[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 05:31:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มหากาพย์พุทธจริต อัศวโฆษ อศฺวโฆษวิรจิตํ พุทฺธจริตมหากาวฺยมฺ  (อ่าน 2779 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 เมษายน 2558 21:15:56 »



มหากาพย์พุทธจริต อัศวโฆษ

อศฺวโฆษวิรจิตํ พุทฺธจริตมหากาวฺยมฺ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สำเนียง เลื่อมใส แปลและเรียบเรียง

 

มหากาพย์พุทธจริต

 

ลิขสิทธิ์ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สำเนียง เลื่อมใส

 

คำนำของ จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ที่ปรึกษาศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

            ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สำเนียง เลื่อมใสสามารถแปลพุทธจริตได้เสร็จสมบูรณ์ แม้ข้าพเจ้าจะเคยแปลพุทธจริตไว้ก็จริงแต่ก็แปลไม่จบ  จึงรู้สึกภูมิมจที่มีอติศิษย์อย่าง ดร.สำเนียง ทำงานนี้จนสำเร็จ แสดงถึงความมีวิริยะอุตสาหะ มีวินัยในตัวเอง มีความสามารถและมีสติปัญญาเป็นเลิศ การที่ ดร.สำเนียง แปลพุทธจริตได้สำเร็จทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงบทกวีของท่านอัศวโฆษที่กล่าวไว้ในพุทธจริต สรรคที่1 บทที่41-46 ใจความว่า

            “ฤษีภคุและฤษีอังคีรัสไม่สามารถจะแต่งตำราราชศาสตร์ซึ่งเป็นตำราเกี่ยวกับการปกครองได้สำเร็จ ผู้ที่สามารถแต่งตำราราชศาสตร์ได้สำเร็จ คือศุกราจารย์(ครูของพวกอสูร) ลูกของฤษีภฤคุและพระพฤหัสบดี (ครูของพวกเทพ) ลูกของฤษีอังคีรัส”

            “พระเวทซึ่งสูญหายไปในยุคก่อน ฤษีสารัสวตะลูกของแม่น้ำสรัสวตี จากฤษีทธีจะ ก็นำพระเวทกลับคืนมาได้ ฤษีวสิษฐะไม่สามารถจะแบ่งพระเวทได้สำเร็จผู้ที่ทำสำเร็จคือฤษีวยาสะ”

ฤษีจยวนะยังไม่รู้จักการแต่งบทกวี ผู้ที่สามารถทำได้เป็นคนแรกคือฤษีวาสมีกิ (ผู้แต่งรามายณะ ซึ่งถือกันว่าเป็นอาทิกาวยะ หรือบทกวีเรื่องแรก)”

“ฤษีกุศิกะไม่สามารถจะยกระดับวรรณะของตัวเองจากวรรณะกษัตริย์ให้เป็นวรรณะพราหม์ ผู้ทำได้สำเร็จ (ด้วยการบำเพ็ญตบะ) คือฤษีวิศวามิตร”

“พระชนก (พระบิดาของนางสีดา) ได้เป็นอาจารย์ของพวกพราหมณ์ (ทั้งๆที่ตนเองเป็นวรรณะกษัตริย์) ซึ่งคนวรรณะกษัตริย์คนอื่นไม่อาจทำได้ เศาริ หรือ พระกฤษณะได้แสดงความสามารถต่างๆที่บรรพบุรุษไม่เคยทำได้”

“ดังนั้นเครื่องวัดความสามารถของบุคคล ไม่ใช่อยู่ที่วัย ไม่ใช่อยู่ที่วงศ์ตระกูล”

            ท่านอัศวโฆษนอกจากจะเป็นกวีชั้นเลิศแล้วยังมีความเชี่ยวชาญทั้งทางคติพุทธและคติพราหมณ์ มีความรอบรู้ศิลปะวิทยาการต่างๆ รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีในยุคท่านและก่อนท่านเป็นอย่างดี ผู้ที่จะแปลพุทธจริตได้ถูกต้องและได้อรรถรสจะต้องเข้าถึงความคิดของกวีทุกๆด้าน ขอยกตัวอย่างบางบทในพุทธจริตเพื่อชี้ให้เห็นความลึกซึ้งในแง่มุมต่างๆของท่านกวีอัศวโฆษ

สรรคที่ 12 บทที่ 17

สิ่งที่เรียกว่า สัตตวะ ก็คือ ประกฤติ วิการะ การเกิด ความแก่ และความตาย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

สัตตวะในที่นี้หมายถึงสัตว์โลกตรงส่วนที่วิวัฒนาการมาจากประกฤติซึ่งเป็นธาตุนิรันดร์คู่กับปุรุษซึ่งมีอยู่ชั่วนิรันดร์เช่นเดียวกัน

ประกฤติ ก็คือ ธาตุทั้งห 5 (ได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ) อหังการะ พุทธิ และพลังที่ไม่ปรากฏ

ประกฤตินั้นมีคุณเป็นส่วนประกอบอยู่ 3 ประการ เมื่อคุณซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในตัวเกิด ความไม่สมดุลก็จะวิวัฒนาการเป็น (1) มหัต (ส่วนที่ไม่ปรากฏ ซึ่งเรียกอีกอย่งหนี่งว่า อวยักตะ ก่อนจะวิวัฒนาการเป็นพุทธิ) (2) พุทธิ คือ ตัวสติปัญญาในตัวมนุษย์ (3) อหังการะ คือความรู้สึกว่าตัวเองมีอยู่ และวิวัฒนาการต่อไปเป็น

