[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 10:14:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ-ปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง  (อ่าน 76704 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2558 10:54:15 »

.

พรรษาที่ ๔๘ - ๖๘ (พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๔๗ มรณภาพ)
จำพรรษาที่ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม บ้านคลองสระ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ภายในขอบเขตแห่งขัณฑสีมา อารามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยคณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงตาได้นิมนต์หลวงปู่เจี๊ยะมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส

จากท้องทุ่งป่าสนใบดกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ รายรอบด้วยทุ่งนาเขียวขจี ได้กลายเป็นอารามป่ากรรมฐานใกล้เมืองกรุงฯ ที่ร่มรื่นอบอวลไปด้วยกลิ่นศีลธรรมของสมณะศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น และกลิ่นแมกไม้นานาพันธุ์น้อยใหญ่ที่ปลูกขึ้นรายรอบทั่วบริเวณ ๑๔๖ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา

ภาพแห่งพระมหาเถระผู้เฒ่า พูดจาเสียงดังฟังชัดออกกิริยาท่าทางไร้มารยา นัยน์ตามีแววมุ่งมั่นรูปหนึ่ง ซึ่งทุกคนเรียกติดปากว่า “หลวงปู่เจี๊ยะ” นั่งสนทนาธรรมกับสานุศิษย์เพียงไม่กี่คนใต้กุฏิเพิงหญ้าหลังเล็กๆ มีจีวรเก่ากั้นเป็นฉากหลัง... นี่คือ สมณานญฺจะ ทสฺสนํ การเห็นสมณะผู้สงบสันโดษ เป็นมงคลอย่างสูงสุด

เสียงเทศนาธรรมของท่านกล่อมเกลาจิตใจสานุศิษย์...วันแล้ว...วันเล่า มิได้ขาด  ในกาลต่อมา ตำนานชีวิตของท่านเริ่มมีผู้เล่าขาน เมื่อหลวงตามหาบัวได้กล่าวชมยกย่องสรรเสริญว่า “เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ำหนึ่ง” ที่หาได้โดยยากยิ่ง

ประชาชนญาติโยม ที่ทราบเรื่องจากทิศานุทิศ ต่างหลั่งไหลมาทำบุญและสนทนาธรรมไม่ขาดสาย ด้วยความเมตตาต่อสัตว์โลกอันไม่มีประมาณ ท่านจึงดำริสร้างกุฏิ ศาลาปูนหลังพอประมาณ ใช้ทำกิจสงฆ์และสำหรับต้อนรับประชาชนญาติโยมที่มาทำบุญและปฏิบัติธรรม จากอารามเล็กๆ จึงกลายเป็นอารามที่ใหญ่โต



หลวงปู่นั่งบนแคร่ใต้ต้นสนที่ท่านใช้เป็นหอฉัน
เมื่อเริ่มสร้างวัดป่าภูริทัตฯ


ศาลาวัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ภาพบูชาของพระบูรพาจารย์คือ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ด้านข้างศาลามีโรงไฟ สำหรับซักย้อมจีวร ฉันน้ำปานะฯลฯ ถัดจากนั้นไปทางด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นโรงครัวและเขตอุบาสิกาที่เข้ามาพักปฏิบัติธรรม

ด้านหน้าศาลาเป็นที่ตั้งของภูริทัตตเจดีย์ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน ภายในปูด้วยหินแกรนิต ยอดทำด้วยทองคำ อันงามสง่าควรค่าแก่การบูชาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มีหินแกะสลักรูปพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ที่ลูกศิษย์สร้างถวาย

มีพระสงฆ์มาจำพรรษาอยู่กว่า ๓๐ รูป ต่างผลัดเวรกันมาดูแลทำความสะอาด พระรูปใดที่ไม่มีหน้าที่ หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้ว จะไปปฏิบัติธรรมอยู่ในกุฏิที่ปลูกอย่างเรียบง่ายในป่า ห่างกันพอประมาณ

กุฏิสงฆ์ภายในวัดแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
๑. กุฏิแบบถาวรเพื่อต้อนรับพระเถระที่ชราภาพ และสำหรับพักฟื้นพระอาพาธที่เดินทางจากต่างจังหวัดมารับการรักษาที่กรุงเทพฯ
๒. กุฏิแบบเรียบงาย พอแก่การบังแดด ลม ฝน ขนาดกว้างยาวเพียงพอแก่การอยู่เพียงรูปเดียว ฝาผนังใช้ผ้าจีวรเก่ากางกั้น น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

ทุกกุฏิจะมีทางจงกรมอย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้สนดูร่มเย็นเป็นลานทางปราบกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน อานิสงส์ของการเดินจงกรมคือ ทนต่อการเดินทางไกล ทนต่อการบำเพ็ญเพียร มีอาพาธน้อย ย่อยอาหารได้ดี ทำสมาธิได้นาน

กุฏิแต่ละหลังห่างกันพอประมาณ มีคูน้ำกางกั้น เพื่อให้สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรม...พบอริยะธรรม

กิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ที่นี่ คือ ยามเช้าก่อนออกบิณฑบาต พระภิกษุสามเณร ขัดถูปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ ส่วนพระคิลานุปัฏฐากประมาณ ๘ รูป ก็ผลัดเปลี่ยนกันดูแลหลวงปู่เจี๊ยะในยามอาพาธ มิให้ขาดตกบกพร่อง

ในเวลาบ่ายโมง พระเณรทั้งหมดมารวมฉันน้ำปานะ บ่ายสามโมงเย็น ทำข้อวัตรปัดกวาดเสนาสนะ ขัดถูกุฏิศาลา บริเวณวัด หน้าวัด ทำความสะอาดห้องน้ำห้องส้วมอย่างพร้อมเพรียงกัน และกิจวัตรประจำวันที่สำคัญยิ่ง คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม สร้างสติปัญญามีความเพียรกล้า หาทางแผดเผากิเลสด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามที่หลวงปู่เจี๊ยะสั่งสอน เพื่อดับไฟคือความรุ่มร้อนกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป

หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะสอนพระเณรอยู่เสมอว่า “...พระหัวโล้น ๆ ถ้าสั่งสมจีวรสังฆาฏิ ข้าว น้ำ อาหาร ฯลฯ ไว้มากๆ เท่ากับพยายามสั่งสมข้าศึกให้กับตัวเอง ชีวิตพระควรอยู่อย่างบางเบา ไม่ควรมีอะไรเป็นเครื่องกังวล การภาวนาฆ่ากิเลสให้ตายไปจากใจสำคัญที่สุด”

ความเงียบสงบ และเสียงใบสนต้องลมดังหวิวๆ คือ บรรยากาศของวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ที่มีหลวงปู่เจี๊ยะเป็นเจ้าอาวาส



หลวงตามหาบัวชมเชยในคุณธรรม
หลวงตาได้เล่าเรื่องสร้างวัดป่าภูริทัตฯ และชมเชยในคุณธรรมหลวงปู่เจี๊ยะไว้ว่า...เริ่มแรกทีเดียว พี่ชายของท่านนพดล (พระอาจารย์นพดล นนฺทโน) ได้ถวายที่ให้เราสร้างวัด มองหาใครที่จะมารับภาระให้เป็นที่แน่ใจตายใจ ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เจี๊ยะเท่านั้น จึงไปนิมนต์ท่าน พูดเหตุผลให้ฟังว่า “เพราะวัดนี้ต่อไปจะเป็นวัดที่แน่นหนามั่นคง จึงควรมีครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาอยู่ ก็มองเห็นแต่ท่านอาจารย์เท่านั้นล่ะ จะพอสงเคราะห์กันได้มั้ย? ญาติโยมแถวนี้ ย่านนี้ เป็นย่านที่พอเหมาะพอดี” เมื่อเรานิมนต์ ท่านก็รับด้วยดีนะ

....ท่านอาจารย์เจี๊ยะทางด้านจิตใจท่านดี ดีมาตั้งแต่บวชทีแรก พูดถึงธรรมภายในท่าน ท่านดีไม่ใช่ธรรมดา แต่กิริยาภายนอกท่านก็อย่างนั้นแหละ เราจึงบอกเฉพาะในวงศ์ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ เพราะภายนอกกับภายในไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนเราไม่เหมือนกัน

แล้วหลวงตาจึงได้กล่าวเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า อย่าไปมองท่านผิดนะ เพราะเรากับท่านอยู่ด้วยกันมานาน รู้กันทุกสิ่งทุกอย่างกับอาจารย์เจี๊ยะ แต่กิริยาภายนอกท่านก็เป็นของท่านอย่างนั้น อย่าดูท่านแบบผิวเผิน อย่าคิดตำหนิว่า ทำไมพระถึงเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอกุศลกับตัวเองนะ

อาจารย์เจี๊ยะ สิ่งภายนอกนี้ทำให้คนรู้สึกไปในทางลบได้ กิริยาท่านภายนอก ท่านว่าอะไรตรงไปตรงมา ก็ท่านเป็นคนจีนลูกเจ๊ก เข้าใจมั้ย?...(หัวเราะ) บ๊งเบ๊งๆ อย่างนั้นนะ แต่เวลาเอาภายใน ไม่มีใครเอาละเอียดเท่าท่านนะ เรื่องความละเอียดภายในไม่มีใครสู้ท่าน  บริขารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรียบร้อย ใครไปแตะไม่ได้นะ ใครไปแตะท่านรู้ทันที ผิดนิดหนึ่งท่านรู้ ใครๆ มาทำนี้วะ เหอๆ ขึ้นเลย คือไปผิดของท่าน ท่านทำไว้เรียบร้อยทุกอย่างนะ เราเองยังไม่กล้าเข้าไปแตะอะไรที่ท่านอาจารย์เจี๊ยะไปทำไว้แล้ว เราไม่เข้าไปแตะเลยนะ เพราะเราสู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ” (หัวเราะ) ไม่เห็นพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นได้ตำหนิตรงไหน

เพราะฉะนั้นอาจารย์เจี๊ยะจึงเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์ พูดให้ตรงๆ ไปเลยว่า เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงปู่มั่นก็คืออาจารย์เจี๊ยะนี่องค์หนึ่ง โอ...ท่านเมตตามากนะ เวลาท่านปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เจี๊ยะนี่ก็แบบเดียวกัน กับอาจารย์เจี๊ยะนี่ท่านจะไม่พูดธรรมดาละ บ๊งเบ๊งใส่กันเลย (หัวเราะ) แต่เมตตามากนะ

จากนั้นอาจารย์เจี๊ยะก็มาจำพรรษากับเราในฐานะเป็นเพื่อน ไม่ใช่ฐานะครูฐานะอาจารย์ด้วยกัน ที่วัดป่าบ้านตาด ฐานะเป็นเพื่อนฝูง จำพรรษาด้วยกันที่วัดป่าบ้านตาด เพราะฉะนั้นจึงรู้นิสัยท่านได้ดีทุกอย่าง นิสัยท่านภายนอกไม่น่า แต่ภายในละเอียดลออมากนะ...เพราะนิสัยวาสนาไม่มีใครละได้ นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระองค์ทรงละขาด ไม่นำกิริยาของโลกมาใช้เลย...ส่วนนอกนั้น ใครจริตนิสัยเป็นอย่างไร จริตนิสัยนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะภายในจิตใจเท่านั้น คือมีกิเลสอยู่ภายในเท่าใดก็ชำระสะสางกันไป จนถึงขั้นบริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้วกิริยานี้ก็เหมือนเดิม...กิริยาของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น กิริยาของท่านพลิกไปตามเหตุการณ์ด้วยความรวดเร็วของปัญญา เพราะฉะนั้นใครไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับท่านจึงต้องระมัดระวัง ไม่งั้นโดนดุ กิริยาของท่านจับได้เพียงแต่ว่า เป็นนิสัยอาชาไนย คือสง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญคล่องแคล่ว ผู้ใดนอกนั้นสู้ไม่ได้เลย



เป็นวัดโดยสมบูรณ์
เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะรับนิมนต์ของหลวงตามหาบัวแล้ว ท่านจึงดำเนินการสร้างวัดให้เป็นหลักฐานมั่นคง ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและขั้นตอนของกฎหมายบ้านเมือง ดังนี้
๑.ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ๑๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๘ ตารางวา (รวมกับที่ดินเดิมที่คณะศรัทธาถวายหลวงตา ๒๓ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา รวมเป็น ๑๔๖ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา)
๒. ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ อาศัยความตามข้อ ๓ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมการศาสนา ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคม อนุญาตให้ นายแพทย์นินาท ชินะโชติ คุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันท์, นายแพทย์เฉก ธนสิริ  อยู่บ้านเลขที่ ๒๔ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร สร้างวัดขึ้นที่บ้านคลองสระ หมู่ ๒ ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
๓. ดำเนินการขอวิสุงคามสีมาในวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ...ให้วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ...กำหนดวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๐๐ วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๓



ปฏิปทาที่ไม่เหมือนใคร
แรกเริ่มทีเดียวมีกระต๊อบหลังเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคา มีจีวรผืนเก่ากั้นเป็นห้อง เป็นที่หลบแดด หลบฝน เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีเตียงทำด้วยไม้ไผ่ทำเป็นที่ฉันและที่นอนใต้ร่มไม้สน ด้านหลังมีคลองน้ำเป็นเขตแดน ท่านอยู่แต่เพียงเดียวดายไม่ค่อยมีลูกศิษย์ แม้แต่คนถิ่นแถวนั้นก็ไม่ค่อยรู้จักท่าน

การก่อสร้างวัดของท่าน เมื่อเห็นสิ่งของ เช่น เศษไม้ เศษสังกะสีเก่าๆ เป็นต้น ที่คนเขาทิ้ง ท่านก็จะขอบิณฑบาตมาสร้างกุฏิที่พัก ท่านมัธยัสถ์มากเห็นคุณค่าแห่งของทุกสิ่ง เก็บหอมรอมริบสม่ำเสมอ ทำงานทั้งวัน ตีเหล็กตีขวาน ทุบหิน จนบางครั้งพระลูกศิษย์บางรูปไม่เข้าใจต้องเข้ามากราบเรียนถามท่านว่า

“หลวงปู่ ผมไม่เข้าใจหลวงปู่เลย ทำไมหลวงปู่ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำขนาดนี้ ต้องเป็นอย่างนี้”
“เฮ้ย!..มันเข้าใจง่ายๆ ซะที่ไหน ผมอยู่กับปู่มั่น บางทีผมก็ยังไม่เข้าใจเลย ต้องพยายามเข้าใจ เดี๋ยวจะเข้าใจเอง” ท่านตอบห้วนๆ แล้วจึงตีขวานต่อเสียงดังเพ้ง! เพ้ง! เพ้ง!...

