[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 15:59:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue) (ผู้ดูแล: มดเอ๊ก)


.:::

สนทนาอย่างสุนทรีย์ กับ วิศิษฐ์ วังวิญญู โดย นิตยสารGM

:::.
หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สนทนาอย่างสุนทรีย์ กับ วิศิษฐ์ วังวิญญู โดย นิตยสารGM  (อ่าน 13508 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
Moderator
นักโพสท์ระดับ 14
*****

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2553 22:42:49 »







สนทนาอย่างสุนทรีย์ กับ วิศิษฐ์ วังวิญญู
บทสัมภาษณ์ โดย นิตยสารGM
(ตัดทอนแล้วบางส่วน)

เราเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดคุณจะต้องเคยผ่านหูผ่านตาหนังสือของ วิศิษฐ์ วังวิญญู มาแล้ว 1-2 เล่ม เพราะตลอด 30 ปืที่ผ่านมา เขาเป็นนักคิด นักเขียนและบรรณาธิการ ที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอที่สุดคนหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่สมัยการแสวงหาของคนนุ่มสาว ในช่วง พ.ศ. 2516-2519 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาเริ่มต้นมาสู่แวดวงนี้ มาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือเขายังคงรักษาความเชื่อ แนวทางของตนเองได้อย่างคงเส้นคงวา แนวทางหนังสือของเขามักจะเป็น New Age หรือใช้คำเรียกแบบไทยๆว่า “จิตวิวัฒน์” ที่พูดถึงวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ การพัฒนาจิตวิญญาณ ธรรมะแบบตะวันออก โรงเรียนแนวใหม่ การรักษาสุขภาพแนวทางเลือก อะไรๆ เทือกนี้แหละ บางคนอาจได้อ่านหนังสือของเขามาหลายเล่ม โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่กระแสนิวเอจมาแรง อย่างเช่น เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ,แผนที่คนทุกข์, ดวงตะวันดวงใจฉัน ฯลฯ หนังสือเหล่านี้อ่านแล้วสบายใจ ให้ความหวังและน่าจะเป็นแนวทางใหม่ให้กับชีวิต ล่าสุดเขามีหนังสือใหม่อีก 2 เล่ม พูดถึงสภาวะภายในชีวิตที่กำลังลื่นไหลด้วยจิตใต้สำนึก อย่างที่เขาเรียกมันว่าคือ มณฑลแห่งพลัง และหลักการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขอย่างที่เขาเรียกมันว่า สุนทรียสนทนา น่าจะถึงเวลาเสียทีที่เราจะหอบเทปอัดเสียงและสะพายกล้องถ่ายรูป ข้ามฟ้าและขึ้นไปพบเขาที่จังหวัดเชียงราย เพื่อพูดคุยกับเขาในท่ามกลางกระแสชีวิตของเมืองอันเชี่ยวกราก เพื่อเรียนรู้ว่ามณฑลแห่งพลังของเขา และสุนทรียสนทนาของเขานั้นเป็นอย่างไรกันแน่ เราจึงหอบความเหนื่อยล้าอย่างคนเมือง และหิ้วความอยากรู้อยากเห็นอย่างคนเขลาไปเป็นของฝากเขา จากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร โดยเขานั่งรอการมาเยือนของเราอย่างเยือกเย็น ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้า เครื่องดื่มร้อนๆ มีควันหอมกรุ่น วิศิษฐ์ วังวิญญู ได้ฝากบทสนทนาอันสุนทรีย์นี้มาเพื่อส่งต่อให้คุณได้ลองอ่าน และลองพิจารณาไตร่ตรองถึงชีวิตในวันนี้ของพวกเราทุกคน

GM : ช่วยพูดถึงหนังสือในช่วงหลังๆของคุณ อย่างเรื่อง “จิตวิวัฒน์” “มณฑลแห่งพลัง” และ “สุนทรียสนทนา” ว่าคุณกำลังสนใจอะไรและถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้นออกมาอย่างไร

วิศิษฐ์ : หนังสือที่ออกในช่วงนี้เป็นผลผลิตของชีวิตทั้งชีวิตก็ว่าได้ คล้ายๆกับการตกผลึก เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ความคิดจะลงตัวมากขึ้น มันเป็นการประมวลจากหนังสือต่างๆที่เคยอ่านมาในหลายๆช่วงชีวิต มาจากชีวิตการทำงานด้วยและมาจากความชอบส่วนตัวด้วย ในชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มที่อยู่กรุงเทพฯผมเลือกใช้ชีวิตแบบทางเลือก คือไม่ได้เดินไปตามกระแสสังคม แต่พยายามใช้ชีวิตไปตามกระแสความเชื่อ ที่ว่ามันน่าจะดีก็อ่านหนังสือ เขียนหนังสือมาเรื่อยๆ

ผมเป็นคนชอบพูดคุย สนใจเรื่องผู้คน เมื่อก่อนชีวิตผมมีผู้คนห้อมล้อมมากมายและตลอดเวลา อย่างตอนที่ทำปาจารยสารฉบับหัวกะทิ ก็อยู่กับทีมงานเยอะแยะ ออฟฟิศเราเช่าบ้านหลังหนึ่งแถวลาดพร้าว อยู่ด้วยกัน 7-8 คน เหมือนเป็นชุมชน ไม่ใช่แค่การเป็นออฟฟิศทำงาน จึงมีการพูดคุยกันตลอดเวลา ดูแลชีวิตกันและกันบรรยากาศแบบตอนนี้แหละ สุดท้ายมันก็กลายมาเป็นแนวคิดสุนทรียสนทนา ซึ่งพอถึงจุดนี้มันจะเข้าใจง่ายแล้ว คนทั่วไปก็จะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น คนรุ่นที่ทำปาจารยสาร ฉบับหัวกะทิ ตอนนี้ที่แยกย้ายกันไปแต่ละคนก็ยังคงทำงานที่มีประโยชน์ เป็นผู้นำในเรื่องราวของตนเอง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า การใช้ชีวิตร่วมกันแบบนั้นในช่วงนั้นทำให้เกิดประโยชน์กับทุกคนจริงๆ

สมัยนั้นเวลาประชุมกันเราก็ไม่ถกเถียงกันหรือตำนิอะไรกันหนักหนา คือผมเชื่อว่าคนเราจะทำงานอะไรได้ดี เขาต้องมีพื้นที่ของตัวเองในแวดวงนี้ เพื่อนฝูงยังเคยบอกเลยว่าผมตามใจคนงานมากเกินไป ทำให้ทีมงานมีความมั่นใจในตัวเอง เวลาเขาไปพบเจอใครหรือพูดคุยกับด้วยวัยที่เขายังเด็กกันอยู่ เขาจะมีความอหังการเหลือเกิน

GM : คนทำงานปาจารยสารเวลาอยู่ร่วมกันมีขัดแย้งกันบ้างไหม

วิศิษฐ์ : ไม่ถึงกับทะเลาะกันหรอก แต่มันพอจะมีกลิ่นอยู่นิดหนึ่งว่าแต่ละคนมีที่มาแตกต่างกัน ก็เลยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ก็ไม่ถึงกับเข้ากันไม่ได้ แต่คงเขม่นๆกันบ้าง เขาถูกแบ่งออกด้วยความสนใจ เช่นกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกผู้หญิงก็จะชอบทำเรื่อง ติช นัท ฮันห์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกห้าวๆ หัวรุนแรงสนใจการวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากกว่า สนใจเรื่องสังคม วัฒนธรรม และศาสนา เพราะปาจารยสารมีความเป็นซ้ายในเชิงวัฒนธรรม จิตวิญญาณ

GM : การแบ่งแยกแนวคิดระหว่างคนทำงาน สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกแนวความคิดระดับโลกได้ไหม คือพวกที่เข้าวัดเข้าวาก็เป็นกลุ่มหนึ่งส่วนพวกที่วิพากษ์วิจารย์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง

วิศิษฐ์ : ผมว่าเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลง พวกซ้ายแบบแข็งๆ กลายเป็นกลุ่มก้อนที่เล็กลงเรื่อยๆ พวกที่เอาจริงเอาจัง และเชื่อไปทางนั้นจริงๆก็มีน้อยลงทุกที ตอนนี้กระแสโลกเราเอนมาทาง NEW AGE ที่เราเชื่อมทุกเรื่อง ทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน อย่างการเชื่อมเรื่องความยุติธรรมเข้ากับเรื่องจิตวิญญาณ เข้ากับเรื่องความงาม และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด ผมเริ่มเห็นความเชื่อมโยงมีมากขึ้นในคนรุ่นใหม่

เราไม่ได้แบ่งแยกว่าคนนี้เป็นสายวัด คนนี้เป็นพวกซ้ายจัด ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ผมกล่าวในหนังสือมณฑลแห่งพลัง คือการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายการทำงานของสมอง การรับรู้ เรียนรู้ การใช้สมองกับการกีฬา ทั้งเทนนิสและกอล์ฟ การที่เราจะตีเทนนิส ตีกอล์ฟให้ดี ต้องเริ่มจาการจัดการภายใน เรืองพวกนี้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ ผมว่านี่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความเชื่อมโยงถึงกันของภูมิปัญญาทุกสาย

GM : คือไม่ว่าจะมีความเชื่อมาจากสายไหน สำนักใด แตกต่างกันเพียงใด ในท้ายที่สุดแล้ว เราก็สามารถหาความเชื่อมโยงถึงกันได้หมด

