[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
01 พฤศจิกายน 2567 06:22:12 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สาระธรรม - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 674 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1091


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0 Chrome 124.0.0.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 30 เมษายน 2567 15:04:25 »




สาระธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

           เจริญพรญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ผู้ฝักไฝ่ในบุญในกุศลทุกท่าน วันนี้รายการธรรมะก่อนนอนจากสถานีวิทยุพระพุทธศาสนา จ.อุบลราชธานี วัดพิชโสภารามก็ได้เวียนมาบรรจบ ครบรอบอีกครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งวันนี้อาตมภาพ พระมหาชอบ พุทฺธสโร ก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในหัวข้อที่ชื่อว่า สาระธรรม มาบรรยายเพื่อที่จะให้ญาติโยมทั้งหลายที่ใคร่ในบุญในกุศลนั้น ได้น้อมนำเอาไปพินิจพิจารณาหาประโยชน์จากการฟังธรรมะในวันนี้

            สาระธรรมนั้นหมายถึงธรรมที่เป็นสาระเป็นแก่นสารของชีวิต ถ้าบุคคลใดไม่มีสาระธรรม บุคคลนั้นก็ชื่อว่าชีวิตไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแก่นสาร เพราะอะไร เพราะว่าสาระธรรมนั้นแหละเป็นแก่นของชีวิต เป็นสาระของชีวิต เพราะฉะนั้น สาระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎกนั้น จึงเปรียบเสมือนกับการตัดสินว่าบุคคลนั้นเกิดมาแล้วประพฤติประโยชน์เป็นสาระแก่ตนเองหรือเปล่า หรือไม่เป็นสาระแก่ตนเองก็ต้องอาศัยธรรมะ ๕ ประการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสไว้นั้นเป็นเครื่องตัดสิน สาระธรรมนั้นมีอยู่ ๕ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา

            ศรัทธา ที่ชื่อว่าสาระธรรม เป็นแก่นสารของชีวิตนั้น เพราะอะไรจึงชื่อว่าเป็นแก่นสารของชีวิต เพราะว่าศรัทธานั้นแปลว่าความเชื่อ ความเชื่อนั้นแหละเมื่อเกิดขึ้นในจิตในใจของบุคคลแล้ว ความเชื่อนั้นก็จะแต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้ชอบ แต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้งาม แต่งจิตแต่งใจของบุคคลนั้นให้สดใสให้แล่นไปในคุณงามความดี เพราะว่าอาศัยศรัทธาเป็นพื้นฐาน ศรัทธานั้นเป็นแก่นสารของชีวิต เป็นสาระของชีวิตก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นพืชบุญ คือบุคคลผู้ที่ทำบุญทำทานรักษาศีลไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ ทำคุณงามความดีต่างๆ ก็ต้องอาศัยศรัทธาเป็นพื้นฐาน

            ถ้าบุคคลใดไม่มีศรัทธาเป็นพื้นฐานบุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะให้ทานได้ ไม่สามารถที่จะรักษาศีลได้ ไม่สามารถที่จะเจริญภาวนาได้ ไม่สามารถที่จะทำวัตรสวดมนต์ทำคุณงามความดีต่างๆ ได้

            ศรัทธานั้นเปรียบเสมือนกับว่า เราจะปลูกข้าวก็ดี ปลูกมะม่วงก็ดี ปลูกผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม เราก็ต้องมีพืชต้องมีพันธุ์ของผลไม้ชนิดนั้นเสียก่อน เราจึงสามารถนำมาเพาะเป็นเมล็ด เป็นกล้า แล้วนำไปเพาะปลูกขึ้นมาเจริญเติบโตขึ้นมาออกดอกผลิผลให้เราได้รับประทานได้ฉันใด บุคคลผู้ที่จะทำบุญทำทานก็ต้องมีศรัทธา ศรัทธานั้นแหละเป็นพืชบุญที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเสียสละให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนานั้นได้

            ภาวนานั้นเปรียบเสมือนกับพืชภายในที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เพาะบุญ เพาะกุศลให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ศรัทธานั้นที่ชื่อว่าเป็นสาระธรรมก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นเครื่องฝังจิตของบุคคลนั้นลงในคุณงามความดี บุคคลผู้ที่มีศรัทธานั่นแหละ ย่อมฝังจิตของบุคคลนั้น ย่อมชักจูงจิตของบุคคลนั้น ย่อมแนะนำจิตของบุคคลนั้นให้ทำคุณงามความดี บุคคลผู้ที่ทำคุณงามความดี

            ถ้าเว้นเสียจากศรัทธาแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำคุณงามความดีได้ เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงเป็นเครื่องฝังจิตของบุคคลให้มั่นคงในคุณงามความดี ถ้าบุคคลใดศรัทธาด้วยการรับฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธาก็สามารถที่จะทำความดีได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าบุคคลใดเมื่อมารักษาศีลแล้วเกิดศรัทธา รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริง ว่าการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การไม่ฆ่าสัตว์ก็ดี การไม่ลักทรัพย์ก็ดี การไม่ประพฤติผิดในภรรยาสามีของรักของชอบใจของบุคคลอื่นก็ดีเป็นความสุข เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นำมาซึ่งความสุขจริง หรือว่าการไม่พูดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดคำหยาบ ไร้สาระ ไร้ประโยชน์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริงว่าการไม่ดื่มสุราเมรัยของมึนเมา มียาบ้า กัญชา ยาเสพติดต่างๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขจริง

            เมื่อเรารักษาศีลแล้วเราเกิดศรัทธาด้วยพิจารณาถึงอานิสงส์เหล่านี้แล้วศรัทธาของเราก็จะเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราออกมาเจริญภาวนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดปีติ เกิดสมาธิ เกิดฌานขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดศรัทธาขึ้นมาระดับหนึ่ง เรียกว่าศรัทธาจะฝังลงจิตของเรานั้นให้ลึกลงอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราน้อมกายน้อมใจของเรานั้นมาเจริญภาวนา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมานับตั้งแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ปัญญารู้จักแยกรูปแยกนามออกจากกัน รู้ว่าร่างกายของเราจากพื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้ประกอบด้วยสิ่งสองประการคือ ๑ รูป ๒ นาม

            เมื่อเราเจริญวิปัสสนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา นับตั้งแต่ญาณที่ ๑ เป็นต้น ไล่ไปตามลำดับจนถึงญาณที่ ๑๖ นั่นแหละ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญภาวนานั้นฝังจิตฝังใจของเราให้เกิดศรัทธาขึ้นมาอีก เมื่อศรัทธาของเราเกิดขึ้นมาด้วยการเจริญภาวนา จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖ ขั้น ได้ชื่อว่าศรัทธานั้นฝังจิตของเราไว้ในคุณงามความดีโดยถาวร

            คือเมื่อเราเจริญวิปัสสนาจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ชั้น ก็ชื่อว่า เรานั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว ก็ชื่อว่าศรัทธานั้นแหละฝังจิตฝังใจของเราไว้ในคุณงามความดีโดยถาวร คือเมื่อบุคคลเจริญวิปัสสนาญาณจนถึงญาณที่ ๑๖ แล้ว จะไม่สามารถที่จะทำความชั่ว ทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ความชั่วใดๆ ซึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นำตนไปสู่อบายภูมิแล้ว บุคคลผู้ที่บรรลุธรรมนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น จะไม่ทำเป็นอันขาด

            แต่ว่าบาปกรรมอะไรที่สลั่งพลั้งพลาดไปทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพลั้งพลาดไปนิดๆ หน่อยๆ นั้นก็อาจจะมีบ้าง แต่สิ่งที่จะทำโดยเจาะจงกำหมัดกัดฟันชกต่อยยิงรันฟันแทงอะไรทำนองนี้ ไม่มี เพราะฉะนั้นศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการให้ทานก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการรักษาศีลก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการเจริญสมถะภาวนาก็ดี เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจการเจริญวิปัสสนาภาวนาก็ดี ก็จะมีความละเอียด มีความสุขุม มีความลุ่มลึก มีการฝังจิตฝังใจของเรานั้นให้มั่นคง ให้แน่นอนไปตามลำดับๆๆ เพราะฉะนั้น ศรัทธานั้นจึงชื่อว่าเป็นเครื่องฝังจิต เพราะฝังจิตของเราไว้ในคุณงามความดี

            ศรัทธานั้นที่ชื่อว่าสาระธรรมก็เพราะว่า ศรัทธานั้นเป็นตัวรวบรวมคุณงามความดี เปรียบเสมือนกับการรวบรวมเสบียง ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ ศรัทธานั้นเป็นเครื่องรวบรวมเสบียง

            เสบียงในที่นี้หมายถึงบุญกุศล เราเกิดมาในมนุษย์ก็ดีเราเกิดมาเพื่อที่จะรวบรวมเสบียงคือการบำเพ็ญคุณงามความดี ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป บุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้จักบำเพ็ญคุณงามความดี ทำแต่บาปแต่กรรมเป็นผู้ที่ประมาท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร เกิดมาแล้วก็ทำกายของตนเองให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทำวาจาของตนเองให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทำจิตทำใจของตนเองนั้นให้ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ทั้งๆ ที่กายก็ดี วาจาก็ดี ใจก็ดี นี้สามารถที่จะทำคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น แต่ก็เป็นผู้ประมาท ละเลยการบำเพ็ญคุณงามความดี ก็เป็นคนที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร ไม่ได้บำเพ็ญคุณงามความดี ไม่ได้รวบรวมเสบียงที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบายในภพหน้าชาติหน้าได้ เพราะฉะนั้นศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจึงมีหน้าที่รวบรวมเสบียง คือบุญกุศล

            บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องอาศัยคุณงามความดี โดยอาศัย ศีล ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ จึงสามารถเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ เราอยากจะไปเกิดเป็นเทวดาก็ต้องรวบรวมเสบียงคือรวบรวมการรักษาศีลอุโบสถ การให้ทาน การเจริญสมถะภาวนาแต่ยังไม่ได้ฌาน ก็ชื่อว่าเรารวบรวมเสบียงเพื่อที่จะไปเกิดในเทวโลก แต่ถ้าเราอยากจะไปเกิดในพรหมโลกเราก็ต้องรวบรวมเสบียง เสบียงที่จะให้ไปเกิดในพรหมโลกก็คือสมถะภาวนา นับตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในพรหมโลก

