[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 16:37:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: "หันหลังให้อดีต" รุ่นสุดท้ายเส้นทางทำกินของคนจีนย่านตลาดน้อย  (อ่าน 12536 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2327


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 ตุลาคม 2557 18:25:43 »

.


















เฮียบเตียง
60 ปีบนเส้นทางสายขนมหวาน ตำนานแห่งตลาดน้อย

ย่านตลาดน้อยยังคงหลับใหลในยามตี 3  ชายชราคนหนึ่งตื่นขึ้นท่ามกลางความเงียบงัน เขาเปิดไฟสีขาวลอดประตูลูกกรงออกมาตัดกับพื้นถนน พลางชะโงกออกมาเชิญชวนให้เราเข้าไปด้านใน การเริ่มต้นวันใหม่ก่อนไก่โห่เช่นนี้อาจผิดวิสัยของคนทั่วไป ทว่าสีหน้าของเขากลับเบิกบานผิดกับคนรุ่นหนุ่มสาวอย่างเราที่แข็งแรงแท้ๆ กลับตื่นแต่ร่างกาย เช้ามืดไม่ใช่เวลาของทุกคน มันอาจสอดคล้องกับวิถีของเถ้าแก่ขนมหวาน เจ้าของร้านเฮียบเตียงมากที่สุด

ชายชราตระเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างเรียบร้อย เขาสาดแป้งลงบนโต๊ะตัวเก่า พร้อมราดน้ำมันจากกระบวยเก่าๆ จากนั้นก็ลงมือนวดจนผงสีขาวกลายเป็นก้อนแป้งกลมๆ

“อากง ให้หนูช่วยอะไรไหม” อากงแบ่งแป้งส่วนหนึ่งมาให้ฉันตามคำขอ ด้วยเหตุที่อากงไม่ถนัดภาษาไทยเท่าไรนัก เลือกที่จะสาธิตวิธีทำขนมให้ฉันลองทำตาม มากกว่าจะถ่ายทอดเป็นคำพูด หรือบางครั้ง อากงอาจเคยชินกับการทำขนมคนเดียวอย่างเงียบๆ ปล่อยให้อาม่าเป็นผู้ถ่ายทอดตำนานร้านเฮียบเตียงให้เราฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว อากงเอี่ยม แซ่ตั้ง เพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ หนุ่มน้อยหน้าตี๋วัย 20 เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเข้าฝึกงานในร้านขนมย่านตลาดน้อย เขาได้เรียนรู้วิชาการทำขนมหวานหลากชนิดจนชำนาญ จนกระทั่งพบรักกับอาม่านี้ แซ่อึ้ง สาวไทยเชื้อสายจีน บ้านใกล้เรือนเคียง จึงตัดสินใจแต่งงานและออกมาเซ้งห้องแถวขนาดหนึ่งคูหา เพื่อเปิดกิจการร้านขนมเล็กๆ เป็นของตัวเอง ในขณะที่อากงแสดงฝีมือทอดขนมอยู่ในครัว อาม่าจะทำหน้าที่เป็นเถ้าแก่เนี้ย คอยเฝ้าหน้าร้านและบรรจุขนมร้อนๆ จากเตาขายให้ลูกค้า

ร้านเฮียบเตียง เติบโตพร้อมชุมชนตลาดน้อย วันเดือนปีผ่านไป อากงค่อยๆ ปรับสูตรขนมจากสูตรแต้จิ๋วสู่ความลงตัวในแบบของตัวเอง ร้านเฮียบเตียงเป็นเจ้าตำรับของขนมหลายชนิด ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นขนมเจเปี๊ยะ ขนมเปี๊ยะชิ้นเล็กสีขาว ทอดจนแป้งด้านนอกกรอบฟูลงตัวกับไส้ถั่วเหลืองนุ่ม อิ่วก้วย ขนมหน้าตาละม้ายคล้ายกะหรี่ปั๊บที่แป้งกรอบนอกนุ่มในกำลังดี หรือจะเป็นเม่งทึ้ง แป้งหยุ่นนุ่มคลุกเคล้างาขาว ล้วนเป็นของเลิศรสที่ใครก็อยากลิ้มลอง

