[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 กรกฎาคม 2568 05:14:11 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๐๐ อินทริยชาดก : ความดีสี่ชั้น  (อ่าน 318 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6129


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2567 19:52:36 »




พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๒๐๐ อินทริยชาดก
ความดีสี่ชั้น

         อดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อาศัยปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัตนั้น เกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาปุโรหิตนั้น
          ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิดบรรดาอาวุธที่มีอยู่ทั่วพระนครลุกโพลงขึ้น เพราะเหตุนั้นญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ว่า โชติปาละ
          โชติปาลกุมารนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วเรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักสิลา แล้วกลับมาแสดงศิลปะแก่พระราชา ต่อมาได้ละอิสริยยศเสียไม่ให้ใครๆ รู้ หนีออกทางอัคคทวาร เข้าป่าบวชเป็นฤๅษีอยู่ในอาศรมป่าที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตถวาย ทำฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว
          พระฤๅษีหลายร้อยห้อมล้อมเป็นบริวารพระโชติปาลฤๅษีผู้อยู่ที่อาศรมนั้น อาศรมนั้นได้เป็นมหาสมาคม มีลูกศิษย์ชั้นหัวหน้า ๗ องค์ องค์ที่หนึ่งชื่อว่า สาลิสสรฤๅษี ได้ออกจากอาศรมป่าไม้มะขวิด ไปอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสาโตทกา ในสุรัฏฐชนบท มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
          องค์ที่สองชื่อ เมณฑิสสรฤๅษี ไปอาศัยนิคมกลัมพมูลกะ อยู่ในแว่นแคว้นของพระเจ้าปโชตกราช มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
          องค์ที่สามชื่อ บรรพตฤๅษี ไปอาศัยอฏวีชนบทแห่งหนึ่งอยู่ มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
          องค์ที่สี่ชื่อ กาฬเทวิลฤๅษี ไปอาศัยโขดหินแห่งหนึ่งอยู่ มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
          องค์ที่ห้าชื่อ กิสวัจฉฤๅษี ไปอาศัยนครกุมภวดีของเจ้าฑัณฑกี อยู่องค์เดียวในพระราชอุทยาน
          องค์ที่หกชื่อ พระดาบสอนุสิสสะ เป็นอปัฏฐากอยู่กับพระโพธิสัตว์
          องค์ที่เจ็ดชื่อว่า นารทฤๅษี เป็นน้องชายกาฬเทวิลฤๅษี ไปอยู่ในถ้ำที่เร้นแห่งหนึ่ง ในระหว่างข่ายภูเขาอัญชนคิรี ในป่ามัชฌิมประเทศแต่องค์เดียว
          ณ ที่ใกล้ๆ ภูเขาอัญชนคิรี มีนิคมแห่งหนึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่มาก ในระหว่างภูเขาอัญชนคิรีกับนิคมมีแม่น้ำใหญ่ คนพากันไปประชุมที่แม่น้ำนั้นมาก พวกนางวรรณทาสีรูปงามทั้งหลาย เมื่อเล้าโลมผู้ชายก็พากันไปนั่งที่ฝั่งแม่น้ำ พระนารทดาบสเห็นนางเข้า ในบรรดานางเหล่านั้นมีจิตปฏิพัทธ์ จึงเสื่อมจากฌาน ซูบซีด ตกอยู่ในอำนาจกิเลส นอนอดอาหารอยู่ ๗ วัน
          จากนั้น กาฬเทวิลดาบสผู้เป็นพี่ชายของนารทดาบสใคร่ครวญดูก็รู้เหตุนั้น จึงเหาะมาแล้วเข้าไปในถ้ำที่เร้น นารทดาบสเห็นพระกาฬเทวิลดาบส จึงถามว่า “ท่านมาทำไม”
          กาฬเทวิลดาบสตอบว่า “ท่านไม่สบายเรามาเพื่อรักษาท่าน”
          พระนารทดาบสจึงพูดข่มกาฬเทวิลดาบสว่า “ท่านพูดไม่ได้เรื่อง กล่าวคำเหลาะแหละเปล่าๆ”
          กาฬเทวิลดาบสคิดว่า เราไม่ควรฟังนารทดาบส จึงไปนำดาบส ๓ องค์มา คือ สาลิสสรดาบส เมณฑิสสรดาบส บรรพติสสรดาบส   นารทดาบสก็กล่าวข่มดาบสเหล่านั้นด้วยมุสาวาท
