[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 ธันวาคม 2567 16:14:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า:  1 [2]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มงคล 38 ประการ  (อ่าน 15112 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2487


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #20 เมื่อ: 12 กันยายน 2558 19:42:47 »


อริยสจฺจานทสฺสนํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
มงคลที่ ๓๓ "การเห็นอริยสัจ  จัดว่าเป็นอุดมมงคล"
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

พระบาลีว่า อริยสจฺจานทสฺสนํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การเห็นอริยสัจ จัดว่าเป็นอุดมมงคล

เอาแล้ว อริยแปลว่าประเสริฐ เมื่อตะกี้ให้นั่งดูพระสมณะทีแล้ว นี่มาให้นั่งดูของประเสริฐกันอีก ของบริสุทธิ์ๆ อริยะแปลว่าบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ผ่องใส นี่ หมายถึงว่าไม่สกปรก ใครก็รู้ ไม่น่าจะมานั่งแปล ชาวบ้านรำคาญ ดันพูดไปได้ มันอยากจะพูดก็พูดซิ คนพูดไม่มีใครขัดคอ พูดคนเดียว

นี่ การเห็นอริยสัจ แปลว่าการเห็นของบริสุทธิ์ มันดีหรือ สมมติว่าท่านเห็นเพชรน้ำหนึ่ง ใจสบายหรือไม่สบาย เห็นรถเก๋งคันงามที่มีสมรรถภาพในการใช้ดี ใจเป็นยังไง เห็นคนเขาดี มีจิตใจบริสุทธิ์โอบอ้อมอารี แสดงความเป็นมิตร มีความรู้สึกใจเป็นยังไง ใจสบายไหม ตอนนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เห็นความบริสุทธิ์จัดว่าเป็นอุดมมงคล ความบริสุทธิ์มันจะเกิดขึ้นได้ยังไง มานั่งนึกดู ในข้อนี้พระพุทธเจ้ากล่าวอริยสัจไว้ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ เราย่องๆ จะไปนิพพานกันแล้วนะ เดินมาเดินไป คลำไปคลำมา จะไปชนเอาพระนิพพานเข้าแล้ว การเห็นอริยสัจ คือ ความจริงที่พระอริยเจ้าเห็น แล้วก็เป็นพระอริยเจ้าได้นะ

อริยสัจนี้ อริยะ สัจจะ ความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านเห็นแล้วก็ทำตัวท่านเอง ให้เป็นพระอริยเจ้า เขาเห็นกันยังไง อันดับแรกก็เห็นทุกข์ พยายามคลำทุกข์ให้พบ ว่าการเกิดของเรานี่น่ะ มันมีความสุขหรือความทุกข์ กิน เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นึกเอาเอง หิว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความแก่เฒ่าเกิดขึ้นกับเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นแก่เรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การหาเงินไม่พอใช้ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีสามีภรรยาต้องแสวงหาทรัพย์สินให้มากขึ้น ต้องเอาใจซึ่งกันและกัน เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การมีลูกหญิงลูกชายเกิดขึ้นมา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การต้องหาเงินหาทอง หาปัจจัย หากำลังใจมา อบรมลูก มาเลี้ยงลูกมาบำรุงลูก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตามองไม่เห็น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ปวดฟัน ฟันจะถอน ฟันจะโยก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แล้วอีตรงจะตายล่ะ ตรงจะตาย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ใครจะตายก็ช่างเถอะ ผัวตาย เราเป็นเมีย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมียตาย เราเป็นผัว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ลูกตาย เราเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เอาแค่นี้ก็พอ นั่งคิดกันเอาเอง นี่ ของจริงที่มันมีในโลก ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นส่วนย่อ

