[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:05:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย  (อ่าน 39589 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 เมษายน 2557 12:50:16 »

.


คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
รวบรวมจากคอลัมน์ "คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย"
โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

งานสถาปัตยกรรมไทยหรือสถาปัตยกรรมประเพณีของไทยกำลังจะเปลี่ยนไปในเรื่องที่น่าวิตกว่า รูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย หรือสถาปัตย กรรมประเพณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องต่อลูกหลานในอนาคต

เรื่องนี้ไม่ได้เขียนเพื่อคัดค้านการพัฒนางานทางสถาปัตยกรรมในบ้านเรา แต่เขียนอ่านกันเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในสถาปัตยกรรมประเพณีบ้านเราเป็นเรื่องที่มีกฎเกณฑ์มีไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนคติ สัญลักษณ์ ประเพณี ของวัฒนธรรมพื้นถิ่น

สถาปัตยกรรมไทยหรือสถาปัตยกรรมประเพณีไทยนั้น มีรูปแบบ รูปทรง ขนาด องค์ประกอบ วัสดุที่ใช้ สะท้อนถึงประโยชน์ใช้สอย คติ สัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีที่สมดุลที่สุดประเภทหนึ่ง และส่วนใหญ่ของสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบันที่ตกทอดเป็นมรดกรวมทั้งที่กำลังสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร และบ้านเรือนประชาชน อย่างมีสัดส่วน รูปทรงหรือขนาดที่ต่างกันไป  ตัวอย่างเช่น พระอุโบสถจะมีรูปทรง รูปแบบ องค์ประกอบ แตกต่างจากศาลาการเปรียญ แต่เมื่อรวมอยู่ด้วยกันแล้วจะสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ความสูง ความกว้างของตัวพระอุโบสถจะแตกต่างกันออกไปและจะไปสัมพันธ์กับรูปแบบของหลังคา

เราจะพบว่าหลังคาพระอุโบสถ วัดวาอารามต่างๆ เป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีสัดส่วน งดงามกลมกลืนไม่สูงชะลูดผอมแห้งเช่นปัจจุบัน องค์ประกอบช่อฟ้า ใบระกา มีสัดส่วนที่กลมกลืนส่งเสริมคติ สัญลักษณ์ของความหมายในรูปธรรม ไม่รกรุงรัง






เจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย


เจดีย์ทรงลังกา แบบอยุธยา

เจดีย์ทรงลังกา
ในรูปแบบของเจดีย์ทรงลังกา จะเปรียบเทียบรูปแบบหรือที่เรียกชื่อกันในเชิงช่างว่าจะสอดรับกับความหมาย หรือสัญลักษณ์ในทางธรรมอย่างไร

เจดีย์นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล หรือมณฑล หรือพุทธเกษตร ตามคติที่ปรากฏอยู่ในไตรภูมิกถาแล้ว ยังมีความหมายถึงระดับของจิตของสัตว์โลกหรือของมนุษย์ในลำดับต่างๆ

ในการก่อสร้างเจดีย์ จะใช้รูปแบบในเชิงช่างให้แปลความหมายของรูปแบบกับคติธรรมหรือสัญลักษณ์ที่ปรากฏในเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งเป็นเจดีย์ที่เราพบเห็นค่อนข้างมากในบ้านเมืองเรา มีคติสัญลักษณ์ดังที่ปรากฏในรูปนี้




เจดีย์ทิศ
จากหนังสือ "รู้เรื่องวัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย" ของ รองศาสตราจารย์สมคิด จิระทัศนะกุล อธิบายคำว่า "เจดีย์ทิศ" ไว้ดังนี้

เจดีย์ทิศ เจดีย์มุม หมายถึงพระเจดีย์ที่มีความสำคัญลำดับรองที่กำหนดให้ตั้งประกอบในทิศทั้งสี่ หรือถ้าตรงมุมทั้งสี่ของอาคาร หลักประธาน หรือขอบผังก็เรียกเจดีย์มุม

ในทางความหมายหรือสัญลักษณ์ น่าจะมีความหมายซ้อนกันอยู่ ๒ ระดับ

ระดับที่หนึ่ง น่าจะหมายถึงอนุทวีปทั้ง ๔ ที่ตั้งอยู่โดยรอบเขาพระสุเมรุ อันได้แก่ อุตตรกุรุทวีป บุรพกุรุทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป ตามความเชื่อในไตรภูมิกถา

ระดับที่สอง น่าจะหมายถึงอนุจักรวาล หรือ มณฑล หรือ พุทธเกษตร ที่มีอยู่อย่างมากมาย ตามคติทางพุทธศาสนา ทั้งทางเถรวาทและมหายาน

ในฝ่ายเถรวาท น่าจะหมายถึงพระพุทธ เจ้าที่อุบัติในภัทรกัลป์นี้ที่มีมาแล้ว ๔ พระองค์ ได้แก่ กกุสันโธ ประจำอยู่ทิศเหนือ โกนาคม ประจำอยู่ทิศตะวันออก กัสสปะ ประจำอยู่ทิศใต้ สมณะโคดม ประจำทิศตะวันตก

ในฝ่ายมหายาน น่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้าสำคัญ ๕ พระองค์ที่เป็นสัมโภคกายสถิตอยู่ ได้แก่ พระเจดีย์องค์กลางใหญ่ หมายถึง พระไวยโรจนะ ทิศเหนือ ได้แก่ พระอโมฆสิทธิ์ ทิศตะวันออก ได้แก่ พระอักโษภยะ ทิศใต้ พระรัตนสัมภวะ และทิศตะวันตก ได้แก่ พระอมิตพุทธ

ในกรณีที่มีเจดีย์มากกว่า ๔ องค์ เรียกว่า เจดีย์หมู่ ก็น่าจะหมายความถึงสัญลักษณ์ของอนุจักรวาล ซึ่งมีมากมายตามความเชื่อทั้งของเถรวาทและมหายาน



 
เจดีย์ทรงระฆัง
เจดีย์รูปแบบนี้เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลหรือคติของพุทธศาสนามหายานแทรกปน เป็นเจดีย์ในยุคต้นตั้งแต่สมัยทวารวดีศรีวิชัยของสยามประเทศ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเจดีย์รูปแบบนี้จะปรากฏอยู่ในแถบภาคใต้ เช่น เจดีย์วัดพะโคะ จ.ปัตตานี เจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช วัดมหาธาตุเมืองลพบุรี วัดพระสิงห์ นครไชยศรี เป็นต้น

ลักษณะของเจดีย์อิทธิพลปาละมีลักษณะพิเศษเฉพาะก็คือ องค์ระฆังทรงสูง ยอดเจดีย์สูงมีลูกแก้วหรือเสาหลักตั้งอยู่บนบัลลังก์ ตัวองค์ระฆังตั้งอยู่บนฐานสูง ๔ เหลี่ยม

ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลทัศน์ ทางฝ่ายมหายาน เชื่อว่าจักรวาลมีรูป ๔ เหลี่ยม มีพระพุทธเจ้าองค์สำคัญประจำในทิศทั้ง ๔ และก็เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่มากมายดั่งเม็ดทรายในมหาคงคานที และยังประจำอยู่ในพุทธเกษตรหรือมณฑล หรือจักรวาลอันมีอยู่มากมาย

จากรูปแบบของเจดีย์พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลปาละ คติและสัญลักษณ์ทางธรรมคติที่แสดงอยู่ในเจดีย์ก็ได้แก่ ตัวองค์เจดีย์ที่ยังคงหมายถึงโลกหรือตัวตนของผู้ที่จะบรรลุธรรมสูงสุดคือ นิพพาน ต้องประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ คือ ลูกแก้วหรือเจดีย์พระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช  เสาหาร ๘ ต้น ปล้องไฉน ๓๗ ปล้องน่าจะหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗  สูงไปกว่านั้นส่วนที่เห็นเป็นปลิยอดสีทอง คือ สภาวะของจิต ชั้นอรูปพรหม จุดสูงสุด หรือยอดสุดคือนิพพาน





เจดีย์ทรงศิขร หรือทรงปราสาท
จากหนังสือพจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่องของท่านรองศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร บรรยายว่า "เจดีย์ที่มีรูปยอดคล้ายภูเขา อย่างเช่นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมทรงสอบตอนบนที่พุทธคยา เจดีย์วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่"

ในหนังสือพุกาม การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งศรัทธาของ เกรียงไกร เกิดศรี ให้ความหมายของเจดีย์ชนิดนี้ว่า "เป็นรูปแบบที่พัฒนาจากการทอนหน้าที่ใช้สอบของกู่พญา เหลือเพียงซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพัฒนามาจากเจดีย์ฐานสูง แล้วเพิ่มมุขสี่ทิศเข้าไปเชื่อมต่อ เจดีย์ทรงปราสาทเป็นการออกแบบที่ถือว่าเป็นความสำเร็จทำให้ประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ องค์ โดยไม่ต้องสร้างวิหารแยกจากตัวเจดีย์"

เจดีย์ทรงศิขรหรือทรงปราสาทนี้นิยมกันมากในกลุ่มพระเจดีย์แถบล้านนา

เจดีย์ทรงปราสาทในอีกความหมายคือ เจดีย์สี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้นคล้ายรูปทรงปราสาทหรือที่อยู่ของกษัตริย์

เจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนาแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม คือ เจดีย์ทรงปราสาทสี่เหลี่ยม เจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ เจดีย์ทรงปราสาทแปดเหลี่ยม เจดีย์ทรงมณฑปปราสาท

คติและสัญลักษณ์ของเจดีย์ทรงปราสาท

ในรูปแบบของเจดีย์พุทธคยาเรือนธาตุ หรือรูปทรง ๔ เหลี่ยม ๗ ชั้น ในความหมายก็คือปราสาทของพระราชาหรือพระมหากษัตริย์และสรรพสิ่งในปราสาทนั้น ยังไม่สำคัญไปกว่าการเข้าถึงนิพพานหรือพ้นไปจากสังสารวัฏ คือ ตัวยอดสุดของเจดีย์

ในรูปแบบของเจดีย์ในศิลปะล้านนา ตัวเรือนธาตุจะปรับเปลี่ยนไปตามคติจักรวาลทัศน์ หรือไตรภูมิกถาที่เข้าใจว่าโลกสัญฐานมีลักษณะเป็น ๔ เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมหมายถึงทิศทั้ง ๔ ที่มีพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในภัทรกัปป์นี้มาแล้ว ๔ พระองค์

ตัวเรือนยอดก็จะเป็นคติและความหมายแห่งการปฏิบัติที่จะไปสู่สภาวะนิพพานหรือการพ้นไปจากสังสารวัฏ




เจดีย์ทรงลอมฟาง
เจดีย์ทรงนี้มีรูปแบบแตกต่างกัน ๓ รูปแบบ คือ ๑. เจดีย์ทรงลอมฟางไม่มีบัลลังก์  ๒. เจดีย์ทรงลอมฟางมีบัลลังก์ และ ๓. เจดีย์ทรงลอมฟาง ไม่มีบัลลังก์ฐานเหลี่ยม

จากหนังสือพุกามของอาจารย์เกรียงไกร เกิดศิริ อ้างว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานคำอธิบายของเจดีย์แบบนี้ว่า "ทำองค์ระฆังสูงเหมือนรูปฟัก ตั้งแต่ปากระฆังจนมาถึงพื้น มีฐานเตี้ยเหมือนขั้นบันไดเดียวรองย่อทำอย่างเตี้ย"

เจดีย์ทรงนี้เป็นเจดีย์เก่าแก่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ในยุคสมัยที่เรียกกันว่าศรีเกษตร

เจดีย์ในรูปที่เห็นชื่อ เจดีย์บุพยา หรือ โบโดคยา (Bupaya Pagoda) อยู่ใน พุกาม พม่า ซ่อมปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยคงในรูปแบบเดิม

ในประเทศไทย เจดีย์รูปแบบนี้มีอยู่ที่จังหวัดลำพูนชื่อ กู่ช้าง เพราะเป็นตำนานเล่าว่า เป็นที่บรรจุซากช้างของเจดีย์โบโดคยา พระนางจามเทวีชื่อ "ผู้ก่ำงาเขียว" มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ก็คือ ในสมัยโบราณนั้นสิ่งที่จะบรรจุในสถูปต้องเป็นพระบรมศพหรืออัฐิของพระมหากษัตริย์หรือพระอริยสงฆ์ ซึ่งในรูปแบบของกู่ช้างน่าจะมิใช้บรรจุซากช้าง "ผู้ก่ำงาเขียว" ดังกล่าว แต่มีลักษณะมียอดแหลมน่าจะเป็นเจดีย์มากกว่า

ในรูปแบบของเจดีย์นี้ก็ยังปรากฏคติและสัญลักษณ์ อันได้แก่ ตัวฐาน ที่น่าจะยังหมายถึงอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นฐานของความเป็นตัวตน คือ เจดีย์ที่ยังหมายถึง โลก หรือตัวตน เหมือนเจดีย์อื่นๆ เพียงแต่รูปแบบสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง แต่เค้าโครง คติ สัญลักษณ์ก็ยังคล้ายหรือเหมือนกับเจดีย์อื่นๆ




เจดีย์ทรงลังกา
พระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ทรงระฆังที่สำคัญองค์หนึ่งของประเทศ

มีเรื่องน่าสนใจในคติและความหมาย แบบแปลนของเจดีย์มาจากคติไตรภูมิกถาที่ชัดเจน เป็นคติและสัญลักษณ์ที่น่าสนใจยิ่ง ตัวองค์พระปฐมเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ โดยมีลานประทักษิณ หรือมีวิหารคดล้อมรอบ ๒ ชั้น ดังทะเลสีทันดร มีมุขวิหาร ๔ ทิศ เป็นสัญลักษณ์แทนอนุทวีปทั้ง ๔

พระพุทธรูปที่อยู่ในมุขวิหารทั้ง ๔ เป็นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้าในส่วนของกัปป์นี้ คือ กกุสันโธ โกนาคม กัสสปะ และสมณโคดม

ลักษณะของเจดีย์ ยอดสุดของเจดีย์เป็นนภศูล สัญลักษณ์ย้ำถึงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  สัญลักษณ์ที่แตกต่างจากเจดีย์ทรงระฆังอื่นๆ ก็คือ ปล้องไฉน ๒๘ ปล้อง น่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๘ พระองค์ ที่ผ่านมาในช่วงละเวลาที่เรียกกันว่ากัปป์ แทนที่จะเป็นความหมายของสวรรค์ฉกามาพจรสุข ๖ ชั้น หรือพรหมโลก ๑๖ ชั้นแบบเจดีย์ทั่วไปที่เคยอธิบายไปแล้ว ปล้องไฉนทั้ง ๒๘ ปล้องนั้นตั้งอยู่เหนือตัวระฆังอันหมายถึงโลกหรือสังสารวัฏ น่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้พ้นไปจากสังสารวัฏ  เสาหานที่ตั้งอยู่เหนือบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม ๑๒ ต้น น่าจะหมายความถึงคติของการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่เรียกว่ารู้รอบ ๓ รอบเป็น ๑๒ อาการ  ตัวระฆังหรือโลกก็ยังคงตั้งอยู่บนฐาน ๓ ชั้น อันน่าจะหมายถึงกามภพที่ประกอบด้วยเทวภูมิ มนุษยภูมิ และอบายภูมิ




เจดีย์ทรงบาตร
เจดีย์ทรงบาตร จากหนังสือพจนานุกรม สถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่องของ รองศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร บรรยายว่า "เจดีย์ที่มีรูปเหมือนบาตรพระสงฆ์ นำมาคว่ำซ้อนกันในทางตั้งเป็นพุทธศิลป์ทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนา สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สร้างขึ้นในคติที่หมายให้เป็นการสักการะต่อพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่บังเกิดขึ้นในกัปนี้"

เจดีย์แบบนี้เป็นศิลปะเฉพาะของล้านนา และไม่เป็นที่รู้จักกันในส่วนอื่นของประเทศเท่าใดนัก

คติของเจดีย์แบบนี้จะแปลกจากเจดีย์แบบทรงระฆังที่เคยอธิบายไว้ โดยที่ปล้องไฉนเดิมมีคติความหมายถึงเทวโลก ๖ ชั้นบ้าง หรือพรหมโลก ๑๖ ชั้น เปลี่ยนมาเป็นรูปบาตรคว่ำ

เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงยุคของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ที่อุบัติและจะอุบัติในภัทรกัปนี้ (หรืออายุของโลกระยะนี้)

ขณะเดียวกันลักษณะของบาตรที่นำมาซ้อนกันนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลทัศน์ หรือพุทธมณฑล หรือพุทธเกษตร หรือโลกเช่นเดียวกับองค์ระฆังของเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งองค์ประกอบของจักรวาลทัศน์ ก็คือ โลก สวรรค์ และ อบายภูมิ ที่รวมกันเป็นรูปทรงบาตรแต่ละชั้น

ตัวซุ้มทิศทั้ง ๔ ในแต่ละทรงบาตรก็หมายถึงวิมานที่สถิตของเทวดารักษาโลกประจำทั้ง ๔ ทิศ หรือเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา

อันได้แก่
- ท้าวกุเวร ทิศเหนือ
- ท้าววิรุฬหก ทิศใต้
- ท้าวธตรฐ ทิศตะวันออก
- ท้าววิรูปักษ์ ทิศตะวันตก

เรือนยอดของเจดีย์ทรงบาตรทั้ง ๕ ที่เห็นเป็นสีทองนั้นเป็นการย้ำเอาสัญลักษณ์ของเทวโลก พรหมโลก และสภาวะนิพพานมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นคติสัญลักษณ์ของขั้นตอนของการปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุถึงนิพพาน เช่นเดียวกับเจดีย์รูปแบบอื่นๆ




ธรรมจักร

มีความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ธรรมจักรเป็นอุทาสิกเจดีย์แบบหนึ่งที่หมายแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า

 แท้จริงแล้วธรรมจักรเป็นธรรมเจดีย์อย่างหนึ่งคือ บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ใช้สัญลักษณ์แทนความหมายของคำสอน หรือการใช้ภาษาภาพแทนคำสอน

ธรรมจักรที่เรารู้จักและเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ รูปวงล้อที่หมุนไป หมายถึงคำสั่งสอนที่หมุนไปในที่ต่างๆ แกนกลางคือ หลักของคำสอนที่มีซี่ หรือกงล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรคคือ หนทางของการปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากวัฏสังสาร คือการเวียนอยู่ในทุกข์

สัญลักษณ์ที่สำคัญของธรรมจักรแบบหนึ่งก็คือ ธรรมจักรที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓

รูปแบบเป็นธรรมจักรที่หมุนอยู่ตรงกลางมีรูปกวาง ๒ ตัวอยู่ซ้ายและขวา

ธรรมจักรในรูปแบบนี้แสดงถึงการเริ่มต้นของการประกาศธรรมครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ธรรมะที่แสดงเพื่อพ้นไปจากสังสารวัฏของผู้เบื่อหน่ายในวัฏสังสาร ผู้เห็นภัยในวัฏสังสาร ต้องไม่ดำเนินชีวิตอยู่ใน ๒ หนทาง คือ

ทางที่หนึ่ง การบำเรอตนด้วยกามคุณ คือ เพลิดเพลินอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ กับอีกทางหนึ่งก็คือ การทรมานตนให้ยากลำบาก โดยเชื่อว่าเป็นการเผากิเลสคือความอยาก ๔ ประการ

ความรู้ในอริยสัจ นั้นเรียกว่า ความหยั่งรู้ ประกอบด้วยความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุของทุกข์ อะไรคือการดับทุกข์ อะไรคือหนทางดับทุกข์

๒. รู้เรื่องที่ควรทำเรียกว่า หยั่งรู้จริง ได้แก่ การกำหนดรู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรควรละตัดกัน ก็คือเหตุแห่งทุกข์ อะไรควรทำให้ชัดเจน อะไรคือวิธีปฏิบัติที่ทำให้ดับทุกข์

๓. ความรู้ที่ว่าได้กระทำแล้วเสร็จสิ้นแล้วก็คือ ทุกข์ได้กำหนดแล้ว เหตุของทุกข์ได้ละแล้ว ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว และทางดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว




เสมาหรือสีมา
ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต เสมา หรือสีมา หมายถึงเขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่เขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

เสมา หรือ สีมา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
พัทธสีมาแปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นเอง
อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนดและสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้นไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่

การที่ต้องมีสีมาเป็นเครื่องกำหนดเขตชุมชนของสงฆ์นี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้ภิกษุต้องทำอุโบสถปวารณาและสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ โดยให้มีเขตที่มีเครื่องหมายเป็นที่ทราบกันเรียกว่า สีมา และสีมาตามพระวินัยต้องมีความบริบูรณ์ตามที่กำหนดจึงจะใช้ได้ หากไม่เป็นตามที่กำหนดถือว่าเป็นสีมาวิบัติใช้ไม่ได้ การทำสังฆกรรมต่างๆ ภายในสีมาวิบัติถือว่าเป็นโมฆะ ข้อกำหนดของสีมาที่สมบูรณ์คือต้องมีขนาดใหญ่พอที่พระสงฆ์ ๒๑ รูป เข้าไปนั่งหัตถบาสได้

จากการเสวนาเรื่องพุทธเถรวาทจากเสมาหิน โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เล่าในตอนหนึ่งว่า ไม่พบหลักเสมารอบโบสถ์ทั้งในอินเดียและลังกา เสมาจึงน่าเป็นพัฒนาการขึ้นในประเทศไทย และยังให้ข้อคิดต่อไปว่า คติการปักใบเสมาในเขตภาคอีสานเป็นคติที่สืบทอดมาจากประเพณีการปักหินตั้ง ซึ่งเป็นระบบความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษ จนกระทั่งมีการรับพระพุทธศาสนาเข้ามาจึงมีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นใบเสมา เพื่อกำหนดเขตในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

รูปแบบของเสมามี ๓ แบบ ที่พวกเราเห็นเป็นส่วนใหญ่เป็นแบบแผ่นหินที่มีรูปคล้ายใบบัวปักอยู่รอบอุโบสถ ๘ แท่ง หรือติดอยู่ที่ผนังโบสถ์ สัญลักษณ์ของกลีบดอกบัว คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์

ดังนั้นใบเสมา ๘ ใบที่ล้อมรอบอุโบสถจึงเป็นคติที่บอกถึงแนวเขตบริสุทธิ์ภายใต้การปฏิบัติอันมีมรรค ๘ เป็นฐาน




ธง - ตุง
คําว่า ธง ในพจนานุกรมสถาปัตยกรรมของ ผศ.โชติ กัลยาณมิตร แปลว่า ผืนผ้าสีที่ใช้เป็นเครื่องหมายของหมู่คณะหรือบุคคลหรือใช้เพื่อหมายให้รู้ในการใดการหนึ่ง

คำว่า ตุง แปลว่า ธง ในภาษาพูดของชาวเหนือ  ธงหรือตุง ที่ใช้ในทางพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นด้วยความมุ่งหมายเป็นพุทธบูชา คงจะมีชื่อตามวัสดุและรูปแบบที่ใช้ เช่น ตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปพญานาคเลื้อยพันกันสำหรับบูชาพระ ทำได้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น

ตุงไชย เป็นตุงที่ทำด้วยเชือกห้อยรอยต่อกัน มีลักษณะเป็นคติจักรวาลหรือพุทธเกษตร

ตุงห้อย เป็นตุงที่ทำด้วยผ้าต่อกันเป็นชิ้น ติดตั้งบูชาพระพุทธเจ้าในพระอุโบสถหรือวิหาร

ส่วน ตุงสามทาง มิใช่สัญลักษณ์ของการบูชาพระพุทธเจ้า หากเป็นสัญลักษณ์ของความตายบุคคลทั่วไป

ในคติฝ่ายเถรวาทในประ เทศไทยนั้น ธงนอกจากจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการบูชาพระพุทธเจ้า ยังใช้ธงในสัญลักษณ์อื่นอีก ๒ ประการ คือ ในฐานะ LANDMARK หรือจุดเด่นสะดุดตา หรือเครื่องหมายแห่งความสำคัญของพื้นที่นั้น

ในอีกสัญลักษณ์หนึ่ง ตุงห้อย หมายถึงบันไดที่เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์โดยมีความหมายถึงบันไดที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์เมื่อขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต

ในฝ่ายมหายานเรียกธงชนิดหนึ่งว่า ธงมนต์ ซึ่งภายในธงจะมีคาถาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือบทสวดมนต์หรือภาพของพระโพธิสัตว์หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ ในการติดตั้งธงมนต์ของฝ่ายมหายานโดยเฉพาะวัชรยานหรือมนตรายานนั้น หากติดธงมนต์ที่บ้านก็เพื่อความสุขจะเกิดขึ้นจากการสะบัดของธงที่ต้องลมพัด ซึ่งจะเท่ากับเป็นการสวดมนต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายและนำความสุขสมบูรณ์มาสู่บ้าน หากติดตั้งไปตามภูเขา ป่าไม้ ก็เป็นการแสดงถึงความสำคัญของพื้นที่ ลมที่พัดมนต์จะพัดเอาคาถาหรือความเมตตาของเทพในธงนั้นไปบันดาลความสุขให้กับผู้ติดตั้งธงนั้น




ซุ้มประตู ซุ้มโขง กำแพงแก้ว
กําแพง รั้วในเขตศาสนา ในประโยชน์ใช้สอยก็คือ การบอกแนวเขต การแสดงเขตของสิทธิครอบครอง การป้องกัน การปิดกั้น

กำแพงวัดก็คือ แนวเขตวัดในส่วนของสังฆาวาสหรือเขตที่อยู่ของพระสงฆ์

กำแพงแก้วก็คือ แนวเขตในวัดที่แยกเป็นส่วนของพุทธาวาส

มักมีคำถามว่า มีอะไรในกำแพงแก้ว

กำแพงแก้วเป็นแนวเขตของพุทธาวาส ในขณะที่โบสถ์หรือวิหารเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ กำแพงแก้วจึงเป็นดั่งกำแพงจักรวาล กำแพงจักรวาลอาจจะบันทึกเรื่องราวที่เรียกว่า "ธรรม ศาสตร์? หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น ในเสา หรือผนังของกำแพงแก้ววัดพระเชตุพนฯ จะจารึกตำรายา ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคม

ฐานะของกำแพงแก้วจึงอยู่สูงกว่ากำแพงบอกเขตวัด

ซุ้มประตูหรือทางภาคเหนือเรียก ซุ้มโขง เป็นทางเข้าออกสู่อาณาเขตวัด

วัดเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ ประตูวัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางโลกไปสู่แดนอันศักดิ์สิทธิ์ และที่ประตูแดนศักดิ์สิทธิ์ก็จะปรากฏรูปของทวารบาลหรือผู้เฝ้าประตู เป็นภาพของเทวดาปางดุร้าย เพื่อข่มความชั่วร้ายที่จะเข้าสู่สถานศักดิ์สิทธิ์




หอไตร
อาคารสำคัญของวัดในพุทธศาสนาแบบหนึ่งที่ปรากฏรูปแบบที่หลากหลายและงดงามทางสถาปัตยกรรมทั้งงานหลวงงานราษฎร์

ประโยชน์ใช้สอยของหอไตรก็คือ เป็นอาคารที่เก็บคัมภีร์ หรือหลักธรรม ๓ ประการ สำคัญทางศาสนา มักจะแยกเป็นอาคารเดี่ยว ไม่มีอาคารอื่นต่อเชื่อมติดกัน ได้แก่ พระวินัยปิฎก ที่เป็น เรื่องราวหรือแนวทางข้อวัตรปฏิบัติของภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ใช้เป็นแนวทางในชีวิต ฝึกตน ให้มีสติปัญญา เพื่อพัฒนาคนไปสู่ความรู้ที่พ้นไปจากสังสารวัฏ

พระสุตันตปิฎก เรื่องราวของพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า หรือคำบรรยายธรรมะต่อบุคคลหรือพระภิกษุสงฆ์ ในสมัยพระพุทธกาลหรือสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิต

พระอภิธรรมปิฎก คือเรื่องราวหรือหลักธรรมที่เป็นหลักวิชาการ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของรูปหรือกายกับนามหรือจิตใจ โดยไม่เกี่ยวข้องด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ได้ทางพุทธศาสนา

ในภาพเป็นหอพระไตรวัดระฆังโฆษิตารามที่เป็นเรือน ทรงจั่ว ๓ หลังที่สะท้อนไปถึงคำว่า ไตรที่แปลว่าสาม

หอไตรหลังนี้เป็นเรือนเก่าของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่อุทิศถวายเป็นหอไตรของวัดระฆัง เป็นศาสนสถานและโบราณสถานที่งดงามมาก ซึ่งส่วนใหญ่ของหอไตรในวัดทั้งหลายทั่วทั้งประเทศจะมีความงดงามแตกต่างกันตามพื้นถิ่น น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง




พระอุโบสถ ตกท้องสำเภา
พระอุโบสถทางพระพุทธศาสนา จะมีคติสัญลักษณ์ที่สอดแทรกอยู่ในรูปทรงอาจแตกต่างกันบ้าง ในรูปแบบหนึ่งที่พระอุโบสถยังคงสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลคือ เขาพระสุเมรุที่มีทะเลสีทันดรล้อมรอบ ดังตัวอย่าง พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา วัดราชคฤห์ ธนบุรี ซึ่งเป็นวัดหลวง ส่วนวัดชาวบ้านก็วัดสระบัว เชิงพระนครคีรี ที่ยังแสดงสัญลักษณ์ที่อยู่ของสัตว์ในหิมพานต์คือ ครุฑและสิงห์ที่เรียกว่าครุฑแบก สิงห์แบก

พระอุโบสถหรือพระวิหารรูปแบบหนึ่งทางสถาปัตยกรรมไทยที่มีรูปลักษณ์พิเศษรูปแบบนี้เรียกกันว่า พระอุโบสถตกท้องสำเภา ซึ่งหมายถึงพระอุโบสถที่ส่วนฐานของอาคารเป็นรูปทรงอ่อนโค้ง รวมไปถึงส่วนของสันหลังคาที่อ่อนโค้งด้วย

ในความหมายก็คือ พระอุโบสถนี้เปรียบดังสำเภาเรือที่จะพามนุษย์ผู้ปรารถนาพ้นไปจากสังสารวัฏ ซึ่งเปรียบเสมือนทะเลกว้าง  ในทางคติฝ่ายมหายานพระโพธิสัตว์จะยังไม่เข้าสู่นิพพาน ยังมีพระกรุณาที่จะนำพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นสังสารวัฏ ด้วยการอุทิศตนเป็นดังสำเภาใหญ่ พระอุโบสถชนิดนี้จึงเป็นคติของทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทไปพร้อมกัน



งานสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยิ่งใหญ่งดงามที่สุด วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นอาคารที่ใช้เวลาสร้างกันอย่างยาวนานกว่า ๔๐ ปี

เริ่มตั้งแต่ถมทรายปรับที่ดินตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๘ จนถึงเริ่มขุดรากพระวิหาร ตั้งแต่วันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ หรือมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๐ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ๒ ปี

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สร้างตัวประธานพระวิหาร ๑๐ ปี ไม่แล้วเสร็จ ค้างคามาอีก ๑๔-๑๕ ปี

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มต้นก่อสร้างวัดต่อในปี ๒๓๗๗ จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๖ จึงได้ก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมผูกพัทธสีมาแล้วเสร็จสมโภชพระอาราม หมายถึงเสร็จสมบูรณ์ปี ๒๓๙๐ และยังมีการก่อสร้างส่วนประกอบในภายหลังเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

วัตถุประสงค์สำคัญของการสถาปนาวัดสุทัศน์จากพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนไว้ว่า "วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนครจึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้า ณ ที่นั้นตามประเพณีพระนครโบราณ"

ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีเทพ ระบุว่า "พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง" (วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา)

ในอดีตของเมืองสำคัญในเขตพื้นที่ประเทศไทยหรือประเทศข้างเคียง การตั้งเมืองจะต้องกำหนดศูนย์กลางเมืองไว้เป็นสำคัญ เช่นในสมัยสุโขทัยก็มักจะกำหนดให้วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมืองพิษณุโลกก็มีวัดมหาธาตุ อยุธยาก็มีวัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราชก็มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมือง

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อจะสร้าง เมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี ก็ต้องใช้คติและสัญลักษณ์เดิมในการกำหนดศูนย์กลางเมืองก็คือสร้างวัด

เดิมวัดสุทัศน์เรียกชื่อกันว่า วัดพระใหญ่, วัดพระโต เนื่องจากจัดเตรียมตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะ ใหญ่กว่าพระพุทธรูปองค์อื่นที่มีอยู่ในประเทศไทยในเวลานั้น

สัญลักษณ์ของศูนย์กลางกรุงเทพมหานครหรือวัดสุทัศนเทพวรารามนั้น น่าจะหมายไปถึงศูนย์กลางของสมมติเทวโลก อันหมายถึงเขาสุเนรุ หรือสุเมรุ เขาพระสุเมรุนั้นมีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๗ ชั้น ชั้นกลางชื่อภูเขาสุทัสสนะหรือสุทัศนะ เป็นที่ตั้งของวิมานแห่งเทพและที่เชิงเขาสุทัศนะเป็นที่อยู่ของพญาครุฑอันเป็นพาหนะของพระนารายณ์

พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นในทางคติของการปกครอง หมายถึงรามาธิบดีอันหมายถึงอวตารของพระนารายณ์ เพื่อปราบยุคเข็ญแก่มวลมนุษยชาติ

สัญลักษณ์ของวัดสุทัศนเทพวราราม คือภูเขาอันเป็นที่อยู่ของเทพยดาและมีภพของครุฑคือพาหนะของผู้ปราบยุคเข็ญอยู่ในภูเขานี้ อันน่าจะเนื่องต่อไปถึงพระเจ้าแผ่นดินอันทรงศักดิ์แห่งรามาธิบดีผู้ปกป้องและปราบยุคเข็ญของแผ่นดิน


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2558 14:30:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 เมษายน 2557 15:53:36 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


พุทธศิลป์
หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓๐๐ ปี มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ซึ่งมีผลให้เกิดความเชื่อในทางพุทธศาสนาที่แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย เรียกว่า มหายานกับเถรวาท

ความเชื่อที่แตกต่างกันในความเป็นพระพุทธเจ้าของทั้ง ๒ ฝ่ายก็คือ ฝ่ายมหายานเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญบารมีมามากมายหาที่สุดมิได้ ไม่น่าที่จะปรินิพพานแล้วหมดสิ้นไป น่าจะยังคงปรากฏอยู่และเทศนาธรรมให้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอยู่ในดินแดนที่มิใช่สังสารวัฏอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าในฝ่ายของเถรวาทเชื่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ ณ ที่ใดอีก

นอกจากนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้ายังมีข้อปลีกย่อยเล็กน้อยที่ขยายความเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าในฝ่ายเถรวาทก็คือ ผู้บรรลุอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และออกเทศนาสั่งสอนธรรมะผู้อื่นให้บรรลุธรรมหรืออริยสัจ ๔ แต่ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ใดไม่ได้ออกสั่งสอนผู้คนให้เข้าใจในพระธรรมก็เรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า

ในฝ่ายของมหายานนั้นการจะเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุพระอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเรียกว่า พุทธภาวะ ก็คือต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ได้แก่ โพธิจิต มหากรุณา และศูนยตา

นอกจากนี้ในฝ่ายมหายาน พระพุทธเจ้ายังมีความหมายในหลักเรื่องตรีกาย หมายถึง กายทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า ได้แก่
   นิรมานกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
   สัมโภคกาย หมายถึง กายแห่งความบันเทิง มีลักษณะเป็นทิพยภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
   ธรรมกาย หมายถึง กายแท้จริงอันเป็นสภาวธรรมในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์

ดังนั้น ภาพของพระพุทธเจ้าของทั้ง ๒ ฝ่าย หรือพุทธศิลปในรูปของพระพุทธเจ้า จึงมีนัยยะแห่งธรรมที่แตกต่างกัน และแสดงความหมายของธรรมที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการสั่งสอนผู้คนให้รู้ถึงวิถีทางของการพ้นทุกข์

ความเหมือนและคล้ายกันในความเชื่อของพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธศิลปอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การพระพุทธเจ้าสำคัญฝ่ายละ ๕ พระองค์ ซึ่งแม้แต่ละฝ่ายก็อ้างถึงจำนวนพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วนก็ตาม

พระพุทธเจ้าสำคัญของฝ่ายมหายาน ๕ พระองค์ ปรากฏนามคือ พระไวโรจนะ พระอักโษกยะ พระอโมฆสิทธิ์ พระรัตนสัมภวะ และพระอมิตะพุทธ หรืออมิยุส

ฝ่ายของเถรวาท ๕ พระองค์ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ๔ พระองค์ คือพระกกุสันธะหรือกะกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระสมณโคดม โดยจะมีพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้องค์ต่อไปคือพระศรีอาริยเมตไตย์

จากความแตกต่างที่เหมือนกันในความเข้าใจในความเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น เมื่อจะอธิบายความเป็นพระพุทธเจ้า รูปของพระพุทธเจ้า ภาพหรือลักษณะของพระพุทธรูป ท่าทางของพระพุทธรูปที่แสดงธรรมะในความเป็นพุทธศิลป์จึงแตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์จะอธิบายธรรมข้อใด ศิลปินก็จะกำหนดหรือเลือกท่าทาง อุปกรณ์ เครื่องทรง เพื่อธรรมในข้อนั้น ให้ผู้ที่ดูที่เคารพพระพุทธรูปได้เข้าใจธรรมะในบทนั้น




พระสี่อิริยาบถ
วัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร

พระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ๔ องค์ ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอน ประดิษฐานในพระมณฑปขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเจดีย์ประธาน (อันหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์) รูปแบบของคติและสัญลักษณ์แบบเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย

คติและสัญลักษณ์ของพระสี่อิริยาบถมีหลายระดับซ้อนกันอยู่ในรูปแบบต่างๆ
แบบที่ ๑ แบบแทนความหมายของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ในความเชื่อของฝ่ายเถรวาทที่กล่าวว่าในภัทรกัปป์นี้ หรือในช่วงเวลาในยุคนี้ จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในระยะเวลาต่างๆ กัน ๕ พระองค์ที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๔ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระพุทธเจ้า ในปัจจุบันคือ พระสมณโคดม

ในแบบที่ ๒ เป็นการอธิบายความถึงลักษณะการแสดงธรรมตลอดเวลาแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าว่า ได้แสดงธรรมในอิริยาบถสำคัญ เช่น ปางมารวิชัย ได้อธิบายไว้ว่าหมายถึงการประกาศว่าพระองค์เป็นผู้พ้นจากโลกหรือจากวัฏสงสาร
     ปางลีลา ก็คือ ความเมตตาที่พระองค์เดินทางไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้เข้าใจธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้
     ปางประทานอภัย ที่กล่าวถึงการให้อภัยต่อผู้สำนึกผิดนั้นเป็นวิสัยของพระอริยะ
     ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน ซึ่งเทศนาสำคัญในหลายทัศนะ ในทัศนะที่สำคัญก็คือการที่ได้ตรัสต่อพระอานนท์ให้ระลึกเสมอว่าพระพุทธเจ้านั้นบอกแก่พระอานนท์ถึงความไม่เที่ยงของสังขาร

ในรูปแบบที่ ๓ พระพุทธรูปทั้งสี่อิริยาบถนั้นแสดงถึงคติที่ปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ที่เรียกว่า อิริยาบถบรรพ ในการเจริญสติปัฏฐานในเรื่องการพิจารณาความหมายของกายในกายอยู่ สรุปในการพิจารณาเรื่องนี้คือ คำอธิบายดังนี้ว่า สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

และพระสูตรชื่อ กายคตาสติสูตร ที่ให้มีสติรู้ชัด ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง หรือกำลังนอน ก็รู้ชัดอาการทั้งหมด ซึ่งอธิบายต่อไปว่าเมื่อภิกษุหรือบุคคลใดเจริญอยู่ในภาวะของการรู้ชัดในอาการเหล่านั้นก็ย่อมมีสติ ละความวุ่นวาย จิตก็สงบนิ่ง ธรรมอันเป็นเอก (คือการเห็นความเป็นจริงของสิ่งที่ไม่เที่ยงก็เกิดขึ้น)

สรุปของพระสี่อิริยาบถ เป็นทั้งคติและสัญลักษณ์ของการแสดงธรรมในเรื่องที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมเกิดความรู้แจ้ง รู้ชัด




พระพุทธรูป ปางปัจจเวกขณะ
เป็นพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิ (นั่งราบ) บาตรวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) มีพระหัตถ์ (มือ) ซ้ายประคอง ส่วนพระหัตถ์ขวายกทาบพระอุระ

ปางปัจจเวกขณะ จากพระพุทธประวัติคือการรับบิณฑบาตครั้งแรกของพระศากยบุตรก่อนจะบรรลุอนุตรสัมนาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า มองดูอาหารที่รับบิณฑบาตจากชาวบ้านแล้วกินไม่ลง เพราะเคยชินอยู่กับอาหารในวังอันประณีต

จึงได้พิจารณาว่า "บัดนี้เราเป็นบรรพชิต (นักบวช) ผู้ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่มีสิทธิเลือกอาหารตามใจชอบ การบริโภคอาหารของผู้แสวงหาสัจธรรมคือความจริงก็เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นเท่านั้น"

คติสัญลักษณ์ในปางนี้น่าจะเป็นปางสำคัญที่พระภิกษุสงฆ์ในประเทศนี้จะมีไว้เพื่อเตือนสติของท่านทั้งหลายถึงการมีเพศเป็นบรรพชิต

คำว่า ปัจจเวกแปลว่าการพิจารณาด้วยปัญญา ปัจจเวกขณะคือการพิจารณาถึงปัจจัยที่สมควรแก่สมณเพศ ๔ ประการ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช (ในภาคของประชาชนเรียกว่า ปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ก่อนจะใช้ว่าปัจจัยทั้งหลายนั้นมีเพื่อประโยชน์อันจำเป็นแก่การใช้เพื่อดำรงชีวิตในการแสวงหาการพ้นทุกข์ มิใช่เพื่อบำรุงบำเรอตนเองให้สมบูรณ์ด้วยกามคุณ อันได้แก่ความยินดีพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

การเจริญในธรรมเรื่องปัจจเวกขณะ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง




พระพุทธรูป ปางโอวาทปาติโมกข์
พระพุทธรูปปางนี้แสดงสัญลักษณ์ของการแสดงปาติโมกข์คือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) นิ้วกลาง บรรจบกับนิ้วหัวแม่มือเป็นลักษณะวงกบ

พระพุทธรูปปางนี้เป็นคติและสัญลักษณ์อันสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะคำว่า ปาติโมกข์ หมายถึง คัมภีร์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่รวมวินัยสงฆ์ไว้ ๒๒๗ ข้อ ที่มีพุทธานุญาตหรือคำสั่งของพระพุทธเจ้าที่ต้องให้พระสงฆ์สวดปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกๆ ๑๕ วัน (วันจันทรคติคือวันขึ้น ๑๕ หรือแรม ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน)

พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนานี้ครั้งแรกเมื่อตรัสรู้แล้วประมาณ ๙ เดือน ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ในวันมาฆบูชาให้กับพระอรหันต์ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทให้ทั้งหมด ๑,๒๕๐ รูป นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังแสดงปาติโมกข์ตลอด ๒๐ พรรษาแรกที่ได้ตรัสรู้

สาระสำคัญของปาติโมกข์ ก็คือการละเว้นความชั่ว การทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์ หรือพูดอีกอย่างก็คืออุดมการณ์อันสูงสุดของพุทธศาสนิกชน ได้แก่พระหรือบรรพชิต ๓ ประการ

ตามความหมายหรือคำแปลจากโอวาทปาติโมกข์ ได้แก่
๑. ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
๒. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๓. การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ที่นั่งนอนอันสงัด ความเพียรในอธิจิต

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย




พระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสเป็น พระพุทธฯ รูปนั่งสมาธิ ซึ่งได้เคยบรรยายคติและสัญลักษณ์ของปางสมาธิไว้แล้ว

ความแตกต่างหรือคติของพระประจำวันพฤหัสฯ ที่อยู่ในปางสมาธิเช่นเดียวกันนั้น สัญลักษณ์ที่แตกต่างกันนั้นมาจากแนวความคิดที่คลี่คลายมาจากพุทธประวัติพระพุทธเจ้าในตอนเสวยวิมุตสุข ในสัปดาห์ที่ ๔ หรือนับกันเริ่มต้นในวันพฤหัสบดี

ตำนานกล่าวว่า "เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ เสด็จนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน"

สัญลักษณ์ของเรือนแก้วหมายถึงแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเราจะพบทั่วไปในพุทธศิลป์ ที่มักจะเขียนเรือนแก้วครอบพระพุทธรูปอยู่เสมอ การที่พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วพ้นแล้วจากสังสารวัฏทั้งปวง จึงหมายถึงการประทับอยู่ในแดนศักดิ์สิทธิ์ จึงใช้เรือนแก้วเป็นสัญลักษณ์

คติที่แตกต่างกันเล็กน้อยของพระพุทธรูปปางสมาธินั้น ในคติที่หมายถึงการตรัสรู้นั้นหมายถึงพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔

เมื่อตรัสรู้อริยสัจ ๔ แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทบทวนปฏิจจสมุปบาทหรือหมายถึงกระบวนการการเกิดเหตุและปัจจัย ผลแห่งสังสารวัฏ

ส่วนในปางสมาธิที่เป็นพระพุทธรูปประจำวันพฤหัสนี้ คติหมายถึงการพิจารณาอภิธรรมปิฎกคือความละเอียดสลับซับซ้อนในเรื่องของรูปจิต (ตัวรู้) เจตสิก (คุณสมบัติแห่งความรู้ ความคิด) และนิพพาน (สภาวะแห่งการพ้นจากสังสารวัฏ)




ปางปลงกัมมัฏฐาน หรือปางชักผ้าบังสุกุล
พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า พระหัตถ์ขวายื่นออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล

พระพุทธรูปปางนี้สร้างจากพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าชักผ้าบังสุกุลผ้าขาวห่อศพมาซักย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ (ผ้าห่ม) ต่อมาภายหลังได้มอบผ้าสังฆาฏินี้ให้กับพระมหากัสสปะ

คติและสัญลักษณ์ที่เป็นต้นแบบของทา ฝ่ายเถรวาทก็คือ การสมมติให้พระภิกษุสงฆ์กระทำพิธีกรรมชักผ้าบังสุกุลในงานฌาปนกิจผู้ตายที่ได้เห็นกันอยู่ในงานพระราชทานเพลิงศพหรืองานฌาปนกิจศพผู้ตายทั่วไป

คติและสัญลักษณ์ในฝ่ายมหายานก็คือความเชื่อที่ว่าผู้นำทางพุทธศาสนาก็คือผู้ครอบครองผ้าสังฆาฏิที่พระพุทธเจ้าได้ประทานผ้าสังฆาฏินี้ให้แก่พระมหากัสสปะ (ซึ่งต่อมาก็คือประธานในการทำสังคายนาจัดระบบระเบียบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระไตรปิฎก)

ในฝ่ายมหายานโดยเฉพาะในนิกายเซนที่ปัจจุบัน ผู้คนโดยเฉพาะหนุ่มสาวศึกษากันมาก เรื่องของผ้าสังฆาฏิของพระพุทธเจ้าจะปรากฏชัดอยู่ในตำนานว่าท่านสังฆปริณายกองค์ที่ ๖ คือ เว่ยหลางที่ได้รับมอบพระสังฆาฏิจากท่านสังฆปริณายกองค์ที่ ๕ เมื่อกล่าวถึงหลักของคำสอนทางพุทธศาสนาสำคัญที่เขียนโศลกแข่งกับพระภิกษุผู้มีอายุ ที่เขียนไว้ที่กำแพงวัดว่า "ถ้ากายคือต้นโพธิ์ ใจคือกระจกเงา หมั่นเช็ดหมั่นกวาด ฝุ่นจะจับอะไรเล่า"

ท่านเว่ยหลางได้แก้ประเด็นของโศลกคำสอนนี้ว่า "ถ้าไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงา แล้วฝุ่นจะจับอะไรเล่า"




พระพุทธรูป ปางชี้อสุภะ
อสุภะ (อ่านว่า อะสุบพะ) แปลว่า ไม่งาม ไม่สวย ในคำวัดใช้หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ

พระพุทธรูปปางชี้อสุภะเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ ชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้า  สัญลักษณ์ของการชี้นิ้วพระหัตถ์ไปข้างหน้ามาจากพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทอดพระเนตรศพนางสิริมา โสเภณีหรือหญิงงามเมืองแห่งพระนครราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ซึ่งเป็นหญิงที่สวยงามมาก มีเสียงร้องอันไพเราะ ขับร้องและร่ายรำได้งดงาม ผู้ประสงค์จะขอหลับนอนต้องเสียเงินถึงคืนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ

นางสิริมาได้ถึงแก่ความตายโดยโรคปัจจุบัน พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระเจ้าพิมพิสารผู้ครองนครราชคฤห์เก็บศพนางสิริมาไว้ที่สุสาน ๓ วัน  ครั้นครบ ๓ วันแล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสุสานนั้นพร้อมภิกษุสงฆ์ทั้งหลายและเหล่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย

ได้ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารประมูลศพของนางสาวิกานั้น ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ กหาปณะ จนไปถึงที่สุดก็ไม่มีผู้ใดซื้อ จึงตรัสถึงกายสังขารทั้งหลายอันไม่เที่ยงว่า (นิพนธ์ของพระพิมลธรรม ชอบ อนุจารีมาหาเถร)
"ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูว่าร่างกายที่แต่งให้งดงามด้วยอาภรณ์พรรณต่างๆ เพียบพร้อมด้วยองคาพยพน้อยใหญ่ มีทวารทั้ง ๙ สำหรับเป็นทางให้สิ่งปฏิกูลไหลเข้าออกอยู่ประจำ ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกหลายร้อยท่อน อาดูรด้วยความไม่สบายเหมือนเป็นไข้ อันจะต้องแก้ไขด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอที่มหาชนมีความใคร่กันอยู่โดยมาก แต่หาความยั่งยืนมั่นคงมิได้เลย ในที่สุดก็แปรสภาพมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งทุกคนก็ต้องเป็นเช่นนี้เสมอกัน"




ปางประทานพร (นั่ง)
พระพุทธรูปปางนี้ เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่ง ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายลงบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุขวา หงายพระหัตถ์ออก (ต่างจากปางพิชิตมารตรงที่พระหัตถ์ขวาคว่ำลง ปลายพระหัตถ์ชี้ลงไปที่พื้นดินเบื้องล่าง)

คติของพระพุทธรูปในปางนี้ ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระอานนท์ที่ถูกคณะสงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่อุปัฏฐาก (หรือดูแลช่วยภารกิจ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันก็คือ เลขา นุการ) ขอคำสัญญาจากพระพุทธเจ้า ๘ ประการ ได้แก่
   ๑. ไม่ต้องให้จีวรที่ประณีตแก่พระอานนท์
   ๒. ไม่ต้องประทานอาหารอันประณีตแก่พระอานนท์
   ๓. ไม่อยู่กุฏิ (ที่พัก) เดียวกันกับพระพุทธเจ้า
   ๔. ไม่พาไปกิจนิมนต์ ไม่ว่าที่ใด
   ๕. ไม่ปฏิเสธถ้าท่านรับนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ใด
   ๖. ถ้าพระภิกษุรูปใดที่เดินทางมาขอเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้พระอานนท์มีสิทธิ์นำเข้าเฝ้าได้ทันที
   ๗. (สำคัญมาก) ถ้าพระอานนท์มีข้อสงสัยในธรรมะเรื่องใด ก็ขออนุญาตให้ถามได้ทันที
   ๘. เมื่อพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมะที่ใดแล้ว พระอานนท์ไม่ได้ฟังธรรมนั้น ขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมนั้นแก่พระอานนท์ด้วย ซึ่งพระพุทธเจ้าก็รับคำสัญญา

สัญลักษณ์ตรงนี้ก็คือ แนวทางที่พระอานนท์แสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะไม่รับผลประโยชน์พิเศษอื่นใดจากพระพุทธเจ้า ขอแต่โอกาสที่จะได้รับฟังคำสอนและคำชี้แจงข้อธรรมะเท่านั้นจากพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงไว้ที่ใดก็ตาม

ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนพึงมีสติในเรื่องนี้เช่นกัน คือ ต้องไม่หวังผลตอบแทน ลาภ ยศ ใดๆ อันเป็นกิเลสจากการกระทำทั้งปวง

พึงหวังแต่การเจริญในธรรมะเท่านั้น




ปางโปรดอาฬวกยักษ์
พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในอิริยาบถประทับนั่ง ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ คล้ายกับปางแสดงธรรมจักร

ความแตกต่างอยู่ที่นิ้วพระหัตถ์ กล่าวคือถ้าเป็นปางแสดงธรรมจักรจะจีบนิ้วเป็นวงกลม ปางโปรดอาฬวกยักษ์จะจีบนิ้วเข้าด้วยกัน

ในวิหารวัดพระพุทธชินราช ที่บริเวณเข่าของพระพุทธชินราชจะพบรูปปั้นของยักษ์ ๒ ตน ด้านซ้ายคือ ท้าวเวสสุวัณ ส่วนด้านขวาคือรูปปั้นของ อาฬวกยักษ์

อาฬวกยักษ์เป็นยักษ์ดุร้ายที่กินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งในตำนานพระพุทธศาสนา พระเจ้าอาฬวีจะต้องส่งมนุษย์ให้อาฬวกยักษ์กินวันละคน จนในที่สุดพระพุทธเจ้าทราบเรื่องจึงเสด็จไปปราบ

ในการปราบยักษ์นี้เป็นการปราบโดยการตอบข้อสงสัยในคติธรรม โดยมีคำถามและคำตอบที่เป็นคติและสัญลักษณ์ ดังนี้

อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ อันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิตของผู้เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลกนี้ พระธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาประเสริฐสุด

อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไรหนอ ล่วงทุกข์ได้อย่างไรหนอ บริสุทธิ์ได้อย่างไรหนอ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไรหนอจึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปแล้วสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศกเสียใจ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลเชื่อพระธรรมของพระอรหันต์เพื่อบรรลุนิพพาน ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา บุคคลเป็นผู้ไม่ประมาท มีความรอบคอบ ทำการเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่นขยันย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้

สิ้นคำถามคำตอบ โสดาบันก็บังเกิดแก่อาฬวกยักษ์




ปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปที่มีทั้งท่ายืน เดิน และท่านั่ง ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ (มือ) หันไปข้างหน้า

พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ทำปิตุฆาต คือ ฆ่าบิดา และสมรู้ร่วมคิดกับพระเทวทัต หวังจะทำร้ายพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ให้นายธนูมายิงพระพุทธเจ้า จนถึงให้ช้างชื่อนาฬาคิรีมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ภายหลังระลึกได้ถึงความผิดบาปที่ได้กระทำ พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อขอประทานอภัย

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ตั้งคำถามต่อพระพุทธเจ้าถึงผลแห่งสมณะปฏิบัติที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันมีหรือไม่ และเป็นอย่างไร

พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมในเรื่องนี้ ปรากฏในพระไตรปิฎก (สุตตันตปิฎก) ชื่อว่า "สามัญญผลสูตร" และได้ประทานอภัยแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ว่า

การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้วสารภาพตามความเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้ (รับว่าจะระมัดระวังมิได้เกิดอีก) เป็นความชอบในธรรมวินัยของพระอริยเจ้า

ในเรื่องสามัญญผลสูตรนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ซึ่งได้บวช ได้ปฏิบัติธรรม มีศีล มีสมาธิปัญญา ที่ได้รู้แจ้งในอริยสัจแล้ว ย่อมได้ผลของการปฏิบัติที่เป็นปัจจุบัน




พระปางสมาธิ
การสร้างพระพุทธรูปมิได้เป็นเพียงเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์เท่านั้น พระพุทธรูปปางต่างๆ ๕๒ ปาง ที่พวกเราชาวพุทธเคารพกราบไหว้นั้น ศิลปินผู้สร้างพระพุทธรูปได้แฝงคติ สัญลักษณ์ของความหมายของธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ เพื่อเป็นคำสอนแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้รับรู้ ได้ศึกษา พระพุทธรูปจึงมีความหมายมากกว่ารูปเคารพธรรมดา

เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้ตรัสว่า "ธรรมทั้งหลายที่ได้ตรัสแสดงไว้แล้วนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ"

พระพุทธรูปทั้งหลายจึงซ่อนหลักธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้สำหรับสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ทั้งปวง

พวกเราในฐานะของพุทธศาสนิกชนจึงน่าที่จะควรเข้าใจคติ สัญลักษณ์ แห่งพระพุทธรูปทั้งในฐานะของรูปธรรมและนามธรรม เพื่อยกระดับจิตใจของพวกเราเข้าสู่ความเข้าใจในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ เพื่อสิริมงคล แก่ชีวิต แม้คำว่ามงคลนั้นก็มิใช่ความหมายของความดีงามธรรมดา แต่หมายถึงมงคล ๓๘ อันเป็นสุดยอดแห่งมงคลทั้งปวงที่พามนุษย์พ้นไปจากสังสารวัฏ

เพื่อความเข้าใจของพุทธศิลป์ที่แฝงไว้ในพระพุทธรูปปางต่างๆ จึงขอยกพระพุทธรูปปางสมาธิที่พวกเรารู้จักและพบเห็นกันมากที่สุดมาวิเคราะห์ถึงองค์ธรรมที่ซ่อนอยู่ในพุทธศิลป์นั้น

ในความหมายของพระพุทธรูปปางสมาธิ หมายถึงภาวะของพระพุทธเจ้าขณะตรัสรู้ นั่นคือ การตรัสรู้อริยสัจ หรือความจริงอันสมบูรณ์ ภาพของพระพุทธเจ้าขณะนั่งพิจารณาธรรมอันเห็นอริยสัจนั้นคือ ความสงบนิ่ง การวางมือประสานกันบนหน้าตัก หมายถึงการหยุดโดยสมบูรณ์ หยุดอะไรก็หยุดการเกิดขึ้น การข้องแวะ การข้องติดอยู่ในกิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง

พระเนตรของพระพุทธรูปมิได้หลับลง หมายถึง การตื่นอยู่ รู้อยู่ มีสติสัมปชัญญะ อันสมบูรณ์ มิได้มีกิเลสหรืออกุศลมูลใดๆ อยู่ภายในจิต ทั้งหมดคือความสงบนิ่งอันนำไปสู่การกล่าวคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่เราเรียกกันว่า สวดอิติปิโส

ดังนั้นเมื่อเรากราบไหว้พระพุทธรูปปางสมาธิ จึงหมายถึงการเข้ารับฟังคำสอนในเรื่องอริยสัจ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเป็นครั้งแรกให้แก่ปัญจวัคคีย์ กุศลแห่งการ กราบไหว้จึงจะเกิดขึ้น




พระพุทธรูป ปางชี้อัครสาวก
พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาชี้ไปข้างหน้า เป็นกิริยาประกาศอัครสาวกให้ปรากฏที่ประชุมสงฆ์

การประกาศอัครสาวก ก็คือการประกาศให้ท่านอุปติสสะ และท่านโกลิตะ ซึ่งเป็นชื่อของท่านทั้งสองก่อนพระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นอัครสาวก ซึ่งเมื่ออุปสมบทแล้วชื่อที่รู้จักกันก็คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

การประทานอุปสมบทให้แก่อัครสาวกทั้งสองก็คือท่านอุปติสสะ ท่านโกลิตะ นั้น เดิมเป็นสาวกของสัญชัยปริพาชก กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งอุปติสสะไปพบกับพระอัสสชิ ปัญจวัคคีย์ หรือพระสาวกกลุ่มแรกของพระพุทธเจ้าซึ่งเดินบิณฑบาตด้วยอิริยาบถอันเป็นที่น่าเลื่อมใส จึงได้เข้าไปถามว่าพระอัสสชิเป็นสาวกของศาสดาผู้ใดและท่านศาสดานั้นได้สอนอะไร

พระอัสสชิได้ตอบว่าเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาซึ่งได้ตรัสสอนว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น"

ท่านอุปติสสะได้ฟังคำอธิบายจากพระอัสสชิก็บรรลุถึงโสดาบัน จึงได้ไปชวนท่านโกลิตะกับสัญชัยปริพาชกพร้อมบริวารให้ไปเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

ท่านอุปติสสะและท่านโกลิตะได้รับอนุญาตจากสัญชัยปริพาชกให้พาสาวก ๒๕๐ ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อได้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว บรรดาสาวกของสัญชัยปริพาชกทั้งหมดบรรลุอรหัต และได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทาจากพระพุทธเจ้า

สำหรับท่านอุปติสสะ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระสารีบุตร นั้นยังไม่บรรลุอรหัตในขณะนั้น

พระสารีบุตรมาบรรลุอรหัตขณะถวายงานพัดให้พระพุทธเจ้า ขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เกี่ยวกับเรื่อง ทิฏฐิ (ความเชื่อมั่นถือมั่น) และ เวทนา (การกำหนดรู้สุขรู้ทุกข์) ให้กับ ทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร

คติและสัญลักษณ์ของพระพุทธรูปปางนี้ก็เพื่อระลึกถึงธรรมะสำคัญ ก็คือการระลึกถึงพระสารีบุตรผู้ได้รับคำตอบที่เรียกว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาจากพระอัสสชิ "ธรรมเหล่าใดเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น" หรือในภาษาบาลีที่เรียกว่า คาถาพระอัสสชิ "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรธ จ. เอวํ วาที มหาสมโณ"

คาถา เย ธมฺมา เป็นการกล่าวสรุปในหลักธรรมสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาคือ อริยสัจ ประการแรกได้แก่ ทุกข์ ประการที่สองได้แก่ สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ประการที่สามคือ นิโรธ คือความดับทุกข์ ประการที่สี่คือ มรรค เป็นข้อปฏิบัติให้เกิดความดับทุกข์




ปางไสยาสน์ หรือปางปรินิพพาน

คติและสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันระหว่างปางไสยาสน์กับปางปรินิพพานนั้น ศิลปินผู้สร้างพระได้กำหนดรูปแบบและลักษณะท่าทางของพระพุทธรูปไว้ก็คือ

ปางไสยาสน์ อยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา เนื่องจากปางไสยาสน์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปางโปรดอสุรินทราหู ซึ่งเป็นอสูรผู้มีร่างกายสูงใหญ่ที่ถือตัวว่ามีความยิ่งใหญ่ เข้าใจว่าร่างกายของตนจะบดบังข่มพระ พุทธเจ้า แต่เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้ว กลับพบว่าตนเองนั้นมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธเจ้า

พระพุทธรูปปางไสยาสน์จึงมักจะสร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ นอนประทับหันพระเศียรไปทางทิศใต้ (ซึ่งเป็นคติการนอนที่หมายถึงการตื่นขึ้นหรือยังคงอยู่ในวันต่อไป)

ในประเทศพม่ามีข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับปางไสยาสน์ก็คือ พระบาทจะเหลื่อมกัน ไม่สนิทกัน

คติของปางไสยาสน์ก็คือ การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าต่ออสุรินทราหูหรือชาวโลก "มิให้หลงใหลในความยิ่งใหญ่ของตัวตน อันเป็นเรื่องไร้สาระ" อีกประการหนึ่งก็คือ การรู้ถึงความจริงขั้นสูงสุดหรือความเป็นพระพุทธเจ้าในฝ่ายมหายาน ความเป็นพุทธะหรือที่เรียกกันในฝ่ายมหายานคือ การเข้าถึงพุทธภาวะจึงจะเป็นความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง เพราะปราศจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน

ส่วนปางปรินิพพาน รูปแบบหรือพุทธศิลป์ที่ปรากฏก็คือ พระอิริยาบถที่นอนตะแคงขวาเช่นเดียวกัน พระเศียรนั้นหันไปทางทิศเหนือ (อันหมาย ถึงการไม่ตื่นอีกหรือการไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก) ในประเทศพม่าเพื่อนบ้านจะเพิ่มเติมพระอิริยาบถในปางนี้คือ การสร้างให้พระพุทธรูปมีพระบาทหรือเท้าทั้งสองเสมอเรียบต่อกัน

นอกจากนี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานในป่าใต้ต้นรัง ปางปรินิพพานจึงมักจะสร้างในพื้นที่กลางแจ้งไม่มีหลังคาอาคารหรือวิหารปกคลุม

