[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
08 กรกฎาคม 2568 06:28:42 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนานั้น…เป็นศาสนาแห่งความจริง โดย เขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)  (อ่าน 1301 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 01:35:44 »



พระพุทธศาสนานั้น…เป็นศาสนาแห่งความจริง โดย เขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)


พระพุทธศาสนานั้นเป็น ศาสนาแห่งความจริง และทุกคนสามารถปฏิบัติได้ด้วยสติปัญญาของตนเองจนได้ลิ้มอิสระด้วยตนเอง ดังนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างจากศาสนาอื่นที่เต็มไปด้วยการให้สัญญาว่าจะได้รับในสวรรค์ หรือกล่าวถึงรางวัลต่าง ๆ

คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นการชี้ตรงไปสู่สภาวะที่เป็นอยู่จริงเช่นไร และตัวการปฏิบัติก็คือการตระเตรียมตัว มีสติสังวรที่จะรู้เห็นสภาวะที่เป็นอยู่แล้วแต่เดิมทีนั่นเอง

ทางรอดจึงมีในตัวคนทุกคนแล้ว หากแต่เพราะความหลงผิดยึดติดและไม่รู้ตัวทำให้ทางรอดอันนั้นเสมือนถูกทอดทิ้ง แม้มีอยู่ก็เหมือนไม่มี

ด้วยเหตุนี้การเจริญสติ ความรู้ตัวให้ต่อเนื่องไป ก็คือกรรมวิธีที่จะเปิดเผยสิ่งซึ่งถูกปกปิดห่อหุ้มไว้ให้ได้รู้เห็น โดยไม่นำพาต่ออำนาจที่มองไม่เห็นตัวอื่นใด ถือเอาแต่การกระทำความรู้ตัวให้คุ้นเคยจนเป็นทางจำเพาะของปัจเจกบุคคล อันใครอื่นรู้เห็นแทนไม่ได้ ของใครของมัน

กรรมวิธีอันนี้ย่อมเหนือหลักทฤษฎีต่างๆ ไม่ว่าทางศาสนา สังคม หรือ วิทยาศาสตร์ เป็นทางจำเพาะตัว ใครไม่เจริญสติก็ย่อมไม่รู้ความจริง

ยิ่งผู้คงแก่เรียนทางด้านปริยัติ และขาดการปฏิบัติด้วยแล้ว ธรรมที่ปากก็เป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนจากความจริง กลับเป็นความจริงกำมะลอ หรือสิ่งที่เทียมความจริง ซึ่งกลับเป็นสิ่งปิดบังความจริงเสียเอง

ปัจจุบันนี้ ในภาวะระส่ำระสาย-วิกฤติการณ์ทางวัฒนธรรม กระทำให้มีการใส่ใจและมุ่งฟื้นฟูศีลธรรม จริยธรรม และธรรมปฏิบัติกันยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นการแสวงหาที่พึ่งทางใจ ธรรมจึงถูกเผยแผ่ยิ่งกว่าสมัยใดก็ว่าได้

ทั้งมีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้าอุ้มชู-อธิบายขยายอรรถหลักพุทธธรรมอย่างกว้างขวางและไปไกล เช่น หลักอนัตตาก็ถูกนักวิทยาศาสตร์หรือนักสอนศาสนาผู้รู้คดีโลก-รักคดีธรรม ใช้หลักวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เข้าอธิบายจนเลยเถิดไปว่า

ชีวิตเป็นสิ่งไร้ตัวตนเป็นอนัตตาเพราะประกอบด้วยอนุภาคประจุไฟฟ้า หรือเห็นไปว่าชีวิตเป็นกระบวนการเคมีไฟฟ้า หรือคลื่นรังสีต่างๆ