วิการะ ก็คือ วัตถุเร้าอารมณ์ภายนอก 5 ประการ (รูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัส) ประสาทสัมผัส 5 ประการ (ตา หู จมูก ลิ้นและผิวหนัง) เครื่องมือในการทำงานด้านต่างๆ 5 ประการ (มือและเท้า คำพูด ทวารหนัก ทวารเบา และมนัสคือใจ)

เกษตรชญะ (เกษตรในที่นี้ = ทุ่ง หรือที่ = สัตตวะ ) คือ สิ่งที่รู้(สํชฺญิ) เพราะสิ่งนั้นรู้ เกษตรนี้ คนที่คิดถึงอาตมัน หรืออัตตา ก็จะเรียกอาตมันว่าเป็น เกษตรชญะ

            เกษตรชญะก็คือปุรุษะ คือส่วนที่เป็นความรู้บริสุทธิ์ในสัตว์โลก ตามนวความคิดของปรัชญาสางขยะ  ซึ่งตรงกันข้ามกับส่วนที่วิวัฒนาการมาจากประกฤติ มีพุทธิ อหังการะ มนัส ปัญจตันมาตระ ปัญจ-อินทรีย์ ปัญจ-กรรมอินทรีย์ ปัญจ-มหาภูตะ

            จากสรรคที่ 12 บทที่ 18-20 เป็นต้น ทำให้เราทราบว่า ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ได้ทรงศึกษาปรัชญาสางขยะยุคต้นๆ จากสำนักของฤษีอราฑะกาลามโคตร ปรัชญาสางขยะเชื่อว่าก่อนที่จะมีการวิวัฒนาการมาเป็นโลก มีสิ่งที่เป็นนิรันดร์ 2 ประการ คือ ปุรุษะและประกฤติหรือประธานะ

ใจความว่า”หญิงบางคนหนอนหลับโหนตัวเองอยู่ข้างหน้าต่าง มีลำดับบอบบางที่โค้งเหมือนคันธนู สวมสร้อยคองดงามห้อยลงมา จึงปรากฏเหมือนกับรูปสลักศาลภัญชิกาที่สลักไว้ที่โตรณะ(ซุ้มประตู)

            กวีใช้จินตนาการ(อุตเปรกษะ) เปรียบเทียบหญิงที่นอนหลับคนนี้ว่าเป็นศาลภัญชิกา นักโบราณคดีจะรู้จักศาลภัญชิกาเป็นอย่างดี ตัวอย่างที่มีชื่อเสียง คือเสาโตรณะแห่งสถูปที่สาญจี ที่มีภาพสลักของศาลภัญชิกาอยู่สองข้างของโตรณะด้านทิศเหนือของสถูปใหญ่ สิ่งที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง้เกี่ยวกับหน้าต่างของอาคารสมัยโบราณของอินเดียวที่มีชื่อเรียกว่า ควาฤษ(ตาวัว) เป็นหน้าต่างที่เปิดไม่ได้ เป็นรูปรุเพื่อให้ลมผ่านเท่านั้นเอง

ความว่า “หญิงอีกคนหนึ่งหลับโดยยังมีขลุ่ยติดที่มือ ผ้าสไบสีขาวปิดหน้าอกหลุดลุ่ย จึงปรากฏราวกับว่าแม่น้ำที่มีดอกบัวที่ถูกผึ้งตอมเป็นทิวแถว ฝั่งแม่น้ำจึงหัวเราะผ่านทางฟองน้ำ”

            ในบทนี้กวีใช้อลังการะชนิตอุตเปรกษะ คือใช้จินตนาการมองภาพหญิงที่ผ้าสีขาวหลุดไปจากหน้าอก เป็นภาพแม่น้ำซึ่งในแม่น้ำมีดอกบัวถูกผึ้งตอมและที่ฝั่งมีคลื่นมากระทบและฟองน้ำสีขาวเกิดขึ้น กวีมองว่าฝั่งของแม่น้ำกำลังหัวเราะ(แสดงโดยนัยด้วยฟองน้ำสีขาว)ที่เห็นผึ้งกลุ้มรุมดอกบัว ดอกบัวอาจจะแสดงด้วยถันของหญิงสาวหรืออาจจะแสดงด้วยมือที่ถือขลุ่ย ส่วนผึ้งนั้นแน่นอนแสดงด้วยขลุ่ยที่อยู่ในมือของหญิงนั้น ในที่นี้เราจะต้องทราบขนบของกวี (convention of poets) ที่ว่าสีขาวนั้นแทนสิ่งที่บริสุทธิ์ เช่น เกียรติยศ การหัวเราะ แสงจันทร์ เป็นต้น ในบทนี้กวีจินตนาการ ผ้าสีขาวที่หลุดลุ่ยไปติดอยู่ที่สะโพกคือฟองน้ำ ที่แสดงการหัวเราะของฝั่งน้ำ สะโพกของหญิง คือฝั่งน้ำ ถ้าพิจารณาเพียงคำแปลอาจจะเห็นว่ากวีใช้การเปรียบเทียบที่เข้าใจยาก ผู้ที่รู้ขนบของกวีและมีประสบการณ์ที่สั่งสมไว้เท่านั้นจึงจะมองเห็นจินตนาการและความคิดอันลึกซึ้งอย่างยิ่งของกวีได้  กวีบทนี้มีจินตนาการคล้ายกับบทหนึ่งในเมฆทูตของกาลิทาส คือ