คติในเรื่องของปางปรินิพพานมีสาระสำคัญที่การแสดงธรรมต่อสุภัททะปริพาชกที่อธิบายถึงศาสดาหรือภิกษุ หรือนักบวชใดจะเป็นพระอรหันต์ ต้องประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจสำคัญในเรื่องอริยสัจ ๔ หรือประพฤติธรรมของมรรค ๘

อีกคติหรือคำสอนสุดท้ายที่เรียก ปัจฉิมวาจาก็คือ "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

เมื่อพิจารณากันอย่างนี้แล้วคงเข้าใจกันได้ว่าความเชื่อในเรื่องพระประจำวันอังคารเป็นพระประจำของการบูชาของคนเกิดวันอังคารคงไม่เกิดประโยชน์แก่ลาภวงศ์สรรเสริญแต่ประการใด

คติการบูชาพระประจำวันอังคาร จุดสำคัญก็คือการจะปฏิบัติตามปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าจึงจะเป็นกุศลอันสำคัญ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2558 14:29:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 19 เมษายน 2557 16:13:58 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


พระพุทธรูปปางชี้มาร

เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์ ชี้นิ้วไปข้างบน

จากพุทธประวัติตอนหนึ่งว่า พระโคธิกเถระซึ่งเพียรพยายามจะทำนิพพานให้แจ้งและมักจะล้มเหลวเมื่อเจริญสมาธิไปถึงขั้นสุดท้าย แต่ก็ไม่ท้อถอย ได้เพียรพยายามจนบรรลุนิพพานขณะที่จิตจะดับลง เป็นเหตุให้มารหรือเทพบุตรมารตามหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบ

พระพุทธเจ้าจึงชี้ให้บรรดาสาวกทั้งหลายได้เห็นมารที่กำลังตามหาวิญญาณของพระโคถิกเถระ และได้กล่าวพุทธพจน์ความว่า "ผู้มีศีล อยู่ด้วยความไม่ประมาท ย่อมถึงวิมุตติ เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้ว มารจะไม่ประสบพบช่องทางได้เลย"

พุทธประวัติตอนนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่จะกล่าวถึงเรื่องของมาร ดังนั้น คติของมารก็คือ มารในความหมายทางพุทธศาสนาที่หมายถึง ผู้หรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง หรือผู้กีดกันบุญกุศล ผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง คือ
๑. ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ ร่างกายไม่อำนวยให้ทำความดี เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพทำให้หมดโอกาสดีๆ ในชีวิต
๒. อภิสังขารมาร มารคือบุญบาป ความชั่วทำให้ขัดขวางมิให้บรรลุคุณธรรม และบางทีบุญก็ขัดขวางเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเหตุให้เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ผู้ที่ทำบุญไปเกิดในภพภูมิที่ดี เช่น สวรรค์ ก็หลงมัวเมาไม่รู้สร่าง อย่างนี้แหละที่ท่านว่าบุญก็เป็นมารมิให้บรรลุธรรม
๓. กิเลสมาร มารคือกิเลส โลภ โกรธ หลง เป็นมารเพราะขัดขวางมิให้บุคคลบรรลุผลสำเร็จดีงาม
๔. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต บางทีกำลังก้าวหน้าในชีวิตทั้งทางโลก และทางธรรม ก็มาด่วนตายเสียก่อน ความตายจึงตัดโอกาสดีๆ ในชีวิต
๕. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทวดาที่เกเรคอยขัดขวางมิให้คนทำดี หมายเอาเทวบุตรฝ่ายอันธพาลทั้งหลายอย่างสูง หมายเอาพญามารชื่อ วสวัตตี

สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง เสมือนเป็นมารอีกประการก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ปปัญจธรรม มี ๓ ประการคือ
๑. มานะ คือความถือตัวว่าเรารู้ดีแล้ว เราเก่งแล้ว หรือผู้แสดงธรรมท่านอื่นก็รู้พอๆ กันกับเรา หรือเรามันโง่เขลาเบาปัญญาไม่มีทางที่จะเรียนรู้ธรรมได้เลย
๒. ทิฏฐิ คือการมีความเชื่อมั่นหรือปักใจเชื่อในแนวทางปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีอยู่เดิม คิดว่าแนวทางของเราที่ทำอยู่นี้เท่านั้นถูกต้อง แนวทางอื่นๆ ไม่ถูกต้อง
๓. ตัณหา คือความอยาก ในที่นี้หมายถึงความอยากที่จะปฏิบัติธรรม และความอยากที่จะบรรลุธรรม เมื่อมีความอยากก็เกิดการกระทำตามอำนาจของความอยากต่างๆ โดยเชื่อว่าถ้ามีความเพียรปฏิบัติและสร้างความปรุงแต่งฝ่ายกุศลให้เต็มที่แล้ว จะรู้ธรรมได้ในที่สุด

ตัณหาคือ ความอยากจะบรรลุธรรมนั้นมาจากมานะและทิฏฐิ ซึ่งไม่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้วย่อมไม่มีหนทางบรรลุธรรมได้




พระพุทธรูป ปางประทานธรรม

แบบที่ ๑ พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายจับด้ามพัด พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ (เข่า)
แบบที่ ๒ พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นจีบนิ้ว

พระพุทธรูปทั้งสองแบบนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร (วิหารแปลว่าที่อยู่ของพระพุทธเจ้า) ว่า พระองค์ประกอบด้วยทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ จึงได้ปฏิญาณฐานะของผู้องอาจและประทานธรรมเรื่องเบญจขันธ์และปฏิจจสมุปบาทแก่เทวดาและมนุษย์

ปางประทานธรรม ก็คือ ปางที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปปางนี้จึงมีความหมายเป็นคติของการรับฟังธรรมที่สำคัญที่สุด ที่ว่าด้วยเรื่องเบญจขันธ์ จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายไว้ดังนี้

เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต)
๑. รูปขันธ์ (กองรูป ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ)
๒. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์หรือเฉยๆ)
๓. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา ส่วนที่เป็นความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ ๖ เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น)
๔. สังขารขันธ์ (กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต)
๕. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ ๖)

ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต บรรยายความหมายของหัวข้อธรรมไว้ว่าหมายถึง การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อมการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น

ในเรื่องของรายละเอียดเรื่องนี้มีความสลับซับซ้อนเกี่ยวเนื่องต่อกันมากมาย ไม่อาจจะเขียนเล่าในที่นี้ได้

สรุปได้เพียงว่า พระพุทธรูปปางประทานธรรมนี้ สัญลักษณ์ของพระพุทธรูปจึงเป็นพระพุทธรูปที่แสดงธรรมะที่ลึกซึ้ง เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรจะต้องศึกษาอย่างจริงจังที่สุด




ปางสมาธินาคปรก

พระประจำวันเสาร์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับอยู่บนพญานาคที่พุทธประวัติกล่าวว่าชื่อ "มุจลินทร์นาคราช" ซึ่งมาขนดเป็นแวดวงล้อมกายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ รอบ และแผ่พังพานป้องกันลมฝนที่จะเป็นอันตรายต่อพระพุทธองค์  เมื่อภายหลังฝนลมหยุดแล้วมุจลินทร์จึงกลายเป็นมานพ พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานว่า "ความสงัดเป็นความสุขสำหรับบุคคลผู้ได้สดับธรรม ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนคือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดคือ ความก้าวล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นความสุขในโลก ความนำออกเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ (คือความถือตัว) เป็นความสุขอย่างยิ่ง"

ข้อสังเกตก็คือ คำอุทานของพระพุทธเจ้าหมายถึงพระธรรมคำสอนนั้น ความหมายดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบหรือศิลปะและคติที่เกี่ยวกับพญานาคแต่อย่างใด  แต่มีผู้แปลปริศนาธรรมใน th.wikipedia.org จากพระพุทธรูปนาคปรก โดยเห็นว่าเศียรพญานาคทั้ง ๗ เศียรน่าจะหมายถึงโพชฌงค์ ๗ คือ ธรรมแห่งการตรัสรู้ ๗ ก็คือ
๑. สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
๒. ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่อง สืบค้นธรรม
๓. วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร
๔. ปิติ (ปิติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ
๖. สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจ ตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
๗. อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ลักษณะของคำเปล่งอุทานซึ่งพิจารณาแล้วจะเห็นเป็นเรื่องเดียวกันกับความหมายที่กล่าวมาแล้ว ที่มีหัวข้อของธรรมะแยกได้ ๗ ประการ ก็คือ ความสงัดที่ได้ฟังธรรม ยินดีในที่อยู่ที่เงียบสงัด เห็นสังขารตามความเป็นจริง ไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย ปราศจากความกำหนัด ก้าวล่วงจากกาม (ความรักความยินดี) ปราศจากการถือตัว

ในอีกแง่มุมหนึ่งของความเชื่อ พระพุทธรูปนาคปรกนี้จะมาจากความพยายามที่จะประสานปรัชญาฮินดู โดยเฉพาะไวษณพนิกายให้เข้ากับพระพุทธศาสนา โดยความเชื่อที่ว่า พระนารายณ์นั้นบรรทมอยู่บนพญานาคในเกษียรสมุทร พระพุทธเจ้านั้นเป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์

สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าในศิลปะแบบนี้ คือการประยุกต์ให้พระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์ที่ประทับอยู่บนพญานาค

ในเรื่องการนับว่าเป็นพระประจำวันเสาร์ น่าจะมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาขึ้นซึ่งได้แก่พระพุทธรูปนาคปรก เพราะพระองค์ประสูติในวันเสาร์




ปางอธิษฐาน เพศบรรพชิต

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์จนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ประทับลงบนพื้นทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งกับนายฉันทะว่า พระองค์จักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต คือ นักพรตหรือนักบวช ณ ที่นี้

พุทธศิลป์ในรูปนี้ เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในอิริยาบถประทับกับพื้น ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายลงบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระ แต่ไม่ได้เบนฝ่าพระหัตถ์ออกเหมือนปางสมาธิ

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ ปางนี้จะยังไม่ปรากฏเครื่องหมายที่เรียกว่า โลกุตตระ ที่มีลักษณะเป็นเปลวสีทองที่อยู่หนือพระเศียร เพราะเครื่องหมายโลกุตตระเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ พ้นไปจากสังสารวัฏ

พุทธศิลป์รูปนี้ไม่นิยมตั้งเป็นพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร เพราะในความหมายพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า มิใช่เจ้าชายสิทธัตถะอีกต่อไป สิ่งที่ศิลปินผู้สร้างปางนี้เน้นถึงความเป็นพระก็คือ การทำที่ประทับเป็นดอกบัวอันหมายถึงการเป็นผู้บริสุทธิ์ตั้งแต่เริ่มบรรพชา

คติและสัญลักษณ์ของพุทธศิลป์นี้หมายถึง การตั้งพระทัยที่จะแสวงหาความจริงของชีวิต ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและมั่นคง อันประกอบด้วย
- มโนมยิทธิ
- ความเพียรพยายาม
- การกระทำเสมอต้นเสมอปลาย
- การกระทำที่ไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบากไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง




พระโกนาคมพุทธเจ้า

พระโกนาคมพุทธเจ้า หรือ พระโกนาคมนะพุทธเจ้า เป็นอดีตพระพุทธ เจ้าอีกพระองค์หนึ่งที่อุบัติขึ้นในภัทรกัปนี้ของฝ่ายเถรวาท

โดยทั่วไปการประดิษฐานพระพุทธรูปแทนองค์อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ มักจะไม่เป็นที่นิยมกันในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย

หากจะปรากฏมากในประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า หรือบางจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือเช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน

โดยเฉพาะมักจะประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ที่มีรูปสัณฐานเป็นเจดีย์เหลี่ยม และจะประดิษฐานอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ไว้ตามทิศทั้งสี่

จากความเชื่อของพุทธบริษัทในฝ่ายเถรวาทในเรื่องของอดีตพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ พระโกนาคมพุทธเจ้าเป็นอดีตพระพุทธเจ้าไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน

ทางพุทธศิลป์จึงกำหนดรูปแบบพระโกนาคมพุทธเจ้า ให้มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน

ในประเทศไทยจะนิยมกันว่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในเจดีย์เหลี่ยมทางทิศตะวันออกเป็นพระโกนาคมพุทธเจ้า แต่ในประเทศพม่าจะประดิษฐานอยู่ในทิศใต้

ในภาพที่แสดงเป็นภาพที่ประดิษฐานในเจดีย์หรือกู่พญาวัดอนันดา พุกาม ประเทศพม่า เปรียบเทียบได้ก็พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา ซึ่งเป็นปางที่พระสิทธัตถะทรงรับหญ้าคาเพื่อปูรองนั่งก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ในคติและสัญลักษณ์พระโกนาคมพุทธเจ้าคือคติของ "ผู้หักเสียซึ่งข้าศึก คือ กิเลส"




อุเทสิกเจดีย์  พระนอน

เจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหรือที่เรารู้จักกันก็คือ พระพุทธรูป

พระพุทธรูปลักษณะหนึ่งที่มีรูปแบบที่เราเรียกกันว่าพระนอน ซึ่งมักจะสร้างกันอย่างใหญ่โต พระนอนนี้มีคติอยู่ ๒ แบบ
แบบที่ ๑ เรียกปางไสยาสน์
แบบที่ ๒ เรียกปางปรินิพพาน

ปางไสยาสน์กับปางปรินิพพานนั้นมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ข้อสังเกตก็คือ ปางไสยาสน์นั้นมักจะสร้างอยู่ในอาคารใหญ่โต มีคติและความหมาย ๒ รูปแบบ
ในรูปแบบที่ ๑ มาจากพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อสั่งสอน อสุรินทราหู อสูรตนหนึ่งที่หลงผิดถึงความใหญ่โตของตนว่าแท้ที่จริง อสุรินทราหูนั้นในสายตาของพรหมประหนึ่งมดปลวกในสายตาของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดอัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความยิ่งใหญ่ เพราะยังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า

ในรูปแบบที่ ๒ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเสนาสนะหรือกุฏิ หรือที่อยู่ของพระพุทธเจ้านั้นมีขนาดเล็กพอเพียงแต่การอาศัยเท่านั้น

ปางปรินิพพาน มีลักษณะพิเศษเฉพาะก็คือ ต้องสร้างกลางแจ้ง เนื่องจากขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังจะนิพพานนั้น พระองค์ประทับอยู่ระหว่างไม้สาละ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หนุนพระเศียรด้วยพระหัตถ์ข้างขวา (คือหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก)

เป็นคติที่จะแสดงให้เห็นว่าจะปรินิพพาน กล่าวคือผู้คนในอดีตนั้นนอนหันหัวไปทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งหมายถึงการจะตื่นขึ้นใหม่ในวันรุ่งขึ้น การหันพระเศียรไปทางเหนือและหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกของพระพุทธเจ้าย่อมหมายถึงการไม่กลับมา ไม่เกิดอีก

ในประเทศพม่า ความแตกต่างของปางไสยาสน์กับปางปรินิพพาน สังเกตจาการซ้อนกันของพระบาท หากเป็นปางปรินิพพานพระบาททั้งสองข้างจะซ้อนกันโดยตรง

ประการสำคัญของปางปรินิพพานก็คือ คำเทศนาครั้งสุดท้าย อันเป็นสัญลักษณ์คำสัญญาของการปฏิบัติตนและปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนา สรุปได้คือ
๑. ในธรรมวินัยใดที่ไม่มีอริยมรรค ประกอบด้วยองค์ ๘ แล้วย่อมไม่มีผู้รู้จริง รู้แจ้ง โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อการรู้จริงรู้แจ้งอริยมรรคยังมีอยู่
๒. ธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว จะเป็นศาสดาแก่พุทธศาสนิกชน
๓. และคำตรัสครั้งสุดท้ายก็คือ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"




ธาตุเจดีย์ กับอุเทสิกเจดีย์

เจดีย์ลักษณะนี้ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะรูปแบบพิเศษ คือมีแกนหลักเป็นธาตุเจดีย์ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมหรือสี่ทิศ และแต่ละทิศจะมีพระพุทธรูปคือ อุเทสิกเจดีย์ประทับอยู่

คติ สัญลักษณ์ของพระพุทธรูป ทั้งสี่ทิศ มี ๒ คติ คือ
รูปแบบที่ ๑ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ที่ปรากฏขึ้นในภัทรกัปหรือสมัยที่โลกจะมีพระพุทธเจ้าติดต่อกัน ๕ พระองค์
รูปแบบที่ ๒ เป็นสัญลักษณ์ของอิริยาบถ ๔ นอน นั่ง ยืน เดิน ของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงธรรมในอิริยาบถทั้ง ๔

ในรูปแบบที่ ๑ มีธาตุเจดีย์เป็นแกนหลัก มีพระพุทธรูปประจำอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งสอดคล้องกับคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีพระพุทธเจ้าในรูปแบบของสัมโภคกาย ประจำอยู่ในพุทธเกษตรทั้ง ๔ ทิศ

ความหมายหรือคติสัญลักษณ์ที่แปลความรู้หรือรูปแบบของพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ก็คือ พระพุทธรูปทางทิศเหนือ ฝ่ายเถรวาทนาม กกุสันโธ ฝ่ายมหายานนาม อโมฆสิทธิ์ หมายถึงผู้มีความสำเร็จอันสมบูรณ์คือ การปฏิบัติธรรมจนพ้นไปจากโลก พ้นไปจากทุกข์ สิ้นสุดการกระทำที่จะทำให้เกิดทุกข์อีก

พระพุทธรูปทางทิศตะวันออก ฝ่ายเถรวาทนาม โกนาคม ฝ่ายมหายานนาม อักโษภยะ หมายถึง พระผู้ไม่หวั่นไหว นั่นคือ เมื่อพ้นไปจากโลกไปจากทุกข์ทั้งปวงแล้ว ก็แปลความไม่หวั่นไหวในทุกข์ไม่ปรากฏใดๆ อีกต่อไป

พระพุทธรูปทางทิศใต้ ฝ่ายเถรวาทนาม กัสสปะ ฝ่ายมหายานนาม รัตนสัมภวะ แปลว่า ผู้มีกำเนิดอันประเสริฐ ก็คือผู้พ้นไปจากทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปจากการพ้นทุกข์

พระพุทธรูปทางทิศตะวันตก ฝ่ายเถรวาท นาม สมณโคดม ฝ่ายมหายานนาม อมิตพุทธหรือ อมิตยุส แปลว่า ผู้มีรัศมีอันหาที่สุดมิได้ คือ มีปัญญาอันรู้แจ้ง แทงตลอดความจริงคือ อริยสัจ ย่อมพ้นไปจากโลก จากทุกข์ทั้งปวง

รูปแบบที่ ๒ ที่พบเห็นกันในประเทศไทยคือ ปาง ๔ อิริยาบถทั้ง ๔ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ธาตุเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศนั่น คติและสัญลักษณ์จะต่างไปจากรูปแบบที่กล่าวข้างต้น

ในรูปแบบของอุเทสิกเจดีย์ที่เป็นรูปอิริยาบถ ๔ นั้น จากวัดพระสี่อิริยาบถ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย

ในปางประทับยืนนั้นเรียกว่า ปางประทานอภัย ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า เป็นปางที่พระพุทธเจ้าประทานอภัยแก่พระเจ้าอชาตศัตรูที่ขออภัยที่ได้ส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คติและสัญลักษณ์ก็คือการให้อภัยต่อผู้อื่นเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

ปางลีลา ในพุทธประวัติกล่าวถึงพระสิริงดงามของพระพุทธเจ้าเมื่อเดินมาถึงประตูเมืองสังกัสสะนคร ที่พระสารีบุตรประทับอยู่ พระสิริงดงามของพระองค์ ครอบงำรัศมีเทวดาและพรหมทั้งปวง แต่ในอีกความหมายหมายถึง พระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าที่ได้เสด็จจารึกไปเผยแผ่พระธรรมแก่ผู้คนในแว่นแคว้นต่างๆ

ปางอิริยาบถนั่ง โดยทั่วไปพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งนี้มีมากมายหลายปาง โดยมีความหมายคติธรรมในเรื่องแตกต่างกัน เป็น ปางสมาธิ คือ ประทับนั่งพระหัตถ์ (มือ) ประสานกันบนตัก หมายถึงการเข้าสมาธิหรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปางมารวิชัย ก็หมายถึงการแสดงที่หมายถึงการหลุดพ้นไปจากโลกจากมาร เป็นต้น

ส่วนปางไสยาสน์ หรือที่เรียกกันว่าพระนอน เพิ่งกล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในคติและความหมายของพระ ๔ อิริยาบถนั้น จุดมุ่งหมายของผู้สร้างคงเน้นให้เห็นถึงการแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ กันของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะใช้พระอิริยาบถนั้นแสดงความหมายของธรรมนั้นๆ




อุเทสิกเจดีย์ ในรูปแบบจิตรกรรมไทย
อุเทสิกเจดีย์ คือ เจดีย์ที่เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนจิตรกรรมนี้เป็นอุเทสิกเจดีย์ในรูปแบบจิตรกรรม

ภาพมารผจญนี้แสดงถึงกาลเวลาที่ต่อเนื่องในรูปเดียวกัน จากพุทธประวัติพญามารนาม "วสวัตตีมาร" ยกกองทัพทวงสิทธิบนบัลลังก์ เพื่อขัดขวางการจะตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในเวลาเย็น เทียบเป็นเวลาปัจจุบันคือราว ๑๘ นาฬิกาหรือ ๖ โมงของวันวิสาขบูชา

ในปฐมยาม ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น. ทรงระลึกชาติได้
มัชฌิมยาม ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น. ทรงรู้การเกิดของสัตว์ทั้งปวง
ปัจจมยาม ๐๒.๐๐-๑๘.๐๐ น. ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔

ในภาพด้านขวา เริ่มแต่ทัพพญามารยกเข้ามาทางบัลลังก์ ปัจฉิมยาม พระศากยมุนีในเวลานั้น มิให้บรรลุนิพพาน ในช่วงเวลานั้นพระศากยมุนียังมีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ได้อ้างแผ่นดินเป็นพยานของการประพฤติปฏิบัติ ตรีทศบารมีหรือบารมีทั้ง ๓๐

ในภาพด้านซ้าย เวลาถัดมา พระแม่ธรณีได้บีบน้ำจากมวยผมไล่พญามารแพ้ไป

ในภาพจะเป็นภาพพระพุทธเจ้าในอิริยาบถที่ปล่อยพระหัตถ์ข้างขวาลงเหนือพระเพลาหรือเข่า ที่เรียกกันว่าปางมารวิชัย หรือชนะมาร

การวาดภาพของพระพุทธเจ้ามีพระเกตุมาลาที่มีเปลวรัศมียอดพระเศียร มีความหมายถึงการตรัสรู้ อริยสัจ ๔

ในภาพจึงเป็นกาลเวลาที่พระพุทธเจ้าบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นเวลาเช้า พระอิริยาบถจึงเปลี่ยนจากปางนั่งสมาธิที่นั่งประสานมือเป็นการปล่อยมือหรือพระหัตถ์ลงเหนือเข่า

พระหัตถ์ที่ชี้ลงพื้นในสายของพุทธศาสนามหายาน กล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของการชี้ว่าพระพุทธเจ้าได้พ้นโลกหรือสังสารวัฏแล้วสมบูรณ์

บางภาพจะเป็นภาพของพระโพธิสัตว์ที่บรรลุนิพพานเป็นพระพุทธเจ้า โดยประทับในปางสมาธิ ซึ่งน่าจะเป็นเวลาในยามที่ ๓ คือเวลาเช้า สัญลักษณ์แห่งพระนิพพานที่เขียนไว้ในภาพก็คือ พระเกตุมาลาบัวตูมมีเปลวรัศมียอดพระเศียร

นอกจากนี้ในบางภาพจะปรากฏธิดามารทั้งสามที่มายั่วยวนพระพุทธเจ้า ซึ่งก็หมายถึงเวลาที่เกินเช้ามาแล้ว

ภาพมารผจญจึงเป็นภาพวาดประเพณีที่มีความหมายของกาลเวลาที่ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้าและแสดงในรูปเดียวกัน




พระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ แปลว่าผู้ข้องอยู่ในความรู้ ในความหมายคือ บุคลาธิษฐานในพุทธศาสนา หรือแปลง่ายๆ คือบุคคลที่ตั้งใจจะศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตทั้งในความเชื่อของฝ่ายมหายานและเถรวาท

ในฝ่ายเถรวาท ความเชื่อในพระโพธิสัตว์ก็เป็นเพียงความเชื่อที่ว่า บุคคลอาจจะอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า (คำว่าอธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจ ไม่ได้แปลว่าขอ)  แต่ในฝ่ายมหายาน ความหมายของพระโพธิสัตว์มีมากกว่าฝ่ายเถรวาท โดยแบ่งพระโพธิสัตว์เป็น ๒ ประเภท

ประเภทที่หนึ่งเรียกว่า มนุษิโพธิสัตว์ ซึ่งจะมีคุณลักษณะเหมือนกับพระโพธิสัตว์ฝ่ายเถรวาท อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า พระธยานิโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ ผู้ได้บำเพ็ญบารมีพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ด้วยเมตตาบารมีที่สูงมากจึงมีเมตตาที่จะช่วยหรือโปรดให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ไปก่อน

อีกแนวทางหนึ่งของพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายานหรือพระธยานิโพธิสัตว์นั้น เกิดจากอำนาจญาณของพระพุทธเจ้า เป็นภาคบุคลาธิษฐานแสดงพระกรุณาคุณและปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงในฝ่ายมหายาน พระธยานิโพธิสัตว์ที่เกิดจากญาณของพระธยานิพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์มีรายชื่อดังต่อไปนี้
พระไวโรจนะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ประจำ พระองค์คือ พระสมัตตภัทรโพธิสัตว์ และ มัญชุศรีโพธิสัตว์
พระอโมฆะสิทธิพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ประจำพระองค์คือ พระเมตไตรยะโพธิสัตว์ พระวิศวปาณิโพธิสัตว์ และภาคของปัญญา ที่แสดงเป็นอิตถีเพศ คือ ตารา
พระอักโษภยะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ประจำพระองค์คือ พระวัชรปาณิโพธิสัตว์ และ พระกษิติครรภะโพธิสัตว์
พระรัตนสัมภวะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ประจำพระองค์คือ พระรัตนปาณิโพธิสัตว์
พระอมิตาภพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ประจำพระองค์คือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปรามต์โพธิสัตว์ พระปัทมปานิโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ทั้งหมดนี้จะได้บรรยายคติ และสัญลักษณ์ในตอนต่อไป




สมันตภัทรโพธิสัตว์

สมันตภัทร หรือสมันตภัทระ แปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือเป็นมงคลทุกประการ

นอกจากนี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธานที่จะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์นี้ทรงเป็นพระชินโพธิสัตว์หรือตัวแทนของพระไวโรจนะ ภาพของท่านจึงแสดงถึงความกรุณาปรานีและการอยู่ในสมาธิ ภาพของท่านจะอยู่เคียงคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

ในภาพท่านจะนั่งอยู่บนพาหนะคือ ช้างสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงพลังหรือแรงแห่งกิเลสตัณหา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงหมายถึงควาญช้างผู้ฝึกปรือให้ช้างหรือกิเลสตัณหานั้นลดลง ในท่านั่งนั้น มือซ้ายจะถือจินดามณี (หมายถึงความสุขสว่างแห่งปัญญา) มือขวาจะอยู่ในท่าคิด นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ (อันน่าจะหมายถึงสังสารวัฏ)

ไม่พบภาคปางดุของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์




พระไวยโรจนะ

ความเชื่อในพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทมีเนื้อหาสรุปย่อๆ ได้ดังนี้

ฝ่ายมหายานเชื่อว่า อาทิพุทธ (ชื่อพระพุทธเจ้า) เป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นพร้อมกับโลก หรือเรียกว่า ธรรมกาย (ในภาษาสันสกฤต เรียก พระสมันตรพุทธเจ้า) เป็นต้นกำเนิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งจักรวาลที่เรียกว่า ธยานิพุทธ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่
- พระไวยโรจนะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ มหาสุริยประภา พระปฐมพุทธะ
- พระอักโษภยะพุทธะ
- พระอโมฆะสิทธพุทธะ
- พระรัตนสัมภวะพุทธะ
- พระอมิตาภะพุทธะ

พระไวยโรจนะ นั้น ในความหมายก็คือ ธยานิพุทธะ หรือ สัมโภคกาย หรือธรรมกาย ในที่นี้หมายถึง ตัวแทนของความจริงสากล เป็นตัวแทนของอากาศธาตุ (ช่องว่างในจักรวาล ในความหมายที่น่าจะพ้องกับฝ่ายเถรวาทก็คือ การไม่มีตัวตน)

ธรรมกายนั้นมีความหมายอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้านั้นมีกายคือ ธรรมะ คือความจริง

ในฝ่ายมหายานนั้น กำหนดพุทธศิลป์รูปแบบของพระไวยโรจนะในความหมายของความจริงก็คือ ความไม่มีตัวตน มีลักษณะเป็นกายภาพ ที่มีสีขาวเป็นสัญลักษณ์ รัศมีธรรมเป็นสีน้ำเงินอ่อน ประทับอยู่ในท่าธรรมจักรพุทธาที่แสดงโดยนิ้วพระหัตถ์มาวงล้อมกัน อันหมายถึงกงล้อธัมมจักกัปปวัตนสูตรหรือความจริงแท้ คือความไม่มีตัวตน ที่ยังคงหมุนอยู่ตลอดเวลา

ท่านั่งขัดสมาธิทรงเครื่องจักรพรรดิ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความกล้าหาญ มีความหมายถึงความจริงแท้ ความไม่เป็นตัวตน นั่นเอง (ฝ่ายเถรวาทถอดมาเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจักร พรรดิ)

เสียงประจำพระองค์คือ โอม เสียงที่หมายถึงความว่าง ซึ่งหมายถึงความไม่มีตัวตน นั่นเอง




พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า

ในความเชื่อของฝ่ายมหายาน ที่กล่าวว่าในมหาจักรวาลอันแผ่ไพศาลออกไปจนหาที่สุดมิได้นั้น ประกอบด้วยพุทธเกษตร (หรือเรียกอีกความหมายก็คือ พุทธมณฑล) จำนวนมากมายมหาศาล ในพุทธเกษตรเหล่านั้นก็จะมีพระพุทธเจ้าประจำพุทธเกษตร

ในพุทธเกษตรที่สำคัญ * พุทธเกษตร ซึ่งได้บรรยายไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์สำคัญคือ พระไวโรจนะพุทธไปแล้ว ในพุทธเกษตรสำคัญองค์ต่อมาก็คือ พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า

พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า เป็นพระธยานิพุทธสำคัญหนึ่งในห้าของความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายาน ประจำอยู่ในพุทธเกษตรทางทิศเหนือ ในคำอธิบายของมหายานกล่าวว่าพระธยานิพุทธนั้นมีกายอันเป็นทิพย์ที่พระโพธิสัตว์เท่านั้นที่จะได้เห็นและได้รับฟังคำเทศนาสั่งสอน

รูปภาพรูปปั้นของพระอโมฆสิทธิพุทธะที่พบเห็นกันนั้น เป็นการแสดงลักษณะทางกายภาพทางพุทธศิลป์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้าใจในคติธรรม ซึ่งในทางกายภาพที่ได้แสดงไว้ก็คือ เป็นพระพุทธรูปปางอภัย หรือปางนั่งสมาธิ มีสัญลักษณ์คือวัชระไขว้ (ความหมายของวัชระก็คืออาวุธ (หรือปัญญา) ที่มีความคมสูงสุด) สามารถตัดอวิชชาให้ขาดได้ มีกายสีเขียว ซึ่งสัญลักษณ์ของการกระทำอันสมบูรณ์ คือการกระทำที่ปราศจากกิเลส และพ้นจากกิเลส การบรรลุความสำเร็จนี้ตามธรรมชาติ  อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าใจปนกันระหว่างพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระกกุสันโธพุทธเจ้า กับ พระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า เพราะเห็นว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่ประจำอยู่ทางทิศเหนือ พระกกุสันโธนั้นเป็นอดีตพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาทที่มีแนวคิดแนวปฏิบัติโดยวิธีการที่พิจารณาถึงสัจจะหรือความจริงที่จะทำให้พ้นจากวัฏสังสาร ส่วนพระอโมฆสิทธิของฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นพุทธเจ้าที่มีพร้อมกับสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น

คติธรรมก็คือแนวทางการใช้สติปัญญาพิจารณาในเรื่องของกรรม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2558 14:45:26 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 19 พฤษภาคม 2557 19:29:47 »

.
  คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
ในบรรดาอาคารทางพุทธศาสนา วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ดูจะเป็นอาคารทางศาสนาที่บรรลุแนวความคิด ที่เรียกว่าเป็นอาคารที่มีคติและสัญลักษณ์ที่ชัดเจนตามความเชื่อจักรวาลทัศน์ในไตรภูมิกถามากที่สุดอาคารหนึ่ง

เริ่มแต่ช่อฟ้ากลางหลังคาของวิหาร ที่เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คือยอดเขาพระสุเมรุ  หลังคาที่ลดหลั่นกันลงมา คือสัญลักษณ์ของทิวเขาที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ พระประธานเป็นพระพุทธรูป ๔ พระองค์ ที่หมายถึง พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ที่อุบัติขึ้นแล้วในภัทรกัปป์ คือ
   องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ
   องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคม
   องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสปะ
   องค์ที่ ๔ มีพระนามว่า พระโคดม

ซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศ ที่ประตูมีรูปเป็นเทวดา น่าจะหมายถึงท้าวจัตุโลกบาลหรือเทวดารักษาโลก หรือหมายถึงอนุทวีปทั้ง ๔ ซึ่งจะมีตัวรูปสัตว์ที่ทางเข้าพระอุโบสถไม่เหมือนกันทั้ง ๔ ประตู  พญานาคที่เลื้อยทอดมายังทางเข้าด้านหน้าคือตัวแทนของทะเลสีทันดรที่ล้อมรอบทิวเขาที่ล้อมเขาพระสุเมรุ  สิงห์ก็คือสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่อยู่ในชมพูทวีป

พระอุโบสถและพระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่ใช้คติและสัญลักษณ์ทางความเชื่อของจักรวาลทัศน์ได้ชัดเจนที่สุดหลังหนึ่ง




วัดสุทัศน์เทพวราราม ศูนย์กลางพระนคร

งานสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยิ่งใหญ่งดงามที่สุด วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นอาคารที่ใช้เวลาสร้างกันอย่างยาวนานกว่า ๔๐ ปี

เริ่มตั้งแต่ถมทรายปรับที่ดินตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๔๘ จนถึงเริ่มขุดรากพระวิหาร ตั้งแต่วันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ หรือมกราคม พ.ศ. ๒๓๕๐ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ๒ ปี

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สร้างตัวประธานพระวิหาร ๑๐ ปี ไม่แล้วเสร็จ ค้างคามาอีก ๑๔-๑๕ ปี

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เริ่มต้นก่อสร้างวัดต่อในปี ๒๓๗๗ จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๖ จึงได้ก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมผูกพัทธสีมาแล้วเสร็จสมโภชพระอาราม หมายถึงเสร็จสมบูรณ์ปี ๒๓๙๐ และยังมีการก่อสร้างส่วนประกอบในภายหลังเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

วัตถุประสงค์สำคัญของการสถาปนาวัดสุทัศน์จากพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนไว้ว่า "วัดสุทัศน์นี้กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนครจึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้า ณ ที่นั้นตามประเพณีพระนครโบราณ"

ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีเทพ ระบุว่า "พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง" (วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา)

ในอดีตของเมืองสำคัญในเขตพื้นที่ประเทศไทยหรือประเทศข้างเคียง การตั้งเมืองจะต้องกำหนดศูนย์กลางเมืองไว้เป็นสำคัญ เช่นในสมัยสุโขทัยก็มักจะกำหนดให้วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมืองพิษณุโลกก็มีวัดมหาธาตุ อยุธยาก็มีวัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราชก็มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมือง

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อจะสร้าง เมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี ก็ต้องใช้คติและสัญลักษณ์เดิมในการกำหนดศูนย์กลางเมืองก็คือสร้างวัด

เดิมวัดสุทัศน์เรียกชื่อกันว่า วัดพระใหญ่, วัดพระโต เนื่องจากจัดเตรียมตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะ ใหญ่กว่าพระพุทธรูปองค์อื่นที่มีอยู่ในประเทศไทยในเวลานั้น

สัญลักษณ์ของศูนย์กลางกรุงเทพมหานครหรือวัดสุทัศนเทพวรารามนั้น น่าจะหมายไปถึงศูนย์กลางของสมมติเทวโลก อันหมายถึงเขาสุเนรุ หรือสุเมรุ เขาพระสุเมรุนั้นมีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๗ ชั้น ชั้นกลางชื่อภูเขาสุทัสสนะหรือสุทัศนะ เป็นที่ตั้งของวิมานแห่งเทพและที่เชิงเขาสุทัศนะเป็นที่อยู่ของพญาครุฑ อันเป็นพาหนะของพระนารายณ์

พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้นในทางคติของการปกครองหมายถึง รามาธิบดีอันหมายถึงอวตารของพระนารายณ์ เพื่อปราบยุคเข็ญแก่มวลมนุษยชาติ

สัญลักษณ์ของวัดสุทัศนเทพวราราม คือภูเขาอันเป็นที่อยู่ของเทพยดาและมีภพของครุฑคือพาหนะของผู้ปราบยุคเข็ญอยู่ในภูเขานี้ อันน่าจะเนื่องต่อไปถึงพระเจ้าแผ่นดินอันทรงศักดิ์แห่งรามาธิบดีผู้ปกป้องและปราบยุคเข็ญของแผ่นดิน




วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกเกี่ยวกับการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า เดิมเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อแล้วสร้างใหม่ใช้เวลาก่อสร้าง ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน

ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ จัดฉลองวัดและพระราชทานนามว่า วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม สิ้นพระราชทรัพย์ไปทั้งหมด ๕,๘๘๑ ชั่ง หรือเท่ากับ ๔๗๐,๔๘๐ บาท ซึ่งเท่ากับทองหนัก ๑๑๗,๖๒๐ บาท ในช่วงนั้น (ทองหนัก ๑ บาท ราคาประมาณ ๔ บาท ในเวลานั้น)

ในปี ๒๓๗๔ เพียง ๓๕ ปี หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามทอดพระเนตรเห็นว่าวัดพระเชตุพนฯ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดขึ้นใหม่ โดยการรื้อพระอุโบสถแล้วสร้างให้ใหญ่ขึ้นพร้อมกับขยายวัดให้ใหญ่ขึ้น

โดยขอใช้ที่ดินบริเวณวังของกรมหลวงนรินทรเทวีสร้างเป็นวิหารพระนอนหรือพระพุทธไสยาน์ปางทรมานอสุรินทราหู ยาว ๔๒.๔๕ เมตร กว้าง ๕.๕๕ เมตร สูง ๑๕.๕๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปปางไสยาน์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์

วิหารพระพุทธไสยาน์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นวิหารที่สูงใหญ่และสวยงามมาก ตัววิหารกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ยาว ๖๐.๗๕ เมตร แบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงกลางกว้าง ๑๐.๖๐ เมตร ช่วงในยาว ๔๒.๔๘ เมตร ช่วงนอกยาวรวม ๖๐.๗๕ เมตร ซุ้มประตูหน้าต่างเรียกว่าซุ้มทรงแบบกรอบซุ้ม เป็นลายเครือเถางดงาม

เป็นงานทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่ผู้คนในโลกที่ทราบเรื่องราวต้องแวะมาชื่นชม




วัดประจำรัชกาล
มีคำถามมาว่า การสร้างวัดในพระพุทธศาสนานอกจากจะเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อประโยชน์ในการเป็นที่อยู่ที่อาศัย การศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และการควบคุมการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายอื่นในการสร้างศาสนสถานอีกหรือไม่

คำตอบก็คือ การหวังให้บุญให้กุศลนั้นส่งให้ถึงพระนิพพานอันเป็นจุดสุดยอดของการบรรลุธรรมชั้นสูงสุด สัญลักษณ์ของนิพพานในทางสถาปัตยกรรมก็คือ ปลายยอดสุดของเจดีย์ที่ส่วนใหญ่เป็นรูปกลม

พระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยที่มีฐานะเป็นหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์หรือผู้ที่จะบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าจึงสร้างวัดเป็นสัญลักษณ์ของการบรรลุถึงนิพพาน ผลก็คือมีการสร้างวัดที่เรียกว่า วัดประจำรัชกาลขึ้น นอกเหนือจากนั้นจะใช้ฐานของพระพุทธรูปในพระอุโบสถของวัดนั้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าแผ่นดิน

ในสมัยรัตนโกสินทร์วัดประจำรัชกาลที่ ๑ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเดิมชื่อวัดโพธาราม เป็นวัดเก่าตั้งอยู่ ณ ตำบลบางกอก ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเพทราชาในสมัยอยุธยา

ด้วยวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีสิ่งก่อสร้างที่มีความงดงามและความหมายอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นที่เก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นอันมากน่าสนใจ จึงจะนำมาเขียนอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความชื่นชมในศิลปะและวัฒนธรรมของชาติต่อไป



วัดแห่งเจดีย์
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ที่ชาวบ้านเรียก นอกจากมีพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีพระวิหารพระไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดและงดงามมากแล้ว สิ่งที่วัดพระเชตุพนมีอีกคือศาสนวัตถุชนิดหนึ่งที่มีอยู่ จนเรียกได้ว่า วัดแห่งเจดีย์ เป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดวัดหนึ่งในประเทศไทย

ที่สำคัญก็คือ มีมหาเจดีย์อยู่ ๔ องค์ ซึ่งเดิมมีอยู่องค์เดียวเมื่อเริ่มต้นก่อสร้าง และเพิ่มขึ้นอีก ๒ องค์ เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรารภว่าควรจะมีเจดีย์ขึ้นอีกหนึ่งองค์ รวมเป็น ๔ องค์ เพื่อเป็นความหมายของกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีได้อยู่และได้เห็นกันทั้ง ๔ พระองค์

มีคำถามว่า ทำไมศาสนิกชนหลายต่อหลายท่านมักจะสร้างวัดสร้างเจดีย์

ความหมายของเจดีย์ ในความหมายของพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบที่นับถือกันในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นความหมายสิ่งเคารพบูชา ได้แก่ การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือสิ่งของเครื่องใช้ของพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและรวมถึงพระพุทธรูปด้วย

เจดีย์ในความหมายของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหมายถึง พุทธเกษตรหรือมณฑล หรือสถานที่ที่มีพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่

เจดีย์ในวัดพระเชตุพนฯ จึงมีความหมายรวมทั้งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความหมายของพระเจ้าแผ่นดินของสยามประเทศนั้น มีคติสำคัญอยู่ส่วนหนึ่งคือ พระเจ้าแผ่นดินนั้นมีฐานะเป็นหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์ อันจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตจึงต้องมีพุทธเกษตรไว้รองรับ




วัดประจำรัชกาลที่ ๑ วัดพระเชตุพนฯ

ภาพผังบริเวณพระอุโบสถวัดพระ เชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่มาก พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่

ซึ่งมีลักษณะขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันก็คือ บริเวณลวดลายที่หน้าบันหรือหน้าพระอุโบสถที่เป็นลายเครือเถา แบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ส่วนพระวิหารทั้ง ๔ ทิศ หน้าบันเป็นลายก้านขดแบบอยุธยาตอนปลาย การสร้างใหม่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เป็นการสร้างโดยใช้คติและสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลเช่นเดียวกับโบสถ์ วิหาร วัดหลวงทั้งหลาย กล่าวคือ ตัวพระอุโบสถเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของเทวดาในระดับชั้นต่างๆ ๖ ชั้น

วิหารคดเป็นสัญลักษณ์ของเขาสัตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ วัดแห่งนี้มี ๒ ชั้น ชั้นในมีขนาดใหญ่กว่าชั้นนอก ลดหลั่นกันดั่งความสูงของเขาสัตบริภัณฑ์ที่เรียกว่า จักรวาลทัศน์ อันเป็นความเชื่อของโครงสร้างของโลกที่มีแกนกลางเป็นเขาพระสุเมรุ รายล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์

ช่วงห่างของสัตตบริภัณฑ์หมายถึง ทะเลสีทันดรที่ล้อมรอบสัตบริภัณฑ์ ๗ ชั้นโดยรอบ

พระวิหารสี่ทิศเป็นดั่งอนุทวีปทั้งสี่ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ที่มีรูปพรรณสัณฐานและระดับความสุขทุกข์ที่ต่างกัน ที่ล้อมรอบศูนย์กลางจักรวาล

จากการรื้อถอนพระอุโบสถองค์เดิม และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ได้เกิดอุบัติเหตุในการก่อสร้างคือ ขณะที่ยกเครื่องบนคือ โครงหลังคาขนาดใหญ่ขึ้นตั้งบนเสาภายในพระอุโบสถหักพัง ทำให้มีคนตายถึง ๕๐ คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในอุบัติเหตุครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินทองเป็นค่าชดเชยเป็นจำนวนมาก




วัดประจำรัชกาลที่ ๒ วัดอรุณราชวรารามฯ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ปัจจุบันอยู่ติดกับกองบัญชาการกองทัพเรือฝั่งเหนือ

เดิมเป็นวัดเก่าแก่โบราณที่มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัดมะกอกนอก แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดแจ้ง จากเหตุการณ์ที่พระเจ้าตากยกทัพเรือขึ้นไปตีพม่าที่สุกี้พระนายกองควบคุมกรุงศรีอยุธยา ณ ตำบลโพธิสามต้นแตก และเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นเสียหายยับเยินเกินกว่าจะทำนุบำรุงให้รุ่งเรืองได้เหมือนเดิม จึงจะยกกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเมืองหลวง

เมื่อเสด็จจากอยุธยามาถึงหน้าวัดมะกอกนอกเป็นเวลาเช้า เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดแจ้ง สร้างพระราชวังขึ้น ณ พื้นที่แห่งนี้ โดยให้วัดแจ้งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังที่ไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่

ก่อนสิ้นบุญพระเจ้าตากที่ถูกยึดอำนาจโดยพระยาสรรค์ พระเจ้าตากบวชและจำพรรษาอยู่ในวัดนี้เป็นเวลาประมาณ ๒๐ วัน ภายหลังพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกและย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งกรุงเทพ จึงได้รื้อกำแพงพระราช วังกรุงธนบุรีออกและโปรดให้มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา

และมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร หรือต่อมาคือ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง

ตลอดจนรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๓ เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดอรุณราชธาราม

ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ได้ก่อสร้างพระปรางค์ที่โลกประจักษ์ในความงามจนป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเทศคือ พระปรางค์วัดอรุณที่สูงประมาณ ๖๗ เมตร

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าให้สร้างและปฏิสังขรสิ่งต่างๆ ในวัดอรุณราชธารามขึ้นอีก และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดอรุณราชวราราม พร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาศน์ของพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงร่วมปั้นพระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงต้องปฏิสังขรณ์ใหม่ เงินเหลือจากการบริจาคของบรมวงศานุวงศ์ได้นำไปสร้างโรงเรียนชื่อ โรงเรียนทวีธาภิเศกในปัจจุบัน




วัดประจำรัชกาลที่ ๓ วัดราชโอรสารามฯ

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อเดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ยกทัพเพื่อไปขัดตาทัพพม่าที่มีข่าวจะยกเข้ามารบกับกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ไปพักที่วัดจอมทองนี้ก่อนยกทัพไปขัดตาทัพ

ภายหลังเมื่อทราบว่าพม่าไม่ได้ยกกองทัพมาตามข่าว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร จึงบูรณะวัดนี้และเปลี่ยนชื่อจากวัดจอมทอง เป็นวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

ลักษณะสำคัญของวัดนี้ก็คือ การตกแต่งแบบศิลปะจีน ด้วยวัสดุและรูปแบบบางประการ จนมีผู้กล่าวว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีน

แต่เมื่อพิจารณารูปแบบแผนผัง จะเห็นว่ายังคงคติทางสถาปัตยกรรมของไทย ในแนวคิดของจักรวาลทัศน์ทางศาสนาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ตามแบบแผนผังสมัยรัตนโกสินทร์

ตัววิหารพระนอนคือ ศูนย์กลางจักรวาลที่มี วิหารคด ทำหน้าที่ของกำแพงจักรวาล เจดีย์รายโดยรอบคือ พุทธเกษตรหรือพุทธมณฑล หรืออนุทวีปที่รายล้อมศูนย์กลางจักรวาล

พระอุโบสถด้านนอกหน้าพระมหาวิหารคือ ชมพูทวีป ที่เป็นสถานที่จะมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ในพระอุโบสถนี้จึงมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นามพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในสมัยเดียวกัน

เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๓ ทรงบูรณะและเชื่อว่าพระองค์ เป็นสถาปนิกและควบคุมงานติดตามดูแลงานก่อสร้างตลอดเวลา วัดราชโอรสแห่งนี้ จึงมีรูปแบบและการตกแต่งเฉพาะตัวที่แปลกแตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิม แต่ก็คงคุณลักษณะองค์ประกอบที่มีคติ สัญลักษณ์ ที่เป็นแบบธรรมเนียมไทยทั้งสิ้น

มีพระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลที่อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ สำหรับพระองค์ที่จะมาประทับตรวจงานบูรณะก่อสร้าง

พระสรีรังคารของพระองค์ได้บรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธานในพระอุโบสถนี้




วัดประจำรัชกาลที่ ๔ วัดราชประดิษฐฯ

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดของฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ที่มิใช่เป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ซึ่งแปลงเป็นธรรมยุติกนิกาย เป็นนิกายที่พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งขึ้น สร้างเป็นวัดที่อยู่ใกล้วังหลวงก็คือห่างจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกเพียง ๒๐๐ เมตร อันสะดวกแก่การเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีสงฆ์ตามพระราชประสงค์ จึงเป็นวัดประจำพระองค์ที่มีขนาดเล็กมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาจำนวน ๑๐ รูป เท่านั้น

วัดนี้เดิมชื่อ วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม การสร้างวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลก็ทำนองเช่นเดียวกับวัดประจำรัชกาลที่ผ่านมา คือ คติของพระเจ้าแผ่นดินในสยามประเทศนั้น หมายถึง หน่อพุทธางกูร คือ เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะบรรลุธรรมอันประเสริฐ เป็นพระพุทธเจ้า วัดประจำรัชกาลก็หมายถึง พุทธเกษตรหรือพุทธมณฑลที่พระพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญธรรมมาช้านานน่าจะยังสถิตอยู่ในพุทธเกษตร เพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นจากสังสารวัฏ

ถึงแม้วัดราชประดิษฐฯ จะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่แบบแผน รูปทรง ทางสถาปัตยกรรมก็งดงาม มีคติ สัญลักษณ์ ทางจักรวาลทัศน์ตามสมัยรัตนโกสินทร์อย่างสมบูรณ์

ภาพที่แสดงเป็นภาพของพระวิหารหลวงที่งดงามทั้งสัดส่วนและรูปทรง มหาเจดีย์ก็แสดงถึงจักรวาลทัศน์ในส่วนศูนย์กลางและลำดับชั้นของโลกธาตุในรูปทรงที่งดงามยิ่ง




วัดประจำรัชกาลที่ ๕ : วัดราชบพิธฯ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ลงมือวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๑๒ สร้างเสร็จปี พ.ศ. ๒๔๑๓

รูปแบบของวัดราชบพิธก็เช่นเดียวกับวัดหลวงอื่นๆ คือ คงความเป็นคติ สัญลักษณ์ ของจักรวาลทัศน์ที่ชัดเจน พระเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลคือ เขาพระสุเมรุที่มีปล้องไฉนเป็นสัญลักษณ์ ของเทวโลกและชั้นพรหม มีลูกแก้วยอดพระเจดีย์ที่หมายถึงพระนิพพาน

ลูกแก้วนี้เดิมเป็นลูกแก้วสีเหลืองเกลือกปรอทข้างใน แต่เมื่อการซ่อมครั้งที่ ๑ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๙ พบว่าลูกแก้วนั้นแตกร้าวจึงสั่งทำเป็นลูกแก้วกระเบื้องสีขาวแล้วหุ้มทอง รอบพระเจดีย์มีซุ้มโดยรอบ ๑๔ ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางต่างๆ ๑๒ พระพุทธรูป ปางมารวิชัย ๑ องค์และพระรูปหล่อพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราช
 
พระอุโบสถและพระวิหารเป็นดั่งอนุทวีปที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือรูปแบบภายนอกเป็นแบบไทย แต่ภายในเป็นสถาปัตย กรรมตะวันตกแบบโกธิก

พระอุโบสถนี้ได้ปฏิสังขรณ์อีก ๒ ครั้ง คือ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๒ และ ๒๕๒๕

ความสำคัญของวัดนี้ก็คือ ทั้งอาณาเขตบริเวณวัดเป็นเขตพัทธสีมาทั้งวัด ตัวเขตพุทธาวาสที่เป็นพระอุโบสถและพระวิหารประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี ซึ่งส่งช่างไปเขียน ปั้นและเผากันที่ประเทศจีน จึงเป็นวัดที่มีสีสันงดงามที่สุดของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์




วัดประจำรัชกาลที่ ๖ วชิราวุธวิทยาลัย

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในราชจักรีวงศ์ เห็นว่าการสร้างวัดประจำรัชกาลมีมากพออยู่แล้ว และเป็นปัญหาในการใช้พระราชทรัพย์การซ่อมบำรุงปฏิสังขรณ์ในภายหลังเป็นจำนวนมาก ประกอบกับที่กิจการศึกษาของประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปจากการศึกษาในวัดมาเป็นการตั้งโรงเรียน

พระองค์จึงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงเรียนสำหรับเยาวชนไทยขึ้นแทน


เป็นโรงเรียนอย่างสมัยใหม่ เรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ภายหลังในรัชกาลที่ ๗ ได้รวมกับโรงเรียนราชวิทยาลัย ตั้งชื่อใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) โดยสร้างโรงเรียนขึ้นที่ริมคลองเปรมประชากร มีสถาปนิกคือ นายอี ฮีลี่ และพระสมิทรเลขา (ปลั่ง วิภาตศิลปิน) เป็นผู้ร่วมกันวางผังออกแบบอาคาร

อาคารหอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นอาคารออกแบบสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีร่วมกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมสากลที่งดงามมาก

ผู้รับเหมาก่อสร้างคือบริษัทสง่าพานิช ในวงเงินงบประมาณประมาณ ๑๑ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗


* รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ ไม่ได้สร้างวัดประจำรัชกาล


วัดประจำรัชกาลที่ ๙ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มิได้สร้างวัดประจำรัชกาล และใช้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ก็มิได้สร้างวัดประจำรัชกาล หากได้กำหนดเอาวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดประจำรัชกาล ซึ่งเผยแพร่เรื่องราวของวัดทั้งสองมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องเลยมาบรรยายถึงวัดประจำรัชกาลที่ ๙

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙๙ ซอยพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ๑๙ ถนนพระราม ๙ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ขนาดของบริเวณวัดจำนวน ๘ ไร่ 2 งาน ๕๔ ตารางวา ได้รับน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายจากนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

ออกแบบโดยพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งในการออกแบบครั้งแรกเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่จะจุคนได้กว่า ๑๐๐ คน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ลดขนาดพระอุโบสถให้เล็กลง เหลือเพียงบรรจุคนได้ ๓๐-๔๐ คน

ตัวพระอุโบสถเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว หน้าบันลายปูนปั้นปิดทองเฉพาะตรงตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ ทั้งตัวพระอุโบสถทาสีขาวเพื่อเน้นให้เห็นความประหยัด เรียบง่าย และคงทน



ดอกบัว

สัญลักษณ์และคติที่อยู่ในเสา พระอุโบสถ หรือพระวิหาร อย่างหนึ่งก็คือ บัว

ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่เมื่อเบ่งบานก็อยู่เหนือน้ำ ไม่มีโคลนตมใดๆ ติดดอกใบอันงดงามเปรียบเสมือนการอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา แต่หาได้ติดข้องอยู่ในกิเลสตัณหา

ในการสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร เพื่อการบูชาพระพุทธเจ้า สถาปนิกผู้ออกแบบโบสถ์สร้างวิหาร จึงออกแบบเสาโบสถ์ เสาวิหาร โดยออกแบบตกแต่งหัวเสา เป็นสัญลักษณ์ของดอกบัว ซึ่งเรียกกันหลากหลาย เช่น บัวหัวเสาหรือบัวกลุ่ม หรือบัวแลง

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ของบัวต่างๆ จากหนังสือพจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่องของผู้ช่วยศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร อธิบายเรื่องของบัว หรือชนิดของบัวที่ใช้ตกแต่งงานทางสถาปัตยกรรมตามประเภทของงานอีกตามชื่อของบัวชนิดต่างๆ ดังนี้

บัวกระจับ บัวกลีบขนุน บัวเกสร บัวคลุมเถา บัวเชิง บัวคอเสื้อ บัวถลา บัวปากฐาน บัวปากปลิง บัวฝาละมี บัวพันยักษ์ บัวแวง บัวหลังเจียด บัวพลังเบี้ย บัวหลังสิงห์ บัวหัวเสา เป็นต้น

การวาด การปั้น การแกะ พระพุทธรูป ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า จะมีดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของการหลุดพ้น

การประทับยืนหรือนั่ง หรือนอน ก็จะมีสัญลักษณ์เป็นดอกบัวรองรับ ดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาพระพุทธเจ้า



บัวหัวเสา

บัวหัวเสา หรือบัวปลายเสา เป็นเครื่องตกแต่งหัวเสาหรือปลายสุดของเสาอาคารทางพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะบัวเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาพราหมณ์ หมายถึงความบริสุทธิ์ มีคติความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาหลายประการ เช่น เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติมีดอกบัวรองพระบาท หรือก่อนหน้าที่จะตรัสรู้ ทรงพิจารณาบัว ๔ เหล่า เปรียบเทียบบุคคลที่พึงสอนได้ไว้ ๔ จำพวก

สถาปัตยกรรมไทยมีที่มาจากบัว มีประมาณ ๒๐ ชื่อ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวรวนหงาน บัวปากปลิง บัวพันยักษ์ บัวฝาละมี บัวถลา บัวปากฐาน เป็นต้น  สำหรับหัวเสาอาคารก่ออิฐที่ประดิษฐ์เป็นรูปกลีบบัวล้อมรอบ ไม่ว่ากลีบบัวนั้นจะเป็นบัวชนิดใดก็ตาม เรียกกันโดยทั่วไปว่า บัวหัวเสาทั้งสิ้น

บัวหัวเสามีรูปแบบต่างกันไปตามลักษณะของเสาและความนิยมของช่างและยุคสมัย เช่น บัวกลุ่ม บัวจงกล บัวแวง

บัวหัวเสา-บัวกลุ่ม นิยมมากในสมัยอยุธยา เป็นรูปร่างคล้ายดอกบัวกำลังจะคลี่บาน มักกลมป้อมอย่างดอกบัวกลวง มีกลีบเล็กๆ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ปั้นด้วยปูนหรือดินเผา มักใช้ประดับหัวเสาที่เป็นเสากลม หกเหลี่ยมและแปดเหลี่ยม

บัวกลุ่มบางแห่งรูปร่างคล้ายโถ จึงเรียก บัวโถ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ทรงเรียกว่า บัวคลุ่ม เพราะปลายกลีบคลุ่มเข้าหากัน  บัวหัวเสาแบบนี้ ทำเป็นเส้นลวดท้องไม้ มีลูกแก้วอกไก่กำกับทั้งบนและล่างท้องไม้และมีเส้นลวดบัวปากปลิงคั่น ก่อนที่จะเป็นเสาแบบต่างๆ  นอกจากใช้ตกแต่งหัวเสาแล้ว ยังใช้ตกแต่งยอดเจดีย์ด้วย

ผลงานการศึกษาของทิพวัลย์ แสวงสุข เรื่อง 'บัวหัวเสาในสมัยอยุธยา' ระบุถึงความนิยมในการใช้บัวหัวเสาไว้ว่า สมัยอยุธยาตอนต้น บัวหัวเสาที่นิยม มีลักษณะเป็นรูปบัวโถหรือบัวกลุ่ม ประดับอยู่บนเสากลมและเสาแปดเหลี่ยม เช่น พระอุโบสถวัดพุทไธศวรรย์ พระวิหารวัดหน้าพระราม พระอุโบสถวัดกุฎีดาว มักใช้กับอาคารที่มีขนาดใหญ่

สมัยอยุธยาตอนกลาง ระยะแรกยังสืบทอดรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น พระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระนอนวัดใหญ่ชัยมงคล บางแห่งแม้บูรณะในสมัยหลังแล้ว แต่ช่างยังคงรักษาระเบียบเดิมอยู่ เช่น วิหารพระมงคลบพิตร

สืบต่อถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง อาจเรียกได้ว่าเป็นยุค 'หัวเลี้ยวหัวต่อ' ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบลักษณะบางประการแตกต่างออกไปจากเดิม เช่น พระอุโบสถ วัดศาลาปูน ที่ยังใช้เสาแปดเหลี่ยมอยู่ แต่ประดับบัวหัวเสาเป็น บัวแวง ที่เป็นบัวกลีบยาว ซึ่งชัดเจนที่วัดไชยวัฒนารามที่เมรุทิศและเมรุมุม โดยประดับกับเสาติดผนัง

สำหรับสมัยอยุธยาตอนปลาย หลังจากสมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา บัวหัวเสาเริ่มวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเห็นความเด่นชัดที่สุดในสมัยพระนารายณ์ ที่มีการใช้บัวหัวเสาแบบบัวแวง คือ โคนกลีบบัวกว้างแหลมที่ปลายกลีบ คล้ายปลายหอก เช่น วิหารหน้าเทวสถานปรางค์แขก พระวิหารวัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี วิหารน้อย วัดพุทไธศวรรย์

สืบถึงสมัยพระเจ้าบรมโกศ บัวหัวเสามีวิวัฒนาการที่มากไปกว่าเดิม กลีบบัวจะตั้งตรงจากโคนกลีบแล้วค่อยแหลมที่ส่วนปลาย คล้ายใบดาบ เช่น พระอุโบสถวัดมเหยงคณ์ พระวิหารวัดกุฎีดาว พระอุโบสถวัดสมรโกฏิ ลักษณะนี้เป็นการออกแบบ 'บัวจงกล' ที่จะมีอิทธิพลต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ บัวหัวเสาโบสถ์และวิหารสมัยรัตนโกสินทร์ ยังนิยมใช้บัวหัวเสาแบบบัวแวง ลักษณะกลีบบัวตั้งสูง ดอกยาว ปลายกลีบผายออก จึงนิยมตกแต่งเสาลอย เสาหลอกและเสาอิง ทั้งเสามีเหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมย่อมุม โดยเฉพาะเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จะมีบัวโคนเสาด้วย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2558 14:56:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 22 มิถุนายน 2557 15:04:02 »

.


