[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 02:50:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  (อ่าน 26480 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 07 มกราคม 2559 15:22:39 »

.


สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

คณะรัฐมนตรีมีมติและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย

ตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ครั้งรัชกาลที่ ๓ จ.ศ.๑๑๙๓ ตรงกับวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมัลคลารามราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่างๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์ ขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิม เพื่อก่อเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ  และโปรดเกล้าให้จารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมาร และแม่ซื้อ อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ ๔-๕ รูป รวม ๑๖ หลัง และยังมีจารึกตำรายาต่างๆ ติดประดับไว้ในศาลาทั้ง ๑๖ หลัง

ความรู้ชั้นครูที่จารึกไว้กว่า ๑๘๐ ปี ที่เสาพระระเบียงที่ ๘ แผ่นที่ ๑ บริเวณพระเจดีย์ เป็นตำรา “ยาทิพย์สำราญ” เอาเทียนทั้ง ๕ สิ่งละส่วน ผิวส้ม ๘ ประการ ตรีผลา, เกสรบุนนาค สิ่งละ ๒ ส่วน, ดอกพิกุล, ชะลูด สิ่งละ ๓ ส่วน, กฤษณา, อบเชยเทศ, เกสรสาระภี, โกฐสอ, ดอกพริกไทย, จันทร์ชะมด, การบูร, กระแจตะนาว สิ่งละ ๔ ส่วน เปราะหอม, จันทร์ทั้ง ๒, พิมเสน สิ่งละ ๖ ส่วน, ผลสะเดาอ่อน ๘ ส่วน, ชะเอมเทศ ๑๒ ส่วน ดอกมะลิสด ๓๕ ส่วน ทำเป็นจุณน้ำดอกไม้เทศเป็นกระสาย บดทำเป็นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ แทรกน้ำตาลกรวด ให้กินแก้ลมสวิงสวาย และตรีโทษอันบังเกิดในทหัยวาต และแก้น้ำเลี้ยงดวงใจที่ขุ่นมัวนั้นหายดีนักฯ

ยาขนานนี้พระบำเรอราช ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แม้ว่าจะเป็นตำรับยาที่ใช้ตัวยามากมายแต่น่าจะดีกับสังคมสูงวัย เกี่ยวกับเลือดลม


ที่มา (โดยสรุป)  : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์


.


"แก้ว" ไม้ดอกหอม
ยาสามัญประจำบ้าน  

แก้ว เป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกประดับรั้วบ้านคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ

เสน่ห์ของไม้แก้ว คือ กลิ่นหอมสะอาดสดชื่น จากดอกสีขาวบริสุทธิ์เหมือนมะลิที่มีฟอร์มดอกคล้ายดอกส้ม อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Orange Jasmine หรือ ต้นมะลิส้ม

สำหรับคนไทยเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “แก้ว” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Murraya paniculata เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งไม้มงคลชั้นสูงนั่นเอง

แก้วเป็นสมุนไพรรสร้อน ที่คนรุ่นปู่ย่ารู้กันดี ตามหลักการแพทย์แผนไทย รสสมุนไพรเป็นตัวบอกสรรพคุณยา สำหรับต้นแก้วนั้น ส่วนที่นิยมใช้ทำยาคือ “ใบ”   รสชาติของใบแก้วมีรสขม มีสรรพคุณเย็น เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด เป็นต้น ซึ่งมีสรรพคุณลดไข้   แต่ใบแก้วขมปี๋กลับถูกจัดอยู่ในจำพวกสมุนไพรรสร้อนเหมือนรากเจตมูลเพลิงแดง ซึ่งมีสรรพคุณขับโลหิตระดู สตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยผายลม และยังแก้โรคบิด ท้องเสียและขับพยาธิตัวตืดได้

ปัจจุบันค้นพบว่า น้ำมันหอมระเหยในใบแก้วสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารหลายชนิดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องร่วงท้องเสีย ที่สำคัญช่วยกำจัดเชื้ออหิวาต์ อีโคไล (E.coli) เชื้อไมโครคอคคัส (Micrococcus) ที่ทำให้อาหารจำพวกนม เนื้อ อาหารทะเลบูดเสียง่าย เพราะเป็นเชื้อที่ทนเกลือ คือดองเกลือไม่ตาย และยังทนต่อการฉายรังสีอีกด้วย แต่น้ำมันหอมระเหยจากใบแก้วและเชื้อสแตปไพโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งทำให้อาหารเป็นพิษ น้ำมันหอมระเหยของใบแก้วก็ต้านเชื้อจำพวกนี้ได้ด้วย

แต่ปัญหาของยาสมุนไพรใบแก้วคือ กินยาก นอกจากรสขมเผ็ดร้อนปร่าๆ แล้ว ยังขื่นเอียนชวนอาเจียนอีกด้วย ทั้งที่ไม่มีความเป็นพิษใดๆ หากกินในขนาดที่เป็นยา คือ เอาใบแก้วเพสลาดเขียวสดไม่อ่อนไม่แก่มา ๑ กำมือ หรือประมาณ ๑๐ กรัม ใส่น้ำท่วมยาประมาณ ๖๐๐ ซีซี ต้มเคี่ยวไฟอ่อนๆ ให้เหลือ ๒๐๐ ซีซี เติมน้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลไม่ฟอกสีเพื่อเจือหวานให้พอกินได้ แบ่งดื่ม ๒ เวลา เช้า-เย็น

ใบแก้วไม่เพียงเป็นยากินแก้โรคและอาการเท่านั้น แต่หมอแผนไทยยังใช้เป็นยาบำรุงธาตุหรือคุมธาตุทั้งสี่ให้เป็นปกติด้วย




"ฝอยทอง" สมุนไพรกาฝาก
ตัวยามากสรรพคุณ

ฝอยทอง สมุนไพรชนิดนี้เป็นไม้ประเภทกาฝากที่อาศัยอยู่ได้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ในบางประเทศจัดว่าฝอยทองเป็นพืชรุกราน เพราะเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะปกคลุมจนทำให้ไม้หลักล้มตายลงได้

นักพฤกษศาสตร์จัดให้ฝอยทองอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง Convolvulaceae เป็นต้นที่ชอบกระจายตัวอยู่ในเขตกึ่งอบอุ่นและเขตร้อน

ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชกลุ่มนี้ ๔ ชนิด คือ เขาคำ (Cuscuta campestris Yunck.) ฝอยทอง (Cuscuta chinensis Lam.) เครือเขาคำ (Cuscuta reflexa Roxb.) และ (Cuscuta japonica choisy) (ยังไม่ตั้งชื่อเฉพาะจึงเรียกชื่อฝอยทองเหมือนกัน)

ฝอยทองที่พบมากในประเทศคือ ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่าฝอยทอง มีชื่อพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ฝอยไหม (นครราชสีมา), ผักไหม (อุดรธานี), ชิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เครือคำ (ไทใหญ่,ขมุ), บ่ะเครือคำ (ลั้วะ), กิมชีเช่า โท้วชี (จีนแต้จิ๋ว), ทู่ชือ ทู่ชือจื่อ (จีนกลาง)

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Dodder

ฝอยทองมีอายุประมาณ ๑ ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการความชื้นมาก มักพบขึ้นตามบริเวณพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไป

ใบฝอยทอง เป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก

ดอกฝอยทอง ออกดอกเป็นช่อ ไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก รูกลมรี ดอกเป็นสีขาว ส่วนปลายกลีบดอกมน แยกออกเป็น ๕ แฉก ผลฝอยทองเป็นรูปกลมแบน เป็นสีเทา ภายในผลมีเมล็ดประมาณ ๒-๔ เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ผิวเมล็ดหยาบ




ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. มีรสหวาน ที่แนะนำลักษณะต้นให้ละเอียดเพื่อบอกว่าส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือลำต้นและเมล็ด

ในส่วนของลำต้น ใช้เป็นได้ทั้งอาหารและยา นิยมนำมาทำยำหรือลวกจิ้มน้ำพริก คนเมืองเหนือจะใช้ลำต้นต้มกับน้ำอาบรักษาอาการตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน หากเป็นโรคตาแดงหรือเจ็บตาก็จะใช้ลำต้นสด ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำ ใช้เป็นยาทารอบๆ ขอบตา และใช้ลำต้นแห้งประมาณ ๑๐-๑๕ กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือด

ลำต้นนำมาต้มกับน้ำยังเป็นยาสามัญประจำบ้านที่น่าสนใจอีกดังนี้ กินเป็นยาแก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ และกินเป็นยาถ่ายพยาธิได้ หรือมีการใช้ต้นฝอยทองแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย แก้นิ่ว โดยนำล้ำต้นสดประมาณ ๑ กำมือ ใส่น้ำท่วมยาต้มกับน้ำสะอาด กินครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา ควรดื่มขณะอุ่นๆ

บางตำราแนะนำให้ต้มผสมกับน้ำตาลทรายแดง บางตำราให้ใช้ส่วนเมล็ดแทนลำต้นต้มน้ำกินก็ได้เพื่อแก้ปัสสาวะขัดและนิ่ว

ฝอยทองกาฝากต้นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในตำรายาจีน มีการแนะนำว่า ฝอยทองหรือภาษาจีนว่าโทวชีจี้ มีสรรพคุณบำรุงไต รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง คือ มีอาการปวดเอว ตกขาว ปัสสาวะบ่อย อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และฝันเปียก  อีกทั้งกล่าวว่าช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ และช่วยบำรุงตับ บำรุงมดลูก ป้องกันการแท้งลูก

มีการแนะนำอาหารจีนว่า ถ้าเอาฝอยทองผัดกับน้ำเกลือ กินแล้วช่วยเพิ่มฤทธิ์บำรุงไตและบำรุงครรภ์  เมนูฝอยทองผัดยังเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเอว เนื่องจากไตพร่องด้วย  ในตำราจีนแนะนำเพิ่มว่า ถ้านำลำต้นฝอยทองผสมกับเหล้าแล้วเอาไปอัดให้เป็นแผ่น คล้ายแผ่นกอเอี๊ยะปิดแผล ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่าได้

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กับสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีกำลังหรืออ่อนแอ ใช้ลำต้นฝอยทอง โกฏเขมา และรากขี้ครอก ในปริมาณเท่ากัน อย่างละประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ กรัม และเปลือกส้มแห้งประมาณ ๓๐ กรัม นำมาต้มกับน้ำ แล้วผสมเหล้าที่หมักด้วยข้าวเหนียวและน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วเอามาให้สัตว์เลี้ยงกินให้มีกำลังวังชาด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังถ้าฝอยทองขึ้นกับต้นไม้ที่มีพิษ เช่น ต้นลำโพง ฯลฯ ฝอยทองจะไปดูดเอาสารพิษของต้นไม้ที่เกาะมาอยู่ในตัวเอง การนำมาใช้อาจได้พิษไปด้วยจึงควรระวัง

ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีรายงานจากต่างประเทศว่า พบสารใหม่ในฝอยทองชื่อว่า ไดร์นอล ไชโบตินีส (drynolcibotinis) จากฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis ที่ใช้เป็นยาในการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งตรงกับในตำรับยาจีนที่เคยกล่าวไว้ จากการทดลองพบว่าสารชนิดนี้ช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์กระดูกและช่วยเพิ่มการสะสมแคลเซียม

สำหรับฝอยทองอีก ๓ ชนิด คือ Cuscuta campestris Yunck. มีชื่ออื่นๆ เช่น เขาคำ(เชียงใหม่) ฝอยทอง(ภาคกลาง) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษมากมาย เช่น wizards net, devil’s guts, devil’s hair, devil’s ringlet, goldthread, hailweed, hairweed, love vine, angel hair, witch’s hair และ golden dodder

ฝอยทองชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาตอนเหนือ ในอเมริกาและออสเตรเลีย จัดว่าฝอยทองชนิดนี้เป็นศัตรูตัวร้ายของพืชในกลุ่มตะกูลถั่ว

พืชในกลุ่มฝอยทองอีกชนิดหนึ่งคือ เครือเขาคำ น่าจะพบมากในทางภาคเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta reflexa Roxb. (ภาคเหนือ) มีงานวิจัยที่ทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากเครือเขาคำช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมขนหรือผม ทำให้ขนหรือผมงอกออกมาได้ และฝอยทองชนิดสุดท้ายมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta japonica Choisy มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Japanese Dodder มีงานวิจัยสนับสนุนว่าสามารถช่วยทำให้น้ำเชื้อของผู้ชายมีคุณภาพมากขึ้น

ฝอยทองคือวัชพืช บางท่านจึงรังเกียจคิดว่าไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะคนในแถบตะวันตก แต่ฝอยทองกลับมีการใช้ประโยชน์มากของคนทางตะวันออก ย่อมแสดงว่ามุมมองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันมาก ขาวเอเชียรู้จักต้นนี้  จึงขอแนะนำให้ทุกท่านเรียนรู้ไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป


ที่มา (โดยสรุป)  : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์

.


ต้อยติ่งฝรั่ง

ต้อยติ่งฝรั่ง เป็นพืชล้มลุก ต้นเพรียวสูงได้ตั้งแต่ ๔๐-๘๐ เซนติเมตร ลำต้นและใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นคู่ตามข้อต้น ซึ่งมีขนบางๆ สีขาว ออกดอกเป็นช่อสั้นตามข้อใบ  รูปดอกทรงระฆังสีม่วงสด ในกระพุ้งดอกสีม่วงเข้ม มีเกสรในโพรงดอก ดอกตูมกลีบพนม แล้วบานทยอยกัน ดอกแก่จะโรยแล้วค่อยๆ ร่วง

หลังจากนั้นก็ติดผลเป็นฝักเล็กๆ เช่นเดียวกับต้อยติ่งไทย ฝักแก่สีน้ำตาลมีเมล็ดภายใน เมื่อถูกน้ำ เมล็ดจะดีดออกเสียงดังเป๊าะแป๊ะ เมล็ดตกที่ใด ก็ขึ้นที่นั้น ต้อยติ่งฝรั่งขึ้นง่าย

ต้อยติ่งฝรั่งมีลำต้นสวย ใบสวย ดอกสวย เหมาะที่จะปลูกประดับตามสวนสาธารณะ ตามบ้านเรือน ด้วยลักษณะดอกที่มีขนาดใหญ่ ๑-๒ นิ้ว ทรงระฆังปากผาย มีกลีบ ๕ กลีบ แต่ละกลีบบางพลิ้ว แต่ละช่อมีเพียง ๒-๓ ดอก แต่เมื่อดอกใหญ่ เวลาบานจึงเห็นเป็นดวงเด่น สีสวยสด ช่วยให้บรรยากาศของที่นั้นสดชื่น สบายตา

ต้อยติ่งฝรั่งสูงเพียงเอว ต้นและใบเจริญได้จังหวะ ใบสีเขียวปนม่วง มีลักษณะเรียวแคบ ยาวประมาณ ๑x๖ นิ้ว ทรวดทรงต้นใบโปร่งสวย ดอกดก เมื่อปลูกรวมกันจำนวนมาก ตาม ๒ ข้างทาง หรือเกาะกลางถนน จึงเห็นเป็นกำแพงต้นไม้ ดอกไม้ สวยงามลิบลิ่ว สะดุดตา สะดุดใจ เป็นที่ชื่นชมของผู้พบเห็น

ต้อยติ่งฝรั่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ruellia Squarrosa (Fenzi) Cufod. ชื่อสามัญว่า ruellias, Wild Petunias. ชื่อทั่วไปเรียกต้อยติ่งเทศ ต้อยติ่งน้ำ อังกาบฝรั่ง เป๊าะแป๊ะ อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE บางต้นบางสีที่สวยงามมากๆ มักจะได้รับคำเรียกขานอย่างไพเราะว่า ฟ้าประทานพร

ประโยชน์ทางยาของต้อยติ่งฝรั่ง คล้ายต้อยติ่งไทย คือ รากใช้รักษาโรคไอกรน ขับเลือด ดับพิษร้อน ใบ ใช้ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ เมล็ด ผสมน้ำพอกแผลฝี ดูดหนอง และแก้อักเสบ

ต้อยติ่งฝรั่งปลูกง่าย ขึ้นง่าย โดยใช้เมล็ดหรือกิ่ง ชำให้งอกราก ธรรมชาติจะชอบดินร่วน ชื้น ใกล้น้ำ แดดจัด และทนแล้งได้ดี

เมื่อต้อยติ่งฝรั่งฝักแก่เต็มที่ ฝักจะแตกอ้าคล้ายปากเป็ด เมล็ดภายในกระเด็นออก ไม่ช้าพื้นที่ใกล้ๆ ก็จะมีต้อยติ่งฝรั่งต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่เต็ม แล้วเจริญเติบโต ทยอยความสวยงามต่อไป



http://i579.photobucket.com/albums/ss239/hindumeeting/288303291_c6e11580e1.jpg
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

"น้ำตาพระศิวะ"
ต้นไม้ในกลุ่มไคร้ย้อยหรือมะกอกน้ำ

น้ำตาพระศิวะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elaeocarpus ganitrus Roxb. ex G.Don ในเมืองไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้ ๑๘ ชนิด ในอดีตเคยมีรายงานว่าพบต้นน้ำตาพระศิวะในเมืองไทย แต่ในปัจจุบันมีการจัดจำแนกพืชใหม่ ดังนั้น ที่เคยรายงานว่าในเมืองไทยเป็นน้ำตาพระศิวะชนิด Elaeocarpus ganitrus Roxb. ex G.Don นั้นไม่ถูกต้อง

ในทางวิชาการจำแนกใหม่ว่าในเมืองไทยคือชนิด Elaeocarpus serratus L. เนื่องจากทั้ง ๒ ชนิดมีความคล้ายคลึงกันมาก ขนาดชื่อสามัญในภาษาอังกฤษยังใช้เหมือนกันคือ Bead tree ซึ่งมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย เช่น มะมุ่นดง (เพชรบุรี) มุ่นโคม (ภาคเหนือ) มุ่นดง (สุโขทัย)

น้ำตาพระศิวะมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเนปาล อินโดนีเซีย นิวกินีไปจนถึงออสเตรเลีย กวมและฮาวาย ผลสุกมีเปลือกหุ้มเป็นสีฟ้าอมเทา จึงมีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่าลูกปัดบลูเบอร์รี่ (blueberry beads)

ต้นน้ำตาพระศิวะเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ จัดเป็นไม้โตเร็ว สูง ๑๕-๖๐ เมตร เมื่องอกออกมาจากเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ ๓-๔ วันจึงนำไปปลูก

ต้นน้ำตาพระศิวะจัดได้ว่าเป็นกษัตริย์แห่งสมุนไพร ใช้กันมากในการแพทย์ของอินเดีย ทั้งอายุรเวท สิทธา อูนานิ และทางการแพทย์พื้นบ้านในอินเดียก็ใช้กันทั่วไป ใช้รักษาความดันโลหิตสูง อาการทางระบบประสาท โรคลมชัก ไมเกรน ซึมเศร้า ใจสั่น ปวดระบบประสาท หอบหืด ข้ออักเสบ และโรคตับ

สำหรับแพทย์อายุรเวทเชื่อว่าถ้าได้ใส่สร้อยที่ร้อยมาจากเมล็ดของน้ำตาพระศิวะ จะให้ผลดีต่อหัวใจและระบบประสาท ซึ่งทางประเทศอินเดียกล่าวว่าได้พิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า เมล็ดของน้ำตาพระศิวะมีประจุไฟค่อนข้างสูง ซึ่งน่าจะมีผลต่อหัวใจและประสาท แต่ในเมืองไทยเรายังไม่เคยศึกษาในเรื่องนี้  

ในทางการแพทย์พื้นบ้านอินเดียยังมีการแบ่งประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเมล็ดน้ำตาพระศิวะตามโครงสร้างของเมล็ด โดยใช้ร่องและความขรุขระบนผิวของเมล็ดซึ่งเรียกว่า “มูคิชส์” (mukhis) เป็นตัวจัดจำแนก พบว่าเมล็ดน้ำตาพระศิวะมีรูปร่างแตกต่างกันได้ถึง ๓๘ แบบ หรือมีตั้งแต่ ๑-๓๘ มูคิชส์ เมล็ดที่มีจำนวน ๑ มูคิชส์ พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มี ๕ มูคิชส์ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของอินเดียเชื่อว่าเมล็ดน้ำตาพระศิวะ ที่มีมูคิชส์แตกต่างกันมีประสิทธิผลในการรักษาโรคแตกต่างกัน เช่น
   ๑.มูคิชส์ ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับ ตา กระดูก หัวใจ และลดอาการวิตกกังวล
   ๒.มูคิชส์ ใช้รักษาอาการหอบหืด ไตพิการ ภาวะซึมเศร้า
   ๓.มูคิชส์ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ถุงน้ำดีไม่ปกติ ไข้ อ่อนเพลีย ประจำเดือนไม่ปกติ
   ๔.มูคิชส์ ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น รักษาโรคหลงลืม/ความจำเสื่อม ไอ/ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
   ๕.มูคิชส์ ใช้ควบคุมความดันโลหิต เบาหวาน ลดความเครียด เป็นต้น




เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่สำคัญของอินเดีย จึงได้มีการศึกษาในเชิงลึกของการใช้สมุนไพรนี้ในรูปแบบการใช้ยา ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากเมล็ดน้ำตาพระศิวะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย แม้ว่าจะได้รับสารสกัดสูงถึง ๕ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม ส่วนสารสกัดจากใบ ๑,๐๐๐ ไมโครกรัม ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อเม็ดเลือดแดง ผลการศึกษาของอินเดียพบว่าสารสกัดจากเมล็ดให้ผลต้านการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดอาการหอบหืด ลดน้ำตาลในเลือด

สารสกัดจากเมล็ดและใบของน้ำตาพระศิวะมีแอลคาลอยด์หลายชนิด เช่น elaeocarpidine, (+) – elaeocarpine, isoelaeocarpine, rudrakine, pseudoepiisoelaeocarpiline และ flavonoids เช่น quercetin.

ในประเทศไทยของเราก็มีน้ำตาพระศิวะ มีรายงานว่ามีพืชท้องถิ่นที่มีความคล้ายคลึงกับน้ำตาพระศิวะหรืออยู่ในสกุลเดียวกันถึง ๑๗ ชนิด แม้ว่าทางวิชาการจำแนกน้ำตาพระศิวะในไทยคือ Elaeocarpus serratus L. แต่ก็น่าจะเป็นพืชที่ใกล้เคียงกันมาก

เราชาวไทยจึงควรเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในกลุ่มนี้มากขึ้นและเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธ์พืชซึ่งขณะนี้จำนวนประชากรของน้ำตาพระศิวะเหลือน้อยมาก  




ตะไคร้หอม สรรพคุณไล่ยุง

นับว่าโชคดีที่ทุกสรรพสิ่งมีของคู่ไว้แก้กัน  เขตร้อนเป็นแหล่งยุงชุม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดแมลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) แน่นอนสารป้องกันยุงจากธรรมชาติย่อมปลอดภัยกว่าสารเคมีสังเคราะห์เมื่อต้อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ทาผิวกันยุงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลมากที่สุดในเวลานี้คือ พืชพันธุ์กลุ่มตะไคร้ ในสกุล  Cymbopogon ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญได้นานกว่า ๓ ชั่วโมง  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและสูตรตำรับ เช่น ตะไคร้บ้าน (cymbopogon citratus (DC.) Stapf) ที่ใช้ทำต้มยำ เมื่อใช้น้ำมัน (Lemongrass oil) เข้มข้น ๒๐-๒๕% ในพาราฟินเหลว (Liquid paraffin) มีฤทธิ์ป้องกันยุงลายกัดได้ผล ๑๐๐% ใน ๑ ชั่วโมงแรก และได้ผล ๙๕% ภายใน ๓ ชั่วโมงต่อมา แต่ถ้าทำผลิตภัณฑ์น้ำมันตะไคร้ ๑๕% ในรูปขี้ผึ้งพบว่ามีประสิทธิผลเท่ากัน

ถ้าใช้ต้นตะไคร้หอม (cymbopogon nardus (L.) Rendle) ก็จะมีประสิทธิภาพไล่ยุงได้ดีกว่า พบว่าเพียงใช้สารสกัดแอลกอฮอล์ของต้นตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอกก็สามารถไล่ยุงลายได้นาน ๒ ชั่วโมง

แต่ถ้าต้องการให้มีฤทธิ์ยาวนานกว่านั้น ก็ต้องเตรียมสูตรตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) ๑๗% ในรูปแบบครีม สามารถป้องกันยุงลายนานกว่า ๓ ชั่วโมง

แถมเคล็ดลับคือถ้าเติมสารวานิลินลงในครีมนิดหน่อยก็จะเพิ่มความคงตัวของน้ำมันตะไคร้หอม เสริมให้ผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ป้องกันยุงลายได้นานกว่า ๔ ชั่วโมง

มีการทดลองเตรียมสบู่เหลวอาบน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำมันตะไคร้หอมเพียง ๐.๑% น้ำมันตะไคร้ ๐.๕% และน้ำมันสะเดา (neem oil) ๑% สามารถไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้นานถึง ๘ ชั่วโมง

ขณะนี้มีการทำผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากน้ำมันสมุนไพรดังกล่าวออกสู่ตลาด แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย เพราะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์เคมี ๒-๓ เท่า แต่ถ้าหน่วยงานรัฐอุดหนุนส่งเสริมเกษตรกรและสนับสนุนเทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมให้แพร่หลาย อาจทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ถูกลงแข่งกับผลิตภัณฑ์เคมีได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าด้วย  




ตาตุ่มทะเล
Excocecaria agallocha L.
EUPHORBIACEAE


ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๑๕ เมตร มียางสีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี รูปใบหอก แกมขอบขนาน

ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ดอกย่อยแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อเชิงลด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

ผลแห้งแล้วแตก มี ๓ พู เว้าชัดเจน

ลำต้นตาตุ่มเมื่อแก่จัดจะแห้งตาย เป็นเนื้อไม้ แห้งแข็ง สีน้ำตาลแก่ ถ้าเผาไฟจะมีกลิ่นหอม รสขม เรียกว่า กะลำพักตาตุ่ม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกะลำภักสลัดได ใช้แก้ไข้ ขับลม ขับโลหิต ขับเสมหะ ถ่ายหนองและลม ใช้ในยาขับน้ำคาวปลา ส่วนใหญ่ใช้ในยาต้ม

ราก ฝน ทาแก้บวมและแก้คัน
ใบ แก้ลมบ้าหมู
ยาง ตาตุ่มมีฤทธิ์กัด เมื่อรับประทานจะทำให้ท้องเสีย ถูกตาตาจะบอด จึงเรียกว่าตังตาบอด

ดังนั้น ยางตาตุ่มจึงจัดอยู่ในรายการยาห้ามใช้.



.


จันทน์หิมาลัย หรือ จันทน์เทศ
Santalum album L.
SANTALACEAE


ไม้ต้นขนาดเล็ก
ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม เนื้อใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง รูปรี หรือรูปไข่
ดอก เป็นช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ซอกใบ หรือตามลำต้น ดอกมีขนาดเล็ก โคนกลีบรวม เชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวครีมเมื่อแก่ เปลี่ยนเป็นสีแดงแกมม่วง
ผล สด กลม มีเมล็ดเดียว
แก่น รสขมหอมร้อน บำรุงกำลัง และลมกองละเอียด แก้ไข้ดีเดือด ดีพลุ่ง แก้กระสับกระส่าย ตาลาย บำรุงตับ ปอด หัวใจ น้ำดี เป็นแก่นจันทน์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาแพง

น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากแก่น เรียกว่า sandal wood oil มีราคาแพงเช่นกัน

ในทางการแพทย์แผนไทย แก่นจันทน์ชนิดนี้ เรียกว่า จันทน์เทศ ซึ่งเป็นคนละต้นกับจันทน์เทศ (Myristica fragrance) ที่ใช้รกหุ้มเมล็ด (Mace) และเมล็ด (Nutmeg seed) เป็นยาขับลม

แก่นจันทน์เทศนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในพิกัดจันทน์ทั้ง ๕ ที่ใช้แก้ไข้

และมีแพทย์แผนไทยบางท่านนำแก่นจันทน์เทศนี้มาใช้เป็นเครื่องยาจันทน์ขาว ในตำรับยา


.


ชบา China rose
Hibiscus rosa-sinensis L.
MALVACEAE


ไม้พุ่มขนาดย่อม ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีหูใบเห็นได้ชัดเจน ใบรูปไข่กว้าง ปลายเรียวแหลม ขอบหยัก

ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว มีกลีบรองดอก และกลีบเลี้ยง กลีบดอกมีทั้งชนิดกลีบชั้นเดียว ๕ กลีบ และกลีบซ้อน มีหลายสี เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูติดกันเป็นท่อยาวยื่นมาพ้นปลายกลีบ หุ้มก้านชูเกสรเพศเมียไว้ด้านใน และชูยอดเกสรเพศเมียที่แยกเป็น ๕ แฉก สีแดง เกสรตัวผู้ติดรอบๆ ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี

รากสด แก้พิษฝีและฟกบวม อักเสบ โดยตำให้ละเอียด พอก และมีบันทึกการใช้รากเป็นยาขับน้ำย่อย ช่วยย่อยอาหาร และมีรายงานวิจัยว่าสารสกัดจากดอก ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร แต่ต้องรอผลการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

บางประเทศมีการใช้ดอกชบา เป็นสมุนไพรป้องกันผมร่วง และช่วยให้ทำให้ผมงอก




สันพร้าหอม Ayapana
Ayapana triplinervis (Vahl) R.M.King & H.Rob.
COMPOSITAE (Asteraceae)


ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวเรียบมัน แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านล่างมีเส้นใบตรงโคน ๓ เส้น เห็นชัดเจน

ดอกช่อ แบบกระจุกแน่น ดอกย่อยสีชมพู ใบและยอดอ่อนมีกลิ่นหอม ใช้เป็นผัก

ต้นและใบ เป็นยาสุขุม สรรพคุณแก้ไข้ และเป็นยาหอมชูกำลัง

ใบสด ขยี้ คั้นเอาเฉพาะน้ำ หรือต้มน้ำ ชุบผ้าก๊อช ปิดสมานแผล ทำให้เลือดหยุด สันพร้าหอมชนิดนี้ เคยใช้เป็นเครื่องยา

ชื่อสันพร้าหอมในโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) เป็นสันพร้าหอมคนละต้นกับที่ใช้ทางยาในปัจจุบันซึ่งเป็นชนิดใบหยัก




โมกบ้าน Sacred Buddhist, Water Jasmine
Wrightia religiosa (Teijsm.&Binn) Kurz APOCYNACEAE

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๕ เมตร แขนงมีขนละเอียดเปลี่ยนเป็นเกลี้ยง มีช่องอากาศประปราย ทุกส่วนมีน้ำยางขาว

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบบาง รูปรี ปลายใบเรียวแหลม พบน้อยมากที่กลม โคนใบรูปลิ่ม เส้นแขนงใบ ๓-๘ คู่ ก้านใบคล้ายกระดาษ มีขนละเอียดที่แกนกลางไกลแกน และเกลี้ยงที่ใกล้แกน

ดอก ช่อแบบช่อกระจุก เกลี้ยงหรือมีขนละเอียดประปราย ดอกห้อย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายกลีบมนถึงแหลม เกลี้ยง เป็นครุย รอยต่อโคนกลีบมีขนาดเล็กและแคบ กลีบดอก ๕ กลีบ หรือหลายกลีบซ้อนกันในพันธุ์ที่ปลูกเป็นไม้ประดับ กลีบดอกสีขาว กลีบดอกคล้ายรูปกงล้อ หลอดกลีบดอกพูกลีบดอกรูปไข่กลับ กลม มีขนละเอียดและปุ่มเล็กที่พูทั้งสองด้าน หลอดกลีบดอกเกลี้ยงทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีกระบัง

ผล เป็นฝักคู่แยกกัน รูปกระสวย เกลี้ยง ไร้ช่องอากาศ เมล็ดรูปแถบ

โมกบ้าน เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันทั่วไป

ยาพื้นบ้านใช้ ราก รักษาโรคผิวหนัง จำพวกโรคเรื้อน แต่ไม่พบการใช้เป็นตำรับในตำราการแพทย์แผนไทย ดอกโมกมีกลิ่นหอมมาก ทำให้น่าสนใจนำมาเป็นสารแต่งกลิ่น

แต่กลิ่นดอกโมกที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันเป็นกลิ่นจากการสังเคราะห์เนื่องจากกลิ่นดอกโมกสดที่สกัดด้วยน้ำมันไม่คงตัว

กลิ่นหอมหลังสกัดใหม่ แล้วเปลี่ยนเป็นแก๊สไข่เน่าในเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีสารจำพวกกำมะถันเป็นองค์ประกอบ



ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 เมษายน 2559 16:16:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 มีนาคม 2559 13:56:16 »

.



เทียนตาตั๊กแตน
ปวดประจำเดือนครั้งใด สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน เอาอยู่

การมีประจำเดือนเป็นภาวะธรรมชาติของสตรีทุกคนในวัยเจริญพันธุ์ (ระหว่างอายุ ๑๕-๒๕ ปี) ซึ่งเกิดจากการลอกหลุดของชั้นผิวด้านในของมดลูกเมื่อไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัว จึงย่อยสลายตัวเองเกิดเป็นเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดทุกรอบเดือน

ส่วนใหญ่รอบประจำเดือนจะมาตามนัด ๒๘ วัน บางคนอาจมา ๓๐ วันหรือ ๔๕ วันก็ได้

แต่ถ้าไม่มาตามนัดถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ และสิ่งที่ผู้หญิงกลัวมากที่สุดไม่ใช่หลับแล้วเลอะ แต่คืออาการปวดประจำเดือน ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเป็นอาการปกติไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกแต่อย่างใด เพราะประมาณว่าผู้หญิงร้อยละ ๗๐ จากผู้หญิงทุกคน ล้วนเคยทุกข์ทรมานกับอาการปวดประจำเดือนกันมาทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง บางคนปวดพอทนใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แต่บางคนเวลาปวดแต่ละทีก็แทบจะทำงานทำการอะไรไม่ได้เลย

การปวดประจำเดือนมี ๒ ชนิดคือ
๑.ปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea) พบว่าราวร้อยละ ๗๐-๘๐ ของผู้ปวดประจำเดือนจะมีอาการปวดแบบนี้ ซึ่งเมื่อได้พักผ่อนหรือดูแลตัวเองอย่างพอเพียง หรือรับประทานยารักษาตามอาการก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การปวดชนิดนี้มักมีอาการตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว และอาจปวดประจำเดือนแทบทุกครั้งไปจนอายุ ๒๕ ปี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นอาการจะเบาลงเรื่อยๆ บางคนมักจะหายไปเมื่อแต่งงานหรือมีบุตร
๒.ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea) การปวดชนิดนี้รุนแรงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ จะใช้ยาอะไรก็ไม่ค่อยได้ผลมักเริ่มมีอาการปวดชนิดนี้ตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี มีสาเหตุมาจากอวัยวะภายในมดลูกผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกผิดปกติ เกิดเนื้องอกที่มดลูก หรือความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น

การปวดชนิดนี้พบได้ประมาณร้อย ๒๐-๓๐ ของผู้หญิงทั้งหมดที่มีอาการปวดประจำเดือน

ในกรณีที่รุนแรงต้องปรึกษาสูติ-นารีแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ

ดังนั้น ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ การรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิโดยใช้สมุนไพรตัวเดี่ยว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ยาโดยมีงานศึกษาวิจัยทางคลินิกรับรองประสิทธิผลและความปลอดภัย สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนไม่แพ้ยาเคมีในที่นี้คือ “เทียนตาตั๊กแตน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anethum graveolens Linn. และมีชื่อฝรั่งสามัญว่า “Dill

“เทียนตาตั๊กแตน” ที่ใช้เป็นเครื่องยานี้ได้มาจากผลแก่แห้งของผักชีลาว ซึ่งเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เดียวกับพืชจำพวกผักชีทั้งหลายและผักขึ้นฉ่ายรวมทั้งผักชีฝรั่ง (Parsley) ในเทียนตาตั๊กแตนมีน้ำมันระเหยง่าย (Dill Seed Oil) ร้อยละ ๑.๒-๗.๗ ซึ่งมีสารสำคัญหลักคือคาร์โวน (carvone) จึงทำให้เทียนตาตั๊กแตนมีกลิ่นเฉพาะ มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย

แพทย์แผนไทยใช้เทียนตาตั๊กแตนบดผง ๑ ช้อนชา ละลายน้ำสุกรับประทานบำรุงธาตุ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะพิการ แก้โรคกำเดา และแก้เส้นท้องพิการ สำหรับการศึกษาทางคลินิกเป็นการยืนยันสรรพคุณแก้อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่ท้องน้อยอันเกิดจากอาการปวดประจำเดือน ในอาสาสมัครเพศหญิงอายุระหว่าง ๑๘-๒๘ ปี จำนวน ๗๕ คน มีการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ของเทียนตาตั๊กแตนกับยาเคมีเภสัชแผนปัจจุบันและยาหลอก

กลุ่มที่ ๑ ให้อาสาสมัครกินยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนขนาด ๑๐๐๐ มิลลิกรัม (แคปซูลละ ๕๐๐ ม.ก. กินครั้งละ ๒ แคปซูล) กินวันละ ๒ ครั้ง ห่างกัน ๑๒ ชั่วโมง โดยต้องกิน ๒ วันติดต่อกันก่อนมีประจำเดือน จากนั้นกินติดต่อกันรวม ๕ วัน ทำเช่นนี้ ๒ รอบประจำเดือน
ส่วนกลุ่มที่ ๒ และ ๓ ให้รับประทานยาแก้ปวดเมเฟนามิกแอซิด (mefenamicacid) ขนาด ๒๕๐ ม.ก.และยาหลอกขนาด ๕๐๐ ม.ก.ตามลำดับ

โดยมีกระบวนการให้ยาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ ๑ ทำการวัดระดับความปวดประจำเดือนด้วยวิธีให้คะแนนความรู้สึกปวดเป็น ๓ ระดับ คือปวดน้อย : ๑-๓ ปวดปานกลาง : ๔-๗ ปวดมาก : ๘-๑๐

ผลการศึกษาพบว่า อาการปวดประจำเดือนของกลุ่มที่ ๑ (รับประทานยาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตน) และกลุ่มที่ ๒ (รับประทานยาเคมีแผนปัจจุบัน) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเดือนที่ ๑ และเดือนที่ ๒ ของการทดลอง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการปวดประจำเดือนลดลงในเดือนที่ ๒ เท่านั้น

ที่สำคัญคือ ไม่พบความแตกต่างระหว่างการรับประทานยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนกับยาเมเฟนามิกแอซิด

การศึกษานี้แสดงว่ายาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตนสามารถช่วยระงับอาการปวดประจำเดือนของสาวๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลทัดเทียมกับยาแผนปัจจุบัน

ในเมื่อมีงานวิจัยฤทธิ์ระงับปวดประจำเดือนของเทียนตาตั๊กแตนชัดเจนขนาดนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เอกชนสามารถอ้างอิงนำไปผลิตสู่ท้องตลาด อันเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยาสมุนไพรตัวนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

แต่ในระหว่างที่ยังหาซื้อยาสำเร็จรูปในร้านขายยาไม่ได้ ใช้ยาเทียนตาตั๊กแตนบดผงละลายน้ำสุกรับประทานไปพลางก่อนก็ได้

นับเป็นการพึ่งตัวเองที่ไม่ยุ่งยากอะไร

ดังนั้น สุภาพสตรีท่านใดหากปวดประจำเดือนครั้งต่อไป ใช้สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน ตัวเดียว รับรองเอาอยู่




จามจุรี
Rain tree,East Indian walnut
Albizia saman (Jacq.) Merr.
FABACEAE


ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร กิ่งก้านแผ่โค้งคล้ายร่ม
ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๐.๖-๔ เซนติเมตร ยาว ๑.๕-๖ เซนติเมตร รูปรี รูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเบี้ยว โคนใบกลมหรือตัดเฉียง ผิวมัน
ดอก ออกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีชมพู เกสรเพศผู้จำนวนมาก
ฝัก รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำ คอดเล็กน้อยตามรอยของเมล็ด มีเนื้อแฉะๆ หุ้มเมล็ด
เมล็ด แบนรูปรี สีน้ำตาล ลำต้นใช้เพาะพันธุ์ครั่ง ยางเหนียว ใช้เป็นกาว
เปลือกต้น มีรสฝาด แก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย เหงือกบวมและปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง ใบเป็นยาเย็น ใช้สำหรับดับพิษ
เมล็ด แก้กลากเกลื้อน และโรคเรื้อน




หญ้าคา
Imperata cylindrica (L.) Beauv.
GRAMINEAE


ไม้ล้มลุก สูงถึง ๙๐ เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน รูปร่างยาวเป็นเส้นแข็ง

ใบเดี่ยว เรียงสลับ แทงออกจากเหง้า แผ่นใบรูปแถบเหมือนริบบิ้น กว้าง ๑-๒ เซนติเมตร ยาวได้ถึง ๑ เมตร ขอบใบคม

ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าเช่นเดียวกัน ดอกย่อยอยู่รวมกันแน่น สีเงินอมเทาจาง
ผล แห้งไม่แตก
ราก เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ปัจจุบัน มีเทคนิคการทำให้หญ้าคาเป็นพืชที่ให้น้ำตาล โดยในฤดูหนาวขุดพื้นดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงซอยลึกๆ ตัดรากออกบางส่วน แล้วเอาแกลบใส่ในโพรง รดน้ำที่โคนต้นทุกวัน เมื่อรากงอกยาว ให้เอาแกลบออก จับมัดรากรวมกัน เอามีดคมปาดราก คล้ายปาดจั่นตาลโตนด ทิ้งไว้ ๓ วัน

วันที่ ๓ ตอนเย็นให้นำภาชนะรองที่ปลายรากที่ตัดไว้ เก็บน้ำตาลในวันรุ่งขึ้น แล้วปาดรากให้ลึกขึ้นอีกและรองรับน้ำตาลได้ทุกวันจนกว่าจะหมด

เป็นที่น่าสนใจศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำตาลในหญ้าคา





มะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solonum Virginianum L. อยู่ในวงศ์ SOLONACECE ชื่อสามัญเรียก Eggplant ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกัน เช่น มะเขือคางกบ มะเขือชัยคำ มะเขือจาน มะเขือแจ้ดิน มะเขือสวย ฯลฯ

มะเขือปลูกง่าย โดยนำเมล็ดที่แก่จัดเป็นสีน้ำตาลเข้ม โรยลงในแปลงเพาะ แล้วนำดินเถ้าแกลบกลบ ไม่ช้าก็งอก พอสูงสัก ๑ คืบ ก็นำลงปลูกในไร่ที่เตรียมดินไว้ คอยให้น้ำบ้าง ๔๕ วันเห็นผล เก็บขายได้

ประโยชน์ของมะเขือ นอกใช้เป็นผักแล้ว ยังเป็นยาสามัญประจำบ้านได้ด้วย เช่น แก้โรคเบาหวาน ลดไข้ ขับพยาธิ แก้ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ใบตำพอกแก้พิษตามผิวหนัง




ดาวเรืองกาญจน์
Gynura calciphila Kerr var. dissecta F.G. Davies ASTERACEAE

ไม้ล้มลุก สูง ๖๐-๑๒๐ เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ ตั้งตรง มีหัวขนาดเล็ก ขนาด ๑-๒ เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย
ใบ เดี่ยว เรียบสลับ รูปไข่ มีขนสั้นนุ่มประปราย โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักซี่ฟัน
ดอก ช่อกระจุกแน่น ออกที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น ดอกสีเหลือง มีขนสั้นนุ่มประปราย
ผล แห้งแตก สีน้ำตาล เกลี้ยง ปลายยอดรูปทรงกระบอก สีแกมเหลืองแพปพัส สีขาว
ประโยชน์: หัว ยาฝนทาแก้ริดสีดวงทวาร




กินอะราง (นนทรีป่า)
คลายร้อน

ในหลักการใช้ชีวิตตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาดั้งเดิมนั้น ให้ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เพราะถ้ารู้จักเลือกกินจะส่งเสริมสุขภาพ แต่ถ้ากินอาหารไม่เหมาะก็จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้

ในวิถีภูมิปัญญาอีสาน ผู้เฒ่าผู้แก่มักแนะนำไว้ว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดๆ ควรกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวผสมรสฝาด

รสอาหารที่มากับรสของพืชสมุนไพรในอาหารนั้นเป็นโอสถในตัวเอง เพราะรสเปรี้ยวจะทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยผ่อนคลายความร้อนได้บ้าง ส่วนรสฝาดเป็นตัวช่วยให้ไม่เกิดอาการท้องเสียที่มักมากับหน้าร้อน และการกินแต่รสเปรี้ยวโดดๆ จะทำให้ระบายท้องมากเกินไป

รสฝาดผสมเปรี้ยวจึงจะช่วยคุมการขับถ่ายนั่นเอง

อาหารตามภูมิปัญญาที่ราบสูงของไทยอย่างหนึ่ง ที่อยากแนะนำให้บริโภคในช่วงที่อากาศร้อนจัดๆ ได้แก่ ตำส้มเปลือกอะราง (เรียกตามภาษาถิ่นอีสาน) โดยนำเปลือกอะรางมาขูดเอาผิวด้านใน แล้วนำมาปรุงเหมือนตำส้มตำ ถ้าว่าตามตำรับดั้งเดิมจะนิยมใส่มดแดงหรือสับปะรดเพื่อให้รสเปรี้ยว ส่วนเปลือกอะรางมีรสฝาดทำให้ได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวและฝาดผสมกัน

ในบางพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ จะเรียกต้นอะรางว่า ต้น “ตำแตง” เพราะเปลือกด้านในที่ขูดออกมาได้มีลักษณะคล้ายแตงสับ การเรียกชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเอารูปแบบการใช้ประโยชน์มาเป็นการตั้งชื่อด้วย

อะรางจัดว่าเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง ๓๐ เมตร มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Copper pod มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peltophorum dasyrrhachis (Mig.) Kurz มีชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ หลายชื่อ เช่น ช้าขม จ๊าขม (เลย) ร้าง อะล้าง (นครราชสีมา อุดรธานี) อินทรี (จันทบุรี) คางรุ้ง คางฮุ่ง (พิษณุโลก) กว่าแซกหรือกร่าเซก (เขมร-กาญจนบุรี) ตาแซก (เขมร-บุรีรัมย์) ราง (ส่วย-สุรินทร์) นนทรี (ภาคกลาง) นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา)

สรรพคุณทางยา พบว่าส่วนของเปลือกต้นมีรสฝาดใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต เป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ ช่วยขับลม แก้อาการท้องร่วง ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมที่ให้สีน้ำตาลแดง

คนทั่วไปมักจะสับสนระหว่างต้นอะราง หรือนนทรีป่ากับต้นนนทรี เพราะแม้แต่ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษก็ยังเรียกคล้ายกันกับต้นอะราง (นนทรีป่า) คือ Copper pod, Yellow flame หรือ Yellow Poinciana แต่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ต่างกัน คือ สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน และแน่นอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ต่างกันเรียกว่า Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Huyne

เหตุที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน เพราะอะรางและนนทรีเป็นไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยเมื่อเห็นเฉพาะใบจะคิดว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่เมื่อออกดอก ออกผล จะเห็นชัดเจนว่าไม้ทั้ง ๒ ชนิดแตกต่างกัน

ลักษณะของอะราง ช่อกห้อย ส่วนนทรีมีช่อดอกตั้ง ดอกของนนทรีมีสีเข้มกว่าดอกของอะราง แต่ทั้งอะรางและนนทรีมีถิ่นกำเนิดเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงออสเตรเลีย จากการเดินป่าสำรวจพบประชากรของอะรางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภาคอีสานไม่พบนนทรีในธรรมชาติเลย ยกเว้นที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ

เนื่องจากนนทรีเป็นพืชในสกุลเดียวกับ อะราง  สรรพคุณทางยาจึงมีความคล้ายคลึงกัน คือเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต ช่วยปิดธาตุ ใช้เป็นยาขับผายลม ส่วนเปลือกต้นมีสารเทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ ช่วยแก้บิด ใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของสตรี ใช้เป็นยาสมานแผลสด นอกจากนี้ เปลือกต้นยังนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ

ทางภาคใต้มีการใช้ประโยชน์จากต้นนทรีมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น นำยอดมาใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ยอดและฝักอ่อน ใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าบาเต๊ะ และยังใช้ย้อมแหและอวนด้วย

เนื้อไม้นนทรีมีสีน้ำตาลแต่ออกไปทางสีชมพูสวยงามดี และมีลักษณะมันเลื่อม เนื้อไม้มีความหยาบแต่ไม่มาก หากนำมาเลื่อยหรือผ่า ทำการไสกบตบแต่งได้ไม่ยาก ที่สำคัญมอดปลวกไม่มารบกวน จึงมีการนำมาใช้ก่อสร้างบ้านเรือน อาจนำมาทำพื้น เพดาน ฝา ฯลฯ และยังนำมาทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ด้วย หรือใช้เผาทำถ่าน

นนทรียังถือเป็นไม้มงคล ปลูกง่ายโตเร็ว ลักษณะของต้นสวยงาม และยังมีดอกสวยกลิ่นหอมด้วย จึงไม่แปลกที่ในอดีตมีการปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ สวนสาธารณะ ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถกันมาก (แต่ในปัจจุบันคนไทยหันไปปลูกไม้นำเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นหูกระจง) ทั้งๆ ที่นนทรีปลูกให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี และยังปลูกให้ร่มเงากับพืชเศรษฐกิจบางชนิดที่ไม่ต้องการแดดจัดได้ดี ยิ่งกว่านั้น นนทรีเป็นพืชตระกูลถั่วจึงช่วยบำรุงดินให้พืชอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบันทึกใดที่กล่าวถึงการนำเอาเปลือกด้านในของนนทรีมาประกอบอาหารประเภทส้มตำเหมือนกับต้นอะราง (นนทรีป่า) และอาจเป็นเพราะไม่พบนนทรีในป่าธรรมชาติของอีสานก็เป็นได้




จำปา


คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักดอกจำปา เพราะเข้าใจว่าเป็นดอกจำปี เนื่องจากนิยมเรียกต่อกันว่า จำปีจำปา และอาจเพราะจำปาเป็นชื่อเรียกที่รู้สึกไม่เป็นมงคล จึงไม่นิยมนำเอาจำปามาปลูกในบ้าน จำนวนประชากรของจำปาในเมืองจึงมีน้อยกว่าจำปี

จำปาและจำปีต่างกันที่สีของดอก  จำปีมีมีดอกสีขาว ส่วนจำปามีดอกสีเหลืองอมส้ม  แต่ในปัจจุบันมีการนำเอาจำปีและจำปามาผสมข้ามพันธุ์เรียกว่า จำปีสีนวล มีดอกสีเหลืองอ่อน

ตามหลักวิชาการ จำปา มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Champak มาจากภาษาฮินดู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca (L.) Bail.ex Pierre ชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น จำปากอ (มลายู-ใต้) จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี)

จำปามีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงมีความสูงประมาณ ๑๕-๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ สำหรับต้นที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติจากต้นที่มีขนาดเล็ก แต่มีดอกดก

ดอกมีขนาดใหญ่และออกดอกได้ตลอดปี ดอกสีเหลืองส้ม ออกตามซอกใบ  ผลเป็นแบบผลกลุ่ม มีช่อยาว เปลือกหนาแข็ง มีช่องอากาศเป็นจุดเล็กสีขาวอยู่ทั่วไป  ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อนประจุดสีขาว  ผลแก่แห้งแตกแนวเดียว  เมล็ด มีเนื้อหุ้ม รูปเสี้ยววงกลม  เมล็ดอ่อนมีเนื้อหุ้มสีขาว  เมล็ดแก่เนื้อหุ้มสีแดง  ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด  การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ใบ ดอก เปลือกต้น เปลือกราก กระพี้ เนื้อไม้ เมล็ด ราก น้ำมันกลั่นจากดอก พูดได้ว่าใช้ประโยชน์ทุกส่วน ซึ่งสรรพคุณของจำปาในส่วนต่างๆ  มีดังนี้
   ใบ แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก ช่วยระงับอาการไอขับเสมหะ ตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้
   ดอก แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงน้ำดี บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท กระจายโลหิต ทำให้เลือดเย็น น้ำกลั่นจากดอกแก้อาการปวดศีรษะ
   แก้โรคไต ระงับอาการเกร็ง และสามารถนำดอกมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารด้วย
   เปลือกต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยในการสมานแผล แก้ไข แก้อาการคอแห้ง บำรุงหัวใจ
   เปลือกราก ใช้เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคปวดตามข้อ
   ราก ใช้ขับโลหิตสตรี ใช้เป็นยาระบาย
   กระพี้ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง
   เนื้อไม้ ใช้บำรุงโลหิต บำรุงโลหิตระดู
   เมล็ด ช่วยแก้อาการเท้าแตก แผลที่เท้า
   น้ำมันของเมล็ด ใช้ทาหน้าท้อง ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
   น้ำมันกลั่นจากดอก ใช้ทาแก้ปวดศีรษะ แก้บวม แก้ปวดข้อ และแก้ตาบวม ยังนำมาใช้แต่งกลิ่นต่างๆ และแต่งเครื่องสำอางได้

จำปายังมีประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความหอมและความสวยงาม เป็นต้นไม้ให้ร่มเงาในสนามได้ดีมากชนิดหนึ่งด้วย (เป็นไม้โตง่าย) เนื้อไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้ละเอียดมีความเหนียว เป็นมัน เป็นลวดลายสวยงาม และทนปลวกได้ดี เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องมือ เครื่องกลึง หีบใส่ของ เครื่องแกะสลักต่างๆ รวมไปถึงของเล่นเด็ก ฯลฯ ยังมีการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้

ในแถบเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย นิยมนำเอาดอกจำปามาใช้เพื่อการบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ ผู้หญิงนิยมนำมามัดกับเส้นผมเป็นเครื่องประดับที่มีความหมายว่า “สวยและหอมอย่าธรรมชาติ”

ดอกนำมาลอยน้ำวางไว้ตามห้องต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องหอมโรยบนเตียง ให้คู่บ่าวสาวและใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย และพบว่าในหลายประเทศมีการสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปามาใช้ในการนวด ที่น่าแปลกแต่จริงในธรรมชาติ คือ พบตัวอีเห็นชนิดหนึ่ง (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paradoxurus montanus) ในประเทศศรีลังกา อีเห็นจะปล่อยไขที่มีกลิ่นเหมือนกลิ่นของดอกจำปาด้วย ใครอยากได้กลิ่นหอมจากดอกจำปาใช้วิธีปลูก ง่ายกว่าเลี้ยงตัวอีเห็นแน่

แต่ทุกวันนี้จำนวนต้นจำปาลดลงอย่างมาก ในบางจังหวัดของประเทศอินเดียทำการรณรงค์แข็งขัน จึงเกิดการอนุรักษ์โดยเชื่อมโยงมิติทางพุทธศาสนาและทางฮินดูด้วย 

ในต่างประเทศให้ความหมายของคำว่า จำปา คือเรื่องดี ถือเป็นไม้ที่ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ น่าเสียดายที่เมืองไทยกังวลเรื่องชื่อที่ฟังแล้วไม่ค่อยเป็นมงคลนาม คล้าย “ปา” สิ่งดีออกไป ประกอบกับมีการนำเอาเนื้อไม้มาทำโลงศพ แต่หากพินิจด้วยปัญญา ภูมิปัญญาของจำปามีมากมายที่เราควรนำมาส่งเสริมปลูกใช้กันให้กว้างขวาง



ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 พฤษภาคม 2559 15:48:30 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2559 16:20:39 »

.


น้ำฝางเสน
แก้โรคฮีตสโตรก

ยามนี้ อากาศของเมืองไทยบางวันความร้อนพุ่งสูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส จนติดอันดับเมืองร้อนระดับโลก

ชื่อโรคฝรั่งแปลกๆ ที่คนไทยไม่เคยได้ยิน อย่าง “ฮีตสโตรก” (Heat Stroke) ก็เริ่มได้ยินกันจนชินหู

ทั้งที่ความจริงก็คือ “โรคลมแดด” ที่คนไทยเคยรู้จักกันดี เพียงแต่มักไม่รุนแรงถึงตายดังที่เป็นข่าวให้หวาดวิตกกันอยู่ในเวลานี้ จนคนไทยกลายเป็นโรคกลัวแดดไปแล้ว นับวันปัญหาโลกร้อนยิ่งทำให้โรคร้อนรุนแรงเป็นฮีตสโตรกถึงขั้นเสียชีวิตกันมากยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย มีธาตุไฟตัวหนึ่ง ชื่อ สันตัปปัคคี ทำหน้าที่ควบคุมความร้อนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติประมาณ ๓๖.๕-๓๗ องศาเซลเซียส  แต่เมื่อภายในร่างกายมีความร้อนสูงขึ้นผิดปกติไม่ว่าจะเกิดจากไข้หรือจากความร้อนของภูมิอากาศภายนอก ร่างกายจะมีธาตุไฟอีกตัวหนึ่งชื่อ ปริทัยหัคคี ที่คอยเตือนภัยเหมือนเข็มบอกความร้อนในรถยนต์  ซึ่งถ้าไม่รีบบรรเทาความร้อนให้ทันท่วงทีก็จะเกิดอาการโรคลมแดดหรือฮีตสโตรกนั่นเอง

ตามปกติเมื่อร่างกายได้รับความร้อนจากแดด ก็จะขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ซึ่งเราอาจจะรู้สึกอ่อนเพลียหรือหน้ามืดวิงเวียนบ้าง เรียกว่าอาการเพลียแดด แต่ก็ไม่อันตรายเท่ากับที่รู้สึกร้อนจัดภายในร่างกาย แต่ผิวแห้งผากไม่มีเหงื่อออกเลยสักหยด

ซึ่งภาษาแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า ภาวะเหงื่อไม่ออก (anhydrosis) ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบไหลเวียนโลหิตไม่สามารถระบายความร้อนออกทางเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังได้ เพราะนำเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตับ เป็นต้น   ถ้าขจัดความร้อนออกไปไม่ทันจนอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นทะลุ ๔๐ องศา กลายเป็นโรคฮีตสโตรก ก็จะทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ เกิดอาการปวดหัว มึนงง หายใจถี่ คลื่นไส้ อาเจียน และหนักขึ้นถึงขั้นเกร็ง ชัก หมดสติ จนอาจเกิดภาวะสมองขาดเลือด หัวใจวาย ตับวาย หรือไตวายถึงขั้นเสียชีวิต

ดังนั้น ในหน้าร้อนเช่นนี้ จึงควรป้องกันไว้ดีกว่า จึงขอแนะนำให้ดื่มน้ำต้มแก่นฝางเสนเพื่อป้องกันโรคลมแดดและฮีตสโตรกในช่วงนี้

รัฐไทยรู้จักฝางเสนมาแต่ครั้งโบราณ เพราะเป็นไม้ส่งออกมีค่าสูงและใช้เป็นเครื่องบรรณาการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นอกจากใช้ทำเครื่องเรือนสวยงามแล้ว คุณค่าของฝางเสนยังอยู่ที่สารสีแดง ที่หลายชนชาติโดยเฉพาะชาวอินเดียนำผงสีแดงของแก่นฝางไปใช้ในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธ์

สีแดงของแก่นฝางมาจากสาร “แซพปานิน” (sappanin) ซึ่งเรียกว่าสีแดงแซพปาน (sappan red) อันเป็นที่มาของชื่อสามัญว่าต้นแซพปาน (Sappan Tree) และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia sappan L.

นอกจากสารแซพปานินซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รักษาอาการอักเสบและแก้ท้องร่วงแล้ว ฝางยังมีสารสีชมพูอมส้มถึงแดงอีกชนิดหนึ่งชื่อสาร “บราซิลิน” ซึ่งมีสรรพคุณโบราณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเย็น กระจายโลหิต ขับระดู แก้เลือดกำเดา แก้ไข้ แก้ร้อนใน ระงับอาการหอบหืด

ซึ่งตรงกับผลวิจัยทางเภสัชวิทยาที่พบว่า สารสำคัญชนิดนี้เป็นสารต้านฮีสตามีน (antihistamin) ช่วยแก้ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ และแก้อาการหัวใจขาดเลือด

ในสมัยโบราณจะให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่มน้ำฝางเพื่อขับน้ำคาวปลาและบำรุงโลหิตไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังมีกรรมวิธีผสมน้ำฝางกับปูนขาวทาหน้าผากสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยให้ศีรษะเย็น รู้สึกผ่อนคลาย ระงับความเจ็บปวดหลังคลอดได้

แต่เนื่องจากน้ำฝางมีฤทธิ์ขับระดูอย่างแรง จึงมีข้อห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ ด้วยฤทธิ์เย็นและกระจายโลหิตของแก่นฝางเสนนี้เอง จึงเหมาะสำหรับนำมาต้มดื่มพิชิตโรคร้อนในยามโลกร้อนนี้

วิธีต้มง่ายๆ คือ นำแก่นฝางเสนมาล้างน้ำ ตอกเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ครั้งละ ๑๐๐ กรัมก็พอต่อน้ำ ๑ ลิตรครึ่ง  จะดื่มอุ่นหรือเย็นก็ได้ ควรดื่มสลับกับน้ำเปล่า เพราะยามร้อนนี้ต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๒ ลิตร ในปริมาณนี้ ควรดื่มน้ำฝางวันละ ๕๐๐ ซีซี แบ่งดื่ม ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ แก้ว เช้า-บ่าย จึงจะสามารถควบคุมความร้อนในร่างกายให้พ้นภัยแดดได้

ข้อดีของฝางคือช่วยแก้และป้องกันโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสียในหน้าร้อนได้ ฝางเป็นยาดีที่ใช้กันมาในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ใช้คู่กับเปลือกต้นมะขามป้อมอย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำ ๔ เอา ๑ ท่านว่า “กินแก้ตกมูกตกหนัก หยุดเป็นอันเที่ยงแท้ ได้รอดจากความตายเป็นหลายคนมาแล้ว” แต่ถ้าหาเปลือกต้นมะขามป้อมไม่ได้ จะใช้แก่นฝางอย่างเดียวก็เอาอยู่  

ลองไปหาซื้อแก่นฝางเสนจากร้านขายยาไทยหรือร้านยาจีนมาต้มดื่มเอง แทนการซื้อเครื่องดื่มดับกระหายสำเร็จรูป แล้วจะรู้ว่าเย็นกว่ากันเยอะเลย.



 
มณฑา
ดอกม้หอมแห่งสรวงสวรรค์

มณฑา มีความหมายว่าเป็นดอกไม้จากสรวงสวรรค์

ดอก “มณฑา” หรือ “มณฑารพ” ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติหลายตอน เช่น ดอกมณฑาจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจารุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น

มณฑามีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Egg Magnolia ดอกมีรูปร่างเหมือนไข่ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆในประเทศไทยว่า จอมปูน จำปูนช้าง (สุราษฎร์ธานี) มณฑา (สตูล) ยี่หุบ (ภาคกลาง ภาคเหนือ) ชื่อบาลีเรียกว่า มณฺฑารวะ (มัน-ทา-ระ-วะ) หรือมนฺทารโว (มัน-ทา-ระ-โว) ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia liliifera (L.) Baill. อยู่ในวงศ์เดียวกับจำปีและจำปา

มณฑาเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านไม่มาก ต้นสูง ๔-๑๐ เมตร ทรงพุ่มกว้าง ๒-๓ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับรอบกิ่ง รูปหอก โคนดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง รูปร่างป้อม ปลายดอกห้อยลง มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ หนาแข็ง สีเขียวอมเหลือง กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบสีเหลืองรูปไข่กลับ

ดอกมณฑามีกลิ่นหอม จะหอมแรงช่วงเช้าตรู่ ออกดอกได้ตลอดปี ดอกบานในตอนเช้า แต่บานอยู่แค่วันเดียวดอกก็จะร่วงโรย มีความเชื่อกันอีกว่าบ้านไหนปลูกต้นมณฑาทิพย์แล้วบ้านนั้นหลังนั้นก็จะเป็นที่ชื่นชอบชื่นชมของคนทั่วไป ที่เราควรรู้คือมณฑาพืชพื้นบ้านดั้งเดิมมีถิ่นกำเนิดในป่าของไทยนี่เอง พบมากในป่าทางภาคใต้  เพราะธรรมชาติของมณฑาชอบที่ร่มรำไรและความชื้นสูง

มีดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายดอกมณฑา นั่นคือ “ดอกยี่หุบ” Magnolia coco (Lour.) DC. ฝรั่งรู้จักในชื่อ Dwarf Magnolia หรือ Coconut Magnolia ยี่หุบนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมณฑลยูนนานของจีน ชาวตะวันตกที่บันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของยี่หุบเป็นคนแรกคือ Juan de Loureiro มิชชันนารีชาวโปรตุเกสและนักพฤกษศาสตร์ที่เข้ามาในเวียดนามในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘ ยี่หุบเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว ๒-๔ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปหอก หน้าใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวอ่อน ดอกขนาดย่อมสีขาวนวล กาบหุ้มดอกสีเขียว เมื่อยังตูมมีรูปทรงกลมรีน่ารัก คล้ายลูกมะพร้าวอ่อน จึงได้ชื่อว่า Coconut Magnolia มีกลิ่นหอมฉุนแรงคล้ายกลิ่นกล้วยหอมปนกลิ่นระกำ

มักแย้มกลีบและส่งกลิ่นฟุ้งขจรในยามค่ำ จากนั้นจะโรยไปในเช้าวันต่อมา  

ยี่หุบนิยมปลูกเป็นไม้ประดับบ้านเช่นกัน เพราะมีขนาดเล็กสามารถเลี้ยงในกระถางได้ ทั้งยังไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงปลูกในที่ร่มรำไรได้ ถือเป็นไม้ที่ไม่หวงดอก เพราะระยะเวลาออกดอกนานถึง ๙ เดือน มีความพิเศษตรงที่มีของเหลวเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานอยู่ข้างในดอก เป็นลักษณะที่ไม่พบในแม็กโนเลียชนิดอื่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าก้านยี่หุบนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant อีกด้วย

ยี่หุบเป็นพรรณไม้ที่มีมากในประเทศอินเดีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน บ้างว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย และในหมู่เกาะสุมาตรา

มีรายงานว่าพืชชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า “ยี่หุบหนู” หรือ “ยี่หุบน้อย”

ทั้งมณฑาและยี่หุบ สามารถนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเข้มข้น ปัจจุบันในบ้านเราก็มีผู้ริเริ่มทำน้ำหอมกลิ่นมณฑา ยี่หุบ ออกขายแล้วด้วย  มักเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยหรือสปาต่างๆ ที่หันมาใช้กลิ่นหอมจากดอกไม้ ‘ไทย’ ในการบำบัดมากขึ้น แต่ก็มีข้อมูลผู้ใช้ที่บอกว่าดอกไม้ไทยมีกลิ่นฉุนแรงเกินไปไม่สามารถทนกลิ่นของดอกไม้ ๒ ชนิดนี้ได้ แต่ยี่หุบเป็นไม้ที่รู้จักแพร่หลายในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากกว่ามณฑา นิยมปลูกในรัฐฟลอริด้าของอเมริกาซึ่งมีภูมิอากาศใกล้เคียงกับบ้านเราด้วย ส่วนในประเทศจีนนั้นมีการใช้ทั้งยี่หุบและมณฑาในการผลิตน้ำหอมเช่นเดียวกัน

ในต่างประเทศมีรายงานว่ามีการใช้เปลือกและตาดอกของพืชในกลุ่มนี้เป็นยาสมุนไพรเพื่อช่วยการลดน้ำหนัก แก้ปัญหาในระบบย่อยอาหาร แก้อาการท้องผูก รักษาอาการอักเสบ ลดความเครียด แก้ไข้ แก้ปวดหัว และแก้อาการหอบหืด โดยเฉพาะส่วนของตาดอกใช้ลดน้ำมูก แก้ไข้หวัดธรรมดา ลดความเจ็บปวดจากไซนัส ลดอาการปวดหัวและลดจุดดำบนใบหน้า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้ตาดอกเป็นส่วนผสมในยาสีฟัน และสกัดนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำให้ผิวขาวขึ้นและลดอาการคันเนื่องมาจากการแพ้

ในตำราพื้นบ้านจีนและญี่ปุ่น ใช้สารสกัดจากเปลือกยี่หุบเป็นส่วนผสมในการรักษาอาการนอนไม่หลับและทำให้ระบบประสาททำงานได้ดี สำหรับในประเทศพบว่ามีการใช้มณฑาและยี่หุบเป็นสมุนไพรน้อยมาก มณฑาและยี่หุบจึงเป็นไม้ประดับไม้ให้กลิ่นหอม ต้องมาช่วยกันส่งเสริมให้มีการปลูกเพราะในปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก

ในขณะที่เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสปา และใช้ประโยชน์ทางยาอื่นๆ มากมาย




นูดพระ
Flemingia stobilifera (L.) W.T.Aiton var.stobilifera
FABACEAE


ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง ๑.๕-๓ เมตร ลำต้นรูปทรงกระบอก ลำต้นและกิ่งก้านมีขน

ใบประกอบมีหนึ่งใบ เรียงสลับ รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งหนาม ขอบใบเรียบมีขนละเอียดหนาแน่น เส้นแขนงใบ ๑๐ คู่ หูใบรูปใบหอก เรียวแหลม มีริ้ว ยาว ๑๓ มิลลิเมตร

ดอกช่อแบบกระจุกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมาก
ใบประดับยาวได้ถึง ๒ เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวลแกมเหลืองอ่อน รูปไข่กลับ มีลายเส้นมาก มีติ่งใบ
ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน มีสองเมล็ด
ใบ ตำพอกแก้ฝีหนอง ใช้ร่วมกับปูนแดง

ยาพื้นบ้านล้านนาใช้ ราก ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้ปวดเมื่อย




ผีเสื้อนวล
Gagnepainia thoreliana (Baill.) K.Schum.
ZINGIBERACEAE


ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นเทียมสูง ๑๐-๑๕ เซนติเมตร เหง้ารูปทรงกระบอก รากสะสมอาหาร อวบน้ำ ขณะออกดอกไม่พบลำต้นเทียมและแผ่นใบ แตกใบในฤดูฝน ลำต้นเทียมสูง ๓๐ เซนติเมตร

ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน
ดอก ช่อเชิงลด ออกจากเหง้าใต้ดิน ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนสั้นนุ่มปกคลุม

หลอดกลีบโผล่พ้นกลีบเลี้ยง สีขาวอมเหลือง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปแถบหรือรูปขอบขนาน มักม้วนเป็นวงกลีบข้างขนาดใหญ่ รูปไข่กลับแผ่กางออกเป็นปีก สีขาวอมเหลือง กลีบปากรูปไข่กว้างมีปลายเว้ากว้างแยกเป็น ๒ แฉก ก้านชูเกสรเพศผู้ เรียวยาว ปลายโค้งลง มีขนขึ้น อันเรณูรูปรี ตรงปลายมีรยางค์สั้น เกสรเพศเมียรูปกรวยแคบ สีขาวหรือใส ปลายมีขนครุย รังไข่กลม สีเขียวอ่อน มีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น

ผล แห้งแตก รูปกระสวย อวบน้ำ เมล็ดเล็ก มีริ้วสีขาวนวล

เหง้า ทั้งต้นสด ทุบให้ละเอียด ทารักษาแผลสด ห้ามเลือดสำหรับแผลสด


ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์



ยาจันทน์ลีลา
แก้ไข้เปลี่ยนฤดู

ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีตำรับยาอยู่ตำรับหนึ่งเป็นมรดกสืบทอดมา ให้นำมาใช้เกี่ยวกับอาการไข้เปลี่ยนฤดู คือ ยาจันทน์ลีลา

ยาตำรับนี้ ตั้งชื่อโดยยกย่องพืชสมุนไพรจันทน์ขาวและจันทน์แดงเป็นฮีโร่ เพื่อใช้ลดไข้

แต่ในความเป็นจริง ตำรับยามีพลพรรคช่วยกันแก้ไข้ชนิดต่างๆ ทั้งหมด ๙ ชนิด

ตัวยาทั้ง ๙ ชนิด ประกอบด้วย
๑.แก่นจันทน์ขาว รสขมหวานเล็กน้อย   สรรพคุณ แก้ไขกำเดา แก้เหงื่อตก บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ
๒.แก่นจันทน์แดง รสขมเย็น ฝาดเล็กน้อย   สรรพคุณ แก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทุกชนิด แก้ไอ แก้ซาง แก้เลือดออกตามไรฟัน บำรุงหัวใจ
๓.โกฐสอ หรือโกฐจีน  เป็นรากสมุนไพรจำพวกโสม มีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด ผิวสีน้ำตาล เนื้อสีขาว จึงชื่อว่าโกฐสอ มีรสขมมัน กลิ่นหอม   สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ช่วยให้หัวใจชุ่มชื่น
๔.โกฐเขมา เป็นเหง้าแห้ง เนื้อมีสีน้ำตาลแกมดำ จึงได้ชื่อว่าโกฐเขมา มีรสร้อน กลิ่นหอม จึงมีอีกชื่อว่าโกฐหอม   สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก แก้เหงื่อออกมาก ระงับอาการหอบ แก้ไขรากสาดเรื้อรัง เป็นยาขับปัสสาวะ
๕.โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรชนิดนี้กำลังได้รับความสนใจ เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ชาวจีนเรียกว่า “ชิงฮาว” มีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้มาลาเรีย โกฐชนิดนี้หมอไทยใช้ทั้งต้น มีรสขม กลิ่นหอม   สรรพคุณ แก้ไข้เจลียง ซึ่งมีอาการไข้จับวันเว้นวันอาการอย่างเดียวกับไข้มาลาเรีย และยังแก้ไข้กาฬ จำพวก หัด อีสุกอีใส อีดำอีแดง ฝีดาษ นอกจากนี้ยังแก้อาการ หืด ไอ ลดเสมหะ
๖.ลูกกระดอม เป็นผลของไม้เถา รสขม   สรรพคุณ ลดไข้ ทำให้โลหิตเย็น บำรุงน้ำดี แก้อาการคลั่งเพ้อ โบราณใช้เมล็ดต้มน้ำดื่ม ถอนพิษเบื่อเมา ลดไข้ รากแห้งบดแช่น้ำร้อน ใช้ทาถูนวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย อ่อนเปลี้ย
๗.บอระเพ็ด รู้จักกันดีว่า มีรสขมจัด   สรรพคุณ แก้ไข้ทุกชนิด แก้โลหิตเป็นพิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ที่สำคัญช่วยบำรุงกำลัง
๘.รากปลาไหลเผือก มีรสขมจัด   สรรพคุณ ตัดไข้ได้ทุกชนิด ช่วยถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ โบราณใช้เป็นยารักษาวัณโรค
๙.เกล็ดพิมเสน รสหอมเย็น   สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ ช่วยระงับความกระวนกระวาย

ในการปรุงยา ตัวยาสมุนไพร ๑-๘ หนักสิ่งละ ๔ ส่วน แทรกพิมเสน (ยาลำดับที่ ๙) อีก ๑ ส่วน ถ้าว่าตามสูตรตำรับที่ทางการประกาศใช้ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุว่า ในผงยา ๙๙ กรัม ประกอบด้วยโกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนังสิ่งละ ๑๒ กรัม พิมเสน หนัก ๓ กรัม นั่นเอง

ขนาดการนำมาใช้ ปัจจุบัน มีการบรรจุในแคปซูล ถ้าเป็นผู้ใหญ่ กินแคปซูลขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒-๔ แคปซูล (จะได้ตัวยา ๑-๒ กรัม) ทุก ๓-๔ ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นเด็ก อายุ ๖-๑๒ ปี ให้กินปริมาณลดลงครึ่งหนึ่ง คือกินครั้งละ ๑-๒ แคปซูล ทุก ๓-๔ ชั่วโมงเช่นกัน

ตำรับยาจันทน์ลีลามีการศึกษาวิจัยโดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาที่มีมาแต่เดิม คือ มีฤทธิ์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง

ที่น่าสนใจที่สุดคือการค้นพบสรรพคุณตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่ช่วยลดความร้อนจากไข้ได้อย่างดี

ดังนั้น ไข้เปลี่ยนฤดูในช่วงนี้จึงควรหายาจันทน์ลีลามาเก็บไว้ในตู้ยาประจำบ้านกันทุกครัวเรือน



ชะงดเขา
Aglaonema nitidum (Jack) kunth
LAMIACEAE


ไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๒๕-๒๗ เซนติเมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลม ก้านใบยาวหุ้มที่ใกล้ปลายยอด กาบรูปขอบขนานเป็นติ่งแหลมคล้ายกระดาษ สีเขียวเข้ม หุ้ม

ดอกช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ซอกใบ หาบหุ้มช่อดอกสีเขียว ก้านช่อดอก กาบสีเขียว ขอบสีขาวช่อเชิงลดมีกาบอ้วนสั้น ขนาดเกือบเท่ากับกาบ
ดอกเพศผู้เกือบแหลม รังไข่มีช่องเดียว ยอดเกสรเพศเมียแบน มักกว้างกว่ารังไข่
ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปกระจุก มี ๑ เมล็ด ทรงรี

ทั้งต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงกำลัง ผลสุกเป็นยาอายุวัฒนะ


ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 มิถุนายน 2559 10:14:16 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 01 มิถุนายน 2559 15:57:20 »

.

มะก่องข้าว กับสูตรแก้ปวดกระดูก
วิธีดังกล่าว ให้เอา “มะก่องข้าว” ทั้งต้นรวมรากแบบแห้ง ๑ กำมือต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดแล้วเอาเนื้อห่อผ้าขาวบางประคบจุดที่ปวดกระดูกและดื่มน้ำที่ต้มครั้งละครึ่งแก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือ จะเอาทั้งต้นแบบแห้งต้มน้ำอาบ จะช่วยให้อาการปวดกระดูกและอาการไข้ที่เกิดจากการปวดกระดูกที่อักเสบให้หายได้

มะก่องข้าว หรือ CHINESE BELL FLOWER, COUNTRY MALLOW ABUTILON INDICUM SWEET. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีขึ้นเองตามที่รกร้างทั่วไป และมีชื่อเรียกอีกเยอะ ทั้งต้น เป็นยาบำรุงโลหิตขับลมช่วยให้เจริญอาหาร รากบำรุงธาตุแก้มุตกิด (อาการปัสสาวะขุ่น เสียวมดลูก ตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปวดชายกระเบนเหน็บในสตรี) แก้ไอบำรุงกำลัง ใบหรือทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวานดีมาก ใบตำพอกบ่มหนองให้สุกและแตกเร็ว ขยี้อุดฟันแก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ
  นสพ.ไทยรัฐ



โคกกระออม ยาดีข้างถนน
ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นรวมราก ของ “โคกกระออม” จำนวนพอประมาณตัดเป็นท่อนเล็กๆต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นยา แก้ไขข้ออักเสบได้ดีระดับหนึ่ง สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งต้นยังนำ ไปผสมตัวยาอื่น เป็นยาแก้หอบหืดได้อีกด้วย ปัจจุบันยังนิยมใช้กันอยู่

ใบสด กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มแก้ไอ ตำพอกฝีให้แตกเร็วและหายได้ ต้นหรือเถาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ดอก ขับโลหิต ผลตำ พอกดับพิษไฟลวกไม่ให้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ด สด กินแก้ไอ ขับเหงื่อ รากตำ คั้นเอาเฉพาะน้ำหยอดตาแก้ตาต้อ รากตำ เอากากพอกแก้พิษ แมลงพิษต่อยหรือถูกงูพิษกัดก่อนพาส่งโรงพยาบาลให้แพทย์รักษา ยอดอ่อน สดกินขับปัสสาวะ กินเป็นผักสดได้ แต่รสชาติจะขมมาก แพทย์จีน ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขับน้ำนมทำให้เกิดน้ำนมในสตรี ท้องระบายเป็นยาแก้ไข้ น้ำคั้นจากใบสดหยอดตาแก้ตาเจ็บได้

โคกกระออม BALLOON-VINE, HEARTPEA หรือ CARDIOS PERMUM HALICACABUM LINN. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ขึ้นตามที่รกร้างข้างถนนทั่วไป ต้นเป็นเหลี่ยมสีเขียว มีมือเกาะคล้ายตำลึง ใบประกอบมีใบย่อย ๓ ใบ ขอบใบหยักลึก ๓ แฉก ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกขนาดเล็กคล้ายดอกมะระ ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกย่อย ๘-๑๐ ดอก มีกลีบดอก ๔ กลีบ มีเกสรเป็นกระจุก “ผล” ทรงกลม โตประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ พองลมเป็นสามเหลี่ยมสีเขียวอ่อนใส ห้อยลงคล้ายโคมไฟสวยงามมาก หากเอาผลบีบให้แตกจะมีเสียงดัง ภายในมีเมล็ดสีดำ ดอกออกช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงปลายฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือต้นต้อก, ลุมลับเครือ, เครือผักไล่น้ำ, โพออม, ติ๊นไข่และไหน มีปลูกเฉพาะตามสวนยาเท่านั้น หากต้องการต้นจะต้องเสาะหากันเองไม่มีวางขายครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



ระย่อม ยาดีพื้นบ้าน
ระย่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า RAUVOLFIA SERPENTINA (L.) BENTH. EX KURZ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดลงรากใต้ดิน รากขนาดใหญ่และยาวมาก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๓-๕ เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวเปลือกต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกหรือรูปรี ปลายและโคนใบแหลม ใบดกและหนาแน่นในช่วงปลายยอด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกคล้ายดอกเข็มแดง ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีแดงอมม่วง ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีขาว ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักคู่ แบนและยาว มีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นอยู่ตามริมห้วยริมลำธารทั่วไป พบมากที่สุดทางภาคเหนือ รากจะมีขนาดใหญ่และยาวตามที่กล่าวข้างต้น มีชื่อเรียกอีกคือ กะย่อม, ย่อม, ย่อมตีนหมา, เข็ม และตูมคลาน

รากรสขม รากสดต้มน้ำดื่มแก้โรคเลือด แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร แต่รับประทานมากจะทำให้เมาได้ รากสดต้มน้ำดื่มช่วยย่อยอาหารและจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยหรือกินจุ อาจทำให้เกียจคร้านคล้ายกับคนสูบกัญชา แต่ไม่ใช่ยาเสพติด หากกินแบบพอดีจะมีประโยชน์มาก ในอดีตทหารญี่ปุ่นเอารากของ “ระย่อม” สดตำละเอียดกรอกปากม้ากินเพื่อถ่ายพยาธิด้วย เด็กที่มีพยาธิในตัวใช้รากดังกล่าวกินขับออกจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งในรากของ “ระย่อม” มีสาร “อัลคาลอยด์” ชนิดหนึ่งสามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้

สมัยก่อน นิยมปลูกตามหมู่บ้านอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นยากลางบ้านหรือยาพื้นบ้านตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันบางพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ครับ
  นสพ.ไทยรัฐ



สาบแร้งสาบกา ยาดีข้างทาง
ไม้ต้นนี้ พบมีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างข้างทางทั่วไป มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยคือ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่) ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียนแม่ฮาง (เลย) และ หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี) ซึ่งต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า AGERATUM CONY-ZOIDES LINN. อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มักงอกรากที่โคนต้น ต้นสูง ๑๕-๑๐๐ ซม. กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะมีขนปกคลุม ต้นและใบสดเด็ดขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาบแร้งสาบกา” ใบเดี่ยว ออกสลับหรือตรงกันข้าม รูปไข่ ขอบใบหยัก โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ทั้ง ๒ ด้านมีขนละเอียด ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก ๓-๕ ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงอ่อน “ผล” รูปทรงกลม เมื่อแก่ไม่แตก ภายในมีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณทางยา ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ ใช้รากและใบสดเคี้ยวกินหรือต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ รากและใบสดตำพอกหรือคั้นน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษแมลงกัดต่อย เช่น พิษตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

ยาพื้นบ้าน ใช้ทั้งต้นรวมรากต้มน้ำดื่มแก้ไข้ทับระดู ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด ใบสดตำคั้นน้ำดื่มช่วยให้อาเจียนและตำพอกแก้คันตามผิวหนังร่างกาย การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นรวมราก หรือเฉพาะรากเพียงอย่างเดียวมีฤทธิ์ระงับความปวดมีความแรงเท่ากับ “มอร์ฟีน”

ต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นยาดีข้างทางที่พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่มีต้นวางขายที่ไหน ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะตามสวนยาสมุนไพรไทยและสวนยาจีนเท่านั้น จึงแนะนำเพื่อเป็นความรู้ครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



มะพลับไทย แก้กามตายด้าน

สถิติ ผู้ชายเป็นโรคกามตายด้าน หรือ “ลึงค์ตาย” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหนุ่มและแก่ ซึ่งทางสมุนไพร ให้เอา เปลือกต้น “มะพลับไทย” แห้งหรือสดจำนวนตามต้องการ ปิ้งไฟให้กรอบหัก ห่อผ้าขาวบางต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ สามารถแก้กามตายด้านหรือ “ลึงค์ตาย” ได้ และช่วยบำรุงให้เกิดกำหนัดดีมาก น้ำต้มดังกล่าวยังอมกลั้วในปาก ๕ นาทีหลังอาหาร ๓ เวลาบ้วนทิ้ง รักษาแผลในช่องปาก ทำให้เหงือกและฟันทนแข็งแรง เปลือกต้นและเนื้อไม้ของ “มะพลับไทย” แห้งหรือสดยังต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหารแก้ท้องร่วงด้วย

มะพลับไทย หรือ มะพลับป่า DIDSPYROS EMBRYOPTERIS SIAMENSIS อยู่ในวงศ์ EBENACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ดอกสีขาว “ผล” กลม เมื่อสุกเป็นสีแดง เนื้อรสหวานกินได้ ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๑  ราคาสอบถามกันเอง
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



เกสรบัวหลวง แก้ขี้หลังขี้ลืม

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรเป็นทางเลือกที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และ “เกสรบัวหลวง” เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยแก้อาการขี้หลงขี้ลืม แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นอัลไซเมอร์ได้ คือให้เอา “เกสรบัวหลวง” แห้ง ๑ หยิบมือ กับ มะตูม แห้ง ๓ แว่น และ ตะไคร้แกง สด ๓ ต้นไม่เอาใบ ต้มกับน้ำ ๑ ลิตร ดื่มวันละ ๑ แก้ว ก่อนอาหารเช้า ประมาณ ๑ อาทิตย์จะดีขึ้นและเห็นผลอย่างชัดเจน สามารถต้มดื่มเรื่อยๆ ได้ ไม่อันตรายอะไร คนอายุ ๗๐ ปี ต้มดื่มได้

บัวหลวง หรือ NELUMBO NUCIFERA GAERTN. อยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เหง้าเป็นยาเย็น “ดีบัว” หรือต้นอ่อนในเมล็ดสีเขียวออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ เกสรเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในเกสรทั้ง ๕ ทั้ง ๗ และทั้ง ๙
 
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



งิ้ว เกสรอร่อย สรรพคุณดี

งิ้ว พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไปในประเทศไทย พบมากที่สุดทางภาคเหนือ ชาวเหนือรู้จัก “งิ้ว” เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีขึ้นเองตามป่าธรรมชาติแล้วยังนิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านกันอย่างแพร่หลายมาแต่โบราณเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหาร คือ เกสรตัวผู้จากดอกของ “งิ้ว” นำไปตากแห้งโรยในขนมจีนนํ้าเงี้ยวหรือปรุงเป็นแกงแครับประทานอร่อยมาก ซึ่งอาหารทั้ง ๒ อย่างจะขาดเกสรของดอก “งิ้ว” ไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ในทางสมุนไพรและการใช้ประโยชน์อื่นๆ ราก นำไปต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนเพื่อขับและถอนพิษต่างๆออกจากร่างกาย เปลือกต้นใช้ทำเชือก ยาง จากต้นแก้ท้องร่วงได้ เนื้อไม้ทำฟืน ทำฝาบ้าน หีบใส่ของ ผลิตเป็นของเล่นเด็กๆ แบบยุคโบราณหลายอย่าง ซึ่งในยุคปัจจุบันไม่พบเห็นอีกแล้ว ทำก้านไม้ขีด กล่องไม้ขีด ไม้จิ้มฟัน ทำไม้อัด เยื่อกระดาษใบแห้งหรือสด ตำทาแก้บวมชํ้าดีมาก ดอกแห้ง ปรุงเป็นยาทาระงับปวดและแก้พิษได้

งิ้ว หรือ BOMBAX CEIBA LINN อยู่ในวงศ์ BOMBACA CEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม กิ่งแขนงแผ่กางออกเกือบตั้งฉากกับลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรี ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๓-๕ ดอกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ๓-๔ แฉกไม่เท่ากัน กลีบดอก ๕ กลีบเป็นสีแดง ปลายกลีบม้วนออก ซึ่งอีกชนิดดอกเป็นสีเหลือง แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกติดกันเป็นกลุ่ม และเกสรดังกล่าวนำไปตากแห้งเป็นอาหารตามที่กล่าวข้างต้น “ผล” รูปรี หรือรูปขอบขนานคล้ายผลนุ่น มีเมล็ดสีดำจำนวนมากหุ้มด้วยปุยนุ่นสีขาว ดอกออกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทุกปี และจะทิ้งใบก่อนจะมีดอกทุกครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือ นุ่นนาง งิ้วแดง ปักมี้ (จีน) งิ้วป่า งิ้วปงแดง และ งิ้วบ้าน มีดอกแห้งขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ชุมแสง ความเชื่อดีมีสรรพคุณ

สมัยก่อน ตามชนบทนิยมปลูกต้น “ชุมแสง” อย่างแพร่หลาย เนื่องจาก ในยุคนั้นเวลาจะสร้างหลังคาโบสถ์ของวัด คาน ขื่อ และ แป จะต้องใช้เนื้อไม้จากต้น “ชุมแสง” เท่านั้น จึงจะเป็นมงคล และนอกจากจะมีความเชื่อดีๆ ตามที่กล่าวแล้ว ต้น “ชุมแสง” ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย คือ ราก เปลือกต้น และใบ เอาไปผสมกับเนื้อไม้ต้นสะแกแสง เนื้อไม้ต้นสะแบงและเนื้อไม้ต้นสังวาลย์–พระอินทร์จำนวนพอประมาณ หรือใกล้เคียงกัน นำทั้งหมดไปแช่ในน้ำต้มจนเนื้อยาออก แล้วตักอาบ เช้าเย็นแก้โรคผิวหนังผื่นคันพุพองได้ดีมาก

ชุมแสง หรือ XANTHO PHYLLUM LAN CEATUM (MIQ) อยู่ในวงศ์ XANTHOPHYLLACEAE เป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ เมตร ใบเดี่ยวออกสลับรูปขอบขนาน ดอกออกตามซอกใบสีม่วงอ่อนแกมสีเหลืองอมน้ำตาล “ผล” กลม มีเมล็ด พบขึ้นทุกภาคของประเทศไทย มีชื่ออีกคือ กันแสง ไม้แสง และประดงทอง
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



สาบแร้งสาบกา ยาดีข้างทาง

ไม้ต้นนี้พบมีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างข้างทางทั่วไป มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยคือ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่) ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียนแม่ฮาง (เลย) และ หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี) ซึ่งต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า AGERATUM CONY-ZOIDES LINN. อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มักงอกรากที่โคนต้น ต้นสูง ๑๕-๑๐๐ ซม. กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะมีขนปกคลุม ต้นและใบสดเด็ดขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาบแร้งสาบกา” ใบเดี่ยว ออกสลับหรือตรงกันข้าม รูปไข่ ขอบใบหยัก โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ทั้ง ๒ ด้านมีขนละเอียด ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก ๓-๕ ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงอ่อน “ผล” รูปทรงกลม เมื่อแก่ไม่แตก ภายในมีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณทางยา ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ ใช้รากและใบสดเคี้ยวกินหรือต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ รากและใบสดตำพอกหรือคั้นน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษแมลงกัดต่อย เช่น พิษตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

ยาพื้นบ้าน ใช้ทั้งต้นรวมรากต้มน้ำดื่มแก้ไข้ทับระดู ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด ใบสดตำคั้นน้ำดื่มช่วยให้อาเจียนและตำพอกแก้คันตามผิวหนังร่างกาย การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นรวมราก หรือเฉพาะรากเพียงอย่างเดียวมีฤทธิ์ระงับความปวดมีความแรงเท่ากับ “มอร์ฟีน”

ต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นยาดีข้างทางที่พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่มีต้นวางขายที่ไหน ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะตามสวนยาสมุนไพรไทยและสวนยาจีนเท่านั้น จึงแนะนำเพื่อเป็นความรู้ครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ก้ามปูหลุด แก้ข้อบวมปวด

ตำรายาจีน ระบุว่า ใบสด ของต้น “ก้ามปูหลุด” จำนวนตามต้องการใช้แต่ละครั้งตำพอละเอียด เอาเนื้อพอกจุดที่ข้อบวมและปวดวันละครั้งตอนไหนก็ได้ ตำพอกทุกวัน ๑-๒ อาทิตย์จะดีขึ้นและหายได้ ยาแผนไทย เอาทั้งต้นรวมรากแบบสดจำนวนพอประมาณ ตำละเอียดผสมเหล้าขาว ๒๘ หรือ ๔๐ ดีกรีเล็กน้อย แล้วเอาทั้งน้ำและเนื้อพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น จะช่วยให้ไม่ปวดแสบปวดร้อนและแผลค่อยๆ ดีขึ้น ทั้ง ๒ วิธีทดลองดูไม่มีอันตรายอะไร

ก้ามปูหลุด หรือ TRADESCANTIA ZEBRINA HORT. EX BOSSE ชื่อพ้อง ZEBRINA PENDULA SCHNIZL. ชื่อสามัญ WAN DERING JEW อยู่ในวงศ์ COMME-LINACEAE เป็นไม้คลุมดินลำต้นทอดเลื้อย ใบสองสีสวยงามมาก มีต้นขายทั่วไป นิยมปลูกประดับแพร่หลาย.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ไม้เท้าเฒ่าอารี สรรพคุณดีมีต้นขาย

ในประเทศไทย รู้จักต้น “ไม้เท้าเฒ่าอาลี” มาช้านานแล้ว และรู้จักนำเอาบางส่วนของต้นไปใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรมาแต่โบราณเช่นกัน โดยเฉพาะในแถบ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ด้วยการนำเอากิ่งก้านและเนื้อไม้หรือลำต้นจะแก่หรืออ่อน สดหรือตากแห้งก็ได้ กะจำนวนตามต้องการ ต้มกับน้ำจนเดือดดื่มวันละ ๔ เวลาก่อนอาหารและก่อนนอนครั้งละ ๑ แก้วประจำ จะช่วยเพิ่มพลังทางเพศให้บุรุษได้ดีมาก จึงทำให้มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า ต้น “ตุกะอาลี” แต่เป็นไม้ที่พบขึ้นทั่วไปบนเขาสูงและป่าดิบชื้นใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีชื่อเรียกตามสรรพคุณอีกว่า “เจ้าคุณกวนเมีย”

ในประเทศมาเลเซีย เรียกไม้ต้นนี้ว่า “สตรองกัสอาลี” และได้นำเอาเนื้อไม้ไปทำเป็นผงบรรจุใส่แคปซูลออกวางขาย โดยได้จดทะเบียนยาเป็นลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศมาเลเซีย ซึ่งชาวมาเลเซียถือเป็นยาไวอากร้าของประเทศเขาเลยทีเดียว

ไม้เท้าเฒ่าอาลี หรือ “สตรองกัสอาลี” ยังมีสรรพคุณดีอีกหลายอย่าง คือ สามารถรักษาโรคผิวหนังด้วยการต้มอาบ โรคร้ายแรงเช่นเอดส์และมะเร็งผิวหนังได้ระดับหนึ่ง และยังนำไปเข้ายา เช่น ต้นแกแล ที่มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ต้นไกรทอง และอื่นๆอีกมากกว่า ๑๐ ชนิด จำนวนแตกต่างกันตามตำรับยาโบราณและพิกัดยาแผนไทย ทำเป็นห่อๆต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ กินจนยาจืดช่วยคลายเส้นคลายกล้ามเนื้อแก้เกาต์ ลดอาการบวมที่เกิดจากเกาต์ และลดน้ำตาลในเลือดหรือโรคเบาหวานได้ระดับหนึ่ง ส่วนคนไม่เป็นเบาหวาน สามารถนำไปดองกับเหล้าขาว ๔๐ ดีกรี ดื่มครั้งละ ๑ แก้วตะไลก่อนอาหารและก่อนนอนได้

ไม้เท้าเฒ่าอาลี เป็นไม้พุ่ม สูง ๔-๕ เมตร ผ่าหรือตัดเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบประกอบออกเรียงสลับ ใบย่อยออกตรงกันข้ามรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯบริเวณโครงการ ๒๑  ราคาสอบถามกันเองครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



กระทกรก ฆ่าตัวหิด

โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ ๑ อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง

กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น ๓ แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ ๑ กำมือต้มกับน้ำ ๔ แก้ว เคี้ยวจนเหลือ ๒ แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



เพชรสังฆาต กับวิธีแก้่กระดูกเสื่อม

ผู้สูงอายุไม่น้อยเพิ่งเริ่มมีอาการปวดกระดูกตามข้อต่างๆ ของร่างกาย แต่ยังไม่รุนแรง อยากทราบว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ซึ่งก็เคยแนะนำไปแล้วคือให้เอาต้น “เพชรสังฆาต” กับหัวจุกมะพร้าวน้ำหอม แก่นต้นเถาวัลย์เปรียง และว่านหางจระเข้ไม่ปอกเปลือกแบบสด ทั้งหมดเท่ากันกะตามต้องการต้มกับน้ำ ๒ ลิตร จนเดือดดื่มครั้งละ ๓ ส่วน ๔ แก้ว เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ถ้าดื่มแล้วอาการดีขึ้นต้มดื่มจนยาจืดและต้มดื่มต่อเนื่องจะหายได้ หลังจากนั้นต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์เฉพาะทางให้รักษาประจำจะไม่เกิดอาการปวดขึ้นอีก

เพชรสังฆาต หรือ CISSUS QUADRANGULALIS LINN. อยู่ในวงศ์ VITACEAE เถาสดกินแก้ริดสีดวงทวาร วันละ ๑ ข้อจนครบ ๓ วัน โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียกหรือกล้วยสุกหุ้มกลืนทั้งหมด เพราะเถาอาจจะทำให้คันคอได้
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ตะลิงปลิง กับวิธีรักษาโรคคางทูม

ในยุคสมัยก่อน คนเป็นโรคคางทูมกันเยอะ เป็นแล้วบริเวณลำคอใต้คางจะนูนขึ้นมองเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งในยุคนั้น คนที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางลำบากมาก เนื่องจากบ้านอยู่ห่างไกลโรงหมอหรือสุขศาลา ส่วนใหญ่จึงอาศัยหมอพื้นบ้านให้เจียดสมุนไพรรักษาให้ โดยเอาใบสดของ “ตะลิงปลิง” ประมาณ ๑ กำมือล้างนํ้าให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียดใส่นํ้าลงไปเล็กน้อย จากนั้นเอาทั้งนํ้าและเนื้อพอกบริเวณที่เป็นคางทูม ๒ เวลา เช้าเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆ ทุกวัน ประมาณ ๑ อาทิตย์จะหายได้ ปัจจุบันโรคคางทูมแทบไม่พบอีกแล้ว แนะนำให้เป็นความรู้

ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. ชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๒ เมตร ใบประกอบ ออกสลับ มีใบย่อย ๒๕-๓๕ ใบ เป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบและมีขนนุ่มทั้งใบ ดอก ออกเป็นช่อตามโคนต้นและกิ่งแก่ มีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีแดงอมม่วง ใจกลางดอกเป็นสีนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน สั้นยาวอย่างละ ๕ อัน “ผล” รูปกลมรีกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. ผลแบ่งเป็นพูตื้นๆ ๕ พู เนื้อผลฉ่ำนํ้า รสเปรี้ยวจัด ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ด มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย อเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือปลีมิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) และ หลิงปลิง (ภาคใต้)

ทางอาหาร ผลสดปรุงอาหารที่ต้องการให้มีรสเปรี้ยว แปรรูปเป็นผลไม้แห้ง แช่อิ่ม ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพร ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



จาวตาล ละลายนิ่วถุงน้ำดี

จาวตาล คือเนื้อในของลูกตาล ที่ได้จากการเอาผลตาลสุกไปเพาะเป็นต้นกล้า เมื่อมีต้นแทงขึ้นจากหัวผลตาลยาวประมาณ ๔-๕ นิ้วฟุต ให้รีบปอกเปลือกแล้วผ่าเอาเนื้อในจะเป็นจาวเหมือนจาวมะพร้าวรับประทานหวานหอมอร่อยมาก เรียกว่า “จาวตาล” ซึ่งจาวตาลดังกล่าวจำนวน ๑ จาว แบ่งกิน ๓ ครั้ง คือ เที่ยง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ บ่ายสามโมงและสามทุ่ม กินติดต่อกัน ๗ วัน จะละลายนิ่วในถุงน้ำดีสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเพิ่งเป็นใหม่ๆ ได้ สามารถกินได้ต่อเนื่องไม่อันตรายอะไร

ตาล หรือ BORASSUS FLABELLIFER LINN. อยู่ในวงศ์ ARECACEAE ใบสดหรือแห้งคั่วไฟอ่อนๆ พอกรอบแล้วบดเป็นผงสูบหรือเป่า ลดความดันโลหิต รากสดต้มน้ำดื่มครั้งละ ๑ แก้ว แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ กาบหรือก้านใบสด อังไฟให้ร้อนแล้วบีบเอาน้ำกินแก้ท้องร่วมหรืออมบ้วนทิ้งแก้ปากเปื่อยได้
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



สะบ้ามอญ สรรพคุณดี

ในยุคสมัยก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่มีวิธีรักษาเส้นผมให้แข็งแรงและดกดำเป็นเงางามอยู่เสมอด้วยธรรมชาติ คือ เอาใบกิ่งก้านที่ยังไม่แก่ของ “สะบ้ามอญ” มากน้อยตามต้องการใช้ในแต่ละครั้ง ทุบพอชํ้าแล้วผึ่งลมให้หมาดนำไปตีกับนํ้าในกะละมังจะเกิดฟองลื่นเหมือนฟองสบู่ จากนั้นเอานํ้าดังกล่าวชโลมเส้นผมให้ทั่ว ขยี้เกาเหมือนการสระผมจนพอใจแล้วล้างนํ้าออก จะทำกี่ครั้งได้ตามใจชอบ เมื่อใช้ผ้าเช็ดเส้นผมจะพบว่ามีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ เส้นผมแข็งแรงดกดำเป็นเงางามไม่แตกปลายและไม่เป็นรังแคทำให้คันหนังศีรษะ ลำต้นกิ่งก้านยังใช้เป็นยาขับพยาธิผิวหนังโดยใช้ภายนอกได้อีก เมล็ดสุมไฟจนเป็นเถ้ากินแก้พิษไข้ดีระดับหนึ่ง

สะบ้ามอญ หรือ ENTADA SCANDENS, CENTH. อยู่ในวงศ์ MIMOSEAE เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นแบนและมักบิดเป็นเกลียว ดอกเป็นช่อกระจุกสีขาวอมเหลือง “ผล” เป็นฝักยาว มีเมล็ด ๕-๗ เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม รูปทรงคล้ายสะบ้าหัวเข่า ในเทศกาลสงกรานต์ชาวมอญนิยมเอาเมล็ดไปทอยเรียกว่าเล่น “สะบ้า” จึงถูกเรียกชื่อว่า “สะบ้ามอญ” พบขึ้นตามป่าราบทุกภาคของประเทศไทย

สะบ้ามีอีก ๓ ชนิด แต่ละชนิดเป็นไม้เถาเลื้อยเหมือนกัน แตกต่างเพียงเมล็ดและฝักคือ “สะบ้าลาย” มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด ไม่นิยมใช้เป็นสมุนไพร ชนิดที่ ๒ คือ “สะบ้าดำ” มี ๗-๘ เมล็ด ขนาดของเมล็ดและฝักเล็กกว่า “สะบ้ามอญ” นิยมเอาเมล็ดเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หิดเหา ผื่นคัน โรคผิวหนังต่างๆ และสุดท้ายได้แก่ “สะบ้าเลือด” เปลือกเมล็ดจะแข็งมาก นิยมเอาไปหุงเป็นนํ้ามันทาแก้กลากเกลื้อนดีมาก

ปัจจุบันต้น “สะบ้ามอญ” หายากแล้ว ใครต้องการต้นไปปลูกต้องเดินสอบถามตามแผงขายไม้ไทยโบราณ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ให้ผู้ขายช่วยจัดหาให้ ส่วนเมล็ดของ “สะบ้ามอญ” ตามภาพประกอบคอลัมน์ มีขายที่บริเวณโครงการ ๒๔ สามารถนำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นได้ ราคาสอบถามกันเองครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ดีปลี กับวิธีแก้โรคภูมิแพ้

สมุนไพรแก้โรคภูมิแพ้ มีหลายอย่าง แต่ “ดีปลี” ที่แนะนำในวันนี้ ใช้ได้ผลดีระดับหนึ่งกับคนทุกธาตุ โดยให้เอาดอก “ดีปลี” ๓๐ กรัม หัวตะไคร้แกง ยาว ๒ นิ้วฟุต ๓๐ กรัม ขิง แก่หรืออ่อนก็ได้ ๓๐ กรัม ทั้งหมดแบบแห้ง และใบต้นหนุมานประสานกาย จำนวน ๔๐ ใบย่อยแบบสด นำทั้งหมดต้มรวมกันในน้ำมากหน่อยจนเดือดดื่มก่อนอาหารครึ่งแก้วเช้าเย็น ดื่มไปเรื่อยๆ อาการโรคภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ มีเสมหะเยอะจะดีขึ้นให้ต้มดื่มจนกว่าจะหาย

ดีปลี หรือ LONG PEPPER, PIPER RETROFLACTUM VAHL. อยู่ในวงศ์ PIPERA-CEAE สรรพคุณเฉพาะ ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกตากแห้งใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับรกหลังคลอด โดยให้ใช้ผล ๑๐-๑๕ ผล ต้มน้ำดื่มเป็นยา ช่วยแก้ไอด้วย ผลแห้งครึ่งผลฝนกับน้ำมะนาวเกลือป่นเล็กน้อยกวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ มีฤทธิ์ขับลม แก้ไอได้ดีมาก
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



แปะก๊วย กับสรรพคุณน่ารู้

สตรีหลังคลอดจะมีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกจะหย่อน เป็นแล้วบางครั้งไอหรือจามจะกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะไหลหรือเล็ดได้ ทำให้รู้สึกรำคาญมาก สามารถแก้ได้คือ ให้เอา “แปะก๊วย”๗ เม็ด หรือ ๑๐ เม็ด เผื่อเสีย เอาทั้งเปลือกคั่วไฟให้เปลือกเกรียมเกือบดำ จากนั้นกะเทาะเปลือกออกเอาเนื้อในที่ยังคงมีเยื่อหุ้มอยู่กินก่อนอาหารทุกวัน วันละครั้งจนครบ ๑๐ วัน ทำกินต่ออีกแบบเดิม แต่ครั้งนี้ให้เอาเยื่อหุ้มออกกินจนครบ ๑๐ วันเช่นกัน และ ที่สำคัญก่อนนอนจะต้องขมิบช่องคลอดช่วยด้วย ครั้งละไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ครั้ง อาการปัสสาวะบ่อยจะหายได้ ยังทำให้มดลูกกระชับดีด้วย

แปะก๊วย หรือ GINKGO BILOBA เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๕-๒๐ เมตร ใบคล้ายใบขึ้นฉ่าย ดอกเป็นสีขาวนวล “ผล” รูปกลมรีคล้ายลูกรักบี้ เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีดอกและผลปีละ ๒ ครั้ง มีผลแห้งขายทั่วไป ส่วนต้นมีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป

สรรพคุณเฉพาะ ใบของ “แปะก๊วย” ช่วยให้โลหิตหัวใจสมองไหลเวียนดี บำรุงร่างกาย แก้อาการหูอื้อ ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท ความจำ เสื่อมขี้หลงขี้ลืมยังไม่ถึงขั้นเป็นอัลไซเมอร์ ชะลอความแก่ เสริมภูมิต้านทานในร่างกาย โดยให้เอาใบแห้งหรือสดต้มกับนํ้า ครั้งละ ๓-๑๒ กรัม ดื่มวันละ ๒ เวลา เช้ดาเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ครั้งละ ๑ แก้ว ถ้าเป็นแบบบรรจุห่อสำเร็จ ๑ ซอง ต้มได้ ๕ ครั้ง สัดส่วน ๑ ครั้งต่อนํ้า ๓ แก้ว ดื่มประจำจะดีมาก ผลทั้งเปลือก ๑๐ ผล ต้มนํ้าผสมนํ้าตาลทรายแดงเล็กน้อย ดื่มแก้โรคฉี่บ่อยและไตไม่ปกติได้ ดังนั้น ต้น “แปะก๊วย” จึงเหมาะจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นทั้งอาหารและประโยชน์ทางยาตามที่กล่าวข้างต้นได้คุ้มค่าครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ

fu
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 มิถุนายน 2559 16:03:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 01 มิถุนายน 2559 15:59:39 »

.


