[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 08:41:12 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การสำรวจเมืองโบราณจันเสน  (อ่าน 7849 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 มิถุนายน 2555 16:25:45 »



เรื่องการสำรวจเมืองโบราณที่โคกจันเสน
ตำบลจันเสน  อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์
ของกองโบราณคดี  กรมศิลปากร


เมืองโบราณจันเสน นั้น อยู่ที่บริเวณที่ชาวจันเสนเรียกโคกจันเสน   ในตำบลจันเสน  หมู่ที่ ๒  อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์  ห่างจากพระนครโดยทางรถไฟประมาณ ๑๗๕ กิโลเมตร    เมื่อเดินทางไปถึงสถานีจันเสน  ที่ตั้งของเมืองนี้จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสถานีจันเสน  จากหลังสถานีมีทางไปยังวัดจันเสน  ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร  ทางดังกล่าวเป็นทางที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ดินที่ถมก็เป็นดินที่ได้จากโคกจันเสน วัดจันเสน เป็นวัดที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๖๐ ปีเศษ*  บริเวณวัดเดิมเป็นที่ลุ่ม  ปัจจุบันเป็นที่ดอน เพราะได้ดินจากโคกจันเสนมาถมเมื่อ ๒-๓ ปีมานี้  แต่ก็ยังมีที่ลุ่มอยู่บ้าง เช่น บริเวณข้างกุฏิเจ้าอาวาสยังเป็นหนองโบราณที่ถมไปแล้วบางส่วน

พระครูนิสัยจริยคุณ** เจ้าอาวาสเล่าว่า เดิมตั้งใจจะถมบึงนั้นหมดทั้งบึง พอทำไปได้บางส่วน ตกคืนหนึ่งท่านฝันว่ามีนายทหารโบราณรูปร่างสูงใหญ่ บอกว่าเป็นทหารของพระเจ้าอู่ทองมาคารวะกราบไหว้ท่านแล้วบอกว่า  พระคุณเจ้า ขอได้โปรดอย่าถมดินบึงน้อยอันศักดิ์สิทธิ์นี้เลย  ขอไว้เพื่อให้เจ้าของเดิมหายใจกันบ้าง  พูดจบก็กราบลาท่านกลับไป  ท่านเจ้าอาวาสจึงระงับการถมบึงน้อยนั้นไว้  ที่วิหารไม้หลังเล็กมีพระพุทธรูปนาคปรก  หิน  สมัยลพบุรี  ๒  องค์  ซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือกันมาก  เรียกกันว่าหลวงพ่อนาค  องค์หนึ่งสูงแต่บัลลังก์นาคจนถึงพระเกตุมาลา ๑.๕๐ เมตร  สูงแต่ทับเกษตรถึงพระเกตุมาลา ๗๘ ซม.  หน้าตัก ๖๐ ซม.  อีกองค์หนึ่งสูงแต่บัลลังก์นาค  จนถึงพระเกตุมาลา ๑.๔๗ เมตร  สูงแต่ทับเกษตรถึงพระเกตุมาลา ๘๔ ซม.  หน้าตัก ๗๐ ซม.  พระพุทธรูปนาคปรกหินทั้ง ๒ องค์นี้  ไม่ใช่ของที่พบที่จันเสน  เป็นพระพุทธรูปที่ได้มาจากวัดปืน  อำเภอเมืองลพบุรี  จังหวัดลพบุรี  ที่บนกุฏิเจ้าอาวาสก็มีพระพุทธรูปนาคปรกหินสมัยลพบุรีอีกองค์หนึ่งมีขนาดเล็กกว่าสององค์ที่กล่าวแล้ว

