[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 มิถุนายน 2567 14:31:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อิเหนา : สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต แปลจากต้นฉบับภาษามะลายู  (อ่าน 157 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5529


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 125.0.0.0 Chrome 125.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 มิถุนายน 2567 14:18:32 »



อิเหนา : ภาพโดย ครูเหม เวชกร

อิเหนา
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามะลายู


คำนำของผู้แปล

ในกระบวนหนังสือไทยเก่า จะหาเรื่องใดที่จับใจและขึ้นใจชาวเรายิ่งไปกว่าหรือแม้แต่ทัดเทียมเรื่องอิเหนานั้นมีน้อยนัก ก็และเรื่องอิเหนานั้นย่อมมีต่างๆ กันอยู่หลายฉบับ เช่นที่เรียกอิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณ เนื้อเรื่องต่างกันมาก ยังมีอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ และที่เจนใจกันมากที่สุด คืออิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีเนื้อเรื่องแปลกออกไปอีก ด้วยทรงดัดแปลงร้อยกรองโดยเฉพาะให้เป็นท่วงทีงดงามดี เหมาะแก่การเล่นละคอน ในเชิงรำก็ให้ท่าทีจะรำได้แปลกๆ งามๆ ในเชิงจัดคุมหมู่ละคอนก็ให้ท่าทีจะจัดได้เป็นภาพงามโรง ในเชิงร้องก็ให้ทีที่จะจัดลู่ทางทำนองไพเราะเสนาะโสตร ในเชิงกลอนก็สละสลวยเพราะพริ้งไม่มีที่เปรียบ อาจเล่นละคอนให้สมบูรณ์ครบองค์ห้าของละคอนดีได้ คือ ๑. ตัวละคอนงาม ๒. รำงาม ๓. ร้องเพราะ ๔. พิณพาทย์เพราะ ๕. กลอนเพราะ ซึ่งสำเร็จเป็นทั้งทัศนานุตตริยะ และสวนานุตตริยะอย่างไพบูลย์

ก็และด้วยเหตุความขึ้นใจดั่งกล่าวมานั้นประการหนึ่ง กับด้วยความเข้าใจกันแพร่หลายว่าเป็นพงศาวดาร หรือตำนานประวัติการยุคหนึ่งของประเทศชวาอีกประการหนึ่ง ใครมาถึงเกาะชวาจึ่งเว้นไม่ได้ที่จะสืบสาวราวเรื่อง เทียบกับหนังสือนั้น อย่างน้อยเพียงถามหาถิ่นฐานบ้านเมืองที่กล่าวในหนังสือเรื่องอิเหนา และสอบสวนว่าถ้อยคำพากย์ชวามะลายูที่ใช้ในพระราชนิพนธ์นั้น ตรงกับที่มีใช้อยู่ในภาษาปัตยุบันนี้อย่างไร อย่างแรงขึ้นไปอีกก็ถึงสอบสวนว่า ผู้ที่มีชื่อในหนังสือนั้นเกี่ยวดองกับราชวงศ์เจ้าชวา ซึ่งสืบวงศ์ครองเมืองอยู่เวลานี้บ้างอย่างไร การสอบสวนก็ไม่สู้ได้ผล นอกจากในเชิงถ้อยคำค้นไปนานๆ ก็พบโดยมากว่าถูกต้อง จะมีผิดเพี้ยนบ้างก็ไม่มากนัก แต่ในส่วนถิ่นฐาน ย่อมได้ความแต่รัวๆ รางๆ เพราะความเป็นไปของบ้านเมืองย่อมผันแปรไปโดยกาล เช่นที่กล่าวว่าเป็นนครหลวงกลายเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย หรือเพียงหมู่บ้านหรือถึงรกร้างสูญชื่อเสียงก็มี และที่สืบถึงความสัมพันธ์กับวงศ์สกุลเจ้าชวาปัตยุบันนี้นั้นเหลวเลยทีเดียว เพราะราชวงศ์ย่อมตั้งและล้มซับซ้อนกันมามาก แต่ข้อสำคัญนั้น เรื่องอิเหนามิใช่พงศาวดารหรือตำนานบ้านเมืองเสียเลยทีเดียว เป็นเพียงนิยายอันหนึ่งที่เล่าสืบกันมาเท่านั้น นิยายเชิงตำนานเช่นนี้ของไทยเราก็มีมากซึ่งมีผู้เข้าใจผิดๆ ไปว่าเป็นพงศาวดาร ปัญหาจึงมีว่าอะไรเป็นนิยาย หรือเรื่องต้นเค้าของหนังสือเรื่องอิเหนา

ในชั้นนี้ค้นได้เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ปันหยี สะมิหรัง” ที่แปลนี้ ต้นฉบับเก่าเป็นหนังสือภาษาชวา เก็บไว้ที่ห้องสมุดของสมาคมศิลปวิทยาเมืองบะตาเวีย ส่วนฉบับที่ได้มาแปลนี้ เป็นภาษามะลายู แปลจากต้นฉบับชวานั้นอีกชั้นหนึ่ง คำ “สะมิหรัง” แปลว่า แปลงหรือปลอมตัว คือว่าปันหยีแปลง คำนี้มีอีกนัยหนึ่งว่า “มิสาหรัง” ซึ่งเตือนให้นึกถึงหนังสืออิเหนาของเราซึ่งออกชื่อปันหยีว่า “มิสาระปันหยีสุกาหรา” จะอย่างไรก็ตามเมื่ออ่านไปแล้วย่อมตระหนักว่า มีเค้าที่จะลงรอยกับเรื่องอิเหนาของเราแต่ในกระบวนชื่อเมือง ชื่อคนและวงศ์วารบ้างเท่านั้น ว่าโดยเนื้อเรื่องแล้วต่างกันมากอยู่ จะเทียบกับอิเหนาใหญ่หรืออิเหนาเล็กก็ไม่ตรงกันทั้งนั้น ส่วนที่แตกต่างกันมากน้อยเพียงไร ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวในที่นี้ปล่อยไว้ให้ผู้อ่านพิจารณาเอง

การที่เนื้อเรื่องแตกต่างกันมากดังนี้ ถ้าจะอนุมานว่าเป็นเหตุเพราะคนที่นำเรื่องเข้าไปเล่าในกรุงสยามนั้นฟั่นเฟือนจำเรื่องไม่ได้ จึงไปเล่าผิดเพี้ยนไปจากเค้าเรื่องเดิมก็เห็นจะไม่เป็นการถูกต้อง ด้วยดูผิดแผกกันเกินที่จะหลง จึ่งน่าคิดเป็นอย่างอื่น คืออย่างหนึ่งผู้รับฟังเรื่องในกรุงสยามครั้งโน้น เมื่อเรียบเรียงลงเป็นหนังสือ เห็นว่าเรื่องราวของเดิมไม่สนุกพอ จึงดัดแปลงเสียตามชอบใจ หรือมิฉนั้น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเรื่องราวอันตั้งเค้าโครงเป็นอย่างเดียวกันนี้มีอยู่เป็นหลายเรื่องด้วยกันมาแต่เดิม เช่นเป็นรูปอิเหนาใหญ่เรื่องหนึ่ง เป็นรูปอิเหนาเล็กเรื่องหนึ่ง เป็นรูปเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้อีกเรื่องหนึ่ง และคงจะยังมีรูปอื่นยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก น่าเชื่อมากว่าเป็นเช่นที่กล่าวอย่างหลังนี้ จึ่งยังจะต้องสืบค้นต่อไป อาจพบฉบับที่มีเค้าเรื่องตรงกับอิเหนาใหญ่หรืออิเหนาเล็ก

อนึ่ง ข้าพเจ้าอนุมานว่าผู้ที่นำเรื่องอิเหนาเข้าไปเล่าในกรุงสยามครั้งกรุงเก่านั้น คงจะเป็นคนชวาหรือมะลายู แต่คงจะมีล่ามแปล ล่ามนั้นน่าจะเป็นชาวมะลายูทางปักษใต้ซึ่งพูดไทยได้เป็นเสียงชาวนอก หรือเป็นคนไทยชาวนอกที่พูดมะลายูได้ เหตุฉนั้นสำเนียงชื่อเสียง และคำมะลายูทั้งปวงที่ใช้ในเรื่องอิเหนาจึ่งมีเสียงผันเป็นเสียงชาวนอก ด้วยภาษามะลายูก็ดีชวาก็ดี ไม่มีเสียงผัน ถ้าไม่มีเสียงชาวนอกมาแซกแล้ว ชื่อเสียงในหนังสืออิเหนาก็ไม่น่าจะใช้เสียงผันดังนั้น ตัวอย่างเช่น ตาฮา เปนดาหา สิงคัสซารี เป็นสิงหัศส้าหรี บายัน เป็นบาหยัน วายัง เป็นว่าหยัง เป็นต้น แต่นี้เป็นการเดาโดยแท้ ไม่มีหลักฐานอะไรประกอบ อย่างไรก็ดี สำเนียงที่ใช้ในชื่อเสียงถ้อยคำเหล่านี้ ตามระเบียบในหนังสืออิเหนาของไทย เป็นที่ขึ้นใจแก่ไทยเราเสียเต็มประดาแล้ว จะแปลงเสียงไปอย่างอื่นก็รู้สึกเคอะ เพราะฉนั้น เมื่อเรียบเรียงคำแปลเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้สำเนียงคล้อยตามไปอย่างอิเหนาฉบับภาษาไทยนั้น เพื่อให้เป็นที่ซึมทราบ แต่ที่ผิดแผกกันก็กระแหนะไว้บ้างพอให้เห็นต่างกัน อนึ่งสำเนียงสระอี กับสระเอ สระอุ กับสระโอ สองคู่นี้ในภาษามะลายูใช้สับปลับกันเนืองๆ แล้วแต่ถิ่นที่อยู่ของผู้พูด เช่น บุหรง จะว่าบุหรุง หรือมะดีหวี จะว่ามะเดหวี ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่างไม่ผิด

อนึ่ง จะขอกล่าวสำทับไว้ว่าหนังสือเรื่องปันหยีสะมิหรังนี้ไม่ใช่พงดาวดารตำนานเมืองชวา เป็นเพียงนิทาน ถ้าจะเรียกว่าเป็นเรื่องพงดาวดาร ก็ได้แต่โดยพยัญชนะของคำนั้น กล่าวคือ เรื่องวงศเทวดาอวตาร

ในการแปลหนังสือนี้ ข้าพเจ้ามิได้ใช้วิธีแปลด้น ได้พยายามพี่สุดที่จะแปลให้ตรงคำตรงความตลอดไป เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นสำนวนหนังสือของกวีชวา ซึ่งอ่านโดยพจารณาจะเห็นได้ว่าสำนวนที่เขาใช้นั้นก็มีท่วงทีนักเลงในเชิงกวีอยู่ไม่น้อย

                                                                                                 บันดุง ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5529


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 125.0.0.0 Chrome 125.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2567 14:24:45 »



อิเหนา : ภาพโดย ครูเหม เวชกร

อิเหนา
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามะลายู

ภาคปฐม

ผู้เจ้าของเรื่องนี้กล่าวว่า นิทานนี้เป็นเรื่องในกะยาหงัน โลกสวรรค์ชั้นฟ้า ใคร่จะทำเป็นบทละคอน เพื่อให้กลายเป็นตำนานนิยายด้วย เหตุว่าในกาลนั้นในโลกเรานี้ ยังไม่ครึกครื้นแน่นหนาฝาคั่งและมนุษย์ก็ยังไม่มีมากนัก จึงชาวกะยาหงันปรึกษาพร้อมใจกันจะลงสู่ยังโลกพิภพ เพื่อจะได้เกิดเป็นเรื่องละคอนและตำนานยืดเยื้อสืบไปช้านาน

ครั้นพร้อมใจกันดังนั้นแล้ว ต่างก็จุติลงยังมนุษย์โลก ในจำนวนนี้เข้าสู่รูปมนุษย์เป็นระตู สี่องค์ คือ ระตูกุรีปัน ระตูดาหา และระตูกากะหลัง กับพระนางบุตรี นีกู คันฑะส้าหรี ณเขากูหนุงวิลิส๑๐ ซึ่งประตาปา๑๑ผนวชอยู่ ณ ที่นั้น

ก็และระตูทั้งสี่นี้เป็นพี่น้องกันสิ้น และต่อมาภายหลังก็กลายเป็นเรื่องนิทานที่สนุก อันพวกดาหลัง๑๒ นำมาใช้เป็นเนื้อเรื่องใหม่สำหรับเล่นละคอน

เรื่องเทพาวตารจากโลกสวรรค์ลงสู่โลกพิภพ ที่เล่าแถลงนี้ก็มิได้มีความมุ่งมาทอย่างอื่นใดนอกจากจะให้เป็นอุบายและแบบอย่างที่จะให้เกิดเป็นนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งไพเราะสนุกสนานเท่านั้น

อันระตูที่มีชนมายุยิ่งกว่าองค์อื่นๆ นั้นประทับครองบัลลังก์ราชย์ ณ นครกุรีปั่น มีเกียรติเลื่องชื่อฦๅชาขจรไปทุกประเทศเขตต์นิคมชนบท และทั่วทุกซอกตรอกทาง ร้านตลาด ด้วยอาณาเขตต์ของพระองค์กว้างใหญ่มาก และเป็นที่นิยมรักใคร่ของบรรดาพ่อค้าวานิช เหตุด้วยมีพระราชอัธยาศรัยบริบูรณ์ด้วยขันตีธรรมสุจริตเลิศโดยพระชาติวุฒิ และวิจักขณญาณ๑๓ และเข้มแข็งในเชิงยุทธ เป็นที่รักใคร่ยิ่งนักของประชาชน และเหล่าตำมะหงง๑๔ มนตรีมุข ด้วยพระจรรยาเที่ยงธรรม ไม่โปรดฟังถ้อยคำอันไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเรื่องใด ย่อมทรงใคร่ครวญชั่งน้ำหนักผิดชอบก่อนทั้งสิ้น พระราชจรรยาของพระเจ้ากรุงกุรีปั่นมีปกติเป็นประการฉนี้แล

ระตูองค์ที่สองรองลงมานั้นครองราชบัลลังก์นครดาหา.

