[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 11:36:26 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร แหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณวัตถุของท้องถิ่น  (อ่าน 12587 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 เมษายน 2556 10:47:30 »

.


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
Kamphaeng Phet National Museum
ถนนปิ่นดำริห์  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เป็นพิพิธภัณฑสถานแหล่งอนุสรณ์สถาน (Site Museum) สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา

จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ความรู้วิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี  ที่ขุดค้นได้จากโบราณสถานภายในจังหวัดกำแพงเพชร (เป็นส่วนใหญ่) เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๔ ในความรับผิดชอบของกองโบราณคดี กรมศิลปากร

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗  กรมศิลปากร  ได้จัดทำโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองขึ้นทั่วทุกจังหวัด  เพื่อทำการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ  สงวนรักษา และจัดแสดงวัตถุซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

จังหวัดกำแพงเพชร, มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์  โดยพระมหาสมจิตต์  อภิจิตฺโต  วัดบวรนิเวศวิหาร และเครือเจริญโภคภัณฑ์   จึงสนองตอบนโยบายของกรมศิลปากร  โดยมีมติให้ก่อสร้างหมู่เรือนไทย เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองกำแพงเพชร  และเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  เป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙  โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานชื่อ “พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ” เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๙




การก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ  ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยความอุปถัมภ์จาก มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์,  จังหวัดกำแพงเพชร, กรมศิลปากร และเงินงบประมาณสนับสนุนด้านอื่นๆ  รวมทั้งสิ้น ๖๐,๐๖๕,๘๖๓ บาท (หกสิบล้านหกหมื่นห้าพันแปดร้อยหกสิบสามบาทถ้วน)   โดยทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถาน ๑ หลัง  ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง  ก่อสร้างด้วยไม้สัก ที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์และงานสถาปัตยกรรมเรือนไทยเป็นสำคัญ ทำการตกแต่งภายในห้องแสดงนิทรรศการถาวร,  ห้องโสตทัศนูปกรณ์, ห้องเก็บรวบรวมข้อมูล, ศูนย์คอมพิวเตอร์, สำนักงานมูลนิธิประยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์,  ทำการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณพิพิธภัณฑ์ จัดทำแปลงสาธิตกล้วยไข่ และกล้วยสายพันธุ์อื่นๆ  บนเนื้อที่รวม ๒๕ ไร่ ๔๙ ตารางวา

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร แบ่งการจัดแสดงเป็น ๒ อาคาร คือ
   ๑. อาคารเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  จัดแสดงโบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุต่างๆ  ที่ให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรมเมืองกำแพงเพชร
   ๒. อาคารหมู่เรือนไทย  จัดแสดงเรื่องเมืองกำแพงเพชร ชาติพันธุ์วิทยาในเมืองกำแพงเพชร มรดกดีเด่นเมืองกำแพงเพชร และห้องบรรยายความรู้ทางวิชาการ




พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑)
พบที่วัดกรุสี่ห้อง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูป
คติการสร้างพระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล หรือ “พระพุทธรูป” นั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ราว พ.ศ.๓๖๐ โดยพระเจ้าเมนันเดอร์ (Menander) ฝรั่งสัญชาติกรีก ชาวอินเดียเรียกว่าพระเจ้ามิลินท์ เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่สนทนาธรรมะกับพระนาคเสนเถระในเรื่องมิลิทปัญหา
 
พระเจ้าเมนันเดอร์พระองค์นี้ ถึงแม้เป็นฝรั่งชาติกรีกแต่มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาและเป็นผู้สืบอำนาจต่อมาจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีก ที่รุกรานแผ่อำนาจเข้ายึดครองอินเดียฝ่ายเหนือ โดยเฉพาะที่แคว้นคันธารราฐแตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย

เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์แห่งมคธราฐของอินเดียเข้ายึดแคว้นคันธารราฐ ได้ตั้งราชวงศ์โมริยะขึ้น และกษัตริย์ในราชวงศ์โมริยะที่มีชื่อเสียงในเรื่องอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาคือพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนามากและสร้างสถูปศาสนสถานในพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น สถูปที่เมืองสาญจี เป็นต้น

ถึงแม้ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราชจะมีการสร้างรูปประติมากรรมนูนสูงประดับพุทธสถาน แต่ก็ไม่นิยมสลักรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปบุคคล คงนิยมสร้างเป็นรูปสัญลักษณ์เท่านั้น เช่นสร้างเป็นรูปธรรมจักรกวางหมอบอันแสดงถึงการปฐมเทศนา สร้างเป็นรูปพระพุทธมารดาเหนี่ยวกิ่งสาละแสดงถึงการประสูติของพระพุทธเจ้า  

ฝรั่งชาติกรีกนั้น แต่เดิมนิยมสลักรูปประติมากรรมเป็นรูปเคารพตามคติความเชื่อเดิมก่อนที่จะหันมานับถือพุทธศาสนา ครั้นหันมานับถือพุทธศาสนาจึงมีความกล้าในการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปบุคคล  ดังนั้นพระพุทธรูปที่พระเจ้าเมนันเดอร์ทรงสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกจึงมีลักษณะพระพักตร์แบบกรีก
  
หลังจากที่พระเจ้าเมนันเดอร์ได้สร้างพระพุทธรูปเป็นรูปบุคคลขึ้นเป็นครั้งแรก ความเชื่อในการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าวก็แพร่หลายยิ่งขึ้นในประเทศอินเดีย จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นได้เปลี่ยนศิลปะจากแบบกรีกเป็นแบบอินเดียอย่างแท้จริง  ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากพระพุทธรูปแบบอมราวดีและแบบราชวงศ์คุปตะ

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เอง อิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาและศิลปะการสร้างพระพุทธรูปแบบคุปตะและหลังคุปตะได้แพร่กระจายเข้าทางตอนกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี  

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๒ ได้ค้นพบโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูปศิลปะคุปตะ  รวมทั้งโบราณสถานประเภทสถูปและเจดีย์อีกมากมาย แต่ที่สำคัญคือการค้นพบเหรียญเงิน ๔ เหรียญ ที่จังหวัดนครปฐม อีก ๒ เหรียญ ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตามลำดับ มีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า ศรีทวาราวดี ศวรปุณย  แปลเป็นภาษาไทยว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งทวาราวดี  

ดังนั้น นักโบราณคดีจึงให้ชื่อศิลปะที่ได้รับอิทธิพลคุปตะและหลังคุปตะในประเทศไทยว่า "ลปะทวาราวดี”

