[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:05:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประสบการณ์โลกทิพย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  (อ่าน 64337 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.91 Chrome 40.0.2214.91


ดูรายละเอียด
« ตอบ #20 เมื่อ: 23 มกราคม 2558 15:40:01 »

.


ประสบการณ์โลกทิพย์
ในการออกธุดงค์ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

อย่าแยกศีล
“ศีลมีสภาพเช่นไร พระคุณเจ้า” เขาถามอีก “.....อะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง”

“ความคิดในแง่ต่างๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร ระวังการระบายออกทางทวารทั้งสาม คอยบังคับ กาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในขอบเขตของศีลที่เป็นสภาพปกติ ศีลที่เกิดจากการรักษาในลักษณะดังกล่าวมา ชื่อว่ามีสภาพปกติ ไม่คะนองทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นกิริยาน่าเกลียด นอกจากความปกติดีงามทางกาย วาจา ใจ ของผู้มีศีลถือว่าเป็นศีลเป็นธรรมแล้ว ก็อยากจะเรียกให้ถูกว่าอะไรเป็นศีลเป็นธรรมที่แท้จริง เพราะศีลกับผู้รักษาศีลแยกกันได้ยาก ไม่เหมือนตัวบ้านเรือนกับเจ้าของบ้านเรือนซึ่งเป็นคนละอย่างที่พอจะแยกกันออกได้ไม่ยากนักว่า นั่นคือตัวบ้านเรือน นั่นคือเจ้าของบ้าน ส่วนศีลกับคนจะแยกจากกันอย่างนั้นเป็นการลำบากเฉพาะอาตมาแล้วแยกไม่ได้ แม้แต่ผลคือความเย็นใจที่เกิดจากการรักษาศีลก็แยกกันไม่ออก ถ้าแยกออกได้ศีลก็อาจกลายเป็นสินค้ามีเกลื่อนตลาดไปนานแล้ว และอาจจะมีโจรมาแอบขโมยศีลธรรมไปขายจนหมดเกลี้ยงจากตัวไปหลายรายแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ศีลธรรมก็จะกลายเป็นสาเหตุก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของเช่นเดียวกับสมบัติอื่นๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเอือมระอาที่จะแสวงหาศีลธรรมกัน เพราะได้มาแล้วก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้น ความไม่รู้ว่าเป็นอะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง จึงเป็นอุบายวิธีหลีกภัยอันอาจเกิดแก่ศีลและผู้มีศีลได้ทางหนึ่งอย่างแยบยลและเย็นใจ อาตมาจึงไม่คิดอยากแยกศีลออกจากตัวแม้แยกได้ เพราะระวังภัยยาก แยกไม่ได้อย่างนี้รู้สึกอยู่สบาย ไปไหนมาไหนและอยู่ที่ใด ไม่ต้องเป็นห่วงว่าศีลจะหาย ตัวจะตายจากศีลแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้ากองศีลเช่นเดียวกับคนเป็นห่วงสมบัติ ตายแล้วกลับมาเป็นผีเฝ้าทรัพย์ไม่มีวันไปผุดไปเกิด” พระอาจารย์มั่นให้อรรถาธิบาย


ที่พึ่งแห่งตน
วันหนึ่ง พระมหาเถระผู้ใหญ่ชั้นสมเด็จได้สั่งพระให้มาอาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่นให้ไปเฝ้าเพื่อที่จะสัมโมทนียกถาโดยเฉพาะ โดยปราศจากพระเณรเข้าไปเกี่ยวข้อง พระมหาเถระผู้ปราชญ์เปรื่องถามพระอาจารย์มั่นเป็นประโยคแรกว่า “ท่านอาจารย์มั่นชอบอยู่แต่ผู้เดียวในป่าในเขาไม่ชอบเกี่ยวข้องกังวลกับพระเณรตลอดจนฆราวาส เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาท่านไปศึกษากับใครจึงจะผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ แม้ผมเองอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยนักปราชญ์เจ้าตำรับตำราพอช่วยปัดเป่าข้อข้องใจได้ แต่ในบางครั้งบางคราวยังเกิดความงงงันอั้นตู้ไปได้ ไม่มีใครสามารถช่วยแก้ให้ตกไปได้เลย ยิ่งท่านอาจารย์มั่นอยู่เฉพาะองค์เดียวในป่าในเขาเป็นส่วนมากตามที่ผมได้ทราบมา เวลาเกิดปัญหาทางธรรมะขึ้นมา ท่านไปปรึกษาปรารถกับใคร หรือท่านจัดการกับปัญหานั้นๆ ด้วยวิธีใด นิมนต์อธิบายให้ผมฟังด้วย”

พระอาจารย์มั่นได้กราบเรียนตอบด้วยความนอบน้อมคารวะว่า “ขอประทานโอกาส เกล้ากระผมฟังธรรมและศึกษาธรรมอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีอิริยาบถว่าง นอกจากหลับไปเสียเท่านั้น พอตื่นขึ้นมาใจกับธรรมก็เข้าสัมผัสกันทันที ขึ้นชื่อว่าปัญหาแล้ว กระผมไม่มีเวลาที่หัวใจจะว่างอยู่เปล่าๆ เลย มีแต่การถกเถียงโต้ตอบกันอยู่ทำนองนั้น ปัญหาเก่าตกไป ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมา การถอดถอนกิเลสก็เป็นไปในระยะเดียวกันกับปัญหาแต่ละข้อตกไป ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาก็เท่ากับรบกิเลสหน้าใหม่ ปัญหาทั้งใกล้ทั้งไกล ทั้งวงกว้างวงแคบ ทั้งวงในวงนอก ทั้งลึกทั้งตื้น ทั้งหยาบทั้งละเอียด ล้วนเกิดขึ้นและปะทะกันที่หัวใจ ใจเป็นสถานที่รบกับข้าศึกทั้งมวลและเป็นที่ปลอดเปลื้องกิเลสทั้งปวง ในขณะที่ปัญหาแต่ละข้อตกไป ที่จะมีเวลาไปคิดว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเราจะไปศึกษาปรารภกับใครนั้นกระผมมิได้สนใจคิดให้เสียเลา ยิ่งไปกว่าจะตั้งท่าฆ่าฟันห้ำหั่นกับปัญหา ซึ่งเป็นฉากของกิเลสแฝงมาพร้อมให้สะบั้นหั่นแหลกกันลงไปเป็นทอดๆ และถอดถอนกิเลสออกได้เป็นพักๆ เท่านั้น จึงไม่วิตกกังวลกับหมู่คณะว่า จะมาช่วยแก้ไขปลดเปลืองกิเลสออกจากใจได้รวดเร็วยิ่งกว่าสติปัญญาที่ผลิตและฝึกซ้อมอยู่กับคนตลอดเวลา

คำว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น กระผมได้ประจักษ์กับใจตนเองขณะปัญหาแต่ละข้อเกิดขึ้น และสามารถแก้ไขกันลงได้ทันท่วงทีด้วยอุบายวิธีของสติปัญญาที่เกิดกับคนโดยเฉพาะ มิได้ไปเที่ยวคว้ามาจากตำราหรือคัมภีร์ใดในขณะนั้น แต่ธรรมคือสติปัญญาในหลักธรรมชาติ หากผุดออกรับออกรบและแก้ไขกันไปในตัวและผ่านพ้นไปได้โดยลำดับไม่อับจน แม้จะมีอยู่บ้างที่เป็นปัญหาลึกลับและสลับซับซ้อนที่จำต้องพิจารณากันอย่างละเอียดละออและกินเวลานานหน่อย แต่ก็ไม่พ้นกำลังของสติปัญญาที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วไปได้ จำต้องทลายลงในเวลาหนึ่งจนได้ ด้วยเหตุดังที่ได้กราบเรียนมา กระผมจึงมิได้สนใจใฝ่ฝันในการอยู่กับหมู่คณะเพื่ออาศัยเวลาเกิดปัญหาจะได้ช่วยแก้ไข แต่สนในใยดีต่อการอยู่คนเดียว ความเป็นผู้เดียวเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจ เป็นสิ่งที่พอใจแล้วสำหรับกระผมผู้มีวาสนาน้อย แม้ถึงคราวเป็นคราวตายก็อยู่ง่ายตายสะดวก ไม่พะรุงพะรังห่วงหน้าห่วงหลัง สิ้นลมแล้วก็สิ้นเรื่องไปพร้อมๆ กัน ต้องขอประทานโทษที่เรียนตามความโง่ของตนจนเกินไป ไม่มีความแยบคายแสดงออกพอเป็นที่น่าฟังบ้างเลย”

