[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 20:42:54 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิต-ผลงาน ครู 'เหม เวชกร'  (อ่าน 12651 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 กรกฎาคม 2558 15:16:50 »

.

http://lankapra.com/images/2-1096.jpg
ชีวิต-ผลงาน ครู 'เหม เวชกร'


ชีวิต-ผลงาน
ครูเหม  เวชกร

เหม เวชกร เป็นจิตรกรสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย ฉายา “จิตรกรมือเทวดา” มีผลงานเป็นที่รู้จักแพร่หลาย  นอกจากเป็นจิตรกรแล้ว เหม เวชกร ยังมีความสามารถทางสังคีตศิลป์ โดยสีไวโอลินได้อย่างไพเราะ และยังเขียนหนังสือจนถึงขั้นเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง

ครูเหม เวชกร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่ปากคลองตลาด ตำบลพระราชวัง อำเภอพระนคร  จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)  เป็นบุตรของของหม่อมราชวงศ์หุ่น ทินกร กับหม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ  ชีวิตในวัยเด็กของครูเหม เรียกได้ว่าขาดความอบอุ่น เมื่ออายุได้ ๘ ปี พ่อกับแม่แยกทางกันจึงไปอยู่กับหม่อมราชวงศ์แดง ทินกร ผู้เป็นลุง  ได้ย้ายติดตามหม่อมราชวงศ์แดงไปอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามลำดับ  ต่อมาหม่อมราชวงศ์หุ่น ผู้เป็นบิดาได้มารับตัวครูเหมกลับไปอยู่ด้วย  แล้วได้ส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ครูเหมเรียนไม่จบเพราะชอบหนีเรียน  ด้วยมีใจรักในการวาดรูป จึงฝึกฝนตนเองหัดเขียนรูปเรื่อยมา

เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี มีโอกาสพบและเป็นผู้ช่วย คาร์โล ริโกลี จิตรกรชาวอิตาเลียน ที่มาเขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม และเป็นคนสอนครูเหมให้วาดเส้นและลวดลายต่างๆ

สืบเนื่องจากหม่อมราชวงศ์แดง ผู้เป็นลุงได้มารับครูเหมไปอยู่ด้วยอีกครั้งที่บ้านในซอยวัดสามพระยา  หม่อมราชวงศ์แดงทำหน้าที่เป็นเลขานุการของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้รับมอบหมายให้ดูแลบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังนี้  ในขณะนั้นเจ้าพระยายมราชได้เป็นแม่กองการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ได้ว่าจ้างช่างชาวอิตาลีให้มาเขียนภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม  จิตรกรคณะนี้ได้มาพำนักอยู่ที่บ้านริมน้ำที่ซึ่งหม่อมราชวงศ์แดงดูแลอยู่  

วันหนึ่งมิสเตอร์คาร์โล ริโกลี เห็นครูเหมกำลังวาดรูปด้วยชอล์กบนสะพานท่าน้ำ จึงถามว่าไปเรียนวาดรูปมาจากไหน ครูเหมตอบว่าไม่ได้เรียนแต่มีใจรักและนึกอยากจะขีดเขียนก็เขียนออกมา  มิสเตอร์ริโกลีเห็นแววจิตรกรของครูเหม จึงขออนุญาตหม่อมราชวงศ์แดงสอนการวาดรูปให้ครูเหม  และให้ครูเหมเป็นผู้ช่วยเขียนรูปในพระที่นั่งอนันตสมาคมในครั้งนั้นด้วย   เมื่อภารกิจเสร็จเรียบร้อย   มิสเตอร์ริโกลีได้ขออนุญาตหม่อมราชวงศ์แดง พานายเหมไปศึกษาวิชาการศิลปะที่ประเทศอิตาลี  ซึ่งหม่อมราชวงศ์แดงก็อนุญาตและสนับสนุน  แต่ความฝันของครูเหมต้องสลายไป เพราะเมื่อบิดามารดาของครูเหมทราบเรื่อง ได้พาครูเหมไปหลบซ่อน  ทำให้ครูเหมต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนในสิ่งที่ตัวรัก  ความเสียใจในครั้งนี้ทำให้ครูเหมตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปเป็นลูกจ้างที่อู่ต่อเรือของชาวจีนกวางตุ้ง โดยทำงานทุกอย่างตั้งแต่โยนฟืนใส่เตา เป็นนายท้ายเรือโยง เป็นช่างเครื่องจักรไอน้ำ  เป็นผู้ช่วยช่างดูแลเรือที่แม่กลอง รับจ้างลากเรือวิ่งทวนน้ำไปจังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และไทรโยค  ทำงานจนอายุได้ ๑๙ ปี จึงเดินทางกลับบ้าน  ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างน้ำมันในโครงการขุดคลองและสร้างเขื่อนพระราม ๖ ที่ท่าหลวงจังหวัดสระบุรี เป็นเวลา ๓ ปี จึงลาออกแล้วมาเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนๆ ที่ท่าพระจันทร์  ต่อมาได้ทำงานเป็นผู้เขียนภาพประกอบตำราที่กรมตำราทหารบก  ทำงานอยู่ไม่นานก็ถูกเกณฑ์ทหารไปรับใช้ชาติและปลดออกจากราชการไปเป็นทหารกองหนุนในปี พ.ศ. ๒๔๗๐