ทางทิศใต้ของวัดจันเสนมีบึงโบราณขนาดใหญ่เรียกกันว่า บึงจันเสน  กว้างประมาณ ๑๘๐ เมตร  ยาวประมาณ ๓๑๒ เมตร  เป็นบึงที่ลึก  มีน้ำตลอดปี   ชาวจันเสนและหมู่บ้านใกล้เคียงได้อาศัยน้ำในบึงนี้ในวันเพ็ญเดือน ๑๒  ใช้เป็นที่ลอยกระทงตามนิยายที่เล่าสืบกันมาว่า  ต้องใช้คนขุดเป็นจำนวนมาก  บางคนเล่าว่า ขุดดินเพียงคนละกำมือ  บางคนก็ว่า คนขุดเป็นจำนวนสามแสนคน  ทางคันบึงด้านทิศใต้มีคันถนนโบราณ  ซึ่งเรียกกันว่า คันคูหนุมาน  สูงประมาณ ๑ เมตร  กว้างประมาณ ๒๑ เมตร  ถนนโบราณนี้ตั้งต้นที่คันบึงจันเสนพุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปยังบ้านหัวบึง  ข้ามทางรถไฟสายเหนือไปยังบ้านสะแกโง๊ะ – หนองตะโก – บ้านท้ายลาด  - บ้านหนองคูใหญ่  เข้าเขตอำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี  บางท่านว่าไปถึงบ่อทอง  ตำบลชอนสรเดช  อำเภอโคกสำโรง  จังหวัดลพบุรี  พระภิกษุอยู่  เจ้าอาวาสวัดหนองหญ้าลังกา ตำบลช่องแค  อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งมาช่วยงานวัดจันเสน  เชื่อว่าถนนโบราณจากจันเสนนี้ไปจดดงพญาเย็น  ซึ่งมีเมืองโบราณอยู่เมืองหนึ่ง  สอบถามจากนายสว่าง  แย้มประเสริฐ   กำนันจันเสนได้ความว่า  ถนนนี้ขาดเป็นตอน ๆ ไป  หากสำรวจโดยถี่ถ้วนก็อาจจะพบว่าเป็นถนนที่ยาวมาก  เฉพาะตอนที่อยู่ติดคันบึงจันเสนด้านใต้  มีราษฎรปลูกบ้านคร่อมอยู่บนถนนอยู่หลายหลัง  และทำไร่ผักอยู่

เมื่อเดินจากวัดจันเสนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปประมาณ ๑๗๐ เมตร  ก็จะถึงคูเมืองโบราณ ซึ่งกว้างประมาณ ๓๑ เมตร  เมืองโบราณนี้เป็นรูปคล้ายวงกลม  เส้นรอบวงประมาณ ๒,๕๘๔ เมตร  เนินดินคูเมืองลบเลือนมาก  ยังพอเห็นเป็นเค้า  เมืองโบราณบนโคกจันเสนนี้มีอาณาเขตดังนี้
   ทิศตะวันออก  จดวัดจันเสนและบึงจันเสน
   ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  จดบ้านหนองอีเจาะ
   ทิศเหนือ  จดบ้านหนองถ้ำวัว
   ทิศใต้  จดบ้านหนองอีเจาะ

