[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
30 เมษายน 2567 18:24:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี  (อ่าน 35265 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2558 13:06:07 »

.


มหานครนิพพาน

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี
The Thonburi Version of the Pictorial Paper Book on “Trai Bhum”
---------- * ----------

 
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เป็นหนังสือสมุดไทยขาวที่ทำจากเยื่อเปลือกข่อยเนื้อดี มีสีขาวตามธรรมชาติของเยื่อเปลือกข่อย ขนาดกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นสมุดไทยที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ สำหรับเขียนเรื่องไตรภูมิ จึงกำหนดเรียกชื่อสมุดใหญ่ขนาดนี้ว่า สมุดไตรภูมิ ตามประวัติกล่าวว่า เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ

ความสำคัญที่นับว่าเป็นชิ้นเอกของกรมศิลปากร อันเนื่องมาจากเป็นเอกสารต้นฉบับที่มีบานแพนก บอกเล่าถึงความเป็นมาของต้นฉบับ และมีภาพเขียนสีน้ำยาตามแบบไทยประเพณีเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในอุดมคติของสังคมไทยทั้งในภาคสวรรค์ เมืองพระนิพพาน และเมืองนรกขุมต่างๆ ตามขนาดของบาปกรรมและความชั่วที่คนกระทำขณะยังมีชีวิตอยู่

บานแพนกของสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของต้นฉบับดังกล่าวว่า เมื่อผ่านพุทธศักราช ๒๓๑๙ ไปได้ ๔ เดือนเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ทรงพิจารณาเรื่องราวในหนังสือไตรภูมิพระร่วงจนรู้แจ้งแล้ว มีพระราชประสงค์จะเผยแผ่ความรู้นี้ให้สามัญชนและประชนทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องภพภูมิทั้ง ๓ และคติทั้ง ๕ ซึ่งเป็นที่เกิดของเทวดา มนุษย์ นรก และหมู่อสูร เปรต รวมถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งปวงโดยทั่วกัน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช อัครมหาเสนาบดี ไปจัดหาหนังสือสมุดไทยชนิดที่มีคุณสมบัติดี ส่งไปให้ช่างเขียน เพื่อเขียนเรื่องไตรภูมิในพระอารามของสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชตรวจสอบ และบอกเนื้อหาเรื่องราวที่ปรากฏในพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้เข้าใจว่า คือ สมเด็จพระสังฆราช ศรี เดิมอยู่วัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงแตกหนีพม่าลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพบเมื่อเสด็จฯ ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จึงทรงนิมนต์มาอยู่วัดระฆัง แล้วทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบมาจนถึงรัชกาลที่ ๑ สิ้นพระชนม์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎก



บานแพนกหนังสือสมุดภาพไตรภูมิ

ต้นฉบับสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ แบ่งการสร้างสรรค์ผลงานเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เขียนภาพพระไตรภูมิ ซึ่งต้นฉบับใช้ว่า “เขียนแผนพระไตรภูมิ” ประกอบด้วย หลวงเพชรวกรรม นายนาม นายบุญษา และนายเรือง รวม ๔ คน ซึ่งตำแหน่งหลวงเพชวกรรมนี้ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง กฎหมายตราสามดวง ให้รายละเอียดข้อมูลว่า เป็นเจ้ากรมช่างเขียนขวา มีศักดินา ๘๐๐ ดังนั้น นายนาม นายบุญษา และนายเรือง น่าจะเป็นกลุ่มช่างสังกัดกรมช่างเขียนด้วยกันทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งเป็นอาลักษณ์ที่เขียนคำอธิบายด้วยตัวอักษรประกอบในเล่ม ซึ่งมีทั้งอักษรขอมและอักษรไทย ประกอบด้วย นายบุญจับ นายเชด นายเสน และนายทองคำ รวม ๔ คน

