[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 23:15:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก  (อ่าน 5963 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2325


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 03 สิงหาคม 2557 07:38:35 »

.

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1151.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกหลั่งไหลมายังพุทธคยา หนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน
อันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา ณ ที่แห่งนี้เมื่อกว่า 2,600 ปีก่อน
เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ขณะประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

จากพุทธคยาถึงโปตาลา

ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

จากต้นกำเนิดในอินเดีย ปัจจุบันพุทธศาสนามีสายปฏิบัติที่แตกแขนงออกไป  แต่ละสายมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นเป็นของตัวเอง โดยอาจจำแนกออกเป็นสามสายใหญ่ๆ ได้แก่ พุทธศาสนาเถรวาท พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาวัชรยาน กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้การศึกษาพุทธศาสนาข้ามสายปฏิบัติ ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องยากและเป็นของใหม่ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ประสบการณ์ในโลกตะวันตกทำให้เขาตระหนักว่าพุทธศาสนาแต่ละสายต่างก็มีโลกทัศน์ จักรวาลวิทยา และหลักปรัชญาที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อวิถีปฏิบัติ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป ทว่าหากมองอีกด้านหนึ่ง “คุณค่า” อาจไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนเสียทั้งหมด  ในแต่ละสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และชีวิตของผู้คน ต่างมีวิญญาณของสถานที่ (sense of place) ซึ่งเมื่อถูกค้นพบและปลดปล่อย วิญญาณเหล่านั้นก็สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อคุณค่าทางศาสนธรรมในภูมิภาคนั้นๆ ได้อย่างตื่นรู้และมีพลัง

ยามนึกถึง พุทธศาสนาเถรวาท เราจะนึกถึงภาพพระภิกษุในจีวรสีส้มเดินเรียงกันเป็นแถวเพื่อออกบิณฑบาตในตอนเช้า พระพุทธรูปในท่านั่งขัดสมาธิแลดูสงบเยือกเย็น พระพุทธเจ้า อัครสาวก พระไตรปิฎก พระป่าสะพายย่าม บาตร กลด และเจดีย์ เป็นต้น พุทธศาสนาเถรวาทเป็นสายปฏิบัติเก่าแก่ มีเอกลักษณ์คือการธำรงรักษาพระธรรมวินัยให้เหมือนครั้งพุทธกาลมากที่สุด เถรวาทเป็นพุทธศาสนาแบบจารีตที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศรีลังกา พม่า ลาว ไทย และกัมพูชา ประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งอยู่ในแถบศูนย์สูตร มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาศัยรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน แต่ละชุมชนอยู่ห่างจากกันไม่มากนัก โดยมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดยรอบเชื่อมต่อตามชายขอบ สมณะหรืออนาคาริกทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานวัฒนธรรมด้วยการใช้ชีวิตทั้งในชุมชน และเดินท่องไปจากชุมชนหนึ่งสู่อีกชุมชนหนึ่ง

สำหรับชาวพุทธเถรวาท การจะสามารถรักษาธรรมวินัยทุกข้อได้อย่างไม่มีบิดพลิ้ว เป็นข้อจำกัดอยู่ในตัวว่า สมณะจำเป็นต้องใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตรเท่านั้น การจะเดินทางด้วยเท้าเข้าไปในสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง ปกคลุมด้วยหิมะ และสภาพอากาศที่แปรปรวนนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ หรือหากเป็นไปได้ก็ไม่อาจปฏิบัติตนหรือตีความคำสอนให้เหมือนกับในบริบทสังคมอินเดีย   สมัยพุทธกาลได้ทุกรายละเอียด ทำให้สายปฏิบัตินี้จำกัดอิทธิพลอยู่ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การตีความคำสอนมีลักษณะตรงไปตรงมาอยู่ในบริบทที่แคบ ความสัมพันธ์ของพระกับชุมชนสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมและการรวมตัวกันแบบหมู่บ้านเล็กๆ  การเดินท่องไปของสมณะทำได้ในภูมิประเทศแบบที่ราบและสภาพอากาศร้อนชื้น มีอุปสรรคเพียงฤดูมรสุมหรือฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องหยุดพักการเดินทางไม่ร่อนเร่ค้างแรมที่ไหน

