[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 02:28:25 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ซองบุหรี่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ  (อ่าน 5293 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2557 15:35:32 »

.


ซองบุหรี่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีเครื่องจักสานอยู่ ๑ ชุด เก็บอยู่ที่คลังพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นซองบุหรี่ มีตัวและฝา จักสานขึ้นจากไม้ไผ่ มีจำนวนหนึ่ง หมายเลขทะเบียน ๒๔๑/๓ (๕๖๘๘), ๒๔๒/๓ (๕๖๘๙), ๒๔๓/๓ (๕๖๙๐), ๒๔๔/๓ (๕๖๙๑) และ ๒๔๕/๓ (๕๖๙๒) ขนาดโดยเฉลี่ย กว้าง ๘ เซนติเมตร ยาว ๑๒ เซนติเมตร จักสานให้เกิดลวดลายและสร้างเป็นตัวอักษรไทยด้วยสีอ่อนและเข้ม ลวดลายบนซองบุหรี่หมายเลขทะเบียน ๒๔๓/๓ บ่งบอกปีที่สานขึ้นว่า “สานเมื่อวันที่ ๑๖ เดือน ๘ ปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ (พุทธศักราช ๒๔๔๘) และหมายเลขทะเบียน ๒๔๔/๓ (๕๖๙๐) บอกศักราช ศก. ๑๒๓ (พุทธศักราช ๒๔๔๗) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในประวัติระบุว่า “นักโทษเรือนจำจังหวัดนครไชยศรี สานเป็นเรื่องฎีกาถวายขอพระราชทานอภัยโทษ” บางชิ้นมีสภาพร่องรอยเส้นตอกไม้ไผ่หัก ฉีกขาดตามขอบซอง อย่างไรก็ตามต้องจัดได้ว่าซองบุหรี่ชุดนี้ มีคุณค่าความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะงานประณีตศิลป์และเป็นของชิ้นเอกในกรมศิลปากร

สิ่งที่น่าสนใจให้ศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อให้ได้ความรู้จากซองบุหรี่ชุดนี้ ไม่นับถึงความวิริยะอุตสาหะในการผลิต ที่ต้องใช้เวลามากในการเตรียมจักตอกไม้ไผ่ ให้ได้ขนาดบางและเล็กอย่างประณีต เมื่อพิจารณาจากขนาดของตอกไม้ไผ่กว้างประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร หนาประมาณ ๐.๗ มิลลิเมตร ต้องเตรียมเหลาตอกเป็นอย่างดี มีการย้อมสีไม้ไผ่ให้มีสีเข้มและสีอ่อน เพื่อให้ขัดสานเป็นลวดลาย ผู้สานต้องเป็นผู้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ และสามารถขัดสานสร้างตัวอักษรในลักษณะตัวเหลี่ยม กำหนดตัวอักษรสีเข้มพื้นสีอ่อน ตัวอักษรสีอ่อนพื้นสีเข้ม และสลับสีในหน้าซองเดียวกันได้อย่างน่าชื่นชมในฝีมือ เป็นผู้มีความอุตสาหะสูง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือข้อความที่ปรากฏบนซองบุหรี่ ซึ่งมีคำและข้อความสำคัญดังนี้



        ซองบุหรี่ที่ ๑  
ซองที่ ๑ เลขทะเบียน ๒๔๑/๓
ฝาซอง “ข้าพระพุทธเจ้าอ้ายจีนเอี๊ยว สานซอง...”
ตัวซอง มีพระนามาภิไธยย่อ “จปร” ภายใต้ฉัตร และมีข้อความว่า “...บุหรี่ถวายขอความกรุณาโปรดปล่อย”




        ซองบุหรี่ที่ ๒
ซองที่ ๒ เลขทะเบียน ๒๔๒/๓
ฝาซอง มีพระนามาภิไธยย่อ “จปร” และมีข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าอ้ายจีนเอี๊ยว ถวายขอความกรุณาต่อเสนา...”
ตัวซอง “...บดี กระทรวงมหาดไทย ลดหย่อนผ่อนโทษโปรดปล่อยข้าพระพุทธเจ้าให้พ้นโทษไป”






