[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 11:08:15 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “ดวด” หมากกระดาน การพนัน ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ  (อ่าน 4317 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 16 ธันวาคม 2558 18:48:58 »

.


เลขทะเบียน จ.๑๑๓/๑๑
ขนาด ยาว ๑๑๖ เซนติเมตร กว้าง ๕๔ เซนติเมตร สูง ๑๕ เซนติเมตร
ชนิด ไม้  สมัย รัตนโกสินทร์
ประวัติ ไม่ทราบที่มา

“ดวด” (Duad) หมากกระดาน การพนัน
นับแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ในพระราชวังบวรสถานมงคล พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระวิมาน ได้ใช้เป็นห้องจัดแสดงเครื่องการละเล่นต่างๆ อาทิ โขน หุ่น เครื่องละคร หนัง มหรสพหลวง เครื่องกีฬาและเครื่องการพนันต่างๆ ซึ่งเคยเล่นพนันในสมัยโบราณ หนึ่งในโบราณวัตถุที่จัดแสดงมาแต่ครั้งนั้น คือ ดวด

ดวด ชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง เดินแต้มตามเบี้ยที่ทอดได้ไปตามตาของกระดานดวด ในอดีตมีการเล่นดวดอย่างแพร่หลายในภาคกลาง มักเล่นแก้เงาในเวลาที่ต้องอยู่รวมๆ กัน เช่น การอยู่เป็นเพื่อนศพหรือยามว่างงาน นอกจากนี้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้กล่าวถึงดวดว่าเป็นการเล่นในร่ม คือ เล่นบนเรือนของเด็กผู้ชายอีกด้วย



ภาพที่ ๒ โกรกกราก กระบอกเทดวด และเบี้ยจั่น ๕ ตัว สำหรับใส่กระบอกทอดดูแต้ม


ภาพที่ ๓ เบี้ยจั่น ซึ่งใช้สำหรับเป็นตัวเดินและใส่กระบอกทอดดูแต้ม
ภาพจาก : horoscope.thaiza.com


ภาพที่ ๔ ภาพลายเส้นแสดงอุปกรณ์และตาตารางกระดานดวด

อุปกรณ์และวิธีเล่น
อุปกรณ์การเล่นดวด ดวด ๑ สำรับ ประกอบด้วยกระดานไม้พร้อมโกรกกราก กระบอกเทดวด ๒ กระบอก เบี้ยจั่น ๑๑ ตัว เบี้ยจั่นนี้เป็นเบี้ยสำหรับใช้เป็นตัวเดินฝ่ายละ ๓ ตัว เป็นเบี้ยสำหรับใส่กระบอกทอดดูแต้ม ๕ ตัว

กระดานดวดทำด้วยแผ่นไม้เนื้อแข็งหรือกระดานแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะนั่งที่ด้านยาวของกระดาน กึ่งกลางกระดานมีหลักปัก “โกรกกราก” กระบอกไม้ไผ่กลวง ภายในกระบอกมีซี่ไม้ปักไขว้กันคล้ายบันไดวน ใช้สำหรับทอดเบี้ยดูแต้ม (ภาพที่ ๒ –๔)

ทุกมุมของกระดานขีดเป็นช่องตารางจำนวน ๓ แถว แถวละ ๕ ช่อง ช่องที่อยู่ริมขอบกระดานด้านกว้างยกเว้นแถวกลางจะขีดกากบาท เรียกว่า “ซัง” รวมทั้งกระดานมีตารางทั้งสิ้น ๖๐ ช่อง และมีช่องขีดที่กากบาทจำนวน ๘ ช่อง

กึ่งกลางขอบกระดานด้านกว้างลดต่ำเป็นรูปหยักโค้งมีหน้าที่คล้ายกับ “หูช้าง” หรือ “วัง” ในกระดานสกา สำหรับใส่เบี้ยเตรียมไว้เล่น

