[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 08:07:42 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้  (อ่าน 14171 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2558 13:41:46 »



ความรู้เรื่อง อาเซียน

อาเซียน (ASEAN) เป็นการรวมตัวกันของ ๑๐ ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฎิญญาว่าด้วย ความร่วมมืออาเซียนเห็นชอบให้จัดตั้ง  ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย  มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  ได้ร่วมกันจัดตั้ง  สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๐๔   เพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  แต่  
ดำเนินการไปได้เพียง๒ ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง  เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง และสำเร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ.๒๐๒๐) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ.๒๐๑๕) ในปีนั้นเองจะมีการเปิดกว้างให้ประชาชนในแต่ละประเทศสามารถเข้าไปทำงานในประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนได้อย่างเสรี เสมือนดังเป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการมีงานทำของคนไทย ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน

ความเป็นมาของอาเซียน
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN  Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยมีประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ  ประกอบด้วย  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์  และไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ต่อมามีประเทศสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุส-ซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ตามลำดับ จึงทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก ๑๐ ประเทศ

“อาเซียน” สู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘
ปัจจุบัน บริบททางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้อาเซียนต้องเผชิญสิ่งท้าทายใหม่ๆ อาทิ โรคระบาด การก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงและในเวทีระหว่างประเทศ  ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องกันว่าอาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่นเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ ๒” (Declaration of ASEAN Concord II) ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างประชาคมอาเซียนที่ประกอบไปด้วย ๓ เสาหลัก ได้แก่  
- ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community-APSC) มุ่งให้ประเทศกลุ่มสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคงรอบด้าน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเหล่าประชาชน
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) มุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาร โดยจะมีแผนงานสร้างความร่วมมือ ๖ ด้าน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน การลดช่องว่างทางการพัฒนา ซึ่งต่อมาผู้นำอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นมาเป็นภายในปี ๒๕๕๘

ประชาคมอาเซียน
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่งสามารถสร้างโอกาสและรับมือส่งท้าท้าย ทั้งด้านการเมืองความมั่นคงเศรษฐกิจและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยสมาชิกในชุมชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี  สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น และสมาชิกในชุมชนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จุดประสงค์หลักของอาเซียน
ปฏิญญากรุงเทพฯ ได้ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ ๗ ประการของการจัดตั้งอาเซียน ได้แก่
๑.ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
๒.ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
๓.เสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
๔.ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
๕.ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในรูปของการฝึกอบรมและการวิจัย และส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๖.เพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนการปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
๗.เสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การ ความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ  และองค์การระหว่างประเทศ

ภาษาอาเซียน
ภาษาทางการที่ใช้ในการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก  คือ  ภาษาอังกฤษ

คำขวัญของอาเซียน
"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม”
(One Vision, One Identity, One Community)

อัตลักษณ์อาเซียน
อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน



สัญลักษณ์อาเซียน
คือ ดวงตราอาเซียนเป็นรูปมัดรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นวงกลมสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน  
รวงข้าวสีเหลือง ๑๐ ต้น หมายถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาสมาชิกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง ๑๐ ประเทศ ให้มีอาเซียนที่ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม  เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเอกภาพของอาเซียน
ตัวอักษรคำว่า asean สีน้ำเงิน อยู่ใต้ภาพรวงข้าว แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคง สันติภพ เอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน
สีเหลือง : หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
สีแดง : หมายถึงความกล้าหาญและการมีพลวัติ
สีขาว : หมายถึงความบริสุทธิ์
สีน้ำเงิน : หมายถึงสันติภาพและความมั่นคง

ธงอาเซียน
ธงอาเซียนเป็นธงพื้นสีน้ำเงิน  มีดวงตราอาเซียนอยู่ตรงกลาง แสดงถึงเสถียรภาพ สันติภาพ ความสามัคคีและพลวัตของอาเซียน
สีของธงประกอบด้วย สีน้ำเงิน สีแดง สีขาว และสีเหลือง ซึ่งเป็นสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้งหมด

วันอาเซียน
ให้วันที่ ๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem)
คือ เพลง ASEAN  WAY

กฎบัตรอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน กำหนดให้อาเซียนและประเทศสมาชิกปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
๑.เคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
๒.ผูกพันและรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาค
๓.ไม่รุกรานหรือข่มขู่ว่าจะใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
๔.ระงับข้อพิพาทโดยสันติ
๕.ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
๖.เคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลายและการบังคับจากภายนอก
๗.ปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
๘.ยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ
๙.เคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
๑๐.ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
๑๑.ละเว้นจากการมีส่วนร่วมในการคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนหรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
๑๒.เคารพในวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน
๑๓. มีส่วนร่วมกับอาเซียนในการสร้างความสัมพันธ์กับภายนอกทั้งในด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคม  โดยไม่ปิดกั้นและไม่เลือกปฏิบัติ
๑๔.ยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียน

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)
ประชาคมอาเซียนที่จะถือกำเนิดในปี ๒๕๕๘ นั้น คนไทยจะได้ประโยชน์อะไร แน่นอนเราคงอยากทราบ แต่ในชั้นนี้ขอจำกัดเฉพาะทางเศรษฐกิจก่อน

ประการแรก ไทยจะ “มีหน้ามีตาและฐานะ” เด่นขึ้นประชาคมอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจ “ของเรา” มีมูลค่ารวมกัน ๑.๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีขนาดใหญ่อันดับ ๙ ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคนที่จะได้ยืนอย่างสง่างาม “ยิ้มสยาม” จะคมชัดขึ้น

ประการที่สอง การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบจะหมดไป เพราะ ๑๐ ตลาดกลายเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้นราคาสินค้าจะถูกลง

ประการที่สาม ตลาดของเราจะใหญ่ขึ้น แทนที่จะเป็นตลาดของคน ๖๗ ล้านคน ก็จะกลายเป็นตลาดของคน ๕๙๐ ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังอีกเก้าประเทศได้ราวกับส่งไปขายต่างจังหวัด ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น

ประการที่สี่ ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็ยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็จะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกัน และสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน

ประการที่ห้า โดยที่ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน ประเทศไทยย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน จริงอยู่ ประชาคมอาเซียนจะยังผลทั้งด้านบวกและลบต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับพวกเราคนไทยจะเตรียมตัวอย่างไร แต่ผลทางบวกนั้นจะชัดเจนเป็นรูปธรรมและจับต้องได้


ขอขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพ : เว็บไซท์. lampangvc.ac.th


เขยิบสัมพันธ์อาเซียนให้แนบแน่นขึ้นอีกนิด
กับเรื่องราวของ "ข้าว" แหล่งกำเนิดวิถีชีวิตอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ
จนกลายเป็นที่มาของรวงข้าวสวยสีทอง ๑๐ ต้นมัดรวมกันในสัญลักษณ์อาเซียน


ข้าว

   ข้าวอาเซียน “กัมพูชา”

คติความเชื่อของชาวกัมพูชานั้น "โปอีโน นอการ์" คือเทพีที่มีความสำคัญมากต่อปากท้องของคนในประเทศ เพราะเป็นเทพีแห่งการเพาะปลูก การเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นผู้ปกป้องเรือกสวนไร่นา และ "บาย" หรือข้าวในภาษากัมพูชานั่นเอง

ในอดีตกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์กัมพูชาจะทรงประกอบพิธีไถนาในช่วงเริ่มต้นฤดูปลูกข้าว เพื่อแสดงความเคารพและสร้างความพึงพอใจต่อองค์เทพีโปอีโนนอการ์ที่จะประทานความสำเร็จในการทำนาและช่วยให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์



    ข้าวอาเซียน "ลาว"
มาที่บ้านพี่เมืองน้องของไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่นอกจากจะมีภาษา สังคม และวัฒนธรรมความคล้ายคลึงกันแล้ว วิถีแห่ง "ข้าว" ของชาวลาวยังใกล้เคียงกับไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

ชาวไทยเคารพพระแม่โพสพ ขณะที่ลาวมี "นางโคสพ" เป็นเทพีผู้ปกปักรักษาข้าวและผืนแผ่นดิน ตามตำนานที่บันทึกไว้ของวัดสีสะเกดในกรุงเวียงจันทน์ เล่าว่าหลังจากลาวเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพงมาร่วม ๑,๐๐๐ ปี วันหนึ่งมีชายชาวบ้านจับปลาทองได้ เจ้าแห่งมัจฉาได้ยินเสียงร้องด้วยกลัวชีวิตจะหาไม่ของปลาทอง จึงขอร้องให้ชายหนุ่มปล่อยปลาน้อยและจะมอบนางโคสพให้เป็นของตอบแทนความเมตตา ซึ่งนางโคสพก็บันดาลให้นาข้าวอุดมสมบูรณ์ ประชาชนกินดีมีใช้นับแต่นั้น

กระทั่งวันหนึ่ง กษัตริย์ผู้ครองนครกลับใช้บารมีกักตุนข้าวที่ควรเป็นของประชาชน เพื่อนำไปแลกกับทอง เพชรนิลจินดา และช้างประดับเกียรติ ระหว่างนี้สองผู้เฒ่าสามีภรรยาบังเอิญไปพบฤๅษีในป่า ฤๅษีจึงทำพิธีขอร้องให้นางโคสพช่วยเหลือ แต่เพราะพระนางสับสนจึงปฏิเสธ ฤๅษีเกรงว่าการแข็งข้อของนางโคสพจะส่ง ผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน จึงสังหารนางโคสพ ตัดร่างกายออกเป็นท่อนๆ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมข้าวจึงมีหลายชนิด ต่างเม็ด ต่างสี ต่างขนาด

ยังมีตำนานเกี่ยวเนื่องกับนางโคสพอีกเรื่องว่า เทพผู้ดูแลข้าวและท้องนา คือ "ผีนา" จิตวิญญาณของเทพผู้คุ้มครองนาข้าว ซึ่งเดิมประทับอยู่ในพระสิรัฐิ (กะโหลกศีรษะ) พระโอษฐ์ (ปาก) และ พระทนต์ (ฟัน) ของนางโคสพ

กลับมาที่ปัจจุบัน ลาวเป็นประเทศหนึ่งในโลกและในอาเซียนที่มีสายพันธุ์ข้าวจำนวนมากถึง ๕,๐๐๐ ชนิด ด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะแก่การทำนาปลูกข้าว อาหารการกินจึงมีข้าวเป็นหลัก ทั้งข้าวเซ่า ข้าวสวาย หรือข้าวแลง มื้ออร่อยของชาวลาวต้องมีข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวเปียก ไม่ก็ข้าวคั่ว รวมอยู่ด้วย



     ข้าวอาเซียน "พม่า"
ข้าวอาเซียน ในประเทศพม่าหรือเมียนมา เพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของไทย แน่นอนว่าชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยในดินแดนแห่งนี้ต่างรับประทานข้าว หรือ "ทมิน" เป็นหลัก แต่ในรัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของพม่ามีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าคนคะฉิ่นเป็นชนเผ่าที่ได้รับเมล็ดข้าวจากเทพเทพี และถูกมอบหมายให้เดินทางหาดินแดนที่เหมาะแก่การปลูกข้าวมากที่สุด บรรพบุรุษชาวคะฉิ่นจึงออกตามหาและมาปักหลักปลูกข้าวที่รัฐคะฉิ่นในปัจจุบันนั่นเอง

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงรวมถึงชาวปกาเกอะญอและชาวโผล่วหรือโผล่งซึ่งอาศัยอยู่ในพม่าและไทยต่างมีประเพณีแสดงความเคารพต่อแม่โพสพราวเดือนมิ.ย.- ต.ค. ชาวกะเหรี่ยง

ที่ทำนาจะทำพิธีบอกกล่าวกับ "ซุ่งทะรี" แม่ธรณี ด้วยการหยอดข้าว ๙ กอซึ่งเป็นแม่ข้าวหรือขวัญข้าวที่คัดสรรจากกอข้าวที่ดีที่สุดในปีก่อน ข้าว ๙ กอจะหยอดกลางไร่ใต้กรอบไม้สี่เหลี่ยมที่ตรงกลางปักไม้ หุ้มด้วยเมล็ดข้าวที่ห่อไว้ด้วยดินเพื่อขอพรจากแม่โพสพให้ข้าวออกรวง

ข้าวพม่ายังได้รับรางวัลการันตีเป็นสุดยอดข้าวระดับโลก เมื่อปี ๒๕๕๕ คือ ข้าวสายพันธุ์เพิร์ล ปอว์ ซาน หรือข้าวพันธุ์ไข่มุกปอว์ซาน เป็นข้าวเมล็ดกลมหนา ยาวประมาณ ๕-๕.๕ มิลลิเมตร และเมล็ดจะพองตัวยาวขึ้น ๓-๔  เท่าตัวเมื่อหุงเสร็จ แถมยังรักษากลิ่นหอมเฉพาะไว้ได้นาน ด้วยเหตุนี้จึงคว้ารางวัลข้าวหอมสุดอร่อยไปครอง



    ข้าวอาเซียน "ไทย"

"ข้าว" กับคนไทยเป็นของคู่กันอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความเชื่อทุกๆ สิ่งรอบตัวคนไทยย่อมมีข้าวเป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชาวอาเซียนอีก ๙ ประเทศ

ตั้งแต่เด็กเราถูกสอนว่าถ้ากินข้าวไม่หมดจะบาป นี่เป็นเพียงกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังให้เคารพและเห็นคุณค่าของข้าว ยังไม่รวมถึงการยกย่อง "ชาวนา" เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และการบูชา "แม่โพสพ" เทพนารีแห่งข้าว ตำนานหนึ่งเล่าว่าแม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว วันหนึ่งที่เมืองไพสาลีกลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้าและแม่โพสพใครมีคุณมากกว่ากัน ที่ประชุมทูลว่าคุณของพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า แม่โพสพน้อยใจจึงทรงหนีไปยังป่าหิมพานต์ เมื่อแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากบนโลกมนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเชิญให้กลับมา แต่แม่โพสพปฏิเสธและว่าจะให้แต่เมล็ดข้าวไปช่วยพวกมนุษย์เท่านั้น เมื่อได้เวลาเก็บเกี่ยวให้นึกถึงตนและทำขวัญ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุกชาวนาจึงทำขวัญเชิญแม่โพสพเป็นประจำทุกปี

ข้าวยังทำให้คนไทยใกล้ชิดกันจากการช่วยเหลือลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดประเพณีการร้องรำ "เพลงเกี่ยวข้าว" และ "พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" หรือพิธีแรกนาขวัญ พิธีโบราณแบบพราหมณ์ซึ่งปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความเป็นสิริมงคลแก่ชาวนา

ประเทศไทยยังขึ้นชื่อในเรื่องเป็นถิ่นกำเนิดข้าวหอมมะลิที่โด่งดังไปทั่วโลก ขณะที่สารพัดอาหารข้าวแบบไทยก็ไม่น้อยหน้า ทั้งข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำ ข้าวหลามและข้าวต้มมัด จึงไม่แปลกที่คนไทยจะติดปากทักทายด้วยคำว่า "กินข้าวหรือยัง"



    ข้าวอาเซียน "มาเลเซีย"
นอกจาก "นาซิ" หรือข้าวในภาษามลายู จะมีความสำคัญเป็นอาหารเลี้ยงปากท้อง ข้าวยังมีบทบาทต่อประเพณีมลายูอีกด้วย

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "มะโย่ง" หรือ "เมาะโย่ง" ละครรำที่องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นวัฒนธรรมโลก จากการเล่าขานต่อๆ มา มะโย่งเป็นการร่ายรำเพื่อบูชาต่อ "มักฮียัง" หรือ เทพีแห่งข้าว เดิมเป็นประเพณีโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นในรัฐปัตตานี และแผ่ขยายมาถึงรัฐกลันตันในมาเลเซียหลายร้อยปีก่อน จะมีหมอทำพิธีทรงวิญญาณมักฮียังเพื่อให้ชาวบ้านแสดงความกตัญญูต่อความเมตตาที่มักฮียังประทานน้ำนมมาเป็นเมล็ดข้าว ผ่านการร่ายรำประกอบดนตรี คาดว่ามะโย่งเป็นคำเรียกที่พ้องเสียงกับพระนามของเทพีแห่งข้าวนั่นเอง

ในเวลาต่อมาการร่ายรำมะโย่งได้รับความนิยมทั้งในวังและในพื้นที่ชนบท แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้เพียงการแสดงตามศูนย์วัฒนธรรม งานแต่งงาน และพิธีฉลองวันชาติ

มาเลเซียมีอาหารจานเด็ดที่ทำจากข้าวมากมาย ทั้ง "นาซิ เลอมัก" ข้าวมันมลายู "นาซิดาแฆ" ข้าวมันแกงไก่ และ "นาซิอูลัม" ข้าวนึ่งสมุนไพร

ปิดท้ายด้วยวลี "มาแกนาซิลากี" กินข้าวหรือยัง ก่อนจะกล่าวคำว่า ซาลามัต จาลัน...ลาก่อนจ้า



    ข้าวอาเซียน "สิงคโปร์"
เป็นที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลผสมผสานระหว่างจีน มลายู และอินเดีย อาหารหลักของชาวสิงคโปร์จึงเป็น "ข้าว" เหมือนกับเพื่อนสมาชิกชาติอาเซียนอื่นๆ แต่เพราะภูมิประเทศที่เป็นเกาะซึ่งมีขนาดเล็กเพียง ๖๙๙.๔ ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพอๆ กับจังหวัดภูเก็ตของไทย สิงคโปร์จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวเกือบทั้งหมดของจำนวนบริโภค ถึงอย่างนั้นสิงคโปร์กลับให้ความสำคัญกับการปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักการทำนา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์ (ซีเอสซี) และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไออาร์อาร์ไอ) จัดกิจกรรมเรียนรู้การปลูกข้าวให้นักเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่การเตรียมนา การหว่านหรือดำนา ระยะการเติบโตของข้าว ช่วงเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการสีข้าวเปลือกและกลายมาเป็นข้าวสวยแสนอร่อยที่กินกันทุกวัน

นอกจากวิธีทำนาแล้ว ยังสอดแทรกความรู้ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียไปกว่าจะได้ข้าวมาแต่ละจาน ทั้งน้ำและดิน แน่นอนว่าเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ การกินข้าวจึงเปลี่ยนไปจากแค่กินเพื่ออิ่มท้องกลายเป็นอาหารให้ชีวิต เพราะข้าวแต่ละเม็ดมีคุณค่าใช้เวลาและความทุ่มเทของชาวนา แถมยังมีต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญจะกินทิ้งกินขว้างไม่ได้เด็ดขาด

ขนาดไม่ได้ปลูกข้าวเอง เด็กๆ ชาวสิงคโปร์ยังใส่ใจเรื่องข้าวขนาดนี้ เพื่อนๆ เยาวชนอาเซียนประเทศอื่นๆ ควรเอาเป็นแบบอย่างจะได้ร่วมสืบสานวัฒนธรรมข้าวที่เชื่อมโยงและทำให้ภูมิภาคของเราผูกพันกันมากขึ้น



    ข้าวอาเซียน "ฟิลิปปินส์"
แม้ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวมากกว่าที่ผลิตได้ แต่ใช่ว่าข้าวจะไม่สำคัญ เพราะนอกจากชาวฟิลิปปินส์จะรับประทานข้าวเป็นหลักเช่นเดียวกับสมาชิกอาเซียนชาติอื่นๆ แล้ว วิถีชีวิตของฟิลิปปินส์ยังผูกพันอยู่กับข้าวและเป็นจุดกำเนิดของ "นาขั้นบันได" วัฒนธรรมสำคัญที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จดทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๓๘

นาขั้นบันไดแห่งเทือกเขาฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในจังหวัดอิฟูเกา ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะและเต็มไปด้วยเขาสูง ชาวอิฟูเกาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพจากไต้หวันมายังเกาะลูซอนเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน จึงคิดค้นวิธีทำนาแบบขั้นบันไดเพื่อปลูกข้าวยังชีพและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ลูกหลานชาวนาที่สืบเชื้อสายชาวอิฟูเกายังคงยึดอาชีพทำนามาจนถึงปัจจุบัน

นาขั้นบันไดฟิลิปปินส์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่เหนือน้ำทะเล ๑,๕๒๔ เมตร และมีด้วยกัน ๕ แห่ง ได้แก่ นาขั้นบันได บาตัดและนาขั้นบันไดบันกานในบัวนาเว นาขั้นบันไดมาโยเยา นาขั้นบันไดฮางตวน และนาขั้นบันไดนากาคาดานในเคียนกัน



    ข้าวอาเซียน "อินโดนีเซีย"
เรื่องข้าวของสมาชิกอาเซียนสัปดาห์นี้ พาไปทำความรู้จักกับ "นาสิ" หรือข้าวในมุมมองของชาวอินโดนีเซีย ตามไปดูกันว่าข้าวเมล็ดขาวจะมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวอิเหนามากน้อยแค่ไหน

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักของชาวอินโดนีเซียแล้ว มีความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่าชื่อของเกาะชวาและเกาะสุมาตรามาจากคำว่า "ดจาวา" หรือ "ดจาวา ทิพา" ซึ่งมีความหมายว่า "เกาะข้าว"

ไม่เพียงเท่านี้ อินโดนีเซียยังมีพิธีบูชาเทพีคล้ายพระแม่โพสพ เรียกว่า "เทวีซรี" "ศรีเทวี" หรือ "ไญ โปฮาจี ซังฮ์ยัง อัสรี" เป็นเทวีผู้อุปถัมภ์ความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธุ์ธัญญาหารตามความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวชวา ซุนดา และบาหลี ก่อนรับศาสนาฮินดูและอิสลามเข้ามา

อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีพันธุ์ข้าวมากที่สุดในโลก อย่างน้อยๆ ก็มากกว่า ๗๕ สายพันธุ์ เช่น ข้าวเกตันตาวอน ข้าวเมลาติ ข้าวเพตา และข้าวศรีมูลิห์

อาหารข้าวขึ้นชื่อจึงหนีไม่พ้น "นาซีโกเร็ง" หรือ ข้าวผัดอินโดนีเซีย และข้าวเกรียบกรูปุก มีทั้งผสมกุ้งและปลาคล้ายข้าวเกรียบของไทย

วันนี้ขออำลาด้วยภาษาบาฮาซา อินโด นีเซียว่า "ซูดะมากัน" กินข้าวกันหรือยังจ๊ะ



    ข้าวอาเซียน "เวียดนาม"
ข้าวสำหรับชาวเวียดนามถือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญเช่นเดียวกัน มีเรื่องราวที่บอกต่อสืบกันมาหลายตำนาน

บ้างก็ว่าเดิมทีข้าวเป็นอาหารที่พระเจ้าประทานให้ มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ ขนาดใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านจุดเครื่องไหว้บูชา ก้อนข้าวจะปรากฏในบ้านแล้วจึงนำมาหุงต้มทำเป็นอาหาร แต่วันหนึ่งชายชาวบ้านบอกให้ภรรยารีบกวาดบ้านเพื่อต้อนรับก้อนข้าว ฝ่ายสามีผละไปจุดธูปเทียนอัญเชิญก้อนข้าว แต่เพราะภรรยามีนิสัยเกียจคร้านจึงกวาดไม่เสร็จ พอสามีไหว้จบ ก้อนข้าวก็ปรากฏขึ้นและถูกไม้กวาดในมือของหญิงสาวกระแทกเข้าอย่างจังจนแตกละเอียดกลายเป็นเมล็ดเล็กๆ นับตั้งแต่นั้นมนุษย์จึงต้องปลูกและขยายพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง

อีกตำนานเล่าว่าพระเจ้าประทานเมล็ดพืชสุดพิเศษ ๒ กระสอบให้คนนำสารไปมอบแก่มนุษย์ กระสอบแรกคือข้าวที่เติบโตได้ทันทีที่เมล็ดสัมผัสพื้นดิน อีกกระสอบเป็นหญ้าซึ่งต้องใช้ความทุ่มเทในการปลูก แต่คนนำสารเกิดผิดพลาด ทำให้ข้าวกลายเป็นพืชปลูกยาก ขณะที่หญ้าขึ้นง่ายจนถอนทิ้งไม่ทัน

เวียดนามยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับข้าวอย่างน่าสนใจ เช่น รูปร่างของประเทศละม้ายคล้ายหาบตะกร้าสานใส่ข้าว ๒ ใบเชื่อมด้วยไม้หาบ พ่อแม่ชาวเวียดนามจะไม่ทำโทษลูกๆ ขณะกินข้าวเพราะจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับข้าวเลวร้าย

นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า นักวิชาการเดินนำหน้าชาวบ้านในชนบท แต่เมื่อข้าวหมดชาวบ้านที่ทำนาคือผู้นำทาง



    ข้าวอาเซียน "บรูไน"
ข้าวกันที่บรูไน แม้อาหารประจำชาติของชาวบรูไนคือ "อัมบูยัต" แป้งสาคูเหนียวๆ ที่กินกับเครื่องเคียงและน้ำจิ้ม แต่เมนูที่กินในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยๆ ๑ มื้อต้องเป็นข้าว อาหารจานเดียวก็มีข้าวผัดเบเรียนี และข้าวหมกนาสิบริยานี ส่วนขนมมีเค้กข้าว ข้าวเหนียวนึ่งกับกะทิและไข่ห่อด้วยใบเตย นิยมกินในช่วงเทศกาลวันสำคัญ รวมถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านแห่งบรูไน วันชาติ และวันปีใหม่

บรูไนนั้นมีพันธุ์ข้าวท้องถิ่นหลักอยู่ ๓ สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไลลา ข้าวอดัน และข้าวไบโร แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด บรูไนจึงปลูกข้าวไม่เพียงพอกับความต้องการ และหันมาสั่งซื้อข้าวจากชาติอาเซียนรวมถึงไทยด้วย


ที่มา เรื่อง-ภาพ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2562 15:38:08 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2558 14:06:20 »

.

การทักทาย
เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เป็นอีกสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันในประชาคมอาเซียน


  ทักทาย  ไทย ไหว้
ไหว้ไทย
การไหว้สำหรับคนไทย คือ การแสดงความเคารพ นอบน้อม และมารยาทที่พึงปฏิบัติ มีทั้งการไหว้ผู้อาวุโสกว่า ไหว้ทักทายคนวัยไล่เลี่ยกัน ไหว้เพื่อขอร้อง ไหว้ขอบคุณ ไหว้เมื่อต้องลาจาก ไหว้ สักการะพระสงฆ์และพระพุทธรูป รวมถึงการไหว้ถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ท่าทางการไหว้แบบไทยๆ ในชีวิตประจำวันทำได้โดยประสานหรือประณมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน นิ้วชิด ปลายนิ้วจรดกัน หากไหว้พระต้องจรดหัวแม่มือที่หว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะเหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ไหว้ผู้ใหญ่ นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว ขณะที่การไหว้ผู้มีอายุใกล้เคียงกันหัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก และค้อมหลังพอประมาณ โดยผู้อาวุโสกว่าจะ "รับไหว้" ด้วยการพนมมือไว้บริเวณอก

นอกจากท่าทางแล้ว เวลาคนไทยยกมือไหว้เรายังกล่าวคำทักทายต่างๆ ทั้งสวัสดี ลาก่อน ขอบคุณ และขอโทษ

ไม่ว่าสถานการณ์รอบตัวจะตึงเครียด หรือต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากเพียงใด เพียงยกมือไหว้อย่างจริงใจคนไทยก็จะยิ้มรับและไหว้ตอบเช่นกัน



  ทักทาย ลาว นบ
ภาษาไทยและภาษาลาวละม้ายคล้ายคลึงกัน วิธีทักทายและแสดงความเคารพของชาวลาวก็คล้ายกับ "ไหว้" ของไทย และ "ซัมเปียะห์" ของกัมพูชา แต่เรียกว่า "นบ"  โดยประนมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน น้อมศีรษะเล็กน้อยพร้อมกล่าวคำทักทายตามกาลเทศะ อาทิ "สะบายดี" แปลว่าสวัสดี "สะบายดีบ่" หมายถึง สบายดีไหม รวมไปถึงขอบใจหลายๆ ขอโทด และลาก่อน

แม้บางโอกาสชายชาวลาวจะทักทายด้วยการจับมือเช็กแฮนด์แบบชาติตะวันตก แต่การนบยังเป็นวิธีส่งผ่านความรู้สึกที่นิยมและถ่ายทอดความจริงใจต่อผู้พบเจอหรือคู่สนทนาได้ดีที่สุด

ไม่เพียงแต่ชาวลาวจะนบเพื่อทักทายเท่านั้น ยังเป็นการแสดงความเคารพและสักการะพระสงฆ์ พระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะต่างกันที่ระดับในการโน้มศีรษะ

ชาวลาวยังภาคภูมิใจในการนบ โดยมองว่าการโอบกอดและจูบทักทายแบบฝรั่งถือเป็นการเหยียดหยามและสร้างความอับอาย เว็บไซต์ท่องเที่ยวของประเทศลาว ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีข้อมูลแนะนำการแสดงออกที่เหมาะสม พร้อมเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว "นบ" ทักทายระหว่างเยือนประเทศลาว เพราะนอกจากจะแสดงถึงความเคารพเล้ว ยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไปในตัว



      ทักทาย กัมพูชา'ซัมเปียะห์'
กัมพูชาเป็นอีกประเทศที่การทักทายละม้ายคล้ายการไหว้ของคนไทย คือประสานหรือประนมมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน โดยชาวกัมพูชาเรียกการทักทายนี้ว่า "ซัมเปียะห์" มีรากฐานมาจาก "อัญชลีมุทรา" ของอินเดีย ใช้แสดงความเคารพและนอบน้อมต่อผู้มีวัยวุฒิหรือคุณวุฒิมากกว่า รวมถึงทักทายโดยทั่วไป

ซัมเปียะห์มีด้วยกัน ๕ ระดับ ระดับแรกคือประนมมือไว้ที่อก ใช้ทักทายผู้มีอายุไล่เลี่ยกัน ระดับที่สองประนมมือยกขึ้นให้ปลายนิ้วจรดปากใช้แสดงความเคารพผู้มีคุณวุฒิสูงกว่า อาทิ เจ้านายหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับสูง ระดับสาม การแสดงความนอบน้อมต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และครูบาอาจารย์ โดยประนมมือขึ้นแตะจมูกและก้มหัวเล็กน้อย

ระดับที่สี่ ประนมมือขึ้นหว่างคิ้วเพื่อสักการะพระสงฆ์ และถวายความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์ ระดับห้าถือเป็นการซัมเปียะห์ที่สูงที่สุดคือการสักการะพระเจ้าและรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยประนมมือขึ้นจรดหน้าผาก

ส่วนผู้ได้รับการซัมเปียะห์ต้องซัมเปียะห์ตอบเพื่อแสดงออกถึงไมตรีจิต ความสุภาพและความเคารพต่อบุคคลนั้นๆ เช่นกัน

ซัมเปียะห์ยังนิยมทำควบคู่กับคำทักทายตามสถานการณ์ ตั้งแต่ อรุณซัวซะเดย-สวัสดีตอนเช้า ทิวาซัวซะเดย-สวัสดีตอนเย็น จุมเรียบเลีย-ลาก่อน ออกุน-ขอบคุณ และโซ้มโต๊ก-ขอโทษ



      ทักทาย พม่า มิงกะลาบา
พม่าเป็นอีกประเทศที่มีการทักทายละม้ายคล้ายการไหว้ของไทย แต่เรียกว่า "กาดอว์" คือประสานมือเข้าด้วยกัน ก้มศีรษะและย่อเข่า นิยมใช้ในกรณี ผู้น้อยเคารพผู้อาวุโสกว่า เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ รวมถึงสักการะพระพุทธรูป และพระสงฆ์ ทั้งในแบบเต็มคือนั่งคุกเข่า และก้มกราบแบมือลงกับพื้นแบบเบญจางคประดิษฐ์ของไทย

อย่างไรก็ตาม การทักทายทั่วไปของชาวพม่าโดยเฉพาะคนที่อายุไล่เลี่ยกัน จะยิ้มให้กันพร้อมเอ่ยคำทักทายด้วยคำว่า "มิงกะลาบา" ที่คล้ายอวยพรว่าขอให้พระคุ้มครอง หรือขอให้อยู่ดีมีสุข

แต่ถ้าอยากทักทายแบบคนท้องถิ่นที่เป็นกันเอง ลองใช้คำว่า "เนเกาตะลา" หรือสบายดีไหม หากรู้จักกันในระดับหนึ่งจะทักทายว่า "แบตวามะแล" ที่แปลว่าจะไปไหน หรือ "ทะมินซาปิปิลา" ซึ่งหมายความว่ากินข้าวหรือยัง

ชายพม่าจะทักทายด้วยการจับมือตามมา แต่ไม่ควรใช้ธรรมเนียมนี้กับผู้หญิงพม่า เพราะถือว่าไม่สุภาพ เมื่อทักทายสาวพม่าควรโค้งตัวหรือผงกหัวพร้อมกล่าวคำทักทายแทน



    ทักทาย บรูไน อุรัง มลายู บรูไน

ธรรมเนียมทักทายของ "อุรัง มลายู บรูไน" เป็นของชาวมลายูบรูไน ชาวบรูไนมีวัฒนธรรมรวมถึงธรรมเนียมการทักทายที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย แต่บรูไนเป็นชาติอนุรักษนิยมและเคร่งครัดตามข้อปฏิบัติของอิสลาม จึงไม่ค่อยพบเห็นชาวบรูไนจับมือเช็กแฮนด์แบบสากล ยกเว้นเมื่อติดต่อธุรกิจกับชาวต่างชาติ

วิธีทักทายที่เหมาะสมคือยื่นมือทั้ง ๒ ข้างออกไป จับกับมือของผู้ที่ทักทายเบาๆ และดึงมือข้างหนึ่งกลับมาแตะที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพและนอบน้อม แน่นอนว่าการจับมือนั้นไม่นิยมใช้กับเพศตรงข้าม ด้วยวิถีหญิงมุสลิมที่มีข้อห้ามแตะต้องผู้ชาย หญิงบรูไนส่วนใหญ่จึงทักทายด้วยการก้มศีรษะ หรือไม่ก็โค้งคำนับแทน อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นหากฝ่ายหญิงยื่นมือออกมาทักทายก่อน ผู้ชายควรใช้มือทั้งสองข้างสัมผัสอย่างนุ่มนวล หากเป็นผู้หญิงเหมือนกัน จะจูบเบาๆ ที่แก้มสองข้างก็ได้

ระหว่างแสดงท่าทาง ชาวบรูไนยังกล่าวคำทักทายและวลีต่างๆ ตามแต่สถานการณ์ อาทิ ซาลามัต ดาตัง-สวัสดี อาปา กาบา-สบายดีไหม เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา-ยินดีที่ได้รู้จัก เตริมา กะชิ-ขอบคุณ ซาลามัต ติงกัล-ลาก่อน และเบอจัมปา ลากิ-พบกันใหม่



     ทักทาย อินโดนีเซีย ซาลามัต

เมื่อชาวอินโดนีเซียเจอะเจอกัน จะมีการทักทาย ๒ แบบ เป็นทางการเรียกว่า "บาปัก" หรือ "อิบู" ไม่เป็นทางการเรียกว่า "คาคัก" "คัก" "อดิก" หรือ "ดิก"

หากทักทายผู้อาวุโสให้เอื้อมจับมือทั้งสองข้างที่ผู้ใหญ่ยื่นหาแล้วนำมาแตะที่หน้าผาก ส่วนผู้มีอายุไล่เลี่ยกันถ้าทักอย่างเป็นทางการจะยื่นมือเช็กแฮนด์แบบสากล จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งดึงกลับมาแตะที่หน้าอกเพื่อแสดงความเคารพ ผู้ชายและผู้หญิงชาวอินโดนีเซียทักทายด้วยการเช็กแฮนด์เช่นกันแต่จะจับด้วยความนุ่มนวลมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงชาวอินโดนีเซียในกรณีที่สนิทสนมมักจะหอมแก้มกัน วิธีการทักทายแบบตะวันตกนี้ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า "ซิปิกาซิปิกี"

ชาวอินโดนีเซียยังนิยมกล่าวคำทักทายพร้อมท่าทางที่แสดงออกมาด้วย ทั้ง ซาลามัต ปากิ-สวัสดีตอนเช้า ซาลามัต เซียง-สวัสดีตอนเที่ยง ซาลามัต โซเร-สวัสดีตอนบ่าย ซาลามัต มาลัม-สวัสดีตอนเย็น อาพาร์ คาบาร์-คุณสบายดีไหม ซัมไพ จำพา ลากิ-พบกันใหม่ เทริมากาสิ-ขอบคุณ เซลามัน เบอร์จัมพา เดนกัน อันดา-ยินดี ที่ได้รู้จัก บาย บาย-ลาก่อน



     ทักทาย สิงคโปร์ หนีห่าว

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มี ความหลากหลายในภูมิภาคอาเซียน เชื้อสายหลักๆ คือ จีน มลายู และอินเดีย ยิ่งเมื่อรวมกับวัฒนธรรมที่ได้รับในช่วงอาณานิคมจากญี่ปุ่นและอังกฤษแล้ว ธรรมเนียมของสิงคโปร์จึงมีลักษณะผสมผสานโดยเฉพาะการทักทาย

การทักทายของชาวสิงคโปร์ที่เป็นทางการและนิยม คือการจับมือเช็กแฮนด์แบบสากล แต่ต้องคำนึงถึงเชื้อสาย ศาสนา เพศ และวัยเป็นหลักสำคัญ

แม้การยื่นมือเช็กแฮนด์ของชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานในบริษัทต่างชาติจะเป็นเรื่องปกติ แต่หากเจอผู้สูงวัยกว่าควรหลีกเลี่ยง และใช้การโค้งศีรษะเล็กน้อยเพื่อแสดงความเคารพแทน

ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนเองแม้จะปรับเปลี่ยนหันมาจับมือทักทาย แต่จะจับแบบแตะเบาๆ มากกว่าจับแน่นๆ เหมือนในแวดวงธุรกิจ ถ้าผู้หญิงและผู้ชายจะจับมือทักทาย ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยื่นมือออกไปก่อน เพื่อส่งสัญญาณว่าสามารถจับมือได้

ส่วนชาวสิงคโปร์มาเลย์นั้น ถ้าเป็นผู้ชายเหมือนกันจะนิยมจับมือทักทายและโค้งศีรษะแสดงความเคารพเมื่อต่างเพศกัน เพราะชาวมุสลิมชายหญิงไม่สามารถจับต้องตัวในที่สาธารณะได้ เช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย

แต่ที่คล้ายๆ กัน คือระหว่างแสดงท่าทาง ชาวสิงคโปร์จะกล่าวทักทายไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 ใช้ภาษาจีน อาทิ หนีห่าว-สวัสดี เซี่ยเซี่ย-ขอบคุณ เหิ่นเกาซิ่งเริ่นชื่อหนี่-ยินดีที่ได้รู้จัก และไจ้เจี้ยน-ลาก่อน หรืออาจใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาทางการภาษาที่สองของชาวสิงคโปร์ก็ได้ ทั้ง ไฮ เฮลโล-สวัสดี Thank you -ขอบคุณ ซอร์รี่-ขอโทษ และกู๊ดบาย-ลาก่อน



     ทักทาย มาเลเซีย ซาลามัต ดาตัง

ชาวมาเลเซียนิยมทักทายด้วยการจับมือแบบสากล แต่ใช้มือทั้งสองข้างประคองมือของผู้ทักทาย พร้อมโน้มตัวรวมถึงศีรษะลงเล็กน้อย และที่ขาดไม่ได้คือส่งรอยยิ้มพิมพ์ใจมีอัธยาศัยแบบชนชาวอาเซียน

แน่นอนว่าเมื่อผู้ชายมาเลเซียเจอหน้ากันจะยกมือจับโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับสุภาพสตรีแล้ว มักจะก้มศีรษะเป็นการทักทาย ไม่ก็ใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งแตะที่เนินอกฝั่งตรงข้าม คือถ้ายกมือซ้ายให้แตะที่เนินอกข้างขวา เพื่อแสดงถึงความเคารพและนอบน้อม อย่างไรก็ตามหากผู้หญิงมาเลเซียยื่นมือเตรียมเช็กแฮนด์ ผู้ชายก็ควรตอบรับการทักทายด้วยการจับมือเช่นกัน

นอกจากท่าทางแล้ว ชาวมาเลเซียยังนิยมกล่าวคำทักทายต่อกันโดยแตกต่างออกไปตามเวลาและสถานการณ์ มีทั้งซาลามัต ดาตัง-สวัสดี อาปา กาบา-สบายดีไหม เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา-ยินดีที่ได้รู้จัก เตริมา กาชิ-ขอบคุณ และเซลามัต ติงกัล-ลาก่อน

แต่หากเจอะเจอชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งมีไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๖ ของประชากรทั้งประเทศ จะเลือกทักทายด้วยคำสวัสดีแบบจีนว่า "หนีห่าว" ก็ได้

ส่วนข้อห้ามที่ไม่ควรทำเมื่อไปเยือนมาเลเซีย คือการแตะศีรษะ เพราะถือเป็นการลบหลู่ เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียนรวมถึงไทย

แล้วพบกันใหม่-เบอจัมปา ลากิ...



      ทักทาย เวียดนาม ซินจ่าว

เป็นที่รู้กันว่าชาวเวียดนาม ชาวเหวียต หรือชาวเหยียก มีชาติพันธุ์บางส่วนสืบสายมาจากประเทศจีน การทักทายจึงต่างจากเพื่อนบ้านอาเซียนตอนบน อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา และไทย ทั้งยังผสมผสานวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกในช่วงการยึดครองของฝรั่งเศสราวศตวรรษที่ ๑๙ ชาวเหวียตจึงทักทายด้วยการโค้งศีรษะ จับมือเช็กแฮนด์แบบสากล และจับมือพร้อมกันสองข้าง

ถึงอย่างนั้นการทักทายอย่างเป็นทางการ การทักทายเมื่ออยู่ในศาสนสถาน และชาวเหวียตในชนบทบางพื้นที่มักจะประสานมือเข้าด้วยกันและโค้งศีรษะเล็กน้อยคล้ายการคารวะของชาวจีน

ส่วนการทักทายทั่วไป ผู้ชายใช้การจับมือพร้อมโน้มศีรษะไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อแสดงความเคารพนับถือและอ่อนน้อมต่อผู้ทักทาย ขณะที่ผู้หญิงนิยมโค้งศีรษะและยิ้มทักทายมากกว่าจับมือโดยเฉพาะการจับมือกับเพศตรงข้าม ที่สำคัญคือต้องไม่สบตาเพราะถือว่าไม่เคารพ รวมถึงไม่ควรขยิบตาซึ่งถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ ขณะที่เด็กๆ จะประสานมือกอดอกพร้อมโค้งตัวลงเพื่อคำนับครูอาจารย์และผู้ใหญ่

ชาวเหวียตยังมีธรรมเนียมปฏิบัติในการกล่าวคำทักทาย รวมถึงสอบถามความเป็นอยู่ อาทิ "ซิน จ่าว" ที่แปลว่าสวัสดี และ "บั๊ก โก แคว คง" หมายความว่าสบายดีไหม

นอกจากทักทายแล้ว การโค้งศีรษะยังนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ โดยพูดพร้อมคำว่า "ซิน โหลย" ขอโทษ, "ก๊าม เอิน" ขอบคุณ และ "ต๋าม เบียด" ลาก่อน



     ทักทาย ฟิลิปปินส์ มาโน

การทักทายของชาวปีนอย หรือชาวฟิลิปปินส์ อีกหนึ่งเพื่อนบ้านชาติอาเซียน

ชาวปีนอยมีการทักทายที่เรียกว่า "มาโน" หรือ "ปักมามาโน" คล้ายการจูบที่มือเพื่อแสดงความเคารพ แต่ใช้การแตะมือที่หน้าผากแทน

นิยมใช้ทักทายผู้มีอาวุโส สูงวัย รวมถึงพ่อแม่และครูอาจารย์ โดยยื่นมือออกไปหามือผู้ที่จะทักทาย จากนั้นก้มศีรษะเล็กน้อยขณะดึงมือมาแตะที่หน้าผาก

บางคนมักกล่าวคำว่า "มาโนโป" เพื่อขออนุญาตแสดงความเคารพ มาโนเป็นคำมาจากภาษาสเปนที่แปลว่ามือ ส่วนโปเป็นคำพูดลงท้ายที่ชาวปีนอยใช้แสดงความสุภาพ ดังนั้น มาโนโปจึงมีความหมายว่า "ได้โปรดขอมือหน่อย" พร้อมกล่าวคำทักทายตามสถานการณ์ เช่น กูมูสต้า-สวัสดี กูมูสต้า กา-สบายดีไหม และนาตูตูวา นาอลัม โม-ยินดีที่ได้รู้จัก

ไม่เพียงเท่านี้ชาวปีนอยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนยังทักทายต่อด้วยคำอวยพรว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครอง" หรือ "ขอให้พระเจ้าทรงมีเมตตาต่อท่าน"

นอกจากปักมามาโนแล้ว ชาวปีนอยรุ่นใหม่ยังทักทายด้วยวิธี "เบโซ เบโซ" มีความหมายตามภาษาสเปนว่าจูบหรือจุมพิต แต่ในกรณีนี้คือการทักทายแบบหอมแก้ม โดยจะหอมเพียงครั้งเดียวที่แก้มขวา นิยมใช้ในกลุ่มชาวปีนอยชนชั้นสูง หรือครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิท

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กรกฎาคม 2559 15:52:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 27 กรกฎาคม 2558 13:22:28 »

.

     บ้าน บรูไน 

หลังจากเปิดประสบการณ์ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านแต่ละประเทศ ที่มีความเชื่อมโยงหลายด้านหลากมิติจนน่าแปลกใจ ทั้งวิถีเทศกาล อาหารหลักอย่างข้าว และการทักทาย

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาเซียนคล้ายกันมาก คือ "บ้าน"

เริ่มต้นกันที่ประเทศบรูไน แม้ปัจจุบันบ้านเรือนในบรูไนจะเป็นแบบผสมผสานตามค่านิยมตะวันตก แต่หลายพื้นที่ยังนิยมปลูกบ้านแบบ ท้องถิ่น เช่น "โปตองลิมัส" บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่ได้รับอิทธิพลมาจากบ้านแบบมลายูของมาเลเซีย ใต้ถุนสูงราว ๑.๕ เมตร สร้างแบ่งเป็น ๕ ส่วน ประกอบด้วยนอกชาน หน้าบ้าน โถงกลาง หลังบ้านซึ่งมักเป็นห้องนอน และห้องครัว

ส่วนบ้านน้ำของเหล่าชาวเลและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ริมน้ำและทะเลจะคล้ายกับบ้านของชาวไทยในละแวกป่าชายเลน ทำจากไม้ไผ่และมีใต้ถุนสูง บ้านกลางน้ำที่ขึ้นชื่อและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ "หมู่บ้านกำปงอะเยอ" บนเกาะลาบวน เป็นหมู่บ้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ กัมปงเบบูลอห์ และ กัมปงปาเตา-ปาเตา มีประชากรราว ๓๐,๐๐๐ คน นอกจากบ้านเรือนแล้วยังมีโรงเรียน สถานที่ราชการ สถานีตำรวจ มัสยิด และปั๊มน้ำมัน



    บ้าน  เวียดนาม

แม้เวียดนามจะมีชนพื้นถิ่นมากกว่า ๕๔ ชาติพันธุ์ แต่บ้านส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกันมาก นั่นรวมถึงบ้านในอาเซียนตอนบน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ลักษณะเด่นๆ คือ เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง บางพื้นที่มีหลังคาลาดเอียงและกว้างเพื่อป้องกันฝน บางพื้นที่ทำหลังคาทรงสูงชะลูดเพื่อระบายอากาศร้อนชื้น

บ้านของชาวไตและชาวนุง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ นิยมปลูกบ้านบนเนินเขาใกล้พื้นที่เพาะปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม

ขณะที่บ้านใต้ถุนสูงแบบชาวเวียต หรือคนเวียดนามท้องถิ่น นิยมปลูกบ้านขนาดกว้างและผนังที่บางหรือทำจากวัสดุที่โปร่งกว่า เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เนื่องจากอยู่ในภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม บ้านส่วนใหญ่ของชาวเวียตมีบันไดขึ้นสู่ชานบ้าน ๒ ข้าง ซ้าย-ขวา ห้องขวามือมักแบ่งสรรไว้สำหรับจัดตั้งหิ้งบูชาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รับรองแขก หรือเป็นส่วนของสมาชิกผู้ชายในครอบครัว และแน่นอนว่าด้านซ้ายเป็นห้องหับที่จัดวางมิดชิดของผู้หญิง

ส่วนบ้านของชาวเหมื่องในเขตภูเขาทางภาคกลางค่อนไปทางเหนือมีลักษณะผสมผสานระหว่างบ้านดั้งเดิมของชาวเวียตและชาวไต



    บ้าน  กัมพูชา - เรือนแขมร์

กัมพูชาจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีฝีมือการก่อสร้างระดับโลก ดูได้จากศาสนสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อย่า งนครวัด นครธม การันตีได้ถึงทักษะการปลูกสร้างของบรรพบุรุษชาวกัมพูชาและผู้คนในอาณาจักรเขมรได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับบ้านแบบดั้งเดิมของชาวเขมรซึ่งแบ่งเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ บ้านแขมร์หรือบ้านเขมร โรงหรือเรือนกันเตียง เรือนโรงโดล โรงเดือง และเรือนเพธ

โรงหรือเรือนกันเตียงนิยมสร้างในพื้นที่ติดลุ่มน้ำโขง มีรูปแบบผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนที่ถ่ายทอดผ่านการค้าขายล่องแม่น้ำโขงของชาวจีนในอดีต กันตังเป็นภาษาขอมที่แผลงมาจากมณฑลกวางตุ้ง และใช้เรียกแทนชาวจีน เรือนกันตังมีหลังคาหน้าจั่วและเสาสูงเผื่อฤดูน้ำหลาก ด้านในเป็นโถงยาวและมีส่วนห้องแยกสองฝั่ง หรือหลายห้องต่อๆ กันสำหรับเจ้าของเรือนที่มีฐานะร่ำรวย ไม่ก็เป็นขุนนาง

เรือนเพธซึ่งมีหลังคาทรงปั้นหยานั้นได้รับความนิยมสร้างไปทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เพราะมีผนังสูงและช่องลมระบายอากาศที่ช่วยให้ภายในบ้านปลอดโปร่ง ไม่ร้อนอบอ้าว

เรือนแขมร์สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของขุนนางระดับสูงและพระสงฆ์

ขณะที่โรงโดลเป็นเรือนส่วนขยายด้านหน้าบ้าน ช่วยคลุมโถงและทางเชื่อมจากประตูบ้านสู่ด้านใน คล้ายกับโรงเดืองซึ่งทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมเช่นเดียวกับส่วนตกแต่งนอกเรือน



   บ้าน ลาว - เฮือนลาว

เรือน หรือ "เฮือน" บ้านของชาวลาวคล้ายคลึงกับบ้านในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ คือ ไทย พม่า และลาว ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงสำหรับหน้าน้ำ เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เฮือน" ของชาวลาวจะมีขนาด ๕x๗ เมตร หรือ ๘x๑๒ เมตร ใต้ถุนสูงตั้งแต่ ๑.๕-๒ เมตร พื้นบ้านเป็นไม้แผ่นหรือไม้ไผ่เข้ากับผนัง หลังคามุงด้วยหญ้าและไม้ตามแต่ภูมิ ประเทศจะเอื้ออำนวย ภายในแบ่งเป็นห้องนอน ๒ ห้อง ห้องโถงกลาง ๑ ห้อง พื้นที่ส่วนครัวและชานบ้าน

สถาปัตยกรรมในแต่ละพื้นที่ของลาวแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และเขตเชียงขวาง ในเวียงจันทน์นิยมสร้างบ้านด้วยไม้กระดานหรือไม้แผ่น เดิมเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง แต่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผสมผสานกับบ้านตะวันตก ชั้นล่างต่อเติมเป็นห้องแทนใต้ถุน บ้างใช้ไม้ บ้างใช้ปูน

ขณะที่บ้านของชาว "ลาวพวน" ในเชียงขวางยังคงเอกลักษณ์คือใต้ถุนสูง หลังคาทรงมะนิลามุงด้วยหญ้าคา ถ้ามีฐานะดีมุงด้วยกระเบื้องไม้ ไม้แป้นเกด หรือกระเบื้องดินเผา พื้นและฝาเรือนปูด้วยกระดานไม้ไผ่สีสุกสับแผ่ออกเป็นแผ่นๆ เรียกว่าฟาก



  หลายคนรู้จักหลวงพระบางในฐานะเมืองท่องเที่ยวสำคัญของลาว ด้วยความเป็นเมืองมรดกโลกที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนรับรองเมื่อปี ๒๕๓๘ จากการอนุรักษ์บ้านเรือนหรือ "เฮือน" อันเป็นเอกลักษณ์

ความโดดเด่นที่ว่านี้คือบ้านสไตล์โคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลในช่วงการยึดครองของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ส่งผลให้บ้านเรือนมีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก บ้านบางหลังสร้างแบบดั้งเดิมตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔ คือบ้านไม้มีใต้ถุนสูงละม้ายคล้ายเรือนไทยและบ้านโบราณที่ปลูกสร้างในอาเซียนตอนบน

ขณะที่บางหลังเป็นลูกครึ่ง ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนแบบตะวันตก แต่ชั้นบนเป็นไม้ และอีกแบบถอดสถาปัตยกรรมบ้านโคโลเนียลของฝรั่งเศส โดยมีลักษณะสำคัญ ได้แก่ รูปทรงอาคารเป็นสี่เหลี่ยมแบบสมมาตร เน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร ใช้ชุดเสาสูงเป็นแนวรับชายคาสำหรับป้องกันฝนและแสงแดด ผนังไม้ตีซ้อนเกล็ดสลับกับโครงสร้างปูน และมีระเบียงรายเรียงโดยรอบ

ด้วยความหลากหลายและการอนุรักษ์บ้านแต่ละประเภทให้คงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่หมุนตามโลก จึงไม่แปลกที่หลวงพระบางจะถูกยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาดีที่สุดของภูมิภาคเอเชีย



    บ้าน  อินโดเนียเซีย - รูมาห์อาดัต

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่มากมาย วันนี้พามาทำความรู้จักบ้านดั้งเดิมของชาวอินโดนีเซีย

บ้านแบบโบราณท้องถิ่นและดั้งเดิมนั้น ชาวอินโดนีเซีย เรียกว่า "รูมาห์อาดัต" รูปแบบการปลูกบ้านส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใดหรือเกาะไหน และยังคล้ายกับบ้านท้องถิ่นของอีกหลายประเทศอาเซียน คือ ใช้ไม้ มีใต้ถุน และหลังคาสูง

ยกตัวอย่างเช่น บ้านเกาะเนียส์ นิยมสร้างเป็นบ้านหลังยาวต่อเนื่องกัน ฐานเป็นไม้ซุงใหญ่หลายต้น ผนังบ้านเป็นไม้ฝาหรือไม้ไผ่ หลังคาทรงสูงมุงใบจาก ใบมะพร้าว หญ้า หรือฟางข้าว เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากได้รับลมทะเลและไอร้อนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

อีกหลังเรียกว่า "บ้านโบราณปาดัง" หรือ "ปาดังปันจาง" ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ด้วยเอกลักษณ์หลังคาหน้าจั่ว ทรงสูงปลายแหลม เพื่อให้ฝนไหลชะจากหลังคาได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนหมู่บ้านโทราจาบนเกาะสุลาเวสีใต้ นอกจากจะโด่งดังจากพิธีกรรมศพเดินกลับบ้านตามความเชื่อแล้ว ยังมีบ้านรูปร่างสวยเป็นเอกลักษณ์มากๆ คือใต้ถุนสูง หลังคามีปลายหน้าจั่วทั้งหน้าและหลังบ้านสูงชะลูดขึ้นฟ้า เพื่อระบายอากาศให้ถ่ายเท ช่วยให้บ้านโปร่งไม่อับชื้น สามารถเก็บข้าว ปลาอาหารแห้งได้นาน