ในขณะนั้นกิจการทำหนังสือเฟื่องฟู  มีร้านทำบล็อกเกิดขึ้นหลายแห่ง ครูเหมได้ร่วมมือกับเพื่อนเปิดกิจการทำบล็อกขึ้น มีนามว่า “บล็อกสถาน” การทำบล็อกในครั้งนี้ทำให้ครูเหมได้แสดงฝีมือทางการเขียนภาพบ้าง  จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ครูเหมได้รับการคัดเลือกให้เขียนซ่อมภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ตอนมังกรกรรฐ์ล้ม ที่ฝาผนังห้องที่ ๖๙ ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้ชื่อเสียงของครูเหม เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นาม “เหม  เวชกร” นี้มิใช่นามปากกา หากเป็นชื่อจริง นามสกุลจริง ซึ่งครูเหมใช้ในบัตรประชาชน ที่มาของนามสกุล “เวชกร” นั้น เนื่องจากสมัยที่ครูเหมยังเร่ร่อนลำบาก  ครูเหมได้รับการอุปการะอย่างดียิ่งเสมือนประหนึ่งเป็นลูกหลานจากขุนประสิทธิ์เวชชกร อดีตสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ และให้ครูเหมใช้นามสกุลร่วม  ครูเหมตัด “ช” ออกหนึ่งตัว จึงเป็น เวชกร มาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อเสียงครูเหมเป็นที่รู้จักแพร่หลาย  จน พ.ศ. ๒๔๗๘ ครูเหมได้ตั้งสำนักพิมพ์ส่วนตัวชื่อว่า “คณะนายเหม” พิมพ์หนังสือรายสิบวันออกจำหน่าย โดยมีนายเหมเป็นบรรณาธิการ  สุมทุม บุญเกื้อ (กิ่ง พึ่งบุญ) เป็นผู้พิสูจน์อักษร  โพยม บุณยศาสตร์ เป็นผู้จัดหน้าเข้าเล่ม  ผู้เขียนนวนิยายคือ ก้าน พึ่งบุญ  ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามปากกา “ไม้ เมืองเดิม” ต่อมาสำนักพิมพ์ประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากเก็บเงินค่าหนังสือจากตัวแทนจำหน่ายไม่ได้ จนต้องเลิกกิจการไป  ในที่สุด พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. ได้ชวนครูเหมมาทำงานฝ่ายศิลป์ เขียนภาพประกอบวรรณคดีเรื่องต่างๆ ให้กับหนังสือพิมพ์ประมวญวัน ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงพิมพ์ถูกทิ้งระเบิดจนต้องเลิกกิจการ  ครูเหมจึงอพยพจากฝั่งพระนครไปอยู่บ้านสวนฝั่งธน และรับงานเขียนภาพให้กรมประชาสัมพันธ์ โดยเขียนภาพวิจิตรเรื่องกามนิต ตามต้นฉบับของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือสร้างตนเองและได้เขียนภาพส่งเสริมวัฒนธรรมของสามัคคีไทยในยุคมาลานำไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้เข้ารับราชการอีกครั้งที่กองตำรา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่าง มีลูกศิษย์เกิดขึ้นมากมาย ต่อมาได้ลาออกจากราชการ ไปเข้าร่วมคณะทำหนังสือโบว์แดงรายสัปดาห์ของอุดม ชาตบุตร โดยมีสันต์ เทวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ   นายเหม เวชกร เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ และรับเขียนภาพวิจิตรและภาพปกให้แก่นิตยสารและสำนักพิมพ์ทั่วไป  ๔ ปีต่อมาหนังสือโบว์แดงปิดกิจการลง เริ่มออกหนังสืออุดมสารรายปักษ์โดยมีประหยัด ชาตบุตร เป็นบรรณาธิการ  ออกไปได้ ๔๖ ฉบับก็ต้องปิดกิจการลงอีก  สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ที่ครูเหมเคยร่วมงานด้วยได้ฟื้นตัว ครูเหมได้เขียนภาพปกและภาพประกอบให้ จนเปิดร้านทำบล็อกขึ้นอีกครั้งที่ถนนเจริญกรุง สี่กั๊กพระยาศรี ชื่อสำนักงานช่างนายเหม เวชกร  ต่อมากิจการเริ่มตกต่ำลง จึงมอบหมายให้ศิษย์ของครูเหมคือ สุชาติ ทองประไพ ดำเนินกิจการต่อ

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐  นายเปลื้อง ณ นคร บรรณาธิการสำนักพิมพ์วิทยาสาร และชัยพฤกษ์ ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ได้ชวนครูเหมร่วมงานเป็นช่างเขียนภาพวิจิตรประกอบเรื่องราวในวรรณคดีลงพิมพ์ในหนังสือชัยพฤกษ์