แม้แต่ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารชื่อดังก็ยังต้องสั่งขนมจากร้านเฮียบเตียงมาขาย นับเป็นจุดสูงสุดของการทำร้านขนมในยุคนั้น ทุกวันนี้แม้ร้านจะไม่ได้ค้าส่งขนมอีกต่อไป แต่หากพูดถึงร้านเฮียบเตียง คนเก่าคนแก่มักเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงช่วงเทศกาลกินเจเมื่อใด ชาวไทยเชื้อสายจีนจากทั่วสารทิศต้องมาต่อแถวยาวเหยียดหน้าร้านขนมเจ้านี้กันแน่นขนัดตา กลายเป็นภาพจำที่ฝังแน่นในสายตาของผู้คนในซอยเจริญกรุง 20 มาหลายชั่วอายุคน

ปรัชญาการทำขนมของเฮียบเตียงเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ขนมทอดแต่ละชนิดต้องไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป วัตถุดิบทุกอย่างถูกคัดสรรอย่างดี ขนมเฮียบเตียงมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะปรุงจากน้ำส้มเช้งเข้มข้นอย่างดีจากเมืองจีน เรียกได้ว่า กลิ่น รส สัมผัส ได้รับการปรุงแต่งมาอย่างลงตัว อากงจะทำขนมครั้งละน้อยชิ้น พอขายหมดในเวลาไม่นาน อาศัยว่าขยันทำหลายๆ รอบ เพื่อให้ขนมทุกชิ้นสด ใหม่ ยังกรุ่นกลิ่นหอมอยู่เสมอ

“ขนมที่นี่สดใหม่ ลื้อซื้อไปกินไม่หมดก็เก็บไว้ เชื่ออั๊วะเถอะ ลูกค้าบางคน อีมาซื้อไปเป็นกล่องๆ ขึ้นเครื่องบินไปฝากญาติที่อังกฤษ ฝรั่งเศส กว่าจะถึง กว่าจะได้กิน ขนมก็ยังอยู่ได้ ไม่เสีย”

ว่าแล้วอาม่าก็หันหลังไปเปิดถังพลาสติก หยิบขนมถั่วตัดสองชิ้นแบบเต็มคำมาให้พวกเราลองพิสูจน์ความสดกันแบบฟรีๆ อันที่จริง เราเชื่ออาม่าตั้งแต่ตอนได้กลิ่นหอมฟุ้งลอยออกมาเตะจมูก ทั้งที่มีขนมเหลืออยู่แค่ก้นถังเท่านั้น

นอกจากขนมทั่วไปที่วางขายหน้าร้าน เฮียบเตียงยังรับทำขนมน้ำตาล สำหรับเทศกาลและงานพิธีต่างๆ เมื่อตกลงราคาและรูปร่างขนมกันเรียบร้อยแล้ว อากงจะหายเข้าไปหลังร้าน ตั้งกระทะใบใหญ่เคี่ยวถั่วกับน้ำตาลจนข้นเหนียวพอที่จะปั้นเป็นโครงสิงโตตัวน้อยๆ ระหว่างรอน้ำตาลเย็นตัว อากงจะหันมาบรรจงปั้นแป้งสีขาวเป็นตา หู จมูก เส้นขน หาง รวมถึง ส่วนประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปี อากงจึงจำรายละเอียดงานฝีมือทุกชิ้นได้โดยไม่ต้องมีตัวอย่าง

เขาติดแป้งแต่ละชิ้นเข้ากับถั่วเคี่ยวน้ำตาลอย่างคล่องแคล่ว จนกลายเป็นตัวสิงโตสีขาวที่มีลีลาพร้อมเยื้องกราย

“สิงโตคู่เป็นของขึ้นชื่อ แต่พวกอั๊วะไม่ได้รับทำแค่สิงโตนะ บางบ้านสั่งซาแซ โหงวแซหรือเนื้อสัตว์ห้าอย่าง เอาไว้ไปไหว้ฮวงซุ้ยแล้วไม่ต้องคอยปัดแมลงวันเหมือนตอนใช้เนื้อสัตว์จริง อากงปั้นรูปสัตว์ได้ทุกอย่าง ปั้นมังกรยากๆ ก็ได้ ต้นไม้ดอกไม้ก็ได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนกินเจตาย ญาติเลยโทรมาสั่งกอบัวน้ำตาล เอาไว้ไหว้วิญญาณไม่กินเนื้อ อากงก็จะนั่งปั้นบัวทีละกลีบๆ จนเสร็จ”

ขั้นตอนสุดท้าย อากงจะค่อยๆ นั่งจรดพู่กันแต่งแต้มสีสันหุ่นน้ำตาล ท่ามกลางความเงียบและเนิบช้า มองดูแล้วลีลาของอากงไม่ต่างกับศิลปินที่กำลังถ่ายทอดวิญญาณลงในผลงานของตัวเอง

