ความกรุณาจากใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเกิดจากดวงจิตที่บริสุทธิ์ พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความกรุณาแท้จริง คือกรุณาให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ พร้อมทั้งมีเมตตา.... โดย...สมาน สุดโต
หลวงจีนวัดเล่งเน่ยยี่เรียกร้องลูกๆ ทั้งหลายว่าอย่ากตัญญูเฉพาะในวันแม่ หรือแต่ในห้องที่จัดนิทรรศการ แต่ให้กตัญญู ตลอดกาล จะเป็นมงคลแก่ตนเอง
ตัวท่านยังรำลึกถึงคุณแม่เสมอ แม้ท่านจะลาจากโลกนี้ไปแล้ว ดังนั้นทุกครั้งที่ไหว้พระจะรำลึกถึงคุณพ่อ-แม่ครูอาจารย์และพระมหากษัตริย์เสมอ
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (เย็นเซี้ยว) รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) รับนิมนต์มาแสดงธรรมที่โรงแรมตวันนารามาดา ในโครงการตะวันธรรม ที่พระราชปฏิภาณมุนี (พระมหาบุญมา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นหัวหน้าโครงการ เมื่อค่ำวันที่ 17 ส.ค. 2553 ได้บรรยายธรรมในหัวข้อว่าความกรุณาในดวงใจ โดยมีผู้เข้าฟังประมาณ 200 คน เต็มห้องประชุมใหญ่
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ก่อนที่ท่านจะบรรยายธรรมตามหัวข้อท่านเล่าถึงกิจกรรมที่ผู้เข้าฟังจะต้องร้องเพลงค่าน้ำนมว่าท่านฟังมาตั้งแต่ก่อนบวช ฟังครั้งใดน้ำตาจะไหลทุกที ท่านว่าท่านบวชถึงปีนี้เป็นเวลา 51 พรรษา อายุ 71 ปี
ท่านว่าเคยพูดกับญาติโยมว่าจะดีใจถ้าโยมแม่ยังอยู่ แต่ท่านถึงแก่กรรมเสียแล้ว ที่ทำได้ตอนนี้คือกราบพระแทนโดยรำลึกถึงคุณแม่และคุณพ่อ พร้อมทั้งคุณพระราชามหากษัตริย์ และครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนมา
ส่วนคำว่า กรุณาที่เป็นหัวข้อให้บรรยายนั้น ท่านว่ากรุณาจะเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบันหรือ เพราะโลกเป็นวัตถุนิยม เป็นโลกาภิวัตน์
ท่านบอกให้รำลึกถึงเรื่องความกรุณาของคนไทยในอดีตว่า ที่หน้าบ้านทุกแห่งที่เราเดินทางไปในต่างจังหวัดจะเห็นโอ่งน้ำตั้งไว้ให้บริการแก่คนเดินทาง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว น้ำในโอ่งนั้นสามารถดื่มกินได้โดยไม่ได้ระแวง หรือสงสัยในความปลอดภัยแม้แต่น้อย ดื่มด้วยความมั่นใจ ปรากฏการณ์เหล่านี้มีเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเดินทางต่างจังหวัดเจอแต่น้ำขวด หรือโค้ก โลกวิวัฒนาการไปอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นเรื่องกรุณานี้อาจไม่เห็น เมื่อไม่พบอย่างที่ต้องการ ขอให้ญาติโยมทำใจว่างๆ ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา นึกเสียว่าเขาจะเอาเปรียบบ้างก็ช่างเขาเถิด
ท่านบอกว่าคำว่ากรุณานั้นตรงกับหัวข้อธรรมพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พร้อมกับบอกว่าพุทธศาสนามหายาน ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมข้อไหน จะต้องมีพระโพธิสัตว์มาเกี่ยวข้อง ทุกบท ทุกหัวข้อธรรมะ
เช่นกาลครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวัน ท่ามกลางพระโพธิสัตว์ พระอรหันต์เจ้าและทวยเทพทั้งหลายในที่เดียวกัน จะเห็นว่ามีคำว่าพระโพธิสัตว์อยู่ทุกบท แสดงว่าพระโพธิสัตว์เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างลึกซึ้งตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาแล้ว
ถึงจุดนี้ท่านบอกความแตกต่างพุทธฝ่ายมหายาน กับเถรวาทให้ที่ประชุมฟังว่า
พระพุทธศาสนาเข้าสูประเทศจีนประมาณ พ.ศ. 610 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1,900 ปีแล้ว ไม่ใช่ระยะสั้นๆ ตอนนั้นยังไม่มีประเทศไทย ยังไม่มีสุวรรณภูมิ เพราะสุวรรณภูมินั้นมีเมื่อ 1,200 ปี