ทวารบาล

ภาพเขียนในอุโบสถในวิหารประเภทหนึ่งที่นิยมเขียนกันมากที่สุดก็คือ ภาพทวารบาลหรือผู้เฝ้าประตู

ทำไมพระอุโบสถจึงต้องมี ผู้เฝ้าประตู หรือทวารบาล และทวารบาลมีหน้าที่อะไร

ภาพของทวารบาลที่ประตูพระอุโบสถมีรูปแบบและชื่อเสียงแตกต่างกัน รูปแบบและชื่อเสียงที่แตกต่างกัน จะบอกภาระหน้าที่ที่แตกต่างกัน และแม้ที่สุดก็จะเป็นตัวกำหนดที่สะท้อนไปถึงความสำคัญของวัด ของพระอุโบสถ ว่าใครระดับไหนในสังคม เป็นผู้สร้างพระอุโบสถหรือวิหารนั้น

การวาดหรือการสร้างทวารบาลขึ้นไว้ที่หน้าประตูพระอุโบสถหรือวิหาร น่าจะคลี่คลายมาจากคติทางมหายานที่นำเอาพระโพธิสัตว์หรือเทพหรืออสูรที่กลับใจมาเป็นผู้พิทักษ์ หรือปกป้องพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ชั้นสูงสุดจนถึงเทพระดับธรรมดา เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเนศ มหากาล ซึ่งอาจจะเป็นชื่อหนึ่งของพระศิวะ หรือ (เป็นพระโพธิสัตว์ปางดุปางหนึ่งในพุทธศาสนา) นันทิศวร ผู้เฝ้าประตูเขาไกรลาส หรืออาจเป็นเทพชั้นรองลงมา เช่น พระประจำวัน ซึ่งทั้งหมด จะเป็นผู้ที่มาปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญของศาสนสถานนั้น

การท่องเที่ยวหาความรู้ทางวัฒนธรรมหรือการเดินทางไหว้พระวัดต่างๆ หากได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องของทวารบาล ซึ่งมีความหลากหลายทั้งรูปแบบ คตินิยม ย่อมทำให้เกิดความสนุกสนานและมีความรู้ยิ่งขึ้นเปรียบได้เท่ากับการรับรู้ พบปะผู้คน พูดคุยกับเพื่อนร่วมโลก ก็แนะนำหนังสือดีๆ เพื่อทำความเข้าใจกันในเรื่องของทวารบาล ๒ เล่ม คือ เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ของ อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และ วิทยา นิพนธ์เรื่องทวารบาลแบบไทยประเพณีในงานจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดย นางสาวปัทมา สาคร ก็จะเพลิดเพลิน สนุกสนานและได้สาระแห่งการท่องเที่ยวยิ่งขึ้น



ทศชาติชาดก

ทศชาติชาดก เป็นชาดก หมายถึงเรื่องของพระพุทธเจ้าที่มีในชาติก่อนตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ นวังคสัตถุศาสน์ ที่กล่าวถึง ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ (ในความหมายที่ควรจะเป็นก็คือ คุณสมบัติของผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ได้แก่ การบำเพ็ญเพียร ๑๐ ประการ คือ
 ๑. เนกขัมบารมี หมายถึง การละกามคุณทั้ง ๕
 ๒. วิริยบารมี หมายถึง การบำเพ็ญเพียรโดยไม่ย่อท้อ
 ๓. เมตตาบารมี หมายถึง การให้ความเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างที่สุด
 ๔. อธิษฐานบารมี หมายถึง การตั้งใจอย่างแน่วแน่ (ไม่ใช่ขอพร)
 ๕. ปัญญาบารมี หมายถึง การใช้สติปัญญาในการสืบค้นและแก้ไขปัญหา
 ๖. ศีลบารมี หมายถึง การรักษาศีลอย่างเต็มบริบูรณ์
 ๗. ขันติบารมี หมายถึง การรักษาความอดกลั้น หรืออดทนต่อสิ่งไม่พึงพอใจ
 ๘. อุเบกขาบารมี หมายถึง การรักษาความเที่ยงธรรมอย่างยิ่ง
 ๙. สัจจบารมี หมายถึง การรักษาคำมั่นสัญญาอย่างยิ่ง
๑๐. ทานบารมี หมายถึง การให้ที่ยิ่งใหญ่

ในพระอุโบสถหลายแห่งจึงมักมีภาพเขียนทศชาติชาดกเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า หรือเพื่อบอกกล่าวเล่าสอนถึงข้อวัตร ปฏิบัติอันยากยิ่งของผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากโลกทรรศน์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความคิดของผู้คนเปลี่ยนไป ผู้คนในปัจจุบันที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวชี้นำ มีความคิดที่จะต้องชี้ชัดถึงความเป็นจริงเป็นวิทยาศาสตร์ที่ผู้ฟังเห็นกันได้ การกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในแบบชาดกจึงไม่ได้รับความสนใจ ภาพวาดเหล่านั้นจึงเป็นเพียงจิตรกรรมประดับฝาผนังอุโบสถนั้นเอง

ในภาพที่นำมาแสดงในที่นี้ เป็นภาพในพระอุโบสถวัดใหญ่อินทราราม ชลบุรี แสดงเรื่องชาดกตอน พระเตมียชาดก ซึ่งกล่าวถึงความตั้งใจของพระโพธิสัตว์ที่จะไม่ข้องแวะกับกามคุณทั้ง ๕ โดยการออกบวชเพราะไม่ประสงค์จะสร้างบาปกรรมอันจะต้องกระทำตามหน้าที่ (เป็นกษัตริย์) ในการพิจารณาโทษของผู้คน เป็นภาพของพระเตมีย์ที่เป็นเด็กนั่งฟังพระบิดาพิพากษานักโทษจึงตั้งใจที่จะไม่เป็นกษัตริย์ด้วยการไม่พูด ไม่เคลื่อนไหว อันเป็นกิริยาที่เรียกว่า เนกขัมบารมี



ทศชาติชาดกชาติ ๑. เนกขัมมบารมี
เตมีย์ใบ้ชาดก

พระะตมีชาดก เนกขัมมะ แปลว่า การออก, การออกบวช, ความไม่มีกามกิเลส ใช้คำว่า เนกขัม ก็มี

เนกขัมมะ หมายถึงการละเหย้าเรือนออกไปบวชเป็นพระเป็นนักบวช, การละชีวิตทางโลกไปสู่ชีวิตอันบริสุทธิ์ เป็นการปลดเปลื้องตนจากโลกียวิสัยไปบำเพ็ญเพียรเพื่อความปลอดจากราคะและตัณหา ปกติใช้เรียกการออกบวชของนักบวชทุกประเภทและใช้ได้ทั้งชายและหญิง

เนกขัมมะ ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นบารมีอย่างหนึ่งเรียกว่า เนกขัมมบารมี คือบารมีที่เกิดจากการออกบวช

พระเตมีย์เป็นผู้มีบุญ รำลึกชาติได้และทรงทราบว่าในชาติก่อนได้เคยเป็นพระราชาครองเมือง และได้ตัดสินโทษผู้ร้าย เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์จึงต้องตกนรกถึงแปดหมื่นปี  บัดนี้ พระองค์กลับมาเกิดในเมืองนี้อีก ต่อไปก็คงจะได้เป็นผู้ครองเมืองนี้ และกระทำบาปกรรมเช่นเดียวกับพระบิดา ซึ่งก็จะต้องไปสู่นรกอีกแน่นอน เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว ทรงสังเวชสลดพระทัย ไม่ทรงปรารถนาที่จะครองราชสมบัติอีกต่อไป ทรงนึกหาอุบายวิธีที่จะปลีกตัวให้พ้นจากราชสมบัติ เทพธิดาซึ่งเคยเป็นพระมารดาในอดีตชาติได้แนะอุบายให้พระกุมาร จึงทรงอธิษฐานจิตให้มั่นคงไม่หวั่นไหวที่จะปฏิบัติตามอุบายนั้น คือแสร้งทำเป็นคนง่อย เป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้ แม้จะถูกทดสอบอย่างไร ก็ไม่แสดงพิรุธให้ปรากฏ ยอมทนทุกข์ทรมาน โดยไม่ปริปาก




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๒ วิริยะบารมี
ชนกชาดก

ทศชาติชาดก ชาติที่ ๒ ที่หมายถึงคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งของผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ต้องมีบารมีสำคัญที่ ๒ คือ วิริยบารมี หมายถึงความเพียรเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวของพระมหาชนก เป็นเรื่องของความเพียรพยายามที่ไม่ท้อถอย และขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของแนวคิดหรือปรัชญาชีวิตไปพร้อมกัน

พระมหาชนกเป็นลูกกษัตริย์ที่ถูกปฏิวัติรัฐประหาร ผู้เป็นพระราชบิดาสวรรคตในสงครามชิงอำนาจแล้วพ่ายแพ้ พระมารดาขณะทรงครรภ์หนีไปอยู่ในป่าจนคลอดพระมหาชนก

พระมหาชนกโตขึ้นจึงรู้ว่าตนมีสิทธิ์ในบัลลังก์เมืองมิถิลา รัฐวิเทหะ (ชื่อคล้ายกับเมืองของพระนางสิริมหามายา พระมารดาพระพุทธเจ้า) จึงประสงค์จะกลับไปยึดอำนาจคืน แต่ต้องเตรียมการอื่น ได้แก่ ทุนทรัพย์และกำลังคนเสียก่อน จึงขอทุนจากพระมารดาไปทำสำเภาค้าขาย แต่สำเภาได้เกิดอุบัติเหตุเรือแตก ต้องว่ายน้ำเพื่อให้ชีวิตรอดไปถึงฝั่ง ได้ถูกนางมณีเมขลาทดลองน้ำใจถามว่า ว่ายน้ำไปทำไมในเมื่อไม่เห็นฝั่งหรือจุดหมาย

พระมหาชนกได้ตอบคำถามเป็นปรัชญาชีวิตไว้ดังนี้

"คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายในขณะกำลังทำความเพียรนั้นยังมีอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดมาตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว"

"สิ่งที่กระทำอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายามกลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับผลภัยของความเกียจคร้านกันแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ"





ทศชาติชาดก ชาติที่ ๓ เมตตาบารมี
สุวรรณสามชาดก

ทศชาติชาดก (ชาติที่ ๓) ที่หมายถึงคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งของผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ต้องมีบารมีสำคัญ ที่ ๓ คือ เมตตาบารมี

ภาพในพระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

ภาพนี้เป็นภาพที่เรียกว่าพระสุวรรณสามชาดก ในภาพเป็นภาพของสุวรรณสามในเรื่องชาดกกล่าวว่า สุวรรณสามเป็นบุตรของนักบวช เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งนัยน์ตาบอด ถูกพระราชานามกบิลยักขราช ผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ ยิงด้วยธนูอาบยาที่ ลำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย แต่ยังไม่ตาย

ได้กล่าวว่า "เนื้อเรากินไม่ได้ หนังเราก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะซ่อนตัวอยู่ทำไม" ทำให้พระเจ้ากบิลยักขราช แปลกพระทัย จึงคิดว่า "หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มแล้วยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวานแทนที่ด่าว่าด้วยความโกรธแค้น"

เมื่อพระกบิลยักขราชได้ปรากฏตัวต่อสุวรรณสามและได้ทราบเรื่องราวภาระหน้าที่ของสุวรรณสามที่จะต้องดูแลบิดามารดา จึงรับปากกับสุวรรณสามจะไปดูแลบิดามารดาของสุวรรณสาม หลังจากพระราชากบิลยักขราชไปพบบิดามารดาของสุวรรณสามแล้วแจ้งให้บิดามารดาของสุวรรณสามทราบว่าได้ทำร้ายสุวรรณสาม

บิดามารดาของสุวรรณสามได้ขอให้พาไปพบสุวรรณสาม ซึ่งยังสลบอยู่ได้อธิษฐานขอให้สุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ด้วยกุศลกรรมที่สุวรรณสามได้กระทำมาคือ ความเมตตาต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาอันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา

เมื่อสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา กล่าวว่า "บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติ บิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน"

นั่นคือเมตตาเป็นบารมีธรรมลำดับที่ ๓ ที่เป็นคุณสมบัติอันสำคัญที่จะให้บุคคลบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า





ทศชาติชาดก ชาติที่ ๔ อธิษฐานบารมี
เนมิราชชาดก

เนมิราชชาดก บารมีที่ ๔ หรือคุณธรรมอันประเสริฐสำหรับผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้า
บารมีธรรมนี้เรียกว่า อธิษฐานบารมี

อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

เนมิราช คือ เรื่องราวของกษัตริย์ผู้มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนมีความสุข ด้วยการรักษาศีล ยินดีในการบริจาคทาน แสดงธรรมชักชวนชาวเมืองให้ทำบุญให้ทานรักษาศีลเช่นพระองค์ตลอดกาลสมัยของพระองค์คือ ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อพระราชธิดามีผมหงอกขาว ไปจนถึงคราวเมื่อพระองค์ผมหงอกขาวและได้เวนคืนราชสมบัติให้แก่พระโอรสของพระองค์ ได้เสด็จออกบวชและเจริญในธรรมจนละจากโลกนี้ไป

ภาพวาดที่ปรากฏนี้เป็นภาพในพระอุโบสถวัดอ่างศิลา ชลบุรี ตอนที่พระเนมิราชได้รับเชิญจากพระอินทร์ที่เป็นรูปเทวดาสีเขียวอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ได้เชิญให้พระเนมิราชประทับอยู่บนสวรรค์

แต่พระเนมิราชปฏิเสธ เพราะความมุ่งมั่นของพระองค์คืออธิษฐานที่จะยังประโยชน์สุขอย่างแท้จริงแก่ประชาชนด้วยการปกครองด้วยธรรม ด้วยศีล ด้วยทาน ในโลกมนุษย์ในฐานะของพระราชา




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๕ ปัญญาบารมี
มโหสถชาดก

คุณลักษณะสำคัญลำดับที่ ๕ ของผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าปัญญาบารมี

ปัญญาบารมีในชาดกตอนนี้ชื่อว่า มโหสถบัณฑิต

มโหสถบัณฑิตเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว ประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็ก แม้เมื่อยังเด็กนักก็มักจะได้รับความไว้วางใจจากผู้คนให้ช่วยแก้ไขปัญหาพิจารณาตัดสิน

ในภาพที่เห็นนี้ มโหสถบัณฑิตกำลังเจรจาไม่กระทำศึกสงครามด้วยการรบพุ่งฆ่าฟันกัน แต่เป็นการเจรจาทำสงครามที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตทรัพย์สินและเกียรติยศ จนเป็นเหตุให้กษัตริย์เจ้าเมืองมิถิลามีพระประสงค์จะนำตัวมาเป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักของพระองค์ แต่ถูกขัดขวางจากนักปราชญ์ประจำราชสำนักอีก ๔ คน เนื่องจากความหวาดระแวงและอิจฉากลัวว่ามโหสถบัณฑิตจะได้รับเกียรติยศสูงกว่าตน จึงมักจะได้รับการกลั่นแกล้งและสร้างปัญหาให้มโหสถอยู่เนืองๆ ในที่สุดพระเจ้ากรุงมิถิลาได้รับมโหสถไปเลี้ยงไว้ในฐานะราชบุตร

ต่อมาความหวาดระแวงของปราชญ์ประจำราชสำนัก ๔ คน ทำให้กษัตริย์แห่ มิถิลานครหลงเชื่อว่ามโหสถบัณฑิตนั้นมีจิตประสงค์ร้ายจะแย่งราชสมบัติของพระองค์ ทำให้มโหสถถูกไล่ออกจากวัง แต่ความจงรักภักดีของมโหสถทำให้พระเจ้ากรุงมิถิลาได้สติและได้ถามถึงเหตุผลของความจงรักภักดี ซึ่งมโหสถได้ตอบเป็นใจความสำคัญดังนี้

"บัณฑิตย่อมไม่ทำชั่วเพื่อให้ได้ความสุขสำหรับตน แม้จะถูกทับถมให้เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ก็ไม่คิดสละธรรมด้วยความหลงในลาภในยศหรือด้วยความรักความชั่ว"

"บุคคลที่ได้รับการเกื้อหนุนอุปการะจากผู้ใดย่อมไม่ทำให้ไมตรีนั้นเสียไปด้วยความโง่เขลา หรือความหลงในยศอำนาจ"

"บุคคลผู้ครองเรือน หากเกียจคร้านก็ไม่งาม นักบวชไม่สำรวมก็ไม่งาม พระราชาขาดความพินิจพิจารณาก็ไม่งาม บัณฑิตโกรธง่ายก็ไม่งาม"

นอกจากการเป็นนักปราชญ์ที่สำคัญที่ให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์แห่งมิถิลานครแล้ว ยังมีคำปรึกษาที่สำคัญที่ต้องยกมาแสดงก็คือ การเตือนสติครั้งสำคัญแก่กษัตริย์แห่งมิถิลานคร ผู้ตกเป็นเหยื่อทางกามราคะที่กษัตริย์แห่งเมืองอุตรปัญญามอบให้จนหลงผิด

มีความว่า "การทำไมตรีกับผู้ไม่มีศีลธรรม ย่อมนำความทุกข์มาให้ ธรรมดาบุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำไมตรีสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีศีล ไว้ใจมิได้ ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ไมตรีนั้น"




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๖ ศีลบารมี
ภูริทัตชาดก

ภูริทัตชาดกเป็นเรื่องราวการเน้นถึงคุณสมบัติอันสำคัญของผู้ที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าคือ เป็นผู้มีศีล กล่าวคือ ไม่เบียดเบียน ทำร้ายผู้อื่น ทั้งกาย วาจา ใจ

ภูริทัตชาดกบทนี้จึงกล่าวถึงบารมีสำคัญ คือ ศีลบารมี หมายถึงเมื่ออธิษฐานว่าจะเป็นผู้รักษาศีลก็คือ การอดทนอดกลั้น

ภาพของภูริทัตโพธิสัตว์ที่เสวยชาติเป็นพญานาค กำลังถูกทรมานด้วยการแสดงฤทธิ์อดกลั้นไม่ทำร้ายผู้อื่นทั้งกาย วาจา ใจ

ให้ประชาชนชม จากวัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี แม้จะถูกกระทำให้ได้รับความทุกข์ยากอย่างไร ก็ไม่โกรธ ไม่คิดจะทำร้ายผู้ทำให้ ตนได้รับความทุกข์แต่อย่างใด

ชาดกตอนนี้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติเป็นพญานาคผู้มีฤทธิ์ แต่ถูกพราหมณ์ผู้หนึ่งจับไปทรมานให้ได้รับทุกขเวทนาด้วยประการต่างๆ ก็ไม่บรรลุโทสะทำกับพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

ภายหลังได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากการทรมานของพราหมณ์ ผู้นั้นกลับไปสู่ที่อยู่ของตน

สิ่งที่สอดแทรกอันเป็นสาระสำคัญของชาดกเรื่องนี้ก็คือ คำ โต้แย้งของพี่ผู้นับถือลัทธิบูชาไฟ ก็คือการบูชาไฟหาได้เป็นการบูชาสูงสุดไม่

หากการบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันสูงสุด พราหมณ์ก็น่าจะเผาตนเองถวายเป็นเครื่องบูชา ถึงแม้จะบูชาด้วยชีวิตของผู้อื่น เหตุใดจึงไม่เผาตนเองเล่า

ส่วนสาระสำคัญของการรักษาศีลก็คือ การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ต้องไม่ให้ศีลนั้นมัวหมอง ไม่ว่าจะเผชิญความทุกข์ยากอย่างไร ต้องอดทนอดกลั้น ตั้งมั่นอยู่ในศีลต่อไป




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๗ ขันติบารมี
จันทชาดก

บารมีเรื่องที่ ๗ เป็นเรื่องของบารมีสำคัญที่บุคคลหรือพระโพธิสัตว์ผู้จะบรรลุโมกธรรมสูงสุด จะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญขันติบารมี

จากพจนานุกรมพุทธศาสนา ฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ ปยุตโต ขันติ แปลว่า อดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ ความหนักเอาเบาสู้เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม

บารมี แปลว่า คุณความดีที่ได้บำเพ็ญมา หรือคุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่

ขันติบารมี จึงแปลว่า ความอดทนอันเป็นคุณสมบัติอันยิ่งใหญ่

เรื่องจันทชาดก เรื่องนี้ดูจะไม่ตรงไปกับเรื่องของขันติบารมีเท่าไรนัก แต่น่าจะเป็นเรื่องของการโต้แย้งความเชื่อในการทำบุญหรือการบูชายัญระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิพราหมณ์

โดยลัทธิพราหมณ์บางพวกเชื่อว่าการฆ่าคน ฆ่าสัตว์ เพื่อบูชายัญจะได้รับผลดี ได้ไปเกิดในสวรรค์

ขณะที่พุทธศาสนานั้นในกุฎฑันตสูตร พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมเกี่ยวกับการบูชายัญว่า การฆ่าสัตว์นั้นไม่เป็นประโยชน์ เป็นการสร้างบาป การบูชายัญที่ไม่เบียดเบียนสัตว์นั้นได้บุญ ได้แก่

การให้ทาน เป็นนิตย์แก่ผู้มีศีล

การสร้างวิหารกุฏิสำหรับสงฆ์

การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

การถือศีล ตามควรแก่ฐานะ

การออกบวช

การบำเพ็ญสมาธิ ภาวนาวิปัสสนา

เรื่องของจันทชาดกนั้นเป็นเรื่องที่พระเจ้าเอกราชากษัตริย์ผู้เป็นบิดาของจันทกุมารถูกอำมาตย์ผู้เป็นพราหมณ์ประสงค์ร้ายจะกำจัดจันทกุมาร ราชบุตร แต่ออกอุบายหลอกลวงให้กษัตริย์ผู้เป็นบิดาของจันทกุมาร เอาพระราชบุตรชื่อ จันทกุมาร พราหมณ์ ประชาชนชายหญิง เศรษฐี ช้างแก้วม้าแก้ว เรียกว่า อติทาน มาทำพิธีบูชายัญ เพื่อพระเจ้าเอกราชา จะได้ไปสู่สวรรค์ แต่ด้วยการร้องขอของ พระนางจันทเทวีผู้เป็นภรรยา จันทกุมาร พระอินทร์ได้มาช่วยให้จันทกุมารรอดพ้นจากการถูกบูชายัญ และทำให้พระจันทกุมารได้เป็นกษัตริย์เพื่อพาราณสี

ในความหมายของขันติบารมีนี้ก็คือ "แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานเพียงใด ก็จะไม่ทำกับผู้ทำร้าย




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๘ อุเบกขาบารมี
นารทชาดก

บารมีขั้นที่ ๘ นี้ เรียกว่า อุเบกขาบารมี จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้คือกรรมของการทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่ว เป็นผลคุณสมบัติของคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งของผู้ที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายอันสูงยิ่งคือ การบรรลุโมกขธรรมอันประเสริฐคือนิพพาน

จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต อุเบกขา แปลว่า ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความชอบ หรือวางใจเฉย ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่ เหตุนั้น

อุเบกขาบารมีก็น่าจะหมายความถึง การประพฤติในคุณความดี ในการวางใจเป็นกลาง

ในเรื่องของนารทชาดกเป็นชาดกตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ (ผู้ที่ประสงค์จะบรรลุธรรมอันสูงสุด) ปางหนึ่งที่เสวยชาติเป็นนารทฤๅษีที่จะปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าอุเบกขาบารมี แต่ในเนื้อเรื่องของชาดกดูจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอุเบกขาบารมีที่ชัดเจนนัก เนื้อหาของเรื่องราวเป็นการแสดงธรรมที่ปฏิเสธกับความคิดของนักปรัชญาสมัยพุทธกาล

ชาดกตอนนี้เป็นเรื่องราวของพระราชาองค์หนึ่งนามอังคติราช ไปสนทนาธรรมกับนักปราชญ์ผู้หนึ่ง ชื่อคุณผู้กัสสปโคตร หรือ คุณาชีวก ว่าควรจะประพฤติตนอย่างใด ต่อบิดามารดา ต่อครูบาอาจารย์ บุตรภรรยา หรือวุฒิบุคคล หรือประชาชนอย่างไร และประชาชนทั้งหลายควรจะประพฤติอย่างไร ตายแล้วจึงจะไปสู่สุคติไม่ไปนรก

คุณาชีวกเป็นผู้มีความคิดในคติที่เชื่อว่าผลธรรมที่ประพฤติ ไม่เป็นบุญ เป็นบาป ปรโลกไม่มีปู่ย่าตายาย บิดามารดาไม่มี มีแต่สัตว์ที่เกิดตามมา รูปกายไม่ขาด ไม่สูญ ไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครถูกฆ่า

คติของคุณาชีวก คล้ายกับความคิดของนักคิด ๔ ท่าน ในสมัยพุทธกาล ธิดาของท้าวอังคติราช ได้โต้แย้งความเชื่อของคุณาชีวก เพื่อเปลี่ยนความคิดความเชื่อของพระราชบิดาไม่สำเร็จ จึงขอนมัสการให้พระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นมหาพรหม นามนารทะ มาแก้ไขความเชื่อของท้าวอังคติราช ซึ่งได้แสดงธรรมโต้แย้งความคิดดังกล่าวคือ

๑. เรื่องของปรโลก กล่าวถึงผู้ที่มีสถิตในปรโลก จะมีคุณธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ทมะ ๑ จาคะ ๑ ทำให้ไปไหนมาไหนได้ตามความปรารถนาไม่มีภัย
๒. ปรโลกมีจริง เทวดามีจริง บิดามารดามีจริง เพราะกาม (ความรักใคร่ยินดี) จึงทำให้ไม่รู้จักปรโลก

ท่านนารทฤๅษียกตัวอย่างของตรรกะที่ย้อนคำถามของท่านอังคติราชที่จะขอยืมเงินทองจำนวนหนึ่งแล้วจะใช้คืนให้ในโลกหน้า ท่านนารทฤๅษีจึงย้อนคำถามว่าถ้าท่านประพฤติชั่วแล้วจุติไปสู่นรก แล้วท่า อังคติราชจะชดใช้เงินกู้ไปได้อย่างไร เพราะนรกย่อมเป็นที่อยู่ของสัตว์ผู้ได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา

ท่านนารทฤๅษีได้ยกประโยชน์ของการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอันจะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบได้ไปสู่สวรรค์ กล่าวถึงคุณธรรมอันเป็นหัวข้อสำคัญของการประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ไม่ต้องไปสู่นรก ๓๒ ประการ




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๙ สัจจบารมี
วิทูรชาดก

วิทูรชาดก ภาพวาดในพระอุโบสถ ตอนนี้เป็นการสอนทศบารมีที่ ๖ บำเพ็ญสัจจบารมี คุณสมบัติสำคัญของพระโพธิสัตว์ผู้ที่อธิษฐานจะบรรลุโมกขธรรมเป็นพระพุทธเจ้าก็คือเรื่อง สัจจบารมี

สัจจบารมี หมายความถึงการสั่งสมและการรักษาความจริง ความแน่แท้ ความซื่อตรง ไม่กลับเป็นอย่างอื่น

ในเรื่องวิทูรชาดกเป็นเรื่องของนักปราชญ์นามวิทูร เป็นผู้มีวาจาฉลาด หลักแหลม เจรจาแต่ความจริง เมื่อจะกล่าวเรื่องใดทำให้ผู้ฟังเลื่อมใสศรัทธาและนิยมยินดี ดังคำกล่าวที่ว่าวาจาอันไพเราะจะมีค่าต่อเมื่อประกอบด้วย หลักธรรม

วิทูรบัณฑิตเป็นนักปราชญ์ประจำสำนักพระราชาธนญชัยโกรพ แห่งเมืองอินทปัตถ์ แคว้นกุรุราฐ ที่ถูกพระราชาซึ่งชอบเล่นสกาและแพ้แก่ปุณณกยักษ์ที่เดิมพันจะนำหัวใจของวิทูรบัณฑิตไปให้แก่นางนาคเพื่อจะได้นางนาคมาเป็นภรรยา แต่หลังจากที่ปุณณกยักษ์กระทำการโดยวิธีการต่างๆ ก็ไม่อาจฆ่าวิทูรบัณฑิตเพื่อเอาหัวใจของวิทูรบัณฑิตไปได้

ในกาลนี้วิทูรบัณฑิตได้แสดงธรรมสำคัญแก่ปุญญกยักษ์

คือผู้ใดมีคุณแก่ตนก็พยายามตอบแทนผู้นั้น ตนได้อาศัยในเรือนท่านผู้ใดไม่ประทุษร้าย ผู้นั้น ผู้ใดมีคุณแก่ตนต้องคิดตอบแทน ไม่คิดมุ่งร้าย อย่าลุ่มหลงสตรีจนไปทำความชั่ว

ปุณณกยักษ์จึงบอกแก่วิทูรบัณฑิตว่าจะเอาหัวใจไปให้นางนาคเพื่อให้นางนาคนำไปให้แก่มารดา วิทูรบัณฑิตจึงเข้าใจว่าแท้จริงมารดานางนาคต้องการฟังธรรมตน เพราะคำว่า "ปัญญานั้นคือ หัวใจของบัณฑิต" และเพราะ "ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด บุคคลผู้มีธรรมและปัญญาย่อมไม่หวั่นไหวเกรงอันตรายทั้งปวงด้วยคุณธรรมและปัญญาของตน"

การแสดงธรรมแก่บุคคลทั้งหลาย คือการแสดงความจริงให้ประจักษ์ด้วยปัญญา




ทศชาติชาดก ชาติที่ ๑๐ ทานบารมี
เวสสันดรชาดก

เวสสันดรชาดก ชาดกเรื่องสุดท้ายเรียกว่าทานบารมี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนารู้จักมากที่สุด

และเป็นเรื่องที่คนไทยที่นับถือพุทธศาสนานั้นได้น้อมนำมาเป็นวิถีชีวิตที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยทั่วไปก็คือ การบริจาคทาน

"เวสสันดร แปลว่า ท่ามกลางระหว่างย่านค้าขาย"

พระเวสสันดรเป็นโอรสของพระเจ้าสัญชัย เกิดกลางตลาด เป็นผู้มีใจบุญ บริจาคทานแก่ผู้คน ประชาราษฎรทั้งหลาย กาลครั้งหนึ่งได้บริจาคช้างเผือกเชือกหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่ามีอำนาจพิเศษที่ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลให้กับเมืองอื่นไป จึงถูกชาวเมืองขับไล่ออกจากเมือง พระเวสสันดรพร้อมกับมเหสีและลูก ๒ คน ต้องออกไปอยู่ในป่า

แต่แล้วในที่สุดความเป็นผู้ใจบุญของพระเวสสันดรถึงกับยกลูกทั้ง ๒ คน ให้แก่พราหมณ์เฒ่า และยกมเหสีให้กับพระอินทร์ ซึ่งปลอมตัวมาขอมเหสีด้วยเกรงว่าพระเวสสันดรจะยกมเหสีให้กับผู้อื่นไป จะทำให้พระเวสสันดรไม่มีผู้ดูแล

ภาพวาดในพระอุโบสถหลายแห่งมักจะมีภาพวาดของพระเวสสันดรชาดกไว้หลายตอน เช่น ตอนให้ช้างแก่พราหมณ์ ๘ คน ที่เป็นชาวเมืองอื่น หรือตอนนางมัทรีถูกสัตว์ร้ายขวางหน้าเพื่อมิให้นางมัทรีมาขัดขวางการยกลูกทั้งสองให้พราหมณ์ชูชก เป็นต้น

คติและสัญลักษณ์ของเรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้เป็นคติที่หมายถึงการที่บุคคลผู้ประสงค์จะบรรลุโมกขธรรมสูงสุดหรือนิพพานนั้น จะต้องตัดขาดจากวิถีชีวิตของชาวโลก ได้แก่ การกินอยู่ สืบพันธุ์ หาทรัพย์ รักษาทรัพย์ เลี้ยงดูลูกเมีย และความสะดวกสบายทางโลกทั้งหมด จึงจะเข้าสู่นิพพานได้ ซึ่งอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้คนที่ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความสุขในแบบธรรมดาทั่วไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2558 15:02:49 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2557 17:20:42 »

.


วัดใหญ่ชัยมงคล

ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มิได้หมายถึงการประกาศพ้นอำนาจของหงสาวดี แต่หมายถึงการประกาศถึงอำนาจและความเป็นเอกราช เป็นหนึ่งในสุวรรณภูมิ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชปฏิสังขรณ์วัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าไทขึ้นเป็นวัดใหญ่ เป็นเครื่องหมายชัยชนะอันสำคัญที่ทำให้อยุธยากลับมาเป็นศูนย์กลางอำนาจ การปฏิสังขรณ์วัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าไท ขึ้นเป็นวัดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของนครรัฐหรืออาณาจักรอันอิสระโดยการใช้คติ สัญลักษณ์ของจักรวาลทัศน์

เจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม บนฐานสูงที่เป็นแบบของเจดีย์ที่สร้างในช่วงต้นอยุธยากลาง แทนสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เจดีย์ทิศทั้ง ๔ มุม ก็คงหมายถึงอนุทวีปทั้ง ๔ เจดีย์รายโดยรอบที่ชั้นพื้นล่างก็หมายความถึงจุลทวีปที่รายล้อมอนุทวีป

แบบแผนโดยรวมของวัดใหญ่ชัยมงคลที่เป็นรูปแบบเฉพาะของวัดมหาธาตุก็คือ มีวิหารใหญ่อยู่ด้านทิศตะวันออกพระอุโบสถ ด้านทิศตะวันตกหันหน้าแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตรงข้ามเป็นดังที่ย้ำความเป็นอนุทวีปหรือชมพูทวีป อันเป็นแดนที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

กำแพงรายล้อมพระมหาเจดีย์ เป็นดั่งกำแพงจักรวาล อันมีพระพุทธรูปสถิตอยู่โดยรอบแทนอดีตปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้อุบัติมาแล้วในภัทรกัปป์




วัดมหาธาตุ
จากความเป็นศูนย์กลางของนครรัฐ แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ขยายตัวเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรของอยุธยาที่ยาวนานกว่า ๔๐๐ ปี

วัดมหาธาตุในสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจในทางอุดมคติก็หมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลในเขตเมืองก็ไม่น่าจะมีเพียงองค์เดียวจากที่ได้ยกตัวอย่างของวัดมหาธาตุในสมัยเริ่มต้นของการตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (หรือศูนย์กลางของอำนาจในระดับนครรัฐตอนต้น น่าจะหมายถึง วัดพุทไธศวรรย์)

เมื่อเคลื่อนย้ายศูนย์กลางเมืองมาอยู่ ณ พื้นที่เกาะเมือง วัดมหาธาตุ (กรุงเก่า) ได้รับการสถาปนาขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์อำนาจแห่งราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.๑๙๑๗-๑๙๓๑

วัดมหาธาตุองค์นี้พังลงบางส่วนในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.๒๑๖๙-๒๑๗๑ ซึ่งบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.๒๑๗๓

การบูรณะวัดมหาธาตุขึ้นใหม่ ประกอบกับการเปลี่ยนศูนย์อำนาจจากราชวงศ์สุโขทัยมายังราชวงศ์ปราสาททอง อันเป็นการเปลี่ยนศูนย์อำนาจใหม่ วัดไชยวัฒนารามถูกสถาปนาขึ้น ณ พื้นที่บริเวณบ้านเดิมของพระเจ้าปราสาททอง ในรูปแบบแผนผังของคติ สัญลักษณ์ จักรวาลทัศน์ที่สมบูรณ์ยิ่ง ชัยชนะเหนือนครละแวกอันน่าจะเป็นแรงบันดาลใจของการสถาปนาสัญลักษณ์ของศูนย์อำนาจ

ปรางค์ประธานทรงฝักข้าวโพดแบบอยุธยา ยังคงความหมายของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ อันเป็นที่สถิตของท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ หรือพระมหากษัตริย์ ที่ได้รับการอินทราภิเษกเป็นกษัตริย์

ปรางค์ทิศโดยรอบที่เป็นแบบของสมัยอยุธยากลางก็คือ อนุทวีปหรือนครรัฐที่อยู่ใต้อำนาจพระวิหารด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา และพระอุโบสถด้านหลังก็เน้นความเป็นยุคสมัยที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในภัทรกัลป์ อันสืบทอดไปสู่กาลสมัยภายภาคหน้า ที่จะมีพระพุทธเจ้านามศรีอารยเมตไตรย ซึ่งปัจจุบันเป็นพระโพธิสัตว์ที่ก็ยังคงหมายถึงกษัตริย์ในอยุธยาที่มีฐานะเป็นหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์นั่นเอง



วัดพุทธไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา

วัดพุทธไธศวรรย์เป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางอำนาจของนครรัฐที่ปรากฏเป็นรูปของจักรวาลทัศน์ หลังแรกของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ตำบลเวียงเหล็ก ฟากแม่น้ำด้านใต้ของกรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นบนที่ดินอันเป็นที่ประทับเดิมของพระเจ้าอู่ทอง

วัดนี้มีรูปแบบวัดของวัดมหาธาตุ ศูนย์อำนาจของนครรัฐเมื่อเริ่มตั้งเมืองกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อภายหลังย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่บนเกาะเมือง ความเป็นศูนย์อำนาจของเกาะเมืองจึงปรากฏสัญลักษณ์ของวัดมหาธาตุกลางเกาะขึ้น ความเป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางอำนาจรัฐของความเป็นวัดมหาธาตุของวัดพุทธไธศวรรย์จึงเสื่อมไป

แม้ความเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจของพื้นที่เวียงเหล็กจะเสื่อมไป แต่สัญลักษณ์ของวัดมหาธาตุของวัดพุทธไธศวรรย์ในความหมายของจักรวาลทัศน์ยังคงอยู่ครบ เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุอื่นทั่วไป

พระปรางค์ประธานทรงฟักข้าวโพดที่หมายถึงเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ที่ปรากฏเป็นชั้น ๖ ชั้น ชัดเจนอยู่บนส่วนบนของพระปรางค์

องค์พระปรางค์ประกอบด้วยมุข ๔ ด้าน แต่ด้านหน้าเป็นมุขเด็จที่เป็นมณฑปมียอดปรางค์ อันน่าจะหมายถึงสวรรค์ชั้นแรกที่เป็นที่อยู่ของจาตุรชิกมหาราช หรือเทวดาผู้มีหน้าที่สำคัญ ๔ ประการในการรักษาความสมดุลของโลก

รอบองค์ปรางค์ประธาน เป็นระเบียงคตหรือกำแพงจักรวาล ทางด้านหน้าทิศตะวันออกคือ วิหารหลวง ส่วนทิศตะวันตกนอก วิหารคตก็คือ พระอุโบสถ อันหมายถึงอนุทวีปทั้ง ๔

ความแปลกคือ อนุทวีปอีก ๒ อนุทวีป เป็นมณฑปปรากฏอยู่บนฐานของพระปรางค์ประธาน (ซึ่งรูปแบบน่าจะเป็นการเพิ่มเติมในภายหลัง)

ในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปอยุธยาต้น ๓ องค์ น่าจะสันนิษฐานว่า พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้เป็นคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่น่าจะยังมีอิทธิพลทางความคิดในตอนต้นของสังคมอยุธยา (ซึ่งมีวัดหลายวัดของอยุธยาที่ร่วมสมัยกับวัดพุทธไธศวรรย์ ก็มีพระพุทธรูปในพระอุโบสถทั้ง ๓ องค์นี้เช่นเดียวกัน) ที่หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เรียกกันในมหายานว่าตรีกายได้แก่ ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย

หรืออีกแนวคิดก็คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า ที่เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระอมิตตาพุทธเจ้า ที่สถิตอยู่ ณ แดนสุขาวดี และพระศรีอริยเมตไตยที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป




วัดมหาธาตุ ราชบุรี

สัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจของนครรัฐที่มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และย้ำความเป็นจักรวาลทัศน์ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ด้วยรูปแบบของพระปรางค์ทรงฝักข้าวโพด

พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ มีการก่อสร้างรูปแบบพระปรางค์แบบอยุธยาตอนกลาง ในการก่อสร้างเพิ่มเติมปฏิสังขรณ์พระปรางค์ประทานครั้งนั้นมีการสร้างพระปรางค์บริวารอีก ๓ ด้าน คือ ด้านข้าง ๒ องค์ และด้านหลังอีก ๑ องค์

ด้วยความที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี องค์นี้ มีมาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ และปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ความเชื่อทางศาสนา รูปแบบ สัญลักษณ์ จึงผสมผสานกันทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน

การประดิษฐานพระพุทธรูปไว้สี่มุมพระปรางค์เรียกว่า พระรักษาเมือง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานว่าพระสี่มุมเมืองก็คือ พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ที่อุบัติขึ้นแล้วในภัทรกัปนั้น เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ ปางนาคปรก ปางมารวิชัย และปางประทับยืน อยู่ที่ฐานพระปรางค์ทั้ง ๔ ทิศ

พระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น นามพระมงคลบุรีและพระศรีนคร ในความเชื่อของผู้คนในสมัยอยุธยา เรียกว่ารักษาเมือง น่าจะมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าศากยมุนีที่อุบัติขึ้นในชมพูทวีป อันเป็นนิรมานกายของพระพุทธเจ้านามอมิตาพุทธ อันเป็นสัมโภคกายพุทธในแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นความเชื่ออันผสมผสานกันของเถรวาทและมหายาน (ที่ความเชื่อฝ่ายมหายานในเรื่องนี้ถดถอยไปมาก)

ถึงแม้ประวัติศาสตร์จะไม่ได้กล่าวถึงอำนาจนครรัฐของราชบุรีไว้ชัดเจนแต่อย่างไร แต่จากซากโบราณสถานเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น เมืองคูบัว และโบราณสถานในถ้ำเขางู รวมทั้งขนาดของมหาธาตุ ราชบุรี น่าเป็นศูนย์กลางของอำนาจที่จะควบคุมพื้นที่ในบริเวณนี้

รวมทั้งพลังทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่และสำคัญขึ้นในบริเวณนี้ได้




วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา


สัญลักษณ์ของศูนย์กลางแห่งอำนาจของอาณาจักรอยุธยา โดยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงหรือเมืองหลัก ที่ผ่านยุคสมัยต่างๆ มา ๔๐๐ ปี ผ่านผู้ปกครองหรือมีราชวงศ์กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่มาถึง ๕ ราชวงศ์ วัดมหาธาตุในอยุธยาหรือสัญลักษณ์ของศูนย์กลางแห่งอำนาจ จึงน่าจะมีหลายองค์ ขึ้นอยู่กับการขึ้นมีอำนาจของราชวงศ์ในแต่ละยุคสมัย

รูปแบบแผนผังในแนวคติจักรวาลทัศน์ของวัดมหาธาตุที่ปรากฏชัดอยู่ในอยุธยา เช่น วัดพุทไธศวรรค์ วัดมหาธาตุกลางเกาะเมือง วัดใหญ่ชัยมงคล วัดเชิงท่าหรือวัด ตีนท่า ฯลฯ อีกหลายองค์

ในตัวอย่างของสัญลักษณ์ของศูนย์กลางแห่งอำนาจของอาณาจักรอยุธยาที่ใหญ่โตมากก็คือ วัดมหาธาตุที่กลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เชื่อกันว่าวัดมหาธาตุองค์นี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๙๑๗ หรือในสมัยพระบรมราชาธิราชเสร็จสิ้นในสมัยพระราเมศวร ราชวงศ์อู่ทอง

พระปรางค์ของวัดนี้พังทลายลงหลายครั้ง

ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าทรงธรรมที่บันทึกกันว่าพังลงมาครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ

พระเจ้าปราสาททองบูรณะขึ้นใหม่โดยให้สร้างพระปรางค์สูงถึง ๒๕ วา หรือ ๕๐ เมตร และพังทลายลงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงพื้นคูหาเรือนธาตุ

การพังทลายและมีการบูรณะซ่อมแซมกันของครั้งนี้ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมไปบางส่วน แต่จากจารึกของราชทูตลังกาที่เคยมานมัสการพระธาตุองค์นี้ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบันทึกว่า ที่ฐานพระปรางค์มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ ก็คือการหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ

พระปรางค์หลักองค์ใหญ่ซึ่งพังทลายลงถึงคูหาเรือนธาตุมีเค้าเป็นรูปซุ้มปรางค์ ๔ ทิศที่น่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อันแทนพระพุทธเจ้าที่อุบัติแล้วในภัทรกัปนี้ ๔ พระองค์ พระปรางค์บริวารอันน่าจะหมายความถึงอนุทวีปที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ระเบียงคดนั้นก็คือกำแพงจักรวาล

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ การสถาปนาวัดพระศรีสรรเพชรซึ่งอยู่ ในทิศใต้ของวัดมหาธาตุ ดูจะเป็นความหมายเป็นชมพูทวีปอันเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้าศากยมุนี โดยมีเขตพระบรมมหาราชวังล้อมวัดนี้อยู่ อันหมายถึงต่อไปยังพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอันมีฐานะเป็นหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์




วัดพระธาตุเจดีย์หลวง เชียงใหม่

ศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ของอาณาจักรล้านนาในอดีตก็คือวัดพระธาตุเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่

เป็นวัดพระธาตุที่เจดีย์สูงที่สุดในอาณาจักรล้านนา

คาดกันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมาก กษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงราว พ.ศ.๑๙๒๘-๑๙๔๕ มีความสูงของเจดีย์ประมาณ ๘๐ เมตร มีฐานกว้างประมาณด้านละ ๖๐ เมตร

ตามคติของศูนย์กลางจักรวาลทัศน์คือ เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอันเป็นการชี้ให้เห็นความเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหรือศูนย์กลางแห่งอำนาจ ลักษณะของศูนย์กลางจักรวาลที่นอกจากจะมีเจดีย์หลัก อันหมายถึงเขาพระสุเมรุเป็นสำคัญ

พระธาตุเจดีย์หลวงองค์นี้ยังมีรูปแบบเช่นเดียวกับเจดีย์วัดมหาธาตุทั่วไป คือมีซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่แทนองค์พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ที่อุบัติในภัทรกัลป์นี้มาแล้ว ก็คือ พระกุกะสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระสมณโคดมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ของชั้นสวรรค์ และบรรดาสัตว์ในหิมพานต์ เช่น มีบันไดนาค ๕ หัว ๘ ตัว ราชสีห์ที่มุมของมหาเจดีย์ ๔ และช้างค้ำ (ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์) อยู่ที่ฐานของเจดีย์ เป็นต้น

วัดพระธาตุเจดีย์หลวงองค์นี้ถูกแผ่นดินไหวหักลง ในปี พ.ศ.๒๐๘๘ เป็นเหตุให้พระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มจระนำเจดีย์นี้ตกลงมา

พระไชยเชษฐาแห่งกรุงเวียงจันทน์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพระองค์นี้ไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้วเวียงจันทน์ ภายหลังพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมัยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นผู้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ

การหักพังทลายของวัดพระธาตุเจดีย์หลวงในครั้งนั้นได้ทำให้เกิดการทิ้งร้างพระธาตุองค์นี้นานโดยไม่มีการบูรณะซ่อมแซมถึงเกือบ ๔๐๐ ปี

จนในปี พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๘๑ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐปฏิสังขรณ์โดยการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๕ กรมศิลปากรบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมดตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน




วัดพระธาตุลำปางหลวง

งานทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าที่สุดของอาณาจักรล้านนา เล่าขานเป็นตำนานที่น่าจะเป็นเรื่องจริงส่วนใหญ่ก็คือ วัดพระธาตุลำปางหลวงองค์นี้สร้างขึ้นร่วมสมัยกับการสร้างบ้านแปงเมือง คือ เมือง หริภุญชัย

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ นครลำปางหรือ เขลางค์นครมิได้มีฐานะเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการทหารหรือทางการเมืองใดๆ (เช่นเดียวกับลำพูนหรือหริภุญชัย) แต่งานทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งขนาด ฝีมือ เพราะแนวความคิดทางพุทธศาสนาที่ซ่อนไว้ในรูปแบบของอาคารหลังนี้

การยกฐานของกลุ่มอาคารในกำแพงจักรวาลของวัดพระธาตุลำปางหลวงให้สูงเหนือพ้นระดับศีรษะมนุษย์ เพื่อเน้นถึงระดับของความรู้สึกหรือความสำคัญในเรื่องของจักรวาลทัศน์ให้ชัดเจน ประตูซุ้มโขงก็คือ แดนต่อระหว่างภพ นั่นคือ ภพของมนุษย์โลกกับภพของเทพ

ลานทรายภายในกำแพงเขตพุทธวาส ที่เป็นสัญลักษณ์ของทะเลสีทันดรอันรายล้อมรอบพระธาตุองค์ใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ

พระธาตุองค์กลางที่ตั้งอยู่บนฐานสูงมีฐานรองรับเป็นชั้นๆ คือ การเน้นย้ำสัญลักษณ์ของสัตบริภัณฑ์ที่เน้นความสำคัญของพระธาตุหลวงอีกรอบ

แบบแปลนของพระธาตุหลวงองค์นี้ มีรูปแบบแปลนที่เรียกกันว่า พุทธเกษตรหรือ MANDARA ของความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันหมายถึงขอบเขตของแนวคิดทางพุทธศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าได้มาอุบัติขึ้น

ก็เช่นเดียวกับวัดพระธาตุทั้งหลายที่รายล้อมพระธาตุหรือเจดีย์หลักก็คือ วิหารทั้ง ๔ ทิศ ที่หมายถึงอนุทวีปที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ในความเชื่อบางท้องถิ่น กำหนดให้วิหารด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปที่แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศากยมุนี

ในรูปแบบของวิหารที่มีหลังคาลดหลั่นกัน ๓ ตับ ตั้งอยู่บนเสาสูง ไม่มีผนังกั้นระหว่างพื้นส่วนนอกกับภายใน เสมือนหนึ่งการเข้าสู่ความเป็นพุทธนั้นเปิดโล่งให้ผู้มีปัญญาเข้าสู่ความเป็นพุทธนั้นได้โดยเสรี

ภายในพระวิหารมีกู่หรือพระธาตุน้อย เรียกกันว่า กู่พระเจ้าล้านทอง ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ภายในเป็นพระธาตุน้อยที่งดงาม พร้อมกับตุงไม้หรือธงไม้อันเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิ




วัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

นครรัฐเล็กๆ ที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ประมาณปี พ.ศ.๑๒๐๐ ปรากฏนามเจ้าครองนครคือ พระนางจามเทวี ได้รับเชิญจากละโว้ไปครอบครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งความหมายของเมืองหมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของผู้ครอบครองคือ พระศิวะ

แต่พระนางจามเทวี (เจ้าหญิงแห่งเมืองจาม ผู้น่าจะเป็นผู้นับถือไศวนิกาย) กลับเป็นผู้มีศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา เมืองลำพูนหรือหริภุญชัยมิได้เป็นศูนย์กลางของอำนาจที่ยิ่งใหญ่ หากเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาหลังจากที่พญามังรายจากเชียงใหม่เข้ามามีอำนาจเหนือหริภุญชัย

หริภุญชัยมิได้เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเพราะฉะนั้นพลังทางเศรษฐกิจจึงมีน้อย วัดพระธาตุหริภุญชัยจึงไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของนครรัฐ แต่ศิลปะสกุลช่างของหริภุญชัยกลับงดงามรุ่งเรืองมาก

วัดพระธาตุหริภุญชัยสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๑๖๕๑ สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ผู้ครองลำพูนในสมัยนั้น มีคติและสัญลักษณ์ถึงความเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลทัศน์

กล่าวคือมีองค์พระธาตุเป็นศูนย์กลางดุจเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตั้งอยู่บนฐานสูงที่ดุจเขาสัตตบริภัณฑ์ที่รายล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ช่องว่างระหว่างวิหารกับองค์เจดีย์ก็คือ สมมติแห่งทะเลสีทันดร หรือความหมายของทะเลก็คือ ห้วงแห่งสังสารวัฏที่บุคคลจะเข้าถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ จะต้องผ่านทะเลสีทันดรหรือสังสารวัฏนี้ให้ได้

รูปแบบของจักรวาลทัศน์ของวัดพระธาตุหริภุญชัยจะแตกต่างกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ก็ตรงที่วัดพระธาตุหริภุญชัยนี้มีพระอุโบสถตั้งอยู่บนพื้นที่ของพระวิหารด้านตะวันออกเพียงหลังเดียว ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตกปรากฏอาคารที่มีลักษณะเป็นวิหารที่หมายถึงความเป็น อนุทวีปที่รายล้อมเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลแทนอนุทวีป

ต้องชื่นชมกันอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ว่า พระธาตุของวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน นั้นงดงามทั้งรูปทรง องค์ประกอบ และคติแห่งจักรวาลที่จะต้องชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง




วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันออก ก็เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุในเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางของการปกครอง

พิษณุโลกเป็นเมืองที่มีและเคยมีพระมหากษัตริย์ไทยปกครองตั้งแต่พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย พระราเมศวร พระบรมไตรโลกนาถแห่ง กรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาที่ประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกมากกว่าประทับอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา

เมืองนี้จึงต้องมีศาสนสถานอันหมายถึง การเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ คือ เขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทวดาทั้งปวง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ เชื่อกันว่าสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ผู้มีความรู้ในพุทธศาสนาเป็นที่สุดในสมัยนั้น คือ สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราวพุทธ ศักราช ๑๙๐๐ โดยคงรูปแบบคติและสัญลักษณ์ของจักรวาลทัศน์ดังนี้

มีพระปรางค์ตรงกลางอันเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น (เชื่อว่าเดิมสร้างเป็น พระปรางค์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ภายหลัง เมื่อพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปปกครองเมืองพิษณุโลกได้สร้างพระปรางค์แบบอยุธยา สวมทับ) มีวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ ทิศ พระวิหารด้านทิศตะวันออกอยู่ภายนอกวิหารคด (ที่ความหมายของวิหารคดก็คือ เขาที่เรียก สัตตบริภัณฑ์) ล้อมรอบศูนย์กลางของจักรวาล ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูงประมาณ ๑๘ ศอก เรียกว่าวิหารพระอัฏฐารส

ส่วนวิหารอีกสามทิศ ด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช อันเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย

ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ประดิษฐาน พระศรีศาสดาและพระพุทธชินสีห์ ที่อัญเชิญมาและประดิษฐานอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กรุงเทพมหานคร ที่ปรากฏอยู่ในวิหารปัจจุบันเป็นองค์จำลอง

คติการประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ เป็นคติพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่กล่าวถึงระยะเวลาของโลกที่เชื่อว่า โลกในปัจจุบันมีอายุอยู่ในช่วงเวลาที่ เรียกว่า ภัทรกัลป์ คือ ได้มีพระพุทธเจ้า มาอุบัติแล้วในยุคนี้ ๔ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระศากยมุนีพุทธเจ้า ส่วนองค์สุดท้ายจะมาอุบัติในอนาคต นามพระศรีอริยเมตไตรย

คตินี้คือความหมายแห่งเนื้อนาบุญที่ได้ประกาศแก่ผู้อยู่ในพระพุทธศาสนาว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญที่
๑. ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
๒. ได้เกิดมาในยุคที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติมาประกาศพระศาสนา
๓. ได้เกิดมาในประเทศหรือหมู่ชนที่นับถือพุทธศาสนา
๔. ได้เกิดมาในตระกูลที่นับถือพุทธศาสนา และ
๕. ได้ศึกษา และเล่าเรียนในพุทธศาสนา

ดังนั้น ท่านทั้งหลายผู้มีบุญเหล่านี้ จงอย่าประมาท จงประพฤติปฏิบัติไปตามแนวทางแห่งพุทธศาสนาจักสิ้นทุกข์พ้นไปจากสังสารวัฏ




วัดมหาธาตุ สุโขทัย (๑)

พุทธศาสนสถานที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก วัดมหาธาตุสุโขทัย นั้นเชื่อกันว่าเริ่มสร้างในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งครองสุโขทัยในปี พ.ศ.๑๗๙๒ ประวัติวัดมหาธาตุมีรายละเอียดที่หาอ่านได้ในวิกิพีเดีย ดังนั้น สิ่งที่จะวิเคราะห์วัดมหาธาตุ ในที่นี้จึงเป็นเรื่องของแนวคิดทางสถาปัตยกรรม

ด้วยวัดมหาธาตุสุโขทัยนี้เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ และน่าจะเป็นต้นแบบแนวคิดร่วมสร้างสรรค์ของการสร้างวัดมหาธาตุในพื้นที่ภาคกลางตอนบนของประเทศ ในพื้นที่ใกล้เคียงและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาและน่าจะเป็นต้นแบบของวัดหลวงหลายวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การกล่าวว่าวัดมหาธาตุนี้สร้างในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้นน่าจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบศาสนสถานเดิมที่มีอยู่ก่อน โดยที่ปรากฏว่าผู้ที่เข้ายึดครองกรุงสุโขทัยก็คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถมจากขอมสบาดโขลญลำพง

หลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้าครองสุโขทัยก็น่าจะสถาปนา (หรือปฏิสังขรณ์) วัดมหาธาตุเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองหรือชัยชนะ และหลังจากสมัยของพระองค์ น่าที่จะมีผู้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ ต่อมาอีกไม่น้อย ไม่ว่าการสร้างวิหารหรือเจดีย์ราย หรือการประดับตกแต่ง อื่นๆ กล่าวคือ วัดพระมหาธาตุนี้มีเจดีย์รายที่ปรากฏ อยู่ถึง ๒๐๐ องค์

ลักษณะเด่นสำคัญยิ่งของวัดมหาธาตุสุโขทัยก็คือ องค์เจดีย์ประทานที่รูปแบบเฉพาะของยุคสมัยนี้ เรียกว่า เจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์ อันมีรูปทรงที่แปลกกว่าพระปรางค์หรือเจดีย์ประธานในวัดมหาธาตุทั่วไป

ในแนวความคิดของเจดีย์ประธานที่แปลกแยกจากเจดีย์ประทานวัดมหาธาตุอื่นๆ น่าจะมาจากการเปลี่ยนศรัทธาในพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานมาเป็นเถรวาท เจดีย์ของฝ่ายมหายานที่ปรากฏอยู่ในสุวรรณภูมิมักจะเป็นพระปรางค์ ตามอิทธิพลความเชื่อที่สืบทอดมาในรูปแบบปรางค์ขอบ และน่าจะหมายถึงงานทางสถาปัตยกรรมในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่มีอิทธิพลทางศาสนาของฝ่ายมหายานต่อพื้นที่ภาคกลางของสุวรรณภูมิ

การเปลี่ยนแปลงรูปทรงเจดีย์นี้น่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการสิ้นสุดศรัทธาทางพุทธฝ่ายมหายาน ดังนั้นรูปแบบแผนผังของวัดมหาธาตุจึงเป็นการพัฒนาความเชื่อทางจักรวาลทัศน์ของเถรวาท

ที่องค์ประกอบทั้งหมดมิได้มีอิทธิพล ของศาสนสถานฝ่ายมหายาน ตัวอย่างเช่น บริเวณฐานของเจดีย์ประธานนั้น บริเวณมุมทั้ง ๔ ของฐานเป็นเจดีย์ทางประสาทแบบล้านนา ก็น่าจะมีความหมายถึงทวีปทั้ง ๔ ที่ล้อมรอบเจดีย์ประธานที่หมายถึง แกนกลางของจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ เจดีย์ ๔ องค์ที่แบบของสุโขทัยอีกรูปแบบของสุโขทัยอีกแบบก็น่าจะแปลหมายถึงอนุทวีปที่อยู่ล้อมรอบทวีปทั้ง ๔ นั่นเอง




วัดมหาธาตุ สุโขทัย (๒)

เจดีย์ ๕ ยอด เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ เป็นอันดับ ๒ ในวัดมหาธาตุ สุโขทัย ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเจดีย์ประธาน พุ่มข้าวบิณฑ์ มีจารึกทองระบุว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท

ในความหมายของเจดีย์ ๕ ยอด ที่มีพระพุทธรูปโดยรอบด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนด้านทิศตะวันออกพระพุทธรูปด้านทิศนี้จะประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

คติของเจดีย์นี้เป็นจักรวาลทัศน์ที่หมายถึงกาลเวลาของภัทรกัลป์ ที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติในกัลป์นี้ต่อเนื่องกัน ๕ พระองค์ ซึ่งได้อุบัติมาแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าในยุคสมัยของเราคือ พระสมณโคดม ส่วนองค์ที่จะมาอุบัติต่อไปในพุทธศาสนาคือ พระศรีอาริยเมตไตรย

คติของพระพุทธเจ้า ๕ องค์ ในเถรวาทนิกายนี้ปรากฏอยู่ทั่วไป ตั้งแต่เมืองพุกามในประเทศเมียนมาร์ มาจรดภาคเหนือของสยามประเทศ เช่น ปรากฏอยู่ในวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และภาคกลางตอนบนของสยามประเทศทั่วกันที่มักจะสร้างเจดีย์ที่มีพระพุทธรูป ๔ พระองค์ประดิษฐานไว้รอบเจดีย์นั้น อันแสดงถึงรากเหง้าของความเชื่อในบริเวณนี้ที่มีสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในฐานะนครรัฐที่มีอำนาจเสมอกันกระจายอยู่ทั่วไป



http://www.gejisiam.com/upload/uppic/uppic_13300562661838990141.jpg
คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

พระอัฎฐารส วัดมหาธาตุ สุโขทัย

นอกจากเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ ที่เรียกว่า ทรงข้าวบิณฑ์อันเป็นลักษณะเฉพาะของวัดมหาธาตุสุโขทัย พร้อมเจดีย์ห้ายอดที่ได้บรรยายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน วัดมหาธาตุสุโขทัยแห่งนี้ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีก ๒ ประการ คือ

๑. เจดีย์รายที่ปรากฏอยู่ในเขตวัดที่มี ถึง ๒๐๐ องค์ อันน่าเชื่อได้ว่าเจดีย์รายเหล่านี้ สร้างขึ้นภายหลังเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาหรือคำอธิษฐานของผู้สร้างที่ประสงค์จะให้หมายถึง พุทธเกษตร อันเป็นที่สถิตของปัจเจกพระพุทธเจ้า (ในความเชื่อฝ่ายมหายานที่น่าจะยังตกค้างอยู่ในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอยู่บ้าง)

๒. สิ่งที่น่าสนใจต่อมาก็คือ มณฑป ขนาดใหญ่ ๒ องค์ ที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่สูง ๑๘ ศอก ลักษณะที่ตั้งของมณฑป น่าจะมีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมประเภทปราสาทขอม เนื่องจากสุโขทัยเคยอยู่ใต้อิทธิพลขอมมาก่อน มีอาคารหลังเล็กข้างปราสาทองค์กลางเรียกว่า บรรณาลัย ซึ่งใช้เป็นที่ทำพิธีกรรมของหัวหน้าพระหรือผู้ดูแลปราสาท จึงน่าจะพัฒนาส่วนที่เรียกว่าบรรณาลัยนี้เป็นมณฑปพระอัฎฐารส




วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

เป็นพระมหาธาตุที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในสยามประเทศ ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๘๕๔ โดยพระเจ้าแผ่นดินนาม เจ้าชายธนกุมาร พระนางเหมชาลาและ บาคู (แปลว่านักบวช) ชาวลังกา ซึ่งได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้ว แล้วสร้างเจดีย์องค์เล็กเพื่อเป็นเครื่องหมาย เข้าใจว่าเป็นเจดีย์ศิลปะศรีวิชัยคล้ายพระบรมธาตุไชยา

ปีพ.ศ.๑๐๙๓ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยมีพระภิกษุจากลังกามาบูรณะองค์เจดีย์เป็นแบบทรงลังกา ครอบเจดีย์เดิมสูงจากฐานถึงยอด ๓๗ วา ๒ ศอก

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้นำทองแดงหล่อปิดทองยอดพระบรมธาตุ และสร้างพระระเบียงโดยรอบทั้งหมด ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ องค์ สร้างกำแพง ๔ ด้าน และสร้างพระรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์วัดพระมหาธาตุเป็นทรงระฆังคว่ำ ปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่น่าสนใจที่ยอดมีปล้องไฉน ๕๒ ปล้อง ฐานพระบรมธาตุเป็นฐานบัวเหลี่ยม แต่ละด้านมีหัวช้างยื่นมาด้านละ ๖ ซุ้ม ยกเว้นทิศเหนือ ๔ ซุ้ม บนสุดของฐานบัวเรียกว่า ลานประทักษิณ (แปลว่าลานเวียนขวา) มีกำแพงแก้ว ๔ ด้าน หลังกำแพงประดับใบเสมาดินเผา ฉัตร (แปลว่า ร่ม) และบังสูรย์ (แปลว่า บังแดด) มีเจดีย์ประจำทิศทั้ง ๔ มุม ย่อแบบจากพระบรมธาตุที่ฐานด้านล่างนอกวิหารเรียก วิหารทับเกษตร มีเจดีย์ย่อแบบจากพระบรมธาตุทั้งหมดกว่า ๑๐๐ องค์

คติ และสัญลักษณ์ของเจดีย์ก็เช่นเดียวกับมหาเจดีย์อื่นๆ ก็คือ สัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ โดยมีปลียอดทองคำเป็นดั่งชั้นอรูปพรหมที่จุดสูงสุดของเจดีย์คือ นิพพาน

ปล้องไฉน คือ รูปภพทั้งชั้นพรหมและชั้นเทพทั้งปวง ตัวฐานหรือบัลลังก์รับปล้องไฉนหรือที่เรียกเสาหารก็คือ แดนแห่งการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์โลกกับเทวโลก

เจดีย์ ๔ ทิศ คือ อนุทวีป ทั้ง ๔ ซุ้มหัวช้างก็หมายถึง สัตว์โลกในแดนหิมพานต์ที่อยู่บริเวณฐานของเขาพระสุเมรุ

เจดีย์รายรอบ คือ ทวีปบริวารที่หมายถึงผู้สร้างอุทิศถวายเพื่ออธิษฐานความเป็นพุทธะหรือพุทธเกษตรบูชาพระพุทธเจ้า

เนื่องจากวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช มหาเจดีย์มีสถาปัตยกรรมและเรื่องราวอีกมาก จึงขอเล่าเรื่องราวเหล่านั้นในฉบับต่อไป


