สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2566
<span class="submitted-by">Submitted on Sat, 2023-10-28 13:39</span><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p><strong>ประกาศกฎกระทรวงลดค่าธรรมเนียม -คำขอนุญาตอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเหลือ 500 บาท แรงงานกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม มีผลยาว 4 ปี หนุนให้เกิดการจ้างงานถูกกฎหมาย</strong></p>
<p>เมื่อวันที่ 28 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป</p>
<p>สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2566 ประกาศดังกล่าวออกโดยกระทรวงมหาดไทยและลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ซึ่งจะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี</p>
<p>น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ จะเป็นการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราจาก 2,000 บาท เป็น 500 บาท และค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปจาก 1,900 บาท เป็น 500 บาท สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)</p>
<p>การลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 4 ปี จะมีส่วนสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนต่างด้าวโดยชอบด้วยกฎหมาย แก้ไขปัญหาคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเพื่อการทำงาน ให้เข้าสู่ระบบการเป็นผู้เข้าเมืองเพื่อทำงานโดยถูกต้องตามกฎมหาย เพื่อรักษาความมั่นคง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจทั้งภาคการผลิตสินค้า ภาคการบริการและภาคการส่งออก และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย</p>
<p>“กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฯ ฉบับบนี้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด19 ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมลงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทั้งแรงงานและนายจ้าง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว</p>
<p>
ที่มา: ข่าวสด, 28/10/2566</p>
<p><strong>กระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าพาแรงงานจากอิสราเอลกลับได้หมดภายใน ต.ค. 66</strong></p>
<p>นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับไทยกว่า 8,000 คน ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 มีแรงงานไทยเดินทางกลับมารวม 763 คน ซึ่งทำให้ตัวเลขรวมปัจจุบัน พบว่ามีแรงงานไทยกลับมาแล้วกว่า 5,000 คน และปลัดกระทรวงแรงงานเชื่อมั่นว่าจะพาแรงงานไทยกลับมาหมดทันสิ้นเดือนนี้</p>
<p>นายไพโรจน์มอบหมายให้ นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ต้อนรับและดูแลอำนวยความสะดวกแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอล และแจ้งความประสงค์เดินทางกลับถึงประเทศไทยที่เดินทางกลับ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 484 คน</p>
<p>ด้วยเที่ยวบิน LY083 จำนวน 268 คน เที่ยวบิน LY081 จำนวน 87 คน เที่ยวบิน LY085 จำนวน129 คน ทุกเที่ยวบินมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ร่วมอำนวยความสะดวกและแนะนำสิทธิในการช่วยเหลือเยียวยา</p>
<p>นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีการตั้งโต๊ะให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุดด้วย</p>
<p>“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยแรงงานทุกคนจากสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้แรงงานไทยรวมทั้งญาติของแรงงานไทยเชื่อมั่นว่า กระทรวงแรงงานจะสามารถพาทุกคนออกมาให้ได้เร็วและปลอดภัยที่สุด” นายไพโรจน์กล่าว</p>
<p>
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/10/2566</p>
<p><strong>กต. วอนแรงงานกลับไทยก่อน ย้ำถูกจับ 18 คน อิสราเอลไม่ทราบที่มาตัวเลข 54 คน</strong></p>
