แค่ 2 ปี ปธน.เวียดนามลาออก 2 คน กำลังเกิดอะไรขึ้นในการเมืองเวียดนาม?
<span class="submitted-by">Submitted on Tue, 2024-04-02 13:14</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>Võ Văn Thưởng ภาพจาก
quirinale.it</p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>ประธานาธิบดีเวียดนามลาออกติดต่อกันเร็วมากเป็นประวัติการณ์ แค่ 2 ปีลาออกไป 2 คน นักวิเคราะห์ประเมินว่าพวกเขาถูกเซ่นให้กับโครงการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลเวียดนามจนส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง และมีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากการช่วงชิงอำนาจภายใน</p>
<p>2 เม.ย. 2567 เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาประธานาธิบดี Vo Van Thuong ของเวียดนามลาออกจากตำแหน่ง ทำให้รองประธานาธิบดี Vo Thi Anh Xuan ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการประธานาธิบดีของเวียดนาม</p>
<p>Vo Van Thuong ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียงหนึ่งปีกว่าเท่านั้นหลังขึ้นมารับตำแหน่งแทน Nguyen Xuan Phuc ที่เพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ในตอนนั้น Anh Xuan ก็เข้ามาอยู่ในตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีต่อเช่นกัน ก่อนเปลี่ยนผ่านเป็น Van Thuong</p>
<p>เรื่องนี้ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองของเวียดนามในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามมีโครงการปราบปรามการทุจริต ในขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก</p>
<p>นิตยสารไทม์ระบุว่า เศรษฐกิจของเวียดนามต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติอย่างมาก แต่เหล่าผู้นำของประเทศเวียดนามก็พยายามยึดกุมอำนาจในพรรคและปราบปรามผู้ต่อต้าน รวมถึงการปราบปรามการทุจริต มีนักวิเคราะห์มองว่าการลาออกของผู้นำเวียดนามด้วยข้ออ้างเรื่องการปราบปรามการทุจริตนั้นเกิดจากความบาดหมางกันภายในพรรครัฐบาลด้วย</p>
<p>ไทม์ระบุว่าตำแหน่งประธานาธิบดีในเวียดนามนั้นไม่ได้เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจอย่างแท้จริง แต่เป็นตำแหน่งในเชิงพิธีการเสียมากกว่า ตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดจริงๆ คือตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ตอนนี้ Nguyen Phu Trong ดำรงตำแหน่งอยู่</p>
<p>การที่ Anh Xuan ได้รับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีจนกว่าจะถึงการประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่นั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หายากในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้หญิงจะได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งสูงๆ ทางการเมือง</p>
<p>ในคำประกาศลาออกของ Thuong นั้น สื่อรัฐบาลเวียดนามระบุว่า การฝ่าฝืนกฎของเขา "สร้างความด่างพร้อยให้กับชื่อเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์" การลาออกของ Thoung เกิดขึ้นหลายวันหลังจากที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกว๋างหงาย ในภาคกลางของเวียดนามถูกจับกุมข้อหาต้องสงสัยทุจริต โดยที่ Thuong เคยเป็นผู้นำพรรคในระดับท้องถิ่นของจังหวัดนี้มาก่อน</p>
<p>Thuong อยู่ใต้อุปถัมภ์ของ Trong ผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคมาตั้งแต่ปี 2554 และอายุได้ 79 ปีแล้ว ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าการลาออกในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงอนาคตการนำของเวียดนามอย่างไรบ้าง</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">ทำไมผู้นำระดับสูงเวียดนามลาออก 2 รายติดต่อกัน</span></h2>
<p>ศูนย์เอเชียมีเดียตั้งข้อสังเกตว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามไม่ได้เผยแพร่รายละเอียดอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับการลาออกหรือ "การฝ่าฝืนกฎ" ของ Thuong มีแค่สื่อต่างประเทศที่นำเสนอเรื่องข้อกล่าวหาฉ้อโกงและรับสินบนที่เกิดขึ้นมามากกว่า 10 ปีแล้วและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดกว๋างหงาย</p>
<p>ในกรณีของ Nguyen Xuan Phuc ผู้ที่ลาออกในปี 2566 ด้วยสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันนั้น เขาได้ลาออกหลังจากที่พรรครัฐบาลพบว่าเขามีส่วนรับผิดชอบกับการฝ่าฝืนกฎและการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเขา</p>
<p>สถาบันนานาชาติเพื่อการวิจัยยุทธศาสตร์ (IISS) ระบุว่า ในกรณีของ Phuc มาจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการโก่งราคาชุดตรวจ COVID-19 และโก่งราคากับคนสัญชาติเวียดนามที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต้องการเดินทางกลับบ้านในช่วงการระบาดของ COVID-19</p>
<p>สำหรับกรณีของ Thuong นั้น ผู้สังเกตการณ์การเมืองเวียดนามบอกว่ามาจากเรื่องการรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐหรือญาติพี่น้องของพวกเขา แต่ก็มีคำถามที่ชวนให้คิดมากกว่านี้ว่า ทำไมเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้ถึงทำให้คนในระดับสูงถูกเด้งออกแต่คนอื่นๆ อีกจำนวนมากกลับไม่ถูกตรวจสอบ</p>
