่งมีชีวิตที่ตื่นจากกิเลส” ก็ได้ ความรู้ตื่นจากกิเลสหมายถึงพุทธมรรค สิ่งมีชีวิตก็คือสรรพสัตว์ แปลโดยรวมอีกอย่างคือ “สรรพสัตว์ผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ ที่ปรารถนาพุทธภูมิ”
 
 
 
โพธิสัตว์ตามคติมหายานยังแบ่งเป็นฝ่ายบรรพชิตผู้ออกบวช กับฆราวาสผู้ครองเรือน อย่างเช่น ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร ท่านก็เป็นคฤหัสถ์โพธิสัตว์ คือเป็นผู้ครองเรือนพร้อมๆไปกับการประพฤติตนเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ว่า ท่านวิมลเกียรตินี้เป็นพระโพธิสัตว์ชั้นสูง ที่มาจากอภิรตีโลกธาตุด้านทิศตะวันออกของพระอักโษภยะพุทธเจ้า ที่ปรากฏกายเป็นคหบดียังโลกของเรานี้ เพื่อมาช่วยพระศากยมุนีพุทธเจ้าโปรดสัตว์ หากเราท่านไม่มีปัญญา ขันติเสมือนท่านวิมลเกียรติ ก็จะต้องระวังการโปรดสัตว์ในสังคมโลกีย์ มิเช่นนั้น ตนเองจะแพ้หรือไม่เท่าทันกิเลส และตกสู่ห้วงโลกีย์เสียเอง แต่หากว่าเราท่านยังไม่บรรลุธรรมที่ไม่เสื่อมถอยอย่างแท้จริงแล้ว ทางที่ดีก็ควรจะห่างไกลจากวัตถุ หรือสิ่งเย้ายวนทางโลกีย์ต่างๆ ตั้งมั่นอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง แล้วบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาตามขั้นตอนดีกว่า
 
 
 
เมื่อสมัยที่พระศากยมุนีพุทธเจ้ายังประทับในโลก ก็มีบรรพชิตโพธิสัตว์มากมาย อย่างเช่น พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นต้น ท่านเหล่านั้นก็ทรงศีล ทรงธรรมอยู่ท่านกลางหมู่สงฆ์สาวกเช่นกัน ทุกพระองค์เหล่านั้นต่างก็ต้องออกบวชเสียก่อน ถึงจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้
 
 
 
ในคัมภีร์กษิติครรภ์ทศจักรสูตร (地藏十輪經) กล่าวว่า “บรรดาพระพุทธเจ้าและมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพื่อยังประโยชน์ให้หมู่สัตว์ จึงพยายามธำรงรักษา 2 สิ่งคือ 1.เพื่อสืบสายพระรัตนตรัย ทำให้พระรัตนตรัยไม่ขาดสิ้น จึงสละเรือนแล้วออกบวช แล้วนุ่งห่มผ้าย้อมฝาดของพระศาสดา 2.เพื่อธำรงรักษาศรัทธาแห่งยานทั้ง 2 คือ เถรวาทและมหายาน 2 ประการนี้ มีเพียงพระพุทธเจ้า มหาโพธิสัตว์ และบุคคลที่มีจิตใจยิ่งใหญ่ จึงจะสามารถทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่ว่าท้าวมหาพรหมและพระเจ้าจักรพรรดิจะทำได้โดยง่าย” พวกเราทั้งหลายจึงควรตระหนักถึงเหตุปัจจัยในปัจจุบันของตนเอง ที่ไม่ว่าจะออกบวชหรือครองเรือน ก็ควรจะมีศีล เพียรปฏิบัติธรรมให้ดี
 
 
 
ในพระสูตรกล่าวยกย่องพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ว่า “กษิติครรภ์ราชา” หรือ ตี่จั้งอ้วง (地藏王)อ คำว่า “ราชา” หมายถึงผู้เป็นอิสระยิ่งใหญ่ หมายความว่าพระกษิติครรภ์ได้บรรลุธรรมสูงสุด ถึงมหาวิมุตติแล้ว เราทั้งหลายยังไม่พ้นจากวัฏสงสาร จึงเรียกว่ายังไม่เป็นอิสระ แต่พระกษิติครรภ์นั้นท่านเป็นอิสระจากวัฏสงสารแล้ว หากท่านต้องการมายังโลกมนุษย์เวลาใดก็ย่อมได้ จะไปเมื่อไรก็ย่อมได้ เข้าออกวัฏสงสารได้อย่างอิสรเสรี
 
 
 
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ปรากฏกายในภูมิมนุษย์ เทวดา เปรต นรกอยู่เสมอ หากถามว่าท่านปรากฏกายแบบใด ท่านก็ปรากฏกายในรูปของผู้ออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด มือข้างหนึ่งถือดวงแก้ว อีกข้างหนึ่งถือ คฑาธุดงค์ ดั่งคำว่า “แก้วมณีโชติสว่างถึงเทวมณเฑียร สุวรรณคฑาเบิกนรกทวาร” 「明珠照徹天堂路,金錫鎮開地獄門。」พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์เพื่อจะทำให้สรรพสัตว์เคารพและเลื่อมใสพระรัตนตรัย จึงปรากฏกายในรูปของพระสงฆ์
 
 
 
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ได้มายังโลกมนุษย์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งท่านมาถือกำเนิดในตระกูลของพระราชาแห่งเมืองซินหลั่ว (新羅國) หรือประเทศเกาหลีในปัจจุบัน ตระกูล “จิน” พระนามว่า “เฉียวเจวีเย๋” (金喬覺) เมื่อพระชนมายุ 24 พรรษาทรงออกผนวชแล้วเสด็จมายังภูเขาเก้ายอด
(九華山) ประเทศจีนพร้อมกับสุนัขสีขาวตัวหนึ่งชื่อ “ซ่านทิง” (善聽) ท่านเห็นว่ายอดเขาทั้ง 9 นี้ มีลักษณะเหมือนดอกบัวและเป็นสัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้พักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ยามกระหายน้ำก็ดื่มน้ำจากป่า ยามหิวก็เสวยดินละเอียดสีขาวชนิดหนึ่ง (ชาวพื้นเมืองจิ่วหัวซานเรียกว่า ดินกวนอิม) นำมาคลุกกับข้าวแล้วต้ม ต่อมามีคนมาพบพระกษิติครรภ์อยู่ในถ้ำโดยไม่ได้ตั้งใจ เห็นว่าท่านมีความเป็นอยู่ยากลำบากยิ่งนัก จึงปรึกษาชาวบ้านว่าจะสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง
 
 
 
สมัยนั้นที่เขาเก้ายอด มีคหบดีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาชื่อ “หมิ่นกง” (閔公) ใจบุญสุนทาน เลี้ยงพระคราวใดก็ต้องนิมนต์พระกษิติครรภ์มาด้วยทุกครั้ง เมื่อได้ยินว่าพระกษิติครรภ์จะสร้างวัด ตนเองจึงสมัครใจจะถวายที่ดินให้ ท่านหมิ่นกงจึงถามพระกษิติครรภ์ว่าต้องการที่ดินในการสร้างวัดเท่าใด พระกษิติครรภ์ตอบว่า “ต้องการที่ดินขนาดเท่าจีวรผืนเดียว” เมื่อท่านหมิ่นกงมองๆ ดูแล้วเห็นว่าจีวรผืนหนึ่งก็ไม่กี่ฟุต แต่เมื่อขึงกางจีวรออกแล้ว ก็ปกคลุมไปทั่วเขาทั้งเก้ายอด เมื่อท่านหมื่นกงเห็นเช่นนั้นก็รู้ว่าเป็นฤทธิ์ของอริยสงฆ์โดยแท้ ท่านจึงจัดแจงถวายเขาทั้งเก้ายอดให้พระกษิติครรภ์ เมื่อชาวเมืองซินหลั่ว รู้ข่าวว่าราชบุตรเมืองของตนมาบำเพ็ญธรรมที่เขาเก้ายอดก็เดินทางมาติดตามพระภิกษุกษิติครรภ์เป็นจำนวนมาก
 
 
 
เวลานั้นบุตรชายของท่านหมิ่นกงก็ออกบวชติดตามพระกษิติครรภ์ด้วย มีธรรมฉายาว่า “ภิกษุเต้าหมิง” (道明和尚) อีกไม่ช้านาน ท่านหมิ่นกงก็ออกบวชโดยกราบบุตรของตนเองเป็นอาจารย์ ดังนั้นเราจึงเห็นข้างๆ รูปเคารพของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ มีพระภิกษุหนุ่ม และคหบดีหนวดเครายาวยืนอยู่ซ้ายขวา
 
 
 