สมัยทวาราวดีนี้ นิยมสร้างพระพุทธรูปที่สร้างด้วยศิลา ที่เป็นโลหะสำริดก็มีบ้างแต่น้อยมาก ที่นิยมมากได้แก่พระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทแสดงปางแสดงธรรม  และเป็นรูปพระธรรมจักรกวางหมอบ แสดงปางประทานปฐมเทศนา และที่เป็นรูปปูนปั้นประดับตามอาคารโบราณสถานก็มีอีกมาก  อารยธรรมทวาราวดีดังนี้เป็นอารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท (หินยาน) ซึ่งเน้นการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จนกระทั่งถึงปรินิพพาน  มีการใช้ภาษามอญและภาษาบาลี  แต่ตัวอักษรเป็นอักษรปัลลวะของอินเดียใต้  อิทธิพลของศิลปะทวาราวดีได้แผ่ไปสู่ภาคต่างๆ ของประเทศไทย เช่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ เป็นต้น




เศียรพระพุทธรูป ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒–๒๓
พระราชประสิทธิคุณ  เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยวัดราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
มอบให้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓


พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ไม้ ประทับยืนบนฐานเขียง
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระวิเชียรธรรมคณี เจ้าอาวาสวัดคูยาง มอบให้


พระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ไม้ พระพักตร์รูปไข่สวมเทริดยอดสูง สวมกุณฑลทรงดอกบัวตูม
พระศอสวมกรองศอ และทับทรวง ประทับยืนบนฐานเขียง ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
สูง ๑๘๗ ซม. กว้าง ๔๕ ซม. พระครูวิธานวชิรศาสน์ เจ้าอาวาสวัดเสด็จ มอบให้


ใบเสมาหินชนวน สูง ๒๔๕ ซม. กว้าง ๗๓ ซม. ศิลปะอยุธยา วัดพระนอน พุทธศตวรรษที่ ๒๑
ใบเสมานี้จำหลักรูปเรื่องรามเกียรติ์ตอนพาลีสู้รบทรพี ประกอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาและตัวกะหนก  
รอบขอบด้านบนรูปเทพนม ใบเสมาจากวัดพระนอนนี้ มีลักษณะคล้ายกับใบเสมาที่วัดจอมคีรีนาคพรต จ.นครสวรรค์


มกร สังคโลก ใช้ประดับหัวบันไดพุทธสถาน พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
พบที่วัดฆ้องชัย  อำเภอเมือง  จังหวัดกำแพงเพชร


แวดินเผา และดินเผา  พบที่บ้านคอปล้อง  จังหวัดกำแพงเพชร






วิถีการดำรงชีวิตของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
The Primitive Culture of Kamphaeng Phet
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ  สันนิษฐานได้ว่าในอดีต บริเวณเมืองกำแพงเพชรมีกลุ่มชนดั้งเดิมสมัยก่อนยุคประวัติศาสต์อาศัยอยู่  การดำรงชีพอาศัยสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ  และมีพัฒนาการมาโดยลำดับ จนนำไปสู่การเป็นชุมชนเมืองในสมัยประวัติศาสตร์  มีการทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หินกะเทาะ ภาชนะดินเผา ทำเครื่องมือหินที่มีการตกแต่งคมด้วยการขัดฝนผิวเพื่อใช้งาน  การนำเส้นใยจากธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม  มีการหล่อโลหะประเภทสำริดและเหล็ก  รวมถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียง


เศียรเทวดาสังคโลก  ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑
พบจากการขุดแต่งวัดสิงห์  อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร


คัมภีร์เรื่องพระมาลัย


ตะเกียงดินเผาสมัยทวาราวดี  พบที่จังหวัดกำแพงเพชร


เบ็ดตกปลา ขวานหินขัด และภาชนะดินเผา
พบที่บ้านโคกพนมดี  จังหวัดชลบุรี
(ปัจจุบัน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร)


แท่นหิน และหินบด ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
พบที่เมืองไตรตรึงษ์  อำเภอเมือง  จังหวัดกำแพงเพชร


ภาชนะดินเผา พบที่จังหวัดกำแพงเพชร

 
ภาชนะดินเผา


ปืนใหญ่ สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙) และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) 
ชาวออลันดาได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา  เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองสัมปทาน
ค้าหนังกวางของชาวฮอลันดา  พ่อค้าจากบริษัทตะวันออกไกลของฮอลันดา
ได้นำปืนใหญ่เข้ามาใช้เป็นอาวุธป้องกันการโจมตีทางเรือและทางบก และนำมาขายด้วย
ปืนใหญ่ที่ทำจากฮอลันดาจำนวนหลายกระบอก ได้ขายให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร
ไว้ใช้ป้องกันการถูกโจมตีของข้าศึก ปืนใหญ่ที่พบทุกกระบอกจะมีจารึกภาษาไทยว่าใหญ่ชวา 
เพราะขณะนั้นชวาเป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา นอกจากนี้จะบอกน้ำหนักของกระสุนดินดำด้วย




เทวรูปพระอิศวร (พระศิวะ)Phra Isavara Figure
สมัยอยุธยา พุทธศักราช ๒๐๕๓ สำริด  สูง ๒๑๐ เซนติเมตร

เทวรูปพระอิศวรหรือพระศิวะองค์นี้ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระอิศวร อำเภอเมือง  จังหวัดกำแพงเพชร  ที่ฐานรอบพระบาทมีคำจารึกภาษาไทย  อักษรไทยแบบสุโขทัย มีใจความว่า เจ้าพระยาศรีธรรมมาโศกราช (เจ้าเมืองกำแพงเพชร ขณะนั้น) ประดิษฐานพระอิศวรนี้เมื่อพุทธศักราช ๒๐๕๓ เพื่อให้คุ้มครองสัตว์สี่เท้าสองเท้าในเมืองกำแพงเพชร  ให้บำรุงพระศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ ให้ซ่อมแปลงพระมหาธาตุและวัดบริวารทั้งในและนอกเมือง ให้ทำนุบำรุงถนนหนทางต่างๆ ขุดคลองแม่ไตรบางพ้อและปรับปรุงระบบชลประทาน (ท่อปู่พระยาร่วง) ไปถึงเมืองบางพาน  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาสองพระองค์ คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และพระอาทิตยวงศ์ ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชในเวลาต่อมา

