วัฒนธรรมร่วมอาเซียน

<< < (3/3)

Kimleng:

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ก่อพระทราย สงกรานต์
อุบายขนทรายเข้าวัด ใช้ซ่อมสร้างปูชนียสถาน

ขนทรายเข้าวัด เป็นประเพณีผี-พราหมณ์-พุทธของชุมชนชาวบ้าน เพื่อเตรียมไว้ทำอิฐเผาเป็นวัสดุสร้างซ่อมศาสนสถานในวัด
 
ก่อพระทราย เป็นอุบายวิธีให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาแหล่งทราย แล้วขนทรายเข้าวัด โดยอ้างว่าเพื่อเตรียมไว้ก่อพระทรายเอาบุญวันสงกรานต์
 
และไม่เกี่ยวกับทรายวัดติดตีนชาวบ้านที่เดินเข้าออกวัด เมื่อถึงสงกรานต์ต้องขนทรายมาคืน เพราะนั้นเป็นอุบายของคนสมัยก่อนๆ จะหาทรายเข้าวัดไว้ซ่อมสร้างสิ่งชำรุดทรุดโทรม
  
ประเพณีพุทธพื้นเมือง
ขนทรายเข้าวัดไม่ใช่ประเพณีพื้นเมืองดั้งเดิม เพราะทำเพื่อก่อพระเจดีย์ทราย แล้วเอาไว้ผสมดินเหนียวทำอิฐเผาซ่อมสร้างปูชนียสถานในวัด ซึ่งต้องมีขึ้นเมื่อหลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย ราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลป์อธิบายว่าอิฐเผายุคทวารวดีสืบเนื่องถึงอิฐเผายุคเขมร ล้วนมีทรายเป็นส่วนผสมสำคัญอยู่ด้วย เพื่อให้อิฐแกร่งและทนทาน
 
ช่างก่อสร้างเป็นใครก็ได้ เช่น ชาวบ้าน, พระสงฆ์, ฯลฯ เป็นผู้ใช้ทรายสงกรานต์ทำอิฐเผาซ่อมสร้างปูชนียสถานสำคัญในวัด
 
ชุมชนโบราณสามัญชนไม่สร้างบ้านด้วยอิฐไม่ว่ากรณีใดๆ อิฐใช้สร้างวัดกับวังเท่านั้น
 
ขนทรายเข้าวัด
ทรายไม่มีทั่วไป แต่มีเป็นที่ทางเฉพาะ เช่น บริเวณพื้นใต้แม่น้ำ, ลำคลอง, หนอง, บึง, ลำราง, ทางน้ำ, ลุ่ม, ลาด, ฯลฯ ต้องมีคนไปขุดตักควักคุ้ยเอามา (ไม่มีพ่อค้าดูดทรายใส่เรือใส่รถมาขายอย่างทุกวันนี้)
 
ก่อนถึงสงกรานต์สัก ๔-๕ วัน ชาวบ้านสมัยก่อนจะรวมกันออกไปหาแหล่งทราย แล้วพากันขนทรายเข้าวัด โดยอ้างว่าเตรียมไว้ให้ชาวบ้านร้านถิ่นเล่นก่อพระทรายวันสงกรานต์
  
ก่อพระทราย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนทรายเข้าวัดเอาไว้ให้พระสงฆ์ใช้ทรายผสมดินเหนียวทำอิฐก่อสร้างโบสถ์, วิหาร, การเปรียญ และเสนาสนะอื่นๆ ที่ต้องสร้างด้วยอิฐ
 
เมื่อถึงสงกรานต์ก็พากันไปวัดทำบุญโดยก่อกองทรายสมมุติเป็นรูปพระเจดีย์ขนาดเล็กๆ เรียงรายตามถนัดของแต่ละคน
 
เสร็จแล้วก็โยงสายสิญจน์ถวายพระสงฆ์ในวัดเอาไว้ทำอิฐใช้ก่อสร้างในวัด แล้วเชื่อว่าได้บุญกุศลค้ำจุนพระพุทธศาสนา
 
ก่อพระทราย หรือก่อกองทราย เป็นภาษาปาก หมายถึงก่อพระเจดีย์ทรายในวัดเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เดือน ๕ ทางจันทรคติ (ตรงกับเมษายน ทางสุริยคติ)
 
พระเจดีย์ทราย เป็นพยานสัญลักษณ์ว่าทรายเหล่านั้นจะใช้ซ่อมสร้างปูชนียสถานในวัด
 
เผาอิฐ
เผาอิฐไม่ใช่งานหลักของพระสงฆ์ แต่การขนทรายเข้าวัดเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องการสร้างและปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานและศาสนสถานอื่นๆ
 
เพราะปีหนึ่งๆ เสนาสนะภายในวัดย่อมชำรุดสึกกร่อนเสียหายไปบ้างไม่มากก็น้อย และทรายเป็นวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป ทั้งผสมในเนื้ออิฐ ผสมปูน ถมที่ ฯลฯ
 
ทุกวันนี้ยังมี ‘พระช่าง’ คือพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถด้านงานช่าง ซึ่งมีหลักฐานว่าพระสงฆ์เหล่านี้ลงมือทำงานศิลปกรรมด้วยตนเอง เช่น พระอาจารย์นาค, ขรัวอินโข่ง ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงกลุ่มช่างพระสงฆ์ของเมืองเพชรบุรีที่ยังสืบงานฝีมือกันลงมา
 
นักประวัติศาสตร์ศิลป์พบหลักฐานเป็นก้อนอิฐและแผ่นกระเบื้องโบราณในวัดทางล้านนาบางแห่งเขียนตัวอักษรระบุชื่อบุคคลที่อาจเป็นพระสงฆ์ผู้ปั้น แสดงว่าการปั้นอิฐในการสร้างซ่อมวัดวาอารามก็เป็นงานช่างอย่างหนึ่งของพระสงฆ์
 
มิได้หมายความว่าพระสงฆ์จะต้องเผาอิฐเอง เพราะมีประเพณีเกณฑ์ชาวบ้านได้ ดังเอกสารสมัย ร.๔ ระบุว่าเมื่อจะสร้างพระราชวังและซ่อมแซมอารามต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี โปรดให้เกณฑ์ชาวบ้านเมืองเพชรบุรีทำอิฐส่งครัวละ ๔๐๐ ก้อน
 
นักวิชาการอธิบายว่าการสร้างวัดสมัยโบราณที่ใช้อิฐจำนวนมหาศาลไม่มีทางที่พระสงฆ์จะผลิตขึ้นเองได้ทั้งหมด คงอาศัยระบบมูลนายเกณฑ์ทำอิฐตามที่กำหนดมาส่งให้ ถ้าเป็นวัดหลวงที่กษัตริย์สร้างมีขนาดใหญ่ก็เกณฑ์อิฐได้มาก วัดระดับรองลงมาก็ลดหลั่นกันไปตามฐานะ
 
ทรายที่ขนมาถวายให้วัดไม่ว่าจะไปผสมทำอิฐ (ในกรณีที่สัดส่วนของทรายในดินจากแม่น้ำมีไม่เพียงพอ) หรือไปผสมปูนฉาบผนังอาคาร หรือถมพื้นปรับระดับภายในวัด ถือเป็นของส่วนรวมที่ผู้ซึ่งมีหน้าที่ปฏิสังขรณ์วัดจะมานำไปใช้ในงานต่างๆ ได้ เพราะวัดเป็นพื้นที่กลางของชุมชน ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้วัสดุต่างๆ ใครจะติดต่อขอยืมขอใช้สิ่งของใดก็มาเอาจากวัด
 
ก่อกองทรายในเรือ
เมืองปทุมธานีสมัยก่อนๆ มีชาวบ้านในท้องถิ่นเล่าว่าสมัยก่อนใครจะร่วมขนทรายเข้าวัด มักมีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือในลำคลอง จะนำเรือมาด (เรือขุดมีขนาดใหญ่) ร่วมกันเป็นคณะ ๘-๑๐ ลำขึ้นไป
 
ในยุคแรกไม่มีเครื่องจักรก็ใช้พายใช้แจวลงเรือลำละ ๔-๖ คน ไปตามแหล่งทรายในลำน้ำเจ้าพระยา
 
อ.สามโคก มีแหล่งงมทรายอยู่ที่คุ้งน้ำกว้างใหญ่ เรียกว่าคุ้งบ้านถั่ว มีหาดทรายกลางแม่น้ำและอีกแห่งเหนือเขตสามโคก เรียกว่าลานเท เป็นช่วงที่กว้างที่สุดของลำน้ำเจ้าพระยา มีหาดทรายริมสองฟากฝั่ง
 
เมื่อคณะเรืองมทรายถึงที่แล้วจอดเรือใช้ท่อปักยึดเรือ คนในเรือเตรียมบุ้งกี๋หรือกระป๋องตักน้ำโดดลงน้ำดำลงไปโกยตักทรายใต้ท้องน้ำ หรือจะโกยทรายตามหาดริมฝั่งส่งให้คนที่อยู่บนเรือเททรายกองไว้กลางลำเรือจนได้ตามต้องการ
 
แล้วช่วยกันก่อพระเจดีย์ทรายกลางลำเรือใช้ดอกไม้ธงทิวริ้วประดับตกแต่งให้สวยงามแล้วพายเรือกลับวัด ตีกลองร้องเพลงกันสนุกสนานไปตลอดทาง
 
จนถึงวัดจึงช่วยกันขนทรายขึ้นจากลำเรือมาก่อเป็นพระเจดีย์ทรายที่ลานหน้าวัดหรือหน้าโบสถ์ ก่อตามรูปแบบเจดีย์ที่มีอยู่ในวัดหรือเจดีย์ที่เคยพบเห็น เช่น พระปฐมเจดีย์, พระสมุทรเจดีย์, เจดีย์แบบรามัญ
 
ก่อเสร็จแล้วก็ตกแต่งด้วยธงทิวประดับประดาสวยงาม
 

ก่อพระทรายคล้ายเจดีย์มอญ (พ.ศ.๒๕๕๖)
วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
(ภาพจาก http://www.taklong.com)
 

ก่อพระทราย เป็นรูปคล้ายพระปฐมเจดีย์ (พ.ศ.๒๕๕๖)
วัดโคกมะกอก ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
(ภาพจาก http://www.innnews.co.th)

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน การละเล่นสงกรานต์ ละเมิดข้อห้าม ขบถจารีตประเพณี
ปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียด

สงกรานต์เป็นช่วงเวลาปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการละเล่นละเมิดข้อห้ามและขบถจารีตประเพณี ที่คนเราต้องเคร่งครัดทั้งปีที่ผ่านมา
 