ก็และระตูดาหานั้นมีอัครชายาเป็นประไหมสุหรีหนึ่ง มีชายารอง๑๕ สองประไหมสุหรีนั้นมีนามว่าพระนางบุตรีบุษบา หนึ่งหรัด๑๖ ส่วนชายารองนั้น นางหนึ่งมีนามว่ามหาเดหวี๑๗ และอีกนางหนึ่งซึ่งสาวกว่าเพื่อน และโปรดมากนั้น มีนามว่าท่านลิกู๑๘ และพระราชอัธยาศรัยของระตูดาหานั้นมักปล่อยพระองค์น้อมไปตามตัณหากามารมย์ หมกมุ่นลุ่มหลงด้วยสตรีเพศ พระชายาสนมนางห้ามคนใดเป็นที่ทรงถวิลจินดา๑๙ สิเนหาตองพระหทัยแล้ว จะมีใจปรารถนาสิ่งอันใดก็ทรงอนุวัตตามเป็นนิตย์ อนึ่ง พระอุปนิสัยมีขันตีธรรมแรงกล้า พระชายาสนมกำนัลในจะเจรจาว่ากล่าวประการใดก็ไม่ทรงถือโทษเอาผิดเสียเลย พระราชจรรยาของเจ้ากรุงดาหามีปกติเป็นประการฉนี้แล.

ฝ่ายว่าองค์ที่สามรองลงมานั้นก็เป็นชาย และได้เป็นราชาครองเมืองกากะหลัง ก็และนครของพระองค์นั้นสงบราบคาบดีด้วยสันติภาพ มีพ่อค้าพานิชน้อยใหญ่ตั้งห้างร้านซื้อขายเป็นอันมาก ทั้งคนที่สมบูรณ์มั่งคั่งก็มีอยู่มากในนครนั้น พระราชวังก็ใหญ่โตสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงาม ทั้งบรรดาเครื่องตั้งเครื่องแต่งก็ล้วนแต่งามประณีตรุ่งโรจน์ สระน้ำ และกำแพงบรรดามีอยู่ขวาซ้าย ถนนหนทางใหญ่น้อย ก็ล้วนแต่ทำด้วยศิลา ถนนหลวงสายใหญ่ก็ร่มรื่นตลอดไปด้วยต้นไม้ใหญ่อย่างงามๆ กับต้นไม้ผลอันโอชารส

อนึ่งเล่าพระราชอัธยาศรัยของพระองค์นั้น มักทรงคล้อยตามคำพูดและความประสงค์ของคนทั้งหลาย ไม่โปรดที่จะทรงถือโทษเอาผิดผู้หนึ่งผู้ใดเลย ไม่แต่คำของบัณฑิต ซึ่งสโมสรพร้อมใจกันเพื่อจะทำกิจการอันดีอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น แม้แต่คำของพระชายา มนตรี เสนา นักรบ และดะหมัง๒๐ ตำมะหงุงทั้งปวงก็ทรงเชื่อฟังด้วยสิ้น เหตุฉะนั้นนครกากะหลังนั้นจึงแน่นหนาฝาคั่งไปด้วย บัณฑิตและชีพ่อพราหมณ และอาจารย์นักพรตซึ่งลงมาจากภูเขาแล้วเลยตั้งอาศรัยอยู่ในนครนั้น เพื่อจะสั่งสอนกุลบุตรซึ่งเปนชาวนาครกากะหลัง เรื่องดังมีมาเป็นประการฉนี้แล.

ฝ่ายว่าองค์ที่สี่ในจำนวนระตูนั้นเป็นองค์หญิง มีโฉมพระพักตรงามยิ่งนัก ทรงนามว่า บีกู คันฑะส้าหรี มีที่ประทับอยู่บนเขากุหนุงวิสิส เพราะพระอัธยาศรัยของบีกูคันฑส้าหรี นั้น โปรดบำเพ็ญประตาปา และในเวลากลางวันก็ดี กลางคืนก็ดี โปรดแต่ไปประทับอยู่ในป่าชัฎบนเขานั้นเท่านั้น พระองค์ทรงศักดิ์สิทธิ๒๑ยิ่งนัก และมีฤทธิสามารถเล็งเห็นเหตุการณใกล้ไกลทั้งปวง ไม่แต่ว่าในบรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองกากะหลัง และดาหาเท่านั้น แม้แต่เรื่องราวและความประพฤติของคนที่อยู่ในเมืองห่างไกลยิ่งกว่านั้นก็สามารถเล็งเห็นทราบตระหนักได้

เพราะฉะนั้น บีกูคันฑะส้าหรี จึงประทับอยู่แต่บนกุหนุง ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ในบ้านในเมือง และตามข่าวที่คนเล่าแถลงกันนั้น นัยว่าเป็นด้วยเธอเป็นสตรีซึ่งไม่มีความประสงค์จะมีสวามี พระราชามหากษัตริย์ได้มีมาสู่ขอหลายองค์แล้ว เพื่อที่จะหาไปเป็นประไหมสุหรี เธอก็มิได้ทรงรับ กลับรู้สึกเบื่อหน่ายพระหฤทัย เหตุฉะนั้น จึ่งเสด็จออกประตาปา ประทับอยู่แต่ที่อาศรมสถาน ถเ กุหนุงวิลิสนั้นแล.

เมื่อออกบำเพ็ญประตาปาแล้วมิช้านาน ระตูเธอก็ปรีชาสามารถในวิทยาคมต่าง ๆ รอบรู้ในสรรพสิ่งอันน่าพิศวงอัศจรรย์ และกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์มาก ครั้นแล้วก็ทรงสั่งสอนนักพรต พราหมณาจารย์และบัณฑิตเป็นอันมาก จึงมีนามกรฦๅชาปรากฏไปโดยรอบบรรพตนั้น เป็นที่เคารพนับถือของบรรดานักพรตนักบวชซึ่งอยู่ในปกครองของเธอ ด้วยว่าจะตรัสคำใดก็ดี จะประสงค์จำนงหมายสิ่งใดก็ดี ย่อมได้รับเทวานุมัติขององค์ สัง หยัง ชคตนาถ๒๒ ทั้งสิ้น จะขอร้องอันใดมหาเทวาธิราชเจ้าก็โปรดให้สำเร็จตามประสงค์ ทั้งเป็นที่รักของบรรดาเทวาและบะตาระ๒๓ ทั่วไป ไม่แต่พราหมณาจารย์และบัณฑิตเท่านั้น แม้แต่สัตว์ และภูตปิศาจอันดุร้าย บรรดาอยู่ป่าชัฎนั้น ก็ย่อมยำเยงเกรงกลัวก้มศีรษะนบนอบต่อบีกู คันฑะส้าหรีนั้นสิ้น แม้กระทั่งยมบาล ผีคนอง หลอนหลอก และเสือสมิง๒๔ ก็เคารพยำเกรงบีกู คันฑส้าหรีนั้นหมด ก็และที่เธอเสด็จไปประทับอยู่บนกุหนุงวิลิสนั้นได้นำไปด้วยซึ่งพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลใน อันพลอยเป็นนักพรตประตาปาไปด้วย และวิมุติแล้วสิ้นจากตัณหา และความใคร่ ในอันหาสุขหาทรัพย์แห่งโลกนี้ เพราะเหตุเขาทั้งหลายประพฤติเจริญรอยตามพระนางบุตรีนั้น ในจำนวนนางพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลในนั้น มีคนหนึ่งซึ่งมีนามว่า อุบุน อุบุน อินหนัง๒๕ เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระนางบุตรีอย่างยิ่ง ไม่ว่าเวลากลางวันกลางคืนเช้าหรือค่ำ และนอบน้อมบูชาสรรเสริญคุณสังหยัง เทวดา ปะตาระชคัต มหาเทวราชอยู่เป็นนิตย์ เรื่องราวความเป็นไปของบีกู คันฑะส้าหรีมีประการดังกล่าวนี้แล

บัดนี้จะย้อนกล่าวถึงองค์ระตูกุรีปั่น เมื่อได้ครองบัลลังกราชย์นั้นมาแล้วมิช้านาน วันหนึ่งก็ถึงกษณฤกษงามยามดี ก็ได้พระราชโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งมีโฉมพระพักตรงามศิริวิลาศ พระฉวีวรรณนวลละอองผ่องใสไพโรจน์ลักษณ๒๖ บะตาระ อินทร๒๗ ในกะยาหงันชั้นฟ้าฉนั้น แล้วจึงได้พระนามว่า ระเด่น อินู กรตะปาตี๒๘ ฝ่ายทวยประชาชาวนาครถวายพระนามเรียกว่า ระเด่น อัสมาหรา หนึ่งหรัด๒๙ พระกุมารนี้มีพระพักตรงามยิ่งนัก และเป็นที่สิเนหาของทวยเทพบะตาระและเทวาทั้งหลาย ทั้งมีพระจริยานุวัตรน้อมไปในทางทำบุญให้ทาน ตรัสแต่ปิยวาจาไพเราะเสนาะโสตรอ่อนหวานลมุนลม่อม ประพฤติพระองค์งดงามน่ารักใคร่ อย่าว่าแต่สตรีเพศเลย แม้แต่ผู้ที่เป็นชายยังมีใจพิศวาสดิ์รักใคร่อย่างไม่สมฤดีในองค์ระเด่น อินู กรตะปาตี นั้น ฝ่ายพระราชา สัง ระตู กุรีปั่น ก็ทรงพระสิเนหาอาลัย๓๐เป็นอันมาก ตรัสสั่งกำชับให้พี่เลี้ยงนางนมข้าไทยคอยเฝ้าบริหาร ระแวดระวังเป็นอย่างดี ครั้นพระราชกุมารมีพระชนมายุสมควรจะศึกษา จึงจัดให้เล่าเรียนวิทยาคมบางประการ อันเป็นคุณประโยชน์แก่บุรุษชาติ และได้มีผู้เป็นสหายผู้ตามเสด็จของระเด่น อินู กรตะปาตี นั้นขึ้นสี่คน แต่ล้วนเป็นบุตรขุนนางตำมะหงุงสิ้น คนที่หนึ่งมีนามว่า ยะรุเดะ คนที่สองมีนามว่า ปูนตา คนที่สามมีนามว่า การะตาหลา และคนที่สี่มีนามว่า ประสันตา๓๑ ทั้งสี่คนนี้ได้เป็นผู้บรรเลงตลกคนองและเป็นผู้ตามเสด็จองค์ระเด่น อินู กรตะปาตี จะเสด็จไปไหนก็ตามไปด้วย มิได้พรากจากกันแต่สักวันเดียว อนึ่งเล่าทั้งสี่คนนี้เข้าใจในการที่จะปลอบโยนพระหทัยเจ้านายของตน และฉลาดในอันพูดจาเอาพระหทัยและรับใช้เจ้านาย ด้วยว่าทั้งสี่นายนี้คล่องแคล่วนักในการเล่นหัวฟ้อนรำและทำตลกคนอง จนกระทั่งใครๆ ก็ได้เห็นกิริยาอาการของผู้ตามเสด็จทั้งสี่คนนี้แล้วจะต้องหัวเราะก๊าก ๆ๓๒และถ้าเห็นเขากำลังเล่นตลกคนองแล้ว อย่าว่าแต่คนที่กำลังมีใจเศร้าโศกเลย แม้แต่คนกำลังร้องไห้อยู่ น้ำตาก็เหือดหายไป แล้วก็หัวเราะก๊ากๆ ฝ่ายระเด่น อินู กรตะปาตี ก็โปรดปรานคนตามเสด็จทั้งสี่นี้ยิ่งนัก และฝ่ายข้างทั้งสี่คนนั้นก็มีความจงรักภักดีในเจ้านายของตนเป็นอันมาก ไม่มีเลยแต่สักวันเดียวที่จะห่างจากพระองค์ไปพฤติการณ์เป็นอยู่ดังนี้แล