พระมหาเถระได้ฟังแล้วก็อนุโมทนาด้วยความเลื่อมใสในธรรมที่พระอาจารย์มั่นเล่าถวายเป็นอย่างยิ่งว่า “ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้สามารถสมกับชอบอยู่ในป่าในเขาคนเดียวจริงๆ ธรรมที่แสดงออกผมจะไปเที่ยวค้นดูในคัมภีร์ไม่มีวันเจอเลย เพราะธรรมในคัมภีร์กับธรรมที่เกิดจากใจอันเป็นธรรมในหลักธรรมชาติต่างกันอยู่มาก แม้ธรรมในคัมภีร์ที่จารึกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ เพราะผู้จารึกเป็นคนจริงคือเป็นบริสุทธิ์เหมือนพระองค์ แต่พอตกมานานๆ ผู้จารึกต่อๆ มาอาจไม่เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริงเหมือนรุ่นแรก ธรรมจึงอาจมีทางลดคุณภาพลงตามส่วนของผู้จารึกพาให้เป็นไป ฉะนั้นธรรมในคัมภีร์กับธรรมที่เกิดขึ้นจากใจอย่างสดๆ ร้อนๆ จึงน่าจะต่างกันแม้เป็นธรรมด้วยกัน ผมหายสงสัยในข้อที่ถามท่านด้วยความโง่ของตนแล้ว แต่ความโง่ชนิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ได้ดี เพราะถ้าไม่ถามแบบโง่ๆ ก็จะไม่ได้ฟังอุบายแบบฉลาดแหลมคมจากท่าน
 
วันนี้ผมจึงเป็นทั้งฝ่ายขายความโง่และซื้อความฉลาด หรือจะเรียกว่า ถ่ายความโง่เขลาออกไป ไล่ความฉลาดเข้ามาก็ไม่ผิด ผมยังสงสัยอยู่อีกเป็นบางข้อ คือที่ว่าพระสาวกท่านทูลลาพระศาสนาออกไปบำเพ็ญอยู่ในที่ต่างๆ เวลาเกิดปัญหาขึ้นมาก็กลับมาเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงช่วยชี้แจงปัญหานั้นๆ จนเป็นที่เข้าใจ แล้วจึงทูลลาออกไปบำเพ็ญเพียรตามอัธยาศัยนั้น เป็นปัญหาประเภทใด พระสาวกจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ต้องมาทูลถามให้พระองค์ทรงช่วยชี้แจงแก้ไข”
 
พระอาจารย์มั่นกราบเรียนว่า “เมื่อมีผู้ช่วยให้เกิดผลรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลานาน นิสัยคนเราที่ชอบหวังพึ่งผู้อื่นย่อมจะต้องดำเนินตามทางลัด ด้วยความแน่ใจว่า ต้องดีกว่าตัวเองพยายามไปโดยลำพัง นอกจากทางไกลไปมาลำบากจริงๆ ก็จำต้องตะเกียกตะกายไปด้วยกำลังสติปัญญาของตน แม้จะช้าบ้างก็ทนเอา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้เห็นโดยตลอดทั่วถึงทรงแก้ปัญหาข้อข้องใจ ย่อมทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งชัดและได้ผล ดังนั้น บรรดาสาวกที่มีปัญหาข้องใจจึงต้องมาทูลถามให้ทรงพระเมตตาแก้ไขเพื่อผ่านไปได้อย่างรวดเร็วสมปรารถนา แม้กระผมเองถ้าพระองค์ยังพระชนม์อยู่และอยู่ในฐานะจะพอไปเฝ้าได้ก็ต้องไป เพื่อทูลถามปัญหาให้สมใจที่หิวกระหายมานาน ไม่ต้องมาถูไถคลืบคลานให้ลำบากเสียเวลาดังที่เป็นมา เพราะการวินิจฉัยโดยลำพังตัวเองเป็นการยากลำบากมาก แต่ต้องทำเพราะไม่มีที่พึ่ง นอกจากตัวเองเป็นที่พึ่งของตัวเองดังที่กราบเรียนแล้ว ความมีครูอาจารย์สั่งสอนโดยถูกต้องแม่นยำคอยให้อุบาย ทำให้ผู้ปฏิบัติตามดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและถึงเร็ว ผิดกับการดำเนินไปแบบเดาสุ่มโดยลำพังตนเองอยู่มาก ทั้งนี้กระผมเห็นโทษในตัวกระผมเอง แต่ก็จำเป็นเพราะไม่มีอาจารย์คอยให้อุบายสั่งสอนในสมัยนั้น ทำไปแบบต้นเตาล้มลุกคลุกคลานผิดมากกว่าถูก แต่สำคัญที่ความหมายมั่นปั้นมือเป็นเจตนาที่เด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก ไม่ยอมลดละล่าถอยจึงพอมีทางทำให้สิ่งที่เคยขรุขระมาโดยลำดับ ค่อยๆ กลับกลายคลายตัวออกทีละเล็กละน้อยพอให้ความราบรื่นชื่นใจ ได้มีโอกาสคลืบคลานและเดินได้เป็นลำดับมา พอได้ลืมตามองโลกดูธรรมได้เต็มตาเต็มใจดังที่กราบเรียนให้ทราบแล้ว"
 
พระมหาเถระพอใจในคำตอบของพระอาจารย์มั่นมาก วันนั้น ได้สัมโนทนียกถากันอยู่เป็นเวลานาน แต่ละล้วนเป็นข้ออรรถข้อธรรมภาคปฏิบัติชั้นสูงตลอดถึงเรื่องอภิญญา 6 อันเป็นความรู้ยิ่งในพระพุทธศาสนา



watpanonvivek.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.91 Chrome 40.0.2214.91


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 26 มกราคม 2558 14:54:55 »

.


ประสบการณ์โลกทิพย์
ในการออกธุดงค์ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

วัดป่าสาลวัน
พระอาจารย์มั่นได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ขณะที่พักอยู่วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา มีคณะศรัทธายาติโยมเป็นจำนวนมากมาถามปัญหาธรรมพระอาจารย์มั่นได้ตอบไปเป็นที่ทราบซึ้งถึงใจทุกรายมีคำตอบอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสนใจใคร่นำมาลงไว้ ณ ที่นี้
 
ท่านตอบว่า "อาตมาบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าในเขาคนเดียวแทบตาย สลบไปสามหนและรอดตายมาได้ ไม่เห็นมีใครเอามาร่ำลือเลย ครั้นพออาตมาลืมหูลืมตาธรรมะมาบ้างจึงมีคนหลั่งไหลไปหา ร่ำลือกันว่าอาตมาเป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ อาตมาไม่ใช่ผู้วิเศษอะไร ใครอยากได้ของดีอาตมาจะบอกให้เอาบุญ ของดีมีอยู่กับตัวเราทุกคนจงพากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจะไม่ต้องพากันวุ่นวายเที่ยวนิมนต์หาพระมาให้บุญกุสลามาติกา นั่นไม่ใช่เกาถูกที่คันนะ จะหาว่าอาตมาไม่บอก ต้องรีบเกาให้ถูกที่คันเสียแต่บัดนี้ โรคคันจะได้หาย คือจงเร่งทำความดีเสียแต่บัดนี้จะได้หายห่วง หายห่วงกับอะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลกมิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา แต่พากันจับจองเอาแต่ชื่อของมันเปล่าๆ ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามาเป็นความสุขแก่ตัวพอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟเผาตัวก็ทำให้ฉิบหายได้จริงๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปได้ด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา จะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะในสมัยของพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันหวงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย
 
บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับฝังหรือเผาคนตายอย่างนั้นหรือ จึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย พากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กินไม่ได้นอนกลัวแต่จะไม่ได้เพลิดเพลิน ประหนึ่งโลกจะดับสูญจากไปในเดี๋ยวนี้ จึงพากันรีบตักตวงเอาแต่ความไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อันสิ่งเหล่านี้แม้แต่สัตว์เขาก็มิได้เหมือนมนุษย์ เราอย่าสำคัญตนว่าเราสามารถเก่งกาจฉลาดยิ่งรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ใครจะไปทราบได้ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควร  อาตมาต้องขออภัยที่พูดออกจะหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนให้คนละชั่วทำดีต้องพูดถึงแก่นแบบนี้แหละ"


แดนอีสาน
พระอาจารย์มั่นพักอยู่นครราชสีมาพอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางไปที่อุดรฯ พักอยู่ที่วัดโพธิสมภารณ์กับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ต่อจากนั้นก็ไปจำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์อยู่ 2 พรรษา คณะศรัทธาทางสกลนครมีคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของท่าน ได้พร้อมกันมาอาราธนานิมนต์ให้ไปโปรดทางสกลนครซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน

ท่านยินดีรับอาราธนาในปลายปี พ.ศ.2484 และไปพักอยู่วัดสุทธารามสกลนคร โอกาสนี้เอง มีผู้มาขอถ่ายภาพท่านไว้บูชากราบไหว้ท่านอนุญาตให้ถ่ายได้ นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ท่านอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ เพราะถ้าท่านไม่อนุญาตแล้วจะถ่ายไม่ติดเลย
 
นับเป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ การขออนุญาตให้ถ่ายรูปครั้งแรกท่านให้ถ่ายเมื่อกลับจากงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์ เสาร์ กันตสีโร ครั้งที่ 2 ให้ถ่ายที่วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ครั้งที่ 3 ให้ถ่ายที่บ้านฝั่งแดง อำเภอพระธาตุพนม และเนื่องด้วยท่านอนุญาตให้ถ่ายภพได้ 4 วาระนี้เอง จึงทำให้บรรดาผู้เคารพเลื่อมใสในตัวท่านทั้งหลายได้มีรูปถ่ายของท่านไว้กราบไหว้บูชามาจนทุกวันนี้
 
ท่านพักอยู่วัดสุทธาวาสพอสมควรแล้วท่านก็ออกเดินทางไปพักที่สำนักป่าบ้านนามน ซึ่งเป็นสำนักกระต๊อบเล็กๆ สำหรับพระธุดงค์กรรมฐานบำเพ็ญเพียร พักอยู่พอสมควรแล้วก็ย้ายมาพักจำพรรษาก็บ้านโคกห่างจากบ้านนามนราว 2 กิโลเมตร ออกพรรษาแล้วก็กลับไปพักที่วัดบ้านนามนอีก จากนั้นก็ไปพักบ้านห้วยแคนและพักที่วัดร้างชายเขาบ้านนาสีนวลหลายเดือนพอดีล้มป่วยลง แต่ท่าก็บำบัดด้วยธรรมโอสถจนหายเป็นปกติ ตกเดือนเมษายน พ.ศ.2485 ท่านเดินทางไปฌาปนกิจศพพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโร ที่อุบลฯ เสร็จแล้วก็กลับมาจำพรรษาที่บ้านนามน ตำบลตองโขบ เขตอำเภอเมืองสกลนคร


บ้านหนองเสือ
พอตกหน้าแล้งพรรษาที่ 3 ก็มีญาติโยมจากบ้านหนองผือนาใน ไปอาราธนาท่านให้มาโปรดที่หมู่บ้าน ท่านรับนิมนต์มาพักจำพรรษาที่บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม สกลนคร พอมาถึงบ้านหนองผือท่านก็ล้มป่วยไข้มาลาเรียอยู่แรมเดือนจึงหาย บ้านหนองผือที่ท่านมาจำพรรษาอยู่นี้ ตั้งอยู่ในหุบเขาทั้งสี่ด้านมีป่าและภูเขาล้อมรอบประชาชนทำนาได้สะดวกเป็นแห่งๆ ไป ป่ามีมาก เหมาะสำหรับพระธุดงค์จะเลือกหาที่วิเวกบำเพ็ญกรรมฐานตามอัธยาศัย
 
เมื่อข่าวว่าพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ บรรดาพระธุดงค์จากที่ต่างๆ ก็พากันหลั่งไหลมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทท่านมิได้ขาดจากพวกอุบาสกอุบาสิกาจากจังหวัดต่างๆ ก็พากันหลั่งไหลมาทุกวัน ทำให้บ้านหนองผือกลายเป็นจุดศูนย์กลางของพระธุดงค์กรรมฐานและอุบาสกอุบาสิกาไปในสมัยนั้น

พระอาจารย์มั่นพักอยู่บ้านหนองผือ 5 พรรษานานเป็นพิเศษ เพราะชราภาพอายุ 75 ปีแล้วไปไหนมาไหนไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน


watpanonvivek.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.93 Chrome 40.0.2214.93


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 29 มกราคม 2558 10:17:56 »

.


ประสบการณ์โลกทิพย์
ในการออกธุดงค์ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ทุกขสัจจะ
สุขภาพของพระอาจารย์มั่น นับวันยิ่งทรุดโทรมลง ถิ่นที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ชุกชุมไปด้วยไข้ป่ามาลาเรีย พระเณรและประชาชนที่หลั่งไหลไปกราบเยี่ยม ท่านต้องสั่งให้รีบกลับถ้าจวนเข้าหน้าฝน แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งก็อยู่ได้นานหน่อย พระเณรเป็นไข้ป่ากันมาก ใครเป็นเข้าแล้วก็ลำบากต้องใช้ความอดทนต่อสู้กับโรค เพราะยาแก้ไขไม่มีใช้กันเลยในวัดเนื่องจากยาหายาก ไม่เหมือนสมัยทุกวันนี้ ถ้าใครเป็นไข้ป่าเข้า พระอารย์มั่นจะสั่งให้ใช้ธรรมโอสถรักษาแทนยา คือ ให้พิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยสติปัญญาตามแนววิปัสสนาอย่างเข้มแข็งและแหลมคม ไม่เช่นนั้นก็แก้ทุกขเวทนาไม่ได้ ไข้ไม่สร่างไม่หายได้ ก็ปรากฏว่าด้วยวิธีนี้พระเณรลูกศิษย์ของท่านที่ป่วยไข้ก็มักจะหายไข้ในเวลารวดเร็วแทบทุกรูป
 
ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติกรรมฐานสายของพระอาจารย์มั่นปฏิบัติแนวสมถยานิก คือเอาสมถะกรรมฐานเป็นยานพาหนะนำไปสู่วิปัสสนา แล้วเอาวิปัสสนาเป็นทางนำไปสู่ มรรคผล นิพพานต่อไป หมายความว่าเจริญสมถะกรรมฐานจนได้ฌานแล้ว เอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาต่อจนรู้แจ้งเห็นจริงสัจจธรรมทั้ง 4 ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ลูกศิษย์ของท่านสำเร็จฌานสูงต่ำตามภูมิธรรมของของแต่ละคนอยู่แล้ว เมื่อพระอาจารย์สั่งให้ใช้กำลังใจในฌานสมาธิพิจารณาทุกขเวทานาเป็นวิปัสสนา ความเจ็บไข้นั้นก็พลันหายไปด้วยอำนาจธรรมโอสถน่าอัศจรรย์
 
การใช้สติปัญญาพิจารณาทุกขเวทนา พระอาจารย์มั่นพร่ำสอนพระเณรลูกศิษย์อยู่เสมอ ทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ เพราะจิตจะได้หลักยึด ในเวลาจวนตัวเข้าจริงๆ จะได้ไม่อ่อนแอท้อแท้เสียทีให้กับมรณะภัยในวาระสุดท้าย เพื่อจะได้เป็นผู้กำชัยชนะในทุกขสัจจะไว้ได้อย่างประจักษ์ใจและอาจหาญต่อคติธรรมดาคือความตาย
 