            หรือว่าเราอยากจะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดแล้วบรรลุมรรคผล เสพอารมณ์ของพระนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น เราก็ต้องรวบรวมเสบียงคือวิปัสสนาญาณให้มันเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้เสพพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ศรัทธานั้นจึงเป็นเครื่องรวบรวมเสบียง คือรวบรวมเสบียงทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปเกิดบนพรหมโลก รวบรวมเสบียงให้เรานั้นไปถึงพระนิพพาน เรียกว่าเสบียงขั้นต้นก็ดี ขั้นกลางก็ดี ขั้นสูงสุดก็ดี ก็ต้องอาศัยศรัทธานั้นเป็นเครื่องรวบรวม เป็นเครื่องให้ถึงเป็นเครื่องให้เกิด ศรัทธานั้นท่านยังเปรียบเสมือนกับเป็นทรัพย์อันประเสริฐ

            ทำไมศรัทธาจึงถือว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐ เพราะว่าทรัพย์ที่เป็นโลกิยะ คือทรัพย์สมบัติที่เป็นเงินทองก็ดี รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการก็ดี บ้าน เรือน เรือกสวน ไร่นา รถก็ดี สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพย์ภายนอกก็สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้เพราะอาศัยศรัทธา ถ้าเราไม่มีศรัทธาในการทำการทำงาน ไม่มีศรัทธาที่จะรวบรวมทรัพย์ ไม่มีศรัทธาที่จะสร้างตนขึ้นมาจริงๆ แล้ว ขาดศรัทธาแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะทำทรัพย์ที่เป็นโลกิยะนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าเรามีศรัทธาจริงๆ มุ่งมั่นที่จะทำความดีจริงๆ มุ่งมั่นเพื่อที่จะสร้างตนจริงๆ เราก็สามารถที่จะมีศรัทธาในการเรียน

            เมื่อเรามีศรัทธาในการเรียน มีศรัทธาในการทำงานเราก็ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความจริงจัง ด้วยความอดทน ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยความฝักไฝ่ที่จะให้เกิดผลสำเร็จ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเกิดความสำเร็จในการงาน เมื่อเราประสบความสำเร็จในการงาน สิ่งที่เราต้องการคือเงิน คือทอง คือบ้าน คือสิ่งของต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาตามลำดับ หรือว่าเราปรารถนาทรัพย์ที่เป็นภายใน เรียกว่าอริยทรัพย์ ๗ ประการ ซึ่งเป็นโลกิยะก็ตาม เป็นโลกุตตระก็ตาม ทรัพย์ภายใน ๗ ประการคือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ก็ต้องอาศัยศรัทธานี้แหละเป็นพื้นฐาน

            ทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระอย่างเช่นมรรคผลพระนิพพาน ก็ต้องอาศัยศรัทธานั้นแหละเป็นพื้นฐานเป็นตัวให้เกิดให้มีขึ้น ถ้าบุคคลไม่มีศรัทธาในการรักษาศีล ไม่มีศรัทธาในการเดินจงกรม ไม่มีศรัทธาในการนั่งภาวนา ไม่มีศรัทธาในการกำหนดอารมณ์กรรมฐาน คืออาการพอง อาการยุบ ไม่มีศรัทธาในการกำหนดขวาย่างซ้ายย่างอาการคู้เหยียดอาการก้มอาการเงย สมาธิมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อสมาธิไม่เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิดขึ้นมาทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระมันก็ไม่เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นทรัพย์ที่เป็นโลกุตตระคือมรรคผลนิพพานนั้นเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงถือว่าเป็นสาระธรรม เป็นธรรมที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตของเรานั้นมีสาระ มีความหมาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตของเรานั้นมีแก่นแห่งคุณงามความดี เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงชื่อว่าเป็นสาระธรรม

            สาระธรรมประเภทที่ ๒ นั้นก็คือ ศีล ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณ อานิสงส์มากมายหลายประการสุดที่จะพรรณนาได้ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

                 สีเลน สุคตึ ยนฺติ            สีเลน โภคสมฺปทา

                 สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ          ตสฺมา สีลํ วิโสธเย.

          สีเลน สุคตึ ยนฺติ  หมายถึงว่า ศีลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงสุคติ คือบุคคลผู้ใดมีศีลแล้ว รักษาศีลดี มีศีลเป็นอารมณ์ ตายในขณะที่มีศีลเป็นอารมณ์นั้น ย่อมไปสู่สุคติจะไม่ไปสู่เปรต นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานเป็นอันขาด หรือว่าจะไม่ไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด

            สีเลน โภคสมฺปทา  คือ ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโภคทรัพย์ ทั้งทรัพย์ที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นประสบซึ่งโภคทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม

            สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน

            ตสฺมา สีลํ วิโสธเย  เพราะฉะนั้น นักปราชญ์สัตบุรุษพึงรักษาศีล พึงสมาทานศีล

            เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณงามความดีมากมายปลายประการ เพราะอะไร เพราะศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนนั้นมีภาวะที่ปกติ บุคคลจะมีกายปกติ มีวาจาปกติ ก็เพราะรักษาศีล ศีลนั้นยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นชำระความเศร้าหมองทางกาย ทางวาจา ให้หมดไป เพราะว่ากายของเราเศร้าหมอง เราสามารถที่จะชำระด้วยสบู่ ด้วยการอาบน้ำ ด้วยเครื่องชำระร่างกายได้

