[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
23 พฤษภาคม 2567 18:03:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองสมมุติ 'ดุสิตธานี'  (อ่าน 2824 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5504


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 มีนาคม 2558 13:41:44 »

.



ดุสิตธานี

“ดุสิตธานี” เรื่องที่จะนำมาคุยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของโรงแรมที่รู้จักกันดีในวันนี้ แต่เป็นเรื่องของเมืองในความฝัน ที่มีผู้คนตีความกันว่าเป็นตัวอย่างของการให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยบ้าง หรือว่าเป็นเมืองตุ๊กตาที่สร้างขึ้นโดยต้องการให้เป็นเมืองสมมุติ

ที่น่าสังเกตก็คือ เมืองนี้ชื่อ “ดุสิตธานี” ซึ่งดุสิตนั้นเป็นชื่อชั้นในสวรรค์ เลือกใช้ชื่อนี้เพื่อให้ล้อรับกับคำว่า “กรุงเทพ” ซึ่งก็คือเมืองหลวงอันเป็นเมืองสำคัญที่น่าจะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ได้

สิ่งที่จะมาชวนให้พิจารณาในครั้งนี้ก็คือการจำลองให้มีเมืองชื่อดุสิตธานี และมอบหมายให้มีเจ้าของบ้านเรือน เมื่อ ๙๖ ปีแล้วนั้น ก็เพื่อจะแนะนำหรือทดลองให้รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลหรือไม่ โดยจะพิจารณาจาก “ธรรมนูญลักษณะปกครอง

คณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ที่ประกาศใช้ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และคำบอกเล่าในการดำเนินการหรือกิจการของเมืองสมมุติดุสิตธานี ดูแล้วดุสิตธานีสมัยโน้นน่าจะเป็นการทดลองปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองไทย

การทดลองปกครองท้องถิ่นครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นการทดลองทำขึ้นโดยพระองค์เองและด้วยความรู้และประสบการณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์เคยได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ได้พบเห็นคือบ้านเมืองที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างประเทศอังกฤษ

การปกครองที่นำมาทดลองทำในเมืองสมมุติดุสิตธานีนั้น เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแน่นอน ใน “ปรารภกรณีย์” หรือคำปรารภของธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าธรรมนูญลักษณะปกครอง ได้ระบุว่าเป็นการ “...กำหนดอำนาจการพระราชทานแก่ชาวดุสิตธานีให้มีเสียงและโอกาสแสดงความคิดเห็นในวิธีการปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง ส่วนอำนาจในกิจการแผนกใดซึ่งยังมิได้ทรงพระกรุณาประสิทธิ์ประสาทให้ก็ย่อมคงอยู่ในรัฐบาลกลาง ซึ่งมียอดรวมอยู่ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามแบบฉบับในอารยประเทศทั้งหลายที่จัดการนคราภิบาล”

ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่ามีการอ้างถึง “รัฐบาลกลาง” และงานที่จะให้ทำได้ก็เป็น “การปกครองตนเองในกิจการบางอย่าง” เท่านั้น โดยที่ให้ทำนี้ก็เป็นไปตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้วที่เขาได้มีการปกครองท้องถิ่น

ที่เรียกว่า “จัดการนคราภิบาล” นั้นจึงน่าจะเป็นการปกครองแบบเทศบาลหรือที่ภาษาอังกฤษว่า municipality นั่นเอง

นครที่ถูกสมมุติเพื่อจะทดลองนี้มาตรา ๒ ของธรรมนูญลักษณะปกครองเรียกว่า “จังหวัดดุสิตธานี” คนที่อยู่ในจังหวัดนี้ก็ถูกกำหนดให้มี “บ้าน” และตนเองเป็น “เจ้าบ้าน”  ส่วนผู้ปกครองนั้นเรียกว่า “นคราภิบาล” ที่จะได้มาโดยการเลือกตั้ง ดังระบุไว้ในมาตรา ๖ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯที่ระบุว่า “คำว่านคราภิบาลนั้น ท่านให้เข้าใจว่าผู้ที่ซึ่งราษฎรในจังหวัดดุสิตธานี ผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้จะเลือก พร้อมใจกันเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ปกครองช่วงปีหนึ่ง ๆ...”

ดังนั้น นคราภิบาลหรือผู้ปกครองจังหวัดดุสิตธานีนี้ ราษฎรในจังหวัดดุสิตธานีซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามธรรมนูญนี้เป็นผู้เลือกเข้ามาเป็นและจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๑ ปี นั่นคือสมัยหนึ่งมีอายุ ๑ ปี และจะได้รับเลือกตั้งให้เป็นในปีที่ติดกันไม่ได้ดังที่ได้ระบุห้ามไว้ชัดในมาตรา ๙ ด้วยเหตุนี้ ทุกปีจึงต้องมีการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งก็ “ควรเป็นวันที่สุดของปี ตามแต่จะเหมาะแก่โอกาสที่จะเป็นไปได้”

เมื่อมีการเลือกตั้ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือจะมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร เป็นการออกเสียงลับหรือเปิดเผย ทั้งนี้มาตรา ๑๒ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ บัญญัติว่า  “เมื่อจวนจะถึงวันกำหนดที่จะเลือกนคราภิบาลใหม่ ให้ผู้ซึ่งรับอำนาจอำนวยการในการเลือกตั้งนคราภิบาล ป่าวร้องทวยนาครชายหญิงให้ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งนคราภิบาลที่ใดวันใด และจะประกาศข้อความด้วยว่า ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาจะสมมุติผู้ใดให้เป็นนคราต่อไป ก็ให้เขียนในนามผู้นั้นกรอกลงในแบบสมมุติที่ได้แนบไว้ท้ายธรรมนูญนี้และต้องลงนาม ๑ ผู้รับรอง ๑ และให้ยื่นหนังสือสมมุติถึงผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลก่อนวันประชุม ๑ วัน”

นับว่าน่าสนใจมาก.



