[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 01:31:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา  (อ่าน 25518 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 39.0.2171.95 Chrome 39.0.2171.95


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 มกราคม 2558 15:08:42 »

.

ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา



วิคติจฉชาดก
ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภปลายิปริพาชกผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนา ดังนี้

ได้ยินว่า ปริพาชกผู้นั้นไม่สามารถหาผู้ตอบโต้ในเชิงวาทะได้กับตนได้ในสกลชมพูทวีปทั้งสิ้น จึงมากรุงสาวัตถี ถามว่าใครจะสามารถโต้วาทะกับเราบ้าง ได้ฟังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสามารถ จึงแวดล้อมด้วยมหาชนพาหันไปเชตวันมหาวิหาร ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัทสี่  ลำดับนั้น พระศาสดาทรงแก้ปัญหาแก่ปริพาชกนั้น แล้วตรัสถามว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง ปริพาชกนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงลุกหนีไป บริษัทที่นั่งอยู่ต่างกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ปริพาชกถูกพระองค์ข่มด้วยปัญหาบทเดียวเท่านั้น

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย เรามิได้ข่มปริพาชกนั้นด้วยปัญหาบทเดียวในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเราก็ข่มได้เหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า  ในอดีตกาลกครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นกาสี ครั้นเจริญวัย ละกามสมบัติกามคุณออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลานาน ต่อมาพระโพธิสัตว์ลงจากภูเขาอาศัยหมู่บ้านตำบลหนึ่ง พำนักอยู่ ณ บรรณศาลาใกล้แม่น้ำวน  ลำดับนั้น ปริพาชกผู้หนึ่งซึ่งหาผู้มีวาทะโต้ตอบกับตนในชมพูทวีปทั้งสิ้นไม่ได้ จึงไปถึงตำบลนั้นถามว่า มีใครบ้างหนอที่สามารถโต้ตอบวาทะกับเราได้ รู้ว่ามี ทั้งได้ฟังถึงความอาจหาญของพระโพธิสัตว์ จึงแวดล้อมด้วยมหาชนไปยังที่อยู่ของพระโพธิสัตว์นั้น กระทำปฏิสันถารนั่งอยู่ ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ถามปริพาชกนั้นว่าท่านจักดื่มน้ำแม่คงคา มีสีและกลิ่นอบอวลบ้างไหม ปริพาชกเมื่อจะเล่นสำนวน จึงกล่าวว่า อะไรคือคงคา คงคาทราย คงคาน้ำ คงคาฝั่งนี้ หรือคงคาฝั่งโน้น

พระโพธิสัตว์กล่าวโต้ว่า ดูก่อนปริพาชกก็ท่านจะแยกน้ำกับทรายและฝั่งนี้ ฝั่งโน้นออกเสียแล้วจักได้คงคาที่ไหนเล่า ปริพาชกสิ้นปฏิภาณลุกหนีไป เมื่อปริพาชกหนีไป พระโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทที่นั่งอยู่ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า : บุคคลเห็นสิ่งใด ไม่ปรารถนาสิ่งนั้น  อนึ่ง บุคคลไม่เห็นสิ่งใด ย่อมปรารถนาสิ่งนั้น เราเข้าใจว่า บุคคลนั้นจักท่องเที่ยวไปอีกนาน อยากได้สิ่งใด ก็จักไม่ได้สิ่งนั้นเลย บุคคลได้สิ่งใด ไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น  ปรารถนาสมบัติอันใด ก็ติเตียนสมบัติที่ได้มานั้น เพราะขึ้นชื่อว่าความปรารถนามีอารมณ์ไม่สิ้นสุด เราขอกระทำความนอบน้อมแด่ท่านผู้ปราศจากความปรารถนา  ข้าพเจ้าเข้าใจอย่างนี้ว่า ปริพาชกนี้แสวงหาแม่คงคา เห็นปานนี้จักเที่ยวไปอีกนาน หรือนัยหนึ่งเมื่อแสวงหาตนอันพ้นไปจากรูปเป็นต้น เหมือนหาแม่คงคาที่ไม่มีน้ำเป็นต้น ฉะนั้น จักเที่ยวไปในสงสารสิ้นกาลนาน แม้เที่ยวไปสิ้นกาลนาน ก็ย่อมไม่ได้แม่คงคาหรือตนตามที่ปรารถนา เมื่อได้น้ำเป็นต้น หรือรูปเป็นต้น ก็ย่อมไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจในสิ่งที่ได้อย่างนี้ เมื่อปรารถนาสมบัติใดๆ ครั้นได้แล้วย่อมดูหมิ่นดูแคลนเสียด้วยคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยสมบัตินี้

ตัณหาอันชื่อว่าความปรารถนานี้ มีอารมณ์หาที่สุดมิได้ เพราะดูหมิ่นสิ่งที่ได้ แล้วไปปรารถนาอารมณ์อื่นๆ ฉะนั้นบัณฑิตเหล่าใดเป็นผู้ปราศจากความปรารถนา มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เราทั้งหลายขอทำความเคารพนอบน้อมท่านบัณฑิตเหล่านั้น ดังนี้

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว แล้วทรงประชุมชาดกว่า ปริพาชกในครั้งนั้นได้เป็นปริพาชกในครั้งนี้ ส่วนดาบส คือเราตถาคตนี้แล

 
จบ วิคติจฉชาดก

.



ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือน ดีชั้นหนึ่ง
การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม แล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้นสอง
เมื่อได้ประโยชน์ ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม
เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่


อินทริยชาดก
ว่าด้วยดี ๔ ชั้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ ภิกษุถูกภรรยาเก่าประเล้าประโลม จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้
 
ได้ยินว่า ในพระนครสาวัตถี มีกุลบุตรคนหนึ่งฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว คิดว่า ผู้อยู่ครองเรือนไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว เราจักบวชในศาสนาที่นำสัตว์ออกจากทุกข์ แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้แล้วได้มอบสมบัติในเรือนให้แก่บุตรและภรรยา แล้วทูลขอบรรพชากะพระศาสดา แม้พระบรมศาสดาก็รับสั่งให้บรรพชาแก่กุลบุตรนั้น ครั้นบวชเป็นภิกษุแล้ว ไปบิณฑบาตกับอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ อาสนะในเรือนแห่งตระกูลก็ดี ในโรงฉันก็ดี ไม่ถึงภิกษุนั้น เพราะตนเป็นนวกะและมีภิกษุมากด้วยกัน ตั่งหรือแผ่นกระดานย่อมถึงในที่สุดท้ายพระสังฆนวกะ แม้อาหารที่จะพึงได้ ก็ ล้วนป่นเป็นแป้งและเป็นน้ำข้าวที่ติดอยู่ตามข้างกระบวยบ้าง เป็นข้าวยาคูบ้าง ของเคี้ยวที่บูดที่แห้งบ้าง เป็นข้าวตังข้าวตากบ้าง ไม่พออิ่ม
  
ภิกษุนั้นถือเอาอาหารที่ตนได้แล้ว ไปสำนักของภรรยาเก่า ภรรยาเก่าไหว้ แล้วรับบาตรของภิกษุนั้น เอาภัตตาหารออกจากบาตรทิ้งเสีย แล้วถวายข้าวยาคูภัตสูปพยัญชนะที่ตนตกแต่งไว้ดีแล้ว ภิกษุแก่นั้นติดรสอาหาร ไม่สามารถจะละภรรยาเก่าได้ ภรรยาเก่าคิดว่า เราจักทดลองภิกษุแก่นี้ ดูว่าจะติดรสอาหารหรือไม่
 
อยู่มาวันหนึ่ง นางได้ให้มนุษย์ชาวชนบท อาบน้ำ ทาดินสีพองนั่งอยู่ในเรือน บังคับคนใช้อื่นอีก ๒ - ๓ คน ให้นำน้ำและข้าวมาให้มนุษย์ชนบทนั้นคนละนิดละหน่อย แล้วก็พากันนั่งเคี้ยวกินอยู่ นางได้ให้คนใช้ไปจับโคเข้าเทียมเกวียนไว้เล่มหนึ่งที่ประตูเรือน ส่วนตัวเองก็หลบไปนั่งทอดขนมอยู่ที่ห้องหลังเรือน ลำดับนั้น ภิกษุแก่มายืนอยู่ที่ประตู ชายแก่คนหนึ่งเห็นภิกษุนั้นกล่าวว่า แน่ะแม่เจ้า พระเถระองค์ ๑ มายืนอยู่ที่ประตู นางตอบไปว่า ท่านช่วยไหว้นิมนต์ให้ท่านไปข้างหน้าเถิด ชายแก่กล่าวหลายครั้งว่า นิมนต์ ไปข้างหน้าเถิดเจ้าข้า ก็ยังเห็นท่านยืนเฉยอยู่ จึงได้บอกกะภรรยาเก่าว่า แน่ะแม่เจ้า พระเถระไม่ยอมไป ภรรยาเก่าไปเลิกม่านมองดู กล่าวว่า อ้อ พระเถระพ่อของเด็กเรา จึงออกไปไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์ให้เข้าไปในเรือนแล้วให้ฉัน ครั้นฉันเสร็จ นางกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้า จงปรินิพพานอยู่ในที่นี้แหละ ตลอดกาลเท่านี้ ดิฉันมิได้ยึดถือตระกูลอื่นเลย ก็เรือนที่ปราศจากสามี จะดำรงการครองเรือนอยู่ด้วยดีไม่ได้ ดิฉันจะยึดถือตระกูลอื่นไปอยู่ชนบทที่ไกล ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าได้ประมาท ถ้าดิฉันมีโทษอยู่ไซร้ ขอได้โปรดอดโทษนั้นเสียเถิด
 
หัวใจของภิกษุแก่ได้เป็นเหมือนถูกฉีกออก ลำดับนั้น ภิกษุแก่ได้กล่าวกะภรรยาเก่าว่า เราไม่อาจจะละเจ้าไปได้ เจ้าอย่าไปเลย ฉันจักสึกละ เจ้าจงส่งผ้าสาฎกไปให้ฉันที่โน้น เราไปมอบบาตรจีวรแล้วจักมา นางรับคำแล้ว ภิกษุแก่ไปวิหาร ให้อาจารย์อุปัชฌาย์รับบาตรจีวร เมื่ออาจารย์และอุปัชฌาย์ถามว่า อาวุโส เหตุไรเธอจึงทำอย่างนี้ จึงตอบว่า กระผมไม่อาจละภรรยาเก่าได้ กระผมจักสึก
 
ลำดับนั้น อาจารย์และอุปัชฌาย์จึงนำภิกษุนั้นผู้ไม่ปรารถนาจะบวช ไปสู่สำนักพระศาสดา เมื่อพระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอนำเอาภิกษุผู้ไม่ปรารถนาจะบวชอยู่นี้มาทำไม จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้กระสันอยากจะสึก พระเจ้าข้า
 
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ได้ยินว่าเธอกระสันจะสึกจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า
 
ตรัสถามว่า ใครทำให้เธอกระสัน เมื่อภิกษุกราบทูลว่า ภรรยาเก่า พระเจ้าข้า
 
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุมิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่หญิงนั้น ทำความพินาศให้แก่เธอ แม้ในกาลก่อนเธอก็เสื่อมจากฌานสี่ ถึงความทุกข์ใหญ่ เพราะอาศัยหญิงนั้น แต่ได้อาศัยเราจึงพ้นจากทุกข์กลับได้ ฌานที่เสื่อมเสียไปแล้ว ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาปุโรหิตนั้น ในวันที่พระโพธิสัตว์เกิด บรรดาอาวุธที่มีอยู่ทั่วพระนครลุกโพลงขึ้น เพราะเหตุนั้นญาติทั้งหลาย จึงตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ว่า โชติปาละ โชติปาลกุมารนั้นครั้นเจริญวัยแล้ว เรียนศิลปะทุกอย่างในเมืองตักกศิลา แล้วกลับมาแสดงศิลปะแก่พระราชา ต่อมาได้ละอิสริยยศเสียไม่ให้ใครๆ รู้ หนีออกทางอัคคทวาร เข้าป่าบวชเป็นฤๅษีอยู่ในอาศรม ป่าไม้มะขวิดที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตรถวาย ทำฌานและอภิญญาให้เกิดแล้ว พระฤๅษีหลายร้อยห้อมล้อมเป็นบริวาร
 
พระโชติปาลฤๅษีผู้อยู่ที่อาศรมนั้น อาศรมนั้นได้เป็นมหาสมาคม มีลูกศิษย์ชั้นหัวหน้า ๗ องค์
องค์ที่ ๑ ชื่อว่า สาลิสสรฤๅษี ได้ออกจากอาศรมป่าไม้มะขวิด ไปอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสาโตทกา ในสุรัฏฐชนบท มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
องค์ที่ ๒ ชื่อเมณฑิสสรฤๅษี ไปอาศัยนิคมกลัมพมูลกะ อยู่ในแว่นแคว้นของ พระเจ้าปโชตกราช มีฤๅษีหลายพันองค์เป็นบริวาร
องค์ที่ ๓ ชื่อ บรรพตฤๅษีไปอาศัยอฏวีชนบทแห่งหนึ่งอยู่ มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
องค์ที่ ๔ ชื่อกาฬเทวิลฤๅษี ไปอาศัยโขดศิลาแห่งหนึ่งอยู่ ณ ทักษิณาบท ในแคว้นอวันตี มีฤๅษีหลายพันเป็นบริวาร
องค์ที่ ๕ ชื่อกิสวัจฉฤๅษี ไปอาศัยนครกุมภวดีของเจ้าทัณฑกี อยู่องค์เดียวในพระราชอุทยาน
องค์ที่ ๖ พระดาบสอนุสิสสะ เป็นอุปัฏฐากอยู่กับพระโพธิสัตว์
องค์ที่ ๗ ชื่อว่านารทฤๅษี เป็นน้องชายกาฬเทวิลฤๅษี ไปอยู่ในถ้ำที่เร้นแห่งหนึ่ง ในระหว่างข่ายภูเขาอัญชนคิรี ในป่ามัชฌิมประเทศแต่องค์เดียว
 
ก็ ณ ที่ใกล้ๆ ภูเขาอัญชนคิรี มีนิคมแห่ง ๑ มีมนุษย์อยู่มากด้วยกัน ในระหว่างภูเขาอัญชนคิรีกับนิคมมีแม่น้ำใหญ่ พวกมนุษย์พากันไปประชุมที่แม่น้ำนั้นมาก พวกนางวรรณทาสีรูปงามทั้งหลาย เมื่อเล้าโลมผู้ชายก็พากันไปนั่งที่ฝั่งแม่น้ำ พระนารทดาบสเห็นนาง ๑ เข้าในบรรดานางเหล่านั้น มีจิตปฏิพัทธ์จึงเสื่อมจากญาน ซูบซีดตกอยู่ ในอำนาจกิเลส นอนอดอาหารอยู่ ๗ วัน
 
ลำดับนั้น กาฬเทวิลดาบส ผู้เป็นพี่ชายของนารทดาบสใคร่ครวญดู ก็รู้เหตุนั้น จึงเหาะมาแล้วเข้าไปในถ้ำนารทดาบสเห็นพระกาฬเทวิลดาบส จึงถามว่า ท่านมาทำไม
 
กาฬเทวิลดาบสตอบว่า ท่านไม่สบาย เรามาเพื่อรักษาท่าน
 
นารทดาบสจึงพูดข่มกาฬเทวิลดาบสด้วยมุสาวาทว่า ท่านพูดไม่ได้เรื่อง กล่าวคำเหลาะแหละเปล่าๆ
 
กาฬเทวิลดาบสคิดว่า เราไม่ควรฟังนารทดาบส จึงไปนำดาบส ๓ องค์ คือ สาลิสสรดาบส เมณฑิสสรดาบส บรรพติสสรดาบสมา นารทดาบสก็กล่าวข่มดาบสเหล่านั้นด้วยมุสาวาท
 
กาฬเทวิลดาบสคิดว่า เราจักนำสรภังคดาบสมา จึงเหาะไปเชิญ สรภังคดาบสมา ท่านสรภังคดาบสครั้นมาเห็นแล้วก็รู้ว่า ตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์ จึงถามว่า ดูก่อนนารทะ เธอตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์กระมัง
 
เมื่อนารทดาบส พอได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็ลุกขึ้นถวายอภิวาทกล่าวว่า ถูกแล้วท่านอาจารย์
 
ท่านสรภังคดาบสจึงกล่าวว่า ดูก่อนนารทะ ธรรมดาผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ ในอัตภาพนี้ก็ซูบซีด เสวยทุกข์ ในอัตภาพที่สองย่อมเกิดในนรก ดังนี้แล้ว กล่าวคาถาที่ ๑ ความว่า:
 
[๑๑๗๑] ดูกรนารทะ บุรุษใดตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์เพราะกาม บุรุษนั้นละโลกทั้งสองไปแล้ว ย่อมเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น แม้เมื่อยังเป็นอยู่ก็ย่อมซูบซีดไป.
 
นารทดาบสได้ฟังดังนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่าการเสพกาม ย่อมเป็นสุข แต่ท่านมากล่าวความสุขเช่นนี้ว่า เป็นทุกข์ ดังนี้ หมายถึงอะไร?
 
ลำดับนั้นท่านสรภังคดาบสได้กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ความว่า:
 
[๑๑๗๒] ทุกข์เกิดในลำดับแห่งสุข สุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ ส่วนท่านนั้นประสบความทุกข์มากกว่าสุข ท่านจงหวังความสุขอันประเสริฐเถิด.
 
ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ ดูก่อนนารทะ สัตว์เหล่านี้ทำกาละ ลงในสมัยที่เสพกาม ย่อมเกิดในนรกอันเป็นสถานที่มีทุกข์โดยส่วนเดียว ส่วนผู้รักษาศีลและเจริญวิปัสสนาย่อมลำบาก เขาเหล่านั้นรักษาศีลด้วย ความลำบากแล้ว ย่อมกลับได้ความสุขดังกล่าวแล้ว ด้วยผลแห่งศีล อาศัยเหตุนี้เราจึงกล่าวอย่างนี้
 
นารทดาบสกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ทุกข์นี้นั้นข้าพเจ้าไม่อาจอดกลั้นได้ ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะนารทดาบสว่า ดูก่อน นารทะ ธรรมดาทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลพึงอดกลั้นได้ดังนี้ แล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ความว่า:
[๑๑๗๓] ในเวลาเกิดความลำบาก บุคคลใดอดทนต่อความลำบากได้ บุคคลนั้นย่อมไม่เป็นไปตามความลำบาก บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมบรรลุสุข ปราศจากเครื่องประกอบ อันเป็นที่สุดแห่งความลำบาก.
 
ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนนารทะ บุคคลใดในกาลเมื่อ ความลำบากคือทุกข์ อันเป็นไปทางกายและทางจิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท หาอุบายกำจัดความลำบากนั้นเสียได้ อดกลั้นต่อความลำบากได้ ชื่อว่าไม่เป็นไปในอำนาจความลำบากนั้น ใช้อุบายนั้นๆ ทำความลำบากนั้นให้หมดไปได้ บุคคลนั้นเป็นนักปราชญ์ บรรลุความสุขที่ปราศจากอามิส นารทดาบสกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขึ้นชื่อว่ากามสุขเป็นสุขสูงสุด ข้าพเจ้าไม่อาจละกามสุขนั้นได้ ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวกะนารทดาบสว่า ดูก่อนนารทะ ขึ้นชื่อว่าธรรม บุคคลไม่ควรให้พินาศด้วยเหตุไรๆ ก็ตาม ดังนี้แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ ความว่า:
 
[๑๑๗๔] ท่านไม่ควรเคลื่อนจากธรรม เพราะปรารถนากามทั้งหลาย เพราะเหตุใช่ประโยชน์ เพราะเหตุเป็นประโยชน์ ถึงท่านจะทำสุขในฌานที่สำเร็จ แล้วให้นิราศไป ก็ไม่ควรจะเคลื่อนจากธรรมเลย.
 
ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า ดูก่อนนารทะ เธอไม่ควรเคลื่อนจากธรรม เพราะปรารถนาวัตถุกามเท่านั้นเลย คือ เมื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น และประสงค์จะกำจัดสิ่งนั้น ก็ไม่ควรเคลื่อนจากธรรม เพราะมุ่งประโยชน์ คือเพราะประโยชน์อันเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า ก็เธอสมควรเคลื่อนจากธรรม เพราะเหตุอันเป็น ประโยชน์อย่างนี้ว่า ประโยชน์อย่างโน้นจะเกิดแก่เรา คือ ถึงเธอจะทำฌานสุขที่ทำจนสำเร็จแล้วให้เสื่อมสิ้นไป ก็ยังไม่สมควรเคลื่อนเสียจากธรรม
 
เมื่อสรภังคดาบสแสดงธรรมด้วยคาถา ๔ คาถาอย่างนี้แล้ว กาฬเทวิลดาบส เมื่อจะกล่าวสอนน้องชายของตน จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ความว่า:
 
[๑๑๗๕] ความขยันของคฤหบดีผู้อยู่ครองเรือนดีชั้นหนึ่ง การแบ่งปันโภคทรัพย์ให้แก่สมณพราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล้วบริโภคด้วยตนเอง ดีชั้นสอง เมื่อได้ประโยชน์ไม่ระเริงใจด้วยความมัวเมา ดีชั้นสาม เมื่อเวลาเสื่อมประโยชน์ ไม่มีความลำบากใจ ดีชั้นสี่.
 
ดูก่อน นารทะ คฤหบดีผู้อยู่ครองเรือน ฉลาดไม่เกียจคร้านทำโภคะให้เกิด ขึ้น ชื่อว่าขยันหมั่นเพียร คือความเป็นผู้ฉลาด ข้อนี้ดีชั้น ๑ การแบ่งปันโภคะที่ให้เกิดแล้วด้วยความลำบาก แก่สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม แล้วจึงบริโภค ข้อนี้ดีที่ ๒ เมื่ออิสริยยศอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ร่าเริงใจด้วยอำนาจความมัวเมา ได้แก่ปราศจากความระเริงใจ ข้อนี้ ดีที่ ๓ ก็เมื่อใดมีความเสื่อมประโยชน์ คือยศพินาศ เมื่อนั้นไม่มีความลำบากซบเซา ข้อนี้ดีที่ ๔ ดูก่อนนารทะ เพราะเหตุนั้น เธออย่าเศร้าโศกไปเลยว่า ฌานของเราเสื่อมไปแล้ว ถ้าเธอไม่ตกอยู่ในอำนาจของอินทรีย์ แม้ฌานของเธอที่เสื่อมแล้ว ก็จักกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม
 
พระศาสดา ผู้ตรัสรู้เองด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ทรงทราบความที่กาฬเทวิลดาบส กล่าวสอนนารทดาบสนั้น ตรัสพระคาถาที่ ๖ ความว่า:
 
[๑๑๗๖] เทวิลดาบสผู้สงบระงับ ได้พร่ำสอนความเป็นบัณฑิตกะนารทดาบสนั้นด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า บุคคลผู้เลวกว่าผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจอินทรีย์ไม่มีเลย.
 
พระคาถานั้น มีอรรถาธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวิลดาบสผู้สงบระงับ พร่ำสอนความเป็นบัณฑิตกะนารทดาบสนั้น ด้วยคำเท่านี้ว่า ก็ผู้ใดตกอยู่ในอำนาจแห่งอินทรีย์ ด้วยสามารถแห่งกิเลส คนอื่นที่จะเลวไปกว่าผู้นั้นมิได้มีสักนิดเลย
 
ลำดับนั้น สรภังคศาสดาเรียกนารทดาบสนั้นมากล่าวว่า ดูก่อน นารทะ เธอจะฟังคำนี้ก่อน ผู้ใดไม่ทำสิ่งที่ควรจะพึงทำก่อน ผู้นั้นย่อมเศร้าโศกร่ำไร เหมือนมาณพที่เที่ยวไปในป่าฉะนั้น ดังนี้แล้วได้นำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล ในกาสีนิคมตำบล ๑ มีพราหมณ์มาณพคน ๑ รูปงาม สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง มีกำลังเท่าช้างสาร พราหมณ์มาณพนั้น คิดว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะทำกสิกรรมเป็นต้นเลี้ยงมารดา ประโยชน์อะไรด้วยบุตรภรรยา ประโยชน์อะไรด้วยบุญมีทานเป็นต้นที่เราทำไว้ เราจักไม่เลี้ยงดูใครๆ จักไม่ทำบุญอะไรๆ จักเข้าป่าฆ่าเนื้อต่างๆ เลี้ยงชีวิต

ดังนี้แล้ว จึงผูกสอดอาวุธ ๕ ชนิด มุ่งไปสู่ป่าหิมพานต์ ฆ่าเนื้อต่างๆ กิน วันหนึ่งไปถึงเวิ้งภูเขาใหญ่ มีภูเขาห้อมล้อมรอบใกล้ฝั่งวิธินีนที ภายในหิมวันตประเทศ ฆ่าเนื้อแล้วกินเนื้อที่ย่างในถ่านเพลิงอยู่ ณ ที่นั้น มาณพนั้นคิดว่า เราจักมีเรี่ยวแรงอยู่เสมอไปไม่ได้ เวลาทุพพลภาพเราจักไม่อาจเที่ยวไปในป่า บัดนี้เราจักต้อนเนื้อนานาชนิดเข้าเวิ้งภูเขาแล้ว ทำประตูปิดไว้ เมื่อเข้าไปป่าไม่ได้เราจักได้ฆ่าเนื้อกินตามชอบใจ คิดดังนี้แล้วเขาก็ทำตามนั้น

ครั้นกาลล่วงไป กรรมของเขาถึงที่สุดให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ทันตาเห็น คือมือเท้าของตนใช้ไม่ได้ เขาไม่อาจเดินและพลิกไปมาได้ กินของเคี้ยวของบริโภคอะไรๆ ไม่ได้ น้ำก็ดื่มไม่ได้ ร่างกายเหี่ยวแห้ง เป็นมนุษย์เปรต ร่างกายแตกปริเป็นร่องริ้วเหมือนแผ่นดินแตกระแหงในฤดูร้อนฉะนั้น เขามีรูปร่างทรวดทรงน่าเกลียด น่ากลัว เสวยทุกข์ใหญ่หลวง

เมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าสีวิราชในสีวิรัฐ ทรงพระดำริว่า เราจักเสวยเนื้อย่างในป่า จึงมอบราชสมบัติให้อำมาตย์ทั้งหลายดูแลแทน พระองค์เหน็บอาวุธห้าอย่างเสด็จเข้าป่า ฆ่าเนื้อ เสวยเนื้อเรื่อยมาจนลุถึงประเทศนั้นโดยลำดับ ทอดพระเนตร เห็นบุรุษนั้นตกพระทัย ครั้นดำรงพระสติได้ จึงตรัสถามว่า พ่อมหาจำเริญท่านเป็นใคร?

เขาตอบว่า นาย ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์เปรตเสวยผลกรรมที่ตนทำไว้ ก็ท่านเล่าเป็นใคร ?

เราคือพระเจ้าสีวิราช

พระองค์เสด็จมาที่นี้เพื่ออะไร ?

เพื่อเสวยเนื้อมฤค

ลำดับนั้น มาณพนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็มาด้วยเหตุนี้แหละ จึงเป็นมนุษย์เปรต แล้วทูลเรื่องทั้งหมดโดยพิสดาร เมื่อจะกราบทูลความที่ตนเสวยทุกข์แด่พระราชา ได้กล่าวคาถาที่เหลือ ความว่า:

[๑๑๗๗] ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช พระองค์เกือบจะถึงความพินาศอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูทั้งหลายเทียว เหมือนข้าพระองค์ไม่กระทำกรรมที่ควรกระทำ ไม่ศึกษาศิลปวิทยา ไม่ทำความขวนขวายเพื่อให้เกิดโภคทรัพย์ ไม่ทำอาวาหวิวาหะ ไม่รักษาศีล ไม่กล่าววาจาอ่อนหวาน ทำยศเหล่านี้ให้เสื่อมไป จึงมาบังเกิดเป็นเปรต เพราะกรรมของตน.

[๑๑๗๘] (ถ้า) ข้าพระองค์นั้นปฏิบัติชอบแล้ว พึงยังโภคะให้เกิดขึ้น เหมือนบุรุษชำนะแล้วพันคน ไม่มีพวกพ้องที่พึ่งอาศัย ล่วงเสียจากอริยธรรม มีอาการเหมือนเปรต ฉะนั้น.

[๑๑๗๙] ข้าพระองค์ทำสัตว์ทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อความสุขให้ได้รับความทุกข์ จึงได้มาถึงส่วนอันนี้ ข้าพระองค์นั้นดำรงอยู่ เหมือนบุคคลอันกองถ่านไฟล้อมรอบด้าน ย่อมไม่ได้ประสบความสุขเลย.

ก็มาณพนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว กราบทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระองค์ประสงค์ความสุข แต่ทำผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ จึงเป็นมนุษย์เปรตในปัจจุบันทันตาเห็น เพราะฉะนั้นขอพระองค์อย่าทรงทำกรรมชั่วเลย จงเสด็จไปพระนครของพระองค์ ทรงบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้นเถิด พระเจ้าสีวิราชได้ทรงกระทำตามนั้น ทรงบำเพ็ญทางไปสู่สวรรค์.

สรภังคศาสดา นำเรื่องนี้มาแสดงให้ดาบสเข้าใจแจ่มแจ้งเป็นอันดี ดาบสนั้นได้ความสลดใจ เพราะถ้อยคำของสรภังคศาสดา จึงไหว้ขอขมาโทษ แล้วทำกสิณบริกรรม ทำฌานที่เสื่อมแล้วให้กลับคืนเป็นปกติ สรภังคดาบสไม่ยอมให้นารทดาบสอยู่ที่ที่นั้น พาไปยังอาศรมของตน
 
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประกาศสัจจะ เวลาจบสัจจะภิกษุผู้กระสันดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า นารทดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้กระสัน สาลิสสรดาบสได้เป็นพระสารีบุตร เมณฑิสสรดาบสได้เป็น พระกัสสปะ ปัพพตดาบสได้เป็นพระอนุรุทธะ กาฬเทวิลดาบสได้เป็น พระกัจจายนะ อนุสิสสะดาบสได้เป็นพระอานนท์ กิสวัจฉดาบสได้ เป็นพระโมคคัลลานะ ส่วนสรภังคดาบส คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

 
จบ อินทริยชาดก



การันทิยชาดก
ว่าด้วยการทำที่เหลือวิสัย

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ พระธรรมเสนาบดี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
 
ได้ยินว่าพระเถระให้ศีลแก่คนทุศีลทั้งหลาย มีพรานเนื้อและคนจับปลาเป็นต้น ที่ผ่านๆ มา ซึ่งท่านได้พบได้เห็นว่า ท่านทั้งหลายจงถือศีล ท่านทั้งหลายจงถือศีล ชนเหล่านั้น มีความเคารพในพระเถระ ไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของพระเถระนั้น จึงพากันรับศีล ครั้นรับแล้วก็ไม่รักษา คงกระทำการงานของตนๆ อยู่อย่างเดิม
 
พระเถระเรียกสัทธิวิหาริกทั้งหลายของตนมาแล้วกล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย คนเหล่านี้รับศีลในสำนักของเรา ครั้นรับแล้วก็ไม่รักษา
 
สัทธิวิหาริกทั้งหลายกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านให้ศีลโดยความไม่พอใจของชนเหล่านั้น พวกเขาไม่อาจขัดขืนถ้อยคำของท่านจึงรับเอา ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านอย่าได้ให้ศีลแก่ชนทั้งหลายอย่างนี้ พระเถระไม่พอใจต่อถ้อยคำของสัทธิวิหาริก
 
ภิกษุทั้งหลายได้สดับเรื่องราวนั้นแล้วก็สนทนากันขึ้นในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสารีบุตรให้ศีลแก่คนที่ท่านได้ประสบพบเห็นเท่านั้น พระศาสดา เสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องที่สนทนากัน จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระสารีบุตรนี้ก็ให้ศีลแก่คนที่ตนได้ประสบพบเห็น ซึ่งไม่ขอศีลเลย แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว ได้เป็นอันเตวาสิก (ศิษย์) ผู้ใหญ่ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักกสิลา ชื่อว่า การันทิยะ ครั้งนั้น อาจารย์นั้นให้ศีลแก่คนที่ได้ประสบพบเห็นมีชาวประมงเป็นต้นผู้ไม่ขอศีลเลยว่า ท่านทั้งหลายจงรับศีล ท่านทั้งหลายจงรับศีล ดังนี้ ชนเหล่านั้นแม้รับเอาแล้วก็ไม่รักษา อาจารย์จึงบอกความนั้นแก่อันเตวาสิกทั้งหลาย อันเตวาสิกทั้งหลายจึงพากันกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านให้ศีลโดยความไม่ชอบใจของชนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงพากันทำลายเสีย นับแต่แต่บัดนี้ไป ท่านพึงให้เฉพาะแก่คนที่ขอเท่านั้น อย่าให้แก่คนที่ไม่ขอ
 
อาจารย์นั้นได้เป็นผู้เดือดร้อนใจ แต่แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยังคงให้ศีลแก่พวกคนที่ตนได้ประสบพบเห็นอยู่นั่นแหละ อยู่มาวันหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลาย มาจากบ้านแห่งหนึ่ง เชิญอาจารย์ไปเพื่อการสวดของพราหมณ์ อาจารย์นั้นเรียกการันทิยมาณพมาแล้วกล่าวว่า ดูก่อนพ่อ ฉันจะไม่ไป เธอจงพามาณพ ๕๐๐ นี้ไปในที่สวดนั้น รับการสวดแล้ว จงนำเอาปัจจัยส่วนที่เขาให้เรามา ดังนี้ แล้วจึงส่งไป การันทิยมาณพนั้นก็เดินทางไปตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นเมื่อเสร็จกิจแล้วก็กลับมา ในระหว่างทาง เห็นซอกเขาแห่งหนึ่งจึงคิดว่า อาจารย์ของพวกเราให้ศีลแก่คนที่ได้ประสบพบเห็น ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่ได้ขอศีลเลย นับแต่บัดนี้ไป เราจะทำอาจารย์นั้นได้ให้ศีลเฉพาะแก่พวกคนที่ขอเท่านั้น
 
เมื่อพวกมาณพนั้นกำลังนั่งสบายอยู่ เขาจึงลุกขึ้นไปยกศิลาก้อนใหญ่ โยนลงไปในซอกเขา โยนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นแหละ ลำดับนั้น มาณพเหล่านั้นจึงลุกขึ้นพูดกะการันทิยมาณพนั้นว่า อาจารย์ท่านทำอะไร การันทิยมาณพนั้นไม่กล่าวคำอะไรๆ มาณพเหล่านั้นจึงรีบไปบอกอาจารย์ อาจารย์นั้นเมื่อจะถามการันทิยมาณพถึงเรื่องนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :
 
[๗๒๗] ท่านผู้เดียวรีบร้อน ยกเอาก้อนหินใหญ่กลิ้งลงไปในซอกภูเขาในป่า ดูกรการันทิยะ จะเป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยการทิ้งก้อนหินลงในซอกเขานี้เล่าหนอ
 
การันทิยมาณพนั้นได้ฟังคำของอาจารย์นั้นแล้ว ประสงค์จะท้วงอาจารย์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :
[๗๒๘] ข้าพเจ้าเกลี่ยหินก้อนเล็กก้อนใหญ่ลง จักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ซึ่งมีมหาสมุทรสี่เป็นขอบเขต ให้ราบเรียบเพียงดังฝ่ามือ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้ทิ้งหินลงในซอกเขา
 
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :
[๗๒๙] ดูกรการันทิยะ เราสำคัญว่า มนุษย์คนเดียว ย่อมไม่สามารถจะทำแผ่นดินให้ราบเรียบดังฝ่ามือได้ ท่านพยายามจะทำซอกเขานี้ให้เต็มขึ้น ท่านก็จักละชีวโลกนี้ไปเสียเปล่าเป็นแน่.
 
มาณพได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :
[๗๓๐] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ หากว่ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่นี้ให้ราบเรียบได้ ฉันใด ท่านก็จักนำมนุษย์เหล่านี้ผู้มีทิฏฐิต่างๆ กันมาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
 
อาจารย์ได้ฟังดังนั้นคิดว่า การันทิยะพูดถูกต้อง บัดนี้ เราจักไม่กระทำอย่างนั้น ครั้นรู้ว่าตนผิดแล้ว จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :
[๗๓๑] ดูกรการันทิยะ ท่านได้บอกความจริงโดยย่อแก่เรา ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้ราบเรียบได้ ฉันใด เราก็ไม่อาจจะทำให้มนุษย์ทั้งหลายมาอยู่ในอำนาจของเราได้ ฉันนั้น.
 
อาจารย์ได้ทำความชมเชยมาณพอย่างนี้ ฝ่ายมาณพนั้นท้วงอาจารย์นั้นแล้ว ตนเองก็นำท่านไปยังเรือน
 
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร ส่วนการันทิยบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

 
จบ การันทิยชาดก


watpanonvivek.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กุมภาพันธ์ 2558 14:04:22 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.111 Chrome 40.0.2214.111


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2558 15:47:10 »

.