บัดนี้ จะกล่าวถึง สัง ระตู กากะหลัง เมื่อได้ประทับเหนือบัลลังก์ครองราชย์ ณ นครกากะหลังมาแล้ว มิช้านาน ก็ได้โอรสองค์หนึ่งได้นามว่า ระเด่นสิงหะมนตรี๓๓ สังระตูนั้นจึงตรัสให้มีพี่เลี้ยงนางนมบำรุงเลี้ยงพระกุมารนั้นสืบไป ท้าวเธอทรงสิเนหาอาลัยยิ่งนักในพระราชบุตรนั้น ด้วยว่าพระองค์มีพระราชโอรสแต่องค์เดียวนี้ หามีสองสามรองไปอีกไม่ ครั้นระเด่นสิงหะมนตรีนั้นทรงเจริญเติบใหญ่ขึ้นมีพระอุปนิสัยเลื่อนลอยไม่ดีเลย โปรดแต่คำเยินยอ บางเวลามีพระอัธยาศรัยประดุจวิกลจริต ฝ่ายพระราชาก็ทรงไร้อุบาย และพระหฤทัยไม่แข็งพอในอันจะห้ามปรามป้องกันความประพฤติและการกระทำผิดของพระราชโอรสได้แต่จะคล้อยตามความประสงค์ของเธอ จะขอประทานสิ่งใดก็มีแต่ทรงอนุญาติสิ้น ด้วยทรงสิเนหาอาลัยในพระราชบุตรนี้มากนัก เพราะมีอยู่แต่องค์เดียวเท่านั้น ถึงเวลาพลบค่ำทุกๆ วัน สิงหะมนตรีนั้นก็แต่งภูษาภรณ์อันมีราคาแพงๆ ไม่ยอมแพเจ้านายลูกหลวงอื่นใด ด้วยว่าพระชนกเป็นกษัตริย์มหาศาลครองเมืองใหญ่ ก็และเครื่องภูษิตาภรณ์ที่ทรงนั้นใช้อยู่มินาน พลันก็ผลัดเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวก็ทรงทองกรรูปนาคประดับพลอยมรกฏและทรงคาดผ้าไหมพันสามรอบขึ้นไปจนจรดพาหา จะทรงทำการสิ่งใดก็ชอบแต่โอ้อวดออกหน้าอยากให้คนสรรเสริญเยินยอ บรรดาชาวนาครใครไม่ชมโฉมหรือไม่ยอมรับว่าเธอเป็นเจ้านายรูปงามแล้วก็ต้องถูกลงพระอาชญาตบเตะ หากใครเยินยอ ดังอุปมา๓๔ ว่า ระเด่น สิงหะมนตรี งามเฉิดฉายว่องไวนักฉนี้ไซร้ ก็ได้ประทานพระอนุเคราะห์๓๕ ด้วยส้าโบะ๓๖ ผ้าคาด และธำมรงค์ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น เพราะเป็นที่พอพระหฤทัยในอันกล่าวชมพระรูปพระโฉมว่าดีงามนั้น อนึ่งเล่า จะตรัสอันใดก็มีแต่พระวาจาก้าวร้าวและหยาบคาย ไม่มีเสียเลยที่จะใช้ถ้อยคำอันสุภาพและโสภณ๓๗หรือเรียบร้อย พระประพฤติของเธอเป็นดังกล่าวนี้แล

บัดนี้จะกล่าวถึงระตูดาหา ท้าวเธอมีราชธิดาสององค์ ๆ หัวปีมีนามว่า พระบุตรี ก้าหลุ จันตะหนา กิระหนา๓๘ เป็นธิดาขององค์ประไหมสุหรี นางมีศิริรูปฉวีวรรณนวลลอองผ่องใสงามสุดที่จะหาคำพรรณาได้ นาสิกประดุจกลีบกระเทียม นัยเนตรดุจดวงดาราทิศบุรพา ขนเนตรงอนพริ้ง นิ้วหัตถ์เรียวประดุจขนเหม้น เพลาน่องดังท้อง (อุ้ง) เมล็ดข้าวเปลือก ส้นบาทดังฟองไข่นก ปรางดังมะม่วงป่าห้อยอยู่ ขนงโค้งดังงากุญชร ริมโอษฐ์ดังโค้งมะนาวตัด เป็นอันยากที่จะเล่าแถลงให้พิศดารยิ่งกว่านี้ ด้วยจะหาที่ตำหนิตรงไหนแต่สักนิดหนึ่งก็หามีไม่เลย เป็นที่สนิธสิเนหาอย่างยิ่งแห่งประไหมสุหรี และพี่เลี้ยงนางนมทั่วไป อนึ่ง มีสาวสรรกำนัลในอยู่สองนางที่เป็นคนโปรดยิ่งนัก นางหนึ่งชื่อว่า เกน บาหยัน และอีกนางหนึ่งชื่อ เกน ส้าหงิด๓๙ นางกำนัลทั้งสองนี้มีความซื่อสัตย์ภักดี๔๐ ต่อองค์ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น มีลักษณะประดุจว่าเป็นชีวิตอันเดียวกัน อันพระบุตรีและนางกำนัลทั้งสองต่างมีความสิเนหาอาลัยซึ่งกันและกันดังนี้ ก็ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจเทวประสงค์ของเทพเจ้าทั้งหลายนั้นแล

ฝ่ายราชธิดาท้าวดาหาองค์เยาวนั้นเป็นของชายารองผู้มีนามว่าท่านลิกู ส่วนมหาเดหวีไม่มีบุตร ก็แต่กิระดังสดับมานั้นว่าเธอก็มีธิดาองค์หนึ่งนามกรว่า ประบาตะส้าหรี แต่ในหนังสือเรื่องนี้หากล่าวถึงไม่ กล่าวแต่ท่านลิกูเท่านั้นว่า ได้บุตรีมีนามว่า ก้าหลุ อาหยัง๔๑ เป็นธิดาชายารองของระตูดาหา ก็แลอัธยาศรัยของ ก้าหลุอาหยัง นั้น ไม่ซื่อตรงต่อ ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา แม้มีเรื่องอะไรแต่เล็กน้อยก็คอยแต่เก็บทูลฟ้องท้าวดาหา เพราะจะมีเหตุอะไรแต่สักนิดหนึ่ง เธอก็มักจะกรรแสงกลิ้งไปกลิ้งมาที่พื้นต่อหน้าท่านลิกูนั้น และไม่เคยยอมแพ้ใคร ชอบแต่จะให้คนพะนอ ส่วน ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น มีความประพฤติอ่อนโยน มีนิสัยอดทนและสุจริต คอยแต่ยอมแพ้เสียเสมอ และไม่เคยเอาความไปทูลร้องฟ้องแก่ประไหมสุหรีหรือสังระตูเลย ถึงยังเยาว์และยังไม่เดียงสา ก็รู้รักษาองค์ได้ดีแล้ว แม้กระนั้นก็ดี สังระตูก็ยังสิเนหาอาลัยยิ่งในก้าหลุ อาหยัง นั้น ด้วยก้าหลุ อาหยัง เป็นบุตรีท่านลิกู คือชายารองของสังระตู เหตุว่าท่านลิกูนั้นเป็นชายาสาว สังระตูทรงสิเนหาอาลัยมาก ไม่ว่าจะมีข้อพิพาทประการใดเป็นเอาชนะได้หมด หากว่ามีเรื่องอะไรแม้แต่เล็กน้อย ท่านลิกูนั้นก็มักจะเจรจาประชดกระทบกระแทก เช่นว่า

“เลิกกันเท่านั้นที, จริงสิ ข้าเจ้าเป็นเพียงหญิงชาวตลาด ไม่มีเชื้อวงศ์เทือกเถาเหล่ากอ ไม่มีใครรู้ว่าสืบพันธุ์มาแต่ไหน”

เหตุฉะนั้น สังระตู จึ่งลอายพระหฤทัย และทรงรู้สึกว่าไป ๆ ก็ถูกใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม แต่นั้นมาท่านลิกูจะพูดจาว่ากระไรก็ทรงคล้อยตามและตามใจทุกสิ่งทุกอย่าง ตามการณ์ที่เป็นดังนี้ไม่ช้าก็เป็นเรื่องเลื่องฦๅแพร่หลายไปจนกระทั่งถึงกรุงกุรีปั่นและกากะหลัง ซ้ำเมื่อท่านลิกูรู้สึกตนว่า สังระตู ทรงสิเนหาอาลัยในตนมาก ก็เกิดมีใจโหดร้ายขึ้นต่อองค์ประไหมสุหรี ผู้ชนนีของก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น ด้วยความเกลียดชังอย่างสาหัส ใคร่จะหาอุบายให้สังระตูทรงสละละทิ้งประไหมสุหรีเสียทีเดียว

มาวันหนึ่งประไหมสุหรีทรงแต่งองค์พระบุตรี ก้าหลุ จันตะหรานั้นด้วยเครื่องแต่งบางอย่าง ซึ่งทวีความงามของเธอขึ้นเป็นอันมาก ฝ่ายก้ากลุ อาหยัง ก็มีจิตรฤษยา จึงกลับไปขอให้พระมารดาของเธอคือท่านลิกูนั้นแต่งให้บ้าง ด้วยเธอจะไปประพาศตาหมัน๔๒บันยาส้าหรี กับจันตะหรา กิระหนา ฝ่ายจันตะหรา กิระหนา ใช้ผ้าคลุมเศียรสีชมภู ก้าหลุ อาหยังใช้ผ้าคลุมเศียรสีน้ำเงิน ครั้นก้าหลุ อาหยัง เห็นเครื่องแต่งองค์ของพระพี่นางไม่เหมือนกับของเธอ ซ้ำเห็นผ้าคลุมเศียรงามดียิ่งกว่าด้วย ก้าหลุ อาหยังก็เลยไม่อยากไป ด้วยเกิดทุกข์๔๓ขึ้นในหทัยของนาง ระแวงว่าสังระตูจะโปรดก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ยิ่งกว่าตน และสงกา๔๔ ว่า ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้นจะงามดียิ่งไปกว่าตน ด้วยที่มีทุกข์ระแวงกลัวว่าพระพี่นางจะยิ่งไปกว่าดังนี้ เธอจึงกรรแสงและตรัสว่า

“จริงสิ ข้าเจ้านี้เป็นลูกทิ้งขว้างและเป็นลูกเมียน้อย ไม่ใช่อาหนะ๔๕ ประไหมสุหรีจึงได้เป็นดังนี้ เสื้อผ้าของข้าเจ้านี้สังระตูประทานให้ผิดกัน ไม่ให้เหมือนกันกับองค์พระพี่นาง ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา”

สังระตูได้ทรงฟังถ้อยคำและทอดพระเนตร์เห็นอาการของ ก้าหลุ อาหยัง ดังนั้น ก็ทรงทุกขะจิตต์๔๖ โทมนัศและเจ็บพระหทัยยิ่งนัก แล้วจึงตรัสปลอบด้วยพระวาจาอันลมุนลม่อมว่า

“อุวะ๔๗ ลูกผู้ดวงใจของพ่อ เลิกที อย่าร้องไห้ไปเลย ใช่ว่าพ่อจะแต่งเธอให้ผิดแผกไปจากพี่สาว หรือจะยกย่องให้ต่างกันเมื่อไรมี เดี๋ยวเถอะ พ่อจะสั่งให้เปลี่ยนผ้าคลุมเศียรให้เธอเป็นอย่างอื่นให้งามยิ่งกว่านี้”