“เมื่อท่าน(เมฆ)ได้ดึงผ้าสีน้ำเงินในรูปของน้ำ ที่หลุดไปจากสะโพกของหญิงสาวคนนั้น(แม่น้ำ)ในรูปของฝั่งแม่น้ำ ที่เหมือนกับว่านางใช้มือดึงผ้าไว้ ด้วยปลายต้นอ้อที่โน้มลงไปจนถึงน้ำ ท่านซึ่งลอยตัวอยู่คงจะเดินทางต่อไปได้ยาก เพราะผู้ชายคนไหนเล่าที่เคยลิ้มรสสวาทแล้วจะทิ้งสะโพกที่เปลือยเปล่าไปได้”

            ในที่นี้กาลิทาสจินตนาการว่า เมฆเป็นชายหนุ่ม แม่น้ำเป็นหญิงสาว น้ำในแม่น้ำในฤดูแล้งที่ลดห่างฝั่งออกไปเป็นผ้าสีน้ำเงินที่กำลังหลุดจากสะโพกของหญิงสาวคือฝั่งแม่น้ำ ต้ออ้อที่ปลายโน้มลงไปจรดน้ำเป็นมือของหญิงสาวที่พยายามดึงผ้าไว้ไม่ให้หลุด

            มหากาพย์พุทธจริตนอกจากเป็นพุทธประวัติที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งที่แต่งเป็นกวีนิพนธ์แบบมหากาพย์เป็นภาษาสันสกฤตแล้ว ยังมีความลึกซึ้งทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณคดีสันสกฤต ด้านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ด้านปรัชญาสาขาอื่นๆของอินเดีย เช่น สางขยะ ด้านศิลปวัฒนธรรมอินเดียโดยทั่วไป ข้าพเจ้าเชื่อว่า ผลงานที่โดดเด่นของ ดร.สำเนียง เล่มนี้จะช่วให้ผู้สนใจภาษาสันสกฤตและภารตวิทยาทั่วไปมีความซาบซึ้งในเรื่องที่เกี่ยวกับภารตะหรืออินเดียอย่างแน่นอนและหวังว่าวัฒนธรรมตะวันออกอัมีคุณค่าเป็นเลิศจะเป็นที่สนใจของคนตะวันออกมากยิ่งขึ้นจากผลงานนี้

จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา

บทนำ

            มหากาพย์พุทธจริตเป็นกวีนิพนธ์สันสกฤตและเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มหากวีอัศวโฆษได้รจนาขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ประสูติจนเสด็จดับขันธปรินิพพานรวมถึงการแจกพระบรมสารีริกธาตุ วรรณกรรมเรื่องนี้มีความน่าสนใจเพราะเนื้อหาเป็นพุทธประวัติตามคติพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาท๑ ซึ่งแตกต่างจากพระพุทธประวัติที่แต่งเป็นภาษาบาลีตามคตินิกายเถรวาทซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยกันทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับคำชื่นชมจากนักปราชญ์ทั้งหลายว่ามีความไพเราะจับใจและเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งในกลุ่มวรรณคดีสันสกฤต

            วรรณคดีสันสกฤตแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ อาคม (คัมภีร์ทางศาสนา) อิติหาส(คัมภีร์ทางประวัติศาสตร์และประเพณีที่สืบทอดกันมา) ศาสฺตฺร (คัมภีร์วิชาการสาขาต่างๆ) และกาวฺย(กวีนิพนธ์หรือบทประพันธ์ที่อยู่ในรูปของศิลปะ)  ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและเรื่องนี้ถูกรจนาขึ้นในรูปของกวีนิพนธ์ซึ่งใช้ฉันทลักษณ์อย่างมีกำหนดกฎเกณฑ์ ทั้งคำที่ใช้ก็มีลักษณะพิเศษกว่าคำพูดทั่วไป ดังนั้น วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นวรรณคดีประเภท “กาวฺย” มากกว่าอย่างอื่น หรือถ้าจัดให้ละเอียดลงไปอีกก็จะเป็นวรรณคดีประเภท ปทฺย-ศฺรวฺย-กาวฺย คือเป็นกาพย์(กรวฺย) ที่แต่งเป็นบทร้อยกรอง(ปทฺย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟัง(ศฺรวฺย) มหากาพย์พุทธจริตนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว ผู้รจนาจึงเรียกงานประพันธ์ชิ้นนี้ว่ามหากาพย์ ดังข้อความปิดท้ายสรรคที่ 1 ว่า “อิติศรีอศฺวโฆษกฺฤเต ปูรฺวพุทฺธจริตมหากาเวฺย ภควตฺปฺรสูติรฺนาม ปฺรถมสรฺคะ แปลว่า “สรรคที่ 1 ชื่อภควัตประสูติ (การประสูติของพระผู้มีพระภาค) ในมหากาพย์พุทธจริตซึ่งแต่งโดยอัศวโฆษ จบเพียงเท่านี้” เป็นต้น