ตามประวัติศาสตร์ ตั้งแต่แหลมมลายูถึงประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนแล้ว แสดงว่าพุทธศาสนามหายานมีรากฐานในจีนที่แน่นรองจากประเทศอินเดีย
จากจีนจึงเผยแผ่ไปสู่เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม
มหายานนั้นตามภาษาทางพุทธศาสนาเรียกว่าอุตรนิกาย หรือพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ หรือทางเหนือของอินเดียขึ้นไป เดิมทีเดียวเรียกว่าฝ่ายมหาสังฆิกะ
ท่านนาคารชุน ที่มีบทบาทในศตวรรษที่ 6-7 เห็นว่าพุทธศาสนาในอินเดียจะเสื่อมลง จึงปฏิรูปใหม่ ให้มีวิธีการใหม่ๆ ต้องมีหลักการสอนดึงดูดจิตใจคนหนุ่ม-สาว เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้สามารถสู้กับศาสนาอื่นได้ โดยให้เรียกที่ปฏิรูปใหม่ว่ามหายาน
อีกฝ่ายหนึ่งเรียกฝ่ายทักษิณนิกายหรือฝ่ายเถรวาทเริ่มจากตอนใต้ของอินเดีย เข้าไปสู่ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และเขมร
ทั้งสองฝ่ายมาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน แต่มาแบ่งแยกกันเมื่อมีการทำสังคายนาครั้งที่ 2 โดยทางเหนือแยกไปกลุ่มหนึ่ง ทางใต้แยกไปกลุ่มหนึ่ง ทั้งสองแตกต่างกันไหม ท่านยืนยันว่าไม่มีอะไรแตกต่างกัน
บารมี 6 เว้นแต่หลักการปฏิบัติ หรือหลักธรรม แตกต่างกัน มหายานยึดถือบารมี 6 และบำเพ็ญธรรม 6 ประการนี้ จนถึงฝั่งข้างโน้น หรือนิพพาน
บารมี 6 หรือโพธิสัตวมรรค คือ 1.ฌานบารมี 2.ขันติบารมี 3.วิริยะบารมี 4.ศีลบารมี 5.ทานบารมี และ 6.ปัญญาบารมี
การจะถึงฝั่งทางโน้น (พระนิพพาน) ต้องบำเพ็ญบารมีทั้ง 6 เป็นเรื่องที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญ เพื่อบรรลุพุทธภูมิ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานให้สิทธิในการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าไว้สูงมาก เพราะพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้นั้นได้บำเพ็ญบารมีก่อนแล้ว เช่นเกิดเป็นพระเวสสันดร ซึ่งก็เป็นพระโพธิสัตว์ มหายานจึงเจริญตามรอยนั้นด้วยการบำเพ็ญบารมีและทำคุณงามความดี
คำว่าโพธิสัตว์นั้นท่านอธิบายว่า โพธิ + สัตว์ เท่ากับสัตว์ที่จะตรัสรู้ คือ โพธิ แปลว่า ตื่น สัตว์เป็นผู้มีบุญบารมีแรงกล้า
ผู้ที่จะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ รวมทั้งเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ผู้นี้คือพระโพธิสัตว์
ฝ่ายเถรวาทนั้นสอนให้บำเพ็ญตามมรรคมีองค์ 8 เพื่อจะได้รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หรือไม่ก็เป็นพระอริยบุคคล เช่นพระโสดาบัน จนกระทั่งบรรลุพระอรหันต์
การบำเพ็ญโพธิสัตวมรรคคือช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ก่อน ทำตัวเหมือนเรือบรรทุกสรรพสัตว์ พาข้ามแม่น้ำคือวัฏสงสาร
ฝ่ายเถรวาทนั้นต้องทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สะอาด เป็นที่พึ่งของตนเองแล้วจึงจะมาช่วยสรรพสัตว์
ท่านบอกว่าญาติโยมในที่ประชุมนี้สามารถเลือกเดินได้จะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ จะเลือกเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ พร้อมกับแซวพระราชปฏิภาณมุนีว่าบำเพ็ญทั้งสองอย่างคือ พระโพธิสัตว์และพระอรหันต์
พระราชปฏิภาณมุนี และพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ เพื่อให้เห็นภาพพระจีนว่าเป็นอย่างไร ท่านเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2414 ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเลือกทำเลสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ขึ้นมา ตั้งเป็นวัดจีนโดยถูกต้องตามพุทธบัญญัติ และมี พ.ร.บ.รองรับเหมือนกัน
