[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 16:51:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การปลงศพ ในประเทศสยาม  (อ่าน 3617 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 สิงหาคม 2558 16:26:39 »

.

การปลงศพในประเทศสยาม

ชาวสยามปลงศพ (๑)

ผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ศาสตราจารย์สมภพ ภิรมย์เมตตา ยื่นให้ด้วยมือของท่านเอง เป็นหนังสือเรื่องพระเมรุมาศ ที่ท่านเรียบเรียงขึ้นครั้งแรกสมัยที่ท่านเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ท้ายเล่มนั้นมีบทความเขียนโดยศาสตราจารย์คาร์ล ซิกเฟรีด เดอร์ริง (Karl Siegfried Döhring) ใน ค.ศ.๑๙๒๔ หรือราว พ.ศ. ๒๔๖๗ อันเป็นปลายรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย เจ.พี.เอ็ม.บลูมฮาร์ด และ รองศาสตราจารย์ศรีนวล บุณยวัฒน เคยแปลเป็นไทยไว้ ผมจะขอนำบางตอนในภาคไทยและอังกฤษมาใช้เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ผมเขียนขึ้นใหม่นี้ เพื่อเป็นภาคผนวกของเรื่อง “ศพในโกศ”

ศาสตราจารย์เดอห์ริง มาสมัครเข้ารับราชการในประเทศสยาม เป็นสถาปนิกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะมีผลงานเยอะอยู่ก็เกิดล้มป่วยลงอย่างหนัก ต้องกลับไปทำการรักษาตัวที่ยุโรป เมื่อหายดีแล้วก็ยังติดใจที่จะกลับมาสยามอีก เพื่อศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนการขุดค้นทางโบราณคดี แล้วเขียนหนังสือและบทความไว้ เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการด้านนี้เป็นอย่างสูงในต่างประเทศ ส่วนไทยเราก็ลองอ่านดูก่อนแล้วกันนะครับ

การที่ชอบเที่ยวซอกแซกไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นนั้นเอง ทำให้เขามีประสบการณ์ที่ฝรั่งทั่วไปในเมืองไทยคงไม่คิดจะมี แล้วนำไปเขียนบทความเรื่อง “การเผาศพในประเทศสยาม” ซึ่งคนไทยเองยังไม่เคยบันทึกไว้ละเอียดขนาดนี้

คนไทยนั้นรับวัฒนธรรมประเพณีมาจากอินเดีย รวมถึงการเผาศพตามคติพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธสรีระก็ยังถวายพระเพลิงบนพระจิตกาธาน จึงเผาศพแล้วลอยเถ้ากระดูกอังคารลงแม่น้ำสำคัญ เช่น พวกพราหมณ์ หรือ ฮินดู แต่บางครั้งก็เอาศพทิ้งน้ำโดยไม่ได้เผา

แม้ว่าการเผาศพจะเป็นที่นิยมที่สุด แต่สมัยก่อนนั้นก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี กล่าวคือผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ เช่น ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค หรือกาฬโรค จะต้องนำศพไปฝังไว้ก่อน หลังจากนั้นไม่เกินสามปีจึงขุดขึ้นมาแล้วเผา ทารกที่ตายในท้องแม่หรือตายก่อนฟันขึ้น รวมทั้งหญิงตายทั้งกลม ก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่จะถูกฝังไว้ชั่วระยะเวลาที่สั้นกว่า ก่อนนำมาเผาเท่านั้น

แต่เดิม ศพพวกอาชญากรและพวกนักโทษประหาร ไม่มีการฝัง แต่จะถูกโยนลงแม่น้ำ อีกวิธีหนึ่งคือ ปล่อยศพทิ้งไว้กลางทุ่งเพื่อเป็นเหยื่อแก่ฝูงแร้ง สัตว์เลื้อยคลาน และสุนัขจรจัด แต่จากรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็อนุโลมให้มีการเผาศพบุคคลประเภทดังกล่าวด้วย แม้ว่าที่จริงแล้วไม่มีใครเต็มใจจะให้เกียรติจัดการเผาศพคนพวกนั้นเลย สำหรับพวกตายโหง เช่น ตายเนื่องจากโดนคมอาวุธ ตายเพราะจมน้ำ ฟ้าผ่า หรือจากภัยธรรมชาติอื่นๆ จะถูกฝังหมด เพราะในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่า คนที่ตายโหงนั่นเป็นเพราะผลอันเกิดจากการประพฤติชั่ว ทำบาปไว้ในชาตินี้หรือชาติก่อน แล้วผลของกรรมก็ติดตามมาจนหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เมื่อบุคคลในครอบครัวป่วยหนักใกล้ตาย จะมีผู้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดและแสดงธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก พอผู้ป่วยใกล้สิ้นใจ พระจะกระซิบบอกคำว่า “อรหัง อรหัง” ที่ข้างหู ถ้าผู้ที่กำลังจะหมดลมสามารถมีสติเข้าใจได้ก็ถือว่าเป็นการดี เมื่อตายแล้วจะไปสู่สุคติ