                ๑ นิกายสรวาสติวาท เป็นนิกายที่แยกมาจากนิกายเถรวาทในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 มีพระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาโดยสมบูรณ์ของตนเอง นิกายสรวาสติวาทไม่ค่อยเคร่งครัดในการรักษาบทหรือความหมายของพระไตรปิฎกนัก เมื่อพิจารณาจากชื่อของนิกายซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำวา สรฺว+อสฺติ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีอยู่ นิกายนี้ถือหลักปรัชญาในอภิธรรมเป็นสำคัญ มีหลักบางประการไม่เหมือนกับของฝ่ายเถรวาท เช่นถือ ว่าพระอรหันต์เสื่อจากอรหัตผลได้ โดยแยกพระอรหันต์ออกเป็นสองพวก พวกแรกคือ วิมุตติอรหันต์ เป็นอรหันต์ที่ยังอาศัยปัจจัยภายนอกช่วยจึงบรรลุอรหัตผล ซึ่งบางครั้งอาจเลื่อมลงเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น แต่ก็ลดลงมาอยู่ในขั้นอนาคามีหรือสกทาคามี มิใช่กลับเป็นปุถุชนทีเดียว ในขณะที่พวกที่สอง คือ อสมยวิมุตติอรหันต์เป็นอรหันต์โดยแท้ไม่มีวันเลื่อมลงได้ มติอื่นส่วนมากคล้ายกับของเถรวาท

            อนึ่ง พุทธจริตเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ผู้แต่งมิได้คิดขึ้นเอง ประกอบกับเนื้องเรื่องมีการพรรณนาถึงวงศ์ตระกูล บ้านเมือง การเล่นสนุกสนาน ความรัก การพลัดพราก และการประพฤติปฏิบัติคนของบุคคลที่เป็นตัวเอกจนได้บรรลุเป้าหมายสูงสุด อีกทั้งมีการดำเนินเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ เนื้อเรื่องประกอบด้วยรสวรรณคดีที่หลากหลาย ตลอดจนมีการเปลี่ยนชนิดของฉันท์ก่อนจบสรรคเสมอ เช่นในสรรคที่ 1 โศลกที่ 1-7 แต่งด้วยตริษฏุภฉันท์ ได้เปลี่ยนเป็นปุษปิตาคราฉันท์ในโศลกที่ 80-89 ก่อนจบสรรค และในสรรคที่ 2 โสลกที่ 1-55 แต่งด้วยตริษฏุภฉันท์ได้เปลี่ยนเป็นมาลินีฉันท์ในโศลกสุดท้าย เป็นต้น๒ ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงกล่าวได้ว่าพุทธจริตมีคุณสมบัติเป็น “มหากาพย์อย่างสมบูรณ์”

            กวีผู้แต่งมหากาพย์พุทธจริต คือ “อัศวโฆษ” ผู้ได้รับยกย่องเป็นมหากวีและเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง แต่หลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านมีไม่มากนัก จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏ อัศวโฆษเป็นบุตรของนางสุรรณกษี เกิดที่เมืองสาเกต แต่เดิมนับถือพราหมณ์และได้รับการศึกษาแบบพราหมณ์จนมีความเชี่ยวชาญในไตรเพท ภายหลังหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยบวชเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท๓ ด้วยความที่ท่านเป็นทั้งปราชญ์และเป็นทั้งกวี เมื่อบวชแล้วจึงมีคำนำหน้าชื่อมากมาย เช่น ภิกษุ อาจารย์ ภทันตะ มหากวี และมหาวาทิน๔ อัศวโฆษเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในยุคเริ่มต้นของนิกายมหายานมีผลงานมากมายทั้งด้านปรัชญาศาสนา บทละครและกวีนิพนธ์ ผลงานที่สำคัญทางปรัชญาและศาสนา เช่น สูตราลังการะ มหายานศรัทโธตปาทะ วัชรสูจี คัณฑีสโตรตระ ที่เป็นบทละคร เช่นราษฎรปาละ ศาริปุตรปรกรณัม และที่เป็นกวีนิพนธ์ เช่นมหากาพย์เสานทรนันทระ และมหากาพย์พุทธจริต เป็นต้น๕

            นอกจากจะรจนางานเขียนไว้หลายเล่มแล้วอัศวโฆษยังเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับสานุศิษย์และนักดนตรีเพื่อขับลำนำอันเป็นเรื่องราวแห่งพระพุทธศาสนาและความไร้แก่นสารของชีวิตในที่ชุมนุมต่างๆเพื่อป่าวประกาศคุณค่าอันล้ำเลิศแห่งพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ชนทั้งหลายที่สัญจรไปเมื่อได้ฟังต่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะถูกตรึงไว้ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจ๖ กล่าวกันว่าคำสอนของอัศวโฆษสามารถทำให้ม้าทั้งหลายละทิ้งหญ้าหรือฟางที่กำลังกินอยู่ให้หันมาฟังคำบรรยายของท่านได้ ดังนั้น ท่านจึงได้รับสมญานามว่า “อัศวโฆษ” แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเป็นแต่เพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