ที่มา : คอลัมน์ คติสัญลักษณ์ โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์ นสพ.ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:52:57 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2557 17:45:35 »


วัดพระมหาธาตุฯ นครศรี ท้าวจตุคามและองค์รามเทพ

ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช มีศาสนสถานที่สำคัญอยู่ติดกับองค์พระมหาธาตุเจดีย์ด้านทิศเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของวิหารทับเกษตร ซึ่งเป็นวิหารรอบฐานบริเวณภายในขององค์พระมหาธาตุ แต่แบ่งเป็นสัดส่วนและปิดกั้นการเดินทะลุถึงกัน เรียกว่า วิหารพระทรงม้า หรือ วิหารพระมหาภิเนษกรมณ์ คือเป็นวิหารที่มีรูปปั้นพระพุทธเจ้าเสด็จออกมหาภิเนษ กรมณ์ (ออกบวช)

สิ่งที่สำคัญในวิหาร คือ สัญลักษณ์ของรูปปั้นเทพและสัตว์หิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ เช่น สิงห์ ๓ คู่ ครุฑ ๑ คู่ นาค ๑ คู่ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔

ที่เชิงบันไดมีรูปเทวดา ๑ คู่ ชื่อ ท้าวจตุคาม และองค์รามเทพ นั่งอยู่ในท่ามหาลีลาสนะ อันเป็นท่านั่งของเทพชั้นสูง เทวดาทั้งคู่นี้ต่อมาได้ส่งอิทธิพลเป็นจตุคามรามเทพ ซึ่งมีการสร้างจตุคามรามเทพกันถึง ๖๐๐ รุ่น

ข้อมูลในวิกิพีเดียระบุว่า ท้าวจตุคามและองค์รามเทพรวมเป็นจตุคามรามเทพเพียงองค์เดียว คล้ายการอธิบายในหลักของตรีมูรติของศาสนาฮินดูที่เป็นการรวมกันของมหาเทพสามองค์ จตุคามรามเทพจึงหมายถึงดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ผู้มาสถิตเป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ ทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยบารมีธรรม ๑๐ ประการแห่งพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เป็นพระเทวราชโพธิสัตว์

ที่หน้าประตูก่อนเข้าสู่ลานประทักษิณในองค์พระมหาธาตุ มีรูปไม้แกะสลักที่ประตูทางเข้าเป็นรูปของพระพรหมและพระนารายณ์ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเป็นเทพชั้นสูงผู้อภิบาลพระพุทธศาสนา




วัดพระบาทมิ่งเมือง

ปรากฏชื่อวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ (พ่อขุนรามคำแหง) ด้านที่ ๓ ที่บ่งบอกถึงเรื่องของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุคือ

ย่อหน้าที่ ๓ "๑๔๑๖ ศกปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้"

ย่อหน้าที่ ๔ "จารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปนาไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ"

จากจารึกและความหมายของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดพระมหาธาตุ ที่ปรากฏในศิลาจารึกดังกล่าว จึงน่าจะเชื่อได้ว่า วัดที่มีชื่อดังนี้เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์แห่งอำนาจ เพราะพ่อขุนรามคำแหงเป็นกษัตริย์ของเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย   และแปลเป็นรูปธรรมอีกแบบก็คือ สัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจของนครรัฐ ที่ยกเอาสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลทัศน์ก็คือ เขาพระสุเมรุเป็นหลัก โดยมีวิหารหลวงหรือวิหารอันเป็นสัญลักษณ์ของอนุทวีป เช่น ชมพูทวีป อันได้มี พระพุทธเจ้า มาอุบัติขึ้น  ขณะเดียวกันในทิศด้านอื่นอีก ๓ ทิศ ก็ยังปรากฏวิหารที่ทำเป็นซุ้มโถงทั้ง ๓ ทิศ ซึ่งความหมายก็หมายถึง อนุทวีป เช่นเดียวกับวิหารหลวง

องค์พระปรางค์ประธาน นักโบราณคดีกำหนดว่ารูปแบบนี้เป็นปรางค์แบบอยุธยา แต่จากศิลาจารึกที่ ๑ ที่จารึกว่า พ่อขุนรามคำแหงได้มีจารึกอันหนึ่งเก็บเอาไว้ที่วัดนี้

ดังนั้น น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์ทรงปรางค์แบบอยุธยาก็คงจะมีรูปแบบนี้ปรากฏอยู่ร่วมสมัยสุโขทัย หรืออาจจะเป็นการปฏิสังขรณ์รูปแบบนี้ในภายหลัง




วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
สัญลักษณ์ของศูนย์กลางนครรัฐในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย หรือสยามประเทศในอดีต

ท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์พื้นถิ่นแห่งจังหวัดเพชรบุรี เคยเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ถึงความเป็นศูนย์กลางของนครรัฐในอดีตของเพชรบุรี ว่า เคยมีกษัตริย์ปกครองเมืองเพชรบุรี และจากเอกสารอื่นก็กล่าวถึงกษัตริย์เมืองเพชรบุรีร่วมสมัยกับยุคสุโขทัย ประกอบกับมีจดหมายเหตุ เช่น จากประเทศจีนที่เพชรบุรีเคยส่งทูตไปจิ้มก้อง ภาษาในปัจจุบันก็คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

ตัววัดมหาธาตุนั้นจากหลักฐานทางวัตถุที่พบว่า องค์พระธาตุตั้งอยู่บนโครงสร้างของอิฐร่วมสมัยทวารวดีก็คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ จึงน่าจะยืนยันถึงความเป็นศูนย์กลางอำนาจนครรัฐ ลักษณะแบบแปลน แผนผัง และรูปของวัดมหาธาตุ เพชรบุรีก็เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุที่สำคัญอันได้เคยเขียนเล่ามาแล้ว ก็คือต้องประกอบด้วย ปรางค์ประธานทรงฝักข้าวโพด (รูปแบบนี้ท่านสุวิชญ์ รัศมีภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ให้ความเห็นว่าเป็นรูปทรงที่สร้างขึ้นได้เฉพาะผู้เป็นกษัตริย์เท่านั้น)

ปรางค์ประธาน ก็คือ ศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์คือ เขาพระสุเมรุ ปรางค์ทิศทั้ง ๔ คือ อนุทวีปทั้ง ๔ ที่เริ่มตั้งแต่ บุพกุรุทวีป อมรโดยานทวีป อุตรกุรุทวีป ชมพูทวีป วิหารคด หรือกำแพงล้อมรอบก็คือ กำแพงจักรวาลหรือปลายขอบของจักรวาล วิหารหรือพระอุโบสถที่อยู่ด้านหน้าก็คือ การย้ำถึงความสำคัญของชมพูทวีปที่จะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นเพื่อเทศนาโปรดสัตว์ให้พ้นไปจากสังสารวัฏอันเต็มไปด้วยความทุกข์

นั่นคือ การสถาปนาสัญลักษณ์ของศูนย์กลางอำนาจรัฐหรืออำนาจของนครรัฐอันเป็นอิสระ




วัดมหาธาตุของกรุงเทพฯ
วัดมกุฎกษัตริยาราม

กรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงของประเทศไทย ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๓๒๕ มิได้มีฐานะเป็นเพียงแค่นครรัฐที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ระดับนครรัฐ หากเป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคม แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นนครรัฐ

ความเป็นศูนย์กลางหรือความยิ่งใหญ่กว่าเป็นนครรัฐดังกล่าวนี้เองที่ดูเสมือนว่า กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องแสดงคติและสัญลักษณ์ของจักรวาลทัศน์ตามคติและสัญลักษณ์ ตลอดจนรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เคยมีมาเช่นเดียวกับนครรัฐอื่นในอดีต แม้จะมีชื่อวัดสำคัญว่าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ก็มิใช่สัญลักษณ์ของวัดมหาธาตุเช่นวัดมหาธาตุของนครรัฐต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ถึงแม้จะไม่มีรูปแบบของวัดมหาธาตุอย่างในอดีต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดให้วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครที่เสมือนเป็นคติและสัญลักษณ์ของจักรวาล โดยยกเอาวิหารพระศากยมุนีขึ้นเป็นหลัก หรือเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ โดยกำหนดองค์ประกอบภายนอกวิหาร เช่น ลานวัดเป็นดั่งทะเลสีทันดร

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ รูปแบบและแผนผังของวัดสำคัญเช่นจักรวาลทัศน์แบบในอดีต ปรากฏเห็นชัดเจนขึ้นที่วัดสำคัญ ๒ วัด คือ วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดโสมนัสวิหาร เป็นวัดที่มีวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล และพระอุโบสถอันเป็นเสมือนชมพูทวีปที่ตั้งอยู่ด้านใต้หลังกำแพงระเบียงคด อันเป็นสถานที่ที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาประกาศธรรมจักร

ความแตกต่างของเจดีย์ประธานในสองวัดนี้กับเจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุฯ ในอดีตก็คือ เจดีย์ประธานของทั้งสองวัดเป็นคติคำสอนทางพุทธศาสนาที่บ่งถึงระดับชั้นของผู้มีคุณธรรมอันพิเศษ ตั้งแต่สวรรค์ทั้ง ๖ ไปจนจรดพรหมโลกและสิ้นสุดที่จุดสูงสุดของเจดีย์ประธาน คือ นิพพาน ซึ่งส่วนใหญ่เจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุ ในอดีตมักจะมีรูปแบบเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เท่านั้น




ภาพวาดในอุโบสถหรือวิหาร

ในพระอุโบสถ (โบสถ์) หรือในวิหารทางพุทธศาสนา นอกจากจะมีพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า พระประธาน อันสมมติเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันว่า ปางหรือรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงให้พุทธศาสนิกชนศึกษาและเข้าใจว่ากำลังแสดงธรรมะในเรื่องใดๆ อยู่

ภายในบริเวณพระอุโบสถหรือพระวิหารก็ยังมีรูปภาพสีที่ประณีต งดงาม ที่ดูเหมือนจะประดับตกแต่งภายในพระอุโบสถหรือพระวิหารให้งดงาม

นอกจากจะประดับตกแต่งพระอุโบสถให้งดงามแล้ว เจตนาหรือวัตถุประสงค์ของภาพเหล่านั้นยังมีความหมายที่ซ่อนไว้ให้ศึกษา ตั้งแต่
- เจตนาที่จะเขียนถวายเป็นพุทธบูชา
- เล่าเรื่องพุทธประวัติ
- บอกเล่าสภาพของผู้คน สังคม และวัฒนธรรม
- บรรยายธรรมหรือทัศนคติต่อโลก

ภาพที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในภาพนี้เป็นภาพผนังด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถวัดใหญ่อินทราราม อ.เมือง จ.ชลบุรี

ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงหรือเล่าถึงความเชื่อในเรื่องของโลก เรียกกันเป็นภาษาวิชาการว่า "จักรวาลทัศน์" และภาพหลังพระประธานในวัดนี้ยกย่องกันว่าเป็นภาพเขียนฝาผนังชั้นเยี่ยมภาพหนึ่ง

เรื่องของภาพก็คือความเชื่อที่ว่า โลกหรือเขาพระสุเมรุลอยอยู่ในน้ำโดยมีปลาตัวใหญ่ชื่อ ปลาอานนท์หนุนอยู่ เหนือปลาอานนท์ขึ้นไปจะเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของโลก ประกอบด้วยสวรรค์ ๖ ชั้น (เรียกเป็นภาษาบาลีว่า กามาพจรสุข) คือสวรรค์ที่สัตว์หรือเทวดาที่ยังมีความสุขติดอยู่ในกาม อันได้แก่ความยินดี พอใจ ในความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเสียง จากรูปที่งดงามจากกลิ่นอันพึงพอใจ จากรสชาติทางลิ้น จากสัมผัส และจากจินตนาการที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งจะปรากฏเป็นภาพของที่อยู่เทวดาด้านบน

รายรอบของปลาอานนท์จะปรากฏเป็นทะเลมีชื่อว่า ทะเล สีทันดร ล้อมเป็นวงกลมอยู่ ๗ รอบ ส่วนด้านล่างปลาอานนท์จะเป็นภาพของนรกที่เป็นที่อยู่ของผู้ทำกรรมอันหนักเรียกว่า บาป ถูกทรมานเพื่อใช้กรรม พระพุทธรูปนั้นจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะอยู่เหนือหรือพ้นจากจักรวาลทัศน์ก็ด้วยการตรัสรู้อริยสัจ ๔




พระบฏ

พระบฏคือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ต่างๆ ใช้สำหรับแขวนบูชา พระบฏแปลว่าผ้าทอหรือผืนผ้า

ภาพพระบฏผืนนี้เป็นภาพพระพุทธเจ้าห้าองค์ ในความเชื่อทางฝ่ายมหายาน ตันตระยาน ที่เชื่อว่าในเอกภพอันหาที่สุดมิได้นั้น จะมีพระพุทธเจ้าประจำอยู่ในพุทธเกษตรเรียกว่า มันดาละ เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญก็คือพุทธเกษตรที่มีพระพุทธเจ้าสำคัญ ๕ พระองค์ ประจำอยู่ในพุทธเกษตรทั้งห้า อันมีชื่อและความหมายก็คือ พระไวโรจนะพุทธะ ผู้เป็นศูนย์กลาง หมายถึงผู้ให้แสงสว่างและปัญญาอันสูงสุด มีพระวรกายสีขาว แสดงธรรมในท่าปฐมเทศนา อีกนัยหนึ่งเรียกว่า อทิพุทธเจ้า แปลว่าเกิดมาเองพร้อมโลก ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด เป็นธรรมกาย (หรือในฝ่ายเถรวาท ธรรมกายก็คือความจริงที่เรียกว่าโลกุตตระสัจจะ) เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระฌานิพุทธเจ้าหรือสัมโภคกาย ดังต่อไปนี้

พระอักโษภยะพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ไม่ทรงหวั่นไหวมีรูปพระวรกายเป็นสีน้ำมัน แสดงธรรมในท่าอยู่เหนือโลกหรือในเถรวาทเรียกว่า ปางมารวิชัย ประจำอยู่ทิศตะวันออก

พระอโมฆสิทธพุทธเจ้า หมายถึง ผู้สมหวังตลอดกาล มีพระวรกายสีเขียว (หรือสีฟ้า) แสดงธรรมในท่าปางประทานอภัย ประจำอยู่ทิศเหนือ พระรัตนสัมภาวะพุทธเจ้า หมายถึง ผู้เกิดจากมณี (มณีในที่นี้ก็คือ ปัญญา ที่รู้จริงชั้นปรมัทสัจจะ) มีพระวรกายเป็นสีเหลือง ประจำอยู่ทิศใต้ พระอมิตาภะพุทธเจ้า หมายถึง ผู้มีแสงสว่างอันเป็นนิรันดร์หรือหาที่สุดมิได้ (ในบางพื้นที่เรียก อมิตยุส) หมายถึง ผู้ที่มีอายุอันหาที่สุดมิได้) ก็คือ เปรียบเทียบถึงปัญญาที่มีความหมายในทางธรรมก็คือ แสงสว่างแห่งปัญญา ย่อมขจัดความมืดคือ โมหะให้หมดสิ้นไป

พระกายของพระองค์เป็นสีแดงประทับอยู่ด้านตะวันตก




ภาพพระบท

ในภาพนี้เป็นภาพพระพุทธเจ้า พร้อมอัครสาวก ๒ พระองค์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นภาพที่เกิดจากการปักด้วยเส้นไหมลงบนผ้า เพื่อใช้แขวนบูชาในห้อง (ซึ่งจะมีพื้นที่ไม่กว้างขวางพอที่จะตั้งพระพุทธรูปพร้อมโต๊ะหมู่บูชา)

ข้อสังเกตของภาพที่สำคัญก็คือ ภาพของการวางพระหัตถ์ด้านขวามือของพระพุทธรูปนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยของฝ่ายเถรวาท แต่ในความหมายของลักษณะการวางมือลักษณะนี้ของฝ่ายมหายานมีความหมายทางกิริยาธรรมของพระพุทธเจ้าคือ การประกาศเป็นผู้อยู่พ้นโลกหรือเหนือโลก ที่หมายถึงการพ้นไปจากสังสารวัฏ

ส่วนอัครสาวกทั้งสององค์ที่อยู่ด้านล่างของภาพ ในฝ่ายมหายานถือว่าพระมหากัสสปะและพระอานนท์ เป็นอัครสาวกทั้งสอง (องค์ทางซ้ายของภาพคือ พระมหากัสสปะ ผู้มีอายุเท่ากับพระพุทธเจ้าโดยแสดงริ้วรอยของอายุที่บริเวณหน้าผาก)

ในฝ่ามือของพระพุทธเจ้าและอัครสาวกถือบาตร อันหมายถึงหม้อยาหรือโอสถ ซึ่งใช้รักษาโรคอันสำคัญของสัตว์โลก ทั้งปวง

โรคนั้นก็คือ อวิชชา หรือความไม่รู้แจ้งในความจริงที่เรียกว่า อริยสัจ.




พระบฏงานเซชู

ภาพพระบฎของฝ่ายมหายานเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า ทังก้า แปลว่าภาพเขียนบนธง เป็นภาพตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่แขวนไว้ตามอาคารบ้านเรือนเพื่อบูชา

ภาพพระบฏผืนนี้เป็นภาพพระบฏขนาดใหญ่ที่จะแขวนให้ประชาชนเข้ากราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าของชาวพุทธฝ่ายมหายานในพิธีที่เรียกว่า เซชู ซึ่งจะเป็นเทศกาลที่จะจัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง ประมาณปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อระลึกถึงท่านคุรุปัทมาสัมภวะ ผู้เผยแผ่พุทธศาสนานิกายตันตระยานในเขตทิเบต ภูฎาน ฯลฯ

ในเทศกาลจะเป็นการเทศนาที่ใช้การเต้นรำ เป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่วิญญาณที่ชั่วร้าย ได้แก่ กิเลสและอุปาทานที่ครอบงำผู้คนทั้งปวง เพื่อความสงบสุขของผู้คนในพื้นที่ ภาพพระบฎเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่ประกาศสัจธรรม ติดตั้งอยู่ในงานพิธีที่เรียกว่า งานเซชู ที่จัดขึ้น

ภายในเขตวัดของฝ่ายมหายานมักมีหอคอยขนาดใหญ่สำหรับแขวนภาพพระบฎและมีลานด้านหน้ากว้างสำหรับการเต้นระบำในสัญลักษณ์ของการขับไล่สิ่งชั่วร้าย

และเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะมีพิธีกรรมที่ผู้เข้าร่วมพิธีได้กราบไว้หรือแตะต้องภาพ หรือมีโอกาสได้ม้วนเก็บภาพนั้น ซึ่งถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง




แห่พระบฎขึ้นธาตุ

ประเพณีแห่พระบฏของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า แห่พระบฏขึ้นธาตุ จัดขึ้นในวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และวันวิสาขบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เป็นประจำทุกปี

วัตถุประสงค์ของการใช้พระบฏในประเพณีนี้เปลี่ยนจากการเขียนหรือวาดพระพุทธเจ้าเพื่อใช้บูชา กลายมาเป็นเครื่องบูชาที่ถวายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระธาตุ หรือธาตุเจดีย์ ที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า

ภาพพระบฏขึ้นธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นประเพณีที่ทำมายาวนาน เชื่อกันว่านานกว่า ๗๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้ครองเมืองตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน มีชาวปากพนังนำผ้าแถบยาว เขียนภาพพุทธประวัติที่ถูกคลื่นซัดเกยหาดมาถวาย ทราบต่อมาว่า ผ้าพระบฏนั้น ชาวพุทธจากเมืองหงสาจะนำไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่เรือถูกพายุพัดเหลือผู้รอดชีวิตมาเกยหาดปากพนัง ๑๐ คน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงเห็นควรให้นำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ในพิธีสมโภช แม้ไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ชาวหงสาตั้งใจ แต่ก็เป็นพระบรมสารีริกธาตุ ชาวหงสาเหล่านั้นก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์จึงมีขึ้นนับแต่นั้นและปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา

ภาพพระบฏเหล่านี้เขียนหรือวาดเรื่องราวหรือชาดกอันเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า




ภาพพระบฏ พุทธเกษตร

ภาพพระบฏ มักจะเป็นภาพวาดหรือภาพเขียนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ทั้งนี้เพื่อใช้แขวนไว้บูชาในสถานที่ต่างๆ (มิใช่เพื่อการประดับตกแต่ง) อันเป็นที่นิยมกันมากในพุทธศาสนานิกายมหายานนั้น

มีภาพพระบฏอีกชนิดหนึ่งที่มิได้เป็นรูปพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เป็นการหมายถึง "จักรวาลอันบริสุทธิ์" หรือเรียกกันอีกแบบหนึ่งว่า พุทธเกษตร หรือในภาษาสันสกฤตว่า มันดาลา แปลอีกอย่างว่า ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ ในขณะรู้แจ้ง (มันดาลาในภาษาไทยเรียกว่า มณฑล) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะบริสุทธิ์แห่งจิตใจ

ในภาพตัวอย่างของพระบฏพุทธเกษตรนี้จะประกอบด้วยวงล้อล้อมศูนย์กลางเป็นชั้นๆ สัญลักษณ์ของพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นรูปสีเหลืองลำดับชั้น มีลักษณะเป็นทางเข้าสู่ศูนย์กลางที่มีสีเป็นความหมายทางธรรมะก็ดี

ศูนย์กลางของภาพพระบฏที่เรียกว่ามันดาลาหรือพุทธเกษตร มีความหมายในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็คือ เขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล แต่บางรูปจะเป็นรูปของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ดังที่ได้บรรยายไว้ก่อนหน้านี้

ประตูทั้ง ๔ ทิศของภาพก็คือ ทิศที่แสดงถึงพรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

กำแพงทั้ง ๔ ความหมายก็คือ
๑. กำแพงแห่งความรู้อันบริสุทธิ์
๒. กำแพง(เพชร) ความแข็งแรงและกล้าหาญ
๓. กำแพงของการมีสติรู้
๔. กำแพงถึงการยอมตนต่อพุทธ

อย่างไรก็ตามภาพพระบฏหรือทังก้าที่มีภาพความหมายทางธรรมะ ค่อนข้างจะดูยากสำหรับผู้คนทั่วไป ผู้ดูที่เข้าใจในความหมายทั้งปวงในพุทธจึงต้องเป็นผู้รู้อย่างแท้จริง.




สุบินนิมิต

ภาพพระบฏในแบบนี้เป็นภาพพุทธประวัติ ที่นิยมแขวนไว้บูชามากที่สุดภาพหนึ่ง ที่เริ่มต้นที่หัวมุมของภาพด้านบนขวาเล่าเรื่องสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาที่มีช้างเผือกมาจุติในครรภ์ของพระนาง

ด้านล่างขวาเป็นภาพประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนบนกลางภาพเป็นภาพตอนออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ  กลางภาพเป็นภาพของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ ที่ฝ่ายเถรวาทเรียกว่า ปางมารวิชัย ที่มีมารผจญทั้งสองด้าน แต่ทางฝ่ายมหายานอธิบายว่าเป็นภาพที่แสดงถึงการอยู่เหนือโลกหรือสังสารวัฏ โดยมีสัญลักษณ์ของบุตรีพญามารมาปรากฏอยู่ด้านขวาของพระพุทธเจ้า

ภาพที่นำมาแสดงนี้เป็นภาพวาดรุ่นใหม่ของศิลปินชาวญี่ปุ่น (ไม่ปรากฏชื่อ) ที่ภาพของพระพุทธเจ้ามีรูปลักษณะเหมือนรูปพระพุทธเจ้าฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย




พระโพธิสัตว์

ภาพวาดทางพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดที่ถ้ำอชันตะ ประเทศอินเดีย เป็นภาพพระโพธิสัตว์นามปัทมปานิ หรือพระโพธิสัตว์ประจำพระรัตนสัมภวะ (ผู้มีปัญญาอันสดใสดังมณี)

เป็นพระพุทธเจ้าที่ประจำอยู่ ณ พุทธเกษตรทิศใต้ของพระไวโรจนะพุทธะ ผู้เป็นอาทิพุทธ หรือความจริงอันมีพร้อมกับกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งปวง

ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ภาพพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ เป็นภาพทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด เชื่อกันว่าวาดมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ วาดด้วยสีฝุ่นธรรมชาติที่งดงามมาก อยู่ในถ้ำที่ขุดเจาะเป็นโบสถ์หรือวิหารทางศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนาอันเป็นต้นแบบทางพุทธศิลปะแบบภาพวาดในอาคารในพื้นที่ที่เรียกว่า ภาพพระบฏ ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในประเทศที่มีการนับถือพุทธศาสนา

โบสถ์หรือวิหารเหล่านี้ถูกทอดทิ้งให้ร้างตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จนถึงปี ค.ศ.๑๘๑๙ ทหารของราชอาณาจักรพบถ้ำที่ขุดเจาะเป็นวิหารที่มีเรื่องราวภาพวาดหรือปูนปั้นทั้งของพราหมณ์ พุทธศาสนา และฮินดู ที่ยังคงสภาพที่งดงามอยู่จำนวนมาก และได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมาจนปัจจุบัน.




ชั้นดาวดึงส์

ภาพพระบฏภาพนี้เป็นภาพพระบฏที่กล่าวถึงส่วนหนึ่งของพุทธประวัติ ถึงเจดีย์องค์หนึ่งที่ปรากฏขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระโมฬี (มวยผม) ที่เกิดจากการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (บวช) จากการตัดมวยผมของเจ้าชายสิทธัตถะแล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ (อันแสดงมุ่งหมายถึงการละจากวรรณะกษัตริย์ออกเป็นนักบวช) และพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้วข้างขวา) ที่โทณพราหมณ์ผู้จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าแอบเก็บซ่อนไว้ในมวยผมแล้วถูกพระอินทร์นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ที่เรียกว่า เจดีย์จุฬามณี

คติความเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดการอุทิศสร้างพระธาตุหรือเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่สมมติกันว่าเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อหวังให้บุคคลผู้ละสังขารไปแล้วแต่มิได้พ้นไปจากสังสารวัฏได้ไปอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ เพื่อจะได้มีโอกาสไปบูชาพระโมฬี (มวยผม) และพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ สถานที่แห่งนี้

ในภาพด้านซ้ายจะมีพระภิกษุรูปหนึ่ง น่าจะเป็นพระมาลัยที่ขึ้นไปในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีพระอินทร์เป็นหัวหน้าเทวดา ได้นั่งสนทนาธรรมอยู่ด้วย โดยมีเทวดาทั้งหลายได้มาประชุม บูชา พระเจดีย์พระองค์นี้ ส่วนตอนบนของภาพเป็นเหล่านางอัปสรห้อมล้อมเทวดานพเคราะห์ที่กำลังเดินทาง (เหาะ) มาบูชาพระเจดีย์จุฬามณี.


ที่มา : คอลัมน์ คติสัญลักษณ์ โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์ นสพ.ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:59:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 07 กุมภาพันธ์ 2558 17:53:37 »

.
.


พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์

คติ สัญลักษณ์ ความหมายของพระพุทธเจ้า ๒๕ หรือ ๒๘ พระองค์ น่าจะมาจากความเชื่อในบุคลิกภาพและคุณสมบัติอันเป็นพิเศษของความเป็นพระพุทธเจ้า ที่นอกจากจะบรรยายไว้ในธชัคคสูตรที่เรียกว่า พุทธคุณ ๙ ประการ ที่กล่าวแล้ว พระนามหรือสมัญญาของพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ น่าจะแปลความหมายที่เรียกว่าพุทธคุณของพระพุทธเจ้า

พระพุทธตัณหังกร ผู้กล้าหาญ คือการพ้นไปจากความหวากลัวใด อันเป็นคุณสมบัติของสัตว์โลก
พระพุทธเจ้าเมธังกร ผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะที่แท้จริงของศาสดา
พระพุทธสรณังกร ผู้เกื้อกูลแก่โลก

พระพุทธเจ้าทั้งสามนามนี้เป็นชื่อของพระพุทธเจ้าใน ๒๘ พระองค์ ในพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ต่อมา เริ่มต้นที่นามของพระพุทธเจ้าว่า
พระพุทธทีปังกร ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง (น่าจะหมายถึงปัญญาที่ได้ตรัสรู้ธรรมะขั้นสูงสุด)
พระพุทธพระโกณฑัญญะ ผู้เป็นประมุขแห่งหมู่ชน
พระพุทธพระสุมังคละ ผู้เป็นบุรุษประเสริฐ
พระพุทธสุมนะ ผู้เป็นบุรุษมีพระทัยงาม (ผู้เป็นนักปราชญ์อันประเสริฐที่มีเมตตาสอนสัตว์โลก)
พระพุทธเรวตะผู้เพิ่มพูนความยินดี
พระพุทธโศภิตะ ผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ
พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ผู้อุดมสูงสุดในหมู่ชน ผู้มีความดีพร้อมอย่างบริบูรณ์
พระพุทธปทุมะ ผู้ทำให้โลกสว่าง (ผู้ที่ทำให้เข้าใจเรื่องของโลก ของสัตว์โลก อย่างกระจ่างชัด (ENLIGHTMENT)
พระพุทธนารทะผู้เป็นสารถีประเสริฐ (ผู้ฝึกสัตว์โลกอันประเสริฐยิ่ง)
พระพุทธปทุมมุตระ ผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ (ผู้พาสัตว์โลกพ้นไปจากสังสารวัฏ)
พระพุทธสุเมธะ ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
พระพุทธสุชาตะ ผู้ประเสริฐกว่าสัตว์โลกทั้งปวง
พระพุทธปิยทัสสี ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นรชน
พระพุทธอัตถทัสสีผู้มีพระกรุณา
พระพุทธธรรมทัสสี ผู้บรรเทามืด (คือผู้ที่ทำให้สัตว์โลกเกิดปัญญา)
พระพุทธสิทธัตถะ ผู้หาบุคคลเสมอมิได้ในโลก
พระพุทธสัตสะ ผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย
พระพุทธวิปัสสี ผู้หาที่เปรียบมิได้
พระพุทธสิขี ผู้เป็นศาสดาเกื้อกูลแก่สัตว์ (เหมือนคำว่า สัตถา เทวมนุษย์สานัง)
พระพุทธเวสสภู ผู้ประทานความสุข (ผู้ที่ได้สั่งสอนธรรมให้สัตว์โลก ได้เกิดปัญญาเห็นว่าวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์)
พระพุทธกุกกุสันธะ ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร คือ กิเลส
พระพุทธโกนาคมนะ ผู้นำสัตว์ออกจากกกันดาร คือ กิเลส
พระพุทธกัสสปะ ผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ
พระพุทธโคตรมะ ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช  





(ซ้าย) ปางประทานพร ฝ่ายเถรวาท  (ขวา) ปางวรมุทรา ฝ่ายมหายาน
มุทรา
มุทรา สัญลักษณ์ หมายถึง การแสดงพระหัตถ์

ในทางประติมานวิทยา มุทรามีความหมายถึงการแสดงพระหัตถ์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า GESTURE

ส่วนของฝ่ายมหายาน เรียกว่า วรมุทรา หรือแปลเป็นไทยว่า ปางประทานพร

ฉบับวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เสนอความหมายของมุทราฝ่ายมหายานในรูปแบบที่เรียกว่า อภัยมุทรา หรือปางประทานอภัย ซึ่งมีรูปแบบซ้ำซ้อนหรือคล้ายกับปางประทานพรของฝ่ายเถรวาท

ในฉบับนี้เสนอรูปแบบพระพุทธรูปปางวรมุทราหรือปางประทานพรของฝ่ายมหายาน ความแตกต่างกันของพระพุทธรูปปางวรมุทราของฝ่ายมหายานกับปางประทานพรในฝ่ายเถรวาทก็คือ วรมุทราเป็นพระพุทธรูปยืน ทอดพระหัตถ์ขวาลงข้างพระองค์ หันพระหัตถ์ทั้งห้าออกชี้ลงด้านล่าง ต่างจากปางประทานพรของฝ่ายเถรวาทที่มีทั้งพระพุทธรูปยืนและนั่ง

ความหมายที่เกี่ยวข้องกับปางประทานพรของฝ่ายมหายานเป็นพุทธประวัติ กล่าวถึงตอนเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงห์ ส่วนความหมายของประทานพรในเถรวาท ได้กล่าวแล้วว่าหมายถึง การให้พร ซึ่งในท่ายืนหมายถึงประทานพร ในตอนนางวิสาขามีสิทธิที่จะถวายสิ่งของจตุปัจจัยแก่พระภิกษุสงฆ์ ๘ ประการ

ส่วนในท่านั่ง ได้แก่ อนุญาตตามคำขอของพระอานนท์ ๘ ประการ ในข้อปฏิบัติที่ขอละเว้นจากพระพุทธเจ้า ๔ ประการ และข้อปฏิบัติที่ขอให้พระพุทธเจ้าให้สิทธิ ที่จะให้โอกาสประทานแก่พระอานนท์ ๔ ประการเช่นเดียวกัน



มุทราของปางรำพึง

พระพุทธรูปของปางรำพึงแสดงถึงการแสดงธรรมเทศนาหนึ่งขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุข ณ บริเวณริมแม่น้ำเนรัญชรา

คำว่า วิมุตติหมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ คือการเห็นชนิดที่เรียกว่า ประจักษ์ชัดตามความเป็นจริง รู้เท่าทันของการปรุงแต่งหรือความคิด และรู้ชัดว่าได้พ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส

วิมุตติสุข จึงหมายถึง ความสุขที่ได้รู้ความจริงที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ และเป็นความสุขที่มิได้มีอานิสงส์เช่นเดียวกับทางโลก คือ ความสุขในกามคุณ

การบรรลุถึงวิมุตติสุข ก็คือ การเข้าถึงความเป็นสุขที่มิได้มีที่มาจากการปรุงแต่งด้วยกามราคะ หรือมิใช่ความสุขที่คิดว่าได้จากการทรมานตนให้ยากลำบาก หรือเป็นความสุขที่มิใช่เกิดจากความคิดที่หมายความทางลัทธิพราหมณ์ว่า ได้เข้าถึงสภาวะของความเป็นพรหม หรือพราหมณ์ หรือปรมาตมัน

ในการเสวยวิมุตติสุข ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ศิลปินได้สร้างพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า ปางพระรำพึง

ปางพระรำพึงเป็นพระพุทธรูปยืนประสานหัตถ์ (มือ) คว่ำฝ่ามือทั้งสองข้างบนพระอุระหรือหน้าอก ที่หมายถึงการพิจารณาธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้น ล้ำลึกยิ่งนักที่จะให้ปุถุชนทั่วไปบรรลุธรรมที่พระพุทธองค์รู้และสั่งสอนได้

แต่เมื่อพิจารณา จำแนกคุณสมบัติของผู้ที่จะถึงพระพุทธศาสนาได้ในระดับต่างๆ ก็จะพบว่าปุถุชนทั่วไปมีภูมิธรรมหรือระดับสติปัญญาที่จะรู้เท่าทันธรรมทั้งปวงนั้นมี ๔ ระดับ
ระดับที่ ๑ เปรียบดั่งดอกบัวบานที่อยู่เหนือน้ำ คือ ผู้ที่จะรู้ธรรม (คือความจริงแท้ของชีวิต) ได้รวดเร็ว
ระดับที่ ๒ เปรียบดั่งดอกบัวที่บานในวันต่อไป คือ ผู้ที่เมื่อฟังธรรมแล้วต้องไปฝึกฝน ตรึกตรอง วิเคราะห์ วิจารณ์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก
ระดับที่ ๓ เปรียบดั่งดอกบัวที่อยู่ในน้ำ แต่ก็มีโอกาสที่จะบานในวันต่อไป คือ ผู้ที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ไตร่ตรอง วิเคราะห์ วิจารณ์ธรรม ที่ใช้เวลานานมากขึ้น
ระดับที่ ๔ เปรียบเหมือนดั่งดอกบัวที่อยู่ในโคลนตม ที่อาจเป็นเหยื่อหรืออาหารของปลา หรือสัตว์น้ำ ก็คือ ผู้คนที่มีโอกาสที่จะได้รู้ธรรมยากมาก

มุทราของปางรำพึง เป็นมุทราของฝ่ายเถรวาท (ที่ไม่ปรากฏในรูปแบบพระพุทธรูปของฝ่ายมหายาน) การแสดงคติสัญลักษณ์ของมุทราปางนี้ก็คือ การเตือนสติ ให้เราได้ระลึกถึงพระพุทธคุณที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนธรรมะ ที่เป็นหนทางของการพ้นทุกข์อันยังประโยชน์ต่อหมู่ชนทั้งหลายทั่วกัน


http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201306/27/71927f9c.jpg
คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

ธยานมุทรา

ธยานมุทราเป็นชื่อปางหนึ่งของฝ่ายมหายานส่วนฝ่ายเถรวาทเรียกว่า ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งที่เรียกว่า วัชราสนะ หรือที่เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาทับซ้อนพระหัตถ์ซ้าย ซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก)

ธยานมุทรา หรือ ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าหลังจากเลิกทรมานตนให้ได้รับความยากลำบาก เสวยมธุปายาส ลอยถาดทองคำลงในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วประทับนั่งบนกองหญ้าคาที่พราหมณ์โสตถิยะถวายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงตั้งสัจอธิษฐานจะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังน์จนกว่าจะบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

เริ่มตั้งแต่พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ที่แปลหรือหมายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน หรือธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นพร้อมหรือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น

ไปจนถึงการรู้แจ้งแห่งความจริง ได้แก่ อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ (ทางแห่งการพ้นทุกข์) มรรค (วิธีปฏิบัติที่จะพ้นทุกข์) .




อภัยมุทรา (ประทานอภัย)

ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคือ พระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ทั้งในประทับยืนและประทับนั่ง ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเหนือแนวสะโพก หันพระหัตถ์ไปด้านหน้าอาจจะตั้งตรงหรือเอียง ๔๕ องศา ก็ได้ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวรหรือวางบนพระเพลา (ตัก)

อภัยมุทรา ในความหมายของทางมหายาน ก็คือ การแปลว่า "ขอจงไม่มีภัย"

ส่วนในความหมายของทางเถรวาท บางครั้งอภัยมุทรา ซึ่งแปลว่าประทานอภัยอาจจะแปลหมายถึง ประทานพรด้วยก็ได้

อภัยมุทราในทางมหายานไม่มีความหมายเจาะจงว่าเป็นการแสดงธรรม หรือพุทธประวัติ ส่วนในทางเถรวาทจะเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่ ๒ ตอน สำคัญก็คือ การให้อภัยต่อพระเจ้าอชาตศัตรู (ผู้ส่งนายพรานมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ) พระเจ้าอชาตศัตรูจึงมาขอประทานอภัยจากพระพุทธเจ้า

ในปางที่ใช้ท่าทางหรือมุทราเดียวกับปางอภัยก็คือ ปางประทานพร คือประทานพรให้นางวิสาขามีสิทธิที่จะถวายสิ่งของต่างๆ ๘ ประการให้กับภิกษุ ภิกษุณี เช่น การถวายอาหาร ยา หรือ การพยาบาลภิกษุได้ เป็นต้น.


 
วิตรรกมุทรา

พระพุทธรูปปางวิตรรกมุทรา (สั่งสอน) นี้มีทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง ยกพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นเสมออก นิ้วพระหัตถ์ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือ แตะเข้าหากันเป็นวงกลม หมายถึงการสั่งสอนธรรมะ

คำว่า วิตรรก มาจากคำว่า วิตก + ตรรกะ

วิตก คำนี้มิได้หมายถึง เป็นทุกข์ ร้อนใจหรือกังวล ในทางธรรมะ วิตก หมายถึงการยกเรื่องราวหรือเหตุการณ์ขึ้นมาพิจารณา เช่น การพิจารณาธรรมที่เริ่มต้นด้วยคำว่า วิตก แล้วจึงไปสู่การพิจารณาที่เรียกว่าวิจารณ์

ตรรก หมายถึง ความคิดอย่างมีเหตุผล

วิตรรกมุทรา คือ พระพุทธรูปที่แสดงความหมายในการยกหัวข้อธรรมขึ้นมาพิจารณา ในฝ่ายเถรวาทน่าจะหมายถึงกระบวนการของการพิจารณาวิปัสนากรรมฐาน




ธรรมจักรมุทรา
พระพุทธรูปปางธรรมจักรมุทรา เป็นชื่อที่กำหนดการแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร ของฝ่ายมหายาน ในฝ่ายเถรวาทเรียกการแสดงธรรมในภาคนี้ว่า ปางปฐมเทศนา

ใช้สัญลักษณ์คือการยกพระหัตถ์ขวาจีบนิ้วเป็นวง ถือเป็นสัญลักษณ์ของธรรมจักร นิ้วพระหัตถ์ข้างซ้ายแตะจีบนิ้วเป็นลักษณะของการหมุนท่าของพระพุทธรูปเป็นท่านั่งขัดสมาธิ

ธรรมจักรมุทรา หรือปางปฐมเทศนานี้เป็นสัญลักษณ์ว่ ธรรมะที่ได้แสดงต่อปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกเป็นความหมายของธรรมที่ได้แสดงต่อโลกแล้วและจะขยายไปยังสัตว์โลกทั้งปวง

ความหมายสำคัญของธรรมจักรที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็คือการประกาศของพระพุทธเจ้าถึงธรรมะที่ยังมิได้มีผู้ใดรู้ให้เกิดขึ้นแก่ ลก มีความสำคัญยิ่ง ๒ ประการ คือที่สุด ๒ ประการที่ผู้ประสงค์จะพ้นทุกข์ หรือสังสารวัฏ การเวียนว่ายอยู่ในการปรุงแต่งต้องไม่ยุ่งเกี่ยวข้องหรือเชื่อถือก็คือ
๑. การบำเรอตนให้หรือประกอบตนให้พัวพันด้วยกามคุณ (แปลความ รักใคร่ ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่สร้างขึ้น เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
๒. การไม่กระทำตนหรือเรียกแบบทางพระก็คือ ไม่ประกอบตนหรือทำตนให้ยุ่งยาก เหน็ดเหนื่อย หรือทรมาน กายใจ ให้ลำบาก เพราะหาประโยชน์ คือจะพ้นไปจากทุกข์มิได้ ทางที่จะพ้นไปจากทุกข์หรือสังสารวัฏนี้ก็ด้วย

วิธีทางของความรู้และการปฏิบัติในความจริงที่เรียกว่า มัชฌิมปฏิปทา หรือ อริยสัจ ๔
๑. รู้จักทุกข์ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กำหนดรู้ คือ รู้ว่าสิ่งใดที่เรียกว่าทุกข์ สิ่งใดที่เป็นทุกข์
๒. สิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เรียกว่า ทุกขสมุทัย อริยสัจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรละเสีย
๓. เมื่อกำหนดรู้ว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดหรือเรื่องใดที่จะต้องละก็ควรทำให้แจ้ง คือเข้าใจอย่างชัดเจนว่าต้องละ และรู้ว่าจะต้องละ คือรู้อย่างชัดเจนว่าจะต้องละที่ตรงไหนอย่างแจ้งชัด เรียกว่า ทุกขนิโรธ อริยสัจ แปลว่า ควรทำให้แจ้ง
๔. เมื่อกำหนดรู้ว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ และรู้ว่าสิ่งใดต้องละ และรู้ว่าควรทำให้แจ้ง ก็ต้องทำให้เจริญหรือมากขึ้นในการปฏิบัติ เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ




ภูมิสปรรศมุทรา
พระพุทธรูปปางมารผจญของฝ่ายมหายาน เรียกว่า ภูมิสปรรศมุทรา ฝ่ายเถรวาท เรียกว่า ปางมารวิชัย

พระพุทธรูปทั้งสองมีรูปแบบที่เหมือนกันคือ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ หัตถ์ซ้ายวางตัก หัตถ์ขวาวางบนพระเพลา นิ้วทั้ง ๕ ชี้ลงเบื้องล่าง พระพุทธรูปในรูปแบบนี้มีคติและพุทธประวัติแตกต่างกันเล็กน้อย

ในภาพของพระพุทธรูปที่เรียกว่า ภูมิสปรรศมุทราหรือปางมารผจญของฝ่ายมหายานบางแห่งนั้น จะมีคติสัญลักษณ์ของเวลาที่เกี่ยวข้องกัน ๓ เวลา คือ เวลาของการยกทัพของพญามารปรมัต สวสวตีมาร มาทวงบัลลังก์หรือก็คือการให้พระพุทธเจ้า หยุดหรือระงับกระบวนการค้นหาอริยสัจจ์ หรือจะอยู่ทางขวาของภาพ อันหมายถึงเวลาในพุทธประวัติ คือ ตั้งแต่ค่ำจนถึงเที่ยงคืน และภาพการพ่ายแพ้ของพญามารทางด้านซ้ายของภาพ จะเป็นเวลาในตอนอรุณรุ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ในตอนล่างของภาพปางภูมิสปรรศมุทรา จะเป็นภาพของลูกสาวพญามารทั้ง ๓ คือ นางตัณหา คือความอยากมี อยากเป็น (อันมีการเกิดอีกเป็นธรรมดาเจือด้วยกำหนัดราคะ) นางราคะ คือ กามคุณ ๕ ก็หมายถึงการเพลิดเพลินในอารมณ์แห่งความพึงพอใจในรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส นางอรตี คือ ความอิจฉาริษยา คือโมหะโทสะ ภาพที่ปรากฏลูกสาวพญามารทั้งสามเป็นภาพที่แสดงถึงเวลาเย็นของวันตรัสรู้ ลักษณะของการวางพระหัตถ์ขวาให้นิ้วทั้ง ๕ ชี้ลงก็คือ การประกาศของพระพุทธเจ้าที่หมายถึงพระองค์ได้พ้นแล้วจากการครอบคลุมของพญามารและจากความยินดียินร้ายในโลก

ในส่วนปางมารวิชัยของฝ่ายเถรวาทด้านล่างของพระพุทธรูปมักจะมีภาพของนางธรณีบีบมวยผมให้น้ำ อันหมายถึงการอ้างบุญกุศลในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่ได้กระทำมาแล้ว มีอำนาจที่จะได้ขับไล่พญามาร (หรือผู้ขัดขวางการกระทำดี) ออกไป จะพบเห็นได้ในภาพวาดในรูปแบบนี้ในพระอุโบสถหรือพระวิหารในวัดสำคัญปรากฏอยู่ผนังด้านตรงหน้าพระประธานเป็นส่วนใหญ่

ภาพของการปรากฏลูกสาวพญามารทั้งสามนั้น ซึ่งในฝ่ายเถรวาทแยกปรากฏการณ์ครั้งนี้ออกเป็นพระพุทธรูปอีกแบบหนึ่ง มักจะวาดหรือเขียน หรือปั้นรูปของพระพุทธเจ้าอยู่ในปางสมาธิ โดยมีนางมารทั้งสามร่ายรำอยู่ด้านล่าง


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 ตุลาคม 2558 12:40:34 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2558 20:12:09 »

.

นิกายในพระพุทธศานา
จากความเห็นของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ที่เห็นว่า พุทธศานามีความเสื่อมถอยศรัทธาของประชาชนชาวไทย ที่นับถือพุทธศาสนากันนั้น ควรจะมีการปฏิรูปพุทธศาสนากันเพื่อให้พุทธศาสนายังคงเป็นศาสนาประจำชาติกันอย่างมั่นคง

ดังนั้น ก่อนที่จะปฏิรูปพระพุทธศาสนากันนั้น คงต้องมาทำความเข้าใจ ศรัทธา ความเชื่อ แนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่แตกต่างกัน ที่เรียกว่า นิกายต่างๆ ในพุทธศาสนา ในรูปแบบและภาษาง่ายกันก่อน

พุทธศาสาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ เรียกกันว่า ฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน ที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันบางประการของทั้งสองฝ่าย แต่ศรัทธาและความเชื่อในจุดมุ่งหมายทางพุทธศาสนามิได้แตกต่างกัน ในเรื่องของนิพพาน หรือ การพ้นทุกข์ สิ่งที่แตกต่างกันเป็นเรื่องแนวทางปฏิบัติเป็นสำคัญ

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจร่วมกันก่อน ก็จะกล่าวถึงความเป็นมาและแนวทางปฏิบัติของนิกายทั้งสอง
เริ่มต้นก็ขอกล่าวถึงนิกายที่เรียกว่า เถรวาท
นิกาย แปลว่า หมู่ พวก
เถรวาท เถร แปลว่า พระผู้่ใหญ่ (โดยเฉพาะผู้ทื่บวชมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา วาทะ แปลว่า คำพูด ถ้อยคำ ความเห็น

สรุป นิกายเถรวาท แปลว่า ความเห็นของหมู่พวกพระผู้ใหญ่

นั้นหมายความว่า นิกายเถรวาท หมายถึง การยอมรับร่วมกันของหมู่พระผู้ใหญ่ที่มาร่วมประชุมกัน ในการทำสังคายนา หรือการตกลงร่วมกันอย่างเป็นเอกฉัจท์ว่า คำกล่าวในพระพุทธศานาเรื่องใดหรือส่วนใด เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

แต่ด้วยเหตุที่มีการสังคายนากันหลายครั้ง กาลเวลาที่ล่วงไป ความเห็นของพระเถระผู้ใหญ่บางท่านก็อาจจะไม่สอดคล้องตรงกัน ชนิดที่เรียกว่า ไม่เป็นเอกฉันท์ จึงเกิดเป็นการแตกแยกทางความคิด เป็นแนวทางปฏิบัติที่แยกไปเรียกว่า มหาสังฆิกะ หรือต่อมาก็คือ ฝ่ายมหายาน (ต่อไปจะกล่าวถึงข้องสังเกตในส่วนของฝ่ายเถรวาทให้ชัดแจนขึ้น)




เถรวาท

เชื่อกันว่าฝ่ายเถรวาท ปรากฏขึ้นจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยการนำของท่าน กัสสปะ อัครสาวกองค์สำคัญร่วมกับสาวกหรือหมู่สงฆ์ที่บรรลุอรหันต์ทั้งสิ้น โดยกำหนดให้พระอุบาลีเป็นผู้บอกเล่าว่า เรื่องใดเป็นศีลวัตรที่พระภิกษุในพุทธศาสนาต้องปฏิบัติหรือต้องละเว้น พระอานนท์ในฐานะอุปฐากพระพุทธเจ้า ผู้มีความจำอันยอดเยี่ยมเป็นผู้บอกว่าพระพุทธเจ้านั้นเทศนาเรื่องใด สั่งสอนใคร เมื่อไร ให้หมู่สงฆ์ฟัง และเมื่อหมู่สงฆ์ได้ฟังแล้วเห็นว่าตรงกับที่คนได้ยินได้ฟังมา หรือได้สั่งสอนมาก็จะสวดขึ้นพร้อมกัน และกำหนดเป็นหมวดหมู่ไว้โดยละเอียดเพื่อให้ภิกษุในสมัยนั้นเป็นผู้สวดกันต่อมา

ดังนั้นในการทำสังคายนาครั้งแรก จึงเป็นการสังคายนาที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่น่าจะตรงกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า นั่นหมายถึงการเป็นเถรวาทบริสุทธิ์

หลักการสำคัญก็คือ สาระแห่งธรรมที่มีจุดมุ่งหมายว่า "ธรรมที่พระพุทธเจ้ามาสอนภิกษุทั้งหลายนั้น สอนเฉพาะเรื่องที่ความรู้ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน"

หมายความว่าสิ่งที่หมู่สงฆ์ (เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น) ประชุมกันแล้วตกลงกันได้ในข้อใด ข้อนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเฉพาะเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน เท่านั้น

แต่การทำสังคายนาครั้งต่อมา ได้มีการอธิบายความหมายของเนื้อหาในเรื่องของการเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน ที่บางครั้งเรียกกันว่าอรรถกถานั้น ผู้อธิบายได้บรรจุการเปรียบเทียบความเห็นส่วนตนเพื่อขยายความข้างต้น และยิ่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแพร่ขยายกันออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ก็ย่อมมีการอธิบายความหมายข้างต้นที่ปะปนกับแนวความคิดความเข้าใจของผู้อธิบายหรือปะปนสอดคล้องให้เข้ากันได้กับวัตรปฏิบัติของสังคม ณ ที่นั่น

เถรวาทที่มาถึงประเทศไทยจึงปนพราหมณ์ เชนนะ ผีฟ้า ผีหลวง และอื่นๆ ตามมา

การแตกแนวปรัชญา หรือความคิดของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทออกเป็น ๒ แนวทาง คือ นิกายฝ่ายมหิสาสกวาทะ กับ ฝ่ายวัชชปุตตกวาทะ นั้น ท่านเสถียร โพธินันทะ บรรยายว่า ฝ่ายมหิสาสกวาทะ ภายหลังแตกออกไปอีกเป็น ๒ พวก หรือ ๒ ฝ่าย มีชื่อเรียกว่า สัมพัตถิกวาทะ กับ ธรรมคุตตวาท

นิกายสัมพัตถิกวาทะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า นิกายไวภาษิกะ เนื่องจากได้มีการทำสังคายนาเรียบเรียงคัมภีร์นี้ขึ้นเรียกว่า คัมภีร์มหาวิภาษหลักธรรมของนิกายนี้ใกล้เคียงกับหลักธรรมของนิกายเถรวาทต่างกันก็คือ เรื่องขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์) นี้มีอยู่อย่างแท้จริงแต่ฝ่ายเถรวาทกล่าวว่าไม่มี

ความเชื่อสำคัญของสัมพัตถิกวาทะคือ
๑.พระอรหันต์อาจเสื่อมจากอรหันตภูมิได้
๒.สิ่งทั้งหลายมีอยู่และเป็นอยู่ในลักษณะสืบต่อกัน
๓.ความที่จิตสืบเนื่องกันเป็นสมาธิได้
๔.หลักธรรมของนิกายนี้มี ๗๕ ประการ เรียกว่า รูปธรรม ๑๑ จิตตธรรม จิตสัมปยุตตธรรม ๔๖ จิตตวิปปยุติธรรม ๑๔ อสังขตะ ๓ รวม ๗๕

ส่วนหลักธรรมหรืออภิธรรมของฝ่ายเถรวาทนั้น แยกเป็น ๗ คัมภีร์ คือ ๑.ธัมมสังคณี ๒.วิภังค์ ๓.ธาตุกถา ๔.ปุคคลบัญญัติ ๕.กถาวัตถุ ๖.ยมก ๗.ปัฏฐาน

นิกายธรรมคุตตวาทะ หรือธรรมคุปตะ เป็นนิกายที่แยกจากมหิสาสกวาทะ พร้อมกับอีกนิกายหนึ่งเรียกว่า สรวาสติวาทิน

นิกายนี้มีวาทะที่ว่า การถวายทานแด่พระพุทธเจ้ามีผลมากกว่าการถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ทั่วไป รวมทั้งการบูชาพระพุทธรูปและพระสถูปพระพุทธเจ้ามีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานแก่สงฆ์ (ดูเหมือนความเชื่อลักษณะนี้จะมีอิทธิพลอยู่ในประชาชนชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนาอยู่ค่อนข้างสูง)

ความแตกต่างจากมหิสาสกวาทะก็คือ ธรรมคุตตวาทะเชื่อว่า พระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จะมิเสื่อมหรือตกต่ำอีก

พระธรรมวินัยของธรรมคุตตวาทะนี้แบ่งเป็น ๕ หมวด คือ สุตปิฎก วินัยปิฎก อภิธรรมปิฎก

ทั้งสามปิฎกนี้คล้ายกับพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท แต่ธรรมคุตตวาทะได้เพิ่มปิฎกขึ้นอีก ๒ หมวด คือ ธรณี และโพธิสัตว์ปิฎก ซึ่งมีคติคล้ายกับความเชื่อฝ่ายมหายานบางกลุ่ม

รวมทั้งความเชื่อสำคัญอีกประการก็คือ พระธรรมสำคัญกว่าพระวินัย การจะหลุดพ้นได้ก็เพราะอาศัยพระธรรมไม่ใช่พระวินัย




นิกายเถรวาท : กรรม

จากการที่นิกายสรวาสติวาทิน ที่แยกตัวจากนิกาย ธรรมคุตตวาทแล้ว นิกายสรวาสติวาทินยังประกอบด้วยนิกาย กัสสปถวาท ซึ่งมีความเชื่อที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาทโดยตรงก็คือ ความเชื่อว่าผลกรรมที่ทำไว้ในอดีตแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้นไม่ตามมาให้ผลในปัจจุบันและอนาคตอีกแต่ที่ยังไม่ให้ผลก็ยังคงอยู่เป็นปกติ

ส่วนความเชื่อของฝ่ายเถรวาท (ในประเทศไทย) มีความเชื่อหรือความเห็นในเรื่องของกรรม ในเรื่องของกรรมในความเชื่อทางฝ่ายเถรวาทนั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของกรรม เป็นดังนี้ก็คือ

กรรมเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา มี ๒ ประการ คือ กรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

กรรมที่จำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม ๔ อย่าง ได้แก่ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้, กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า, หมายถึงกรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป และกรรมที่เลิกให้ผลแล้ว ไม่มีผลอีก

กรรมที่จำแนกหน้าที่ของกรรม ๔ อย่าง ได้แก่ กรรมแต่งให้เกิด กรรมที่สนับสนุนต่อจากการเกิด กรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กรรมที่ตัดรอนการเกิดและการสนับสนุน (หมายถึงความตาย)

กรรมที่จำแนกลำดับการให้ผลกรรม ๔ อย่าง ได้แก่ กรรมหนักที่ให้ผลก่อน กรรมที่ทำจนเคยชิน กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตายจะส่งผลต่อ และกรรมที่ทำโดยไม่ตั้งใจมีผลย้อนหลังต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล

กฎแห่งกรรมหรือผลจากการกระทำกรรมมีกฎดังนี้

ผู้ใดก่อกรรมผู้นั้นจะเป็นผู้ได้รับผลกรรมที่เป็นผลในปัจจุบันมาจากอดีตหรือกรรมที่กระทำในปัจจุบันส่งผลในอนาคต

กรรมดีกรรมชั่วไม่ลบล้างกัน แต่กรรมดีผ่อนผันผลกรรมแห่งการทำชั่วได้

พุทธสุภาษิตในเรื่องกรรมมีอยู่ดังนี้ : สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้

เรื่องของความเชื่อในเรื่องของกรรมในประเทศไทยค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันมาก แต่ผู้ที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ที่น่าสนใจและศึกษาที่สุดก็คือ ความเห็นในเรื่องกรรม ผลของกรรม ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต




นิกายเถรวาท : ความจริงอันเป็นที่สุด
นิกายเถรวาทที่แตกปรัชญาและความเชื่อมาโดยลำดับ ขอย้อนกลับเพื่อจะได้ย้ำความแตกต่างทางความคิดมาเป็นลำดับตั้งแต่แตกเป็น ๒ แนวคิด หลังจากสังคายนาครั้งที่ ๒ คือ หลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี แตกเป็นเถรวาท (สถวีรวาท) และอาจาริยวาท (มหาสังฆิกะ)

ฝ่ายเถรวาทแตกออกเป็น ๑๑ นิกาย เริ่มแต่
เถรวาทหรือสถวีรวาท ได้เกิดการแตกแยกกันเป็น ๒ ฝ่าย คือ มหิสาสกวาท และวัชชีปุตตกวาท

ต่อมา มหิสาสกวาท แตกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ สัพพัตถิกวาท กับ ธรรมคุตตวาท

วัชชีปุตตกวาท แตกออกเป็น ๔ ฝ่าย คือ ธรรมมุตตริกวาท ภัทรยานิกวาท ฉันนาคาริกวาท และ สมิตียวาท

ฝ่ายสัพพัตถิกวาท แตกเป็น กัสสปิกวาท และกัสสปิกวาท ได้แตกเป็น สังกันติกวาท จากสังกันติกวาท แตกเป็นสุตตวาท

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงความแตกต่างความเชื่อในเรื่องกรรมของกัสสปกวาทกับฝ่ายเถรวาท (เดิม) สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงเนื้อหาของสังกันติกวาทหรืออีกชื่อว่า นิกายเสาตรานติกะ หรือสุตตวาที

ท่านเสถียร โพธินันทะ ยืนยันว่า นิกายเสาตรานติกะ นี้ แยกมาจาก สรวาสติวาทะ ปรัชญาหรือแนวความคิดในเสาตรานติกะ คือ มีบุคคลปรมัตถ์ หรือปรมัตถอัตตา แปลว่า มีบุคคลอันเป็นความจริงอันเป็นที่สุด หรือมีตัวตนอันเป็นความจริงอันเป็นที่สุด

หมายถึงความเชื่อว่า ในความจริงอันเป็นที่สุดนั้น ยังมีตัวตนที่เรียกว่า วิญญาณขันธ์อยู่และการไปเกิดใหม่ได้นั้น วิญญาณขันธ์นั้นไปเกิดใหม่ (น่าจะเป็นเหมือนความเข้าใจของพุทธศาสนิกชนไทยเป็นส่วนใหญ่ที่พูดถึงวิญญาณไปเกิดใหม่)

สิ่งนี้จะแตกต่างจากความเชื่อของเถรวาทเดิมที่กล่าวถึงขันธ์ ๕ ที่หมายถึงองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต ที่ไม่มีตัวตนได้แก่
๑.รูปขันธ์ หมายความว่า ส่วนที่เป็นรูป
๒.เวทนาขันธ์ หมายความว่า ส่วนที่รับรู้ ความรู้สึก สุข ทุกข์
๓.สัญญาขันธ์ หมายความว่า ส่วนที่กำหนดความหมายรู้ในอารมณ์
๔.สังขารขันธ์ หมายความว่า สภาพที่ปรุงแต่งจิตใจให้เป็นกุศล อกุศล และเป็นกลางๆ
๕.วิญญาณขันธ์ หมายความว่า ความรู้ของทางอายตนะหรือปาก ตา หู ได้แก่ การเห็น การได้ยิน

นอกจากนี้ความเชื่อในนิกายนี้มีแนวคิดเช่นเดียวกับความคิดเห็นของฝ่ายมหายานอื่นโดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า พุทธภาวะ (ภาวะแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า) นั้นมีอยู่และเป็นอยู่ในสภาวะ รวมทั้งความเชื่อที่สำคัญยิ่งก็คือ "อสังขตธรรมไม่มีสภาวะอยู่แม้โดยปรมัตถ์"

แปลความก็คือ สิ่งที่ไม่ถูกปรุงแต่งคือนิพพาน ไม่มีฐานะหรือสถานะ สภาพ หรือสภาวการณ์ อยู่ในความจริงอันเป็นที่สุด


นิกายเถรวาท : การปฏิรูป
พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศ ไทย เรียกตนเองว่า มหานิกาย ซึ่งแยกเป็น ๒ สำนักใหญ่ เรียกว่า ฝ่ายอรัญวาสี กับ คามวาสี

หลังการเสียกรุงครั้งที่ ๒ สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี จัดให้มีการสังคายนาพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็คือ ที่เรียกกันว่า ฝ่ายมหานิกาย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นโดย วชิรญาโณ หรือวชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

มหานิกายกับธรรมยุติกนิกายต่างก็อยู่ในเถรวาทด้วยกัน แต่แตกต่างกันในข้อวัตรปฏิบัติเล็กน้อยบางประการ เช่น การครองผ้าหรือสีของไตร สบง จีวร การถือเคร่งครัดในการออกเสียงภาษาบาลี เหตุซึ่งไม่น่าจะถือเป็นเรื่องของการแตกแยกทางความคิด ศรัทธาในพุทธศาสนาแต่อย่างใด

แต่ปัจจุบัน ในศตวรรษนี้เรื่องที่ดูเหมือนความแตกต่างทางความคิด ศรัทธาทางพระพุทธศาสนาก็คือ วัตรปฏิบัติของ พระภิกษุสงฆ์ ทั้งในฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ทำให้เกิดสำนักคิดทางศาสนาขึ้นหลายสำนัก พอจะแยกเป็นแนวทางได้ เช่น สำนักที่เคร่งการศึกษาปริยัติและปฏิบัติทางอภิธรรม ได้แก่ สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

สำนักหรือวัดป่าที่เคร่งครัดในธุดงควัตรและการปฏิบัติวิปัสสนาธุระ ที่ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้นำ

สำนักธรรมกายมุ่งเน้นการทำบุญ การสร้างกุศล และการทำสมาธิ ที่จะเข้าถึงการบรรลุเห็นความเป็นพุทธในสุขาวดี

สำนักฤๅษีลิงดำ ที่มุ่งต่อการสร้างมโนมยิทธิที่จะได้ไปเฝ้าและได้ฟังธรรมจากพระอมิตาภพุทธ

สำนักสันติอโศกที่นับเอาวินัยปิฎกเป็นแนวประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัด รวมทั้งการตีความถ้อยคำในพุทธพจน์ให้เป็นที่เข้าใจง่ายขึ้น