ถ้าจิตเกิดหมกมุ่นกับกิเลส เป็นห่วงเป็นใยโน่นนั่นนี่ หรือโกรธแค้นคนโน้นคนนี้ จิตที่ดับระหว่างนั้นก็ไปสู่อบายแน่นอน  ดังนั้น ใครอย่าได้ไปร้องไห้พิร่ำพิไรให้คนที่กำลังจะตายได้ยินเป็นอันขาด เงียบๆ ไว้ ให้โอกาสท่านได้เจริญสติเป็นครั้งสุดท้าย อันนี้ผมว่าเองนะครับ เดอห์ริงไม่ได้ว่า แต่ถ้าหมดลมแล้วจะร้องไห้เป็นการใหญ่อย่างไรก็เชิญ เพราะคงไม่มีผลกับผู้ตายแล้ว

หลังมีการตายเกิดขึ้น คนโบราณจะจุดเทียนขี้ผึ้งปักไว้ที่เตียงเล่มนึง แต่ก่อนเมื่อยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าตายจริงหรือตายชั่วคราว อยู่ๆ อาจจะกลับหายใจขึ้นมาอีกก็ได้  ดังนั้น คนโบราณจะใช้การจุดเทียนขี้ผึ้งแล้วเฝ้ารอ ถ้าเทียนดับก็สามารถกระหน่ำเสียงร้องไห้อีกยกนึงได้ เพราะตายแน่ ยังไงๆ ก็ไม่ฟื้นแล้ว



Karl Siegfried Döring

เดอห์ริงเขียนว่า เมื่อเสียงแห่งการเศร้าโศกเสียใจสงบลงแล้ว จึงจะมีพิธีอาบน้ำศพด้วยน้ำเย็น สำหรับศพบุคคลสำคัญนั้น บรรดาญาติพี่น้องทุกคนจะยืนเรียงลำดับตามตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์และความสำคัญในวงสังคม ทยอยกันเข้าอาบน้ำศพจากขันเงิน ครั้นเสร็จแล้วศพจะถูกขัดถู ลงขมิ้น เครื่องหอม ยางไม้หอม น้ำผึ้ง และขี้ผึ้ง จากนั้นก็กรอกปรอทจำนวนมากลงในปากของผู้ตาย เสร็จแล้วจึงห่อศพให้แน่นแล้วจึงบรรจุลงหีบ

แต่คำว่าอาบน้ำศพของคนโบราณ คือการอาบน้ำชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายทุกส่วนของศพ โดยจะต้มน้ำแล้วใส่สมุนไพรนานาชนิดที่ให้กลิ่นหอมลงไป หลังจากรอให้น้ำนั้นเย็นลงแล้วจึงเอามาอาบน้ำให้ศพ โดยลูกๆ หลานๆ จะช่วยกันทำ แล้วจึงจัดผ้าจัดผ่อนให้เรียบร้อย ก่อนเชิญญาติสนิทมิตรรักมาร่วมอาบน้ำเย็นธรรมดาอีกครั้ง ก่อนจะนำปรอทมากรอกลงทางปาก ป้องกันไม่ให้ศพเน่าเหม็น แล้วทาขมิ้นชันทั้งตัวให้เหลืองอร่ามเป็นอันเสร็จพิธี  ส่วนการเอาน้ำอบไทยมารดที่มือของศพเรียกว่ารดน้ำศพ นั่นสำหรับแขกทั่วๆ ไปที่มาร่วมแสดงความอาลัยก่อนจะนำเข้าโลง

เมื่อแขกหมดแล้ว พิธีกรจะให้ทายาทหวีผมศพตรงขมับ ขึ้นลง ๓ ครั้ง พร้อมกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วหักหวีทิ้งเป็นสองส่วน กันไม่ให้ใครนำไปใช้ต่อ แล้วเอาใส่กระเป๋าเสื้อของศพ เดี๋ยวนี้ก็ยังกระทำกันอยู่ หลังจากนั้นก็นำผ้าขาวมาห่อ เสร็จแล้วมัดตราสังด้วยด้ายดิบเป็น ๕ เปลาะ ตั้งแต่คอเรื่อยลงไปถึงข้อเท้า เป็นปริศนาธรรมทางพระพุทธนา ให้เห็นขันธ์ทั้งห้าที่เป็นบ่วงมัดทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เหตุผลที่เป็นรูปธรรม คือต้องมัดศพให้แน่น จะได้ไม่ขึ้นอืดจนดันโลงแตก แล้วจึงอุ้มลงโลง
โลงศพส่วนใหญ่ทำจากไม้ทาด้วยน้ำมันชักเงาด้านนอก ส่วนของผู้ที่ร่ำรวยก็ปิดทอง และที่ทำด้วยตะกั่วก็มี เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ตาย หีบศพจะต้องตั้งไว้บนยกพื้นสูง เมื่อตั้งหีบศพ ประดับประดาด้วยดอกไม้สดและแห้งแล้ว คนมั่งมีก็จะจ้างนางร้องไห้มาพร่ำรำพันสรรเสริญคุณความดีของผู้ตาย ร่ำไห้สะอึกสะอื้นโอดครวญแสดงความเสียใจอย่างใหญ่หลวงที่ผู้นั้นต้องตายจากไป อันนี้เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากวัฒนธรรมมอญ เรียกว่า มอญร้องไห้ จะร้องสลับกับวงปี่พาทย์มอญระหว่างที่พระหยุดพักการสวดศพ ทั้งนี้จนกว่าจะมีพิธีการปลงศพ