        ซองบุหรี่ที่ ๓
ซองที่ ๓ เลขทะเบียน ๒๔๓/๓
ฝาซอง “ฝีมืออ้ายจีนอั้งกี่สานซองบุหรี่ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย...”
ตัวซอง “...ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อย ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตย์ผู้ยากสักครั้งหนึ่ง สานเมื่อวันที่ ๑๖/๘/๑๒๔”




        ซองบุหรี่ที่ ๔
ซองที่ ๔ หมายเลขทะเบียน ๒๔๔/๓
ฝาซอง “ข้าพระพุทธเจ้าทูลเกล้าถวายมีมือจีนเจี๊ยก”
ตัวซอง มีพระนามาภิไธยย่อ “จปร” และข้อความ “มณฑลนครไชยศรี ศก ๑๒๓”




        ซองบุหรี่ที่ ๕
ซองที่ ๕ เลขทะเบียน ๒๔๕/๓
ฝาซอง “ข้าพระพุทธเจ้าอ้ายโปร่ง โทษยิงคนตาย ศาลตัดสินลงโทษตลอดชีวิตร์ สานซองบุหรี่...”
ตัวซอง “...ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย



คำและข้อความหลักที่จักสานปรากฏอยู่บนซองบุหรี่มีหลายคำที่น่าวิเคราะห์ ที่น่าสนใจ อาทิ เป็นกรรมวิธีคือ “สาน” เป็นสิ่งของคือ “ซองบุหรี่” เป็นชื่อสถานที่คือ “เรือนจำมณฑลนครไชยศรี” พระนามคือ “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ” หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


สาน
การสานเป็นกรรมวิธีที่ใช้วัสดุที่เป็นเส้นยาวนำมาขัดสอดประสานกัน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จักสาน” เมื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว เรียกว่า “เครื่องจักสาน” วัสดุส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ หวาย ปอ กระจูด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชหลากหลายชนิด เช่น เถาวัลย์ เถาองุ่น ผักตบชวา แต่ส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ ชนิดของไม้ไผ่ที่นิยมคือ ไผ่สีสุก ไผ่เฮี๊ย ไผ่รวก ไผ่ข้าวหลาม ซึ่งต้องนำมาเหลาให้เป็นเส้นเล็กลงและหากเป็นงานละเอียดต้องให้บาง แบนและเรียบ กรรมวิธีนี้เรียกว่า จักตอก

ในประเทศไทยมีหลักฐานการทำเครื่องจักสานมีมาแล้วตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบภาชนะดินเผาลายเครื่องจักสานในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อายุราว ๓,๐๐๐ ปี ผิวด้านนอกเป็นรอยกดประทับของเครื่องจักสาน ซึ่งอาจใช้เป็นแม่พิมพ์ ด้านในเป็นลายเขียนสีแดง นอกจากนั้นที่แห่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ประตูผา อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่าเป็นเครื่องจักสานที่ใช้ห่อหุ้มศพ กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS Dating (Accelerator mass spectroscopy) เป็นตัวอย่างจากฟันมนุษย์ เมล็ดข้าว และเศษไม้ ซึ่งพบร่วมกับภาชนะดินเผา โดยเฉลี่ยมีอายุราว ๓,๒๐๐-๒๙๐๐ ปีมาแล้ว




ภาชนะดินเผาลายเครื่องจักสาน ในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
อำเภอหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี อายุราว ๓,๐๐๐ ปี
(ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง)

เครื่องจักสาน เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งเป็นของตกแต่ง คู่กับคนไทยในทุกภูมิภาคมาช้านาน แสดงให้เห็นถึงความนิยม ความสะดวกในการสรรหาวัสดุ ความถนัดในการทำและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นงานศิลปะประณีตศิลป์ที่สมบูรณ์ทั้งรูปแบบและประโยชน์ใช้สอย เช่น เครื่องมือจับสัตว์ กระบุง ตะกร้า หมวก พัด เครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ ภาชนะใส่สิ่งของ ฯลฯ พบเห็นทั่วไปตามบ้านเรือน ซึ่งบางส่วนได้กลายเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน ดังเช่น “ซองบุหรี่” ถวายฎีกาชุดนี้