...และสอนลูกศิษย์ต่อว่า “ในสมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่มั่น ผมต้องอดทนมาก ผมเป็นคนกินยาก แสลงเรื่องอาหาร ผมอยู่กับท่านสามปีสี่แล้ง กินแต่ข้าวเหนียวกับกล้วย อาหารอย่างอื่นมี แต่ผมกินไม่ได้ ถ้าไม่มีกล้วยผมต้องกินแต่ข้าวเปล่าๆ ทำให้ท้องอืด ไม่ถ่าย อากาศก็หนาวเหน็บถึงกระดูก ตามแขนตามขาผิวแห้งไปหมด ไปขอยากับหลวงปู่มั่นก็ไม่มี เมื่อไม่มียาท้องอืดจะตาย ผมใช้นิ้วล้วงลงไปในลำคอลึกๆ เพื่อให้อาเจียนออกมา จะได้สบายท้องนิ้วมือนี้แหละเป็นยา ผมยังไม่เคยบ่น เรื่องนี้มีแต่ท่านอาจารย์มหาบัวรู้ คนอื่นไม่รู้ ผมยังไม่เห็นตายเลย”

พระลูกศิษย์ที่ติดตามท่านมานานๆ บางองค์ก็น้อยใจในวาสนาอาจารย์ของตนว่า “อาจารย์ของเรานี่ เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น แต่เวลาเดินทางไปไหนก็ไปสิบล้อ โบกสิบล้อไป หลวงปู่สิม หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หรือพระกรรมฐานรุ่นหลังๆ ไปไหนมีรถเก๋งมารับ ถูกนิมนต์ให้ไปเจิมแอร์สยาม รถเบ็นซ์ รถไฟ ฯลฯ มีคุณหญิงคุณนายนับหน้าถือตา อาจารย์ของเราช่างด้อยวาสนาเสียจริงๆ โบกขึ้นแต่รถสิบล้อ อาจารย์องค์อื่นถูกนิมนต์ไปฉันบ้านนายพล บ้านคุณนาย อาจารย์ของเราพาฉันแต่น้ำพริกกุ้งแห้ง แถมยังยกเว้นกะปิอีก น้ำพริกปลาทูก็ไม่ให้ใส่กะปิ บางทีเพื่อนพระที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์อื่นๆ เขาก็ล้อว่า ‘พวกท่านมีอาจารย์กับเขาทั้งที มีก็ไม่เหมือนคนอื่นเขาน้อ!’ ก็ได้แต่ทำไว้ในใจว่า ‘เอาละวะ ถึงท่านจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็มั่นใจในคุณธรรมของท่าน แม้หลวงตาบัวยังชมท่านไม่ขาดปากว่า เป็นผ้าขี้ริ้วท่อทอง" คิดเพียงเท่านี้ก็เป็นที่ปลงใจสำหรับลูกศิษย์พระกรรมฐาน

หลวงปู่เจี๊ยะเมื่อเห็นศิษย์คิดอย่างนั้น ท่านก็สอนเป็นธรรมะไพเราะเคาะสนิมใจให้ศิษย์รื่นเริงในธรรมบ้างว่า “ท่าน... ธรรมดาว่าชาวนาไม่มีข้าวกิน ย่อมไม่มี...คนดีย่อมไม่มีสิ่งชั่ว...คนใบ้ ย่อมไม่ไปทะเลาะกับคนอื่น...คนตื่น ย่อมไม่มีภัย...คนที่ใจฝึกมาดีย่อมไม่มีไหวหวั่น อยู่ได้ทุกที่ ขี้ได้ทุกทาง”

เมื่อท่านพูดเสร็จมีพระเดินคู่กันมาสองรูป ท่านจึงตะโกนด่าเสียงดัง “เฮ้ย!.. ไอ้ฉิบ... ใครสอนให้ท่านทำอย่างนี้ การเดินเคียงคู่กันแบบนี้ เดินแบบหนุ่มสาวชาวโลก กิริยาแสวงหากิเลสไม่ใช่กิริยาแสวงหาธรรม หลวงปู่มั่นท่านตำหนิอย่างหนัก อย่าทำเด็ดขาด”




หลวงปู่เจียะ ที่วัดถ้ำอินทนิล

ถ้ำอินทนิล
ด้วยอุปนิสัยที่ท่านชอบป่าเขาท้องถ้ำ...
...เมื่อออกพรรษาย่างเข้าฤดูแล้ง ปี ๒๕๒๗ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเดินออกเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด ไปอยู่ตามดอยมูเซอห้วยดงพงลึก อาศัยบิณฑบาตกับพวกชาวเขาฉันไปวันๆ ห้วยปลาหลด ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชอบไปเที่ยวภาวนาบ่อยๆ ออกจากห้วยปลาหลดแล้วท่านก็เดินทางไปถ้ำอินทนิล ถ้ำบ่อลูกรัง ถ้ำอินทนิลท่านเคยปรารภว่า “เราชอบที่สงบสงัดโดยเฉพาะถ้ำ นิสัยเราชอบถ้ำ หากเราพบถ้ำอินทนิลนี้ก่อนมาอยู่วัดป่าภูริทัตฯ เราจะอยู่ที่ถ้ำอินทนิล ไม่ได้มาอยู่ที่นี่  ถ้าเราป่วยใกล้จะตาย ก่อนตายให้หามเรามาที่ถ้ำอินทนิลนี้ ให้นำเรามาที่นี่ พระกรรมฐานต้องตายตามถ้ำเงื้อมผา มันถึงจะสมญานามลูกศิษย์ตถาคต”

เดิมทีถ้ำอินทนิลนี้ เขาเรียกว่าถ้ำพะวอ ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศใต้ มีถ้ำเล็กๆ ต่างๆ ล้อมรอบมีถ้ำเพชร ถ้ำพลอย เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าทั้งหลายมีช้าง เสือ เป็นต้น แม้ปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยเป็นที่สังเกตภายในถ้ำ มีรอยช้างเอาสีข้างมาถูหินย้อยระย้าลงมาจากผนังถ้ำ รอยเสียดสีไปมาจนเป็นมันเลื่อมแพลบ ๆ

หลวงปูเจี๊ยะท่านเป็นพระเถระใจเด็ด ชอบไปเที่ยวภาวนาตามถ้ำ ตามเงื้อมผา ตามป่าตามเขาไกลๆ เพราะปกตินิสัยของท่านไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เหมือนกับครูบาอาจารย์ของท่าน คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภอยู่เสมอว่า  แม้นเราจะมีผมหงอกแล้ว เดินขาเป๋ เซหน้าเซหลัง เป็นขรัวตาสูงอายุ แสดงกิริยาท่าทางอ่อนแอไม่ปรารถนาความเพียร ไม่ปรารถนาหาที่วิเวก เราก็จะเป็นเพียงคนแก่คนหนึ่งที่เรียกว่า “โมฆชิณฺโณ” คือ "แก่เสียชาติเกิด"



ไปเผยแผ่ศาสนาที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ในปี พ ศ ๒๕๓๘ เกิดอุทกภัยน้ำท่วมวัดป่าภูริทัตตปฎิปทารามเป็นครั้งที่ ๒ หลวงปู่เจี๊ยะได้แสดงนิมิตให้พระลูกศิษย์ที่ไปภาวนาบนดอยอ่างขางเห็นเกือบทุกคืนว่า “ลงมา กูจะไปสิงคโปร์”  พระรูปนั้นเมื่อออกพรรษาก็รีบลงมาจากดอย โทรศัพท์หาโยมที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่ที่กรุงเทพฯ เขารีบบอกทันทีว่า “ครูบา รีบลงมาหลวงปู่จะไปสิงคโปร์” เมื่อพระรูปนั้นลงมาก็เข้าไปกราบเรียนท่านว่า “หลวงปู่จะไปสิงคโปร์หรือ?”  หลวงปู่ก็ว่า “ก็ไปซี...ไอ้ห่า...กูตะโกนเรียกมึงลงมาตั้งกี่คืนแล้วไม่เห็นมา...ไอ้ห่า..แม่เ-ด” หลวงปู่ตบท้ายด้วยสำนวนประจำองค์

ที่ท่านปรารภเช่นนี้ จะเพราะเหตุอะไร ไม่มีใครอาจสามารถทราบเหตุผลที่แท้จริงได้ เพราะโดยปกติในระยะหลัง หลวงปู่จะไม่ยอมเดินทางไปที่ไหนไกลๆ ท่านมักจะบ่นเจ็บก้นอยู่เสมอ แต่ด้วยอำนาจของความเมตตาแห่งธรรมอันบริสุทธิ์ที่หลวงปู่มีต่อสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติไหน ใกล้หรือไกล หากเป็นธรรมที่พอจะสงเคราะห์ให้สัตว์โลกได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงยากลำบากเพียงใด ท่านจะอุตส่าห์พยายามไปโปรดเสมอ การที่ท่านเดินทางไปต่างไปประเทศในครั้งนี้จึงต้องมีความหมายพิเศษแห่งธรรมภายในที่ท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเป็นแน่แท้



เอาขวานไปฝากชาวสิงคโปร์
หลวงปู่เดินทางด้วยสายการบินไทย แต่มีเรื่องที่น่าคิดและน่าขำสำหรับครูบาอาจารย์ พระป่าที่ท่านเป็นผู้สละโลกแล้ว มายาของโลกกับท่านจึงต่างกันอยู่มาก

วันที่ท่านเดินทางไปที่สนามบิน ก่อนขึ้นเครื่อง ต.ม. (ตรวจคนเข้าเมือง) จะต้องตรวจก่อน หลวงปู่สะพายย่ามไม่ยอมให้ ต.ม. ตรวจ เพราะท่านไม่เข้าใจระเบียบของโลกสมัยใหม่
“เฮ้ย! กูไม่ให้ตรวจ”  
พระก็บอกว่า “ปู่ไม่ตรวจไม่ได้ มันผิดกฎหมาย”  “เหรอ.. กูไม่รู้”

เวลา ต.ม. ตรวจข้าวของในย่ามของท่าน เทออกมามีมีด หัวขวานที่ยังไม่ได้ใส่ด้ามหลายอัน ไขควง ๗-๘ เล่ม และเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหล็กที่ท่านตีเอง หลวงปู่บอกว่า “มึงดูดีๆ หน่อย เดี๋ยวมันจะขโมยของกู มึงต้องคอยป้องกันกู กูไปดีจะเอาไปฝากคนที่โน่น” ท่านพูดกับพระลูกศิษย์ที่ไปด้วย

เหตุการณ์ในขณะนั้นตลกขบขันมากก็ตอนที่ ต.ม.ตรวจย่ามของหลวงปู่ ท่านไม่อยากให้เขาตรวจย่ามท่าน แต่มันจำเป็น ย่ามใบนั้นจึงถูกดึงยึกยัก ยื้อกันไปมาระหว่างหลวงปู่กับเจ้าหน้าที่ ต.ม. ดูแล้วน่าตลกและน่ารักดีเหมือนกัน



การบินไทยบริการดีมาก
เมื่อขึ้นเครื่องบิน ท่านนั่งชั้น Business Class (ชั้นธุรกิจ) เมื่อท่านนั่งอยู่บนเครื่องบิน “โอ้ย! ปวดท้องฉี่โว้ย!” หลวงปู่บอกลูกศิษย์
“หลวงปู่ห้องน้ำอยู่ตรงนั้นเดี๋ยวจะพาไป” พระลูกศิษย์หันมากราบเรียน
“กูไม่ไป กูจะฉี่มันตรงนี้แหละ” ท่านพูดเสียงดังๆ เหมือนอยู่วัด
“ตรงนี้คนเยอะครับ อายเค้า” พระกราบเรียน
“เฮ้ย! ไอ้ฉิบหายอายทำไมวะ” ท่านพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แสดงเจตนาที่แท้จริง

แล้วท่านก็หยิบกระโถนที่นำไปด้วย ฉี่เสียงดังจ๊อกๆ แอร์โฮสเตสเดินผ่านไปมาทำยิ้ม เพราะเขาไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้ และผู้โดยสารอื่นก็นั่งมองด้วยอาการแปลกๆ แต่สำหรับหลวงปู่ท่านไม่เห็นใครเป็นคนแปลกหน้าเลยท่านสบายๆ เมื่อท่านปัสสาวะเสร็จ สจ็วตได้เข้ามาหาพระแล้วพูดว่า “ผมจะนำกระโถนไปเทให้ครับ” การบินไทยเขาบริการดีมาก ช่วยเทปัสสาวะของท่านให้โดยไม่รังเกียจเลย

ม.ร.ว.อดุลยกิติ์ กิติยากร ให้กงสุลใหญ่มารับ  
เมื่อเดินทางถึงประเทศสิงคโปร์ ม.ร.ว.อดุลยกิติ์ กิติยากร สั่งคุณอดิศักดิ์ ซึ่งเป็นกงสุลใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์มารับท่านถึงเครื่องบิน หลวงปู่ถามว่า “ใคร ใครนั่น” เพราะท่านไม่ทราบ
“ผมอดิศักดิ์ครับ เป็นเอกอัครราชทูตประจำสิงคโปร์ครับ หม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์ให้มารับหลวงปู่ครับ” ท่านกงสุลใหญ่ตอบ
“เออ ไป ไป” หลวงปู่พูดสั้นๆ

หลวงปู่ท่านไม่เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบทำอะไรสบายๆ จึงไม่รบกวนท่านกงสุลใหญ่ แล้วท่านก็พูดว่า  “เขาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เราผ่านก็พอแล้ว เราไม่รบกวนเขา



คนสิงคโปร์ถูกรางวัลที่ ๑
ท่านได้เข้าพักบ้านโยมอ่อนี้ และไปเทศนาธรรมที่วัดป่าเลไลยก์ ได้อบรมสมาธิภาวนาทุกคืนพาญาติโยมนั่งสมาธิครั้งละ ๒ ชั่วโมง คนสิงคโปร์พากันแปลกใจว่าพระแก่ๆ ทำไมนั่งไม่ขยับเขยื้อนได้นานขนาดนี้

ขณะที่ท่านพักอยู่บ้านโยมอ่อนี้ มีวันหนึ่งท่านตื่นนอนช้ากว่าทุกวัน (ปกติพอพระเคาะประตูเรียก ท่านจะให้สัญญาณกระแอมให้รู้ พระจะเข้าไปทำวัตรปฏิบัติต่อองค์ท่าน เช่น เทกระโถนหรือรินน้ำชาถวาย เป็นต้น) แต่วันนั้นท่านนอนเอาจีวรคลุมศีรษะ พระแง้มประตูเปิด แต่ไม่กล้าเข้าไป

หลวงปู่ดึงผ้าที่คลุมลงมาแล้วเรียกพระด้วยเสียงเบาๆ “มานี่ มึงมานี่” แล้วท่านก็ลุกขึ้นนั่งตัวตรงปุบปับ แล้วพูดออกท่าทางมีรสชาติมากว่า “เฮ้ย! เมื่อคืนมันฉิบหายว่ะ” พร้อมกับเอามือตบลงที่หัวเข่าของท่านเองดังป้าบๆ เหมือนสะใจ อะไรบางอย่าง “มันฉิบหายว่ะ” ท่านย้ำหนักแน่น เมื่อคืนเข้าสมาธิจิตสว่างไสวมาก โอ้โฮ ไม่ได้เข้าจิตอย่างนี้มาหลายปีแล้ว คืออย่างนี้นะ ถ้าใครเข้ามาหาเรา อยากอธิษฐานอะไร อธิษฐานไปเลย มันได้แน่นอน ให้เรียกญาติโยมทุกคนมาฟังธรรม ในวันนี้เราจะแสดงธรรม  หลังจากท่านแสดงธรรมเทศนาจบลง ท่านได้ปรารภว่า วันนี้ใครปรารถนาอะไรให้อธิษฐานเอา ผลปรากฏว่า มีโยมคนหนึ่งอธิษฐานขอถูกรางวัลที่ ๑ แล้วเขาก็ถูกจริงๆ คนอื่นๆ ที่อธิษฐานอะไร ก็ได้ตามอธิษฐานนั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก



ปราบผีที่ปีนัง
ขณะที่ท่านพักค้างที่บ้านโยมอ่อนี้นั้น มีพระมาจากปีนัง ประเทศมาเลเซีย ชื่อครูบาจำนงมากราบนิมนต์ท่านไปปราบผีมิจฉาทิฏฐิที่เกาะปีนัง ผีดุมาก จะสร้างวัดก็สร้างไม่ได้ เมื่อหลวงปู่ท่านนั่งหลับตาพิจารณาพักหนึ่งท่านก็ตอบว่า “ไป ไปเลย” จากสิงคโปร์นั่งเครื่องบินไปเกาะปีนัง มาเลเซีย พอเสร็จจากแผ่เมตตาปราบผีที่ปีนัง ท่านก็เดินทางลงมาเรื่อยๆ ถึงเมืองอีโปว์


หลวงปู่พักที่บ้านโยมอ่อนี้

โปรดโยมยูโปว์ เอ็ง ชาวมาเลเซีย
ที่จังหวัดอีโปว์ หลวงปู่พักที่สมาคมชาวพุทธ มีหญิงจีนชาวมาเลเซียชื่อยูโปว์ เอ็ง อายุ ๖๗ ปี ภาวนามา ๑๘ ปี เกิดปฎิภาคนิมิต เห็นร่างกายเป็นอสุภะ หลับตาเมื่อไรเห็นร่างกายของตนเองในสมาธิภาวนา เปื่อยเน่า ผุพัง บุบสลาย เห็นเป็นกองกระดูก น่าสลดสังเวช และน่าสะพรึงกลัว เธอจึงปรึกษาสามี สามีก็ว่าเธอเป็นบ้า จิตวิปริต เสียสติ เธอจึงเที่ยวเสาะหาครูบาอาจารย์ ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และในที่อื่นๆ ที่พอจะรู้จัก ก็ให้ภาวนายุบหนอพองหนอ

พระธรรมทูตในสมัยนั้น ยังไม่มีใครมีความรู้ที่แท้จริงแนะแนวการสอนสมาธิแบบนี้ได้ สอนแค่เพียงให้ดูลม ยุบหนอ พองหนอ แกก็ตอบพระว่า “โห! ท่าน จิตฉันมันไม่ยอมยุบหนอพองหนอแล้ว จิตมันไม่ไปกับคำบริกรรมแล้ว หลับตาลงมันก็เป็นของมันเอง”

เมื่อเธอไม่มีครูบาอาจารย์ที่พอจะอบรมสั่งสอนได้ จึงหันมาอดอาหาร ขังตัวเองในห้องดูปฎิภาคนิมิตเป็นเวลา ๗ วัน ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปฏิภาคนิมิต อันน่าสะพรึงกลัวนั้นได้

จนในที่สุด เมื่อเธอทราบว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระกรรมฐานเดินทางมา จึงดีใจเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางมากราบและเล่าความแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นให้หลวงปู่เจี๊ยะฟัง หลวงปู่จึงสั่งให้เธอนั่งสมาธิกำหนดปฏิภาคนิมิต แล้วท่านก็สอนทันทีว่า “ให้กำหนดจิตเข้าที่เก่าที่เคยเห็น แล้วให้กำหนดเตโชกสิณ ตัดและเผาอสุภะนั้นเสีย อย่าให้เหลืออะไรอยู่อีก”

พอจิตเธอวางอสุภะนิมิตเท่านั้นแหละ เกิดรวมใหญ่ขึ้นทันที เมื่อเธอถอนจิตออกจากสมาธิแล้วได้ตะโกนร้องไห้โฮๆ พร้อมทั้งน้ำตาด้วยความปีติ อิ่มเอิบใจ กราบแล้วกราบเล่า อุทานพร้อมทั้งตะโกนด้วยเสียงอันดังด้วยความตั้งใจว่า  “ฉันเจออาจารย์แล้วๆ ๑๘ ปีเพิ่งจะเจออาจารย์ในวันนี้”

เมื่อพระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร ทราบว่าหลวงปู่ไปต่างประเทศได้โทรศัพท์จากเมืองไทยไปหาหลวงปู่ ท่านจึงบอกว่า “จันทร์เรียน ให้มาสิงคโปร์ช่วยกันหน่อย เพราะที่นั่นมีแต่คนภาวนา แต่ไม่มีคนสอน ส่วนเมืองไทย มีแต่คนทำทาน ไม่มีคนภาวนา เราไปช่วยคนภาวนาติดขัดได้คนหนึ่ง มาแค่นี้ก็คุ้มแล้ว” หลวงปู่พูดด้วยความเบิกบานใจ

หลวงปู่ท่านรักคนภาวนา สาเหตุที่ท่านเดินทางไปสิงคโปร์เพราะมีคนสิงคโปร์มาถามเรื่องภาวนากับท่านบ่อยๆ บางคนมาถามธรรมะข้อเดียวแล้วบินกลับประเทศก็มี หลวงปู่ท่านกล่าวว่า "น่าสงสารจริงๆ บินมาถามข้อเดียวก็กลับไป สู้เราไปคนเดียวไม่ดีหรือ จะได้ช่วยเขาเป็นพันๆ หมื่นๆ" ทั้งๆ ที่แสบก้น เจ็บหลัง ก่อนท่านมาสิงคโปร์มีญาติโยมหลายคนห้ามปรามท่าน ท่านก็ดุเอาว่า “ไอ้ห่า..งี่เง่า นึกว่าเราไม่มีสติปัญญาหรือไร”  ท่านได้โปรดญาติโยมที่เมืองอีโปว์แล้วจึงเดินทางไปที่ KL (กัวลาลัมเปอร์) เสร็จจาก KL ก็บินกลับมาที่สิงคโปร์อย่างเดิม พักที่บ้านโยมอ่อนี้



ปราบผีดุมากที่เกาะบาตั้ม
ในขณะที่พักที่สิงคโปร์ มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่านำมาพิจารณาและเป็นคติ คือ มีโยมคนอินโดนีเซียมานิมนต์ท่านไปที่เกาะบาตั้ม อินโดนีเซีย เพราะที่นั่นเขาร่ำลือกันว่าผีดุมาก เฮี้ยนมาก คนงานที่โรงงานล้มป่วยมากโดยไม่ทราบสาเหตุของโรคที่เป็น เจ้าของโรงงานไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพราะไม่มีใครกล้ามาทำงาน คนงานกลัวหนีหมดเลย หาหมอผีมาจากที่ต่างๆ ก็เอาไม่อยู่ เฮี้ยนมากๆ เขาจึงมานิมนต์หลวงปู่ไปนั่งเรือไฮโดรสปีดจากสิงคโปร์ไปเกาะบาตั้มประมาณ ๔๐ นาที

เมื่อไปถึงที่โรงงานแห่งนั้น หลวงปู่ท่านอุทานว่า “โอ้โฮ ! ผีเยอะฉิบหายเลย”  ท่านจึงให้เขาเอาผ้าขาวผ้าแดง มาเขียนยันต์ แล้วนำมาห่อก้อนหินแล้วจึงนั่งสมาธิปลุกเสก ในขณะที่ทำพิธีอยู่นั้นหลวงปู่กระซิบบอกพระว่า “เฮ้ย! อย่าไปบอกใครนะ เดี๋ยวถึงหูอาจารย์มหาบัวเข้า ด่าผมแน่เลย”

เมื่อปลุกเสกเสร็จ ท่านขึ้นนั่งรถเข็นให้พระเข็นไปตามทิศทางที่ท่านสั่ง ท่านกำหนดสมาธิแล้วบอกทิศทางให้พระเขวี้ยงก้อนหินไล่ผีตามที่ท่านสั่ง เดี๋ยวก็ทางซ้าย เดี๋ยวก็ทางขวา เสียงเขวี้ยงดังปัง ปัง ปัง บางทีพระเขวี้ยงไม่ถูกตามจุดที่ท่านส่ง ท่านก็บอกว่า “นั่นมันหนีไปทางนั้นแล้ว เข็นๆ ตามมันไป” พระรูปนั้นท่านเล่าว่าเหมือนในหนังโปเยโปโลเย ยังไงยังงั้นเลย

เมื่อพระทำไม่ทันใจท่าน ท่านพยายามลุกขึ้นมาทำเอง เท้าท่านสวมใส่รองเท้าไม่ได้ ท่านเอาเชือกมัดรองเท้าให้ติดกับเท้าแล้วพันๆ หลายๆ รอบ เดินเป๋หน้าเป๋หลัง จวนเจียนจะล้ม “มาจับกูหน่อยซิไอ้ห่า กูจะล้มอยู่แล้ว” ท่านตวาดเสียงดัง “ไอ้ผีพวกนี้มันหนีไว ชักช้าไม่ได้เราต้องเร็ว”

เมื่อเสร็จพิธีท่านก็พักอยู่ที่นั่น ๒ วัน จึงเดินทางกลับสิงคโปร์ มาพักที่วัดป่าเลไลยก์ คืนที่พักวัดป่าเลไลยก์นั้นท่านเล่าว่า “โอ้โห ผีใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ดำปึ้ดเลย จะมาทับท่าน เกิดมาในชีวิตผมเจอผีดุ ๒ ครั้ง ครั้งแรกที่วัดเขาแก้ว ครั้งนี้ผีดุแม่งมันใหญ่ฉิบหายเลยจะมาทับ โอ้โห อย่างใหญ่ เมื่อคืนปราบไปเรียบร้อยส่งไปเกิดแล้ว สบาย” ท่านพูดจบแล้วหัวเราะยิ้มๆ



ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นองค์ที่ ๑ อยู่ในหัวใจ
ในขณะที่ท่านเที่ยวโปรดชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปในที่ใดก็ตาม ท่านจะพูดถึงการสร้างเจดีย์ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เสมอ มีอะไรสวยๆ งามๆ ท่านซื้อมาไว้ประดับเจดีย์ ท่านบอกพระติดตามว่า “พุงเราเต็มแล้ว” ท่านชี้ที่พุงท่าน (พุงหมายถึงเงิน) “เรามีเงินพอแล้วที่จะสร้างเจดีย์ถวายหลวงปู่มั่น ใครไม่ช่วยเราก็ไม่กลัว เรามีเงินพอแล้ว ทำได้สบายเลย ไม่ต้องไปเรี่ยไรคนมาทำบุญ แล้วแต่ใครจะทำบุญ ไม่ทำเราก็พอ”

หลังจากนั้นเมื่อนั่งรถเดินทางไปที่ไหนๆ เจอหินเป็นไม่ได้ ไปปีนัง อีโปว์ เจอหินโด่เด่ตั้งขึ้นมาตามข้างทางไม่ได้เลย “หยุดๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ยู้ด... หยุดรถ ถอยๆ ๆ ๆ ถอยหลังก่อน” ท่านจะโขยกเขยกเดินลงไปดูเอง พระกราบเรียนท่านว่า “ปู่ ผมว่าหินนี้ที่เมืองไทยก็มีเยอะแยะ แถวสระบุรี อาจจะมีดีกว่านี้ก็ได้”  

“ไหนๆ ไหนๆ มาแล้วก็อย่าให้เสียเที่ยวสิ ไอ้โง่ โง่งี่เง่า ไอ้ห่า !” พระรูปนั้นโดนด่าพร้อมกับถูกเขกกะบาลไปหนึ่งที “โง่ ไม่รู้จักคิด” ท่านย้ำสอนพระรูปนั้นอีก



หลวงตามหาบัวเป็นองค์ที่ ๒ อยู่ในหัวใจ
ขณะที่อยู่ที่สิงคโปร์ จีวรหลวงปู่ขาดตอนนั่งรถ ขาดเป็นทางยาว “จีวรผืนนี้ท่านมหาบัวเย็บให้ผมนะ ขาดได้ยังไงวะ โอ้ย! เสียดายๆ” ท่านเอามือลูบคลำจีวรแสดงอาการเสียดายมาก แล้วท่านก็เย็บเองทั้งๆ ตาก็ไม่ดี และลืมเอาแว่นไปด้วย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 พฤษภาคม 2558 10:56:38 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2558 10:58:09 »

.

พรรษาที่ ๔๘ - ๖๘ (พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๔๗ มรณภาพ) (ต่อ)
จำพรรษาที่ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

ใช้ปัญญาซิ
แม้กระทั่งการตากผ้า ก็สอนพระให้ดูทิศทางลม เหมือนตอนที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์มั่น โดยท่านสั่งให้พระขึงเชือกที่ถนนอยู่กลางหมู่บ้านที่เป็นคอนโดมิเนียม
“เค้าไม่ให้ขึงครับ” พระบอก
“ไอ้ห่า กูให้มึงขึง ขึงไปซิ” หลวงปู่เอ็ดพระ  พอพระขึงเชือกเสร็จ
“ไอ้โง่ มึงต้องดูทิศทางลมซิ ขึงยังไง”
“ก็ปู่ให้ผมขึง” พระตอบแบบกลัวๆ
“ไอ้โง่ ถ้ากูให้มึงตาย มึงไม่ตายหรือไอ้ห่า ขึงใหม่ หาทิศทางลม เห็นมั้ย ลมมันมาทางนี้ ต้องใช้หัวมั่ง พระโง่ๆ ทั้งนั้น ภาวนาเป็นที่ไหน มันไม่ดึงเชือก ไม่ใช้หัว ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาซิ” ท่านสอนแบบภาคปฎิบัติ



พระยอดธง รุ่น ๑ ปี ๒๕๑๕  รุ่น ๒ ปี ๒๕๓๗  รุ่น ๓ ปี ๒๕๔๒)

พระยอดธง
โยมกันยาโย เป็นชาวสิงคโปร์ มากราบหลวงปู่ ท่านหลับตาแล้วพูดว่า
“มึงเอาพระยอดธงไป มึงต้องใส่ให้ดีๆนะ”
“ทำไมครับ”
“เออ! มึงใส่ดี ๆ”

พอวันรุ่งขึ้นแกไปทำงาน ตอนกลับแกลืมของที่สำนักงาน กำลังสร้างตึกสูง จึงหันหลังกลับ คล้ายมีใครมาดึงชายเสื้อ พอดีเหล็กข้ออ้อยแท่งเบ้อเริ่มเทิ่มตกลงมาจากข้างบนเฉียดตัวแกในขณะที่เอี้ยวตัวนิดเดียว แกบอก “โอ้โห ถ้าอยู่ตรงนี้หัวเละ” นึกถึงหลวงปู่ บึ่งมาหาหลวงปู่ทันที และเรียนถามหลวงปู่ว่า “ปู่รู้ได้ยังไง เมื่อกี้ผมเกือบตาย”  “เออ! ไม่ตายแล้ว มึงมีพระคุ้มครอง กูให้มึงไปแล้วนี่”  จากนั้นแกก็มากราบปู่ทุกปี เพราะบอกว่า “ชีวิตผมถ้าไม่มีปู่ ผมก็ตายแล้ว”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปสิงคโปร์ทั้งหมด ๓ ครั้ง คือปี ๒๕๓๘ ปี ๒๕๔๐ ปี ๒๕๔๑ จากนั้นหลวงปู่บอกว่า "ดูจะไม่มีโอกาสมาที่นี่อีกแล้ว ให้บอกโยมที่นี่นะ ถ้าจะไปหาก็ไปเมืองไทย” แล้วปู่ก็ไม่ได้ไปอีกเลยจริงๆ