<p>นักวิเคราะห์ระบุว่าการลาออกของผู้นำเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เป็นการลาออกในระดับที่ผิดปกติสำหรับประวัติศาสตร์เวียดนาม Nguyen Khac Giang นักวิจัยอาคันตุกะจากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูซุฟ อิสซัก กล่าวว่าการลาออกถี่เช่นนี้ "ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับประเทศที่อวดอ้างตัวเองเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง"</p>
<p>Trong เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจที่สุดในระบอบการเมืองเวียดนามตอนนี้ยกระดับปฏิบัติการของโครงต่อต้านปราบปรามการทุจริตที่มีชื่อเรียกว่า "เตาไฟที่ลุกโชน" (Blazing Furnace)</p>
<p>ในเวียดนามนั้น เป็นประเทศแบบพรรคการเมืองเดี่ยว ที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม (CPV) ตำแหน่งของกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงสุดภายใต้โครงสร้างนี้ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "เสาหลักสี่เสา" คือ เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, ประธานาธิบดี, นายกรัฐมนตรีแห่งเวียดนาม และประธานสมัชชาแห่งชาติเวียดนาม</p>
<p>ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของ CPV และคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคหรือ "โปลิตบูโร" ถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในระบอบการเมืองเวียดนาม ในขณะที่ประธานาธิบดี ที่เป็นประมุขแห่งรัฐผู้ที่มีความสำคัญต่อเรื่องความสัมพันธ์กับภายนอก มักจะเป็นตำแหน่งแค่ในเชิงพิธีการสำหรับการเมืองเวียดนาม ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประธานสมัชชาแห่งชาตินั้น ต่างก็นับเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์การเมืองเวียดนาม</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร</span></h2>
<p>ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มบูมหลังจากที่มีการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ และเวียดนามก็กลายเป็นทางเลือกที่น่าเข้าหามากกว่าจีน ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังถดถอย</p>
<p>มีการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปในเวียดนาม โดยเฉพาะในด้านสินค้าเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเวียดนามอาจจะกลายเป็น "เสือเอเชีย" รายใหม่ในทางเศรษฐกิจ ภาคส่วนการผลิตของเวียดนามครึ่งหนึ่งมีบรรษัทต่างชาติรวมอยู่ด้วยทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นสูง</p>
<p>นักวิเคราะห์มองว่าโครงการปราบปรามการทุจริตให้ผลตอบแทนบางส่วนจากการปราบปรามเงินส่วยที่ผิดกฎหมายสำหรับคนทำธุรกิจในประเทศ แต่มันก็ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวตามมาจำนวนมาก และทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ในปี 2566 ที่ผ่านมาปีเดียวกับที่มีการลาออกของประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้เศรษฐกิจเติบโตลดลงจากร้อยละ 8 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2566</p>
<p>นอกจากนี้นิตยสารไทม์ยังตั้งข้อสังเกตว่าเหล่าผู้นำเวียดนามทำการเน้นปราบปรามผู้ต่อต้านในประเทศมากขึ้นด้วย โดยมีการคุมขังผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดรวมถึงนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันโครงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีการเอาผิดนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่หลายพันราย มีเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ Truong My Lan ที่อาจจะเผชิญโทษประหารชีวิตจากข้อหายักยอกทรัพย์ 12,500 ล้านดอลลาร์ นับเป็นคดีฉ้อโกงทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามเท่าที่เคยมีมา</p>
<p>การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งถัดไปจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2569 ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจนกว่าจะถึงตอนนั้นเวียดนามก็คงต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปจากการที่มีกลุ่มคู่แข่งต่างๆ พยายามแย่งชิงอำนาจเพื่อเป็นคนที่จะมาแทนที่ Trong ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในขณะเดียวกันเหล่าข้าราชการในเวียดนามก็มีความระมัดระวังตัวมากขึ้นเพราะกระแสการปราบปรามการทุจริต</p>
<p>Le Hong Hiep นักวิจัยอาวุโสและผู้ประสานงานโครงการเวียดนามศึกษาที่สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษายูซุฟ อิสซัก กล่าวว่า "ถึงแม้จะมีการคัดเลือกประธานาธิบดีใหม่แล้ว แต่ก็จะยังคงมีการต่อสู้ขัดแย้งภายในเกิดขึ้นต่อไปจนกว่าจะถึงปี 2569 เว้นแต่ว่า Trong จะประกาศตัวแผนการเกี่ยวกับผู้สืบทอดอย่างชัดเจน"</p>
<p>"ในช่วงระหว่างนั้น เหล่านักลงทุนและคู่ค้าของเวียดนามก็จะต้องอยู่กับสภาพความเป็นจริงแบบใหม่ของการเมืองเวียดนามไปก่อน" Le Hong Hiep กล่าว</p>
<p> </p>
<p><strong>เรียบเรียงจาก</strong></p>
<ul>
<li>
Vietnam Experiences Second Presidential Resignation in Two Years: What to Know, Time, 22-03-2024</li>
<li>
Explainer: Vietnam's second president in two years resigns, Asia Media Centre, 27-03-2024</li>
<li>
Vietnam leadership turnover and foreign-policy implications, IISS</li>
</ul>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">ข
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/04/108665 







