[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 09:49:10 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อารยธรรม เครื่องกระเบื้องพอร์ซเลน  (อ่าน 4684 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 16 มีนาคม 2558 19:37:56 »

.

แกะรอยอารยธรรม เครื่องกระเบื้องพอร์ซเลน
โดย : คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน


ห้องพอร์ซเลนอันอลังการของพระราชวังชาร์ลอตเตนเบิร์ก เยอรมนี

ถ้วยชามเบญจรงค์ใบงามแต่งแต้มด้วยสีทั้ง 5 จนเป็นลวดลายไทยอย่างลงตัว ถือเป็นสมบัติชิ้นงามและสูงค่า ที่บรรดาผู้ดีชาวสยามนิยมจัดวางเอาไว้ตามตู้โชว์ เพื่อเสริมบารมีและสื่อรสนิยมอันล้ำเลิศของผู้ครอบครองมาช้านาน แต่ท่านทราบไหมว่า นอกจากความสวยงามข้ามกาลเวลา ภาชนะเครื่องกระเบื้อง หรือที่ฝรั่งเรียกรวมๆ ว่าพอร์ซเลน (Porcelain) เหล่านี้ยังอัดแน่นด้วยเรื่องราวการประดิษฐ์คิดค้น ตำนานการชิงไหวชิงพริบในการค้าข้ามโลก และรสนิยมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เรื่องราวของเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนนั้นผูกพันเป็นเนื้อเดียวกันกับประวัติศาสตร์โลก ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลในวันนี้ จึงอยากจะชวนท่านไปสัมผัสกับกระแสธารอารยธรรมพอร์ซเลน

ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาสู่อดีตกาลไปยังยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่มนุษย์ในส่วนต่างๆของโลกเพิ่งจะเริ่มลงหลักปักฐาน สร้างบ้านเรือนกันตามทุ่งหญ้า ริมผา หรือตามถ้ำต่างๆ สมาชิกบางคนออกไปล่าสัตว์กลับมาเป็นอาหาร บ้างก็เริ่มรู้จักปลูกธัญพืชเลี้ยงปากท้องกันแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่บรรพบุรุษของเราท่านหนักใจที่สุด คือปัญหาที่ว่าจะขนน้ำจากลำธาร กลับมาใช้ดื่มกินที่บ้านอย่างไร ช่วงแรกๆ พวกเขาคงอาศัยบ้องไผ่ เปลือกหอย หรือใบไม้ขนาดใหญ่แก้ขัดไปพลางๆ แต่ภาชนะตามธรรมชาติพวกนี้ก็บรรจุน้ำได้น้อยนิด แถมพอเอาใส่น้ำกลับมาถึงบ้านก็จัดวางยากลำบากเสียอีก จนวันหนึ่งมีมนุษย์หัวใสไปสังเกตพบว่า เหตุไฉนดินเหนียวใกล้กับจุดที่ชาวบ้านก่อกองไฟสำหรับย่างเนื้อและผิงไฟทุกวี่วัน ถึงกลับกลายเป็นดินแข็ง ที่ทั้งแกร่งและละลายน้ำยากกว่าเดิมมาก นี่คือการค้นพบดินเผา ที่จะนำไปสู่การทำอิฐครับ




พอร์ซเลนของจีนในภาพวาด The Feast of the Gods ของโจวานนี เบลลินี ศิลปินอิตาลีสมัยศตวรรษที่ 16.

เมื่อมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์รู้ว่า ถ้าเผาดินเหนียวให้ร้อนพอก็จะกลายสภาพเป็นดินแกร่ง นักสร้างสรรค์ยุคดึกดำบรรพ์ก็เริ่มชวนกันปั้นดินเหนียวเป็นรูปทรงต่างๆ ตั้งแต่ตุ๊กตารูปสัตว์ หน้ากาก และถ้วยโถโอชาม นำไปสุมไฟ จนได้ตุ๊กตาดินเผา หน้ากากดินเผา และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสำหรับเก็บน้ำสำหรับดื่มกินในชุมชน

เมื่อเวลาล่วงเลยไปนับพันปี นายช่างปั้นหม้อของชุมชนต่างๆ ก็สั่งสมประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น จนรู้กรรมวิธี รู้จักคัดสรรดินเหนียวเนื้อละเอียดที่มีสารประสานเนื้อดินคุณภาพดี หลายชุมชนรู้จักสร้างเตาเผา (Kiln) ที่ให้ความร้อนถึงระดับพันองศา ทำให้สามารถผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื้อบางแต่แกร่ง น้ำหนักเบาเป็นพิเศษ แถมยังผลิตได้คราวละมากๆ เสียด้วย ยิ่งชุมชนไหนได้ช่างปั้นหม้อหัวสร้างสรรค์ ที่รู้จักใส่ลวดลายประดับงามๆ  คิดค้นน้ำเคลือบชุบภาชนะจนมีผิวแวววาว หรือออกแบบตัวหม้อไหถ้วยชามรูปทรงสวยงามเป็นพิเศษได้ด้วยแล้ว ก็อาจจะตั้งตัวเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาระดับอุตสาหกรรม นำเอาผลผลิตที่ได้ไปแลกข้าวของอื่นๆ ได้สบาย




งานจิตรกรรมพอร์ซเลนร่วมสมัยของศิลปินชาวสหรัฐอเมริกา.