เก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างภูริทัตตเจดีย์
เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะ เข้ามาอยู่ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม เริ่มมีลูกศิษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำอะไรท่านสะดวกมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านยังเก็บหอมรอมริบมัธยัสถ์เสมอมา ตั้งแต่เริ่มแรกที่คนเข้ามาทำบุญทีละเล็กละน้อย ถวายส่วนตัวท่านบ้าง ถวายเนื่องในงานผ้าป่า กฐินบ้าง ท่านจะเก็บเข้าบัญชีธนาคารมาตลอด เรื่องพระคุณของท่านพระอาจารย์มั่น ปรากฏเป็นปัจจุบันธรรมภายในใจของท่านโดยตลอด ท่านทำไว้ในใจเสมอว่า ถ้ามีโอกาสมีบุญจะสร้างเจดีย์ใหญ่ถวายให้ท่านพระอาจารย์ผู้ส่องประทีปธรรม ตามโอกาสและวาสนาอำนวย ไม่รีบเร่ง ท่านปรารภว่า “ถ้าเรายังไม่พร้อมเราจะยังไม่สร้าง”

เมื่อได้โอกาสอันสมควร วันหนึ่งท่านจึงถามพระเขียว ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากและดูแลการเงินให้ท่านว่า “เขียว...เงินในธนาคารทั้งหมดมีเท่าไหร่ ไปเอามานับรวมกันดูซิ” เมื่อพระอุปัฏฐากนำเงินทั้งหมดที่ท่านเก็บไว้มานับรวมกันทั้งหมดได้ ๕๐ ล้านบาท ท่านจึงปรารภที่จะสร้างเจดีย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา

ตอนแรกท่านริเริ่มจะสร้างบริเวณหลังวัด แต่พิจารณาเห็นว่า การสัญจรไปมาคงไม่สะดวก เสียงรถเข้าออกจะเป็นการรบกวนพระเณรภาวนา ท่านจึงชี้ให้สร้างด้านหน้าศาลาเป็นที่ตั้ง “ภูริทัตตเจดีย์”



สร้างภูริทัตตเจดีย์
ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้วางศิลาฤกษ์สร้างภูริทัตตเจดีย์ สำหรับบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ลักษณะรูปร่างทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของเจดีย์สมัยสุโขทัย ทรงแปดเหลี่ยม ความหมายคืออริยมรรคมีองค์แปด... มีความกว้าง ๒๒ เมตร (หมายถึง ปัจจยาการ โดยอนุโลมและปฏิโลม รวมเป็น ๒๒ ประการ) ความสูง ๓๗ เมตร (หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ) โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งด้วยหินอ่อน หินแกรนิต ไม้สักทอง ยอดทำด้วยทองคำแท้ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราซ ทรงประทานมา

ภูริทัตตเจดีย์ เจดีย์แปดเหลี่ยม บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุ ของถูปารหบุคคล คือบุคคลที่ควรสร้างพระเจดีไว้ให้ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลายได้สักการะบูชา ดังพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ไว้ว่า  “อานนท์! เจดีย์บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุของถูปาหรบุคคล เพียงชนเป็นอันมากยังจิตให้เลื่อมใสว่า เจดีย์นี้เป็นเจดีย์บรรจุพระธาตุ อัฏฐิธาตุของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระราชาผู้ทรงธรรม เมื่อชนมีจิตเลื่อมใสในพระเจดีย์นั้นแล้ว วันข้างหน้าถ้าเมื่อเขาตายกายแตกดับไป เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นแน่แท้”

นอกจากจะเป็นเจดีย์ที่ควรไปสักการะอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้จารึกถึงความรัก ความเคารพ ความกตัญญูที่หลวงปู่เจี๊ยะมีต่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด


 หลวงตามหาบัวกล่าวถึงภูริทัตตเจดีย์ที่หลวงปู่เจี๊ยะสร้างว่า “เราบอกให้คนไปดูเจดีย์บรรจุทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่นที่อาจารย์เจี๊ยะสร้าง ท่านกิริยาภายนอกนี่โกโรโกโสนะ บ๊งเบ๊งๆ นะ แล้วให้ไปดูพยานโน้นกำลังสร้างเจดีย์ ให้ไปดูพยานวัตถุเครื่องก่อสร้างต่างๆ ให้ดูให้ดีนะ นี่แหละฝีมือนิสัยอาจารย์เจี๊ยะ อันเครื่องบ่งถึงธรรมะภายในนั่นแหละ

เราเข้าไปดู โอ๊ย! ไม่มีอะไรละเอียดยิ่งกว่าภูริทัตตเจดีย์นี้ เนี่ยะ! ดูให้ดี ความละเอียดนี้เก่งมาก โอ้ย! มีแต่ของดิบๆ ดีๆ ทั้งนั้นเลย เรายอมรับท่านถึงเรื่องความละเอียดในการกระทำอย่างนี้ เราสู้ท่านไม่ได้ เราบอกแล้วไปดูก็อย่างว่า  โอ้โฮ! ใครจะไปหาที่ไหนมาได้ แต่อาจารย์เจี๊ยะหามาจนได้ สิ่งเหล่านี้ใครจะหาได้ง่ายๆ เสียเมื่อไหร่ อาจารย์เจี๊ยะหามาจนได้ๆ หมดเลยนะ” (หัวเราะ)

ทุกๆ ครั้งที่หลวงตามหาบัวได้มาเยี่ยมอาการป่วยนั้น หลวงปู่เจี๊ยะท่านนอนป่วยอยู่บนเตียง ท่านบอกพระว่าให้นำท่านลงจากเตียงคนไข้เพื่อกราบหลวงตา
“ไม่จำเป็นต้องลงมา ผมยังไม่เห็นขึ้นไปหาท่านนี่นะ” หลวงตากล่าวพร้อมกับหัวเราะ
“ถึงท่านจะลงมากราบ ผมก็ไม่ให้ท่านลง” หลวงตาพูดดุ แกมหยอก



เป็นผู้มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
หลวงปู่เจี๊ยะท่านมีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ตามฐานะ ดังเช่นที่ท่านแสดงความอ่อนน้อมต่อหลวงตามหาตัวหรือครูบาอาจารย์อื่นที่มีพรรษามากกว่า ท่านทำตัวเป็นเหมือนสามเณรตัวน้อย ๆ ยามนั่งสนทนาจะพนมมือตลอด ท่านเคยสอนไว้ว่า “คนที่มีความอ่อนน้อมย่อมส่อถึงความเป็นคนดีภายใน ตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนแข็งกระด้างไม่อ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ย่อมประสบความหายนะ ท่านสอนให้เราไปดูตัวอย่างรวงข้าวในนา ตามธรรมดารวงข้าวมีเมล็ดเต็มอ้วนภายใน มักอ่อนรวงลงเสมอ ส่วนรวงใดลีบไม่มีเนื้อภายใน มักชูรวงแข็งกระด้างไม่อ่อน เปรียบเหมือนคนอ่อนน้อมซึ่งแสดงว่ามีความดีภายใน ส่วนคนแข็งกระด้างแสดงว่าภายในลีบไม่มีน้ำหนักแห่งความดีเลย มนุษย์จึงควรสำนึกในข้อนี้ และประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ จะถึงความเจริญไม่หยุดยั้ง”


สุดยอดพระกตัญญู
ด้วยความรักและเคารพที่หลวงปู่เจี๊ยะมีต่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตยิ่งกว่าชีวิต การจะพูด จะทำ จะคิดอะไร ถ้าเกี่ยวข้องกับท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะคิดนิ่งและนาน ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเป็นอย่างดี ถึงแม้กาลเวลาผ่านมานานแล้ว ความรักเคารพที่มีต่อท่านพระอาจารย์มั่นยิ่งเด่นดวงขึ้นเสมอ ไม่มีวันเสื่อมถอย ถ้าเป็นภาษาที่โลกนิยมก็คือ “สุดยอดพระกตัญญู” การอันใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อสนองคุณและตอบแทนคุณท่านจะทำอยู่สม่ำเสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับผู้คนสภาพแวดล้อม มุมมองทุกด้านล้วนเพื่อท่านพระอาจารย์มั่นทั้งนั้น ดังคำที่หลวงตามหาบัวกล่าวถึงความผูกพันว่า “หลวงปู่มั่นกับอาจารย์เจี้ยะ ท่านเป็นเหมือนพ่อกับลูก” หรือคำที่ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม กล่าวกับสานุศิษย์ว่า “หลวงปู่เจี้ยะกับหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพ่อลูกกันมานานหลายชาติแล้ว”

หลวงปู่เจี๊ยะท่านรักเคารพครูบาอาจารย์ของท่านแบบละเอียดลออ คิดลึกซึ้งถึงก้นบึ้งแห่งเหตุ อย่างเช่น ท่านไปทำคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ ทางจังหวัดตากหรือที่อื่นใดก็ตาม ก็ล้วนแต่เพื่อสนองคุณท่านพระอาจารย์มั่น และครูบาอาจารย์ทั้งหลาย



อย่าลืมบุญคุณชาวป่าชาวเขา ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
หลวงปู่เจี๊ยะสั่งสอนสานุศิษย์ไม่ให้ลืมสายทางธรรมที่มีผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ภูผา ป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ผู้คน ผืนแผ่นดิน สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ท่านสอนแบบละเอียดมองให้ลึกซึ้ง ที่คนฉลาดได้รับปริญญาทางโลกมาหลายใบคิดไม่ออกบอกว่า “ที่เรามาสร้างโรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ ฯลฯ ให้ชาวป่าชาวเขาเผ่าต่างๆ ก็เพื่อตอบแทนคุณเขา”

“ตอบแทนคุณอะไร?” พระรูปหนึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นั้นคิดต้านขึ้นในใจ
“ตอบแทนบุญคุณข้าวน้ำ ที่ชาวป่าชาวเขาเลี้ยงดูท่านพระอาจารย์มั่นจนได้เป็นพระอรหันต์” ท่านก็พูดต่อไปราวกะว่ารู้สิ่งที่พระรูปนั้นคิด

“หลวงปู่มั่นได้ธรรมะมาสั่งสอนพวกเราได้ ก็เพราะชาวป่าชาวเขาเขาเลี้ยงดู ครูบาอาจารย์ที่สำคัญๆ ล้วนได้ธรรมะมาจากชาวป่าชาวเขาทั้งนั้น ฉะนั้นพวกเขาจึงมีบุญคุณใหญ่หลวงแก่พวกเรา พวกเราที่ได้ดีก็เพราะพวกเขาสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เราจึงไม่ควรลืมบุญคุณอันนี้ อันไหนที่สามารถช่วยได้ต้องช่วย พวกชาวเขานี้แหละปิดทองหลังพระมานาน เวลานี้ท่านพระอาจารย์ท่านไม่อยู่ จึงไม่มีโอกาสมาตอบแทนคุณเป็นรูปธรรม เราจึงต้องทำหน้าที่แทนท่าน ชาวเขายังลำบากหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่พระที่มาบรรลุธรรมจากนี้ไปโด่งดังยิ่งใหญ่คับฟ้า เขียนและอ่านประวัติน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่มีใครมาดูแลเขา พวกนี้เขามีบุญคุณกับพระกรรมฐานนะ อันนี้พูดย่อๆ”  หลวงปู่เจี๊ยะพูดตบท้ายพร้อมกับดึงบุหรี่ออกมาหนึ่งมวน นั่งชันเข่าขึ้น ดูดเป่าควันพวยพุ่งไปแบบไม่สนใจใยดีในสายตาคู่ใด ที่เฝ้าจ้องมองด้วยความคิดต่างๆ นานา

ในด้านการศึกษา ท่านได้อุปถัมภ์บำรุงด้านการศึกษา คือได้นำผ้าป่ากฐินของคณะศิษย์โดยการนำของ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ไปร่วมทอดหลายครั้ง เป็นอาคารถาวร ๒ ชั้น ให้แก่เด็กชาวเขาที่หมู่บ้านห้วยปลาหลด ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ปัจจุบันให้การศึกษาถึงชั้นมัธยมปีที่ ๓ และได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงเรียนตัวอย่างแห่งแรกของประเทศไทย ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนกับป่าสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ทำลาย และรักษาสภาพแวดล้อมไว้ด้วยดี

ด้านการฝึกอบรมอาชีพ ได้สนับสนุนให้สร้างอาคาร “เจี๊ยะ จุนฺโท” ให้แก่ ต.ช.ด.ที่อำเภอแม่ระมาด เพื่อใช้ฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ฯลฯ

ด้านสาธารณสุข ได้สนับสนุนลูกศิษย์ร่วมกันบริจาคซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน มอบให้แก่ศูนย์นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน ๒ คัน เพื่อช่วยเหลือด้านการพยาบาล ฯลฯ

ด้านการช่วยชาติ หลวงปู่เจี๊ยะได้พาคณะศิษย์ ร่วมโครงการช่วยชาติกับหลวงตามหาบัว ญาณสมปนฺโน ตั้งแต่หลวงตาเริ่มโครงการช่วยชาติจนกระทั่งโครงการปิดลง แม้หลวงปู่เจี๊ยะจะมีร่างกายป่วยออดแอด หรือในบางครั้งต้องข่มทุกขเวทนาปางตายด้วยฌานสมาบัติ ไม่ยอมให้ธาตุขันธ์กับจิตออกจากกัน คือ ไม่ยอมตาย ก็เพียงเพื่อให้ธาตุขันธ์ทรงตัวไว้ได้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์ในการรวบรวมศรัทธาสานุศิษย์ร่วมบริจาคทองคำและดอลลาร์เข้าสู่คลังหลวงกับหลวงตา ซึ่งเป็นพระที่ท่านเคารพที่สุดองค์หนึ่งในชีวิต



เป็นพระครูชั้นเอก
วัดป่าภูริทัตฯ นอกจากจะเป็นที่พึ่งทางใจแก่พุทธศาสนิกชนที่แวะเวียนมาทำบุญแล้ว ยังเป็นที่พักพระกรรมฐาน มีพระกรรมฐานสายป่าทางภาคต่างๆ มาพักเสมอ ยิ่งเนื่องในวันคล้ายวันเกิดทุกปี จะมีพระกรรมฐาน และพุทธศาสนิกชนทุกสารทิศคลาคล่ำ...โรงทานนับร้อย ฝูงซนนับหมื่นมาก็เพียงเพื่อได้เห็นและชื่นชมในบารมีเท่านั้น แม้ระยะหลังท่านจะแสดงธรรมไม่ได้ แต่ท่านเองก็เป็นธรรมทั้งองค์อยู่แล้ว ผู้ที่เข้ามาจึงได้รับรังสีธรรมกลับไปทุกๆ คน

เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะหรือพระครูสุทธิธรรมรังษี ได้ปฏิบัติพัฒนาวัดจนเป็นที่เจริญรุ่งเรือง ท่านจึงได้รับเลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ และท่านก็ได้สืบสานปฏิบัติศาสนกิจและปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่นสืบมาจนถึงปัจจุบัน



โรคประจำตัวของหลวงปู่เจี๊ยะ
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ - ๒๕๔๗ ในระยะ ๑๙ ปีที่ผ่านมาร่างกายท่านไม่ค่อยแข็งแรง ถูกรุมเร้าด้วยอาพาธเสมอ สาเหตุเนื่องมาจากทำงานหนักตั้งแต่เป็นวัยหนุ่มจนกระทั่งเข้าสู่ปัจฉิมวัย
๑. แพ้อาหารบางอย่าง ถ้าฉันแล้วจะมีอาการข้อบวมแดง ปวด ได้แก่ น้ำตาลมะพร้าว น้ำส้มสายชู แตงกวา มะเขือ แคนตาลูป และระกำ เป็นต้น
๒. หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท มีอาการขาทั้งสองข้างอ่อนแรงและชาเวลายืนหรือเดิน
๓. ต้อหินที่ตาทั้งสองข้าง
๔. ต่อมลูกหมากโต
๕. เส้นเลือดในสมองข้างขวาแตก ทำให้แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรง
๖. ถุงลมโป่งพอง
๗. มะเร็งที่ปอด



ประวัติการรักษา
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ได้เมตตาเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ครั้งแรกวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ด้วยอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง โดยศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ และศาสตราจารย์นายแพทย์เติมชัย ไชยนุวัติ เป็นแพทย์เจ้าของไข้

ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ จักษุแพทย์ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชลธี สมบัติบูรณ์ ได้ทำการผ่าตัดใส่เลนส์เทียมที่ตาข้างขวา

ต่อมาในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลาบ่ายผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิมชาติ รัตนเทพ ได้ทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทให้แก่ท่านที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ หลังการผ่าตัดท่านมีอาการดีขึ้น สามารถเดินทางเป็นระยะทางไกลๆ ได้

๓ ปีต่อมาท่านเริ่มมีอาการชาที่ผิวหนังรอบทวารหนัก ไม่สามารถนั่งตัวตรงเป็นเวลานานๆ ได้  ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ ได้นิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น

ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๑๘.๓๐น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชาติ รัตนเทพ ได้ทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทให้แก่ท่านเป็นครั้งที่ ๒ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

ในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ศาสตราจารย์นายแพทย์เจริญ โชติกวณิชย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิมชาติ รัตนเทพ จึงได้ร่วมกันผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทให้แก่ท่านอีกเป็นครั้งที่ ๓ ณ โรงพยาบาลศิริราช หลังผ่าตัดสามารกเดินได้ดีขึ้น และอาการชาบริเวณทวารหนักดีขึ้น

วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ หลวงปู่เจี๊ยะหกล้มมีอาการหลังเท้าซ้ายบวม ต่อมาวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ท่านได้ไปโรงพยาบาลศิริราช แพทย์ได้ตรวจพบว่า กระดูกนิ้วนางและนิ้วก้อยเท้าซ้ายหัก พร้อมกันนี้ท่านได้รับการรักษาโรคต้อหินที่ตาทั้งสองข้างด้วย

ท่านได้รับการรักษาโรคตาเป็นต้อหินที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นระยะ โดยจักษุแพทย์คือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงงามแข เรืองวรเวทย์ และได้ไปทำการผ่าตัดรักษาต้อหินที่ตาข้างซ้ายที่โรงพยาบาล ตา หู คอ จมูก โดยนายแพทย์อัทยา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. - ๐๔.๐๐ น. ท่านตื่นจากจำวัดออกกำลังกายด้วยการชกลมตามปกติ เมื่อชกลมเสร็จแล้วท่านจะออกกำลังกายในท่านอนเตะไปด้านซ้ายขวาด้านละ ๓๘ – ๓๙ ครั้ง เกิดอาการชาขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้สมองบวม คณะศิษย์รีบนำส่งโรงพยาบาลศิริราช ท่านมีอาการเส้นโลหิตในสมองซีกขวาแตก มีเลือดคั่งในสมองจำนวนมาก แขน ขา ซีกซ้ายอ่อนแรง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกโดยรีบด่วน ท่านอาจมรณภาพได้

วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ตอนเช้ามืด คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาจึงได้เรียนเชิญให้ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วรวุฒิ จรรยาวนิชย์ เป็นผู้ทำการผ่าตัดรักษา หมอได้นำท่านเข้าห้องผ่าตัดสมอง หลังจากผ่าตัดแล้ว ประมาณ ๗ วัน เกิดอาการเลือดคั่งในสมองอย่างแรง หมอได้เปิดบาดแผลที่ผ่าไว้เดิม โดยเลาะด้ายเย็บกะโหลกศีรษะออกเพื่อรักษาอาการเลือดคั่งในสมองอีก รวมทั้งหมด ๒ ครั้ง ท่านได้เข้าพักที่ห้องพิเศษที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นเวลาหลายเดือน ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ องค์ท่านสามารถพูดได้ ฉันอาหารเองได้ เพียงแต่มีอาการแขนและขาข้างซ้ายเป็นอัมพาต เมื่ออาการท่านทรงตัวได้ คณะศิษย์จึงนิมนต์ท่านกลับมาพักที่ห้องพยาบาลพิเศษ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ที่คณะศิษย์ร่วมกันสร้างถวาย

แต่ต่อมาหลวงปู่เจี๊ยะเริ่มมีปัญหาในการฉันอาหาร ทางคณะลูกศิษย์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะถวายอาหารทางสายยางผ่านผนังหน้าท้อง เข้าสู่กระเพาะอาหารโดยตรง จึงได้นิมนต์องค์ท่านเข้ารับการผ่าตัดใส่สายยาง ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่เจี๊ยะเข้ารับการรักษาเรื่องกระจกตาข้างขวาอักเสบ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ สิงคาลวณิช เป็นผู้ถวายการรักษาจนกระทั่งหาย

วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่เจี๊ยะ เข้ารับการรักษาเรื่องอาการปวดท้อง โดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาย สุนทราภา และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ เป็นผู้ถวายการรักษาท่านจนกระทั่งหาย และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ เป็นผู้เปลี่ยนสายยางให้อาหารที่หน้าท้องแก่หลวงปู่เป็นระยะๆ

วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่เจี๊ยะมีอาการน้ำท่วมปอดและหัวใจล้มเหลว ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วันชัย เดชสมฤทธิ์ฤทัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เดโช จักราพานิชกุล เป็นผู้ถวายการรักษาแก่หลวงปู่เจี๊ยะ หลังจากนั้นท่านได้ไปเข้าโรงพยาบาลเป็นระยะๆ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ โดยมีศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นประธานคณะแพทย์ที่ถวายการรักษา เมื่อหลวงปู่เจี๊ยะอาการดีขึ้นจึงกลับไปรักษาที่วัดตามเดิม



คติธรรม/กรรม/อาพาธ
แต่ก่อนมีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง...
ในปัจฉิมวัย ไม่ว่าในคราใดท่านประสบอาพาธหนัก นอนเป็นอัมพาตอยู่บนเตียง ท่านไม่แสดงความหวั่นไหว บ่งบอกความแข็งแกร่งนิสัยอาชาไนย อีกทั้งยังแสดงธรรมสอนลูกศิษย์ที่ไปเยี่ยมด้วยการเอาร่างกายของท่านเป็นเครื่องเปรียบเสมอว่า “ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว มีค่าเป็นร้อยเป็นชั่ง พอเดี๋ยวนี้ ๕๐ สตางค์ก็ไม่มีใครเอา”  บางครั้งท่านก็จะเล่าเรื่องในอดีตที่เกี่ยวโยงมาถึงปัจจุบันให้ผู้อุปัฎฐากดูแลฟัง บางทีก็เป็นขำขัน เป็นนิทาน เป็นธรรมะชั้นสูง หรือบอกเป็นนัยๆ วันนี้จะมีใครมา ถ้าสังเกตและพิจารณาตามนั้นจะเป็นจริงทุกเรื่อง


กรรมที่เคยฆ่าหมา
ท่านเล่าถึงสาเหตุที่ต้องได้ทำการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท นอนแกร่วเป็นอัมพาตนี้ว่า ตอนเป็นหนุ่ม เราเลี้ยงหมูไว้แยะ ต้มข้าวเอาไปวางให้หมู หมามันมากินหมด โมโหจัดจึงเอาไม้คานเจ็กตีหมาโป้งเดียวจอดสลบ ด้วยความที่โกรธจัด แม้หมาตัวนั้นจะนอนแน่นิ่งเหมือนตายแล้ว ก็คงเอาไม้คานตีกระหน่ำอยู่อย่างนั้น ตีจนกระทั่งมันฟื้นขึ้นมาอีก ฟื้นขึ้นมาอีกตีซ้ำลงอีกแบบทารุณไร้เมตตาธรรม คราวนี้หมามันชักตาย...เสร็จเลย กรรมอันนี้แหละ เป็นกรรมในปัจจุบันชาติที่เราต้องชดใช้"


กรรมรีดลูกปลา
และที่เรามีอาการชาและแสบที่ผิวหนังรอบทวารหนัก ไม่สามารถนั่งตัวตรงเป็นเวลานานๆ ได้นั้น ก็เป็นกรรมในปัจจุบันซาติเช่นเดียวกัน คือ ตอนหนุ่มๆ เราชอบเลี้ยงปลาเข็ม ปลาหัวเงิน ตามประสาเด็กรุ่นๆ ทำสนุกสนาน เวลาปลาหัวเงินปลาเข็มมันท้องแก่ แต่ยังไม่ถึงเวลาคลอดลูก เราชอบรีดท้อง รีดเอาลูกมันออกมาก่อนเวลา เอามาเลี้ยง มันทันใจดี เมื่อรีดเอาลูกมันออกแม่มันก็ตาย ด้วยผลกรรมคือรีดลูกจากท้องปลาที่เผ็ดร้อนทารุณนี้ จึงเป็นกรรมที่ทำให้เราก้นชาและแสบทวารอยู่ไม่หาย


ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป
ในบางวันมีผู้คนมากราบมากจนอลหม่าน อย่างเช่นวันคล้ายวันเกิด จะมีทั้งพระและฆราวาสมาจากทุกสารทิศ ผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดจำเป็นต้องห้ามต้องกันผู้คนทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย ไม่ให้เข้ากราบ ปิดประตูห้อง บางคนก็บ่นหาว่ากีดกันไปต่าง ๆ นานา ผู้ที่เฝ้าอย่างใกล้ชิดก็รู้สึกกดดัน เครียดอยู่ไม่น้อย เมื่อกราบเรียนถามท่าน ท่านก็ตอบสั้น ว่า “ไม่เป็นไร ตายแล้วต่างคนต่างไป” คำสอนท่านเพียงสั้นๆ นี้ทำให้ผู้ดูแลคลายทุกข์กังวลไปได้เลย


คาถาหลวงปู่เจี๊ยะ
วันไหนท่านปวดที่ขา ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวหรือเจ็บปวดในที่อื่นใดก็ตาม ท่านก็จะให้ผู้ที่ดูแลท่องคาถาเป่าให้ท่าน ท่านบอกว่าเป็นคาถาดี โดยให้ท่องว่า “นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา” “ขอความนอบน้อมจงมีแก่ท่านผู้หลุดพ้นทั้งหลาย ความนอบน้อมจงมีแก่ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นทั้งทลาย”


หัวล้านจริงๆ
บางวันท่านพูดตลกขำขันจนผู้คนที่มาเข้ากราบเฮตึง ๆ วันนั้นร่างกายท่านสดใสแข็งแรงขึ้นบ้างตามสภาพ มีคนขอให้ท่านจับหัวให้เป็นศิริมงคล คนแรกผู้ชายผมยาวๆ ท่านก็เคาะๆ คนที่สองผมเกรียนๆ ท่านก็เคาะๆ คนที่สามเป็นคนหัวล้าน หัวล้านเอามากๆ ท่านเคาะๆ แล้วลูบๆ คลำๆ ที่ศีรษะแล้วพูดขึ้นด้วยเสียงดังๆ  ทั้งๆ ที่ป่วยนอนอยู่บนเตียง ให้พรโยมหัวล้านคนนั้นว่า “หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ หัวล้านจริงๆ ผู้หญิงชอบใจ”  คนที่นั่งอยู่เต็มบริเวณหัวเราะกันเฮๆ ด้วยว่าในวันนั้นอากาศมันร้อนอบอ้าว คนที่มากราบเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆ กัน ภายในจิตในใจของแต่ละคนคงบ่นๆ ถึงดินฟ้าอากาศ ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า “มนุษย์ขี้เหม็น เคี่ยวเข็ญเทวดา ฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า”


หนาวใจทำอย่างไร?
พอตกยามค่ำคืน แอร์ที่ห้องพยาบาลมันหนาว ท่านจะบอกธุระที่อุปัฏฐากบ่อยๆ ว่าหนาวเว้ยๆ แล้วท่านก็พูดเป็นกลอนว่า “หนาวลมห่มผ้า หนาวฟ้าผิงไฟ” แล้วพระรูปหนึ่งก็พูดเล่นกับท่านแก้เครียดว่า “ถ้าหนาวหัวใจละปู่”  “หนาวหัวใจ ต้องไปแม่สอด”  พระรูปนั้นอายม้วนหน้าแดง เพราะตัวท่านเองไปเที่ยวภาวนาทางภาคเหนือ เคยแอบชอบสาวมูเซอ กะเหรี่ยง เกือบเอาตัวไม่รอด เกือบจะได้ถอดผ้าเหลืองทิ้ง เป็นลูกเขยกะเหรี่ยงมาแล้ว


พูดตรงๆ
หลวงปู่ท่านเป็นพระที่พูดตรงๆ ตรงจนบางครั้งตลกขำกลิ้งไปเลยก็มี อย่างเช่นเวลาเข้าห้องน้ำปวดท้องอึ ท่านจะอึออกยากมาก ต้องเบ่งเป็นเวลานาน  เวลาท่านอึที่ห้องน้ำ พระจะช่วยให้ท่านขับถ่ายง่ายขึ้น พระจะพยามยามพูดว่า “เบ่ง อืดดดด์ ๆ ๆ ๆ ออกๆ” ตามจังหวะกลั้นลมหายใจยาวๆ เมื่อพระพูดมากเข้า ท่านจึงพูดสวนขึ้นทันที “มึงเบ่งทำไมวะ มึงไม่ได้ขี้ กูเป็นคนขี้ เดี๋ยวกูเบ่งเอง กูขี้เอง มึงเบ่งแล้วกูจะขี้ออกหรือ?” พระทั้งหลายที่อยู่ในห้องน้ำสุดที่จะกลั้นหัวเราะไว้ได้