            แต่ถ้าสภาพจิตใจของเรานั้นเศร้าหมอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กายของเราทำบาป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วาจาของเราทำบาป เราก็ต้องชำระด้วยการรักษาศีล เมื่อเราชำระด้วยการรักษาศีลกายของเราก็ไม่ทำบาป วาจาของเราก็ไม่ทำบาป เพราะอะไร ก็เพราะว่าเรามีศีลเป็นเครื่องชำระ ศีลนั้นจึงถือว่าเป็นเครื่องชำระบาปให้หมดไปจากทางกาย หมดไปจากทางวาจาของเรา แล้วก็ศีลนั้นท่านยังเปรียบเสมือนกับศีรษะของบุคคล ทำไมท่านจึงเปรียบเสมือนกับศีรษะของบุคคล เพราะว่าศีลนั้นเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงชีวิต

            ภิกษุผู้ที่บวชเข้ามาแล้วในพุทธศาสนา ถ้าไม่มีศีลก็เปรียบเสมือนกับภิกษุที่ตายแล้ว ภิกษุที่หัวขาด ทำไมจึงเปรียบเสมือนกับภิกษุที่ตายแล้ว เพราะว่าภิกษุที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนาแล้ว ถ้าไม่มีศีลก็เปรียบเสมือนกับผู้ที่ตายแล้ว คือตายจากคุณงามความดี ตายจากคุณธรรมที่จะพึงบังเกิดขึ้น หรือว่าญาติโยมที่รักษาศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ถ้าไม่มีศีลก็ชื่อว่าตายจากคุณงามความดีแล้ว สามเณรก็ดี แม่ชีก็ดีที่ไม่มีศีล ก็เปรียบเสมือนกับคนหัวขาด คือขาดจากคุณงามความดีที่จะพึงบังเกิดขึ้น

            เพราะว่าคุณงามความดีในพุทธศาสนานี้ ถ้าบุคคลใดไม่รักษาศีลเป็นเบื้องต้น ไม่สมาทานศีลเป็นเบื้องต้นแล้วจะไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่สามารถที่จะทำวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ อย่างที่บุคคลนับถือศาสนาอื่น จะนับถือศาสนาคริสต์ก็ดี จะนับถือศาสนาอิสลามก็ดี บุคคลเหล่านี้ถ้านับถือศาสนาอื่นแล้วจะมานับถือศาสนาเราก็ต้องสมาทานศีล เมื่อสมาทานศีลแล้วก็ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๓ เดือน เพราะเป็นคนนอกรีต

            เมื่อบุคคลผู้นอกรีตจะมานับถือศาสนานั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๓ เดือนซะก่อน คืออยู่ประพฤติวุฏฐานวิธี ๓ เดือน ขณะที่อยู่ประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นแหละรักษาศีล สมาทานเป็นพุทธมามกะ ปฏิญาณตนว่าเรานั้นนับถือพระศาสนาแล้วก็อยู่ประพฤติเพื่อที่จะปรับปรุงอุปนิสัยของตนเองใน ๓ เดือน เมื่อปรับปรุงแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานมันเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาได้

            บุคคลผู้ที่จะยังคุณงามความดีให้เกิดขึ้นมานั้นก็ต้องอาศัยศีล บุคคลไม่มีศีลก็ถือว่าขาดจากคุณงามความดี ก็เปรียบเสมือนกับบุคคลที่มีศีรษะขาด หรือว่าหัวขาด ศีลนั้นยังเปรียบเสมือนกับสิ่งที่ทำให้จิตใจมนุษย์ของเรานั้นเย็น ทำไมจึงเปรียบเสมือนกับว่าสิ่งที่ทำให้จิตใจของมนุษย์ของเรานั้นเย็น เพราะว่าสิ่งที่มนุษย์ของเรานั้นประสบพบอยู่ทุกวันนี้ ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเร่าร้อนทางจิตใจ อย่างเช่น ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี เป็นเครื่องทำให้จิตใจของเราเร่าร้อน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้จะปรากฏอยู่หน้าทีวีก็ดี อยู่ทางหนังสือพิมพ์ก็ดี อยู่ในการสื่อสารต่างๆ ก็ดี หรือว่าเราออกจากบ้านเดินไปตรงโน้นเดินไปตรงนี้ เราก็จะประสบกับรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะมันเกิดขึ้นมา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โทสะเกิดขึ้นมา

            เพราะว่าคนทุกวันนี้เป็นบุคคลผู้ที่ขาดขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี การแต่งกายก็แต่งในลักษณะที่ยั่วยวน ถ้าเป็นผู้หญิงก็แต่งกายในลักษณะที่ยั่วยวนผู้ชาย ผู้ชายก็แต่งกายในลักษณะที่ยั่วยวนผู้หญิง เมื่อต่างคนต่างยั่วยวนซึ่งกันและกัน ไฟคือราคะมันก็ต้องสุมอกทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สภาวะสังคมมันเร่าร้อนขึ้นมา เมื่อสภาวะของสังคมเร่าร้อนขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อารมณ์ก็ดี กายก็ดี วาจาก็ดีมันก็ร้อนตาม สังคมก็ร้อนตามขึ้นมาไปตามลำดับ