วิศิษฐ์ : อย่างผมตามอ่านหนังสือที่ท่านทะไลลามะคุยกับนักวิทยาศาสตร์มา 4-5 เล่มแล้ว คำที่ผมประทับใจที่สุด ท่านบอกว่า เราไม่ต้องไปเปลี่ยนให้ใครมานับถือศาสนาพุทธหรอก ท่านไม่สนใจเรื่องการเปลี่ยนศาสนา แต่ท่านสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีมิติทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้น ซึ่งนั่นคือทุกศาสนาครอบคลุมทุกศาสนา ในหนังสือมณฑลแห่งพลัง ก็ถือเป็นความพยายามของผมที่จะเขียนเรื่องจิตวิญญาณ โดยไม่อิงอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง บางทีคนคริสต์มาอ่าน อาจจะบอกว่านี่มันคริสตธรรมนี่นา พอคนพุทธมาอ่าน อาจจะบอกว่านี่มันพุทธรรมนี่นา หรือคนที่ไม่มีศาสนาเลย พออ่านแล้วบอกว่า เฮ้ย นี่มันนิวเอจนี่นา หรือนี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันนี่

GM : เป็นไปได้หรือที่หนังสือเล่มหนึ่งจะถูกตีความว่าเป็นศาสนาใดก็ได้ ในเมื่อดูเหมือนว่า แต่ละศาสนามีจุดแยกกันตั้งแต่เริ่มต้น คือเรื่องพระเจ้าและเรื่องการมีอยู่ของความจริงสูงสุด

วิศิษฐ์ : อืมม์...(คิดนาน) ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Power of Myth คำว่า Myth นี่แปลว่าอะไรนะ ตำนานปรัมปรา หรือว่า มายาคติใช่ไหม คนเขียนชื่อ โจเซฟ แคมป์เบลล์ (Joseph Campbell) หนังสือนี้ใช้รูปแบบสัมภาษณ์เหมือนกัน โดย บิลล์ โมเยอร์ส (Bill Moyers) เขาเป็นนักสัมภาษณ์ชาวอเมริกัน ที่ทำงานสัมภาษณ์ยากๆ เขาสัมภาษณ์โจเซฟ แคมป์เบลล์ ถึงเรื่อง Myth นี่แหละ ออกมาเป็นเล่มเลย แล้วโจเซฟ แคมป์เบลล์ ก็พูดเรื่องที่คุณถามพอดี เขาบอกว่า คริสต์ พุทธ อิสลามนั้นเป็นเพียงบุคลิกภายนอก เหมือนกับตัวผมมีบุคลิกภายนอกแบบนี้ ตัวคุณมีบุคลิกภายนอกแบบนั้น แต่ลึกๆ เข้าไปข้างในใจเรา ในตัวเรา เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้น งานที่ผมเขียนอยู่คืองานเกี่ยวกับมนุษย์ ที่เลยพ้นบุคลิกแบบคริสต์ พุทธ อิสลาม ผมว่าบุคลิกภายนอกบางทีก็เป็นอุปสรรค

อย่างตอนนี้เรากำลังมีความขัดแย้งระหว่างศาสนากันอยู่มากเลยใช่ไหม ถ้าเราไม่ยึดติดอยู่กับบุคลิกภายนอกพวกนี้ อย่างเช่นคุณเดินผ่านคนหนึ่ง ดูท่าทางเป็นคนชอบหาเรื่อง นี่คือคุณติดอยู่กับภายนอกของเขาแล้ว แต่คุณมองเข้าไปข้างในตัวเขาไหมล่ะ คุณเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับคุณไหม ถ้ามองให้ลึกๆ เราทุกคนจะเชื่อมโยงเข้าหากันได้หมด ไม่ว่าจะศาสนาใด ประเทศใด โจเซฟ แคมป์เบลล์ ตีความเรื่องการฟื้นคืนของพระเยซูว่าอาจจะไม่ใช่การฟื้นคืนชีวิตจริงๆ ตำนานเรื่องการฟื้นคืนเป็น Metaphor มากกว่า ที่จะนำผู้นับถือศาสนาไปสู่อะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่านี้ ดังนั้น ผมว่าศาสนาทุกศาสนาก็เหมือนกัน คือจะนำคนเราให้เข้าไปลึกกว่าตัวศาสนาเอง ไม่ใช่ติดอยู่กับแค่บุคลิกภาพภายนอกของศาสนา ซึ่งบุคลิกพวกนี้ก็ถูกกำหนดอีกทีด้วยประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และด้วยตำนานปรัมปราของศาสนาด้วย


GM : คือเป็นศาสนาสากลใช่ไหมครับ

วิศิษฐ์ : คงจะทำนองนั้นนะ แล้วมันยังมีอีกคำหนึ่ง คือ Intuition หรือ ญาณทัศนะ ผมว่าญาณทัศนะก็คล้ายกับเรื่องจิตไร้สำนึกของทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็นจิตใต้สำนึกและจิตเหนือสำนึก จิตใต้สำนึกเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ ฟรอยด์จะพูดถึงเรื่องนี้เยอะ และจิตเหนือสำนึกเป็นเรื่องจิตที่ละเอียดขึ้น เมื่อจิตละเอียดขึ้น คุณจะเกิดอาการ ปิ๊ง...แวบ เมื่อเราหยั่งลงจิตไร้สำนึก เปิดพื้นที่ให้จิตไร้สำนึกได้มีที่ทำงาน จะเกิดอาการปิ๊งแวบ งานศิลปะจะต้องใช้อะไรแบบนี้ การเขียนหนังสือก็ใช่ เมื่อเราคิดอะไรอยู่ในหัวแล้วรู้สึกว่ายังไม่ลงตัว สักพักเราเดินไปดื่มกาแฟ หรือไปทำโน่นทำนี่สบายๆ อยู่ๆ มันก็ปิ๊งแวบขึ้นมา แล้วก็เอามาใช้งานได้เลย

GM : การปิ๊งแวบที่คุณกล่าวถึงแบบวิทยาศาสตร์ ขัดกับแนวคำสอนแบบพุทธของท่านติช นัท ฮันห์ ที่สอนให้เราตื่นอยู่เสมอ และตระหนักรู้กับปัจจุบันเสมอไหม เพราะว่าการปิ๊งแวบมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังทำอะไรบางอย่างเพลินๆ

วิศิษฐ์ : มันดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องกันนะ แต่มันอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้นี่ แนวความคิดของท่านนัท ฮันห์ สอนให้เราเดินเพื่อเดิน ล้างจานเพื่อล้างจาน กินส้มเพื่อกินส้ม คุณคิดว่ามันต่างจากการปิ๊งแวบที่เราต้องทำอะไรอย่างเพลินๆ ใช่ไหม อืมม์...(คิดนาน) เดี๋ยวผมขออธิบายอะไรยาวๆ เลยนะ เพื่อทำการกายวิภาคของการปิ๊งแวบ คนเราจะเกิดการปิ๊งแวบได้ดีตอนที่ผ่อนคลาย หรือในหนังสือมณฑลแห่งพลัง ผมใช้คำว่า Flow นี่คือประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้เลยนะครับ

Flow คือการใช้ชีวิตที่ดำเนินไปอย่างลื่นไหล ไม่ติดขัด ชีวิตที่ Flow เหมือนกับการเล่นสกีหรือการขี่จักรยานลงเขา คือคนเราดำเนินชีวิตด้วย 2 โหมด คือโหมดปกติและโหมดปกป้อง นักชีววิทยาพยายามศึกษาร่างกายของมนุษย์ลงไปในระดับเซลล์และระดับโมเลกุล เขาอธิบายว่า ในโหมดปกติ หรือเวลาที่เรา Flow มนุษย์เราจะมีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ 1. เติบโต 2. ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ 3. คืนพลังความสดชื่น 4. เรียนรู้ ส่วนในโหมดปกป้อง มนุษย์เราจะมีคุณสมบัติ 4 อย่างเหมือนกัน คือ 1. ไม่เติบโต 2. ไม่ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ 3. ไม่คืนพลังความสดชื่น 4. ไม่เรียนรู้

ตอนนี้คุณกำลังอยู่ในโหมดไหน คุณดูตัวเองได้ง่ายๆ ถ้าอยู่ในโหมดปกติ คุณจะผ่อนคลาย แต่ถ้าคุณอยู่ในโหมดปกป้อง คุณจะรู้สึกเร่งรีบ บีบคั้น เครียด เวลาคุณอยู่ในโหมดปกป้อง คลื่นสมองคุณจะเป็นแบบเบตา คุณจะทำอะไรเร็วๆ และทำอะไรไปตามอัตโนมัติ ไปตามความคุ้นชินเดิม คุณไม่ได้ตระหนักรู้ในปัจจุบันเลยนะ อย่างเวลาขับรถอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน ถ้าตอนแรกคุณตั้งใจว่าจะแวะไปซื้อของเข้าบ้านก่อน แต่ตอนนั้นคุณกำลังเครียดๆ อยู่ คุณจะเลี้ยวรถกลับบ้านเลย เพราะลืม คือคุณขับรถไปอย่างอัตโนมัติ

