[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 20:40:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระคัมภีร์ ลลิตวิสตร พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์พุทธประวัติฝ่ายมหายาน  (อ่าน 1422 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 เมษายน 2558 21:14:23 »



พระคัมภีร์ลลิตวิสตร

พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์พุทธประวัติฝ่ายมหายาน

ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ


แปลเป็นภาษาไทย

บทนำของผู้แปล

     อธิบดีกรมศิลปากร (ธนิต อยู่โพธิ์) เมื่อท่านยังมิได้เกษียณอายุ ท่านสั่งข้าพเจ้าให้แปลพระคัมภีร์ลลิตวิสตรภาษาสันสกฤตออกมาเป็นภาษาไทย ข้าพเจ้าแปลจบแล้ว อธิบดีกรมศิลปากร (ธนิต อยู่โพธิ์) พ้นหน้าที่ราชการโดยเกษียณอายุ เมื่อ พ.ศ. 2511 ต่อมา ข้าพเจ้าปรารภถึงการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้คุณหญิงดุษฎีมาลา มาลากุลทราบ ท่านรับเป็นธุระช่วยเหลือติดต่อกับอธิบดีกรมศิลปากร(เชื้อ สาริมาน) ก็ได้รับความเห็นชอบ จัดการพิมพ์ขึ้นจึงสำเร็จรูปเป็นหนังสือที่ท่านอ่านอยู่ในขณะนี้

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ เป็นพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในนิกายมหายาน พุทธศาสนานิกายมหายานในเนปาลมีพระคัมภีร์พุทธศาสนาอยู่ 9 พระคัมภีร์คือ 1 ลิลิตวิสฺตร  2 อษฺฏสาหสฺริกา ปฺรชฺญาปารมิตา  3 คณฺฑวฺยูห สูตร  4 ทศภูมิก หรือ ทศภูมีศฺวร     5สมาธิราช หรือจนฺทฺรปฺรทีป สูตร  6 ลงฺกาวตาร สูตร  7สทฺธรฺมปุณฺฑรีก สูตร  8 ตถาคตคุหฺยก   9 สวฺรณปฺรภาส สูตร

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ไวปุลฺย สูตร หรือมหานิทาน ลลิต แปลว่า การเล่นสนุกสำราญหรือการกรีฑา วิสฺตร แปลว่า กว้างขวาง พิสดาร ลลิตวิสตร หมายถึงชีวประวัติและงานของพระพุทธเจ้าอย่างกว้างขวางพิสดาร

     พระคัมภีร์นี้ ตามเนื้อเรื่องว่า เป็นพระธรรมเทศนาที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธ ส่วนผู้นำพระธรรมเทศนาบทนี้มาบอกคือ พระอานนท์ ซึ่งมีคำขึ้นต้นเหมือนพระสูตรทั่วไปในนิกายหีนยาน หากแต่เป็นภาษาสํสกฤตเท่านั้น คือขั้นต้นว่า เอวํ มยา ศฺรุตมฺ เอกสฺมินฺสมเย ภควานฺ ศฺราสฺตยํ วิหรติ สฺม เชตวเน' นาถปณฺฑทสฺยาราเม มหตา ภิกฺษุสํเฆน สารฺธํ ทฺวาทศภิรฺภิกฺษุสหไสระ ในนิกายหีนยานก็เริ่มต้นด้วยว่า เอวํ เม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถาปิณฺฑิกสฺส อาราเม มหตา ภิกขุสํเฆน สทธึ ปญจมตเตหิ ภิกขุสเตหิ ฯ เป ฯ เป็นต้น และในนิกายหีนยาน เมื่อเรื่มต้นว่า เอวํ เม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ฯ เป ฯ แล้ว ก็กล่าวต่อไปว่า พระพุทธประทับอยู่กับพระภิกษุจำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระภิกษุทั้งหลายขานรับแล้วพระองค์ก็แสดงธรรมเลยทีเดียว แต่ในพระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ เมื่อได้กล่าวคำเริ่มพระสูตรว่า เอวํ มยา ศรุตม แล้ว ก็บรรยายภาพของพระพุทธที่ประทับอยู่กับพระภิกษุ และพระโพธิสัตว์ ทรงเข้าสมาธิชื่อพุทธาลังการวยูหะในยามกลางราตรี และทรงเปล่งพระรัศมีชื่อชญานาโลกาลังการะออกจากกลุ่มพระเกศาสว่างทั่วเทวพิภพ ขึ้นไปจนถึงชั้นศุทธาวาส เทพเจ้าตื่นตกใจ เมื่อทราบว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็เริ่มร้องเพลงถวายสดุดีพระพุทธ ครั้นแล้ว องค์อิศวรกับเทพอื่นๆก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธที่วิหารเชตวัน น้อมเศียรอภิวาทพระบาทพระพุทธแล้ว กราบทูลอาราธนาให้พระองค์แสดงไวปุลยสูตร ซึ่งเรียกว่า ลลิตวิสตร เพื่อให้สัตวโลกบรรลุความหลุดพ้นและประสบมงคลต่างๆ พระพุทธทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพ เทพเหล่านั้นก็ดีใจ โปรยปรายดอกไม้ทิพย์แสดงความดีใจ ต่อจากนี้พระองค์ก็ทรงแสดงลลิตวิสตร เริ่มต้นตั้งแต่พระองค์เป็นเทพบุตรสถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุษิต

     ลลิตวิสตรนี้ แบ่งออกเป็น 27 บท เรียกว่า ปริวรรต หรืออัธยาย แต่ละอัธยายมีข้อความไม่เท่ากัน สั้นบ้างยาวบ้าง อัธยายที่ 1 เรียกว่านิทานปริวรรต ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธทรงแสดงธรรมปริยายคือ ลลิตวิสตรนี้ โดยเล่าว่ามีเทพเจ้ามาทูลขอร้องให้พระองค์ทรงแสดงไวปุลยสูตรดั่งกล่าว พระพุทธทรงเล่าเรื่องราว โดยตรัสเป็นคำประพันธ์ว่า

ตตฺภิกฺษโว เม  ศฺฤณุเตห สรฺเว

ไวปุลฺยสูตฺรํ หิ มหานิทานมฺ

ยทฺภาษิตํ สรฺวตถาคไ ตะ ปฺราคฺ

โลกสฺย สรฺวสฺย หิตารฺถเมวมฺ ฯ

คำแปล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งปวงจงฟังมหานิทานของตถาคต

อันเป็นสูตรที่กว้าขวางไพบูลย์

ซึ่งพระตถาคตทั้งปวงได้ตรัสแสดงในครั้งก่อนๆ แล้ว

เพื่อประโยชน์ชาวโลกทั้งปวงดั่งนี้แล ฯ

     อัธยายที่ 2 ว่าด้วยทรงพระอุตสาหะที่จะเสด็จอุบัติในมนุษยโลกแล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธ

     อัธยายที่ 3 ว่าด้วยพระองค์ทรงเลือกตระกูลที่จะเสด็จไปบังเกิดว่าควรจะเกิดในตระกูลไหน พระมารดาพระบิดาเป็นคนเช่นไร

     อัธยายที่ 4ว่าด้วยหัวข้อแสงสว่างแห่งธรรมมีอะไรบ้าง ซึ่งทรงแสดงธรรมครั้งสุดท้ายขณะที่ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุษิต

     อัธยายที่ 5 ว่าด้วยการจุติจากสวรรค์ชั้นดุษิตของพระองค์

     อัธยายที่ 6 ว่าด้วยเสด็จลงสู่พระครรภ์พระนางมายาประทับอยู่ในวิมานแก้วในพระครรภ์พระมารดา

     อัธยายที่ 7 ว่าด้วยทรงสมภพที่ป่าลุมพินีใต้ต้นมะเดื่อ เมื่อเชิญเสด็จเข้าสู่พระนครแล้วได้รับการตั้งพระนามว่า สรฺวารฺถสิทธ  และหลังประสูติแล้วได้ 7 วัน พระนางมายาถึงก็กาละ  อสิตมหาฤษีกับนรทัตผู้เป็นหลานชายเข้าไปเยี่ยม เมื่อตรวจพิจารณาดูลักษณะพระกุมารแล้วพยากรณ์ว่า พระกุมารจะได้เป็นพระราชาจักรพรรดิ์ หรือไม่ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธ เอกอัครประเสริฐเลิศในมนุษย์โลกและเทวโลก

     อัธยายที่ 8 ว่าด้วยการนำพระกุมารไปเทวสถาน พอพระกุมารย่างพระบาทเข้าไป เทวรูปที่ตั้งอยู่ก็ล้มลงหมด

     อัธยายที 9 ว่าด้วยเครื่องประดับ มีคนนำเครื่องประดับไปถวายพระกุมาร พระกุมารแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับแล้ว เครื่องประดับต่างๆอับหมองไป เพราะพระกายของพระกุมารรุ่งโรจน์กว่า ขับให้เครื่องประดับหมองไป

     อัธยายที่ 10 ว่าด้วยพระกุมารเสด็จไปโรงเรียนพร้อมด้วยเด็กตั้งหมื่น พระกุมารบอกชื่อหนังสือให้อาจารย์วิศวามิตรสอน แต่ชื่อหนังสือเหล่านั้น อาจารย์ไม่รู้ เด็กตั้งหมื่นเรียนหนังสือกับอาจารย์โดยการช่วยเหลือของพระกุมาร ตัวหนังสือที่เด็กอ่านแต่ละตัวออกเสียงเป็นธรรมภาษิตและบทปรัชญาไปหมด

     อัธยายที่ 11 ว่าด้วยพระกุมารเสด็จเยี่ยมหมู่บ้าชาวนา ประทับนั่งที่โค่นต้นหว้าเข้าถึงจตุรธยาน เงาต้นหว้าไม่คล้อยไปตามตวงตะวัน พระฤษี 5ตนเหาะมา ไม่อาจเหาะผ่านไปได้ต้องลงพื้นดิน เห็นพระกุมารประทับนั่งอยู่ใต้ต้นหว้า ต่างพากันเข้าไปน้อมตัวลงทำอัญชลีกราบไหว้พระกุมาร พระบิดาตามไปพบ ก็ทรงอภิวาทพระกุมารแล้วพระกุมารก็เสด็จกลับ