จากหลักฐานหม้อไหถ้วยชามที่พบตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ เราก็รู้ว่าชาวจีนคือ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก หม้อบางใบที่พบในมณฑลเจียงซี ทางภาคตะวันออกของจีน มีอายุเก่าแก่ร่วมสองหมื่นปี พอถึงสมัยราชวงศ์ถัง หรือช่วงศตวรรษที่ 7 ชาวจีนยังพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำหน้ากว่าใคร โดยนำเอาดินขาว หรือดินเกาลิน มานวดผสมในเนื้อดินเหนียวก่อนจะเอาขึ้นรูปเป็นภาชนะ แล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,300 องศาเซลเซียส จนได้ภาชนะเนื้อละเอียดแบบใหม่ ที่บางมากจนใสพอให้แสงส่องทะลุได้ เราเรียกภาชนะประเภทนี้ว่า เครื่องปั้นดินเผาเนื้อกระเบื้อง หรือพอร์ซเลน (Porcelain) ขอรับ

พอร์ซเลนเป็นของสวยงามที่ใครๆก็อยากครอบครอง จึงถูกซื้อขายกันในราคาสูงลิบ ขณะที่ฝ่ายจีนก็เก็บงำกรรมวิธีผลิตพอร์ซเลนเป็นความลับสุดยอด จนจีนผูกขาดการผลิตพอร์ซเลนขายทั้งโลกได้สำเร็จ ถึงขนาดที่ชาวโลก เรียกพอร์ซเลนแบบเล่นๆ ว่า “ไชน่า”

นวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ที่ว่านี้ เปิดโอกาสให้พ่อค้าพอร์ซเลนจีนกอบโกยกำไรอู้ฟู้อยู่นับพันปี ยิ่งถึงยุคที่ราชวงศ์ซ่งต้องระดมเงินสร้างกองทัพรับการรุกรานของชนต่างชาติจากทางเหนือด้วยแล้ว ราชสำนักจีนยิ่งส่งเสริมให้ผลิตพอร์ซเลนเพื่อส่งออกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แม้ในคราวที่ชาวมองโกล ตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองจีนได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1271 การผลิตพอร์ซเลนในจีนก็ไม่ได้ยุติลง แต่กลับเฟื่องฟูสุดขีด ธรรมเนียมการผลิตพอร์ซเลนเนื้อสีขาวใส ตกแต่งด้วยลวดลายสีครามใต้ชั้นเคลือบอย่างประณีตงดงาม ซึ่งคนไทยเรียกว่า “เครื่องลายคราม” ก็ปรากฏขึ้นในยุคนี้เอง อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องลายครามของจีนมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen) ในมณฑลเจียงซี หรือที่คนแต้จิ๋วออกเสียงว่ามณฑลกังไซ ต่อมาคนไทยเรียกเพี้ยนไปเป็น “กังไส” และหันไปเรียกเครื่องลายครามจากจีนแบบรวมๆ ว่า “เครื่องกังไส” การผลิตพอร์ซเลนคุณภาพดีป้อนโลก เปลี่ยนเมืองจิ่งเต๋อเจิ้นให้เป็นนครใหญ่ ถึงขนาดที่ลอร์ดมะคาตนี ราชทูตอังกฤษซึ่งเดินทางไปเยือนจีนเมื่อปี ค.ศ.1792 บันทึกเอาไว้ว่า “ได้ผ่านไปใกล้เมืองเก็งเต็กติ้น (จิ่งเต๋อเจิ้น ตามสำเนียงแบบแต้จิ๋ว) สืบได้ความว่า แต่ที่เมืองนั้นมีเตาทำเครื่องถ้วยถึง 3,000 เตา มีราษฎรอยู่กว่าล้านคน ราษฎรโดยมากหากินแต่ในการทำเครื่องถ้วย” และถ้าพูดถึงความงดงามนั้น ปราชญ์ชาวจีนก็ยกย่องพอร์ซเลนจากเมืองจิ่งเต๋อเจิ้นว่า “บางราวกระดาษ ขาวราวกับหยก เงางามเยี่ยงกระจก ให้เสียงใสและไพเราะราวกระดิ่ง” แม้ถึงสมัยนี้ นายช่างชาวเกาหลีและญี่ปุ่นจะค้นพบเทคโนโลยีการทำพอร์ซเลนเรียบร้อยแล้ว ทว่าพอร์ซเลนชิ้นงาม คุณภาพระดับราชสำนัก จากจิ่งเต๋อเจิ้นก็ยังถูกส่งขายทั่วโลกในราคาสูงลิบ เศรษฐีและผู้ปกครองจากทุกมุมโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป หรือกระทั่งในแอฟริกา ล้วนปรารถนาจะได้ครอบครองเครื่องลายครามของจีน เพื่อเอาไปตั้งจัดแสดงในพระราชวัง หรือฝังประดับผนังอาคารต่างๆ พอร์ซเลนจีนในยุคราชวงศ์มองโกลและราชวงศ์หมิง ถือเป็นสุดยอดงานศิลป์ที่ผสานเทคโนโลยีทางวัสดุศาสตร์ขั้นสูงสุดของยุคสมัยเข้ากับงานเขียนลายอันแสนประณีต โดยในปี 2005 มีไหพอร์ซเลนจากยุคราชวงศ์มองโกล ชิ้นหนึ่งถูกประมูลซื้อขายกันที่กรุงลอนดอนด้วยสนนราคาที่สูงจนน่าขนลุก ที่กว่าหนึ่งพันล้านบาท