กัจฉาปชาดก
ว่าด้วยตายเพราะปาก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
เรื่องราว จักมีแจ้งใน ตักการิยชาดก
 
ก็ในครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายโกกาลิกะมิใช่ฆ่าตัวเองด้วยวาจาในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็ฆ่าด้วยวาจาเหมือนกัน จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า
 
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์ แต่พระราชาพระองค์ช่างพูด เมื่อพระองค์ตรัส คนอื่นไม่มีโอกาสพูดได้เลย พระโพธิสัตว์ประสงค์จะปรามความพูดมากของพระองค์ จึงคิดตรองหาอุบายสักอย่างหนึ่ง
 
ก็ในกาลนั้นมีเต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่สระแห่งหนึ่งในหิมวันตประเทศ มีลูกหงส์สองตัวหากิน จนสนิทสนมกับเต่า

ลูกหงส์สองตัวนั้นครั้นสนิทสนมแน่นแฟ้น วันหนึ่งจึงพูดกับเต่าว่า เต่าสหายรัก ที่อยู่ในถ้ำทองที่พื้นภูเขาจิตรกูฏ ในป่าหิมพานต์ของพวกเรา เป็นประเทศน่ารื่นรมย์ท่านจะไปกับเราไหม
 
เต่าถามว่า เราจะไปได้อย่างไรเล่า ลูกหงส์จึงกล่าวว่า เราจักพาท่านไป หากท่านรักษาปากไว้ได้ท่านจะไม่พูดอะไรกะใครๆ เลย
 
เต่าตอบว่า ได้ พวกท่านพาเราไปเถิด
 
ลูกหงส์ทั้งสองจึงให้เต่าคาบไม้อันหนึ่ง ตนเองคาบปลายไม้ทั้งสองข้างบินไปในอากาศ พวกเด็กชาวบ้านเห็นหงส์นำเต่าไปดังนั้น จึงตะโกนขึ้นว่า หงส์สองตัวนำเต่าไปด้วยท่อนไม้ เต่าลืมสัญญาที่ให้ไว้กับลูกหงส์ทั้งสองจึงพูดว่า ถึงสหายของเราจะพาเราไป เจ้าเด็กถ่อย มันกงการอะไรของเจ้าเล่า จึงหลุดท่อนไม้จากที่ที่คาบไว้ ในเวลาที่ถึงเบื้องบนพระราชนิเวศน์ในนครพาราณสี ตกแตกเป็นสองเสี่ยง ได้เกิดเอะอะอึงคะนึงกันว่า เต่าตกจากอากาศแตกสองเสี่ยง
 
พระราชาทรงพาพระโพธิสัตว์ไป มีหมู่อำมาตย์แวดล้อมเสด็จไปถึงที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นเต่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต ทำอย่างไรจึงได้ตกมา พระโพธิสัตว์คิดว่า เราคอยมานานแล้ว ใคร่จะถวายโอวาทพระราชา เที่ยวตรองหาอุบายอยู่ เต่าตัวนี้คงจะคุ้นเคยกับหงส์เหล่านั้น พวกหงส์จึงให้คาบไม้ไปด้วยหวังว่า จะนำไปป่าหิมพานต์ จึงบินไปในอากาศครั้นแล้วเต่าตัวนี้ได้ยินคำของใครๆ อยากจะพูดตอบบ้าง เพราะตนไม่รักษาปาก จึงปล่อยท่อนไม้เสีย ตกจากอากาศถึงแก่ความตาย จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาคนปากกล้าพูดไม่รู้จบ ย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้แหละ พระเจ้าข้า แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :
 
เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ
เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสีย ด้วยวาจาของตนเอง
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐในหมู่นรชน
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นเหตุอันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี
ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร เต่าผู้ถึงความพินาศเพราะพูดมาก
 
พระราชาทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์กล่าวหมายถึงพระองค์ จึงตรัสว่า ท่านพูดหมายถึงเราใช่ไหม ท่านบัณฑิตพระโพธิสัตว์กราบทูลให้ชัดเจนว่า ข้าแต่มหาราช ไม่ว่าจะเป็นพระองค์หรือใครๆ อื่น เมื่อพูดเกินประมาณย่อมถึงความพินาศอย่างนี้ พระราชาตั้งแต่นั้นมาก็ทรงงดเว้นตรัสแต่น้อย
 
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า เต่าในครั้งนั้นได้เป็นโกกาลิกะในครั้งนี้ ลูกหงส์สองตัวได้เป็นพระมหาเถระสองรูป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนอำมาตย์บัณฑิตได้เป็นเราตถาคตนี้แล.

 
จบ กัจฉาปชาดก





กัณหชาดก
ว่าด้วยขอพร

พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธารามทรงปรารภความยิ้มแย้ม จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

ได้ยินว่า คราวนั้นเวลาเย็นพระศาสดาแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามบริเวณวิหารนิโครธาราม ได้ทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง พระอานนท์เถระจึงคิดว่า อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีเหตุ หามิได้ เราจักทูลถามก่อน แล้วประคองอัญชลี ทูลถามเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์ แก่พระอานนทเถระว่า ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว มีฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่า กัณหะ ท่านอยู่ในภูมิประเทศนี้ เป็นผู้ได้ฌานและรื่นรมย์อยู่ในฌาน ด้วยเดชแห่งศีลของท่าน บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ดังนี้ โดยที่เรื่องนั้นไม่มีปรากฏ พระเถระจึงทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว พระองค์ได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ไม่มีบุตร ได้สมาทานศีล แล้วอฐิษฐานปรารถนาบุตร พระโพธิสัตว์ได้มาบังเกิดในครรภ์นางพราหมณีภรรยาของพราหมณ์นั้น ในวันตั้งชื่อพระโพธิสัตว์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อให้ว่า กัณหกุมาร เพราะมีผิวดำ กัณหกุมารนั้นเมื่อมีอายุได้ ๑๖ ปี มีรูปงดงามดังรูปที่ทำด้วยแก้วมณี   บิดาส่งไปเรียนศิลปะในเมืองตักกศิลา ครั้นเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมา ครั้งนั้นบิดาให้เขาแต่งงานกับภรรยาที่สมควรกัน กาลต่อมา เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เขาได้เป็นใหญ่ ปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด.

อยู่มาวันหนึ่ง กัณหกุมารได้ตรวจตราเรือนคลังรัตนะทั้งหลาย แล้วขึ้นนั่งท่ามกลางบัลลังก์ ให้นำบัญชีที่เป็นแผ่นทองมา เห็นอักษรที่ญาติก่อนๆ จดจารึกไว้ในแผ่นทองว่า ทรัพย์เท่านี้ ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น ทรัพย์เท่านี้ญาติคนโน้นทำให้เกิดขึ้น จึงคิดว่า ผู้ที่ทำทรัพย์นี้ให้เกิดขึ้นไม่ปรากฏ ตายไปหมดแล้ว ปรากฏอยู่แต่ทรัพย์อย่างเดียว ผู้ที่ถือเอาทรัพย์นี้ไปด้วย แม้คนหนึ่งก็มิได้มี ความจริงไม่มีใครอาจขนเอาห่อทรัพย์ติดไปปรโลกได้เลย ทรัพย์เป็นของไม่มีสาระ เพราะจะต้องสูญไปด้วยภัย ๕ ประการ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัปปิยทายาทภัย การให้ทรัพย์เป็นทานเป็นสาระ ร่างกายไม่เป็นสาระ เพราะจะต้องเดือดร้อนด้วยโรคมากมาย คนทำความดี เช่น กราบไหว้ท่านผู้มีศีลเป็นต้น เป็นสาระ ชีวิตไม่เป็นสาระ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน การประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนาด้วยสามารถไตรลักษณ์ เป็นสาระ เพราะฉะนั้น เราจักให้ทาน เพื่อถือเอาสาระจากโภคะที่ไม่เป็นสาระ

ภัยเกิดจากทายาทที่ไม่มีความสามารถ
คิดดังนี้แล้ว จึงลุกออกจากอาสนะไปเฝ้าพระราชา แล้วถวายบังคมลาพระราชา ออกมาบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่ เมื่อบำเพ็ญทานได้ ๗ วัน เขาเห็นทรัพย์มิได้หมดสิ้นไป จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยทรัพย์สำหรับเรา ขณะที่ยังไม่ถูกชราครอบงำนี้ เราจักบวชทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด แล้วจักมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า  คิดดังนี้แล้วก็ให้เปิดประตูเรือนทุกประตู ประกาศว่า สิ่งของทั้งหมดเราได้ให้แล้ว ผู้มีความต้องการจงนำไปเถิด เขาเกลียดชังสมบัติเหมือนของโสโครก ละวัตถุกามเสีย แล้วเขาได้ออกจากเมือง เข้าหิมวันตประเทศบวชเป็นฤๅษี เที่ยวแลดูภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์เพื่อเป็นที่อยู่ของตน ได้มาถึงที่ที่ตถาคตยืนอยู่ตรงนี้ คิดว่าเราจักอยู่ในที่นี้   ดังนี้แล้วจึงอธิษฐานเอาต้นอินทวารุณพฤกษ์ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ที่กิน อยู่ ณ โคนต้นไม้นั้น ได้ละเสนาสนะภายในบ้านเสีย ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลา ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตรบ้าง ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตรบ้าง ถือการไม่นอนเป็นวัตรบ้าง ถ้าจะนอนก็นอนบนพื้นดินเท่านั้น ถือการใช้ฟันเป็นดังสาก ใช้ฟันเคี้ยวอย่างเดียว เคี้ยวกินแต่ของที่ไม่สุกด้วยไฟ ไม่เคี้ยวกินของอะไรๆ ที่มีแกลบหุ้ม บริโภคอาหารวันละครั้งเท่านั้น ยับยั้งอยู่เหนือแผ่นดิน ทำตนเสมอด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สมาทานธุดงคคุณมีประมาณเท่านี้อยู่ ได้ยินว่า ในชาดกนี้ พระ โพธิสัตว์เป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง

ต่อมาไม่นานนักท่านก็ได้อภิญญาและสมาบัติ เล่นฌานเพลิดเพลินอยู่ ณ ที่นั้น แม้ต้องการผลาหารก็ไม่ไปที่อื่น เมื่อต้นไม้ผลิผลก็กินผล เมื่อผลิดอกก็กินดอก เมื่อมีใบก็กินใบ เมื่อใบไม้ไม่มีกินก็กินสะเก็ดไม้ ท่านเป็นผู้สันโดษอย่างยิ่งถึงเพียงนี้ อยู่ในสถานที่นี้นาน

เวลาเช้าวันหนึ่งท่านเก็บผลไม้สุก เมื่อจะเก็บก็มิได้มีความโลภเที่ยวเก็บในที่อื่น คงนั่งอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เหยียดมือไปเก็บผลไม้ที่อยู่ในรัศมีพอมือถึง บรรดาผลไม้เหล่านั้น ท่านก็มิได้เลือกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ แล้วแต่ถึงมือก็เก็บเอามา ด้วยเดชแห่งศีลของท่านซึ่งสันโดษอย่างยิ่งเพียงนี้ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชได้แสดงอา การร้อนผิดปกติ.

ได้ยินว่า อาสนะนั้นจะร้อนขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ ท้าวสักกะสิ้นอายุ ๑ จะสิ้นบุญ ๑ มีสัตว์ผู้มีอานุภาพใหญ่อื่นปรารถนาที่นั้น ๑ ด้วยเดชศีลของสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มากตั้งอยู่ในธรรม ๑.

ท้าวสักกเทวราชทรงรำพึงว่า ใครหนอที่ประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ แล้วได้ทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษีกำลังเก็บผลไม้อยู่ในประเทศนี้ จึงทรงดำริว่า พระฤๅษีนี้มีตบะกล้า ชนะอินทรีย์แล้วอย่างยิ่ง เราจักให้บันลือสีหนาทด้วยธรรมกถา ได้ฟังเหตุดีแล้วจักบำรุงให้อิ่มหนำด้วยพร ทำต้นไม้ให้มีผลเป็นนิจสำหรับพระฤๅษีนี้แล้วจักมา ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เสด็จลงมาโดยเร็วด้วยอานุภาพใหญ่ ประทับยืนอยู่ที่โคนต้นไม้ข้างหลังพระฤๅษี เมื่อจะทดลองดูว่าเมื่อเรากล่าวโทษขึ้นแล้ว ท่านจักโกรธหรือไม่ จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า:
[๑๓๒๙] บุรุษนี้ดำจริงหนอ บริโภคโภชนะก็ดำ อยู่ในภูมิประเทศก็ดำ ไม่เป็นที่ชอบใจของเราเลย.
กัณหฤๅษีได้ฟังคำของท้าวสักกะแล้ว พิจารณาดูด้วยทิพยจักษุว่า ใครหนอมาพูดกับเรา รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ โดยไม่ แลดูเลยว่า:

[๑๓๓๐] คนไม่ชื่อว่าเป็นคนดำเพราะผิวหนัง เพราะคนที่มีแก่นภายในจึงชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดมีบาปกรรม ผู้นั้นแหละชื่อว่าเป็นคนดำนะท้าวสุชัมบดี.
ครั้นพระฤๅษีกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงจำแนกประเภทบาปกรรมที่ทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นคนดำโดยพิสดาร ติเตียนบาปเหล่านั้นแม้ทั้งหมด สรรเสริญคุณมีศีลเป็นต้น แสดงธรรมแก่ท้าวสักกะ ประดุจว่าให้ดวงจันทร์ตั้งขึ้นในอากาศ ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของกัณหฤๅษีแล้ว มีความเบิกบาน เกิดความโสมนัส เมื่อจะนิมนต์พระมหาสัตว์ด้วยพร ได้ตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า:
[๑๓๓๑] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า ท้าวสักกะนี้เมื่อจะทดลองเราว่า เมื่อถูกกล่าวโทษของตนจักโกรธหรือไม่หนอ ได้แสร้งติเตียนฉวีวรรณ โภชนะ และที่อยู่ของเรา บัดนี้รู้ว่าเราไม่โกรธ จึงมีจิตเลื่อมใส แล้วให้พร เธอคงสำคัญเราว่าประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความเป็นใหญ่ ชั้นท้าวสักกะชั้นพรหมเป็นแน่ เราจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะในเรื่องนั้นเสีย ควรจะรับพร ๔ ประการเหล่านี้ คืออย่าให้ความโกรธต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้โทสะต่อผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้ความโลภในสมบัติของผู้อื่นเกิดขึ้นแก่เรา ๑ อย่าให้สิเนหาในผู้อื่นเกิดขึ้น ๑ เราพึงเป็นกลางอยู่เท่านั้น ๑ คิดดังนี้แล้ว เมื่อจะรับพร ๔ ประ การ เพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะ จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:
[๑๓๓๒] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ปรารถนาให้ความประพฤติของตน อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้มีความโลภ อย่าให้มีความสิเนหา ขอได้ทรงโปรดประทานพร ๔ ประการนี้แก่ข้าพระองค์เถิด.

ถามว่า : ก็พระมหาสัตว์ไม่ทราบหรือว่า ใครๆ ไม่อาจรับพรของท้าวสักกะ แล้วขจัดความโกรธเป็นต้นได้ด้วยพร.
ตอบว่า : ที่จะไม่ทราบนั้นหามิได้ แต่ที่รับพรเพราะคิดว่า เมื่อท้าวสักกะประทานพร การพูดว่าข้าพเจ้าไม่รับไม่สมควร และเพื่อจะตัดความสงสัยของท้าวสักกะนั้น จึงรับพร. 

ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงดำริว่า กัณหบัณฑิตเมื่อจะรับพร ก็รับแต่พรที่หาโทษมิได้ทั้งนั้น เราจักถามถึงคุณและโทษในพรเหล่านี้กะพระฤๅษีก่อน ครานั้น เมื่อพระองค์จะถามพระฤๅษี จึงตรัสพระคาถา ที่ ๕ ว่า:
[๑๓๓๓] ดูกรท่านพราหมณ์ ท่านเห็นโทษในความโกรธ ในโทสะ ในโลภะ และในสิเนหาเป็นอย่างไรหรือ ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะท้าวสักกะว่า ถ้าเช่นนี้ ท่าน จงฟัง ดังนี้แล้วกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า:
[๑๓๓๔] ความโกรธเกิดแต่ความไม่อดทน ทีแรกเป็นของน้อย แต่ภายหลังเป็นของมาก ย่อมเจริญขึ้นโดยลำดับ ความโกรธมักทำความเกี่ยวข้อง มีความคับแค้นมาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความโกรธ.

[๑๓๓๕] วาจาของผู้ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ถัดจากนั้นก็เกิดปรามาสถูกต้องกัน ต่อจากนั้นก็ชกต่อยกันด้วยมือ ต่อไปก็หยิบท่อนไม้เข้าทุบตีกัน จนถึงจับศาตราเข้าฟันแทงกันเป็นที่สุด โทสะเกิดแต่ความโกรธ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโทสะ.

[๑๓๓๖] ความโลภเป็นอาการหยาบ เป็นเหตุให้เที่ยวปล้นขู่เอาสิ่งของแสดงของปลอมเปลี่ยนเอาของคนอื่น ทำอุบายล่อลวง บาปธรรมทั้งหลายนี้ มีปรากฏอยู่เพราะโลภธรรม เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจโลภะ.

[๑๓๓๗] กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย อันสิเนหาผูกรัดเข้าอีก เป็นของสำเร็จด้วยใจ นอนเนื่องอยู่เป็นอันมาก ย่อมทำให้บุคคลเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ชอบใจความสิเนหา
.

ท้าวสักกเทวราชได้ทรงสดับคำวิสัชนาปัญหาแล้ว จึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านกัณหบัณฑิต ปัญหานี้ท่านกล่าวดี เปรียบดังพุทธลีลา ข้าพเจ้ายินดีเหลือเกิน ฉะนั้น ขอท่านจงรับพรอย่างอื่นอีก แล้วตรัสพระคาถาที่ ๑๐ ว่า:
[๑๓๓๘] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถาต่อไปว่า:
[๑๓๓๙] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขออาพาธทั้งหลายอันเป็นของร้ายแรง ซึ่งจะทำอันตรายตบะกรรมได้ อย่าพึงบังเกิดแก่ข้าพระองค์ผู้อยู่ในป่า ซึ่งอยู่แต่ผู้เดียวเป็นนิตย์.

ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า กัณหบัณฑิตเมื่อจะรับพรก็ไม่รับพรที่อาศัยอามิส รับแต่พรที่อาศัยตบะกรรมเท่านั้น ท้าวเธอยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น เมื่อจะประทานพรอื่นอีก จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า:
[๑๓๔๐] ดูกรท่านพราหมณ์ คำนั้นท่านกล่าวดีแล้ว สมควรเป็นสุภาษิต ข้าพเจ้าจะให้พรแก่ท่านอย่างหนึ่ง ตามแต่ใจท่านปรารถนา.

แม้พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะโดยอ้างการรับพร จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:
[๑๓๔๑] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าจะโปรดประทานพรแก่ข้าพระองค์ ขอใจหรือร่างกายของข้าพระองค์ อย่าเข้าไปกระทบกระทั่งใครๆ ในกาลไหนๆ เลย ขอได้ทรงโปรดประทานพรนี้เถิด.

พระมหาสัตว์ เมื่อจะรับพรในฐานะทั้ง ๖ ได้รับเอาพรอันอาศัยเนกขัมมะเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ จริงอยู่พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมทราบว่าขึ้นชื่อว่าสรีระย่อมมีความเจ็บเป็นธรรมดา ท้าวสักกะไม่อาจเพื่อจะกระทำสรีระนั้นให้มีความไม่เจ็บเป็นธรรมดาได้ อนึ่ง ความที่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีตนอันบริสุทธิ์แล้วในทวารทั้ง ๓ อันท้าวสักกะก็ไม่อาจทำให้เป็นนิสัยของตนได้เลย แม้เมื่อเป็นเช่นนั้นพระมหาสัตว์ก็ได้รับพรเหล่านี้แล้วเพื่อแสดงธรรมแก่ท้าวสักกะนั้น แม้ท้าวสักกเทวราชก็ได้ทรงบันดาลต้นไม้นั้นให้มีผลหวานอร่อย นมัสการพระมหาสัตว์ประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ตรัสว่า ขอท่านจงอยู่ที่นี้โดยปราศจากโรคเถิด แล้วได้เสด็จไปยังพิมานของพระองค์ แม้พระโพธิสัตว์ก็มิได้เสื่อมจากฌาน ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ที่นี้เป็นภูมิประเทศที่เราเคยอยู่มาแล้ว ดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะในบัดนี้ ส่วนกัณหบัณฑิต ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล..

 
จบ กัณหชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กุมภาพันธ์ 2558 11:12:36 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.111 Chrome 40.0.2214.111


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กุมภาพันธ์ 2558 11:21:58 »

.



กัลยาณธรรมชาดก
ผู้มีกัลยาณธรรม

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภแม่ผัวหูหนวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ความพิสดารมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถีมีกุฏุมพีคนหนึ่ง เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใสถึงไตรสรณคมน์ ถือศีลห้า วันหนึ่งเขาถือเภสัชมีเนยใสเป็นต้นเป็นอันมาก กับดอกไม้ของหอม และผ้าเป็นต้น ไปด้วย คิดว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาในพระวิหารเชตวัน ในเวลาที่กุฏุมพีไป ณ ที่นั้น แม่ยายของเขาเตรียมของเคี้ยวของบริโภคประสงค์จะเยี่ยมลูกสาว ได้ไปยังเรือนนั้น แต่แม่ยายหูค่อนข้างตึง ครั้นนางบริโภคร่วมกับลูกสาวอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงถามลูกสาวว่า นี่ลูก ผัวของเอ็งอยู่ด้วยความรักบันเทิงใจไม่ทะเลาะกันดอกหรือ ลูกสาวพูดว่า แม่พูดอะไรอย่างนั้น คนที่เพียบพร้อมด้วยผัวและมรรยาทเช่นลูกเขยของแม่ แม้บวชแล้วก็ยังหายาก อุบาสิกาฟังคำลูกสาวไม่ถนัดถือเอาแต่บทว่าบวชแล้วเท่านั้น จึงตะโกนขึ้นว่า อ้าวทำไมผัวของเองจึงบวชเสียเล่า บรรดาผู้อยู่เรือนใกล้เคียงทั้งสิ้นได้ยินดังนั้นพากันพูดว่า เขาว่ากุฏุมพีของพวกเราบวชเสียแล้ว บรรดาผู้ที่เดินผ่านไปมาทางประตู ได้ยินเสียงของคนเหล่านั้น จึงถามว่านั่นอะไรกัน ชนเหล่านั้นตอบว่า เขาว่ากุฏุมพีในเรือนนี้บวชเสียแล้ว

ฝ่ายกุฏุมพีนั้นครั้นสดับธรรมของพระทศพลแล้ว ก็ออกจากวิหารกลับเข้าเมือง ขณะนั้นชายคนหนึ่งพบเข้าในระหว่างทางจึงพูดว่า ข่าวว่าท่านบวช บุตรภรรยาบริวารในเรือนท่านพากันร้องไห้คร่ำครวญ ทันใดนั้นเขาได้ความคิดขึ้นมาว่าแท้จริงเรามิได้บวชเลย คนๆ นี้ว่าเราบวช ดีแล้ว เราควรบวชในวันนี้แหละ เขาจึงกลับจากที่นั้นทันที ไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อรับสั่งถามว่า อุบาสกท่านทำพุทธปัฏฐากเพิ่งกลับไปเดี๋ยวนี้เอง ไฉนจึงมาเดี๋ยวนี้อีก จึงเล่าเรื่องถวายแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ธรรมดาคำพูดที่กล่าวไว้ดีเกิดขึ้นแล้วไม่ควรให้หายไปเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มีความประสงค์จะบวชจึงได้มา ครั้นเขาบรรพชาอุปสมบทแล้วเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้ยินว่าเหตุการณ์นี้ปรากฏเลื่องลือไปในคณะสงฆ์ อยู่มาวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลายกุฏุมพีชื่อโน้นได้เกิดความคิดขึ้นว่า คำพูดที่กล่าวไว้ดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปแล้วจึงบรรพชา เวลานี้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้บัณฑิตแต่ก่อน ได้ความคิดว่าคำพูดที่กล่าวไว้ดีเกิดขึ้นแล้วไม่ยอมให้เสียไป จึงพากันบวช แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้นเจริญวัยแล้วก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐี เมื่อบิดาถึงแก่กรรม วันหนึ่งเศรษฐีออกจากบ้าน ไปประกอบกรณียกิจ ครั้งนั้น แม่ยายของเศรษฐีได้ไปยังเรือนนั้นด้วยคิดว่า จักเยี่ยมลูกสาว แม่ยายนั้นค่อนข้างหูตึง เรื่องทั้งหมดเหมือนกับเรื่องในปัจจุบัน ชายคนหนึ่งเห็นเศรษฐีประกอบกรณียกิจเสร็จแล้วกลับมาเรือนจึงพูดว่าในเรือนของท่านเกิดร้องไห้กันยกใหญ่ เพราะได้ข่าวว่าท่านบวชเสียแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ความคิดขึ้นว่า ธรรมดาคำพูดที่กล่าวไว้ดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปเสีย จึงกลับจากนั้นไปเฝ้าพระราชาเมื่อรับสั่งถามว่า ท่านมหาเศรษฐีท่านเพิ่งไปเดี๋ยวนี้เอง ทำไมจึงกลับมาอีก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์มิได้บวชเลย คนในเรือนโอดครวญกันพูดว่าบวชแล้ว คำพูดที่กล่าวไว้ดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไป ข้าพระองค์จักบวชละ ขอพระราชทานอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชเถิด เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน กาลใดบุคคลได้สมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้นนรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงทำตนให้เสื่อมจากสมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริ  ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นสมัญญาอันนั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระองค์เลย

พระโพธิสัตว์ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงขอพระบรมราชานุญาตบรรพชา ไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษียังอภิญญาและสมบัติให้เกิด มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดง แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้ ส่วนเศรษฐีกรุงพาราณสี ในครั้งนั้น คือเราตถาคตนี้แล.

 
จบ กัลยาณธรรมชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2558 13:53:27 »

.


กุรุธรรมชาดก
ว่าด้วยให้ช้างแก่ท้าวกาลิงคราช

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

มีสหาย ๒ คนชาวเมืองสาวัตถี บรรพชาในสำนักภิกษุทั้งหลายแล้วได้อุปสมบท โดยมาเที่ยวไปด้วยกัน วันหนึ่ง ภิกษุ ๒ สหายนั้นไปยังแม่น้ำอจิรวดี อาบน้ำ นั่งผิงแดดอยู่บนเนินทราย กล่าวถ้อยคำให้ระลึกกันและกันอยู่ ขณะนั้นหงส์ ๒ ตัวบินมาทางอากาศ ลำดับนั้นภิกษุรูปหนึ่งจับก้อนกรวดมาแล้วกล่าวว่า ผมจะดีดลูกตาของหงส์ตัวหนึ่ง ภิกษุนอกนี้กล่าวว่า ท่านจักไม่สามารถ ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่านัยน์ตาข้างนี้จงยกไว้ ผมจะดีดนัยน์ตาข้างโน้น ภิกษุนอกนี้ก็กล่าวว่า แม้นัยน์ตาข้างนี้ท่านก็จักไม่อาจดีดได้ ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านคอยดู ว่าแล้วก็หยิบก้อนกรวด ๓ เหลี่ยมมาดีดไปทางเบื้องหลังของหงส์ หงส์ได้ยินเสียงกรวดจึงเหลียวมองดู ลำดับนั้นภิกษุนั้นก็เอาก้อนกรวดอีกก้อนหนึ่งดีดหงส์นั้นที่นัยน์ตาด้านนอกทะลุออกทางนัยน์ตาด้านใน หงส์ร้องม้วนตกลงมาแทบเท้าของภิกษุทั้งสองนั้น

ภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ในที่นั้นเห็นเข้า จึงพากันมาแล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชในพระพุทธศาสนา ทำปาณาติบาตชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร แล้วพาภิกษุผู้ดีดหงส์นั้นไปแสดงแก่พระตถาคตทันที พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระทำปาณาติบาตจริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่าดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุไร เธอบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เป็นปานนี้ จึงได้กระทำอย่างนี้ แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลายเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น อยู่อย่างเศร้าหมองในท่ามกลางเรือน ยังกระทำความรังเกียจในฐานะทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย ส่วนเธอบวชในศาสนาเห็นปานนี้ไม่ได้กระทำแม้มาตรว่าความรังเกียจธรรมดาภิกษุ พึงเป็นผู้สำรวมกาย วาจา และใจ มิใช่หรือ  แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาล เมื่อพระราชพระนามว่า ธนัญชัยโกรัพย์ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ถึงความรู้เดียงสาโดยลำดับ แล้วเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา พระบิดาทรงแต่งตั้งให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช ในกาลต่อมา เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ มิได้ทรงกระทำทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ทรงประพฤติในกุรุธรรมอยู่ ศีลห้า ชื่อว่ากุรุธรรม พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีลห้านั้นให้บริสุทธิ์ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระอัครมเหสี พระอุปราชผู้เป็นพระอนุชา พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต อำมาตย์ผู้รังวัดนา สารถี เศรษฐี มหาอำมาตยผู้ตวงข้าว นายประตู นางวัณณทาสีผู้เป็นนครโสเภณี ก็เหมือนพระโพธิสัตว์รวมความว่า ชนเหล่านี้รักษาศีลห้าเหมือนดังพระโพธิสัตว์

ชนทั้งหมดเหล่านี้ รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ด้วยประการดังนี้ พระราชาให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่กลางเมือง ที่ประตูพระนิเวศน์ ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนทุกวันๆ ทรงบริจาคทาน กระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ไม่ต้องทำไร่ไถนา ก็ความที่พระโพธิสัตว์นั้นมีพระอัธยาศัยยินดีในการบริจาคทาน ได้แผ่คลุมไปทั่วชมพูทวีป

ในกาลนั้น พระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติในทันตปุรนคร ในแคว้นกาลิงคะ ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคราชนั้นฝนไม่ตก ก็เกิดความอดอยากไปทั่วแคว้น ก็เพราะอาหารวิบัติ โรคจึงเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ ภัย ๓ ประการ คือ ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก โรคภัย ภัยคือโรค ทุพภิกขภัย ภัยคือข้าวยากหมากแพง ก็เกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายที่ยึดถือ ต่างพากันจูงมือเด็กเที่ยวเร่รอนไป ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นรวมกันไปยังพระนครทันตปุระพากันส่งเสียงร้องอยู่ที่ประตูพระราชวัง พระราชาประทับยืนพิงพระแกล ทรงสดับเสียงนั้น จึงตรัสถามว่า คนเหล่านี้เที่ยวไปเพราะเหตุไรกัน พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ภัยเกิดขึ้นทั่วแว่นแคว้นทั้งสิ้น ฝนไม่ตก ข้าวกล้าวิบัติเสียหาย เกิดความอดอยากมนุษย์ทั้งหลายกินอยู่ไม่ดีถูกโรคภัยครอบงำ หมดที่ยึดถือระส่ำระสาย พากันจูงมือลูกๆ เที่ยวไป ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงยังฝนให้ตกเถิด พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า พระราชาแต่เก่าก่อนทั้งหลาย เมื่อฝนไม่ตก ทรงกระทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระราชาแต่เก่าก่อนทั้งหลายเมื่อฝนไม่ตก ได้ทรงบริจาคทาน อธิษฐานอุโบสถ สมาทานศีลแล้ว เสด็จเข้าสู่ห้องสิริไสยาสน์ ทรงบรรทมเหนือเครื่องลาดซึ่งทำด้วยไม้ตลอด ๗ วัน ในกาลนั้นฝนก็ตกลงมา พระราชาทรงรับว่าดีละ แล้วได้ทรงกระทำอย่างนั้น แม้ทรงกระทำอย่างนั้นฝนก็มิได้ตก พระราชาตรัสกะอำมาตย์ทั้งหลายว่าเราได้กระทำกิจที่ควรกระทำแล้ว ฝนก็ไม่ตกเราจะกระทำอย่างไรต่อไป

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชในนครอินทปัฏ มีช้างมงคลหัตถีชื่อว่าอัญชนสนิภะ ข้าแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจักนำช้างมงคลเชือกนั้นมาเมื่อเป็นเช่นนั้น ฝนก็จักตก พระราชาตรัสว่า พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยพลพาหนะ ใครๆ จะข่มได้ยาก พวกเราจักนำช้างพระราชาพระองค์นั้นได้อย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่าข้าแต่มหาราช ไม่มีกิจที่จะต้องทำการรบกับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชนั้น พระราชาพระองค์อื่น มีพระอัธยาศัยยินดีในการบริจาคทานเป็นผู้ถูกเขาขอ แม้พระเศียรอันประดับแล้วก็ทรงตัดให้ได้ แม้ดวงพระเนตรอันสมบูรณ์ด้วยประสาทก็ทรงควักให้ได้ แม้ราชสมบัติทั้งสิ้นก็ทรงมอบให้ได้ ในเรื่องช้างมงคลไม่จำต้องพูดถึงเลย ทูลขอแล้วจักทรงประทานให้แน่แท้ พระราชาตรัสว่า ใครจะสามารถไปขอช้างมงคลนั้น อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกพราหมณ์ พระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมาจากที่อยู่ของพราหมณ์แล้วทรงกระทำสักการะสัมมานะแล้วทรงส่งไปเพื่อให้ขอช้างมงคล

พราหมณ์เหล่านั้นถือเอาเสบียงเดินทาง ปลอมเพศเป็นคนเดินทาง รีบเดินทางไป โดยพักแรมอยู่ราตรีหนึ่งในที่ทุกแห่ง บริโภคอาหารในโรงทานที่ประตูพระนคร บำรุงร่างกายให้อิ่มหนำสิ้นเวลา ๒ - ๓ วันแล้วถามว่า เมื่อไรพระราชาจักเสด็จมาโรงทาน พวกมนุษย์บอกว่าพระราชาจะเสด็จมาในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ ตลอด ๓ วันแห่งปักษ์หนึ่งๆ ก็พรุ่งนี้ เป็นวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เพราะฉะนั้น พระราชาจักเสด็จมาในวันพรุ่งนี้

วันรุ่งขึ้น พวกพราหมณ์รีบไปแต่เช้าตรู่ ยืนอยู่ที่ประตูด้านทิศตะวันออก พระโพธิสัตว์ทรงสนานและลูบไล้พระวรกายแต่เช้าตรู่ ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เสด็จขึ้นคอช้างมงคลหัตถีอันประทับแล้ว เสด็จไปยังโรงทานทางประตูด้านทิศตะวันออก ด้วยบริวารอันยิ่งใหญ่ เสด็จลงจากคอช้างแล้วได้ประทานอาหารด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ แก่ชน ๗-๘ คน แล้วรับสั่งว่า พวกท่านจงให้โดยทำนองนี้นะ แล้วได้เสด็จขึ้นช้างไปยังประตูด้านทิศใต้ พวกพราหมณ์ไม่ได้โอกาสที่ประตูด้านทิศตะวันออก เพราะมีการอารักขาแข็งแรง จึงได้ไปยังประตูด้านทิศใต้เหมือนกัน ยืนอยู่ในที่สูงไม่ไกลเกินไปจากประตูคอยดูพระราชาเสด็จมา พอพระราชาเสด็จมาประจวบเข้าก็ยกมือถวายชัยมงคลว่า ขอพระมหาราชเจ้าจงทรงพระเจริญ จงมีชัยชำนะเถิดพระเจ้าข้า พระราชาทรงเอาพระแสงขอเพชรเหนี่ยวช้างให้หันกลับเสด็จไปยังที่ใกล้พราหมณ์เหล่านั้น แล้วตรัสถามว่า พราหมณ์ทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งหลายต้องการอะไร พราหมณ์ทั้งหลายเมื่อจะพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า :

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าประชาชน ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้วคิดว่า พระราชาพระองค์นั้น ทรงสมบูรณ์ด้วยศรัทธาและศีลอย่างนี้จะทูลขอแล้ว จักพระราชทานช้างตัวประเสริฐมีสีเหมือนดอกอัญชัน แก่พวกเราเป็นแน่ แล้วพูดกันว่า เราทั้งหลายจักนำช้างตัวประเสริฐไปในสำนักของพระเจ้ากลิงคราช จึงเอาทรัพย์และธัญญาหารเป็นอันมากแลกกับช้างซึ่งมีสีเหมือนดอกอัญชันเชือกนี้เสมือนเป็นของๆ  ตน คือใช้จ่ายทรัพย์และธัญญาหารเป็นอันมากและใส่ปากใส่ท้องเลี้ยงดูกัน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อจะขอช้างนั้นอย่างนี้ จึงได้มาในที่นี้ขอพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐโปรดทรงทราบกิจที่จะพึงทรงกระทำในเรื่องช้างนั้น อีกนัยหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทราบพระคุณ คือศรัทธาคุณและศีลคุณของพระองค์จึงคิดกันว่าพระราชาผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ แม้แต่ชีวิตถูกขอแล้วก็จะประทานให้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงช้างตัวประเสริฐอันเป็นสัตว์ดิรัจฉานเล่า จึงจะขอแลกคือเปรียบเทียบทองแก่พระองค์กับช้างอันมีสีเหมือนดอกอัญชันนี้ ไปไว้ในสำนักงานของพระเจ้ากาลิงคราชด้วยประการอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น ข้าแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงได้มาในที่นี้