ดูเหมือนว่าการทำขนมทุกวัน จะทำให้ชายชราอายุกว่า 80 ปีคนนี้ยังแข็งแรง เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน

“อากงเหมือนจะเดินเหินไม่ค่อยไหวสุขภาพอีก็ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน แต่ลื้อรู้ไหม อีจับพู่กันระบายสีทีไร มืออีไม่เคยสั่นเลย” อาม่าแอบมองอากงลากเส้นพู่กันอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะชี้ให้เรามองสูงขึ้นไปดูภาพตุ๊กตาสิงโตสีสันสดใสใส่กรอบแขวนผนังอย่างดี อาม่าเล่าให้ฟังว่า ชื่อเสียงปั้นขนมน้ำตาลของอากงเป็นที่เลื่องลือมาก ลูกค้าหลายคนพยายามหาซื้อตามร้านขนมในเยาวราช แต่ร้านไหนๆ ก็สู้ฝีมือที่นี่ไม่ได้เลย ยิ่งเจอบางร้านเลิกทำขนมน้ำตาลแบบปั้นมือ ปฏิวัติตัวเองเข้าสู่ยุคหล่อขนมจากแท่นพิมพ์ ความประณีตบรรจงจึงต่างกัน สุดท้ายก็ต้องกลับมาอุดหนุนร้านเฮียบเตียงเช่นเดิม ส่วนภาพในกรอบนั้น มีลูกค้ารายหนึ่งสั่งสิงโตน้ำตาลคู่นี้ไป หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับมาที่ร้านพร้อมรูปถ่ายใบนี้แทนคำขอบคุณ

เป็นธรรมดาที่ร้านขนมแบบเก่าลดความนิยมลงไปตามกาลเวลา เฮียบเตียง เองก็ดำรงอยู่บนกระแสแห่งความจริงนี้ แต่อาจจะจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะคนรุ่นเก่ายังคงกดโทรศัพท์มาสั่งขนมอย่างไม่ขาดสาย บ้างก็นั่งรถมารับ บ้างส่งวินมอเตอร์ไซด์มารับของแทน ในขณะที่คนรุ่นใหม่บางส่วนได้ลิ้มรสขนมที่อากงอาม่าซื้อไปไหว้เจ้าแล้วติดใจจนเดินทางมาซื้อด้วยตัวเอง กลายเป็นลูกค้าใหม่กลุ่มเล็กๆ เพิ่มขึ้นมา

เมื่อถามถึงอนาคตของเฮียบเตียง อาม่าบอกว่า วันหนึ่งร้านเฮียบเตียงอาจต้องปิดตัวลงไป  เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่ เส้นทางสายขนมไม่ได้โรยด้วยเกล็ดน้ำตาลแสนหวานอย่างที่เข้าใจกัน น้ำหนักของไม้นวดแป้งอันใหญ่อาจทำให้มือใหม่ปวดหลังไปหลายวัน ในขณะที่การนวดและจับจีบแป้งขนมด้วยมือนานเข้าทำให้สาวๆ ทนอาการมือเปื่อยไม่ไหว รวมทั้งการเรียนทำขนมที่ไม่ได้จบลงในวันเดียว ต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าในการพัฒนาฝีมือ ลูกหลานหลายคน อาม่า หรือแม้กระทั่งคนนอกที่สนใจเคยแวะเวียนเข้ามาหัดทำขนม ณ หลังครัวแห่งนี้ แต่ไม่นานนักก็ต้องยอมแพ้ไป เมื่อเป็นเช่นนี้เฮียบเตียงจึงขาดผู้สืบทอดไปอย่างน่าเสียดาย

ทุกวันนี้ ลูกหลานเฮียบเตียงไม่ได้เลือกเส้นทางสายขนมหวาน พวกเขาเติบโตไปตามทิศทางของตน พร้อมด้วยฐานะอันมั่งคั่งและธุรกิจที่มั่นคงกว่า หากเฮียบเตียงเลือกที่จะปิดตัวลง อากงอาม่าสามารถพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตได้อย่างสบายๆ ทว่าอากงกลับไม่มีวี่แววจะวางมือจากร้านขนมเลยสักครั้ง ก่อนรุ่งสางก็ยังคงตื่นมานวดแป้งปั้นขนมเหมือนทุกๆ วัน