<p>27 ต.ค. 2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและความคืบหน้าภารกิจอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล ว่า สถานการณ์ยังมีความน่าห่วงกังวล มีการติดตามปฏิบัติการภาคพื้นอย่างเต็มรูปแบบของอิสราเอล ฝ่ายต่างๆ พยายามพูดคุยกับอิสราเอลว่าขอให้ชะลอการบุกอย่างเต็มรูปแบบไปก่อน เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวประกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการดูแลความปลอดภัยและปล่อยตัวประกันที่เหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการปล่อยตัวประกัน 2 ครั้ง รวมแล้ว 4 คน</p>
<p>ยอดแรงงานไทยในอิสราเอลที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ</p>
<p>ผู้เสียชีวิต 33 ราย</p>
<p>ผู้บาดเจ็บ 18 คน (อยู่ระหว่างการรักษา 5 ราย)</p>
<p>ผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 18 คน</p>
<p>ส่วนกรณีมีข่าวว่าคนไทยถูกจับกุม 54 คน นางกาญจนา ระบุว่า เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่จากการประสานข้อมูลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางการไทยและทางการอิสราเอลแล้ว ได้ข้อมูลตรงกันยืนยันที่ตัวเลขเดิม 18 คน ซึ่งกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งรายงานอ้างว่าเป็นข้อมูลจากทางการอิสราเอลนั้น ทางการอิสราเอลระบุว่าไม่ทราบแหล่งที่มาของตัวเลข 54 คนดังกล่าว ซึ่งเราหวังว่าจะยังไม่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น และจะติดตามอย่างใกล้ชิด</p>
<p>“ทางการมีนโยบายว่า มีข้อมูลอะไรก็จะเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยจะต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว ขอให้วางใจได้ว่าเราจะติดตามต่อไป”</p>
<p>ในส่วนของร่างของเสียชีวิต มีการเคลื่อนย้ายกลับมายังประเทศไทยแล้ว 15 ราย ขณะที่การอพยพดำเนินการไปแล้ว 23 เที่ยวบิน ช่วยคนไทยกลับบ้านได้แล้ว 4,771 คน รวมผู้ที่เดินทางกลับมาเองด้วย ซึ่งผู้ที่กลับมเองขอให้วางใจจะได้รับการชดเชย โดยขอให้ติดต่อที่แรงงานจังหวัด</p>
<p>ขณะที่นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษายังสภาบัน Arava International Center for Agriculture Training มีการเดินทางกลับไทยแล้ว 40 คน ส่วนอีก 75 คน ยังไม่ประสงค์กลับ โดยคิดว่าตนเองยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าไทยเป็นชาติที่อพยพมากที่สุดอย่างแข็งขัน เนื่องจากมีจำนวนคนไทยอยู่ที่อิสราเอลมาก</p>
<p>ทางด้านพี่น้องคนไทยที่รอค่าแรง หรือยังไม่พร้อมที่จะกลับ รัฐบาลพยายามส่งข้อความถึงท่าน ขอให้กลับมาตั้งหลักที่ไทยก่อน ซึ่งการจะกลับไปทำงานนั้น ทางการอิสราเอลแสดงความยินดีที่จะตอบรับอยู่แล้ว เพราะเราถือว่าเป็นแรงงานที่สำคัญในภาคการเกษตรของเขา ขอให้กลับมาก่อน โดยขอให้ไปยังที่ศูนย์พักพิงของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ</p>
<p>จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่เอกอัครราชทูตอิสราเอล พูดในการประชุมสหประชาชนเมื่อวานที่ผ่านมา (26 ต.ค. 2566) โดยมีการนำภาพและคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นแรงงานไทยถูกทำร้าย ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามเรื่องนี้หรือไม่ นางกาญจนา ตอบว่า คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ติดตามเรื่องนี้ ซึ่งปกติในเรื่องของผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ไม่ใช่ข้อมูลที่เอามาเปิดเผยกัน เพราะต้องคิดถึงใจคนที่เป็นญาติด้วย</p>
<p>ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จะหารือกับเลขานุการที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเรื่องนี้ ซึ่งตามหลักการจะนำเอกสารหรือคลิปมาแสดงในที่ประชุม ต้องขออนุญาตต่อประธานก่อน โดยผ่านฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเข้าใจว่าครั้งนี้ไม่ได้ขออนุญาต แต่จะประสานงานติดตามกันต่อไป ย้ำว่าการเคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด</p>
<p>อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ในรูปแบบออนไลน์ด้วย</p>
<p>
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/10/2566</p>
<p><strong>เผยยอดแรงงานไทยแจ้งขอกลับประเทศแล้ว 8,500 คน ขณะที่อีกกว่า 2 หมื่นคนไม่ขอเดินทสางกลับตอนนี้ส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สิน</strong></p>