ภาพวาดสมัยศตวรรษที่ 15 แสดงฉากกองคาราวาน ขนพอร์ซเลนไปตามเส้นทางสายไหม.

ชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าขายกับเอเชียได้สำเร็จ เมื่อได้รู้จักเครื่องถ้วยชามอันงดงามของจีน ฝรั่งโปรตุเกสก็เกิดประทับใจว่า ภาชนะเหล่านี้มีสีขาวใส แถมยังบางเบาราวเปลือกหอย จึงขนานนามมันว่า พอร์เซลานา (Porcellana) อันเป็นที่มาของคำว่า พอร์ซเลน ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

ครั้นถึงปลายราชวงศ์หมิง พอร์ซเลนคุณภาพปานกลางของจีนเริ่มมีราคาถูกลง ชาวยุโรปชาติต่างๆ จึงเริ่มซื้อพอร์ซเลนจากจีนมากขึ้น ส่วนมากจะเป็นการสั่งทำ โดยให้ช่างชาวจีนใช้สีครามเขียนลวดลายตามความต้องการของลูกค้าฝรั่ง นี่คือสมัยที่ฝรั่งชนชั้นกลางฐานะดีแทบทุกคนฝันจะมีชุดเครื่องถ้วยชากาแฟประจำบ้านที่ทำจากพอร์ซเลน แต่พอร์ซเลนฝีมือช่างชั้นครูก็ยังคงมีราคาสูงลิบลิ่ว และถูกเป็นสินค้าบ่งบอกฐานะที่สูงส่งกว่าคนอื่น ผู้ปกครองบางคนหลงใหลพอร์ซเลนขึ้นสมอง อาทิ พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งรัฐแซกโซนี ยอมเอากองทหารม้า 600 นายไปแลกกับพอร์ซเลน 151 ชิ้นของกษัตริย์ปรัสเซีย นี่คือช่วงที่เกิดกระแสความคลั่งไคล้เครื่องกระเบื้องเคลือบของจีนขนานใหญ่ จนบรรดากษัตริย์และขุนนางชั้นสูงในยุโรป ต้องชวนกันแห่สร้างห้องจีน (China Room) หรือห้องพอร์ซเลน (Porcelain) ขึ้นในวัง เพื่อใช้เป็นที่เก็บสะสมและจัดแสดงคอลเลกชั่นเครื่องกระเบื้องจีนในครอบครอง ให้ญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยือนได้ประจักษ์ในความมั่งคั่งและรสนิยมอันสูงล้ำของตน




จานพอร์ซเลนแบบขาวคราม วาดลายกิเลน จากยุคราชวงศ์หยวน.

แต่พอราชสำนักแซกโซนีในยุโรปค้นพบสูตรการทำเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนได้สำเร็จในปี 1713 ก็เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตพอร์ซเลนแบบเมดอินฝรั่งเศส เมดอินเยอรมนี พอร์ซเลนที่ชาวยุโรปคิดค้นได้นี้มีเนื้อแกร่ง ไม่บิ่นง่ายแบบพอร์ซเลนจีน เพราะผสมแคลเซียมจากกระดูกสัตว์ลงไปด้วย จึงเรียกว่า Bone China นับจากนี้ การค้าพอร์ซเลนกับจีนก็ซบเซาลง พอร์ซเลนมีราคาถูกลงอย่างรวดเร็ว และเมืองเดลฟ์ (Delft) ในเนเธอร์แลนด์ ก็กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตพอร์ซเลนสีขาวฟ้า ที่ได้อิทธิพลจากเครื่องลายครามของจีน

