[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 18:52:14 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา  (อ่าน 2593 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 มกราคม 2559 15:54:57 »



พระเจ้าองค์หลวงหรือพระเจ้าตนหลวง

พระเจ้าองค์หลวง หรือพระเจ้าตนหลวง
วัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

วัดศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัดพะเยา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ศิลปะเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในล้านนาไทย มีชื่อว่า พระเจ้าองค์หลวงหรือพระเจ้าตนหลวง ที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๑๘ เมตร มีประวัติเล่าสืบกันมาอย่างพิสดารว่า พญานาคได้ปรากฏกาย นำทองคำมาให้ตายายคู่หนึ่ง ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมกว๊านพะเยา เพื่อสร้างพระพุทธรูป ซึ่งใช้เวลาสร้างทั้งหมด ๓๓ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๔-๒๐๖๗

พระเจ้าองค์หลวง ไม่เป็นแค่เพียงพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ยังถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรล้านนาไทยด้วย ทุกปีในช่วงวันวิสาขบูชาจะมีการนมัสการเป็นประจำ เรียกว่า งานนมัสการพระเจ้าองค์หลวง เดือนแปดเป็ง

• ประวัติการสร้างพระเจ้าองค์หลวง
ที่หน้าพระวิหารพระเจ้าตนหลวง ได้จารตัวอักษรไทยและล้านนาไว้ที่แผ่นศิลา กล่าวถึงประวัติการสร้างพระเจ้าองค์หลวงไว้ปรากฏดังนี้...จุลศักราช ๘๕๓ พุทธศักราช ๒๐๓๔ ปีล่วงได้ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำเม็ง วันพุธโตเมืองเหม้า ยอมกองงายได้ยกเสาอินทขิล (เสากระดูกสันหลังพระพุทธรูป) พระพุทธรูปขึ้น ตามดวงชาตาดังนี้ ลักขณาอยู่ราศีเมถุน ๑-๔ อยู่ราศีพฤษภ ๒ อยู่ราศีพฤศจิก ๓ อยู่ราศีกันย์ ๕ อยู่ราศีตุลย์ ๖ อยู่ราศีเมษ ๘ อยู่ราศีกุมภ์  ในสมัยพระยายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ พระยาเมืองยี่ครองเมืองพยาว (พะเยา) สองตายายแรกก่อสร้างพระพุทธรูปเจ้าตนหลวง ลงมือก่อสร้างได้ ๔ ปี พระยายอดเชียงรายกับพระยาเมืองยี่ทั้งสองพระองค์ก็มาถึงแก่พิราลัยไปในปีเดียวกับพระเมืองแก้ว พระราชโอรสพระยายอดขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายเมืองพยาวพระยาหัวเคียนราชโอรสของพระยายี่ขึ้นครองเมืองแทน ครองได้ ๒๐ ปีก่อสร้างพระพุทธรูปเจ้ายังไม่เสร็จ พระยาหัวเคียนก็มาถึงแก่อนิจกรรมไป พระเมืองแก้วจึงให้พระเมืองตู้ราชโอรสของพระยาหัวเคียนขึ้นครองเมืองพยาว สองตายายผัวเมียก่อสร้างพระเจ้าตนหลวงอยู่เรื่อยๆ จนถึงจุลศักราชได้ ๘๘๖ ตัวพุทธศักราชได้ ๒๐๖๗ ในปีกาบสิ้นเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ยามกองงายเอาเขบ็ดหน้าแล้วเสร็จบริบูรณ์ รวมการก่อสร้างพระพุทธรูปเจ้าตนหลวงนานได้ ๓๓ ปี เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วพระยาเมืองตู้จึงส่งพระราชสาส์นไปทูลพระเมืองแก้วที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ทรงรู้แล้วมีความโสมนัสยินดีถวายพระราชทรัพย์ทองคำ ๓๐๐๐ เงิน ๖๐๐๐ มาสร้างพระวิหาร ก่อสร้างเสร็จในปีรวายเสร็จเดือน ๘ เพ็ญ จึงให้ทำการฉลองสมโภชองค์พระเจ้าตนหลวง แล้วเบิกบายรวายศรีชื่อว่า “พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอื้องเมืองพยาว” แล้วพระเมืองแก้วกับพระเมืองตู้จึงพระราชทานชาวบ้านให้อยู่รักษาวัดรวม ๒๐ ครัวเรือน (ซาวครอบครัว) คือพระเมืองแก้วสิบครัวเรือนพระเมืองตู้สิบครัวเรือน แล้วร่วมกันกฎหมายเขตแดนวัดพระเจ้าตนหลวง ตามตำนานว่าไว้ดังนี้คือ ด้านทิศเหนือติดต่อดอยพระธาตุจอมทอง ด้านทิศใต้ติดกับวัดอุ่นหล้า ด้านทิศตะวันออกนับแต่วัดอุ่นหล้าไป ๑๐๐๐ วา และด้านทิศตะวันตกออกไป ๕๐๐ วา เพื่อให้เป็นที่อภัยแก่นักและกระแตปูปลาทั้งหลายอันอาศัยอยู่ในพุทธอันตรเขต เหตุไม่ให้คนทั้งหลายกระทำร้ายแก่สัตว์และต้นไม้อันอยู่ในโขงเขตอารามมีฉันนี้แล



