06. เรื่องปัญจัคคทายกพราหมณ์พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ชื่อปัญจัคคทายก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า
สพฺพโส นามรูปสฺมึ เป็นต้น
มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ปกติจะถวายทานที่เกี่ยวข้องกับข้าวในนา 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ให้ทานในตอนเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ (เขตตัคคะ) ครั้งที่ 2 ให้ทานในตอนขนข้าวเข้าลาน(ขลัคคะ) ครั้งที่ 3 ให้ทานในตอนนวดข้าว(ขลภัณฑัคคะ) ครั้งที่ 4 ให้ทานในตอนเอาข้าวสารลงในหม้อข้าว(อุกขลิกัคคะ) และครั้งที่ 5 ให้ทานในตอนที่คดข้าวใส่ภาชนะ(ปาฏิคคะ) พราหมณ์ผู้นี้ เมื่อยังไม่ให้แก่ปฏิคาหาหกที่มาขอ จะไม่ยอมบริโภคอาหาร เพราะเหตุนั้น เขาจึงมีชื่อว่า
ปัญจัคคทายก(ผู้ให้สิ่งเลิศ 5 ครั้ง)วันหนึ่ง พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์และนางพราหมณี เข้ามาอยู่ในข่ายคือพระญาณของพระองค์ และทรงทราบว่าบุคคลทั้งสองนี้จะได้บรรลุ
พระอนาคามิผล ดังนั้น พระศาสดาจึงได้เสด็จไปประทับยืนอยู่ที่ประตูบ้านของบุคคลทั้งสองนั้น ขณะนั้นพราหมณ์กำลังรับประทานอาหารอยู่ โดยหันหน้าเข้าข้างในบ้าน เขาจึงไม่เห็นพระศาสดา ส่วนนางพราหมณีที่อยู่ใกล้ๆกับพราหมณ์มองเห็นพระศาสดา แต่กลัวว่าหากพราหมณ์เห็นพระศาสดายืนบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้าน ก็จะนำข้าวในจานทั้งหมดไปใส่บาตร และจะทำให้นางต้องหุงข้าวอีก นางจึงไปยืนบังอยู่ข้างหลังสามีเพื่อมิให้สามีมองเห็นพระศาสดา ต่อมานางได้ค่อยๆเดินถอยหลังไปยังจุดที่พระศาสดาประทับยืนอยู่นั้น และได้ย่อตัวลงกราบทูลด้วยเสียงค่อยๆว่า “
นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด”
แต่พระศาสดาไม่ยอมเสด็จออกไปจากบ้านนั้น พระองค์ทรงสั่นพระเศียร แสดงสัญญาณว่า เราจักไม่ไป นางพราหมณีเห็นอากัปกิริยาของพระศาสดา ก็นึกขันจนกลั้นไม่อยู่ ได้ส่งเสียงหัวเราะอย่างขบขัน พราหมณ์จึงได้เหลียวหลังกลับมามอง เห็นพระศาสดา จึงพูดกับนางพราหมณีว่า “
นางผู้เจริญ ทำไมหล่อนไม่บอกว่าพระราชบุตรมาประทับยืนอยู่ที่ประตูบ้านเรา อย่างนี้ทำให้เราเสียหายมาก หล่อนทำกรรมหนักแล้ว” ว่าแล้วก็รีบยกภาชนะอาหารที่ตนบริโภคแล้วครึ่งหนึ่ง ไปใกล้พระศาสดา แล้วกราบทูลว่า “
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ถวายทานอันเลิศในโอกาสทั้ง 5 แล้วจึงบริโภค ข้าพระองค์รับประทานอาหารนี้ไปส่วนหนึ่งแล้ว ยังเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง ขอพระองค์ได้โปรดรับอาหารส่วนนี้ของข้าพระองค์เถิด”
พระศาสดาตรัสตอบว่า “
ดูก่อนพราหมณ์ ขึ้นชื่อว่าข้าวทุกอย่างสมควรแก่เราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ยังไม่รับประทาน ข้าวที่รับประทานไปเป็นบางส่วน หรือข้าวที่เหลือเดน ดูก่อนพราหมณ์ เพราะพวกเราเป็นผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นเช่นกับพวกเปรต” พราหมณ์มีความประหลาดใจที่ได้ยินพระดำรัสเช่นนี้ของพระศาสดา และในขณะเดียวกันก็เกิดความปิติยินดีที่พระศาสดายอมรับข้าวของตน จากนั้น พราหมณ์ได้ทูลถามพระศาสดาว่า พระองค์ใช้เกณฑ์อะไรกำหนดบุคคลว่าเป็นภิกษุ พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณพิเศษว่าทั้งพราหมณ์และนางพราหมณีได้เรียนรู้ถึงเรื่องของนามและรูปมาแล้วในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “
ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ไม่กำหนัด ไม่ข้องอยู่ในนามและรูป ชื่อว่า เป็นภิกษุ”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัส
พระธรรมบท พระคาถานี้ว่า
สพฺพโส นามรูปสฺมึ
ยสส นตฺถิ มมายิตํ
อสตา จ น โสจติ
ส เว ภิกฺขูติ วุจฺจติ ฯความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของๆเรา
ไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
อนึ่ง ผู้ใด ไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปนั้นไม่มีอยู่
ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภรรยาและสามีทั้ง 2 บรรลุอนาคามิผล พระธรรมเทศฯมีประโยชน์ แม้แก่ชนผู้มาประชุมกัน.