วิธีการเล่นดวดตามกฎหมายนั้น “วง” หนึ่งจะมีจำนวนผู้เล่นได้ไม่เกิน ๒ คน และไม่อนุญาตให้บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าเล่น เริ่มต้นผู้เล่นจะตกลงกันว่าจะให้เบี้ยหงายหรือเบี้ยคว่ำเป็น “ดวด” โดยปกติถ้าไม่ได้ตกลงกันก่อนให้ถือว่าเบี้ยหงาย ๑ ตัว เป็นดวด ผู้เล่นจะผลัดกันทอดเบี้ยด้วยกระบอกลงในโกรกกราก ถ้าทอดได้ดวด เบี้ยเดินแต้มจะเกิดได้ ๑ ตัว แต่ถ้าทอดได้ ๕ คือคว่ำหรือหงายทั้ง ๕ ตัว แล้วจะเกิดเบี้ยเดินแต้ม ๑ ตัว หรือ ๒ ตัว หรือจะเกิดทั้ง ๓ ตัวเลยก็ได้ หรือจะเดินเบี้ยที่เกิดแล้วไป ๕ แต้มก็ได้ แต่จะทั้งเกิดและเดินพร้อมกันไม่ได้ และเมื่อทอดได้ดวด หรือ ๕ แต้ม มีสิทธิ์ที่จะทอดเบี้ยต่อไปได้อีกจนกว่าการทอดครั้งต่อๆ ไปนั้นไม่ได้ดวดหรือ ๕ อีก



ภาพที่ ๕ กระดานสำหรับเล่นดวด 
ลำดับการเดินแต้มตามช่องตารางกระดานดวด

หลังจากเกิดแล้วทอดได้เบี้ยหงายเท่าใดก็เดินไปตามช่องตารางตามลำดับ (ดูลำดับการเดินแต้มตามภาพที่ ๕) ถ้าเบี้ยเดินแต้มเกิดตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไปแล้ว จะเดินตัวไหนก็ได้ แต่แบ่งเดินทั้ง ๒ ตัว หรือ ๓ ตัว ในการทอดแต่ละครั้งไม่ได้

การเดินเบี้ยไปตามช่องพอดีถึงช่องที่จะหยุดเดินตามที่แต้มทอดได้ ถ้ามีตัวเดินของฝ่ายตรงข้ามวางอยู่ก่อนแล้ว และตนมีความประสงค์ที่จะหยุดตานั้นก็ได้ โดยตีตัวเดินของฝ่ายตรงข้ามซึ่งอยู่ในช่องนั้นให้ตกไป หรือตายและต้องไปเกิดใหม่ ถ้าไม่คิดจะตีก็เดินตัวอื่นของตนแทน การตีตัวเดินของฝ่ายตรงข้ามนั้นตีได้ทุกช่อง เว้นแต่เบี้ยของอีกฝ่ายตกอยู่ใน “ซัง” ช่องมุมที่มีเครื่องหมายกากบาทเท่านั้น

ฝ่ายใดสามารถทอดเบี้ยเดินแต้มนับตั้งแต่ช่องเกิดเวียนไปทางขวาตามช่องทางเดินตลอดทั้ง ๔ มุมของกระดานจนถึงช่องสุดท้ายเรียกว่า “คลัก” เมื่อใกล้จะถึงคลัก และสามารถทอดได้แต้มเกินช่องคลักไป ๑ จะเดินเบี้ยออกไปได้เลยเรียกว่า “สุก” แต่ถ้าทอดได้แต้มเกินช่องคลักไปมากกว่า ๑ จะไม่สามารถสุกได้ และหากเบี้ย ๓ ตัว เดินไปถึงที่สุดมารวมกันอยู่ในตาที่จะสุกจวนจะออกแล้ว แต่ทอดแต้มออกไม่ได้ กลายเป็นสำนวนคำว่า “ตกคลัก” ต้องทอดให้ได้ ๕ จึงจะสุกทั้งหมด แต่ถ้าทอดได้ “ดวด” จะสุกได้ครั้งละ ๑ ตัว ผู้เล่นคนใดสุกได้หมดก่อนถือเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งการกำหนดเงินพนันจะนับกันเป็นกระดานไป

