[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 10:41:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานอิงการเมือง  (อ่าน 14356 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 กรกฎาคม 2557 11:55:14 »

.

นิทานการเมือง


ภาพจาก : www.bloggang.com
ฐานันดรที่ ๔

กระต่ายในนิทาน...ไม่ใช่สัตว์ที่เรารู้จัก...ฉลาดน้อย ขี้ตกใจ...เป็นกระต่ายตื่นตูม เท่านั้น
 
ในหนังสือ นิทานไทย คุณตาคุณยายเล่าไว้ (ยุทธ เดชคำรณ รวบรวม ยุพเรศ วินัยธร เรียบเรียง สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ พิมพ์ครั้งที่ ๓ ๒๕๓๖) ยังมีกระต่ายยโสโอหัง ท้าวิ่งแข่งกับหอยทาก
 
กระต่ายปัญญาดี...หลอกสิงโตเจ้าป่า ไปเจอเงาตัวเองในน้ำ ก็กระโจนลงไปตายในเหวลึก
 
เรื่องกระต่าย ที่ผมชอบมาก...เห็นว่าเข้ายุคเข้าสมัย อยากเล่าต่อ คือ เรื่องกระต่ายหางขาด
 
ต้องรู้กันเสียก่อน กระต่ายยุคต้นแบบ สมัยพระอิศวรแรกสร้างโลก รูปร่างหน้าตาไม่ใช่อย่างที่เห็นกันในวันนี้ ตาดำสนิทเป็นมันขลับ หูสั้นสมตัว หางยาวเป็นพวง
 
ตอนนั้น...เทพบุตรเทพธิดา ยักษ์ มนุษย์ กับสัตว์ อยู่รวมกันอย่างมีปัญหา พระอิศวรจึงวางโรดแม็ปบริหารสรรพชีวิตในจักรวาล แบ่งสรรพชีวิตออกเป็นสี่ช่วงชั้นฐานันดร
 
เทพบุตรเทพธิดา ฐานันดรที่ ๑ ประชุมครั้งแรก ยักษ์กับมนุษย์ ฐานันดรที่ ๒ ประชุมครั้งที่สอง ส่วนสัตว์แบ่งเป็นสองช่วงชั้น ฐานันดรที่ ๓ สัตว์มีเขา
 
ส่วนสัตว์เล็ก ฐานันดรที่ ๔ ประชุมครั้งสุดท้าย
 
การประชุมผ่านไปสองครั้ง ผลออกมา
-เทพบุตรเทพธิดาเรียกร้องก่อน ก็ได้สิทธิอยู่บนสวรรค์
-ยักษ์ มนุษย์ ประชุมครั้งต่อมา ยักษ์ขออยู่ปราสาท
-มนุษย์ขอช้า แต่ก็ยังได้อยู่บ้านเรือน
เป็นอันว่า ใครได้ประชุมก่อน ก็ขอสิ่งดีๆ จากพระอิศวรได้ก่อน...
 
เหลือการประชุมอีกสองครั้ง กระต่ายที่อยู่ในฐานันดรที่ ๔ ต้องประชุมครั้งหลังสุด...เห็นว่าไม่ยุติธรรม อยากประชุมก่อน เพื่อขอก่อนบ้าง...แต่ติดขัดที่ตัวเองเป็นสัตว์ไม่มีเขา
 
มันจึงวางแผน...ไปเก็บรังผึ้งเอามาทุบคั้นจนเป็นขี้ผึ้ง แล้วก็ปั้นเป็นเขาสองเขา เอามาติดไว้บนหัว แล้วก็ถือเป็นตั๋ว เดินปะปนเข้าไปประชุมครั้งที่ ๓
 
การประชุม ก็เหมือนสองครั้งที่ผ่านมา ใช้เวลามาก เพราะสัตว์ทุกตัวต่างก็ต้องการขอ ขอ และขอ สิ่งที่ตัวเองต้องการ จากเช้า เที่ยง บ่ายแก่ ประชุมกันไม่จบ
 