ข้อมูลในบานแพนกดังกล่าว บอกทั้งอายุของต้นฉบับว่าเป็นของที่สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงโดยศักราชที่ปรากฏ ทั้งยังบันทึกแบบพุทธศักราชและจุลศักราช ซึ่งเป็นศักราชที่นิยมใช้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาประกอบไว้โดยละเอียดให้สามารถสอบทานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังบอกมูลเหตุความเป็นมาของการสร้างต้นฉบับเล่มนี้ รวมถึงแจ้งรายนามช่างเขียนและอาลักษณ์ผู้บันทึกตัวอักษรไว้อย่างชัดเจน เป็นเครื่องแสดงความเป็นต้นฉบับหลวงโดยแท้จริงอย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอันใดทั้งสิ้น



       สัญชีพนรก


       เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานเห็นเทวทูตทั้ง ๔


       มารผจญ


       พระอินทร์ดีดพิณแสดงคติธรรม

การเขียนภาพเล่าเรื่อง
ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เฉพาะเลขที่ ๑๐ มีภาพเล่าเรื่องเฉพาะ ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ จนถึงพระมหานครนิพพาน ซึ่งเขียนไว้ที่หน้าต้นเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่การเรียงลำดับภาพจะแตกต่างจากคำบรรยายในคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึงแดนนรกก่อน ต่อด้วยแดนของสัตว์เดรัจฉาน แดนเปรต แดนอสุรกาย แดนมนุษย์ แดนสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงพระนิพพาน ส่วนสมุดภาพทุกเล่ม เริ่มต้นด้วยสมุดภาพมหานครนิพพานก่อน แล้วค่อยลดระดับลงมาทีละชั้นจนถึงนรกภูมิ มีผู้รู้สันนิษฐานว่า “อาจเป็นเพราะถ้าเริ่มต้นจากนรกภูมิก่อน เวลาคลี่สมุดออกเป็นแผ่นยาวติดต่อกันแล้ว จะเห็นนรกภูมิอยู่ข้างบน และมหานครนิพพานอยู่ล่างสุด ซึ่งคงเป็นภาพที่ทั้งจิตรกรแลคนดูทั่วไปจะพอใจนักเป็นแน่” กล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้เปิดดู เปิดอ่านให้พบสิ่งมงคลก่อน นอกจากนั้นตอนท้ายของสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้จำนวน ๑๐ หน้าสมุดไทย จิตรกรเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญจำนวน ๘ ตอน ตามลำดับ คือ

๑.ภาพตอนพระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๒.ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสอุทยานพบนิมิตทั้ง ๔ คือ คนชรา คนเจ็บป่วย คนตาย และบรรพชิต จึงสังเวชในเทวทูตทั้ง ๓ แต่ทรงพอพระทัยในสมณเพศ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย
๓.ตอนพระอินทร์ดีดพิณถวาย จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกทรงผนวชแล้วทรงทรมานพระองค์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้พบทางแห่งพระโพธิญาณแต่ก็ไม่เป็นผล พระอินทร์จึงเสด็จมาให้สติด้วยการดีดพิณสายตึงเกินไป สายหย่อนเกินไป และสายกลางอันเป็นมัชฌิมปฏิปทา
๔.ตอนนางสุชาดาเตรียมข้าวมธุปยาสไปแก้บนต่อรุกขเทวดา จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย ในภาพแสดงกระบวนของนางสุชาดา ใกล้ต้นไทรใหญ่ในวันเพ็ญเดือนหก แลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร มีรัศมีออกจากพระวรกายไปทั่วปริมณฑล จึงเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา
๕.ตอนสมเด็จพระพุทธเจ้าลอยถาด หลังจากพระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีลอยถาดทองลงในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองนั้นลอยทวนกระแสน้ำไปจมลงสู่นาคพิภพไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์ พญานาคราชซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพ ได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว
๖.ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ป่าเลไลย์ จำนวน ๑ หน้าสมุดไทย แสดงภาพลิงและช้าง นำน้ำผึ้งและรวงผึ้งมาถวาย โดยแสดงภาพดอกบัวบานแทนภาพพระพุทธเจ้า
๗.ตอนมารผจญ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย ภาพหลักกลางหน้าสมุดไทยเป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมกองทัพพระยามารทั้งหลาย ภาพตอนนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะแสดงภาพชาวต่างชาติตะวันตกที่สวมหมวกปีก และสวมวิกผมยาวหยักเป็นลอน การแต่งกายคล้ายกับการแต่งกายของราชสำนักนักฝรั่งเศส หลายคน บางคนถือปืนคาบศิลาอยู่บนหลังช้าง บางคนแต่งกายคล้ายแขกเปอร์เซีย จีน และอื่นๆ ในกองทัพพระยามารสะท้อนสภาพสังคมที่มีชาวต่างชาติเข้ามาปะปนอยู่ในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก
๘.ตอนเสด็จไปเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จำนวน ๒ หน้าสมุดไทย


ภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ
การเขียนภาพเล่าเรื่องไตรภูมิ มักแสดงด้วยภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันสาระของเรื่องก็มีความสำคัญต่อโครงสร้างของสังคมไทยและหมู่ชนในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ทั้งลัทธิเถรวาทและมหานิกาย ด้วยเพราะเป็นเรื่องที่ปลูกฝังคติความเชื่อตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันคติความเชื่อเหล่านั้นอาจลดความสำคัญและความน่าเชื่อถือลงไปมากแล้ว แต่สังคมไทยก็ยังมีภาพสวรรค์และนรกในมโนคติของแต่ละบุคคลอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีองค์ประกอบและรายละเอียดของภาพเล่าเรื่องแต่ละภาพก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยในยุคสมัยที่สร้างสมุดภาพแต่ละเล่มได้เป็นอย่างดี นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง



       ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส


       พญายมโลกสอบถามเรื่องบุญบาป

คุณค่าและความสำคัญ
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่๑๐ แม้จะมีภาพเล่าเรื่องไตรภูมิเพียงอย่างเดียว แต่ภาพที่แสดงออกก็มีคุณค่าและสาระทางศิลปะอย่างชัดเจนครบถ้วนทั้งในรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในตำนาน เช่น ความเชื่อเรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ เขาพระสุเมรุ มหาสมุทรทั้ง ๔ สวรรค์ชั้นต่างๆ ตลอดจนพิภพแห่งครุฑและนาค เป็นต้น โดยรายละเอียดของภาพแต่ละภาพจะสะท้องสาระอันเป็นคติความเชื่อที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน หากเคยอ่านศึกษาจนเข้าใจจะสามารถเชื่อมโยงรายละเอียดของภาพกับคติในตำนานได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดีสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี จึงมีความชารุดเสื่อมสภาพเป็นอย่างมาก เมื่อจัดพิมพ์เผยแพร่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ พุทธศักราช ๒๕๔๒ มีผู้สนใจแสดงความคิดเห็นให้หอสมุดแห่งชาติใช้สถานภาพของหน่วยงานของรัฐเพื่อขอภาพสมุดไตรภูมิฉบับกรุงเบอร์ลินมาจัดพิมพ์เผยแพร่โดยให้เหตุผลว่าเป็นต้นฉบับที่สวยงาม ฝีมือเขียนภาพดีกว่าฉบับกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก แต่เมื่อศึกษารายละเอียดจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสาส์นสมเด็จแล้ว ทำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของสมุดภาพไตรภูมิฉบับเลขที่ ๑๐ เพิ่มขึ้นอีกมาก นอกจากนั้นยังเกิดความเข้าใจในสภาพความชำรุดที่เกิดขึ้นด้วย สันนิษฐานได้ว่าสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐ น่าจะมีปกหนังสือเป็นปกประดับมุก ซึ่งแสดงความเป็นต้นฉบับหลวง แต่อาจถูกฉีกออกไปเสียก่อนแล้ว ดังปรากฏรายละเอียดพระนิพนธ์ ความว่า