          กาฬเทวิลดาบสคิดว่า เราจักนำสรภังคดาบสมา จึงเหาะไปเชิญสรภังคดาบสมา ท่านสรภังคดาบสมาเห็นแล้วก็รู้ว่าตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์ จึงถามว่า “ท่านนารทะ เธอตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์กระมัง”
          เมื่อนารทดาบส พอได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็ลุกขึ้นถวายอภิวาทกล่าวว่า “ถูกแล้วท่านอาจารย์”
          ท่านสรภังคดาบสถึงกล่าวว่า “ท่านนารทะ ธรรมดาผู้ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ ในอัตภาพนี้ก็ซูบซีดเสวยทุกข์ ในอัตภาพที่สองย่อมเกิดในนรก แล้วกล่าวว่า “บุรุษใดตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์ เพราะกามบุรุษนั้นละโลกทั้งสองไปแล้ว ย่อมเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น แม้เมื่อยังเป็นอยู่ก็ย่อมซูบซีดไป”
          นารทดาบสได้ฟังดังนั้น จึงถามว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่าการเสพกามย่อมเป็นสุข แต่ท่านมากล่าวความสุขเช่นนี้ว่าเป็นทุกข์ดังนี้ หมายถึงอะไร”
          ลำดับนั้น ท่านสรภังคดาบสได้กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นจงฟัง “ทุกข์เกิดในลำดับแห่งสุข สุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ ส่วนเธอนั้นประสบทุกข์มากกว่าสุข เธอจงหวังความสุขอันประเสริฐเถิด”
          นารทดาบสกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ ทุกข์นี้นั้นข้าพเจ้าไม่อาจอดกลั้นได้”
          สรภังคดาบสกล่าวกับนารทดาบสว่า “ธรรมดาทุกข์นี้เกิดาขึ้นแล้ว บุคคลพึงอดกลั้นได้” แล้วกล่าวว่า “ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนความลำบากได้ บุคคลนั้นย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมบรรลุสุข ปราศจากเครื่องประกอบอันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก”
          นารทดาบสกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านอาจารย์ กามสุขเป็นสุขสูงสุด ข้าพเจ้าไม่อาจละกามสุขนั้นได้”
          สรภังคดาบสจึงกล่าวว่า “ท่านนารทะ ขึ้นชื่อว่าธรรม บุคคลไม่ควรให้พินาศด้วยเหตุไรๆ ก็ตาม”  ดังนี้แล้วกล่าวต่อว่า “เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรม เพราะปรารถนากามทั้งหลาย เพราะเหตุใช่ประโยชน์ เพราะเหตุเป็นประโยชน์ ถึงเธอจะทำสุขในฌานที่สำเร็จแล้วให้พินาศไป ก็ไม่ควรเคลื่อนจากธรรมเลย”
          เมื่อสรภังคดาบสแสดงธรรมอย่างนี้แล้ว กาฬเทวิลดาบสเมื่อจะกล่าวสอนน้องชายของตน จึงกล่าวว่า “ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือน ดีชั้น ๑  การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้น ๒  เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้น ๓  เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้น ๔”
          “นารทะ เพราะเหตุนั้น เธออย่าเศร้าโศกไปเลยว่าฌานของเราเสื่อมไปแล้ว ถ้าเธอไม่ตกอยู่ในอำนาจของอินทรีย์ แม้ฌานของเธอเสื่อมแล้วก็จักกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม”
          เทวิลดาบสสงบระงับ ได้พร่ำสอนความเป็นบัณฑิตกับนารทดาบสนั้น ด้วยว่า “บุคคลผู้เลวกว่าผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ไม่มีเลย”
          สรภังคดาบสเรียกนารทดาบสนั้นมากล่าวว่า “นารทะ เธอจะฟังคำนี้ก่อน ผู้ใดทำในสิ่งที่ควรจำพึงทำก่อน ผู้นั้นย่อมเศร้าโศกร่ำไร เหมือนมาณพที่เที่ยวไปในป่าฉะนั้น” ดังนี้แล้วได้นำเอาเรื่องอดีตมาเล่า ดังต่อไปนี้

          ในอดีตกาล ในกาสีนิคมตำบลหนึ่ง มีพราหมณ์มาณพคนหนึ่งรูปงาม สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง มีกำลังเท่าช้างสาร พราหมณ์มาณพนั้นคิดว่าประโยชน์อะไรที่เราจะทำกสิกรรมเป็นต้นเลี้ยงมารดา ประโยชน์อะไรด้วยบุตรภรรยา ประโยชน์อะไรด้วยบุญมีทานเป็นต้นที่เราทำไว้ เราจักไม่เลี้ยงดูใคร ๆ จักไม่ทำบุญอะไร จักเข้าป่าฆ่าเนื้อต่าง ๆ เลี้ยงชีวิตดังนี้แล้ว จึงผูกสอดอาวุธ ๕ ชนิด มุ่งไปสู่ป่าหิมพานต์  ฆ่าเนื้อต่าง ๆ กิน