จึงก้าหลุอาหยัง สอื้นทูลว่า

“หม่อมฉันไม่รับประทาน จะขอแต่ให้ผ้าคลุมของหม่อมฉันนี้เหมือนกับของพระพี่นางก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น เท่านั้น”

กาลนั้น สังระตู ก็ตรัสสั่งให้เปลี่ยนผ้าคลุมเศียรเสียใหม่ให้เหมือนกันกับของ จันตะหรา กิระหนา ก็และอันที่จริงนั้นผ้าคลุมทั้งสองผืนนั้นก็มีราคาเท่ากัน หากแต่ต่างรูปต่างสีเท่านั้น อนึ่งเล่าเมื่อจะประทานผ้าทรงเครื่องแต่งแก่สององค์นี้ครั้งใด ก็โปรดให้ก้าหลุ อาหยังได้เลือกก่อนเสมอ แลวจึงประทานเศษ๔๘เหลือจากเลือกนั้นแก่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา เพราะ สังระตู ทรงสิเนหาอาลัยโปรดก้าหลุ อาหยังมากกว่า และทรงเห็นแก่ท่านลิกู พระมารดาของเธอนั้นด้วยซึ่งโปรดยิ่งกว่าประไหมสุหรีชนนีของก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น อีกประการหนึ่งด้วยเหตุที่สังระตูโปรด ท่านลิกูก็ทูลยุยงส่อเสียดอยู่ทุกวันมิได้ขาด จนกระทั่งประไหมสุหา และธิดานั้นหาชีวิตอันสงบสุขมิได้เลย ท่านลิกูผู้มีใจทุจริตเอาชนะได้อย่างนี้ จึงนับวันยิ่งกำเริบถือตัวยิ่งขึ้นโดยอันดับ

ฝ่ายก้าหลุ อาหยัง เล่า ก็ร้องฟ้องต่อมารดาอยู่แทบทุกวันเช่นว่า “ในพวกพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลในข้าหลวงบริวาร๔๙นั้น แต่พอหม่อมฉันไปเล่นกับพระพี่นางจันตะหรา กิระหนาแล้ว เขาสมาคมชวนเล่นชวนคุยแต่กับพระพี่นางเท่านั้น ส่วนหม่อนฉันจะหาคนคบค้าสักคนเดียวก็ไม่มี อย่าว่าแต่จะชวนเล่นเลย แม้แต่จะพูดจาปราสัยเท่านั้นก็ไม่มี

ครั้นท่านลิกูได้ฟังดังนั้น ก็คาดว่าเป็นความจริง จึงลงอาชญาทุบตีตำหนิติโทษแก่บรรดาพี่เลี้ยงนางนมข้าหลวงสาวใช้ทั่วทั้งหมดด้วยกัน ซ้ำด่าว่าตั้งแต่สูงลงไปหาต่ำ ตั้งแต่ปู่ย่าตายายลงไปหาหลาน และติเตียนปรามาทตลอดเจ็ดชั้นชั่วคน นับแต่ปู่ย่าตาทวดลงไปเทียว

มาวันหนึ่ง ต่างองค์ต่างอยากจะไปประพาศเล่น ที่ในสวนบันยารันส้าหรีและเด็ดเก็บดอกไม้ ต่างองค์ก็ทรงเครื่องถึงขนาด และก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ก็ดี ก้าหลุ อาหยัง ก็ดี สาวสรรกำนัลในก็แต่งองค์ถวายเป็นอย่างดี งามพักตรงามรูปราวกับกินรในอินทรโล ๕๐ลงมาสู่พื้นพิภพ ครั้งแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จแล้วจึงจรลีเข้ายังตาหมันบันยารันส้าหรีนั้น มีเกน บาหยัน และเกนส้าหงิดตามเสด็จกับท่านมหาเดหวี ประไหมสุหรี และท่านลิกู ก็ตามเสด็จ สังระตูไปด้วย กำลังบทจรจะเข้าตาหมัน บันยารันส้าหรีนั้น ครั้นเข้าถึงในสวน จึงมหาเดหวีตรัสประพาศว่า “เออแนะ ลูกแม่ จงไปเล่นเก็บดอกไม้กับพี่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาสิ ฝ่ายแม่นี้จะเล่นกับลิกู มารดาของลูกและกับประไหมสุหรี”


-----------------------------------
ต้นฉะบับว่า “บาหาลิยัน ปรตามะ”
ต้นฉบับว่า “กายังงัน” แปลว่าสวรรค์ ในพระราชนิพนธ์อิเหนาใช้คำกะยาหงัน
คำมะลายู “ลาคอน” หรือ “ละลาคอน” แปลว่าเรื่องที่เล่นละคอน ไม่ใช่ตัวละคอน
ในพระราชนิพนธ์อิเหนา ระตูเป็นเจ้าครองเมืองชั้นต่ำๆ เท่านั้น แต่ในฉบับนี้ เรียกสี่กษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาว่าระตู
พ.ร.น. อิเหนา กูเรปั่น
พ.ร.น. อิเหนา กาหลัง  
ต้นฉบับใช้คำ “ปุตรี”
คำ “บีกู” นี้มาจากคำภิกขุ หรือ ภิกษุ ใน พ.ร.น. อิเหนาใช้นำชื่อพราหมณ์ เช่น “บีกูปะระมาหนา” (คำปะระมาหนา มาจากมะลายู “บราหมานะ” คือ พราหมณ)
พ.ร.น. อเหนา สิงหัศส้าหรี
๑๐ พ.ร.น. อิเหนา เรียกเทวิลิสมาหรา
๑๑ พ.ร.น. อิเหนา ใช้คำปะตาปา, คำมะลายู “บูรตาปา” หรือ “ปรตาปา” ผูกมาจากคำสันสกฤต ตะปะ คือ บำเพ็ญตะบะ
๑๒ คำ “ดาลัง” แปลว่าผู้พากย์ละคอน. โขน. กับทั้งพากย์ทั้งเชิด หุ่น. หนัง พ.ร.น. อิเหนา “ดาหลัง”
๑๓ ต้นฉบับใช้คำ “มิจักซานะ” – พิจักษณ
๑๔ ต้นฉบับ “ตะมังงุง” แปลว่าขุนนางชั้นหนึ่ง พ.ร.น. อิเหนาใช้ว่า ตำมะหง และใช้ฉะเพาะเสนาผู้ใหญ่
๑๕ ต้นฉบับใช้คำ “คุนดิ๊ก” ซึ่งแปลโดยนัยสามัญว่าอนุภรรยา ใน พ.ร.น. อิเหนามีระเบียบมเหษี ๕ คือประไหมสุหรี, มะดีหวี, มะโต, ลิกู และเหมาล่าหงี, คำคุนดิ๊กไม่มีใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา.
๑๖ ต้นฉบับว่า “ตอน ปุตรี ปุสปะ นิงรัต”
๑๗ ต้นฉบับว่า “มาหาเดวี” คือมหาทวี ใน พ.ร.น. อิเหนากลายไปเป็นมดีหวี, ในคำแปลนี้เขียนมหาเดหวีเพื่อจะรักษาสำเนียง พ.ร.น. อิเหนาไว้บ้าง
๑๗ ต้นฉบับว่า “ปาดุกะ ลิกู” คำปาดุกะ เป็นคำยกย่องใช้ได้แต่เจ้าแผ่นดินลงไปจนถึงขุนนาง ตรงกับพระบาท, ฝ่าบาท, ใต้ท้าว ฯลฯ ในคำแปลน่าใช้ “ท้าว” แต่เกรงจะกลายเป็นเฒ่าแก่ท้าวนางไป จึงใช้ “ท่าน” ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ
๑๘ ต้นฉบับว่า “ปาดุกะ ลิกู” คำปาดุกะ เป็นคำยกย่องใช้ได้แต่เจ้าแผ่นดินลงไปจนถึงขุนนาง ตรงกับพระบาท, ฝ่าบาท, ใต้ท้าว ฯลฯ ในคำแปลน่าใช้ “ท้าว” แต่เกรงจะกลายเป็นเฒ่าแก่ท้าวนางไป จึงใช้ “ท่าน” ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ
๑๙ ต้นฉบับใช้คำ “จินตะ”
๒๐ กะหมังเป็นขุนนางหรือเสนาชั้นรองตรงกับใน พ.ร.น. อิเหนา
๒๑ ต้นฉบับใช้คำ “สักติ”
๒๒ “สัง” ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อเทวดา หรือคำยกย่องอย่างสูง “หิยัง” หรืออ่านรวบเป็น “หยัง” เป็นคำเรียกทำนอง “โอม” ของเรา. คำนี้มีใน พ.ร.น. อิเหนา เช่น ชื่อเต็มของอิเหนาขึ้นต้นว่า “หยังๆ” ฯลฯ คำชคตนาถนั้นในภาษามะลายูว่า “ชะคัตนาตะ” คงมาแต่ภาษาสันสกฤตในปทานุกรม มอเนียร วิลเลียมส์ ค้นพบ “ชคตปติ” แปลว่าเจ้าโลก
๒๓ “บะตะระ” หรือบางที “ปะตาระ” แปลว่าเทวดา, พ.ร.น. อิเหนา “ปะตาระกาหรา” สันนิษฐานว่าจะมาแต่คำสันสกฤต ภัตตารกะ ซึ่งแปลว่าผู้ซึ่งพึงเคารพนับถือ ใช้แก่เทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ (ดูมอเนียร วิลเลียมส์)
๒๔ ต้นฉบับ ใช้คำมลายูว่า “ปชะชารัน” แปลโดยอรรถาธิบายว่า คนกลายเป็นเสือ แต่เสือสมิงของไทยเราดูเหมือนว่า เสือซึ่งกลายเป็นคนได้และกลับเป็นเสืออีกก็ได้
๒๕ นางยุบล ในพ.ร.น. อิเหนาอาจมาจากชื่อนี้ แต่ในต้นฉบับนี้ไม่ปรากฎว่าเป็นนางค่อม คำ “อินหนัง” นั้นที่ถูกอินดัง แต่ออกเสียง น.ด. กล้ำเสียง ด หายไป ตามความเข้าใจในปัจจุบันนี้แปลว่าหญิงขอทาน หรือหญิงต่ำ คำ “แอหนัง” ที่ใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา หมายความว่าชีนั้นคงมาจากคำนี้ ซึ่งตามความเข้าใจในหนังสือนี้ก็เข้าเค้าเป็นชี
๒๖ ต้นฉบับใช้คำ “ลักซานะ”
๒๗ ต้นฉบับใช้คำ “บะตาระ อินดระ” คำอินดระในภาษามลายูแปลว่า พระอินทร์ก็ได้ แปลว่าเทวดาเท่านั้นก็ได้ เหมือนกับคำ “เดวะ” “เดวาตะ”
๒๘ “อินู” ตรงกับ อิเหนา “กรตปาตี” ไพล่ไปตรงกับ กะรัตปาตี แต่ในสร้อยอิเหนา ใน พ.ร.น. ก็มีทั้งคำ กรตะทั้งปาตี – คำกรตะ แปลว่า ความสงบก็ได้ แปลว่าเมืองก็ได้ ส่วนปาตีนั้นก็คือ บดี
๒๙ “ระเด่น อัสมารา นิงรัต”
๓๐ ต้นฉบับใช้คำ “กาซิห์ ดัน ซายัง” กาซิห์แปลว่ารัก ซายัง แปลว่าเสียดาย
๓๑ พี่เลี้ยงสี่ ตรงกับ พ.ร.น. อิเหนา จะเพี้ยนก็แต่ด้วยสำเนียงเล็กน้อยเท่านั้น
๓๒ ต้นฉบับว่า “คะลัก คะลัก” จึงแปลว่า ก๊ากๆ
๓๓ ต้นฉบับว่า “สิงคะมันตรี” ใน พ.ร.น. อิเหนา เรียกอิเหนาว่าระเด่นมนตรี
๓๔ ต้นฉบับใช้คำ “อุปามะ”
๓๕ ต้นฉะบับใช้คำ “อนฺคราหะ”
๓๖ “ซาบุก” แปลว่าผ้าคาดเอว, รัตปคต ฯลฯ ใน พ.ร.น. อิเหนา “ส้าโบะ สะใบ”
๓๗ ต้นฉบับ ใช้คำ “โสปัน”
๓๘ ก้าลุห์” ในหนังสือนี้ดูเป็นคำนำนามพระบุตรี ใน พ.ร.น. อิเหนาไม่มีใช้ แต่ในอิเหนาใหญ่มี “บุษบา ก้าโหละ” จึงได้ใช้ตามไปว่า ก้าหลุ-“จันดระ” คือจันทร ในหนังสือเรื่องอื่นพบบ่อยๆ มีชื่อนาง “จันดระวาดี” คือ จันทรวดี สันนิษฐานว่าตรงกับ “จินตะหราวาตี” ใน พ.ร.น. อิเหนา แต่ในเรื่องนี้ไปได้แก่ตัวนางบุษบา, ส่วนบุษบากลายเป็นชื่อชนนีไป
๓๙ ชื่อพี่เลี้ยงพอลงรอยกับ พ.ร.น. อิเหนา แต่หากมีเพียงสองนาง คำ “เกน” ชรอยเป็นคำนำเรียกชื่อนางชั้นต่ำ ใน พ.ร.น. อิเหนามีที่เทียบ “คือ เกนหลงกับชื่อนางพี่เลี้ยงแปลงมี “เกน ปะจินดา” “เกนปะระหงัน” เป็นต้น ชื่อส้าเหง็ด ในหนังสือนี้เป็น “ซังงิด” จึงแปลงลงไว้เป็นส้าหงิด
๔๐ ต้นฉบับใช้คำ “สัตยะ” ในภาษามะลายูชอบใช้ในที่หมายความว่าจงรักภักดี เช่นไทยเราก็ชอบใช้ แต่คำ “บั๊กติภักดี”เขาก็ใช้เหมือนกัน
๔๑ ที่ถูกแท้ตามต้นฉบับ “อาเช็อง” อักษร ช อ่านเป็นเสียง j อังกฤษจึงแปลงเสียงไปให้เข้าทำนองหนังสืออิเหนาของเราทุกวันนี้ บุตรีของระเด่นถ้ายังไม่สมรสก็ใช้ยศระเด่น อาเช็อง ทุกคน ตลอดจนเจ้านาย
๔๒ “ตาหมัน” แปลว่าสวน ใน พ.ร.น. อิเหนา ใช้คำสะตาหมัน ซึ่งแปลว่า สวนหนึ่ง
๔๓ ต้นฉบับใช้คำ “ดุกะ”
๔๔ ต้นฉบับใช้คำ “สังกา”
๔๕ “อานัก” แปลว่าลูก ใน พ.ร.น. อิเหนาใช้ อาหนะ
๔๖ ต้นฉบับใช้คำ “ดุกะจีตะ”
๔๗ ต้นฉบับว่า “วะห์”
๔๘ ต้นฉบับใช้คำ “ซีซา”
๔๙ ต้นฉบับใช้คำ “บีติ บีดิ ปรวระ” แปลว่าสาวบริวาร
๕๐ ต้นฉบับใช้คำ “กะอินดราอัน” แปลว่าที่อยู่ของเทวดา คือสวรรค์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2567 16:20:23 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5529