ภาพปฐมสมโพธิ ฝีมือ ครูเหม เวชกร

ภาพวาดชิ้นสำคัญในชีวิตของครูเหมคือ ภาพชุดชีวประวัติสุนทรภู่ ภาพชุดนางงามในวรรณคดี  ภาพชุดกากี  ภาพชุดราชาธิราช ประมาณ ๒,๖๐๐ ภาพ  ภาพชุดประวัติศาสตร์ไทย  ภาพชุดนิทานประจำเมือง  ภาพชุดเงาะป่า  ภาพชุดกามนิต ประมาณ ๒,๐๐๐ ภาพ  ภาพชุดขุนช้างขุนแผน และภาพชุดศรีธนญชัยประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ภาพ  ภาพชุดอิเหนา ประมาณ ๑,๓๒๐ ภาพ ส่วนภาพที่ครูเหม เวชกร รักมากที่สุดคือ ภาพชุดปฐมสมโพธิ จากผลงานชิ้นนี้เองทำให้ครูเหม เวชกร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด

งานด้านสังคีตศิลป์ ครูเหมสามารถสีไวโอลินได้อย่างไพเราะถึงขั้นแสดงออกในรายการโทรทัศน์และแสดงเป็นการกุศลเป็นประจำ

งานด้านวรรณกรรม ครูเหม เวชกร ได้รับยกย่องให้เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เรื่องที่ครูเหมเขียน คือเรื่องผี พิมพ์จำหน่ายเป็นชุดๆ เช่น ปีศาจของไทย วิญญาณที่เร่ร่อน ผู้ไม่มีร่างกาย และเขาเห็นเราข้างเดียว เป็นต้น

ด้านชีวิตสมรส  ครูเหม เวชกร ได้สมรสกับ นางสาวแช่ม คมขำ แห่งสำนักวังหลานหลวงของกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ นักร้องส่งเพลงไทยที่มีชื่อเสียง แม้จะไม่มีทายาท แต่ชีวิตครอบครัวก็เป็นสุข

ครูเหม  เวชกร เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ไม่ถือตัว รื่นเริงอยู่เป็นนิตย์ ไม่หวงวิชา ยินดีถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์และผู้สนใจวิชาวาดภาพอย่างเปิดเผย จึงเป็นที่รักใคร่ของทุกคน

ครูเหม เวชกร ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่บ้านตากสิน บ้านพักแห่งสุดท้าย สิริอายุได้ ๖๖ ปี


มีต่อ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 มีนาคม 2560 15:48:22 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 สิงหาคม 2558 18:16:00 »

.

รวมรูปวาด
ผลงานครูเหม เวชกร















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ตุลาคม 2558 16:57:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 02 สิงหาคม 2558 19:33:17 »

.

ภาพพุทธประวัติ
โดย ครูเหม  เวชกร


ภาพที่ ๑
 เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


ภาพที่ ๒
ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์


ภาพที่ ๓
พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว


ภาพที่ ๔
อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม


ภาพที่ ๕
พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร ถวายพระนามว่า พระสิทธัตถะ


ภาพที่ ๖
ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ


ภาพที่ ๗
ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง


ภาพที่ ๘
พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา


ภาพที่ ๙
เสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต


ภาพที่ ๑๐
ทรงสรงสนานน้ำในสระ ราชบุรุษไปทูลว่า พระนางพิมพาประสูติพระโอรสแล้ว


ภาพที่ ๑๑
ทรงเปลื้องสังวาลประทานนางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท


ภาพที่ ๑๒
ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช


ภาพที่ ๑๓
เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิทเป็นนิมิตอำลาผนวช


ภาพที่ ๑๔
ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา


ภาพที่ ๑๕
พระยามารห้ามบรรพชาว่า อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักรแต่ไม่ทรงฟัง


ภาพที่ ๑๖
ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร


ภาพที่ ๑๗
เสด็จจาริกผ่านกรุงราชคฤห์ มหาชนเห็นแล้วโจษจันกันทั่วเมือง


ภาพที่ ๑๘
พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้า ทูลของปฏิญาณว่าถ้าตรัสรู้แล้วขอให้มาโปรดก่อน


ภาพที่ ๑๙
เสด็จไปศึกษาลัทธิฤาษีชีป่ากับอาฬารดาบส เห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้


ภาพที่ ๒๐
เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันสงัดเงียบ ทรงพอพระทัยประทับบำเพ็ญเพียรที่นั่น


ภาพที่ ๒๑
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา


ภาพที่ ๒๒
เช้าวันตรัสรู้ นางสุชาดากับทาสีมาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเทวดา


ภาพที่ ๒๓
ทรงลอยถาด ถาดจมลงไปกระทบกับถาดเดิม ๓ ใบ พญานาคก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้
 

