‘ทรัมป์’ เซ็นปุ๊บป่วนปั๊บ ลอยแพผู้ลี้ภัยป่วยชายแดน รพ.ไทยยังไหว ชูทางออก
<span>‘ทรัมป์’ เซ็นปุ๊บป่วนปั๊บ ลอยแพผู้ลี้ภัยป่วยชายแดน รพ.ไทยยังไหว ชูทางออก</span>
<span><span>admin666</span></span>
<span><time datetime="2025-01-28T20:09:19+07:00" title="Tuesday, January 28, 2025 - 20:09">Tue, 2025-01-28 - 20:09</time>
</span>
<div class="field field--name-field-byline field--type-text-long field--label-hidden field-item"><p>ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล / สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ รายงาน</p><p>ภาพ แพทย์สนามของ USAID ในโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งในอูมิท่าฝั่งประเทศพม่า</p></div>
<div class="field field--name-body field--type-text-with-summary field--label-hidden field-item"><p>ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-พม่า เผชิญกับภาวะโกลาหล ภายหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ให้ตัดงบประมาณช่วยเหลือที่มอบให้ต่างประเทศทันที 90 วัน ส่งผลให้โรงพยาบาลที่รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในค่ายผู้ลี้ภัยต้องปิดตัวลง</p><p>สถานการณ์เป็นไปอย่างโกลาหล มีการปิด รพ. ในค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่ง คือ ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละกับค่ายอุ้มเปี้ยม ผู้ป่วยบางส่วนต้องกลับไปรักษาที่บ้าน อีกส่วนคือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือหญิงตั้งครรภ์ต้องไปรักษาที่ รพ.ไทยใกล้ชายแดน ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่ทราบว่ามีเท่าใด</p><p>ทั้งนี้เอ็นจีโอในพื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่รับเงินสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ก็ถูกระงับเงินทุน ท่ามกลางความกังวลขององค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัย</p><p>ประชาไทได้พูดคุยกับ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก เล่าถึงความพร้อมของโรงพยาบาลที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยไร้สัญชาติจำนวนมากหลังจากนี้ และ พรสุข เกิดสว่าง ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยที่จะให้ข้อมูลผลกระทบจากคำสั่งบริหารของทรัมป์ที่ทำให้เอ็นจีโอทั่วโลกต้องปั่นป่วน</p><h2>รพ.อุ้มผางยังรับมือได้ ช่วยเหลือยึดหลักมนุษยธรรม</h2><p>นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง จังหวัดตาก กล่าวถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่า ขณะนี้ รพ.อุ้มผางรับดูแลผู้ป่วยจากศูนย์อพยพบ้านนุโพในอุ้มผางที่มีประชากรประมาณ 7,500 คน อย่างไรก็ดี แต่เดิมรพ.ก็รับผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทยจากนอกศูนย์อพยพด้วยอยู่แล้ว โดยมาจากทั้งฝั่งพม่าและที่อาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผางเอง</p><p>สำหรับจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องรับมือ คงต้องขอให้แต่ละพื้นที่ไปสำรวจมาก่อนและทำแผนมาว่าจะต้องทำอะไร รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งในพื้นที่และระดับกระทรวง ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในการประชุมวันที่ 30 ม.ค.นี้</p><p>อย่างไรก็ตาม รพ.