[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 17:02:28 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ  (อ่าน 26366 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #40 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2563 16:08:16 »



อัญชันสำคัญกว่าที่คิด พิชิตโรคหลอดเลือด

เมื่อเอ่ยถึงอัญชัน

โดยทั่วไปมักนึกถึงดอกสีน้ำเงินสดใส ที่นิยมนำมาใช้เป็นสีธรรมชาติผสมอาหาร ขนม เครื่องดื่มและเครื่องสำอางมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

เช่น ข้าวเหนียวมูนอัญชัน ขนมช่อม่วง ปลูกคิ้วเข้ม เป็นต้น

แต่จริงๆ แล้วอีกหลายส่วนของอัญชันล้วนมีสรรพคุณโดดเด่นทั้งรากและใบ

การใช้อัญชันตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้น ส่วนรากใช้ฝนเอาน้ำหยอดตา แก้ตาเจ็บ ตาแฉะ ตาฟาง บำรุงสายตาให้สว่างแจ่มใส

และยังใช้ผสมผงข่อย หรือผงคนทาทำยาสีฟัน แก้ปวดฟัน-เหงือกบวมได้ดี และนำมาต้มดื่มเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ช่วยลดไข้ได้ดีด้วย

ส่วนน้ำต้มดอกอัญชันเข้มข้นมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ช่วยให้สตรีมีเลือดฝาดสมบูรณ์ เมล็ดและฝักอ่อนรับประทานเป็นผักบำรุงร่างกายและช่วยระบายอ่อนๆ

ปัจจุบันมีงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยารับรองว่า รากอัญชันมีฤทธิ์ลดไข้ได้เท่ากับยาพาราเซตามอล

ส่วนใบใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยได้ชะงัด

มีงานวิจัยว่า สารสกัดน้ำใบอัญชันมีฤทธิ์ระงับปวดกล้ามเนื้อได้ชะงัดกว่า

และมีพิษข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้ปวดไดคลอฟีแน็ก (diclofenac sodium) ในท้องตลาด

งานวิจัยยังมีอีก พบว่าการให้สารสกัดเอทานอลใบอัญชันกับหนูทดลองขนาดวันละ ๒๐๐ และ ๔๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว นาน ๗๕ วัน สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และฟื้นฟูความจำของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานและความจำเสื่อมได้ดีกว่าหนูกลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัดเจน

ที่น่าสนใจคือ จากการตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดหนู พบว่าสารสำคัญอปาราจิติน (aparajitin) และแอสตรากาลิน (astragalin) ช่วยเสริมการทำงานของเอ็นไซม์อะซิติลโคลีน (acetylcholine) ที่ทำหน้าที่สื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และความจำและยังเพิ่มระดับของเอ็นไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส (superoxide dismutase) หรือ SOD ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายและต้านเซลล์มะเร็ง

ผลการทดลองนี้อนุมานได้ว่า สารสกัดด้วยเหล้าขาวของใบอัญชันสามารถออกฤทธิ์บำรุงสมองในคน และกระตุ้นการเรียนรู้ ช่วยฟื้นฟูความจำในผู้ป่วยเบาหวานที่ความจำเสื่อมได้เช่นกัน

โดยขนาดใบอัญชันแห้งสำหรับคนก็ใช้สัดส่วนเดียวกับที่ใช้ในหนูทดลองคือประมาณวันละ ๑๐-๒๐ กรัม/น้ำหนักตัว ๕๐ กิโลกรัม โดยอาจจะใช้วิธีดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่มก็ได้

ใบอัญชันจึงเป็นทางเลือกราคาถูกกว่าใบแปะก๊วย

สําหรับสรรพคุณบำรุงสมองในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีการวิจัยในหนูทดลองเช่นกันว่า สารสกัดน้ำจากใบหรือดอกอัญชันขนาดวันละ ๑๐๐ ถึง ๔๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวนาน ๑๔-๘๔ วัน สามารถลดระดับค่าเฉลี่ยสะสมของน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดรวมทั้งยับยั้งเอ็นไซม์กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) ไม่ให้เปลี่ยนกลูโคสฟอสเฟตเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดและยังเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในเลือด (HDL-cholestesterol)

ที่สำคัญคือช่วยเสริมสมรรถภาพของกลุ่มเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เข้าสู่ภาวะเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมาที่สำคัญคือโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในคนไทย

ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมองที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดเลือดได้

เฉพาะสรรพคุณบำรุงสมองและช่วยฟื้นฟูความจำด้วยอัญชันนั้น หากต้องการใช้ขนาดรับประทานที่น้อยลงถึง ๔ เท่าและใช้ระยะเวลาน้อยลงถึง ๒ เท่า ต้องใช้ส่วนราก

มีการศึกษาในหนูทดลองแรกและหนูวัยสมบูรณ์พันธุ์ พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำรากอัญชัน ขนาดวันละ ๕๐ และ ๑๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว เป็นเวลาเพียง ๓๐ วัน พบว่าหนูที่ได้รับน้ำรากอัญชันให้ผลการทดสอบดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ส่งผลต่ออัตราความเคลื่อนไหวหรือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม

นอกจากงานวิจัยยืนยันสรรพคุณช่วยฟื้นฟูความจำ บำรุงสมอง ควบคุมเบาหวานของอัญชันแล้ว ยังมีงานวิจัยพบว่าสารเทอร์นาติน ดี 1 (ternatin D1) ในดอกอัญชันซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

ช่วยลดการอุดตันในหลอดเลือด ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจวาย สโตรกและไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมฤตยูเงียบในปัจจุบัน

ช่วงนี้ปลายฝนกำลังผ่านเข้าสู่เหมันต์มวลอากาศหนาวเย็นจะทำให้ฝุ่นจิ๋ว PM ๒.๕ ในบรรยากาศหนาแน่นขึ้นเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ รอบสอง เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เตือนว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM ๒.๕ แม้เพียง ๑% จะทำให้การตายจากโรคโควิด-๑๙ เพิ่มขึ้นถึง ๘%