พูดถึงประวัติศาสตร์มากสีสันของเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนมาพอสมควรแล้ว แต่เครื่องเบญจรงค์ของสยามประเทศไปเกี่ยวข้องกับพอร์ซเลนโลกตรงไหน อันนี้ตอบได้ว่า สมัยที่พ่อค้าชาวยุโรปสั่งให้ช่างจีนตวัดพู่กันเขียนลายสตรีร่างอวบในชุดฟูฟ่องและหมวกขนนกลงบนพอร์ซเลนที่เตรียมส่งไปขายให้ฝรั่ง พ่อค้าชาวจีนก็รับออร์เดอร์จากผู้ดีชาวสยาม ที่ต้องการได้เครื่องเบญจรงค์ลายเทพพนม ลายกนก และลายก้านขดมาเสริมบารมีในรั้วในวัง แล้วส่งไปทำการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน เครื่องเบญจรงค์นั้น แท้จริงแล้วคือเครื่องพอร์ซเลนแบบไทยๆ ที่มีลวดลายอันเกิดจากสีห้าสี ได้แก่ สีขาว สีเหลือง สีดำ สีแดง และสีเขียว (คราม)

ในการสั่งผลิตช่วงแรกๆ สมัยอยุธยา ช่างจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องลงมือวาดลายบนเครื่องเบญจรงค์ ย่อมไม่รู้จักลายไทย ถึงต่อให้เคยเห็นลายไทยมาก่อนก็ย่อมวาดสัดส่วนไม่ถูกต้องนัก จึงต้องให้ช่างหลวงในราชสำนักสยาม เขียนลายเป็นตัวอย่างส่งไปให้ช่างเครื่องกังไสในจีนวาดตาม บางคราวถึงกับต้องส่งตัวช่างไทยไปคุมการผลิตถึงแผ่นดินจีน เพื่อไม่ให้ลายสิงห์ไทยออกมาเพี้ยนเป็นสิงห์จีน จึงจะได้ถ้วยชามลายก้านขดเขียนสีที่มีรูปครุฑ รูปราชสีห์ และเทพพนมงามๆ มาใช้กันตามวังหลวง




เตาอบเครื่องกระเบื้องเคลือบแบบโบราณที่เมืองจิ๋งเต๋อเจิ้น.

เบญจรงค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ มักจะผลิตขึ้นโดยโรงงานในมณฑลทางใต้ เช่น มณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นบ้านเกิดของชาวจีนสยาม แต่เบญจรงค์ชิ้นงามจริงๆ บางส่วนของก็ถูกผลิตขึ้นที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น เมืองหลวงของอารยธรรมพอร์ซเลนเช่นเดิม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องเบญจรงค์กลับมาเป็นที่นิยมในฐานะเครื่องประดับบ้านและของที่ระลึกอันทรงคุณค่า สำหรับโอกาสพิเศษ เนื่องจากเป็นของใช้ชิ้นงามที่ผสานเรื่องราวการแลกเปลี่ยนอารยธรรมทั้งศาสตร์และศิลป์ไว้ครบครัน โดยสื่ออัตลักษณ์ศิลปะไทยชั้นสูงไปพร้อมกันด้วย




งานจิตรกรรมพอร์ซเลนร่วมสมัยของศิลปินชาวรัสเซีย.

ปัจจุบันอารยธรรมพอร์ซเลนของโลกยังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง แทนที่ช่างวาดลายจะจมอยู่กับการวาดลวดลายซ้ำๆ ลงบนเครื่องกระเบื้องเคลือบอย่างที่เคยทำมานับร้อยปี ศิลปินจิตรกรรมเครื่องกระเบื้องเคลือบ หรือพอร์ซเลนเพนติ้ง ได้ยกระดับการผลิตงานพอร์ซเลนไปอีกขั้น ที่ผมขอเรียกว่าเป็นการปรับงานศิลป์แบบจารีตสู่งานศิลปะร่วมสมัย ศิลปินเหล่านี้จะหยิบพอร์ซเลนมาเป็นฉากวาดภาพแบบต่างๆ ตามลีลาเฉพาะตัว บางคนนิยมวาดภาพธรรมชาติ บ้างหยิบยกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มานำเสนอ บางคนใช้วิธีเสริมเทคนิคทำลายนูนแกะสลัก ฝังเงิน ฝังทองคำ และฝังหินมีค่าตามจินตนาการ จนสร้างผลงานเอกลักษณ์ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก



งานเบญจรงค์ร่วมสมัยของไทย.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มีนาคม 2558 04:55:32 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.393 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 5 ชั่วโมงที่แล้ว