[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 22:13:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เกาะสวรรค์ฯ เกาะที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงไม่กี่แห่งสุดท้ายในมหาสมุทรแปซิฟิก  (อ่าน 9485 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2321


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 01 ตุลาคม 2557 18:36:27 »

.

เกาะสวรรค์สุดขอบฟ้า
เรื่องโดย เคนเนดี วอร์น

Story
หมู่เกาะไลน์ตอนใต้คือเป้าหมายในการอนุรักษ์ล่าสุดของโครงการทะเลพิสุทธิ์

“ถ้ามนุษย์ต่างดาวสักคนมีเวลาแค่หนึ่งวันบนโลก และอยากเห็นแนวปะการัง ผมคงพาเขาไปดูเกาะปะการังวงแหวนมิลเลนเนียม”  เอนริก ซาลา นักสำรวจประจำของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก บอก สิ่งที่มนุษย์ต่างดาวผู้นั้นจะได้เห็น คือส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะที่อาจเรียกได้ว่าบริสุทธิ์มากที่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิก นั่นคือเกาะอันไกลโพ้นห้าเกาะได้แก่ แคโรไลน์ (หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ “มิลเลนเนียม”) ฟลินต์, วอสต็อก, มอลเดนและสตาร์บัก ซึ่งเรียกรวมกันว่า หมู่เกาะไลน์ตอนใต้  ผืนน้ำรอบๆ เกาะไร้ผู้อยู่อาศัยห่างจากฮาวายไปทางใต้ระหว่าง 2,400-3,400 กิโลเมตรเหล่านี้คือสถานที่ที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริงไม่กี่แห่งสุดท้ายในมหาสมุทรที่ถูกแสวงประโยชน์มากเกินควร

ปัจจุบัน อาณาบริเวณดังกล่าวกำลังได้รับการปกป้อง   เพราะเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลคิริบาตีเพิ่งประกาศเขตห้ามทำประมงในรัศมี 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะแต่ละเกาะ นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบันทึกข้อมูลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ถูกย่ำยีน้อยที่สุดในโลกเอาไว้  โดยมีซาลากับโครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas Project) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นผู้ริเริ่ม  การจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลรอบหมู่เกาะไลน์ตอนใต้เป็นสิ่งที่ซาลามุ่งหวังตั้งแต่ครั้งเป็นผู้นำทีมสำรวจภูมิภาคแถบนี้เมื่อปี 2009 เขาบอกว่า “เกาะเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า ‘ความพิสุทธิ์’ หมายถึงอะไร ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ทั้งความหนาแน่นของปะการัง มวลชีวภาพปลา จำนวนผู้ล่าลำดับสูงสุด และความหลากหลายทางชีวภาพ พูดได้ว่าสภาพทางนิเวศวิทยาของเกาะเหล่านี้น่าทึ่งมากครับ”

ระหว่างการสำรวจเมื่อปี 2009  นักดำน้ำใช้เวลาดำน้ำรอบเกาะห้าเกาะนี้มากกว่า 1,000 ชั่วโมง  สิ่งที่พบทำให้พวกเขาประหลาดใจ เพราะปะการังบนพืดหินใต้น้ำบางแห่งหนาแน่นจนปกคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 90 ของที่ราบใต้ทะเล หรือมากกว่าปะการังที่ปกคลุมพื้นทะเลในแถบแคริบเบียนซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละห้าถึงสิบ 

นักวิทยาศาสตร์ยังทึ่งกับความสมบูรณ์ของชุมชนปะการังที่หนาแน่น เพราะทั่วน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำลายปะการังเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ แต่ดูเหมือนพืดหินใต้น้ำของหมู่เกาะไลน์ตอนใต้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หรือโรคที่เกิดกับปะการังเลย

ทว่าหมู่เกาะไลน์ตอนใต้ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในสภาพสมบูรณ์เช่นนั้นมาตลอด ย้อนหลังไปในศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบมีการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยขี้นกและมะพร้าวบนเกาะหลายเกาะ และเมื่อปี 1957 รัฐบาลอังกฤษทดสอบนิวเคลียร์ในบรรยากาศหลายครั้งใกล้เกาะมอลเดน แต่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำ ผลกระทบจากมนุษย์เหล่านั้นแทบไม่พบเห็นเลย  ซาลาและคณะบันทึกชนิดพันธุ์ปลาได้ถึง 325 ชนิดรอบหมู่เกาะไลน์ตอนใต้  และมวลชีวภาพปลา (มวลรวม) โดยประมาณก็จัดว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้จากแนวปะการัง