ตำลึงตัวผู้ กับวิธีบรรเทาปวดหัวข้างเดียว

ปวดหัวข้างเดียวแต่ไม่ใช่เกิดจากการเป็นไมเกรน หากเริ่มมีอาการใหม่ๆ เป็นๆ หายๆ บรรเทาได้โดยให้เอาใบสดของ “ตำลึง” กับใบสดของต้นข่อย กะจำนวนเท่ากันตามที่ต้องการใช้ในแต่ละครั้ง และข้าวสารเหนียวหรือข้าวสารเจ้า ๑ ขยุ้มมือตำรวมกันทั้ง ๓ อย่างจนละเอียดใส่น้ำพอเปียกคั้นเอาเฉพาะน้ำทาบริเวณศีรษะข้างที่ปวดพอน้ำแห้งให้ทาใหม่เรื่อยๆ ประมาณครึ่งชั่วโมงอาการปวดจะหายได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ใช่การรักษาให้หายขาดเป็นการบรรเทาเวลาเกิดอาการขึ้นเท่านั้น

ตำลึง หรือ COCCINIA GRANDIS LINN. VOIGT. อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE รากและใบขยี้ทาแก้คันถอนพิษปวด ใบแห้งและผลดิบ ลดน้ำตาลในเลือดได้ ข่อย หรือ STREBLUS ASPEP LOUR. เปลือกต้นดับพิษในกระดูกและเส้นเอ็น ใบสดปิ้งไฟชงน้ำดื่มเป็นยาระบายอ่อนๆ ดีมาก
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



ผีพวนน้อย รากแก้ไตพิการใหม่ๆ ได้

อาการของโรคไตพิการใหม่ๆ เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีแดง และมักจะมีอาการแน่นท้องจุกขึ้นไปถึงยอดอกกินอะไรไม่ได้มันแน่นไปหมด หากมีอาการตามที่กล่าวใหม่ๆ พอช่วยได้คือให้เอารากสดของต้น “พีพวนน้อย” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มขณะอุ่นครั้งละ ๑ แก้ว ๒ เวลา ตอนไหนก็ได้ จะช่วยรักษาโรคไตพิการเป็นใหม่ๆให้หายได้ รากสดของ “พีพวนน้อย” ยังนำไปผสมกับรากสดหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนาและลำต้นอ้อยแดงจำนวนเท่ากันกะตามเหมาะสมต้มกับน้ำมากหน่อย ให้สตรีที่มีรูปร่างผอม แห้งแรงน้อยดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ ช่วยบำรุงเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

พีพวนน้อย หรือ UVARIA RUTABLUME ชื่อพ้อง UVARIA RIDLEYI KING อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า ๑๐ เมตร ลำต้นหรือเถาใหญ่ประมาณลำแขนผู้ใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบออกสลับรูปรี ปลายแหลม โคนเว้าเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง กลีบดอกมี ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น “ผล” เป็นช่อห้อยลง ประกอบด้วยผลย่อยหลายผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองหรือสีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดเยอะ รับประทานได้ รสชาติหวานปนเปรี้ยว มีดอกและติดผลเดือนเมษายน-มิถุนายนทุกปี ติดผลแก่หรือสุกหลังจากมีดอก ๔ เดือน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะขึ้นตามริมห้วยริมลำธาร คนที่ชอบขึ้นเขาเข้าป่าจะรู้จัก “พีพวนน้อย” เป็นอย่างดี และมักจะเก็บผลสุกลงไปวางขายมัดเป็นช่อละหลายบาท มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆเยอะ เช่น นมแมว (ภาคกลาง) บุหงาใหญ่ (เหนือ) นมควาย (ใต้) นมแมวป่า (เชียงใหม่) หำลิง (อีสาน) ติงตัง (โคราช) ติงตังเครือ (ศรีสะเกษ-อุบลฯ) พีพวนน้อย (อุดรฯ)

ไม่มีวางขายที่ไหน แนะนำให้รู้จักประดับความรู้ครับ.
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



หูเสือ แก้เจ็บคอทอนซิลอักเสบ

ในช่วงฤดูร้อน หากกินน้ำน้อยจะทำให้รู้สึกเจ็บคอเป็นประจำ หรือ บางครั้งอาจทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบได้ ในทางสมุนไพรมีวิธีช่วยหรือแก้ได้คือ ให้เอาใบสดของต้น “หูเสือ” จะเป็นใบใหญ่หรือเล็กก็ได้ตามแต่จะหาได้ จำนวน ๕ ใบ ล้างน้ำให้สะอาด สับรวมกับเนื้อหมูไม่ติดมันกะจำนวนตามต้องการ ไม่ต้องปรุงแต่งรสชาติหรือใส่อะไรลงไปอีก จากนั้นปั้นเป็นก้อนๆโตพอประมาณต้มกับน้ำไม่ต้องมากนักจนเดือด หรือจนเนื้อหมูสุก กินทั้งน้ำและเนื้อเช้า–เย็น ไม่ต้องกินกับข้าวสวย ทำกินติดต่อกันทุกวัน ๔-๕ วัน อาการเจ็บคอและอาการต่อมทอนซิลอักเสบจะบรรเทาขึ้นและหายได้ในที่สุด หากยังไม่หายต้มกินจนกว่าอาการจะหายไม่มีอันตรายอะไร เมื่อหายแล้วหยุดกินได้ สูตรดังกล่าวนิยมใช้กันมาแต่โบราณแล้ว

หูเสือ หรือ COLEUS AMBOINICUS LOUR อยู่ในวงศ์ LABIATEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี แตกกิ่งก้านเยอะ ใบหนาแข็งและมีขนกระจายทั่ว ขอบใบจักคล้ายใบพิมเสน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ใบหนาแน่นคลุมดิน เป็นไม้ที่สามารถเก็บน้ำไว้เลี้ยงลำต้นและใบตัวเองได้เป็นเวลานานแม้จะขาดน้ำหลายๆ วัน ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น มีชื่อเรียกอีกคือ ผักหูเสือ หูเสือไทย อีไหลหลึง หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) และ หูเสือ (อีสาน) สมัยก่อนนิยมปลูกตามบ้านกันเยอะเพื่อเก็บใบสดกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ลาบ ก้อย ชาวอีสานและชาวเหนือชอบรับประทานอย่างกว้างขวาง

ประโยชน์ทางยา น้ำคั้นจากใบสดของต้น “หูเสือ” หยอดหูแก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูเป็นน้ำหนวกดีมาก

อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “หูเสือจีน” มีความแตกต่างกันเพียงใบจะบางกว่าใบของต้นหูเสือไทย และใบจะกลมกว่าด้วย อย่างอื่นคล้ายกันหมด หากไม่สังเกตให้ดีจะดูไม่ออกว่าเป็นหูเสือไทยหรือหูเสือจีน ประโยชน์ทางยาใช้เหมือนกันทุกอย่าง มีชื่ออีกคือ โฮทิเช้า และ หูเสือจีน ครับ
 ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ



กะทกรก ฆ่าตัวหิด
โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ ๑ อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง

กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น ๓ แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ ๑ กำมือต้มกับน้ำ ๔ แก้ว เคี้ยวจนเหลือ ๒ แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้
  นสพ.ไทยรัฐ


ผักคราดหัวแหวน กับวิธีแก้ปวดฟัน
การปวดฟัน ที่เกิดจากฟันเป็นรูเพราะถูกแมงกินฟัน เป็นแล้วทรมานมาก กินอะไรไม่ได้ มันปวดร้าวไปหมดถึงน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ในทางสมุนไพรช่วยได้คือให้เอาต้นสดของ “ผักคราด หัวแหวน” ๒ ต้นไม่รวมรากตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นลงไป ๑ ช้อนชา ใช้ผ้าขาวบางห่อบีบคั้นเอาน้ำแล้วใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันจุ่มกับน้ำดังกล่าวให้เปียก นำไปอุดรูฟันที่ปวดจะหายปวดทันที ทำวันละ ๒-๓ ครั้ง อาการปวดจะดีขึ้นและอาจหายได้

ผักคราดหัวแหวน หรือ PARA CRESS SPILANTHES ACMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAI ต้นสดตำผสมเหล้าขาวหรือผสมกับน้ำสมสายชูเล็กน้อย อมแก้ฝีในลำคอ ใช้อุดรูฟันที่ถูกแมงกินฟัน แก้ปวดฟันได้ ช่อดอก ก้านช่อดอกมีสาร SPILANTHOL มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสกัดจากต้นสดด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา LIDOCAINE ได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะออกฤทธิ์สั้นกว่า
  นสพ.ไทยรัฐ



แห้วหมู แก้โรคไข้เลือดออก
สมัยก่อน คนเป็นไข้เลือดออกเยอะ เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่มักจะใช้สมุนไพรรักษาแบบง่ายๆ ซึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาไข้เลือดออกมีหลายชนิด และ “แห้วหมู” จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย โดย ให้เอาหัว “แห้วหมู” แบบสดใช้ได้ทั้งหัว แห้วหมูใหญ่ หรือ แห้วหมูเล็ก จำนวน ๑ ขยุ้มมือผู้ใหญ่ ล้างน้ำให้สะอาดตำละเอียดผสมเหล้าขาว ๒๘ หรือ ๔๐ ดีกรี ก็ได้ ๑ แก้ว ใช้ผ้าขาวบางกรองบีบเอาน้ำดื่มให้หมด จะทำให้อาเจียน เมื่อหยุดอาเจียนแล้วอาการของไข้เลือดออกจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้ในที่สุด

แห้วหมู หรือ NUTGRASS CYPERUS ROTUNDUS LINN. อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE มี ๒ ชนิด จะต่างกันทั้งขนาดของต้นและรูปทรงของดอก หัว เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ การทดลองในสัตว์พบฤทธิ์ลดไข้ลดความดันโลหิต นอกจากนั้นยังพบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด พันซิพารัม ด้วย
  นสพ.ไทยรัฐ



คำแสด กับสรรพคุณน่ารู้
ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า “คำแสด” มีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งในตำรายาแผนไทยระบุสรรพคุณว่า เปลือกของราก ต้น “คำแสด” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มขณะอุ่นวันละ ๒ เวลา ก่อนหรือหลังอาหารเช้าเย็น เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ใบ ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้บิด ขับปัสสาวะ ผล ใช้เป็นยาฝาดสมาน เปลือกช่องเมล็ดมีสาร BIXIN ให้สีแดงใช้แต่งสีอาหารได้ เนื้อเมล็ด นำไปเข้ายาหอม ยาฝาดสมานแก้ไข้ แก้โรคหนองใน ได้ทั้งบุรุษและสตรี แก้ไข้มาลาเรีย ใช้ถอนพิษที่เกิดจากพิษมันสำปะหลังและต้นสบู่แดง

คำแสด หรือ BIXA ORELLANA LINN. ชื่อสามัญ ANNATO, ARNATTO, ROUCOU อยู่ในวงศ์ BIXACEAE มีถิ่นกำเนิดอเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกแพร่หลายทั่วไป เคยพบมากที่สุดในแถบจังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงสามเหลี่ยมหรือทรงฉัตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้า สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกจำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะงดงามยิ่ง “ผล” เป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลม มีขนสีแดงคล้ายผลเงาะ เวลาติดผลทั้งต้นจะดูแปลกตามาก ผลแก่แตกได้ ภายในมีเมล็ดเยอะ มีเปลือกหุ้มสีแดง ดอกและผลออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยคือ คำเงาะ, คำแงะ, คำไท, คำแฝด (กรุงเทพฯ) ชาด (ภาคใต้) ซิติหมัก (เลย) มะกายหยุม และ แสด (ภาคเหนือ)

คำแสด มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาไม่เท่ากันอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นคุ้มค่ามากครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



ระย่อม ยาดีพื้นบ้าน
ระย่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า RAUVOLFIA SERPENTINA (L.) BENTH. EX KURZ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดลงรากใต้ดิน รากขนาดใหญ่และยาวมาก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๓-๕ เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวเปลือกต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกหรือรูปรี ปลายและโคนใบแหลม ใบดกและหนาแน่นในช่วงปลายยอด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกคล้ายดอกเข็มแดง ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีแดงอมม่วง ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีขาว ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักคู่ แบนและยาว มีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นอยู่ตามริมห้วยริมลำธารทั่วไป พบมากที่สุดทางภาคเหนือ รากจะมีขนาดใหญ่และยาวตามที่กล่าวข้างต้น มีชื่อเรียกอีกคือ กะย่อม, ย่อม, ย่อมตีนหมา, เข็ม และตูมคลาน

รากรสขม รากสดต้มน้ำดื่มแก้โรคเลือด แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร แต่รับประทานมากจะทำให้เมาได้ รากสดต้มน้ำดื่มช่วยย่อยอาหารและจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยหรือกินจุ อาจทำให้เกียจคร้านคล้ายกับคนสูบกัญชา แต่ไม่ใช่ยาเสพติด หากกินแบบพอดีจะมีประโยชน์มาก ในอดีตทหารญี่ปุ่นเอารากของ “ระย่อม” สดตำละเอียดกรอกปากม้ากินเพื่อถ่ายพยาธิด้วย เด็กที่มีพยาธิในตัวใช้รากดังกล่าวกินขับออกจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งในรากของ “ระย่อม” มีสาร “อัลคาลอยด์” ชนิดหนึ่งสามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้

สมัยก่อน นิยมปลูกตามหมู่บ้านอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นยากลางบ้านหรือยาพื้นบ้านตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันบางพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ครับ
  นสพ.ไทยรัฐ



     มะก่องข้าว กับสูตรแก้ปวดกระดูก
วิธีดังกล่าว ให้เอา “มะก่องข้าว” ทั้งต้นรวมรากแบบแห้ง ๑ กำมือต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดแล้วเอาเนื้อห่อผ้าขาวบางประคบจุดที่ปวดกระดูกและดื่มน้ำที่ต้มครั้งละครึ่งแก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือ จะเอาทั้งต้นแบบแห้งต้มน้ำอาบ จะช่วยให้อาการปวดกระดูกและอาการไข้ที่เกิดจากการปวดกระดูกที่อักเสบให้หายได้

มะก่องข้าว หรือ CHINESE BELL FLOWER, COUNTRY MALLOW ABUTILON INDICUM SWEET. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีขึ้นเองตามที่รกร้างทั่วไป และมีชื่อเรียกอีกเยอะ ทั้งต้น เป็นยาบำรุงโลหิตขับลมช่วยให้เจริญอาหาร รากบำรุงธาตุแก้มุตกิด (อาการปัสสาวะขุ่น เสียวมดลูก ตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปวดชายกระเบนเหน็บในสตรี) แก้ไอบำรุงกำลัง ใบหรือทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวานดีมาก ใบตำพอกบ่มหนองให้สุกและแตกเร็ว ขยี้อุดฟันแก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ
  นสพ.ไทยรัฐ



โคกกระออม ยาดีข้างถนน
ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นรวมราก ของ “โคกกระออม” จำนวนพอประมาณตัดเป็นท่อนเล็กๆต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นยา แก้ไขข้ออักเสบได้ดีระดับหนึ่ง สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งต้นยังนำ ไปผสมตัวยาอื่น เป็นยาแก้หอบหืดได้อีกด้วย ปัจจุบันยังนิยมใช้กันอยู่

ใบสด กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มแก้ไอ ตำพอกฝีให้แตกเร็วและหายได้ ต้นหรือเถาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ดอก ขับโลหิต ผลตำ พอกดับพิษไฟลวกไม่ให้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ด สด กินแก้ไอ ขับเหงื่อ รากตำ คั้นเอาเฉพาะน้ำหยอดตาแก้ตาต้อ รากตำ เอากากพอกแก้พิษ แมลงพิษต่อยหรือถูกงูพิษกัดก่อนพาส่งโรงพยาบาลให้แพทย์รักษา ยอดอ่อน สดกินขับปัสสาวะ กินเป็นผักสดได้ แต่รสชาติจะขมมาก แพทย์จีน ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขับน้ำนมทำให้เกิดน้ำนมในสตรี ท้องระบายเป็นยาแก้ไข้ น้ำคั้นจากใบสดหยอดตาแก้ตาเจ็บได้

โคกกระออม BALLOON-VINE, HEARTPEA หรือ CARDIOS PERMUM HALICACABUM LINN. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ขึ้นตามที่รกร้างข้างถนนทั่วไป ต้นเป็นเหลี่ยมสีเขียว มีมือเกาะคล้ายตำลึง ใบประกอบมีใบย่อย ๓ ใบ ขอบใบหยักลึก ๓ แฉก ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกขนาดเล็กคล้ายดอกมะระ ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกย่อย ๘-๑๐ ดอก มีกลีบดอก ๔ กลีบ มีเกสรเป็นกระจุก “ผล” ทรงกลม โตประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ พองลมเป็นสามเหลี่ยมสีเขียวอ่อนใส ห้อยลงคล้ายโคมไฟสวยงามมาก หากเอาผลบีบให้แตกจะมีเสียงดัง ภายในมีเมล็ดสีดำ ดอกออกช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงปลายฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือต้นต้อก, ลุมลับเครือ, เครือผักไล่น้ำ, โพออม, ติ๊นไข่และไหน มีปลูกเฉพาะตามสวนยาเท่านั้น หากต้องการต้นจะต้องเสาะหากันเองไม่มีวางขายครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



มะลิวัลย์เถา
Jasminum siamense Craib
OLEACEAE


ไม้เลื้อยเป็นพุ่มกึ่งล้มลุก แตกกิ่งก้านน้อย โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนมีขนละเอียด

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีกว้างถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือมีขนละเอียดที่โคนใบของเส้นกลางใบเมื่อยังอ่อนอยู่ ไม่มีตุ่มใบ

ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย ๑-๓ ดอกเกลี้ยง วงกลีบเลี้ยงเหมือนใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด
กลีบดอก สีขาว กลิ่นหอม หลอดดอกยาว
ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปคล้ายทรงกลม เมื่อสุกสีส้มถึงแดง
ดอก บำรุงหัวใจ




คนทีสอต้น
Vitex trifolia L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๔ เมตร กิ่งก้านมีขน
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบเรียบ ปลายแหลม โคนสอบ ท้องใบสีนวลขาว มีขน
ดอก ออกเป็นช่อ แยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ สีฟ้าอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ปาก
ผล สด ทรงกลม มีเมล็ดเดียว
ใบ บำรุงน้ำดี ขับลม ใบ ใช้แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เคี้ยวอมตอนเช้าทุกวันทำให้ฟันแข็งแรง
ดอก แก้ไข้ แก้พิษ และหืดไอ และใช้หั่นผสมเป็นยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
ลูก แก้มองคร่อ และหืดไอ ริดสีดวง ท้องมาน
ราก ใช้แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ
ชาวบ้านใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำขนมคนทีโดยผสมแป้งและน้ำตาล นึ่งจนสุก




คนทีเขมา
Vitex negundo L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูง ๑-๕ เมตร
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๕ ใบ อาจมี ๓ ใบย่อย หรือ ๗ ใบย่อย รูปใบหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยัก
ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อย สีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน
ผล รูปทรงกลม ขนาดเล็ก
เปลือก แก้ไข้ และฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้พยาธิ
ใบ แก้เสมหะ
ยาง ขับเลือดและลมให้กระจาย ฆ่าแม่พยาธิ และคุดทะราด บำรุงกำลัง
น้ำคั้นจากใบสด รับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ
ใบสด ขยี้ ทาถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบปวดร้อน
ราก แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง
รากและใบ รับประทานหรือประคบแก้ปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ




ต้นกำเนิด “ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย”

หลายคนอาจเคยได้ยิน ‘ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย’ แต่ก็มีอีกหลายคนเคยกินเคยใช้ ย่อมรู้ดีถึงสรรพคุณโดดเด่นช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อที่ได้ผลดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน บางท่านบอกว่าใช้แล้วรู้สึกดีกว่า และกินง่ายอร่อยกว่าด้วยซ้ำ

ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการบัญชียาหลักแห่งชาติในส่วนที่เป็นยาจากสมุนไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ เรียกได้ว่ายกชั้นจากตำรับยาที่ใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไปสู่ระดับชาติ และถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการนำเอาตำรับยาพื้นบ้านสู่การยอมรับของประเทศ 

แต่หลายคนอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของตำรับยานี้  จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ขอย้อนหลังกลับไป พ.ศ.๒๕๒๒ ปีก่อตั้งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ก่อนจะกลายมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งพื้นที่แรกในการทำงานอยู่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รู้จักกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถอยห่างจากระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแต่สร้างหนี้สินและบั่นทอนสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต

การทำงานของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองสมัยนั้น เก็บรวบรวมตำรายาพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ตำรายาของหมอจันดี เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.สนามชัยเขต และคือคุณพ่อของผู้ใหญ่วิบูลย์ นั่นเอง

หมอจันดี เป็นหมอยาไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต ในตำรายาดังกล่าว มีตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยอยู่ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์นำมาต้มเผยแพร่ และทางโครงการสมุนไพรฯ ก็นำมาขยายผลต่อเมื่อเริ่มไปทำงานในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ผลปรากฏว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘ นิยมชมชอบตำรับยานี้มาก มีการขยายตัวผ่านโรงพยาบาลชุมชุนหลายแห่ง  สรรพคุณยา แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหารอย่างดี  ยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีอาการกินอาหารแล้วย่อยยาก พอจิบยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยสัก ๑-๒ ช้อน สบายท้องไปตามๆ กัน ฯ

มาถึงตรงนี้ ขอแนะนำตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยให้รู้จัก ดังนี้คือ เปลือกอบเชย เปลือกสมุนแว้ง ชะเอมเทศ ดอกกานพลู น้ำหนักสิ่งละ ๕๐ กรัม การบูร ๑ ช้อนชา เมนทอล ๑ ช้อนชา น้ำ ๗,๐๐๐ ซีซี (สูตรนี้จะได้ยาปริมาณมาก หากต้มกินเองลดลงตามส่วนได้)

วิธีเตรียม 
นำสมุนไพรทั้ง ๔ อย่างต้มน้ำประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล แล้วหาขวดยามาบรรจุเก็บไว้ (ขวดยาควรนำไปนึ่งทำความสะอาดก่อน)

วิธีใช้ ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหารหรือทุก ๒-๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ยาธาตุเปลือกอบเชยนี้รสชาติอร่อยมาก ทำนองเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี

หากใครสนใจตำรับยานี้ สามารถติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทยได้ แต่ถ้าใครอยากทำเองแต่ไม่สามารถหาตัวยาได้ครบ แนะนำให้ใช้เปลือกอบเชยเทศเท่านั้น น้ำหนัก ๑๕ กรัม ต้มในน้ำ ๑ ลิตร ให้เดือดนาน ๕-๑๐ นาที กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยได้ผลดีเช่นกัน

อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ชาวอียิปต์รู้จักใช้มาตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีแล้ว และในปัจจุบันก็ค้นพบและยอมรับในสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น ในอบเชยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งในทางยาไทยถือว่า มีรสเผ็ด หวาน สุขุม กินแล้วช่วยทั้งขับลม ช่วยย่อย และยังบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจด้วย


ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 สิงหาคม 2559 17:06:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 17:48:48 »

.


“เหง้ากะทือ” ดูดพิษเข่าเสื่อม

ทุกอย่าง แบบแห้งน้ำหนักอย่างละ 30 กรัมเท่ากันดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ปิดฝาทิ้งไว้ 3 เดือน จากนั้นกรองเอาน้ำใช้สำลีชุบพอเปียก พอกหัวเข่าที่เพิ่งจะมีอาการใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นมานานแล้ว โปะไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำทุกวัน วันละครั้ง เวลาไหนก็ได้ตามสะดวกจนกว่าจะหาย นอกจากดูดพิษเข่าเสื่อมแล้วยังแก้ช้ำในอักเสบ ลดบวมได้ด้วย

กะทือ หรือ ZINGIBER ZERUMBET ขิง หรือ ZINGIBER OFFICINALE ROSC ผักเสี้ยนผี หรือ PLANISIA VICOSA ว่านน้ำ หรือ ACORUS CALAMUS, L., ไพล หรือ ZINGIBER CASSUMUNAR เปราะหอม หรือ KAEMPFERIA GALANGA แต่ละอย่างมีสรรพคุณเฉพาะต่างกัน เมื่อนำทั้งหมดดองเหล้าเอาน้ำปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น จะมีสรรพคุณดูดพิษเข่าเสื่อมได้




“รากยอป่า” แก้ผื่นคันผิวพรรณดี

โรคผิวหนัง เป็นแล้วจะทำให้ผิวพรรณดูไม่ดี โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะเป็นปมด้อยไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทางสมุนไพรให้เอา “รากยอป่า” แบบแห้งหั่นบางๆประมาณหยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่นวันละครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ต้มดื่มเรื่อยๆ จะทำให้เม็ดผื่นคันตามตัวค่อยๆ ยุบและหายได้ เมื่อหายแล้วผิวพรรณจะเปล่งปลั่งเองเป็นธรรมชาติ

ยอป่า หรือ MORINDA ELLIPTICA RIDL. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ดอกสีขาว “ผล” ค่อนข้างกลม มีชื่อเรียกอีกคือ “ยอเถื่อน” รากแก้เบาหวาน แก่นต้มน้ำดื่มบำรุงเลือด ผลสุกขับระดู ขับลม ใบอังไฟพอสลบปิดหน้าอกหน้าท้องแก้ไอแก้จุกเสียด หรือตำพอกศีรษะฆ่าเหา มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ




“สเปียร์มิ้นท์” ประโยชน์สรรพคุณดี

สเปียร์มิ้นท์ เป็นพืชตระกูลมิ้นท์คล้ายๆ สะระแหน่ทั่วไป มีถิ่นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา มีชื่อเฉพาะคือ SPEARMINT หรือ MENTHA SPICATA เป็นพืชล้มลุก สูง 1 ฟุต ใบตรงกันข้าม ปลายแหลม โคนมน ผิวใบคล้ายสะระแหน่ ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด “ผล” กลม มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น ทางอาหาร ใบสดใช้โรยหน้าอาหารดับกลิ่นคาว มีกลิ่นหอมเย็นเหมือนใบสะระแหน่ ทางยา ใบสดจำนวนเล็กน้อยต้มน้ำพอประมาณจนเดือด จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยโชยขึ้นจมูก สูดดมเป็นยาแก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด วิงเวียน ท้องอืดได้ หรือใบสดขยี้ดมทำให้รู้สึกสดชื่นดีมาก แต่ไม่เหมาะที่จะขยี้ทาผิวเพราะจะทำให้ระคายเคือง สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมลูกควรหลีกเลี่ยง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 ราคาสอบถามกันเอง



บัวหลวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ

สูตรดังกล่าว เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณและได้ผลดีมาก โดยให้เอา เหง้า ของ “บัวหลวง” แบบสดจำนวนตามต้องการ ฝานเป็นแว่นบางๆ ต้มกับน้ำให้ท่วมเนื้อจนเดือดแล้วใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปเล็กน้อยไม่ต้อง หวานนัก กินทั้งน้ำและเนื้อวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยทำให้อาการร้อนในกระหายน้ำ ปากแห้ง ริมฝีปากแตกประจำหายได้ สามารถต้มกินได้เรื่อยๆ ไม่มีอันตรายอะไร

บัวหลวง หรือ NELUMBO NUCIFERA GAERTN. อยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE เหง้า ไหล ใบอ่อน และเมล็ดเป็นอาหาร ใบใช้ห่อของ ดอกใช้ในพิธีทางศาสนา กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เหง้าเป็นยาเย็น “ดีบัว” ต้นอ่อนในเมล็ดออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ เกสรใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในเกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 และทั้ง 9




บวบขม กับสรรพคุณน่ารู้

สมัยก่อน ใครมีรังแคและคันหนังศีรษะ หมอยาแผนไทยจะใช้รังสดของ “บวบขม” ไปฟอกหรือขยี้เส้นผมบนศีรษะครั้งละ 1 รัง 2–3 วันติดต่อกัน รังแคจะไม่มีและหายคันศีรษะ ส่วนรัง “บวบขม” แบบแห้ง หั่นเป็นฝอยๆ ผสมยาเส้นมวนด้วยใบตองแห้งจุดสูบ เป็นยาฆ่าเชื้อริดสีดวงจมูกน้ำมูกมีกลิ่นเหม็นดีมาก ผลสดตำพอละเอียด พอกฆ่าตัวโลนในที่ลับ เมล็ดสดกินเล็กน้อยขับเสมหะแก้หืด แก้ไอ ใบสดขยี้ทาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน รากสด 1 กิโลกรัม ต้มน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นเรื่อยๆ แก้ไมเกรนได้

บวบขม หรือ LUFFA ACUTANGULA อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE เป็นไม้เถาล้มลุกพบขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่นิยมปลูกและนิยมรับประทาน เพราะมีรสขมมาก ส่วนใหญ่มีปลูกเฉพาะชาวเขาบนดอยสูงและสวนสมุนไพรบางแห่งเท่านั้น เพื่อใช้เป็นยาตามที่กล่าวข้างต้น




ตะลิงปลิง กับวิธีรักษาโรคคางทูม

ในยุคสมัยก่อน คนเป็นโรคคางทูมกันเยอะ เป็นแล้วบริเวณลำคอใต้คางจะนูนขึ้นมองเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งในยุคนั้น คนที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางลำบากมาก เนื่องจากบ้านอยู่ห่างไกลโรงหมอหรือสุขศาลา ส่วนใหญ่จึงอาศัยหมอพื้นบ้านให้เจียดสมุนไพรรักษาให้ โดยเอาใบสดของ “ตะลิงปลิง” ประมาณ 1 กำมือล้างนํ้าให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียดใส่นํ้าลงไปเล็กน้อย จากนั้นเอาทั้งนํ้าและเนื้อพอกบริเวณที่เป็นคางทูม 2 เวลา เช้าเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆทุกวัน ประมาณ 1 อาทิตย์จะหายได้ ปัจจุบันโรคคางทูมแทบไม่พบอีกแล้ว แนะนำให้เป็นความรู้

ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. ชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 12 เมตร ใบประกอบ ออกสลับ มีใบย่อย 25-35 ใบ เป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบและมีขนนุ่มทั้งใบ ดอก ออกเป็นช่อตามโคนต้นและกิ่งแก่ มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีแดงอมม่วง ใจกลางดอกเป็นสีนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน สั้นยาวอย่างละ 5 อัน “ผล” รูปกลมรีกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. ผลแบ่งเป็นพูตื้นๆ 5 พู เนื้อผลฉ่ำนํ้า รสเปรี้ยวจัด ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ด มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย อเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือปลีมิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) และหลิงปลิง (ภาคใต้)

ทางอาหาร ผลสดปรุงอาหารที่ต้องการให้มีรสเปรี้ยว แปรรูปเป็นผลไม้แห้ง แช่อิ่ม ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพร ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะครับ.




กะทกรก ฆ่าตัวหิด

โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 1 อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง

กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น 3 แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ 1 กำมือต้มกับน้ำ 4 แก้ว เคี้ยวจนเหลือ 2 แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้




ผักคราดหัวแหวน กับวิธีแก้ปวดฟัน

การปวดฟัน ที่เกิดจากฟันเป็นรูเพราะถูกแมงกินฟัน เป็นแล้วทรมานมาก กินอะไรไม่ได้ มันปวดร้าวไปหมดถึงน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ในทางสมุนไพรช่วยได้คือให้เอาต้นสดของ “ผักคราด หัวแหวน” 2 ต้นไม่รวมรากตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นลงไป 1 ช้อนชา ใช้ผ้าขาวบางห่อบีบคั้นเอาน้ำแล้วใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันจุ่มกับน้ำดังกล่าวให้เปียก นำไปอุดรูฟันที่ปวดจะหายปวดทันที ทำวันละ 2–3 ครั้ง อาการปวดจะดีขึ้นและอาจหายได้

ผักคราดหัวแหวน หรือ PARA CRESS SPILANTHES ACMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAI ต้นสดตำผสมเหล้าขาวหรือผสมกับน้ำสมสายชูเล็กน้อย อมแก้ฝีในลำคอ ใช้อุดรูฟันที่ถูกแมงกินฟัน แก้ปวดฟันได้ ช่อดอก ก้านช่อดอกมีสาร SPILANTHOL มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสกัดจากต้นสดด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา LIDOCAINE ได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะออกฤทธิ์สั้นกว่า




พีพวนน้อย ผลอร่อย สรรพคุณดี

ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ระบุว่า รากของต้น “พีพวนน้อย” เอาไปผสมกับรากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนา และลำต้นของอ้อยแดงจำนวนเท่ากันตามต้องการต้มกับนํ้ามากหน่อยจนเดือดดื่ม สำหรับสตรีที่ผอมแห้งแรงน้อย เป็นยาบำรุงเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีนํ้ามีนวล รากของต้น “พีพวนน้อย” สดหรือแห้งก็ได้จำนวนตามต้องการต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน 2 เวลา ครั้งละ 1 แก้ว รักษาโรคไตพิการที่เพิ่งจะเป็นใหม่ๆดีมาก โรคดังกล่าวเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นเหลืองหรือแดง และมีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้ ต้มดื่มแล้วอาการจะค่อยๆกระเตื้องและดีขึ้นเรื่อยๆ

พีพวนน้อย หรือ UVARIA RUTA BLUME ชื่อพ้อง UVARIA RIDLEYI KING อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถาใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบเดี่ยวออกสลับรูปรี ปลายแหลมโคนเว้าเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบ มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง “ผล” เป็นกลุ่มและเป็นช่อห้อยลง แต่ละช่อประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก ผลรูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง สุกเป็นสีแดงอมส้ม เปลือกผลมีขนละเอียดทั่ว เนื้อหุ้มเมล็ดนํ้า รสหวานปนเปรี้ยว รับประทานได้ สมัยก่อนนิยมกันอย่างกว้างขวาง มีเมล็ดเยอะ ดอกออกเดือนเมษายน-มิถุนายน ทุกปี และจะติดผลแก่หรือสุกหลังจากนั้น 4 เดือน คนหาของป่าจะรู้เวลาดีและจะเข้าไปเก็บผลออกมาวางขายตามตลาดสดในชนบททั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกเยอะคือ นมแมว, บุหงาใหญ่, นมควาย, นมแมวป่า, หำลิง, ติงตัง, ตีนตั่งเครือ, พีพวนน้อย และ สีม่วน


ปัจจุบัน “พีพวนน้อย” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 18 ในชื่ออื่นคือ นมวัว นมควาย ราคาสอบถามกันเองครับ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 23 กันยายน 2559 15:56:25 »

.

มะลิวัลย์เถา
Jasminum siamense Craib
OLEACEAE


ไม้เลื้อยเป็นพุ่มกึ่งล้มลุก แตกกิ่งก้านน้อย โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนมีขนละเอียด

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีกว้างถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือมีขนละเอียดที่โคนใบของเส้นกลางใบเมื่อยังอ่อนอยู่ ไม่มีตุ่มใบ

ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย ๑-๓ ดอกเกลี้ยง วงกลีบเลี้ยงเหมือนใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด
กลีบดอก สีขาว กลิ่นหอม หลอดดอกยาว
ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปคล้ายทรงกลม เมื่อสุกสีส้มถึงแดง
ดอก บำรุงหัวใจ



คนทีสอต้น
Vitex trifolia L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๔ เมตร กิ่งก้านมีขน
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบเรียบ ปลายแหลม โคนสอบ ท้องใบสีนวลขาว มีขน
ดอก ออกเป็นช่อ แยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ สีฟ้าอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ปาก
ผล สด ทรงกลม มีเมล็ดเดียว
ใบ บำรุงน้ำดี ขับลม ใบ ใช้แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เคี้ยวอมตอนเช้าทุกวันทำให้ฟันแข็งแรง
ดอก แก้ไข้ แก้พิษ และหืดไอ และใช้หั่นผสมเป็นยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก
ลูก แก้มองคร่อ และหืดไอ ริดสีดวง ท้องมาน
ราก ใช้แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ
ชาวบ้านใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำขนมคนทีโดยผสมแป้งและน้ำตาล นึ่งจนสุก



คนทีเขมา
Vitex negundo L.
Lamiaceae (VERBENACEAE)


ไม้พุ่ม สูง ๑-๕ เมตร
ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๕ ใบ อาจมี ๓ ใบย่อย หรือ ๗ ใบย่อย รูปใบหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยัก
ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อย สีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน
ผล รูปทรงกลม ขนาดเล็ก
เปลือก แก้ไข้ และฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้พยาธิ
ใบ แก้เสมหะ
ยาง ขับเลือดและลมให้กระจาย ฆ่าแม่พยาธิ และคุดทะราด บำรุงกำลัง
น้ำคั้นจากใบสด รับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ
ใบสด ขยี้ ทาถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบปวดร้อน
ราก แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง
รากและใบ รับประทานหรือประคบแก้ปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ



หวายลิง
Flagellaria indica L.
FLAGELLARIACEAE


ไม้เลื้อยอายุหลายปี ลำต้นโคนแข็ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ คล้ายแผ่นหนัง รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม
ดอก ช่อแบบช่อแยกแขนง มักแยกเป็นสองแขนง ดอกย่อยไร้ก้าน ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกสั้น กลีบรวม ๖ กลีบ สีขาวครีม กลีบนอกขนาดใหญ่กว่ากลีบในเล็กน้อย
ผล เมล็ดเดียวแข็ง ทรงกลม
ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ บีบมดลูก



ขิงสนธยา
Zingiber idae P.Triboun & K.Larsen
ZINGIBERACEAE


ไม้ล้มลุกหลายปีมีเหง้า ลำต้นเทียมคล้ายใบ สูง ๑.๓-๑.๘ เมตร
ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือรูปยาวคล้ายหาง ท้องใบและเส้นกลางใบมีขน โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบสั้นมาก มีขนอุย ก้านช่อดอกออกจากราก ตั้ง เรียวยาว ยาว ๑๕-๓๐ เซนติเมตร กาบใบ ๕-๗ ใบ มีขนอุย
ดอก ช่อ สีขาวครีม รูปกระสวยแคบ ปลายกลีบเรียวแหลม ใบประดับ ๒๕-๔๐ ใบ รูปใบหอก สีเขียวเข้มเปลี่ยนเป็นสีแดงส้มเมื่อเป็นผล
ผล แห้งแตก รูปกระสวย มีขน ช่องละ ๔-๖ เม็ด เมล็ดดำมีริ้วสีขาว ทรงกลม
เหง้า ขับลม



หญ้าเกล็ดหอย
Desmodium triflorum (L.) DC.
FABACEAE


ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก
ใบ ประกอบแบบขนนก ใบย่อย ๓ ใบ หูใบรูปไข่ ขนาดไม่สม่ำเสมอ ปลายใบรูปไข่กลับ

ดอก ช่อแยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบดอกสีม่วงเข้ม
ผล เป็นฝักมีก้านชู รูปกลมรี เมล็ดรูปขอบขนาน

ยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ ทั้งต้นผสมหญ้าใต้ใบหรือลูกใต้ใบทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคไตพิการ




กัญชา เป็นยาเสพติดหรือยารักษาโรค?

กัญชา ยังถูกแขวนป้ายว่าเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แม้จะเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕ ซึ่งให้โทษต่อร่างกายน้อยกว่าประเภทอื่น แต่ก็ยังมีบทลงโทษไม่เบา คือผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งกัญชาต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๑๕ ปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท  หรือถ้าหากขายกัญชาด้วยก็อาจมีโทษสูงสุดเท่ากับโทษฐานการผลิต

ด้วยเหตุนี้ “กัญชา” จึงถูกตีตรวนไว้ด้วยกฎหมายที่ขาดการพัฒนา เป็นเหตุให้ประเทศไทยและคนไทยขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อันมหาศาลจากกัญชาอย่างน่าเสียดาย

ในเวลานี้โลกสากลได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์การมองกัญชาจาก “ยาเสพติดให้โทษ” มาเป็น “ยารักษาโรค” อย่างน้อยใน ๑๒ รัฐของสหรัฐอเมริกา การจำหน่ายและเสพยากัญชา ไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และอีก ๑๕ รัฐ กำลังพิจารณาให้กัญชาเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยที่ก่อนหน้านี้มีบันทึกในปี ค.ศ.๑๘๗๖ (พ.ศ.๒๔๑๙ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ของไทย) ซึ่งเป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการได้รับเอกราชและการก่อตั้งประเทศอิสระขึ้นบนผืนทวีปอเมริกา ทางการสหรัฐได้ต้อนรับแขกผู้ทรงเกียรติด้วยการเสิร์ฟ “แฮ็ชชีช” (Hashish)!

ขอใส่เชิงอรรถเพิ่มเติมตรงนี้ว่า “แฮ็ชชีช” คือยางของกัญชา ซึ่งเตรียมได้ด้วยการนำเอา “กะหรี่กัญชา” (curry) หรือส่วนช่อดอกตัวเมียของกัญชามาใส่ในถุงผ้า ใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมาแล้วจึงขูดยางออกจากถุงผ้า เท่านี้แหละก็ได้ “แฮ็ชชีช” ผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพสูงราคาแพงที่เอาไว้เสิร์ฟเฉพาะพวกผู้ดีฝรั่ง

กล่าวกันว่าประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ก็ยังชื่นชอบสมุนไพรใบแฉกชนิดนี้เป็นพิเศษ ท่านนำกัญชาไปปลูกไว้ที่บ้านพักบนภูเขาเมาท์เวอร์นอน (Mount Vernon) ด้วยตระหนักในสรรพคุณเภสัชอันล้ำค่าของมันนั่นเอง

ในช่วงที่เริ่มมีการต่อต้านการเสพกัญชาในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เคยปราศรัยปกป้องการใช้กัญชาของประชาชนว่า “การสั่งห้ามเสพกัญชาดำเนินการเลยขอบเขตของเหตุผล เป็นความพยายามควบคุมความต้องการของมนุษย์โดยใช้กฎหมาย ทำให้สิ่งที่มิได้เป็นอาชญากรรมกลายเป็นอาชญากรรม การห้ามเสพกัญชาเป็นการทำลายหลักการที่รัฐบาลของเรากำหนดขึ้น”

เช่นกัน ในยุควิกตอเรียของอังกฤษ (ค.ศ.๑๘๓๗-๑๙๐๑) กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทางเภสัชกรรม เพื่อรักษาโรคภัยหลายอย่าง อาทิ อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน โรครูมาติซั่ม และลมบ้าหมู

เซอร์รัสเซลล์ โรโนลด์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียกล่าวไว้ในบันทึกปี ค.ศ.๑๘๙๐ ว่า เขาใช้กัญชาเป็นพระโอสถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนให้กับสมเด็จพระราชินีองค์นี้  ทั้งยังระบุว่า “เมื่อทำการสกัดให้บริสุทธิ์ กัญชาเป็นหนึ่งในยาทรงคุณค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์มีอยู่”




เท้ายายม่อม ยาแก้ไข้

เท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกซ้ำกันในพืช ๒ ชนิด

เท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อม ชนิดแรกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum indicum (L.) Kuntze เป็นไม้พุ่ม 

ข้อมูลจาก website บางแห่ง กล่าวว่า รากของไม้เท้ายายม่อมชนิดนี้ใช้ทำแป้งได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะรากของไม้เท้ายายม่อมซึ่งเป็นไม้พุ่มนี้ ไม่มีแป้งมากพอที่จะนำไปผลิตเป็นผงแป้งเพื่อใช้เป็นอาหารได้ ที่ทำเป็นแป้งนั้น คือ เท้ายายม่อมที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีประเภทเดียวกับบุก

จึงเป็นพืชลงหัวมีการสะสมแป้งที่สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งได้

ในตอนนี้จะกล่าวถึงเท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อมที่เป็นไม้พุ่ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ Tubeower, Turk’s-Turban, Sky Rocket, Bowing Lady คำว่าไม้เท้ายายม่อมเป็นการบ่งบอกลักษณะที่สำคัญคือ ลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน รวมทั้งรากก็มีลักษณะเป็นลำตรงแทงลงในดิน หมอยาพื้นบ้านจึงนิยมเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า พญารากเดียว ไม้เท้ายายม่อมยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายมาก เช่น พญาเลงจ้อน พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่) พินพี (เลย) ท้ายายม่อมป่า (อุบลราชธานี) พมพี (อุดรธานี) โพพิ่ง (ราชบุรี) ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี) หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์) กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ฯลฯ

เท้ายายม่อมจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน ๓ เมตร เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียว ลึกพุ่งตรง รากกลม ดำ โต ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขา จะแตกกิ่งบริเวณใกล้ยอด บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกเป็นช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นช่อชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือแดง มี ๕ แฉก

ผลสดรูปกลมแป้น เมื่อสุกมีสีน้ำเงินแกมสีดำหรือสีดำแดง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง

ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน

หลายท่านนึกว่าเท้ายายม่อมเป็นแค่ยาสมุนไพรเท่านั้น แต่ในวิถีชาวบ้านยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกกินได้ และยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามหน้าบ้านด้วย ส่วนรากของไม้เท้ายายม่อมเป็นเครื่องยาที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง นำไปเข้าตำรับยาไทยพิกัดยาเบญจโลกวิเชียรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาห้าราก ใช้ลดไข้ รักษาหวัดต่างๆ รากไม้เท้ายายม่อม มีรสจืดขื่น ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้หวัด แก้ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ลดความร้อนในร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยังแก้พิษสัตว์กัดต่อย ดับพิษฝี ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน

ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้รากผสมใบพิมเสน ต้น เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน กินถอนพิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ

ไม้เท้ายายม่อมยังเป็นสมุนไพรที่สำคัญชนิดหนึ่งของกลุ่มชนเชื้อสายอินเดียและจีน มีการใช้ส่วนต่างๆ เช่น
ใบ ที่มีรสขมใช้เป็นยาบำรุงกำลังและขับพยาธิ
ใบแห้ง นำมามวนเป็นยาสูบช่วยลดอาการหอบหืด ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ใช้สูบเพื่อลดการสูบฝิ่น
น้ำสกัดจากส่วนของลำต้น ใช้ทาผิวทำให้ผิวพรรณดีขึ้น
ราก นำมาทุบผสมกับขิง ต้มดื่มแก้หอบหืด ไอ และความผิดปกติอื่นภายในปอด
ยางจากลำต้น ใช้รักษาโรคไขข้อที่เกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิสหรือโรคไขข้ออื่นๆ ในประเทศอินเดียจัดว่าเป็นสมุนไพรที่สำคัญมาก มักนำมาใช้ในการลดไข้ ลดอาการฝ่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือโรคผอมแห้ง

ในบังคลาเทศมีการศึกษาอย่างละเอียดและนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการรักษาโรคหอบหืดและระบบทางเดินหายใจผิดปกติ โดยใช้ส่วนของรากบดให้เป็นผง ใช้ผงยาขนาด ๕๐ กรัม ผสมกับน้ำผึ้งกินก่อนนอน ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากความหนาวเย็น ให้ใช้เปลือกรากสด ๓ กรัม หรือเปลือกรากแห้ง ๒ กรัม ชงกับน้ำอุ่นดื่ม สำหรับตำรับใช้ขับพยาธิให้นำเอารากสด ๒ กรัม มาหมักกับใบ ๓-๔ ใบ เมื่อสมุนไพรเปื่อยยุ่ยดีแล้ว ปั้นให้เป็นก้อน นำมาทำให้แห้ง กินครั้งละ ๑.๓ เม็ด มีรายงานว่า ยาเม็ดนี้สามารถใช้รักษาหอบหืดได้ด้วย

เท้ายายม่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ควรส่งเสริมให้ปลูกกันมากๆ และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดภูมิปัญหาดั้งเดิมอย่างครบวงจร เนื่องจากสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย แก้หวัด แก้หอบหืด เป็นอาการโรคที่เป็นกันบ่อย หากส่งเสริมกันมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย

เชื่อมั่นว่าเท้ายายม่อมหรือพญารากเดียว จะเป็นที่พึ่งด้านยาที่สำคัญทางหนึ่งของประชาชนแน่นอน


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 23 กันยายน 2559 16:05:43 »

.


ผักเสี้ยนผี

ต้นไม้ล้มลุกเล็ก ขึ้นแทรกอยู่กับวัชพืช แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเขียวดก มีลักษณะเป็นใบรวม ใบหนึ่งมี ๓-๕ ใบ ใบย่อยรูปไข่

จัดเป็นใบไม้ที่สวยงามอีกชนิดหนึ่ง

ออกดอกตามซอกใบใกล้ยอด ดอกสีเหลืองเหมือนมี ๕ กลีบ แต่กลีบหนึ่งหายไปอย่างเจาะจง ขณะยังตูมดอกพนมยาว เวลาบานกลีบกลมปลายมน๔ กลีบ สีเหลืองสด มีเกสรกลางดอกสีเหลืองและเขียว

แต่ละดอกสมควรมี ๕ กลีบ แต่ดอกหายไป ๑ คือกลีบที่ควรจะเป็นที่ ๕ นั้น เว้นไว้

เป็นที่สังเกตว่า ต้นไม้นี้คือผักเสี้ยนผี

ผักเสี้ยนผีมีประโยชน์สำหรับเป็นยา รักษาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคอักเสบ ทั้งภายในภายนอก เช่น ทั้งอักเสบในท้อง ภายนอกก็ปวดข้อปวดเข่า และอักเสบภายใน เช่น หญิงอยู่ไฟ กินยารุ ส่วนภายนอก เช่น แก้ปวดข้อที่อักเสบ ว่ากันว่าชะงัดนัก ตลอดจนแก้แผลอักเสบด้วย

คุณค่าของผักเสี้ยนผี ที่ชาวบ้านนิยม และต้องการมากที่สุดคือ ผักเสี้ยนผีทั้ง ๕ (ต้น ราก ใบ ดอก ผล) นำมาตำละเอียดผสมเหล้าโรงห่อผ้าขาวบางพันตามข้อที่ปวด ไม่ช้าก็หาย ส่วนสตรีคลอดบุตรอยู่ไฟให้กินเยื่ออวัยภายในหายแห้งสนิทได้ นอกจากนี้ แม้โรคบุรุษ หมอยาบางท่านก็นิยมนำมารักษา และหายได้อย่างรวดเร็ว

การขยายพันธุ์ ผักเสี้ยนผีนั้น เมื่อออกดอกจนแก่ร่วง ก็แตกหล่นลงดิน พบดินชื้นก็ขึ้นต้นใหม่ เกิดต้นเกิดผลต่อไป

ปัจจุบัน ผักเสี้ยนผีหายาก เพราะถูกถากถาง ขุดทิ้ง หายไปจนแทบไม่เหลือ ต้องนำฝักแก่มาปลูกไว้ในบ้านเฉพาะ จึงจะรักษาพันธุ์ไว้ได้ต่อไป

ผักเสี้ยนผี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cleome Viscosa.Linn. อยู่ในวงศ์ CAPPARIDACEAE ชื่อสามัญเรียก Polanisia Viscosa ชื่อท้องถิ่น แตกต่างกันไป เช่น ส้มเสี้ยนผี ส้มเสี้ยนตัวเมีย

วันหนึ่งเดินเล่นตอนเช้า เดินผ่าน พบผักเสี้ยนผี ก็ดีใจว่า จะยังมีสมุนไพรพื้นบ้านดีๆ หลงเหลืออยู่ แต่เพียงวันรุ่งขึ้นต้นไม้นี้หายไปแล้วพร้อมๆ กับวัชพืชอื่น ยังจะรออีกหรือไม่ที่จะขึ้นมาอีก

ที่จริงต้นผักเสี้ยนผีก็เป็นต้นไม้สวย มีสง่าราศี มองธรรมดาก็รู้ว่าน่าจะมีคุณค่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักคนจึงผ่านเลยไป หรือตัดทิ้งไป

ต้นยาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีหลายชนิด สำหรับข้อสังเกตของผักเสี้ยนผี คือต้องมีดอกสีเหลืองเป็นช่อ แต่ละดอกมีจังหวะกลีบ ๕ กลีบ และหายไป ๑ กลีบ เหมือนกันทุกต้น ดังเป็นสัญลักษณ์

ใบเขียวทั้งต้นเป็นยาง แตะถูกหนึบหนับ นั่นล่ะ ผักเสี้ยนผี

คุณประโยชน์ของผักเสี้ยนผี มีคุณค่าดังกล่าวมา ซึ่งก็เทียบกับคุณค่าทุกสิ่งที่มองเห็นรอบๆ ตัว ถ้าสังเกต และศึกษาก็น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ให้สังคม

เพียงแต่จะรู้ว่านำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และเลือกนำมาให้ตรงความต้องการ อันเป็นประโยชน์ที่สูงสุด



มะขวิด ไม้ดีหวิดสูญพันธุ์

มะขวิด มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Burmese thanaka (นักวิชาการฝรั่งคงไปพบแถวพม่าจึงเรียกแบบนั้น), แต่ก็เรียกชื่ออื่นอีก เช่น Elephant’s apple, Gelingga,kavath, Wood apple มะขวิดเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Feronia limonia (L.) Swing. แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Limonia acidissima L.

มะขวิดมี ๒ สายพันธุ์ พันธุ์ที่มีผลใหญ่เนื้อหวาน และพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กเนื้อมีรสเปรี้ยว (อมหวานนิดๆ) มะขวิดถือเป็นไม้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ชาวอินเดียจึงใช้ประโยชน์กันมาก ถึงกับขนานนามมะขวิดว่า เป็นอาหารคนยาก (poor man’s food) ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนยากจนจำนวนมากในอินเดีย

ในภาคอีสานบ้านเมืองไทยเรียกมะขวิดว่า มะยม (จึงอย่าสับสนเวลาคุยกับคนอีสาน) ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า มะฟิด

มะขวิดเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางอยู่ในกลุ่มไม้ผลัดใบ สูงถึง ๑๒ เมตร กิ่งแขนงมีหนามเรียวแหลมตรง ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร

ใบ ประกอบแบบขนนก ใบออกตรงข้าม มี ๒-๓ คู่ รูปไข่กลับ มีจุดต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้ มีกลิ่นอ่อนๆ ช่อดอกออกปลายยอดหรือซอกใบ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ
ผล เปลือกแข็งรูปกลม ผิวมีลักษณะเป็นขุยสีออกขาวปนสีชมพู ภายในผลมีเนื้อมาก มีกลิ่นหอม เปลือกหนาและมีขน มะขวิดพบได้ในป่าธรรมชาติไปจนถึงประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาหลีประเทศอินโดนีเซีย และพบว่ามีการนำไปปลูกเพื่อศึกษาในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาด้วย เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี และยังเติบโตได้ในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วงได้อีกด้วย

มะขวิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรค ทุกส่วนของมะขวิดสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น กินเนื้อสดๆ หรือนำไปปรุงเป็นน้ำมะขวิด กินแล้วช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น เจริญอาหาร

ในมะขวิดมีกากใยอาหารช่วยขับถ่ายสะดวกและมีวิตามินซีสูงด้วย หรือใช้ผลดิบมาหั่นบางๆ นำไปตากแห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อน กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้สดชื่น ได้เช่นกัน

ใบมีสรรพคุณช่วยห้ามโลหิตระดูของสตรี และใช้ใบเป็นยาฝาดสมาน นำมาล้างน้ำตำพอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิด

ในเวลานี้มีการค้นพบว่าในมะขวิดมีต่อมน้ำมัน เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์กำจัดเชื้อโรคจึงช่วยแก้อาการโรคผิวหนังได้ และสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้

นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในใบหากนำมาต้มดื่มน้ำจะมีสรรพคุณช่วยขับลมในท้อง และแก้ท้องเสีย  

ยางจากลำต้นมะขวิดเป็นยาฝาดสมานจึงช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงและห้ามเลือดได้ และด้วยความเหนียวของยางหรือมีกัม (gum) จำนวนมาก จึงนำมาใช้ประโยชน์ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของแบบเป็นกาวยาง และใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาหรือสีในงานจิตรกรรมไทย  ส่วนของเปลือก ใช้แก้ฝีเปื่อย แก้บวม แก้อาการลงท้อง ตกโลหิต และแก้พยาธิ

ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของมะขวิด ได้นำมะขวิดมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ใช้ผลดิบต้มน้ำกับดีปลีและผสมน้ำผึ้งนำมาจิบบ่อยๆ ช่วยลดอาการสะอึก หรือผลดิบอย่างเดียวใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ไอและเจ็บคอได้ ใบอ่อนคั้นเอาน้ำมาผสมนมและน้ำตาลทำเป็นลูกอมช่วยให้ระบบน้ำดีในร่างกายทำงานเป็นปกติ เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากลำไส้

น้ำคั้นจากใบอ่อนให้เด็กกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้เช่นกัน

ยางเหนียวของผลมะขวิดเมื่อตากแห้งแล้วป่นเป็นผงผสมน้ำผึ้ง ใช้กินรักษาโรคบิดและอาการท้องเสียในเด็ก หนามตามลำต้นนำมาบดเข้ายารักษาการตกเลือดขณะมีประจำเดือน เปลือกนำมาเคี่ยวรวมกับเปลือกต้นจิกใช้รักษาแผล และพบว่าในบางท้องถิ่นนำเปลือกต้นมะขวิดมาบดละเอียดทำเป็นแป้งทาหน้า

นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังใช้มะขวิดเป็นยาบำรุงตับและหัวใจด้วย

ในฤดูฝนจะมีน้ำยางจากลำต้นเป็นยางเหนียว ใส ออกมามาก ชาวอินเดียนิยมนำยางมาใช้ติดวัสดุ และใช้เป็นส่วนผสมของสีน้ำสำหรับวาดรูป ใช้ทำหมึกและสีย้อมต่างๆ เปลือกผลมีความแข็งสามารถนำมาทำเป็นภาชนะใส่ของ เนื้อไม้จากลำต้นมีสีเหลืองอมเทา เนื้อแข็งและหนัก นิยมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ และนำมาแกะสลักเป็นงานศิลปะให้สีเนื้อไม้สวยงาม

นอกจากนี้ ในเนื้อมะขวิดมีน้ำตาลหลายชนิดที่ร่างกายต้องการ เช่น อะราไบโนส (arabinose) ไซโลส (xylose) ดี-กลูโคลส (d-galactose) แรมโนส (rhamnose) และกรดกลูคิวโลนิต (glucuronic acid) จึงมีการนำมากินสดๆ หรือนำไปทำน้ำผลไม้ ทำแยมทาขนมปังกินกันรสอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ในประเทศไทยจำนวนประชากรมะขวิดลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะพบเห็นการปลูกตามหมู่บ้านและในสวนบางแห่งแต่ก็มีไม่มากนัก ในวงการเกษตรกรรมปัจจุบันใช้มะขวิดเป็นต้นตอของมะนาว เพราะมะขวิดทนแล้งทนการระบาดของแมลงได้ดี

แต่ก็แค่เอาต้นมาใช้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของมะขวิดแท้ๆ ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง

ผู้รักสมุนไพรจึงควรหันมาช่วยกันปลูกและขยายพันธุ์มะขวิดกันมากๆ จะได้ไม้ใหญ่ยืนต้น ทรงพุ่มสวยงาม และได้ใช้ประโยชน์ทางอาหารและยาด้วย



ต้นกำเนิด “ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย”

หลายคนอาจเคยได้ยิน ‘ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย’ แต่ก็มีอีกหลายคนเคยกินเคยใช้ ย่อมรู้ดีถึงสรรพคุณโดดเด่นช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อที่ได้ผลดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน บางท่านบอกว่าใช้แล้วรู้สึกดีกว่า และกินง่ายอร่อยกว่าด้วยซ้ำ

ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการบัญชียาหลักแห่งชาติในส่วนที่เป็นยาจากสมุนไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ เรียกได้ว่ายกชั้นจากตำรับยาที่ใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไปสู่ระดับชาติ และถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการนำเอาตำรับยาพื้นบ้านสู่การยอมรับของประเทศ  

แต่หลายคนอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของตำรับยานี้  จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ขอย้อนหลังกลับไป พ.ศ.๒๕๒๒ ปีก่อตั้งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ก่อนจะกลายมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งพื้นที่แรกในการทำงานอยู่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รู้จักกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถอยห่างจากระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแต่สร้างหนี้สินและบั่นทอนสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต

การทำงานของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองสมัยนั้น เก็บรวบรวมตำรายาพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ตำรายาของหมอจันดี เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.สนามชัยเขต และคือคุณพ่อของผู้ใหญ่วิบูลย์ นั่นเอง

หมอจันดี เป็นหมอยาไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต ในตำรายาดังกล่าว มีตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยอยู่ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์นำมาต้มเผยแพร่ และทางโครงการสมุนไพรฯ ก็นำมาขยายผลต่อเมื่อเริ่มไปทำงานในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ผลปรากฏว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘ นิยมชมชอบตำรับยานี้มาก มีการขยายตัวผ่านโรงพยาบาลชุมชุนหลายแห่ง  สรรพคุณยา แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหารอย่างดี  ยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีอาการกินอาหารแล้วย่อยยาก พอจิบยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยสัก ๑-๒ ช้อน สบายท้องไปตามๆ กัน ฯ

มาถึงตรงนี้ ขอแนะนำตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยให้รู้จัก ดังนี้คือ เปลือกอบเชย เปลือกสมุนแว้ง ชะเอมเทศ ดอกกานพลู น้ำหนักสิ่งละ ๕๐ กรัม การบูร ๑ ช้อนชา เมนทอล ๑ ช้อนชา น้ำ ๗,๐๐๐ ซีซี (สูตรนี้จะได้ยาปริมาณมาก หากต้มกินเองลดลงตามส่วนได้)

วิธีเตรียม  
นำสมุนไพรทั้ง ๔ อย่างต้มน้ำประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล แล้วหาขวดยามาบรรจุเก็บไว้ (ขวดยาควรนำไปนึ่งทำความสะอาดก่อน)

วิธีใช้ ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหารหรือทุก ๒-๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ยาธาตุเปลือกอบเชยนี้รสชาติอร่อยมาก ทำนองเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี

หากใครสนใจตำรับยานี้ สามารถติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทยได้ แต่ถ้าใครอยากทำเองแต่ไม่สามารถหาตัวยาได้ครบ แนะนำให้ใช้เปลือกอบเชยเทศเท่านั้น น้ำหนัก ๑๕ กรัม ต้มในน้ำ ๑ ลิตร ให้เดือดนาน ๕-๑๐ นาที กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยได้ผลดีเช่นกัน

อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ชาวอียิปต์รู้จักใช้มาตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีแล้ว และในปัจจุบันก็ค้นพบและยอมรับในสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น ในอบเชยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งในทางยาไทยถือว่า มีรสเผ็ด หวาน สุขุม กินแล้วช่วยทั้งขับลม ช่วยย่อย และยังบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจด้วย



ยอป่า
Morinda coreia Buch-Ham.
RUBIACEAE

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรี ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กตามยาวลำต้น

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบคอดและสอบไปสู่ก้านใบหรือบิดเบี้ยว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนา ขอบใบเป็นคลื่น

ดอก ช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม แน่นติดกันเป็นก้อนกลม ตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแจกันทรงสูง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก

ผล รวมสีเขียว ทรงบิดเบี้ยวหรือกลม ผิวนอกผลเป็นปุ่มปมมีขน เนื้อเยื่อข้างในสีขาวมีน้ำมาก ก้านผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดบิดเบี้ยว

ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม บำรุงน้ำนม ผล ตากแห้ง ต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียน แพ้ท้อง



 
ตับเต่าน้อย ตำรับยาพื้นบ้าน

ตับเต่า คือชื่อพืชสมุนไพร ไม่ใช่สมุนไพรที่มาจากสัตว์ ใครที่ชอบค้นคว้าอ่านตำราแพทย์แผนไทย หรือเคยคุยกับหมอพื้นบ้านจะได้ยินชื่อพืชสมุนไพรนี้ และจะได้ยินคำว่า “ตับเต่าทั้งสอง” 

ในตำรับยาไทยจึงมีตัวยาสมุนไพรที่กล่าวถึงตับเต่าทั้งสองอยู่ในตำรับยามากพอสมควร ตับเต่าทั้งสองเป็นเครื่องยาอะไรกันแน่ เมื่อสอบถามหมอยาไทยหลายท่านได้คำอธิบายว่า ตับเต่าทั้งสองหมายถึง ตับเต่าต้นและตับเต่าน้อย

จากหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์” ให้ข้อมูลในส่วนของตับเต่าต้น บอกว่ามีเพียงชนิดเดียว คือ ต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyrosehretioides Wall.exG.Don แต่เมื่อพลิกตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ พบว่า ตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดคือ

ตับเต่าน้อย (สุพรรณบุรี) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่าเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphoidescristata (Roxb.) Kuntze เป็นพืชน้ำ อยู่ในสกุลเดียวกับบัวสาย

ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trivalvariacostata (Hook.f. & Thomson) I.M.Turner อยู่ในวงกระดังงา แต่เป็นต้นไม้ที่หายากมากๆ

ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า กล้วยเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. อยู่ในวงกระดังงาเช่นกัน แต่พืชชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วไป

เมื่อตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดนั้น จึงเป็นที่มาของการค้นหาพืชสมุนไพรให้ถูกต้น เมื่อใช้จะได้ปลอดภัยและได้สรรพคุณตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม

ในการประชุมหารือกันระหว่างแพทย์แผนไทยและหมอยาพื้นบ้าน ได้ข้อสรุปว่า ตับเต่าน้อยที่มีอยู่ในตำรายาไทยน่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านเรียกว่า กล้วยน้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. หรือมีชื่อสามัญว่า “กล้วยเต่า”

ตับเต่าน้อยนี้จึงเป็นชนิดที่ ๓ ตามตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ ตับเต่าที่นำมาปรุงยาชนิดนี้จะมีชื่อพื้นเมืองต่างกันเช่น ไข่เต่า (เชียงใหม่) ก้นครก (มหาสารคาม ยโสธร) กล้วยตับเต่า กล้วยเต่า (ราชบุรี) ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) รกคก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ตับเต่าน้อย เป็นพืชในวงศ์กระดังงา มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร มีใบเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเล็ก มี ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยมกลายๆ กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่เป็นกลุ่มบนแกนกลางดอก เกสรเพศเมีย ๔ อัน อยู่ที่ปลายของแกนกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลรูปทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลอมเหลือง แต่บางพื้นที่พบว่ามีผลสีแดง ข้างในมีเมล็ดเดียว