 มาติดตามเรื่องราวบ้านแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซีย  "รูโมห์อาเจะห์" บ้านท้องถิ่นของจังหวัดอาเจะห์ สร้างขึ้นด้วยไม้แผ่นหรือไม้กระดาน หลักๆ แล้วมีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือชานระเบียงหน้าบ้าน โถงกลางเรือน และส่วนหลังบ้าน ลักษณะภายนอกคล้ายเรือนไม้ของหลายประเทศในอาเซียน แม้จะไม่มีหลังคาสูงเป็นเอกลักษณ์เหมือนบ้านปาดังปันจางบนเกาะสุมาตรา แต่ชาวบ้านนิยมประดับตกแต่งลวดลายสีสันสดใสคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมโดดเด่น

อีกหลังเป็นบ้าน "บาตักรูมา" ของชนชาวบาตักบนเกาะสุมาตราเหนือ ใช้ลักษณะท่าทางการยืนของควายมาเป็นรูปแบบสร้างบ้าน และนิยมใช้กะโหลกส่วนหัวของควายมาประดับไว้บนยอดหลังคา บาตักรูมาแบ่งได้เป็น ๒ แบบ แบบแรกเรียกว่า "ซีวาลูห์ จาบู" กับจุดเด่นของ "อโย อโย รูมาห์" และ "เตอร์เซก" หลังคามุงหญ้าที่มีหน้าจั่วเล็กๆ ซ้อนบนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนอีกแบบ คือ "บาตัก โตบา" ที่พบมากในเขตชนชาวซีมา ลุนกัน กับหลังคาหน้าจั่วแหลมสูง เล่นลวดลายด้วยสีธรรมชาติ แดง และดำ

ทิ้งท้ายด้วยบ้าน "โอโม นิฮา" บนเกาะเนียส กับรูปแบบหลังคามุงหญ้าที่มีส่วนกลางยกสูงเพื่อระบายอากาศ ส่วนใต้ถุนสูงและเสาไม้ซุงขนาดใหญ่หลายต้นออกแบบมาเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวโดยเฉพาะนั่นเอง



   บ้าน สิงคโปร์

ภาพรวมของสิงคโปร์เป็นสุดยอดประเทศไฮเทคโนโลยีติดระดับโลก มีตึกสูงเสียดฟ้าและสถาปัตยกรรมล้ำสมัย

แต่รู้หรือไม่ว่าอาคารบ้านเรือนจำนวนมากบนเกาะนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมลายู จีน และอังกฤษ ผสมผสานเป็นสไตล์บ้านเฉพาะตัวแบบสิงคโปร์ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ ยุค คือยุคก่อนอาณานิคม และยุคอาณานิคม

เริ่มแรกเดิมทีสิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมัชฌาปาหิตแห่งชวา ก่อนจะถูกประมุขแห่งมะละกาครอบครอง บ้านเรือนดั้งเดิมในสมัยนี้จึงมีลักษณะถอดแบบจากเรือนไม้มลายู คือมีตีนเสา ตอม่อ และหลังคามะนิลาหรือหลังคาแบบบรานอร์ บนยอดจั่วมีลวดลายแกะสลักไม้ ขณะที่ยุคอาณานิคม โดยเฉพาะในช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองสิงคโปร์ บ้านเรือนมีการผสมผสานสไตล์โคโลเนียล จากเรือนไม้เปลี่ยนเป็นอาคารปูน

และเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญ การติดต่อค้าขายจึงเข้ามามีบทบาทกับสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะจีนและอินเดีย อาทิ นากอร์ ดูรกาห์ ศาสนสถานศาสนาอิสลามที่มีกลิ่นอายมัสยิดทางตอนใต้ของอินเดีย วัดฟุกตั๊กกี่ วัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดของสิงคโปร์ ส่วนโคโลเนียลสไตล์ที่ขึ้นชื่อและเก่าแก่ เช่น อาคารศาลฎีกาและรัฐสภาหลังเก่า ขณะที่ย่านอาคารร้านค้าขึ้นชื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งจีน มลายู และอังกฤษ



   บ้าน พม่า-ชาวชิน

บ้านดั้งเดิมในพม่า กับบ้านของชนพื้นถิ่น "รัฐชิน" ทางภาคตะวันตกของประเทศ

ลักษณะเด่นของเรือนโบราณสไตล์รัฐชิน คือ โครงสร้างหลังคาที่โน้มคลุมโถงหน้า หรือระเบียงด้านหน้าของบ้าน ต่างจากบ้านของชาติพันธุ์อื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวชินอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม พายุฝนจะตกหนัก หากใช้โครงสร้างหลังคาแบบหน้าจั่วทั่วไป อาจส่งผลให้ฝนสาดกระเซ็นเข้าบ้าน และก่อให้เกิดความชื้น เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย

ส่วนประกอบอื่นๆ ของบ้านโดยรวมละม้ายคล้ายกับบ้านไม้ใต้ถุนสูงที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ชาวชินนิยมวางบันไดขึ้นสู่ชั้นบนไว้หน้าสุดตรงทางเข้าบ้านและมีหน้าต่างบานใหญ่จนเกือบชิดพื้นเรือน

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เพราะชาวชินอยู่ในป่าซึ่งมีความชื้น ไม่ใช่แค่ชื้นแฉะช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังร้อนชื้นในช่วงฤดูร้อนด้วย เฉลียง ระเบียง หรือชานหน้าบ้าน จึงมีลักษณะเปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

และอีกความโดดเด่นของบ้านชาวชิน (ยุคก่อน) จะขาดไม่ได้ คือ โครงกระดูกสัตว์สำหรับตกแต่ง และประกาศศักดาความเป็นพรานป่า อาชีพสำคัญของชาวชิน



    บ้าน  ฟิลิปปินส์

บ้านดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ในยุคคลาสสิคและเป็นที่รู้จักกันดี คือ "บ้านโตโรกัน" ของชาวมาราเนา ทางตอนใต้ เรือนตั้งอยู่บนตอไม้หรือเสาไม้สลักขนาดใหญ่ฝังลงดินโดยมีหินกรวดถมทับเพื่อความแน่น ฝาเรือนตั้งสูงจากพื้นเพื่อถ่ายเทอากาศจากความร้อนชื้น หลังคาหน้าจั่วทรงแหลมสูงตั้งตระหง่านกลางเรือน มีชายคาทรงป้านครอบ คลุมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด

ขอบเรือนและพื้นประดับด้วย "ปาโนลอง" ศิลปะพื้นบ้าน เป็นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ ที่นิยมมากได้แก่งูและมังกร

ขณะที่บานหน้าต่างมีขนาดเล็กเพื่อป้องกันพายุฝนซัดสาด ส่วนบันไดขึ้นเรือนซ่อนอยู่ด้านข้างเรือนเพื่อความเป็นสัดส่วน

เรือนโบราณอีกแบบ คือ "บาเฮย์ คูโบ" หรือ "กระท่อมนิปา" เป็นลักษณะบ้านของชนชาวฟิลิปปินส์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ก่อนการมาเยือนของจักรวรรดิสเปน ปัจจุบันยังคงพบเห็นกระท่อมนิปาได้ทั่วไปโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หลักๆ แล้ว กระท่อมนิปามักสร้างด้วยไม้ไผ่หรือหญ้าคามัดเป็นแผงใช้ทำเป็นหลังคา ผนัง และบานหน้าต่าง-ประตู มักมีขนาดเล็ก ๑-๒ ห้อง สูงจากพื้นไม่มาก และมีนอกชานใช้เป็นส่วนกินข้าวและรับแขก

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอีกหลายประเทศอาเซียน รวมถึงไทย มีบ้านท้องถิ่นที่คล้ายคลึงกับกระท่อมนิปาเช่นกัน



    บ้าน มาเลเซีย - รูมาห์ เมลายู

บ้านดั้งเดิมก่อนยุคอาณานิคมในมาเลเซีย เรียกว่า "รูมาห์ เมลายู" เป็นบ้านไม้ที่ปลูกสร้างด้วยเทคนิคเก่าแก่ อันชาญฉลาดของภูมิปัญญาท้องถิ่นเอเชีย คือ การเข้าเดือยไม้และลิ่ม ซึ่งช่วยยึดส่วนต่างๆ ของเรือนเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องพึ่งตะปู บ้านแบบนี้ยังมีให้เห็นทั่วไปในพื้นที่ชุมชนชาวมลายูบริเวณคาบสมุทรมลายู รวมถึงเกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

องค์ประกอบหลักของบ้านรูมาห์ เมลายู มีด้วยกัน ๕ ส่วน คือ สร้างบนเสาไม้ มีบันได จัดสรรบ้านเป็นส่วนๆ ประดับตกแต่งด้วยลวดลายพื้นบ้าน และหลังคาทรงสามเหลี่ยม

ในส่วนหลังคานั้น แต่ละท้องที่ก็มีหลังคาซึ่งแตกต่างกันออกไปตามสภาพภูมิประเทศและอากาศ อาทิ บ้านรูมาห์ ลันคัง หรือบ้านรูมาห์ ลอนติก ในจังหวัดเรียวและจัมบี จะมีหลังคาโค้งเหมือนโครงสร้างของเรือ คล้ายกับบ้านมินัง รูมาห์ กาดัง ของอินโดนีเซีย แต่ปลายหลังคาไม่แหลมเท่า ขณะที่บ้านรูมาห์ ลิปัต กาจัง เน้นความเรียบง่าย ปลายด้านบนสุดของหน้าจั่วจะไขว้ไม้เป็นรูปกากบาท ใกล้เคียงกับเรือนรูมาห์ ลิมัส ซึ่งเป็นสไตล์การตกแต่งที่ประทับกษัตริย์ สุลต่าน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และอาคารสำนักงาน


 

บ้านดั้งเดิมของมาเลเซีย อีกประเภทที่สนใจและได้รับการยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมของประเทศ นั่นคือบ้านยาว และหมู่บ้านน้ำในรัฐซาบาห์และซาราวัก บ้านยาวหรือบ้านที่มีลักษณะเป็นเรือนปลูกต่อกันเป็นหลังยาวๆ ตั้งอยู่บนเสาไม้ค้ำในแม่น้ำ ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ซุง ยึดด้วยเถาวัลย์ หลังคามุงใบจาก อยู่อาศัยได้ ๒๐-๑๐๐ คน บ้านแต่ละหลังยังเชื่อมด้วยไม้กระดานสำหรับใช้เป็นทางเดิน

บ้านท้องถิ่นแบบอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน อาทิ รูมาห์ เมลากา ในรัฐยะโฮร์และมะละกา บ้านรูมาห์เบลาห์ บูบัง บนเกาะของรัฐเรียล บ้านรูมาห์ เปราบัง ลิมา ในรัฐกลันตันและตรังกานู บ้านรูมาห์ กาจาห์ เมนยูซู ของปีนัง บ้านรูมาห์ บัมบัง ปันจาง ในรัฐเกดะห์ ปะลิส เประ สลังงอร์และปะหัง และบ้านรูมาห์ เบอร์บัมบัง ลิมา ในจังหวัดเบิงกูลู

นอกจากนี้มาเลเซียยังมีบ้านลูกผสมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศด้วย

สถาปัตยกรรมจีนแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ สถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม และแบบบ้าบ๋า ย่าหยา ที่นิยมปูกระเบื้องสีสันสดใสและมีลานบ้านในร่ม พบมากในรัฐมะละกา และปีนัง

ขณะที่อาคารสไตล์อินเดียจะพบเห็นในลักษณะศาสนสถานมากกว่าบ้านสำหรับอยู่อาศัย นิยมตกแต่งด้วยเครื่องประดับ จากทองแกะสลัก ลวดลายเขียนสีสด และปูกระเบื้องจากอิตาลีหรือสเปน



    บ้าน เรือนไทย-ภาคกลาง

หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นเคยผ่านตาเรือนไทยมาแล้ว มาทำความรู้จักและเข้าใจถึงที่มาของบ้านเรือนไทยกัน

เริ่มด้วย "เรือนไทยภาคกลาง" กับลักษณะเด่นของหลังคาทรงมะนิลา คือมีหน้าจั่วสูงและชายคายื่นยาว มุงด้วยแฝกหรือกระเบื้องดินเผาตามโครงซึ่งลาดเอียง เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลซึมรั่วเข้าเรือน ทรงสูงของหลังคายังช่วยถ่ายเทอากาศ ช่วยลดความร้อนและทำให้เรือนเย็นสบาย ส่วนชายคาที่ยื่นออกมาชัดเจนมีไว้สำหรับกันแดดจ้า เพราะอากาศของภาคกลางมีแดดแรงจัดและร้อนอบอ้าว

การยกใต้ถุนสูงเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของบ้านเรือนไทย รวมถึงเรือนดั้งเดิมของเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนอีก ๙ ประเทศนั้น หลักๆ แล้ว เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีฤดูมรสุมและฝนตกค่อนข้างชุก หากไม่ยกเรือนสูง ในหน้าน้ำหลากบ้านอาจถูก น้ำท่วมได้ ส่วนความสูงของใต้ถุนก็แตกต่างกันออกไปตามสภาพอากาศของท้องถิ่น เรือนไทยภาคกลางและภาคใต้จึงมีใต้ถุนสูงกว่าเรือนภาคเหนือและอีสาน แต่ปกติแล้วจะสูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เสาเรือน ซึ่งแบ่งได้อีก ๖ ประเภท ได้แก่ เสาหมอ เสานางเรียง เสาเอก เสาโท เสาตรี-เสาพล และเสาตอม่อ



 

ส่วนประกอบหลักของเรือน  เริ่มที่ส่วนหลังคา สิ่งแรกที่เห็นชัดและคุ้นเคยกับชื่อมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "หน้าจั่ว" แผงฝาไม้หัวท้ายอุดโครงหลังคาเพื่อกันลมและแดดฝน หน้าจั่วที่นิยม ได้แก่ จั่วลูกฟัก หรือจั่วพรหมพักตร์ จั่วรูปพระอาทิตย์ และจั่วใบปรือ

รอบนอกเป็นไม้กรอบโครงหลังคาที่บังแนวเครื่องมุงเรียกว่า "ปั้นลม" มีลักษณะเป็นไม้แผ่นยาวคู่หนึ่งทอดเฉียงพนมปลายติดกันเป็นมุมแหลมตอนล่างบิดอ่อนงอนขึ้นเล็กน้อย มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ลมตีวัสดุมุงหลังคาจนเปิดร่อน

อีกส่วนคือ "อกไก่" หรือบางครั้งเรียกว่า "แปจอง" แต่เป็นไม้สักเหลี่ยมรูปข้าวหลามตัด ยาวตลอดเรือนและยื่นหัวท้าย ตำแหน่งของอกไก่จึงตั้งอยู่บนยอดสุดของหลังคานั่นเอง มีหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้ง และ "จันทัน" หรือไม้กรอบที่อยู่ระหว่างสองข้างของสามเหลี่ยมโครงหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนัก จันทันจะมีเฉพาะส่วนของห้องซึ่งไม่มีหน้าจั่วและใช้กับดั้งแขวนเท่านั้น ส่วนห้องที่มีหน้าจั่วให้แผงหน้าจั่วรับน้ำหนักจากหลังคาแทนจันทัน

บ้านทรงไทยมีแป ๒ ชนิด ได้แก่ "แปลาน" ไม้เหลี่ยมที่พาดระหว่างจันทันกับแผงหน้าจั่ว มีความยาวตลอดเรือนเท่ากับอกไก่ ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน อีกชนิด คือ "แปหัวเสา" ไม้เหลี่ยมยาวตลอดหลังคาสำหรับยึดหัวเสาระหว่างห้อง โดยวางทับบากอมกับขื่อ และเป็นส่วนหยุดของฝาตอนบนด้านยาวของเรือนด้วย



  เรือนไทยภาคเหนือ

เรือนไทยยุคก่อนคล้ายคลึงกันเกือบทุกภาค ต่างกันบ้างตามสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

และเพราะตอนเหนือของไทยมีอากาศหนาวเย็นกว่าภาคกลาง รูปทรงหลังคาและสัดส่วนของเรือนจึงเตี้ยคลุ่ม ขณะที่หน้าต่างเจาะเป็นช่องแคบเพื่อกันลมหนาว เรือนภาคเหนือแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือเรือนไทยดั้งเดิมและเรือนพื้นบ้าน

เรือนไทยดั้งเดิมเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว นิยมทำหลังคาแฝด และมีไม้ไขว้แกะสลักที่รู้จักกันดีในชื่อ กาแล ซึ่งไม่เพียงใช้สำหรับตกแต่งให้สวยงามแต่ยังเป็นความเชื่อเกี่ยวกับโชคลางด้วย

ส่วนประกอบของเรือนมีอาคารอย่างน้อย ๒ หลัง หลังใหญ่ใช้เป็นห้องนอนและระเบียงหรือเติ๋น ส่วนหลังเล็กใช้ทำเป็นห้องครัวและเชื่อมเรือนทั้งสองด้วยชานบ้าน ตามปกติเรือนจะตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้เพื่อรับลมอุ่น ส่วนบันไดตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านข้างเรือน และไม่นิยมหันบันไดลงทางทิศตะวันตกซึ่งใช้ตั้งส่วนครัว

การก่อสร้างเรือนของชาวเหนือมีความละเอียดประณีตสูง ทำให้เรือนแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานเป็นร้อยๆ ปี เห็นได้จากเรือนเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่นเชียงใหม่ ลำปาง



   เรือนไทยภาคใต้

ลักษณะเด่นของเรือนไทยภาคใต้ คือหลังคาทรงสูงและมีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านได้สะดวก ชายคาต่อยาวออกไปคลุมถึงบันไดเนื่องจากฝนตกชุกมาก ทั้งยังนิยมปลูกเรือนวางเสาบนตอม่อ ฐานเสาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือก่ออิฐฉาบปูนรองรับเป็นตีนเสา เหตุที่ไม่ฝังเสาลงดินเพราะดินมีความชื้นจากสภาพอากาศฝนชุกเกือบทั้งปี หากวางเสาลงดินเสาจะผุเร็ว

เรือนไทยภาคใต้ที่พบเห็นทั่วไปแบ่งออกเป็น "เรือนเครื่องผูก" เป็นเรือนง่ายๆ ไม่ถาวร มักเป็นกระท่อมยกใต้ถุนสูง ใช้ไม่ไผ่เป็นโครงสร้างผูกด้วยหวาย หลังคามุงจากหรือแฝก มักปลูกติดกันเป็นหมู่บ้าน เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยในช่วงที่หัวหน้าครอบครัวต้องออกทะเลไปนานหลายวัน ส่วน "เรือนเครื่องสับ" เป็นบ้านสำหรับคนมีฐานะ ปลูกด้วยไม้เคี่ยมหรือไม้หลุมพอ ตัวเรือนยาวเป็นสองช่วงของความกว้าง มีพื้นระเบียงลดต่ำกว่าตัวเรือนใหญ่ และมีชาน หลังคาจั่วตั้งโค้งติดไม้แผ่นปั้นลมแบบหางปลามุงกระเบื้องและมีกันสาด

นอกจากประเภทของเรือนแล้ว หลังคาเรือนไทยภาคใต้ยังแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ "หลังคาจั่ว" รูปจั่วตรงมุงด้วยกระเบื้อง ประดับเชิงชายและช่องลมไม้ฉลุ ขณะที่ "หลังคาปั้นหยา" รูปทรงลาดเอียงสี่ด้านไม่มีจั่ว ตรงรอยตัดเหลี่ยมครอบด้วยปูนกันฝนรั่ว แข็งแรงและ ต้านลมพายุได้ดี พบมากในจังหวัดสงขลา และ "หลังคามนิลา" หลังคาจั่วผสมปั้นหยา ด้านล่างลาดเอียงลงมารับกับหลังคาด้านยาว

เรือนไทยอีสาน  ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง บ้านส่วนใหญ่จึงมีใต้ถุนยกสูงเพื่อระบายอากาศ รวมถึงเป็นยุ้งข้าวเก็บข้าวของเครื่องใช้ในการหากินและไหหมักปลาร้า

หลังคานิยมมุงด้วยหญ้า ฝาเรือนเป็นฝาแถบตอง ใช้ใบกุงหรือใบชาดประกบกับไม้ไผ่สานเป็นตารางโปร่งๆ ส่วนหลักแบ่งเป็นเรือนนอน ส่วนที่ลดระดับจากเรือนนอนเรียกว่าเกย เป็นชานโล่งมีหลังคาคลุม มักใช้เป็นที่รับแขกและรับประทานอาหาร บันไดจะตั้งด้านหน้าเรือน รอบๆ บ้านไม่นิยมทำรั้วเพราะเป็นสังคมเครือญาติที่อยู่แบบพึ่งพา

เรือนอีสานแบ่งได้เป็น ๔ ประเภทตามลักษณะที่ปรากฏทางรูปทรง ได้แก่ เรือนทรงจั่วแฝดแบบดั้งเดิม เรือนที่มีเรือนโข่ง หรือเรือนโถงฝา ๓ ด้าน เรือนที่ไม่มีเรือนโข่ง และเรือนชั่วคราว

ในที่นี้จะขออธิบายถึงเรือนทรงจั่วแฝดซึ่งเป็นเรือนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในอีสาน ถึงเอกลักษณ์สำคัญ คือมีหลังคาทรงจั่วสูงกว่าเรือนอื่นๆ และเป็นเรือนถาวรของผู้มีฐานะ ลักษณะทั่วไปของเรือนทรงจั่วจะเป็นเรือนแฝด ชายคาของเรือนนอนและเรือนโข่งจรดกัน ไม่มีระเบียง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ ตัวเรือนใช้ไม้แผ่นสร้างเป็นส่วนใหญ่ มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง


เรื่อง-ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กรกฎาคม 2559 16:26:53 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 07 กรกฎาคม 2559 17:25:21 »

.

 ผลไม้อาเซียน

คำว่า ผลไม้ นั้น เพื่อนบ้านอาเซียนแต่ละประเทศเรียกแตกต่างกันออกไป พม่าใช้คำว่า "ติดตี่" ลาวเรียก "หมากไม้" เวียดนาม คือ "ฮวากว๋า จ๊ายเกย" ชาวกัมพูชาเรียก "พแล เชอ" ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ซึ่งใช้ภาษามลายู ผลไม้ คือ "บูอา บัวฮัน" สิงคโปร์เรียก "กั่ว" และฟิลิปปินส์ คือ "อั๊ง พรูตัส"

เริ่มจาก "ขนุน" ผลไม้รสหวานเนื้อกรอบสีเหลืองอ่อน เปลือกด้านนอกมีสีเขียว และปกคลุมไปด้วยหนามทู่ คาดว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ ก่อนนำมาปลูกจนได้รับความนิยมไปทั่วอาเซียน เนื้อขนุนสุกรับประทานเป็นผลไม้ ไม่ก็ใช้ทำขนมหรือปรุงอาหาร

ชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียเรียกขนุนว่า "นังกา" ในภาษาฟิลิปปินส์ และตากาล็อก ใช้คำว่า "ลางกา" ภาษาเขมร คือ "ขนอร์" ชาวลาวเรียก "หมาก มี้" หรือ "เมมี้" ซึ่งละม้ายคล้ายคำว่าบักมี้ในภาษาอีสานบ้านเรา เวียดนาม คือ "มี้ต"

ผลไม้อีกชนิดที่ได้รับความนิยมสุดๆ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน คือ "มะพร้าว" หรือ "เคลาปา" ในภาษามลายูซึ่งใช้ทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนพม่าเรียกว่า "มากูน" ชาวฟิลิปปินส์ใช้คำว่า "เนียก" และ "เหยือ" ในภาษาเวียดนาม เป็นพืชตระกูลปาล์มสารพัดประโยชน์ น้ำมะพร้าวใช้ดื่ม เนื้ออ่อนใช้รับประทาน เนื้อในของผลแก่นำไปขูดทำกะทิ แถมกะลายังประดิษฐ์เป็นของใช้-ของประดับตกแต่ง



  สับปะรด

มาทำความรู้จักกับ "สับปะรด" ผลไม้อร่อยในอาเซียน เพราะต้นกำเนิดของผลไม้แต่ละชนิดไม่อาจฟันธงได้ว่ามาจากประเทศไหน ข้อมูลบางแห่งบอกว่าคำว่า "ไพน์แอปเปิ้ล" ในภาษาอังกฤษที่เป็นสากลนั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาฟิลิปปินส์ เพราะสมัยก่อนฟิลิปปินส์เรียกสับปะรดว่า "ปินาง" ต่อมาสเปนยึดฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้น และเรียกใหม่ว่า "ปินยา"

อีกข้อมูลระบุว่าสับปะรดน่ะปลูกกันในอเมริกาใต้ ก่อนได้รับความนิยมในสเปน ซึ่งนำมาปลูกในฟิลิปปินส์ที่ยึดเป็นเมืองขึ้นในเวลาต่อมา

ไม่ว่าสับปะรดจะมาจากไหน แต่ปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวอาเซียน ไปที่ไหนเป็นต้องเห็นและหาซื้อได้ ง่ายแสนง่าย สำหรับ ชาวเวียดนามเรียกสับปะรดว่า "เยื้อ" ลาว คือ "หมากนัด" พม่าเรียก"น่า หนัด" กัมพูชาใช้คำว่า "มน็อฮ์" จีนกลางในสิงคโปร์เรียก ว่า "โปหลัว" ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนซึ่งใช้ภาษามลายู เรียก "นานัส"

ขณะที่ "มะละกอ" ผลไม้ช่วยย่อย และเครื่องปรุงสำคัญของอาหารจานเด็ดอย่างส้มตำของไทย เริ่มเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เวียดนามเรียกว่า "ดูว ดูว" ลาว คือ "หมากหุ่ง" พม่าเรียก "ตีน บอ ตี" กัมพูชาใช้คำว่า "มะกะ" จีนกลางในสิงคโปร์เรียกว่า "มู่กวา" ส่วนภาษามลายูใช้ "เพพายา"

สำหรับ "กล้วย" ผลไม้สารพัดประโยชน์มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และอาเซียน ชาวเวียดนามเรียกกล้วยว่า "โจ่ย" ลาว คือ "หมากก้วย" พม่าเรียก "แฮง่ด ปยอ ตี" กัมพูชาใช้คำว่า "เจก" จีนกลางในสิงคโปร์เรียกว่า "เซียงเจียว" ส่วนภาษามลายูใช้ "พิซาง"





มารู้จักผลไม้ ฤดูร้อนรสอร่อยในอาเซียน เริ่มจาก "มะม่วง" ผลไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่เอเชียใต้ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เรื่อยมาจนถึงแดนตากาล็อก มีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ รับประทานได้ทั้งดิบและสุก แถมยังนำไปทำเป็นอาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่มได้ด้วย

มะม่วงในภาษาฟิลิปปินส์เรียกว่า "มางกา" สำหรับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน เรียกคล้ายๆ ฟิลิปปินส์ คือ "มังฆา" ชาวเวียดนามใช้คำว่า "สว่าย" ใกล้เคียงกับ "ซวาย" ในภาษากัมพูชา ส่วนชาวลาวเรียก "หมากม่วง" ในพม่าเรียก "ตะแย่ดตี" และสิงคโปร์ซึ่งใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลักเรียกว่า "หมางกั่ว"

หากพูดถึงราชาแห่งผลไม้ หรือ "ทุเรียน" แล้ว ก็ต้องกล่าวถึง "มังคุด" ราชินีผลไม้ สองสุดยอดผลไม้อาเซียนที่โด่งดังไปทั่วโลก ทั้งยังมีสรรพคุณเกื้อกูลกัน คือเมื่อกินทุเรียนมากๆ จะมีอาการร้อนใน การกินมังคุดซึ่งมีฤทธิ์แก้ร้อนในจึงช่วยได้มาก

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน ชื่อมาจากคำว่า "ดูรี" ในภาษามาเลย์ซึ่งแปลว่า หนาม กัมพูชาเรียก "ทุเรน" พม่าเรียกว่า "ดูยินตี" เวียดนามใช้คำว่า "เสิ่วเรียง" ลาวเรียก "หมากทั่วเลียน" จีนกลางในสิงคโปร์เรียก "หลิวเหลียน" ขณะที่ฟิลิปปินส์มีทุเรียนเทศ และเรียกว่า "กูยาบาโน"

ส่วน มังคุด ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน คือ "มังกีส" ชาวฟิลิปปินส์เรียก "มังกุสตาน" พม่าเรียก "มิงกุทธี" เวียดนามใช้คำว่า "มังกุด" ลาวเรียก "หมากมังคุด" และสิงคโปร์เรียก "ซานจู่"




"แตงโม" เดิมทีจะมีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของทวีปแอฟริกา ต่อมาเป็นที่นิยมปลูกไปทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียซึ่งมีสภาพภูมิอากาศ ร้อนระอุคล้ายๆ กัน แตงโมซึ่งชุ่มน้ำจึงกลายมาเป็นผลไม้หน้าร้อนตั้งแต่เอเชียตะวันออกเรื่อยมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวพม่าเรียกแตงโมว่า "พแยตี" เวียดนามใช้คำว่า "เยือเหิว" ลาวเรียก "หมากโม" กัมพูชาคือ "โอวเลิก" มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไนซึ่งใช้ภาษามลายู เรียกว่า "เติมบีไก" ฟิลิปปินส์ใช้คำว่า "พักวัน" และภาษาจีนกลางในสิงคโปร์เรียก "ซีกวา"

อีกหนึ่งผลไม้ฉ่ำน้ำอย่าง "ชมพู่" เป็นผลไม้ที่เสียงเรียกเพี้ยนมาจากภาษามลายู คำว่า "จัมบู" หรือ "จามู" มีถิ่นกำเนิดแถบมลายู แต่บางตำราก็ว่ามาจากอินเดีย

นอกจากชมพู่และจัมบูแล้ว เวียดนามใช้คำว่า "เหมิน รอย" ลาวเรียก "หมากเกียง" หรือ "หมากจอม" กัมพูชาใช้คำคล้ายกันคือ "จมปู" จีนกลางในสิงคโปร์เรียก "เหลียนอู้" และ "โรเซ มานซานัส" ในภาษาฟิลิปปินส์



  สงกรานต์อาเซียน

เรื่องราวชาติสมาชิกอาเซียนที่เฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ในช่วงเดือนเมษายนเช่นเดียวกับไทยเรา

เริ่มที่ชาติสมาชิกอาเซียนตอนบน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และไทย ต่างมีเทศกาลขึ้นปีใหม่อันเป็นประเพณีร่วมทางพุทธศาสนาในเดือนเมษายน ที่สำคัญคือเฉลิมฉลองด้วยการทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าน้ำจะช่วยชะล้างโรคภัย ไข้เจ็บ และเคราะห์ร้าย

วันปีใหม่ พม่า เรียกว่า "ตะจาน" หรือ "เทศกาลตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ" เรียกสั้นๆ ว่า "เหย่บะแวด่อ" โดยเริ่มเฉลิมฉลองในวันที่ ๑๒ เม.ย. และจะเล่นสาดน้ำนาน ๕ วัน ก่อนจะฉลองวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑๗ เม.ย. เมื่อสิ้นวันตะจานชาวพม่านิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกหลานผู้ชาย และจัดงานเจาะหูให้กับลูกหลานผู้หญิง ปัจจุบันพม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวันหยุดปีใหม่อย่างเป็นทางการยาวที่สุดในโลก โดยรัฐบาลกำหนดให้หยุดได้ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๒ เม.ย.

ข้ามไปบ้านพี่เมืองน้องของไทยคือ ประเทศลาว กันบ้าง ปีใหม่ลาวเรียกเหมือนไทยว่า "วันปีใหม่" และ "วันสงกรานต์" ตรงกับวันที่ ๑๔-๑๖ เม.ย. โดยวันแรกของปีใหม่คือ "วัน สังขานล่วง" คล้ายกับ "วันสงกรานต์ล่อง" หรือวันสังขานล่องของชาวไทยล้านนาภาคเหนือ โดยชาวลาวจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อรับสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาในปีใหม่

วันที่สองเรียก "วันเนา" ชาวบ้านจะเดินทางไปทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่และเล่นสาดน้ำ ส่วน "วันสังขาน ขึ้น" หรือวันฉลองปีใหม่ ส่วนใหญ่จะนิมนต์พระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน รดน้ำมนต์เป็นสิริมงคล ก่อนไปก่อเจดีย์ทรายที่วัด



 รามเกียรติ์อาเซียน

ย้อนกลับไปราว ๑,๕๐๐ ปีก่อน คนค้าขายและเหล่านักบวชจากอินเดียเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมีการติดต่อสื่อสาร การเผยแพร่วัฒนธรรมก็เกิดขึ้น อาเซียนจึงรับเอามหากาพย์ชิ้นเอก ๒ เรื่อง คือ มหาภารตะŽ และ รามายณะŽ จากอินเดียโดยปริยาย

ประเทศอาเซียนที่ได้รับอิทธิพลของมหากาพย์อินเดียอย่างมากคงหนีไม่พ้นอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบาหลีซึ่งยังรักษาวัฒนธรรมฮินดูเอาไว้ ทั้งยังมี บารองŽ นาฏศิลป์ที่ผสมผสานเรื่องราวในมหาภารตะกับตำนานพื้นเมือง ขณะที่กัมพูชามีภาพศิลปะเล่าเรื่องราวจากรามายณะตามวัดวาอารามเก่าแก่ ส่วนไทยก็รับเอารามายณะมาจากกัมพูชาผ่านพิธีกรรมการเล่นโบราณ อาทิ หนังใหญ่ จนมาถึงการแสดงโขนที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงในปัจจุบัน

ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยจับมือไปรษณีย์อินโดนีเซีย จัดทำแสตมป์ความร่วมมือสองชาติหัวข้อ รามายณะŽ มรดกร่วมทางวรรณกรรมที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน เป็นภาพ รามเกียรติ์Ž ออกจำหน่ายพร้อมกันทั้งสองประเทศ

ขณะที่ลาว พม่า และมาเลเซีย ต่างได้รับอิทธิพลจากรามายณะและมหาภารตะ นำไปดัดแปลงเป็นวรรณคดีประจำชาติที่มีรายละเอียดแตกต่างเพื่อเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ แต่โครงเรื่องยังคงเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์



 รามเกียรติ์ไทย

วรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" ของไทย ดัดแปลงมาจากมหากาพย์ "รามายณะ" ที่ฤๅษีวาลมีกิแต่งขึ้นเมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน ในไทยปรากฏเป็นวรรณคดีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชนิพนธ์ให้ใช้เล่นเป็นละครหลวง เข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์จนครบสมบูรณ์

โครงเรื่องเริ่มต้นจากนนทก ซึ่งมีหน้าที่ล้างเท้าเทวดาอยู่ที่เชิงเขาไกรลาศ แต่เพราะถูกบรรดาเทวดาข่มเหง จึงไปเฝ้าพระอิศวรเพื่อขอสิ่งตอบแทนที่ทำงานรับใช้มานาน พระอิศวรจึงประทานนิ้วมีฤทธิ์ชี้ผู้ใดก็ให้ผู้นั้นถึงตาย ต่อมานนทกใช้นิ้วชี้เพื่อแก้แค้นจนเทวดาจำนวนมากตาย พระอิศวรจึงส่งพระนารายณ์ไปปราบ

พระนารายณ์จำแลงเป็นนางฟ้า พร้อมออกอุบายชวนให้นนทกร่ายรำ เมื่อนนทกกรีดกรายนิ้วชี้เข้าหาตัวเองจึงล้มตึง ก่อนตายนนทกเห็นนางแปลงคืนร่างเป็นพระนารายณ์ จึงต่อว่าพระนารายณ์ที่มี ๔ กร แต่ทำอุบายหลอกตน พระนารายณ์จึงให้นนทกไปเกิดใหม่ มี ๒๐ มือ ส่วนพระองค์จะตามไปเกิดเป็นมนุษย์มีแค่ ๒ มือ และจะเอาชนะให้ได้

พระนารายณ์อวตารเป็นพระราม ขณะที่นนทกเกิดเป็นทศกัณฐ์และช่วงชิงตัวนางสีดาคู่ครองของพระราม จนเกิดเป็นศึกใหญ่ แต่สุดท้ายทศกัณฐ์ก็ถูกพระรามฆ่าตาย

การแสดงรามเกียรติ์ของไทยมีทั้งโขน หนังใหญ่ และหุ่นกระบอก ตอนที่นิยมนำมาเล่น คือนางลอย จองถนน และศึกไมยราพ



  รามายณะสิงคโปร์-บรูไน  

สัปดาห์นี้ถึงคิวรามายณะฉบับสิงคโปร์และบรูไน บรูไนนั้นได้รับอิทธิพล รามายณะเวอร์ชั่นมลายูไปแบบเต็มๆ ด้วยพื้นฐานวัฒนธรรม ภาษา และศิลปะที่คล้ายคลึงกันมาก รามายณะของบรูไนจึงเป็นการรับต่ออีกทอดจากมาเลเซีย โดยเน้นใช้สำหรับแสดงวาลิต กูยัง หรือหนังเชิด หนังตะลุงแบบมาเลย์นั่นเอง

ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งมีประชากรชาวอินเดียเป็นอันดับ ๓ ของประชากรทั้งประเทศ จึงรับเอาวรรณกรรมเรื่องนี้มาจากฉบับภาษาสันสกฤตของอินเดียทั้งหมด เรื่องราวของ รามายณะในสิงคโปร์จึงมีตัวละครและการดำเนินเรื่องเหมือนต้นฉบับ ส่วนที่แตกต่างจริงๆ คือรูปแบบการแสดง

ในส่วนของโมเดิร์นนั้นผู้เล่นนิยมสวมเสื้อผ้าที่เป็นสมัยนิยมมากกว่าชุดที่ตัดขึ้นเฉพาะแบบการแสดงของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโขนรามเกียรติ์ของไทยที่วิจิตรบรรจงทั้งชุดและหัวโขนซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต เช่นเดียวกับเรียมเกร์ของกัมพูชา ยามะแซทดอว์ในพม่า และพะลักพะลามของลาว รวมถึงแตกต่างจากชุดที่ผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างกากวนิรามายณะของอินโดนีเซีย ฮิกายัต เซรีราม ของมาเลเซีย และมหาราเดีย ลาวานาในฟิลิปปินส์

ขณะที่การแสดงอิงตามต้นฉบับจากอินเดียมีการเต้นแบบ "ภารตะนาฏยัม" จากรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเน้นใช้เท้ามากกว่ามือและแขนแบบศิลปะการร่ายรำเต้นระบำของประเทศอาเซียนในลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีการแสดง "กถักกฬิ" การร่ายรำแบบเก่าที่ผู้แสดงจะสวมหน้ากากด้วย



  กากวนิรามายณะ

อินโดนีเซียรับเอาเค้าโครงเรื่องรามายณะมาประพันธ์ใหม่ด้วยภาษาชวาโบราณในช่วงการปกครอง ของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สัญชัย ราว พ.ศ.๑๔๑๓ มีชื่อเรียกว่า "กากวนิรามายณะ" หรือรามายณะที่แต่ง เป็นกาพย์กลอน

ช่วงต้นแทบจะเหมือนกับรามายณะแบบถอดความจากฉบับภาษาสันสกฤต มีตัวละครหลักๆ คือ ราม ลักษมณะ สีดา และหนุมานราชันย์แห่งลิงผู้มีบทบาทนำทัพประมือกับ "ราวณะ" หรือทศกัณฐ์แห่งเมืองลงกาที่บังอาจลักตัวสีดาไป ครึ่งแรกจบลงด้วยความตายของราวณะ ส่วนรามพาลักษมณะและสีดากลับไปครองบัลลังก์ ตามเดิม

ขณะที่ช่วงหลังของเรื่องกลับต่างออกไปเกือบสิ้นเชิง มีการผสมผสานความเชื่อ "เทพธยนะ" เทพเจ้าสำคัญของชวา ผ่านเรื่องราวของเทพผู้พิทักษ์แห่งชวา "ซางฮยัง อิสมายา" ที่อวตารลงมาเป็นมนุษย์ชื่อ "เซมาร์" มีบุตรชาย ๓ คน ได้แก่ "กาเร็ง" "เปตรุก" และ "บาก็อง" ด้วยรูปลักษณ์ที่ผิดแผกแปลกตา พ่อลูกเลยถูกเรียกว่า "ปูโนกาวันทั้ง ๔" มีความหมายว่าตัวตลกทั้ง ๔ แม้ความเป็นจริง เทพผู้พิทักษ์และพระโอรสจะเปี่ยมไปด้วยอัจฉริยภาพและคุณงามความดี

ด้วยพล็อตน่าติดตามของเซมาร์และลูกๆ จึงนิยมนำเรื่อง กากวนิรามายณะครึ่งหลังมาแสดงหนังตะลุงเงา "วายังกูลิต" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอินโดนีเซียนั่นเอง



    รามเกียรติ์-รามายณะ

รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป กระทั่ง ฤๅษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย รวบรวมแต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อราว ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว และแพร่หลายจากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง รวมถึงอาเซียน เช่น ไทย ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปจนแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม

รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ เรียกว่า โศลก จำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก แบ่งเป็น ๗ ภาค หรือกัณฑ์ ได้แก่ พาลกัณฑ์ อโยธยากัณฑ์ อรัณยกัณฑ์ กีษกินธกัณฑ์ สุนทรกัณฑ์ ยุทธกัณฑ์ อุตตรกัณฑ์

รามายณะเมื่อแพร่หลายมาไทย คนไทยแต่งใหม่เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระราม กับฝ่ายทศกัณฐ์ เพื่อชิงตัวนางสีดา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อ พระลักษมณ์ และหนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายยักษ์ก็ปราชัย

รามเกียรติ์มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อให้ละครหลวงเล่น ทรงเลือกมาเป็นตอนๆ รามเกียรติ์นี้มีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น

รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอน ในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่างๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๑๗๘ ห้อง โดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง

จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุถึงความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์ ว่า
     ๑.ในรามายณะ หนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ชื่อรุทรอวตาร หนุมานในรามายณะไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์
     ๒.ในรามายณะ ชาติก่อน ทศกัณฐ์กับกุมภกรรณเป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ ชื่อชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์ นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้า ฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมาน  ชัยกับวิชัยจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์ ว่าตนเพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้ได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติ และทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม
     ๓.กุมภกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์ คือเป็นคนซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณเคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฐ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้น ย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือพระวิษณุ ไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบ
     ๔.ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่รวมเป็นตัวเดียว





  "รามายณะ"ไทย-อินโดนีเซีย

ไปรษณีย์ไทย จับมือไปรษณีย์อินโดนีเซีย จัดทำแสตมป์ความร่วมมือสองชาติหัวข้อ "รามายณะ" มรดกร่วมทางวรรณกรรมที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน โดยกรุง จากาตาร์เชิญทูตไทยร่วมเปิดตัวยิ่งใหญ่ ๑๐ พ.ค.

ภาพแสตมป์สองดวงที่ออกเหมือนกันทั้งสองประเทศ เป็นภาพรามเกียรติ์" โดยของไทยจากจิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอน "นิลนนท์จับพิเภกมาเฝ้าพระราม" คู่กับภาพวาด "รามายณะ" จากผืนผ้าใบของอินโดนีเซีย ตอน "นางสีดากลับมาอยู่กับพระราม ด้วยความช่วยเหลือของหนุมาน" ราคาดวงละ ๓ บาท ซองวันแรกจำหน่ายราคา ๑๕ บาท ส่วนแสตมป์ของอินโดนีเซียเป็นชนิดราคา ๘๐๐๐ รูเปียทั้งสองดวง กำหนดออกจำหน่ายพร้อมกันทั้งสองประเทศ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙



  พะลัก พะลาม

สัปดาห์นี้พาไปทำความรู้จักรามเกียรติ์ฉบับเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวกัน ชาวลาวเรียกวรรณคดีเรื่องนี้ว่า "พะลัก พะลาม" มาจากชื่อของพระรามและพระลักษณ์แบบไทย

เค้าโครงเรื่องคล้ายคลึงกันมาก ในช่วงแรกว่าด้วยเหตุการณ์ของทศกัณฐ์ หรือ "ท้าวฮาบมะนาสวน" (ท้าวราพณาสูร) ซึ่งเป็นญาติกับพะลาม ก่อการทำศึกกับพ่อของพะลาม ผู้เป็นลุง จนได้รับชัยชนะและชิงพี่สาวของพะลามไป ต่อมาเมื่อพะลามกับ พะลักเติบใหญ่มีวิชาแกร่งกล้าก็ชวนกันนำกำลังไปชิงพี่สาวกลับมา

ขณะที่ช่วงหลังเป็นเรื่องของการช่วงชิง "นางสีดา" ซึ่งเวอร์ชั่นลาวเป็น นางสุชาดา มเหสีของพระอินทร์ อวตารลงมาโลกมนุษย์เพื่อแก้แค้นท้าวฮาบมะนาสวน ที่เหิมเกริมใช้ใบหน้าที่เหมือนพระอินทร์หลอกหลับนอนด้วยจนนางสุชาดาเจ็บแค้นมาก ส่วนที่เหมือนกันกับรามเกียรติ์ไทย คือนางสีดาในภาคมนุษย์เป็นลูกของท้าวฮาบมะนาสวน

ตัวละครหลักที่แตกต่างออกไป ยังมี "ท้าวหุนละมาน" หรือหนุมาน ซึ่งฉบับลาวเป็นลูกแท้ๆ ของพะลาม และถือกำเนิดขึ้นตอนพะลามกินผลไม้ต้องห้าม และท้าวฮาบมะนาสวนไม่ได้ตายเพราะถูกขยี้กล่องดวงใจ แต่ตายเพราะโดนปืนใหญ่ยิงจนร่างแหลกละเอียด

ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เชื่อว่าลาวรับเอาวรรณคดีที่มี ต้นเรื่องจากมหากาพย์รามายณะผ่านอิทธิพลทางวัฒนธรรมของกัมพูชาอีกทอดหนึ่ง โดยพระเจ้าโพทิสะลาดทรงนำรามายณะ มาปรับเนื้อหาและประพันธ์เป็นภาษาลาวในศตวรรษที่ ๑๕ และยังมีนาฏศิลป์ที่เกิดจากวรรณคดีเรื่องนี้ ในชื่อ "ฟ้อนพะลักพะลาม" ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน



  รามายณะปินส์

สัปดาห์นี้ตามไปทำความรู้จักรามายณะฉบับฟิลิปปินส์กันบ้าง จากบทความของศาสตราจารย์ฆวน ฟรานซิสโก ผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยาในฟิลิปปินส์ ระบุว่าวรรณคดีเรื่อง "มหาราเดีย ลาวานา" ที่ประพันธ์ขึ้นโดยชนเผ่ามาราเนา มีเค้าโครงเรื่องจากรามายณะของอินเดีย แต่เนื้อเรื่องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิต จากวัฒนธรรมแบบชาวฮินดูกลายมาเป็นมหากาพย์เวอร์ชั่นอิสลาม

มหาราเดีย ลาวานา เล่าเรื่องของสองดินแดน ฝั่งหนึ่งเป็นเรื่องของ "มหาราเดีย ลาวานา" หรือทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ของไทย แต่มี ๘ พักตร์แทนที่จะเป็น ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร แบบทศกัณฐ์ และเพราะประพฤติตัวไม่ถูกไม่ควร สุลต่านแห่งปูลู บันเดียร์มาซีร์ พะราชบิดา จึงขับไล่มหาราเดีย ลาวานา ออกจากเมืองและให้ไปอยู่ที่เกาะปูลู นาการา แทน

ตัดไปที่อีกเมือง "ราเดีย มันกันดิรี" และ "ราเดีย มันกาวา" ซึ่งก็คือ พระราม และพระลักษมณ์ เป็นพระราชโอรสของสุลต่านแห่ง อกามา นีอ๊ก ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลนานกว่า ๑๐ ปี เพื่อไปขอและเสกสมรสกับ "ตุวัน ปอเตร มาไลลา ติไฮอา" หรือนางสีดา พระราชธิดาในสุลต่านแห่งปูลู นาบันดัย ระหว่างพาพระชายาเสด็จกลับบ้านเกิด มาไลลาเกิดถูกใจกวางเขาทองในป่า จึงทูลขอให้พระสวามีและพระอนุชาจับกวางเขาสวยตัวดังกล่าว เป็นเหตุให้ลาวานาซึ่งถูกอกถูกใจในเสน่ห์ของมาไลลา ลอบลักพาตัวนางไปยังเกาะปูลู นาการา

ต่อมาราเดีย มันกันดิรี สุบินว่าได้พบกับลูกลิงนาม "ลักษมานา" หรือหนุมาน ปรากฏว่ากลายเป็นความจริง ลักษมานาจึงช่วยมันกันดิรีบุกชิงตัวมาไลลากลับ คืนมา

ตอนจบของเรื่องลงเอยที่มันกันดิรีได้พระชายากลับมาอยู่ในอ้อมอก และขึ้นครองเมืองอกามา นีอ๊กอย่างมีความสุข ลักษมานาเมื่อเติบใหญ่กลายเป็นมนุษย์ และลาวานากลับตัวกลับใจเป็นสุลต่านที่ปกครองเมืองอย่างเป็นธรรม





ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กันยายน 2559 13:27:19 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 12 กันยายน 2559 14:05:30 »

    ปีนักษัตร บรูไน-ไทย

แม้บรูไนจะเป็นอีกประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็มีชุมชนชาวจีนและชาวบรูไนที่ผสมผสานเชื้อสายจีน ซึ่งในกลุ่มนี้จะยึดถือธรรมเนียมการนับปีนักษัตรแบบจีน คำเรียกจะถอดแบบภาษาจีนต้นฉบับ ยกเว้นบางพื้นที่ที่ใช้ภาษาจีนฮากกาของชาวจีนแคะ

ปีชวดเรียกว่า "ฉู่" ปีฉลูคือ "แหง่ว" ปีขาลเป็น "ฝู่" ปีเถาะตรงกับ "ถู่" ปีมะโรง-งูใหญ่ คือ "หลุง" ปีมะเส็งใช้คำว่า "สา" ปีมะเมีย-ม้า เรียกว่า "มา" ปีมะแม-แพะแบ๊ะๆ คือ "หยอง" ปีวอกใช้คำว่า "แห็ว" ปีระกา-ไก่ เป็น "แก" หรือ "ไก" ส่วนปีจอคือ "แกว" และปีกุนเรียกว่า "จู"

ปิดท้ายปีนักษัตรอาเซียนที่ไทยเราซึ่งได้รับอิทธิพลการนับปีนักษัตรหรือนักขัต ผสมผสานระหว่างจี และอารยธรรมขอม ปีชวดหมายถึงปีหนู ฉลูคือวัว ขาล-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้พญานาคตามความศรัทธาของอาเซียนตอนบน หรือมังกรแบบจีน มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้ามะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-สุนัข กุน-หมู แต่บางพื้นที่เช่นภาคเหนือของไทยใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสัญลักษณ์แทน

ธรรมะอาสา-มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ กทม. จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๔๓ ตามโครงการ "ความรู้สู่เด็กชนบท" เพื่อเผยแผ่ธรรมะและช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท โดยมีพระวิทยากรเผยแผ่ธรรมะและครูอาสาร่วมกิจกรรม



    ปีนักษัตรเวียดนาม

ชาวเวียตมีวันขึ้นปีใหม่หรือที่เรียกว่า "เต๊ตเงวียนด๊าน" หรือ "วันเต๊ต" ตรงกับวันที่ ๑ เดือนที่ ๑ ตามปฏิทินจันทรคติแบบเดียวกับจีน อีกอย่างที่เวียดนามมีเหมือนจีนคือปีนักษัตร ต่างแค่การเรียกชื่อและสัตว์บางชนิดเท่านั้น

เริ่มที่ปีแรก "ตี๊" ตรงกับปีชวดของไทย มี "จวด" หรือหนูในภาษาเวียดนามเป็นสัญลักษณ์, "สิ่ว" ตรงกับปีฉลู มี "เจิ่ว" ซึ่งหมายถึงควายเป็นสัตว์ประจำปี, "เหยิ่น" ปีขาล มาพร้อม "โห่" หรือเสือ, "หม่าว" ตรงกับปีเถาะ-กระต่าย แต่เวียดนามนับถือ "แหม่ว" หรือแมวเป็นสัตว์ประจำปี, "ถิ่น" ปีมะโรง มี "หร่ง" หรือมังกรเป็นสัตว์สัญลักษณ์

"ติ" คือปีมะเส็ง มี "หรั้น" หรืองูเป็นสัตว์ประจำปี, "หง่อ" ปีมะเมีย มี "เหงื่อะ" ซึ่งหมายถึงม้า, "หมุ่ย" ปีมะแม ใช้ "เซ" หรือแพะเป็นสัญลักษณ์, "เทิน" คือปีวอก สัตว์มงคล คือ "ขี่" หรือลิงนั่นเอง, "เหย่า" ปีระกา มี "ก่า" ซึ่งก็คือไก่เป็นสัญลักษณ์, "ต๊วด" คือปีจอที่มี "จ๋อ" หรือสุนัขเป็นสัตว์มงคล และสุดท้าย "เห่ย" หรือปีกุน กับ "เลิน" ที่หมายถึงหมูเป็นสัตว์ประจำปี



    ปีนักษัตรพม่า

ปีนักษัตรพม่าหรือเมียนมาต่างจากปีนักษัตรทั้ง 12 ที่เพื่อนบ้านอาเซียนตอนบนอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย ได้รับอิทธิพลจากจีน ปีนักษัตรพม่าจึงมีเพียง ๘ ปี อิงกับทิศทั้ง ๘ ทิศ และ ๘ วัน ในรอบสัปดาห์ (นับแบ่งวันพุธกลางวันและ พุธกลางคืน)

เริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงกับวันอาทิตย์ หรือ ตะเนงกะหนุ่ยในภาษาพม่า มีดวงอาทิตย์ และ "ครุฑ" หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า "กะโหล่ง" เป็นสัญลักษณ์, ทิศตะวันออกตรงกับวันจันทร์ ภาษาพม่าคือ ตะเหนหล่า มีดวงจันทร์ และ "จา" หรือ "เสือ" เป็นสัตว์ประจำทิศ, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตรงกับวันอังคาร หรือ เองกา มีดาวอังคาร-มาร์ และ "สิงโต" หรือ "ชีงเต๊ะ" เป็นสัญลักษณ์, ทิศใต้ตรงกับวันพุธกลางวัน หรือโบ๊ะดะฮู มีดาวพุธ-เมอร์คิวรี และ "ฉิ่น" ที่หมายถึง "ช้างมีงา" เป็นสัตว์ประจำทิศ ขณะที่ "ช้างไร้งา" หรือ "ฮาย" เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งตรงกับวันพุธกลางคืน หรือยาฮู

ส่วนทิศตะวันตกซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี หรือจ่าต่าบ่าเต่ มีสัญลักษณ์คือดาวพฤหัสบดี- จูปิเตอร์ และ "จแวะ" ที่หมายถึงหนูในภาษาพม่า, ทิศเหนือตรงกับเต๊าจ่า หรือวันศุกร์ มีสัญลักษณ์เป็นดาวศุกร์-วีนัส และ "หนูตะเภา" หรือ "ปู" สุดท้ายคือทิศตะวันตกเฉียงใต้ตรงกับวันเสาร์ หรือสะเหน่ มีดาวเสาร์-แซทเทิร์น และ "นาค" ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า "นะกา" เป็นสัตว์ประจำทิศ



    ปีนักษัตรเขมร

ปัจจุบันปีนักษัตรนำไปใช้กันแพร่หลายทั้งฝั่งเอเชียและตะวันตก เป็นวิธีนับหรือการกำหนดรอบปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย ปีนักษัตรซึ่งรู้จักกันดีเป็นอิทธิพลที่มาจากการนับรอบปีของจีน ส่วนในภูมิภาคอาเซียนผ่านการผสมผสานกับอารยธรรมขอมและกลายเป็นปีนักษัตรที่กลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนใช้กัน