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 125.0.0.0 Chrome 125.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 มิถุนายน 2567 17:36:54 »


อิเหนา : ภาพโดย ครูเหม เวชกร

อิเหนา
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามะลายู

ภาคปฐม

กาลนั้นจึงพากันเที่ยวเล่นในดาหมัน บันยารันส้าหรีนั้น พลางเก็บบุหงา๕๑ ที่มีกลิ่นหอมๆ และรูปงามๆ ผูกร้อยเป็นพุ่มพวงเรียบร้อย ฝ่ายข้าหลวงพี่เลี้ยงนางนมสาวสรรกำนัลในบริวาร และสาวพรหมจารีก็เอะอะสนุกสนาน เด็ดดอกไม้อันออกแนมแกมก้านปลายกิ่ง แล้วก็ห่อบุหงานั้นด้วยผ้าแพรสีเหลืองบ้าง ผ้าเช็ดหน้าสีชมภู๕๒บ้าง ผ้าไหมสีเขียวบ้าง และที่ห่อด้วยผ้าถักตราชุนไหมทองนานาพรรณก็มี นางในทั้งหลายนั้นสุขะจิตต์รื่นเริงบันเทิงใจ เกน บาหยันและเกน ล้าหงิด ตามเสด็จพระบุตรีจันตะหรา กิระหนา ห่อบุหงาต่างๆ นั้นด้วยความเพลิดเพลินสำราญ อันนานาบุบผาชาติที่เก็บได้ในวันนั้นก็มากหลาย.

ครั้นตวันขึ้นสูงมากแล้ว ร้อนจัด บางนางก็หยุดยั้งเพื่อจะพักหายเหนื่อย แต่บางนางยังเพลิดเพลินลืมตนเที่ยวเล่นอยู่ต่อไปในตาหมันนั้น เหงื่อก็ไหลเปียกทั่วสรรพางค์กายดุจอาบน้ำ แล้วก็คลุมศีรษะด้วยผ้าสีบางชะนิด๕๓ ย่อมเพิ่มความสวยงามขึ้นอีก และที่หาดอกไม้อยู่นั้น แม้เป็นคนผิวหนังดำก็กลายเป็นสวยงาม เพราะใช้ผ้าห่มและผ้าคลุมสีงามๆ นั้น ความสวยงามของเขาทั้งหลายย่อมทวีขึ้นทั่วกัน ด้วยล้วนแต่ยังสาวรุ่นดรุณวัยส่วนพวกที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า๕๔นั้น หยุดพักแล้วก็ก่อไฟเพื่อต้มน้ำ.

ขณะนั้นอาทิตย์เที่ยงวัน แสงแดดก็ร้อนแรงกล้ายิ่งขึ้น จึงต่างคนต่างหนีแดดเข้าอาศัยในร่มเงาต้นนุ่นต้นไทร และไต้พุ่มนาคะส้าหรี๕๕ ฝ่ายก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา และก้าหลุ อาหยัง กับทั้งเกน ส้าหงิด และเกน บาหยัน ข้าหลวงนางในจึงหยุดพักที่ใต้ต้นนุ่นอันหนึ่งซึ่งขึ้นเบียดเกือบจะเป็นต้นเดียวกับต้นลั่นทม พระบุตรีทั้งสองนั้นประทับอยู่ข้างหลัง พวกนางสาวสรรกำนัลในนั่งเป็นแถวๆ บังอยู่ข้างหน้าในเวลาที่ประพับและนั่งบังร่มเงาอยู่นี้มีนกขมิ้น๕๖ตัวหนึ่งบินมาสู่เฉพาะพักตรก้าหลุ อาหยัง และยิ่งร่อนไปก็ยิ่งร่อนต่ำลง โผผินบินวนเวียนกลับไปกลับมาอยู่เฉพาะพักตรพระบุตรีทั้งสองนั้น ครั้นก้าหลุ อาหยังเห็นอาการของนกดังนั้นว่าไม่บินไปไกล และมิพักจะบอกกล่าวแก่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาว่ากระไร นางก็ลุกขึ้นองค์เดียวด้วยประสงค์จะจับนกนั้น แล้วก็ไล่ตามนกไปทางโน้นทางนี้ แต่ก็จับหาได้ไม่ ฝ่ายบุหรงนั้นเล่าก็มิได้บินไปไหนไกล ซ้ำสำแดงอากับปกิริยาดังว่าเป็นนกเชื่อง.

ก้าหลุ อาหยัง จินตนาในใจว่า “ถ้าก้าหลุ จันตะหรา กิระหราทราบก็คงจะแย่งจับเอาเสียได้ อย่าเลยเราจะสั่งสาวใช้ของเราให้ช่วยกันจับนกขมิ้นตัวงามอันนี้ไห้ได้”

ก้าหลุ อาหยังติดตามนกนั้นไปอีกทางโน้นทางนี้ก็หาจับได้ไม่ จึงตะโกนไปยังพวกสาวสรรกำนัลในว่า “เฮ้ย๕๗ พวกเจ้าทั้งหมดมาช่วยเราจับบุหรงนี้หน่อย”

เหล่าข้าหลวงสาวใช้ทั้งปวงก็ลุกขึ้นและวิ่งข้ามทางไปทางโน้นทางนี้ เพื่อจะช่วยจับนกนั้น แต่ก็หาจับได้ไม่ ครั้นก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา เห็นดังนั้นจึงตรัสสั่งให้ข้าหลวงของเธอจับนกนั้น ก็พลันจับได้ดังประสงค์ น่ามาถวายแด่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา

ฝ่ายก้าหลุ อาหยัง ก็ทรงกรรแสงทูลขอนกนั้น ตรัสว่า “พระพี่นางประทานบุหรงนั้นแก่หม่อมฉันเถิด เพราะหม่อมฉันเห็นก่อน”

นางกรรแสงร่ำไห้จนอ่อนระทวยองค์ ครั้นมหาเดหวีเห็นดังนั้นจึ่งตรัสว่า “เอ ลูกแม่ จงให้บุหรงนั้นแก่น้องเถิด”

ก้าหลุ จันตะหรา กระหนา ทูลว่า “หม่อมฉันจะให้ไปเสียอย่างไรได้ นกมีแต่ตัวเดียวเท่านี้ และหม่อมฉันก็ยังอยากจะเล่นกับนกนั้นอยู่ น้องก้าหลุอาหยังเป็นเด็ก หม่อมฉันก็ยังเป็นเด็กเหมือนกัน ทำไมข้าหลวงของเธอจึงไม่สามารถจับได้ ชรอยนกขมิ้นนี้จะไม่ชอบพอใจในน้องก้าหลุ อาหยัง หม่อมฉันคิดว่าบุหรงคงไม่อยากยอมตนให้จับไม่ใช่ว่าเพราะข้าหลวงไม่สามารถจับนกนี้ เอาเป็นแล้วกันเท่านั้นที หม่อมฉันเป็นผู้มีโชค”

เหล่าสาวสรรกำนัลในได้ฟังคำก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาดังนั้นก็หัวเราะขึ้นทั่วหน้ากัน ครั้นวันรอนจะพลบค่ำ ดวงอาทิตย์ใกล้อัสฎงค์จึงพร้อมกันจะกลับไปลงสรงสนานในสระ มหาเดหวีกับท่านลิกูสรงด้วยกับสังระตู ครั้นสรงแล้วมหาเดหวีก็แต่งองค์ทรงเครื่องท่านลิกูก็แต่งดุจกัน มหาเดหวีเห็นดังนั้นก็ตรัสเป็นคำภาษิตกระทบกระเทียบบางประการ ด้วยความฤษยา แต่ท่านลิกูก็เฉยเสียไม่เอาธุระในคำตรัสของมหาเดหวีนั้น ยังคงแต่งกายประดับประดาอยู่อีก.

ในเวลาที่ท่านลิกูกำลังตกแต่งประดับประดาอยู่นั้น ยังได้มีคำกล่าวกระทบกระเทียบจากมหาเดหวี และสาวใช้กำนัลในของมหาเดหวีอีกต่าง ๆ นานา ๆ หลายประการ แต่ท่านลิกูก็หาเอาธุระแก่ถ้อยคำนั้นๆ ไม่ กลับตกแต่งประดับกายเรื่อยไปกล่าวคือปักปิ่นสรวมกำไลสรวมสร้อยคอฝังแก้วประพาฬ๕๘ และพลอยมีมรกฎด้วย ถึง ๗ เม็ดและสวมแหวนเพ็ชร์ ด้วยเธอประสงค์จะให้งามแข่งประไหมสุหรีกับมหาเดหวี ไม่ยอมตนต่อประไหมสุหรีเสียเลย ด้วยเธอมาคาดหมายว่าองค์สังระตูคงจะเพิ่มสิเนหาอาลัยในตัวเธอเป็นแน่ เมื่อทอดพระเนตรเห็นว่าสวยงามกว่าประไหมสุหรีนั้น

พระธิดาของสังระตูองค์ที่มีนามว่าก้าหลุ อาหยัง ก็มีความคาดหมายเช่นว่านี้เหมือนกัน ด้วยได้ประทานภูษาและอาภรณ์สุวรรณอัญญมณีตกแต่ง ทั้งคิดอยู่เสมอดังนี้ว่า “ตัวเราก็เป็นธิดาของสังนาตะ๕๙แท้ๆ อันรูปร่างของเราจะไม่ดีไปกว่าก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา นั้น เป็นไปไม่ได้”