หรือแนวความคิดฝ่ายมหายานที่แฝงอยู่ในเถรวาท โดยเฉพาะการบำเพ็ญตนมุ่งไปสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาจะช่วยปุถุชนให้พ้นทุกข์กาย ทุกข์ใจ เช่น หลวงพ่อคูณ ซึ่งเพิ่งจะละสังขาร

ความแตกต่างแนวคิด แนวปฏิบัติและศรัทธาทางพุทธศาสนานี้ เป็นความเชื่อ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ละสังคม และสภาพแวดล้อมที่จะต้องยอมรับและไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือบังคับบัญชาได้

การจะปฏิรูปพุทธศาสนาจึงไม่เห็นหนทางที่จะเกิดขึ้นได้จากศรัทธาหรือความคิดที่ได้จากแนวคิดข้างต้น

ข้อสังเกตสำคัญจากอดีตก็ดี ทุกครั้งที่มีการสังคายนาหรือการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ทุกครั้งก็จะมีการแตกแนวความคิดและวัตรปฏิบัติทางศาสนาทุกครั้งไป

สาระสำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนาก็คือ เมื่อสังขารทั้งปวงย่อมไม่เที่ยงเพราะไม่มีตัวตน จึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วจะปฏิรูปให้เที่ยงแท้กันได้ในวิถีทางอย่างใดเล่า





นิกายโยคาจาร
นิกายโยคาจารเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาในฝ่ายมหายาน เช่นเดียวกับ นิกายมัธยามิกะตามแนวคิดของฝ่ายนาคารชุนที่เป็นแนวคิดฝ่ายปรัชญาของฝ่ายมหายาน ในที่นี้ อาจารย์สุมาลี มหณรงค์ชัย อธิบายว่า โยคะคือวิธีการฝึกจิตเพื่อเป้าหมายคือบรรลุโมกษะ (ความหลุดพ้น) รู้แจ้งความจริงและถอนความเชื่อทั้งปวงเกี่ยวกับโลกภายนอกได้

ในแนวคิดของนิกายโยคาจารนั้น อาจารย์สมภาร พรมทา สรุปว่าแนวคิดในลังกา วตารสูตรที่แต่งขึ้นก่อนท่านอสังคะและ ท่านวสุพันธ์จะสถาปนานิกายโยคาจาร ในข้อความบางตอนของลังกาวตารสูตรนี้ได้บรรยายไว้ว่า ธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง สรรพสิ่งที่มีอยู่ในอาณาเขตข้องจิต ข้อที่คนเขลามิอาจหยั่งเห็นได้เลย คนเหล่านี้คิดฝันไปต่างๆ นานา จึงสับสนไม่รู้ถึงซึ่งสัจธรรม ดังกล่าวนี้

และอีกบทหนึ่งที่กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าได้เปล่งคาถาว่าโลกตามที่เรามองเห็นนี้มิได้มีอยู่จริง ความหลากหลายของสิ่งต่างๆ ที่เรามองเห็นเกิดจากจิต ร่างกายของเรา ทรัพย์สินของเรา และบ้านเรือนของเราเป็นเพียงภาพสะท้อนที่มาจากอาลยวิชญาณเท่านั้น" (ในความหมายของโยคาจาร อาลยวิชญาณ หรืออาลยวิญญาณหมายถึงจิต ในทางเถรวาทจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูป ไม่มีขนาด เกิดและดับ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมีบางท่านแปลความว่าจิตมีความรวดเร็วมาก คงไม่ถูกต้องนัก เพราะสิ่งที่จะรวดเร็วไม่ว่าจะเท่าใดมีสถานะเป็นรูป จิตเป็นนาม ความเร็วของจิตก็คือ ความหมายของการเกิด ดับ ของตัวจิตเองที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา)

ความแตกต่างของนิกายมัธยามิกะกับนิกายโยคาจารก็คือ นิกายมัธยามิกะเน้นเรื่องศูนยตา คือความที่ไม่มีแก่นสารของชีวิตที่แท้จริง มีแต่การปรุงแต่ง

นิกายโยคาจารนั้นเน้นไปทางปรัชญาที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นจิตและออกจากจิตทั้งสิ้น อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณเป็นมูลการณะของโลกและสรรพสิ่ง อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณเป็นมูลฐานแห่งสรรพสิ่ง

ถ้าไร้อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณนี้แล้ว สรรพสิ่งก็ไม่มี ทั้งนี้เนื่องด้วยสรรพสิ่งเป็นเงาสะท้อนออกหรือพฤติภาพของ อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณ (อาลยวิชญาณ หรืออาลยวิญญาณเป็นชื่อของจิต ตามความเข้าใจของผู้เขียน อาลยวิชญาณหรืออาลยวิญญาณก็มิใช่อัตตาหรือแก่นสารของชีวิต)



โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ธันวาคม 2558 11:48:08 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2558 14:24:03 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


มหายาน

การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายอาจริยวาท คือ การนับถือคำสอนทางพุทธศาสนาที่ผ่านความเห็นความเข้าใจหรือศรัทธา ความคิดจากอาจารย์เป็นสำคัญ ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความแตกแยก เพราะจุดมุ่งหมายหลักของศรัทธา ความคิด และแนวข้อวัตรปฏิบัติก็เพื่อมุ่งไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ด้วยกัน

ความแตกต่างทางความคิดเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็คือเรื่องการตีความข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันบางประการ

กระทั่งแยกเป็นแนวทางศรัทธาและความคิดที่ชัดเจนก็ประมาณ ๑๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้น และการแตกต่างทางศรัทธา ความคิด ของทั้งสองฝ่ายที่กลายมาเป็นฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน

ฝ่ายมหายานนั้นเดิมเรียกว่า มหาสังฆิกะ ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวเมืองวัชชี สังคายนาพระพุทธศาสนาแข่งกับฝ่ายมหาเถระ (หรือเถรวาท) โดยมหายานยึดถือหลักธรรมและวินัยที่อาจารย์ฝ่ายตนประยุกต์เข้ากับสมัยหรือกาละของการปฏิบัติกันในสังคมพระสมัยนั้น และเรียกตนเองว่า อาจริยวาท หรือที่เรียกกันต่อมา คือ ฝ่ายมหายาน

พุทธศาสนาฝ่ายมหายานนี้นับถือแพร่หลายกันในตอนเหนือ เช่น เนปาล (ดินแดนที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ เทศนา สั่งสอนเป็นส่วนใหญ่) ทิเบต จีน ญี่ปุ่น

การขยายตัวของศรัทธาฝ่ายมหายานที่มุ่งไปทางทิศเหนือของเอเชียที่นำศรัทธา ความคิด ไปประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิต ศรัทธา ความคิด และปรัชญาท้องถิ่น ทำให้ข้อวัตรปฏิบัติบางอย่างแตกต่างและห่างออกไปจากฝ่ายเถรวาทมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เกิดสำนักคิดหรือนิกายย่อยตามมา




มหายาน (๒)

จากศรัทธาและแนวความคิดที่แตกต่างกันเล็กน้อยในเบื้องต้นกับฝ่ายเถรวาทได้คลี่คลายมาเป็นมหายานนั้น ต่างก็มีทัศนะในการเกิดขึ้นตามที่มีผู้รู้ทางศาสนาให้ความเห็นกันต่างๆ ก็คือ
๑. เกิดจากการผสมผสานกับอิทธิพลจากภายนอกในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยมีแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ เพราะความเชื่อศรัทธาในวิถีที่คิดว่าการบรรลุนิพพานยังมิใช่บทสุดท้ายแต่ต้องบรรลุความเป็นพุทธิภาวะ การเป็นพระโพธิสัตว์ก็คือ การบรรลุนิพพานและยังมีจิตเมตตามุ่งช่วยเหลือชนหมู่มากให้พ้นทุกข์ก็เป็นเรื่องสำคัญ
๒. เกิดจากแนวความคิดทางฝ่ายเถรวาทที่เรียกว่า สรวาสติวาท รวมทั้งแนวความคิดเรื่องพระโพธิสัตว์
๓. ว่ากระบวนการที่คลี่คลายมาเป็นมหายานโดยการผสมผสานศรัทธาและแนวความคิดของหลายนิกายทางเถรวาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการเกิดขึ้นของความเชื่อที่เรียก สำนักมัทธยามิกะ พระโพธิสัตว์พระมัญชุศรี มุ่งเน้นในทางปรัชญาความคิดมากกว่ารูปแบบและพิธี การที่อธิบายถึงทางสายกลางความหมายของท่านนาคารชุน แตกต่างกับมหายานในสายที่ขยายตัวไปทางเหนือของอินเดีย
๔.ไม่แตกต่างกับแนวความคิดในแนวทางที่ ๓ แต่มุ่งเน้นเรื่องพระโพธิสัตว์และการสวดพระสูตรในการเกิดขึ้น

ตามแนวทางนี้เมื่อพุทธศาสนาขยายตัวไปทางเหนือของอินเดียเข้าสู่ทิเบตและจีน จึงผสมผสานกับลัทธิความเชื่อท้องถิ่นเกิดเป็นมหายานอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นนิกายต่างๆ หลายนิกาย แต่ก็มีข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนๆ กัน เป็นส่วนใหญ่ที่เป็นรูปแบบและพิธีกรรมต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันเริ่มเข้าใจศึกษากันมากขึ้น




มหายาน (๓)

พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ดูเสมือนแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายสำคัญ ได้แก่ ฝ่ายพุทธิปัญญา กับ ฝ่ายตันตระหรือมนตรยาน

ฝ่ายพุทธิปัญญา แยกกันเป็น ๔ สำนักคือ ไวภาษิกะ, เสาตรานติกะ, จิตมาตรรถ หรือวิชญาณวาท หรือโยคาจาร และมาธยมิกะ แต่มีหลักสำคัญ ๔ ประการเป็นปรัชญาร่วมกันคือ
๑. สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
๒. สาสวสังขาร (สังขารที่มีกิเลส) ทั้งปวงเป็นทุกข์
๓. ธรรมทั้งปวงเป็นศุนยะ เป็นอนัตตา
๔. นิพพานเป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง

ส่วนฝ่ายตันตระหรือมนตรยาน ใช้หลักการของมหายานข้างต้นเข้าผสมกับพิธีกรรมผสมผสานกับวิถีความคิด ความเชื่อของสังคม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี สังคม ของท้องถิ่น ซึ่งนิกายนี้แพร่หลายอยู่ในทิเบต ภูฏาน จีน และญี่ปุ่น จึงเป็นมหายานอีกรูปแบบหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่ทำให้ปรัชญาความคิดของฝ่ายมหายานแตกต่างจากฝ่ายเถรวาท ก็เนื่องจากปรัชญาและความคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า กล่าวคือฝ่ายมหายานนั้นเดิมที่เรียกว่า มหาสังฒิกะ ถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นโลกุตตระ (คืออยู่เหนือโลก) พ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง มีอานุภาพไม่สิ้นสุด

พระพุทธองค์ทรงประกอบด้วยพระกาย ๓ เรียกว่าสังตรีกาย โลกุตตระ ซึ่ง "นานาสาระเกี่ยวกับพุทธศาสนา" ของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายคำว่าตรีกายไว้ดังนี้
- ธรรมกาย หมายถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ได้แก่ พระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ หรือ พระนิพพาน
- สัมโภคกาย เป็นพระกายที่เป็นทิพยภาวะ ประทับอยู่ ณ พุทธเกษตร และทรงแสดงพระสัทธรรมอยู่ในแดนอื่น หรืออาจจะมาปรากฏพระองค์แก่มนุษย์ และแสดงธรรมปีติยินดีและความเมตตาลงในจิตพระโพธิสัตว์
- นิรมานกาย คือพระกายที่เป็นกายเนื้อ หรือมนุษย์ เพื่อแสดงธรรมให้แก่มนุษย์ได้เห็นการเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป ของสังขาร

ส่วนในสารานุกรมไทย บรรยายความหมายของตรีกายไว้ดังนี้
- ธรรมกายคือ พระกายอันเป็นสาระหรือภาวะอันสำคัญของความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นภาวะที่จะเข้าสู่ความรู้แจ้งคือโพธิ (หรือหมายถึงพระนิพพาน)
- สัมโภคกาย เป็นพระกายทิพย์อันเกิด จากความสำเร็จนั้น มีรัศมีรุ่งเรืองแผ่ซ่าน ย่อมสำแดงปรากฏแก่หมู่พระโพธิสัตว์
- และ นิรมานกาย คือพระกายที่เนรมิตขึ้น หรือร่างกายของมนุษย์เพื่อสำแดงลักษณะอันแท้จริงของพระองค์





มหายาน (๔)

จากการที่เกิดศรัทธาและความคิดในการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า จนทำให้เกิดเป็นแนวทางใหญ่ๆ ๒ แนวทาง ก็คือ ฝ่ายเถรวาทและมหาสังฆิกะหรือมหายานขึ้นนั้น

ในฝ่ายของมหายานมีการแต่งคัมภีร์เพื่ออธิบายความหมายของธรรมะบางข้อที่พระพุทธเจ้าได้เทศนาเป็นเรื่องเฉพาะขึ้น (จากวิทยานิพนธ์ของประพจน์ อัศววิรุฬหการ เรื่องการศึกษาวิเคราะห์เรื่องพระโพธิสัตว์ในคัมภีร์เถรวาทและคัมภีร์มหายาน) ได้จัดแบ่งคัมภีร์มหายานเป็นลักษณะ ๓ ประเภท คือ
๑.คัมภีร์ที่แสดงความคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ โดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของพระโพธิสัตว์ และขั้นตอนการเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยกอุดมคติการบำเพ็ญธรรมมุ่งสู่พุทธภาวะแทนการบรรลุพระอรหัตผล เพื่อจะได้ช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นไปจากทุกข์

๒.คัมภีร์ที่กล่าวถึงแนวความคิด ปรัชญาศูนยตา (เป็นการอธิบายความหมายของคำว่าศูนยตา เช่นเดียวกับพระสูตรปฏิจจสมุปบาท หรือการไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่เหตุและปัจจัยเท่านั้นที่ปรุงแต่งขึ้น)

๓.คัมภีร์ที่กล่าวถึงแนวความคิดเรื่องการหลุดพ้นด้วยพุทธภักติ (ความเลื่อมใสยิ่งในความเป็นพุทธะคือผู้รู้ชัดรู้แจ้ง) ได้แก่ คัมภีร์สำคัญคือ สุขาวดีวยูหะ ที่กล่าวถึงการเตรียมตัวเข้าสู่ดินแดนที่มีพระพุทธเจ้านามอมิตพุทธหรือ อมิตายุส ประทับสั่งสอนธรรม

ในภาพเป็นรูปสลักพระพุทธเจ้านามอมิตพุทธในนิกายสุขาวดี ที่มีพระโพธิสัตว์ ๒ พระองค์คือ พระโพธิสัตว์ไมเตรยะและพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร





มหายาน (๕)

การเป็นพระโพธิสัตว์ของฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายานมีความแตกต่างกันในเรื่องของจุดมุ่งหมายของการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด

ในฝ่ายเถรวาทนั้น อาจารย์สมภาร พรมทา อธิบายว่า พระพุทธศาสนาดั้งเดิมมีทัศนะว่าคนเราเกิดมามีอุปนิสัยใจคอและคุณสมบัติแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในทัศนะของพุทธศาสนาแบบเดิม บางคนเหมาะที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญเพียรเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า บางคนเหมาะจะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า การเป็นพระโพธิสัตว์กับเป็นพุทธสาวกในแง่ความหลุดพ้นก็เข้าถึงนิพพานในที่สุดได้เช่นกัน

แต่ฝ่ายมหายานเห็นว่า ท่านผู้ใดได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมภายใต้การชี้แนะของพระพุทธองค์จนสำเร็จมรรคผลสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ช่วงชีวิตของพระอรหันต์ท่านนี้จะบำเพ็ญประโยชน์ให้กับผู้อื่นไม่มากนัก หากแต่ท่านผู้นี้ตั้งจิตปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยการหลุดพ้นของตนเอง ไม่เร่งรีบเข้าสู่นิพพาน จะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากกว่า

ในฝ่ายเถรวาทนั้นผู้ตั้งจิตปรารถนาจะเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยตนเองนั้น ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ เรียกว่า ทศบารมี คติเช่นนี้ได้มีการสร้างศาสนสถานอันเป็นเครื่องหมายก็คือ พระธาตุหลวง กรุงเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีเจดีย์รายล้อมเจดีย์หลักอยู่ ๓ องค์

ส่วนข้อวัตรปฏิบัติบางประการเป็นพระโพธิสัตว์ ฝ่ายมหายานนั้นมีแนวปฏิบัติคือ
๑.ต้องบำเพ็ญทศบารมี ๑๐ ประการ (เหมือนฝ่ายเถรวาท)
๒.ต้องประกอบด้วยอัปปมัญญาภาวนา (หรือหลักพรหมจริยา ๔) ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
๓.ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ
    ๑) มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เห็นสัจธรรมไม่ตกเป็นทาสกิเลส
    ๒) มีจิตใจกรุณาต่อสรรพสัตว์ที่ปราศจากขอบเขต
    ๓) ต้องมีวิธีการที่ชาญฉลาดในการสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม
๔.ต้องมีมหาปณิธาน ๔ ข้อ คือ
    ๑) สรรพสัตว์ทั้งหลายอันหาประมาณมิได้ จักโปรด และปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นทุกข์
    ๒) กิเลสทั้งหลายที่ไม่สงบ ระงับ จะกำจัดให้หมดสิ้นไปและช่วยแนะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย
    ๓) ธรรมทั้งหลายอันไม่มีประมาณ ต้องศึกษาให้เจนจบ
    ๔) พุทธมรรคอันประเสริฐ ต้องบรรลุให้จงได้ ต้องสมาทานโพธิสัตว์ศีล ๑๐ ประการ

มหาปณิธาน ๔ รวม ๑๔ ข้อ
๑.ระลึกถึงพุทธานุสติเสมอและหมั่นเข้าใกล้กัลยาณมิตร
๒.หลีกไกลจากมิตรชั่ว
๓.ไม่ละเมิดศีลแม้ต้องสิ้นชีวิต
๔.ศึกษาท่องบ่นพระสูตรพระวินัยมหายานเสมอและซักถามข้อสงสัย
๕.ศรัทธาในอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเสมอ
๖.หากพบเห็นสรรพสัตว์รับทุกข์ทรมานต้องช่วยเหลือเสมอ
๗.ถวายบูชาพระรัตนตรัยตามกำลังสามารถเสมอ
๘.กตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์
๙.ละทิ้งความเบื่อหน่ายและเกียจคร้าน ขยันหมั่นศึกษาพุทธธรรม
๑๐.เมื่อเกิดกิเลสจากวิสัย ๕ หรือที่ตั้งแห่งอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สามารถข่มจิตใจลงได้
๑๑.สรรพสัตว์ทั้งหลายอันประมาณมิได้ เราจักโปรดให้หมดสิ้น
๑๒.กิเลสทั้งหลายที่ไม่สงบระงับ เราจะกำจัดให้หมดสิ้น
๑๓.ธรรมทั้งหลายอันไม่มีประมาณ เราจะต้องศึกษาให้เจนจบ
๑๔.พุทธมรรคอันประเสริฐ เราจะต้องบรรลุให้จงได้



มหายาน (๖)

จากการที่ได้แบ่งคัมภีร์ฝ่ายมหายานออกเป็น ๓ ลักษณะ ๓ ประเภท จากวิทยานิพนธ์ของประพจน์ อัศววิรุฬหการ และได้เขียนถึงลักษณะที่ ๑ หรือประเภทที่ ๑ ที่เน้นถึงเรื่องพระโพธิสัตว์

ในสัปดาห์นี้จะเขียนถึงคัมภีร์ที่กล่าวถึงแนวความคิดปรัชญา ที่ขยายความพุทธพจน์สำคัญก็คือ เรื่องที่เกี่ยวพันกันของคำว่า ศูนยตา หรือปฏิจจสมุปบาทของฝ่ายเถรวาทในคัมภีร์ทางฝ่ายศูนยตามี ๒ คัมภีร์หลัก

ที่มาจากแนว คิดของท่าน นาคารชุน เรียกว่า นิกายมาธยมิก หรือศูนยตาวาท กับแนวความคิดเรียกว่า นิกายโยคาจาร ของท่าน อสังคะ และท่านวสุพันธ์ ทั้งสองนิกายนี้มีความละเอียดลึกซึ้งมาก และยังต้องถกเถียงและอธิบายความกันอยู่ตลอดมา

ขอเริ่มต้นทำความเข้าใจกันก่อนในเรื่องของนิกายมาธยมิกของท่านนาคารชุน อาจารย์สุมาลี มหณรงค์ชัย อธิบายว่า มัธยมิกะ คือ กลุ่มของชาวพุทธที่ยอมรับคำสอนว่าด้วยเรื่องของความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันและกันที่มีอยู่ของสรรพสิ่ง

คำว่าทางสายกลางของท่านนาคารชุนนั้น มุ่งเน้นไปสู่ความหมายถึงการไม่มีอัตตา หรือแก่นสารของชีวิต มีแต่การปรุงแต่งจากเหตุและปัจจัย ในฝ่ายเถรวาทเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ส่วนในความหมายของทางสายกลางในฝ่ายเถรวาทนั้น ปรากฏขึ้นในปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ว่า ทางสายกลางหมายถึง การที่บรรพชิตไม่พึงเสพ ๒ ประการ คือ การบำเรอตนด้วยกามคุณในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส กับการไม่ทรมานตนให้ยากลำบาก คือ อริยมรรค อันมีองค์ ๘

มัธยมิกะ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ศูนยตาวาท ซึ่งหมายถึงคำสอนที่ประกาศความว่างในสิ่งทั้งหลาย

ในการจะอธิบายความหมายของคำว่า มัธยมิกะหรือทางสายกลาง หรือคำว่า ศูนยตานั้น

ท่านนาคารชุนได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า วิภาษวิธี ทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตวิญญาณเพื่อตระหนักรู้ตัวเองเป็นการวิพากษ์เหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อที่ไปไกลกว่าประสบการณ์สามัญ วิภาษวิธีคือการตระหนักรู้ถึงความขัดแย้ง และไม่มีที่สิ้นสุดของเหตุผล ในทางพุทธศาสนามันก่อให้เกิดญาณหยั่งรู้ที่พ้นไปจากบัญญัติทั้งปวง

มัธยมิกะ หรือศูนยตาวาท ก็คือ การใช้วิภาษวิธีที่จะค้นหาความจริงขั้นสูงสุด ที่น่าจะสรุปได้ว่า

ต่างๆ ในโลกนี้ล้วนแต่ว่างเปล่าไร้แก่นสาร สาระ มีแต่เหตุและปัจจัยต่างๆ ซึ่งมิได้มีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา หรือแก่นของชีวิต ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ตรงกันกับเรื่องปฏิจจสมุป บาทของฝ่ายเถรวาท




นิกายสุขาวดี

อาทิตย์ที่แล้วเขียนถึงแนวคิดฝ่ายที่ ๓ ของมหายานที่กล่าวถึงนิกายสุขาวดี และก็พาดพิงไปถึงการผสมผสานแนวคิดของฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย กับรูปแบบทางสถาปัตย กรรมที่สะท้อนทั้งแนวคิดของนิกายสุขาวดี อาทิตย์นี้จึงขอเพิ่มเติมความเข้าใจเรื่องนิกายสุขาวดี

อาจารย์สมภาร พรมทา บรรยายว่า นิกายนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ความคิดแนวของสุขาวดีนี้มีมาก่อนแล้วในมหายานยุคต้นที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่มากมายดั่งเม็ดทรายในมหาคงคานที และพระพุทธเจ้านั้นจะประจำอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า พุทธเกษตร และพุทธเกษตรที่สำคัญองค์หนึ่งชื่อว่า สุขาวดีพุทธเกษตร อันมีพระพุทธเจ้านาม อมิตพุทธ ซึ่งแปลว่า ผู้มีแสงสว่าง (หมายถึงปัญหา) ที่ส่องไปได้ทุกที่ทุกแห่ง

เมื่อพุทธศาสนาในแนวนี้ได้ขยายเข้าไปในประเทศจีน ซึ่งมีผู้คนเป็นจำนวนมากต้องตรากตรำทำงานหนัก ที่รู้สึกว่าร้อนรุ่มเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ย่อมปรารถนาหรือใฝ่ฝันที่จะอยู่ในทิพยสถานที่มีความเบาสบายรื่นรมย์ ผู้คนเหล่านั้นก็ฝันใฝ่ถึงพุทธเกษตร นิกายสุขาวดีจึงขยายตัวและได้รับความนับถือแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และดูจะมากที่สุดในฝ่ายมหายาน

ในความเป็นพุทธศาสนิกชน จุดมุ่งหมายอันสำคัญของพุทธศาสนิกก็คือการเข้าถึงนิพพาน และนิพพานนี้มีความหมายอยู่ ๒ สถานก็คือ
แบบที่ ๑ ที่บุคคลเข้าถึงนิพพานแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก ก็คือพ้นจากทุกข์อันเจืออยู่ด้วยกิเลส แต่ยังติดพันอยู่กับทุกข์ทางกาย
แบบที่ ๒ ก็คือ บุคคลที่เข้าถึงนิพพานเมื่อชีวิตของความเป็นมนุษย์สิ้นสุดลง ซึ่งหมายถึงความสิ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ

ทีนี้เมื่อเป็นมนุษย์อยู่แต่ไม่อาจเข้าสู่ภาวะนิพพานในช่วงชีวิตได้ก็ปรารถนาที่จะเข้าสู่ภาวะนิพพานเมื่อชีวิตล่วงไป ก็ตั้งจิตปรารถนาที่จะไปเกิดในแดนสุขาวดี ซึ่งเมื่อได้ไปบังเกิดในแดนสุขาวดีแล้วผู้นั้นจะได้ฟังธรรมจากพระอมิตพุทธเจ้าที่ทรงรอบรู้ในการสั่งสอนสัตว์โลกก็จะบรรลุนิพพาน ณ ที่นั้น

นั่นหมายความว่าตัวบุคคลจะปรารถนาเข้าสู่ภาวะนิพพาน บุคคลนั้นจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีศรัทธายึดมั่นในความดี และตั้งจิตปรารถนาที่จะไปบังเกิดในแดนสุขาวดีตลอดชีวิต กล่าวคำสรรเสริญพระพุทธเจ้านามอมิตพุทธ ผู้นั้นเมื่อจุติจากโลกนี้ไปแล้วปฏิสนธิในพุทธเกษตรนามสุขาวดี และจะได้ฟังธรรมจากพระอมิตพุทธเจ้าเพื่อเข้าสู่ภาวะนิพพาน



อมิตพุทธ

ได้เขียนถึงคัมภีร์มหายานที่มีลักษณะ ๓ ประเภท ไปแล้ว ๒ ประเภท คือคัมภีร์ที่แสดงความคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ที่กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโพธิสัตว์

คัมภีร์ที่กล่าวถึงแนวความคิด ปรัชญาศูนยตา และคัมภีร์ที่กล่าวถึงแนวความคิดเรื่องการหลุดพ้นด้วยพุทธภักติ (ตามแนวทางวิทยานิพนธ์ของประพจน์ อัศว วิรุฬหการ) ในลักษณะของแนวความคิดเรื่องพุทธภักติ ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในภาพรอยจันติ

ตามที่เห็นในภาพยนตร์บ่อยๆ ในฉากที่มีพระจีนเอ่ยคำว่า "อมิตพุทธ" ก็คือวัตถุประสงค์ในการจะเอ่ยนามพระพุทธเจ้าอมิตพุทธ อันเป็นธยาธพุทธ ผู้สถิตอยู่ในพุทธเกษตรแดนสุขาวดี เพื่อผู้เอ่ยนามจะได้เข้าสู่แดนสุขาวดี และได้รับคำสอนให้บรรลุถึงพุทธภาวะ ณ ที่นั้น

การผสมผสานระหว่างคัมภีร์มหายานในฝ่ายนี้กับเถรวาทในประเทศไทย ที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมไทย เช่น การสร้างโบสถ์ วิหาร ที่มีฐานอ่อนโค้ง ที่เรียกว่าท้องสำเภา ซึ่งหมายถึงภารกิจของพระโพธิสัตว์ที่จะต้องพาสัตว์โลกทั้งหมดในเรือสำเภานี้พ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง

ส่วนแนวทางความคิดที่ผสมผสานกัน เช่น แนวทางของธรรมกาย ของท่านธัมมชโย ที่มุ่งหวังให้ผู้คนทำบุญกุศลในพระพุทธศาสนาเพื่อจะได้บรรลุถึงแดนที่มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ หรือความคิดแบบมโนมยิทธิของท่านหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ จังหวัดอุทัยธานี ที่ใช้วิธีการสร้างมโนมยิทธิให้พุทธศาสนิกชนได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดี




ตันตระยาน

จากแนวความคิด ๓ ฝ่าย ของทางมหายาน ก็คือ

แนวความคิดเรื่องพระโพธิสัตว์

แนวความคิดที่เรียกว่า ปรัชญาศูนยตา (แทนคำว่า อนัตตา)

แนวความคิดเรื่องการหลุดพ้นด้วยวิธีทางที่เรียกว่า พุทธภักติ

ตันตระยานเป็นแนวคิดหรือศรัทธาและแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเชื่อถือกันอยู่ในทิเบต ภูฏาน และบางส่วนของเนปาล ซึ่งต่อมาการผสมผสานกับวิถีความเชื่อทางพื้นถิ่นของฮินดูได้คลี่คลายไปเป็นวัชรยานหรือมนตรยาน

แนวความคิดทางตันตระยานดูจะเป็นการรวมแนวความคิดทั้ง ๓ แนวทางเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน และดูจะแตกต่างกับความเห็นของศาสนิกชนฝ่ายเถรวาท ที่ฝ่ายตันตระยานดูจะเหมือนมุ่งเน้นไปที่พิธีกรรมบางประการ (อันน่าจะเกิดจากการผสมผสานกับแนวคิดทางพื้นถิ่นหรือกับฝ่ายฮินดู กล่าวคือการที่มีเทพ หรือมารที่มีรูปลักษณะคล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันในความหมาย

อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์บางท่านยังคงยืนยันว่า ตันตระยานนั้นเริ่มปรากฏมาแต่สมัยของท่านนาคารชุนผู้ประกาศนิกาย ศูนยตาหรือมาธยมิกะนั้น ท่านนาคารชุนเป็นผู้ปฏิบัติตามวิธีการของตันตระยานที่เคร่งครัดและชัดเจน

ตันตระ แปลว่า ความต่อเนื่อง ในทางเถรวาทน่าจะเปรียบได้กับ ปฏิจจสมุปบาท ที่ชาติภพเป็นการต่อเนื่องจากเหตุปัจจัย ที่ต่อเนื่องกันโดยไม่มีตัวตนหรือภาวะของแก่นสารแห่งชีวิต

โดยความเห็นฝ่ายมหายานที่เห็นว่า พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงหมุนล้อพระธรรมจักร ๓ ครั้ง ซึ่งหมายถึงเทศนาในหลักใหญ่ไว้ ๓ ครั้ง

ครั้งแรกนั้นปรากฏอยู่ในฝ่ายเถรวาทที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ส่วนอีก๒ ครั้ง เป็นเรื่องของฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นเรื่องของอุดมคติของการหลุดพ้นสังสารวัฏของสภาพสัตว์ อันนำไปสู่ความคิดเรื่องของโพธิจิต (จิตที่ต้องการตรัสรู้ธรรมเพื่อประโยชน์สัตว์ทั้งหลาย)

ในเรื่องของตันตระยานก็คือ เป็นคำสอนการปฏิบัติระดับสูงซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนสาวกในวงจำกัด ดังนั้นการปฏิบัติตันตระยานจึงต้องมีอาจารย์ที่เป็นผู้บรรลุธรรมแล้วเป็นผู้กำหนดมนตราภิเษกให้กับศิษย์ผู้นั้นจึงบรรลุโพธิจิตหรือโพธิภาวะได้





ตันตระยาน (๒)

การเคลื่อนวงล้อพระธรรมจักร ๓ ครั้ง ของฝ่ายมหายานนั้น อธิบายความได้ว่าการเคลื่อนวงล้อพระธรรมจักรครั้งที่ ๑ ก็คือ การแสดงปฐมเทศนาให้กลุ่มปัญจวัคคีย์

ในทางฝ่ายเถรวาทเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตสูตรที่สาระสำคัญของการเคลื่อนวงล้อก็คือเรื่องของการดับทุกข์ ที่เรียกว่าอริยมรรค

ในการเคลื่อนวงล้อพระธรรมจักรครั้งที่ ๒ นั้น ทางฝ่ายมหายานปรากฏอยู่ในปรัชญาปวรมิตสูตร (ที่เชื่อกันว่าท่านนาคารชุนแห่งนิกายมัทยมิกะเป็นผู้ค้นพบคำสอนนี้) ที่กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงนิโรธ การพ้นทุกข์ โดยเน้นศูนยตา (อนัตตา) โดยละเอียด

ส่วนการเคลื่อนวงล้อพระธรรมจักรครั้งที่ ๓ ทรงสอนถึงเทคนิควิธีที่จะยกระดับภูมิปัญญาซึ่งรู้แจ้งในศูนยตาจากทรรศนะของผู้เข้าถึง

ในหนังสือพระพุทธศาสนาแบบทิเบตของ ท่านภิกษุณี ธัมมนันทา ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน บรรยายเรื่องของตันตระยาน ไว้ดังนี้ "ตันตระยานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนวงล้อพระธรรมจักรครั้งที่ ๓ คำว่า ตันตระ หมายความถึงการสืบเนื่อง ความสืบเนื่องหมายถึงความสืบเนื่องของจิตหรือวิญญาณ ด้วยจิตนี้ในระดับปุถุชนทำให้เราสร้างอกุศลกรรมเป็นผลให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ในมรรควิถีแห่งจิตวิญญาณ มันเป็นความสืบเนื่องของวิญญาณที่ทำให้เราพัฒนาทางจิตได้ ได้สัมผัสถึงการรู้แจ้งแห่งมรรคและบนพื้นฐานแห่งความสืบเนื่องนี้อีกเหมือนกันที่ทำให้เราได้เข้าถึงบรมธรรม"




คุรุริมโปเช
วัชรยาน

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในแนวทางของตันตระยานที่ผ่านเข้าสู่ทิเบตและจีน ปะทะเข้ากับความเชื่อและลัทธิของท้องถิ่นที่เรียกว่า ศาสนาบอน ที่เชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจและพิธีกรรมต่างๆ กระบวนการแผ่ขยายจึงต้องปรับรูปแบบเพื่อสอดคล้องกับท้องถิ่น เกิดเป็นแนวพิธีกรรมและวิธีการที่เรียกว่า "วัชรยาน" ขึ้น

วัชระ แปลความหมายก็คือ สายฟ้าหรือเพชร หรือสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุด ที่ใช้ตัดสรรพสิ่งหรือนัยยะ ก็คือ ปัญญา คือความรู้แจ้งที่จะตัดทุกข์ได้เด็ดขาด

วัชรยานจึงน่าจะแปลว่า การใช้ปัญญาไปสู่ความรู้แจ้งหรือพุทธภาวะที่ตรงที่สุดและรวดเร็วที่สุด

ในตำนานการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานหรือตันตระยาน กล่าวถึงบุคคลสำคัญของท่านคือ ท่านศานตรักษิตกับคุรุปัทมสมภพ หรือ คุรุริมโปเช

ท่านศานตรักษิตนั้น เป็นผู้บรรยายหลักเกณฑ์ทางศาสนาที่เป็นปรัชญาลึกซึ้งของทางตันตระยาน

แต่ท่านคุรุปัทมสมภพนั้น กล่าวกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในการปราบภูตผีปีศาจ (ตามความเชื่อของพื้นถิ่นและรวมถึงความเชื่อในลัทธิของฮินดู) และบังคับให้ ภูตผีปีศาจเหล่านั้นเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา โดยเปลี่ยนแปลงหลักการแห่งความเชื่อและพิธีกรรมบางอย่างให้เข้ากับแนวทางทางพุทธศาสนา เช่น เปลี่ยนแนวความคิดในเรื่องของศักติ ที่แปลว่าคู่กัน เช่น พระวิษณุคู่กับนางอุมา กลายมาเป็นคุณสมบัติของผู้ที่พร้อมจะเข้าถึงพุทธธรรมโดยเปรียบเทียบความเป็นชายก็คือ ความเพียร ความอดทน อดกลั้น ต้องพร้อมด้วยปัญญา หรือความเป็นหญิงต้องมีพร้อมอยู่ในตัวของผู้นั้น และต้องได้รับการอภิเษกจากผู้ที่บรรลุธรรมก่อน

โดยกระบวนนี้ทำให้พุทธศาสนาวัชรยานเกิดมีเทพผู้พิทักษ์ขึ้นมากมาย ที่มีรูปร่างหน้าตา มีทั้งปางดุร้ายและปางใจดี อันมีความหมายเป็นคุณธรรมต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อเพิ่มเติมในเรื่องของการบรรลุความเป็นพระโพธิสัตว์ จะต้องได้รับการอภิเษกจากครูผู้ที่บรรลุ และได้รับการช่วยเหลือจากบรรดาเทพทั้งหลายด้วย

กระบวนการและพิธีกรรมของวัชรยานที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาทอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตามภายใต้ศรัทธาของกระบวนการทางพิธีกรรมของฝ่ายวัชรยานก็ยังมุ่งให้ศาสนิกชนมุ่งไปสู่การเป็นพระโพธิสัตว์ตามหลักการของมหายาน

ปัจจุบันวัชรยานหรืออีกชื่อก็คือ มนตระยาน ก็ยังเป็นพุทธศาสนาประจำชาติของทิเบตและภูฏานอย่างมั่นคงแน่นหนา ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังภูฏานจะพบเห็นการบูชาคุรุริมโปเชหรือท่านปัทมสมภพกันทั่วไป




หินยาน

ภายหลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังพระ พุทธเจ้าปรินิพพาน โดยการประชุมและเห็นชอบร่วมกันของพระอริยสงฆ์ หรือผู้บรรลุอรหันต์ทั้งหมด ซึ่งสรุปได้ว่า เรื่องราวหรือธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสได้สอนเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก คือ เป็นการแสดงธรรมในเรื่องใดๆ และได้รับการยอมรับจากพุทธบริษัททั้งปวงว่า ธรรมที่ได้จากการทำสังคายนาครั้งนี้จึงน่าจะถูกต้องชัดเจนที่สุด และได้ยึดถือและปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานกันมา

แต่หลังการสังคายนาครั้งที่ ๑ ประมาณ ๑๐๐ ปี มีพระภิกษุบางพวกบางเหล่าเริ่มมีข้อวัตรหรือการถือปฏิบัติตามพระวินัยแตกต่างกัน อันเป็นผลให้เกิดการตีความถ้อยคำในพระธรรมบางข้อบางตอนก็แตกต่างกันออกไปด้วย

จึงมีพระภิกษุบางกลุ่มบางพวกเห็นว่า ควรจะทบทวนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แตกต่างกันไปบ้างนั้นให้ตรงกัน จึงเกิดเป็นการสังคายนาพุทธศาสนาครั้ง ที่ ๒ ขึ้น

ผลจากการเกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ นี้เอง จึงเกิดการแตกแยกแนวคิดและแนวปฏิบัติออกเป็น 2 พวก พวกที่หนึ่งก็คือ พวกที่มีความเห็นว่า แนวคิดแนวปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่เที่ยงตรงนั้นต้องยึดตามแบบแผนประเพณีที่กำหนดไว้จากการสังคายนาครั้งที่ ๑ โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด

ส่วนพวกอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า มีคำกล่าวของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่า พระวินัยที่บัญญัติไว้นั้น หากเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นสาระสำคัญ (ต่อการดำรงสมณชีพในเวลานั้น) ก็ให้เพิกถอนได้

การแตกแยกครั้งนี้จึงเกิดเป็นนิกายหลักขึ้น ๒ นิกาย ก็คือ นิกายเถรวาท ที่หมายถึงผู้ที่ยึดมั่นปฏิบัติธรรมตามผลที่ได้จากการสังคายนาครั้งที่ ๑ อย่างเคร่งครัดไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนกลุ่มที่ ๒ ที่มีมากกว่าที่เรียกว่า มหาสังฆิกะ หรือ นิกายมหายาน ก็ปรับวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่ลดแนวปฏิบัติหรือศีลวัตรลงบางส่วนและใช้หลักเกณฑ์ทางตรรกะอธิบายคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้ผู้คนในสังคมและชุมชนในท้องที่นั้นๆ ซึ่งมีข้อวัตรประเพณีที่แตกต่างกันเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือการแสวงหานิพพานมิได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่เน้นย้ำให้ความสำคัญสำหรับการช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ให้มากขึ้น กล่าวคือ การมุ่งที่เน้นความเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุพุทธภาวะต่อไป

ฝ่ายนิกายมหายานก็เรียกฝ่ายเถรวาทว่า เป็นพวกหินยาน หมายถึงผู้ที่บรรลุธรรมะหรือบรรลุถึงความเป็นอรหันต์ไปโดยส่วนตนมิได้มุ่งช่วยเหลือสัตว์โลกให้บรรลุธรรมไปด้วย

ฝ่ายเถรวาทนั้นเมื่อตกลงกันเป็นชัดเจนแล้วว่าจะประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ได้เคยทำสังคายนาไว้แล้วในครั้งที่ ๑ นั้น ก็เริ่มแตกความคิดในการอธิบายธรรมะบางเรื่องแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้หลักการในข้อวัตรปฏิบัติเช่นเดิม


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2559 16:53:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 11 ตุลาคม 2558 11:41:58 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



ดอกบัว

พืชพรรณ ในพุทธศาสนา : ดอกบัว

ดอกบัวเพิ่งจะเป็นจุดสนใจ พิเศษในสัปดาห์นี้เมื่อมีการปรับภูมิทัศน์ในทำเนียบรัฐบาล และมีอ่างบัวมาวางไว้ เจ้าหน้าที่ระบุว่าเพื่อความสวยงามและเป็นสิริมงคล

ดอกบัวเป็นไม้น้ำ เกิดขึ้นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในแถบเขตร้อน คุณลักษณะเด่นของดอกบัว ใบบัว ก็คือ ไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกใดๆ แม้เกิดขึ้น เจริญงอกงามในพื้นที่ที่ดูสกปรก เลอะเทอะ เต็มไปด้วยโคลนตมก็ตาม

 จากเอกสารบรรยายเรื่องบัวกับวัฒนธรรมไทย โดยนาวาอากาศตรีหญิง ปริมภาก ชูเกียรติมัน กล่าวถึงเรื่องของดอกบัวมีอยู่ในไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง มี ๗ ชนิด มีชื่อดังนี้ คือ นิลุบล รัตตบล เสตุบล จงกลนี บัวแดง บัวขาวและกมุท

ในรายงานเล่มเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงพระยาวินิจวนันดรได้รวบรวมลักษณะของพืชที่ปลูกเลี้ยงกันในเมืองไทยและกล่าวถึงบัวไทย ๑๑ ชื่อ คือ บัวสายขาวดอกเข็ม บัวสายขาวหรือ สัตตบุษย์ บัวสายแดง สัตตบรรณ จงกลนี บัวผัน บัวเผื่อน บัวผันสีครามแก่หรือนิลุบล บัวหลวงดอกไม้ซ้อนสีขาวบัวหลวงดอกไม้ซ้อนแดง สัตตบงกช สัตตบุษย์

ดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ในทางพุทธศาสนาหมายถึง ความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสหรือความสกปรกใดๆ แม้พัวพันอยู่กับสิ่งนั้นก็ตาม

ภาพพระพุทธรูปทั้งรูปวาดและรูปปั้น ไม่ว่าประทับยืนหรือนั่ง จะประทับอยู่บนดอกบัว อันหมายถึงความพ้นไปแล้ว อยู่เหนือความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมีเกิดเป็น พ้นจากโลกธรรมทั้งปวง

บัวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์บูชาพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป จะใช้บัวหลวงดอกใหญ่ เช่น บัวสัตตบุษย์สีขาวดอกใหญ่

นอกจากนี้บัวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การนำรูปแบบของบัวมาประดับเป็นยอดเสา พระอุโบสถหรือมหาวิหาร เรียกว่า บัวกลุ่มหัวเสาสำหรับเสากลาง และเรียกบัวแวงหรือบัวเกสรหัวเสา สำหรับเสารูปทรงเหลี่ยม การนำสัญลักษณ์ของดอกบัวมาเป็นส่วนประกอบของหัวเสาก็คือความหมายของการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวหรือด้วยความบริสุทธิ์




พืชพรรณในพุทธศาสนา : ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ใหญ่ ชื่อจริงในภาษาบาลีชื่อว่า อัตสัตถะ แต่ที่เรียกต้นโพธิ์เนื่องจากเป็นต้นไม้ใหญ่อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในขณะตรัสรู้

การจะเรียกต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ต้องเรียกว่า ต้นศรีมหาโพธิ และก็ใช้เรียกหน่อที่เติบโตจากต้นศรีมหาโพธิเช่นเดียวกัน

คำว่า โพธ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ

โพธิ์ แปลว่า ความตรัสรู้ คือความรู้ในความเป็นจริงที่เรียกว่า รู้ในอริยสัจ

พุทธหรือพุทธะ เป็นคำนาม แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว

คำว่า ตรัสรู้หรือความรู้ในความจริง หมายความในทางภาษาเรียกว่า รู้แจ้ง รู้ชัด

ในความหมายที่ปรากฏอยู่ในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าได้กล่าวแก่ปัญจวัคคีย์มีถ้อยคำบางคำที่บอกถึงความหมายของคำว่ารู้แจ้งรู้ชัด

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่างได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คำว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่าง หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ อย่างที่สุด

ในภาษาอังกฤษน่าจะหมายถึงคำว่า ENLIGHTMENT

มีความเชื่อกันในประเทศไทยว่า ได้มีการนำหน่อศรีมหาโพธิมาปลูกและเจริญเติบโตในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง เช่น ที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เป็นต้น

วัดวาอารามทางพุทธศาสนาหลายแห่งจึงมักจะปลูกหน่อศรีมหาโพธิไว้เป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่าบริโภคเจดีย์ เพื่อระลึกถึงสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและหมายทางนามธรรมก็คือ ณ ที่นี้ พระพุทธศาสนาอันหมายถึงความรู้แจ้ง รู้จริง ในอริยสัจนั้น ได้หยั่งรากลง ณ ที่นี้แล้ว





ต้นไม้ในพุทธศาสนา - ต้นสาละ

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ใช้แสดงความหมายบางอย่างทางพุทธศาสนา ที่เป็นทั้งการกล่าวถึงทางพุทธประวั และงานศิลปะทางศาสนาก็คือต้นไม้ที่แสดงถึงความหมายต่างๆ กัน

ต้นไม้ชนิดแรกที่กล่าวถึงในพุทธประวัติก็คือ การประสูติของพระพุทธเจ้าที่ตำบลลุมพินี ณ ใต้ต้นสาละ ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างทางกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ

ต้นสาละ ชื่อในทางบาลี สาละ, อสสกณณ, อสสกณณโณ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ก็ประทับอยู่ที่ใต้ต้นสาละริมแม่น้ำเนรัญชราก่อนจะเสด็จไปประทับที่ใต้ต้นโพธิ์และตรัสรู้ ในสมัยที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานพระพุทธองค์ก็ไปประทับอยู่ใต้ต้นสาละคู่

ต้นสาละจึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

ต้นสาละนั้นมี ๒ ชนิด คือ สาละอินเดียกับสาละลังกา สาละอินเดียจะเกี่ยวพันกับพระพุทธเจ้าดังกล่าวข้างต้น สาละอินเดียกับสาละลังกาอยู่ในวงศ์ที่แตกต่างกัน สาละอินเดียอยู่ในวงศ์พวกเดียวกับไม้พะยอม เต็ง รัง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ออกดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม

ส่วนสาละลังกาหรือต้นลูกปืนใหญ่ เป็นพืชอยู่ในวงศ์ต้นจัก มีดอกสีชมพูอมเหลืองแดง กลิ่นหอม ที่วัดพระนอนจักรสีห์ สิงห์บุรี ปลูกไว้ด้านทางเข้าวิหารพระนอน สาละลังกาไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า




ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในวันเพ็ญเดือนหก เมื่อ ๒,๖๐๐ ปี

เดิมต้นโพธิ์มีชื่อว่า อัตสัตถะต้นอัตสัตถะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ วันตรัสรู้นั้น เรียกต้นศรีมหาโพธิ

- โพธ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ
- โพธิ แปลว่า ความตรัสรู้

เพราะฉะนั้น ต้นโพธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์หลายประการทางพุทธศาสนา เช่น เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
- โพธิบัลลังก์ อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ
- โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
- โพธิสัตว์ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

ปัจจุบัน ต้นศรีมหาโพธิที่พุทธคยาในอินเดีย เป็นหน่อที่ ๓ ของต้นศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ในประเทศไทย วัดทางพระพุทธศาสนาจึงมักจะปลูกต้นโพธิ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ต้นโพธิ์สำคัญต้นหนึ่งในประเทศไทยคือ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี เชื่อกันว่าเป็นหน่อหนึ่งของต้นศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าประทับ และได้นำมาปลูกในสมัยทวารวดี คือ ประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว





ดอกบัว
ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ภาพพระพุทธเจ้าไม่ว่าจะเป็นพระ พุทธรูปที่เป็นภาพวาดหรือภาพพระบฏ หรือรูปปั้นแกะสลักใดๆ ก็ตาม ก็จะมีดอกบัวเป็นสัญลักษณ์รองที่ประทับ ไม่ว่านั่งหรือยืนเสมอ

การที่ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เพราะดอกบัวเกิดในน้ำ ในพื้นที่ชื้นแฉะ แต่จะไม่มีสิ่งใดติดกับดอกบัวได้

ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีคำบริกรรมอยู่คำหนึ่งที่ใช้ท่องในการบูชาพระพุทธเจ้า คือคำว่า โอม มณี ปัทเม หุม (ภาษาท้องถิ่นในทิเบต เรียก โอม มานี ปาเม หุม)

โอม มณี ปัทเม หุม จึงมีความหมายว่า ปัญญาหรือความรู้ชอบหรือการตรัสรู้อริยสัจของพระพุทธเจ้าเป็นความบริสุทธิ์

ในสัญลักษณ์อีกประการของดอกบัวคือ การแบ่งภูมิ ปัญญาของสัตว์ผู้จะรู้ธรรมได้เป็นสี่พวก คือ

พวกที่หนึ่งที่เรียกว่า บัวเหนือน้ำ ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น หมายถึงสัตว์โลก (หรือมนุษย์) ที่มีสติปัญญา บารมี ที่จะรู้ธรรมได้โดยง่าย เพียงแค่การฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงหนเดียว

พวกที่สองเรียกว่า บัวปริ่มน้ำ รอโอกาสที่จะบานในเวลาต่อไป คือ สัตว์โลก (มนุษย์) ที่จะรู้ธรรมต้องมีความเพียรพยายามมากกว่าพวกแรก

พวกที่สามเรียกว่า บัวใต้น้ำ รอวันที่จะบานในโอกาสต่อไป เป็นพวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่ต้องมีสัมมาทิฏฐิที่พิจารณาศึกษาและทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันเกิดขึ้นได้

พวกที่สี่คือพวกไร้สติปัญญา มีความเชื่อที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ไม่อาจจะเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้าได้





ต้นไทร
พุทธประวัติเล่าว่า ในสัปดาห์ที่ ๕ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงเสด็จข้าม แม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ

ขณะเสวยวิมุติอยู่นั้น ธิดามารทั้งสาม คือ นางราคะ นางอรตี และ นางตัณหา ได้เข้าเย้ายวนด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา

เรื่องนี้มักมีภาพเขียนในผนังพระอุโบสถตรงข้ามพระพุทธรูปในวัดต่างๆ

ในความหมายทางธรรมะแล้ว นางราคะ หมายถึง ความกำหนัด ยินดีในกามารมณ์ ความใคร่ในกามคุณ (กามารมย์หมายถึงความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)

นางอรตี ความหมายคือ ความไม่ยินดี ไม่พอใจ ความอิจฉา ริษยา

นางตัณหา หมายถึง ความอยากอันมีความเกิดอีกเป็นธรรมดา เจือด้วยความกำหนัด ด้วยราคะ เพลิดเพลินใน กามารมณ์นั้น

เพราะฉะนั้น ต้นไทร ในความหมายทางธรรม และทางศาสนา คือการเตือนให้สังวรในเรื่องของกามคุณและความอิจฉาริษยานั้นแล




ไม้มุจลินท์

มุจลินท์ หรือ ต้นจิก เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตสุขในสัปดาห์ที่หก เมื่อเสด็จออกจากต้นไทร อชปาลนิโครธ

ตามพุทธประวัติระบุว่า เกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาวทั้ง ๗ วัน ทำให้มีพญานาค ๗ เศียร ชื่อมุจลินท์ (ชื่อเดียวกับต้นไม้) มาขดตัวรอบพระพุทธเจ้า ๗ รอบ และแผ่พังพานป้องกันลมหนาว

ครั้นเมื่อฝนหายแล้วจึงแปลงตนเป็นมนุษย์มายืนเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เบื้องหน้า ซึ่งในกาลนั้นพระพุทธเจ้าเปล่งอุทานวาจา (หมายความว่า ทรงกล่าวขึ้นโดยมิได้มีผู้ใดถาม) ถึงผลของการเข้าถึงนิพพานว่า ที่แท้จริงความสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัดรู้เห็นตามความเป็นจริง

ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ความปราศจากความกำหนัดคือ ความล่วงถามข้อเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสสมิมานะ คือ ความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง

นี่คือสาระสำคัญของการแสดงธรรม ณ บริเวณไม้มุจลินท์หรือต้นจิก

ส่วนเรื่องพญานาค ๗ เศียรนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏในพุทธประวัติ ซึ่งอยู่ในความเชื่อของพุทธศาสนิกชนกันเป็นอันมาก รวมทั้งมีผู้แปลความหมายของเศียรทั้ง ๗ ก็เกิดความเชื่อในความสัมพันธ์ของเลข ๗ ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติบางตอนตั้งแต่ประสูติจนนิพพาน และในความหมายทางปริศนาธรรมในข้อนี้ก็คือ

๗ เศียร หมายถึง วิสุทธิ ๗ ประการ วิสุทธิในคำแปลจากพจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต แปลไว้ดังนี้
วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ ความหมดจด การชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือ พระนิพพาน มี ๗ ขั้น คือ
๑.สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล
๒.จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตต์
๓.ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ
๔.กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย
๕.มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง
๖.ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน
๗.ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ กล่าวคือ มรรคญาณ

สรุปก็คือ การกล่าวคำอุทานของพระพุทธเจ้า ณ ต้นมุจลินท์หรือต้นจิก ก็กล่าวถึงผลหรือความสุขอันแท้จริงเป็นความสุขที่ปราศจากอามิสเจือปนจากการบรรลุจุดหมายคือนิพพาน หรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า




ต้นเกด

ต้นเกด อีกชื่อเรียกว่า ราชายตนะ เป็นต้นไม้พุ่มสูงประมาณ ๑๐-๑๓ เมตร ลำต้นตรง เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ร่มไม้เกดนี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้

ในพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดนี้ในสัปดาห์ที่ ๗ หรือสัปดาห์สุดท้ายของการตรัสรู้ หลังจากได้ทรงอดอาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วัน (ไม่จำเป็นต้องสงสัยเรื่องของการอดอาหารของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเรื่องที่มิได้เกิดประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์ทางพุทธศาสนา)

ณ โคนต้นไม้นี้เองที่มีเรื่องราวว่า มีพ่อค้า ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ผ่านมาได้เห็นพระพุทธเจ้ามีพระรัศมีอันผ่องใส บังเกิดความเลื่อมใสจึงนำ ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงมาถวาย (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของพระธรรมปิฎก ปอ.ปยุตฺโต กล่าวว่า คือ ข้าวตู  ส่วนเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต ให้ความหมายว่า บาลีเรียกสัตตุผงว่า มันถะ ข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนเรียก มธุบิณฑิกะ คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน) และประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกของพระพุทธศาสนาอย่าง (อุบาสก แปลว่า คฤหัสถ์ชายผู้นับถือพุทธศาสนาอย่างมั่นคง) (ข้อสังเกตก็คือ ขณะนั้นพระพุทธเจ้ายังมิได้ประกาศพระศาสนาหรือเทศนาในเรื่องใด แต่กลับมีผู้ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชนขึ้นก่อน)

ความสำคัญของเรื่องต้นเกดหรือราชายตนะก็คือ การที่พระพุทธเจ้าอนุโมทนาในศรัทธาของตปุสสะกับภัลลิกะ ทรงลูบพระเกศาตกลงมา ๘ เส้น มอบให้พ่อค้าทั้งสองซึ่งเล่ากันต่อมาก็คือ การนำพระเกศาทั้ง ๘ เส้นมาบรรจุอยู่ในเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้งทุกวันนี้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ปริศนาธรรมของพระเกศา ๘ เส้นนั้นมีความหมายอย่างไร

ถ้าจะตีความในประเด็นนี้ก็คือ ความต่อเนื่องไปสู่ปฐมเทศนาหรือธัมมจักรกัปปวัตนสูตร ที่กล่าวถึงหนทางอันประเสริฐที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรคอันมีองค์ ๘ มีนัยยะสำคัญก็คือ ทางอันประเสริฐนั่นเอง
 




ต้นหว้า
ต้นหว้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๐-๓๐ เมตร ลำต้นตรง กลุ่มใบเป็นพุ่มกลมหนา จึงมีร่มเงาที่ให้ความสงบเยือกเย็น

ต้นหว้านี้เป็นต้นไม้ต้นที่สองที่กล่าวในพุทธประวัติว่า เมื่อครั้งปฐมวัยเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ได้เสด็จตามพระเจ้าสุทโธทนะไปทำพิธีแรกนาขวัญหรือการเริ่มต้นฤดูกาลของการปลูกข้าว เจ้าชายสิทธัตถะในเวลานั้นได้หลีกผู้คนไปนั่งสมาธิในระดับปฐมฌานอยู่ใต้ต้นหว้า

การที่เจ้าชายสิทธัตถะเจริญสมาธิได้ระดับปฐมญาณเมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษานี้เอง ที่เป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดและการปฏิบัติเพื่อหาทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในการตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญเดือนหก ดั่งที่ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ

กล่าวคือเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวัยเยาว์จนมีพระชนมายุถึง ๒๙ พรรษานั้น พระองค์ได้รับการปรนนิบัติให้เสวยสุขในทางโลกก็คือการยินดีรักใคร่ พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่างที่สุด (ที่เรียกว่าการบำเรอตนด้วยกามคุณ)

แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้หาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่ ภายหลังการออกบรรพชาและไปศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าเรื่องของการเจริญสมาธิภาวนาจนถึงระดับสูงสุด หรือการทรมานตน หรือความเชื่อว่า การทรมานตนเป็นการเผากิเลสก็ตาม ก็หาได้พ้นไปจากความทุกข์ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปมิได้

จึงเกิดกระบวนความคิดเรื่องทางสายกลางคือ การปฏิบัติตนที่จะไม่บำเรอตนด้วยกามคุณ และไม่ทรมานตนให้ยากลำบาก เจ้าชายสิทธัตถะจึงใช้วิธีพิจารณาโดยสมาธิและปัญญาดังที่พระองค์ได้เคยปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นเด็กจนค้นพบว่าอริยสัจ ๔ คือ ความจริงแท้ ๔ ประการซึ่งรวมทั้งหนทางแห่งความดับทุกข์ คือ อริยมรรคอันมีองค์ ๘ หรือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ต้นหว้าจึงเป็นต้นไม้ที่สำคัญปรากฏชื่อในพุทธประวัติ





ต้นมณฑา
ต้นมณฑา หรือมณฑารพ เป็นไม้พุ่มสูง ๓-๑๐ เมตร เป็นวงศ์เดียวกับจำปา จำปี และยี่หุบ ออกดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม

ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เหล่าเทวดานางฟ้า ต่างโปรยปรายดอกมณฑารพ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งในขณะนั้นพระมหากัสสปะ อัครสาวกที่พระพุทธเจ้ายกย่องเป็นเลิศในทางธุดงควัตร คืออยู่ในราวป่าได้เห็นดอกมณฑารพร่วงหล่น จึงได้บอกกับพระภิกษุที่ตามมาด้วยกันว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

พระมหากัสสปะเดินทางมาถึงหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๗ วัน และกำลังจะถวายพระเพลิง จึงถวายความเคารพพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเอาใบหน้าไปซบกับพระบาทพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถืออย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะเป็นประธานในการสังคายนาพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก





ประดู่ลาย
ประดู่ลายเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตรง ใบเป็นช่อ ๓-๘ ใบ ดอกสีเหลืองอ่อนปนขาว เป็นไม้พันธุ์ดั้งเดิมของอินเดีย แถบภูเขาหิมาลัย

ในภาษาบาลีเรียก อสนะ หรือ กปิล ชาวอินเดียเรียก ลิสโซ ชาวฮินดูเรียก ลิสสู ชื่อในภาษาพื้นเมือง กปิลา สีสป

ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันในท้องถิ่น เช่น อุบลราชธานีเรียกชะยูง, จันทบุรีเรียกประดู่ตม, ชลบุรีเรียก ประดู่ลาย, ตราดเรียกประดู่เสน, ปราจีนบุรีเรียกแดงจีน, สุรินทร์เรียกกระยูร กระยง

ความเป็นมาของประดู่ลาย คือหัวข้อเรื่อง “อันเป็นสาระสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ภิกษุ เรื่องที่มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญ ก็ถือได้ว่ามิใช่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ระบุว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดูลาย ๒-๓ ใบ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดูลาย ๒-๓ ใบ ที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า

อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมากก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย คลายความกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

สรุปก็คือ เรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เทศนาแก่พุทธศาสนิกชนนั้นมีเรื่องเดียวก็คือ เรื่องของทุกข์และวิธีการพ้นทุกข์ และในข้อนี้เองที่พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้พิจารณาว่าคำเทศนาของพระภิกษุทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น คำเทศนา สั่งสอน ศีลวรรตของพระภิกษุนั้น เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาสั่งสอน

คำสอนการปฏิบัติที่แท้จริงทางพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการพ้นทุกข์เท่านั้น เรื่องอื่นนอกจากนี้หาใช่สาระสำคัญหรือจุดหมายของพุทธศาสนา





ตาล
ตาลเป็นไม้ยืนต้นตระกูลปาล์ม มีใบใหญ่ แผ่กว้าง ใบตาลแห้งนำมาดัดแปลงเป็นพัด หรือใช้บังร่มเงาแดดได้ดี

ในพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ พระสารีบุตร ซึ่งนั่งฟังธรรมอยู่นั้นได้พัดถวายแก่พระพุทธเจ้า และได้บรรลุพระอรหันต์ ณ ที่นั้น

พัดที่พระสารีบุตรพัดถวายนั้น น่าจะเป็นตาลปัตรที่ผู้คนในสมัยพุทธกาลใช้สอย แม้จนปัจจุบันก็ยังใช้ใบตาลมาดัดแปลงเป็นพัดใช้ระบายความร้อน และรวมทั้งบางคนก็ใช้เป็นแผงบังแดด ขณะเดินทางในที่แจ้งด้วย

ปัจจุบันตาลปัตรในประเทศไทยได้พัฒนารูปแบบและเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยของพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวัสดุ เช่น ผ้าปักด้วยสีวิจิตรพิสดาร มีทั้งรูปแบบที่แสดงพุทธธรรมในระดับต่างๆ และแสดงถึงฐานานุรูปของพระสงฆ์ไทย

ในประเทศไทยพระภิกษุใช้ตาลปัตรดัดแปลงเป็นรูปพัดด้ามยาว ใช้บังหน้าในพิธีกรรมหรือการสวด และแสดงตำแหน่งในทางการปกครองของพระสงฆ์ด้วย

แต่พระภิกษุในประเทศพม่าและศรีลังกา ยังใช้ตาลปัตรที่ทำด้วยใบลานด้ามสั้น ซึ่งใช้ทั้งในเวลาสวดมนต์และพัดคลายร้อนด้วย




ต้นไทร

ต้นไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ มีใบร่มรื่น ปกคลุมให้ความร่มเย็น ชื่อในบาลี อชปาลนิโครธ แปลว่า ที่พักของคนเลี้ยงแกะ ชื่อในฮินดูเรียก ปันฮัน ในประเทศไทยบางแห่งเรียก บันยัน