พระภิกษุกษิติครรภ์ได้เป็นผู้นำสาธุชนจำนวนมากปฏิบัติธรรมที่เขาเก้ายอดเป็นเวลา 75 ปี เมื่อพระกษิติครรภ์มีพระชนมายุได้ 99 พรรษา ในคืนวันที่ 30 เดือน 7 ตามจันทรคติจีน (潤七月三十日) ท่านได้ดับขันธ์ลง ภูเขาเก้ายอดของประเทศจีนจึงเป็น 1 ใน 4 ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของจีนมาจนถึงปัจจุบัน
 
 
 
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ยังมีอีกพระนามคือ “ผู้ปลอบประโลมหมู่สัตว์” (善安慰說者) ท่านสามารถใช้วิธีการที่แยบคาย สามารถอธิบายอรรถะข้อธรรมที่ยากให้ง่าย และสามารถนำพาผู้เริ่มศึกษาการเป็นโพธิสัตว์ให้พวกเขามีจิตที่ไม่ท้อถอยอีกด้วย
 
 
 
พระกษิติครรภ์ก็เหมือนกับพระศากยมุนีพุทธเจ้า ที่มีปณิธานจะมาโปรดสัตว์ในโลกแห่งความเสื่อม พระกษิติครรภ์นี้ท่านมีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่นัก ยิ่งโลกเสื่อมและสกปรกเท่าใดท่านยิ่งต้องการไปเท่านั้น สัตว์โลกยิ่งมีกรรมชั่วหนักหนาเท่าใดท่านยิ่งต้องการไปโปรดเท่านั้น เมื่อพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในโลกแห่งความเสื่อมนี้แล้ว ดังนั้นพระกษิติครรภ์จึงเป็นผู้สืบต่อภาระจากพระศากยมุนีพุทธเจ้าหลังจากที่ทรงปรินิพพานแล้วโดยชอบอย่างยิ่ง ในกษิติครรภ์มูลปณิธานสูตร (地藏菩薩本願經) กล่าวว่า พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงมอบพวกเราทั้งหลาย ให้กับพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ เราจึงวางใจได้
 
 
 
อันที่จริงนั้น แม้พระศากยมุนีพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงมอบพวกเราให้พระกษิติครรภ์ พระกษิติครรภ์ก็ได้โปรดสัตว์อยู่ในสหาโลกธาตุแห่งนี้มาแล้ว 11 กัลป์ (พระอมิตาภะพุทธะตรัสรู้มาแล้ว 10 กัลป์) การโปรดสัตว์ของพระกษิติครรภ์นั้น พระสูตรกล่าวว่า มีแต่พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เท่านั้นที่เทียมเท่าได้ นอกจากพระมหาโพธิสัตว์ 2 องค์นี้แล้ว ก็ไม่มีโพธิสัตว์องค์ใดเลยที่เทียบเท่าได้
 
 
 
พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์มีปณิธานหรือความตั้งใจมั่นว่า “เมื่อโปรดสรรพสัตว์หมดสิ้นแล้วจึงจะสำเร็จโพธิญาณ หากนรกยังไม่ว่างจะไม่ขอสำเร็จพุทธผล” 「眾生度盡方証菩提,地獄未空誓不成佛。」ข้อนี้ทำให้รู้ว่าความตั้งใจของพระกษิติครรภ์ในการที่จะโปรดสัตว์นั้น ไม่จำเพาะเจาะจงอยู่แต่โลกแห่งนี้ แต่ไปทั่วโลกธาตุต่างๆ ไม่มีที่จำกัดและสิ้นสุด ดังนั้นจึงขนานนามพระองค์ว่า “พระมหาปณิธานกษิติครรภ์ราชาโพธิสัตว์” (大願地藏王菩薩)
 
 
 
เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงแสดงกษิติครรภ์มูลปณฺธานสูตรที่ดาวดึงส์สวรรค์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ผู้เลิศด้วยปัญญา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ผู้เลิศด้วยจริยาวัตร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้เลิศด้วยกรุณา ต่างก็มาอนุโมทนาสาธุการ ข้อนี้เป็นเพราะพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์คือ “มหาปณิธานราชา” หรือผู้เป็นใหญ่แห่งปณิธาน (大願王) ความหมายคือ มหาปณิธานนั้นคลอบคลุมไปทั้งมหาปัญญา มหาจริยาวัตร และมหากรุณา เมื่อมีมหาปัญญา มหาจริยาวัตร และมหากรุณาแล้วจึงสามารถประกาศมหาปณิธานได้ ความยิ่งใหญ่ทั้ง 3 นี้จะขาดสิ่งใดไม่ได้ หากคนไม่มีปัญญา เขาก็จะมีกิเลสมาก ทุกวันตนเองก็ได้แต่สั่งสมสิ่งเศร้าหมองของจิตไม่รู้ ไม่คิดจะขจัดสิ่งนั้นออกไป ผ่านไปวันแล้ววันเล่าก็ไม่เห็นโทษของกิเลสจึงทำให้จมกองทุกข์ยิ่งขึ้น จนยากที่จะถอนตัว คนแบบนี้จะมีปณิธานจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้อย่างไร ,หากมีปณิธานตั้งใจจะช่วยเหลือสรรพสัตว์แต่ผู้ไม่ปฏิบัติโพธิสัตวธรรม ความหวังนั้นก็เป็นจริงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อประกาศปณิธานแล้วจึงต้องประพฤติโพธิสัตวจริยา และหากไม่มีจิตเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่เป็นพื้นฐาน ผู้นั้นก็จะมีปณิธานที่ยิ่งใหญ่เพื่อสรรพสัตว์ไม่ได้เลย
 
 
 
ในมหาปณิธานของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์จึงมีทั้งมหาปัญญา มหาจริยา มหากรุณารวมอยู่พร้อม ทั้งยังมีความอาจหาญ พากเพียร ไปยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์อื่นๆ ในคัมภีร์กษิติครรภ์ทศจักรสูตรปริเฉทที่ 1 ได้กล่าวเปรียบเทียบอานิสงค์ไว้ดังนี้ …
 
 
 
“ พระผู้มีพระภาค รับสั่งว่า ดูก่อนกุลบุตร สมมุติว่ามีบุคคลหนึ่ง ได้มีจิตเลื่อมใส เคารพบูชา นอบน้อมเป็นที่พึ่ง ภาวนาถึง และตั้งจิตอธิษฐานต่อเมตไตรยะ มัญชุศรี อวโลกิเตศวร สมันตภัทร และมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายที่มีจำนวนเท่ากับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา อยู่ตลอดเวลาหนึ่งร้อยกัลป์ กุศลนั้นก็ยังไม่เท่ากับอีกบุคคลหนึ่ง ที่มีจิตเลื่อมใส เคารพบูชา นอบน้อมเป็นที่พึ่ง ภาวนาถึง ตั้งจิตอธิษฐานต่อกษิติครรภ์โพธิสัตว์ แม้เป็นเวลาเพียงการบริโภคอาหารมื้อหนึ่ง ความปรารถนาทั้งปวงที่มีอยู่ในใจ ก็จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว
 
 
 
เหตุไฉนนั้นฤๅ เพราะกษิติครรภ์โพธิสัตว์ได้ยังประโยชน์ และความผาสุกแก่หมู่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก จึงทำให้ความปรารถนาทั้งหลายของหมู่สัตว์ได้สมบูรณ์พร้อม เป็นดุจแก้วจินดามณี แลดุจคลังมหาสมบัติ เพราะโพธิสัตว์องค์นี้ปรารถนาจะสั่งสอนหมู่สัตว์ทั้งหลาย มีปณิธานและกรุณาที่ยิ่งใหญ่มานานแสนนาน มีความกล้าหาญและพากเพียรยิ่งนัก มากกว่าโพธิสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เธอทั้งหลายพึงสักการะบูชาเถิด”
 
 
 
เหตุผลที่มีอานิสงค์เช่นนี้ อ้างตาม กษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร ตอนหนึ่งว่า …
 
 
 
“พระเมตไตรยะ พระมัญชุศรี พระอวโลกิเตศวร พระสมันตภัทร ซึ่งล้วนแต่เป็นมหาโพธิสัตว์ ปณิธานของแต่ละพระองค์นั้น ยังมีที่สิ้นสุดลงได้ แต่ปณิธานของพระกษิติครรภ์นั้น ไม่มีสิ้นสุด อานิสงค์จึงหาประมาณไม่ได้ ไปตามกำลังของปณิธาน ”
 
 
 