แต่ถ้าคุณอยู่ในโหมดปกติ คุณจะผ่อนคลาย คลื่นสมองเป็นแบบอัลฟา คุณจะผ่อนคลาย แต่ตื่นตัวอย่างตระหนักรู้ พร้อมจะเรียนรู้ ไม่ใช่ผ่อนคลายแบบง่วงเหงานะ คลื่นสมองในช่วงนี้แหละที่คุณจะเชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึกได้ดีกว่า คุณจะได้พบญาณทัศนะ เวลาสมองเป็นคลื่นเบตา เหมือนกับนั่งอยู่ในห้องที่มีเสียงอึกทึก คุณจะไม่ได้ยินเสียงกระซิบของญาณทัศนะ ผมคิดว่าคำสอนของท่านนัท ฮันห์ ที่ว่าให้เราตื่นรู้ในปัจจุบัน อย่าใช้ชีวิตไปแบบอัตโนมัติ อย่าใช้แต่ความคุ้นชินเดิมๆ นั่นคือสอนให้เราฝึกหัดดูแลชีวิต ให้อยู่ในโหมดปกติ ให้คลื่นสมองอยู่ในแบบอัลฟา ซึ่งก็จะทำให้เราเชื่อมต่อกับญาณทัศนะได้ดีที่สุดนั่นเอง คือถ้าคุณแกะส้มไปตามอัตโนมัติ ใจลอยไปคิดเรื่องอื่น หรือเรื่องที่กำลังเคร่งเครียดกับมันอยู่ คุณก็ไม่เกิดญาณทัศนะ แต่เมื่อคุณผ่อนคลาย คุณอยู่ใน Flow แกะส้มอยู่ และตระหนักรู้ในปัจจุบันว่ากำลังแกะส้มอยู่ ณ จุดนั้นจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกจึงจะเชื่อมต่อถึงกันได้ มันจะคุยถึงกัน ถ้าคุณฝึกสติไปเรื่อยๆ คุณจะเกิดญาณทัศนะขึ้นมา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
Moderator
นักโพสท์ระดับ 14
*****

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2553 22:43:57 »




GM : บางคนเชื่อเรื่องญาณทัศนะว่ามาจากภายในใจเรา ความรู้ทุกอย่างในโลกล้วนอยู่ภายในตัวเรา คุณว่าจริงไหม

วิศิษฐ์ : ตอนนี้มนุษย์เราเข้าใจศักยภาพของสมองเราน้อยมากจริงๆ พวกนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการทำงานของสมองก็พูดตรงกันหมด ว่ามนุษย์เราทุกวันนี้ใช้สมองแค่ 5% หรืออาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ ถ้ามองสมองแบบรูปธรรม เซลล์สมองมีเป็นแสนล้านเซลล์ และพวกมันก็โยงใยกันแบบสลับซับซ้อน ซับซ้อนกว่าซีพียูคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ ทำงานกันเป็นวงจรหลายมิติ ไม่ใช่แบบ Linear ด้วย แต่มันเป็นแบบ Network และมันทำงานพร้อมกันหมด ทำงานแบบจัดการตัวเอง ในหัวคุณจึงมีซีพียูนับหมื่นๆ ซีพียู กำลังทำงานพร้อมกันแบบคู่ขนาน แค่มองในแบบรูปธรรม คุณก็จะเห็นว่าสมองเรามีศักยภาพเป็น Infinity จิตสำนึกของเราที่เรารู้สึกตัวว่ากำลังคิดอยู่ในตอนนี้ ไม่สามารถรับรู้การทำงานทั้งหมดของสมอง ถ้ารับรู้ได้หมด เราก็บ้าไปแล้ว เรารับรู้ได้แค่ส่วนหนึ่ง เปรียบเทียบอาจจะแค่หยดน้ำกับมหาสมุทร แล้วนี่แค่สมองของคน 1 คนนะครับ

มนุษย์เราไม่ได้อยู่บนโลกคนเดียว เรารวมกันอยู่เป็นสังคม ติดต่อสื่อสารกัน นักฟิสิกส์บางคนตั้งสมมุติฐานว่า สมองมนุษย์เราไม่ได้ทำงานแบบเป็นสนาม สนามของคนหนึ่งไปเชื่อมโยงถึงสนามของอีกหลายคน และรวมกันกลายเป็นสนามปัญญาของมนุษย์ชาติ รูเพิร์ต เชลเดรค (Rupert Sheldrake) ใช้คำเรียกว่า Morphic Resonance นี่เราพิจารณาศักยภาพของสมองมนุษย์ในแบบสถานที่นะว่ามันเชื่อมต่อถึงกันได้หมด แล้งสมองของมนุษย์ยังไม่จำกัดกาลด้วย ผ่านวิวัฒนาการการเวียนว่ายตายเกิด เหมือนอย่างสมองของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมีมาในอนาคต แสดงให้เห็นว่าสมองของเราแต่ละคนสั่งสมความรู้ต่างๆ มา โดยข้ามผ่านทั้งสถานที่และข้ามผ่านทั้งเวลา

แถมยังมีความเชื่ออีกสายหนึ่ง นักฟิสิกส์ที่เป็นพวกกระบวนทัศน์ใหม่ เขาเสนอว่า วัตถุที่เราเห็นอยู่นี้เป็นแสงที่ถูกแช่แข็ง คือสภาวะเบื้องต้นที่สุดของทุกสิ่งเป็นแสงสว่าง ซึ่งนี่ก็บังเอิญไปตรงกับความเชื่อของคนทิเบตนะ เขาบอกว่า สภาวะเดิมแท้ของมนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาลเป็นแสงใสกระจ่าง เขาใช้คำว่า Clear Light ปกติแสงมีอิสรภาพ แต่มันถูกขัง ถูกแช่แข็งเอาไว้ แล้วแสงแช่แข็งก็มารวมตัวกัน กลายเป็นอะตอม กลายเป็นโมเลกุล กลายเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มันพยายามปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ ด้วยการสร้าง Life Form ขึ้นมา ผมเชื่อว่า ยิ่ง Life Form นั้นสลับซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งกลับเข้าไปใกล้สภาวะดั้งเดิมของมัน คือแสงใสกระจ่าง เพื่อปลดปล่อยพลังดั้งเดิมของมันออกมาในรูปของปัญญา โยคีบางคนจึงกล่าวว่า มนุษย์คือแสง Being of Light สัตว์แห่งแสง ในแต่ละลำดับขั้นที่แสงก่อร่างขึ้นมา มันจะยังคงรักษาแบบแผนเดิมของมันเอาไว้ ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลจึงมีแบบแผนเดียวกัน มนุษย์เป็นภาพสะท้อนของจักรวาล ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีอยู่ในจักรวาล ก็จะมีอยู่ในตัวมนุษย์เช่นเดียวกัน

GM : คุณว่าเรื่องพวกนี้ไม่ควรถกเถียงกันไหมครับ เหมือนคำทางพุทธเขาเรียกว่าอจินไตย คือพูดไป ศึกษาไป ก็ไม่มีใครรู้ชัดได้

วิศิษฐ์ : ก็จริง พระพุทธเจ้าไม่ตอบด้วยซ้ำไปว่ามนุษย์มาจากไหน จักรวาลมาจากไหน ผมว่านี่เป็นเรื่องของท่าทีของศาสนาพุทธ ในสมัยพุทธกาล ความรู้ด้านฟิสิกส์ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าอย่างในทุกวันนี้ เราต้องแบ่งให้ชัดถึงเรื่องสาระและเรื่องท่าที สำหรับผมเรื่องพวกนี้ถ้าเราออกมาถกเถียงกันเพื่อแค่เอาชนะกัน แค่นั้นจบ ถ้าเป็นแบบนี้ ผมก็ว่าอย่างพระพุทธเจ้าน่ะ คือไร้สาระ อย่ามานั่งเถียงกันเลย แต่สำหรับบางคนที่เอาไปคิด พิจารณาแล้วช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น เขารักครอบครัวมากขึ้น มีความสุขกับภรรยามากขึ้น แบบนี้ก็ดีไม่ใช่หรือ นี่เป็นประเด็นท่าทีสำหรับบางคนที่กระหายความรู้ และเขาได้รับความรู้ที่ถูกที่ควร

อย่างเรื่อง Clear Light ก็มาจากสายมหายาน จากทางทิเบต ซึ่งผมถือว่าเป็นสัมมาทิฐิ เป็นความรู้ในทางที่ถูกที่ควร มันจะช่วยบางคนที่ชอบสืบค้น พวกที่อยากรู้อยากเห็น มันทำให้เขาง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ดับกระหายความอยากรู้อยากเห็น ถ้าไม่ดับความกระหายนี้เสียก่อน เขาก็คงไม่ยอมอยู่นิ่ง พระสารีบุตรตรัสรู้ช้ากว่าพระโมคคัลลานะ เพราะท่านเป็นปัญญาชน ท่านอยากรู้อยากเห็น และความอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่าล่ะ นี่คือเรื่องของท่าทีแล้ว

GM : เวลาคุณเลือกหนังสือมาอ่าน หรือเลือกเชื่อนักปราชญ์ท่านไหน คุณเลือกอย่างไรจึงจะไม่ไปเจอมิจฉาทิฐิ

วิศิษฐ์ : ผมว่าถ้าชีวิตเราอยู่ในโหมดปกติ สมองอยู่ในคลื่นอัลฟา ตระหนักรู้และตื่นอยู่ตลอด เวลาเราไปสัมผัสกับอะไรใหม่ๆ เราจะบอกได้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ เราจะมีแนวทาง มีเครื่องนำทางที่ชัดเจน แต่ถ้าใจเราไม่นิ่ง อยู่ในโหมดปกป้องตัวเอง สมองอยู่ในคลื่นเบตา ยังติดอยู่กับอัตตา ยึดกับสำนักไหนสำนักหนึ่งตลอด แบบนี้ก็ไม่ใช่แล้ว อย่างหนังสือของพวกโพสต์โมเดิร์นนิสม์บางเล่ม ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้นำพาชีวิตไปถึงไหน แต่ผมยังไม่ได้ศึกษาพวกนี้อย่างละเอียด จึงวิจารณ์เขาได้ไม่มากนัก แต่ผมว่าเราไม่ต้องเกร็งมากก็ได้นะ ถ้าจะไปผิดทาง ก็ลองไปผิดบ้างก็ได้ จะได้รู้ว่าทางที่ถูกควรเป็นอย่างไร