            การกำหนดระยะเวลาและอายุของอัศวโฆษยังไม่อาจกำหนดได้แน่ชัดว่าท่านเกิด พ.ศ.ใดมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.ใด และแต่งผลงานดังกล่าวข้างต้นเมื่อใด จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอลำดับเรื่องได้โยมากเชื่อกันว่าอัศวโฆษเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะ ผู้มีอำนาจปกครองอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียมีเมืองหลวงอยู่ที่ปุรุษปุระ ปัจจุบันคือ Peshwar โดยมีหลักฐานบ่งบอกว่าพระองค์ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.120 ๘ (พ.ศ.663) ต่อมาได้รุกล้ำดินแดนลึกเข้าไปในอินเดียและได้โจมตีกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองปาฏลีบุตรแล้วพาเอาตัวอัศวโฆษไป๙ นอกจากนี้ในหนังสือ ซาเปาซางกิง ของจีนยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้ากนิษกะหลายเรื่อง และมีเรื่องหนึ่งกล่าวอย่างชัดเจนว่าอัศวโฆษได้เป็นที่ปรึกษาทางด้านศาสนาของพระองค์และหนังสือนั้นเรีกยท่านว่า”พระโพธิสัตว์”๑๐ ถ้าเชื่อกันตามนี้ก็สันนิษฐานว่าอัศวโฆษน่าจะมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.600-700 หรือราวพุทธศตวรรษที่7 และคงจะแต่งมหากาพย์พุทธจริตและผลงานอื่นๆ ขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งนับเวลามาจนถึงปัจจุบันก็มีอายุได้เกือบ 2000ปีทีเดียว

            มหากาพย์พุทธจริตเป็นงานเขียนที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความงาม นอกจากผู้อ่านจะได้รับสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียนแล้วยังจะได้รับรสและอลังการทางภาษาที่ไพเราะอีกด้วย๑๑ ด้วยเหตุนี้หลวงจีนอี้จิง ภิกษุชาวจีนผู้จาริกไปในประเทศอินเดียช่วงประมาณ ค.ศ.671-695 (พ.ศ.1214-1238) จึงได้กล่าวชมเชยไว้ว่าพุทธจริตนั้นเป็นมหากาพย์ที่ยังชุ่มชื่นให้กับจิตใจของผู้อ่าน ดังนั้น ท่านจึงไม่เคยเหน็ดเหนื่อยจากการอ่อนงานกวีนิพนธ์นี้เลย ส่วนความแพร่หลายของมหากาพย์พุทธจริตนั้นหลวงจีนอี้จิงได้บันทึกไว้ว่ามหากาพย์ชิ้นนี้มีผู้อ่านและนำไปขับลำนำกันอย่างกว้างขวางและเป็นรู้จักแพร่หลายทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคของชมพูทวีปตลอดจนประเทศที่อยู่ในคาบสมุทรตอนใต้ เช่น สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะใกล้เคียงเป็นต้น๑๒ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็น่าเชื่อว่ามหากาพย์พุทธจริตคงจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดของศิลปินในการสร้างภาพสลักหินที่โบโรบูดูร์ ในประเทศอนโดนีเซียด้วยเช่นกัน

            มอริช วินเตอร์นิทซ์ ได้กล่าวถึงคุณค่าและความงามของมหากาพย์พุทธจริตไว้ในหนังสือ A History of Indian Literature ว่า

            “คัมภีร์พุทธจริตเล่มนี้เป็นมหากาพย์เกี่ยวกับพระพุทธองค์เล่มแรกโดยแท้จริง ซึ่งกวีแท้ๆ เป็นผู้รจนาขึ้น ท่านเป็นกวีผู้เปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้าต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งเป็นกวีที่ซาบซึ้งในสัจจะแห่งพระพุทธธรรม จึงสามารถพรรณนาถึงพุทธประวัติและคำสอนของพระองค์ได้โยใช้ภาษาที่สูงส่งและมีความไพเราะเพราะพริ้ง แต่ไม่ใช่ภาษาที่มีสำนวนเสแสร้ง   ในมหากาพย์พุทธจริต เราจะพบกับการดำเนินเรื่องที่มีความประณีตและเต็มไปด้วยศิลปะอันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคัมภีร์บางเล่ม เช่นคัมภีร์มหาวัสตุและคัมภีร์ลลิตวิสตระซึ่งมีการดำเนินเรื่องอย่างสับสนและไม่เป็นระเบียบ  อัศวโฆษเป็นกวีมากกว่าที่จะเป็นภิกษุอย่างน้อยก็ในมหากาพย์พุทธจริตเล่มนี้”๑๓

            เนื่องจากคุณค่าและความงามของมหากาพย์พุทธจริตจึงทำให้คนทั่วไปสนใจนามาศึกษาต่ออีกมากมายหลายรูปแบบทั้งการตรวจชำระ การแปล การวิเคราะห์วิจารณ์ การเขียนบทความ และการแต่งคัมภีร์ โดยเฉพาะคัมภีร์พุทธประวัติของฝ่ายเถรวาทในยุคหลังก็สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากมหากาพย์พุทธจริตด้วยเช่นกัน ดังที่สุภาพรรณ ณ บางช้าง กล่าวว่า “เนื้อเรื่องและลีลาการแต่งคัมภีร์ชินจริตคล้ายกับคัมภีร์พุทธจริตของสันสกฤต อาจจะได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์นั้นก็ได้”๑๔

            มหากาพย์พุทธจริตต้นฉบับดั้งเดิมมีทั้งหมด 28 สรรค(บท) บรรจุโศลกไว้ทั้งสิ้นจำนวน 2109 โศลก๑๕ แต่ต้นฉบับดั้งเดิมสูญหายไปมากกว่าครึ่ง คงเหลือต้นฉบับภาษาสันสกฤตเพียง 14 สรรค   คือ สรรคที่1-14 เท่านั้นซึ่งก็ไม่สมบูรณ์เพราะโศลกได้ขาดหมายไปบางส่วน เช่น โศลกที่ 1-7 ของสรรคที่ 1 และโศลกที่ 32-108 ของสรรคที่14 ส่วนสรรคที่15-28 นั้นไม่พบร่องรอยต้นฉบับภาษาสันสกฤตดั้งเดิมแม้แต่บทเดียว จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ได้สูญหายไปจากโลก ถ้าไม่มีผู้แปลไปเป็นภาษาจีนและทิเบตไว้ก่อนบัดนี้เราคงไม่มีโอกาสได้ศึกษาเนื้อเรื่องอันสมบูรณ์ทั้ง 28 สรรคอย่างแน่นอน