น่าสังเกตอย่างหนึ่งที่ว่าการเลื่อมใสสักการะพระกษิติครรภ์ แล้วจะได้รับผลบุญมากมายกว่าการกราบไหว้พระโพธิสัตว์อื่นๆ คือ สัตว์ในนรกหรืออบายภูมินั้น ล้วนแต่เป็นผู้มีกรรมหนัก ขึ้นชื่อว่าเกิดในอบายแล้ว ก็ย่อมหาความเจริญไม่ได้ เป็นผู้โง่เขลา สอนยาก เพราะกรรมเก่ามาปิดกั้นปัญญาให้เห็นธรรมยาก แต่พระกษิติครรภ์ก็ยังมีกรุณาไพศาล เลือกที่จะไปโปรดสัตว์ในภพภูมิเหล่านี้ ด้วยความอดทนและวิริยะ ท่านใช้อุปายะหรือวิธีการมากมายเพื่อโปรดสัตว์นรกเหล่านั้น จึงเรียกได้ว่า งานของพระกษิติครรภ์นั้นยากกว่างานอื่นๆ หลายเท่านัก ในพระสูตรว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายถามพระกษิติครรภ์ว่า “เหตุใดท่านถึงลงไปโปรดสัตว์ในนรก พระกษิติครรภ์ตอบว่า หากเราไม่ไปแล้วใครจะไป” ซึ่งถือเป็นคำตอบที่สั้นๆ แต่ได้ใจความ
 
 
 
ปัจจุบันมนุษย์โลกแม้จะได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม ได้มีโอกาสถือศีล ขัดเกลากิเลส ฝึกสติตามรู้ตามดูกายและจิต ให้เห็นตามเป็นจริง แต่หลายท่านก็ยังประมาทอยู่ ยังนึกกันว่าเรายังมีเวลาอีกมาก หากความตายมาถึงเราแล้วก็จะไม่ทันการ ต้องไปเกิดในอบายภูมิเป็นภาระของพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์อีก
 
 
 
 
 
 
 
ข้อนี้คือเหตุผลที่ว่า หาใช่พระมหาโพธิสัตว์อื่นๆ จะด้อยกว่าพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ แต่ว่ามหาปณิธานของพระกษิติครรภ์ เป็นเลิศกว่าปณิธานของโพธิสัตว์องค์อื่นๆ ดั่งคำที่ว่า ความกรุณาของพระอวโลกิเตศวร เป็นเลิศกว่ากรุณาของโพธิสัตว์ทั้งปวง ปัญญาของพระมัญชุศรีเป็นเลิศกว่าปัญญาของโพธิสัตว์ทั้งปวง แต่ละพระองค์ล้วนเสมอภาคกัน หมู่สัตว์ย่อมมีจิตศรัทธาต่อพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ ได้ตามจริตอัธยาศัยของตน ซึ่งจะได้รับมหากุศลที่ไม่มีประมาณทั้งสิ้น
 
 
 
 
 
 
 
“เมื่อโปรดสรรพสัตว์หมดสิ้นแล้วจึงจะสำเร็จโพธิญาณ หากนรกยังไม่ว่างจะไม่ขอสำเร็จพุทธผล” เพราะเหตุปัจจัยอะไรจึงทำให้พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์มีปณิธานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ขอให้พวกเราไปอ่านกษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร ซึ่งมีกล่าวบรรยายไว้อย่างละเอียด พระกษิติครรภ์ไม่ได้ประกาศปณิธานว่า “โปรดสัตว์จนนรกว่าง” มาแค่ชาติเดียว หรือสองชาติ แต่ท่านประกาศปณิธานแบบนี้มาหลายชาติประมาณไม่ได้
 
 
 
เพราะพระกษิติครรภ์พบเห็นสัตว์ที่ทำบาป ชาตินี้ทำกรรมชาติถัดไปก็ได้รับทุกข์ เมื่อชาติที่รับทุกข์ก็ยังทำกรรมอีก ทำให้ชาติถัดๆไปก็ต้องรับกรรมอีกไม่จบสิ้น บาปและทุกข์ของสรรพสัตว์ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย ยกตัวอย่างให้ชัดเจนคือ มีคนขี้โมโหหงุดหงิดมาก ชาติหน้าเขาจะได้รับผลกรรมทำให้มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ และเมื่อชาติที่เขาเกิดมามีหน้าตาไม่น่ารักแล้ว นิสัยขี้โมโหและฉุนเฉียวก็ยังอยู่ หากเขาเห็นคนสวยคนหล่อ ก็เกิดจิตคิดจะทำร้าย จึงทำให้ในชาติที่สามถัดไปอีก ก็ต้องมีรูป่างหน้าตาที่น่ารังเกียจอย่างเดิม หากเขาไม่ระงับความโกรธ ความขี้โมโห ความแค้นอาฆาตให้ได้ในชาตินี้ ก็จะเป็นนิสัยเบื้องลึกให้โทษแก่ตัวเองไม่มีที่จบสิ้น หนักเข้าก็ต้องตกสู่นรกภูมิ เมื่อพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์เห็นสรรพสัตว์เป็นทุกข์และมีบาปที่ไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ ท่านก็จึงประกาศปณิธานจะโปรดสรรพสัตว์ยิ่งขึ้นไปอีกไม่สิ้นสุดเช่นกัน หมายให้พวกเขาไม่ต้องจมในทะเลทุกข์อีก
 
 
 
ในคำสอนของพระพุทธศาสนา แบ่งการเกิดและตายของมนุษย์เป็น 4 อย่างคือ
 
 
 
1. ผู้มามืดไปมืด ความมืดนี้ไม่ได้หมายถึงนรกอย่างเดียว ความมืดบนโลกมนุษย์อีกด้วยก็คือความยากจน มีทุกข์มาก มีโรคมาก หากได้เกิดในที่มืดแล้วยังทำกรรมชั่วอีก เมื่อตายไปก็ต้องตกอบายภูมิแน่นอน
 
 
 
2. ผู้มามืดไปสว่าง หมู่สัตว์ที่ถึงแม้จะเกิดในครอบครัวยากจน เกิดในที่ๆเต็มไปด้วยภัยพิบัติอันตราย แต่ตนเองก็ยังพยายามช่วยเหลือผู้อื่น ถือศีลสร้างบารมี เมื่อสิ้นชีพแล้วก็จะได้ไปเสวยบุญในเทวโลก
 
 
 
3. ผู้มาสว่างไปมืด คือผู้ที่เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย มีร่างกายน่ารักและฉลาด จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่มาสว่าง แต่ทว่าตนเองกลับใช้ทรัพย์สินและอำนาจทำบาป เมื่อตายไปจะต้องรับทุกข์ในอบายภูมิ 3 จึงเรียกว่ามาสว่างไปมืด
 
 
 
4. ผู้มาสว่างไปสว่าง คือผู้ที่แม้ว่าตนเองจะมีเงินทอง หน้าตาน่ารักน่าชม ทั้งยังเฉลียวฉลาด แต่ก็ยังหมั่นสร้างบุญบารมีอีก เมื่อสิ้นใจแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์หรือเสวยสุขบนโลกมนุษย์
 
 
 
 
 
 
 
ไม่ว่าจะเกิดหรือตายแบบไหน ก็จะต้องมีสักวันที่เกิดมาแล้วไม่รู้จักพุทธธรรม ไม่เข้าใจเหตุผลเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นการง่ายต่อการทำบาปและตกนรก หากว่าไม่มีพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์โปรดสัตว์อยู่ในนรก บัดนี้พวกเราทั้งหลายคงยังรับทุกข์อยู่ในนรกเป็นแน่ ในแต่ละวันเวลาเช้า เที่ยงและค่ำคืนพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ จะแสดงธรรมในนรก เพื่อให้สัตว์นรกได้ฟังพุทธธรรมเพื่อปลูกฝังบุญกุศล เมื่อกุศลเจริญงอกงาม ก็ย่อมสำนึกได้ว่าตนเองมีความผิด แล้วจึงขมากรรม เมื่อขมากรรมแล้วพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ก็จะส่งพวกเขาออกจากนรก พวกเราก็เป็นผู้ที่พระกษิติครรภ์เคยช่วยให้พ้นจากนรกเช่นกัน เพราะไม่มีใครเลยในโลกที่ไม่เคยลงนรก พระกษิติครรภ์จึงมีพระคุณกับพวกเรา เราควรขอบคุณท่านอย่างยิ่ง และควรรู้จักท่านให้ถูกต้องด้วย
 
 
 
ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานที่กล่าวถึงพระกษิติครรภ์มีอยู่หลายเล่ม แต่เป็นที่แพร่หลายมีอยู่ 3 เล่มคือ 1.มหาสังคีติกษิติครรภ์ทศจักรมหายานสูตร (大乘大集地藏十輪經) 2.สูตรว่าด้วยการทำนายวิบากกรรมดีชั่ว (占察善惡業報經) 3.กษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร (地藏菩薩本願經) เล่มที่ 3 นี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุด เรียกย่อๆว่า “ตี่จั้งเกง” ตี่จั้งเกงถือว่าเป็นพระสูตรแห่งความกตัญญูของพุทธศาสนา กล่าวคือความกตัญญู 2 เรื่อง คือ 1.พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เสด็จไปดาวดึงส์เทวโลกเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณ และ 2. หลายภพหลายชาติที่พระกษิติครรภ์ได้ช่วยมารดาออกจากนรกแล้วตั้งมหาปณิธาน
 