     อัธยายที่ 12 ว่าด้วยทรงแสดงศิลป และได้รับการอภิเษกพระนางโคปาเป็นอัครมเหษี

     อัธยายที่ 13 ว่าด้วยการเตือน คือพระพุทธใน 10 ทิศและเทพทั้งหลาย เตือนพระกุมารให้ออกมหาภิเนษกรมณ์โดยแทรกคำเตือนมาในเสียงดนตรี

     อัธยายที่ 14 ว่าด้วยความฝัน พระกุมารได้รับคำเตือนจากเทวดาเหมือนเคลิ้มฝัน จึงทรงเล่าให้พระบิดาฟัง พระบิดาก็ทรงฝันเหมือนกัน คือฝันว่าพระกุมารทรงบรรพชา และพระบิดาทรงจัดการป้องกันมิให้พระกุมารเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พระกุมารเสด็จชมอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต 4 คือเทวดาแปลงตัวเป็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต

     อัธยายที่ 15 ว่าด้วยพระกุมารเสด็จออกอภิเนษกรมณ์

     อัธยายที่ 16 ว่าด้วยเมื่อทรงบรรพชาแล้วเสด็จเข้าไปหา อาราฑะ กาลาปะ ทรงศึกษาธรรมจนจบ ไม่สมพระสงค์ เสด็จออกจากสำนักนั้น เสด็จไปนครราชคฤห์พบกับพระราชาพิมพิสาร พระราชาพิมพิสารแบ่งสมบัติถวาย พระองค์ไม่ยอมรับ ทรงยืนยันว่าจะแสวงหาคุณธรรมของบรรพชิต พระราชาพิมพิสารทูลขอร้องว่าถ้าพระองค์ประสบคุณธรรมของบรรพชิตแล้วขอให้แสดงให้มีส่วนรู้บ้าง

     อัธยายที่ 17 ว่าด้วยทรงประพฤติทุษกรจรรยา คือประพฤติทรมานพระองค์อันทำได้ยาก และก่อนทรงประพฤติได้เข้าไปหาดาบสชื่อ รุทรกะ รามปุตระ ทรงศึกษาสมาบัติไนวสํชญาน สํชญายตนะ เมื่อทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จออกจากสำนักรุทรกะ รามปุตระ และตอนนี้พระภัทรวรรคีย 5รูป ผู้เป็นศิษย์ของรุทรกะ รามปุตระ เห็นพระองค์ออกจากสำนักอาจารย์ ก็ปลีกตัวจากอาจารย์ติดตามพระองค์ไป โดยคิดว่า พระองค์ตรัสรู้แล้วตนจะได้ฟังธรรมได้รับความตรัสรู้ด้วย ต่อมา พระองค์อดอาหาร กลั้นลมหายใจที่เรียกว่า ทุษกรจรรยา คือประพฤติตนอันยากที่จะทำได้

     อัธยายที่ 18 ว่าด้วยเสด็จแม่น้ำไนรัญชนาแล้วเริ่มเสวยอาหาร ภัทรวรรคียเห็นพระองค์คลายความเพียรจึงผละจากและไปยังนครพาราณสี

     อัธยายที่ 19 ว่าด้วยเสด็จสู่ควงไม้โพธิ ทรงรับหญ้าหอมจากคนเกี่ยวหญ้าชื่อ สวัสติกะ ทรงนำไปปูลาดใต้ต้นโพธิแล้วประทับนั่งบนนั้น

     อัธยายที่ 20 ว่าด้วยวิมานที่ควงไม้โพธิ

     อัธยายที่ 21 ว่าด้วยการรังควานของมาร

     อัธยายที่ 22 ว่าด้วยการตรัสรู้เป็นพระพุทธ

     อัธยายที่ 23 ว่าด้วยเทวดาสรรเสริญพระพุทธ

     อัธยายที่ 24 ว่าด้วยพ่อค้า 2 คนคือ ตระปุษะ กับภัลลิกะ พบพระพุทธแล้วถวายข้าวคั่วคลุกน้ำผึ้งกับอ้อยควั่น และมหาราชทั้ง 4ถวายบาตรแก่พระพุทธเพื่อให้ทรงรับไทยธรรม

     อัธยายที่ 25 ว่าด้วยมหาพรหมศิขีทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