ภาพที่ ๒๔
เสด็จกลับจากลอยถาด ทรงรับหญ้าคาซึ่งพราหมณ์โสตถิยะถวายในระหว่างทาง


ภาพที่ ๒๕
ทรงลาดหญ้าคาประทับเป็นโพธิบัลลังก์ ตกเย็นพญามารก็กรีฑาพลมาขับไล่


ภาพที่ ๒๖
แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี


ภาพที่ ๒๗
พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา


ภาพที่ ๒๘
เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี


ภาพที่ ๒๙
ย้ายไปประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน


ภาพที่ ๓๐
ขณะประทับโคนไม้เกด ท้าวโลกบาลถวายบาตร เทวดาบอกสองพาณิชให้ไปเฝ้า


ภาพที่ ๓๑
สองพาณิชถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง แล้วทูลปฎิญาณตนเป็นอุบาสกคู่แรกในโลก


ภาพที่ ๓๒
กลับมาประทับโคนต้นไทร ท้อพระทัยในอันโปรดสัตว์ สหัสบดีพรหมต้องทูลวิงวอน


ภาพที่ ๓๓
ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่าจึงรับอาราธนา


ภาพที่ ๓๔
เสด็จพระพุทธดำเนินไปโปรดเบญจวัคคีย์ พบอุปกาชีวกในระหว่างทาง


ภาพที่ ๓๕
ถึงป่าอิสิปตนะ เบญจวัคคีย์เห็นแต่ไกล นัดกันว่าจะไม่ต้อนรับ แต่แล้วก็กลับใจ


ภาพที่ ๓๖
สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม


ภาพที่ ๓๗
ยสกุลบุตรหน่ายสมบัติ เดินไปสู่ป่าอิสิปตนะ พบพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด


ภาพที่ ๓๘
เสด็จไปหาชฎิลอุรุเวลากัสสป ขอพักในโรงไฟ ชฎิลบอกว่ามีนาคร้ายก็ไม่ทรงฟัง


ภาพที่ ๓๙
ทรงทรมานนาคราชร้าย ขดกายพญานาคใส่บาตรให้ชฎิลดู ชฎิลก็ยังไม่เลื่อมใส


ภาพที่ ๔๐
วันหนึ่ง ฝนตักหนัก น้ำท่วม แต่ไม่ท่วมที่ประทับ ชฎิลเห็นอัศจรรย์จึงทูลขอบรรพชา


ภาพที่ ๔๑
พระอุรุเวลกัสสปประกาศตนเป็นพุทธสาวกต่อหน้าพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม


ภาพที่ ๔๒
พระเจ้าพิมพิสารเลื่อมใส ทรงหลั่งน้ำถวายวัดเวฬุวันเป็นปฐมสังฆาราม


ภาพที่ ๔๓
ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ


ภาพที่ ๔๔
พระโมคคัลลาน์ สารีบุตร อัครสาวกซ้าย-ขวามาทูลขอบรรพชาเป็นเอหิภิกขุ


ภาพที่ ๔๕
พระพุทธองค์ทรงประทาน โอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์สงฆ์ในวันเพ็ญมาฆบูชา


ภาพที่ ๔๖
เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม


ภาพที่ ๔๗
ทรงแสดงปาฏิหารย์เหาะให้เห็น หมู่พระญาติก็สิ้นทิฐิมานะถวายบังคมพร้อมกัน


ภาพที่ ๔๘
เสด็จทรงบาตรในเมือง พระนางพิมพายโสธราเห็น จึงชี้ให้พระราหุลดู ตรัสว่า "นั่นคือบิดาของเจ้า"


ภาพที่ ๔๙
พระพุทธบิดาทราบข่าวก็เสด็จมาตัดพ้อ ทูลขอให้เสด็จไปประทับเสวยในวัง


ภาพที่ ๕๐
พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท


ภาพที่ ๕๑
พระนันทะรับบาตรส่งเสด็จ นางคู่วิวาห์ร้องสั่งให้รีบกลับ พอถึงวัดกลับชวนให้ผนวช


ภาพที่ ๕๒
พระราหุลแสดงความรักซาบซึ้งในพระพุทธองค์ผู้เป็นบิดา จนลืมทูลขอราชสมบัติ


ภาพที่ ๕๓
ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก


ภาพที่ ๕๔
ทรงพานันทะไปชมนางฟ้า พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง


ภาพที่ ๕๕
พระเทวทัตสำแดงฤทธิ์ให้อชาตศัตรูราชกุมารเลื่อมใส เพื่อให้รับเป็นโยมอุปัฏฐาก


ภาพที่ ๕๖
นายขมังธนูซึ่งพระเทวทัตส่งไปฆ่าพระพุทธองค์ ปลงอาวุธ ฟังธรรมสำเร็จมรรคผล


ภาพที่ ๕๗
พระเทวทัตได้สำนึกในความผิดของตน ใคร่ทูลขอขมา แต่ถูกธรณีสูบเสียก่อนเข้าเฝ้า