อาจจะเป็นเพราะโชคดีที่ผมโตมาพร้อมกับการอ่านงานของท่านพุทธทาส เจ้าคุณประยุทธ์ (ปยุตโต) ถ้าคุณได้เริ่มด้วยการอ่านงานของ 2 ท่านนี้ หลังจากนั้นคุณก็คงไม่หลงทางไปไหน แต่ไม่มีใครหรือหนังสือเล่มไหนจะสมบูรณ์แบบไปเสียหมดนะครับ อย่างท่านนัท ฮันห์ ผมเองก็มีโอกาสได้สัมผัสกับท่าน และเติบโตทางจิตวิญญาณ ด้วยการได้พบปะกับท่าน ไม่ใช่แค่การอ่านจากหนังสือของท่าน ผมได้สัมผัสกับ Tacit Knowledge คือความรู้ที่ไม่ใช่แค่ในตัวหนังสือ

การได้ไปเจอคนจริงๆ ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศรอบตัวท่าน ผมได้รับอะไรบางอย่างมาอย่างลึกซึ้ง แต่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับท่านทุกเรื่อง ในแง่ธรรมะ ผมเห็นด้วยอย่างมาก แต่ในระดับรายละเอียด อย่างเช่นการนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องการจัดองค์กร แบบนี้ผมต้องไปหาเรียนรู้จากที่อื่น มีอีกหลักหนึ่งในการตัดสินนะครับ ผมถือว่าชีวิตส่วนตัวของผู้เขียนเป็นอย่างไร การเป็นอิสระจากการยึดติดอัตตา ชื่อเสียง ลาภยศ ชีวิตจริงของพวกท่านสอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการไปเป็นแบบนั้นหรือเปล่า คือคนเราถ้าจะเขียนหนังสือด้วยอัตตาของเขา ด้วยการอวดภูมิรู้ของเขา เพื่อที่จะแสดงออกมาแค่ว่าฉันรู้ ฉันเก่ง มันจะมีกลิ่น คนอ่านจะสัมผัสได้

GM : อยากให้คุณเล่าถึงขั้นตอนการเติบโตทางจิตวิญญาณของคุณว่าคุณอ่านอะไร ศึกษาอะไร และทำให้จิตวิญญาณคุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร

วิศิษฐ์ : ผมอ่านหนังสือพวกนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมนะ ผมเริ่มอ่านตั้งแต่ An Introduction to Zen Buddhism ของ ไดเซท เทตาโร ซูซูกิ (Daisetz Teitaro Suzuki) ซึ่งเป็นฆราวาสที่ไปอยู่อเมริกา แล้วเขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธแนวเซน มี จำนงค์ ทองประเสริฐ นำมาแปลเป็นไทยด้วย แต่ผมอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษเลย ผมโตมาแบบเด็กกำพร้า ผมกำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าทำไมชีวิตนี้ถึงได้ทุกข์จัง เด็กกำพร้านี่มันเหงานะ และเราต้องการแสวงหาความรู้อะไรบางอย่าง โลกนี้คืออะไร เกิดมาทำไม ตั้งแต่จำความได้ ผมก็อยากรู้เรื่องพวกนี้แล้ว และความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก

ตอนเด็กๆ หนังสือเล่มแรกที่ผมหยิบมาอ่าน คือ Little Man ของ หลุยซา เมย์ ออลคอต ฉบับภาษาไทยที่แปลโดย อ. สนิทวงศ์ มาอ่าน เธอเขียนจากพื้นฐานเรื่องจริง คือเธอมีพ่อเป็นคนทดลองทำโรงเรียนทางเลือก ตั้งแต่สมัยแรกๆ ในอเมริกา หนังสือเล่มนี้เก่ามาก เขาทำโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 วิธีการที่เขาดูแลเด็กๆ ในโรงเรียนมีกลิ่นอายอะไรบางอย่าง มีความพยายามที่จะค้นหาการศึกษาแนวใหม่ ความพยายามที่จะเข้าไปแตะหัวใจของเด็ก ไม่ใช่แค่เห็นเด็กเกเรแล้วจะไปทำโทษเขา นั่นเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ผมประทับใจ ตอนนั้นผมยังอยู่บ้านยายที่นครสวรรค์ ก็ยังไม่ค่อยมีหนังสืออะไรให้อ่าน จนผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ เมื่อตอนอายุ 13 ก็ค่อยเริ่มอ่านหนังสือที่จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ จำได้ว่าผมเดินไปสำนักพิมพ์ศึกษิต เพื่อซื้อหนังสือหนาๆ ของ สมัคร บุราวาศ คนขายทำหน้างงๆ คนขายเป็นป้าๆ หน่อยนะ เขาก็ถาม หนูซื้อไปให้ใคร ก็บอกผมอ่านเองครับ หนังสือของท่านซูซูกิ ผมซื้อมาเป็นชุดเลย เอาเงินเดือนที่ได้มาไปซื้อ ผมนอนอ่านวันละ 1-2 หน้าเท่านั้น เพราะกลัวจะจบเร็ว มันอ่านแล้วมีความสุขมากจริงๆ

จนช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัย และเริ่มทำกิจกรรมนักศึกษา ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ผมตามอ่านหนังสือสังคมศาสตร์ ปริทรรศน์ และก็ตามอ่านหนังสือที่มีบทวิจารณ์ในนั้น ต่อมาผมได้รู้จักกับนิโคลัส เบนเนทท์ เขาเป็นที่ปรึกษาองค์การยูเนสโก คนในวงการการศึกษาจะรู้จักเขาดี ผมเห็นนิโคลัสอ่านหนังสือรีเซอร์เจนซ์ (Resurgence) หนังสือรีเซอร์เจนซ์ทุกวันนี้ยังมีอยู่เลยนะ เขานำนักคิดระดับโลกมาเขียนในนั้น ผมอ่านงานของคาปรา (Fritjof Capra) ครั้งแรกก็ในนั้น ช่วงนั้นปี 2515 ผมอยู่ปี 1 ที่มหิดล แล้วก็ดร็อปเรียนเอาไว้ ได้อ่าชูมัคเกอร์ (E.F. Shumacher) และผมก็เริ่มแปลงานของชูมัคเกอร์ เล่มแรก คือ มนุษย์ที่แท้

GM : ถ้าอยู่ในสังคมกระแสหลัก มนุษย์ก็อาจจะสับสนว้าวุ่นอยู่กับทุนนิยม กับบริโภคนิยม สับสนกับชีวิตเมือง ไม่แตกต่าง
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
Moderator
นักโพสท์ระดับ 14
*****

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2553 22:47:58 »




วิศิษฐ์ : (หัวเราะ) ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะไหน มนุษย์เราก็ไม่มีทางพอใจในชีวิตหรอก แต่ชีวิตแบบขบถจะมีความเสี่ยงมากกว่า มีความผันผวนมากกว่า สังคมไทยเราน่ารักนะ ถึงแม้ผมจะยากลำบากแค่ไหน ชีวิตผมเคยอดข้าวแค่มื้อเดียว นั่นคือไม่มีเงินจริงๆ ไม่มีอะไรจะกินจริงๆ ตอนนั้นยังหนุ่มยังมีความหยิ่ง เวลาไปเจอเพื่อนฝูงก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอ เฮ้ย มึงเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวกูหน่อย เลี้ยงข้าวกูหน่อย แต่นั่นคือครั้งเดียวมื้อเดียวจริงๆ ผมจำไม่ได้แล้วว่าวันไหน ตอนนั้นอายุสัก 20 กว่า พอได้มากินมื้อนั้น ผมรู้สึกว่า เฮ้ย บะหมี่นี่แม่งอร่อยฉิบหาย (หัวเราะ) โคตรอร่อยเลย สังคมไทยเรายังน่ารัก คุณไม่มีทางอดตายหรอก ถ้าคุณมีความมุ่งมั่น อาจจะลำบากนิดหน่อย แต่ไม่อดตายแน่ ผมว่าคนรุ่นผมเป็นรุ่นที่มีอุดมการณ์ว่าอยากจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม ผมสนใจเรื่องความยุติธรรมของสังคม แต่ผมไม่ซ้ายจัด แค่รู้สึกว่าหนังสือแคปิตาลิสม์ของมาร์กซิสม์นั้นเมกเซ้นส์ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทุกรูปแบบ ผมเลยไม่เข้าป่า

GM : ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน แนวไหน และจิตวิญญาณของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

วิศิษฐ์ : ตอนนี้ผมกำลังเป็นบรรณาธิการให้หนังสือ Leadership in the New Science ผู้นำในวิทยาศาสตร์ใหม่ ของมาร์กาเร็ต วีทลีย์ (Margaret J. Wheatley) เป็นพวกนิวเอจเหมือนกัน อืมม์...ขอเรียกว่าพวกจิตวิวัฒน์ดีกว่า นิวเอจฟังแล้วสับสน สิ่งที่พวกจิตวิวัฒน์กำลังทำกันทั้งหมด จะมุ่งไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคมจริงๆ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ ให้คุณค่ากับความหลากหลาย มองชีวิตเป็นข่ายใย เป็นเครือข่าย ไม่ได้เป็นแบบลดหลั่นเป็นชั้นๆ เช่นสมัยก่อนเราเชื่อว่าสมองสั่งการทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่สมองสั่งการลงมา แต่ละเซลล์ล้วนมีปัญญา ผมคิดว่ายุคสมัยของการมีศาสดาองค์เดียว ที่ให้คำตอบที่ถูกต้อง ทุกอย่างแล้วทุกคนเอาไปทำตามนั้น แบบนี้จบแล้ว แต่คำว่าจบแล้วในที่นี้ ไม่ใช่ว่าผมปฏิเสธภูมิปัญญาของศาสดาที่มีมาตั้งแต่เก่าก่อน เพราะว่ายุคสมัยนั้นก็ทำให้ภูมิปัญญาออกมาแบบนั้น แต่ยุคสมัยนี้ เราไม่ต้องมีศาสดา ปัญญาอยู่ที่ตัวเราทุกคน เราจึงต้องมาอยู่ร่วมกัน และสร้าง Dialogue หรือสุนทรียสนทนานั่นแหละ เพื่อให้ได้ภูมิปัญญาออกมา นี่คือประเด็นหลักของหนังสือเรื่องสุนทรียสนทนา ในวงสุนทรียสนทนา ทุกคนเป็นผู้นำทั้งนั้น วันนี้ผมนำ พรุ่งนี้คุณนำ เรื่องนี้คุณนำ แต่อีกเรื่องหนึ่งผมนำ เราผลัดกันนำได้