<p>26 ต.ค. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีแรงงานแจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับไทยกว่า 8,500 คน เดินทางกลับถึงไทยแล้วประมาณ 5,500 คน อีกประมาณ 3,000 คน คาดว่าจะอพยพกลับประเทศได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่แรงงานไทยในอิสราเอลที่เหลืออีก 20,000 คน ยังไม่แจ้งความประสงค์กลับประเทศ ทำงานอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล ซึ่งยังอยู่ในภาวะปกติ</p>
<p>"ส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สินจึงยังอยากไม่กลับเมืองไทยในตอนนี้ ส่วนแรงงานที่กลับถึงไทยแล้ว สำนักงานจัดหางานจังหวัด ได้จัดหาตำแหน่งงานไว้รองรับให้แล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดทางการเกาหลีและออสเตรเลีย พร้อมรับแรงงานไทยที่มีทักษะด้านการเกษตรไปทำงานในหลายอัตรา"รมว.แรงงานระบุ</p>
<p>
ที่มา: แนวหน้า, 26/10/2566</p>
<p><strong>ร่าง 7 แรงงาน กลับถึงไทยแล้ว ส่งกลับภูมิลำเนาให้ญาติทำพิธี</strong></p>
<p>เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารสำนักงานเขตปลอดอากรภายในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ รถตู้ของบริษัทสุริยาหีบศพ 7 คัน พร้อมโลงศพ มาสแตนด์บาย รอรับร่างแรงงานไทย 7 คนที่เสียชีวิตจากสงครามในประเทศอิสราเอล ที่จะเดินทางมากับสายการบินเอลอัล จากกรุงเทลอาวีฟ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเวลา ประมาณ 09.50 น.</p>
<p>ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้นำพวงหรีดในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน มาเตรียมรอเพื่อที่จะเข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยทันทีที่ร่างของแรงงานไทยมาถึง โดยเป็นการจัดพิธีทางศาสนาในส่วนของทางการไทยก่อนที่จะเคลื่อนร่างแรงงานไทยกลับภูมิลำเนา โดยร่างแรงงานไทยที่มาถึงวันนี้ ประกอบด้วย นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ, นายศักดา สุระคาย, นายนิติกร แซ่ว่าง, นายอภิชาติ กุสะรัมย์, นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี, นายศรีทัศน์ กาเหว่า และนายพิรุฬห์ ทานนพิมพ์</p>
<p>ทันทีที่เครื่องบินจากสายการบิน เอลอัล เที่ยวบินที่ LY083 ได้นำร่างแรงงานชาวไทยที่เสียชีวิต 7 ราย มาถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการรับร่าง โดยนำร่างผู้เสียชีวิตที่บรรจุในกล่องไม้ และมีกล่องกระดาษคลุมมาอีกชั้น มาตรวจสอบรายชื่อจากเลขที่ใบขนย้าย และชื่อของผู้เสียชีวิต ที่ติดอยู่ที่หน้ากล่อง โดยไม่มีการเปิดกล่อง เพราะจะให้ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นผู้เปิด เมื่อถึงภูมิลำเนาเท่านั้น</p>
<p>ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนทำพิธีไว้อาลัย มีตัวแทนทางการไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่ร่วมพิธีรับศพฯ ประกอบด้วย นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุลในการทำพิธีไว้อาลัยตามศาสนา รวมถึงมีนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย และตัวแทนจากสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมในพิธีรับร่างและร่วมพิธีไว้อาลัยด้วย โดยตัวแทนนำพวงหรีดมาวางบนลังไม้ที่บรรจุร่าง เป็นการประกอบพิธีไว้อาลัยแล้ว ก่อนยืนไว้อาลัยให้กับร่างผู้เสียชีวิต และนำร่างขึ้นรถตู้ทั้ง 7 คันที่เตรียมไว้ ลำเลียงร่างกลับไปยังภูมิลำเนา โดยมีครอบครัวรอรับร่างแรงงานอยู่ตามภูมิลำเนา ซึ่งทางการไทยได้ประสานในเรื่องเอกสารต่างๆ ไว้ให้กับทางครอบครัวแล้ว</p>
<p>ขณะที่นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างของแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลวันนี้กลับมาทั้งหมด 7 ราย โดยมี 5 รายที่มีประกันสังคมในประเทศไทย ทั้งนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา ขณะที่รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด</p>
<p>ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากอิสราเอล ที่เหลือยังต้องใช้เวลาพอสมควร และวันนี้ตนเองจะได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ซึ่งจะมีการสอบถามความชัดเจนในอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางกาารอิสราเอลจะให้กับแรงงานไทยด้วย</p>