อุ้มผางเองที่ผ่านมาไม่ได้แยกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเป็นชาวบ้านจากศูนย์อพยพเท่าไร เพราะนับรวมกับบุคคลไม่มีสัญชาติไทยด้วย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตามที่ปรากฏในงบประมาณปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท ดังนั้นผู้ป่วยที่เข้ามาเป็นคนจากศูนย์อพยพจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนคนนอกศูนย์ฯ นั้นมีประมาณหลักหมื่น เพราะมีคนจากฝั่งพม่าที่เข้ามาด้วยแล้ว โดยฝั่งพม่าพื้นที่ตรงข้ามอำเภออุ้มผางของไทยเป็นพื้นที่กันดารและยังมีสถานการณ์สู้รบอยู่ด้วย</p><p>“เหยียบกับระเบิดแข้งขาขาดก็ต้องมาตัดที่โรงพยาบาล เราก็ต้องดูแลเขา แล้วชาวบ้านในอุ้มผางเองน่าจะเป็นหมื่นคนก็ไม่มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในเขตไทย ไม่ได้อยู่ในศูนย์ฝั่งพม่า เราก็ต้องดูแลอยู่แล้ว ปัญหาหนักของผมคืออยู่กระจัดกระจายมากกว่า”</p><p>ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผางยืนยันว่า ผลกระทำจากคำสั่งทรัมป์ยังไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของ รพ.เขาประเมินว่าผู้ป่วยจากศูนย์อพยพน่าจะราวๆ 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรืออาจจะน้อยกว่านั้น แล้วที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของเอ็นจีโอคอยดูแลอยู่ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเยอะเพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี</p><p>ผอ.รพ.อุ้มผางบอกอีกว่า เคสล่าสุดที่โรงพยาบาลอุ้มผางเพิ่งเจอเมื่อคืนนี้เป็นกรณีฉุกเฉินคนท้องจากในศูนย์อพยพต้องเช่ารถมาที่โรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก 2 ราย ตอนนี้ทางโรงพยาบาล 5 อำเภอชายแดนเพิ่งประชุมเตรียมการรับสถานการณ์อยู่ในวันนี้ โดยมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากร่วมด้วย</p><p>นพ.วรวิทย์เล่าถึงผลการประชุมคร่าวๆ ในวันนี้ว่ามีอยู่ 4 เรื่อง</p><p>
เรื่องแรก ยืนยันว่าการช่วยเหลือจะยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีเอ็นจีโอให้ความช่วยเหลือหรือไม่ก็ตาม</p><p>
เรื่องที่สอง ต้องให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินที่อันตรายถึงชีวิตหรือพิการได้ เช่น การคลอดบุตร อุบัติเหตุต่างๆ โรคที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต เช่น โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดเส้นเลือดในสมอง ปอดอักเสบ เป็นต้น โดยทางราชการจะไม่เก็บค่ารักษา ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลอุ้มผางก็ไม่ได้เก็บอยู่แล้ว หรือกระทั่งโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงก็ไม่ได้เก็บค่ารักษาในราคาที่สูงอยู่แล้วเรียกว่า อยู่ในระดับที่เอ็นจีโอพอให้ความช่วยเหลือได้ แต่หลังจากที่เอ็นจีโอหลายองค์กรถูกระงับเงินสนับสนุน ทาง รพ.ก็จะดูแลเช่นเดิม เหมือนกับคนไม่มีสิทธิหรือคนยากจนโดยเอาเรื่องมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง</p><p>นอกจากนั้นยังต้องจัดการควบคุมโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในศูนย์อพยพรวมถึงต้องดูแลคนป่วยที่เป็นโรคที่อาจแพร่ให้คนอื่นได้เช่น วัณโรค แต่เดิมมีศูนย์วัณโรคของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ International Rescue Committee (IRC) อยู่แล้วก็จะต้องรับช่วงดูแลรักษาเพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายในศูนย์และออกไปพื้นที่อื่น</p><p>“การแพทย์ฉุกเฉินและการควบคุมโรคเราทำโดยเข้มข้นอยู่แล้ว โดยไม่ต้องใช้เงินด้วย เรายืนยันเรื่องมนุษยธรรม” นพ.วรวิทย์ย้ำ</p><p>