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงเล้าโลมให้เบาใจว่าดูก่อนพราหมณ์ทั้งหลาย หากท่านทั้งหลายใช้จ่ายทรัพย์ เพราะจะแลกเปลี่ยนช้างตัวประเสริฐเชือกนี้ เป็นการใช้จ่ายไปดีแล้ว อย่าได้เสียใจเลย เราจักให้ช้างตัวประเสริฐตามที่ประดับแล้วทีเดียวแก่ท่านทั้งหลาย

พระมหาสัตว์ประทับอยู่บนคอช้างตัวประเสริฐ ตรัสให้ด้วยพระวาจาอย่างนี้แล้ว กลับเสด็จลงจากคอช้าง ทรงดำเนินเวียนขวาไป ๓ รอบ ทรงพิจารณาว่า หากที่ที่ยังไม่ได้ประดับตกแต่งยังมีอยู่จักประดับตกแต่งก่อนแล้วจึงจะให้ ครั้นไม่ได้ทรงเห็นที่ที่ยังไม่ได้ตกแต่งที่ช้างนั้น จึงทรงเอางวงของช้างนั้น วางบนมือของพราหมณ์ทั้งหลาย แล้วได้เอาพระสุวรรณภิงคารพระเต้าน้ำทอง หลั่งน้ำอันอบด้วยดอกไม้และของหอมแล้วพระราชทานไป พราหมณ์ทั้งหลายรับช้างพร้อมทั้งบริวาร แล้วนั่งบนหลังช้าง ได้ไปยังทันตปุรนครถวายช้างแก่พระราชา ช้างแม้มาแล้ว ฝนก็ยังไม่ตก พระราชาจึงทรงคาดคั้นถามว่า มีเหตุอะไรหนอ ได้ทรงสดับว่า พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช ทรงรักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น ฝนจึงตกในแว่นแคว้นของพระองค์ ทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน เพราะอานุภาพแห่งคุณความดีของพระราชาดอก ฝนจึงตก ก็สัตว์ดิรัจฉานนี้ แม้มีคุณอยู่ก็จะมีสักเท่าไร จึงรับสั่งว่าถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงนำช้างตามที่ประดับแล้วนี้แล พร้อมทั้งบริวารคือไปถวายแก่พระราชา แล้วจดกุรุธรรมที่พระองค์รักษาลงในแผ่นทองแล้วนำมา แล้วทรงส่งพวกพราหมณ์และอำมาตย์ทั้งหลายไป

พราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นไปมอบถวายแด่พระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อช้างนี้แม้ไปถึงแล้วฝนก็ยังมิได้ตกในแว่นแคว้นของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ทราบเกล้าว่า พระองค์ทรงรักษากุรุธรรม พระราชาแม้ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ทรงประสงค์จะรักษากุรุธรรมนั้น จึงทรงส่งมาด้วยรับสั่งว่า จงจดใส่ในแผ่นทองนำมา ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์ ตรัสว่าดูก่อนพ่อทั้งหลาย เรารักษากุรุธรรมนั้นจริง แต่บัดนี้ เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมนั้นอยู่ กุรุธรรมนั้นไม่ทำจิตของเราให้ยินดี เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้กุรุธรรมนั้นแก่ท่านทั้งหลาย ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ศีลนั้นจึงไม่ทำให้พระราชาทรงยินดี ตอบว่า นัยว่าในครั้งนั้นพระราชาทั้งหลาย มีการมหรสพเดือน ๑๒ ทุกๆ ๓ ปี พระราชาทั้งหลาย เมื่อจะเล่นมหรสพนั้น ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงถือเอาเพศเป็นเทวดา ยืนอยู่ในสำนักของยักษ์ชื่อว่าจิตตราชแล้วยิงศรอันวิจิตรประดับด้วยดอกไม้ในทิศทั้ง ๔ พระราชาแม้พระองค์นี้เมื่อจะทรงเล่นมหรสพนั้น จึงประทับยืนในสำนักของจิตตรายักษ์ใกล้แนวบึงแห่งหนึ่ง แล้วทรงยิงจิตตศรไปในทิศทั้ง ๔ บรรดาลูกศรเหล่านั้น พระองค์ทรงเห็นลูกศร ๓ ลูกที่ยิงไปในทิศที่เหลือ แต่ไม่เห็นลูกศรที่ยิงไปบนหลังพื้นน้ำ พระราชาทรงรังเกียจว่า ลูกศรที่เรายิงไป คงจะตกลงในตัวปลากระมังหนอ พระองค์ทรงปรารภถึงศีลเภท เพราะกรรมคือทำสัตว์มีชีวิตในตกล่วงไป เพราะฉะนั้น ศีลจึงไม่ทำพระราชาให้ยินดี

พระโพธิสัตว์นั้นจึงตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมอยู่ แต่พระมารดาของเรารักษาไว้ได้เป็นอย่างดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของพระมารดาเราเถิด ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ไม่มีเจตนาว่าจักฆ่าสัตว์ เพราะเว้นเจตนานั้นจึงชื่อว่าไม่เป็นปาณาติบาตขอพระองค์จงให้กุรุธรรมที่ทรงรักษาแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงเขียนเอาเถิดพ่อ แล้วให้จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า
ปาโณ น หนฺตพฺโพ  ไม่พึงฆ่าสัตว์ ๑
อทินฺนํนาทาตพฺพํ  ไม่พึงถือสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑
กาเมสุมิจฺฉาจาโรน จริตพฺโพ  ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑
มุสาวาโท นภาสิตพฺโพ  ไม่พึงกล่างคำเท็จ ๑
มชฺขปานํ น ปาตพพํ  ไม่พึงดื่มน้ำเมา ๑
ครั้นให้จารึกแล้วจึงตรัสว่า แม้เป็นอย่างนี้ ศีลก็ยังเราให้ยินดีไม่ได้ พวกท่านจงไปเฝ้าพระมารดาของเราเถิด

ทูตทั้งหลายถวายบังคมพระราชาแล้วไปยังสำนักของพระมารดาพระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ได้ยินว่าพระองค์ทรงรักษากุรุธรรม ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมนั้น แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเทวีตรัสว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เรารักษากุรุธรรมก็จริงแต่บัดนี้ เราเกิดความรังเกียจในกุรุธรรมนั้น กุรุธรรมนั้นไม่ทำเราให้ยินดี เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

ได้ยินว่าพระเทวีนั้นมีพระโอรส ๒ องค์ คือพระราชาผู้เป็นพระเชษฐาและอุปราชผู้เป็นพระกนิษฐา ครั้งนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งแก่นจันทน์อันมีค่าแสนหนึ่ง และดอกไม้ทองมีค่าพันหนึ่งมาถวายพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงคิดว่าจักบูชาพระมารดา จึงทรงส่งของทั้งหมดนั้นไปถวายพระราชมารดา พระราชมารดาทรงพระดำริว่าเราจักไม่ลูบไล้แก่นจันทน์ จะไม่ทัดทรงดอกไม้ จักให้แก่นจันทน์และดอกไม้นั้นแก่สะใภ้ทั้งสอง ลำดับนั้น พระเทวีได้มีความดำริดังนี้ว่า สะใภ้คนโตของเราเป็นใหญ่ ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสีเราจักให้ดอกไม้ทองแก่สะใภ้คนโต ส่วนสะใภ้คนเล็กเป็นคนยากจน เราจักให้แก่นจันทน์แก่สะใภ้คนเล็ก พระนางจึงประทานดอกไม้ทองแก่พระเทวีของพระราชา ได้ประทานแก่นจันทน์แก่พระมเหสีของพระอุปราช ก็แหละครั้นประทานไปแล้วพระราชมารดาได้มีความรังเกียจว่า เรารักษากุรุธรรม ความที่หญิงสะใภ้เหล่านั้น ยากจนหรือไม่ยากจน ไม่เป็นประมาณสำหรับเรา ก็การกระทำเชษฐาปจายิกกรรมเท่านั้นสมควรแก่เรา เพราะความที่เราไม่ทำเชษฐาปจายิกกรรมนั้น ศีลของเราจะแตกทำลายบ้างไหมหนอ เพราะฉะนั้น พระราชมารดาจึงตรัสอย่างนั้น

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลพระราชมารดาว่า ขึ้นชื่อว่าของของตนบุคคลย่อมให้ได้ตามชอบใจ พระองค์ทรงกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักทรงกระทำกรรมอันลามกอย่างอื่นได้อย่างไร ธรรมดาศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุเห็นปานนี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด แล้วถือเอากุรุธรรมในสำนักของพระราชมารดา แม้นั้นจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระราชมารดาตรัสว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลายเมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ยังไม่ทำให้เรายินดีพอใจได้ แต่พระสุณิสาของเรารักษากุรุธรรมนั้นได้เป็นอย่างดี ท่านทั้งหลายจงถือเอากุรุธรรมในสำนักของพระสุณิสานั้นเถิด พวกทูตจึงพากันไปเฝ้าพระอัครมเหสีทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อนนั้นแหละ ฝ่ายพระอัครมเหสีตรัสโดยนัยก่อนเหมือนกันแล้วตรัสว่า ชื่อว่าศีลย่อมไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้พวกท่าน ได้ยินว่าพระอัครมเหสีนั้น วันหนึ่งประทับยืนที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชประทับนั่งบนหลังช้างเบื้องหลังพระราชาผู้กำลังทรงประทักษิณเลียบพระนครบังเกิดความโลภอยากขึ้น ทรงพระดำริว่า ถ้าเราได้ทำความเชยชิดกับพระมหาอุปราชนี้ไซร้ เมื่อพระเชษฐาสวรรคตไป พระมหาอุปราชนี้ดำรงอยู่ในราชสมบัติจะได้สงเคราะห์เรา ลำดับนั้น พระอัครมเหสีนั้นได้มีความรังเกียจว่า เรากำลังรักษากุรุธรรมอยู่ ทั้งเป็นผู้มีพระสวามีอยู่ยังแลดูชายอื่นด้วยอำนาจกิเลส ศีลของเราคงจะต้องแตกทำลาย เพราะฉะนั้น พระอัครมเหสีจึงได้ตรัสอย่างนั้น

ลำดับนั้นทูตทั้งหลายจึงกราบทูลพระอัครมเหสีว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ธรรมดาว่าการประพฤติล่วงละเมิด ย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเกิดความคิดขึ้น พระองค์ทรงกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักทรงกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้ ศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด แล้วถือเอาในสำนักของพระอัครมเหสี แม้นั้นแล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระอัครมเหสีตรัสว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลายเมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ เราเห็นว่ามหาอุปราชาทรงรักษากุรุธรรใมได้อย่างดี พวกท่านจงถือเอากุรุธรรมนั้นในสำนักของพระมหาอุปราชเถิด ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระมหาอุปราช ทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อนนั่นแหละ ก็พระมหาอุปราชนั้น เมื่อเสด็จไปยังที่บำรุงของพระราชาในเวลาเย็น เสด็จไปด้วยรถ ถึงพระลานหลวงแล้ว ถ้าทรงพระประสงค์จะเสวยในสำนักของพระราชาแล้วทรงบรรทมค้างอยู่ในที่นั้น ก็จะทรงทิ้งเชือกและปฏักไว้ระหว่างแอกรถ ด้วยสัญญาเครื่องหมายนั้น มหาชนบริวารจะกลับไปก่อน ต่อเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จึงจะไปยืนคอยดูพระมหาอุปราชนั้นเสด็จออก ฝ่ายนายสารถีก็จะนำรถนั้นไป ต่อเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จึงจะนำรถมาจอดที่ประตูพระราชนิเวศน์

ถ้าทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับในวันนั้น จะทรงวางเชือกและปฏักไว้เฉพาะภายในรถ แล้วเสด็จไปเฝ้าพระราชา ด้วยสัญญาณนั้น ชนบริวารจะยืนรออยู่ที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง วันนั้นพระมหาอุปราชนั้น ก็ทรงกระทำสัญญาณไว้อย่างนั้น แล้วเสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ แต่เมื่อพระมหาอุปราชเสด็จเข้าไปเท่านั้น ฝนก็ตก พระราชาจึงตรัสว่า ฝนกำลังตก จึงไม่ให้พระมหาอุปราชนั้นเสด็จออกมา พระมหาอุปราชจึงทรงเสวยแล้วบรรทมอยู่ในพระราชนิเวศน์นั้นนั่นเอง ชนบริวารคิดว่า ประเดี๋ยวจักเสด็จออกจึงได้ยืนเปียกฝนอยู่ตลอดคืนยังรุ่ง ในวันต่อมาพระมหาอุปราชจึงเสด็จออกมา ทรงเห็นชนบริวารยืนเปียกฝนอยู่ ทรงเกิดความรังเกียจว่าเราเมื่อรักษากุรุธรรมอยู่ ยังทำชนมีประมาณเท่านี้ลำบาก ศีลของเราเห็นจะพึงแตกทำลาย ด้วยเหตุนั้น พระมหาอุปราชจึงตรัสแก่ทูตเหล่านั้นว่า เรารักษากุรุธรรมอยู่ก็จริง แต่บัดนี้ เรามีความรังเกียจอยู่ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย แล้วตรัสบอกเรื่องราวนั้นให้ทราบ

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงทูลถามพระมหาอุปราชว่าข้าแต่สมมติเทพ พระองค์มิได้มีความคิดว่า ชนเหล่านั้นจงลำบากกรรมที่ทำโดยหาเจตนามิได้ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เมื่อพระองค์ทรงกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ความล่วงละเมิดจักมีได้อย่างไร แล้วรับเอาศีลในสำนักของพระมหาอุปราชแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระมหาอุปราชตรัสว่า เมื่อเรื่องเกิดเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มอกปลื้มใจได้ ก็ปุโรหิตย่อมรักษาได้ดีพวกท่านจงถือเอาในสำนักของปุโรหิตนั้นเถิด พวกทูตจึงพากันเข้าไปหาปุโรหิตแล้วขอกุรุธรรม ฝ่ายปุโรหิตนั้น วันหนึ่ง ไปเฝ้าพระราชาระหว่างทางได้เห็นรถสีอ่อนๆ งดงามเหมือนแสงอาทิตย์อ่อนๆ ซึ่งพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งมาถวายพระราชานั้น ถึงถามว่า นี้รถของใครได้ฟังว่านำมาถวายพระราชา จึงคิดว่า เราก็แก่แล้ว ถ้าพระราชาจะพระราชทานรถคันนี้แก่เราไซร้ เราจักขึ้นรถคันนี้เที่ยวไปอย่างสบายแล้วไปเฝ้าพระราชา

ในเวลาที่ปุโรหิตนั้นถวายพระพรชัยแล้วยืนเฝ้าอยู่ ราชบุรุษต่างเมืองก็ทูลถวายรถแก่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วตรัสว่า รถของเราคันนี้งามเหลือเกิน พวกท่านจงให้แก่อาจารย์ของเราเถิด ปุโรหิตมิได้ปรารถนาจะรับพระราชทาน แม้พระราชาจะตรัสอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ปรารถนาจะรับพระราชทานเลย ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะนัยว่า ปุโรหิตนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรารักษากุรุธรรมอยู่แท้ๆ ยังได้กระทำความโลภในสิ่งของของคนอื่น ศีลของเราจะพึงแตกทำลายไปแล้ว ปุโรหิตนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่พวกทูต แล้วกล่าวว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมอยู่ กุรุธรรมนั้นมิได้ยังเราให้ปลื้มอกปลื้มใจเลย เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะปุโรหิตว่านาย ศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุเพียงเกิดความโลภอยากได้ ท่านเมื่อกระทำความรังเกียจความรังเกียจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้ แล้วรับเอาศีลในสำนักของปุโรหิตแม้นั้นจดลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านปุโรหิตกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ยังไม่ทำให้เรายินดีพอใจได้ ก็อำมาตย์ผู้ถือเชือกรังวัดรักษากุรุธรรมได้ดี พวกท่านจงรับเอากุรุธรรมในสำนักของอำมาตย์นั้นเถิด ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหาอำมาตย์นั้น แล้วขอกุรุธรรม ฝ่ายอำมาตย์ผู้รังวัดนั้นก็เล่าว่า วันหนึ่ง เมื่อจะวัดเนื้อที่นาในชนบท จึงเอาเชือกผูกที่ไม้ ให้เจ้าของนาจับปลายข้างหนึ่ง ตนเองจับปลายข้างหนึ่ง ไม้ที่ผูกปลายเชือกซึ่งอำมาตย์ถือไปจรดตรงกลางรูปูตัวหนึ่ง อำมาตย์นั้นคิดว่า ถ้าเราจักปักไม้ลงในรูปู ปูภายในรูจักฉิบหาย ก็ถ้าเราจักปักลักไปข้างหน้าเนื้อที่ของหลวงก็จัดขาด ถ้าเราจักปักร่นเข้ามา เนื้อที่ของกฏุมพีก็จักขาด เราจะทำอย่างไรดีหนอ

ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ปูคงจะไม่มีในรู ถ้ามีจะต้องปรากฏ เราจะปักไม้นั้นตรงนี้แหละ แล้วก็ปักท่อนไม้นั้นลงในรูปู ฝ่ายปูก็ส่งเสียงดังกริ๊กๆ  ลำดับนั้น อำมาตย์นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่อนไม้จักปักลงบนหลังปู ปูก็จักตายและเราก็รักษากุรุธรรม เพราะเหตุนั้น ศีลของเราคงจะแตกทำลาย อำมาตย์นั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่ทูตทั้งหลายแล้วกล่าวว่า เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมานี้ เราจึงมีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่พวกท่าน

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะอำมาตย์นั้นว่า ท่านไม่มีจิตคิดว่า ปูจงตาย กรรมที่ไม่มีเจตนาความจงใจไม่ชื่อว่าเป็นกรรม ท่านกระทำความรังเกียจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้ แล้วรับเอาศีลในสำนักของอำมาตย์ แม้นั้นแล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

อำมาตย์นั้นพูดว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ กุรุธรรมก็มีได้ทำข้าพเจ้าให้ปลื้มใจ ก็นายสารถีรักษาได้อย่างดี ท่านทั้งหลายจงรับเอากุรุธรรมในสำนักของนายสารถีนั้นเถิด ทูตทั้งหลาย จึงเข้าไปหานายสารถี แม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม นายสารถีนั้น วันหนึ่ง นำเสด็จพระราชาไปยังราชอุทยานด้วยราชรถ พระราชาทรงเล่นในพระราชอุทยานนั้นตลอดวัน ในเวลาเย็น จึงเสด็จออกจากพระราชอุทยานเสด็จขึ้นทรงรถ เมื่อราชรถนั้นยังไม่ทันถึงพระนคร เมฆฝนก็ตั้งขึ้นในเวลาที่พระอาทิตย์จะอัสดงคต เพราะกลัวว่าพระราชาจะเปียกฝนนายสารถีจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักแก่ม้าสินธพทั้งหลายๆ จึงควบไปด้วยความเร็ว ก็แหละตั้งแต่นั้นมา ม้าสินธพเหล่านั้น ขาไปยังพระราชอุทยานก็ดี ขามาจากพระราชอุทยานนั้นก็ดี พอถึงที่ตรงนั้นก็วิ่งควบไปด้วยความเร็ว ถามว่า เพราะเหตุอะไร ตอบว่า เพราะนัยว่า ม้าสินธพเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ในที่นี้ จะพึงมีภัยเป็นแน่ ด้วยเหตุนั้น นายสารถีของพวกเราจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักในคราวนั้น

ส่วนนายสารถีก็มีความคิดว่า ในเมื่อพระราชาจะเปียกฝนหรือไม่เปียกฝนก็ตาม เราย่อมไม่มีโทษ แต่เราได้ให้สัญญาปฏักแก่ม้าสินธพที่ฝึกหัดมาดีแล้ว ในสถานที่อันไม่ควร ด้วยเหตุนั้น ม้าสินธพเหล่านี้ วิ่งควบทั้งไปและมา ลำบากอยู่จนเดี๋ยวนี้ ด้วยเหตุนั้น ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว นายสารถีนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นให้ทราบแล้วกล่าวว่า เพราะเหตุนี้เราจึงมีความรังเกียจในกุรุธรรม เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายสารถีนั้นว่า ท่านไม่มีจิตคิดว่า ม้าสินธพทั้งหลายจงลำบาก กรรมที่ไม่มีเจตนาคือความจงใจ ไม่จัดว่าเป็นกรรม อนึ่ง ท่านกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดได้อย่างไร จึงรับเอาศีลในสำนักของนายสารถีนั้นจดจารึกในแผ่นสุพรรณบัฏ

นายสารถีกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มใจได้ แต่ท่านเศรษฐีรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอากุรุธรรมในสำนักของท่านเศรษฐีนั้นเถิด พวกทูตจึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีนั้น แล้วขอกุรุธรรม เศรษฐีนั้น วันหนึ่งไปนำข้าวสาลีของตน พิจารณารวงข้าวสาลีที่ออกจากท้อง เมื่อจะกลับ คิดว่าจักผูกรวงข้าวให้เป็นพุ่มข้าวเปลือก จึงให้คนผูกรวงข้าวสาลีกำหนึ่ง ผูกเป็นจุกไว้ ลำดับนั้นท่านเศรษฐีได้มีความคิดดังนี้ว่า เราจะต้องให้ค่าภาคหลวงจากนานี้ แต่เราก็ได้ให้คนถือเอารวงข้าวสาลีกำหนึ่ง จากอันนาที่ยังไม่ได้ให้ค่าภาคหลวง ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว ท่านเศรษฐีนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่ทูตทั้งหลายแล้วกล่าวว่า เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้นเราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กุมภาพันธ์ 2558 13:58:29 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 กุมภาพันธ์ 2558 13:56:40 »

กุรุธรรมชาดก (ต่อ)
ว่าด้วยให้ช้างแก่ท้าวกาลิงคราช

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านเศรษฐีว่า ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เว้นจากไถยจิตนั้น ใครๆ ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักถือเอาของของคนอื่นได้อย่างไร แล้วรับเอาศีลในสำนักของเศรษฐี แม้นั้นแล้วจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังมิได้ทำให้เราปลื้มใจได้ แต่ท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวหลวงรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอากุรุธรรมในสำนักของอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นเถิด ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหาท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวและขอกุรุธรรม ได้ยินว่าอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น วันหนึ่ง ให้คนนับข้าวเปลือกอันเป็นส่วนของหลวง ส่วนตนเอาข้าวเปลือกจากกองข้าวที่ยังไม่ได้นับใส่คะแนน ขณะนั้น ฝนตก มหาอำมาตย์จึงเพิ่มคะแนนข้าวเปลือก แล้วกล่าวว่าข้าวเปลือกที่นับแล้ว มีประมาณเท่านี้ แล้วโกยข้าวเปลือกที่เป็นคะแนนใส่ลงในกองข้าวเปลือกที่นับแล้ว หรือใส่ในกองข้าวที่ยังไม่ได้นับ ลำดับนั้น ท่านมหาอำมาตย์ได้มีความคิดดังนี้ว่าถ้าเราใส่ในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว ขอหลวงก็จะเพิ่มขึ้นโดยมิใช่เหตุ ของคฤหบดีทั้งหลายก็จะขาดไป ศีลของเราจะต้องแตกทำลายแล้ว ท่านมหาอำมาตย์นั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแล้วกล่าวว่า เรามีความรังเกียจในกุรุธรรม ด้วยเหตุนี้เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่าน

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านมหาอำมาตย์นั้นว่า ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เว้นไถยจิตนั้นเสียใครๆ ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อย่างไรจักถือเอาสิ่งของคนอื่นแล้วรับเอาศีลในสำนักของมหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านมหาอำมาตย์กล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มใจยินดีได้ แต่นายประตูรักษาได้ดี ท่านทั้งหลายจงถือเอากุรุธรรมในสำนักของนายประตูนั้นเถิด ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหานายประตู แล้วขอกุรุธรรม ฝ่ายนายประตูนั้นวันหนึ่ง เวลาจะปิดประตูเมือง ได้ออกเสียงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง ครั้งนั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง เข้าป่าหาฟืนและหญ้ากับน้องสาว กำลังกลับมา ได้ยินเสียงนายประตูนั้นประกาศ จึงรีบพาน้องสาวมาทันพอดี ลำดับนั้น นายประตูกล่าวกะคนเข็ญใจนั้นว่า ท่านไม่รู้ว่าพระราชามีอยู่ในพระนครนี้หรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เขาจะต้องปิดประตูพระนครนี้ ต่อเวลายังวัน ท่านพาภรรยาของตนเที่ยวไปในป่า เที่ยวเล่นรื่นเริงตลอดวัน ครั้นเมื่อคนเข็ญใจกล่าวว่า ไม่ใช่ภรรยาฉันดอกนาย หญิงคนนี้เป็นน้องสาวของฉันเอง นายประตูนั้นจึงมีความปริวิตกดังนี้ว่า เราเอาน้องสาวเขามาพูดว่าเป็นภรรยา กระทำกรรมอันหาเหตุมิได้หนอ และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้นศีลของเราคงแตกทำลายแล้ว นายประตูนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแล้วกล่าวว่า เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายประตูนั้นว่า คำนั้นท่านกล่าวตามความสำคัญอย่างนั้น ในข้อนี้ ความแตกทำลายแห่งศีลจึงไม่มีแก่ท่าน ก็ท่านรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำสัมปชานมุสาวาทกล่าวเท็จทั้งรู้ในกุรุธรรมได้อย่างไรแล้วถือเอาศีลในสำนักของนายประตูแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

นายประตูนั้นกล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำให้เรายินดีปลื้มใจได้ แต่นางวรรณทาสีรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้นเถิด ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหานางวรรณทาสีนั้นแล้วขอกุรุธรรม ฝ่ายวรรณทาสีก็ปฏิเสธโดยนัยอันมีในหนหลังนั้นแหละ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะได้ยิน ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงดำริว่า จักทดลองศีลของนาง จึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยมาพูดว่าฉันจักมาหาแล้วให้ทรัพย์ไว้พันหนึ่ง กลับไปยังเทวโลก แล้วไม่มาถึง ๓ ปี นางวรรณทาสีนั้นไม่รับสิ่งของแม้มาตรว่าหมากพลูจากมือชายอื่นถึง ๓ ปี เพราะกลัวศีลของตนขาด นางยากจนลงโดยลำดับ จึงคิดว่า เมื่อชายผู้ให้ทรัพย์หนึ่งแก่เราแล้วไปเสีย ไม่มาถึง ๓ ปี เราจึงยากจน ไม่อาจสืบต่อชีวิตต่อไปได้ จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราควรบอกแก่มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยความแล้วรับเอาค่าใช้จ่าย นางจึงไปศาลกล่าวฟ้องว่า เจ้านาย บุรุษผู้ให้ค่าใช้จ่ายแก่ดิฉันแล้วไปเสีย ๓ ปีแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่าเขาตายแล้วหรือยังไม่ตาย ดิฉันไม่อาจสืบต่อเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ เจ้านาย ดิฉันจะทำอย่างไร มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดีกล่าวตัดสินว่า เมื่อเขาไม่มาถึง ๓ ปี ท่านจักทำอะไร ตั้งแต่นี้ท่านจงรับค่าใช้จ่ายได้ เมื่อนางวรรณทาสีนั้นได้รับการวินิจฉัยตัดสินแล้ว พอออกจากศาลที่วินิจฉัยเท่านั้น บุรุษคนหนึ่งก็น้อมนำห่อทรัพย์พันหนึ่งเข้าไปให้ ในขณะที่นางเหยียดมือจะรับ ท้าวสักกะก็แสดงพระองค์ให้เห็น นางพอเห็นท้าวสักกะนั้นเท่านั้นจึงหดมือพร้อมกับกล่าวว่า บุรุษผู้ให้ทรัพย์แก่เราพันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีแล้ว ได้กลับมาแล้ว ดูก่อนพ่อ เราไม่ต้องการกหาปณะของท่าน ท้าวสักกะจึงแปลงร่างกายพระองค์ทันที ได้ประทับยืนอยู่ในอากาศเปล่งแสงโชติช่วงประดุจดวงอาทิตย์อ่อนๆ ฉะนั้น พระนครทั้งสิ้นพากันตื่นเต้น ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทในท่ามกลางมหาชนว่า ในที่สุด ๓ ปีแล้ว เราได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง เนื่องด้วยจะทดลองนางวรรณทาสีนี้ ท่านทั้งหลายชื่อว่าเมื่อจะรักษาศีล จงเป็นผู้เห็นปานนี้รักษาเถิด แล้วทรงบันดาลให้นิเวศน์ของนางวรรณทาสีเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงอนุศาสน์พร่ำสอนนางวรรณทาสีนั้นว่า เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ไปแล้วได้เสด็จไปยังเทวโลกนั้นแล เพราะเหตุนี้ นางวรรณทาสีนั้นจึงปฏิเสธห้ามปรามทูตทั้งหลายว่า เรายังมิได้เปลื้องค่าจ้างที่รับไว้ ยื่นมือไปรับค่าจ้างที่ชายอื่นให้ ด้วยเหตุนี้ ศีลจึงทำเราให้ยินดีปลื้มใจไม่ได้ เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนางวรรณทาสีนั้นว่า ศีลเภทศีลแตกทำลาย ย่อมไม่มีด้วยเหตุสักว่ายื่นมือ ชื่อว่าศีลย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้ แล้วรับเอาศีลในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้น จดจารึกลงไม่แผ่นสุพรรณบัฏ

ทูตทั้งหลายจารึกศีลที่ชนทั้ง ๑๑ คนนั้นรักษา ลงในแผ่นสุพรรณบัฏ ด้วยประการดังนี้แล้ว ได้ไปยังทันตปุรนคร ถวายแผ่นทรงทราบ พระราชาเมื่อทรงประพฤติกุรุธรรมนั้น ทรงบำเพ็ญศีล ๕ให้บริบูรณ์ ในกาลนั้น ฝนก็ตกลงในแว่นแคว้นกาลิงครัฐทั้งสิ้นภัยทั้ง ๓ ก็สงบระงับ และแว่นแคว้นก็ได้มีความเกษมสำราญ มีภักษาหารสมบูรณ์ พระโพธิสัตว์ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้นตราบเท่าพระชนมายุ พร้อมทั้งบริวารได้ทำเมืองสวรรค์ให้เต็มบริบูรณ์

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ในเวลาจบอริยสัจ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์ แล้วทรงประชุมชาดกว่า : นางวรรณทาสีหญิงคณิกา ได้เป็นนางอุบลวรรณา นายประตูในครั้งนั้น ได้เป็นพระปุณณะ รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด ได้เป็นพระกัจจายนะ โทณมาปกะอำมาตย์ ผู้ตวงข้าว ได้เป็นพระโมคคัลลานะ เศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร นายสารถีได้เป็นพระอนุรุทธะ พราหมณ์ ได้เป็นพระกัสสปเภระ พระมหาอุปราช ได้เป็นพระนันทะผู้บัณฑิต พระมเหสีในครั้งนั้น ได้เป็นราหุล มารดา พระชนนีในครั้งนั้นได้เป็นพระมายาเทวี พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ได้เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกด้วยประการฉะนี้


จบ กุรุธรรมชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กุมภาพันธ์ 2558 14:02:27 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2558 10:03:22 »

.



กโปตกชาดก
ว่าด้วยโภคะของมนุษย์

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภถึงภิกษุโลภรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

เรื่องภิกษุโลภ ได้ให้พิสดารแล้วโดยเรื่องราวมิใช่น้อยเลย ส่วนในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ ยินว่าเธอเป็นผู้โลภจริงหรือ?

เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   
พระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุมิใช่ในบัดนี้เท่านั้นแม้ในกาลก่อนเธอก็เป็นคนโลภมาแล้ว ก็เพราะความเป็นคนโลภจึงได้ถึงความสิ้นชีวิต

แล้วพระศาสดาจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

เนื้อเรื่องเหมือนกโปตกชาดกเอกนิบาต และโลลชาดกติกนิบาต

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนกพิราบอยู่ในกระเช้าที่เขาทำเป็นรังนก ในโรงครัวของท่านพาราณสีเศรษฐี   ครั้งนั้น มีกาตัวหนึ่งอยากได้เนื้อปลา จึงกระทำไมตรีกับนกพิราบนั้น และได้อยู่ในกระเช้ารังนั้นเหมือนกัน  วันหนึ่ง กานั้นเห็นในโรงครัวมีเนื้อปลามากมาย คิดว่าเราจะต้องได้กินเนื้อปลานี้ จึงแสร้งทำเป็นนอนถอนใจอยู่ในกระเช้าที่เป็นรังนั่นแหละ ครั้นเมื่อนกพิราบกล่าวชักชวนกานั้นว่า มาเถอะสหาย พวกเราออกไปหากินกันเถิด กานั้นก็กล่าวว่า ฉันมึนเมาเพราะอาหารไม่ย่อย ท่านจงไปเถอะ

นกพิราบเมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงบินออกไป กานั้นเมื่อเห็นนกพิราบบินออกไปแล้วจึงคิดว่า เสี้ยนหนามของเราไปแล้ว บัดนี้ เราจักกินเนื้อปลาได้ตามชอบใจ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:

[๘๒๕] บัดนี้ เราเป็นสุข ไม่มีโรค นกพิราบผู้เหมือนหนามในหทัยบินไปแล้ว บัดนี้ เราจักกระทำความยินดีแห่งหทัย เพราะเหตุว่า ชิ้นเนื้อและแกงจะทำให้เราเกิดกำลัง.

กานั้น เมื่อเห็นพ่อครัวทอดเนื้อปลาแล้วออกไปเช็ดเหงื่อออกจากตัว จึงบินออกจากกระเช้ามาแอบอยู่ในภาชนะใส่เครื่องเทศ จึงทำให้เกิดเสียงดังขึ้น พ่อครัวได้ยินเสียงนั้น จึงมาจับกาแล้วจัดการถอนขนออกจนหมด บดขิงสดกับแป้งและเมล็ดผักกาด ขยำกระเทียมเข้ากับเปรียงบูด ทาจนทั่วตัวกานั้น แล้วเอาเศษกระเบื้องมาอันหนึ่ง เจาะรูให้ทะลุ ร้อยด้วยด้ายแล้วผูกไว้ที่คอกานั้น จากนั้นจึงจับมันใส่เข้าไว้ในรังกระเช้าตามเดิม แล้วพ่อครัวนั้นก็ออกไป

ฝ่ายนกพิราบ เมื่อกลับมาจากออกไปหากิน เห็นกาในสภาพดังนั้นก็เดาเรื่องออก จึงได้กล่าวเยาะเย้ย ว่า นี่นกยางอะไรมานอนอยู่ในกระเช้าของสหายเรา ก็สหายของเรานั้นดุร้าย กลับมาแล้วจะพึงฆ่าเจ้าเสีย จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:
[๘๒๖] นกกระยางอะไรนี่ มีหงอน ขี้ขโมย เป็นปู่นก โลดเต้นอยู่ แน่ะนกกระยาง ท่านจงออกมาข้างนอกเสีย กาผู้เป็นสหายของเราดุร้าย.

กาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:
[๘๒๗] ท่านได้เห็นเรามีขนปีก อันพ่อครัวถอนแล้วทาด้วยน้ำข้าวเช่นนี้ ไม่ควรจะมาหัวเราะเยาะเลย.

นกพิราบนั้น ก็ยังหัวเราะอยู่นั่นแหละ แล้วกล่าวคาถาที่ ๔ อีกว่า :
[๘๒๘] ท่านอาบดีแล้ว ลูบไล้ดีแล้ว เอิบอิ่มไปด้วยข้าวและน้ำ และมีแก้วไพฑูรย์อยู่ที่คอ ได้ไปกชังคลประเทศมาหรือ?
*หมายถึง เมืองพาราณสี คาถานี้หมายความว่า นกพิราบถามกาว่า ท่านได้ไปยังภายในเมืองมาหรือ

ลำดับนั้น กาจึงกล่าวตอบเป็นคาถาที่ ๕ ว่า :
[๘๒๙] เราจะเป็นมิตร หรือมิใช่มิตรของท่านก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวว่า ท่านได้ไปยังกชังคลประเทศมาหรือ เพราะว่า ในกชังคลประเทศนั้น ชนทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้ว ผูกชิ้นกระเบื้องไว้ที่คอ.*
*หมายความว่า คนผู้เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูของท่านก็ตาม อย่าได้ไปนครพาราณสีเลย เพราะในนครพาราณสีนั้น คนทั้งหลายถอนขนของเราออกแล้วผูกกระเบื้องกลมไว้ที่คอ.