GM : ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่ง คือได้ยินคุณพูดถึงคำว่านิวเอจกับจิตวิวัฒน์ มันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

วิศิษฐ์ : นิวเอจกับจิตวิวัฒน์เชื่อมโยงกันอยู่ นิวเอจเป็นกระแสที่มีมานานแล้ว อาจจะตั้งแต่สมัยที่วงเดอะ บีเทิลส์ ไปแสวงหาที่อินเดีย และกระแสนี้ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน คุณรู้ไหมว่านักวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้ พวกนักฟิสิกส์ทั้งหลายก็เดินทางไปประเทศอินเดีย ไปแบบเดียวกับที่เดอะ บีเทิลส์ไป และมันก็มีผลต่อการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ของเขาด้วย นิวเอจสมัยเดอะ บีเทิลส์อาจจะถือว่ายัง Immature ผมไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นช่วงเหลวไหลไร้สาระเหมือนเด็กๆ เพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณจะต้องผ่านช่วงวัยเด็กมาก่อนทั้งนั้น นิวเอจก็ผ่านวัยเด็กของมันมาในช่วง เดอะ บีเทิลส์ เพราะตอนนั้นเราอาจจะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ในวันนี้ เรื่องนิวเอจทั้งหมดมีวิทยาศาสตร์มารองรับมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะยังไม่ทั้งหมด แต่มันมากขึ้นเรื่อยๆ และเรามองเห็นความเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกเรื่อง การบริหาร การจัดการ การเมือง เศรษฐกิจ อย่างเมื่อก่อนเวลามีใครมาพูดคำว่าเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ก็มีคนออกมาบอกว่า มันเกี่ยวกันได้อย่างไร ศาสนาพุทธไม่เห็นน่าจะเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เดี๋ยวนี้คุณพูดคำนี้ได้แล้ว อย่างในตำราของ อาจารย์อภิชัย พันธเสน นี่แสดงว่านิวเอจเรา Mature มากขึ้นแล้ว แต่เพื่อไม่ให้ไขว้เขวไปสับสนกับนิวเอจสมัยก่อน ผมก็เลยอยากจะใช้คำเรียกตามท่านหมอประเวศ (วะสี) ว่าจิตวิวัฒน์

GM : แล้วขั้นต่อไปของจิตวิวัฒน์คืออะไร มันจะเติบโตไปเป็นอะไร

วิศิษฐ์ : มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างที่หมอประสาน (ต่างใจ) พูดบ่อยๆ ว่าถ้าเราไม่วิวัฒน์ เราก็สิ้นสูญ ในสังคมตอนนี้ ผมก็ได้เจอผู้คนทั่วไป ผมรู้สึกได้ว่าตอนนี้ ลึกๆ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในใจคน ลึกๆ คนเริ่มแยกแยะคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม คนเริ่มแสวงหาความสุขที่แท้จริง คนเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และไม่จำเป็นว่าใครบอกมายังไงก็ต้องเชื่อไปตามนั้น ผมว่าขั้นตอนต่อไปคือการที่ทั้งสังคมจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่จิตวิวัฒน์ทั้งหมด ทั้งแผง ผมว่าเป็นไปได้ ผมเป็นคนมีความหวัง

GM : ชีวิตในกรุงเทพฯ ตอนนี้ น่าจะยังห่างจากการเป็นจิตวิวัฒน์อีกมาก

วิศิษฐ์ : มันไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ อย่างเดียวนะ รวมไปถึงเมืองใหญ่ทั่วโลกด้วย มันไม่เป็นจริงในเชิงระบบนิเวศน์ ถ้าคุณได้มาอยู่เชียงราย และคุณสามารถมีงานมีอะไรทำที่มีความมาย ผมว่าคุณก็อยากจะย้ายแน่ๆ หลายคนคิดแบบนี้ เงินเดือนน้อยหน่อยไม่เป็นไร เพราะค่าครองชีพยังไม่แพง แต่ผมเป็นคนมีความหวัง ผมเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้
ผมว่าเศรษฐกิจพอเพียง การใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนั้น เราสามารถอยู่อย่างประณีตได้ อยู่อย่างมีอารยธรรมได้ มีความละเอียดอ่อน มีความประณีต สามารถสอดคล้องไปกับธรรมชาติได้ และมันช่วยให้ธรรมชาติสวยงามด้วย ตอนที่ผมไปกรุงเทพฯ ครั้งแรก ผมอายุ 13 นั่นคือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นกรุงเทพฯ น่าอยู่นะครับ ผมเดินแถวคลองประปา แถวนั้นต้นหางนกยูงเยอะมาก บรรยากาศมันรื่นรมย์ รถราก็ไม่ติดแบบเลวร้ายทรมานเหมือนทุกวันนี้ ตอนนี้ก็อย่าใช้คำว่ากรุงเทพฯ สิ้นหวังดีกว่า ใช้คำว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่คำตอบ เราต้องมาคิดเรื่องเมืองเสียใหม่ ความเป็นเมืองนั้นมีประโยชน์ ผมไม่ได้ปฏิเสธเมืองเสียทีเดียว แต่ว่าเรามีทางพัฒนาทางอื่น ชูมัคเกอร์พูดนานแล้วว่าเรามัวแต่คิดเรื่องสเกล ความใหญ่ ความเล็ก ความหนาแน่น นี่ก็กลับมาที่เรื่องทุนนิยม ว่าถ้าแรงขับดันทั้งหมดของมนุษย์มาจากความโลภ เราจะทำอะไรสวยงามได้แค่ไหนเชียว เมืองที่เติบโตตามหลังกรุงเทพฯ มาติดๆ อย่างเชียงใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มน่าเกลียดแล้ว ผมก็กลัวๆ อยู่ว่าถ้ามันไล่มาเชียงราย แล้วผมจะหนีไปไหน ผมเพียงหวังว่าสิ่งที่เราทำงานกันอยู่ในทุกวันนี้ กับเพื่อนฝูงในชุมชนเชียงราย จะทำให้คนไทยทั้งประเทศเริ่มมีวิสัยทัศน์เรื่องเมืองกันใหม่ มนุษย์ทำได้ทุกอย่างแหละ ขอแค่ตั้งใจทำ

GM : มนุษย์เราอาจจะเป็นเหมือนน้ำก็ได้ ที่ไหลลงสู่ที่ต่ำตลอดเวลา สิ่งที่คุณว่าน่าจะอยู่แต่ในอุดมคติเท่านั้น

วิศิษฐ์ : ผมจะบอกคุณให้ สิ่งมีชีวิตนี่เป็นอะไรที่สวนทางกับกฎเทอร์โมไดนามิกส์ข้อที่ 2 ที่พูดคล้ายๆ คุณพูดว่าทุกอย่างจะไหลเละเรื่อยเปื่อย และก็สิ้นพลังไปในที่สุด แต่สิ่งมีชีวิต ไม่ได้เป็นแบบนั้น สิ่งมีชีวิตมีพลัง มีความสลับซับซ้อนที่จะสร้างภูมิปัญญาเพื่อจะสวนทางกับกฎนั้น เราทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ความว่างในพุทธศาสนา หมายถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างใหม่ ถ้าคุณได้มาอยู่เชียงรายสัก 7 วัน ได้มาพบปะผู้คนที่นี่ คุณจะรู้ว่าสิ่งที่ผมพูดไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่อุดมคติ แต่ได้ถูกแปรให้กลายเป็นรูปธรรมหลายๆ อย่าง เช่นเป็นโรงเรียน เป็นชุมชน เป็นโครงการต่างๆ และคนที่นี่ก็แฮปปี้ที่จะมาทางนี้ ตอนนี้เรารวมตัวกันอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ยังไม่ใช่คนทั้งเชียงราย แต่คุณจะได้เห็นความหวังที่ชัดเจน และมันไม่ใช่เรื่องที่เป็นนามธรรม หรือเป็นแค่ระดับปรัชญา แต่เราทำมันออกมาแล้ว

GM : ในอนาคต มนุษย์เราจะคิดค้นกระบวนทัศน์ใหม่มาแทนที่จิตวิวัฒน์และวิทยาศาสตร์ใหม่ได้ไหม เหมือนอย่างที่ตอนนี้เราเริ่มละทิ้งเรื่องวิทยาศาสตร์แบบเก่าไปแล้ว