พระรูป พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ
ทรงถือพระโอสถมวนที่พระหัตถ์ซ้าย
(ภาพจากหอสมุดดำรงราชานุภาพ)


ซองบุหรี่
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อธิบายเรื่อง “บุหรี่” ไว้ว่า น่าจะไม่ใช่คำไทยและยังสันนิษฐานว่า ไทยคงจะหยิบยืมมาจากภาษาเปอร์เซีย “...คำว่าบุหรี่ มาจากภาษาเปอร์เซีย มีคำ บุรี (Buri) แปลว่า แหลม ดูสมกับประเพณีเก่า ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยเห็นและเคยทราบความมาแต่ก่อน คือ บุหรี่ที่ไทยเราสูบ ชั้นเดิมใช้แต่บุหรี่ก้นแหลมอย่างเดียว มวนด้วยใบตองแห้งบ้าง ใบจากบ้าง ถ้าจะพิสูจน์ในข้อนี้จงพิจารณาดูในพานทองเครื่องยศก็จะเห็นได้ว่ามีซอง ๒ ใบ ใบเขื่องสำหรับใส่พลู ใบย่อมนำมาใส่บุหรี่ มีเป็นแบบ...มาแต่โบราณ ซองใบใส่บุหรี่นั้น ต้องเป็นบุหรี่ก้นแหลมจึงจะลงซองได้...”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงพระโอสถมวนอยู่เสมอ รวมทั้งทรงใช้กล้องยาสูบในบางโอกาส จึงเป็นไปได้ที่นักโทษ คงเคยเห็นทรงพระโอสถมวนบ่อยครั้งในคราวมาตรวจราชการเรือนจำนครปฐม จึงได้คิดทำจักสานเป็นซองพระโอสถหรือซองบุหรี่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงปรากฏซองบุหรี่ชุดนี้ขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีมากกว่า ๕ ชิ้นนี้ก็ได้

บนซองบุหรี่ปรากฏชื่อผู้สามัญชน คือ “อ้ายโปร่ง อ้ายจีนเอี๊ยว อ้ายจีนอั้งกี่ และจีนเจี๊ยก” ซึ่งหลายคนมีคำว่า “อ้าย” นำหน้า ซึ่งหากพิจารณาแล้วระบุได้ว่าทุกคนคือ “นักโทษ



ภาพปูนปั้น รูปนักโทษและการลงโทษ ปูนปั้นสมัยทวารวดี
จัดแสดงในพิพิธภณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นักโทษ
คือผู้ต้องโทษ ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในทัณฑสถาน หรือเรียกภาษาราชการว่า ผู้ต้องราชทัณฑ์ ในห้องจัดแสดงศิลปะทวารวดี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ได้จัดแสดงภาพปูนปั้นที่ได้จากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานหมายเลข ๑๐ ที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นภาพชายที่น่าจะเป็นนักโทษถูกมัดแขนมัดมือไพล่หลัง ที่คอนักโทษมีเชือกหรือโซ่คล้อง ผู้ที่เดินตามหลังซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผู้คุมกำลังยกเท้าถีบนักโทษให้เดินไปข้างหน้า อาจเป็นจากเรื่องชาดก แต่สะท้อนให้เห็นว่าดินแดนสุวรรณภูมิในประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการจับกุมคุมขังนักโทษ มีการลงโทษ และมีผู้คุมนักโทษมาตั้งแต่ในสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ บนซองบุหรี่มีชื่อ นักโทษโปร่ง นักโทษเอี๊ยว นักโทษอั้งกี่ ทั้งสามคนเรียกตนเองด้วยคำนำหน้าว่า “อ้าย