            ศีลนั้นแหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งเหล่านี้มันเย็น ถ้าต่างคนต่างมีศีล ชายก็มีศีล หญิงก็มีศีล เด็กก็มีศีล ผู้ใหญ่ก็มีศีล เมื่อต่างคนต่างมีศีล ต่างคนก็ต่างรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีอันสมควร แต่งกายให้พอเหมาะพอสม การพูดจาก็ดี การคบหากันก็ดี คบหากันในทางที่ถูกที่ต้องก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเย็น เพราะศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเย็นทั้งกลางวันกลางคืน ไม่เหมือนกับความเย็นทางโลก เช่นความเย็นในห้องแอร์ก็ดี เราเข้าห้องแอร์มันก็เย็นเฉพาะเวลาเราเข้า เราเปิดพัดลมมันก็เย็นเฉพาะเราเปิดพัดลม หรือว่าเราอาบน้ำมันก็เย็นเฉพาะเวลาที่เราอาบ

            แต่เมื่อเราออกจากสิ่งเหล่านั้นแล้วมันก็เกิดความร้อนขึ้นมา หรือว่าความเย็นที่เกิดจากแสงจันทร์ก็ดีก็เย็นเฉพาะเวลากลางคืน เมื่อเวลากลางคืนผ่านไปมันก็ร้อน แต่ความเย็นที่เกิดขึ้นมาจากการรักษาศีล จะเป็นเด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี คนเฒ่าคนชราก็ดี เมื่อรักษาศีลแล้ว ศีลนั้นย่อมทำให้บุคคลนั้นเย็น เย็นทั้งกลางวัน เย็นทั้งกลางคืน เย็นทั้งในขณะที่เดิน เย็นทั้งในขณะที่นั่ง เย็นทั้งในขณะที่พูดที่กินที่ดื่มที่คิด เย็นทั้งในขณะที่เรานั่งเรานอนเราหลับ เกิดความเย็นขึ้นมาตลอด เพราะฉะนั้นศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมีกาย มีวาจา มีใจที่เย็น ศีลนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงแดนเกษม แดนเกษมคืออะไร แดนเกษมคือพระนิพพาน ดังที่อาตมาได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย นั่นแหละ เพราะศีลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน อันนี้เป็นสาระธรรมข้อที่ ๒

            สาระธรรมข้อที่ ๓ คือ สุตตะ สุตตะคืออะไร สุตตะคือการฟัง การฟังนี้ถ้าเราฟังด้วยดีเราก็ย่อมเกิดคุณเกิดประโยชน์มากมายหลายประการ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไวว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ– ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ฟังด้วยดีนั้นฟังอย่างไร คือเราตั้งใจฟัง เมื่อเราตั้งใจฟังก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้เข้าใจความหมายของธรรมะที่เราฟัง เมื่อเราเข้าใจความหมายของธรรมะที่เราฟัง เราก็จะเอาธรรมะนั้นแหละมาตริมาตรอง เมื่อเราเอามาตริมาตรองธรรมะอันสมควรแก่การประพฤติของเราแล้ว เราก็น้อมไปประพฤติปฏิบัติ

            เมื่อเราน้อมไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติเกิดผลขึ้นมา เมื่อเราเกิดผลขึ้นมาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้รับประโยชน์จากการฟัง มีการเกิดศรัทธา เกิดคุณ คือสมาธิ คือความสงบเป็นต้นเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ก็ชื่อว่าการฟังนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณ ตั้งแต่คุณเบื้องต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุด ตลอดถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะว่าการฟังนั้นสามารถที่จะทำให้เรานั้นได้คุณตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ถึงที่สุดได้ ยกตัวอย่างในสมัยครั้งพุทธกาล ปฐมสาวก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระสงฆ์องค์แรกในทางพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร เกิดขึ้นมาได้เพราะการฟัง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสรู้

            เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วพระองค์ทรงไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อยู่ที่ ป่าอิสิปมฤคทายวัน แคว้นเมืองพาราณสี ก่อนพุทธศาสนาประมาณ ๔๕ ปี เรียกว่าพุทธศาสนาของเราล่วงเลยมาแล้ว ๒,๕๔๗ ปี บวกไปอีกประมาณ ๔๕ ปี ในสมัยนั้นแหละ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระอัญญาโกณฑัญญะนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วก็ได้เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยการฟัง หรือว่าพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือทั้ง ๔ คนคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ก็อาศัยการฟังธรรมนั้นแหละ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในภายหลัง

            แม้แต่พระยส พระยสเป็นผู้ที่บำเพ็ญบารมีมามากก็ได้บรรลุธรรมเพราะอาศัยการฟังธรรมเหมือนกัน พระยสนั้นบำเพ็ญบารมีมามากขนาดไหน เป็นลูกชายของเศรษฐี เพราะลูกชายของเศรษฐีมีหญิงบำรุงบำเรอ หญิงฟ้อนหญิงระบำนั้นบำรุงบำเรอมากมาย แต่พระยสนั้นก็ไม่หลงในสิ่งเหล่านั้น วันหนึ่งเกิดความเบื่อหน่าย เพราะเห็นนางรำนั้น มารำๆ แล้วก็นอน นอนแล้วก็น้ำลายไหลบ้าง กรนบ้าง ปล่อยให้ผ้าหลุดลุ่ยบ้าง สภาพสิ่งเหล่านั้นแหละปรากฏแก่พระยสนั้น เปรียบเสมือนกับซากศพ เกิดปัญญาขึ้นมา พระยสนั้นก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาก็เลยเดินออกจากเรือน บ่นว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอที่นี่ขัดข้องหนอๆ” เดินไปเรื่อย

            ในขณะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ในราวป่า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนยสที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” พระยสก็เดินเข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพีกถา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระยสนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ภรรยาของพระยสก็ดี บิดามารดาของพระยสก็ดี สหธรรมิก สหายทั้ง ๕๕ คนของพระยสก็ดี บรรลุธรรมก็ด้วยการฟังธรรม หรือว่าภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ คนตามหาหญิงแพศยา พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟังก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำ เป็นพระอนาคามีอย่างสูง

            ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๓ คน มีอุรุเวลกัสสปะ คยากัสสปะ นทีกัสสปะ ซึ่งมีบริวารรวมแล้ว ๓ คนนั้นถึง ๑,๐๐๐ คน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เพราะการฟังธรรม หรือว่าพระเจ้าพิมพิสารบรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อมด้วยบริวาร ๑๑๐,๐๐๐ คน ก็เพราะการฟังธรรมอนุปุพพีกถา อีก ๑๐,๐๐๐ คนนั้นถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ก็เพราะการฟังธรรมเรื่องอนุปุพพีกถา พรรณนาเรื่องทาน เรื่องศีล พรรณนาเรื่องสวรรค์ พรรณนาเรื่องโทษของกาม แล้วก็พรรณนาเรื่องอานิสงส์ของการออกบวช ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๑๑๐,๐๐๐ ก็เพราะอาศัยอานิสงส์ของการฟังธรรม

            อัครสาวกอย่างพระสารีบุตรก็ดีผู้มีปัญญามาก สามารถนับเมล็ดฝนได้ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมด้วยตนเองก็ต้องอาศัยการฟังธรรมจึงสามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ สำเร็จเป็นอัครสาวกในพุทธศาสนา เป็นผู้เลิศทางปัญญาในทางพุทธศาสนาได้ก็เพราะอาศัยการฟัง หรือว่าพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์เดชมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บรรลุธรรมได้ก็เพราะอาศัยการฟังธรรม

            การฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังธรรมด้วยดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดคุณเกิดอานิสงส์มากมายหลายประการ ตั้งแต่เบื้องต่ำ ท่ามกลาง จนถึงที่สุดคือพระนิพพานได้ ถ้าเราฟังแล้วเราไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของการฟังธรรม การฟังธรรมที่เราตั้งใจฟังด้วยดีนั้นแหละ ไม่คะนองมือไม่คะนองไม้ ไม่พูดกันในขณะที่ฟังธรรม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การฟังธรรมของเรานั้นเกิดบุญเกิดกุศลขึ้นมาเป็นอุปนิสัยให้เรานั้นเกิดปัญญาในภพหน้าชาติหน้าได้ ดังมีเรื่องเล่าไว้หลายเรื่องหลายประการ อย่างเรื่องกบฟังธรรมก็ดี ค้างคาวฟังธรรมก็ดี งูเหลือมฟังธรรมก็ดี แม่ไก่ฟังธรรมก็ดี

            มีแม่ไก่ตัวหนึ่งฟังธรรมอยู่ข้างศาลาเป็นที่แสดงธรรม ขณะที่พาลูกน้อยกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหารนั้นแหละ ขาก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารไป ปากก็คุ้ยเขี่ยหาอาหารให้ลูกกินไป แต่หูนั้นก็ฟังธรรมไปเรื่อยๆ ขณะที่ฟังธรรมไปเรื่อยๆ หาอาหารเลี้ยงลูกนั้นแหละ แม่เหยี่ยวตัวหนึ่งก็มาเฉี่ยวเอาแม่ไก่ตัวนั้นไปแล้วแม่ไก่ตัวนั้นก็ตายไป ขณะที่ตายไปก็ระลึกถึงอารมณ์ที่ตนเองได้ฟังธรรมมีจิตใจกำลังยินดีในการฟังธรรมนั้นแหละ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดบนสวรรค์ เกิดบนสวรรค์แล้วจุติจากสวรรค์แล้วก็ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ก็มาเกิดในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มาเกิดเป็นบุตรของสุมนาราชเทวี เมื่ออาศัยการฟังธรรมนั้นก็สามารถที่จะระลึกชาติหนหลังได้ว่าตนเองเคยฟังธรรมเรื่องนั้นๆๆ แล้วก็เกิดความสลดสังเวชในภพชาติของตนเองว่า ตนเองเคยเกิดเป็นลูกหมูบ้าง เกิดเป็นสุกรบ้าง เกิดเป็นคนยากจนบ้าง เกิดเป็นคนรวยบ้าง สลับสับสนปนเปกันไปมาก็เลยเกิดความสลดสังเวชแล้วก็ลาสามีออกบวชแล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะอาศัยอานิสงส์ของการฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นถ้าเราฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