วิศิษฐ์ : วิวัฒนาการความรู้ของมนุษย์ไม่ใช่การโละทิ้งของเก่า เป็นช่วงๆนะครับ อย่างที่ เคน วิลเบอร์
( KEN WILBER) เรียกว่า TRANSCEND AND INCLUDE วิทยาศาสตร์ใหม่ไม่ได้ล้มหรือโค่นวิทยาศาสตร์เก่า แต่วิทยาศาสตร์ใหม่ได้ข้ามพ้นวิทยาศาสตร์เก่า และได้รวมวิทยาศาสตร์เก่าเข้ามาไว้ด้วย หมอประสานบอกว่าวิทยาศาสตร์เก่าอธิบายความจริง 30% หรือหนึ่งในสามของความจริงทั้งหมด ส่วนวิทยาศาสตร์ใหม่อธิบายวิทยาศาสตร์เก่าได้ และบวกเพิ่มเข้ามาอีก 1ใน 3 ตอนนี้เราเลยรู้ 2 ใน 3 ที่เหลืออยู่นั้นเป็นเรื่องจิต หมอประสานบอกว่าหลังจากวิทยาศาสตร์ใหม่จะเป็นเรื่องของจิต ถ้าเป็นความรู้เรื่องจิตจะไม่ขัดกับอะไรเลย อย่างที่ท่าน ทะไลลามะคุยกับนักวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณได้อ่านก็จะรู้สึกว่าไม่ขัดกันเลย คุยภาษาเดียวกันได้

GM : แนวความคิดเรื่องจิตวิวัฒน์ มณฑลแห่งพลัง และสุนทรียสนทนา จะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในทุกวันนี้ได้อย่างไร

วิศิษฐ์ : ผมว่ามันจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการนำความรู้ไปปฏิบัติ หรือว่าเป็นเรื่องการค้นหาความรู้ เราใช้แนวความคิดเรื่องนี้ได้กับทุกเรื่อง กับการทำงานประจำวันก็ได้ แล้วมันจะเกิดองค์กรการเรียนรู้ หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ สุนทรียสนทนาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของภาคปฏิบัติการของภูมิปัญญาในปัจจุบัน โดยมันไม่ใช่วิธีการปฏิบัติวิธีเดียว และไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากกลุ่มพวกเราซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์เพียงกลุ่มเดียว ภูมิปัญญาของมนุษยชาติจะต้องมากมายหลากหลายกว่านี้เยอะ แต่ผมว่าเราจะไปในทิศทางเดียวกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น เราจะเป็นเผด็จการน้อยลง แบ่งปันความเป็นผู้นำ มีลักษณะกระจายเป็นเครือข่าย

GM : สุนทรียสนทนา คือการที่เรามานั่งคุยเพื่อวางแผน แบ่งงาน จัดคน ก่อนจะแยกย้ายกันไปลงมือปฏิบัติใช่ไหม

วิศิษฐ์ : ฟังๆ ดูแล้ว นี่มันอยู่ในโครงของการประชุมงานแบบเก่าเลย สุนทรียสนทนาประเด็นหลักๆ คือการที่คนเรามาหัดพูดกันใหม่ มาหัดฟังกันใหม่ ดังนั้น มันจะต้องมีพลวัตรมากกว่านี้ การสนทนาก็ไม่ใช่เป็นแบบทางการ บางทีเราสุนทรียสนทนากันได้โดยไม่ต้องมีวาระการพูดคุย หรือมีก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป การมอบหมายงานให้คนนั้นคนนี้ไปทำ ก็คือการต้องมีหัวหน้าใหญ่สุดเป็นคนมอบหมายใช่ไหม ในสุนทรียสนทนาเราอาจจะไม่มีหัวหน้า เราจะเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มอาจจะเป็นผู้มอบหมายงานให้คุณก็ได้ มันไม่ตายตัว มันหนีห่างออกไปจากการประชุมแบบเก่า ถ้านึกถึงทีมฟุตบอล ผมว่าทีมที่ดีที่สุด ไม่ต้องวางแผนอย่างตายตัว แต่มันดีได้เนื่องจากความรู้สึกนึกคิดของนักฟุตบอลแต่ละคน
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
Moderator
นักโพสท์ระดับ 14
*****

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 6.0 MS Internet Explorer 6.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2553 22:50:54 »




GM : โค้ชจะเป็นผู้ควบคุมการประชุม และสรุปแผนก่อนลงสนามไม่ได้หรือว่าวันนี้เราจะเล่นระบบ 4-3-3 หรือ 4-4-2

วิศิษฐ์ : ผมสนใจ ณ เวลาที่นักฟุตบอลอยู่ในสนามจริงมากกว่า เมื่อลูกบอลกำลังลอยอยู่ในอากาศ นักฟุตบอลจะทำอย่างไร ตอนนั้นพวกเขาใช้ระบบ 4-3-3 อยู่ใช่ไหม แต่พวกเขายังต้องมีอะไรมากกว่า 4-3-3 คือ ณ จุดนั้น พวกเขา Transcend and Include คือรวมการวางแผนแบบเดิมเอาไว้ แต่จะต้องก้าวข้ามไปสู่สิ่งใหม่ด้วย ทีมที่ดีที่สุดจะต้องเล่นฟุตบอลให้มากไปกว่าแผนการเล่นที่วางไว้อย่างตายตัว จากในห้องพักนักกีฬา นักฟุตบอลต้องยืดหยุ่นลื่นไหลตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสนาม และในระหว่างที่พวกเขากำลังเล่น พวกเขารับรู้กันได้อย่างไร สุนทรียสนทนาไม่ใช่แค่การมานั่งล้อมวงคุย หรือประชุมกัน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ตรง ณ ขณะที่ลงมือทำงานกันอย่างสอดประสานได้ด้วย

GM : ในหนังสือกำลังภายใน เขาบอกว่ามือกระบี่ที่จะถึงจุดสุดยอดของพลังฝีมือ จะต้องเป็นมือกระบี่โดดเดี่ยว ตกลงแล้วคนเราควรจะโดดเดี่ยวหรือควรมานั่งคุยกัน

วิศิษฐ์ : (หัวเราะ) คุณต้องเข้าใจเรื่องวรรณกรรมนะว่ามันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา แล้วต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนเขียน โกวเล้งใช่ไหม โกวเล้งคนที่ริมฝีปากต้องประทับด้วยบรั่นดี ก่อนที่จะถูกฝังลงดิน มันเป็นยุคสมัยของวรรณกรรม และโกวเล้ง ก็เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของยุคสมัยนั้น ไม่ใช่ความจริงของโลก ผมเชื่อว่าวมนุษย์เราเติบโตขึ้นมาอย่างนี้นะครับ วัยเด็กเราต้องพึ่งพาพ่อแม่ใช่ไหม คือเราต้อง Dependent พอโตขึ้นมาเราก็เป็น Independent คือดูแลตัวเอง มีเอกราช ปกครองตัวเอง แยกตัวเองออกจากคนอื่น โกวเล้งเดินมาถึงแค่จุดนี้เอง แต่เรายังต้องเติบโตต่อไปเป็น Independent-dent คือเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลับไปหาสังคมของเรา ชุมชนของเราภูมิปัญญาท้องถิ่นเราก็มีการทำงานแบบลงแขกใช่ไหม มนุษย์เราอยู่เป็นกลุ่ม เป็นสังคม ตั้งแต่เราวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผมว่าคนเขียนวรรณกรรมจะต้องเติบโตไปจนถึงขั้นสลายอัตตา และไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัจเจก ภาพของมือกระบี่เดียวดายนั้นดูโรแมนติกดี นั่นเป็นภาพสะท้อนสังคมเมืองที่มีความเหงาหงอยเศร้าใจ หม่นหมอง ความโรแมนติกนั้นมันช่วยให้ความรู้สึก ความเหงาหงอยเศร้าใจ หม่นหมอง นั้นพอทานทนได้ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง วรรณกรรมนั้นช่วยได้แค่ระดับนี้ แต่ผมว่าการเดินทางของชีวิตคุณ ไม่ควรจะมาสิ้นสุดแค่การเป็นปัจเจก แยกจากคนอื่นแล้วหงอยเหงาอย่างโรแมนติก คุณควรจะรวมกลับไปอยู่กับฝูงชน

GM : แต่การอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็เหงาได้ไม่ใช่หรือ

วิศิษฐ์ : ก็เพราะเวลานั้นคุณยึดความเป็นปัจเจกอยู่ คุณยังแยกตัวออกจากคนอื่นอยู่ ต่อให้เมื่อคุณอยู่คนเดียว แต่ถ้าคุณไม่ยึดความเป็นปัจเจก ไม่แยกตัวเองจากคนอื่นคุณก็ไม่หงอยเหงา

GM : การอยู่คนเดียวอาจจะเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์ก็ได้ เพราะมนุษย์เราเวลาเกิดก็เกิดมาคนเดียว ในขณะที่การรวมกลุ่มกันเป็นสังคมนั้น เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายหลัง

วิศิษฐ์ : ผมว่าการที่คุณคิดว่าคุณอยู่ตัวคนเดียวก็เกิดจากสังคมแล้วเพราะคุณคิดด้วยภาษา ภาษาก็เกิดจากการตกลงกันของคนในสังคม แล้วคุณคิดหรือว่าคุณสามารถหลุดออกไปจากภาษาได้ นักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศเขาศึกษาเรื่องนี้กันแล้ว เขาบอกว่าตั้งแต่เราเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องแม่ เวลาที่แม่พูดอะไร ก็ส่งเสียงเข้าไปถึงตัวอ่อนตลอดเวลา คนเราเรียนรู้ภาษาตั้งแต่ก่อนจะคลอดออกมาจากท้องแม่แล้วด้วยซ้ำ แล้วคุณจะย้อนไปหาธรรมชาติดั้งเดิมแรกสุด และการอยู่คนเดียวได้ยังไง

GM : แต่ก็มีปรัชญาหลายๆ สำนัก ที่ให้คุณค่ากับการอยู่โดดเดี่ยว อย่างเช่นหนังสือชื่อ วะบิซะบิ ที่พูดถึงสุนทรียะของความโดดเดี่ยว หรือ The Aesthetics of Solitude