 
 
ในพระสูตรกล่าวว่า การให้ร้ายทำลาย หัวเราะเยาะผู้ที่เคารพเลื่อมใสบูชาพระกษิติครรภ์ จะเป็นบาปใหญ่หลวงนัก จะต้องรับทุกข์ในนรกอเวจี แล้วทำไมนรกแห่งนี้จึงเรียกว่า “อเวจี” (阿鼻地獄) ตามความหมายแบบมหายานบอกว่า มาจากภาษาอินเดีย ความหมายคือ ไม่อาจช่วยได้ (無救) กล่าวคือ เมื่อเข้าไปในอเวจีแล้วเพียงครั้งเดียว ก็จะช่วยให้ออกมายากเหลือเกิน, อเวจี ยังแปลได้อีกว่า ไม่ปกปิด (無遮) คือหากใครตกอเวจีแล้ว ไม่มีใครอาจหยุดยั้งได้ อเวจีเป็นนรกที่รับทุกข์มากที่สุด
 
 
 
เพราะพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ได้บรรลุถึงสัจจธรรมความจริงของฟ้าดิน หรือก็คือได้บรรลุธรรมแล้ว หากให้ร้ายทำลายพระกษิติครรภ์ก็คือการทำลายธรรมจึงมีบาปหนัก บาปนั้นไม่ใช่พระโพธิสัตว์มอบให้ แต่เป็นเพราะเราให้ร้ายพระโพธิสัตว์จึงเกิดเป็นบาปขึ้น อุปมา เราถ่มน้ำลายใส่ฟ้าน้ำลายนั้นย่อมตกมาที่เราเอง ซึ่งเป็นน้ำลายที่เราถ่มเอง ไม่ใช่ฟ้าถ่มใส่เรา
 
 
 
ยังมีบางคนกล่าวว่า “พระกษิติครรภ์เป็นเพียงหัวหน้าผีที่เป็นใหญ่ในนรก มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิญญาณและนรกโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนเราเลย” นับเป็นความเห็นที่ผิด ยิ่งขนาดที่ห้ามกราบไหว้บูชาและอ่านท่องพระสูตรของพระกษิติครรภ์ในบ้านอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเรียกภูติผีเข้าบ้าน นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกข้อ ในพระสูตรชื่อ มหาสังคีติกษิติครรภ์ทศจักรมหายานสูตร และสูตรที่ว่าด้วยการทำนายวิบากกรรมดีชั่ว กล่าวว่า พระศากยมุนีพุทธเจ้าตรัสว่า พระกษิติครรภ์ได้บรรลุปัญญาญาณที่ลึกซึ้งแล้ว สามารถที่จะบรรลุพุทธภูมิได้แล้ว แต่ว่าท่านยังหวนนึกถึงปณิธานของตนเองเมื่อก่อนอยู่ จึงจะขออยู่ช่วยให้สรรพสัตว์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก่อน แล้วตนเองจึงจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น พระกษิติครรภ์จึงยังอยู่ในรูปกายของโพธิสัตว์ โปรดสัตว์ทั้ง 6 ภูมิอยู่ทั่ว 10 ทิศ” แล้วจะพูดว่าพระกษิติครรภ์เกี่ยวข้องแต่นรกและภูตผีได้อย่างไร
 
 
 
พระศากยมุนีพุทธเจ้าตรัสว่า “พระกษิติครรภ์มีรูปกายงดงามสง่า ประเสริฐและวิเศษอย่างยิ่ง เว้นแต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีผู้ใดประเสริฐและสง่างามไปกว่าพระกษิติครรภ์อีกแล้ว” หากพระกษิติครรภ์เป็นหัวหน้าผี มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว พระพุทธองค์จะไม่ทรงสรรเสริญแบบนี้ ในกษิติครรภ์ทศจักรมหายานสูตรก็กล่าวว่า “พระกษิติครรภ์เสมือนดวงตาที่บริสุทธิ์ของโพธิสัตว์ทั้งหลาย สามารถเป็นผู้นำหมู่โพธิสัตว์ให้บำเพ็ญบารมี แล้วจะประสาใดกับบุถุชนทั้งปวง” พระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตเบื้องหน้า ก็ทรงสรรเสริญพระกษิติครรภ์ ในพระสูตรกล่าวอีกว่า ในชาติหนึ่งพระกษิติครรภ์เคยเป็นพระราชา แล้วตั้งปณิธานไว้กับพระราชาอีกองค์ พระราชาอีกองค์นั้นได้กล่าวว่า “ขอให้เราสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยเร็ว แล้วเราจะมาช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์” และพระราชาอีกองค์ก็กล่าวว่า “ตราบใดสัตว์ยังไม่พ้นทุกข์ทั้งหมด เราจะไม่ขอสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า” ซึ่งพระราชาองค์แรกได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านานมาแล้ว แต่พระราชาองค์หลัง(พระกษิติครรภ์) ก็ยังโปรดสัตว์ให้หมดสิ้นตามปณิธานอยู่ถึงปัจจุบัน ตามที่พูดไปแล้วว่า หากพระกษิติครรภ์ก้าวสู่พุทธภูมิอีกก้าวเดียวก็สามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านได้เสียสละอย่างใหญ่หลวง อันเราสามารถยึดมั่นเป็นที่พึ่งได้ อย่างไม่ต้องสงสัย
 
 
 
 
 
 
 
ข้อที่คนทั่วไปสงสัย จนอาจกล่าววาจาจาบจ้างพระกษิติครรภ์ว่าเพียงเห็นรูป หรือได้ยินพระสูตร หรือเลื่อมใสบูชา จะทำให้รอดพ้นจากนรกได้นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล ก็จะขออธิบายให้ฟังเลยว่า การเห็นรูป หรือการเลื่อมใสพระโพธิสัตว์องค์นี้ ตามนัยยะทางธรรมแล้วนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็น หรือสักแต่ว่าการก้มหัวลงไปกราบ หรือจุดธูปเทียนอย่างดี ถวายเครื่องกระดาษเงินทองมากๆ แล้วจะเรียกว่าเลื่อมใสบูชา สิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิดของชาวโลกที่ไม่มีปัญญาเท่านั้น ความเข้าใจที่ถูกต้องสามารถไปปฏิบัติได้จริง ก็คือกฎแห่งกรรม ในกษิติครรภ์มูลปณิธานสูตร (ตี่จั้งเกง) มีกล่าวไว้ 23 ข้อ ไม่ได้ละเว้นแม้แต่พระภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งถ้าเราละกรรมชั่ว 23 ข้อนี้ได้ ก็มั่นใจได้ว่าในชาตินี้ตนเอง ครอบครัว ประเทศจะสันติสุขแน่นอนและในโลกหน้าก็จะได้พบความสุข จุดประสงค์ในการหมั่นสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ก็เพื่อให้ผู้ที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังทำผิดอยู่ได้รู้ตัวและหยุดการกระทำนั้นเสีย ผู้ที่ทำผิดแล้วก็ให้สำนึกผิดและไม่ทำอีก แม้มีกรรมหนักก็จะทุเลาเบาบางไปได้บ้างก็ยังดี ยิ่งสำนึกและขมากรรมด้วยใจจริงและมากเท่าไร วิบากกรรมก็จะเบาบางไปเท่านั้น เพราะบุญและบาปเกิดขึ้นที่ใจเราทั้งสิ้น จึงขอให้เราทุกคนระวังใจให้ดี เพราะใจเราคิดชั่ว ความชั่วถึงออกมาทางกายและวาจา ถึงบอกว่าเมื่อเราสำนึกผิดด้วยใจจริงแล้ว กุศลกรรมจะเกิดขึ้นแทนที่ความผิดในใจ แต่การสำนึกผิดอย่างแท้จริงนั้นมีน้อยคนที่ทำได้ เพราะมีวิบากชั่วปิดกั้นจิตอยู่ นอกจากจะอาศัยพุทธานุภาพ หรือกำลังปณิธานของพระโพธิสัตว์องค์ที่มีความตั้งใจจะช่วยเหลือสัตว์โลกแบบนี้
 
 
 