สภาพของเมืองโบราณในปัจจุบัน  เป็นป่าละเมาะ บางตอนราษฎรถางทำไร่  ปลูกผัก เช่น ผักกาด  พริก  มะเขือ  นอกจากนั้นก็ปลูกน้อยหน่า มะละกอ ฝ้าย ข้าวโพด  สอบถามจากนายป้อม  เงินกลม  ผู้อยู่ที่โคกจันเสน  ทราบว่า มีผู้อาศัยในโคกจันเสนมาประมาณ ๑๐๐ ปี  ผู้ที่เข้ามาอยู่รุ่นแรกอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ตระกูลแรกน่าจะได้จากพวกที่ใช้นามสกุลเงินกลม  นับถือผีที่เรียกว่า ผีโลง  เป็นผีของพวกควาญช้าง  เดี๋ยวนี้เสื่อมความนับถือกันแล้ว  ต่อมาก็เริ่มอพยพออกจากเมืองโบราณนี้  เพราะเชื่อถือกันว่า คนที่อยู่ในเมืองโบราณนี้มักจะทำมาหากินไม่ขึ้น  ส่วนมากยากจน บางคนเป็นโรคคุดทะราด   นายสว่าง  แย้มประเสริฐ  บอกว่า  มีราษฎรเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองโบราณหลายครัวเรือน  หมู่บ้านที่โคกจันเสนนี้ จัดเป็นตำบลจันเสน  หมู่ที่ ๒   มีอยู่รายหนึ่งคือ นายเหมือน  ทับทอง  มีโฉนด  รายอื่นมี น.ส. ๓ ก  ซึ่งถือว่าเท่ากับโฉนด  ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินในเมืองโบราณนี้มี ๑. นายเช้า  เงินกลม  ๒. นางกลอง  เงินกลม  ๓. นางขันทอง  อัมพวานนท์  ๔. นายเหมือน  ทับทอง  ๕. นายกฤษ  ทับทิมทอง  ๖. นายสนิท  ศรีสว่าง  ๗. นายแดง  เงินกลม  ๘. นายปี  เงินกลม  ๙. นายแก่น  เงินกลม  ๑๐. นายเปรื่อง  เงินกลม  ๑๑. นายถนอม  เงินกลม  ๑๒. นายจู  สุพรรณ  ๑๓. นางคำ  วิเชียรกุล  ๑๔. ส.ต.ท. ปอง  บัวอ่อน  ๑๕. นายเส็ง  มีแสง  ๑๖. นายบางฯ  ๑๗. นายมาฯ  ๑๘. นายดีฯ  ๑๙. นายบัวฯ  ๒๐. นายไชยฯ  ๒๑. นายเปรื่องฯ  ๒๒. นายสงัดฯ  ๒๓. นายเฉื่อย  เงินกลม  ๒๔. นางน้อยฯ  ๒๕. นายชั้นฯ  ๒๖. นายพีฯ  ๒๗. นายชลอฯ  ๒๘ นายหวันฯ  ๒๙. นายสุนทรฯ ๓๐. นายพลฯ  ๓๑ นายบุญช่วย พุทธสอน  และยังมีอีกหลายคน  บางคนไม่ทราบนามสกุล  เพราะสอบถามจากชาวบ้านที่โคกจันเสน  วันที่สอบถามนั้นกำนันจันเสนไม่อยู่  ลงมาธุระที่พระนคร  ทราบจากเจ้าอาวาสวัดจันเสนว่า  เคยมีเศรษฐีจากกรุงเทพฯ ให้คนที่บ้านหมี่ไปติดต่อขอซื้อที่เมืองโบราณทั้งเมือง  อ้างว่าจะทำเป็นที่พักผ่อน  โดยขอซื้อจากผู้ที่ครอบครองที่เมืองโบราณจันเสน  ให้ราคาไร่ละ ๖๐๐ บาท  ชาวบ้านยังไม่ยอมขาย  ขณะที่ไปสำรวจเมืองนี้  ผู้ที่อยู่ในเมืองโบราณนี้มักจะมาถามว่าจะเวนคืนที่ดินหรือ  หากเวนคืนแล้ว  จะไปอยู่กันที่ไหน  เมื่อแจ้งให้ทราบว่า   กรมศิลปากรสำรวจเพื่อให้ทราบว่าเมืองนี้เป็นเมืองโบราณเก่าแก่นานสักเท่าใด  มีขนาดเมืองกว้างขวางสักเพียงใด  ชาวบ้านก็เลิกวิตก

เนื่องจากเมืองนี้มีอายุนาน  บางครั้งก็ร้าง บริเวณที่เคยเป็นที่อยู่จึงมีลักษณะเป็นเนินพอเห็นได้ชัด  ถนนที่ตัดใหม่จากคูเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปยังด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ยาว ๗๗๐ เมตร  กว้างประมาณ ๓ เมตร  บางตอนขุดลึกลงไปจากระดับพื้นเดิมประมาณ ๑ เมตร  มองเห็นชั้นดินที่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาได้ถนัด  ถนนนี้ทราบว่าใช้รถแทรกเตอร์เกรดดินไปทำถนนจากสถานีรถไฟมายังวัดจันเสน  ทางทิศเหนือของถนนสายนี้มีหนองน้ำขนาดกลางหนองหนึ่ง  อยู่หลังบ้านนายดี  มีน้ำใช้จนถึงราวเดือน ๓  (กุมภาพันธ์)  ชาวบ้านบริเวณที่ในเมืองโบราณตอนเหนือ  ได้อาศัยน้ำในบึงนี้ นายดีเล่าว่า ปู่ย่าตายายเล่าว่า ทางทิศเหนือของหนองนี้ วันดีคืนดีจะได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์  และที่หนองน้ำมีเปลทองอยู่ ๑ เปล  มีผู้ได้ยินเสียงคนกล่อมเด็กที่บริเวณใกล้หนองนั้น     คำว่า “หนอง” คนในโคกจันเสนมักจะเรียกว่า “บุ่ง”  แต่บริเวณบ้านนายดี  มาจนถึงบ้านนายสนิท  ซึ่งอยู่ริมคันคูด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  มีลักษณะเป็นเนินสูงกว้างใหญ่  สอบถามได้ความว่า เคยมีผู้ขุดพบโบราณสถานวัตถุหลายอย่าง เช่น ตุ๊กตาดินเผาทำเป็นรูปคนขี่ลิง  คนขี่ครุฑ  ลูกปัดแบบและสีต่าง ๆ  แท่งหินบด  ฐานหินบด  หินดุ  ซึ่งใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา

ทางใต้ขอบถนนตัดใหม่  มีหนองขนาดใหญ่หนองหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองโบราณ เรียกกันว่าบุ่งยายคำ  เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๙ เมตร  เป็นหนองที่ลึกกว่า ๑ วา  มีน้ำใช้ได้ตลอดปี  บริเวณรอบบุ่งยายคำเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ เข้าใจว่าเป็นบริเวณที่ชาวเมืองโบราณเคยตั้งบ้านเรือนอยู่  หรืออาจเป็นซากโบราณสถานก็ได้  เมื่อหลายปีมาแล้ว  นายสุนทร  วิเชียรกุล  พบชิ้นส่วนของธรรมจักรหินสมัยทวารวดี  ชิ้นหนึ่ง  ที่กลางสระนี้  ต่อมาได้นำไปถวายวัดจันเสน  ทางวัดได้วางไว้ที่โคนต้นโพธิ์ที่ในบริเวณวัด  เมื่อข้าราชการกรมศิลปากรไปสำรวจ ก็ได้ขอให้ท่านเจ้าอาวาสเก็บไว้บนกุฏิเจ้าอาวาส  และไม่ไกลจากขอบหนองนี้  ในบริเวณที่ดินของครูบุญช่วย  พุทธสอน  ก็ยังมีฐานบัวฐานหนึ่ง ทำด้วยหิน  สูงประมาณ ๗๐ ซม.  กว้าง ๓๐ ซม.  เป็นของสมัยทวารวดี  อยู่ในสภาพชำรุด  แต่ยังเห็นรอยกลีบบัวได้ถนัด  เข้าใจว่าเป็นฐานพระพุทธรูปนั่งหรือยืน  จึงได้ขอให้เจ้าอาวาสขอแรงชาวบ้านให้ช่วยไว้ที่วัดจันเสน    ทางทิศใต้ของบุ่งยายคำก็มีผู้พบฐานบัวชำรุดขนาดใหญ่หนึ่งฐานทำด้วยหินเป็นของสมัยทวาราวดี  ตรงกลางมีรอยจำหลักเป็นรูปลึก  แล้วมีผู้นำขึ้นรถบรรทุกมาวางไว้ที่โคนต้นโพธิ์ ในบริเวณวัดจันเสน  ฐานบัวนี้กว้างประมาณ ๑๒๕ ซม. สูงประมาณ ๓๒ ซม.  เท่าที่พบแล้วมีฐานบัว ๒ ฐาน ในเมืองโบราณที่โคกจันเสนนี้ ครั้งนั้นคงจะมีพระพุทธรูปหิน สมัยทวารวดี  อย่างน้อย ๒ องค์  ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบุ่งยายคำ  ใกล้บ้านนายชั้นปัจจุบันเป็นสระสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่  สระนี้เป็นสระที่ใช้รถแทรกเตอร์ขุดลงไปลึกประมาณ ๔ เมตรเศษ  เพื่อนำดินไปถมถนนจากหลังสถานีจันเสนมายังวัดจันเสน  ถมที่ลุ่มบริเวณวัดจันเสน  และถมที่ลุ่มที่บริเวณตลาดหน้าสถานีจันเสนที่ใกล้ ๆ ที่ซึ่งขุดดินลึกจึงเป็นสระขนาดใหญ่ในระดับลึกลงไปประมาณ ๔๐ ซม.  พบอิฐสีแดงเนื้อละเอียดวางเรียงอยู่เป็นชั้น ๆ