“...เมื่อไปถึงเมืองเบอร์ลิน หม่อมฉันให้ถามที่หอสมุดสำหรับเมืองเช่นนั้นอีก พวกเยอรมันก็รับด้วยความยินดีขอบใจ และจัดห้องให้ตรวจเช่นเดียวกับที่เมืองอังกฤษ แต่ตรวจกันวันเดียวก็เสร็จ เพราะหนังสือไตรปิฎกที่เจ้าปิยะว่า เยอรมันได้ซื้อไปราคา ๑,๐๐๐ บาท เขาก็เอามาอวด เขายกย่องเป็นยอดสมุดหนังสือไทยที่เขามี แต่ประหลาดใจที่ไม่พบหนังสือเรื่องซึ่งไม่มีฉบับในเมืองไทย แม้หนังสือไตรภูมิที่ว่านั้นก็เป็นหนังสือฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี มีบานแผนกและฝีมือเขียนรูปภาพเหมือนอย่างหนังสือไตรภูมิฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะหมดทุกอย่าง คือ ฝีมือเดียวกันทั้ง ๒ เล่ม แต่ผิดกันเป็นน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยฉบับที่เยอรมันได้ไปในปกกระดาษของเดิมยังอยู่บริบูรณ์ แต่ฉบับที่คุณท้าววรจันทร์ถวายนั้นใบปกเป็นรอยลอกชั้นนอกออกทั้ง ๒ ข้าง น่าสันนิษฐานว่าฉบับคุณท้าววรจันทร์เดิมเห็นจะมีใบปกประดับมุกเป็นตัว “ฉบับหลวง” ฉบับที่เยอรมันได้ไปทำแต่ใบปกกระดาษมาแต่เดิม น่าจะเป็น “ฉบับรองทรง”
...




       พระอริยบุคคล ๘ จำพวก
       ได้แก่ พระอรหัตตมรรค  พระอรหัตตผล  พระอนาคามิมรรค  พระอนาคามิผล
       พระสกทาคามิมรรค  พระสกทาคามิผล  พระโสดาปัตติมรรค  พระโสดาปัตติผล


       พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหู :  แสดงวิถีการเดินของพระอาทิตย์ใน ๓ ฤดู

สรุป
สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นอกจากจะบันทึกภาพเล่าเรื่องในไตรภูมิให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสอดแทรกสาระสะท้อนสภาพสังคมอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนด้วยสีสันและลวดลายจิตรกรรมแบบไทยประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของไทยให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งมีบานแพนกยืนยันความเป็นมาและอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้ไว้อย่างชัดเจน หากไม่มีบานแพนกดังกล่าวนี้ เราจะต้องสันนิษฐานอายุสมัยของเอกสารฉบับนี้จากเส้น รายละเอียดในภาพ รวมถึงพัฒนาการของลักษณะตัวอักษรไทย สามารถกำหนดช่วงเวลาเป็นประมาณพุทธศตวรรษเท่านั้น

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ จึงนับเป็นของชิ้นเอกฉบับสำคัญของกรมศิลปากรของประเทศไทยด้วย



พุทธประวัติ : ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ
พระนางสิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงไม้รัง


ภาพปกสมุดขาด มีรอยปกชำรุดแหว่งหายไป สันนิษฐานว่าเกิดจากถูกลอกปกประดับมุขออกไป


มหาสมุทรทั้ง ๔ มีชื่อเรียกตามสีของผลึกแต่ละเหลี่ยมของเขาพระสุเมรุ


-----------------------------------------
     ข้อมูลบอกรายละเอียดประวัติความเป็นมา วันเดือนปี และผู้ดำเนินถึงการจัดทำเอกสารฉบับนั้นๆ
     เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเป็นข้าราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มักเรียกกันว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เฒ่า นับเป็นผู้รู้ในตำราแบบธรรมเนียมราชการ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี จึงได้คัดเลือกให้เป็นผู้บอกขนบธรรมเนียมราชการในสมัยราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๓ และต่อมาได้เป็นราชทูตไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๔ ท่านถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าท่านคือเจ้าพระยาศรีธรรมราชาธิราช (ตักโตโหน)

เรื่อง-ภาพ : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารงาน กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤศจิกายน 2558 13:12:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.473 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้