นรกและสวรรค์นั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้า หรือ เทพพรหมใดๆ สร้างขึ้น แต่เกิดขึ้นเพราะกรรมดี และกรรมชั่วที่สัตว์โลกสร้างขึ้นเอง สมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่ง นั่งสมาธิในป่าช้า ได้เห็นเทวดาองค์หนึ่งลงมาจากสวรรค์ แล้วนำดอกไม้ทิพย์มาบูชาร่างที่ไร้วิญญาณในป่าช้า พระภิกษุจึงถามเหตุผล เทวดาจึงตอบว่า “ศพนี้คือร่างของเราในอดีต เพราะร่างนี้หมั่นรักษาศีล ทำความดี ฟังธรรม เมื่อตายไปเราจึงได้ไปเสวยสุขบนสวรรค์ ดังนั้นเราจึงเอาดอกไม้มาบูชา” พระจึงตอบไปว่า “เธอควรบูชาดอกไม้ให้กับใจของเธอเอง ที่ทำให้เธอคิดจะทำความดีเถิด” เมื่อเทวดาได้ยินแบบนี้ก็เกิดปัญญาแล้วกลับสวรรค์ไป
 
 
 
ต่อมา พระภิกษุได้เห็นผีเปรตมาทุบตีซากศพในป่าช้า พระท่านก็ถามเหตุผล ก็ได้รับคำตอบว่า “ร่างนี้เคยเป็นของข้าเมื่อชาติก่อน เพราะว่ามันได้แต่อิจฉาริษยา ละโมบโลภมาก พอร่างนี้แตกดับจึงทำให้ข้าจึงมาเกิดเป็นเปรตหิวโหยอย่างนี้” พระตอบไปว่า “เธอควรทุบตีใจของตัวเอง ที่เป็นเหตุให้เธออิจฉา ฯลฯ ร่างนี้ของเธอไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย” เมื่อเปรตได้ยินจึงมีสติแล้วกลับไป
 
 
 
หากจิตที่เศร้าหมองและความชั่วรวมกันแล้วนรกจึงเกิด เมื่อจิตกุศลและความดีรวมกันสวรรค์จึงเกิด ทุกๆคนสามารถสร้างสวรรค์และนรกได้ จนถึงสามารถสร้างพุทธเกษตรของตนเองก็ได้ด้วยการบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์และพุทธเกษตรแต่เดิมนั้นไม่มี นรกเกิดขึ้นเพราะกรรมชั่ว สวรรค์เกิดขึ้นเพราะกรรมดี พุทธเกษตรเกิดขึ้นเพราะพระกรุณาและอุปายะของพระพุทธเจ้าในการโปรดสัตว์ พระกษิติครรภ์เมตตาสงสารสัตว์โลก ทุกข์เกิดจากบาป ท่านจึงขอให้เราอย่าทำบาป เมื่อไม่มีบาปก็ไม่มีทุกข์ แล้วการไม่ทำบาปเป็นอย่างไร ก็คือการมีศีล5 ศีล8 ก็รับรองได้ว่าจะไม่ตกอบายภูมิแน่นอน
 
 
 
การเห็นรูปของพระกษิติครรภ์ ก็คือการเข้าใจและซาบซึ้งในปณิธานที่ยิ่งใหญ่ของพระกษิติครรภ์ ว่าท่านมีความตั้งใจว่าจะโปรดสัตว์ผู้มีบาปให้หมดจากนรก ,และการอ่านท่องพระสูตรจนเลื่อมใสนั้น ก็คือ เมื่ออ่านท่องพระสูตรแล้ว ก็น้อมจิตพิจารณาตามคำสอน ที่ว่าด้วยเรื่องกฎแห่งกรรม หากเข้าใจได้ตามนี้ จึงจะเกรงกลัวและละอายบาป ไม่กล้าทำผิดอีก บาปก็ไม่เกิดอีก เราจึงพ้นจากนรกได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ได้เห็นรูปพระโพธิสัตว์ เลื่อมใสกราบไหว้พระโพธิสัตว์แล้วทำให้พ้นจากนรกได้จริงๆ ไม่ใช่แค่การสวดมนต์กันเป็นวันๆ คืนๆ โดยไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์กำลังจะสอนอะไรเรา เรามีแต่ศรัทธาแต่ไม่มีปัญญา พากันไปหลงตัวบุคคล หลงสถานที่มากกว่าให้ความสำคัญกับพระธรรม เมื่อเป็นอย่างนี้จึงกลายเป็นความหลงงมงาย ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักเหตุผลทางพระพุทธศาสนา ทำให้ในยุคปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองมหายาน เป็นเพียงพิธีกรรมและความเชื่อที่เกิดมาในยุคหลัง แล้วผู้ที่ประกอบพิธีกรรมเองก็ไม่รู้ไม่เข้า
4594  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / Re: สันติยาตรา สู่สังคมสันติสุข 30 พฤษภาคม 2553 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2553 08:14:53
เครือข่ายสันติยาตรารณรงค์คืนสันติสู่สังคม

วันที่ 30 พ.ค. บริเวณสี่แยกราชประสงค์ กลุ่มเครือข่ายสันติวิธี อาสาสมัครเครือข่ายสันติวิธี มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กลุ่มเสขิยธรรม มูลนิธิหมู่บ้านพลัม กลุ่มธรรมนาตราลุ่มน้ำลำปะทาวฯ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี นางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. ร่วมรณรงค์ “สันติยาตราสู่สังคมสันติสุข” เพื่อเป็นกุศลสู่ขวัญ แด่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
 





 
ภาพโดย ศุภกฤต คุ้มกัน
ปราโมทย์ คุ้มระบาย // เรียบเรียง
 
 
http://www.oknation.net/blog/thephoto/2010/05/30/entry-1
4595  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / Re: สันติยาตรา สู่สังคมสันติสุข 30 พฤษภาคม 2553 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2553 08:13:06

 
สัมโมทนียกถาแก่ผู้ร่วมธรรมยาตราเพื่อสังคมสันติสุข
 
ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓พระไพศาล วิสาโล
 
 
 
อาตมาขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมทำกิจกรรมตั้งแต่เช้า คือการเดินธรรมยาตราเพื่อสังคมสันติสุข ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสู่ขวัญแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่ายในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เพิ่งผ่านพ้นไป ขณะเดียวกันก็เป็นการเชิญชวนเมตตาธรรมและการุณยธรรมให้มาสถิตในใจของคนไทยทุกคนที่ได้รับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะด้วยเมตตาธรรมและการุณยธรรมเท่านั้นที่จะสามารถนำพาสันติสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองของเราได้
 
ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนออกเดินเมื่อเช้าว่า เส้นทางที่เราเดินคือถนนราชประสงค์จนถึงถนนราชดำเนินนั้นเต็มไปด้วยรอยเลือดและคราบน้ำตาของผู้คนทุกฝ่าย แม้ว่าจะได้มีการความสะอาดท้องถนนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีการฉีดน้ำลบคราบเลือดและน้ำตาไปจากท้องถนน แต่ว่ารอยเลือดและคราบน้ำตาก็ยังติดอยู่ในจิตใจของผู้คนเป็นจำนวนมากทุกฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดและโกรธแค้น
 
รอยเลือดและคราบน้ำตานั้นไม่สามารถลบได้ด้วยความแค้นและความโกรธเกลียด แต่จะลบเลือนไปจากใจของผู้คนได้ก็ด้วยเมตตาธรรมและการุณยธรรม ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกชีวิตโดยตระหนักว่าความรุนแรงนั้นไม่สามารถนำชัยชนะมาให้แก่ผู้ใดได้
 
วันนี้เราได้เดินท่ามกลางอากาศที่ร้อนและเส้นทางที่ไกล แต่ก็เชื่อว่าทุกท่านเดินด้วยความปีติ ที่ได้มีส่วนช่วยแผ่ความปรารถนาดีให้แก่ผู้ประสบความสูญเสีย ไม่ว่าเป็นฝ่ายใดก็ตาม วันนี้เราเดินด้วยความสงบ ไม่ได้เปล่งเสียงใด ๆ ออกมา แต่ว่าการกระทำของเรานั้นเองคือเสียงแห่งความหวัง เสียงแห่งความรัก เสียงแห่งเมตตาปรารถนาดี ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะยังแผ่วเบาอยู่ เพราะว่าเสียงที่ดังกว่าคือเสียงแห่งความโกรธเกลียด เสียงแห่งความพยาบาท เสียงแห่งการทะเลาะวิวาทแตกแยกกัน แต่เชื่อแน่ว่าพวกเราที่มาร่วมเดินกันวันนี้ จะมีกำลังใจในการเปล่งเสียงแห่งความรักความเมตตา เสียงแห่งการให้อภัย เสียงแห่งความสมานฉันท์ต่อไป ซึ่งสักวันหนึ่งจะกลบเสียงแห่งความโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทได้
 