นกพิราบได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:
[๘๓๐] แน่ะสหาย ท่านจะประสบสภาพเห็นปานนี้อีก เพราะปกติของท่านเป็นเช่นนั้น อันโภคะของพวกมนุษย์ไม่ใช่เป็นของที่นกจะกินได้ง่ายเลย.

นกพิราบอบรมกานั้น ด้วยประการดังนี้แล้วก็ไม่อยู่ในที่นั้น ได้กางปีกบินไปที่อื่น ฝ่ายกาก็สิ้นชีวิตอยู่ในที่นั้น นั่นเอง.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประกาศสัจจะทั้งสี่ ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้โลภได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า กาในครั้งนั้นได้มาเป็นภิกษุผู้โลภในบัดนี้ ส่วนนกพิราบในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.


จบ กโปตกชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2558 14:32:54 »

.



คันธารชาดก
พูดคำมีประโยชน์เขาโกรธไม่ควรกล่าว

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ เภสัชชสันนิธิการสิกขาบท  สิกขาบทว่าด้วยการทำการสะสมเภสัช แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ดังนี้

ก็เรื่องเกิดขึ้นแล้วที่กรุงราชคฤห์ ความพิสดารว่า เมื่อท่านปิลินทวัจฉะไปพระราชวังเพื่อปล่อยคนตระกูลผู้รักษาอาราม แล้วสร้างปราสาททองถวายพระราชาด้วยกำลังฤทธิ์ คนทั้งหลายเลื่อมใสพากันส่งเภสัชทั้ง ๕ ไปถวายพระเถระ ท่านแจกจ่ายเภสัชเหล่านั้นแด่บริษัท แต่บริษัทของท่านมีมากพวกเขาเก็บของที่ได้ๆ มาไว้เต็มกระถางบ้าง หม้อบ้าง ถลกบาตรบ้าง คนทั้งหลายเห็นเข้าพากันยกโทษว่าสมณะเหล่านี้มักมากเป็นผู้รักษาคลังภายใน พระศาสดาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า:-

ก็แลเภสัชที่เป็นของควรลิ้มของภิกษุผู้เป็นไข้เหล่านั้นใดดังนี้เป็นต้น ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัณฑิตสมัยก่อนเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ บวชเป็นนักบวชในลัทธิภายนอก แม้รักษาเพียงศีล ๕ ก็ไม่เก็บก้อนเกลือไว้ เพื่อประโยชน์ในวันรุ่งขึ้น ส่วนเธอทั้งหลายบวชในศาสนาที่นำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เมื่อพากันทำการสะสมอาหารไว้ เพื่อประโยชน์แก่วันที่ ๒ วันที่ ๓ ชื่อว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าคันธาระ ในคันธารรัฐ เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติโดยพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ทรงครองราชย์โดยธรรม แม้ในมัชฌิมประเทศ พระเจ้าวิเทหะก็ทรงครองราชย์ในวิเทหรัฐ พระราชาทั้ง ๒ พระองค์นั้นทรงเป็นพระสหายที่ไม่เคยเห็นกัน แต่ก็ทรงมีความคุ้นเคยกันอย่างมั่นคง คนสมัยนั้นมีอายุยืนดำรงชีวิตอยู่ได้ถึง ๓ แสนปี ดังนั้นในวันอุโบสถกลางเดือน พระเจ้าคันธาระก็ทรงสมาทานศีลเป็นครั้งคราว แล้วเสด็จไปประทับบนพระบวรบัลลังก์ภายในชั้นที่โอ่โถง ทรงตรวจดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกทางสีหปัญชรที่เปิดไว้ ตรัสถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรมแก่เหล่าอำมาตย์ ขณะนั้นพระราหูได้บดบังดวงจันทร์เต็มดวง เหมือนกระโดดโลดเต้นไปในท้องฟ้า แสงจันทร์อันตรธานหายไป อำมาตย์ทั้งหลายไม่เห็นแสงพระจันทร์ จึงทูลพระราชาถึงภาวะที่ดวงจันทร์ถูกราหูยึดไว้

พระราชาทรงทอดพระเนตรพระจันทร์ ทรงพระดำริว่า พระจันทร์นี้เศร้าหมองอับแสงไปเพราะสิ่งเศร้าหมองที่จรมา แม้ข้าราชบริพารนี้ก็เป็นเครื่องเศร้าหมองสำหรับเราเหมือนกัน แต่การที่เราจะเป็นผู้หมดสง่าราศีเหมือนดวงจันทร์ที่ถูกราหูยึดไว้นั้นไม่สมควรแก่เราเลย เราจักละราชสมบัติออกบวช เหมือนดวงพระจันทร์สัญจรไปในท้องฟ้าที่บริสุทธิ์   ฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไรด้วยผู้อื่นที่เราตักเตือนแล้ว เราจักเป็นเสมือนผู้ไม่ข้องอยู่ด้วยตระกูลและหมู่คณะ ตักเตือนตัวเองเท่านั้นเที่ยวไป นี้เป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับเรา แล้วทรงมอบราชสมบัติให้แก่เหล่าอำมาตย์ ด้วยพระดำรัสว่า ท่านทั้งหลายจงพากันแต่งตั้งผู้ที่ท่านทั้งหลายต้องประสงค์ให้เป็นพระราชาเถิด พระราชาแห่งคันธารรัฐนั้นทรงสละราชสมบัติเสด็จออกทรงผนวชเป็นฤๅษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นแล้ว ทรงเอิบอิ่มด้วยความยินดีในฌาน สำเร็จการอยู่ในท้องถิ่นดินแดนหิมพานต์

ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะตรัสถามพวกพ่อค้าทั้งหลายว่า พระราชาอันเป็นพระสหายของเราสบายดีหรือ ทรงทราบว่าพระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้วทรงดำริว่า เมื่อสหายของเราทรงผนวชแล้ว เราจักทำอย่างไรกับราชสมบัติ แล้วจึงทรงสละราชสมบัติในมิถิลนครกว้างยาว ๗ โยชน์ คลังที่เต็มเพียบอยู่ในหมู่บ้าน ๑๖,๐๐๐ หมู่บ้าน ในวิเทหรัฐ ประมาณ ๓๐๐ โยชน์และหญิงฟ้อน ๑๖,๐๐๐ นาง ไม่ทรงคำนึงถึงพระราชโอรสและพระราชธิดา เสด็จสู่ท้องถิ่นดินแดนหิมพานต์ ทรงผนวชแล้ว เสวยผลไม้ตามที่มี ประทับอยู่ไม่เป็นประจำเที่ยวสัญจรไปทั้ง ๒ ท่านนั้น ประพฤติพรตและอาจาระสม่ำเสมอ ภายหลังได้มาพบกันแต่ก็ไม่รู้จักกัน ชื่นชมกันประพฤติพรตและอาจาระสม่ำเสมอกัน ครั้งนั้นวิเทหดาบส ทำการอุปัฏฐากท่านคันธารดาบส ในวันเพ็ญวันหนึ่ง เมื่อท่านทั้ง ๒ นั้นนั่งกล่าวกถาที่ประกอบด้วยธรรมกัน ณ ควงไม้ต้นใดต้นหนึ่ง พระราหูบดบังดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่ท้องฟ้า ท่านวิเทหดาบสคิดว่าแสงพระจันทร์หายไปเพราะอะไรหนอ จึงมองดูเห็นพระจันทร์ถูกราหูยึดไว้ จึงเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์อะไรหนอนั่น ได้บดบังพระจันทร์ทำให้หมดรัศมี

ท่านคันธารดาบสตอบว่า ดูก่อนอันเตวาสิก นี้ชื่อว่าราหูเป็นเครื่องเศร้าหมองอย่างหนึ่งของพระจันทร์ ไม่ให้พระจันทร์ส่องแสงสว่าง แม้เราเห็นดวงจันทร์ถูกราหูบังแล้ว คิดว่าดวงจันทร์ที่บริสุทธิ์นี้ก็กลายเป็นหมดแสงไปเพราะเครื่องเศร้าหมองที่จรมา ราชสมบัตินี้ก็เป็นเครื่องเศร้าหมองแม้สำหรับเรา เราจักบวชอยู่จนกระทั่งราชสมบัติจะไม่ทำให้เราอับแสงเหมือนราหูบังดวงจันทร์แล้วทำดวงจันทร์ที่ถูกราหูบังนั่นเองให้เป็นอารมณ์ทอดทิ้งราชสมบัติใหญ่หลวงบวชแล้ว

วิเทหดาบส : ข้าแต่ท่านอาจารย์ท่านเป็นพระเจ้าคันธาระหรือ
คันธารดาบส : ถูกแล้วผมเป็นพระเจ้าคันธาระ
วิเทหดาบส : ข้าแต่ท่านอาจารย์ กระผมเองก็ชื่อว่าพระเจ้าวิเทหะ ในมิถิลนครในวิเทหรัฐ พวกเราเป็นสหายที่ยังไม่เคยเห็นกันมิใช่หรือ
คันธารดาบส : ก็ท่านมีอะไรเป็นอารมณ์ จึงออกบวช
วิเทหดาบส : กระผมได้ทราบว่าท่านบวชแล้ว คิดว่าท่านคงได้เห็นคุณมหันต์ของการบวชแน่นอน จึงทำท่านนั่นแหละให้เป็นอารมณ์แล้วสละราชสมบัติออกบวช

ตั้งแต่นั้นมาดาบสทั้ง ๒ นั้น สมัครสมานกันชื่นชมกันเหลือเกิน เป็นผู้มีผลไม้เท่าที่หาได้เป็นโภชนาหาร ท่องเที่ยวไปก็แหละทั้ง ๒ ท่านอยู่ด้วยกัน ณ ที่นั้นมาเป็นเวลานาน จึงพากันลงมาจากป่าหิมพานต์ เพื่อต้องการลิ้มรสเค็มรสเปรี้ยว ลุถึงชายแดนตำบลหนึ่ง คนทั้งหลายเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน ถวายภิกษารับปฏิญญาแล้ว พากันสร้างที่พักกลางคืนเป็นต้นให้ท่านอยู่ในป่า แม้ในระหว่างทางก็พากันสร้างบรรณศาลาไว้ในที่ๆ มีน้ำสะดวกเพื่อต้องการให้ท่านทำภัตกิจ

ท่านพากันเที่ยวภิกขาจารที่บ้านชายแดนนั้นแล้ว นั่งฉันที่บรรณศาลาหลังนั้นแล้ว จึงไปที่อยู่ของตน คนแม้เหล่านั้นเมื่อถวายอาหารท่าน บางครั้งก็ถวายเกลือใส่ลงในบาตร บางคราวก็ห่อใบตองถวาย บางคราวก็ถวายอาหารที่มีรสไม่เค็มเลย

วันหนึ่งพวกเขาได้ถวายเกลือจำนวนมากในห่อใบตองแก่ท่านเหล่านั้น วิเทหดาบสถือเอาเกลือไป ในเวลาภัตกิจของพระโพธิสัตว์ก็ถวายเกลือจนพอ ฝ่ายตนเองก็หยิบเอาประมาณพอควร ที่เกินต้องการก็ห่อใบตองแล้วเก็บไว้ที่ต้นหญ้า ด้วยคิดว่าจักใช้ในวันที่ไม่มีเกลือ

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อได้อาหารจืด ท่านวิเทหดาบสถวายภาชนะภิกษาแก่ท่านคันธาระแล้ว นำเกลือออกมาจากต้นหญ้าแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์นิมนต์ท่านรับเกลือ คันธารดาบสถามว่า วันนี้คนทั้งหลายไม่ได้ถวายเกลือ ท่านได้มาจากไหน

วิเทหดาบส ข้าแต่ท่านอาจารย์ ในวันก่อนคนทั้งหลายได้ถวายเกลือมาก กระผมจึงเก็บเกลือที่เกินความต้องการไว้ด้วยตั้งใจว่าจักใช้ในวันที่อาหารมีรสจืด  พระโพธิสัตว์จึงต่อว่าวิเทหดาบสว่า โมฆบุรุษเอ๋ย ท่านละทิ้งวิเทหรัฐประมาณ ๓ ร้อยโยชน์มาแล้ว ถึงความไม่มีกังวลอะไร บัดนี้ยังเกิดความทะยานอยากในก้อนเกลืออีกหรือ เมื่อจะตักเตือนท่าน จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:
[๑๐๔๓] ท่านสละหมู่บ้านอันบริบูรณ์ถึงหมื่นหกพันตำบล และคลังที่เต็มไปด้วยทรัพย์มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาทำการสะสมเพียงก้อนเกลืออีกเล่า วิเทหดาบสถูกตำหนิอยู่อย่างนี้ ทนคำตำหนิไม่ได้ ก็กลายเป็นปฏิปักษ์ไป เมื่อจะแย้งว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านไม่เห็นโทษของตัวเองเห็นแต่โทษของผมอย่างเดียว ท่านดำริว่าเราจะประโยชน์อะไรด้วยคนอื่นที่ตักเตือนเรา เราจักเตือนตัวเราเอง ทอดทิ้งราชสมบัติออกบวชแล้ว แต่วันนี้เหตุไฉนท่านจึงตักเตือนผม

จึงได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:
[๑๐๔๔] ท่านสู้สละคันธารวิสัย อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์มากมาย เลิกการสั่งสม๑ มาแล้ว บัดนี้ ทำไมยังมาสอนข้าพเจ้าให้สั่งสมในที่นี้อีกเล่า ท่านทิ้งคันธารรัฐ หนีจากการปกครองในราชธานีอันนั้น บัดนี้ยังจะปกครองในที่นี้อีก

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้วได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า:
[๑๐๔๕] ดูกรท่านวิเทหดาบส ข้าพเจ้าย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ข้าพเจ้าไม่พอใจกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม เมื่อข้าพเจ้ากล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อมไม่เข้ามาติดอยู่เลย วิเทหดาบสฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ บุคคลแม้เมื่อกล่าวถ้อยคำที่อิงประโยชน์ ก็ไม่ควรกล่าวกระทบเสียดแทงผู้อื่น ท่านกล่าวคำหยาบคายมาก เหมือนโกนผมด้วยมีดโกนไม่คม

แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:
[๑๐๔๖] บุคคลอื่นได้รับความโกรธเคือง เพราะถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงหากถ้อยคำนั้นจะมีประโยชน์มาก บัณฑิตก็ไม่ควรกล่าว (เนื้อความว่า บุคคลไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายบุคคลอื่น แม้วาจานั้นจะมีประโยชน์มากมาย)

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาที่ ๕ แก่วิเทหดาบสนั้น ว่า:
[๑๐๔๗] บุคคลทำกรรมที่ไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนอยู่ จะโกรธเคืองก็ตาม ไม่โกรธเคืองก็ตาม หรือจะทิ้งเสียเหมือนโปรยข้าวลีบก็ตาม เมื่อข้าพเจ้ากล่าวคำที่เป็นธรรมอยู่ บาปย่อมไม่เข้าติดอยู่เลย (มีคำอธิบายว่า บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร) เมื่อถูกตักเตือนว่า ท่านทำกรรมไม่สมควรแล้ว จะโกรธก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม อีกอย่างหนึ่งเขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี ก็แหละพระโพธิสัตว์ ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วได้ดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติที่สมควรแก่โอวาทของพระสุคตนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตจักไม่ทะนุถนอมเลยเหมือนช่างหม้อทะนุถนอมภาชนะดินเหนียวที่ยังดิบๆ ฉะนั้น เราตถาคตจักบำราบเอาบำราบเอา ผู้ใดหนักแน่นเป็นสาระ ผู้นั้นก็จักดำรงอยู่ได้ เมื่อจะตักเตือนวิเทหดาบสอีก เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านตักเตือนบำราบแล้วตักเตือนบำราบอีก จึงรับบุคคลทั้งหลายผู้เช่นกับภาชนะดินที่เผาสุกแล้วไว้ เหมือนช่างหม้อเคาะดูแล้ว เคาะดูอีก ไม่รับเอาภาชนะดินที่ยังดิบไว้ รับเอาเฉพาะภาชนะดินที่เผาสุกแล้วเท่านั้นไว้ฉะนั้น

ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาไว้ว่า:
[๑๐๔๘] ถ้าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงมีปัญญาของตนเอง หรือไม่พึงได้ศึกษาวินัยดีแล้ว ชนเป็นอันมากก็จะเที่ยวไป เหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า ฉะนั้น

[๑๐๔๙] ก็แลบุคคลบางพวกในโลกนี้ ได้ศึกษาวินัยมาเป็นอย่างดีในสำนักอาจารย์ เพราะฉะนั้น เขาทั้งหลาย จึงมีวินัยอันอาจารย์แนะนำแล้ว เป็นนักปราชญ์ มีจิตตั้งมั่นดี เที่ยวไป

คาถานี้มีเนื้อความว่า ดูก่อนสหายวิเทหะ เพราะว่าถ้าหากสัตว์เหล่านี้ ไม่มีปัญญาหรือไม่มีวินัยคืออาจารบัญญัติที่ศึกษาดีแล้วเพราะอาศัยเหล่าบัณฑิตผู้ให้โอวาทไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้คนเป็นอันมากก็จะเป็นเช่นท่าน เที่ยวไปเหมือนกระบือตาบอด ไม่รู้ที่ๆ เป็นที่โคจรหรือ อโคจร มีสิ่งที่น่ารังเกียจหรือไม่มีสิ่งที่น่ารังเกียจ เที่ยวไปในพงหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้น

แต่เพราะเหตุที่สัตว์บางพวกในโลกนี้ ที่ปราศจากปัญญาของตน ศึกษาดีแล้วด้วยอาจารบัญญัติในสำนักอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีวินัยที่แนะนำแล้ว เพราะตนเป็นผู้ที่อาจารย์แนะนำแล้ว ด้วยวินัยที่เหมาะสม คือเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ได้แก่เป็นผู้มีจิตเป็นสมาธิเที่ยวไปดังนี้

ด้วยคาถานี้ท่านคันธารดาบส แสดงคำนี้ไว้ว่า จริงอยู่คนนี้เป็นคฤหัสถ์ก็ศึกษาสิกขาที่สมควรแก่ตระกูลของตน เป็นบรรพชิตก็ศึกษาสิกขาที่สมควรแก่บรรพชิต อธิบายว่า ฝ่ายคฤหัสถ์เป็นผู้ศึกษาดีในกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น ที่เหมาะสมแก่ตระกูลของตนแล้วเที่ยว ก็จะเป็นผู้มีความเป็นอยู่สมบูรณ์ มีใจมั่นคงเที่ยวไป ส่วนบรรพชิต เป็นผู้ศึกษาดีในอาจาระมีการก้าวไปข้างหน้าและการถอยกลับเป็นต้น และในอธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาทั้งหลายที่เหมาะสมแก่บรรพชิต ที่น่าเลื่อมใสแล้วก็เป็นผู้ปราศจากความฟุ้งซ่านมีจิตตั้งมั่นเที่ยวไป เพราะว่าในโลกนี้: ความเป็นพหูสูต ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาที่เป็นสุภาษิต ๑ สามอย่างนี้เป็นมงคลอันสูงสุดดังนี้

วิเทหดาบสได้ฟังคำนั้นแล้ว ไหว้ขอขมาพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอท่านจงตักเตือนจงพร่ำสอนเราเถิด เรากล่าวกะท่านเพราะความเป็นผู้ไม่มีความยับยั้งใจโดยกำเนิด ขอท่านจงให้อภัยแก่เราเถิด ท่านทั้ง ๒ นั้นอยู่สมัครสมานกันแล้วได้พากันไปป่าหิมพานต์อีกนั่นแหละ ณ ที่นั้นพระโพธิสัตว์ได้บอกกสิณบริกรรมแก่วิเทหดาบส ท่านสดับแล้วยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ทั้ง ๒ ท่านนั้นเป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมแล้ว ได้เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า วิเทหราชาในครั้งนั้น ได้แก่พระอานนท์ในบัดนี้ ส่วน คันธารราชา ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล


จบ คันธารชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 02 มีนาคม 2558 14:01:15 »

.



จุลลธรรมปาลชาดก
ความรักของแม่ที่มีต่อลูก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ทรงปรารภการพยายามของพระเทวทัตเพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์

จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.-
ในชาดกอื่นๆ พระเทวทัตไม่สามารถที่จะทำแม้เพียงความสะดุ้งให้เกิดแก่พระโพธิสัตว์ ส่วนในจุลลธรรมปาลชาดกนี้ พระเทวทัตให้ตัดมือ เท้า และศีรษะและให้ทำการลงฑัณฑ์ชื่ออสิมาลกะ (โยนซาก ศพขึ้นบนอากาศแล้วรับด้วยปลายดาบ ในฎีกาว่า เอาดาบสับให้เนื้อละเอียด.)

ในเวลาที่พระโพธิสัตว์มีอายุ ๗ เดือน ใน ทัททรชาดก พระเทวทัตหักคอให้ตายแล้วปิ้งเนื้อบนเตากิน ใน ขันติวาทีชาดก ให้เอาแช่หวายสองเส้น เฆี่ยนพันครั้ง ให้ตัดมือ เท้า หู และจมูก แล้วจับที่ชฎาดึงมาให้นอนหงาย กระทืบที่อกแล้วไป

พระโพธิสัตว์ถึงความสิ้นชีวิต ในวันนั้นเอง ใน จุลลนันทิกชาดก ก็ดี ใน มหากปิชาดก ก็ดี ได้แต่ฆ่าให้ตายเท่านั้น

พระเทวทัตนี้ พยายามปลงพระชนม์อยู่ตลอดกาลนาน ด้วยประการอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาล ก็ได้พยายามอยู่เหมือนกัน
 
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตกระทำอุบายเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าเท่านั้น พระเทวทัตคิดว่า จักปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงว่าจ้างนายขมังธนู กลิ้งศิลา และให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาด้วย เรื่องอะไรในบัดนี้ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องที่กำลังสนทนากันอยู่ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้นแม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็พยายามฆ่าเราเหมือนกัน แต่ว่าในบัดนี้ พระเทวทัตไม่อาจทำแม้แต่ความสะดุ้งตกใจ ในกาลก่อน ในเวลาที่เราเป็นธรรมปาลกุมาร พระเทวทัตทำเราผู้เป็นบุตรของตนให้ถึงแก่สิ้นชีวิต แล้วให้ทำการลงทัณฑ์ชื่อ อสิมาลกะ ครั้นตรัสแล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ามหาปตาปะ ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ามหาปตาปราชนั้น พระญาติทั้งหลายขนานนาม พระโพธิสัตว์นั้นว่า ธรรมปาละ ในเวลาที่ธรรมปาลกุมารนั้นมีอายุ ได้ ๗ เดือน พระมารดาให้สรงสนานธรรมปาลกุมารนั่นนั้น โดยน้ำผสมด้วยของหอม แต่งพระองค์แล้วประทับนั่งให้เล่นอยู่ พระราชาเสด็จมายังสถานที่พระเทวีนั้นประทับอยู่ พระเทวีนั้นให้พระโอรสเล่นอยู่ โดยที่เป็นผู้ทรงเปี่ยมด้วยความสิเนหาในพระโอรส แม้ได้เห็นพระราชาก็มิเสด็จลุกขึ้นรับ พระราชานั้นทรงดำริว่า เดี๋ยวนี้ นางจันทานี้ กระทำมานะถือตัวเพราะอาศัยบุตร ไม่เห็นความสำคัญของเราในเรื่องไรๆ ก็เมื่อบุตรเติบโตขึ้น นางก็คงจักไม่กระทำความสำคัญเราว่าเป็นมนุษย์ก็ได้ เราจักฆ่าเสียในบัดนี้แหละ
 
ท้าวเธอจึงเสด็จกลับไปประทับนั่งบนราชอาสน์ แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมา โดยพระโองการว่า เพชฌฆาตจงมาโดยพิธีธรรมเนียมของตน เพชฌฆาตนั้นจึงนุ่งห่มผ้าย้อม น้ำฝาด ทัดทรงดอกไม้แดง แบกขวาน ถือท่อนไม้สำหรับวางพาดมือ และเท้า มีปุ่มเป็นที่รองรับมาถวายบังคมพระราชากราบทูลว่า เทวะ จะทรงมีพระบัญชาให้ข้าพระพุทธเจ้ากระทำอะไร
 
ครั้นกราบทูลแล้ว ได้ยืนคอยรับ พระบัญชาอยู่
 
พระราชารับสั่งว่า ท่านจงเข้าไปยังห้องบรรทมของพระเทวี แล้วนำธรรมปาลกุมารมา ฝ่ายพระเทวีทรงทราบว่า พระราชาทรงกริ้วแล้วเสด็จกลับไป จึงให้พระโพธิสัตว์นอนแนบพระอุระ ประทับนั่งทรงพระกรรแสงอยู่ นายเพชฌฆาตมาถึงเอามือตบพระปฤษฎางค์พระเทวีนั้นแล้วชิงพระกุมารไปจากพระหัตถ์ พามายังพระที่นั่งของพระราชาแล้วกราบทูลว่า เทวะ  ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำอะไร
 
พระราชารับสั่งว่า ท่านจงให้นำเอาแผ่นกระดานมาแล้วให้วางลงข้างหน้า แล้วให้กุมารนั้นนอนบนแผ่นกระดานนี้

นายเพชฌฆาตนั้นได้กระทำตามรับสั่งอย่างนั้น พระนางจันทาเทวีทรงปริเทวนาการร่ำไรมาข้างหลังพระโอรสนั่นแล
 
เพชฌฆาตกราบทูล อีกว่า เทวะ ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำอะไร
 
พระราชารับสั่งว่า จงตัดมือทั้งสองของธรรมปาลกุมาร
 
พระนางจันทาเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชบุตรของหม่อมฉันเพิ่งมีอายุได้ ๗ เดือน ยังอ่อนอยู่ ไม่รู้อะไร บุตรของหม่อมฉันนั้น ไม่มีโทษผิด ก็โทษผิดแม้จะยิ่งใหญ่ก็ควรจะมีในหม่อมฉัน เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้ตัดมือทั้งสองของหม่อมฉันเถิด เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงกล่าวคาถา ที่ ๑ ว่า :
 
[๗๓๗] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดมือของหม่อมฉันเถิด.
 
พระราชาทรงแลดูนายเพชฌฆาตๆ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จะกระทำอย่างไร
 
พระราชาตรัสว่า ท่านอย่าชักช้า จงตัดมือทั้งสองเสีย ขณะนั้น นายเพชฌฆาตถือขวานอันคมกล้า ตัดมือทั้งสองของพระกุมารเหมือนตัดหน่อไม้อ่อนฉะนั้น
 
เมื่อนายเพชฌฆาตตัดมือทั้งสองอยู่ ธรรมปาลกุมารนั้น ไม่ร้องไห้ ไม่ร่ำไร กระทำขันติและเมตตาให้เป็นปุเรจาริก อดกลั้นอยู่ ส่วนพระนางจันทาเทวีถือเอาปลายมือที่ขาดใส่ไว้ในพก มีโลหิตไหลอาบพระองค์ ทรงเที่ยวปริเทวนาการอยู่
 
นายเพชฌฆาตทูลถามอีกว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จะทำอะไร
 
พระราชาตรัสว่า จงตัดเท้าทั้งสองเสีย พระนางจันทาเทวีได้สดับดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า
 
[๗๓๘] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดเท้าของหม่อมฉันเถิด.
 
ฝ่ายพระราชาทรงสั่งบังคับเพชฌฆาตอีก นายเพชฌฆาตนั้นได้ตัดเท้าทั้งสองขาด พระนางจันทาเทวีถือเอาปลายเท้าใส่ไว้ในพก มีโลหิตโซมกาย ทรงร่ำไห้กราบทูลว่า ข้าแต่พระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระสวามี ทารกชื่อว่ามีมือและเท้าอันพระองค์ให้ตัดแล้ว อันมารดา จำต้องเลี้ยงดูมิใช่หรือ หม่อมฉันจักรับจ้างเลี้ยงบุตรของหม่อมฉัน ขอพระองค์จงประทานบุตรนั่นแก่หม่อมฉันเถิด
 
นายเพชฌฆาตกราบ ทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์กระทำตามพระราชอาชญาแล้ว กิจของข้าพระองค์เสร็จแล้วหรือ ?
 
พระราชาตรัสว่า ยังไม่เสร็จก่อน
 
นายเพชฌฆาตกราบทูลว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จะทำอะไร
 
พระราชาตรัสว่า จงตัดศีรษะธรรมปาลกุมารนี้ ลำดับนั้น พระนางจันทาเทวี จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :
 
[๗๓๙] หม่อมฉันผู้เดียวที่ตัดความเจริญ กระทำความผิดต่อพระเจ้ามหาปตาปะ ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยธรรมปาลกุมารนี้เสียเถิด โปรดรับสั่งให้ตัดศีรษะของหม่อมฉันเถิด.
 
ก็แหละครั้นตรัสแล้ว พระนางจึงน้อมศีรษะเข้าไป เพชฌฆาตกราบทูลถามพระราชาอีกว่า ข้าแต่สมมติเทพ

ข้าพระองค์จะกระทำอะไร ?
 
พระราชาตรัสว่า จงตัดศีรษะของธรรมปาลกุมารนั้นเสีย นายเพชฌฆาตนั้นครั้นตัดศีรษะแล้ว จึงกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์กระทำตามพระราชอาชญาแล้วหรือ
 
พระราชาตรัสว่า ยัง ไม่ได้กระทำก่อน
 
นายเพชฌฆาตกราบทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพระองค์จะกระทำอะไรอีก ?
 
พระราชาตรัสว่า ท่านจงเอาปลายดาบรับร่างธรรมปาลกุมารนั้น กระทำฑัณฑ์ชื่อ อสิมาลกะ

นายเพชฌฆาตนั้นจึงโยนร่างของธรรมปาลกุมารนั้นขึ้นไปในอากาศ แล้วเอาปลายดาบรับร่างของธรรมปาลกุมารนั้น จนร่างแหลกเหลวเป็นเศษเนื้อ แล้วโปรยลงที่ท้องพระโรง พระนางจันทาเทวีจึงใส่เนื้อของพระโพธิสัตว์ไว้ในพก ทรงร้องไห้คร่ำครวญได้กล่าวคาถา เหล่านี้ว่า :
 
[๗๔๐] ใครๆ ผู้เป็นมิตร และอำมาตย์ของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรซึ่งเกิดแต่พระอุระเสียเลย ก็ไม่มี.
 
[๗๔๑] ใครๆ ผู้เป็นมิตรและพระญาติของพระราชานี้ ที่มีใจดี คงจะไม่มีแน่นอน ผู้ที่จะทูลห้ามพระราชาว่า อย่าทรงปลงพระชนม์พระราชบุตรที่เกิดจากพระองค์เสียเลย ก็ไม่มี.

 
ก็พระนางจันทาเทวี ครั้นกล่าวคาถา ๒ คาถานี้แล้ว จึงกล่าว คาถาที่ ๓ ว่า :
 
[๗๔๒] แขนของธรรมปาลกุมารผู้เป็นทายาทแห่งแผ่นดิน อันลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์แดง มาขาดไปเสีย ข้าแต่สมมติเทพ ชีวิตของหม่อมฉันก็คงจะดับไป
 
เมื่อพระนางทรงร่ำไห้อยู่อย่างนั้น พระหทัยก็แตกไป เหมือนไม้ไผ่ถูกไฟไหม้อยู่อย่างนั้นฉะนั้น พระนางได้ถึงความสิ้นพระชนม์ ลง ณ ที่นั้นเอง ฝ่ายพระราชาก็ไม่อาจดำรงอยู่บนบัลลังก์ได้ จึงตกลงไปที่ท้องพระโรง พื้นที่อันเรียบสนิทแยกออกเป็นสองภาค แผ่นดินทึบหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ไม่อาจรองรับโทษผิดของพระราชานั้นได้ จึงได้แยกเป็นช่องเปลวไฟพลุ่งขึ้นจากอเวจีมหานรก พัดเอาพระเจ้ามหาปตาปะลงไปในอเวจีมหานรก ประดุจหุ้มด้วยผ้ากัมพลฉะนั้น

ส่วนพระนางจันทาเทวี และพระโพธิสัตว์ อำมาตย์ทั้งหลายได้ปลงพระศพให้แล้ว.
 
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต พระนางจันทาเทวี ได้เป็นพระมหาปชาบดีโคตมี ส่วนธรรมปาลกุมาร ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.


จบ จุลลธรรมปาลชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มีนาคม 2558 14:03:00 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 09 มีนาคม 2558 12:32:55 »

.



ตุณฑิลชาดก
(สุกรโพธิสัตว์)
ธรรมเหมือนน้ำ บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้กลัวตายรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีนั้น บวชในพระศาสนาแต่ได้เป็นผู้กลัวตาย เธอได้ยินเสียงกิ่งไม้สั่นไหว ท่อนไม้ตก เสียงนก หรือสัตว์สี่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย คือเบาๆ หรือเสียงอย่างอื่นแบบนั้น ก็จะเป็นผู้ถูกภัยคือความตายขู่ เดินตัวสั่นไปเหมือนกระต่ายถูกแทงที่ท้อง

ฉะนั้นภิกษุทั้งหลายพากันสนทนาในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุชื่อโน้นกลัวตาย ได้ยินเสียงแม้เพียงเล็กน้อยก็ร้องพลางวิ่งพลางหนีไป ควรจะมนสิการว่า ก็ความตายของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้นั้นเป็นของเที่ยงแต่ชีวิตไม่เที่ยง ดังนี้

พระศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรนะ เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถึงเรื่องที่สนทนากัน แล้วตรัสสั่งให้หาภิกษุนั้นมา แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ทราบว่าเธอกลัวตาย จริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นทูลรับว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า ดังนี้    จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน ภิกษุนี้ก็กลัวตายเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องของแม่สุกร เมื่อแม่สุกรท้องแก่ครบกำหนดแล้วก็คลอดลูกออกมา ๒ ตัว อยู่มาวันหนึ่งมันพาลูก ๒ ตัวนั้นไปนอนที่หลุมแห่งหนึ่ง ในครั้งนั้น หญิงชราคนหนึ่ง อยู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี เก็บฝ้ายจากไร่ได้เต็มกระบุง จึงเอาไม้เท้ายันดินเดินมา  แม่สุกรได้ยินเสียงนั้นแล้วจึงทิ้งลูกน้อยหนีไป เพราะกลัวตาย หญิงชราเห็นลูกสุกรก็เกิดความรักเหมือนดังเป็นลูก จึงเอาใส่กระบุงไปถึงเรือน แล้วตั้งชื่อตัวพี่ว่า มหาตุณฑิละ ตัวน้องว่า จุลตัณฑิละ เลี้ยงมันเหมือนลูก ในเวลาต่อมามันเติบโตขึ้น ได้มีร่างกายอ้วน หญิงชราถึงจะถูกทาบทามว่า จงขายหมูเหล่านี้ให้พวกฉันเถิด ก็บอกว่าลูกของฉัน แล้วไม่ขายให้ใคร

ภายหลังในวันมหรสพ วันหนึ่งพวกนักเลงดื่มสุรา เมื่อเนื้อหมดก็หารือกันว่า พวกเราจะได้เนื้อจากที่ไหนหนอ ครั้นได้ทราบว่าที่บ้านหญิงชรามีสุกร จึงพากันถือเหล้าไปที่นั้น พูดว่า คุณยายครับ ขอให้คุณยายรับเอาราคาสุกรแล้วให้สุกรตัวหนึ่งแก่พวกผมเถิด  หญิงชรานั้นปฏิเสธว่า อย่าเลยหลานเอ๋ย สุกรนั่นเป็นลูกฉัน ธรรมดาคนจะให้ลูกแก่คนที่ต้องการจะกินเนื้อ ไม่มีหรอก

พวกนักเลงแม้จะอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่าว่า ขึ้นชื่อว่าหมูจะเป็นลูกของคนไม่มีน่ะ ให้มันแก่พวกผมเถิด ก็ไม่ได้สุกร จึงให้หญิงชราดื่มสุรา เวลาแกเมาแล้วก็พูดว่า ยาย ยาย จะทำอะไรกับหมู?  ยายเอาราคาหมูนี้ไปไว้ทำเป็นค่าใช้จ่ายเถิด แล้ววางเหรียญกระษาปณ์ไว้ในมือหญิงชรา หญิงชรารับเอาเหรียญกระษาปณ์ พูดว่า หลานเอ๋ย ยายไม่อาจจะให้สุกรชื่อมหาตุณฑิกะได้ จงพากันเอาจุลตุณฑิละไป.

- มันอยู่ที่ไหน? นักเลงถาม.
- ที่กอไม้กอโน้น หญิงชราตอบ.
- ยายให้เสียงเรียกมันสิ นักเลงสั่ง.
- ฉันไม่เห็นอาหาร หญิงชราตอบ.