อากาศเริ่มร้อน จนร้อนจัด เขาขี้ผึ้งของกระต่ายก็ละลายหลุดจากหัวตกลงพื้น สัตว์มีเขาอื่นเห็นเข้าก็หัวเราะเยาะ พระอิศวรกริ้วมาก ที่กระต่ายขัดขืนบัญชา ปลอมตัวประชุม สั่งให้สัตว์ทั้งหลายจับกระต่ายมาลงโทษ
 
กระต่ายคับขัน...จวนตัว ก็ตกใจกลัว กระโจนหนี สัตว์ทั้งหลายก็วิ่งไล่ตาม พอทันก็งับหาง บ้างก็เหยียบหาง จนหางที่เป็นพวงยาว เหลืออยู่ติดก้นกระจุกเดียว
 
กระต่ายวิ่งหนีตั้งแต่บ่าย จนถึงดึก ขาหลังใช้แรงมากจากสั้น
 
ก็กลายเป็นขายาวยื่น
 
แล้วในที่สุด กระต่ายก็ถูกจับตัวได้ เอามาให้พระอิศวรตัดสินโทษ กระต่ายกลัวมาก ตาที่เคยดำขลับ ก็เหลือกโปน กลายเป็นตาสีแดง
 
ความผิดกระต่าย เป็นความผิดซึ่งหน้า หลักฐานปรากฏชัด พระอิศวรไม่ต้องไต่สวนทวนความ ประกอบกับความกริ้วจัด ทรงรวบสองหูกระต่ายไว้แน่น แล้วก็ขว้างขึ้นท้องฟ้า
 
กระต่ายจึงไปติดอยู่บนดวงจันทร์ ให้เห็นกันถึงวันนี้
 
ลูกหลานกระต่าย ก็ยังมีอยู่มาก จึงเกิดออกมารูปร่างพิกล... หางสั้น ขาหลังยาว หูยาว ตาแดง และมีนิสัยขี้ตื่นตกใจ สัตว์อื่นเข้าใกล้เป็นต้องวิ่งหนีกระเจิง
 
นิสัยกระต่าย สัตว์ฐานันดรที่ ๔ ในนิทาน จึงคงเป็นเช่นนี้ บางครั้งก็เจ้าปัญญา บางครั้งก็ขี้โอ่ยโส ยกตน
 
แต่หลายครั้ง อย่างครั้งเจอผู้นำสามโลก ผู้ทรงอำนาจสิทธิขาด อย่างพระอิศวร ก็ขี้ตื่นตกใจ ยังดีโทษไม่ถึงตาย แค่ย้ายที่อยู่จากโลกไปดวงจันทร์
 
                                                                   ฯลฯ



ที่มา (ส่วนหนึ่งของบทความ) : "ฐานันดรที่ ๔" คอลัมน์ ชักธงรบ โดย กิเลน ประลองเชิง ๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗



สัตว์สร้างสายใย
ตัวไหม-แมงมุม  

แมงมุม โดยเฉพาะแมงมุมตัวใหญ่ แม่ม่ายสีน้ำตาล ที่กำลังถูกสงสัย มีพิษร้าย กัดคนถึงตาย กับตัวไหม...วิถีชีวิตต่างกันสุดขั้วตรงข้าม...
 
แต่สิ่งที่ทำได้เหมือนกัน คือมันเป็นสัตว์สร้างสายใย
 
ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม เขียนไว้ใน “คารมคมความคิด” (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.๒๕๕๓) ในเมืองไทย นอกจากใยไหมจะถูกนำไปทอเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ ตัวไหมยังถูกนำไปทอดเป็นอาหารบรรเทาหิว
 
ขณะใยแมงมุม นอกจากเอาไปถักทอสิ่งใดไม่ได้ ตัวแมงมุมก็ยังน่าขยะแขยง ไม่มีคนกล้าเอาไปทำอาหารกิน
 
แมงมุมแม้ตามธรรมชาติ น่าจะมีประโยชน์บ้าง แต่ก็น้อยมาก หากเอาไปเปรียบเทียบกับตัวไหม
 
คำถาม...หากจำเป็นต้องเลือก คนในโลกนี้จะเลือกเป็นแมงมุม หรือเป็นตัวไหม
 
เจียงเสวี่ยเทา คนยุคราชวงศ์หมิง เขียนเรื่องราวที่สัตว์ทั้งสอง เถียงกัน ไว้ในนิพนธ์บทหนึ่ง...
 