ครั้นแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จแล้ว ก้าหลุ อาหยัง ก็สยายเกษาออก ฝ่ายก้าหลุจันตะหรา กิระหนานั้นข้าหลวงก็แต่งองค์ถวายนวลละอองผ่องใสงามน่ารักน่าสพึงชมพิศดูไม่รู้เบื่อ ครั้นต่างองค์ต่างทรงเครื่องเสร็จแล้ว พระบุตรีสังนาตะทั้งสององค์นั้น ก็จรจัลไป มีสาวสรรกำนัลในตามเสด็จ เพื่อจะสู่ยังที่ชนนีประสบพักตรแต่ละองค์ กษณนั้นองค์ประไหมสุหรี ทอดพระเนตรเห็นพระบุตรีทั้งสอง ก็ทรงต้อนรับด้วยสุขะจิตต์ปราโมทย์ แล้วก็เสด็จลงจากแท่นชลา บรรดานางพี่เลี้ยงสาวสรรกำนัลในก็ตามเสด็จไปสมทบกับองค์สังนาตะ ซึ่งบทจรดำเนิรไปข้างหน้า ถัดนั้นมาก็มีพระนางมหาเดหวี กับท่านลิกูตามเสด็จ

ฝ่ายก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา กับก้าหลุ อาหยัง นั้น ดำเนินไปข้างหลังมีข้าหลวงตามเสด็จ ครั้นก้าหลุ อาหยังเห็นประไหมสุหรีและท่านลิกูจรลีอยู่ข้างหน้าดังนั้น กาหลุอาหยังก็สาวบาทขึ้นไปหน้าก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา อากับปกิริยาของก้าหลุอาหยังเป็นดังนี้ ก็และความมุ่งมาทของนางในอันดำเนิรขึ้นหน้าไปนั้นมิใช่อื่นไกล คืออยากจะได้รับความชมเชย และจะได้เป็นที่เจ็บใจแก่คนทั้งหลายที่เห็นนั้นด้วย โดยเฉพาะด้วยเวลานั้นกำลังเด็ดเก็บบุหงากันอยู่ที่สวนอ่างแก้ว๖๐

แต่พอก้าหลุ อาหยัง เห็นอ่างแก้วนั้น ก็รีบเข้าใกล้ เพื่อจะเก็บเอาดอกไม้นั้นๆ ดูประหนึ่งใคร่ที่จะเก็บเอาบุหงาทั้งหลายนั้นเสียให้หมด ทั้งนี้เพื่อจะรีบชิงเอาไปเสียโดยเร็ว อย่าให้จันตะหรา กิระหนาได้ไปมาก เมื่อก้าหลุจันตะหรา กิระหนาจะย้ายไปเก็บบุหงานาคะส้าหรี ก้าหลุอาหยังก็ชิงเข้าไปใกล้ต้นกะถินนั้นเสียก่อนแล้วแย่งที่ยืนเก็บดอกกะถินนั้น ใครๆ ที่เห็นความประพฤติก้าหลุ อาหยัง ดังนั้นก็พิศวงปลาดใจ ด้วยเห็นอัธยาศรัยเป็นคนโลภอย่างสาหัส ไม่ยอมแพ้ใคร เสมือนดังว่าเป็นหญิงชาวตลาด

บรรดาพี่เลี้ยงนางกำนัล สาวสรรบริวาร และพรหมจารีดรุณีเพศ ซึ่งอยู่ในที่นั้น ต่างคนก็ต่างกล่าวคำสรรเสริญมหาเดหวี กับประไหมสุหรี กับทั้งก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ซุบซิบแก่กันและกันว่า เจ้านายทรงพระคุณธรรมสุจริตพระหทัยเยือกเย็นดี เหมือนพระรามมีแต่สมบูรณ๖๑ยิ่งกว่านั้นเสียอีก สมควรแล้วที่ก้าหลุจันตะหรา กิระหนา จะเป็นราชบุตรีผู้สูงศักดิ์การุญภาพ พระรูปพระโฉมก็ดี พระอัธยาศรัยก็ดีส่อว่าเป็นสุขุมาลชาติสืบเนื่องลงมาแต่อัจฉริยบุรุษ๖๒ ช่างผิดแผกกันเสียจริงๆ กับความประพฤติของก้าหลุ อาหยัง กับท่านลิกูนั้น ราวกับเป็นหญิงชาวตลาด กิริยาอัชฌาศรัยก็หยาบคาย ความประพฤติก็น่าเกลียดชัง จะเอาเป็นบทเรียนหรือแบบอย่างไม่ได้เสียเลย มิใช่เป็นเชื้อวงศ์ชาติวุฒิบุคคลหรืออัจฉริยบุรุษถูกแท้เทียว คำที่ผู้ใหญ่ผู้เฒ่ากล่าวว่า น้ำผึ้งถังหนึ่งแม้จะหยาดลงทีจะหยด แต่ละหยดนั้นก็คงเป็นน้ำผึ้งอยู่นั้นเอง ไม่ผิดแปลกไปได้ หากเป็นน้ำยาพิษไหลหยาด แต่ละหยดนั้นก็เป็นยาพิษนั่นเอง จะใช้เป็นยาบำบัดโรคแม้แต่สักน้อยนิดหนึ่งก็ไม่ได้

มหาเดหวี และจันตหรากิระหนานั้น สาวสรรกำนัลในทั้งหลายย่อมสรรเสรอญอยู่เสมอ แต่ก้าหลุ อาหยัง กับพระมารดาของเธอ ท่านลิกูนั้น มีแต่คนนินทาทางโน้นทางนี้ และเป็นเรื่องพูดของคนในวัง เมื่อข้าหลวงสาวใช้นั่งชุมนุมเป็นกลุ่มที่ไหนก็ไม่มีอื่นนอกจากจะซุบซิบพูดกันถึงเรื่องเจ้านายของตนเท่านั้น ครั้นตวันรอนใกล้จะพลบค่ำต่างองค์ก็ขึ้นยานพาหนะเสด็จกลับ จันตะหรา กิระหนา ก็ขึ้นยานพาหนะของเธอ ก้าหลุ อาหยัง ก็ขอขึ้นด้วย ต่างองค์ต่างขึ้นยานพาหนะแล้วก็ยุรยาตรกลับวัง ไม่ช้าก็ถึงวังแล้วก็ลงจากยานพาหนะเข้าไปเฝ้าสังนาตะ ประไหมสุหรีทอดพระเนตรดอกไม้ซึ่งจันตะหรา กิระหนาได้มา ฝ่ายก้าหลุ อาหยัง ก็กราบทูลว่าเธอได้มากกว่าจันตะหรา กิระหนา ครั้นประไหมสุหรีทอดพระเนตรเห็นก็ทรงสุขะจิตต์โสมนัศ และทรงพระสรวล สังนาตะทอดพระเนตรไปทางราชธิดาจันตะหรา กิระหนาเธอก็ทูลว่าเธอได้นกขมิ้นตัวหนึ่ง ซึ่งเกนบาหยัน กับ เกนส้าหงิดเป็นผู้จับได้ สังระตูได้ทรงฟังและทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงแย้มสรวล ทันใดนั้น ก้าหลุ อาหยังก็ขมวดขนงทูลว่า “บุหรง นั้นมิใช่นกของกะกันดา๖๓ ด้วยหม่อมฉันเป็นผู้เห็นก่อนไม่ใช่กะกันดา จันตะหรา กิระหนา”

พระราชาสังระตู ก็ทรงสุขะจิตต์โสมนัศแล้วทรงแยัมสรวลพลางมีสุรศัพท์๖๔สำเนียงตรัสว่า

“เท่านั้นที ก้าหลุอาหยังได้ดอกไม้มาก แต่ไม่ได้นก และจันตะหรากิระหนา ไม่ได้ดอกไม้มาก แต่ได้นกขมิ้นแทน เป็นอันได้เสมอภาคทั้งสองด้วยกัน ไม่มีใครยิ่งใครหย่อนกว่ากัน”

นางสาวสรรกำนัลก็ชอบใจ หัวเราะขึ้นพร้อมกัน มหาเดหวีก็เช่นกัน และใครอื่นก็พากันสรวลเสด้วยหน้าหวาน แต่ท่านลิกู กับก้าหลุ อาหยังนั้นเจ็บจิตต์ยิ่งนัก พักตรเปรี้ยวราวกับส้มมะขามค้างปี ครั้นแล้ว ต่างองค์ต่างก็กลับยังตำหนักที่อาศรัย สังนาตะ เสด็จบทจรตามก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา และก้าหลุอาหยังไป

ฝ่ายระตูกุเรปัน ณ กาลวันหนึ่ง เสด็จออกประทับ ณ ท้องพระโรงใหญ่ ข้าไทยผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเฝ้าอยู่หน้าที่นั่งและพระมเหษีชายาก็ประทับอยู่ ณ ที่นั้นด้วย มีพานพระขันหมากตั้งอยู่หน้าที่นั่ง

พระราชาสังระตู กุรีปั่น ประทับอยู่ข้างหน้าเหลือบทอดพระเนตรเห็นพระชายามีอาการประหนึ่งคนมีใจเศร้า จึงสั่งนาตะ ตรัสว่า “เออ อะดินดา๖๕ อะไรเล่าเราจะพูดกันขณะนี้ อันที่จริงเรานี้ก็ได้ครองราชสมบัติมานานแล้วด้วยสวัสดี และราชอาณาเขตต์ของเรานั้นหรือก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่มีขออยู่อันหนึ่งเกี่ยวอยู่ที่ขอบดวงใจของกะกันดา๖๖

พระมเหษีได้ทรงฟังสังนาตะตรัสดังนั้น จึ่งประไหมสุหรีนั้นทูลว่า “อะไรเล่า กะกันดาที่เป็นขอเกี่ยวดังนั้น มาปรึกษากับหม่อมฉันเถิด และจงตรัสออกมาให้สิ้น เพื่อหม่อมฉันจะได้ทราบเรื่องของกะกันดานั้น ถ้ากะกันดาไม่ตรัสความนั้นให้ทราบแด่หม่อมฉันแล้ว แน่แท้เทียวจะกลายเป็นขอเกี่ยวแก่หม่อมฉันด้วยเหมือนกัน”

จึ่ง สังระตู ตรัสว่า “อ้า น้องนาง อันพี่นี้ได้ยินข่าวว่าอะตินตาที่นครดาหานั้น มีธิดาโฉมงามล้ำเลิศ ตามจินตนาการของกะกันดานี้ ใคร่จะไปสู่ขอที่กรุงดาหา แล้วจะได้จัดการอภิเศกสมรสกับอนันดา๖๗ ระเด่นอินู อันที่จริงนั้นลูกเจ้าลูกหลวงอื่นๆ ที่โฉมงามก็มีถมไป แต่หาเหมือนกับลูกพี่ลูกน้องของเราเองไม่ ด้วยถ้าจะยิ่งนิดหย่อนหน่อย๖๘ ก็พออภัยกันได้”

ครั้นประไหมสุหรี ได้ฟังสังระตูตรัสดังนั้นก็ทรงสุขะจิตต์ยินดีเป็นอันมาก ทูลสนองว่า “ที่ตรัสนั้นชอบยิ่งแล้ว จะหาผิดมิได้เลย”

ประไหมสุหรีทูลต่อไปว่า “กะกันดาทรงพระดำริดังนั้นก็ยินดีด้วยเพราะเป็นพี่น้องกัน ดีกว่าคนอื่น อย่างไรเสียก็ชื่อว่าเป็นเลือดเนื้อของเราเอง”

ครั้นตรัสปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงสังนาตะ ทรงสุขะจิตต์โสมนัศยิ่งนักดำรัสสั่งให้เรียกประชุมไพร่พล และมนตรีทั้งหลาย พอเสนาและมนตรีมาพร้อมกันจึงสังระตู ตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาสน์และสั่งให้จัดบรรณาการของฝากเพื่อจะส่งไปด้วย เสร็จแล้วก็มอบแก่มนตรี ประดิษฐานเหนือพานทอง กางกลดหลายกลด๖๙ พร้อมทั้งธงทิวอันประดับด้วยมุกด์ ทั้งมวลนี้เพื่อจะเชิญราชสาสน์สู่ขอจันตะหรา กิระหนา สมรสกันกับระเด่นอินู กรตะปาตี มนตรีและไพร่พลทั้งเสนาทหารเอก และตำมะหงุงนั้นๆ ล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอันไพจิตร ตลอดกะทั่งช้างม้าก็ดกแต่งประดับประดาดุจกัน ครั้นน้อมเกล้าถวายบังคมสังระตูแล้ว จึงออกเดินบ่ายหน้าสู่นครดาหานั้น และพลันก็กระทั่งเสียงดุริยดนตรี มีฆ้อง – ตับ๗๐ ฆ้องโข่ง๗๑ ฆ้องหนุ่ย๗๒ และระนาดทอง๗๓ เสียงสนั่นกึกก้องอยู่นอกเมือง ตั้งขบวนบ่ายหน้าสู่กรุงดาหานั้นด้วยสุขะจิตต์ปราโมทย์ พระราชสาสน์และบรรณาการนั้นเทอดไว้เหนือเกล้า เขาทั้งหลายเดินทางไปนั้น บ้างก็ใช้พาหนะ บ้างก็เดินเท้าเรียงตามกันเยี่ยงมดเดินฉะนั้น ด้วยอาการกิริยารีบร้อนในอัญเชิญพระราชสาสน์สู่ขอนั้น