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๙ ชาวเยอรมัน ชื่อ รัสมันต์ ได้ลักลอบตัดพระเศียรและพระหัตถ์ทั้งสองข้าง จะนำออกนอกประเทศ แต่ถูกจับได้ที่กรุงเทพฯ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงโปรดฯ ให้นำมาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมทั้งส่วนองค์ด้วย  ต่อมาจึงนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

พระอิศวรองค์นี้จัดเป็นรูปเคารพคู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชร  เป็นเทวรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  เป็นโบราณศิลปวัตถุชั้นยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของชาติและมีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย



ลักษณะของเทวรูปพระอิศวร  พระพักตร์แข็งกระด้างแสดงถึงอำนาจมีพระมัสสุปรากฏชัดเจน


ลักษณะของผ้าทรงมีอิทธิพลของศิลปะเขมรสมัยบายน รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  
จารึกที่ฐานหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๓  ลักษณะพระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม กรองศอและสายรัดพระองค์
มีอุบะสั้นๆ ห้อยประดับ ผ้าโจงกระเบนสั้นที่ทรงนุ่งมีชายผ้าเป็นสามเหลี่ยมห้อยอยู่ข้างหน้า
กรรเจียกหรือรัดเกล้าข้างพระเศียรเหนือพระกรรณไม่เคยปรากฎในเทวรูปสมัยสุโขทัย


เทวรูปพระนารายณ์ (พระวิษณุ)
ศิลปะอยุธยา สกุลช่างกำแพงเพชร พุทธศตวรรษที่ ๒๑


พระอุมา Phra Uma Figure
ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๑ สำริด  สูง ๑๑๓ เซนติเมตร

เทวสตรี องค์นี้ อาจจะเป็นพระลักษมี ศักติของพระนารายณ์ หรือ พระอุมา ศักติของพระอิศวร  ลักษณะเครื่องทรง มีกรองศอที่มีพวงอุบะสั้นๆ ห้อยประดับโดยรอบ  ผ้าทรงได้รับวิวัฒนาการจากผ้าทรงเทวรูปสมัยสุโขทัย คือ ทรงผ้าสองชิ้น  ชิ้นหนึ่งนุ่งรอบองค์คล้ายผ้าจีบ  อีกชิ้นหนึ่งเป็นเครื่องประดับอยู่ข้าง  ชายทั้งสองแหวกออกมามากกว่าเทวรูปสมัยสุโขทัย  ทำให้เห็นผ้าชั้นใน ซึ่งมีลวดลายประดับชัดเจน

จากหลักฐานร่องรอยความจริงทางด้านกลศาสตร์  ซึ่งปรากฏลักษณะทางกายภาพให้เห็นได้จากการนำศิลาแลงมาก่อสร้างโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โตทั่วไปของเมืองกำแพงเพชร ชี้ให้เห็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคนิควิทยา ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ของสังคม  ส่วนในด้านการหล่อหลอมโลหะ   ชาวกำแพงเพชรในสมัยโบราณ จัดอยู่ในขั้นมีความเจริญมากทีเดียว ดังจะเห็นได้จากพระอิศวรสำริด  และเทวสตรี (พระอุมา) ดังกล่าวแล้วข้างต้น  

นอกจากนี้  ยังมีการหลอมโลหะ หล่อเป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีความสวยงามตามศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่  ตลอดจนลูกกระสุนปืน และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะหลากหลายประเภท...


ข้อมูล  : “ความเป็นมาของพระพิมพ์ในประเทศไทย”
   - ประเสริฐ  ศรีสุวพันธ์
   - ธีระศักดิ์  วิเศษชัยนุสรณ์
   - เมธา  วิจักขณะ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กันยายน 2558 15:28:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 ตุลาคม 2558 16:06:49 »

.



นัยสำคัญ
จาก เทวรูปพระอีศวร
เมืองกำแพงเพชร
โดย อมรา ศรีสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ กรมศิลปากร

ประติมากรรมสำริดเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ มีประวัติความเป็นมา การค้นพบ การสูญหาย และการได้กลับคืนมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังต่อไปนี้

นายแม็คคาธี นายช่างสำรวจทำแผนที่ฯ (ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่) มาสำรวจทำแผนที่ ณ เมืองกำแพงเพชรเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ บันทึกการพบเห็น พระอีศวร ณ ศาลพระอีศวร ว่า “ตั้งอยู่ในกลางเมืองห่างบ้านพระยากำแพงเพชร์เดินสักสิบมินิตเท่านั้น เทวรูปนี้ว่าเปนที่คนนับถือว่าศักดิสิทธิ เปนที่บูชาเส้นสรวงกันอยู่” (ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๓)

หลังจากนั้นมาอีก ๒ ปี นายรัสต์แมน พ่อค้าชาวเยอรมันและเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจการของราชพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน ค้าขายขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองเหนือ ตามรายงานของพระยาสุจริตรักษา ผู้สำเร็จราชการเมืองตาก กล่าวถึงพฤติกรรมของนายรัสต์แมน ความว่า “...มาครั้งใด เที่ยวเก็บเอาพระพุทธรูปหล่อไปครั้งละร้อยสองร้อยองค์ทุกครั้งไป ถ้าเปนพระพุทธรูปองค์ใหญ่มิสเตอรอศแมนให้ลูกจ้างตัดเอาแต่พระเศียรไป...”  เมื่อมาพบเห็นเทวรูปที่ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร นายรัสต์แมนคงเห็นว่าเป็นที่เคารพบูชาของคนในเมืองนี้ จึงอุบายแจ้งไปยังกงสุลเยอรมันประจำกรุงเทพฯ ว่าเป็นของที่ถูกทอดทิ้งกลางป่า ถ้าตนนำไปจะเป็นการ “ล้างผลาญศาสนาพราหมณ์ เพราะจะให้ศาสนาของพระพุทธเจ้าเจริญขึ้น” ขอให้กงสุลฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่โปรดเกล้าฯให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่นั้น นายรัสต์แมนลักลอบตัดพระเศียรและพระกรของเทวรูปทั้งรูปพระอีศวรและเทวรูป/รูปเทพีที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลพระอีศวรนั้น ส่งลงมายังกรุงเทพฯ แต่กงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วย จึงอายัดไว้ ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งว่า “มาบัดนี้กงซุลเยอรมันมีหนังสือขึ้นมาถึงเทวัญ ว่าอ้ายราสแมนไปขโมยเอาหัวกับแขนเทวรูปนั้นลงมาแล้ว แต่กงซุลพูดจาดี ไม่เห็นชอบในการที่ราสแมนทำ ให้ยึดเอาของที่ราสแมนเอานั้นไว้ที่ศาลกงซุล ขอให้เทวัญ ฤาใครลงไปดู
(ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๒-๙๓)