ทีนี้ ต่อไปการเห็นอริยสัจ สมุทัย สมุทัยนี่ท่านไม่ได้แปลว่าเป็นเชื้อชาติ ไม่ใช่สมุทของคนไทย ถ้าสมุทของฝรั่งใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ยังงั้น สมุทัยแปลว่าเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านก็มาถามอีกว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ท่านก็ตอบของท่านเองว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาแปลว่าความอยาก อีตอนที่เราเกิดมานี่ไม่ต้องพูด เราไม่รู้ นึกไม่ออกว่าทำไมเราจึงเกิด ไม่ต้องพูดกัน ตอนเกิดมาแล้วนี่ซิ อยากกินอาหารอย่างนั้น อยากกินอาหารอย่างนี้ เห็นว่ามันดีเหลือเกิน เมื่ออยากแล้วก็ต้องไปจัดหามาไปซื้อมา ไปหาทรัพย์สินมา ไปแสวงหาอาหารมา การไปหามานี่ มันต้องเหนื่อย การเหน็ดเหนื่อย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อยากมีผัวมีเมีย เมื่อยังไม่ได้ตามความประสงค์ จิตใจมันก็กลุ้มร้อน คิดว่าเขาจะไม่รักเราบ้าง หรือว่าเขารักเราแล้วผู้ใหญ่จะขัดคอเสียบ้าง อุปสรรคอื่นใดจะมาขัดขวางบ้าง ผู้ใหญ่เขาก็ไม่ขัดข้อง เจ้าตัวก็ไม่ขัดข้อง แต่เงินทองไม่มีจะไปแต่งงานกับเขา หรือว่าอยู่ครองกันเข้าแล้ว ไอ้ทรัพย์สินที่มันจะกินจะใช้ไม่พอ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นมา ความอยากตัวนี้ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อยากรวยก็ต้องไปวิ่งหา ดีไม่ดีก็ต้องไปกู้เขามา ลงทุนให้มันมาก มีเท่านี้แล้วไม่พออยากจะต่อให้มันสูงหนัก เอาไปกู้ธนาคารบ้าง ไปกู้ชาวบ้านเขามาบ้าง เมื่อถึงเวลาเขาทวงก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้เขา หาให้เขาไม่ทันก็วิ่งพล่านไป อันนี้เป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ นี่มันตัวอย่าง มันอยากนี่ เอาแค่นี้ก็พอ พูดไปก็รำคาญ นึกเอาก็แล้วกัน เรียกว่าความเหนื่อยยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เพราะอาศัยความอยากเป็นสำคัญ ถ้าเราไม่อยากมีผัว ไม่อยากมีเมีย ความทุกข์จากการมีผัวมีเมีย มันก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่อยากมีลูก ก็ไม่แน่นักหรอก ไม่สร้างปัจจัยให้เกิดลูก ไอ้ความทุกข์ของลูกที่สร้างให้เกิดขึ้นมากับเรามันก็ไม่มี

ทีนี้ ถ้าเราไม่อยากมันเสียให้หมด ไม่อยากแม้แต่การเกิด คือบำเพ็ญตบะตามมงคลที่ ๓๑ ประพฤติพรหมจรรย์ ตามมงคลที่ ๓๒ แล้วจะมีอะไรมาทุกข์ หมด สองมงคลนั่น เขาตัดความอยาก ทีนี้เมื่อพระพุทธเจ้าบอกบำเพ็ญตบะมาแล้วให้เห็นอริยสัจ นี่ท่านว่ามาตามตำรับแบบเบาๆ ความจริงอริยสัจนี่มันเห็นมาตั้งแต่การบำเพ็ญตบะ มงคลข้อที่ ๓๑ แล้ว หรือดีไม่ดีก็มาตั้งแต่โน่น ข้อที่ ๒๙ การเห็นสมณะ ค่อยๆ เห็นมานานแล้ว ถ้าจะย้อนไปอีกทีอย่างเล็กๆ ก็เห็นกันมาตั้งแต่มงคลข้อที่ ๑ คือการไม่คบคนพาล นี่ก็ชื่อว่าเห็นอริยสัจแล้ว แต่ว่าเห็นเบาๆ มาตอนนี้พระพุทธเจ้าทรงเอาซุงมาส่งมาให้แล้ว เห็นว่ามีกำลังดี ให้มาไล่เบี้ยอริยสัจ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์เพราะมีความเกิดเป็นปัจจัย ถ้าเรายังต้องการร่างกาย ยังต้องการขันธ์ ๕ เพียงใด เราก็มีทุกข์อย่างนี้ ว่ากันโดยย่อ