ภาพที่ ๕๘
พระแม่น้าทูลถวายเฝ้า โปรดให้ถวายอชิตภิกษุ ซึ่งต่อไปจะตรัสรู้


ภาพที่ ๕๙
ทรงห้ามพระญาติฝ่ายพระบิดากับฝ่ายพระมารดาซึ่งแย่งกันทดน้ำเข้านามิให้วิวาทกัน


ภาพที่ ๖๐
พระพุทธบิดาประชวร เสด็จไปโปรดกระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน


ภาพที่ ๖๑
พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี


ภาพที่ ๖๒
ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์ข่มพวกเดียรถีย์ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์


ภาพที่ ๖๓
แล้วเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา


ภาพที่ ๖๔
ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน


ภาพที่ ๖๕
ครั้นแล้วก็ทรงเปิดโลก บันดาลให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกแลเห็นซึ่งกันและกัน


ภาพที่ ๖๖
ครั้งหนึ่งเสด็จไปจำพรรษา ณ ป่าปาเลไล โดยมีช้างกับลิง เป็นพุทธอุปัฏฐาก


ภาพที่ ๖๗
ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ พญามารเข้าเฝ้าทูลให้เสด็จปรินิพพานทรงรับอาราธนา


ภาพที่ ๖๘
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้ว อีกสามเดือนจะนิพพาน


ภาพที่ ๖๙
รุ่งเช้าเสด็จกลับจากทรงบาตร เยื้องพระกายดูกรุงไพศาลี เป็นครั้งสุดท้าย


ภาพที่ ๗๐
เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต


ภาพที่ ๗๑
เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาถวาย


ภาพที่ ๗๒
ปุกกุสะบุตรแห่งมัลลกษัตริย์แวะเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทอง


ภาพที่ ๗๓
เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่


ภาพที่ ๗๔
พระอานนท์ไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรพระวิหาร ร้องไห้รำพันถึงพระพุทธองค์


ภาพที่ ๗๕
ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล นับเป็นปัจฉิมเวไนย


ภาพที่ ๗๖
ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน


ภาพที่ ๗๗
พระสงฆ์ปุถุชนได้ฟังข่าวปรินิพพานซึ่งอาชีวกบอกแก่พระมหากัสสปก็ร้องไห้


ภาพที่ ๗๘
พอพระมหากัสสปถวายบังคมบาทพระพุทธศพ เพลิงสวรรค์ก็บันดาล ลุกโชติช่วง


ภาพที่ ๗๙
โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร


ภาพที่ ๘๐
พระมหากัสสปกับพระอริยสงฆ์ยกปฐมสังคายนา สืบอายุพระศาสนามาถึงบัดนี้.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 24 สิงหาคม 2558 15:04:00 »

.

ภาพพาหุง
โดย ครูเหม  เวชกร

บทที่ ๑ ผะจญมาร
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ

ใจความว่า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่บนรัตนบัลลังก์ใต้ควงไม้มหาโพธิ์
ทรมานเสียซึ่งพระยาวสวัสดิมาราธิราชกับทั้งเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้
แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
เรื่องความพิสดารอยู่ในปฐมสมโพธิบริเฉทมารวิชัยโน้นฯ


๑.พระพุทธองค์ทรงเข้าสมาธิ ณ โพธิบัลลังค์ในเย็นวันวิสาขะ ที่จะตรัสรู้


๒.พญามาราธิราชกรีฑาพลมาประชิดขับไล่ มิให้ประทับ ณ โพธิบัลลังก์


๓.แม่พระธรณีผลุดขึ้นมาช่วยพระพุทธองค์ พลางบิดเกศเกล้าโมลี


๔.เกิดเป็นมหาสมุทรนทีธาร พญามารไพร่พลก็ปราชัยแก่พระบารมี


บทที่ ๒ ผะจญอาฬวกะยักษ์
มาราติเรกมภิยุชฺฌิตสพฺพรตฺตึ

ใจความว่า พญาอาลวีราชผู้ครองเมืองอาลวินคร เสด็จยกพลไปประพาสล่าเนื้อ
พระอินทร์นิมิตเป็นกวางทองวิ่งผ่านหน้าพลไป บรมกษัตริย์ก็ให้ล้อมกวางนั้้นไว้
กวางหนีจากที่ล้อมได้ พญาก็ทรงม้าพระที่นั่งตามไปแต่พระองค์เดียว
จนถึงวิมานใต้ต้นไทร อันเป็นแดนอาฬวกยักษ์ๆ ก็จับพญาได้จะกินเป็นอาหาร
พญาให้ปฏิญาณแก่ยักษ์ว่า ถ้าท่านให้เรากลับไปเมือง เราจะส่งคนกับสำรับ
เข้ามาให้ท่านบริโภคทุกวัน ยักษ์ก็ปล่อยพญาๆ ก็ทรงม้ากลับมาเมืองฯ