ขอประเดิมการนับรอบปีนักษัตรของกัมพูชาเป็นประเทศแรก ปีนักษัตรลำดับที่ ๑ ของกัมพูชา คือ "จูด" ตรงกับปีชวดของไทย และมีสัญลักษณ์เป็น "กอนดล" ซึ่งหมายถึงหนู ปีต่อไปคือ "ชโลว" ตรงกับปีฉลู สัตว์ประจำปีคือ "โก" หรือวัว, "คาล" ตรงกับปีขาล สัญลักษณ์เป็น "คลา" นั่นคือเสือ, "เทาะฮ์" ตรงกับปีเถาะ มี "ต็วน ซาย" หรือกระต่ายเป็นสัตว์ประจำปี, "โรง" คือปีมะโรง งูใหญ่ หรือ "ปัวะฮ์โทม" ในภาษาเขมร, "มซัญ" ตรงกับปีมะเส็ง สัตว์ประจำปีคือ "ปัวะฮ์โตจ" หมายถึงงูเล็ก,

"โมมี" คือปีมะเมีย ม้า หรือ "แซะฮ์", "โมเม" ตรงกับปีมะแม สัตว์ประจำปีคือ "โปเป", "โวก์" คือปีวอก ลิง หรือที่เรียกว่า "ซวา", "โรกา" ตรงกับปีระกา สัญลักษณ์เป็น "เมือน" นั่นก็คือ ไก่, "จอ" แน่นอนว่าตรงกับปีจอ สัตว์ประจำปีเป็น "ชแก" ซึ่งหมายถึงสุนัข และ "กุร" ตรงกับปีกุน มี "จรูก" หรือหมูเป็นสัญลักษณ์



    ปีนักษัตรลาว

ปีนักษัตรที่ใช้ในสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยนั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานกงสุลลาว จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า ทั้งไทยและลาวเรียกปีนักษัตรเหมือนกัน จะต่าง ก็แค่สำเนียงการออกเสียง

สัตว์สัญลักษณ์ปีนักษัตร ปีชวด คือ "หนู" ปีฉลูเป็น "งัว" หมายถึงวัวในภาษาไทย คำว่า "เสือ" ใช้เหมือนกันในปีขาล เช่นเดียวกับ "กระต่าย" ปีเถาะ "งูใหญ่" หรือ "นาค" เป็นสัตว์ประจำปีมะโรง "งู" ปีมะเส็ง ปีมะเมียใช้ "ม่า" หรือม้า ปีมะแมเป็น "แบะ" ซึ่งก็คือแพะ ปีวอกใช้ "ลิ่ง" หรือลิง ปีระกา คือ "ไก" หมายถึงไก่ ปีจอใช้ "หมา" เหมือนกัน และปีกุนคือ "หมู"

ขณะที่ชาวไทลื้อซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงน้ำทา หลวงพูคา บ่อแก้ว ไซยะ บูลี และหลวงพะบางของลาว บางส่วนเรียกปีนักษัตรต่างออกไป โดยปีชวดเรียกว่า "ไจ้" ปีฉลู คือ "เป้า"ปีขาล "ยี่" ส่วนปีเถาะเป็น "เม้า" ปีมะโรงเรียก "สี" ปีมะเส็งคือ "ไส้" ปีมะเมียเรียกว่า "สะง้า" ปีมะแม คือ "เม็ด" ปีวอก คือ "สัน" ปีระกาเป็น "เล้า" ปีจอ คือ "เส็ด" และปีกุนเรียกว่า "ไก้"


    ปีนักษัตรฟิลิปปินส์

แม้ฟิลิปปินส์จะอยู่ห่างออกไปจากเพื่อนสมาชิกชาติอาเซียน และยังได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกมากกว่า แต่ฟิลิปปินส์ก็รับเอาความเชื่อเรื่องปีนักษัตรแบบจีนมาผสมผสานกับวิถีชีวิตหลากวัฒนธรรมของตน

ส่วนใหญ่นิยมเรียกปีนักษัตรด้วยภาษาอังกฤษตามสากล แน่นอนว่าชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนก็จะเรียกเป็นภาษาจีนตามสายใยเชื้อชาติที่ถ่ายทอดสืบกันมา

สำหรับภาษาฟิลิปปินส์ และตากาล็อก อีกภาษาราชการ เรียกปีนักษัตรจีนว่า "อินต์ ซิก โซดีแอก" โดยปีชวดมีหนู หรือ "ดากา" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ ปีฉลู-วัว คือ "บากา" หรือ "อุนกา" ปีขาลที่หมายถึงเสือ ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า "ติเกร" ปีเถาะ-กระต่าย คือ "คูเนโฮ" หรือ "โคเนโฮ"

ปีมะโรงมีมังกรเป็นสัตว์มงคล ที่ฟิลิปปินส์เรียกเหมือนฝรั่ง คือ "ดรากอน" ถ้าเป็นภาษาตากาล็อกจะใช้ "นากา" ที่แปลว่านาค แบบพญานาคบ้านเรา ปีมะเส็ง-งูเล็ก หรืองูธรรมดา เป็น "อาฮาส"

ปีมะเมีย-ม้า ใช้ "คาบาโย" ปีมะแมที่มีแพะแบ๊ะๆ คือ "คัมบิง" ปีวอก-ลิง เรียกว่า "ซองโก" ปีไก่ระกา คือ "ตันดัง" ปีจอ-สุนัข คือ "อะโซ" และปีกุน-หมู ใช้คำว่า "บาบอย"

นอกจากนี้ ภาษาสเปนเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในฟิลิปปินส์มีคำเรียกสัตว์ที่เป็น ๑๒ สัญลักษณ์นักษัตร แตกต่างออกไป มีเพียงไม่กี่คำที่คล้ายหรือเหมือนกัน หนู คือ "ราโตน" วัว เรียกว่า "วากา" เสือ คือ "ติเกร" คำนี้เหมือนภาษาถิ่น กระต่ายเรียกว่า "โกเนโฆ" งู คือ "เซอร์เปียนเต" ม้า คือ "กาบาโญ" แพะ คือ "กาบรา" ลิงเรียกว่า "โมโน" ไก่ คือ "กัลโญ" สุนัขเป็น "เปรโร" และหมู คือ "แซรโด"



   ปีนักษัตรอินโดนีเซีย

ว่ากันด้วยเรื่องปีนักษัตรในภูมิภาคอาเซียนกันต่อ พาล่องใต้ไป "อินโดนีเซีย" แดนอิเหนา เหตุที่กระโดดข้ามสิงคโปร์ไปนั่นเป็นเพราะสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลผสมผสานจากมาเลเซีย ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภาษา ปีนักษัตรในสิงคโปร์จึงเรียกด้วยภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษแบบสากล

ขณะที่อินโดนีเซียนั้นแม้จะมีภาษา บาฮาซา อินโดนีเซีย ซึ่งละม้ายคล้ายมลายูของมาเลเซีย แต่ก็มีบางคำที่แตกต่างออกไป โดยปีนักษัตรของชาวอิเหนาเรียกว่า "ชีโอ"

"ชีโอตีกุซ" ตรงกับปีชวดซึ่งมีหนู หรือ "ตีกุซ" ในภาษา บาฮาซา เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ชีโอเกอร์เบา" มี "เกอร์เบา" ที่แปลว่ากระบือ หรือควายเป็นสัตว์ประจำปี

ปีขาล-เสือ เป็น "ชีโอมาจัน" คำว่า "มาจัน" หมายถึงเสือ, "ชีโอเกอลินจี" ตรงกับปีเถาะ มีกระต่าย หรือ "เกอลินจี" เป็นสัญลักษณ์, ปีมะโรงคือ "ชีโอนากา" มี "นากา" ซึ่งหมายถึงมังกรเป็นนักษัตร, "ชีโอ อูลาร์" ตรงกับปีมะเส็ง- งูเล็ก หรือ "อูลาร์" ในภาษาบาฮาซา

ปีมะเมีย เป็น "ชีโอกูดา" มาพร้อมกับ "กูดา" ที่แปลว่าม้า, "ชีโอกัมบิง" ตรงกับปีมะแม มีสัญลักษณ์คือแพะ หรือ "กัมบิง", ปีวอก เรียกว่า "ชีโอโมแยต" มีลิง หรือ "โมแยต" เป็นสัตว์มงคล, ปีระกา-ไก่ คือ "ชีโออายัม", ปีจอตรงกับ "ชีโออันยิง" คำว่า "อันยิง" หมายถึงสุนัข และสุดท้าย "ชีโอบาบี" คือ ปีกุน มี "บาบิ" หรือหมูเป็นสัตว์ประจำปีนั่นเอง



   ปีนักษัตรมาเลย์ (แบบจีน)

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่รับเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษามาจากจีน ขณะที่ประชากรชาวมาเลย์เชื้อสายจีนมีจำนวนมากกว่าร้อยละ ๓๓

ปีนักษัตรของมาเลเซียจึงได้รับถ่ายทอดตามต้นฉบับ ๑๒ นักษัตรจีนที่เรียกว่า "สู่เซี่ยง"

ปีแรกคือ "สู่เหนียน" ตรงกับปีชวดของไทย มีหนู หรือ "เหลาสู่" ในภาษาจีน เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลูเรียกว่า "หนิว เหนียน" มี "หนิว" ซึ่งหมายถึงวัว เป็นสัตว์ประจำปี, ปีขาล ตรงกับ "หู่เหนียน" มีสัญลักษณ์ "หู่" ซึ่งแปลว่าเสือในภาษาจีน, "ทู่เหนียน" คือปีเถาะ มาพร้อมกระต่าย หรือ "ทู่จื่อ"

ปีมะโรงตรงกับ "หลงเหนียน" เป็นปี งูใหญ่ หรือมังกรตามอย่างจีน ซึ่งเรียกว่า "หลง", ปีมะเส็ง-งูเล็ก คือ "เสอ เหนียน" มี "เสอ" ที่แปลว่างูเป็นสัตว์ประจำปี

"หม่าเหนียน" ตรงกับปีมะเมีย มีสัญลักษณ์เป็นม้า หรือ "หม่า", ปีมะแมคือ "หยางเหนียน" นักษัตรคือ แพะ ในภาษาจีนเรียกว่า "หยาง", ปีวอก-ลิง เรียกว่า "โหวเหนียน" และใช้ "โหวจื่อ" หรือลิง เป็นสัญลักษณ์, "จีเหนียน" ตรงกับปีระกา และมีไก่ หรือ "จี" เป็นนักษัตร, ปีจอ คือ "โก่วเหนียน" แน่นอนว่าสัญลักษณ์เป็น "โก่ว" หรือสุนัข และปีกุน-หมู เรียกว่า "จูเหนียน" และมี "จู" ซึ่งหมายถึงหมูอู๊ดๆ เป็นสัตว์สัญลักษณ์

ส่วนปีนักษัตรในสไตล์มลายูเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อ ตอนหน้า

    ปีนักษัตรมาเลย์ (มลายู)

นอกจากมาเลเซียจะใช้ปีนักษัตรแบบจีนแล้ว ชาวมลายูซึ่งเป็นประชากรหลักในมาเลเซียยังมีชื่อเรียกปีเหล่านี้ต่างออกไปด้วย

เริ่มจากปีชวด "ตาฮนตีกุส" มีหนู หรือ "ตีกุส" เป็นสัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ตาฮนลูมู" มาพร้อมนักษัตรเคี้ยวเอื้องอย่างวัว ซึ่งภาษามลายูเรียกว่า "เลิมบู" หรือ "ลือมู"

"ตาฮนรีเมา" ตรงกับปีขาล มี "ฮารีเมา" ที่แปลว่าเสือเป็นสัตว์ประจำปี ปีเถาะ คือ "ตาฮนอัรนะ" ใช้ "อัรนับ" หรือกระต่ายเป็นสัญลักษณ์

ปีมะโรง-งูใหญ่ ชาวมาเลย์เรียกว่า "ตาฮนอูลาบือซา" สัตว์ประจำปี คือ "มาฆอ" หรือมังกร ส่วนปีมะเส็ง-งูเล็ก ที่มี "อูลา" หรืองูเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า "ตาฮนอูลากจิ"

"ตาฮนกูดอ" ตรงกับปีมะเมีย-ม้า หรือ "กูดา" ปีมะแมเรียกว่า "ตาฮนกาเม็ง" กับสัตว์ประจำปีเป็นแพะ "กัมปิง" หรือ "กาเม็ง" ปีวอก คือ "ตาฮนกือรอ" ใช้ลิง หรือ "กือรอ" เป็นสัญลักษณ์

"ตาฮนอาแย" ตรงกับปีระกา-ไก่ ในภาษามลายูเรียกว่า "อาแย" หรือ "อายัม" ปีจอ คือ "ตาฮนอายิง" มีสุนัข "อันยิง" หรือ "ฮาญิง" เป็นนักษัตร และปีกุนเรียกว่า "ตาฮนบาบี" มี "บาบี" ที่แปลว่าหมูเป็นสัญลักษณ์



ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 14 กันยายน 2559 11:18:32 »


   น้ำปลาอาเซียน

นอกจากข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักจนเป็นที่มาของสัญลักษณ์รวงทอง ๑๐ ช่อแล้ว ชาติอาเซียนยังชื่นชอบอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่เครื่องปรุงรสในอาเซียนจะเป็นหนึ่งในตัวชูโรงอาหารแสนอร่อย แถมยังสร้างชื่อระดับโลก

ประเดิมกันที่น้ำปลา ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว มีรสเค็ม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสของอาหาร ทำจากการหมักปลากับเกลือ คนไทยเรียกว่า "น้ำปลา" ตรงตามตัวคือน้ำที่มาจากปลา เช่นเดียวกับ "น้ำปา" ของลาว สำหรับเวียดนาม คือ "เนื้อก มั้ม" เนื้อกหมายถึงน้ำ ส่วนมั้มคือปลาหมักเกลือ หรือปลาร้าแบบญวนนั่นเอง

กัมพูชาใช้คำว่า "ตึกตรัย" ส่วนชาวพม่าเรียกน้ำปลาว่า "ง่าน เปี่ย เหย่" ขณะที่น้ำปลาเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย คือ "เทราซี" หรือ "แทรสซี" และฟิลิปปินส์ คือ "ปาตีส"

ส่วนมาเลเซียมี "บูดู" ทำคล้ายน้ำปลาแต่จะผสมกากที่หมักลงไปด้วย แน่นอนว่าคนไทยเองก็คุ้นเคยกับบูดูหรือน้ำบูดูที่ใส่ในข้าวยำ และด้วยอิทธิพลของมลายูในสิงคโปร์และบรูไน เครื่องปรุงเสริมรสชาติที่ทั้งสองประเทศใช้จึงเป็นบูดูด้วยนั่นเอง



  ซอสพม่า-ลาว

พม่านั้นมีข้อมูลบันทึกถึงการทำซอสถั่วเหลืองย้อนกลับไปในสมัยอาณาจักรพุกาม อาณาจักรโบราณช่วงศตวรรษที่ ๙ และ ๑๐ เริ่มจากซอสถั่วเหลืองผสมกับน้ำที่ได้จากการหมักปลา เรียกว่า "เป ง่าน ยาร์ เย"

ต่อมาในสมัยราชวงศ์คองบอง หรือ อลองพญา ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ซอสที่เดิมผสมกับน้ำหมักปลาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแยกเป็นซอสถั่วเหลือง และได้รับความนิยมทำใช้ในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย โดยซอสถั่วเหลืองซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจใช้ปรุงอาหารพม่าสารพัดชนิด คือ "จา โหย่" หรือซอสถั่วเหลืองแบบข้น มีรากศัพท์และลักษณะคล้ายกับ "เจี้ยงโหยว" หรือซีอิ๊วของจีนนั่นเอง

ขณะที่ชาวลาวได้รับอิทธิพลใช้ซอสถั่วเหลืองในการทำอาหารมาจากจีน คล้ายกับอีกหลายประเทศอาเซียน ชาวลาวเรียก "น้ำสะอิ๊ว" เป็นซีอิ๊วแบบเดียวกับของไทย วัตถุดิบหลักคือถั่วเหลือง นำไปหมักกับข้าวหรือข้าวสาลี ซึ่งข้าวจะเป็นอาหารของเชื้อรา จากนั้นนำเกลือและเชื้อรามาหมักในที่ที่ควบคุมอุณหภูมิ ระหว่างหมักนาน ๒-๓ เดือน ต้องคนเป็นระยะเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะทำให้ซีอิ๊วมีกลิ่นหอมและรสกลมกล่อม

จากนั้นกรองแยกกากและน้ำออกจากกันจนได้เป็นซีอิ๊วในที่สุด ซีอิ๊วขาวจะมีสีน้ำตาลใส กลิ่นหอม รสเค็มเล็กน้อย ส่วนซีอิ๊วดำเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มมีกลิ่นหอมไหม้ รสเค็มกว่าซีอิ๊วขาว



   ซอสเวียดนาม

ชาวเวียดนามเรียกซอสถั่วเหลืองว่า "เนื้อกต่วง" แม้จะไม่นิยมเท่ากับ "เนื้อกมั่ม" หรือน้ำปลาซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหารมากถึงร้อยละ ๘๐ แต่เนื้อกต่วงก็มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน

เนื้อกต่วงมีกรรมวิธีการผลิตคล้ายซอสถั่วเหลืองของไทยซึ่งรับมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะเป็นน้ำซอสใสสีน้ำตาลอ่อนและรสเค็ม ขณะที่ "เซิมแด็ก" หรือ "ฮวาวี" เป็นซอสแบบข้นเหนียวสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาปรุงอาหารโดยตรง แต่นำไปผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆ อย่างน้ำต้มสุก หรือไม่ก็น้ำส้มสายชู เพื่อใช้เป็นน้ำจิ้มเสริมรสชาติอาหาร ชนิดสุดท้ายเป็นเนื้อกต่วงที่ผสมเครื่องปรุงอื่นๆ คล้ายซอสสำเร็จรูปสำหรับอาหารประเภทต้ม ผัด หรือทอด

นอกจากนี้ยังแบ่งเนื้อกต่วงตามวิธีการผลิตได้เป็น ๓ แบบใหญ่ๆ ได้แก่ ซอสถั่วเหลืองที่หมักโดยวิธีธรรมชาติ หมายถึงซอสที่ได้จากการหมักถั่วเหลืองหรือส่วนผสมของถั่วเหลือง โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ แบบที่สองคือซอสจากการย่อยโปรตีนในกรดเข้มข้น นิยมเพิ่มน้ำมันถั่วลิสงลงไปเพื่อให้ได้กลิ่นรสหอมมันเฉพาะตัว ส่วนซอสอีกตัวเป็นซอสผสมระหว่างเนื้อกต่วงที่ได้จากการหมักและเนื้อกต่วงแบบใช้กรดเข้มข้น



   ซอสแดนอิเหนา

เครื่องปรุงชนิดที่สำคัญสำหรับชาวอาเซียนคงหนีไม่พ้น "ซอสถั่วเหลือง" มีถิ่นกำเนิดในจีนราวศตวรรษที่ ๓-๕ เดิมทีใช้น้ำที่หมักจากปลาผสมกับถั่วเหลือง และเรียกซอสดังกล่าวว่า "เจียง" ต่อมาน้ำหมักปลากับน้ำหมักถั่วเหลืองแยกออกเป็นเครื่องปรุง๒ ชนิด

ซอสถั่วเหลืองเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการค้าขายกับจีน ก่อนที่แต่ละประเทศจะปรับสูตรและส่วนผสมให้เป็นไปตามวัฒนธรรมการกินของตน

อินโดนีเซียเรียกซอสถั่วเหลืองว่า"เคแค็ป" หรือ "เคเซียบ" มีรากศัพท์คล้ายคลึงกับคำว่า "เคทชัป" หรือซอสมะเขือเทศของชาติตะวันตก โดยซอสที่ชาวอิเหนานิยมใช้ปรุงอาหารมากที่สุดมี ๓ ชนิด อันดับแรก คือ "เคแค็ป มานิส" ซอสถั่วเหลืองหวาน เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวข้น มีรสหวานของน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล เมนูประจำชาติกว่าร้อยละ ๙๐ ของอินโดนีเซียใช้เคแค็ป มานิส ไม่ว่า จะเป็น "นาซิ โกเร็ง" ข้าวผัดอินโดฯ และหมี่ผัด "มีโกเร็ง" รวมถึงอาหารจีนสไตล์ผสมผสานตามแบบฉบับอินโดนีเซีย

ซอสชนิดที่สองเรียกว่า "เคแค็ป อะซิน" เป็นแบบเค็มใกล้เคียงกับซอสถั่วเหลืองที่ใช้ทั่วไปในประเทศอื่น แต่ข้นหนืดและมีกลิ่นรสเข้มข้น นิยมใส่ในอาหารจีน โดยเฉพาะเมนูของชาวฮกเกี้ยนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ประเดิมนำเข้าซอสถั่วเหลืองเค็มมายังอินโดนีเซีย

สุดท้ายคือ "เคแค็ป มานิส เซดัง" ซอสถั่วเหลืองรสชาติกลางๆ ผสมผสานระหว่างเคแค็ป มานิส และเคแค็ป อะซิน จึงมีรสเค็มนำและหวานอ่อนๆ เนื้อสัมผัสนั้นข้นน้อยกว่าซอสอีกสองชนิด



   ซอสมาเลย์-บรูไน

ซอสถั่วเหลืองของมาเลเซียมีชื่อเรียกคล้ายซอสถั่วเหลืองของอินโดนีเซีย คือ "คีแค็ป" อันที่จริงต้องบอกว่าอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียซึ่งเป็นต้นทางของภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมในอินโดนีเซียและบรูไน

มาเลเซียมีซอสที่นิยม ๒ ประเภท อย่างแรกคือ "คีแค็ป เลอมัก" เป็นซอสถั่วเหลืองเข้มข้นเหมือนเคแค็ป มานิส ซอสถั่วเหลืองชนิดหวานของอินโดนีเซีย แต่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่ามาก จึงมีรสเค็มเป็นหลักและหวานแค่ปะแล่มๆ ขณะที่ "คีแค็ป แคร์" ใกล้เคียงกับเคแค็ป อะซิน ซอสถั่วเหลืองแบบเค็มของเพื่อนบ้านแดนอิเหนา ซึ่งก็เหมือนๆ กับซอสถั่วเหลืองที่ใช้ทั่วไปในประเทศอื่นๆ แต่ข้นหนืดและมีกลิ่นรสเข้มข้นกว่า

ขณะที่ "เคแค็ป มานิส" ของบรูไน แม้จะชื่อเหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นซอสรสหวานบรรจุขวดอย่างอินโดนีเซีย เพราะชาวบรูไนจะนำซีอิ๊วดำแบบจีนมาผสมด้วยน้ำตาล กระเทียม โป๊ยกั๊ก หรือจันทน์แปดกลีบ ใบกระวาน และข่า จนได้เป็นซัมบัล เคแค็ป มานิส สำหรับจิ้มอาหารสไตล์บรูไนนั่นเอง



  ซอสเขมร-สิงคโปร์
 
เพราะชาวกัมพูชาชื่นชอบรสชาติเปรี้ยวปรี๊ด...ดด อย่างมะนาวและมะขาม จึงไม่แปลกที่จะใช้เครื่องปรุงซึ่งมีรสเค็มแบบน้ำปลา หรือที่เรียกว่า "ตึกตรัย" แทนที่จะใช้ซอสถั่วเหลืองแบบเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตามหากทำอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนชาวกัมพูชาก็จะใช้ซอสถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ อาทิ "กุยเตียว" หรือก๋วยเตี๋ยวที่ได้รับการเผยแพร่มาจากจีนและเวียดนามอีกทอดหนึ่ง แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น "หมี่กาตัง" คล้ายราดหน้า โดยน้ำเกรวีปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลืองและกระเทียม กินกับผักดอง ไข่

นอกจากนี้ยังมี "หมี่ชา" หรือหมี่ ผัดที่ใส่ซอสถั่วเหลือง และเช่นเดียวกับ "บายชา" ข้าวผัดใส่กุนเชียง กระเทียม ผัก และซอสถั่วเหลือง

สำหรับสิงคโปร์ซึ่งมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนและมาเลย์ ซอสถั่วเหลืองจึงถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญของเมนูท้องถิ่น ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่ใช้ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเรียกซอสถั่วเหลืองว่า "โต๋โหยว" ส่วนชาวจีนฮกเกี้ยนที่ ใช้ภาษาถิ่นแต้จิ๋ว เรียกว่า "เจียงฉิง"



   ซอสโตโย-ฟิลิปปินส์

สําหรับฟิลิปปินส์นั้น ซอสถั่วเหลืองเรียกว่า "โตโย" มีลักษณะคล้ายกับเจี้ยงโหยวของจีนและโชยุของญี่ปุ่น เป็นซอสที่ผสมผสานระหว่างถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเกลือ เมื่อหมักตามกรรมวิธีจนได้ที่จะได้ซอสกลิ่นหอมสีน้ำตาลอ่อนๆ เนื้อสัมผัสของซอสโตโยจะเบาบางและใส แต่รสชาติเค็มกว่าซอสถั่วเหลืองของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวฟิลิปปินส์นิยมใช้ซอสโตโยหมักเนื้อ ปรุงรส และเป็นซอสจิ้มบนโต๊ะอาหารวางคู่กับน้ำปลาและน้ำส้มสายชูหมักจากอ้อย

ซอสโตโยยังเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญของเมนูประจำชาติชื่อดัง อย่าง "อาโดโบ" เมนูไก่หรือหมูต้มในกระเทียม น้ำส้มสายชู น้ำมัน และซอสโตโยที่นำไปเคี่ยวจนแห้ง นอกจากนี้ถ้านำไปผสมกับน้ำ "ส้มคาลามันซี" จะได้ซอสจิ้มสามรสในชื่อ "โตโยมันซี" ซึ่งละม้ายคล้ายกับ "ปอนซี" ซอสหรือน้ำจิ้มของญี่ปุ่นที่มีรสออกเปรี้ยว หวาน เค็มนิดๆ ได้มาจากการผสมโชยุกับส้มยุซุนั่นเอง
   


   ซอสถั่วเหลืองไทย

ซอสด้วยเครื่องปรุงของบ้านเรา ในไทยมีซอสที่ได้จากการย่อยของโปรตีนถั่วเหลือง แบ่งเป็น "ซอสปรุงรส" และ "ซีอิ๊ว" ต่างกันที่กรรมวิธีการผลิต ซอสปรุงรสนั้นส่วนมากใช้กากถั่วเหลือง หรือถั่วเหลืองที่สกัดน้ำมันถั่วเหลืองออกมาแล้วปรับสภาพด้วยด่าง ขณะที่ซีอิ๊วใช้การหมักย่อยโปรตีนถั่วเหลืองด้วยการนำถั่วเหลืองมานึ่งหรือต้มสุก จากนั้นผสมกับแป้งและหัวเชื้อรา ผึ่งจนเชื้อราเติบโตแล้วนำไปหมักหรือบ่ม เชื้อราจะทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองและแป้งจนเกิดเป็นกรดอะมิโนและน้ำตาล

ระดับโปรตีนในซอสปรุงรสมีหลายระดับ เช่น ร้อยละ ๑๐ ร้อยละ ๑๕ และร้อยละ ๒๐ ต่างเป็นตัวกำหนดมาตรฐานและราคาของซอสนั้นๆ

สำหรับคนไทยแล้ว ซอสถั่วเหลืองถือเป็นเครื่องปรุงสำคัญไม่แพ้น้ำปลา โดยซอสปรุงรสมีกลิ่นและสีที่เข้มข้นกว่าซีอิ๊ว จึงเหมาะกับเมนูที่ต้องการเน้นกลิ่นและสีของซอส เช่น อบ ผัด และจิ้ม ส่วนซีอิ๊วเหมาะกับอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน และประเภทต้ม


ที่มา :  หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 30 กันยายน 2559 17:15:04 »

.

  กระสือไทย

ใกล้เดือนแห่งความสยองขวัญตามธรรมเนียมตะวันตก เลยชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับ "ผี" ฉบับอาเซียนกัน

เชื่อหรือไม่ว่า "กระสือ" เป็นตำนานเรื่องเล่าที่มีแทบทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยเรียกกระสือ กัมพูชาใช้ชื่อว่า "อับ" ลาวเองก็มีและเรียกคล้ายๆ ไทยว่า "กะสือ" หรือจะเวอร์ชั่นเวียดนาม คือ "มาลาย" ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียใช้ชื่อว่า "ฮันตูปินังกาลัน" ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็มีโดยเรียกว่า "มานานังกัล"

สำหรับตำนานผีกระสือของไทยซึ่งนำมาสร้างเป็นหนังและละครหลายเวอร์ชั่น รูปพรรณสัณฐานผีตนนี้เป็นผู้หญิง ชอบกินของสดคาว สิ่งปฏิกูล ออกหากินในเวลากลางคืนโดยจะถอดหัวกับตับไตไส้พุงออกจากร่างแล้วลอยไปมา ที่สำคัญจะมีแสงไฟสีเขียวดวงโตฉายวาบๆ คล้ายกับจังหวะการเต้นของหัวใจ และใช้การคายน้ำลายสืบทอดทายาท

ความเชื่อของคนเก่าก่อนที่เล่าต่อกันมาบอกว่ากระสือชอบกินรกเด็ก รวมถึงสามารถเข้าสิงร่างหญิงคลอดลูกเพื่อกินตับไตไส้พุง เวลามีใครคลอดลูกจึงนิยมนำหนามพุทรามาวางไว้ใต้ถุนเรือนตรงที่มีร่องมีรู เพราะถ้ากระสือลอยมาเห็นจะกลัวไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย เพราะเกรงว่าหนามเกี่ยวไส้ขาด นอกจากนี้เมื่อกินของโสโครกแล้วกระสือจะแอบไปเช็ดปากกับผ้าที่ชาวบ้านตากไว้ หากนำผ้าเปื้อนรอยเช็ดปากกระสือไปต้ม กระสือตนนั้นจะร้อนปากจนทนไม่ไหว ต้องขอร้องให้หยุดต้ม



  ผีอับเขมร

ชาวเขมรเรียกกระสือว่า "อับ" ส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว โดยเฉพาะหญิงงาม ตกดึกจะถอดศีรษะและส่วนเครื่องในที่ติดกับหลอดลมออกจากร่างกาย และลอยต่ำๆ ไปหากินนอกบ้าน ผีอับของกัมพูชามีเขี้ยวแหลมแบบผีดูดเลือดฝรั่ง และละม้ายคล้ายกระสือของลาวด้วย

ต้นกำเนิดผีอับมาจากความเชื่อของชาวฮินดูในอินเดีย ก่อนเผยแพร่เข้าสู่กัมพูชาผ่านพ่อค้าและผู้อพยพย้ายถิ่น ตำนานเล่าว่าผีอับเกิดจากไสยศาสตร์ และคำสาปแช่งของแม่มดหรือผู้มีมนต์ดำ ในไทยเองก็มีการบอกเล่าเรื่องราวยุคมืดของกัมพูชา ราวกลางศตวรรษที่ ๑๘ ถึงเจ้าหญิงเขมรผู้เลอโฉมที่กลายเป็นผีอับ และเป็นจุดเริ่มต้นของผีกระสือไทยเช่นกัน

สำหรับนิสัยและการกินอยู่ของผีอับเขมรจะเหมือนกระสือลาวมากกว่ากระสือไทย คือ กินเลือดเป็นหลัก รวมทั้งมีความโหดร้ายและอาฆาตแค้น มากกว่าการก้มหน้ารับกรรมสืบทอดเป็นทายาทกระสือแบบบ้านเรา

นอกจากความเชื่อแล้ว ผีอับยังมีบทบาทต่อวัฒนธรรมในกัมพูชา แม้จะไม่มีรูปปั้นหรือภาพเขียนโบราณแต่มีภาพยนตร์และละครหลายเรื่องที่เกี่ยวกับผีอับ เช่น ภาพยนตร์เรื่องเนียงอับ เมื่อปี ๒๕๔๗ เป็นต้น


   กระสือลาว

มาติดตามกันต่อว่า ความเชื่อเรื่องผีกระสือของเพื่อนบ้านอาเซียน จะแตกต่างหรือคล้ายกับไทย สำหรับชาวลาวเรียกกระสือว่า "กะสือ"

ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเป็นผีผู้หญิงที่สามารถถอดศีรษะและอวัยวะภายในที่เชื่อมกับหลอดลม ยามค่ำคืนจะถอดหัวล่องลอยออกหาเหยื่อและอาหาร ซึ่งในที่นี้หมายถึงเลือด ไม่ใช่สิ่งปฏิกูลแบบกระสือไทย กะสือลาวจึงมีเขี้ยวแหลมเพื่อใช้กัด และลิ้นยาวเพื่อดูดเลือดเหยื่อ เช่นเดียวกับแวมไพร์ของฝั่งตะวันตก

นอกจากนี้ กะสือยังเจ้าเล่ห์ ชอบคลุมผ้าหรือแอบคุยกับชาวบ้านหลังประตูหน้าต่างเพื่อทำให้เหยื่อตายใจไม่ทันระวัง ด้วยเหตุนี้ชาวลาวจึงนิยมนำกิ่งก้านของไม้ที่มีหนามมาประดับหน้าต่าง-ประตู หากกะสือวางอุบายลอบคุยอยู่ข้างหลัง อวัยวะภายในก็จะถูกหนามเกี่ยวบาดเจ็บ

ส่วนที่ละม้ายคล้ายกระสือไทย กะสือลาวมีพฤติกรรมชอบเช็ดปากกับเสื้อผ้าที่ตากไว้นอกบ้าน ดังนั้น เมื่อซักผ้าและผึ่งแดดจนแห้งแล้ว ชาวบ้านจะรีบเก็บผ้าเข้าบ้าน ไม่ปล่อยให้ตากน้ำค้างและเสี่ยงเลอะคราบเลือดกะสือ


   เปนังกาลัน กระสือมาเลย์

สัปดาห์นี้ไปทำความรู้จัก "เปนังกาลัน" หรือ "ฮันตู เปนังกัล" อีกชื่อเรียกของผีกระสือตามแบบฉบับมาเลเซีย และเป็นตำนานหลอนที่เล่าต่อๆ กันในพื้นที่คาบสมุทรมาเลย์ ขณะที่ชาวบ้านในรัฐซาบาห์เรียกกระสือว่า "บาลัน-บาลัน"

แม้ชื่อจะต่าง แต่ความเหมือนที่เป็นจุดร่วมเดียวกันคือทั้งเปนังกาลัน ฮันตู เปนังกัล และบาลัน-บาลัน เป็นผีผู้หญิงที่สามารถถอดศีรษะและอวัยวะภายในที่ติดส่วนหัว อย่างหลอดลม หัวใจ ปอดไปจนถึงลำไส้ มีแสงระยิบระยับเปล่งออกมาจากเครื่องในละม้ายคล้ายหิ่งห้อย เคลื่อนไหวด้วยการลอย และออกหากินยามวิกาล

เปนังกาลันกินเลือดเป็นอาหาร โดยเฉพาะเลือดจากแม่ที่กำลังคลอดลูก รวมถึงทารกแรกเกิด เปนังกาลันจะใช้ลิ้นยาวที่มองไม่เห็นซอกซอนไปตามช่องโหว่ รู และรอยรั่วของบ้านเพื่อเลียเลือดจากเหยื่อ แม้จะดูไม่น่ากลัวเพราะเป็นการกินเลือดเสีย ไม่ใช่กัดดูดแบบแวมไพร์ แต่เพราะเปนังกาลันปล่อยเชื้อร้ายสู่เหยื่อ ทำให้เหยื่อเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาจากพ่อหมอแม่หมอผู้มีวิชาอาคม

ส่วนที่มาของการกลายร่างเป็นเปนังกาลันนั้น บ้างก็ว่าเกิดจากการใช้มนต์ดำหรืออำนาจมืด แปลงโฉมให้ตนเองมีหน้าตาสะสวย มีเสน่ห์ เมื่อทำบ่อยๆ คุณไสยจึงเข้าตัว อีกตำนานเชื่อว่า หญิงสาวถูกสาปแช่งด้วยมนต์ดำ จนกลายเป็นเปนังกาลันในที่สุด



   ปาลาซิก-อินโดนีเซีย

สัปดาห์นี้มาว่ากันต่อเรื่องผีกระสือ อินโดนีเซียเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับผีสาวที่ถอดศีรษะได้เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านชาติอาเซียน แต่ชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ทั้ง ปาลาซิก เซลัก เมเตม คูยาง อันตอน และ ปาราคัง

ชาวอิเหนาเล่าต่อๆ กันว่าปาลาซิกเป็นผีที่มีไสยเวทขั้นสูง มีแหล่งกำเนิดบนเกาะสุมาตรา ออกหากินเวลากลางคืนด้วยการถอดศีรษะออกจากร่างกาย และลอยไปเรื่อยๆ จนเจอเหยื่อ แม้ปาลาซิกจะกินเลือดเป็นอาหารหลัก แต่หากในหมู่บ้านนั้นๆ มีแม่ท้องแก่ใกล้คลอด ปาลาซิกจะเฝ้ารอและแอบลอยเข้าไปในบ้านช่วงใกล้คลอดเพื่อกินทารก นอกจากเลือดและเด็กแล้วปาลาซิกยังชอบแวะเวียนไปสุสานฝังศพเพื่อขุดคุ้ยกินร่างไร้วิญญาณ

ตามตำนานยังบอกอีกว่าปาลาซิกสืบทอดกันในครอบครัว เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนมากจะส่งต่อเชื้อสายแห่งคำสาปให้แก่ลูกหลาน ที่เป็นหญิงมากกว่า และเพื่อความอยู่รอด ครอบครัวปาลาซิกมักแยกไปอาศัยในพื้นที่ห่างไกลชุมชน เช่น ท้ายหมู่บ้านหรือในป่า

ทั้งนี้ คำสาปของปาลาซิกจะเสื่อมลงเมื่อส่งทอดทางสายเลือดถึงรุ่นที่ ๗ แต่ไม่ได้ระบุว่า จะหายไปเองหรือต้องให้พ่อหมอแม่หมอทำพิธีกำจัดให้ออกจากร่างกันแน่


หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ธันวาคม 2559 12:53:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 10.0 MS Internet Explorer 10.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 18 ธันวาคม 2559 13:10:36 »



  ความเชื่อชาวพม่า

ช่วงส่งท้ายปีเก่า นับถอยหลังสู่ปีใหม่ หลายคนคงเตรียมตัวไปท่องเที่ยวกับครอบครัว จะเที่ยวไทย-เที่ยวนอก แต่ละประเทศต่างมีมุมมองความเชื่อเหนือธรรมชาติที่แตกต่างกันไป บางทีก็เป็นกุศโลบายในการใช้ชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน

มาดูกันว่า อาเซียนมีความเชื่อแบบไหน และเรื่องใดที่เหมือนหรือคล้ายเราบ้าง จะได้นำไปปฏิบัติใช้หากมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้าน

ประเดิมด้วยประเทศพม่า ชาวพม่าเชื่อว่า การเดินลอดบันไดจะทำให้สูญเสียพลังชีวิต เช่นเดียวกับการลอดใต้ราวตากผ้า ที่มี "ลองยี" หรือผ้าโสร่งของผู้หญิงแขวนอยู่

ผู้หลักผู้ใหญ่ยังมักเตือนไม่ให้ถอดรองเท้ากลับหัวหลับหาง เพราะจะนำมาซึ่งความโชคร้าย ไม่ควรเก็บกระจก รวมถึงแก้วที่แตกหรือมีรอยร้าว หากกระจกหน้าต่างถูกกระแทกจนร้าว ชาวพม่าจะรีบเปลี่ยนให้เร็วที่สุด

ห้ามสระผมในระยะเวลา ๑ สัปดาห์หลังจัดงานศพ เนื่องจากเป็นช่วงที่วิญญาณผู้ตายยังคงวนเวียนอยู่รอบๆ คนในครอบครัว เครือญาติ และคนรู้จัก อย่าใช้ทัพพีเคาะหม้อหลังนำลงไปคนในแกงที่กำลังต้ม การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่สุภาพอย่างร้ายแรงเทียบเท่าการตีศีรษะของพ่อแม่เลยทีเดียว อย่าเคาะฝาหม้อ ๒ ฝาเข้าด้วยกัน เพราะอาจทำให้ถูกเสือกัด

ห้ามหงายมือป้อนอาหารให้ผู้อื่น เพราะอาจทำให้ผู้กินเจ็บป่วยจากการกิน อย่าตัดเล็บยามวิกาลเพราะผีไม่ชอบ หากเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืนวิญญาณร้ายจะเข้าสิง และการพกพาขนหางของช้างหรือสวมแหวนที่ทำจากขนหางช้าง จะช่วยป้องกันภัยจากภูตผีปีศาจได้

นอกจากสิ่งรอบตัวที่เป็นข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติตามธรรมเนียม เช่น หลีกเลี่ยงการเดินลอดใต้บันไดและไม่ตัดเล็บตอนกลางคืนแล้ว ชาวพม่าบางส่วนยังให้ความสำคัญกับเรื่องดวงชะตาด้วย

ช่วงที่ประเทศตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เศรษฐกิจถือได้ว่าทรุดตัวหนัก ชาวบ้านจำนวนมากอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เมื่อที่พึ่งอันเป็นรูปธรรมไม่มี สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้ก็มีแต่ที่พึ่งทางใจและการ "ดูดวง" ก็เป็นทางออกที่หลายๆ คนเลือก

หากดวงออกมาดีก็สบายใจยิ้มได้ แต่เมื่อดวงชี้ว่ามีเหตุเภทภัย เหล่าหมอดู คนทรง จะแนะนำให้ประกอบพิธี "ยะดายะ" เป็นพิธีทางไสยศาสตร์ สำหรับปัดเป่าความชั่วร้ายและตัดกำลังศัตรู มีตั้งแต่สวดมนต์ใหญ่ไปจนถึงสร้างเจดีย์เสริมบารมี เช่นกรณีของนายกรัฐมนตรีอู นู ที่สั่งให้สร้างเจดีย์ ๖๐,๐๐๐ องค์ เมื่อปี ๒๕๐๔ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขับไล่ความรุนแรงและเสริมสันติสุข

ไม่ใช่แค่เรื่องดวงเท่านั้น ชาวพม่ายังเชื่อเรื่อง "ชื่อ" และ "ตัวเลข" ในปี ๒๕๓๒ รัฐบาลพม่าตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศจากเบอร์มาเป็นเมียนมา ตามคำแนะนำของผู้ทำนาย คนสนิทของนายพลเนวิน เพราะเชื่อว่าชื่อเดิมนำมาซึ่งเคราะห์ร้าย ทั้งยังเลือกวันประกาศในวันที่ ๒๗ พ.ค. เพราะ ๒+๗ เท่ากับ ๙ และต่อมาในปี ๒๕๔๘ พม่าก็เปลี่ยนเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาเป็นกรุงเนปิดอว์ตามคำแนะนำของโหราจารย์ใหญ่




  ความเชื่อชาวลาว

ชาวลาวนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติมากมาย เพราะมีชนพื้นถิ่นกว่า ๑๖๐ ชาติพันธุ์ ความต่างนี้ส่งผลให้วิถีชีวิตแตกต่างออกไป เช่นเดียวกับธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ

เริ่มจากความเชื่อทั่วไป ว่ากันว่าการเดินข้ามผู้อาวุโสจะนำความโชคร้ายมาให้ ไม่ควรใช้นิ้วชี้รุ้งกินน้ำเพราะนิ้วจะกุด เนื่องจากรุ้งมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพญานาค เทพเจ้าแห่งน้ำ สัตว์ในตำนานที่ชาวลาวเคารพบูชายิ่ง และยังเป็นที่มาของอีกความเชื่อที่ชาวลาวบอกว่าการกินงูที่จับได้ในลำน้ำโขงหรือละแวกใกล้เคียงจะทำให้จมน้ำตาย

ขณะที่ข้อห้ามยามวิกาลที่ชาวลาว เชื่อนั้นมีมากมาย อาทิ ห้ามผิวปากยามวิกาล เพราะถือเป็นการเรียกวิญญาณ ไม่ควรลับมีดหรือของมีคมเนื่องจากวิญญาณจะมาหลอกหลอนในความฝัน หากได้ยินเสียงสุนัขหอนตอนดึกๆ แสดงว่าพวกมันเห็นผี และถ้านำน้ำตาสุนัขมาสัมผัสที่ตาเรา ก็จะเห็นผีเช่นเดียวกับสุนัข อย่าเล่นซ่อนหาถ้าไม่อยากถูกผีลักตัว และหากกินอาหารคนเดียวระหว่างฝนตกยามค่ำคืนผี ร้ายชนิดหนึ่ง ที่กำลังหิวโหยจะปรากฏ กายขึ้น

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการนอนและฝัน อย่าใช้หมอนใหม่บนที่นอนกว้างเพราะผีจะมานอนด้วย การวางมือไว้บนอกขณะนอนหลับถือเป็นการชักชวนให้ผีเข้าสิง การวางมีดไว้ใต้เตียงช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจ ถ้าฝันว่าจับอุจจาระจะได้ทรัพย์ ฝันว่ามีคนมาขออาศัยด้วยหมายความว่ากำลังจะมีลูก หากหญิงฝันถึงงูโดยเฉพาะนาค แสดงว่ามีชายหนุ่มกำลังหมายปอง ที่สำคัญคือชายคนนั้นจะเป็นเนื้อคู่ได้แต่งงานอยู่กินกัน และถ้าฝันร้ายให้กระซิบความฝันกับอุจจาระก่อนราดน้ำ เรื่องไม่ดีจะได้ไหลไปกับสิ่งปฏิกูล


   นอกจากเรื่องความฝันและข้อห้าม ในยามวิกาลแล้ว ในครัวเองก็มีความเชื่อที่ควรปฏิบัติตาม เช่น หากแช่ข้าวเหนียวจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง ความโชคร้ายจะมาเยือนและคนในบ้านจะล้มป่วย หากร้องเพลงในครัวจะได้แต่งงานกับผู้ที่มีอายุมากกว่า

กระติบข้าวควรปิดฝาไว้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกินอาหาร คือ เมื่อหยิบข้าวเหนียวออกจากกระติบแล้วให้ปิดฝา จะกินต่อก็ค่อยเปิดฝาแล้วปิดทุกครั้ง ส่วนเวลาล้างทำความสะอาดกระติบ พอแห้งสะอาดให้เก็บกระติบแบบปิดฝาสนิท ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสามีหรืออาจหย่าร้างได้

การเดินข้ามถุงและกระสอบใส่ข้าวจะทำให้วิญญาณขุ่นเคืองและนำมาซึ่งความโชคร้าย อย่านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จเพราะจะกลายเป็นงู การล้างจานตอนกลางคืนจะล้างโชคลาภและเงินทองออกไป หากไม่ทำความสะอาดจานชามและอุปกรณ์ครัวเป็นกิจวัตรประจำวัน เมื่อมีลูกลูกจะหน้าตาขี้เหร่ ส่วนเด็กผู้หญิงถ้าอยากสวยน่ารักควรหมั่นล้างจาน ห้ามกินอาหารจากหม้อที่ปรุงโดยตรงเพราะจะคลอดลูกยาก

ชาวลาวยังเชื่อว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรพูดถึงลูกคนอื่นในทางไม่ดี เพราะสิ่งที่ต่อว่าไปจะเข้าตัวเองและลูกในท้อง เวลาทารกยิ้มให้ผมจะร่วงเยอะกว่าปกติ หากไม่อยากให้ฟันขึ้นช้า อย่าให้ทารกมองเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก ถ้าทารกปัสสาวะรดมือใครในช่วงวันแรกๆ หลังคลอด นั่นหมายความว่าเด็กจะรักคนคนนั้นไปตลอดชีวิต


หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 สิงหาคม 2560 12:54:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 28 สิงหาคม 2560 14:28:03 »

    
    ความเชื่อชาวเขมร

สัปดาห์นี้พาไปทำความรู้จักกับความเชื่อเหนือธรรมชาติในประเทศกัมพูชากัน

เริ่มที่เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ หากเห็นงูจงอางเลื้อยตัดหน้าให้ถือเป็นลางเตือนเหตุเภทภัยว่าจะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นและผู้เห็นไม่ควรใช้ถนนเส้นนั้น แต่ถ้าเจองูเหลือมขดอยู่ในเรือแปลว่าจะมีโชค และโอกาสดีๆ กำลังมาเยือน

จิ้งจกรวมถึงตุ๊กแกร้องทักเป็นสิ่งดี โดยเฉพาะเมื่อมันร้อง ๗ ครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับสาวโสดหากได้ยินจิ้งจกหรือตุ๊กแกร้อง ๑ ครั้ง นั่นหมายความว่าจะได้ออกเรือนกับหนุ่มโสด ร้องทัก ๒ ครั้งแปลได้ว่าอนาคตจะแต่งกับพ่อม่าย

เวลาสุนัขเห่าหอนยามวิกาลแสดงว่าพวกมันเห็นผี ห้ามดูเวลาสุนัขผสมพันธุ์ เพราะจะทำให้ตาบอด หากแมวกระโดดข้ามศพ เพราะศพนั้นจะฟื้นคืนชีพ ส่วนแมวสามสีถือเป็นสัตว์มงคลที่จะนำมาซึ่งความสุข

ถ้าพบกวางหลงเข้ามาในย่านชุมชนชาวเขมรเชื่อว่ามีคนถูกผีเข้า ไม่ควรพูดอำหรือเล่าเรื่องตลกเวลาเดินป่า เพราะจะทำให้หลงทางหรือไม่ก็ถูกสัตว์ป่ากิน

เวลากินปลาถ้ายังกินด้านหนึ่งไม่หมดห้ามกลับตัวปลา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เรือของชาวประมงที่จับปลาตัวนั้นๆ อับปางกลางแม่น้ำหรือทะเล

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรัก ชาวเขมรเชื่อว่าหากตอนเด็กๆ แอบปัสสาวะรดธรณีประตู เมื่อโตขึ้นจนถึงวัยแต่งงาน ในวันวิวาห์จะมีพายุฝนฟ้าคะนองตกหนัก ไม่เพียงเท่านี้ เพราะในงานจะมีแขกเหรื่อจำนวนน้อยนิดทำให้ได้รับของขวัญน้อยลงไปด้วย

ที่สำคัญตลอดชีวิตการแต่งงานอาจไม่ราบรื่นดั่งใจคิด

ไม่ควรแต่งงานกับชายหรือหญิงที่อายุเท่ากัน เพราะหากปีไหนดวงชะตาไม่ดีก็จะกลายเป็นไม่ดีแบบคูณสอง ห้ามคู่รักนั่งข้างๆ เจ้าบ่าวเจ้าสาวช่วงประกอบพิธีมงคลสมรส เนื่องจากจะนำความโชคร้ายมาสู่คู่รักข้าวใหม่ปลามัน

เวลาจะสร้างบ้านต้องทำพิธีขออนุญาตจากเนียก หรือนาค เพื่อความเป็นสิริมงคล บันไดจะต้องสร้างเป็นจำนวนคี่เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณมาเยือน ไม่ควรกวาดเรือนยามวิกาลเพราะจะกวาดเงินทองและความมั่งคั่งออกไปจากครอบครัว ห้ามซื้อตะปูตอนกลางคืนถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ห้ามปลูกต้นกล้วยใกล้หน้าต่างเนื่องจากผีสางจะใช้เป็นช่องทางเข้าสู่บ้าน

ชาวเขมรยังเชื่อว่าไม่ควรถ่ายรูปร่วมกัน ๓ คน เพราะจะเกิดปัญหา หรือคนใดคนหนึ่งใน ๓ คนนั้นจะมีเหตุให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย



   เพราะชาวเขมรมีถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่อาณาจักรขอมอันเก่าแก่ ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติจึงมีมากเช่นกัน ชวนมาทำความรู้จักกับความศรัทธาของชาวเขมรกันอีกสัปดาห์

เมื่อพูดถึงเขมรคงหนีไม่พ้นสิ่งลี้ลับที่เรียกว่า “ไสยศาสตร์” แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ อย่างแรกคือ คุณไสยรักษา ได้แก่ การต่อชะตา และสะเดาะเคราะห์ ส่วนคุณไสยป้องกัน เกี่ยวกับ “คาถา” และการ “สักยันต์” ซึ่งเน้นลวดลายที่ให้ผลคุ้มครองป้องกันภัย เมตตามหานิยม และความคงกระพันชาตรี การสักยันต์ของเขมรนั้นถือเป็นต้นแบบความเชื่อเรื่องการสักยันต์โบราณของไทยด้วย

กลุ่มสุดท้ายคือ มนต์ดำ เป็นไสยศาสตร์ที่เกิดจากความประสงค์ร้าย เพราะทำให้ผู้อื่นทุกข์ทรมาน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ในกัมพูชามีความเชื่อในการทำของใส่ศัตรูที่คล้ายกับไทยมาก รวมถึง “กบา สนาเตะ” ซึ่งก็คือ วัวธนู ควายธนู ของไทยนั่นเอง

ชาวเขมรยังเชื่อการทรงร่างผีอารักษ์เนียะตา หรือผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นว่าวิญญาณของผู้ที่ตายไปจะวนเวียนอยู่กับครอบครัวเพื่อคุ้มครองดูแล ชาวเขมรในพื้นที่ชนบทมักจะพึ่งพาพิธีทรงดังกล่าวเมื่อคนในบ้านล้มป่วยหรือมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้

แม้จะเป็นความเชื่อที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวเขมรซึ่งให้ความสำคัญกับครอบครัว



    ความเชื่อมาเลย์

ล่องใต้ไปเรียนรู้เรื่องราวความเชื่อเหนือธรรมชาติของประเทศมาเลเซีย เริ่มที่แนวทางการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ อย่านั่งหรือเหยียบหนังสือเพราะจะทำให้โง่เขลา ห้ามกางร่มในบ้านไม่เช่นนั้นงูจะมา หากนั่งเขย่าขาจะมีหนี้สิน กินข้าวโดยตรงจากหม้ออาจทำให้ท้องเสีย อย่าตื่นนอนตอนบ่ายเพราะจะต้องใช้ชีวิตยากลำบาก

ไม่ควรเย็บซ่อมแซมเสื้อผ้าที่กำลังสวมใส่เพราะทำให้สายตาฝ้าฟาง ใครที่เอามือล้วงกางเกงระหว่างเดินถือเป็นคนหยิ่งยโส คนหนุ่มที่มีนิสัยขี้บ่นและชอบตำหนิโน่นนี่จะลงเอยด้วยการถูกแฟนหรือภรรยาทอดทิ้ง หมายเลข ๔ เป็นเลขนำโชค เลขมงคล เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคนนั่งพาดขา และโยงได้กับคนที่เป็นนายคน

ช่วงเวลามักริบ หรือประมาณ ๑๙.๐๐ น. เด็กๆ ไม่ควรออกไปวิ่งเล่นนอกเคหสถาน ไม่อย่างนั้นจะถูกวิญญาณลักพาตัว การตัดเล็บยามวิกาลจะทำให้อายุสั้นลง การดื่มน้ำที่มีมดตกลงไปทำให้กลายเป็นคนขี้ลืม ถ้าแอบดูผู้หญิงอาบน้ำหรือดูหนังลามกอนาจารตาจะติดเชื้อและอักเสบ

สำหรับชาวมาเลย์เชื้อสายจีนนั้น เมื่อเข้าป่าให้เรียกกันด้วยชื่อเล่น ห้ามใช้ชื่อจริงเด็ดขาด เพราะภูตผีจะมาหาและกักวิญญาณเอาไว้ในโลกหลังความตาย ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเย็บเสื้อผ้า ที่นอน หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องใช้เข็มเย็บผ้าหากไม่ต้องการให้ลูกที่กำลังเกิดมาป่วยด้วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่

ชาวมาเลย์ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ความเชื่อจึงแตกต่างกันออกไป

สำหรับชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียนั้น จะนิยมเล่นเกม “เชาสา” เกมกระดานโบราณของอินเดียในช่วงวันปีใหม่ที่เรียกว่า“เทศกาล ดิวาลี” เพราะมีตำนานว่าพระปารวตีหรือพระแม่อุมาทรงเล่นเกมเชาสาชนะพระศิวะ พระสวามี เลยดีใจมากและประทานพรความสุขแก่ผู้ใดก็ตามที่เล่นเกมเชาสาในวันดิวาลี

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าอีกาเป็นสัญลักษณ์แห่งกรรมและบรรพบุรุษ การให้อาหารแก่เหล่านกกาจึงเสมือนการส่งมอบอาหารบรรเทาความหิวโหยให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ

อีกความเชื่อที่ละม้ายคล้ายคนไทยคือห้ามหญิงตั้งครรภ์ ดูปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพราะภูตผีปีศาจกำลังครอบงำดวงอาทิตย์ หากหญิงท้องออกมานอกเคหสถานจะได้รับความชั่วร้ายและเป็นภัยต่อทารกในครรภ์ที่อาจเกิดมาไม่สมประกอบ ไม่เพียงแค่ห้ามออกมาดูเท่านั้น แต่หญิงตั้งครรภ์ยังไม่ควรเย็บผ้า หรือหั่นผักผลไม้ในช่วงสุริยคราสด้วย

ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อเฉพาะของชนพื้นถิ่นในแต่ละรัฐ ที่ควรปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างกรณีความเชื่อที่กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด ๖.๐ แม็กนิจูดบนยอดเขากีนาบาลูในรัฐซาบาห์ เกาะบอร์เนียว จนมีผู้เสียชีวิต ๑๘ ราย เมื่อปี ๒๕๕๘ แม้แผ่นดินไหวจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะเทพเจ้าผู้ปกปักรักษากีนาบาลูไม่พอใจ ที่นักท่องเที่ยวชาติตะวันตกเล่นพิเรนทร์เปลือยกายถ่ายรูปและปัสสาวะรดก้อนหินบนยอดเขาศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง



    ความเชื่อในสิงคโปร์

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวิทยาการก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ผู้คนยังมีความเชื่อเหนือธรรมชาติที่นำมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอาเซียน

ชาวสิงคโปร์เชื่อว่าการนั่งขวางทางประตูจะนำความโชคร้ายมาสู่ครอบครัว การตัดเล็บตอนกลางคืนจะทำให้ผู้ตัดประสบเคราะห์ร้าย และควรล้างมือหรือเท้าหลังตัดเล็บเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะฝันร้าย ระหว่างอาบน้ำไม่ควรร้องเพลงเพราะจะไร้คู่ครอง

การถ่ายรูปคนที่กำลังนอนหลับจะทำให้วิญญาณออกจากร่างผู้ถูกถ่ายรูป ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ก่อนเข้าบ้านควรล้างหน้า ล้างมือ และเท้า เพื่อขับไล่วิญญาณและสิ่งไม่ดีที่ตามมาจากที่ต่างๆ หากกางร่มในบ้าน งูเงี้ยวเขี้ยวขอและโชคร้ายจะมาเยือน

เวลาหาวควรปิดปากเพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณร้ายสิงสู่ นั่งทับหมอนจะมีแผลที่ก้น หากตาข้างซ้ายกระตุกจะพบกับความโชคร้าย ในทางกลับกันถ้าตาขวากระตุกจะมีโชคดี ถ้าไม่อยากเคราะห์ร้ายอย่าเดินลอดไม้ไผ่ กินข้าวเหลือจะทำให้สิวขึ้นหรือจะได้สามี-ภรรยาที่มีสิวเต็มหน้า กินอาหารบนเตียงจะอ้วนฉุ ระหว่างกินปลาไม่ควรพลิกกลับอีกด้านเพราะจะเกิดเหตุเรือล่ม ดังนั้นผู้กินควรเลาะก้างออกแล้วกินอีกด้านของปลาโดยไม่ต้องกลับตัว

สำหรับผู้มีเชื้อสายจีนเชื่อว่าการใช้นิ้วชี้ไปที่ดวงจันทร์จะทำให้หูถูกตัดขาด เพราะดวงจันทร์เป็นของสูงและมีเทพเจ้าสถิต การชี้นิ้วเหมือนการลบหลู่และต้องถูกลงโทษ เวลาตั้งครรภ์ควรมองรูปเด็กหน้าตาน่ารัก เมื่อคลอดออกมาลูกจะได้หน้าตาน่าเอ็นดู ไม่ควรบอกคนอื่นว่ากำลังท้องในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะจะโชคร้าย ผู้หญิงหลังคลอดควรเก็บตัวพักผ่อนอยู่ในบ้านนาน ๓๐ วัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคเรื้อรังและเคราะห์ร้ายไปตลอด

หากนั่งยืดขาขวางทางเดินจะกลายเป็นอัมพาต ห้ามให้นาฬิกาเป็นของขวัญ เพราะภาษาจีนคำว่านาฬิกาคล้ายคำว่าตาย การให้นาฬิกาจึงเท่ากับการแช่งให้ผู้รับเสียชีวิต เลข ๔ เป็นเลขอัปมงคล เนื่องจากมีเสียงพ้องกับคำว่าตายในภาษาจีน ส่วนเลข ๘ ถือเป็นเลขมหาเฮง เพราะพ้องเสียงกับคำว่าเจริญรุ่งเรือง

การผิวปากตอนกลางคืนจะทำให้ภูติผีมาหา ถ้ามีแผลฟกช้ำให้ใช้ไข่ต้มลูบเบาๆ แล้วอาการช้ำสีม่วงสีดำจะหายจากผิวหนังไปอยู่ในไข่แทน

ห้ามเหยียบกระดาษเงินกระดาษทองที่เผาในพิธีกงเต๊กเพราะจะถูกวิญญาณเข้าสิง การปักตะเกียบบนถ้วยข้าวจะถือว่าเป็นของไหว้บรรพบุรุษ

ก่อนเข้าห้องพักในโรงแรมหรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่บ้านตัวเอง ควรเคาะประตูขออนุญาตวิญญาณที่อาจสิงสถิตอยู่ภายในห้อง จะได้ไม่โกรธและหลอกหลอนผู้มาเยือน



    ความเชื่อในอินโดฯ

สัปดาห์นี้มาทำความรู้จักกับความเชื่อเหนือธรรมชาติในอินโดนีเซียกันบ้าง ชาวอินโดนีเซียเชื่อว่า ไม่ควรกวาดบ้านยามวิกาล เพราะโชคลาภจะหลุดลอย การล้างหน้าและอาบน้ำนานจะทำให้ดูแก่เกินอายุจริง เช่นเดียวกับการอาบน้ำตอนกลางวันและบ่าย เนื่องจากจะเร่งกระบวนการชราภาพ สาวโสดควรหลีกเลี่ยงการสระผมในช่วงบ่าย เพราะจะทำให้หาสามียาก

ห้ามกางร่มในเคหสถาน หากไม่อยากมีชีวิตยากจนข้นแค้น เวลาอยู่ในบ้านควรหลีกเลี่ยงการผิวปาก เพราะจะทำให้พลังด้านลบมีอิทธิพลต่อสมาชิกครอบครัว การตัดผมและแคะหูตอนกลางคืน จะดึงดูดเคราะห์ร้าย

สำหรับการปลูกบ้าน ห้ามสร้างห้องครัวติดกับประตูทางเข้าด้านหน้า เพราะจะทำให้ครอบครัวมีปัญหาการเงิน เจ็บป่วยเรื้อรัง การสร้างโรงจอดรถหลังบ้านจะนำมาซึ่งความเคราะห์ร้าย รั้วและกำแพงล้อมรอบบ้านไม่ควรสูงเกินกว่า ๓ เมตร เพราะจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเผชิญหน้ากับภาวะล้มละลาย

การสร้างสระว่ายน้ำภายในบ้านจะทำให้ครอบครัวมีความทุกข์ บ้านทุกหลังควรมีประตูทางออกด้านหลัง ไม่เช่นนั้นสมาชิกในครอบครัวจะมีร่างกายผิดปกติ เวลาย้ายบ้านควรนำดินจากสวนในบ้านหลังเดิมติดตัวไปโปรยรอบๆ บ้านหลังใหม่ เพื่อให้ชีวิตในบ้านใหม่ราบรื่นสงบสุข

การนำหอมแดง พริกแดง และขมิ้นแห้งมัดรวมใส่ห่อแขวนไว้เหนือบานประตู จะช่วยป้องกันคนในครอบครัวจากไสยศาสตร์และมนต์ดำ

ความเชื่อเหนือธรรมชาติในอินโดนีเซีย ยังมีอีกมากและรอให้น้องๆ เรียนรู้ ต่อกันที่เรื่องอาหารการกิน ผู้หญิงที่ปรุงอาหารออกรสเค็มถึงเค็มจัด เป็นคนต้องการความรักและอยากแต่งงาน หลีกเลี่ยงการกินข้าวในจานใบเล็ก เพราะความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท รวมถึงคนใกล้ชิดและคนรักจะเต็มไปด้วยความเกลียดชัง

ไม่ควรนั่งมุมโต๊ะในขณะรับประทานอาหารหากไม่อยากมีปัญหากับครอบครัวของคู่สมรส ห้ามนั่งกินอาหารขวางประตูเพราะจะไร้คู่ครอง หรือไม่ก็เจอกับความยากลำบากในการหาคู่

ถ้าอยากเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ตอนเด็กๆ ต้องกินปีกไก่เยอะๆ จะกินปีกไก่ทอดหรือปีกไก่นึ่งก็ได้ทั้งนั้น ขณะกินอาหารไม่ควรเลื่อนจานไปมาเพราะอาจทำให้มีพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยง ซึ่งความหมายอีกนัยหนึ่งคือนำไปสู่การแตกแยกของครอบครัว และห้ามกินอาหารก่อนญาติผู้ใหญ่และผู้สูงวัยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดภัยพิบัติ

นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ชาวอินโดนีเซียยังเชื่อว่าต้นกล้วยเป็นที่สิงสถิตของ “ผีปอนตีอานัก” และเพื่อป้องกันการถูกวิญญาณทำร้าย ให้ใช้ด้ายสีแดงผูกกับต้นกล้วยและโยงมาผูกที่ขาเตียง เมื่อทำตามนี้แล้วผีปอนตีอานักจะเชื่อฟังสิ่งที่เจ้าของเตียงออกคำสั่ง



    ความเชื่อฟิลิปปินส์

กูมูสต้าน้องๆ หลานๆ แฟนคอลัมน์อาเซียนข่าวสดที่น่ารัก ทักทายแบบนี้รู้ใช่ไหมว่าสัปดาห์นี้เป็นเรื่องราวของเพื่อนสมาชิกอาเซียนจากประเทศไหน ใช่แล้ว… ฟิลิปปินส์นี่เอง

ประเดิมด้วยความเชื่อเกี่ยวกับอาหารการกิน ชาวตากาล็อกเชื่อว่าการกินอาหารในช่วงเข้าสู่ปีใหม่จะมีผลชี้ชะตาชีวิตในปีที่จะถึง ดังนั้นในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ประชาชนในฟิลิปปินส์จึงงดกินเนื้อไก่ชั่วคราว และหันไปกินผลไม้ที่มีรูปร่างทรงกลมอย่างน้อย ๑๒ ชนิด สาเหตุที่ไม่กินไก่เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย คุ้ยหาอาหารกินตามพื้นดิน เจอของดีบ้าง ไม่ดีบ้าง การกินไก่อาจทำให้มีโชคชะตาแบบเดียวกัน คือต้องทำงานยากลำบากกว่าจะมีเงินซื้ออาหาร แถมยังเป็นเงินที่ไม่มากมาย เข้าข่ายหาเช้ากินค่ำ

ส่วนผลไม้ที่ระบุว่าต้องเป็นรูปร่างกลมมนนั้น เพราะวงกลมหมายถึงความต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด การกินผลไม้กลมๆ ๑๒ ชนิด จะทำให้ผู้รับประทานมีชีวิตสุขสบาย ราบรื่น เงินทองไหลมาเทมา

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการกินขิง หากไม่อยากให้ลูกน้อยเกิดมามีนิ้วมือนิ้วเท้ามากกว่าปกติ ความเชื่อนี้คาดว่าเกิดขึ้นจากการวิตกถึงสุขภาพของว่าที่คุณแม่ซึ่งในอดีตวิทยาการยังไม่ทันสมัย อัตราการแท้ง พิการ และเสียชีวิตของทารกมีจำนวนมาก ทำให้กลัว และเนื่องจากขิงมีลักษณะเป็นแง่งคล้ายมือ แต่เพราะมีหลายแง่งจึงเกรงว่าการกินขิงจะทำให้เด็กมีนิ้วมากผิดปกติ

ความอยากอาหารของคุณแม่ยังช่วยทำนายได้ว่าทารกในท้องเป็นเพศใด ถ้าแม่ชอบกินผักรูปร่างยาว แหลม และมีก้าน แสดงว่าจะมีลูกชาย ถ้าอยากกินปู เด็กที่เกิดมาจะซนมาก การกินกล้วยแฝดจะทำให้มีลูกฝาแฝด


    มาทำความรู้จักกันต่อกับเรื่องราวความเชื่อเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เพื่อน และครอบครัวตามแบบฉบับชาวฟิลิปปินส์

ถ้ากัดลิ้นโดยบังเอิญแสดงว่ามีคนกำลังคิดถึง จุดสีขาวบนเล็บของหญิงสาวบ่งบอกว่าความรักที่กำลังมีอยู่นั้นไม่คงที่และอาจลงเอยด้วยการเลิกราในเร็ววัน หากสร้อยคอหรือของขวัญที่คู่รักมอบให้กันแตกหัก พัง ชำรุด หมายความว่าทั้งสองคนไม่ใช่คู่แท้ คู่รักไม่ควรซื้อของขวัญเป็นรองเท้าเพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ไม่ยั่งยืน

ระหว่างพิธีแต่งงานในโบสถ์ ฝ่ายใดเดินถึงแท่นประกอบพิธีก่อนหรือเดินออกจากโบสถ์ก่อนหลังเสร็จพิธีจะเป็นผู้นำในครอบครัว การมอบไม้กางเขนให้คู่รักที่เพิ่งแต่งงานถือเป็นการอวยพรให้ทั้งสองคนมีชีวิตครอบครัวที่สงบสุข หญิงตั้งครรภ์ที่มีใบหน้าสวยงามเปล่งปลั่งแสดงว่ากำลังตั้งท้องลูกสาว ส่วนคุณแม่ที่มีใบหน้าโทรม ผิวหยาบกร้าน และอารมณ์หงุดหงิดง่าย แสดงว่ากำลังตั้งท้องลูกชาย ในการอาบน้ำครั้งแรกของทารกแรกเกิด พ่อหรือแม่ควรโยนทารกเบาๆ ขึ้นไปบนอากาศเพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นนักต่อสู้ มุมานะ และไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

ส่วนการคาดเดาอนาคตของทารกด้วยลักษณะของตำหนิที่ติดตัวมานั้น เด็กที่เกิดมามีไฝบริเวณหน้าผากจะเติบโตเป็นคนฉลาดหลักแหลม เด็กที่มีไฝบนไหล่จะเผชิญกับชะตาชีวิตยากลำบาก เด็กที่มีไฝใกล้ดวงตามักลงเอยด้วยสถานภาพพ่อม่ายแม่ม่าย และยังมีโอกาสสูญเสียคนรักหลายครั้งด้วย


   ยังอยู่กับเรื่องราวความเชื่อเหนือธรรมชาติในประเทศฟิลิปปินส์ มาดูว่าชาวตากาล็อกมีข้อควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความตาย

หลังรับประทานอาหารไม่ควรออกนอกบ้านหากยังไม่ได้ล้างทำความสะอาดจาน ชาม และข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมด เพราะคนในบ้านจะเสียชีวิต

การกินผลไม้รสเปรี้ยวยามวิกาลเท่ากับสาปแช่งให้พ่อหรือแม่ถึงแก่ความตาย ห้ามกินใบมาลังเกหรือใบมะรุมในช่วงที่มีญาติเสียชีวิต เพราะจะมีคนในครอบครัวเสียชีวิตเพิ่มอีกคน

ล้างพื้นหลังบ้านตอนพระอาทิตย์ตกดินหรือตอนกลางคืน เป็นลางร้ายว่าจะมีคนเสียชีวิต ถ้าฝันว่าฟันหลุดรวมถึงฝันว่าถอนฟัน คนในครอบครัวจะมีอันเป็นไป เช่นเดียวกับการตัดเล็บยามวิกาล

ใครก็ตามที่ได้กลิ่นควันเทียนทั้งที่ไม่มีการจุดเทียน ญาติของคนคนนั้นจะเสียชีวิต

หากเห็นผีเสื้อสีดำบินวนใกล้ๆ ใคร นั่นหมายความว่าคนคนนั้นเพิ่งสูญเสียสมาชิกในครอบครัว หรือไม่ก็ญาติใกล้ชิด

ระหว่างทางที่พาคนป่วยไปโรงพยาบาลถ้ามีแมวดำตัดหน้าคนคนนั้นจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา เสียงไก่ขันยามเช้าช่วยปลุกให้ตื่น แต่หากไก่ขันช่วงกลางวันจะมีคนตาย

และถ้าเห็น นกฮูกอยู่ใกล้ๆ บ้านใคร แสดงว่าบ้านนั้นมีคนป่วยหนักและมีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิต

ชาวฟิลิปปินส์ยังเชื่อว่าเลข ๗ เป็นเลขนำโชค ส่วนเลข ๓ ๕ และ ๙ เป็นเลขแห่งความตาย จึงไม่ควรตั้งกลุ่มทำกิจกรรมหรือทีมกีฬาที่มีสมาชิก ๓ หรือ ๑๓ คน ไม่เช่นนั้นคนในกลุ่มนั้นๆ จะถึงแก่ความตาย การถ่ายรูปก็เช่นกัน ควรหลีกเลี่ยงถ่ายรูป ๓ คน เพราะคนที่อยู่ตรงกลางจะมีอายุขัยสั้นกว่าเพื่อน

ทิ้งท้ายความเชื่อเหนือธรรมชาติในฟิลิปปินส์กับเรื่องราวของข้อควรปฏิบัติในอาคารบ้านเรือน

ไม่ควรกวาดพื้นหลัง ๖ โมงเย็น รวมถึงการกวาดพื้นใกล้วงพนันที่กำลังเล่นอยู่ เพราะโชคลาภจะถูกปัดเป่าออกไป และทำให้คนในบ้านเคราะห์ร้าย ห้ามกางร่มในบ้านหากไม่อยากถูกตะขาบที่จะร่วงลงมาจากเพดานกัดจนเป็นแผล คนที่ทำกระจกแตกจะต้องทนทุกข์กับความโชคร้ายต่อเนื่องนาน ๗ ปี และควรนำกระจกที่แตกไปทิ้งให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้คนในบ้านได้รับผลกระทบไปด้วย เช่นเดียวกับการซ้อนกระถางต้นไม้ต่อๆ กันหลายใบที่จะทำให้ครอบครัวโชคร้ายเป็นเวลานานหลายปี

เวลาย้ายบ้านใหม่ หัวหน้าครอบครัวต้องนำข้าวสารและเกลือเข้าสู่บ้านหลังใหม่เป็นอันดับแรก เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่นมีความสุข และมั่งคั่ง ไม่อดอยาก ควรตั้งประตูบ้านในทิศตะวันออกที่แสงส่องถึง เพราะพลังจากดวงอาทิตย์จะนำโชคลาภเข้าสู่บ้าน

ชาวฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกที่สัมพันธ์กับอุปนิสัย เช่น คนที่มีหน้าผากกว้างคือคนฉลาด ตรงข้ามกับคนหน้าผากแคบที่จะงงๆ ไม่ค่อยเฉลียว คนที่มีไฝเหนือริมฝีปากคือคนช่างเจรจา ส่วนคนที่มีไฝระหว่างตาสองข้างจะมีโชคทางการค้าขาย คนบ่ากว้างเป็นคนขี้เกียจ และผู้หญิงที่เท้าแบนจะทำอะไรเชื่องช้า เรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ



    ความเชื่อบรูไน

ความเชื่อเหนือธรรมชาติ กับเรื่องราวความศรัทธาในบรูไน ดารุสซาลาม

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าบรูไนมีวัฒนธรรมผสมผสานคล้ายสิงคโปร์ จึงรับเอาความเชื่อจากมลายูและจีนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับความเชื่อมลายูที่พบเห็นได้บ่อย คือ ห้ามนั่งบนหมอนหนุนหรือหมอนอิงศีรษะถ้าไม่อยากเป็นแผลพุพองที่หลังและก้น เด็กสาวไม่ควรร้องเพลงเมื่ออยู่ในห้องครัว ไม่เช่นนั้นจะได้แต่งงานกับคนสูงวัยหรือไม่ก็แต่งงานช้า

ไม่ควรเล่นนอกบ้านหลังพระอาทิตย์ตก เพราะวิญญาณร้ายจะตามกลับมาที่บ้านและทำให้ครอบครัวเผชิญเคราะห์ร้าย การตัดเล็บตอนกลางคืนจะดึงดูดให้ภูตผีปีศาจมาหา

ขณะที่ความเชื่อแบบจีนที่โดดเด่นในสังคมบรูไน อาทิ ความเชื่อที่เลข ๔ เป็นเลขอัปมงคล หมายถึงความตายและความ โชคร้าย ต่างจากเลข ๘ ที่หมายถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวยเงินทอง และความโชคดี การให้รองเท้าเป็นของขวัญแก่เพื่อนเท่ากับหยิบยื่นความตายให้มิตร ไม่ควรนั่งแกว่งขาและเขย่าขาไปมา ถ้าไม่อยากให้ความร่ำรวยร่วงหล่นหายไปกับพื้น

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้ความเชื่อที่ส่วนใหญ่เป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคม และถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่หากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าความเชื่อเหล่านี้มีที่มาที่ไป รวมถึงเป็นแนวทางการใช้ชีวิตและการวางตัวในสังคม



    ความเชื่อคนไทย

มาที่ความเชื่อเรื่องราวเหนือธรรมชาติของคนไทยกัน ประเดิมด้วยความเชื่อที่เกี่ยวกับสัตว์ หากจิ้งจกส่งเสียงทักขณะกำลังเดินออกจากบ้าน ผู้ถูกทักจะประสบพบเจอเรื่องไม่ดีเช่นเดียวกับการได้ยินเสียงตุ๊กแกร้องตอนกลางวันซึ่งขัดกับธรรมชาติที่ตุ๊กแกจะส่งเสียงยามกลางคืน นกฮูกถือเป็นสัตว์แห่งความชั่วร้ายและลึกลับ หากเห็นนกฮูกเกาะหลังคาบ้านจะมีเรื่องไม่เป็นมงคลเกิดขึ้น

หากนกถ่ายรดศีรษะโชคร้ายจะมาเยือนตลอดทั้งวัน ถ้าอยากมีโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมา เวลาเจอตัวเงินตัวทองเดินเข้าบ้านให้พูดทักทายด้วยคำไพเราะ บ้านหลังใดที่มีผึ้งมาทำรัง อย่ากำจัดหรือทำลายทิ้ง เพราะคนเฒ่าคนแก่บอกต่อๆ กันมาว่าผึ้งที่เป็นสัตว์แสนขยันจะนำโชคดีมาสู่คนในบ้านหลังนั้น คางคกก็เช่นกันแม้รูปร่างหน้าตาจะไม่น่าดูแต่ถ้าเห็นอยู่ในบ้านเมื่อไหร่ไม่ว่าใครก็ชอบเพราะคางคกจะกระโดดดึ๋งๆ นำเรื่องดีๆ เข้าสู่บ้าน

เวลาเจอสัตว์จรจัด จะเป็นสุนัขหรือแมว หากให้อาหารช่วยบรรเทาความหิวแก่สัตว์ที่น่าสงสารจะได้บุญกุศลมาก การฝันเห็นงูขดตัวเป็นวงและกำลังฉกผู้อื่น หมายถึงการดิ้นรนไขว่คว้าหาโชคลาภใส่ตัว ฝันว่าถูกงูกัดหมายถึงมีเรื่องกวนใจและจะมีปากเสียงกับผู้อื่น ส่วนฝันที่ว่ามีงูมารัดหรือพันแข้งขาหมายถึงจะมีคู่รักไปจนถึงขั้นได้แต่งงานอยู่กินกัน


   มาดูกันต่อว่าความเชื่อเหนือธรรมชาติในสังคมไทยมีอะไรอีกบ้าง เริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดและการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่กำลังท้องไม่ควรร่วมงานศพ เพราะวิญญาณจะรบกวนลูกน้อย หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นเข้าสิงทารก แต่ถ้าจำเป็นต้องไปร่วมงานให้กลัดเข็มกลัดไว้กับชุดบริเวณท้อง เพราะเชื่อว่าเข็มกลัดช่วยป้องกันภาวะแท้งลูกและสิ่งไม่ดีที่จะมาทำร้ายเด็ก

ถ้าอยากให้ลูกมีผิวพรรณขาวผุดผ่องคุณแม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสีดำถ้าไม่อยากให้ลูกผิวคล้ำ ทั้งเฉาก๊วย ถั่วดำ และโอเลี้ยง หากคุณแม่หน้าตาสะสวยขึ้น ขณะท้องผู้หลักผู้ใหญ่ท่านว่าจะได้ลูกสาว แต่ถ้ามีผิวหมองคล้ำ สิวขึ้นและดูโทรมกว่าปกติทำนายว่าจะได้ลูกชาย นอกจากลักษณะของคุณแม่แล้ว

ลักษณะของท้องยังสามารถพยากรณ์เพศของเด็กได้ด้วย คือท้องกลมได้ลูกสาว ท้องแหลมสะดือจุ่นจะได้ลูกชาย

การเย็บผ้าระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้ลูกมีอาการปากแหว่งเพดานโหว่ คุณแม่ตั้งครรภ์ห้ามนั่งขวางบันได ไม่อย่างนั้นจะคลอดยาก

เมื่อทารกคลอดออกมาไม่ควรชมว่า น่ารักเพราะวิญญาณร้ายจะมาลักตัวไป ดังนั้นเวลาไปเยี่ยมเด็กแรกเกิดจึงต้องพูดว่า "น่าเกลียดน่าชัง"

ส่วนรอยปานหรือตำหนิที่ทารกมีมาตั้ง แต่แรกเกิด โบราณเชื่อว่าเด็กคนนั้นเคย เกิดมาแล้วอย่างน้อยชาติหนึ่ง และเป็นร่องรอยที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวทำตำหนิไว้เพื่อให้กลับมาเกิดเป็นครอบครัวเดียว กันอีกครั้ง หากเป็นปานแดงเชื่อกันว่าถูกป้ายด้วยปูนแดง ส่วนปานดำเชื่อว่าถูกป้ายด้วยถ่าน


   นอกจากสิ่งรอบๆ ตัว เราชาวไทยยังมีความเชื่อเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับร่างกายด้วย เริ่มจากส่วนบนสุดที่ศีรษะและผมกันดีกว่า ส่วนใหญ่จะเคยได้ยินว่าห้ามตัดผมวันพุธ เพราะในอดีตเป็นวันที่กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงเครื่องใหญ่ การตัดผมวันเดียวกันจึงเหมือนการตีตนเสมอเจ้านาย ทำให้เสื่อมลาภยศ และเป็นทุกข์

อย่างไรก็ตาม หากตัดผมวันอาทิตย์จะมีอายุยืน สุขภาพแข็งแรง ตัดผมวันจันทร์จะมีโชคลาภ

ตัดผมวันอังคารจะมีอำนาจ ตัดผมวันพฤหัสบดีเป็นสิริมงคล ตัดผมวันศุกร์จะเป็นที่รักใคร่ ค้าขายดี มีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ และตัดผมวันเสาร์จะได้สมตามปรารถนา

นอกจากนี้ลักษณะผม และทรงผมยังเป็นเครื่องบ่งชี้นิสัยของเจ้าของได้ด้วย อาทิ คนที่มีผมหยักศก คอและใบหน้าสั้น คือคนเจ้าชู้ และคนศีรษะล้านมักขี้โกง ตำแหน่งของไฝก็สามารถทำนายโชคชะตาได้เช่นกัน อย่างไฝบนศีรษะหมายถึงเป็นผู้มีลาภลอย ไฝที่หน้าผากมักใจบุญและมีญาณหยั่งรู้ ไฝคิ้วขวาคือมีเสน่ห์ เป็นที่ถูกตาต้องใจของต่างเพศ ต่างจากไฝที่คิ้วซ้ายซึ่งแปลว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ไฝใต้ขอบตาขวาเป็นคนเจ้าเสน่ห์ ไฝใต้ขอบตาซ้ายเป็นคนอารมณ์ดี มีนิสัยเปิดเผย ไฝที่ริมฝีปากล่างหมายถึงคนโมโหร้าย ปากร้าย ชอบทะเลาะ และไฝที่หัวเข่ามีปัญญา ทำอาชีพค้าขายดี

สำหรับตากระตุก หรือตาเขม่นนั้น ถ้าตาขวากระตุกช่วงเช้าจะมีญาติมิตรมาหา ถ้าตาซ้ายจะมีปากเสียง ตากระตุกช่วงสายไปจนถึงเที่ยงวัน ถ้าเป็นตาขวาญาติมิตรต่างแดนจะนำลาภมาให้ ถ้าเป็นตาซ้ายจะเกิดเรื่องไม่ดีในครอบครัว ตากระตุกช่วงบ่าย ตาขวาคือจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่คิดหรือทำ ตาซ้ายจะมีเพศตรงข้ามมาหา ตากระตุกตอนเย็น ถ้าเขม่นตาซ้ายจะมีญาติมาเยี่ยม ตาขวาจะได้พบญาติมิตรที่จากกันไปนาน และตากระตุกตอนกลางคืน หากเป็นตาซ้ายจะมีข่าวดี หรือโชคลาภ หากเป็นตาขวาจะมีเรื่องวิวาทในครัวเรือน


   

สัปดาห์นี้ยังอยู่กับความเชื่อของไทยเรา ในเรื่องสีกับการแต่งกาย ไม่ควรสวมสีดำเวลาไปเยี่ยมผู้ป่วยหรือร่วมงานมงคล เนื่องจากสีดำเป็นสีไว้ทุกข์ ส่วนสีที่เป็นมงคลในแต่ละวันนั้น จากคำกลอนเรื่องสวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ ระบุไว้ว่า

อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี      . วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัยฯ

ขณะที่การแต่งกายของหญิงสาวชาววังจากเรื่องสี่แผ่นดิน ระบุว่าวันจันทร์นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อนหรือบานเย็น วันอังคารนุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปราง ห่มโศก วันพุธนุ่งสีถั่วหรือสีเหล็กห่มจำปา วันพฤหัสบดีนุ่งเขียวใบไม้ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน วันศุกร์นุ่งน้ำเงินแก่ห่มเหลือง วันเสาร์นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงห่มโศก วันอาทิตย์นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่ห่มโศก

สำหรับคนทั่วไปในปัจจุบัน มีการนำหลักโหราศาสตร์ สีในภูมิทักษา หรือสีประจำพระเคราะห์ มาใช้กำหนดสีที่ถูกโฉลกในแต่ละวัน สีที่เป็นสิริมงคลในวันอาทิตย์คือเขียว วันจันทร์เป็นสีม่วง วันอังคารสีส้ม วันพุธมีสีดำ น้ำตาล เทา วันพฤหัสบดีสีแดง วันศุกร์สีชมพู และวันเสาร์สีน้ำเงินกับสีฟ้า


ที่มา : คอลัมน์ อาเซียน หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 สิงหาคม 2560 14:36:53 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 21 พฤศจิกายน 2560 16:40:09 »


    เจย เจวี๋ยน

ในเวียดนามมีการละเล่นที่คล้ายหมากเก็บไทย เรียกว่า "เจย เจวี๋ยน" อุปกรณ์การเล่น คือ ไม้ไผ่เหลาปลายมนเอาเสี้ยนออกให้เกลี้ยง ยาวประมาณ ๓-๕ นิ้ว จำนวน ๑๐ ไม้ และตัวหมาก เดิมใช้ลูกมะเดื่อหรือลูกมะเขือพวงไปจนถึงก้อนกรวดและดินเหนียวปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แต่ปัจจุบันนิยมใช้ลูกบอลขนาดเล็ก หรือลูกเทนนิสแทน

วิธีการเล่นเจย เจวี๋ยน คือ โยนหมากขึ้นไปด้วยมือข้างใดข้างหนึ่ง และใช้มือข้างเดิมเก็บไผ่เหลาด้านล่าง จากนั้นหงายมือที่กำไผ่เหลาเพื่อรับหมากที่กำลังหล่นลงมา รับได้ถือว่าผ่าน แต่ถ้าหมากหรือไผ่เหลาหล่นต้องเปลี่ยนตาให้เพื่อนคนอื่นเล่น

เกมแรกหยิบไผ่เหลาครั้งละไม้ไปจนครบทั้งหมด เกมสองหยิบไผ่เหลาทีละ ๒ ไม้ เล่น ๕ ครั้งก็จะหยิบได้หมด เกมสามหยิบ 3 ไม้ 3 ครั้ง และเก็บเศษไผ่เหลาที่เหลืออีกไม้จึงจะผ่าน เกมสี่เก็บครั้งละ ๔ ไม้ เล่น ๒ ครั้ง และเก็บเศษ ๒ ไม้ เกมห้าคือเก็บ ๕ ไม้ ๒ ครั้ง เกมหกเก็บ ๖ ไม้ และโยนหมากอีกครั้งเพื่อเก็บเศษอีก ๔ ไม้ที่เหลือ เกมเจ็ดเก็บ ๗ ไม้ และเศษอีก ๓ ไม้ในคราวเดียวกัน เกมแปดเก็บ ๘ ไม้ และเศษ ๒ ไม้ เกมเก้าก็เก็บ ๙ ไม้กับเศษไผ่เหลาอีกอัน สุดท้ายเกมสิบ เก็บไผ่เหลาทั้งหมดในครั้งเดียว และย้ายไปยังมืออีกข้าง ทำสลับไปมาอย่างน้อย ๓ ครั้ง หากพอดีกับจังหวะที่หมากซึ่งโยนขึ้นไปหล่นลงมาพอดีเป็นอันว่าชนะ



     หมากเก็บเขมร

กัมพูชาเองก็มีหมากเก็บ เรียกว่า "จราวัก" ตัวหมากใช้โซ่พลาสติกเหมือนที่นิยมในไทย

แบ่งการเล่นหลักๆ เป็น ๒ ระดับ ระดับแรกใช้หมาก ๕ ตัว เริ่มจากตัดสินว่าใครจะเล่นก่อนด้วยการเป่ายิ้งฉุบ เริ่มเกม ผู้เล่นจะโยนหมากทั้ง ๕ ตัวลงกับพื้น หยิบตัวใดตัวหนึ่งขึ้นมาและโยนขึ้นไปในอากาศ ระหว่างนั้นใช้มือข้างเดียวกันกับที่โยนหมากตัวแรก หยิบหมากที่อยู่บนพื้นขึ้นมา พร้อมกับหงายฝ่ามือรับหมากตัวแรกที่ตกลงมา โยนหมากตัวหลักและหยิบหมากที่เหลือบนพื้นทีละตัวจนครบคือผ่านด่านแรก ถ้าหมากหลุดมือ กระเด้งตกพื้น หรือรับตัวหมากไม่ได้ ถือว่าตาย และต้องเปลี่ยนให้ผู้เล่นคนอื่นเล่นต่อ

การเล่นระดับที่ ๒ ผู้เล่นต้องกำหนดจำนวนหมากที่จะตั้งไว้เป็นเป้าหมาย ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง ๒๐-๕๐ ตัว รวมทั้งระบุจำนวนครั้งที่จะเล่นด้วย ผู้เล่นจะกำหมากทั้ง ๕ ตัวไว้ และโยนขึ้นไปพร้อมกัน จากนั้นคว่ำฝ่ามือข้างที่โยนหมาก หรือใช้หลังมือรับหมากที่กำลังตกลงมา พยายามรับหมากให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เข้าใกล้จำนวนหมากที่กำหนดไว้ตอนแรก

ผลัดกันเล่นคนละครั้ง เก็บสะสมตัวหมากไปเรื่อยๆ เมื่อถึงตาสุดท้าย หาก ผู้เล่นเก็บหมากได้แล้ว ๔๗ ตัว ยังขาดอีก ๓ ตัวจะครบตามที่ตกลงกันไว้ หากผู้เล่นรับได้ ๓ ตัวพอดีถือว่าชนะ แต่ถ้ารับหมากเกินจะถูกปรับแพ้ทันที



    หมากเก็บไทย

“หมากเก็บ” หนึ่งในการละเล่นยอดนิยมของเด็กผู้หญิง เดิมทีหมากที่ใช้เล่นเป็นก้อนกรวด แต่ปัจจุบันใช้ห่วงพลาสติกสีสันสดใสนำมาร้อยเข้าด้วยกันจนเป็นก้อน ทำให้ครบ ๕ ก้อนหรือเม็ดเป็นอันเสร็จ เริ่มแรกต้องเสี่ยงว่าใครจะได้เล่นก่อนด้วยวิธีขึ้นร้าน ถือหมากทั้ง ๕ ก้อนไว้แล้วโยนพลิกหงายหลังมือรับแล้วพลิกมือกลับรับอีกทีหนึ่ง ใครเหลือหินอยู่ในมือมากที่สุดคนนั้นเล่นก่อน

หมากที่ ๑ กำตัวหมากทั้งหมดไว้แล้วทอดลงกับพื้น จากนั้นเลือกหมากนำไว้ ๑ เม็ด โยนหมากนำขึ้นแล้วเก็บหมากทีละ ๑ เม็ดพร้อมกับรับหมากนำที่หล่นลงมาให้ได้ ถ้ารับไม่ได้จะถือว่าตาย แล้วเปลี่ยนให้เพื่อนคนอื่นๆ เล่นต่อ แต่ถ้ารับได้ก็ใช้หมากนำเก็บหมากอีก ๓ เม็ดที่กระจายบนพื้นให้หมดเป็นอันผ่านด่าน

เล่นต่อหมากที่ ๒ ใช้หมากนำเก็บทีละ ๒ เม็ด ต้องเก็บ ๒ ครั้ง

หมากที่ ๓ เก็บทีละ ๓ เม็ด ครั้งแรกเก็บ ๓ เม็ด และเก็บอีก ๑ เม็ดที่เหลือในครั้งที่ ๒ หมากที่ ๔ หมากสุดท้าย ใช้การโปะ ไม่ใช่ทอดหมากลงกับพื้นเหมือนตาอื่นๆ คือ ถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนหมากนำขึ้นแล้วโปะหมากที่เหลือลงกับพื้นก่อนใช้มือรวบหมากทั้งหมดและรับหมากนำที่โยนขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีการนำหมากเก็บไปพลิกแพลงเล่นเป็นหมากต่างๆ เช่น “หมากพวง” เวลาโยนหมากนำขึ้นเพื่อเก็บหมากบนพื้น เมื่อเก็บหมากได้เม็ดหนึ่งก็โยนขึ้นพร้อมกับหมากนำ ตาแรกโยนหมากนำเก็บหมาก ๑ เม็ด รวมเป็น ๒ เม็ด โยนหมากทั้งเม็ดเก็บหมากอีก ๑ เม็ดที่พื้น รวมเป็น ๓ เม็ด โยนขึ้นพร้อมกันเก็บหมากเม็ดที่ ๔ และโยนทั้ง ๔ เม็ดเพื่อเก็บหมากเม็ดสุดท้ายที่เหลือ

ส่วน “หมากจุ๊บ” ใช้มือข้างหนึ่งตั้งโก่งเป็นประตู มืออีกข้างทอดหมาก หยิบหมากนำโยนขึ้นแล้วปัดหมาก ๑ ตัวให้สไลด์เข้ามือที่ทำประตู ปัดทีละเม็ดจนครบ หมากที่ ๒ ก็ปัดหมากทีละ ๒ เม็ด ต่อเนื่องจนครบหมากที่ ๔



    “เบเกล”หมากเก็บ อินโดนีเซีย

ยังตามติดเรื่องของ “หมากเก็บ” การละเล่นยอดนิยมที่มีเกือบทุกประเทศในอาเซียน ชาวอินโดนีเซียเรียกหมากเก็บว่า “เบเกล” อุปกรณ์ ที่ใช้เล่นประกอบด้วยตัวหมาก “บิจิ เบเกล” มีลักษณะคล้ายนก ทำจากสแตนเลส ไม่ก็โลหะหรือพลาสติกประกบกันสองข้างและเว้าเข้าช่วงกลาง จำนวน ๔-๘ ตัว

ส่วนที่ต่างกับหมากเก็บประเทศอื่นๆ คือ เบเกลใช้ลูกบอลแทนหมากสำหรับโยน นิยมใช้ลูกบอลยางขนาดเท่าลูกปิงปอง และเล่นตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป

หลังตัดสินใจได้แล้วว่าใครจะเริ่มเล่นก่อน ผู้เล่นจะกำบิจิ เบเกล ทั้งหมดไว้ในมือ และใช้มือข้างเดียวกันโยนลูกบอลขึ้นไปในอากาศ จากนั้นวางบิจิ เบเกล ลงกับพื้น

ระหว่างนั้นรอให้ลูกบอลเด้งลงกับพื้น ๑ ครั้ง แล้วจึงหยิบบิจิ เบเกล ขึ้น ๑ ตัว โยนลูกบอล อีกครั้ง รอเด้งกับพื้น ๑ รอบ และหยิบอีก ๑ ตัว ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนเก็บบิจิ เบเกล

ทั้งหมดบนพื้น ถือว่าผ่านด่านแรก ถึงอย่างนั้นถ้าหยิบบิจิ เบเกล ได้หมด แต่รับลูกบอล ไม่ได้ หรือลูกบอลกระเด้งออกจากมือ จะต้อง เปลี่ยนให้ผู้เล่นคนอื่นเล่น

ด่านที่สองทำตามขั้นตอนแรกแต่หยิบ บิจิ เบเกลครั้งละ ๒ ตัว ถ้าใช้หมาก ๔ ตัว หยิบ ๒ ครั้งเพื่อผ่านด่าน แต่ถ้าใช้หมาก ๘ ตัว ก็หยิบ ๔ ครั้งจนหมด ด่านที่สามเก็บบิจิ เบเกล พร้อมกัน ๓ ตัว ส่วนด่านที่สี่คือหยิบขึ้นมาทั้งหมด หากใช้หมาก ๘ ตัว ผู้เล่นสามารถเล่นต่อได้อีก ๔ ด่าน



    บาตู เซเรมบัน

บาตู เซเรมบัน หรือ บาตู เซเรมบัต คือหมากเก็บมาเลเซีย อุปกรณ์มีก้อนหิน ก้อนกรวด หรือตัวหมากทำจากผ้าตัดเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ด้านในใส่เมล็ดถั่วเขียวจนเต็ม จำนวน ๕ ก้อน เล่น ๒ คนขึ้นไป

เริ่มแรกเลือกว่าผู้เล่นคนใดจะเริ่มก่อน จากนั้นผู้เล่นคนแรกจะกำก้อนหินทั้งหมดไว้ในมือ ทอดลงบนพื้น หยิบก้อนหินก้อนหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวโยน โยนตรงๆ ขึ้นด้านบน ระหว่างรอให้หินตกลงมา ใช้มือข้างเดียวกันหยิบก้อนหิน ๑ ก้อนที่อยู่บนพื้นแล้วหงายฝ่ามือรับตัวโยนที่ตกลง เก็บหินทีละก้อนจนครบถือว่าผ่านด่านแรก

ด่านที่ ๒ ทอดก้อนหินทั้งหมด เลือกหยิบตัวโยนตัวหนึ่งเหมือนเดิม โยนหินตัวโยน เก็บเพิ่มเป็น ๒ ก้อน เก็บ ๒ ครั้ง ผ่านสู่ด่านที่ ๓ เก็บหิน ๓ ก้อน และเก็บอีก ๑ ก้อนเพื่อจบด่าน จากนั้นทอดก้อนหินทั้งหมดลงพื้น เลือกตัวโยนและรวบก้อนหิน ๔ ก้อนรวด

ด่านที่ ๕ กำก้อนหิน ๔ ก้อนในมือขณะจับหินตัวโยนไว้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ โยนหินตัวโยนขึ้นไป และวางหิน ๔ ก้อนลงกับพื้น โยนหินก้อนเดิมอีกครั้งและรวบหินทั้งหมดบนพื้น

สุดท้ายทอดก้อนหิน คู่แข่งจะเป็นฝ่ายเลือกว่าหินก้อนไหนเป็นตัวโยน ผู้เล่นจะต้องหยิบหินก้อนนั้น โดยไม่ทำให้หินก้อนอื่นขยับ เมื่อหยิบได้ก็โยนหินขึ้นไปตรงๆ แล้วรวบก้อนหินที่วางบนพื้นให้หมด ถ้าทำได้จะกลายเป็นผู้ชนะทันที แต่หากพลาดท่าขยับโดนก้อนหินหรือรวบหินไม่ได้ ต้องเปลี่ยนให้คู่แข่งเล่น



    จัก เจิง มุย

การละเล่นกระต่ายขาเดียว ในกัมพูชาก็มีเหมือนกันเรียกว่า "จัก เจิง มุย" เล่นได้ทั้งหญิงและชาย จับกลุ่มเล่นกันอย่างน้อย ๒ คน

เริ่มต้นด้วยการขีดเส้นบนพื้นเป็นวงกลม จะเล็กหรือกว้างขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น จากนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายเท่าๆ กัน แล้วให้ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายออกมาเป่ายิงฉุบเพื่อตัดสินว่าใครจะเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชนะเป็นผู้วิ่งหรือฝ่ายหนีแบบกระต่ายขาเดียวของไทย ฝ่ายแพ้จะเป็นผู้กระโดดหรือเป็นกระต่าย

จากนั้นฝ่ายกระโดดจะส่งตัวแทนคนแรกเพื่อกระโดดขาเดียวไล่จับฝ่ายหนีที่ทุกคนต้องวิ่งอยู่ภายในวงกลมเท่านั้น ถ้าผู้เล่นฝ่ายไล่วางขาข้างที่ยกขึ้นลงกับพื้นจะถือว่าตายต้องออกจากเกม และให้ตัวแทนของฝ่ายไล่อีกคนเข้ามาเล่นต่อ ขณะเดียวกันถ้าผู้เล่นฝ่ายหนีคนไหนถูกฝ่ายไล่แตะหรือจับตัวก็จะต้องออกจากเกมเหมือนกัน

เล่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เล่นฝ่ายหนีจะถูกแตะตัวทั้งหมด หรือผู้เล่นฝ่ายไล่จะพลาดท่าตายเสียเอง ฝ่ายไหนมีผู้เล่นน้อยกว่านั่นแปลว่าอีกฝ่ายคือผู้ชนะ



   กระต่ายขาเดียว

พาไปขยับแข้งขยับขาเรียกเหงื่อกับเกม "กระต่ายขาเดียว"

นิยมแบ่งผู้เล่นเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๔-๕ คนเท่าๆ กัน เริ่มแรกขีดเส้นแบ่งเขตบนพื้น และมีเขตจำกัดเส้นออก จากนั้นตกลงกันว่าฝั่งไหนจะเป็นฝ่ายรับหรือฝ่ายรุกก่อน ฝ่ายรับคือฝ่ายหนี ต้องยืนอยู่ในสนามเล่น ฝ่ายรุกหรือฝ่ายที่เป็นกระต่ายจะยืนอยู่นอกสนามเล่น

จากนั้นผู้เล่นฝ่ายกระต่ายจะคิดคำหนึ่งขึ้นมาให้มีพยางค์เท่ากับจำนวนผู้เล่น สมมติว่ามีผู้เล่น ๔ คน และตั้งว่า "ข้าว-ผัด-กะ-เพรา" พร้อมกำหนดว่าใครจะใช้ชื่อไหน เมื่อผู้เล่นฝ่ายหนีในสนามเรียกชื่อพยางค์หนึ่งออกมาดังๆ เช่น "ผัด" ผู้เล่นฝ่ายไล่ที่ได้ชื่อผัดจะกระโดดขาเดียวโดยยกขาอีกข้างหนึ่งเข้าไปในสนาม และพยายามไล่แตะผู้เล่นฝ่ายหนีให้ได้มากคนที่สุด ผู้เล่นที่ถูกแตะแล้วจะถือว่าตายต้องออกนอกสนาม

หากผู้เล่นฝ่ายไล่ทำเท้าข้างที่ยกอยู่ตกลงพื้นจะถือว่าตายเช่นกัน และต้องออกจากเกม จากนั้นขานชื่อผู้เล่นฝ่ายกระต่ายใหม่ เล่นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้เล่นฝ่ายหนีจะถูกแตะตัวหมด หรือผู้เล่นฝ่ายไล่จะตายหมด ฝ่ายไหนมีผู้เล่นเหลืออยู่คือผู้ชนะ



     ซาตู กากิ ลอมปัต

ในประเทศมาเลเซียเองก็มีการละเล่นคล้ายกระต่ายขาเดียวของไทย เรียกว่า "ซาตู กากิ ลอมปัต" มีความหมายตรงตัวว่ากระโดดขาเดียว บรูไนและสิงคโปร์ที่ได้รับอิทธิพลมลายูก็มีการละเล่น ดังกล่าวเช่นกัน

กติกาการเล่นซาตู กากิ ลอมปัต ต้องมีผู้เล่นอย่างน้อยฝั่งละ ๓ คน เมื่อแบ่งทีมได้แล้ว ส่งตัวแทนโยนเหรียญเลือกหัวก้อยหรือเป่ายิ้งฉุบ เพื่อตัดสินว่าฝั่งไหนจะเป็นทีมไล่ ฝั่งไหนจะเป็นทีมหนี

ตัวแทนของทีมไล่จะยกขาข้างหนึ่งขึ้นเหนือพื้นระหว่างที่กระโดดดึ๋งๆ ไล่จับ หรือแตะตัวผู้เล่นฝั่งตรงข้าม หากฝ่ายหนีถูกจับออกได้ทั้งหมด ผู้เล่นฝั่งไล่ต้องช่วยกันตะโกนว่า "ซูดะห์ มาติ" แปลได้ว่า "ตายหมดแล้ว" ถือเป็นอันจบเกม จากนั้นจะสลับฝั่ง หรือโยนเหรียญ-เป่ายิ้งฉุบเลือกฝ่ายกันอีกครั้งก็ไม่มีปัญหา



    ลอมปัต เกตะห์

ชวนน้องๆ มาเล่น “ลอมปัต เกตะห์”หรือ กระโดดหนังยาง กับเพื่อนบ้านในมาเลเซียและสิงคโปร์ กันบ้าง
หลังจากนำหนังยางมาร้อยต่อๆ กันจนเป็นเชือกยาว ตัวแทน ๒ คนจากกลุ่มผู้เล่นต้องเลือกชื่อสิ่งของ ๒ สิ่ง เช่น ใบไม้ หรือก้อนหิน จากนั้นบอกชื่อให้ผู้เล่นคนอื่นๆ รับทราบ เพื่อเลือกข้าง แต่ละคนจะไม่รู้ว่าชื่อไหนเป็นของใคร เมื่อแบ่งทีมลงตัวแล้วค่อยตัดสินว่าทีมไหนจะเริ่มเล่นก่อน

การละเล่นแบ่งเป็น ๕ ด่าน ในแต่ละด่านผู้เล่นจะต้องกระโดดที่ความสูงระดับต่างๆ รวม ๕ ระดับ ได้แก่ ระดับที่ ๑ ตรึงหนังยางราบไปกับพื้น ระดับที่ ๒ ให้ผู้เล่นพันหนังยางไว้ที่หัวเข่า ระดับที่ ๓ แตะไว้ที่เอว ระดับ ๔ ยกขึ้นทาบหัวไหล่ และระดับที่ ๕ วางหนังยางกลางศีรษะ

ด่าน ๑ ในการกระโดดข้ามหนังยางแต่ละครั้ง ผู้เล่นแต่ละคนของทีมที่เป็นฝ่ายกระโดดต้องตะโกนว่า “๑ คะแนน” เพื่อย้ำว่ากำลังเล่นด่านแรก

ด่าน ๒ ผู้เล่นต้องตะโกนว่า “๒ คะแนน” ตอนกระโดดระดับที่ ๑ จากนั้นในระดับที่ ๒ ต้องกระโดดท่าพิเศษ อันดับแรกก้าวขาข้างหนึ่งข้ามหนังยาง และหมุนตัว ๑๘๐ องศาไปทางใดก็ได้ เมื่อทำแล้วหนังยางจะพันด้านหน้าของขาข้างหนึ่ง และอีกส่วนจะอยู่ด้านหลังของขาอีกข้าง

ตั้งขาหน้าให้มั่นคงแล้วยกขาข้างหลังข้ามหนังยาง และข้ามอีกรอบ ก่อนยกขาข้างเดิมข้ามหนังยางไปมา ๓ ครั้ง และหมุนตัวกลับไปท่าเริ่มต้น สำหรับระดับที่ ๓, ๔ และ ๕ ให้กระโดดปกติ พร้อมตะโกน “๒ คะแนน” หลังกระโดดเสร็จในแต่ละระดับถือว่าผ่านด่านที่ ๒



    สำหรับด่าน ๓ ผู้เล่นต้องตะโกนว่า “๓ คะแนน” ระหว่างกระโดดระดับที่ ๑-๓ ในท่าปกติ ส่วนระดับที่ ๔ กระโดดท่าพิเศษ โดยผู้เล่นจะต้องยืนหลังหนังยาง จากนั้นแกว่งแขนไปข้างใต้หนังยางก่อนยกขึ้นพันหนังยางและแขนพลิกมาอยู่ด้านบน ทำซ้ำให้ครบ ๓ ครั้งแล้วตบท้ายด้วยการ กระโดดท่าปกติในระดับที่ ๕ เป็นอันจบด่าน ๓

ด่าน ๔ กระโดดระดับที่ ๑ พร้อมตะโกน “๔ คะแนน” ต่อมาทำท่าพิเศษด้วยการกระโดดข้ามหนังยางไขว้ขาให้แต่ละข้างอยู่คนละฝั่งกัน และกระโดดไขว้ขากลับมายังท่าเดิม จากนั้นในระดับที่ ๒-๕ กระโดดข้ามหนังยางท่าปกติ แต่ต้องไม่ลืมตะโกนคะแนนย้ำว่ากำลังเล่นด่านใด

ด่าน ๕ ด่านสุดท้าย กระโดดท่าปกติและตะโกนว่า “๕ คะแนน” ขณะเล่นระดับที่ ๑-๔ ส่วนระดับที่ ๕ ต้องกระโดดท่าพิเศษ คือ ผู้เล่นทีมตรงข้ามที่ถือหนังยางจะแกว่งยางเป็นวงกลม และร้องเพลงที่มีเนื้อหาว่า “รูมาห์ เตอร์บากา ปังกิล บอมบา, บอมบา ดาตัง เบอร์ลุมบา-ลุมบา, ซาตุ, ดัว, ติกา, ลิมา, เอนาม, ตูจูห์, ลาปัน, เซมบิลาน, เซปูลู” มีความหมายว่าเรียกเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเมื่อบ้านไฟไหม้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรีบมา ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐…



    ลอมปัต ตาลี

อินโดนีเซียเองก็มีการละเล่นโดดหนังยาง เรียกว่า "ลอมปัต ตาลี" เป็นที่นิยมมากสำหรับเด็กๆ วัยประถมศึกษา เพราะไม่ต้องหาอุปกรณ์อะไรมาก เพียงแค่นำหนังยางมัดของมาร้อยต่อกันจนกลายเป็นเชือกเส้นยาว และมีเพื่อนๆ อย่างน้อย ๔-๕ คนก็สนุกสนานพร้อมออกกำลังกายไปในตัวแล้ว

ลอมปัต ตาลี ของอินโดนีเซีย ไม่มีกฎกติกาเยอะเหมือน ลอมปัต เกตะห์ ของมาเลเซีย เริ่มแรกเลือกผู้เล่นว่าใครจะเป็นฝ่ายถือหนังยาง ด้วยการ "ฮอมพิมปา" คล้ายการเล่นโอน้อยออกของไทย เมื่อได้ผู้ถือหนังยางทั้ง ๒ คนแล้วก็มาเริ่มกันที่ด่านแรก ระดับต่ำสุดที่ข้อเท้า ผู้เล่นจะต้องกระโดดโดยไม่สัมผัสหนังยาง เมื่อผู้เล่นทุกคนกระโดดครบแล้วเล่นต่อที่ด่านสอง ผู้ถือหนังยางยกระดับขึ้นมาไว้ที่เข่า และยังคงห้ามผู้เล่นสัมผัสหนังยาง เช่นเดียวกับด่านสามที่ยกหนังยางขึ้นมาที่ระดับเอว