            สาระธรรมประการที่ ๔ ก็คือ จาคะ จาคะคือการเสียสละ เสียสละบริจาคทรัพย์ภายนอกคือปัจจัย ๔ คืออาหารบิณฑบาต ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม นี้เรียกว่าเป็นการบริจาคภายนอก หรือว่าการบริจาคภายในเรียกว่า ปคฺขนฺทานปริจฺจาโค เรียกว่าการบริจาคภายใน การบริจาคภายในนั้นมีตั้งแต่ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง คือการบริจาคด้วยการรักษาศีล การรักษาศีลก็ถือว่าเป็นการบริจาคเหมือนกัน อย่างเช่นเรารักษาศีล ๕ เราไม่เบียดเบียนไม่ฆ่าสัตว์ก็ชื่อว่าเราบริจาคเสียสละ เราบริจาคชีวิตให้เป็นธรรมทาน คือเราไม่ฆ่าสัตว์เราไม่ตบยุง เราไม่ฆ่าปูฆ่าปลาในวันพระก็ถือว่าเราบริจาคชีวิตให้เป็นทานแล้ว เราไม่ลักทรัพย์ของบุคคลอื่นก็ถือว่าเราบริจาคทรัพย์ที่เราจะหยิบได้ เราก็ไม่หยิบฉวยเอาชื่อว่าเราบริจาคเหมือนกัน หรือว่าเราพอที่จะทำชู้สู่สมกับเมียคนอื่นได้เราไม่ทำ ทำชู้สู่สมกับบุตรกับสามีคนอื่นได้เราไม่ทำชื่อว่าเราบริจาคเหมือนกัน เราสามารถที่จะหลอกลวงบุคคลอื่นได้ หลอกลวงเอาเงินเอาทอง หลอกลวงเอาทรัพย์สมบัติต่างๆ ได้ แต่เราไม่หลอกลวง ก็ถือว่าเราบริจาคเหมือนกัน

            เราไม่ดื่มสุราเมรัยก็ชื่อว่าเราบริจาค บริจาคความชั่วนั้นให้หมดไปจากจิตจากใจ เหลือแต่คุณงามความดี หรือว่าเราบริจาคด้วยการรักษาศีลแล้วเราก็บริจาคด้วยการเจริญสมาธิ บริจาคด้วยการเจริญวิปัสสนา บริจาคด้วยการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ถือว่าเป็นการบริจาคเหมือนกัน ทำไมถึงชื่อว่าเป็นการบริจาค เพราะคุณงามความดีของเราเมื่อมันสูงขึ้นไปๆๆ ความชั่วนั้นก็หมดไปๆๆ หมดไปตามลำดับจนกว่าความชั่วนั้นจะหมดจากจิตจากใจของเรา ก็ชื่อว่าเราบริจาคโดยสิ้นเชิง โดยถาวร เพราะฉะนั้นจาคะ คือการบริจาคนั้นคือการบริจาคทั้งภายนอกและภายใน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 เมษายน 2567 15:06:40 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1091


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0 Chrome 124.0.0.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 30 เมษายน 2567 15:06:11 »


สาระธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


            ประการที่ ๕ ก็คือ ปัญญา ปัญญานั้นถือว่าเป็นสาระของชีวิต เป็นแก่นของชีวิต เป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความหมาย เพราะว่าอะไร เพราะว่าปัญญานั้นแปลว่ารอบรู้ คือรอบรู้ในร่างกายในสังขาร รอบรู้ในบุญในบาป รอบรู้ในสิ่งที่ควรไม่ควร เพราะปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วปัญญานั้นย่อมรู้ชัดรู้ชอบรู้ดีรู้พิเศษ อันนี้เป็นลักษณะของปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วปัญญานั้นย่อมทำใจของเรานั้นให้สว่าง กำจัดความมืดคือบาปนั้นให้พ้นไปจากจิตจากใจของเรา ความมืดคือบาปนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรานั้น ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล

            สิ่งที่เป็นอัปมงคลในโลกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าบาปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคลมากที่สุด เป็นสิ่งที่เป็นกาลกิณีมากที่สุด เพราะอะไร เพราะว่าบาปนั้นเมื่อบุคคลทำแล้วย่อมคร่าบุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้นบุคคลอย่าหลงว่าต้นไม้มันเป็นสิ่งอัปมงคล บ้านเรือนเป็นอัปมงคล หรือว่าวัตถุสิ่งของ รูป เสียง กลิ่น รส อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอัปมงคลอย่าไปคิด สิ่งที่เป็นอัปมงคลก็คือบาปนั้นเอง กายของเราทำบาป กายของเรานี้แหละเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล วาจาของเราทำบาปวาจาของเรานั้นแหละเป็นสิ่งที่เป็นอัปมงคล สิ่งที่เป็นอัปมงคลก็นำความทุกข์ร้อนนี้มาให้เรา