กลวิธีในการได้ชัยชนะนั้น แท้จริงแล้วจะอยู่ในช่วงเดินเบี้ย โดยต้องพยายามตีอีกฝ่ายให้ตายและต้องระวังไม่ให้ตัวเองถูกตีตายเพื่อจะได้ไปสุกให้ครบ ๓ ตัวก่อน ผู้เล่นจึงต้องยึดชังไว้ให้ได้เสมอ เมื่อฝ่ายตรงข้ามเดินผ่านไป ก็พยายามทอดให้ได้แต้มพอดีที่จะตีฝ่ายตรงข้ามให้ตายออกจากกระดานไป

สำหรับการทอดเบี้ยนั้นขุนวิจิตรมาตราได้กล่าวว่า “...การทอดให้ได้เบี้ยหงายมักจะทอดยาก ถ้าทอดได้แต้มเกินกว่าตรงที่สุกลงไปก็สุกง่าย ลางทีทอดได้แต้มลงไปติดอยู่ตรงที่สุกทั้ง ๓ ตัว เรียกว่า “ตกคลัก” อยู่ก่อน ทอดเบี้ยหงายไม่ได้ ต้องแพ้ฝ่ายที่มาทีหลังเพราะทอดสุกได้ก่อนก็มี...”



ภาพที่ ๖ เล่นจูงนางเข้าห้อง จิตรกรรมพระระเบียบคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ดวด – จูงนางเข้าห้อง ความสับสน และความสัมพันธ์
“ดวด” และ “จูงนางเข้าห้อง” เป็นการละเล่นที่มีเอกสารบันทึกว่าในบางท้องถิ่นระบุว่าเป็นการละเล่นชนิดเดียวกัน อุไรวรรณ พรหมสถิต ได้กล่าวถึงไว้ดังนี้ “...การเล่นดวดนี้ เท่าที่สอบถามท่านผู้รู้ส่วนมาก มักจะให้คำตอบที่ไม่ใคร่จะตรงกัน คือบางท่านก็ว่าทำสนามของการเล่นเป็นแบบวงกลมและวนๆ เข้าไปเช่นเดียวกับก้นหอย ซึ่งส่วนมากพวกรุ่นหลังๆ มักจะเรียกกันว่า “จูงนางเข้าห้อง” นั่นเอง แต่ผู้เฒ่าผู้แก่หลายรายก็ยืนยันว่า นั่นแหละที่บางถิ่นเรียกกันว่า “ดวด”

มีตัวอย่างที่แสดงถึงความสับสนในเรื่องนี้ปรากฏในการแปลพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ในส่วนของพรหมชาลสูตร มัชฌิมศีล ว่าปุถุชนกล่าวชมพระพุทธเจ้าด้วยศีล ๓ ขั้น ข้อหนึ่งในศีลอย่างกลางมีดังนี้ “พระสมณโคดม เว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้อยู่เนืองๆ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสกา

ซึ่งคำว่าการ “เล่นดวด” แปลจากคำว่า “ปริหารปถํ” แต่การแปลคำนี้ในอรรถกถาตอนอื่นๆ ของท่านผู้แปลอื่นจะแปลว่า “เล่นชิงนาง” เช่น “...บทว่า ปริหารปเถ มีความว่า ทำวงเวียนมีเส้นต่างๆ ลงบนพื้นดินแล้ว เล่นวกวนไปตามเส้นวกวนในวงเวียนนั้น (เล่นชิงนาง)...” หรือ “บทว่า ปริหารปถํ ได้แก่การเล่นของคนที่ทำเป็นวงกลมไว้หลายแนวด้วยกัน บนพื้นดิน เดินเลี่ยงกันไปในวงกลมนั้นๆ เข้าใจว่า “เล่นชิงนาง” นี้คงจะมีการเล่นอย่างเดียวกับ “จูงนางเข้าห้อง” นั่นเอง