            แซมมวล เบียล สันนิษฐานว่ามหากาพย์พุทธจริตที่สมบูรณ์ทั้ง 28 สรรคได้รับการแปลเป็นภาษาจีนราวปี ค.ศ.420 (พ.ศ.963) ในสมัยราชวงศ์เหลียง ผู้แปลคือภิกษุชาวอินเดียชื่อธรรมรักษ์ ซึ่งเดินทางไปสู่ประเทศจีนใน ค.ศ.412 (พ.ศ.955)และทำงานด้านการแปลจนถึง ค.ศ.454 (พ.ศ.667)๑๗ ส่วนฉบับแปลเป็นภาษาทิเบตนั้นกล่าวกันว่ามีผู้แปลไว้ในราวศตวรรษที่7 หรือ 8 ซึ่งเป็นฉบับที่เนื้อหาบริบูรณ์ดีเช่นเดียวกัน๑๘

            ฉบับภาษาไทยเท่าที่ทราบมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับของอาจารย์กรุณา เรื่องอุไร กุศลาสัย ซึ่งถ่ายทอดเป็นพากย์ไทยตั้งแต่สรรคที่ 1-5 ใช้ชื่อ “มหากาพย์พุทธจริตของมหากวีอัศวโฆษ” จัดพิมพ์ครั้งแรกในงานพระเมรุจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2493 อีกฉบับหนึ่งเป็นของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า โดยท่านแปลจากต้นฉบับภาษาสันกฤตตั้งแต่สรรคที่1-3 ในชื่อ “พุทธจริตของอัศวโฆษ” จัดพิมพ์ที่ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร เมื่อ พ.ศ.2526 ดังนั้น มหากาพย์พุทธจริตฉบับแปลภาษาไทยที่จบบริบูรณ์ทั้งเรื่องจึงยังไม่มี

            เมื่อข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยาย วิชา 314 เอกสารภาษาสันสกฤตเกี่ยวกับพุทธศาสนาในระดับปริญญาโท สาขาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พบว่ามหากาพย์พุทธจริตเป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะและเหมาะที่จะใช้ศึกษาพุทธประวัติในมุมมองของฝ่ายมหายานอีกสำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดในใจว่าน่าจะแปลให้จบ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้พบกับอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ท่านทราบว่าข้าพเจ้าเคยแปลมหากาพย์เสานทรนันทะ ซึ่งเป็นผลงานของอัศวโฆษเสร็จสิ้นมาแล้วจึงแนะนำให้ข้าพเจ้าแปลมหากาพย์พุทธจริตให้จบเพื่อคนไทยจะได้อ่านเนื้อหาอันเป็นอมตะของวรรณกรรมเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจึงรับอาสาที่จะแปลให้จบ แต่ด้วยภาระงานประจำนั้นมีมาก งานแปลชิ้นนี้จึงใช้เวลาเกือบ 3 ปีจึงสำเร็จ

            ในการแปลข้าพเจ้าอาศัยหนังสือมหากาพย์พุทธจริตฉบับของ อี เอช จอห์นสตัน ฉบับของ เออร์มา ชอตส์แมน และฉบับของสูรยนารายณ์ เจาธรี ประกอบกัน โดยพิมพ์ต้นฉบับภาษาสันสกฤตอักษรเทวนาครีตามฉบับของเออร์มาซึ่งเห็นว่าสมบูรณ์ดี จากนั้นจึงปริวรรตเป็นอักษรไทยกำกับไว้ เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่สันทัดอักษรเทวนาครี สามารถอ่านได้แล้วจึงต่อด้วยคำแปลภาษาไทย ข้าพเจ้าแบ่งหนังสือนี้ออกเป็น 2 ตอน คือตอนที่ 1 (สรรคที่ 1-14) แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต ตอนที่ 2 (สรรคที่15-28) แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของจอห์นสตันโดยสอบทานกับฉบับแปลภาษาฮินดีของสูรยนารายณ์ ในการแปลต้นฉบับภาษาสันสกฤตนั้น ข้าพเจ้าพยายามจะแปลเป็นไทยให้เข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยมิได้ทิ้งรูปรอยภาษาเดิมเสียทีเดียว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ศึกษาภาษาสันสกฤตจะสามารถเทียบเคียงกับต้นฉบับเดิมไม่ยากนัก ส่วนตอนท้ายเล่มข้าพเจ้าได้จัดทำดัชนีค้นรายชื่อบุคคลและสถานที่ซึ่งปรากฏในมหากาพย์พุทธจริตไว้ด้วย สำหรับเนื้อหาของมหากาพย์พุทธจริตโดยย่อมีดังนี้

 