ทุกๆ วัน พระจากวัดในละแวกใกล้เคียงจะได้รับการนิมนต์มาสวดศพในตอนค่ำ โดยท่านจะนั่งหันหลังชิดฝาถัดจากหีบศพ แล้วก็สวดพระบทคัมภีร์เรื่อง “พระมาลัย” ตอนเดินทางไปสวรรค์และนรก เมื่อจบแล้วพระจะรับประเคนผ้าบังสุกุล ธูป เทียน พร้อมทั้งจตุปัจจัย อุทิศบุญกุศลให้ผู้ตาย

หลังจากนั้นวันสองวัน ศพจึงถูกนำออกมาทางช่องที่เจาะเป็นรูไว้ตรงข้างฝาบ้าน ต่อไปลูกหลานผู้ชายก็ช่วยกันแบกหีบศพ แล้วเดินด้วยก้าวยาวๆ เวียนซ้ายรอบบ้าน ๓ รอบ แล้วจึงรีบนำไปสู่ฌาปนสถาน โดยมากมักจะไปทางเรือ ในประเทศสยามเชื่อกันว่าผู้ตายที่ไปอบายจะเป็นผีกลับมารบกวนญาติพี่น้อง ถ้าไปทางบกผีจะจำทางกลับบ้านได้

เดอห์ริงเขียนต่อไปว่า ช่องที่เจาะไว้ตรงข้างฝาบ้านก็ต้องปิดเสียเพื่อว่าผีจะได้หาไม่พบ เพราะตามที่คนไทยเชื่อกันนั้น ภูตผี และวิญญาณของผู้ตายจะพยายามกลับเข้าบ้านทางช่องที่นำศพออกนั่นแหละ แต่ตามบ้านนอกคอกนาเท่านั้นที่ยังปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ในเมืองซึ่งมีกำแพงเมืองใหญ่โตไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นอีก เพราะผีจะใช้อิทธิฤทธิ์เดินทะลุไปไม่ได้ด้วยว่ามันหนา

เดอห์ริงกล่าวว่าเขาเอาเรื่องจริงมาเล่านะ เพราะมีหลักฐานคำไทยๆ ที่เกี่ยวกับประเพณีนี้อยู่ คือ “ฟันหักประตูผี” (Fan Hak Patupi)  ประตูผี คือช่องที่ถูกเจาะเพื่อนำศพออก ที่เดอห์ริงฟังเขาพูดแล้วนำมาอ้างเช่นนี้ออกจะสร้างความสับสนอยู่ เพราะประตูผีที่เป็นช่องเล็กๆ สำหรับแบกศพออกนอกกำแพงเมืองก็อย่างหนึ่ง แต่สำหรับบ้านก็เป็นอีกอย่าง สมัยก่อนบ้านคนไทยใช้ฝาปะกน ทำด้วยไม้เป็นแผ่นๆ สำเร็จรูปมาประกอบกัน จึงไม่เป็นต้องเจาะ เพียงแต่ถอดชิ้นส่วนบางชิ้นออกก็สามารถเปิดเป็นช่องให้นำศพออกได้ แต่ถ้าเป็นศพผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ก็สามารถถอดฝาเรือนด้านสกัด คือด้านแคบออกได้ทั้งฝาได้โดยไม่ยาก จะนำศพออกจากเรือนทั้งทีต้องให้สมเกียรติเจ้าของเรือนหน่อย ไม่ใช่เจาะช่องเล็กๆ เรียกว่า ประตูผี

ส่วนคำว่าฟันหักประตูผีนั้น คือเสนียดอย่างหนึ่ง หมายความถึงฟันซี่หน้าที่หักไปซี่นึง ยิ้มแล้วเหมือนมีประตูผีอยู่ประดับปาก เกิดขึ้นกับใครละก็ท่านว่าอัปรีย์จัญไรยิ่งนัก ควรจะให้เพื่อนเอาคมแฝกฟาดปากสักผัวะหนึ่ง ให้ฟันหมดไปทั้งแถบจะยังดีเสียกว่า สมัยก่อนคำนี้จะฮิตอย่างไรไม่ทราบ แต่สมัยมีฟันปลอมแล้ว คำว่าฟันหักประตูผีก็สาบสูญไป ผมต้องค้นคว้าซะนานกว่าจะเจอความหมาย