ควายดินเผา  ส่วนกลางสันหลังทำเป็นช่องกลม  เป็นสิงของที่อุทิศในหลุมศพชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์  
บ้านใหม่ชัยมงคล  ใกล้เมืองโบราณจันเสน

โบราณวัตถุที่มีผู้ขุดพบโดยบังเอิญหรือตั้งใจขุด แบ่งออกไปตามเนื้อวัตถุที่ใช้ทำ มี

๑.ของที่ทำด้วยดินเผา
     ก.พระพิมพ์   มีทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทขนาดเล็ก สูง ๖.๕ ซม.  ฐานกว้าง   ๓ ซม.  ทำเป็นรูปนูนทั้ง ๒ ด้าน  และรูปนูนอยู่บนแผ่นดินเผาสามเหลี่ยมทั้ง ๒ หน้า  ตอนบนเป็นรูปคนฟ้อนรำ  ตอนล่างเป็นรูปเกียรติมุข  สูง ๖.๕ ซม.  ฐานกว้าง ๓ ซม.  ทั้งสองชิ้นนี้อยู่ที่วัดจันเสน  นอกจากนี้ก็มีรูปที่ชาวจันเสนเรียกเวตาล   เป็นรูปคนนั่งพุงพลุ้ย  อีกด้านหนึ่งเป็นพระพุทธรูป ?   มีหลายขนาด ๆ เล็กสูง ๕ ซม.  กว้าง ๔.๕ ซม.  หนา ๒.๒ ซม.  ขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ
     ข. ตราดินเผา   มีตราดินเผาทำเป็นรูปคนขึ้นต้นตาล  และตราดินเผาทำเป็นรูปคนนั่งอยู่กับสิงโต  ซึ่งมีลักษณะคล้ายสิงโตยุโรป  ตราดินเผาทำเป็นรูปตรีอยู่ตรงกลางข้างหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์  อีกข้างหนึ่งเป็นรูปพระจันทร์  ใต้มีจารึก ทั้ง ๓ ชิ้นนี้ เป็นของร้านพรภูษา  ตราดินเผามีรูปวัว เป็นของนายสุนันท์  อีกชิ้นหนึ่งเป็นตราดินเผาเป็นรูปคนขี่ม้า
     ค. รูปตุ๊กตาดินเผา  ทำเป็นรูปผู้ชายจูงลิงหรือขี่ครุฑ  รูปหญิงอุ้มนก  ที่สมบูรณ์เป็นของนายปรีชา (เฮียช้า)  ร้านมหัทธนา  มีรูปลักษณะเป็นแบบเดียวกับที่พบที่อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ที่มีแต่หัวเป็นของนายทรัพย์  บัวแก้ว  และของนายสนิท  ศรีสว่าง  ตุ๊กตาเหล่านี้ช่วยทำให้เราทราบเครื่องแต่งกายและการไว้ผมสมัยทวารวดี  นอกจากนี้ก็มีดินเผาทำเป็นรูปปูตัวเล็กมาก  เป็นของนายสนิท  ศรีสว่าง  รูปปั้นเป็นคนขี่ช้าง  เป็นของ ส.ต.ท. ฟอง  บัวอ่อน  นอกจากนี้ก็มีรูปช้างดินเผาชำรุด  และรูปสิงโต  เครื่องปั้นดินเผาบางชิ้นเป็นสีดำ  รูปลักษณะคล้ายพบที่ใต้รากฐานปราสาทหินพิมาย  อำเภอพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  บางชิ้นมีลายก้านขด  ประกอบเป็นรูปคล้ายดอกไม้สี่กลีบ  นายสมศักดิ์  รัตนกุล  ได้มาชมและเขียนบอกมาว่า คล้ายลายบนแผ่นอิฐ  พบที่อู่ทอง  เป็นสมัยทวารวดี  นอกจากนี้พบเบ้าหล่อโลหะขนาดเล็ก  ทำด้วยดินเผาหลายใบ
     ง. ของอื่น ๆ  มีแวเหล็กในทำด้วยดินเผา  พบกันมาก  หินดุทำด้วยดินเผา  ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา    ตะเกียงโรมัน  ประกอบด้วยส่วนที่ใส่น้ำมันรูปทรงกลมและพวยที่ยื่นออกไปเป็นที่ใส่ไส้ตะเกียง  รูปลักษณะไม่เหมือนกับที่พบที่จังหวัดนครปฐม  เปรียบเทียบดูกับรูปตะเกียงโรมันในหนังสือ Greek and Roman Pottery Lamps ของนาย Donald M. Bailey  ก็ไม่เหมือนกันกับที่พบที่จันเสน  ที่สมบูรณ์เป็นของวัดจันเสน  ยาว ๑๔ ซม.  ส่วนที่ใช้ใส่น้ำมันเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙ ซม.  และลูกดินเผากลมคล้ายลูกกระสุน  เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ ซม.  นอกจากนี้มีลายประดับดินเผา ๒ ชิ้น  อยู่ที่วัดจันเสน  แผ่นอิฐพบที่เมืองนี้เก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนบ้านจันเสน  มี ๒ แผ่น  แผ่นหนึ่งกว้าง ๑๗.๕ ซม.  ยาง ๓๒.๕ ซม.  หนา ๘ ซม.  อีกแผ่นหนึ่งกว้าง ๑๗.๕ ซม.  ยาว ๒๕.๕ ซม.  หนา ๘.๒ ซม.