วิศิษฐ์ : ผมขอยกนิทานเซนเรื่องหนึ่งนำมาให้คุณไปคิดต่อ อาจารย์เซนสอนลูกศิษย์ เขาตั้งคำถามว่า การอยู่คนเดียวมีความหมายว่าอย่างไร ลูกศิษย์ก็ตอบว่า การอยู่คนเดียวก็คือการอยู่คนเดียว อาจารย์บอกว่า ไม่ใช่ๆ To be alone is to forget the one who is alone. การอยู่โดดเดี่ยวไม่ใช่หมายถึงการไปอยู่คนเดียวในกระท่อม แต่หมายถึงการไม่ติดยึดในตัวตนของเราต่างหาก คำว่า Solitude น่าจะตรงกับนิทานเรื่องนี้ และตรงกับคำว่าวิเวกมากกว่า คำว่าโดดเดี่ยวนะครับ ความวิเวกนั้นดีสำหรับจิตใจ แต่ไม่ใช่การหนีไปอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ในสมัยพุทธกาลก็มีตำนานเล่าว่า มีพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านมีปีติกับการทำสมาธิอยู่คนเดียว จนไม่มาร่วมประชุมกับกลุ่มสงฆ์ เพราะกฎของสงฆ์นั้นกำหนดว่าให้สงฆ์ต้องมาชุมนุมกัน คุยกัน คือต้องมี Dialogue ด้วย พระพุทธเจ้าก็เรียกพระอรหันต์องค์นี้มาสอน ว่าไม่ได้ คุณมีปีติกับความวิเวกได้ แต่คุณต้องมาร่วมประชุมด้วย และคุณต้องยังประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ดูแลแค่ตัวเอง มีความสุขแค่ตัวเอง คือคุณต้องมีสมดุลระหว่างการวิเวกและการได้อยู่ร่วมกับกัลยาณมิตร
คุณเคยดูหนังเรื่อง Samsara ไหม เขาตั้งปริศนาธรรมว่า ถ้าคุณมีน้ำ 1 หยด จะทำอย่างไรไม่ให้มันแห้งไป คำตอบคือ ก็ให้น้ำ 1 หยดนั้นไปรวมกับน้ำทั้งมหาสมุทร ถ้าคุณพิจารณาจิตของตนเองในระดับผิวๆ คุณจะคิดว่ามีอยู่จิตเดียว โดดเดี่ยว แต่จริงๆ แล้วจิตที่คุณเห็นว่ามีจิตเดียวนั้น เป็นแค่จิตสำนึก ซึ่งภายในนั้นยังมีจิตไร้สำนึกอันกว้างใหญ่ มันเป็นจิตของมนุษย์ทั้งหมดที่เชื่อมโยงถึงกันได้ อย่างเช่น ทำไมวัยรุ่นถึงนิสัยเหมือนกัน ทำไมวัยกลางคนแล้วเราถึงได้เจอ Mid-life Crisis เหมือนกัน ทำไมพอแก่ไปแล้วเรามีอาการวัยทองเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ร่วมกันทุกคน

GM : คนเมืองจะหาเพื่อนร่วมวงสุนทรียสนทนาได้อย่างไร ในเมื่อไม่ค่อยจะมีเวลา

วิศิษฐ์ : คุณเอาแต่บ่นว่าไม่มีเวลาๆ พวกผู้บริหารหรือคนระดับสูงเข้าถึงแนวความคิดสุนทรียสนทนาได้ยากกว่า มีอุปสรรคมากกว่า เพราะอะไรๆ ก็บ่นแต่ไม่มีเวลา เทียบกับคนระดับพนักงาน คนที่ทำงานปากกัดตีนถีบ กลับเข้าถึงแนวความคิดนี้ได้เร็วกว่า ที่คุณบ่นว่าไม่มีเวลานั้นไม่จริงนะครับ มันเป็นมายาคติ เป็นความจริงที่คุณสร้างขึ้นมา เป็นกำแพงที่คุณสมมุติขึ้นมาเองว่ามีอยู่ประการแรกเลยสำหรับคนเมือง คำว่าไม่มีเวลานี่ต้องเปลี่ยนแล้ว คุณสะกดจิตตัวเองก็ได้ว่ามีเวลา มีเวลา ใครมาขอให้คุณทำอะไร คุณบอกเขาเลยว่ามีเวลา คุณก็จะมีเวลาขึ้นมาจริงๆ

มีนิทานเรื่องหนึ่งที่ผมเคยอ่านนานแล้ว จำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไร เขาตั้งคำถามกับผู้อ่านว่าเราควรจะทำอะไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ในที่สุดก็ได้คำตอบว่าทำทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า กับคนที่อยู่ต่อหน้าที่นี่ เดี๋ยวนี้ นั่นคือคุณสามารถสุนทรียสนทนากับเพื่อนที่ทำงานก็ได้ หันหน้าเข้าหากัน หรือจะไปสุนทรียสนทนากับเจ้านายคุณด้วยก็ได้ ไม่ต้องไปกลัวเขา เวลาประชุมงาน คุณก็ใช้หลักสุนทรียสนทนาก็ได้ เวลาคนหนึ่งกำลังพูด คุณก็ตั้งใจฟังเขาจริงๆ อย่ามัวแต่นั่งซุบซิบแอบคุย อย่ามัวแต่เอางานตัวเองมานั่งทำ อย่าแทรกเวลาใครพูด ปล่อยให้เขาพูดให้จบ กลับบ้านก็สุนทรียสนทนากับพ่อแม่ ภรรยา ลูก ดูแลคนที่บ้านดุจดังเขาเป็นแขกของเรา นัดหมายกับคนในครอบครัวอาทิตย์ละครั้งก็ได้ ล้อมวงนั่งคุยกัน เริ่มต้นที่ครึ่งชั่วโมงก่อนก็ได้

GM : แนวความคิดเรื่องสุนทรียสนทนา ถ้านำไปใช้กับเรื่องเศรษฐกิจล่ะ มันจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบไหน

วิศิษฐ์ : มันคงไม่เป็นแบบทุนนิยมแน่ๆ เพราะคนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิ์ ผมว่าสุนทรียสนทนาจะทำให้คนตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของระบบเศรษฐกิจ ถามว่าคนที่ชอบทักษิณ เขาเข้าใจระบบเศรษฐกิจตอนนี้หรือเปล่า เขาคงไม่ค่อยเข้าใจ การได้สุนทรียสนทนากันเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคมมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงว่าถ้านายกฯ ทำนโยบายแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา เดี๋ยวนี้เราจะจ่ายมากกว่ารับ เราล้มละลาย ในระดับหมู่บ้าน วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปล้าสมัยที่สุดแล้ว มันได้ผลแค่ระยะสั้น เพราะคุณเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เราเลยมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ผมว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้อีกไม่นาน เราจะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเราอีกเลย เราจะเป็นทาสทางเศรษฐกิจของเขาหมดทุกคน ไม่ยกเว้น

GM : ในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้ไปแล้ว ราคาบ้านและที่ดินก็อยู่ในระดับนี้แล้ว รถก็ติดกันแบบนี้แล้ว เราจะทำอะไรได้

วิศิษฐ์ : ทำได้สิครับ เพราะว่านี่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่ความจริงของโลก คุณต้องย้อนกลับไปมองเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว สังคมไทยเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร เวลาผ่านมาไม่กี่สิบปีเราเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้ แล้วอีก 30-40 ปีข้างหน้า เราจะเป็นไปแบบไหน ผมว่ามนุษย์เลือกได้ เราต้องเลือก หรือไม่ก็ยอมปล่อยให้คนอื่นเลือกแทนเรา คุณจะเลือกชีวิตตามคนอื่นไป ทำงานรับเงินเดือนไป แล้วก็จ่ายเงินผ่อนไปทุกเดือนๆ หรือ มีเพื่อนคนหนึ่งเคยพูดเอาไว้ เขาพูดได้ดีมาก บอกว่าเรามักจะไปด่าโสเภณีว่าเขาขายตัว แท้ที่จริงแล้ว เราก็ขายตัวเหมือนกันทั้งนั้น เขามองว่าการขายตัวคือการยอมทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ เพียงเพื่อแลกกับเงิน มนุษย์เราทุกวันนี้ เราขายวิญญาณไป และระบบเงินผ่อนก็ยิ่งกดให้เราเป็นทาสหนักขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้เราถูกสอนมาทั้งหมด และเราก็เชื่อ และเราก็ทำตามนั้น คุณต้องเริ่มถามตัวเองว่าคุณต้องการอะไรจริงๆ ความสุขที่แท้จริงคืออะไร

GM : เราเปลี่ยนแปลงแค่ตัวเราเองคนเดียว แล้วจะไปรอดหรือ ในขณะที่คนอื่นก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนมาแบบเรา

วิศิษฐ์ : นี่มันเป็นวาทกรรมของผู้ที่ไม่กล้าเปลี่ยน ที่อยู่ในสังคมที่ไม่อยากให้มีการเปลี่ยน เป็นวาทกรรมของกระแสหลักที่พยายามจะไม่ให้ใครออกไปนอกกระแส แต่ขอโทษนะ ผมจะบอกให้ ในกระแสหลักมีอะไร นอกกระแสก็มีเหมือนกันนั่นแหละ ผู้เปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่ผู้โดดเดี่ยว นอกกระแสนั้นยังมีชุมชน มีเครือข่ายที่มีพลังมหาศาล ประเด็นคือเมื่อคุณออกมาแล้ว คุณจะไปอยู่ในชุมชนไหน เครือข่ายไหน กระแสหลักน่ะกำลังทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีพละกำลัง ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำอะไร มองสังคมว่าเป็นเครื่องจักร และมองคุณเป็นนอตตัวหนึ่ง ถ้าคุณมองใหม่ว่าสังคมไม่ใช่เครื่องจักร มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่นอต ไม่ใช่ฟันเฟือง สิ่งมีชีวิตมีความหมาย ถึงแม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เมื่อมารวมกันเป็นชุมชนใหม่ เครือข่ายใหม่ มันจะปะทุประกายขึ้นมา ระเบิดพลังออกมาได้ มนุษย์เล็กๆ ความคิดเล็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ วาระแห่งโลก วาระแห่งจักรวาลได้เหมือนกัน ถ้าคุณเลือกชีวิต ไม่ใช่เลือกเงิน เงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต เงินไม่ใช่ทั้งชีวิต