อ้าย
บนซองบุหรี่ชุดนี้ มีชื่อที่มีคำว่าอ้ายนำหน้าทั้งหมด ๓ ชื่อ คือ อ้ายโปร่ง อ้ายจีนเอี๊ยว อ้ายจีนอั้งกี่ อีกผู้หนึ่งไม่มีคำว่าอ้ายนำหน้าคือ จีนเจี๊ยก ซึ่งสันนิษฐานว่า อ้ายโปร่งน่าจะเป็นชื่อของคนไทย ส่วนอ้านจีนเอี๊ยวและอ้ายจีนอั้งกี่ น่าจะเป็นชาวจีน รวมทั้งจีนเจี๊ยกด้วย

คำว่า อ้าย เป็นคำไทยที่ใช้เรียกพี่ชาย ในภาษาไทย ภาษาลาวและภาษาล้านนา หรือ เป็นความหมายเรียกที่ ๑ เช่น เจ้าอ้าย เดือนอ้าย หรือใช้กล่าวถึงสิ่งที่เข้าใจกัน แต่อาจเป็นในทางที่ไม่ดี เช่น อ้ายโจร นักโทษเหล่านี้จึงอาจมีคำนำหน้าว่า “อ้าย” ถูกบันทึกไว้เพื่อให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่ประพฤติไม่ดี

มีเรื่องของคำว่า “อ้าย” ในทางที่เป็นโจรผู้ร้ายอีกประการหนึ่ง ที่มาสอดคล้องกับเรื่องราวของ “นักโทษ” ที่ “มณฑลนครไชยศรี” และ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” โดยเป็นบันทึกที่ทรงนิพนธ์เป็นเชิงวิชาการ และได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า “สนทนากับผู้ร้ายปล้น” เรื่องมีอยู่ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้โปรดที่จะเสด็จมารที่เมืองนครปฐมหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เรือนจำ ทั้งทรงมาตรวจราชการและทรงใช้เวลาพักผ่อน ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่โปร่ง ร่มรื่น ยิ่งมีทางรถไฟยิ่งสะดวกในการเดินทาง และทรงมีวังที่ประทับใกล้กับบริเวณเรือนจำ ซึ่งในการเสด็จพักผ่อนครั้งหนึ่ง ยังได้มีโอกาสตรัสถาม “โจรจันทร์” นักโทษที่ถูกจับกุมมาคุมขังในเรือนจำนครปฐมด้วยคดีปล้นทรัพย์ ทรงถามว่า “โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า อ้ายเสือ” ซึ่งทรงได้รับคำตอบจากโจรจันทร์ คำว่า “อ้ายเสือ” นั้น มิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่คำสัญญาที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือเอาวา” พวกโจรยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือน ต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าบอกสัญญาว่า “อ้ายเสือถอย” ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญา “อ้ายเสือล่า” ต่างคนก็ต่างหนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้

ในซองบุหรี่ทั้งหมด ปรากฏชื่อ อ้ายจีนอั้งกี่ อ้ายจีนเอีย ส่วนอ้ายโปรเป็นชื่อที่ไม่มีคำว่าจีนต่อท้ายอ้าย และมีชื่อจีนเอี๊ยก ชื่อที่ไม่ใช้คำว่าอ้ายนำหน้า อาจประมาณได้ว่า เป็นชื่อที่ควรมีคำว่าอ้าย และคำว่าจีนประกอบเป็นชื่อเรียกเต็ม และทั้งหมดเป็นนักโทษของ “เรือนจำมณฑลนครไชยศรี”


เรือนจำมณฑลนครไชยศรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ตั้งมณฑลนครไชยศรี ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๘ โดยรวมเอาเมืองนครไชยศรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสมุทรสาคร เป็นมณฑลนครไชยศรี มีที่ทำการมณฑลอยู่ที่บ้านท่านา แต่เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๑ โปรดให้ย้ายมณฑลนครไชยศรีไปที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ ในครั้งนั้นได้มีการสร้างตะรางหรือเรือนจำขึ้นในคราวเดียวกัน เรือนจำมณฑลนครไชยศรี ซึ่งเรียกในเวลาต่อมาว่า เรือนจำนครปฐม ได้พัฒนาขึ้นจนเป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงคิดจัดการกับระเบียบเรือนจำตามหัวเมือง จึงขอวางระเบียบการเรือนจำที่มณฑลนครไชยศรีเป็นตัวอย่าง จนได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำที่จัดการได้ดีที่สุดในสมัยนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าไปทอดพระเนตร เมื่อเสด็จประพาสเมืองนครปฐมครั้งหนึ่ง