บ้านน้อย

ความในมาตรา ๑๒ ที่ยกมาเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าในการจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องมีผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาล ซึ่งเป็นผู้ที่จะประกาศให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าจะมีการประชุมราษฎรของดุสิตธานี ณ สถานที่ใด ในวันเวลาใด หากราษฎรคนใดต้องการเสนอชื่อใครก็ต้องกรอกลงไปในแบบฟอร์ม อันแบบฟอร์มนี้หาดูได้ง่าย เพราะมีอยู่แนบท้ายธรรมนูญลักษณะปกครองฉบับนี้นั่นเอง  จะเสนอชื่อใครก็ได้ ผู้เสนอต้องลงนามหนึ่งคนแล้วยังต้องหาคนอื่นมาเป็นผู้รับรองอีกหนึ่งคนด้วย คนที่เสนอและคนที่รับรองนี้จะต้องเป็นเจ้าบ้าน  เมื่อเสนอและรับรองใครแล้วก็ทำได้เพียงรายเดียวจะไปเสนอหรือรับรองรายอื่นอีกไม่ได้ (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๓)

เมื่อได้รายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแล้ว ต่อมาผู้อำนวยการเลือกตั้งนคราภิบาลก็ต้องเขียนชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดประกาศให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบ (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๔)

ในกรณีที่มีการเสนอชื่อคนเป็นนคราภิบาลเพียงคนเดียวก็ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวนั้นได้รับเลือกเป็นนคราภิบาล (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๕) แต่ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็จะต้องมีการออกเสียงตัดสิน วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งนั้นมี ๒ วิธี คือวิธีเปิดเผยกับวิธีลับ จะเลือกวิธีใดก็ตามแต่ผู้อำนวยการเลือกตั้งจะเห็นสมควร (ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๗)

วิธีเลือกตั้งโดยคะแนนลับนั้นน่าสนใจมาก เพราะในมาตรา ๑๘ ระบุไว้ดังนี้

“...ให้ผู้อำนวยการเรียกมาถามทีละคนโดยเงียบๆ ว่าจะเห็นสมควรให้ผู้ใดเป็น แล้วจดชื่อผู้ที่ราษฎรเลือกไว้ หรือจะให้ราษฎรเขียนชื่อผู้ที่จะเลือกนั้นมาส่งคนละฉบับก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร”

นับว่าเป็นการลงคะแนนลับที่ต่างกว่าที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน เพราะวิธีการที่ใช้ในดุสิตธานีนั้น ผู้อำนวยการจะทราบว่าใครออกเสียงอย่างไรและผู้อำนวยการก็จะเป็นผู้ยืนยันว่าใครออกเสียงอย่างไร อันจะเป็นผลของการออกเสียง ที่ว่าลับนั้นก็คือผู้ออกเสียงลงคะแนนจะไม่มีทางทราบว่าใครออกเสียงให้ใคร แต่ผู้อำนวยการทราบ มาถึงสมัยนี้การออกเสียงลับนั้นก็คือไม่มีใครรู้ว่าใครออกเสียงให้ใคร แม้แต่ตัวประธานที่ดำเนินการให้มีการออกเสียงก็ไม่มีทางทราบว่าใครออกเสียงให้ใคร

ที่สำคัญผู้ที่ได้รับเลือกจะปฏิเสธตำแหน่งนคราภิบาลได้ยากเมื่อได้รับเลือกตั้งให้เป็น เพราะถ้าไม่เป็น “ต้องถูกปรับเป็นเงิน ๕๐ บาท”

นับว่าแพงมาก เงิน ๕๐ บาทไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ มีค่ามาก

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า “ดุสิตธานี” เป็นเรื่องของการปกครองท้องถิ่น ฉะนั้นเพื่อดูให้แน่ก็ต้องหันมาพิจารณาว่าดุสิตธานีมีอำนาจและหน้าที่อะไรบ้าง พอจะเทียบกับหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่มีต่อมาได้บ้างหรือไม่

เปิดธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ดูจะพบว่ามาตรา ๒๓ ของธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า “รัฐบาลมีหน้าที่” ต่าง ๆ ไว้ชัดเจนดี เช่น
  “ก. ดูแลรักษาเพิ่มพูนความผาสุกของราษฎรทั่วไป ช่วยป้องกันทุกข์ภัยของประชาชนในเขตของตน
   ข. ดูแลการคมนาคม คือถนนหนทางทั้งแม่น้ำลำคลอง ให้ความสว่างไสว จัดการไฟฟ้า ประปาในธานี
   ค. การดับเพลิงและการรักษาสวนสำหรับนครให้เป็นที่หย่อนกายสบายใจ ควรแก่ประโยชน์และความสุขอันจะพึงมีได้สำหรับสาธารณชน
   ฆ. จัดการในเรื่องโรงพยาบาล สุสาน และโรงฆ่าสัตว์
   ง. ดูแลระเบียบการโรงเรียนราษฎร์ ห้องอ่านหนังสือแลโรงเรียนหัตถกรรมต่าง ๆ”