ภาพถ่ายวัดโบราณ (ancient temple) ในเมืองกำแพงเพชรเมื่อครั้้งการเสด็จฯ ประพาสต้น
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พุทธศักราช ๒๔๔๙)

ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๒๗ ระหว่างที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเสด็จฯ ขึ้นไปเชียงใหม่ ผ่านเมืองกำแพงเพชร ทรงมีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางตอนว่า “อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าออกมาถึงเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ได้เห็นเทวรูปพระอิศวรที่มิสเตอร์ราษแมนเอาพระเศียรไปนั้น เหนเปนของประหลาดงดงามมาก หล่อด้วยทองเหลืองเนื้อหนาและลวดลายวิจิตบันจงมาก...ข้าพพุทธเจ้าได้สั่งให้พญากำแพงเพชรนำเทวรูปทองสำฤทธที่มิศเตอราษมันเอาพระเศียรไปรูปหนึ่งกับศิลาจาฤกอักษรแผ่นหนึ่งเปนของสำหรับกับพระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร แต่องค์พระมหาธาตุนั้นล้มทำลายเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหว มีผู้ยกเอาแผ่นสิลานี้มาทิ้งไว้ที่สเดจน่าเมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจาเหนว่าเปนของโบราณประหลาดควรอยู่ ณ กรุงเทพฯ จึงส่งมาลงทูลเกล้าถวาย ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ” (ศรันย์ ทองปาน ๒๕๓๘:๙๔)

เมื่อส่วนองค์ของเทวรูปส่งลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ผู้ทรงเป็นช่างหลวง นำพระเศียรและพระหัตถ์ติดกลับเข้ากับองค์เทวรูปพระอีศวรดังเดิม จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปจำลองของพระอีศวรองค์นี้ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่รัฐบาลเยอรมันสำหรับราชพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน อีกด้วย

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามของพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารระหว่างพุทธศักราช ๒๔๓๓-๒๔๓๔ ทรงเสด็จฯ เยือนพิพิธภัณฑสถาน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “มูเซียมหลวงที่วังน่า” (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ทรงทอดพระเนตรเทวรูปพระอีศวร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานฯ ปรากฏอยู่ในบันทึกของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “ภายในพิพิธภัณฑ์นี้มีเทวรูปพระศิวะที่เป็นสัมฤทธิ์งดงามมากอยู่รูปหนึ่ง ซึ่งได้เคยจำลองแบบส่งไปเบอร์ลินแล้ว แม้แต่ทางพิพิธภัณฑสถานของอังกฤษ (The British Museum) เองก็เคยเสนอราคาให้กับทางรัฐบาลสยามถึง ๑๐,๐๐๐ ปอนด์สเตอลิง ถ้าได้เทวรูปองค์จริงไปอังกฤษ เทวรูปนี้มีเครื่องทรงแบบโบราณ มีเครื่องประดับศีรษะ พระหัตถ์อยู่ในท่าประทานพร ตาประดับมุข ตามนิ้วมือ นิ้วเท้า มีแหวนประดับ มีพระยานาค ๕ เศียรขดอยู่รอบองค์เทวรูป รูปร่างของเทวรูปนั้นกลมกลืนเข้ากันอย่างสวยงาม คงจะยังมีรูปปั้นงามๆ เช่นนี้ซ่อนอยู่อีกมากมายในภาคตะวันออกนี้ ซึ่งพวกนักโบราณคดีคงจะยังไม่มีโอกาสได้มาสืบเสาะหาดูเป็นแน่...”
(ลินจง สุวรรณโภคิน ๒๕๔๐:๔๓-๔๖)

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ทรงเสด็จฯ มา ณ ศาลพระอีศวร ทรงกล่าวว่า “...ที่นี่ซึ่งคนเยอรมันได้มาลักรูปพระอิศวรที่อยู่ (พระที่นั่ง) พุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้ไปตามกลับมาได้ ยังคงเหลือ...บัดนี้ แต่พระอุมาและพระนารายณ์ซึ่งเอาศีรษะไปเสียแล้ว...”
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๓๑:๔๔, ศิลปากร ๒๕๕๗:๗๔)


เทวรูปพระอีศวรสำริดองค์นี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นเอก
ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ และเป็นชิ้นเอกของประเทศ
เนื่องจากเป็น ๑ ใน ๙ โบราณวัตถุสำคัญที่ควบคุมการทำเทียม ผู้ใดจะทำเทียม
ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมศิลปากร  เทวรูปพระอีศวรนับว่าเป็นเทวรูปที่มีขนาดสูงใหญ่มาก
คือสูง ๒๑๐ เซนติเมตร นับเป็นเทวรูปพระอีศวรขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

นอกจากนั้นเทวรูปองค์นี้ยังมีความสำคัญในการให้ข้อมูลประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ เนื่องจากที่ฐานของเทวรูป ปรากฏจารึกอักษรไทย ภาษาไทย ข้อความมีดังนี้
“ศักราช ๑๔๓๒ (ปี) มะเมียนักษัตร อาทิตยพาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ได้หัสตฤกษ์เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา จึงเจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอีสวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร แลช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นหมองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมือง นอกเมือง และที่แดนเหย้าเรือน ถนนทลาอันเป็นตรธานไปเถึงบางพาน ขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งย่อมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะขายดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืช ข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พญาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าแลหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์”

