[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:08:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา  (อ่าน 2976 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 สิงหาคม 2558 17:42:45 »


ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา

เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม

Story

ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

ผผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์รี ปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาล พร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์  ยอดเขาสูงที่สุดในโลก  ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง  จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์  มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ

จากพรมแดนเนปาล  ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ  [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] เป็นที่ตั้งของนครกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา

แม้ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว  ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439  ดร.เอ.เอ. ฟือห์เรอร์  นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นักโบราณคดีชาวอินเดีย ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า "เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่างๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”         

อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานในพุทธศาสนา  อยู่ห่างจากนครกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่า เป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า “...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี [พระนามของพระเจ้าอโศกมาหราช] ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง  ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน [บางท่านแปลว่ารั้วหิน] และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย  โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน...”  [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณราชธรรมมุนี)

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวีพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่เมืองเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลราชบุตรในสวนป่าแห่งนี้     

ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ 5 วัน  คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ “หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” [น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน  ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน]


สู่เพศปริพาชก
การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ  แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีในอดีต เราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะที่พระองค์ทรงได้รับการปรนเปรอมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดียได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าเกิดจากข้อพิพาทในการใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่น้ำสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงน้ำระหว่างสองนคร ในที่สุดสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย

เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรงและกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป

ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม
ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่างๆมากมาย  ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรง ทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตรข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย  แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ในช่วงเวลาที่คลื่นความร้อนในอินเดียกำลังรุนแรง ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากมหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ ตรัสรู้ของพระพุทธองค์มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี  นับว่าเสี่ยงมาที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นาน จึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ

ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่างๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ  โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ
 
ดับขันธปรินิพพาน
“เจ้าชายทรงข้ามแม่น้ำตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่น้ำผามูหรือแม่น้ำกกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก

ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่น้ำกกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายน้ำเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะ ผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากนครกุสินาราราว18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา “คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับ กว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดี เพราะผมรู้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม

ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใน ตำบลกาเซีย จังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวัลแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติ กลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก  เป็นสัจจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรพุทธิดาทั้งปวงว่า

"สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกายล้อมวงนั่งสมาธิรอบต้นโพธิ์ริมสระสรงสนาน ณ ลุมพินีวัน
สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ
ลุมพินีวันเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : เหล่านักบวชฮินดูกำลังประกอบพิธีคงคาอารตี หรือพิธีบูชาไฟบริเวณริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ที่เมืองพาราณสีทุกเช้าและค่ำ เรื่องราวในพุทธประวัติบันทึกว่า กลุ่มชฎิลสามพี่น้องสกุลกัสสปโคตร
ผู้นำลัทธิบูชาไฟและเหล่าสาวกเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและยอมรับคำสอนของพระพุทธองค์


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระพุทธรูปสลักภายในถ้ำอชันตา ที่เมืองเอารังคาบาด รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
ได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในโลก และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 350 หลักฐานที่ปรากฏ
ช่วยให้นักประวัติศาสตร์ปะติดปะต่อเรื่องราวของพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : เพิงพักของลักษมีและลูกน้อย สร้างขึ้นบนเนินดินทางทิศตะวันตกของกำแพงเมืองกบิลพัสดุ์
นครโบราณ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเติบใหญ่ก่อนเสด็จออกผนวช


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : มัคคุเทศก์ท้องถิ่นกำลังเดินสำรวจไปตามรอยทางเกวียนเก่าใกล้ประตูเมืองกบิลพัสดุ์


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ภาพถ่ายบุคคลที่เห็นนี้เกิดจากเทคนิคซ้อนภาพชาวศากยะที่เชื่อว่ามี “สายเลือดบริสุทธิ์”
หกคนที่พบในเมืองปาทาน ประเทศเนปาล บุคคลทั้งหกมีตั้งแต่แม่ชี เด็กวัยรุ่น ไปจนถึงชายวัยกลางคน
ศากยวงศ์เป็นสายตระกูลของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งต่อมาล่มสลายลงจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกษัตริย์โกศล


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระสงฆ์ในวัดญี่ปุ่นที่สารนาถกำลังสาธยายมนต์ตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนา
สารนาถเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในอดีตที่แห่งนี้คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
สถานที่บำเพ็ญพรตของเหล่านักบวชหลากลัทธิ และเป็นที่แสดงปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : คนงานก่อสร้างชาวอินเดียกำลังบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองสารนาถ
ซึ่งอดีตคือสถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : เด็กหนุ่มในหมู่บ้านอันธยะกำลังเดินข้ามแม่น้ำแม่น้ำกกุธานที แม่น้ำสายสุดท้ายใกล้เมืองกุสินารา
ที่พระพุทธองค์เสด็จข้ามก่อนดับขันธปรินิพพาน


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ชายชราชาวอินเดียนั่งอยู่บนแนวอิฐทางทิศตะวันออกของประตูเมืองกบิลพัสดุ์
บริเวณเดียวกับที่เชื่อกันว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ภาพชีวิตเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เช่นนี้คือสัจธรรม
ที่ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวในพุทธประวัติที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงมุ่งหวังที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิด


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม


ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

จาก ngthai.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.444 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 มีนาคม 2567 16:28:35