การละเล่นสนุกสนานละเมิดข้อห้ามต่างๆ ได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ต้องมีขอบเขตไม่ทำร้ายบุคคลอื่นให้บาดเจ็บล้มตายและเดือดร้อน
 
เสฐียรโกเศศบันทึกเรื่องวันสงกรานต์ที่เชียงตุง (พม่า) ว่าเจ้าฟ้าเชียงตุงจะต้องออกขุนนางประทับนั่งขัดสมาธินิ่งคล้ายพระพุทธรูปอยู่บนอาสนะ พวกขุนนางก็เข้าเฝ้าถวายบังคมโดยลำดับ เมื่อเจ้าฟ้าอวยพรเสร็จ ประตูด้านหลังที่นั่งก็ค่อยแย้มออก เจ้าฟ้าเชียงตุงจะเสด็จหายเข้าไปในประตู ทันใดนั้นพวกข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่อย่างสงบเสงี่ยมต่างก็ลุกขึ้นแย่งกันหนีออกจากที่เฝ้าอย่างสับสนอลหม่าน เพราะขณะนั้นมีราษฎรยกพวกแห่กันมาสาดน้ำสงกรานต์
 
พฤติกรรมอย่างนี้ถ้ายามปกติจะมีโทษถึงตาย
 
ผู้หญิงกับพระสงฆ์
สังคมแต่ก่อนอนุญาตให้พระสงฆ์ในหมู่บ้านร่วมเล่นแข่งขันกับชาวบ้านได้ เช่น พระสงฆ์แข่งเรือ แข่งเกวียน แข่งจุดบั้งไฟ ฯลฯ
 
ขณะเดียวกันผู้หญิงชาวบ้านที่มีข้อห้ามรุนแรงว่าถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ไม่ได้ในยามปกติ แต่ในช่วงสงกรานต์บางชุมชนอนุญาตให้ผู้หญิงทำได้ เช่น ผู้หญิงร่วมกันอุ้มพระสงฆ์ (ที่นิมนต์มาฉันอาหาร) โยนลงไปในแม่น้ำลำคลองหนองบึงได้ และอาจละเมิดกฎเกณฑ์ได้มากกว่านี้ด้วย แต่ไม่ถึงขั้นผิดทางเพศ ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้า การสาดน้ำนั้นไม่จำเพาะแต่จะสาดกันเองระหว่างหนุ่มสาว แต่สาดพระสงฆ์ก็ได้  เสฐียรโกเศศเล่าว่า “ถือขันน้ำ เร่ขึ้นกุฏิเพื่อสรงน้ำหลวงพี่ด้วยปะเหมาะหลวงพี่ไม่ทันรู้ตัว ได้ยินเสียงโครมครามเหมือนมีโจรขึ้นปล้น ยังไม่ทันรู้ว่าเรื่องอะไรก็พอดีถูกสาดน้ำเข้าโครมใหญ่ ดีมิดีที่นอนหมอนมุ้งถูกน้ำสาดเปียกหมด… ตอนนี้ไม่ใช่สรงน้ำพระ แต่เป็นเรื่องสาดน้ำพระ” ยิ่งหนักขึ้นไปอีกก็คือการแห่พระสงฆ์ด้วยเกวียนโดย “ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเกวียน คาดผ้าสีแพรเป็นเพดานหลังคา และประดับประดาด้วยสิ่งต่างๆ ตามแต่จะเห็นงาม….แล้วนิมนต์พระสมภารเจ้าวัดหรือพระสงฆ์ที่นับถือขึ้นนั่งบนเกวียนมีขบวนแห่อย่างครึกครื้น เวียนประทักษิณอุโบสถสามรอบ แล้วก็ชักเกวียนไปยังที่ซึ่งจัดไว้ แต่ว่าไม่ได้ชักอย่างตรงไปตรงมา เขาเล่นชักเย่อกันด้วย โดยแบ่งพวกชาวบ้านออกเป็นพรรคบ้านเหนือ และพรรคบ้านใต้ หรือตลาดบ้านเหนือและตลาดบ้านใต้
 
พวกที่ชักล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาวกำลังฉกรรจ์ทั้งนั้น ชักเย่อกันไป ชักเย่อกันมา ไม่ไปถึงไหน ลางทีนานตั้งชั่วโมงก็ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะกัน ถ้านานถึงเช่นนั้นก็ต้องหยุดพักเอาแรงกันเสียพักหนึ่ง แล้วจึงลงมือชักเย่อกันใหม่ต่อไป จนกว่าใครจะแพ้ลงข้างหนึ่ง ฝ่ายที่ชนะก็เต้นรำทำเพลงเยาะเย้ยฝ่ายที่แพ้อย่างสนุกสนาน” พระสงฆ์เองก็ถือเป็นสนุกไปกับฆราวาส โดยไม่ยึดว่าเป็นอาบัติ
   
ผู้หญิง ผู้ชาย
การเล่นกันเองระหว่างหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ก็ถึงขนาดฉุดกระชากลากถูกันจนเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่งไปทั้งหมด พวกผู้หญิงดูจะจงใจแก้แค้นผู้ชาย หรือผู้หญิงมักจะเล่นสนุกกับผู้ชายมากกว่าจะเล่นกับผู้หญิงด้วยกันเอง บางทีพวกผู้หญิงก็รวมกลุ่มกันจับผู้ชายมาเล่นแผลงๆ ด้วยการมัดไว้กับต้นเสาเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเหล้าหรือของกินต่างๆ สุดแต่จะหาซื้อได้ หากผู้ชายที่ถูกจับมัดเรียกค่าไถ่ไม่ยอมปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้หญิงต้องการก็อาจจะถูกทำประจาน เป็นต้นว่าถูกจับถอดเสื้อกางเกงล่อนจ้อนเปลือยกาย และอาจจะถูกทำพิเรนทร์ๆ กับของลับฝ่ายชาย บางรายถึงขนาดเอาใบสับปะรดซึ่งมีความหยาบจนสากมาแกล้งถูที่ของลับผู้ชายให้เจ็บปวด
 
ขบถจารีตประเพณี
จากการแสดงออกในเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่ต้องการขบถต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคม โดยได้รับการอนุมัติหรือได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว จะเก็บความโดยสรุปจากบทความเรื่องการละเล่นและพิธีกรรมในสังคมไทย ของ ปรานี วงษ์เทศ (จากหนังสือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ จัดพิมพ์โดยโครงการไทยศึกษา และโครงการเผยแพร่งานวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๒๘ หน้า ๒๒๕-๓๒๔) ดังต่อไปนี้
 
อาการขบถมีลักษณะต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เน้นความแตกต่างทางเพศ เน้นระบบอาวุโส และเน้นการเคารพนับถือพระสงฆ์
 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันแล้วสังคมจะเคร่งครัดมากต่อการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ เห็นได้จากการอบรมสั่งสอนว่าเป็นประเพณีต้องปฏิบัติตาม ความกดดันที่สังคมไทยมีต่อผู้หญิง จะได้รับการผ่อนคลายและแสดงออกในวันสงกรานต์ ดูจากผู้หญิงกินเหล้า เล่นการพนัน สนุกทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจงานบ้าน แสดงกิริยาก้าวร้าวข่มขู่ผู้ชาย การยอมให้ชายอื่นถูกเนื้อต้องตัวได้ เพราะในยามปกติ สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยต่ำกว่าผู้ชาย ต้องทำงานหนัก รับภาระในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีหรือมากกว่าถูกเกณฑ์แรงงานรับใช้ราชการ ผู้หญิงไทยจึงมีภาวะค่อนข้างกดดันที่ต้องรับภาระหลังการแต่งงาน ทั้งในการอบรมเลี้ยงดูลูก ทำมาหากิน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมอีก ๒ ด้านก็ได้รับการปลดปล่อย ซึ่งแสดงถึงข้อขัดแย้งลึกๆ ในสังคมที่สมาชิกในสังคมเก็บกดไว้และแสดงออกในวันสงกรานต์ เช่น เด็กล้อเล่นกับผู้ใหญ่ได้ ยั่วเย้าได้ โดยไม่ถือว่าเสียมรรยาทหรือเป็นการล่วงละเมิด
 
สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่ชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องและพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพ ก็ถูกต่อต้านด้วยพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงข้อห้ามหรือความเหมาะสมที่ผู้หญิงพึงสำรวมต่อสงฆ์ ทั้งพระสงฆ์เองตามประเพณีความเชื่อก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สมควรวิสาสะกับผู้หญิง
 
กฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ได้รับการอะลุ้มอล่วยให้ละเมิดได้ในวันสงกรานต์ ถือเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเพื่อให้กลับไปอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่อไปได้
 
คืนสู่ปกติ
การละเล่นในวันสงกรานต์ จึงเป็นพิธีกรรมต่อต้านข้อห้ามระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ โดยเฉพาะระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิง-ผู้ชาย, ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ และพระสงฆ์-ฆราวาส เป็นการต่อต้านที่ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากสังคมเท่านั้น ยังได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกด้วย
 
พิธีกรรมที่ขบถต่อระเบียบทางสังคมนี้ มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่งที่ทำให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายระบายออก เพื่อสังคมจะกลับสู่ภาวะปกติสุขเช่นเดิมได้อีก  มักพบในกลุ่มสังคมดั้งเดิมหลายเผ่าพันธุ์ที่สังคมเน้นความแตกต่างของเพศชาย เพศหญิง ที่สถานภาพของผู้หญิงถูกกดว่าต่ำกว่าชาย และในกลุ่มที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกชนอย่างจำกัด พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำหน้าที่ผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ในแง่ความขัดแย้งในสังคม เพื่อรักษาดุลของสังคมให้อยู่โดยปกติสุข


พระเณรเล่นจุดบั้งไฟในสงกรานต์ที่สิบสองพันนา ไม่ถือเป็นผิด


แข่งวัวเทียมเกวียน งานรื่นเริงช่วงสงกรานต์ที่ จ.เพชรบุรี เมื่อหลายปีมาแล้ว
สมัยโบราณพระสงฆ์ ก็เล่นได้





วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน เข้าทรงแม่สี สงกรานต์ ผีบรรพชน คนสุวรรณภูมิ

แม่สี แปลว่าหญิงผู้เป็นใหญ่ หรือผู้หญิงที่เป็นหัวหน้า (มักเขียนว่า แม่ศรี เพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามาจากคำบาลี-สันสกฤต) หมายถึงผีบรรพชนเพศหญิง