ศักราชที่ปรากฏข้างต้นเป็นมหาศักราช ตรงกับพุทธศักราช ๒๐๕๓ จารึกนี้ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ดังนี้
เมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นมีผู้ปกครองเมืองนามว่า พรญาศรีธรรมาโศกราช และเป็นผู้บังคับบัญชาให้สร้างประติมากรรมพระอีศวรองค์นี้ขึ้น เพื่อให้เป็นเทพคุ้มครองประชาชนและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการฟื้นฟูลิทธิศาสนาที่ประชาชนเชื่อถือในเมืองกำแพงเพชรในเวลานั้น ได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่นับถือเทพเจ้า และไสยศาสตร์ซึ่งหมายถึงมนตรยานหรือลัทธิตันตระ และการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนา กล่าวถึงการฟื้นฟูระบบชลประทานจากที่เคยมีการวางรากฐานไว้แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อให้สามารถทำนาปลูกข้าวได้ดีกว่าเดิมโดยไม่ต้องทำนาโดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น และเมื่อฟื้นฟูระบบชลประทานแล้ว ย่อมต้องใช้วัวในการไถนา จึงประกาศไม่ให้ขายวัวให้กับพวกละว้าซึ่งน่าจะหมายถึงพวกลัวะซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามหุบเขาในเขตจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการสร้างพระอีศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วก่อนหน้าองค์ปัจจุบัน หากสันนิษฐานเช่นนี้ ก็น่าจะหมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๐๓๔-๒๐๗๒) และ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (ครองราชย์ พุทธศักราช ๒๐๓๑-๒๐๓๔) ตามลำดับ  อนึ่ง อาจวิเคราะห์ว่า องค์ที่ ๒ อาจหมายถึง ผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ซึ่งรวมถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย) หรือเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีเมืองหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในสมัยนั้น คือสมเด็จพระอาทิตยเจ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และโปรดฯ ให้ไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงที่เคยเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ    อย่างไรก็ดี พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ กล่าวว่า พระอาทิตยเจ้า เสด็จฯ ไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อการกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือในพุทธศักราช ๒๐๖๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ล่ากว่าที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับอื่นๆ หากถือตามศักราชที่ปรากฏในพงศาวดารฉบับนี้เป็นหลัก (นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ มีความถูกต้องมากที่สุด) ปีที่สร้างพระอีศวรคือปีพุทธศักราช ๒๐๕๓ พระอาทิตยเจ้ายังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จหน่อพุทธางกูรหรือผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกแต่อย่างใด ก็คงจะไม่ใช่พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ที่กล่าวถึงในจารึกฐานพระอีศวร ข้อสันนิษฐานในข้อแรกจึงน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า



จารึกอักษรไทย ภาษาไทย พุทธศักราช ๒๐๕๓
บนรอบฐานเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร

จารึกที่ฐานพระอีศวรให้ข้อมูลด้านอักษรศาสตร์/ภาษาศาสตร์ ดังนี้:
๑) ใช้ศัพท์ “อีสวร” แทนพระสมัญญา “อีศวร” ของพระศิวะ แสดงถึงการปะปนการใช้ภาษาของภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี ภาษาบาลีจะไม่ใช้ ศ ศาลา แต่จะใช้ ส เสือ ในที่นี้นำ ส เสือ ตามแบบนิยมภาษาบาลีมาใช้แทน ศ ศาลา ตามแบบนิยมภาษาสันสกฤต
๒) ใช้ศัพท์ “เลิกศาสนา” เป็นศัพท์โบราณ แปลว่า ฟื้นฟูศาสนา ซึ่งต่างออกไปจากความหมายของ “เลิก” ที่ใช้ตามความเข้าใจในปัจจุบัน
๓) วลีหรือสำนวน “ทำนาทางฟ้า” แปลว่าทำนาโดยอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล และ “นาเหมืองนาฝาย” หมายถึงการทำนาโดยระบบชลประทานที่มีเหมืองฝายหรือระบบการกักเก็บน้ำและการทดน้ำเข้านา ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ผลดีกว่า ไม่ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
๔) วลีหรือสำนวน “ครองสัตว์สี่ตีนสองตีน” แสดงอิทธิพลศาสนาฮินดูที่วรรณกรรมในศาสนานี้มักกล่าวถึงเทพเจ้า (เช่น พระอีศวร/พระวิษณุ) ว่าเป็นผู้ครอบครองสรรพสัตว์ทั้งสี่ตีนและสองตีน
๕) ศัพท์โบราณที่ใช้เรียกวัตถุที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์สุโขทัย เช่น”ท่อปู่พญาร่วง” หมายถึงระบบท่อน้ำในการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเหมืองฝาย กักเก็บน้ำ/ทดน้ำเข้านา ซึ่งมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย เป็นราชอาณาจักรอิสระ
๖) ศัพท์โบราณที่สืบทอดและปรากฏอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น “พระเทพกรรม” หมายถึงศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูที่มีการนับถือเทพเจ้า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานสมุดไทยแสดงรูปภาพเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดู เรียกว่า”ตำราพระเทพกรรม”

เหตุผลแห่งการจารึกข้อความ “การห้ามขายวัวให้กับละว้า” น่าจะมาจากความรู้ความเข้าใจของคนโบราณบนแผ่นดินไทยที่รับรู้สืบทอดต่อกันมาว่า พระศิวะ (อีศวร) มีความผูกพันกับวัว มิใช่เพียงตำนานของพระศิวะที่มีโคนนทิ ซึ่งรูปกายเป็นวัว เป็นพาหนะของพระองค์เท่านั้น แต่ได้หยิบยกเอาพระสมัญญาหนึ่งของพระศิวะมาด้วยนั่นคือ พระนาม “วฤษภธฺวช” (อ่านว่า วะ-ริ-สะ-พะ-ทะ-วัด-ชะ) แปลว่า มีธงเป็นวัว หมายความว่า พระศิวะอยู่ที่ไหนจะมีวัวนำหน้าหรือมีวัวเป็นเครื่องหมายหรือเป็นธงชัยแสดงการมาของพระองค์เสมอ ดังปรากฏในจารึกดอนขุมเงิน จังหวัดร้อยเอ็ด พุทธศตวรรษที่๑๒ ขณะเดียวกันจารึกฐานพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการห้ามขายวัวให้พวกละว้า ชาวเมืองกำแพงเพชรที่ยอมขายวัวออกไป คงเพราะแล้งน้ำ ทำนาปลูกข้าวได้ไม่ดี ปลูกข้าวต้องรอฝนในการทำนาอย่างเดียว หรือ “ทำนาทางฟ้า” จึงมีวัวมากเกินกว่าจะนำมาใช้ไถนา แต่เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรฟื้นฟูการชลประทานให้ใหม่ ขุดคลองส่งน้ำ ทำฝายกั้นน้ำ ทดน้ำ ไม่เดือดร้อนใจในการทำนานอกฤดูฝน ทำนาได้มาก จึงมีความจำเป็นต้องใช้ “วัว” เจ้าเมืองฯ จึงต้องออกกฎหมายห้ามการขายวัว เพื่อให้มีวัวเพียงพอไว้ใช้ไถนา



ส่วนองค์ของเทวรูป-รูปเทพี (เทวสตรี)
ที่ถูกลับลอบตัดพระเศียรและพระกร โดยพ่อค้าของเก่าต่างชาติ
ณ ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร

ทำไม เรื่อง “วัว” กับการทำนาต้องมาบันทึกไว้บนฐานเทวรูปพระอีศวร?
คำตอบก็คือ ต้องการประกาศกฎหมายหรือบทบัญญัติให้เป็นที่รับรู้กันอย่างหนึ่ง และต้องการให้รู้ว่า ”วัว” คือสัตว์ที่ผูกพันกับพระอีศวร “วัว” อยู่ที่ไหนพระอีศวรจะปรากฏองค์ที่นั่น เมื่อต้องการให้พระอีศวรคงอยู่ ต้องรักษา “วัว” ให้คงอยู่ ตราบที่มีพระอีศวรอยู่ในชุมชน พระอีศวรก็ปกป้องคุ้มครองวัวให้คงอยู่ การเคารพบูชาพระอีศวรที่ปกป้องดูแลสัตว์ทั้งสองเท้า (หมายถึง คนในชุมชน) และสัตว์สี่เท้า (โดยเฉพาะวัว) ทำให้คนและวัวต้องมีอยู่คู่กันไปเพื่อการยังชีวิตของคนในชุมชน เป็นความอยู่รอดของเมือง/ชุมชน การใช้กุศโลบายในการใช้รูปเคารพพระอีศวรที่ผูกโยงกับวัวอย่างสนิทแนบเช่นนี้ย่อมจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้โดยความสมัครใจของผู้มีศรัทธาและมีความเชื่อต่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือที่พึ่งทางใจคือ รูปเคารพพระอีศวรที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแยบคายโดยนัยนี้

ผู้คนในรัฐโบราณบนแผ่นดินไทย ก่อนราชอาณาจักรสุโขทัย เรียกพระนามของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู ในพระสมัญญาต่างๆ กันไปหลายพระนาม ตามปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลายหลักที่พบในประเทศไทย พระนามของพระศิวะซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่า”พระอิศวร” นั้นปรากฏหลักฐานครั้งแรกบนแผ่นดินไทยจากจารึกปราสาทพระวิหาร ๑ จังหวัดศรีสะเกษ พุทธสักราช ๑๕๘๑ และจารึกสต๊กก๊อกธม หลักที่ ๒ จังหวัดสระแก้ว พุทธศักราช ๑๕๙๕ เรียกพระนามของพระศิวะว่า ”อีศวร” (อ่านว่า อี-สะ-วะ-ระ) แปลว่า “เจ้านาย พระเจ้าแผ่นดิน บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ร่ำรวยมาก ผู้ปกครอง ผู้ครอบครอง สามี พระเจ้าสูงสุด” ปัจจุบันคนไทยเรียกเพี้ยนแผลงไปเป็น “อิศวร” ซึ่งไม่ถูกต้องตามพระนามดั้งเดิมและแปลความไม่ได้  อย่างไรก็ดี พบหลักฐานว่าในสมัยกรุงสุโขทัย คนสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย เรียก “พระศิวะ” ว่า “พระอีศวร” และ “พระมเหศวร” ปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช ๑๙๐๔ “พระสทาคีพ" (มาจาก พระสทาศิวะ) ปรากฏตามจารึกปู่ ขุนจิตขุนจอด พุทธศักราช ๑๙๓๕ และอาจเรียกพระศิวะด้วยพระนามว่า “อีศะ” ตามจารึกคาถาป้องกันอสนีบาต พุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ “ปรเมสูร” ซึ่งน่าจะมาจาก “ปรเมศวร” ตามจารึกคำอธิษฐาน พบที่เมืองพะเยา พุทธศตวรรษที่ ๒๐

เหตุใดผู้มีอำนาจ คือ เจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราช บัญชาการให้สร้างรูปเคารพพระอีศวรในลักษณะเช่นที่ปรากฏให้เห็นกันในปัจจุบัน?
สันนิษฐานได้ในเบื้องต้น ว่า รูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ ช่างคงได้เค้ามาจากรูปพระอีศวรสำริดที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและประดิษฐานไว้ที่เทวาลัยมหาเกษตรใกล้วัดป่ามะม่วง นอกเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๑๙๐๔ รูปเคารพสำริดขนาดใหญ่ที่เป็นรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดูเหล่านี้ เท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานแล้วมี ๑๔ องค์ บางรูปเคารพมีลักษณาการบางอย่างคล้ายกับพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรที่แตกต่างออกไปจากรูปสำริดเหล่านั้น ก็มีอยู่อย่างเด่นชัด

ดังนั้น จึงขออธิบายความหมายลักษณาการของพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ตามการพิจารณาจากคติรูปเคารพพระศิวะ (พระอีศวร) ที่มีอยู่ในคัมภีร์การสร้างรูปเคารพฯ ตามหลักประติมานวิทยาของฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชุดคัมภีร์ที่เรียกว่า อาคม และ ตันตระ เช่น คัมภีร์ภฤคุโปรกตไวขานสาคม คัมภีร์ตันตระสารา และบางส่วนปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ สันนิษฐานว่า คนโบราณบนแผ่นดินไทยก็ย่อมรับรู้คติเช่นนี้ในการสร้างรูปเคารพเช่นกัน



ฐานศิลาแลงของศาลพระอีศวรและเทวรูปและรูปเทพี (เทวสตรี)
ก่อนเคลื่อนย้ายมาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ลักษณาการของรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร แสดงนัยดังต่อไปนี้:
๑.รูปลอยตัว เต็มองค์ (เรียกว่า “จิตร” อ่านว่า จิต-ตระ) หรือ “วยกฺต” (อ่านว่า ยะ-ยัก-ตะ) ให้หมายความว่า เทพเจ้ามาปรากฏพระองค์ต่อหน้ามนุษย์อย่างเต็มสมบูรณ์ ในรูปร่างที่จะลงมาอยู่ในหมู่มนุษย์

๒.ยืนตรง เรียกว่า “สถานกสมภงฺค” (อ่านว่า สะ-ถา-นะ-กะ-สะ-มะ-พัง-คะ) แปลว่า การอยู่ในท่ายืนตรง เป็นท่าของรูปเคารพที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บูชาเมื่อบูชารูปเคารพในท่านี้จะนำพาไปถึงภาวะของ “โยคะ” หรือ การหลุดพ้น หรือ เข้าถึงสัจธรรม