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินยังวัดศรีโคมคำ ทรงนมัสการพระเจ้าตนหลวง
ในวิหารวัดศรีโคมคำ เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๐๑


วิหารที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง


พระประธานพระอุโบสถวัดศรีโคมคำ




พระอุโบสถลอยน้ำวัดศรีโคมดำ ด้านหลังพระอุโบสถคือกว๊านพะเยา


รูปหล่อโลหะครูบาศรีวิชัย ในวิหารอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย


รอยมือรอยเท้าครูบาศรีวิชัย
ในวิหารอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย วัดศรีโคมคำ


วิหารอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย






• เมืองพะเยา
พะเยา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า เมืองภูกามยาว หรือ พยาว มีเอกราชสมบูรณ์ มีกษัตริย์ปกครองสืบราชสันติวงศ์มาช้านาน ปรากฎตามตำนานเมืองพะเยาว่า กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองภูกามยาว มีดังนี้

ขุนจอมธรรม
ขุนจอมธรรม เป็นพระราชโอรสของขุนเงินหรือลาวเงิน กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน เมื่อ พุทธศักราช ๑๖๐๒ (จุลศักราช ๔๒๑) พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ดำริให้พระราชโอรส ๒ องค์ คือ ขุนชิน ให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน และ ขุนจอมธรรม โอรสองค์ที่ ๒ ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้

ขุนจอมธรรมพร้อมข้าราชการบริวาร ขนเอาพระราชทรัพย์ บรรทุกม้า พร้อมพลช้าง พลม้า ตามเสด็จถึงเมืองภูกามยาว และตั้งรากฐานเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง นามว่า “สีหราช” อยู่เชิงเขาชมภูหางดอยด้วน ลงไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา มีสัณฐานคล้ายลูกน้ำเต้า มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางตะวันตก (อันหมายถึงกว๊านพะเยาในปัจจุบัน) และทางทิศอีสาน คือ หนองหวีและหนองแว่น

ขุนจอมธรรมปกครองไพร่ฟ้าประชาชน โดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่มีสงคราม เจ้าประเทศราชต่าง  มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน ทรงสั่งสอนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยหลักธรรม ๒ประการ คือ อปริหานิยธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๑ประเพณีธรรมขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงานของครอบครัว ๑

ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ ๒ ปี มีโอรส ๑ พระองค์ โหรถวายคำพยากรณ์ว่า ราชบุตรองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมพูทวีป มีบุญญาธิการมากเวลาประสูติ มีของทิพย์เกิดขึ้น ๓ อย่าง คือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คณโฑทิพย์ จึงให้พระนามว่า “ขุนเจื๋อง” ต่อมาอีก ๓ ปี ได้ราชบุตรอีกพระนามว่า “ขุนจอง” หรือ “ชิง”  ขุนจอมธรรมปกครองเมืองพะเยาได้ ๒๔ ปี พระชนมายุได้ ๔๙ พรรษา

พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง
พระยาเจื๋องธรรมมิกราช หรือ ขุนเจื๋อง ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช ๑๖๔๑ เป็นโอรสของขุนจอมธรรม เมื่อเจริญวัยขึ้น ทรงศึกษาวิชายุทธศาสตร์ เช่น วิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้า และเพลงอาวุธต่าง ๆ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองน่าน เจ้าผู้ครองเมืองน่าน เห็นความสามารถแล้วพอพระทัย ยกธิดาชื่อ “จันทร์เทวี” ให้เป็นชายา ขุนเจื๋อง พระชนมายุได้ ๑๗ ปี พาบริวารไปคล้องช้างที่เมืองแพร่ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่พอพระทัย จึงยกธิดาชื่อ “นางแก้วกษัตริย์” ให้เป็นชายา พระราชทานช้าง ๒๐๐ เชือก

ขุนเจื๋องครองราชย์สืบแทนขุนจอมธรรมเมื่อพระชนมายุ ๒๔ ปี ครองเมืองได้ ๖ ปี มีข้าศึกแกว (ญวน) ยกทัพมาประชิดนครเงินยางเชียงแสน ขุนชินผู้เป็นลุง ได้ส่งสาส์นขอให้ส่งไพร่พลไปช่วย ขุนเจื๋องได้รวบรวบรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวง และเคลื่อนทัพเข้าตีข้าศึกแตกกระจัดกระจายไป เมื่อขุนชินทราบเรื่องก็เลื่อมใสโสมนัสยิ่งนัก ทรงยกธิดาชื่อ “พระนางอั๊วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครองแทน เมื่อขุนเจื๋องได้ครองราชเมืองเงินยางแล้ว ทรงพระนามว่า “พระยาเจื๋องธรรมมิกราช” ได้มอบสมบัติให้โอรสชื่อ “ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทน หัวเมืองใหญ่น้อยเหนือใต้ยอมอ่อนน้อม ได้ราชธิดาแกวมาเป็นชายานามว่า “นางอู่แก้ว”

ขุนเจื๋องมีโอรส ๓ พระองค์คือ ท้าวผาเรือง ท้าวคำห้าว และท้าวสามชุมแสง ต่อมายกราชสมบัติเมืองแกวให้ท้าวผาเรือง ให้ท้าวคำห้าวไปครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงไปครองเมืองน่าน ต่อมาได้โยธาทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ทรงชนช้างกับศัตรูเสียทีข้าศึกเพราะชราภาพ จึงถูกฟันคอขาดและสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พวกทหารจึงนำพระเศียรไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์เมืองเหรัญนครเชียงแสน

ขุนเจื๋องครองราชย์สมบัติครองแคว้นล้านนาไทยได้ ๒๔ ปี ครองเมืองแกวได้ ๑๗ ปี รวมพระชนมายุ ๖๗ ปี ฝ่ายท้าวจอมผาเรืองราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาได้ ๑๔ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ขุนแพงโอรสครองราชย์ แทนได้ ๗ ปี ขุนซอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า แย่งราชสมบัติ และได้ครองราชย์เมืองพะเยาต่อมาเป็นเวลา ๒๐ปี และมีผู้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา

พ่อขุนงำเมือง
พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ ๙ นับจากพ่อขุนจอมธรรม ประสูติเมื่อพุทธศักราช ๑๗๘๑ เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง เมื่อพระชนมายุ ๑๔ ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาเล่าเรียนศิลปะศาสตร์เทพในสำนักเทพอิสิตนอยู่ภูเขาดอยด้วน ๒ ปี จึงจบการศึกษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาส่งไปศึกษาต่อ ขอถวายตัวอยู่ในสำนักสุกันตฤๅษี ณ กรุงละโว้ (ลพบุรี) จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับ พระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย สนิทสนมผูกไมตรีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น ศึกษาศิลปศาสตร์ร่วมครูอาจารย์เดียวกันเป็นสหายกันตั้งแต่นั้นมา ทรงเป็นผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เช่นเดียวกับพระร่วงเจ้า เมื่อเรียนจบก็เสด็จกลับเมืองพะเยา ปีพุทธศักราช ๑๓๑๐ พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงครองราชย์สืบแทน