เมื่อพญาอาลวีกลับมาถึงเมืองจึงให้ถอดนักโทษออก แล้วให้แบกสำรับไปส่งอาฬวกยักษ์
วันละคนจนหมดสิ้น ภายหลังพญาจึงสั่งให้นำทารกไปส่งยักษ์ ส่วนสตรีผู้มีครรภ์
ก็พากันหนีไปอยู่ประเทศอื่น ทารกทั้งเมืองไม่มี พญาจึงสั่งให้เอาพระราชบุตร
ผู้ชื่ออาลวีกุมาร เตรียมไปให้ยักษ์ในวันรุ่งขึ้น ราตรีวันน้ัน พระพุทธเจ้าเห็นอุปนิสัย
อาฬวกยักษ์กับอาลวีกุมารผู้จะถึงแก่มรรคผล ก็เสด็จเข้าไปเทศนา ณ วิมาน
ฝูงนางเทพปริจาริกา ก็เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกัน พอสาตาคิรยักษ์และเหมวตายักษ์
เหาะมาตรงวิมานก็มิอาจเหาะไปได้ ตกลงมาจากอากาศ ก็เข้าไปถวายนมัสการพระพุทธเจ้าฯ

เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จอยู่ในวิมาน ฝ่ายคันธัพยักษ์ผู้รักษาประตูก็ไปบอกอาฬวกยักษ์
ยังที่ยักขสมาคม ทั้งเหมวตายักษ์และสาตาคิริยักษ์ก็มาถึงที่นั่นด้วย ต่างบอกความแก่อาฬวกยักษ์
ว่า พระสัพพัญญูเสด็จอยู่ในวิมาน ท่านอาฬวกยักษ์ก็โกรธ ยืนขึ้นสำแดงฤทธิ์ถีบยอดเขาไกรลาส
หักทำลายแล้วร้องเรียกยักษ์บริษัทยกพลมาล้อมวิมาน ยังห่าฝนอาวุธ ๗ ประการ ให้ตกลง
ด้วยอำนาจผ้าโพก อาวุธกลายเป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า อาฬวกยักษ์แพ้ฤทธิ์แล้วพระองค์
เทศนาโปรดยักษ์บรรลุพระโสดาบัน เมื่อบุรุษพาอาลวีกุมารมาถึงยักษ์ๆ ก็อุ้มกุมารไว้ด้วยเมตตาจิต
แล้วพระพุทธองค์ก็พายักษ์และกุมารมาเมืองอาลวี พญาไปรับนอกประตูเมืองฯ

  

๑.พระเจ้ากรุงอาฬวีประพาสป่า หลงทางเข้าไปในแดนอาฬวกะยักษ์


๒.เมื่อยักษ์ขู่จะฆ่า ก็ทรงขอถ่ายชีวิต โดยส่งนักโทษไปให้ยักษ์กินทุกวัน


๓. พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนั้นจึงเสด็จพุทธดำเนินไปปราบยักษ์


๔.ทรงสำแดงธรรมโปรด จนยักษ์เลื่อมใสศรัทธา ถวายคารวะอภิวาท


บทที่ ๓ ผะจญช้างนาฬาคีรี
นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ

ใจความว่า พระเทวทัตคิดจะฆ่าพระพุทธเจ้า พญาอชาตศัตรูขอให้
เอาเหล้ากรอกช้างนาฬาคิรี แล้วปล่อยไปในถนนที่พระพุทธเจ้าพร้อมกับ
พระภิกษุสงฆ์เที่ยวบิณฑบาต พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคิรี
ให้หายเมาเหล้าแล้วตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์



๑.พระเทวทัตต์ผลักศิลาฆ่าพระพุทธองค์ไม่สำเร็จ
แต่เสก็ดหินถูกพระบาทห้อเลือด


๒.อุบาสกทูลห้ามมิให้เสด็จโปรดสัตว์
ว่าเทวทัตต์จะให้ช้างร้ายฆ่า แต่ไม่ทรงฟัง


๓.พระอานนท์ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา
ขวางหน้าช้างนาฬาคีรีมิให้แทงพระพุทธองค์


๔.ทรงแผ่พระเมตตาบารมี ช้างนาฬาคีรีซึ่งถูกมอมเหล้่า
ก็สร่างเมาทันที


บทที่ ๔  ผะจญโจรองคุลิมาล
อุกฺขิตฺตขคฺคมหิหตฺถสุทารุณนฺตํ

ใจความว่า ภรรยาปุโรหิตเมืองสาวัตถี คลอดบุตรในราตรีวันนั้น
อาวุธลุกเป็นเพลิงไปสิ้นทั้งเมือง พญาปัสเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นพระแสง
อันวางไว้ข้างที่สิริไสยาสน์ปรากฏเป็นเพลิง  ดังนั้้นจึงตกพระทัย
ครั้้นรุ่งเช้าตรัสถามปุโรหิตๆ ก็กราบทูลว่า บุตรข้าพระองค์คลอดในเพลาวันนี้
จะเป็นโจรจึงปรากฏเป็นมหัศจรรย์ดังนี้ ขอพระองค์จงประหารชีวิตบุตรข้าพระเจ้าเสีย
พญาก็ตรัสสั่งให้เลี้ยงกุมารไว้มิได้ฆ่า ครั้นกุมารเติบใหญ่ขึ้นบิดาก็ให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร
แล้วให้ไปเรียนศิลปะศาสตร์ ในสำนักทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักสิลา ฯ



