นางสุปปวาสา โกลิยธิดา
เอตทัคคะในทางผู้ถวายของมีรสประณีต พระนางสุปปวาสาอุบาสิกาผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสิกาทั้งหลายผู้ถวายของมีรสประณีต ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้
๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต ดังได้สดับมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานั้น ครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ นางบังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี กำลังฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป แล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง นางเวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป
๐ บุรพกรรมเมื่อครั้งเกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์และพระสีวลีเถระ ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระอุทรแห่งพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ทรงเจริญวัยแล้ว ทรงศึกษาสรรพศิลปวิทยา ณ เมืองตักกสิลา ครั้นพระชนกเสด็จทิวงคต ก็ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม
ท่านก็ได้จุติจากเทวโลก มาบังเกิดเป็นมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้าพาราณสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ
พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า จงอย่ามีการต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมด ไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปีแต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง
ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้ พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ
พระราชกุมารนั้นได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสา พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ ปี และเพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน ตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป
๐ กำเนิดเป็นพระนางสุปปวาสในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลกษัตริย์ พระนครโกลิยะ พระประยูรญาติจึงขนานพระนามพระนางว่า สุปปวาสา ทรงเจริญวัยแล้ว อภิเษกกับศากยกุมารพระองค์หนึ่ง เมื่อได้สดับธรรมกถาของพระศาสดาในการเข้าเฝ้าครั้งแรกเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
๐ พระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพระนางสุปปวาสา วันหนึ่ง พระนางถวายโภชนะอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว เมื่อทรงกระทำอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมนี้ แก่พระนางสุปปวาสาว่า ดูก่อนสุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ถวายโภชนะ ชื่อว่า ให้ฐานะทั้ง ๕ แก่พวกปฏิคาหก คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุข ให้พละ ให้ปฏิภาณ ก็แลผู้ให้อายุ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ฯลฯ ผู้ให้ปฏิภาณ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
๐ กำเนิดพระสีวลีราชกุมาร ต่อมาพระนางก็ทรงพระครรภ์ พระสีวลีราชกุมาร ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่พระกุมารผู้อยู่ในพระครรภ์ถวายมหาทานในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่าขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะพร้อมชาวเมืองในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ดังนั้นนับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสา วันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า
ครั้งนั้น คนทั้งหลายด้วยความปรารถนาจะลองบุญพระกุมารนั้น จึงให้นางเอามือจับกระเช้าพืชพืชแต่ละเมล็ด ผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้นางเอามือจับประตูยุ้ง ด้วยบุญของราชธิดาเมื่อมีคนมารับของไป ของที่พร่องไปนั้นก็กลับเต็มเหมือนเดิม เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า บุญของราชธิดา แล้วให้ของแก่ใครๆ จากภาชนภัตรที่เต็มบริบูรณ์ ภัตรย่อมไม่สิ้นไป จนกว่าจะยกของพ้นจากที่ตั้ง
ด้วยผลกรรมของพระนาง ที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปีก็ยังไม่มีพระประสูติกาล
ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนาง กับ พระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน
พระนางปรารภกับพระสวามีปรารถนาจะถวายทานก่อนที่จะตาย จึงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อไปกราบทูลเรื่องนี้ แล้วนิมนต์พระบรมศาสดา และถ้าพระบรมศาสดาตรัสคำใด ขอให้ตั้งใจจดจำคำนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกพระนาง พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมี ความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์
ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระราชธิดา พระราชธิดาตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพล ตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้นและได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารก ได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”
๐ พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวง เพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระเจ้านั้น พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระเจ้าว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี
พระเถระได้กล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลีตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช
พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน ๕ กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะโกนปอยที่ที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด
ส่วนอาจารย์บางพวก กล่าวถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระนี้ไว้ดังนี้ว่า เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ให้โอวาทโดยนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสีวลีกุมารกล่าวว่า กระผมจักรู้กิจกรรมที่กระผมสามารถจักกระทำได้ (ด้วยตนเอง) ดังนี้ แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นกุฏิหลังหนึ่งว่าง (สงบสงัด) จึงเข้าไปสู่กุฏินั้นในวันนั้นแหละ ระลึกถึงทุกข์ที่ตนเสวยแล้วในท้องมารดาตลอด ๗ ปี แล้วพิจารณาทุกข์นั้น ในอดีตและอนาคต โดยทำนองนั้นแหละอยู่ ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏว่า เป็นเสมือนไฟติดทั่วแล้ว สีวลีสามเณรหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถี เพราะญาณถึงความแก่รอบ ทำอาสวะแม้ทั้งปวงให้สิ้นไป ตามลำดับมรรค บรรลุพระอรหัตแล้ว ในขณะนั้นเอง ส่วนพระเถระก็เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้อภิญญา ๖
๐ ทรงแต่งตั้งอุบาสิกาเป็นเอตทัคคะผู้ถวายของมีรสประณีต พระนางสุปวาสานั้น เป็นอัครอุปัฏฐายิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าของเคี้ยวของบริโภคหรือเภสัช อันสมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสตรีอื่นๆ ที่พึงจัดแจงไว้ในนั้น สิ่งทั้งหมดนั้นพระนางใช้ปัญญาของตนเท่านั้นจัดแจง แล้วจักน้อมเข้าไปถวายโดยเคารพ และนางได้ถวายสังฆภัตและปาฏิปุคคลิกภัต ๘๐๐ ที่ทุกๆ วัน ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี เข้าไปบิณฑบาตยังตระกูลนั้นมิได้มีมือเปล่าไป พระนางมีการบริจาคอย่างเด็ดขาด มีมือสะอาด ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน ด้วยประการฉะนี้
ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนา พวกอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระนางสุปปวาสา อุบาสิกาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต แล
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
dharma-gateway.com