ตับเต่าน้อยหรือกล้วยเต่า เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในประเทศพม่า ไทย ลาว จีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค พบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน

คนอีสานที่เกิดและเติบโตมาแบบคนรุ่นก่อนต้องเคยได้กินผลตับเต่าน้อยแน่ๆ เพราะเมื่อผลที่สุกเป็นสีเหลืองหรือแดงจัดนำมากินเล่น รสอร่อยดี รสออกรสหวาน บางลูกอาจจะหวานปนฝาดเล็กน้อย ใครที่ชอบอาหารพื้นบ้านต้องลองกินผลตับเต่าน้อยสักครั้งในชีวิต

นอกจากกินเล่นแล้ว บางแห่งก็นำมาให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย กินเป็นอาหารสัตว์ด้วย

ในส่วนของสรรพคุณสมุนไพร ตำรับยาอีสาน ใช้ตับเต่าน้อยเข้ายาแก้เลือดไม่ปกติและแก้มะเฮ็ง ในตำรายาไทยใช้เข้ายาแก้สรรพไข้ทั้งปวง ถ้าแยกตามส่วนของสมุนไพร พบว่า รากมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้วัณโรค และใช้บำรุงน้ำนมด้วย

ส่วน รากและลำต้น นำมาบดใช้ทาแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง

ผล นำมารับประทานช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม ภูมิปัญญาของภาคอีสานจะใช้

เหง้า เปลือก และ เนื้อไม้ นำมาใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายกะปริดกระปรอย และท้องเสียในเด็ก และต้น ต้มกับน้ำกิน แก้ปวดท้อง บางพื้นที่อาจใช้ส่วนของรากต้มน้ำกินได้เช่นกัน นอกจากแก้ปวดท้องแล้วยังกินน้ำต้มรากตับเต่าน้อยแก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะด้วย

จากการรวบรวมเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาตับเต่าน้อยอยู่บ้าง สาระสำคัญที่มีอยู่ในราก ได้แก่ 3-o-acetyl aleuritolic acid,Suberosol, stigmasterol, β-sitosterol, 1-methyl-4-azafluoren-9-one (onychine), 7-megthoxy-1-methyl-4-azafluoren-9-one,triterpenes และจากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดจากตับเต่าน้อยมีฤทธิ์ในการต่อต้านและทำลายเชื้อมาลาเรียได้


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ธันวาคม 2559 14:40:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:50:17 »



หอมแดง - หอมแดง
ในตำรายาไทยมักมีตำรับที่ใช้สมุนไพรที่มีชื่อว่า หอม หอมแดง ว่านหอมแดง และหอมแกง

ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสับสนว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดกันแน่ เนื่องจากมีสมุนไพร ๒ ชนิดที่มีชื่อว่าหอมในกลุ่มนี้

มูลนิธิสุขภาพไทยได้สอบถามหมอยาได้ความรู้ว่า ถ้าในตำรับใช้คำว่า “หอม” หรือ “หอมแกง” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นหอมที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หอมชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. ซึ่งทางวิชาการจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นหรือเป็นพืชของต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

ส่วนชื่อ “หอมแดง” หรือ “ว่านหอมแดง” ที่ปรากฏในตำรับยาหมายถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. เดิมใช้ชื่อว่า Eleutherine Americana (Aubl.) Merr.ex K. Heyne จัดเป็นพืชสมุนไพรต่างถิ่นเช่นกัน

แต่น่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วจึงมีชื่อท้องถิ่น เช่น ว่านไก่แดง ว่านข้าวว่านหมาก (ภาคเหนือ) ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) หอมแดง (ภาคกลาง ภาคใต้) บ่อเจอ เพาะปีบ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

หอมแดงคาดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในป่าอะเมซอน แต่มีรายงานพบหอมแดงเป็นพืชในธรรมชาติของอินเดีย กัมพูชา และเวียดนามด้วย

หอมแดงเป็นพืชล้มลุก หัวใต้ดินรูปไข่ยาว เปลือกหุ้มหัวสีแดง ทรงกระสวย มีลักษณะคล้ายหัวหอม แต่ใบเกล็ดที่หุ้มหัวหนา แข็งกว่า มีสีแดงเข้มอมม่วง ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้ง หรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น   ใบ แทงขึ้นมาจากพื้นดิน รูปหอก จีบซ้อนกันคล้ายพัด ปลายใบแหลม โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ   ดอกออกเป็นช่อ กลีบสีขาวรูปช้อน แทงออกเป็นช่อบริเวณตรงกลางของลำต้น ๔-๑๐ ดอกต่อก้านดอก กลีบดอกสีขาวซ้อนกัน ๒ ชั้น จำนวน ๖ กลีบ แบ่งเป็นวงนอก ๓ กลีบ และวงใน ๓ กลีบ แต่ละกลีบอยู่ไม่ตรงกัน กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าวงนอก กลีบดอกมีลักษณะรี ปลายกลีบโค้งเข้าด้านใน ผลมีลักษณะค่อนข้างรี ปลายหัวตัด

ภายในแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ภายในมีเมล็ดรูปรี อัดกันแน่น

ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการนำเอาหอมแดงเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่  แต่พบว่าในสังคมไทยมีการใช้หอมแดงเป็นยาในหลายตำรับ เช่น ใช้หัวเป็นยาภายนอก ตัวอย่างเช่น

ใช้เผารมควันร่วมกับเปราะหอมสำหรับแก้อาการเป็นหวัด แก้ลมชัก และแก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ  

นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย นำมาทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน  

นำมาบดใช้ทาประคบแผลบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวดบวม  

ใช้ทารักษาแผล ทำให้แผลแห้ง ป้องกันการติดเชื้อ  

ใช้ประคบแผลสด สำหรับช่วยห้ามเลือด  

ใช้ส่วนหัวเป็นยากิน สามารถกินได้ทั้งสดและแห้ง หรืออยู่ในรูปที่เป็นผง โดยนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการเป็นหวัด คัดจมูก แก้อาการไอ แก้อาการคันคอ  

ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปวดท้อง

แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้  แก้อาการท้องเสีย รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ตำรายาไทยใช้ หัว มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือตำผสมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ทำให้อาเจียน แก้บิด และอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร

น้ำยาที่ได้จากหัวใต้ดิน ใช้ทาบาดแผล แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้อง

มีรายงานว่าแม้ว่าหอมแดงจะเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาใต้ แต่กลับมีการปลูกและนำใช้เป็นสมุนไพรมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้กันมากในหลายประเทศคือรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชพบว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียและต้านการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังพบสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (a-glucosidase) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ในลำไส้เล็ก เช่น แอลฟา-แอลกลูโคซิเดส (Alfa-alglucocidase) ไม่ให้เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ถูกดูดซึมได้น้อยและช้าลง เกิดผลต่อเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา มีฤทธิ์ในการป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี (HIV replication) และกระบวนการเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม (topoisomerase ll)

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกหลายชนิดที่สามารถรักษามะเร็งได้ ประเทศอินโดนีเซียจึงให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสมุนไพรหอมแดง ทำให้มีงานวิจัยออกมาจำนวนหลายชิ้น

ในประเทศต้นกำเนิดของหอมแดงมีรายงานว่ามีการใช้ส่วนหัวต้มน้ำดื่มรักษาอาการเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ รักษาอาการปวดหัว รักษาโรคโลหิตจาง รักษาไอกรน รักษาอาการไอเป็นเลือด ไอที่เกิดจากการเป็นหวัดธรรมดา

ใช้รักษาแผลพุพอง ฝีหนอง และรักษามะเร็งในลำไส้ใหญ่

ในประเทศอินเดียใช้หัวบดกับน้ำดื่มขับพยาธิ

น้ำคั้นจากหัวผสมกับเกลือใช้แก้อาการชักหรือใช้น้ำคั้นจากหัวผสมกับเหล้าลูบตามลำตัวเพื่อลดอาการชักได้เช่นกัน

หอมแดงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง สามารถปลูกร่วมกันกับการปลูกป่าได้เป็นอย่างดี



ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ น.๑๐๒




สตรีกับโลหิตฤดู
ว่ากันตามหลักภูมิปัญญาดั้งเดิม การดูแลสุขภาพของสตรีนั้น เขาจะคอยดูแลเลือดลมหมุนเวียนที่มากับประจำเดือนของผู้หญิงไม่ให้มีปัญหา หรือแก้อาการที่มาพร้อมประจำเดือนนั่นเอง

ในคัมภีร์โบราณที่ชื่อว่า “พระคัมภีร์มหาโชตรัต ที่ถือว่ากล่าวถึงเรื่องราวโรคเกี่ยวกับสตรีไว้เป็นการเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของสตรีและบุรุษไว้ ๕ ประการ ได้แก่
๑.ถันประโยธรหรือมีเต้านมที่แตกต่างจากบุรุษ
๒.จริตกิริยา ข้อนี้ก็เห็นได้ง่ายว่ากิริยาอาการของผู้หญิงต่างกันอย่างไร
๓.ที่ประเวณี คำคำนี้หมายถึงช่องคลอด และ
๔.ต่อมโลหิตฤดู (ระดู) หมายถึงมดลูกนั่นเอง ซึ่งต่อมโลหิตฤดูนี้มีความสำคัญต่อสุขภาพสตรีอย่างมาก เทียบเคียงความรู้ปัจจุบันก็คืออวัยวะสำคัญในเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงและเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

โบราณท่านบรรยายประมาณนี้ว่า สตรีเมื่อพ้นกำหนดแห่งตานทรางแล้ว (เปลี่ยนจากวัยเด็ก) อายุ ๑๔-๑๕ ปี ต่อมโลหิตก็ตั้งขึ้นมาตามประเพณี แล้วมีฤดูมา ถันประโยธรก็วัฒนาเจริญขึ้น

พูดง่ายๆ ว่า จากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มสาวเต็มตัว ในอดีตเด็กโตช้า แต่ปัจจุบันเหมือนว่าอายุ ๑๒ – ๑๓ ปีก็มีประจำเดือนกันแล้ว นี่เป็นปัญหาทางสังคม ท้องก่อนวัยอันควรจำนวนไม่น้อยด้วย

หากพิจารณาตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง การเริ่มมีฤดูหรือระดูเป็นจุดเปลี่ยนของวัยและเป็นตัวชี้วัดสำคัญข้อหนึ่งว่า สตรีผู้นั้นจะมีสุขภาพดีหรือไม่ สตรีบางคนผิวพรรณหน้าตาผ่องใส ประจำเดือนมาตรงเวลา ระดูออกมาดี อาการปวดท้องและอ่อนเพลียก็ไม่มากนัก แต่มีสตรีอีกมากเรียกว่าเตรียมลาป่วยล่วงหน้าเพราะอาการปวดท้องอย่างมาก แถมยังมีอาการไม่สบายต่างๆ มารุมเร้าร่างกายและจิตใจด้วย ในหนังสือโบราณตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่มที่ ๒ กล่าวถึงกลุ่มโรคของสตรีไว้มากมาย มีคำอยู่คำหนึ่งกล่าวว่า โรค “โลหิตปรกติโทษ” ความหมายของคำนี้คืออะไรกันแน่

ในคัมภีร์กล่าวไว้แบบนี้ “(โลหิตัง) นหารู ชาโต อันว่าโลหิต (ปรกติโทษ) อันบังเกิดมาแต่เส้นเอ็นทั้งปวงนั้น เมื่อจะใกล้มีระดูมา ให้เป็นประดุจดังไข้จับ ให้สะบัดร้อน สะบัดหนาว ปวดศีรษะ เป็นกำลัง ครั้นมีระดูออกมาแล้วก็หายไปแล”

บางคนคิดว่า อ๋อ... เป็นปรกติพอระดูออกมาแล้วก็หายไป ไม่ต้องรักษาอะไรทั้งนั้น

แต่ครูบาอาจารย์หลายท่านได้อธิบายความว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก็หาย แต่คำว่า โลหิตปรกติโทษ หมายถึง โทษหรือความไม่สบายที่มาเป็นประจำทุกครั้งเมื่อมีระดู พูดง่ายๆ โทษมารายเดือนซึ่งต้องแก้ไข

ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยเรามีคำตอบและมีศักยภาพในการบำบัดโรคและอาการของสตรีเหล่านี้ ใครที่เป็นมากเป็นมานานจะต้องปรึกษากับแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้านที่ชำนาญ แต่สตรีใดที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือนและอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่เป็นตำรับได้รับการรับรองขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งแล้ว แนะนำไว้ ๒ ขนานคือ
๑.ยาประสะไพล ส่วนประกอบ : ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ ๘ กรัม การบูร ๑ กรัม และไพล ๘๑ กรัม  วิธีใช้ที่แนะนำคือให้กินก่อนประจำเดือนจะมา ๒-๓ วัน และให้กินวันที่ ๑ และ ๒ ของประจำเดือนมาแล้ว

สรรพคุณ ใช้แก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอ และที่มาน้อย ช่วยแก้ปวดประจำเดือน นอกจากนี้ในตำรับยานี้ยังใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยขับน้ำคาวปลา หรือขับโลหิตเน่าร้ายหลังคลอดลูกด้วย

๒.ยาเลือดงาม ตำรับนี้ต้องถือเป็นตำรับพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ จำได้ว่าเมื่อครั้งมูลนิธิสุขภาพไทยทำงานในพื้นที่ อ.กุชุม จ.ยโสธร เมื่อ ๒๕ ปีก่อน ยาเลือดงามเป็นที่นิยมชมชอบของสตรีจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิด้วย กินก่อนมีประจำเดือนก็ช่วยให้ลดอาการปวดท้องและประจำเดือนมางามตามชื่อเลย  ส่วนประกอบได้แก่ ขิงแห้ง ตะไคร้ สะระแหน่ กระชาย กระทือ ผิวมะกรูด ใบมะนาว กระเพรา กระเทียม เปลือกเพกา โกศจุฬาลัมพา ช้าพลู ลูกเร่ว ลูกจันทน์ กานพลู ดีปลี ไพล พริกไทยล่อน เจตมูลเพลิงแดง ชะเอมเทศ หนักสิ่งละ ๕ กรัม พิมเสน การบูร หนักสิ่งละ ๑ กรัม ให้กินครั้งละ ๑-๒ กรัม วันละ ๓ ครั้น ก่อนอาหาร  สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิดด้วย

แม้ว่าโลหิตระดูจะมีวัยที่หมดไปตามธรรมชาติ แต่ช่วงที่ยังมีประจำเดือนหากได้ดูแลและปรับสมดุลเลือดลมไว้ให้ดี รากฐานสุขภาพในวัยหนุ่มสาวจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใสในช่วงสูงวัยด้วย  


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒




สหัสธารา ยาไทยตำรับใหญ่
แก้อาการปวดหลัง ปวดเอวได้ชะงัด


ขึ้นชื่อว่า “สหัสธารา” แล้ว หมอไทยทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นยาหลักตำรับหนึ่งที่ใช้รักษาอัมพฤกษ์ แก้ปวดเมื่อยเรื้อรังได้ผลดีกว่ายาตัวอื่น

ทั้งนี้เพราะสหัสธาราเป็นยาตำรับใหญ่ ประกอบด้วยสมุนไพรมากชนิดถึง ๒๑ ตัวได้แก่ ๑.พริกไทยล่อน ๒.รากเจตมูลเพลิงแดง ๓.ดอกดีปลี  ๔.หัสคุณเทศ  ๕.เนื้อสมอไทย  ๖.รากตองแตก  ๗.เหง้าว่านน้ำ  ๘.การบูร  ๙.ดอกจันทน์  ๑๐.เทียนแดง  ๑๑.ลูกจันทน์  ๑๒.เทียนตาตั๊กแตน  ๑๓.มหาหิงคุ์  ๑๔.เทียนสัตตบุษย์  ๑๕.เทียนขาว  ๑๖.จิงจ้อ  ๑๗.เทียนดำ  ๑๘.โกฐกักกรา  ๑๙.โกฐเขมา  ๒๐.โกฐก้านพร้าว  ๒๑.โกฐพุงปลา

ในตำรับยานี้จึงมีตัวยาออกฤทธิ์แรง แต่ในขณะเดียวกันตำรับจากภูมิปัญญานี้ก็มีสมุนไพรหลายตัวที่ช่วยคุมการออกฤทธิ์ไม่ให้เกิดโทษ  เนื่องจากกลุ่มสมุนไพรที่ออกฤทธิ์หลักเป็นยารสร้อนมาก ได้แก่ พริกไทยล่อน รากเจตมูลเพลิงแดง ผลดีปลี หัสคุณเทศ มหาหิงคุ์

ยิ่งกว่านั้น ยังเสริมฤทธิ์กระจายลมด้วยยารสสุขุมร้อนเล็กน้อยของกลุ่มสมุนไพรเหง้าว่านน้ำ ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ รากจิงจ้อ การบูร รวมทั้งเทียน ๕ ได้แก่ เทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ เทียนตาตั๊กแตน และเทียนสัตตบุษย์

เฉพาะกลุ่มสมุนไพรรสเผ็ดร้อนกลุ่มแรก ก็มีปริมาณเกินร้อยละ ๖๐ ของตำรับแล้ว

สมุนไพรกลุ่มนี้แหละที่ออกฤทธิ์ขับลมในเส้นทั่วสรรพางค์กาย จึงช่วยคลายความปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความตึงของเส้นเอ็น แก้ตะคริว  และรักษาอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า อันเกิดจากร่างกายเย็นและธาตุลมหย่อน

อย่างไรก็ตาม ในตำรับนี้ก็มีกลุ่มสมุนไพรจำพวกโกฐ ที่ช่วยคุมฤทธิ์ร้อนของยาสหัสธารา อันได้แก่ โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐกักกรา และโกศ เขมา แม้บางตัวจะมีรสร้อนเล็กน้อยแต่โดยรวมแล้วโกฐกลุ่มนี้มีรสเย็น ฝาด ขม มีสรรพคุณโบราณประการหนึ่งของยาสหัสธารา คือ เพิ่มกองลมแล่นลงล่างให้ไหลสะดวก ซึ่งช่วยให้บริเวณหลัง เอว และส่วนล่างของร่างกายผ่อนคลายหายปวดเมื่อย สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ดุจดั่งได้รับละอองน้ำสหัสธารา อันเป็นละอองน้ำสรงของพระราชาเลยทีเดียว

สรรพคุณข้อนี้แหละที่สอดคล้องกับรายงานวิจัยทางการแพทย์ของศิริราชเมื่อปี ๒๕๕๙ เรื่อง “ผลลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันของตำรับยาสหัสธารา”

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยาสหัสธาราในการลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ตั้งแต่ ๑-๓ วัน จำนวน ๒๙ ราย อายุ ๑๘-๖๕ ปี

แบ่งผู้ป่วยเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจำนวน ๑๔ ราย ได้รับยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร  และกลุ่มหลังจำนวน ๑๕ ราย ได้รับยาสหัสธารา ขนาด ๑,๓๕๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร

ทั้งสองกลุ่มรับยาเป็นเวลา ๗ วัน พบว่ายาไทยสหัสธาราในขนาดที่ใช้ในการวิจัย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันได้เท่ากับยาไอบูโปรเฟน

ด้วยความเป็นยาสรรพคุณดีมีความปลอดภัยสูงนี่เอง ยาสหัสธาราจึงได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติและบัญชีเภสัชตำรับโรงพยาบาลของรัฐ

ซึ่งยาสหัสธาราได้รับการประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติในบัญชียาจากสมุนไพรไว้ว่า ประกอบด้วย พริกไทยล่อน หนัก ๒๔๐ กรัม รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก ๒๒๔ กรัม ดอกดีปลีหนัก ๙๖ กรัม หัศคุณเทศ หนัก ๔๘ กรัม เนื้อลูกสมอไทย หนัก ๑๐๔ กรัม รากตองแตก หนัก ๘๐ กรัม เหง้าว่านน้ำ หนัก ๘๘ กรัม การบูร หนัก ๑๔ กรัม ดอกจันทน์หนัก ๑๓ กรัม เทียนแดง หนัก ๑๑ กรัม ลูกจันทน์ หนัก ๑๒ กรัม เทียนตาตั๊กแตน มหาหิงคุ์ หนักสิ่งละ ๑๐ กรัม เทียนสัตตบุษย์ หนัก ๙ กรัม เทียนขาว รากจิงจ้อ หนักสิ่งละ ๘ กรัม เทียนดำ หนัก ๗ กรัม โกฐกักกรา หนัก ๖ กรัม โกฐเขมาหนัก ๕ กรัม โกฐก้านพร้าว หนัก ๔ กรัม โกฐพุงปลา หนัก ๓ กรัม

ขนาดและวิธีใช้ กินครั้งละ ๑-๑.๕ กรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร

แต่มีข้อห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และผู้มีไข้ สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อนพึงใช้ยาด้วยความระมัดระวังตามคำสั่งแพทย์ ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้แล้วเกิดปวดหลังปวดเอว

สมุนไพรตำรับสหัสธาราเป็นทางเลือกที่ดีในยุคสมุนไพร ๔.๐ แน่นอน.


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒




มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก

ในช่วง ๒-๓ ปีมานี้ชื่อของ “มะแข่น” (เรียกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) หรือ “มะแขว่น” (ชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้าน) โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วแคว้นแดนไทย

ด้วยมะแขว่นเป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มรสชาติชวนชิมให้แก่หลากหลายเมนูอาหารพื้นเมือง ทำให้แหล่งกำเนิด “มะแข่น” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของเมืองน่าน โดยมี “มะแข่น” เป็นศูนย์กลางถึงขนาดจัดสร้างอีเวนต์เทศกาล “วันมะแข่น” ในช่วงฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน

จนทำให้ “มะแข่น” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจขายดีของท้องถิ่นน่านและล้านนา และมี “โครงการวิจัยฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) จากพืชท้องถิ่นบนพื้นที่ราบสูง” ของ “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง” ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ช่วยสนับสนุนส่งเสริมอย่างแข็งขัน

เมนูอาหารล้านนาประเภทลาบ หลู่ ยำ ย่าง ทอดต่างๆ ที่ปรุงด้วยเครื่องเทศรสดีมีเอกลักษณ์ของ “มะแข่น” ลำขนาด (อร่อยมั่กๆ) แค่ไหนใครๆ ก็พอทราบดีกันอยู่แล้ว

และควรแสวงหามารับประทานเป็นอาหารอุ่นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสหวัดที่กำลังระบาดในหน้าฝนอันเย็นชื้นยาวนานไปอีกหลายเดือน

ในที่นี้จะกล่าวถึงสรรพคุณทางยาและตำรับยาที่มีส่วนประกอบของ “มะแข่น” ซึ่งยังไม่รู้จักเป็นที่แพร่หลายนัก

นอกจากพอรู้ว่าเปลือกผลของเม็ดมะแข่นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน ใบนำมาเคี้ยวทำให้รู้สึกชาแก้ปวดฟันได้ และเม็ดนำมาตำร่วมกับพริกไทยล่อน ดีปลี แล้วหุงกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทานวดคลายเส้นตึง แก้ฟกบวม และถอนพิษฝีได้ชะงัด

เนื่องจากเปลือกผลและเม็ดของ “มะแข่น” มีรสเผ็ดหอม หมอยาไทยจึงเรียก “มะแข่น” อีกชื่อหนึ่งว่า “พริกหอม” ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับยาหลวงหลายขนานใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” และใน “พระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”

จึงมีปัญหาว่า “มะแข่น” หรือ “มะแขว่น” ในภาษาพื้นเมืองเป็นตัวเดียวกับ “พริกหอม” ในตำรับยาตำราหลวงหรือไม่

ในตำราวิชาการของกรมป่าไม้ “มะแข่น” และ “พริกหอม” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันว่า Zanthoxylum Limonella Alston แต่ใน “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ของ ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ระบุต่างกันว่า “มะแข่น” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zanthoxylum Budrunga Wall แต่ “พริกหอม” ในตำรับยาโอสถพระนารายณ์ มีชื่อสามัญว่า Zanthoxylum Piperatum DC. มีชื่อสามัญว่า Japanese Pepper ซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาในประเทศญี่ปุ่นและเป็นสมุนไพรนำเข้ามาแต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม พืชสมุนไพรเครื่องเทศป่าจำพวก “มะแข่น” “มะข่วง” “กำจัดต้น” หรือ “พริกหอม” หรือพริกไทยญี่ปุ่น ล้วนเป็นพืชในสกุล (Genus) เดียวกัน แม้ต่างชนิด (Species) กันก็ตาม แต่ก็มีรสยาและสรรพคุณยาไม่แตกต่างกันสามารถนำมาแทนกันได้

ในที่นี้ขอนำเสนอตำรับยาในคัมภีร์ดั้งเดิมของไทยชื่อว่า “พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์” ชื่อตำรับยา ยาพรหมภักตร์น้อย หรือยาประสะพริกหอม ซึ่งมีส่วนประกอบของ “พริกหอม” เป็นตัวยาหลัก มีสรรพคุณบำรุงกระดูกและไขข้อในกระดูก

ส่วนประกอบในตำรับยามีดังนี้ ดอกจันทน์ ผลจันทน์ กานพลู สิ่งละ ๑ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๑๐ กรัม)  มหาหิงคุ์ ยาดำ และการบูร สิ่งละ ๔ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๔๐ กรัม)

ใส่พริกหอมเท่ายาทั้งหลาย คือ ๑๕ ส่วน (หรือ ๑๕๐ กรัม) นำมาบดผง ปั้นกับน้ำกระสายจากน้ำต้มเปลือกมะรุม ปั้นเป็นเม็ดเท่าผลมะแว้งเครือ (หนักประมาณเม็ดละ ๒๕๐-๓๐๐ มิลลิกรัม) กินเพียงวันละ ๑ เม็ด ก่อนอาหารเช้า เป็นเวลา ๑๕ วัน กระดูกจะแข็งแรงขึ้นและข้อกระดูกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะกระชับจนรู้สึกได้

ขอหมายเหตุว่า ถ้าจะใช้เปลือกผลหรือเม็ด “มะแข่น” แทน “พริกหอม” ในตำรับยาดังกล่าวก็ย่อมได้ หรือแม้แต่ไม่มีพริกหอม ท่านก็ให้ใช้พริกไทยล่อน (พริกไทยขาว) แทนก็ยังได้

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะบาง หรือมวลกระดูกลดลงหรือรู้สึกหนาวเย็นในกระดูก จะไหว้วานหมอยาไทยช่วยปรุงตำรับยาพรหมภักตร์น้อย หรือ “ยาประสะมะแข่น” ให้รับประทานตามขนาดที่ระบุไว้ รับรองไม่มีอันตรายใดๆ และในภูมิปัญญาของชาวล้านนายังพบบันทึกเรื่องราวทางการแพทย์ว่า หมอพื้นบ้านใช้เมล็ดสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต ชาวจีนก็มีตำรายาคล้ายภูมิปัญญาบ้านเรา ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย

รายการอาหารดังแนะนำไปกินมะแข่นที่เมืองน่านนั้น แท้จริงยังมีแหล่งอาหารสุดอร่อยอื่นอีกมากทั้งเหนือและอีสาน อาหารที่ปรุงด้วยมะแข่นจะอร่อยต้องมาจากแหล่งมะแข่นคุณภาพ ซึ่งพบว่าหากช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติให้มะแข่นธรรมชาติได้อยู่อาศัยจะให้รสชาติดีมาก และหากจะปลูกเสริมก็ต้องรักษาป่าไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตดี มีราคาสูง บางท้องถิ่นที่มะแข่นคุณภาพดีๆ ราคาหลายร้อยจนถึงหลักพันบาทต่อกิโลเลยทีเดียว


ที่มา : "มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐




อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว

ระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านได้รับการฟื้นฟูกลับสู่สังคมไทย การอยู่ไฟหลังคลอดได้รับการยอมรับให้บริการอยู่ไฟในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ อาจพูดได้ว่าเป็นการปรับประยุกต์การอยู่ไฟให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน

การอยู่ไฟยุคปัจจุบันได้ถอดองค์ความรู้ดั้งเดิมเพื่อนำมาจัดบริการให้คุณแม่รุ่นใหม่อย่างน้อย ๔ ขั้นตอน คือ เช่น
๑) ทำการนวดไทย และประคบร่างกาย
๒) ให้เข้ากระโจมหรือตู้อบด้วยสมุนไพร
๓) นาบหม้อเกลือ หรือบางที่ก็เรียกว่า ทับหม้อเกลือ
๔) การนั่งถ่าน

แต่ใครจะนึกว่า วิถีอยู่ไฟแบบบ้านๆ ยังมีให้เห็น

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยไปเยี่ยมเยือนมิตรสหายในแหล่งท่องเที่ยวสุดฮอตแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ที่แห่งนี้เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเคยมาอาศัยและทำงานในพื้นที่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน

ปัจจุบันชุมชนเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจท่องเที่ยวมายึดครองพื้นที่ไปทั่ว แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อได้ไปเยี่ยมครอบครัวที่เคยได้พักอาศัยหลับนอนเมื่อ ๒๐ ที่แล้ว  เด็กหญิงอ้อยที่รู้จักนั้น ตอนนี้เป็นสาวหรือแม่คนแล้ว เพิ่งคลอดลูกคนที่ ๒ และกำลังนอนอยู่ไฟที่บ้าน ซึ่งชุมชนคนเกาะยาวยังสืบสานวิถีวัฒนธรรมนี้ไว้มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งนิยมให้ลูกหลานทำการอยู่ไฟ

แบบฉบับดั้งเดิมนั้นจะอยู่ไฟ ๔๔ วัน แต่ในปัจจุบันนี้ลดลงเหลือประมาณ ๒ สัปดาห์เต็ม หรือแล้วแต่ใครจะมีเวลามากน้อยแค่ไหน

คุณแม่น้องอ้อยคนนี้นอนอยู่บนแคร่ ซึ่งแคร่ไม่ใช่ของส่วนตัว แต่เพราะสังคมของที่นี่ยังหลงเหลือวัฒนธรรมแบ่งปันกัน แคร่อยู่ไฟตัวนี้จึงใช้วิธีหยิบยืมกันในชุมชน สำหรับฟืนก่อไฟก็หาได้ทั่วไปในป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งสภาพแวดล้อมของเกาะยาวอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงนำไม้แสม ไม้พังกา ไม้แต้ว มาใช้อยู่ไฟได้  แต่ก็มีไม้ต้องห้าม ไม่นำมาใช้คือ ไม้ลูกเลือด เพราะจะทำให้คัน

ตอนที่นอนบนแคร่นั้น ข้างกองฟืนก็จะมีกาน้ำร้อนต้มน้ำวางไว้ให้แม่หลังคลอดกินน้ำอุ่นตลอดเวลา

น้ำต้มก็มักจะใส่สมุนไพร พริกไทยดำหรือขิง เพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาสมุนไพร ช่วยให้น้ำนมออกดี

แม่ก็จะกินน้ำสมุนไพรร้อนนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ

กินน้ำสมุนไพรร้อนๆ แล้วก็ต้องอาบน้ำอุ่นด้วย

โดยจะอาบน้ำอุ่นเช่นนี้ตลอดการอยู่ไฟประมาณ ๒ สัปดาห์

น้ำที่ใช้อาบจะใส่สมุนไพรหลักๆ ได้แก่ ใบมะขาม ใบหนาด ใบนุ้ย และอาจมีสมุนไพรอื่นที่หาได้ในชุมชน

อยู่ไฟแบบเกาะยาวไม่มีการนั่งถ่าน แต่มีสิ่งที่แตกต่าง คือ มีการใช้ก้อนเส้ามากดนวดไปตามท้อง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

ก้อนเส้าที่ว่านี้ คือก้อนหินขนาดใหญ่ที่ไปหามาจากชายทะเล แล้วนำมาเผาให้แดง จนร้อนจัด แล้วเอาน้ำราดเรียกว่าล้างหัวก้อนเส้า ซึ่งคงเป็นการลดความร้อนไม่ให้ร้อนเกินไป  จากนั้นใช้ใบยอรองที่หัวก้อนเส้า เอาผ้าห่ออีกหนึ่งชั้นหรือหลายชั้นเพื่อไม่ให้ก้อนเส้าร้อนเกินไป  แล้วนำก้อนเส้ามากดประคบให้ทั่วหน้าท้อง เพื่อให้ท้องยุบและช่วยมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

อาหารสำหรับแม่หลังคลอดที่ชาวเกาะยาวสืบทอดมานั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารที่เรียกน้ำนม มีรสเผ็ดร้อน เช่น แกงเคี่ยวพริกหัวปลี แก่งเคี่ยวพริกใบบัวบก เคี่ยวพริกหัวข่า เป็นต้น

แม่ครัวที่ทำจะใส่พริกไทยมากๆ เครื่องแกงก็ประกอบด้วยพริกแห้งและใส่ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม หัวหอม แต่เน้นใส่พริกไทยให้มาก ถ้าทำเป็นแกงกะทิจะเคี่ยวให้เหลือน้ำน้อยๆ

ถ้าทำแกงกับปลาย่าง

ข้อห้ามหรือของแสลงคือ ไม่ปรุงด้วยปลาที่ไม่มีเกล็ด (กินเฉพาะปลามีเกล็ด)

สำหรับการดูแลเด็กนั้น รอจนสายสะดือหลุดก็จะโกนผมไฟให้ ถ้าเด็กมีอาการปวดท้อง ร้องไห้โยเยก็ใช้ไพลฝนกับหินแล้วเอาน้ำมาทาท้อง หรือใช้น้ำมันมะพร้าวมาทาที่ฝ่ามือแม่ แล้วถูฝ่ามือให้เกิดความร้อน น้ำฝ่ามือประคบ นวดเบาๆ ที่ท้องเด็ก เป็นการแก้ท้องอืด ภูมิปัญญาพื้นถิ่นยังใช้ใบกระเพราตำผสมยาแสงหมึก นำไปกวาดแก้ซาง

ลูกชาวเกาะยาวเชื่อมั่นนมแม่ เพราะแม่ทั้งกินอาหารสมุนไพรและได้อยู่ไฟทำให้มีน้ำนมมากพอเลี้ยงลูก และการกินน้ำนมแม่ซึ่งได้รับไออุ่นจากอกแม่นี้ เด็กๆ มักไม่ท้องอืด ทั้งยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ค่อยงอแง

ส่วนแม่เองก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันเมื่อได้อยู่ไฟว่าทำให้มดลูกแห้งเร็ว เข้าอู่เร็ว ไม่ปวดหลัง ไม่ปวดเมื่อย รู้สึกร่างกายกระชับ หน้าท้องไม่หย่อนยาน เลือดลมดูจะหมุนเวียนดี ผิวพรรณก็สดใสแม้จะมีลูกมาหลายคน

ที่พิเศษกว่าอยู่ไฟที่โรงพยาบาลคือ สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และได้รับความเอื้ออาทรของเพื่อนบ้านช่วยสร้างขวัญกำลังใจ เรียกว่าสุขภาพองค์รวมต้อนรับชีวิตใหม่อย่างดีเยี่ยม


ที่มา : "อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ตุลาคม 2560 13:50:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 08 สิงหาคม 2560 16:23:53 »



ปวดเข่า บรรเทาด้วยยาไทย

ไม่อยากได้แต่ก็กำลังมา นั่นคือ อาการปวดเข่า ปวดแข้งปวดขา

ท่านลองทบทวนตัวเองว่ามีพฤติกรรมส่วนใดที่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดเข่าหรือไม่ เช่นยืนนาน น้ำหนักตัวมากหรืออ้วน ไม่บริหารร่างกาย หรือออกกำลังกายกันเลย

มูลเหตุมากมายเหล่านี้คอยกัดกร่อนให้ข้อเข่าของเราเสื่อมถอยได้ก่อนวัย

ในมุมมองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย อธิบายว่า อาการปวดเข่ามาจากการติดขัดของลมในร่างกาย และตามหลักทฤษฎีเส้นของการนวดไทยที่เส้นอาจเกิดการติดขัด  ดังนั้น ในมุมมองศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมของไทย เห็นว่าทั้งลมและเส้นเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน สัมพันธ์กัน  การแก้ไขอาการปวดเข่าก็ต้องแก้ที่ลมและเส้นนั่นเอง

ย้อนไปในคัมภีร์เก่าสมัยอยุธยา ตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ได้บันทึกยาอยู่ ๒ ตำรับ คือ “ยาพระอังคบพระเส้น” และ “ยาทาพระเส้น”

ตำรับยาแรก เป็นตำรับลูกประคบ ช่วยเส้นที่ตึงให้หย่อน ประกอบตัวยา เทียนดำ เกลือ อย่างละ ๑ ส่วน อบเชย ๒ ส่วน ใบพลับพลึง ๘ ส่วน ใบมะขาม ๑๖ ส่วน ตำพอละเอียด คลุกให้เข้ากัน ห่อผ้า นำไปนึ่งให้ร้อน แล้วประคบตามเส้นที่ตึง

“ยาทาพระเส้น” เป็นยาทา แก้เส้นที่ผิดปกติ รวมไปถึงแก้ลมอัมพาต แก้ลมปัตคาด แก้ตะคริว แก้จับโปง แก้เมื่อยขบ ประกอบด้วย พริกไทย กระชาย ข่า หอม กระเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ อย่างละ ๑ ส่วน ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขาม ใบเลี่ยน อย่างละ ๔ ส่วน ใบมะคำไก่ ๑๖ ส่วน โดยใช้เหล้าขาวหรือน้ำส้มสายชู เป็นกระสายยา ใช้ทาบริเวณที่เป็น

ตำรับยาทั้ง ๒ ตำรับ ใครจะนำไปใช้ก็ได้เลย แต่ให้เข้าใจเพิ่มอีกนิดว่า การใช้ลูกประคบสมุนไพรซึ่งมีความร้อนนั้น ไม่ควรใช้ในกรณีที่ข้อเข่าหรือบริเวณนั้นกำลังอักเสบ ซึ่งมักจะมีอาการบวม แดง และร้อน

เพราะถ้าใช้ลูกประคบร้อนจะยิ่งทำให้การอักเสบเพิ่มขึ้น อาการปวดบวมก็มากขึ้นด้วย  ถ้าใครกำลังมีอาการปวดบวมแดงต้องใช้วิธีประคบเย็น เช่น ใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบ บรรเทาอาการบวมแดง

ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขหลายแห่ง จัดบริการยากพอกบรรเทาอาการปวดเข่าด้วยสมุนไพร ที่มีบริการทั้ง ๒ รูปแบบ  

ขอยกตัวอย่างสูตรยาบางขนาน ซึ่งแต่ละที่อาจจะใช้ส่วนประกอบแตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้

สูตรยาที่เรียกว่า ยาพอกเย็น คือเพื่อแก้อาการที่กำลังปวด แดง ร้อน และอาจบวมด้วย ส่วนประกอบ ใบย่านาง ๑๐ ใบ  ใบรางจืด ๑๐ ใบ  ใบตำลึง ๑๐ ใบ  ใบฟ้าทะลายโจร ๑๐ และใช้ดินสอพอพอประมาณพอให้ยาข้น

ให้เอาสมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำผสมกับดินสอพอง คลุกเคล้าให้ดีแล้วใส่น้ำสะอาดสักครึ่งแก้ว

ถ้าผู้ป่วยต้องการยาพอกทันทีก็นำน้ำยาข้นๆ มาพอกที่หัวเข่าได้เลย  แต่ถ้าพอรอได้ ก็มีเทคนิคให้นำยานี้ไปแช่ตู้เย็นให้ตัวยาเย็นๆ แล้วจึงเอามาพอกที่เข่า แล้วปล่อยไว้ ๒๐-๓๐ นาที หรือรอจนตัวยาแห้ง

ควรพอกวันละ ๑-๒ ครั้ง (เช้า-เย็น) จะช่วยลดอาการปวดเข่า เข่าบวม

ตำรับยานี้สมุนไพรทุกชนิดมีคุณสมบัติเย็นทั้งนั้น ตั้งแต่ตำลึง ย่านาง รางจืด และดินสอพองก็เป็นยาเย็นด้วย

แต่ถ้ามีอาการเจ็บเข่าที่ไม่มีอาการบวม แดง และพอเอามือไปสัมผัสไม่ร้อนนั้น ก็ลองใช้สูตรตัวยาสมุนไพรรสร้อน ทำพอกหรือประคบเข่าได้ ประกอบด้วย เหง้าขิงสดและเหง้าไพรสด นำมาล้างน้ำสะอาด นำมาฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตำให้ละเอียด คะเนปริมาณว่าพอเพียงในการนำมาพอกที่เข่า

สมุนไพรที่เตรียมไว้ให้ผสมกับน้ำมันงาหรือน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้ โดยคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเอาไปพอที่เข่า แล้วหาผ้าพันไว้ แต่อย่าใช้ผ้าหนาเกินไป ให้เลือกผ้าบางๆ พอให้ระบายอากาศได้ พอกทิ้งไว้สัก ๓๐-๔๕ นาที ทำเช้าเย็น

ตำรับนี้จะเลือกใช้เพียงขิงอย่างเดียวหรือไพลอย่างเดียวก็ได้ สมุนไพรทั้งสองนี้มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดและแก้อักเสบได้

นอกจากพอกยาสมุนไพรแล้ว หากได้กินน้ำต้มเถาโคคลานอุ่นๆ วันละ ๓ เวลา ครั้งละแก้ว ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วย และยิ่งได้นวดคลายเส้น อาจทำการนวดตนเองหรือไปพบหมอนวดไทยช่วยจับเส้นคลายเส้น ก็ยิ่งช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเมื่อยแข้งขาได้ดีขึ้น

และถ้าได้ออกกำลังกายฝึกท่าบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง ก็จะเป็นการเสริมให้อาการปวดเข่าทุเลาเบาบางลงด้วยเช่นกัน


ที่มา : "ปวดเข่า บรรเทาด้วยยาไทย" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๘ ประจำวันที่ ๒๘ กรกฎาคม - ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐





ในพระไตรปิฎกที่เป็นเหตุการณ์ในประเทศอินเดียนั้น ขี้อ้นก็น่าเป็นพันธุ์อินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia odorata Willd.

แต่พืชในสกุลนี้ก็มีรายงานในประเทศไทยอยู่ ๒ ชนิด คือ เทียนบราซิเลี่ยน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia multiora A.St.-Hill ซึ่งเป็นไม้พุ่ม และจริงๆ แล้วเป็นไม้ของต่างประเทศมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

อีกชนิดคือ ขี้อ้นฝอย ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia zeylanica (L.) Cav. ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก

ถ้าเป็นในอดีตคงต้องนับพืชอีก ๓ ชนิด เพราะเคยจัดอยู่ในสกุลนี้ แต่ต่อมาทางวิชาการย้ายไปอยู่สกุลอื่น ได้แก่ ขี้อ้นใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urena repanda Roxb.ex Sm. และขี้อ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urenarigida Wall.ex Mast เป็นไม้พุ่ม และขี้ครอก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urenalobata L.

ไม้ในกลุ่มนี้ทั้งหมดหมอพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “ขี้อ้น” และงานวิชาการต่างชาติก็พูดไว้ตรงกัน เนื่องจากผลของขี้อ้นมีลักษณะคล้ายกับขี้หรือมูลของตัวอ้นนั่นเอง (hoary bamboo rat; Rhizomys pruinosus Blyth,1851)

มาดูการใช้ประโยชน์แยกชนิดกัน ต้นขี้อ้นอินเดีย (Pavonia odorata Willd.) ในวิชาอายุรเวทมีการใช้เป็นยากันมาก โดยนำส่วนของรากมาทำให้แห้ง บดให้เป็นผง ซึ่งจะมีกลิ่นหอมมาก ใช้เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ในปัจจุบันมีการนำเอาส่วนรากมาสกัดให้ได้น้ำมันใช้เป็นยาทาผิวหนังด้วย

ขี้อ้นฝอย (Pavonia zeylanica (L.) Cav.) มีชื่อสามัญว่า Yellow ticky mallon เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กใช้เป็นยาสมุนไพรทั้งในอายุรเวทสิทธาและยาพื้นเมืองอื่นของประเทศอินเดีย ส่วนของใบและรากมีรสฝาด ใช้เป็นยาลดการอักเสบ อาการตกเลือดหรือเลือดไหลไม่หยุดและบิดมีตัว สูตรยานี้ให้นำส่วนของรากต้มกับผลมะตูมในการรักษาบิดมีตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนของต้นอ่อนนำมาทำให้ผิวนุ่มนวล ทำให้เย็นสบาย และใช้เป็นยากินแก้ลมในท้องหรือกระเพาะอาหาร

ขี้อ้นใหญ่ (Urena repanda Roxb.ex Sm.) ในประเทศอินเดียใช้รากและเปลือกรักษาโรคกลัวน้ำ

ขี้อ้นหรือขี้อ้นแดง (Urena rigida Wall.ex Mast) เป็นไม้พุ่ม ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ดอกบานในหน้าแล้ง สีแดงอมชมพู ขึ้นกระจายเป็นวงกว้างตามท้องนาหรือตามชายป่า หมอยาพื้นบ้านอีสานใช้ราก ต้มน้ำให้สตรีระหว่างอยู่ไฟหลังคลอดกิน และใช้บำรุงโลหิต ในประเทศลาวใช้รากรักษานิ่วในถุงน้ำดี โดยใช้ราก ๑๐๐ กรัม ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นอีก ๔ ชนิด อย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำดื่ม

ขี้ครอก (Urenalobata L.) มีชื่อสามัญว่า Bur Mallow เป็นพืชที่มีหลักฐานการใช้มากที่สุดของพืชในกลุ่มนี้ แบ่งกลุ่มการใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้

การใช้ประโยชน์ทางอาหาร ส่วนของเมล็ดใช้ใส่ลงในสตูหรือโจ๊ก จะทำให้อาหารมีลักษณะเป็นเมือก ส่วนของใบใช้ผัดหรือต้มเป็นอาหาร

การใช้ประโยชน์ทางยาก รากใช้รับประทานเป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ทั้งปวง รากใช้เป็นยาพอก แก้โรคปวดข้อ ต้นราก ใบ ใช้เป็นยาแก้มุตกิดตกขาวของสตรี เป็นยาแก้นิ้ว ยาขับลมชื้นในร่างกาย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายเพราะลมในร่างกายเข้าแทรก เป็นยากระจายเลือดลม ต้นและใบใช้ต้มกับน้ำกินแก้ไตพิการ แก้พิษน้ำเหลืองเสีย ใช้เป็นยาภายนอก ใช้ต้นตำพอกเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผลสด

ในต่างประเทศใช้น้ำคั้นจากใบรักษาอาการผิดปกติในช่องท้อง เช่น อาการปวดแบบฉันพลันของลำไส้ใหญ่ ปวดกระเพาะ ท้องเสียและบิดมีตัว นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคหนองในและลดอาการไข้จากการติดเชื้อมาลาเรีย ใบและรากนำมาต้มดื่มเพื่อลดอาการเมาและช่วยลดความปวดเมื่อยตามร่างกาย

ส่วนของรากนำมาทำเป็นโลชั่นทาแก้โรคคุดทะราด (เนื่องจากเชื้อ Treponema pertenue) และแก้อาการปวดหัว ทุกส่วนของพืชนำมาหมักด้วยน้ำใช้แก้กระดูกแตกหรือกระดูกหัก ใส่แผล การอักเสบของหัวนมและเต้านมและงูกัด

ส่วนของใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้ทำยาทาผิวทำให้ผิวนุ่มนวล ช่วยลดไข้ ห้ามเลือด ใช้เป็นยารักษาบาดแผล ใช้เป็นยาลดอาการอักเสบในส่วนของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ

นอกจากนี้ ส่วนของใบยังใช้เป็นยาชงแบบเข้มข้นดื่มในกรณีที่คลอดบุตรยาก

ส่วนของรากใช้แก้อาการไขข้ออักเสบและลดอาการปวดเอว และต้มดื่มแก้หวัด อาหารไม่ย่อย ระดูขาวและมุตกิด มาลาเรีย กิ่งขนาดเล็กนำมาเคี้ยวแก้ปวดฟัน ส่วนของเปลือกใช้ห้ามเลือด ส่วนของดอกนำมาต้มดื่มแก้ไอแบบแห้ง ส่วนของเมล็ดต้มดื่มขับพยาธิ

การใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ เช่น เส้นใยจากลำต้นมีคุณภาพดีมาก ขาว เหนียวและนุ่ม นิยมนำมาทอเป็นผ้า กระดาษหรือทำวัสดุอื่นๆ ทนต่อการกัดกินของปลวกและกันน้ำ ส่วนของเมล็ดนำมาทำสบู่ หรือทั้งต้นนำมาเผาให้เป็นถ่านใช้ทำเป็นยาสีฟัน มีคุณสมบัติในการขัดฟัน

การศึกษาพันธุ์ไม้ในพระไตรปิฎก นอกจากหลักธรรมะและยังเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สามารถพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันด้วย ขี้อ้นชื่อไม่เพราะแต่ประโยชน์มากจริงๆ


ที่มา : "ขี้อ้น ประโยชน์สมุนไพรมากจริงๆ" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๓ ประจำวันที่ ๑-๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐




กลอนดู่
Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.
LABIATAE (LAMIACEAE)

ไม้ล้มลุกหลายปี ผิวหยาบ ลำต้นตั้ง สี่มุม เนื้อแข็ง มีขนสั้นหนานุ่มหนาแน่น ไม่มีเนื้อไม้

ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปไข่ หรือไข่กลับ โคนใบรูปลิ่มแคบหรือรูปเกือบตัด ขอบใบหยักมนหรือจักฟันเลื่อยแกมหยักมน ปลายใบแหลม ผิวบนมีขนสาก ท้องใบมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีขนสั้นหนานุ่มหนาแน่น

ดอก ช่อแบบช่อฉัตร ออกเป็นช่อแน่นที่ซอกใบ ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ วงกลีบเลี้ยงมีสันที่ยื่นขึ้นมา มีขนหยาบแข็งด้านใน รูปใบหอกหยักแหลม ปลายกลีบแหลมถึงเรียวแหลม สั้นกว่าพูกลีบ วงกลีบดอกสีขาวถึงสีขาวครีมแกมเหลืองอ่อน โค้งขึ้นแยกกัน มีขนสั้นหนานุ่มด้านนอก ก้านชูอับเรณู มีขนหยาบแข็งประปรายเมื่อยังอ่อนอยู่เปลี่ยนเป็นเกลี้ยง รังไข่มีขนอุย

ผล มี ๑-๔ ผลย่อย เมล็ดเดียวแข็ง เรียบ มีขนสากที่ปลายยอด สีนวลใส

ใบ รักษาแผลเปิด ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๘กันยายน ๒๕๖๐




ต้นชะโนด ในป่าคำชะโนด

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับคำว่า “ชะโนด” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาหลายสิบปี ชื่อเสียงนั้นเป็นทั้งพื้นที่เร้นลับและเป็นที่ศรัทธาของคนมากมาย แต่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดน้ำท่วมทำให้เป็นที่กล่าวถึงโด่งดังมากขึ้นไปอีก

พื้นที่นี้คือ “ป่าคำชะโนด” ตั้งอยู่ที่บ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

มีผู้กล่าวถึงตำนานป่าคำชะโนดไปต่างๆ นานา แต่ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์บอกได้ว่า ป่าคะชะโนดนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะ มีเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) จำนวน ๔๑๗ ไร่

คำว่า “ป่าคำชะโนด” นี้ได้นำเอาศัพท์ ๒ คำมารวมกัน คือคำว่า “คำ” หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซับหรือมีน้ำซึมจากใต้ดินขึ้นมาขังบนผิวดิน คนอีสานเรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า “น้ำคำ”

ส่วนคำว่าชะโนด เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปาล์ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Taraw palm หรือ Ceylon oak มีชื่อวิทยาศาสตร์ Livistona saribus (Lour.) Merr. ex Cheval. เป็นพืชที่พบอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลายได้ เช่น ค้อพรุ จะทัง (สุราษฎร์ธานี) ค้อสร้อย (กรุงเทพฯ) ซือแด (มาเลย์-นราธิวาส) ร็อก (ตรัง) ซึ่งชื่อเรียกว่า ร็อก เป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการของไทยของพืชชนิดนี้ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักเพราะมักเรียกว่าชะโนดกันทั่วไป

ในภาคอีสานยังจะพบต้นชะโนดได้ที่บริเวณสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ด้วย  และในต่างประเทศพบต้นชะโนดได้ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม บอร์เนียว ชวา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไปถึงออสเตรเลียและแหลมปลายสุดของทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบตามหมู่เกาะโพลิเนเชียน มณฑลกวางดงและยูนนานของประเทศจีนด้วย

ชะโนด เป็นไม้ที่มีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนต้นมะพร้าว ลูกเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายหมาก สูงเต็มที่ประมาณ ๓๐ เมตร ส่วนของตายอดนำมาใช้ประกอบอาหาร การเก็บตายอดมาเป็นอาหารทำให้ลำต้นตายได้ ส่วนของเยื่อหุ้มรอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดเมื่อนำมาแช่ในน้ำส้มสายชูหรือน้ำเกลือนำมากินได้ หรือส่วนของผลนำไปหมักดองทำเป็นเครื่องดื่ม ส่วนของช่อดอกคั้นน้ำไปทำน้ำตาลก็ได้ ส่วนของใบใช้ทำเสื่อและหมวก ใบอ่อนมีเส้นใยยาวใช้ทำไม้กวาด ส่วนกลางของใบใช้เป่าเป็นเพลงได้ ส่วนยอดที่อ่อนอยู่ใช้ทำเบาะรองนั่ง ทำความสะอาดภาชนะ ส่วนของหนามนั้นภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้ทำกับดักสัตว์

เอกสาร CRC World Dictionary of Palms ได้กล่าวไว้ว่า ชะโนด สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มพลังทางเพศ ยาระบาย ยาถ่ายและแก้หวัด ส่วนของผลใช้เป็นยาถ่าย ใช้แก้อาการระบบประสาทผิดปกติ หอบหืดและทอนซิลอักเสบ และยังมีวิธีรมควันใช้แก้โรคผิวหนังบางประเภท  ส่วนของเกสรตัวผู้นำมาผสมกับน้ำผึ้งและขิง เป็นยาแก้อาการเป็นหมันของผู้ชายได้ และหนามที่อยู่ใบต่ำสุดให้นำมาบดแล้วนำไปต้ม ใช้อมแก้เจ็บในช่องปาก

พอรู้จักต้นชะโนดแล้ว น่าจะรู้จักพืชอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกับชะโนดมาก คือ ค้อ มีชื่อสามัญว่า Mountain serdang มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Livistona speciosa Kurz ในประเทศไทยพบได้ทั้งทางภาคเหนือ อีสานและใต้ โดยมีชื่อท้องถิ่น ดังนี้ ก๊อแล่ (เชียงใหม่) ค้อ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ประจวบคีรีขันธ์) ทอ หลู่หล่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) สิเหรง (ปัตตานี) ในอดีตพบมากที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานที่นั่นเอง

ค้อเป็นปาล์มต้นเดี่ยว ชอบขึ้นอยู่บนภูเขา ขนาดของลำต้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สูงได้ถึง ๒๕ เมตร ใบเป็นรูปพัด จักเว้าลึกไม่ถึงครึ่งตัวใบ จีบเวียนรอบใบสวยงาม ใบอ่อนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกเป็นช่อออกระหว่างกาบใบ ช่อยาว ๑.๕๐ เมตร ผลกลมรี ขนาด ๒ เซนติเมตร ผลแก่สีเขียวคล้ำ ผลสุกรับประทานได้ ผลแก่มีสีน้ำเงินอมเทา เป็นสีธรรมชาติที่ค่อนข้างแปลกเหมือนไม่ใช่สีธรรมชาติ

ค้อต่างจากชะโนดตรงที่ค้อมีผลขนาดใหญ่กว่าชะโนด คนอีสานตอนบนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งโขงและประชาชนในประเทศลาวนิยมนำผลมรับประทาน โดยนำผลมาล้างให้สะอาด ขัดเอาผิวที่เป็นสีน้ำเงินอมเทาออกให้หมด ถ้าไม่ขัดผิวออกจะทำให้มีรสฝาดมาก จากนั้นนำไปดองในน้ำเกลือประมาณ ๕-๗ วัน นำมารับประทานกับข้าว

ส่วนการใช้ประโยชน์ทางยาคล้ายกับชะโนด ในประเทศลาวเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการซื้อขายในตลาดทั่วไปและส่งออกไปยังประเทศจีน ใบตากแห้งใช้มุงหลังคา ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าค้อเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เป็นเครื่องดื่มหรือผลไม้ที่ใช้ลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ดี

ที่นำเอา ชะโนดและค้อ มาเสนอเพื่อให้เห็นประโยชน์มากกว่าความเชื่อศรัทธา หากช่วยกันส่งเสริมการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกไม่นานเราอาจได้อาหารและเครื่องดื่มบำรุงขวัญ บำรุงจิตใจและบำรุงร่างกายจากต้นชะโนด มีค่าเท่าทองคำก็ได้ ใครจะรู้


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๙ วันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐




ลิ้นมังกร

ลิ้นมังกรเป็นไม้ล้มลุก อายุยืน มีเหง้าเป็นปล้องอยู่ใต้ดิน เมื่อแตกใบขึ้นจากข้อปล้อง จะออกใบเดี่ยวตามข้อ เวียนสลับกัน

ลักษณะต้น – ใบอวบน้ำ ใบเดี่ยวยาวเรียวรูปหอกยาวชูขึ้นพลิ้วสะบัดปลายอ่อนไหว ทั้งๆ ที่เป็นไม้เนื้อแข็งอวบน้ำ จึงน่าจะได้ชื่อว่า ลิ้นมังกร

ลิ้นมังกรออกดอกเป็นช่อ โดยแยกออกจากกาบใบ แล้วชูช่อตรงยาวขึ้น แล้วแยกดอกจากช่อกลางเป็นแขนงสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยก ๖ กลีบ ภายในเป็นเส้นเกสรสีขาวจำนวนมาก ดอกจะค่อยบานจากโคนช่อไปปลายช่อ คล้ายดอกซ่อนกลิ่นซ้อน ครั้นเมื่อดอกโรยก็สามารถติดเมล็ดได้ เวลาบานหมอตอนค่ำเรื่อยไปจนรุ่งเช้า

ลิ้นมังกรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus changiana s.y.Hu ชื่อสามัญ Dragon’s Tongue อยู่ในวงศ์ EUPHOR-BIACEAE