“ขายขนมเดี๋ยวนี้กำไรนิดเดียว คิดดู ขนมอันละ 9 บาท ทำขาย 1,000 อัน ได้แค่ 9,000 บาท ยิ่งถ้าหักต้นทุน ยิ่งกำไรยิ่งไม่มี ใครๆ ก็บอกให้เลิกทำได้แล้ว อีกอย่างเราเองไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน จะปิดร้านไปก็ไม่เห็นเป็นไร เชื่อไหม อีไม่เคยเถียงอะไรใครเลย แต่ตื่นมาทำขนมทุกวัน”

อากงกับร้านขนมของแก ล้มลุกคลุกเคล้ากันมานาน เหมือนแป้งผสมน้ำมัน ที่ถูกมือแห่งกาลเวลาบรรจงนวดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

หรืออากงอาจไม่ได้ทำขนมเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณ

เมื่อขนมวางเรียงเต็มตู้ในยามสาย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าภารกิจประจำวันของอากงเสร็จสิ้นลงแล้ว เขาเดินออกไปสูดอากาศหน้าร้านขนมหวานอย่างเงียบๆ เพียงไม่นานก็หายเข้าไปในครัวอีกครั้ง เพื่อเอนหลังบนเตียงผ้าใบข้างๆ โต๊ะนวดขนมตัวเก่าของเขาเอง.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มกราคม 2558 19:09:16 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2327


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 มกราคม 2558 19:32:56 »

.

โลกหมุนเร็วจนทุกคนรู้สึกได้…
การเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วของทุกสรรพสิ่งเป็นมาตรวัดความเร็วของโลกที่กำลังหมุน  ความเร็วนี้ได้หมุนเอาองค์ความรู้และวิถีชีวิตที่ถูกส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นให้หลุดหายไปตามแรงเหวี่ยงของโลก   วิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนแถวย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ก็เช่นกัน หลากหลายอาชีพที่ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู้รุ่นกำลังเดินมาถึงช่วงสุดท้าย

คำถามคือ ในช่วงสุดท้ายนี้ รุ่นสุดท้ายจะเลือกดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร มีความหวัง หันหลังให้อดีต หรือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด



ลิ้ม ฮะ หลี ร้านขายมีดหมู - ละแล้ว ทิ้งแล้ว ทิ้งสิ่งที่ถูกส่งต่อจากคนรุ่นเก่าก่อน

ลิ้มฮะหลีมีดหมูเพื่อนคู่เขียงกว่า 50 ปี
หญิงวัยกลางคนนั่งหันหลังให้ป้ายนั้นราวกับกำลังหันหลังให้อดีต  ฉันเข้าไปสอบถามด้วยคำถามง่ายๆว่า  “ขายเฉพาะมีดหมูเหรอคะ”  เลยได้คำตอบที่ทำให้ฉันอยากหยุดอยู่ที่นี่
“ใช่หนู  ร้านนี้ขายเฉพาะมีดหมู ป้าเป็นรุ่นสุดท้ายที่ขาย เป็นร้านสุดท้ายในย่านตลอดน้อยแล้ว”

รุ่นสุดท้าย…ร้านสุดท้าย  คนพูดอาจไม่คิดอะไร แต่คนฟังใจหายอยู่ตรงนั้น  คุณป้า ณัฎฐรัตน์ แซ่ลิ้ม  เจ้าของร้านพาพวกเราเดินชมร้านบริเวณชั้นล่างของตึกสองชั้นเก่าๆ  สิ่งที่ทักทายเราภายในร้านมีเพียงความเงียบและมีดที่วางเรียงรายในตู้กระจกขึ้นฝ้า  มีดเหล็กกล้าสีดำหลายขนาดติดป้ายราคา 500-1000 บาท  ข้างๆ มีมีดสเตนเลสสมัยใหม่วางขายควบคู่กันเพื่อให้ทันยุคสมัย ข้างตู้กระจกมีลังๆ ใหญ่วางอยู่  คุณป้าบอกว่าภายในลังคือมีดล็อตสุดท้ายที่พ่อทำเอาไว้ก่อนตาย และเป็นล็อตสุดท้ายที่ร้านมี

“ ร้านเราเปิดกิจการมาสัก 50 ปี แล้ว  คุณพ่อเป็นเจ้าของร้าน เดิมทำอาชีพนี้เป็นจากเมืองจีนแต่พอมาเมืองไทยพ่อมาเป็นลูกจ้าง พอแต่งเมียมีลูกก็เลยไปยืมเงินมาขยายทำเอง พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนลำบากมาก ไม่ได้ทำมีดที่บ้านหลังนี้  ช่วงแรกเช่าบ้านเดือนละ 40 บาทแล้วทำมีด  หลังๆ ก็เช่าเฉพาะหลังบ้านไว้ทำ  ป้าเองไม่เคยช่วยพ่อทำแต่เคยเห็นวิธีการทำ ก็เอาก็เหล็กเป็นแผ่นๆ มาตัด เผาไฟแล้วตี ”