ผืนน้ำรอบๆเกาะแสดงให้เห็นภาพ “พีระมิดมวลชีวภาพแบบกลับหัว” ของพืดหินใต้น้ำที่มีความสมบูรณ์ซึ่งมีประชากรผู้ล่าลำดับสูงสุดอยู่มากที่สุดเมื่อวัดจากมวลสะสม  โดยเกาะมอลเดนมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 “นี่คือภาพท้องทะเลแห่งความกลัว” ไบรอัน สเกอร์รี ช่างภาพซึ่งร่วมอยู่ในคณะสำรวจด้วย  เปรียบเปรย “ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น  ถ้าไม่ใช่กำลังล่า ก็เป็นผู้ถูกล่าครับ”

ระหว่างการดำน้ำตอนพลบค่ำครั้งหนึ่งที่สเกอร์รีเรียกว่า “ชั่วโมงทองของฉลาม” เขาตกอยู่ในวงล้อมของฉลามสีเทาแนวปะการังโดยไม่รู้ตัว เขาเล่าว่า “พวกมันน่าจะมีสัก 60 ตัวเห็นจะได้  ตอนนั้นผมกำลังถ่ายภาพในแนวปะการังรูปตัวยู แล้วฉลามตัวหนึ่งก็เข้ามาใกล้มาก ถ้าคุณไล่ ปกติฉลามจะหนีไปอย่างน้อยก็พักหนึ่ง แต่ฉลาม   พวกนี้กลับเลี้ยวหักมุมและว่ายกลับมาทันที  แล้วยังมีฉลามอีกห้าตัวอยู่หลังฉลามตัวนั้น และข้างหลังพวกมันยังมีอีกสิบตัว คุณเห็นได้เลยว่าพวกมันกำลังแย่งทำเลที่ดีกว่ากัน  ตั้งแต่ดำน้ำมา 36 ปี มีบ้างที่ผมสุ่มเสี่ยงกับพวกสัตว์นักล่าแต่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองถูกล่าเท่าตอนอยู่ที่นี่เลยครับ”

ความอุดมสมบูรณ์ของผู้ล่าดังกล่าวอาจหมดไปโดยง่าย  ซาลาเชื่อว่าเรือขนาดใหญ่ลำเดียวอาจล่าฉลามเพื่อเอาครีบ (หรือหูฉลาม) จนหมดไปจากแนวปะการังได้ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากนั้นความสมบูรณ์ของระบบนิเวศจะดิ่งฮวบลง เพราะเมื่อปราศจากผู้ล่าลำดับสูงสุด  ผู้ล่าลำดับกลางๆอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้จำนวนสัตว์กินพืชที่เป็นอาหารของผู้ล่าลดลง และสาหร่ายจะเข้ายึดครองแนวปะการัง

ที่เกาะมิลเลนเนียม  นักประดาน้ำเห็นฉลามสองตัวมีเบ็ดติดคาปาก ตัวหนึ่งมีสายเบ็ดเส้นยาวติดมาด้วย  ขณะที่นักแล่นเรือชาวฝรั่งเศสที่ทอดสมออยู่ในลากูนเล่าว่า  เขาเคยเห็นเรือประมงเบ็ดราวจับปลาอยู่นอกชายฝั่ง

มาตรการที่คิริบาตีนำมาใช้เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลรอบเกาะเหล่านี้ อาจช่วยยับยั้งกิจกรรมดังกล่าวได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรือลาดตระเวนและเครื่องบินตรวจการณ์ต้องใช้งบประมาณสูงมากในสถานที่ห่างไกลเช่นนี้ และแม้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างดาวเทียมสังเกตการณ์และระบบติดตามเรือจะช่วยเตือนเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้บุกรุก แต่การขัดขวางหรือหยุดยั้งก่อนที่คนเหล่านั้นจะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศยังเป็นความท้าทาย

ภัยคุกคามอื่นๆอาจน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะแนวปะการังเขตร้อนกำลังเผชิญวิกฤติสามต่ออันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ระดับทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้น และภาวะที่น้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้นซึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ปะการังที่สร้างโขด และผลกระทบโดยรวมอาจร้ายแรงมาก

ระดับทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ยังคุกคามการอยู่รอดของประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ อะโนเต ตอง ประธานาธิบดี  คิริบาตีพร่ำเตือนว่า ภายในปี 2050 ประเทศที่ก่อร่างสร้างตัวบนพืดหินปะการังของเขาอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป  และประชาชนกว่า 100,000 คนอาจต้องละทิ้งถิ่นฐาน “วิธีซื้อเวลาที่ดีที่สุดที่พวกเราทำได้คือ  ต้องทำให้พืดหินใต้น้ำมีโครงสร้างมั่นคงที่สุดเท่าที่จะทำได้  และองคาพยพทางนิเวศวิทยาทุกอย่างอยู่ในสภาพสมบูรณ์” ซาลาบอกก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ยิ่งแนวปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์เท่าไร ก็ยิ่งมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเท่านั้นครับ”



คำบรรยายภาพ : สวรรค์ใต้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอันไกลโพ้น ซึ่งรวมถึงท้องทะเลรอบเกาะแคโรไลน์ที่เห็นในภาพ
จะได้รับการพิทักษ์ด้วยความช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากโครงการทะเลพิสุทธิ์ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก


คำบรรยายภาพ : ฉลามหูดำเล็ก ปลามงครีบฟ้า และปลากะพงแดงจุดคู่ (ด้านหน้า)
ต่างจับจ้องคอยมองหาเหยื่ออยู่ในบริเวณทางน้ำตื้นๆ เข้าสู่ลากูนของเกาะมิลเลนเนียม
ผู้ล่าลำดับสูงสุดอย่างปลาเหล่านี้เป็นดรรชนีชี้วัดสำคัญของแนวปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก


คำบรรยายภาพ : หมู่เกาะไลน์ตอนใต้คือเป้าหมายในการอนุรักษ์ล่าสุดของโครงการทะเลพิสุทธิ์


คำบรรยายภาพ : คลื่นซัดกระหน่ำแนวปะการังรอบเกาะฟลินต์ ซึ่งเป็นปัจจัยจำกัดการเจริญเติบโต
ของปะการังให้เหลือเพียงปะการังสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้น ในน่านน้ำที่อยู่ไกลออกไปซึ่งคลื่นลม
บรรเทาเบาบางลง ปะการังจะแพร่กระจายมากขึ้นและมีความหลากหลายทั้งสีสันและรูปทรง


คำบรรยายภาพ : หมู่เกาะไลน์ได้ชื่อนี้เพราะคร่อมอยู่บนเส้นศูนย์สูตรซึ่งนักเดินเรือเรียกกันว่า “เดอะไลน์”
แม้พื้นที่ส่วนที่พ้นน้ำของเกาะ มอลเดนจะรกร้างเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่อยู่ใต้น้ำกลับอุดมสมบูรณ์จนดึงดูด
นักวิทยาศาสตร์จากโครงการทะเลพิสุทธิ์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ให้เข้ามาสำรวจ


คำบรรยายภาพ : ปลายูนิคอร์นหนามขาวเป็นหนึ่งในปลา 325 ชนิดพันธุ์ที่พบในน่านน้ำรอบหมู่เกาะไลน์
และได้รับการบันทึกไว้ เรายังไม่รู้ว่าเขาของมันมีไว้ทำอะไร แต่ไม่ใช่สำหรับการต่อสู้แน่ๆ ปลาชนิดนี้ใช้เงี่ยงแหลมๆ
ที่อยู่ใกล้หางในการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขต


คำบรรยายภาพ : ปลาแพะสองตัวรอคอยรัตติกาล ซึ่งเป็นเวลาที่พวกมันจะออกจากที่กำบังอันปลอดภัย
ตามแนวปะการังที่เกาะมิลเลนเนียม เพื่อออกหาอาหาร ก่อนที่จะกลับไปหลบภัยอีกครั้งในตอนเช้า


คำบรรยายภาพ : ปลาขี้ตังเบ็ดสันหางส้มกินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร


คำบรรยายภาพ : ปลาเก๋าที่เกาะสตาร์บักเป็นหนึ่งในนักล่าผู้น่าเกรงขามแห่งแนวปะการังที่สมบูรณ์
ความที่มีอายุยืนยาวและเติบโตช้า ปลาเก๋าจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบรายแรกๆ จากการทำประมงเกินขนาด


คำบรรยายภาพ : ในน่านน้ำที่อยู่ไกลออกไปจากแนวปะการัง ฝูงปลาสากอวดสีสันและลวดลายมันวาวให้ท้องทะเล
การประกาศเขตห้ามทำประมงในรัศมี 12 ไมล์ทะเลรอบหมู่เกาะไลน์ตอนใต้ช่วยปกป้องปลาสากและปลาอื่นๆ ที่มีถิ่นหากินไม่ไกลนัก


คำบรรยายภาพ : นักชีววิทยาทางทะเลค้นพบว่า แนวปะการังที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องเต็มไปด้วยฝูงปลาหลากสีสัน
หากเป็นแนวปะการังที่เหล่านักล่าครอบครองและเหยื่อมักหลบซ่อนตัว ดังเช่นที่เกาะมิลเลนเนียม ฉลามสีเทาแนวปะการังตัวนี้
ออกลาดหาเหยื่อในท้องน้ำที่ดูเหมือนว่างเปล่า


คำบรรยายภาพ : ขณะที่ปะการังในน่านน้ำอื่นๆ ของโลกถูกทำลายจากปรากฎการณ์ฟอกขาว
และโรคระบาด แต่หมู่เกาะไลน์ตอนใต้ยังมีระบบนิเวศอันพิสุทธิ์ซึ่งทำให้ปะการังอยู่ในสภาพสมบูรณ์
ทั้งนี้เพราะสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นทุกชนิดทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี

- ngthai.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.432 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 07 กุมภาพันธ์ 2567 01:38:47