อัญชันเป็นสมุนไพรพรรณไม้ใกล้ตัว

นอกจากปลูกไว้ริมรั้วเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำทั้งดอกหรือใบหรือรากมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรสีสวย ราคาย่อมเยากว่าอาหารเสริมราคาแพง ที่ดื่มได้ทุกวันในขนาดไม่เกินวันละ ๒๐ กรัม

ทั้งความรู้ดั้งเดิมตามสรรพคุณตามภูมิปัญญาและการศึกษาวิจัยใหม่จะช่วยคุ้มครองคุณภาพชีวิตในช่วงโรคระบาดโควิด-๑๙ ที่เคล้ากับหมอกฝุ่นพิษ ที่อาจเกิดวิกฤตสุขภาพในปลายปีชวดนี้
... มติชนสุดสัปดาห์ ‘อัญชัน สำคัญกว่าที่คิด พิชิตโรคหลอดเลือด’





กินแกงเลียงเลี่ยงมะเร็ง

“เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย”

ถึงกาลออกพรรษาหน้ากฐินคราวไร ก็ให้หวนคะนึงถึงวรรคทองต้นบทนิราศภูเขาทองของพระสุนทรภู่ ซึ่งเสมือนเป็นปฏิทินชีวิตของชาวไทยที่ยังผูกพันกับประเพณีและสายน้ำ

“ยามเดือนสิบเอ็ดน้ำเริ่มไหลนอง” และเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ยาวนับเดือน อันเป็นเวลาสุดฟินของนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ภูดูทะเลหมอก

แต่ขณะเดียวกันในช่วงฤดูแปรเช่นนี้ ที่ยามค่ำยังฉ่ำชื้นหนาว ยามเช้าได้กอดหมอกบนภูสูง ก็ต้องระวังรักษาสุขภาพเป็นพิเศษด้วยอาหารและยารสร้อนสุขุม คือ เผ็ดอ่อนๆ ไม่จืดและไม่เผ็ดจัด

แต่ไม่เอาเผ็ดกลาง (เผด็จการ) นะฮับ (ฮา)

มีคำถามว่า “สำรับไหนไทยแท้เก่าแก่ที่สุด”

คำตอบในที่นี้ก็คือ “แกงเลียง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแกงไทยโบราณชนิดหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพของคนไทยมาช้านาน

หลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นแกงโบราณนั้นก็ดูที่เครื่องเทศซึ่งใส่ในแกงเลียง คือ พริกไทย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพริกสัญชาติไทยแท้ ไม่ใช่พริกต่างด้าวจำพวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกหยวก ฯลฯ ซึ่งฝรั่งโปรตุเกสนำเข้ามาช่วงยุคอยุธยาตอนต้น

และองค์ประกอบหลักของแกงเลียง ก็เป็นผักพื้นบ้านกับปลาหรือกุ้ง ไม่มีเนื้อสัตว์สี่เท้าหรือสองเท้า ทั้งไม่มีไขมันสัตว์หรือกระทั่งไขกะทิเจือปนเหมือนตำรับอาหารชาววังหรืออาหารต่างประเทศเลย

ในหนังสือ “อักขราภิธานศัพท์” (พ.ศ.๒๔๑๖) ของหมอบรัดเลย์ ยืนยันชัดเจนว่า “แกงเลียง” มีเครื่องปรุงหลักคือ ปลาย่าง กะปิ เกลือ หัวหอม และใส่ผักตามใจชอบ เรียกว่าเป็นแกงแคลอรีต่ำ แต่ไฟเบอร์สูง อุดมด้วยสารอาหาร น้ำมันหอมระเหย และวิตามินนานาชนิดที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสุขภาพ

ซึ่งเจียระไนได้ดังนี้

เครื่องเทศหลักในแกงเลียง คือพริกไทย หอมแดง ใบแมงลัก และกระชาย ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งน้ำมันหอมระเหยหลากหลาย ได้แก่ พิเพอรีน (Piperine) คูมาริน (Coumarins) ซินนาเมท (Cinnamate) แพนดูราติน (Panduratin) ตามลำดับแล้ว

สรรพคุณร่วมของน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันการเกิดมะเร็งรวมทั้งยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในร่างกาย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายไขมันและสลายลิ่มเลือด ป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง อันเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในประชากรไทย

นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณเฉพาะของเครื่องเทศแต่ละชนิด เช่น

พริกไทย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของตับในการขจัดสารพิษ และป้องกันโรคอัลไซเมอร์

หอมแดง ช่วยให้ความจำดี บำรุงหัวใจ แก้หวัด คัดจมูก

ใบแมงลัก มีธาตุเหล็กสูง แก้โลหิตจาง บำรุงเลือด แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

กระชาย บำรุงกำลัง บำรุงฮอร์โมนเพศชาย-หญิง บำรุงหัวใจ ช่วยเสริมกระดูกและเอ็นให้แข็งแรง และขณะนี้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดียังพบว่าสารแพนดูราตินสามารถฆ่าเชื้อโควิด-๑๙ ในหลอดทดลองได้ ๑๐๐%

เครื่องแกงหลักคือ กะปิ ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี ๑๒ ช่วยแก้โรคโลหิตจาง กะปิ เป็นแหล่งวิตามินดีและแคลเซียม เมื่อได้รับความร้อนกะปิจะปลดปล่อยแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

น้ำมันโอเมก้าในกะปิช่วยลดความเสี่ยงภาวะโรคหัวใจวายเฉียบพลันและเส้นเลือดในสมองแตก

ผักพื้นบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็น “เลียงผัก” สำคัญนอกจากกระชายและใบแมงลักเป็นจำนวนมากแล้ว