คุณป้าแนะนำให้รู้จักมีดหมูล๊อตสุดท้ายของร้าน มีดปลายแหลมหน้ากว้างคือมีดแล่โดยมี 3 ขนาด แล้วแต่คนถือว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย  มีดปลายแหลมยาวคือมีดเชือด มีดเล่มใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสั้นคือมีดสับใช้สับกระดูก และมีดเล่มใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวคือมีดหั่นเส้นก๋วยเตี๋ยว มีดทุกเล่มมีด้ามเป็นไม้กลมหนา คุณป้าบอกว่าร้านลิ้มฮะหลีเคยเป็นจ้าวแห่งมีดหมู ร้านขายหมูทุกเขียงต้องมาซื้อมีดที่นี่

“เมื่อก่อนขายดีได้วันละหนึ่งหมื่นบาทยังมี แต่เดี๋ยวนี้เงียบเพราะคนรุ่นใหม่เค้าใช้ใบเลื่อยหมู  ตอนนี้ลูกค้าก็มีแต่คนรุ่นเก่าหรือคนที่ชอบของเก่าเพราะมีดนี่มันใช้แรงคนงานทำ ค่าแรงมันก็สูง เมื่อก่อนมีขายกันอยู่สี่เจ้าแต่เค้ากลับบ้านเกิดกันไปหมดแล้วเพราะสู้ไม่ได้ ตอนนี้เราก็รอขายให้มันหมด เพราะของมันไม่เน่าไม่เสีย ถ้าหมดก็หมดไป”

ได้ยินคำว่าหมดก็หมดไปเราเลยอดไม่ได้ที่จะถามคุณป้าว่าเสียดายมั้ย  คุณป้าตอบว่าตนเองทำอะไรไม่ได้เพราะงานทำมีดมันเหนื่อย ร้อน ลำบาก จึงไม่มีคนอยากทำต่อ มันไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ป้าเองก็เข้าใจและแค่รอขายมีดให้หมดเท่านั้น

ป้าพูดจบก็ขอตัวไปขายน้ำที่หน้าบ้าน  เรากล่าวขอบคุณและเดินออกมาจากร้านด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก มันเป็นความเสียดายองค์ความรู้สมัยก่อนปะปนกับความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง  ฉันเดินออกมาสักพักก็มองกลับไปที่ร้าน  สิ่งที่เห็นจากระยะไกลคือผู้หญิงคนหนึ่งนั่งหันหลังให้อดีต และหันหน้ารับปัจจุบันด้วยสีหน้าวางเฉย ไม่เจ็บปวด

แล้วฉันก็เข้าใจเพลงๆ หนึ่งที่ร้องว่า “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน”




เฮียบเตียง ร้านขายขนมเปี๊ยะ - สุขใจ ที่ได้ทำ


เฮียบเตียง ร้านขายขนมเปี๊ยะ - ยิ้มให้กับสิ่งที่ผ่านพ้นมาอย่างภาคภูมิ


เฮียบเตียง ร้านขายขนมเปี๊ยะ - ยังคงรอคอยคนสานต่อ...


เฮียบเตียง ร้านขายขนมเปี๊ยะ - รุ่นสุดท้าย...เดียวดายเพียงลำพัง

เฮียบเตียง…70 ปีแห่งความอร่อย
“นี่คือสถาน  แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่”  เสียงเพลงจากวิทยุในร้าน “เฮียบเตียง” ร้านขายขนมเก่าแก่ของตลาดน้อยทำให้ฉันอดยิ้มไม่ได้ เพราะบ้านหลังนี้ที่ฉันกำลังก้าวเข้าไปช่างต่างจากบ้านทรายทองของพจมาน  สว่างวงศ์ ลิบลับ ไม่ใช่คฤหาสน์สีขาวใหญ่โต เป็นเพียงห้องแถวเก่าๆ สองชั้นที่ไม่กว้างมาก ทว่ามีกลิ่นขนมหอมอบอวนรัญจวนใจไปทั่วบ้าน