สำหรับการเล่นจูงนางเข้าห้อง ตามบันทึกของขุนวิจิตรมาตราระบุว่า เป็นการละเล่นในร่ม โดยเป็นการเล่นทอดเบี้ยและเดินแต้มไปตามตารางที่ตีเป็นรูปก้นหอย (ภาพที่ ๖) โดย “ดวด” และ “จูงนางเข้าห้อง” มีกติกาการเล่นที่คล้ายคลึงกันประการหนึ่ง คือ หากผู้เช่นคนอื่นทอดเบี้ยได้แต้มไปตกช่องเดียวกับช่องที่มีเบี้ยของผู้เล่นคนก่อนวางอยู่แล้ว ก็จะ “เตะ” เบี้ยของคนแรกกลับลงมาเริ่มใหม่


การพนันดวด
คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเล่นพนันอยู่ควบคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ดังปรากฏเรื่องการเล่นพนันหมากกระดานในบันทึกของชาวต่างชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “สิ่งที่พวกเขานิยมเท่าๆ กับมหรสพก็คือ การเล่นพนัน ปรากฏว่าเมื่อเล่นเสียจนหมดทรัพย์แล้ว ก็เอาเมีย, ลูกลงเป็นเดิมพัน ครั้นเสียไปอีกก็เอาตัวลงเป็นเดิมพัน เมื่อเสียอีกก็ยอมไปเป็นขี้ข้าเขาแต่โดยดี การพนันที่นิยมเล่นกันมากก็คือหมากรุก และตัวเล่นบนกระดานก็มีชื่อคล้ายๆ กับของเรา และมีการเล่นทอดลูกบาศก์อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า สกา”  ทั้งนี้ มองซีเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ได้บันทึกเช่นกันว่าการพนันที่ชาวสยามนิยมชอบเล่นมากที่สุดก็คือสกา แต่อย่างไรก็ดีไม่พบว่ามีการกล่าวถึงการเล่นพนันดวด

เอกสารของไทยที่กล่าวถึง ดวด ว่าเป็นการพนันนั้น เท่าที่ทราบหลักฐานเก่าที่สุด คือ กฎหมายห้ามมิให้เล่นการพนัน จุลศักราช ๑๑๗๖ (พุทธศักราช ๒๓๕๗) ท้ายกฎหมายฉบับนี้ได้ตราข้อห้ามไม่ให้เล่นโกงพนันในบ่อนผูกขาด โดยระบุว่า “...อนึ่งผู้ใดจะเล่น ถั่ว อีโป อีแปะ ไพ่งาแปดเก้า พกลิด กำตัด สะแก สกา ดวด ก็ดี ให้เล่นกันแต่โดยซื่อตรง ห้ามอย่าให้เล่นฉ้อโกหก ทำเบี้ยปลอม กลองแหครอบ ตัดเสื่อ ตัดกระดาน ผ้าหนีบเข้าออก แลทำโปหลังอ่อน โปไก โปแม่เหล็ก และห้ามอย่าให้รู้กับเจ้ามือทำเป็นลักเปิดไปชวนให้แทง แล้วปิดไปให้เจ้ามือได้ ห้ามอย่าหมายไพ่ เปลี่ยนไพ่ ซ่อนไพ่ แล้วอย่าให้ถ่วงเบี้ยทอดถ่วงลูกหมากทอดเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าห้ามมิฟังจับได้ ให้นายบ่อนหัวเบี้ยทำโทษแลบังคับบัญชาตามอาญาบ่อน...”

ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งอากรการพนันเพิ่มเข้าในอาการบ่อนเบี้ยอีกอย่าง ๑ บัญญัติว่าถ้าใครจะเล่นพนันเอาทรัพย์สินกันในการเล่นเหล่านี้ คือ “ไพ่จีน ๑ ไพ่ไทย ๑ ไพ่แปดเก้า ๑ ไพ่ช้างงา ๑ ต่อแต้ม ๑ พุ่งเรือ ๑ หมากรุก ๑ สะแก ๑ สกา ๑ ดวด ๑ วิ่งวัวคน ๑ วิ่งวัวระแทะ ๑ วิ่งม้าฤๅวิ่งวัวควาย ๑ แข่งเรือ ๑ ชนไก่ ๑ ชนนก ๑ กัดปลา ๑ ต้องเสียภาษีแก่อากรบ่อนเบี้ยในแขวงที่จะเล่นนั้นก่อนจึงจะเล่นได้ เงินอากรการพนันบวกขึ้นในอากรบ่อนเบี้ย



ภาพที่ ๗ การเล่นดวด ถ่ายราวรัชกาลที่ ๔ - ต้นรัชกาลที่ ๕

และแม้ว่าขุนวิจิตรมาตราจะกล่าวว่า ดวดเป็นการละเล่นของเด็กผู้ชาย อย่างไรก็ดีดวดถูกบัญญัติเป็นการพนันชนิดหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงกับมีประกาศเด็กห้ามมิให้เล่นการพนันต่างๆ จ.ศ.๑๒๓๖ (พุทธศักราช ๒๔๑๗) ซึ่งปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า “...ในพื้นบ้านพื้นเมืองสยามนี้ การเล่นซึ่งจะชักจูงใจเด็กให้เปนนักเลง แลเพลิดเพลินเสียเวลาซึ่งจะร่ำเรียนศึกษาหาวิชาใส่ตัวนั้นมีมากหลายประการ...อนึ่งการซึ่งเด็กเล่นตามลำพังเด็ก ทำให้เสียเวลาที่จะฝึกหัดวิชาความรู้นั้น คือ เล่นควักลงหลุม, ๑ เสือตกถัง, ๑ เสือกินงัว, ๑ คู่คี่, ๑ เกรียก, ๑ กำตัด, ๑ อีขีดอีเขียน, ๑ หมากเก็บ, ๑ และการเล่นต่างๆ ซึ่งกล่าวมาแต่ต้นนั้น ทรงพระราชดำริห์เหนว่าเปนเครื่องจูงใจให้เด็กเพลิดเพลินเอิบอาบเลยลามไปจนเล่นการพนันใหญ่ๆ คือ ไพ่ต่างๆ, ๑ ดวด, ๑ ถั่ว, ๑ โป, ๑ จนเด็กยับเยินเปนหนี้เปนทาส แลพาบิดามารดาเปนหนี้เปนทาสเขาด้วย ก็มีเปนอันมาก...”

ในพระราชบัญญัติอากรการพนัน ร.ศ.๑๑๑ (พุทธศักราช ๒๔๓๕) อากรพนันฉบับนี้แบ่งการพนันโดยประเภทเป็น ๔ ภาค คือ ภาคที่ ๑ การเล่นต้องห้าม ภาคที่ ๒ คือ หวยจีน ก.ข. ให้ตั้งเล่นได้เพียงแห่งเดียว ภาคที่ ๓ การพนัน คือ โปปั่น โปกำ ถั่ว กำตัด ให้เล่นได้แต่สถานที่ที่เจ้าพนักงานกำหนดให้เล่น ภาคที่ ๔ คือ การเล่นพนัน เมื่อขอรับอาชญาบัตรจากนายอากรแล้วจึงเล่นได้ มีการพนันชนิดต่างๆ พระราชบัญญัติอากรการพนัน ร.ศ.๑๑๑ ระบุห้ามมิให้เล่นพนัน สกา สะแก ดวด และหมากรุก กันด้วยทรัพย์สิ่งของทองและเงิน นอกจากได้เสียเงินอากรและรับอาชญาบัตรจากนายอากรการพนัน ซึ่งนายอากรพนันจะเรียก “เงินหัวเบี้ย” จากผู้มาขออนุญาตเล่นการพนันดวด วงหนึ่งวันหนึ่งเป็นเงิน ๑ บาท

ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า ควรจำแนกการพนันอื่นๆ นอกจากหวย ก.ข. และถั่ว โป ออกเป็นหมวดต่างๆ พระราชบัญญัติอากรพนัน ร.ศ.๑๒๐ กำหนดให้ ไพ่ไทย ไพ่จีน ดวด สะแก เป็นการพนัน  หมวดที่ ๓ การพนันที่เล่นได้ทุกฤดูกาลแต่ต้องรับอาชญาบัตร์ “เมื่อได้รับอนุญาตต่อเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติแล้ว เล่นได้ทุกฤดูกาล และไม่กำหนดว่าจะต้องเล่นในที่ใดๆ เว้นแต่ถ้าเทศาภิบาลเห็นว่ามีผู้คนชุมนุมเล่นการพนันเหล่านี้มากเหลือเกินนัก กระทำให้ราษฎรมีใจเพลิดเพลินจนไม่เปนอันทำมาหาเลี้ยงชีพ เสียผลในการค้าขายหรือเปนเหตุให้เกิดการโจรกรรมมากขึ้นในท้องที่แห่งหนึ่งแห่งใด ให้เทศาภิบาลมีอำนาจที่จะกะกำหนดจำนวนใบอนุญาต...”  สำหรับในโรงบ่อนเบี้ยนายอากรมีอำนาจที่จะอนุญาตให้เล่นในโรงบ่อนได้ทุกฤดูกาล



ภาพที่ ๘ ภาพลายเส้นแสดงการเล่นดวดในสมัยรัชกาลที่ ๕

การพนันหมวดที่ ๓ นี้ ไพ่ไทย ไพ่จีน (ไพ่ต่างๆ นอกจากไพ่ป๊อกหรือไพ่งาช้าง) ดวด สะแก ต่อแต้ม และสี่เหงาลัก ในเวลาเทศกาลตรุษ สงกรานต์ ตรุษจีน อนุญาตให้เล่นได้ไม่ว่าที่ใดๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องเสียค่าอนุญาต ซึ่งประเพณีการอนุญาตเล่นพนันในเทศกาลนักขัตฤกษ์นี้เป็นธรรมเนียมมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ปรากฏตามพระราชพิธีเดือนห้า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

“อนึ่ง การตรุษก็ดี สงกรานต์ก็ดี เป็นเวลาที่คนทั้งปวงถือกันว่าเป็นฤดูหรือเป็นเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย เป็นธรรมเนียมเข้าใจซึมซาบ และเคยประพฤติมาช้านาน ไม่มีผู้ใดจะอับอายหรือสะดุ้งสะเทือนในการเล่นเบี้ยที่กำลังเล่นหรือเล่นอยู่แล้ว ไปที่แห่งใดก็เล่าโจษกันถึงการเล่นเบี้ยได้ไม่เป็นการปิดบัง บางทีก็ขยับจะอวดตัวเป็นนักเลง มีสติปัญญาว่องไว อาจเอาชัยชนะพวกพ้องได้ราวกับว่าไปมีทัพชัยชนะอย่างเตี้ยๆ อะไรมา การที่ถือว่าเล่นเบี้ยไม่เป็นการเสียหายอันใด ในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ ก็เพราะเป็นการที่ได้อนุญาตเป็นพยานว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ขัดขวางห้ามปรามหรือพลอยเห็นสนุกด้วย จึงได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานให้นักขัตฤกษ์ละ ๓ วัน... ...ถึงแม้ว่าได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานดังนี้ ก็มิได้ยกพระราชทานโดยพระราชประสงค์จะให้เล่นเบี้ยกันให้สบาย เป็นแต่พระราชทานไปตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน...”