ฐานของเทวาลัยหรือศาลสำหรับประดิษฐานรูปเคารพที่ประทับยืนต้องเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า อายตาศระ (อ่านว่า อา-ยะ-ตาส-ระ) หรือ ฐานกลม เรียกว่า วฤตตายต (อ่านว่า วะ-ริด-ตา-ยะ-ตะ) เสมอ  สำหรับศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

๓.ลักษณาการอันราบเรียบ สงบ ไม่ถืออาวุธ เรียกว่า แสดงองค์แบบ “เสามย” (อ่านว่า เสา-มะ-ยะ) หรือ “ศานฺต” (อ่านว่า สาน-ตะ) เป็นลักษณาการของรูปเคารพที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บูชาได้รับความสงบและได้มาซึ่งวัตถุสมบัติที่ปรารถนา อันที่จริงแล้ว โดยหลักการที่ถูกต้อง รูปเคารพลักษณาการเช่นนี้ต้องประดิษฐานไว้ริมแม่น้ำหรือบริเวณที่มีแม่น้ำมาบรรจบกัน ๒ สายหรือมากกว่า ห่างไกลออกไปจากใจกลางชุมชนหรือเมือง บนภูเขาหรือเนินเขา หรือ ที่โล่งชายป่าก่อนเข้าสู่ป่าลึก ซึ่งเป็นที่สงวนไว้เฉพาะสำหรับโยคี สามารถใช้เป็นที่บูชาเข้าสมาธิได้ ข้อนี้ไม่ตรงทีเดียวกับตำแหน่งที่ตั้งศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร อย่างไรก็ดี ตามคัมภีร์ฯ กล่าวว่า รูปเคารพที่เป็นรูปสงบ หรือ “ศานฺตมูรติ” ของเทพเจ้า อาจสร้างเทวาลัยไว้กลางชุมชนหรือกลางเมืองก็ได้ ซึ่งจะนำมาซึ่ง ความสุข อายุยืน สุขภาพดีของประชาชนพลเมือง รวมทั้งชัยชนะและความเจริญมั่งคั่งของพระราชาหรือผู้ปกครอง

ตามคัมภีร์ฯ กล่าวว่า ศาลของพระอีศวรหรือเทพเจ้าที่อยู่ในปางสงบนี้ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในภูมิที่ตั้งอย่างไร ควรจะต้องสร้างขึ้น ณ มุมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ระหว่างมุมทิศเหนือกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ มุมทิศตะวันออกกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนหรือของเมือง สำหรับศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางมุมเมืองทิศเหนือกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงตามคัมภีร์ฯ

๔.ตำแหน่งการประดิษฐานของรูปพระอีศวร ถ้าตั้งวางรูปเคารพนี้ให้หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ผู้บูชาเมื่อบูชาแล้วย่อมได้รับความสงบ ถ้าหันสู่ทิศตะวันตก ผู้บูชาย่อมได้รับความเจริญ ได้รับการเลี้ยงดูอิ่มท้อง ถ้าหันสู่ทิศใต้ ผู้บูชาย่อมได้รับชัยชนะ ถ้าหันสู่ทิศเหนือ ผู้บูชาย่อมได้รับอำนาจในการทำลายศัตรูผู้รุกราน เมื่อพระอีศวรประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระอีศวรแต่เดิมนั้น หันหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นการกำหนดทิศทางจัดวางให้พระอีศวรอยู่ในตำแหน่งที่จะปกป้องคุ้มครองเมืองและนำความสงบร่มเย็นมาสู่ประชาชนพลเมืองตามเจตนารมณ์ของผู้ปกครองเมือง แต่เมื่อนำมาประดิษฐานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชรในปัจจุบัน พระอีศวรหันหน้าออกสู่ทิศตะวันตก ซึ่งทำให้ผู้บูชาได้รับความเจริญรุ่งเรืองและสมบูรณ์พูนสุขซึ่งสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของคนปัจจุบัน

คัมภีร์ฯ กล่าวว่า การประดิษฐานรูปพระอีศวรผู้นำมาประดิษฐานต้องเป็นพราหมณ์ที่ทาตัวด้วยขี้เถ้า ซึ่งหมายถึงเป็นพราหมณ์ในลัทธิปาศุปตะ หรือ กปาลิกะ ซึ่ง ปาศุปตะคือลัทธิที่นับถือพระศิวะว่าเป็นเจ้าป่าหรือเจ้าแห่งปศุ (สัตว์โลก) ผู้ดูแลคุ้มครองหรือปกป้องสัตว์โลกทั้งปวง ข้อนี้ตรงกับเจตนารมณ์การสร้างพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร เพื่อ “ให้ครองสัตว์สองตีนสี่ตีนในเมืองกำแพงเพชร”

๕.เครื่องประดับพระเศียรทรงกระบอกสูง มีกะบังหน้า เรียกว่า กิรีฏมกุฏ (อ่านว่า กิ-รี-ตะ-มะ-กุ-ตะ) : โดยทั่วไปรูปเคารพพระศิวะ (อีศวร) จะไม่สวมเครื่องประดับศีรษะในลักษณะนี้ เพราะเครื่องประดับลักษณะนี้ใช้กับรูปเคารพที่เป็นพระวิษณุ (พระนารายณ์) หรือ พระจักรพรรดิราช (จักวรรติน) หรือ พระราชาธิราช (ธรรมราชาธิราช) หรือ ผู้ปกครองแว่นเคว้นที่มีอำนาจเหนือกว่าแคว้นอื่น

เหตุที่ผู้บัญชาการให้สร้างรูปเคารพพระอีศวร โดยสวมเครื่องประดับศีรษะเช่นนี้ ก็เพื่อให้เป็นเครื่องแทนตัวของผู้มีบัญชาให้สร้างฯ ยิ่งกว่านั้นยังสอดคล้องกับนามของผู้ปกครองเมืองที่บัญชาการให้สร้างฯ คือ เจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราช ซึ่งได้นามตามพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช อันเป็นคตินิยม “ธรรมราชาธิราช” หรือ “จักรพรรดิราช” ตามความเชื่อแต่ครั้งอินเดียโบราณและรับมาสู่สังคมไทย ตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรตามฺพรลิงฺค (อ่านว่า ตาม-พะ-ระ-ลิง-คะ) ในภาคใต้ตอนบนของพระเจ้าศรีธรรมราชาจันทรภานุ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนเฟื่องฟูในราชอาณาจักรสุโขทัยและสืบต่อมาถึงจนถึงราชอาณาจักรอยุธยา