ยามนึกถึง พุทธศาสนามหายาน เราจะนึกถึงภาพพระเซนนั่งอยู่ในกระท่อมไม้ในป่าลึกที่ปกคลุมด้วยหิมะ สวนหินแบบเซนให้ความรู้สึกของความเงียบงันอันลุ่มลึก ศาสตร์การต่อสู้และการฝึกกายฝึกใจอย่างเข้มงวดของพระวัดเส้าหลิน นักรบซามูไรของญี่ปุ่น และรูปพระโพธิสัตว์กวนอินของจีน เป็นต้น จินตนาการแบบมหายานเปิดขอบฟ้าของความเป็นไปได้อย่างไม่มีจำกัด ก่อให้เกิดภาพซ้อนเหลื่อมกับพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลที่หลากหลายมากขึ้น อุดมคติของมหายานคือการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ความกรุณา และการอุทิศตนเพื่อยังประโยชน์ให้คนอื่นก่อนตนเอง ทำให้หลักธรรมคำสอนกลายเป็น “หัวใจ” ที่สามารถอยู่กับความทุกข์ตรงหน้า

มหายานเป็นรูปแบบพุทธศาสนาที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบตอนเหนือของอินเดียขึ้นไป ได้แก่ เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และมองโกเลีย  หากดูจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ดินแดนเหล่านั้นมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศแตกต่างไปจากอินเดีย กล่าวคือผืนดินที่มีความสูงกว่าระดับทะเลค่อนข้าง มาก ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบ มีฤดูกาลครบทั้งสี่ฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นและหิมะตก ลักษณะของป่า พืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิต มีความแตกต่างจากที่พบเห็นในแถบเส้นศูนย์สูตร  การเดินทางของผู้ปฏิบัติมหายานที่ออกห่างจากวัฒนธรรมอินเดีย สะท้อนเสรีภาพ แรงบันดาลใจในการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ และความเป็นตัวของตัวเองของผู้ปฏิบัติในฐานะนักรบทางจิตวิญญาณ คำสอนมหายานเปิดกว้างต่อความรู้สึก ความปรารถนา และความคิดสร้างสรรค์ โดยมีอุดมคติของการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นหมุดหมายสำคัญ ส่งผลให้การตีความพระธรรมวินัยของฝ่ายมหายานมีลักษณะเปิดกว้างและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์อันท้าทายของชีวิต

ยามนึกถึง พุทธศาสนาวัชรยาน เราจะนึกถึงความสูงเสียดฟ้าของเทือกเขาหิมาลัย ภาพโยคีที่ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์อยู่ตามเถื่อนถ้ำ เทือกเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม รายรอบด้วยทะเลทรายห่างไกลจากผู้คน นักบวชเร่ร่อนที่เดินทางไกลจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง ภาพวาดพระพุทธเจ้าสีสันฉูดฉาดตามผนังหิน ภาพคุรุ ทวยเทพ ธรรมบาล ธงมนตร์ เครื่องรางประกอบพิธีกรรม ภาพยักษ์ ปีศาจ ภูตผีที่ดุดัน เป็นต้น  ภูมิทัศน์ทางศาสนาสัมพันธ์อยู่กับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่รุนแรง ความไม่แน่นอน ความเป็นความตาย ภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย

วัชรยาน
เป็นรูปแบบพุทธศาสนาที่ได้รับการนับถือศรัทธาโดยประชากรส่วนใหญ่ในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย เช่น ลาดัก สิกขิม เนปาล ภูฏาน และทิเบต ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงสลับกับทะเลทราย มีหิมะปกคลุมตลอดปี ร้อนก็ร้อนจัด หนาวก็หนาวจัด แทบไม่มีพืชพันธุ์ใดๆงอกงามได้ ความดิบของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์และจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนามหายานที่วิวัฒน์ไปสู่วัชรยาน อันมีหัวใจอยู่ที่การแปรเปลี่ยนกิเลส ตัณหาและอารมณ์ของมนุษย์ให้กลายเป็นพลังแห่งการรู้แจ้ง