คำอธิบายเช่นนี้เป็นวิทยาศาสตร์ หาใช่ศาสนาไม่ ทั้งยังมีแนวโน้มตรงกันข้ามกับศาสนาด้วย เพราะทำให้ผู้เห็นคล้อยตามหมดความใส่ใจในความเป็นมนุษย์และมนุษยธรรมยิ่งขึ้นด้วยถือเสียว่า ชีวิตไม่มีอะไร ว่างเปล่าเป็นอนัตตา

เห็นได้ว่าคำอธิบายเช่นนี้มีผู้อธิบายมาแล้วแต่ครั้งโบราณ ซึ่งนำความหายนะมาสู่ผู้เชื่อตามทีเดียว

อนิจจังนั้นอธิบายว่า ไม่แน่นอนไม่เที่ยงแท้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำความวิบัติและพิการให้ศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งวิปริตเพี้ยนคิดคล้อยตามทางของภาษา อันผู้ไร้สติจับฉวยเอาแล้วจะให้ผลร้ายมากกว่าผลดี

แท้จริงหลักพระไตรลักษณ์นั้นไม่ใช่หลักคิดเห็น แต่เป็นหลักที่ผู้เจริญสติเห็นโดยไม่ต้องคาดคิด และเป็นการเห็นที่ตัวเองอย่างรู้ตัว เช่น สภาพไม่เที่ยงนั้นก็คือการเคลื่อนไหวอิริยาบถแปรไปต่างๆ รวมถึงการกระพริบตา กลืนน้ำลาย ก้มเงย ทั้งในอิริยาบถใหญ่ คือ ยืนเดิน นั่งนอน และอิริยาบถย่อยคู้ เข้า เหยียดออก รวมถึงการคิดนึก

ผู้เจริญสติรู้เห็นเช่นนี้ จึงจะรู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นเพียงคิดเอาว่าเป็นทุกข์

ความรู้ตัวล้วนๆ เป็นธรรมกลาง ไม่โน้มไปทางใดโดยจำเพาะ เป็นธรรมชาติที่พื้นๆ ดาด และเป็นสาธารณะแก่ทุกรูปทุกนาม เรียกว่าเป็นแก่นสาร เป็นสภาพหลุดพ้นอิสระอยู่ทุกเมื่อ

ธรรมชาติอันนี้ย่อมเป็นไปควบคู่กับการเคลื่อนไหวทุกชนิดในตัว ดังนั้นเมื่อมารู้ตัวเองก็หลุดพ้นจากสภาพมืด อันนี้ไม่เกี่ยวกับความคิดเรื่องไม่เที่ยง อัตตา อนัตตา แต่เป็นความจริงที่อยู่นอกเหนือความคิด ไม่เกี่ยวกับถ้อยคำพร่ำสอนของใคร ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หรือสามัญสัตว์

การมุ่งขยายเรื่องไตรลักษณ์ให้ขยายคลุมจักรวาลนั้น ดูออกจะเกินเลยไปจนกระทำให้ผู้เกี่ยวข้องกลายเป็นนักคิด อันพัวพันอยู่กับปัญหาเรื่องโลกเที่ยง-ไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ชีวิตเป็นอันนั้นหรืออันอื่น ล้วนหาข้อยุติไม่ได้ ด้วยว่าล้วนเป็นสิ่งที่คิดเอาทั้งสิ้น กลับกลายเป็นเรื่องราวทางอภิปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือภววิทยา แทนที่จะดูเข้ามาที่ตัวเอง กลับคิดแล่นเลยหลักสติไป ซึ่งผู้รู้ถือกันว่าเป็นความประมาท

การที่นักศาสนามุ่งประจบวิทยาศาสตร์ หรือนักวิทยาศาสตร์ประจบศาสนานั้น น่าจะมีผลดีต่อความประสานสอดคล้องกันและกัน กล่าวคือร่วมกันขจัดสิทธิความเชื่ออันงมงายไร้มูลสภาวะ ได้แต่เพียงชั้นปริยัติเท่านี้ ยังหาขจัดอวิชชารากเหง้าของปัญญาได้ไม่