ผู้หญิงที่เป็นใหญ่ หรือเป็นหัวหน้า มีทั่วไปทั้งโลกยุคเริ่มแรกของภูมิภาคอุษาคเนย์ มีร่องรอยและหลักฐานชัดเจนเป็นที่รู้ทั่วไป เช่น นิทานกำเนิดบ้านเมืองและรัฐทั้งเขมรและมอญ ฯลฯ โดยเฉพาะเขมรมีนิทานเรื่องนางนาค แล้วไทยรับนิทานเรื่องนี้มา ยังเหลือเค้าอยู่ในกฎมณเฑียรบาลชื่อพระราชพิธีเบาะพก ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องบรรทมด้วยแม่หยัวพระพี่ ก็คือนางนาคอย่างเดียวกับนิทานของนครธม  ฉะนั้น แม่สี หมายถึงผีบรรพชนผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้หญิง ก็คือนางนาค (มีเพลงนางนาค ในชุดทำขวัญเป็นพยาน) ที่ปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์บ้านเมืองและรัฐจนถึงราชอาณาจักรที่ทุกคนต้องเซ่นวักไหว้ดีพลีถูก หากละเลยเพิกเฉยก็จะถูกอำนาจเหนือธรรมชาติบันดาลให้วิบัติล่มจม

ด้วยเหตุดังนี้ คนแต่ก่อนจึงต้องทำพิธีเลี้ยงผีบรรพชน ที่เรียกไปต่างๆ ว่า พิธีเลี้ยงผี ในวันขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นมหาสงกรานต์เดือนห้า ด้วยการเชิญผีมาลงทรง หรือเข้าทรง เพื่อขอคำทำนายทายทักว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารปีต่อไปที่จะมาถึงข้างหน้า จะอุดมสมบูรณ์หรือจะล่มแล้งแห้งตาย จะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้ถูกต้อง
 
เข้าทรงแม่สี
เข้าทรงแม่สี เป็นการละเล่นสำคัญที่สุดของพิธีเลี้ยงผีบรรพชนช่วงสงกรานต์  เริ่มด้วยเชิญผีบรรพชนมาลงทรงหญิงคนหนึ่งมีผ้าปิดตา (เข้าทรง) แล้วร่ายรำทำท่าต่างจากอาการปกติในชีวิตประจำวัน โดยมีชาวบ้านที่ร่วมพิธีพากันร้องเพลงและปรบมือเข้าจังหวะพร้อมกัน บางทีเคาะโกร่ง, เกราะ, กรับ (กระบอกไม้ไผ่ขนาดต่างกัน)
 
มีคำร้องตัวอย่างจากความทรงจำต่างๆ กันหลายสำนวนของชาวบ้านแต่ก่อน ดังนี้
           ๏ แม่สีเอย                แม่สีสาสะ
           ยกมือไหว้พระ           ว่าจะมีคนชม
           ขนคิ้วเจ้าต่อ              ขนคอเจ้ากลม
           ชักผ้าปิดนม              ชมแม่สีเอย

           ๏ แม่สีเอย                แม่สีสาวสด
           ใส่แหวนมรกต            ใส่แล้วผัดหน้า
           ดอกไม้ห้อยหู             สีชมพูห้อยบ่า
           น้ำอบชุบผ้า               ห่มเวลาเย็นเอย

           ๏ แม่สีเอย                แม่สีสาคร
           นมยานหน้าอ่อน         ผัวร้างเจ้าไว้
           กระดิกช้างน้อย เป็นทองคำเปลว
           เชิญมาเร็วเร็ว            เถิดแม่ทองสีเอย
 
          ๏ แม่สีเอย                แม่สีสาคร
          นมยานหน้าอ่อน        ผัวมาร้างเจ้าไว้
           สักสองสามปี             ว่าจะมีผัวใหม่
           แค้นอกแค้นใจ           เจ้าแม่สีเอย
 
แม่สี-นางนาค
แม่สีกับนางนาค เป็นผีบรรพชนเดียวกันของคนในชุมชนลุ่มน้ำที่อยู่ใกล้ทะเล เช่น ตระกูลมอญ-เขมร บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา  เมื่อตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำโขงลงไปตั้งหลักแหล่งที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปนกับตระกูลมอญ-เขมร  ก็รับความเชื่อนางนาคหรือแม่สีมาเป็นของพวกตนด้วย
 
มีเนื้อร้องเพลงนางนาคอยู่ในประชุมบทมโหรีโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะแต่งตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแม่สี เช่น ห่มสไบสีชมพู ฯลฯ ร้องนางนาค พรรณนาความงามของนางนาคที่แต่งตัวปักปิ่นทัดดอกไม้ ประดับดอกจำปาสองหู และที่สำคัญคือห้อยสไบสองบ่าสง่างาม ตามนิทานและตามประเพณีแต่งงาน ที่เจ้าบ่าวจะต้องเดินตามหลังโดยเกาะชายสไบเจ้าสาวเข้าหอ ดังนี้
 
          ๏ เจ้าเอยนางนาค       เจ้าคิดแต่เท่านั้นแล้ว
          เจ้าปักปิ่นแก้ว           แล้วเจ้ามาแซมดอกไม้ไหว   
          จำปาสองหูห้อย         สร้อยสังวาลแลมาลัย 
          ชมพูผ้าสไบ               เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม
 
กิจกรรมหลังเก็บเกี่ยว
เข้าทรงแม่สี เป็นพิธีเลี้ยงผีของคนชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่มีอยู่ก่อนรับศาสนาและสงกรานต์จากอินเดีย  เป็นกิจกรรมเรียกรวมๆ กว้างๆ ว่าประเพณีหลังการเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตเก่า (ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) เพื่อเตรียมตัวรับฤดูการเพาะปลูกใหม่ที่จะมาถึงในอีก ๒-๓ เดือนข้างหน้า (ราวเดือนมีนาคม-เมษายน)
 
เพลงดนตรี
สิ่งสำคัญในงานเลี้ยงผี คือ การละเล่น ที่ต้องทำร่วมกันทั้งชุมชน ทุกคนร่วมกันเล่นโดยไม่แยกว่าเป็นคนเล่นหรือคนดู   

เครื่องมือสื่อสารสำคัญคือดนตรีและเหล้า เพื่อหลอมละลายพฤติกรรมของทุกคนในชุมชนให้อยู่ในบรรยากาศและจินตนาการอย่างเดียวกันหมด 

ดนตรี มีหลากหลายไม่จำกัดเครื่องมือ สุดแต่ชุมชนนั้นๆ จะกำหนด แต่ที่เป็นหลักทั่วไปคือ ฆ้อง กลอง ปี่ แคน อันเป็นลักษณะร่วมของอุษาคเนย์ทั้งภูมิภาค
 
กลอง มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญเรียกกลองโทน หรือโทน เป็นเหตุให้เกิดการละเล่นเต้นฟ้อนตามจังหวะกลองโทน แล้วเรียกรำโทน (ที่ต่อมามีผู้คิดค้นสร้างสรรค์ใหม่แล้วเรียกรำวง เพราะชาวบ้านหญิงชายรำเป็นวงกลม)



เข้าทรงแม่สี (แม่ศรี) วันสงกรานต์ แม่สีต้องมีสไบพาดเหมือนคำร้องนางนาค ยุคอยุธยา
(แสดงตัวอย่างที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗)


เข้าทรงแม่สี อ.ศรีประจันต์ จ. สพรรณบุรี
(เอนก นาวิกมูล ถ่าย อา๒๗ พย ๒๕๓๗ SLA-0306-029)


เชิญแม่สีลงทรง บ้านพรงลำบิด หมู่ที่ ๓ ต.หนองโสน อ.เมืองฯ จ.ตราด
(ภาพจาก https://www.youtube.com เผยแพร่โดย สมชาย ก้องสนั่น เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๖)


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

Kimleng:

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน คนเล่นเป็นควาย ในพิธีขอฝน เดือน ๖


คนสวมเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกายคล้ายอยู่ในพิธีกรรม
จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกายแสดงถึงความสำคัญซึ่งมีบทบาทต่อการทำไร่ไถนา
(ลายเส้นคัดลอกจากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี)

เลี้ยงผีบรรพชน เดือน ๕ หน้าแล้ง มีการละเล่นต่อเนื่องยาวนานถึงเดือน ๖ ขอฝน

บวชควาย เป็นการละเล่นในพิธีเลี้ยงผีบรรพชนประจำปีในหน้าแล้งของชาวบ้านเพื่อขอฝนทำนา โดยคนกลุ่มหนึ่งแต่งเป็นควายและแต่งเป็นอื่นๆ เล่นกันทั้งชุมชน แล้วจบลงด้วยกินเลี้ยงกินเหล้า

คนสวมเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกายคล้ายอยู่ในพิธีกรรม จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกาย แสดงถึงความสำคัญ ซึ่งมีบทบาทต่อการทำไร่ไถนา (ลายเส้นคัดลอกจากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ. อุทัยธานี)

คนสวมเครื่องประดับศีรษะ และเครื่องแต่งกายคล้ายอยู่ในพิธีกรรม จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกาย แสดงถึงความสำคัญ ซึ่งมีบทบาทต่อการทำไร่ไถนา (ลายเส้นคัดลอกจากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ. อุทัยธานี)

ยุคดึกดำบรรพ์ทำกันทั่วไปทั้งภูมิภาค ดังพบในภาพเขียนสีราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งบริเวณลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ทุกวันนี้เหลือร่องรอยในอีสานและมณฑลกวางสีในจีน

[บวชควาย เป็นชื่อใหม่ แต่โครงสร้างหลักของการละเล่นเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมดึกดำบรรพ์]

คำว่า บวช (ในชื่อบวชควาย) ยืมจากศัพท์พุทธศาสนา หมายถึงพิธีกรรมปรับเปลี่ยนสถานะของคนเล่นเป็นควาย จากคนธรรมดาๆ เป็นควายศักดิ์สิทธิ์ ต้องเป็นบุคคลในตระกูลสายแหรกที่ได้รับมอบหมายถ่ายทอดจากชุมชนให้ทำพิธีกรรมนี้ (คนอื่นนอกสายแหรกทำไม่ได้)

[บวชในพุทธศาสนา หมายถึงชายเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดาเป็นนักบวช เช่น ภิกษุ, สามเณร โดยโกนผม แล้วนุ่งห่มด้วยผ้าย้อมสีที่กำหนด]

 

ควายให้กำเนิดคน
คนสองฝั่งโขงเชื่อว่าควายให้กำเนิดคน โดยคนออกมาจากน้ำเต้าปุงที่งอกจากซากจมูกควายที่ตายแล้ว หลังจากพญาแถนส่งควายลงมาบนโลก อีกทั้งมีนิทานเล่ากันในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าควายสอนคนให้ปลูกข้าว

นอกจากนี้ คนเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วยังฝังโครงกระดูกควายหรือควายดินเผาร่วมกับศพ เช่น ที่บ้านเชียง และบ้านนาดี จ. อุดรธานี แสดงถึงความสัมพันธ์ของควายต่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบันชาวจ้วงทางตอนใต้ของจีนยังมีประเพณีที่ยกย่องวัวควายในฐานะผู้ทำให้การเพาะปลูกเจริญงอกงาม