หลวงปู่เจี๊ยะชอบเลี้ยงหมาไทยหลังอาน

รักสัตว์
สมัยก่อนที่ท่านจะอาพาธ ทานชอบเลี้ยงแมวกับหมา ท่านพูดกับแมวกับหมาเหมือนพูดกับคน บางทีท่านฉันข้าวไปด้วยป้อนข้าวแมวไปด้วย ท่านมีเมตตาเป็นสาธารณะจริงๆ “มึงไปเที่ยวสาวไกล  ระวังเถอะจะตาย” ท่านพูดกับหมาหลังอานของท่าน แล้วท่านก็พูดสั่งสอนตักเตือนต่างๆ เหมือนพูดกับคน

วันหนึ่งท่านสั่งให้พระจับหมาขังกรงไว้ ไม่ปล่อยให้มันไปเที่ยวไหนๆ พระสงสารเห็นหมามันร้องเอ๋งๆ ก็ปล่อยออกไป พอปล่อยออกไปมันก็ไปเที่ยวหาตัวเมีย เขาก็เอามีดฟันคอมันตาย พวกพระจึงถึงบางอ้อว่า ที่ท่านขังไว้ไม่ปล่อยไปเพราะท่านรู้ว่าถ้าปล่อยไป เขาจะฆ่ามันตาย



เมียขโมย
แม้โยมผู้ชายที่มาดูแลท่านทุกวัน เขาซื้อรถใหม่จะมากราบเรียนท่าน พอเดินเข้าไปในห้อง ท่านถามทันทีว่าซื้อรถใหม่เหรอ ทำให้เขาเชื่อในวาระจิตของท่านเป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านก็ถามโยมผู้ชายคนเดิมว่า “เมียที่บ้าน เมียแต่งหรือเมียขโมย”  “เมียขโมยครับปู่”  เขาตอบพร้อมทั้งเสียงหัวเราะและอัศจรรย์ใจ เพราะความลับอันนี้เขาไม่เคยบอกใคร เพราะเมียคนนี้พาขโมยหนีหอบผ้าหอบผ่อนตามกันมาเป็นเวลา ๓๐-๔๐ ปีแล้วไม่เคยปริปากบอกใคร แต่ทำไมทำไมหลวงปู่จึงรู้ได้ หรือในบางครั้งท่านสอนอยู่บนเตียง ท่านก็จะพูดไปตามธรรมดาว่าวันนี้ คนนั้นจะมา คนนี้จะมา เมื่อถึงเวลาจริงๆ คนที่ท่านพูดถึงก็มากราบท่านในวันที่ระบุจริงๆ


ด้ามขวานมีเท่าไหร่กลึงให้ฟรีหมด
โยมคนหนึ่งมีโรงกลึงไม้อยู่แถวหัวลำโพง เมื่องานวันเกิดหลวงปู่ใกล้มาถึง พระจะนำไม้ไปจ้างกลึงด้ามขวานเพื่อแจกในงานทีละเยอะๆ แกเห็นพระเณรทำขวานเยอะๆ ก็เกิดความสงสัยว่า พระวัดนี้มันจะไปสู้รบออกศึกที่ไหน ถึงทำแต่ของมีคม แกจึงเดินทางมากราบหลวงปู่  แกมากราบก็ไม่ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสอะไรมากมาย ก็เหมือนๆ  กับกราบพระทั่วๆ ไป พระอาจารย์เขียว (พระอุปัฏฐาก) ให้เส้นเกศาพลวงปู่ไปเป็นที่ระลึก แกเอาไปก็เอาไปไว้หิ้งพระ วันหนึ่งแกทำความสะอาดหิ้งพระ จึงเอามาเปิดดูปรากฏว่า เส้นเกศาได้รวมตัวเป็นก้อนกลายเป็นพระธาตุที่สวยงาม ตั้งแต่นั้นมาการงานเข้ามาจนทำไม่หวาดไม่ไหว สิ่งดีๆ อะไรๆ ตามมาหมด แกเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างมาก เมื่อพระไปติดต่อกลึงด้ามขวานเป็นจำนวนมากเพื่อใช้แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เขาบอกว่า สำหรับหลวงปู่เจี๊ยะแล้วมีเท่าไหร่เอามาเลย ไม้ที่นี่มีเท่าไหร่ให้หมดเลย งานอื่นไม่ต้องทำ ทำงานนี้งานเดียว งานพระอรหันต์อย่างนี้หาที่ไหนไม่มีอีกแล้ว (เขาพูดได้เยี่ยมจริงๆ)


วิชาหนังเหนียว
วันหนึ่งมีผู้หญิงวัยแก่คนหนึ่ง แกอยากอยู่ยงคงกะพัน อยากหนังเหนียว นิมนต์ให้หลวงปู่เป่าหัวให้สุดยอดไปเลย หลวงปู่ก็สอนว่าของพวกนี้ไม่จีรังยั่งยืนศักดิ์สิทธิ์วิเศษเท่ากับภาวนาพุทโธหรอก แกก็ไม่เอาพุทโธ อยากหนังเหนียวอยู่อย่างเดียว ท่านรำคาญจึงเป่าหัวปู๊ดๆ ให้แกก็กลับไปด้วยความสบายใจที่ได้ถูกเป่าเสกกระหม่อมด้วยวิชาหนังเหนียว  หลังจากนั้นเวลาผ่านไปประมาณครึ่งเดือน เสียงรถพยาบาลวิ่งเข้ามาที่วัดป่าภูริทัตตฯ อย่างรีบด่วน จอดที่หน้ากุฏิหลวงปู่ ผู้หญิงคนเดิมร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด แพทย์พยาบาลนำเธอเข้ามากราบเรียนท่านว่า “หลวงปู่เจ้าคะช่วยเป่ากระหม่อมถอดถอนวิชาหนังเหนียวให้ด้วยเถอะ ตอนนี้จะตายอยู่แล้ว ปวดท้องเหลือเกินไส้ติ่งจะแตกอยู่แล้ว หมอพยายามผ่าตัด เข็มฉีดยาก็ไม่เข้า เชือดเท่าไหร่ เฉือนเท่าไหร่ก็ไม่เข้า มันเหนียวจริงๆ หนังดิฉันนี่”  เธอพูดทั้งๆ ที่มือกุมท้องอย่างน่าเวทนาสงสาร  หลวงปู่จึงเป่าหัวให้ เธอก็กลับไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลโดยรีบด่วนได้อย่างปกติ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 พฤษภาคม 2558 11:06:44 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 21 พฤษภาคม 2558 11:02:10 »

.

พรรษาที่ ๔๘ - ๖๘ (พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๔๗ มรณภาพ) (จบ)
จำพรรษาที่ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สรุปธรรมปฏิบัติสั้นๆ
แม้ในขณะที่นอนป่วยอยู่บนเตียง เมื่อมีคนมาถามเรื่องภาวนาท่านจะเมตตาตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ให้พุทโธ เร็ว ๆ ๆ เหมือนรั้วบ้านเราถี่ๆ อะไรล่ะจะเข้ามาได้”  แล้วท่านก็พูดเรื่อง กิเลส กรรม วิบาก ว่า พวกเราทุกคนอยู่กับร่างกายนี้มาหลายภพชาติแล้วแต่อวิชชามันปิดบังจึงจำไม่ได้ ให้พากันปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญานะ เพราะว่าศีลเป็นเหตุ สมาธิเป็นผล สมาธิเป็นเหตุปัญญาเป็นผล ปัญญาเป็นเหตุวิมุตติเป็นผลฯ

นอกจากเรื่องที่เล่าแล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่เป็นปาฏิหาริย์แต่ท่านจะแสดงเฉพาะบุคคลเท่านั้น นั่นเป็นเครื่องส่องแสดงให้เห็นว่า ท่านรู้แต่ท่านไม่พูด พอเหตุการณ์และเวลาเหมาะสมท่านจึงจะพูดขึ้นมา บางทีทั้ง ที่ท่านรู้ก็ทำเหมือนไม่รู้ ท่านเฉย เพราะพูดไปคงไม่เกิดประโยชน์อะไร



หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
เยี่ยมหลวงปู่เจื๊ยะ ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม


หลวงตาบัวมาเยี่ยม/พูดกันครั้งสุดท้าย
วันที่หลวงปู่เจี๊ยะจะเข้าโรงพยาบาลศิริราชเป็นครั้งสุดท้ายนั้น หลวงตามหาบัวท่านได้เดินทางไปเยี่ยมดูอาการป่วยของท่านที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม ในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ท่านได้เข้าไปดูภายในภูริทัตตเจดีย์ ได้เทศนาถึงความรักความเมตตาที่ท่านพระอาจารย์มั่นมีต่อหลวงปู่เจี๊ยะ และกล่าวชมสรรเสริญภูมิจิตภูมิธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะเป็นอเนกปริยาย

หลังจากท่านเข้าชมภูริทัตตเจดีย์แล้วท่านจึงเดินทางมาที่กุฏิที่หลวงปู่เจี๊ยะพักอาพาธอยู่ ได้ทักทายพร้อมกับลูบที่มือกล่าวว่า “หลวงตาบัวมาเยี่ยม”

“เราไม่พูดอะไรมากแหละ เพราะจะเป็นการรบกวนท่าน” แล้วจึงนั่งลงบนเก้าอี้ข้างเตียงและได้เทศนาธรรมให้ประชาชนญาติโยมที่ติดตามมาเป็นจำนวนมากในเรื่องว่า “พระอรหันต์ละสังขาร” ประหนึ่งจะเป็นเครื่องหมายเตือนสานุศิษย์ให้ได้ทราบล่วงหน้าว่า คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายของหลวงปู่เจี๊ยะแล้ว สังขารที่แบกหามมานานถึงกาลที่จะต้องทิ้งกันไปแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหลวงตาจะมา หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะมีอาการไอไม่หยุด เมื่อหลวงตามาถึงเท่านั้นแหละอาการไอที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงนั้น ประหนึ่งว่าไม่เคยไอเลย หลวงปู่ท่านนอนนิ่งแสดงคารวะธรรมที่หลวงตามาเยี่ยม เป็นกิริยาแสดงความเคารพยิ่งแม้ในขณะที่ป่วย แม้หลวงตาจะเทศน์นานเท่าใด ท่านก็ไม่ไอเลยแม้แต่ครั้งเดียว พระบางรูปที่นั่งอยู่บริเวณนั้นถึงกับอุทานว่า “อัศจรรย์! หลวงปู่เข้าฌานสมาบัติ”

แต่เมื่อหลวงตาเดินทางกลับเท่านั้นแหละ หลวงปู่เจี๊ยะกลับมาไออย่างรุนแรงเหมือนเดิม แม้ด้วยสายตาปุถุชนที่เห็นเรื่องนี้แจ่มชัดได้อย่างนั้นก็พอจะอนุมานได้ว่า เรื่องที่จะทำอย่างนี้ได้มิใช่วิสัยสามัญชนคนธรรมดาจะทำได้ ต้องเป็นผู้มีความรู้พิเศษมีภูมิธรรมชั้นสูงที่สามารถระงับเวทนาขันธ์ได้



หลวงตาแสดงเรื่องพระสารีบุตรปรินิพพาน/พระอรหันต์ละสังขาร
ในวันนั้นหลวงตานั่งข้างเตียงอาพาธได้กล่าวธรรมเทศนาแบบสบายๆ เพื่อให้หลวงปู่เจี๊ยะรื่นเริงในธรรม และเป็นเชิงเล่าเรื่องชาดกให้ลูกหลานฟังความว่า...
...พระสารีบุตรเถระ ทำวัตรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเข้าสู่ที่พักกลางวัน ปัดกวาด ปูแผ่นหนัง ล้างเท้า นั่งขัดสมาธิเข้าผลสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้วเกิดปริวิตกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานก่อนหรือหลังพระอัครสาวก ก็รู้ว่าอัครสาวกก่อน จึงสำรวจดูอายุของตน ก็รู้ว่าอายุสังขารของตนจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงดำริว่าจักปรินิพพานที่ไหนหนอ?

คิดว่า ท่านราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์ ท่านพระอัญญาโกญฑัญญะ ปรินิพพานในสระฉัททันต์ เราเล่าจะปรินิพพาน ณ ที่ไหน เกิดจิตปรารภขึ้นว่า มารดาของเราแม้เป็นมารดาพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พิจารณาว่ามารดาจักบรรลุธรรมด้วยเทศนาของเรา ถ้าหากว่าเราพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยแล้วไซร้ จะเป็นที่ครหาว่ากล่าวได้ว่า “พระสารีบุตรเป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์มากมายนับไมได้ อนึ่งเล่า ตระกูล ๘๐,๐๐๐ ตระกูล เลื่อมใสในเรา บังเกิดในสวรรค์ แต่ไม่อาจกำจัดแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาได้”

จึงตกลงใจว่า เราจักเปลื้องความเห็นผิดของมารดา แล้วจักปรินิพพานในห้องน้อยที่บ้านเกิด จึงเข้าไปทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อไปปรินิพพาน ว่า Wข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อไปนี้อีก ๗ วัน ถ้าพระองค์จักทอดเรือนร่างเหมือนวางภาระลง ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาต”

พระเถระรู้ว่า พระพุทธองค์มีพระประสงค์ให้แสดงฤทธิ์ คือตามธรรมดา พระพุทธองค์ไม่อนุญาตให้พระสาวกแสดงฤทธาศักดานุภาพ แต่คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายที่พระสารีบุตรมากราบทูลลา เพื่อนิพพาน พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระสารีบุตรว่า   “สารีบุตร เธอจะแสดงอะไรให้เป็นที่ระลึกแก่พวกน้องๆ ก็จงแสดงเป็นที่ระลึก เป็นมหามงคลต่อไปอีกนาน”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงอนุญาตแล้วพระเถระจึงแสดงปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่ โลดสูง ๗ ชั่วต้นตาล ยืนอยู่ท่ามกลางอากาศ แล้วจึงลงมาแสดงธรรมกราบทูลพระศาสดาว่า ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป นั่นเป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย

พระศาสดาตรัสกับเหล่าภิกษุผู้ยืนล้อมอยู่ว่า พวกเธอจงตามไปส่งพี่ชายใหญ่ของพวกเธอเถิด พี่ชายใหญ่ของเธอทั้งหลาย ลาโลก ลาสงสาร วัฏฎวนกองทุกข์ไปในคราวนี้แล้ว

ตลอดระยะเวลา ๗ วันที่พระสารีบุตรเดินทางกลับบ้านนาลกคามซึ่งเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมมารดา ได้อนุเคราะห์ผู้คนด้วยธรรมเทศนาตลอด ถึงบ้านนาลกคาม (นาลันทะ) ในเวลาเย็น แล้วหยุดพักที่ต้นไทรใกล้ประตูบ้าน นายอุปเวรตะซึ่งเป็นหลานชายจึงมาพบเข้า ท่านจึงพูดว่า “ย่าของเจ้าอยู่ในเรือนหรือ ไปบอกย่าเจ้าด้วยว่าเรากลับมาบ้าน ให้ช่วยจัดห้องน้อยที่เราเคยเกิดให้เราตัวด้วย และจัดที่พักสำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูปด้วย”  หลานจึงนำเรื่องไปบอกแก่นางพราหมณีผู้เป็นโยมมารดา นางคิดว่า “สารีบุตรบวชเมื่อหนุ่มเป็นคฤหัสถ์ เมื่อแก่สงสัยอยากสึกจึงกลับบ้าน”