สารบัญ
 

สรรคที่1           ภควตฺปฺรสูติ – การประสูติของพระผู้มีพระภาค กล่าวถึงพระเจ้าศุทโธทนะทรงครองเมืองกปิลวาสตุและพระนางมายาพระมเหสีของพระองค์ได้ประสูติพระกุมารที่ลุมพินีวัน พระกุมารทรงดำเนินได้ 7 ก้าวพร้อมกับประกาศว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย คณะพราหมณ์ ทำนายว่าพระกุมารได้เป็นจักรพรรดิแต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดา ส่วนอสิตฤษีที่มาเยี่ยมภายหลัง ทำนายว่าพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระราชาทรงเปี่ยมล้นด้วยความปิติยินดีจึงได้ประกอบพิธีทางศาสนาและพระราชทานโคจำนวนมากเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระกุมาร จากนั้นจึงรับพระกุมารกลับสู่พระนคร

สรรคที่2           อนฺตะปุรวิหาร – การประทับอยู่ในพระราชวังฝ่ายใน กล่าวถึงเมืองกปิลวาสตุมีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำเร็จทุกประการหลังจากพระกุมารประสูติ พระเจ้าศุทโธทนะจึงขนานพระนามพระกุมารว่า “สรวารถสิทธะ” เมื่อพระมารดาสวรรคต พระนางเคาตมีพระมาตุจฉาได้รับภาระเลื้ยงดูพระกุมารต่อมา พระเจ้าศุทโธทนะทรงเกรงว่าพระกุมารจะออกผนวชจึงจัดให้อภิเกสมรสกับเจ้าหญิงยโศธราและบำรุงบำเรอด้วยกามารมณ์ทุกชนิด ครั้นเมื่อพระราหุลประสูติจากเจ้าหญิงยโศธรา พระราชาจึงทรงคลายกังวลเรื่องการออกผนวชของพระกุมาร

สรรคที่3 สํเวโคตฺปตฺติ – การเกิดความสังเวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสภายนอกพระราชวัง ประชาชนต่างตื่นเต้นดีใจ๑๙ เทวดาชั้นสุทธาวาสได้เนรมิตชายชราขึ้นมาให้ทอดพระเนตร พระองค์ทรงสังเวชพระทัยจึงเสด็จกลับ เสด็จครั้งที่2 เทวดาได้เนรมิตคนเจ็บขึ้นมาทรงสังเวชพระทัยก็เสด็จกลับอีก ครั้งที่3 พระราชบิดารับสั่งให้แต่งสถานที่พิเศษไว้โดยให้หญิงงามผู้เชียวชาญเชิงโลกีย์คอยต้อนรับ ครั้งนี้พระกุมารทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิตขึ้นมาก็ทรงสังเวชพระทัย จึงรับสั่งให้กลับรถ แต่สารถีก็ไม่เชื่อฟังขับรถตรงไปยังป่าที่เตรียมไว้และหญิงงามทั้งหลายได้เข้ารุมล้อมพระกุมารเหมือนกันนางอัปสรรุมล้อมท้าวกุเวร

สรรคที่3 สตฺรีวิฆาตน – การขจัดความหลงใหล กล่าวถึงหญิงงามทั้งหลายเดินเข้าหาพระกุมารแต่ก็ต้องตกตะลึงในความงามของพระองค์จนลืมทำหน้าที่ อุทายีบุตรของปุโรหิตจึงกล่าวเตือนหญิงเหล่านั้น๒๐ เมื่อได้สติหญิงเหล่านั้นจึงใช้มายายั่วยวนพระกุมาร แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินดี อุทายีจึงกราบทูลโน้มน้าวพระทัยด้วยตนเองเพื่อให้พระกุมารโอนอ่อนผ่อนตามหญิงเหล่านั้น ๒๑ พระกุมารทรงปฏิเสธคำพูดของอุทายีด้วยเหตุผลต่างๆ จนกระทั่งพระอาทิตย์อาสดงคต หญิงทั้งหลายยอมแพ้กลับเข้าสู่เมือง ฝ่ายพระราชาทรงบทราบเรื่องจึงปรึกษากับอำมาตย์เพื่อหาวิธียับยั้งพระกุมารตลอดทั้งคืน

สรรคที่5 อภินิษฺกรมณ – การเสด็จของผนวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสป่าและทอดพระเนตรชาวนาให้วัวไถนาและมีแมลงตายเกลื่อนกลาดจึงสลดพระทัย พระองค์ทรงห้ามผู้ติดตามไว้แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นหว้าทรงมีพระทัยเป็นสมาธิจนได้ปฐมฌาน๒๒ ขณะนั้นเทวดาแปลงร่างเป็นสมณะเดินผ่านมา พระองค์ทรงสนทนากันสมณะนั้นแล้วเกิดปิติจึงปรารถนาจะออกผนวช เมื่อกลับไปขออนุญาตก็ถูกพระราชบิดาห้ามปราม ในราตรีเทวดาชั้นอกนิษฐกะบันดาลให้นางสนมนอนหลับไม่เป็นระเบียบ พระกุมารทรงเบื่อหน่ายจึงเสด็จลงจากปราสาทและทรงม้ากันถกะหนึออกผนวชโดยมีนายฉันทกะตามเสด็จ ม้ากันถกะวิ่งออกโดยมียักษ์ช่วยยกกีบเท้า ประตูที่แน่นหนาเปิดออกเอง ทวยเทพก็ส่องแสงนำทางตลอดราตรี ม้ากันถกะนำพระกุมารทะยานไปได้หลายร้อยโยขน์จนกระทั่งรุ่งอรุณ