บัดนี้จะกล่าวถึงสังนาตะดาหา มาในกาลครั้งหนึ่งองค์สังนาตะนั้น ตรัสประพาศแก่เหล่ามนตรีเสนา และตำมะหงุงซึ่งเฝ้าอยู่หน้าที่นั่งนั้นว่า “เวลานี้มีข่าวกะกันดากรุงเรปั่นอย่างไรบ้าง ด้วยนานแล้วมิได้มีทูตมาแต่กุเรปั่นหรือกากะหลังเลย”

ในเวลาที่กำลังตรัสและข้าเฝ้าทูลสนองอยู่นั้น ราชทูตผู้เชิญพระราชสาสน์จากนครกุรีปันก็ไปถึง คนเฝ้าประตูเมืองก็รับรองและเชิญให้เข้าเมือง ในบรรดาพวกที่ไปนั้น บางคนก็หยุดอยู่นอกเมืองและปลูกพลับพลาอาศัยเป็นที่พัก ขณะนั้นนายประตูก็รีบเร่งเข้าไปยังหน้าที่นั่งสังนาตะ น้อมเกล้าถวายบังคมแล้วทูลว่ามีราชทูตมาจากกรุงกุรีปั่น จึ่งพระราชาสังนาตะทันใดนั้น ดำรัสสั่งให้รับเข้าไปซึ่งบรรดามนตรีเสนา ดะหมัง และตำมะหงุงกุรีปั่นนั้นๆ เขาทั้งหลายนั้นก็เข้าไปก้มศีระเกล้าถวาย อัญชลีเฉพาะธุลีลอองบาท๗๔สังนาตะนั้น พลางทูลถวายซาลามตะอะลิม๗๕ของพระราชากะกันดานั้น สังนาตะดาหาทรงสุขะจิตต์ปลื้มเปรมยิ่งนักและทันใดนั้นจึ่งตรัสสั่งให้อ่านสาสน์นั้น แล้วมนตรีก็อ่านต่อหน้าบรรดาผู้ที่ชุมนุมอยู่ในพระที่นั่ง เขาทั้งหลายนั้นแต่ละคน ได้ฟังความในราชสาสน์จากกุรีปั่นนั้นถี่ถ้วนตั้งแต่ต้นจนอวสาน เป็นที่ตระหนักแจ่มแจ้งว่าองค์ท้าวกุรีปั่นทรงขอก้าหลุ จันตะหรากิระหนาเพื่อแก่ระเด่น อินู กรตะปาตี ฝ่ายองค์ท้าวดาหาก็ทรงรับด้วยสุขะจิตต์ แล้วจึ่งดำรัสสั่งให้ประโคมกระทั่งเสียงดุริยดนตรี ฆ้องตับ ฆ้องโข่งและฆ้องหมุ่ย ระนาดทองและเภรี๗๖ และให้ยิงปืนใหญ่เป็นนิมิตรว่าราชสาสนระตูกุรีปั่นนั้นได้รับ และอนุมัติตามวัตถุที่ประสงค์นั้นแล้ว ด้วยโสมนัศยินดีสุดที่จะประมาณ ส่วนทูตนั้นก็โปรดให้เลี้ยง และพระราชทานอนุเคราะห์๗๗ ด้วยเสื้อผ้าและนานาภัณฑ์๗๘ ครั้นแล้วก็ให้ประพรมด้วยของหอม และแก้วน้ำหอมนั้น มีผู้ถือโปรยไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างเวลานั้นวันก็ค่ำคืนลง ทูตทั้งปวงก็ค้างแรมอยู่ในกรุงดาหานั้น ครั้นอยู่มาในนครดาหานั้นได้สองวัน จึ่งสังระตูศัพทสิงหนาทดำรัสแก่ทูตนั้นว่า

“เฮ้ย๗๙ ทูต จงนำซาลามและถวายบังคมของเรานี้ไปถวายแทบธุลีบาทพระราชกะกันดา ส่วนอาหนะของเรานั้น เราถวายด้วยใจสุจริตบริสุทธิ์ จะทรงอย่างไรก็แล้วแต่พระเชฏฐาจะโปรดทุกอย่างทุกประการ ด้วยตัวเราและท้าวกากะหลัง กับทั้ง ศรี บะคินดะ๘๐ ราชากุรีปั่นนั้นเป็นพี่น้องกัน อย่าว่าแต่ลูกเลย แม้แต่แผ่นดินกรุงกากะหลังและเมืองดาหานี้ ก็ถวายไว้ในพระราชอำนาจกรุงกุรีปันเหมือนกัน”

ทันใดนั้นสังนาตะดาหาก็ทรงรจนาราชสาสน์ตอบ ราชสาสน์ของท้าวกุรีปั่นนั้น เพื่อส่งไปถวายพร้อมด้วยเครื่องบรรณาการของฝาก ความในสาสน์นั้นว่าสิ่งอันเป็นพระประสงค์ทั้งมวญของศรีบะคินดะนั้นเป็นอันประนอมยอมถวายแล้ว ครั้นสำเร็จแล้วจึ่งประทานมอบแก่ทูตนั้น ฝ่ายทูตก็รับด้วยเทอดสิบนิ้วประนมก้มเกล้าถวายบังคมฝ่าธุลีเจ็ดครั้ง แล้วก็ออกเดินทางกลับ เร่งม้าออกจากเมืองดาหา บ่ายหน้าสู่นครกุรีปั่นโดยรีบด่วน มิได้หยุดหย่อนทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อแสดงความซื่อสัตย์๘๑กตัญญู ในอันเชิญพระโองการสังระตูนั้น เขาทั้งหลายนั้นเดินทางไปแต่ที่พักอันหนึ่งถึงที่พักอีกแห่งหนึ่ง แต่ทุ่งหนึ่งไปยังอีกทุ่งหนึ่ง แล้วเข้าป่าอันรกชัฎ ครั้นกาลล่วงไปหน่อยหนึ่ง ก็ถึงซึ่งนครกุรีปั่นนั้น

ฝ่ายระตูดาหาก็เสด็จขึ้นพระราชมณเฑียร ครั้นทูตนั้นกลับกุรีปั่นแล้ว จึงเสด็จเข้าสู่ที่พระมเหษีพลันตรัสว่า

“เออ อะดินดา ซึ่งทูตกรุงกุรีปั่นมานี่นั้น เพื่อจะสู่ขอก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา กะกันดาได้รับราชสาสน์สู่ขอและได้ตอบตกลงตามประสงค์นั้นแล้ว”

ต่อนี้ไปจึงตรัสเล่าแถลงประพฤติเหตุตั้งแต่ต้นจนอวสาน องค์ประไหมสุหรี กับทั้งสังนาตะนั้นก็ทรงสุขะจิตต์สโมสร และยิ่งทวีพระสิเนหาอาลัยในก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น ด้วย ณ บัดนี้ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาได้เป็นคู่ตุนาหงัน๘๒ แห่งระเด่น อินู กรตะปาตีนั้นแล้ว.

ฝ่ายก้าหลุ อาหยัง ล่วงมาอีกสองสามวันก็ทราบข่าวเรื่องที่ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนาได้ตุนาหงันกับระเด่น อินู แล้วนั้น และก้าหลุ อาหยัง นั้นยิ่งนานวันก็ยิ่งเจ็บจิตต์ขัดเคือง ในองค์ก้าหลุ จันตะหรา กิระหนานั้น ยังมิหนำซ้ำสังระตูก็โปรดปราน จันตะหรา กิระหนายิ่งขึ้นด้วย.

ในกาลนั้นก้าหลุ อาหยังก็กรรแสงโศกาดูลย์จนนัยเนตรช้ำบวม ด้วยมาคิดว่า

“เหตุใดเล่าจึ่งไปขอกะกังจันตะหรา กิระหนา ทีตัวเรานี้ไม่ขอ หรือว่าเราไม่ใช่ธิดาสังระตูเหมือนกันเล่า”

ก้าหลุ อาหยัง จินตนาดังนี้ไม่หยุดหย่อน ทั้งกรรแสงร่ำไห้แสนสาหัสทุกเช้าค่ำ

ท่านลิกูเห็นธิดาก้าหลุ อาหยัง นั้นเนตรช้ำบวมเป็นรอยกรรแสงก็เจ็บจิตต์ยิ่งนัก แล้วก็ขึ้นไปเฝ้าธุลีสังนาตะ ท่านลิกูนั่งชิดมหาเดหวี ถัดที่ประทับ สังระตูมาข้างหน้า เวลานั้นก้าหลุ จันตะหรา กิระหนา ประทับอยู่ห่างด้วยความเคารพชนนี พระราชาสังระตูทอดพระเนตร เห็นกิริยาของราชธิดามีความเคารพสงบเสงี่ยมเช่นนั้น ก็ยิ่งทวีสงสารสิเน่หาในพระหฤทัย ด้วยมาทรงตระหนักว่าพระบุตรีนั้น รู้รักษาองค์และเสงี่ยมเจียมองค์ จะทำอะไรก็อ่อนโยนลมุลลม่อม พระราชาสังนาตะตรัสเรียกให้จันตะหรา กิระหนาเสวยด้วย เธอก็มาด้วยความเคารพนบนอบ ถวายบังคมแล้วจึ่งเสวยด้วยกับสังนาตะ และมหาเดหวี ขณะนั้นท่านลิกูกับก้าหลุ อาหยัง ก็ยิ่งเจ็บจิตต์คิดร้ายในหทัยเป็นนักหนา ด้วยมาเห็นจันตะหรา กิระหนา เสวยร่วมดังนั้น แท้จริงต่างองค์ก็เสวยด้วยกันทั้งนั้น และใจของท่านลิกู และก้าหลุ อาหยัง นั้น ไม่หยุดพ้นจากความมุ่งร้ายได้ ครั้นเสวยเสร็จแล้วต่างองค์ต่างก็กลับพร้อมด้วยสาวบริวารชนตามเสด็จ ครั้นต่างองค์กลับถึงตำหนักแล้ว ท่านลิกูยังไม่หายเจ็บใจ มิรู้ที่จะทำประการใดดี ขณะนั้นเธอจึงคิดทำข้าวหมัก๘๒ ประกอบด้วยยาพิษแล้วก็บรรจุลงในชามทองคำ ครั้นเสร็จแล้วจึ่งสั่งให้สาวใช้นำไปถวายประไหมสุหรี นางสาวบริวารนำของถวาย ซึ่งบรรจุชามอันงามวิจิตรนั้นไป โดยมิได้สงกาว่าระคนด้วยยาพิษ แล้วก็พากันเดิรไปยังตำหนักประไหมสุหรี ครั้นไปถึงจึ่งถวายของนั้นด้วยหน้าหวานพลางทูลว่า

“นี้เป็นของถวายอันเล็กน้อยของท่านลิกู ลังมาให้กราบถวายบังคม และถวายของนี้แก่ธุลีตวนกู” ๘๔

จึ่งประไหมสุหรีทรงรับพลางทอดพระเนตร หน้าอันอ่อนหวานของข้าหลวงนั้นแก้วก็ตรัสสั่งให้ถ่ายชาม และข้าหลวงถ่ายเปลี่ยนชามนั้น ครั้นแล้ว นางสาวใช้นั้นก็กลับและรายงานตามประพฤติเหตุนั้น ท่านลิกูก็มีความยินดีปลาบปลื้ม นึกในใจว่า

“ภายในวันนี้และประไหมสุหรีจะต้องม้วยมรณ์แล้วตัวเรานี้แหละจะได้เลื่อนขึ้นเป็นประไหมสุหรีแทนที่ ถ้าจันตะหรา กิระหนาเสวยด้วยก็จะม้วยสิ้นไปอีกองค์หนึ่งแน่ๆ แล้วเราจะจัดการให้ก้าหลุ อาหยังลูกเราได้เป็นคู่ตุนาหงันของอินูกรตะปาตีให้จงได้” เพื่อเมืองดาหากับกุรีปั่นจะได้เป็นปถพีอันเดียวกัน ด้วยสมควรแล้วที่จะได้เป็นแทนที่”