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสว่า เตสังวู ปสโม สุโข การเข้าไปสงบกาย นั่นชื่อว่าเป็นสุข ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียวมันก็เป็นสุข ถ้าเราไม่มีร่างกายปัจจัยเกิดทุกข์มันไม่มี นี่ ทุกข์ตัวนี้มันอาศัยร่างกายของเราเป็นสำคัญ การที่เราจะไม่มีร่างกายได้นั้น เราก็ต้องเห็นทุกข์ รู้เหตุของความทุกข์ แล้วก็ทำลายเหตุของความทุกข์ ทำลายความอยากมันเสียให้หมด ไม่ว่าอยากอะไร เลิกอยาก แม้แต่อยากรสอาหาร เราก็เลิกอยากมันจะมีอะไรกินก็ช่างมัน กินแล้วก็แก่เหมือนกันตายเหมือนกัน กินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปมันก็หมดเรื่อง จะไปติดอะไรในรสอร่อย ไอ้เรื่องการสัมผัสน่ะ ชอบกันนัก ชอบกันจริงๆ หาคู่สัมผัสเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่เวลานี้ทุกข์ก็เพิ่มขึ้นอีกเยอะ ไน้ท์คลับต่างๆ เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ บางทีต้องกู้เงินกู้ทองเขาไปเข้าไน้ท์คลับ เอาเงินไปจ่ายเล่นโก้ๆ แล้วก็มานั่งบ่นว่าเงินไม่พอใช้ นี่ก็เพราะเราอยากไป ถ้าเราไม่อยากไปมันเสียอย่างเดียวเงินมันก็ไม่หมด ทีนี้ก็มีอีกหลายเรื่อง อาหารที่บ้านมีกินถมไป ข้าวราดแกงนั่งยองๆ กินข้างถนนอิ่มเหมือนกัน ก๋วยเตี๋ยวหาบราคาไม่แพง อิ่มเหมือนกัน โน่น ต้องไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือ ไอ้ก๋วยเตี๋ยวจริงๆ มันก็ไม่ได้ทำในเรือ หรือก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือก๋วยเตี๋ยวบกก็คนทำคนเดียวกัน แต่ต้องมีเรือมาวางไว้ก็ไปนั่งกินกัน อุปาทานคือตัวอยาก เห็นเรือเป็นปัจจัย เวลากินเข้าไปเงินมันก็แพงเกินธรรมดา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เงินมันหมด แล้วมานั่งบ่นกันบอกว่าเงินไม่พอใช้ นี่ เป็นอันว่าความอยากตัวเดียว ที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ถ้าเราจะไม่อยากเสียเป็นยังไง เราไม่ต้องไปอยากมัน มีงานตามหน้าที่ก็ทำไป ทำความดีตามระเบียบ ไม่ต้องไปนั่งอยากเอา ๒ ขั้น ๓ ขั้น หรือมีการค้าการขาย ขายไปตามระเบียบ มันมีกำไรสักเท่าไร มันจะรวยสักเท่าไรก็ช่างมัน ทำใจให้สบาย มันก็ก้าวขึ้นไปเอง

ตานี้ ถ้าหากว่าเราอยากมากเกินไป บางทีงานที่จะทำความดีเลยไม่ได้ทำ วิ่งไปประจบผู้บังคับบัญชา ไอ้งานมันก็คั่งค้างอยู่ นี่ตัวอยากตัวนี้เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ พอเขาเร่งรัดการงานเข้ามา คราวนี้ทำยังไง ล่อกันกลางคืนกลางวันไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะมัวไปประจบเจ้าประจบนายเสีย ว่าผมดียังงั้นผมดียังงี้ พอเขาจะมองเห็นความดีในผลงานขึ้นมาคราวนี้ไม่ไหว งานมันคั่งค้าง นี่ ความลำบากมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ อยากรวยเกินไป มีทุนเท่านี้ไม่พอ ไปกู้เขามา สร้างฐานะให้มันดีมันเด่นขึ้น อีตอนสร้างนี่ไม่เป็นไร สำคัญอีตอนที่เขาทวงสตางค์เก็บดอกเบี้ย นี่มานั่งใจไม่สบาย ถ้าหากเราไม่อยากอย่างนี้จะเป็นยังไง มีทุนเท่าไรก็ทำไปเท่านั้น หมุนไปตามรูปตามร่าง ทำใจให้สบายผลมันก็เกิดเสมอกัน อย่างนี้พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ถ้าเว้นจากตัว "อยาก" เสียได้มันก็ไม่มีทุกข์ เป็นอันว่าตัวทุกข์เกิดจากความอยาก เป็นอันว่าการเห็นอริยสัจมีความเห็นว่า ๑.ทุกข์มีจริง ความทุกข์มีขึ้นมาได้เพราะอาศัยความอยากเป็นปัจจัย หาเหตุระงับความอยากต่อไป ก็ไม่ยากนี่ ก็ว่ากันมาตั้งแต่มงคลที่ ๓๑ แล้ว ตบะ ว่ากันตามนั้นแหละมันทำลายความอยากลงไปเอง นี่มงคลข้อนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์สอน จะย่องเข้านิพพานอยู่แล้ว สูงจัง อยากจะสูงก็สูงไปซี ก็เพราะเป็นขั้นสูงนี่
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2487


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 14 ตุลาคม 2558 19:27:35 »


นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
มงคลที่ ๓๔ "การทำพระนิพพานให้แจ้ง"
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

พระบาลีว่า นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ การทำพระนิพพานให้แจ้งจัดว่าเป็นอุดมมงคล