เรือนจำมณฑลนครไชยศรีหรือเรือนจำจังหวัดนครปฐม แห่งนี้ยังเกี่ยวข้องกับย่าเหล ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ทางของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์) ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ) เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯ ตรวจเรือนจำ ทรงพอพระทัยและนำมาเลี้ยงไว้ ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาดและจงรักภักดี จนเป็นที่โปรดปรานมาก เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและถูกลอบยิงตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้าและอาลัยเป็นที่สุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

การตั้งเมืองใหม่ที่นครปฐม ต้องใช้เงินจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงคิดว่าควรใช้แรงงานจากนักโทษ “...ฉันได้สั่งพระยาสุนทรบุรี ให้รีบคิดทำตะรางขึ้นที่พระปฐมเจดีย์ แลให้ส่งคนโทษเมืองสุพรรณ เมืองนครไชยศรี ที่มีกำหนดโทษเกิน ๓ เดือน เอาขึ้นมาไว้ใช้ที่พระปฐมเจดีย์นี้...” ดังที่มีการซ่อมแซมพระปฐมเจดีย์ ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์หลุดล่อนเสียหายเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนกระเบื้องใหม่ทั้งองค์ โดยใช้นักโทษจากเรือนจำมณฑลนครไชยศรี มาทำวันละ ๓๐-๔๐ คน

การใช้แรงงานจากนักโทษเรือนจำจังหวัดนครปฐมในอีกด้านหนึ่งนั้น มีบันทึกไว้ในหนังสือเรื่องการขุดแต่งวัดพระเมรุจังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรพิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณรในเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๔๘๒ ว่า เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ กรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ได้ร่วมกันขุดค้นโบราณคดีที่วัดพระเมรุ ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ระยะแรกใช้แรงงานราษฎรวันละ ๕๐ คน แต่เห็นว่าทำงานช้า อาจไม่สำเร็จเพราะค่าแรงแพง คนหนึ่งวันละ ๖๐ สตางค์ต่อวันและเงินมีจำนวนจำกัด ภายหลังได้ใช้แรงงานนักโทษแทน เพราะนักโทษมีการควบคุมโดยผู้คุม และค่าแรงต่ำเพียง ๓๐ สตางค์ต่อวัน ทำให้สามารถจ้างแรงงานเพิ่มได้เป็น ๙๐ คนต่อวัน ทำงานได้ตามเวลา ในที่สุดการขุดค้นสำเร็จในพุทธศักราช ๒๔๘๓

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จฯ ออกตรวจราชการนครไชยศรี ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๗ (พุทธศักราช ๒๔๔๑) และทรงทำรายงานนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีบันทึกไว้ว่า “...ไปตรวจตะราง ที่ขังนักโทษด้วย ตะรางนี้อยู่หลังจวนข้ามฟากถนนที่ใหญ่โตพอแก่การ แต่เปนที่ลุ่มน้ำขัง ตัวตะรางนั้น พระยาทิพย์โกษาได้สร้างไว้พื้นสูงแลแข็งแรงพอใช้ได้ แต่เวลานี้คนโทษอยู่ข้างจะมากเยียดยัดกันอยู่ มีจำนวนนักโทษ ๑๕๒ คน ตัดสินแล้ว ๓๘ คน ระหว่างพิจารณา ๗๔ คน เพราะมีท้องตราสั่งไม่ให้ส่งนักโทษเข้าไปกรุงเทพฯ คนจึงยัดเยียดกันในตะรางนี้มาก มีนักโทษยื่นเรื่องราว ๓ ฉบับไม่เป็นเรื่องสำคัญอันใด ได้สั่งให้ปล่อยนักโทษ ซึ่งพิเคราะห์เห็นว่าติดพอแก่โทษแล้ว ชาย ๕ หญิง ๒” ซึ่งคงหมายถึง “การขอพระราชทานอภัยโทษ”