อันที่จริงช่องที่รื้อชั่วคราวเพื่อเอาศพออกจากบ้านโดยเฉพาะ เรียกว่าประตูป่า คนโบราณพอรื้อฝาบ้านออกแล้วยังเอากิ่งไม้ใบดกมาปักรวบเป็นซุ้มไว้ เสร็จสรรพจึงนำศพออกจากบ้านโดยเอาด้านปลายเท้าออกก่อน เพื่อไม่ให้ศพเห็นบ้านได้ ส่วนบันไดที่จะแบกศพลงก็เป็นบันไดชั่วคราวเรียกว่าบันไดผี พอเอาศพลงเสร็จปุ๊บ ก็จะรื้อประตูป่ากับบันไดผีทิ้งปั๊บ แล้วนำฝาบ้านมาประกอบปิดกลับทันที เชื่อว่าวิญญาณคนตายเมื่อเจอกลยุทธ์นี้เข้า ก็จะหาทางกลับเข้าบ้านไม่ได้ ต้องยอมไปอยู่ในโลกของวิญญาณโดยดี นี่แสดงถึงความกลัวผีอย่างขึ้นสมองของคนไทยสมัยโน้น ขนาดผีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของตัวเองแท้ๆ ยังโหดกับท่านถึงเพียงนี้

นอกจากนั้น พอเอาศพออกจากบ้านแล้ว ยังมีแถมด้วยการซัดข้าวสารที่ขอให้เกจิอาจารย์เสกให้ พร้อมว่าคาถาอาคมกำกับเพื่อปัดความอัปมงคลให้จากไปพร้อมๆ กับศพ



(ซ้าย) ประตูผี เมืองระนอง  (ขวา) เรือนไทยฝาประกน

ในประเทศสยามสีขาวเป็นสีไว้ทุกข์ บางทีก็สีดำด้วย อย่างไรก็ตามการใช้สีขาวเป็นส่วนใหญ่นั้นเช่นเดียวกับชาวจีนนั่นเอง ผู้ไว้ทุกข์รวมทั้งญาติผู้หญิงและผู้ที่อ่อนกว่าผู้ตายจะแต่งกายสีขาว ส่วนผู้ที่แก่กว่าจะสวม “ผ้านุ่ง” สีดำกับเสื้อสีขาว สมัยก่อนผู้หญิงจะโพกผ้าขาวรอบศีรษะด้วย เมื่อหัวหน้าครอบครัวถึงแก่กรรม สมาชิกในครอบครัวมีอายุน้อยกว่าจะโกนศีรษะทุกคน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต คนทั้งประเทศจะแต่งขาว และพวกผู้ชายโกนศีรษะ อย่างไรก็ดี ประเพณีนี้ค่อยๆ หมดไปทุกที

เมื่อนำศพไปถึงเชิงตะกอนแล้ว เจ้าภาพจะมอบให้อยู่ในความดูและของวัด ถ้ามีหีบนอกก็เปลื้องออกก่อน ประเพณีดั้งเดิมต้องเอาเหรียญบาทที่เป็นเงินใส่ไว้ในปากผู้ตายด้วย ในปี ๑๙๒๓ นั้น ๑๐.๘๐ บาท มีค่าเท่ากับ ๑ ปอนด์ สำหรับจ่ายเป็นค่าเผาศพของวัด

เหรียญที่เดอห์ริงกล่าวถึงนี้เรียกว่าเงินปากผี คนไทยจะนำเงินใส่ไว้ในปากศพ ด้วยความเชื่อว่าจะเป็นปริศนาธรรมต่อคนเป็นว่า คนตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้เลยแม้แต่เงินทองที่อยู่ในปาก หากจิตเกิดสลดแล้ว จะได้ละความโลภโมโทสันลงเสียให้เหลือน้อยๆ หน่อย บ้างก็บอกว่า ใส่ไว้เป็นค่าผ่านประตูไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือใช้ทิปยมทูตผู้นำดวงวิญญาณไปสู่ปรโลก ใช่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เป็นทิปให้กับสัปเหร่อนั่นแหละ แล้วเงินปากผีนี้ก็มีค่ามากกว่าที่ตัวเลขระบุไว้ เพราะพวกนักเลงจะพากันไปลงอาถรรพ์ทำวัตถุคุณไสยประเภทที่เป็นผลผลิตจากดิรัจฉานวิชาทั้งหลาย

นอกจากเงินปากผี คนโบราณยังมีหมากปากผีอีก โดยจะตำหมากใส่ปากศพเพื่อเป็นปริศนาธรรมว่า นอกจากเอาทรัพย์ไปไม่ได้แล้ว หมากที่คนสมัยก่อนต้องเคี้ยวตลอดทั้งวัน ขาดปากเมื่อไหร่เป็นหงุดหงิดทันทีนั้น พอตายแล้วหมากที่ป้อนเข้าปาก ก็ยังไม่สามารถจะเคี้ยวได้เช่นกัน

ถ้าผู้ตายเป็นผู้สร้างวัดนั้นในขณะยังมีชีวิตอยู่ หรือมีส่วนร่วมในการสร้างก็ดี ศพของผู้นั้นจะมีสิทธิ์ให้ทำการเผาได้บริเวณลานวัดนั้น แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินพอที่จะทำได้ การเผาศพก็ต้องกระทำกันตามวัดที่เคยไปทำบุญเป็นประจำ ในสถานที่ที่คนเอาพระพุทธรูปไปบริจาคไว้ ตรงนี้เดอห์ริงคงหมายถึงป่าช้า