นี่ การทำนิพพานให้แจ้งนี่ ก็ได้แก่การบำเพ็ญอริยสัจ คือ การพิจารณาทุกข์หาเหตุปัจจัยเข้าถึงความทุกข์ จนกระทั่งถึงขั้นนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในโลกทั้งหมด เขาทำยังไงมันถึงจะแจ้ง มีนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายในโลกทั้งหมด ไม่ว่าอะไรเป็นของโลก เห็นว่ามันไม่เป็นเรื่อง มันไม่มีการทรงตัว แล้วก็ย่องเข้าไปอีกที ถึงสังขารุเปกขาญาณ คือดับตัวเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปยุ่งกับชาวบ้าน เมื่อตัวเราคนเดียว แล้วมันก็เบื่อ ชาวบ้านเขาเอง นี่การทำพระนิพพานให้แจ้งเขาทำยังงี้แหละไม่ยาก มานั่งดูตัวเราว่ามันมีอะไรดีบ้าง ข้างในท้องทั้งหมด สะอาดหรือสกปรก ร่างกายทรงสภาพหรือมีการเปลี่ยนแปลง ดูเอาเองก็แล้วกัน ท่านผู้อ่านก็เป็นคนมีปัญญา ถ้ามองไม่เห็นก็นึกภาพว่าเมื่อเกิดมามันหน้าตาเท่านี้รึ มันโตเท่านี้รึ ถ้าโตเท่านี้ออกจากท้องแม่ไม่ได้ ดีไม่ดีเวลานี้ตัวท่านโตกว่าตัวแม่เสียอีก จะย่องเข้าไปอยู่ในท้องแม่ท่านได้ยังไง นี่ความไม่เที่ยงของโลกมันเป็นยังงี้ ตานี้ในเมื่อความไม่เที่ยงปรากฏ ร่างกายก็เต็มไปด้วยความสกปรก แล้วก็มีความทรุดโทรมไปตลอดเวลา ความจริงร่างกายนี่น่าเบื่อ ไม่ใช่น่ารัก

ทีนี้ ต่อไปก็มาว่ากันถึงตัวสุดท้าย คือ สังขารุเปกขาญาณ การทำพระนิพพานให้แจ้งก็มีอารมณ์วางเฉยในสังขารร่างกาย ร่างกายเราคนเดียว คนอื่นไม่ต้องไปยุ่ง เมื่อเราวางเฉยในร่างกายของเราได้แล้ว เราก็วางเฉยในร่างกายของบุคคลอื่นได้ การวางเฉยตัวนี้มันเฉยตรงไหน เฉยตรงที่มันเปลี่ยนแปลง มันทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ก็มีความเข้าใจว่านี่ธรรมดาของร่างกายมันเป็นยังงี้ ตานี้ มันแก่ลงมา หูฝ้า ตาฟาง ก็ไม่ค่อยหนักใจมีอารมณ์สบายว่าธรรมดาของมันเป็นยังงี้ เวลามันพังลงไป ใจก็สบายว่าธรรมดาเขาเป็นอย่างนี้ วางเฉย เฉยเสียแล้ว ก็เฉยต่อไปอีก คนเขาตายแล้ว เขาอยากจะไปเกิดเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี กษัตริย์ อนุกษัตริย์ พระมหากษัตริย์ เจ้าโลก พระเจ้าจักรพรรดิ คนที่ทำพระนิพพานให้แจ้งเฉยเลย เฉยแม้แต่การเกิดก็ไม่ต้องการ เห็นว่ามันเป็นทุกข์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ไม่ฝ่าฝืนกฎของธรรมดา เห็นว่าถ้าตราบใดขึ้นชื่อว่าถ้ายังมีความเกิด ยังทรงขันธ์ ๕ ตราบนั้นเราก็ไม่พ้นจากอำนาจของความทุกข์ ความสุขก็คือความดับ ดับจากอารมณ์ต้องการ คือความอยาก ได้แก่ตัณหา เลิกอยากมันเสียให้หมด ทำวางเฉยเสีย เท่านี้เราจะพบพระนิพพานได้ตั้งแต่ยังไม่ตาย พอจิตมันเฉยได้แล้วมันก็หมดทุกข์ ร่างกายมันทรุดโทรม ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา โรคภัยไข้เจ็บเกิดมาก็ถือว่าธรรมดาของมัน ไม่ช้ามันก็พัง ความตายจะเข้ามาถึงก็ธรรมดา พอตายไปแล้วเราไม่ต้องมาเกิดก็เลยถือเป็นธรรมดา ไปไหน  ไปพระนิพพาน ความจริงการไปพระนิพพานนี่ เขาเทศน์กันยาวเหยียด ที่เทศน์กันยาวเหยียดนี่มันเข้าไม่ถึงพระนิพพาน ไม่ต้องไปนั่งไล่เบี้ยอะไรต่ออะไรอีก ตัดอยากเสียตัวเดียว ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเสียตัวเดียว ทำใจวางเฉยในเมื่อกฎธรรมดามันเกิด ถือว่าธรรมดาของมัน เท่านี้อารมณ์ก็เข้าถึงพระนิพพานเข้าถึงยังไงเพราะตัววางเฉยเป็นตัวดับอารมณ์ ดับความจุ้นจ้าน ดับตัวเกาะ ไม่เห็นจะยากอะไร การไปนิพพานง่ายกว่าไปนรกตั้งเยอะ