ที่น่าสังเกตคือยังเอา “” มาใช้ สมัยนี้ถ้าเอาอักษรมาลำดับเรื่องเราจะเรียง ก ข ค แล้วข้ามมา ง เลย สมัยโน้นไม่ข้าม “ฆ”

ถ้าเอาอำนาจหน้าที่ซึ่งเทศบาลต้องทำหรือควรทำ เมื่อมีพระราชบัญญัติเทศบาลเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาดู จะเห็นได้ว่าหน้าที่ต่างๆ ของ “รัฐบาล” ข้างบนตามธรรมนูญลักษณะปกครองฯ พ.ศ. ๒๔๖๑ ระบุไว้นั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่นนั่นเอง  จะมีที่ต่างโดยเห็นได้ชัดในวันนี้ก็คือการที่ให้ดุสิตธานีดูแลโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนหัตถกรรม ซึ่งงานด้านการศึกษานี้

ต่อมารัฐบาลกลางจะกำกับดูแลเป็นสำคัญ แต่เรื่องนี้ถ้ามาดูในวันนี้ ก็ดูจะเป็นการมองการณ์ไกลและเป็นความก้าวหน้าในด้านความคิดที่แสดงให้เห็นว่าการศึกษานั้นต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลในระดับโรงเรียน  ในความเป็นจริงที่น่าสังเกตด้วยก็คือเทศบาลนครและเทศบาลเมืองของไทยบางแห่งก็ได้มีโรงเรียนเทศบาลเป็นของตนเอง ได้จัดการศึกษาประสบความสำเร็จดีมาจนถึงทุกวันนี้ แต่หน้าที่ตามที่กำหนดไว้นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง “ท้องถิ่น” เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการปกครองประเทศ เพราะไม่มีกิจการกลาโหมหรือการทหารในการป้องกันประเทศ ไม่มีเรื่องของความสัมพันธ์ต่างประเทศและไม่มีเรื่องการเงินการคลังของประเทศแต่อย่างใด

เพียงเท่านี้ก็อาจยังไม่เพียงพอ เราจะดูในเรื่องอื่นต่อไป.


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มีนาคม 2558 14:05:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5504


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 มีนาคม 2558 13:53:43 »

.

เมืองสมมติ ดุสิตธานี (ต่อ)


พระราชวัง

เมื่อเป็นการปกครองตนเองแม้ในระดับท้องถิ่นก็ตามก็จะต้องให้เก็บภาษีท้องถิ่นมาใช้จ่ายเอง อันเป็นการฝึกหัดที่สำคัญในการปกครองตนเอง ดังนั้นจึงได้ระบุอำนาจในการนี้ไว้ในมาตรา ๒๔ ของธรรมนูญลักษณะปกครองว่า  “นคราภิบาลมีอำนาจตั้งพิกัดภาษีอากรขนอน ตลาด เรือนโรง ร้าน เรือ แพ อันอยู่ในเขตหน้าที่ของนคราภิบาล แต่เมื่อกำหนดพิกัดภาษีอากร นคราภิบาลจะต้องเรียกประชุมราษฎรเพื่อทำการตกลงในเรื่องเช่นนี้ และประกาศให้รู้ทั่วกัน”  นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างดุสิตธานีจะกำหนดภาษีท้องถิ่นอย่างไรนั้น ได้กำหนดให้ผู้ปกครองคือนคราภิบาลต้องตกลงกับผู้ถูกปกครองคือราษฎรเสียด้วย  

นอกจากภาษีท้องถิ่น ดุสิตธานียังจะมีรายได้จากการออกใบอนุญาตอีกหลายรายการ เช่น ใบอนุญาตร้านจำหน่ายสุรา และสถานเริงรมย์ เป็นต้น ดังมีบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯว่า “นคราภิบาลมีอำนาจออกใบอนุญาตและเก็บเงินค่าใบอนุญาตสำหรับยานพาหนะ ร้านจำหน่ายสุรา โรงละคร โรงหนัง สถานเริงรมย์ เก็บเงินจากมหาชนคนดูทั้งปวง”          

อีกหน้าที่หนึ่งซึ่งอาจถูกมองข้าม แต่ได้ถูกกำหนดไว้ก็คือการทำบัญชีสำมะโนครัวราษฎร  “มาตรา ๒๘ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำบัญชีสำมะโนครัวราษฎรในปกครองของตนและคอยแก้ไขบัญชีให้ถูกต้องตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ”  

ที่อยากทราบกันมากก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะทำกิจการสาธารณประโยชน์ที่มีผลกำไรได้หรือไม่ เพราะเมื่อทำแล้วก็เป็นการแข่งขันกับเอกชนที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการได้ แต่ถ้าห้ามไม่ให้ทำเลย แม้เอกชนไม่ทำหรือทำแล้วมีราคาแพง ประชาชนที่ใช้บริการก็อาจเดือดร้อนได้  

คำตอบก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างดุสิตธานีสามารถทำได้ดังที่มาตรา ๒๙ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ กำหนดว่า  “กิจการสาธารณประโยชน์ซึ่งมีผลกำไร เช่น การตั้งธนาคาร โรงจำนำ ตั้งตลาด เรือจ้าง เหล่านี้เป็นอาทิ นคราภิบาลจะดำริให้จัดไปในเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ เป็นทางหากำไรบำรุงเมือง เพื่อผ่อนภาษีอากรซึ่งราษฎรจะต้องเสีย และเพื่อกระทำกิจเช่นว่านี้นคราภิบาลจะบอกกู้ก็ควร เพราะหนี้ชนิดนี้นับว่าไม่ใช่หนี้ตายที่ไร้ผล”      