คนแต่งเป็นควายและสัตว์อื่นๆ เกี่ยวกับทำนา เช่น กบ ฯลฯ ในการละเล่นบูชากบขอฝน
ที่หมู่บ้านชาวจ้วง (พูดตระกูลภาษาไท-กะได มณฑลกวางสี ในภาคใต้ของจีน
ติดกับมณฑลกวางตุ้งและเวียดนามภาคเหนือ (ภาพเมื่อมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๗)


การละเล่นบวชควายเพื่อขอฝน เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ บ้านหวายหลึม กับบ้านแมด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด
(ซ้าย) ชกมวยวาย “ปู่เผ้า เจ้าโฮงแดง” ซึ่งชาวเชียงขวัญเชื่อว่าเป็นบรรพชน
(ขวา) ขบวนควายหลวงหรือควายจ่า ฟ้อนเซิ้งครึกครื้นไปกับเสียงดนตรีที่มี “พังฮาด”
(ฆ้องไม่มีปุ่ม) เคียงข้างด้วย “นางว่า” ชายแต่งกายเป็นหญิง

กระอั้วแทงควาย

การละเล่นบวชควายในอีสาน เป็นร่องรอยที่หลงเหลือของพิธีฆ่าควาย (แทงควาย)เอาเลือดควายทำพิธีศักดิ์สิทธิ์เซ่นผีบรรพชน ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

พบหลักฐานเก่าสุดในภาพเขียนสีราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว บนเพิงผาและผนังถ้ำ มีรูปควายกับคน ทั้งที่ภาคกลางและภาคอีสาน (นักโบราณคดีไม่อธิบายว่าพิธีอะไร?)

ยุคแรกเริ่มดั้งเดิมการละเล่นนี้ไม่ชื่อบวชควาย(อย่างที่ชาวบ้านเรียกปัจจุบัน) แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าชื่อดั้งเดิมว่าอะไร?

ชื่อการละเล่นอย่างนี้เก่าสุดเรียกกระอั้วแทงควาย มีร่องรอยสืบเนื่องตั้งแต่สมัยอยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์ ในพระราชพิธีสมโภชต่างๆ

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในโบสถ์วัดพระแก้ว วังหน้า [(วัดบวรสุทธาวาส) ใกล้โรงละครแห่งชาติ เชิงสะพานปิ่นเกล้า ฝั่งกรุงเทพฯ]



กระอั้วแทงควาย จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดพระแก้ว วังหน้า
[ภาพจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ ๗ นาฏดุริยางคศิลป์ไทย กรุงรัตนโกสินทร์
พิมพ์เป็นที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๖๓]


ลายเส้นคัดลอกกระอั้วแทงควายจากจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดพระแก้ว วังหน้า
โดย ธัชชัย ยอดพิชัย

แล้วยังบอกมีไว้ในหนังสือโคลงดั้นเรื่องโสกันต์ พระราชนิพนธ์ ร.๕ ดังนี้

         นางกระอั้วกั้นร่มเว้า            เผอเรอ
         แป้งเปรอะห่มแดงนม            พลัดกลิ้ง
         เคี้ยวหมากผย่ำเผยอ           ยาจุก ตุ่ยนา
         ทำกระตุกกระติกตุ้งติ้ง          ติดผัว
         พบควายร้องหวีดว้าย           ตะกุย ตาแฮ
         ควายไล่กระชั้นตัว              หอกจ้อง
         กระจายหกกระจุกกระจุย       ของหมด
         ต่างวิ่งวุ่นว้าร้อง                 ช่วยที

ต่อมาชาวบ้านเลียนแบบไปเล่นสืบถึงทุกวันนี้ เรียกกระตั้วแทงเสือ แล้วมีบทร้องทำนองเพลงกราวตะลุงว่าบ้องตันถือหอกไปแทงเสือ


กระอั้วแทงควาย การละเล่นมหรสพหลวง
[ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กระทรวงวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๗หน้า ๒๖]

แทงควาย กลายเป็นแทงเสือ
กระตั้วแทงเสือ เป็นการละเล่นของชาวบ้านภาคกลาง ยุคปัจจุบัน [เป็นอย่างเดียวกันกับเพลงทำนองกราวตะลุง ร้องบ้องตันถือหอกไปแทงเสือ]

ลักษณะโครงสร้างเรื่องอย่างนี้ดัดแปลงเลียนแบบการละเล่นของหลวง ชื่อกระอั้วแทงควาย ทุกวันนี้ในอีสานยังมีการละเล่นแบบนี้ เรียกบวชควาย [มีรายงานพิเศษเรื่องบวชควายอยู่ในประชาชื่น มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ หน้า ๑๗]



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน นาตาแฮก แรกนาขวัญ เดือนหก

เดือนหกเริ่มเข้าฤดูการผลิตใหม่ เพราะฝนเริ่มตกแล้ว ถึงเวลาต้องเตรียมเครื่องมือทำไร่ไถนา

ที่สำคัญก็คือต้องทำพิธีแรกนาหรือนาแรก ทางอีสานเรียกนาตาแฮก ในทวาทศมาส (โคลงดั้น) เอกสารยุคต้นกรุงศรีอยุธยา พรรณนาฤดูเดือนหก (ไพศาขย) เริ่มมีฝนตกแล้วว่า “ฤดูไพศาขยสร้อง ฝนสวรรค์” ต่อจากนี้ไปจะมีพิธีแรกนาขวัญ

แรกนาขวัญชุมชนหมู่บ้านทุกแห่งจะมีธงปักและผูกคันไถปลิวไปตามลมทุกหนทุกแห่ง ทวาทศมาส (โคลงดั้น) พรรณนาว่า
       ๏ เดือนหกเรียมไห้ร่ำ                  ฤๅวาย
          ยามย่อมชนบทถือ                 ท่องหล้า
          ธงธวัชโบกโบยปลาย                งอนง่า
          คิดว่ากรกวักข้า                    แล่นตาม ฯ
          ๏ ทันธงบใช่น้อง                    เรียมทรุด
          หิวคระหนรนกาม                   พรั่นกว้า
          ธวัชงอนโบกโบยสุด                 ลิ่วลี่
          กรใช่กรหน้าหน้า                   ใช่น้องนาไถ ฯ

จนถึงปลายกรุงศรีอยุธยาก็ยังมีพรรณนาแรกนาขวัญไว้ในนิราศธารโศกของเจ้าฟ้า ธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ว่า
          ๏ เดือนหกสรกฝนสวรรค์           จรดนังคัลตามพิธี
          แรกนาเข้าธรณี                     พี่ดูเจ้าเปล่าใจหาย
          ๏ เดือนหกตกครั่นครื้น              ฝนสวรรค์
          พิธีจรดนังคัล                        ก่อเกล้า
          แรกนาจอมไอศวรรย์                 กรุงเทพ
          พี่แลบเห็นเจ้า                        เปล่าแล้วใจหาย

 นาตาแฮก แรกนาขวัญ
แรกนาขวัญ เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณลุ่มน้ำโขงว่า นาตาแฮก (แฮก คือ แรก)

หมายถึงการไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางทีเรียกผีนาหรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งเช่นภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วย



นาตาแฮก มีต้นข้าวปักดำเป็นแถว มีวัวหรือควาย กับมีคนถืออาวุธทำท่าล่าวัวควายและมีมือประทับทำแนวโค้ง
พร้อมด้วยลายขีดข่วน [ลายเส้นจำลองจากภาพเขียนสีราว๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี]

พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว สมัยก่อนๆ ทุกคนที่มีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะทำนาจริง

ต่อมาเมื่อราชสำนักรับศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี

เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น และรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ

ภาษาทางราชการเรียกจรดพระนังคัล เป็นคำเขมร (นังคัล คือ ผาลไถนา) แปลว่าไถนาครั้งแรก มีหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่าพระเจ้าแผ่นดินยุคต้นอยุธยาหรือก่อนนั้นมอบให้เจ้านายและขุนนางทำพิธีนี้เพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร จะละเว้นมิได้ ต้องทำทุกปี จึงมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขวัญ มีอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ
คนทุกคนในชุมชน (ยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) นานมาแล้วเชื่อว่ามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ ส่วน คือ

ส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ร่างกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือขวัญ

แม้สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติก็มีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงมีพิธีแรกนาขวัญ

ขวัญต่างจากวิญญาณ (ในคำสอนทางศาสนา) เพราะเมื่อคนตายไปวิญญาณก็ดับหายไป แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ส่วนไหนของโลก

ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้นร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไปเจ้าของขวัญก็ไม่มีความสุข ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้ ฉะนั้นเมื่อคนเราเจ้าของขวัญเจ็บป่วยแสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว มีความจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญให้กลับเข้าสู่ตัวตนเหมือนเดิม จะได้อยู่ดีมีสุขตามปกติ

พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่น เช่น เรียกขวัญ, สู่ขวัญ, ทำขวัญ ฯลฯ เป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันในระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชน ที่เริ่มมีขึ้นในสังคมชาวนาที่ล้าหลังทางเทคโนโลยี ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว บรรดาเครือญาติจะจัดขึ้นเมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งเหตุดีและเหตุไม่ดี เช่น ฝันร้าย รวมทั้งได้รับอุบัติเหตุเภทภัยจากสถานการณ์ต่างๆ

ผู้ทำพิธีเกี่ยวกับขวัญด้วยการท่องบ่นคำสู่ขวัญเป็นทำนองอย่างหนึ่งด้วยฉันทลักษณ์กลอนร่าย เรียกหมอขวัญ เป็นคนเดียวกับหมอผี-หมอพร เทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญพิเศษในวิชาความรู้เหมือนนักบวชในศาสนาต่างๆ สมัยหลัง โดยใช้เครื่องมือสื่อสารกับขวัญและอำนาจเหนือธรรมชาติคือดนตรี มีฆ้องกับแคนเป็นหลัก ที่ภายหลังเรียกปี่-กลอง


พิธีแรกนาขวัญของราชสำนักรัฐสุพรรณภูมิ (ร่วมยุครัฐละโว้-อโยธยา) ราวหลัง พ.ศ.๑๘๐๐
(เศษภาชนะดินเผามีลายประทับรูปบุคคล คันไถ และวัว จากเตาเผาบ้านบางปูน ต.พิหารแดง อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี)