     อัธยายที่ 26 ว่าด้วยการแสดงธรรมจักรแก่ภัทรวรรคียทั้งห้า

     อัธยายที่ 27บทส่งท้าย ว่าด้วยอานิสงส์แห่งพระคัมภีร์ลลิตวิสตร

     ในอัธยายที่ 7 ว่าด้วยทรงสมภพนั้น กล่าวไว้ว่าพระโพธิสัตว์อยู่ในพระครรภ์พระมารดาประกอบด้วยฤทธิปราติหาริย์เห็นปานนี้ เมื่อครบ 10 เดือน เดือนล่วงไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จออกทางพระปรัศว์เบื้องขวาของพระมารดา ข้อความตอนนี้ ในอัธยายนั้นกล่าวว่า พระอานนท์ทูลถามว่าเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในพระครรภ์กระทั่งเสด็จออกจากพระครรภ์ทางพระปรัศว์เบื้องขวาของพระมารดานั้น น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี พระองค์ตรัสว่า ข้อนี้ ต่อไปภิกษุผู้มิได้อบรมกาย วาจา ใจ เป็นศรมณะมีมลทิน เป็นศรมณะจอมปลอม จะไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น อีกตอนหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า ดูกรอานนท์ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นประกอบด้วยกุศลมูลอันไม่ต่ำทราม จะเป็นมิตรเนื่องด้วยเป็นชาติเดียวกันกับตถาคต และตรัสว่าย่อมเป็นที่เจริญใจของมิตร ความข้อนี้เทียบกับพระกฤษณะตรัสกับพระอรชุนในคัมภีร์ภควัทคีตา อัทธยายที่ 12 ตั้งแต่โศลกที่ 12 ถึงโศลกที่ 20ความว่า ผู้ตั้งมั่นในศรัทธานับถืออาตมา(หมายถึงพระกฤษณะซึ่งเป็นองค์อาตมัน) เป็นอย่างยอด มีภักดี บำเพ็ญอมฤตธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้นั้นเป็นยอดที่รักของอาตมา

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ามหานิทานเป็นสูตรเกี่ยวกับความเริ่มต้นความเป็นพระพุทธ ทำนองเดียวกับคัมภีร์มหาปุราณของฝ่ายพราหมณ์ หนังสือเช่นนี้แสดงถึงลักษณะของมหายานสูตร และบางส่วนก็เหมือนหรือคล้ายกับพระคัมภีร์ฝ่ายหีนยาน มีข้อความที่ตรงกับภาษามคธเช่นในมหาวัคค์พุทธอุทานว่า

สุโข  วิเวโก  ตุฏฐสส                 สุตธมมสส  ปสสโต

อพยาปชฌํ  สุขํ   โลเก              ปาณภูเตสุ  สญญโม

สุขา วิราคตา  โลเก                   กามานํ  สมติกกโม

อสมิมานสส  โย วินโย               เอตํ  เว  ปรมํ  สุขํ ฯ

คำแปล

ความสงัด เป็นสุข ของบุคคลผู้สันโดษ  มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่

ความไม่พยาบาทคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก

ความปราศจากความกำหนัดคือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก

การกำจัดอัสมิมานะเสียได้ นั่นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง ฯ

ลลิตวิสตร อัธยายที่24 โศลกที่ 81-82 ว่า

สุโข วิเวกสตุษฏสย                  ศรุตธรมสย  ปศยตะ

อวยาพธยํ  สุขํ  โลเก               ปรราณิภูเตษุ  สำยตะ

สุขา  วิราคตา โลเก                 ปาปานํ  สมติกรมะ

อสมิน  มานุษยวิษเย                เอตทไว ปรมํ  สุขม ฯ

คำแปล

ความวิเวกของผู้ยินดี ฟังธรรมแล้ว เห็น(ธรรมนั้น) แล้ว ย่อมเป็นสุข

ความไม่พยาบาท สำรวมอินทรีย์ในสัตว์มีชีวิตทั้งหลายย่อมเป็นสุขในโลก

ความปราศจากกำหนัด การก้าวล่วงบาปทั้งหลายย่อมเป็นสุขในโลก

นี่แหละ (ทำได้ดังกล่าวมานี้) เป็นสุขยอดยิ่งในวิษัยของมนุษย์นี้ ฯ

ในสคาถวัคค์ สํยุตตนิกาย ว่า

กิจฺเฉน  เม  อธิคตํ                  หลนฺทานิ  ปาสิต  (ต=ตุ+ตํ= ต-มี สระอุอยู่ข้างล่าง มีสระอำอยู่ข้างบน)

ราคโทสปเรเตหิ                     นายํ  ธมฺโม  สุสมฺพุโธ

ปฏิโสตคี  นิปุณํ                     คัมฺภีรํ  ทุทฺทสํ  อณ (ณ=ณุ+ณํ)

ราครตฺตา  น  ทกฺขนฺติ             ตโมขนฺเธน  อาวุฏา ฯ

คำแปล

บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก

เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย

สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้วถูกกองอวิชชาห่อหุ้มแล้ว

จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดยิ่งลึกซึ้งอันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแส (คือพระนิพาน) ฯ

ในลลิตวิสตร อัธยายที่ 25 โศลกที่ 19-20 ว่า

ปฺรติโศฺรคามิ  มารฺโค               คมฺภีโร  ทุรฺทฺฤโศ  มม

น  ตํ  ทฺรกฺษฺยนฺติ                    อลํ  ตสฺมาตฺ  ปฺรกาศิตุมฺ

อนุโสฺรตํ  ปฺรวาหฺยนฺเต             กาเมษุ  ปติตา ปฺรชาะ

กฺฤจฺเฉฺรณ  เม' ยํ  สํปฺราปฺตํ        อลํ  ตสฺมาตฺ  ปฺรกาศิตุมฺ ฯ

คำแปล

หนทางของเราทวนกระแส ลีก เห็นยากผู้ที่มืดด้วยราคะ

ย่อมไม่เห็นธรรมนั้น  เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรประกาศ ฯ