“เจ้าเอาแต่กัดกินใบหม่อนจนเต็มท้อง” วันหนึ่งแมงมุมกล่าวกับตัวไหม “จากนั้นก็พ่นเป็นใยออกมาห่อหุ้มตัวเอง ไม่นานคนเลี้ยงไหมก็จับเจ้าโยนลงไปในหม้อน้ำร้อน แล้วเขาก็ค่อยสาวใยไหมที่ตัวเจ้าออกจนหมด ไม่หลงเหลือไว้แม้แต่ลมหายใจของเจ้าเอง  ถึงที่่สุด ฝีมือแสนวิเศษในการสร้างใยไหม กลับกลายเป็นวิถีทางสังหารตนเอง  มีแต่ผู้โง่เขลาที่สุดเท่านั้น จึงจะทำเช่นนี้”
 
ตัวไหมตั้งใจฟังแมงมุมว่าร้าย แล้วก็ค่อยๆ กล่าวอย่างช้าๆ
 
“การกระทำของข้า แม้จะนำมาซึ่งความตายก็จริง แต่ทว่า...ใยไหมที่ข้าสร้างสรรค์ สามารถทอเป็นแพรพรรณงดงาม อาทิ ภูษาพระราชา และอาภรณ์ของผู้คนทั้งปวง  เจ้าก็มีความสามารถในการพ่นใยเช่นเดียวกับข้า แต่เจ้าใช้เส้นใยถักทอเป็นเครือข่ายมรณะ ผีเสื้อ ผึ้ง แมลงทั้งหลาย เมื่อหลงบินไปติดใยสังหาร ก็จะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของเจ้า ฝีมือเจ้าสูงส่งอย่างยิ่ง แต่ใช้เพื่อการเข่นฆ่า เจ้าไม่รู้บ้างเลยหรือว่า เจ้าเหี้ยมโหดเกินไป”  แมงมุมตอบตัวไหมอย่างไม่หยี่หระ
 
“ทำเพื่อผู้อื่น แม้จะฟังดูดี แต่ข้าก็เต็มใจ จะทำเพื่อตัวข้าเอง”
 
เจียงเสวี่ยเทา...บรรยายบทสนทนาของตัวไหมและแมงมุม แล้ว ก็ทิ้งท้ายสอนใจมนุษย์ว่า อนิจจา ผู้คนบนโลกนี้ บำเพ็ญตนเช่นตัวไหม ช่างมีอยู่น้อยนัก
 
ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม...ทิ้งท้าย เมื่อเทียบกับตัวไหม แมงมุมมีประโยชน์น้อยกว่ามาก แต่อยากจะถามใจคนในโลกนี้ดูซิว่า อยากเป็นตัวไหม หรือแมงมุม
 
คำตอบเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะมีทัศนคติต่อโลกอย่างไร และมีวิธีประเมินคุณค่าของชีวิตตามแนวทางใด
 
บางคนคิดว่า เสพเข้ามาให้มากที่สุด สร้างออกไปให้น้อยที่สุด ชีวิตก็จะมีกำไรมากที่สุด
 
แต่บางคนเห็นว่า เสพให้น้อย สร้างให้มาก ชีวิตเช่นนี้จึงจะถือได้ว่า สร้างกำไรให้แก่ตนเอง และสังคมอย่างคุ้มค่า
 
สมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน
                      ฯลฯ

 
ที่มา (ส่วนหนึ่งของบทความ)  : "ตัวไหม-แมงมุม" กิเลน ประลองเชิง คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗



คำเตือนจากนก 

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นายพรานผู้หนึ่งจับนกแสนรู้ได้ตัวหนึ่ง น่าประหลาดนัก นักตัวนั้นพูดได้
“ปล่อยข้าไปเถอะ” นกอ้อนวอน “ข้าเป็นนกวิเศษที่ไม่มีนกตัวใดเหมือน ข้าสามารถให้คำเตือนสามข้อ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตภายหน้าของท่าน”

