[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 06:56:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิวัฒนาการเครื่องดนตรีของบรรพชน  (อ่าน 9369 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 มีนาคม 2557 18:08:13 »

.


นกศักดิ์สิทธิ์ เป็นลายเส้นบนขอบวงกลมหน้ากลองทองสัมฤทธิ์(มโหระทึก)
อายุราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในวัฒนธรรมดงเซิน พบที่เวียดนาม

ลายนก
อยู่ขอบนอกสุดของหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เชื่อกันต่อมาว่า นกกระเรียน (แต่ไม่ระบุเพศผู้หรือเมีย)
ถือเป็นนกศักดิ์สิทธิ์สื่อสารระหว่างดินกับฟ้า
(ลายเส้นนี้ได้จากรูปหน้ากลองมโหระทึก พบที่เวียดนาม)

นางหงส์ นกศักดิ์สิทธิ์ตัวเมีย
สัญลักษณ์เครื่องประโคมงานศพ

ดนตรีประโคมงานศพเก่าสุดในอุษาคเนย์ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีเครื่องมือหลัก เช่น ปี่, แคน, กลองไม้ (ต้นตระกูลกลองทัด)

ต่อมาเมื่อพบโลหะทำเครื่องมือเครื่องใช้ ก็มีเครื่องมือโลหะเพิ่มขึ้น เช่น ฆ้อง, กลองทอง (มโหระทึก)

ปี่พาทย์ฆ้องวง
ครั้นเติบโตขึ้นเป็นบ้านเป็นเมือง แล้วเป็นรัฐตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐

ดนตรีประโคมงานศพ มีปี่, ฆ้อง, กลอง, ฯลฯ เรียกในเอกสารยุคอยุธยาว่า ปี่พาทย์ฆ้องวง ในงานพิธีกรรมทั่วไปด้วย เช่น แก้บน, ละคร, หนังใหญ่ ฯลฯ แต่ในวัฒนธรรมเขมร เรียก วงตุ้มโมง (ตุ้ม คือ เสียงกลอง, โมง คือเสียงฆ้อง) ยังมีใช้สืบมาจนทุกวันนี้อยู่ทาง จ.สุรินทร์

ปี่, กลอง
ราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ บ้านเมืองในอุษาคเนย์รับแบบแผนวัฒนธรรมจากอินเดียใต้และลังกา ซึ่งมีเครื่องประโคมที่เรียกชื่อภายหลังอย่างทางการเป็นคำจากภาษาบาลี-สันสกฤตว่า ปัญจดุริยะ (หรือ ปัญจวาทยะ) มี ๕ สิ่ง คือ ปี่ ๑ เลา (ปี่ไฉน, ปี่ชวา) และกลองรูปร่างต่างกัน ๔ ใบ (กลองแขก, กลองมลายู) แล้วเรียกกันต่อมาว่า “กลอง ๔ ปี่ ๑”

ในลังกามีชื่อเฉพาะเรียกต่างกัน ๒ อย่าง คือ งานทั่วไปเรียก มังคลเภรี (มัง-คะ-ละ-เพ-รี) งานศพเรียก อวมังคลเภรี

ในไทยลุ่มน้ำยมรับมาเรียก วงมังคละ ภาคใต้รับมาเรียก วงกาหลอ (กร่อนจากคำว่า มังคละ) ลุ่มน้ำเจ้าพระยารับมาเรียก วงปี่ไฉนกลองชนะ

ถ้าประกอบการละเล่นกระบี่กระบองและมวย เรียก ปี่ กลอง ทุกวันนี้ยังมีตามเวทีมวยไทย

ปี่พาทย์นางหงส์
ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นชื่อสมมติเพื่อเรียกวงประโคมงานศพ ตามประเพณีให้หงส์ส่งวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์ เพราะหงส์เป็นสัตว์มีปีก บินขึ้นฟ้าได้ แล้วเรียกเป็นนางตามประเพณียกย่องเพศหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม

นางหงส์ เป็นชื่อเครื่องประโคม มีปี่กับกลองมลายูหลายใบ เรียกกันว่านางหงส์ ไม่ใช่ชื่อเพลงที่ประโคม (สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ)

ต่อมาเรียกปี่พาทย์ที่ใช้ประโคมงานศพว่า ปี่พาทย์นางหงส์ นานเข้าก็เหมาเรียกจังหวะหน้าทับกลองที่ตีกำกับทำนองเพลงประโคมตอนเผาศพว่านางหงส์ด้วย