ในเวลาพลบค่ำโรคลงโลหิตกำเริบอย่างหนัก เกิดเวทนาใกล้ตายแก่พระเถระ โยมแม่ท่านยืนอยู่ที่ประตูห้องคิดว่า บุตรของเราบวชแล้วมาตายแบบนี้น่าเสียใจจริงๆ

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูทราบว่า พระสารีบุตรจักปรินิพพานในห้องน้อยที่บ้านเกิด จึงรีบลงมาไหว้ ยืนอยู่ไม่นานท้าวสักกะจอมเทพ...ท้าวสุยามะ...ท้าวมหาพรหมก็พากันมาสักการะพระเถระแล้วเหาะจากไป

โยมมารดาเห็นเทวดามากราบไหว้และเหาะจากไป จึงเข้าไปในห้องพระเถระ สนทนาถามตอบกันว่า
“ลูกเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ?”
“ท้าวมหาราชนั้นก็เหมือนคนวัดนั่นแหละโยมแม่ ทรงถือพระขรรค์อารักขาตั้งแต่พระศาสดาทรงปฏิสนธิ”
“ลูกเป็นใหญ่กว่าท้าวสักกะจอมเทพหรึอ?”
“โยมแม่เอ๋ย ท้าวสักกะนั้นก็เหมือนสามเณรน้อยๆ ของพระศาสดา”

โยมแม่ของพระสารีบุตรคิดว่า บุตรของเรายังมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้แล้ว พระบรมศาสดาจะมีอานุภาพมากสักเพียงไหน ความอัศจรรย์และปีติจึงเกิดขึ้นอย่างมาก
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า โยมแม่ สมัยพระศาสดาประสูติ ตรัสรู้ ประกาศธรรมจักร หมื่นโลกธาตุหวั่นไหว แล้วจึงกล่าวพรรณนาพุทธคุณอย่างพิสดารจบลง โยมมารดาได้สำเร็จโสดาปัตติผล

ค่าน้ำนมข้าวป้อน ได้รับการชดใช้ด้วยธรรมะ จวนใกล้สว่าง พระเถระให้พระจุนทะยกท่านลุกขึ้นนั่ง ครั้นแสงอรุณปรากฏ มหาปฐพีเลือนลั่น ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จากนั้นพระพุทธองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์




หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน นั่งข้างเตียงอาพาธ
ได้กล่าวธรรมเทศนาแบบสบายๆ เพื่อให้หลวงปู่เจี๊ยะรื่นเริงในธรรม


หลวงตามหาบัวแสดงธรรมเรื่องพระอรหันต์กับธาตุขันธ์
เมื่อหลวงตาแสดงเรื่องพระสารีบุตรปรินิพพานจบลง ท้ายกัณฑ์เทศได้สรุปเรื่องพระอรหันต์กับธาตุขันธ์ดังนี้ว่า......
...พระอรหันต์ท่านหมดกิเลสทุกอย่างแล้ว ก็มีแต่ความรับผิดชอบในธาตุขันธ์ ไม่ได้เป็นในหัวใจท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว เรียกว่าท่านรับผิดชอบตั้งแต่ท่านบรรลุธรรมตรัสรู้ธรรมแล้ว จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของลมหายใจขาด ท่านก็ปล่อยเลย  พระอรหันต์กับธาตุขันธ์มีความรับผิดชอบเสมอกันกับโลกทั่วๆ ไป เป็นแต่เพียงท่านไม่ยึด เช่นเดินไปกำลังจะเหยียบรากไม้แต่คิดว่านั่นเป็นงู ท่านก็ต้องมีการกระโดดข้ามหรือหลบเป็นธรรมดา หรือท่านจะลื่นหกล้ม ท่านก็พยายามช่วยตัวเองไม่ให้ล้ม ต่างกันกับคนทั่วๆ ไปตรงที่ว่า คนทั่วไปจิตใจร้อนวูบๆ เพราะอุปาทานยึดมั่น ส่วนจิตพระอรหันต์ท่านเพียงแต่แย็บเท่านั้น ต่างกันตรงนั้น

อย่างที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน บรรดาพระอรหันต์ปลงธรรมสังเวช คือขันธ์ท่านแสดงอาการเช่นน้ำตาร่วง ไม่ใช่จิตใจของท่านเป็น เวลาท่านจะไปจริงๆ ขันธ์ ๕ เป็นวาระสุดท้าย ส่วนนอกนั้นก็ปล่อยไปหมดแล้ว รับทราบเป็นธรรมดา ส่วนธาตุขันธ์รับทราบตลอดทั้งๆ ที่ปล่อยแล้ว เจ็บก็บอกว่าเจ็บ ปวดก็บอกว่าปวด หนาวก็บอกว่าหนาว ร้อนก็บอกว่าร้อน แต่เป็นอยู่ภายในขันธ์ล้วนๆ อันนั้นชอบ อันนี้ไม่ชอบ ล้วนอยู่ภายในวงขันธ์ ไม่ได้เข้าถึงจิต ถ้าว่าอันนี้ดี ก็ดีอยู่ในวงขันธ์ ไม่ได้ยึดมั่นอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในโลก ถ้าหากว่าจะเทียบแล้ว เหมือนเรานั่งอยู่นี่ มีเด็กหรือผู้คนสัญจรไปมา เราไม่ว่าเขารบกวน แต่เขาเป็นของเขาอย่างนั้น พันธุ์ก็ไม่ได้ว่ารบกวนจิตใจ เป็นเพียงรับทราบกัน

นี่แหละสมมุติมันหดเข้ามา เจ็บท้องปวดศีรษะหมดไป จะหดเข้าไป ความรับผิดชอบในวงขันธ์หดเข้ามา จะเข้ามาจุดที่บริสุทธิ์ตามธาตุขันธ์ที่บริสุทธิ์ พอหดเข้ามาความทุกข์ร้อนในร่างกายจะหมดไปๆ สุดท้ายความทุกข์ทั้งหลายในร่างกายนี้ไม่มีเลย เงียบไปหมด นี้เรียกว่าสมมุติครั้งสุดท้ายของขันธ์จะดับวูบลง ขณะที่ลมหายใจขาด พอลมหายใจขาดปั๊บ ขันธ์ดับวูบลง จิตดวงที่บริสุทธิ์รับทราบจะดีดออกเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ท่านจะดับขันธ์นั้น ท่านไม่มีทุกข์อะไรเลย บรรดาพระอรหันต์ไม่มี คนทั้งหลายมีความทุกข์ความเดือดร้อน ดีไม่ดีตกเตียงไปก็มี ไม่มีสติสตังเพราะความทุกข์มากนะ แต่พระอรหันต์ท่านไม่เป็นอย่างนั้น เวลาจะไปจริงๆ ความทุกข์ทั้งหลายหดเข้ามาหมด ตาเหมือนตาไม้ไผ่ หูก็หูกะทะ อวัยวะต่าง ๆ เป็นเหมือนซุงทั้งท่อน คือความรู้อันนี้หดเข้าแล้ว ทุกขเวทนาอยู่ในขันธ์ พอความรู้หดไป ทุกขเวทนาก็หมด ก็เหลือแต่ความรู้ที่ปล่อยความรับผิดชอบออกไป พอปล่อยปั๊บพร้อมกับลมหายใจออกไป ขาดปั๊บหมด นี่แหละสมมุติทั้งมวลหมดในวาระสุดท้ายคือขันธ์ ๕ ท่านไปง่ายๆ ท่านไม่ลำบากลำบนไม่เหมือนพวกเรา พระอรหันต์ท่านนิพพานง่ายๆ ใต้ร่มไม้ชายเขาที่ไหน

นี่แหละพระพุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาชั้นเอกพิสูจน์ด้วยตน พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่สงสัยประจักษ์ผลเป็นพยาน ตลอดจนบาปบุญ นรกสวรรค์ นิพพานท่านเจิดจ้าอยู่ภายในใจนี้ พวกเราตาบอดว่าไม่มี สิ่งที่ว่าไม่มี มันเผาเรา เวลาตายก็เผาตัวเอง



...เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์
...เมื่อหลวงตาเทศนาธรรมจบเวลา ๑๔.๐๐ น. ท่านจึงลุกขึ้นมองหลวงปูเจี๊ยะอย่างเพ่งพินิจสุขุมกล่าวคำบอกลาว่า  “ผมกลับก่อนนะ” คำนี้เป็นคำสั่งลากันครั้งสุดท้ายของพระมหาเถระทั้งสอง

หลังจากหลวงตากลับไป ๒ ชั่วโมง อาการป่วยของหลวงปู่เจี๊ยะก็กำเริบทรุดหนัก มีไข้สูง หอบเหนื่อย พระคิลานุปัฏฐากได้ติดต่อพระอาจารย์เขียวเพื่อติดต่อรถพยาบาลโดยด่วน  เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แพทย์ผู้ดูแลได้แก่รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวิน ระงับภัย และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิมพ์ประไพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้จัดรถพยาบาลรับท่านไปที่โรงพยาบาลศิริราช   ระหว่างทางท่านมีอาการเขียว ออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงได้นำท่านไปยังโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอสเพื่อรักษาเบื้องต้นจนปลอดภัย และเดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราชต่อไป รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาย สุนทราภาและรองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร มานัสสถิตย์ ได้ช่วยกันดำเนินการรับหลวงปู่ไว้ในหอผู้ป่วยวิกฤต  ผลเอ็กซ์เรย์ปอดพบมีสารน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา แพทย์ที่หอผู้ป่วยวิกฤตระบบทางเดินหายใจได้ทำการใส่ท่อช่วยระบายเลือดออกจากช่องเยื่อหุ้มปอดข้างขวา ได้น้ำปนเลือดประมาณ ๑,๔๐๐ ซีซี และได้ตรวจพบเซลล์มะเร็งในน้ำปนเลือดจากช่องเยื่อหุ้มปอด คณะแพทย์ผู้รักษาได้ตัดสินใจไม่ถวายยาต้านมะเร็งเนื่องจากประเมินแล้วว่า สภาพร่างกายของท่านคงรับกับภาวะแทรกซ้อนของยาไม่ได้ จึงถวายการรักษาตามอาการเพื่อให้ท่านมีทุกขเวทนาทางกายน้อยที่สุด



เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงห่วงใย
หลังจากหลวงปู่เจี๊ยะ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ทรงทราบข่าวอาการอาพาพนัก ถึงแม้ขณะนั้นพระองค์ทรงงานอยู่ประเทศเนเธอแลนด์ ยังทรงติดต่อสอบถามถึงอาการหลวงปู่เจี๊ยะทางโทรศัพท์จากคุณหญิงจรัสศรี ทีปรัตน์ ราชเลขาในพระองค์ฯ ด้วยความห่วงใยยิ่งเป็นระยะๆ โดยกำชับทางคณะแพทย์ผู้ดูแลรักษา ให้ดูแลหลวงปู่เป็นกรณีพิเศษ

วันใดที่อาการอาพาธหนักเข้าห้อง RCU พระองค์มีส่วนช่วยตัดสินพระทัย วินิจฉัยในการออกและเข้าห้อง RCU ทุกครั้ง นับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้



หลวงตารับรองภูมิธรรม ๓ ครั้ง ๓ หน
ณ โรงพยาบาลศิริราช วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงตาไปเยี่ยมดูอาการหลวงปู่เจี๊ยะด้วยความเป็นห่วง คณะแพทย์ได้กราบเรียนและถามตอบกับหลวงตาดังนี้

หมอกราบเรียนถามหลวงตาว่า “ปอดข้างขวาติดเชื้อ ต้องเจาะเอาน้ำไปตรวจดูว่าติดเชื้ออะไรบ้าง แล้วแต่ดุลยพินิจหลวงตาจะว่าอะไรหรือเปล่าคะ... อาหารยังใส่สายยางหน้าท้องเหมือนเดิม”  หลวงตาพูดว่า  “หลวงตามาเยี่ยมดูอาการว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าจะแนะอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ต้องแล้วแต่หมอ อยู่กับหมอนะ”  “อย่างนั้นการรักษาหลวงปู่เจี๊ยะก็แล้วแต่ดุลยพินิจของหมอใช่มั้ยเจ้าคะ”

“มันก็ไม่แน่เหมือนกันล่ะ คำว่าคุณหมออย่างเดียวก็เป็นโลกล้วนๆ มีธรรมอย่างเดียวก็เป็นธรรมล้วนๆ ไปสู่จุดกลางก็มีทั้งธรรมทั้งโลก ผสมกันไปพิจารณากันไป สมควรอย่างไรบ้าง เป็นจุดศูนย์กลางแล้วแต่จะพิจารณากัน หลวงตาก็เพียงแต่แนะได้แค่นี้”
“ถ้าคุมอาการไม่อยู่ก็รุนแรงไปเลย ถ้าหายก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิมที่ป่วยอยู่”
“เราก็ไม่กล้าวินิจฉัย เพราะกรรมกับโลกเป็นคู่กัน ถ้าพูดแบบโลกก็ว่าเป็นคู่แข่งขันกัน จะเอาทางไหน ถ้าเป็นนักธรรมะ ก็เอาธรรมเป็นหลักใหญ่กว่าโลก ถ้าเป็นโลกล้วนๆ ก็ถือโลกเป็นใหญ่จะเยียวยารักษาอะไรก็มอบให้ทางโลกทั้งหมด ถ้าธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่งหลวงตาจึงไม่กล้าตัดสินให้ ได้แต่ฝากข้อคิดไว้เท่านั้น”

สำหรับอาจารย์เจี๊ยะนี้เรายืนยันได้เลยว่า “ทางด้านจิตใจไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น

โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน ทางธาตุขันธ์ก็เยียวยากันไป มันควรจะได้แค่ไหนก็เยียวยากันไป ถ้าไม่สามารถจะเป็นไปได้แล้วก็มอบลงในกฎแห่งธรรม”  “เข้าใจหรือ?” หลวงตาหันมาถามหมอ แล้วก็เล่าต่อว่า “มันมีอยู่ ๒ อย่าง
๑) มันมีข้อที่มั่นใจแน่ใจก็คือ ทางด้านจิตใจอาจารย์เจี๊ยะไม่มีปัญหาอะไรเลย
๒) ก็มีแต่อยู่กับโลก จะอยู่ไปแค่ไหนๆ ถ้าหากมันเป็นไปก็ได้ก็ปล่อยไปเป็นธรรมไปหมด เข้าใจแล้วหรือ?” หลวงตาถามหมอย้ำ


แล้วหลวงตาก็กล่าวเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะต่อไปอีกว่า “ทางด้านจิตใจท่านอบรมมาแต่เริ่มแรกบวชนะ อบรมจิตใจล้วนๆ มาตลอดปัจจุบันนี้  สรุปผลแห่งการปฏิบัติที่ทราบจากการสนทนา หรือทราบด้วยวิธีอื่นใดก็ตาม ก็ลงในจุดว่า “เราเป็นที่แน่ใจ สำหรับทางด้านจิตใจท่านไม่มีปัญหาอะไร แต่เวลานี้ก็อยู่กับขันธ์ล้วนๆ เท่านั้น”