            มงคลนั้นแปลว่าสิ่งที่ให้ถึงซึ่งคุณงามความดี อัปมงคลก็คือสิ่งที่ขัดขวางเรานั้นไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี เพราะฉะนั้นบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะออกไปจากจิตจากใจของเราได้นั้นก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องกำจัด เปรียบเสมือนกับความมืดเราจะกำจัดความมืดได้ก็เพราะว่าเรานั้นทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นมาในที่นั้น อย่างเราเปิดไฟในห้องความมืดมันก็หายไป จุดเทียนในความมืด ความมืดมันก็หายไป แสงสว่างคือธรรมะก็เหมือนกัน เมื่อมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา ความมืดคือ อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทานต่างๆ ก็ย่อมจะหายไปจากจิตจากใจของเรา เพราะฉะนั้นปัญญานั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งที่เป็นอัปมงคลนั้นมันหายไปจากจิตจากใจของเรา

            ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นแหละ ให้มีความอิ่มเอิบ ให้มีความแช่มชื่น ให้เกิดปีติ ให้รู้ดีรู้ชั่วอยู่ตลอดเวลา เพราะปัญญานั้นแหละเมื่อเกิดขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลใดแล้ว กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นก็ไม่สามารถที่จะทำบุคคลผู้ที่มีจิตใจประกอบด้วยปัญญานั้นแหละให้ไปตามอำนาจได้ เรียกว่าตัณหาทำให้บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นให้ตกอยู่ในอำนาจไม่ได้ เพราะบุคคลผู้มีปัญญานั้นย่อมสามารถที่จะข่มกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นมาทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ เพราะว่าบุคคลผู้มีปัญญานั้นสามารถที่จะละกิเลส คือตัณหา ที่จะรั่วออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจนั้นได้ ตัณหานั้นย่อมไม่สามารถที่จะทำบุคคลผู้ที่อิ่มด้วยปัญญานั้นให้เป็นไปในอำนาจได้ บุคคลผู้ที่มีปัญญานั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สิ่งที่ประเสริฐ

            ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า สุโข ปญฺญาปฏิลาโภ การได้มาซึ่งปัญญาเป็นเป็นปัจจัยให้เกิดความสุข นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี หรือว่า ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก หรือ ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นรัตนะของชนทั้งหลาย ปัญญานั้นเป็นเครื่องประดับที่ประเสริฐของชนทั้งหลาย บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วจะประดับด้วยเครื่องอลังการต่างๆ มีแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับประดับด้วยปัญญา เพราะเสื้อผ้าอาภรณ์สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นเกิดความสุขได้ ไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นไม่ไปสู่อบายภูมิได้ ไม่สามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นพ้นไปจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

            แต่ปัญญานั้นสามารถที่จะป้องกันให้เรานั้นพ้นไปจากบาปกรรม พ้นไปจากคุกจากตะรางจากอบายภูมิได้ และที่สำคัญปัญญานั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ชีวิตของเรานั้นเกิดความสุข เพราะฉะนั้นสาระธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ ศรัทธา สาระธรรมคือศรัทธา ศีล สาระธรรมคือศีล สุตตะ สาระธรรมคือการสดับรับฟังด้วยการตั้งใจจริง จาคะ สาระธรรมคือการเสียสละสิ่งของทั้งภายนอกและภายใน ปัญญา สาระธรรมคือความรอบรู้ คือรอบรู้ทั้งภายนอกและภายใน คือรอบรู้การศึกษาทั้งวิชาทางโลก และทางธรรม

            เมื่อสาระธรรมทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้นมาในจิตในใจของบุคคลใดแล้วบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากคุณงามความดี ไม่ว่างเปล่าจากสิ่งที่จะให้เกิดประโยชน์ บุคคลนั้นเกิดขึ้นมาแล้วย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ พระศาสนา แก่ชาวโลก เพราะฉะนั้นสาระธรรมนั้นบุคคลใดที่ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ ก็ขอให้ทำให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ เมื่อบุคคลใดทำสาระธรรมให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจแล้ว บุคคลนั้นก็จะถึงสุข ตั้งแต่สุขเบื้องต่ำคือสุขในมนุษย์ สุขในท่ามกลางคือสุขในสวรรค์ สุขในเบื้องปลายคือสุขในพระนิพพาน รายการธรรมะก่อนนอนในวันนี้ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา           

            ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ผู้ที่ไฝ่ในบุญไฝ่ในกุศล ไฝ่ในคุณงามความดี ตั้งใจรับฟังธรรมะก่อนนอน ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้ที่เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมะสารสมบัติ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นจงเป็นผู้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป ความคิดใด ปรารถนาใดที่โยมทั้งหลายได้ตั้งไว้โดยชอบ ประกอบด้วยกุศลธรรมก็ขอความคิดนั้นปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ จงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1424 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 14:14:10
โดย Maintenence
อปัณณกปฏิปทา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1531 กระทู้ล่าสุด 01 กุมภาพันธ์ 2564 16:28:09
โดย Maintenence
การสำรวมอินทรีย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1413 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 16:07:16
โดย Maintenence
ลำดับญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 2 1317 กระทู้ล่าสุด 07 สิงหาคม 2564 19:54:30
โดย Maintenence
นรก ๑๐ ขุม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1447 กระทู้ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2565 16:04:06
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.718 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 27 ตุลาคม 2567 17:06:32