นกศักดิ์สิทธิ์ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
คำว่า นางหงส์ หมายถึง (นาง) นก (ตัวเมีย) เช่น (อี)แร้ง, (อี)กา, ฯลฯ ตามประเพณีดึกดำบรรพ์ว่าปลงด้วยนก หมายถึงให้แร้งกากินศพแล้วขึ้นฟ้า (สวรรค์)

มีหลักฐานลายเส้นรูปนก สลักบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ปลงด้วยนก
แต่เมื่อเปลี่ยนคติทำพิธีเผาศพตามอินเดียก็ยังรักษาร่องรอยดั้งเดิม คือให้นางนกแร้ง-กา พาขวัญและวิญญาณสู่ฟ้าเรียกปลงด้วยนก แล้วกลายเป็นผีฟ้า จึงเรียกนางนกแร้งกาอย่างยกย่องว่านางหงส์ บางท้องถิ่นเรียกนกหัสดีลิงค์

เมื่อเริ่มจุดไฟเผาศพ วงปี่พาทย์นางหงส์ทำเพลงบัวลอย มีความหมายว่าให้ขวัญลอยขึ้นฟ้า

“บัวลอย เป็นชื่อเพลงที่ปี่เป่า ไม่ใช่ชื่อเครื่องนางหงส์” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๓ ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

บรรเลงประโคมทั่วไปในงานศพ มีชื่อเพลงโดยลำดับว่า บัวลอย, นางหน่าย, กระดี้รี, นางหงส์, หกคะเมน, ไต่ลวด ไม่กำหนดตายตัว จะแทรกเพลงอื่นก็ได้ (ที่ไม่ใช่เพลงมงคล)

แต่เวลาเผาศพ มีเพลงกำหนดตามลำดับ ดังนี้ ทุบมะพร้าว, แร้งกระพือปีก, กาจับปากโลง, ชักไฟสามดุ้น, ไฟชุม เมื่อจุดไฟเผาศพให้ทำเพลงบัวลอย


(มีในหนังสือของพระยาอนุมานราชธน กราบทูล สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานิริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๒)

จะเห็นว่าชื่อเพลงตอนเผาศพเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก คือ แร้งกระพือปีก, กาจับปากโลง

ปี่พาทย์มอญ
ปี่พาทย์มอญ เป็นวงปี่พาทย์ในวัฒนธรรมมอญ ใช้ประโคมทั่วไปเหมือนปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์เขมร ปี่พาทย์ลาว ทั้งประกอบการแสดง และประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เกิดถึงตาย

ประโคมงานศพไทยด้วยปี่พาทย์มอญ เริ่มในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ เมื่อรับพระบรมราชานุญาตให้ประโคมงานพระเมรุท้องสนามหลวง หลังจากนั้นพวกเจ้านายขุนนางข้าราชการก็ทำเลียนแบบสืบมาจนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ ฉบับลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๓ เล่าให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงทราบ ดังนี้
“เรื่องที่ชอบใช้ปี่พาทย์มอญในงานศพนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่า ว่าปี่พาทย์มอญทำในงานหลวงครั้งแรกเมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ทรงเป็นเชื้อมอญ แต่จะเป็นทางไหนหม่อมฉันไม่ทราบ เคยได้ยินแต่ชื่อพระญาติคน ๑ เรียกว่า “ท้าวทรงกันดาล ทองมอญ” ว่าเพราะเป็นมอญ พระองค์ท่านคงจะทรงทราบดีกว่า คงเป็นเพราะเหตุนั้น งานพระศพพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้น โดยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ

คนภายนอกอาจจะเอาอย่างงานพระศพหลวงไปเพิ่ม หรือไปหาเฉพาะปี่พาทย์มอญมาทำในงานศพโดยไม่รู้เหตุเดิม แล้วทำตามกันต่อมา จนเลยเข้าใจว่างานศพต้องมีปี่พาทย์มอญจึงจะเป็นศพผู้ดี เหมือนกับเผาศพชอบจุดพลุญี่ปุ่นกันแพร่หลายอยู่คราวหนึ่ง

อันที่จริงปี่พาทย์มอญ มอญเขาก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพเหมือนกันกับปี่พาทย์ไทย กลองคู่กับปี่ชวา และฆ้องประสมกันซึ่งเรียกบัวลอย ก็ใช้ทั้งงานศพและงานมงคล เช่น ในงานมหรสพ ไต่ลวด ลอดบ่วง และนอนหอกนอนดาบในสนามหลวง ที่สุดจนกลองชนะก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพ

เครื่องประโคมที่ใช้เฉพาะงานศพเห็นมีอย่างเดียว แต่ปี่พาทย์นางหงส์ อันมีผู้คิดกลองคู่บัวลอยเข้าประสมวงกับปี่พาทย์ พวกปี่พาทย์เห็นว่าเพลงนางหงส์เข้ากับกลองคู่ดี จึงใช้เพลงนั้น เลยกลายเป็นชื่อเครื่องประโคมอย่างนั้น”


ที่มา : สุจิตต์  วงษ์เทศ “นางหงส์ นกศักดิ์สิทธิ์ตัวเมีย สัญลักษณ์เครื่องประโคมงานศพ ”  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2558 13:33:25 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 14 พฤษภาคม 2557 15:47:58 »

.


ภาพจาก : xn--72cai2bch5le2gc1kix.com

เครื่องดนตรี
จากเรือศักดิ์สิทธิ์รูปงู

เครื่องดนตรีอุษาคเนย์จำนวนหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายเรือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงูหรือนาค สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนคนดึกดำบรรพ์

เรือศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนคนดึกดำบรรพ์ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ประดิษฐ์ให้มีหัวมีหางเหมือนงูที่เคลื่อนไหวเลื้อยไปมาได้เหนือผิวน้ำ แล้วใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เช่น พิธีศพ



     เครื่องดนตรีรูปร่างเหมือนขดงู
     (๑) ฆ้องวงโค้งรอบตัว แบบลาว, เขมร, ไทย  
     (๒) ฆ้องวงโค้งขึ้นบน แบบมอญ  
     (๓) รางระนาดเอก  และ  
     (๔) จะเข้ (กร่อนจาก จระเข้)

งู
งูเป็นสัตว์มีพิษร้ายและรุนแรงเกินกว่าคนจะแก้ไขได้

ประกอบกับภูมิภาคนี้เป็นเขตร้อนชื้น มีสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะงูชุกชุม คนเลยกลัวงูแล้วบูชางูเป็นสิ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ  

โดยเชื่อว่างูมีหลักแหล่งอยู่ในเรี้ยวในรูลึกลงไปในแผ่นดินที่ภายหลังเรียกบาดาล อันเป็นแหล่งน้ำมหึมาที่งูเป็นผู้พิทักษ์ แล้วบันดาลให้ผุดไหลขึ้นจากใต้ดินเรียกน้ำซึม น้ำซับ น้ำซำ อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนในชุมชน

เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเซ่นวักงูเป็นผีศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดชคุ้มครองป้องกันและบันดาลความอุดมสมบูรณ์  

ฉะนั้น ภาชนะดินเผาบางใบมีลายรูปงู และภาชนะดินเผาจำนวนมากมีลายเขียนสีสัญลักษณ์ของน้ำ เช่น ที่บ้านเชียง (จ.อุดรธานี) แล้วทำสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยหลังๆ ซึ่งพบทั่วไปในยุคทวารวดี

ภายหลังได้รวมถึงสัตว์ร้ายและรุนแรงอื่นๆ เช่น จระเข้, ตะกวด (แลน), ฯลฯ

ความเชื่อเรื่องงูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นี่แหละ ต่อไปจะได้รับยกย่องเป็นนาค หรือพญานาค พบมากในกัมพูชา, ลาว, ไทย, ฯลฯ



(ซ้าย) เรือนาคส่งคนตายกลับบ้านเก่าหรือถิ่นเดิม บางทีเรียกเรือแห่งความตายบนภาชนะบรรจุกระดูก อายุราว ๒,๘๐๐ ปีมาแล้ว พบในถ้ำมานุงกัล ของฟิลิปปินส์ จากลายเส้นจะเห็นคนด้านหลังอาจเป็นฝีพายผู้พาผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านหน้าไปส่งยังอีกโลกหนึ่ง การแต่งกายและท่าทางของผู้โดยสารที่อาจหมายถึงตัวแทนของคนตาย เพราะนักวิชาการสังเกตว่าเป็นลักษณะเดียวกับท่าทางและการแต่งศพของชนพื้นเมืองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

(ขวา) ถิ่นเดิมของคนคือบาดาลอยู่ใต้ดิน เมื่อตายไปแล้วก็กลับถิ่นเดิม มีเรือเป็นพาหนะรับส่ง พิธีศพของคนเมื่อหลายพันปีมาแล้วจึงต้องมีโลงไม้คล้ายเรือใส่ศพทำพิธีกรรม ดังนักโบราณคดีสำรวจและขุดพบโลงไม้ บริเวณลุ่มน้ำแควน้อยแควใหญ่ จ.กาญจนบุรี และที่ถ้ำผีแมน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