(ซ้าย) ชาวบ้านอีสานกำลังสวดขวัญวิงวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติในพิธีนาตาแฮก
โดยปลูกต้นข้าว ๗-๘ ต้น เรียกปักกกแฮก (ภาพก่อน พ.ศ.๒๕๔๗)
(ขวา) ชาวบ้านกำลังแรกนาขวัญก่อนทำนาจริง บ้านโพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน
จ.พระนครศรีอยุธยา (ถ่ายราว พ.ศ.๒๕๔๗)


พิธีแรกนาขวัญ แถวขบวนของพระยาแรกนาขณะทำพิธีแรกนาที่ท้องสนามหลวง
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)




วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ขอฝน เดือน ๖ กบ คางคก คันคาก

เดือนหกตามธรรมชาติจะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้าง แต่บางปียังไม่มีฝน คนทั้งหลายเดือดร้อน เพราะวิตกว่าจะลงมือทำนาไม่ได้ เลยเกิดประเพณีขอฝน

ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือจุดบั้งไฟขอฝน จากระบบความเชื่อดั้งเดิมดึกดำบรรพ์เกี่ยวกับกบและคันคาก (คางคก) มากกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำ
ความเชื่อว่าสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างกบ-คางคก-คันคาก เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มีมาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว พยานหลักฐานมี ๒ อย่าง คือ

•กบสัมฤทธิ์ ประดับอยู่หน้ากลองทอง หรือกลองสัมฤทธิ์ ที่เรียกกันภายหลังว่ามโหระทึก ใช้ตีขอฝน ฯลฯ พบทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
•คนทำท่ากบ เป็นภาพเขียนสีบนหน้าผาในถ้ำ และสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ วาดรูปคนกางแขน-ขาทำท่าเหมือนกบ พบมากที่ชุมชนชาวจ้วงที่มณฑลกวางสีในจีน แล้วยังพบในไทยด้วย มีอายุราว ๒,๐๐ ปีมาแล้ว

ลายสัก หรือสักหมึก ตามร่างกาย แขนขาของผู้คนชนเผ่าในอุษาคเนย์ ล้วนเกี่ยวข้องกับกบ เพราะยุคแรกเริ่มทำลวดลายเหมือนผิวหนังกบจริงๆ ถือเป็นเครื่องรางปกป้องคุ้มครองให้คลาดแคล้วจากภยันตรายและทำให้มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

เหตุที่คนแต่ก่อนทำท่ากบ เพราะเชื่อว่ากบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์สื่อสารกับอำนาจอย่างหนึ่งได้ ทำให้มีน้ำฝนหล่นจากฟ้ามาสร้างพืชพันธุ์ธัญญาหารความอุดมสมบูรณ์

แต่ฝนก็ไม่ได้ตกลงมาทุกคราวตามต้องการ เพราะยังมีฤดูที่ฝนไม่ตก ทำให้แห้งแล้ง คนเลยต้องบูชากบเพื่อวิงวอนร้องขอให้กบช่วยบอกผู้มีอำนาจบนฟ้าปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนตก

นี่เองจึงมีพิธีกรรม มีการละเล่นเต้นฟ้อนทำท่ากบบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ลานกว้างตรงหน้าผาที่เขียนรูปไว้บูชาเซ่นวักวิงวอน ดังมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่ผาลายในมณฑลกวางสี จนถึงสองฝั่งโขงที่ผาแต้ม (จ.อุบลราชธานี) กับเขาปลาร้า (จ.อุทัยธานี)

คันคาก
แต่การวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติผ่านพิธีบูชากบไม่สำเร็จเสมอไป เพราะมนุษย์ควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ฉะนั้นหลายครั้งฝนก็ไม่ตกตามที่คนต้องการ

เลยจินตนาการว่าผู้มีอำนาจบนฟ้ากำลังประพฤติมิชอบ ต้องกำราบปราบปรามให้อยู่ในความควบคุม แล้วปล่อยน้ำฝนหล่นมาตามต้องการเมื่อถึงเวลาฤดูกาลทำไร่ทำนา

ทำให้คนสร้างเรื่องขึ้นจากจินตนาการ แล้วบอกเล่ากันปากต่อปากสืบมาเป็นนิทาน เรื่องพญาคันคาก หรือคางคกยกรบขอฝนจากแถนบนฟ้า ทำให้เกิดประเพณีจุดบั้งไฟบอกแถนฟ้าให้ฝนตก แต่ลงท้ายก็ล้มเหลวหมด คือเอาชนะธรรมชาติอย่างแท้จริงไม่ได้

คันคาก เป็นคำลาว ตรงกับคำไทยว่า คางคก คันคาก หรือคางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประเภทเดียวกับกบ รวมทั้งเขียดและอึ่งอ่าง ที่คนดั้งเดิมเริ่มแรกยุคดึกดำบรรพ์ (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) เคารพยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของน้ำและฝน เพราะสัตว์พวกนี้มักปรากฏตัวและส่งเสียงดังเมื่อฝนตกลงมาเป็นน้ำนองทั่วไป ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้คนทุกชนเผ่าที่มีหลักแหล่งอยู่เขตมรสุมที่ทำกสิกรรมโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น เพราะยังล้าหลังทางเทคโนโลยี

คำบอกเล่าอย่างนี้ ยุคแรกเริ่มเป็นเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ ใช้บอกเล่าสาธยายในพิธีกรรมขอฝน นานเข้าก็แต่งเติมเสริมต่อยาวขึ้น เมื่อตกไปอยู่กับกลุ่มชนต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มรายละเอียดเข้าไปอีกให้เป็นไปตามประสบการณ์ของกลุ่มตน

ครั้นบางกลุ่มเมื่อรับศาสนาจากบ้านเมืองและรัฐที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังบอกเล่าเรื่องเก่าๆ ต่อเนื่องมา แต่เพิ่มความเชื่อใหม่ที่ได้จากศาสนาเข้าไปด้วย ดังมีแทรกในเรื่องพญาคันคาก

ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ห่างไกลและล้าหลังทางเทคโนโลยี เพราะไม่ได้รับศาสนาจากที่ไหน ก็สืบทอดแบบแผนดั้งเดิมไว้มากที่สุด ดังพบในกลุ่มชนชาติจ้วงที่มณฑลกวางสี ยังมีพิธีกรรมบูชากบแล้วมีการละเล่นเต้นฟ้อนทำท่ากบเหมือนภาพเขียนสีเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วสืบจนทุกวันนี้

นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าในรูปของนิทานบันทึกไว้ มีโครงเรื่องใกล้เคียงคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องแถนที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มไทยดำทางภาคเหนือของเวียดนาม กับพงศาวดารล้านช้างในลาว

นิทานของชาวจ้วงไม่มีนาค แต่เรื่องพญาคันคากมีนาค เพราะคำนี้ไม่ใช่สมบัติของคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้ หากเป็นคำในตระกูลอินโด-ยุโรป ที่คนจากชมพูทวีป (อินเดีย) ใช้เรียกคนพื้นเมืองที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีอย่างรวมๆ และโดยเฉพาะที่มีหลักแหล่งอยู่ทางปากน้ำโขง, เจ้าพระยา, และสาละวิน ต่อมาภายหลังจึงแพร่หลายทั่วไปถึงดินแดนภายใน แล้วมีความหมายเปลี่ยนไปเป็นงู ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษ แต่มีอำนาจควบคุมน้ำและมีหลักแหล่งอยู่ใต้ดิน เรียกว่าบาดาล

บริเวณสองฝั่งโขงยุคดึกดำบรรพ์เชื่อว่าหนองน้ำคือถิ่นที่อยู่ของนาค และน้ำผุด น้ำพุ น้ำซึม น้ำซับ รวมทั้งบ่อน้ำ คือรูนาค ที่เป็นเส้นทางไปมาของนาค จอมปลวกก็คือรูนาคอย่างหนึ่ง เพราะมีตาน้ำอยู่ข้างใน

แต่เรื่องพญาคันคากกำหนดให้น้ำอยู่บนฟ้า มีพญาแถนรักษาไว้ น้ำบนฟ้าจะตกลงมาเป็นน้ำฝนให้มนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อนาคจากบาดาลขึ้นไปเล่นน้ำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ไปกระทบโขดหินขุนเขาบนสวรรค์ คือหมู่เมฆนั่นเอง น้ำบนฟ้าจึงจะแตกกระจายกลายเป็นฝนหล่นลงมาสู่โลก ถ้านาคไม่ขึ้นไปเล่นน้ำก็ไม่มีฝน

โครงเรื่องอย่างนี้สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อของมนุษย์ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างดินกับฟ้าว่าต้องอ้างอิงเกี่ยวข้องกัน

วัฒนธรรมฆ้อง
ฆ้อง เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ มีแหล่งกำเนิดบนผืนแผ่นดินใหญ่ แล้วแพร่กระจายลงไปทางหมู่เกาะทะเลใต้ มีใช้ในทุกกลุ่มชาติพันธุ์สืบเนื่องถึงทุกวันนี้

คำว่าฆ้อง อยู่ในตระกูลภาษาชวา-มลายู คำเดียวกับระฆัง เคยมีใช้ในภาษาไทยคู่กันว่าระฆ้องระฆัง แต่ต่อมากร่อนกลายเหลือเป็นฆ้องคำหนึ่ง และระฆังอีกคำหนึ่ง

คำว่าฆ้องใช้เรียกเครื่องมือทำด้วยโลหะ เช่น ทองสัมฤทธิ์ ฯลฯ แต่มักรู้จักทั่วไปว่า กลองทอง (หรือมโหระทึก) และใช้ประโคมตีขอฝนให้เป็นเสียงสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ คือผี ฯลฯ ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาชนเผ่าชาติพันธุ์ทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

กลองทองบางใบมีรูปกบหล่อสัมฤทธิ์ลอยตัว ประดับหน้ากลองเป็นสี่ตำแหน่ง คนบางกลุ่มจึงเรียกฆ้องกบ เพราะกบเป็นสัญลักษณ์ของฝนที่บันดาลน้ำให้ทำนา


พิธีกรรมขอฝนมีกลองทองอยู่ด้วยเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว (จากภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จ. กาญจนบุรี)


กบบนหน้ากลองทอง สัญลักษณ์สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้ฝนตก


ฆ้องและกลองทอง เครื่องประโคมในพิธีแรกนาขวัญ เป็นสัญลักษณ์ขอฝน
(พิธีแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๕๔๗)

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

Kimleng:

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน แห่นางแมว แล้วปั้นเมฆ ขอฝน เดือน ๖
(ประเพณี ๑๒ เดือน


ขอฝน เดือน ๖ ไม่มีกำหนดรูปแบบตายตัวว่าต้องอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น

จะทำยังไง? เมื่อไร? แค่ไหน? ฯลฯ แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ จะตกลงร่วมกัน เช่น ขอแล้วขอเล่าฝนก็ไม่ตก ท้ายสุดต้องจุดบั้งไฟ ง่ายสุดคือแห่นางแมว กับปั้นเมฆ