ด้านหน้าของเครื่องประดับพระเศียรทรงกระบอกนี้ มีรูปแผ่นโค้งครึ่งวงกลมคว่ำลง น่าจะหมายถึงพระจันทร์เสี้ยวที่พระศิวะทัด พระจันทร์ที่ลอยขึ้นมาจากการกวนเกษียรสมุทร ซึ่งเป็นเครื่องแสดงสัญลักษณ์ถึงการปรากฏองค์ของพระศิวะหรือพระอีศวรและเกี่ยวกับอำนาจการควบคุมดวงจันทร์ที่มีอิทธิพลต่อน้ำขึ้น-น้ำลง และการงอกงามของพืชพันธุ์

เหนือรูปจันทร์เสี้ยวขึ้นไป เป็นสัญลักษณ์คล้ายเลข ๖ ไทย เป็นรูปสัญลักษณ์แทนพระแม่คงคา เทพีแห่งน้ำ ซึ่งพระศิวะหรือพระอีศวรได้เอาพระเศียรรับไว้ เพื่อมิให้น้ำบ่าท่วมโลก การทำรูปพระอีศวรของเมืองกำแพงเพชรและทำรูปพระแม่คงคาไว้ด้วยรูปสัญลักษณ์เช่นนี้เพื่อเป็นสื่อถึง “อำนาจการควบคุมน้ำให้อยู่ในภาวะสมดุล” ของพระอีศวร สอดคล้องการวางระบบชลประทาน ควบคุมน้ำในการทำนาแบบ “นาเหมืองนาฝาย” ตามที่ปรากฏในจารึกที่ฐานพระอีศวรองค์นี้

การควบคุมธรรมชาติให้อยู่ในภาวะสมดุล สอดคล้องกับการสร้างลักษณะบ่งชี้ทางประติมานวิทยาของพระศิวะหรืออีศวร กล่าวคือ กลางพระนลาฏ มีรูปวงรี หมายถึงพระเนตรที่สาม (ดวงตาดวงที่ ๓) ของพระองค์ หากพระองค์ลืมพระเนตรดวงนี้คราใด จะมีไฟพุ่งออกมา พระองค์จึงต้องหลับพระเนตรดวงนี้ไว้เสมอ ดวงตาอีก ๒ ข้างของพระองค์หมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ การมีพระเนตรทั้ง ๓ ดวง แสดงการควบคุมพลังงานแสงสว่างและความร้อนให้อยู่ในดุลยภาพเช่นเดียวกับการควบคุมความสมดุลของน้ำในโลก

๖.พระหัตถ์ ๒ ข้างที่แสดงท่า กฏกหสฺต (อ่านว่า กะ-ตะ-กะ-หัด-สตะ) หรือ สิงฺหกรณ (อ่านว่า สิง-หะ-กะ-ระ-นะ) แปลว่า ท่ากำไล หรือ ท่าสิงห์ : ความหมายในคำแปลแรกคือ ทำมือลักษณะนี้เพื่อรอดอกไม้สด หรือมาลัยสดจากผู้บูชามาสวมใส่หรือเสียบลงไป ความหมายในคำแปลที่สอง มาจากลักษณาการทำมือคล้ายหูของสิงห์ การทำท่ามือเช่นนี้ทั้งสองมือยังให้ความหมายว่า เป็นท่าที่รูปเคารพสัมพันธ์กับการอยู่ในเมือง หรือ แสดงว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพสำหรับชาวเมือง เพราะคำว่า “กฏก” แปลได้อีกอย่างว่า “เมือง” หรือ “นคร” อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ไม่ถือสิ่งของหรืออาวุธใดๆ เลย ย่อมมีความหมายว่า ยิ่งไม่ถืออะไรเลยรูปเคารพจะแทนภาวะแห่งการหลุดพ้นไปสู่ความเป็น “พรหมัน” (พระเจ้าสูงสุด/สัจภาวะสูงสุด) หรือความไร้รูปมากที่สุด ซึ่งแสดงความหมายทางปรัชญา หรือ “โลกุตตระ” มากกว่า “โลกียะ”

๗.สวมยชฺโญปวีต (อ่านว่า ยัด-ชะ-โย-ปะ-วี-ตะ) และ ภุชงฺควลย (อ่านว่า พุ-ชัง-คะ-วะ-ละ-ยะ) : การสวมสายมงคลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นรูปงูและเครื่องประดับแขนเป็นรูปงู คือสัญลักษณ์แสดงความเป็นพระศิวะ เนื่องจากสายยัชโญปวีต ซึ่งพาดจากไหล่ซ้ายมาขวา เป็นเครื่องหมายของโยคีและพราหมณ์ ซึ่งพระศิวะได้ชื่อว่าเป็น “มหาโยคี” หรือ ครู หรือ เจ้าแห่งบรรดาโยคี/พราหมณ์ทั้งหลาย ที่แสดงรูปงู เพราะแสดงถึงอีกบทบาทหนึ่งของพระองค์ คือเป็น “ปศุปติ” หรือ “เจ้าป่า” หรือ “เจ้าแห่งปศุทั้งปวง” หรือ “เจ้าแห่งสัตว์โลกทั้งปวง” ซึ่งในรูปกายนี้ พระองค์ยังเป็นผู้ “ปกป้องคุ้มครองสัตว์โลก” ด้วย  ดังนั้น รูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งที่ฐานระบุว่าสร้างไว้เพื่อให้ “ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร” ย่อมหมายความว่า พระองค์จะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองและเป็นเจ้าผู้ปกครองดูแล “สัตว์สองตีน” คือ คน นก ไก่ เป็ด ฯลฯ  และสัตว์ “สี่ตีน” คือ วัว ช้าง ม้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสำคัญและเป็นสัตว์เศรษฐกิจของการพัฒนาบ้านเมือง

ประติมากรรมสำริดรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ นอกจากแสดงนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์/ภาษาศาสตร์ และโบราณคดี ยังมีนัยสำคัญทางศิลปะและเทคโนโลยีโลหกรรมชั้นสูงที่สามารถปั้นหล่อประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่มีความงดงามอย่างลงตัว ทั้งแสดงนัยปรัชญาและนัยทางสังคมที่ผสานสอดคล้องกัน ท้ายที่สุดเรื่องราวของโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนี้ สะท้อนพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทั้งการอนุรักษ์มรดกของชาติและการทูตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์แห่งสยามประเทศ.




ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร หลังการบูรณะ
ประดิษฐานรูปจำลองของพระอีศวร


ศิลปากร : ๒๕๕๗
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.592 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้