นักเลงทั้งหลายจึงให้ค่าอาหารให้ไปนำข้าวมา ๑ ถาด หญิงชรารับเอาค่าอาหารนั้น จัดซื้อข้าว เทให้เต็มรางหมูที่วางไว้ใกล้ประตูแล้วได้ยืนอยู่ใกล้ๆ ราง นักเลงประมาณ ๓๐ คน มีบ่วงในมือได้ยืน อยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง  หญิงชราได้ให้เสียงร้องเรียกหมูว่า ลูกจุลตุณฑิละมาโว้ย   มหาตุณฑิละได้ยินเสียงนั้นแล้วรู้แล้วว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่เราไม่เคยให้เสียงแก่จุลตุณฑิละ ส่งเสียงถึงเราก่อนทั้งนั้น วันนี้คงจักมีภัยเกิดขึ้นแก่พวกเราแน่แท้  มหาตุณฑิละจึงเรียกจุลตุณฑิละมาแล้วบอกว่า น้องเอ๋ย แม่ของเราเรียกเจ้า เจ้าลงไปให้รู้เรื่องก่อน จุลตุณฑิละ ก็ออกจากกอไม้ไป เมื่อเห็นนักเลงเหล่านั้นยืนอยู่ใกล้รางข้าวก็รู้ว่า วันนี้ความตายจะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ถูกมรณภัยคุกคามอยู่ จึงหันกลับตัวสั่นไปหาพี่ชายไม่อาจจะยืนอยู่ได้ ตัวสั่นหมุนไปรอบๆ มหาตุณฑิละเห็นเขาแล้วจึงถามว่าน้องเอ๋ย ก็วันนี้เจ้าสั่นเทาไป เจ้าทำอะไรนั่น มันเมื่อจะบอกเหตุที่ตนได้เห็นมา จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:

[๙๑๗] วันนี้ มารดาให้ข้าวที่เทลงใหม่ๆ รางข้าวก็เต็ม มารดาก็ยืนอยู่ใกล้ๆ รางข้าวนั้น ใช่แต่เท่านั้น ยังมีคนเป็นอันมากยืนถือบ่วงอยู่ ฉันไม่พอใจ มหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว พูดว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย ได้ทราบว่า ธรรมดาแม่ของเรา เมื่อเลี้ยงสุกรไว้ในที่นี้นั่นเอง ย่อมเลี้ยงเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นของท่านถึงที่สุดแล้วในวันนี้ น้องอย่าคิดเลย

 เมื่อจะแสดงธรรมโดยลีลาพระพุทธเจ้า ด้วยเสียงที่ไพเราะ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๙๑๘] เจ้าสะดุ้งกลัวภัย หมุนไปมา ปรารถนาที่ซ่อนเร้น เป็นผู้ไร้ที่พึ่ง จะไปไหนเล่า ดูกรน้องตุณฑิละ เจ้าจงมีความขวนขวายน้อยบริโภคอาหารเสียเถิด เราทั้งสองมารดาเลี้ยงไว้ ก็เพื่อจะต้องการเนื้อ.

[๙๑๙] เจ้าจงหยั่งลงยังห้วงน้ำที่ไม่มีเปือกตม แล้วชำระเหงื่อและมลทินทั้งปวงเสีย จงถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ เถิด.


เมื่อมหาตุณฑิละมหาสัตว์นั้น รำลึกถึงบารมีทั้งหลาย แล้วทำเมตตาบารมีให้เป็นปุเรจาริกอยู่นั่นเอง ก็ปรากฏเสียงดังไปทั่วพระนครพาราณสี ที่กว้างยาวทั้งสิ้น ๑๒ โยชน์ ชาวนครพาราณสีที่ได้ยินเสียงนั้น ตั้งต้นแต่ พระราชา และพระอุปราชเป็นต้น ได้พากันมาตามเสียง ฝ่ายผู้ไม่ได้มาอยู่ที่บ้านนั่นเองก็ได้ยินราชบุรุษทั้งหลายพากันถางพุ่มไม้ ปราบพื้นที่ให้เสมอแล้วเกลี่ยทรายลง ผู้ให้สุราแก่นักเลงทั้งหลายก็งดให้ พวกนักเลงพากันทิ้งบ่วงแล้วได้ยืนฟังธรรมกันทั้งนั้น   ฝ่ายหญิงชราก็หายเมา มหาสัตว์ได้กล่าวปรารภเทศนาแก่จุลตุณฑิละท่ามกลางมหาชน.

จุลตุณฑิละได้ยินคำนั้นแล้วคิดว่า พี่ชายของเราทำไมพูดอย่างนี้ เผ่าพันธุ์ของพวกเราไม่มีการลงสระโบกขรณี แล้วอาบน้ำชำระล้างเหงื่อไคลออกจากสรีระร่าง การนำเอาเครื่องลูบไล้เก่าออกไปแล้วเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งลูบไล้ ไม่มีในกาลไหนเลย พี่ชายของเราพูดอย่างนี้ หมายถึงอะไรกันหนอ ดังนี้แล้ว เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า:

[๙๒๐] อะไรหนอ ที่ท่านกล่าวว่า ห้วงน้ำไม่มีเปือกตม อะไรเล่า ท่านกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และอะไรเล่า ท่านกล่าวว่า เครื่องลูบไล้ใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ

พระมหาสัตว์ได้ยินคำตอบนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเธอจงเงี่ยโสตฟัง เมื่อจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า:
[๙๒๑] ธรรม๑ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นห้วงน้ำไม่มีเปือกตม บาปธรรม๒ บัณฑิตกล่าวว่า เหงื่อไคลและมลทิน และศีล๓ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอม ไม่รู้จักหายในกาลไหนๆ.

[๙๒๒] มนุษย์ทั้งหลาย ผู้โง่เขลา ฆ่าตัวเอง ย่อมพอใจทำบาป๔ ส่วนสัตว์ผู้รักษาตัวเองย่อมไม่พอใจทำบาป สัตว์ทั้งหลาย รื่นเริงในเดือนมีพระจันทร์เต็มดวง ย่อมสละชีวิตได้.
ธรรมะทั้งหมดนี้ คือศีล ๕ ศีล ๑๐ สุจริต ๓ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และ อมตมหานิพพาน ชื่อว่าธรรม ชื่อว่าไม่มีโคลนตม เพราะไม่มีโคลนตม คือ กิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฐิ บทนี้ มหาตุณฑิละ งดธรรมที่เหลือไว้แสดงพระนิพพานเท่านั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม มีประมาณเท่าใด วิราคธรรมท่านกล่าวว่าล้ำเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ได้แก่ธรรมให้
สร่างเมา ปราศจากความหิวกระหาย ถอนอาลัยออกได้ ตัดวัฏฏะได้ เป็นที่สิ้นตัณหา วิราคะ คือคลายกำหนัด นิโรธ คือ ดับตัณหาไม่มีเหลือ นิพพาน คือดับกิเลสและทุกข์หมด นัยว่าพระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงพระนิพพานนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยอำนาจอุปนิสสัยปัจจัยว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย เราเรียกสระคือพระนิพพานว่า ห้วงน้ำ เพราะในพระนิพพานนั้นนั่นเอง ไม่มีชาติ ชรา พยาธิ และมรณทุกข์เป็นต้น แม้ว่าหากจะมีผู้ประสงค์จะพ้นจากมรณะ ก็จงเรียนข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงพระนิพพาน

น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย บัณฑิตในสมัยก่อนทั้งหลายเรียกบาปว่าเป็น เหงื่อไคล เพราะเป็นเช่นกับเหงื่อไคล ก็บาปนี้นั้น
บาปมีอย่างเดียวคือ กิเลสเครื่องประทุษร้ายใจ
บาปมี ๒ อย่างคือ ศีลที่เลวทรามกับทิฐิที่เลวทราม
บาปมี ๓ อย่าง คือ ทุจริต ๓
บาปมี ๔ อย่าง คือ การลุ อำนาจอคติ ๔ อย่าง
บาปมี ๕ อย่าง คือ สลักใจ ๕ อย่าง
บาปมี ๖ อย่าง คือ อคารวะ ๖ อย่าง
บาปมี ๗ อย่าง คือ อสัทธรรม ๗ ประการ
บาปมี ๘ อย่าง คือ ความเห็นผิด ๘ ประการ
บาปมี ๙ อย่าง คือ เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๙ อย่าง
บาปมี ๑๐ อย่าง คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐

บาปมีมากอย่าง คือ อกุศลธรรมทั้งหลายที่ทรงจำแนกออกไป โดยเป็นธรรมหมวด ๑ หมวด ๒ และหมวด ๓ เป็นต้น อย่างนี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ
ศีลได้แก่ศีล ๕ ศีล ๑๐ และ ปาริสุทธศีล ๔ น้องเอ๋ย บัณฑิตทั้งหลาย เรียกศีลนี้ว่าเป็นเสมือนเครื่องลูบไล้ใหม่ กลิ่นของศีลนั้น แต่ไหนแต่ไรมาไม่ขาดหายไปในวัยทั้ง ๓ คือไม่แผ่ไปทั่วโลก.

กลิ่นดอกไม้จะไม่หอมทวนลมไป กลิ่นจันทน์กฤษณา หรือดอกมะลิก็ไม่หอมทวนลมไป แต่กลิ่นของสัตบุรุษหอมทวนลมไป สัตบุรุษฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ กลิ่นศีลหอมยิ่งกว่าคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์กฤษณะ ดอกอุบล หรือดอกมะลิ เพราะกลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้หอมน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลายหอมมากฟุ้งขจรไปในเทวโลกและมนุษย์โลก.

ความว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย คนผู้ไม่มีความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อทำปาณาติบาต จะเพลิดเพลินพอใจว่า พวกเราจักกินเนื้ออร่อยบ้าง จักให้ลูกเมียกินบ้าง คือไม่รู้โทษของปาณาติบาตเป็นต้น นี้ว่า ปาณาติบาตที่ประพฤติจนชิน อบรมมา ทำให้มากแล้ว จะเป็นเพื่อให้เกิดในนรก จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ฯลฯ จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในเปรตวิสัย วิบากของปาณาติบาตที่เบากว่าวิบากทั้งหมด จะเป็นไปเพื่อให้ผู้เกิดเป็นมนุษย์มีอายุน้อย ดังนี้ เมื่อไม่รู้ก็จะเป็นผู้สำคัญบาปว่าเป็นน้ำผึ้ง ตามพระพุทธภาษิตว่า:

คนโง่ย่อมสำคัญบาปว่าเป็นเหมือนน้ำผึ้งตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนโง่ก็จะเข้าถึงทุกข์. ไม่รู้แม้เหตุมีประมาณเท่านี้ว่า: คนเขลา เบาปัญญา เที่ยวทำบาปกรรมซึ่งมีผลเผ็ดร้อนด้วยตนเอง ที่เป็นเหมือนศัตรู กรรมที่มีผลเผ็ดร้อน ทำให้ตนมีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไปพลางเสวยผลกรรมไปพลาง ทำแล้วไม่ดี.  น้องจุลตุณฑิละ เอ๋ย สัตว์เหล่านี้ใด ผู้รักษาชีวิตสัตว์ไว้ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ สัตว์เหล่านั้นที่เหลือ ตั้งต้นแต่พระโพธิสัตว์ไป เว้นไว้แต่มฤคราชสีห์ ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนยและพระขีณาสพ เมื่อความตายมาถึงตน ชื่อว่าไม่กลัว ไม่มี.   สัตว์ทั้งหลายสะดุ้งต่ออาชญากันหมด เพราะชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น คนควรเอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบแล้ว ไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่ากัน.  น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย เธออย่าเศร้าโศก อย่า ร้องไห้ ขึ้นชื่อว่าความตายไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้น แม้สัตว์ที่เหลือทั้งหลายก็มีความตาย สัตว์ผู้ไม่มีคุณมีศีลเป็นต้น อยู่ในภายในย่อมจะกลัว แต่พวกเราผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและอาจาระ เป็นผู้มีบุญ คือจะไม่กลัว เพราะฉะนั้นสัตว์ที่เช่นกับเรา จะยินดีสละชีวิตทีเดียว.

มหาสัตว์แสดงด้วยเสียงอันไพเราะ ด้วยพุทธลีลาอย่างนี้แล้ว ชุมนุมชนมีการปรบมือและการชูผ้าจำนวนพันเป็นไปแล้ว ท้องฟ้าได้เต็มไปด้วยเสียงสาธุการ พระเจ้าพาราณสีทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ประทานยศแก่หญิงชรา ทรงรับเอาสุกรทั้ง ๒ ตัวไว้ ทรงให้อาบด้วยน้ำหอม ให้ห่มผ้า ให้ไล้ทาด้วยของหอมเป็นต้น ให้ประดับแก้วมณีที่คอ แล้วทรงนำเข้าไปสู่พระนคร สถาปนาไว้ในตำแหน่งราชบุตร ทรงประคับประคองด้วยบริวารมาก พระโพธิสัตว์ได้ให้ศีล ๕ แก่ข้าราชบริพาร ชาวนครพาราณสีและชาวกาสิกรัฐพากันรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐ ทุกคน ฝ่ายมหาสัตว์ได้แสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นทุกวันปักษ์ นั่งในที่วินิจฉัยศาลพิจารณาคดี เมื่อมหาสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นชื่อ ว่าการโกงไม่มีแล้ว

ในกาลต่อมาพระราชาสวรรคต ฝ่ายมหาสัตว์ให้ประชาชนถวายพระเพลิงพระสรีระพระองค์ แล้วให้จารึกคัมภีร์วินิจฉัยคดีไว้แล้วบอกว่า ท่านทั้งหลายต้องดูคัมภีร์นี้พิจารณาคดี แล้วแสดงธรรมแก่มหาชน โอวาทด้วยความไม่ประมาท แล้วเข้าป่าไปพร้อมกับจุลตุณฑิละ โอวาทของพระโพธิสัตว์ครั้งนั้น ดำรงอยู่ถึง ๖ หมื่นปี.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ ในที่สุดแห่งสัจจธรรมภิกษุผู้กลัวตายนั้น ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า พระราชาในครั้งนั้นได้แก่พระอานนท์ในบัดนี้ จุลตุณฑิละ ได้แก่ภิกษุ
ผู้กลัวตาย บริษัทได้แก่พุทธบริษัท ส่วนมหาตุณฑิละ คือเราตถาคต ฉะนี้แล.
 


จบ ตุณฑิลชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 40.0.2214.115 Chrome 40.0.2214.115


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 13 มีนาคม 2558 15:50:24 »

.



ทรีมุขชาดก
ว่าด้วยโทษของกาม

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ มหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสเรื่องนี้ดังนี้ เรื่องในปัจจุบันได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.

ได้ยินว่า พระราชาทรงพระนามว่า มคธราช ครองราชสมบัติอยู่ในนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ ได้ถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระองค์ พระญาติทั้งหลายได้ถวายพระนามพระองค์ว่า พรหมทัตกุมาร ฝ่ายบุตรของปุโรหิตก็เกิดในวันที่พระราชกุมารประสูตินั่นเอง ใบหน้าของบุตรปุโรหิตนั้นสวยงามมาก เพราะเหตุนั้นญาติของเขาจึงได้ตั้งชื่อของเด็กนั้นว่า ทรีมุข ทั้งพระกุมารและบุตรปุโรหิตทั้ง ๒ นั้นเจริญเติบโตขึ้นในราชตระกูลนั้นเอง

ทั้งคู่นั้นเป็นสหายรักกัน เมื่อมีอายุได้ ๑๖ ชันษา ก็ได้ไปยังเมืองตักกศิลา เรียนศิลปะทุกอย่างแล้วพากันเที่ยวไปในคามนิคมเป็นต้น ด้วยความตั้งใจว่าจักพากันศึกษาลัทธิทุกลัทธิ และจักรู้จารีตของท้องถิ่นด้วย ครั้นเมื่อมาถึงเมืองพาราณสี ก็ได้พักอยู่ที่ศาลเจ้า รุ่งเช้าพากันเข้าไปเมืองพาราณสีเพื่อหาอาหาร คนในตระกูลๆ หนึ่ง ในเมืองพาราณสีนั้นประสงค์จะประกอบการกุศล จึงตั้งใจว่าจักเลี้ยงพราหมณ์ แล้วถวายเครื่องบูชา ดังนั้น จึงหุงข้าวปายาส แล้วปูอาสนะไว้เมื่อเห็นคนทั้ง ๒ นั้นกำลังเที่ยวภิกขาจาร เข้าใจว่าพราหมณ์มาแล้ว จึงให้เข้าไปในบ้าน ปูผ้าขาวไว้สำหรับพระมหาสัตว์ ปูผ้ากัมพลแดงไว้สำหรับทรีมุขกุมาร ทรีมุขกุมารเห็นนิมิตนั้นแล้ว ก็รู้ชัดว่าวันนี้สหายของเราจักเป็นพระเจ้าพาราณสี ส่วนเราจักเป็นเสนาบดี ทั้ง ๒ ท่านบริโภค ณ ที่นั้น แล้วรับเอาเครื่องบูชา จากนั้นจึงได้กล่าวมงคลแล้วก็ออกไป

ครั้นได้พากันไปถึงพระราชอุทยานพระมหาสัตว์บรรทมบนแผ่นศิลามงคล ส่วนทรีมุขกุมารนั่งนวดพระบาทของพระมหาสัตว์นั้น วันนั้นเป็นวันที่ ๗ แห่งการสวรรคตของพระเจ้าพาราณสี ปุโรหิตได้ถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ได้เสี่ยงบุษยราชรถในวันที่ ๗ เพราะราชสมบัติไม่มีรัชทายาท กิจเกี่ยวกับบุษยราชรถจักมีแจ้งชัดในมหาชนกชาดก บุษยราชรถออกจากพระนครไป มีจตุรงคเสนาห้อมล้อมพร้อมด้วยดุริยางค์หลายร้อย ประโคมขันเคลื่อนมาถึงประตูพระราชอุทยาน

ครั้งนั้น ทรีมุขกุมาร ได้ยินเสียงดุริยางค์ แล้วคิดว่า บุษยราชรถนี้มาแล้ว เพื่อสหายของเรา วันนี้สหายของเราจักเป็นพระราชา แล้วประทานตำแหน่งเสนาบดี แก่เรา เราจักประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน เราจักออกบวช ดังนี้แล้วจึงไม่ทูลเชิญพระโพธิสัตว์ ได้เดินเลยไปยังที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้ยืนแอบอยู่ในที่กำบัง

ปุโรหิตหยุดรถที่ประตูพระราชอุทยาน แล้วเข้าไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์บรรทมบนแผ่นศิลามงคล ตรวจดูลักษณะที่เท้าลายพระบาท แล้วทราบว่าเป็นคนมีบุญสามารถครองราชสมบัติสำหรับมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวารได้ แต่คนเช่นนี้คงเป็นคนมีปัญญาเครื่องทรงจำ จึงได้ประโคมดุริยางค์ทั้งหมดขึ้น พระโพธิสัตว์ตื่นบรรทมแล้ว ทรงนำผ้าสาฏกออกจากพระพักตร์ ทรงทอดพระเนตรเห็นมหาชน แล้วทรงเอาผ้าสาฎกปิดพระพักตร์อีก บรรทมต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง ระงับความกระวนกระวายแล้วเสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิบนแผ่นศิลา ปุโรหิตคุกเข่าลงแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชสมบัติกำลังตกถึงพระองค์.

พระโพธิสัตว์ - ราชสมบัติไม่มีรัชทายาทหรือ
ปุโรหิต - ไม่มีพระพุทธเจ้าข้า
พระโพธิสัตว์ - ถ้าอย่างนั้น ก็ดีแล้ว จึงทรงรับไว้.

ประชาชนเหล่านั้น ได้พากันทำการอภิเษกพระโพธิสัตว์นั้น ที่พระราชอุทยานนั่นเอง พระองค์มิได้ทรงนึกถึงทรีมุขกุมาร เพราะความมียศมาก พระองค์เสด็จขึ้นพระราชรถ มีบริวารห้อมล้อม เข้าไปสู่พระนคร ทรงกระทำประทักษิณ แล้วประทับยืนที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง ทรงพิจารณาถึงฐานันดรของอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาท

ขณะนั้น ทรีมุขกุมารคิดว่า บัดนี้ พระราชอุทยานว่างแล้ว จึงมานั่งที่ศิลามงคล ลำดับนั้นใบไม้เหลืองได้ร่วงลงมาข้างหน้าของเขา เขาเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไปในใบไม้เหลืองนั้นนั่นเอง พิจารณาไตรลักษณ์แผ่นดินได้กระหึ่มเสียงขึ้นกึกก้องไป พร้อมกับพระปัจเจกโพธิญาณเกิดขึ้น

ในขณะนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของท่านอันตรธานไป บาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ล่องลอยมาจากอากาศ สวมที่สรีระของท่าน ทันใดนั้นนั่นเองท่านก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาร้อยพรรษา เหาะไปในอากาศด้วยฤทธิ์ได้ไปยังเงื้อมนันทมูลกะในท้องถิ่นป่าหิมพานต์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เสวยราชสมบัติโดยธรรม แต่เพราะเป็นผู้มียศมากจึงทรงเป็นผู้มัวเมาด้วยยศ ไม่ทรงรำลึกถึงทรีมุขกุมาร เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี แต่เมื่อเวลาเลย ๔๐ ปี ผ่านไปแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงเขาแล้ว จึงตรัสว่า ฉันมีสหายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า ทรีมุข เขาอยู่ที่ไหนหนอ?  ดังนี้แล้ว มีพระราชประสงค์จะพบพระสหายนั้น นับแต่ นั้นมา พระองค์ก็ตรัสถามหาภายในเมืองบ้างท่ามกลางบริษัทบ้างว่า ทรีมุขกุมาร สหายของฉันอยู่ที่ไหน? ผู้ใดบอกที่อยู่ของเขาแก่ฉัน ฉันจะให้ยศสูงแก่ผู้นั้น เมื่อพระองค์ทรงระลึกถึงเขาอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ นั่นแหละเวลาได้ผ่านไปอีก ๑๐ ปี โดยเวลาผ่านไปถึง ๕๐ ปี

พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทรีมุข ทรงรำลึกถึงอยู่ก็ทรงทราบว่าสหายรำลึกถึงเราอยู่แล แล้วทรงดำริว่า บัดนี้ พระโพธิสัตว์นั้นทรงพระชรา จำเริญด้วยพระโอรสพระธิดา เราจักไปแสดงธรรมถวายให้พระองค์ทรงผนวช ดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมาทางอากาศด้วยฤทธิ์ลงที่พระราชอุทยาน นั่งบนแผ่นศิลาเหมือนพระพุทธรูปทองคำ ก็ปานกัน เจ้าหน้าที่รักษาพระราชอุทยานเห็นท่านแล้ว เข้าไปเฝ้า ทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาจากที่ไหน

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า มาจากเงื้อมเขานันทมูลกะ
เจ้าหน้าที่ - ท่านเป็นใคร?
พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า อาตมภาพ คือพระปัจเจกพุทธเจ้า ชื่อว่า ทรีมุข โยม.
เจ้าหน้าที่ - ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรู้จักในหลวงของข้าพระองค์ทั้งหลายไหม?
พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า รู้จักโยม เวลาเป็นคฤหัสถ์ พระองค์ทรงเป็นสหายของอาตมา.
เจ้าหน้าที่ - าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในหลวงมีพระราชประสงค์จะพบพระองค์ ข้าพระองค์จักทูลบอกว่า พระองค์เสด็จมาแล้ว.
พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า เชิญโยม ไปทูลบอกเถิด.

เจ้าหน้าที่ รับพระบัญชาแล้วรีบด่วนไปทีเดียว ทูลในหลวงถึงความที่พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่แผ่นศิลาแล้ว.
ในหลวงตรัสว่า ได้ทราบว่า พระสหายของฉันมาแล้ว ฉันจักไปเยี่ยมท่าน แล้วเสด็จขึ้นรถไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำการปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง

ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงทำปฏิสันถารกะพระองค์ พลางทูลคำมีอาทิว่า ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรมอยู่หรือ? ไม่ทรงลุอำนาจอคติหรือ? ไม่ทรงเบียดเบียนประชาสัตว์ เพื่อต้องการทรัพย์หรือ? ทรงบำเพ็ญบุญ มีทานเป็นต้นอยู่หรือ? ดังนี้แล้วทูลว่า ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงพระชราภาพแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยของพระองค์ที่จะทรงละกาม เสด็จออกผนวชแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรมถวายพระองค์ จึงได้ทูลคาถาที่ ๑ ว่า:
[๘๔๓] ดูกรมหาบพิตร กามทั้งหลายเหมือนสวะ กามทั้งหลายเหมือนหล่ม  อนึ่ง กามนี้ นักปราชญ์กล่าวว่า เป็นภัยใหญ่หลวงมั่นคง ไม่หวั่นไหว อาตมภาพขอถวายพระพรว่า กามเป็นธุลี และเป็นควัน ขอพระองค์จงทรงละกามเสด็จออกทรงผนวชเสียเถิด.

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัส หมายถึงพืชทั้งหลาย มีหญ้า สาหร่าย ไม้อ้อ และกอหญ้าเป็นต้น ที่เกิดขึ้นในน้ำ อุปมาเสมือนหนึ่งว่า พืชเหล่านั้นทำกระแสน้ำให้ไหลช้าลง หรือติดอยู่ฉันใด เบญจกามคุณทั้งหลาย หรือว่า วัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หล่ม หรือปลัก เป็นอุปสรรคยังพระโยคาวจร ผู้กำลังข้ามสงสารสาคร ให้ติดข้องอยู่ เพราะว่าเทวดาก็ตาม มนุษย์ก็ตาม สัตว์เดียรฉานทั้งหลายก็ตาม ผู้ข้องแล้ว ติดแล้วในปลักนั้น จะลำบาก ร้องไห้ คร่ำครวญอยู่ที่หล่มใหญ่ สัตว์ทั้งหลาย มีสุกรและเนื้อก็ตาม สิงโตก็ตาม ช้างก็ตาม ที่ติดแล้ว ไม่สามารถจะถอนตนขึ้นได้ ก็วัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลาย ท่านเรียกว่า หล่ม เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายถึงจะมีบุญก็ไม่สามารถทำลายกามเหล่านั้น รีบลุกขึ้นแล้วเข้าไปสู่การบรรพชาที่ไม่มีกังวล ไม่มีปลิโพธเป็นที่รื่นรมย์

กามทั้งหลาย อาตมาภาพประกาศไว้แล้วว่าเป็นธุลีด้วย เป็นควันด้วย อุปมาเสมือนหนึ่งว่า ร่างกายของชายที่อาบน้ำสะอาดแล้ว ลูบไล้และตกแต่งดีแล้ว แต่มีฝุ่นตกลงที่ร่างกาย จะมีสีคล้ำ ปราศจากความงาม ทำให้หม่นหมอง ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะสามารถมาโดยทางอากาศเหาะได้ด้วยกำลังฤทธิ์ ปรากฏแล้วในโลก เหมือนพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็มีสีมัวหมอง ปราศจากความงาม เป็นผู้เศร้าหมองแล้ว เริ่มแต่เวลาที่ธุลี คือกามตกลงไปภายในครั้งเดียว เพราะคุณความดี คือสี คุณความดี คือความงาม และคุณความดี คือความบริสุทธิ์ ถูกขจัดแล้ว อนึ่ง คนทั้งหลาย แม้จะสะอาดดีแล้ว ก็จะมีสีดำเหมือนฝาเรือนเมื่อถูกควันรม ฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีญาณบริสุทธิ์เหลือเกิน ก็จะปรากฏเป็นเหมือนคนผิวดำท่ามกลางมหาชนทีเดียว เพราะถึงความพินาศแห่งคุณความดี เริ่มต้นแต่เวลาที่ถูกควัน คือกามารมณ์ ดังนั้น กามเหล่านี้ อาตมภาพจึงประกาศแก่มหาบพิตรว่า เป็นทั้งธุลี เป็นทั้งควัน เพราะเป็นเช่นกับด้วยธุลีและควัน เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า จึงทรงให้พระราชาทรงเกิดอุตสาหะในการบรรพชา ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่มหาบพิตร พระราชสมภารพรหมทัตเจ้า ขอพระองค์จงทรงละกามเหล่านี้ ทรงผนวชเถิด.

พระราชา ครั้นทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสบอกความที่พระองค์ทรงคิดอยู่ด้วยกิเลสทั้งหลาย จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า:
[๘๔๔] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ายังกำหนัดยินดีลุ่มหลงในกามทั้งหลายอยู่ ยังมีความต้องการความเป็นอยู่อย่างนี้ จึงไม่สามารถจะละกามอันน่ากลัวนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าจะกระทำบุญเป็นอันมาก.

แม้เมื่อพระมหาสัตว์นั้นนั่นเอง ตรัสว่าโยมไม่อาจจะบวชได้ พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่ทรงทอดธุระ เมื่อจะถวายพระโอวาทให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสคาถา ๒ คาถาไว้ว่า:
[๘๔๕] ผู้ใดอันบุคคลผู้หวังความเจริญรุ่งเรือง อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ กล่าวตักเตือนอยู่ ก็ไม่ทำตามคำสอน ยังสำคัญว่าสิ่งนี้เท่านั้นประเสริฐ ผู้นั้นเป็นคนเขลา จะต้องเกิดอยู่ร่ำไป.
[๘๔๖] ผู้นั้นเมื่อเข้าถึงท้องมารดา ชื่อว่าเข้าถึงนรกอันร้ายกาจ เป็นของไม่งาม ของท่านผู้งดงาม เต็มไปด้วยมูตรและกรีส สัตว์เหล่าใดยังกำหนัด ยังไม่ปราศจากความรักใคร่ในกามทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นก็ละกายของตนไปไม่ได้.


ความว่า ขอเจริญพรมหาบพิตร คนโง่นั้น เมื่อเข้าถึงครรภ์มารดานั้น ชื่อว่า เข้าถึงนรกชนิดร้ายกาจ คือที่ทารุณโดยกำเนิด อธิบายว่า ท้องของมารดาพระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า นรก คือตรัสเรียกว่า จตุกุฏฏิกนรก คือด้านแคบๆ ๔ ด้าน ในพระคาถานี้ เพราะหมายความว่า หมดความชื่นใจ ธรรมดาว่า จตุกุฏฏิกนรก เมื่อถูกถามว่า เป็นอย่างไร? ควรบอกว่า คือท้องมารดานั่นเอง เพราะว่า สัตว์ที่เกิดแล้วในอเวจีมหานรก ยังมีการวิ่งพล่านและวิ่งรอบ ไปๆ มาๆ ได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น อเวจีมหานรกนั้น จะเรียกว่า จตุกุฏฏิกนรกไม่ได้ แต่ว่าในท้องมารดา สัตว์ที่เกิดในครรภ์ไม่อาจจะวิ่งไปทางโน้นทางนี้ได้ ตลอดเวลา ๙ หรือ ๑๐ เดือน จำต้องอยู่ในที่อันคับแคบ เพราะฉะนั้น นรกนั้นจึงเรียกกันว่า จตุกุฏฏิกนรก

พระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงทุกข์ทั้งที่มีการก้าวลงสู่ครรภ์เป็นมูลฐาน ทั้งที่มีการบริหารครรภ์ (การดูแล) เป็นมูลฐานแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึงทุกข์ที่มีการออกจากครรภ์เป็นมูลฐาน จึงได้ตรัสคาถาหนึ่งกับกึ่งคาถาไว้ว่า:
[๘๔๗] สัตว์เหล่านี้ ย่อมแปดเปื้อนด้วยมูตร คูถ เลือด และเศลษคลอดออกมา ในเวลานั้น ย่อมจะถูกต้องส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยกายส่วนนั้น ล้วนไม่น่ายินดี มีแต่ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น.
[๘๔๘] อาตมภาพกล่าวมาประมาณเท่านี้ ไม่ใช่ว่าได้ยินได้ฟังมาจากสมณะหรือ หรือพราหมณ์อื่น กล่าวเพราะได้เห็นมาเอง อาตมภาพระลึกชาติก่อนๆ ได้เป็นอันมาก พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อทรีมุข ยังพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้มีพระปรีชาเฉลียวฉลาดให้ทรงเชื่อถือ ด้วยคาถาเป็นสุภาษิตมีเนื้อความอันวิจิตร
.

อธิบายความว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อคลอดจากท้องมารดาไม่ได้ ลูบไล้ด้วยคันธชาติทั้ง ๔ ไม่ได้ประดับประดาดอกไม้ที่หอมหวลออกมา แต่เป็นผู้เปื้อนเปรอะ คือเลอะเทอะ คูถเก่าเน่าออกมา ไม่ใช่เป็นเสมือนชโลมด้วยจันทน์แดงออกมา แต่เปื้อนด้วยโลหิตแดงออกมา ความว่า ไม่ใช่ ลูบไล้ด้วยจันทน์ขาวออกมา แต่เป็นผู้เปื้อนไขเหมือนนุ่นหนาๆ ออกมา เพราะในเวลาผู้หญิงทั้งหลายคลอด ของไม่สะอาดทั้งหลายจะออกมา

ขอถวายพระพรมหาบพิตร สัตว์เหล่านี้ในเวลาที่ออกจากท้องมารดานั้น เปื้อนคูถ เป็นต้น ออกมาอย่างนี้ กระทบช่องคลอดหรือมืออยู่ ย่อมชื่อว่า สัมผัสทุกข์นั้นทั้งหมดล้วนๆ คือที่เจือด้วยของไม่สะอาด ไม่เป็นที่ยินดี คือไม่แช่มชื่น ขึ้นชื่อว่าความสุขจะไม่มีแก่สัตว์เหล่านั้นในสมัยนั้น

ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพเมื่อทูลถวายพระพรเท่านี้ ไม่ได้ฟังมาจากที่อื่น คือไม่ได้สดับคำนั้นของสมณะหรือพราหมณ์คนอื่นทูลถวาย แต่อาตมภาพเห็นแล้ว แทงตลอดแล้ว ทำให้ประจักษ์แล้วด้วยปัจเจกโพธิญาณของตน แล้วจึงทูลถวายพระพร

พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงอานุภาพของตน จึงทูลถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ส่วนอาตมภาพระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยมา กล่าวคือ ขันธ์ที่อยู่อาศัยมาตามลำดับในชาติก่อนมากมาย คือระลึก ได้ถึง ๒ อสงไขยเศษแสนกัลป์.

พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษในกามทั้งหลาย ทรงยังพระราชาให้ทรงถือเอาถ้อยคำของตนอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่าขอถวายพระพรมหาบพิตร บัดนี้ พระองค์จะทรงผนวชหรือไม่ทรงผนวชก็ตาม แต่ว่าอาตมาภาพได้แสดงโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการบวชถวายมหาบพิตรแล้ว ขอมหาบพิตรจงอย่าทรงประมาท ดังนี้แล้ว ได้ทรงเหาะไปในอากาศ ทรงเหยียบกลีบเมฆเสด็จไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะนั่นเอง เหมือนพระยาหงส์ทองฉะนั้น

พระมหาสัตว์ทรงประคองอัญชลีที่รุ่งโรจน์ รวมทั้ง ๑๐ นิ้ว ไว้บนพระเศียรนมัสการอยู่ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพ้นทัศนวิสัยไปแล้ว จึงตรัสสั่งให้หาพระราชบุตรพระองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าใหญ่มาเฝ้า ทรงมอบราชสมบัติให้ ได้ทรงละกามทั้งหลายเสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์ ทรงสร้างบรรณศาลา ผนวชเป็นฤๅษี ไม่นานเลยก็ได้ทรงยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดขึ้น ในเวลาสิ้นพระชนมายุก็ได้ทรงเข้าถึงพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาประกาศสัจจธรรม ในเวลาจบสัจจธรรม คนทั้งหลายได้บรรลุธรรมในระดับต่างๆ มากมาย มีพระโสดาบันเป็นต้น แล้วทรงประชุมชาดกไว้ว่า พระราชาในครั้งนั้นก็คือเรา ตถาคต ฉะนี้แล.


จบ ทรีมุขชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 41.0.2272.89 Chrome 41.0.2272.89


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 19 มีนาคม 2558 14:57:46 »

.

http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Suphanburi/Muralpainting/Sumpasil8.jpg
ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา


วิธุรชาดก (จตุโปสถกัณฑ์)
พระวิธูรบัณฑิตบำเพ็ญสัจจบารมี

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภปัญญาบารมีจึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ความพิศดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากัน ที่โรงธรรมสภาว่าดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระศาสดา ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาเร็วไว มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาปรุโปร่ง ทรงย่ำยีถ้อยคำกล่าวร้ายของคนอื่น ทรงทำลายปัญหาอันละเอียด ที่กษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้นแต่งขึ้นได้ด้วยอานุภาพแห่งพระปัญญาของพระองค์ ทรงทรมานให้หมดพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล และให้ดำเนินไปตามหนทางอันจะนำสัตว์ไป สู่อมตมหานิพพาน พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายข้อที่เราตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณ อันสามารถทำลายเสียซึ่งคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้าย แนะนำชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นได้เช่นนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าตถาคตแม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในภพก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญา ย่ำยีถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายเช่นนี้ เหมือนกันจริงอย่างนั้น

ในกาลที่เราเป็น วิธุรบัณฑิต เราทรมานยักษ์เสนาบดีนามว่าปุณณกะ ได้ด้วยกำลังญาณ บนยอดกาฬคิริบรรพต สูงถึง ๖๐ โยชน์ปราบให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จนยอมมอบชีวิตให้แก่เรา ดังนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสแสดงดังต่อไปนี้.