ต้นไทรมีความเกี่ยวข้องในพุทธศาสนาที่สำคัญ ๒ ตอน คือ

ตอนที่หนึ่ง ในเวลาเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนที่จะตรัสรู้ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรนั้น นางสุชาดานำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองมาถวาย เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสไปแล้วได้นำถาดทองนั้นลอยน้ำในแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปประทับ ณ ต้นศรีมหาโพธิ์ และตรัสรู้ ณ โคนไม้นั้น

หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงประทับเสวยวิมุตสุขอยู่ ณ ใต้ต้นไม้หลายชนิดในบริเวณนั้น ในสัปดาห์ที่ ๕ ทรงกลับมาประทับวิมุตสุข ณ โคนไม้ต้นไทรนิโครธอีกครั้ง

และในครั้งนี้มีเหตุการณ์อันสำคัญก็คือ การตรัสตอบคำถามพราหมณ์ หึ ทุกชาติ (พราหมณ์ขี้บ่น) ที่ถามพระพุทธเจ้าว่า "บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหนทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์"

พระพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวว่า

"พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึหึ (ไม่ขี้บ่น ด่าว่า ผู้อื่น) ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด (การที่ไม่มีกิเลสเสมือนว่าได้ฟอกล้างกิเลสที่เหมือนน้ำฝาดออกหมดสิ้น) มีตนอันสำรวมถึงที่สุดแห่งเวท (หรือความรู้อันเป็นที่สุด) มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว (เพราะพรหมหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย ไม่ข้องแวะด้วยกามคุณ) พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องผูกขึ้นในอารมณ์ไหนในโลก คือไม่มีการเกิดขึ้นของกิเลสเมื่อมีการ กระทบกันของอายตนะ ควรกล่าวว่า ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม

ในพระอรรกถาเรื่องปาสกสิสูตรกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังต้นไทรนิโครธนั้น ทรงเฟ้นธรรม ซึ่งมีผู้รู้หมายความว่า ธรรมสำคัญที่กล่าวถึงคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หรือธรรมอันเกื้อกูลให้ตรัสรู้

ในความหมายแห่งสัญลักษณ์ของต้นไทร เนื่องจากไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่น มีรากไทรย้อย ที่จะแพร่ขยายพืชพรรณออกไปได้โดยรอบ พุทธศาสนาจึงเป็นดั่งต้นไทรที่พร้อมจะขยายออกไปให้ความร่มเย็นแก่โลก




ต้นโสก อโศก

อโศก แปลความหมายคือความไม่โศกเศร้า เป็นความรักที่ไม่โศกเศร้า หรือไม่เห็นแก่ตัว เรียกว่าความเมตตา จากพจนานุกรมแปลไทย-ไท อ.เปลื้อง ณ นคร เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นโตมาก ให้ความร่มเย็นดี ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง สีส้ม มีกลิ่นหอม อินเดียเรียก ASHOKA TREE เป็นสัญลักษณ์ของความรักของชาวตะวันออก

อโศกปรากฏอยู่ในอรรถกถา (แปลว่า คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก) ชื่อ อรรถกถาปาริฉัตรตกวิมาน) ความย่อตอนหนึ่งว่า

“พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารใกล้กรุงสาวัตถี รับนิมนต์ฉันภัตตาหารเช้าที่ปะรำใหญ่หน้าบ้านอุบาสกท่านหนึ่ง มีหญิงหาฟืนคนหนึ่งเห็นต้นอโศกมีดอกบานสะพรั่งได้นำเอาดอกอโศกมาทำเป็นช่อ (ร้อยพวงมาลัย) นำไปบูชา โดยเอาดอกไม้นั้นปูลาดรอบอาสนะ”

ในความหมายของอโศก ก็คือไม่โศกเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตา การนำเอาดอกอโศกมาปูลาดรอบพระอาสนะพระพุทธเจ้าในความหมายก็คือ ความเป็นผู้มีกลิ่นหอม คือเป็นบุคคลอันควรบูชา เป็นผู้ทรงไว้ด้วยความเมตตาอันเป็นสิ่งสูงสุดของความรัก เพราะความเมตตาไม่เจือด้วยอามิส ด้วยกิเลส

ในวรรณคดีทางมหายานเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี ได้กล่าวถึงความงดงามของลานอโศกที่มีทั้งกลิ่นหอมและร่มรื่นที่ทั้งสองได้มาพลอดรักกัน และกล่าวถึงความรักอันแท้จริงว่า เปรียบดังสีดำของศอ (หรือคอ) พระศิวะผู้กลืนกินพิษร้ายที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรที่ทิ้งไว้ที่จะทำลายโลก ก็ด้วยความรักของพระศิวะนั่นเอง

นอกจากนี้ชื่ออโศกอาจหมายถึงพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้อุปถัมภ์และกระจายความเชื่อของพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกของเอเชีย


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 12:08:59 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2558 13:12:31 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


หญ้ากุศะ

หญ้ากุศะ เป็นหญ้าชนิดหนึ่งใบนุ่ม ไม่แข็งมาก รากหอม พราหมณ์ในศาสนาฮินดูใช้ในพิธีกรรมเป็นที่สลัดน้ำมนต์ หญ้ากุศะมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่คล้ายหญ้าคาและชนิดที่มีใบนุ่มมีรากหอม บางส่วนอธิบายว่ากุศะเป็นหญ้ามีคม บาดมือได้

พุทธศาสนิกชนหลายท่านในประเทศไทยเรียกหญ้ากุศะเป็นหญ้าคา แล้วแปลความว่ากุศะหมายถึง กุศลหรือความดี

ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกล่าวถึงเรื่องของหญ้า (หญ้ากุศะหรือหญ้าคา) วาระสำคัญก่อนการตรัสรู้ ดังนี้

หนังสือพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสแต่งไว้ว่า "ครั้นเวลาเย็น เสด็จมาสู่ต้นพระมหาโพธิ์ทรงรับหญ้าของคนหาบหญ้า ชื่อโสตกิยะ"

คัมภีร์อิฏฐกถาปัญจสุทธิ มัชฌิมานิกย กล่าวเป็นข้อความว่า "ในเวลาเย็น พระมหาสัตต์รับหญ้า ๘ กำที่นายโสตกิยะถวาย"

หนังสือคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เขียนไว้ว่า "ในกาลนั้น มีมหาพราหมณ์ผู้หนึ่งมีนามว่า โสติยพรามณ์ (โสติยะ แปลวว่า สวัสดี) ถือปั้นหญ้าคา ๘ กำ เดินสวนทางมา พอพบพระพุทธเจ้าก็นำหญ้าคาทั้ง ๘ กำนั้นมาถวาย"

คติและสัญลักษณ์ของหญ้ากุศะ หรือที่เข้าใจว่าเป็นหญ้าคา บางครั้งที่แปลหมายไปถึงกุศล ในพุทธประวัติกล่าวถึง หญ้า(กุศะ) ๘ กำ ที่ประทับก่อนตรัสรู้และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า น่าจะหมายถึง ธรรมแปด ๒ ข้อ ๒ ประการ

กลุ่มที่ ๑ เรียก วิโมกข์ ๘ ท่านประยุทธ ปยุตโต กล่าวถึงภาวะจิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดังเข้าไปในอารมณ์นั้นอย่างปล่อยตัวเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

๑.ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย
๒.ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก
๓.ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า "งาม"
๔.เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้
๕.เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ โดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้
๖.เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญยตนะ โดยมนสิการว่า ไม่มีอะไรเลย
๗.เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญยตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ
๘.เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่

หรือกลุ่มที่ ๒ คือมรรคอันมีองค์ ๘ หรืออัฎฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการ (ทางแห่งความดับทุกข์) ได้แก่
๑.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ หรือเห็นไตรลักษณ์ รู้อกุศลหรืออกุศลมูลกับกุศลหรือกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
๒.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยบางสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔
๔.สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓
๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
๖.สัมมาวายามะ พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือสัมมัปปธาน ๔
๗.สัมมาสติ  ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
๘.สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔





สัตว์ในพระพุทธศาสนา
คําว่าสัตว์ แปลตามพจนานุกรมว่า สิ่งที่มีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหว ย้ายที่ไปได้เอง ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึงสัตว์ไม่ใช่คน

สัตว์ในทางพระพุทธศาสนา คำตอบของพระพุทธเจ้าต่อพระราชะ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตามพระไตรปิฎก ก็คือ พระราชะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญที่เรียกว่า สัตว์ ดังนี้ ด้วยเหตุมีประการใดหนอแล จึงเรียกว่าสัตว์

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ดูกรราชะ เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัดเพลิดเพลิน ความทะยานยากในรูปและเป็นผู้ข้องในรูป เป็นผู้เกี่ยวข้องในรูปนั้น ฉะนั้นเรียกว่า สัตว์

เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เป็นของในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณนั้น จึงเรียกว่า สัตว์

แต่สัตว์ ณ ที่นี้หมายถึง สัตว์ตามความหมายในพจนานุกรม

ในภาพเป็นรูปเสมาธรรมจักรที่มีกวางหมอบอยู่ ๒ ด้านของธรรมจักร รูปภาพนี้หมายถึงการประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ธรรมจักร หมายถึง พระธรรม ที่เรียกกันว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ส่วนกวางที่หมอบอยู่ทั้งสองข้างคือ สถานที่ที่ประกาศพระธรรมครั้งนั้น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกวาง

บางครั้งก็อาจจะมีความหมายอื่น เช่น กวางหมายถึงสัตว์โลกด้วย




ช้างคู่
พระอักโษภยพุทธ ชื่อของพระองค์หมายถึง ไม่หวั่นไหว (แปลความก็คือความไม่หวั่นไหวในสรรพสิ่งทั้งปวง ไม่หวั่นไหวต่อกิเลส) เป็นสัญลักษณ์แทนโพธิจิต (จิตของความรู้แจ้ง) ในสรรพสัตว์ มีดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความกรุณา มีระฆังหมายถึงภาวะแห่งเมตตาและขันติ เป็นตัวแทนของปัญญาญาณ คือความรู้แจ้งเช่นเดียวกับคำว่าโพธิจิต

สัญลักษณ์ของพระอักโษภยพุทธคือ คทาเพชร (หรือวัชระ) สื่อถึงความมั่นคง ไม่คลอนแคลน และไม่หวั่นไหวตามชื่อของพระองค์

ช้างคู่ เป็นสัญลักษณ์และความหมายของพระองค์ในฐานะของสัญลักษณ์แห่งพลังมหาศาล (ซึ่งก็คงหมายถึงความไม่หวั่นไหว) แต่ในทิเบตถือว่าช้างเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา (ซึ่งก็หมายถึง ปัญญาญาณ)







สิงโตเผือก
ดังที่ได้เขียนไว้ในสัปดาห์ก่อนๆ ว่า ในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นมิได้ใช้สัตว์หรือรูปสัตว์แสดงสัญลักษณ์และความหมายทางธรรม แต่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้ใช้สัตว์แสดงความหมายหรือสัญลักษณ์ คุณลักษณะทางธรรมะบางประการ เช่น
ได้กล่าวถึง งูหมายถึงหรือสัญลักษณ์ของโทสะ  ไก่หมายถึงหรือเป็นสัญลักษณ์ของโมหะ สุนัขหมายถึงหรือเป็นสัญลักษณ์ของความโลภ

นอกจากแสดงความหมาย สัญลักษณ์ที่ได้แสดงถึงสภาวะของจิตที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ในฝ่ายมหายานยังได้ใช้สัตว์แสดงถึงคุณลักษณะบางประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หรือที่เรียกนามว่า ธยานิพุทธ ไว้ดังนี้

พระไวโรจนะพุทธเจ้า ที่ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปฐมที่มีอยู่พร้อมกับการกำเนิดของโลก ของสรรพสิ่งทั้งปวง

พระไวโรจนะพุทธเจ้า หมายถึง พระพุทธเจ้าผู้เป็นดั่งแสงสว่างหรือพระอาทิตย์ หรือความรุ่งเรือง ความแจ่มใส มีสีขาวที่หมายถึงสีของแสงที่รวมของสีทั้งหมด เป็นตัวแทนของอากาศธาตุ ซึ่งเป็นช่องว่างแห่งจักรวาลอยู่ระหว่างธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเครื่องหมายแห่งปัญญาอันสูงสุดมีสัญลักษณ์เป็นธรรมจักร อยู่ในรูปท่าที่เรียกว่าธรรมจักรมุทรา หรือถือธรรมจักรแทนดอกบัว

มีสิงโตเผือก เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจความกล้าหาญและความยิ่งใหญ่เป็นตัวแทนของธรรมะขั้นสูงสุด





ม้าบิน
พระรัตนสัมภวะพุทธเจ้า เป็นธยานิพุทธประจำอยู่ทิศใต้ กายสีเหลืองทอง ปางประทานพร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ท่าทานมุทรา คือพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาเหยียดลงหันออก นิ้วชี้จดนิ้วโป้ง (ต่างจากท่าปางมารวิชัยที่ชี้พระหัตถ์คว่ำลง นิ้วทั้ง ๕ ชี้ลงบนพื้น ที่หมายถึง การอยู่ที่พ้นจากโลก)

สัญลักษณ์ประจำพระรัตนสัมภวะพุทธเจ้า คือ ความอุดมสมบูรณ์ คำว่ารัตนะ หมายถึง แก้ว หรือที่จริงก็คือปัญญาอันประเสริฐที่หมายถึง การเข้าถึง ความรู้แจ้ง หรือปัญญาอันหยั่งรู้ ตรัสรู้

ม้าหรือม้าบิน ตัวแทนของแสงสว่าง เป็นสัญลักษณ์ของโชคและความสง่างาม (ธง รูปม้าที่แขวนหรือขึงไว้ตามภูเขา ต้นไม้ ในภูฏานหรือทิเบต ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายาน หมายถึง การเดินทางก้าวไปสู่ความรู้อันแท้จริง)




ไก่-สุนัข-งู
ในพุทธศาสนาทางเถรวาทนั้นไม่ปรากฏว่าได้ใช้สัญลักษณ์หรือความหมายของสัตว์เท่าใดนัก

ในฝ่ายมหายานนั้นมีการใช้รูปหรือภาพของสัตว์ที่แสดงสัญลักษณ์และความหมายอยู่หลายแบบ บางภาพที่มีรูปสัตว์แทรกอยู่ด้วยนั้น มีความหมายบางประการจากลักษณะของสัตว์นั้น เช่น ในศูนย์กลางของภาพพระบฏที่เรียกว่า ทังก้า ภาพที่มีชื่อว่า วงล้อแห่งชีวิต จะมีสัตว์อยู่ ๓ ชนิด คือ ไก่ สุนัข และงู ซึ่งหมายถึงกิเลส ๓ ประการ

ไก่ หมายถึง ความหลง หรือโมหะ เพราะนิสัยของไก่ในสายตาของมนุษย์ ไก่คือสัตว์ที่หลงใหลในสีสันความงามของขน ซึ่งปกปิดความจริงคือ ตัวไก่

สุนัข หมายถึง ความโลภ หรือโลภะ เพราะนิสัยของสุนัขก็คือ ความโลภ อันแสดงถึงความอยากที่กินโดยไม่รู้จักอิ่ม รู้จักพอ

งู หมายถึง ความโกรธ หรือโทสะ เพราะความโกรธหรือโทสะ หมายถึงการเข้าทำร้ายสัตว์อื่นโดยรอบ เช่นเดียวกับงูที่จะกัดผู้ที่อยู่ใกล้ทุกชนิด เป็นต้น





นกยูง
พระอมิตาภพุทธะ หรือ อมิตายุส

พระอมิตาภพุทธ แปลว่า ผู้มีแสงส่องสว่างที่ไม่มีที่สิ้นสุดหรือความหมายคือปัญญา หรือปัญญาญาณที่รอบรู้ในสรรพสิ่งทั้งปวง

อีกชื่อหนึ่งก็คือ อมิตายุส แปลว่า ผู้มีอายุอันยืนนาน ไม่มีประมาณเวลาได้ (ซึ่งก็คือความหมายของนิรันดร์ อันแปลว่า ไม่มีการเกิดดับอีกต่อไป

พระอมิตาภพุทธะนี้เป็นพระธยานิพุทธองค์สำคัญของนิกายสุขาวดี ประจำอยู่ทางทิศตะวันตก

นกยูงในความหมายที่ปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งของภาพ เป็นสัตว์ชั้นสูง เป็นสัญลักษณ์ของความงาม ความพร้อมสะพรั่ง อลังการ ความรัก ความสุข ความโชคดี และความเจริญแห่งทรัพย์





ครุฑ

พระอโมฆสิทธิพุทธะ ซึ่งเป็นพระธยานิพุทธ ๑ ใน ๕ ผู้ซึ่งหมายถึงความสำเร็จอันสมบูรณ์ เป็นภาพสะท้อนของปัญญาญาณ คือความหลุดพ้นที่เรียกว่า ปัญญาวิมุต มีกายสีเขียว มีสัญลักษณ์หรือเครื่อง หมายเป็นวัชระไขว้ โดยวัชระนอนหมายถึงการมีอยู่และการกระทำทางโลก วัชระแนวตั้งหมายถึงพลังแห่งจิตวิญญาณ รวมเป็นวัชระไขว้หมายถึงพลังแห่งชีวิต

เมื่อสังเกตถึงสัตว์ที่ปรากฏกับพระไวโรจนพุทธ ก็คือ สิงโตเผือก เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจ ความกล้าหาญและความยิ่งใหญ่ เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงสุด

ส่วนพระอักโษภยพุทธ จะมีช้างคู่ สัญลักษณ์แห่งพลังมหาศาล ไม่หวั่นไหว เป็นตัวแทนแห่งปัญญาญาณ

ขณะที่พระอโมฆสิทธิพุทธะ มี ครุฑ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง แห่งพลังอำนาจ เป็นตัวแทนที่จะผลักดันมนุษย์ไปสู่ความหลุดพ้น





ปลา

ภาพมงคลแปดประการของฝ่ายมหายาน (ตันตระยาน) ภาพนี้มีปลาคู่ เป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ หรือการมีสติ ด้วยคุณสมบัติของปลาก็คือ การที่ปลาไม่หลับตา ลืมตาอยู่ตลอดเวลา

การลืมตาอยู่ตลอดเวลาก็คือ การมีสติที่มีความหมายว่ามีการรู้ตัวหรือระลึกอยู่เสมอ

คำว่าสติในทางพุทธศาสนาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต อธิบายว่า สติ แปลว่า ความระลึกได้ นึกได้ ความไม่เผลอ การคุมใจไว้ กับกิจ หรือกุมจิต ไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง จำการที่ทำและ คำพูดแล้ว แม้นานได้ (เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก) ซึ่งหมายความถึงสติตามปกติของบุคคลทั่วไปที่พึงมี พึงเป็นสมบัติของบุคคลทั้งหลาย

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งก็คือคำว่า สัมมาสติ อันเป็นส่วนหนึ่งของคำในอริยมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาในธัมมจักกัปปวัตสูตร

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมของท่านประยุทธ ปยุตโต อธิบายสัมมาสติ แปลว่า ระลึกชอบ หรือสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ ที่ตั้งของสติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง ได้แก่

๑.การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงกายไม่ใช่บุคคลตัวตนเรา

๒.การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงแต่เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มีสติรู้ชัดเวทนา อันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี

๓.การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราคิดคือมีสติรู้ชัดว่า จิตของตนที่มีราคะ ไม่ใช่ราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิอย่างไรตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้น

๔.การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ ดับไปได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้น

สรุปก็คือ การลืมตาของปลาคือ สัญลักษณ์ของการตื่นรู้ การมีสติในระดับทั่วไปก็คือ การระลึกได้ถึงการกระทำของตนทั้งปวง ไม่ก้าวล่วงไปกระทำการอันทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ทั้งกาย วาจาใจ และยิ่งไปกว่านั้นหากมีสติที่เจริญขึ้นจนเป็นสัมมาสติ ก็ยังพัฒนาให้ถึงกับพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้

ความหมายในบทความนี้ขอเป็นความสวัสดีแก่ประชาชนชาวโลกทั้งปวง





หอยสังข์

คติในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หอยสังข์ หมายถึง การประกาศชัยชนะและความรุ่งเรือง

การประกาศชัยชนะในที่นี้ก็คือ การประกาศพระศาสนาที่แพร่กระจายออกไป ดังเสียงเป่าสังข์ที่ก้องกังวานไปไกล

ความรุ่งเรืองก็คือ ความก้าวหน้าของพระศาสนาที่นอกจากจะก้องกังวานไปสู่หมู่ประชาชนแล้ว ยังมั่นคงชัดเจนต่อความรู้แจ้งในพุทธภาวะของสรรพสัตว์

ในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ใช้เป็นสัญลักษณ์ในเครื่องประกอบในพระราชพิธีอภิเษกต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ และพิธีมงคลของชาวบ้าน เช่น การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ในงานมงคลสมรส

เรื่องราวของสังข์บางส่วนมาจากเรื่องราวศาสนาพราหมณ์ที่ว่า พระนารายณ์เป็นผู้นำพระเวทหรือคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ ออกจากสังข์อสูร (เนื่องจากพรหมจุติเป็นสังข์ บางแห่งว่าเป็นยักษ์ กลืนพระเวทไว้ในท้อง และพระนารายณ์เป็นผู้ล้วงพระเวทออกจากหอยสังข์)

สังข์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งมงคลที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับพระเวท (พรหม ในที่นี้น่าจะหมายความถึงผู้อยู่เดียวดาย ไม่ใช่พรหมคือผู้ที่จุติจากมนุษย์ที่สิ้นชีวิตในขณะทำสมาธิจนบรรลุถึงญาณในระดับต่างๆ)


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 12:10:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 11 กันยายน 2559 18:01:47 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

http://i1081.photobucket.com/albums/j359/pipat55/DSC_000421232.jpg
คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


สำนักสงฆ์

นายอุดมศักดิ์ ชูโตชนะ นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สถาบันสังฆาธิการ อธิบายคำว่า สำนักสงฆ์ไว้ดังนี้

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๔ แก้ไข ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑ กำหนดให้วัดมี ๒ อย่าง คือ วัดที่มีวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ แต่มิได้บัญญัติคำว่าสำนักสงฆ์หมายถึงสิ่งใด

แต่ในพระราชบัญญัติลักษณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๒ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ว่า วัดมี ๓ อย่าง

พระอารามหลวง อารามสงฆ์ (หรือที่เราเรียกกันว่าวัดราษฎร์) และสำนักสงฆ์

สำนักสงฆ์หมายถึงวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (หรือหมายถึงว่า ที่พำนักสงฆ์ หมายถึงสถานที่พำนักพักพิงชั่วคราวของภิกษุสามเณร ซึ่งยังมิได้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่พักสงฆ์ มิได้หมายถึงสำนักสงฆ์)

ดังนั้นจึงดูสับสนระหว่างคำว่า สำนักสงฆ์กับที่พักสงฆ์ อยู่ตรงที่ว่าสำนักสงฆ์คือที่อยู่ของสงฆ์ซึ่งกำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นวัดจากกระทรวงศึกษาฯ และเมื่อได้รับวิสุงคามสีมาก็เรียกว่าวัด

ส่วนที่พักสงฆ์เป็นที่พักชั่วคราว เช่น พำนักอยู่ตามถ้ำ ตามเรือนว่าง

ปัจจุบันมีสำนักสงฆ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งถูกต้องไม่ถูกต้อง ตั้งอยู่ในป่าเขา ท้องทุ่ง ที่สาธารณะ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็มี และเมื่อมิได้ขอตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเพียงที่พักพิงของสงฆ์ สถาปัตยกรรมหรือรูปแบบก็แตกต่างไปตามมโนคติ ความเชื่อปนเปกันไป พุทธบ้างผีบ้าง อาจริยวาท บ้าง

ไม่มีคติสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นที่สังเกตชัด





พระธาตุ กู่

คําว่าธาตุ ในความ หมายของผู้คนในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน หมายถึง พระอัฐิพระพุทธเจ้า ในพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า ธาตุ หมายถึง กระดูกพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เรียกโดยรวมว่า พระธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ

เพราะฉะนั้น พระธาตุในทางสถาปัตยกรรมก็คือเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ และพระบรมธาตุหรือพระมหาธาตุบ่งชัดว่าหมายถึงที่บรรจุพระอัฐิพระพุทธเจ้า โดยส่วนที่บรรจุพระอัฐินั้น เรียกว่า ธาตุตรรถา ซึ่งมักจะอยู่ภายในโครงสร้างส่วนที่อยู่เหนือฐานหรือส่วนกลางที่บัลลังก์หรือแท่น หรือความหมายคือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสังสารวัฏ

ส่วนคำว่า กู่ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของพระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี หรือบุคคลสำคัญ

นอกจากพระธาตุที่เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ อัฐิธาตุของพระอรหันต์และรวมทั้งบางครั้งเป็นสถูปที่เก็บอัฐิของพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ในคติและความหมายในทางสถาปัตยกรรมแล้ว พระธาตุยังหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์หรือโครงสร้างของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุ (คือตัวองค์สถูปหรือเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) ส่วนกุฏิน่าจะหมายถึงอนุทวีปที่ล้อมรอบศูนย์กลางของจักรวาล

การสร้างพระธาตุหรือกู่ก็มุ่งหมายถึงทัศนคติว่า อัฐิของพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้เก็บบรรจุไว้ในศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือในความเชื่อทางฝ่ายมหายานก็คืออยู่ในศูนย์กลางของพุทธเกษตรหรือมันดาละ

ส่วนคำว่า ธาตุ ที่ชาวบ้านในภาคอีสานเรียกขาน ธาตุคือ สถูปที่ใช้เก็บอัฐิของบุคคลธรรมดา อาจสร้างให้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ มีโครงสร้างเป็นก่ออิฐถือปูนหรือทำด้วยไม้เป็นทรงสี่เหลี่ยม แกะสลักให้มียอด ส่วนกลางแกะเป็นช่องสำหรับเก็บโถหรือโกศไว้ภายในสำหรับชาวบ้านทั่วไป





วัดร้าง

จากแนวคติตรีกายของพระพุทธเจ้า ในฝ่ายมหายานที่ศิลปินหรือผู้สร้างพระพุทธรูปได้สร้างพระพุทธรูปเป็น ๓ องค์ ที่มีความหมายของความเป็นพระพุทธเจ้าที่ประกอบด้วยธรรมกายหรือสภาวะธรรม สมโภคกายหรือกายที่เป็นทิพยภาวสำหรับการแสดงธรรมแก่พระโพธิสัตว์ และกายที่เป็นสังขารของมนุษย์ ๓ องค์ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของฝ่ายมหายานที่บางครั้งมีผู้แปลความว่า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือบางครั้งก็จะแปลความหมายของพระพุทธรูป ทั้ง ๓ องค์ ประกอบด้วย พระอมิตาภพุทธ พระสมณโคดม และพระไภสัชยคุรุ หรือพระศรีอารยเมตไตรย

ในฝ่ายเถรวาท ปรากฏว่าพระอุโบสถบางแห่งก็ปรากฏพระประธาน ๓ องค์ เช่น พระอุโบสถวัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา

พระประธานในพระอุโบสถ วัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาก พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำจากทองสัมฤทธิ์ มีสีทองอร่ามใส องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา ส่วนพระพุทธรูปนากเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะมีสีออกแดงๆ

ประเด็นความเห็นในพระประธาน ๓ องค์ ของฝ่ายเถรวาท ที่ปรากฏอาจจะสืบทอดมาจากแนวคิดฝ่ายมหายาน เพราะมหายานนั้นเข้ามาในสุวรรณภูมิก่อนเถรวาท แต่ภายหลังเมื่อฝ่ายเถรวาทตั้งมั่นในสุวรรณภูมิแล้วคติตรีกายดังกล่าวน่าจะเปลี่ยนไปเพราะคำว่า ตรีกายไม่มีอยู่ในเถรวาท

ดังนั้นพระประธานทั้ง ๓ องค์ ในพระอุโบสถ น่าจะเป็นคติ ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า ๓ จำพวก ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่มิได้สอนผู้อื่น พระอนุพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม





ราชวรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับที่ ๑ ได้แก่วัดที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรมหาวิหาร ซึ่งบรรยายไว้ในสัปดาห์ก่อน

ในสัปดาห์นี้จึงบรรยายวัดพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๒ คือ พระอารามหลวงที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรวิหาร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕ วัด ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และวัดราชโอรสาราม

พระอารามหลวงลำดับราชวรวิหารก็มีความหมายเช่นเดียวกับพระอารามหลวงลำดับราชวรมหาวิหาร คือ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ หรือมี ผู้สร้างถวายเป็นวัดหลวงหรือเป็นวัดที่ผู้สร้างขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

ต่างกับพระอารามหลวงลำดับที่ ๑ ราชวรมหาวิหาร คือ พระอารามหลวงชั้นราชวรวิหารมีสิ่งปลูกสร้างเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๑ ส่วนใหญ่เป็นวัดที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์วัดเก่าขึ้นเป็นวัดใหม่ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา

ฐานานุรูปฐานานุศักด์ของวัด ดูจากหลังคา อาจมีหลังคาซ้อนกัน ๔ ชั้น หรือ ๔ ตับ หรือ ๓ ชั้น ๓ตับ ก็ได้

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ แผนผังของวัดจะสะท้อนความคิดของจักรวาลทัศน์ในส่วนของพุทธาวาส อันมีเขาพระสุเมรุ คือพระเจดีย์เป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยอนุทวีปทั้ง ๔ และพระอุโบสถมักจะอยู่ทิศใต้ อันหมายถึงชมพูทวีป อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น





ลำดับชั้นวัด

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในไทย แบ่งลำดับชั้นของวัดไว้หลายลำดับ ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดระเบียบพระอารามหลวง

จากข้อมูลในวิกิ พีเดีย บันทึกไว้ดังนี้ พระอารามหลวงชั้นเอก แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ
๑.ราชวรมหาวิหาร
๒.ราชวรวิหาร
๓.วรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ ๑.ราชวรมหาวิหาร ๒.ราชวรวิหาร ๓.วรมหาวิหาร ๔.วรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นตรี แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑.ราชวรวิหาร ๒.วรวิหาร ๓.สามัญ ไม่มีสร้อยต่อท้ายชื่อ

การลำดับชั้นของวัดนอกจากเป็นลำดับตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลำดับไว้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอารามหลวงชั้นเอก ซึ่งหมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ สิ่งปลูกสร้างมีขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ และหมายถึงวัดที่มีเจติยสถานสำคัญ เป็นวัดที่บรรจุพระบรมอัฐิหรืออัฐิที่มีเกียรติอย่างสูง และมีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่

๔ วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่อยู่ในเขตฝั่งกรุงเทพมหานคร และสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่มีมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่เขตฝั่งธนบุรี มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า วรมหาวิหาร

วัดลำดับราชวรมหาวิหารอีก ๒ วัด ได้แก่ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่ออยุธยาเป็นราชธานี ส่วนวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ มีพระปฐมเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า มหาวรวิหาร เช่นเดียวกับวัดอรุณราชวราราม

ลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่บ่งชี้ชัดลักษณะของพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร นอกจากมีขนาดใหญ่โตแล้ว ก็คือการสร้างหลังคาซ้อนกัน ๔ ตับ หรือ ๔ ชั้น และ ๔ ระดับ เป็นลักษณะสำคัญตามรูปที่นำมาประกอบ คือ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ มีหลังคาซ้อนกันตามลำดับดังกล่าว



ลำดับชั้นของวัด

เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอันเป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเรื่องของการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การจะแต่งตั้งพระสังฆราชมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าเป็นอย่างไร จะนับสมณศักดิ์ก่อนหรือจะนับพรรษาก็ว่ากันไป การประชุมมหาเถรสมาคมก็ได้ข้อสรุปกันไปแล้วว่าเป็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง)

มีคำถามว่า พระอารามหลวงหมายความว่าอย่างไร วัดในพระพุทธศาสนามีลำดับชั้นกันอย่างไร

ลำดับชั้นของวัดในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำหนดลำดับไว้หลายระดับ โดยที่แต่เดิมยังไม่มีการแบ่งพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ (๑๐๐ ปีผ่านมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระอารามหลวงอย่างเป็นระบบ)

ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี มีเรื่องราวของการจัดลำดับชั้นของวัดไว้ว่า "ในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือวัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์ เป็นส่วนพระองค์หรือในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็น พระอารามหลวง"

ในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดหรือพระอารามหลวงนั้นจะมีรูปแบบที่เรียกว่าฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป

ตอนต่อไปจะอธิบายประกอบรูปวัด โบสถ์ วิหารที่แสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรม ของลำดับชั้นของวัด





ลำดับชั้น วัดพระอารามหลวง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร ความหมายของคำว่า วรมหาวิหาร

   วร - พจนานุ กรมไทย แปลว่า ยอดเยี่ยม ประเสริฐ เลิศ
   มหา - ยิ่งใหญ่
   วิหาร - วัด หรือที่อยู่ของพระสงฆ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

เพราะฉะนั้น วรมหาวิหาร จึงมีความหมายรวมว่า วัดหรือที่อยู่ของพระสงฆ์หรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ยอดเยี่ยมอันประเสริฐยิ่ง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร มีรายชื่อในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อยู่ ๗ วัด คือ
๑.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
๒.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
๓.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
๔.วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
๕.วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
๖.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
๗.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

คติสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การแปลความหมายของคำว่า มหาธาตุ หรือบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง อัฐิของพระพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานในที่นั้น ซึ่งมักจะสร้างเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่แล้วจึงกำหนดลำดับของวัดให้วัดที่มีเจดีย์ขนาดใหญ่และงดงามว่า วรมหาวิหาร

ตัวอย่างในภาพข้างบนนี้ คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่มีพระธาตุเป็นพระปรางค์เจดีย์สีทองที่อยู่กลางวิหารและประดิษฐานพระพุทธรูปและวิหารคด ในคติพระมหาธาตุเป็นดั่งเขาพระสุเมรุล้อมเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์





วัดพระอารามหลวง ชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับราชวรวิหาร คือ พระอารามหลวง เป็นวัดที่มีเจดียสถาน (ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) หรือมีพระพุทธรูปสำคัญ

ปัจจุบันมี ๑๘ วัด ได้แก่ ๑.วัดมกุฏกษัตริยาราม ๒.วัดราชบูรณะ ๓.วัดราชาธิวาสวิหาร ๔.วัดเทพศิรินทราวาส ๕.วัดโสมนัสวิหาร ๖.วัดปทุมคงคา ๗.วัดบรมนิวาส ๘.วัดโมลีโลกยาราม ๙.วัดหงส์รัตนาราม ๑๐.วัดราชสิทธาราม ๑๑.วัดสุวรรณาราม ๑๒.วัดชัยพฤกษมาลา ๑๓.วัดพระธาตุดอยสุเทพ ๑๔.วัดเขมาภิรตาราม ๑๕.วัดชุมพลนิกายาราม ๑๖.วัดคงคาราม ๑๗.วัดมหาสมณาราม ๑๘.วัดไพชยนต์พลเสพย์

ทั้งหมดนี้เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๕ วัด อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ วัด ที่เหลือเป็นวัดเก่าที่มีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ๑๒ วัด อยู่ฝั่งธนบุรี ๕ วัด เช่น วัดโมลีโลกยาราม ฝั่งธนบุรี และวัดหงส์รัตนารามที่มีมาสมัยอยุธยา และเป็นพระอารามหลวงประจำพระบรมราชวัง พระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน

คติและสัญลักษณ์ของพระอารามหลวงชั้นโท นอกจากจะเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังแบ่งส่วนของพุทธาวาสกับสังฆาวาสอย่างชัดเจน ตัวพระอุโบสถหรือวิหารก็ยังคงมีหลังคา ๓ ตับ ๓ ระดับ เช่นพระอารามหลวงชั้นโททั่วไป

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ วัดพระอารามหลวงชั้นโทยังคงมีรูปแบบของจักรวาลทัศน์ที่ชัดเจนคือ มีเจดีย์เป็นศูนย์กลางอยู่ด้านหลังพระวิหารและมีพระอุโบสถอยู่ด้านหลังของพระเจดีย์ เช่น วัดมกุฏกษัตริย์ และวัดโสมนัสวิหาร





พระอารามหลวงชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร วรวิหาร

วัดพระอารามหลวงชั้นโท ระดับราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีพระอารามหลวง มีรายชื่อเพียง ๒ วัด คือ วัด สระเกศราชวรมหาวิหาร และ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

ทั้งสองวัดเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา และได้บูรณะเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่สำคัญก็คือ มีเจดีย์สถานที่สำคัญ เช่น วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบจากประเทศอินเดีย และรัฐบาลอังกฤษได้ถวายให้สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การบูรณะวัดสระเกศเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมชื่อ วัดสระแก เป็นวัดสระเกศ เพราะได้จัดพิธีมุทธาภิเษกที่วัดนี้ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างภูเขาทองหรือสุวรรณบรรพตขึ้น กำหนดให้มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ย่อมุมสิบสอง แต่มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างฐานราก จึงเริ่มต้นปรับรูปแบบและปรับโครงสร้างใหม่เป็นการสร้างเป็นภูเขาและมีเจดีย์เป็นส่วนยอด ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการซ่อมบำรุงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มฐานของภูเขาทองขึ้นใหม่

ส่วนวัดชนะสงคราม เดิมชื่อวัด กลางนา อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นชุมชนชาวมอญ เรียกอีกชื่อว่าวัดตองปุ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่และถวายวัดนี้ให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สมญานามว่าวัดชนะสงคราม เพราะทุกครั้งก่อนออกรบ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จมาสักการะพระประธานในพระอุโบสถวัดนี้ และได้รับชัยชนะทุกครั้ง

คติและสัญลักษณ์วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังคงมีลักษณะเช่นวัดหลวงทั่วไป ต่างกันกับวัดหลวงอื่นที่องค์ภูเขาทองที่หมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ และพระวิหารขนาดใหญ่จึงมีรูปแบบของหลังคาที่ยังคงมี ๔ ตับเช่นเดียวกับวัดหลวงทั่วไป

ส่วนคติและสัญลักษณ์วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารก็คือ ความใหญ่โตของพระอุโบสถที่ยังคงมีหลังคาพระอุโบสถอยู่ ๔ ตับเช่นเดียวกัน





พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร

คําว่า วรวิหาร มีความหมายดังนี้

วร ประเสริฐวิหาร อาคารหรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันสำคัญหรืออาคารที่ใช้เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์

วรวิหาร ก็คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญ เช่น วิหารวัดสุทัศน์ เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หรือเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ทั่วไป เช่น วัดเชตวันวรวิหาร เป็นต้น

พระอารามลำดับวรวิหารนี้หมายถึง พระอารามหรือวัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่น หรือหมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป

ปรากฏนามชื่อพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหารมีดังนี้ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดบรมธาตุวรวิหาร (จังหวัดชัยนาท) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร (จังหวัดราชบุรี) วัดทรงธรรมวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดกลางวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร (จังหวัดสมุทรสงคราม)

 คติและสัญลักษณ์ของลักษณะวัดพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร เนื่องจากวัดในลำดับนี้มีพื้นที่และพระอารามมีขนาดเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นโทที่สูงกว่า ลำดับของตับหลังคาจึงลดลงเป็นหลังคาที่มีตับหลังคาไม่เกิน ๓ ตับ

ตามตัวอย่างพระอารามหลวงชั้นโทลำดับวรวิหาร ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นต้น




พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร เป็นวัดหลวงที่มีรูปแบบคล้ายกับพระอารามหลวงชั้นโทลำดับราชวรวิหาร ปัจจุบันมีพระอารามหลวงลำดับนี้อยู่ ๓ วัด คือ

๑.วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดนางปลื้มมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเรียกว่าวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ มีมาแต่สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และจัดให้มีสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการขุดพบระฆังโบราณในวัด จึงเรียกกันว่าวัดระฆัง

ในวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถและหอไตรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง และตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)  หอไตรเป็นเรือนไม้แฝด ๓ หลัง ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ สิ่งสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนก็คือ เป็นวัดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี จำพรรษา ณ วัดนี้ และได้สร้างพระสมเด็จอันเป็นพระเครื่องที่เป็นที่พุทธศาสนิกชนอยากมีเก็บไว้บูชามากที่สุด

๓.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต แซ่อึ่ง หรือโต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้าน ที่ดินและ ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงอุทิศถวายเป็นวัดให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่ได้ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา ๔ ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พร้อมสร้างพระประธานพระราชทาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ พระพุทธรูปไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง อยุธยา

ตัวพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคา ๓ ตับ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวในประเทศ

บริเวณรอบวัดปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตริมน้ำที่สำคัญ



 

พระอารามหลวง ชั้นตรี

พระอารามหลวงชั้นตรี ขึ้นเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานให้เป็นพระอารามหลวง หมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไปในลำดับพระครูสัญญาบัตร ซึ่งมี ๔ ระดับคือ พระครูชั้นพิเศษ ถึงลำดับพระครูสัญญาบัตร (ชั้นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราษฎร์) มีอยู่ ๓๕ ลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากจะยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดหลวงจำเป็นต้องดำเนินการโดยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะดำเนินการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรเป็นเจ้าการ ปฏิบัติการตามระเบียบปฏิบัติกรรมการวัดราษฎร์เป็นวัดหลวง เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวงต่อไป

พระอารามหลวงชั้นตรี ยังคงมีลำดับชั้น ราชวรวิหาร วรวิหาร และชั้นสามัญ

ในปัจจุบันพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารจะเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสี หรือรัชทายาททรงสร้างหรือพระราชทานให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมี ๔ วัด ได้แก่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชววิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

คติและสัญลักษณ์ที่นับเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารก็คือ เช่น มีตับหลังคาพระอุโบสถหรือวิหารได้ตั้งแต่ ๓ ตับ ถึง ๔ ตับ เช่น มีกำแพงแก้วหรือวิหารคดล้อมรอบเขตพุทธาวาสชัดเจน เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร





พระอารามหลวงชั้นตรี

เพิ่มเติมพระอารามหลวงชั้นตรีระดับราชวรวิหาร จากวันอาทิตย์ที่แล้ว นอกจากวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร ยังมีอีก ๑ วัด คือ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร จ.ลพบุรี

สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของพระอารามหลวงชั้นตรีลำดับวรวิหาร หมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีหรือสมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่นและมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป สมณศักดิ์ระดับพระครูมีสัญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดราชทินนาม

พระครูสัญญาบัตรมี ๔ ชั้น คือ ๑.ชั้นพิเศษ ๒.ชั้นเอก ๓.ชั้นโท ๔.ชั้นตรี ซึ่งทุกระดับชั้นมีฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงได้ทั้งสิ้น

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ปัจจุบันมีอยู่ ๓๙ วัด ตัวอย่างพระอารามหลวงระดับนี้ เช่น วัดราชนัดดาวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

คติสัญลักษณ์ก็คือ พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ถ้าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์จะมีพระอุโบสถหรือพระวิหารขนาดใหญ่ หลังคา ๓ ตับ หรือ ๔ ตับ แต่จะไม่เคร่งครัดในแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์ในการวางผังนัก

แต่ถ้าเป็นวัดราษฎรซึ่งขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง จะมีพระอุโบสถหรือวิหารไม่ใหญ่และมักจะไม่ถือแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์เป็นสำคัญ เช่น วัดมณีบรรพตวรวิหาร จ.ตาก



 

พระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ

พระอารามหลวงลำดับสุดท้าย ที่เรียกว่าพระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ หรือวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญ หรือวัดประจำหัวเมืองที่มิใช่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี หรือพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์หรือวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และพระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง ยกเป็นเกียรติและมีลักษณะที่มิใช่วัดที่มีพระอารามใหญ่โตหรือก่อสร้างใหญ่โต

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญมีกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีประมาณ ๖๙ วัด ชื่อวัดหลวงระดับนี้จะไม่มีสร้อยต่อท้าย เช่น วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่เสนาบดี ๓ ท่าน สมัยรัชกาลที่ ๓ ปฏิสังขรณ์ วัดเดิมชื่อวัดสัก แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ และได้รับพระราชทานรับไว้เป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

คติสัญลักษณ์พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญ ส่วนใหญ่จะมีอุโบสถหรือวิหารขนาดเล็กย่อม หลังคา ๒ ตับหรือ ๓ ตับ แต่จะแบ่งแยกบริเวณพุทธาวาสกับสังฆาวาสออกจากกันเด่นชัด

ลำดับการตั้งพระอุโบสถกับเจดีย์จะไม่นับเอาคติจักรวาลทัศน์ (ที่พระเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นเรื่องสำคัญ


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 มีนาคม 2560 15:02:18 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 12 กันยายน 2559 17:36:10 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



เจดีย์ ปราสาท มณฑป

คงเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่า เจดีย์คือ สถูป หรือสิ่งก่อสร้างที่มุ่งหมายหรือสัญลักษณ์ที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแยกประเภทของเจดีย์เป็น ๔ ประเภท คือ
     ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุพระ พุทธเจ้า
     บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
     ธรรมเจดีย์ สิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมในพระพุทธศาสนาหรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก
     อุเทสิกเจดีย์ ของที่สร้างขึ้นโดยหมายแทนพระพุทธเจ้า เช่น ธรรม จักร พระพุทธรูป เป็นต้น

ในทางสถาปัตยกรรมการสร้างเจดีย์บางแห่ง มุ่งหมายที่แสดงถึงสัญลักษณ์ที่สื่อรูปแบบบางประการ หมายถึงเจดีย์ ทั้ง ๔ ประเภทข้างต้น

สิ่งสำคัญที่พบในสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบคล้ายเจดีย์ก็คือ สถาปัตยกรรมที่เรียกกันว่าปราสาท นั้น บางแห่งเป็นทั้งรูปทรงที่เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเรือนยอดเป็นชั้นๆ แต่บางปราสาทในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู มีฐานะเท่ากับ กู่ ทั้งใช้เป็นที่เก็บหรือฝังพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต เช่น ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา หรือเป็นเทวสถานหรือศาสนสถาน เช่น ปราสาทนครธมที่เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มิได้ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าจึงไม่นับว่าเป็นเจดีย์

ในประเทศไทยมีปราสาทอยู่หลายหลังที่เป็นโบราณสถาน เช่น ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ที่เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ปราสาทสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ คือ โลหะปราสาท ที่เริ่มต้นก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างปราสาทหลังนี้ในแนวความคิดที่เรียกว่า ธรรมเจดีย์ คือ เป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอดเจดีย์รายล้อม ๓๗ องค์ อันมีความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ ปยุตโต ให้หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายเท่าการตรัสรู้ ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘)

มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง จนถึงปี ๒๕๐๖ จึงได้มีการบูรณะโลหะปราสาทจนแล้วเสร็จ และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จึงเป็นเจดีย์ปราสาทโลหะที่สมบูรณ์

เหตุที่เรียกโลหะปราสาทก็เนื่องจากวัสดุและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดง สำริดดำ





มณฑป

มณฑป เป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปแบบหนึ่งที่ก่อสร้างเป็นศาสนสถานที่ บางครั้งก็เป็นธาตุเจดีย์ บางครั้งก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เช่น มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ลักษณะสำคัญของมณฑปก็คือ รูปทรงหรือรูปแบบอาคารที่มีผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หมายถึง โลก ตามความคิดในความเชื่อตามทางจักรวาลทัศน์ ๔ โดยมีปลายยอดเป็นลูกแก้ว หมายถึง นิพพาน

ในภาพนี้เป็นพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเก็บพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดให้สังคายนาขึ้น

หลังคาของมณฑปนี้เป็นทรงกรวย เช่นเดียวกับยอดของพระมหาปราสาท เป็นชุดชั้นลาดลดหลั่นจากยอดแหลมตั้งบนแบบแปลน ผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หลังคาแต่ละชั้นที่ซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละชั้นเรือนที่ไม่แสดงตัวเรือน จำนวนชั้นเรือนแสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ของผู้สร้าง

พระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งอยู่บนฐานไพที (ฐานสูงด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ) เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก จึงมีฐานะเป็นธรรมเจดีย์ ฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้สร้างมณฑปในฐานะของหน่อพุทธางกูร คือ พระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต





คติทางตัวเลข

ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีการใช้ตัวเลขเป็นตัวกำกับหัวข้อธรรมต่างๆ ภายหลังในการสรุปรวบรวมธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงลงเป็นพระไตรปิฎก ตัวเลขการจัดลำดับหมวดหมู่ของธรรม ในหัวข้อต่างๆ จึงเกิดขึ้น

ต่อเมื่อมีการสร้างอนุสรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา สถาปนิกได้ใช้คติทางตัวเลขเป็นแนวทางการออกแบบที่เป็นรูปทรงเพื่อใช้บอกหรือแสดงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณ์บางประการ ตัวเลขที่แสดงถึงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณทางรูปธรรมต่างๆ จึงมีความหมายที่จะแสดงให้ผู้คนได้ศึกษาว่ารูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้น กำลังแสดงธรรมในเรื่องใดบ้าง ตัวเลขส่วนใหญ่ทางพุทธศาสนาซึ่งสถาปนิกผู้รังสรรงานสถาปัตยกรรม เช่น เลข ๓ หมายถึงอะไรบ้าง

ในทางธรรม เลข ๓ อาจจะหมายถึง ไตรสรณาคม หรือรัตนตรัย ได้แก่ ที่พึ่งแห่งจิตใจ ๓ ประการ คือ
     พระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
     พระธรรม เป็นที่พึ่ง
     พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

หรือความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ในกรณีของสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงองค์ประกอบโลก เช่น สถูป หรือเจดีย์จะนำความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก มาแสดงเป็นสัดส่วน ๓ ชั้น ได้แก่

ชั้นฐาน ก็คือ กามภพ ที่จะมีการขยาย รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นลำดับชั้น ของความเป็นสัตว์โลกในระดับต่างๆ ที่เรียกว่า กามภพ หรือภพของผู้ที่ยังข้องติดอยู่ ในกาม อันได้แก่ ความยินดี ยินร้าย ตามยึดมั่น ถือมั่น ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมย์อีก เป็นต้น

ชั้นที่ ๒ คือ รูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกในลำดับชั้นสูงขึ้นไปจากกามภพ เป็นภาวะของผู้มีจิตหรือความคิดที่เป็นสมาธิบรรลุถึงญาณ ที่สงบนิ่งแนบแน่นโดยใช้รูป เป็นที่ตั้งและอยู่ในสติในการพิจารณา

ส่วนชั้นที่ ๓ คือ อรูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกที่มิได้ใช้รูป เป็นที่กำหนดความคิดพิจารณา แต่ใช้การตั้งจิตที่อยู่โดยปราศจากรูป เช่น เพ่งพิจารณา แสงสว่าง ที่ว่าง วิญญาณ เป็นหลัก

ในตอนต่อไปจะยกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทั้งสัมพันธ์กับตัวเลขในความหมายมาแสดง





เลข ๔ ในพุทธศานา

ในพระไตรปิฎก หัวข้อธรรมะเป็นจำนวนหลายบทที่จำแนกหมวดธรรมะที่แบ่งรายละเอียดเป็น ๔ หัวข้อ เช่น อริยสัจ๔ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ อวิชชา ๔ อุปาทาน ๔ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก

แต่เลข ๔ ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางสถาปัตยกรรมก็คือ พรหมวิหาร ๔ ที่มีรูปลักษณ์เป็นเทวดา ๔ หน้า เรียกพระพรหม ซึ่งซ้อนทับอยู่กับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์

พระพรหมในศาสนาพุทธมีความหมายเป็น ๒ นัย ความหมายหนึ่งแปลว่า ผู้อยู่เดียวดาย (คือการไม่ข้องและเกี่ยวข้องกับกามคุณ คือ ความพอใจ ยินดี ทั้งหลาย) และหมายถึงจิตใจของผู้ที่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เมตตา หมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ซึ่งหากความหมายลึกไปกว่าคำพูดธรรมดาก็คือ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ อันได้แก่การพ้นไปจากสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด

กรุณา หมายถึง ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์หรือความหมายที่หมายไปถึงการช่วยเหลือ การแสดงความจริงของชีวิต อันได้แก่ ความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และความดับทุกข์

มุทิตา หมายถึง ความมีจิตยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น หรือความยินดีในความสุขที่แท้จริงของผู้อื่น อันได้แก่ ความสุขในคำที่ว่า นิพพานํ ปรมิสุขํ

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉยอยู่ ความเที่ยงธรรม ความวางตัวเป็นกลางหรือหมายถึงการพ้นจากข้อสงสัยในสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งเมื่อไม่มีสิ่งใดที่น่าสงสัยแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะไปข้องติดอยู่กับความสงสัยนั้น มีแต่ความเบิกบานอยู่

ส่วนพรหมทางศาสนาพุทธในอีกความหมาย หมายถึงผู้ที่สถิตอยู่ในสถานที่ที่สูงกว่าสวรรค์และยังอยู่ในกามภพ เรียกว่า กามาวจรภพ มีการเวียนว่ายตายเกิดตามสภาวะของการจุติและการปฏิสนธิจิต แบ่งเป็น ๒ แบบ คือรูปพรหมมี ๑๖ ลำดับ และพรหมไม่มีรูป เรียกอรูปพรหม ๔ อันดับ อย่างไรก็ตามพระพรหมในที่นี้ก็ยังหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย คือการไม่ข้องและอยู่กับกามคุณ

ส่วนพรหมในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แบ่งความหมายได้มากมาย เช่น เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ เทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นผู้สร้างโลกและให้กำเนิดสิ่งต่างๆ ในจักรวาล เป็นสภาวะอันสูงสุด ไม่มีเบื้องต้นไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ ไม่มีความยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งหลาย อยู่เหนือความดีและความชั่ว

ในคติของการสร้างเทวรูป ทั้งใน พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เพื่อเป็นตัวแทนของพระพรหม จึงสร้างเป็นเทวดาที่มี ๔ หน้า

ในทางพุทธศาสนาหน้าทั้ง ๔ จึงมีความหมายเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์ พระพรหมจะมีฐานะเป็นเทพเจ้าของความเมตตา เทพเจ้าของการสร้างสรรค์ สร้างโลกและกำเนิดคัมภีร์พระเวท





ซุ้มคูหา ๔ ทิศ

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกล่าวถึงสัญลักษณ์ ของเลข ๔ ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปของพระพรหม อันหมายถึงพรหมวิหาร ๔ นั้น เลข ๔ ที่ใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมทางศาสนาอีกรูปแบบก็คือ ซุ้มคูหาที่หมายถึงซุ้ม ๔ ทิศที่รอบพระปรางค์หรือพระเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวดาผู้รักษาทิศอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในภาพเป็นซุ้มคูหาของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี เป็นซุ้มคูหา ๔ ทิศ สำหรับประดิษฐานเทวดารักษาทิศหรือรักษาโลก ๔ ทิศ หรือท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก รูปปั้นในซุ้มคูหาของพระปรางค์ทำเป็นรูปเดียวกัน โดยใช้รูปของพระอินทร์ที่เป็นหัวหน้าของเทวดาในชั้นจาตุรชิกมหาราชหรือท้าวสักกะที่เป็นเทวดารักษาทิศตะวันออกแทนรูปจตุโลกบาลทั้งหมด

ในกรณีที่เป็นซุ้มคูหาของพระเจดีย์ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น พระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์เป็นสัญลักษณ์ของตัวแทนพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ซึ่งได้อุบัติแล้วในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระสมณโคตมพุทธเจ้า หรือพระโคดมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน




วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ความหมายของเลข ๖

มีธรรมะที่แยกหัวข้อเป็น ๖ หัวข้อจำนวนหนึ่ง เช่น คารวตา ๖ หรือการปฏิบัติตามความเชื่อ คือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจ เพื่อความหนักแน่นและจริงใจ ได้แก่ การเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือสัญเจตนา ๖ ได้แก่ ความจำนงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

ตัณหา ๖ ความทะยานอยาก ได้แก่ อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะ และอยากได้ในธรรมารมณ์

หรือทิศ ๖ ได้แก่ บุคคลประเภทต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ความหมายของเลข ๖ ในส่วนของศาสนสถาน หรือทางสถาปัตยกรรมมิได้หมายความถึงหัวข้อธรรม หากแต่หมายถึงสัญลักษณ์ของสถานที่ เรียกว่า จักรวาลทัศน์

ในส่วนหนึ่งหมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจรสุข ได้แก่ ลำดับชั้นของสวรรค์ดังนี้ ๑.จตุมหาราชิกา ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิตา ๕.นิมมานรดี ๖.ปรนิมมิตวสวัตดี

ในทางสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ของสวรรค์ทั้ง ๖ กำหนดลงในสถูปหรือเจดีย์ โดยอยู่บนส่วนบนของสถูปหรือเจดีย์ ตั้งซ้อนอยู่บนเรือนธาตุที่เป็นสัญลักษณ์ของโลก หรือเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นต้น ตามรูปเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน จะเห็นส่วนบนของเจดีย์มี ๖ ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ชั้นฉกามาพจรสุข

คติในส่วนนี้ก็คือ ความหมายของสวรรค์ทั้ง ๖ คือที่อยู่ของเทวดาในระดับชั้นความดีทางจริยธรรมที่ได้เสวยสุขเมื่อจุติจากโลก แต่ติดอยู่ในความสุขจนไม่อาจบรรลุนิพพานได้ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นั้นต้องจุติมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในโลกที่จะประสบความสุขและความทุกข์ จึงจะเห็นความจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง





ความหมายของเลข ๗

เลข ๗ ที่แสดงในรูปแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่มิใช่การแสดงหลักธรรมที่รายละเอียดของธรรมะแยกเป็น ๗ หัวข้อ เช่น ธรรมที่ว่าด้วย กัลยาณมิตรธรรม ๗ แปลว่าคุณสมบัติของมิตรแท้ที่คบหาแล้วทำให้เกิดความดีงามความเจริญ ได้แก่ มิตร ที่มีลักษณะ ๗ ประการ คือ ปิโย (น่ารัก) ครุ (น่าเคารพ) ภาวนีโย (น่าเจริญใจ น่ายกย่อง เป็นผู้มีความรู้และปัญญา) วิตตา (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ) วะจะนักขโม (พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา) คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา (อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ) และข้อสุดท้ายก็คือ โน จัฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำหรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย)

โพชฌงค์ ๗ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ (ความระลึกได้) ธัมมวิจยะ (ความเห็นธรรม สืบค้น) วิริยะ (ความเพียรพยายาม) ปีติ (ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์) และอุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง)

รวมถึงหัวข้อธรรมอื่นๆ ได้แก่ วิสุทธิ ๗ ความหมดจด ความบริสุทธิ์ ที่สูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ สัปปุริสธรรม ๗ ธรรมของสัตบุรุษ อปริหานิยธรรม ๗ ธรรมอันไม่ตั้งแห่งความเสื่อม ฯลฯ

การใช้สัญลักษณ์ของเลข ๗ ในทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏขึ้นในศาสนสถานของไทย มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ แสดงถึงความเชื่อในจักรวาลทัศน์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยมีทะเลและภูเขาล้อมอยู่ ๗ ชั้น นำไปแสดงเป็นรูปแบบของฐานสถูปหรือเจดีย์ที่มีฐานสูง ๗ ชั้น ที่มีชื่อของแนวเขาทั้ง ๗ ได้แก่ เขายุคนธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัศนะ เขาเนมินธร เขาวินตกะ เขาอัสกัณ โดยมีทะเลสีทันดรกั้นระหว่างเขาทั้ง ๗ มีความสูงต่ำไล่ลำดับขึ้นไปเป็นชั้นๆ

ในอีกรูปแบบก็คือ การสร้างบริโภคเจดีย์ ๗ องค์ เพื่อระลึกถึงสถานที่และเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วได้ประทับอยู่ในพื้นที่นั้นหรือบริเวณนั้น บริเวณละ ๗ วัน เพื่อเสวยวิมุติสุขและทบทวนธรรมที่พระองค์ได้ค้นพบ

ตัวอย่างของบริโภคเจดีย์ทั้ง ๗ นี้ ปรากฏชัดเจนที่บริเวณนอกวิหารคดของพระวิหารศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ริมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก และสิ่งก่อสร้าง ๗ สิ่งที่อยู่รายรอบเจดีย์วัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ โดยก่อสร้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เพื่อแสดงเหตุการณ์และ พระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ ที่นี้





ความหมายของเลข ๘

ในทางพุทธศาสนาที่นำตัวเลข ๘ มาใช้อธิบายความหมายของธรรมะหลายประการ สัญลักษณ์สำคัญที่แสดงด้วยความหมายเลข ๘ รูปแบบหนึ่งก็คือ รูปธรรมจักร ที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลมที่มีกงล้ออยู่ ๘ ซี่

ในความหมายของธรรมจักรจะแสดงออกเป็นนัยยะสำคัญ ๒ รูปแบบ คือ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าในอดีตกาลที่ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพที่เหมือนมนุษย์หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าพระพุทธรูป สัญลักษณ์ที่เป็นองค์พระพุทธรูปที่เป็นธรรมจักรนี้จะมีรูปกวางหมอบอยู่ด้านข้าง ข้างละ ๑ ตัว ที่หมายถึงสัตว์โลกผู้ปรารถนาในนิพพาน

ในอีกสัญลักษณ์หนึ่งก็คือ ตัวธรรมจักรที่หมายถึง มรรค อันมีองค์ ๘ โดยใช้ซี่กงล้อ ๘ ซี่ เป็นสัญลักษณ์ของมรรคทั้ง ๘

มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ) องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ) มีดังนี้

๑.สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท)

๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์)

๓.สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔)

๔.สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓)

๕.สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)

๖.สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัปมัปปธาน ๔)

๗.สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔)

๘.สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔)

หรือรวมความของรูปแบบในสัญลักษณ์นั้นคือการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันเป็นภาษาพระว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร





ความหมายของเลข ๑๐

ความหมายของเลข ๑๐ ในพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระยาน ที่นับถือกันอยู่ในทิเบต ภูฏาน กิเลสเป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งชีวิต ที่เพิ่มเติมจากกิเลส ๓ ประการที่พุทธศาสนิกชนที่นับถือฝ่ายเถรวาทรู้จักกันดี

กิเลสทั้ง ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ

ในฝ่ายมหายานได้อธิบายกิเลสเพิ่มเติมโดยนับเอาความหมายของนิวรณ์ ๕ ที่หมายถึงความเสื่อม รวมเข้ากัน เป็นกิเลส ๑๐ ประการ ได้แก่
     ๑.ทิฏฐิกิเลส คือ ความเห็นผิดที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบได้ดั่งโมหะ)
     ๒.วิจิกิจฉากิเลส ความลังเลสงสัยที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งกิเลส (เปรียบได้คือโมหะ)
     ๓.โทสกิเลส ความขุ่นข้อง ความ ขุ่นมัว ความโกรธ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบก็คือโทสะ)
     ๔.โลภกิเลส ความติดข้อง ต้องการ ที่ทำให้จิตหรือใจเศร้าหมอง (เปรียบได้คือโลภะ)
     ๕.โมหกิเลส ความหลงลืม ความไม่รู้ความเป็นจริง เป็นเครื่องเศร้าหมอง ของจิต
     ๖.ถีนกิเลส ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซา เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๗.อุทธัจจกิเลส ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๘.อหิธกกิเลส ความไม่ละอายต่อบาป เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๙.มานกิเลส ความสำคัญตน การเปรียบเทียบ ทำให้ใจเศร้าหมอง
    ๑๐.อโนตัปปกิเลส ความไม่เกรงกลัวต่อบาปทำให้ใจเศร้าหมอง

ที่น่าสนใจคือ บรรดารูปปั้นของพระอมิตยุส พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ คุรุริมโปเช ทั้งภาคสวยงามและภาคดุร้าย ในวิหารอมิตยุส วัดเขาทักซัง ประเทศภูฏาน รูปปั้นเป็นเทพเหยียบมาร โดยมีพระโพธิสัตว์ภาคปางดุร้าย สวมสังวาลรอบเอวที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ ๑๐ หัว

บรรดาใบหน้าของมารที่อยู่ที่ฐานของพระโพธิสัตว์และสังวาลรอบเอวของเทพหรือธรรมบาลที่เป็นศีรษะมนุษย์ ๑๐ หัว ที่หมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งภาคสวยงามหรือภาคดุร้ายได้ตัดกิเลสทั้ง ๑๐ ได้หมดแล้วนั้นเป็นใบหน้าเหลี่ยมคล้ายอดีตผู้นำไทย