การเดินทางเข้าไปทำความรู้จักจักรวาลพุทธศาสนาทั้งในแบบเถรวาท มหายาน และวัชรยาน ทำให้มุมมองของเราที่มีต่อการเผยแผ่พุทธธรรมนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า พุทธศาสนาเผยแผ่จากวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ราวกับเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่กระจายจากศูนย์กลางการผลิตไปทั่วโลก โดยสินค้านั้นต้องได้รับการรับรองหรือรับประกันว่ามีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน อ้างอิงพระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หรือประวัติศาสตร์แบบทางการที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับตรงกัน ทว่าในอีกมุมมองหนึ่ง พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยประสบการณ์ชีวิตและการลองผิดลองถูกของมนุษย์ จากการเดินท่องไปจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง การเผชิญสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และบริบทวัฒนธรรมที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้พุทธศาสนาพัฒนารูปแบบ อุบาย และคำสอนที่แตกต่างกันไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานที่

พลวัตของพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในทางประวัติศาสตร์สะท้อนถึงความพยายามในการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน วิพากษ์ และปฏิรูปพุทธศาสนาให้รักษาจิตวิญญาณแห่งการสละละวาง และการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะเดียวกันก็พัฒนาศักยภาพในหลักธรรมคำสอน และอุบายวิธีเพื่อเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงบริบทความทุกข์ที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกชีวิตมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ในตัว ทุกสถานการณ์ทุกอารมณ์ และทุกผู้คนสามารถถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางการพัฒนาศักยภาพแห่งการรู้แจ้งได้ จนกลายเป็นวิถีพุทธธรรมที่แสดงออกถึง การปลดปล่อย (liberation) ส่งเสริมศักยภาพ (empowerment) ให้ความเคารพต่อเสรีภาพ (freedom) และส่งเสริมความเป็นมนุษย์ (humanization) อันสะท้อนถึงคุณค่าและความหมายของ “พุทธะ” โดยรากกำเนิด


จากพุทธคยาถึงโปตาลา

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1146.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

เป็นเวลานับพันปีที่ชาวพม่าหลอมรวมอัศจรรย์แห่งธรรมชาติเข้ากับศรัทธาในพุทธศาสนา
ได้อย่างกลมกลืน งดงาม และขรึมขลัง  ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น ณ พระธาตุอินทร์แขวน
ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในห้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพุทธศาสนาของพม่า  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1147.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

สามเณรทอดสายตามองจากอารามแห่งหนึ่งใกล้ทะเลสาบอินเล ในรัฐฉานของพม่า
การบวชเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในอุษาคเน  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1148.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พุทธศาสนามหายานมีหัวใจความเชื่อ คือเรื่องธรรมชาติแห่งพุทธะและการพ้นทุกข์
ของคนหมู่มาก นอกจากนี้ยังเน้นการฝึกจิตควบคู่กับร่างกาย
ดังเช่นหลวงจีนสองรูปแห่งวัดเส้าหลิน  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1149.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

วัตถุมงคลอันเป็นตัวแทนของศาสนาและความเชื่อหลากหลายรวมทั้งพุทธศาสนา
ในแง่หนึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพุทธศาสนากระแสหลักที่ผูกติดกับศรัทธา
และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ในอีกแง่หนึ่ง วัตถุเหล่านี้คือสีสันทางวัฒนธรรม
อันเป็นพลวัตของพุทธศาสนา  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1150.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พุทธศาสนิกชนเดินประทักษิณรอบอารามกานเด็น นอกนครลาซา ของทิเบต
แม้พุทธศาสนาจะแผ่มาถึงดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
แต่ยังไม่หยั่งรากมั่นคงจนล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 12 ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1152.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

บรรยากาศแห่งการแสวงบุญและจิตวิญญาณอบอวลไปทั่วสายน้ำคงคาในเมืองพาราณสี
รัฐอุตตรประเทศ พุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในอินเดียหลังเจ้าชายแห่งแคว้นเล็กๆ
ทรงบรรลุศักยภาพสูงสุดทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน
พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนจะค่อยๆ ตกต่ำลง
และเกือบปลาสนาการไปจากดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดแห่งนี้  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์  