อันนี้ว่ามาถึงมงคล ๓๔ แล้ว ตอนนี้ไม่ชวนใครละ จะไปก็ไป ไม่ไปก็แล้วไป
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2487


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 20 ตุลาคม 2558 19:38:11 »


ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺสนกมฺปติ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
มงคลที่ ๓๕
"จิตผู้ถูกโลกธรรมกระทบแล้ว ไม่หวั่นไหวจัดว่าเป็นอุดมมงคล"

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

พระบาลีว่าผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺสนกมฺปติ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ นี่จวนจะเอวังแล้ว ชักจะสบาย ไอ้ที่ว่ามานี่ร่างกายมันก็ไม่ดี ทุกข์มันก็กินอยู่ตลอดเวลา ก็ช่างมันซี มันจะทุกข์มันก็ทุกข์ไป เราจะพูดเราก็พูดไป เมื่อทุกข์มันยังน้อยอยู่ก็พูดมันไป ทุกข์มากพูดไม่ไหวก็เลิกพูด พูดไปแล้วใครเขาเห็นดีหรือไม่เห็นดีก็ตามใจ เพราะว่าเวลาพูด พูดคนเดียว ไม่ได้พูดกับใคร อ้าวนี่ต้องไปบ่นทำไมหลวงตา หลวงตามานั่งบ่นทำไมนี่ เดี๋ยวก่อนแปลให้เขาฟังหน่อยซี ไปนั่งบ่นเสียแล้ว คนแก่ขี้บ่น

บาลีว่า ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสสนะกัมปติ เอตัมมังคลมุตตมัง ท่านแปลไว้ว่ายังงี้ คนที่เขียนหนังสือแปลมา ว่าจิตของผู้ถูกโลกธรรมกระทบแล้ว ไม่หวั่นไหวจัดว่าเป็นอุดมมงคล
ปั้ดโถ มันง่ายนิดเดียว ปั้ดโธ่เอ๊ย ไม่เห็นจะมีอะไรหนักเล้ยพ่อคุณ ๆ มันไม่มีอะไรหนัก ก็โลกธรรมมันเป็นธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลก นี่ ๆ ท่านล่ออารมณ์พระอรหันต์เข้าแล้ว รู้ไหม? อีนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์แล้วนี่ แล้วจะไปยากอะไร ไม่มีอะไรยาก โลกธรรมมีอะไรบ้างเล่า ความมีลาภเมื่อลาภเข้ามาชนใจเข้า ไม่หวั่นไหว เพราะอะไร เพราะรู้แล้วนี่ว่าลาภมันหมดไปได้ ก็ของธรรมดา ไม่เห็นจะยุ่งอะไร ได้ลาภหมดไป ก็ไม่หวั่นไหวไม่หนักใจ ไม่เห็นมันมีอะไรนี่ ของธรรมดา ยศฐาบรรดาศักดิ์มาชนเข้านี่ เราจะไม่เอานี่เขาให้ ให้ก็ให้เข้าไปซิ เขาให้ยศเรามา เราก็นึกเลยว่ายศนี่เขาให้ได้ เขาก็เรียกคืนของเขาได้ เป็นธรรมดา เอ้าให้ก็ให้มา ตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ให้เราแล้วมันห้ามความแก่ ห้ามความป่วยไข้ไม่สบาย ห้ามความตายได้ไหม? ไม่ได้ ยศไม่เป็นเรื่อง เอาเขาอยากจะให้ ให้ก็รับ รับแล้วก็วาง หมดเรื่องกันไป ไม่เห็นมีอะไร บางทีเจ้าของเขาให้ยศแล้วเขาเอากลับคืนไป มันก็เรื่องธรรมดา เอาไปก็เอาไป มียศก็แก่ ไม่มียศก็แก่ มียศก็ตาย ไม่มียศก็ตาย เรื่องอะไรจะไปยุ่งกับยศ ทำเป็นคนใจบ้า ๆ บอ ๆ ไปยังไง เห็นของไม่เป็นเรื่องว่าเป็นเรื่องมันจะใช้ได้ที่ไหน มันไม่เห็นมีอะไรยาก