ความหมายของเลข ๑๒

ธรรมจักร ๑๒ ซี่ เป็นรูปธรรมจักรที่มี "กงกำ" หรือ "ซี่ล้อ ๑๒ ซี่" มีความหมายที่แตกต่างจากธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่

ธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรค ๘ แต่ ๑๒ ซี่ มีความหมายถึงธรรมในหัวข้อธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดังนี้

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต)

ในความเห็นอีกประการของท่านพุทธทาส ก็คือ ธรรมจักรที่มี ๑๒ กงกำ หรือซี่ล้อ หมายถึง การปริวัต ๓ ของอริยสัจ ๔ รวมเป็น ๑๒ อันหมายถึงการหยั่งรู้อริยสัจ ๔ ในหลักการ ๓ ประการคือ
     ๑.สัจญาณ หยั่งรู้สัจจะ คือ หยั่งรู้ความจริงว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ ซึ่งเห็นตรงสภาพความจริง
     ๒.กิจญาณ หยั่งรู้กิจ คือ หยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าควรทำอย่างไร เห็นว่าควรปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ
     ๓.กตญาณ หยั่งรู้การทำสำเร็จ คือหยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว เห็นว่าได้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ

(จากพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๓)





ความหมายของเลข ๑๖

ความหมายของเลข ๑๖ ที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ คือ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ มีผู้ให้ความหมายว่าหมายถึง ญาณ ๑๖ หรือโสพัสญาณ

รูปแบบที่ ๒ หมายถึง พรหมโลกหรือ ที่สถิตของพรหมทางพุทธศาสนา มี ๑๖ ชั้น หรือ ๑๖ ลำดับ

ในรูปแบบที่ ๑ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ ที่หมายถึง ญาณ ๑๖ ในคำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ ท่านประยุทธ์ ปยุตโต ได้อธิบายความหมายไว้ดังนี้

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย มีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนด แยกได้ว่าอะไรเป็นรูปธรรมอะไรเป็นนามธรรม

๒.ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฎแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น

๓.สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน

๔.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็น ความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด

๕.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด

๖.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใดก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

๗.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไปเป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องจะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

๘.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้วย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจ

๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๑๐.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสียจึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

๑๑.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริงว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพานเลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้

๑๒.สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายไม่พะวงและญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลางแล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป
๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล

๑๔.มรรคญาณ (มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น

๑๕.ผลญาณ ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรคผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่



 
ความหมายของเลข ๒๔

ความหมายของเลข ๒๔ ที่ปรากฏในรูปกง ๒๔ ซี่ ในธรรมจักร มีความหมายเป็น ๒ นัยๆ

ในความหมายแบบที่ ๑ หมายถึง ธรรมะในหัวข้อของปัจจยาการหรือปฏิสมุจปบาท ๑๒ ในทั้งสองด้านคือ ทั้งทางด้านเกิดและ ด้านดับ ดังรายละเอียดในทางเกิดหรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า การแสดงจากต้นไปหาปลาย เรียกอนุโลมเทศนา ซึ่งมีลักษณะดังนี้

เพราะอวิชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัยตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัยชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัยชรามรณะจึงมี

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

ในความหมายของด้านดับ เรียกว่า ด้านปฏิโลมเทศนา ก็คือการเริ่มต้นว่า ชรา มรณะ มีเพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชาติมีอยู่เพราะมีภพเป็นปัจจัย ภพมีอยู่เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย อุปาทานมีอยู่เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหามีอยู่เพราะเวทนาเป็นปัจจัย เวทนามีอยู่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ผัสสะมีอยู่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย สฬายตนะมีอยู่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีอยู่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย วิญญาณมีอยู่เพราะสังขารเป็นปัจจัย และสังขารมีอยู่เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

ในความหมายที่สอง หมายถึง องค์ธรรมที่เรียกว่ามหาปัฎฐาน ๒๔ เป็นการอธิบายปัจจัย ๒๔ อย่างละเอียดที่แสดงถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในด้านต่างๆ

ปฏิฐาน ๒๔ นี้มักจะใช้ในงานสวดอภิธรรมตามวัดต่างๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นพระธรรมที่กล่าวว่ามีความละเอียดลึกซึ้งและเข้าใจยากที่สุด


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 ตุลาคม 2559 16:06:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 25 กันยายน 2559 17:58:59 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย




ความหมายของเลข ๓๐

ความหมายของเลข ๓๐ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางธรรมในสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือ สถูป ๓๐ องค์ ที่ล้อมรอบพระธาตุหลวง แห่งนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันหมายถึงการบำเพ็ญ บารมี ๓๐ ประการ ของพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า

คำว่าบารมีจากพจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับประมวลธรรมของท่านประยุทธ ปยุตโต หมายความว่าปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอันยิ่งยวดคือ ความดีอย่างพิเศษเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายสูงสุด เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย ๑. ทาน (การให้ การเสียสละ) ๒.ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย) ๓.เนกขัมมะ (การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม) ๔.ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง) ๕. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่) ๖.ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส) ๗.สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ) ๘.อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่) ๙.เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ) ๑๐.อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้าย

ในการที่จะทำให้บารมีทั้ง ๑๐ นี้บริบูรณ์ต้องปฏิบัติครบ ๓ รอบได้
๑.บารมี บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงทรัพย์สมบัติ ยศฐาบรรดาศักดิ์ และคนที่พระองค์รัก
๒.อุปบารมี บำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงอวัยวะร่างกาย
๓.ปรมัตถบารมี บำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ โดยไม่คำนึงถึงชีวิต



โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด







ความหมายของเลข ๑๐๘

สัญลักษณ์ของเลข๑๐๘ เป็นความเชื่อว่า หมายถึงมงคล ๑๐๘ ประการ

คำว่ามงคล ในพจนานุกรมมีความหมายในทางศาสนาว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความดีงาม ในคติทางพุทธศาสนา กำหนดว่า มงคลมี ๓๘ ประการ ซึ่งหมายความถึงการประพฤติปฏิบัติของบุคคลอัน นำมาซึ่งความสุขความเจริญ ความดีงาม

๑๐๘ มิได้หมายถึง มงคล ๓๘ ประการดังกล่าว วิทยานิพนธ์ของ นางสาวปัทมา เอกม่วง เรื่องรอยพระพุทธบาทในศิลปเอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์ได้อ้างถึงคำอธิบายของนันทนา ชุติวงศ์ ว่า มงคล ๑๐๘ ประการ ประกอบด้วย มงคลที่มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ
     ๑.มงคลประเภทที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ ความเจริญ และความอุดมสมบูรณ์
     ๒.มงคลประเภทที่เป็นเครื่องประกอบบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิ
     ๓.มงคลที่เป็นส่วนประกอบทางรูปธรรมและนามธรรมทางสุคติธรรมในจักรวาล

ลักษณะของมงคล ๑๐๘ นี้ ในฝ่ายเถรวาทจะทำเป็นสัญลักษณ์ เป็นรูปต่างๆ ในลายพระบาทของพระพุทธเจ้า เช่น ภาพรอยพระบาทพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่สื่อไปถึงว่า ภพทั้งหลายก็ดี ความเป็นจักรพรรดิก็ดี หรือความเจริญสมบูรณ์แห่งโชคลาภก็ดี เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องล่างหรือเบื้องต่ำของความเป็นพุทธหรือพระพุทธเจ้า

ส่วนในรูปเป็นมงคล ๑๐๘ ของฝ่ายมหายาน ที่ทำเป็นสถูป ๑๐๘ องค์ที่พระราชินีแห่งภูฏานองค์หนึ่งทรงสร้างเพื่อแสดงถึงความสันติสุข ซึ่งเป็นที่สุดของโชค ของความดี ของประเทศภูฏานที่ผ่านความยุ่งยากมายาวนาน





ความหมายของเลข ๓๗

เลข ๓๗ เป็นสัญลักษณ์แห่งองค์ธรรมที่ผู้ประสงค์จะเข้าสู่นิพพานต้องปฏิบัติตามแนวทางที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ดังที่ได้เคยอธิบายไว้ในคติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย ที่กล่าวถึงเจดีย์ ปราสาทและมณฑปไว้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙

ในภาพที่ได้เคยบรรยายไว้ได้ยกเจดีย์โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ว่าเป็นเจดีย์ปราสาทโลหะที่สมบูรณ์ที่มียอดเจดีย์รายล้อม เจดีย์หลักทั้งหมด ๓๗ ยอด เรียกว่า ธรรมเจดีย์ เพราะเป็นเจดีย์ที่กล่าวถึงธรรม และภายหลังเมื่อมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์นี้จึงเป็นทั้งธาตุเจดีย์และธรรมเจดีย์พร้อมกัน

ในส่วนของธรรมเจดีย์ได้กล่าวถึงองค์ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค คือ หนทางอันประเสริฐ ซึ่งเรียกรวมกันว่า โพธิปักขิยะธรรม ๓๗ จากพจนานุกรมฉบับพุทธศาสน์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต กล่าวว่าประกอบด้วยองค์ธรรมดังต่อไปนี้

๑.สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ การตั้งสติ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้ตามความจริง ประกอบด้วย
   ๑) กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดกายให้รู้
   ๒) เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดเวทนาให้รู้
   ๓) จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดจิตให้รู้
   ๔) ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม

๒.สัมมัปปธาน ๔ ความเพียรชอบ ได้แก่
   ๑) สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น ระวังยับยั้งบาป
   ๒) ปหานปธาน เพียรละหรือเพียรกำจัด บาปอกุศลธรรม
   ๓) ภาวนาปธาน เพียรเจริญหรือเพียรก่อให้เกิดกุศลธรรม
   ๔) อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา คือ เพียรรักษาคุณธรรม

๓.อิทธิบาท ๔ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จที่มุ่งหมาย
   ๑) ฉันทะ ความพอใจ
   ๒) วิริยะ ความเพียร
   ๓) จิตตะ ความคิด
   ๔) วิมังสา ความไตร่ตรอง

๔.อินทรี ๕ ธรรมอันเป็นกำลัง ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจการของตน
   ๑) สัทธา ความเชื่อ
   ๒) วิริยะ ความเพียร
   ๓) สติ ความระลึกได้
   ๔) สมาธิ ความตั้งใจมั่น
   ๕) ปัญญา

๕.โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้ ได้แก่
   ๑) สติ สัมโพชฌงค์ ความระลึกได้
   ๒) ธัมมวิจยะ สัมโพชฌงค์ ความสอดส่องสืบค้นธรรม
   ๓) วิริยะสัมโพชฌงค์ ความเพียร
   ๔) ปิติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มใจ
   ๕ ) ปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจ
   ๖) สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
   ๗) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง

๖.มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งแปลว่า ทางดีองค์แปดประการอันประเสริฐ ได้แก่
   ๑) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
   ๒) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
   ๓) สัมมาวาจา วจีสุจริต
   ๔) สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ
   ๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
   ๖) สัมมาวายามะ พยายามชอบ
   ๗) สัมมาสติ ระลึกชอบ
   ๘) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา, ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปิติ สุข เอกัคคตา, ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา, จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รวมกันแล้วได้ตัวเลขเป็น ๓๗ นำมาเป็นคติในการสร้างเจดีย์ปราสาทโลหะ ที่มียอดรวม ๓๗ ยอด





มหาธรรมกายเจดีย์

มหาธรรมกายเจดีย์ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพของโลก เกิดขึ้นจากดำริพระเทพญาณมหามุนี ที่จะสร้างศาสนสถานให้เป็นศูนย์กลางการรวมใจและการประพฤติปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วโลก

แต่จุดมุ่งหมายในการสร้างเจดีย์ทั้งหลายนั้น ผู้สร้างเจดีย์มีวัตถุประสงค์อย่างใด คำตอบพยายามไต่ถาม ค้นคว้าจากผู้รู้ในทางสถาปัตยกรรมตะวันออก และผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาหลายท่านสรุปได้ความว่า

ผู้สร้างเจดีย์มีจุดมุ่งหมายของการเข้าถึงนิพพาน โดยใช้คติในความหมายของคำว่ามันดาละ หรือพุทธเกษตรของทางพุทธศาสนามหายานและฝ่ายเถรวาทมาเป็นแนวความคิดที่ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีมากมายดั่งเมล็ดทรายในมหาคงคานที

และฝ่ายมหายานได้เพิ่มเติมความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นกว่าจะได้บรรลุนิพพานนั้นได้บำเพ็ญเพียรบารมีมานานหลายกัปหลายกัลป์ เมื่อนิพพานแล้วคงจะมิได้หายไปไหนแต่ยังคงสถิตอยู่ที่มันดาละหรือพุทธเกษตรเพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์ที่ปรารถนาพุทธภาวะอยู่

พระมหากษัตริย์ทั้งหลายแห่งดินแดนภาคตะวันออกที่นับถือพุทธศาสนานั้นเชื่อกันว่ามีฐานะเป็นหน่อพุทธางกูรหรือพระโพธิสัตว์ที่จะบรรลุนิพพานหรืออรหัตผลในอนาคต ดังนั้นจึงสร้างสัญลักษณ์ของพุทธเกษตรของพระองค์ขึ้น โดยมีรูปแบบทางสถาปัตย กรรมที่เรียกว่าสถูป แต่สถูปใดที่ได้บรรจุสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น พระธาตุ จึงเรียกว่าธาตุเจดีย์ ที่นึกถึงพระพุทธเจ้าเรียกบริโภคเจดีย์ พระธรรมที่ได้ตรัสสั่งสอนเรียกธรรมเจดีย์ และพระพุทธรูปที่เรียกว่าอุเทสิกเจดีย์

พระมหากษัตริย์ทั้งหลายนั้นจึงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นนิมิตหมายจะเป็นที่สถิตอยู่เมื่อพระองค์บรรลุนิพพานหรือเป็นพระอรหันต์

มหาธรรมกายเจดีย์แห่งวัดธรรมกายนั้น คงไม่นับเป็นเจดีย์ตามที่ได้กำหนดไว้ว่าสิ่งใดที่เรียกว่าเป็นเจดีย์ แต่เป็นมหาสถูปที่นำพระพุทธรูปหรืออุเทสิกเจดีย์มารวมกันนับหมื่นองค์ แต่เมื่อสดับฟังคำสวดในพิธีบูชามหาธรรมกายเจดีย์ที่เผยแพร่ในคำสวดนั้นมิได้มุ่งปรารถนาไปสู่พระนิพพานหรือบรรลุอรหัตผล กลับเป็นคำสวดเพื่อผู้สวดบูชาหรือผู้บริจาคทรัพย์เพื่อก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ เมื่อจุติจากโลกนี้ไปแล้วไปสู่สรวงสวรรค์หรือหากยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏก็ประสบกับความเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม สถูปองค์นี้นับได้ว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่งดงาม เรียบง่าย แสดงความเป็นจักรวาลทัศน์ ที่มีทรงกลมบนยอดสถูป ที่มีคติของนิพพานปรากฏ



 

มงคล ๘ ประการ

มงคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกล่าวถึงมงคล ๘ ประการ และได้จัดสร้างเป็นสัญลักษณ์ของมงคลทั้ง ๘ ประการ ไว้อย่างสวยงามดังนี้ คือ

๑.วัฏจักรแห่งชีวิต สัญลักษณ์หรือความหมายของวัฏจักรแห่งชีวิตที่เต็มไปด้วยความรัก ความจริงอันบริสุทธิ์

๒.ธรรมจักร สัญลักษณ์ของพระพุทธธรรมที่ยังคงหมุน ประกาศสัจธรรมอันรุ่งเรืองของพระพุทธเจ้า

๓.ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธ์ที่แม้เกิดจากโคลนตมก็ไม่แปดเปื้อนมลทิน เปรียบเสมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์พ้นจากกิเลส มาร ทั้งปวง

๔.ปลา ๒ ตัว เป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ อันเปรียบเสมือนปลาที่ลืมตาอยู่ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะในการดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง

๕.หอยสังข์ เป็นสัญลักษณ์ของเสียงแห่งธรรมที่ก้องกังวานไปทุกทิศ

๖.รูปร่มหรือฉัตร เป็นสัญลักษณ์ที่จะปกป้องความร้อน (คือกิเลส) ที่ปกป้องจิตวิญญาณของมนุษย์

๗.แจกันหรือคนโท เป็นสัญลักษณ์ของที่เก็บของหรือพระธรรมอันประเสริฐ เพื่อรักษาและบำรุงสติปัญญาให้สมบูรณ์ต่อความรู้แจ้ง

๘.ธงชัย สัญลักษณ์หรือความหมายของการประกาศชัยชนะเหนือกิเลสหรือการประกาศรู้แจ้งแห่งธรรม





ธาตุเจดีย์ กับอุเทสิกเจดีย์

เจดีย์ลักษณะนี้ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะรูปแบบพิเศษ คือมีแกนหลักเป็นธาตุเจดีย์ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมหรือสี่ทิศ และแต่ละทิศจะมีพระพุทธรูปคือ อุเทสิกเจดีย์ประทับอยู่

คติ สัญลักษณ์ของพระพุทธรูป ทั้งสี่ทิศ มี ๒ คติ คือ

รูปแบบที่ ๑ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ที่ปรากฏขึ้นในภัทรกัปหรือสมัยที่โลกจะมีพระพุทธเจ้าติดต่อกัน ๕ พระองค์

รูปแบบที่ ๒ เป็นสัญลักษณ์ของอิริยาบถ ๔ นอน นั่ง ยืน เดิน ของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงธรรมในอิริยาบถทั้ง ๔

ในรูปแบบที่ ๑ มีธาตุเจดีย์เป็นแกนหลัก มีพระพุทธรูปประจำอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งสอดคล้องกับคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีพระพุทธเจ้าในรูปแบบของสัมโภคกาย ประจำอยู่ในพุทธเกษตรทั้ง ๔ ทิศ

ความหมายหรือคติสัญลักษณ์ที่แปลความรู้หรือรูปแบบของพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ก็คือ พระพุทธรูปทางทิศเหนือ ฝ่ายเถรวาทนาม กกุสันโธ ฝ่ายมหายานนาม อโมฆสิทธิ์ หมายถึงผู้มีความสำเร็จอันสมบูรณ์คือ การปฏิบัติธรรมจนพ้นไปจากโลก พ้นไปจากทุกข์ สิ้นสุดการกระทำที่จะทำให้เกิดทุกข์อีก

พระพุทธรูปทางทิศตะวันออก ฝ่ายเถรวาทนาม โกนาคม ฝ่ายมหายานนาม อักโษภยะ หมายถึง พระผู้ไม่หวั่นไหว นั่นคือ เมื่อพ้นไปจากโลกไปจากทุกข์ทั้งปวงแล้ว ก็แปลความไม่หวั่นไหวในทุกข์ไม่ปรากฏใดๆ อีกต่อไป

พระพุทธรูปทางทิศใต้ ฝ่ายเถรวาทนาม กัสสปะ ฝ่ายมหายานนาม รัตนสัมภวะ แปลว่า ผู้มีกำเนิดอันประเสริฐ ก็คือผู้พ้นไปจากทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปจากการพ้นทุกข์

พระพุทธรูปทางทิศตะวันตก ฝ่ายเถรวาท นาม สมณโคดม ฝ่ายมหายานนาม อมิตพุทธหรือ อมิตยุส แปลว่า ผู้มีรัศมีอันหาที่สุดมิได้ คือ มีปัญญาอันรู้แจ้ง แทงตลอดความจริงคือ อริยสัจ ย่อมพ้นไปจากโลก จากทุกข์ทั้งปวง

รูปแบบที่ ๒ ที่พบเห็นกันในประเทศไทยคือ ปาง ๔ อิริยาบถทั้ง ๔ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ธาตุเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศนั่น คติและสัญลักษณ์จะต่างไปจากรูปแบบที่กล่าวข้างต้น

ในรูปแบบของอุเทสิกเจดีย์ที่เป็นรูปอิริยาบถ ๔ นั้น จากวัดพระสี่อิริยาบถ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย

ในปางประทับยืนนั้นเรียกว่า ปางประทานอภัย ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า เป็นปางที่พระพุทธเจ้าประทานอภัยแก่พระเจ้าอชาตศัตรูที่ขออภัยที่ได้ส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คติและสัญลักษณ์ก็คือการให้อภัยต่อผู้อื่นเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

ปางลีลา ในพุทธประวัติกล่าวถึงพระสิริงดงามของพระพุทธเจ้าเมื่อเดินมาถึงประตูเมืองสังกัสสะนคร ที่พระสารีบุตรประทับอยู่ พระสิริงดงามของพระองค์ ครอบงำรัศมีเทวดาและพรหมทั้งปวง แต่ในอีกความหมายหมายถึง พระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าที่ได้เสด็จจารึกไปเผยแผ่พระธรรมแก่ผู้คนในแว่นแคว้นต่างๆ

ปางอิริยาบถนั่ง โดยทั่วไปพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งนี้มีมากมายหลายปาง โดยมีความหมายคติธรรมในเรื่องแตกต่างกัน เป็น ปางสมาธิ คือ ประทับนั่งพระหัตถ์ (มือ) ประสานกันบนตัก หมายถึงการเข้าสมาธิหรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปางมารวิชัย ก็หมายถึงการแสดงที่หมายถึงการหลุดพ้นไปจากโลก จากมาร เป็นต้น

ส่วนปางไสยาสน์ หรือที่เรียกกันว่าพระนอน เพิ่งกล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในคติและความหมายของพระ ๔ อิริยาบถนั้น จุดมุ่งหมายของผู้สร้างคงเน้นให้เห็นถึงการแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ กันของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะใช้พระอิริยาบถนั้นแสดงความหมายของธรรมนั้นๆ





ความหมายของเลข ๑ จากอักษรไทย

๑ มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิต เป็นตัวเลขตัวแรกของจำนวนนับ จำนวนเดี่ยว คนเดียว สิ่งเดียว เดี่ยว เป็นเอก เป็นเลิศ

เลข ๑ ได้พัฒนาเป็นเครื่องหมายสำคัญ ที่เรียกว่า อุณาโลม

ความหมายของอุณาโลม มีความหมายไปถึงตาที่สาม ซึ่งมีความหมายเกี่ยวเนื่องไปสู่ความเชื่อทางลัทธิศาสนา ในความเชื่อของผู้นับถือลัทธิไศวนิกาย เชื่อว่าเป็นดวงตาที่สามที่อยู่ระหว่างหน้าผากของพระศิวะ ซึ่งถ้าพระศิวะลืมตาขึ้น จะเกิดเป็นไฟเผาผลาญสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือโลก

ในความเชื่อของคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา เชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา คือ การเห็นชอบ หรือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ รอบรู้และรู้รอบ

ในหนังสือลายสักสยามของสังคีต จันทนะโพธิ เลข ๑ มีความหมายถึงคุณแห่งนิพพาน

เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปบางองค์จึงมีสัญลักษณ์ของอุณาโลมปรากฏที่กลางพระนลาฏของพระพุทธรูปนั้น ซึ่งอาจแปลความต่อไปว่า พระพุทธรูปนั้นในความหมายคือ พระโพธิสัตว์ หรือพระอวโลกิเตศวร หรือพระศรีอริยเมตไตย

ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อุณาโลมที่อยู่กลางหน้าผากของรูปปั้น หมายถึง พระโพธิสัตว์ ผู้รอบรู้และรู้รอบ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ แต่ยังปรารถนาจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากวิบากและทุกข์ ก่อนเข้าสู่พุทธภาวะ หรือเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป

ในบางกรณีรูปปั้นทางมหายานจะเปลี่ยนอุณาโลมเป็นรูปพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่กลางบนมงกุฎ 5 แฉก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงใช้สัญลักษณ์ของเลข ๑ หรืออุณาโลมในความหมายทางพุทธศาสนาเป็นดั่งพระเจ้าแผ่นดินของไทยนั้น เป็นธรรมราชาหรือพระโพธิสัตว์ หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า หน่อพุทธางกูร รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นราชวงศ์จักรี


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 มีนาคม 2560 15:07:03 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 10.0 MS Internet Explorer 10.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 18 ธันวาคม 2559 10:41:05 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



ความหมาย ของเลข ๔

ความหมายของเลข ๔ ทางพุทธศาสนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้เแก่ธรรมะที่ว่าด้วยอริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ สังคหวัตถุ ๔ สัมมัปปทาน ๔ ฯลฯ

ในทางสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาก็ใช้จำนวน ๔ เป็นแนวคิดในการออกแบบก่อสร้าง รูปแบบและรูปทรงของอาคารที่มีความสำคัญทางศาสนา เช่น อุโบสถหรือวิหารที่มีรูปทรงที่เรียกว่า จัตุรมุข อันสะท้อนคติของการเข้าถึงธรรมะสำคัญอันได้แก่ อริยสัจ ๔ นั้น

ตัวอย่างของพระอุโบสถและพระวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ที่มีทางเข้าของวิหาร ๔ ทิศ ภายในยังประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ พระองค์ ประทับนั่งพิงพระธาตุอยู่โดยรอบทั้งสี่ทิศ (ที่มีผู้อธิบายความหมายของพระพุทธรูปทั้ง ๔ ว่า หมายถึง ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม)

กรณีพระพุทธรูปสี่พระองค์ที่ประทับนั่งพิงพระธาตุ เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลเช่นเดียวกับเจดีย์ที่เรียก กู่พญา ของพม่าที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งอุบัติขึ้นในภัทรกัปป์ก็คือ พระกุกะสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระสมณโคดม ที่หมายถึงพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในปัจจุบัน





ความหมายของเลข ๗

คําว่า สัปปายะ หรือสัปปายะ ๗ เป็นธรรมะที่หมายถึง สิ่งที่เหมาะสม สิ่งที่เกื้อกูล สนับสนุนในการบำเพ็ญ ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย

ในทางสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาจะทำเป็นรูปแบบหรือสัญลักษณ์ของความเชื่อที่เรียกว่าจักรวาลทัศน์ คือมีศูนย์กลางเป็นเขาพระสุเมรุ และเรียงรายด้วยแนวเขา ๗ แถวโดยรอบ ประดับไว้เป็นส่วนยอดของหลังคาพระอุโบสถ หรือวิหารใหญ่

การชี้แจงรูปแบบของรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศที่ชนะการประกวดคัดเลือกให้ก่อสร้างเป็นอาคารที่ทำการรัฐสภาว่า มีความหมายเป็นอาคารที่มีสัปปายะ คือ ที่เหมาะสมแก่การทำงานของผู้มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการ ดูแล บ้านเมือง

ในที่นี้คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิกสภา

นอกจากเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมของการทำงานของผู้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการดูแลบ้านเมืองแล้ว ตัวเลข ๗ ยังมีความหมายคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในพื้นที่นี้หรืออาคารนี้หรือโบสถ์ วิหาร หรือหมายถึงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ผู้ที่มีหน้าที่บริหารบ้านเมือง จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นสัปปบุรุษ หรือเป็นผู้มีธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ อันหมายถึง คุณสมบัติของคนดี มีธรรมของผู้ดี ๗ ประการ

และต้องมีธรรมะสำคัญต่อมาก็คือ ต้องมีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม หรือเป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว เรียกว่า อปริหานิยธรรม ๗ ด้วย





ยันต์ ๕ แถว

การสักยันต์ในอดีต มีจุดมุ่งหมายหรือความเชื่อว่าเป็นการบันทึกคำสอนหรือคาถาทางพุทธศาสนาไว้ติดตัวไปตลอด ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นก็ตาม

ผู้คนที่มีรอยสักยันต์บันทึกคำสอนหรือคาถาทางพุทธศาสนาจึงต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม ไม่ประพฤติชั่ว มีข้อวัตร ข้อห้าม ข้อละเว้น และข้อปฏิบัติ เพื่อดำรงความดีงาม ละเว้นความชั่ว ย่อมได้รับความสุข ความเจริญ เมตตา กรุณาจากผู้คนทั่วไป

ยันต์สำคัญที่ยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ ยันต์ ๕ แถว

ปัจจุบันอาจจะมีการแปลความหมายของยันต์ ๕ แถวนี้แตกต่างกันออกไป เช่น ของอาจารย์สักชื่อดัง อาจารย์หนู กันภัย ที่ได้บรรยายเพิ่มเติมว่า

แถวที่ ๑ หมายถึง คาถาเมตตามหานิยม แถวที่ ๒ หมายถึง คาถาหนุนดวงชะตา แถวที่ ๓ หมายถึง คาถาแห่งความสำเร็จ แถวที่ ๔ หมายถึง คาถาราศีประจำตัว แถวที่ ๕ หมายถึง คาถามหาเสน่ห์

หรือในบางแห่งอธิบายว่า แถวที่ ๑ ให้ผลดีทางที่อยู่อาศัย แถวที่ ๒ แก้ดวงตก แถวที่ ๓ ป้องกันเสนียดจัญไรคุณไสย แถวที่ ๔ โชคลาภ ความสำเร็จ แถวที่ ๕ เสน่ห์ มหานิยม ซึ่งความหมายก็เพื่อประโยชน์ทางโลกแก่ผู้สักยันต์

จุดมุ่งหมายเดิมของยันต์ ๕ แถว ตามความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ก็คือ การบูชาพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่อุบัติขึ้นในภัทรกัลป์นี้ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า พระสมณโคดมพุทธเจ้า และพระศรีอาริยเมตยไตรพุทธเจ้า

แต่ละพระองค์จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะต่างๆ กัน ดังได้เคยบรรยายมาแล้ว



https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2016/11/1-375-696x359.jpg
คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


ตภัทรโพธิสัตว์

สมันตภัทร หรือ สมันตภัทระ แปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือ เป็นมงคลทุกประการ

นอกจากนี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธานที่จะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์นี้ทรงเป็นพระชินโพธิสัตว์หรือตัวแทนของพระไวโรจนะ ภาพของท่านจึงแสดงถึงความกรุณาปรานีและการอยู่ในสมาธิ ภาพของท่านจะอยู่เคียงคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

ในภาพท่านจะนั่งอยู่บนพาหนะคือ ช้างสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงพลังหรือแรงแห่งกิเลสตัณหา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงหมายถึงควาญช้างผู้ฝึกปรือให้ช้างหรือกิเลสตัณหานั้นลดลง

ในท่านั่งนั้น มือซ้ายจะถือจินดามณี (หมายถึงความสุขสว่างแห่งปัญญา) มือขวาจะอยู่ในท่าคิด นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ (อันน่าจะหมายถึงสังสารวัฏ)

ไม่พบภาคปางดุของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์



https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2016/12/ภาพหน้าจอ-2016-12-01-14.19.13-696x386.jpg
คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


พระมหาสถามปราปต์

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ เป็นพระมหาธิโพธิสัตว์ของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ผู้สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตร สุขาวดี

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์มิได้เป็นพระชยานิโพธิสัตว์หรือพระโพธิ สัตว์ที่อุบัติขึ้นจากญาณของพระอาทิพุทธเจ้าอมิตาภะ เหมือนพระอวโล กิเตศวร

ในความหมายของพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ หมายถึง พระโพธิสัตว์ที่แสดงถึงพลาธิคุณ หรือหมายถึง ผู้มีกำลังจิตเข้มแข็ง

มหาสถามปราปต์ แปลว่า บรรลุอำนาจอันยิ่งใหญ่อำนาจนี้ในความหมายคือ อำนาจแห่งกำลังจิตที่บรรลุความจริงอันประเสริฐ

ในสำนักสุขาวดีเชื่อว่า พระมหาสถามปราปต์เป็นผู้คุ้มครองดวงจิตของผู้ที่จะไปอุบัติยังพุทธเกษตรสุขาวดีที่มีพระอมิตาภะพุทธเจ้าสถิตอยู่ อันดวงจิตของผู้ที่จะไปยังพุทธเกษตรสุขาวดีก็คือ ดวงจิตของผู้ที่ภาวนาถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้าตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่พระมหาสถามปราปต์ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

ในการเชื่อมโยงคติความเชื่อของฝ่ายมหา ยานกับฝ่ายเถรวาทก็คือ พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์สถิตอยู่เบื้องซ้ายของพระอมิตาภะพุทธเจ้า จึงหมายถึงพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าด้วย

ลักษณะทางพุทธศิลปะก็คือ มือ ซ้ายจะอยู่ในท่าประทาน มือขวายกสูงประมาณอก หงายมือออก นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ ที่ภาษามือเรียกว่าอยู่ในท่านึกคิด นั่นคือคติหรือสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจจิตในการจะบรรลุความจริง





สมันตภัทรโพธิสัตว์

สมันตภัทร หรือ สมันตภัทระ แปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือ เป็นมงคลทุกประการ

นอกจากนี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธานที่จะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์นี้ทรงเป็นพระชินโพธิสัตว์หรือตัวแทนของพระไวโรจนะ ภาพของท่านจึงแสดงถึงความกรุณาปรานีและการอยู่ในสมาธิ ภาพของท่านจะอยู่เคียงคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

ในภาพท่านจะนั่งอยู่บนพาหนะคือ ช้างสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงพลังหรือแรงแห่งกิเลสตัณหา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงหมายถึงควาญช้างผู้ฝึกปรือให้ช้างหรือกิเลสตัณหานั้นลดลง

ในท่านั่งนั้น มือซ้ายจะถือจินดามณี (หมายถึงความสุขสว่างแห่งปัญญา) มือขวาจะอยู่ในท่าคิด นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ (อันน่าจะหมายถึงสังสารวัฏ)

ไม่พบภาคปางดุของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์  





พระมัญชุศรีโพธิสัตว์

พระมัญชุศรีเป็นพระธยานิโพธิสัตว์ของพระไวโรจนะพุทธะ มัญชุศรี แปลว่า แสงอันอ่อนหวานหรืออ่อนโยน เป็นพระโพธิสัตว์ที่นับถือกันมากในฝ่ายมหายานตันตระ โดยเฉพาะในประเทศภูฏานและทิเบต

สัญลักษณ์ของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ก็คือ เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา รูปแบบของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์มีประมาณ ๑๘ รูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปินผู้รังสรรค์รูปแบบนั้นประสงค์จะให้พุทธศิลปะนั้นแสดงธรรมว่าด้วยเรื่องใด

ในที่นี้ยกตัวอย่างพุทธศิลป์ของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ในภาพของธรรมจักรมัญชุศรีก็คือ ท่านั่งขัดสมาธิเพชร หัตถ์ซ้ายแสดงท่าธรรมจักร มี ก้านบัวพันขึ้นไหล่ซ้าย ซึ่งหมายถึงหรือเป็นคติของปัญญาที่บริสุทธิ์ดังดอกบัว หัตถ์ขวาทรงดาบหรือพระขรรค์ ซึ่งหมายถึงกระบี่แห่งปัญญา อันคมกริบตัดอวิชชาทั้งปวง

ในความเชื่อของฝ่ายมหายานตันตระ นอกจากภาพของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งแสดงความหมายของการแสวงหาหรือความรู้อันตัดอวิชชาทั้งปวงไปสู่ความบริสุทธิ์แล้ว ภาพของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์อีกภาพหนึ่งเรียกว่า ยมานตกะ เป็นภาคของปางดุร้าย

ปางดุมิได้หมายความถึงความดุร้ายทำลายผู้อื่น แต่ปางดุของมหายานตันตระหมายถึง ความดุที่จะสยบมารทั้งหลาย

ยมานตกะ แปลว่า ผู้พิชิต หรือชนะ พระยม ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย

ยมานตกะ จึงหมายความถึงผู้ชนะความตายก็คือ ผู้พ้นไปจากสังสารวัฏ  





พระพุทธรูปปางทรงเครื่อง (ปางโปรดพญาชมพูบดี)

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์หรือจักรพรรดิ

ลักษณะของการทรงเครื่องจักรพรรดินี้เกิดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นับเนื่องหรือหมายเอาว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องจึงหมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้ปรารถนาจะบรรลุพระนิพพาน

ในคติมหายานพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ มีฐานะเป็นพระไวโรจนพุทธ หรือพระชินพุทธ หรือพระพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกายหรือกายทิพย์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สามารถเอาชนะกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง และหมายถึงจุดเริ่มต้นมีธรรมกายหรือกฎสากลสมบูรณ์

พระพุทธรูปองค์นี้ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุฯ มีคำอธิบายว่ามาจากคติของฝ่ายมหายานจากมหาชมพูบดีสูตรปรับแต่งเข้ากับนิทานพื้นบ้านทางภาคเหนือ เป็นปางโปรดพญาชมพูบดีซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจมากในชมพูทวีป ผู้มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดแต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าเนรมิตกายของพระองค์ให้พญาชมพูบดีเห็นว่ายังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า และตรัสเทศนาในมหาชมพูบดีสูตรแก่พญาชมพูบดี

ในความหมายการแสดงพระธรรมในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือคำสอน ๓ ประการคือ

การเห็นสิ่งที่เป็นสาระและมิใช่สาระ

โทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสารหรือคุณแห่งพระนิพพาน

ความลุ่มหลงในเบญจขันธ์หรืออุปาทานขันธ์ คือความยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ว่าเป็นตัวตนเป็นตัวกูของกู ยึดมั่นในความเชื่อถือตามความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว การยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนแต่ฝ่ายเดียว และการยึดมั่นถือมั่นในความผูกพันติดใจ ข้องใจ ในความนึกความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่เป็นสาระทั้งสิ้น

นอกจากพระพุทธรูปปางนี้จะแสดงธรรมดังกล่าวข้างต้น รูปลักษณะหรือพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปปางนี้เป็นท่านั่งที่เหมือนกับปางมารวิชัย อันมีความหมายถึงการบอกกล่าวแก่ พุทธบริษัท ถึงการพ้นไปจากสังสารวัฏของพระพุทธเจ้า

แสดงด้วยการชี้พระหัตถ์ลงสู่พื้น เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้อยู่เหนือโลกหรือเหนือสังสารวัฏแล้ว  




ช่อฟ้าแบบโหง่
สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอีกรูปแบบที่แตกต่างจาก ช่อฟ้า หรือ สัตบริภัณฑ์ ที่บรรยายไว้ก่อนหน้านี้นี้ ช่อฟ้าประเภทนี้เป็นองค์ประกอบอาคารทางพุทธศาสนา พระอุโบสถหรือวิหารในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง เป็นส่วนใหญ่
  

ช่อฟ้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว (ช่อฟ้าแบบปากนก) กรุงเทพฯ

ช่อฟ้าประเภทนี้ มักจะมีลักษณะหรือสัญลักษณ์ของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่ตั้งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาศ อันหมายถึงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่สถิตของบรรดาผู้วิเศษหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีบุญ



ช่อฟ้าวิหารหลวง วัดสุทัศน์ (ช่อฟ้าแบบปากปลา) กรุงเทพฯ

เพราะฉะนั้นการเอารูปแบบบางส่วนของสัตว์ในหิมพานต์มาประดับไว้ตามตัวอาคาร จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ตัวอาคารนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วย คุณวิเศษ๓ ประการ  คือ พุทธคุณ ปัญญาคุณ และ กรุณาคุณ ที่มีพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์

ตามรูปตัวอย่าง จะเห็นว่าช่อฟ้าที่ประดับอยู่ในอาคารนี้มีหลายรูปแบบ ที่สำคัญตั้งแต่ในภาคเหนือตอนล่างลงมาตลอดภาคกลาง มักจะมีลักษณะคล้ายกัน เรียกว่า ช่อฟ้าแบบปากนก (บางทีเรียกปากครุฑก็มี) และ แบบปากปลา



ช่อฟ้าวิหาร วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ (ช่อฟ้าแบบหัวช้าง)

แบบปากนก หมายถึง หงส์ และมีใบระกาและหางหงส์ที่ปลายล่างของหลังคา เป็นสัญลักษณ์ของหงส์ พาหนะของพระพรหม ถ้าเรียกว่า ปากครุฑ ตัวเชิงชายปิดกระเบื้องมักจะทำเป็นตัวนาคสะดุ้ง (เพราะครุฑจะจับนาคหรืองูกินเป็นอาหาร) สัญลักษณ์ของครุฑก็คือพาหนะของพระนารายณ์ (ผู้คุ้มครองโลก)

ถ้าเป็นช่อฟ้าแบบปากปลา เป็นสัญลักษณ์ของพญานาค ตัวอาคารก็จะแปลเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาล นอกจากนี้อาจจะมีช่อฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นรูปหัวช้าง ดังเช่น ช่อฟ้าวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ หมายถึงช้างศักดิ์สิทธิ์ในแดนหิมพานต์ ตัวอาคารนั้นก็หมายถึง เขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาไกรลาศ

ส่วนในภาคอีสาน ช่อฟ้าที่เรียกกันว่า โหง่ ก็คือหงอนของพญานาค สัญลักษณ์ตัวอาคารก็จะหมายถึงเช่นเดียวกับอาคารที่มีช่อฟ้าเป็นช่อฟ้าปากปลา คือ เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่โดยมีทะเลสันทันดรล้อมรอบอยู่



โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 16:18:26 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 03 กุมภาพันธ์ 2560 19:00:53 »

.
             
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


พืชพรรณในพุทธศาสนา : ต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ใหญ่ ชื่อจริงในภาษาบาลีชื่อว่า อัตสัตถะ แต่ที่เรียกต้นโพธิ์เนื่องจากเป็นต้นไม้ใหญ่อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในขณะตรัสรู้

การจะเรียกต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ต้องเรียกว่า ต้นศรีมหาโพธิ และก็ใช้เรียกหน่อที่เติบโตจากต้นศรีมหาโพธิเช่นเดียวกัน

คำว่า โพธ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ

โพธิ์ แปลว่า ความตรัสรู้ คือความรู้ในความเป็นจริงที่เรียกว่า รู้ในอริยสัจ

พุทธหรือพุทธะ เป็นคำนาม แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว

คำว่า ตรัสรู้หรือความรู้ในความจริง หมายความในทางภาษาเรียกว่า รู้แจ้ง รู้ชัด

ในความหมายที่ปรากฏอยู่ในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าได้กล่าวแก่ปัญจวัคคีย์มีถ้อยคำบางคำที่บอกถึงความหมายของคำว่ารู้แจ้งรู้ชัด

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่างได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คำว่า จักษุ ญาณ ปัญญา วิชา แสงสว่าง หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ อย่างที่สุด

ในภาษาอังกฤษน่าจะหมายถึงคำว่า ENLIGHTMENT

มีความเชื่อกันในประเทศไทยว่า ได้มีการนำหน่อศรีมหาโพธิมาปลูกและเจริญเติบโตในประเทศไทยอยู่หลายแห่ง เช่น ที่อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เป็นต้น

วัดวาอารามทางพุทธศาสนาหลายแห่งจึงมักจะปลูกหน่อศรีมหาโพธิไว้เป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่าบริโภคเจดีย์ เพื่อระลึกถึงสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและหมายทางนามธรรมก็คือ ณ ที่นี้ พระพุทธศาสนาอันหมายถึงความรู้แจ้ง รู้จริง ในอริยสัจนั้น ได้หยั่งรากลง ณ ที่นี้แล้ว



ความหมายของเลข ๑๖ ยันต์โสฬสมหามงคล

หนังสือวัดพระเมรุราชิการาม พิมพ์ขึ้นเพื่อสมโภช ๕๑๓ ปี วัดหน้าพระเมรุ ได้กล่าวถึงยันต์ ทำด้วยแผ่นดินเผาติดเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ ๒๑ แผ่น มี จารึกแผ่นแรก แปลความว่า "ท่านผู้เจริญ ขอให้ทานศีล เนกขิมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ อธิษฐาน เมตตา จงมาแก่ท่านทั้งหลาย ขอศัตรูของท่านคงหลีกลี้"

ส่วนแผ่นที่ ๒ ก็แปลความหมายคล้ายกันคือ "เชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย คือ ทาน ศีล เนกขิมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน พร้อมเมตตา อุเบกขา มา ณ ที่นี้ จงจับอาวุธขึ้น ต่อยุทธ

คาถานี้เรียกว่า คาถาอาวุธหรือคาถาอายันตุโภนโต หรือคาถาพระพุทธเจ้าปราบมาร (ลักษณะของคาถาก็คือ บารมี ๑๐ ทัศ ของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า)

สิ่งที่ปรากฏเป็นยันต์นั้นเรียกว่า ยันต์โสฬสมงคล ในหนังสือนี้อธิบายว่า ยันต์โสฬสมงคล เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งมงคล ๑๖ อย่าง เช่น เลข ๙ แทนโลกุตรธรรม ๙ อย่าง คือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เลข ๕ แทนพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ในภัทรกัลป์นี้

ตัวเลขในกรอบชั้นกลาง เรียก ตรีนิสิงเห หมายถึง เลข ๓ ตัว ๔ ชุด โดยวัตถุประสงค์คือ นำตัวเลข ๓ ตัวมารวมกันได้เท่ากับ ๑๕ โดยทุกกลุ่มจะมีเลข ๕ ที่น่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เป็นแกนหลัก ส่วนชั้นใน ก็ประกอบด้วยตัวเลข ๙ ตัว เช่นเดียวกับชั้นนอก แต่จะแปลความหมายเพิ่มเติมไปอีกเล็กน้อย

ในหนังสือรอยสักสยามให้ความหมายของเลขในยันต์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ดังนี้
เลข ๑ หมายถึงคุณแห่งนิพพาน
เลข ๓ หมายถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย
เลข ๔ หมายถึงคุณแห่งมรรคผล ๔ หรือพรหมวิหาร ๔
เลข ๕ หมายถึงคุณแห่งศีล ๕
เลข ๘ หมายถึง คุณแห่งพระกรรมฐาน
เลข ๙ หมายถึงคุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
เลข ๑๐ หมายถึงคุณแห่งครูบาอาจารย์
เลข ๑๔ หมายถึงคุณพระสงฆ์เจ้า
เลข ๓๘ หมายถึงคุณพระธรรมเจ้า เป็นต้น

ในความหมายอื่น สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ให้ความหมายที่ต่างไปจากความหมายในหนังสือวัดพระเมรุราชิการาม ก็คือ ตัวเลข ๑๖ ตัว ชั้นนอก หมายถึง ภูมิชั้นรูปพรหม ซึ่งมี ๑๖ ชั้น และหมายถึงพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๖ ประการด้วย

ยันต์โสฬสมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ประดิษฐานไว้ที่ส่วนยอดของเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เพื่อ เป็นมงคลแห่งความเจริญรุ่งเรือง





ความหมายของเลข ๓

เลข ๓ ความหมายกับคุณแห่งพระรัตนตรัย ในรูปแบบของพระรัตนตรัยที่แสดงในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นรูปแก้วที่มีสัณฐานดังรูปไข่ ในพานที่มีเปลวไฟแห่งปัญญาล้อมอยู่บนแก้ว

พระรัตนตรัย หมายถึงแก้วหรือสิ่งประเสริฐ ๓ ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในความหมายของพระพุทธ หมายความถึง ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบาน ผู้รู้ หมายถึง ผู้รู้ในธรรมชาติหรือความจริงทั้งปวง ทั้งความเป็นไปในโลกและเรื่องเหนือโลก หรือ โลกุตตรพุทธ จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑) ปัจเจกพุทธ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยตนเอง แต่มิได้สั่งสอนผู้ใดให้รู้ตามได้
๒) สัมมาสัมพุทธ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยตนเอง และได้สั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตามไปด้วย
๓) สุตตันตพุทธ หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระธรรม หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าให้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เพื่อให้ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบได้รู้ได้ตื่นได้เบิกบานด้วยความจริงทุกประการ

พระธรรมของพระพุทธเจ้าเรียกเป็นภาษามนุษย์ว่า พระไตรปิฎก ได้แก่ พระสุตตันตปิฎก หมายถึง พระธรรมคำสอน คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกตรัสสอนให้เหมาะกับวิสัยและสติปัญญาของสาวก

พระวินัยปิฎก หมายถึง ข้อกำหนดในการประพฤติปฏิบัติของบุคคลในระดับต่างๆ

พระอภิธรรมปิฎก หมายถึง หมวดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเรื่องที่มิใช่เกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ เป็นเรื่องทางทฤษฎี

พระสงฆ์ หมายถึง องค์คณะของผู้เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์ หมายถึง พระสงฆ์ผู้บรรลุคุณธรรมพิเศษ ตามลำดับดังนี้ คือ
๑.พระโสดาบัน ๒.พระสกทาคามี ๓.พระอนาคามี ๔.พระอรหันต์

พระอรหันต์แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ๑.พระสุกขวิปัสสก พ้นจากกิเลส ๒.พระเตวิชชะ รู้การดับการเกิดของสัตว์ ๓.พระฉฬภิญญะ เป็นผู้แสดงฤทธิ์ได้ ๔.พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ แตกฉานในปัญญา หรือแตกฉานในการอธิบายธรรม ด้วยใจความของธรรมมาตั้งเป็นหัวข้อ สืบสวนไปหาเหตุผลได้ แตกฉานในภาษา รู้จักใช้ภาษาให้คนทั่วไปเข้าใจ แตกฉานในไหวพริบ

สมมติสงฆ์ หมายถึง สงฆ์ที่ยังศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย หรือประพฤติปฏิบัติเพื่อให้สิ้นทุกข์




พุทธศิลป์ในความหมายแห่งธรรม

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว คำสอนทางพุทธศาสนาก็ขยายตัวออกไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียกลางอันได้แก่ ดินแดนที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และบางพื้นที่ในสหภาพโซเวียตเดิม

ในช่วงราวปี พ.ศ.๕๐๐-๕๕๐ ภายหลังจากการขยายตัวของอาณาจักรกรีกโบราณ ชาวกรีกได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเอเชียกลาง ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาและความเชื่อในเทพเจ้าของกรีก การสร้างพระพุทธรูปแบบแรกจึงเกิดขึ้น

เรียกว่าพระพุทธรูปสมัยคันธาระ

ในสมัยนี้มีพระพุทธรูปปางต่างๆ อยู่ ๙ ปาง ได้แก่ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน

ที่นิยมกันก็คือ ปางปฐมเทศนา ซึ่งจัดเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สมัยคุปตะ แบบคันธาราฐที่สวยงามมาก ในความหมายแห่งธรรมของปางปฐมเทศนา

ตามรูป เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์เบื้องขวาตั้ง พระหัตถ์เป็นวงกลม เป็นเครื่องหมายแห่งธรรมจักร พระหัตถ์ซ้ายซ้อนพระหัตถ์ขวาเป็นวงกลมซ้อนกัน อันหมายถึงธรรมจักร หรือธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นพระธรรมคำสอนครั้งแรกที่เทศนาต่อปัญจวัคคีย์ ถึงวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ ก็คือการที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตนดังนี้

๑.การแสวงหาความสุขทางกามคุณ ได้แก่ ความกำหนัด รักใคร่ ยินดี ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่พึงพอใจ
๒.การไม่ปฏิบัติตนให้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ที่ทำให้เกิดทุกข์ ทรมานแก่ตน
๓ส่วนแนวทางการประพฤติปฏิบัติให้ถึงการพ้นทุกข์ก็คือ ความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงและการปฏิบัติตามแนวทางในเรื่องของอริยสัจ ๔ ได้แก่
     ทุกข์ ความจริงของความทุกข์
     สมุทัย เหตุเกิดของทุกข์
     นิโรธ ทางแห่งการดับทุกข์
     มรรค วิถีทางแห่งการปฏิบัติให้พ้นทุกข์

หนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็คือ การปฏิบัติตนในวิถีทางของอริยมรรค อันมีองค์ ๘ คือ ๑.ความเห็นชอบ ๒.ดำริชอบ ๓.วาจาชอบ ๔.การงานชอบ ๕.เลี้ยงชีพชอบ ๖.เพียรชอบ ๗.ระลึกชอบ ๘.ตั้งจิตชอบ  




พุทธศิลป์

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๓๐๐ ปี มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ซึ่งมีผลให้เกิดความเชื่อในทางพุทธศาสนาที่แตกกันเป็น ๒ ฝ่าย เรียกว่า มหายานกับเถรวาท

ความเชื่อที่แตกต่างกันในความเป็นพระพุทธเจ้าของทั้ง ๒ ฝ่ายก็คือ ฝ่ายมหายานเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญบารมีมามากมายหาที่สุดมิได้ ไม่น่าที่จะปรินิพพานแล้วหมดสิ้นไป น่าจะยังคงปรากฏอยู่และเทศนาธรรมให้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอยู่ในดินแดนที่มิใช่สังสารวัฏอีกต่อไป

พระพุทธเจ้าในฝ่ายของเถรวาทเชื่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ ณ ที่ใดอีก

นอกจากนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้ายังมีข้อปลีกย่อยเล็กน้อยที่ขยายความเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าในฝ่ายเถรวาทก็คือ ผู้บรรลุอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง และออกเทศนาสั่งสอนธรรมะผู้อื่นให้บรรลุธรรมหรืออริยสัจ ๔ แต่ถ้าพระพุทธเจ้าองค์ใดไม่ได้ออกสั่งสอนผู้คนให้เข้าใจในพระธรรมก็เรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า

ในฝ่ายของมหายานนั้นการจะเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุพระอนุตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเรียกว่า พุทธภาวะ ก็คือต้องประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ได้แก่ โพธิจิต มหากรุณา และศูนยตา

นอกจากนี้ในฝ่ายมหายาน พระพุทธเจ้ายังมีความหมายในหลักเรื่องตรีกาย หมายถึง กายทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า ได้แก่

– นิรมานกาย หมายถึง กายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของสังขารในฐานะที่เป็นมนุษย์ พระศากยมุนีผู้ท่องเที่ยวอยู่บนโลก สั่งสอนธรรมแก่สาวกของพระองค์ และดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

– สัมโภคกาย หมายถึง กายแห่งความบันเทิง มีลักษณะเป็นทิพยภาวะรุ่งเรืองแผ่ซ่านปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

– ธรรมกาย หมายถึง กายแท้จริงอันเป็นสภาวธรรม ในฐานะเป็นสภาพสูงสุด หลักแห่งความรู้ ความกรุณา และความสมบูรณ์

ดังนั้น ภาพของพระพุทธเจ้าของทั้ง ๒ ฝ่าย หรือพุทธศิลปในรูปของพระพุทธเจ้า จึงมีนัยยะแห่งธรรมที่แตกต่างกัน และแสดงความหมายของธรรมที่แตกต่างกัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการสั่งสอนผู้คนให้รู้ถึงวิถีทางของการพ้นทุกข์

ความเหมือนและคล้ายกันในความเชื่อของพระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธศิลปอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การพระพุทธเจ้าสำคัญฝ่ายละ ๕ พระองค์ ซึ่งแม้แต่ละฝ่ายก็อ้างถึงจำนวนพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วนก็ตาม

พระพุทธเจ้าสำคัญของฝ่ายมหายาน ๕ พระองค์ ปรากฏนามคือ พระไวโรจนะ พระอักโษกยะ พระอโมฆสิทธิ์ พระรัตนสัมภวะ และพระอมิตะพุทธ หรืออมิยุส

ฝ่ายของเถรวาท ๕ พระองค์ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะหรือกะกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระสมณโคดม โดยจะมีพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้องค์ต่อไปคือ พระศรีอาริยเมตไตย์

จากความแตกต่างที่เหมือนกันในความเข้าใจในความเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น เมื่อจะอธิบายความเป็นพระพุทธเจ้า รูปของพระพุทธเจ้า ภาพหรือลักษณะของพระพุทธรูป ท่าทางของพระพุทธรูปที่แสดงธรรมะในความเป็นพุทธศิลป์จึงแตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์จะอธิบายธรรมข้อใด ศิลปินก็จะกำหนดหรือเลือกท่าทาง อุปกรณ์ เครื่องทรง เพื่อธรรมในข้อนั้น ให้ผู้ที่ดูที่เคารพพระพุทธรูปได้เข้าใจธรรมะในบทนั้น

ดังจะได้บรรยายเป็นรายละเอียดในตอนต่อไป  




ธงและสี

โดยปกติทั่วไปของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมักจะไม่เน้นความสำคัญและความหมายของสีเหมือนฝ่ายมหายาน ที่ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ของ "ธาตุ" ที่แปลความหมายว่า สิ่งที่ทรงอยู่ตามสภาวะของมันเองตามธรรมดาของเหตุ ของปัจจัย เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ สภาวะของที่ว่าง และสภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์หรือเป็นความหมายของคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของธยานิพุทธะหรือพระพุทธเจ้าที่เป็นสัมโพคกาย ๕ พระองค์

ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้มีการออกแบบธงที่เป็นเครื่องหมายของความเป็นพุทธศาสนาเป็นธง ๖ สี ที่นับเอารังสีที่เรียกว่าฉัพพรรณรังสี อันเชื่อกันว่าเป็นสีของรัศมีที่แผ่ออก จากพระกายพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า (ซึ่งน่าจะหมายความถึงผู้ที่มีอภิญญา ๖ หรือความ รู้อันยิ่งยวด ๖ ประการ)

ความหมายของสีมีดังนี้

สีเขียว หรือน้ำเงิน หมายถึง พระกรุณาธิคุณ

สีเหลืองหมายถึง ทางสายกลาง (ที่แปลว่าการไม่บำเรอตนด้วยกามคุณหรือไม่ทำตนให้ยากลำบาก)

สีแดงหมายถึง ความสมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา

สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ของพระธรรม

สีแสด หมายถึง พระปัญญาคุณ

สีประภัสสร หมายถึง ความจริงทั้งหมดแห่งคำสอน




ธงฉัพพรรณรังสี

จากธงฉัพพรรณรังสีที่เป็นสัญลักษณ์ ที่หมายถึงคุณลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าสมณโคดมพระพุทธเจ้าฝ่ายเถรวาทนั้นสีที่ เป็นความหมายของคุณพิเศษของพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายานที่ปรากฏว่าพระธยานิพุทธ ๕ พระองค์ต่างก็มี สีประจำองค์ที่เป็นบุคลิกหรือคุณพิเศษดังนี้

พระไวโรจนะพุทธ เป็นประธานของพระธยานิพุทธ ๕ พระองค์ รูปกายสีขาว แทนแสงสว่างหรือปัญญาญาณหรือความรู้ที่เปรียบดั่งแสงอาทิตย์ไปทำลายความมืดบอดของอวิชชา

พระอักโษภยะพุทธ รูปกายสีน้ำเงิน อันเป็นสีของท้องฟ้ายามรุ่งอรุณหรือความสงบนิ่งไม่หวั่นไหวต่อกิเลสทั้งปวง

พระรัตนสัมภวะพุทธ รูปกายสีเหลืองหรือสีทอง ที่สะท้อนแสงแดดอันอบอุ่นของเที่ยงวัน เป็นถึงความเท่าเทียมกันที่จะรู้แจ้งของทุกสิ่งในธรรมชาติหรือหมายถึงปัญญาญาณที่ไม่มีขีดจำกัด

พระอโมฆสิทธิพุทธ รูปกายสีเขียวประกาย เป็นสีของธรรมชาติ อันสงบนิ่ง ผ่อนคลาย ปลอดภัย สื่อถึงเสรีภาพ สะท้อนถึงปัญญาญาณในลักษณะที่การคิดเพื่อตนเองหมดสิ้นลง

พระอมิตาภพุทธ รูปกายสีแดงหม่น อมิตาภะ หมายถึงแสงสว่างที่ไร้ขอบเขต และแสงธรรมอมตะ หรือปัญญาคุณคือความรอบรู้ที่ครอบคลุมไปทั่ว




ธงและตุง

ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นหลัก เช่น จีน ทิเบต ภูฏาน สิกขิม เนปาล รวมถึงญี่ปุ่นบางส่วนด้วยนั้น ใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาหลายรูปแบบ แล้วเรียกธงเหล่านี้ว่า ธงมนต์

ธงมนต์จะติดตั้งไว้ในพื้นที่ที่จะให้กระแสลมพัดผ่าน เพื่อให้โชคหรือความดีผ่านไปสู่ผู้คน อันทำให้ผู้คนมีความสุข

ภาพที่นำมาแสดง เป็นรูปของกลุ่มธงที่มักจะติดตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา เป็นกลุ่มธงมีสีขาวหรือสีแดงปักรวมกัน พื้นธง มักจะมีรูปม้าสีขาว มีเครื่องทรงบรรทุกสัญลักษณ์ของยาอายุวัฒนะ

คติและความเชื่อในส่วนนี้ก็คือ ธง สีขาวที่มีรูปม้าปรากฏในธงม้าเป็นสัญลักษณ์ของการติดต่อสื่อสาร ความเร็วและการเข้าถึง ม้าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของลม ที่จะนำมาซึ่งความยั่งยืน อันเป็นโชคไปสู่ผู้คน หางม้าหรือธงที่ปลิวไสวหมายถึง ความอิสรเสรีที่กระจายไปสู่ผู้คนทั้งปวง

ส่วนกลุ่มธงแดงจะเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาดี ในอันที่จะส่งความสุขความยั่งยืนให้แก่ผู้ที่จากไปสู่ภพอื่น (มักจะอยู่ในบริเวณที่มีการทำพิธีที่เรียกว่า ทิฆัมพรฌาปณกิจ)





ธง-ตุง

คําว่า ธง ในพจนานุกรมสถาปัตยกรรมของ ผศ.โชติ กัลยาณมิตร แปลว่า ผืนผ้าสีที่ใช้เป็นเครื่องหมายของหมู่คณะหรือบุคคล หรือใช้เพื่อหมายให้รู้ในการใดการหนึ่ง

คำว่า ตุง แปลว่า ธง ในภาษาพูดของชาวเหนือ

ธงหรือตุง ที่ใช้ในทางพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ที่ทำขึ้นด้วยความมุ่งหมายเป็นพุทธบูชา คงจะมีชื่อตามวัสดุและรูปแบบที่ใช้ เช่น ตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปพญานาคเลื้อยพันกันสำหรับบูชาพระ ทำได้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น

ตุงไชย เป็นตุงที่ทำด้วยเชือกห้อยรอยต่อกัน มีลักษณะเป็นคติจักรวาลหรือพุทธเกษตร

ตุงห้อย เป็นตุงที่ทำด้วยผ้าต่อกันเป็นชิ้น ติดตั้งบูชาพระพุทธเจ้าในพระอุโบสถหรือวิหาร

ส่วน ตุงสามทาง มิใช่สัญลักษณ์ของการบูชาพระพุทธเจ้า หากเป็นสัญลักษณ์ของความตายบุคคลทั่วไป

ในคติฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยนั้น ธงนอกจากจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการบูชาพระพุทธเจ้า ยังใช้ธงในสัญลักษณ์อื่นอีก ๒ ประการ คือ ในฐานะ LANDMARK หรือจุดเด่นสะดุดตา หรือเครื่องหมายแห่งความสำคัญของพื้นที่นั้น

ในอีกสัญลักษณ์หนึ่ง ตุงห้อย หมายถึง บันไดที่เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์ โดยมีความหมายถึงบันไดที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ เมื่อขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต

ในฝ่ายมหายาน เรียกธงชนิดหนึ่งว่า ธงมนต์ ซึ่งภายในธงจะมีคาถาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือบทสวดมนต์ หรือภาพของพระโพธิสัตว์หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนิกชน นอกจากนี้ ในการติดตั้งธงมนต์ของฝ่ายมหายานโดยเฉพาะวัชรยานหรือมนตรายานนั้น

หากติดธงมนต์ที่บ้านก็เพื่อความสุขจะเกิดขึ้นจากการสะบัดของธงที่ต้องลมพัด ซึ่งจะเท่ากับเป็นการสวดมนต์ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย และนำความสุขสมบูรณ์มาสู่บ้าน หากติดตั้งไปตามภูเขา ป่าไม้ ก็เป็นการแสดงถึงความสำคัญของพื้นที่ ลมที่พัดมนต์จะพัดเอาคาถาหรือความเมตตาของเทพในธงนั้นไปบันดาลความสุขให้กับผู้ติดตั้งธงนั้น


ที่มา : คติสัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 12:14:03 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 30 ตุลาคม 2560 16:31:15 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


  “สิงห์” ในงานสถาปัตยกรรมทางศาสนา

รูปสัตว์ที่พบเห็นในส่วนของเครื่องประดับอาคารทางศาสนาก็เพื่อแสดงสัญลักษณ์ ความหมายต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติของสัตว์นั้น อันจะนำไปสู่ความเกี่ยวพันกับวัตถุประสงค์ทางศาสนา เช่น สิงโต นก หรือสัตว์อื่นๆ หรือสัตว์ในจินตนาการ สิงโตเป็นสัตว์ที่เป็นห่วงโซ่ปลายสุดของสัตว์ผู้ล่า ที่มีความแข็งแกร่ง สง่างาม น่าเกรงขาม