การรู้ทุกขสัจจะด้วยสติปัญญาจริงๆ (ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญาความจำได้หมายรู้) ไม่มีอาลัยในสังขารต่อไป จิตยึดแต่ความจริงที่เคยพบพิจารณาแล้วเป็นหลักใจตลอดไป 
เมื่อถึงคราวจวนตัวเข้ามาสติปัญญาประเภทนั้นจะเข้ามาเทียมแอก เพื่อลากเข็นทุกข์ด้วยการพิจารณาให้ถึงความปลอดภัยทันที ไม่ยอมทอดธุระจมทุกข์อยู่ดังแต่ก่อนเมื่อครั้งที่ยังไม่เคยกำหนดรู้ทุกข์เลย สติปัญญาแหลมคมประเภทนี้จะเข้าประชิดข้าศึกคือทุกขเวทนาทันที กิริยาท่าทางภายนอกก็เป็นเหมือนคนไข้ทั่วๆ ไป มีการอิดโหยโรยแรงเป็นธรรมดา แต่กิริยาภายในคือใจกับสติปัญญาจะเป็นลักษณะทหารเตรียมออกแนวรบ ไม่มีการสะทกสะท้านหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากน้อยขณะนั้นมีแต่การค้นหามูลความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นที่รวมแห่งทุกข์ในขณะนั้นอย่างเอาจริงเอาจังไม่กลัวว่าตนต่อสู้หรือทนทุกข์ต่อไปไม่ไหว หากกลัวแต่สติปัญญาของตนจะไม่รู้รอบทันกับเวลาที่ต้องการเท่านั้นซึ่งผู้มีกำลังใจอาจหาญในธรรมอยู่แล้ว การพิจารณาทุกขเวทนาย่อมจะไม่พ้นสติปัญญาศรัทธาความเพียรไปได้เลย เมื่อรู้แจ้งความจริงแล้ว ทุกข์ก็จริง กายก็จริง ใจก็จริง ต่างอันต่างจริงไม่มีอะไรรังควานรังแกบีบคั้นกัน สมุทัยที่ก่อเหตุให้เกิดทุกข์ก็สงบตัวลง ไม่คิดปรุงว่ากลัวทุกข์กลัวตายกลัวไข้ไม่หายอันเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปเปล่าๆ เมื่อสติปัญญารู้รอบแล้วไข้ก็สงบลงในขณะนั้น
 
การพิจารณาทุกเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์พระธุดงค์กรรมฐานในป่าที่ปฏิบัติแนวสมถะยานิกสายพระอาจารย์มั่น ท่านชอบพิจารณาเป็นข้อวัตรของการฝึกซ้อมสติปัญญาให้ทันกับเรื่องของตัว โดยมากก็เรื่องทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทั้งทุกข์ใจ การบริกรรม พุทโธ ซึ่งยึดประจำใจตลอดชีวิตนั้นก็ใช่ว่าจะบริกรรมแต่พุทโธอันเป็นสมถตะพึดตะพือแต่อย่างเดียวก็หาไม่


พุทโธ คือ หัวใจ
พุทโธ เป็นเพียงบาทฐานยานพาหนะของจิต คือทำให้จิตเกิดพลังงานตามหลักกรรมฐาน เพื่อที่จะก้าวไปสู่วิปัสสนา คือการจัดระบบจิตให้บริสุทธิ์โดยถาวร เพื่อแยกความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกิเลศให้ขาดจากกันเพื่อทำให้เกิดการสุดสิ้น การเกิด การดับ การสืบต่อ นั่นคือ มรรคผล นิพพาน สมถะกับวิปัสสนาต่างกันที่ตัวหนังสืออย่างหนึ่ง ต่างกันที่อารมณ์อย่างหนึ่ง

สมถะเขียนอย่างหนึ่งและมีอารมณ์ 40 อย่าง ส่วนวิปัสสนาเขียนอีกอย่างหนึ่งและมีปรมัตถ์คือรูปนามเป็นอารมณ์ ท่านที่เข้าใจไปว่า พระอาจารย์มั่นบริกรรมแต่พุทโธตามแนวสมถกรรมฐาน หาใช่เป็นพระวิปัสสนากรรมฐานแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นความคิดเห็นที่ผิดค้นเดาเอาตามสัญญาของตนเอง หาได้ใช้วิจารณญาณให้ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าทัน สติปัญญาของพระอาจารย์มั่นไม่ ว่าธรรมดาพระภิกษุที่บวชเรียนเข้ามาในพระบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมจะมุ่งกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล พระนิพพาน ตามหลักสูตรพระพุทธศาสนา
 
พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างพระอาจารย์มั่น ก็คงจะไม่หลงติดอยู่กับฌานสมาบัติอันเป็นเพียงโลกีย์ฌานจนมองไม่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเท่าที่พระเณรลูกศิษย์ลูกหาของท่านจำนวนมากมายอย่างเช่น หลวงปู่แหวนวัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ถ้ำขาม หลวงปู่ขาววัดถ้ำกองเพล พระอาจารย์ลี วัดอโศการาม (พระสุทธิธรรมรังษีคัมภีร์เมธาจารย์) เป็นต้น ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ต่างก็ยืนยันว่าพระอาจารย์มั่นผู้เป็นปรามาจารย์นั้น เป็นผู้ไม่หิว ไม่หลง ไม่ต้องแสวงหาอะไรอีกแล้ว เพราะท่านมีสัจจะธรรมทั้ง 4 อยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว คือบรรลุความรู้แจ้งเห็นจริงจบหลักสูตรสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้วนั่นเอง
 
ผู้ที่บรรลุความรู้แจ้งเห็นจริงได้มรรค ผล นิพพาน จะต้องบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานถ้าไม่บำเพ็ญวิปัสสนาย่อมไม่มีทาง ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่า พระอาจารย์มั่นไม่ใช่พระวิปัสสนากรรมฐานจึงเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดของผู้ไม่รู้จริง เป็นผู้ที่รู้น้อยพลอยรำคาญคอยจ้องแต่จะจับผิดผู้อื่นด้วยมิจฉาทิฐิอย่างน่าสงสาร สมาธิเกิดปัญญา
สมถกรรมฐาน คือ การสร้างสมาธิ วิปัสสนา คือ การสร้างปัญญา สมาธิปัญญาเหมือนป้อมหรือหลุมเพลาะปัญญา เปรียบเสมือนอาวุธ การสร้างสมาธิเปรียบเสมือนการอัดดินปืนเข้ากระสุนหรือฝังตัวอยู่ในป้อมฉะนั้น สมาธิจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก มีคุณานิสงค์มาก ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคก็ไม่ค่อยจะยากเท่าไรนัก ปัญญาอันเป็นเบื้องปลายแห่งมรรคก็ไม่ค่อยจะยากเท่าไรนัก ส่วนสมาธิอันเป็นท่ามกลางแห่งมรรคนั้นยากมาก เพราะเป็นการบังคับปรับปรุงด้านจิตใจการทำสมาธิสมถกรรมฐาน
เปรียบเสมือนปักเสาสะพานกลางแม่น้ำใหญ่ไหลเชี่ยวกรากย่อมเป็นสิ่งลำบากแต่เมื่อปักได้แล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่ศีลและปัญญาวิปัสสนา

ศีลนั้นเหมือนปักเสาสะพานในฝั่งนี้ปัญญาเหมือนปักเสาสะพานข้างฝั่งโน้นแต่ถ้าเสากลางคือ “ สมาธิ” ไม่ปักแล้ว เราจะทอดสะพานข้ามแม่น้ำคือ “โอฆสงสาร” ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง พระอาจารย์มั่นจึงเดินเข้าป่าธุดงควัตรเพื่อปฏิบัติสมถกรรมฐานภาวนา พุทโธ เป็นเบื้องต้นเพื่อสร้างฌานสมาธิคือปักเสาสะพานกลางแม่น้ำโอฆสงสาร ส่วนปัญญาหรือวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องภายหลังที่จะพึงทำให้แจ่มแจ้งแทงตลอดนั่นแล