สรรคที่6 ฉนฺทกนิวรฺตน – การกลับนครของฉันทกะ  กล่าวถึงพระกุมารเสด็จถึงอาศรมของฤษีภารควะตอนรุ่งสางทรงเปลื้องเครื่องประดับแก่นายฉันทกะและรับสั่งให้นำม้ากันถกะกลับสู่นครพร้อมกับนำความไปกราบทูลพระราชบิดา จากนั้นพระกุมารทรงตัดพระเกศาโยนขึ้นบนท้องฟ้า เทวดารับเอาพระเกศานั้นไปบูชาบนสวรรค์ เมื่อทรงปรารถนาผ้าผ้อมน้ำฝาดเทวดาตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นนายพรานนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดผ่านมา พระองค์ทรงแลกเปลี่ยนผ้ากับนายพรานแล้วเสด็จเข้าไปยังอาศรมฤษีภารควะ ฝ่ายนายฉันทกะร้องไห้และล้มฟุบลงบนพื้น จากนั้นจึงกอดม้ากันถกะเดินทางกลับสู่นครโดยบ่นเพ้อและแสดงอาการเหมือนคนบ้าไปตลอดทาง

สรรคที่7 ตโปวนปฺรเวศ –การเสด็จเข้าสู่ป่าบำเพ็ญตบะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จเข้าสู่อาศรมของฤษีภารควะและทรงได้รับการเชื้อเชิญจากฤษี ทรงสอบถามเรื่องการบำเพ็ญตบะของฤษีทั้งหลาย เมื่อได้รับคำอธิบายก็ไม่ทรงยินดีด้วยวิธีเหล่านั้นเพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น พระกุมารประทับอยู่ 2-3 วัน ฤษีตนหนึ่งทราบว่าพระกุมารต้องการโมกษะจึงแนะนำให้ไปพบพระมุนีอราฑะ พระกุมารทรงอำลาฤษีทั้งหลายเล้วจึงเสด็จหลีกไป

สรรคที8 อนฺตะปุรวิลาป – การพิลาปรำพันของพระสนมฝ่ายใน กล่าวถึงนายฉันทกะฝืนใจเดินทางกลับสู่นครโดยใช้เวลาถึง 8 วัน ชาวเมืองทราบว่านายฉันทกะกลับมาโดยไม่มีพระกุมารจึงดุด่าว่านายฉันทกะ ในพระราชวังพระนางยโศธราทรงพิลาปรำพันถึงพระสวามี พระนางเคาตมีก็ทรงกันแสงปานจะสิ้นพระทัย หญิงทั้งหลายก็กอดกันร้องไห้ พระนางยโศธราทรงกันแสงและล้มฟุบลงกับพื้น ฝ่ายพระราชาเสด็จออกมาเห็นเหตุการณ์ก็ทรงกำสรวลจนถึงแก่วิสัญญีภาพ เมื่อทรงฟื้นขึ้นก็ทรงพร่ำเพ้อเหมือนคนเสียสติ พระราชครูและปุโรหิตจึงทูลอาสาออกติดตามพระกุมาร

สรรคที่9 กุมารานฺเวษณ – การติตามค้นหาพระกุมาร กล่าวถึงพระราชครูและปุโรหิตเร่งเดินทางไปจนถึงอาศรมของฤษีภารควะและเข้าไปสอบถาม เมื่อรู้ว่าพระกุมารเสด็จมุ่งหน้าไปยังอาศรมของพระมุนีอราฑะจึงออกติดตามไปทันที ทั้งสองตามทันพระกุมารที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งได้กราบทูลให้ทราทราบข่าวในพระราชวัง พระกุมารตรัสว่าที่ทรงออกผนวชเพราะกลัวชรา พยาธิ และมรณะและจะแสวงหาทางหลุดพ้นเพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้ได้ พระราชครูและปุโรหิตได้ทูลชักชวนพระกุมารกลับ แต่พระกุมารทรงปฏิเสธ เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จทั้งสองจึงอำลากลับสู่เมืองโดยได้แต่งตั้งจารบุรุษไว้คอยสืบเส้นทางที่พระกุมารเสด็จไป

สรรคที่10 เศฺรณฺยาภิคมน – กาเข้าเผ้าของพระเจ้าเศรณยะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จข้าแม่น้ำคงคาผ่านเข้าสู่เมืองราชคฤห์ที่มีภูเขาทั้งห้าแวดล้อม ชาวเมืองตื่นตะลึงบในความงามของพระองค์จึงพากันชุมนุมตามเฝ้าดู พระเจ้าเศรณยะทอดพระเนตรเห็นคนชุมนุมกันจากเบื้องบนปราสาทจึงตรัสถามจนทราบสาเหตุ พระองค์จึงเสด็จไปเฝ้าพระกุมารขนภูเขาปาณฑวะและทรงเชื้อเชิญให้อยู่ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่ง แต่พระกุมารทรงปฏิเสธและไม่ทรงยินดี

สรรคที่11 กามวิครฺหณ – การขจัดความหลงใหลในกาม กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธคำเชื้อเชิญของพระเจ้าเศรณยะ ทรงอธิบายให้เห็นโทษของกามและอานิสงส์ในการออกจากกามตลอดจนความปรารถนาโมกษะ พระเจ้าเศรณยะทรงซาบซึ้งพระทัยจึงขอให้พระองค์เสด็จมาโปรดเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระกุมารโพธิสัตว์ทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วเสด็จต่อไปยังอาศรมไวศวัมตระ ฝ่ายพระราชาก็เสด็จกลับสู่พระราชวัง

สรรคที่12 อ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.704 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 18 มกราคม 2567 08:22:38