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๕๖ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ จึงทรงมีประกาศให้เลิกประเพณีอนุญาตให้เล่นการพนันไพ่โดยไม่ต้องเสียค่าอากรในเวลานักขัตฤกษ์ตรุษสงกรานต์ ตรุษไทย และตรุษจีน ด้วยประชาชนนิยมเล่นการพนันเบี้ยมากขึ้น และพ้นวันนักขัตฤกษ์แล้วมักเกิดโจรผู้ร้ายและการลักลอบเล่นการพนันต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศจีนได้เปลี่ยนปฏิทินและธรรมเนียมใหม่ ทั้งนี้พระราชบัญญัติอากรการพนัน ร.ศ.๑๒๐ ประสงค์จะกำจัดให้บุคคลเล่นการพนันให้น้อยลง หรือให้เล่นได้เพื่อรื่นเริงเพลิดเพลินบางครั้งบางคราวและอนุญาตเล่นพนันเพื่อรื่นเริงบางครั้งบางคราว มิใช่เล่นในทางแสวงหาผลประโยชน์จากผู้เล่น

ปัจจุบันยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการเล่นพนันดวดอยู่ คือ กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ.๒๕๔๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ดวด จัดเป็นการพนันตามบัญชี ข. การพนันที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตออกใบอนุญาตได้ โดยยื่นคำขออนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนัน พ.น.๑ ที่กรมการปกครอง สำหรับในจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ยื่นที่ที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ



ภาพที่ ๙ จารึกวัดโพธิ์ โคลงจัตวาทันทีโท และโคลงประดิดนักเลง

โคลงประดิดนักเลง โคลงกลบทตาตารางกระดานดวด
นอกจากดวดจะเป็นการละเล่นและการพนันที่คนไทยรู้จักกันแล้ว ยังปรากฏหลักฐานที่น่าสนใจว่า “ดวด” เกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมด้วย คือ จารึกที่เสาข้างประตูระเบียงพระอุโบสถชั้นนอก ด้านทิศตะวันออก (ประตูฟากทิศเหนือของพระวิหารพระโลกนาถ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีจารึกโคลงกลบทโคลงหนึ่งที่ชื่อว่า “โคลงประดิดนักเลง” (ภาพที่ ๙) มีการวางกลโคลงในรูปของตารางกระดานดวด ทั้งนี้ “จารึกโคลงประดิดนักเลง” เป็นหนึ่งในจารึกวัดโพธิ์ จารึกที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ อีกด้วย

คำว่า “นักเลง” ปัจจุบันหมายถึง ผู้ฝักใฝ่ในสิ่งนั้นๆ เช่น นักเลงหนังสือ นักเลงการพนัน แต่ในสมัยโบราณคำว่า “นักเลง” กลับมีความหมายเฉพาะในทางการพนัน ดังปรากฏใน อักขราภิธานศัพท์ ของหมอบลัดเลย์ ว่า “นักเลง” คือ เจ้าพวกที่มักเล่นการพนันต่างๆ นั้น, เช่น พวกนักเลงไก่, นักเลงเบี้ย ปัจจุบันยังคงมีสำนวนที่มีนัยของคำว่านักเลงตามความหมายเดิมคือ คำว่า “สมบัตินักเลง” ซึ่งหมายถึงทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยการเสี่ยงโชค

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร มีความสนใจในเรื่อง โคลงกลบทมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๘๖ และได้เขียนรายงานผลการวิจัยหลายครั้ง แต่โคลงประดิดนักเลงนี้ท่านไม่สามารถถอดกลได้ ท่านได้ขอให้ที่ประชุมวิชาการช่วยหาโคลงเฉลยของโคลงประดิดนักเลง ต่อมานายทีปวัจน์ ศรีวัชรวิชญ์ นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้เสนอวิธีหาคำตอบ คือนำตารางข้างล่างและข้างบนมาซ้อนทับกัน แล้วนำคำที่อยู่ตอนกลางมาเสริมเรียงตามบรรทัด ปรากฏเป็นโคลงเฉลยดังนี้

      ๐ ตรีขึ้นหนึ่งแต้ม            ตามหงาย
      ทแกล้วนายหนึ่งนั่งนาย      หนึ่งข้าม
      ดวดไต่ล่างแดนกราย        หนึ่งเท้ นานา
      ปากซังหนึ่งพาดผานห้าม    ฝ่ายหนึ่งคุมซัง

โดยนายทีปวัจน์ได้เสนอเพิ่มเติมว่าคำว่า “เท้” น่าจะเป็น “แท้” และ “ผาน” น่าจะเป็น “ผ่าน” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ เห็นว่าวิธีคิดนี้น่าจะถูกต้อง แต่ควรตรวจสอบการเรียงลำดับคำว่าสามารถปรับให้ได้ใจความดียิ่งขึ้นอีกหรือไม่

บทส่งท้าย
หากตั้งคำถามกับคนทั่วไปในปัจจุบันว่ารู้จัก “ดวด” การเล่นที่เดินแต้มตามเบี้ยที่ทอดได้ไปตามตาของกระดานดวดหรือไม่ เชื่อว่าส่วนใหญ่จะตอบว่า ไม่ทราบ  ด้วยเหตุที่ปัจจุบันดวดยังคงถูกจัดเป็นการพนันตามบัญชี ข.ตามกฏกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๔๔ (พ.ศ.๒๕๔๘) แตกต่างกับ “สกา” ซึ่งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นกำหนดให้เป็นการพนันเช่นเดียวกับดวด แต่ต่อมาได้งดเว้นทำให้การเล่นสกาแพร่หลายได้มากกว่า ยังคงมีแต่ “จูงนางเข้าห้อง” การละเล่นที่มีกติกาบางอย่างคล้ายคลึงกับดวดที่พอจะเป็นที่รู้จักกันบ้างในปัจจุบัน


-----------------------------------------------
เบี้ยจั่น (Cypraea moneta Linnaeus) หอยกาบเดียวชนิดหนึ่ง ผิวเป็นมัน ขนาดยาวราว ๒ เซนติเมตร เปลือกเป็นรูปรี ด้านหลังโป่งเล็กน้อย ตอนหลังมีวงกลมสีส้ม ส่วนช่องปากแคบยาว และไปสุดตอนปลายทั้งสองข้างเป็นลำรางลิ้น ริมปากทั้ง ๒ ด้านเป็นหยักหรือฟัน ไม่มีฝาปิดปาก เบี้ยจั่นใช้เป็นอุปกรณ์ซื้อจ่ายมาแต่โบราณ หอยชนิดนี้มลายูเรียก “บี้” หรือ “เบี้ย” ซึ่งใช้เป็นค่าอากรหรือภาษี และต่อมาคนไทยเองก็เรียก “หอยเบี้ย” อันน่าจะมาจากภาษามลายู
บางท้องถิ่นเรียกช่องที่มีกากบาทที่อยู่ตามมุมของกระดานดวดนี้ว่า “โย”
คลัก ตาที่จะสุก (ใช้แก่การเล่นดวด)
สุก  เดินจบกระดานไปแล้ว (ใช้แก่การเล่นดวด)
ตกคลัก  ในการเล่นดวด หมายถึงลักษณะที่หมาก ๓ ตัวเดินไปถึงที่สุด มารวมกันอยู่ในตาที่จะสุกออกพ้นกระดานแต่ทอดแต้มออกไม่ได้; โดยปริยายหมายถึงอาการที่คนมารวมกันมากๆ ไปไหนไม่ได้
[/sup๖  ปรากฏตัวอย่างในคำลุแก่โทษของสมีสุก ตอนหนึ่งว่า “...เทดวดกะดานละบาทบ้าง กึ่งตำลึงบ้าง...”



ภาพถ่ายแสดงการเล่นดวดในสมัยรัชกาลที่ ๕


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๗ ฉบับที่ ๔ หน้า ๑๑๔-๑๒๗ และ ๑๒๙

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.689 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 เมษายน 2567 19:47:04