ป้านี้ แซ่อึ้งเจ้าของบ้านกล่าวทักทายเราอย่างเป็นมิตรขณะที่เชื้อเชิญให้เราเข้าไปดูการทำขนมของแปะปั้กเสี้ยม แซ่เตียง ผู้เป็นสามี  เรากลับมาที่ร้านเฮียบเตียงเป็นรอบที่สองเนื่องจากรอบแรกเป็นเวลาพักของแปะ ครั้งแรกนั้นเราเห็นเพียงชายชรานอนหลับอย่างหมดสภาพ ต่างจากครั้งนี้ที่ชายชราคนเดียวกันสลัดความชรามาทำขนมอย่างกระฉับกระเฉง

“สวัสดีค่ะแปะ  แปะทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“หา?”
“ทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“หา?”

ฉันพูดเสียงดังขึ้นอีก
“ทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“อ้อ  ทำตั้งแต่ 10 ขวบ ตอนนี้ 84  ก็ 70 กว่าปีแล้ว”

เพียงแค่ไม่กี่ประโยคที่คุยกันก็รู้ว่าแปะหูไม่ดี เราต้องตะโกนคุยกับแปะสียงดังไปทั้งร้าน  ป้านี้ผู้เป็นภรรยาจึงอาสาเล่าเรื่องราวต่างๆ แทนแปะ  “แปะเขาทำขนมมานานแล้วตั้งแต่เขาอยู่เมืองจีน ก็ทำกับอาเจ็กแล้วมาเมืองไทย มาเมืองไทยก็ทำโน่นทำนี่หลายปีอาเจ็กเปิดร้านชื่อร้านเฮียบเตียงเป็นชื่ออาเจ็ก แปะก็มาทำจนเจ็กเสียก็กลายเป็นร้านของแปะเอง  ก็ทำขนมเลี้ยงลูกห้าคน  สมัยก่อนขายดีมีคนมาซื้อเยอะ ต้องตื่นมาทำตั้งแต่ตีสอง อั๊วะก็ช่วยขายช่วยไปส่ง เดี๋ยวนี้ทำๆ นอนๆ ไม่ไหวแล้ว ขายก็ไม่ดี บางวันก็ไม่พอกิน แต่แปะมันก็ยังตื่นตีสามมาทำ มันได้ออกกำลังกายของมัน”

ป้านี้เล่าให้ฟังในขณะที่แปะเดินเตาะแตะไปหยิบกะด้งใส่แป้งมาร่อนอย่างชำนาญ ป้านี้บอกว่าแปะกำลังทำกะหรี่ปั๊บ กะหรี่ปั๊บที่นี่ขึ้นชื่อเพราะเป็นกะหรี่ปั๊บเจและมีเพียงสองไส้ แต่ละไส้แปะไม่ใช้การแต้มสีระบุไส้แต่ใช้รูปทรง  โดยไส้ถั่วจะปั้นจับกลีบตามแบบทั่วไป แต่ไส้เผือกปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม

ป้านี้ลุกขึ้นมาแนะนำขนมที่วางอยู่ในตู้กระจก ส่วนใหญ่เป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลสำคัญของจีน จันทร์อับ ซึ่งประกอบไปด้วยขนม 5 อย่างด้วยกัน คือ ฟักเชื่อม ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล และข้าวพอง ส่วนขนมอย่างอื่นนั้นก็มี ขนมเปี๊ยะ  ซึ่งที่ร้านนี้จะทำทั้งหมด 3 ไส้ คือ ไส้ถั่วเหลือง ถั่วแดง และฟัก  ฉันอดไม่ได้ที่จะซื้อกะหรี่ปั๊บไส้เผือกและไส้ถั่วเหลืองมาลองชิม  รสชาติของมันไม่หวานและไม่มันมาก สำหรับฉันมันอร่อยกำลังดี

ป้านี้พยายามชี้ให้ฉันดูรูปถ่ายที่ติดอยู่ตรงข้างฝาบ้านแต่ฉันเข้าใจว่านั่นเป็นรูปสิงโตธรรมดาจึงไม่ได้ไถ่ถามอะไรมากมาย  ฉันตามแปะเข้าไปในครัว  แปะเอาอุปกรณ์ที่ใช้เสร็จแล้วมาล้างอย่างคล่องแคล่ว ทำทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่หลงลืม ยิ่งมองดูแปะทำงานยิ่งรู้สึกถึงคำว่า “เป็นหนึ่งเดียวกันกับงาน” ความชำนาญในการทำขนมของแปะเหมือนถูกฝังอยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณจริงๆ

ฉันถามแปะเรื่องสูตรขนมว่ามีใครทำเป็นบ้าง แปะเล่าให้ฟังอย่างติดๆ ขัดๆ ว่าตนเองมีลูกห้าคน แต่ลูกทุกคนก็ออกไปทำงานสบาย เปิดร้านขายอะไหล่และค้าขายในกรุงเทพฯ ลูกๆ หลานไม่มีใครทำขนมเป็น เคยจ้างคนมาช่วยทำแต่พอเขาทำเป็นก็เอาสูตรไปทำเอง ช่วงหลังๆ หลานๆ เคยมาขอเรียนแต่แปะก็แก่เกินกว่าจะสอนแล้ว

ออกมาอีกครั้งป้านี้ยังชี้รูปถ่ายสิงโตให้เราดูและบอกว่าแปะปั้นเอง ฉันเริ่มงง ป้านี้เลยอธิบายว่าสิงโตที่เราเห็นเป็นขนมชื่อว่าขนมสิงห์น้ำตาล ทำมาจากแป้งและถั่วเหลือง ใช้สีผสมอาหารวาดลวดลาย แปะจะเป็นคนปั้นและลงสีทุกขึ้นตอน ฉันมองสิงโตตัวสวยสลับกับแปะที่เดินง่กๆ เงิ่นๆ อยู่ในครัวด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจ  แปะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?  ป้านี้เล่าว่าแปะเรียนรู้เรื่องพวกนี้เอง ฝึกเอง หัดเอง จนคนรู้ก็มาจ้างให้ทำในงานเทศกาลสำคัญของจีน

“มันเป็นคนเก่ง เก่งมากๆ” ป้านี้ชมสามีอย่างภาคภูมิใจ

ด้วยความรู้สึกเสียดายในวิชาที่แปะมี ฉันอดไม่ได้ที่จะกลับไปถามแปะว่าถ้าแปะไม่อยู่ ไม่มีใครทำต่อ แปะไม่เสียดายหรือ  แปะตอบมาด้วยคำสั้นๆ ว่า  “ไม่เป็นไร“  ยิ้มน้อยๆ ให้ฉันแล้วทำขนมต่อไป

ฉันลาแปะและป้านี้พร้อมซื้อขนมออกมาหลายชิ้น  แม้ในใจจะรู้สึกเสียดายสูตรขนมแสนอร่อยของร้านเฮียบเตียงแต่ก็ดีใจที่วันนี้ฉันยังมีขนมอร่อยๆ ให้กินอีกหลายชิ้น อย่างน้อยในวันที่มีแปะ ขนมอร่อยเหล่านี้ก็ยังอยู่แน่นอน




เฮงเสง ร้านทำหมอน - เครื่องทุ่นแรง ทำงานได้อย่างเที่ยงตรง ยังสู้ความตั้งใจ สุดแสนจะประณีตมิได้


เฮงเสง ร้านทำหมอน -เจ็บแล้วจำ ทำจนชำนาญ


เฮงเสง ร้านทำหมอน -จากรุ่น สู่รุ่น

เฮงเสง…หมอนไหว้เจ้าร้อยปี
ผู้หญิงสามคนสองรุ่นนั่งเย็บหมอนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นความประทับใจแรกพบ “อ้าวคนแก่  ยิ้มหน่อย” พี่เจี๊ยบ วิมล เหลืองอรุณ เจ้าของร้านเฮงเสง รุ่นสามแซวมารดาของตน

“คนแก่ไม่มี  ฉันยังหนุ่มๆ สาวๆ” อาม่าเมี่ยวลั้ง  แซ่อิ๊ว  เจ้าของร้านรุ่นที่สองรับมุกทันควัน ในขณะที่คุณป้านิภา  พุทธังกุล ช่างเย็บเบาะที่อยู่ในร้านมายาวนานกำลังจับริมเบาะไหว้เจ้าและฮัมเพลงจีนอย่างอารมณ์ดี   เมื่อรู้ว่าพวกเรามาทำอะไร อาม่าเมี้ยวลั้งก็ไม่รอช้ารีบเล่าถึงกิจการอายุกว่าร้อยปีของตนอย่างภาคภูมิใจ กิจการเย็บเบาะเริ่มทำในรุ่นพ่อของพ่อ โดยสมัยก่อนจะทำเบาะรองนั่งและที่นอนซึ่งลูกๆ ทุกคนต้องช่วยกันทำ ตัวอาม่าเองต้องทำตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ขาเหยียบจักรไม่ถึง