คนทั้งหลาย ตกอยู่ในกามทั้งหลาย ลอยไปตามกระแส

ตถาคตจะให้คนเช่นนี้บรรลุนั้นยากนัก เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประกาศ ฯ

ในมหาวัคค์ว่า

ปาตุรโหสิ  มคเธสุ  ปุพฺเพ

ธมฺโม  อสุทฺโธ  สมเลหิ  จินฺติโต

อปาปุเรตํ  อมตสฺส  ทวารํ

สุณนฺตุ  ธมฺมํ  วิมเลนานุพุทฺธํ  ฯ

คำแปล

เมื่อก่อน ธรรมอันไม่บริสุทธิ์ อันคนมีมลทินทั้งหลายคิดแล้ว

ได้ปรากฏในมคธชนบท

ขอพระองค์ได้โปรดทรงเปิดประตูแห่งอมตธรรมนี้

ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธผู้หมดมลทินตรัสรู้แล้ว  ฯ

ในลลิตวิสตร อัธยายที่ 25 โศลกที่ 21 ว่า

วาโท  พภูว  สมไลรฺวิจินฺติโต

ธรฺโม ' วิศุทฺโธ มคเธษุ  ปูรฺวมฺ

อมฺฤตํ  มุเน  ตทฺวิววฺฤณีษฺว  ทฺวารํ

ศฺฤณฺวนฺตุ  ธรฺมํ  วิมเลน  พุทฺธมฺ

คำแปล

ลัทธิของผู้คิดผิดโดยประกอบด้วยมลทิน

เป็นธรรมไม่ปริศุทธในชาวมคธทั้งหลายในครั้งก่อน

ข้าแต่พระมุนี เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดเปิดประตูอมฤต

คนทั้งหลายจะได้ยินธรรมและพุทธโดยจิตปราศจากมลทิน  ฯ

ในมหาวัคค์ ว่า

อารุตา  เต  อมตสฺส  ทฺวารา

เย  โสตวนฺโต  ปมุจญฺจนฺตุ  สทฺธํ

วิหํสสญฺญี  ปคุณํ  น  ภาสี

ธมฺมํ  ปณีตํ  มนุเชสุ  พฺรหฺเม  ฯ

คำแปล

เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว

สัตว์เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด

ดูกรพรหม เพราะเรามีความสำคัญในความลำบาก

จึงไม่แสดงธรรมที่เราคล่องแคล่วประณีต ในหมู่มนุษย์ ฯ

ในลลิตวิสตร อัธยายที่ 25 โศลกที่ 34 ว่า

อปาวฺฤตาเตษามมฺฤตสฺย  ทฺวารา

พฺรหมนฺติ  สตตํ  เย โศรตวนฺตะ

ปฺวิศนฺติ  ศฺรทฺธา  น วิเหฐสญฺญา

ศฺฤณฺวนฺติ  ธรฺมํ  มคเธษุ  สตฺตฺวาะ ฯ

คำแปล

ประตูอมฤตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้ปิด

ดูก่อนพรหม ผู้ใดเป็นผู้ฟังตลอดไป ผู้นั้นมีศรัทธา

ไม่คิดเบียดเบียนกัน ย่อมเข้า(ประตูนั้น)ได้

สัตว์ทั้งหลายในมคธฟังธรรมได้ ฯ

ในมหาวัคค์ ว่า

น  เม  อาจริโย อตฺถิ                สทิโส  เม  น  วิชฺชติ

สเทวกสฺมี  โลกสฺมึ                  น  อตฺถิ  เม  ปฏิปุคฺคโล

อหํ  หิ อรหา  โลเก                  อหํ  สตฺถา  อนุตฺตโร

เอโก ' มฺหิ  สมฺมาสมฺพุทโธ        สีติภูโตสฺมิ  นิพฺพุโต

มาทิสา  เว  ชินา  โหนฺติ           เย  ปตฺตา  อาสวกฺขยํ

ชิตา  เม ปาปกา ธฺมา               ตสฺมาหํ  อุปก  ชิโน ฯ

คำแปล

อาจารย์ของเราหามีไม่ คนเช่นเราก็ไม่มี

บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มีในโลกกับทั้งเทวโลก

เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก  เราเป็นศาสดาหาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้

เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธ  เราเป็นผู้เย็นดับกิเลสได้แล้ว

บุคคลผู้ใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ชนะเช่นเรา

ดูกรอุปกะเราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าเป็นผู้ชนะ ฯ

ในลลิตวิสตร อัธยายที่ 26 โศลกที่ 1-2-3

อาจารฺโย  น  หิ  เม                 กศฺจิตฺสทฺฤโศ  เม  น  วิทฺยเต

เอโก ' หมสฺมิ  สํพุทฺธะ             ศีติภูโต  นิราศฺรวะ

อหเมวารหํ  โลเก                   ศาสฺตา  หฺยหมนุตฺตระ

สเทวาสุรคนฺธรฺเว                    นสฺติ  เม  ปฺรติปุทฺคละ

ชินา  หิ  มาทฺฤศา                   เชญยา เย  ปฺราปฺตา  อาศฺรวกฺษยมฺ

ชิตา  เม  ปาปกา                    ธรฺมาสฺเตโนปค  ชิโน  หฺยหมฺ ฯ

คำแปล

อาจารย์ใดๆ ของตถาคตไม่มีเลย ไม่มีใครจะเหมือนตถาคต

ตถาคตผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู เป็นความเย็น ปราศจากอาสวะ(ทุกข์,โทษ)