เมื่อแนะนำให้นคราภิบาลออกใบกู้เพื่อกู้เงินมาใช้ดำเนินการได้ ทำให้สงสัยว่านคราภิบาลจะกู้ได้ตามใจต้องการโดยไม่มีใครมาควบคุมดูแลหรืออย่างไร    

ปรากฏว่ามาตรา ๔๐ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ตอบข้อสงสัยเรื่องการออกใบกู้ของนคราภิบาลว่า “ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องเป็นคราวๆ ไป”   จึงแสดงว่าจะออกใบกู้เองตามใจไม่ได้      

เมื่อมีนคราภิบาลขึ้นมาปกครองก็หวังว่าบ้านเมืองจะเป็นระเบียบเรียบร้อยดูงดงาม เพราะ “นคราภิบาลจะกำหนดปลูกสร้างวางแผนสำหรับนคร” เจ้าของที่จะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นมาจึง “ต้องได้รับอนุญาตจากนายช่างก่อสร้างของนคราภิบาลแล้วจึงปลูกได้” (ดูมาตรา ๓๐)      

ทำให้บ้านเมืองงดงามแล้วยังไม่พอ ต้องทำให้บ้านเมืองสะอาดถูกสุขอนามัยมีเจ้าพนักงานดูแลรักษาความสะอาด

“อย่าทอดทิ้งหรือปล่อยให้โสโครก อันเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนทั่วไป”    

การปกครองที่ให้ราษฎรเลือกผู้ปกครอง คือนคราภิบาลนี้ ดูไปแล้วจึงเป็นการเลือกเอาคนเพียงคนเดียว ก็เหมือนการเลือกนายกเทศมนตรีคนเดียว คือระบบ “นายกเทศมนตรีที่เข้มแข็ง” นั่นเอง เพราะเมื่อตรวจดูแล้วการให้ราษฎรเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงของประชาชน      

นคราภิบาลคนแรกที่ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ พระยาอนิรุทธเทวา หรือ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพในขณะนั้นได้ทำงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ มาโดยตลอด จึงได้ทดลองทำ โดยนคราภิบาล ที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมานี้ก็จะจัดตั้งคณะรัฐบาลท้องถิ่นของตนขึ้นมา ซึ่งในธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ก็จะเรียกชื่อซ้ำเหมือนกันว่า “นคราภิบาล” แต่จะเป็นคณะบุคคล ดังจะดูได้จากมาตรา ๒๑  

“เมื่อผู้ใดได้เป็นนคราภิบาล ผู้นั้นจะมีอำนาจตามพระธรรมนูญนี้ทันทีในการที่จะเลือกตั้งนคราภิบาล คือเจ้าหน้าที่ต่างๆ เช่น เจ้าพนักงานคลัง เจ้าพนักงานโยธา นายแพทย์สุขาภิบาล ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน (Inspector of Nuisances) เป็นต้น

สำหรับจัดการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ ตามแต่จะเห็นสมควร”

ทั้งสี่ตำแหน่งที่ระบุอยู่ในมาตรา ๒๑ ข้างบนนี้น่าจะเป็นเทศมนตรีที่ร่วมคณะกับนคราภิบาลนั่นเอง แต่จากการแต่งตั้งของนคราภิบาล มิใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถ้าเป็นสมัยนี้ พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็คงเป็นตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครหรือรองนายกเทศมนตรีทั้งหลายนั่นเอง สมัยโน้นถือว่าเป็นผู้ที่มาใช้อำนาจของนคราภิบาล จึงได้เรียกชื่อซ้ำกับนคราภิบาล ส่วนตำแหน่งที่ยังไม่ลงตัวนักว่าจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรคือ “ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน” จึงต้องมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษอยู่ในวงเล็บและเป็นคำภาษาอังกฤษคำเดียวที่ปรากฏในเอกสารธรรมนูญลักษณะปกครองฉบับนี้ด้วย



ศาลารัฐบาล

ที่จริงความในมาตรา ๒๑ ที่ยกมาให้พิจารณานั้น คำว่า “นคราภิบาล” คำที่ ๒ ในมาตรา ๒๑ นั้นเข้าใจว่าน่าจะตกคำว่า “คณะ” ไป ไม่แน่ใจว่าตกไปตั้งแต่ตัวกฎหมายเดิม หรือมาพิมพ์ตกกันในภายหลัง คือควรจะเป็น “คณะนคราภิบาล”

เพราะต่อไปในมาตราอื่นๆ ของธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ที่ตามหลังมาจะมีคำว่า “คณะนคราภิบาล”

หากพิจารณาต่อไปอีกก็จะพบว่าคณะบุคคลตามมาตรา ๒๑ นี้เป็นบุคคลฝ่ายการเมืองที่ได้ตำแหน่งมาชั่วคราวอยู่ได้ตามอายุสมัยของนคราภิบาลที่ตั้งตนเท่านั้น ส่วนบุคคลฝ่ายประจำหรือตำแหน่งปลัดเทศบาลในปัจจุบันของไทยนั้นมีระบุไว้ในมาตรา ๓๗ เรียกตำแหน่งนี้ว่า “สภาเลขาธิการ”