จตุโปสถกัณฑ์
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชัยโกรพยราช ทรงครองราชย์ในกรุงอินทปัตตะ แคว้นกุรุ อำมาตย์ชื่อว่า วิธุรบัณฑิต ได้เป็นราชเสวกของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชนั้น ในตำแหน่งผู้ถวายอรรถธรรม ท่านเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ เป็นมหาธรรมกถึก ประเล้าประโลมพระราชาชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะจับใจของตน ประหนึ่งกระแสเสียงแห่งพิณอันยังช้างให้รักใคร่ ฉะนั้น ไม่ยอมให้พระราชาเหล่านั้นเสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ แสดงธรรมแก่มหาชน ด้วยพุทธลีลาอาศัยอยู่ในนครนั้นด้วยยศใหญ่ในกรุงพาราณสีนั้น แลยังมีพราหมณมหาศาล ๔ คน เคยเป็นเพื่อนคฤหัสถ์ด้วยกัน ในเวลาที่ตนแก่ลง เห็นโทษในกามทั้งหลาย ละทิ้งเหย้าเรือน เข้าไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่ในหิมวันตประเทศนั้นนั่นแลสิ้นกาลนาน จึงเที่ยวจาริกไป เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว ไปถึงกรุงกาลจัมปากนคร ในแคว้นอังคะ พากันพักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นจึงเข้าไปภิกษาจารยังนคร.

ในกรุงกาลจัมปากะนั้น ยังมีกุฏุมพีอยู่ ๔ สหาย เลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น ต่างก็ไหว้แล้วรับเอาภิกษาภาชนะ นำมาสู่เรือนของตน คนละองค์ๆ อังคาสด้วยอาหารอันประณีต จึงขอรับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในสวน ดาบสทั้ง ๔ ครั้นฉันอาหารในเรือนกุฏุมพี ๔ สหายเสร็จแล้ว มีความประสงค์จะพักผ่อนกลางวัน องค์หนึ่งจึงไปสู่ภพชั้นดาวดึงส์ องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยานาค องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยาครุฑ องค์หนึ่งไปสู่พระราชอุทยานชื่อว่า มิคาชินะ ของพระเจ้าโกรพยราช

บรรดาดาบสทั้ง ๔ องค์ องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังเทวโลก ได้เห็นพระอิสริยยศแห่งท้าวสักกเทวราช จึงได้พรรณนาพระอิสริยยศนั้นนั่นแล แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน  องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังพิภพนาค ได้เห็นสมบัติของพระยานาค เมื่อกลับมาถึงแล้ว จึงพรรณนาสมบัติของพระยานาคนั้นนั่นแล แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพิภพพระยาครุฑ ได้เห็นเครื่องประดับของพระยาครุฑ เมื่อกลับมาแล้ว จึงพรรณนาเครื่องประดับของพระยาครุฑนั้นแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรพยราชได้เห็นสมบัติอันเลิศด้วยความงามคือ สิริของพระเจ้าธนัญชัย ครั้นกลับมาจึงพรรณนาโภคสมบัติของพระเจ้าธนัญชัยนั้น แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน

กุฏุมพี ๔ สหายนั้น เมื่อได้ยินดาบสพรรณาถึงสมบัติเหล่านั้นก็ปรารถนาฐานะนั้นๆ จึงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นในที่สุดแห่งการสิ้นอายุ คนหนึ่งบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช คนหนึ่งพร้อมด้วยบุตรและภรรยา เกิดเป็นพระยานาคในนาคพิภพ คนหนึ่งเกิดเป็นพระยาครุฑในฉิมพลีรุกขพิมาน คนหนึ่งเกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าธนัญชัย  ดาบสทั้ง ๔ นั้น ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ทำกาละแล้วบังเกิดในพรหมโลกบรรดากุฏุมพี ๔ สหายนั้น ครั้นกุฏุมพีผู้เป็นพระโกรัพยกุมารทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ทรงครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์ ครองราชย์โดยธรรม โดยถูกต้อง  อันพระเจ้าโกรพยราชนั้นทรงพอพระราชหฤทัยในการทรงสกา ท้าวเธอทรงตั้งอยู่ในโอวาทของวิธุรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญทานรักษาเบญจศีล และอุโบสถศีล วันหนึ่งท้าวเธอทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงดำริว่า เราจะพอกพูนวิเวกดังนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชอุทยานประทับนั่ง ณ มนุญสถาน ทรงเจริญสมณธรรม

ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงพระดำริว่า ในเทวโลกยังมีความกังวลอยู่ ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปยังพระอุทยานนั้น นั่นแลในมนุษย์โลก ได้ประทับนั่งเจริญสมณธรรมอยู่ ณ มนุญสถาน  แม้วรุณนาคราช สมาทานอุโบสถแล้วคิดว่า ในนาคพิภพมีความกังวลอยู่ จึงไปในพระราชอุทยานนั้น นั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง ฝ่ายพระยาครุฑ สมาทานอุโบสถแล้วก็ดำริว่า ในพิภพครุฑมีความกังวล จึงไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วนั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นในเวลาเย็นออกจากที่อยู่ของตนๆ ไปพบกันที่ฝั่งสระโบกขรณีอันเป็นมงคล พอเห็นกันและกัน ต่างก็มีความพร้อมเพรียงชื่นชมยินดี เข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตมีเมตตาแก่กันและกัน ต้อนรับด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ด้วยอำนาจแห่งความรักใคร่ ซึ่งเคยมีแก่กันและกันในปางก่อน

ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาอันเป็นมงคล ส่วนพระราชาทั้ง ๓ นั้น ทรงทราบโอกาสที่ควรแก่พระองค์ๆ   ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกับพระราชาทั้ง ๓ นั้นว่า พวกเราทั้ง ๔ ล้วนเป็นพระราชาสมาทานอุโบสถ แต่ในบรรดาเราทั้ง ๔ ใครจะมีศีลมากกว่ากัน  ลำดับนั้น วรุณนาคราชได้พูดขึ้นว่า ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้น มากกว่าศีลของพวกท่านทั้ง ๓ ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเธอว่า เหตุไฉนในเรื่องนี้ท่านจึงพูดอย่างนั้น  วรุณนาคราชกล่าวว่า เหตุว่าพระยาครุฑนี้เป็นข้าศึกแก่พวกข้าพเจ้า ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด แม้ข้าพเจ้าเห็นพระยาครุฑผู้เป็นข้าศึก ที่อาจทำร้ายพวกข้าพเจ้าให้สิ้นชีวิตได้เช่นนี้ ก็มิได้มีความโกรธต่อพระยาครุฑนั้นเลย เพราะเหตุนี้ ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าๆ ศีลของท่านทั้ง ๓ ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่าคนใดย่อมไม่ทำความโกรธในบุคคลควรโกรธ อนึ่งคนใดเป็นสัปบุรุษ ย่อมไม่โกรธในกาลไหนๆ ถึงเขาโกรธแล้ว ก็หาทำความโกรธให้ปรากฏไม่ บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.

พระยาครุฑได้สดับดังนั้น จึงกล่าวว่า นาคนี้เป็นอาหารอย่างดีของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าแม้เห็นนาค ผู้เป็นอาหารอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็อดกลั้นความอยากไว้เสีย ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า คนใดมีท้องพร่อง แต่ทนความอยากไว้ได้ เป็นผู้ฝึกฝน มีความเพียรเผาผลาญกิเลส บริโภคข้าวและน้ำพอประมาณ ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร ปราชญ์เรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.

ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้าละสมบัติในเทวโลกอันมีความสุขเป็นเหตุใกล้มีประการต่างๆ มาสู่มนุษยโลกเพื่อต้องการจะรักษาศีล เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าศีลของท่าน ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า บุคคลใดละขาดการเล่น การยินดีในกามได้ทั้งหมด ไม่พูดเหลาะแหละแม้น้อยหนึ่งในโลก เว้นจากเมถุน เว้นจากตกแต่งร่างกาย นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกคนนั้นนั่นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.

พระเจ้าธนัญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า วันนี้ข้าพเจ้าละราชสมบัติที่หวงแหนเป็นอันมาก และพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยเหล่าหญิงนักฟ้อนหกหมื่น มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระราชอุทยานนี้ ฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงได้ตรัสว่า นรชนใดแล กำหนดรู้วัตถุกามและกิเลสกามด้วยปริญญา* แล้วสละวัตถุกามและกิเลสกามทั้งปวงได้เด็ดขาด นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกนรชนนั้นแล ผู้ฝึกตนแล้วมีตนอันมั่นคง ปราศจากตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา หมดความหวังว่าเป็นผู้สงบในโลก.

*กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ความรู้สภาวะแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อญาตปริญญา ในบรรดาปริญญา ๓ อย่างนั้น กิริยาที่ใคร่ครวญพิจารณาเห็นโทษในขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า ตีรณปริญญา กิริยาที่เห็นโทษในขันธ์เหล่านั้นแล้วพรากความติดอยู่ด้วยอำนาจความพอใจ ชื่อว่า ปหานปริญญา  ดังนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ต่างสรรเสริญศีลของตนๆ เท่านั้นว่า มีมากกว่าดังนี้แล้ว จึงตรัสถามพระเจ้าธนัญชัยว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ก็ใครๆ เป็นบัณฑิตในสำนักของพระองค์ที่จะพึงบรรเทาความสงสัยของพวกเรามีอยู่หรือ

พระเจ้าธนัญชัยตรัสตอบว่า มีอยู่มหาราชเจ้า คือวิธุรบัณฑิตผู้ดำรงตำแหน่งอรรถธรรมานุสาสน์ เป็นผู้ทรงปัญญาหาผู้เสมอเหมือนมิได้ จักบรรเทาความสงสัยของพวกเราได้ พวกเราจงพากันไปยังสำนักของวิธุรบัณฑิตนั้นเถิด

พระราชาทั้ง ๓ พระองค์นั้น ทรงรับคำพร้อมกันแล้ว ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันเสด็จออกจากพระราชอุทยานไปสู่โรงธรรมสภา รับสั่งให้ประดับธรรมาสน์ เชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่ง ณ ท่ามกลางบัลลังก์อันประเสริฐ ทำปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ตรัสกะบัณฑิตว่า ความสงสัยเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอท่านจงทรงบรรเทาความสงสัยนั้นเถิด ดังนี้แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถามบัณฑิต ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม สามารถรู้เหตุและมิใช่เหตุ ควรทำและไม่ควรทำ ด้วยการโต้เถียงกันในเรื่องศีลได้เกิดมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอท่านได้โปรดตัดความสงสัยคือวิจิกิจฉาทั้งหลายให้ในวันนี้ จงช่วยพวกข้าพเจ้าทั้งปวงให้ข้ามพ้นความสงสัยในวันนี้เถิด.

ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิต ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เรื่องโต้เถียงกันที่อาศัยศีลของพระองค์ทั้งหลายเกิดแล้วนั้น ข้าพระองค์จะทราบได้อย่างไรว่า พระกระแสรับสั่งนั้น เช่นไรผิด เช่นไรถูก ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า บัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่จะตัดสินความด้วยอุบายอันแยบคายได้ ก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลย บอกข้อที่พิพาทกันให้ตลอด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ ข้าพระองค์ขอพระวโรกาสบัณฑิตผู้ฉลาดทั้งหลาย เมื่อโจทก์และจำเลยไม่บอกข้อความให้แจ้งจะพึงตัดสินพิจารณาข้อความนั้นได้อย่างไร เหตุนั้น ขอพระองค์ตรัสเล่าข้อความให้ข้าพระองค์ทราบก่อนว่า พระยานาคราชตรัสว่าอย่างไร พระยาครุฑตรัสว่าอย่างไร ท้าวสักกเทวราชตรัสว่าอย่างไร ส่วนมหาราชเจ้าผู้เป็นจอมแห่งชาวกุรุรัฐตรัสว่าอย่างไร.

ลำดับนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นตรัสตอบพระมหาสัตว์นั้นว่า
-  พระยานาค ย่อมทรงสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวคือ ความไม่โกรธในบุคคลแม้ผู้ควรโกรธ.
- พระยาครุฑ ย่อมทรงสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหารกล่าวคือ บริโภคอาหารแต่น้อย.
- ท้าวสักกเทวราช ทรงสรรเสริญการละความยิน ดีในกามคุณ ๕.
- พระเจ้ากุรุรัฐ ทรงสรรเสริญความไม่มีความกังวล.

พระมหาสัตว์ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์แล้วกล่าวว่า พระกระแสรับสั่งทั้งปวงนี้เป็นสุภาษิตทั้งหมด แท้จริงพระกระแสรับสั่งเหล่านี้ จะเป็นทุพภาษิตเพียงเล็กน้อยหามิได้ คุณธรรม ๔ ประการนี้ตั้งมั่นอยู่ในนรชนใด เป็นดังกำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ดุมเกวียน บัณฑิตเรียกนรชนผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนั้นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.

พระมหาสัตว์ได้ทำศีลของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ให้มีคุณสม่ำเสมอกันทีเดียวอย่างนี้.
ท้าวเธอทั้ง ๔ ครั้นได้ทรงสดับดังนั้น ต่างมีพระหฤทัยร่าเริงยินดีเมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมถึง มีปัญญาดี รักษาธรรม และรู้แจ้งธรรม วิเคราะห์ปัญหาของพวกข้าพเจ้าได้ด้วยดี ด้วยปัญญาของตน พวกข้าพเจ้าอ้อนวอนท่านว่า ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงตัดความสงสัยลังเลใจของพวกข้าพเจ้าให้ขาดไปในวันนี้เหมือนช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างให้ขาดไปด้วยเลื่อยอันคม ฉะนั้น.

พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ครั้นตรัสชมเชยพระมหาสัตว์อย่างนั้นแล้ว ต่างทรงพอพระหฤทัยด้วยพยากรณ์ปัญหาของพระมหาสัตว์

ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชจึงทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์ พระยาครุฑบูชาด้วยมาลัยทอง วรุณนาคราชบูชาด้วยแก้วมณี พระเจ้าธนัญชัยบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมนับจำนวนพันเป็นต้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นได้ตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วย การพยากรณ์ปัญหานี้ ผ้าทิพย์สีดอกบัวเขียวปราศจากมลทิน เนื้อละเอียดดังควันเพลิง หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม  พระยาครุฑบูชาด้วยดอกไม้ทองตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ ดอกไม้ทอง มีกลีบร้อยกลีบแย้มออกแล้ว มีเกสรแล้วด้วยแก้วนับด้วยพัน ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม  พระยาวรุณนาคราช บูชาด้วยแก้วมณีตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ แก้วมณีอันเป็นเครื่องประดับของข้าพเจ้า มีสีงดงามผุดผ่อง หาค่ามิ ได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม  พระเจ้าธนัญชัยทรงบูชาด้วยวัตถุต่างๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น แล้วมีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาโคนมพันหนึ่งและโคอุสุภราชนายฝูง รถ ๑๐ คัน เทียมด้วยอาชาไนย บ้านส่วย ๑๖ บ้าน เหล่านี้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ครั้นทรงบูชาพระมหาสัตว์แล้ว ได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระองค์ตามเดิมด้วยประการฉะนี้.


จบ จตุโปสถกัณฑ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มีนาคม 2558 15:00:08 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 41.0.2272.101 Chrome 41.0.2272.101


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 24 มีนาคม 2558 14:50:52 »

.



ทัฬหธัมมชาดก
ว่าด้วยความกตัญญู

พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองโกสัมพี ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ทรงปรารภช้างพังต้นชื่อภัททวดีของพระเจ้าอุเทน แล้วจึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

ส่วนวิธี ที่พระเจ้าอุเทนทรงได้ช้างพังต้นตัวนั้นมีดังนี้ …นางช้างภัททวดีนั้นเดิมเป็นสมบัติของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งเมืองอุชเชนีมาก่อน เหตุที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตจะได้นางช้างนั้นมีประวัติดังนี้

•    พาหนะ ๕ ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต  พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีพาหนะทั้ง ๕ คือ:
นางช้างตัว ๑ ชื่อ ภัททวดี ไปได้วันละ ๕๐ โยชน์
ทาสชื่อว่า กากะ ไปได้ ๖๐ โยชน์
ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิ และม้ามุญชเกสิ ไปได้ ๑๐๐ โยชน์
ช้างนาฬาคิรี ไปได้ ๑๒๐ โยชน์

•    ประวัติที่จะได้พาหนะเหล่านั้น
ดังได้ยินมา พระราชาพระองค์นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ได้เป็นคนรับใช้ของอิสรชนผู้หนึ่ง ต่อมาวันหนึ่งเมื่ออิสรชนผู้นั้นออกไปนอกพระนคร อาบน้ำแล้วมาอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต ไม่ได้ภิกษาเลยสักอย่างหนึ่ง เพราะชาวเมืองทั้งสิ้นถูกมารดลใจ มีบาตรตามที่ล้างไว้แล้ว (เปล่า) ออกไป ลำดับนั้น มารเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วถามท่านในขณะที่ท่านถึงประตูพระนครว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?”
- พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “ก็เจ้าทำอาการคืออันไม่ได้แก่เราแล้วมิใช่หรือ?”
- มาร ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกลับเข้าไปอีก คราวนี้ข้าพเจ้าจักไม่ทำ
- พระปัจเจกพุทธเจ้า เราจักไม่กลับอีก

ก็ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพึงกลับไปไซร้ มารนั้นจะพึงสิงร่างของชาวเมืองทั้งสิ้น แล้วปรบมือทำการหัวเราะเย้ยอีก เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ มารก็หายไปในที่นั้นเอง   ขณะนั้นอิสรชนผู้นั้นพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาด้วยเปล่า จึงไหว้แล้วถามว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?”
- ท่านตอบว่า “ผู้มีอายุ ฉันเที่ยวไปแล้ว ออกมาแล้ว”  เขาคิดว่า “พระผู้เป็นเจ้า ไม่ตอบคำที่เราถามกลับกล่าวคำอื่นเสีย ท่านคงจักยังไม่ได้อะไรๆ”

ในทันใดนั้น เขาแลดูบาตรของท่าน เห็นบาตรเปล่า ก็เป็นผู้แกล้วกล้าแต่ไม่อาจรับบาตร เพราะยังไม่รู้ว่าภัตในเรือนของตนเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรอหน่อย” ดังนี้แล้วก็ไปสู่เรือนโดยเร็ว ถามว่า “ภัตสำหรับเราเสร็จแล้วหรือ?”

เมื่อคนรับใช้ตอบว่า “เสร็จแล้ว” เขาจึงกล่าวกะคนรับใช้นั้นว่า “พ่อ คนอื่นที่มีความเร็วอันสมบูรณ์กว่าเจ้าไม่มี ด้วยฝีเท้าอันเร็ว เจ้าจงไปถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น กล่าวว่า ‘ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงให้บาตร, แล้วรับบาตรมาโดยเร็ว”

คนรับใช้นั้นวิ่งไปด้วยด้วยความเร็วอย่างยิ่ง กระทำการนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าตามที่นายสั่ง รับบาตรและนำมาแล้ว  อิสรชนนั้นก็ทำบาตรให้เต็มด้วยโภชนะของตน แล้วกล่าวว่า “เจ้าจงรีบไปถวายบาตรนี้แก่พระผู้เป็นเจ้า เราจะให้ส่วนบุญในทานนี้แก่เจ้า”

เขารับบาตรนั้นแล้วไปด้วยฝีเท้า (เร็ว) ถวายบาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว ข้าพเจ้าไปและมาด้วยฝีเท้าอันเร็วยิ่ง ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้ ๕๐ โยชน์ ๖๐ โยชน์ ๑๐๐ โยชน์ ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้มาอยู่และไปอยู่ ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว ด้วยผลแห่งความที่ร่างกายถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผานั้นของข้าพเจ้า ขออำนาจของข้าพเจ้าจงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ ในที่ๆ เกิดแล้วและเกิดแล้ว ส่วนบุญในเพราะบิณฑบาตนี้ อันนายให้แล้วแก่ข้าพเจ้า ด้วยผลแห่งส่วนบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้ว” พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้นี้ จงสำเร็จ” แล้วได้กระทำอนุโมทนาว่า:

“สิ่งที่ต้องการแล้วปรารถนาแล้วจงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดีถีที่ ๑๕ สิ่งที่ต้องการแล้วปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มดังแก้วมณีชื่อว่าโชติรส”

ได้ทราบว่า คาถา ๒ คาถานี้แล ชื่อว่า คาถาอนุโมทนาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย รัตนะคือแก้วมณี อันให้สิ่งที่มุ่งหมายทั้งปวง [แก้วสารพัดนึก] เรียกว่า “แก้วมณีโชติรส” ในคาถานั้น นี้เป็นบุรพจริตแห่งบุรุษรับใช้นั้น เขาได้เป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชติในบัดนี้ และด้วยผลแห่งกรรมนั้น พาหนะ ๕ เหล่านี้จึงเกิดขึ้น.

•    พระเจ้าอุเทนถูกจับ
พระเจ้าจัณฑปัชโชตครองราชสมบัติแห่งเมืองอุชเชนี วันหนึ่งพระองค์เสด็จมาจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรดูสมบัติของพระองค์แล้ว ตรัสว่า “สมบัติเช่นนี้ของใครๆ แม้อื่นมีไหมหนอ” เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า “นี่จะชื่อว่าสมบัติอะไร สมบัติของพระเจ้าอุเทนในเมืองโกสัมพีมากยิ่งนัก” ดังนี้แล้วตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นเราจักจับพระเจ้าอุเทนนั้น”
- อำมาตย์ ใครๆ ก็ไม่สามารถจับท้าวเธอได้ พระเจ้าข้า
- พระราชา เราจักทำอุบายบางอย่าง จับให้ได้
- อำมาตย์ ไม่สามารถดอก พระเจ้าข้า
- พระราชา เพราะเหตุอะไรเล่า?
- อำมาตย์ เพราะพระเจ้าอุเทนนั้น รู้ศิลปะ ชื่อหัสดีกันต์ ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกันต์อยู่ จะให้ช้างหนีไปก็ได้ จะจับเอาก็ได้ ผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยพาหนะช้างชื่อว่าเช่นกับท้าวเธอ เป็นไม่มี
- พระราชา เราไม่อาจที่จะจับเขาได้หรือ?
- อำมาตย์ พระเจ้าข้า หากพระองค์มีความจำนงพระทัยฉะนี้ โดยส่วนเดียวแล้ว ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้นายช่างทำช้างไม้ขึ้น แล้วส่งไปยังที่อยู่ของพระเจ้าอุเทนนั้น ท้าวเธอทรงสดับถึงพาหนะ ช้างหรือพาหนะม้าแล้ว ย่อมเสด็จไป แม้สู่ที่ไกล เราจักสามารถจับท้าวเธอผู้เสด็จมาในที่นั้นได้
- พระราชาตรัสว่า “อุบายนี้ใช้ได้” ดังนี้แล้ว จึงรับสั่งให้นายช่างทำช้างยนต์สำเร็จด้วยไม้ เอาผ้าเก่าหุ้มข้างนอก แล้วทำเป็นลวดลาย ให้ปล่อยไปที่ริมสระแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้แว่นแคว้นของพระเจ้าอุเทนนั้น บุรุษ ๖๐ คนเดินไปมาภายในท้องช้าง พวกเขานำมูลช้างมา ทิ้งไว้ในที่นั้นๆ พรานป่าคนหนึ่งเห็นช้างแล้วก็คิดว่า “ช้างนี้ คู่ควรแก่พระเจ้าแผ่นดินของเรา” ดังนี้แล้ว จึงไปกราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พบช้างตัวประเสริฐซึ่งเผือกล้วน มีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาศ คู่ควรแก่พระองค์ทีเดียว”   พระเจ้าอุเทนให้พรานป่านั้นแลเป็นผู้นำทาง ขึ้นทรงช้างพร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปแล้ว เหล่าจารบุรุษทราบการเสด็จมาของท้าวเธอ จึงไปกราบทูลแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นเสด็จมาแล้ว ซุ่มพลนิกายไว้ ๒ ข้าง ปล่อยว่างไว้ตรงกลาง พระเจ้าอุเทนไม่ทรงทราบถึงการเสด็จมาของท้าวเธอจึงติดตามช้างไป มนุษย์ที่อยู่ข้างในรีบพาช้างไม้หนีไปโดยเร็ว เมื่อพระราชาทรงร่ายมนต์ดีดพิณอยู่ ช้างไม้ทำเหมือนไม่ได้ยินเสียงแห่งสายพิณ หนีไปถ่ายเดียว พระราชาไม่อาจทันพระยาช้างได้จึงเสด็จขึ้นม้าติดตามไป เมื่อท้าวเธอรีบตามไปโดยเร็ว พลนิกายก็ล้าหลัง พระราชาได้เป็นผู้เสด็จไปแต่พระองค์เดียวเท่านั้น

ครั้งนั้นเหล่าบุรุษของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ซึ่งดักซุ่มอยู่แล้ว ณ ๒ ข้างทางจึงจับพระเจ้าอุเทนถวายพระเจ้าแผ่นดินของตน ต่อมาพลนิกายของพระเจ้าอุเทนทราบว่า พระราชาของตนถูกข้าศึกจับไปแล้วแล้ว จึงตั้งค่ายอยู่ภายนอก

•    พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงให้พระธิดาเรียนมนต์
ฝ่ายพระเจ้าจัณฑปัชโชตเมื่อจับพระเจ้าอุเทนได้แล้วก็ทรงสั่งให้ขังไว้ในเรือนขังโจรหลังหนึ่ง แล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตก็ทรงดื่มน้ำชัยบานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๘ พระเจ้าอุเทนทรงถามพวกผู้คุมว่า “พ่อทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้าไปไหนเสีย?”
- พวกผู้คุม พระเจ้าแผ่นดิน ทรงดื่มน้ำชัยบานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่จับปัจจามิตรได้
-พระเจ้าอุเทน พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้ามีกิริยาช่างกระไร ดังผู้หญิง การจับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศัตรูกันได้แล้ว ถ้าจะปล่อยก็ปล่อย หรือจะฆ่าก็ฆ่าเสีย นี่สิกลับให้เรานั่งทนทุกข์แล้วไปนั่งดื่มน้ำชัยบาน

ผู้คุมเหล่านั้น ก็พากันไปทูลเนื้อความนั้นแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พระองค์จึงเสด็จไปแล้วตรัสถามว่า “ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้ จริงหรือ?”
- อุเทน ถูกแล้ว ท่านมหาราชเจ้า
- จัณฑปัชโชต ดีละเราจักปล่อยท่าน แต่ทราบว่าท่านมีมนต์เช่นนี้ ท่านจักให้มนต์นั้นแก่เราไหม?
- อุเทน ตกลงข้าพเจ้าจักให้ ถ้าในเวลาเรียนจงไหว้ข้าพเจ้าแล้วเรียนมนต์นั้น ก็ท่านจักไหว้ข้าพเจ้าหรือไม่เล่า?
- จัณฑปัชโชต เราจักไหว้ท่านทำไมเล่า?
- อุเทน ท่านจักไม่ไหว้หรือ?
- จัณฑปัชโชต เราจักไม่ไหว้
- อุเทน แม้ข้าพเจ้า ก็จักไม่ให้
- จัณฑปัชโชต เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักลงราชอาชญาแก่ท่าน
* อุเทน เชิญทำเถิด ท่านเป็นอิสระแก่ร่างกายของข้าพเจ้า แต่ไม่เป็นอิสระแก่จิต

พระราชาทรงสดับถ้อยคำอันองอาจของท้าวเธอแล้ว จึงทรงดำริว่า “เราจักเรียนมนต์ของพระเจ้าอุเทนนี้ได้อย่างไรหนอ แล้วทรงคิดได้ว่า “เราไม่อาจให้คนอื่นรู้มนต์นี้ เราจักให้ธิดาของเราเรียนในสำนักพระเจ้าอุเทนนี้ แล้วจึงเรียนในสำนักของนาง”  ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงตรัสกะพระเจ้าอุเทนนั้นว่า “ท่านจักให้แก่คนอื่นผู้ไหว้แล้วเรียนเอาหรือ?”
- อุเทน อย่างนั้น ท่านมหาราช
- จัณฑปัชโชต ถ้ากระนั้น ในเรือนของเรามีหญิงค่อมอยู่คนหนึ่ง ท่านยืนอยู่ภายนอกม่าน จงบอกมนต์แก่หญิงนั้นผู้นั่งอยู่ภายในม่านเถิด
- อุเทน ดีละ ท่านมหาราชนางจะเป็นคนค่อมหรือคนง่อยก็ช่างเถอะเมื่อนางไหว้ข้าพเจ้าจักให้

ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปตรัสบอกพระนางวาสุลทัตตาราชธิดาว่า  “ลูกหญิง ชายเป็นโรคเรื้อนน้ำเต้าคนหนึ่ง รู้มนต์หาค่ามิได้ พ่อไม่อาจที่จะให้คนอื่นรู้มนต์นั้นได้ เจ้าจงนั่งภายในม่านไหว้ชายนั้น แล้วเรียนมนต์ ชายนั้นยืนอยู่ภายนอกม่าน จักบอกแก่เจ้า พ่อจักเรียนจากสำนักของเจ้า”  พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นตรัสทำให้พระราชธิดาเป็นหญิงค่อม ฝ่ายพระเจ้าอุเทนให้เป็นชายโรคเรื้อนน้ำเต้าอย่างนี้ เพราะทรงเกรงคนทั้งสองนั้นจะทำสันถวะกันและกัน พระเจ้าอุเทนนั้นประทับยืนอยู่นอกม่านเทียว ได้ตรัสบอกมนต์แก่พระนางผู้ไหว้แล้วนั่งภายในม่าน

•    พระเจ้าอุเทนได้พระอัครมเหสี
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนซึ่งตรัสสอนมนต์ให้กับพระนางวาสุลทัตตาที่ทรงเข้าพระทัยว่าเป็นหญิงค่อม พระนางนั้นแม้พระเจ้าอุเทนจะพยายามสอนมนต์ให้แก่พระนาง แต่พระนางก็ไม่สามารถจะจำบทแห่งมนต์ได้จึงทรงพิโรธตรัสบริภาษว่า  “เหวย อีหญิงค่อม! ปากของมึงมีริมขอบและกระพุ้งแก้มอันหนานัก มึงจงว่าไปอย่างนี้”

พระนางได้ยินดังนั้นก็ทรงกริ้วจึงตรัสว่า “เหวย อ้ายขี้เรื้อน ชั่วชาติ มึงพูดอะไร คนเช่นกูนะหรือ ชื่อว่าหญิงค่อม” ดังนี้แล้ว ทรงยกม่านขึ้นเมื่อพระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร” จึงตรัสบอกว่า“ เราชื่อ วาสุลทัตตา ธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน”
- พระเจ้าอุเทน บิดาของท่าน บอกเราว่าท่านเป็นหญิงค่อม
- วาสุลทัตตา พระบิดาก็ทรงบอกแก่เราว่าท่านเป็นคนโรคเรื้อนน้ำเต้า

ทั้งสององค์นั้นทรงดำริว่า “ท้าวเธอคงตรัสดังนั้นด้วยเกรงเราจะทำสันถวะกัน” แล้วก็ทรงทำสันถวะกันในภายในม่านนั่นเอง

นับแต่นั้น การเรียนมนต์หรือการเรียนศิลปะจึงไม่มี

ฝ่ายพระราชาทรงถามพระธิดาเป็นนิตย์ว่า “เจ้ายังเรียนศิลปะอยู่หรือลูก”  พระนางตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันยังเรียนอยู่เพคะ”

ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกะพระนางว่า “นางผู้เจริญชื่อว่าหน้าที่ซึ่งสามีพึงกระทำนั้น หน้าที่นั้นมารดาบิดา พี่น้องชาย และพี่น้องหญิง ไม่สามารถจะทำให้ได้เลย หากเธอจักให้ชีวิตแก่เรา เราจักให้หญิง ๕๐๐ นางเป็นบริวาร แล้วให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่เธอ”
- พระนางตรัสว่า “ถ้าพระองค์จักอาจให้สัญญาตามพระดำรัสนี้ หม่อมฉันก็จักทำเพื่อพระองค์”
- พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า “พระน้องหญิง เราจักอาจ”

พระนางทรงรับพระดำรัสว่า “ตกลงเพคะ” ดังนี้แล้วก็เสด็จไปสู่สำนักพระราชบิดา ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ข้างหนึ่ง ลำดับนั้นท้าวเธอตรัสถามพระนางว่า “ศิลปะสำเร็จแล้วหรือลูกหญิง”
- วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา ศิลปะยังไม่สำเร็จก่อนเพคะ
- ลำดับนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต ตรัสถามพระนางว่า “ทำไมเล่า ลูกหญิง”
- วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันขอพระราชทานอนุญาตให้เปิดประตูเมืองประตู ๑ กับพาหนะตัว ๑
- จัณฑปัชโชต เป็นอย่างไรเล่า ลูกหญิง?
- วาสุลทัตตา ข้าแต่พระบิดา ทราบว่ามีโอสถขนานหนึ่งจะต้องเก็บในเวลากลางคืน ด้วยสัญญาดวงดาวเพื่อประโยชน์เป็นอุปการะแห่งมนต์ เพราะฉะนั้นในเวลาที่หม่อมฉันออกไปในเวลาหรือนอกเวลาจึงควรที่จะได้รับพระราชานุญาตให้เปิดประตูเมืองประตูหนึ่งกับพาหนะตัวหนึ่ง
- พระราชาตรัสรับว่า “ได้”

พระเจ้าอุเทนและพระนางวาสุลทัตตานั้น ได้ทรงยึดประตูเมืองประตูหนึ่งซึ่งตนพอใจไว้ในเงื้อมมือแล้ว

•    พระเจ้าอุเทนหนี
ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกเพื่อทรงกีฬาในพระราชอุทยาน พระเจ้าอุเทนทรงดำริว่า “เราควรจะหนีไปในวันนี้” จึงทรงบรรจุกระสอบหนังใหญ่ๆ ให้เต็มด้วยเงินและทองวางเหนือหลังนางช้างภัททวดี แล้วพาพระนางวาสุลทัตตาหนีไป ทหารรักษาวังทั้งหลายเห็นพระเจ้าอุเทนกำลังหนีไปจึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงส่งพลไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า “พวกเจ้าจงติดตามไปโดยเร็ว” พระเจ้าอุเทนทรงทราบว่าพลนิกายไล่ตามแล้ว จึงทรงแก้กระสอบกหาปณะ ทำกหาปณะให้ตก พวกมนุษย์เก็บกหาปณะขึ้นแล้วไล่ตามไปอีก ฝ่ายพระเจ้าอุเทนก็ทรงแก้กระสอบทองแล้วทำให้ตก เมื่อมนุษย์เหล่านั้นมัวเนิ่นช้าอยู่ เพราะความละโมบในทอง ก็เสด็จถึงค่ายของพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ภายนอก ขณะนั้นพลนิกายพอเห็นท้าวเธอเสด็จมา ก็แวดล้อมเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่พระนครของตน ท้าวเธอครั้นพอเสด็จไปแล้วก็อภิเษกพระนางวาสุลทัตตา ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี  นางช้างภัททวดีจึงมาเป็นสมบัติของพระเจ้าอุเทนดังนี้

•    ราชวงศ์ของพระเจ้าอุเทนก็ดี มีความละเอียดในมาตังคชาดก
ก็วันหนึ่ง ช้างพังต้นเดินออกจากพระนครไป ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า มีหมู่พระอริยห้อมล้อมเสด็จเข้าไปในพระนคร ด้วยพุทธสิริหาที่เปรียบมิได้เพื่อบิณฑบาตแต่เช้า จึงหมอบลงแทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า โอดครวญว่า ข้าแต่พระสรรเพชญผู้ทรงภาคยธรรม ผู้ทรงช่วยเหลือสัตวโลกทั้งมวล พระเจ้าอุเทนทรงโปรดปรานหม่อมฉัน ในเวลาที่หม่อมฉันยัง สามารถช่วยราชการได้ ในเวลายังรุ่น โดยทรงเห็นว่าตนเองได้ชีวิต ได้ราชสมบัติและพระราชเทวีมา โดยอาศัยหม่อมฉัน จึงได้พระราชทานการเลี้ยงดูมากมาย ทรงตกแต่งที่อยู่ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งหลาย รับสั่งให้ทำการประพรมด้วยของหอม ทรงให้ติดเพดานประดับดาวทองไว้เบื้องบน ให้กั้นม่านที่วิจิตรไว้โดยรอบ ให้ตามประทีปด้วยน้ำมันเจือด้วยของหอม ให้ตั้งกระถางอบควันไว้ ให้วางกระถางทองไว้ในที่สำหรับเทคูถแล้วให้หม่อมฉันยืนอยู่บนแท่นที่มีเครื่องลาดอันวิจิตร และได้พระราชทานเครื่องกินที่มีรสเลิศนานาชนิดแก่หม่อมฉัน

แต่บัดนี้เวลาหม่อมฉันไม่สามารถช่วยราชการได้ในเวลาแก่พระองค์ ทรงงดการบำรุงนั้นทุกอย่าง หม่อมฉันไม่มีที่พึ่ง เป็นผู้ไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย หากินต้นลำเจียกในป่าเลี้ยงชีพ หม่อมฉันไม่มีที่พึ่งอย่างอื่น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงทรงให้พระเจ้าอุเทนทรงรำลึกถึงคุณความดีของหม่อมฉัน แล้วทรงกระทำการบำรุงอย่างเดิม กลับเป็นปกติแก่หม่อมฉัน

พระศาสดาตรัสว่า เจ้าจงไปเถิด เราตถาคตจักทูลพระราชาแล้วแต่งตั้งยศให้กลับเป็นปกติ แล้วได้เสด็จไปประตูพระราชนิเวศน์ พระราชาได้ให้พระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แล้ว ทรงถวายมหาทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาเมื่อทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจแล้วได้ตรัสถามว่า ดูก่อนบพิตรมหาราช พังต้นภัททวดีอยู่ที่ไหน
- พระราชาทูลว่า ไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า
- พระศาสดาตรัสถึงคุณความดีของพังภัททวดี ว่า ดูก่อนบพิตรมหาราช ขึ้นชื่อว่าการพระราชทานยศแก่ผู้มีอุปการคุณแล้วทรงทอดทิ้งในเวลาแก่ ย่อมไม่ควร ควรจะเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที พังต้นภัททวดี บัดนี้แก่ทรุดโทรมมาก เป็นสัตว์อนาถา หากินต้นลำเจียกในป่าประทังชีวิตอยู่ การทำให้เขาไร้ที่พึ่งในเวลาแก่ไม่เหมาะสมแก่พระองค์ แล้วตรัสว่าขอพระองค์จงทรงทำการบำรุงอย่างเดิมทุกอย่างให้เป็นปกติ ดังนี้แล้วจึงเสด็จหลีกไป พระราชาได้ทรงกระทำอย่างนั้น

เสียงเล่าลือได้กระจายไปทั่วพระนครว่า ได้ทราบว่าพระตถาคตเจ้าตรัสถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดีแล้วทรงให้พระราชาแต่งตั้งยศเก่าให้กลับคืนตามปกติ แม้ในหมู่พระสงฆ์ประวัตินั้นก็ปรากฏขึ้น

ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งเรื่องสนทนากันในธรรมสภาว่า ท่านผู้มีอายุได้ทราบว่าพระศาสดาตรัสถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดี แล้วทรงให้พระเจ้าอุเทนทรงแต่งตั้งยศเก่าให้กลับคืนตามปกติ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องที่สนทนากันแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายไม่ใช่ในเวลานี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนตถาคตก็กล่าวถึงคุณความดีของพังต้นภัททวดีนี้ แล้วให้พระราชาทรงแต่งตั้งยศตามปกติเหมือนกัน ดังนี้แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า ทัฬหธรรม เสวยราชสมบัติในนครพาราณสี ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์  เติบโตแล้วได้รับใช้เป็นมหาดเล็กของพระราชาพระองค์นั้น ท่านได้รับพระราชทานยศอันสูง ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งรัตนอำมาตย์จากราชสำนักนั้น กาลครั้งนั้น พระราชาพระองค์นั้นทรงมีช้างพังต้นเชือกหนึ่ง ชื่อโอฏฐิพยาธิ มีกำลังวังชามาก วันหนึ่งเดินทางได้ร้อยโยชน์ ทำหน้าที่นำสิ่งของที่ต้องส่งไปถวายพระราชา คือสื่อสารในสงครามทำยุทธหัตถี ทำการย่ำยีศัตรู พระราชาทรงดำริว่า ช้างพังเชือกนี้มีอุปการะแก่เรามาก จึงพระราชทานเครื่องอลังการ คือคชาภรณ์ทุกอย่างแก่พังต้นเชือกนั้น แล้วได้พระราชทานการบำรุงทุกอย่าง เช่นกับที่พระเจ้าอุเทนพระราชทานแก่พังต้นภัททวดี 

ภายหลังเวลาพังต้นโอฎฐิพยาธินั้นแก่แล้วหมดกำลัง ทรงยึดยศทุกอย่างคืน ต่อแต่นั้นมามันก็กลายเป็นช้างอนาถา หากินหญ้าและใบไม้ในป่าประทังชีวิตอยู่ อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อภาชนะในราชตระกูลมีไม่พอใช้ จึงรับสั่งให้หาช่างหม้อเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ได้ทราบว่าภาชนะไม่พอใช้   ช่างจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์หาโคเทียมเกวียนเข็นมูลโคแห้งเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาหม้อไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

พระราชาทรงสดับคำของช่างแล้ว จึงตรัสถามว่า พังต้นโอฏฐิพยาธิของเราอยู่ที่ไหน?  อำมาตย์จึงทูลว่า เที่ยวไปตามธรรมดาของตนพระพุทธเจ้าข้า   พระราชาได้พระราชทานพังต้นเชือกนั้นแก่ช่างหม้อด้วยพระดำรัสว่า ต่อแต่นี้ไปจงเทียมพังต้นเชือกนั้นเข็นมูลโค  ช่างหม้อรับพระดำรัสว่า ดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วได้ทำอย่างนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง มันออกจากพระนครไปเห็นพระโพธิสัตว์กำลังเข้าพระนคร ยกงวงขึ้นจบแล้วหมอบแทบเท้าของท่าน โอดครวญพลางกล่าวว่า ข้าแต่นาย พระราชาทรงรู้ว่าฉันว่ามีอุปการะมาก ในเวลายังรุ่นได้พระราชทานยศสูง แต่บัดนี้เวลาฉันแก่งดหมดทุกอย่าง ไม่ทรงทำแม้แต่การคิดถึงฉัน ฉันไม่มีที่พึ่ง จึงเที่ยวหากินหญ้าและใบไม้ประทังชีวิตอยู่ บัดนี้ได้พระราชทานฉันผู้ตกยากอย่างนี้ให้ช่างหม้อ เพื่อเทียมยานน้อย เว้นท่านแล้วผู้อื่นที่จะเป็นที่พึ่งของฉันไม่มี ท่านรู้อุปการะที่ฉันทำแก่พระราชาแล้ว ได้โปรดเถิด ขอท่านจงทำยศของฉันที่เสื่อมไปแล้วให้กลับคืนมาตามปกติเถิด แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า:

[๑๐๖๕] เมื่อข้าพเจ้าเป็นสาว ได้ทำลายช้างศัตรูนำกิจนั้นไป ได้ช่วยถอนลูกศรที่เสียบอยู่ที่พระอุระ วิ่งตลุยไล่เหยียบย่ำข้าศึกไปในเวลารบ ยังทำให้พระเจ้าทัฬหธรรมราชาพอพระทัยไม่ได้
[๑๐๖๖] พระราชาคงไม่ทราบความเพียรพยายามของข้าพเจ้า ความดีความชอบในสงคราม และการเป็นทูตเดินส่งข่าวสาส์นเป็นแน่
[๑๐๖๗] ข้าพเจ้าไม่มีพวกพ้อง ไร้ที่พึ่งอาศัย จักต้องตายแน่ๆ ยังมิหนำซ้ำพระราชทานข้าพเจ้าให้แก่ช่างหม้อ ไว้สำหรับขนโคมัย


พระโพธิสัตว์สดับถ้อยคำของเขาแล้วจึงปลอบใจว่า เจ้าอย่าโศกเศร้าไปเลยฉันจักทูลพระราชาแล้วให้พระราชทานยศตามปกติ  แล้วเข้าไปพระนคร รับประทานอาหารเข้าแล้วไปราชสำนักยกเรื่องขึ้นทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงมีช้างพังต้นชื่อโอฏฐิพยาธิมิใช่หรือ  เขาผูกหลาวไว้ที่หน้าอกแล้วช่วยสงครามในที่โน้นและในที่โน้น วันโน้นถูกผูกหนังสือ คือสารที่คอแล้วส่งไปสื่อสาร ได้เดินทางไปร้อยโยชน์ ฝ่ายพระองค์ก็ได้พระราชทานยศแก่เขามาก บัดนี้เขาอยู่ที่ไหน

พระราชาตรัสตอบว่า เราได้ให้เขาแก่ช้างหม้อ เพื่อเข็นโคมัยแล้ว ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงทูลพระองค์ว่า ข้าแต่มหาราชการพระราชทานแก่ช่างหม้อเพื่อให้เทียมล้อที่พระองค์ทรงทำแล้วไม่สมควรเลย แล้วได้ภาษิตคาถา ๔ คาถา โดยการถวายโอวาทพระราชาว่า:

[๑๐๖๘] คนบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังอยู่เพียงใด ก็ยังคบหากันอยู่เพียงนั้น เมื่อประโยชน์ที่หวังสิ้นไป คนพาลทั้งหลายย่อละทิ้งเขา เหมือนพระมหากษัตริย์ทอดทิ้งช้างพังโอฏฐิพยาธิ ฉะนั้น
[๑๐๖๙] ผู้ใดอันคนอื่นทำความยินดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่างแล้ว ไม่รู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้นย่อมพินาศไปหมด
[๑๐๗๐] ผู้ใดอันคนอื่นทำความดีให้แก่ตนก่อน ช่วยเหลือกิจให้สำเร็จทุกอย่างแล้ว ย่อมรู้สึก ประโยชน์ทั้งหลายของบุคคลผู้ช่วยเหลือนั้น ย่อมเจริญทวีขึ้น
[๑๐๗๑] เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงขอพูดกะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายมาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มีประมาณเท่าใด ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายประมาณเท่านั้น ขอท่านทุกคนจงเป็นผู้มีกตัญญู ท่านทั้งหลายจักประดิษฐานอยู่ในสวรรค์ตลอดกาลนาน


พระมหาสัตว์ได้ให้โอวาทแก่คนทั้งหมดที่มาประชุมกันแล้ว พระราชาทรงสดับโอวาทนั้นแล้วได้ทรงแต่งตั้งยศให้ช้างพังต้นโอฏฐิพยาธิตามเดิม พระองค์ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้วทรงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ตลอดกาลนานแล้ว ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ว่า ช้างพังต้นชื่อโอฏฐิพยาธิในครั้งนั้น ได้แก่พังภัททวดีในบัดนี้ พระราชาได้แก่พระอานนท์ ส่วนอำมาตย์ ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล


จบ ทัฬหธัมมชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 41.0.2272.101 Chrome 41.0.2272.101


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 01 เมษายน 2558 15:06:21 »

.

http://i.ytimg.com/vi/2b1-rWc4xow/hqdefault.jpg
ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา


ทูตชาดก
ว่าด้วยการบอกความทุกข์แก่ผู้ที่ควรบอก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการสรรเสริญปัญญาของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันถึงถ้อยคำปรารภพระคุณของพระศาสดาในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูความเป็นผู้ฉลาดในอุบายของพระทศพลเถิด พระองค์แสดงนางอัปสรทั้งหลายแก่นันทกุลบุตร แล้วประทานพระอรหัต ทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุลปันถกะ แล้วประทานพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ทรงประทานดอกปทุมแก่นายช่างทอง แล้วประทานพระอรหัต พระองค์ทรงแนะสัตว์ทั้งหลายด้วยอุบายต่างๆ อย่างนี้

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น ที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย โดยรู้อุบายว่า นี้เป็นดังนี้ แม้ในกาลก่อนตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี ชนบทไม่มีเงินใช้เพราะพระเจ้าพรหมทัตทรงบีบบังคับชาวชนบทขนเอาทรัพย์ไปหมด ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกคาม ครั้นเจริญวัยแล้วได้ไปเมืองตักกศิลา กล่าวกะอาจารย์ว่าข้าพเจ้าจักเที่ยวขอเขาโดยธรรม แล้วจักนำเอาทรัพย์มาให้อาจารย์ภายหลัง แล้วเริ่มเรียนศิลปศาสตร์ ครั้นเรียนสำเร็จสอบไล่ได้แล้วจึงบอกอาจารย์ว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์กระผมจักไปนำทรัพย์ค่าจ้างสอนมาให้ท่าน แล้วออกเที่ยวไปตามชนบทแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทองคำเจ็ดลิ่มจึงคิดว่าจักนำไปให้อาจารย์

ในระหว่างทางได้ลงสู่เรือเพื่อข้ามแม่น้ำคงคา เรือโคลงไปมาในแม่น้ำนั้น ทองคำของพระโพธิสัตว์ก็ตกน้ำ พระโพธิสัตว์คิดว่าเงินเป็นของหายากเมื่อเราจะเที่ยวแสวงหาทรัพย์ค่าจ้างสอนตามชนบทก็จักเนิ่นช้า อย่ากระนั้นเลยเราควรนั่งอดอาหารอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี่แหละ พระราชาจักทรงทราบความที่เรานั่งอยู่โดยลำดับก็จักส่งพวกอำมาตย์มา เราจักไม่พูดจากับพวกอำมาตย์เหล่านั้น ลำดับนั้น พระราชาก็จักเสด็จมาเอง เราจักได้ทรัพย์ค่าจ้างสอนในสำนักของพระราชาด้วยอุบายนี้ คิดดังนี้แล้ว ห่มผ้าสาฎกเฉวียงบ่า เอายัญต์และสายสิญจน์วงไว้โดยรอบ นั่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาประดุจรูปปฏิมาทองคำบนพื้นทราย ซึ่งมีสีดังแผ่นเงินฉะนั้น.

มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์นั่งอดอาหารอยู่ จึงถามว่าท่านนั่งเพื่ออะไร พระโพธิสัตว์มิได้กล่าวแก่ใครๆ วันรุ่งขึ้นผู้ที่อยู่บ้านใกล้ประตูพระนครได้ฟังว่าพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่นั้น จึงพากันไปถามอีก แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้กล่าวแม้แก่ชนเหล่านั้น ชนเหล่านั้นเห็นความลำบากของพระโพธิสัตว์ก็พากันคร่ำครวญหลีกไป ในวันที่ ๓ ชาวพระนครพากันมา ในวันที่ ๔ อิสรชนพากันมาจากพระนคร ในวันที่ ๕ ราชบุรุษพากันมา ในวันที่ ๖ พระราชาทรงส่งพวกอำมาตย์มา พระโพธิสัตว์ก็มิได้กล่าวแม้แก่ชนเหล่านั้น ในวันที่ ๗ พระราชาทรงกลัวภัย จึงเสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ เมื่อจะตรัสถาม จึงตรัสพระคาถาที่ ๑ ว่า
[๑๗๗๗] ดูกรพราหมณ์ เราส่งทูตทั้งหลายเพื่อท่านผู้เพ่งอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา ทูตเหล่านั้นถามท่าน ท่านก็มิได้บอกให้แจ่มแจ้ง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ท่านนั้น เป็นความตายของท่านมิใช่หรือ?

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์จะบอกแก่ผู้ที่สามารถจะนำทุกข์ไปได้เท่านั้น ไม่บอกแก่ผู้อื่น แล้วกล่าวคาถา ๗ คาถาว่า
[๑๗๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องพระองค์จากทุกข์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์นั้นแก่ผู้นั้น.
[๑๗๗๙] ผู้ใดพึงเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้.
[๑๗๘๐] ข้าแต่พระราชา เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ดี ของนกก็ดี รู้ได้ง่าย เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากยิ่งกว่านั้น.
[๑๗๘๑] อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้.
[๑๗๘๒] ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอกในกาลอันไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย.
[๑๗๘๓] บุคคลรู้กาลอันควรและรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญาว่ามีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคลผู้เช่นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่ผู้อื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์.
[๑๗๘๔] อนึ่ง ถ้าบุคคลอดกลั้นความทุกข์ของตนไม่ได้ก็พึงรู้ว่า ประเพณีของโลกนี้ จะมีเพื่อถึงความสุขสำหรับเราผู้เดียวไม่ได้ นักปราชญ์เมื่อเพ่งเล็งหิริและโอตตัปปะอันเป็นของจริง พึงอดกลั้นความทุกข์ร้อนไว้ผู้เดียวเท่านั้น
.

พระมหาสัตว์ครั้นแสดงธรรมถวายพระราชาด้วยคาถา ๗ คาถาอย่างนี้ แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนแสวงหาทรัพย์เพื่ออาจารย์ได้กล่าวคาถา ๔ คาถา ว่า
[๑๗๘๕] ข้าแต่พระมหาราชา ข้าพระองค์ต้องการจะหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงเที่ยวไปทั่วแว่นแคว้น นิคม และราชธานีทั้งหลาย.
[๑๗๘๖] ขอกะคฤหบดี ราชบุรุษ และพราหมณ์มหาศาลได้ทองคำ ๗ ลิ่ม ทองคำ ๗ ลิ่มของข้าพระองค์นั้นหายเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเศร้าโศกมาก.
[๑๗๘๗] ข้าแต่พระมหาราชา บุรุษผู้เป็นทูตของพระองค์เหล่านั้น ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่าไม่สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงไม่บอกแก่บุรุษเหล่านั้น.
[๑๗๘๘] ข้าแต่พระมหาราชา ส่วนพระองค์ ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า ระองค์สามารถจะปลดเปลื้องข้าพระองค์จากทุกข์ได้ เพราะเหตุนั้นข้าพระองค์จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ.


พระศาสดาเมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า
[๑๗๘๙] พระราชาผู้บำรุงรัฐกาสีให้เจริญมีพระฤหทัยเลื่อมใสได้พระราชทานทองคำ ๑๔ แท่ง แก่พระโพธิสัตว์นั้น.

พระมหาสัตว์ถวายโอวาทแก่พระราชาแล้วให้ทรัพย์แก่อาจารย์ บำเพ็ญกุศลมีทานเป็นต้น แม้พระราชาก็ดำรงอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ครองราชสมบัติโดยธรรม แล้วชนทั้งสองก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้ฉลาดในอุบายเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ อาจารย์ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วน มาณพ คือเราตถาคตนั่นแล.


จบ จบทูตชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 เมษายน 2558 14:31:18 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 41.0.2272.118 Chrome 41.0.2272.118


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 08 เมษายน 2558 14:35:24 »

.



นันทิวิสาลชาดก
ว่าด้วยการพูดดี

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการพูด เสียดแทงให้เจ็บใจ ของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

ความพิสดารว่า สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อกระทำการทะเลาะ ย่อมขู่ ย่อมตะเพิด ย่อมทิ่มแทง ย่อมด่าด้วยเรื่องสำหรับด่า ๑๐ ประการ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์มาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่าพวกเธอกระทำการทะเลาะจริงหรือ  เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า จึงทรงติเตียนแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าวาจาหยาบกระทำแต่ความฉิบหายให้ ไม่เป็นที่พอใจแม้แห่งสัตว์เดียรัจฉาน แม้ในกาลก่อนสัตว์เดียรัจฉานตัวหนึ่ง ย่อมยังคนผู้ร้องเรียกตนด้วยคำหยาบให้พ่ายแพ้ด้วยทรัพย์พันหนึ่ง แล้วจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่าคันธาระ ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองตักศิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดโค ครั้งในกาลที่พระโพธิสัตว์เป็นลูกโคหนุ่มนั่นเอง พราหมณ์คนหนึ่งได้พระโพธิสัตว์นั้นจากสำนักของทายกผู้ให้ทักษิณา ตั้งชื่อโคพระโพธิสัตว์ว่านันทิวิสาล แล้วตั้งไว้ในฐานะบุตร รักใคร่มาก ให้ข้าวยาคูและภัตเป็นต้น บำรุงเลี้ยงแล้วพระโพธิสัตว์เจริญวัย แล้วคิดว่าพราหมณ์นี้ปรนนิบัติเราโดยยาก ชื่อว่าโคอื่นเสมอเช่นกับเราย่อมไม่มีในชมพูทวีปทั้งสิ้น ถ้ากระไร เราพึงใช้กำลังของตนเพื่อหาค่าเลี้ยงดูแก่พราหมณ์

วันหนึ่งพระโพธิสัตว์นั้นจึงกล่าวกะพราหมณ์ ว่า พราหมณ์ท่านจงไป จงเข้าไปหาโควินทกเศรษฐีนั่น แล้วกล่าวว่า โคพลิพัทของเราสามารถทำให้เกวียนร้อยเล่มซึ่งผูกติดๆ กันให้เคลื่อนไปได้ ท่านจงกระทำการเดิมพันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ

พราหมณ์นั้นจึงไปยังสำนักของเศรษฐี แล้วสนทนาขึ้นว่า ในนครนี้โคของใครเพียบพร้อมด้วยเรี่ยวแรง ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ของคนโน้นบ้างและของคนนี้บ้าง แล้วกล่าวว่า ทั่วทั้งนครโคชื่อว่ามีเรี่ยวแรงมากเสมอเช่นกับโคทั้งหลายของเราย่อมไม่มี พราหมณ์กล่าวว่า โคของเราตัวหนึ่งสามารถลากเกวียนร้อยเล่มผูกติดๆ กันให้เคลื่อนไปได้

เศรษฐีกล่าวว่า คฤหบดี โคเห็นปานนี้จะมีแต่ไหน พราหมณ์กล่าวว่า มีอยู่ในเรือนของเรา เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกระทำเดิมพัน พราหมณ์กล่าวว่า ดีละข้าพเจ้าจะทำ แล้วได้กระทำเดิมพันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ   พราหมณ์นั้นทำเกวียนร้อยเล่มให้เต็มด้วยทราย กรวด และหินเป็นต้น แล้วจอดไว้ตามลำดับกัน แล้วผูกเกวียนทุกเล่มเข้าด้วยกันด้วยเชือกสำหรับผูกเพลา แล้วให้โคนันทิวิสาลอาบนํ้าแล้วเจิมด้วยของหอม ประดับพวงมาลาที่คอ แล้วเทียมที่เกวียนเล่มแรก ตนเองนั่งที่เกวียน เงื้อปฏักขึ้นแล้วกล่าวว่า เจ้าโคโกง จงลากไป เจ้าโคโกง จงนำไป พระโพธิสัตว์คิด ว่า พราหมณ์นี้ร้องเรียกเราผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโกง จึงได้ยืนทำเท้าทั้ง ๔ ให้นิ่ง เหมือนเสา   ทันใดนั้น เศรษฐีจึงให้พราหมณ์นำทรัพย์พันกหาปณะมา พราหมณ์แพ้พนันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จึงปลดโคแล้วไปเรือน ถูกความโศกครอบงำ จึงได้นอน

โคนันทิวิสาลเที่ยวไปแล้วกลับมา เห็นพราหมณ์ถูกความโศกครอบงำ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านนอนหลับหรือ พราหมณ์กล่าวว่า เราแพ้พนันด้วยทรัพย์พันกหาปณะ จะมีความหลับมาแต่ไหน โคนันทิวิสาลกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ฉันอยู่ในเรือนของท่านมานาน เคยทำภาชนะอะไรๆ แตก เคยเหยียบใครๆ หรือเคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ในที่อันไม่ควร มีอยู่หรือ พราหมณ์กล่าวว่า ไม่มีดอกพ่อ

ลำดับนั้น โคนันทิวิสาลกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงเรียกแนด้วยวาทะว่าโคโกง นั้นเป็นโทษของท่านเท่านั้น โทษของฉันไม่มี ท่านจงไป จงทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะกับเศรษฐีนั้น ขออย่างเดียวท่านอย่า เรียกฉันผู้ไม่โกง ด้วยวาทะว่าโคโกง

พราหมณ์ได้ฟังคำของโคนันทิวิสาลนั้น แล้วกระทำเดิมพันด้วยทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะแล้วผูกเกวียนร้อยเล่มติดกัน โดยนัยอันมีแล้วในก่อน ประดับโคนันทิวิสาลแล้วเทียมโคเข้าที่เกวียนเล่มแรก

ลำดับนั้น พราหมณ์นั่งบนทูบเกวียน ลูบหลังโคนันทิวิสาลนั้นพลางกล่าวว่า โคผู้เจริญ พ่อจงไป โคผู้เจริญ พ่อจงลากไป พระโพธิสัตว์ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยกำลังแรงครั้งเดียวเท่านั้น ให้เกวียนเล่มที่ตั้งอยู่ข้างหลังไปตั้งอยู่ในที่ของเกวียนซึ่งตั้งอยู่ข้างหน้า โควินทกเศรษฐีแพ้แล้วได้ให้ทรัพย์ ๒,๐๐๐ กหาปณะแก่พราหมณ์ ชนอื่นๆ ก็ได้ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พระโพธิสัตว์ ทรัพย์ทั้งหมดนั้นได้เป็นของพราหมณ์ทั้งนั้น พราหมณ์นั้นอาศัยพระโพธิสัตว์จึงได้ทรัพย์เป็นอันมากด้วยประการอย่างนี้.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าคำหยาบไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แล้วทรงติเตียนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ ส่วนโคนันทิวิสาล ได้เป็นเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล.


จบ นันทิวิสาลชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 17 เมษายน 2558 16:01:26 »

.



พยัคฆชาดก
ว่าด้วยเรื่องของมิตร

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ โกกาลิกภิกษุ จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

เรื่องพระโกกาลิกะจักมีแจ้งใน ตักการิยชาดก เตรสนิบาต   ก็พระโกกาลิกะคิดว่าจักไปพาพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมา จึงออกจากกาสิกรัฐไปยังพระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วเข้าไปหาพระเถระทั้งสองแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้อาวุโส มนุษย์ชาวแว่นแคว้นเรียกหาท่านทั้งหลาย มาเถิดท่านเราทั้งหลายจะได้ไปด้วยกัน

พระเถระทั้งสองกล่าวว่า ไปเถอะคุณพวกเรายังจะไม่ไป เมื่อพระเถระทั้งสองปฏิเสธแล้ว พระโกกาลิกะนั้นจึงได้ไปโดยลำพังตนเอง

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระโกกาลิกะไม่อาจเป็นไปร่วมหรือเว้นจากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ แม้ร่วมก็อดกลั้นไม่ได้ แม้พลัดพรากก็อดกลั้นไม่ได้

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ? เมื่อ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่าด้วยเรื่องชื่อนี้พระเจ้าข้า จึงตรัสว่า มิใช่ในบัดนี้เท่านั้นดอกนะภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนพระโกกาลิกะนี้ไม่อาจอยู่ร่วมหรือเว้นจากพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลวิมานของพระโพธิสัตว์นั้น มีรุกขเทวดาตนหนึ่งอยู่ในต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง สีหะและพยัคฆ์ก็อยู่ในไพรสณฑ์นั้น พวกชาวบ้านจึงไม่ไถนาไม่ตัดไม้ในไพรสณฑ์นั้นเพราะกลัวสีหะและพยัคฆ์ ชื่อว่าบุคคลผู้สามารถที่เหลียวกลับมาดูย่อมไม่มี ก็สีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นฆ่าเนื้อทั้งหลายแม้มีประการต่างๆ เคี้ยวกิน ทิ้งสิ่งที่เหลือจากการเคี้ยวกินไว้ในที่นั้นนั่นเองแล้วก็ไปเสีย ไพรสณฑ์นั้นจึงมีกลิ่นซากสัตว์อันไม่สะอาดเพราะกลิ่นของเนื้อเหล่านั้น

ลำดับนั้น วันหนึ่งรุกขเทวดาผู้โง่เขลาไม่รู้จักเหตุและมิใช่เหตุผู้หนึ่ง ได้กล่าวกะพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนสหาย ไพรสณฑ์เกิดกลิ่นซากสัตว์อันไม่สะอาดแก่พวกเรา เพราะอาศัยสีหะและพยัคฆ์เหล่านี้ เราจะไล่สีหะและพยัคฆ์เหล่านี้ให้หนีไปเสีย พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนสหาย เพราะอาศัยสีหะและพยัคฆ์ทั้งสองตัวนี้พวกเราจึงรักษาวิมานอยู่ได้ เมื่อสีหะและพยัคฆ์เหล่านี้หนีไปเสีย วิมานของพวกเราก็จักฉิบหายเพราะพวกมนุษย์เมื่อไม่เห็นรอยเท้าของสีหะและพยัคฆ์ทั้งหลายก็จักตัดป่าทั้งหมดกระทำให้เป็นเนินลานเดียวกันแล้วไถนา ท่านอย่าชอบใจอย่างนี้เลย แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :

[๔๑๕] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเสื่อมไปเพราะการคบหากับมิตรคนใดบัณฑิตพึงรักษาลาภ ยศ และชีวิตของตนที่มิตรนั้นครอบงำไว้เสียก่อน ดุจบุคคลผู้รักษาตาของตนไว้ ฉะนั้น

[๔๑๖] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเจริญเพราะการคบหากับมิตรคนใด บุรุษผู้ฉลาดในกิจทั้งมวลพึงกระทำกิจทุกอย่างของกัลยาณมิตรให้เหมือนของตน


พระโพธิสัตว์แม้จะกล่าวเหตุผลอย่างนี้ เทวดาเขลาตนนั้นก็ไม่พิจารณาใคร่ครวญเลย

วันหนึ่งจึงแสดงรูปอันน่ากลัวทำให้สีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นหนีไป พวกมนุษย์ไม่เห็นรอยเท้าของสีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นรู้ได้ว่าพวกสีหะและพยัคฆ์หนีไปอยู่ป่าอื่น จึงถางป่าชัฏได้ด้านหนึ่ง

เทวดาเขลาจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า ดูก่อนสหาย ข้าพเจ้าไม่กระทำตามคำของท่านจึงทำสีหะและพยัคฆ์ทั้งหลายให้หนีไป บัดนี้มนุษย์ทั้งหลายรู้ว่าสีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นหนีไปแล้วจึงพากันตัดถางป่าเราจะพึงทำอย่างไรหนอ

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า บัดนี้ สีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นอยู่ในป่าโน้น ท่านจงไปนำเอาสีหะและพยัคฆ์เหล่านั้นมา เทวดาเขลาจึงไปที่ชัฏป่านั้น ยืนประคองอัญชลีข้างหน้าสีหะและพยัคฆ์เหล่านั้น แล้วกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :

[๔๑๗] ดูกรราชสีห์และเสือโคร่ง จงมาเถิด เชิญท่านทั้งสองจงกลับเข้าไปยังป่าใหญ่ พวกมนุษย์อย่ามาตัดป่าของเราให้ปราศจากราชสีห์และเสือโคร่งเสียเลย ราชสีห์และเสือโคร่งอย่าได้เป็นผู้ไร้ป่า

สีหะและพยัคฆ์ทั้งสองนี้ แม้ถูกเทวดานั้นอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ก็ยังคงปฏิเสธว่า ท่านไปเถอะพวกเรายังไม่ไป เทวดากลับมายังป่าผู้เดียวเท่านั้น ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็ตัดป่าทั้งหมด โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น กระทำให้เป็นเนื้อนาแล้วกระทำกสิกรรม

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดกว่า เทวดาผู้ไม่ฉลาดในกาลนั้นได้เป็นพระโกกาลิกะในบัดนี้ ส่วนเทวดาผู้ฉลาดในกาลนั้นได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล  


จบ พยัคฆชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 20 เมษายน 2558 15:43:54 »

.



พระนารทดาบสชาดก.

พระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อังคติราช ครองเมืองมิถิลา เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม พระธิดาของพระเจ้าอังคติราชมีพระนามว่า รุจาราชกุมารี มีรูปโฉมงดงาม พระราชาทรงรักใคร่พระธิดาอย่างยิ่ง คืนวันหนึ่งเป็นเทศกาลมหรสพประชาชนพากันตกแต่งเคหสถานอย่างงดงาม พระเจ้าอังคติราชประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ในปราสาทใหญ่ ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการ พระจันทร์กำลังทรงกลดเด่นอยู่กลางท้องฟ้า พระราชาทรงปรารภกับหมู่อำมาตย์ว่า
"ราตรีเช่นนี้น่ารื่นรมย์นัก เราจะทำอะไรให้เพลิดเพลินดีหนอ"

อลาตอำมาตย์ทูลว่า "ขอเดชะ ควรจะเตรียมกองทัพใหญ่ยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ ให้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจพระเจ้าข้า"
สุนามอำมาตย์ทูลว่า "ทุกประเทศใหญ่น้อยก็มาสวามิภักดิ์อยู่ในพระราชอำนาจหมดแล้ว ควรที่จะจัดการเลี้ยงดูดื่มอวยชัยให้สำราญ และหาความเพลิดเพลินจากระบำรำฟ้อนเถิดพระเจ้าข้า"
วิชัยอำมาตย์ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์เรื่องการระบำดนตรีฟ้อนร้องนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรอยู่แล้วเป็นนิตย์ ในราตรีอันผุดผ่องเช่นนี้ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรมแล้วนิมนต์ท่านแสดงธรรมะจะเป็นการควรกว่าพระเจ้าค่ะ"

พระราชาพอพระทัยคำทูลของวิชัยอำมาตย์จึงตรัสถามว่า "เออ แล้วเราจะไปหาใครเล่าที่เป็นผู้รู้ธรรม"  อลาตอำมาตย์แนะขึ้นว่า "มีชีเปลือย รูปหนึ่งอยู่ในมิคทายวัน เป็นพหูสูตรพูดจาน่าฟัง ท่านคงจะช่วยขจัดข้อสงสัยของเรทั้งหลายได้ ท่านมีชื่อว่าคุณาชีวก "พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังก็ยินดี สั่งให้เตรียมกระบวนเสด็จไปหาชีเปลือยชื่อคุณาชีวกนั้น เมื่อไปถึงที่ก็ทรงเข้าไปหาคุณาชีวก ตรัสถามปัญหาธรรมที่พระองค์สงสัยอยู่ว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมกับบิดา มารดา อาจารย์ บุตร ภรรยา อย่างไร เหตุใดชนบางพวกจึงไม่ตั้งอยู่ในธรรม ฯลฯ

คำถามเหล่านี้ เป็นปัญหาธรรมขั้นสูงอันยากจะตอบได้ ยิ่งคุณาชีวกเป็นมิจฉาทิฏฐิผู้โง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้วไม่มีทางจะเข้าใจได้ คุณาชีวกจึงแกล้งทูลไปเสียทางอื่นว่า "พระองค์จะสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ไม่มีประโยชน์อันใดเลยพระเจ้าข้า โปรดฟังข้าพเจ้าเถิด ในโลกนี้บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี ไม่มีบิดามารดาปู่ย่าตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกันหมด จะได้ดีได้ชั่วก็ได้เอง ทานไม่มี ผลแห่งทานก็ไม่มี ร่างกายที่ประกอบกันขึ้นมานี้ เมื่อตายไปแล้วก็สูญสลายแยกออกจากกันไป สุขทุกข์ก็สิ้นไป ใครจะฆ่าจะทำร้ายทำอันตรายก็ไม่เป็นบาป เพราะบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวกเมื่อเกิดมาครบ 84 กัลป์ก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ไปเอง ถ้ายังไม่ครบถึงจะทำบุญทำกุศลเท่าไรก็ไม่อาจบริสุทธิ์ไปได้ แต่ถ้าถึงกำหนด ๘๔ กัลป์ แม้จะทำบาปมากมายก็จะบริสุทธิ์ไปเอง"

พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า "ท่านอาจารย์ข้าพเจ้านี้โง่เขลาจริงๆ ข้าพเจ้ามัวหลงเชื่อว่า ทำความดีแล้วจะไปสู่สุคติ อุตส่าห์พากเพียรบำเพ็ญกุศลกรรม บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่าบุญไม่มีบาปไม่มี ผลกรรมใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น บุคคลจะบริสุทธิ์เองเมื่อถึงกำหนดเวลา แม้แต่การฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็หามีประโยชน์อันใดไม่ข้าพเจ้าขอลาไปก่อนละ"

เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระราชวัง พระเจ้าอังคติราชก็มีพระราชโองการว่า ต่อไปนี้พระองค์จะไม่ปฏิบัติราชกิจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการทั้งปวงไม่มีประโยชน์ไม่มีผลอันใด พระองค์จะแสวงหาความเพลิดเพลินในชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาทรร้อนใจกับผลบุญผลกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นก็เกิดเสียงเล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือ หลงผิดเชื่อคำของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองย่อมจะถึงความเสื่อม หากพระราชาทรงมีพระดำริดังนั้น ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิงรุจาราชกุมารี ทรงร้อนพระทัยเมื่อทราบว่าพระบิดาให้รื้อโรงทานทั้งสี่มุมเมืองจะไม่บริจาคทานอีกต่อไป ทั้งยังได้กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองมากมายหลายประการ ด้วยความที่ทรงเชื่อว่าบุญไม่มีบาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเองเมื่อถึงเวลา เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพระบิดา ทูลขอพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันเพื่อจะเอาไปทรงทำทาน พระบิดาเตือนว่า "ลูกรัก ทานไม่มีประโยชน์ดอก ปรโลกไม่มี เจ้าจะไม่ได้ผลอะไรตอบแทน หากเจ้ายังถือศีลอดอาหารวันอุโบสถอยู่ก็จงเลิกเสียเถิด ไม่มีผลดอกลูกรัก" รุจาราชกุมารีพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดา ว่า “ข้าแต่พระชนก บุคคลกระทำบาปสั่งสมไว้ ถึงวันหนึ่งเมื่อผลบาปเพียบเข้า บุคคลนั้นก็จะต้องรับผลแห่งบาปที่ก่อเหมือนเรือที่บรรทุกแม้ทีละน้อย เมื่อเต็มเพียบเข้าก็จะจมในที่สุดเหมือนกัน ธรรมดาใบไม้นั้นหากเอาไปหุ้มห่อของเน่าเหม็น ใบไม้นั้นก็จะ เหม็นไปด้วย หากห่อของหอมใบไม้นั้นก็จะหอม ปราชญ์จึงเลือกคบแต่คนดี หากคบคนชั่วก็จะพลอยแปดเปื้อนเหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมทำให้แล่งศรแปดเปื้อนไปด้วย" ราชกุมารีกราบทูลต่อว่า "หม่อมฉันรำลึกได้ว่า ในชาติก่อนได้เคยเกิดเป็นบุตรช่างทอง ได้คบหามิตรกับคนชั่ว ก็พลอยกระทำแต่สิ่งที่ชั่วร้าย ครั้นชาติต่อมาเกิดในตระกูลเศรษฐี มีมิตรดีจึงได้พลอย บำเพ็ญบุญบ้าง เมื่อตายไปผลกรรมก็ตามมาทัน หม่อมฉันต้องไปทนทุกข์ทรมานในนรกอยู่เป็นเวลาหลายชาติหลายภพ ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องทนทุกข์รำเค็ญมากมาย กว่าจะใช้หนี้กรรมนั้นหมด และผลบุญเริ่มส่งผลจึงได้มาเกิดในที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันผลบุญผลบาปย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติไม่มีหยุด ย่อมได้รับผลตามกรรมที่ก่อไว้ทุกประการ ขอพระบิดาจงฟังคำหม่อมฉันเถิด" พระราชามิได้เชื่อคำรุจาราชกุมารี ยังคงยึดมั่นตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็นทุกข์ถึงผลที่พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของ พระบิดาด้วยเถิดจะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน"

ขณะนั้น มีพรหมเทพองค์หนึ่งชื่อ นารท เป็นผู้มีความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เสมอ นารทพรหม เล็งเห็นความทุกข์ของรุจาราชกุมารีและเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิดแก่ประชาชนหากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรกอีกข้างหนึ่ง ใส่คานทาน วางบนบ่าเหาะมาสู่ปราสาทพระเจ้าอิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ พระราชาทรงตกตะลึงตรัสถามว่า "ข้าแต่ท่านผู้มีวรรณะงามราวจันทร์เพ็ญท่านมาจากไหน" นารทพรหมตอบว่า "อาตมาภาพมากจากเทวโลก มีนามว่า นารท" พระราชาตรัสถามว่า "เหตุใดท่านจึงมีฤทธิ์ลอยอยู่ในอากาศได้เช่นนั้น น่าอัศจรรย์" อาตมาภาพบำเพ็ญคุณธรรม 4 ประการในชาติก่อนคือ สัจจะ ธรรมะ ทมะ และจาคะ จึงมีฤทธิ์เดชไปไหนได้ตามใจปรารถนา"

"ผลบุญมีด้วยหรือถ้าผลบุญมีจริงอย่างที่ท่านว่าได้โปรดอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด "พระนารท พรหมจึงอธิบายว่า "ผลบุญมีจริง ผลบาปก็มีจริง มีเทวดา มีบิดามารดา มีปรโลก มีทุกสิ่งทุกอย่างทั้งนั้น แต่เหล่าผู้งมงายหาได้รู้ไม่" พระราชาตรัสว่า "ถ้าปรโลกมีจริงขอยืมเงินข้าพเจ้าสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านในโลกหน้า" พระนารทตอบว่า "ถ้าท่านเป็นผู้ประพฤติธรรมมากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ท่านยืมได้ เพราะเรารู้ว่าผู้อยู่ในศีลธรรมผู้ประพฤติกรรมดีเมื่อเสร็จจากธุระแล้วก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้ตายไปแล้วก็จะต้องไปเกิดในนรก ใครเล่าจะตามไปทวงทรัพย์คืนจากท่านได้" พระราชาไม่อาจตอบได้ จึงนิ่งอั้นอยู่ นารทพรหมทูลว่า "หากพระองค์ยังทรงมีมิจฉาทิฏฐิอยู่เมื่อสิ้นพระชนม์ ก็ต้องไปสู่นรกทนทุกขเวทนาสาหัสในโลกหน้าพระองค์ก็จะต้องชดใช้ผลบาปที่ได้ก่อไว้ในชาตินี้" พระนารทได้โอกาสพรรณนาความทุกข์ทรมานต่างๆ ในนรกให้พระราชาเกิดความสะพรึงกลัวเกิดความสยดสยองต่อบาป

พระราชาได้ฟังคำพรรณนาก็สลดพระทัยยิ่งนักรู้พระองค์ว่าได้ดำเนินทางผิด จึงตรัสว่า "ได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด บัดนี้ข้าพเจ้าเกิดความกลัวภัยในนรก ขอท่านจงเป็นแสงสว่างส่องทางให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรดสอนธรรมะให้แก่ข้าพเจ้าผู้ได้หลงไปในทางผิด ขอจงบอกหนทางที่ถูกต้องแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" พระนารทพรหมฤษีจึงได้โอกาสตรัสสอนธรรมะแก่พระราชาอังคติราช ทรงสอนให้พระราชตั้งมั่นในทานในศีล อันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์เทวโลก แล้วจึงแสดงธรรมเปรียบร่างกายกับรถ เพื่อให้พระราชาทรงเห็นว่า รถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีอันถูกต้องแล่นไปในทางที่เรียบรื่น มีสติเป็นประดุจปฏัก มีความเพียรเป็นบังเหียน และมีปัญญาเป็นห้ามล้อรถอันประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีนั้นก็จะแล่นไปใน ทางที่ถูกต้อง โดยปราศจากภัยอันตราย พระราชาอังคติราชทรงละมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดละหนทางบาป นารถพรหมฤษีจึงถวายโอวาทว่า "ขอพระองค์จะละบาปมิตร คบแต่กัลยาณมิตร อย่าได้ทรงประมาทเลย" ในระหว่างนั้น พระนารทพรหมฤษีได้อันตรธานหายไป พระราชาก็ทรงตั้งมั่นในศีลในธรรม ทรงเริ่มทำบุญทำทาน ทรงเลือกคบแต่ผู้ที่จะนำไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อพระราชาทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ประชาชนก็มีความสุขบ้านเมืองสงบร่มเย็น สมดังที่พระนารทพรหมฤษีทรงกล่าวว่า  "จงละบาปมิตร จงคบกัลยาณมิตร จงทำบุญละจากบาป ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด  


จบ พระนารทดาบสชาดก.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มีนาคม 2559 15:56:17 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 22 เมษายน 2558 14:38:44 »

.



อายาจิตชาดก
ว่าด้วยการเปลื้องตน

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพลีกรรม อ้อนวอนเทวดาทั้งหลาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกาลนั้น มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะไปค้าขาย ได้ฆ่าสัตว์ทำพลีกรรมแก่เทวดาทั้งหลาย อ้อนวอนว่า ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายสำเร็จประโยชน์โดยไม่มีเหตุขัดข้อง เมื่อกลับมาแล้วจักกระทำพลีกรรมแก่ท่านทั้งหลายอีก ดังนี้แล้ว จึงพากันไป ครั้นเมื่อพวกมนุษย์ได้ถึงสำเร็จประโยชน์โดยไม่มีอันตรายกลับมาแล้ว ก็สำคัญว่า ผลสำเร็จนี้เกิดด้วยอานุภาพของเทวดา จึงได้ฆ่าสัตว์เป็นอันมาก กระทำพลีกรรมเพื่อให้เป็นไปตามที่ได้อ้อนวอนไว้นั้น  ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประโยชน์ในการบนบานนี้มีอยู่หรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล มีกุฏุมพีคนหนึ่งในบ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ได้บนบานที่จะทำพลีกรรมแก่เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไทรซึ่งตั้งอยู่ใกล้ประตูบ้าน แล้วก็เดินทางกลับมาโดยไม่มีอันตราย จึงฆ่าสัตว์เป็นอันมากแล้วไปยังโคนต้นไทรด้วยตั้งใจว่าจักแก้บน รุกขเทวดายืนอยู่ที่ค่าคบของต้นไม้กล่าวคาถานี้ว่า

ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่ การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของคนพาล.
ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ถ้าท่านจะเปลื้องตน คือท่านปรารถนาจะเปลื้องตน ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ คือจงพ้นโดยประการที่ติดพันโลกหน้า ก็ท่านเมื่อปลดเปลื้องโดยประการที่ปรารถนา เพื่อฆ่าสัตว์ปลดเปลื้อง ชื่อว่ายังติดพันด้วยกรรมอันลามก เพราะเหตุไร เพราะนักปราชญ์ทั้งหลาย หาได้เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่

อธิบายว่า ก็บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น ย่อมไม่ปลดเปลื้องตนด้วยคำมั่นสัญญาอย่างนี้ เพราะเหตุไร เพราะการเปลื้องตนเห็นปานนี้ เป็นเหตุติดพันของคนพาล คือธรรมดาการเปลื้องตนเพราะกระทำปาณาติบาตนี้ ย่อมเป็นเหตุติดหนักของคนพาล รุกขเทวดาแสดงธรรมด้วยประการดังกล่าวนี้ ตั้งแต่นั้นมนุษย์ทั้งหลายงดเว้นจากกรรมคือปาณาติบาตเช่นนั้น พากันประพฤติธรรม เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไปเกิดยังเทพนคร

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า สมัยนั้นเราได้เป็นรุกขเทวดาแล. 


จบ อายาจิตชาดก.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 48.0.2564.116 Chrome 48.0.2564.116


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 08 มีนาคม 2559 16:03:53 »

.



สันธิเภทชาดก
ว่าด้วยโทษที่เชื่อถือคำส่อเสียด

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ เปสุญญสิกขาบท จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
ได้ยินว่า สมัยหนึ่งพระศาสดาได้ทรงสดับว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์ ๑ นำความส่อเสียดป้ายร้ายเข้าไปให้ จึงรับสั่งให้เรียกภิกษุฉัพพัคคีย์ เหล่านั้นมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนำความส่อเสียดป้ายร้ายเข้าไปให้แก่พวกภิกษุผู้บาดหมาง ทะเลาะวิวาทกัน จริงหรือ? เพราะเหตุนั้น ความบาดหมางที่ยังไม่เกิดขึ้น และความ บาดหมางที่เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้น
 
เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่าจริงพระเจ้าข้า จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าวาจาส่อเสียดคมกล้าประดุจประหารด้วยศาตรา ถึงความคุ้นเคยที่เหนียวแน่นมั่นคงก็แตกสลายไปได้โดยรวดเร็ว เพราะวาจาส่อเสียดนั้น ก็แหละชนผู้เชื่อถือวาจาส่อเสียดนั้นแล้วทำลายไมตรีของตนเสีย ย่อมเป็นเช่นกับราชสีห์และโคผู้ทีเดียว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:
 
๑ ฉัพพัคคีย์ กลุ่มพระ ๖ รูปที่ชอบก่อเรื่องเสียหาย ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ
 
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสีนั้น เจริญวัยแล้วเล่าเรียนศิลปะในเมืองตักกสิลาเสร็จแล้ว เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้วได้ครองราชสมบัติโดยธรรม
 
ครั้งนั้น นายโคบาลคนหนึ่งรับจ้างเลี้ยงโคในตระกูลทั้งหลาย เมื่อจะมาจากป่าไม่ได้นึกถึงแม่โคตัวหนึ่งซึ่งมีครรภ์จึงทิ้งไว้แล้วไปเสีย แม่โคนั้นเกิดความคุ้นเคยกับแม่ราชสีห์ตัวหนึ่ง แม่โคและแม่ราชสีห์ทั้งสองนั้นเป็นมิตรกันอย่างมั่นคงเที่ยวไปด้วยกันจำเนียรกาลนานมา แม่โคจึงตกลูกโค แม่ราชสีห์ตกลูกราชสีห์ ลูกโคและลูกราชสีห์ทั้งสองนั้นก็ได้เป็นมิตรกันอย่างเหนียวแน่น ด้วยไมตรีซึ่งมีมาโดยสกุล จึงเที่ยวไปด้วยกัน ครั้งนั้น พรานป่าคนหนึ่งเข้าป่าเห็นสัตว์ทั้งสองนั้นคุ้นเคยกัน จึงถือเอาสิ่งของที่เกิดขึ้นในป่า แล้วไปเมืองพาราณสี ถวายแด่พระราชา ครั้นพระราชาตรัสถามว่า สหาย ท่านเคยเห็นความอัศจรรย์อะไรๆ ในป่าบ้างไหม?

จึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นอะไรๆ อย่างอื่น แต่ได้เห็นราชสีห์ตัวหนึ่งกับโคผู้ตัวหนึ่ง สนิทสนมกันและกันเที่ยวไปด้วยกัน
 
พระราชาตรัสว่า เมื่อสัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งสองเหล่านั้น ภัยจักบังเกิดมี เมื่อใดท่านเห็นสัตว์ตัวที่สามเพิ่มขึ้นแก่สัตว์ทั้งสองนั้น เมื่อนั้นท่านพึงบอกเรา
 
นายพรานป่านั้นทูลรับว่า ได้พระเจ้าข้า ก็เมื่อพรานป่าไปเมืองพาราณสีแล้ว มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเข้าไปบำรุงราชสีห์และโคผู้
 
นายพรานป่าไปป่า ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกนั้นคิดว่า จักกราบทูลความที่สัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้น แล้วแก่พระราชาจึงได้ไปยังพระนครพาราณสี
 
สุนัขจิ้งจอกคิดว่า เว้นเนื้อราชสีห์และเนื้อโคผู้เสีย ขึ้นชื่อว่าเนื้ออื่นที่เราไม่เคยกิน ไม่มี เราจักยุยงทำลายสัตว์ทั้งสองนี้แล้วกินเนื้อสัตว์ทั้งสองนี้ สุนัขจิ้งจอกนั้นจึงยุยงสัตว์ทั้งสองนั้นให้ทำลายกันและกันโดยพูดว่า ผู้นี้พูดอย่างนี้กะท่าน ผู้นี้พูดอย่างนี้กะท่าน ไม่นานนักก็ได้ทำให้ถึงแก่ความตาย เพราะทำการทะเลาะกัน
 
ฝ่ายพรานป่ามาถึงแล้วกราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ สัตว์ตัวที่สามเกิดขึ้นแล้วแก่ราชสีห์และโคผู้เหล่านั้น
 
พระราชาตรัสถามว่า สัตว์ตัวที่สามนั้น คืออะไร?
 
พรานป่ากราบทูลว่า สุนัขจิ้งจอกพระเจ้าข้า
 
พระราชาตรัสว่า สุนัขจิ้งจอก จักยุยงทำลายสัตว์ทั้งสองนั้นให้ตาย พวกเราจักไปทันในเวลาสัตว์ทั้งสองนั้นจะตาย จึงเสด็จขึ้นทรงราชรถเสด็จไปตามทางที่พรานป่าชี้ แสดงให้ เสด็จไปทันในเวลาเมื่อสัตว์ทั้งสองนั้นทำการทะเลาะกันและกันแล้วถึงแก่สิ้นชีวิตไป สุนัขจิ้งจอกมีใจยินดีกินเนื้อราชสีห์ครั้งหนึ่ง กินเนื้อโคผู้ครั้งหนึ่ง
 
พระราชาทรงเห็นสัตว์ทั้งสองนั้นถึงความสิ้นชีวิตไปแล้ว ทรงประทับยืนอยู่บนรถนั่นแล เมื่อจะตรัสเจรจากับนายสารถี จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า :
 
[๖๙๔] ดูกรนายสารถี สัตว์ทั้ง ๒ นี้ ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะสตรีทั้งหลายเลย ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะอาหารเลย ภายหลัง เมื่อสุนัขจิ้งจอก ยุยงทำลายความสนิทสนมกันเสียจนถึงให้ตาย ท่านจงเห็นเหตุนั้นซึ่งฉันคิดไว้ถูกต้องแล้ว.
 
[๖๙๕] พวกสุนัขจิ้งจอกพากันกัดกินโคและราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด คำส่อเสียดนั้น ย่อมเป็นไปถึงตัดมิตรภาพเพราะเนื้อ ดุจดาบคม ฉะนั้น.
 
[๖๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจงดูการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ นี้ ผู้ใด เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม ผู้นั้น จะต้องนอนตายอย่างนี้.
 
[๖๙๗] ดูกรนายสารถี นรชนเหล่าใด ไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม นรชนเหล่านั้น ย่อมได้ประสบความสุขเหมือนคนไปสวรรค์ ฉะนั้น.
 
พระราชาครั้นตรัสคาถานี้แล้ว รับสั่งให้เก็บเอาหนัง เล็บ และเขี้ยวของไกรสรราชสีห์ แล้วเสด็จไปยังพระนครทีเดียว
 
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล


สันธิเภทชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 48.0.2564.116 Chrome 48.0.2564.116


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 14 มีนาคม 2559 16:39:19 »



สสบัณฑิตชาดก

นครสาวัตถี มีเศรษฐีมั่งคั่งผู้หนึ่ง ปรารถนาจะทำบุญถวายบริขาร (เครื่องใช้สอยจำเป็นของพระ) ทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงให้สร้างมณฑป (เรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม)ไว้ที่ประตูเรือนของตน แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้ากับหมู่สงฆ์มา ครั้นถวายทานอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แล้วยังนิมนต์ติดต่อกันอีกถึง ๗ วัน
 
ในวันสุดท้าย เศรษฐีจึงถวายบริขารทุกอย่างที่ตระเตรียมไว้แก่พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นจนหมดสิ้น พระศาสดาทรงได้กระทำอนุโมทนา (ยินดีด้วย) ว่า ดูก่อนอุบาสก ควรที่ท่านจะเกิดปีติยินดียิ่งเพราะขึ้นชื่อว่าการทำทานนี้เป็นวงศ์ตระกูลของบัณฑิตมาแต่โบราณกาล แม้บัณฑิตเก่าก่อนนั้นก็ได้บริจาคมาแล้ว ถึงกับทำทานหมดแม้ด้วยชีวิตของตนทีเดียว"
 
เศรษฐีได้ฟังเช่นนั้น จึงทูลอาราธนา (นิมนต์) ให้ทรงเล่า พระศาสดาจึงตรัสแสดงชาดกนั้น
 
ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ติดเชิงเขา มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลเลียบราวป่านั้น และไม่ไกลนักก็มีหมู่บ้านชายแดนตั้งอยู่
 
ที่ป่านั้นเอง มีสัตว์ ๔ สหายเป็นเพื่อนรักกันอาศัยอยู่ คือ กระต่าย นาก สุนัขจิ้งจอก และลิง สัตว์ทั้ง ๔ ล้วนเป็นบัณฑิตคบหาสมาคมกันสนิทสนม ทุกๆ เย็นจะหมั่นมาประชุมสนทนาธรรมเสมอๆ
 
เย็นวันหนึ่ง สสบัณฑิต (กระต่าย) ซี่งเป็นเสมือนพี่ใหญ่ของสัตว์ทั้ง ๔ ได้พูดคุยกันสักครู่ แล้วก็บอกสอนน้องๆ ว่า "การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีความประเสริฐ พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถ (ถือศีล๘) เถิด"
 
สัตว์ทั้ง ๓ ก็น้อมรับคำอย่างเห็นดีด้วย แล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับไปที่อาศัยของตน จนกระทั่งวันหนึ่ง สสบัณฑิตได้กล่าวบอกกับมิตรสหายว่า "พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันอุโบสถ (วันพระขึ้นและแรม ๘ ค่ำ, ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำของทุกเดือน) พวกเราพึงให้ทาน พึงรักษาศีลอุโบสถ เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ทานย่อมมีผลบุญมาก ฉะนั้นแม้จะเป็นคนจนเข็ญใจมาถึง พวกเราทั้งหลายก็พึงให้อาหารที่ควรแก่เขาก่อน ตัวเองค่อยกินในภายหลัง"
 
บัณฑิตทั้ง ๔ ต่างยอมรับตามนั้น ด้วยใจปีติยินดีร่วมกัน
 
วันรุ่งขึ้น นากผู้เป็นบัณฑิตได้ออกแสวงหาเหยื่อแต่เช้าตรู่ ลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ ครั้นได้กลิ่นคาวปลาบริเวณพื้นทรายแห่งหนึ่ง จึงลองขุดคุ้ยลงไปดู ได้พบปลาตะเพียน ๗ ตัวถูกฝังเอาไว้ จึงคิดว่า "เจ้าของปลาเหล่านี้มีไหมหนอ"
 
ร้องตะโกนถามหาเจ้าของด้วยเสียงอันดังถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเจ้าของเลย จึงถือเป็นของเหลือเดน นำกลับไปยังที่อาศัยของตน เก็บไว้เป็นอาหารด้วยความคิดว่า
"เราจะกินเมื่อถึงเวลาเหมาะควรในวันนี้"
 
แล้วก็บำเพ็ญศีลของตน รอเวลานั้นอยู่
 
ส่วนสุนัขจิ้งจอกผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกแสวงหาอาหารตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ได้เจอเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อ ที่เขียงนาแห่งหนึ่งเข้า จึงเที่ยวดูรอบๆ บริเวณนั้นแล้วร้องเรียกเจ้าของสักครู่ใหญ่ แต่ก็ไม่พบใครเลย ดังนั้นจึงนำอาหารทั้งหมดมาเก็บไว้ที่อยู่ของตน แล้วถือศีลรอเวลาอันควรที่จะกินอาหารนั้น
 
ฝ่ายลิงผู้เป็นบัณฑิต ก็ออกหาผลไม้ในป่า ได้เก็บเอาผลมะม่วงมาไว้ยังที่พักของตน แล้วตั้งใจว่า "ตอนนี้เราบำเพ็ญศีลก่อน รอให้ถึงเวลาอันควรเราจึงจะกินอาหารนี้" แล้วลิงก็รักษาศีล เฝ้ารอเวลาอยู่และจะมีแต่สสบัณฑิตเท่านั้นที่ไม่ได้ออกไปหาอาหารใดๆ เลย ด้วยความคิดว่า "พอถึงเวลาอันควร เราจะออกไปหาหญ้าแพรกกิน" จึงพักอยู่ในโพรงของตนรักษาศีลอยู่ และตั้งจิต(อธิษฐาน)ของตนไว้ว่า "หากมีผู้ใดมาขออาหารกับเราในวันอุโบสถนี้ แต่เราไม่มีอาหารใดๆ ให้ เราก็จะมอบเนื้อในกายนี้เป็นทานแก่เขา"
 
ด้วยอานุภาพแห่งศีลและอธิษฐานนี้เองทำให้สะเทือนถึงท้าวสักกะจอมเทพ (ผู้มีจิตใจสูงอย่างยิ่งใหญ่) เกิดอาการร้อนรุ่มขึ้นมาทันที จึงทรงดำริในพระทัยว่า "เห็นทีเราจะต้องทดลองการตั้งอยู่ในธรรมของของพญากระต่ายนี้ดู ว่าจะจริงแท้หรือไม่"
 
แล้วทรงจำแลงแปลงร่างเป็นพราหมณ์ เพื่อทดสอบสัตว์ทั้ง ๔ สหาย เริ่มต้นด้วยการเข้าไปปรากฏตัวหานากบัณฑิต แล้วอ้อนวอนว่า "ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าขออาหารเป็นทานบ้างเถิด จะได้เป็นบำเพ็ญอุโบสถ กระทำสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับบาป) ได้ธรรมของผู้สงบระงับบาปได้ต่อไปด้วยดี
 
นากบัณฑิตดีใจนัก รีบรับคำทันที "ดีละ! ข้าพเจ้าจะให้อาหารทั้งหมดแก่ท่าน มีปลาตะเพียน อยู่ ๗ ตัว ท่านจงบริโภคสิ่งนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าต่อไปเถิด"
 
พราหมณ์ฟังแล้วพอใจอย่างยิ่ง แต่ตอบว่า "เรื่องของอาหารเหล่านี้ ยกเอาไว้ก่อนเถิดท่านบัณฑิตจะรู้ได้ภายในหลัง"
 
กล่าวแล้วพราหมณ์ก็ตรงไปที่อยู่ของสุนัขจิ้งจอกบัณฑิต แล้วก็เอ่ยปากขออาหารเช่นเดิม สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตตอบว่า "ดีแล้วพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะให้เนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัวและนมส้ม ๑ หม้อแก่ท่านทั้งหมด ท่านจงบริโภคอาหารเหล่านี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด"
 
ยังคงเป็นที่พอใจของพราหมณ์ แล้วก็มิได้รับอาหารนั้นมา แต่ตรงไปยังที่อาศัยของลิงบัณฑิตกล่าวขออาหารเหมือนเดิม ลิงบัณฑิตก็ให้ด้วยใจยินดี
 
"เชิญเถิดท่านพราหมณ์ มีผลมะม่วงสุก น้ำเย็นใสสะอาด ทั้งสถานที่ก็มีเงาอันรื่นรมย์ใจท่านจงบริโภคอาหารทั้งหมดนี้แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด"
 
เป็นที่พอใจของพราหมณ์อีก โดยมิได้รับอาหารนั้นมา คราวนี้เข้าไปหาสสบัณฑิตถึงที่โพรงแล้วออกปากขออาหาร สร้างความดีใจแก่สสบัณฑิตยิ่งนักถึงกับบอกว่า
 
"ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมาถึงที่อยู่ของข้าพเจ้าเพื่อต้องการอาหาร มาได้ดีแล้ว แม้ข้าพเจ้าจะไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร แต่วันนี้ข้าพเจ้าจะให้ทานที่ยังไม่เคยให้แก่ท่าน ท่านไปรวมไม้ฟืนก่อเป็นกองไฟใหญ่เถิด แล้วท่านจะได้บริโภคเนื้อสุก เจริญสมณธรรมได้ต่อไป"
 
พราหมณ์จึงใช้อานุภาพของท้าวสักกะจอมเทพ ได้เนรมิตรกองไฟใหญ่เอาไว้ แล้วกลับมาบอกกับสสบัณฑิตว่า "ท่านบัณฑิต ไฟกำลังลุกร้อนแรงดีเหลือเกิน"
 
สสบัณฑิตจึงออกมาจากโพรงของตน ตรงไปที่กองไฟ แล้วคิดขึ้นว่า "สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ติดขนของเราอาจมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นอย่าตายด้วยเลย"
 
จึงสะบัดตัวอย่างแรง ๓ ครั้ง เพื่อให้หลุดออกไปเสียที แล้วก็กระโดดเข้าสู่กองไฟทันที แต่กลับเสมือนเช่นพญาหงส์กระโดดลงสู่สระบัวฉะนั้นไฟกลับเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่ไหม้ร่างกายสักขุมขนหนึ่งเลย
 
ขณะนั้นเองท้าวสักกะจอมเทพจึงคืนสู่สภาพเดิมของพระองค์ แล้วตรัสว่า "ท่านบัณฑิต เรามิใช่พราหมณ์ เราเป็นท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งหลาย มานี่เพื่อทดลองการให้ทานของท่าน"
 
สสบัณฑิตเมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้วถึงกับเปล่งเสียงดังก้องออกไปว่า "ข้าแต่ท้าวสักกะ พระองค์จงหยุดการทดลองเช่นนี้เถิด ในโลกมนุษย์นี้หากใครพึงทดลองข้าพระองค์ ด้วยการขอให้ทำทานไซร้ จะไม่มีใครพบเห็นได้เลยว่าข้าพระองค์ประสงค์จะไม่ให้ทาน"
 
"ดูก่อนสสบัณฑิต คุณธรรมของท่านจงปรากฏอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด"
 
ตรัสแล้วก็เสด็จไปยังเทวโลกทันที ส่วนบัณฑิตทั้ง ๔ นั้นได้พร้อมเพรียงกันบันเทิงอยู่ พากันมุ่งบำเพ็ญศีล รักษาอุโบสถจนตลอดชีวิต

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า "นากบัณฑิตในกาลนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ สุนัขจิ้งจอกบัณฑิตได้มาเป็นพระโมคคัลลานะ ลิงบัณฑิตได้มาเป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะจอมเทพได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ส่วนสสบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคตนี่เอง"
 
แล้วพระศาสดาทรงประกาศสัจจะ ในเวลาที่จบสัจจะนั้น เศรษฐีผู้ถวายบริขารทุกอย่าง ก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๖๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๔๘๑

จบ สสบัณฑิตชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มีนาคม 2559 16:40:51 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1017


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.87 Chrome 49.0.2623.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #19 เมื่อ: 24 มีนาคม 2559 16:05:42 »



วัฏฏกชาดก
ว่าด้วยความจริง

พระศาสดาเมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในมคธชนบททั้งหลาย ทรงปรารภการดับไฟป่า จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
 
ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง พระศาสดาเมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในมคธ ชนบททั้งหลาย ได้เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวมคธแห่งหนึ่ง เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต อันหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จดำเนินสู่ทาง สมัยนั้นไฟป่าเป็นอันมากเกิดขึ้น

ภิกษุเป็นอันมากเห็นทั้งข้างหน้าและข้างหลังไฟนั้นแลมีควันเป็นกลุ่มเดียว มีเปลวเป็นกลุ่มเดียว กำลังลุกลามมาอยู่ทีเดียว บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุปุถุชนพวกหนึ่งกลัวต่อมรณภัย กล่าวว่าพวกเราจะจุดไฟตัดทางไฟ ไฟที่ไหม้มาจักไม่ไหม้ท่วมทับที่ที่ไฟนั้นไหม้แล้ว จึงนำหินเหล็กไฟออกมาจุดไฟ

ภิกษุอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุพวกท่านจะทำอะไร พวกท่านไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้เสด็จไปพร้อมกับตนนั่นเอง เหมือนคนไม่เห็นดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้า ไม่เห็นดวงอาทิตย์ประดับด้วยรัศมีตั้งพันกำลังขึ้นจากโลกธาตุด้านทิศตะวันออก เหมือนคนยืนอยู่ที่ริมฝั่งทะเลไม่เห็นทะเล เหมือนคนยืนพิงเขาสิเนรุไม่เห็นเขาสิเนรุฉะนั้น พากันพูดว่า จะจุดไฟตัดทางไฟ ชื่อว่าพระกำลังของพระพุทธเจ้า พวกท่านไม่รู้ มาเถิดท่านพวกเราจักไปเฝ้าพระศาสดา

ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด ได้รวมกันไปยังสำนักของพระทศพล พระศาสดามีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร ได้ประทับยืนอยู่ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง ไฟป่าไหม้เสียงดังมาเหมือนจะท่วมทับ ครั้นมาถึงที่ที่พระตถาคตประทับยืน พอถึงที่ประมาณ ๑๖ กรีส* รอบประเทศนั้นก็ดับไป เหมือนคบไฟที่เขาจุ่มลงในน้ำฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวคุณของพระศาสดาว่าน่าอัศจรรย์ ชื่อว่าพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ไฟนี้ไม่มีจิตใจ ยังไม่อาจท่วมทับที่ที่พระพุทธเจ้าประทับยืนย่อมดับไปเหมือนคบเพลิงหญ้าดับด้วยน้ำฉะนั้น น่าอัศจรรย์ ชื่อว่าอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ไฟนี้ถึงภูมิประเทศนี้แล้วดับไป เป็นกำลังของเราในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ ก็ข้อนี้เป็นกำลังแห่งสัจจะอันมีในก่อนของเรา ด้วยว่าในประเทศที่นี้ไฟจักไม่ลุกโพลงตลอดกัปนี้ แม้ทั้งสิ้น นี้ชื่อว่าปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป

ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น เพื่อต้องการเป็นที่ประทับนั่งของพระศาสดา พระศาสดาประทับนั่งขัดสมาธิ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็ถวายบังคมพระตถาคตแล้วนั่งแวดล้อมอยู่ ลำดับนั้นพระศาสดาอันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ปรากฏแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายก่อน ส่วนเรื่องอดีตยังลี้ลับ ขอพระองค์โปรดกระทำเรื่องอดีตนั้นให้ปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย จึงทรงนำเรื่องอดีตมาแสดงดังต่อไปนี้
 
ในอดีตกาล ในประเทศนั้นนั่นแหละในแคว้นมคธ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกคุ่ม เกิดจากท้องมารดา ในเวลาทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมา ได้เป็นลูกนกคุ่มมีตัวประมาณเท่าดุมเกวียนบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ลำดับนั้นบิดามารดาให้พระโพธิสัตว์นั้นนอนในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูด้วยจะงอยปาก พระโพธิสัตว์นั้นยังอ่อน ไม่มีกำลังพอที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศหรือไม่มีกำลังพอที่จะยกเท้าเดินไปบนที่ดอน และไฟป่านั้นไหม้บริเวณนั้นทุกปีๆ สมัยแม้นั้นไฟป่านั้นก็ไหม้บริเวณนั้นเสียงดังลั่น หมู่นกพากันออกจากรังของตนๆ ต่างกลัวต่อมรณภัยส่งเสียงร้องหนีไป บิดามารดาของพระโพธิสัตว์ก็กลัวต่อมรณภัย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไป พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นเอง ชะเง้อคอแลเห็นไฟป่ากำลังไหม้ตลบมา จึงคิดว่าถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศไซร้ เราก็จะพึงโบยบินไปที่อื่น ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนบกได้ไซร้ เราก็จะย่างเท้าไปที่อื่นเสีย ฝ่ายบิดามารดาของเราก็กลัวแต่มรณภัยทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว บัดนี้ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่งวันนี้เราจะทำอย่างไรหนอ จึงจะควร

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีลย่อมมีอยู่ในโลกนี้ ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาลชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายประทับนั่งที่พื้นต้นโพธิ ได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งแล้ว ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ ย่อมมีอยู่ และคุณของพระธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นทรงรู้แจ้งแล้วย่อมมีอยู่

เออก็ความสัจอย่างหนึ่งย่อมมีอยู่ในเราแท้ สภาวธรรมอย่างหนึ่งย่อมมีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะรำลึกถึงอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลายและคุณทั้งหลายที่อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรู้แจ้งแล้ว ถือเอาสภาวธรรมคือสัจจะซึ่งมีอยู่ในเรา กระทำสัจกิริยาให้ไฟถอยกลับไปกระทำความปลอดภัยแก่ตน และหมู่นกที่เหลือในวันนี้ ย่อมควร

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ระลึกถึงพระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรินิพพานไปแล้วในอดีต แล้วปรารภสภาวะคือสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน
 
เมื่อจะทำสัจกิริยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเรา ออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.
 
พร้อมกับสัจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น ไฟได้ถอยกลับไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส* ก็แหละเมื่อจะถอยไปก็ไหม้ไปยังที่อื่นในป่า ทั้งดับแล้วในที่นั้นเอง เหมือนคบเพลิงอันบุคคลให้จมลงในน้ำฉะนั้น ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่าเมื่อเราทำสัจจะเปลวไฟอันรุ่งเรืองใหญ่หลีกไป๑๖ กรีส*
 
พร้อมด้วยคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟอันตกถึงน้ำก็ดับไปฉะนั้น สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมีของเรา ดังนี้.
 
ก็สถานที่นี้นั้นเกิดเป็นปาฏิหาริย์ ชื่อว่าตั้งอยู่ชั่วกัปเพราะไฟจะไม่ไหม้ในกัปนี้แม้ทั้งสิ้น พระโพธิสัตว์ครั้นทำสัจกิริยาอย่างนี้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปตามยถากรรม
 
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่นี้เป็นกำลังของเราในบัดนี้หามิได้ ก็กำลังนั่นเป็นของเก่าเป็นสัจพลังของเราเองในครั้งเป็นลูกนกคุ่ม ดังนี้
 
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลายในเวลาจบสัจจะ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต

ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงประชุมชาดกว่ามารดาบิดาในครั้งนั้นคงเป็นมารดาบิดาอยู่ตามเดิมในบัดนี้ ส่วนพระยานกคุ่มได้เป็นเราเองแล.


จบ วัฏฏกชาดก

 (*๑๖ กรีส เท่ากับ ๑ กิโลเมตร)
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ชาดก เรื่อง "แสงเมืองหลงถ้ำ"
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 8363 กระทู้ล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ 2559 13:06:39
โดย Kimleng
มณิกัณฐชาตกะ ชาดก
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 727 กระทู้ล่าสุด 02 กุมภาพันธ์ 2564 15:36:15
โดย Kimleng
มณิฆังสสูกรชาตกะ ชาดก
นิทาน - ชาดก
Kimleng 0 888 กระทู้ล่าสุด 02 กุมภาพันธ์ 2564 15:41:17
โดย Kimleng
“แม่” ในพระพุทธศาสนา
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 828 กระทู้ล่าสุด 13 สิงหาคม 2564 19:23:44
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.242 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 24 เมษายน 2567 03:06:25