เรื่องที่สาม ในวันที่ 30 ม.ค.นี้แพทย์ของสาธารณสุขจังหวัดจะมีการประชุมคณะกรรมการวางแผนประเมินผลระดับจังหวัดที่อุ้มผาง โดยมีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอเข้าร่วม จึงได้ขอให้ทุกพื้นที่ทำการสำรวจข้อมูลทั้งเรื่องจำนวนผู้ป่วยตามศูนย์อพยพต่างๆ และทำแผนมาว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อดูแลประชากรในศูนย์ฯ</p><ul><li aria-level="1">รพ.อุ้มผางรับดูแลผู้ป่วยจากศูนย์อพยพของค่ายนุโพ</li><li aria-level="1">รพ.พบพระรับดูแลศูนย์ในอุ้มเปี้ยม รพ.ท่าสองยางและรพ.แม่ระมาดรับดูแลศูนย์แม่หละ</li><li aria-level="1">รพ.แม่สอดจะเป็นกองหนุนให้กับโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง อาจส่งแพทย์เข้าไปช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ</li></ul><h2>เสนอรัฐบาลตั้งกองทุนระดมเงินต่างประเทศช่วย</h2><p>เรื่องที่สี่ นพ.วรวิทย์เสนอว่าทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะจัดตั้งกองทุนระดับประเทศ เพื่อขอรับบริจาคเงินจากทั่วโลก ทั้งจากกองทุนระหว่างประเทศต่างๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกเพื่อนำมาใช้ในภารกิจด้านมนุษยธรรมที่เราต้องทำ เพราะเราได้ผลกระทบจากนโยบายของประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลระดับโลกโดยที่เราควบคุมอะไรไม่ได้</p><p>นพ.วรวิทย์บอกว่า ที่ผ่านมาไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทต่างๆ เอ็นจีโอ และเงินจากต่างประเทศอยู่แล้ว ความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอที่เข้ามาเบื้องต้นอาจจะไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็ช่วยเหลือขั้นต้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ยกเว้นกรณีที่เจ็บป่วยหนักๆ ถึงส่งให้โรงพยาบาลตามชายแดนไทยรักษา</p><p>นอกจากนั้น ผอ.รพ.อุ้มผางบอกว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขควรประสานความร่วมมือกับทาง UNHCR ที่ต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบศูนย์อพยพอยู่แล้วเพื่อช่วยกันดูแล รวมไปถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อตอบโจทย์การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม</p><p>“ตอนนี้ก็ดีใจที่มีความเป็นเอกภาพมากภายในกระทรวงสาธารณสุขของเรา ทั้งผู้ว่าราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ก็พยายามเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านและปัญหาของโรงพยาบาลตามแนวชายแดน ไม่ต้องรับผิดชอบอยู่ฝ่ายเดียว เป็นการช่วยกันทั้งจากที่ว่าการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน เพราะเป็นนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดตากแล้วก็นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขก็ให้นโยบายแบบเดียวกันมา” นพ.วรวิทย์กล่าว</p><p>สำหรับมาตรการเบื้องต้น ตอนนี้ผอ.รพ.อุ้มผางขอความร่วมมือกับกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้ดูแลค่ายอพยพอยู่ในการดำเนินการช่วยขับรถส่งผู้ป่วย หรือให้ใช้อาคารเดิมของ IRC แล้วจ้างแพทย์สนามมาทำงานก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หากไม่ไหวจึงก็ค่อยนำส่งโรงพยาบาล </p><h2>อิทธิฤทธิ์คำสั่ง ‘ทรัมป์’ กระทบทุกงานมนุษยธรรมชายแดน</h2><p>พรสุข เกิดสว่าง ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยชายแดนไทยให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ มี 2 ค่ายผู้ลี้ภัยที่โรงพยาบาลของ IRC ต้องปิดลง คือ</p><ol><li aria-level="1">ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ใหญ่ที่สุดในไทย</li><li aria-level="1">ค่ายผู้ลี้ภัยอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ จ.