ทีนี้ ได้ยินคำสรรเสริญ ท่านบอกไม่หวั่นไหวอีก โธ่ ก็ไอ้คำสรรเสริญเยินยอของไอ้คนที่ปากเหม็นกินปลาร้า ความจริงปากคนนี่เหม็นกว่าปลาร้าอีก เหม็นเพราะอะไร ปกติเหม็นอยู่แล้ว ไม่ล้างปากทุกวันก็ทนไม่ไหว เหม็นยังปล่อยเสียงออกมาอีก ไอ้เสียงเหม็น กลิ่นปากเหม็นไม่พอ ยังมีเสียงเหม็น เขาจะมานั่งชมนั่งเชิมอะไร เราไม่ได้เกิดมาให้ชาวบ้านชม ไอ้ความดีความชั่วมันอยู่ที่เรา ชมก็ชมเข้าไป ฉันรู้ว่าฉันดีฉันชั่ว แกชมหรือไม่ชมฉันก็รู้ ไม่เป็นเรื่อง รับคำชมแล้วก็โยนทิ้งมันไป แล้วใครเขานินทาว่าร้าย ว่าเราชั่วเราเลวเราก็รู้ ตัวของเราเรามันรู้อยู่แล้ว มันชั่วหรือไม่ชั่ว ถ้ามันชั่วจริงก็บอก อือดี พ่อคุณ ดีที่เตือนฉันน่ะ นี่ฉันเลวจริง ๆ ถ้าเราไม่ได้ชั่วจริง ๆ ก็ ปั้ดโธ่เอ๊ย นึกในใจ ไอ้เจ้านี่มันหูตาไม่ดีนี่ เขาทำความดีเห็นเป็นความชั่วไปได้

นี่ ความสุขของโลกีย์วิสัยเกิดขึ้นไม่หวั่นไหว ใช่แล้ว พระอริยเจ้าจะไปหวั่นไหวอะไร ก็แกเบื่อโลกจนไม่รู้จะเบื่อยังไงอยู่แล้ว ไอ้ความสุขกายเกิดขึ้น ไอ้ความสุขใจนิดหนึ่งเกิดขึ้น ว่างจากโรคภัยไข้เจ็บ ว่างจากการถูกนินทาว่าร้าย ร่างกายไม่มีโรค หนอยท่านจะไปเชื่ออะไรกับไอ้ร่างกายที่เต็มไปด้วยความกลับกลอก มันไม่มีเรื่องสบาย ๆ ไม่เห็นมีอะไรแล้วก็ความทุกข์เกิดขึ้นจากกำลังอำนาจของกายเป็นปัจจัยได้รับความกระทบ ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าร่างกายมันจะพัง มันเป็นดินแดนของความทุกข์ ท่านวางทิ้งมันไปแล้ว โยนทิ้งมันไปแล้ว แล้วก็จะมานั่งหวั่นไหวกันเพื่ออะไร มันไม่มีอะไรนี่ แล้วโลกธรรมนี่ไม่เห็นมันหนัก มันของธรรมดา ๆ นี่ ก็รู้อยู่แล้วคนเกิดมาในโลกมันก็ต้องชนอีแบบนี้ ในเมื่อเรารู้ว่าจะต้องชนจะต้องไปหวั่นไหวมันทำไมไม่มีอะไร ไม่เห็นมีอะไรยากสักนิด ธรรมดา ๆ ปกติ ที่ว่าปกติก็คือต้องชนเป็นปกติ แล้วจะมานั่งหวั่นนั่งไหวเพื่อประโยชน์อะไร ไม่มีอะไร ก็ตอนนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์แล้วนี่ ไม่ต้องนั่งอธิบายหรอก ถ้าทำต้องโน่นแน่ะ ตบะโน่นแน่ะ ตั้งแต่ตบะน่ะ ไล่เบี้ยขึ้นมาเรื่อย ๆ มันไม่มีอะไรจะหนัก ค่อย ๆ มาเถอะ หรือค่อย ๆ เดิน
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2487


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2558 19:22:03 »

http://img.tarad.com/shop/u/udommongkol/img-lib/spd_20150917202747_b.jpg
มงคล 38 ประการ

อโสกํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ อโสกัง
มงคลที่ ๓๖
"ความไม่ยินร้าย, ไม่โศก เป็นอุดมมงคล"