“มาตรา ๓๗ คณะนคราภิบาลมีอำนาจที่จะจัดตั้งสภาเลขาธิการขึ้น และสภาเลขาธิการคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะลาออก หรือต้องออกด้วยเหตุอื่น”

ที่คิดเทียบว่าสภาเลขาธิการเท่ากับปลัดเทศบาลที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เพราะได้อ่านเทียบดูอำนาจและหน้าที่ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘ ที่มีอยู่ ๕ ประการดังนี้
   “๑. ให้มีหน้าที่บังคับบัญชาการแผนกหนังสือและรายงานกิจการทั้งปวงของคณะนคราภิบาล
    ๒. เป็นที่ปรึกษาของคณะนคราภิบาลในทางระเบียบการทางกฎหมาย
    ๓. มีหน้าที่เป็นทนายแถลงคดีแทนคณะนคราภิบาลต่อศาล
    ๔. สภาเลขาธิการ มีสิทธิที่จะนั่งในที่ประชุมคณะนคราภิบาลและในที่ประชุมใหญ่ได้ทุกเมื่อ  
    ๕. ถ้าสภาเลขาธิการเป็นคหบดีเจ้าบ้านอยู่แล้ว เมื่อเวลานั่งในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิจะลงคะแนนความเห็นได้ด้วย”

จากอำนาจหน้าที่ทั้ง ๕ ข้อนี้มีการกล่าวถึง “ที่ประชุมใหญ่” ซึ่งน่าจะหมายถึงการประชุมใหญ่ประจำปีเพื่อเลือกนคราภิบาล หรือการประชุมใหญ่เพื่อกำหนดภาษีอากรตามมาตรา ๒๖ ก็ได้นั่นเอง

เมื่อมีการเปลี่ยนตัวนคราภิบาล ทางคณะนคราภิบาลชุดเก่าต้องแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายยื่นต่อที่ประชุมด้วยและส่งมอบงานพร้อมบัญชีสำมะโนครัวแก่คณะนคราภิบาลชุดใหม่ บัญชีแสดงรายรับรายจ่ายนั้นต้องมีการตรวจบัญชีในเวลาสิ้นปีทุกคราวไป โดยคณะกรรมการ ๓ นาย ที่ตั้งโดยรัฐบาล ๒ นาย และตั้งโดยนคราภิบาล ๑ นาย (มาตรา ๔๒)  

แสดงว่าการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของคณะนคราภิบาลก็มีอยู่เป็นอย่างดี  

การดำเนินการปกครองดุสิตธานีนี้ เมื่อมีกฎเกณฑ์ มีข้อบังคับให้ราษฎรต้องปฏิบัติตาม เพื่อความสงบสุข เพื่อความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง และเพื่อให้บ้านเมืองมีรายได้มาเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีบทลงโทษผู้ที่ทำผิดด้วย ซึ่งโทษที่กำหนดไว้ก็เป็นโทษ “ปรับเงินเป็นพินัย” เช่นถ้าราษฎรคนใดไม่เชื่อฟังคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย และธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ก็อาจถูกลงโทษปรับเงินได้ไม่เกินครั้งละ ๑๐ บาท อันเป็นโทษอย่างเดียว กับที่ใช้ลงโทษราษฎรที่ไม่ไปประชุมเจ้าบ้านเพื่อกำหนดภาษีอากรโดยไม่ตั้งตัวแทนไปทำหน้าที่ประชุมแทนเช่นกัน

ถ้าเป็นกรณีขัดขืนคำสั่งของนคราภิบาลทางด้านระเบียบสุขาภิบาล ปล่อยให้บ้านชำรุด เกิดความสกปรกโสโครกอันจะก่อให้เกิดโรค หรือเป็นอันตราย หรือเกิดอัคคีภัยได้ ก็อาจถูกลงโทษปรับได้ครั้งละไม่เกิน ๕ บาท อันโทษเหล่านี้ถ้ายังขืนทำซ้ำก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นได้ด้วย

เมื่อประมวลดูความในธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดจำนวน ๕๑ มาตราแล้ว จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำเมือง “ดุสิตธานี” ขึ้นมาเป็นเมืองสมมุติ และเขียนธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ออกมาเป็นกติกาใช้กับเมืองสมมุติ เพื่อเป็นการทดลองปกครองแบบเทศบาล รูปแบบที่ใช้ก็น่าจะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษ ดังที่กล่าวกันว่าพระองค์ได้รูปแบบมาจากการปกครองท้องถิ่นของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่พระองค์ได้เคยเสด็จไปศึกษาจนจบกลับมา

ที่ว่าเป็นเมืองสมมุติก็เพราะไม่ใช่เป็นเมืองจริงๆ ของประเทศไทย เพราะมิได้ยกเอาหมู่บ้านใด หรือตำบลใดหรืออำเภอใด หรือจังหวัดใดของประเทศไทยที่มีอยู่แล้ว เอามาใช้เป็นที่ฝึกหัด แต่สร้างขึ้นเป็นเมืองสมมุติใหม่ในบริเวณพระราชวังดุสิต ต่อมาย้ายไปที่พระราชวังพญาไท เป็นเสมือนเมืองตุ๊กตา เพราะมีขนาดเล็กผู้คนจะเข้าไปอาศัยอยู่จริงๆ ไม่ได้ แต่หากมีการกำหนดมอบหมายหรือให้มหาดเล็กของพระองค์ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแต่ในนาม ดังที่มีรายงานลักษณะของเมืองดุสิตธานี ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ “ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ของ หมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) มีความตอนหนึ่งว่า