เมื่อบุคคลหันมาปฏิบัติธรรมนั้น เขาต้องเริ่มต้นที่ส่วนปัจเจก ทำความรู้ตัวให้เป็นฐานเพื่อรู้เห็นความจริงๆ ที่ไม่อาจคาดคิดเองได้

การอธิบายธรรมให้รู้ล่วงหน้านั้นเองอาจกลับกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ไปเลยก็ได้ เพราะถูกหลอกหลอนด้วยสัญญา สร้างความรู้สึกและคิดเองเองโดยไม่รู้ตัว

สุดท้ายตกอยู่ภายใต้วงล้อมของลัทธิทีถ้อย ดิ้นไม่หลุด หันไปทางไหน ความคิดก็จับตัวไว้ และไม่อาจประจักษ์แจ้งต่อสภาวะตามที่เป็นจริงได้ ทั้งนี้เพราะติดคิดจนเลยเถิด

ธรรมะก็คือตัวเรานี่เองเห็นธรรมก็คือเห็นตัวเองว่าเป็นตามที่เป็นเช่นไร เป็นการเห็นด้วย สติ สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ด้วยการคาดคิดเอาซึ่งล้วนเป็นมายาหลอกหลอนทั้งสิ้น ดังนั้น การเจริญสติจึงกลายเป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนามาตลอดเพื่อการรู้แจ้งเห็นจริง เอาการเปิดเผยซึ่งปกปิดห่อหุ้มอยู่ เพื่อขจัดรากเหง้าของปัญหาเพื่อลุถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่เพื่อดับทุกข์

การกล่าวว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์นั้นนับว่าพลาดไป ข้ามขั้นตอนที่สำคัญที่สุดไป และอาจเป็นอันตรายได้ง่าย

กล่าวคือ ปฏิบัติธรรมเพื่อรู้เห็น เมื่อไม่รู้ไม่เห็นก็พ้นทุกข์ไปไม่ได้ และเมื่อสุขเทียมเกิดก็จะหลงไหลว่าดับทุกข์ได้ แล้วไปก็ได้ เป็นการเพิ่มอุปาทานให้แน่นหนายิ่งขึ้น

อนึ่ง การไม่ยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางก็พึงเข้าใจโดยนัยเดียวกันว่าอาจกลับกลายเป็นการยึดติด ในการไม่ยึดมั่นถือมั่นปล่อยวางไปได้เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะขาดรากฐานที่สำคัญ คือการเจริญสติเพื่อรู้เพื่อเห็นความจริงของชีวิต ตามที่เป็นจริงเช่นไรก็เช่นนั้นเอง

พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาพิเศษที่ไม่เหมือนศาสนาอื่นใด ที่ตั้งต้นตรงตัวเองเมื่อมีโอกาสฟังถึงธรรมชาติในตัวเอง จากการนั่งใกล้ท่านผู้รู้ และการทำความเพียรอันผิดจากความเพียรอื่น ในการเจริญสติสมาธิปัญญา จนหลุดพ้นในตัวเอง ลุถึงธรรมชาติแห่งความดับในตัวเอง

จนกระทั่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็จากสาระแห่งการลุถึงธรรมชาติแท้ตัวเอง

(คัดลอกบางตอนมาจาก : คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๖ “ชีวิตกับความรัก”  โดย เขมานันทะ, พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๑๑-๑๙)
 

สนใจปฏิบัติธรรม ติดต่อ

สำนักสงฆ์ถ้ำเขาพระ กระบี่
http://thamkhowpra.blogspot.com/p/blog-page_6784.html

วัดแพร่แสงเทียน แพร่
http://www.buddhayanando.com/category/งานอบรม/

วัดสนามใน
http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=4

วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ
http://www.pasukato.org/practice_sukato.html

จาก http://totalawake.com/blog/?p=77

http://totalawake.com/blog/?cat=14&paged=4

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.305 วินาที กับ 29 คำสั่ง

Google visited last this page 27 มิถุนายน 2568 09:08:37