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

อโสกํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ อโสกัง นี่ ท่านบอกว่าไม่โศก แต่บาลีเขาแปลว่า ไม่ยินร้ายอ้าว ไอ้ไม่ยินร้ายมันก็ตรงกันข้ามกับไม่ยินดี ไม่ยินร้ายหมายความว่าอะไรนี่ ตีความว่ายังไงล่ะพ่อคุณ มันก็ไม่โศกเสียดีกว่า บาลีท่านว่าไม่โศก แต่แกแปลว่าไม่ยินร้ายนี่ ฉันไม่รู้หรอก นะ เขาแปลว่าไง อ้อ จิตเกษม จิตไม่ยินดี จิตไม่ยินร้าย ความจริงไม่ยินร้ายก็หมายว่าจิตน่ะ ไม่ประทุษร้ายใคร จิตไม่เศร้าหมอง จิตมีอารมณ์สบาย ปัดโถ ก็กว่าจะมาถึงนี่ อารมณ์มันสบายนานแล้วนี่ ไม่มีอะไรหรอก ตั้งแต่นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัมมังคลมุตตมังโน่นแน่ะ โน่นมันสบายมาตั้งแต่ตอนโน้นแล้ว นี่มาเก็บไล่เบี้ยท่านก็เลยพูดไว้ให้เข้าใจ เพราะอารมณ์ที่มันไม่มีความโศก จะโศกได้ยังไง ก็ความรักในโลก มันไม่มีเสียแล้วนี่ พระบาลีกล่าวว่า ปิยะโต ชายะเต โสโก ปิยะโต ชายะเต ภะยัง ความเศร้าโศกเสียใจเกิดจากความรัก ภัยอันตรายเกิดจากความรัก คือไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็ไอ้ตัวนี้ถูกตัดมาเสียนานแล้ว นี่มันจะมีอะไร มีความสุข ปัดโธ่เอ๊ย ไม่เห็นมีอะไร อธิบายไปก็รำคาญ



วิรชํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
มงคลที่ ๓๗
"ความไม่ยินดีเป็นอุดมมงคล"

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

อีกข้อหนึ่งท่านว่า รชํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ ความไม่ยินดีเอาละซิ เฮอะ ความไม่ยินดี มีความสุขที่สุด ถูก คำว่าไม่ยินดีในที่นี้หมายความว่าไม่ยินดีในความเกิด ไม่ยินดีในความอยาก เอาเสียยังงี้ก็แล้วกัน รวมความว่าธรรมใดๆ เป็นส่วนดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขมันโผล่ขึ้นมาไม่ยินดีเลย

ไอ้ข้อต้นก็มีอะไร เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้นมาไม่ยินร้ายเลย จิตสบายๆ ไม่เห็นจะมีอะไร ถูก ท่านว่าถูก คนอ่านเห็นว่าถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ เป็นอันว่าจิตที่ไม่ยินดีในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ นี่ความจริงพระองค์มุ่งหมายเพียงแค่นี้ คนที่ไม่ติดโลก แล้วก็ถึงนิพพานเท่านั้น ก็มีอยู่ ๒ ตัวแค่นี้ ไอ้ตัวติดก็คือตัวอยาก ถ้ามันไม่อยากเสียแล้วมันก็ไม่ติด ในเมื่อโลกธรรมมันกระทบไม่หวั่นไหวมันไม่ติดแล้ว ไอ้ตัวยินดียินร้ายมันจะโผล่มาจากไหน




เขมํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
มงคลที่ ๓๘
"จิตที่มีความเกษมอยู่ จัดว่าเป็นอุดมมงคล"

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)

เขมํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ จิตที่มีความเกษมอยู่ จัดว่าเป็นอุดมมงคล คำว่าเกษมนี่ หมายความว่ามีความสุขตลอดกาล จริง เมื่อจิตมันวางเฉยเป็นสังขารุเปกขาญาณเสียแล้วนี่ หนาวมากก็ไม่รู้ ไม่เอา ร้อนมาก็ไม่เอา ชมก็ไม่เอา ถูกด่าก็ไม่เอา มียศก็ไม่เอา มีลาภก็ไม่เอา เสื่อมยศ เสื่อมลาภก็ช่างมัน คำว่าไม่เอาในที่นี้ก็หมายความว่าจิตไม่ยินดีด้วย