ยังมี ฟักทอง ที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง บำรุงสายตา

หัวปลี มีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงเลือด และขับน้ำนมในแม่หลังคลอดบุตร แก้ปวดประจำเดือน มีแคลเซียมสูงกว่ากล้วยสุกถึง ๔ เท่า จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงและขาวเป็นเงางาม แถมยังมีเบต้าแคโรทีนเหมือนฟักทองอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นยังมีบวบเหลี่ยม ที่มากด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยให้ระบายอุจจาระได้หมดจด รสหวานเย็นของบวบช่วยดับพิษไข้ แก้ร้อนในและบำรุงร่างกาย

นอกจากผักยืนพื้นดังกล่าวยังสามารถใส่ผักต่างๆ ที่ชอบเพิ่มเติมได้

ที่นิยมกันได้แก่ น้ำเต้า ตำลึง ยอดฟักทอง เห็ดทุกชนิด ข้าวโพดอ่อน เป็นต้น

ผักรสเย็นเหล่านี้ช่วยลดฤทธิ์ข้างเคียงจากรสเผ็ดร้อนของพริกไทย ทำให้แกงเลียงกลายเป็นตำรับยาไทยรสร้อนสุขุม ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยทดลองของสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าในระดับห้องทดลองน้ำแกงเลียงสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งภายนอกสิ่งมีชีวิตได้ผลดีถึง ๔๐%

จากนั้นจึงได้ทดลองให้แกงเลียงแห้งเป็นอาหารเลี้ยงหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งนาน ๖ สัปดาห์ พบว่ากลุ่มหนูที่ได้รับแกงเลียงลดความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ถึง ๕๐% เลยทีเดียว

ในภาวการณ์ที่เมืองไทยยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-๑๙ รอบสอง ที่อาจนำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อไรก็ได้ ประกอบกับโรคมะเร็งซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพคนไทยอยู่ขณะนี้ การบำรุงร่างกายให้แข็งแรงด้วยอาหารต้านอนุมูลอิสระที่มีแคลอรีต่ำ และมีไฟเบอร์สูง

อย่างเช่น แกงเลียงย่อมเป็นทางเลือกการบริโภคในวิถีชีวิตปกติใหม่หรือเป็นอาหารนิวนอร์มอลที่ควรรณรงค์ส่งเสริมให้แพร่หลายเป็นอย่างยิ่ง
     มติชนสุดสัปดาห์ ‘กินแกงเลียงเลี่ยงมะเร็ง’



เที่ยวทะเลรู้จัก 'จิกเล'

ยามนี้ยังไม่ใช่ฤดูเที่ยวทะเลเพราะฝนยังมี พายุยังมา แต่โรงแรม รีสอร์ตริมทะเลลดราคาเย้ายวนให้เที่ยวกัน ใครไปเที่ยวช่วยชาติริมทะเลจะพบต้นจิกทะเล ปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไป

ว่ากันตามวิชาพฤกษศาสตร์ พืชที่อยู่ในสกุล Barringtonia มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “จิก” ทั่วโลกพบ ๕๒ ชนิด

ในประเทศไทย พบจำนวน ๑๑ ชนิด ได้แก่ จิกน้ำ (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.) จิกเล (Barringtonia asiatica (L.) Kurz) จิกใหญ่ (Barringtonia augusta Kurz) จิกนมยาน (Barringtonia macrocarpa Hassk.) จิกนม (Barringtonia macrostachya (Jack) Kurz) จิกดง (Barringtonia pauciflora King) จิกเขา (Barringtonia pendula (Griff.) Kurz) จิกสวน (Barringtonia racemosa (L.) Spreng.) จิกนมปีก (Barringtonia scortechinii King)

แล้วมีอยู่ ๑ ชนิดที่เป็นพืชจำเพาะถิ่นของประเทศไทย เรียก จิกเขาหลวง (Barringtonia khaoluangensis Chantar.)

แต่จิกที่พบมากที่สุดก็เมื่อเราไปเที่ยวทะเลจะพบ จิกเล หรือ จิกทะเล ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับนั่นเอง

แต่ถ้าใครอ่านชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree ย่อมกังวลใจเพราะฝรั่งเรียกพืชชนิดนี้มีพิษ

เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับพืชนี้ เพื่อป้องกันไว้ดีกว่าแก้นั่นเอง

จิกเล เป็นต้นไม้ใหญ่สูงราว ๒๐ เมตร ใบขนาดใหญ่ มันวาว มีความหนา ป้องกันการสูญเสียน้ำ ดอกขนาดใหญ่ สีขาว เกสรตัวผู้เป็นพู่ยาวเห็นได้ชัดเจน สีขาวปลายชมพู ดอกมีกลิ่นหอมแรง บานตอนค่ำและโรยตอนเช้า ผสมเกสรด้วยผีเสื้อกลางคืนและค้างคาว ผลขนาดใหญ่ ทรงคล้ายลูกข่าง มีเปลือกเหนียวหุ้มทำให้ลอยน้ำได้ดีคล้ายผลมะพร้าว จิกเลยังเป็นทั้งพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและดอกไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

การใช้ประโยชน์ทางใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ แต่ต้องมีความชำนาญการปรุงยาเนื่องจากต้องระวังส่วนของเปลือกผลหรือเนื้อของผล ถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งแต่ก็มีสรรพคุณที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ หรือทำให้นอนหลับสบาย จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิออกจากร่างกาย ในต่างประเทศมีรายงานการนำใบมาต้มดื่ม รักษาอาการไส้เลื่อน ใบนำมาย่างให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณท้อง เมื่อมีอาการปวดท้อง ใบสดหรือผลสดนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการไขข้ออักเสบหรือบริเวณที่มีอาการปวดบวม

ในเมล็ดและลำต้นมีสารซาโปนิน ใช้ทำยาเบื่อปลาและยานอนหลับ บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง

ในการใช้ส่วนของผลจึงต้องระวังเพราะมีพิษ แต่ส่วนของเมล็ดนำมาทำให้แห้ง บดให้เป็นผงละลายน้ำดื่มแก้เจ็บคอ แก้ไอ บรรเทาหลอดลมอักเสบ อาการไข้หวัดต่างๆ และแก้จุกเสียด เมล็ดยังนำมาฝนเอาผงโรยบาดแผลหรือบริเวณที่เจ็บ

นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ใช้ในการรักษาอาการม้ามบวมหลังจากติดเชื้อมาลาเรีย เปลือกนำมาต้มดื่มแก้อาการท้องผูกและโรคลมชัก เปลือกนำมาตำพอกบริเวณที่ปวดบวม และมีงานวิจัยเชิงลึกในออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนของใบใช้ในการต่อต้านเนื้องอก ประโยชน์อื่นๆ เช่น เนื้อไม้มีสีเหลืองจนถึงแดงอ่อนใช้ทำเครื่องเรือนได้

นำเมล็ดมาบีบจะได้น้ำมัน ไว้จุดไฟให้ความสว่างได้

ยังมีจิกอีกชนิดที่อยากแนะนำเพราะมีการใช้ประโยชน์มาก คือ จิกน้ำ (Barringtonia acutangula)

จิกต้นนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า จิกมุจรินทร์ ชอบขึ้นใกล้ริมแหล่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดที่ภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลียแถบรัฐควีนส์แลนด์ จิกน้ำ มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามภาษาถิ่นว่า “กระโดนทุ่ง” หรือ “กระโดนน้ำ” (อีสาน-หนองคาย) “ปุยสาย” หรือ “ตอง” (ภาคเหนือ) “กระโดนสร้อย” (พิษณุโลก) และ “ลำไพ่” (อุตรดิตถ์)

ลักษณะแตกต่างไปจากจิกเล คือ จิกน้ำเป็นไม้ประเภทผลัดใบ สูง ๕-๑๕ เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล แดงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นรูปใบหอก ปลายและโคนใบแหลม

เวลามีดอกจะทิ้งใบเหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงาม ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้าระโยง สวยงามเหมือนสายสร้อย มีกลิ่นหอม ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น หลุดร่วงง่าย สีแดง หรือชมพู

เวลามีดอกบานพร้อมกันโดยเฉพาะช่วงมีดอกจะทิ้งใบมีแต่ยอดอ่อนเป็นสีแดงจัด ยิ่งเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น

ดอกออกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ผลกลมยาว มีเมล็ด

ยอดอ่อนและดอก กินเป็นผักสดและผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ น้ำตก แจ่ว และอาหารรสเผ็ดอื่นๆ กินกับขนมจีน รสชาติมันปนฝาด ในทางยาสมุนไพร ใบแก่ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ดทำเป็นยาลมแก้อาการจุกเสียดและแก้ไอในเด็ก

เนื้อไม้จากลำต้น หรือแก่นนำมาแช่น้ำดื่มจะช่วยให้ระดูมาเป็นปกติ แก้ระดูขาว ใช้เป็นยาในการบำรุงสตรีได้

ในต่างประเทศมีรายงานการนำเปลือกมาต้มดื่มแก้ปวดท้อง นำเปลือกมาฝนผสมกับเนื้อมะพร้าวขูดแล้วคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้อาการปอดบวม บิดมีตัวและหอบหืด รากใช้เป็นยาระบาย เมล็ดบดให้เป็นผงใช้ปริมาณเล็กน้อยให้เด็กกินแก้อาเจียน ลดเสมหะและเป็นยาขับพยาธิด้วย แต่ต้องระวังเปลือกและต้นมีฤทธิ์ในการใช้เบื่อปลาด้วย และเนื้อไม้นำไปใช้ทำไม้อัดได้

จิกน้ำ ปลูกได้ทั่วประเทศ ชอบอยู่ตามริมน้ำ แต่จิกเลชอบริมทะเล จิกน้ำและจิกเลเป็นไม้สมุนไพรและไม้ประดับที่นิยมปลูกกัน

มิตรสหายที่ชอบสมุนไพรจะขยายช่องทางสร้างรายได้ปลูกจิกไว้เพื่อไม้ประดับก็น่าจะมีโอกาสทางรายได้นะ
มติชนสุดสัปดาห์ ‘เที่ยวทะเลรู้จักจิกเล’



เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ใช้สมุนไพรร่วมกัน


บางคนว่าเวลานี้ความคิดอ่านของคนต่างวัยช่างต่างกัน พลอยทำให้ความคิดจิตใจว้าวุ่นขุ่นเคืองในหัวใจของคนหลากหลายวัย

แต่ถ้าช่วยกันค่อยๆ เปลี่ยนมุมคิดปรับมุมมองก็น่าจะพบเห็นความเหมือนในความต่างได้มากพอสมควร

หรือแม้มีความต่างก็พบความเหมือนเช่นกัน

เรื่องสมุนไพรที่เป็นทั้งอาหารและหยูกยาก็มีความต่างและความเหมือนอยู่มากมาย

ความปกติตามธรรมชาติได้แบ่งวัยให้มีความต่างอยู่ในตัว เช่น เด็กย่อมกินอาหารแตกต่างจากผู้ใหญ่ ถ้าเป็นยาก็ยิ่งชัดเจนจะกินยาสมุนไพรทั้งชนิดและปริมาณก็ต่างจากผู้ใหญ่แน่นอน

แต่ในวันนี้จะขอนำเสนอสมุนไพรที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่ก็กินดี

เพื่อแสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า มีความเหมือนในวัยได้ใช้สมุนไพรร่วมกันแก้โรคและอาการที่ทุกวัยก็เป็นกัน