เมื่อถึงระดับอก ไล่เรียงไประดับไหล่ ศีรษะ ศีรษะต่อหนึ่งฝ่ามือ และด่านยากสุดคือเหยียดแขนตรงขึ้นฟ้า ผู้เล่นสามารถสัมผัสหนังยางได้ เกมจะจบลงเมื่อผู้เล่นทุกคนผ่านครบทุกด่าน จากนั้นเลือกผู้ถือยางใหม่ หรือจะแบ่งผู้เล่นที่เคยถือยางแยกไว้แล้วฮอมพิมปาเพื่อเลือกผู้ถือยางใหม่ ๒ คน



    ลุกซอง ลูบิด

สำหรับการเล่นแบบเคลื่อนไหวเชือก จะเน้นความเร็วและการนับจำนวนครั้งเป็นหลัก มีทั้งกระโดดเชือกเดี่ยว กระโดดเชือกคู่ และกระโดดเชือกหมู่

เริ่มต้นโดยให้ผู้เล่น ๒ คนจับปลายเชือกคนละข้าง แกว่งไกวไปมา จากซ้ายไปขวา ระหว่างนั้นตกลงว่าจะกระโดดกี่ครั้งหรือกระโดดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนแพ้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะสะดุดเชือก คนแพ้ต้องมาทำหน้าที่แกว่งเชือกแทน หมุนเวียนผลัดกันเล่นไปเรื่อยๆ

สำหรับการเล่นแบบเคลื่อนไหวเชือก จะเน้นความเร็วและการนับจำนวนครั้งเป็นหลัก มีทั้งกระโดดเชือกเดี่ยว กระโดด เชือกคู่ และกระโดดเชือกหมู่

เริ่มต้นโดยให้ผู้เล่น ๒ คนจับปลายเชือกคนละข้าง แกว่งไกวไปมา จากซ้ายไปขวา ระหว่างนั้นตกลงว่าจะกระโดดกี่ครั้งหรือกระโดดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนแพ้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะสะดุดเชือก คนแพ้ต้องมาทำหน้าที่แกว่งเชือกแทน หมุนเวียนผลัดกันเล่นไปเรื่อยๆ

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 15 ธันวาคม 2560 16:31:03 »


     ดีดลูกแก้ว  

สัปดาห์นี้ชวนน้องๆ มาทำความรู้จักการละเล่นพื้นบ้านที่คล้ายคลึงกันของเด็กๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียน ประเดิมด้วยเกม "ดีดลูกหิน" หรือ "ดีดลูกแก้ว" กัน

ประเทศไทยนั้นเกมดีดลูกหินหรือลูกแก้วถือเป็นเกมโปรดของเด็กผู้ชายแทบทุกยุคทุกสมัย และยังมีให้เห็นในปัจจุบัน วิธีการเล่นเริ่มด้วยการปรับพื้นผิวลานดินให้เรียบ จากนั้นขุดหลุมที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกหินหรือลูกแก้วเล็กน้อย และกำหนดจุดยืนสำหรับผู้เล่นให้ห่างจากหลุมประมาณ ๕-๖ ก้าว ผู้เล่นแต่ละคนจะโยนลูกหินไปที่หลุม ใครใกล้หลุมที่สุดให้เริ่มเล่นก่อน ผู้เล่นจะใช้นิ้วโป้งตั้งเป็นหลักจรดกับพื้นดิน ใช้มืออีกข้างจับลูกแก้วไปวางไว้ที่ปลายนิ้วกลางแล้วง้างมาข้างหลังเพื่อเพิ่มแรงดีด โดยจะเล็งเป้าดีดไปยังลูกแก้วรอบๆ หลุม ถ้าลูกแก้วลงหลุม จะได้ ๑ คะแนน หากดีดแล้วไม่โดนลูกแก้วหรือลูกแก้วไม่ลงหลุมจะต้องเปลี่ยนให้ผู้เล่นคนต่อไปดีดลูกแก้ว ใครครบ ๑๐ คะแนน ก่อนคือผู้ชนะ

นอกจากไทยแล้ว เพื่อนบ้านอาเซียนต่างก็มีเกมดีดลูกแก้วในแบบฉบับของตนเอง กัมพูชาเรียกว่า "บันคลี" เวียดนามเรียกเกมนี้ว่า "บั่นบิ" โดยมีหลักการเล่นคล้ายเกมดีดลูกแก้วของไทย เช่นเดียวกับรางวัลของผู้ชนะคือได้ลูกแก้วของคู่แข่งมาครอบครอง

มาติดตามกันต่อกับ การละเล่นดีดลูกหิน- ลูกแก้ว ของเพื่อนบ้านชาติอาเซียน อินโดนีเซีย เรียกการละเล่นนี้ว่า “เคเลเรง” เล่นกันตั้งแต่ ๒-๕ คน เริ่มแรกวางวงกลมขนาดย่อมๆ บนพื้นดิน ขุดหลุมเล็กๆ ไว้ตรงกลาง

จากนั้นผู้เล่นแต่ละคนวางลูกแก้วคนละลูกไว้ด้านใน เมื่อตัดสินได้ว่าใครเล่นก่อน ผู้เล่นคนแรกจะใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจับลูกแก้วให้มั่น จากนั้นออกแรงโยนไปข้างหน้า โดยเล็งเป้าที่ลูกแก้วในวงกลม หากลูกแก้วในวงกลมกระเด็นหรือชิ่งออกนอกเขตวง ผู้เล่นที่เป็นฝ่ายโยนจะได้ลูกแก้วลูกนั้นไปครอง แต่ถ้าลูกแก้วที่ต้องการดีดยังอยู่ในวงกลม ผู้เล่นในลำดับต่อไปจะเข้ามาเล่นแทน ผู้ชนะคือผู้เล่นที่ดีดลูกแก้วของคู่แข่งออกนอกวงกลมได้มากที่สุด
 
 การละเล่นเคเลเรงยังเหมือนการดีด ลูกแก้วที่เรียกว่า “กูลิ” ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เรียกการดีดลูกแก้วว่า “กูลิ” ขณะที่ฟิลิปปินส์เรียกการดีดลูกหินว่า “โฮเลน” ใช้ได้ทั้งลูกแก้ว หิน กรวด ถั่ว หรือแม้แต่กระดูกสัตว์ มีวิธีการเล่นคล้ายๆ กัน คือ ใช้ลูกแก้วของตัวเองดีดลูกแก้วที่ผู้เล่นแต่ละคนนำไปวางไว้ในวงกลมที่วาดขึ้นบนพื้น ลูกแก้วที่โดนดีดออกจะตกเป็นของผู้เล่นคนนั้น

ยิ่งดีดลูกแก้วคู่แข่งออกมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะมากขึ้น



     หมากย่างถิ่นลาว

"หมากย่าง" หรือกระต่ายขาเดียวของชาวลาวจะคล้ายกับไทยหรือไม่

หมากย่างเป็นการละเล่นท้องถิ่นที่เล่นกันทั่วประเทศ แต่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษที่เมืองหลวงพระบาง จำนวนผู้เล่นในลาวระบุว่าต้องมีอย่างน้อย ๑๖ คน ต่างจากไทยและกัมพูชาที่มีแค่ ๔ คนขึ้นไปก็เล่นได้แล้ว

เริ่มต้นใช้ชอล์กหรือรองเท้าของผู้เล่นวางเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อแบ่งเขตสำหรับเล่น จากนั้นให้แต่ละทีมส่งตัวแทนออกมาเป่ายิ้งฉุบ ทีมที่แพ้จะต้องเป็นฝ่ายไล่จับทีมที่ชนะซึ่งเป็นฝ่ายหนี ในการเล่นแต่ละครั้งฝ่ายวิ่งหนีจะเลือกตัวแทนฝ่ายไล่จับมา ๑ คน ซึ่งจะลงเล่นกระโดดยกขาข้างหนึ่งเหนือพื้น และพยายามจับหรือแตะ ผู้เล่นฝ่ายหนีซึ่งจะลงเล่นพร้อมกันทั้งหมด หากผู้เล่นคนใดถูกฝ่ายไล่จับแตะตัวให้ถือว่าตายและต้องออกจากเขตเล่น ส่วนผู้เล่นฝ่ายไล่จับนั้น ถ้าวางขาข้างที่ยกขึ้นลงกับพื้นเมื่อใดจะถือว่าตายและต้องออกจากเกมเช่นกัน การตัดสินแพ้ชนะให้นับจำนวนผู้เล่นที่เหลืออยู่  



    โดดยาง  

สำหรับประเทศไทย การละเล่นกระโดดหนังยางยังรั้งตำแหน่งการละเล่นท้องถิ่นสุดโปรดทั้งในอดีตและปัจจุบัน แค่มีผู้เล่นอย่างน้อย ๒-๓ คนขึ้นไปก็สามารถสนุกสนานไปพร้อมกับการออกกำลังกาย

เริ่มต้นด้วยการนำหนังยางรัดถุงมาร้อยต่อๆ กันจนกลายเป็นเชือกหนังยางเส้นยาวประมาณ ๒ เมตร จากนั้นเป่ายิ้งฉุบว่าฝ่ายไหนจะเล่นก่อน ทีมที่เป่ายิ้งฉุบแพ้ต้องส่งตัวแทน ๒ คนออกมาถือหนังยางเพื่อให้อีกฝ่ายเล่น

ด่านแรก ผู้เล่นฝ่ายถือวางเข่าติดกับพื้น ชูมือที่จับหนังยางขึ้นจนสุดแขนเพื่อสกัดไม่ให้อีกฝ่ายโดดผ่าน ถ้าผ่านจะได้เล่นด่านต่อไป

ด่านที่สอง ผู้ถือเพิ่มระดับความสูงจากคุกเข่าเป็นชันเข่าขึ้น และชูหนังยางจนสุดแขนตามเดิม

ถ้าฝ่ายเล่นข้ามไปได้ก็จะเริ่มด่านสามซึ่งมีการเรียกนำหน้าด่านหลังจากนี้ว่า “อี” โดยด่านสาม คือ “อีตุ่ม” ผู้ถือพันหนังยางไว้ที่ตาตุ่มบริเวณข้อเท้า และสั่งให้อีกฝ่ายกระโดดเป็นจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ การจะผ่านอีตุ่มได้ต้องกระโดดครบจำนวนและไม่สัมผัสกับหนังยาง เช่นเดียวกับด่านสี่ “อีเข่า” ที่ระดับความสูงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเข่า และด่านห้า “อีก้น” ผู้ถือจะพันเส้นหนังยางไว้ใต้ก้นบริเวณสะโพก ก่อนจะเพิ่มระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

การเล่นในแต่ละด่านนั้น เมื่อคนแรกกระโดดผ่านแล้ว ให้ผู้เล่นคนอื่นในทีมกระโดดต่อในแต่ละขั้น จนกว่าจะเล่นไม่ผ่านทั้งหมด ต้องเปลี่ยนฝ่ายไปจับหนังยางแทน

ส่วนผู้เล่นสามารถเลือกกระโดดได้ ๒ แบบ ได้แก่ ตีลังกาเอาเท้าเกี่ยวหนังยางแล้ว กระโดดข้ามไปอีกฝั่ง หรือจะใช้สันมือ ข้างที่ถนัดกดหนังยางลงมาจนอยู่ใน ระดับที่จะกระโดดได้ จากนั้นข้ามฝั่งด้วยท่าอีหญิง

นอกจากนี้ยังมีท่ากระโดดแบบอื่นๆ อีก อาทิ รวนหรือการกระโดดติดกันไปมาแบบข้ามเชือกแล้วหมุนตัวกระโดดทันที ท่าม้า ท่าขาคู่ และท่าลอยลม
 
ส่วนผู้เล่นสามารถเลือกกระโดดได้ ๒ แบบ ได้แก่ ตีลังกาเอาเท้าเกี่ยวหนังยางแล้ว กระโดดข้ามไปอีกฝั่ง หรือจะใช้สันมือ ข้างที่ถนัดกดหนังยางลงมาจนอยู่ใน ระดับที่จะกระโดดได้ จากนั้นข้ามฝั่งด้วยท่าอีหญิง

นอกจากนี้ยังมีท่ากระโดดแบบอื่นๆ อีก อาทิ รวนหรือการกระโดดติดกันไปมาแบบข้ามเชือกแล้วหมุนตัวกระโดดทันที ท่าม้า ท่าขาคู่ และท่าลอยลม



   โลดเกาซู  
ชวนน้องๆ กระโดด หนังยางกับเพื่อนบ้านชาวกัมพูชา ที่นี่เรียกการละเล่นกระโดดหนังยางว่า “โลดเกาซู” เริ่มจากนำหนังยางมาร้อยต่อกันเรื่อยๆ จนเป็นเชือกยาว จากนั้นเป่ายิงฉุบเพื่อตัดสินว่าใครจะเล่นก่อน ผู้แพ้ต้องถือหนังยางให้เพื่อนๆ กระโดด
โลดเกาซูแบ่งการกระโดดออกเป็น ๓ แบบ แบบที่ ๑ กระโดดปกติ ผู้เล่นแค่กระโดดข้ามหนังยางในแต่ละระดับโดยไม่ให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสหนังยาง จากง่ายไปยากมีทั้งหมด ๑๑ ระดับ ตั้งแต่ระดับความสูงเท่าเข่า สะโพก เอว หน้าอก คอ หู ศีรษะ เรื่อยไปจนถึงระดับตั้งกำปั้นวางบนศีรษะ ตั้งฝ่ามือวางบนศีรษะ และชูหนังยางเหยียดแขนขึ้นเต็มกำลัง

การกระโดดแบบที่ ๒ โสโกลา เมย์เมย์ มีด้วยกันทั้งหมด ๑๐ ระดับ เริ่มจากความสูงระดับต้นขา ผู้เล่นจะต้องกระโดดไปข้างหน้าทีหนึ่ง ข้างหลังทีหนึ่ง โดยไม่ถูกหนังยาง ระดับที่ ๒ เลื่อนหนังยางขึ้นมา ระดับเอว ให้ผู้เล่นใช้เท้าข้างหนึ่งเกี่ยวหนังยางลงกับพื้นและเหยียบไว้ แล้วยกขาอีกข้างกระโดดข้ามฝั่ง ทำครบ ๒ ครั้งเป็นอันผ่านด่านไปสู่ระดับอก ผู้เล่นต้องกระโดดยกขาทั้งสองข้างข้ามหนังยาง

ระดับที่ ๔ ระดับคอ ผู้เล่นต้องทำท่าเดินแบบเป็ด คือย่อตัว แบะขาออกข้างนอก แล้วค่อยๆ เดินลอดหนังยางไปอีกฝั่ง ด่าน ๕ ระดับหู ผู้เล่นแค่กระโดดข้ามหนังยางตามปกติ ด่านนี้อนุญาตให้สัมผัสยางได้ แต่ห้ามวางเท้าลงกับพื้นพร้อมกันทั้งสองข้าง ไม่เช่นนั้นถูกปรับแพ้


 ระดับที่ ๔ ระดับหน้าอก หลังจากกระโดดด้วยความเงียบจากด่านก่อนหน้านี้ ผู้เล่นต้องเปลี่ยนมากระโดดพร้อมหัวเราะเสียงดัง หรือส่งยิ้มกว้างๆ ให้เพื่อนที่ถือหนังยาง ส่วนระดับคอนั้น ผู้เล่นต้องแกล้งเป็นร้องไห้ระหว่างกระโดด ด้วยการใช้มือทำท่าขยี้ตาร้องไห้เหมือนกำลังเศร้าเสียใจ จากนั้นปรับเป็นหน้าโกรธมากๆ ขณะกระโดดหนังยางที่ความสูงระดับหู และสุดท้ายที่ระดับศีรษะ ผู้เล่นต้องหลับตากระโดด

หากทำได้ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นฝ่ายชนะ

 ระดับที่ ๔ ระดับหน้าอก หลังจากกระโดดด้วยความเงียบจากด่านก่อนหน้านี้ ผู้เล่นต้องเปลี่ยนมากระโดดพร้อมหัวเราะเสียงดัง หรือส่งยิ้มกว้างๆ ให้เพื่อนที่ถือหนังยาง ส่วนระดับคอนั้น ผู้เล่นต้องแกล้งเป็นร้องไห้ระหว่างกระโดด ด้วยการใช้มือทำท่าขยี้ตาร้องไห้เหมือนกำลังเศร้าเสียใจ จากนั้นปรับเป็นหน้าโกรธมากๆ ขณะกระโดดหนังยางที่ความสูงระดับหู และสุดท้ายที่ระดับศีรษะ ผู้เล่นต้องหลับตากระโดด

หากทำได้ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นฝ่ายชนะ



     เล่นว่าว
มาสนุก กับ "ว่าว" การละเล่นเก่าแก่ในหลายประเทศอาเซียน

มาเลเซียและบรูไน ซึ่งใช้ภาษามลายู จะเรียกว่า "เวา" ซึ่งละม้ายคล้ายคำว่าว่าว ของไทย ในอดีตหลังเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาจะเล่นว่าวเพื่อเฉลิมฉลองและผ่อนคลายจากการตรากตรำทำงานหนักมานาน

รูปแบบว่าวยอดนิยมในมาเลเซีย คือ "เวาบูลัน" หรือว่าววงเดือน ทำจากโครงไม้ไผ่ขนาด ๒.๕-๓ เมตร

มีส่วนประกอบปีก เขา และดวงเดือนที่อยู่ตรงกลางระหว่างปีกกับเขา

และตอนกลางของลำตัว ประกอบด้วยกระดาษลอก ลายที่นำมาประกบแปะลงบนไม้ไผ่ เขียนลายลงสี แล้วผูกเชือกบนตัวว่าวถือเป็นอันเสร็จสิ้น ว่าววงเดือนมี ๒ แบบคือมีแอกและไม่มีแอก

ส่วนฟิลิปปินส์เรียกการละเล่นว่าวว่า "โคลยาฮัน อัง ซารันโกลา" แปลว่าการต่อสู้ด้วยว่าว นิยมเล่นในช่วงหน้าร้อน มักแบ่งเป็นทีมเพื่อแข่งขันกันอย่างน้อย ๒ ทีม แต่ละทีมจะใช้ว่าวใหญ่โกเรียนหรือว่าวขนาดเล็กก็ได้ กติกาคือต้องพยายามทำลายว่าวของทีมคู่แข่งให้เสียหายมากที่สุดพร้อมปกป้องว่าวของทีมตัวเอง และพยายามหลีกเลี่ยงความเสียหายหรือให้เสียหายน้อยที่สุดจึงจะถือเป็นฝ่ายชนะ



     มาสืบสานการละเล่นว่าวในภูมิภาคอาเซียนกันต่อ สำหรับอินโดนีเซียนั้น "ลายัง-ลายัง" ซึ่งมีความหมายว่าเล่นว่าว เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ยังฮอตฮิตติดลมบนมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ว่าวสวยงาม และว่าวต่อสู้

สำหรับว่าวสวยงามนั้น อินโดนีเซียมีว่าวประเพณีที่ได้รับความนิยม ๓ ชนิด คือ "เปชูคาน" หรือ ว่าวใบไม้ แม้รูปทรงใบไม้จะดูเรียบง่าย แต่กลับทำให้เปชูคานกลายเป็นว่าวที่บังคับยากที่สุด จึงมีแค่ผู้เล่นว่าวทักษะสูงเท่านั้นที่เลือกชักว่าวเปชูคาน ขณะที่ว่าว "จังกัน" ขึ้นชื่อว่าเป็นว่าวที่โดดเด่นที่สุด เพราะมาพร้อมกับหางยาวๆ ซึ่งอาจยาวได้มากถึง ๑๐๐ เมตร

ดั้งเดิมมักทำส่วนหัวเป็นนก แต่บางครั้งประยุกต์เป็นหัวมังกร และว่าวปลา "บีบีน" คือว่าวที่ใหญ่ที่สุด มาในรูปทรงปลาปากกว้างและหางแยก แต่ไม่ว่าจะเป็นว่าวชนิดไหนก็มีพื้นฐานการทำว่าวจากโครงไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษ ผ้าฝ้าย หรือกระดาษมันสำปะหลัง ตามแต่แบบและความสวยงาม

ส่วนว่าวต่อสู้ใช้โครงไม้ไผ่เหมือนกับว่าวสวยงาม แต่หุ้มด้วยกระดาษไขซึ่งมีน้ำหนักเบาแทน นอกจากนี้ยังนิยมเคลือบสายป่านชักว่าวด้วยเศษกระจกที่นำไปต้มกับคา หรือสารเคมีผสมสีย้อมผ้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อตัดสายป่านของคู่แข่ง  



     มาติดตามกันต่อว่าประเพณีการเล่นว่าวของกัมพูชาน่าสนใจอย่างไร ว่าวในภาษาเขมรเรียกว่า "แคล็ง"

นอกจากจะเป็นการละเล่นแสนสนุกแล้ว แคล็งยังเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกัมพูชาเชื่อว่าแคล็งมีเวทมนตร์หรือพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ การลอยแคล็งขึ้นฟ้าจะทำให้ผู้เล่นมีความสุขและสงบสุข ชาวกัมพูชายังเล่นแคล็งเพื่อขอให้สภาพอากาศปลอดโปร่ง ไร้พายุและอุทกภัย

ว่าวยอดนิยมในกัมพูชา คือ แคล็งเอก มาพร้อมรูปลักษณ์เฉพาะตัว ทำจากโครงไม้ไผ่และคลุมด้วยกระดาษ ส่วนบนของแคล็งเอกมีรูปทรงวงรี ต่อกับด้านล่างที่ดูละม้ายคล้ายแจกันและส่วนหางที่ยาวออกมา

แคล็งอีกชนิดเรียกว่า "กันดวง" ว่าวทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ไม่มีหาง แม้รูปทรงจะธรรมดาแต่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และเป็นว่าวที่เหมาะสำหรับการเล่นแบบต่อสู้มากกว่าเล่นสนุก

กัมพูชาจัดเทศกาลว่าวตั้งแต่ ๔๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล แต่ทางการยกเลิกไประยะหนึ่งก่อนกลับมาจัดอีกครั้ง

ในปัจจุบันเทศกาลว่าวกัมพูชาจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนธ.ค. ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับฤดูกาลหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจึงมีเวลาว่างที่จะทำว่าวแล้วนำไปเล่นกระชับความสัมพันธ์ภายในชุมชน  


     เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องว่าว หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "เดี่ยวสาว" มาพร้อมรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยส่วนตัวว่าวที่เป็นกระดาษขึงวงรีรูปไข่ขนาดใหญ่ คล้ายพระจันทร์เสี้ยว หรือเรือ ตรงกลางเป็นแกนไม้ไผ่ยาวเลยตัวว่าวไปเกือบเท่าหนึ่งแล้วจึงเป็นส่วนหางที่กางออกจากแกนไม้ส่วนกลาง ปลายหางทั้งสองข้างมีกระดาษขึงวงรีรูปไข่ข้างละวง

จุดสำคัญของว่าวเดี่ยวสาวที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ขลุ่ยไม้ไผ่ที่ติดตั้งอยู่บนลำตัวส่วนกลางของว่าว มักมี ๕ เลาผูกติดกัน

เวลานำว่าวไปเล่นจะเกิดเสียงขลุ่ยไล่ระดับเป็นท่วงทำนองแสนไพเราะ และขลุ่ยไม้ไผ่นี่แหละเป็นที่มาของชื่อว่าวเดี่ยวสาว เนื่องจากคำว่าสาวในภาษาเวียดนามหมายถึงขลุ่ยนั่นเอง

หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อว่ามีฝีมือในการทำว่าวเดี่ยวสาวได้สวยงามประณีต คือหมู่บ้านบา เซือง นอย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย


     มาเรียนรู้การละเล่นว่าวแบบฉบับไทยแลนด์แดนสยาม จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่ามีหลักฐานการเล่นว่าวมาแต่กรุงสุโขทัย เรียกได้ว่ามีมาช้านานกว่า ๗๐๐ ปีเลยทีเดียว

คนไทยนิยมเล่นว่าวช่วงหน้าร้อน และแบ่งการเล่นออกเป็น ๓ วิธี คือ การเล่นว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่เพื่อดูความสวยงามของว่าว การเล่นว่าวแบบบังคับสายให้เคลื่อนไหวไปมา เพื่อดูความสวยงามของรูปแบบ หรือความไพเราะของเสียงว่าว และการเล่นว่าวแบบต่อสู้

ปัจจุบันการเล่นว่าวพัฒนามากขึ้น รวมทั้งประดิษฐ์ให้ทันสมัย ทั้งสีสันและรูปแบบที่น่าสนใจ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ว่าวแผง ว่าวที่ไม่มีความหนา แต่เน้นส่วนกว้างและส่วนยาว เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ขณะที่ว่าวภาพต้องใช้ฝีมือในการประดิษฐ์ให้เกิดลักษณะที่พิเศษน่าสนใจ แบ่งย่อยๆ ออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ว่าวสวยงาม ว่าวประเภทความคิด และว่าวประเภทขบขัน

สำหรับว่าวที่นิยมเล่นในภาคต่างๆ นั้น ภาคเหนือมี ว่าวสองห้องและว่าวอีลุ้ม ภาคกลางมีว่าวปักเป้า ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวอีแพรด ว่าวอีลุ้ม ว่าวงู ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ ภาคตะวันออกชอบเล่น ว่าวอีลุ้ม ว่าวหาง ว่าวหัวแตก ว่าวดุ๊ยดุ่ย ว่าวกระดาษ ว่าวในมะกอก ขณะที่อีสานเล่น ว่าวสองห้อง ว่าวอีลุ้ม ว่าวปลาโทดโทง ว่าวประทุน ภาคใต้มีว่าวยอดฮิตหลายชนิด อาทิ ว่าววงเดือน ว่าวปักเป้า ว่าวนก ว่าวหลา และ ว่าวงู [/b]  


    “ว่าวอีลุ้ม” คล้ายว่าวปักเป้าแต่ปลายปีก ๒ ข้างติดพู่กระดาษเพื่อช่วยทรงตัว การเล่นว่าวอีลุ้มของภาคกลางพัฒนาเป็นการเล่นว่าวสายป่านคมซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย

ขณะที่ “ว่าวงู” นิยมเล่นทั่วทุกภาคเพราะทำง่าย ส่วนหัวรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายงูแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่นยาว ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุดเพราะมีหางถ่วงให้ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีว่าว ดุ๊ยดุ่ย ว่าวหัวแตก ว่าวเต่า ว่าวใบไม้ ว่าวประทุน ว่าวคากตี่ ว่าวแมลงวันหัวเขียว ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวปลา ว่าวควาย ว่าวอีแพรด ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ ว่าวกินรี ว่าวหัวผลุบโผล่ และว่าวหัวโต
 
“ว่าวอีลุ้ม” คล้ายว่าวปักเป้าแต่ปลายปีก ๒ ข้างติดพู่กระดาษเพื่อช่วยทรงตัว การเล่นว่าวอีลุ้มของภาคกลางพัฒนาเป็นการเล่นว่าวสายป่านคมซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย

ขณะที่ “ว่าวงู” นิยมเล่นทั่วทุกภาคเพราะทำง่าย ส่วนหัวรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายงูแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่นยาว ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุดเพราะมีหางถ่วงให้ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีว่าว ดุ๊ยดุ่ย ว่าวหัวแตก ว่าวเต่า ว่าวใบไม้ ว่าวประทุน ว่าวคากตี่ ว่าวแมลงวันหัวเขียว ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวปลา ว่าวควาย ว่าวอีแพรด ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ ว่าวกินรี ว่าวหัวผลุบโผล่ และว่าวหัวโต  

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ธันวาคม 2560 16:32:36 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 16 มีนาคม 2561 14:39:40 »


     ฆ้องไทย

หากพูดถึงฆ้องไทย หลายคนคงนึกถึง “ฆ้องวง” ซึ่งมีด้วยกัน ๒ ประเภท คือฆ้องวงใหญ่ และฆ้องวงเล็ก
ฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้องที่ทำจากทองเหลือง ๑๖ ลูก เรียงจากลูกเล็กทางขวาไปยังลูกใหญ่ทางซ้าย วงฆ้องสูงประมาณ ๒๔ ซ.ม. ใช้หวายโป่งทำเป็นราง โดยขดเป็นวงขนานกัน และเว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง

ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ดำเนินทำนองหลักของเพลง ใช้ในวงต่างๆ เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ วงมโหรีเครื่องใหญ่

ส่วนฆ้องวงเล็ก สร้างในสมัยรัชกาล ที่ ๓ มีลักษณะเหมือนฆ้องวงใหญ่ แต่มีลูกฆ้อง ๑๘ ลูก และขนาดเล็กกว่า บรรเลงทำนองคล้ายระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก เสียงต่ำสุดของฆ้องวงเล็กเรียกว่า ลูกทวน ใกล้เคียงกับเสียงทีของดนตรีสากล และไล่เสียงสูงขึ้นเรียงลำดับไปจนถึงลูกยอด หรือเสียงมี ที่อยู่ทางขวาสุด

ส่วนประกอบของฆ้องวง ประกอบด้วย ส่วนที่วางลูกฆ้องเรียกว่า ร้านฆ้อง ภายในร้านฆ้องมีลูกมะหวดเป็นไม้กลึงกลมเป็นลอนวางขนาบลูกแก้ว หัวท้ายบาก และปาดโค้งรับกับต้นหวาย

โขนฆ้องทำด้วยไม้หนาตอนกลางนูนขึ้น ใช้ยึดติดกับต้นหวายทั้งสองข้าง ไม้ค้ำล่างเป็นไม้สี่เหลี่ยมทรงแบน ยึดติดกับหวายคู่ล่าง ไม้ตะคู้คือไม้ไผ่เล็กๆ เจาะฝังเข้าไปในลูกมะหวดเพื่อกั้นสะพานหนูหรือเส้นลวดสอดโค้งเป็นวงใต้ไม้ตะคู้สำหรับผูกหนังลูกฆ้อง และไม้ค้ำบน หรือไม้ถ่างฆ้อง เป็นไม้แผ่นบางๆ ใช้ถ่างให้วงฆ้องอยู่ในสภาพเป็นวงสวยงาม


     นอกจากฆ้องวงและฆ้องปุ่มที่คุ้นเคยกันดีในวงมโหรีปี่พาทย์ทั่วไปแล้ว ทางภาคเหนือของประเทศไทยยังมี "ฆ้องแบน" ซึ่งภาษาถิ่นจะเรียกว่าปาน หรือพาน พบมากในวัดซึ่งจะใช้ฆ้องปาน ๓ ขนาด ตีประกอบกับกลองและฉาบเพื่อเป็นสัญญาณในงานบุญต่างๆ สำหรับภาคอีสานนั้นชาวภูไทมีฆ้องแบนที่เรียกว่าผางฮาด หรือพังฮาด เป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีหลักซึ่งใช้ตีประกอบการฟ้อนภูไท

ฆ้องประเภทอื่นๆ ที่ใช้ในดนตรีไทย ยังมี "ฆ้องมอญ" ฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่ใช่แนวระนาบแบบฆ้องวงเล็ก-ฆ้องวงใหญ่ แต่มีแบ่งเป็นฆ้องมอญใหญ่-ฆ้องมอญเล็ก วงหนึ่งมีอย่างน้อย ๑๕ ลูก ใช้บรรเลงวงปี่พาทย์มอญ

ขณะที่ "ฆ้องราว" หรือ "ฆ้องระเบ็ง" ในชุดประกอบด้วยฆ้อง ๓ ลูก ขนาดลดหลั่นกันและแขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับแล้วย้อนกลับจะได้ยินเสียงโหม่ง-โหม่ง-โม้ง-โมง-โหม่ง เดิมเคยนิยมใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณที่เรียกว่าระเบง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งจึงเรียกฆ้องราวว่าฆ้องระเบ็ง

ส่วน "ฆ้องหุ่ย" ฆ้องขนาดใหญ่ที่สุดในวงดนตรีไทยเรียกอีกชื่อว่า "ฆ้องชัย" เนื่องจากใช้ตีเป็นสัญญาณกองทัพสมัยโบราณ ปัจจุบันใช้กำกับจังหวะในงานพิธีงานมงคลต่างๆ และสุดท้ายคือ "ฆ้องโหม่ง" เครื่องตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่รองลงมาจากฆ้องหุ่ย เมื่อตีแล้วมีเสียงโหม่งดังก้องออกมาจึงได้ชื่อนี้ตามเสียงการตีนั่นเอง  



     ฆ้องพม่า

นับถอยหลังสู่ปีใหม่ หลายๆ คนคงนึกถึงงานเลี้ยงฉลอง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงต่างๆ คือ ดนตรี สัปดาห์นี้พาไปทำความรู้จักเครื่องดนตรีที่เพื่อนบ้านอาเซียนมีคล้ายๆ กัน ด้วยเครื่องดนตรีประเภทตี ทำจากโลหะที่มาพร้อมเสียงทุ้มก้องกังวาน ใช่แล้วนี่คือ “ฆ้อง” ว่ากันว่าฆ้องมีถิ่นกำเนิดในแถบชวาและแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวฆ้องมักทำจากแผ่นโลหะตรงกลางเป็นปุ่มนูน และใช้ไม้หรือเหล็กตีเพื่อให้เกิดเสียง
 
ในพม่าเรียก ฆ้อง ว่า มอง มีด้วยกันหลายชนิด สำหรับฆ้องเดี่ยว มีฆ้องทองเหลืองจี นอง, วา มอง, แดแดะ มอง เมื่อนำฆ้องเดี่ยว ๒๑ ใบไล่ระดับเสียงมาประกอบกันเป็นวงกลมจะได้เครื่องดนตรีอีกชนิดที่เรียกว่า ซี ไว ใกล้เคียงกับฆ้องวงของไทย ส่วน มอนซิ่น หรือฆ้องราง เป็นชุดฆ้อง ๑๘-๑๙ใบ แต่ละใบวางลงในกรอบไม้และจัดเรียงเป็นแถวไม่เกิน ๕ แถว
พม่ายังมีฆ้องอีกชนิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ จี ซี หรือระฆังพม่า เป็นแผ่นทองเหลืองเรียบ รูปทรงสามเหลี่ยมคว่ำคล้ายเจดีย์ ปลายทั้งสองด้านงอนขึ้น นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมในวัด และบ่อยครั้งที่เห็นพระสงฆ์ตีจี ซี ระหว่างเดินบิณฑบาตตอนเช้า



     ก็องเวียดนาม

ในเวียดนามเรียกฆ้องว่า “ก็อง” สำหรับวงหญ่าหญัก หรือวงดนตรีดั้งเดิม มีฆ้องที่นิยมใช้ 2 ชนิด ได้แก่  “ก็อง เจียน” ฆ้องเดี่ยวขนาดใหญ่ มีทั้งแบบฆ้องปุ่ม และฆ้องแบน อีกชนิดคือ “ต๋าม อาม หลา” เป็นชุดฆ้องแบนขนาดเล็ก ๓ ลูก ประกอบเข้ากับโครงไม้

นอกจากดนตรีดั้งเดิมแล้ว ฆ้องยังมีบทบาทต่อดนตรีพื้นบ้านของเวียดนามด้วย ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่หมู่บ้านชนเผ่าเอเด ทางตอนกลางของประเทศ จะครึกครื้นไปด้วยเสียงดนตรีของฆ้องในชื่อ “เจอ ฮอ” วงฆ้องเสียงใสกังวานจำนวน ๖ ใบที่ชนเผ่าเอเดแบ่งเป็น ๓ คู่คือ ฆ้องแม่ ฆ้องพ่อ และ ฆ้องลูก

 ส่วนชนเผ่าเหมื่องในจังหวัดกว่า บินห์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ขึ้นชื่อเป็นชนเผ่าที่มีใจรักในเสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญ ชาวเหมื่องเป็นต้องร้องรำ ทำเพลง และตี “ก็อง เหมื่อง” ฆ้องทองแดงชุด ๑๒ ลูก ไล่เรียงเสียงต่ำสูง ไม้ตีแบบแข็งทำจากเปลือกไม้ ส่วนไม้นวมทำจากหนัง





  ฆ้องอินโดฯ

สัปดาห์นี้มาทำ ความรู้จักฆ้องอินโดนีเซียในวงกาเมลัน วงมโหรีประจำชาติอินโดนีเซียนั้นมีเครื่องดนตรีประเภทฆ้องมากกว่า ๕ ชนิดจากจำนวนเครื่องดนตรีร่วม ๑๐ ชนิด

ฆ้องชนิดแรกคือ "โบนัง" หรือฆ้องราง ประกอบด้วยฆ้องปุ่มรูปร่างคล้ายผอบโลหะมีฝาปิดจำนวน ๑๐ ใบ วางเรียงบนรางไม้คู่ขนาบกันเรียกว่า "รันคัก" ลูกฆ้องจะไล่เรียงเสียงจากต่ำไปสูง ลูกฆ้องที่มีเสียงต่ำจะมีส่วนปุ่มตรงกลางเรียบแบนกว่าลูกฆ้องที่อยู่ในช่วงเสียงสูง

ฆ้องอีก ๒ ชนิดที่คล้ายคลึงกับโบนัง คือ "เคมยาง"   และ "เคตั๊ก" แต่มีขนาดใหญ่กว่า และแทนที่จะมาเป็นราง

ฆ้องทั้งสองชนิดมีกรอบไม้ล้อมรอบลูกฆ้องเดี่ยว ฆ้องเคมยางมีส่วนปุ่มนูนกว่าเพื่อให้โทนเสียงสูง ขณะที่ฆ้องเคตั๊กซึ่งให้โทนเสียงต่ำมีส่วนปุ่มเกือบราบเท่าตัวฆ้อง

ส่วนฆ้อง "เกนอง" เหมือนกับฆ้องเคมยางและเคตั๊ก คือเป็นฆ้องปุ่มโลหะทรงผอบมีฝาปิดและวางบนแท่นไม้เดี่ยว แต่มีขนาดใหญ่ที่สุดในฆ้องทั้ง ๔ ชนิดที่เอ่ยถึง เวลาบรรเลงนำมาวางเรียงประกอบกันหรือจะตีเดี่ยวก็ได้



นอกจากฆ้องโบนัง เกนอง เคมยาง และ เคตุ๊ก อินโดนีเซียยังมีฆ้อง "เก็มปูล" ฆ้องโลหะที่แขวนกับขาตั้ง ลูกฆ้องมีขนาดเล็กจนถึงใหญ่ไล่เรียงกัน มีหลายระดับเสียงตั้งแต่ ๓ ใบถึง ๖ ใบ ใช้เล่นสลับจังหวะกับฆ้องเกนอง

ขณะที่ "ก็องอาเก็ง" เป็นฆ้องประเภทแขวนกับขาตั้งที่มีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตรขึ้นไป ซึ่งให้ความถี่เสียงต่ำมากระหว่าง ๓๐-๔๐ เฮิร์ตซ์ ชุดฆ้องแขวนยังประกอบด้วยฆ้อง "ก็องซูวูกัน" ฆ้องขนาดเล็กที่มีเสียงสูง และอยู่ในช่วงความถี่ซึ่งต่างจากระบบเสียงเปล็อก หรือสเลนโดร และในวงกาเมลันนิยมใช้ ก็องซูวูกันมากกว่า ๑ ลูก

ที่สำคัญก่อนบรรเลงก็องอาเก็ง นักดนตรีชาวอินโดนีเซียนิยมทำพิธีคล้ายการไหว้ครูดนตรีของไทย มีการบูชาดอกไม้ อาหาร จุดธูป รวมถึงการสักการะเครื่องดนตรีทุกวันพฤหัสบดีซึ่งในไทยถือเป็นวันไหว้ครูเช่นกัน



     ปัตตะหล่า-ละนาด

พม่าเองก็เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีระนาดเช่นกัน เรียกว่า "ปัตตะหล่า" มีโครงสร้างคล้ายระนาดเอกของไทย แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่า มีลูกระนาด ๒๔ ลูก ทำจากไม้ไผ่เหลาให้ได้ระดับเสียงโดยไม่ต้องติดตะกั่วเทียบ นำมาพาดเรียงบนรางซึ่งมีลักษณะโค้งกว่าระนาดไทย และมีโขนสองข้างสูงเด่น ส่วนไม้ตีมีขนาดสั้นและหุ้มด้วยผ้า

ในยุคก่อนอาณานิคม ปัตตะหล่าเป็นเครื่องดนตรีระดับสูงที่ใช้บรรเลงในราชสำนัก ปัจจุบันใช้เล่นในวงดนตรีดั้งเดิมร่วมกับพิณพม่าที่เรียกว่าซองเกาะ รวมถึงบรรเลงในวงซายวาย วงปี่พาทย์แบบฉบับเมียนมาที่มีกลิ่นอายของวงออร์เคสตร้า นอกจากนี้ปัตตะหล่ายังมีความสำคัญในการเทียบเสียงเปียโนในสมัยที่เครื่องดนตรีฝั่งตะวันตกเข้าสู่พม่า

ข้ามฝั่งมาที่ลาว เพื่อนบ้านไทยกันบ้าง เดิมเรียกระนาดว่า "นางนาด"ต่อมานิยมเรียกว่า "ละนาด" แทน ไม่ใช่แค่ชื่อที่ละม้ายคล้ายระนาดไทยเท่านั้น แต่ลักษณะ โครงสร้าง และโทนเสียงของละนาดยังใกล้เคียงกับระนาดไทยด้วย



     ระนาดไทย

ปิดท้ายดนตรีประเภทระนาดด้วย ระนาดไทย ระนาดนั้นเป็นเครื่องตีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ ลูกระนาดร้อยด้วยเชือกแขวนกับราง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้นให้เกิดเสียงไล่ระดับที่ไพเราะ ใช้ไม้ตี ๒ อันในการบรรเลง ไม้ตีแบบไม้นวมให้เสียงที่นุ่มนวล นิยมใช้เล่นในวงมโหรีและวงปี่พาทย์ไม้นวม ส่วนไม้แข็งที่ให้เสียงดังกังวานรู้สึกถึงความแข็งแกร่งนั้น มีลักษณะหัวไม้สีดำสนิท ด้านในพันเช่นเดียวกับไม้นวม แต่ชุบด้วยรักเป็นระยะแล้วจึงพันอีกครั้งด้วยผ้าดิบ

ระนาดของไทยมี ๔ ชนิด ได้แก่ “ระนาดเอก” นิยมทำจากไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไผ่บง มะหาด และพะยูง มีลูกระนาดระหว่าง ๒๑-๒๒ ลูก ใช้บรรเลงในงานมงคล วงปี่พาทย์และวงมโหรี ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง ขณะที่ “ระนาดทุ้ม” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ใช้ไม้ชนิดเดียวกันกับระนาดเอก มีลูกระนาด ๑๗ ลูก รางระนาดทุ้มมีรูปร่างคล้ายหีบไม้ เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อเป็นที่แขวนผืนระนาด มีเท้าเตี้ยรองไว้ ๔ มุมราง ใช้เดินทำนองรอง

“ระนาดเอกเหล็ก” ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นลูกระนาดเหล็ก มีจำนวน ๒๐-๒๑ ลูก วางบนรางที่มีไม้ระกำพาดไปตามรางซึ่งทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ระนาดเอกเหล็กบรรเลงเหมือนระนาดเอก แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำวง ส่วน “ระนาดทุ้มเหล็ก” เกิดในช่วงเดียวกับระนาดเอกเหล็ก มีจำนวน 16-17 ลูก ระนาดทุ้มเหล็กทำหน้าที่เดินทำนองคล้ายฆ้องวงใหญ่ แต่เดินทำนองห่างกว่า  




     ระนาดเวียดนาม-กัมพูชา

"ดาน ตรัน" คือระนาดในเวียดนาม ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งกระบอก ไม่เหลาให้แบนเป็นลูกแบบระนาดไทย ร้อยเชือกแขวนในแนวนอน ส่วน"ดาน เตรือง" เครื่องดนตรีพื้นถิ่นของชนเผ่าชาวจาไรและบาห์นาร์ ในพื้นที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ เป็นระนาดไม้ไผ่ที่ร้อยเชือกแขวนแนวตั้ง

นอกจากดาน ตรัน และดาน เตรือง แล้ว เวียดนามยังมีเครื่องดนตรีประเภทระนาดที่เก่าแก่อีกชนิด เรียกว่า "ดาน ดา" จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดนตรีลิโธโฟน ประกอบด้วยแผ่นหินแบนขนาดใหญ่พอประมาณ วางเรียงไล่ระดับเสียงตั้งแต่ ๓-๑๕ แผ่น มีมานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี

ขณะที่ฝั่งกัมพูชามี "โรเนียด เอก" และ "โรเนียด ทุง" ใกล้เคียงกับระนาดเอกและระนาดทุ้มของไทยมากๆ ทั้งรูปร่างโค้งขึ้นบริเวณหัวท้ายแบบเรือ และจำนวนลูกระนาด ที่สำคัญเป็นเครื่องดนตรี ชั้นสูง นิยมเล่นในวงมโหรี




     จะเข้ไทย

จะเข้ไทย  คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจาก มิยองของพม่าซึ่งรับช่วงต่อจากจะเข้มอญอีกทอดหนึ่ง พบประวัติการบรรเลงครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น นิยมใช้บรรเลงร่วมกับกระจับปี่ ในวงมโหรี
จะเข้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนหัวและหาง ลักษณะหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน หัวและหางขุดเป็นโพรงตลอด ปิดใต้ท้องด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองรวม ๕ ด้าน ส่วนหัว ๔ ด้าน และช่วงปลายหางอีก ๑ ด้าน มีสายดีด ๓ สายโยงจากส่วนหัวไปหาง มีลูกบิดประจำสายละ ๑ อัน สายเส้นหนึ่งใช้เส้นลวดทองเหลือง อีกสองเส้นใช้สายเอ็น ระหว่างตัวจะเข้มีนมหรือแป้นไม้รองรับสายติดไว้กับหลังจะเข้ทั้งหมด ๑๑ แป้น แต่ละอันสูงเรียงลำดับขึ้นไปตั้งแต่ ๒ ซ.ม. จนถึง ๓.๕ ซ.ม. ปลายหางก่อนถึงลูกบิดมีหย่องรับสายรองรับ

การบรรเลงดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลม ทำจากงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลังเวลาดีด ส่วนมือซ้ายใช้กดสายคล้ายการจับคอร์ดเครื่องดนตรีสากล เทคนิคการดีดจะเข้ที่รู้จักมีการดีดกรอเสียง ดีดเก็บ ดีดกระทบสาย และดีดสะบัด  



     จะเข้ปินส์-อินโดฯ

ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีเครื่องดนตรีคล้ายจะเข้ คืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่จะออกแนวผสมระหว่างจะเข้กับลูต เครื่องสายฝั่งตะวันออกที่ละม้ายคล้ายพิณ

บนเกาะชวาและบาหลีของอินโดนีเซีย มีจะเข้ที่เรียกว่า “กาซาปี” เป็นจะเข้ยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายโค้งงอนขึ้น มีหมุดตรึงสายด้านข้างและด้านบน ๑๖-๑๘ หมุด สายกาซาปีตั้งไล่เรียงจากกลางลำตัวไปยังสุดขอบอีกฝั่ง ส่วนฝั่งที่ไม่มีสายตรึงทำหน้าที่เหมือนเป็น กล่องกระจายเสียง

สำหรับจะเข้ในฟิลิปปินส์ เรียกว่า “ซาเปะ” ซาเปะเพี้ยนมาจากกาซาปีซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า กัจฉปิ ที่แปลว่ากระดองเต่า ในอินโดนีเซียเองก็มีซาเปะ แต่เป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นบนเกาะบอร์เนียว มีรูปทรงยาวและแคบ ด้านล่างขุดเนื้อไม้ออกเป็นโพรงกว้าง ช่วงหางมีหมุดตรึงสาย ๓-๔ เส้น ลากยาวลงมาเลยกลางลำตัวไปเล็กน้อย เวลาบรรเลงยกซาเปะเอียงส่วนหางขึ้นคล้ายการดีดกีตาร์ แต่มือข้างหนึ่งช้อนประคองลำตัวจากข้างล่างแล้วหงายข้อมือขึ้นเพื่อกดตัวโน้ต ส่วนอีกข้างก็ดีดสายให้เกิดเสียงเพลง



     จะเข้พม่า

ว่ากันต่อด้วยเครื่องดนตรีภูมิภาคอาเซียน สัปดาห์นี้ทำความรู้จักกับ “มิยอง” จะเข้ของพม่า บางทีเรียกว่า “มิจอง” หรือ “หมี่จอง” เป็นเครื่องสาย ของวัฒนธรรมมอญ ชื่อเรียกมีความหมายว่า จระเข้ เพราะรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีที่แกะออกมาเป็นจระเข้แบบสมบูรณ์ มีส่วนหัว ลำตัว หาง และขาทั้ง ๔ ข้าง

มิยองมีส่วนหัวเป็นกล่องเสียง นิยมแกะสลักจากไม้ขนุนหรือไม้ประดู่ เจาะทะลุเป็นโพรงจากด้านบนและขึงด้วยหนังวัวในส่วนหลัง จากนั้นตอกหลักผูกสาย ๓ สาย จากโคนหางมิยองผ่านไปที่ช่วงหลังของเครื่องดนตรีซึ่งมีแป้นบังคับเสียงหรือที่เรียกว่านม จำนวน ๑๓ แป้น ติดตามแนวของหางมิยองด้วยครั่งและไล่เรียงตามลำดับสูงต่ำ พาดไปสู่ส่วนหัวของมิยองซึ่งมีลูกบิดสำหรับปรับเสียง

ไม้ดีดมิยองมีลักษณะทรงกลมปลายแหลมแต่โค้งมน ยาวประมาณ ๓ นิ้ว นิยมทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ ปกติจะดำเนินทำนองบนสายเดียว และจะใช้สายอื่นทำเป็นเสียงคลอจากแรงสั่นสะเทือนไปด้วย บางครั้งเล่นควบคู่กันไปทั้งสาย ๒ และ ๓ ดีดลงไปที่สายด้วยเทคนิคเทรโมโลของกีตาร์คลาสสิค หรือการเล่นกระจายคอร์ดที่เน้นการรัวทำนองเพื่อให้เกิดเสียงต่อเนื่องไม่ขาดตอน

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 17 มิถุนายน 2561 18:34:21 »

    ค็องกัมพูชา

ในกัมพูชาเรียกฆ้องว่า "ค็อง" และหลักๆ เป็นฆ้องปุ่มเช่นเดียวกับพม่า และไทย สำหรับค็องที่ใช้ในวงมโหรีและพิณเพียตนิยมบรรเลงในงานเทศกาลต่างๆ และประกอบการแสดงระบำ มีด้วยกัน ๒ ชนิด คือค็องวังโตจ และค็องวังธม

ค็องวังโตจคล้ายฆ้องวงเล็กของไทย โครงเป็นไม้ดัดโค้งเป็นวงกลมเปิดส่วนเพื่อให้ผู้เล่นเข้าไปนั่ง นิยมใช้ไม้มะค่าโมง ติดลูกฆ้องทองเหลืองได้สูงสุด ๑๖ ลูก ไล่เรียงจากเสียงต่ำไปสูง เร อี-แฟล็ท ฟา ซอล ลา ที-แฟล็ท โด เร มี ฟา ซอล ลา ที-แฟล็ท โด เร มี

สำหรับค็องวงธมซึ่งคล้ายกับฆ้องวงใหญ่ของไทย บรรเลงทำนองคล้ายโรเนียดธมหรือระนาดทุ้ม มีขนาดใหญ่กว่าค็องวงโตจ โครงสร้างเป็นไม้ดัดโค้งเหมือนกัน จะต่างก็แค่จำนวนลูกฆ้องที่มากกว่า ๑๖ ลูก และนิยมทำจากทองแดงผสมทองสัมฤทธิ์ เมื่อบรรเลงในอาคารหรือที่ปิดจะใช้หัวไม้กลึงหุ้มผ้าหรือไม้นวมตี ส่วนการแสดงในที่แจ้งจะใช้ไม้แข็งแทน



    ปัตตะหล่า-ละนาด

พม่าเองก็เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีระนาดเช่นกัน เรียกว่า "ปัตตะหล่า" มีโครงสร้างคล้ายระนาดเอกของไทย แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่า มีลูกระนาด ๒๔ ลูก ทำจากไม้ไผ่เหลาให้ได้ระดับเสียงโดยไม่ต้องติดตะกั่วเทียบ นำมาพาดเรียงบนรางซึ่งมีลักษณะโค้งกว่าระนาดไทย และมีโขนสองข้างสูงเด่น ส่วนไม้ตีมีขนาดสั้นและหุ้มด้วยผ้า

ในยุคก่อนอาณานิคม ปัตตะหล่าเป็นเครื่องดนตรีระดับสูงที่ใช้บรรเลงในราชสำนัก ปัจจุบันใช้เล่นในวงดนตรีดั้งเดิมร่วมกับพิณพม่าที่เรียกว่าซองเกาะ รวมถึงบรรเลงในวงซายวาย วงปี่พาทย์แบบฉบับเมียนมาที่มีกลิ่นอายของวงออร์เคสตร้า นอกจากนี้ปัตตะหล่ายังมีความสำคัญในการเทียบเสียงเปียโนในสมัยที่เครื่องดนตรีฝั่งตะวันตกเข้าสู่พม่า

ข้ามฝั่งมาที่ลาว เพื่อนบ้านไทยกันบ้าง เดิมเรียกระนาดว่า "นางนาด"ต่อมานิยมเรียกว่า "ละนาด" แทน ไม่ใช่แค่ชื่อที่ละม้ายคล้ายระนาดไทยเท่านั้น แต่ลักษณะ โครงสร้าง และโทนเสียงของละนาดยังใกล้เคียงกับระนาดไทยด้วย

ได้เวลาพาไปทำความรู้จัก “ระนาด” เครื่องดนตรีอีกประเภทที่มีบรรเลงในหลายประเทศอาเซียน

ประเดิมที่อินโดนีเซีย กับระนาด ๔ ชนิด ชนิดแรกคือ “ซารอน” หรือระนาดเหล็ก ใช้เล่นทำนองหลักของเพลง มีด้วยกัน ๓ ขนาด ซารอน ที่มีขนาดใหญ่สุด เรียกว่า “ซารอน เดมุง” ขนาดกลางเรียกว่า “ซารอน บารัง” และขนาดเล็กสุด “ซารอน ปาเนรุส” หรือ “เปกิง”

แต่ละขนาดมีลูกระนาด ๗ ลูก ไล่เรียงเสียงลดหลั่นกันไปตามระดับสูงต่ำของโน้ตดนตรี ซารอน เดมุง และซารอน บารัง ใช้ไม้ตีที่มีรูปร่างเป็นค้อนไม้ หัวกลมมน ส่วนซารอน ปาเนรุส ใช้ไม้ตีรูปค้อนแหลมทำจากเขาสัตว์
 
นอกจากนี้ ซารอนทั้งสามชนิดยังมีลักษณะการบรรเลงเฉพาะตัว เมื่อตีลูกระนาดใดๆ แล้ว ต้องใช้มือกดเพื่อห้ามเสียงกังวานไปพร้อมๆ กันกับตีลูกระนาดตัวต่อไป

ระนาดชนิดที่ ๒ มีชื่อว่า “เกนเดอ” ระนาดโลหะที่วางเรียงกันเป็นแผงบนราง เกนเดอมี ๓ ขนาด แบ่งตามช่วงระดับเสียงสูงต่ำ ได้แก่ “เกนเดอ ปาเนมบัง” “เกนเดอ บารัง” และ “เกนเดอ ปาเนรุส” ส่วนไม้ตีเป็นแบบหัวกลมแบน ถือเป็นระนาดที่มีเทคนิคการตีซับซ้อนที่สุด

นอกจากซารอนและเกนเดอแล้ว อินโดนีเซียยังมีระนาดอีก ๒ ชนิด คือกัมบังและสเลนทุม

"กัมบัง" ลักษณะเหมือนระนาดไม้ มี ๑๗-๒๓ ลูก ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สนทะเล และไม้บุนนาค แขวนบนรางไม้แกะสลัก ส่วนไม้ตีทำด้วยเขาควายมี ๒ อัน ลูกระนาดในแต่ละชุดมีช่วงเสียงมากกว่า ๓ ช่วงเสียง เวลาตีไม่ต้องใช้เทคนิคกดเสียงเพื่อลดการสั่นสะเทือนเหมือนระนาดซารอน

ระนาดกัมบังยังแบ่งย่อยได้อีกชนิด คือ "กัมบัง กังซา" ใช้ลูกระนาดทำด้วยแผ่นโลหะแทนไม้ มีแค่ ๑๕ ลูก บางครั้งใช้บรรเลงแทนระนาดซารอน