เมื่อใดก็ตามที่เสียงแห่งความรัก ความเมตตา การุณยธรรม หรือพูดรวม ๆ ว่าเสียงแห่งธรรมสามารถกลบเสียงแห่งความรุนแรง ความโกรธเกรี้ยวได้ ก็แน่ใจได้ว่าสันติสุขจะกลับคืนมา ไม่ใช่แค่สู่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่จะกลับคืนสู่จิตใจของคนไทยทุกคนด้วย
 
วันนี้พวกเรามาเดินโดยพร้อมเพรียงกัน ไม่มีสี ไม่มีพวก หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือ ไม่ถือสี ไม่ถือพวก คือจะมีสีก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าไม่ยึดติดในสีเหล่านั้น ไม่เอาสีเหล่านั้นมาเป็นเส้นแบ่งกีดกันหรือรังเกียจกัน ในทำนองเดียวกันใครจะนับถือศาสนาต่างกันก็ได้ จะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม จะเป็นนิกายใดก็ตาม แต่ว่าเราไม่ติดยึดในความแตกต่างนั้น เพราะถึงที่สุดแล้วเราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน
 
เช้านี้เราได้เดินมาจนถึงที่นี่ เรียกว่าได้สู่ขวัญให้แก่ผู้ที่สูญเสียหรือได้รับผลกระทบจากความรุนแรงแล้ว ถึงตอนนี้เราจะมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่จากไป เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ เมื่อมีผู้จากไป เราก็แสดงความปรารถนาดีด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้โดยการถวายสังฆทาน ขอให้เราร่วมใจบำเพ็ญกุศลนี้ด้วยจิตปรารถนาดี
 
คณะสงฆ์ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้พร้อมเพรียงบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ขอให้พวกเราอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไม่ว่าเป็นคนกลุ่มใดก็ตาม ขอให้ท่านเหล่านั้นได้รับวิปากสมบัติในสัมปรายภพ ให้ได้อยู่ในภพภูมิอันควรแก่คติวิสัย และขอให้ได้กลับมาพบพระธรรมในโลกนี้อีกครั้ง เพื่อบำเพ็ญตนให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือการพ้นทุกข์
 
ขณะเดียวกันก็ขอให้อำนวยพรให้ทุกท่านในที่นี้มีความสุขทั้งกายและใจ ให้มีความมั่นคงในพระธรรม มีศรัทธามั่นในพระรัตนตรัยและในคุณงามความดี มีความเชื่อมั่นศรัทธาว่าความรักจะเอาชนะความเกลียดชังได้ ความไม่โกรธจะเอาชนะความโกรธได้ ความดีจะเอาชนะความชั่วได้ ขอให้ศรัทธามั่นคงดังกล่าวบันดาลให้เรามีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความหวัง มีกำลังใจที่จะทำความดียิ่งขึ้น อีกทั้งบำเพ็ญตนเพื่อให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต อันได้แก่นิพพาน หรือความสิ้นทุกข์เช่นเดียวกัน ขอให้ทุกท่านได้รับอานิสงส์แห่งกุศลกรรมดังกล่าวนี้โดยทั่วกันเทอญ
4596  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / สันติยาตรา สู่สังคมสันติสุข 30 พฤษภาคม 2553 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2553 08:09:07


กำหนดการเดินธรรมยาตรา

สันติยาตราสู่สังคมสันติสุข
เพื่อเป็นกุศลสู่ขวัญ แด่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2553
กำหนดการ
07.30 น.          รวมพลที่ หน้า รพ.ตำรวจ ถนนพระราม 1 (สี่แยกราชประสงค์)
08.00 น.          ออกเดินสันติยาตราจากแยกราชประสงค์
10.00 น.          ถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
10.30 น.          พิธีกรรมทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศล  และสังฆทาน
11.00 น.          ถวายภัตตาหารเพล
12.00 น.          ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน

เส้นทางเดิน เริ่มจากแยกราชประสงค์ - แยกอุรุพงษ์ – รพ.มิชชั่น - สะพานผ่านฟ้า - อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย - แยกคอกวัว

คำภาวนา
ทุกย่างก้าวในวันนี้ เราจะเดินด้วยความสงบอย่างมีสติ
เพื่อสันติสุขในใจเรา
และเพื่อเปิดใจรับรู้ทุกข์สุขของสรรพชีวิตตามรายทางเบื้องหน้านี้
ขอให้สรรพชีวิตจงเป็นสุข ปลอดพ้นจากภัยทั้งปวง
ขอให้ทุกชีวิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน 
อยู่อย่างบรรสานสอดคล้อง  เปี่ยมด้วยไมตรีจิต
เป็นมิตรต่อกันและกัน
ขอให้บุญกุศลที่เราพร้อมใจบำเพ็ญวันนี้
จงเป็นพลวปัจจัย ให้สันติสุขบังเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ขอความสงบสันติจงคืนสู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนยาวนานตลอดไป

สันติยาตราเพื่ออะไร?
การเดินสันติยาตราครั้งนี้เป็นไปเพื่อสู่ขวัญผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายและเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553

คณะผู้จัดและผู้เข้าร่วม
เครือข่ายสันติวิธี  อาสาสมัครเครือข่ายสันติวิธี 
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  กลุ่มเสขิยธรรม  มูลนิธิหมู่บ้านพลัม กลุ่มธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว ฯลฯ




http://www.nonviolencenetwork.com/node/610


4597  สุขใจในธรรม / จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม / "ไตรสรณคมน์ หมายถึง เราไม่มีที่พึ่ง?" วิจักขณ์ พานิช เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2553 07:50:25

 
 
 
"เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก เกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า และไม่มีใครเคยเจอพระพุทธเจ้าจริงๆ ว่าท่านเป็นยังไง แล้วเราก็จำๆ กันมาว่า รู้ตื่น มันดูดีนะ แต่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ น่าจะทำให้เราตั้งคำถามกับเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นว่า ที่มีคนคนหนึ่ง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ในสถานการณ์ ความทุกข์ ความขัดแย้ง ความโกลาหลที่เกิดขึ้นในในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าชีวิตของเราในวันนี้นั้นเป็นอย่างไร เขาผ่านมาได้อย่างไร แล้วเราจะผ่านไปได้อย่างไร"
 
 
วิจักขณ์ พานิช โยคีหนุ่มในยุคดิจิทัล พ่วงปริญญาโทด้านจิตวิญญาณการศึกษาและประวัติศาสตร์ศาสนา จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่พาตัวเองก้าวเดินแต่ละก้าวเข้าไปในจิตวิญญาณของของตน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้เยี่ยงนักรบในแนววัชรยาน สายปฏิบัติของเชอเกียม ตรุงปะ จากการเดินทางด้านในของเขา ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในตัวมนุษย์นั้น ไม่ใช่สิ่งใดนอกจาก "อหังการ" ตัวเดียวนี้เอง เขาจึงไม่จำกัดตนเองอยู่ในกรอบใดกรอบหนึ่ง เขาศึกษาธรรมะจากครูบาอาจารย์ในทุกสาย ไม่จำกัดความเชื่อและศาสนา และช่วงที่มีการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดงที่ผ่านมา เขาก็พาย่างก้าวด้วยหัวใจของเขาไปอยู่ตรงนั้น
 
เมื่อถามถึงความหมายของวันวิสาขบูชา และข้างหลังคำว่า ตื่นรู้ เขานิ่งไปพักใหญ่ก่อนที่จะค่อยๆ คลี่คลายความเข้าใจส่วนตนมาแบ่งปัน
 
"สมัยพุทธกาลก็มีการกดขี่ มีสงคราม มีความไม่เท่าเทียมกัน พระพุทธองค์ก็เป็นชายคนหนึ่งที่มองเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด แล้วก็หาทางที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งทางนี้ ทุกคนเป็นได้ ทุกคนสามารถทำได้ ทุกคนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้"
 
แล้วจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร
"โดยส่วนตัว ผมคิดว่า การเป็นผู้รู้ ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเรียนเยอะๆ เก่งๆ พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะแสวงหาความจริง ท่านก็เก่งอยู่แล้ว แต่ท่านก็ยังบอกตัวเองเต็มปากไม่ได้ว่า เป็นผู้รู้ ทำไมล่ะ เราเคยตั้งคำถามอย่างนี้บ้างไหม? สถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้ ผมเชื่อว่า ไม่มีใครรู้ดีกว่าใคร แต่สำคัญที่ว่า เราพร้อมที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เปิดต่อการรับรู้ไหม คือ รู้ว่าเราสามารถที่จะอยู่กับความไม่รู้ได้ เพราะเราไม่รู้ล่วงหน้า อันที่สองคือ ความตื่น มันก็มาพร้อมกัน เราสามารถอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็มีการตื่นตัว ทำความเข้าใจ มีการรับฟัง มีการแยกแยะ มีการรู้ตัวเองอยู่เสมอ ก็เป็นความตื่นขึ้นมา คือทำให้เรารู้ว่า เราอยู่กับปัจจุบันขณะเฉยๆ ได้"
 