ตถาคตนี้แหละเป็นอรหันต์ในโลก ตถาคตเป็นศาสดาไม่มีใครยิ่งกว่า

ไม่มีบุทคลจะเปรียบตถาคตได้ทั้งในเทวดา อสูร คนธรรพ์

พึงทราบเถิดว่า ผู้เช่นตถาคตเป็นชินซึ่งถึงความสิ้นแห่งอาสวะ

ธรรมที่เป็นบาปทั้งปวงตถาคตชนะแล้ว

เพราะฉะนั้น ดูกรอุปคะ ตถาคตนี้แหละได้เข้าถึงชินแล้ว ฯ

ในมหาวัคค์ว่า

ธมฺมจกฺกํ  ปวตฺเตต (ต=ตุ+ตํ)      คจฺฉามิ  กาสินํ  ปุรํ

อนฺธภูตสฺมึ  โลกสฺมึ                   อหญฺญี  อมตทุนฺทุภินฺติ ฯ

คำแปล

เราจะไปยังบุรีแห่งชาวกาสีเพื่อประกาศธรรมจักร

เราจะตีกลองอมตะในโลกอันมืด ฯ

ในลลิตวิสตร อัธยายที่ 26 โศลกที่ 5-6 ว่า

วาราณสึ  คมิศ์ยามิ                  คตฺวา  ไว  กาศินำ  ปุริมฺ

ศพฺทหีนสฺย  โลกสฺย                 ตาฑยิเษย ' มฺฤตทุนฺทุภิมฺ

วารารสึ  คมิษฺยามิ                   คตฺวา  ไว กาศินำ  ปุริมฺ

ธรฺมจกฺรํ  ปฺรวรฺติเษย                โลเกษฺวปฺรติวรฺติตมฺ

คำแปล

ตถาคตไปบุรีของชาวกาศีทั้งหลายแล้วจะไปพาราณสี

จะตีกลองใหญ่คืออมฤต แก่โลกที่มีเสียงเลวๆ

ตถาคตไปบุรีของชาวกาศีทั้งหลายแล้ว

จะไปพาราณสีจะหมุนจักรคือธรรมซึ่งไม่มีใครหมุนในโลก

     ข้อความตามที่ได้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบนี้ จะเห็นได้ว่าพระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้เป็นรูปใหม่ในพระคัมภีร์ของหีนยาน หรืออาจเป็นว่าทั้งมคธและสํสกฤตมาจากแหล่งเก่าแห่งเดียวกันซึ่งเป็นรากฐานอยู่ก่อนเช่นขึ้นต้นว่า เอวํ มยา ศฺรุตํ หรือเอวมฺเม สุตํ พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ เป็นพุทธประวัติฝ่ายมหายานนิกายสรวาสติกวาท คือนิกายที่ถือลัทธิว่า พระพุทธมีอยู่ทุกแห่งทุกเวลา  ส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์นี้แต่งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ที่เป็นร้อยแก้วใช้ประโยคเป็นคำสมาสยาวๆ คล้ายกับร่ายยาวในเวสสันดรชาดกของไทย นักปราชญ์บางคนให้ความเห็นว่า ภาคที่เป็นร้อยแก้วเป็นคำเก่าที่สุด ส่วนภาคร้อยกรองเป็นคำแต่งเพิ่มเติมขึ้นภายหลังทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองมีความหมายอย่างเดียวกัน ในสมัยนั้น มักแต่งกันแบบนี้ คือแต่งเป็นร้อยแก้วร้อยกรองผสมกัน เช่นพระเวทและอุปนิษัท คือพยายามแต่งเป็นร้อยกรองที่ย่อความไว้ การแต่งในทำนองนี้สมัยต่อมามีมากยิ่งขึ้น เช่นในสมัยพระเจ้ากนิษกะ มีหนังสือ เช่นจรกสํหิตา และ สุศรุตสํหิตา ในสมัยพระเวทและอุปนิษัทดำเนินเรื่องเป็นร้อยแก้ว ก่อนจะถึงคำร้อยกรองจะต้องนำด้วยคำว่า ตเทษ โศลโก ภวติ (ข้อน้นมีโศลกนี้ว่า) หรือโศลกา ภวนติ(มี่โศลกทั้งหลายว่า) เป็นต้น ต่อมาในสมัยหลังพระเวท ก่อนถึงคำร้อยกรองใช้คำว่า  ภวนฺติ จาตร(และในข้อนี้มีโศลกว่า) หรือ ภวนติ จาตร(และในข้อนี้ มีโศลกทั้งหลายว่า) เป็นต้น คำร้อยแก้วเก่ากว่าคำร้อยกรองเพราะเรียงถ้อยคำตามหลักไวยากรณ์ของท่านปาณินี แต่ในการแต่งฉันท์วรรณคดีซึ่งเป็นคำร้อยกรองพุทธศาสนาภาษาสํสกฤต จะใช้หลักไวยากรณ์ของท่านปาณินี ย่อมผิดพลาดไปบ้างคือต้องรักษา ครุ ลหุ ตามข้อบังคับของคณะฉันท์จึงไม่เคร่งครัดทางไวยากรณ์เท่าไรนัก จึงมีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเอง ในพระคัมภีร์ลลิตวิสตรและรูปศัพท์บางศัพท์ก็ทำให้เป็นรูปศัพท์เฉพาะในพระคัมภีร์นั้น เช่น ทานุ ทตฺตํ แทนที่จะเป็น ทานํ ทตฺตํ (ให้ทาน) หรือคชวรุ แทนที่จะเป็น คชวระ (ช้างประเสริฐ) หรือ มา เอษุ โภกฺษฺยถ แทนที่จะเป็น มา เอษ โภก์ษยถ (อย่างใช้บาตรนี้) เป็นต้น เข้าใจว่าคงจะแต่งให้เป็นพิเศษทำนองเดียวกับภาษาพระเวทต่างกับภาษาโลกที่เป็นภาษาของคนธรรมดาทั้งนี้ เพื่อยกย่องให้เป็นคัมภีร์ชั้นสูง พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ ดำเนินตามแบบบาลีเช่นสุตตนิบาตตอนที่เป็นร้อยแก้วหลายตอน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็มาจากแบบเก่า คือเดิมเป็นแบบหีนยาน แต่ในพระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้มีข้อความหลายตอนที่ขยายให้กว้างขวางขึ้นตามแบบของมหายาน