ระนาดชนิดสุดท้ายเรียกว่า "สเลนทุม" เป็นระนาดท่อใหญ่ที่ประกอบด้วยลูกระนาดโลหะแผ่นบาง ๗ ลูก วางเรียงเป็นแผงบนราง ให้โทนเสียงทุ้มต่ำ มีท่อไม้ไผ่หรือท่อเหล็กรองรับข้างใต้เพื่อสร้างความก้องกังวานของเสียง ใช้ไม้ตีหัวกลมแบนขนาดใหญ่ มีวิธีบรรเลงแบบห้ามเสียงเช่นเดียวกับระนาด ซารอน




    ระนาดอินโดฯ

ได้เวลาพาไปทำความรู้จัก "ระนาด" เครื่องดนตรีอีกประเภทที่มีบรรเลงในหลายประเทศอาเซียน

ประเดิมที่อินโดนีเซีย กับระนาด ๔ ชนิด ชนิดแรกคือ "ซารอน" หรือระนาดเหล็ก ใช้เล่นทำนองหลักของเพลง มีด้วยกัน ๓ ขนาด ซารอน ที่มีขนาดใหญ่สุด เรียกว่า "ซารอน เดมุง" ขนาดกลางเรียกว่า "ซารอน บารัง" และขนาดเล็กสุด "ซารอน ปาเนรุส" หรือ "เปกิง"

แต่ละขนาดมีลูกระนาด ๗ ลูก ไล่เรียงเสียงลดหลั่นกันไปตามระดับสูงต่ำของโน้ตดนตรี ซารอน เดมุง และซารอน บารัง ใช้ไม้ตีที่มีรูปร่างเป็นค้อนไม้ หัวกลมมน ส่วนซารอน ปาเนรุส ใช้ไม้ตีรูปค้อนแหลมทำจากเขาสัตว์

นอกจากนี้ ซารอนทั้งสามชนิดยังมีลักษณะการบรรเลงเฉพาะตัว เมื่อตีลูกระนาดใดๆ แล้ว ต้องใช้มือกดเพื่อห้ามเสียงกังวานไปพร้อมๆ กันกับตีลูกระนาดตัวต่อไป

ระนาดชนิดที่ ๒ มีชื่อว่า "เกนเดอ" ระนาดโลหะที่วางเรียงกันเป็นแผงบนราง เกนเดอมี ๓ ขนาด แบ่งตามช่วงระดับเสียงสูงต่ำ ได้แก่ "เกนเดอ ปาเนมบัง" "เกนเดอ บารัง" และ "เกนเดอ ปาเนรุส" ส่วนไม้ตีเป็นแบบหัวกลมแบน ถือเป็นระนาดที่มีเทคนิคการตีซับซ้อนที่สุด

นอกจากซารอนและเกนเดอแล้ว อินโดนีเซียยังมีระนาดอีก ๒ ชนิด คือกัมบังและสเลนทุม

"กัมบัง" ลักษณะเหมือนระนาดไม้ มี ๑๗-๒๓ ลูก ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สนทะเล และไม้บุนนาค แขวนบนรางไม้แกะสลัก ส่วนไม้ตีทำด้วยเขาควายมี ๒ อัน ลูกระนาดในแต่ละชุดมีช่วงเสียงมากกว่า ๓ ช่วงเสียง เวลาตีไม่ต้องใช้เทคนิคกดเสียงเพื่อลดการสั่นสะเทือนเหมือนระนาดซารอน

ระนาดกัมบังยังแบ่งย่อยได้อีกชนิด คือ "กัมบัง กังซา" ใช้ลูกระนาดทำด้วยแผ่นโลหะแทนไม้ มีแค่ ๑๕ ลูก บางครั้งใช้บรรเลงแทนระนาดซารอน

ระนาดชนิดสุดท้ายเรียกว่า "สเลนทุม" เป็นระนาดท่อใหญ่ที่ประกอบด้วยลูกระนาดโลหะแผ่นบาง ๗ ลูก วางเรียงเป็นแผงบนราง ให้โทนเสียงทุ้มต่ำ มีท่อไม้ไผ่หรือท่อเหล็กรองรับข้างใต้เพื่อสร้างความก้องกังวานของเสียง ใช้ไม้ตีหัวกลมแบนขนาดใหญ่ มีวิธีบรรเลงแบบห้ามเสียงเช่นเดียวกับระนาดซารอน



      ซอไทย

ได้เวลาทำความรู้จักกับ "ซอ" กันบ้าง ซอเป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีกับสายที่ขึงไว้ ซอไทยแบบดั้งเดิมมี ๓ ประเภท คือ ซออู้ ซอด้วง และซอสามสาย แต่มีซอท้องถิ่นอีก ๒ ประเภท คือ ซอบั้ง หรือ ซอไม้ไผ่ ของภาคอีสาน และสะล้อ ของภาคเหนือ ปัจจุบันยังปรับเปลี่ยนนำวัสดุรอบตัวมาทำเป็นเครื่องดนตรีและเกิดเป็น ซอปี๊บ หรือ ซอกระป๋อง

สัปดาห์นี้มาเจาะลึกเรื่องราวของ "ซออู้" กันก่อน ซออู้เป็นซอสองสาย มีเสียงทุ้มอู้ตามชื่อซอ ส่วนประกอบหลักมีกะโหลกทำจากกะลามะพร้าวตัดปาดด้านหนึ่ง ใช้หนังวัวหรือแพะขึงขึ้นหน้าซอเป็นเหมือนกล่องเสียง ด้านหลังกะโหลกนิยมแกะสลักหรือฉลุเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งเพื่อความสวยงามและทำหน้าที่เป็นเหมือนลำโพงให้เสียงออก หน้าซอจะมีหมอนหรือหย่องทำด้วยผ้าพันกันจนกลมมีลักษณะกลมคล้ายหมอน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ซ.ม. ยาว ๒.๕ ซ.ม. วางไว้ในตำแหน่งกึ่งกลางหน้าซอโดยให้สายซอพาดอยู่ข้างบนและตั้งฉากกับแนวยาวของหมอนไม่ให้สายแนบติดกับหน้าซอเวลาสี

คันซอหรือคันทวนมี ๓ ช่วง ทวนบน ทวนกลาง และทวน ล่าง คันทวนยาวราว ๖๐ ซ.ม. ลักษณะกลึงกลมค่อยๆ ใหญ่จากโคนลงมาหาปลาย ขณะที่ลูกบิดมี ๒ อัน ใช้พันสายซอและบิดสายเอก-สายทุ้มที่ทำด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว ลูกบิดอันล่างสำหรับสายเอก ลูกบิดอันบนสำหรับสายทุ้ม ส่วนคันชักหรือคันสีทำด้วยไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกับคันทวนและมีหางม้าหรือไนลอนแทนหางม้าขึงตึง


      ซอไทย

มาทำความรู้จัก "ซอด้วง" และ "ซอสามสาย" ซอหลักอีก ๒ ชนิดของไทย

ซอด้วงนั้นมีเสียงแหลมและก้องกังวาน กระบอกซอหรือส่วนที่เป็นกล่องเสียงมีขนาดเรียวยาว ข้างในคว้านกลวง หน้าซอ ขึงด้วยหนังงูเหลือม คันสีทำด้วยไม้เนื้อแข็งชนิดเดียวกับคันทวน มีลักษณะกลึงกลมคล้ายคันศร ความยาวราว ๗๔ ซ.ม. ก้านคันชักมีหางม้าขึงตึงส่วนปลาย ซอด้วงมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากซออู้คือโขนซึ่งเป็นส่วนที่อยู่บนสุดของทวนบน หรือส่วนบนของคันทวนตั้งแต่กลีบบัวขึ้นไปจนสุด

ขณะที่ซอสามสายมีลักษณะ พิเศษที่ไม่เหมือนซออู้ และซอด้วง คือมี ๓ สาย มีคันชักอิสระ และกะโหลกซอขนาดใหญ่ ทำด้วยกะลามะพร้าวพันธุ์ซอที่มีกะลานูน ๓ ปุ่ม เรียกว่าปุ่มสามเส้า บนกะโหลกซอมีถ่วงหน้าทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมประดับพลอยสีต่างๆ ถมหรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่วเพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม

ส่วนหนวดพราหมณ์ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอผูกเป็นบ่วงร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่างสำหรับรั้งปมปลายสายซอทั้งสามซึ่งแบ่งเป็นสายเอก สายกลาง และสายทุ้ม


     ซอสิงคโปร์
ชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์เองก็มีเครื่องสายประเภทซอที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ๒ ชนิด

ได้แก่ “เอ้อหู” ซอสองสายที่เวลาบรรเลงผู้เล่นจะนั่งกับเก้าอี้และวางซอตั้งขนานไว้บนตัก เส้นสายมีระดับเสียง ๕ ระดับ ใช้คันชักสี มีรูปแบบ รูปร่าง และกล่องเสียงที่หลากหลายแล้วแต่ผู้สร้างสรรค์ ทั้งแบบกลม หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม นิยมใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในอุปรากรจีน

อีกชนิดคือ “เกาหู” ซอ สองสายเสียงสูงคล้ายซอด้วงไทย เป็นเครื่องดนตรีหลักในอุปรากรจีน ซอเกาหูมีลักษณะคล้ายซอเอ้อหู แต่กล่องเสียงนิยมเกลาเป็นวงกลมมากกว่า ถึงอย่างนั้นซอเกาหูแบบหกเหลี่ยมและแปดเหลี่ยมก็สามารถพบเห็นได้เช่นกันและน้ำหนักเบากว่า มีระดับเสียงที่สูงกว่า ๕ ระดับด้วยกัน เสียงยังออกไปทางกังวานใส ไม่ทุ้มต่ำเมื่อเทียบกับซอเอ้อหู



      “ตรัว” ซอเขมร

กัมพูชามีเครื่องสายคล้ายซอของไทยเช่นกัน เรียกว่า “ตรัว” มีด้วยกัน ๕ ชนิด และมีองค์ประกอบหลักเหมือนกัน คือ กะโหลกซอ คันทวน คันชัก สาย และ ลูกบิด

ซอชนิดแรก คือ “ตรัวแขมร์” เป็นซอแบบสามสาย ทำจากเส้นไหม กะโหลกซอทำจากกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ ปลายข้างหนึ่งปิดด้วยหนังสัตว์ ขณะที่ “ตรัวจี” เป็นซอโทนเสียงสูง มีสองสาย ปลายกะโหลกซอขึงด้วยหนังงู
 
“ตรัวสอโตจ” คำว่าโตจ มีความหมายว่า เล็กในภาษาเขมร ตรัวสอโตจจึงมีขนาดเล็กกว่าซอ ชนิดอื่นๆ และเหมือน ซอด้วงของไทย คือ ส่วนกะโหลกเป็นไม้ทรงกระบอกขนาดเล็ก ส่วน “ตรัวสอธม” เป็นซอสองสายทำจากไม้ดำ กะโหลกซอนิยมใช้ปล้องไม้ไผ่เหลากลวง หรือกระดองเต่า และ “ตรัวอู” เป็นซอโทนเสียงต่ำ กะโหลกทำจากกะลามะพร้าว มีสองสายเช่นกัน ปกติใช้เชือกไนลอนหรือเส้นไหม ทำให้เกิดเสียงทุ้มต่ำเมื่อบรรเลง



     ซอเวียดนาม

เวียดนามมีเครื่องสายแบบซอ ๔ ประเภทหลัก ชนิดแรกเรียกว่า “ด่านหงอ” เป็นซอสองสายใช้บรรเลงในวงเตือง กาย เลือง วงอุปรากรร่วมสมัยทางตอนใต้ของเวียดนาม คำว่าด่านหมายถึงเครื่องสาย

ส่วนคำว่าหงอคือกะลามะพร้าวเก่า มาจากส่วนกะโหลกที่ทำด้วยกะลามะพร้าวทรงกลมทำหน้าที่เป็นกล่องขยายเสียง แม้ด่านหงอจะคล้ายคลึงกับซออู้ของไทย แต่จริงๆ แล้วได้รับอิทธิพลมาจากซอปังหูหรือฉินหู ซอที่ใช้ในละครงิ้วท้องถิ่นทางตอนเหนือของจีน

ชนิดที่สองคือ “ด่านโหว่” ซอสองสายที่ใช้ไม้เนื้อแข็งเหลากลมทำเป็นส่วนกะโหลกซอ ลักษณะและเสียงคล้ายคลึงกับด่านหงอ จะต่างแค่ส่วนกะโหลกที่ทำจากกะลาและไม้เนื้อแข็ง

ซอประเภทที่สาม เรียกว่า “ด่านหนี่” เหมือนซอด้วงของไทยมาก เพราะนอกจากจะมีเสียงสูงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว กะโหลกซอยังเป็นกล่องเสียงไม้เนื้อแข็งแบบยาวและหุ้มด้วยหนังงู เดิมใช้สายที่ทำจากไหมถัก แต่ปัจจุบันนิยมใช้สายลวดแทน

ซออีกชนิดคือ “เกอหนี่” ซอสายเดี่ยวของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์จรายในที่ราบสูงตอนกลาง เป็นเครื่องสายแบบคอร์ดโดโฟน หรือเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของสาย เป็นซอที่ไม่มีกล่องเสียง แต่มีสายที่ผูกปลายด้วยแผ่นพลาสติกหรือไม้ไผ่เกลาบางๆ ที่ผู้เล่นต้องคาบไว้เพื่อใช้ช่องปากเป็นตัวขยายเสียงคล้ายจอว์ฮาร์ป หรือยิวฮาร์ป คันทวนนิยมทำจากไม้ไผ่หรือก้านไม้เหลา



     ซอรือบับ

มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ก็มีเครื่องดนตรีประเภทซอ เรียกว่า “รือบับ” หรือ ซอสามสายมลายู มีลักษณะคล้ายคลึงกับซอสามสายของไทย แต่จริงๆ แล้วรือบับมีทั้งสองสายและสามสาย ใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครรำเมาะโย่ง รวมถึงวงกาเมลัน วงดนตรีประจำชาติ

กะโหลกซอนิยมใช้ไม้ขนุนเกลาให้เป็น ทรงกลมปลายแหลม ด้านในบุด้วยหนังวัวเพื่อให้กล่องเสียงกังวาน ใต้กะโหลกซอ เป็นไม้ปลายแหลมเหมือนส่วนเท้าของ ซอสามสายไทย สายซอใช้เชือกหรือลวดทองแดงขึงสำหรับ สีกับคันชัก รือบับมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์จึงบรรเลงเดี่ยวหรือเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในวงก็ไพเราะไม่แพ้กัน

นอกจากเล่นเพื่อความสุนทรีย์แล้ว รัฐกลันตันและเตอเริงกานู ทางภาคตะวันออก ของมาเลเซีย ยังใช้รือบับในพิธีกรรมตามความเชื่อของชนพื้นถิ่นที่เรียกว่า “มาอิน ปูเตอรี” การเข้าทรงของวิญญาณเพื่อบำบัดและปัดเป่าอาการเจ็บป่วยที่บางครั้งแพทย์แผนปัจจุบันก็รักษาไม่ได้ แม้จะเป็นประเพณีจากความเชื่อและศรัทธา แต่หลายคนยอมรับว่าความสบายใจจากพิธีกรรมนี้ช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ



     ขิมอาเซียน

เครื่องดนตรีอีกชนิดที่มีบรรเลงในหลายประเทศอาเซียน คือ “ขิม” ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่เรียกขิม เพราะกัมพูชาและลาวก็เรียกขิมเหมือนกัน ส่วนเวียดนามเรียกว่า ตั๊ม ถับ ลัก

ขิมในเอเชียเป็นเครื่องสายที่ได้รับอิทธิพลมาจากหยางฉิน ขิมในวงเครื่องสายของจีนซึ่งพัฒนามาจากซานทูร์ในตะวันออกกลางอีกทอดหนึ่ง

ส่วนประกอบหลักของขิม ได้แก่ หน้าขิม ช่องเสียง สายขิม หย่องขิม หมุดยึดสาย หย่องหนุนสายขิม หมุดเทียบเสียง และไม้ตี

ตัวขิมทำมาจากไม้เนื้อแข็ง สายขิมในอดีตใช้สายทองเหลือง แต่เพราะขึ้นสนิมและขาดง่าย ปัจจุบันจึงนิยมใช้สายที่ทำมาจาก สแตนเลส เพราะขาดยาก ทนทาน ใช้งานได้นาน

สำหรับหย่องหนุนสายขิมที่รองรับสายจากหมุดยึดฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งนั้นทำจากไม้ มีลักษณะแบนยาวยึดติดกับตัวหรือหน้าขิม มีด้วยกัน ๒ อัน ส่วนหมุดยึดสายเป็นโลหะที่ติดอยู่กับตัวขิมยึดสายขิมเอาไว้ สามารถหมุนเพื่อปรับระดับเสียง

ช่องเสียงของขิมมีด้วยกัน ๒ ช่อง เป็นวงกลมและมีฝาสลักลวดลายต่างๆ ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงาม แต่เพื่อให้เสียงขิมดังกังวานออกมาเวลาบรรเลง ไม้ตีขิมทำจากไม้ ลักษณะเป็นก้านแข็งและมีความยืดหยุ่น ส่วนปลายที่สัมผัสสายขิมปิดทับด้วยหนังหรือผ้าสักหลาด



    ขิมอาเซียน

มาว่ากันต่อด้วยประเภทของขิม หากแบ่งตามลักษณะมี ๕ ประเภท ได้แก่ "ขิมผีเสื้อ" รูปร่างคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกมีหยักรอบๆ มักมีลิ้นชักใส่ค้อนปรับเสียง และมีช่องให้เสียงออกสองช่องที่หน้าขิม, "ขิมคางหมู" เป็นขิมที่ลดทอนรายละเอียดที่เป็นหยักโดยรอบของขิมผีเสื้อให้กลายเป็นไม้เรียบๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูจึงเรียกขิม นิยมเจาะช่องให้เสียงออกด้านข้าง, "ขิมแผ่น" ใช้แถบโลหะแปะวางบนหน้าขิมแทนตำแหน่งเสียงบนขิม ไม้ตีเป็นพลาสติกหัวกลมแข็ง เหมาะสำหรับฝึกเล่นในเบื้องต้นให้รู้จักเสียงเพราะจะไม่เจอกับปัญหาสายขาด, "ขิมกระเป๋า" ตัวขิมยึดติดกับกระเป๋า สะดวกต่อการหิ้วไปเล่นนอกสถานที่ และ "ขิมหลอด" โครงสร้างคล้ายขิมแผ่นแต่เปลี่ยนแถบโลหะเป็นหลอดโลหะกลวง ใช้ไม้ตีขิมธรรมดา

ถ้าแบ่งตามจำนวนหย่องหรือตำแหน่งรับสายที่ขึงพาดตรงกลางหน้าขิม มีตั้งแต่ ๗ หย่องซึ่งเป็นมาตรฐานของขิมทั่วไป เรื่อยไปจนถึง ๙ หย่อง ๑๑ หย่อง ๑๕ หย่อง และ ๑๘ หย่อง

หากแบ่งชนิดของสายขิมมีด้วยกัน ๒ แบบ คือ ขิมสายทองเหลือง และขิมสายสเตนเลส สายทองเหลืองจะให้เสียงคม นุ่มนวล ไม่กังวานนานเกินไป แต่สายมักขึ้นสนิมเร็วและขาดง่าย ส่วนขิมสเตนเลสที่มีเสียงกังวานของสายต่อเนื่องนั้นไม่เหมาะกับการบรรเลงเพลงไทยเดิม เพราะเสียงจะทับซ้อนฟังไม่ไพเราะ แต่ข้อดีคือเล่นเพลงสากล ง่ายกว่าและสายขาดยากกว่า



    กลองอิเหนา

เครื่องดนตรีที่จะขาดไม่ได้คือเครื่องตีกำกับจังหวะอย่างเช่นกลอง

กลองที่นิยมใช้ในวงกาเมลันมีชื่อว่า "เก็นดัง" เป็นกลองสองหน้า ทำจากไม้ขนุนหรือไม้เนื้อแข็ง ขึงด้วยหนังวัว มีหลายขนาด เก็นดังใบใหญ่สุดเรียกว่า"เก็นดัง เก็นดิง" ใบขนาดกลางเรียกว่า "ซิบลอน" และใบเล็กเรียกว่า "เคติปัง"

กลองเก็นดัง เก็นดิง และกลองซิบลอนจะวางตั้งบนขาหยั่ง ส่วนกลองเคติปังซึ่งมีขนาดเล็กจะวางบนตักใช้มือตี ผู้เล่นกลองเก็นดังส่วนมากเป็นหัวหน้าวงเพื่อควบคุมจังหวะและแนวทางการบรรเลงของนักดนตรีลูกวง

กลองอีกชนิดของแดนอิเหนา คือ "เบ็ดฮัก" เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ยึดหน้ากลองโดยตอกหมุดตรงขอบกลอง รูปร่างคล้ายกลองทัดของไทย ใช้ไม้ตีเหมือนกลองทั่วไป นิยมใช้บรรเลงร่วมในวงกาเมลัน มังแกง ซึ่งเป็นวงดนตรีโบราณ บางครั้งเล่นประกอบเพลงละครฟ้อนรำ



     กลองมลายู

มาว่ากันต่อด้วยเรื่องกลองมาเลเซียซึ่งส่วนหนึ่งเป็น ต้นแบบและใช้บรรเลงในอีกหลายประเทศที่มีวัฒนธรรมมลายู ครอบคลุมถึงอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

กลองชนิดแรกคือ "เก็นดัง" เป็น กลองสองหน้าทำจากไม้ขนุนหรือ ไม้เนื้อแข็ง ขึงด้วยหนังวัวหรือหนังควาย เก็นดังขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าเก็นดัง โนบัต ใช้บรรเลงในพระราชวัง "เกดอมบัก" กลองขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงส่วนคอของกลอง ลักษณะคล้ายกลองโทนของไทย ผู้เล่นจะนั่งลงใช้มือข้างหนึ่งจับกลองไว้และตีด้วยมืออีกข้าง

ขณะที่ "รีบานา" เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียวเช่นกัน แต่ตัวกลองสั้นกว่า รูปร่างคล้ายชามแบนขนาดใหญ่เหมือนรำมะนาของไทย ส่วน "กอมปัง" กลองหน้ากว้างที่ตัวกลองสั้นและแบน เป็นเครื่องตี ประกอบจังหวะที่นิยมบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในพิธีแต่งงาน

ส่วน "มาร์วาส" หรือ "มีร์วาส" เป็นกลองสองหน้า ตัวกลองสั้น มีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง นิยมเล่นในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย



     กลองเขมร

สัปดาห์นี้มาทำความรู้จักกลอง หรือ "สะกอร์" กัมพูชากัน หลักๆ มีด้วยกัน ๔ ชนิด ได้แก่ กลองสัมโพ สะกอร์ธม สะกอร์โตน และ กลองรูมานา

"กลองสัมโพ" เป็นกลองยาวสองหน้าขนาดเล็ก ทำจากไม้ทั้งต้น เกลาให้มีลักษณะคล้ายถังหมักสุราเหมือนกลองตะโพนของไทย นิยมขึงหน้ากลองด้วยหนังลูกวัวและใช้ไม้หวายยึดตรึงจากหน้ากลองข้างหนึ่งพาดผ่านตัวกลอง ไปยังหน้ากลองอีกข้างหนึ่ง สัมโพเป็นกลองกำหนดจังหวะและสร้างความเร้าใจให้เพลง จึงถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาทต่อวง เล่นโดยใช้มือทั้งสองข้าง และปรับโทนเสียงด้วยการทาข้าวสุกผสมเถ้าบางๆ บนหน้ากลอง

ขณะที่"สะกอร์ธม" เป็นกลองคู่สองหน้าขนาดใหญ่คล้ายกลองทัดของไทย ขึงหน้ากลองด้วยหนังวัวหรือหนังควายยึดเข้ากับหมุด บรรเลงโดยใช้ไม้ตี "สะกอร์โตน" เป็นกลองทรงถ้วยหน้าเดียวคล้ายโทนของไทย ตีด้วยมือ มักบรรเลงร่วมกับ "รูมานา" กลองขึงหนังหน้าเดียวแบบเฟรมดรัม คือ หน้ากลอง มีขนาดกว้าง ตัวกลองสั้น รูปร่างละม้ายคล้ายกะละมังแบน



     กลองเวียดนาม

ในเวียดนามเรียกกลองประเภทที่ใช้ไม้ตีในการบรรเลงว่า "จ็อง" มีด้วยกัน ๔ ชนิด คือ "จ็องก๋าย" กลอง ๒ หน้าขนาดใหญ่ทำจากไม้เนื้อแข็ง มักจะแขวนบนราว หรือฐานไม้ ตัวกลองมีลักษณะคล้ายถังหมักเครื่องดื่มมึนเมา ให้เสียงทุ้มต่ำกังวาน และนิยมใช้บรรเลงนำหน้าขบวนเชิดมังกรในเทศกาลสำคัญตามประเพณีจีน

ขณะที่กลอง "จ็องจัว" หรือ "จ็องเด" กลอง ๒ หน้าแบบชุด ประกอบด้วยกลอง ๔-๕ ใบ ไล่เรียงขนาดตั้งแต่ใบเล็กสุดไปจนถึงใบกลาง ใช้ไม้ตีแบบยาวและให้เสียงดังแหลม กลอง "จ็องเกิม" มีลักษณะคล้ายกลองบองโก แต่ยาวกว่ามาก ใช้บรรเลงประกอบละครเพลงท้องถิ่นที่เรียกว่าหัดเตือง นอกจากนี้จ็องเกิมยังถูกเรียกว่า "กลองข้าว" จากวิธีการเทียบปรับเสียงของกลองด้วยการป้ายข้าวที่หุงสุกบนหน้ากลองนั่นเอง

สุดท้ายคือ กลอง "จ็องดงเซิน" กลองโบราณที่สร้างจากสำริด และอาจหนักมากถึง ๑๐๐ กิโล กรัม เป็นกลองในวัฒนธรรมดงเซิน วัฒน ธรรมในยุคสำริด ที่มีศูนย์กลางแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางตอนเหนือของเวียดนาม



     กลองปินส์

ฟิลิปปินส์มีกลองหลายชนิดที่ใช้ใน วงดนตรีท้องถิ่น เริ่มจาก "อะกุง อะ ตามแล็ง" หากว่ากันตามลักษณะแล้ว ไม่ถือว่าเป็นกลอง แต่เป็นดนตรีประเภทเครื่องกระทบ หรือสะลิท ดรัม ทำจากไม้ไผ่เจาะช่องขนาดต่างๆ นิยมเล่นเพื่อฝึกฝนทักษะการจับจังหวะ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่นำไปเล่นในวงดนตรี

นอกจาก อะกุง อะ ตามแล็ง แล้ว เครื่องกระทบแบบเดียวกันในฟิลิปปินส์ยังมี "คากุล" ในจังหวัดมากินดาเนา และ "ทากุต๊อก" ของชนพื้นถิ่นมาราเนา

ขณะที่กลอง "ดาบากัน" ใช้เป็นเครื่องดนตรีสนับสนุนในวงมโหรีคูลินตัง ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ต้นมะพร้าวและต้นขนุน รูปร่างคล้ายนาฬิกาทรายความยาวราว ๖๐ ซ.ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง วัดถึงส่วนที่กว้างที่สุดชั้นนอกประมาณ ๓๐ ซ.ม. ส่วนกลองนำไปเกลาด้านในจนกลวง นิยมขึงหน้ากลองด้วยหนังควาย หนังแพะ หนังกวาง หรือหนังงู

แต่หนังที่ตีแล้วให้เสียงทุ้มก้องที่สุดคือหนังตะกวด ใช้ไม้เหลาเรียบสำหรับตี ส่วน "ซูลิบาว" เป็นกลองของชนพื้นเมืองที่ราบสูงบอนต็อกและอีบาลอยมีโทนเสียงเทเนอร์ รูปทรงเป็น กลองขนาดยาวและเรียว ทำจากไม้ซุง ขึงหน้ากลองด้วยหนังกวาง เล่นโดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตีที่หน้ากลอง



     กลองปินส์

ว่ากันต่อด้วยเรื่องของกลองในฟิลิปปินส์ "ลิบบิต" เป็น กลองไม้ทรงถ้วยเหล้าฝรั่ง ส่วนจอกเป็นตัวกลอง ช่วงกลางเหลาไม้ให้แคบแบบคอถ้วย ส่วนปลายที่เป็นฐานตั้งมีขนาดเล็กกว่าตัวกลองนิดหน่อย หน้ากลองขึงตึงด้วยหนังกวาง ใช้มือเปล่าตี ด้านนอกรอบตัวกลองแกะสลักเป็นลวดลายตัวกิ้งก่า ลิบบิตเป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่าอิฟูเกาในจังหวัดอิฟูเกาบนเกาะลูซอน ใช้บรรเลงได้ทุกโอกาส

ขณะที่ "กัมบัล" หรือ "กาดัง" กลองพื้นถิ่นของหมู่เกาะวิสายาส ทางตอนกลางของประเทศ ทำจากลำต้นของไม้เนื้อแข็ง เกลาเนื้อไม้ด้านในออกจนเกลี้ยงและขึงปิดด้วยหนังกลางสำหรับทำเป็นหน้ากลอง ในอดีตนิยมตีกลองกัมบัลเพื่อปลุกระดมสร้างความฮึกเหิม ให้นักรบ ปัจจุบันเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ มักบรรเลงร่วมกับฆ้อง เล่นได้ทั้งแบบใช้มือเปล่าและ ไม้ตี

สุดท้ายคือ "ตัมบุล" ดนตรีประเภทเครื่องกระทบ หรือสะลิต ดรัม ทำจากไม้ไผ่เจาะรู มีไม้ตี ๒ ไม้ใช้ในการบรรเลง


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มิถุนายน 2561 19:09:44 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 09 สิงหาคม 2561 20:07:18 »


     ขลุ่ยไทย
สัปดาห์นี้มาดูความเหมือนของ "ขลุ่ย" และเครื่องเป่าในอาเซียน ประเดิมด้วยขลุ่ยไทยซึ่ง มีหลักๆ ๓ ประเภท ได้แก่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และ ขลุ่ยอู้

"ขลุ่ยเพียงออ" เป็นเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาว ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดากที่ทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆ บากด้านหนึ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมที่เรียกว่าปากนกแก้ว เพื่อให้ลมส่วนหนึ่งผ่านเข้าออกแบบขลุ่ยลม

"ขลุ่ยหลิบ" เป็นขลุ่ยขนาดเล็กที่สุดของขลุ่ยไทย ยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว มีเสียงสูง ใช้บรรเลงในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายเครื่องคู่ เป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาดหรือซอด้วง นอกจากนี้ยังใช้บรรเลงในวงเครื่องสายปี่ชวา

ส่วน "ขลุ่ยอู้" เป็นขลุ่ย ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ความยาว ๒๓ นิ้ว และมีระดับเสียงต่ำสุด ลักษณะพิเศษของขลุ่ยอู้ที่ต่างจากขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลิบคือมีรูที่ทำให้เกิดเสียง ๖ รู เมื่อปิดนิ้วทุกนิ้วเป่าแล้วจะได้เสียงซอล ต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออ ๓ เสียง นิยมใช้ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์


     ปี่ไทย
สัปดาห์นี้มาทำความรู้จักกันต่อกับเครื่องเป่าของไทย สำหรับประเภทที่มีลิ้น เรียกว่า "ปี่" ปี่ดนตรีไทยมีด้วยกัน ๙ ชนิด ได้แก่ "ปี่ใน" ใช้บรรเลงกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งคู่กับปี่นอก ทำด้วยไม้ชิงชันหรือไม้พะยูง กลึงให้ป่องกลางและบานปลายทั้งสองข้าง เจาะเป็นรูกลวงตลอดหัวท้าย มีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว ๖ รู ๔ รูบนเรียงลำดับเท่ากัน ส่วน ๒ รูที่เหลือเว้นห่างออกไปพอประมาณ ส่วนหัวและท้ายของเลาปี่มีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยางหรือไม้มาเสริมสำหรับสอดลิ้นปี่เรียกว่า ทวนบน ส่วนล่างใช้ตะกั่วมาต่อสำหรับลดเลื่อนเสียง เรียกว่า ทวนล่าง

ส่วน "ปี่นอก" มีขนาดเล็กสุด และระดับเสียงสูงกว่าปี่ใน บรรเลงในวงปี่พาทย์ชาตรี การละเล่นโนรา หนังตะลุง และละครชาตรี ต่อมาใช้เล่นผสมในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ขณะที่ "ปี่นอกต่ำ" ซึ่งได้ชื่อมาจากระดับเสียงที่ต่ำกว่าปี่นอก เคยใช้เป่าในวงปี่พาทย์มอญ แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมและหาผู้เล่นยาก เช่นเดียวกับ "ปี่กลาง" ซึ่งมีขนาดและเสียงอยู่ระหว่างปี่นอกกับปี่ใน ใช้บรรเลงประกอบการเล่นหนังใหญ่

สำหรับ "ปี่ชวา" นำแบบอย่างมาจากชวา และคาดว่าจะเป็นช่วงเดียวกับกลองแขก ปี่ชวาใช้เป่าร่วมกับกลองในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค เรื่อยไปถึงการเป่าประกอบการเล่นกระบี่-กระบอง และมวย




มาว่ากันต่อด้วยเรื่องของ "ปี่ไทย" เริ่มจาก "ปี่มอญ" แบ่งเป็น ๒ ท่อน คือส่วนตัวเลาทำด้วยไม้และกลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่ง ตอนปลายกลึงผายออกเล็กน้อย ถัดลงมากลึงเป็นลูกแก้วคั่นสำหรับผูกเชือกโยงกับส่วนลำโพง ตัวเลาด้านหน้าเจาะ ๗ รู ด้านหลังตอนบนเจาะอีก ๑ รู

อีกท่อนคือ ลำโพง ทำด้วยทองเหลืองหรือสแตนเลส ส่วนปลายบานงุ้มขึ้น ตอนกลางและตอนปลายตีเป็นลูกแก้ว ตัวเลาปี่จะสอดเข้าไปในลำโพง โดยมีเชือกเคียนยึดระหว่างลูกแก้วลำโพงปี่กับลูกแก้วตอนบนของตัวเลา

"ปี่อ้อ" หนึ่งในปี่เก่าแก่ของไทยชนิดหนึ่ง ตัวเลาทำด้วยไม้ลวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ หัวและท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงิน ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วบังคับเสียง ๗ รู และด้านหลังเป็นรูนิ้วค้ำ ๑ รู ลิ้นปี่ทำด้วยไม้อ้อลำเล็กเหลาบาง พันด้วยด้ายเพื่อให้กระชับเมื่อเสียบเข้ากับเลาปี่

ขณะที่ "ปี่จุ่ม" เป็นเครื่องเป่าประกอบกับซอพื้นเมืองของล้านนา เดิมใช้บรรเลงเพลงจีบระหว่างหนุ่มสาว แต่ปัจจุบันใช้เป่าร่วมกับสะล้อ ซึง และกลองเมือง

ปิดท้ายที่ "แคน" เครื่องเป่าพื้นเมืองทางภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว ใช้ไม้ซางขนาดต่างๆ ประกอบเข้าเป็นตัวแคน ส่วนลิ้นของแคนเป็นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ การเป่าแคนต้องใช้ทั้งการเป่าลมเข้าและดูดลมออก ส่งผลให้แคนเป็นหนึ่งในเครื่องเป่าที่เล่นยากพอสมควร



ปี่เน - ปะลเว

เครื่องเป่าพม่า

พม่ามีเครื่องเป่าขึ้นชื่อที่เรียกว่า "เน" เป็นเครื่องดนตรีประเภทปี่ลิ้นคู่ ทรงกรวยปากผาย มีลำโพงโลหะครอบต่อจากส่วนปลาย เช่นเดียวกับปี่มอญของไทย แต่ปากลำโพงไม่กว้างอย่างปี่มอญ

ปี่เนเป็นเครื่องดนตรีหลักในวงซายวายพม่า วงดนตรีสำคัญที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงบนเวที พิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนงานเทศกาล และพิธีการต่างๆ รวมถึงการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เล่นคู่กับฆ้องปัตวาย หรือพาทวาย ฆ้องมองซาย และกลองชอก ลอน บัต

นอกจากปี่เนแล้ว พม่ายังมี "ขลุ่ยปะลเว" เครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่และละม้ายคล้ายขลุ่ยอู้ของไทย แต่มีขนาดเล็กและเสียงแหลมกว่า ปะลเวมี ๒ ชนิด คือ "คิ่น ปะลเว" กับ "จ่อ ปะลเว"

คิ่น ปะลเว เป็นเครื่องเป่าประเภทมีลิ้น ส่วนจ่อ ปะลเว เป็นเครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น ทั้งสองชนิดมี ๑๐ รู แบ่งเป็นรูบังคับเสียง ๗ รู รูนิ้วค้ำ ๑ รู รูเยื่อ ๑ รู และปากนกแก้ว




๑.ขลุ่ยซาว ๒.รูเป่าส่วนปลายของขลุ่ยเตียว ๓.ขลุ่ยเตียว

เครื่องเป่าเวียดนาม

ในเวียดนามมีเครื่องเป่าหลายชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ตั้งแต่ "ซาว" ขลุ่ยไม้ไผ่แบบเป่าแนวขวาง ขนาดความยาวราว ๔๐-๕๕ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซ.ม. มี ๖-๑๐ รูสำหรับวางนิ้วบังคับเสียงด้านข้าง มีท่อปรับเสียงด้านในขลุ่ยใกล้รูเป่า โดยรูบังคับนิ้วรูแรกอยู่ห่างจากรูเป่า ๑๒ ซ.ม. จากนั้นรูบังคับนิ้วแต่ละรูจะมีระยะห่างกัน ๑ ซ.ม.

ยังมีขลุ่ยอีกชนิดเรียกว่า "เตียว" เป็นขลุ่ยที่เป่า ตรงปลาย มีเสียงนุ่มนวล ระดับเสียงต่ำออกเสียงทุ้มลึกคล้ายขลุ่ยเซียวหรือขลุ่ยผิวของจีน ด้านหน้ามีรูบังคับเสียง ๗-๘ รู มาตรฐานทั่วไปมี ๖ รู เจาะตามแนวยาวของลำไม้ไผ่ ปลายขลุ่ยบนปิดหลอด โดยอาศัยข้อไม้ไผ่เปิดรูเป่าเล็กรูหนึ่ง

ด้านหน้ามี ๕ รู ด้านหลังมีอีก ๑ รู ข้างล่างของเซียวยังมีอีก ๓-๔ รู ใช้สำหรับปรับเสียงให้ไพเราะและดังขึ้น สามารถบรรเลงเดี่ยวหรือบรรเลงร่วมกับดนตรีประเภทอื่นๆ ในวงดนตรีพื้นบ้าน



เครื่องเป่าในเวียดนามยังมี "เกิ่น" ใช้บรรเลงในวงดนตรีพื้นบ้าน มีลิ้นปี่คู่ คล้ายปี่ซัวนา ปี่ปากใหญ่ของจีน เช่นเดียวกับปี่ชวาของไทย มี ๓ ขนาด คือ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ลำปี่เรียวยาว ช่วงปลายบานออกเป็นส่วนลำโพง มีรูให้เสียง ๗ รู ความยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร โทนเสียงแหลมเล็ก และสามารถเลียนเสียงนกได้ด้วย

ขณะที่ "เซ็ง" เครื่องดนตรีอีกชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ประกอบด้วยท่อไม้ ๗ ท่อ ติดตั้งอยู่ในผลน้ำเต้าแห้ง ซึ่งใช้เป็นที่พักลม แต่ละท่อมีลิ้นฝังอยู่ พร้อมรูปิด-เปิด เวลาเล่นต้องเป่าลมผ่านผลน้ำเต้าแล้วให้ลมเปลี่ยนทิศทางด้วยท่อทั้ง ๗ ท่อ เสียงของเซ็งจะคล้ายเสียงออร์แกนลมของดนตรีตะวันตก เดิมไม่มีลิ้นปี่และไม่มีกรวย ใช้แค่เลาไม้ไผ่ที่มีเสียงต่างกันพันรวมด้วยเชือกให้เป็นแผงคล้ายขลุ่ยแผง ต่อมามีการเพิ่มลิ้นและใช้น้ำเต้าเป็นกรวยในการรวบเลาไม้ไผ่เข้าด้วยกัน เกิดเป็นเซิงที่มีรูปแบบอย่างในปัจจุบัน





ภูเขาไฟอินโดฯ

หลายคนคิดว่าประเทศอาเซียน ที่มีภูเขาไฟมีแค่อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์เท่านั้น จริงๆ แล้วชาติอาเซียนมีความเหมือนทางภูมิประเทศมากกว่าที่คิด และชาติสมาชิกเกือบทั้งหมดก็มีภูเขาไฟ ยกเว้นแค่สิงคโปร์กับบรูไน

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุดในโลก ราว ๔๐๐ ลูก และมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นหรือแอ๊กทีฟมากถึง ๗๖ ลูก ในจำนวนนี้ภูเขาไฟที่ปะทุบ่อยที่สุด ๑๐ อันดับ ได้แก่ "ภูเขาไฟเมราปี" ขนาดสูง ๒,๙๓๐ เมตร ในจังหวัดชวากลาง ปะทุล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. และทางการประกาศเตือนภัยห้ามเข้าใกล้ในรัศมี ๕ กิโลเมตร

อันดับ ๒ "ภูเขาไฟรินจานี" ความสูง ๓,๗๒๖ เมตร บนเกาะลอมบอก จังหวัดเวสต์ นูซาเต็งการา ปะทุล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.๒๕๕๘ และเพิ่งมีเหตุระทึกเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๔ แม็กนิจูด จนดินถล่ม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากรวมถึงชาวไทยติดอยู่บนภูเขาไฟรินจานี

อันดับ ๓ "ภูเขาไฟโบรโม" ความสูง ๒,๓๒๙ เมตร อยู่ในอุทยานแห่งชาติโบรโมเทงเกอร์เซเมรู บนเกาะชวาตะวันออก ปะทุล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.๒๕๕๙

อันดับ ๔ "ภูเขาไฟเซเมรุ" ความสูง ๓,๖๗๖เมตร บนเกาะชวาตะวันออก และยังคงปะทุต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๑๐

อันดับ ๕ "ภูเขาไฟอานัก กรากาตัว" เกาะภูเขาไฟขนาดเล็ก สูงกว่า ๓๐๐ เมตร ในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย บริเวณจังหวัดลัมปุงใต้ และเพิ่งปะทุธารลาวาจำนวนมากเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

สัปดาห์หน้ามาต่อกันอีก ๕ อันดับ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2561 17:32:24 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 11 กันยายน 2561 17:58:11 »

   ภูเขาไฟอินโดฯ ๒

สัปดาห์นี้ยังอยู่กับเรื่องราวของภูเขาไฟในอินโดนีเซีย และภูเขาไฟที่ปะทุบ่อยที่สุด อันดับ ๖ คือ "ภูเขาไฟอากุง" บนเกาะบาหลี สูง ๓,๐๓๑ เมตร ปะทุครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการปะทุแบบพลิเนียน แบบเดียวกับภูเขาไฟวิสุเวียสที่ทำลายเมืองปอมเปอี นครโรมันโบราณ เมื่อปีค.ศ.๖๒๒ อันดับ ๗ "ภูเขาไฟเครินชิ" ความสูง ๓,๘๐๕ เมตร บนเกาะสุมาตรา ปะทุล่าสุดในเดือนมิ.ย.๒๕๖๑

อันดับ ๘ "ภูเขาไฟซัมบิง" ภูเขาไฟรูปโล่ ความสูง ๓,๓๗๑ เมตร ในจังหวัดชวากลาง อันดับ ๙ "ภูเขาไฟกุนุงบาตูร์" อายุเก่าแก่กว่า ๒๘,๕๐๐ ปี สูง ๑,๗๑๗ เมตร ตั้งอยู่บนเกาะบาหลี และสุดท้ายคือ "ภูเขาไฟสิบายัค" ความสูง ๒,๒๑๒ เมตร ในเมืองเบอราสตากี จังหวัดสุมาตราเหนือ แม้การปะทุครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน แต่ยังมีไอน้ำพวยพุ่งและบ่อน้ำพุรอบๆ


     ภูเขาไฟปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่มีภูเขาไฟจำนวนมาก จากข้อมูลสถาบันภูเขาไฟและแผ่นดินไหวฟิลิปปินส์ระบุว่าฟิลิปปินส์มีภูเขาไฟที่ยังมีพลัง ๒๖ ลูก

ภูเขาไฟที่ปะทุมากที่สุด ๕ ลูก ได้แก่ "ภูเขาไฟมายอน" ความสูง ๒,๔๖๒ เมตร ตั้งอยู่บนเกาะลูซอน ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเขาไฟมายอน เคยระเบิดมาแล้ว ๔๐ ครั้งในรอบ ๔๐๐ ปีที่ผ่านมา รูปทรงภูเขาเป็นรูปสมมาตรที่สวยงาม ครั้งล่าสุดระเบิดเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๗

"ภูเขาไฟตาอัล" สูง ๓๑๑ เมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลสาบตาอัล ห่างจากกรุงมะนิลาราว ๕๕กิโลเมตร ตั้งแต่ปี ๒๕๑๕ ภูเขาไฟตาอัลระเบิดมาแล้ว ๓๓ ครั้ง และปะทุล่าสุดในปี ๒๕๒๐ "ภูเขาไฟคันลาออน" ความสูง ๒,๔๓๕ เมตร ตั้งอยู่ทางตอนกลาง ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางใต้ราว ๕๑๐ กิโลเมตร ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.๒๕๕๙

ขณะที่ "ภูเขาไฟบูลูซัน" ความสูง ๑,๕๖๕ เมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดโซซอร์กอน ปะทุมาแล้ว ๑๕ ครั้งนับตั้งแต่ปี ๒๔๒๘ ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.๒๕๕๙ สุดท้ายคือ "ภูเขาฮีโบก-ฮีโบก" หรือภูเขาไฟคาตาร์มัน สูง ๑,๓๓๒ เมตร เป็นภูเขาไฟกรวยสลับชั้นในจังหวัดคามีกิน ปะทุครั้งล่าสุดในปี ๒๔๙๔



    ภูเขาไฟมาเลย์

มาเลเซียมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นเพียงลูกเดียวคือ "ภูเขาไฟบอมบาไล" ความสูง ๕๓๑ เมตร ตั้งอยู่ในคาบสมุทรเซมปอร์นา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว บริเวณเขตตาเวา รัฐซาบาห์ ทอดตัวพาดผ่านอ่าวโควีฮาร์เบอร์จากฝั่งจังหวัดกลิมันตันเหนือ

ภูเขาไฟบอมบาไลเป็นภูเขาไฟแบบกรวยต่ำ ปากปล่องกว้างราว ๓๐๐ เมตร ต่อมาเกิดลาวาหลาก ส่งผลให้พื้นที่เกือบกลายเป็นที่ราบชายฝั่งของภูเขาไฟ อายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีของลาวาหลากนี้ พบว่ามีความเก่าแก่ราว ๒๗,๐๐๐ ปีที่แล้ว และคาดว่ากระบวนการเย็นตัวของลาวาแบบบะซอลต์ยัง ดำเนินต่อในสมัยโฮโลซีน หรือราว ๑๑,๗๐๐ ปีก่อนปัจจุบัน และนั่นคือกำเนิดของภูเขาไฟบอมบาไล ที่กลายเป็นภูเขาไฟเพียงลูกเดียวบนเกาะบอร์เนียวนั่นเอง



    ภูเขาไฟเวียดนาม

ในเวียดนามมีภูเขาไฟหลักๆ ด้วยกัน ๖ ลูก ไล่เรียงจากลำดับความสูง ลูกที่สูงที่สุด คือ "ภูเขาไฟอูต์ด่งนาย" สูง ๑,๐๐๐ เมตร เป็นภูเขาไฟแบบกรวยและพื้นที่ลาวาหลากซึ่งแข็งตัวแล้ว ครอบคลุมพื้นที่กว้าง ๗๐ กิโลเมตร ยาว ๑๕๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางใต้ของนครโฮจิมินห์ คาดว่าปะทุครั้งล่าสุดในสมัยโฮโลซีน ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ปีที่แล้ว

รองลงมาคือ "ภูเขาไฟโตเรียง ปร็อง"ภูเขาไฟหินบะซอลต์ทรงกรวย สูง ๘๐๐ เมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดกว๋างหงาย ริมชายฝั่งทะเลจีนใต้ โตเรียง ปร็องมีปากปล่องภูเขาไฟ ๓ แห่ง และทะเลสาบบริเวณปากปล่อง ๑ แห่ง คาดว่าปะทุครั้งล่าสุดในสมัยโฮโลซีนเช่นกัน

อันดับสาม "ภูเขาไฟบ่าสด่งนาย"มีอีกชื่อเรียกว่าที่ราบสูงซวนหลัก สูง ๓๙๒ เมตร ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของนครโฮจิมินห์ กำเนิดขึ้นในสมัยโฮโลซีน


    มาทำความรู้จักกับภูเขาไฟอีก ๓ ลูกในเวียดนามกันต่อ เริ่มที่ "ภูเขาไฟซู-เลาแส" เป็นกลุ่มภูเขาไฟ ๑๓ ลูก ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตอนกลางของประเทศราว ๑๕๐ กิโลเมตร ในจำนวนนี้ ๙ ลูกเป็นภูเขาไฟทรงกรวยใต้สมุทร และอีก ๔ ลูกเป็นภูเขาไฟกึ่งพ้นน้ำจากการที่ลาวาหลากไหลปะทุออกมาสะสมตัวเหนือน้ำ โดยภูเขาไฟกึ่งพ้นน้ำ ๓ ลูกก่อให้เกิดเป็น เกาะซู-เลาแส ขณะที่อีกลูกกลายเป็นเกาะซู-แลบ่าย

"ภูเขาไฟอิล เด เซนเดรส" เป็นกลุ่มภูเขาไฟใต้สมุทร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม ประกอบด้วย กรวยกรวดภูเขาไฟ ๒ ลูกที่รวมกันเป็นเกาะชั่วคราวระหว่างเกิดการปะทุครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๔๖๖ หรือ ๙๕ ปีก่อน และยังมีภูเขาไฟใต้สมุทรอีกหลายลูกรอบๆ เกาะ

"ภูเขาไฟเวเทอแรน" ภูเขาไฟใต้สมุทร ตั้งห่างจากเกาะแกรนด์แคตวิกร็อก ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในปี ๒๔๒๓ เกิดแนวโขดหิน และอีก ๒ ปีต่อมากลับหายไป สันนิษฐานว่าเป็นเพราะการปะทุของภูเขาไฟ ราวปี ๒๔๗๑ มีความเปลี่ยนแปลงของสีน้ำที่ บริเวณนี้ คาดว่าเกิดจากภาวะบ่อไอเดือด หรือพุก๊าซ นั่นเอง  



    ภูเขาไฟกัมพูชา

ในกัมพูชาก็มีภูเขาไฟเช่นกัน เรียกว่า "ยักษ์ลม" หรือ "บึงยักษ์ลม" เป็นทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ อยู่ห่างจากเมืองบ้านลุง เมืองเอกของจังหวัดรัตนคีรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาเพียง ๔.๘ กิโลเมตรเท่านั้น

บึงยักษ์ลมระเบิดครั้งสุดท้ายก่อนกลายเป็นทะเลสาบปล่องภูเขาไฟเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา มีลักษณะเกือบเป็นวงกลมสมบูรณ์แบบขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๒๐ เมตร ลึก ๔๘ เมตร

รอบๆ บึงยักษ์ลมเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก มีป่าดิบชื้นที่ครึ้มเขียวเกือบทั้งปี และเป็นถิ่นที่อยู่ของนกสวยสายพันธุ์แปลกตาอีกหลายชนิด ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาประกาศกฤษฎีกาย่อยให้ทะเลสาบปล่องภูเขาไฟยักษ์ลม และพื้นที่โดยรอบเป็นเขตคุ้มครองสัตว์ป่าและระบบนิเวศ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา




ภูเขาไฟโปปา : ตองกะลัต

ภูเขาไฟพม่า  ภูเขาไฟในพม่ามีด้วยกัน ๓ แห่ง ภูเขาไฟที่สูงที่สุดคือ "ภูเขาไฟโปปา" ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพะโค ในเขต มัณฑะเลย์ ทางตอนกลางของประเทศ สูง ๑,๕๑๘ เมตร ปะทุครั้งล่าสุดเมื่อ ๔๔๒ ปีก่อนคริสต์ศักราช

นอกจากโปปาจะเป็นภูเขาไฟสำคัญของพม่าแล้วยังเป็นที่ตั้งของปลักภูเขาไฟหรือคอขวดภูเขาไฟ ซึ่งอยู่บริเวณฐานของโปปาทางตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่า "ตองกะลัต" สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๖๕๗ เมตร มีวัดและสถานที่บูชา "น่ะต์" หรือวิญญาณ ในที่นี้ครอบคลุมถึงรุกขเทวดาและเจ้าป่าเจ้าเขา ประชาชนสามารถเดินทางมาสักการะและเยี่ยมชมโดยใช้เส้นทางบันได ๗๗๗ ขั้นที่มุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดเขา

ชาวเมืองพื้นถิ่นมักเรียกตองกะลัตรวมเป็นโปปา และเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนจึงเรียกภูเขาไฟโปปาว่า "ตองมาจี" ที่มีความหมายว่าเนินแม่แทน

จากเนินเขาตองกะลัตมีทัศนียภาพสวยงามของเมืองพุกาม รอบๆ ภูเขามีลักษณะคล้ายโอเอซิสในทะเลทราย คือเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แต่ในส่วนภูเขามีป่า พืชดอก สมุนไพร และลำธารกว่า ๒๐๐ แห่ง


   ภูเขาไฟในพื้นที่ชีนดวีนตอนล่าง

"ชีนดวีนตอนล่าง" คือบริเวณพื้นที่รอบปากปล่องภูเขาไฟประมาณ ๗-๘ หลุม สูงสุดที่ ๓๘๕ เมตร ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองโมนยวา เขตซะไกง์ ราว ๓๐ กิโลเมตร เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยไพลโอซีนและสมัยไพลสโตซีน จากข้อมูลภูเขาไฟทั่วโลกของสถาบันสมิธ โซเนียนในสหรัฐอเมริการะบุว่าไม่มีการปะทุของภูเขาไฟในพื้นที่ชีนดวีนตอนล่างในช่วงสมัยโฮโลซีนหรือเมื่อ ๑๐,๐๐๐ ปีก่อน

ปล่องภูเขาไฟ ๓-๔ หลุมของชีนดวีนตอนล่างเป็นทะเลสาบ หลุมหนึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำชีนดวีน ส่วนหลุมที่เหลืออยู่ทางตะวันตก ในทะเลสาบมีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเจริญเติบโตจำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเก็บเกี่ยวนำไปตากแห้งและขายเป็นยา นอกจากนี้เมื่อปลายปี ๒๕๕๗ รัฐบาลพม่ามีแผนเสนอชื่อทะเลสาบ ตวีนตองในชีนดวีนตอนล่าง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกด้วย

ภูเขาไฟอีกลูกของพม่า คือ "สิ่นกู่" สูง ๕๐๗ เมตร ตั้งอยู่ในเมืองปยินอูลวิน เขตมัณฑะเลย์ ทางตอนกลาง ห่างจากถนนหลวงหมายเลข ๓๗ เพียง ๓ กิโลเมตรเท่านั้น ภูเขาไฟสิ่นกู่เป็นภูเขาไฟที่เกิดจากแมกมาบะซอลต์แทรกตัวขึ้นมาบริเวณรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกในสมัยโฮโลซีนและปะทุครั้งสุดท้ายในช่วงนั้น แต่ไม่ระบุเวลาแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในปีไหน



    ภูเขาไฟไทย

ประเทศไทยมีภูเขาไฟ ๗ แห่ง เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทหมดแล้ว ในจำนวนนี้ ๕ แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง ภูเขาไฟอังคาร ภูเขาไฟหินหลุบ-ภูเขาไฟคอก ภูเขาไฟกระโดง และภูเขาไฟไบรบัด อีก ๒ แห่งตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง คือ ภูเขาไฟ ดอยผาดอกจำปาแดด และภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู

มาทำความรู้จักภูเขาไฟลูกแรกกัน "ภูเขาไฟหินพนมรุ้ง" เป็นภูเขาไฟหินบะซอลต์แบบกรวยลาวา จุดสูงสุดอยู่ที่ ๓๘๖ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสูงจากที่ราบโดยรอบประมาณ ๑๘๐ เมตร ปากปล่องอยู่ที่ศูนย์กลางเนินภูเขาไฟ กว้างราว ๓๐๐ เมตร รูปร่างคล้ายชามและมีความลึกจากขอบปล่องประมาณ ๗๐ เมตร บนเขายังประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญคืออุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง



ภูเขาไฟคอก


ภูเขาไฟอังคาร

ทำความรู้จักภูเขาไฟในไทยกันต่อ "ภูเขาไฟคอก" อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเพราะสภาพไม่ชัดเจน แต่มีความสำคัญเพราะเป็นต้นกำเนิดห้วยเสวและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา ขณะที่ "ภูเขาไฟหินหลุบ" อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ มีซากปล่องปะทุระเบิดเป็นรูปโค้งยาว ขนาดกว้าง ๒ ก.ม. ยาว ๔ ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๖ ตารางกิโลเมตร ยอดสูงมีลักษณะเป็นซากหินเย็นตัว สูงราว ๒๓๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีร่องรอยโบราณสถานตั้งอยู่ด้านบน

"ภูเขาไฟอังคาร" เป็นอีกลูกที่ตั้งอยู่ในอ.เฉลิมพระเกียรติ อยู่ไม่ไกลจากภูเขาไฟพนมรุ้ง เป็นเนินเขาแผ่กว้างประมาณ ๑๒ ก.ม. ยาว ๑๕ ก.ม. ยอดเขาสูง ๑๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล เนินเขาที่สูงที่สุดเรียกว่าเขาป่าช้า บริเวณยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคาร ศาสนสถานสวยงามและแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ




ปิดท้ายชุดภูเขาไฟของไทยกันที่ภูเขาไฟใน จ.ลำปาง มีด้วยกัน ๒ แห่ง คือ "ภูเขาไฟดอยผาดอกจำปาแดด" และ "ภูเขาไฟดอยหินคอกผาฟู" ตั้งอยู่ใกล้กันบริเวณเส้นทางเข้าเหมืองถ่านหินแม่เมาะ

ลักษณะของปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกจำป่าแดดเป็นปากปล่องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕๐ เมตร ขอบปล่องด้านเหนือและตะวันตกเฉียงใต้เปิดออก ทำให้ลาวาไหลออกคลุมพื้นที่ห้วยจำห้า ห้วยแม่ทะ และพื้นราบซึ่งเห็นได้จากหินบะซอลต์ที่คลุมบริเวณดังกล่าว มีพื้นที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๓๐ เมตร

สำหรับปล่องภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู มีลักษณะเป็นปล่องสองปล่องซ้อนกัน ปล่องแรกมีขนาดใหญ่ แต่เพราะมีการปะทุของลาวา ๒ ครั้งทำให้ขอบปล่องเดิมถูกทำลาย เหลือแต่ขอบด้านใต้ ปากปล่องมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐๐ เมตร คลุมพื้นที่ราวๆ ครึ่งตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๕๐ เมตร และมีความสูงจากที่ราบใกล้เคียงประมาณ ๘๐ เมตร

นอกจากนี้ยังมีปล่องภูเขาไฟสบปราบ ลักษณะเป็นเนินยาวขนานไปกับแม่น้ำวัง ตอนเหนือเป็นเนินสูงรูปร่างคล้ายกรวยฐานกว้าง บนยอดเนินรูปกรวยเป็นแอ่งวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗๐๐ เมตร ลักษณะของเนินทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้เป็นธรณีสันฐานที่เกิดจากภูเขาไฟและลาวาหลาก



ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กุมภาพันธ์ 2562 16:21:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2562 16:19:33 »

.