ในส่วนของความเบิกบาน มันไม่ใช่การที่เราพยายามจะยิ้ม หรือมองโลกในแง่ดีแบบฉาบฉวย ไม่ใช่ว่า คนกำลังจะฆ่ากันเราก็มายิ้ม ยิ้ม คือมันคงไม่ใช่ง่ายอย่างนั้น แต่ความเบิกบานที่แท้จริง มันจะเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ แล้วเราก็มองสถานการณ์ด้วยใจที่เปิดกว้างอยู่เสมอ คือ เรามีความเชื่อมั่นว่าทุกคนคือมนุษย์ ทุกคนสามารถที่จะสื่อสารกันได้ และเราก็ยังรักและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ระหว่างกัน
 
"ความโกลาหลที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มันก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้น สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น เราต้องมองความเป็นไปได้อยู่เสมอ และก็อยากที่จะมีส่วนร่วมกันมันจริงๆ เรามองสถานการณ์เหล่านี้ เป็นการฝึกฝนตัวเองในการที่จะขัดเกลาจิตใจตัวเองไม่ให้ตกไปอยู่ในวังวนของความโกรธ ความเกลียด ความหลง เราก็สามารถเบิกบานได้ ผมก็ไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร แต่ก็น่าจะเป็นคนที่กล้าเผชิญกับสถานการณ์ มีความรู้ตัว ตื่นรู้ และเบิกบานอยู่กับความไว้วางใจ"
 

 
เกี่ยวกับหลักธรรมและคำสอนทางศาสนา เป็นสิ่งที่โยคีหนุ่มให้ความสำคัญมาก ในการเรียนรู้หลักธรรมอย่างไร ที่จะไม่ติดอยู่เพียงพิธีกรรม ความเชื่อ หรือศรัทธา เท่านั้น
 
"เราต้องเรียนรู้การฝึกปฏิบัติ อย่างหนึ่งคือ เราต้องเรียนรู้และพัฒนาความไว้วางใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในกันและกัน ผมมองว่า เวลาเราเรียนรู้เรื่องศาสนา หรือเรื่องการปฏิบัติทางศาสนา แล้วเราก็คิดว่า พิธีกรรม ความเชื่อทางศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยว แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราควรจะยึดเหนี่ยวคือ ใจของเราเอง เราต้องพัฒนาใจของเราให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของเราเอง นี่คือหัวใจของพุทธะ"
 
"พุทธศาสนาบอกว่า ให้เรารับไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ให้รับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วคนที่อธิบายก็บอกว่า พระพุทธ ก็คือ พระพุทเจ้า บุคคลคนนี้ สองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และรับคนคนนี้เป็นที่พึ่ง แล้วเราก็ไหว้เขา เราศึกษาพระธรรม พระคัมภีร์ พระไตรปิฎก คำสอนที่ครูบาอาจารย์สอนเรา ให้ยึดหลักธรรมเหล่านี้เป็นที่พึ่ง ให้เชื่อ แล้วต้องปฏิบัติตามนี้ และพระสงฆ์คือตัวแทน เป็นผู้สืบทอดพระศาสนา ห่มเหลือง คนเหล่านี้เราต้องนับถือเขาเป็นที่พึ่ง ต้องไปทำบุญใส่บาตร โดยหลักการก็มีประโยชน์มาก แต่อีกด้านหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า จริงๆ แล้วไตรสรณคมน์ โดยส่วนตัวผมคิดว่า เป็นข่าวสาร (เมสเสจ) จากพระพุทธเจ้าที่บอกว่า จริงๆ แล้วคุณน่ะ ไม่มีที่พึ่ง คือไม่มีอะไรที่จะพึ่งได้จริงๆ แล้วท่านก็พูดถึงพุทธะ คือความตื่น ก็อยู่ในตัวเรา ซึ่งต้องบ่มเพาะนะ ให้ตื่นรู้ขึ้นมา"
 
แล้วธรรมะล่ะคืออะไร
"ธรรมะคือทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสถานการณ์ ทุกเรื่องราว ทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึกที่ประเดประดังเข้ามา ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ทุกอย่างเป็นธรรมะหมด และเรามีสิ่งนี้เป็นที่พึ่ง เพราะเราต้องเผชิญกับมัน ส่วนพระสงฆ์ หรือสังฆะ แปลว่าชุมชน เพื่อนร่วมทาง กัลยาณมิตร เพราะชีวิตเราโดดเดี่ยวนะ เรารู้ว่า เราไม่มีที่พึ่งอะไรเลยที่เราจะฝากชีวิตไว้ได้ แต่เราร่วมเดินทางไปด้วยกัน มีแรงบันดาลใจร่วมกัน มีการตักเตือนกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แล้วก็สร้างเป็นชุมชนผู้ปฏิบัติขึ้นมาในท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย ผันผวน โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความสับสน และในแง่มุมมนี้ หากเราจะนำออกมาพูดถึงกันว่า จริงๆ แล้ว ไตรสรณคมน์ ก็คือ การที่เราไม่มีที่พึ่ง"
 
พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ตนคือที่พึ่งแห่งตน!
"ครับ เหมือนสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ มันมีอยู่สภาวะหนึ่งที่คนพูดขึ้นมาเยอะมากว่า ไม่รู้จะเชื่ออะไรดี ไม่รู้จะพึ่งใคร ผมว่า นี่แหละ คือธรรมะ แต่ก่อนที่ผมเริ่มปฏิบัติธรรม ก็คิดว่า จะได้เข้าถึงความจริง อาจารย์ก็เคยกระแนะกระแหนผมว่า ยังไม่ไปไหน เพราะผมยังไม่รู้ว่า ความทุกข์จริงๆ มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร พอมาวันหนึ่ง ผมได้ตกลงไปในความทุกข์ของชีวิตช่วงหนึ่ง เป็นเวลาที่ยาวนานและมืด มันทำให้เข้าใจจริงๆ ว่า เวลาที่เราอยู่ในความทุกข์แล้วมันไม่มีที่พึ่ง มันเป็นยังไง
 
"ส่วนใหญ่เราหลอกตัวเองทั้งนั้นว่ามีทางแก้ มีอะไรมาช่วยเราได้ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมก็เข้าใจลยว่า มันไม่มีที่พึ่ง จากนั้น ผมก็เลยฝึกจริงๆ จนกระทั่งสามารถลอยตัวอยู่ในทะเลแห่งกองทุกข์ได้ ทำให้เห็นว่า เวลาที่เราอยู่กับกองทุกข์ได้จริงๆ จึงเข้าใจคำกล่าวที่ว่า ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ เป็นอย่างไร เวลาที่พบกับตัวเอง มันทำให้เรารู้สึกเบา เหมือนตัวเราไม่ขัดขืน ทำให้เราเข้าใจถึงช่วงที่ผ่านมาว่า ความเกลียด ความไม่พอใจ ต่างๆ ล้วนเป็นครูให้แก่เรา และเราก็ต้องเดินทางต่อไป"
 
"มันทำให้ผมเข้าใจถึงภาวะของการไม่มีที่พึ่ง คำว่า ไม่มีที่พึ่ง ฟังดูเศร้านะ แต่ถ้าเรามองดีๆ ในภาวะนั้น เราจะใช้ศักยภาพในตัวเราได้ดีที่สุดเลย เหมือนข่าวร้ายที่กลายเป็นข่าวดีว่า เราจะได้พึ่งตัวเองซะที เราได้เห็นคุณค่าของตัวเองซะที"
 
และในภาวะที่รู้สึกว่าไม่มีที่พึ่ง เราจะทำอย่างไรจึงจะใช้ศักยภาพในตัวเราให้เป็น
วิจักขณ์ แนะนำว่า ต้องฝึกที่จะหยุดความคิด กลับมาระลึกอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับลมหายใจก่อน
 
"ลมหายใจเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ติดตัวมา ให้เรามีสติรู้เท่าทันว่ากำลังทำอะไรอยู่ นี่ไม่ใช่เรื่องของศาสนา ไม่ได้เป็นเรื่องของความเชื่อ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนมีอยู่ในเนื้อในตัวอยู่แล้ว จากนั้นให้นำตัวเราไปอยู่กับความผ่อนคลาย จุดเริ่มต้นตรงนี้สำคัญมาก คือแทนที่เราจะบอกคนที่มาภาวนาว่า คุณต้องฝึกแบบไหนถึงจะดี ฝึกแบบไหนถึงจะถูก หรือมาบอกว่า ความเชื่อของศาสนาฉันคืออะไร เรามาใช้วิธีง่ายๆ ก็คือ นั่งลง และผ่อนคลาย วางความคิดที่คุณมีไว้ก่อน จากนั้นหายใจเข้า หายใจออกอย่างผ่อนคลาย และคุณจะรู้สึกเองว่า คุณคือที่พึ่งของตัวเอง"
 