เชิงตะกอนจะถูกทำขึ้นมาพร้อมทั้งมีหลังคาปิดข้างบน คาดไว้ด้วยผ้าดำและขาว แล้วประดับตกแต่งด้วยสีทองและเงิน ซึ่งแน่นอน หลังคาเชิงตะกอนมักเป็นยอดแหลมที่จะต้องสูงมาก จนกระทั่งเปลวไฟพลุ่งขึ้นไปไม่ถึง

ที่เรียกว่าเชิงตะกอนในย่อหน้าบน น่าจะหมายถึงเมรุลอย ที่มีผู้สร้างไว้ให้เช่า โดยทำเป็นชิ้นๆ นำมาประกอบ เสร็จงานก็รื้อไปเก็บไว้รองานหน้า คนธรรมดาคงไม่มีปัญญาจะสร้างเมรุเพื่อใช้เผาศพเพียงครั้งเดียว

เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธี พระสงฆ์ก็สวดมนต์ และทันทีที่สวดจบจะมีผู้ต่อยเอาน้ำมะพร้าวอ่อนรดลงบนหน้าศพ แล้วเอากะลาไปวางไว้บนเชิงตะกอน

เดอห์ริงไม่ได้ให้เหตุผลตรงนี้ไว้ แต่ผมใช้อินทรเนตรหา พบว่ามีสองสำนวนสองเหตุผลด้วยกัน สำนวนหนึ่งว่า สมัยก่อนที่ผียังดุอยู่ไม่เหมือนสมัยนี้ สัปเหร่อจะทำพิธีสะกดวิญญาณไม่ให้ผีกลับเข้าร่าง โดยใช้ค้อนทุบลงไปบนกะโหลกคนตาย เพื่อให้ผีจำหน้าของตนเองไม่ได้หรือเห็นแล้วเกิดปลงตก วิญญาณจะได้ไปสู่ที่ชอบๆ ต่อมาญาติพี่น้องลูกหลานคงประท้วงไม่ยอมให้กระทำนี้ จึงเปลี่ยนไปใช้ลูกมะพร้าวเป็นเคล็ด สมมติว่าเป็นศีรษะของคนตาย ทุบลูกมะพร้าวให้แตกดังโพละ แทนพิธีสะกดวิญญาณเดิม ต่อมาคนทั้งปวงเห็นว่าเมื่อทุบแล้วน้ำมะพร้าวไหลลงบนใบหน้าศพ ก็นึกว่ามีจุดประสงค์ที่จะล้างหน้าให้ศพเป็นครั้งสุดท้ายด้วยน้ำอันบริสุทธิ์ แต่ที่ไหนได้พิธีกรรมนี้มีนัยะแอบแฝงที่พิลึกพิลั่นมาก

ส่วนอีกสำนวนหนึ่งผู้เขียนอ้าง หลวงพ่อพุธ ฐานิโย อริยสงฆ์แห่งโคราช เคยเล่าให้ฟังว่า ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งมีเหตุให้พระพุทธองค์ต้องเสด็จผ่านไปยังสถานที่ที่เขากำลังจะเผาศพ แล้วทรงทราบด้วยพระญาณวิถีว่า ศพที่กำลังจะถูกเผานั้นยังไม่ตาย จึงทรงให้ชายผู้หนึ่งเอามะพร้าวอ่อนที่หาได้ ณ ตรงนั้น ทุบเอาน้ำราดลงบนหน้า ร่างที่แน่นิ่งอยู่ก็สำลักน้ำมะพร้าวฟื้นขึ้นมาหายใจได้อีกครั้ง จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธในเมืองไทย ที่ต้องทำเช่นนั้นก่อนการเผาศพมาจนทุกวันนี้



การเผาศพคนยากไร้ กับคนมีสตางค์ในวัดสระเกศ

เพราะโลงศพมีราคาแพง จึงต้องนำศพออกมาจากโลงก่อนแล้วจึงเผา แต่ถือกันว่าจะเป็นมงคลแก่ผู้ที่มาร่วมพิธีเผาหากจะเผาศพไปทั้งโลง แต่โลงที่ใช้เผานั้นไม่มีพื้นข้างใต้ มีเพียงตะแกรงบนเชิงตะกอนที่วางไว้สำหรับรองรับศพ จากนั้นญาติมิตรของผู้ตายจะพากันนำดอกไม้จันทน์ไปวางสุมไว้บนเชิงตะกอน เมื่อหัวหน้าครอบครัวจุดไฟแล้ว บรรดาญาติมิตรสหายจึงเดินกันเป็นแถว แต่ละคนจุดเทียนเข้าไปเผาศพ ซึ่งด้านข้างของโลงศพจะมีคนคอยฉีดน้ำให้เปียก เพื่อป้องกันมิให้ลุกไหม้มากเกินไปในตอนนั้น

ระหว่างการเผาศพกำลังดำเนินการอยู่ จะมีผู้หยอดน้ำมันหอมลงบนกองเพลิง อันที่จริงการเผากินเวลาค่อนข้างสั้นประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เมื่อเผาเสร็จก็ถึงการเก็บอัฐิอังคาร ถือเป็นเกียรติอย่างสูงแก่ผู้ตาย ถ้าพิธีเผาศพนั้นได้กระทำโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสองสามประการ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เนื่องจากจะต้องมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุพิเศษ เช่น พระเขี้ยวแก้ว หรือพระนลาฏ อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดจะต้องคงอยู่ในสภาพเรียบร้อย การป้องกันรักษาอัฐิบางชิ้นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นนี้ กระทำกันสำหรับบุคคลที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเจ้านายชั้นสูงในราชตระกูลเท่านั้น