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ ไม่ปรากฏว่าเขียนขึ้นเมื่อไร แต่พอมีหลักฐานว่าเขียนขึ้นภายหลังเมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว ในอัธยายที่ 26 ตอนที่ว่าด้วยอานิสงส์พระพุทธมีขนขุมละเส้นเพราะบูชาพระเจดีย์และพระพุทธรูป ตอนที่ว่าพระพุทธทรงมีกำลังมาก เพราะอานิสงส์บูชาพระพุทธรูปนี้แสดงว่า เมื่อเขียนพระคัมภีร์นี้ ได้มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นแล้ว ส่วนพระพุทธรูปนั้นมีในโลกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 5- 6 จึงเห็นได้ว่าพระคัมภีร์นี้ เขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 5-6 เพราะต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 6 พระอัศวโฆษภิกษุนิกายมหายาน ได้รจนาเรื่องพุทธจริตดำเนินตามเค้าเรื่องของพระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ โดยท่านนำเนื้อเรื่องจากพระคัมภีร์มาแต่งเป็นฉันท์

      พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ นักศิลปินได้นำไปทำรูปเรื่องประดับตกแต่ง สถูปบูโรบูโดในชวาเมื่อประมาณ พ.ศ.1390-1443 ภาพที่แกะสลักเหล่านั้น แสดงถึงพุทธประวัติโดยอาศัยพระคัมภีร์ลลิตวิสตรทั้งสิ้น

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ พิมพ์ครั้งแรกโดยบัณฑิต ราเชนทร ลาล มิตร พิมพ์ที่ บิบลิโอเถกา อินทิกา กัลกัตตา เมื่อปี พ.ศ.2420 ต่อมานักปราชญ์เยอรมันชื่อ เอส เลฟมัน พิมพ์ภาคต้น (มูลครนถ) และภาคที่ 2 (ปาฐเภท) เมื่อปี พ.ศ.2445 และ 2451 ตามลำดับ ได้พิมพ์ที่เมือง หาล ประเทศเยอรมันฉบับพิมพ์ภาคต้นถือตามต้นฉบับของอินเดียและเนปาล แต่ต้นฉบับไม่สมบูรณ์และผิดพลาด จึงได้ข้อความไม่ถูกต้องเป็นส่วนมาก ส่วนฉบับของบัณฑิต ราเชนทร ลาลมิตร นั้น พยายามแก้ไขให้ถูกตามหลักไวยากรณ์ของท่านปาณินีมากไป จึงทำให้เชื่อยากว่าจะสมบูรณ์ตามแบบเดิม และบางตอนข้อความขาดหายไป แต่ฉบับของ เอส เลฟมัน ถึงตามต้นฉบับถึง 6 ฉบับ ที่ได้จากหอสมุดในยุโรป และได้แก้ไขจากฉบับเดิมให้ดีขึ้น จึงเป็นฉบับที่เชื่อถือได้มากกว่า ฉบับพิมพ์ภาค 2 ใช้ต้นฉบับที่ได้จากหอสมุดในยุโรปและฉบับพิมพ์ของ ราเชนทร ลาล มิตร ซึ่งพิมพ์ที่กัลกัตตา อินเดีย

     ฉบับที่พิมพ์อักษรไทยนี้ พิมพ์ตามต้นฉบับของท่าน ไวโทยปาหน ศรีปรศุราม ศรมา หรือเรียกสั้นๆ ว่าดอกเตอร์ พี แอล ไวทย พิมพ์ที่มิถิลา วิทยาปีฐ ทรภํคา แคว้นพิหาร อินเดีย เมื่อ พ.ศ.2501

     พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ กล่าวกันว่า จีนแปลเป็นภาษาจีนเมื่อประมาณระหว่าง พ.ศ.543-643 เป็นครั้งแรก คือเป็นฉบับแปลเก่าที่สุด แต่ปัจจุบันนี้ หนังสือฉบับนั้นไม่มีแล้ว ต่อมา ท่านธรรมรักษ แปลในพ.ศ.851 แต่ก็แปลได้เพียง 8 อัธยายเท่านั้น ต่อมาพระภิกษุชื่อเทวกรแห่งราชถังระหว่าง พ.ศ.1163-1453 แปลเป็นภาษาจีน ฉบับนี้ถือว่าแปลได้ถูกต้อง และทิเบตแปลออกเป็นภาษาทิเบต เรียกว่า อารยลลิตวิสตร - นาม -มหายาน-สุตร ผู้แปลคือท่าน ชิมมิตร ท่านทานศีล ท่านมุนีวรม และท่าน เย เศสู สเท แปลเมื่อ พ.ศ.1443 การแปลภาษาสํสกฤตเป็นภาษาทิเบตนี้ได้ทำกันตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 และคัมภีร์พุทธศาสนาในทิเบต ตกอยู่ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น

     ฉบับที่เปลเป็นภาษาทิเบตนี้ ได้แปลออกเป็นภาษาฝรั่งเศสและพิมพ์ที่ปารีส ผู้แปลชื่อ ฟูโกซ์ แปลเมื่อ พ.ศ.2391-2392 ชาวยุโรปรู้เรื่องพุทธประวัติจากพระคัมภีร์นี้ และเซอร์ เอดวินอาโนลด์ ร้อยกรองเป็นบทกลอนภาษาอังกฤษ มีชื่อว่า ไลฟ์ ออฟ เอเซีย ก็ได้เค้าดำเนินตามพระคัมภีร์นี้ ไทยแปลจากภาษาฝรั่งเศส ชื่อท่านเลอองสอรค แปลจากอังกฤษให้ชื่อในภาษาไทยว่า ประทีปแห่งทวีปเอเซีย

     ในประเทศไทย พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ ครั้งแรกพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์ แปลเพียง 2 อัธยาย คือ อัธยายที่ 1 และอัธยายที่ 2 พิมพ์ถวายในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อ ร.ศ.129 (พ.ศ.2453) ต่อมา พระพินิจวรรณการ (แสง ศาลิตุล เปรียญ 6 ประโยค) แปลตั้งแต่อัธยายที่ 1 ถึงอัธยายที่ 7 พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล(ชิต สุนทรวร) เมื่อ พ.ศ.2476) ทั้ง 2 รายนี้ ใช้ต้นฉบับของ ดร.เอส เลฟแมน ข้าพเจ้าแปลเป็นครั้งที่ 3 เมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม 2509 แปลจบบริบูรณ์ 27 อัธยาย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2510 การแปลครั้งนี้ ใช้ต้นฉบับของ ดร.พี แอล ไวทย ในการพิมพ์ น.ส.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้เป็นธุระในการตรวจปรู๊ฟ เพราะรู้ภาษาสํสกฤตอ่านอักษรเทวนาครี ต้นฉบับได้เป็นอย่างดี และมีความละเอียดถี่ถ้วนดี

      อนึ่งการแปล ข้าพเจ้าแปลทับศัพท์เป็นสันสกฤต เช่นปัญญา ข้าพเจ้าแปลทับศัพท์ว่า ปรัชญา สติแปลทับศัพท์ว่า สมฤติ เป็นต้น เพื่อให้ทราบหลักฐานตามเค้าเดิม

      พระคัมภีร์ลลิตวิสตรนี้ มีคุณค่ามากในแง่ประวัติศาสตร์แห่งพุทธศาสนา และในแง่ประวัติวรรณคดี เป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งในพระไตรปิฏกฝ่ายมหายาน จึงสมควรที่ทุกท่านควรอ่น

แสง  มนวิทูร

ลลิตวิสตร

โอมฺ นโม ทศทิคนนฺตาปรฺยยนฺตโลกธาตุปฺรติษฺฐ

สรฺวพุทฺธโพธิสตฺตฺวารฺยศฺราวก

ปฺรเตยกพุทเธดภฺย  '  ดีตานาคต  ปฺรตฺยุปนฺเนภฺยะ  ฯ

โอม

ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระพุทธ พระโพธิสัตว์

พระอารยศราวก และพระปรัตเยกพุทธทั้งหลายทั้งปวง ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน

อันประดิษฐานดำรงอยู่ในโลกธาตุ อันไม่มีเขตสุด และไม่มีขอบเขตในทิศทั้ง 10

มีอีก http://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-30-24

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระคัมภีร์ (ปริศนาธรรม) 18 พระอรหันต์ และ ตัวตาย ชื่อไม่ตาย
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1283 กระทู้ล่าสุด 09 ธันวาคม 2561 17:51:14
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.936 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มกราคม 2567 05:33:37