          วันหนึ่งไปถึงเวิ้งภูเขาใหญ่ มีภูเขาห้อมล้อมรอบใกล้ฝั่งวิธินินที ภายในป่าหิมพานต์ ฆ่าเนื้อแล้วกิน เนื้อที่ย่างในถ่านเพลิงอยู่ ณ ที่นั้น มาณพนั้นคิดว่าเราจักมีเรี่ยวแรงอยู่เสมอเป็นไปไม่ได้ เวลาทุพพลภาพ เราจักไม่อาจไปเที่ยวในป่า บัดนี้เราจักต้อนเนื้อนานาชนิดเข้าเวิ้งภูเขาแล้วทำประตูปิดไว้ เมื่อเข้าไปป่าไม่ได้เราจักได้ฆ่าเนื้อกินตามชอบใจ คิดดังนี้แล้ว เขาก็ทำตามนั้น กรรมของเขาถึงที่สุดให้ผลเป็นทิฏธรรมเวทนีย์ทันตาเห็น คือ มือเท้าของตนใช้ไม่ได้ เขาไม่อาจเดินหรือพลิกไปมาได้ กินของเคี้ยวของบริโภคอะไรๆ ไม่ได้ น้ำก็ดื่มไม่ได้ ร่างกายเหี่ยวแห้ง เป็นมนุษย์เปรต ร่างกายแตกปริเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแตกระแหงในฤดูร้อนฉะนั้น เขามีรูปร่างทรวดทรงน่าเกลียดน่ากลัว เสวยทุกข์ใหญ่หลวง
          เมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าสีวิราชในสีวิรัฐทรงดำริว่า “เราจักเสวยเนื้อย่างในป่า จึงมอบราชสมบัติให้อำมาตย์ทั้งหลายดูแลแทน พระองค์เหน็บอาวุธห้าอย่างเสด็จเข้าป่าฆ่าเนื้อ เสวยเนื้อเรื่อยมาจนลุถึงประเทศนั้นโดยลำดับ ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั้นตกพระทัย ครั้นดำรงพระสติได้ จึงตรัสถามว่า “พ่อมหาจำเริญ ท่านเป็นใคร”
          เขาตอบว่า “นาย ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เปรต ได้รับผลกรรมที่ตนทำไว้” แล้วท่านเป็นใครกัน
          “เราคือพระเจ้าสีวิราช”
          “พระองค์เสด็จมาที่นี่เพื่ออะไร?”
          “เพื่อเสวยเนื้อมฤค”
          ลำดับนั้น มาณพจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็มาด้วยเหตุนี้แหละ จึงเป็นมนุษย์เปรต” แล้วทูลเรื่องทั้งหมดโดยพิสดาร เมื่อจะกราบทูลความที่ตนได้รับทุกข์แด่พระราชา ได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช พระองค์เกือบจะถึงความพินาศอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูทั้งหลายเทียว เหมือนข้าพระองค์ไม่กระทำกรรมที่ควรกระทำ ไม่ศึกษาศิลปวิทยา ไม่ทำความขวนขวายเพื่อให้เกิดโภคทรัพย์ ไม่ทำอาวาหวิวาหะ ไม่รักษาศีล ไม่กล่าววาจาอ่อนหวาน ทำยศเหล่านี้ให้เสื่อมไป จึงบังเกิดมาเป็นเปรตเพราะกรรมของตน ข้าพระองค์นั้นปฏิบัติชอบแล้ว พึงยังโภคะให้เกิดขึ้น เหมือนบุรุษชนะแล้วพันคนไม่มีพวกพ้องที่พึ่งอาศัย ล่วงเสียจากอริยธรรมมาการเหมือนเปรต ฉะนั้น
          ข้าพระองค์ทำสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อความสุขให้ได้รับความทุกข์ จึงได้มาส่วนอันนี้ ข้าพระองค์นั้นดำรงอยู่เหมือนบุคคลอันกองถ่านไฟล้อมรอบด้าน ย่อมไม่ได้ประสบความสุขเลย”
          ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว กราบทูลต่อไปว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์ประสงค์ความสุข แต่ทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ จึงเป็นมนุษย์เปรตในปัจจุบันทันตาเห็น เพราะฉะนั้น ขอพระองค์อย่าทำกรรมชั่วเลย จงเสด็จไปพระนครของพระองค์ ทรงบำเพ็ญบุญบารมีให้ทานเป็นต้นเถิด” พระเจ้าสีวิราชได้ทรงกระทำตามนั้น ทรงบำเพ็ญทางไปสู่สวรรค์
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เกิดมาทั้งที ควรทำความดีไว้ให้มาก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สยํ กตานิ ปุญฺญานิ ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ
ความดีที่ทำไว้เองเป็นมิตรตามตัวไปเบื้องหน้า (๑๕/๑๖๓)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.496 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 มิถุนายน 2568 23:11:57