๑.พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล ชาวบ้านทูลทัดทาน ก็ไม่ทรงฟัง


๒.องคุลิมาลตะโกนก้องให้หยุด พระพุทธองค์ตรัสว่าเราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด


๓.ทรงแสดงธรรมกลับใจองคุลิมาล ประทานอุปสมบท แล้วพระสุคตก็เสด็จกลับวัด


๔.หญิงมีครรภ์ จำพระองคุลิมาลได้ ตกใจกลัวจนเจ็บครรภ์ ท่านยืนให้พรให้คลอดง่าย


บทที่ ๕ ผะจญนางงาม
กตฺวาน กฏฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา

ใจความว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอยู่วัดพระเชตุพนใกล้เมืองสาวัตถี
ครั้งนั้นลาภสักการะเกิดในพระศาสนามาก พวกเศรษฐีจึงให้นางจินจมาณวิกาทำอุบาย
เที่ยวเข้าออกในวัดพระเชตุพนเนืองๆ แล้วเอาท่อนไม้ผูกท้องเข้าในผ้านุ่งไปยืนอยู่ในที่บริษัท
เมื่อเพลพระพุทธเจ้าสำแดงพระธรรมเทศนา  ร้องว่า ท่านกระทำให้เรามีครรภ์แล้ว
ไฉนจึงไม่ปลูกเรือนที่ประสูติให้เราเล่า พระอินทร์กับเทพยดาทั้ง ๔ องค์ ก็นิมิตเป็นหนู
มากัดเชือกซึ่งผูกท่อนไม้ให้ขาดออก แผ่นดินก็ให้ช่องสูบนางจินจมานวิกาลงไปไหม้
อยู่ในอเวจีนรก พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาเรื่องมหาปทุมชาดกโดยพิสดารฯ



๑.เดียรถีย์ขอให้นางจิญจมาณวิกาแสร้งใส่ความพระพุทธองค์ นางก็รับคำ


๒.ทุกเวลาเย็นนางทำทีค้างวัดเชตวัน รุ่งเช้าทำออกจากวัด มหาชนต่างสงสัย


๓.ไปชี้หน้าว่าตนมีครรภ์กับพระพุทธองค์ พระอินทร์แปลงเป็นหนูกัดไม้ค้ำครรภ์


๔.พอกลแตกนางก็วิ่งหนี พระธรณีก็สูบนางลงไปหมกไหม้ในนรกอเวจี


บทที่ ๖  ผะจญอาจารย์กษัตริย์
สจฺจํ วิหาย มติสจฺจกวาทเกตุํ

ใจความว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอยู่ในกุฎาคารเสนาสนป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลี
ครั้งนั้น สัจกนิครนถ์บุตรอยู่ในเมืองนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตั้งตนเป็นนักปราชญ์ทรงไว้ซึ่งความรู้มาก
ทำพืดเหล็กรัดท้องกลัววิชชาจะทำลายท้องแตก วันหนึ่งเที่ยวไปพบพระอิสสชิเถระผู้บิณฑบาต
ในละแวกบ้าน ก็ถามปัญหาพระผู้เป็นเจ้า แล้วเข้ามาชวนพญาลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ พระองค์
เสด็จออกจากป่ามหาวัน จึงถามปัญหาพระสัพพัญญู  ขณะนั้นพระอินทร์นิมิตเป็นยักษ์ถือค้อน
มาลอยอยู่บนอากาศ ตรงศีรษะสัจกนิครนถ์ๆ ได้ฟังธรรมเทศนาในสำนักพระพุทธเจ้า
ก็ละมิจฉาทิฏฐิเสียได้ ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ฯ



๑.สัจจกะนิครนถ์อาจารย์กษัตริย์ลิจฉวีพบพระอัสสชิ จึงลองประคารม


๒.แล้วไปทูลกษัตริย์ลิจฉวีว่า ตนจะโต้วาทะกับพระพุทธองค์ให้จำนนทีเดียว


๓.ถูกพระพุทธองค์ทรงซักถามถึงอนัตตา สิ้นภูมิปัญญาของสัจจกะ เหงื่อไหลโทรมหน้า


๔.กลับบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์

(คัดโดยคงตัวสะกดเดิม)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 พฤษภาคม 2559 14:44:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 25 พฤษภาคม 2559 15:43:46 »