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1153.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พุทธศาสนานิกายเซนหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ดังสะท้อนให้เห็น
ในพิธีกรรมและวิถีชีวิต เช่น การชงชา การจัดดอกไม้ และการจัดสวนหินที่เน้น
ความเรียบง่าย ทว่าแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรมลุ่มลึก  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1154.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

ณ อารามเก่าแก่แห่งหนึ่งในลาดักห์ ประเทศอินเดีย พระสงฆ์กำลังเตรียมงานเฉลิมฉลอง
เทศกาลสำคัญ ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นมนตร์เสน่ห์อย่างหนึ่งของพุทธศาสนาแบบวัชรยาน  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1155.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พุทธศาสนาน่าจะแผ่มาถึงดินแดนจีนตามเส้นทางสายไหม กระทั่งราว พ.ศ. 608
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น จึงมีการส่งคณะทูตไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย พร้อมอัญเชิญ
พระเถระ พระคัมภีร์ และพระพุทธรูปกลับมาด้วย โลกทรรศน์พุทธมหายาน
รุ่มรวยไปด้วยพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ดังจะเห็นได้ในพุทธศิลป์
และสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น พระพุทธรูปเล่อซาน ในมณฑลเสฉวน
ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระศรีอริยเมตไตรย  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1156.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

พระสงฆ์และฆราวาสเดินเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาที่วัดแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี
หากคำว่า “สุวรรณภูมิ” ในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชหมายรวมถึงดินแดนไทย
และใกล้เคียง นั่นหมายความว่า พุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่ดินแดนไทยอย่างน้อย
ราวพุทธศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา ก่อนจะสถาปนาอย่างมั่นคงในยุคต่อๆ มา
เช่น ทวารวดี และสุโขทัย จนกระทั่งกลายเป็นศาสนาประจำชาติในปัจจุบัน  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1157.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

แม้จะเหลือเพียงฐานราก แต่ซากปรักของพระเจดีย์มิงกุน นอกเมืองมัณฑะเลย์
ประเทศพม่า ก็สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรือง ของพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้
สันนิษฐานว่าพุทธศาสนา น่าจะแผ่มาถึงดินแดนพม่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ
อย่างน้อยราวพุทธศตวรรษที่สาม และเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชธานีพุกาม
ปัจจุบัน พม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมพุทธศาสนาเข้มแข็ง
และถือเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของพุทธศาสนาแบบเถรวาท  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1158.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

สถูปพุทธนาถในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อันเป็นศูนย์รวมจิตใจ
ของพุทธศาสนิกชนในท้องถิ่น และชาวทิเบตที่ลี้ภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในเนปาล
ไม่เพียงโดดเด่นด้วยดวงตาเห็นธรรมทั้งสี่ด้าน แต่ยังประดับประดาด้วยกงล้อมนตร์
และธงมนต์หลากสี เชื่อกันว่าเมื่อสายลมพัดผ่าน มนตราก็แพร่กระจาย
ความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย พุทธศาสนาในเนปาลดำรงอยู่ควบคู่จนบางครั้ง
แทบแยกไม่ออกจากศาสนาฮินดูซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติ  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1159.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

ศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวพม่าสะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัด
ณ พระมหาเจดีย์ชเวดากอง อันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ
สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในพุทธศาสนาแบบเถรวาท  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์

http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-108-IMG-1160.jpg
ตามรอยศรัทธาพุทธศาสนาจากต้นธารในอินเดียสู่ดินแดนต่างๆ ทั่วเอเชียและโลกตะวันตก

ภาพพระภิกษุในพุทธศาสนาอยู่ท่ามกลางวัดที่สร้างอุทิศถวายเทพฮินดู
ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ บอกเล่าถึง สายธารความเชื่อ
ที่ล้วนมีต้นกำเนิดจากผืนแผ่นดินเดียวกัน  ภาพโดย : เจเรมี ฮอร์เนอร์


ขอขอบคุณเว็บไซต์ ngthai.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 สิงหาคม 2557 07:43:07 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.581 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 สิงหาคม 2566 18:21:29