คนบางพวกยังเข้าใจไปต่างๆ อยู่เช่นเข้าใจว่าสมาธิไม่ต้องทำ ทำเอาปัญญาเลยทีเดียว เรียกว่า “ปัญญาวิมุติ” การเข้าใจเช่นนี้ไม่ถูก ความจริงปัญญาวิมุติกับเจโตวิมุติ ทั้งสองประการนี้ย่อมมีสมาธิเป็นรากฐานจึงจะเป็นไปได้ ต่างกันแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ลักษณะของปัญญาวิมุตินั้น ครั้งแรกต้องมีการไตร่ตรองพิจารณาเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ เสียก่อนจิตจึงค่อยๆ สงบ เมื่อจิตสงบแล้วจึงเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนรู้แจ้งเห็นจริงในสัจจะธรรมทั้ง 4 นี้ คือลักษณะของปัญญาวิมุติ
 
เจโตวิมุติ นั้น ไม่ต้องมีการพินิจพิจารณาเท่าไรนัก เป็นแต่ข่มจิตให้สงบลงไปถ่ายเดียวจนกว่าจะเป็นอัปปนาสมาธิ วิปัสสนาญาณก็จะบังเกิดขึ้นในที่นั้นได้รู้แจ้งเห็นจริงตามแนวความจริงของสภาวธรรมหรือถ้าวิปัสสนายังไม่เกิด ขึ้นก็จะต้องถอนจิตลงมาอยู่ในขั้นอุปจาระสมาธิแล้วยกเอาวิปัสสนาขึ้นไตร่ตรองพินิจพิจารณาจนถึงที่สุด วิปัสสนาญาณก็จะบังเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าเจโตวิมุติ คือเจริญสมาธิก่อน แล้วจึงค่อยเกิดปัญญาภายหลัง

ปัญญาอันใดที่พุทธบริษัทได้ศึกษาเล่าเรียนมารอบรู้ในพุทธวัจนะ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะโดยสมบูรณ์แล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้กว้างขวางสมารถที่จะชี้แจงอรรถาธิบายในข้ออรรถข้อธรรมได้โดยเรียบร้อยชัดเจน แต่ถ้าไม่บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นในตน ดูหมิ่นว่าการบำเพ็ญสมถะไม่สำคัญก็เปรียบประหนึ่งบุคคลที่ขับเครื่องบินไปในอากาศสามารถจะมองเห็นเมฆและดาวเดือนได้โดยชัดเจน แต่เครื่องบินที่ตนขับขี่อยู่นั้นได้เที่ยวเร่ร่อนไปบนอากาศจนลืมสนามที่จะร่อนลง ในที่สุดน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะหมด เครื่องบินนั้นก็จะตกลงมาพินาศสิ้น

นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ติดอยู่ในความรู้ ความคิดเห็นของตนว่าเลิศแล้วสูงอยู่แล้ว ถ้าไม่ก่อสร้างบำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้น ถือเสียว่าสมาธิเป็นขั้นต่ำควรจะเจริญปัญญาวิมุติเลยทีเดียว ย่อมจะได้รับโทษเหมือนคนขับขี่เครื่องบินที่ร่อนอยู่ในอากาศแต่ไม่แลเห็นสนามบินฉะนั้น
 
ผู้บำเพ็ญสมถกรรมฐานเอาสมาธิ ก็เท่ากับเป็นผู้สร้างสนามบินไว้แล้วอย่างดีก่อนที่จะขึ้นขับเครื่องบิน ครั้นเมื่อถึงปัญญาก็จะถึงวิมุติโดยปลอดภัย พระอาจารย์มั่นบำเพ็ญวิปัสสนาจนสำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดก็ได้อาศัยหลักนี้ บทภาวนาพุทโธของท่านจึงเป็นเพียงยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะประจำใจตลอดชีวิตแต่เมื่อเจริญวิปัสสนาท่านก็จะปล่อยวางพุทโธเพื่อใช้ปัญญาห้ำหั่นกับกิเลศอย่างเต็มสติกำลังความเพ่งเพียรไม่มีลดละท้อถอย มิฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นผู้รู้อริยสัจ 4 ได้อย่างไร ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมจะเป็นหลักรู้แก่ใจของนักบวชอยู่แล้ว
 
มรรคก็ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะเรียกว่ามรรคสัจจ์ เมื่อไม่ทำให้เกิดขึ้นในตนก็ย่อมไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วจะสามารถเป็นปรามาจารย์พาลูกศิษย์ดำเนินได้ล่ะหรือ แต่ความจริงที่ปรากฏในสมัยที่พระอาจารย์มั่นมีชีวิตอยู่และภายหลังที่ท่านดับขันธ์ไปแล้ว ลูกศิษย์ของท่านเป็นจำนวนมาก ต่างก็ดำเนินตามรอยของท่าน จนได้รับคำยกย่องเคารพศรัทธาเลื่อมใสว่า เป็นพระสุปฏิปันโนปฏิบิตดีปฏิบัติชอบ อาทิเช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่สิม หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว พระอาจารย์ลี วัดอโศการาม หลวงปู่ตื้อ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ฯลฯ เป็นต้น


watpanonvivek.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.111 Chrome 40.0.2214.111


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2558 12:12:32 »

.


ประสบการณ์โลกทิพย์
ในการออกธุดงค์ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ดับขันธ์
ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ หน้าแล้งตกประมาณเดือนมีนาคม ปี ๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่นเริ่มป่วยและเริ่มลาวัฏฏสังสาร อาการเริ่มแรกมีไข้และไอผสมกันเล็กน้อย ต่อมาอาการไข้ก็กำเริบไปทั้งวันทั้งคืน บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็ถวายหยูกยาให้ฉัน แต่พระอาจารย์มั่นไม่ยอมฉัน และยังแสดงความรำคาญเวลาสาธุชนหลั่งไหลนำหยูกยาต่างๆ มาถวาย
 
ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า เวลานี้อาตมาอายุจะเต็ม ๘๐ ปีแล้ว อาการป่วยไข้ครั้งนี้เป็นไข้คนแก่เฒ่าชะแรแก่ชราธรรมดาของโลก ถึงเวลาที่สังขารร่างกายของอาตมาจะหมดสิ้นการสืบต่อใดๆ แล้วเมื่อสามปีก่อนอาตมาเคยบอกไว้ว่า อายุ ๘๐ จะลาสังขารจากโลกนี้ไป บัดนี้ก็ถึงเวลาที่จะไปแล้วขอให้ทุกคนอย่าได้เศร้าโศกเสียใจอาลัยเลย หยูกยาขนานใดจะมารักษาอาตมาก็ไม่มีทางหายหรอก มีแต่ฟืนสำหรับเผาเท่านั้นจะเข้ากันได้สนิทกับสังขารอาตมา  เวลานี้อาตมาก็เปรียบเหมือนต้นไม้ตายยืนต้นเหลือแต่แก่น ไม่มีใครที่จะมารดให้ไม้แก่นกลับเจริญงอกงามมีรากมีใบอ่อนผลิดอกออกช่อขึ้นมาได้อีกหรอก จงอย่าพากันพยายามที่จะให้หยูกยารักษาอาตมาเลยเสียเวลาเปล่าๆ แต่เมื่อลูกศิษย์ลูกหากราบไหว้วิงวอนขอให้ท่านฉันหยูกยาเสียบ้าง จะได้หายจากโรคภัย มีอายุยืนยาวออกไปอีกเพื่อโปรดลูกศิษย์ลูกหาไปนานๆ