ขบวนแห่นางแมวที่บ้านหัวสำโรง กิ่ง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
(รูปจากรายการพื้นบ้านสัญจร พิมพ์ในหนังสือเพลงนอกศตวรรษ
ของ เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๐)


“ตุ๊กตาโดเรมอนก็เป็นแมวเหมือนกัน” ที่ชาวบ้านต้องใช้ตุ๊กตาโดเรมอนแทนแมวจริงๆ
เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ที่เคยเกิดปัญหาในหลายพื้นที่ นับเป็นพลังสร้างสรรค์
ด้วยอารมณ์ขันยอดเยี่ยม ที่หลีกเลี่ยงกระทำทารุณแมว ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งประเพณีแห่นางแมว

แห่โดเรมอน–ชาวบ้าน ๕ หมู่บ้าน ต.วังหลวง อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ รวมตัวกันแห่นางแมวขอฝน
หลังพื้นที่การเกษตรกว่า ๔,๗๕๐ ไร่ ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยใช้ตุ๊กตาแมวโดเรมอนแทน
 เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน
(ภาพและคำอธิบายภาพจากมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ หน้า ๑๑)

คาถาปลาช่อน
 แห่นางแมว ต้องมีคาถาปลาช่อนของชาวบ้านภาคกลางมีบทร้องขอฝนด้วย แต่มีหลายสำนวน จะยกตัวอย่าง ๒ สำนวน ดังนี้

“นิมนต์พระมา สวดคาถาปลาช่อน ปั้นเมฆเสียก่อน —–”

“นิมนต์ขรัวชั่ว สวดคาถาปลาช่อน ขี้เมฆสองก้อน มีละครสามวัน จับคนชนกัน ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา…”

ปลาช่อน เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย ที่มักรู้จักทั่วไปในนามปลัดขิก

ถ้าอวัยวะเพศหญิง บางทีเป็นปลาสลิด, ปลากระดี่ มีรูปร่างแบนๆ แต่มักจะใช้หอย เพราะพบเปลือกหอยบ่อยๆ ในแหล่งโบราณคดี ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว



ขอฝน – ชาว อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่งกายชุดสีขาวร่วมกันประกอบพิธี
สวดพุทธมนต์ขอฝนพระพุทธไสยาสน์ หน้าองค์พระพุทธไสยาสน์
วัดธรรมจักรเสมาราม อ.สูงเนิน (พระนอน) พร้อมโยงสายสิญจน์กับอ่างปลาช่อน ๙ ตัว
“สวดคาถาปลาช่อน” ตามความเชื่อท้องถิ่นในการขอฝน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ
ต่อการต่อปลูกข้าวนาปี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน (ภาพและคำอธิบายภาพจากมติชน
ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ หน้า ๑๑)

ปั้นเมฆขอฝน
ชาวบ้านปั้นเมฆขอฝนด้วยดินเหนียว ขนาดเท่าคนจริง ชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ร่วมเพศกัน โดยมีผู้ชายอีก ๑ คนนั่งดู บริเวณทางสามแพร่ง ปากทางเข้าบ้านนาตะกรุด ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ชาวบ้านบอกว่าทำเป็นประเพณีสืบทอดมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว

หุ่นผู้ชายชื่อนายเมฆ และหุ่นผู้หญิงชื่อนางฝน และหุ่นผู้ชายที่นั่งดู หรือรอต่อคิว ชื่อนายหมอก

ภาพอุจาดประจานต่อสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา เชื่อว่าทำให้เกิดอาเพศ เทวดาทนดูไม่ได้ จึงดลบันดาลให้ฝนตกลงมา ชะล้างหุ่นดินเหนียวให้ละลายหายไป

(ข่าวสด ฉบับวันพุธที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๔)

“ปั้นเมฆ” กับ “เมฆสองก้อน” ในประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้าน คือปั้นหอยกับหำขนาดใหญ่ แล้วตั้งไว้ที่โล่งแจ้งให้คนเห็นทั้งชุมชน

หรือมิฉะนั้นก็ปั้นหญิงกับชายเปลือยกายปี้กัน แล้ววางไว้กลางทุ่งนา หรือลานกลางบ้านก็ได้

ปั้นเมฆ เป็นคำเก่าแก่ดั้งเดิม หมายถึงพิธีขอฝน โดยทำรูปอวัยวะเพศหญิงกับชายไว้กลางแจ้งขนาดใหญ่และอุจาดที่สุด บางทีปั้นรูปหญิงชายร่วมเพศ เพราะเชื่อว่าทำให้มีน้ำฝนพุ่งหล่นจากเมฆบนฟ้า

เคยพบรูปหล่อสำริดหญิงชายเฮ็ดกันในวัฒนธรรมดองซอน (อยู่ภาคเหนือของเวียดนาม) ราว ๒,๕๐๐  ปีมาแล้ว



พิธีโบราณ–ชาวบ้านนาตะกรุด อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
ปั้นดินเหนียวเป็นรูปชาย-หญิงเสพสังวาส ตั้งไว้กลางสามแยกทางเข้าหมู่บ้าน
ระบุเป็นพิธีกรรมขอฝนแบบโบราณกว่า ๑๐๐ ปี หลังจากแห่นางแมวแล้ว แต่ฝนไม่ตก
(ภาพและคำบรรยายภาพจากข่าวสด ฉบับวันพุธที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑)


พิธีร่วมเพศขอฝน เพื่อความอยู่รอดของคนทั้งเผ่าพันธุ์ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
(ซ้าย เส้นทึบ) ภาพเขียนสีที่ผาลาย ของชาวจ้วง มณฑลกวางสี จีน
(ขวา เส้นโปร่ง) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ ประดับภาชนะสัมฤทธิ์ พบที่เวียดนาม

ร่วมเพศ เป็นพิธีกรรม
นอกเหนือจากเพื่อสืบพันธุ์หรือดำรงเผ่าพันธุ์ ร่วมเพศยุคดึกดำบรรพ์เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอฝนด้วย

เพื่อขอความงอกงามอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร และเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ มีหลักฐานโบราณคดีจำนวนไม่น้อย แสดงพิธีร่วมเพศ

คำขับบอกเล่าเรื่องราวบรรพชนในพิธีเลี้ยงผี มีพรรณนาการร่วมเพศเพื่อขอฝน เช่น คำเล่าความเมืองของผู้ไทในเวียดนาม เป็นต้น

ตำนานเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในกัมพูชา เชื่อว่าทุกคืนนางนาคแปลงร่างเป็นสาว เพื่อร่วมเพศสมพาสกับพระราชาบนปราสาท ถ้าคืนใดพระราชาไม่ร่วมเพศสมพาสกับนางนาคคราวนั้นพระราชาก็จะถึงกาลวิบัติ และบ้านเมืองจะล่มจม

กฎมณเฑียรบาลกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าพระราชพิธีเบาะพกที่พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปบรรทมกับแม่นางเมือง (เรียกแม่หยัวพระพี่) ในพระตำหนักศักดิ์สิทธิ์

[หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงร่วมเพศสมพาสกับนางนาค ซึ่งเป็นแบบแผนดั้งเดิมที่สืบจากกัมพูชา]




วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน บุญกลางบ้าน เลี้ยงผีบ้าน
(ประเพณี ๑๒ เดือน

บุญกลางบ้าน ปัจจุบันหมายถึงทำบุญเลี้ยงพระกลางหมู่บ้านเพื่อสะเดาะเคราะห์ เดือน ๖ ต่อเนื่องเดือน ๗ (ราวพฤษภาคม)

กำหนดเวลาไม่ตายตัว โดยขึ้นกับหมู่บ้านจะนัดหมายกัน เพราะเป็นงานเฉพาะชุมชนหมู่บ้าน

เช้า นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า เสร็จแล้วเอากระทงเครื่องเซ่นไปพลีไว้ที่ใดที่หนึ่งของหมู่บ้าน เช่น ทางสามแพร่ง ฯลฯ

 
เลี้ยงผีบ้าน
บุญกลางบ้าน มีต้นเค้าหรือรากเหง้าเก่าแก่จากพิธีเลี้ยงผีบ้านบริเวณลานกลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนยุคแรกเริ่มมากกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว (ก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากผีร้ายและการกระทำต่างๆ จากผีเลว

ผีบ้าน หมายถึงผีบรรพชนเจ้าที่ คอยปกป้องคุ้มครองชุมชนหมู่บ้าน

บ้าน ยุคดั้งเดิมหมายถึงหมู่บ้าน, ชุมชน ตรงกับ village, community

เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัยเป็นหลังๆ ตรงกับ house, home แต่ละหลังมีผีเรือน คือ ผีบรรพชนของตระกูล หรือครอบครัวนั้นๆ

ลานกลางบ้าน
ลานกลางบ้านยุคดึกดำบรรพ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี เป็นที่ฝังศพของตระกูลหมอมด, หมอผี, หัวหน้าเผ่า

ที่ฝังศพ
ที่ฝังศพของหัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นหมอมด, หมอผี อยู่ลานกลางบ้าน บางทีอยู่ใต้ถุนเรือนของใครของมัน

ตัวอย่างสำคัญเป็นพยาน ได้แก่ บ้านเชียง (จ. อุดรธานี) นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ มีเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับจำนวนมากฝังรวมด้วย ล้วนเป็นของมีค่าในยุคนั้น และทำด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น สำริด, เหล็ก อายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว

โครงกระดูกเหล่านี้เป็นของตระกูลหมอมด, หมอผี, หัวหน้าเผ่า เพราะคนทั่วไปไม่มีสมบัติมากอย่างนั้น และไม่มีพลังขุดหลุมฝังศพ เพราะไม่มีบริวาร ต้องทิ้งศพไว้ในป่าดงให้แร้งกากิน

ที่ฝังศพยุคดึกดำบรรพ์ไม่เรียกป่าช้าสถานที่น่ารังเกียจเหมือนปัจจุบัน เพราะแนวคิดเกี่ยวกับคนตายต่างจากปัจจุบัน


ตุ๊กตาเสียกระบาน ไม่ใช่ตุ๊กตาคอหัก
ตุ๊กตาเสียกระบาน เป็นความเชื่อในศาสนาผีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย หรือก่อน พ.ศ.๑๐๐๐

เก่าสุดเท่าที่พบขณะนี้ทำด้วยดินเผา มีขนาดเล็กๆ ทั้งรูปคน, สัตว์ ราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว และอายุหลังลงมาพบจากการขุดค้นที่เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

[มีในบทความเรื่องประติมากรรมพื้นบ้านของอู่ทอง ของ เขียน ยิ้มศิริ (อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิมพ์ในหนังสือโบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง (กรมศิลปากร รวบรวมจัดพิมพ์ เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ หน้า ๖๑-๗๐)]