ไอ เป็นอาการไม่สบายอย่างหนึ่งที่ต้องถือว่าไม่รุนแรงหรือเป็นโรคไม่ร้ายแรง

อาการไอเป็นกลไกตามธรรมชาติในร่างกายที่จะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมหรือขับของเสียที่ทำให้เกิดความระคายเคืองออกไปจากลำคอหรือทางเดินหายใจ ยกเว้นอาการไอเรื้อรังรุนแรงซึ่งทางวิชาการใช้เกณฑ์ว่าอาการไอที่เกินกว่า ๓ สัปดาห์ต้องไปพบแพทย์แล้ว หรืออาการไอจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ การติดเชื้อทางเดินหายใจ วัณโรค ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์

แต่ถ้าอาการไอที่อาจเกิดจากสูดฝุ่นควัน ไปสัมผัสอากาศเย็นชื้นหรือไอมีเสมหะจากหวัดธรรมดา ให้เริ่มต้นจากการจิบน้ำบ่อยๆ ถ้าเป็นน้ำอุ่นๆ ก็จะยิ่งดี น้ำเป็นสมุนไพรธรรมชาติที่หาง่ายที่สุดและบรรเทาอาการไอได้อย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน

แต่ก็ยังมีสมุนไพรใกล้ตัวสามารถนำมาดูแลได้ทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ได้สบายๆ ซึ่งเป็นสมุนไพรใกล้ตัวสุดๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ กะเพรา

กะเพราเป็นยาแก้ไอสำหรับเด็กที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิมและมีความปลอดภัยเช่นกัน ให้นำใบกะเพราสดล้างน้ำสะอาดแล้วนำมาคั้นน้ำ เอาแต่น้ำซึ่งอาจจะได้น้ำยากะเพราไม่มากนักให้ใช้วิธีผสมน้ำสะอาดลงไปช่วยคั้นด้วย เมื่อได้น้ำยากะเพราสดแล้วจะมีรสเผ็ดร้อนนิดๆ ให้นำมาผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กจิบกินบ่อยๆ จะช่วยลดอาการไอได้ ในตำรายาโบราณแนะนำว่าถ้าหาใบกะเพราแดงได้จะดีกว่ากะเพราะขาว แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้กะเพราะที่ขึ้นทั่วไปแทน

ยาแก้ไอกะเพราผสมน้ำผึ้งนี้กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อยากให้ลองกินกันได้ทุกครัวเรือน

สมุนไพรที่ใกล้ตัวหาง่ายอาจเรียกได้ว่าหาได้ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลกใบนี้ คือ ขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีการใช้แทบจะทุกวัฒนธรรมของชาวโลก ขิงช่วยแก้ไอแล้ว ในสรรพคุณยาสมุนไพรยังถือว่าช่วยแก้อาการแพ้อากาศที่ช่วงเปลี่ยนฤดูเช่นนี้จะไม่สบายได้ง่าย และขิงยังถือเป็นยาบำรุงร่างกายที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่ดีด้วย และเมื่อลมฝนยังไม่หมดลมหนาวก็มาทำให้ร่างกายเย็นชื้น ขิงจะช่วยขับเหงื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย แก้ไข้แก้หวัดได้ด้วย

วิธีปรุงยาขิงทำได้หลายสูตร ที่ง่ายสุดได้ตัวยาเต็มๆ ก็ให้ปอกเปลือกขิงแก่สด นำไปล้างน้ำให้สะอาด ถ้ามีเครื่องปั่นก็นำไปปั่นเอาแต่น้ำขิง ถ้ามีครกก็โขลกตำคั้นเอาแต่น้ำ น้ำขิงที่ได้จะเข้มแรงเผ็ดร้อนมาก จึงต้องนำมาผสมน้ำสะอาดเจือจางแล้วผสมมน้ำผึ้ง กินครั้งละ ๑ ช้อนชา อย่างน้อยวันละ ๓ ครั้งก่อนหรือหลังอาหาร หากเป็นวัยรุ่นผู้ใหญ่แล้ว อาจใช้น้ำคั้นขิงแก่สดแล้วผสมกับน้ำผึ้งกินได้เลยโดยไม่ต้องผสมเจือจางกับน้ำสะอาด สูตรนี้ก็เข้มข้นนิดไม่เหมาะกับเด็กเล็ก

สูตรน้ำขิงที่ทำไว้ นำมาแต่งสมุนไพรอีกชนิดที่หาง่ายและหาได้ทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน คือ มะนาว แม้ว่าพันธุ์มะนาวไทยกับมะนาวเทศหรือที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “เลม่อน” จะเป็นมะนาวต่างชนิดกันแต่สรรพคุณทางยาสมุนไพรใช้ได้เหมือนกัน (ในความต่างก็ยังมีความเหมือนนั่นเอง) ให้คั้นน้ำมะนาวผสมกับน้ำคั้นขิงแก่สด แล้วแต่งด้วยน้ำผึ้ง ก็จะเป็นยาแก้ไอรสอร่อยใช้ได้ทุกเพศทุกวัย

และหากใครที่มีแต่น้ำมะนาวนำมาผสมกับน้ำธรรมดาคนให้เข้ากันแล้วผสมน้ำผึ้งอาจเติมเกลือเล็กน้อยแต่งรส สูตรน้ำมะนาวนี้ก็แก้ไอ แก้เจ็บคอได้ดีด้วย

ตํารับยาสมุนไพรแก้ไอที่เป็นความรู้ทั่วไปแต่ในปัจจุบันนี้ได้จางหายไปแล้ว คือการใช้ใบเสนียดแก้ไอ อาจเพราะชื่อต้นเสนียดทำให้ไม่เป็นที่ชื่นชอบ และทำให้ไม่สนใจปลูกไว้ประจำบ้าน ทั้งๆ ที่ต้นเสนียดมีสรรพคุณสมุนไพรที่ดีหลายอย่าง

พูดเฉพาะแก้ไอในที่นี้ ให้นำใบเสนียดมาล้างน้ำให้สะอาด นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมน้ำผึ้งให้เด็กกินแก้ไอได้ดี หรือจะนำไปผสมกับน้ำคั้นกะเพราะที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วผสมน้ำผึ้งก็เป็นการช่วยเสริมสรรพคุณแก้ไอ ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือจะนำใบอ่อนของต้นเสนียด ๒-๓ ใบ ล้างน้ำ แล้วนำมาต้มกับน้ำ ๑ แก้ว ต้มด้วยไฟอ่อนๆ ให้น้ำยาเหลือสักครึ่งแก้ว จะดื่มกินตอนเช้า ๑ ครั้ง หรือแบ่งน้ำยามาจิบกินให้หมดในหนึ่งวันก็ได้

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เพิ่มความสะดวกสบายแต่ก็มีราคาแพง เช่น สเปรย์ผสมน้ำมันหอมระเหย คาโมไมล์ ยูคาลิปตัสและมะกรูด ที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในลำคอเพื่อลดอาการไอ แต่จะประหยัดกว่าถ้าคั้นน้ำสมุนไพรที่แนะนำไว้ เก็บใส่แก้วน้ำใบน้อยๆ นำติดตัวไปจิบกินแก้ไอได้ตลอดวันเช่นกัน

นอกจากสมุนไพรแก้ไอสำหรับทุกเพศวัยแล้ว ช่วงที่อากาศกำลังเปลี่ยนแปลง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การอาบน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการไอ และช่วยลดน้ำมูกจากไข้หวัดและภูมิแพ้ได้ด้วย และอีกไม่นาน ฝุ่นพิษ PM ๒.๕ มลพิษทางอากาศกำลังจะมา แม้ว่าการแก้สาเหตุหลักต้องใช้เวลาอีกนาน แต่สมุนไพรที่แนะนำไว้จะช่วยลดอาการไอจากการแพ้ฝุ่นได้เช่นกัน

ไอ คืออาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แก้ได้ไม่ยากด้วยสมุนไพรใกล้ตัว แต่ถ้าไอเริ่มจะเรื้อรังรุนแรงแสดงว่าผิดปกติอันนี้ก็ต้องพบแพทย์ อาการทางสังคมที่มีคนเริ่มกระแอมส่งเสียง ยังเป็นเรื่องปกติบรรเทาอาการได้
  มติชนสุดสัปดาห์ ‘เด็ก ยาวชนผู้ใหญ่ ใช้สมุนไพรร่วมกัน’
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #41 เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2563 12:51:04 »




เครื่องเทศในยาไทย อาหารไทย

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เครื่องเทศมีความหมายถึงของหอมฉุนและเผ็ดร้อนที่ได้มาจากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาไทย และปรุงอาหาร โดยมากมาจากต่างประเทศ เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า

เมื่อวิเคราะห์เบื้องต้นในตำรับยาดั้งเดิมที่มีการผสมเครื่องเทศทั้งในตำรับยาไทย และในตำรับยาของชาวล้านนาภาคเหนือ พบว่าโดยทั่วไปเครื่องเทศมักผสมอยู่ในตำรับยาที่มีสรรพคุณบำรุงธาตุ ยาขับลมในลำไส้ และยาอายุวัฒนะ

คำว่า เครื่องเทศ กับคำว่า สมุนไพร บางครั้งก็เรียกรวมๆ กันไป

แต่ก็ขอแยกแยะแนะนำหากท่านใดยังนึกเครื่องเทศยาไทยไม่ออก ขอยกตัวอย่างเครื่องเทศ ๑๐ ชนิด ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์กันทั่วไป เช่น

๑.เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และขับผายลม

๒.เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณเจริญอากาศธาตุ แก้ลมพานไส้ แก้พรรดึก แก้แน่นหน้าอก แก้เสียดแทง แก้นอนไม่หลับ

๓.กานพลู รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ กระจายเสมหะและโลหิต แก้เสมหะเหนียว แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด และแก้ปวดท้อง แก้พิษเลือด

๔.ใบกะเพราขาว รสร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด ขับลมในลำไส้

๕.ลูกกระวาน รสร้อนหอม สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม ช่วยขับเสมหะ โลหิต และลม

๖.หัวกระเทียม รสร้อนฉุน สรรพคุณ ระบาย แก้ริดสีดวงงอก บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้โรคผิวหนัง แก้กระหายน้ำ แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต

๗.ลูกจันทน์เทศ รสร้อนหอมและจะออกรสฝาด สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้กระหาย แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต

๘.เปลือกอบเชย รสเผ็ดหวานร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย

๙.ดอกดีปลี รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุดินทั้ง 20 ประการ ขับลมในลำไส้ และเจริญอาหาร

๑๐.เถาสะค้าน เป็นยารสร้อน สรรพคุณ ขับลมบำรุงธาตุ ขับลมให้ผายและเรอ แก้จุกเสียด แก้ธาตุพิการ แก้แน่น

เป็นตัวยาประจำธาตุลม

ตัวอย่างทั้ง ๑๐ ชนิดเป็นเครื่องเทศที่มีรสยาไปทางยารสร้อนทั้งหมด ช่วยเพิ่มไฟธาตุ มีสรรพคุณหลักคือ ขับลม ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ โดยตัวยาประจำธาตุลม ได้แก่เถาสะค้าน ประจำอากาศธาตุคือ ขิงแห้ง ดอกดีปลี เป็นยาประจำธาตุดิน มีสรรพคุณทางด้านขับลมในลำไส้

ความเจ็บป่วย ซึ่งเรียกว่า วัสสานะสมุฏฐาน มักจะมีผลกระทบมาจากธาตุลม หรือพิกัดวาโย เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย เรียกว่าไข้เพื่อลม (ไข้คือความเจ็บป่วย) หรือเพราะลมเป็นหลัก

และยังเรียกได้ว่าเป็นยาตัวกลางคอยควบคุมธาตุลม ได้แก่ หทัยวาตะ (การเต้นของหัวใจ) สัตถกะวาตะ (ลมที่คมเหมือนอาวุธ) สุมนาวาตะ (ลมกลางลำตัว)