รูปสิงห์
เป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมทางศาสนาของดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ ที่แปลกประหลาดก็คือการประดับรูปสิงห์ของสถาปัตยกรรมทางศาสนาในดินแดนแว่นแคว้นทางตะวันออก เป็นดินแดนที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนี้ตามธรรมชาติอาศัยอยู่ สิงห์หรือราชสีห์ในดินแดน แว่นแคว้นหรือดินแดนเหล่านี้จึงเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีคติ สัญลักษณ์ความเชื่อ อันเป็นแนวคิดที่แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น

รูปสิงห์ เป็นรูปสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมทางศาสนาของดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ ที่แปลกประหลาดก็คือการประดับรูปสิงห์ของสถาปัตยกรรมทางศาสนาในดินแดนแว่นแคว้นทางตะวันออก เป็นดินแดนที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนี้ตามธรรมชาติอาศัยอยู่ สิงห์หรือราชสีห์ในดินแดน แว่นแคว้นหรือดินแดนเหล่านี้จึงเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีคติ สัญลักษณ์ความเชื่อ อันเป็นแนวคิดที่แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น




สิงห์ล้านนา

สิงห์ไทยหรือสิงโตประเทศไทย ที่กล่าวถึงเรื่องราวของสิงห์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ไตรภูมิกถากล่าวถึง ๔ ประเภท ได้แก่ บัณฑุราชสีห์ อยู่ป่าไม้มะขวิด กินเนื้อเป็นอาหาร, ไกรสรสิงหราชสีห์ อยู่ป่าไม้ไทร กินเนื้อเป็นอาหาร, ตรีสิงหราชสีห์ (ติณราชสีห์) อยู่ป่าไม้มะม่วง กินหญ้าเป็นอาหาร และ กาฬสิงหราชสีห์ อยู่ป่าไม้ขนุน กินหญ้าเป็นอาหาร

ส่วนสิงห์ของไทยอีกภูมิภาคหนึ่งในภาคเหนือเรียกว่า “สิงห์ล้านนา” เป็นสิงห์ในจินตนาการของชาวล้านนา มีรูปลักษณ์ ที่แตกต่างจากสิงห์ไทยในไตรภูมิกถา เช่น มีทรวดทรงที่สูงใหญ่กว่าสิงห์ในไตรภูมิกถา สิงห์ล้านนาได้รับอิทธิพลเรื่องราวและรูปลักษณ์ของสิงห์ จากสิงห์พม่าหรือเมียนมา อันเนื่องมาจากแผ่นดินล้านนาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่ากว่า ๒๐ ปี นับแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันทำให้สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสตร์ของล้านนามีคติและสัญลักษณ์เป็นแบบเดียวกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเกิดจากการก่อสร้างขึ้นใหม่หรือปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมแบบล้านนาเดิมก็ตาม

อิทธิพลของรูปแบบและความเป็นมาของสิงห์ล้านนาในทางสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดกันไปมาในดินแดนอุษาคเนย์ และจะเน้นไปเรื่องที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการตั้งรูปสิงห์ว่า “บางกรณีการสร้างสรรค์งานหรืออาคารใหญ่โตเด่นชัด และสำคัญทางศาสนานั้น สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการก่อสร้างนั้นคือความสำนึกบาป หรือการไถ่บาปที่ได้กระทำต่อผู้คน บิดามารดา หรือผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ทั้งต่อคนและต่อประชาชน”

ทั้งความเชื่อเช่นนั้น จึงมีข้อห้ามทางประเพณีที่จะต้องไม่นำรูปสิงห์เข้ามาเก็บไว้หรือประดับอาคารบ้านเรือน นอกจากวัดวาอารามหรืออาคารทางศาสนา





 สิงโตลาว-สิงโตอีสาน

ในภาพมีรูปที่นับว่าเป็นสิงห์ ปรากฏอยู่ข้างระเบียงเสาวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ ซึ่งน่าจะเป็นรูปสิงห์ที่ทำขึ้นใหม่หรือนำมาจากที่อื่นมาตั้งประดับไว้ เพราะวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ เองนั้น ก็บูรณะขึ้นใหม่จากซากวัดเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๓ ปัจจุบันเรียกว่า หอพระแก้ว มีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์

ส่วนรูปปูนปั้นที่เป็นสิงห์ที่ปรากฏอยู่ในส่วนเชิงบันไดพระอุโบสถเดิมของวัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร (ซึ่งดูคล้ายตัวมกรสัตว์ในจินตนาการความเชื่อทางศาสนา) ดูจะเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิงห์ที่เป็นสัตว์ที่มีอยู่บริเวณป่าหิมพานต์ คงได้รับคตินี้มาจากวัฒนธรรมของภาคกลางหรือภาคเหนือของประเทศ

ในภาพมีรูปที่นับว่าเป็นสิงห์ ปรากฏอยู่ข้างระเบียงเสาวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ ซึ่งน่าจะเป็นรูปสิงห์ที่ทำขึ้นใหม่หรือนำมาจากที่อื่นมาตั้งประดับไว้ เพราะวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ เองนั้น ก็บูรณะขึ้นใหม่จากซากวัดเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๓ ปัจจุบันเรียกว่า หอพระแก้ว มีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์

ส่วนรูปปูนปั้นที่เป็นสิงห์ที่ปรากฏอยู่ในส่วนเชิงบันไดพระอุโบสถเดิมของวัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร (ซึ่งดูคล้ายตัวมกรสัตว์ในจินตนาการความเชื่อทางศาสนา) ดูจะเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิงห์ที่เป็นสัตว์ที่มีอยู่บริเวณป่าหิมพานต์ คงได้รับคตินี้มาจากวัฒนธรรมของภาคกลางหรือภาคเหนือของประเทศ




สิงห์รัตนโกสินทร์

สิงห์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ พร้อมพระเจ้าพี่น้อง ๔ พระองค์ ร่วมกันปฏิสังขรณ์ให้ชื่อใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร ในสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (บรรดาสถาปนิกหรือนายช่างในอดีตกล่าวขวัญนามพระองค์ท่านว่า สมเด็จครู) เป็นประธานในการออกแบบ วางผัง และควบคุมงานก่อสร้าง บูรณะวัดเบญจมบพิตรใหม่ทั้งวัดที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมรวมกันทั้งไทย ศิลปะขอม และศิลปะตะวันตก

ในการบูรณะครั้งนี้ สมเด็จครูนำประติมากรรมสิงห์แบบขอมที่นครวัดมาประดับที่ประตูทางเข้าพระอุโบสถ ทำด้วยหินอ่อน มีรูปทรงที่แสดงความองอาจอันงดงาม เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ในจินตนาการในดินแดนหิมพานต์ที่อาศัยอยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ หมายถึงพระอุโบสถและวิหารคด วัดเบญจมบพิตรที่ได้รับการยกย่องกันว่า เป็นโบสถ์วิหารที่งดงามที่สุดของยุครัตนโกสินทร์




สิงห์กรุงเทพฯ หรือสิงห์สยาม


สิงโตตัวนี้เป็นสิงโตแบบจีน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ มีการสร้างศาลครอบรูปนี้ไว้

มีประวัติเล่าขานกันมากาลนาน ในทางรูปแบบว่ากันว่าสิงโตตัวนี้เป็นสิงโตที่ทำจากหินอับเฉาที่ใช้สำหรับถ่วงน้ำหนักเรือสำเภาที่ค้าขายกันระหว่างประเทศไทย เพื่อให้น้ำหนักของสิงโตถ่วงมิให้เรือโคลงเคลงจนถึงเอียง

ตำนานของสิงโตตัวนี้มีหลายเรื่องหลายราว เช่น สิงโตตัวนี้เป็นสิงโตตัวเมียที่กู้มาจากเรือสำเภาจีนที่มาอับปางลงที่ปากคลองบางกอกน้อย และยังเหลือสิงโตตัวผู้อีกตัวที่ยังจมอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อย กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซื่อสัตย์ที่สิงโตตัวเมียนั้นเฝ้าคอยเฝ้ามองหาสิงโตตัวผู้ที่จมอยู่ในท้องน้ำข้างหน้าตลอดเวลา

ในอีกตำนานก็คือ ความเชื่อในเรื่องศาสตร์ภูมิทัศน์ที่จะต้องนำสัตว์ที่มีอานุภาพน่าเกรงขามมาข่มอาถรรพ์หรือความชั่วร้ายของทางสามแพร่งก็คือ ปากคลองบางกอกน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตรงกับพระราชวังของวังหน้า

ในอีกตำนานนั้นก็เล่าขานกันว่า เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้วนั้น กรุงรัตนโกสินทร์มีฐานะเป็นดั่งเมืองของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราช ณ บริเวณเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ อันจำเป็นต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์อาศัยอยู่ ทำหน้าที่พิทักษ์เขาพระสุเมรุไว้ สิงโตหินอับเฉานี้จึงสร้างขึ้น (มีการวิจัยกันว่ารูปปั้นยักษ์ที่ประตูวัดโพธิ์นั้นเป็นรูปปั้นหินอับเฉาปั้นกันในประเทศไทย หาได้เป็นตุ๊กตาอับเฉาจากเมืองจีน ดังนั้นสิงโตตัวนี้ก็น่าจะสร้างขึ้นในไทยเรานี้เองด้วย) แล้วทำพิธีกรรม ปลุกเสกให้มีอิทธิฤทธิ์เพื่อปกป้องกรุงรัตนโกสินทร์

ตัวบนบกนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมักจะมีศัตรูธรรมชาติ คือ ภัยสงคราม อีกตัวตั้งไว้ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อปกป้องผู้บุกรุกทางน้ำ

มีเรื่องราวเล่าขานกันสนุกสนานก็คือ เล่าว่ามีผู้ดำน้ำลงไปพบสิงโตตัวนี้มีสาหร่ายคลุมหัวเป็นเส้นผมที่ปลิวไสวก็มี เสียงเรียกร้องของสิงโตบนบกที่เรียกหาสิงโตตัวผู้ที่อยู่ในน้ำ






สิงโต อัสซีเรีย  


สิงโตของ อัสซีเรีย มิได้เป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อทางศาสนา เป็นรูปสิงโตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิงโตธรรมชาติ ตามรูปที่นำมาแสดง

อัสซีเรียเป็นอาณาจักรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่แม่น้ำไทกริสในเมโสโปเตเมีย หรือปัจจุบันคือประเทศอิรัก ศตวรรษที่ ๙๑๑-๖๑๒ ก่อนคริสต์ศักราช

จักรวรรดิอัสซีเรียขยายอำนาจไปจนครอบคลุมจนถึงอียิปต์ การขยายอำนาจที่เข้าไปครอบคลุมถึงอียิปต์จึงน่าจะได้อิทธิพลทางศิลปะของอียิปต์ เช่น การสร้างภาพที่เรียกว่า ภาพนูนสูง หรือนูนต่ำ สัญลักษณ์ของสิงโตที่มีความหมายทั้งความยิ่งใหญ่ ความเข้มแข็ง แข็งแรง ความน่าเกรงขาม

ภาพและสัญลักษณ์ของสิงโตในภาพนูนต่ำ เป็นภาพกษัตริย์อัสซีเรียกำลังไล่ล่าสิงโต สื่อว่ากษัตริย์เป็นผู้ที่ทรงพลัง ทรงอำนาจนั้นสามารถปราบหรือฆ่าสิงโตหรือศัตรูที่มีกำลังและความแข็งแรงลงได้




 สิงโตเปอร์เซีย


อาณาจักรเปอร์เซีย ที่ยิ่งใหญ่ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันตกติดกับประเทศอิรักและปากีสถาน

เปอร์เซียในอดีตก็คงมีสิงโต เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง แข็งแรง และน่าเกรงขามที่สุด

ภาพสิงโตของเปอร์เซียเป็นภาพนูนต่ำที่ประดับติดผนังส่วนใหญ่มีทั้งภาพสิงโตธรรมชาติ ที่เรียกว่าภาพเสมือนจริงกับภาพของสิงโตในจินตนาการเป็นสัตว์ที่มีตัวเป็นสิงโตมีปีกเป็นนก และมีหน้าเป็นคนหรือกษัตริย์

เดิมชาวเปอร์เซียเป็นชาตินักรบเร่ร่อนภายหลังที่พิชิตอัสซีเรียได้สำเร็จ โดยทั่วไปชาติผู้ชนะมักจะนำศิลปวัฒนธรรมของชาติผู้แพ้มาดัดแปลงให้เป็นของตน

เปอร์เซียในฐานะผู้พิชิตก็นำเอาวัฒนธรรมของชาติผู้แพ้คือ อัสซีเรียมาเป็นเครื่องสำแดงถึงชัยชนะของตน นั่นคือ สิงโต ที่มีความหมายถึงประชาชาติอัสซีเรีย ซึ่งเป็นชาติพื้นที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ได้ถูกชาวเปอร์เซียพิชิตลง ถูกนำมาเปรียบเทียบเป็นสิงโตที่แม้จะเข้มแข็งยิ่งใหญ่ก็เป็นเพียงรูปประดับเป็นภาพนูนต่ำไว้ผนังของอาคาร  สิ่งน่าสังเกตก็คือการฆ่าสิงโตเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตนนี้ยังเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดอยู่ใต้จิตสำนึกของชาวผิวขาวบางส่วนที่ยังแอบไปล่าสิงโตอยู่ในทวีปแอฟริกา และแม้ชาวเผ่ามาไซในแอฟริกาใต้ก็ยังมีกระบวนการไล่ฆ่าสิงโต ทั้งเพื่อปกป้องฝูงสัตว์เลี้ยงของตนและเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญของผู้ที่ไล่ฆ่าสิงโตด้วยหอกได้ จะแสดงความยิ่งใหญ่ด้วยการวิ่งไปยกหางสิงโตชูให้พรรคพวกได้เห็น เพื่อแสดงถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของตน




เสือมาเลเซียสิงห์สิงคโปร์

มาเลเซียและสิงคโปร์เดิมเป็นสหพันธรัฐร่วมกัน เรียกว่า สหภาพมาลายา แต่ภายหลัง สิงคโปร์ได้แยกตัวออกไปเป็นประเทศสิงคโปร์

มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีสัตว์ที่เรียกว่าสิงโต แต่ก็ใช้สัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารคือ เสือกับสิงห์ เป็นสัญลักษณ์บางส่วนของชาติ

สิงคโปร์ใช้สิงโตอยู่ด้านหน้าคู่กับเสือ เป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินเช่นเดียวกับมาเลเซีย แต่สิงคโปร์มีรูปปั้นเรียกว่า เมอร์ไลออน แปลว่าสิงโตทะเล คือมีศีรษะเป็นสิงโต แต่มีร่างเป็นปลา

เดิมเป็นเครื่องหมายการค้าของคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ แต่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประเทศสิงคโปร์ ตามความหมายว่า เป็นเมืองแห่งสิงโตกับทะเล




สิงโตพม่า

ประวัติความเป็นมาของสิงห์พม่าคล้ายกับความเป็นมาของสิงห์ในตำนานของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา นามสิหพาหุ แต่แตกต่างกันในเรื่องราว ที่สิงหพาหุนั้นได้ลูกสาวหรือราชธิดาของกษัตริย์เมืองหนึ่งเป็นเมีย และมีลูกเป็นคน ๒ คน

ต่อมาลูกชายมีความอับอายที่มีพ่อเป็นสิงห์จึงฆ่าพ่อที่เป็นสิงห์นั้นตาย ภายหลังลูกชายได้เป็นกษัตริย์มีความละอายต่อบาปและนึกถึงบุญคุณของบิดา อยากให้ทุกคนนึกถึงและเคารพบิดาของตนจึงได้ปั้นรูปสิงห์และประดิษฐานไว้หน้าประตูทางเข้าของศาสนสถาน เช่น วัด หรือเจดีย์ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพรูปปั้นของบิดาของตนก่อน

ส่วนในอีกตำนานก็คล้ายคลึงกัน แตกต่างกันในเรื่องของลูกทั้งสองของราชธิดากษัตริย์นั้นเป็นลูกติดแม่ของนาง แต่สิงโตได้ลักพานางพร้อมลูกทั้งสองไปเลี้ยงดูจนโต ภายหลังพระบิดาของราชธิดาได้นำลูกสาวและหลานทั้งสองกลับไปเลี้ยงดู เป็นเหตุให้สิงห์ติดตามไปทวงคืน และได้ฆ่าฟันผู้คนที่ขัดขวางล้มตายไม่มีใครปราบได้ นอกจากลูกชายของพระธิดากษัตริย์ที่ได้ฆ่าสิงโต ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงนั้นตาย และก็ให้สร้างสิงโตประดิษฐานไว้หน้าประตูวัดหรือเจดีย์ เพื่อแสดงความเคารพและคิดถึงของพระองค์

สิงห์พม่าอีกรูปแบบหนึ่ง พม่าเรียกว่านรสิงห์ หรือมนุษย์สิงห์ มีหัวเดียว สองลำตัว มาจากตำนานว่า พระเจ้าอโศกมหาราชครั้งแต่งตั้งพระโสณะเถระ (น่าจะแปลว่าพระเถระผู้มีผิวสีแดง) กับพระอุตระเถระ (พระเถระแห่งทิศเหนือ) เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนา ณ เมืองสุธรรมวดี ซึ่งมีนางยักษินีตนหนึ่ง (ฆาตกรต่อเนื่อง) เที่ยวไล่จับเด็กทารกมากินเป็นอาหาร  ท่านสมณทูตทั้งสองจึงแสดงปาฏิหาริย์จำแลงเป็นมนุษย์สิงห์ ทำให้นางยักษ์กลัวหนีหายไป (ความจริงตำนานเรื่องนี้น่าจะเป็นคติสอนใจของการร่วมกันคิดตรึกตรองวิเคราะห์วิพากษ์ เพื่อแก้ข้อสงสัยในเรื่องของพระเถระทั้งสองที่จะเฉลยการขจัด โลภะโทสะ อันเป็นคุณ ลักษณะของมนุษย์ผู้มีความหลงให้หายไป)

กษัตริย์แห่งเมืองสุธรรมวดี จึงให้ปั้นรูปนรสิงห์หรือสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความไม่รู้นี้เสมือนเป็นผู้ปกป้องอันตรายต่อผู้คน




สิงโตศรีลังกา

สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ก็เป็นประเทศที่ไม่มีสิงโตเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ที่ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของธงชาติและตราแผ่นดินที่มีรูปสิงโตถือดาบ

ศรีลังกาใช้รูปสิงโตปรากฏในธงชาติโดยสืบเนื่องจากกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามพระเจ้าวิทยะที่เคลื่อนย้ายประชากรมาจากอินเดียประมาณปี พ.ศ.๕๗ และนำคำว่า สิงหะ ซึ่งเป็นนามต่อท้ายชื่อของพระบิดาของ พระองค์จาม สิงหะพาหุ คำว่า สิงห์ หมายถึงความเชื่อว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชื่อ สิงหะพาหุ หรือ สิงโต มาใช้เป็นรูปสิงโตที่ประดับอยู่บนธงของพระองค์

สัญลักษณ์ของสิงโตในตอนเริ่มต้นนั้นหมายถึงอิสรภาพและความหวัง พระเจ้าทุฏฐคามณีที่เรามักได้ยินนามของพระองค์ในตำนานทางพุทธศาสนาเป็น ผู้ประดิษฐ์ภาพของสิงโตถือดาบด้วยเท้าหน้า เป็นธงประจำพระองค์และพัฒนามาเป็นธงชาติของสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และได้เพิ่มเติมความหมายในตัวสิงห์ไว้ดังนี้

ราชสีห์ - ชาวสิงหลและกำลังของชาติ
ดาบ - อำนาจอธิปไตย
ขนแผงคอราชสีห์ - ไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เคราราชสีห์ - วาจาอันบริสุทธิ์
จมูกราชสีห์ - ความเฉลียวฉลาด




สิงโตอังกฤษ

ในอดีตกาลสหราชอาณาจักรหรือเกาะอังกฤษไม่มีสิงโตอาศัยอยู่ แต่อังกฤษกลับใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

ตราแผ่นดินของอังกฤษเป็นโล่ที่มีรูปสิงโตสีทอง ๓ ตัวบนพื้นสีแดง

สิงโตอังกฤษค่อนข้างผอม มีลักษณะท่าทางเหมือนเสือดาว มีท่าของการยืน การหันหน้า การนั่ง การนอน เป็นสัญลักษณ์หรือความหมายที่แตกต่างกัน

คติของสิงโตอังกฤษก็คงเช่นเดียวกับชาติอื่นที่ใช้สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของชาติ เป็นเครื่องหมายของผู้ล่าที่แข็งแรง สง่างาม น่าเกรงขาม กษัตริย์อังกฤษบางองค์ เช่น กษัตริย์เฮนรี่ที่ ๑ หรือเฮนรี่ที่ ๒ ใช้สิงโตประดิษฐ์อยู่บนธงประจำพระองค์

ชาวอังกฤษคงรู้จักสิงโตจริงๆ จากกษัตริย์ที่มีพระนามว่า ริชาร์ด เดอะ ไลอ้อน ฮาร์ท - Richard the Lionheart คนไทยที่ชอบดูหนังเรื่องโรบินฮู้ด คงจะได้ยินชื่อ พระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์  เนื่องจากพระองค์เป็นนักรบครูเสดที่ไปรบเพื่อช่วงชิงกรุงเยรูซาเลมให้เป็นของชาวคริสต์ และน่าจะทำให้พระองค์รู้จักสิงโต จนนำมาใช้เป็นพระนามฉายาของพระองค์

สิงโตของอังกฤษมีฉายาว่า สิงโตคำราม หรือ Gules three lions passant guardant ที่ปัจจุบันหมายถึงแผ่นดินอังกฤษ นอร์มังดี อากีแตน แต่ตราของสหราชอาณาจักรที่สกอตแลนด์ จะมีรูปสัตว์ที่เรียกว่า ยูนิคอร์น หรือม้ามีเขาอยู่ทางด้านซ้ายของตรา ส่วนด้านขวาเป็นรูปสิงโตยืน อันเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษ




สิงห์เวียดนาม

เวียดนาม เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มอาเซียนที่ไม่มีสัตว์ที่เรียกว่า สิงโต เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ และมีข้อสังเกตสำคัญที่แปลกกว่าชาติต่างๆ ในภูมิภาคก็คือ ไม่มีจินตนาการถึงสัตว์อันเป็นตัวแทนของอำนาจ กำลัง ความกล้าหาญ และความสง่างาม ที่ใช้สัตว์ในจินตนาการที่เรียกว่า สิงห์ ในประเทศนี้

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเวียดนามที่ดูคล้ายสิงห์ก็คือ รูปปั้นหรือรูปวาดที่มีลักษณะคล้ายสิงห์เรียกว่า หน้ากาฬอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ติดตั้งอยู่บานประตูทางเข้าอาคารสำคัญ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในประตูทางเข้าอาคารสำคัญของชาติในอาเซียนด้วยกัน (ตามภาพบนเป็นหน้ากาฬประตูวัดแห่งวรรณกรรม-QUOC TU GIAM ฮานอย)

สิงห์ญวน (ภาพขวา) กลับปรากฏชัดเจนอยู่ที่วัดศรีแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบก ตั้งอยู่กลางศาลาการเปรียญในวัดดังกล่าว ซึ่งดูคลี่คลายไปจากสิงห์ทางภาคเหนือของไทย

ธรรมาสน์สิงห์ตัวนี้เกิดจากช่างฝีมือชาวญวนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งอาจจะนับได้ว่าสิงห์ตัวนี้เป็นสิงห์ญวน (สัญชาติไทย) คงได้  




สิงโตอียิปต์

อียิปต์ เป็นชาติเก่าแก่ที่มีมาก่อนคริสต์ศตวรรษกว่า ๓,๕๐๐ ปี ที่มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งแน่นอนว่าในบริเวณพื้นที่ของชาติเก่าแก่ที่สุดในโลกนั้นมีสัตว์สี่เท้าอันเป็นนักล่า ที่เรียกว่า สิงโต หรือสิงโตพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในจำนวน ๑๑ พันธุ์ แต่สูญพันธุ์ไปโดยการไล่ล่า ไล่จับ ของชาวโรมันในต้นคริสต์ศตวรรษ เพื่อใช้ในการแสดงการต่อสู้กันในสนามที่เรียกว่า โคลิเซียม

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การนำเอาสิงโตมาเป็นสัญลักษณ์และความหมายนั้น อียิปต์มีการนำสิงโตมาใช้ในความหมายโดยการผสมผสานส่วนของสิงโตเข้ากับมนุษย์ (แต่ก็มีรูปสลักบางแห่งเป็นรูปสิงโตเต็มตัว) เช่น นำศีรษะของมนุษย์ที่เชื่อว่าเป็นศีรษะหรือใบหน้าของฟาโรห์ (กษัตริย์ของอียิปต์โบราณ) มาเป็นหัวของสิงโตเรียกว่า สฟิงซ์

หรือบางกรณีกลับกัน อียิปต์นำหัวของสิงโตมาเป็นศีรษะของเทพองค์หนึ่งที่เป็นหญิง นาม เทฟนูต (TEFNUT) เป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มชื่น มือถือคทาแทนอำนาจและสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ANKH (ที่หมายถึงลมหายใจของชีวิต) ส่วนสฟิงซ์ที่มีศีรษะเป็นคนมีลำตัวเป็นสิงโตที่ตั้งอยู่หน้าพีระมิด จะมีคติและสัญลักษณ์ที่แตกต่างไปจากเทฟนูต

มีคำอธิบายไว้หลายอย่างสำหรับสฟิงซ์อียิปต์ คือ การมีหัวเป็นมนุษย์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของฟาโรห์แห่งอียิปต์ คือ มีเคราที่คาง หน้าผากมีงูจงอางแผ่แม่เบี้ย(งูจงอางเป็นสัญลักษณ์ของดวงตาของเทพองค์แรกของอียิปต์ นามเทพรา ที่แกะดวงตาของพระองค์ส่งให้ไปตามหาเทพที่เป็นลูกชายและลูกสาวคือ เทฟนูต เมื่อได้ลูกชายและลูกสาวคืนมา เทพราได้สร้างดวงตาขึ้นมาทดแทนดวงตาเดิมและได้นำดวงตาเดิมนั้นให้กลายเป็นงู ไปประดิษฐ์ไว้เหนือศีรษะของพระองค์(ดูคล้ายกับตาที่สามของพระศิวะ)






อินทรีเหล็ก

ว่าด้วยเรื่องอินทรีของชาติฝั่งตะวันตก ภายใต้อิทธิพลความเชื่อของจักรวรรดิโรมันที่สืบเนื่องจากกรีก นกอินทรีในความเชื่อของพลัง อำนาจ ความกล้าหาญ ความสูงส่ง อิสระ และเสรีภาพอินทรีเหล็ก สัญลักษณ์ของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน เป็นรูปนกอินทรีหัวเดียว ติดอยู่หน้ารัฐสภาของสหพันธรัฐเยอรมัน ส่วนอินทรีสองหัวจากอาคารทางศาสนาในคอนสแตนติโนเปิลหรืออิสตันบูลในปัจจุบัน ที่เป็นสัญลักษณ์เน้นเตือนให้ผู้คนที่อยู่ ที่ใช้อาคารคิดคำนึงถึงอุดมคติของประเทศที่มีพลัง มีอำนาจ ความกล้าหาญ เสรีภาพ ความสูงส่ง และตามคติที่ได้รับถ่ายทอดกันตลอดมา

อินทรีเหล็ก สัญลักษณ์ของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน เป็นรูปนกอินทรีหัวเดียว ติดอยู่หน้ารัฐสภาของสหพันธรัฐเยอรมันส่วนอินทรีสองหัวจากอาคารทางศาสนาในคอนสแตนติโนเปิลหรืออิสตันบูลในปัจจุบัน ที่เป็นสัญลักษณ์เน้นเตือนให้ผู้คนที่อยู่ ที่ใช้อาคารคิดคำนึงถึงอุดมคติของประเทศที่มีพลัง มีอำนาจ ความกล้าหาญ เสรีภาพ ความสูงส่ง และตามคติที่ได้รับถ่ายทอดกันตลอดมา


ที่มา : คติสัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มิถุนายน 2561 15:45:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 30 ตุลาคม 2560 16:37:29 »

.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย


นาคี

ขณะที่สิงห์หรือสิงโต เป็นสัญลักษณ์ของพลัง อำนาจ ความกล้าหาญ ความองอาจสง่างาม ของสัตว์ บนพื้นดิน หรือเป็นสัญลักษณ์ของดิน

นาค หรือ งู อันเป็นสัตว์ที่ทรงอิทธิพล ของสายน้ำ นาคหรืองูก็เป็นสัญลักษณ์พลังของน้ำ

ครุฑ หรือ นกใหญ่ นกอินทรี ก็เป็นสัญลักษณ์ของท้องฟ้า ของสายลม และขุนเขา เป็นสัญลักษณ์ของลม

ต่อไปนี้เรื่องราวที่จะเขียนอ่านก็คือ เรื่องราวของนาค หรืองู ที่เป็นคติสัญลักษณ์อันปรากฏอยู่ในงานสถาปัตยกรรมของหลายๆ ชาติ หลายๆ ภาษา มีคติและความเชื่อที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็คือการเชื่อมโยงต่อกันของจินตนาการของมนุษย์ที่นำเอาสัญลักษณ์หรือคุณสมบัติต่างๆ ของสัตว์โลกมาสร้างสรรค์ ดัดแปลง กำหนดวิธีการและแสดงถึงอิทธิพล ความเชื่อของแต่ละชาติพันธุ์ให้ปรากฏ เริ่มตั้งแต่อดีตกาลของชาวอียิปต์เริ่มต้นเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมโลก

สัญลักษณ์อันสำคัญของนาคที่กำหนดในพฤติกรรมมนุษย์ผู้ทรงอำนาจปรากฏในวรรณกรรม “โคลงโลกนิติ” ที่กำหนดบุคลิกท่าทีของผู้มีอำนาจ (และไม่มีอำนาจ) ดังนี้

          นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย
          เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
          พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง
          ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี

อันหมายถึงผู้มีฤทธิ์มีอำนาจมักจะกระทำตนเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ผู้ไม่มีฤทธิ์มีอำนาจจริงมักจะเป็นผู้โอ้อวดตนอยู่เสมอ




นาค งู

อดีตในดินแดนไอยคุปต์ (อียิปต์ปัจจุบัน) จินตนาการในเรื่องงูของชาวไอยคุปต์มิได้พัฒนาเป็นงูใหญ่หรือนาค แต่งูของไอยคุปต์ยังมีรูปแบบเป็นงูเห่า มีฐานะเป็นงูศักดิ์สิทธิ์แทนดวงตาและเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจงรักภักดี โดยนำมาเป็นส่วนหนึ่งของมงกุฎกษัตริย์แห่งไอยคุปต์

หน้ากากทองคำของฟาโรห์ตุตันคาเมนแสดงภาพพระองค์สวมมงกุฎเนเมสประดับงูเห่าและนกแร้ง

เรื่องในตำนานความเชื่อก็คือ อิสิส เป็นเทพผู้หญิง เป็นทั้งภรรยาและน้องสาวของ โอสิริส เทพผู้ไถ่บาปแก่มนุษย์ ผู้เป็นใหญ่ในโลกแห่งความตาย และเจ้าแห่งอุทกภัยและพืชผัก ถูกเทพชื่อเสต ลวงไปสังหาร เป็นเหตุให้อิสิสต้องไปหลบซ่อนตัวที่ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ จนเกิดบุตรนาม โฮซุช ซึ่งเมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้แก้แค้นแทนพ่อคือโอสิริส โดยต่อสู้และฆ่าเทพเสตตาย แต่ต้องเสียดวงตาให้แก่เสต ภายหลังได้นำดวงตานั้นมามอบให้แก่พ่อ ซึ่งได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา และใช้งูศักดิ์สิทธิ์แทนดวงตา เครื่องประดับรูปงูจึงปรากฏอยู่บนหน้าผากของมงกุฎแห่งไอยคุปต์

ในอีกตำนานหนึ่งก็คือ อิสิสใช้น้ำลายของรา สุริยเทพสูงสุดของไอยคุปต์ผสมกับดินแล้วปั้นเป็นงู

งูตัวนี้ได้กัดรา สุริยเทพ ซึ่งพิษของงูไม่มีใครแก้ไขได้ นอกจาก อิสิส รา สุริยเทพจึงยอมมอบอำนาจของตนให้อิสิส เพื่อแลกกับชีวิต งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ยิ่งใหญ่อีกด้วยพร้อมกันนี้ งูจึงเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องหมายแห่งอำนาจสูงสุด




นาคอินเดีย

คําว่า นาค ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัญฑิตให้ความหมายว่าดังนี้

- งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยาย
- ชื่อของชนเผ่าหนึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขา นาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย
- แปลว่า ผู้ประเสริฐ ผู้ไม่ทำบาป เรียกคนที่อยู่วัดเตรียมตัวจะบวช หรือกำลังจะบวชว่านาค

นาคในอินเดีย เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา เป็นสัญลักษณ์เชื่อมต่อระหว่างจักรวาล

ความสำคัญของนาคอยู่ที่หัวหรือเศียร นาคธรรมดาจะมีเศียรเดียว พวกตระกูลสูงจะมีหัวหลายหัว ตั้งแต่ ๓ เศียร (หัว) หรือ ๕ เศียร (หัว) ไปจนถึง ๑,๐๐๐ เศียร (หัว) ของพญาอนันตนาคราช (พญาเศษ)

ในทางพุทธศาสนามีเรื่องเกี่ยวข้องทางพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยวิมุตสุขในสัปดาห์ที่ ๖ ใต้ต้นจิก (ชื่อบาลีว่า มุจลินทร์) มีพายุฝนตกหนัก พญานาคมุจลินทร์มาขนดรอบองค์ พร้อมกับแผ่พังพานบังลมฝนให้พระพุทธเจ้า

กรณีนาคมีเศียร (หัว) หลายเศียร ก็มีคำอธิบายหลายประการ บ้างก็ว่าหมายถึงอายุหรือวัย หรือบารมีในระดับต่างๆ

แต่โดยคติ สัญลักษณ์ ของพระพุทธรูปปางนาคปรกที่มีนาค ๗ เศียร มาล้อมองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งบรรลุนิพพานในขณะนั้น น่าจะหมายถึงคุณสมบัติของความหมดจด ความบริสุทธิ์ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ จนบรรลุจุดมุ่งหมาย คือนิพพาน

พระพุทธรูปในปางนาคปรก ในทางคติธรรมจึงหมายถึงพระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วที่ประกอบด้วยหลักธรรมที่เรียกว่า "วิสุทธิ" ได้แก่ สิลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฐฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคญาณ ทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และญาณทัสสนวิสุทธิ



นาค งู อินเดีย

ในประเทศอินเดีย ศาสนาฮินดู ลัทธิไศว นิกายมีภาพของพระศิวะ เทพสูงสุด มีงูคล้องคอในลัทธิไวยณพนิกายที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ก็ปรากฏพระนารายณ์ บรรทมอยู่บนตัวงูใหญ่ ชื่ออนันตนาคราช

และในตำนานเรื่องเกษียรสมุทรที่เทวดาและยักษ์มารวมกันกวนน้ำอมฤต เพื่อให้ผู้ดื่มกินน้ำอมฤตนั้นจะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ ก็ใช้นาควาสุกรีเป็นเชือกชักให้เขาอิมินทร หมุนทะเลน้ำนม จนเกิดเป็นน้ำอมฤต

งูในความหมายของศาสนาฮินดู มีผู้แปลความหมายไว้ ดังนี้

งู
แทนปัญญาและความยั่งยืนของชีวิต

งู แทนวงรอบแห่งเวลา เพราะงูไม่ตายใช้วิธีลอกคราบแทน พระศิวะนั้นเป็นผู้ไม่อยู่ในวัฏจักรแห่งชีวิต คือ ไม่มีวันตาย

งู เป็นสัตว์มีพิษเป็นตัวแทนของความตาย การที่พระศิวะ ใช้งูมาพันรอบคอ แปลว่า พระศิวะนั้นอยู่เหนือความตาย

บางแห่งกล่าวว่า งูเป็นตัวแทนของการไม่เก็บสะสมสิ่งใด ไม่แบกสิ่งใด และไม่สร้างสิ่งใด ส่วนพระนารายณ์นั้นบรรทมอยู่เหนือพญานาคที่เรียกว่า อนันตนาคราช หมายถึงการมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์ของพระนารายณ์ ผลจากความเชื่อเรื่องงูหรือนาคนี้ มีอิทธิพลข้ามมายังสยามประเทศหรืออุษาคเนย์ แปรเปลี่ยนรูปแบบ แทนคติ สัญลักษณ์ ในงานสถาปัตยกรรมมากมาย  




งูกรีก

งูอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีเป็นดวงตาของอียิปต์โบราณ เมื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาเป็นงูของกรีก ก็ปรากฏอยู่บนไม้เท้าของเทพเจ้ากรีก นาม "เอสคูลาปิอุส"

เป็นบุตรของอพอลโล สุริยเทพ เทพที่มีรูปงามที่สุดของกรีก ผู้เป็นบุตรแห่งซุส เทพเจ้าสูงสุดแห่งภูเขาโอลิมปัส (พอเทียบได้ก็พระศิวะของฮินดู)

เอสคูลาปิอุส  นั้นเกิดจาก เทพอพอลโล กับสาวสวยเจ้าชู้นาม "โคโรนัส" แต่มิได้อยู่ด้วยกันเป็นเหตุให้โคโรนัสหันไปมีความรักกับชายอื่น อพอลโลรู้เข้าจึงให้เทพอารทิมิส เทพีแห่งการล่าสัตว์ฆ่าเสีย แล้วผ่าท้องเอาเด็กผู้ชายไปฝากผู้อื่นเลี้ยงจนโต ได้ชื่อว่า เอสคูลาปิอุส

เอสคูลาปิอุสเป็นเด็กฉลาด ชอบวิชาโรคศิลป์ จึงสนใจเล่าเรียนความรู้ทางแพทย์จากผู้เลี้ยงตนจนเก่งกล้า รักษาผู้ป่วยให้หายขาด แม้กระทั่งสามารถรักษาคนตายให้ฟื้นได้ เป็นเหตุให้ยมโลกซึ่งปกครองโดยเทพชื่อ ฮาเดส ไม่มีคนตายไปอยู่ ฮาเดสจึงไปฟ้องต่อเทพเจ้าซุส เทพเจ้าซุสจึงใช้ฟ้าผ่าเอสคูลาปิอุสตาย ต่อมาเทพเจ้าซุสเสียใจที่รู้ว่าตนได้ฆ่าหลานตาย จึงลงมายังโลกมนุษย์และนำวิญญาณของเอสคูลาปิอุสกลับไปยังเทือกเขาโอลิมปัส และชุบวิญญาณเอสคูลาปิอุสเกิดขึ้นใหม่ เป็นเทพเจ้าแห่งการรักษา

ครั้งหนึ่งระหว่างการรักษาผู้ป่วย เทพเจ้าเอสคูลาปิอุสได้ฆ่างูตัวหนึ่งตายลง เมื่อรักษาผู้ป่วยหายแล้วจึงได้ชุบชีวิตงูตัวนั้นขึ้น งูได้เลื้อยขึ้นมาพันไม้เท้าเอสคูลาปิอุสเพื่อแสดงความขอบคุณต่อเอสคูลาปิอุส

งูพันไม้เท้า (ตัวเดียว) จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการรักษา เป็นสัญลักษณ์ของกิจการแพทย์ทั้งโลก เหตุที่งูเป็นสัญลักษณ์ ของการรักษาก็เนื่องจากในอดีตของกรีก การแพทย์ของกรีกเชื่อว่า พิษงูมีอำนาจในการรักษาโรคบางอย่างได้

งูตัวเดียวพันไม้เท้าของเอสคูลาปิอุส จึงเป็นสัญลักษณ์การแพทย์

ส่วนงูสองตัวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกลาง การทูต การเจรจา และสันติภาพ แต่เนื่องจากความเพี้ยนไปของการใช้สัญลักษณ์ จึงมีการสับสนใช้งูพันไม้เท้า ๒ ตัว เป็นสัญลักษณ์ก็มีในประเทศ ไทย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ ใช้พญานาคแทนงูพันไม้เท้าเป็นสัญลักษณ์ของคณะ  




สิงห์กรุงเทพฯ หรือสิงห์สยาม
สิงโตตัวนี้เป็นสิงโตแบบจีน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เจ้าพระยาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ มีการสร้างศาลครอบรูปนี้ไว้

มีประวัติเล่าขานกันมากาลนาน ในทางรูปแบบว่ากันว่าสิงโตตัวนี้เป็นสิงโตที่ทำจากหินอับเฉาที่ใช้สำหรับถ่วงน้ำหนักเรือสำเภาที่ค้าขายกันระหว่างประเทศไทย เพื่อให้น้ำหนักของสิงโตถ่วงมิให้เรือโคลงเคลงจนถึงเอียง

ตำนานของสิงโตตัวนี้มีหลายเรื่องหลายราว เช่น สิงโตตัวนี้เป็นสิงโตตัวเมียที่กู้มาจากเรือสำเภาจีนที่มาอับปางลงที่ปากคลองบางกอกน้อย และยังเหลือสิงโตตัวผู้อีกตัวที่ยังจมอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อย กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซื่อสัตย์ที่สิงโตตัวเมียนั้นเฝ้าคอยเฝ้ามองหาสิงโตตัวผู้ที่จมอยู่ในท้องน้ำข้างหน้าตลอดเวลา

ในอีกตำนานก็คือ ความเชื่อในเรื่องศาสตร์ภูมิทัศน์ที่จะต้องนำสัตว์ที่มีอานุภาพน่าเกรงขามมาข่มอาถรรพ์หรือความชั่วร้ายของทางสามแพร่งก็คือ ปากคลองบางกอกน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งตรงกับพระราชวังของวังหน้า

ในอีกตำนานนั้นก็เล่าขานกันว่า เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้วนั้น กรุงรัตนโกสินทร์มีฐานะเป็นดั่งเมืองของพระอินทร์หรือท้าวสักกะเทวราช ณ บริเวณเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ อันจำเป็นต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์อาศัยอยู่ ทำหน้าที่พิทักษ์เขาพระสุเมรุไว้ สิงโตหินอับเฉานี้จึงสร้างขึ้น (มีการวิจัยกันว่ารูปปั้นยักษ์ที่ประตูวัดโพธิ์นั้นเป็นรูปปั้นหินอับเฉาปั้นกันในประเทศไทย หาได้เป็นตุ๊กตาอับเฉาจากเมืองจีน ดังนั้นสิงโตตัวนี้ก็น่าจะสร้างขึ้นในไทยเรานี้เองด้วย) แล้วทำพิธีกรรม ปลุกเสกให้มีอิทธิฤทธิ์เพื่อปกป้องกรุงรัตนโกสินทร์

ตัวบนบกนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมักจะมีศัตรูธรรมชาติ คือ ภัยสงคราม อีกตัวตั้งไว้ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อปกป้องผู้บุกรุกทางน้ำ

มีเรื่องราวเล่าขานกันสนุกสนานก็คือ เล่าว่ามีผู้ดำน้ำลงไปพบสิงโตตัวนี้มีสาหร่ายคลุมหัวเป็นเส้นผมที่ปลิวไสวก็มี เสียงเรียกร้องของสิงโตบนบกที่เรียกหาสิงโตตัวผู้ที่อยู่ในน้ำ  




ภูริทัตชาดก
พจนานุกรม ไทยฉบับราชบัณฑิต นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ ผู้ไม่ทำบาป

นาค ที่แปลความหมายดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในชาดก หรือเรื่องราวที่สรรเสริญสำคัญยิ่งของธรรมะบทใดบทหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า ภูมิทัตชาดก

ภูริทัตชาดกเป็นเรื่องของคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าอันสำคัญก็คือ ความอดทนอดกลั้น ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาศีล คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องก็คือ ภูริทัตเป็นพระโพธิสัตว์ปางหนึ่งที่ไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อ ทัตตะ (แต่มีมารดาเป็นมนุษย์) เป็นผู้มีฤทธิ์และมีปัญญาอันเฉลียวฉลาด รู้อรรถ รู้ธรรม เป็นเหตุให้ท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ ประทานนามให้ชื่อว่าภูริทัต ภูริ แปลว่า มาก แผ่นดิน ความฉลาด ปัญญา ส่วนทัต แปลว่า ให้แล้ว รวมความก็คือ ผู้ที่มีปัญญา มีความฉลาดเป็นอย่างยิ่ง

ภูริทัตนาคราชนั้นได้เห็นสมบัติของท่านท้าวสักกะ จึงคิดว่าสมบัติทิพย์เหล่านี้ล้วนบังเกิดด้วยบุญ (แปลว่าความดีงาม ไม่ได้แปลว่า ร่ำรวย ทรัพย์สิน บารมี อำนาจ) จึงเห็นว่าการถืออุโบสถศีล เพื่อจะได้ไปเกิดในชั้นดาวดึงส์พ้นจากสภาวะของนาค (จะได้บรรลุพระนิพพานในอนาคต เพราะนาคเป็นสัตว์ไม่อยู่ในภาวะจะบรรลุพระนิพพาน)

การที่ภูริทัตรักษาศีลให้บริบูรณ์อยู่นั้นได้ถูกนางนาคทั้งหลายรบกวนจึงหนีมาจำศีลยังโลก เป็นเหตุให้ถูกหมองูคนหนึ่งชื่ออาลัมพายน์จับตัวไปแสดงฤทธิ์ให้คนดูเพื่อหารายได้

ภูริทัตได้พบความยากลำบากนั้นก็อดทน อดกลั้นความโกรธ รักษาศีล โดยไม่เบียดเบียนชีวิตผู้ที่ทรมานตน จนในที่สุดพระเจ้าพาราณสีผู้มีศักดิ์เป็นลุงหรือพี่ชายของแม่ทราบความจริงจึงปลดปล่อยภูริทัตจากการควบคุมของหมองูอาลัมพายน์

ภูริทัตจึงได้มีโอกาสบำเพ็ญศีลบารมีอยู่ในโลกจนสิ้นชีวิตลง

ในสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาของไทย จึงมีนาคบางรูปแบบเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ไว้ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมหลายแห่ง เช่น เป็นรูปนาคพันเสา หรือเป็นบัลลังก์นาค (คล้ายกับรูปแบบของพระพุทธรูปปางนาคปรกก็มี) เป็นต้น    




นางนาค
อิทธิพลของไศวนิกายจากอินเดีย นำคำว่านาคหรืองูเข้าสู่ดินแดนอินโดจีน ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน แต่คำว่านาคนั้น ยังไม่ชัดเจนหมายถึงงูโดยตรง แต่น่าจะหมายถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใกล้ริมน้ำหรือหมายถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงหรือทะเลสาบ เป็นผู้ที่อยู่กับน้ำ ใช้ลำน้ำเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต

ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า มีพราหมณ์ชื่อโกญทัญญะข้ามจากปลายแหลมทองของไทย ไปสมสู่กับนางนาคซึ่งเป็นธิดาของพญานาค และสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในดินแดนกัมพูชา บริเวณปัจจุบันเรียกว่า เมืองออกแก้ว จังหวัดอันเกียง

ข้อสังเกตก็คือ พราหมณ์โกญทัญญะคงไม่ได้เดินทางข้ามทะเลมาคนเดียว คงมากับกลุ่มบริวารจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นถิ่นของปลายแหลมไทย เป็นกลุ่มที่มีอำนาจและพลังเข้าควบคุมผู้คนในดินแดนที่ปกครองในความเชื่อ ความเป็นใหญ่ของผู้หญิงก็คือตัวนางนาคหรือในตำนานของจีนจะบันทึกว่าชื่อนางหลิวเย่

]การเข้าควบคุมผู้คนในบริเวณพื้นที่ที่อาศัยแหล่งน้ำเป็นแหล่งผลิต ก็จะต้องประสานกับความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่นเรื่องพลังของน้ำ นาคอันเป็นสัตว์สมมติว่าเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์ของชนเผ่า จึงพัฒนารูปเป็นงูใหญ่ และเริ่มปรากฏเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมขึ้นเมื่อชนพื้นเมืองหรือชาวขอมมีอำนาจขึ้น เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ เป็นต้นมา

ความเชื่อในเรื่องนางนาคปรากฏเป็นเรื่องราวของปราสาทในนครวัดที่ชื่อว่า ปราสาทพิมานอากาศที่บันทึกของโจวต้ากวน ว่ากษัตริย์ขอมต้องขึ้นไปสมสู่กับนางนาคบนปราสาทหลังนี้ทุกวัน เพื่อดำรงความยั่งยืนของอาณาจักร

พิจารณาจาก รูปทรงของปราสาทแล้ว ไม่น่าจะเชื่อว่าใช้เป็นที่สมสู่ของกษัตริย์กับนางนาค ความน่าเชื่อว่าน่าจะเป็นกษัตริย์ขอมขึ้นไปทำพิธีบูชาบรรพบุรุษคือนางนาค อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นใหญ่ของผู้หญิงมากกว่า อย่างไรก็ตามรูปแบบของนาคยังไม่ปรากฏในปราสาทนี้ แต่ปรากฏเป็นรูปสิงห์แทน

รูปของนาคจะปรากฏในปราสาทในสมัยหลังต่อมา  




นาค ๗ เศียร
นาคที่หมายถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ริมน้ำในสมัยบุพกาลของชาวพื้นเมืองในดินแดนกัมพูชา และเป็นตำนานของต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์ที่ผสมผสานกันของฝ่ายชายที่ข้ามมาจากปลายแหลมทองของไทยในปัจจุบันกับนางนาค (ที่หมายถึงชนพื้นเมืองในดินแดนอินโดจีน) ผู้หญิงที่ดูมีฐานะเป็นผู้นำในสมัยที่หญิงเป็นใหญ่ในหมู่ชนมาเป็น

นาคที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่พิทักษ์ศาสนสถาน อันปรากฏเป็นรูปงูมีเจ็ดหัว ประดิษฐ์อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมประดับมุขของชั้นหลังคาปราสาทในสถาปัตยกรรมขอม สมัยบาปวนมาเป็นนาคสมัยนครวัด ที่เป็นคติหรือสัญลักษณ์ที่หลากหลายขึ้นและมีรูปแบบที่มีรายละเอียดมากขึ้น ได้แก่ เป็นนาค ๗ เศียร ที่มีมงกุฎปรากฏอยู่บนหัวชัดเจนขึ้น

ในสัญลักษณ์เดิมของผู้พิทักษ์ศาสนสถานที่ปรากฏอยู่มุขของชั้นหลังคายังคงอยู่ แต่เพิ่มเติมฐานะของนาคเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ เรียกว่า สะพานสายรุ้ง เช่น สะพานข้ามคูรอบปราสาทนครวัดที่มีเศียรพญานาค ๗ เศียร ประดับ ๒ ข้างของสะพาน สัญลักษณ์ของการดำรงของชีวิตชั่วนิรันดร์ ไม่มีอันตรายปรากฏอยู่ในการประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า การกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้เกิดน้ำอมฤต ที่ผู้ได้ดื่มน้ำนั้นแล้วไม่มีวันตาย นาคนาม วาสุกรี ถูกใช้เป็นเชือกที่หมุนขุนเขาอิมินทรเป็นแกนในการกวนจนทะเลเกษียรสมุทรเป็นน้ำอมฤต ปรากฏเป็นรูปสลักนูนต่ำที่งดงามที่สุดรูปหนึ่ง ในระเบียงด้านทิศตะวันออกของปราสาทนครวัด

และนาคในฐานะของผู้ให้น้ำ ความชุ่มฉ่ำแก่โลก ปรากฏเป็นรูปนาค ๒ ตน ล้อม ปราสาทอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่า สระอโนดาต ประดิษฐานอยู่บนปราสาทที่เรียกว่า ปราสาทนาคพัน  




นาคบาปวน
จากนางนาคที่น่าจะหมายถึงมนุษย์ที่อาศัยอยู่ใกล้ริมน้ำหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงหรือทะเลสาบ ผู้เป็นหญิงที่พราหมณ์โกญทัญญะ ผู้ข้ามทะเลมาจากแดนไกลเข้ามาสมสู่และมีอำนาจควบคุมพื้นที่ในดินแดนตอนใต้ของประเทศกัมพูชา

นาคได้พัฒนาความเชื่อเป็นผู้สร้างเมือง เป็นผู้ปกปักรักษาอาณาจักรและศาสนสถานที่กษัตริย์ขอมจะต้องไปทำพิธีกรรมร่วมทุกค่ำคืนมาเป็นงูใหญ่ เพิ่มเติมความเชื่อในเรื่องกำเนิดของแม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากแนวเลื้อยของงูใหญ่

นาคจึงปรากฏเป็นงูผู้พิทักษ์ศาสนสถาน โดยปรากฏเป็นรูปนาคในกรอบสามเหลี่ยมประดับมุขของชั้นหลังคาปราสาท เริ่มตั้งแต่สมัยของศิลปะขอมที่เรียกว่า ศิลปะสมัยบาปวน ในรัฐกาลของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้น

นาคของขอมสมัยบาปวน ดูง่ายๆ คือเป็นงูแผ่พังพาน มีหลายหัวหรือเศียรก็ได้ ไม่มีมงกุฎประดับ หลังจากสมัยบาปวนเป็นต้นมา นาคหรืองูที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมก็เพิ่มคติและสัญลักษณ์ที่หลากหลายขึ้นอีก

หัวนาคแบบบาปวนที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม  





นาค-อมตะ
สําหรับอินเดียหรือชมพูทวีป นาค หมายถึงผู้อาศัยอยู่ริมน้ำ หรืองูในสัญลักษณ์ของชีวิตที่เป็นอมตะ ไม่ตาย แต่ใช้วิธีลอกคราบ

ข้ามทะเลอันดามันและอ่าวไทยไปสู่ดินแดนปลายแหลมอินโดจีน มาเป็นนางนาคที่หมายถึงผู้อยู่ริมน้ำและหมายถึงสังคมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกป้องที่เปลี่ยนรูปเป็นงู ผู้ปกป้องสวรรค์ เป็นสะพานเชื่อมสวรรค์สู่โลกมนุษย์ มีศีรษะที่มากมายหลากหลายหัว

นาคหรืองูในสัญลักษณ์ของผู้ปกป้อง ผู้รักษา ปรากฏขึ้นตั้งแต่ดินแดนตอนใต้ของจีนมาจน ถึงพื้นที่สองข้างแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจนถึงดินแดนของกัมพูชา

ในส่วนของประเทศไทย พัฒนาการของนาคหรืองูมีความหลากหลายในมิติในคติและสัญลักษณ์มากมาย (ที่น่าสังเกตก็คือ นับแต่ตอนกลางของประเทศไทย ตั้งแต่นครสวรรค์ลงไปจนถึงนครศรีธรรมราชไม่นิยมมีรูปนาคหรืองูปรากฏเป็นคติหรือสัญลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมมากนัก นอกจากเครื่องบนหลังคาที่เรียกว่าช่อฟ้าใบระกา หรือหางหงส์ ที่มียอดมีลักษณะเป็นเศียรหรือหัวของนาค เฉพาะในเขตจังหวัดลพบุรีและสระบุรีที่อยู่ใต้อิทธิพลศิลปะขอมที่อาจมีรูปหรือสัญลักษณ์ของนาคที่ปรากฏในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่น

ความหลากหลายของคติสัญลักษณ์ รูปแบบที่เป็นส่วนองค์ประกอบที่เรียกว่านาคในดินแดนของประเทศไทยจะได้ยกมาเขียนบรรยายกันในความหมายที่แตกต่างกันต่อไป  




บน-บันไดนาคหอพระแก้ว หลวงพระบาง
ล่าง-ฮางฮด ใช้สำหรับสรงน้ำพระในพิธีวันสงกรานต์

นาค-งู ลาว
ย้อนขึ้นไปในลำน้ำโขง จากสาธารณะประชาชนกัมพูชาสู่ประเทศสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว

นาคหรืองู ในคติและความเชื่อของผู้คนหรือประชาชนลาวเปลี่ยนแปลงจากดินแดนตอนใต้ ด้วยความเชื่อว่า ลำน้ำโขงเกิดจากการเลื้อยของพญานาคที่ทำให้เกิดร่องน้ำขนาดใหญ่ที่กลายมาเป็นแม่น้ำโขง มหานทีใหญ่

ผู้คนในแถบแม่น้ำโขงตอนนี้เชื่อว่า บริเวณใต้แม่น้ำโขงมีเมืองหรือนครอันเป็นที่อยู่อาศัยของนาคผู้มีอิทธิฤทธิ์ เป็นผู้ปกป้องแผ่นดินของทั้งสองฝั่ง

ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหรือดินแดนสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาวมีนาคนาม พญาศรีสัตตนาคราชหรือนาคาธิบดี สีรัตนาคราช

ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คือดินแดนประเทศไทย มีนาคนาม พระศรีสุทโธนาคราช หรือนาคาบดีสีสุทโธ ที่ปัจจุบันเป็นที่ได้รับศรัทธาจากผู้คนที่ไปบูชาขอโชคลาภ มีม้าทรงเข้าทรงกันเป็นที่เอิกเกริก แม้นางเอกละครทีวีก็ยังไปรำบูชา

จากนาคราชสัญลักษณ์ผู้มีอำนาจและเป็นผู้ปกป้องความสงบสุขของประชาชนทั้งสองประเทศ ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ จึงมีการปั้นรูปพญานาคไว้ตามบันไดขึ้นโบสถ์หรือวิหารวัดต่างๆ

นาคของฝั่งลาวมีความเชื่อไปถึงความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มเติมนำไปสู่พิธีกรรม รดน้ำพระในวันสงกรานต์ โดยสร้างเป็นรางน้ำแขวนไว้ในอุโบสถหรือวิหาร เรียกว่า ฮางฮด เพื่อให้ประชาชนได้มาขอพรและทำพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ที่นับถือ โดยประชาชนจะเทน้ำลงในรางไม้ให้น้ำไหลออกทางด้านศีรษะของหัวนาคอันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำที่มาจากสระอโนดาต ซึ่งเป็นน้ำบริสุทธิ์จากสวรรค์  





นาคงู สยามประเทศ

สัญลักษณ์ของนาคอันเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ที่ปรากฏทั่วไปในสยามประเทศ มักจะสร้างเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า คันทวย (ทางภาคเหนือ เรียกว่า ทวยหูช้าง) เป็นค้ำยันชายคาของโบสถ์หรือวิหาร ที่หมายถึง นาคให้น้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์

คันทวยหรือทวยหูช้าง อาจเป็นไม้แกะหรือปูนปั้น ตามแต่ประเภทของอาคารที่ก่อสร้างด้วยไม้หรือก่ออิฐ แกะหรือปั้นเป็นรูปนาค เป็นโครงสร้างทำหน้าที่ค้ำยัน อเสหัวเสา เป็นเสมือนดั่งกำลังให้น้ำฝนต่อโลก

บางวัดเช่น วัดมกุฏกษัตริยารามเปลี่ยนช่อฟ้าใบระกาที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์วิหารที่เป็นไม้แกะเป็นปูนปั้นหัวนาคที่กำลังให้ความอุดมสมบูรณ์แก่โลก แทนรูปแบบช่อฟ้าใบระกาของวัดทั่วไป

ในรูปภาพด้านซ้ายเป็นคันทวยวัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ ส่วนทางขวาเป็นคันทวยวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถือกันว่าเป็นคันทวยไม้ที่สวยงาม



ที่มา : คติสัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กุมภาพันธ์ 2561 16:17:59 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2561 16:21:32 »

            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



นาค-งูภาคเหนือ

สัญลักษณ์นาคแห่งรัตนโกสินทร์อันเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้และความอุดมสมบูรณ์ แทนอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในฐานะรามาธิบดีหรือพระนารายณ์ ผู้ปกป้องโลกหรือประเทศ ปรากฏในพาหนะเรือพระที่นั่งในขบวนพยุหยาตราทางน้ำ เรืออนันตนาคราชและเรืออเนกชาติภุชงค์

สัญลักษณ์ของนาคในภาคเหนือ จังหวัดน่านของประเทศ มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นตัวแทนของน้ำของมหาสมุทร

นาคที่วัดภูมินทร์ เป็นนาคที่หมายถึงทะเลสีทันดรล้อมรอบศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ ที่ใช้วิหารเป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ในคติ ความเชื่อในยุคเวลาที่เรียกว่า ภัทรกัปป์ (พระพุทธเจ้าจะอุบัติในยุคนี้ ๕ พระองค์)

นาคที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน หรืออาณาจักรน่านในอดีต จะทอดตัวยาว ศีรษะอยู่ทางทิศเหนือ หางอยู่ทางทิศใต้ อ่อนสะบัดเหมือนลอยตัวอยู่บนน้ำหรือเกลียวคลื่น มีวิหารสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุอยู่กลางตัว ตัวนาคที่เปรียบเหมือนทะเลสีทันดร เป็นสัญลักษณ์ของน้ำที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์




นาครัตนโกสินทร์

ในภูมิภาคเอเชีย มีตั้งแต่ชมพูทวีปสู่ดินแดนกัมพูชา หรืออาณาจักรขอม เลยเหนือขึ้นไปสู่ดินแดนล้านช้างหรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสู่สยามประเทศ มีการแปรรูปคติสัญลักษณ์ ไปหลากหลาย

นาคแห่งรัตนโกสินทร์ที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในเรือขบวนพยุหยาตราของพระมหากษัตริย์ไทย

เป็นอนันตนาคราชผู้มีเศียรหรือหัวนับพัน โดยตอนหัวเรือนั้นเป็นนาค ๗ เศียร แต่ในส่วนล่างต่อจากหัวเรือจะมีรูปสลักเป็นนาคที่มีเศียรมากมายจำนวนพันเศียร

เป็นนาคที่ประทับนอนอยู่ในทะเลเรียกว่าเกษียรสมุทร (คำว่าเกษียรน่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับ กษีร แปลว่าน้ำนม) จึงน่าจะหมายถึงพญาอนันตนาคราชผู้เป็นราชาแห่งนาคทั้งหลายนอนอยู่ในทะเลน้ำนมหรือทะเลที่มีสีขาวขุ่น เป็นที่ประทับหรือบรรทมของพระนารายณ์ ที่มีพระมเหสีของพระองค์คือ พระลักษมี ผู้เกิดจากพิธีกวนเกษียรสมุทร แล้วพระนารายณ์ ไปช่วงชิงมา (พระนารายณ์จะนอนเป็นปกติ แต่จะตื่นเมื่อโลกประสบเหตุมีผู้จะทำลายโลก เพื่อป้องกันโลก)

ในงานที่มีการเสด็จของพระเจ้าแผ่นดินของไทย ที่เรียกว่า "ขบวนพยุหยาตรา" พระเจ้าแผ่นดินของไทยนั้นมีฐานะทางเทพเจ้าคือเป็นพระนารายณ์หรือเรียกกันว่า รามาธิบดี จะประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งชื่อเรืออนันตนาคราช ทั้งเรือนั้นแกะสลักเป็นพญานาคผู้มีเศียรนับพัน และนับว่าเป็นเรือที่สวยงามมากลำหนึ่งในขบวนเรือพระที่นั่งในโลกนี้




มกรคายนาค.

ที่บันไดหอพระวัดพระแก้วใน สปป.ลาว มีรูปปั้นมกรคายนาคประดับอยู่
มกรไม่ใช่มังกรแต่เป็นสัตว์ผสมในจินตนาการของหมู่ชนในเขตเอเชียอาคเนย์ เช่น พม่า ล้านนา สยาม เขมร ลาว เป็นส่วนใหญ่
 
ในวิกิพีเดียอธิบายว่าเป็นสัตว์ประหลาดในทะเลชนิดหนึ่ง ครึ่งหน้าเป็นสัตว์บก เช่น ช้าง จระเข้ มีขาสี่ขา ครึ่งหลังเป็นสัตว์น้ำมีหางเป็นปลาหรือจระเข้ ในเทววิทยาของฮินดู

มกรคายนาคในคติทางสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในสหภาพเมียนมาหรือพม่า และภาคเหนือของไทย ไม่น่าจะหมายความถึงความขัดแย้งหรือผสมกลมกลืนในเรื่องของชาติพันธุ์ หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ของชีวิตที่ไม่ตายของงูที่ใช้วิธีลอกคราบเพื่อชีวิตใหม่ ที่แม้ถูกมกรกินไปครึ่งตัวก็ยังต้องคายออกมาทำหน้าที่ที่ทั้งการปกป้องและความอุดมสมบูรณ์ให้แก่โลกต่อไป




ที่มา : คติสัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย
โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มิถุนายน 2561 17:59:22 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.946 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 04:13:10