หลังการเผา อัฐิของผู้ตายจะถูกรวบรวมเก็บไว้ในโกศขนาดเล็ก แล้วนำไปตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปในวัด หรือบนที่บูชาส่วนตัว อันนี้เดอห์ริงเข้าใจผิดไปมาก คงไม่มีพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิใดๆ ไปตั้งไว้หน้าพระพุทธรูปในวัด นอกจากในเวลาที่อัญเชิญออกมาบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น

สำหรับบุคคลทั่วไป หากผู้ใดมีฐานะการเงินดีพอ ก็มักจะสร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่ตำแหน่งที่เผาศพ แล้วนำอัฐิบรรจุไว้ภายใน พระเจดีย์จึงเป็นเสมือนสุสานประจำตระกูลด้วยเวลาเดียวกัน เรามักจะเห็นป้ายหินอ่อนเป็นจำนวนมากบนถาวรวัตถุแบบนี้

ที่กรุงเทพฯ มีหลายวัดซึ่งมีเมรุใหญ่ถาวรสำหรับใช้ในการฌาปนกิจศพ โดยเฉพาะวัดสระเกศและวัดแจ้ง ภายในเมรุเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่ทำด้วยซีเมนต์ หลังคาเป็นยอดแหลมสูง มีทางเข้าออกกว้างขวางทั้งสี่ด้าน ตรงกลางเป็นยกพื้นก่อด้วยอิฐใช้เป็นที่วางกองฟืน ยิ่งกองฟืนสูงมากเท่าใดก็ยิ่งถือกันว่าเป็นเกียรติแก่ผู้ตายมากเท่านั้น

ด้านหลังเมรุปูนวัดสระเกศ จะมีประตูเข้าไปสู่บริเวณที่มีเชิงตะกอนมากมาย ซึ่งใช้เผาศพกันเป็นประจำ บุคคลผู้ไม่สู้ร่ำรวยมักนิยมนำศพไปวัดสระเกศ และเสียเงินค่าทำศพราวสองสามบาท


มีต่อ
ที่มา : คอลัมน์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต "ชาวสยามปลงศพ (๑)" โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน  นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์  

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 สิงหาคม 2558 11:33:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 สิงหาคม 2558 11:37:10 »

.


ภาพจาก เว็บไซท์ oknation.net-
การปลงศพในประเทศสยาม

ชาวสยามปลงศพ (ต่อ)

เมื่อพิธีกรรมของชาวชมพูทวีปได้แพร่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิในยุคทวารวดีพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ ก่อนพระพุทธศาสนานั้นราวหนึ่งพันปีมาแล้ว การปลงศพจะมี ๔ ประการ ต่างกันตามฐานะของคนตาย ได้แก่ ปลงศพด้วยดิน คือ ฝัง ปลงด้วยน้ำ คือ โยนทิ้งในแม่น้ำลำคลอง ปลงด้วยนก คือ ให้แร้งกากิน และปลงด้วยไฟ คือ เผา

แต่สมัยรัตนโกสินทร์ คนไทยก็จัดการปลงศพอย่างเป็นอารยะแล้ว เมื่อ มาร์ควิส เฮสติงค์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดีย ได้ส่ง จอห์น ครอว์ฟอร์ด ที่คนไทยเรียกว่า นายยอนการะฝัด เป็นทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลที่ ๒ เมื่อมาถึงเมืองปากน้ำ การะฝัดได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงรับรองในเรือนใหญ่แห่งหนึ่ง เขาเขียนเล่าไว้ว่า

ม่านซึ่งแขวนอยู่ทางสุดห้องกระตุ้นให้เราเกิดความอยากรู้อยากเห็น และเรารู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า หลังม่านนั้นเองเป็นที่ตั้งศพของท่านข้าหลวงปากน้ำคนก่อนเพื่อให้คนมาคารวะ ท่านเป็นพี่ชายของข้าหลวงคนปัจจุบัน และเป็นบิดาของชายหนุ่มผู้เชิญเรามา ความจริงชายผู้นั้นได้เล่าให้เราฟังแล้วว่า บิดาของเขาถึงแก่กรรมเมื่อห้าเดือนก่อน ศพของท่านยังคงเก็บรักษาอยู่ในเมืองปากน้ำ และจะมีพิธีฌาปนกิจในสองสามวันนี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้คาดว่าผู้ตายจะให้เกียรติด้วยการที่ร่างของเขาก็อยู่ในงานรื่นเริงซึ่งเราได้รับเชิญมานั้นด้วย

ฟินเลย์สันและรูเทอร์ฟอร์ด ผู้เดินทางมาถึงที่นั่นในวันต่อมา เกิดมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องศพอย่างแรงกล้า ถึงขนาดถือวิสาสะถามบุตรของผู้ตายหลายประการ ซึ่งชายหนุ่มก็มิได้แสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับรีบนำชายทั้งสองไปคารวะศพโดยมิได้รอช้า