นอกจากนี้ ลมที่แปรปรวนไป จะกระทบธาตุลมของร่างกายที่เรียกว่า “ฉกาลวาโย” คือ ธาตุลมทั้ง ๖ ประการ

และมี “กาลวาโย” หมายถึงลมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาแต่ละวัน หรือกองลมใดที่จรมากระทบนั่นเอง

ในหลักทฤษฎีเกี่ยวกับธาตุลมที่มีผลต่อสุขภาพนั้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังอธิบายไว้อีกมาก แต่ยกตัวอย่างถึงสมุฏฐานของโรคที่ต่างกันอีก ได้แก่

หทัยวาตสมุฏฐาน ลมก็มักจะทำให้มีจิตใจแปรปรวน ระส่ำระสาย เป็นต้น

สัตถกะวาตสมุฏฐาน อาจอธิบายได้ทำนองว่ามีโอกาสเกิดความผิดปกติของลมที่มีความเร็ว ความรุนแรง เสียดแทง คม ประหนึ่งอาวุธกระทำต่อร่างกายของเรา มีการเปรียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ลมชนิดนี้มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับอาการทางหลอดเลือดฝอย และอาการของระบบประสาทส่วนปลาย

สุมนาวาตสมุฏฐาน ลมนี้เปรียบได้ว่าจะกระทบกับระบบเลือดแดงใหญ่กลางลำตัว ความเจ็บป่วยในเวลานี้ จะมีผลต่อเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เกิดอาการไม่สบายไปที่การเต้นของหัวใจ อารมณ์ และจิตใจด้วย

อาจเทียบเคียงได้ว่า ถ้ามีอาการลมชนิดนี้แล้วมักจะต้องระวังเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไตวาย โรคของมดลูก และเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะด้วย

ขณะนี้แม้ว่าจะเป็นปลายฤดูฝน แต่ก็เชื่อว่าหลายท่านยังพบกับอาการแปรปรวนจนต้องมีการปรับธาตุกันบ้างเพื่อให้สุขภาพเป็นปกติ

ตัวอย่างยาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ตำรับยาตรีกฏุก หรือใช้วิธีการปรับธาตุด้วยมหาพิกัดเบญจกูล สำหรับภูมิปัญญาล้านนา มักใช้วิธีกินยาที่เรียกว่าตำรับยาผงแดง หรือยาลมกองละเอียดสูตรต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการ และยาแก้ลม

ที่สำคัญๆ ได้แก่ ยาจิตรารมณ์ ยากล่อมอารมณ์ ยาวาตาพินาศ ยาเขียวประทานพิษ ยาชุมนุมวาโย ยามหาสมมิทธิ์ใหญ่ ยาหอมสรรพคุณ ยาสมมิทธิ์น้อย ยานัตถุ์ธนูกากะ ยาประสะการบูรดีปลี

ตํารับยาที่ทุกท่านน่าจะหาไว้ประจำบ้านตำรับหนึ่งที่หาได้ง่ายๆ คือ ตำรับยาธาตุบรรจบ ที่มีเครื่องเทศผสมอยู่หลายชนิด ตำรับยานี้ช่วยแก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย หรือแก้ธาตุลมในท้องในไส้ กระทำโทษ ตัวยาที่เป็นเครื่องเทศกับตัวยาอื่นๆ ได้แก่ ขิง โกฏเขมา โกฏพุงปลา โกฏเชียง โกฏสอ เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู การบูร เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ลูกผักชีลา ใบพิมเสน ดีปลี เปราะหอม หนักสิ่งละ ๔ ส่วน โกฏก้านพร้าว หนัก ๘ ส่วน เนื้อลูกสมอไทยหนัก ๑๖ ส่วน น้ำประสานทองสะตุหนัก ๑ ส่วน ทั้งนี้ ส่วน อาจใช้แทนด้วยน้ำหนักส่วนละ ๑๕ กรัม ทำเป็นผง และปั้นเป็นลูกกลอน กินแล้วเพิ่มไฟธาตุ ทำให้กระบวนการย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยขับลม และทำให้จิตใจดีด้วย

แต่ถ้าหาตำรับยาไม่ได้ ขอแนะนำให้กินอาหารที่มีพริกไทยและขิงก็ได้ ลองใช้หลักอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกาย กรณีจะแก้ปัญหาธาตุลม ลองกินอาหารรสอุ่นรสเผ็ดร้อน ได้แก่ แกงเลียง แกงป่า แกงแค หรือแกงที่มีรสเผ็ดร้อน หรือกินอาหารที่มีขมิ้น ขิงหรือพริกไทย หรือเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ดอกจันทน์ กานพลู

ยาไทย อาหารไทย เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบทอดมานาน ที่ควรส่งเสริมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

หากท่านใดมีอาการทางลมในระดับซับซ้อนก็ให้พบหมอยาไทยได้ หากอาการไม่รุนแรง ตำรับยาและอาหารที่มีเครื่องเทศ คือสิ่งที่ควรมีประจำบ้านเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนได้
...ที่มา มติชนสุดสัปดาห์




ต้นกิมปักกพฤกษ์
กิมปักกะหรือต้นกิมปักกะ


“บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะขจัดผู้บริโภค”

ข้อความกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ฉบับหลวง มีชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นกิมปักกพฤกษ์ ส่วนในฉบับมหาจุฬาใช้คำว่า กิมปักกะ หรือต้นกิมปักกะ

โดยกล่าวเปรียบเทียบว่าการเสพกามมีพิษเหมือนต้นกิมปักกพฤกษ์ หรือ กิมปักกะ หรือ ต้นกิมปักกะ

จึงขอชวนเรียนรู้กับต้นไม้ชนิดนี้

ในพระไตรปิฎกมีการบรรยายลักษณะของต้นกิมปักกพฤกษ์ไว้ว่า “มีผลคล้ายมะม่วง แต่เป็นไม้พิษ”

เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลพืชแล้ว ต้นกิมปักกพฤกษ์อาจเป็นต้นไม้ที่เราเรียกกันในยุคนี้ว่า ตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล

เพราะมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sea mango หรือ Suicide tree ที่แสดงว่ามีพิษ

ตีนเป็ดทราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera manghas L. อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก อายุหลายปี เรือนยอดทรงกลม เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย

ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เป็นมัน ใบอ่อนสีแดงเข้ม ขอบใบ เส้นกลางใบ และก้านใบมีสีแดงอมม่วง ใบแก่แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีซีดกว่า

ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกรูปขอบขนาน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีขาว มีแต้มสีแดงรอบปากหลอดหรือใจกลางดอก ออกดอกตลอดปี

ผลเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน สีเขียว เมื่อแก่มีสีแดง ผิวเกลี้ยง เป็นมัน ลักษณะคล้ายผลมะม่วง จึงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า มะม่วงทะเล (sea mango) นั่นเอง

ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐเซเชลส์ (Republic of Seychelles) ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดียและมีการกระจายไปอยู่ตามแนวชายฝั่งเขตร้อนของประเทศต่างๆ

ใบและผลของตีนเป็ดทรายมีความเป็นพิษต่อการทำงานของหัวใจสูงมาก

คนในสมัยก่อนใช้ยางจากต้นตีนเป็ดทรายล่าสัตว์ ในมาดากัสกาใช้เมล็ดเป็นยาทรมานนักโทษ และนักโทษส่วนใหญ่จะตายเนื่องจากพิษของไม้ชนิดนี้ หลายคนใช้เป็นยาฆ่าตัวตาย

ไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แอปเปิลแห่งการฆ่าตัวตาย” (suicide apple)

ในศรีลังกานิยมนำไม้ชนิดนี้มาทำหน้ากาก เพราะมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยาดับกลิ่นด้วย

ชนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้เป็นยาทาภายนอกแก้หิดและใช้เป็นน้ำยาบำรุงผม

ยังมีตีนเป็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตีนเป็ดทรายคือ ตีนเป็ดทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบแน่น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว กลีบดอกมีสีขาว

ต่างจากตีนเป็ดทรายตรงที่ใจกลางดอกเป็นสีเหลืองอ่อน

เป็นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ขึ้นได้ดี ต้องการแดดและความชื้นสูง ต้นโตได้ถึง ๑๒ เมตร มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของจีน และยังพบที่นิวแคลิโดเนีย (เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงใต้)

ตีนเป็ดทะเลมักขึ้นในป่าชายเลนหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายทะเล

มีผลทรงกลม คล้ายผลส้ม มีสีเขียว

แต่มีพิษหากกินมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยางก็มีพิษ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเป็นสารเคมีฆ่าเหาได้ ทั้งตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเลมีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย

นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

สําหรับต้นตีนเป็ด อีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พระยาสัตตบรรณ ตีนเป็ดนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ในลักษณะของต้นไม้ในภูมินิเวศทั่วไป และเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าพระองค์แรกประทับตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้ด้วย

ตีนเป็ดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จะเห็นว่าเป็นคนละสกุลกับตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า blackboard tree or devil’s tree แต่ยังอยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์ Apocynaceae

ตีนเป็ดชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง ๑๕-๓๐ เมตร โคนต้นมักเป็นพูพอนเปลือกสีเทาอมเหลืองค่อนข้างหนา

ใบเป็นแบบเรียงกันเป็นวง ๕-๗ ใบ แผ่นรูปมนแถบรูปไข่กลับ ปลายใบมีติ่งเล็กน้อย โคนใบสอบเรียบ ใบเป็นแบบใบประกอบนิ้วมือ

ดอกเล็กสีเขียวอมเหลืองหรืออมขาว ดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นแรง บางคนบอกว่าเหม็นและอาจแพ้ทำให้หน้าบวม ไอ จาม หรือถ้าสูดดมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ได้

ผลเป็นฝักยาวเรียวสีเขียวยาว ๑๐-๒๐ เซนติเมตร เมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมหรือรี มีขนยาวอ่อนนุ่มปุกปุย ติดอยู่ปลายทั้งสองข้างเมล็ดแก่ประมาณเดือนมีนาคม ไม้ตีนเป็ดเป็นไม้ที่โตเร็ว เบา จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตดินสอ

ในศรีลังกานิยมนำมาใช้ทำโลงศพ

ในหมู่เกาะบอร์เนียว นำมาใช้เป็นทุ่นของอวนจับปลาและเครื่องใช้ในครัวเรือน ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ราก รสร้อนเล็กน้อย ใช้รักษาโรคมะเร็ง เป็นยาขับลมในลำไส้

ในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้รากรักษาโรคเกี่ยวกับตับ เปลือกต้น รสขมเย็น รักษาโรคเบาหวาน โรคบิด แก้โรคตับ หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วงเรื้อรัง ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไอ แก้ไข้ เป็นยาสมานแผลในลำไส้ ขับน้ำนม ขับระดู แก้ไข้หวัด น้ำมูกไหล ขับน้ำเหลืองเสีย รักษามาลาเรีย

ในอินเดียใช้รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง และเป็นสมุนไพรที่มีการบรรจุไว้ในเภสัชตำรับของอินเดียว่าเป็นยาชูกำลัง ยาถ่ายพยาธิและยาแก้อักเสบ

ในพระไตรปิฎกกล่าวเตือนความลุ่มหลงในเสพกามกับต้นไม้พิษแล้ว ในยุคปัจจุบันก็ควรเผยแพร่ให้ความรู้ให้เกิดปัญญาเกี่ยวกับต้นตีนเป็ดทั้ง ๓ ชนิดให้กระจ่างโดยทั่วกัน เพื่อจะลดผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพนั่นเอง
...ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.182 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 14 กุมภาพันธ์ 2567 22:21:47