“สมัยไม่มีโซฟามีแต่ใช้เก้าอี้หวาย ก็เลยต้องทำเบาะรองนั่ง สมัยก่อนขายดี พ่อฉันทำส่งวันนึงร้อยลูก เราก็ระดมคนแถวนี้มาช่วย แต่ช่วงหลังพอมีโซฟามันเริ่มขายไม่ดีเราก็เลยเปลี่ยน เมื่อก่อนเค้าไหว้เจ้าคุกเข่ากับพื้น เรามองเห็นตรงนั้นเราเลยคิดว่าควรมีเบาะรองแล้วก็ทำขาย  คนก็เอามาใช้”  อาม่าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกิจการ  พี่เจี๊ยบทายาทรุ่นสามก็เล่าต่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นคนจากศาลเจ้าที่ยังคงมาสั่งทำ โดยจะสั่งขนาดและจำนวนเสร็จสรรพ พี่เจี๊ยบ อาม่า และป้านิภาก็จะชวยกันตัดผ้าดิบ แล้วเอาไปเย็บ หลังจากนั้นมาสู่ขั้นตอนที่ยากและต้องมีเทคนิคเฉพาะของทางร้านคือการยัดใยมะพร้าวและนุ่น เมื่อเสร็จก็เอาไปจับริมแล้วใส่ปลอกหุ้มพลาสติกส่งขายที่เยาวราช

“สมัยนี้ก็ขายได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับขายดี ก็ต้องขายหมอนยัดนุ่นคู่ไปด้วย จริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่พอกิน ที่ทำก็เพื่ออนุรักษ์ไว้  หาอะไรให้คนแก่ทำแก้เซ็ง” พี่เจี๊ยบแซวอาม่าจนอาม่ายิ้มเขินๆ

พี่เจี๊ยบพาฉันเยี่ยมชมร้าน อุปกรณ์การทำล้วนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จักรเย็บผ้าอายุกว่าร้อยปี โต๊ไม้ยาวน้ำตาลคล้ำ  ตู้กระจกโบราณ ทุกอย่างเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในบ้านที่พี่เจี๊ยบพยายามดูแลให้ดีที่สุด พี่เจี๊ยบเล่าเพิ่มเติมว่าความจริงแล้วในพี่น้องทั้งห้าคนของพี่เจี๊ยบเย็บหมอนเป็นทุกคน แต่งานเย็บหมอนมันร้อน ลำบากและได้กำไรน้อยเลยไม่มีคนทำ  พี่เจี๊ยบเคยพยายามจะสอนลูกค้าเพื่อช่วยกันอนุรักษ์แต่ลูกค้าก็ไม่เอา ส่วนลูกหลานในตระกูลก็ไม่มีใครทำเป็น  ฉันได้ยินก็อดถามคำถามเดิมๆ ที่ถามมาแล้วถึงสองครั้งในวันนี้ไม่ได้

"พี่เจี๊ยบเสียดายมั้ย"
“เสียดาย  แต่ทำไง”

อาม่าเมี่ยวลั้งที่เข้ามาได้ยินบทสนทนาระหว่างเราพอดีก็แทรกขึ้นมาอย่างอารมณ์ดีว่า “โอ๊ย ไม่ได้เงินจะไปเสียดายทำไม มันไม่พอกิน พูดตรงๆ ทำก็เพราะปากท้อง ทำแล้วไม่พอกินก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ มันจำเป็น มันไม่พอกินนี่ ”

พี่เจี๊ยบและฉันยิ้มให้อาม่า พออาม่าออกไปพี่เจี๊ยบก็บอกฉันว่าความภูมิใจในงานนี้คือการได้อนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษให้มาให้คงอยู่ คนรุ่นหลังจะได้เห็น พร้อมทิ้งท้ายประโยคที่เป็นแสงสว่างเล็กๆ สำหรับคนรุ่นหลังอย่างฉัน

“พี่อาจไม่ใช่รุ่นสุดท้ายก็ได้ อนาคตยังไม่แน่นะ” ฉันก็หวังอย่างนั้นเช่นกัน หวังว่าเข็มกับด้ายและวิชาความรู้ในการทำเบาะที่ส่งต่อกันมากว่าร้อยปี พี่เจี๊ยบจะได้ส่งมันให้ใครสักคนที่เห็นความสำคัญ อย่างที่พี่เจี๊ยบเห็น


ที่มา นิตยสารสารคดี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มกราคม 2558 19:36:53 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.401 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 เมษายน 2567 09:07:50