ท่านพระอาจารย์มั่นทนรบเร้าวิงวอนไม่ไหว ก็จำใจฉันหยูกยาเล็กน้อยพอเป็นพิธี ไม่ให้ทุกคนเสียใจนักว่าท่านทอดอาลัยในสังขารเกินไป ข่าวพระอาจารย์มั่นป่วยกระจายไปถึงไหน ใครทราบก็รีบรุดมานมัสการด้วยความเป็นห่วงทั้งพระทั้งฆราวาสจากทุกทิศทุกทาง สำนักของท่านที่บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม สกลนคร นี้เป็นถิ่นอยู่ในหุบเขา ห่างไกลจากถนนใหญ่หกร้อยเส้น การสัญจรไปมาลำบากทั้งหน้าแล้งและหน้าฝน ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่า ทั้งพระทั้งฆราวาสพากันหลั่งไหลเยี่ยมนมัสการดูอาการป่วยของท่านไม่ขาดสาย คนเฒ่าคนแก่ที่เดินไม่ไหวก็ว่าจ้างล้อเกวียนเดินเข้าไป พอออกพรรษาแล้วบรรดาพระและครูบาอาจารย์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ก็ทยอยกันมากราบเยี่ยมและปรนนิบัติท่านมากเป็นลำดับการป่วยไข้ด้วยโรคชราของท่านหนักเข้าทุกวัน
 
ท่านได้บอกทุกคนว่า ท่าจะตายแน่แล้วไม่อยากตายที่นี่เพราะที่นี่เป็นบ้านป่าบ้านดงชาวบ้านจะเดือดร้อนด้วยว่าไม่มีตลาดจับจ่ายซื้อข้าวของ เมื่อไม่มีตลาดก็จะพากันฆ่าสัตว์ เช่น เป็ดไก่ หมู วัว ควาย กันเป็นการใหญ่เพื่อเอาเนื้อสัตว์ทำบุญถวายพระในงานศพของท่านซึ่งแทนที่จะเป็นการทำบุญก็กลับจะเป็นการทำบาปครั้งใหญ่หลวง
 
พระอาจารย์มั่นกล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ท่านได้บวชเรียนมาไม่เคยคิดจะให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบากเดือดร้อนถึงแก่ชีวิตเลยมีแต่ความเมตตาสงสารทุกเวลา ได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ทั้งหลายไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา ครั้นเวลาเวลาท่านจะตายลงไปจะยอมให้สัตว์ทั้งหลายถูกฆ่าตายไม่ได้  ขอให้พาท่านไปในจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ท่านต้องการตายที่ในเมืองเพราะในเมืองใหญ่มีตลาดใหญ่อยู่แล้วมีการค้าขายข้าวปลาอาหารเหลือเฟือเป็นปกติอยู่ทุกวี่ทุกวัน เมื่อท่านตายลงไป ผู้ที่ศรัทธาเคารพนับถือในตัวท่าน สามารถจะซื้อหาข้าวปลาอาหารในตลาดมาทำบุญถวายพระให้ลำบากเป็นเวรภัย เมื่อเป็นความปรารถนาของพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น ลูกศิษย์ลูกหาคณะศรัทธาชาวบ้านก็ปฏิบัติตามไม่อาจจะขัดใจท่านได้ จึงได้นำท่านออกจากวัดหนองผือเดินทางมายังสกลนคร โดยอาราธนาท่านขึ้นนอนบนแคร่แล้วหามออกมา ไม่ยอมให้นั่งล้อเกวียนหรือพาหนะใดๆ เพราะทางเป็นหลุมบ่อขรุขระมากเกรงว่าจะกระทบกระเทือนสังขารของท่านให้ทรุดหนักลงไปอีก
 
พอมาถึงฟากทุ่งนาที่เป็นถนนหนทางดีหน่อยจึงอาราธนาท่านขึ้นรถยนต์ ซึ่งแขวงการทางสกลนครส่งมาสามคันเพื่อรับท่านและคณะเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และเดินทางเข้าถึงสกลนครเวลาเที่ยงวันพอดี เข้าพักที่วัดป่าสุทธาวาส ขณะนั้นท่านยังคงหลับอยู่และหลับไปจนถึงเที่ยงคืนจึงเริ่มตื่นขึ้น อาการไข้ของท่านเริ่มทรุดหนักเห็นได้ชัดตอนนี้เอง ท่านเริ่มตั้งสติในเบื้องต้นด้วยการนอนในท่าสีหไสยาสน์คือนอนตะแคงข้างขวาเพื่อเตรียมลาขันธ์คือ ภาราหเว ปัญจักขันธา อันเป็นกองมหันต์ทุกข์ในโลก
 
ขณะนั้นเป็นเวลาดึกสงัดวิเวกวังเวงใจบรรดาครูบาอาจารย์ที่เคยเป็นลูกศิษย์ มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นต้น ทยอยกันมาที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่นด้วยอาการรีบร้อนเมื่อได้ข่าวจากพระเณรที่รีบไปแจ้งอาการให้ทราบ การนั่งดูอาการของพระอาจารย์มั่น นั่งดูเป็นสามแถว แถวแรกเป็นพระผู้ใหญ่ แถวที่สองพระอาจารย์อันดับรองลงมาแถวที่สามเป็นคณะสามเณร ต่างนั่งพนมมือนิ่งด้วยอาการสงบ ตาจับจ้องมองดูอาการพระอาจารย์มั่นแน่วนิ่ง เพื่อจะประทับภาพอันเป็นวาระดับขันธ์ของท่านไว้ติดตาติดใจไว้ไม่รู้ลืม
 
พระอาจารย์มั่นลาโลกไปด้วยอาการสงบเมื่อเวลาตี ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที
 
พอรุ่งเช้าทั้งพระผู้ใหญ่ทั้งข้าราชการทุกแผนกในจังหวัดสกลนครทราบข่าวมรณภาพของท่านพระอาจารย์มั่น ต่างก็รีบหลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพและปรึกษาหารือกิจการเกี่ยวกับศพท่านว่าจะจัดการอย่างไรจึงจะเหมาะสม และเป็นการถวายเกียรติโดยควรแก่ฐานะของท่านซึ่งเป็นพระอาจารย์สมถวิปัสสนาองค์สำคัญที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสมากแทบทั่วประเทศไทยและประเทศลาว จึงตกลงกันนำข่าวมรณภาพของท่านไปออกข่าววิทยุและหนังสือพิมพ์แจ้งให้ประชาชนทราบ ปรากฏว่าเมื่อข่าวแพร่ออกไป ประชาชนและพระเณรทั้งใกล้และไกลต่างพากันหลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพท่านทุกวันมิได้ขาดนับจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนมืดฟ้ามัวดินไปหมด

หีบศพท่านด้านหน้าทำด้วยกระจก เพื่อผู้มาแต่ไกลล่าช้าจะได้เห็นองค์ท่านได้เต็มตาเต็มใจ คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเก็บศพท่านไว้จนถึงเดือนสามข้างขึ้น ต้นปี ๒๔๙๓ แล้วจึงค่อยถวายฌาปนกิจ


ฝนมหัศจรรย์
พอจวนถึงวันงานฌาปนกิจท่าน พระเณรและประชาชนต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทางทั้งใกล้และไกลจนเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับแทบเป็นลมรับไม่หวาดไม่ไหว หาที่พักให้ไม่พอกับจำนวนคนและจำนวนพระเณรที่มา วัดต่างๆ ในตัวจังหวัดเต็มหมด ส่วนประชาชนนั้นพักแน่นโรงแรมทุกแห่ง ที่พักอยู่ตามทุ่งนาก็มีเป็นหมื่น เป็นกองเกวียนคาราวานมาจากถิ่นต่างๆ เหมือนงานนมัสการพระธาตุพนมไม่มีผิด พระธุดงค์ที่มาจากป่าจากเขาจำนวนพันๆ รูปนั้นกางกลดอยู่ในป่ารอบๆ วัดมองเห็นกลดขาวเปรี๊ยะไปทั้งป่า เครื่องไทยทานอาหารที่ประชาชนต่างมีศรัทธานำมาสมโภชโมทนา ขนใส่รถยนต์มาจากจังหวัดต่างๆ กองเท่าภูเขาเลากา โดยเฉพาะข้าวสารนับเป็นพันๆ กระสอบโรงครัวทานขนาดใหญ่ทำกันทั้งวันทั้งคืน (๓ คืน ๔ วัน) สำหรับผ้าไตรที่ประชาชนคณะศรัทธานำมาเพื่อถวายบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลถวายเท่านั้นเป็นจำนวนกองใหญ่ยิ่งกว่ากองผ้าโรงงานทอผ้าเสียอีก งานนี้ทำพิธีเปิดมีกำหนด ๓ คืน ๔ วัน เริ่มแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถวายเพลิงเวลา ๖ ทุ่มในคืนวันขึ้น ๑๓ ค่ำ
 