"มนสิกุล โอวาทเภสัชช์"
 
***แลกเปลี่ยน พูดคุย สนทนา หรือว่าสนใจคอร์สเรียนรู้ด้านในกับเขา ติดต่อได้ตลอดเวลาที่ http://vichak.blogspot.com และหากสนใจกลุ่มเพื่อนภาวนา ติดต่อได้ที่ โทร.๐๘-๔๐๐๓-๔๕๓๖



http://www.komchadluek.net/detail/20100528/60741/60741.html
4598  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / เปลี่ยนดวง , แบ่งส่วนบุญให้ผู้มีชีวิตได้อย่างไร , หลักการคิดเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2553 15:31:59


เปลี่ยนดวง
     
       ปุจฉา  : กราบปุจฉาหลวงปู่ที่เคารพค่ะ หนูขอหลวงปู่ช่วยชี้ความกระจ่างว่า ดวงเกิดของคนเรามีอิทธิพลในการกำหนดชีวิตเราจริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และหากเป็นปุถุชนธรรมดา จะสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้หรือไม่ อย่างไรคะ
        
       วิสัชนา  : กัมมุนาวัตตีโลโก สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่ว เลว หยาบ บุคคลทำกรรมเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่เรา เป็นผลมาจากการกระทำ พูด คิด ที่เรียกว่ากรรม ซึ่งก็มีทั้งอดีตกรรม ปัจจุบันกรรม อนาคตกรรม สรุปทั้งหมดเกิดจากตัวคุณ มิใช่ใครดลบันดาล โชคชะตา และดวงเกิด ก็เกิดมาจากผลของกรรมของตนแต่อดีตและปัจจุบัน
      
       ถ้าคุณคิดจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเปลี่ยนตัวคุณ ความคิดคุณ และลักษณะนิสัยคุณ ให้เป็นไปทางมีคุณมีสาระ แค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว
      
       แบ่งส่วนบุญให้ผู้มีชีวิตได้อย่างไร

      
       ปุจฉา  : หลวงปู่ครับ กุศลผลบุญที่ลูกได้กระทำในครั้งหนึ่งๆ นั้น สามารถแบ่งส่วนบุญนั้นให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ไหมครับ เพราะเห็นว่า การกรวดน้ำนั้นอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ แต่สำหรับผู้ที่ลูกเคารพและยังมีชีวิตอยู่ จะแบ่งความดีนั้นไปให้ได้อย่างไรครับ
      
       วิสัชนา  : ได้ซิ เพราะบุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา คือ แสดงความยินดี ถ้าคุณได้มีโอกาสทำคุณงามความดี สร้างบุญบารมีใดๆ แล้วบอกแจ้งการกระทำนั้นๆ ให้แก่ญาติ หรือคนที่คุณจะแบ่งบุญนั้นให้ด้วยการใช้คำว่า “ผมเอาบุญมาฝากครับ” แล้วผู้นั้นแสดงความยินดี แค่นี้ก็ถือว่าเขาได้บุญจากคุณแล้วล่ะ
      
       บุญที่ทำให้มัวเมา

      
       ปุจฉา  : กราบนมัสการหลวงปู่ อยากเรียนถามว่า บุญที่ทำให้ผู้ทำมัวเมานั้นมีลักษณะอย่างไร จะแยกแยะออกได้อย่างไรว่าบุญที่ทำไปนั้นเป็นบุญที่อาจทำให้ตัวเรามัวเมา หรือเป็นบุญที่ส่งเสริมเรากันแน่คะ
      
       วิสัชนา  : บุญที่ทำแล้วทำให้ผู้ทำมัวเมา ก็คือบุญที่ทำโดยขาดปัญญา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีปัญญาใคร่ครวญพิจารณาในการกระทำบุญนั้น ทำด้วยความหลง ทำด้วยความไม่รู้จริง
       บุญที่เกิดจากการกระทำพร้อมด้วยปัญญา ใคร่ครวญหาเหตุผล ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ บุญที่ก่อนทำใช้ปัญญาใคร่ครวญวิเคราะห์แล้วทำด้วยความตั้งใจ ขณะทำเต็มใจ ทำแล้วสบายใจ ทำบุญแบบนี้ ถือได้ว่าเป็นบุญที่สร้างความมีน้ำใจให้เกิดแก่คนรอบข้าง
      
       หลักการคิดเพื่อให้เกิดปัญญา

      
       ปุจฉา  : ลูกขอกราบนมัสการหลวงปู่ด้วยความเคารพ ขอหลวงปู่เมตตาช่วยชี้แนะแก่ลูกๆ ทั้งหลายด้วยครับ โดยลูกมีคำถามที่ขอความเมตตาให้หลวงปู่ ช่วยตอบดังนี้ครับ
      
       1. การที่เราจะมีสติในการคบคุมอารมณ์ ความคิด และการกระทำ ต้องทำอย่างไรครับ
      
       2. การควบคุมอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่า เดิน นั่ง กิน และอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดพลัง งานที่สุด และเกิดความสมดุล ต้องทำอย่างไรครับ
      
       3. ในการคิดเพื่อก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มีหลักในการพิจารณาอย่างไรครับ
      
       วิสัชนา  : 1. อันดับแรก คุณต้องพยายามสร้างความรู้เนื้อรู้ตัวให้เกิดขึ้นทุกขณะก่อน ก่อนที่จะใช้ความรู้เนื้อรู้ตัวไปควบคุมพฤติกรรมความคิด ตัวอย่างการสร้างความรู้เนื้อรู้ตัวก็คือ พยายามรู้สึกถึงลมหายใจของคุณว่า เวลานี้มันกำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก แล้วทั้งเข้าและออกนาทีละกี่ครั้ง ระลึกรู้อยู่เช่นนี้ทุกขณะที่คุณมีโอกาส
      
       2. ทำตามข้อแรกให้ได้ก่อน แล้วคุณก็จะได้ในสิ่งที่คุณถามมา
      
       3. เมื่อคุณสามารถสร้างความคุ้นเคยกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้ว ลองนำความรู้เนื้อรู้ตัวพร้อมนั้น มาพิจารณาต่อปัญหาที่ปรากฏ ด้วยการพิเคราะห์ใคร่ครวญให้ละเอียดรอบคอบ เริ่มตั้งแต่ปัญหาง่ายๆ ขยับเข้าไปสู่ปัญหายากๆ ทำอยู่เช่นนี้บ่อยๆ แล้วคุณก็จะลุถึงปัญหาแท้ของคุณเองแหละ

      
       (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
 
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000030278
4599  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: ส้วม ชักโครก เชิญระบายอารมณ์ บ่น เพ้อ ละเมอ ฟุ้งซ่าน ชักดิ้น ชักงอ เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2553 15:19:27
กราบเรียน เจ้ากรรมนายเวร ทุกทั่น ของอิฉัน
InboxX

 Reply |B. SONJ
show details Apr 30


 
กราบเรียน เจ้ากรรมนายเวร ทุกทั่น ของอิฉัน
 
 
อนึ่ง เนื่อง จากอิฉัน
ได้เอา พวกท่านไปนินทา เอ๊ย พูดถึง ที่
 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=itoursab&group=6

 
 
ทั้ง เจ้าโกล์ดมุนด์     
หลานลูกมด หลานลูกนก
และ เจ้าผู้ชายปากหมา อีกคน
 
 
เก๊าะเรย ต้องแวะมาบอกให้รู้ตามมารยา ( ท )
ในฐานะที่ไงซะ เราก็เคยมีกรรมต่อกันมา แร้ว
เผื่อว่า  ผู้ใดจะคันปากอยากไปใช้สิทธิพาดพิง
โพสแถวนั้นเพื่อเพิ่มเรทติ้ง
ให้กับสมาคม ของอิฉันมั่งแหะ ๆ
 
 

ด้วยมิตรภาพ ( จิง จิ๊งงง ^ 0 ^ )
 
 
นู๋บี บัวผ่าเหล่า งิงิ
4600  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / ขอเชิญร่วมหล่อองค์พระนาคปรก " ปกเกล้า ปกแผ่นดิน " เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2553 14:53:21



http://www.onoi.org/onoitmp/index.php?option=com_content&view=article&id=167:28-29-&catid=43:promotion&Itemid=50
หน้า:  1 ... 228 229 [230] 231 232 ... 236
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.838 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 17 มีนาคม 2567 05:08:55