“เข้าใจไม่ใช่หรือ?”  หลวงตาถามหมอย้ำอีกครั้ง เห็นครั้งที่ ๓ เหมือนกับที่ท่านพูดย้ำเน้นถึงจิตของหลวงปู่เจี๊ยะว่าไม่มีปัญหาอะไรเลยถึง ๓ ครั้งเช่นกัน
“นี่เราก็จะกลับไม่มีอะไร มีเท่านั้นนะ” แล้วหลวงตาก็ลุกขึ้นเขยิบเข้าใกล้  เตียงหลวงปู่เจี๊ยะ ยืนพิจารณาส่วนต่างๆ ของสรีระร่างกายด้วยท่วงท่าอันสุขุมเยือกเย็น


ปัจฉิมทัสสนา..การเห็นกันครั้งสุดท้าย
ธรรมกิริยาสองพระมหาเกระผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ปฏิบัติต่อกันเป็นประหนึ่งจะบอกพวกเราว่า...“..อีกไม่นานนักหรอก ร่างกายนี้จักทับถมบนพื้นแผ่นดิน แต่ทางด้านจิตใจ ทรงอริยธรรมอันยิ่งใหญ่ฝากไว้ให้โลกลือ คราวนี้คงเป็นคราวสุดท้ายที่สหธรรมิกซึ่งเป็นดั่งช้างเผือกคู่งาม ใต้ร่มธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นจะต้องลาธาตุขันธ์ขาดจากกันไป

โอ ปัจฉิมทัสสนา...การเห็นภาพพระมหาเถระอริยะสาวกทั้งสองอยู่พร้อมหน้ากัน เป็นดั่งช้างเผือกคู่งามที่หาดูชมได้โดยยากยิ่ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

การเห็นกันและกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการเริ่มต้นขึ้นแล้ว ย่อมมีการสิ้นสุดลง ใครเล่า? จักสามารถหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็น ไม่ให้เป็นได้

ตำนานอันยิ่งใหญ่ถูกจารึกไว้บนหัวใจปวงชนและถูกปิดลงด้วยหลักอนิจจัง
ความรักความเคารพและสายใยธรรมที่มีต่อกันหยั่งลึกซึ้งเกินเปรียบได้
พระมหาสาวกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นทั้งสอง ช่างงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด
โอหนอ...ปัจฉิมทัสสนา นี้คือการเห็นเรือนร่างสมมุติระหว่างกันเป็นครั้งสุดท้าย”


ภาพบรรยากาศภายในห้องพยาบาลดูเคร่งขรึม อุบาสก อุบาสิกา พระคิลานุปัฏฐาก และหมอต่างมีจิตรื่นเริงในธรรมกิริยาที่พระหลวงตาแสดง เกิดจิตปลื้มปีติพร้อมทั้งน้ำตาในภูมิธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะและเสียดายสุดซึ้งที่ท่านจะต้องจากเราไปในเวลาอีกไม่นาน ทุกๆ คนต่างนั่งนิ่ง

ใครเล่า! ณ ห้องพยาบาลนั้น จะทราบว่า ภายในดวงจิตแต่ละคนจะปั่นป่วนรวนเร หวิวหวั่นสักปานใด ...นอกจากพระมหาเถระทั้งสองที่มีจิตทะลุแผ่นดินแผ่นฟ้าเท่านั้น



ก่อนมรณภาพ ๓ วัน
วันที่ ๒๐ ลงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนมรณภาพเพียง ๓ วัน เกิดเหตุอัศจรรย์ที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างมาก หลวงปู่เจี๊ยะ มีฉวีวรรณผ่องใส แสดงท่าทางอาจหาญ พูดจาเสียงดังฟังชัดเป็นประหนึ่งว่า ไม่เคยป่วยเป็นเวลามานานปี

วันนั้นท่านเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย แม้เรื่องเบ็ดเตล็ดเล็กน้อย เช่น เรื่องแฟนสาวที่เคยรักสมัยเป็นหนุ่ม เรื่องญาติพี่น้อง บิดามารดา ฯลฯ สรุปท้ายสุด ท่านพูดสั้นๆ แต่ตะโกนด้วยเสียงดังลั่นว่า “พระเจี๊ยะตายแล้ว ๆ ๆ” ตายจากสมมุติบัญญัติ เป็นประหนึ่งวาจาศักดิ์สิทธิ์ ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวลาโลก ที่ระงมปนเปื้อนเต็มไปด้วยความทุกข์เดือดร้อนนานาประการ พูดง่ายๆ ที่เป็นภาษาธรรมะก็คือ ปลงอายุสังขาร ที่แบกหามทุกข์ทรมานมานานปี

บัดนี้ อีก ๓ วันข้างหน้า ภาระทั้งปวงจะต้องถูกทอดทิ้งแล้ว เหลือแต่ธรรมะที่เลิศเลอภายในใจเพียงเท่านั้น



และแล้ววันสุดท้ายก็มาถึง...
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงปู่เจี๊ยะเริ่มมีอาการเหนื่อยมากและออกซิเจนในเลือดลดลง ได้ทำการเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่า มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากทั้งสองข้าง แพทย์ได้ทำการเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดและดูดน้ำปนเลือดออกมาข้างละประมาณ ๘๐๐ ซีซี

หลังจากนั้นอาการเหนื่อยของท่านลดลง และต่อมาเวลาประมาณ ๒๒.๕๕ น. หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ก็ได้ละขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม สิริอายุรวม ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา



นำศพกลับวัดป่าภูริทัตฯ/รดน้ำศพ/สวดอภิธรรม
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ นำศพท่านกลับไปตั้งรดน้ำศพที่กุฏิพำนักที่วัดป่าภูริทัตตปฎิปทาราม ข่าวการมรณภาพแพร่สะพัดออกไป ทั้งพระเณร ประชาชนหลั่งไหลกันมาคารวะศพไม่ขาดสาย คณะศิษยานุศิษย์กล่าวขอขมา

เวลา ๑๓.๐๐ น. สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชเมื่อทราบข่าว ทรงมีรับสั่งโดยตรงให้พระเทพสารเวที พระเลขานุการส่วนพระองค์เป็นผู้แทนพระองค์นำผ้าไตรจีวร และน้ำสรงศพพระราชทานมาอาบศพให้หลวงปู่เจี๊ยะ

เวลา ๑๕.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำสรงศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกนพ พิณสายแก้ว เป็นผู้แทนพระองค์นำน้ำสรงศพพระราชทานมาอาบศพให้หลวงปู่เจี๊ยะ



เคลื่อนศพสู่ภูริทัตตเจดีย์
เวลาบ่ายได้เคลื่อนย้ายศพจากกุฏิไปสู่  “ภูริทัตตเจดีย์” อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ โลงศพถูกตกแต่งด้วยดอกไม้นานาชนิดอย่างสวยงาม รายรอบภูริทัตตเจดีย์ประดับด้วยไฟงดงามยิ่งในยามค่ำคืน สวนหย่อมดอกไม้หลากสีแนวหญ้าเขียวขจี ประดับด้วยหินหลากสีหลายชนิด เจ้าภาพสวดอภิธรรมผู้มาร่วมฟังพระอภิธรรมมากมายสุดประมาณ

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๘.๕๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดให้ พลเอกชาญ บุญประเสริฐ เชิญพวงมาลาไปวางที่หน้าหีบศพ

วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๖.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพิจิตร วิชัยสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เชิญพวงมาลาวางที่หน้าหีบศพ

พระเณรจากทั่วสารทิศหลั่งไหล สัตตาหะมาเพื่อสักการะ ร่วมสร้างเมรุและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่จำเป็นก่อนถึงวันพระราชทานเพลิง โรงทานอาหาร โรงน้ำปานะ ล้นหลามกินดื่มเท่าไหร่ไม่มีวันหมด มากมายปานประหนึ่งว่าชาวบ้านถิ่นแถวนั้นจะไม่ต้องซื้อหาอาหาร บุญญานุภาพ สังฆานุภาพ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แล้ว ชาติสุดท้าย ขันธ์สุดท้าย บารมีสั่งสมมาเท่าไหร่หลั่งไหลมาให้หมด ดังคำที่ว่า “ผู้ตายไปนิพพาน ผู้อยู่เฝ้าชื่นชม”



อำนาจผ้าขี้ริ้วห่อทอง
หลวงปู่เจี๊ยะ พระผู้นิยมแต่ผ้าเก่าๆ จีวร สบง อังสะ ปะๆ ชุนๆ บาตรใบเดียว กลดหลังเดียว ผ้ากลดผืนเดียว กล่องเข็มกล่องเดียว ใช้ตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งวันตาย ยินดีเพียงบริขารที่มี ไม่เสาะแสวงหา ผู้เป็นตำนานผ้าขี้ริ้วห่อทอง สาวกของพระศาสดา ศิษย์ก้นกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระสหายของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สหธรรมิกหลวงตามหาบัว ญาณสมปนฺโน อันเตวาสิกท่านพ่อลี ธมฺมธโร คุณธรรมเติบใหญ่ความดีปรากฏเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ณ บัดนี้แล้ว


ชีวิตจบบริบูรณ์
ชีวิตของหลวงปู่เจี๊ยะ จนฺโท เบื้องต้นเรียนจบพรหมจรรย์ ท่ามกลางมีวัตรปฏิบัติที่งดงามอาจหาญท้าทาย ที่สุดเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ท่านบริบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด...เป็นชีวิตที่งามยิ่ง
เบื้องหลังชีวิตที่ท่านจากไป คือ ตำนานที่ต้องเล่าขานไม่รู้จบ
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทารามที่เป็นหลักเป็นฐานมั่นคง
ภูริทัตตเจดีย์ สำหรับบรรจุทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เป็นบูรพาจารย์
เป็นผลงานที่ท่านภูมิใจเป็นที่สุด เพราะนั่นคือ “อาจริยบูชา”

ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของหลวงปู่เจี๊ยะ อาจจะแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย แต่หลักใหญ่แล้วเป็นเอกเทศ ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน ท่านปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว คำสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะเฉพาะตน เพราะท่านมุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับท่านมีบารมีธรรมที่บ่มบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน เป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่างลึกลับ การปฏิบัติของท่านจึงนับว่า รู้เร็วในยุคปัจจุบันสมัย ที่มนุษย์มีกิเลสหนาขึ้นโดยลำดับ

ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลก ที่ระงมปนเปื้อนไปด้วยกองทุกข์นานาประการ ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ด้านเดียว การมองอะไรไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสินเท่านั้น แต่ต้องใช้แววตา คือ ปัญญาเป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ ในการมองโลกและธรรม

เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรมองข้ามปมคำสอนเพียงเพราะสายตาเท่านั้น ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างแก่โลก ย่อมไม่ละเลยทั้งกอไผ่และภูเขา  เพราะไม่มีใครเลย ที่จะมีความดีความชั่วเพียงอย่างเดียว แม้ดอกบัวที่มีกลีบงามละมุนก็ยังมีก้านที่ขรุขระ  ดุจแผ่นดิน ไม่มีใครอาจทำให้เรียบเสมอกันได้หมด ฉันใด มนุษย์ทั้งหลายจะทำให้เหมือนกันหมดทุกคนก็ไม่ได้ ฉันนั้น

ในความดี ในความเป็นพระที่ดี ก็ย่อมมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ข้อบกพร่องมันไม่เป็นที่เสียหายต่อส่วนรวมตลอดจน ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อบกพร่องนั้นก็ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ควรตามตำหนิให้มากความ เช่นเดียวกับในดวงจันทร์แม้จะมีตำหนิเป็นจุดดำๆ อยู่ตรงกลางดวง แต่ชาวโลกก็ไม่ควรไปสนใจตามตำหนิอะไรมากนัก

หลวงปู่เจี๊ยะท่านจึงเป็นผู้มีจิตอิสระมานาน ไม่เกี่ยวเกาะยึดติดพัวพันในบุคคล กาล สถานที่การปฏิบัติของท่านมุ่งเน้นที่ผลการปฏิบัติมากกว่ารูปแบบแห่งการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นนิสัยสะท้านโลกาและปฎิปทาที่เป็น ปัจจัตตัง ยากที่ใครๆ จะเลียนแบบได้ ท่านจึงเป็นสัตบรุษพุทธสาวก ที่หาได้โดยยากยิ่ง สมดังพุทธภาษิตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า


ทุทฺทนํ ททมานานํ       ทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ       สตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย.

สัตบุรุษให้ในสิ่งที่บุคคลอื่นให้ได้ยาก กระทำในสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำตามได้ยาก
คนที่ไม่ดีจริง ไม่แกร่งจริง ย่อมทำตามท่านไม่ได้
เพราะกรรมของสัตบรุษ ยากที่คนไม่ดีจะประพฤติตามได้

สนฺตกาโย สนฺตวาโจ       สนฺตมโน สุสฺมาหิโต
วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ       อุปสนฺโตติ วุจฺจตีติฯ

ภิกษุผู้มีกาย วาจาสงบ ยังไม่นับว่าเป็นผู้สงบแท้
แต่ผู้ที่มีกาย วาจา และใจสงบนั้นแล
เราตถาคตจึงเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นผู้สงบอย่างแท้จริง
และเป็นผู้คลายจากความลุ่มหลงในโลกทั้งปวงฯ


จบบริบูรณ์

คัดจาก : หนังสือ หลวงปู่เจี๊ยะ  จุนฺโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง (ฉบับสมบูรณ์)
จัดพิมพ์เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ณ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
จังหวัดปทุมธานี 



อัฐธาตุ หลวงปู่เจี๊ยะ  จุนฺโท
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 พฤษภาคม 2558 11:09:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 [2]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
รวม ภาพยนต์ เกี่ยวกับ อวกาศ และ ดาราศาสตร์ ชุดที่ 1 "From Hubble" (ฮับเบิ้ล) พร้อม ประวัติ
วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
หมีงงในพงหญ้า 9 7356 กระทู้ล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2553 11:51:22
โดย หมีงงในพงหญ้า
อยู่ก็สบาย ถึงตายก็มีชัยชนะ(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน 0 3009 กระทู้ล่าสุด 02 พฤษภาคม 2554 23:55:53
โดย เงาฝัน
ประวัติ-ปฏิปทา หลวงปู่ศรี มหาวีโร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
Maintenence 1 2987 กระทู้ล่าสุด 24 ธันวาคม 2558 14:05:44
โดย Maintenence
"มึงหยุดเลย...เดี๋ยวรอพัดยศจากจันทบุรี" !!! ... วีรกรรม ของ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
เกร็ดครูบาอาจารย์
มดเอ๊ก 0 1997 กระทู้ล่าสุด 07 มกราคม 2560 02:35:57
โดย มดเอ๊ก
ประวัติ ปฏิปทา พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต (พระจุลนายก)
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
Kimleng 11 7334 กระทู้ล่าสุด 06 ตุลาคม 2563 11:42:16
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.301 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ชั่วโมงที่แล้ว