ภาพพาหุง
โดย ครูเหม  เวชกร

บทที่ ๗ ผะจญพญาภุชงค์
นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ

ใจความว่า พระสัพพัญญูเสด็จอยู่ ณ วัดพระเชตุพน
ครั้งนั้นอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีออกไปทูลอาราธนาเข้ามาฉันที่เรือน
พร้อมกับพระสงฆ์ ๕๐๐ องค์ ในวันพรุ่งนี้ พระพุทธองค์ก็รับกิจนิมนต์ 
ครั้นราตรีใกล้รุ่งพระองค์ก็พิจารณาดูโลก ได้เห็นอุปนิสัยพญานันโทปนันทนาค
ผู้จะได้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์  ครั้นรุ่งขึ้นพระองค์ก็พาพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
เหาะไปสู่เทวโลก พญานาคเห็นก็โกรธว่า พระสมณะเหาะข้ามศีรษะ
จึงบันดาลขนดกายใหญ่พันเขาพระเมรุไว้ เลิกพังพานบังดาวดึงส์พิภพ
พระพุทธองค์ก็ส่งพระโมคคัลลานเถระไปทรมาน พระมหาเถระก็นิมิตกาย
เป็นนาคมัดพญานาคไว้ ต่างฝ่ายต่างสำแดงฤทธิ์กันต่างๆ เป็นโกลาหลยิ่งนัก
ภายหลังพญานาคก็แพ้ฤทธิ์พระมหาเถระ แล้วตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์
พระพุทธเจ้าก็พาพระสงฆ์ ๕๐๐ องค์ มาฉันบ้านมหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี



๑.พญาภุชงค์กำลังสำราญรมย์ เห็นพระพุทธองค์จะเสด็จข้ามเศียรไปสวรรค์ก็โกรธ


๒.สำแดงเดชกลายเพศเป็นพญานาคพันภูเขา ขัดขวางทางเสด็จพุทธดำเนิน


๓.พระโมคคัลลาน์ปาฏิหาริย์เป็นพญานาคตัวใหญ่กว่า ยุทธนากับพญาภุชงค์ถึงยอมแพ้


๔.พญาภุชงค์สิ้นทิฏฐิมานะ เข้าเฝ้าพระพุทธองค์แสดงตนเป็นพุทธมามกะ


บทที่ ๘ ผะจญพกาพรหม
ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ

ใจความว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในป่าศุภตรันใกล้เมืองอุกกัฐนคร
กับพระสงฆ์ทั้งปวง พระองค์พิจารณาเห็นท้าวพกาพรหม กับพรหมบริษัท ๑๐๐๐
ในชั้นปฐมญาณจึงเสด็จขึ้นไปสู่พรหมโลก ท้าวพกาพรหมเห็นพระพุทธเจ้า
เสด็จมาร้องเรียกด้วยถ้อยคำอันกระด้าง แล้วท้าวพกาพรหมจึงกำบังกายๆ ก็ปรากฏอยู่
มิอาจกำบังได้ ก็นั่งกอดเข่าอยู่ หมู่พรหมทั้งหลายก็หัวเราะเยาะเย้ยท้าวพกาพรหม
ท้าวพกาพรหมได้ความละอายยิ่งนัก แล้วพระพุทธองค์เทศนาทรมานพกาพรหม
กับพรหม ๑๐๐๐ ให้สำเร็จมรรคผลฯ



๑.พกาพรหมมีทิฏฐิวิปริตว่าพรหมโลกเที่ยง พระพุทธองค์เสด็จไปโปรด ก็ไม่เชื่อฟัง


๒.กลับท้าประลองฤทธิ์หายตัว ก็ไม่พ้นพุทธทัศนะวิสัย พรหมทั้งหลายยังเห็นตัวอยู่


๓.ถึงวาระพระพุทธองค์หายตัว พกาพรหมหาไม่พบ ได้ยินแต่พระสุรเสียง


๔.ผลที่สุดพกาพรหมยอมรับนับถือพระบรมพุทธานุสาสนี ก้มเกศีถวายอภิวาท
(คัดโดยคงตัวสะกดเดิม)

จบ ภาพพาหุง ผลงานครูเหม เวชกร
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ชุดภาพ 'เงาะป่า' ภาพและคำบรรยาย โดย เหม เวชกร
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 2 3296 กระทู้ล่าสุด 25 กรกฎาคม 2559 12:44:06
โดย Kimleng
D. T. Suzuki ประวัติ ผลงาน และ หลักคำสอน ดี.ที.ซูซุกิ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1724 กระทู้ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2559 22:14:40
โดย มดเอ๊ก
[ไทยรัฐ] - กางเนื้อหาหนังสือ “ผู้นำ” ย้อนเส้นทาง-ผลงาน “บิ๊กตู่” บนเก้าอี้นายกฯ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 86 กระทู้ล่าสุด 03 เมษายน 2566 08:24:39
โดย สุขใจ ข่าวสด
ประวัติพระพุทธเจ้า ( “สมุดภาพพระพุทธประวัติ” โดย ครูเหม เวชกร
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 0 94 กระทู้ล่าสุด 02 มกราคม 2567 20:05:34
โดย มดเอ๊ก
พระเวสสันดรชาดก (ฉบับสมบูรณ์) ภาพประกอบจาก ครูเหม เวชกร
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 70 กระทู้ล่าสุด 02 มกราคม 2567 20:08:13
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.491 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 มีนาคม 2567 20:59:43