เราส่วนใหญ่ถูกฝึกมาให้เห็นอย่างเดียว แนวทางเดียว เราเลยไม่เห็นความพยายามเล็กๆ ของคน ว่าสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในเมือง เราเลือกได้ แม้กระทั่งใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เราเลือกได้ แม้กระทั่งถึงแม้ว่าคุณเป็นพนักงานกินเงินเดือน คุณก็เลือกชีวิตของคุณได้

GM : วันหนึ่งๆ แค่เลือกว่าจะเลือกไปดูหนังเรื่องไหน หรือเลือกดื่มกาแฟยี่ห้ออะไร บางทีก็หมดแรงแล้ว เพราะมีหนัง มีกาแฟให้เลือกเยอะเหลือเกิน

วิศิษฐ์ : ทางเลือกเยอะๆ แบบนี้ มันหลอกเราว่าได้เลือก แต่ผมว่าถ้าชีวิตคุณมีสิ่งที่ให้คุณเลือกได้แค่เรื่องของกินของใช้ ชีวิตคุณนี่ถือว่ายากจนมากเลยนะ คุณลองไปรวมกลุ่มกับเพื่อน ตั้งเป็นชมรมดูก่อนดีกว่า อาจจะทำหนังขึ้นมาสักเรื่อง ทำกันเอง ดูกันเอง วิจารณ์กันเองก่อนก็ได้ หรือตั้งชมรมสภากาแฟ ชงกันเอง กินกันเอง แล้วนั่งคุยกัน หรือไปทำอะไรอย่างอื่นก็ได้เยอะแยะ

GM : มาอยู่ในจังหวัดเงียบๆ แบบนี้ เกิดความเหงาบ้างไหม

วิศิษฐ์ : ไม่หรอก มีเพื่อนแวะๆ เวียนๆ มาหาผมประจำ และผมก็มีเรื่องให้ทำเยอะนะ ถ้ามีงานให้ทำก็ไม่เหงาหรอก คนสูงอายุเมื่อปลดเกษียณและไม่มีอะไรทำแล้วจะเหงานะ ก็นั่งอยู่หน้าทีวีไปวันๆ แต่สำหรับผม ผมทำงานทางด้านความคิด ทางด้านจิตวิญญาณ ทางด้านการพัฒนาตัวเอง งานด้านนี้มันไม่มีวันจบอยู่แล้ว ไม่มีวันเกษียณอายุ และนอกจากจะพัฒนาตัวเอง การได้ออกไปช่วยคนอื่นให้พัฒนาด้วยก็ยิ่งเป็นงานที่มีความสุข ผมว่าในสังคมเอเชีย คนสูงอายุถ้าคุณไม่เลอะเลือน ถ้าคุณไม่เป็นอัลไซเมอร์ คุณจะยังมีงานให้ทำไปได้เรื่อยๆ เพราะเรายังให้ความเคารพผู้สูงอายุ

GM : ถึงทุกวันนี้ คุณว่าคุ้มไหม กับการที่ออกจากบ้าน ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อตอนอายุ 19

วิศิษฐ์ : เคยมีเพื่อนถามคำถามนี้กับผม ผมตอบเขาไปว่า ถ้าผมย้อนเวลาได้ ย้อนไปวันนั้นที่ผมตัดสินใจ และรู้ว่าทุกวันนี้จะเป็นแบบทุกวันนี้ ผมก็ยังทำแบบเดิมครับ มันคุ้ม ชีวิตมีความเข้มข้นมากๆ

GM : สำหรับคุณ ความสุขในชีวิตคืออะไร

วิศิษฐ์ : อืมม์... (คิดนาน) คือการได้ทำสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราเห็นคุณค่า ได้ทุ่มเทความพยายาม ได้พบความท้าทายที่จะทำสิ่งนั้น มีเพื่อน มีมิตรภาพ มีชุมชน มีสังคม ซึ่งเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และสิ่งที่เราทำนั้นมีคุณค่าต่อสังคมนั้น

GM : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารักที่จะทำอะไร

วิศิษฐ์ : มันเหมือนการเดินทาง มันเหมือนสิ่งมีชีวิต มันเหมือนการปลูกต้นไม้ ในวัยหนึ่งสิ่งที่เรารักอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง อีกวัยหนึ่งก็เปลี่ยนไป ไม่ตายตัว ผมว่าสังคมทุกวันนี้ให้โอกาสแก่เราในการเดินทางแสวงหาสิ่งที่เรารักน้อยเกินไป คุณเลยตั้งคำถามแบบนี้ได้ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ทำการศึกษาเรื่องวัยของคน เขาบอกว่าคนวัยทำงานที่เริ่มทำงาน เพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยอายุ 21-28 ปี สไตเนอร์บอกว่านี่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาอยู่เลย คนเราในวัยนี้ยังไม่นิ่ง เขายังไม่พร้อมที่จะทำงานที่ใดที่หนึ่ง หรืองานแบบใดแบบหนึ่งไปตลอดชีวิต แต่ด้วยระบบการศึกษา ทำให้ในวัยนี้เราเลือกไปแล้ว บางคนเลือกไปเป็นหมอแล้ว มันก็ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ คุณจำตัวเองตอนอายุ 21-28 ได้ไหมล่ะ คุณอยากลองนั่นลองนี่ อยากเปลี่ยนงานใช่ไหม อยากเปลี่ยนบริษัทใช่ไหม ถ้าคุณยังค้นไม่พบสิ่งที่รัก และบังเอิญว่าปักหลักทำอะไรไปแล้วตั้งแต่ 21-28 แบบนี้พอคุณเกษียณปุ๊บ คุณจะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่มีค่าอะไรเลย คุณไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คุณไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณูปการที่มอบไว้แก่โลกนี้ คุณก็ใช้ชีวิตวัยชราไปด้วยความน่าเบื่อ นั่งแช่ดูทีวีไปทั้งวัน สักพักหนึ่งความจำก็เลือนแล้ว คุณจะเริ่มเป็นอัลไซเมอร์ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เป็นอย่างนี้ เราจะเรียกได้ไหมว่าสังคมนี้ไม่มีคุณภาพ

GM : คุณมองคนทำงานออฟฟิศทั่วไปอย่างไร

วิศิษฐ์ : คนน่ะไม่มีปัญหาหรอก ระบบต่างหากที่มีปัญหา คนทุกคนนั่นโอเคอยู่แล้ว ธรรมชาติเราเหมือนกัน แต่คนเราไม่ได้เข้มแข็งมากพอ เรายังต้องพึ่งระบบ ไม่มากก็น้อย ผมเองทำงานก็ต้องพึ่งระบบ ผมไม่ได้หลุดจากระบบมาอย่างสิ้นเชิงหรอก ผมว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ระบบ มันเอื้อให้คนแสวงหาศักยภาพและแรงบันดาลใจน้อยเกินไป คนปัจจุบัน มีปัญหากับคำว่า “ความรัก” เราไม่เข้าใจว่าความรักคืออะไร อย่างเช่น งานที่ทำอยู่เรารักหรือเปล่า หรือผู้หญิงคนนี้ เรารักเขาหรือเปล่า คือทุกอย่างเราเข้าโหมดอัตโนมัติไง คือตื่นเช้ามาก็รีบอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน หอมแก้มภรรยาทีหนึ่ง แล้วก็ขับรถออกจากบ้านมา มันเป็นไปอย่างอัตโนมัติทุกอย่าง จนเราไม่ตระหนักรู้และลืมไปหมดแล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าคุณได้เริ่มตระหนักรู้ และเริ่มศึกษาหนทางการมีชีวิตที่ดี ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

http://www.wongnamcha.com/index.php?option=com_content&task=view&id=149&Itemid=88888927
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
จุดเริ่มต้นในเส้นทางจิตวิวัฒน์ โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
กระบวนการ NEW AGE
มดเอ๊ก 0 1856 กระทู้ล่าสุด 13 มิถุนายน 2553 14:05:21
โดย มดเอ๊ก
หันหน้าเข้าหากันแบบจิตวิวัฒน์ โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
กระบวนการ NEW AGE
มดเอ๊ก 0 3034 กระทู้ล่าสุด 13 มิถุนายน 2553 14:16:03
โดย มดเอ๊ก
น้ำครึ่งแก้ว : เรียนรู้สุนทรียสนทนาจาก วิศิษฐ์ วังวิญญู
ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
มดเอ๊ก 0 2619 กระทู้ล่าสุด 04 กรกฎาคม 2559 06:10:09
โดย มดเอ๊ก
จิตวิวัฒน์ : สมองส่วนหน้าที่รัก ( วิศิษฐ์ วังวิญญู )
กระบวนการ NEW AGE
มดเอ๊ก 0 1698 กระทู้ล่าสุด 02 กันยายน 2559 03:02:36
โดย มดเอ๊ก
จิตวิวัฒน์ : ผู้ประกอบการความสุข (วิศิษฐ์ วังวิญญู)
กระบวนการ NEW AGE
มดเอ๊ก 0 1725 กระทู้ล่าสุด 02 กันยายน 2559 03:12:53
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.942 วินาที กับ 35 คำสั่ง

Google visited last this page 17 กุมภาพันธ์ 2567 19:41:44