ตำนานกล่าวถึงพ่อขุนงำเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า ทรงเป็นศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนา ไม่ชอบสงคราม ปกครองบ้านเมืองด้วยความเที่ยงธรรม ผูกไมตรีจิตต่อประเทศราช และเพื่อนบ้าน ขุนเม็งรายเคยคิดยกทัพเข้าบดขยี้เมืองพะเยา พ่อขุนงำเมืองล่วงรู้เหตุการณ์ก่อนแทนที่จะยกทัพเข้าต่อต้าน ได้สั่งไพร่พลให้อยู่ในความสงบ สั่งให้เสนาอำมาตย์ออกต้อนรับโดยดี เชิญขุนเม็งรายเสวยพระกระยาหารและเลี้ยงกองทัพให้อิ่ม ขุนเม็งรายจึงเลิกการทำสงครามแต่นั้นมา พ่อขุนงำเมืองจึงยกเมืองปลายแดน ซึ่งมีเมืองพาน เมืองเชี่ยงเคี่ยน เมืองเทิง และเมืองเชียงของ ให้แก่พระเจ้าเม็งราย และทำสัญญาปฏิญาณต่อกันจะเป็นมิตรต่อกันตลอดไป



• เมืองพะเยาภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา
ตำนานที่กล่าวถึงเมืองพะเยา มีปรากฏในยุคของกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรล้านนา มีดังนี้

พระเจ้าติโลกราช
พระเจ้าติโลกราช ครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงพุทธศักราช ๑๙๘๕-๒๐๓๐ มีการทำสงครามขยายพระเดชานุภาพนับได้หลายครั้งตลอดรัชสมัย ทรงตีเมืองฝาง เมืองน่าน เมืองยอง ไทลื้อ เมืองหลวงพระบาง เมืองของหลวง เมืองของน้อย เมืองเชียงรุ่ง (ปัจจุบัน คือ แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย ฯลฯ และมีเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ มาสวามิภักดิ์ อาทิ เมืองเชลียง เมืองสองแคว (พิษณุโลก)

อาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีอาณาเขตกว้างขวาง โดยทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ้ง (เชอหลี่ใหญ่หรือจิ่งหง )สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ภาคใต้ของประเทศจีน และเมืองเชียงตุง(เชอหลี่น้อยหรือเขมรัฐ) ทิศตะวันตกจรดรัฐฉาน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำสาละวิน ติดพรมแดนมู่ปางหรือแสนหวี  คือเมืองสีป้อ เมืองนาย เมืองไลค่า เมืองเชียงทอง รวมกว่า ๑๑ เมือง ทางทิศตะวันออกจรดล้านช้าง ประเทศลาว ทิศใต้จรด ตาก เชลียง (ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น (สวรรคโลก)

พระเจ้าติโลกราชทรงปกครองอาณาจักรล้านนาเป็นระยะเวลา ๔๖ ปี บ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระสงฆ์แตกฉานภาษาบาลี มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกหรือสังคายนา เป็นครั้งที่ ๘ ของโลก ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐

พระยายุธิษฐิระ
พระยายุธิษฐิระ หรือ พระยาสองแควเก่า เป็นพระโอรสของ พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (พระบรมปาล) แห่งแคว้นสุโขทัย ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ เมืองสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์
เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์อยุธยาเสด็จสวรรคต พระราเมศวรพระราชโอรส ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าเมืองสองแคว (สมัยนั้นเมืองสองแควมีความสำคัญรองจากอยุธยาในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง) เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา แล้วเถลิงพระนามเป็น "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" และให้พระยายุธิษฐิระ เป็นเจ้าเมืองสองแควแทน ตามหลักฐานในตำนานสิบห้าราชวงศ์เชียงใหม่และพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า ก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงสัญญาไว้กับพระยายุธิษฐิระ ว่า ถ้าพระองค์ได้เป็นกษัตริย์อยุธยาแล้ว จะทรงแต่งตั้งให้พระยายุธิษฐิระ ผู้เป็นพระญาติทางฝ่ายมารดา เป็นอุปราชครองแคว้นสุโขทัยทั้งหมด แต่เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว หาได้ทรงกระทำตามสัญญาไม่ กลับโปรดฯ ให้พระยายุธิษฐิระเป็นเพียงแค่เจ้าเมืองสองแควเท่านั้น นอกจากนั้น พระองค์ทรงจัดให้มีการปฏิรูปการปกครอง โดยลดความสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของเมืองสองแควลง พร้อมยกเลิกประเพณีการแต่งตั้งเจ้านายหรือพระญาติให้มาปกครองเมืองสำคัญ ทำให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์สุโขทัยสูญเสียอำนาจและถูกลดบทบาทลง พระยายุธิษฐิระในฐานะเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไม่พอพระทัย จึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในที่สุดพระยายุธิษฐิระตัดสินพระทัยหันไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช และช่วยพระเจ้าติโลกราชทำสงครามรบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพื่อชิงดินแดนสุโขทัยกลับคืนจากอยุธยา สงครามยืดเยื้อถึง ๗ ปีจึงสงบลง กองทัพล้านนาของพระเจ้าติโลกราชสามารถยึดครองเมืองสำคัญของสุโขทัยได้ครึ่งหนึ่ง เช่น เมืองทุ่งยั้ง เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนอยุธยาได้เมืองสองแคว เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองนครไทย

พระยายุธิษฐิระทรงได้รับปูนบำเน็จจากพระเจ้าติโลกราชโปรดชุบเลี้ยง ในตำแหน่งพระโอรสบุญธรรม ให้ครองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย รวมถึงพะเยาซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายอาคเนย์ ซึ่งรวมอาณาบริเวณเมืองพร้าว เมืองงาว และกาวน่าน การที่พระเจ้าติโลกราชทรงมอบเมืองพะเยาและกาวน่าน ให้พระยายุทธิษฐิระ ปกครองนั้น อันเนื่องมาจาก กลุ่มหัวเมืองอาคเนย์นี้เป็นหัวเมืองที่ได้มาใหม่ เจ้าเมืองกาวน่านเดิมมีเชื้อสายพระร่วงเจ้าทางราชนิกูล ส่วนทางเมืองพะเยา ก็ให้ความเคารพพระร่วงเจ้าสุโขทัยมาแต่ครั้งพ่อขุนงำเมืองนั่นเอง ต่อมาเมื่อเสียสุโขทัยและศรีสัชนาลัยแก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยายุทธิษฐิระได้รับโปรดฯให้ไปเป็นเจ้าสี่หมื่นครองเมืองพะเยา และหัวเมืองอาคเนย์

พระยายุธิษฐิระ ทรงทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่ ที่บ้านพองเต่า สร้างวัดป่าแดงหลวง (ปัจจุบัน ราชการได้ประกาศรวมกับวัดดอนไชยบุนนาค ที่อยู่ติดกันเป็นวัดเดียวกัน ชื่อว่า วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค) ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์ จากเมืองแจ้ตาก และ รอยพระพุทธบาท จากสุโขทัย มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์

จวบจนในปี ๒๐๒๒ ทรงมีคดีกับพระเจ้าติโลกราช จึงทรงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก แต่ยังได้ความปราณี ยังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป ส่วนเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครองต่อ
ยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยา ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา คือ มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปและวิทยาการในช่วงเวลาประมาณ ๑๐๐ ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (หรือหลัง พ.ศ. ๒๐๐๐) ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ (หรือหลัง พ.ศ. ๒๑๐๐) หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เริ่มที่ยุคพระยายุทธิษฐิระเป็นเจ้าครองเมือง แล้วสิ้นสุดลงก่อนที่อาณาจักรล้านนาจะถูกพม่ายึดครองเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๑ ซึ่งพม่าเข้าครอบครองเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาทั้งหมด พร้อมกวาดต้อนผู้คนไปด้วย ทำให้บ้านเมืองต่างๆ ร่วงโรยลง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ อำนาจของพม่าซึ่งปกครองที่เมืองเชียงใหม่อ่อนแอลง และบางครั้งก็ถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมารบกวนซ้ำอีก ทำให้บ้านเมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนา คิดตั้งตัวเป็นอิสระแล้วแย่งชิงความกันเป็นใหญ่ จนเกิดความวุ่นวายทั่วไป ด้วยเหตุนี้เอง ฐานะและความสำคัญของเมืองพะเยาจึงหายจากดินแดนล้านนาราวกับร้างผู้คนไป


• เมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ประวัติศาสตร์ของเมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้
ปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยึดเมืองเชียงใหม่สำเร็จ โปรดฯให้พระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายไทยเพื่อต่อต้านพม่าที่ยังยึดครองดินแดนล้านนาบางส่วน
ปี พ.ศ.๒๓๓๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) พม่ายกกองทัพเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เดินทางผ่านเมืองฝาง เชียงราย เชียงแสน และพะเยา เจ้าเมืองและชาวบ้านฝ่ายล้านนาต่างพากัน ลี้ภัยอพยพไปอยู่ลำปาง ทำให้เมืองพะเยาร้างไป
ปี พ.ศ.๒๓๘๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๓) พระยาน้อยอินทร์ ผู้ครองนครลำปาง กับ พระยาอุปราชมหาวงศ์ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ทูลขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าหลวงวงศ์ (หรือ พุทธวงศ์) น้องชายของพระยาน้อยอินทร์ เป็น " พระยาประเทศอุดรทิศ " ผู้ครองเมืองพะเยา เจ้าหลวงยศ (หรือ มหายศ) เป็นพระยาอุปราชเมืองพะเยา เจ้าบุรีรัตนะ (หรือ แก้ว) เป็นพระยาราชวงศ์เมืองพะเยา เจ้าหลวงวงศ์นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา ทั้งสิ้น ๗องค์ มีดังนี้

 พ.ศ. ๒๓๘๖   เจ้าหลวงวงศ์ เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ เป็นเจ้าเมืองพะเยาจนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๑ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓)
 พ.ศ. ๒๓๙๒   เจ้าหลวงยศ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ )
 พ.ศ. ๒๓๙๘   เจ้าหลวงบุรีขัติยวงศา รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓(ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔)
 พ.ศ. ๒๔๐๓   เจ้าหอหน้าอินทรชมภู รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔-๕)
 พ.ศ. ๒๔๑๘   เจ้าหลวงอริยะ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ )
 พ.ศ. ๒๔๓๖   เจ้าหลวงมหาประเทศอุดรทิศ รับสัญญาบัตรขึ้นครองเมืองพะเยา จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕)
 พ.ศ. ๒๔๔๙   เจ้าอุปราชมหาชัยศีติสาร ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระยาประเทศอุดรทิต ดำรงตำแหน่งผู้ครองเมืองพะเยาองค์สุดท้าย (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕)

ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ถึง พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปฏิรูปการปกครองจากแบบเดิมเป็น “มณฑลเทศาภิบาล” มีการบริหารงานเป็นกระทรวง มณฑล จังหวัด อำเภอ ผู้บริหารระดับกระทรวงเรียกว่าเสนาบดี ผู้บริหารระดับมณฑลเรียกว่าสมุหเทศาภิบาล ผู้บริหารระดับจังหวัดเรียกว่าข้าหลวงประจำจังหวัด ผู้บริหารระดับอำเภอเรียกว่านายอำเภอ เมืองพะเยาถูกปรับเปลี่ยนฐานะจาก “เมือง” เป็น “จังหวัด” เรียกว่า “จังหวัดบริเวณพะเยา” เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มีที่ว่าการมณฑลอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ถูกยุบ “จังหวัดบริเวณพะเยา” ให้มีฐานะเป็น “อำเภอเมืองพะเยา” แล้วให้ เจ้าอุปราชมหาชัย ศีติสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา องค์สุดท้าย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ให้ยุบ “อำเภอเมืองพะเยา” เป็น “อำเภอพะเยา” อยู่ในอำนาจการปกครองจังหวัดเชียงราย


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มกราคม 2559 19:42:54 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระราชปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
ใบบุญ 0 1712 กระทู้ล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2559 19:59:00
โดย ใบบุญ
ครูบาอินโต คันธวังโส วัดบุญยืน อ.เมือง จ.พะเยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1042 กระทู้ล่าสุด 19 มิถุนายน 2561 12:40:45
โดย ใบบุญ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมมปัญโญ) วัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 716 กระทู้ล่าสุด 30 มิถุนายน 2563 14:22:41
โดย ใบบุญ
ครูบาอินโต คันธวังโส วัดบุญยืน อ.เมือง จ.พะเยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 581 กระทู้ล่าสุด 21 มีนาคม 2564 17:29:03
โดย ใบบุญ
[ข่าวมาแรง] - ศาลพิพากษา 'ตี้ พะเยา' ผิด ม.112 เหตุชูป้ายข้อความหมิ่น ร.10 ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 53 กระทู้ล่าสุด 10 ตุลาคม 2566 12:29:15
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.629 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้