นายพรานไม่เคยเจอนกแบบนี้มาก่อน ข้อเสนอของนกก็น่าสนใจ ทำให้เขาครุ่นคิดอยู่นาน ในที่สุดเขาก็คิดได้ นกตัวหนึ่งแลกกับเงื่อนไข ๓ ข้อ ไม่ว่ามันจะเกิดประโยชน์หรือไม่ น่าจะคุ้มค่า
เมื่อเขาเอ่ยปากรับข้อเสนอ นกก็เริ่มบอกเงื่อนไข

ข้อที่หนึ่ง เมื่อท่านตัดสินใจเรื่องใดไปแล้ว จงอย่าเสียใจภายหลัง
ข้อที่สอง ไม่ว่าใครจะบอกอะไรกับท่าน หากความรู้สึกส่วนหนึ่งของท่าน บอกว่าเป็นไปไม่ได้ จงอย่าเชื่อ
ข้อที่สาม อย่าปีนขึ้นสูงเกินไป พอรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวก็จงหยุดทันที อย่าพยายามปีนต่ออีกเลย

นกพูดจบ นายพรานก็ปล่อย นกบินขึ้นไปเกาะต้นไม้สูง
“ท่านนี่โง่มากๆ” นกพูดกับนายพรานต่อ “ท่านไม่รู้ว่าในปากข้ามีไข่มุกวิเศษเม็ดหนึ่ง ไข่มุกเม็ดนี้แหละ ทำให้ข้าฉลาดและพูดได้”

ได้ยินนกพูดดังนั้น นายพรานก็รู้ว่าเสียท่า จึงพยายามแก้ตัวด้วยการเริ่มปีนขึ้นต้นไม้ใหญ่ ตั้งใจจะไปจับนกตัวนั้นให้ได้ เพื่อเอาไข่มุก

น่าเสียดาย นายพรานปีนขึ้นไปได้แค่กลางต้นไม้ เขาก็ตกลงมาขากหัก

...นายพราน ลืมคำเตือนสามข้อของนกโดยสิ้นเชิง เขาลืมคำเตือนข้อที่หนึ่ง เพราะเสียใจที่ปล่อยนกไป ต่อมาเขาลืมคำเตือนข้อที่สอง เพราะเชื่อว่าในปากของนกมีไข่มุกวิเศษอยู่จริง  และนายพรานก็ยังลืมคำเตือนข้อที่สาม เขาปีนต้นไม้ไม่เก่ง แต่ยังฝืนปีนต่อ จนในที่สุดก็ตกลงมา

จบนิทานเรื่องนี้ ก็มีคำอธิบาย ความหมายชวนคิด

คำเตือนของนก ก็คือความรู้ต่างๆ ที่คนเราเรียนรู้  ส่วนการตัดสินใจของนายพราน ก็เหมือนความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา   เราล้วนได้ความรู้ลึกซึ้งกว้างขวางจากครูอาจารย์ จากหนังสือดีๆ เรามีเทคนิค วิธีการ และกุลยุทธ์เต็มสมอง แต่เราก็ยังผิดพลาดได้เสมอๆ 

หลักทฤษฎีและปฏิบัติมักมีช่องว่างขนาดใหญ่กั้นขวาง การรู้ว่าทำอย่างไร ไม่ได้แปลว่าจะทำเป็น  นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ เชี่ยวชาญหลักเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

อุปสรรคเหมือนหินโสโครกใต้ทะเล แม้กะลาสีเรือจะเก่งการเดินเรือเพียงใด ก็ยังเสี่ยงกับการชนหินโสโครกจนเรือจม  เราจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอนาคตได้อย่างไร .... นี่เป็นคำถามที่ทุกคนควรไตร่ตรอง
                      ฯลฯ

 
ที่มา (ส่วนหนึ่งของบทความ)  : "คำเตือนจากนก" กิเลน ประลองเชิง คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กันยายน 2557 19:03:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 กันยายน 2557 19:10:30 »

.


