นี้คือการปฏิบัติ แต่บุคคลที่รู้ธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรมแต่ไม่เป็นธรรม ไม่ระงับเหตุของความชั่วออกจากใจไม่ระงับเหตุของความเดือดร้อนออกจากใจของเรา เมื่อเหตุร้อนทั้งหลายมันเป็นเหตุติดต่ออยู่ในใจของเราอย่างนี้แล้ว เราจะห้ามความร้อนไม่ให้เกิดขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ จะห้ามความกระวน-กระวายไม่ให้เกิดมีในใจนั้นก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะมันเกิดอยู่ตรงนี้ แดนเกิดมันอยู่ที่นี่ ถ้าเราไม่ระงับที่เกิดของมัน มันก็จะเกิดอยู่เรื่อยไป แต่มันเกิดแล้วมันก็ต้องตาย เมื่อได้มันก็ต้องเสียเมื่อเสียมันก็ต้องได้ มันจะหมุนเวียนตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้
อันนี้แหละ ถ้าเราปฏิบัติได้อย่างนี้นั่นแหละ คือการปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบให้เห็นอย่างนี้ ความชั่วความดีทั้งหลายก็คล้ายกัน ฉะนั้นเมื่อเราสร้างความดีให้เกิดขึ้นมา ก็จะทำให้เราเกิดใจดี เพราะความดีมันก็เกิดจากเหตุดีของมัน ท่านเรียกว่ากุศลอย่างนี้แหละ ถ้าเรารู้จักเหตุก็สร้างเหตุขึ้น ผลมันก็เกิดตามมาเอง
แต่คนเราไม่ทำอย่างนั้น ส่วนมากต้องการแต่ดีดี แต่ไม่สร้าง ความดีมันจะเกิดมาจากไหนได้ มันก็ย่อมพบแต่สิ่งที่ไม่ดีนั่นแหละ เมื่อได้สิ่งไม่ดี ใจมันก็เกิดเป็นทุกข์เป็นร้อนขึ้นมาทันที
เหมือนกับจิตใจของคนบางคนในสมัยนี้ เป็นต้นว่าอยากได้แต่เงิน ใครๆก็อยากได้ เงินนั้นได้มาแล้วมันได้ความดีมาด้วยถ้าได้เงินก็ดีเลย คิดเท่านี้เองเลยเข้าใจว่าตนคิดถูกแล้วจึงพากันแสวงหาแต่เงินไม่ต้องแสวงหาความดี คิดว่าตนได้เงินมาจึงจะทำดีได้ จึงเหมือนคนแสวงหาเนื้อ ไม่ต้องเอาเกลือ เอามาไว้บ้านให้มันเน่าไม่คิดถึงเกลือ ฉะนั้นคนต้องการเงินก็ต้องรู้จักหาเงินและรู้จักรักษาเงิน คนอยากได้เนื้อมิใช่จะเอาแต่เนื้อขนมาไว้บ้าน มันก็จะเน่าอยู่ที่บ้านเพราะ ไม่มีเกลือ จะต้องให้มีเกลือด้วย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น
สิ่งทั้งหลายเราคิดอย่างนี้ มันคิดผิด ผลของความคิดผิดนั้นเดือดร้อน กระวนกระวาย จุดที่พระศาสดาท่านให้เรียนธรรมประพฤติปฏิบัติธรรม ให้รู้ธรรม ให้เห็นธรรม ทั้งให้เป็นธรรมอีกด้วย ให้ใจมันเป็นธรรม เมื่อใจเป็นธรรมมันจึงถึงความสุขความสิ้นของมัน ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ความต่อไปก็วนเวียนอยู่ในโลกนี่เอง ความสิ้นสุดของความทุกข์ทั้งปวงก็อยู่ในโลกนี้
ฉะนั้นการประพฤติหรือปฏิบัตินี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนมีจุดหมายคือให้พ้นทุกข์ ให้ใจนั้นพ้น กายไม่พ้นหรอก เกิดมาแล้วต้องตาย ต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องเฒ่า ต้องแก่ ให้ใจเป็นผู้พ้นพ้นจากความยึดความมั่นหมาย พระองค์จึงทรงบรรยายทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นอุบายให้มนุษย์ทั้งหลายได้อ่าน ได้รู้ ได้เรียนหรือได้เขียน ซึ่งเรียกว่าปริยัติ ให้มันเป็นหลายเรื่อง หลายอย่างหลายประการเข้าไป เป็นต้นว่า อนุปาทินนกสังขาร อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง สังขารที่ไม่มีใจครองเป็นต้น นักรู้นักเรียน นักพรต ก็พิจารณาตามบัญญัติเมื่อเราเรียนไป แปลไปสังขารที่ไม่มีใจครองคืออะไร คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โต๊ะเตียงต่างๆเป็นต้น ท่านเรียกว่าไม่มีใจครอง
สังขารที่มีใจครองคืออะไร คือสัตว์ ทั้งสัตว์มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานทั้งหมด เราก็มาเรียน มาแปล มาพิจารณาอยู่อย่างนั้นก็
เลยเข้าใจตามบัญญัติว่ามันแน่นอนเหลือเกินที่หลักปริยัติเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อเรามาพิจารณาดูจริงๆแล้ว ถ้าจิตมนุษย์ยังพัวพันอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายแล้วอะไรๆที่ไม่มีใจครอง ไม่มีเลย ถ้ามีตัณหาอยู่ในใจ ของทั้งหลายมีใจครองหมดทุกอย่าง สิ่งทั้งหลายที่มันมีใจครองอยู่ที่เองแหละเราเรียนธรรม แต่ไม่รู้ความหมายลึกซึ้งในธรรม ก็เข้าใจว่าเราเรียนธรรม รู้ธรรม ปฏิบัติธรรม ความลึกซึ้งในธรรมะเรารู้ไม่ได้ เช่นคำว่าสังขารที่ไม่มีใจครอง อย่างเสาศาลานี้ โต๊ะ เตียง หรือตู้ที่อยู่ในบ้านเรา มันไม่มีใจครอง เพราะเราเห็นด้านนึกว่าไม่มีใจครองเสียแล้ว ถ้าหากคนเราเอาค้อนไปทุบลองดูมันจะมีใจครองไหม
ก็จิตของเราที่ลุ่มหลงวุ่นวายอยู่นั่นแหละ ไปยึดโต๊ะ ยึดเตียง ยึดสมบัติพัสถานข้าวของ มันไปครองอยู่หมดทุกอย่างถ้วยใบหนึ่งแตกเราก็เจ็บ ทั้งนี้เพราะใจมันเข้าไปครองอยู่นั่นต้นไม้ภูเขาเลากา อันใดที่สมมติ เราหลงเข้าใจว่าเป็นเราหรือของเราแล้ว ถึงมันไม่ครองมันเองเราก็เข้าไปครองมันอยู่ สังขารเหล่านี้ก็มีใจครอง มิใช่ว่าจะไม่มีใจครอง สกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกันฉันใด ตามธรรมชาติแล้ว ท่านว่ามีมีวิญญาณครอง อาการที่มีวิญญาณครองนั้น ท่านหมายถึงตัวอุปาทานเข้าไปยึดว่ารูปนามนี้เป็นเรา เป็นของเรา อันนี้ก็มีวิญญาณครองเช่นกันมันครองไปหมด