๒. ของที่ทำด้วยหิน
มีฐานบัว ๒ แท่น   ดังกล่าวแล้วในตอนต้น  หินกลมแกะเป็นรูปดอกบัว  เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ ซม. หินมีรูปคล้ายที่เรียกกันว่านมเตา  และมีรอยแกะเป็นรูปใบไม้ ๖ ใบ  ล้อมดอกไม้ดอกหนึ่งอยู่ ยาว ๘ ซม.  กว้าง ๕.๕ ซม.  ทั้งสองชิ้นนี้เป็นของ ส.ต.ท. ฟองฯ  ชิ้นส่วนธรรมจักรหิน ๒ ชิ้น  อยู่ที่วัดจันเสน  ชิ้นส่วนธรรมจักรนี้ในหนังสือเรื่องของดีในจันเสน  และอภินิหารหลวงพ่อนาค  คณะกรรมการวัดจันเสนจัดพิมพ์ถวายวัดจันเสน  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗  นายสมพงษ์  เกรียงไกรเพชร  เรียบเรียง  เรียกเสมาหิน  มีรูปอยู่ระหว่างหน้า ๓๒ – ๓๓  นอกจากนี้ก็มีแม่พิมพ์เป็นรูปบัวซ้อน  เส้นผ่าศูนย์กลาง ๙ ซม.  เป็นของวัดจันเสน  นอกจากนี้ก็มีหินรูปคล้ายเขาควาย  ตรงกลางเป็นรูปกลมเป็นของนายสุนันท์   นอกจากนี้ก็มีขวานหินขัด  ยาว ๘.๕ ซม.  กว้าง ๕ ซม.  เป็นของวัดจันเสน



ขวานสำริด  โบราณวัตถุที่วัดจันเสนเก็บรักษาไว้  ไม่ทราบแหล่งที่พบแน่ชัด

๓. ของที่ทำด้วยโลหะ
     ก. รูปคล้ายตุ้มหู   ทำด้วยตะกั่วหรือดีบุก  คล้ายแบบของฟูนัน  พบที่ออกแก้ว  ประเทศเวียดนาม (ดูรูป PI. XVIII รูปกลาง  ในหนังสือ L’Archaeologie du Delta Mekong par Louis Malleret-Tome Troisieme. La Culture du Funan)
     ข. ใบหอกเหล็ก  เป็นของวัดจันเสน
     ค. รูปห่วงกลมทำด้วยตะกั่ว   แบบที่ชาวอู่ทองเรียกขี้นกเปล้า  พบมากที่อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีหลายขนาด  นอกจากที่อู่ทองเคยขุดพบที่ถ้ำพระ  ตำบลไทรโยค  อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี
     ง. เงินโบราณ   เป็นก้อนคล้ายเงินพดด้วง  ด้านหนึ่งมีรูปช้าง  อีกด้านหนึ่งมีรูปวงกลม ๕ วง  อยู่ล้อมวงกลมใหญ่  คล้ายเงินลูกชั่งสุโขทัย
     จ. โลหะทำคล้ายห่วงห้อยคอ   บางห่วงมีรูปคน ๓ คน  เป็นของวัดจันเสน




ขันสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์  พบบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล  ใกล้เมืองโบราณจันเสน

๔. ของที่ทำด้วยสัมฤทธิ์  มีพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ยืน  สมัยศรีวิชัย ? สูงประมาณ  ๑๔ ซม. เป็นของวัดจันเสน พระโพธิสัตว์  สัมฤทธิ์ยืน  สมัยศรีวิชัย ?  เป็นของนายปุ้ย

๕. ลูกปัด มีทั้งลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว  ทั้งสีและรูปเป็นแบบเดียวกับที่พบที่อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีสีหมากสุก  สีเขียว และสีขาว นายปรีชา  มีลูกปัดดังกล่าวอยู่หลายลูกและหลายแบบ  

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือ คนโบราณในเมืองโบราณนี้ ฉลาด รู้จักการชลประทานระบายน้ำภายในเมือง  เนื่องจากบริเวณเมืองด้านตะวันออกเป็นที่สูง  เมื่อฝนตกลงมาจะไหลท่วมที่บริเวณอื่น  คนครั้งนั้นขุดเป็นคลองเล็ก ๆ ที่ชาวจันเสนเรียกว่าลำราง  แต่ทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก  และมีคลองเล็ก ขนานกันตัดผ่านคลองสายแรก  เมื่อฝนตกลงมาก็ไหลลงสู่คลองระบาย  หากมากก็จะไหลลงที่คูเมืองด้านตะวันตก  ขณะเดียวกัน  คนในเมืองก็จะสามารถนำเอาน้ำในคลองระบายไปใช้ในการทำการเพาะปลูกได้  ครั้งนั้นมีการเลี้ยงช้างและเลี้ยงม้า  ดังจะเห็นได้จากตราดินเผา

ชื่อของเมืองโบราณนี้  คนในโคกจันเสนเรียกว่า เมืองสามแสน   มีนิยายเล่ากันว่าเป็นเมืองใหญ่  มีคนอยู่ถึงสามแสนคน  บางท่านเล่าว่า  เจ้าเมืองมาจากภาคเหนือผ่านเมืองกำแพงเพชรลงมาครั้งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  พระภิกษุอยู่  วัดหนองหญ้าลังกาว่าชื่อ  พระยานาวาวิเวกธรรม  เป็นผู้ที่เก่งทางเรือ  เป็นผู้มาขุดบึงจันเสน  นายบุญยัง  นาศรีเคน ครูโรงเรียนบ้านจันเสน  เล่าว่า เจ้าเมืองสามแสนมีลูกชายคนหนึ่ง  เจ้าเมืองได้นำขบวนขันหมากไปสู่ขอนางผมหอม  ลูกสาวเจ้าเมืองโบราณเมืองหนึ่งที่บ่อทอง  ตำบลชอนสรเดช  อำเภอโคกสำโรง  จังหวัดลพบุรี  ขบวนดังกล่าวแห่ไปทางเรือ  ไปทางห้วยบ้านลาด (เรียกห้วยคนอง  หรือบางคลองก็มี)  ผ่านวังตะคร้อ  ไปห้วยน้ำยา  เมื่อไปถึงห้วยน้ำยาหรือขันหมากล่ม  เครื่องขันหมากก็กระจัดกระจาย  เฉพาะน้ำยาหกหมดที่ห้วยน้ำยา น้ำพัดเอาขนมจีนมาถึงที่บ้านลาด  ปัจจุบันเรียกบ้านราษฎร์เจริญ  ทุกวันนี้ชาวบ้านห้วยน้ำยาถือกันว่าหากใครพูดถึง “เรือ”  จะมีอันตรายต่าง ๆ แม้เด็กจะนั่งขอนไม้เล่นแล้วล้อกันว่านั่งเรือ  ก็ไม่ได้  เหนือห้วยน้ำยาในเขตตำบลช่องแค  อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์  มีห้วยหนึ่งชื่อห้วยหอม  นิยายเล่าว่า นางผมหอมไปอาบน้ำที่ห้วยนั้น  น้ำจึงหอม  ต่อมาจึงได้ชื่อว่าห้วยหอม