เรืองูเชิญขวัญ
บรรพชนคนดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าคนเรามี “บ้านเก่า” คือถิ่นเดิมอยู่ในบาดาล เป็นห้วงน้ำใต้พื้นดิน โดยมีงูผู้พิทักษ์ห้วงน้ำบาดาล

เมื่อคนตายลง แต่บรรพชนคนดึกดำบรรพ์เข้าใจความตายต่างจากยุคปัจจุบัน คือไม่คิดว่าตาย แต่คนเรามีขวัญประจำตัว และขณะนั้นขวัญจะกลับ “บ้านเก่า” สู่ถิ่นเดิมในบาดาล

คนยุคนั้นเชื่อว่าต้องเชิญขวัญด้วยงู ถึงจะกลับอย่างปลอดภัย จึงเอาไม้ท่อนยาวมาถากแต่งตามจินตนาการสมมุติให้เป็นงู แล้วขุดเป็นรางวางศพเหมือนอยู่ในท้องงู พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้เอาไปใช้ใน “บ้านเก่า”

จากนั้นคนทั้งชุมชนยกหามแห่แหนไปวางเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เช่น ถ้ำ

ไม้ท่อนเหมือนงูนี้ นักโบราณคดีปัจจุบันเรียกว่า โลงไม้ใส่ศพ หรือโลงศพ แต่ชาวบ้านเรียก เรือ


สลักเรืองูลอยน้ำ
โลงไม้คล้ายเรืองูเป็นพาหนะศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนคนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว จึงสลักลายเส้นไว้บนกลองทอง (มโหระทึก) ที่ใช้ประโคมตีในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพิธีศพ แล้วฝังดินไปกับศพด้วย

ลายเส้นรูปเรือบนกลองทอง เสมือนเรือลอยน้ำ สะท้อนความเชื่อว่าบรรพชนคนดึกดำบรรพ์พัฒนาโลงไม้คล้ายเรืองูเป็นเรือศักดิ์สิทธิ์วิจิตรบรรจงขึ้นจริงๆ แล้วจะเป็นต้นเค้าเรือในพิธีศพยุคต่อๆ ไป


ฆ้องกลอง
กลองทอง หล่อด้วยโลหะผสมเรียกทองสัมฤทธิ์ มีชื่อเรียกต่างๆ กัน บางแห่งเรียกฆ้องกบ ฆ้องบั้ง แต่บางแห่งเรียกกลองทอง (แดง) กลองกบ ฯลฯ

ยุคแรกๆ เป็นภาชนะใส่สิ่งของศักดิ์สิทธิ์ฝังไว้กับศพ บางแห่งใช้ใส่กระดูกคนตายที่ฝังไว้จนเนื้อหนังลอกออกแล้ว  

นานเข้ากลายเป็นเครื่องประโคมตีในพิธีกรรม เช่น พิธีศพ ทำให้เรียกกันภายหลังว่า กลอง เพราะมีรูปร่างเหมือนกลองไม้

แต่บางทีก็เรียกฆ้อง เพราะหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และเป็นต้นแบบดั้งเดิมและเก่าแก่ที่สุดของเครื่องดนตรีตระกูลฆ้อง-ระฆัง เช่น ฆ้องหุ่ย และระฆังใช้ตีประจำวัด กับฆ้องวงใช้ตีในวงปี่พาทย์ทุกวันนี้ (มีใช้ทั่วไปในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ลาว พม่า และกัมพูชา)

ปัจจุบันยังใช้กลองทอง แต่เรียกมโหระทึก ประโคมในพิธีกรรมสำคัญของรัฐและพระเจ้าแผ่นดิน

รอบๆ กลองทองมโหระทึก สลักเป็นลวดลายสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น จักรวาล ฟ้า กับ ดิน และน้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักมีรูปกบประดับหน้ากลอง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของฝน จึงใช้ตีขอฝนบูชากบเพื่อความอุดมสมบูรณ์ให้ชุมชนและเผ่าพันธุ์ของตน




เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ลายสลักด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)
ต.ดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร


เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ลายสลักด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่วัดตลิ่งพัง (คีรีวงการาม)
ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี


ข้อมูลและภาพ : สุจิตต์  วงษ์เทศ “เครื่องดนตรีจากเรือศักดิ์สิทธิ์รูปงู”  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ๒๕ เม.ย. - ๑ พ.ค. ๒๕๕๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2558 13:38:21 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.376 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 13 มีนาคม 2567 06:00:08