ผู้คนในขณะนั้นแออัดเยียดยัดบริเวณวัดประหนึ่งจะล้นแผ่นดินขยับติงตัวแทบไม่ได้ เมรุที่บรรจุศพสร้างขึ้นในบริเวณที่พระอุโบสถอยู่ในเวลานี้สร้างเป็นจัตุรมุขมีลวดลายสวยสง่างามมาก ท้องฟ้าขณะนั้นเดือนหงายกระจ่างสว่างนวลปราศจากเมฆอากาศหนาวเยือกเย็น  เมื่อถึงเวลาถวายเพลิง ทันใดก็เกิดเหตุมหัศจรรย์ ปรากฏมีเมฆขาวก้อนหนึ่งลอยละลิ่วมาในเบื้องอากาศและหยุดนิ่งอยู่เหนือเมรุ ทามกลางสายตาของผู้คนในพิธีงานนับหมื่นๆ คน

ครั้นแล้วเมฆขาวก้อนนั้นก็ปรอยปรายละอองฝนลงมาตกต้องกระทบร่างกายผู้คนให้เย็นฉ่ำ พร้อมๆ กับเปลวไฟในเมรุได้ลุกขึ้นเผาศพท่านพระอาจารย์มั่น ละอองฝนโปรยปรายอยู่ ๑๕ นาที เมฆขาวประหลาดนั้นจึงค่อยๆ ลอยจากไปช้าๆ เลือนหายไปท่ามกลางความสว่างไสวแห่งแสงเดือนหงาย เหตุการณ์ประหลาดมหัศจรรย์นี้พระเณรและประชาชนทั้งหลายในพิธีงานต่างก็ได้ประจักษ์ทั่วกัน และไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่จริง

การถวายเพลิงศพไม่ได้ใช้ถ่านหรือฟืนตามปกติ หากถวายด้วยไม้จันทร์ที่มีกลิ่นหอมที่คณะศรัทธาจากฝั่งประเทศลาวจัดถวายผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิง นับแต่ขณะถวายเพลิงจนถึงเวลาเก็บอัฐิ ได้มีคณะกรรมการทั้งพระและฆราวาสคอยเฝ้าดูแลอย่างกวดขันใกล้ชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันประชาชนผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธา ถึงขนาดเข้ายื้อแย่งอัฐิ และเถ้าอังคารธาตุด้วยความเผลอสติ

  
อัฐิพระธาตุ
อัฐิพระอาจารย์มั่น ได้ถูกคณะกรรมการแบ่งแจกไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีผู้มาในงานเพื่อนำไปเป็นสมบัติของกลางโดยมอบไปกับพระที่มาในงานในนามของจังหวัดนั้นๆ เชิญไปบรรจุไว้ในสถานที่ต่างๆ ตามแต่จะเห็นควร ส่วนประชาชนก็แจกเหมือนกัน แต่คนมากต่อมากการแจกจึงไม่ทั่วถึงอัฐิที่แจกไปประมาณ ๒๐ จังหวัด

คณะกรรมการเห็นใจประชาชนที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาพระอาจารย์มั่นที่ไม่ได้รับแจกอัฐิ จึงได้อนุญาตให้ประชาชนเข้าเก็บกวาดเอาเถ้าถ่านที่เศษเหลือจากอัฐิที่เก็บแล้วไปสักการบูชาได้ ปรากฏว่าประชาชนต่างก็แย่งกันเก็บกวาดชุลมุนจนเกลี้ยงเกลา ไม่มีเหลือแม้แต่เศษฝุ่น ยิ่งกว่าบริเวณนั้น ถูกขัดถูเสียอีก

ต่อมาปรากฏว่าอัฐิของพระอาจารย์มั่นที่แจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ นั้น ได้กลายเป็นพระธาตุไปหมด แม้แต่เส้นผมของพระอาจารย์มั่นที่มีผู้เก็บไปบูชาในที่ต่างๆ ก็กลายเป็นพระธาตุได้เช่นเดียวกันกับอัฐิของท่านนับเป็นเรื่องอัศจรรย์ และที่มีแปลกอยู่อีกคือผู้มีพระธาตุสององค์ อธิษฐานขอให้เป็นสามองค์ก็ได้สมปรารถนาบางคนมีพระธาตุอยู่ ๒ องค์ อธิษฐานเป็นสามองค์กลับกลายเป็นรวมกันเข้าเป็นองค์เดียว

เรื่องอัฐิพระอาจารย์มั่นกลายเป็นพระธาตุนี้ ท่านอาจารย์พระมหาบัวญาณ สัมปันโนวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ผู้เป็นศิษย์เอกอีกองค์หนึ่งของพระอาจารย์มั่น ได้อธิบายไว้ว่า อัฐิของพระอรหันต์ก็ดี ของสามัญชนก็ดี ต่างก็เป็นธาตุดินชนิดเดียวกัน การที่อัฐิกลายเป็นพระธาตุได้นั้นขึ้นอยู่กับใจหรือจิตเป็นสำคัญ อำนาจิตของพระอรหันต์ท่านเป็นอริยจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลศโสมมต่างๆ อำนาจจิตของพระอรหันต์อาจมีอำนาจซักฟอกขันธ์ให้เป็นธาตุบริสุทธิ์ไปตาม ส่วนของตน อัฐิจึงกลายเป็นธาตุขันธ์ไปได้ แต่อัฐิหรือกระดูกของสามัญชนทั่วไป แม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน แต่จิตสามัญชนเต็มไปด้วยกิเลส จิตไม่มีอำนาจและคุณภาพพอที่จะซักฟอกธาตุขันธ์ของตนให้เป็นขันธ์บริสุทธิ์ได้ อัฐิจึงต้องกลายเป็นสามัญธาตุไปตามวิสัยของคนมีกิเลส จะเรียกไปตามภูมิของธาตุว่าว่า อริยจิต อริยธาตุ และสามัญจิต สามัญธาตุก็คงไม่ผิด เพราะคุณสมบัติของจิตและธาตุ ระหว่างพระอรหันต์กับสามัญชนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน  ดังนั้นอัฐิจึงจำต้องต่างกันอยู่โดยดี ผู้สำเร็จพระอรหันต์ทุกองค์เวลานิพพานอัฐิต้องกลายเป็นพระธาตุด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นหรือเปล่านั่น ข้อนี้ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้นทุกๆ องค์เพราะว่ากาลเวลาตั้งแต่บรรลุพระอรหันต์จนถึงวันนิพพาน พระอรหันต์แต่ละองค์มีเวลาสั้นยาวแตกต่างกัน

พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมวิเศษ แล้วมีเวลาทรงขันธ์อยู่นานปีเวลานิพพานมาถึง อัฐิย่อมมีทางกลายเป็นพระธาตุได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะเวลาที่ทรงขันธ์อยู่นานจิตที่บริสุทธิ์ย่อมจะทรงขันธ์อยู่นาน เช่นเดียวกับการสืบต่อแห่งชีวิต ด้วยการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายดังมีลมหายใจเป็นต้นมีการเข้าสมาบัติประจำอิริยาบถเสมอ ซึ่งเป็นการซักฟอกธาตุขันธ์ให้บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตนทุกวันทุกคืนโดยลำดับ ครั้นถึงเวลานิพพานอัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุไป เมื่อผสมเข้ากับธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแผ่กระจายอยู่ทุกอณูบรรยากาศของโลกส่วนพระอรหันต์ที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้วมิได้ทรงขันธ์อยู่นานเท่าที่ควรเมื่อถึงเวลานิพพานอัฐิจะกลายเป็นพระธาตุได้เหมือนพระอรหันต์ที่ทรงขันธ์อยู่ นานหรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาที่เหมือนพระอรหันต์ที่ทรงขันธ์อยู่นานนั้นยังเป็นปัญหาที่ตอบไม่สนิทใจ
 