คิดดังนั้นแล้ว เธอจึงสั่งให้สาวใช้ปิดประตู ครั้นแล้วพวกสาวใช้นั้นก็หลบไปซ่อนตัว คงเหลือแต่ก้าหลุ อาหยัง กับท่านลิกูเท่านั้นในตำหนักนั้น ซึ่งดูเหมือนมิได้มีความคิดอย่างอื่นเลย นอกจากว่า “ถ้าประไหมสุหรีเสวยข้าวหมักนั้นแล้ว อันจะไม่สิ้นชีพในวันนี้เองนั้นไม่ได้”

ขณนั้นจึ่งท่านลิกู เรียกน้องชายซึ่งมีชื่อว่า มนตรี และมนตรีนั้นก็มายังหน้าพี่สาว แล้วท่านลิกูจึ่งพูดว่า๘๕
“แน่ะน้องมนตรี ช่วยเที่ยวหาหมอเวทมนต์ร ซึ่งสามารถทำเสน่หยาแฝด๘๖ และที่รู้จักทำให้คนใจอ่อน เพื่อพี่นี้จะได้ไม่ถูกสังระตูพิโรธโกรธกริ้ว และเพื่อให้สังระตูคล้อยตามทุกสั่งทุกอย่าง สุดแต่พี่นี้จะว่ากระไรและให้สิเนหาอาลัยในตัวพี่นี้ยิ่งกว่าใครๆ อื่น กับเพื่อให้สังระตูทรงเชื่อฟังโปรดปรานถวิลยจินดาในตัวพี่นี้ยิ่งขึ้นไปอีก”

ครั้นแล้วมนตรีก็ได้รับเงินดีนาร์จำนวนหนึ่ง และสิ่งของนานาภัณฑ์ รับแล้วก็รีบออกเดินทางไปทันที เพื่อเที่ยวหาหมอเวทมนตร์นั้น แล้วก็เดินทางเข้าป่าออกป่าเข้าดงออกดง ทั้งผ่านเขาผ่านทุ่งหลายแห่ง ที่ไหนมีอาจารย์ หรือหมอเวทมนตร์ก็ไปจนถึง ไม่ว่ากลางวัน หรือกลางคืนเดิรทางไปคนเดียวไม่หยุดหย่อนจะหาเพื่อนไป ด้วยก็ไม่กล้า ด้วยกลัวว่าจะขยายระหัส๘๗ ความลับ ด้วยความที่อยากจะช่วยและรักพี่สาวนั้น มนตรีลืมความกลัว สู้เดิรทางไปแต่ลำพังตนคนเดียวหลับนอนในป่าดงพงไพรใต้ต้นไม้อย่างใหญ่ ๆ ประกอบด้วยสงสารทุกข์๘๘อย่างสาหัสครั้นเวลารุ่งเช้าตวันขึ้นก็ตื่นนอนแล้วเดิรต่อไปอีก พฤติการณ์ของมนตรีเป็นดังว่ามานี้ ถ้ายังไม่พบอยู่ตราบใดก็ยังไม่อยากหยุดยั้ง

ครั้นเดินทางไปไต้นานแล้วก็เห็นกุหนุงลูกหนึ่ง ด้วยสุขะจิตต์ปราโมทย์อย่างแรงกล้า มนตรีปีนเขานั้นขึ้นไปจนถึงยอด คเณว่าณที่นั้น บางทีจะได้ประสพเทวดาผู้ทรงมหิทธิศักดานุภาพ๘๙ตามความมุ่งหมาย ครั้นแล้วก็เห็นนักพรตประตาปาตนหนึ่ง ซึ่งดูท่าทางจะขลังดี อาจารย์ผู้นี้ได้มาบำเพ็ญตะบะอยู่บนเขานี้นานพอใช้แล้ว โดยไม่กินไม่ดื่มสิ่งใดๆ เลย ทั้งตาก็มัวแลไม่เห็นอะไรอีกแล้ว และเป็นที่เคารพของพวกนักบวชและพราหมณ์ ครั้นมนตรีเห็นนักพรตประตาปานั้น ก็สุขะจิตต์ยินดียิ่งนัก จึงก้มศรีษะลงเคารพนบไหว้ถึงเจ็ดครั้ง แล้วก็แจ้งความประสงค์ให้ทราบ กล่าวว่า “ข้าเจ้านี้ได้รับคำสั่งของพี่สาวให้มาขอความช่วยเหลือของผู้เป็นเจ้าสักอย่างหนึ่ง”

นักพรตนั้นก็ลืมตาขึ้นและพูดว่า “แน่ะมนตรีดีแล้ว เราจะช่วยเจ้า เพื่อให้บรรดามนตรีและเสนากับระตูทั้งหลาย รักพี่สาวของเจ้า และบัดนี้ก็บรรลุผลตามประสงค์แล้ว ด้วยเทวะดาผู้ทรงมหิทธานุภาพโปรดประทานแล้วตามที่เธอขอ”

ครั้นแล้วนักพรตนั้นก็คายชานหมากทิ้งลง และสั่งให้มนตรีเก็บเอาชานหมากนั้นขึ้น พลางกล่าวว่า

“ชานหมากนี้เจ้าจงห่อด้วยผ้าขาว หรือผ้าเช็ดหน้า๙๐ หรือด้วยอะไรก็ตามใจเจ้าเถิด”

มนตรีจึงเก็บชานหมากนั้นขึ้นแล้วห่อด้วยผ้าเช็ดหน้า ครั้นแล้วก็น้อมศรีษะนบไหว้นักพรตนั้น แล้วก็ออกเดินทางกลับสู่ยังตำหนักท่านลิกูโดยรีบด่วนไม่หยุดยั้ง ด้วยมีความยินดีมาก มิช้านานก็ไปถึงแล้วก็ย่องเข้าไปหาท่านลิกูโดยเงียบๆ ครั้นพบแล้วก็ส่งชานหมากให้และแถลงความตามที่นักพรตสั่งมานั้น ฝ่ายท่านลิกูก็สุขะจิตตอิ่มเอิบใจยิ่งนัก รับเอาห่อชานหมากนั้น พลางพูดจาแต่ด้วยเสียงเบาๆ ด้วยเรื่องนี้เป็นระหัสความลับอย่างสำคัญ กลัวว่าจะอึกทึกแพร่งพรายไป ครั้นพูดจากระซิบกระซาบกันดังกล่าวนั้นเสร็จแล้ว ฝ่ายมนตรีก็กลับไปบ้านเรือนแล้ว ในเวลานั้นเองท่านลิกูก็สอดชานหมากเข้าไว้ใต้หมอนหนุนนอน และทำใจอธิษฐาน โดยไม่มีใครรู้เห็นแต่สักคนเดียว

-----------------------------------

๕๑ ดอกไม้ มีใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา
๕๒ ต้นฉะบับว่า “เมระห์ชัมบู” โดยพยัญชนะแปลว่าแดงชมภู่ กล่าวคือสีชมภู
๕๓ คำมลายูที่ใช้ว่า “ชะนิส”
๕๔๕๔. ต้นฉะบับใช้คำว่า “ละล้าห์”
๕๕๕๕. กะถิน
๕๖ ต้นฉะบับว่า “บุรุง กะปุดัง – บุรุงแปลว่านกตรงกับคำบุหรง ที่ใช้ใน พ.ร.น. อิเหนา
๕๗ ต้นฉบับว่า “ไฮ้”
๕๘ ต้นฉบับใช้คำว่า “มะระชาน” ตามปทานุกรมว่าเปนมณีสีแดง แท่งยาวๆ จึงสันนิษฐานว่า คอรัล แต่ชื่อคอรัลนี้ไม่มีคำไทย ระลึกได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เคยทรงเหยียดใช้แทนแก้วประพาฬ จึงได้ใช้คำนั้น
๕๙ “นาตะ” คือ นาถะ
๖๐ “ตาหมัน ชัมบังงัน รัตนะ”
๖๑ ต้นฉบับใช้คำ “สัมปูรณะ”
๖๒ ต้นฉบับใช้คำ “โอรัง ปิลิฮัน” แปลตามพยัญชนะว่าบุคคลอันเปนที่เลือกแล้ว
๖๓๖๓. ที่ใน พ.ร.น. อิเหนาใช้กะกัง เปนคำสามัญ ส่วนกะกันดา เปนคำสูง เช่นว่าเจ้าพี่ หรือพระเชฏฐาเปนต้น
๖๔ ต้นฉบับใช้คำ “สับดะ”
๖๕ มาแต่สามัญ อาดิ๊ก แปลว่าน้อง เมื่อแปลงเปน อะดินดา กลายเปนคำสูง คือเจ้าน้อง อนุชา หรือกนิฏฐา ใน พ.ร.น. อิเหนา ใช้ยาหยี ซึ่งเป็นคำแปลว่าน้องอีกคำหนึ่ง
๖๖ สำนวนมะลายูตามต้นฉบับดังนี้ หมายความว่า มีห่วงในใจอยู่อย่างหนึ่ง
๖๗ อะนันดา เปนคำสูงแปลว่าราชบุตร ผู้จากคำอานัล ซึ่งแปลว่า ลูกหรือเด็ก ใน พ.ร.น. อิเหนา ใช้ “อะหนะ”
๖๘ ตรงกับสำนวนไทยว่า “หนักนิดเบาหน่อย”
๖๙ ฉัตรไม่มีใช้ แต่มีธรรมเนียมกางกลดหลายคันดังนี้ ทำนองแห่นาคทางหัวเมืองภาคพายัพ
๗๐ ลักษณคล้ายฆ้องวงของเรา แต่ของเขาผูกเปนตับ ไม่ผูกเปนวง ฆ้องอย่างนี้เรียก “กะมง”
๗๑ ลูกฆ้องรูปร่างคล้ายฆ้องวง แต่ทรงสูงและขนาดใหญ่เท่าบาตรขึ้นไป ใช้ลำพังใบเดียว ๆ หรืออย่างมากผูกเปนตับเพียง ๒ ใบ ฆ้องอย่างนี้เรียก “กัมปุล”
๗๒ ฆ้องใหญ่แขวนตรงกับฆ้องหมุ่ยของเรา ฆ้องอย่างนี้เรียก “คุง” หรือ “คอง”
๗๓ ระนาดทอง เรียก “ซารุน”
๗๔ ต้นฉบับใช้คำ “ดุลี”
๗๕ สั่งคำนับ
๗๖ “กันดัง” รูปเหมือนกลองแขกหรือกลองมะลายู
๗๗ ต้นฉบับใช้คำว่า “อนุคราหะ”
๗๘ ต้นฉบับใช้คำ “นันดะ”
๗๙ ต้นฉบับว่า “ไฮ้”
๘๐ แปลว่าเจ้าแผ่นดิน
๘๑๘๑. ต้นฉบับใช้คำ “สะติยะ”
๘๒ หมั้น ใน พ.ร.น. อิเหนาก็ใช้คำเดียวกัน
๘๓ ต้นฉบับว่า “ตาแป๊ะ” ตรงกับเข้าหมากของเรา ซึ่งที่ถูกเห็นว่าควรจะเรียกข้าวหมัก
๘๔ “ตวนกู” แปลโดยพยัญชนะว่า เจ้ากู
๘๕ คนนี้ชื่อ “มันตรี” คือมนตรีขึ้นมาเฉยๆ ไม่ใช่ระเด่น มนตรี
๘๖ ภาษามะลายูใช้คำ “คุนะตุนะ” ตรงกับคำว่าคุณ แปลว่าทำเสน่ห์เศกเป่าอะไรได้ทั้งนั้น ตลอดจนทำร้าย เช่นนี้เราเรียกว่า “ถูกกระทำถูกคุณ” นั้นก็ได้ แต่ในที่นี้หมายถึงทำเสน่ห์
๘๗ ต้นฉบับใช้คำ “ระหะสิยะ” แปลว่าความลับ
๘๘ ต้นฉบับใช้คำ “สังขาระ”
๘๙ ต้นฉบับว่า “เดวาตะ ยัง มหามูลิยะ”
๙๐ ต้นฉบับว่า “ซาปุ ตังงัน” แปลโดยพยัญชนะว่าผ้าเช็ดมือ แต่ตามที่ใช้นั้นตรงกับที่เราใช้เรียกผ้าเช็ดหน้า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2567 17:40:55 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
คลิปอิงวรรณคดี "อิเหนา"
สุขใจ ห้องสมุด
เงาฝัน 4 2322 กระทู้ล่าสุด 24 ตุลาคม 2554 06:00:04
โดย เงาฝัน
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.465 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 07 มิถุนายน 2567 19:15:08