เขาเอาลาภมาให้ ก็ดีใจ ไม่ใช่ว่าทำเป็นหัวหลักหัวตอ เมื่อเขาเอาเงินเอาทองมาให้ดีใจ ดีใจตรงไหน ดีใจว่าเราจะนำเงินจำนวนนี้ไปสร้างความสุขให้เกิดแก่สาธารณชนทำเงินที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตระ ทำโลกียทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ แล้วก็ดีใจที่คนทั้งหลายเขานำเงินมาให้นี่ จิตเขาเป็นกุศล เขาจะพ้นจากความทุกข์ เราก็เอาเงินจำนวนนั้นน่ะแหละ ไปสร้างความสุขให้สูงขึ้น มันสุขตรงไหน  เอาเงินมาให้แล้วก็มาสร้างโบสถ์ วิหารการเปรียญ แล้วก็บอกนี่เงินของคุณนะ ที่ชาวบ้านเขาเอามาให้นี่น่ะ ชาวบ้านมานั่งอาศัยศาลาบ้าง กินน้ำในบ่อที่ขุดไว้บ้าง สร้างโรงเรียน สร้างศาลา สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างส่วนสาธารณะอะไรก็ตาม มันเป็นส่วนสาธารณประโยชน์ แล้วก็แจ้งให้เขาทราบว่านี่เป็นเงินของคุณนา เท่านี้แหละใจของเราก็สบาย ใจของเขาก็สบาย ไม่เห็นจะมีอะไรจิตเป็นเกษม ถ้าคนไม่มีโลกธรรมติดแล้ว ก็เหลือแต่โลกุตรธรรมติด

โลกุตระ แปลว่าหมดอำนาจของโลกที่จะเกาะ อารมณ์ใดที่มีความยุ่ง คือ ตัณหา ความอยาก ไม่มีสำหรับท่านที่มีจิตเป็นเกษม

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านไล่ย่อๆ มาทีละน้อยๆ ในที่อื่นท่านไล่ไว้เพียงแค่แคบๆ เพราะเกรงว่าการปฏิบัติจะลำบาก ตอนนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ทรงร่ายยาวๆ ไว้ ให้ขยับมาทีละหน่อยๆ จนถึง ๓๘ ประการ องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงกล่าวไว้ในที่สุดว่า มงคลแต่ละประการนี้ จัดว่าเป็นความดีสูงสุด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าพากันปฏิบัติมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง คำว่าไม่พ่ายแพ้ในที่นี้ ก็หมายความว่า ไม่พ่ายแพ้ต่อกำลังของความชั่ว ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน และข้อนั้นจัดว่าเป็นอุดมมงคล คือมงคลสูงสุดของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นดังนี้แล

อันนี้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ตอนท้ายของมงคล ท่านว่ายังงั้นน่ะ ว่าแต่ละประการนี่เป็นมงคลอันสูงสุด คือความดีสูงสุดจริงๆ เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา สพฺพตฺถโสตฺถี คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมํ ตามบาลีเขาลงติไว้ ไอ้ตินี่แปลว่า ดังนี้นี่ พระองค์ทรงรับรองว่าแต่ละประการนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

ถ้าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันปฏิบัติมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน ข้อนั้นจัดเป็นมงคลสูงสุดของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ดังนี้แล

นี่ เป็นอันว่าจบมงคล บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่าน อาตมาภาพผู้กล่าวหรือว่าเรียงมงคลนี้ บางทีก็เป็นไปตามภาษาที่เรียบร้อยบ้าง ไม่เรียบร้อยบ้าง ก็เป็นจริยาของคนจะเอาความดีหรือเรียบร้อยเหมือนสมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ แต่ว่าเห็นด้วยกับสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ หากว่าท่านทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติได้ครบถ้วนทั้ง ๓๘ ประการ เป็นอันว่าพวกท่านหยุดทุกข์จริงๆ แต่ทว่าหากว่าบรรดาพุทธบริษัทชายและหญิงทั้งหลาย ยังมีกำลังจิตใจอ่อนอยู่ก็นำมงคลของสมเด็จพระบรมครูในข้อต้นๆ มาปฏิบัติตามลำดับเป็นขั้นๆ อย่ารีบอย่าลัดนัก จะลำบากใจ ทำได้ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ก็ตามใจ ความสุขจะมีขึ้นมาโดยลำดับ

เอาละ สำหรับการพูดถึงมงคล ๓๘ ประการ ตามความต้องการของบรรดาท่านพุทธบริษัทบางท่านที่ส่งเรื่องมา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่ท่านพุทธศาสนิกชน ผู้อ่านมงคลนี้ทุกท่าน สวัสดี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พฤศจิกายน 2558 19:24:30 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า:  1 [2]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.302 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 27 พฤศจิกายน 2567 16:54:01