ตุ๊กตาเสียกระบาน หมายถึงตุ๊กตาที่ใส่ลงกะบานผี พร้อมเครื่องเซ่นสังเวยในพิธีสะเดาะเคราะห์ ไปทิ้งตรงทางแยก, ตามโคนต้นไม้, ในป่าช้า ฯลฯ หรือลอยน้ำ (พจนานุกรม ฉบับมติชน พ.ศ.๒๕๔๗ หน้า ๓๗๙ และ ๘๘๘)

ตุ๊กตา คือรูปปั้นขนาดเล็กทำจากดินเหนียว เป็นรูปคน, สัตว์, สิ่งของ ฯลฯ ที่เจ้าภาพหรือเจ้าบ้านต้องการสะเดาะเคราะห์ให้พ้นโรคภัยไข้เจ็บจากการกระทำของผีร้าย

เสีย แปลว่า ทิ้ง

กระบาน หมายถึง กระบะ หรือภาชนะเป็นสี่เหลี่ยมใส่เครื่องเซ่นสังเวย เรียก กะบานผี (บางทีเขียนปะปนเป็น กบาล หรือ กระบาล ก็มี)

ทุกวันนี้ยังทำเสียกะบาน (แต่บางแห่งเรียกกระทง) ใส่เครื่องเซ่นสังเวยโดยไม่มีตุ๊กตาวางไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งในกัมพูชา, ลาว, และไทย

แต่ก่อนมักเขียนว่า ตุ๊กตาเสียกระบาล แล้วเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าหมายถึงตุ๊กตาคอหัก หรือพระดินเผาขนาดเล็กคอหักเหมือนตุ๊กตาที่ใช้ทำบุญใส่บาตรว่าตุ๊กตาเสียกระบาล โดยเชื่อว่าต้องทำให้เศียรพระหักหรือคอหักเสียก่อน เท่ากับเสียเคราะห์หรือฟาดเคราะห์

ในความจริงเหตุที่หักเพราะตรงลำคอของรูปปั้นหรือหินแกะสลัก เป็นส่วนเปราะบางที่สุด แม้ขนาดใหญ่แกะด้วยหินก็ชำรุดตรงคอทั้งนั้น มีหลักฐานมากมายตามเมืองโบราณ โดยเฉพาะที่เมืองพะเยา (จ.พะเยา) มีพระพุทธรูปหินทรายเศียรหักเกลื่อนกลาด

กระบาล แปลว่า หัว, กะโหลกของหัว (แผลงจากคำเขมรว่ากฺบาล) ไม่เกี่ยวกับเรื่องตุ๊กตาเสียกระบานในการสะเดาะเคราะห์ แต่เสียงพ้องกับคำว่ากระบานที่ถูกลืมความหมายไปแล้ว เลยเอามาปนกัน



ตุ๊กตาเสียกระบาน ยุคดึกดำบรรพ์
(บน) ควายดินเผา ขุดพบในหลุมศพ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว บ้านนาดี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
(ล่างซ้าย) ควายดินเผา ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านใหม่ชัยมงคล ใกล้เมืองจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
(ล่างขวา) วัวดินเผา อายุราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบที่บ้านโนนหมากลา จ.ลพบุรี



บุญกลางบ้าน ต.เนินพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙
มีที่โรงเรียนวัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตเมืองพระรถ (ยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐)
เพราะแต่เดิมเป็นบริเวณเนินสูงกลางหมู่บ้าน (ก่อนสร้างโรงเรียน)  ของสำคัญบุญกลางบ้าน
ที่คนไปร่วมต้องถือไปด้วย คือ กระทงกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม ใบตองรองพื้น แต่ทำรูปสามเหลี่ยม
ก็ได้ตามถนัด แล้วมีห้องกั้นเล็กๆ ใส่ของ สำหรับใส่เครื่องสะเดาะเคราะห์ให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ

ห้องต่างๆ ใส่เครื่องเซ่น เช่น อาหารคาวหวาน, ข้าวขาว, ข้าวดำ, ข้าวแดง ฯลฯ
ที่สำคัญคือปั้นดินเหนียวรูปคนและสัตว์ เช่น วัว, ควาย ที่มีในครอบครัวเป็นตัวแทน
ของครอบครัวนั้นๆ ทุกวันนี้เมื่อไม่เลี้ยงวัวควาย แต่เลี้ยงสัตว์อื่น ก็ปั้นสัตว์นั้นแทน
เช่น แมว, หมา, หมู, กระต่าย ฯลฯ ปัจจุบันหาดินเหนียวไม่ได้ หรือไม่อยากเลอะมือปั้น
ก็ใช้ดินน้ำมัน หรือซื้อตุ๊กตาสำเร็จรูป

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

Kimleng:

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ตุ๊กตาเสียกระบาน บุญกลางบ้าน, บุญซำฮะ, บุญเบิกบ้าน
(ประเพณี ๑๒ เดือน)

ตุ๊กตาเสียกระบาน หมายถึงรูปจำลองคนและสัตว์ตามจำนาวนในครอบครัว ใส่ในกะบานผี ในงานเลี้ยงผีบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองจากผีร้าย

มีพิธีในเดือน ๖ ต่อเนื่องเดือน ๗ ทางภาคกลางเรียกบุญกลางบ้าน แต่ในอีสานเรียก บุญเบิกบ้าน, บุญซำฮะ

อ.สมชาย นิลอาธิ (จ. มหาสารคาม) ลงพื้นที่ร่วมงานบุญ แล้วมีรายงานพร้อมรูปถ่าย ดังต่อไปนี้
 
บุญเลี้ยงบ้าน
บุญซำฮะ (คือบุญชำระ) เป็นชื่อเรียกบุญประจำเดือน ๗ ในฮีต ๑๒ (แม้จะเป็นงานบุญประจำเดือน ๗ แต่บางแห่งก็จะเลื่อนมาจัดร่วมหรือติดๆ กันกับบุญบั้งไฟ เดือน ๖ ก็มี)

แต่ชาวบ้านอีสานรวมทั้งกลุ่มผู้ไท, ญ้อ เรียกแตกต่างกันอีกหลายชื่อ เช่น บุญเบิกบ้าน, บุญเลี้ยงบ้าน ฯลฯ เกี่ยวข้องกับความเชื่อผีปู่ตาและบือบ้าน

หลักบ้านของผีปู่ตา หรือเจ้าปู่ ตั้งอยู่ริมหมู่บ้าน มีข้อห้ามหลายอย่างในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ดินของเจ้าปู่และเป็นเจ้าของผู้รักษาทั้งต้นไม้และสัตว์ทุกชนิดจนหนาทึบเป็นป่าปู่ตา หรือดอนปู่ตา ซึ่งมักเรียกกันว่าหลักบ้าน

บือบ้านอยู่กลางชุมชน โดยมีหมอสูด (สูตรสวด) เป็นผู้ทำพิธีตอกหลักเสาไม้เป็นสัญลักษณ์ไว้ เรียกว่า บือบ้าน (สะดือบ้าน) หรือ หลักบือบ้าน ปรกติจะเป็นบริเวณลานดินกว้างใช้ประโยชน์ร่วมกันในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะในงานบุญซำฮะ

เสาหลักไม้ที่ปักอยู่ในลานกว้างกลางบ้านคือสัญลักษณ์ศูนย์กลางร่วมของชุมชน ทำพิธีกรรมเลี้ยงบ้านประจำปี แต่เดิมชาวบ้านจะช่วยกันทำความสะอาดสถานที่และสร้างตูบผาม (ปะรำ) ชั่วคราว เพื่อเป็นที่พักร่มทำพิธีกรรมที่มักเรียกภายหลังว่า ศาลากลางบ้าน

โดยจัดเตรียมเครื่องพิธีต่างๆ เพื่อวางบูชาอย่างน้อย ๕ แห่ง คือ เครื่องพิธีสำหรับเสาหลักบือบ้าน และเครื่องทำพิธีสำหรับวางไว้ ๔ ทิศ รอบหมู่บ้านซึ่งบางแห่งก็จะวางไว้ตามทางแยกริมๆ หมู่บ้านก็มีบ้าง
      
เตรียมหินกรวดและทราย กับช่วยกันขึงโยงฝ้ายสายสิญจน์อ้อมโยงไปตามหลังคาเรือนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน หรือโยงอ้อมรอบหมู่บ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์การร่วมพิธีกรรมที่จะขับไล่ผีร้าย และสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน

ต้องโยนหว่านหินกรวด เข้าในบริเวณบ้านหรือหลังคาเรือนให้เกิดเสียงขับไล่ผีร้ายไปด้วย

เครื่องพิธีสำคัญคือ ขันห้า มีดอกไม้ ๕ คู่ และเทียนขี้ผึ้ง ๕ คู่ สำหรับหมอสูดใช้ทำพิธีเกี่ยวกับผีวิญญาณทั้งผีดีและผีร้าย

พิธีกรรมเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงกลางบ้านมีสูด (สวด) มุงคุล โดยหมอสูดในตอนเย็น-ค่ำ ๓ วัน ติดต่อกัน เมื่อยอมรับศาสนาพุทธแล้วจึงมีการนิมนต์พระสงฆ์สวดพุทธมนต์เย็น ๓ วัน

หลายแห่งจะปรับการสร้างตูบผามชั่วคราวให้ถาวรด้วยการยกพื้นต่างระดับคล้ายจะเลียนแบบหอแจกคือศาลาการเปรียญในวัดจนเรียกว่าศาลากลางบ้าน

รุ่งเช้าของวันที่ ๔ ชาวบ้านร่วมถวายจังหันที่บริเวณหลักบือบ้าน จากนั้นร่วมขบวนกันไปตบประทายรอบๆ หมู่บ้าน และตามสี่แยก และให้ไปจบสุดที่บริเวณศาลปู่ตา ซึ่งตอนนี้จะมี “ควายจ่า” หรือ “ควายฮ้า” เข้าร่วมเล่นถวายบูชาเจ้าปู่ตา ร่วมกับชาวบ้าน ตบประทายด้วย

จบพิธีบุญเบิกบ้าน ด้วยการถวายเพลพระ
 
เครื่องพิธีบุญเบิกบ้าน
แต่เดิมทำกระทง ๙ ห้อง ด้วยกาบกล้วย ในแต่ละห้องปั้นดินเหนียวรูปคนและสัตว์ มีวัวควายใส่ไว้โดยไม่กำหนดจำนวน ทางภาคกลางเรียกตุ๊กตาเสียกระบาน ต่อภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้กาบกล้วยปาดแทงเป็นรูปคนสัตว์แทนดินเหนียว
 