<p>ส่วนในช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่กลุ่มฮามาสโจมตีหนักขึ้นมีผลต่อการเคลื่อนร่างมาสนามบินหรือไม่นั้น นายอารี ยอมรับว่า ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่าง จึงมีแนวคิดว่า หากต่อไปจะมีแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในอิสราเอลจะต้องมีการหาที่หลบภัยให้ หรืออาจมีการซ้อมหลบภัยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งหากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะปลอดภัยและสูญเสียน้อยกว่าเดิมได้</p>
<p>ส่วนกรณีที่นายจ้างจากอิสราเอล เสนอค่าจ้างให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ต่อ นายอารี บอกว่าก็เป็นสิทธิของนายจ้าง ขึ้นอยู่กับคนงานของเรา และจากการที่ตนเองไปรอรับแรงงานพบว่าร้อยละ 70 บอกว่ายังมีภาระหนี้สิน แต่เนื่องจากช่วงแรกยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์จึงต้องเดินทางกลับมาตั้งหลักก่อน แต่อาจจะเดินทางกลับไปทำงานอีก โดยหากต้องการเดินทางกลับไปอีกครั้งกระทรวงแรงงานก็จะหาอาชีพให้ตามที่ความถนัด</p>
<p>ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดว่า จะให้ธนาคาร ธกส.และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและระยะยาวให้กับแรงงานเพื่อช่วยเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงานในอิสราเอล เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับประเทศนั้น มองว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่จะจูงใจแรงงานกลับมาได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแรงงานว่าจะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่ ซึ่งก็มองว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีในการหาทางออกให้แรงงาน</p>
<p>ขณะที่กรณีมีบางเงื่อนไขของกระทรวงแรงงานที่หากเซ็นชื่อรับเงินเยียวยาไปแล้ว อาจจะถูกตัดสิทธิไม่ได้ไปทำงานที่อิสราเอลต่อนั้น นายอารี ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน โดยการจะให้แรงงานกลับไปทำงานที่อิสราเอลจะมีการหารือแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้ง</p>
<p>นายอารี ยังกล่าวถึง การติดตามค่าแรงจากนายจ้างที่อิสราเอล สำหรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งทูตแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอีก 10 คนที่ส่งไปช่วยประสานงานในเรื่องนี้ และจะประสานกับลูกจ้างด้วยว่ายังเหลือ หรือตกหล่นอะไร ขั้นตอนไหนบ้าง</p>
<p>ส่วนแรงงานที่จะเดินทางกลับไปทำงานตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่มีเกินครึ่งที่ให้ข้อมูลว่าอยากจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก ส่วนโอกาสที่นายจ้างในอิสราเอลจะไม่รับกลับไปทำงานนั้น นายอารียืนยันว่าไม่มี ซึ่งตามเงื่อนไขต้องรับอยู่แล้วเพราะบริษัทอยากให้กลับไป และอาจจะมีการเพิ่มค่าแรงเป็นแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงาน ต่อให้เดินทางกลับมาก่อนครบสัญญาก็ตาม เนื่องจากแรงงานไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรซึ่งอิสราเอลมีต้องการด้านนี้</p>
<p>ส่วนกรณีมีกระแสข่าวในกลุ่มแรงงานจากอิสราเอลว่าจะรับกลับถึงแค่สิ้นเดือนเท่านั้น นายอารี บอกว่า หากแรงงานไทยมีความประสงค์จะเดินทางกลับ ทางรัฐบาลก็จะประสานหาเครื่องบินให้ไม่มีการทอดทิ้งแน่นอน และไม่ใช่แค่สิ้นเดือนนี้ ซึ่งกระแสข่าวอาจเป็นเพียงการกระตุ้นเพื่อให้แรงงานได้รีบกลับมาอย่างปลอดภัย และยืนยันว่าแรงงาสที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมดจะได้รับการดูแลในการกลับประเทศอย่างแน่นอน</p>
<p>
ที่มา: ข่าวช่องวัน, 26/10/2566</p>
<p><strong>"พม." ผนึก "สธ." เพิ่มประสิทธิภาพเยียวยาแรงงานกลับจากอิสราเอลกว่า 300 ราย</strong></p>
<p>24 ต.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการเยียวยาจิตใจแรงงานไทยที่กลับมาจากประเทศอิสราเอลว่า ขณะนี้กระทรวง พม.ได้เข้าไปพูดคุย และดูแลครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตทั้ง 8 คนแล้ว ส่วนอีก 254 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบอื่นๆ เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจเยี่ยมและพูดคุย ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในส่วนภาคอื่นๆ มีอยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม.ได้ไปพูดคุยกว่า 300 รายแล้ว แต่ในหน่วยงานอื่นๆ ก็ไปดูแลเรื่องการเยียวยา โดยกระทรวง พม.ได้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลและด้านจิตใจ เพราะมีแรงงานไทยต้องการการดูแลเรื่องจิตใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลแรงงานไทยในอิสราเอล</p>
<p>นายวราวุธ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กรณีที่มีแรงงานไทยในอิสราเอลมีความประสงค์จะอยู่ในประเทศอิสราเอลต่อ เนื่องจากนายจ้างเพิ่มค่าแรงให้นั้น ตนอยากให้พิจารณาถึงความห่วงใยของครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในประเทศ เข้าใจว่าหากกลับมาจะมีหนี้สิน แต่อยากให้พิจารณาความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปหาวิธีให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่กระทรวง พม.ดูแลจะทำให้ดีที่สุด</p>
<p>นายวราวุธ ยังกล่าวถึงการใช้ล่ามภาษามือ ว่า ในส่วนของภาครัฐน่าจะมีให้บริการ จึงขอเน้นในงานของราชการ ส่วนเรื่องการเมืองเกรงว่าจะมีปัญหา แต่ในอนาคตพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) จะมีล่ามภาษามือเพื่อมาชี้แจงงานของพรรค</p>
<p>
ที่มา: สยามรัฐ, 24/10/2566</p>
<p><strong>นายกฯ สะเทือนใจแรงงานไทยถูกใช้เงินล่อทำงานต่อแม้ต้องเสี่ยงชีวิตท่ามกลางสงคราม</strong></p>
<p>นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานคนไทยจากอิสราเอลว่า จากรายงานพบว่ายังมีแรงงานคนไทยอีก 2-3 หมื่นคนที่ยังต้องเสี่ยงชีวิต ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลแรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าช่วยดูแลแรงงานเกษตรที่กลับมาจากอิสราเอลให้ผลตอบแทนดีขึ้น พร้อมทั้งสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงให้ช่วยดูแลคนไทยที่กลับจากอิสราเอลด้วย</p>
<p>ส่วนประเด็นที่แรงงานไทยในอิสราเอลต้องเสี่ยงชีวิตเมื่อนายจ้างใช้เงินมาล่อใจให้ยอมเสียงชีวิตอยู่ทำงานต่อ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าทำให้สะเทือนใจอย่างมาก ในเรื่องนี้ก็ตระหนักดีว่าเงินมีความสำคัญกับเขาขนาดไหน พร้อมกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวให้ญาติแรงงานไทยในอิสราเอลช่วยโน้มน้าวให้กลับมา เพราะไม่คุ้มที่จะเสี่ยงชีวิตอยู่</p>
<p>“นโยบายการเงินการคลังที่ดี ไม่ใช่แค่รักษาวินัยการเงินการคลังเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดี เพื่อให้ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว</p>
<p>สำหรับแรงงานไทยที่ตกเป็นตัวประกันและเสียชีวิตนั้น ขณะนี้ยังมีจำนวนเท่าเดิม และยังสามารถนำคนไทยกลับมาได้วันละ 600-800 คน แต่ก็ไม่มีแรงงานไทยที่แสดงเจตจำนงจะกลับมาเพิ่มขึ้น</p>
<p>นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่ากลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 50 คน แต่ในช่วงบ่ายจะโทรศัพท์ไปพูดคุยกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพยายามพูดคุยทุกช่องทาง หวังว่าจะมีคนไทย 19 ชีวิตอยู่ในจำนวนนี้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ที่ตกเป็นตัวประกัน</p>
<p>
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 24/10/2566</p>
<p><strong>ธ.ก.ส. ยกหนี้ให้ลูกค้าแรงงานไทยในอิสราเอลที่เสียชีวิต</strong></p>
<p>นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า กำลังให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาที่มีผู้กู้เงินเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล สำรวจว่าลูกค้าทั้งหมดได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างเพื่อช่วยเหลือตามมาตรการที่กำหนดไว้</p>
<p>สำหรับผู้เสียชีวิตหรือสูญหายตามคำสั่งศาลจะยกหนี้ให้ ส่วนเงินกู้ในสัญญาอื่นที่ผูกพันกันจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ที่กู้เงินให้คู่สมรสและบุตรไปทำงานแล้วผู้ไปทำงานเสียชีวิตด้วย รวมถึงแรงงานที่หนีภัยการสู้รบกลับมาทำให้ขาดรายได้ จะลดดอกเบี้ยให้ในระยะเวลาหนึ่ง</p>
<p>
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/10/2566</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">ข
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2023/10/106553 







