ใครในบ้านป่วยเบาหวาน รู้ก่อนรู้ทัน ลดเสี่ยงถูกตัดเท้า!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 พฤษภาคม 2553 08:13 น.
เรื่อง "เท้า" เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้สำหรับใครในบ้านที่ป่วยเป็นเบาหวาน จนมีคำกล่าวว่า "ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องรักษาความสะอาดของเท้ายิ่งกว่าใบหน้า" เป็นการสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย ซึ่งพบว่าร้อยละ 15 ของผู้ป่วยเบาหวานจะเกิดแผลที่เท้า ซึ่งแผลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย บางรายมีอาการติดเชื้อร่วมด้วย เมื่อได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง จะทำให้แผลลุกลามจนต้องถูกตัดเท้า หรือขา ซึ่งพบได้สูงถึง 15-40 เท่าของคนในบ้านที่ไม่เป็นเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม การรักษาแผลที่เท้าด้วยการตัดเท้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยเสมอไป เพราะผู้ป่วยร้อยละ 3-7 เสียชีวิตจากการผ่าตัด ส่วนผู้ที่ไม่เสียชีวิตจะเกิดปัญหาต่างๆ จากการผ่าตัดถึงร้อยละ 36 ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดแผล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การป้องกันทำได้ง่าย โดยการดูแลสุขภาพเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ลดหรือขจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดแผลให้หมดไป หรือให้เหลือน้อยที่สุด
ข้อมูลข้างต้น ทีมงาน Life and Family ได้มีโอกาสพาญาติผู้ใหญ่ในบ้านที่ป่วยเป็นเบาหวาน (คุณยายของผู้เขียน) ไปร่วมกิจกรรมเข้าค่ายเบาหวานที่โรงพยาบาลบางพลี จ.สมุทรปราการในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงไม่พลาดที่จะนำความรู้ที่ได้จากค่าย มาฝากทุกบ้านที่มีผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้เพื่อให้รู้จักรักษาตัวเองไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะแผลที่เท้า มีข้อปฏิบัติในการดูแลสุขภาพเท้าของผู้ป่วยเบาหวานดังต่อไปนี้
รู้ก่อนรู้ทันเรื่อง "เท้า" ลดเสี่ยงตัดขา!
- เริ่มจากล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดา และสบู่อ่อนๆ ทุกวันหลังอาบน้ำ ไม่ควรใช้แปรง หรือขนแข็งขัดเท้า
- ซับเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด และนุ่ม เช่น ผ้าขนหนู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณซอกนิ้วเท้า
- สำรวจเท้าด้วยตนเองทุกวัน ว่ามีอาการบวม ปวด มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพองหรือไม่ โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า (ถ้ามองเห็นไม่สะดวกอาจใช้กระจกส่อง) ซอกระหว่างนิ้วเท้า และรอยเล็บเท้า เมื่อพบความปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- ถ้าผิวแห้ง อาจทำให้คัน เกิดการเกา รอยแตก และติดเชื้อได้ง่าย วิธีที่ดีที่สุด ให้ทาครีมบางๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการหมักหมม ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ถ้าผิวหนังชื้น เหงื่อออกง่าย หลังเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ควรใช้แป้งฝุ่นโรย
- ใส่ถุงเท้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายนุ่ม ไม่ใช่ถุงเท้าไนลอน หรือถุงเท้าที่รัดมาก เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน และควรใส่ถุงเท้าทุกครั้งที่สวมรองเท้า
- สวมรองเท้า หรือรองเท้าแตะตลอดเวลา ทั้งใน และนอกบ้าน (รองเท้าเฉพาะสำหรับเดินในบ้าน)
- สวมรองเท้าที่เหมาะสม เช่น หุ้มส้น ไม่ใส่ส้นสูง โดยดูที่ขนาดพอดี ไม่คับ หรือหลวมเกินไป เมื่อยืนควรมีระยะห่างระหว่างรองเท้า และปลายนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดประมาณครึ่งนิ้ว และมีความกว้างที่สุด คือบริเวณปุ่มกระดูกด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้า (โคนของนิ้ว) มีส่วนหัวที่ป้านสูงพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วเท้า และหลังเท้าเสียดสีกับรองเท้า
นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าควรมีลักษณะนิ่ม มีส่วนรองเท้าเป็นแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน เช่น รองเท้ากีฬาจะช่วยลดแรงกดที่ฝ่าเท้าได้ดี ผู้ป่วยเบาหวานบางราย อาจต้องใช้รองเท้าที่มีความลึก และกว้างเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ใส่แผ่นซับน้ำหนัก ที่สั่งตัดขึ้นมาให้เหมาะสมกับฝ่าเท้าของผู้ป่วยแต่ละราย
สำหรับในรายที่ฝ่าเท้าผิดรูปมาก ควรใส่รองเท้าที่ตัดขึ้นโดยเฉพาะ ส่วนรองเท้าชนิดผูกเชือก จะปรับได้ง่าย เวลาขยายเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าแตะชนิดมีที่คีบที่ง่ามนิ้วเท้า อย่างไรก็ดี การเลือกซื้อรองเท้า ควรเลือกซื้อในช่วงบ่าย หรือเย็น เพื่อไม่ให้ซื้อรองเท้าที่คับเกินไป และเมื่อใส่รองเท้าคู่ใหม่ ควรใส่เพียงละ 1/2-1 ชม. แล้วเปลี่ยนเป็นคู่เก่าสลับก่อนสัก 3-5 วัน เพื่อป้องกันรองเท้ากัด ที่สำคัญควรสังเกตรอยแตก หรือตุ่มพองก่อนทุกครั้งหลังใส่รองเท้าคู่ใหม่
- ก่อนใส่รองเท้า ควรตรวจดูก่อนว่า มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้าหรือไม่ ถ้ามีให้เอาออก
- การตัดเล็บ ให้ใช้ที่ตัดเล็บตัดตรงๆ เสมอปลายนิ้ว อย่าตัดเล็บโค้งเข้าจมูกเล็บ หรือตัดลึกมา เพราะจะเกิดแผลได้ง่าย ถ้ามีเล็บขบต้องปรึกษาแพทย์ทันที ขณะเดียวกัน ไม่ควรใช้วัตถุแข็งแคะซอกเล็บ และการตัดเล็บควรทำหลังล้างเท้า หรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อน และตัดง่าย
- ไม่ควรแช่เท้าก่อนตัดเล็บ เพราะผิวหนังรอบเล็บอาจเปื่อย และเกิดแผลขณะตัด
- ถ้าสายตามองเห็นไม่ชัด ควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้ เช่น วานให้ลูกหลายช่วยตัด
- ในการใช้ตะไบเล็บเท้าที่หนาผิดปกติ ให้ตะไบไปทางเดียวกันไม่ควรย้อนไปมา เพื่อป้องกันการเสียดสีผิวหนังรอบเล็บ
- ถ้ามีผิวหนังที่หนา หรือตาปลา ควรได้รับการตัดให้บางๆ ทุก 6-8 สัปดาห์ โดยแพทย์ผู้ชำนาญ
สรุปแล้ว ข้อหลักๆ ที่ห้ามปฏิบัติคือ ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อนโดยเด็ดขาด ห้ามเอากระเป๋าน้ำร้อนมาวางไว้บนเท้าหรือขา ไม่ควรเดินเท้าเปล่า แม้เมื่ออยู่ในบ้าน ห้ามตัดตาปลา ลอกตาปลา หรือใช้ยาจี้หูดด้วยตนเอง และไม่ควรนั่งไขว่ห้าง อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตไม่สะดวก
Take Care ตัวเองเมื่อเกิด "แผล" ที่เท้า
- ถ้าแผลเล็กน้อย เป็นตุ่มพอง หรือแผลถลอก รักษาให้สะอาด แผลสดทำความสะอาดด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น และสบู่อ่อนๆ จากนั้นซับให้แห้ง ทายาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ เช่น น้ำยาเบตาดีน ยาเหลือง หรือยาปฏิชีวนะที่เป็นครีมเช็ดจากแผลวนออกมารอบแผล โดยไม่ต้องเช็ดซ้ำที่เดิม หลีกเลี่ยงการใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ปิดแผลด้วยผ้าก็อชสะอาด ตรวจดูแผลทุกวันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าแผลไม่ดีขึ้น มีการอักเสบ ปวด บวมแดง จับดูร้อน หรือมีไข้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
- ถ้าแผลยังไม่หายดี อย่าเดินไปเดินมา การเดินจะทำให้เท้ารับน้ำหนักตัว ปากแผลก็จะเปิด ทำให้แผลหายช้า ดังนั้นให้นอนพัก หรือนั่งบนเก้าอี้รถเข็น หรือใช้ไม้พยุงตัว อย่ายืน เพราะจะทำให้แผลหายยาก ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกาย เลือกชนิดที่ไม่ต้องลงน้ำหนัก แต่เป็นการออกกำลังกายด้วยแขนแทน
- ถ้าแผลใหญ่ อักเสบมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก ไม่ควรรักษาเอง
เห็นได้ว่า คนในบ้านที่ป่วยเป็นเบาหวาน และเกิดแผลที่เท้า สามารถป้องกันได้ โดยการดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม ควบคุมเบาหวานที่ดี และพบแพทย์เป็นระยะ โดยเฉพาะผู้สูงวัยบางท่าน อาจเดินทางไปหาคุณหมอไม่สะดวก ลูกหลาน คือผู้ช่วยสำคัญในการพาไปพบแพทย์ตามนัด นั่นจะช่วยลดอัตราการตัดเท้าได้ถึงร้อยละ 44-85 เมื่อติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 2-4 ปี
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000067731