การขอพระราชทานอภัยโทษ
ในสภาพคุมขังในตะรางหรือเรือนจำที่มณฑลนครไชยศรี หรืออาจรวมถึงที่อื่นๆ หากมีคำสั่งไม่ให้ส่งนักโทษเข้าไปจองจำในกรุงเทพฯ จึงอาจเกิดมีความแออัด ความเป็นอยู่ของนักโทษ ไม่สะดวกสบายตามการณ์ นักโทษที่ถูกขัง มีทั้งโทษหนัก โทษสถานเบา บางคนติดตะรางมาเป็นเวลานาน อยากจะออกไปเป็นอิสระ หรือ นักโทษที่แสดงว่าประพฤติดีก็อยากจะให้พิจารณาลดโทษหรือปลดปล่อย หากแต่นักโทษอาจจะถูกขังไปอย่างไม่มีกำหนด เรียกว่าขังลืม ด้วยเหตุนี้คงเคยได้ยินคำว่าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอรรถาธิบายไว้ในพระนิพนธ์ “นิทานโบราณคดี” ว่า “ด้วยในสมัยนั้นยังไม่ได้ตั้งประมวลกฎหมาย ยังใช้ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องอยู่นานเท่าใดจะพ้นจากเวร จำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานนักโทษในคุก จึงต้องถวายฎีกาขอพระราชทานโทษ ชั้นเดิมมักให้ญาติพี่น้องถวายฎีกาแทนตัว ครั้นมีการไปรษณีย์เกิดขึ้น ก็ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ จำนวนฎีกาคนคุกขอพระราชโทษจึงมีมาก..“

ตามที่มีข้อความปรากฏบนซองบุหรี่ ว่า “ฝีมืออ้ายจีนอั้งกี่สานซองบุหรี่ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดปล่อยข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตย์ผู้ยากสักครั้งหนึ่ง สานเมื่อวันที่ ๑๖๘ ๑๒๔” แสดงให้เห็นว่าเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ อ้ายจีนอั้งกี่ ติดคุกที่เรือนจำมณฑลนครไชยศรี คงได้เคยรับรู้ว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ที่สามารถพิจารณาให้อภัยโทษได้ จึงได้จัดสานซองบุหรี่ ที่มีข้อความขอเห็นใจ ขออภัยโทษ แต่ไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่า อ้ายจีนอั้งกี่ต้องโทษอันใด และสมควรที่จะได้รับอภัยโทษตามหลักเกณฑ์หรือไม่

เรื่องการถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงกล่าวไว้ในเรื่อง “โจรแปลกประหลาด” ในพระนิพนธ์นิทานโบราณคดีว่า “เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า ได้ทรงรับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯ ถวายทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง อยู่ข้างแปลกประหลาด โปรดให้อ่านให้เสนาบดีฟัง เป็นฎีกาของอ้ายทิม นักโทษชาวเมืองอินทบุรี ต้องจำคุกด้วยเป็นโจรปล้นทรัพย์ ความที่กราบบังคมทูลในฎีกาตั้งแต่อ้ายทิมต้องติดคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำการในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานมาจนชำนาญ จึงคิดว่าจะพยายามในกระบวนจักสานไม่ให้ฝีมือใครสู้ได้หมดทั้งคุก แล้วจะทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าและโปรดของสิ่งนั้น จะขอพระราชทานโทษให้พ้นเวรจำ ออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้ายเหมือนหนหลังจนตลอดชีวิต บัดนี้อ้ายทิมต้องจำคุกมา ๑๐ ปี ได้พยายามทำของสิ่งนั้นสำเร็จดังตั้งใจแล้ว ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าโปรดฝีมืออ้ายทิมนั้น อ้ายทิมขอพระราชทานโทษสักครั้งหนึ่ง ในท้ายฎีกาอ้างว่าถ้าความที่กราบทูลเป็นความเท็จแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต...”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอรรถาธิบายอีกว่า “ด้วยในสมัยนั้น ยังไม่ได้ตั้งประมวลกฎหมาย ยังใช้ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องอยู่นานเท่าใดจะพ้นจากเวร จำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานนักโทษในคุก จึงต้องถวายฎีกาขอพระราชทานโทษ ชั้นเดิมมักให้ญาติพี่น้องถวายฎีกาแทนตัว ครั้นมีการไปรษณีย์เกิดขึ้น ก็ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ จำนวนฎีกาคนคุกขอพระราชทานโทษจึงมีมาก...”

ในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับว่าที่โจรทิมกล่าวไว้นั้นเป็นความจริงและยังได้ทอดพระเนตรกาถังน้ำร้อนที่โจรทิมสานไว้ ซึ่งมีความประณีตและงดงามจริง ถึงกับมีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง เราจะให้มันเห็นผลความจริง” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานอภัยโทษโจรทิม ด้วยต้องโทษมาแล้วเป็นเวลา ๑๐ ปี และคงเป็นเพราะแสดงฝีมือให้เห็นว่ามีความสามารถในการทำเครื่องจักสานได้งดงามประณีตจริง แม้พ้นโทษไป จะสามารถประกอบอาชีพสุจริตได้

เรื่องการปล่อยนักโทษ ซึ่งเป็นการพระราชทานอภัยโทษนั้น มีกล่าวไว้ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า “ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการประชุมเสนาบดีเพื่อปรึกษาข้อราชการมีเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึง คือ การปล่อยนักโทษ ในงานบรมราชาภิเษก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนอให้ยกเลิก เพราะผู้ที่ดีใจเป็นนักโทษมากกว่า และคงคอยแช่งให้พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต...ประเพณีนี้น่าจะเกิดขึ้นจากที่คนโทษล้นคุก แต่ก่อนนี้ผู้ที่ติดคุกแล้วไม่เคยได้มีกำหนดออก คราวใดที่มีงานพระบรมราชาภิเษก ก็จะมีการอภัยโทษ นักโทษในคุกจะเบาบางลง”

จากพุทธศักราช ๒๔๓๓ ที่มีการกล่าวถึงเรื่องนักโทษได้มีการฝึกและปฏิบัติงานในกองจักสานของเรือนจำ ทำให้สามารถฝึกฝีมือให้เห็นจนได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงเป็นไปได้ที่นักโทษในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี เมื่อราวพุทธศักราช ๒๔๔๗-๒๔๗๘ คือ “อ้ายโปร่ง อ้ายจีนเอี๊ยว อ้ายจีนอั้งกี่ และจีนเจี๊ยก” ซึ่งบางคนมีคดีอุกฉกรรจ์ เป็นความผิดต่อชีวิตและต่อทรัพย์ ต้องถูกจำคุกเป็นเวลานาน จะใช้เวลาที่ถูกจำคุกนั้นให้เกิดประโยชน์ ด้วยการฝึกฝนตนเองในการทำงานจักสาน จนสามารถสานซองบุหรี่ที่ประณีตและสร้างสรรค์อย่างน่าอัศจรรย์เป็นฎีกาถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตนเอง แม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยว่าในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนที่ยังเขียนอ่านไม่ได้ก็ยังมีอยู่มาก ถ้าเป็นคนจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารน่าจะยิ่งอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ นักโทษเหล่านั้นจะรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้กันทุกคนหรือ ทั้งยังมีทักษะใช้ภาษาได้ดีและใช้ราชาศัพท์ได้เกือบถูกต้อง หรือจะเป็นเพียงการจดจำถ่ายทอดกรรมวิธีการสานให้เป็นตัวอักษรตามแบบตัวอย่างที่มีอยู่เดิม หรือมีนักโทษคนอื่นทำซองบุหรี่เหล่านี้ให้ในลักษณะรับจ้างหรือในลักษณะช่วยเหลือกัน
.

ที่มา : ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร “ซองบุหรี่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
         โดย สมชาย ณ นครพนม ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
         นิตยสารศิลปากร หน้า ๑๑๔-๑๒๗, สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กันยายน 2562 17:01:08 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.59 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 18:58:58