หีบศพนั้นถูกคลุมไว้ด้วยผ้าขาวโรยผงทอง เมื่อเปิดผ้าคุลมออกก็มองเห็นร่างห่อหุ้มไว้ด้วยผ้าขาวหลายชั้นคล้ายมัมมี่ของอียิปต์ เห็นได้ชัดว่าแห้งสนิทแล้ว และโปรยด้วยเครื่องเทศไว้หนามากจนกระทั่งไม่มีร่องรอยของกลิ่นเหม็นใดๆ ทั้งนั้น

ทว่า ในกรุงเทพฯ สมัยนั้นเอง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวในทางน่ากลัวจนหัวหด ที่ฝรั่งขอบไปเยือนแห่งหนึ่งคือ วัดสระเกศ  สมัยที่ทางราชการห้ามเผาศพภายในกำแพงพระนครนั้น ใครตายก็ต้องเอาออกทางประตูฝีที่มีอยู่ประตูเดียว  วัดสระเกศอยู่ใกล้กับประตูที่ว่านั่นพอดี เรียกว่าเป็นทำเลทองสำหรับดักรับศพ ใครแบกผ่านประตูผีข้ามสะพานคลองโอ่งอ่างออกมาก็เจอป่าข้าใหญ่โตมโหฬารเลย เอาศพทิ้งเสียที่นี่เป็นสะดวกที่สุด ไม่ต้องเสียแรงเสียสตางค์เอาไปที่ไหนไกลๆ

เมืองไทยในฤดูแล้ง สมัยก่อนอหิวาตกโรคหรือโรคห่าก็ระบาดกันเป็นประจำ ช่วงที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สถิติคนตายตอนนั้นยังไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ทำลายได้เลย แค่ ๑๕ วัน ตายไปสามหมื่นคน แม่น้ำ ลำคลองเต็มไปด้วยซากศพ จนใช้อาบ ใช้กินไม่ได้ทั้งสิ้น บนบกศพก็กองเละเทะไปทุกหนทุกแห่ง อย่าว่าแต่จะจัดพิธีปลงศพเลย จะเผาจะฝังให้ดีหน่อยก็ยังไม่ทันแล้ว ต้องใช้วิธีขุดหลุมใหญ่ๆ ที่วัดสระเกศ แล้วเอาศพมากองสุมลงไป รอให้เต็มก่อนจะกลบ ฝูงแร้งจากสารพัดทิศจึงบินมารวมกันอยู่ที่นั่น เยอะขึ้นๆ จนเป็นพันๆ ตัว อิ่มหนำสำราญแล้วขยายพันธุ์ออกลูกออกหลานกันต่อ ด้วยว่าอาหารการกินบริบูรณ์เหลือหลาย ป่าช้าที่ลึกเข้าไปถึงแม้นศรีก็อาณาเขตกว้างใหญ่รกชัฏ เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของพวกมัน

ตั้งแต่นั้นมาบรรดาแร้งก็ตั้งหลักแหล่งอย่างถาวร วัดสระเกศเลยกลายเป็นที่ทิ้งศพ นอกจากศพคนตายด้วยโรคห่าที่นานปีมีครั้งแล้ว ก็ยังมีศพที่ตายตามปกติมาทิ้งให้กินกันเป็นประจำทุกวัน แม้สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว ทางคุกยังเอาศพนักโทษที่ตายมาทิ้งรวมไว้กับศพคนจน หรือศพไร้ญาติที่นี่ และนอกจากแร้ง ก็ยังมีหมาวัด และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเหี้ย ที่มีหน้าที่กำจัดซากศพที่เหลือแล้วนั่นแหละ สัปเหร่อจึงจะเก็บรวบรวมไปฝังไปเผา

เดอห์ริงอ้างถึงบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๐๙ อันอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ มีความบรรยายถึงการปลงศพของสามัญชนคนยากในยุคนั้นว่า   แรกทีเดียวก่อนที่ศพจะเป็นเหยื่อแก่แร้งนับจำนวนร้อย สัปเหร่อจะเปิดฝาโลงออก ฝูงสัตว์ที่น่ากลัวเหล่านี้จะพากันมารุมล้อมเต็มไปหมดเพื่อคอยกินซากศพ บางพวกที่เกาะอยู่บนหลังคาวัด หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ใกล้ๆ หีบศพนั้น มันจะจ้องกินอย่างตะกละ จนกระทั่งสัปเหร่อและลูกน้องต้องช่วยกันไล่ไปให้พ้น จึงจะเปิดฝาโลงออกได้ ดูเหมือนพวกมันจะรู้ดีว่าจะได้กินก็แค่เพียงเศษเนื้อชิ้นเล็กๆ เท่านั้น เพราะศพดังกล่าวจะต้องถูกแบ่งให้แก่ฝูงสุนัขที่จ้องรอคอยอย่างตะกลามอยู่ข้างๆ โลงอีกด้วย  เมื่อศพถูกนำออกมาวางลงบนขอนไม้ พอคนถอยออกไป นกทั้งหลายก็จะพากันถลาลงมารุมซากศพ  

ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวที่มันรุมจนมองไม่เห็นศพ มันจะใช้จะงอยปากและอุ้งเล็บฉีกทึ้งเนื้อออกแล้วบินไปขยอกกินตามลำพังบนกิ่งไม้ ยิ่งกว่านั้นสัปเหร่อยังคิดบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์โดยการตัดเฉือนชิ้นเนื้อโยนให้สุนัขที่หิวโซได้กินกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพินัยกรรมฉบับล่าสุดของผู้ตาย ที่ระบุอุทิศร่างให้เป็นทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ฝ่ายแร้งมักไม่พอใจในส่วนที่ได้รับ มันจะพากันบินโฉบลงมาข้างล่างอีกและพยายามแย่งชิ้นเนื้อจากปากสุนัข ฝูงแร้งที่กินไม่อิ่มต่างพากันจับจ้องมองอยู่จนกระทั่งเห็นว่าไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มันจะสั่นหัวอันน่าเกลียด กระโดดก้าวยาวๆ เพื่อเร่งความเร็ว แล้วก็กระพือปีกมหึมาของมันบินจากไป

ขณะเดียวกับพวกเจ้าภาพจะยืนถือธูปเทียนคอยอยู่ จนกระทั่งสัตว์เหล่านั้นจากไปเหลือทิ้งไว้แต่กระดูก ครั้นแล้วสัปเหร่อจึงรวบรวมกระดูกใส่โลง ให้คน ๔ คน หามเวียนเชิงตะกอน ๓ รอบ ต่อจากนั้นวางโลงบนกองเพลิง ใส่ฟืนเข้าไปอีกสองสามดุ้น เพื่อเร่งไฟให้แรงขึ้นแล้วญาติพี่น้องแต่ละคนจึงเอาเทียนที่จุดไว้เข้าไปเผาศพ

คนยากจนที่ไม่มีเงินพอทำศพ ได้แค่ฝังเอาไว้แล้วปล่อยให้เป็นเหยื่อแก่ฝูงแร้งและสุนัข ในสมัยก่อนซากศพเหล่านี้จะถูกโยนทิ้งน้ำ ต่อมารัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามการกำจัดศพด้วยวิธีนี้

กัปตันเวอร์เนอร์ ซึ่งร่วมมากับคณะสำรวจชาวปรัสเซีย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ ได้แวะมาเยือนกรุงเทพฯ และไปที่วัดสระเกศ ได้เล่าให้ฟังว่า ‘เมื่อเดินผ่านประตูกำแพงที่ล้อมรอบเข้าไป จะไปสู่สถานที่แห่งที่สองซึ่งมีขนาดเล็กกว่าแห่งแรก ปรากฏว่า เป็นสวนป่าธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ ต้นไม้แถบเมืองร้อนขึ้นงอกงาม พื้นดินปกคลุมได้ด้วยหญ้าเขียวขจี ความสงัดทำให้ผู้ไปเยือนมีจิตใจหดหู่ ไม่มีมนุษย์อยู่แถวนั้นเลย ไม่มีนกร้องเพลงมาทำรังอยู่บนต้นไม้ จะมีก็แต่เสียงกระพือปีกพึ่บพั่บของแร้งตัวดำมหึมา ซึ่งบินจากต้นไม้ขึ้นไปคอยอยู่กลางอากาศ แล้วก็ถลากลับมาจับบนต้นไม้อีกพร้อมทั้งนั่งมองไปรอบๆ อย่างไม่น่าไว้ใจ

ใกล้กับประตู มียกพื้นหกแห่งสร้างเหนือระดับพื้นดินเล็กน้อย บนแต่ละแห่งมีสุนัขนอนผึ่งแดดอยู่สองสามตัว มันอ้วนและเชื่องช้าเสียจนกระทั่งเมื่อเอาก้อนหินขว้างปาก็แทบจะไม่วิ่งหนี สวนอันสงบเงียบและน่ารื่นรมย์นี้เป็นที่ฝังศพของพวกคนจน ซึ่งญาติพี่น้องไม่มีเงินจะจัดการเผา สุนัขและแร้งทั้งหลายจึงจัดการให้แทน ซากศพเปลือยถูกตัดออกเป็นท่อนๆ แล้ววางทิ้งไว้ขนยกพื้นนั้น ทันทีที่พวกแบกศพเดินพ้นจากประตู ฝูงแร้งจะกระพือปีกบินร่อนลงมา รวมทั้งฝูงสุนัขซึ่งวิ่งกรูกันเข้าไป ชั่วเวลาไม่เกินสิบนาทีจะมีเหลืออยู่ก็แต่เพียงกระดูกเท่านั้นให้ญาติพี่น้องมาเก็บเอาไปเผา’


โปรดติดตามตอนต่อไป


ที่มา : คอลัมน์ ประวัติศาสตร์มีชีวิต "ชาวสยามปลงศพ (๒)" โดย หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน  นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 สิงหาคม 2558 11:39:01 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.502 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ชั่วโมงที่แล้ว