“ดุสิตธานีเป็นเมืองเล็กๆ สร้างขึ้นแห่งแรกในพระราชวังดุสิต ( ภายหลังย้ายไปอยู่ที่พระราชวังพญาไท) มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ เนื้อที่มีลักษณะเกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ทางด้านใต้ของดุสิตธานีชิดพระที่นั่งอุดร ทางเหนือชิดอ่างหยก บ้านทั้งหมดมีจำนวนประมาณร้อยกว่าหลัง การประชุมโหวตครั้งที่ ๑ มีทวยนาครโหวต ๑๙๙ เสียง บ้านแต่ละหลังมีขนาดโตกว่าศาลพระภูมิ สร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีตฉลุสลักลวดลายอย่างวิจิตร ทาสีสวยงาม ทุกๆ บ้านมีไฟฟ้าติดสว่างอยู่กลางบ้าน ถนนหนทางในเมืองดุสิตธานีส่วนมากเป็นถนนสายเล็กๆ มีบางสายที่ใหญ่โตพอที่จะเดินได้ ถนนทุกสายสะอาดสะอ้าน สวยงาม ปลูกต้นไม้เล็กๆไว้ร่มรื่นสองข้างทางถนนที่เป็นสายสำคัญ”  

ที่เรียกว่า “การทดลอง” ก็เพราะมิใช่สภาพบ้านเมืองที่แท้จริง และ “ตัวคน” เองแม้จะเป็นคนจริงๆ แต่ก็มิใช่เจ้าบ้าน ที่บ้านของเขาอย่างแท้จริง หากแต่เป็นบ้านสมมุติที่เสมือนทำขึ้นในห้องทดลอง จึงเป็นการสมมุติที่ต้องการทดลองเพื่อการเรียนรู้เป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายว่าต่อจากนั้นจะนำไปใช้ที่เขตการปกครองจริงของประเทศไทยต่อไปด้วย.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มีนาคม 2558 14:04:14 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5504


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 08 มีนาคม 2558 14:01:51 »

.

เมืองสมมติ ดุสิตธานี (ต่อ)


อาคารกลุ่ม

ปีที่เริ่มทดลองจัดการปกครองท้องถิ่นที่เมืองจำลอง “ดุสิตธานี” นี้คือ พ.ศ. ๒๔๖๑ นับเป็นปีที่ ๙ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ การทดลองนี้จะเห็นได้ว่าเริ่มจากการใช้บรรดามหาดเล็กและผู้คนที่รับราชการใกล้ชิดกับพระองค์นั่นเอง ซึ่งก็น่าจะสะดวกและไม่เสียงานในหน้าที่ เมื่อจัดการทดลองอย่างนี้ก็จะเห็นข้อดีหรือข้อด้อย และดำเนินการแก้ไขเสียก่อนได้

ดังปรากฏว่าได้ออกธรรมนูญลักษณะปกครองฯ มาใช้ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และต่อมาอีก ๔๐ วันก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตัวนคราภิบาล ในวันเดียวกันก็ได้ออกพระราชกำหนดเพิ่มเติมและได้แก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ให้มีตำแหน่งเชษฐบุรุษ ที่เลือกจากแต่ละอำเภอ “เพื่อเป็นผู้แทนทวยนาครในอำเภอนั้นเข้าไปนั่งในสภากรรมการนคราภิบาล” (มาตรา ๕)

ฉะนั้นแต่แรกที่มีเพียงคณะนคราภิบาล เป็นผู้บริหารแบบคณะเทศมนตรีโดยไม่มีสภาเทศบาล การแก้ไขก็คือให้มีสภาของท้องถิ่นขึ้นมานั่นเอง แลผู้บริหารหรือตัวนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรีนั้นจะต้องเป็นเชษฐบุรุษเสียก่อนด้วย ชื่อที่เรียก “เชษฐบุรุษ” ก็น่าสนใจในความหมายคือ “ผู้อาวุโส” นั่นเอง

ไม่เพียงแต่มีพระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองฯ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เท่านั้น ต่อมายังมีกฎหมายออกมาแก้ไขในเรื่องนี้อีก เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดเพิ่มเติมธรรมนูญลักษณะปกครองนคราภิบาล พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นต้น

ในการทดลองฝึกจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลครั้งนั้น จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นเวลาประมาณ ๒ ปีนั้น ได้มีการเลือกตั้ง “นคราภิบาล” ถึง ๗ ครั้งด้วยกัน แสดงว่านคราภิบาลแต่ละคนดำรงตำแหน่งอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีการอภิปรายติติงกัน มีการลาออก และมีการเลือกตั้งคนใหม่ขึ้นมา มีทั้งการหาพวก และวางแผนจะเลือกใคร ตามที่ได้รู้ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องให้ทดลองทำ เป็นการฝึกหัดทดลองมิได้ให้ปกครองจริง จึงมีผู้กล่าวว่าเป็น “ละครเวทีการเมือง” แต่ที่จริงแล้วมิใช่ละครที่แสดงให้ดูเท่านั้น หากเป็นการทดลองให้บุคคลที่ถือได้ว่ามีความรู้ความเข้าใจดีเป็นกลุ่ม “ชนชั้นนำ” ของบ้านเมืองได้ทดลองปฏิบัติดูด้วยตนเองในเมืองสมมุติ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการทดลองจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นแบบอย่าง ที่จะเอาไปฝึกหัดในพื้นที่การปกครองของประเทศอย่างจริงจังต่อไป ตามที่พระยาสุนทรพิพิธ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นได้เขียนเล่าเอาไว้