พระอรหันต์ที่เป็นนันทาภิญญา คือรู้ได้ช้าค่อยเป็นค่อยปือบำเพ็ญไปถึงขั้นอนาคามีผลแล้ว ติดอยู่นานกว่าจะก้าวขึ้นอรหัตภูมิได้จะต้องพิจารณาท่องเที่ยวไปมาอยู่ในระหว่างอรหัตตมรรค อรหัตตผลจนกว่าจิตจะชำนิชำนาญและมีกำลังเต็มที่จึงผ่านไปได้ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่ในขั้นอรหัตตมรรคเพื่ออรหัตผลนี้เป็นอุบาย
 
วิธีซักฟอกธาตุขันธ์ในตัวด้วยเวลานิพพานอัฐิอาจกลายเป็นธาตุได้ ส่วนพระอรหันต์ที่เป็น ขิปปาภิญญา คือรู้ได้เร็วบรรลุอรหันต์ได้รวดเร็ว และนิพพานไปเร็วพระอรหันต์ประเภทนี้ไม่แน่ใจว่าอัฐิจะกลายเป็นพระธาตุได้หรือประการใด เพราะจิตบริสุทธิ์ของท่านเหล่านี้ไม่มีเวลาทรงและซักฟอกธาตุขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร   พระธาตุขันธ์ของพระอาจารย์มั่น แสดงความมหัศจรรย์ให้กับผู้เก็บรักษาด้วยประการต่างๆ เป็นที่เล่าลือกันทั่วไปมีหลักฐานมั่นคงซึ่งไม่สามารถจะนำมาลงที่นี่ให้ได้หวาดไหว แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ยืนยันถึงอำนาจพลังจิตของผู้ทรงภูมิธรรมสูงว่า มีพลังยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ไม่มีอะไรจะปิดกั้นไว้ได้ คือพระธาตุของพระอาจารย์มั่นนี้ ถูกเก็บไว้ในครอบแก้วแล้วปิดฝาแข็งแรงแล้วนำไปใส่ตู้เซฟไว้แน่นหนาป้องกันคนขโมย ปรากฏว่าพระธาตุสององค์สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้เป็น ๓ องค์ ๙ องค์ และต่อมาก็หายไปหมด ครั้นต่อมาอีกก็กลับมามีอยู่ครบจำนวนทั้ง ๙ องค์อีก ทั้งๆ ที่ไม่มีใครไปแตะต้องตู้เซฟเลย แสดงว่าพระธาตุสามารถเข้าออกตู้เซฟเข้าออกตู้เซฟผ่านเข้าไปเข้าออกในครอบแก้วได้เองด้วยอำนาจพลังจิตของพระอรหันต์
 
ดังนั้นจึงยุติปัญหาที่มีผู้สงสัยกันมากว่า พระเครื่องของขลังที่เราท่านนำไปอัดกรอบพลาสติกบ้าง เลี่ยมกรอบทองบ้างซึ่งเป็นการบรรจุพระเครื่องของขลังไว้ในที่ปกปิดแน่นหนานั้น เวลาเราท่านประสบเหตุเภทภัยอันตราย อานุภาพของพระเครื่องของขลังนั้นจะออกมาจากกรอบพลาสติก หรือกรอบทองที่อัดไว้แน่นหนาได้หรือไม่ ขอตอบว่า อานุภาพของพระเครื่องสามารถผ่านเข้าและออกได้ไม่มีอะไรจะปิดกั้นไว้ได้เลย ภูเขาทั้งลูกก็กั้นอานุภาพพลังจิตไมได้ ตู้เหล็กหนามิดชิดปิดแน่นเช่นตู้เซฟก็ไม่สามารถจะปิดกั้นอานุภาพพลังจิตไว้ได้ ดังเช่นพระธาตุของพระอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างที่กล่าวแล้ว
 
แม้ว่าพระอาจารย์มั่นมรณภาพไปแล้วทางรูปกาย แต่ความสำคัญทางนิมิตภาพที่ปรากฏเป็นองค์ท่าน ยังคงปรากฏอยู่เสมอทางห้วงกระแสจิตภาวนาของบรรดาพระกรรมฐานที่เป็นสานุศิษย์ของท่านราวกับว่าอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ พระกรรมฐานที่ปฏิบัติทางจิตภาวนาและเจริญวิปัสสนาเมื่อเกิดขัดข้องขบปัญหาใดๆ ไม่แตก ไม่รู้จะดั้นด้นไปปรึกษากับพระอาจารย์องค์ใด พระอาจารย์มั่นจะมาแสดงนิมิตภาพในทางกระแสจิตให้เห็นแล้วแสดงบอกอุบายธรรมวิธีแก้ไข ดุจดังสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่แสดงธรรมให้ฟังฉะนั้น เมื่อบอกอุบายแล้วนิมิตภาพของท่านก็จะหายไป นับเป็นเรื่องลึกลับ ซึ่งสำหรับผู้ไม่เคยปรากฏหรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมา อาจคิดว่านิมิตภาพพระอาจารย์มั่นที่มาปรากฏในวิถีจิตสมาธิของลูกศิษย์นั้น อาจจะเป็นความวิปลาสของศิษย์เป็นนิมิตเหลวไหล ลวงจิตด้วยอำนาจอุปาทานก็ได้ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นพระกรรมฐานทุกองค์ที่เป็นศิษย์ ที่เคยได้รับการสั่งสอน บอกอุบายแก้ปัญหาธรรมที่ขัดข้องนั้นๆ ในทางนิมิต ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า เมื่อนำเอาอุบายที่นิมิตของพระอาจารย์มั่นสั่งสอนไปปฏิบัติตามแล้ว สามารถปฏิบัติธรรมลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็วแม่นยำถูกต้องไม่ผิดพลาดน่าอัศจรรย์  ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้ทรงความรู้จริงเห็นจริงเต็มภูมิวาสนาบารมีของท่าน ดังนั้น บรรดาความรู้ที่เกี่ยวกับอภิญญาของท่าน จึงสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มภูมิโดยไม่สนใจว่า บรรดานักปราชญ์ทั้งหลายที่ฝังหัวอยู่แต่ในหนังสือในคัมภีร์จะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะตำหนิหรือชมเชยใดๆ ท่านไม่เอาใจใส่เลย ภูมิธรรมภายในนับแต่ ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกขั้น
ตลอดถึงวิมุติพระนิพพานท่านแสดงออกมาอย่างอาจหาญและเปิดเผย


จบ

watpanonvivek.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กุมภาพันธ์ 2558 12:14:10 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 [2]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
หมีงงในพงหญ้า 8 7737 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2553 10:16:39
โดย เงาฝัน
หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม พระกัมมัฏฐานรุ่นแรก สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
ใบบุญ 0 1289 กระทู้ล่าสุด 27 กรกฎาคม 2558 06:51:25
โดย ใบบุญ
ตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากสถานที่จริงเป็น หาดูได้ยากมาก
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 0 1183 กระทู้ล่าสุด 26 กรกฎาคม 2559 09:52:50
โดย มดเอ๊ก
อาจารย์มั่น ภูริทัตโต นิมิตพระอรหันต์นิพาน
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
มดเอ๊ก 0 1001 กระทู้ล่าสุด 26 กรกฎาคม 2559 09:55:35
โดย มดเอ๊ก
ต้นเค้าพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 495 กระทู้ล่าสุด 01 พฤศจิกายน 2563 14:34:00
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.222 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กันยายน 2566 07:14:15