วัดเล่งเน่ยยี่เป็นวัดแม่ของวัดต่างๆ ที่เผยแผ่ออกไปเยอะในขณะนี้
พระปฐมอาจารย์คืออาจารย์สกเห็ง ช่วงสุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เป็นเจ้าคณะใหญ่องค์แรกของประเทศไทย วัดนี้ถึงปัจจุบันมีอายุ 140 ปีพอดี ใน 140 ปี มีเจ้าอาวาส 9 องค์โดยตัวท่านเป็นองค์ที่ 9
ประวัติของท่านโดยย่อว่าท่านมีนามฉายาว่า เย็นเชี้ยว เกิดในตระกูลแซ่เจียม มีภูลำเนาเดิมอยู่เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร บิดาท่านชื่อ นายยุ่นฮะ แซ่เจียม มารดาท่านชื่อ นางซิ้วเกียว แซ่ลี้ เชื้อชาติจีน (จีนแต้จิ๋ว) มณฑลกวางตุ้ง สัญชาติไทย
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2483 อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2503 ณ วัดโพธิ์เย็น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี โดยมีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้ง) เป็นพระอุปัชฌาย์มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวินยานุกร ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการไพศาลสมณกิจ ในปี พ.ศ. 2534 ได้บูรณปฏิสังขรณ์วิหารและองค์ท้าวจตุโลกบาล ในปีถัดมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์
ในปี พ.ศ. 2533 ท่านได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา (มังกรกมลาวาสวิทยาลัย) ในปี พ.ศ. 2539 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์
ในปี พ.ศ. 2542 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์
นิกายจีน ท่านบอกว่าคณะสงฆ์จีนและไทยไม่มีอะไรแตกต่างกัน ญาติโยมบางท่านว่าพระจีนไม่มีอะไรนอกจากทำกงเต๊ก แต่ท่านว่าการทำกงเต๊กมีประโยชน์มาก ท่านเคยบอกพระที่ไปทำกงเต๊กว่าควรใช้โอกาสทำกงเต๊กบอกลูกหลานจีนให้มีความกตัญญูในบรรพบุรุษ พร้อมทั้งอธิบายธรรมะให้ลูกๆ ได้ทราบในโอกาสนั้นด้วย
ท่านพูดถึงกฎแห่งกรรมว่าบางคนอาจสงสัยทำดีไม่ได้ดี ทั้งๆ ที่รับว่ามีกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ที่เห็นๆ นั้น ทำชั่วได้ดีมีถมไป ท่านจึงบอกให้ทราบว่าการแบ่งกฎแห่งกรรมนั้นแบ่งเป็น 3 ช่วง คือชาติหน้า ชาติปัจจุบัน และอดีตชาติ กรรมที่เราทำอาจรับในช่วงใดช่วงหนึ่งใน 3 ช่วงนั้น
ปณิธานพระโพธิสัตว์ ย้อนมาที่หัวข้อกรุณา ท่านว่าความกรุณาจากใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเกิดจากดวงจิตที่บริสุทธิ์ พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความกรุณาแท้จริง คือกรุณาให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ พร้อมทั้งมีเมตตาอีกด้วย
การที่จะเกิดเมตตา และกรุณานั้นต้องมีมหาปณิธาน พระโพธิสัตว์ที่มีมหากรุณาคือพระกษิตครรภ์โพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์องค์นี้มีปณิธานว่า ยอมรับทุกข์แทนสรรพสัตว์มีปณิธานโปรดสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ก่อน ท่านจึงจะเข้าปรินิพพาน ตราบใดที่นรกยังมีอยู่ ท่านจะไม่ยอมเป็นพระพุทธเจ้าตราบนั้น คำขวัญมหายานตามโศลกมี 4 ข้อ 1.เราจะโปรดสัตว์ให้หมด 2.เราจะละกิเลสให้หมด 3.ศึกษาพระธรรมให้แจ้ง และ 4.เราจะบรรลุพุทธภูมิ ท่านสรุปว่ามหายานให้สิทธิทุกคนเข้าถึงพุทธภูมิ โดยไม่เลือกสี เพราะมีแต่สีแห่งแสงเทียน มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่บูชา ถ้าทำและคิดอย่างนี้ จิตใจจะมีเมตตา กรุณาตลอดไป
http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/สว่าง-ณ-กลางใจ/45566/กรุณาจากดวงใจ-ธรรมะจากหลวงจีน-วัดเล่งเน่ยยี่