เมืองดุสิตธานี“ เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงฝึกอบรมเสนาอำมาตย์ราชบริพาร นับแต่เสนาบดีลงมาให้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและวิธีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีข้าราชการผู้ใหญ่ไปสมัครเป็นทวยนาครด้วยมาก เฉพาะที่กล่าวกันในที่นี้ก็คือ พระยาราชนุกูล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี ท่านมีโอกาสได้เฝ้าใกล้ชิดอยู่เสมอๆ เพราะในขณะนั้นท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ จึงมิได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้า เมื่อพระยาราชนุกูลได้ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายและพระราชดำริโดยถ่องแท้แล้ว ประกอบกับที่ได้ทรงมีพระราชปฏิสัณฐาน และเพ็ดทูลเรื่องการปกครองบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสเป็นการเฉพาะ จึงกราบบังคมทูลขึ้นว่า “กระทรวงมหาดไทยได้ซาบซึ้งถึงพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีแล้ว ถ้าต้องด้วยพระราชประสงค์ กระทรวงมหาดไทยจะรับสนองพระบรมราโชบายนำแบบอย่างของดุสิตธานีไปปฏิบัติในจังหวัดต่างๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมเป็นอันดับไปจนกว่าจะทั่วถึง มีพระราชดำรัสตอบว่า นั่นนะซี ฉันต้องการให้ปกครองท้องที่มีการปรับปรุงกันเสียที จึงได้วางระเบียบไว้เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง”

“เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ พระองค์ก็ทรงเป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมีพระราชดำริหรือพระราชประสงค์ในสิ่งใด ประการใด เพียงตรัสออกไปก็ย่อมสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ แต่พระองค์ทรงพระราชดำริอยู่ในพระราชหฤทัยว่า การสิ่งใดเป็นการใหญ่ ถ้าเพียงแต่ใช้พระราชอำนาจดำรัสสั่งให้ทำๆ กันตามพระราชดำรัสเท่านั้น ก็จะต้องทำกันอย่างแน่นอน แต่การกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่เป็นผลดีโดยสมบูรณ์ดังนี้ก็ได้ ฉะนั้นเรื่องปฏิรูปการปกครองซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิถีทางการงาน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกในจิตใจด้วยทีเดียว พระองค์จึงได้ทรงทำเป็นการทดลองขึ้นก่อน”

ส่วนการปกครองท้องที่ ซึ่งมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านที่ราษฎรในหมู่บ้านได้เลือกผู้นำของตนอย่างเปิดเผยนั้นได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องที่มาก่อนแล้วคือมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อผู้รับผิดชอบในกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นคล้อยตามและได้ทราบพระราชประสงค์ ก็ได้คิดดำเนินการว่าจะให้เลือกเขตพื้นที่ปกครองที่ใดและจะมอบหมายให้ใครไปเป็นผู้รับผิดชอบดูแล

ในเรื่องตัวบุคคลนั้นคงลงเอยที่ตัว “พระยาสุนทรพิพิธ” (เชย มัฆวิบูลย์) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยที่มีตำแหน่งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นข้าราชการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววางพระราชหฤทัย เป็นมหาดเล็กของพระองค์มาก่อนและเป็นนักเรียนส่วนพระองค์” ที่พระองค์ท่านส่งไปเรียนที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนมาก่อนด้วย ดังคำบอกเล่าของพระยาสุนทรพิพิธเองที่เล่าให้ฟังว่า

“เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ข้าพเจ้าก็ได้รับโทรเลขกระทรวงมหาดไทยให้มารับราชการกรุงเทพฯ ขณะนั้นข้าพเจ้ารับราชการอยู่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้นเข้ามาถึงและรายงานตัวตามระเบียบแล้ว ท่านเสนาบดีก็แจ้งความประสงค์ให้ทราบโดยตรง แล้วสั่งให้ไปฟังเรื่องราวรายละเอียดจากท่านปลัดกระทรวง เมื่อได้พบกับท่านปลัดกระทรวง ท่านจึงได้บอกเรื่องราวให้ทราบโดยตลอด...ท่านบอกว่า จังหวัดที่จะให้เริ่มงานนี้ได้ เลือกเอาจังหวัดสมุทรสาคร เพราะเหมาะด้วยเหตุผลหลายประการ”.




บ้านใหญ่

สถานที่หรือเขตปกครองที่จะเปลี่ยนจากการลองในเมืองสมมุติอย่างดุสิตธานีมาให้ราษฎรไทยได้ฝึกหัดเรียนรู้การปกครองตนเองระดับล่าง ที่ต่อมาภายหลังเรียกกันว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” นั่นก็คือ จังหวัดสมุทรสาคร