จากการขุดตรวจและตรวจดูโบราณวัตถุที่ขุดพบแล้ว เมืองนี้น่าจะเป็นเมืองสมัยทวารวดี   แต่คงไม่เป็นเมืองสำคัญนัก  แม่น้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดคือแม่น้ำโพธิชัย  ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองโบราณจันเสน  ห่างออกมาประมาณ ๗ กิโลเมตร  ระหว่างที่ยังไม่เป็นเมืองร้าง ก็ได้อาศัยน้ำในบึงจันเสน  หากมีศึกสงครามก็อาจจะอาศัยน้ำในคูเมือง และหนองใหญ่ ๒ แห่ง  ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น  คนครั้งนั้นพิจารณาจากตุ๊กตาดินเผา  มีการแต่งตัวดังนี้  ชาย  นุ่งผ้าคล้ายผ้าโจงกระเบน  เกล้าผมไว้ทางหลัง  ที่คอมีสร้อยคอ  เข้าใจว่าเป็นลูกปัด และมีจี้ห้อยที่สร้อยด้วย  ที่ข้อมือสวมกำไลข้างละ ๕ อัน ที่เอวมีสายคาด (สายฮั้ง)  ทำเป็นห่วง ๆ ร้อยติดกัน  สวมกำไลเท้า  หญิงนุ่งผ้าจีบ  มีทรงผมแปลก  เกล้ามวย  ที่คอมีเครื่องประดับคล้ายสังวาล  ที่ข้อมือสวมกำไล ๕ อัน ชาวเมืองโบราณแห่งนี้นับถือพระพุทธศาสนา  เป็นช่างปั้นที่สามารถทำตุ๊กตาได้งามมาก  ทำเครื่องปั้นดินเผาได้เป็นอย่างดี  ลวดลายที่เขียนก็งามน่าชม  รู้จักหล่อโลหะ  ครั้งนั้นในเมืองนี้มีการปลูกต้นตาลไว้  และอาจจะมีการทำน้ำตาลด้วย  นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝ้ายทอผ้า  โดยมีแวเหล็กไนดินเผาเป็นพยานอยู่  ในด้านการติดต่อกับเมืองอื่น  อาจจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองใกล้เคียงหรือเมืองที่อยู่ชายทะเล  เพราะพบลูกปัดโบราณแบบเดียวกับที่เคยพบที่อู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ที่ดงศรีมหาโพธิ์  จังหวัดปราจีนบุรี  ที่อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี  และที่ออกแก้ว  ประเทศเวียดนาม  ตราดินเผาก็มีรูปสิงโตคล้ายสิงโตตะวันตก  นอกจากนี้ยังพบตะเกียงโรมันดินเผา  ซึ่งมีลักษณะต่างกับตะเกียงโรมันดินเผาพบที่จังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรี  สิ่งที่น่าชมคนโบราณพวกนี้  คือ รู้จักการชลประทานระบายน้ำภายในเมือง   ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

เนื่องจากระยะเวลาที่ไปสำรวจเป็นเวลาที่เพิ่งจะสิ้นหน้าฝน  ภายในเมืองโบราณนี้มีต้นหญ้าต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป  ไม่สะดวกแก่การจะเดินสำรวจอย่างละเอียด  หากสำรวจในหน้าแล้ง  ราวเดือนกุมภาพันธ์  พวกหญ้าและต้นไม้บางชนิดจะตายหรือเหี่ยวแห้ง  จะมองเห็นสภาพของเมืองโบราณได้ชัดกว่าขณะนี้



คัดจาก : “จันเสนเมืองโบราณ” , พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวันรับและสมโภชพระประธานอุโบสถวัดจันเสน, วันที่ ๑๖  ธันวาคม ๒๕๑๐

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ตุลาคม 2556 16:25:07 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
-NWO-
นักโพสท์ระดับ 9
****

คะแนนความดี: +1/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United States United States

กระทู้: 518


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Firefox 13.0.1 Firefox 13.0.1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2555 02:58:49 »

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า

- New World Order -
คำค้น: เมืองโบราณจันเสน 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.602 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 17:41:24