สิ่งอื่นๆ ที่จัดใส่ในกระทง ๙  ห้อง มี เหมี้ยว, หมากคำ, ยากอก, ข้าวขาว, ข้าวดำ, ข้าวแดง, พริก, เกลือ, ปลาแดก, หอม, กระเทียม, เป็นต้น

ในอดีตเคยเชิญหมอสูตรทำพิธีสูตรเฉพาะในวันแรกเท่านั้น ภายหลังจึงนิมนต์พระสวดมงคลทั้ง ๓ วัน

ปัจจุบันตั้งเสาไม้ไผ่สูง ๔ เสาทำเป็นหอยกพื้นเหนือหลักบือบ้าน วางเครื่อง “คุรุพัน” เป็นเสมือนหลักประธานไว้กลางพื้นหอ ตบประทายไว้ ๔ มุมของเครื่องคุรุพัน, แต่งเสาทั้ง ๔ ต้นด้วยต้นกล้วย, อ้อย, ธงซ้อ (ธงหน้างัว), ฉัตร (กระดาษ), มุมเสาหอทั้ง ๔ วางเครื่องบูชามีขันหมากเบ็ง, กระทง, เครื่องคาว, กระทงหมากคำและยากอก, ดอกไม้

พื้นรอบหลักบือบ้าน ขึงราวเทียนรอบ ๔ ด้าน ยึดกับเสาหอ, โคนเสาวางอ่างใส่ใบบัว และจอกแหน, มะพร้าวแก่ออกงอกหน่อ
 
ทำพิธีบุญเบิกบ้าน
ชาวบ้านทยอยกันไปร่วมพิธีพร้อมเครื่องพิธีมีขัน ๕ บูชาหลักบือบ้านและบูชาพระพุทธรูป

แต่ละครอบครัวเตรียมหินย่อย, หินกรวด, หินแลง, หรือทราย แล้วแต่จะหาได้ของใครของมันมาวางไว้รอบๆ พื้นหลักบือบ้าน

เมื่อเสร็จพิธีบุญแล้ว ต่างนำหินและทรายไปหว่านที่ประตูรั้วบ้านหรือหน้าบันไดเรือนของตน


หลักบือบ้าน ตั้งอยู่มุมสี่แยกในชุมชน บ้านหวายหลึม ต.พระเจ้า อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด
(ขวา) ชาวบ้านร่วมพิธีเลี้ยงบุญกลางบ้าน หน้าศาลากลางบ้าน เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น
เสร็จพิธีประมาณ ๑๖.๔๐ น. (๑ ชั่วโมง ๔๐ นาที)


(ซ้าย) หอหลักบือบ้าน (ด้านล่าง) ชาวบ้านแต่ละครอบครัวต่างเตรียมก้อนหิน,
กรวดหิน, กรวดหินแลง, ทรายมาวางร่วมพิธี รอบๆ หลักบือบ้านตลอดงาน ๓ วัน (ตอนเย็น)

ชั้นบนของหอที่สร้างเพิ่มเติมเฉพาะงานแต่ละปีวางเครื่อง “คุรุพัน” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์
ของงานบุญผะเหวด ตั้งเป็นประธานไว้กลางหอ, ทั้ง ๔ เสารอบหอแต่งด้วยต้นกล้วย
 อ้อย ฉัตร และธงช่อ (ธงหน้างัว) โคนเสาทั้ง ๔ วางขันหมากเบ็ง, กระทงเครื่องคาว,
กระทงยากอก+หมากคำ, ประทายทราย และวางดอกไม้บูชา

(ขวา) โคนเสาวางอ่าง (กระโถน) ใส่ใบบัว, จอก, แหน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์
ของพระอุปคุต (สถิตอยู่ในน้ำ) และมะพร้าวแก่งอก, บนพื้นวางก้อนหิน, กรวดหิน ฯลฯ
ที่ต่างเตรียมมาเข้าร่วมพิธี เมื่อเสร็จพิธีในตอนเช้าของวันที่ ๔ แล้ว ต่างจะนำกลับไปหว่าน
ที่บ้านของตน, เหนือพื้นใช้กาบกล้วยยึดรอบ ๔ เสา ทำเป็นราวเทียนจุดบูชา


(ซ้าย) หอพระอุปคุต ยกพื้นสูงตั้งอยู่เหนือหลักบือบ้าน
(ขวา) ขันห้าที่ชาวบ้านต่างเตรียมมาบูชามีดอกไม้และเงินเหรียญ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ขอฝนของชาวบ้าน เป็นพระราชพิธีพรุณศาสตร์
(ประเพณี ๑๒ เดือน)

ขอฝน ชาวบ้านทั่วไปทุกชุมชนร่วมกันทำพิธีตอนเดือน ๖ ต่อเนื่องเดือน ๗ เพื่อหาน้ำทำนาเริ่มฤดูการผลิตใหม่ เพราะแล้งน้ำมาตั้งแต่เดือน ๕

ประเพณีขอฝนของชาวบ้านมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นจะเชื่อแล้วทำตามคติแบบไหน? อย่างไร? เช่น ภาคอีสาน จุดบั้งไฟ ฯลฯ แต่ภาคกลางมีปั้นเมฆ, แห่นางแมว ฯลฯ
 
ปั้นเมฆ
ปั้นเมฆ หมายถึง พิธีขอฝนโดยทำรูปจำลองหญิงชายเปลือยแสดงอวัยวะเพศ หรือสมสู่ร่วมเพศกัน แล้วจัดวางกลางแจ้งในที่สาธารณะให้คนเห็นทั่วไป แล้วเรียกรูปจำลองนั้นว่ารูปปั้นเมฆ

[รูปจำลองทำได้หลายอย่าง เช่น หล่อโลหะ, แกะสลักไม้, ปั้นดินเหนียวแล้วทาปูนขาวหรือไม่ทาก็ได้]


ปั้นเมฆ แสดงอวัยวะเพศหญิง (รูปที่ทำวงกลมล้อมรอบ) ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
(ภาพเขียนสีพบที่ถ้ำเขาปลาร้า เขตติดต่อ อ.ลานสัก-อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี)

ปลาช่อน อวัยวะเพศชาย
ปลาช่อน เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย มีน้ำอสุจิสีขาวเป็นน้ำเชื้อให้กำเนิดใหม่ แสดงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ว่านยา ข้าวปลาอาหาร

คนดึกดำบรรพ์ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เซ่นวักเลี้ยงผีขอฝนด้วยปลาช่อน

นักโบราณคดีขุดพบซากปลาช่อนทั้งตัวในภาชนะดินเผา ฝังรวมในหลุมศพที่บ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา


ซากปลาช่อนในหม้อไหดินเผา ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ขุดพบในหลุมศพดึกดำบรรพ์ที่บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

ความเชื่อเกี่ยวกับปลาช่อน ยังมีสืบเนื่องจนปัจจุบันในพิธีปั้นเมฆขอฝน ต้องนิมนต์พระสวดคาถาปลาช่อน มีบทร้องของชาวบ้านว่า
     ๏ นิมนต์พระมา    สวดคาถาปลาช่อน
     ปั้นเมฆสองก้อน    มีละครสามวัน
     จับคนชนกัน       ฝนก็เทลงมา—-
[มีคำอธิบายอย่างพิสดารเรื่องคาถาปลาช่อน ในพระราชพิธีพรุณศาสตร์ เดือน ๙ หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ร.๕]


พระสงฆ์สวดคาถาปลาช่อน ในพิธีปั้นเมฆขอฝน
[แก้บน-ชาวบ้าน ต. แม่พูล และ ต.หัวดง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นำหัวหมู
พร้อมเครื่องบายศรี เซ่นไหว้หุ่นดิน “พ่อเมฆ” และ “แม่หมาก” หลังทำพิธีขอฝน
ตามพิธีโบราณ จากนั้นฝนก็ตกติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน เมื่อวันที่ ๖ พ.ค.
(ภาพและคำบรรยายจาก นสพ.ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ หน้า ๑๑)]

พรุณศาสตร์
พรุณศาสตร์ เป็นพระราชพิธีขอฝน (ที่เชื่อว่า) ตามตำราพราหมณ์ มีในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน แต่จัดไว้เดือน ๙

ร.๕ ทรงอธิบายว่าเป็นพิธีจร หมายความว่า “ปีใดฝนบริบูรณ์ ก็ยกเว้นไม่ทำ” ต่อปีที่ฝนแล้ง จึงทำตามตำรา

หมายความว่าจนเดือน ๙ แล้ว ฝนไม่ตก และไม่มีน้ำให้ชาวบ้านทำนาทำไร่ ก็ต้องทำพระราชพิธีพรุณศาสตร์ เหตุนี้จึงลงพระราชพิธีนี้ในเดือน ๙
 
พระราชพิธีขอฝน มีปั้นเมฆ
ขอฝนโดยปั้นเมฆสัญลักษณ์สมสู่กัน น่าจะมีในราชสำนักยุคอยุธยา แต่ไม่พบหลักฐานตรงๆ

ครั้นล่วงถึงยุครัตนโกสินทร์ มีร่องรอยปั้นเมฆในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ร.๕ ทรงเล่าว่าปั้นเมฆในพระราชพิธีพรุณศาสตร์ (เดือน ๙) เป็นพิธีพราหมณ์ “อยู่ข้างจะเร่อร่าหยาบคาย” แต่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะคัดมา (โดยจัดย่อหน้าใหม่) ดังนี้

“การตบแต่งโรงพระราชพิธีและเทวรูป ก็คล้ายกันกับพิธีอื่นๆ คือปลูกโรงพิธี——-”
“ขุดสระกว้าง ๓ ศอก ยาว ๓ ศอก ลึกศอกหนึ่ง มีรูปเทวดาและนาคและปลาเหมือนสระที่สนามหลวง ยกเสียแต่รูปพระสุภูต

ตรงหน้าสระออกไปปั้นเป็นรูปเมฆสองรูป คือปั้นเป็นรูปบุรุษสตรีเปลือยกายแล้วทาปูนขาว

การที่จะปั้นนั้นต้องตั้งกำนลปั้นพร้อมกันกับที่พิธีสงฆ์ มีบายศรีปากชามแห่งละสำรับ เทียนหนักเล่มละบาทแห่งละเล่ม เงินติดเทียนเป็นกำนลแห่งละบาท เบี้ย ๓๓๐๓ เบี้ย ข้าวสารสี่สัด ผ้าขาวของหลวงจ่ายให้ช่างปั้นช่างเขียนนุ่งห่ม ช่างเหล่านั้นต้องรักษาศีลในวันที่ปั้น”

ทั้งหมดเป็นนาฏกรรมที่รัฐพัฒนาขึ้นจากประเพณีขอฝนของชาวบ้าน


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว