* คนเขียนคำนิยม บวชแล้ว เป็น ภิกษุณีธัมมนันทา
คำนิยม " คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต " นั้นเป็นคัมภีร์ที่มีเอกลักษณ์ในตนเอง ทำให้นักวิชาการไทยให้ความสนใจแปลถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย มาหลายสิบปีแล้ว เล่มล่าสุดเป็นฉบับแปลของ ผศ. ดร. ภัทรพร สิรกาญจน แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับฉบับนี้มี ความแตกต่างกันไป คือเป็นฉบับที่ถ่ายทอดมาทาง อาจารย์กรรมะ ลิงปะ และอาจารย์จอกยัม ทรุงปา เป็นผู้รจนาอรรกถาประกอบสำหรับชาวพุทธในอเมริกานั้นการแนะนำท่านจอกยัม ทรุงปา ริมโปเช เป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะท่านเป็นบุคคลที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ชาวพุทธในอเมริกามีหลายสาย ทั้งเถรวาท และมหายาน แบบจีน ญี่ปุ่น และธิเบต ในสายธิเบตนั้นท่านจอกยัม ทรุงปา เป็นอาจารย์ที่มี ลูกศิษย์มากที่สุดคนหนึ่ง ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นอาจารย์เก่าของธิเบตที่กลับชาติมาเกิดเพื่องานพระศาสนา เดิมบวชเป็นพระภิกษุใน พุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเดินทางออกมาจากประเทศธิเบต ได้ออกมาอยู่ที่อังกฤษ และลาสิกขา แต่ยังคงเป็นอาจารย์สอนธรรมะในบรรดาอาจารย์ผู้าสอนธรรมะทั้งหลายในตะวันตกนั้น จอกยัม ทรุงปา เป็นเลิศในการอธิบายธรรมะให้เป็นที่เข้าใจแก่ชาวตะวันตก งานประพันธ์ของท่านอาจารย์ได้สร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวพุทธเป็นอย่างมาก แต่ในชีวิตส่วนตัวนั้นท่านพร้อมไปด้วย สุรานารี ในชีวิตส่วนนี้ท่านอาจารย์ก็มิได้เคยปิดบังแก่สานุศิษย์ จึงเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันยิ่งในบรรดาชาวพุทธทั้งหลาย ท่านอาจารย์สิ้นชีวิต ลงในวัยเพียง ๔๗ ปี ในวันที่บรรดาสานุศิษย์มาประชุมพร้อมกันเพื่อปลงศพของท่านนั้น ระหว่างพิธีพระอาทิตย์ทรงกลดชัดเจน ด้วยความเป็นเลิศในความสามารถในการอธิบายพระธรรม การรจนาอรรถกถาฉบับนี้ จึงเป็นงานอีกเล่มหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธได้เข้าใจใน " คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต " ได้ดียิ่งขึ้นในชีวิตทั่วไปแล้วดูเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะพยายามหลีกเลี่ยงความตาย ทั้งนี้เพราะความตายเป็นเรื่องลี้ลับไม่มีผู้ใดรู้ผู้ใดเห็น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองทรงเตือนพระอานนท์ให้เจริญมรณานุสสติเป็นนิจ เพื่อมิให้ประมาท เรามักจะใช้เวลาเตรียมตัวกับการทำนั่นทำนี่ แต่จะมีสักกี่คนที่สนใจที่จะเตรียมตัวตายอย่างสมบูรณ์ และถูกต้อง พุทธศาสนาฝ่ายธิเบต เป็นสายเดียวที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องความตาย จนรวบรวมความรู้จากประสบการณ์นี้ขึ้นเป็นคัมภีร์เพื่อเป็นลายแทง นำทางให้พวกเราได้รู้จักมรรควิถีแห่งความตายที่ถูกต้อง เมื่อเวลานั้นมาถึงเราจึงไม่ตื่นตระหนกและสามารถไปได้อย่างถูกทาง คัมภีร์ฉบับนี้ เป็นคัมภีร์อีกฉบับหนึ่งที่นำแสงสว่างทางปัญญามาสู่สังคมชาวพุทธเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ขอโมทนาแก่ผู้แปลที่ทำให้โลกหนังสือของไทยมีหนังสือที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเล่ม ส่วนผู้สามารถนำไปปฏิบัติได้ก็ย่อมเป็นกุศล สองฝ่าย คือทั้งผู้แปลและผู้ปฏิบัติ ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