ตาก</li></ol><p>พรสุขกล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยทั้งหมดรวมถึงผู้ป่วยติดเตียงถูกขอให้ออกจากโรงพยาบาลไปรักษาต่อที่บ้าน ผู้หญิงที่จะคลอดลูกต้องเรียกรถออกไปคลอดที่โรงพยาบาลของไทยด้วยตัวเอง งานอาสาสมัครสุขภาพชุมชน การดูแลแม่และเด็ก รวมไปจนถึงงานสุขาภิบาล น้ำสะอาด การจัดการขยะในค่ายผู้ลี้ภัย วัคซีน ซึ่งเป็นงบประมาณช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ต้องหยุดลงเช่นกัน</p><p>ส่วนเรื่องจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบนั้น ไม่ทราบแน่ชัด เพราะเป็นข้อมูลที่บันทึกไว้โดย IRC</p><p>พรสุขกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์หน้างานและในหมู่คนทำงานภาคประชาสังคมค่อนข้างโกลาหล</p><p>ปัญหาตอนนี้คือ คำสั่งที่ออกมาเป็นคำสั่งระงับการให้เงินช่วยเหลือ และห้ามทำกิจกรรมที่จะมีการใช้จ่ายเงินออก แต่ไม่มีความชัดเจนว่างานดูแลผู้ป่วยยังคงทำได้หรือไม่</p><p>“ถ้าเจ้าหน้าที่จะไปดูแลผู้ป่วย ตรงนี้เราคิดของเราเองว่ามันน่าจะทำได้ แต่ขณะนี้เกิดความกลัวไปก่อนไง …มันจึงไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วต้องทํายังไง เกิดการคิดกันไปเองว่าห้ามทําทุกสิ่งทุกอย่าง” </p><p>“คําสั่งมันมีความสับสนเยอะ ทางภาคประชาสังคม เขาก็มีคําถามเหมือนกันว่า เอ๊ะ แล้วพวกหมอ พยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาล เขาเป็นคนกะเหรี่ยงที่อยู่ในแคมป์ใช่ไหม เป็นผู้ลี้ภัยเองนี่แหละ เขาจะปฏิบัติงานไม่ได้หรือ มันผิดด้วยหรือ สมมติว่าโรงพยาบาลปิด เขาทํางานอื่นได้ไหม” </p><p>พรสุขแสดงความกังวลว่า หากท่าทีของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่องานด้านมนุษยธรรมชายแดน เพราะงบด้านมนุษยธรรมที่ช่วยเหลือด้านสุขภาพ อาหารและที่พักในค่ายผู้ลี้ภัย ได้รับเงินสนับสนุนส่วนมากจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID)</p><p>“มันจะไม่ได้หยุดโดยทันทีหรอก เพราะว่าเขาจะมีเงินจากแหล่งทุนอื่น แต่ว่างบประมาณในภาพรวมจะหายไปเยอะเลย ซึ่งมันต้องกระทบแน่นอนในปีนี้”</p><p>พรสุขกล่าวว่าอีกกรณีคือ ‘แม่ตาวคลินิก’ หน่วยงานดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ อ.แม่สอด ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสหรัฐฯ ก็ถูกระงับไปหลายโครงการ</p><p>นอกเหนือจากโรงพยาบาล ยังมีกรณีหน่วยงานอื่นๆ ที่รับเงินสนับสนุนส่วนมากจาก USAID อาทิ ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่อยู่ในฝั่งพม่า และงานด้านการศึกษาของกลุ่มกะเรนนี อาจได้ถูกตัดงบในอนาคตข้างหน้า</p><h2>ถึงเวลาคุยข้อเสนอปิดค่ายผู้ลี้ภัย</h2><p>จากเหตุการณ์ที่ รพ.ในค่ายผู้ลี้ภัยถูกตัดทุน กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้ออกมาย้ำถึงข้อเสนอปิดค่ายผู้ลี้ภัย ว่าเรื่องนี้เป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ถูกพูดถึงมาแล้วยาวนาน เนื่องจากผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับไปยังพม่าได้ ความหวังไปประเทศที่สามก็ริบหรี่ คนที่เกิดในค่ายเป็นคนรุ่น 3-4 ของคนที่เข้ามาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว ฉะนั้น ทางเดียวในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยคือ การปิดค่ายเพื่อให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ผสมกลมกลืนไปกับสังคมไทย</p><p>ผู้สื่อข่าวถามพรสุขในประเด็นนี้ด้วยว่าคิดอย่างไร พรสุขตอบว่า ภาคประชาสังคมรู้อยู่แล้วว่าสักวันหนึ่งเงินสนับสนุนจากต่างประเทศจะถูกตัดลดลงไป ฉะนั้นจึงอยากให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลจะนำข้อเสนอในเรื่องการปิดค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่งมาพิจารณาอย่างจริงจัง </p><p>“จริงๆ ระยะยาว ผู้ลี้ภัยก็ต้องการแบบนั้นอยู่นะ การถูกตัดงบช่วยเหลือในครั้งนี้ มันอาจจะเป็นส่วนกระตุ้นให้รัฐบาลไทยควรจะคิดให้เป็นจริงเป็นจังสักทีว่าคนเขา (ผู้ลี้ภัย) ก็ไม่ได้อยากจะอยู่แบบนี้ เขาก็ไม่ได้อยากจะพึ่งทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แบบนี้”</p><p>พรสุขกล่าวต่อไปว่า ในการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องอาศัยการบริหารจัดการมากพอสมควร ซึ่งผู้ลี้ภัยบางกลุ่มก็ต้องการการมีส่วนร่วมในกระบวนการ ซึ่งพวกเขาใช้คำว่า “การยอมรับบทบาท และพื้นที่ในการตัดสินใจและมีอํานาจในการบริหารจัดการ”</p><p>“ในอดีต สมัย 10 กว่าปีก่อนที่พี่ทํางาน เขา (คณะกรรมการผู้ลี้ภัย) จะมีอํานาจในการตัดสินใจและมีบทบาทเยอะ อย่างเช่นว่าในการประชุมงาน ทุกเดือนเจ้าหน้าที่รัฐของอําเภอจะประชุมกับคณะกรรมการผู้ลี้ภัยเพื่อบริหารจัดการคนในแคมป์ แต่ทุกวันนี้ การประชุมของพื้นที่จะเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเอ็นจีโอฝรั่ง</p><p>คณะกรรมการผู้ลี้ภัยไม่ได้รับเชิญ ถึงขนาดต้องขอเข้าไปนั่ง คือมันถูกกันออกไป มันกลายเป็นเอ็นจีโอกับรัฐไทย แล้วเมื่อก่อนเขาคณะกรรมการผู้ลี้ภัย มีอํานาจในการดูแลตัวเองเยอะกว่านี้ แล้วเขาก็จะเข้มแข็งกว่านี้ไง เขาก็บอกว่ามันก็ถึงจุดที่บทบาทเขาต้องกลับมาด้วยเหมือนกัน” </p><p>พรสุขกล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบงานของเอ็นจีโอใหญ่ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็อาจจะรู้สึกว่าแบบนี้ประสานงานง่ายกว่า แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยก็จะถูกค่อยๆกันออกไป</p></div>
<div class="node-taxonomy-container">
<ul class="taxonomy-terms">
<li class="taxonomy-term"><a href="
http://prachatai.com/category/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7" hreflang="th">ข่า
http://prachatai.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99" hreflang="th">สิทธิมนุษยช
http://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8" hreflang="th">ต่างประเท
http://prachatai.com/category/%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%8C-%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%8C" hreflang="th">โดนัลด์ ทรัมป
http://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2" hreflang="th">พม่
http://prachatai.com/category/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C" hreflang="th">เมียนมาร
http://prachatai.com/category/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2" hreflang="th">ชายแดนไทย-พม่
http://prachatai.com/category/%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C" hreflang="th">วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย
http://prachatai.com/category/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%87" hreflang="th">อุ้มผา
http://prachatai.com/category/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%94" hreflang="th">แม่สอ
http://prachatai.com/category/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81" hreflang="th">ตา
http://prachatai.com/category/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87" hreflang="th">พรสุข เกิดสว่า
https://prachataistore.net</div>
http://prachatai.com/journal/2025/01/112039 