ภาษาอื่นเรียกไปต่างๆ เช่น ลิ้นแม่ยาย ส่วนจีนเรียก เหล่งหลีเฮียะ

ลิ้นมังกรมีหลายพันธุ์ แต่สีสันยังคงคล้ายกัน รวมทั้งคุณสมบัติยังคล้ายกันอยู่ เช่น ดูดสารพิษ ทำลายเชื้อแบคทีเรีย แก้ไอเป็นเลือด ไอแห้งๆ ดอกสดนำมาแกงจืดกับหมู แก้พิษต่างๆ ใบแก่ ต้มกินแก้ไอ หอบ บำรุงปอด และบดใบสดแก่จัดพอกผิวอักเสบ พิษร้อน ก็จะบรรเทาได้

การขยายพันธุ์ ทำได้โดยวิธีชำใบ (ตัดใบเป็นท่อนๆ เสียบดินชื้น) ชำหน่อ

ผู้นิยมต้นลิ้นมังกร นอกจากเห็นใบสด สวยแปลกและดอกหอมแล้วยังถือว่าเป็นไม้ดูดสารพิษ ปลูกในบ้านช่วยให้ออกซิเจน ทำให้ห้องสดชื่น สุขภาพดี  บางท่านเห็นว่าเป็นใบไม้ที่สวย เคยเห็นปลูกลงกระถางเล็กๆ ตั้งบนโต๊ะหนังสือ เจ้าของคอยใช้ผ้านุ่มสะอาด หมั่นเช็ดใบ ทำให้ใบสวยสดชื่น เขียว รูปทรงทั้งต้นทั้งใบก็เรียวยาวชะลูดพลิ้วสะบัดปลาย พร้อมทั้งสีเหลือง เขียว-เหลือง อมเทา ยิ่งดูสวยแปลกยิ่งขึ้น  ที่นิยมก็คือ ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศให้ห้องมีอากาศสะอาดสดชื่นตลอดเวลา พร้อมทั้งฟอกอากาศให้สะอาด ทำให้ห้องพักเย็นสบาย

นอกจากปลูกในที่ร่ม-ในห้องได้ประโยชน์แล้ว ลิ้นมังกรยังปลูกนอกบ้านเป็นแถวแสดงอาณาเขต เป็นรั้วเตี้ยๆ ที่สวยงาม ถ้ามีดอกยิ่งสวยพิเศษ และคุณสมบัติสำคัญอีกประการคือทนความแห้งแล้งได้

ค่อนข้างจะประหลาดใจ ที่มีผู้ซื้อขายต้นลิ้นมังกรในราคาค่อนข้างแพงมาก ราคาเป็นพันเป็นหมื่นก็มี แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ประโยชน์ของผู้รู้ ที่จะเข้าใจในคุณค่านั้นเอง


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๖ วันที่ ๒๒-๒๘ กันยายน ๒๕๖๐




โทงเทง

มีควันหลงจากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือทำให้บรรดามนุษย์เพศชายต่างพากันแสวงหา “ยาเสาเรือนคลอน” สำหรับแก้นกเขาไม่ขันกันจ้าละหวั่น

ซึ่งตรงนี้มีมุขขันเล็กๆ ของท่านประธานรองนายกรัฐมนตรีที่หยอดไว้ในคำกล่าวพิธีเปิดงานว่า “ยาเสาเรือนคลอน ไปเกี่ยวอะไรกับนกเขาด้วย” เรียกเสียงฮาตรึมจากที่ประชุม

ยังดีที่ท่านไม่หยอดมุขต่อว่า “แล้วยานี้ไปเกี่ยวอะไรกับเสาเรือน” (ฮา)

อันที่จริง ยาชูโรงตัวนี้เป็นแค่ไวอากร้าไทยตัวหนึ่งใน ๒๐ ตำรับที่ชายชาตรีชาวปักษ์ใต้ได้พึ่งพาอาศัยมาช้านานแล้ว

ยาเสาเรือนคลอน ประกอบด้วยพืชสมุนไพร ๕ ชนิด ได้แก่ (๑) ม้าถอนหลักทั้งต้น (คนนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ว่านนางครวญ” ชื่อนี้สาวๆ ฟังแล้วสะดุ้ง) หรือ ว่านค้างคาวดำ (เพราะมีดอกรูปคล้ายคางคาว) (๒) ผักโขม (๓) แก่นลั่นทมเป็นต้นเดียวกับลีลาวดี (๔) สังวาลย์พระอินทร์ และ (๕) เหง้าว่านน้ำ

เคล็ดลับของสูตรยาตำรับนี้คือ ต้องใช้สมุนไพรแต่ละตัวหนักเท่ากัน ยกเว้น “ม้าถอนหลัก” ต้องใช้มากกว่าสมุนไพรตัวอื่นราว ๒-๔ เท่า ต้มน้ำ ๓ เอา ๑ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยกาแฟ วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร

สรรพคุณโดดเด่นของยาไวอากร้าไทยขนานนี้คือ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกาย รวมทั้งไปเลี้ยงอวัยวะเพศของท่านชายให้แข็งแรงด้วย

นี่คือจุดแข็งของ “ยาเสาเรือนคลอน” แต่จุดอ่อนคือ ยาตำรับนี้ต้องเสาะหาสมุนไพรถึง ๕ ตัว ซึ่งในอดีตอาจหาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นภาคใต้ แต่เดี๋ยวนี้แหล่งธรรมชาติของสมุนไพรเหล่านี้สูญสิ้นไปเกือบหมดแล้ว

การใช้ยาตำรับนี้จึงไม่ใคร่สะดวกนัก

ในที่นี่จึงขอแนะนำยาไวอากร้าไทยใกล้มือ เป็นผลไม้ของวัชพืชชนิดหนึ่งซึ่งพบเห็นได้ตามที่รกร้างทั่วไปหรือตามข้างถนน สมัยเด็กของใครบางคนอาจเคยชอบเด็ดผลที่ห้อยโทงเทงของมันมากินเล่น รสชาติหวานอมเปรี้ยวคล้ายลูกมะเขือเทศ เพราะเป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกัน ทายซิว่าเป็นต้นอะไรเอ่ย

แม้ “โทงเทง” ชื่อพฤกษศาสตร์ Physalis angulata L. จะเป็นเพียงวัชพืชข้างถนน แต่ด้วยรสชาติดี แคลอรี่ต่ำ สูงล้ำด้วยวิตามินเอ (๒๐%) วิตามินซี (๒๖%) มีไฟเบอร์สูง แถมเป็นหนึ่งในผลไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่อุดมด้วยโปรตีนและธาตุเหล็ก

กล่าวคือ ในผลโทงเทง ๑๔๐ กรัม มีโปรตีนถึง ๒.๖๖ กรัม (หรือ ๒%) และธาตุเหล็กถึง ๘% ดังนั้น โทงเทงจึงเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด มีการปลูกเพื่อการพาณิชย์ในภาคเหนือ แต่ใช้โทงเทงพันธุ์ฝรั่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเปรู จึงมีชื่อพฤกษศาสตร์ Physalis peruviana L. หรือไฟซัลลิส เปรูเวียน่า มีชื่อสามัญว่า เคพกูสเบอร์รี่ (Cape gooseberry) หรือโกลเดนเบอร์รี่ (Goldenberry) เพราะมีลูกสีทองสดใสน่ากิน

ซึ่งพ้องกับชื่อไทยว่า “ระฆังทอง” เพราะกาบผลหุ้มผลสีทองห้อยโทงเทงดูเหมือนระฆัง

โทงเทงไทยกับโทงเทงฝรั่งเป็นพืชพี่น้องในสกุลเดียวกันแต่คนละชื่อเท่านั้น คุณค่าทางยาและโภชนาการไม่ต่างกัน

แต่โทงเทงฝรั่งลูกใหญ่กว่า คุ้มค่ากว่าในการขยายพันธุ์ปลูกเพื่อการตลาด

ปัจจุบันมีการเผยแพร่สรรพคุณต่างๆ มากมายของโทงเทง

แต่มีสรรพคุณหนึ่งซึ่งยังไม่มีการพูดถึงกันทางสื่อสาธารณะคือ ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งมีงานวิจัยทางเภสัชวิทยารองรับอย่างชัดเจน

มีการวิจัยทดสอบฤทธิ์ของผลโทงเทงฝรั่งในการป้องกันความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูทดลองตัวผู้ โดยป้อนน้ำคั้นผลโทงเทงสดเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ พบว่าน้ำผลโทงเทงช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเพศชาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในพัฒนาการของเนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์หลักของเพศชาย คือ ลูกอัณฑะและต่อมลูกหมาก

และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วยให้ร่างกายชายชาตรีฟิตแอนด์เฟิร์ม เพราะฮอร์โมนตัวนี้จำเป็นมากสำหรับการเจริญของกล้ามเนื้อกับกระดูกของผู้ชาย ถ้าขาดหายไปจะทำให้กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน

ในทางวิชาการเขาบอกว่า ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน เป็นฮอร์โมนหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับสุขภาพที่ดีและความอยู่เป็นสุขของบรรดากระทาชายทั้งหลาย

ยิ่งไปกว่านั้นการทดลองนี้ยังพบว่า น้ำคั้นผลโทงเทงช่วยเพิ่มปริมาณกลูตาธัยโอน (Glutathione) หรือสาร GSH (Glutathione SulphaHydryl) ในลูกอัณฑะโดยตรง ซึ่งนอกจากจะปกป้องเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell) ในอัณฑะแล้ว ยังลดอัตราการตายของเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้ชายสูงอายุยังสามารถผลิตทายาทที่แข็งแรงได้ว่างั้นเถอะ

ยังไม่จบ เพราะยังพบว่านอกจากโทงเทงจะเพียบด้วยวิตามินเอแอนด์ซีแล้ว ยังอุดมด้วยวิตามินอี ในรูปของแอลฟ่าและเบต้า โทโคฟีรอล (Tocophyrol) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ (biological activity) สูงที่สุด เพื่อเน้นความสำคัญของวิตามินอี

ฝรั่งจึงเรียกโทงเทงอีกชื่อหนึ่งว่า ลูกโทโคโทโป (Tocotopo) อย่างที่รู้กันวิตามินอีมีสาร Anti-Aging ช่วยชะลอวัยไม่ให้แก่เร็วด้วย

เดี๋ยวนี้ ลูกโทงเทงเป็นที่นิยมแพร่หลายในต่างประเทศในชื่อเท่ๆ ว่า ลูกเคพกูสเบอร์รี่ ซึ่งมาในลักษณะของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและขนม เช่น พาย พุดดิ้ง ไอศกรีม น้ำผลไม้เข้มข้น แยม เยลลี่ กินกับขนมปัง เป็นต้น

สำหรับไทยเรา นอกจากกินเป็นผลไม้สดหรือปั่นเป็นน้ำผลไม้แล้ว ควรศึกษาด้านการแปรรูปเป็นอาหารและขนมให้หลากหลาย เพื่อให้ท่านชายในวัยเจริญพันธุ์สามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพและเพื่อผู้สูงอายุจะได้มีสุขภาพดี

ในยุคสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๖ วันที่ ๒๒-๒๘ กันยายน ๒๕๖๐


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ตุลาคม 2560 13:45:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 09 ตุลาคม 2560 14:26:27 »



ต้นงวงช้าง
ต้นงวงช้าง เป็นพืชล้มลุก จะขึ้นในฤดูฝน หมดฤดูแล้วก็ตาย ทิ้งเมล็ดร่วงลงดิน ขยายพันธุ์ต่อไป

งวงช้างมีต้นสูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร เป็นต้นแตกกิ่งเล็กๆ ใบเห็นรูปใบโพธิ์ ผิวใบขรุขระ และมีขนอ่อนปกคลุมทั้งต้น เวลาถูกใบหรือจับดูจะรู้สึกสากและเหนียวมือคล้ายยาง

งวงช้างชอบขึ้นในที่ชื้น ใกล้ทางน้ำ เช่น ริมน้ำ ริมคลองหรือที่ว่าง ข้างถนนหนทาง ขึ้นง่าย คนที่รู้จักจึงนำเมล็ดมาปลูกเพื่อขยายพันธุ์  

งวงช้างหรือหญ้างวงช้าง เมื่อโตเต็มที่ก็จะออกดอก เป็นช่อชูสูง ปลายช่อม้วนโค้งลงเหมือนเหมือนงวงช้าง จึงเรียกว่าหญ้างวงช้าง

ช่อดอกงวงช้าง มีดอกเรียงเป็นแถวตามช่ออย่างมีระบบ ดอกเล็กๆ เวลาบานมี ๕ กลีบ สีขาวปนฟ้า เกสรสีเหลืองอยู่กลางดอก ดอกในช่อนั้นเรียงเกาะกันตั้งแต่โคนถึงปลายช่อ โคนช่อดอกร่วงก็ติดเมล็ด ที่เหลือก็บานต่อกันไปเรื่อยๆ จนสุดงวง ซึ่งเป็นช่องอโค้งอย่างนุ่มนวล สวยดังลายก้านขด  

งวงช้างเมื่ออยู่รวมกันจำนวนมาก เวลาออกดอก ชูงวงสลอนน่าชม ทั้งดอกสีฟ้าและขาว เกสรเหลือง ทำให้ยิ่งพิศยิ่งประหลาดในธรรมชาติของดอกไม้ที่สวยงาม  รวมทั้งมีประโยชน์ในการรักษาโรคด้วย

ทำให้ผู้รู้เห็นว่าเป็นต้นไม้มีค่า ชื่อทั้งสวยงามและทำยารักษาโรคได้  หมอยาพื้นบ้านต้องแสวงหาหญ้าชนิดนี้เพื่อนำมารักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน แก้เด็กลมชัก หอบหืด ปวดท้อง และเป็นโรคกระเพาะ โรคผิวหนัง แผลฝี โดยนำต้นสดทั้ง ๕ ต้นมาตำให้ละเอียด พอกและต้มกินรักษาโรค แต่ห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์

ปัจจุบันมีผู้นำต้นงวงช้างทั้ง ๕, ๑ กำมือ กิ่งลั่นทมประมาณ ๑ ศอก ล้างสะอาดสับรวมกัน ผสมน้ำตาลทรายแดงต้มเคี่ยวด้วยกันจนงวด กินเวลาท้องร่วง รักษาโรคดีซ่านชะงัดนัก

ต้นงวงช้างมีชื่อสามัญว่า Alacransillo eye bright Indian Turnsole ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliotropium indicum.L. อยู่ในวงศ์ BORAGINACEAE ชื่อท้องถิ่นเรียกกันต่างๆ เช่น หญ้างวงช้าง หวายงวงช้าง หญ้างวงช้างน้อย คนจีนเรียก ไต่บ๋วยเอี้ยว

ขณะนี้ต้นงวงช้างกลายเป็นต้นไม้หายาก ที่เคยเห็นดาษดื่นอยู่ในอดีตนั้นหายไปแล้ว เพราะการขุดหน้าดินนำไปทำธุระอื่นหรือถมทับพื้นดินจนพืชพันธุ์เล็กๆ หายไป

จะหลงเหลือให้เห็นในที่บางแห่ง และคนทั่วไปก็แทบไม่รู้จักแล้ว

เคยเห็นร้านยาจีนมีสมุนไพรตากแห้งส่งมาจากเมืองจีน ผู้คนก็ซื้อมาเป็นเทียบๆ เพื่อรักษาโรค อยากให้สมุนไพรไทยนำมารวบรวมจำหน่ายหรือส่งออกนอกประเทศบ้าง อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์พืชพันธุ์สมุนไพรไทย ก่อนที่จะสูญหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๘ วันที่ ๖-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐




สมุนไพร (ยาหอม) กับไซเตส

ข่าวดังไม่นานมานี้ ทำเอาคนในวงนิยมสมุนไพรมึนงงไปตามๆ กัน เมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ห้ามนำยาหอมยี่ห้อหนึ่งของไทยเข้าประเทศ เพราะตรวจพบว่ามีส่วนผสมสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ ๑ ตามอนุสัญญาไซเตส!

ถ้าตามข่าวอย่างละเอียด ไม่ดราม่าใส่ไข่ปรุงแต่งก็จะพบว่ายาหอมของไทยไม่มีอันตรายใดๆ เป็นเพราะในการจะเคลื่อนย้ายพืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตสนั้น ต้องขออนุญาตนำออกและนำเข้าไปยังประเทศปลายทางตามข้อตกลงของไซเตส

กรณีนี้คงมีความคลาดเคลื่อนในเอกสารกำกับ ไม่ใช่เพราะยาหอมของไทยมีปัญหาด้านคุณภาพ

ในทางกลับกันอาจพูดได้ว่ายาหอมของไทยคือ หนึ่งในโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย

ชาติไหนๆ มากินต่างชอบอกชอบใจทั้งน้าน

ที่ผ่านมาเรามักคุ้นเคยกับข่าว ไซเตสกับการลักลอบค้าขายงาช้าง เสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่ชื่อไซเตส มาจากชื่อย่อของ “อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora-CITES)” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมไม่ให้การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ พูดง่ายๆ ไซเตสดูแลทั้งสัตว์และพืชที่เสี่ยงการสูญพันธุ์นั่นเอง

สมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาหอมที่เป็นข่าวนั้น คือ ต้นโกฐกระดูก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea lappa C.B. Clarke อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE) ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นและใบมีขนปกคลุม ขอบใบหยัก ดอกออกเป็นกระจุก ไม่มีก้าน ออกด้านข้างหรือที่ปลาย ผลเป็นรูปโค้ง มีขนปกคลุมเช่นกัน ส่วนที่นำมาทำยาให้สรรพคุณดีนั้น จะใช้ส่วนราก ซึ่งจะขุดในฤดูใบไม้ร่วง (ไม่ใช่พืชในประเทศไทยแน่นอน) หลังจากล้างน้ำแล้วจะตัดรากฝอยออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้นๆ ถ้าชิ้นไหนใหญ่ก็มักจะผ่าครึ่งก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง

ตัวยารากแห้งนี่แหละที่นำมาปรุงยาในตำรับยาดีๆ มากมาย

โกฐกระดูก หรือเรียกว่า บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว) หรือ มู่เชียง (จีนกลาง) เป็นพืชถิ่นดั้งเดิมที่ขึ้นตามหุบเขาชื้น พบทางตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ระดับความสูง ๒,๕๐๐-๓,๖๐๐ เมตร

แต่ปัจจุบันทราบมาว่ามีการปลูกกันในประเทศจีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน ญี่ปุ่น เกาหลี และน่าจะตอนเหนือของเวียดนามด้วย

แม้ว่าจะเริ่มมีการปลูกกันเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังติดอยู่ในบัญชีพืชใกล้สูญพันธุ์ของไซเตส จึงเป็นอุปสรรคในด้านการนำมาค้าขายที่ต้องทำการขออนุญาตให้ถูกต้อง

สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีวัตถุดิบโกฐกระดูกเลยจึงสั่งนำเข้าจากจีน แต่ในอนาคตอาจมีการพยายามปลูกทางเหนือของไทยก็เป็นได้

สรรพคุณตามภูมิปัญญา ในตำราสรรพคุณยาไทย ใช้แก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก สำหรับแพทย์แผนไทยถือว่าโกฐกระดูกเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัด โกฐทั้ง ๗ และพิกัดโกฐทั้ง ๙ในประเทศจีนและอินเดีย ใช้เป็นเครื่องเทศ ยาฆ่าเชื้อ ยาฝาดสมาน ใช้เป็นยาชูกำลัง แก้ไอ แก้ท้องเสีย และใช้เป็นยาภายนอกกับโรคผิวหนังด้วย

โกฐกระดูกนี้ยังมักเป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมของไทยอีกหลายตำรับ ขอแนะนำ ๑ ตำรับ ซึ่งปัจจุบันประกาศให้เป็นรายการสมุนไพรในบัญชียาหลักของประเทศ คือ ยาหอมนวโกฐ ที่ประกาศไว้อย่างเป็นทางการบอกว่า ใน สูตรตำรับ ในผงยา ๒๑๒ กรัม
 
ประกอบด้วย
๑.โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๒.เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๓.เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก รากแฝกหอม เปลือกชะลูด หัวเปราะหอม กระลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้กฤษณา หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๔.เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู หนักสิ่งละ ๓ กรัม
๕.หัวแห้วหมู ลูกกระวาน ดอกกานพลู ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ เปลือกอบเชยญวน ลูกผักชีลา แก่นสน หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๖.แก่นสักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๗.เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๘.เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก รากชะเอมเทศ หนักสิ่งละ ๔ กรัม
๙.พิมเสน หนัก ๑ กรัม


ข้อบ่งใช้ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการเช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)

ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา ละลายน้ำกระสาย ๒-๔ ช้อนโต๊ะ ทุก ๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน ๓ ครั้ง

ชนิดเม็ด ครั้งละ ๕-๑๐ เม็ด ละลายน้ำกระสาย ๒-๔ ช้อนโต๊ะ ทุก ๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน ๓ ครั้ง ข้อควรระวัง ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ในหญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน ๕ วัน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์ผลของยาหอมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ยาหอมมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง ที่สามารถใช้บำบัดอาการเป็นลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ท้องอืด แก้ลมจุกเสียด ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่สืบทอดมานานกว่า ๑๐๐ ปี

สรรพคุณยาหอมไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไป แต่วัตถุดิบยาสมุนไพรคือสิ่งท้าทายให้เราต้องช่วยกันปลูก และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงรอดพ้นอนุสัญญาไซเตส แต่เพื่อให้สมุนไพรดูแลสุขภาพแก่มวลมนุษยชาติ สืบไป  


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๘ วันที่ ๖-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐




กำลังเสือโคร่ง
พันธุ์ไม้พระราชทานเมืองน่าน เพื่อปลูกเป็นมงคล
ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา


ชื่ออื่น : กำลังพญาเสือโคร่ง
ชื่อสามัญ : Birch
ชื่อวิทยาศาสตร์ : BetulaalnoidesBuch.-Ham. exG. Don
ชื่อวงศ์ : Betulaceae

ข้อมูลทั่วไป
เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ สื่อหลายแขนงรวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับได้รายงานการพบต้นกำลังเสือโคร่งขนาดใหญ่ ดังนี้ พบต้น "พญาเสือโคร่ง" อายุกว่า ๒๐๐ ปี กลางหุบเขาภูลมโล อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

หรือ พบต้นพญาเสือโคร่งที่มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี มีขนาด ๑๐ คนโอบ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คาดว่าเป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

หรือ ตะลึงพบต้นกำลังเสือโคร่ง ขนาด ๑๐ คนโอบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร สูง ๔๐ เมตร อายุกว่า ๒๐๐ ปี อยู่กลางป่าทึบกลางหุบเขาภูลมโล ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย บนความสูง ๑,๘๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล

จากรายงานดังกล่าวทำให้มีความสับสนเรื่องชื่อ เพราะมีทั้งเรียกต้นกำลังเสือโคร่ง และต้นพญาเสือโคร่ง แม้ไม่มีรายงานว่าต้นนางพญาเสือโคร่ง แต่หลายคนที่รับข่าวอาจจะนึกไปถึงต้นนางพญาเสือโคร่ง เพราะบริเวณภูลมโลนี้เป็นแหล่งที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งมากที่สุดบริเวณหนึ่งของเมืองไทยด้วย มีการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามที่นางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยพากันเบ่งบานชมพูไปทั่วทั้งภู และหลายคนอาจจะดูคลิปนี้จากยูทูป

หัวหน้าอุทยานภูหินร่องกล้า ยืนยันว่า ต้นที่พบนี้เป็นต้นตัวผู้เพราะไม่ออกดอก ต้นตัวเมียจะมีดอกสีชมพู ซึ่งอาจจะว่าเป็นต้นนางพญาเสือโคร่งก็เป็นได้ เพราะบริเวณนี้มีต้นนางพญาเสือโคร่งจำนวนมาก แต่ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงเพียง ๑๐-๑๕ เมตร เท่านั้น ดังนั้น ต้นนี้จึงเป็นต้นกำลังเสือโคร่ง แต่อาจเรียกเป็นอื่นๆ ตามแต่จะเรียกขานกัน (กำลังเสือโคร่งมีดอกสีขาวอมเหลือง และไม่แยกต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย)

แต่ที่เรียกกำลังเสือโคร่งนั้นก็มีหลายต้นนอกเหนือจากต้นที่เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นต้นที่เรากำลังทำความรู้จักกันอยู่นี้ ต้นกำลังเสือโคร่งอีก ๒ ต้น มีรายละเอียดดังนี้

กำลังเสือโคร่งต้นที่ ๒ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ziziphusattopensis Pierre อยู่ในวงศ์ Rhamnaceae เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ทนแล้งและเจริญเติบโตเร็ว เหมาะจะปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรตามสรรพคุณตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ใช้เนื้อไม้ของกำลังเสือโคร่งผสมกับต้นม้าโรงแตก หรือม้ากระทืบโรงตัวผู้ ลำต้นข้าวหลามแก่น หรือรากเจ็ดช้างสารใหญ่ ลำต้นกำลังช้างสาร จำนวนเท่ากัน ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลังทางเพศ หรือใช้เนื้อไม้กำลังเสือโคร่งผสมกับแก่นของต้นหางรอก รากเจ็ดช้างสารใหญ่ เนื้อไม้ต้นกำลังช้างสาร จำนวนเท่ากัน ต้มน้ำดื่มเช่นกัน เป็นยาบำรุงร่างกาย และบำรุงกำลังทางเพศได้เหมือนกัน

กำลังเสือโคร่งต้นที่ ๓ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnosaxillaris Colebr. อยู่ในวงศ์ Strychnaceae มีชื่ออื่นๆ คือ ขวากไก่ หนามเข็ม (ชัยภูมิ) ขอเบ็ด (หนองคาย) ขี้แรด (ปราจีนบุรี) เขี้ยวงู (ชุมพร) ตึ่ง เครือดำตัวแม่ (ลำปาง) เบน เบนขอ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เล็บครุฑ (จันทบุรี) เล็บรอก (พัทลุง) หมากตาไก้ (เลย)

เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาขนาดใหญ่ พบขึ้นได้ในป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ และป่าโปร่งทั่วไป สรรพคุณยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย ตำรายาไทย ใช้ ราก ตำพอกแก้ฝี แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้น แก้โลหิตเป็นพิษในการคลอดบุตร บาดทะยักปากมดลูก และสันนิบาตหน้าเพลิง แก้ปอดพิการ แก้ไอ ดับพิษในข้อในกระดูก เส้นเอ็น แก้พิษตานซาง ขับพยาธิในท้อง แก้กามโรค แก้เถาดานในท้อง แก่น บำรุงโลหิต ดับพิษไข้ แก้กระษัย ไตพิการ ปัสสาวะพิการ ใบ แก้โรคผิวหนัง ใช้อาบลูกดอก และแก้อัมพาตเปลือกต้น แก่น และใบ รสเฝื่อน ต้มดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้เข้าข้อ

กำลังเสือโคร่ง ไม้ต้นนี้มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น โดยจะมีขึ้นทั่วไปตามริมห้วยในป่าดิบที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นไป ส่วนในต่างประเทศมีมากที่สุดคือที่ประเทศลาว ในอดีตต้นไม้ต้นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนพื้นเมืองและชาวเขาที่เข้าไปเก็บของป่ามาขาย โดยจะใช้มีดคมๆ ฟันหรือถากเอาเปลือกซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายการบูรนำไปต้มน้ำดื่มเป็นยาสมุนไพร หรือไปขายตามตลาดนัดในชุมชนเมือง เป็นมัดเล็กๆ ประกอบด้วย แก่น เปลือกและใบ ซึ่งตากแห้งก่อนนำมาขายเพื่อไม่ให้ขึ้นรา สามารถเก็บไว้ได้นานและมีขายตลอดทั้งปี หรือขายให้ร้านยาไทย ซึ่งมีขายทั้งในรูปยาน้ำสมุนไพรกำลังเสือโคร่ง ประกอบไปด้วยตัวยาที่เป็นสมุนไพรมากมายหลายชนิด เช่น อาจมีกำลังทั้ง ๗ได้แก่ กำลังเสือโคร่ง กำลังช้างสาร กำลังวัวเถลิง กำลังหนุมาน ม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม กำแพงเจ็ดชั้น และอาจมีพืชสมุนไพรต้นอื่นๆ อีกนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีสรรพคุณบำรุงกำลังเช่นเดียวกัน เช่น กำลังเลือดม้า กำลังช้างเผือก กำลังช้างสาร ปลาไหลเผือก ฯลฯ

สรุปว่า ต้นกำลังเสือโคร่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดน่านและอีก ๒ ต้น ที่กล่าวมา ล้วนเป็นต้นไม้คนละต้น ต่างสกุล ต่างวงศ์ แต่สรรพคุณที่สำคัญคือช่วยบำรุงกำลัง และบางคนถึงกับให้สมญาว่า กำลังเสือโคร่ง เป็นสมุนไพรบำรุงกำหนัด สมุนไพรให้เรี่ยวแรง สมุนไพรผู้ชาย สมญานี้อาจไม่จริงทั้งหมด เพราะยังมีสรรพคุณด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกำลัง และมีผลกับทุกเพศ ทุกวัย ให้สรรพคุณสมกับชื่อคือ กำลังเสือโคร่ง (นั่นซิ ทำไมต้องกำลังของเสือโคร่ง จะเป็นกำลังเสือปลา เสือดาว ไม่ได้หรือ คงไม่ได้ เพราะเสือโคร่ง เป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รูปร่างสง่างาม ใหญ่โตกำยำ เรื่องเล่าขานในด้านความแข็งแรง น่าเกรงขามของเสือโคร่งมากมาย) ที่มาของชื่อกำลังเสือโคร่งก็คงสืบเนื่องมาจากเหตุดังกล่าวนี้เอง ก็ได้แต่หวังว่าพวกเราคงช่วยกันปลูก ช่วยกันอนุรักษ์ ให้เจริญเติบโต เพื่อชนรุ่นหลังจะได้ใช้ประโยชน์สืบต่อไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นไม้ยืนต้น สูง ๒๐-๓๕ เมตร วัดรอบลำต้น ประมาณ ๑-๒ เมตร

เปลือก มีสีน้ำตาล เทา หรือเกือบดำ มีรูระบายอากาศเป็นจุดขาวเล็กๆ กลม บ้างรีบางปะปนอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายการบูร เวลาแก่จะลอกออกเป็นชั้นๆ คล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน

ก้านใบและช่อดอก มีขนสีเหลือง หรือสีน้ำตาลปกคลุม

ใบ เป็นรูปไข่หรือรูปหอก เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ หรือหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น ซี่หยักแหลม ปลายใบเรียวแหลม

ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบแยกเพศคนละช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากคล้ายหางกระรอกออกตามง่ามใบ ๓-๕ ช่อ เป็นพวงยาว มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ผล มีลักษณะแบน มีปีก ๒ ข้าง ปีกบางและโปร่งแสง ผลแก่ร่วงง่าย

การขยายพันธุ์ ทำโดยการเพาะเมล็ด

สรรพคุณทางสมุนไพร
เปลือกต้น มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นฉุนแรงคล้ายน้ำมันระกำ แต่ถ้าทิ้งไว้จนเปลือกแห้ง กลิ่นจะทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง ช่วยชำระล้างไตให้สะอาด บำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ ขับลมในลำไส้ ใช้บำบัดอาการผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของผู้หญิงไม่สมบูรณ์ มดลูกชอกช้ำ อักเสบเนื่องจากการกระทบกระเทือน แท้งบุตร

ราก ต้มน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล่ม ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย

เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ดมแก้อาการหน้ามืดตาลาย หรือนำไปตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพ่ายควาย ม้ากระทืบโรง จะค่าน ตาลเหลือง มะตันขอ ข้ามหลามดง หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูกและโด่ไม่รู้ล่ม ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย ชาวเขาเผ่าลัวะ ถากลำต้นออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ นำผงถ่านที่ได้ทาบริเวณฟันผุ แก้อาการปวดฟัน




เถาประสงค์ ให้สมประสงค์

ยังพอมีกลิ่นอายปีใหม่ เทศกาลส่งความสุขและปรารถนาดีต่อกัน บรรยากาศเช่นนี้ทั้งคำอวยพร สิ่งของที่มอบให้แก่กันจะถูกจะแพงไม่สำคัญเท่าให้ได้ใช้ประโยชน์ และดูเป็นสิริมงคลหรือมีความหมายดีๆ ให้เริ่มต้นปีด้วยกำลังใจเต็มร้อย

ขอมอบด้วยการแนะนำพืชสมุนไพรที่เรียกกันว่า เถาประสงค์ ให้ทุกท่านได้สมประสงค์กันถ้วนหน้า

เถาประสงค์ ต้นนี้เป็นไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่เหนือจรดใต้ จึงมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ กันไป เช่น เถาประสงค์ เขาขน (คนเมือง) เครือประสงค์ เครือไทสง เถาไพสง (ภาคอีสาน) แต่ได้จำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ไว้แล้วว่า Streptocaulon juventas (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)

ชื่อทางราชการเรียกว่า “เถาประสงค์” เรียกตามลักษณะพืชที่เป็นไม้เลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น หรือเห็นเป็นไม้เถานั้นเอง แนะนำให้รู้จักต้นกันเพราะเป็นไม้ที่น่าสนใจแต่คนทั่วไปไม่รู้จักจึงมักตัดทิ้ง

เถาประสงค์มีลำต้นขนาดเล็ก แต่สูงตั้งแต่ ๑-๗ เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ตามกิ่งก้านและปลายยอดมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีน้ำยางมากสีขาวข้น

ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ หรือรูปใบหอกกลับ ปลายแหลมหรือมนและเป็นติ่งแหลม

โคนมนหรือรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย

แผ่นใบด้านบนมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป

ก้านใบมีขนค่อนข้างสาก ยาวและหนาแน่น

ดอกเล็กสีม่วง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ใบประดับอย่างละ ๒ อัน รองรับดอกและช่อดอก กลีบดอกมักมีขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง รยางค์รูปมงกุฎ ๕ อัน
 
หลอดกลีบรูปจานแบน ส่วนด้านในสีแดง มักหลุดร่วงง่าย ผล เป็นฝักคู่ แต่ละผลมี ๓๐-๙๐ เมล็ด มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เมล็ด รูปรี รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างเบี้ยว โคนมน อาจพบโคนเบี้ยว ปลายตัด มีขนปุยแบบเส้นไหมสีขาว

ที่อยากให้รู้จักคือ เถาประสงค์กระจายตัวเกิดขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติทั้งในป่าเต็งรัง อาจพบในป่าดิบแล้งได้บ้าง แม้ในที่ป่าชุมชน ที่รกร้างในหมู่บ้านก็พบเห็นได้ จะออกดอกราวเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม

ประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีทั้งในประเทศจีน อินเดีย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ชื่อสมประสงค์แล้ว การใช้ประโยชน์ก็มีหลากหลาย ในตำรายาไทย แนะนำให้ใช้ทั้งต้น ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียในสตรี ราก รสสุขุม แก้ไข้ แก้ลมปลายไข้ สำหรับในตำรายาพื้นบ้าน จะใช้ ต้นหรือราก ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้หอบหืดได้

แต่ที่เป็นเรื่องฮือฮาและมีการพูดถึงมากอยู่ที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง จะใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าอีก้อและกะเหรี่ยงนิยมนำเถาประสงค์ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย หรือบางครั้งก็ใช้ส่วนของราก นำมาตากแห้งแล้วดองกับเหล้าหรือบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนกินบำรุงกำลัง บำรุงเลือด ทำให้ร่างกายแข็งแรง

นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาบำรุงร่างกายขนานหนึ่ง จะใช้รากเถาประสงค์และรากตำยาน อย่างละ ๑ กำมือเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำพอท่วมยา แต่ห้ามต้มเคี่ยว คือต้มพอเดือด นำมาดื่มกินได้ตลอดวันเป็นยาบำรุงร่างกาย และยังมีความรู้ของหมอยาพื้นบ้านอีกจำนวนมาก ที่ยังใช้รากเถาประสงค์เป็นยารักษาคนผอมเหลือง ซีดเซียวไม่มีกำลัง โดยใช้วิธีปรุงยาทั้งการนำรากมาต้มน้ำดื่ม หรือนำรากไปดองสุรากินได้ด้วย

ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ต้นหรือรากเถาประสงค์ ผสมกับต้นโมกหลวง เถาย่านาง และรากส้มลม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืดอย่างแรง หมอยาที่เมืองเลยจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปอดไม่ดี รวมทั้งฝีในปอด

ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียของสตรี

หมอยาพื้นบ้านชื่อ ตาบุญ สุขบัว ซึ่งเป็นหมอยาเมืองเลย ใช้รากเถาประสงค์แทนการใช้รากตำยาน (Atherolepis pierrei Costantin) หรือนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อใช้เป็นยาบำรุงสมรรถภาพของเพศชาย หรือภาษาชาวบ้านเรียกโรคไม่สู้เมีย

ทั้งเถาประสงค์และตำยานเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน รากมีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางครั้งก็จะเรียกเถาประสงค์อีกชื่อหนึ่งว่า “ตำยานฮากหอม” ความรู้ของหมอพื้นบ้านจึงมีการใช้สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้แทนกัน และมักใช้ในการบำรุงกำลัง

ในภาคอีสาน ชาวบ้านที่ยังไม่ได้ละทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น จะนำเอายางสีขาวขุ่นจากเถาประสงค์เป็นยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่ง นำมาใช้เป็นยารักษาแผล เช่น ปากนกกระจอก (แผลบริเวณมุมปาก) หรือแผลอื่นๆ ในเวลานี้เริ่มมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า สารสกัดจากรากเถาประสงค์มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาให้ลงลึกแน่ชัดต่อไป

ประโยชน์ของเถาประสงค์นอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว เครือสดของเถาประสงค์ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชือกมัดสิ่งของได้ นับเป็นพืชสมุนไพรที่หลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่มีให้เห็นขึ้นได้ทั่วไป บางคนไม่รู้จักก็ถางตัดทำลายทิ้ง

แต่ถ้ามองให้เห็นคุณค่า เชื่อว่า เถาประสงค์ จะทำให้เราสมประสงค์แน่


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๕๒ วันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม ๒๕๖๑

p.11/9

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 กุมภาพันธ์ 2561 16:22:41 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 06 กุมภาพันธ์ 2561 16:25:37 »



กระเฉดเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา

พูดถึงกระเฉด น้อยคนที่ไม่รู้จักเพราะจัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วไป หากินกันได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย

ผักกระเฉดจัดเป็นไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีชื่อสามัญว่า Water mimosa

ใครที่สนใจพฤกษศาสตร์ก็จะพบคำว่า มิโมซา (mimosa) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของต้นไมยราบ (Mimosa pudica L.) เนื่องจากลักษณะของกระเฉดคล้ายกับไมยราบมาก แต่เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่าไมยราบน้ำ (Water mimosa) นั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้วกระเฉดเป็นพืชคนละสกุลกับไมยราบ

กระเฉด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neptunia oleracea Lour. มีชื่อท้องถิ่นว่า ผักกระเฉด (ทั่วไป) ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหนอง (ภาคเหนือ) ผักกระเฉด ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหละหนอง (แม่ฮ่องสอน) ผักฉีด (ใต้) ผักกระเสดน้ำ (อีสาน-อุดรธานี-ยโสธร)

ลักษณะการเติบโตนั้นผักกระเฉดจะขึ้นและเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำขัง

หลายคนอาจไม่เคยเห็นต้นจริงๆ เห็นแต่ตอนผัดผักกระเฉดน้ำมันหอยใส่จานมากิน มารู้จักธรรมชาติกระเฉดกันนิด เป็นพืชเติบโตเลื้อยยาวลอยบนน้ำ ลำต้นมีลักษณะกลม และเรียวยาว เป็นปล้อง ภายในตัน ไม่เป็นรูกลวง แต่ละปล้องมีนวมหุ้มสีขาว ที่เรียกว่า “นม” โดยหุ้มส่วนที่เป็นปล้องเว้นช่วงที่เป็นข้อของปล้อง นมสีขาวนี้ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นผักกระเฉดให้ลอยน้ำได้นั่นเอง

กระเฉดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขตร้อนในทวีปแอฟริกา ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ พบขึ้นอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีทั้งที่ปลูกเพื่อขายและขึ้นเป็นวัชพืชอยู่ในน้ำ สามารถขึ้นได้ในน้ำหรือบนดินที่ชุ่มน้ำก็ขึ้นได้  ใครที่ชอบกินผักหรือนักเลงผักจะสังเกตได้ว่าผักกระเฉดจะมีกลิ่นเฉพาะตัว หลายคนชอบมากเพราะเวลาเคี้ยวกินแล้วได้กลิ่นผักเพิ่มความโอชะในอาหารด้วย

กระเฉดมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ลำต้น ใบ และยอดอ่อน นำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ หรือรับประทานเป็นผักสด ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซีและไนอะซิน

สรรพคุณทางยา กระเฉดมีรสจืดเย็น เป็นผักที่เหมาะรับประทานหน้าร้อน เพราะช่วยบรรเทาความร้อน ในช่วงนี้ที่อากาศหนาวมาๆ หายๆ วันละ ๓ ฤดู ใครจะกินผัดผักกระเฉดก็ไม่เสียหายอะไร ได้วิตามิน กากใยอาหารดีแน่  สำหรับสรรพคุณยาไทย ใบ ใช้แก้ไข้ ดับพิษปวดแสบปวดร้อน ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผักกระเฉดมาตำผสมกับเหล้า แล้วหยอดในบริเวณฟันที่มีอาการปวด ส่วนของรากใช้เป็นยาทาภายนอกบริเวณที่มีอาการเนื้อตาย นอกจากนี้ ยังใช้รักษาแผล น้ำคั้นจากลำต้นหยอดใส่หูแก้อาการปวดหู ใช้เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือดได้อีกด้วย

ในต่างประเทศมีรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาจากผักกระเฉด เช่น น้ำคั้นจากผักกระเฉดใช้รักษาดีซ่าน รักษาการเจ็บปวดที่ลิ้น รักษาอาการท้องเสียแบบติดเชื้อที่ถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด รักษาโรคลมชัก ใช้ลดไข้ โดยเอาส่วนรากของผักกระเฉดไปแช่น้ำนำมาละลายกับแป้งข้าวเจ้า แล้วทาลงบนลำตัวจะช่วยลดอาการไข้ได้ ส่วนของรากใช้เป็นยาสมานแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่อยู่ในระยะรุนแรง รากแห้งที่นำมาบดให้เป็นผง นำไปโรยแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่จมูก เมื่อหลายสิบปีก่อน นักวิชาการที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยคุ้นเคยได้ลงชุมชน ในโอกาสไปสำรวจผักพื้นบ้านที่จังหวัดเลย พบว่าในสวนครัวบางบ้านมีการปลูกพืชชนิดหนึ่งเพื่อรับประทานเป็นผักพื้นบ้านที่หน้าตาเหมือนกระเฉด แต่มีลำต้นชูตั้งเหมือนพืชบกทั่วไป

ชาวบ้านเรียกว่ากระเฉดต้น มีการนำมารับประทานเหมือนผักกระเฉด แต่มีลักษณะเหนียวกว่าผักกระเฉดทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจริญเติบโตในที่แห้งกว่ากระเฉดน้ำ แต่ราว ๑๐ กว่าปีผ่านมา พบว่าพืชชนิดนี้กลายเป็นวัชพืชที่ขึ้นตามที่รกร้างไปทั่วภาคอีสาน จึงได้ทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า สกุลผักกระเฉด มีสมาชิกประมาณ ๑๐ ชนิด เขตการกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ในไทยพบ ๒ ชนิด คือ ผักกระเฉด (ที่เรากินกันทั่วไป) ชื่อวิทยาศาสตร์ Neptunia oleracea Lour. และ กระเฉดโคก Neptunia javanica Miq. ซึ่งกระเฉดโคกมีถิ่นกำเนิดในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และติมอร์  ในไทยก็พบได้ทุกภาค ขึ้นได้ทั้งตามที่โล่ง แห้งแล้งหรือชื้นแฉะ ความสูงไม่เกิน ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล  กระเฉดโคกนี้บางที่ก็เรียกผักกระเฉดบก และยังมีชื่อเรียกตามพื้นเมืองอีกหลายชื่อ เช่น ผักกระฉูด (ภาคกลาง) กาเสดโคก (อุดรธานี) แห้วระบาด (ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี) เป็นต้น

ดูจากชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว ผักกระเฉดโคก (Neptunia javanica Miq.) และกระเฉด (Neptunia oleracea Lour.) เห็นว่ากระเฉดน้ำและกระเฉดบกเป็นสายญาติเครือเดียวกัน เพราะอยู่ในสกุล Neptunia เดียวกัน กระเฉดบกเป็นไม้ทอดเลื้อยยาวได้ ๑ เมตร ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ มีสีเหลืองลักษณะเหมือนดอกกระเฉดน้ำ

แม้ว่านักพฤกษศาสตร์จะอธิบายว่ากระเฉดบกมีลักษณะทอดเลื้อย แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในธรรมชาติมีลักษณะตั้งตรง ในงานวิจัยต่างๆ พบว่ากระเฉดบกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่วจึงเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก

ปัจจุบันเริ่มมีผู้นิยมกินกระเฉดโคกหรือกระเฉดบกกันมากขึ้น สังเกตจากมีผู้นำมาจำหน่ายตามตลาดสดในจังหวัดต่างๆ แทนที่จะแสวงหาอาหารราคาแพง ลองเมนูกระเฉดน้ำประชันกระเฉดบกดีไหม?


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๔๗ วันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐



ภาพจาก : esan108.com

ผักหอมน้อย (โรยหน้า)

ผักหอมน้อย หรือ ผักหอมผอม คือชื่อเรียกพืชชนิดหนึ่งของคนภาคอีสานและภาคเหนือ

แล้วคนภาคกลางรู้จักหรือไม่ว่าพืชชนิดนี้เรียกว่าอะไร?

ขอใบ้คำตามสำนวนที่ว่า ทำอะไรดีๆ ให้พอเป็นพิธีแบบ “โรยหน้า” นั้นคือ ผักชี

ผักหอมน้อยหรือผักหอมผอม ก็คือต้นผักชีที่เรารู้จักกันทั่วไป

สัก ๑-๒  ปีที่ผ่านมาคนไทยเห่อผักชีตามคนญี่ปุ่น เพราะสำนักข่าวใหญ่ NHK ของญี่ปุ่นรายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของผักชี และยังเชิญชวนให้คนญี่ปุ่นกินกันเป็นประจำด้วย

คนไทยก็เลยมาสนใจกับเขาบ้าง

แต่พอเวลาผ่านไปก็เหมือนการนิยมชมชอบอาหารสมุนไพรแบบ “ผักชีโรยหน้า” ทำตัวตามแฟชั่นว่าสนใจสมุนไพรแบบให้ดูดีแต่อาจไม่ได้ใช้ต่อเนื่องจริงจัง

ผักชีมีอะไรดีๆ มากกว่าเด็ดมาโรยแต่งหน้าอาหาร แต่งกลิ่น หรือกลบกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร

ย้อนไปดูบันทึกที่มีการกล่าวไว้พบว่ามนุษย์รู้จักใช้ผักชีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์นั้น ก็มีหลักฐานการปลูกตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีที่แล้ว

ผักชีน่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในชนพื้นเมืองในยุโรปประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางเอเชียตะวันตก (ติดๆ กับทางยุโรป) แล้วน่าจะค่อยๆ นำไปปลูกในประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย

มีเรื่องเล่ากันว่าคนทางตะวันตกของจีน (น่าจะคนต่างชาติ) นำผักชีเข้าไปปลูกในสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือประมาณ ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว

ผักชีจึงไม่ใช่ผักพื้นถิ่นของไทย

แต่คนไทยก็นำผักชีมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน จนอยู่ในวัฒนธรรมของไทย ทั้งการกินเป็นอาหารและนำมาปรุงยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ

โดยเฉพาะความรู้ยากลางบ้านแต่ดั้งเดิมนั้นแทบจะทุกครอบครัวรู้จักดีว่า ถ้าเด็กหรือผู้ใหญ่ออกหัดต้องใช้ผักชีช่วย เช่น ถ้า เด็กออกหัด จะกระทุ้งให้หัดออกเร็วขึ้นไม่หลบใน ก็นำผักชีสดๆ ล้างน้ำ แล้วหั่นซอย จากนั้นอาจทำได้๒ วิธี คือ นำไปผสมกับสุราแช่ปิดฝาไว้ หรือบางคนนำไปต้มกับน้ำให้เดือด แล้วปิดฝาหม้อรอจนน้ำยาเย็น ทั้งแช่สุราหรือต้มน้ำ ให้เอากากออก แล้วใช้น้ำยามาทาให้ทั่วร่างกาย แผ่นหลัง หน้าอก ท้อง ขา ยกเว้นไม่ต้องทาใบหน้า

บางคนที่อาการ หัดแดงยังออกไม่หมด ก็ใช้ยาพื้นบ้านนำผลผักชีแห้งมาสัก ๑ กำมือ ใส่หม้อ (ควรใช้หม้อเคลือบ) แล้วเติมน้ำท่วมยา ต้มให้เดือด แล้วเอาหม้อยาไปวางไว้ในห้องคนไข้ เป็นห้องเล็กไม่มีลมโกรก แล้วเปิดฝาหม้อให้ไอยาจากผักชีค่อยรมให้ทั่วห้อง ไอจากยาจะค่อยๆ กระทุ้งให้ผื่นออกให้หมด

นอกจากนี้หาก เด็กคนไหนมีอาการผื่นแดงไฟลามทุ่ง ก็จะใช้ผักชีมาตำพอกแผลรักษาได้

ถ้ากล่าวตามสรรพคุณยาไทย พูดได้ว่าทุกส่วนของผักชีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ทั้งต้น ผล หรือราก ต้นผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสเผ็ด มีสรรพคุณขับเหงื่อ ทำให้ผื่นหัดออกมากขึ้น ขับลม เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ดับกลิ่นคาวปลา ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น แก้ผื่นแดง แก้ไฟลามทุ่ง

ผลผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อยเช่นกัน รสเผ็ด ทำให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้นก็ได้ กินช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยละลายเสมหะ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร กระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ช่วยแก้อาการบิด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร

ส่วนใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ แก้อาการไอ แก้หวัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการอาหารเป็นพิษ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนราก ใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว ไข้อีดำอีแดง ไข้เหือด ไข้หัด อีสุกอีใส

ยกตัวอย่างตำรับยาแก้ปวดท้อง และช่วยย่อยอาหาร ให้นำเมล็ดผักชีพอประมาณมาดองกับสุราก็ได้ทิ้งไว้ประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วกินเป็นยาวันละ ๑-๒ แก้ว (เป๊ก) กินสัก ๓-๔ วันติดต่อกัน (ไม่แนะนำกินยาดองสุรานานๆ กินเท่าที่จำเป็น) ตำรับยาบำรุงน้ำนมให้สตรีหลังคลอด ให้ต้มผักชีสดหรือตากแห้งก็ได้ นำมาสัก ๕-๑๐ ต้น ต้มน้ำกินเป็นประจำ

บางคนต้มน้ำขิงและผสมผักชี เป็นยาช่วยให้มีน้ำนมได้ด้วย

ในเวลานี้มีการศึกษาผลทางเภสัชวิทยาของผักชีในระดับสัตว์ทดลองและหลอดทดลอง ที่พอจะบอกได้ว่า ใบและทั้งต้นผักชี ถ้าได้กินประจำก็จะได้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารกลุ่มแทนนิน (tannins) สารกลุ่มคาโรทีนอยด์ (carotenoids) น้ำมันหอมระเหย วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งทั้งใบและลำต้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการชักและต้านการถูกทำลายของเซลล์สมอง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และมีฤทธิ์ช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร

ผลและเมล็ด มีงานวิจัยพอสมควร พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านปรสิต ต้านการอักเสบ ต้านการก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความวิตกกังวล แก้ปวด สามารถจับและกำจัดโลหะหนัก ปกป้องตับและไต

ข้อควรระวังหากใคร “อิน” และกินผักชีมากเกินไปย่อมไม่ดี เพราะลูกผักชีและต้นผักชีมีน้ำมันหอมระเหย ถ้ากินมากไปจะเสพติดได้และมีผลต่อเซลล์ตับ และบางคนกินแล้วอาจแพ้มีผื่นคัน จึงควรกินในขนาดพอเหมาะ

ผักชี หรือผักหอมน้อย ผักหอมผอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี หรือเทียน (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) เป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศปรุงอาหารที่มีคุณต่อสุขภาพมาแต่อดีต ตั้งแต่ น้ำแกงต้มรากผักชีบรรเทาไข้ ดีต่อการย่อยอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเป็นอาหารสมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด และลดไขมันในเลือด

ผักชี คืออาหารสมุนไพร ไม่ใช่สำนวน “ผักชีโรยหน้า” แน่นอน

ที่มา : ผักหอมน้อย (โรยหน้า) สมุนไพรเพื่อสุขภาพ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๕๘ วันที่ ๒๓ ก.พ.- ๑ มี.ค.๒๕๖๑






เรียนรู้เห็ดกระถินพิมาน  

ฝนมาแล้ววงจรเห็ดตามธรรมชาติก็กำลังมาให้เป็นอาหารอันโอชะ แล้วยังช่วยสร้างรายได้เสริมของคนเก็บเห็ดด้วย แต่ก็มักจะมีข่าวกันทุกปีว่ามีคนกินเห็ดมีพิษจนต้องส่งโรงพยาบาล

วันนี้ขอมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องเห็ดกันสักนิดว่า เห็ดมีประเภทกินได้และเห็ดมีพิษ (ห้ามกิน)

หากใครไม่คุ้นเคยดูเห็ดหรือไม่มีความรู้พอจำแนกเห็ดมีพิษกับไม่มีพิษล่ะก็ แนะนำให้กินเห็ดที่ขายตามตลาด อย่าไปเก็บเห็ดกินเอง

แต่แม้ว่าเลือกกินเห็ดไม่มีพิษแล้ว ขอให้จำขึ้นใจว่า การกินเห็ดทุกชนิดต้องทำให้สุกก่อน ห้ามกินเห็ดดิบสดๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยแนะนำว่า การนำเห็ดมาต้มปรุงในอาหารให้สุกแล้วก็มักจะใส่ใบย่านางลงไปด้วย เพื่อให้สรรพคุณใบย่านางลดพิษหรืออันตรายจากเห็ดนั่นเอง

เห็ดที่นำมากินเป็นอาหารมีข้อมูลกล่าวถึงมากพอสมควร แต่เห็ดที่เป็นยา ซึ่งในระยะหลังๆ มีการพูดในสื่อมวลชน สื่อโซเชียลกันมากขึ้นนั้น ยังมีคนจำนวนมากสงสัยและต้องการเรียนรู้ให้กระจ่างชัดขึ้น

จึงขอนำมาบอกเล่าให้ได้รู้จักกัน โดยเฉพาะ เห็ดกระถินพิมาน
 
เห็ดกระถินพิมานเป็นกลุ่มเห็ดหิ้ง คำเรียกเห็ดหิ้งให้นึกภาพตาม คือเห็ดที่ขึ้นอยู่บนต้นไม้ โดยเกาะติดบนลำต้นคล้ายเป็นหิ้งติดอยู่กับต้นไม้นั่นเอง และมีข้อควรรู้อีกว่า เห็ดกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่ในตำแหน่งของต้นไม้ที่อยู่สูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า ๒ เมตร

ทีนี้เห็ดกลุ่มเห็ดหิ้งนี้ ทำไมเรียกชื่อว่าเห็ดกระถินพิมาน ก็เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมหมอยาพื้นบ้านเชื่อว่าถ้าเห็ดหิ้งขึ้นบนต้นกระถินพิมาน จะให้ตัวยาที่ดีกว่าการเจริญบนต้นไม้อื่นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดในกลุ่มนี้นั่นเอง และขอบอกไว้ด้วยว่า เห็ดกระถินพิมานนั้นแม้มีชื่อเรียกแบบไทยๆ แต่เป็นกลุ่มเห็ดที่มีในหลายประเทศ ดังเช่น ประเทศจีนที่มีบันทึกมาแต่อดีตก็นำเห็ดนี้มาใช้ประโยชน์

ซึ่งในตำรายาโบราณของจีนเคยจัดเห็ดในกลุ่มนี้ว่าเป็นเห็ดหลินจือประเภทหนึ่ง

แต่เมื่อการศึกษาความรู้เรื่องเห็ดมีมากขึ้นและมีเทคโนโลยีในการจัดจำแนกชนิดพันธุ์ดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงจัดเห็ดกระถินพิมานไปอยู่ในสกุล Phellinus แต่หลินจือ คือ Ganoderma
 
ในทางวิชาการ เห็ดกระถินพิมานในสกุล Phellinus ทั่วโลกมีถึง ๑๕๔ ชนิด แต่ที่มีการบันทึกว่านำมาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น เช่น ชนิด P. linteus, ชนิด P. baumii, ชนิด P. igniarus และชนิด P. pini ฯลฯ

ในเมืองไทยก็พบการนำเห็ดกระถินพิมานมาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านซึ่งมีรายงานว่าการใช้เห็ดส่วนใหญ่ของตำราพื้นบ้านจะเป็นชนิด P. rimosus ซึ่งใช้เข้ายาในตำรับยารักษาฝีเป็นส่วนใหญ่

เห็ดในสกุล Phellinus เป็นที่รู้จักและใช้เป็นยากันอย่างกว้างขวาง ที่ใช้กันมาก เช่น ในประเทศเกาหลี เรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดซางฮวง” (Sang-Hwang) ในประเทศจีนเรียกว่า “เจ็น หรือ ซางหวง” (Gen or sanghuang) ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า “มิชิมาโกบุ” (Meshimakobu) และในอินเดียซึ่งหลายคนนึกไม่ถึงว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของแขกจะใช้เห็ดด้วยเหมือนกัน ซึ่งเรียกว่า “พานนาซอมบา” โดยเฉพาะในเขตตะวันตกของเทือกเขากัตส์ นิยมนำเห็ดในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยาในการรักษาอาการปวดฟัน โรคที่เกี่ยวข้องกับลิ้นและคอ โรคที่มีน้ำลายไหลมากเกินไปในเด็ก โรคท้องร่วง เป็นต้น

ขณะนี้ทั่วโลกมีการนำเห็ดกลุ่มกระถินพิมานหรือในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยารักษาโรคกันมากมาย

แต่ต้องบอกด้วยว่าที่มีการนำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่เขาใช้กัน คือ ชนิด Phellinus linteus (ภาพ ก.) และชนิด Phellinus igniarius (ภาพ ข.) ส่วนในตำรายาไทยส่วนใหญ่พบว่ามีการใช้ Phellinus rimosus (ภาพ ค.) ซึ่งชนิดที่คนไทยใช้กันมาก ในต่างประเทศก็พบการใช้ชนิด Phellinus rimosus ของชนเผ่าต่างๆ ในการรักษาคางทูม

และมีการศึกษาพบว่า Phellinus rimosus มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านเนื้องอก ต่อต้านการอักเสบ รักษาความผิดปกติของตับ แต่ในประเทศไทยเองยังมีการศึกษาเห็ดชนิดนี้น้อยมาก น่าจะต้องลงทุนด้านวิจัยให้มากขึ้น
 
สําหรับชนิด P. igniarius มีการใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก ในส่วนที่เป็นยาภายใน ใช้เป็นยาบำรุงและเป็นยาระบาย ส่วนการใช้ภายนอกใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ ถ้าพูดในภาพรวมบอกได้ว่ามีงานวิจัยหลายรายการที่แสดงให้เห็นว่า เห็ดในสกุล Phellinus มีสารสำคัญที่ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสารสำคัญหลายชนิดที่สกัดได้

โดยเฉพาะสารในกลุ่ม พอลิแซ็กคาร์ไรด์ มีคุณสมบัติไปกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบและกดการเจริญและการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกได้ การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเห็ดกระถินพิมานที่ได้มาจากธรรมชาติมีศักยภาพในการใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้

จากการศึกษาพบว่าวิธีใช้ประโยชน์จากเห็ดนั้น ต้องทำการสกัดเอาสาระสำคัญมาใช้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการสกัดด้วยน้ำหรือการต้มน้ำดื่มและกินนั้นเอง อีกวิธีคือการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ซึ่งต้องพึ่งเทคโนโลยี และล่าสุดมีการศึกษาการสกัดสาระสำคัญด้วยการหมักซึ่งเป็นการสกัดอีกแบบหนึ่ง

ง่ายที่สุด ดีที่สุด คือ ใช้เห็ดให้ถูกชนิดและนำมาต้มให้สุกหรือปรุงกินเป็นประจำช่วยบำรุงร่างกาย


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง  มูลนิธิสุขภาพไทย  มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉ.๑๙๗๐  ลง ๑๘-๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2561 14:37:31 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2561 16:06:37 »



มะขามป้อม
สมุนไพรบำรุงผิวและเส้นผมขนานแท้


ข่าวเจ้าหน้าที่ อย. สนธิกำลังกับตำรวจบุกทลายแหล่งผลิตและร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกับอาหารเสริม ไม่เพียงสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็พลอยแตกตื่นไปด้วยว่าผลิตภัณฑ์ราคาแพงที่ตนเองกำลังใช้อยู่ปลอดภัยหรือเปล่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทาน ซึ่งมีข่าวว่าสินค้าบำรุงผิวบางยี่ห้อทำให้ลูกค้าถึงกับเสียชีวิตหลายราย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องเปลี่ยนความแตกตื่นเป็นความตื่นตัวแสวงหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าปลอมซึ่งนอกจากต้องสูญเสียเงินทองมากมายแล้ว อาจจะเป็นภัยต่อสุขภาพหรืออาจจะสูญเสียชีวิตได้

กล่าวเฉพาะเรื่องเครื่องสำอาง ในปัจจุบันผู้บริโภคหันมานิยมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่ามีความปลอดภัยมากกว่าเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารเคมีล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรสำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาดยี่ห้อใดที่ปราศจากส่วนประกอบของสารเคมีโดยสิ้นเชิง ทั้งส่วนประกอบที่เป็นสมุนไพรเองก็ต้องมีสรรพคุณน่าเชื่อถือจริงๆ

และมีงานวิจัยรองรับอย่างเพียงพอ

ในที่นี้ขอนำเสนอ มะขามป้อม (ชื่อพฤกษศาสตร์ : Phyllanthus emblica L.) สมุนไพรในพุทธประวัติ ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมมักจะอยู่ในรูปแบบยาและอาหาร-เครื่องดื่ม  แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำมะขามป้อมมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดูแลผิวพรรณและเส้นผมที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมะขามป้อมอุดมด้วยวิตามินซี และสารกลุ่มแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชเครื่องสำอางมากมาย จึงทำให้มีการนำสารสกัดจากผลมะขามป้อมมาทดลองทางคลินิก เพื่อศึกษาฤทธิ์บำรุงผิวและเส้นผม

ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาฤทธิ์ช่วยให้ผิวขาวและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหน้าโดยใช้ตำรับเครื่องสำอางทั้งในรูปแบบครีมและเจล ที่ประกอบด้วยสารสกัดเนื้อผลมะขามป้อม ๐.๕% นำมาทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนอย่างละ ๓๐ คน โดยทาครีมและเจลบนบริเวณใบหน้า วันละ ๒ ครั้งเช้า-เย็น เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้ครีมเบสและเจลเบส  พบว่าค่าความดำของสีผิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์แรกที่ใช้ โดยที่ความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวจะเพิ่มขึ้นอย่างสัมผัสได้ชัดเจน  ยิ่งกว่านั้นเจลมะขามป้อมยังสามารถทำความสะอาดผิวหน้าได้อย่างหมดจดโดยไม่มีคราบสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ในรูขุมขนบนใบหน้าเลย

ที่น่ายินดีสำหรับคนใบหน้าติดฝ้าทั้งหลายก็คือ ผลมะขามป้อมใช้รักษาฝ้าบนใบหน้าได้ผลดีไม่มีผลข้างเคียงใดๆ  มีการศึกษาวิจัยทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของครีมรักษาฝ้าที่มีส่วนผสมสำคัญของสารสกัดผลมะขามป้อม และสมุนไพรประกอบอีก ๒ ชนิด รวม ๗% ในอาสาสมัครหญิงที่เป็นฝ้าทั้งชนิดฝ้าตื้นและฝ้าลึก จำนวน ๕๐ คน อายุระหว่าง ๑๘-๖๐ ปี แบ่งกลุ่มทดลองเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับครีมไฮโดรควิโนน ใช้เวลา ๖๐ วัน พบว่าครีมทั้ง ๒ ชนิดให้ผลลดฝ้าได้ดีไม่แตกต่างกัน คือทำให้ค่าความขาวกระจ่างใสของผิวและค่าความสว่างของผิว (lightness value) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพผิวก่อนใช้

แม้วัดประสิทธิภาพได้เท่ากัน แต่ครีมมะขามป้อมก็มีความเหนือกว่าในด้านความปลอดภัย โดยพบว่าครีมไฮโดรควิโนนทำให้ผิวหน้าไหม้เป็นผื่นแดง เกิดตุ่มคันสีแดงรอบปาก และทำให้จำนวนรอยของแผลสิวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ครีมรักษาฝ้ามะขามป้อมไม่มีพิษข้างเคียงใดๆ แถมยังมีข้อดีตรงที่ทำให้สีขี้แมลงวันจางลง และมะขามป้อมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินอันเกิดจากแสงยูวี ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและต้านการเกิดสิวได้ด้วย

นอกจากมีฤทธิ์บำรุงผิวหน้า ช่วยเพิ่มออร่าให้หน้าขาวใสไร้สิวฝ้าใบหน้าเต่งตึงแล้ว ยังมีงานศึกษาฤทธิ์สารสกัดจากผลมะขามป้อมในการกระตุ้นการงอกของเส้นผม ฤทธิ์ขจัดรังแค และบำรุงเส้นผมให้นุ่มสลวยเป็นเงางาม พบว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ปัจจุบันยังไม่ปรากฏงานวิจัยด้านพิษวิทยาฉบับใดที่ฟ้องว่าผลมะขามป้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น มะขามป้อมจึงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในระดับอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสรรพคุณและรูปแบบผลิตภัณฑ์ น่าเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนอันหนึ่งที่ทะลุทะลวงตลาดยุค ๔.๐ ได้สบายๆ

ยิ่งผลิตด้วยมาตรฐานและคุณภาพรับรองว่าไม่ต้องมีใครมารีวิวเชียร์ก็นิยมแพร่หลายแน่ และอย่าได้แอบอ้างติดฉลากมะขามป้อมแต่ข้างในกระปุกกลายเป็น “มะมั่ว” หลอกผู้บริโภคทำลายภาพลักษณ์สมุนไพรก็แล้วกัน แต่ในระหว่างที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมะขามป้อมยังไม่แพร่หลาย ผู้บริโภคที่นิยมสมุนไพรสามารถทำเองใช้เองได้หลายสูตรหลายแนว เช่น นำเนื้อผลมะขามป้อมสดๆ มาบดตำนำมาประยุกต์ใช้มาสก์หน้า ขัดผิว อาจใช้น้ำมะขามป้อมทา หรือน้ำและเนื้อมาพอกหน้าก็ได้ และจะนำมาหมักผมหรือขยี้หนังศีรษะบำรุงเส้นผมก็ได้อย่างมั่นใจว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

ผู้บริโภคท่านใดต้องการเพิ่มพลังกำลังสองก็แนะนำให้กินมะขามป้อมสดๆ หรือคั้นน้ำมะขามป้อมดื่มด้วย

สรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ชะลอวัย ห่างไกลโรคเรื้อรังด้วยเรียกได้ว่าสวยแข็งแรงมาจากภายในสู่ภายนอก

มะขามป้อมจึงเป็นทั้งอาหาร ยา และเครื่องสำอางที่ไม่ควรพลาด


ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๖๙ ประจำวันที่  ๑๑-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑




หญ้าคา

หญ้าคา (Imperata cylindrica (Linn.) Beauv. ) เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับหญ้า มีเหง้าอยู่ใต้ดิน แต่ด้วยธรรมชาติของเขาที่แพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดแล้ว ลำต้นใต้ดินนั้นมีความสามารถพิเศษที่งอกและเจริญเป็นต้นใหม่ได้อีก จึงลุกลามแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง

เป็นพืชที่ทนทาน ยิ่งเอาไฟไปเผาเหมือนจะไปกระตุ้นให้งอกต้นใหม่ขึ้นทวีคูณ คิดจะปราบก็ยากเย็นแสนเข็ญ ในวงการเกษตรจึงมอบตำแหน่งหญ้าคา คือ “วัชพืช” ไปเสียเลย นักวิทยาศาสตร์การเกษตรก็คิดค้นสารเคมีมาปราบบรรดาวัชพืช ซึ่งนิยามความหมายไว้อย่างหนึ่งว่า พืชที่ขึ้นผิดที่ หรือพืชที่ขึ้นในที่ที่ไม่ต้องการให้ขึ้น (ดันมาขึ้น) และมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในด้านที่เป็นโทษ ถ้าดูจากนิยามนี้ ตัวตนของหญ้าคาไม่ได้ผิดอะไร เขาแพร่ไปขึ้นในที่ที่ไม่อยากให้ขึ้น และก็ไม่ได้หมายความว่า พอเรียก “วัชพืช” แล้วคือพืชไร้คุณค่าและประโยชน์ใดๆ

ในความเป็นจริงมีวัชพืชหลายชนิดมีประโยชน์ เช่น ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ รักษาความชุ่มชื้นของดิน ใช้เป็นอาหารสัตว์ ช่วยดูดซับสารพิษจากแหล่งน้ำ ทำเป็นวัสดุจักสาน หัตถกรรม และใช้เป็นพืชสมุนไพร เช่น หญ้าคา

กล่าวตามสรรพคุณยาไทยดั้งเดิมระบุว่า
ราก หญ้าคาต้มกิน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงไต แก้ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
ทั้งลำต้น สดหรือแห้งก็ได้ นำมาปรุงเป็นยาแก้โรคไต แก้โรคมะเร็งคอ และแก้ฝีประคำร้อย
ดอก ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะแดง แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้มะเร็งในลำไส้ แก้ริดสีดวงต่างๆ

สูตรยาที่นิยม คือการใช้รากสดล้างสะอาดสัก ๑ กำมือ (ถ้าเป็นแห้งก็ลดใส่สัก ๑ หยิบมือ) หั่นเป็นฝอยๆ ต้มกับน้ำให้เดือด ดื่มกินช่วยขับปัสสาวะ

ปัจุบันมีการศึกษาวิจัยหญ้าคามากพอสมควร พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารประกอบฟินอลิก ((phenolic compounds), โครโมน ((chrmones), ไตรเตอร์ปินอยด์ ((triterpenoid), เซสควิทเตอร์ปินอยด์ ((sesquiterpenoids), โพลีแซคคาไรด์ โดยสารสำคัญเหล่านี้ มีคุณสมบัติ เช่น ต้านอักเสบ รากหญ้าคามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต  ปกป้องเซลล์สมองถูกทำลายจากสารเคมีที่เป็นพิษ ฯลฯ

นอกจากนี้ หญ้าคายังคงมีประโยชน์หรือคุณค่าทางวัฒนธรรมอีกมาก ดังตำนานหญ้าคาที่มีหลายตำนาน เช่น ระหว่างที่เทพกวนน้ำอมฤตแล้วเส้นผมของบรรดาเทวดาที่ช่วยกันกวนนั้นหลุดร่วงลงในเกษียรสมุทร ต่อมาถูกคลื่นซัดไปติดฝั่งแล้วงอกรากกลายเป็นต้นหญ้าคา บางตำนานว่าเมื่อได้น้ำอมฤตจากกวนเกษียรสมุทรแล้ว พระนารายณ์แปลงกายเป็นนางอัปสรถือหม้อน้ำอมฤตแจกให้เทวดาดื่ม หม้อนั้นไปขูดผิวที่เอวของพระนารายณ์ถลอก

เศษหนังเมื่อตกสู่พื้นดินก็งอกเป็นหญ้าคา

อีกตำนานเมื่อพญาครุฑนำหม้อน้ำอมฤตลงมาจากสวรรค์ พระอินทร์ตามมาขอคืน พญาครุฑบอกว่าจะต้องนำไปให้เหล่านาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง จากนั้นครุฑได้เอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา และได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓ หยด

หญ้าคายังเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หากจำประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ช่วงที่พระองค์เสด็จระหว่างทางก่อนถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้พบคนตัดหญ้าชื่อ โสตถิยะ ได้ถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (หญ้าคา) ๘ ฟ่อนเล็กๆ

พระองค์นำมาปูเพื่อประทับนั่งบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในคืนเพ็ญเดือนหกนั่นเอง ยุคสมัยปัจจุบันยังมีผู้ปั้นพระพุทธรูปปางทรงรับหญ้าคาก็มี

หญ้าคาจึงมีความสัมพันธ์ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ตามตำนานข้างต้น

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นพระสงฆ์พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา และพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา เพราะต่างก็ถือว่า หญ้าคา เป็นสิ่งมงคลในทางพิธีกรรมต่างๆ ใช้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ และยังพบเห็นการนำหญ้าคามาพันรอบนิ้วนางข้างขวาแทนแหวน เชื่อกันว่าทำให้นิ้วนั้นบริสุทธิ์ และยังเห็นหญ้าคาพันสายสิญจน์ในพิธีแต่งงานด้วย

หญ้าคาจึงไม่ “วัชพืช” หากเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
 
แต่ในเวลานี้วิชาการเกษตรที่นำเอาสารเคมีรุนแรงมากำจัดวัชพืช โดยเฉพาะกำจัดหญ้าคานั้น มักใช้สารเคมีที่เรียกว่า ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่พบว่ามีอันตรายมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ โรคเบาหวานและโรคไต และยังตกค้างในอาหาร ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่า ไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนของลูกน้อยได้ มีการตรวจพบการตกค้างของไกลโฟเซตในซีรั่มของทารกแรกเกิดและแม่ ระหว่าง ๔๙-๕๔% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป ๑๒ เท่า

ยังมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก ๒ ชนิด ที่อันตรายคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมกัน ๓ ชนิด ที่หลายสิบประเทศทั่วโลกเขาประกาศยกเลิกกันแล้ว ไทยแลนด์แดนสยามควรประกาศ “แบน” หรือยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายนี้ได้แล้ว หากหญ้าคาในฐานะสมุนไพรพูดได้ จะยกมือและส่งเสียงนับพันล้านเสียง (ต้น) ว่า   “จะควบคุมการแพร่พันธุ์ฉัน ขอให้เลือกใช้สารสมุนไพรธรรมชาติ ไม่เอาสารเคมียาฆ่าหญ้าทั้ง ๓ ชนิด ฉันเป็นพืชมงคล ไม้ศักดิ์สิทธิ์นะ ไม่ต้องการสารอันตรายปนเปื้อนไปสู่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากฉัน”


ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๒ ประจำวันที่  ๑-๗ มิถุนายน ๒๕๖๑




เพิ่มคุณค่าน้ำนมแม่
ด้วยยาประสะน้ำนมพื้นบ้านจากดงเค็ง


วันน้ำนมโลก (World Milk Day) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเพิ่งผ่านไปหยกๆ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายนนี้เอง แต่อีเวนต์ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตให้ดื่มนมวัวของค่ายบริษัทนมต่างๆ

จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเสนอให้มี “วันน้ำนมแม่โลก” หรือ “วันบูชาค่าน้ำนมโลก” มั่ง น่าจะดีกว่าค่าน้ำนมวัวเยอะเลย เมื่อก่อนที่จะมีนมผงสำเร็จรูปเลี้ยงทารกก็มีแต่นมแม่นี่แหละที่ช่วยให้มวลมนุษยชาติรอดชีวิตสืบเผ่าพันธุ์มาได้

ในสมัยโบราณท่านจะจัดสรรแม่นมเกรดเบญจกัลยาณีเอาไว้ถวายน้ำนมแด่พระมหาบุรุษราชเจ้าโดยเฉพาะ และยกย่องนมแม่ว่าเป็น “ทิพโอสถปโยธร” หรือน้ำโอสถทิพย์ของเทวดาเลยทีเดียว ดูอย่างละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาสสิ กล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตผู้เป็นแม่นมเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อัจฉริยกษัตริย์แห่งกรุงสยาม และเจ้าแม่นมเบญจกัลยาณีท่านนี้เองคือมารดาของพระยาโกษาธิบดี (พี่น้องเหล็กและปาน) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์จักรี

ในโลกยุคใหม่นี้ แม้จะมีนมผงเลี้ยงทารกนับยี่ห้อไม่ถ้วน แต่ค่าน้ำนมแม่ก็ยังมีความสำคัญต่อทั้งมารดาและทารก เดี๋ยวนี้มีการพบแล้วว่า คุณแม่ที่ไม่หวงเต้า ยอมให้ลูกดูดนมจากอก นอกจากจะห่างไกลจากมะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยให้มดลูกกระชับขยับเข้าอู่เร็ว พุงไม่ย้วยเป็นพะโล้หลังคลอดอีกต่างหาก

ส่วนเจ้าตัวเล็กนั้นได้ประโยชน์เต็มๆ จากนมแม่แน่นอน
 
แต่ศาสตร์การแพทย์แผนไทยกลับบอกว่า น้ำนมแม่นั้นมีทั้งดีและร้าย  อันน้ำนมดีนั้นท่านว่ามีแค่ ๒ เกรดคือน้ำนมอย่างเอกและน้ำนมอย่างโท

ถ้าสตรีใดมีน้ำนมขาวดังสีสังข์ เมื่อทดลองหยดลงในน้ำแล้วยังเป็นเม็ดกลมจมลงไปถึงก้นแก้วนั่นแหละคือน้ำนมเอกเช่นกัน ถ้าหยดน้ำนมลงไปแล้ว น้ำนมแตกกระจายแต่ก็ยังมีน้ำหนักจมลงไปถึงก้นภาชนะได้เรียกว่าน้ำนมโท  เกรดน้ำนมแม่นอกนั้นจัดว่าเป็นน้ำนมโทษทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะมีรสเปรี้ยว ขม ฝาด จืด จาง มีกลิ่นคาว

แต่หมอไทยก็มียาหลายขนานสำหรับแปรน้ำนมร้ายให้กลายเป็นดี รู้จักกันในชื่อยาแปรน้ำนมและยาประสะน้ำนม มีสรรพคุณ ๓ อย่างคือ ช่วยฟอกน้ำนมให้สะอาดปราศจากพิษ ช่วยอัพเกรดคุณภาพน้ำนมและเพิ่มปริมาณน้ำนมเลี้ยงทารกอย่างเพียงพอ พูดอย่างรวบยอดก็คือ ยาประสะน้ำนมช่วยเพิ่มค่าน้ำนมทั้งปริมาณและคุณภาพคับเต้า
 
ตามกรรมวิธีการรักษาของแพทย์แผนไทย ก่อนจะใช้ยาประสะน้ำนม ท่านต้องให้ยาขับโลหิตร้าย แล้วตามด้วยยาบำรุงโลหิต เพื่อให้สตรีหลังคลอดบุตรมีเลือดอันงามบริบูรณ์เสียก่อน เพราะนมดีย่อมมาจากเลือดดี จากนั้นจึงให้ยาต้มประสะน้ำนม ซึ่งมีทั้งยารสร้อนและยารสเย็นแต่ส่วนใหญ่มักเป็นยารสร้อนที่เข้าพิกัดยาตรีกุฏ (ตัวยารสเผ็ดร้อน ๓ อย่างคือพริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง) เจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู แห้วหมู เป็นต้น

แต่ยาประสะน้ำนมที่ขอนำเสนอในที่นี้ไม่ใช่ยาตำรับหลวง หากเป็นยาต้มพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรรสเย็นที่สามารถหาได้ในป่าชุมชน ยาประสะน้ำนมตำรับนี้เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษของพ่อใหญ่ขาว เฉียบแหลม แพทย์พื้นบ้านแห่งตำบลดงเค็ง  อำเภอหนองสองห้อง ขอนแก่น

ความพิเศษของยาตำรับนี้ก็คือ นอกจากไม่มีสมุนไพรรสเผ็ดร้อนแล้ว ยังมีสรรพคุณตรีคูณ คือ เป็นทั้งยาแก้นมคัด ช่วยบำรุงน้ำนมและเพิ่มปริมาณน้ำนมไปในตัว

ส่วนประกอบสมุนไพรพื้นบ้านมี ๙ ชนิด ดังนี้ (๑) เครือ (เถา) หมากแตก (๒) รากรุ่นไร่ (๓) รากเล็บเหยี่ยว (๔) รากตับเต่า (๕) แก่นฝางแดง (๖) แก่นนมวัว (๗) แก่นสีหวด (๘) ไผ่จืด (๙) แก่นต้นช้างน้าว

วิธีต้ม นำสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิด กะเอาอย่างละครึ่งกำมือ นำไปต้มในหม้อดิน เติมน้ำท่วมยา ๓ ส่วนต้มให้เหลือ ๑ ส่วน ขนาดและวิธีรับประทาน ดื่มน้ำสมุนไพรครั้งละ ๑ แก้ว ประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร ดื่มติดต่อกันนาน ๑ สัปดาห์

อาหารแสลงที่ห้ามรับประทาน ผักกลิ่นฉุน อาทิ ชะอม หรือเนื้อสัตว์รสร้อน อาทิ เนื้อหมู อาจทำให้เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะและน้ำนมแห้งได้

ยาต้มตำรับนี้ปลอดภัย สามารถดื่มได้เรื่อยๆ เกินกว่า ๗ วัน จนน้ำนมมาแล้วจึงหยุดรับประทาน
 
จากประสบการณ์การใช้ในหญิงหลังคลอดได้ผลดีทุกราย กรณีที่กล่าวขานกันมากคือ เรื่องราวของแพทย์หญิง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเป็นทุกข์มากที่ไม่มีน้ำนมจากเต้าให้ลูกกินหลังคลอด  กระทั่งได้มาดื่มยาต้มประสะน้ำนมของพ่อหมอขาวเพียงแก้วเดียว ผลปรากฏว่าน้ำนมไหลออกมาทันที เธอดีใจทั้งน้ำตาที่ได้เลี้ยงลูกน้อยด้วยน้ำนมจากอกของตนเอง

ชื่อสมุนไพรพื้นบ้านเหล่านี้ อาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับคนเมือง แต่สำหรับชาวบ้านอีสานใกล้ป่าดงเค็งแม้กระทั่งเด็กนักเรียนในละแวกนั้นล้วนรู้จักพืชสมุนไพรดังกล่าวเป็นอย่างดี

ปัจจุบันยาประสะน้ำนมตำรับพ่อหมอขาว เฉียบแหลม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนไทยพร้อมเลข ๒๔ หลักของโรงพยาบาลหนองสองห้อง สำหรับไว้ใช้บริการหญิงหลังคลอดในโรงพยาบาล รวมทั้งหญิงหลังคลอดทั่วไปในพื้นที่อำเภอหนองสองห้องและอำเภอใกล้เคียง ที่มีปัญหาน้ำนมไม่มา หรือมาน้อย

คุณแม่หลังคลอดท่านใดมีปัญหาน้ำนมไม่มา อย่ารอช้า ลองติดต่อไปที่โรงพยาบาลชุมชนของอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เพื่อขอคำแนะนำจากคุณหมอที่นั่น เพราะปัญหาน้ำนมไม่มา ยังไม่มียาแผนปัจจุบันขนานใดช่วยได้

นอกจากต้องพึ่งพาอาศัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่กำลังจะสูญหายไปนี่แหละ


ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๓ ประจำวันที่  ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑




นมน้อย ไม้ยาให้นมมาก

นอกจากวิกฤตเด็กไทยเกิดน้อย ทำให้ประชากรไทยในอนาคตจะมีสัดส่วนคนวัยหนุ่มสาวต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้สูงวัยแล้ว

ในบรรดาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ พอคลอดบุตรก็มักประสบปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไหลน้อยมากจนไม่พอให้ทารกตัวน้อยกินนมแม่

ใครได้สัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน จะพบว่ามีตำรับยาสมุนไพรหลากหลายขนานที่เกี่ยวกับยาเรียกน้ำนม

ซึ่งในฉบับที่แล้วได้มีการนำเสนอ ยาประสะน้ำนมของพ่อใหญ่ขาว เฉียบแหลม จ.ขอนแก่น ไปแล้ว

แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันมีการนำเอาตำรับยาเรียกน้ำนมหลายขนานเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งแล้ว

และน่าสนใจตรงที่ในตำรับเกือบทุกตำรับจะมีสมุนไพรชนิดหนึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

นั่นคือ ต้นนมน้อย ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้งไว้ แต่สามารถสื่อความหมายได้เป็นอย่างดีว่า

เป็นต้นไม้ที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องการมีนมน้อย

มารู้จักต้นนมน้อยกันจะได้ใช้กันถูกต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้อีกว่า นมน้อย (เพชรบูรณ์) น้ำเต้าแล้ง (นครราชสีมา) น้ำน้อย (เลย) ต้องแล่ง (มหาสารคาม อุบลราชธานี)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา

นมน้อยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำ กิ่งก้านเล็ก เปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี ฐานใบรูปลิ่ม ผิวใบเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ บริเวณกิ่งอ่อน ตรงรอยร่วงของใบ ระหว่างข้อหรือใต้ข้อ กลีบดอกสีเหลือง เนื้อหนา มี ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก คล้ายกลีบเลี้ยง สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม แยกกัน กลีบดอกชั้นในหนาอวบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก สีเหลืองนวล กลีบเลี้ยง บางคล้ายกระดาษ รูปสามเหลี่ยม ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม

นมน้อยมีผล ซึ่งผลเป็นผลกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ ผลย่อยรูปทรงกลม ผลแก่สีน้ำตาลปนแดง เมื่อสุกสีแดง ผลกินได้ พบตามป่าละเมาะ ชายทะเล ที่ทิ้งร้าง ชายป่า

ข้อควรระวังตามพุ่มต้นต้องแล่ง มักมีรังแตน เช่น แตนขี้หมา และแตนราม เป็นต้น

ดังนั้น ใครคิดจะไปเก็บต้นนมน้อยมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรใช้ลำไม้ยาวๆ แหวกดูก่อน มิเช่นนั้นอาจถูกแตนต่อยได้

นมน้อยนอกจากจะเป็นยาเข้าตำรับที่มีสรรพคุณน้ำนมแล้ว ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานยังเป็นพืชสมุนไพรที่ประกอบในตำรับยาอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ รากนมน้อย เข้ายากับเครือไส้ไก่ (Jasminum elongatum (P.J.Bergius) Willd.) และตะไคร้ป่า (Litsea cubeba (Lour.) Pers.) ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร และการเข้ายาผสมกับรากลกคก (Polyalthia debilis Finet & Gagnep.) และรากหุ่นไห้ (Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz) ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอด

หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้รากนมน้อยแก้ฝีภายใน หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้รากนมน้อยแก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย ต้มรากดื่มขณะอยู่ไฟหลังคลอดบุตรและการใช้ยาของหมอยาพื้นบ้านอีสานทั่วไป ใช้รากนมน้อย ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม แก้ปวดเมื่อย

แม้ว่านมน้อยจะมีสรรพคุณในการเรียกน้ำนมได้ดี แต่ขอให้เข้าใจว่าตามภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ใช้นมน้อยเป็นสมุนไพรเดี่ยว

เพราะการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดจะดูแลแบบองค์รวม เนื่องจากร่างกายของหญิงหลังคลอดจะมีระดับฮอร์โมนต่างๆ ไม่เข้าสู่ภาวะปกติ

อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะอ่อนไหวต่อการได้กลิ่นต่างๆ หรือการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดการผิดสำแดงได้

ดังนั้น ยาบำรุงหลังคลอดจึงมักใช้สมุนไพรหลายชนิดร่วมกันทำเป็นตำรับยา เช่น มีแก่นนมสาว (Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.) นมวัว (Anomianthus dulcis (Dunal) James Sinclair) นมน้อย (Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.) ต้มกินต่างน้ำ

ปัจจุบันมีงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า สารสกัดจากรากนมน้อยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการต้านการเป็นมะเร็งในระดับดีมาก (Sasipawan Machana  et al. Asian Pacific Journal of Tropical iomedicine Volume 2, Issue 5, May 2012, Pages 368-374)
 
และมีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย คือ ในตำรายาที่แพทย์แผนไทยใช้ มียาตำรับหนึ่งเรียกว่า ยาประสะน้ำนม กินเพื่อบำรุงน้ำนมประกอบด้วย โกศทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ รากไทรย้อย ๑ เปลือกพิกุล ๑ แห้วหมู ๑ งาช้าง ๑ เขากวางอ่อน ๑ รากเสนียด ๑ โคกกระออม ๑

รวมยา ๑๗ สิ่งนี้ เอาส่วนละเท่าๆ กัน ต้ม ๓ เอา ๑ กิน เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าตัวยาเกือบทั้งหมดของตำรับนี้มีรสร้อน ในขณะที่ยาพื้นบ้านที่กล่าวไว้ข้างต้นมักมีแต่สมุนไพรที่มีรสเย็น

นี่อาจแสดงให้เห็นว่าหลักในการวางยาสมุนไพรหรือการตั้งยาระหว่างแผนไทยและพื้นบ้านมีความแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษากันต่อไปอีก

รวมทั้งศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ของต้นนมน้อยให้ชัดแจ้ง เนื่องจากขณะนี้ในฐานข้อมูลของ The Plant List ปรากฏชื่อวิทยาศาสตร์ของนมน้อยเป็นชื่อที่ระบุว่ายังมีปัญหา (Unresolved name) ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นพบลักษณะของต้นนมน้อยมีความแตกต่างกันมาก

เช่น บริเวณเขาหินซ้อน นมน้อยมีลำต้นค่อนข้างสูง ทรงพุ่มโปร่งกว่าทางภาคอีสาน นักพฤกษศาสตร์จึงจัดแยกเป็นชนิดย่อย คือ นมน้อยที่เขาหินซ้อนใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. var. evecta

ระหว่างนี้นักพฤกษศาสตร์ประเทศไทยกำลังศึกษาเพื่อทบทวนและการจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์กันใหม่

ใครเคยเห็นรากของนมน้อยที่มีเปลือกสีน้ำตาลแดงเข้ม หรือถ้ามองผ่านๆ อาจจะเห็นเป็นสีดำนั้น ถ้าได้ดมกลิ่นจะรู้ว่ารากนมน้อยนี้มีกลิ่นหอมมาก จึงเป็นตำรับยาที่กินง่าย กินดี เพื่อคุณแม่ให้นมลูก


ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๔ ประจำวันที่  ๑๕-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2561 16:08:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2561 16:05:25 »



เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง
พืชสมุนไพรสู่ไม้ประดับ

คําว่าผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นสำนวนไทยๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ภายนอกดูไม่มีคุณค่าความหมายอะไร แต่ภายในกลับมากด้วยคุณประโยชน์หรือคุณค่า

ในมุมสมุนไพร ชื่อเรียกผ้าขี้ริ้วห่อทองที่จะกล่าวถึงวันนี้ ไม่ใช่ชื่อเรียกต้นสมุนไพรที่ในตำรายาไทยกล่าวไว้ทั่วไป อันหมายถึงต้นกะทกรก ที่บางครั้งก็เรียกว่า ผ้าขี้ริ้วห่อทอง  แต่ผ้าขี้ริ้วห่อทองในที่นี้เป็นพืชเครือ จึงเรียกให้แตกต่างว่า เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง

เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่คนอีสานเรียกว่า ผ้าห้ายห่อคำ หรือ ผ้าขี้ริ้วห่อคำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Callicarpa candicans (Burm. f.) Hochr. และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น เช่น กะเตาะ (สุราษฎร์ธานี) ขาเปียผ้าห้าย ผ้าขี้ริ้วห่อคำ ผ้าห้ายห่อคำ (เลย) ขี้อ้นดอน (พิษณุโลก) จับแปงเล็ก (ชัยนาท) ตอกดำ (ปัตตานี) มะตือเครื่องสะพานกน (เชียงใหม่) รำหนาด (ยะลา) เสียบไส้ (นครศรีธรรมราช)

สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Great Woolly Malayan Lilac และที่น่าสนใจอย่างยิ่งขณะนี้มีการเพาะพืชนี้จำหน่าย ซึ่งเรียกขานในวงการคนขายไม้ดอกไม้ประดับอย่างเท่ว่า Lovely berry

เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นพืชที่มีการกระจายในแถบเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ จีนตอนใต้ อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี ออสเตรเลีย หมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก
 
ในด้านการใช้ประโยชน์ มีชื่อเสียงในการนำเอาใบมาใช้ในการเบื่อปลา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งบางครั้งใช้เทคนิคเอากิ่งนำมาทำลูกศรยิงปลา ทำให้ปลาอยู่ในภาวะกึ่งสลบ ในแง่สมุนไพรก็มีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของรัฐเบงกอล

สรรพคุณที่พอรวบรวมได้ คือส่วนของใบ เปลือกและราก นำไปใช้เป็นยาห้ามเลือดหรือรักษาบาดแผลสด และใช้แก้ท้องเสีย ส่วนของใบยังใช้เป็นยาฟอกเลือด ขับระดู ถ้าเป็นใบอ่อนนำมาต้มดื่มแก้ปวดมวนในท้อง และแก้ภาวะขาดระดูหรือประจำเดือนไม่มา

ใบยังใช้เป็นยาทาภายนอกแก้บาดแผลสดและฝีหนอง ทำให้ลดอาการบวมได้เป็นอย่างดี นำมามวนสูบแก้หืดหอบ ใบแก่ใช้พอกภายนอก แก้ปวดกระเพาะอาหาร ส่วนของรากนิยมนำมาต้มดื่ม บำรุงร่างกาย และสำหรับผู้หญิงหลังคลอดให้นำรากและใบต้มดื่มจะทำให้เจริญอาหาร

นอกจากนี้น้ำต้มจากใบและรากยังใช้อาบ รักษาโรคผิวหนัง เช่น ผิวแห้งเนื่องมาจากภูมิแพ้ โรคหิด สะเก็ดเงิน หรือล้างแผลเปื่อยหรือเป็นหนอง รากนำไปต้มดื่มลดไข้ บำรุงตับ ล้างแผลร้อนในในปาก

ในบางพื้นที่มีรายงานว่าผลดิบกินได้ ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้แตกต่างกันออกไป

เช่น ในฟิลิปปินส์ใช้ใบมาสูบแก้อาการหอบหืด ใช้ใบสดมาพอกแก้ปวดกระเพาะ ในประเทศอินเดียใช้รากต้มดื่มแก้ไข้ รักษาโรคผิวหนังและรักษาแผลในปาก

มาเลเซียใช้ใบต้มดื่มแก้อาการปวดท้อง ในอินโดนีเซียใช้ใบต้มดื่มแก้อาการระดูมาไม่ปกติและใช้เป็นน้ำยาล้างแผล ใช้รักษาอาการอักเสบที่ผิวหนังเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ใบใช้ทำเป็นยาชงดื่ม เพื่อฟอกเลือด เปลือกรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนของผลและรากใช้เป็นยาต้มแก้ลำไส้อักเสบหรือปวดแบบเฉียบพลัน และเปลือกนำมาเคี้ยวคล้ายการเคี้ยวกินแทนหมากได้

การใช้ประโยชน์อื่นๆ ของเครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง ได้แก่ ใช้เป็นยาไล่แมลง โดยนำส่วนของใบมาลูบ ทาที่ผิว จะช่วยไล่เห็บ มดและยุงได้เป็นอย่างดี ทุกส่วนเมื่อทำให้แห้งใช้เป็นเหยื่อล่อกุ้งน้ำจืดได้

แต่มีรายงานว่าผลของเครือผ้าขี้ริ้วห่อทองเป็นพิษต่อไก่
 
ในประเทศไทยเมื่อค้นคว้าในตำรายาพื้นบ้านอีสาน พบว่ามีการใช้เข้ายาแก้สะดวงเปื่อย (แผลที่เกิดจากริดสีดวงทวาร) โดยนำรากผ้าขี้ริ้วห่อทองมาต้มกับรากพันงูขาว ต้มดื่ม

งานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า สาระสำคัญที่สกัดได้จากส่วนของใบ คือ สารแคลลิคาร์โปน (Callicarpone) เป็นสารที่เป็นพิษต่อปลา มีความเป็นพิษพอๆ กับโรทีโนน (rotenone) และมีความเป็นพิษมากกว่าโซเดียมเพนตะคลอโรฟีนออกไซด์ (sodium pentachlorophenoxide) ถึง ๑๐ เท่า

สารสกัดจากใบต่อต้านแบคทีเรีย Bacillus sp., Escherichia coli, Serratiamarcescens, and Staphylococcus aureus. ถึงตรงนี้คนจำนวนมากคงสงสัยว่าในใบมีความเป็นพิษ และภูมิปัญญาดั้งเดิมนำมาใช้เบื่อปลา

แล้วถ้าคนกินเข้าไปไม่เกิดพิษหรือ ขอบอกไว้ตรงนี้ว่า ปลากินเข้าไปในท้อง กับคนเรากินลงไปนั้น เอ็นไซม์ย่อยของปลากับคนต่างกัน ใบเครือผ้าขี้ริ้วห่อทองเป็นพิษต่อปลา
แต่คนกินเข้าไปไม่ได้เป็นพิษนะ
 
ในบางท้องถิ่น เช่น ในแถบจังหวัดชลบุรีเรียกต้นผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึงต้นกะทกรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflorafoetida L. ทั้งนี้ น่าจะมาจากลักษณะของผลที่มีเมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลืองทองและมีเยื่อเป็นเส้นฝอยๆ ห่อไว้ จึงเรียกว่าต้นผ้าขี้ริ้วห่อทอง ซึ่งเป็นคนละต้นกับเครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง

ต้นกะทกรก มีสรรพคุณคือ เถา-ใบ รสชุ่มเย็นเอียน ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะทรวงอก แก้ไอ แก้บวม ผลสุก รสหวานเปรี้ยว สรรพคุณ บำรุงปอด แก้ปอดอักเสบ ขับเสมหะ

ผ้าขี้ริ้วห่อทองชนิด Callicarpa candicans (Burm. f.) Hochr. เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพทั้งในการใช้เป็นสมุนไพรและยาไล่แมลง รวมทั้งขณะนี้มีการปลูกให้เป็นไม้ประดับ ใครที่เห็นโอกาสก็มาช่วยกันส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งได้สบายๆ


ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๔ ประจำวันที่  ๑๕-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑





ส้มผ่อหลวง
ไม้ยาพื้นบ้านต่างชาติกว้านหา

ส้มผ่อหลวง คือชื่อเรียกสมุนไพรตามภาษาของชาวอีสาน ที่มีการใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านมากมายหลายตำรับ และเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่คนไทยอาจมองข้าม แต่ชาวต่างชาติกำลังมากว้านหาซื้อ เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น มีการนำมาใช้บำบัดโรคและอาการได้หลายอย่าง และหากหันไปมองการใช้ประโยชน์ของเพื่อนบ้านก็พบว่าส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพดีต้นหนึ่ง

ว่ากันที่ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ใช้สมุนไพรส้มผ่อหลวงเข้ายาหลายตำรับ เช่น ยาแก้ไข้หมากไม้ ซึ่งมีอาการคล้ายเป็นไข้พิษชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรียที่ทำให้ใบไม้และผลไม้เน่าเปื่อย พอช่วงผลไม้ในป่าร่วงหล่นตามพื้นดิน ก็มักเป็นช่วงระบาดของการไม่สบาย

คนอีสานจึงเรียกไข้ชนิดนี้ตามที่มาของชื่อว่าไข้หมากไม้นั่นเอง
 
ตํารับยาของอีสานตำรับหนึ่งที่ใช้ แก้ไข้หมากไม้ คือ ให้เอาเหมือดคน เครือน้ำแนมอกน้อย มอกหลวง ตีนจำน้อย ตีนจำหลวง เหมือดแอ่ ยางโบง โกน้อย โกหลวง หูลิง บ้งมั่ง ฮากหมากเข้า ฮากแลงส่อน ยาหัว อ้อยดำ ยานาง ฮากเอี่ยนด่อน นองา ฮากนมผา ไม้เท้าสาร ดูกแฮ้งดูกกา ดูกปลาฝา ดูกแข้ ดูกเป็ด ดูกลิงลม ดูกกระท้าง ดูกงูเหลือม แพงคำฮ้อย ฮากตูมตัง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากน้ำนมราชสีห์ ฝนน้ำให้กิน แก้หมากสุก (ตุ่มที่เกิดจากไข้หมากไม้) ดีแล

ยาแก้ฝี ฮากส้มผ่อหลวง ฮากปลาดุก ฝนทา ยาแก้ทำมะลา (อาการที่มีเสมหะหรือเมือกอุดตันที่ลำคอ) ให้นำเอาไลปลาฝา ฮากส้มผ่อหลวง นำมาฝนน้ำกิน   เจ็บคัดหน้าคัดหลัง สามพันฮู ส้มผ่อหลวง สามสิบบี บีงูเหลือม ไลปลาฝา งาช้าง แข้วแข้ เขากวางชี เอาทั้งหมดฝนกิน   เจ็บท้องจุก ฮากชะมัด ฮากพังคีฮากตูม ฮากชมชื่น ฮากส้มผ่อหลวง ฝนกิน   ไข้เจ็บท้อง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากส้มผ่อน้อย ฮากกำน้อย ฮากกำหลวง ฝนกิน
 
ในวงการหมอพื้นบ้านอีสานจะเห็นว่ามีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่ง มาทำความรู้จักสมุนไพรส้มผ่อหลวงกันสักนิด

ในการค้นหาเพื่อแยกแยะพืชตามหลักพฤกษศาสตร์นั้น ได้ตามหาและจำแนกกันอยู่นาน ไปชัดแจ้งก็ตรงที่ลงไปทำงานกับหมอพื้นบ้านที่ จ.สกลนคร จึงสามารถระบุต้นได้ชัดเจนขึ้น ส้มผ่อหลวงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia stipulacea Roxb. มีชื่อท้องถิ่นว่า ขามเครือ ขี้มอด เถาปี้ดำ ปี้อัม (เชียงใหม่) คมแมบ (ปราจีนบุรี) เครือกระพี้เขาควาย ขามเครือ (หนองคาย) แตงเม (จันทบุรี) มักแฝ้น (เย้า-เชียงใหม่) เวือรอัมปืล (เขมร-สุรินทร์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์นั้น หากได้ค้นเอกสารวิชาการก็จะพบว่ามีการระบุไว้หลากหลาย เช่น เอกสารพรรณไม้จากจีน (Flora of China) กล่าวไว้ว่า ส้มผ่อหลวงเป็นไม้เถาที่มีเนื้อไม้ มีขนาดใหญ่ ในบางพื้นที่พบว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก

แต่เอกสารจากหอพรรณไม้ของประเทศไทย รายงานว่าเป็นไม้รอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๑๗-๒๑ ใบ เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ

ดอกออกเป็นช่อ แบบแยกแขนง ออกที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกรูปถั่วสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

พบได้ตามป่าเปิด ริมฝั่งน้ำจนถึงภูเขา และพบได้ไปถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง ๑,๗๐๐ เมตร การกระจายตัวพบได้ตั้งแต่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน บังกลาเทศ ภูฏาน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ไล่เรียงลงมาถึงกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย

เท่าที่พอมีข้อมูลพบว่าหมอพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรของประเทศไทย มีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นยาในตำรับแก้อาการประดงเส้น ซึ่งน่าจะหมายถึงอาการที่มีไข้และอาการปวดเมื่อยตามเส้นด้วย ในประเทศอินเดียมีการนำมาใช้มากพอสมควร โดยใช้เป็นยาขับระดู ให้นำเนื้อไม้จากรากและแก่นมาแช่น้ำดื่ม ในบังกลาเทศใช้ส่วนของรากและใบเป็นยารักษาโกโนเรีย และแผลร้อนในที่เกิดในกระพุ้งแก้มในปาก
 
ปัจจุบันมีการศึกษาอยู่บ้าง พบว่าพืชชนิดนี้มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง และเชื่อว่าในต่างประเทศน่าจะมีการศึกษาพืชพื้นบ้านชนิดนี้มากอยู่พอควรถึงสรรพคุณบำรุงร่างกาย หรือน่าจะมีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ เพราะเท่าที่มีข้อมูลจากชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ประเทศหนึ่งในยุโรปทำการสั่งซื้อหรือกว้านหาส้มผ่อหลวง ส่งออกนอกจำนวนมาก

สรรพคุณส้มผ่อหลวงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมบอกไว้เพียงเท่านี้ว่า เนื้อไม้ รสเปรี้ยวเฝื่อน ขับเสมหะ ฟอกระดู เป็นยาถ่าย แก้ไข้ ชงน้ำร้อนดื่มบำรุงร่างกาย แต่นักวิจัยฝรั่งอาจเห็นอะไรมากกว่านั้นแน่

แม้ว่าส้มผ่อหลวงไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม แต่ขอบอกดังๆ ว่าจำนวนประชากรของพืชนี้มีไม่มากนัก เข้าข่ายหายากอาจสูญพันธุ์ได้ ยิ่งต่างชาติมาสนใจจ้างให้เก็บขายด้วยแล้วก็อยู่ในภาวะเสี่ยงมาก

จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันปลูกอนุรักษ์พันธุ์ไว้ให้กับลูกหลาน และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยกันมากๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

 
ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๖ ประจำวันที่  ๒๙ มิถุนายน – ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2561 16:10:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 25 ตุลาคม 2561 16:08:12 »



‘ป่าเฮ่วหมอง’
สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้
 

ข้อความ สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้ คือคำขวัญของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ที่ตั้งใจสื่อสารสาธารณะมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว

ยุคนั้นผู้คนยังไม่ตื่นตัวสนใจการใช้สมุนไพรเท่ากับยุคนี้

ในเวลานั้นอาจพูดได้ว่าเป็นยุคการฟื้นฟูสมุนไพรให้กลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนไทย จึงจำเป็นต้องสะกิดเตือนการใช้สมุนไพรไว้

แต่ก็น่าแปลกใจมาก ที่คำขวัญเก่าเกือบสี่ทศวรรษ ยังคงร่วมสมัยและต้องหยิบมาใช้ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ นี้ด้วย

ทุกวันนี้คนนิยมสมุนไพรกันมากมาย จนคิดไปว่าสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติจะปลอดภัยเสมอ

ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด และเมื่อบวกกับกลไกการตลาดในการขายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ นานา ก็อาจทำให้ผู้บริโภคใช้สมุนไพรเกินความพอดี

และควรระมัดระวังอย่างยิ่งก็ตรงช่องทางสื่อสารผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้ความรู้ที่ไม่ชัวร์ แต่เข้าข่ายมั่วๆ มัวๆ เบลอๆ แชร์กันจัง

จึงขอนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรทั่วๆ ไปมาย้ำเตือนกันไว้ว่า

๑.ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของที่กำหนด รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีค่อยกินต่อไป เช่น ตำราบอกไว้ให้กินครั้งละ ๑ แก้ว ให้ลองกินสักครึ่งแก้วก่อน เป็นต้น

๒. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป ข้อนี้สำคัญ เช่น ตำรับยาบอกว่ายาขนานนี้ให้ต้มกินธรรมดา ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะตัวยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดโทษได้

๓. ควรรู้ผลข้างเคียงหรือพิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรไม่มีพิษ หรือควรรู้จักข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน การได้รู้จักข้อห้ามใช้ ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้มากขึ้น เช่น ห้ามใช้กับเด็ก ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือในระดับให้ระมัดระวัง เช่น ยาบางชนิดมีผลต่อการรักษาโรคบางอย่าง แต่ก็มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย การกินยาชนิดนั้นก็จะส่งผลต่อระดับความดันเลือดด้วยนั่นเอง

๔. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน และคนชรา ห้ามใช้ยามากเพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ง่าย ข้อนี้ก็คือ คนกลุ่มนี้ถ้าจะกินยาสมุนไพรให้กินตามที่กำหนด อย่ากินมากโดยคิดเองว่ายิ่งมากยิ่งดี ไม่ได้เลย

๕. โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพร ๑ วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ท้องผูกเรื้อรัง เมื่อใช้ยาสมุนไพร ๑ สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องเปลี่ยนยา  อธิบายขยายความได้ว่า เช่น หากมีอาการไอ เจ็บคอ คุณเลือกใช้สมุนไพรตำรับหนึ่งบรรเทาอาการ แต่เมื่อใช้ยาไปแล้ว ๑ วัน อาการไม่ดีขึ้นเลย (ไม่ได้หมายถึงว่าวันเดียวหายนะ แค่อาการดีขึ้น) ถ้าอาการโรคทั่วๆ ไป กินแล้ว ๑ วันไม่ดีขึ้น แสดงว่ายาไม่ถูกกับโรค ต้องเปลี่ยนยา  แต่ถ้ารู้สึกเริ่มดีขึ้นก็ใช้ยาต่อไป  สำหรับอาการโรคที่เรียกว่าเรื้อรังทั้งหลายตามตัวอย่างข้างต้นนั้น ให้รวมถึงโรคที่เป็นกันมากๆ เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคเหล่านี้กว่าจะรู้ผลก็ต้องกินนานสัก ๑ สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นก็แสดงว่าสมุนไพรนั้นไม่ถูกกับโรค

๖. ไม่ควรพลิกแพลง คิดตั้งตำรับยาเอง หรือคิดปรุงยาเองโดยขาดความรู้ ห้ามใช้จินตนาการคิดเอาเองว่าผสมสมุนไพรชนิดนี้กับชนิดโน้น ดังนั้น ต้องเคร่งครัดกับตำรับยา วิธีการปรุง การใช้ เช่น ตำรับยามีส่วนประกอบ ๕ ชนิด ใช้การต้มน้ำ กินครั้งละ ๑ แก้ว ๓ มื้อ (เช้ากลางวันเย็น) ห้ามคิดเองว่า เพิ่มส่วนประกอบชนิดนี้ไปอีก ๒ ชนิด ต้มน้ำให้เข้มข้นเพราะคิดว่ายาแรงดี แล้วกินต่างน้ำตลอดทั้งวัน โดยคิดว่ายาจะได้ออกฤทธิ์ช่วยบำบัดโรคได้ดียิ่งขึ้น ทำเช่นนี้จะเกิดพิษหรืออันตรายต่อร่างกายได้ และถ้าใช้หลักการ ๖ ข้อข้างต้น ควรกินแค่วันละ ๑ ใบพอ เพื่อดูสภาพร่างกายของเรา และไม่ต้องกินทุกวัน ให้เว้นไป ๒-๓ วันจึงกินครั้งหนึ่ง บางรายอาจกินวันเว้นวันเพราะเขากินปริมาณน้อย ซึ่งไม่ควรกินทุกวัน และไม่กินต่อเนื่องนานๆ ควรหยุดพักบ้าง

ป่าเฮ่วหมอง เป็นสมุนไพรที่มีรสขมจัด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นมากๆ ความรู้ดั้งเดิมไม่แนะนำให้กินจำนวนมากและต่อเนื่องนานๆ จะทำให้ร่างกายเย็น มือ-เท้าเย็น ระบบย่อยอาหารไม่ดีท้องอืดง่าย อ่อนเพลีย ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และในผู้ป่วยที่มีปัญหาตับและไต

ในโลกโซเชียลมีการเผยแพร่กว้างขวางทำนองกินสมุนไพรแล้วเบาหวานหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไม่ใช่กินแต่ยา แต่ต้องฝึกการกินอาหารที่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกาย ยามีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยาวิเศษแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์การบริโภคและใช้ชีวิต และการกินแต่ยาปริมาณมากๆ นานๆ ยังจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ตับและไตทำงานหนัก การรู้จักกินและออกกำลังกายจะช่วยให้การบริโภคยาน้อยลง ส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน ย้ำเตือนไว้กับการใช้สมุนไพรทุกชนิด ทั้งสมุนไพรเดี่ยวและตำรับว่า สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้

 
มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๘๙ ประจำวันที่ ๒๘ ก.ย. – ๔ ต.ค.๖๑



หญ้าคา  
วัชพืชแห่งตำนาน มีความหวานเป็นยา
 
ในที่สุดน้าหว่อง-มงคล อุทก ก็ได้คืนสู่โลกแห่งตำนานเพลงเพื่อชีวิตให้ผู้คนได้ทรงจำ และหนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับขุนพลพิณ พนมไพรแห่งลุ่มน้ำชีคนนี้ก็คือ “หัวหญ้า” สมุนไพรในเพลง “คิดฮอดบ้านเกิด” ของเขา

น้าหว่องมีความสุขฝังใจเมื่อเล่าถึงชีวิตเด็กชนบทอีสาน ที่ชวนกันเอาเสียมน้อยไปขุด “หัวหญ้า” นำมาแอบเคี้ยวกินเล่นในห้องเรียนอย่างเอร็ดอร่อยแทนทอฟฟี่ น้าหว่องเล่าแบบไม่อายใครว่า “บ่มีขนมกิน ก็กินอันนี้แหละ หวานคือกัน…อยู่หลังโรงเรียนมีเยอะ พอมีชั่วโมงว่างจากการเรียน ก็ไปหาหัวหญ้ากิน   อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่ากินหญ้านะ” (ฮา)

วัชพืชอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี้ไม่ใช่เพียงสิ่งแทนขนมหวานของลูกอีสานยากไร้ไกลปืนเที่ยงเท่านั้น แต่ยังเป็นสายใยแห่งมิตรภาพในวัยเด็กของพวกเขาด้วย

 “หัวหญ้า” ของน้าหว่องในที่นี้ก็คือ “รากเหง้าหญ้าคา” อันไร้ค่าที่มีอยู่ดาษดื่น

แต่สำหรับคนที่พอรู้เรื่องเทพปกรณัมของฮินดูอยู่บ้าง ย่อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หญ้าคานั้นไซร้ไม่ใช่วัชพืชธรรมดา แต่เป็นพืชพันธุ์อันศักดิ์สิทธิ์ในตำนานชักเย่อพญานาคกวนเกษียรสมุทรแย่งน้ำอมฤตของทวยเทพกับเหล่ายักษา  ความเชื่อนี้ตกทอดมาถึงชาวพุทธ ที่นิยมใช้กำหญ้าคาเป็นเครื่องมือประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และถ้าใครยังจำพุทธประวัติได้ โพธิบัลลังก์ที่พระสิทธัตถะประทับในวันตรัสรู้นั้นก็ปูลาดด้วยหญ้ากุศะหรือหญ้าคาอินเดีย  ดังนั้น “หัวหญ้า” ในตำนานเพลงของน้าหว่องก็คือวัชพืชตัวเดียวกับ “หญ้าคา” ในตำนานศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ทั้งยังเป็นความศักดิ์สิทธิ์มีมากด้วยคุณประโยชน์ด้านปัจจัย ๔ กล่าวคือ นับแต่โบราณกาลที่มนุษย์เริ่มรู้จักปลูกเพิงพัก

วัสดุแรกที่คนนำมามุงกันแดดกันฝนก็คือหญ้าคานี่แหละ

คำเรียกขานว่า “หลัง (หญ้า) คา” ก็เป็นประจักษ์พยานอยู่ แม้แต่ฝรั่งยังเรียกหญ้าคาว่า “thatch grass” หรือหญ้ามุงบ้าน ส่วนในด้านเครื่องนุ่งห่ม คนยุคโบราณโดยเฉพาะพวกฤๅษีชีไพร มักนำหญ้าคามาทำผ้านุ่งเรียกว่า “คากรอง” ยิ่งกว่านั้นดงหญ้าคายังเป็น “พืชเบิกไพร” ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้สมดุล เพราะถ้าไม่มีรากหญ้าคาที่ลึกเป็นศอกช่วยยึดหน้าดินไว้หลังจากป่าไม้ถูกถางโล่งเตียนแล้ว ป่าผืนใหม่จะไม่มีวันฟื้นกลับคืนมาได้อีกเลย

ด้วยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ดังกล่าว วัชพืชชนิดนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “หญ้าหลวง”  ซ้ำยังเป็นสมุนไพรใกล้ตัวแบบหญ้าปากคอกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง  เรามาทำความรู้จักกับสรรพคุณความหวานเป็นยาของรากหญ้าคาที่เป็นขนมขบเคี้ยวของเด็กอีสานกันเถอะ

“หญ้าคา” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Imperata cylindrica Beauv. จุดเด่นของหญ้าคาคือมีเหง้าใต้ดินเป็นหลอดทรงกลม (cylinder) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ แตกต่างจากเหง้าหญ้าแฝกที่มีทรงแบน