    อาปัมบาลิก์

"อาปัมบาลิก์" แพนเค้กคว่ำครึ่งใส่ไส้หวาน สามารถพบเห็นตามตลาดนัด และริมข้างทางในหลายประเทศ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ไส้ดั้งเดิมเป็นถั่วลิสงบดกับน้ำตาล แต่มีการปรับเปลี่ยนตามความชอบและยุคสมัย บางที่เพิ่มครีมข้าวโพด และบางที่ใส่ชีสกับครีมช็อกโกแลต

อาปัมบาลิก์ยังมีความละม้ายคล้ายขนมถังแตกของไทย จะต่างก็แค่ขนาดที่ใหญ่กว่า และไส้ซึ่งต้นฉบับถังแตกไทยใช้น้ำตาลกับมะพร้าวขูด

สำหรับมาเลเซียโดยทั่วๆ ไปเรียก อาปัมบาลิก์ ไม่ก็ "คูอิห์ฮาจี" ขณะที่ชุมชนชาวจีน รัฐยะโฮร์ และสิงคโปร์ เรียกว่า "มินเจียงก๊วย" อาปัมบาลิก์ในรัฐเปรักคือ "ไต้กั๋วหมิน" ที่เกาะปีนังเรียกว่า "อาปัม ปูลัว เปนัง" และในรัฐกลันตันคือ "อาปง"

ข้ามไปฝั่งประเทศบรูไนเรียก "คูลิห์มา มาลายา" ส่วนอินโดนีเซียนั้น ในกรุงจาการ์ตาและรอบๆ เขตปริมณฑล เรียก "มาร์ตาบัก มานิส" มีความหมายว่า มะตะบะหวาน หรือจะเรียก "เตรังบุลัน" ซึ่งแปลว่าแสงจันทร์ มีที่มาจากลักษณะของขนมซึ่งด้านนอกกรอบเป็นสีทองสวย และรูปร่างแบบดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยวนั่นเอง


    ทังหยวน-บัวลอย แจ่ เจ่ย เนื้อก  ทังหยวน

ขนม "ทังหยวน" ของสิงคโปร์ มีต้นตำรับมาจากจีน และนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลโคมไฟ ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งมัน นวดกับน้ำต้มสุกจนเป็นเนื้อเนียน ผสมสีต่างๆ ตามชอบ จากนั้นนำมาแบ่งปั้นเป็นก้อนกลมลูกเล็กๆ ทังหยวนดั้งเดิมใส่ไส้งาดำคั่วแล้วบดละเอียด แต่มีการประยุกต์เพิ่มไส้ต่างๆ

อาทิ ฟักเชื่อม หัวเผือก ถั่วเขียว และถั่วแดงบด เมื่อปั้นเสร็จนำขนมไปลวกในน้ำต้มเดือดจนพองตัวลอยขึ้นมา ตักพักใส่น้ำเย็นให้คงตัว กินกับน้ำขิงต้มน้ำตาล

นอกจากสิงคโปร์แล้ว ทังหยวนเป็นที่นิยมในหลายประเทศอาเซียน ในไทยคือ "บัวลอยน้ำขิง" อินโดนีเซียเรียกว่า "เวดัง รอนเด" คำว่าเวดังหมายถึงเครื่องดื่ม ส่วนรอนเดคือลูกกลมๆ ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน มักผสมสีแดง เขียว หรือขาว ต้มสุกกินกับน้ำขิงต้มน้ำตาล และเพิ่มน้ำใบเตยเพื่อความหอม

"กินาตัง บิโล-บิโล" เป็นทังหยวนเวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ มีความผสมผสานของทังหยวนกับรวมมิตรของไทย เพราะนิยมใช้น้ำกะทิแทนน้ำขิง และเพิ่มสาคู รวมถึงใส่ขนุนหั่นเป็นชิ้นๆ ลงไปด้วย เวียดนามเองก็มี เรียกว่า "แจ่ เจ่ย เนื้อก" ไส้บัวลอยมักใช้ถั่วเขียวบดผสมน้ำกะทิ กินกับน้ำขิงต้มน้ำตาลเหมือนกัน แต่เพิ่มเนื้อขิงบดลงไปด้วย ขณะที่ทางเหนือของเวียดนามจะกินกับน้ำกะทิแทน


    ตูรอน-เปาะเปี๊ยะ

"ตูรอน" เปาะเปี๊ยะทอดไส้หวานของฟิลิปปินส์ พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดและริมข้างทาง มีแบบไส้กล้วยอย่างเดียว และไส้กล้วยผสมขนุน หั่นกล้วยครึ่งลูกและฉีกขนุนเป็นชิ้นๆ พอดีคำ นำกล้วยแต่ละชิ้นคลุกกับน้ำตาลทรายแดง

จากนั้นวางกล้วยที่คลุกแล้วลงบนแผ่นเปาะเปี๊ยะ และนำขนุนที่ฉีกไว้วางทับลงไป ห่อแผ่นปอเปี๊ยะปิดหัว-ท้ายให้มิดชิด นำไปทอดในน้ำมันร้อนจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นสะเด็ดน้ำมัน โรยน้ำตาลทรายแดง หรือจะนำน้ำตาลไปเคี่ยวทำเป็นน้ำราดเพิ่มความหวานได้ดี นอกจากไส้กล้วยและขนุนแล้ว ตูรอนยังประยุกต์ใส่ไส้ชีส ช็อกโกแลต และไอศกรีมด้วย

อินโดนีเซียก็มีขนมคล้ายกับตูรอน แต่เป็นของว่างไส้คาวละม้ายคล้ายเปาะเปี๊ยะของจีน เรียกว่า "ลุมเปีย" นิยมทำไส้ผักผสมกันระหว่างกะหล่ำปลี ถั่วลันเตา หน่อไม้ แครอต และกล้วย บางครั้งก็ใส่เนื้อสัตว์สับลงไปด้วย เช่น หมู ไก่ วัว และกุ้ง กินได้ทั้งแบบทอดและแป้งสด

ขณะที่เวียดนามก็มีเช่นกัน ทางใต้เรียก "จ๋า ยอ" ทางเหนือเรียก "แนม ก๋วน" หรือ "แนม สาน" ส่วนใหญ่เป็นไส้กุ้งกับต้นหอม ทอดให้เหลืองกรอบก่อนรับประทาน ไทยเราก็คุ้นเคยแบบ ไส้คาวเรียก "เปาะเปี๊ยะทอด" ส่วนแบบหวานใกล้เคียงกับ "ข้าวเม่าทอด" ต่างกันตรงที่ไม่ได้ ห่อกล้วยด้วยแป้งเปาะเปี๊ยะ แต่มีไส้และนำไปทอดรับประทานเหมือนกัน


    ดาดาร์ กุลุง

ในอินโดนีเซียมีขนมที่เรียกว่า "ดาดาร์ กุลุง" ลักษณะคล้ายแพนเค้กม้วนห่อไส้หวาน บางครั้งก็เรียกว่าแพนเค้กอินโดฯ ตัวแป้งผสมกับเกลือ ไข่ไก่ กะทิ และน้ำใบเตย อาจหยดสีผสมอาหารสีเขียวเพิ่มลงไปเพื่อให้ดูน่ารับประทาน

ตัวไส้ทำจากมะพร้าวขูดผสมกับน้ำตาลปี๊บ เกลือ อบเชย และน้ำสะอาด นำไปใส่หม้อตั้งไฟเคี่ยวจนเป็นเนื้อเดียว กัน จากนั้นนำส่วนแป้งทอดด้วยเนยบนกระทะแบนแบบเดียวกับแพนเค้ก เมื่อแป้งสุกนำไส้ที่พักไว้มาใส่ด้านในแล้วม้วนปิด เสิร์ฟรับประทานร้อนๆ อร่อยไม่แพ้แพนเค้กฝรั่ง

ในมาเลเซียและบรูไนก็มีขนมแบบเดียวกัน เรียกว่า "กูอิห์ กุลัง" หรือ "กูอิห์ เกตายัป" และ "กูอิห์ เลงแกง" ที่สิงคโปร์คือ "กูอิห์ ดาดาร์" ส่วนขนมไทยที่คล้ายๆ น่าจะเป็น "ทองม้วนสด" ต่างกันตรงที่ไม่มีไส้ และ ดาดาร์ กุลุงไม่ได้ใส่มะพร้าวขูดเป็นเส้นผสมกับตัวแป้ง


    ขนมไข่เต่า-งาทอด

สัปดาห์นี้มาว่ากันต่อด้วยเรื่องขนมหวานสไตล์อาเซียน คนไทยหลายคนคงคุ้นเคยกับ "ขนมไข่เต่า" หรือ ขนมงาทอด ขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งสาลีปั้นเป็นก้อนกลมๆ ใส่ไส้ถั่วซีกนึ่งที่นำไปผัดกับน้ำตาล เกลือ และกะทิ แล้วห่อ ให้มิด จากนั้นคลุกด้วยงาขาวให้ทั่วก่อนนำไปทอดในน้ำมันจนสุกเหลืองเป็นอันเสร็จ

นอกจากไทยแล้วเพื่อนบ้านอาเซียนอีกหลายประเทศก็มีขนมคล้ายๆ กับขนมไข่เต่า ในอินโดนีเซียเรียกว่า "ออนเด ออนเด" เป็นขนมแป้งทอดคลุกงา และข้างในใส่ไส้ถั่วเหมือนกัน

มาเลเซียเรียกว่า "กูอิห์บอม" มีความ แตกต่างคือไส้ของกูอิห์บอมนิยมใช้เป็นมะพร้าวฉีกฝอยผัดกับน้ำตาล ขณะที่ไส้ถั่วหวานก็มีขายเช่นกัน

ฟิลิปปินส์เรียกว่า "บุตซี" แม้ด้านนอกจะเหมือนเป๊ะ แต่ไส้ในเป็นเม็ดบัวบดผสมถั่วแดง

สำหรับเวียดนามตอนใต้เรียก "แบ๊งกัม" เวียดนามเหนือคือ "แบ๊งสาน" ใช้ไส้ถั่วบดหวานเหมือนกัน แต่แบ๊งสานจะใส่กลิ่นมะลิเพิ่มความหอมลงไปด้วย


    ข้าวต้มมัดอาเซียน "เคว เลมเปอร์"

"เคว เลมเปอร์" ของว่างอินโดนีเซีย ทำจากข้าวเหนียวผัดไส้เนื้อสัตว์ปรุงรส ทั้งปลา และเนื้อหย็อง แต่ที่นิยมคือ "เลมเปอร์ อะยัม" ข้าวเหนียวผัดไส้ไก่ฉีกเป็นชิ้นๆ นำไปนึ่งหรือปิ้ง เดิมห่อด้วยใบตอง แต่ปัจจุบันห่อด้วยกระดาษน้ำมัน พลาสติก และฟอยล์ นอกจากรับประทานเป็นของว่างแล้ว เคว เลมเปอร์ ยังเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยก่อนรับประทานอาหารมื้อหลักอีกด้วย

เคว เลมเปอร์ คล้ายกับ "อะเร็ม อะเร็ม" ของว่างท้องถิ่นบนเกาะชวาของอินโดนีเซียเช่นกัน แต่ไส้ผสมผสานระหว่างเนื้อสัตว์กับผัก เรียกได้ว่าเป็นบ๊ะจ่างแดนอิเหนา ในมาเลเซียมีของว่างที่ละม้ายคล้ายกัน ชื่อ "เลอปัต" เป็นข้าวเหนียวผัดกับกะทิและถั่วลิสง ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลาน ฟิลิปปินส์ก็มีเรียกว่า "ซูมัน" เป็นข้าวเหนียวผัดกับกะทิ ห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง เวลากินราดหน้าด้วย "ลาติก" หรือกะทิ เคี่ยวจนแห้ง

สำหรับไทยคือ "ข้าวต้มมัด" มองภายนอกนั้นเหมือนกับเคว เลมเปอร์ จะต่างกันตรงไส้ เพราะข้าวต้มมัดไทยเป็นขนมหวาน นำข้าวเหนียวมาผัดกับกะทิและถั่วดำ ข้างในเป็นไส้กล้วย ไทยยังมี "ข้าวต้มลูกโยน" "ข้าวต้มมัดไต้" ที่เป็นไส้เค็ม และ "ข้าวเหนียวปิ้ง" ขณะที่ลาวมี "เข้าต้ม" ไส้เค็มใส่มันหมูกับถั่วเขียว และไส้หวานใส่กล้วย


    ขนมชั้น - แบ๋ง ซา เลิ๋น

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นนะที่มี "ขนมชั้น" แต่เพื่อนบ้านอาเซียนอีกหลายประเทศก็มีขนมหน้าตาแบบนี้เหมือนกัน ในไทยขนมชั้นเป็นของหวานงานมงคล และเป็นขนมยอดนิยมที่มีวางขายตามร้านขนมไทยเกือบทุกแห่ง

ขนมชั้นทำจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม และแป้งถั่วเขียว ผสมกับน้ำกะทิ น้ำตาล และเดิมทีจะเติมน้ำใบเตยคั้นซึ่งให้สีเขียว แบ่งเป็นสีเขียวอ่อนและเข้ม นำส่วนผสมถ้วยหนึ่งเทลงถาด แล้วนึ่ง พอเริ่มสุกเทส่วนผสมอีกถ้วยลงไป ทำสลับไปมาเป็นชั้นๆ โดยมีความเชื่อว่าจะต้องหยอดขนมให้ได้ ๙ ชั้นเพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากสีเขียวแล้ว ปัจจุบันมีขนมชั้นสีต่างๆ ทั้งม่วงอ่อนจากดอกอัญชัน สีชมพูจากดอกกุหลาบ สีน้ำตาลจากน้ำกรองเมล็ดกาแฟคั่ว รวมถึงจากสีผสมอาหารหลากสีสัน

ในเวียดนามมี "แบ๋ง ซา เลิ๋น" หรือ "แบ๋ง ซา แฮว" มีความหมายตรงตัวว่าเค้กหนังหมู เพราะเป็นชั้นหนา เป็นขนมท้องถิ่นในเมืองฮอยอัน คล้ายขนมชั้น ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน แป้งส่วนหนึ่งคลุกน้ำคั้นจากถั่วเขียว ผสมกะทิ น้ำตาล อีกส่วนผสมน้ำใบเตย กะทิ และน้ำตาลเช่นกัน นำไปนึ่งทีละชั้นสลับสีไปมา บางครั้งตัดขายเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม บางทีก็ม้วนเหมือนแยมโรลฝรั่ง


    ขนมชั้น - เคว ลาปิส

อินโดนีเซียเองก็มีขนมชั้น เรียกว่า "เคว ลาปิส" เควคือขนม ส่วนลาปิสแปลว่าชั้น รวมกันมีความหมายตรงตัวว่าขนมชั้น เคว ลาปิส เวอร์ชั่น อินโดฯ ใช้แป้งข้าวเจ้าผสมกะทิ สาคู น้ำตาล เกลือ และสีผสมอาหารตามชอบ แต่ที่นิยมคือสีเขียว ไม่ก็ใช้น้ำคั้นใบเตยเมืองไทย แบ่งส่วนผสมเป็นเฉดสีอ่อน-เข้ม แล้วเทลงถาดพิมพ์นำไปนึ่งพอคงตัว เทส่วนผสมอีกสีลงไปแล้วนึ่งต่อ ทำสลับไปมาเป็นชั้นๆ

คาดว่า เคว ลาปิส มีต้นแบบจาก "เค้ก สเป๊กคุก" ของเนเธอร์แลนด์ ชื่อขนมมีความหมายว่าเค้กท้องหมู เพราะเป็นชั้นๆ คล้ายการเรียกชื่อขนมชนิดนี้ในเวียดนาม สเป๊กคุกของชาวดัตช์มีต้นแบบสืบทอดอีกต่อหนึ่งจากเยอรมนี นั่นคือ "เค้กบามคูเฮน" จะต่างตรงที่เค้กฝั่งยุโรปทั้งสองชนิดเป็นขนมอบ ไม่ใช่ขนมนึ่งแบบขนมชั้นเอเชีย

ขณะที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เรียกขนมชั้นว่า "กูเว ลาปิส" และมีส่วนผสมรวมทั้งวิธีทำเหมือนเคว ลาปิส ของอินโดฯ


    ขนมไข่-กูอิห์บาฮูลู

"กูอิห์บาฮูลู" หรือขนมไข่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน มีลักษณะและส่วนประกอบเหมือน "ขนมไข่" ในไทย

ทั้งกูอิห์บาฮูลู และขนมไข่ เป็นขนมอบที่ทำจากแป้งสาลี ไข่ และน้ำตาล เริ่มจากตีไข่ขาวแล้วทยอยใส่น้ำตาลทรายลงไป ค่อยๆ ตีอย่างสม่ำเสมอ พอได้ที่ก็ใส่ไข่แดงลงไป ตามด้วยน้ำเปล่าเล็กน้อย สามารถเพิ่มกลิ่นต่างๆ ได้ อาทิ กลิ่นวานิลลา ตีต่อไปจนฟู

พักชามไข่ไว้ เพื่อเตรียมส่วนแป้งโดยร่อนแป้งสาลีกับผงฟูและเกลือป่น นำไข่ที่ตีฟูผสมกับส่วนแป้ง ตะล่อมเบาๆ จนเข้ากันแล้วนำไปใส่พิมพ์ขนมไข่ที่อุ่นร้อนไว้ก่อนหน้านี้ หยอดส่วนผสมแล้วอบที่ความร้อนประมาณ ๑๘๐-๒๒๐ องศาเซลเซียส แล้วแต่ความชอบว่าอยากให้ผิวนอกนุ่มหรือกรอบ อบนาน ๑๐-๑๒ นาที แซะขนมออกจากพิมพ์เป็นอันเสร็จ



    ขนมครก

"ขนมครก" หนึ่งในขนมไทยโบราณที่ยังคงความนิยมไม่เสื่อมคลาย แต่รู้หรือไม่ว่าเพื่อนบ้านอาเซียนก็มีขนมรูปร่างหน้าตาและรสชาติคล้ายขนมครกของไทย

ในอินโดนีเซียเรียกขนมชนิดนี้ว่า "เซอ ราบี" ที่พม่ามีชื่อว่า "โมก หลีน-มะย้า" แปลตรงตัวคือขนมผัว-เมีย และลาวเรียกว่า "ขนมคก" ต่างมีส่วนผสมเหมือนกัน ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว หัวกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ และน้ำมันพืช วิธีทำเริ่มจากผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว น้ำตาล และเกลือรวมกัน ใส่หัวกะทิแล้วค่อยๆ ตะล่อมส่วนผสม จากนั้นใส่ น้ำร้อนลงไป คนจนส่วนผสมเข้ากันดี เสร็จแล้วพักไว้ หันไปเตรียมหน้ากะทิ โดยใส่น้ำตาลทราย เกลือ และแป้งข้าวเจ้าลงในชาม คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันก่อนจะค่อยๆ ใส่หัวกะทิลงไป คนต่อจนเนียนเป็นเนื้อเดียว

เมื่อส่วนผสมครบแล้วก็นำเตาขนมครกตั้งไฟกลาง ใช้ผ้าชุบน้ำมันพืชทาหน้าเตาให้ทั่ว หยอดแป้งขนมครกลงไปในหลุมโดยเหลือขอบไว้เล็กน้อย เมื่อแป้งเริ่มสุกให้หยอดหน้ากะทิตามลงไปแล้วจึงปิดฝาเตาราว ๔-๕ นาที เมื่อขนมสุกเปิดฝาเตาช้อนออกจากเบ้าเสิร์ฟรับประทานได้

ขนมครกในไทยมีทั้งแบบไม่โรยหน้า และโรยหน้าด้วยต้นหอมซอย เผือกหั่นเป็นลูกเต๋า ฟักทอง และข้าวโพด ส่วนโมก หลีน-มะย้า มักโรยหน้าด้วยน้ำตาลทรายแดง ขณะที่ขนมคกนิยมรับประทานแบบไม่โรยหน้า และเซอราบีจะเสิร์ฟพร้อมน้ำเชื่อมมะพร้าวตำรับอิเหนา


    สังขยาลเปาว์

"สังขยาลเปาว์" ของประเทศกัมพูชา นิยมปรุงกับฟักทองคล้าย "สังขยาฟักทอง" ของไทย ต่างเป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ตัวสังขยานำมารับประทานกับข้าวเหนียวหรือใส่ในฟักทองหรือเผือกก็ได้

วิธีทำ นำหัวกะทิ น้ำตาลปี๊บ ไข่ เกลือ ขยำให้เข้ากันด้วยใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม กรองด้วยกระชอนแล้วนำไปนึ่ง หากทำเป็นสังขยาลเปาว์ และสังขยาฟักทอง ให้คว้านส่วนขั้วของผลฟักทองออก จากนั้นขูดเมล็ดที่อยู่ข้างในออก นำส่วนผสมสังขยาเทใส่ในลูกฟักทองก่อนนำไปนึ่งจนสุก

ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ก็มีสังขยาเหมือนกัน เรียกว่า "เซอรีกายา" หรือ "กายา" นิยมรับประทานเป็นหน้าข้าวเหนียว ในมาเลเซียใส่สีกายาเป็นสีเขียว เรียก "ปูลุตเซอรีกายา" ส่วนอินโดนีเซียทำกายาเป็นสีน้ำตาลอ่อน เรียกว่า "เกอตันเซอรีกายา" แบบนึ่งในผลฟักทองมีชื่อว่า "เซอรีกายาลาบูกูนิง"


    คลีปอน-ขนมโค

อินโดนีเซียมีขนมหวานแสนอร่อย ที่เรียกว่า "คลีปอน" ทำจากแป้งข้าวเหนียว บางครั้งผสมแป้งมันสำปะหลัง ใส่ไส้น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว นำไปต้มและคลุกด้วยมะพร้าวขูด นอกจากอินโดนีเซียแล้ว มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ก็มีขนมคลีปอนและเรียกชื่อเดียวกัน

แถมยังคล้ายมากๆ กับ "ขนมโค" ขนมพื้นบ้านภาคใต้ของไทย ทำจากแป้งข้าวเหนียว ค่อยๆ นวดกับน้ำกะทิ นิยมใส่น้ำคั้นใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมและสีสันน่ารับประทาน เมื่อเข้ากันดีปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดพอดีคำ ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาดๆ คลุมไว้พักหนึ่ง นำก้อนแป้งมาแผ่ออกแล้วใส่น้ำตาลแว่นลงตรงกลางก่อน ห่อปิดให้มิด ตั้งหม้อใส่น้ำใช้ไฟแรงจนน้ำเดือด นำขนมลงไปต้มพอสุกจะลอยขึ้นมา ตักพักไว้ในภาชนะ คลุกกับมะพร้าวขูดผสมเกลือเล็กน้อย บางทีผสมงาขาวและถั่วทองคั่วด้วย


    ซาโก กูลา เมลากา

ซาโก กูลา เมลากา" ของมาเลเซีย และมีในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ บรูไน กับส่วนผสมของเม็ดสาคู กะทิ และน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยว เริ่มจากต้มน้ำสะอาดให้เดือด ใส่เม็ดสาคูลงไป คนเบาๆ เพื่อไม่ให้เม็ดสาคูติดกัน ต้มราว ๘-๑๐ นาที ยกลงจากเตาแล้วเทผ่านกระชอนเพื่อกรองน้ำออก ตักพักไว้ในถ้วยขนาดเล็ก ปิดด้านบนด้วยฟิล์มถนอม เวลาเสิร์ฟคว่ำถ้วยลงกับจานหรือชามที่ต้องการ ราดหน้าด้วยน้ำกะทิต้ม ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย

ปิดท้ายราดด้วยน้ำตาลมะพร้าวเคี่ยวอีกชั้นเป็นอันเสร็จ บางครั้งอาจเติมน้ำใบเตยคั้น สีผสมอาหาร หรือเม็ดสาคูสำเร็จที่ผสมสี เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน

ซาโก กูลา เมลากา คล้ายกับ "สาคูเปียกน้ำกะทิ" ของไทยมากๆ จะต่างแค่สาคูเปียกไม่ได้ใส่น้ำตาลมะพร้าวเคี่ยว แต่เริ่มต้นแบบเดียวกัน คือตั้งหม้อใส่น้ำเปล่าลงไป รอให้น้ำเดือด ตามด้วยเม็ดสาคู ค่อยๆ คนจนเม็ดสาคูสุกใส ใส่น้ำตาลลงไปคนจนละลายแล้วพักไว้ ทำน้ำกะทิราดหน้าโดยผสมเกลือ และแป้งสาลี คนให้แป้งละลาย นำขึ้นตั้งไฟคนจนทุกอย่างเข้ากันดี

เสิร์ฟโดยนำกะทิราดบนสาคู และใส่เนื้อมะพร้าวอ่อนเพิ่มความอร่อย


ที่มา Khaosod daily
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2562 14:00:22 »

.

   บั๊ญบ่อ-ถ้วยฟู

"บั๊ญบ่อ" ขนมหวานของเวียดนาม หน้าตาคุ้นเคยคล้าย "ขนมถ้วยฟู" ของไทย บั๊ญบ่อมี ๒ แบบ คือ บั๊ญบ่อแบบปกติ และบั๊ญบ่อแบบหน้าแตกที่เรียกว่า "บั๊ญบ่อบง" ทั้งสองชนิดเป็นที่นิยมรับประทานทั่วไป และเป็นหนึ่งในขนมงานมงคล ทำจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลี ผสมน้ำ น้ำตาล ยีสต์ กะทิ ใส่สีตามชอบ จากนั้นนำไปนึ่งจนสุกฟู ก่อนกินโรยหน้าด้วยงาขาว

สำหรับบั๊ญบ่อสไตล์ไทยหรือขนม ถ้วยฟูนั้น ตำรับอย่างง่ายคือ ผสมแป้ง ข้าวเจ้า ผงฟู น้ำตาล และไข่ขาว นวดให้เข้ากันใส่น้ำลงไปเล็กน้อยแล้วคนต่อจนแป้งเป็นเนื้อเดียวเนียนสวย เติมกลิ่นและสีตามชอบ ผสมให้เข้ากันดี หยอดแป้งขนมลงถ้วยกระเบื้องหรือถ้วยตะไล นึ่งผ่านน้ำร้อนราว ๑๕-๒๐ นาทีเป็นอันเสร็จ



   
๑.กล้วยบวชชีไทย   ๒.แจ่ จ๊วย เวียดนาม

กล้วยบวชชี ของหวานที่หากินได้ในทุกภาคทั่วประเทศไทย วัตถุดิบหลักคือกล้วยกับกะทิ

เริ่มจากปอกกล้วยให้เกลี้ยง หากใช้กล้วยไข่ให้ตัดเป็น ๒ ท่อน ถ้ากล้วยน้ำว้าให้ผ่า ๒ ซีกแล้วค่อยตัด ๒ ท่อน นำหัวกะทิตั้งไฟให้เดือด ส่วนหางกะทิใส่น้ำตาล เกลือ ตั้งไฟ ค่อยๆ คนพอเดือดใส่กล้วยลงไปต้ม พอสุก ตักใส่ชามราดด้วยหัวกะทิเป็นอันเสร็จ กินได้ทั้งแบบร้อนและเย็น

นอกจากไทยเราแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็มีกล้วยบวชชีเช่นกัน ทั้งลาว กัมพูชา และพม่า เรียกว่า "งะ ปยอ ตี้ โอน โน่ ซาน" ส่วน "แจ่ จ๊วย" ของเวียดนามนั้นคล้ายกล้วยบวชชีของไทย ต่างกันตรงที่ผสมสาคู รวมทั้งใส่งาและถั่วลิสงบดเวลารับประทาน




ขนมถ้วย (ซ้าย)    บั่นแบ๋ว (ขวา)
ขนมถ้วยของไทย หารับประทานได้ตามร้านขนมทั่วไป และแน่นอนว่าต้องมีที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ อาหารคู่หูขนมถ้วยที่ใครๆ ก็ติดใจ

ตัวขนมใช้แป้งข้าวเจ้าผสมน้ำตาลปี๊บ แป้งมันสำปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม น้ำลอยดอกมะลิ และหางกะทิ คนให้เข้ากันจนน้ำตาลปี๊บละลายหมด จากนั้นกรองผ่านตะแกรงและพักไว้ นำถ้วยขนมหรือถ้วยตะไลไปนึ่งประมาณ ๕ นาที เพื่อไม่ให้ขนมติดถ้วย เทส่วนผสมตัวขนมลงไปในถ้วย กะปริมาณให้เกินครึ่งถ้วยเล็กน้อย ปิดฝานึ่งราว ๕ นาที

เสร็จแล้วยกลงจากเตาพักไว้ ๑-๒ นาที เทส่วนผสมหน้ากะทิ มีแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เกลือป่น และหัวกะทิ ผสมเข้าด้วยกัน เทลงไปจนเต็มถ้วย นำไปนึ่งต่ออีก ๖-๗ นาทีจนสุก ยกลงจากเตา รอให้เย็นแล้วค่อยๆ ใช้ไม้พายแคะขนมออกจากถ้วยเพื่อรับประทาน

สำหรับขนมที่คล้ายขนมถ้วยนั้นมีในเวียดนาม เรียกว่า "บั่นแบ๋ว" เป็นอาหารคาวของว่าง ไม่ใช่ของหวานแบบไทย โดยขนมถ้วยสไตล์เวียดนามนี้ ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว น้ำและเกลือ ผสมให้เข้ากันดีแล้วนำไปนึ่งให้สุก จากนั้นราดหน้าส่วนบนถ้วยด้วยเนื้อกุ้งสับผัดกับหมูสับ กระเทียม พริกไทย รากผักชี เหยาะน้ำปลา น้ำมันหอยและน้ำตาลเล็กน้อย เวลาเสิร์ฟให้ตักราดบนตัวแป้งแล้วโรยหอมแดงเจียวกับผักชี เป็นอันเรียบร้อย



   เต้าทึงเย็นอาเซียน

"เต้าทึงเย็น" ของไทย หาซื้อได้ทั่วไปทั้งตามแผงอาหารในตลาดจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากจะอร่อยแล้วยังมี คุณประโยชน์จากสารพัดธัญพืชที่ใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย พุทราแห้ง รากบัว เม็ดบัว และแป๊ะก๊วย รับประทานกับน้ำลำไยต้มใส่น้ำตาลให้รสหวานอ่อนๆ ตามด้วยน้ำแข็ง ช่วยดับร้อนและบำรุงสุขภาพไปพร้อมกัน

มาเลเซียก็มีคล้ายกับเต้าทึงแต่เรียกว่า "เหลิ่งฉีกัง" ส่วนสิงคโปร์คือ "เฉิงทึง" เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน นิยมกินช่วงหน้าร้อน นำ หล่อฮังก๊วยมาต้มกับลำไยอบแห้ง เม็ดบัว และน้ำตาลกรวด เครื่องที่ใส่มีทั้งลูกเดือย เม็ดแมงลัก ลูกพลับแห้ง แป๊ะก๊วย ลูกสำรอง วุ้นเป็นเส้น ลำไย สาคู และเห็ดหูหนูขาวฉีกเป็นชิ้นบางๆ



   เคมบังทาฮู-เต้าฮวย

"เคมบังทาฮู" ขนมหวานจากเต้าหู้ของชาวอินโดนีเซีย เชื้อสายจีน นำนมถั่วเหลืองตั้งไฟอ่อน ใส่ผงวุ้นและน้ำตาลลงไปแล้วค่อยๆ คนจนละลาย รอจนสุก นำแป้งข้าวโพดมาละลายกับนมถั่วเหลืองแล้วคนให้เข้ากัน

จากนั้นเทลงหม้อนมถั่วเหลือง คนให้ทั่วจนเป็นเนื้อเดียว เสร็จแล้วเทใส่ภาชนะที่ต้องการ ปล่อยให้ขนมจับตัว ระหว่างนี้ทำส่วนน้ำสำหรับรับประทานคู่กับตัวขนม ต้มน้ำเปล่าใส่ขิงฝานบางๆ ผสมกับน้ำตาลโตนดและน้ำตาลทรายขาว พอเดือดยกลง นำตะแกรงมากรองเศษขิงออก เสิร์ฟโดยตักตัวขนมใส่ถ้วยแล้วราดน้ำขิงปิดท้าย

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงร้องอ๋อเพราะว่าเคมบังทาฮูคล้ายกับ "เต้าฮวยน้ำขิง" ของไทย ต่างกันเล็กน้อยตรงส่วนประกอบ มีหลายสูตรสำหรับการทำเต้าฮวย ทั้งแบบใช้ถั่วเหลือง นำไปแช่น้ำจนนิ่มและขยำเอาเปลือกออก โม่กับน้ำแล้วใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำถั่วเหลือง นำไปตั้งไฟกลาง ใส่เจี๊ยะกอ แป้งมัน และแป้งข้าวโพด ผสมน้ำนิดหน่อย ละลายให้เข้ากันเทใส่ภาชนะไว้ เมื่อน้ำถั่วเหลืองเดือดจึงค่อยเท ยกลงใส่ภาชนะและทิ้งไว้ให้แข็งตัว อีกสูตรใช้น้ำเต้าหู้ใส่หม้อตั้งไฟอ่อนๆ พอเดือดก็ปิดไฟ ตวงแป้งมันและเจี๊ยะกอใส่น้ำพอละลาย คนให้แป้งเข้ากันดี เสร็จแล้วเทใส่น้ำเต้าหู้ที่เพิ่งต้ม คนให้ทั่ว เทใส่ภาชนะรอให้เย็นตัว

กินกับน้ำขิงต้ม ใช้ขิงแก่จัด ผสมกับน้ำตาลทรายแดงและน้ำตาลกรวด โรยหน้าด้วยปาท่องโก๋กรอบตัวเล็ก


   เต้าส่วน แจ่ เดิว แซง

"เต้าส่วน" ขนมหวานที่แม้จะหนืดๆ ยืดๆ ดูแปลกตา แต่ก็อร่อยและเป็นที่นิยมในหมู่ขนมหวานของไทย ทำจากถั่วเขียวเลาะเปลือก หรือที่เรียกว่าถั่วทอง นำไปแช่น้ำค้างคืน จากนั้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ และนำถั่วเขียวที่ได้มาห่อด้วยผ้าขาวบางเพื่อนำไปนึ่งให้สุกพอดี

ขั้นตอนต่อไปตั้งน้ำและใบเตยมัดเป็นปมใส่หม้อ ใช้ไฟปานกลาง รอจนน้ำเดือดใส่น้ำตาลลงไปและคนให้ละลาย ตามด้วยแป้งมันสำปะหลังกับแป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำ คนจนเป็นเนื้อเดียว ค่อยๆ เทลงหม้อ เคี่ยวจนแป้งสุกเป็นสีใสๆ เสร็จแล้วใส่ถั่วเขียวที่นึ่งลงไป คนจนส่วนผสมเข้ากันดี ตักใส่ถ้วย ราดหน้าด้วยน้ำกะทิ ใช้หัวกะทิใส่หม้อตั้งไฟ เติมเกลือลงไปเล็กน้อย คนให้เข้ากัน

เวียดนามเองก็มีขนมแบบเดียวกับเต้าส่วน แต่เรียกว่า "แจ่ เดิว แซง" มีวัตถุดิบ และส่วนผสมแบบเดียวกับเต้าส่วน บางครั้งรับประทานโดยไม่ราดน้ำกะทิ แต่ส่วนใหญ่นิยมกินกับน้ำกะทิ เพราะมีรส เค็มช่วยเสริมความอร่อยของถั่วต้มที่มีรสหวานนั่นเอง



   ทับทิมกรอบ แจ่ หัด ลืว  

การทำ "ทับทิมกรอบ" นำแห้วหั่นเป็นลูกเต๋า คลุกกับสีผสมอาหารสีแดงหรือสีเขียว ค่อยๆ ใส่แป้งมันลงไปคลุกกับแห้วให้ทั่ว นำตะแกรงมาร่อนแป้งส่วนเกินออกจากทับทิม เสร็จแล้วนำทับทิมที่ได้ไปต้มจนลอยขึ้นมา ตักใส่ชาม เติมขนุนฉีกเป็นเส้นๆ ราดด้วยน้ำเชื่อม กะทิสด ใส่น้ำแข็ง

ในเวียดนามก็มีขนมหวานแบบทับทิมกรอบเช่นกัน เรียกว่า "แจ่ หัด ลืว เนื้อก ก๊ก เหยือ" มีความหมายว่าขนมทับทิมน้ำกะทิ ตัวทับทิมกรอบใช้มันแกวหั่นเป็นลูกเต๋าคลุกกับแป้งมันและผสมสีต่างๆ กินกับน้ำเชื่อม-กะทิสดเหมือนกัน

ขณะที่กัมพูชามีชื่อคล้ายทับทิมกรอบมาก คือ "ทูทิมกรอบ" หรือเรียกสั้นๆ ว่าทูทิม โดยตัวทับทิมกรอบทำวิธีเดียวกันแต่นิยมกิน กับน้ำกะทิมากกว่าน้ำเชื่อม รวมถึงใส่วุ้นมะพร้าวและขนุนฉีก



   โคลั่ก-บวชชี

"โคลั่ก" ขนมหวานพื้นบ้านของอินโดนีเซีย นิยมใส่กล้วย แต่บางครั้งใช้ฟักทอง มันเทศ ขนุน และมันสำปะหลัง วิธีทำเริ่มจากต้มน้ำพอเดือด หากเป็นผลไม้เนื้อแข็งอย่างฟักทองให้ใส่ต้มลงไปพร้อมน้ำเปล่า จากนั้นใส่น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทรายแดงลงในน้ำ คนให้ละลาย รอน้ำเดือดแล้วจึงใส่หัวกะทิลงไป พอเดือด ใส่กล้วยฝานเป็นแว่นๆ หรือขนุนฉีก รับประทาน ร้อนๆ หรือรอให้อุ่นก่อน

ในไทยก็มีของหวานคล้ายกับโคลั่กคือ "กล้วยบวชชี" และสารพัดขนมแกงบวด ทั้งแกงบวดฟักทอง แกงบวดเผือก แกงบวดมัน และแกงบวดลูกตาล ต่างกันตรงที่กล้วยบวชชีของไทยไม่ได้ใส่น้ำลงไปแต่ใช้หางกะทิต้มในหม้อ เมื่อเดือดแล้วใส่น้ำตาลปี๊บและเกลือเล็กน้อย คนให้ละลายดีแล้วจึงใส่กล้วยที่หั่นไว้

เมื่อกะทิเดือดอีกครั้งใส่หัวกะทิลงไป รอจนเดือด ยกลงจากเตา กินร้อนๆ หรืออุ่นๆ  




ตาโฮะ-เต้าฮวย

พามากินขนมแดนตากาล็อกที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ตาโฮะ เต้าฮวยราดน้ำเชื่อมน้ำตาลทรายแดง และสาคูต้ม พบได้ทั่วไปตามตลาด แผงขายของ และหาบเร่ เป็นหนึ่งในสตรีตฟู้ดยอดนิยมของฟิลิปปินส์ คนขายจะหาบถังใส่เต้าฮวยไว้ฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งเป็นถังแบ่งส่วนใส่สาคูกับน้ำเชื่อม เวลาตักขายจะตักเต้าฮวยเป็นแผ่นบางๆ ใส่แก้วทรงสูงประมาณแก้วน้ำดื่ม

จากนั้นตักน้ำเชื่อมราด ตามด้วยสาคู แล้วราดน้ำเชื่อมอีกรอบ ก่อนจะใช้ช้อนคนให้เข้ากัน กินเพิ่มความสดชื่นได้เป็นอย่างดี

สำหรับไทยนั้นที่คล้ายๆ กันคือ เต้าฮวยน้ำขิง กับ เต้าฮวยนมสด เติมท็อปปิ้ง การทำเต้าฮวยใช้ถั่วเหลืองแช่น้ำจนนิ่มราว ๔-๕ ชั่วโมง ทำความสะอาดแล้วขยำ เอาเปลือกออก นำไปโม่กับน้ำจนละเอียด เสร็จแล้วใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำถั่วเหลือง ตั้งไฟกลางเอาเชื้อเจี๊ยะกอใส่ลงไป

ระหว่างนั้นผสมแป้งมันและแป้งข้าวโพดเข้ากับน้ำนิดหน่อย ละลายจนเป็นเนื้อเดียวเทใส่ภาชนะไว้ เมื่อน้ำ ถั่วเหลืองเดือดค่อยนำส่วนผสมของแป้งเทใส่

ทิ้งไว้ก็จะแข็งตัวเป็นเต้าฮวย กินกับน้ำขิงต้มน้ำตาลและปาท่องโก๋ตัวเล็ก

ส่วนเต้าฮวยนมสด นำนมสดใส่หม้อ ใส่เจลาตินแผ่นลงไปแล้วรอสัก ๑๐ นาที ค่อยตั้งไฟอ่อนๆ เมื่อนมเริ่มร้อนใส่น้ำตาลทรายแดง ปิดเตารอให้อุ่น จากนั้นเทใส่บรรจุภัณฑ์ นำไปแช่ตู้เย็นราว ๖-๑๒ ชั่วโมง เมื่อเต้าฮวยเซ็ตตัวก็นำไปรับประทาน จะใส่ผลไม้สด ผลไม้เชื่อมหรือผลไม้กระป๋องก็เข้ากันดี



   ข้าวเหนียวดำเปียก

ข้าวเหนียวดำเปียก หนึ่งในขนมหวานยอดนิยมของไทย

วิธีทำเริ่มจากซาวข้าวเหนียวดำให้สะอาด แช่น้ำข้ามคืน หากทำเป็นข้าวเหนียวดำ เปียกเผือก ให้หั่นเผือกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แช่น้ำปูนใสประมาณ ๓๐ นาที ล้างให้สะอาดแล้วพักไว้ นำหม้อใส่น้ำตั้งไฟ เทข้าวเหนียวดำ ที่สะเด็ดน้ำแล้วลงไปในหม้อพร้อมกับใบเตย ๒-๓ ใบมัดเป็นปม หมั่นคนอยู่เรื่อยๆ พอข้าวเปื่อยได้ที่ก็ใส่เผือกสี่เหลี่ยมลูกเต๋าลงไป ต้มจนเผือกสุก แล้วใส่น้ำตาล ต้มต่อสักพักค่อยปิดไฟ

ส่วนน้ำกะทิสำหรับราดด้านบนนั้น ใส่กะทิลงในหม้อตั้งไฟ ให้เดือด เติมเกลือเล็กน้อย พอเดือดแล้วยกลง เสิร์ฟโดยตักข้าวเหนียวดำใส่ถ้วย ราดด้วยน้ำกะทิ

ในไทยยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่กินเข้าคู่กับข้าวเหนียวเปียก ทั้งลำไย ข้าวโพด มะพร้าวอ่อนขูด และมะม่วง

มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านชาติอาเซียนต่างมีขนมหวานคล้ายข้าวเหนียวดำเปียกของไทย เรียกว่า "บูบูร์ ปูลุต ฮิตัม" วิธีการทำและวัตถุดิบหลักเหมือนกันทุกขั้นตอน แต่นิยมรับประทานกับเนื้อลำไยอบแห้ง บางครั้งแต่งหน้าด้วยกล้วยสุกฝานบางๆ



   เถ่าส่วน-ปาท่องโก๋

ก่อนหน้านี้เคยพาไปทำความรู้จักกับเต้าส่วน ของไทย และ แจ่ เดิว แซง ของเวียดนาม สองเมนูขนมหวานเหนียวหนืดแสนอร่อยจากถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งในมาเลเซียและสิงคโปร์ก็มีเหมือนกัน แถมชื่อยังคล้ายกันมาก คือ "เถ่าส่วน"

ขั้นตอนการทำและวัตถุดิบหลักเหมือนกันทุกอย่าง จะต่างก็ตรงที่เถ่าส่วนใช้แป้งมันฝรั่ง ไม่ใช่แป้งแป้งมันสำปะหลังกับแป้งเท้ายายม่อมแบบตำรับไทย

นอกจากนี้ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ยังนิยมรับประทานโดยไม่ราดหัวกะทิปรุงรส แต่จะเสิร์ฟเถ่าส่วนกับโหยวเถียว หรือปาท่องโก๋ตัวยาว ทอดร้อนๆ จะวางใส่จานแยกมาอีกใบ หรือจะหั่นเป็นชิ้นแล้ววางโรยหน้าเถ่าส่วนก็ได้



   ดอกจอก-ดอกบัว

ขนมหวานทอดกรอบแสนอร่อยที่ซื้อหาได้จากตลาดทั่วไป ในไทยเรียกว่า "ขนมดอกจอก" เนื่องจากมีความละม้ายคล้ายจอก วัชพืชน้ำขนาดเล็ก ส่วนลาวประเทศเพื่อนบ้านเรียกว่า "ขนมดอกบัว" เพราะมองว่าเหมือนดอกบัว

ทั้งขนมดอกจอกและขนมดอกบัวมีวิธีทำแบบเดียวกัน ต่างกันแค่ส่วนประกอบบางอย่าง ขนมดอกบัวจะใช้แป้งอเนกประสงค์กับแป้งข้าวเจ้า ส่วนขนมดอกจอกใช้แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และแป้งสาลี นำแป้งไปร่อน จากนั้นผสมกะทิและน้ำ คนให้เข้ากันแล้วค่อยตอกไข่ใส่ลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย ปูนแดง เกลือ และงา คนส่วนผสมจนเข้าที่ ตั้งกระทะและแช่พิมพ์ขนมลงในน้ำมัน รอจนน้ำมันร้อนจึงยกพิมพ์ขึ้นจากกระทะ แล้วกดลงบนผ้าก่อนนำไปชุบแป้ง นำไปใส่กระทะที่เตรียมไว้และเขย่าพิมพ์เพื่อแป้งร่อนหลุดออกมา ทอดจนเหลืองกรอบ นำขึ้นพักสะเด็ดน้ำมัน เสร็จแล้วพร้อมเสิร์ฟ  




ซ้าย – ขนมข้าวต้มหัวหงอก   ขวา - เอสปีซัง อิโจ

ขนมหวานที่ใช้วัตถุดิบหลักเหมือนกัน หน้าตาละม้ายคล้ายกัน แต่กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง เมนูแรกคือ เอสปีซัง อิโจ ของอินโดนีเซีย นิยมมากในจังหวัดสุลาเวซีใต้ โดยเฉพาะเมืองมาคัสซาร์ ผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว น้ำตาล กะทิ และน้ำคั้นใบเตยเพิ่มสีและกลิ่นหอม ตั้งหม้อไฟอ่อน ค่อยๆ คนจนแป้งเป็นเนื้อเดียว เสร็จแล้วนำแป้งมาห่อกล้วยที่ปอกเปลือก นึ่งราวๆ ๑๕ นาทีจนแป้งสุก เสิร์ฟโดยหั่นเป็นชิ้นๆ วางลงในชามหรือจาน ตามด้วยน้ำแข็งไส ราดน้ำหวานและนมข้นหวานปิดท้าย

อีกเมนูคือ ขนมข้าวต้มหัวหงอก ขนมของชาวล้านนาในไทย นำข้าวเหนียวไปล้างและแช่ทิ้งไว้ ๑-๒ ชั่วโมง นำข้าวเหนียวเกลี่ยลงบนใบตองที่ทำความสะอาดแล้ว จากนั้นวางกล้วยน้ำว้าสุกลงไป ตามด้วยข้าวเหนียวอีกครั้งเพื่อปิดกล้วยให้มิด ห่อขนมในใบตองให้เรียบร้อย ใช้ตอกมัดหัวท้ายให้แน่นพอประมาณ ใส่ลงในน้ำตั้งหม้อไฟกลาง ต้ม ๑ ชั่วโมงจนข้าวเหนียวสุก ยกลง แกะห่อออก หั่นเป็นชิ้นๆ รับประทานกับมะพร้าวขูดและจิ้มน้ำตาลทราย  



   กูเวมังกุก

เคยพาไปรู้จัก "บั๊ญบ่อ" ขนมหวานของเวียดนามที่หน้าตาละม้ายคล้าย "ขนมถ้วยฟู" ของไทยกันมาแล้ว สัปดาห์นี้ลองมาชิม "กูเวมังกุก" ขนมถ้วยฟูเวอร์ชั่นแดนใต้ที่พบเห็นรวมถึงหาซื้อรับประทานได้ในอินโดนีเซียและบรูไน กูเวมังกุกมีความหมายว่าเค้กถ้วย

ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งสาคูใส่ยีสต์ ไข่ไก่ กะทิ น้ำตาล เกลือ และสีผสมอาหารหรือสีธรรมชาติตามใจชอบ นิยมทำสีชมพู เขียว เหลือง บางตำรับผสม "ทาไป" หรือ "ทาเป" ข้าวเหนียวนึ่งสุกโรยลูกแป้ง น้ำตาล ห่อใบตองหรือปั้นเป็นก้อนกลมตั้งทิ้งไว้ ๒-๓ วัน รสชาติคล้ายข้าวหมาก

นอกจากนี้ยังสามารถใส่เนื้อมันเทศหวานหรือเนื้อเผือกที่นำไปนึ่งแล้วยีเข้ากับส่วนผสมอื่นๆ เมื่อนวดจนแป้งเป็นเนื้อเนียน หยอดแป้งขนมลงในถ้วย นำไปนึ่งจนสุก ส่วนบนของขนมจะฟูขึ้นและแตกออกคล้ายกลีบดอกไม้  



   กูอิห์ซินซิน-ขนมกง

"กูอิห์ซินซิน" ขนมแป้งทอดเป็นวงในบรูไนและรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นด้วยการนำน้ำตาลทรายแดง และกูลา เมอลากา หรือน้ำตาลปี๊บจากมะพร้าว เทใส่น้ำต้มในหม้อ คนจนละลายกลายเป็นน้ำเชื่อม จากนั้นนำไปเทลงชามผสมน้ำมันพืช น้ำตาลทรายขาวและเกลือ คนให้เข้ากันแล้วค่อยๆ เทแป้งข้าวเจ้าลงไป นวดจนเป็นเนื้อเดียว ใช้แผ่นฟิล์มห่อและนำไปพักไว้ในตู้เย็น

ระหว่างนั้นทำส่วนแป้งสำหรับชุบทอด ผสมแป้งข้าวเจ้ากับน้ำให้เข้ากัน นำแป้งที่พักไว้ออกมานวดแผ่ให้เป็นแผ่น ใช้พิมพ์ตัดวงกลม และทำวงกลมเล็กๆ ข้างหน้า ตั้งกระทะใส่น้ำมันด้วยไฟปานกลาง พอเริ่มเดือดนำแป้งที่ตัดเสร็จแล้วลงทอด รอแค่พอเหลืองก็นำขึ้นเพื่อไปชุบกับแป้งผสมน้ำที่ทำไว้ จากนั้นทอดอีกครั้งจนเหลืองกรอบ รับประทานเป็นขนมหรือของว่าง

ในไทยมีขนมที่คล้ายกับกูอิห์ซินซิน นั่นคือ "ขนมกง" หรือ "ขนมไข่ปลา" ขนมพื้นเมืองภาคกลาง แถบจังหวัดสมุทรสาครและภาคใต้ มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นไขว้พาดกันคล้ายรูปล้อเกวียน ตั้งกระทะนำน้ำตาลปึกกับกะทิเคี่ยวจนเหนียวแล้วยกลง คนกับน้ำตาลทรายพออุ่นผสมถั่วเขียวป่น ข้าวตอกป่น นวดให้เข้ากัน ปั้นถั่วเป็น ก้อนกลมๆ ขนาดเล็ก ก่อนนำไปคลึงบนกระดาษให้เป็นเส้นยาว ทำเป็นวงกลม แล้วนำอีกก้อนที่มีขนาดเล็กกว่ามาคลึงยาวๆ วางพาดกลางเป็นรูปกากบาท ผึ่งให้แห้ง ทำส่วนผสมแป้งสำหรับชุบทอด ใส่แป้งข้าวเจ้ากับแป้งสาลี หัวกะทิ และไข่แดง นำขนมมาชุบแป้งทอดจนกรอบหอมเป็นอันเสร็จ



   โซยลาซัว-ข้าวเม่าคลุก

"โซยลาซัว" ของหวานจากเวียดนาม ปรุงโดยนำใบเตยมาหั่นคั้นเป็นน้ำ กรองกากออก เติมเกลือเล็กน้อยและเติมน้ำอุ่น คนให้เข้ากันแล้วนำไปเทในชามใส่ข้าวสารเหนียวจนมิด แช่ไว้ระหว่าง ๔-๑๒ ชั่วโมง จากนั้นกรองน้ำออก นำไปนึ่งในซึ้งนาน ๑๕-๒๐ นาที เปิดฝาซึ้งนึ่งผสมกะทิ น้ำตาลและเกลือลงในข้าวเหนียว คลุกเคล้าให้ทั่ว นึ่งต่ออีก ๑๐-๑๕ นาที ตักเสิร์ฟ ราดหน้าข้าวเหนียวด้วยมะพร้าวขูด น้ำตาลทราย งาขาวคั่ว บางครั้งโรยถั่วลิสงและเม็ดบัว