คันคาก (คางคก) หรือกบ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
บันดาลฝนเพื่อให้คนทั้งหลายเฮ็ดไฮ่ เฮ็ดนา (ซ้าย) คันคาก สลักหิน ที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง ในลาว
(กลาง) กบหรือคางคกที่หลุดจากหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่ควนลูกปัด อ.คลองท่อม จ.กระบี่
(ขวา) คันคากหรือกบบนหน้ากลองทองมโหระทึก พบที่ ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช


ไปดาวอังคารกับพญาคันคาก

อารมณ์ขันของคนมีอำนาจเหนือกว่า บางครั้งสร้างความขมขื่นให้คนด้อยกว่า ดังกรณีให้เอายางพาราที่มีมากไปขายบนดาวอังคาร

แต่อารมณ์ขันที่มีพลังสร้างสรรค์สูงมากๆ แล้วนับเป็นคลาสสิกอย่างยิ่ง คือนิทานเรื่องพญาคันคากของคนหลายเผ่าพันธุ์บริเวณลุ่มน้ำโขง

(คันคาก เป็นคำลาว ตรงกับคำไทยภาคกลางว่า คางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มเดียวกับกบ) มีเรื่องย่อต่อไปนี้

พญาแถนเป็นใหญ่บนฟ้าที่มีห้วงน้ำขังอยู่ตามเมฆหมอกมหาศาล แต่คราวหนึ่งไม่ปล่อยน้ำเป็นฝนตกตามฤดูกาลสู่โลกมนุษย์

คนทั้งหลายเดือดร้อน จึงวิงวอนให้พญาคันคากแก้ไข มีเล่าไว้ในสารานุกรมฯ ภาคอีสาน (เล่ม ๙ หน้า ๒๘๙๘) จะคัดมาอย่างสรุปรวบรัดดังนี้

พญาคันคากคิดหาทางขึ้นฟ้าไปเมืองแถน ได้ไปตามพวก ครุฑ นาค ปลวก มาก่อภูเขาทำทางแล้วขึ้นไปรบพระยาแถน

พญาคันคากเสกเป่าให้มีกบเขียดมากมายเหมือนกองทัพยกขึ้นเมืองแถน ทำให้ชาวแถนตกใจกลัวอย่างยิ่ง พระยาแถนก็เสกเป่าให้มีงูร้ายมากมายหลายชนิด ออกจับกบและเขียดกิน

พญาคันคากแก้ไขโดยเสกให้ครุฑและกามาจิกกินงู พระยาแถนเสกให้หมามาวิ่งไล่จับครุฑและกากิน

พญาคันคากให้เสือโคร่งออกมาจับกินหมา

พระยาแถนยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบคนล้มตายจำนวนมาก พญาคันคากเนรมิตปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และเสกเป่าให้ผู้คนที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

พญาคันคากกับพระยาแถน ต่างก็มีคาถาอาคมเสมอกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ จึงได้ออกชนช้าง ในที่สุด พญาแถนแพ้

พญาคันคากมีบัญชาให้พระยาแถนยอมให้นาคมาเล่นน้ำบนฟ้า น้ำจะได้ล้นกระฉอกเป็นฝนตกบนพื้นพิภพดังเดิม

สัตว์ต่างๆ ที่พญาคันคากกับพระยาแถนเสกเป่าสู้กันจึงเป็นศัตรูกันตั้งแต่นั้นมา

คนยังไปดาวอังคารไม่ได้ แต่พญาคันคากมีพลังสร้างสรรค์อาจขึ้นไปถึงดาวอังคารได้ ดังเคยยกทัพขึ้นฟ้ารบชนะแถนมาแล้ว

แต่คนรู้จักพญาคันคากไม่มากนัก เพราะวรรณกรรมของความเป็นไทยไม่รับรู้นิทานพญาคันคาก

คนเลยแข็งทื่อ เพราะจินตนาการขาดแคลน ต้องทดแทนโดยอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ และเรื่องอื่นๆ ของโลกนิทานตะวันตก-ตะวันออกที่ไม่ไทย


ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไปดาวอังคารกับพญาคันคาก  คอลัมน์ สยามประเทศไทย มติชนรายวันฉบับวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๗
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.561 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 31 มีนาคม 2567 09:52:38