สรรพคุณของหญ้าคาที่รู้จักกันดีคือ บำรุงไตและรักษาทางเดินปัสสาวะ ดังในคัมภีร์แพทย์ฉันทศาสตร์กล่าวไว้แต่โบราณว่า “ปิดเบาไซร้น้ำหญ้าคา ปิดหนักมาน้ำลูกสมอ”  ส่วนของหญ้าคาที่ใช้ทำยาไทย มักใช้ส่วนรากหรือเหง้าเช่นในคัมภีร์วรโยคสาร กล่าวถึงการใช้รสหวานของรากหญ้าคาเป็นตัวยาหลักในตำรับยาขับนิ่วหิน นิ่วกรวด นิ่วเบาเป็นเส้นในน้ำปัสสาวะ (หมายถึงสายละอองขาวขุ่นที่ลอยอยู่ในน้ำปัสสาวะนั่นเอง)  ทั้งยังขับมุตกิดตกขาว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบในท่านหญิง และแก้ปัสสาวะขัดลำกล้องในท่านชาย

พบว่าฤทธิ์ขับปัสสาวะของเกลือโพแทสเซียม ในรากหญ้าคายังช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างปลอดภัย ยิ่งถ้าได้รากหญ้าทั้ง ๕ (แห้ง) คือ หญ้าคา หญ้าแพรก อ้อยดำ อ้อยแดง และรากไผ่รวก นำมาห่อผ้าขาวบางต้มดื่มต่างน้ำ

นอกจากจะช่วยแก้โรคตกขาวได้ชะงัดแล้ว ยังชำระสิ่งหมักหมมในลำไส้ช่วยให้เบาเนื้อสบายตัว
 
สรรพคุณหญ้าคามีมากกว่าที่คิด ยังช่วยพิชิตอาการอักเสบรุนแรงในช่องปากและลำคอ ที่แพทย์แผนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อริศดวงมหากาฬ คือมีอาการปากคอเปื่อย มีกลุ่มเม็ดริดสีดวงขึ้นในลำคอ อักเสบเป็นหนอง แสบร้อนคอกลืนกินอาหารไม่ได้

ท่านให้ใช้พืชสมุนไพรสด ๔ ตัว คือ รากหญ้าคา ใบผักหนอก ใบว่านมหากาฬ  ใบแพงพวยเทศ และเกลือแกง เอามาอย่างละเท่าๆ กัน ตำให้แหลก ห่อผ้าแพร (ผ้าไหม) เป็นก้อนกลม พออมในช่องปากได้ ท่านว่า “อมหายมามากแล้ว” คนทั่วไปรู้ดีว่าความหวานของรากหญ้าคาเป็นยาเย็น ใช้เข้าตำรับยาแก้ร้อนใน แก้ธาตุไฟกำเริบ แต่มักไม่รู้ว่ารากหญ้าคาเป็นยาขับลมร้ายด้วย ในตำรับยาแก้ลมจุกเป็นก้อน เป็นเถาดาน ในทรวงอก ในช่องท้องที่เรียกว่าคุลมโรค ก็มีรากหญ้าคาเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย

เสียดายจัง ถ้าหากน้าหว่องยังขบเคี้ยวหัวหญ้าเป็นสแน็กประจำวันแล้ว ก็อาจจะช่วยให้เลือดลมหล่อเลี้ยงหัวใจให้แข็งแรงกว่านี้

คนโบราณรู้ดีว่ารสหวานของรากหญ้าคาเป็นยาดีสำหรับเด็กเล็ก เพราะช่วยแก้โรคตานขโมย พุงโรก้นปอด ผอมแห้งแรงน้อย อันเป็นการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก

ดังนั้น การที่อดีตเด็กด้อยโอกาสอย่าง ด.ช.มงคล อุทก ได้ขุดดินกินหัวหญ้าเป็นภักษาหารจึงนับว่าเป็นโชคชะตาที่ดี เนื่องจากรสหวานของหญ้าคามีคุณค่าทางยาสูง นอกเหนือไปจากมีสารน้ำตาลคุณภาพ อาทิ ซูโครส กลูโคสและฟรุกโตส คนโบราณจึงมีกรรมวิธีเก็บน้ำหวานจากรากหญ้าคาไว้ใช้ประโยชน์ทางยา ดังนี้

ช่วงเวลาหน้าหนาว อากาศแห้ง แล้งฝนแล้ว เป็นช่วงที่รากหญ้าคาอวบอ้วนสมบูรณ์เต็มที่หลังจากซึมซับธาตุอาหารผ่านฤดูฝนมายาวนานถึง ๔ เดือน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บน้ำหวานใต้ดินจากรากหญ้าคา
 
ขั้นแรกใช้เสียมขุดดินลึกลงไปให้เป็นโพรงใต้กอหญ้าคาสักหนึ่งศอกตัดส่วนที่เป็นรากยาวๆ ออกไป แล้วเอาแกลบใส่ให้เต็มโพรง จากนั้นหมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนรากงอกใหม่ยาวงามขาวอวบดี จึงโกยเอาแกลบออกให้หมด รวบรากหญ้าคามัดรวมกันให้แน่น ใช้มีดคมบางปาดรากทั้งมัดครั้งละ ๑-๒ มิลลิเมตร นำกระบอกแก้วหรือกระเบื้องเคลือบมารองรับหยาดน้ำหวาน ซึ่งจะไหลออกมาหลังจากปาดรากแล้วราว ๓ วัน

เมื่อน้ำหวานหยุดไหลแล้ว จึงปาดมัดรากลึกเข้าไปอีกทีละน้อยๆ เหมือนปาดจั่นดอกมะพร้าว ก็จะได้น้ำหวานรากหญ้าคาเก็บไว้เป็นยาบำรุงไตอย่างดีสำหรับผู้ใหญ่ หรือจะใช้สำหรับบำรุงร่างกายเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่วัยทารกก็ได้

ท่านบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวโศลกไว้ว่า ไม่มีอักขระตัวใดเป็นคำมนตร์ไม่ได้ ไม่มีพืชชนิดใดใช้ทำยาไม่ได้ และไม่มีมนุษย์คนใดเป็นคนดีไม่ได้

วัชพืชที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ เช่น หญ้าคา ได้พิสูจน์แล้วว่าวาทะของท่านบรมครูเป็นสัจพจน์อย่างแน่แท้

 
มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๙๐ ประจำวันที่ ๕-๑๑ ต.ค.๖๑



กาแฟชุมเห็ดไทย  

ยอมรับกันว่าทุกซอกทุกมุมของทุกเมืองในประเทศไทยตอนนี้มีร้านกาแฟมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าสังเกตกันดีๆ ก็มีทั้งร้านเปิดใหม่และที่ปิดกิจการ เห็นแต่ยี่ห้อใหญ่ๆ รุกหนักเปิดขายจากนอกห้างตอนนี้เข้ามาชิงพื้นที่ในห้างด้วย ถ้านับกันจริงๆ ก็ถือว่ากาแฟเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณบรรเทาหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น ช่วยขับปัสสาวะ และกาเฟอีนในกาแฟก็ช่วยให้สดชื่น แก้อาการง่วงได้

วันนี้จะชวนมาชิมกาแฟชุมเห็ดไทย ซึ่งเป็นความรู้มาจากคนทวีปอเมริกานะจะบอกให้ แต่ก่อนจะชงชิม อยากให้รู้จักชุมเห็ดไทย แต่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ สามารถขึ้นกระจายทั่วไป แล้วนับเป็นวัชพืชในเขตร้อนชื้น เพราะถ้าไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ ต้นชุมเห็ดไทยก็แพร่ไปมากมายได้ทั่วทุกภาค

แต่ก็เป็นที่น่าฉงนว่าทำไมจึงมีชื่อไทยว่าชุมเห็ดไทย ทั้งๆ ที่ชุมเห็ดไทยมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Foetid cassia และ Sickle senna มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna tora (L.) Roxb. โดยมีชื่อ Cassia tora L. เป็นชื่อพ้องที่ต้องกล่าวถึงชื่อพ้องเพราะว่าเดิมใช้ชื่อ Cassia tora L. มาเป็นเวลานาน แต่นักอนุกรมวิธานได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น Senna tora (L.) Roxb. เมื่อไม่นานมานี้เอง จึงต้องกล่าวไว้ไม่ให้สับสน

ชุมเห็ดไทยเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE

ชุมเห็ดไทยยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า พรมดาน พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี) เล็นเค็ด (มหาสารคาม) เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง) กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน) เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ชุมเห็ดไทยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว ๑ ปี สูงประมาณ ๑ เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป

ใบชุมเห็ดไทยเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ คู่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่จะทำให้เราจำพืชชนิดนี้ได้ดีคือ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ ๑ คู่ และลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ไม่มีขน  มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว ๒ อัน

ดอกชุมเห็ดไทยจะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ ๒-๔ ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสดสวยงามดีและมีกลีบดอก ๕ ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอีก ๕ กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และผลชุมเห็ดไทยจะออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักแบนทั้งสองด้าน ปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้นๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ ๒๐-๓๐ เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน  เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด
 
บรรยายลักษณะเมล็ดให้ชัดเพราะเมล็ดนี่แหละที่มีดี แต่ขอพูดถึงประโยชน์จากใบก่อน

ใบอ่อนกินเป็นผักได้  ในศรีลังกาใช้ดอกเป็นอาหารได้ด้วย และมีการใช้เป็นยาควบคุมแมลงในฟาร์มแบบออร์แกนิก และมีการใช้ชุมเห็ดไทยทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วย ที่ประเทศเกาหลีเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่กินแล้วจะทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีก

ในส่วนความรู้ของไทย  ใบ แก้อาการนอนไม่หลับ เมล็ด มีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย นำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ  เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น แต่ช่วยแก้กระษัย และแก้เด็กเป็นตานขโมยก็ได้ ให้ใช้เมล็ดแห้ง ๑๐กรัม ตับไก่ ๑ คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้กิน หรือเมล็ดคั่วให้เกรียม นำมาบดให้เป็นผงชงน้ำดื่มเป็นยาลดความดันได้ชั่วคราว รักษาอาการตาบวมแดง ฝ้ามัว ตาฟาง  ดอก ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับพยาธิในท้องเด็ก กินเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ แก้เสมหะ แก้หืด  ผล ใช้แก้ฟกบวม

ในต่างประเทศใช้ทั้งต้นเป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง แก้คัน แก้โรคเรื้อน แก้โรคสะเก็ดเงิน หรือแม้แต่แก้พิษงู

ใบนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบาล์มหรือยาหม่อง และใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง ซึ่งใช้กันมากในตำรับยาของจีนและอายุรเวท

นอกจากนี้ ในชุมเห็ดไทยมีสารสำคัญคือ แอนทราควินโนน (anthraquinone) เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาระบาย และมีการนำเอาสารที่ทำให้เกิดเจล (gelling agent) ที่สกัดได้จากเมล็ดมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย

สำหรับเมล็ดชุมเห็ดไทยมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย

เมล็ดนำมาคั่วชงเป็นกาแฟ คนพื้นเมืองในอเมริกาใต้นำเมล็ดไปคั่ว นำมาชงดื่ม มีกลิ่นหอมเหมือนกาแฟ กลิ่นธรรมชาติไม่มีการแต่งเติมสีและกลิ่นใดๆ จึงมีความน่าสนใจทีเดียว

ในสังคมที่นิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น กาแฟจากเมล็ดชุมเห็ดไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี สามารถปรุงแต่งสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี  ลองชิมกันดูนะ  
 

มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๘๙๒ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ ต.ค.๖๑


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ตุลาคม 2561 16:10:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 26 ตุลาคม 2561 16:18:32 »


ข้าวยาคู  
เภสัชอาหาร เพาเวอร์เจลของพระพุทธเจ้า  
ในภูมิปัญญาอาหารสุขภาพของไทยที่ถ่ายทอดมาจากพุทธศาสนา มีเภสัชอาหารหรืออาหารเป็นยาอยู่เมนูหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ ข้าวยาคู ใช้สำหรับบริโภคเพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
จะเรียกว่าเป็นเพาเวอร์เจลของพระพุทธเจ้าก็ย่อมได้

พระพุทธองค์เองก็ทรงเคยเสวยเภสัชอาหารตำรับนี้ เมื่อทรงพระประชวรด้วยโรคลมจุกเสียดในพระนาภี ในพระสูตรกล่าวถึงธัญพืชหลักของตำรับข้าวยาคู ๓ อย่าง คือ ข้าวสาร งา ถั่วเขียว ซึ่งแต่ละสิ่งมีสรรพคุณวิเศษ
ดังนี้

ข้าวเจ้า : แป้งจากข้าวเจ้าเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดอะไมโลส (amylose) ที่ย่อยง่ายให้พลังงานสูงโดยไม่สร้างปัญหาเกิดลมท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้าพูดอย่างภูมิปัญญาแผนจีน ก็ต้องบอกว่าแป้งข้าวทุกชนิดมีสมดุลหยิน-หยาง ซึ่งช่วยประสานธาตุ ๔ ให้สมดุลด้วย สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนแรง เพียงได้ดื่มน้ำข้าวอุ่นๆ ก็จะมีกำลังกระปรี้กระเปร่าขึ้นทันที

ถั่วเขียว : นับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ย่อยง่าย อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมความสึกหรอของร่ายกายได้ดีไม่แพ้ถั่วเหลือง แต่ถั่วเขียวเหนือชั้นกว่าถั่วเหลืองตรงที่มีเมล็ดเล็กต้มเปื่อยเร็วกินได้ทั้งเนื้อทั้งน้ำ ห้ผลบำรุงกำลังได้ทันใจ และไฟเบอร์ของถั่วเขียวยังช่วยระบายอุจจาระที่หมักหมม ล้างลำไส้ให้สะอาดหมดจด ช่วยให้การดูดซึมสารอาหารใหม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สรรพคุณทางยาของถั่วเขียวที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

งา : เป็นธัญพืชอุดมด้วยโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง ชาวจีนเชื่อว่ากินงามีค่าเหมือนกินหยก แพทย์แผนจีนจึงใช้งาดำบำรุงตับให้แข็งแรง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพดวงตาใสปิ๊ง นอกจากแคลเซียมและธาตุสังกะสีในงาสามารถเพิ่มมวลกระดูก แก้โรคกระดูกพรุนในคนวัยทองแล้ว แร่ธาตุทองแดงในงายังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยสร้างคอลลาเจนซ่อมเนื้อเยื่อของข้อต่อ กระดูกอ่อนและหลอดเลือดให้แข็งแรง มีผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ
 
ข้าวยาคูจึงเป็นส่วนผสมของธัญพืช ๓ สหายที่ลงตัวด้วยสรรพคุณทรีอินวันและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายใกล้มือ การปรุงคือนำธัญพืชสามสหายมาสิ่งละเท่าๆ กัน แช่น้ำให้พองตัว จากนั้นเติมน้ำ ๘ เท่าตัว ต้มเดือดจนธัญพืชเปื่อย เคี่ยวต่อไปจนเละเป็นโจ๊ก จึงปลงลงโดยไม่ต้องเติมน้ำตาล ในพระสูตรกล่าวถึงข้าวยาคูในลักษณะของเครื่องดื่มรสจืด รับประทานคู่กับขนมปรุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย

สรรพคุณและอานิสงส์ : พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณประโยชน์และอานิสงส์ของข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการคือ
(๑) ช่วยให้อายุยืน
(๒) ผิวพรรณวรรณะผ่องใส
(๓) มีความสุขสบาย
(๔) มีกำลังวังชา
(๕) สติปัญญาดี
(๖) ระงับความหิว
(๗) ดับกระหาย
ที่สำคัญคือ (๘) ช่วยให้ลมในร่างกายเดินคล่อง
(๙) ล้างลำไส้
และ (๑๐) ช่วยให้การย่อยอาหารสมบูรณ์

ด้วยสรรพคุณยาของข้าวยาคูนี้เอง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุฉันข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน หลังเพลได้เหมือนฉันยาโดยไม่อาบัติหรือความผิดใดๆ และยิ่งไปกว่านั้นยังตรัสสรรเสริญว่าข้าวยาคูกับขนมปรุงด้วยน้ำหวานเป็น “เภสัช”  เพราะเหตุนั้นแล มนุษยชนที่ต้องการความสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู
 
พระพุทธพจน์ที่สรรเสริญคุณของการถวายข้าวยาคูแก่สงฆ์ดังกล่าว จึงเป็นต้นกำเนิดของประเพณีการถวายข้าวยาคูในวัฒนธรรมชาวพุทธเถรวาททั่วภาคพื้นอุษาคเนย์  ในประเทศไทยเอง เช่น พิธีกวนข้าวยาโค (สำเนียงใต้แผลงจากคำว่า ยาคู) ที่วัดชายคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศคือเทศกาลกวนข้าวหย่ากู๊ (ยาคู) ของชาวพุทธเชื้อสายไทยใหญ่ที่บ้านแพมบก อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่หลังฤดูเก็บเกี่ยวราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี  แต่การหุงข้าวยาคูตามตำนานพุทธพื้นเมืองนั้นมีการนำไปปะปนกับการกวนข้าวมธุปายาส  กล่าวคือ ไม่ใช่มีเพียงธัญพืช ๓ อย่างเท่านั้น แต่ยังเติมรสหวานมันด้วยน้ำตาลอ้อย และเนื้อมะพร้าว  ส่วนข้าวสารก็เปลี่ยนเป็นน้ำนมข้าวจากข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสรรพคุณบำรุงกำลัง

ที่สำคัญมีการเพิ่มส่วนประกอบของสมุนไพรรสร้อน เช่น กานพลู พริกไทย เป็นต้น เพื่อเพิ่มฤทธิ์ช่วยย่อย ขับลม ให้แรงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สารอาหารซาบซึมไปบำรุงร่างกายได้รวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดโทษ เช่น อาการท้องอึดท้องเฟ้อ เสียดแน่นท้อง เป็นต้น  ว่ากันว่าเพาเวอร์เจลอาหารวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มพลังงานได้รวดเร็วก็จริง แต่ผู้บริโภคก็ยังรู้สึกหิว ในขณะที่ข้าวยาคู เพาเวอร์เจลยุคโบราณที่เป็นทั้งอาหารและยา ที่กินอิ่ม และฟื้นฟูเรี่ยวแรงในผู้ป่วยที่ระบบการย่อยอาหารไม่ดี  ลองต้มข้าวยาคูสูตรธัญพืชสามอย่างเป็นอาหารยาบำรุง รับรองเห็นผลแน่นอน
 

มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๘ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑



หมู เห็ด เป็ด ไก่  
คิดถึงอาหารจีนหรือไม่ เมื่อกล่าวถึงหมู เห็ด เป็ด ไก่ ซึ่งชาวจีนมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งในการเลี้ยงต้อนรับแขก ต้องมีอาหารที่ปรุงหรือประกอบด้วยหมู เห็ด เป็ด ไก่ ให้ครบทั้ง ๔ อย่างจึงจะเป็นเมนูชั้นยอด เข้าทำนองคำกล่าวด้วยว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ในงานเลี้ยงรับรอง  แต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ ในวันนี้ไม่ใช่อาหารอุดมด้วยโปรตีน  แต่เป็นปริศนาคำทายของตำรับยาสมุนไพรไทย คล้ายกับปริศนาตำรับยาอายุวัฒนะของคนอีสานที่หลายท่านเคยได้ยินบ่อยๆ คือ บินกลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

ในวันนี้ขอเสนอปริศนาคำทายของหมู เห็ด เป็ด ไก่ ดังนี้

หมู คือ หัวหญ้าแห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. หมอยาพื้นบ้านได้นำเอาหัวแห้วหมูมาใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายรูปแบบ เช่น หัวมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้ขับลม ส่วนสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นยารักษาไข้เลือดออกเบื้องต้น ใช้ขับพิษไข้ให้อาเจียนออกจนหมด  โดยตำให้ละเอียดผสมเหล้าขาว ๓๕ หรือ ๔๐ ดีกรี ๑ ขวด แช่ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาเฉพาะเหล้าดื่ม ๑ แก้ว  หากไข้ยังสูงอยู่ดื่มได้อีก ๑ แก้ว

แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆ จากไข้สูงควรไปพบแพทย์

หัวหญ้าแห้วหมู ยังใช้ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดียหลายขนาน เช่น แก้ไข้ แก้ความผิดปกติในทางเดินอาหาร

ชาวอาหรับในบริเวณเลอวานต์นำหัวไปอบให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่บวม

ส่วนตำรายาจีนเรียกเซียวฟู่ (ภาษาจีนกลาง) หรือเฮียวหู้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) รากใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ แม้ว่าหัวจะมีรสขมแต่ก็มีคุณค่าทางอาหาร

ในทวีปแอฟริกาใช้เป็นอาหารเวลาขาดแคลน และเป็นอาหารนกในเวลาอพยพ

ในอดีตหญ้าแห้วหมูจัดว่าเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยาก แต่ในปัจจุบันพื้นที่ธรรมชาติถูกทำลายไปมาก อีกทั้งหัวแห้วหมูได้รับสารพิษจากยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก  ดังนั้น คุณภาพของวัตถุดิบจึงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เป็นตัวยาที่สำคัญของวงการสมุนไพรเลย

เห็ด คือ ใบชุมเห็ดเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna alata (L.) Roxb.

บางชุมชนเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าต้นขี้กลาก เนื่องจากนำมาใช้ในการรักษากลากเกลื้อนได้เป็นอย่างดี

ตำรายาไทยใช้ใบเป็นยาถ่าย (ใช้ใบสดหรือแห้งจำนวน ๑๒ ใบ ต้มน้ำดื่ม) ใช้ภายนอกรักษากลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนังอื่นๆ  ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด (ใบสด ๑ กำมือ หรือประมาณ ๒๐ กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม) ใบสด ใช้รักษากลากเกลื้อน (ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆ และบ่อยครั้ง) ตำพอก เร่งหัวฝี ใบและดอก ทำยาต้มรับประทาน เป็นยาระบายแก้ท้องผูก (ใช้ดอกสด ๓ ช่อ ลวกรับประทาน)

ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ และแก้หืด เมล็ด มีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อย ใช้ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ท้องขึ้น แก้นอนไม่หลับ  ฝัก มีรสเอียนเบื่อ แก้พยาธิ เป็นยาระบาย ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน

ต้นและราก แก้กระษัยเส้น แก้ท้องผูก บำรุงหัวใจ

เป็ด คือ รากของต้นตีนเป็ดหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ พญาสัตบรรณ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. ในตำรายาไทยใช้เปลือกต้น แก้ไข้มาลาเรีย ขับน้ำนม ช่วยขับพยาธิไส้เดือน ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยขับระดูของสตรี  ใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน

รากเป็นยาขับลมในลำไส้ ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่างๆ ได้ เมล็ดเป็นพิษ

ดอกช่วยแก้โลหิตพิการ   ยางใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็วในช่วงประมาณ ๒๐ ปี

ที่ผ่านมาจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับโดยเฉพาะตามบ้านจัดสรร ตามภูมิปัญญาอีสานจัดว่าเป็นไม้คลำหรือไม้ต้องห้ามชนิดหนึ่งที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน  เนื่องจากบางท่านไม่ถูกกับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ออกมาจากดอก จะทำให้เกิดอาการแพ้  หรือถ้าได้กลิ่นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้  ชื่อว่าต้นตีนเป็ดเนื่องมาจากลักษณะของใบที่คล้ายกับตีนเป็ด แต่คำว่าพญาสัตบรรณ อาจเป็นชื่อที่ตั้งภายหลัง เพื่อเรียกให้เป็นมงคลนาม

ไก่ คือ ต้นประคำไก่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Putranjiva roxburghii Wall.


ชื่อวิทยาศาสตร์นี้ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ชื่อเดิมซึ่งกลายเป็นชื่อพ้องแต่เราจะเห็นได้บ่อยตาม website ต่าง ๆ คือ Drypetes roxburghii (Wall.) Hurusawa ต้นประคำไก่ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น มะองนก มักค้อ (ขอนแก่น) มะคำดีไก่ ประคำไก่

ลักษณะเด่นของต้นประคำไก่ คือ ใบเมื่อขยี้ดมมีกลิ่นหอม แบบหวานๆ  มีความจำเพาะคล้ายๆ กับกากชานอ้อย ในทางสมุนไพรใช้ใบ ตำพอกฝี ปรุงยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย ราก เปลือกราก แก้กระษัย แก้เส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายฝีภายใน เช่น แก้วัณโรค ฝีหรือมะเร็งในตับ

จำนวนประชากรของต้นประคำไก่ลดลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักไม้ยืนต้นชนิดนี้

ประคำไก่จึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าจะได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของไม้ชนิดนี้

หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่กล่าวถึงนี้ คือตำรับยาแก้คนที่เป็นโรคกษัย  คือ มีอาการผอมแห้ง ตัวเหลือง เท้าเย็น ร่างกายทรุดโทรม แพทย์แผนดั้งเดิมของไทยจะจัดยาสมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดข้างต้นนำมาต้มให้กิน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วยบำรุงร่างกายนั่นเอง  

จึงเป็นที่มาของการเรียกตำรับยานี้กันสั้นๆ ว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ นั่นเอง
 

มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ประจำวันที่ ๒๗ ก.ค.- ๒ ส.ค.๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ตุลาคม 2561 16:22:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2561 15:52:32 »


ยาหอมนวโกฐ
สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

ยาหอมเป็นยาอายุวัฒนะคู่สุขภาพผู้สูงอายุไทยมาแต่โบราณกาล ใช้เป็นทั้งยานัตถุ์เข้าจมูก ชงน้ำอุ่นดื่ม หรือจะใช้ช้อนเล็กๆ ตักผงดิบๆ เข้าปาก ก็สดชื่นชุ่มใจไปอีกแบบ

ยาหอมไทยเฉพาะยาตำรับหลวงเองก็มีไม่น้อยกว่า ๓๐ ตำรับ

แต่ตำรับเด่นที่มีงานวิจัยค่อนข้างชัดเจนยืนยันว่ามีสรรพคุณบำรุงหัวใจ คือ ยาหอมนวโกฐ ซึ่งเป็นยาสูตรใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องยาถึง ๕๔ ชนิด

เป็นพืชวัตถุ ๕๓ ชนิด (ตัดรากไคร้เครือออกไปแล้ว) และธาตุวัตถุอีก ๑ ตัวคือพิมเสน

ในสูตรยาหอมนี้นอกจากมีโกฐครบทั้ง ๙ ตัว สมชื่อนวโกฐแล้ว ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เป็นกลุ่มยาหลัก สำหรับบำรุงหัวใจ คู่กับเทียนทั้ง ๙ ที่เสริมสรรพคุณบำรุงกำลัง ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ

ยังมีกลุ่มสมุนไพรรสหอมเย็นชุ่มชื่นใจ เช่น กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก และ กลุ่มเกสรทั้ง 5 ได้แก่ เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ

รวมทั้งกลุ่มสมุนไพรรสร้อนช่วยสร้างสมดุลธาตุทั้ง ๕ ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง เป็นต้น มีงานวิจัยสารสกัดยาหอมนวโกฐทั้งตำรับ พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มความความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic pressure) ช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยยิ่งขึ้น และในรายที่เป็นลมหน้ามืด วิงเวียนเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ สารสำคัญในตำรับยาหอมจะค่อยๆ เพิ่มความดันโลหิตตามขนาดยาที่เพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวโดยไม่มีอันตรายเนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น

ที่สำคัญยังพบว่าสารสกัดยาหอมตำรับนี้มีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง ช่วยให้ความจำดี ห่างไกลอัลไซเมอร์ ทั้งยังเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ป้องกันอาการเหน็บชา อาการสั่น อัมพฤกษ์ อัมพาตตามปลายมือปลายเท้า และยังออกฤทธิ์เพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคในผู้สูงอายุ ไม่ให้เจ็บป่วยง่าย

ยาหอมนวโกฐเป็นยาสามัญคู่บ้านคู่เรือนไทยมาช้านาน ทั้งยังได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมาเป็นเวลา ๑๒ ปีมาแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขน่าจะผลักดันให้โรงพยาบาลของรัฐนำร่องใช้ยาหอมตำรับนี้กับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างแพร่หลายโดยสามารถเบิกจ่ายได้ด้วย และเมื่อนั้นยาหอมก็จะมีส่วนช่วยให้สังคมผู้สูงอายุของไทยมีหัวใจและสมองแข็งแรง สามารถพึ่งตัวเองในวัยหลังเกษียณได้อีกหลายปี

โดยไม่กลายเป็นผู้ป่วยชรานอนติดเตียงเป็นภาระแก่ลูกหลาน


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



มะแว้ง
ผักยาหน้าฝน

ฝนปีนี้หนักมากกว่าทุกปี แม้ใกล้ปลายฤดูฝนแล้ว ทั้งลมพายุและสายฝนก็ยังซัดกระหน่ำแทบทุกวัน ทำให้เกิดวาตภัย และอุทกภัยไปทั่วแผ่นดิน เขื่อนแทบทุกเขื่อนปริ่มน้ำจนต้องระบายน้ำออกกันจ้าละหวั่น

เรียกว่าโลกธาตุปั่นป่วนเพราะธาตุลม ธาตุน้ำกำเริบ ส่งผลให้ธาตุดินถล่มทลายในหลายพื้นที่

โลกธาตุอันกว้างใหญ่ไพศาลยังอาการหนักถึงเพียงนี้ แล้วกายธาตุขนาดยาววาหนาคืบของมนุษย์ตัวกระจ้อยอย่างเราๆ ย่อมไม่พ้นโดนหางเลขจากสภาพฝนฟ้าอากาศแปรปรวนไปด้วย ทั้งภัยพิบัติต่อชีวิตทรัพย์สิน บรรดาสัตว์สารพัดพิษต่างๆ และโรคภัยไข้เจ็บที่มากับความเย็นชื้นของหน้าฝน ได้แก่ โรคภูมิแพ้ ไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ น่ารำคาญ ไปจนถึงอาการหอบหืด ปอดบวม ฯลฯ

หน้าฝนอย่างนี้ทำให้คิดถึง คำร้องสมัยเด็กๆ อันเจื้อยแจ้วว่า “ฝนตกจักๆ มือซ้ายถือปลามือขวาถือผัก มาถึงที่พักวางผักวางปลา” ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยใหญ่อุดมในเขตร้อนชื้นซึ่งมีผักและปลาเป็นกับข้าวหลัก

ในสมัยที่ยังไม่มีผักจีนแพร่หลายคนไทยก็หาเก็บผักพื้นบ้านที่มีขึ้นตามธรรมชาติอยู่ดาษดื่น เอามาจิ้มน้ำพริกกินอย่างปลอดภัยไร้สารพิษทั้งปวง

มื้ออาหารหลักของชาวบ้านที่ง่ายที่สุดคือ น้ำพริกหนึ่งถ้วย เคียงด้วยผักสดๆ นานาชนิดที่เก็บมาจากริมรั้วหรือตามละแวกบ้าน และปลาย่างสัก ๑-๒ ตัว นับเป็นอาหารสุขภาพในวิถีชีวิตภูมิปัญญาไทยอันเก่าแก่

อาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพของคนไทยก็อยู่ที่จานผักพื้นบ้านนี่แหละที่เป็นทั้งอาหารสุขภาพและยารักษาโรคตามตามฤดูกาล ในหน้าฝนที่ผู้คนยุคใหม่เป็นหวัด ไอ เจ็บคอกันงอมแงม แต่คนไทยในวิถีพื้นบ้านกลับแข็งแรงสบายดี

ในที่นี้ขอแนะนำผักยาพื้นบ้านตัวหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูน้ำพริกผักไทย คือมะแว้ง นั่นเอง

มะแว้งมี ๒ ชนิด คือมะแว้งต้นกับมะแว้งเครือ ที่หมอแผนไทยใช้เป็นจุลพิกัดปรุงยา มะแว้งทั้ง ๒ มีชื่อพฤกษศาสตร์เดียวกันว่า Solanum trilobatum Linn. และมีสรรพคุณเหมือนกันคือ ผลและรากมะแว้ง แก้ไอ แก้หืดหอบ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว เป็นยาขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่ว รักษาเบาหวานได้ดี ทั้งยังช่วยบำรุงโลหิตให้ผิวพรรณมีเลือดฝาด เปล่งปลั่ง

ปัจจุบันพบว่าผลและรากมะแว้งมีอัลคาลอยด์ชื่อ โซลานีน (Solanine) และโซลานิดีน (Solanidine) ที่ช่วยให้มีสรรพคุณดังกล่าวและยังมีสารขมชื่อโทมาติด (Tomatid) ช่วยเจริญอาหาร

หมอแผนไทยใช้มะแว้งเข้ายาตำรับหลวงมาช้านานได้แก่ยาประสะมะแว้ง ซึ่งใช้ผลมะแว้งเป็นตัวยาหลัก ซึ่งพัฒนามาเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณให้ผู้คนสามารถใช้ได้แพร่หลายหาซื้อได้ทั่วไปอย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องอาศัยเภสัชกรจ่ายยาในร้านขายยาด้วยซ้ำ


ทางองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตออกมาเป็นยาเม็ดอม สำหรับแก้ไอ ขับเสมหะโดยเฉพาะ แต่คนไทยรู้จักใช้มะแว้งเป็นอาหารและยากลางบ้านมาแต่โบราณกาล

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองของมูลนิธิสุขภาพไทย เคยรวบรวมความรู้เรื่องการใช้ มะแว้งของชาวบ้าน พบว่า เมื่อเกิดอาการไอ เสลดเหนียวพันคอ ที่เรียกว่าเสลดหางวัว ชาวบ้านจะใช้ผลมะแว้ง ๒-๓ ช่อ (ราว ๑๒-๑๖ ผล) จิ้มน้ำพริกเป็นกับข้าวเพียง ๑-๓ มื้อ อาการไอ เสมหะเหนียวจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง

บางคนมีสูตรเด็ดง่ายๆ ให้กินรสชาติดียิ่งขึ้นก็เอาผลประมาณ ๑๐-๑๕ ผล บรรจงเสียบไม้เล็กๆ ย่างไฟพอดิบๆ สุกๆ เสียก่อนนำมาใช้เป็นเมนูอาหารยารสเด็ด
ต่อไปนี้ขอสาธยายการใช้ผลมะแว้งเป็นยาตามภูมิปัญญาชาวบ้านสัก ๔ สูตร

๑)ใช้ผลมะแว้งดิบแก่ที่ยังมีสีเขียวออกลายอยู่ ยิ่งลูกสดเท่าไรยิ่งดี เอามาล้างให้สะอาดแล้วอมทีละลูก ขบพอให้ลูกแตกค่อยซับกลืนน้ำที่ออกจากผลมะแว้งทีละนิด เมื่อหมดน้ำยาแล้วจึงคายกากทิ้งแล้วอมลูกใหม่ อมทีละลูกติดต่อกันคราวละ ๕-๑๐ ลูก วันละ ๓-๔ ครั้งหรือทุกครั้งที่ไอ รับรองแก้ไอเจ็บคอชะงัด ผลมะแว้งรสขมในตอนแรก แต่สักพักจะให้รสหวานชุ่มคอ ไม่ลองไม่รู้

๒) นำผลมะแว้ง ๕-๑๐ ลูก ตำละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย บีบมะนาวใส่ลงไปพอออกรสเปรี้ยวๆ เค็มๆ ตามชอบ บางคนใส่พริกขี้หนูตำลงไปด้วยพอให้รสเผ็ดนิดหนึ่ง เติมน้ำลงไปกะพอประมาณ คนให้เข้ากันแล้วนำไปคั้นกรองเอาน้ำ จะได้ยาน้ำแก้ไอสูตรเข้มข้น ใช้จิบทีละนิดเวลาไอได้ผลแน่นอน

๓) บางรายใช้สูตรผลมะแว้งแห้งบดละเอียด ผสมน้ำผึ้งแท้มีรสชาติดีกว่ามะแว้งสด ได้ผลดีเช่นกัน

๔) สูตรยามะแว้งสำหรับเด็กเล็ก นำผลมะแว้งเผาไฟพอเกรียม บดละเอียดกับเกลือเล็กน้อย เจือมะนาว น้ำผึ้ง ใช้กวาดคอเด็กที่ไอเรื้อรังเป็นเดือน ไม่หายด้วยยาอื่น แต่มาหายด้วยยากวาดคอเด็กสูตรนี้

ยังมียามะแว้งสูตรเด็ดแบบทำเองใช้เองอีกหลายสูตร แต่สูตรที่กล่าวมารับรองได้ผลแน่

มะแว้งเป็นพืชพันธุ์บ้านที่ปลูกง่ายทนทานลองหาลูกสุกมาปลูกดู เป็นมะแว้งเครือยิ่งดี มีสรรพคุณสูงกว่ามะแว้งต้น แถมมีหนามใช้ปลูกเป็นรั้วบ้าน ให้ดอกสวย ลูกสุกสีแดงก่ำใช้เป็นไม้ประดับได้ และยังเป็นยาแก้ไอขับเสมหะดีกว่ายาสำเร็จรูปเสียอีก ถ้ายังปลูกไม่ได้ ก็หาช่อลูกมะแว้งได้ตามตลาดผักสด เพราะยังมีคนนิยมกินมะแว้งจิ้มน้ำพริกหรือแนมกับปลาร้ากันอยู่มาก

อยากรู้ว่ารสเด็ดแค่ไหนก็ลองกินดู แล้วจะติดใจแก้ไอในหน้าฝนอีกต่างหากนะจะบอกให้


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



ยาอายุวัฒนะแห่งที่ราบสูง

เคยเล่าไว้ในที่นี้ถึงปริศนาตำรับยาดั้งเดิมว่า “หมูเห็ดเป็ดไก่” (ค้นอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ที่ตีพิมพ์แล้ว) และได้กล่าวถึงว่ามีตำรับยาอายุวัฒนะที่พูดถึงบ่อยๆ ในวงหมอพื้นบ้านอีสาน คือ ตำรับที่เป็นปริศนาคำทายที่ว่า “กลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ”  หลายคนคงเคยได้ยินและเคยรู้มาบ้าง แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากไม่รู้จัก ภูมิปัญญาไทยซ่อนปริศนาไว้ได้สนุก เขียนเป็นคำพ้องจองได้ไพเราะด้วย

คำทายนี้คือ

กลางอากาศ หรือบางตำรากล่าวเรียกว่า บินกลางอากาศ อันนี้ใช้จินตนาการสักนิดย่อมคิดถึง “ผึ้ง” ซึ่งส่วนที่นำมาปรุงยาไทย แต่โบราณมาเราใช้น้ำผึ้งแท้ที่เป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ซึ่งตามธรรมชาติรวงผึ้งจะห้อยลงอยู่กลางอากาศ จึงเรียกว่า กลางอากาศ  แล้วทีนี้คงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ใช้น้ำผึ้งเดือนอื่นๆ ได้หรือไม่  ในความเป็นจริงจะใช้น้ำผึ้งเดือนไหนก็เป็นน้ำผึ้งเหมือนกัน แต่การสะสมน้ำผึ้งจำเป็นต้องใช้น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ทำให้มีเกสรดอกไม้ติดเข้ามาปนอยู่ในน้ำผึ้งด้วย

ในช่วงเดือน ๕ เป็นเดือนที่ดอกไม้มากมายออกดอก ดังนั้น น้ำผึ้งเดือน ๕ จึงเป็นน้ำผึ้งที่ประกอบด้วยเกสรดอกไม้นานาชนิด ซึ่งเท่ากับมีพืชพรรณดอกไม้หรือสมุนไพรมากมายช่วยในการบำรุงร่างกาย ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน * เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในการปรุงยา และน้ำผึ้งที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius)

เป็นผึ้งที่มีการสร้างรังขนาดใหญ่ อยู่ตามผาหินในป่าหรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นเซียงหรือต้นผึ้ง (Koompassia excelsa (Becc.) Taub.)

ผึ้งหลวงมักสร้างรังอยู่ในที่มองเห็นง่าย คนจึงเก็บหามาได้ง่ายด้วย  ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius) ชอบสร้างรังอยู่ในโพรงหรือตามหลืบต่างๆ มองเห็นได้ยาก เก็บหาก็ยากด้วย แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสร้างรังเทียม เพื่อเลี้ยงผึ้งเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น  ส่วนผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius) เป็นผึ้งที่มีรังขนาดเล็ก สร้างรังตามป่าละเมาะ เก็บหาได้ง่าย แต่มีปริมาณน้ำผึ้งน้อย

ในปัจจุบันมีผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มมีการเพาะเลี้ยงเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ คือ ชันโรง เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ชนิด ชนิดที่คนอีสานคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigona apicalis Smith ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แมงขี้สูด” เพราะมีการเอาขี้ผึ้งมาใช้เป็นวัสดุเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โหวต แคนฯ

กลางอากาศ หรือบางตำรากล่าวเรียกว่า บินกลางอากาศ อันนี้ใช้จินตนาการสักนิดย่อมคิดถึง “ผึ้ง” ซึ่งส่วนที่นำมาปรุงยาไทย แต่โบราณมาเราใช้น้ำผึ้งแท้ที่เป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ซึ่งตามธรรมชาติรวงผึ้งจะห้อยลงอยู่กลางอากาศ จึงเรียกว่า กลางอากาศ แล้วทีนี้คงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ใช้น้ำผึ้งเดือนอื่นๆ ได้หรือไม่

ในความเป็นจริงจะใช้น้ำผึ้งเดือนไหนก็เป็นน้ำผึ้งเหมือนกัน แต่การสะสมน้ำผึ้งจำเป็นต้องใช้น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ทำให้มีเกสรดอกไม้ติดเข้ามาปนอยู่ในน้ำผึ้งด้วย

ในช่วงเดือน ๕ เป็นเดือนที่ดอกไม้มากมายออกดอก ดังนั้น น้ำผึ้งเดือน ๕ จึงเป็นน้ำผึ้งที่ประกอบด้วยเกสรดอกไม้นานาชนิด ซึ่งเท่ากับมีพืชพรรณดอกไม้หรือสมุนไพรมากมายช่วยในการบำรุงร่างกาย  ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน ๕ เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในการปรุงยา และน้ำผึ้งที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius) เป็นผึ้งที่มีการสร้างรังขนาดใหญ่ อยู่ตามผาหินในป่าหรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นเซียงหรือต้นผึ้ง (Koompassia excelsa (Becc.) Taub. ) ผึ้งหลวงมักสร้างรังอยู่ในที่มองเห็นง่าย คนจึงเก็บหามาได้ง่ายด้วย

ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius) ชอบสร้างรังอยู่ในโพรงหรือตามหลืบต่างๆ มองเห็นได้ยาก เก็บหาก็ยากด้วย แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสร้างรังเทียม เพื่อเลี้ยงผึ้งเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น  ส่วนผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius) เป็นผึ้งที่มีรังขนาดเล็ก สร้างรังตามป่าละเมาะ เก็บหาได้ง่าย แต่มีปริมาณน้ำผึ้งน้อย

ในปัจจุบันมีผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มมีการเพาะเลี้ยงเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ คือ ชันโรง เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ชนิด ชนิดที่คนอีสานคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigona apicalis Smith  ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แมงขี้สูด” เพราะมีการเอาขี้ผึ้งมาใช้เป็นวัสดุเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โหวต แคนฯ

ไปนิพพานบ่กลับ หมายถึง ขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma zedoaria (Christm.)  Roscoe    เหง้าขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง หรือเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเลือดในท้องอุดตัน   คำว่าขมิ้นขึ้นนั้นจะมีลักษณะพิเศษจะมีแง่งหรือหัวขึ้นมาเรียงรายอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับว่าไม่กลับลงไปอยู่ดินอีก คนอีสานจึงเรียกไปนิพพานบ่กลับ

การปรุงยา ให้เอาตัวยาทั้ง ๕ ชนิด เถาบอระเพ็ด เครือง้วนหมู หัวแห้วหมู และขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อยมาล้างให้สะอาด

หั่นแล้วผึ่งแดดให้แห้ง  บดให้ละเอียดผสมกันแล้วใช้น้ำผึ้งเดือน ๕ ผสมให้เหนียว ปั้นเป็นลูกกลอน ผึ่งแดดหรืออบให้พอแห้ง เก็บไว้รับประทานก่อนนอน จะทำให้อายุยืนนาน


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์



สามร้อยยอด
สุดยอดที่คุณไม่เคยรู้?

เอ่ยชื่อ สามร้อยยอด คนทั่วไปต้องนึกถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เพิ่งมีใครคนหนึ่งไปทำกิจกรรมล้อเลียนไม่งามนัก จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อเร็วๆ นี้  กล่าวถึงพื้นที่เขาสามร้อยยอดนั้นเป็นภูมินิเวศที่มีความหลากหลายทั้งป่า เขา และมีบึงขนาดใหญ่ที่จัดว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของชาติเลยทีเดียว

คำว่าเขาสามร้อยยอด หากไปดูข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ ก็พบว่าชื่อน่าจะมาจากภูมิประเทศมีภูเขาจำนวนมากถึง ๓๐๐ ยอด และตำนานเล่าว่า แถบนี้เคยเป็นทะเลมีหมู่เกาะน้อยใหญ่ เคยมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมาประสบลมพายุรุนแรงจนเรือชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายจำนวนมาก ที่เหลือรอดตายขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ ๓๐๐ คน จึงตั้งชื่อว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาน้ำทะเลลดลงเกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เขาสามร้อยยอด” นั่นเอง  แต่ที่ผู้คนมักไม่ค่อยได้กล่าวถึงคือ ชื่ออุทยานแห่งนี้ก็มาจากชื่อพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ขึ้นบริเวณนี้มากด้วย คือ ต้นสามร้อยยอด ซึ่งจัดเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มสน

เดิมนักวิทยาศาสตร์เคยจัดให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm.

แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm. มีชื่อท้องถิ่นว่า กูดขน (ภาคเหนือ) สามร้อยยอด (นครศรีธรรมราช)  มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Staghorn clubmoss

สามร้อยยอดเป็นพืชไร้ดอกขนาดเล็ก ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นทอดเลื้อยสีเขียวอ่อนอมเหลือง ขนาดผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ ม.ม. แตกสาขาแบบหนึ่งแตกสอง ใบมีขนาดเล็กแคบ กว้าง ๑ ม.ม. ยาว ๔-๖ ม.ม. เรียงเวียนรอบต้นค่อนข้างแน่น ขอบใบเรียบ เส้นใบไม่เด่นชัด เนื้อใบคล้ายแผ่นหนัง ไม่มีก้านใบ อวัยวะสืบพันธุ์เป็นโคนรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ ม.ม. ยาว ๓-๕ ซ.ม. มีก้านชูขึ้นจากลำต้น ยาว ๗-๑๕ ซ.ม. สปอร์โรฟิลด์รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม เรียงซ้อนกันแน่น ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์

ในประเทศไทยพบต้นสามร้อยยอดบริเวณพื้นที่เปิดและชื้น บนเขาสูง จึงพบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ และยังพบการกระจายพันธุ์ทั่วโลกด้วย ถือเป็นไม้เบิกนำในพื้นที่ลาดชันและที่โล่งชื้นตามเขาสูง

การใช้ประโยชน์ ในต่างประเทศนิยมใช้มากกว่าบ้านเรา โดยใช้ทั้งต้นเป็นส่วนผสมในการผลิตดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ยังนำมาจัดช่อดอกไม้ซึ่งมักจะกำรวมกับดอกไม้สด นับเป็นพืชที่ต้องการในตลาดยุโรปเลยทีเดียว ยัง สามารถทำเป็นต้นแห้งและย้อมสีได้ตามที่ต้องการเพื่อนำไปจัดรวมกับดอกไม้แห้ง ในการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมีการนำมาเป็นยาหลายอย่าง เช่น ในจีนใช้รักษาโรคเก๊าต์ หรือใช้ทั้งต้นนำมาต้มน้ำอาบรักษาอาการมือเท้าชา หรือใช้ต้มน้ำร่วมกับใบช่านโฟว (ว่านน้ำเล็ก) และสมุนไพรอีกหลายชนิดเพื่อให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟนำไปอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น  และในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย มีการนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านหลายรูปแบบ นำมาใช้แก้ไอ แก้หืดหอบ เป็นต้น

จากการวิจัยพบว่าต้นสามร้อยยอดมีแลคาลอยด์ เช่น cernuine และ lycocernuine เป็นองค์ประกอบ  ในส่วนประกอบที่เป็นกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น flavonoids apigenin and apigenin-7-glucoside และส่วนที่เป็นไตรเตอพีนส์ เช่น triterpene serratenediol และพบว่ามีอะลูมิเนียมเป็นองค์ประกอบสูงมาก (๑๒.๕% ของเถ้า)
 
จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากต้นสามร้อยยอด เมื่อนำไปผสมกับยาจีนแผนโบราณจะช่วยในการรักษาโรคปอดที่เกิดจากฝุ่น (silicosis) นอกจากรักษาแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ด้วย   ทั้งต้นเมื่อนำมาต้มดื่มจะช่วยในการขับปัสสาวะและเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยรักษาแผลในกระเพาะ ไขข้ออักเสบ ตับอักเสบและอาการท้องร่วง  นอกจากนี้ยังช่วยรักษาโรคปวดประสาทตามใบหน้า (neuralgia) และช่วยลดความดันโลหิต

สำหรับการใช้เป็นยาภายนอก ทั้งต้นนำมาตำพอกแผล ทั้งต้นนำมาต้มใช้เป็นยาทาแก้เหน็บชา ใช้เป็นยาทาแก้เคล็ด บวม ผิวหนังถลอก ช้ำ ฝีหนอง แผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ในกรณีที่จะใช้ทาแก้อาการเคล็ดบวม ให้เอาทั้งต้นมาเผา แล้วเอาเถ้าที่ได้มาผสมกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่ต้องการ
 
นอกจากนี้ ในแอฟริกา เช่น ประเทศรวันดา ก็ใช้ต้นสามร้อยยอดทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็นแผล ในคองโกใช้กำจัดเห็บ ในมาดากัสกาใช้ทั้งต้นต้มรวมกับ Tristemma mauritianum J.F. Gmel. (ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มต้นโคลงเคลง แต่พืชชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย) เพื่อควบคุมความดันโลหิตและฟื้นฟูระบบประสาท  นอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นทำเป็นชาชงแก้โรคกระเพาะ

ในอเมริกาใต้ก็มีการนำต้นสามร้อยยอดมาใช้เป็นยาพื้นบ้านเช่นกัน โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเก๊าต์ พอกบริเวณที่บวมอักเสบเนื่องมาจากโรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโกโนเรีย รักษาอาการตกขาวและท้องร่วง  ในประเทศไมโครนีเซีย (Micronesia : เป็นเกาะเล็กอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับปาปัวนิวกินี) ใช้เป็นยากำจัดแมลงสาบ และใช้แทนนุ่นในการยัดใส่สิ่งของต่างๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียและโคลอมเบีย

ส่วนที่สาธารณรัฐกาบอง (Gabon) ประเทศในทวีปแอฟริกา นำต้นสามร้อยยอดใช้เป็นวัสดุกรองไวน์  สามร้อยยอดยังใช้เป็นไม้ประดับทั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังใช้ทำพวงหรีด เป็นไม้ตกแต่งในตะกร้าหรือแจกัน หรือตกแต่งบ้านเรือน และที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็ตรงที่ในโรงละครวิกตอเรีย (Victorian theater) จะใช้ผงแห้งของต้นสามร้อยยอดประกอบการแสดง เนื่องจากผงแห้งประกอบด้วยสปอร์มากมายที่ก่อให้เกิดเปลวไฟได้ (flame-effects) สปอร์ของต้นสามร้อยยอดจะเผาไหม้อย่างรวดเร็วซึ่งให้แสงสว่างในการแสดงละคร แต่มีความร้อนน้อย และการใช้เอฟเฟ็กต์แบบนี้เป็นที่ยอมรับและมีการรับรองความปลอดภัย

ต้นสามร้อยยอดเป็นไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ  แต่ในบ้านเรากลับรู้จักกันน้อยมาก  มาช่วยกันศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนการนำมาใช้ประโยชน์ดีไหม?


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์


สมุนไพร ๓ ชนิด
เก็บไว้ใช้ในช่วงลมเปลี่ยนฤดู

ฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนนี้อยากเชิญชวนให้จัดหาสมุนไพร ๓ ชนิดไว้ประจำตู้เย็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ให้ใกล้มือหยิบมาใช้ได้ทันใจ คุณคิดว่าคือสมุนไพรชนิดใดดี?