เหตุผลที่เลือกจังหวัดสมุทรสาครนั้นก็มีดังที่ พระยาสุนทรพิพิธ เล่าให้ฟังต่อมา

“ ...คือจังหวัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้โปรดเกล้าให้จัดการสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก และจังหวัดนี้ราษฎรมีอาชีพส่วนใหญ่อยู่ ๓ ประเภท คือ ทำนา ทำสวน ทำการประมง ซึ่งเหมาะแก่ความคิดที่จะจัดการบำรุงช่วยเหลือยิ่งกว่าจังหวัดที่การอาชีพใหญ่ น้อยประเภท เช่น มีแต่การทำนาเป็นส่วนใหญ่เป็นต้น ทั้งเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่โต มีพลเมืองไม่มาก และอยู่ใกล้กรุงเทพฯด้วย ดูจะเป็นความสะดวกด้วยประการทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว”

ที่ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ตั้งสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นก็คือ สุขาภิบาลที่ท่าฉลอมนั่นเอง

สำหรับตัวคนที่จะให้มารับผิดชอบนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยพระยาสุนทรพิพิธยืนยันว่า ทางกระทรวงตกลงจะย้ายตัวท่านจากจังหวัดนครสวรรค์มาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แล้วด้วย ซึ่งได้กำหนดที่จะให้มีการร่างกฎหมายออกใช้บังคับในการนี้ ตามที่พระยาสุนทรพิพิธเล่า

“ ...ฉะนั้นหน้าที่ของข้าพเจ้าในชั้นต้นก็คือ การร่วมเป็นกรรมการพิจารณาจัดร่างธรรมนูญการปกครอง และระเบียบแบบแผนที่จะต้องใช้ในการนี้ อีกประการหนึ่งก็คือ ข้าพเจ้าจะต้องศึกษาระบบ Municipality ของอังกฤษ โดยให้ไปติดต่อ ปรึกษาหารือกับ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ ซึ่งเป็นกรรมการในเรื่องนี้ด้วยผู้หนึ่ง เมื่อได้ทราบบทบัญญัติ และวางระเบียบแบบแผนเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้นำทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง...”

พระยาสุนทรพิพิธ และ หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ นี้ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยเทศบาลออกมาใช้ ทั้งสองท่านได้ร่วมกันเขียนหนังสือเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับเทศบาลออกมาเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ ดังนั้นความคิดเห็นต่างๆ ในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงน่าจะสืบต่อมาให้เห็นได้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ที่น่าเสียดายก็คือหนังสือฉบับนี้เองมีผู้รู้จักกันค่อนข้างน้อยเพิ่งจะมีนักวิชาการทางด้านกระจายอำนาจ คือ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปพบเข้า ได้เอากลับมาพิมพ์เผยแพร่ให้ได้ศึกษากัน

ที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่อยากรู้เรื่อง โครงการฝึกหัดการปกครองส่วนท้องถิ่นจากของจริง ที่จังหวัดสมุทรสาครในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ว่าทำไมจึงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว แต่มีปัญหา เกิดความล้มเหลวจนต้องล้มเลิกไป เรื่องนี้มีคำตอบอยู่ชัดเจนในคำบอกเล่าของ พระยาสุนทรพิพิธ ว่า

“...ภายหลังต่อมา ดูเหมือนว่าเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมาย และระเบียบแบบแผนขึ้นไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะเสนาบดีแล้ว มีข่าวกระเส็นกระสายจะเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ ว่ามีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป อาจกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของรัฐ เรื่องจึงยังตกลงไม่ได้ คงค้างพิจารณาอยู่ ต่อมาไม่ช้าถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงนครบาลก็ถูกยุบรวมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งก่อนแล้ว ท่านเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแทน ในระยะนี้เรื่องการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคก็ยังไม่ตกลงว่ากระไร คงเงียบอยู่ ครั้นลุวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต”

แสดงได้อย่างชัดเจนว่าเรื่องที่จะทำจริ ๆ ที่จังหวัดสมุทรสาครไม่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของ “ที่ประชุมเสนาบดี” ฉะนั้นที่น่าสนใจก็คือ ที่ประชุมเสนาบดีนั้นมีใครบ้าง อย่างน้อยเสนาบดีกระทรวงนครบาล คือ เจ้าพระยายมราช นั้นก็คงจะเห็นด้วย เพราะได้ทำงานและมีส่วนรู้เรื่องดุสิตธานีมาเป็นอย่างดี

คำบอกเล่าของพระยาสุนทรพิพิธ ที่ว่า “...มีเสนาบดีบางท่านเห็นว่าร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ให้สิทธิแก่ราษฎรกว้างขวางเกินไป” นั้นบ่งบอกชัดว่า เสนาบดีบางท่านที่ว่านั้น อาจเป็นคนเดียวหรือมากกว่าหนึ่งคนก็ได้ แต่ต้องเป็นเสนาบดีที่มีบทบาทสำคัญ เพราะเมื่อท้วงติงขึ้นมา ก็มีผลทำให้เรื่องการฝึกหัดปกครองจริงๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร แม้แต่เพียงจังหวัดเดียวก็ไม่อาจทำได้

ดังนั้นตามที่ได้นำเสนอมาถึงความเป็นมา และลักษณะของการดำเนินการเรื่อง “ดุสิตธานี” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตลอดก็น่าจะสรุปได้ว่าเรื่อง “ดุสิตธานี” เป็นเรื่องฝึกให้ขุนนางได้เรียนรู้การปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาลนั่นเอง.


ข้อมูล : 'ดุสิตธานี' โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มีนาคม 2558 14:03:55 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เมืองจำลอง ดุสิตธานี - The Model City of Dusit Thani
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 4186 กระทู้ล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2558 15:14:31
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.421 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 12 พฤษภาคม 2567 01:20:55