ในไทยก็มีขนมคล้ายโซยลาซัว นั่นคือ "ข้าวเม่าคลุก" เริ่มจากนำข้าวเม่าไปร่อนเอากากออกแล้วเทใส่ชาม ระหว่างนั้นขูดมะพร้าวทึนทึกคลุกกับเกลือแล้วนำไปนึ่ง พักไว้ ตั้งน้ำให้เดือดใส่เกลือลงไปคนจนละลายดี ปิดไฟทิ้งไว้ให้เย็น นำน้ำเกลือไปพรมใส่ข้าวเม่าทีละนิด ค่อยๆ เติมน้ำเกลือและคลุกต่อจนข้าวเม่านิ่ม ใส่มะพร้าวขูดลงไปคลุกให้เข้ากัน ตักข้าวเม่าที่คลุกแล้วใส่จาน โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกขูดและน้ำตาลเป็นอันเสร็จ


ที่มา Khaosod daily
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2562 14:03:26 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 31 ตุลาคม 2562 14:43:52 »

    กูอิห์บังกิต-ขนมผิง

สัปดาห์นี้พามาชิม "กูอิห์บังกิต" ขนมแป้งอบรสหวานแสนอร่อย บรูไนก็มีเช่นกันเรียกว่า "บิสกุตมอร์" นิยมรับประทานในวันฮารีรายอ หรือ ฮารีรายา วันรื่นเริงของชาวมุสลิม ส่วนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนก็กินขนมชนิดนี้ด้วย โดยจะกินในช่วงเฉลิมฉลองวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั่นเอง

วิธีทำ นำแป้งมันสำปะหลังไปคั่วในกระทะหรืออบให้สุกพอประมาณก่อนค่อยทำขนม อาจใส่ใบเตยลงไปเพื่อเพิ่มความหอมของแป้ง ผสมน้ำตาลกับไข่ไก่ตีจนเป็นเนื้อเนียนสีเหลืองสวย นำแป้งใส่ลงไปในชามน้ำตาลกับไข่ คนให้เข้ากัน ระหว่างนั้นค่อยๆ เทหัวกะทิลงไปทีละน้อย ลองปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆ ถ้าไม่แตกร่วนถือว่าใช้ได้ นำแป้งใส่พิมพ์ขนม เคาะออก วางบนถาดนำเข้าเตาอบราว 15 นาทีเป็นอันเสร็จ

ขนมที่คล้ายๆ แบบนี้ในไทยเรียกว่า "ขนมผิง" ทำโดยนำหัวกะทิไปตั้งไฟอ่อนๆ ใส่น้ำตาลลงไปคนจนละลาย ยกลงทิ้งไว้ให้พออุ่น ใส่ไข่ที่ตีแล้วลงไปคนให้เข้ากัน แล้วค่อยๆ เติมแป้งลงไป นวดให้เข้ากันจนแป้งเนียน ปิดแรปพักไว้ 1 คืน วันต่อมาค่อยนำแป้งออกมานวดใหม่แล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเล็กๆ เรียงใส่ถาดทาน้ำมัน วางให้ห่างพอประมาณ นำเข้าอบจนสุก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วเอาออกมาพักให้เย็น อบควันเทียนเพิ่มความหอมก่อนเก็บใส่ภาชนะ



   หนมละเปิว ขนมกล้วย

"หนมละเปิว" ขนมหวานกัมพูชา หากแปลตรงตัวมีความหมายว่าขนมฟักทองเทศ วัตถุดิบประกอบด้วยฟักทองเทศปอกเปลือกแล้ว นำไปขูดเป็นเส้นๆ ผสมกับมะพร้าวขูดฝอย แป้งข้าวเจ้า เกลือ น้ำตาล และกะทิ คลุกเคล้า ให้เข้ากัน ตักประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ วางบนใบตองแล้วห่อปิดหัวท้าย นำไปนึ่งจนสุกใช้เวลาราว 15-20 นาที รับประทานเป็นขนมหรือของว่างรองท้อง

หนมละเปิวของกัมพูชานั้นคล้ายกับขนมกล้วย-ขนมฟักทองของไทยมาก หากเป็นขนมกล้วยจะใช้กล้วยน้ำว้า ส่วนขนมฟักทองจะใช้ฟักทอง นำไปนึ่งจากนั้นบดให้ละเอียดแล้วตักใส่ชามแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งมัน เติมเกลือ น้ำตาล หัวกะทิ และมะพร้าวขูดลงในชาม นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ตักส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลหรือจะห่อใบตองก็ได้ นึ่งในรังถึงนาน 15 นาที

กินได้ทั้งตอนร้อนๆ หรือพักให้เย็น



    ข้าวเหนียวแดง-วาจิก

"ข้าวเหนียวแดง" ของไทย ขนมโบราณที่นิยมทำในช่วงสงกรานต์ แต่สามารถหาซื้อหารับประทานได้ทั่วไปเช่นกัน จริงๆ แล้วมี 2 สี คือสีน้ำตาลแดงซึ่งได้จากการเคี่ยวน้ำตาล และสีเขียวจากใบเตย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นข้าวเหนียวแดงมากกว่า

ใส่น้ำตาลปี๊บลงในกระทะทองเหลือง ตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวจนน้ำตาลละลายเป็นคาราเมล ค่อยๆ เทกะทิและใส่เกลือป่นลงไปคนให้เข้ากันดี ใส่ข้าวเหนียวที่ล้างสะอาดลงไปกวนกับส่วนผสมน้ำตาล ใช้ไม้พายกวนเรื่อยๆ จนข้าวเหนียวเริ่มแห้ง และร่อนออกจากกระทะ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที พักทิ้งไว้สักครู่ ตักขนมลงถาดที่ทาน้ำมันพืชบางๆ เกลี่ยนหน้าขนมให้เรียบ โรยงาขาวคั่ว ตัดเป็นชิ้นๆ พร้อมรับประทาน

ในอินโดนีเซียก็มีขนมที่คล้ายกัน โดยเรียกว่า "วาจิกเกตัน" มาเลเซียเรียกว่า "กูอิห์วาจิก" หรือสั้นๆ แค่ "วาจิก" ส่วนบรูไนมีชื่อว่า "กูอิห์วาจิด" และเรียกสั้นๆ เพียงวาจิด เริ่มต้นด้วยการล้างและแช่ข้าวเหนียวข้ามคืน เทน้ำทิ้ง แล้วนำข้าวไปนึ่งกับใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เมื่อสุกปิดไฟพักไว้ให้ครู่หนึ่ง ระหว่างนั้นผสมกะทิและน้ำตาลโตนดเข้าด้วยกัน นำข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วใส่ลงในชามผสมน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นเทลงบนถาดที่ทาน้ำมันไว้ก่อนแล้ว รอให้คงตัวในอุณหภูมิห้อง และตัดเป็นชิ้นๆ รับประทานได้ (




     คุตซินตา

ขนมอีกชนิดจากเพื่อนบ้านอาเซียนที่ละม้ายคล้ายขนมถ้วยไทย คือ "คุตซินตา" ต่างกันตรงที่ขนมถ้วยไทยจะมี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนผสมของแป้ง ชั้นบนมีส่วนผสมหน้ากะทิ

สำหรับคุตซินตาทำจากแป้งข้าวเจ้า แป้งอเนกประสงค์ และน้ำตาลทรายแดง นำมาใส่ลงในชามผสม คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ระหว่างผสมเติมน้ำเปล่าสะอาดทีละน้อยจนแป้งเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน

ขั้นตอนต่อไปเติมน้ำก๋านโสยซึ่งนิยมใช้นวดผสมกับแป้งข้าวสาลีเพื่อทำบะหมี่เหลือง แผ่นเกี๊ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และใช้ทำปลาหมึกกรอบ ตามด้วยน้ำเมล็ดแอนแนตโทที่ให้สีเหลืองอมส้มหรือส้มแก่ออกโทนน้ำตาลแล้วแต่จำนวนที่ใส่ เทแป้งที่คนเข้ากันดีลงในพิมพ์คล้ายถ้วยตะไล นำไปนึ่ง 35-40 นาที พักให้เย็น โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดฝอย



     บูเบอร์ ชาชา

"บูเบอร์ ชาชา" ขนมหวาน หอม มัน ในมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ละม้ายคล้ายรวมมิตรน้ำกะทิของไทย สำหรับบูเบอร์ ชาชา นิยมใส่มันหวาน มันเทศและเผือก หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าพอดีคำ นำไปนึ่งให้สุกใช้เวลาราว 20 นาที

ระหว่างนั้นนำน้ำคั้นใบเตยใส่หม้อตั้งไฟอ่อน ต้มจนเดือดเทลงในชามผสมที่มีแป้งมันสำปะหลัง คลุกเคล้าให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียว นวดต่ออีกพักให้แป้งเนียน นำไปคลึงและใช้ไม้นวดแป้งนวดออกเป็นแผ่น จากนั้นตัดเป็นแถวยาวหั่นเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดเล็ก นำไปต้มในน้ำเดือด พอแป้งใสให้ช้อนขึ้นแล้วแช่ในน้ำเย็น

นำหม้อตั้งไฟใส่หัวกะทิ น้ำตาล เกลือ น้ำเปล่าเล็กน้อย และใบเตยมัดเป็นปม เพิ่มความหอม พอเริ่มเดือดตักใบเตยออก ใส่มันหวาน มันเทศ เผือก รวมถึงแป้งต้มที่เตรียมไว้ รอเดือดอีกรอบ ตักใส่ชามรับประทานได้ทั้งร้อนและเย็น

นอกจากมันและเผือกแล้วยังนิยมใส่กล้วยหั่นเป็นชิ้น ถั่วดำต้ม ขนุนฉีกเป็นเส้นๆ ทุเรียน มะพร้าวอ่อนขูด และสาคูต้ม 



    อันซอมกัมพูชา

กัมพูชาเองก็มีขนมว่างที่คล้ายข้าวต้มมัดของไทย เรียกว่า "อันซอม" มีทั้งแบบหวาน และคาว ปกติจะทำเป็นมัดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร แบบหวาน คือ "อันซอม เจก" หรือข้าวต้มมัดกล้วย ใช้ใบมะพร้าวอ่อนห่อส่วนผสมที่ประกอบด้วยข้าวเหนียวแช่น้ำราว 4 ชั่วโมง ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำพักไว้ ใส่มะพร้าวขูดและเกลือลงไปเล็กน้อย ปอกกล้วยผ่าครึ่งเตรียมไว้ วางส่วนผสมข้าวเหนียวบนใบตอง จากนั้นวางกล้วยสุกที่ฝานแล้วและนำส่วนผสมข้าวประกอบด้านบน ห่อด้วยเชือกฟางหรือตอกไม้ไผ่ นำไปต้มในหม้อราว 20 นาทีเป็นอันเสร็จ

ส่วนแบบคาวชื่อว่า "อันซอม จรุ๊ก" หรือข้าวต้มมัดไส้หมู เป็นข้าวเหนียวผสมถั่วลิสง เนื้อหมูและมันหมูปรุงรสเค็มอ่อนๆ วิธีทำเหมือนอันซอม เจก และห่อด้วยใบตองนำไปต้ม มีรสชาติเค็ม มัน และกลิ่นหอมจากใบตอง



     แบ๋งเตียว

"แบ๋งเตียว" ของว่างกรอบๆ หวานๆ สไตล์เวียดนาม คล้ายกับ "ซาลาเปาทอด" ของไทย ลักษณะเด่นของแบ๋งเตียวคือข้างในมีเนื้อกลวงกับรสหวานอ่อนๆ เริ่มจากผสมยีสต์กับน้ำอุ่น เติมน้ำตาล พักไว้ 10 นาที

จากนั้นนำชามผสมอีกใบมาใส่แป้ง น้ำตาล เกลือ และเบ๊กกิ้งโซดา ผสมจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ก่อนเทส่วนผสมยีสต์ลงไป คลุกเคล้าและนวดจนแป้งขึ้นฟูเนียนสวย หยดน้ำมันเล็กน้อย นวดต่อพักหนึ่งปิดชามด้วยฟิล์มพลาสติก วางไว้ในที่อุณหภูมิห้องนาน 2 ชั่วโมง เมื่อแป้งฟูเป็นสองเท่านำมาแบ่งเป็นส่วนๆ คลุกกับงาขาวคั่ว ก่อนปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดลูกปิงปอง

นำกระทะใส่น้ำมันตั้งไฟปานกลาง ขณะรอน้ำมันเดือดนำแป้งปั้นกลมไปคลึงด้วยไม้นวดแป้งจนแบน แล้วทอดในกระทะราว 3-5 นาที เมื่อสุกแป้งจะฟูเป็นก้อนกลม ส่วนเนื้อข้างในเป็นแบบกลวง นิยมรับประทานร้อนๆ กับชา กาแฟ 



     ข้าวหลาม-ข้าวลำ

ไทยและลาวมีของว่างแสนอร่อยที่คล้ายกันมาก ฝั่งไทย เรียกว่า "ข้าวหลาม" ฝั่ง เพื่อนบ้านสปป.ลาว เรียกว่า "ข้าวลำ"

ล้างข้าวสารเหนียวให้สะอาด สะเด็ดน้ำแล้วใส่ถั่วดำต้มสุกลงไปคลุกเคล้ากับข้าวเหนียว นำส่วนผสมข้าวกับถั่วดำกรอกลงกระบอกไม้ไผ่ ค่อยๆ เทลงไปทีละ 1 กำมือ เสร็จแล้วกระแทกเบาๆ แล้วเทลงไปอีกกำมือ ทำไปเรื่อยๆ จนเกือบเต็มกระบอก ผสมกะทิ น้ำตาล และเกลือ คนให้เข้ากันจนละลาย เทน้ำกะทิผสมลงไปในกระบอกทีละน้อยจนท่วมข้าวหลาม พับใบเตยเป็นรูปสี่เหลี่ยมปิดกระบอกข้าวหลาม แล้วนำกาบมะพร้าวม้วนเป็นทรงกลมมาปิดอีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ก่อนนำกระบอกข้าวหลามเผาราว 30-45 นาทีจนสุก ปอกส่วนกระบอกออกเพื่อรับประทาน

เดิมทีข้าวหลามมีแค่ข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวดำ ปัจจุบันมีการปรับปรุงพัฒนาสูตรจนเกิดข้าวหลามสารพัดรส อาทิ ข้าวหลามรสชาไทย รสนมชมพู รสชาเขียว เรื่อยไปจนถึงข้าวหลามแบบของคาว ข้าวหลามหน้าแกงน้ำพริกปลาทู แกงเขียวหวาน ต้มยำ ต้มข่า และพะแนง 



     บั๋นตาม-ขนมเล็บมือนาง

"บั๋นตาม ควาย หมี่" ขนมหวานแดนเวียดนามที่ละม้ายคล้าย "ขนมเล็บมือนาง" หรือ "ขนมด้วง" ของไทย บั๋นตามเป็นขนมท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ

เริ่มจากเทน้ำลงในชามผสม เทแป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล เกลือเล็กน้อย และกลิ่นวานิลลา คนให้เข้ากัน จากนั้นแบ่งแป้งที่ผสมแล้วออกเป็นส่วนๆ ตามสีที่ต้องการใส่ ส่วนใหญ่นิยมทำ 3 สี ได้แก่ สีเขียว สีชมพู และสีเหลือง เสร็จแล้วเทแป้งผสมสีลงในภาชนะสำหรับนึ่ง นำไปใส่ลังถึงตั้งไฟปานกลาง นึ่งประมาณ 10-15 นาที นำออกมาพักไว้จนเย็นแล้วใช้มีดตัดออกเป็นเส้นยาวๆ ทำจนครบทั้งสามสีก่อนคลุกกับมะพร้าวป่นให้ทั่ว กินเลยก็อร่อย หรือจะเก็บใส่ขวดโหลไว้รับประทานได้นาน

ขณะที่ขนมเล็บมือนางของไทยนั้น เริ่มจากผสมข้าวเจ้าและแป้งมันลงในชาม เทน้ำเปล่าตามลงไป แบ่งน้ำแป้งเป็นส่วนเท่าๆ กันเพื่อผสมสีตามชอบ นำแป้งแต่ละสีเทใส่กระทะทองเหลือง ตั้งไฟอ่อนกวนให้แป้งจับตัวเป็นก้อน นำลงมาพักแล้วนวดต่อ นำแป้งแต่ละสี ที่นวดเสร็จมาปั้นเป็นทรงรียาว นำไปนึ่งให้สุกใช้เวลา 10-15 นาที

ระหว่างนั้นต้มกะทิใส่เกลือเล็กน้อย แค่พอร้อนแล้วตักใส่ชามพักไว้ จากนั้นนำขนมเล็บมือนางที่นึ่งมาคลุกในน้ำกะทิที่เย็นแล้วจน อิ่มตัวนำมาจัดใส่จาน โรยด้วยมะพร้าวทึนทึกขูด และน้ำตาลผสมงาขาวคั่วเป็นอันเสร็จ 



     กล้วยทับ-มันทอด

เวลาเดินตลาดหลายคนคงเคยเห็นร้านขาย "กล้วยทับ" ของว่างแสนอร่อยตำรับไทยๆ ที่มาพร้อมประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า เลือกกล้วยห่ามๆ ปอกเปลือก เสร็จแล้วจะหั่นเป็นแว่นๆ ขนาดหนาพอประมาณหรือใช้กล้วยทั้งลูกก็ไม่มีปัญหา นำไปอบหรือปิ้งราว 20 นาทีจนกล้วยสุกเหลือง หากมีไม้ทับกล้วยก็ใช้ได้เลย หรือจะเป็นของรอบตัว อย่างเช่นเขียง จาน หรือชามก็ใช้ทับกล้วยได้เช่นกัน จัดวางกล้วยที่ทับแล้วลงบนจาน ราดน้ำที่ทำจากกะทิใส่หม้อตั้งไฟ ผสมน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายแดง นมสด แป้งข้าวโพด และเนย คนให้เข้ากัน เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนเดือด พักไว้ให้เย็น

ฟิลิปปินส์เองก็มีของว่างคล้ายกล้วยทับ แต่ทำจากมันเทศ เรียกว่า "คาโหมตคิว" เริ่มจากหั่นมันเทศออกเป็นแว่น นำหม้อใส่น้ำมันและน้ำตาลทรายแดงตั้งไฟกลาง เทชิ้นมันเทศลงไปทอดจนเหลืองสวย นำขึ้นโรยน้ำตาลทรายแดงอีกรอบ ตักชิ้นมันเทศขึ้นเสียบไม้ไผ่เหลา รับประทานร้อนๆ ก็อร่อย หรือจะรอให้เย็นก็ได้เหมือนกัน 



บ็อง-แอม ซอนแดก เขียว - ถั่วเขียวต้ม

"บ็อง-แอม ซอนแดก เขียว" หรือถั่วเขียวต้มกะทิ ขนมหวานจากกัมพูชา เริ่มจากนำกะทิใส่หม้อตั้งไฟกลาง ต้มจนกะทิเดือด เทถั่วเขียวแช่น้ำข้ามคืนลงไป เติมเกลือเล็กน้อย ลดไฟและต้มต่อไปราว 30-45 นาทีจนถั่วเขียวนิ่ม เติมน้ำตาลทรายและหัวกะทิ หากน้ำข้นเกินไปสามารถเติมน้ำต้มสุกลงไปเล็กน้อย ปิดไฟ ยกลงจากเตา เสิร์ฟร้อนๆ ก็อร่อยหรือจะพักไว้ให้เย็นก็ได้

ในไทยก็มีขนมอร่อยคล้ายบ็อง-แอม ซอนแดก เขียว เรียกว่า "ถั่วเขียวต้มน้ำตาล" แช่ถั่วเขียวในน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือข้ามคืน สะเด็ดน้ำพักไว้ จากนั้นใส่น้ำลงในหม้อตั้งไฟ เทถั่วเขียวลงไปต้มจนเดือด ประมาณ 30 นาที เติมน้ำตาลทรายแดง ต้มจนเดือดและถั่วเขียวนุ่มยกลงจากเตา ตักใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน 



     ปินจารัม-ฝักบัว

"กูอิห์ ปินจารัม" บางทีเรียกกูอิห์ยูเอฟโอ แต่ส่วนใหญ่ชอบเรียกสั้นๆ ว่า ปินจารัม หรือเป็นยารัม ของชาวมลายูในบรูไน และรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังคล้าย "ขนมฝักบัว" ของไทย

วิธีทำปินจารัม เริ่มจากคั้นน้ำใบเตยพักไว้ เทแป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี และน้ำตาลเล็กน้อยลงในชาม ผสมให้เข้ากันดีก่อนเทน้ำใบเตยลงไปคลุกเคล้าจนเนื้อแป้งเนียน เทน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟปานกลาง รอจนน้ำมันเดือด ใช้อุปกรณ์ตักส่วนผสมแป้ง หรือตวงด้วยถ้วยขนาดเล็ก เทแป้งลงในน้ำมัน พอขนมสุกก็กลับอีกด้าน รอให้สุกเสมอกันแล้วนำขึ้นจากกระทะ พักบนตะแกรงเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน รับประทานร้อนๆ อร่อยถูกใจ นอกจาก ปินจารัมสีเขียวแล้ว ยังนิยมแบบใส่น้ำตาลโตนดแทนน้ำตาลทรายเพื่อให้ขนมมีสีน้ำตาลเหลืองน่ากิน หรือจะใส่สีผสมอาหาร อื่นๆ ที่ชอบก็ได้เช่นกัน

ส่วนขนมฝักบัวของไทย ผสมแป้งสาลี แป้ง ข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว กับน้ำตาลทราย เกลือ และน้ำใบเตยคั้นเข้าด้วยกันจนแป้งเนียน พักไว้ 3 ชั่วโมงหรือ 1 คืน เสร็จแล้วนำกะทิมาใส่คนให้เข้ากัน ตั้งกระทะใส่น้ำมันให้ร้อน ใช้ไฟกลางในการทอด คอยวักน้ำมันใส่ขนมเพื่อให้ฟูสวยทั่วกัน เมื่อข้างหนึ่งสุกก็กลับอีกด้าน รอให้สุกแล้วนำขึ้นสะเด็ดน้ำมัน รับประทานได้



     เบเลคอย-กะละแม

หากฟิลิปปินส์มี "เบเลคอย" ไทยเราก็มี "ขนมกะละแม" วิธีทำยังละม้ายคล้ายคลึงกัน

สำหรับเบเลคอยนั้นเริ่มจากตั้งกระทะด้วยไฟอ่อนๆ เทแป้งข้าวเหนียว คั่วจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ตักขึ้นพักไว้ นำงาขาวลงไปคั่วแบบเดียวกันจนมีกลิ่นหอมแล้วตักขึ้นพัก เทน้ำใส่หม้อนำขึ้นตั้งไฟ รอจนเดือด เติมน้ำตาลและน้ำผลไม้ นิยมใช้น้ำแอปเปิ้ล คนให้น้ำตาลละลาย เหยาะกลิ่นวานิลลาเล็กน้อย เสร็จแล้วเทแป้งข้าวเหนียวคั่วลงไป คนให้สม่ำเสมอจนเหนียวข้น ยกลงจากเตา เทใส่ถาดปล่อยให้เย็น ขั้นตอนต่อมาตัดแบ่งขนมออกเป็นชิ้นๆ ตามรูปทรงที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสามเหลี่ยมก็ได้ นำขนมที่ตัดแล้วมาคลุกกับงาคั่วให้ทั่ว ห่อด้วยกระดาษแก้ว

ขณะที่ขนมกะละแมของไทย นำกะทิใส่กระทะทองเหลือง ตั้งไฟปานกลาง เติมน้ำตาล แป้งข้าวเหนียว ตามด้วยแป้งท้าวยายม่อม คนส่วนผสมจนงวด เทใส่ถาด พักไว้ให้เย็น นำน้ำมันทาเคลือบบางๆ ให้เงาสวย จากนั้นใช้มีดตัดเป็นชิ้นๆ สำหรับกะละแมสีเขียวจะเพิ่มน้ำใบเตยเข้าไป ส่วนสีดำใช้กาบมะพร้าวเผาละลายน้ำ แล้วกรองแค่น้ำนำไปผสมในกะละแม 



     นากาซารี-กูอิห์ปิซาง

ขนมของเพื่อนบ้านแดนอาเซียนอีกประเทศที่คล้ายขนมกล้วยของไทย คือ "นากาซารี" หรือ "กูอิห์ปิซาง" ขนมกล้วยเวอร์ชั่นอินโดนีเซีย มีวิธีทำที่ต่างออกไปเพราะขนมกล้วยไทยจะนำกล้วยไปบดผสมกับแป้ง แต่นากาซารีจะฝานกล้วยเป็นชิ้นๆ แล้วใส่ลงบนแป้ง

เริ่มจากนำแป้งข้าวเจ้าใส่ลงในหม้อตั้งไฟอ่อนๆ ตามด้วยแป้งข้าวโพด ใส่น้ำตาล เกลือเล็กน้อย กลิ่นวานิลลา และหัวกะทิ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ปิดไฟ ใส่ใบเตยมัดเป็นปม เพื่อเพิ่มความหอม คลุกเคล้าต่อจนแป้งจับเป็นก้อน และทำต่อไปกระทั่งแป้งเนียนเป็นเนื้อเดียว ใช้ช้อนโต๊ะตักส่วนผสมแป้งขึ้นมาเต็มช้อน วางแป้งลงบนใบตองที่ตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนาดกำลังดีและล้างทำความสะอาดเรียบร้อย

จากนั้นนำกล้วยที่หั่นเป็นชิ้นๆ วางลงไป พับใบตองให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำวิธีเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมแป้งหมด เสร็จแล้วนำขนมที่ห่อใบตองไปนึ่งในซึ้งราว 30 นาที ยกลง เสิร์ฟร้อนๆ หรือเก็บไว้กินตอนเย็นก็อร่อยไม่แพ้กัน 



     วุ้นมะพร้าวไทย-เวียดนาม

ไทยเรามี "วุ้นมะพร้าว" ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็มี "เซา เกิว จ๊าย เยื่อ" ทั้งรูปลักษณ์และวิธีทำเหมือนกัน

เริ่มจากนำมะพร้าวปอกแล้วเฉาะส่วนบนออกให้ค่อนข้างกว้างเพื่อสะดวกในการตักเนื้อ หลังจากเทน้ำมะพร้าวกรองใส่หม้อพักไว้ ใช้ช้อนขูดเนื้อมะพร้าวออกเป็นชิ้นพอคำ ตักใส่ชาม นำผงวุ้น น้ำตาล และเกลือ เทลงในหม้อที่ใส่น้ำมะพร้าว คนให้ละลายแล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ หมั่นคนเรื่อยๆ จนส่วนผสมเข้ากันดีและผงวุ้นละลายหมด ปิดไฟและยกหม้อลงจากเตา พักให้วุ้นเย็นลงเล็กน้อยราว 3-5 นาที ก่อนเทส่วนผสมวุ้นใส่ในลูกมะพร้าว ตามด้วยเนื้อมะพร้าวที่ขูดไว้ นำเข้าตู้เย็น แช่สัก 1 ชั่วโมงก่อนนำมารับประทาน


     แก่ว หลัก-ถั่วตัด

ในเวียดนามมีขนมหวานที่เรียกว่า "แก่ว หลัก" เหมือน "ถั่วตัด" ของไทย คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากจีน วิธีทำคล้ายกัน เริ่มจากผสมน้ำตาลและน้ำเปล่าลงในหม้อ คนให้ละลายก่อนยกขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ พอเดือดใส่แบะแซ เติมเกลือป่น เคี่ยวต่อพักหนึ่งจนเหนียว จึงใส่ถั่วลิสงอบสำเร็จ หรือจะคั่วเองด้วยการนำถั่วลิสงแช่น้ำทิ้งไว้สักคืน วันรุ่งขึ้นล้างให้สะอาดอีกครั้งแล้วนำไปคั่ว ให้แห้ง จากนั้นใส่งาขาวลงไปส่วนหนึ่ง

คนถั่วลิสงและ งาขาวกับส่วนผสมน้ำตาลเคี่ยวจนเข้ากันดี นำมาเทลงบนแผ่นฟอยล์ทาน้ำมันวางบนโต๊ะหรือจะใช้เป็นถาดก็ได้ เพิ่มงาขาวอีกนิด ขั้นตอนต่อไปให้รีบใช้ไม้นวดแป้งเกลี่ยถั่วออกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เหตุผลที่ต้องรีบทำเพราะน้ำตาลจะแข็งตัวเร็วมาก รอจนขนมเย็นค่อยตัดแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอดีคำ รับประทานเลยก็อร่อย จะเก็บไว้กินเล่นก็ดี แถมยังนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารอื่นๆ ได้ด้วย เช่น น้ำจิ้มถั่วตัด เหมาะรับประทานคู่กับของว่างทอดกรอบ เมี่ยง หรือทำเป็นน้ำจิ้มแหนมเนืองของเวียดนามก็ได้ 


     ข้าวเหนียวหน้ากระฉีก-ปูลุต อินตี

ไทยมี "ข้าวเหนียวหน้ากระฉีก" มาเลเซียมี "ปูลุต อินตี"

ทั้ง 2 ชนิดเริ่มด้วยการทำส่วนข้าวเหนียว นำข้าวสารเหนียวไปแช่น้ำราว 3-4 ชั่วโมง ล้างให้สะอาด ตำรับไทยจะนำข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาวไปห่อด้วยผ้าขาวบาง ระหว่างนั้นตั้งหม้อใส่กะทิ น้ำตาลทรายและเกลือเล็กน้อย เปิดไฟกลาง คนไปเรื่อยๆ พอกะทิเดือดก็ปิดไฟยกลงทันที จากนั้นเตรียมลังถึงตั้งไฟรอจนน้ำเดือด นำข้าวเหนียวในผ้าขาวบางห่อไปนึ่ง ประมาณ 25 นาที เสร็จแล้วเทใส่ชามผสม เทกะทิลงไปในชามที่มีข้าวเหนียว คนให้เข้ากันแล้วปิดฝาไว้ 40 นาที ก่อนเปิดฝาออก

ขณะที่ตำรับมาเลเซีย เมื่อล้างข้าวเหนียวแล้ว เตรียมภาชนะสำหรับนึ่ง นำใบเตย 3-4 ใบหั่นครึ่งวางลงบนก้นภาชนะ เทข้าวเหนียวลงไป เติมกะทิผสมกับน้ำและเกลือ เทราดลงไปในข้าวเหนียว นำข้าวเหนียวไปนึ่งในลังถึงนาน 30 นาที เปิดฝาคลุกข้าวให้ทั่ว ปิดฝานึ่งอีก 15 นาที เปิดฝาออกคลุกข้าวเหนียวอีกรอบ นึ่งต่อ 15 นาที เปิดฝาแล้วคีบใบเตยออกจากข้าว เทน้ำคั้นดอกอัญชันลงไป คลุกพอประมาณ นึ่งต่ออีก 5 นาที ปิดเตายกลงพักไว้

ส่วนหน้ากระฉีกทั้งของไทยและมาเลเซียคล้ายกันมาก ตั้งกระทะใส่มะพร้าวขูดฝอยลงไป เติมน้ำเปล่า น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายแดง และเกลือ คนไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลงวดเหนียว เสร็จแล้วยกลง เสิร์ฟโดยตักข้าวเหนียวใส่ภาชนะ นิยมห่อด้วยใบตอง โรยหน้ากระฉีกหรือหน้ามะพร้าวแล้วห่อ



ที่มา Khaosod daily
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 29 กุมภาพันธ์ 2563 17:01:21 »

   ขนมเปี๊ยะ

"ขนมเปี๊ยะ" ขนม-ของว่างตำรับไทย ได้รับอิทธิพลมาจากจีน เช่นเดียวกับ "บั๊ญเปีย" ของเวียดนาม และ "นุมเปีย" ในกัมพูชา ซึ่งมีความเหมือนกันทั้งตัวแป้งและไส้ถั่วยอดนิยม

สำหรับแป้งส่วนแรก ใช้แป้งสาลีกับแป้งอเนกประสงค์นำมาร่อนเข้าด้วยกัน ค่อยๆ เทน้ำมันลงไประหว่างผสมแป้ง นวดให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว แบ่งเป็นก้อนกลมๆ ตามปริมาณแป้งที่ใช้ ปิดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ พักไว้อย่างน้อย 30 นาที

แป้งส่วนที่สองใช้แป้งเดิมทั้งสองชนิด ผสมกับน้ำตาลไอซิ่ง ค่อยๆ ใส่น้ำและน้ำมันเวลานวดจนแป้งเนียน แบ่งเป็นก้อนกลมเท่าๆ กับแป้งส่วนแรก พักไว้ครึ่งชั่วโมงเช่นกัน

ระหว่างนี้ทำไส้ ใช้ถั่วเขียวซีกแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำถั่วที่แช่แล้วมาต้ม จากนั้นปั่นด้วยเครื่องจนเนื้อเนียนแล้วเทใส่กระทะ เติมน้ำตาลทราย กวนไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมข้น ตามด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อยจึงยกลงจากเตา พักให้เย็นก่อนปั้นเป็นทรงกลม

นำก้อนแป้งมารีดด้วยไม้นวดจนเป็นแผ่น ม้วนเข้ากันแบบเค้กโรลฝรั่ง ตัดแบ่งเป็น 4 ส่วน ใช้ไม้นวดรีดแป้งให้เป็นแผ่น บางๆ นำไส้ถั่ววางตรงกลางแล้วห่อเป็นลูกกลมๆ บางสูตรใส่ไข่แดงเค็มด้วย จากนั้นวางลงบนถาดสำหรับอบ ทาไข่แดงด้านบนเพื่อเพิ่มสีสัน อบประมาณ 25 นาทีเป็น อันเสร็จ ส่วนขนมเปี๊ยะไทยจะนำไปอบควันเทียนให้มีกลิ่นหอม



   ปีซังโกเร็ง-กล้วยแขก

ปีซังโกเร็ง-กล้วยแขก ของว่างพื้นบ้านในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งมีชื่อเรียกเหมือนกันว่า "ปีซังโกเร็ง" หรือ "กล้วยแขก" ของไทย จะต่างก็แค่ ปีซังโกเร็งไม่ใส่มะพร้าวและงา รวมถึงทอดกล้วยทั้งลูกไม่ได้ฝานบางอย่างกล้วยแขก

ปีซังโกเร็งเดิมทีไม่ใช่อาหารพื้นเมืองในละแวกอาเซียนตอนใต้ แต่เป็นชาวโปรตุเกสที่นำเข้ามาค้าขาย คำว่าปีซังเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่ากล้วย ขณะที่โกเร็งแปลว่าทอด

ในส่วนของปีซังโกเร็งนั้น ทำส่วนผสมแป้งชุบ ใช้แป้งมันกับแป้งข้าวเจ้าเทลงในชาม ตามด้วยแป้งคัสตาร์ดเล็กน้อย เบกกิ้งโซดา เกลือ น้ำมันพืช และน้ำ คนจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ปอกเปลือกกล้วย แล้วนำทั้งลูกคลุกกับส่วนผสมแป้งชุบ ตั้งน้ำมันใส่กระทะ ใช้ไฟแรงจนเดือดแล้วค่อยลดลงเป็นไฟกลาง นำกล้วยที่ชุบแป้งจนทั่วลงทอด เมื่อเหลืองกรอบนำขึ้นสะเด็ดน้ำมัน นิยมรับประทานเป็นมื้อเช้ากับกาแฟ

สำหรับกล้วยแขกของไทย ใช้แป้งข้าวเจ้าผสมแป้งสาลี เกลือ หัวกะทิ และมะพร้าวขูด นวดให้เข้ากัน ใส่น้ำปูนใสแล้วนวดต่อ ก่อนใส่งาตามลงไป นำกล้วยมาหั่นตามยาว คลุกเคล้ากับแป้งชุบ พอน้ำมันเดือดค่อยนำลงทอด รอจนแป้งเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมันแล้วค่อยเสิร์ฟ 



   เจกเจียน

ปีซังโกเร็ง หรือกล้วยแขกจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนไปแล้ว

วันนี้ชวนมาอร่อยกันต่อกับ "เจกเจียน" กล้วยแขกเวอร์ชั่นกัมพูชา ส่วนที่ต่างคือ เจกเจียนใช้กล้วยน้ำว้าสุกทั้งผลวางลงในถุงพลาสติกหรือห่อในแผ่นพลาสติก เสร็จแล้วใช้ไม้สำหรับทับ คล้ายที่ทับกล้วยของไทย ค่อยๆ กดกล้วยให้มีรูปร่างแบนยาว จากนั้นนำแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งสาลีเล็กน้อย เติมน้ำตาล เกลือ มะพร้าวขูดฝอย งาคั่ว และน้ำสะอาด คนจนเข้ากันดี

นำกล้วยที่ทับแล้วไปชุบกับส่วนผสมแป้ง ระหว่างนั้นเทน้ำมันใส่กระทะพอท่วม ตั้งไฟปานกลาง รอจนเดือด นำกล้วยที่ชุบแป้งจนทั่วลงทอดให้สุกประมาณครึ่งหนึ่ง ตักขึ้นมาชุบแป้งซ้ำอีกรอบ นำลงไปทอดต่อจนแป้งสุกเหลืองเป็นสีน้ำตาลทองและกรอบได้ที่ พักให้สะเด็ดน้ำมัน รับประทาน ร้อนๆ



   กล้วยทอดมารูย่า

กล้วยทอดมารูย่า ของว่าง กล้วยๆ  กล้วยแขกตำรับ ตากาล็อก

เริ่มจากผสมแป้งอเนกประสงค์ลงในชาม ตามด้วยไข่ เกลือ เบกกิ้งโซดาและนม คนให้เข้ากัน เติมเนยละลายลงไปเล็กน้อย คนต่อจนเนื้อเนียน นำกล้วยซาบาหรือกล้วยหิน

กล้วยท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือผลป้อมสั้นเป็นเหลี่ยม ปอกเปลือกออกแล้วใช้มีดฝานตามแนวยาวของผลกล้วย ฝานเข้าไปจนเกือบสุด เหลือให้ปลายผลติดกันไว้ เสร็จแล้วคลี่แผ่นกล้วยที่ฝานออกให้เป็นรูปทรงคล้ายพัดขนาดเล็ก

นำลงชุบแป้งผสมทั้งผล เกลี่ยให้ทั่ว ระหว่างนั้นเทน้ำมันใส่กระทะพอท่วม ตั้งไฟปานกลางรอจนเดือดหรี่ไฟลงเล็กน้อย ตักกล้วยที่ชุบแป้งลงทอดจนเหลืองกรอบเป็นสีทองขึ้นสะเด็ดน้ำมัน ก่อนเสิร์ฟโรยน้ำตาลทรายเล็กน้อยเพิ่มความหวาน



   กะละแม"โดดอล"

ก่อนหน้านี้เคยนำเสนอเมนู "ขนมกะละแม"ของไทย ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์ก็มีเรียกว่า "เบเลคอย"ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีขนมในตระกูลกะละแมเช่นกัน เรียกว่า "โดดอล"

ทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว และกะทิ นำไปใส่กระทะ ตั้งไฟกลาง กวนไปเรื่อยๆ จนเหนียวข้นเป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วยกลง พักให้เย็นก่อนนำไปห่อด้วยกระดาษ แก้ว หรือแผ่นพลาสติก นอกจาก โดดอลแบบต้นตำรับแล้ว ยังมีโดดอลอีกหลายชนิดที่นิยมรับประทาน ทั้ง โดดอลคาจังฮีเจา มีส่วนผสมของ ถั่วเขียว โดดอลเบงโคอัง จากมันแกว โดดอลนังกา ใช้เนื้อขนุน โดดอลอูบีตาลัม จากมันเทศ โดดอล โตมัต ผสมด้วยมะเขือเทศ โดดอลทาเป ใช้ข้าวหมาก โดดอลเอเปลมาลัง จากแอปเปิล โดดอลรัมปุตลาอุต ผสมสาหร่าย โดดอลปีซัง ใส่กล้วยบดลงไปด้วย และโดดอลดูรียัน กะละแมทุเรียน



   บัญจนึก

ก่อนหน้านี้เคยเสนอขนมหวานยอดนิยมบัวลอยของไทยไปแล้ว หลายชาติในอาเซียนก็มีขนมอร่อยชนิดนี้รับประทานกัน แต่เป็นแบบฉบับที่ปรับให้เข้ากับรสนิยมของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เวดัง รอนเด บัวลอยน้ำขิงอินโดนีเซีย กินาตัง บิโล-บิโลของฟิลิปปินส์ แจ่ เจ่ย เนื้อก ในเวียดนาม และทังหยวนของสิงคโปร์

กัมพูชาเองก็มีขนมบัวลอยเรียกว่า "บัญจนึก" สูตรคล้ายบัวลอยน้ำกะทิของไทย แต่ตัวแป้งเป็นก้อนขนาดใหญ่คล้าย ทังพยวนและมีไส้ข้างใน

วิธีทำ เริ่มจากนำถั่วเขียวซีกไปแช่น้ำและต้มจนสุก บดให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันแต่พอหยาบๆ เพื่อให้มีเนื้อสัมผัส ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาด 3 เซนติเมตร พักไว้ ระหว่างนั้นเทน้ำสะอาดใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟกลาง ใส่น้ำตาลปี๊บลงไป รอจนน้ำตาลละลาย เทขิงฝานเป็นแว่นตามลงไป ต้มนาน 15 นาที พักไว้ นำหัวกะทิใส่หม้อตั้งไฟอ่อน เติมเกลือและแป้งมันเล็กน้อย รอจนเดือด ยกลง

จากนั้นทำส่วนแป้งลูกบัวลอย ใช้แป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียว เติมน้ำและนวดจนเนียน นำแป้งที่นวดเสร็จแล้วมาปั้นเป็นก้อนขนาดราว 5เซนติเมตร ใช้ไม้พายคลึงให้เป็นแผ่น นำไส้ถั่วที่ทำไว้ใส่ลงไปตรงกลาง ห่อให้มิดชิด เมื่อทำจนหมดค่อยตั้งน้ำในหม้อ พอเดือดใส่เม็ดบัวลอยลงไป พอเม็ดบัวลอยลอยขึ้นมาก็ช้อนขึ้นใส่ชามน้ำเย็น พักไว้สักครู่ ตักเสิร์ฟใส่ถ้วย ตามด้วยน้ำขิงต้มน้ำตาลและกะทิราดหน้า โรยงาขาวคั่วเป็น อันเสร็จ



   โอตะก์-โอตะก์

อาหารคาวที่พบในหลายประเทศอาเซียน  "ห่อหมก"

สำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซียเรียกจานอร่อยนี้ว่า "โอตะก์-โอตะก์" ส่วนสิงคโปร์เรียกว่า "โอตัก-โอตัก" ทั้ง 3 ประเทศมีวิธีการปรุงที่คล้ายกันมากคือย่าง ต่างจากห่อหมกในไทย กัมพูชา และลาวซึ่งใช้การนึ่ง

โอตะก์-โอตะก์ และ โอตัก-โอตัก มีวัตถุดิบหลักได้แก่เนื้อปลา เครื่องแกงที่ตำจากพริก หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ลูกผักชี กะปิ และถั่วเทียน ในอินโดนีเซียจะเพิ่มส่วนผสมของแป้งจากปาล์มซาโกหรือปาล์มสาคูลงไปด้วย เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วนำไปห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว ย่างจนสุกหอม กินเป็นของว่างก็ดี กินกับข้าวและขนมปังก็ได้ บางพื้นที่ราดซอสถั่วลิสงลงไปด้วย

โอตะก์-โอตะก์ของอินโดนีเซียจะมีสีขาว ส่วนในมาเลเซียและสิงคโปร์จะเป็นสีตาม พริกแกงแดงอมส้ม



   อาม็อกเตร็ย-หมก

ก่อนหน้านี้อิ่มอร่อยกับโอตะก์-โอตะก์ และโอตัก-โอตัก หรือห่อหมกของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไปแล้ว มากินอาหารที่ละม้ายคล้ายกันจาก ๒ ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ไทย คือ "อาม็อกเตร็ย" ในกัมพูชา กับ "หม็ก" หรือ "หมก" ของลาว

อาม็อกเตร็ยถือเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติกัมพูชา มีเนื้อสัตว์ คือปลา ไก่ วัว หรือผักล้วน ผสมกะทิและเครื่องแกง ใส่ในถ้วยหรือห่อด้วยใบตอง นำไปนึ่งจนสุก กินเปล่าๆ เป็นของว่าง หรือกินเป็นกับข้าวร้อนๆ นอกจากวัตถุดิบหลัก อาม็อกเตร็ยยังใส่ใบยอและกระชายเป็นส่วนผสม

ขณะที่หมกของลาว นำเนื้อสัตว์และผักมาเคล้ากับน้ำพริกแกง ปรุงด้วยน้ำปลาร้า ห่อใส่ใบตองทรงสูงแล้วนำไปนึ่งหรือย่างจนสุก ผักที่ใส่ในหมกลาว มีทั้งต้นหอม ใบแมงลัก ผักชีลาว พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ตะไคร้ซอย ใบมะกรูด กระชาย บางครั้งใส่ข่าด้วย สำหรับหมกยอดนิยมในลาว ได้แก่ หมกหน่อไม้ หมกไข่ปลา หมกหัวปลี หมกไข่ หมกไก่ และหมกไคหรือหมกสาหร่ายน้ำจืด



   ชาร์ก๋วยเตี๋ยว
นอกจากมี โกเร็งแล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังมีก๋วยเตี๋ยวผัดที่เรียกว่า "ชาร์ก๋วยเตี๋ยว" หรือฉ่าก๋วยเตี๋ยว คล้ายผัดซีอิ๊วของไทย นอกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้าแล้ว วัตถุดิบที่นิยมใส่ในชาร์ก๋วยเตี๋ยวยังมีกุนเชียง ปลาเส้น กุ้ง ไข่ ถั่วงอก ใบกุยช่าย บางตำรับใส่หอยแครงด้วย

วิธีทำเริ่มจากตั้งกระทะเทน้ำมัน รอจนร้อน ใส่กระเทียมลงไปผัดพอหอม ตามด้วยกุนเชียงหั่นเป็นชิ้นบางๆ และปลาเส้น เติมพริกแกง ซีอิ๊วขาว น้ำตาลเล็กน้อยและพริกไทย ผัดต่อพอพริกแกงหอมค่อยใส่เส้นก๋วยเตี๋ยว จากนั้นใส่กุ้งและหอยแครง ผัดนิดๆ พอเนื้อสะดุ้ง จะได้รสสัมผัสกรอบเด้ง แล้วค่อยตอกไข่ลงไปยีให้ทั่ว ปิดท้ายด้วยถั่วงอกและใบกุยช่ายหั่นเป็นท่อน รับประทานร้อนๆ

ชาร์ก๋วยเตี๋ยวสามารถทำกินเอง ซื้อตามรถเข็น ร้านข้างทาง หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าก็มีขาย 



   ปันซิต บี๋หุ่น

อร่อยกันต่อกับก๋วยเตี๋ยวผัดแดนอาเซียน สัปดาห์นี้ถึงคิวของฟิลิปปินส์กับเมนู "ปันซิต บี๋หุ่น กีซาโด" หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปันซิต บี๋หุ่น อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากจีน อธิบายให้เห็นภาพคือผัดหมี่ขาว

เริ่มจากตั้งกระทะใส่น้ำมัน รอพอร้อนนิดๆ ใส่กระเทียมสับและหอมใหญ่สับลงไปผัด เติมเนื้อสัตว์ ที่นิยมมากคือหมู ไก่ และกุ้ง ผัดจนเกือบสุก ใส่เนื้อไก่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หรือกุนเชียง แล้วเติมน้ำสะอาด ปล่อยให้เดือดพักหนึ่งค่อยใส่แครอต ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลีหั่น และใบขึ้นฉ่าย ปล่อยให้เดือดอีกครั้ง จากนั้นเทส่วนผสมยกเว้นน้ำลงในหม้อ เติมซอสถั่วเหลือง คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้

นำกระทะที่เหลือน้ำจากการผัดส่วนผสมตั้งไฟ ใส่เส้นหมี่ขาวที่แช่น้ำแล้วสะเด็ดให้หมาดๆ ลงไปผัดจนแห้ง เทส่วนผสมที่พักไว้ลงไปคลุก ผัดต่อ ๑-๒ นาทีเป็นอันเสร็จ ตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมมะนาว รับประทานร้อนๆ



   ผัดหมี่ฮกเกี้ยน

ผัดหมี่ฮกเกี้ยน หนึ่งในก๋วยเตี๋ยวผัดขึ้นชื่อของสิงคโปร์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน

เริ่มจากนำหม้อตั้งไฟปานกลาง ใส่เปลือกกุ้งที่แกะจากกุ้งสดลงไป ผัดกับน้ำมัน เทน้ำต้มหรือน้ำสต๊อก รอจนเดือดแล้วกรองเปลือกกุ้งออกให้น้ำใส พักไว้ เทน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟปานกลาง รอจนร้อนเทกุ้งแกะเปลือกที่หมักเครื่องปรุง ซีอิ๊ว เกลือ พริกไทย ลงไปผัดพอสะดุ้งแล้วตักขึ้นพักไว้ เทไข่ที่ตีจนเนียนลงไปผัด เมื่อเริ่มเหลืองเติมกระเทียมสับ จากนั้น ใส่หมี่เหลืองและบี๋หุ่นหรือหมี่ขาวเส้นเล็กที่แช่น้ำแล้ว สะเด็ดออก ลงไปคลุกเคล้าผัดกับไข่ พอเส้นนิ่มเติมน้ำซุปจากเปลือกกุ้งลงไปเล็กน้อย ปิดฝาทิ้งไว้เพื่อให้เส้นซึมซับ น้ำซุป

พอได้ที่นำกุ้งที่ผัดไว้ก่อนหน้านี้เทใส่บนเส้น ตามด้วยถั่วงอกล้างสะอาด เติมน้ำซุปเพิ่มตามใจชอบ รอให้งวด ค่อยเสิร์ฟร้อนๆ ใส่จาน โรยหน้าด้วยต้นหอมซอย น้ำมันพริกเผา และมะนาวฝานเป็นซีก บีบใส่เพิ่มความเปรี้ยวสดชื่นแก้เลี่ยน

นอกจากเนื้อกุ้งต้นตำรับเดิมแล้ว หมี่ฮกเกี้ยนยังนิยมกินกับปลาหมึก เนื้อปู หอย หรือหมูกรอบก็เข้ากัน



   หมี่กะทิ

สัปดาห์นี้แวะมากินเส้นผัดสุดอร่อยของไทยกันบ้าง นั่นคือ "หมี่กะทิ" หมี่รสกลมกล่อมเส้นสีชมพูสวยเป็นเอกลักษณ์ หาซื้อได้ทั่วไปตามตลาดและร้านอาหารไทย หรือจะลองทำเองก็ไม่ยาก

เริ่มจากตีไข่ให้แตกนำไปทอดบนกระทะ ค่อยๆ หมุนกระทะไปมาเพื่อแผ่ไข่เป็นแผ่นบางๆ พอสุกก็ม้วนแล้วตักขึ้น นำมาซอยเป็นเส้นๆ พักไว้

จากนั้นทำน้ำราดโดยเทกะทิลงกระทะที่ตั้งไฟปานกลาง ใส่หอมแดงสับลงไปผัด ตามด้วยกุ้งสับและหมูสับ ผัดรวมกันจนสุก ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว น้ำมะขามเปียก พริกป่น น้ำตาลปี๊บ ใส่เต้าหู้ลงไปผัด ตักขึ้นพักไว้ น้ำกะทิราดบนเส้นหมี่สีชมพู

สำหรับการทำเส้นนั้น นำกะทิอีกส่วนใส่กระทะตั้งไฟรอจนเดือด นำซอสมะเขือเทศและซอสแดงใส่เย็นตาโฟมาผสมกันแล้วใส่ในกระทะ เทเส้นหมี่แช่น้ำพอนิ่ม สะเด็ดน้ำแล้วนำลงไปผัด รอพอให้น้ำกะทิแห้งนิดๆ ใส่ถั่วงอกและใบกุยช่าย ผัดต่ออีกนิดให้ผักพอสะดุ้ง ตักเสิร์ฟใส่จาน ตักน้ำกะทิราดหน้า และไข่ฝอยเป็นอันเสร็จ อาจเพิ่มกุ้งแห้งทอด ผักแนมต่างๆ มะนาว พริกป่น และถั่วป่น

นอกจากหมี่กะทิจะเป็นที่นิยมในไทยเพราะครบรส ทั้งเค็ม เปรี้ยว และหวานแล้ว ยังมีชาติอาเซียนที่ได้รับอิทธิพลจากหมี่กะทิด้วยนะ แต่จะเป็นอะไรติดตามต่อสัปดาห์หน้า 



   หมี่สยาม-หมี่เซียม

อร่อยไปกับหมี่กะทิของไทยแล้ว วันนี้มารู้จัก "หมี่เซียม" หรือ "หมี่สยาม" ก๋วยเตี๋ยวผัดในมาเลเซียและสิงคโปร์กัน

จากข้อมูลระบุว่าหมี่เซียมเป็นอาหารในชุมชนชาวมลายู หรือไม่ก็เปอรายากัน รวมทั้ง อาจมีต้นตำรับหรือได้รับแรงบันดาลใจ จากหมี่กะทิของไทย เนื่องจากชื่อที่เรียก ก็เป็นชื่อของประเทศไทยในสมัยก่อน อีกทั้ง ยังเน้นรสเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด และใช้กะทิคล้ายหมี่กะทิด้วย

เริ่มจากแช่เส้นหมี่ให้นิ่มแล้วสะเด็ดน้ำผึ่งไว้ นำถั่วหมักเทาชู พริกแดง หอมแดง และกระเทียมไปปั่นหรือโขลกเข้าด้วยกันพอหยาบๆ

นำกระทะตั้งน้ำมัน ใช้ไฟกลาง เทส่วนผสมเครื่องเทศลงไปผัดจนหอม เติมกุ้ง เนื้อไก่ ผัดเกือบสุก ใส่เต้าหู้ทอดหั่นเป็นชิ้นๆ คลุกเคล้าเล็กน้อย นำเส้นหมี่ใส่กระทะ ผัดให้ทั่ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ใส่ถั่วงอก ใบกุยช่าย ผัดต่ออีกนิด เติมเครื่องปรุงเพิ่มความเข้มข้นอีกหน่อย ใส่ซอสปรุงรส อาจเติม ซอสแดงเพิ่มสีสันคล้ายหมี่กะทิไทย

พอสุกตักใส่จาน เสิร์ฟร้อนๆ โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอยหรือไข่ต้ม หอมเจียว พริกป่น และมะนาว


ที่มา Khaosod daily


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เรื่องน่ารู้ ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้
สุขใจ ห้องสมุด
หมีงงในพงหญ้า 0 1904 กระทู้ล่าสุด 30 มกราคม 2554 13:24:28
โดย หมีงงในพงหญ้า
เรื่องน่ารู้ ใน พระไตรปิฎก
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
ใบบุญ 2 3912 กระทู้ล่าสุด 26 มกราคม 2560 11:12:40
โดย ใบบุญ
[การเงิน] - อาเซียน วัคซีนโควิด และแผนการเปิดประเทศ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 235 กระทู้ล่าสุด 09 มกราคม 2565 16:46:31
โดย สุขใจ ข่าวสด
[โพสทูเดย์] - ชงครม.ไฟเขียวทบทวนกรอบ FTA อาเซียน รับเทรนด์การค้ายุคใหม่
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 157 กระทู้ล่าสุด 11 เมษายน 2565 04:57:02
โดย สุขใจ ข่าวสด
[ข่าวด่วน] - กัมพูชาจัดประกวดแนวคิดฯ ซีเกมส์-อาเซียน พาราเกมส์ 2023
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 189 กระทู้ล่าสุด 28 มิถุนายน 2565 08:46:55
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.52 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 18 มีนาคม 2567 01:42:27