ในมุมมองของมูลนิธิสุขภาพไทย แนะนำง่ายๆ คือ ตะไคร้ ขิง และ พริกไทยดำ ทั้ง ๓ ชนิดเดินไปตลาดที่ไหนในเมืองไทยก็หาได้แน่นอน แม้ว่าจะดูเหมือนสมุนไพรพื้นๆ ไม่ใช่พืชในป่าลึกหรือสมุนไพรแปลกๆ แต่ขอบอกตามคำเปรียบเปรยว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ”

ตะไคร้ ที่เป็นพืชสวนครัวและเป็นพืชปรุงอาหารรสเด็ดนี้ มีบันทึกการใช้ประโยชน์ไว้มากมายหลายอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับอากาศเปลี่ยนที่น่าจดจำไว้คือ เวลาเป็นไข้หวัด ตัวร้อน ปากแห้ง เพลีย ให้กินน้ำต้มตะไคร้จะช่วยให้รู้สึกโล่งคอไปถึงท้อง รู้สึกสบาย ไข้ลด ตะไคร้ยังช่วยถ่ายเทความร้อน ขับเหงื่อออก และช่วยขับปัสสาวะได้อย่างดีด้วย
หลายคนอาจไม่รู้ว่าวิธีใช้ตะไคร้แบบโบราณที่เวิร์ก ยังใช้การแช่น้ำกินได้ คือ เวลาเป็นไข้หวัด ไข้เปลี่ยนฤดู เช่น จากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นต้น หากรู้สึกหน้าแดงๆ หน้าร้อนๆ รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เวลาหายใจเอามืออังแล้วรู้สึกลมหายใจร้อนกว่าปกติ จามบ่อยๆ ให้เอาตะไคร้ ๒ ต้น ไปเผาไฟพอสุก แล้วเอามาตัดหัวตัดท้าย แล้วทุบให้พอแตก นำไปแช่ในน้ำร้อนสัก ๑๐ นาที แล้วนำมากินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๔-๕ ครั้ง แก้อาการไข้เปลี่ยนฤดูได้ดีด้วย

ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่อินเดียนิยมใช้ยาชงจากใบหรือหัวตะไคร้กันมาก โดยนำมากินขณะอุ่นๆ ใช้ขับเหงื่อในคนที่มีไข้ได้ผลดีมาก โดยเฉพาะไข้ที่อ่อนเพลียยิ่งควรใช้ยาชงตะไคร้เลย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการใช้รากตะไคร้ นำมาต้มกินแบบยาชงรากตะไคร้ ช่วยขับเหงื่อลดไข้ดีเป็นพิเศษ

ถ้านำตะไคร้มาผสมสมุนไพรที่แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นชนิดที่สองคือ ขิง จะยิ่งช่วยเพิ่มสรรพคุณ หรือแต่งรสยาให้กลมกล่อมเสริมการออกฤทธิ์ ดังความรู้ดูแลสุขภาพในครัวเรือนแนะนำสืบต่อมาว่า ถ้าจะแก้หนาว เวลาอากาศหนาว จะต้มน้ำตะไคร้ใส่ขิง กินตอนเช้า กินแล้วรู้สึกตัวอุ่นๆ และทำให้เหงื่อออกเล็กน้อย

ใช้ตะไคร้ ๑ ต้น ขิงแก่หรือขิงอ่อนก็ได้ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ ๑ ขวด แต่งน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแทนน้ำชา กาแฟ ช่วยระบายลมได้ด้วย สูตรน้ำสมุนไพรนี้ แม้ว่าอากาศยังไม่หนาวนัก แค่ช่วงเปลี่ยนฤดูปรุงยามาดื่มทั้งที่บ้านหรือที่ทำงานก็ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ได้ดี ถ้าไปโดนหรือตากฝนแล้วเป็นไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย มึนหัว คัดจมูก ก็ใช้ได้ และมีอีกวิธีให้ลองใช้คือ เอาตะไคร้ ๑ ต้น หั่นเป็นแว่นๆ ขิงสด หั่น ๕-๖ แว่น ใส่น้ำ ๓-๔ แก้ว ต้มจนเดือด แล้วทิ้งไว้ให้อุ่นๆ กินครั้งละ ½  -๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร กินแล้วไข้ลด จมูกโล่ง หายใจคล่องขึ้น

คราวนี้มาถึงสูตรที่ใช้สมุนไพร ๓ ชนิด คือ ตะไคร้ ขิง พริกไทยดำ ตำรับนี้กินแก้ไข้หวัดทั่วๆ ไปได้เลย และยังแก้อาการเจ็บคอได้ดีเช่นกัน ปรุงยาง่ายๆ ใช้หัวตะไคร้สัก ๑ หัวนำมาซอยหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  ขิงสดหั่นเป็นแว่นสัก ๓-๔ ชิ้น พริกไทยดำสัก ๒-๓ เม็ด นำไปต้มกับน้ำสัก ๒ แก้ว ต้มให้เดือด นำมากินครั้งละ ครึ่งแก้ว กิน ๓ มื้อ
รสยาเผ็ดร้อนช่วยขับเหงื่อ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ลดไข้หวัด แก้เจ็บคอได้ด้วย
 
นอกจากยาชงสมุนไพรรับมืออากาศเปลี่ยนแล้ว วิถีชีวิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยากแนะนำเพิ่มเติม ปัจจุบันนำมาทำเป็นธุรกิจของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นทั้งป้องกันและรักษาโรคในเวลาเดียวกัน นั่นคือการอบสมุนไพร ซึ่งช่วยการไหลเวียนเลือด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น สดชื่น และที่โดดเด่นมากคือ ช่วยให้ทางเดินหายใจโปร่งสบาย ปอดขยายตัวดี การอบสมุนไพรจึงช่วยป้องกันและลดการเป็นไข้หวัด ลดน้ำมูกด้วย และการอบสมุนไพรคือยาบรรเทาอาการหอบหืดภูมิแพ้ที่มักจะกำเริบในช่วงอากาศเปลี่ยนและช่วงอากาศหนาวๆ การอบสมุนไพรจึงเหมาะกับ “ปลายฝนต้นหนาว” อย่างมาก  ข้อควรระวังที่ต้องกล่าวไว้คือ ท่านใดที่มีไข้สูง ความดันโลหิตสูง ห้ามอบสมุนไพรเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไข้ยิ่งสูงความดันสูงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สูตรยาอบสมุนไพร ตำรับที่ทำง่ายที่สุด ใช้สมุนไพร ๓ ชนิด หาซื้อได้ทั่วไปคือ เหง้าไพล ใบมะขาม และตะไคร้

วิธีทำง่ายมาก นำสมุนไพรทั้งหมดมาล้างน้ำ หั่นไพลเป็นแว่นๆ ใบมะขามจะตัดกิ่งมาหั่นเป็นท่อนๆ หรือจะลิดแต่ใบก็ได้ ตะไคร้ให้หั่นเป็นท่อนๆ และทุบให้พอแตก  สมุนไพรทั้ง ๓ ชนิดใช้จำนวนเท่าๆ กัน นำไปต้ม แล้วจัดทำกระโจมสำหรับอบ หรือจะทำแบบที่กำลังฮิตฮอต ทำเป็นสุ่มไก่ไว้ใช้อบสมุนไพร หรือสปาแบบบ้านๆ ก็ได้  เพียงแค่สมุนไพร ๓ ชนิดนี้ก็พอเพียงแล้วในระดับครัวเรือน  แต่ถ้าต้องการเสริมฤทธิ์สมุนไพรและแต่งกลิ่นให้หอมสดชื่น แนะนำให้เพิ่มใบมะกรูดหรือผิวมะกรูด ถ้าอยากได้บำรุงผิวพรรณให้เพิ่มเหง้าข่าแก่และขมิ้นชันฝานแล้วทุบให้แตก และใส่การบูรบดละเอียดลงไปเล็กน้อยด้วย  และถ้าให้เหมาะกับอาการและโรคที่มากับช่วงเปลี่ยนฤดู ก็แนะนำให้เพิ่มหอมแดงสมุนไพรกลิ่นแรง เพราะเหมาะกับการแก้อาการน้ำมูกไหล หรือช่วยให้การหายใจโล่ง หอมแดงก่อนใส่ลงไปควรทุบให้พอแตกๆ จะได้ออกฤทธิ์ดี

บางครั้งเราเที่ยวเสาะหาสมุนไพรชื่อแปลกๆ สมุนไพรหายาก โดยลืมสมุนไพรใกล้ตัวที่มีสรรพคุณดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ณ ปลายฝนต้นหนาวนี้ ท่านจะไปเที่ยวไกลแค่ไหน ก็อย่าลืมสมุนไพรใกล้ตัวสรรพคุณดีๆ เหล่านี้นะ  


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤศจิกายน 2561 15:54:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2561 16:13:04 »



คำเตี้ย  
สรรพคุณไม่ต่ำต้อย  

คําเตี้ย เป็นสมุนไพรที่อาจไม่คุ้นกันในหมู่คนทั่วไป แต่ถ้าไปสอบถามหมอพื้นบ้านหรือปราชญ์ชุมชนจะพบว่ามีการนำมาใช้มากมาย โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยาบำรุงกำลังที่ดีขนานหนึ่ง

วิธีใช้ก็ง่ายๆ ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม กินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม  วิธีโบราณอีกขนานหนึ่งก็คือนำรากมาต้มน้ำก็ได้ หรือนำรากมาดองกับเหล้ากิน ซึ่งรินน้ำยาดองมาผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อทำให้กินได้ง่ายขึ้น

เทคนิคการปรุงยาเขาจะใช้รากแห้งไปดองสุราไม่ใช้รากสด

ขอแนะนำ คำเตี้ย ให้รู้จัก กล่าวคือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polygala chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ต่างไก่ป่า (POLYGALACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มักกำ (เชียงใหม่) ม้าอีก่ำ ม้าอีก่ำแดง (อุบลราชธานี) ถั่วสลัม ปีกไก่ดำ ม้าแม่ก่ำ หญ้ารากหอม เนียมนกเขา เตอะสิต่อสู่ คำเตี้ย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงฤดูเดียว มีความสูงของต้นประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร  ลำต้นมีลักษณะต้นตรงหรือทอดเลื้อยและชูยอดขึ้น ตรงปลายกิ่งเป็นเหลี่ยม ลำต้นกลมและมีขนขึ้นปกคลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๗-๒.๕ เซนติเมตร  รากมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสน และบริเวณที่โล่งในป่าดิบแล้ง

ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้คือมีรากหอมมาก เป็นกลิ่นเฉพาะตัว ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำ จัดว่าเป็น “ยาม้า” หรือยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่ (ภาคเหนือ) เลยก็ว่าได้ โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย

หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี  ดังนั้น ในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่นๆ ด้วยก็ได้

กล่าวได้ว่าทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือและอีสานต่างใช้สมุนไพรชนิดนี้กันมาก  ยกตัวอย่างความรู้จากหมอพื้นบ้านอีสานท่านหนึ่งจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการใช้ทั้งวิธีต้มและดองกับเหล้ากิน ซึ่งมีการตั้งชื่อ “ตำรับยากำลังม้า” กันเลยทีเดียว

ประกอบไปด้วยตัวยา คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด

ถ้านำราก หรือใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาบำรุงโลหิตและใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะได้ด้วย  นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณของคำเตี้ยว่า ใช้รากและทั้งต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด  ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะแนะนำให้ใช้รากคำเตี้ย และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน

ตำรับยาแก้ฝีในท้องก็จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน ยาขับปัสสาวะจะใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มกิน

รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี`

ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำ จัดว่าเป็น “ยาม้า” หรือยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่ (ภาคเหนือ) เลยก็ว่าได้  โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย  หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี  ดังนั้น ในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่นๆ ด้วยก็ได้

กล่าวได้ว่าทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือและอีสานต่างใช้สมุนไพรชนิดนี้กันมาก ยกตัวอย่างความรู้จากหมอพื้นบ้านอีสานท่านหนึ่งจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการใช้ทั้งวิธีต้มและดองกับเหล้ากิน  ซึ่งมีการตั้งชื่อ “ตำรับยากำลังม้า” กันเลยทีเดียว  ประกอบไปด้วยตัวยา คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด

ถ้านำราก หรือใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาบำรุงโลหิตและใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณของคำเตี้ยว่า ใช้รากและทั้งต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด  ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะแนะนำให้ใช้รากคำเตี้ย และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน

ตำรับยาแก้ฝีในท้องก็จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน ยาขับปัสสาวะจะใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มกิน

รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี

ต้นคำเตี้ยยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาเดี่ยว และใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นช่วยกันรวมพลัง เช่น นำไปผสมกับต้นม้ากระทืบโรงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ

คำเตี้ยทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันงา นำมานวดเส้น

ถ้าใครเคยติดตามข่าวตำรับยาแก้มะเร็งที่เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน จะพบตำรับยาชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมคำเตี้ยด้วย  แต่ในตำรับยานั้นจะเรียกชื่อว่า หญ้าปีกไก่ดำหรือม้าอีก่ำ  โดยส่วนประกอบทั้งหมดของยาตำรับนี้ ได้แก่ คำเตี้ยหรือปีกไก่ดำ (Polygala chinensis L. ), เหง้าพุทธรักษา (Canna indica Linn), ไฟเดือนห้า (Ludwigia hyssopifolia (G.Don) well), พญายอ (Clinacanthus nutan Lindl. ), เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus), แพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus CL. ), ข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth C) และข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra)  จึงเห็นได้ว่า ต้นคำเตี้ยเป็นสมุนไพรที่มีความน่าสนใจนำไปศึกษาพัฒนามาก

ในต่างประเทศก็มีการใช้และการศึกษาวิจัยสมุนไพรคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำกันมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indian Senega ก็มีการระบุสมุนไพรนี้ไว้ในเภสัชตำรับของชาติเลย

และในจีนเรียกชื่อว่า Yuan Zhi ได้จัดคำเตี้ยเป็นหนึ่งใน ๕๐ สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด มีสรรพคุณเด่นคล้ายไทยคือ เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ใช้รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด กังวล นอนไม่หลับ หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก

ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังใช้รากตำใส่ผสมขมิ้นสด ใช้ทาตัวให้ตัวมีกลิ่นหอม และใช้ป้องกันยุงด้วย

ในปัจจุบันทราบว่ามีการซื้อขายสมุนไพรชนิดนี้ในตลาดโลกกันมากเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพร เช่น ในไต้หวันและอินเดียจะมีบริษัทที่ทำการส่งออกม้าแม่ก่ำเป็นวัตถุดิบ

ในขณะที่ออสเตรเลียมีการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าสมุนไพรชนิดนี้เลยทีเดียว  แสดงว่า คำเตี้ย ไม่ได้ต่ำเตี้ย แต่เป็นที่สนใจและต้องการของชาวโลกเลยทีเดียว




การะเกด  

ต้นการะเกดต้นนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi อยู่ในวงศ์ Pandanaceae มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Screwpine มีถิ่นกำเนิดที่พบเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน  เป็นพืชชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร  สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลและนำไปปลูกกันทั่วไปได้

ขออธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ให้ละเอียดลออให้ซาบซึ้ง

การะเกด เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ ๓-๗ เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็น ๓ เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ  แผ่นใบด้านล่างมีนวลดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน  ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ

ดอกจะไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรงมีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม

ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลมประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ๓-๕ อัน เป็นกลุ่มประมาณ ๕-๑๒ กลุ่ม ผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก

ชื่อการะเกดนั้นมักเป็นชื่อเรียกของสตรี การใช้ประโยชน์แต่โบราณก็อาจพูดได้ว่าเป็นต้นไม้ของผู้หญิง ซึ่งรักสวยรักงามชอบความหอม จึงมีการนำเอาดอกการะเกดมาใส่หีบผ้าหรือตู้เสื้อผ้า เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม

ใครอยากย้อนยุคหญิงโบราณขนานแท้จะทดลองใช้ดอกอบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอมก็ได้ แม้ไม่หอมฟุ้งแบบปรุงแบบน้ำหอมสกัดแต่ก็หอมได้ใจผู้ใกล้ชิดแน่นอน เข้าใจว่าทุกวันนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรยังใช้การะเกดในการอบผ้าอยู่เช่นกัน

ในด้านการใช้สมุนไพร ด้วยดอกการะเกดมีกลิ่นหอมจึงนำมาปรุงเป็นยาหอม กินแล้วทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ กินเป็นยาบำรุงธาตุก็ได้ และมีการปรุงใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เสมหะด้วย  แล้วก็ตามที่บอกว่าการะเกดนั้นเป็นพืชของผู้หญิงจริงๆ เพราะยอดใบนำมาต้มกับน้ำเพื่อเป็นสมุนไพรให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ๆ

ผลแก่จัดจะมีผิวผลเป็นสีแดง นำผลแก่มากินได้มีรสชาติคล้ายสับปะรด ดอกหอมก็กินได้มีรสขมเล็กน้อย

ในอดีตนำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันพืชอื่น น้ำมันหมูก็ได้ แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผมด้วย คงจะเอากลิ่นหอมจากดอกมาแต่งกลิ่นน้ำมันใส่ผม  หากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางก็น่าจะคิดถึงดอกการะเกด นำไปพัฒนาน่าจะขายดีแน่ นอกจากนี้ ใบการะเกดเป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่ายจึงนำมาใช้ในงานจักสาน เช่น เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ

กระแสละครย้อนยุคทำให้คนไทยนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้น ก็ขอชวนย้อนไปในครั้งพุทธกาลเลย หากได้ไปอ่านพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ ๕ หน้า ๖๙ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า…สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ โรคลมสงบลง…และเมื่อดูในเชิงอรรถในหน้าดังกล่าว ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภกธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้งน้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยานี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) โรคริดสีดวง เป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้

จึงเห็นได้ว่า การะเกดเป็นเครื่องยาสมุนไพรแต่โบราณ ที่เราน่าศึกษาและนำมาใช้กันในยุคปัจจุบันด้วย

การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา  ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย มีความทนทาน อายุยืนยาว  หาพันธุ์ปลูกได้ง่าย จึงน่านำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แต่เหมาะกับการปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ




กาแฟ  
ดื่มกาแฟดริปวันละถ้วย ช่วยให้หัวใจแข็งแรง  

ใครๆ ก็รู้ว่ากาแฟมีกาเฟอีน (caffeine) แต่ควรรู้อีกนิดว่า เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งกาเฟอีนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด

ทั่วโลกมีกาแฟกว่า ๕๐ สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกมี ๒ สายพันธุ์ คือ พันธุ์อราบิก้า (Coffea arabica L.) และพันธุ์โรบัสต้า (Coffearobusta L.)

สายพันธุ์แรกมีแหล่งปลูกตามเทือกเขาสูงมีอากาศหนาวเย็น เช่นทางภาคเหนือสุดของไทย จุดเด่นของกาแฟอราบิก้าคือ มีกลิ่นหอม มีความเป็นกรดสูง แต่มีกาเฟอีนต่ำ

ส่วนสายพันธุ์หลังชอบอากาศอบอุ่นชื้นในพื้นที่ราบอย่างภาคใต้ของไทย

จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้าคือ รสชาติที่เข้มข้นเหมือนคนใต้ และมีกาเฟอีนสูงเป็นสองเท่าของอราบิก้า เมล็ดกาแฟที่คั่วนานจนเป็นสีเข้มจะมีปริมาณกาเฟอีนน้อยกว่าที่คั่วไม่นาน และกาแฟต้มหรือกาแฟจากเครื่องทำกาแฟแบบไม่ผ่านกระดาษกรองจะมีกาเฟอีนออกมามากกว่ากาแฟดริปหรือกาแฟจากเครื่องที่มีกระดาษกรองเกือบสองเท่า

กาเฟอีนเป็นสารหลักในเมล็ดกาแฟที่ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ออกมามากขึ้น  ช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง และยังช่วยเพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonine) ซึ่งช่วยให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย  กลไกในสมองที่เกิดจากการกระตุ้นของกาเฟอีนนี่เองที่ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรยอดนิยม  แต่ข้อเสียของกาเฟอีนก็มีมากเช่นกัน เพราะเมื่อสมองมีการตอบสนองต่อกาเฟอีนในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิด “ภาวะดื้อกาเฟอีน” (caffeine tolerance) ทำให้ต้องดื่มกาแฟในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ  และถ้าหากหยุดดื่มกาแฟทันทีก็จะทำให้เกิดอาการน้องๆ การลงแดงเมื่อหยุดเสพยาเสพติด คือ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม อ่อนเพลีย หรือใจสั่น  ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นราว ๑๒-๒๔ ชั่วโมงหลังหยุดกาแฟ

ดังนั้น การชงกาแฟแบบกรองจะช่วยลดปริมาณกาเฟอีนและลดผลข้างเคียงจากกาเฟอีนลงได้มาก ในเมล็ดกาแฟมิใช่มีแต่กาเฟอีนเท่านั้น

ในที่นี้จะกล่าวถึงสารสำคัญอีก ๒ กลุ่มคือ (๑) สารคาเฟสตอล (cafestol) และคาวีออล (kahweol) และ (๒) กรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) หรือกรดฟีนอลิก (phenolic acid)  มีข้อมูลบางสำนักที่เผยแพร่ว่าสารคาเฟสตอลและคาวีออลช่วยกำจัดสารก่อมะเร็งในตับ  แต่ปัจจุบันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าสารกลุ่มนี้มีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก จึงควรกำจัดออกไปในกรรมวิธีชงกาแฟ

เนื่องจากทั้งคาเฟสตอลและคาวีออลเป็นสารที่ถูกสกัดด้วยน้ำร้อนจัด  ดังนั้น การชงกาแฟแบบใช้หม้อต้มกาแฟ หรือชงแบบให้น้ำเดือดซึมผ่านผงกาแฟ หรือชงแบบเอสเปรสโซ่คือให้ไอน้ำอัดผ่านผงกาแฟสด  สารทั้งสองจะถูกสกัดออกมาเป็นจำนวนมากคือประมาณ ๖-๑๒ มิลลิกรัมต่อถ้วย (๒๐๐ มิลลิลิตรต่อผงกาแฟราว ๑๒ กรัม)

ในขณะที่กาแฟกรองจะมีสารทั้งสองสกัดออกมาเพียง ๐.๒-๐.๖ มิลลิกรัมต่อถ้วยเท่านั้น

ในที่นี้จะกล่าวถึงกรดคลอโรจีนิกซึ่งเป็นสารสำคัญด้านบวกของกาแฟ อันที่จริงกรดคลอโรจีนิกก็คือสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound) นั่นเอง เป็นสารที่ทำให้กาแฟมีรสขม ในเมล็ดกาแฟจะมีสารประกอบฟีนอลิกมากกว่ากาเฟอีนถึง ๕ เท่า และกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามีกรดฟีนอลิกมากกว่าพันธุ์อราบิก้า สารประกอบฟีนอลิกในกาแฟนี้เองมีคุณประโยชน์หลักอย่างน้อย ๒ ประการ คือช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒  ซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่ร่างกายยังสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เบาหวานชนิดที่ ๒ พบมากที่สุดถึง ๙๐% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด คุณประโยชน์นี้เป็นผลสรุปจากงานวิจัยขนาดใหญ่หลายชิ้นทำในอาสาสมัครตั้งแต่หลายหมื่นรายจนถึงหลักแสนราย ใช้เวลาศึกษานานกว่า ๑๐ ปี พบว่าผู้ดื่มกาแฟ ๑ ถ้วยต่อวันมีแนวโน้มลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย

และสารสำคัญที่มีบทบาทคือกรดคลอโรจีนิกหรือกรดฟีนอลิกนั่นเอง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจแข็งตัว มีการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี ๑๐ คน โดยให้งดอาหาร-น้ำตลอดคืน หลังจากนั้นให้ดื่มกาแฟขนาด ๒๐๐ มิลลิลิตร ซึ่งมีผงกาแฟเท่ากับ ๑๒ กรัม มีการเจาะเลือดทั้งก่อนและหลังจากการดื่มกาแฟนาน ๓๐ และ ๖๐ นาที เพื่อตรวจดูผลของการจับระหว่างกรดฟีนอลิกในกาแฟกับไขมันชนิดเลวที่มีค่าความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein-LDL) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจแข็งตัว (Arteriosclerosis) สูญเสียความยืดหยุ่น มีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด เกิดการตีบตัน ความดันโลหิตสูง นำไปสู่ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” (Coronary Heart Disease) ในที่สุด

เมื่อมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยครองแชมป์อันดับต้นๆ ตลอดสิบปีมาแล้ว  สาเหตุหลักของโรคหัวใจคือ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งกาแฟเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบคลุมแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หากใช้กรรมวิธีชงกาแฟสดแบบใช้กระดาษกรอง

กาแฟเป็นสมุนไพรและเครื่องดื่มยอดนิยมที่หาง่ายใกล้ตัวมาก และมีคุณมากกว่าโทษ หากรู้จักวิธีชงและวิธีใช้ในปริมาณดื่มที่เหมาะสม


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 พฤศจิกายน 2561 16:17:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2561 15:12:11 »


‘ผักจิ้ม’  
สมุนไพร เพื่อสุขภาพ (สมุนไพรลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง)  

ไม่ว่าฤดูกาลจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร น้ำพริกคืออาหารไทยที่กินได้ทั้งปี กินได้ทุกท้องถิ่นทั่วไทย
ภาคอีสานเรียก “แจ่ว” หรือ “ป่น”  ภาคใต้เรียก “น้ำชุบ”  แต่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า “น้ำพริก” ซึ่งต้องถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมที่สุดอย่างหนึ่งของคนไทย  และพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า น้ำพริกกินกับผักจิ้มคืออาหารสุขภาพของแท้แน่นอน

เฉพาะรสชาติน้ำพริกก็มีให้เลือกลิ้มตามชอบจนนับไม่ถ้วนแล้ว  แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจตรงที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราเรียนรู้สืบต่อให้รู้จักกินน้ำพริกกับผักจิ้มบางอย่างเพื่อเสริมรสชาติและส่งเสริมสุขภาพด้วย  อย่างเช่น พริกลงเรือ นอกจากในน้ำพริกจะมีสมุนไพรครบเครื่องด้วยพริก หอม กระเทียม มะนาว มะดัน มะอึกแล้ว ยังต้องกินกับผักจิ้ม เช่น มะเขือเปราะ ยอดกระถิน ถั่วพู ขมิ้นขาว ดอกแค ดอกโสน เป็นต้น

แล้วลองนึกดูว่าพ่อครัวแม่ครัวทั่วไทยสามารถปรุงแต่งน้ำพริกได้มากมายหลายสิบตำรับ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะมี “ผักจิ้ม” ให้เลือกกินได้มากถึง ๑๐๐ ชนิด ใครที่กำลังทำตามองค์การอนามัยโลก หรือ WHO  ที่ส่งเสริมการกินผักและผลไม้ให้ได้วันละ ๔๐๐ กรัมนั้น บอกตรงนี้เลยว่า ถ้าได้กินน้ำพริกกับผักจิ้มเป็นประจำ รับรองได้เข้าใกล้เป้าหมายกินผัก-ผลไม้ ๔๐๐ กรัมต่อวันแน่นอน

เมืองไทยเรามีเมนูน้ำพริกที่ทำกินวันเว้นวันตลอดเดือนก็ไม่ซ้ำกันได้แบบสบายๆ  เมื่อกินน้ำพริกก็ต้องกินผักจิ้ม กินแล้วห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ฯลฯ ตามหลักวิชาสากลแน่นอน

มีคนเคยรวบรวมผักจิ้มน้ำพริกไว้มากกว่า ๑๐๐ ชนิด

ขอนำมาแนะนำสักครึ่งหนึ่งเรียกน้ำย่อย และอยากให้เปิดมุมมองว่า ผักจิ้มน้ำพริกนั้นมาจากทั้งพืชอายุสั้น ไม้ยืนต้น พืชหัว ไม้เถาไม้เลื้อย ไม่ว่าจะมาจากพืชชนิดไหนนำมากินจิ้มน้ำพริกได้ทั้งหมด

พืชอายุสั้น มีทั้งที่เราคุ้นเคยและที่เป็นผักพื้นบ้าน เช่น ผักชีลาว มีให้กินได้ตลอดปี ผักชีล้อม ผักชีฝรั่ง ผักชี (เฉยๆ มิมีคำมาต่อท้ายด้วย) ใบชะพลู ผักขม ผักแพว ผักเชียงดา (ที่กำลังฮิต) ผักแขยง ผักตูบหมู ผักขี้หูด และสะระแหน่ ที่คุ้นเคยกินกับน้ำพริกก็อร่อยแท้

ไม้เลื้อยไม้เถา ก็เอามากินกับน้ำพริกได้อีกมากมาย ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคย เช่น ตำลึง มะระขี้นก ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบงู ยอดฟักทอง ฟักแม้ว แตงกวา แตงร้าน และที่มาเป็นฤดูกาลก็ต้องดอกขจรหรือกินยอดอ่อนก็ได้ ผลอ่อนน้ำเต้าน้ำก็นำมาต้มหรือนึ่งกินกับน้ำพริกก็อร่อย

พืชหัว ราก หน่อ หรือจำพวกลำต้นใต้ดิน ก็เป็นผักจิ้มได้แซ่บอร่อยแท้ เช่น กระชาย กระทือ กระวาน แม้กระทั่งพืชดอกสวยกระเจียวที่เพิ่งบานไปกลางฝนนั้นก็นำมากินกับน้ำพริกได้ หน่อไม้ ขิง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย และถั่วงอกผักพื้นๆ ธรรมดาๆ ก็ยังใช้กินกับน้ำพริกได้อร่อยเช่นกัน

พืชผักจำพวกที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ก็เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรสชาติดี เช่น ผักเป็ด สันตะวา บัว (กินสายบัว) โสน ผักบุ้งนา ผักกระเฉด ผักแว่น ผักพาย (ตาลปัตรฤๅษี) ผักกูด ผักอีฮีน และที่รู้จักกันดี บัวบก ก็เป็นพืชชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ

มาถึงผักจิ้มน้ำพริกที่เป็น ไม้ยืนต้น หรือไม้ใหญ่ไม่ใช่พืชผักสวนครัว เช่น ขนุน (กินลูกอ่อน) แค (กินยอด ใบ) กระโดน กระโดนน้ำ ติ้ว มะแว้งต้น เพกาหรือลิ้นฟ้า (กินฝัก) มะกอก ขี้เหล็ก เม็ก มะยม สะเดา ทองหลาง ทำมัง จิก สะตอ เหรียง มะม่วง ฯลฯ

และกล้วย พืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็นำหยวกกล้วยมากินกับน้ำพริกได้อร่อยด้วย

การกินผักจิ้มน้ำพริกจำนวนมากย่อมเข้าหลักโภชนาการที่เพิ่มปริมาณใยอาหารในร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ และในผักจิ้มมากมายนับร้อยชนิดนี้ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารแอนตี้ออกซิแดนต์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง

และถ้านับเครื่องปรุงทำน้ำพริก และผักจิ้มเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางบำบัดบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็เป็นอาหารสมุนไพรที่ควรกินเป็นประจำ ยกตัวอย่าง ๓ กลุ่มพืชที่นำมากินเป็นผักจิ้ม  ได้แก่

ไม้ยืนต้น เช่น เพกา ใช้ฝักมาเผาหรือย่าง แล้วนำมากินกับน้ำพริก

ในทางสรรพคุณยาไทย
เมล็ด ต้มน้ำดื่ม แก้ไอและขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย
เมล็ดแห้ง ทำน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
ฝักแก่ มีรสขมแต่กินได้ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ
ฝักอ่อน มีรสขมร้อน ใช้เป็นยาขับลม

สำหรับ พืชหัว ราก ขอแนะนำ กระชาย หาง่าย เป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพ ภูมิปัญญาดั้งเดิมเปรียบเปรยให้กระชายคือโสมแบบไทยๆ กินบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ และใช้แก้อาการปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด เป็นต้น

พืชอายุสั้นๆ เช่น ผักชี ผักชีลาว ผักชีล้อม อยากแนะนำให้กินผักชีลาว เป็นผักจิ้มในช่วงอาหารฝนเข้าหนาว เพราะใครเคยผ่านประสบการณ์กินอาหารท้องถิ่นของคนชาวอีสาน ชาวเหนือและไปทางประเทศลาว พออาหารเปลี่ยนๆ เริ่มเข้าหนาว อาหารมื้อเย็นจะมีผักชีลาวจิ้มกินกับน้ำพริก ผักชีลาวมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บางคนไม่ชอบเพราะหอมฉุน  แต่รสยาให้ความร้อนความอบอุ่นในร่างกาย และน้ำมันหอมระเหยตามธรรมชาติของผักชีลาวนี้ช่วยบำรุงร่างกาย คอยต้านโรคภัย ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยการไหลเวียนเลือด จึงช่วยดูแลสุขภาพช่วงเปลี่ยนอากาศได้ดีมาก

แนะนำผักจิ้มให้กินกันได้ทั้งปีมีสุขภาพดีได้ทุกฤดูกาลแล้ว อยากชวนผู้อ่านที่รักชอบสมุนไพร ติดตามการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่กำลังแก้ให้ไปรองรับกับอนุสัญญา UPOV 1991  ซึ่งเป็นการขยายอำนาจการผูกขาดให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ซึ่งทุกท่านรู้ดีว่าเมืองไทยร่ำรวยความหลากหลายทางชีวภาพขนาดไหน ผักจิ้มน้ำพริกอย่างเดียวก็มากกว่า ๑๐๐ ชนิดแล้วนะ…




ฝอยทอง ฝอยไหม เครือคำ  
ทำไมจีนถึงนิยมใช้บำรุงร่างกาย  

ฝอยทอง ฝอยไหม เครือคำ
 
ชื่อข้างต้น ฝอยทอง หรือฝอยไหม หรือเครือคำ คือชื่อสมุนไพรที่มีความน่าสนใจชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนมีการนำมาใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย คนไทยโดยเฉพาะหมอพื้นบ้านก็มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมากพอสมควร

ชาวบ้านในถิ่นอีสานยังนำเอาฝอยทอง (ส่วนลำต้น) มากินเป็นผักจิ้มแจ่วหรือน้ำพริกกินกันเอร็ดอร่อย แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ที่นำมาแนะนำก็เพราะสรรพคุณที่หมอพื้นบ้านอีสานหลายท่านใช้ฝอยทองตำรวมกับวุ้นของว่านหางจระเข้ นำมาใช้ทารักษาสะเก็ดเงินกันอย่างกว้างขวาง และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่มีอาการเป็นแผลที่มีลักษณะเป็นหย่อมสีแดงๆ ลามมาตั้งแต่แนวชายผมบริเวณหน้าผาก ไล่มาตามใบหน้าและลงมาที่คอ ซึ่งไม่หยุดเท่านั้น ได้ลามลงไปส่วนของลำตัวด้วย เมื่อได้ใช้ยาตำรับนี้คือ ส่วนของลำต้นฝอยทองตำรวมกับวุ้นว่านหางจระเข้ทาแผลแล้วแห้งไปภายใน ๓ วัน จากนั้นอาการก็หายเป็นปกติ ซึ่งหมอพื้นบ้านอีสานมักใช้ตำรับยานี้รักษาได้ผลมาแล้วมากกว่า ๒๐ ราย
 
ฝอยทอง จัดเป็นพืชกาฝาก คือมักเจริญเติบโตโดยการพาดพันไปกับต้นไม้อื่นและดูดน้ำกินจากต้นไม้อื่น มีอายุประมาณ ๑ ปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta chinensis Lam. จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง มีชื่อสามัญเรียกว่า Dodder และมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อเนื่องจากสามารถกระจายอยู่ได้ในหลายพื้นที่ เช่น ฝอยไหม (นครราชสีมา) ผักไหม (อุดรธานี) ซิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เครือคำ (ไทใหญ่ ขมุ) บ่ะเครือคำ (ลั้วะ) กิมซีเช่า โท้วซี (จีนแต้จิ๋ว) ทู่ซือ ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง) ลำต้นฝอยทองมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ เซนติเมตร ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลเป็นรูปกลมแบน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ ๒-๔ เมล็ด  ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพืชที่ต้องการความชื้นมาก พบขึ้นตามพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไปก็พบได้

ความรู้ท้องถิ่นนอกจากกินเป็นผักลวกกับแจ่วแล้ว ยังนำมาใช้เป็นยาสระผม

สำหรับสรรพคุณสมุนไพรทั่วไป ฝอยทองเป็นยารสหวาน ทั้งต้นนำมาต้มกินและอาบแก้อาการตัวบวม  เมล็ดช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม แก้น้ำกามเคลื่อน  และใช้เป็นยารักษาผิวหนังเป็นปื้นขาวหรือเป็นด่างขาว
 
สูตรยานั้นใช้ทั้งต้นหรือเถานำมามัดเป็นก้อนแล้วต้มดื่มน้ำ เป็นยารักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น เป็นยาถ่ายพยาธิ ถ้าเป็นยาบำรุงร่างกายมักใช้ลำต้นฝอยทองหรือเถาแห้ง ๑๐-๑๒ กรัม ต้มน้ำดื่ม หรืออาจผสมเหล้า หรือผสมน้ำตาลทรายแดง กินแก้ร่างกายอ่อนเพลีย กินแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย และใช้เถาต้มน้ำอาบรักษาตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน  นอกจากนี้ ในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังใช้รักษาสัตว์ เช่น แม่วัวที่มีน้ำนมน้อยจะนำลำต้นสดประมาณ ๕๐๐ กรัม ตำให้ละเอียด ชงหรือละลายกับเหล้าที่ทำด้วยข้าวเหนียว อุ่นให้แม่วัวกิน และวัวที่มีอาการตาแดงหรือเจ็บตา ใช้ลำต้นสดตำคั้นเอาน้ำยาทารอบๆ ขอบตา

ในตำรายาจีนมีการรับรองอย่างเข็มแข็งว่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย เพิ่มสมรรถนะทางเพศในผู้ชาย บำรุงตับ ทำให้ชะลอวัย มีอนุมูลอิสระจำนวนมาก ป้องกันโรคกระดูกพรุน  เข้าใจว่าขณะนี้ทางประเทศจีนพัฒนาเป็นยาใช้แก้ผมร่วงเป็นหย่อมที่ไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย
 
ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. ที่มีสรรพคุณกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เมืองไทยยังร่ำรวยความหลากหลายชีวภาพ พบพืชที่เรียกว่าฝอยทองและอยู่ในสกุล Cuscuta เหมือนกันเพิ่มเติมอีก ๓ ชนิด คือ
๑.Cuscuta campestris Yunck. มีชื่อสามัญว่า Golden dodder หรือ field dodder ชื่อสามัญนี้แสดงให้เห็นว่าฝอยทองชนิดนี้มีสีเหลืองเข้มประดุจสีทอง แม้ว่าท้องถิ่นทั่วไปจะเรียกว่าฝอยทอง แต่ทางราชการไทยกลับเรียกว่า “เขาคำ”

เขาคำเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก) และบางส่วนของแคริบเบียน และน่าจะเป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ด้วย  ทางอเมริกาเหนือมีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นรายงานว่าเป็นวัชพืช เป็นตัวส่งผ่านเชื้อโรคไปยังพืชชนิดอื่นๆ
๒.Cuscuta japonica Choisy มีชื่อสามัญว่า Japanese dodder จากชื่อทำให้ทราบว่าเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น ส่วนทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ฝอยทอง” เช่นกัน คนญี่ปุ่นใช้ส่วนที่เป็นเถาอ่อนต้มกินโดยมีน้ำราดหรือเครื่องปรุงรส ในทางยามีรายงานว่าใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไตและตับ  ในส่วนของเมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ตกขาว ปัสสาวะไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว ปวดหลังและเสื่อมสมรรถนะทางเพศ เถาอ่อนใช้เป็นยาแก้เจ็บตา
๓.Cuscuta reflexa Roxb. มีชื่อสามัญว่า giant dodder แสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่มีลำต้นใหญ่ ทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “เครือเขาคำ” มีถิ่นกำเนิดในแถบอนุทวีปอินเดีย ในตำรับยาของอายุรเวทใช้ส่วนของลำต้นเป็นยาแก้ตับและดีพิการ ทั้งต้นใช้เป็นยาถ่าย ใช้เป็นยาลดไข้เรื้อรัง ลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ อาการคันตามผิวหนัง และน้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำอ้อยใช้เป็นยาแก้ดีซ่านได้

มีรายงานว่าพืชชนิดนี้มีความแปรปรวนไปตามชนิดของต้นไม้ที่ไปเกาะอาศัยอยู่ แต่ยังไม่มีรายงานว่าการใช้ประโยชน์ทางยาจะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่

ทั่วโลกมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝอยทองไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยชนิดที่คนไทยและคนจีนใช้กันมากคือชนิด Cuscuta chinensis Lam.

ดังนั้น ฝอยทองจึงไม่ใช่วัชพืชที่ถอนทิ้ง แต่น่าจะทุ่มเทศึกษาวิจัยพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ดีกว่า  


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤศจิกายน 2561 15:14:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2561 14:42:25 »



มีดีที่สำโรง  
มีอำเภอและตำบลชื่อสำโรงอยู่ในหลายจังหวัดของไทย

ที่ดูจะคุ้นเคยสำหรับชาวกรุงเทพฯ ก็ที่ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทก็มีสถานีสำโรงอยู่ด้วย

ในอดีต การตั้งชื่อหมู่บ้านหรือตำบลมักจะนำเอาต้นไม้ที่ขึ้นจำนวนมากในละแวกนั้นมาเรียกขาน เช่น บ้านนาป่าติ้ว เป็นต้น  ชื่อสำโรงก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีต้นสำโรงอยู่เป็นจำนวนมาก   ซึ่งหลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่า สำโรงคือต้นไม้ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว มีสรรพคุณยาสมุนไพรมากมาย

สําโรงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia foetida L. โดยทั้งชื่อสกุลและชื่อชนิดมีความหมายว่า “กลิ่นเหม็น”

คนตั้งชื่อเช่นนี้น่าจะได้กลิ่นดอกตอนบานเต็มที่ ที่มีกลิ่นไม่หอมเอาเลย  หรืออาจกล่าวได้ว่า ชื่อนี้มาจากชื่อของเทพเจ้าที่ชื่อว่า สเตอควิลินัส (Sterquilinus) ซึ่งเป็นเทพแห่งปุ๋ย (fertilizer or manure)

อาจเนื่องมาจากเป็นต้นไม้ที่มีใบดกหนามาก เมื่อร่วงหล่นลงมาจึงกลายเป็นปุ๋ยจำนวนมาก

สำโรงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ bastard poon tree, java olive tree, hazel sterculia, and wild almond tree เป็นพืชในวงศ์ชบา มีการกระจายพันธุ์ได้ทั้งในแอฟริกาตะวันออก อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงออสเตรเลีย  ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นมีพูพอนต่ำๆ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน เรียงเวียนตอนปลายกิ่ง ใบย่อย ๕-๗ ใบ  รูปรีหรือรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม  ดอกสีแดงหรือสีแสดและมีกลิ่นเหม็น ดอกกำลังออกในช่วงเวลานี้เลย คือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ผลเป็นแบบแห้งแตกเปลือกแข็ง สีแดงปนน้ำตาล ผลออกช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน

แม้ดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ภูมิปัญญาการใช้สำโรงมีประโยชน์ในหลายประการ เช่น เปลือกต้น มีรสฝาดสุขุม ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยากล่อมเสมหะและอาจม ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยแก้โลหิตและลมพิการ และช่วยแก้ไส้เลื่อนได้

ในตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ว่า ให้ใช้เปลือกต้นสำโรง (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาฝนกับฝาละมีหรือกระเบื้องดินเผาและผสมกับน้ำปูนใส (ปูนขาวหรือปูนแดงที่ใช้กินกับหมากพลู) โดยให้ฝนจนเป็นน้ำข้น แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาลูกอัณฑะบริเวณที่บวมที่เริ่มเป็นไส้เลื่อน ให้ฝนทาวันละหลายๆ ครั้ง จะช่วยทำให้ถุงอัณฑะหดตัว ให้ทาติดต่อกันประมาณ ๓๐ วัน ได้ผลดี  เมล็ด นำมากินได้เหมือนกินถั่ว รสชาติคล้ายโกโก้แต่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ  เนื้อในเมล็ดมีกรดไขมัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อโรค เชื้อราที่ผิวหนัง และมีการใช้เป็นสมุนไพรกำจัดแมลง น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้

ส่วนยางเหนียว (gum) จากลำต้นมีการพัฒนาเป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นวัสดุธรรมชาติที่ช่วยนำพาตัวยาเมื่อเรากินเข้าไปแล้วให้สามารถยึดติดเยื่อบุเมือกของร่างกายได้  เปลือกหุ้มเมล็ด มีสรรพคุณช่วยแก้กระหายน้ำ  ใบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือดและลดความอ้วน และมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้  ผล มีรสฝาด เป็นยาแก้ท้องร่วง ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ในความรู้ของหมอยาพื้นบ้านอีสานมีการใช้สำโรงปรุงเป็นยาอยู่หลายตำรับ ตัวอย่างเช่น

แก้โรคทรางขี้ (มีอาการกินข้าวลงไปก็ถ่าย กินน้ำลงไปก็ถ่าย อาหารหรือน้ำไม่มีเหลือในท้อง) ยาแก้ให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แช่น้ำกิน

แก้ประดง (อาการมึนตึงตามข้อมือ ข้อเท้า เดินไปมาไม่สะดวก) ยาให้เอา แก่นหมากข่าลิ้น (กัดลิ้น) ดูกใส (ขันทองพยาบาท) ต้นหาด (มะหาด) ต้นชะทาง (กล้วยน้อย) ต้นพะอุง (พะอูง) ตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น) ตากวาง (กำแพงเก้าชั้น) ส้มโฮง (สำโรง) ต้นหมากดูก (มะดูก) ถ่มพาย (กระทุ่มนา) แช่น้ำกิน

แก้โรคสะดวงดาก (ริดสีดวงทวาร) ให้เอารากส้มโฮงมาต้มกิน

แก้โรคสะดวงเข้าข้อ ยาให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แก่นเฮื้อนกวาง (ตับเต่าต้น) แก่นข่าลิ้น (กัดลิ้น) ต้ม ๓ เอา ๑ ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) หนัก ๒ ฮ้อย บดใส่กัน ปั้นเป็นลูกกอน (กลอน) ขนาดนิ้วก้อย ตาก ๗ หมอก ๗ แดด กินเช้า-เย็นวันละ ๒เม็ด

นอกจากนี้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสำโรงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำมันที่ได้จากดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันจากเมล็ดองุ่น ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ใช้จุดไฟได้ น้ำมันจากเมล็ดสำโรงประกอบด้วย กรดไขมันไซคลอโพรปีน (cyclopropene fatty acids) เช่น ๘,๙ methylene-heptadec-๘-enoic acid (malvalic acid) และ ๙, ๑๐--methylene-ocadec-๙--enoic acid (-sterculic acid)

น้ำมันจากเมล็ดมีกลิ่นคล้ายกลิ่นโกโก้ แต่ไม่ขมเหมือนโกโก้ รสชาติเหมือนถั่วลิสง น้ำมันจากเมล็ดยังนำมาผสมกับดินขาวใช้เป็นสีวาดภาพ

เมล็ดกินได้ แต่ควรต้ม เผาหรือทำให้สุกเสียก่อน และไม่ควรกินมากไปเพราะจะทำให้ถ่ายท้อง  รากอ่อนก็นำมากินดิบได้มีแป้งคล้ายมันแกว

ประโยชน์อื่นๆ เช่น เปลือกต้นนำมาทำเส้นใยสานกระเป๋า สานเสื่อ ทำกระดาษได้ ยางไม้ (Gum) ที่ได้จากลำต้นหรือกิ่ง ใช้ในการทาสิ่งต่างๆ เช่น สันหนังสือ  เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องดนตรี ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้เช่นกัน
 
เด็กน้อยเด็กโตที่อยู่ในภาคอีสานรู้จักเมล็ดสำโรงดี เพราะรู้ว่ามีน้ำมันเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ ๔๐ จึงนิยมนำเอาเมล็ดมาเล่นเป็นบั้งไฟ โดยเจาะรูขนาดเล็กที่ด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด เอาก้านทางมะพร้าวเสียบเข้าไปในรู แล้วจุดไฟที่ก้านทางมะพร้าว

น้ำมันจากเมล็ดเมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะเกิดแรงผลัก พุ่งขึ้นไป

สำโรงเป็นไม้โตเร็ว ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ส่งเสริมให้ปลูกหรือใช้ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้ดีมาก แม้กลิ่นดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ประโยชน์มากมายน่านิยม




‘กัญชา’  
ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องคุ้มครอง  

ข่าวจากต่างประเทศพูดถึงกัญชามากมาย ทั้งการปลูก การผลิต การวิจัยและการใช้ประโยชน์ทั้งการแพทย์ สันทนาการ ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ

คนไทยได้ฟังข่าวแล้วพลอยอนุโมทนาดีใจไปกับประชาชนในประเทศนั้นๆ ด้วย

แต่กลับมาดูสังคมไทยก็ได้แต่ลุ้นว่าจะปลดล็อกกัญชาได้จริงไหม

สถานการณ์เวลานี้มีความชัดเจนขึ้นบ้างว่าจะอนุญาตให้นำกัญชาที่ยังอยู่ในกฎหมายยาเสพติดมานานหลายสิบปีนั้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็นับว่ามีการขยับก้าวหน้าขึ้นบ้างแต่ก็ยังพบประเด็นปัญหาตามมาอีก เช่น อยู่ๆ ก็มีหลักฐานว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญายอมให้มีผู้ยื่นคำขอรับการจดสิทธิบัตรกัญชาอยู่ในรายการที่จะพิจารณาอนุมัติได้

ซึ่งก็เกิดคำถามว่า พอปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ก็จะมีเจ้าของสิทธิบัตรที่ยื่นรอไว้รับผลประโยชน์มหาศาลนี้ไปได้ทันทีหรือไม่? แม้ว่าขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะให้ข่าวว่าจะยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด แต่ก็คงต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นเพียงใด

เพื่อให้มิตรรักสมุนไพรและห่วงใยภูมิปัญญากัญชาจะตกเป็นของต่างชาติได้เข้าใจหลักการขอสิทธิบัตรพอสังเขป ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ให้การคุ้มครองเกี่ยวกับ “การประดิษฐ์” หรือ “การออกแบบผลิตภัณฑ์” และในการประดิษฐ์แบ่งเป็น ๓ อย่าง
(๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
(๒) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น
และ (๓) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

หากอ่านมาแบบนี้ คงสงสัยกันว่าจะเกี่ยวอะไรกับสมุนไพรที่เป็นพืชผัก

ขอบอกให้รู้กันทั่วไปว่า ในกฎหมายนี้จุดสำคัญอยู่ตรงมาตรา ๙ ด้วย กล่าวว่า การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ มี ๕ ข้อ
(๑) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
(๒) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(๓) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
(๔) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
(๕) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

ดังนั้น สมุนไพรที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ รวมทั้งจุลชีพต่างๆ ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ ดังนั้น ในทางภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยก็ไม่สามารถมาขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะถ้าเกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ จะไม่ให้การคุ้มครองเลย
 
กฎหมายฉบับนี้ถือว่าดี และถ้าใครคิดแก้ไขให้แย่ลง มิตรรักสมุนไพรต้องจับตาไว้อย่าให้เป็นการนำเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมาเป็นสมบัติธุรกิจ ลองนึกดู สมุนไพรที่ช่วยเหลือชีวิตมนุษย์สืบต่อมาแต่บรรพชน วันดีคืนดีแค่มีนักวิจัยทำการสกัดสารจากสมุนไพรชนิดหนึ่งได้ แล้วครอบครองไว้ผู้เดียวเช่นนี้ ภูมิปัญญาที่มีไว้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น

แน่นอน หากมีนักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์ขึ้นใหม่เอี่ยมและเป็นการประดิษฐ์ขั้นสูงที่พิสดาร พิสูจน์ได้ว่าเข้าข่ายคุ้มครองสิทธิบัตรได้ อันนี้ก็เป็นไปตามกฎหมายที่คนทั่วไปย่อมยอมรับได้

มูลนิธิสุขภาพไทยเคยนำเสนอตำรับยาดั้งเดิมที่มีส่วนผสมกัญชามาแล้ว แต่ก็ขอแนะนำไว้อีกสักตำรับ ให้เห็นถึงความร่ำรวยภูมิปัญญาสมุนไพรของเราอีกสัก ๑ ตำรับ ซึ่งตำรับยานี้ชื่อว่า ยาปราบชมพูทวีป แต่ชื่อนี้ในโบราณมีชื่อซ้ำกัน แต่ส่วนประกอบยาต่างกัน

สูตรตำรับแรกยาปราบชมพูทวีป นี้อยู่ในฐานะรายการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ซึ่งตัวยาไม่มีกัญชา สูตรตำรับในผงยา ๔๖๕ กรัม ประกอบด้วย ๑) เหงือกปลาหมอ (ทั้งต้น) พริกไทยดำ ใบกัญชาเทศ หนักสิ่งละ ๑๒๐ กรัม  ๒) หัศคุณเทศ ดอกกานพลู หนักสิ่งละ ๑๐ กรัม หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอเทศ เนื้อลูกสมอไทย รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิง หนักสิ่งละ ๘ กรัม  ๓) เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนแกลบ หนักสิ่งละ ๖ กรัม เทียนดำ โกฐสอ โกฐเขมา ลูกพิลังกาสา ลำพันหางหมู หนักสิ่งละ ๔ กรัม  ๔) ดอกดีปลี การบูร หนักสิ่งละ ๒ กรัม ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน หนักสิ่งละ ๑ กรัม

ปัจจุบันผลิตเป็นยาแคปซูล หรือยาลูกกลอน ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรกและอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ กินครั้งละ ๗๕๐ มิลลิกรัม – ๑.๕ กรัม วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน   มีข้อห้ามใช้คือ ห้ามใช้กับภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อ แบคทีเรียที่มีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว เป็นต้น

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ เด็ก

และตำราโบราณชื่อเดียวกัน ยาปราบชมพูทวีป (ยาแก้สารพัดโรค) สรรพคุณ แก้โรคกุฏฐัง ๓๐ จำพวก ตามืด ตาฟาง หูตึง หูหนวก คุดทะราด ๓๐ จำพวก พุงโร ไส้พอง ไส้เลื่อน ท้องใหญ่ ท้องมาน หืด ๓๐ จำพวก ขี้เรื้อน ฝีดาษ ลม ๓๐ จำพวก ลมจุก ลมชัก ลมวิงเวียนศีรษะ ลมทั่วสรรพางค์กาย บวมทั้งตัว ลมชักปากเขียว ลมปัตฆาต จามไอ โลหิตมาไม่เสมอ ลมทำให้นอนไม่หลับ ธาตุทั้งสี่ไม่เสมอกัน มือ-เท้าตาย เดินไม่ได้

สูตรยา ๑) ลูกจันทน์ ๑ เฟื้อง  ๒) ดอกจันทน์ ๑ สลึง  ๓) กระวาน ๑ สลึงเฟื้อง  ๔) การบูร ๒ สลึง  ๕) ดีปลี ๒ สลึงเฟื้อง  ๖) พิลังกาสา ๓ สลึง  ๗) ลำพันหางหมู ๓ สลึงเฟื้อง  ๘) โกฐสอ ๑ บาท  ๙) โกฐเขมา ๑ บาท  ๑๐) เทียนดา ๑ บาทสลึง  ๑๑) เทียนแดง ๑ บาท สลึงเฟื้อง  ๑๒) เทียนตั๊กแตน ๑ บาท ๒ สลึงเฟื้อง  ๑๓) เทียนแกลบ ๑ บาท ๓ สลึง   ๑๔) ขิงแห้ง ๑ บาท ๓ สลึงเฟื้อง  ๑๕) เจตมูลเพลิง ๒ บาท  ๑๖) บุกรอ ๒ บาท ๑ สลึงเฟื้อง  ๑๗) กานพลู ๒ บาท ๒ สลึง  ๑๘) สมอไทย ๓ บาท  ๑๙) สมอเทศ ๓ บาท  ๒๐) หัสคุณเทศ ๕ บาท สลึงเฟื้อง  ๒๑) พริกไทยร่อน ๓๑ บาท  ๒๒) ใบกัญชา ๓๑ บาท ๒ สลึง  ๒๓) เหงือกปลาหมอทั้งห้า ๓๒ บาท

วิธีปรุง นำยาทั้งหมดบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทรา รับประทาน สำหรับคนที่เป็นโรค ให้กิน ๓เวลา ถ้ามีไข้ห้ามกินยานี้ สำหรับกินเพื่อบำรุงร่างกายให้กิน ๒ เวลา หลังอาหารและก่อนนอน

ภูมิปัญญากัญชา ควรคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนาใช้ประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ






‘เอื้องหมายนา’  
ดอกไม้คารวะควาย และสมุนไพรน่าใช้

ลมหนาวมาลมฝนก็ยังไม่ยอมลา ทิวทัศน์และบรรยากาศยามนี้เป็นช่วงเวลาสุดแสนสำราญใจ ถ้าย้อนยุคไปในวัฒนธรรมการทำไร่ไถนา ฤดูกาลเข้าแล้งก็แสดงว่าเสร็จสิ้นการทำนากำลังเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชนามว่า เอื้องหมายนา คาดว่าจะมาจากพิธีกรรมดั้งเดิมอย่างหนึ่ง คือ ประเพณีการสู่ขวัญควาย

เนื่องจากชาวนาอาจจะดุด่าทุบตีควายบ้างจากการไถพรวนในฤดูการทำนา เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่ สามารถถอนกล้าไปดำนาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการใช้แรงงานของควาย วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรามีความใส่ใจและอยู่ร่วมโลกกับสรรพสัตว์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

ชาวนาก็จะทำพิธีอย่างหนึ่งในการขอขมาควาย หรือที่เรียกว่า “สู่ขวัญควาย”

เป็นการให้ความสำคัญของสัตว์เลี้ยง ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนา ไปปักไว้ ๔ ทิศของบริเวณพื้นที่นา ในเวลาเดียวกันภูมิปัญญาดั้งเดิมก็สืบต่อมาว่า เอื้องหมายนาที่ปักไว้นี้มีประโยชน์ในการป้องกันวัชพืชของต้นข้าว เช่น เพลี้ย บั่ว ที่จะมาทำลายต้นข้าว

ในอดีตเมื่อได้ทำเช่นนี้ก็ช่วยให้ต้นข้าวออกรวงดี ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ “เอื้องหมายนา”

เอื้องหมายนา มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จึงมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น เอื้อง อีเอื้อง (ภาคอีสาน) เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) เอื้องต้น (ยะลา) เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์ (ภาคใต้) ซูแลโบ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) กู่เก้ง (ม้ง) ชิ่งก๋วน (เมี่ยน) ลำพิย้อก (ลั้วะ) ดื่อเหม้ (ยึ) (ปะหล่อง) จุยเจียวฮวย (จีน) เป็นต้น

แต่เดิมเอื้องหมายนาเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชเหง้าวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) แต่ปัจจุบันได้มีการจัดสมุนไพรตัวนี้ออกมาอยู่ในวงศ์พิเศษ คือ Costaceae เนื่องจากสารสำคัญของพืชวงศ์นี้ต่างจากวงศ์ขิงข่านั่นเอง

เอื้องหมายนาเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี และมีดอกสวยงาม นำมาปักแจกันเป็นไม้ประดับบ้านได้ด้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cheilocostus speciosus (J.K?nig) C.Specht ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ มีเหง้าใต้ดิน ใช้เป็นไม้ประดับได้ เจริญได้ดีทั้งในที่ได้รับร่มเงาบ้าง หรือกลางแสงแดดจัดที่มีความชื้นสูง เอื้องหมายนาเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและเป็นพืชประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะนิวกินี

ในทวีปอเมริกาใต้ก็พบเห็นได้เช่นกัน

เอื้องหมายนามีลำต้นอวบน้ำ เหง้าใต้ดินสะสมอาหาร กาบใบปิดโอบรอบลำต้น มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ใบของเอื้องหมายนาเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ ปลายใบเรียวแหลม ใต้ใบมีขนละเอียดสีขาวคล้ายกำมะหยี่

ดอกของเอื้องหมายนาออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ดอกตูมจะมีกาบสีแดงคล้ำหุ้มอยู่ ดอกติดกันแน่น
ดอกย่อยเป็นรูปกรวยสีขาวมี ๓ กลีบ กลีบหนึ่งมีขนาดโตและกว้างเป็นจะงอย

ดอกเอื้องหมายนาจะทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

ส่วนฝักและผลเมื่อสุกจะเป็นรูปไข่มีสีแดงสด เมล็ดมีสีดำ ขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอหรือเพาะเมล็ด

ในการใช้ประโยชน์นั้น เหง้าหรือหัวมีแป้งถึง ๖๐% จึงนำมาใช้เป็นอาหารกินได้และมีเส้นใยมากช่วยขับถ่าย ในประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดียและฟิลิปปินส์ ใช้หน่ออ่อนใส่ทำแกงกินหรือกินเป็นผัก ในความรู้สมัยใหม่เหง้าและเมล็ดมีสารไดออสจีนิน ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์ เมล็ดมีกรดไขมันที่มีกลิ่นหอม

อย่างไรก็ตาม ขอเตือนไว้ด้วยว่า เหง้าสดจะมีพิษ ต้องทำให้สุกก่อน เพราะหากกินสดๆ ในปริมาณมากจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง และทำให้แท้งลูกได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ขอย้ำว่าหากนำมากินต้องทำให้สุกก่อน นอกจากนี้ ในมาเลเซียใช้ต้นเอื้องหมายนาในพิธีกรรมต่างๆ

สำหรับสรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้าสด มีรสฉุน เย็นจัด สามารถใช้ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบบวมมีหนอง และฆ่าพยาธิ น้ำคั้นจากหัวสด (กินปริมาณไม่มาก) ใช้เป็นยาขับลม ใช้เป็นยาแก้วิงเวียน เหง้ากินกับหมากแก้ไอ ราก เป็นยาขม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง

ใบใช้แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบและยอดอ่อนใช้แก้โรคตาและหู น้ำต้มใบและใบขยี้ใช้ทาแก้โรคผิวหนังและลดไข้

ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานใช้เอื้องหมายนาเป็นส่วนประกอบในตำรับรักษาโรคต่างๆ เช่น

ใช้แก้ “โม้คาง” (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) โดยให้เอา เคือลิ้นแฮด (เถารสสุคนธ์) หัวเอื้อง (เอื้องหมายนา) คือหมากยาง (เถาคุย) ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) ดูกควายด่อน (กระดูกควายเผือก) ต้มกินดี ใช้เป็นส่วนประกอบใน

ยาแก้กินผิด ให้เอา หัวเอียง (เอื้อง) ๑ หัว ทูน ๑ ฮาก บ้งซันขาว ๑ ฮาก ก้ามปู ๑ ฮา อมไอ ๑ ฝนให้กินแลฯ

ยาแก้ตุ่มออกหน้า ให้เอา ลำเอื้องเผา บิดเอาน้ำ ถ้ามีอาการในตอนไหนให้เอาลำต้นเอื้องมาบีบทาในตอนนั้น ถ้าเป็นผู้หญิงให้บิดลำต้นเพื่อเอาน้ำไปทางด้านขวา ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ชายให้บิดลำต้นเอาน้ำไปทางด้านซ้าย เป็นต้น

การใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดทั้งต้นที่มีช่อดอกมาประดับแจกัน ให้ความสวยงามทั้งต้นและกาบประดับ หรือปลูกเป็นไม้ประดับได้ ปัจจุบันมีการนำเอาสายพันธุ์จากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับแทนเอื้องหมายนาที่เป็นของพื้นเมืองในไทย

ซึ่งเอื้องหมายนาของอินโดนีเซียเป็นคนละชนิดกับไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Costus woodsonii Maas และดอก ใบและเหง้านำมาบดให้ละเอียดผสมน้ำแล้วนำไปลาดเทลงแปลงนาแก้ปัญหาการระบาดของหอยเชอร์รี่ได้

เนื่องจากเอื้องหมายนามีสาร แทนนิน ทำให้หอยตายและไข่ฝ่อ

เอื้องหมายนา เป็นทั้งอาหารแต่ต้องทำให้สุก ทำแกงเลียง แกงส้ม เป็นยาสมุนไพร เป็นไม้ประดับสวยงาม และในพิธีกรรมที่รักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม

แม้แต่ชาวไทลื้อก็ประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา (พิธีแฮกข้าว) โดยนำเอื้องหมายนามัดติดกับตะแหลวหรือแฉลวร่วมกับดอกปิ้งแดง แล้วนำไปใส่ไม้ปักไว้ที่ไร่นาก่อนจะปลูกข้าว เป็นการสื่อถึงเจ้าที่ ขอจะทำการปลูกข้าวแล้ว โดยเชื่อว่าช่วยให้ข้าวงอกงามดี

เอื้องหมายนาจึงเป็นสมุนไพรน่าปลูกน่าใช้ชนิดหนึ่ง


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ธันวาคม 2561 14:45:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.717 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้