[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 00:31:19 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สัปคับ (ที่สำหรับนั่งบนหลังช้าง ) แบบศิลปะ งานช่างล้านช้าง  (อ่าน 3709 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 มกราคม 2559 14:57:36 »

.


สัปคับประดับมุก งานช่างล้านช้าง
เลขทะเบียน
แบบศิลปะ/อายุสมัย   ล้านช้าง พุทธศตวรรษที่ ๒๔
ชนิด  งา หวาย ไม้ลงรักประดับมุก
ขนาด  กว้าง ๘๐.๘ เซนติเมตร ยาว ๑๔๖.๒ เซนติเมตร สูง ๗๕.๔ เซนติเมตร
ประวัติ เป็นของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
สถานที่เก็บรักษา พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

สัปคับประดับมุก งานช่างล้านช้าง


สัปคับเป็นที่สำหรับนั่งผูกติดบนหลังช้าง พื้นสำหรับนั่งอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าสานด้วยหวาย ลายเฉลวแปดเหลี่ยม มีพนักล้อมทั้งสี่ด้าน หย่องพนักด้านนอกประดับมุกลายแก้วชิงดวง พนักตอนบนโปร่งเป็นลูกกรงกลึงจากงาช้าง เสาพนักเป็นไม้ ประกอบงายอดกลึงเป็นหัวเม็ด เว้นพนักช่วงหนึ่งเป็นช่องสำหรับขึ้นนั่ง ตอนล่างของช่องประดับไม้จำหลักรูปมังกร ๒ ตัว หันหลังชนกัน ขอบรอบนอกพนักประดับกระจังที่ทำจากโลหะปิดทอง ส่วนขาของสัปคับมีโครงเป็นไม้รูปโค้งมีหวายสานประกอบ และตอนกลางของขาทั้งด้านหน้าและหลังมีแผ่นไม้ประดับมุกลายพันธุ์พฤกษา

ในหนังสือ อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (พุทธศักราช ๒๔๗๐) ของราชบัณฑิตยสภา ได้กล่าวถึงประวัติของสัปคับประดับมุกหลังนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในราชยานต่างๆ ที่จัดแสดงในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ว่า “๘.สัปคับมุกด์ (สันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเปนของเจ้าอนุเวียงจันท์) ปรากฏว่าเจ้าจันทรเทพประภาคุณ เจ้าเมืองมุกดาหาร (เปนหลานเจ้าอนุเวียงจันท์) ให้เจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก ในรัชกาลที่ ๔ ใช้สำหรับเกียรติยศท่านมาจนตลอดอายุ” (ราชบัณฑิตยสภา,๒๔๗๐:หน้า ๒๑)

แต่ต่อมาในหนังสือ สมุดมัคคุเทศ นำเที่ยวหอพระสมุดและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (พุทธศักราช ๒๔๗๒) อธิบายแต่เพียงว่า “๑๐.สัปคับมุกด์ของเจ้าประเทศราช” (ราชบัณฑิตยสภา,๒๔๗๒: หน้า ๒๔) ทั้งนี้คงด้วยเหตุที่เมืองมุกดาหารในรัชกาลที่ ๔ มีสถานะเป็นเมืองประเทศราช เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ (เจ้าหนู) จึงดำรงฐานะเจ้าประเทศราชด้วย

หากไม่ทราบประวัติเดิมมาก่อน หลายท่านคงคิดว่าเป็นงานศิลปกรรมของไทย แต่ถ้าพิจารณาจากประวัติที่ระบุว่าเป็นงานช่างล้านช้างแล้ว ส่วนประดับตกแต่งบางจุดก็แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของงานช่างเวียงจันทน์ที่แตกต่างกับงานศิลปกรรมไทยอีกด้วย



ภาพที่ ๒ รายละเอียดแผ่นไม้ประดับมุกลายพันธุ์พฤกษา ที่ตอนกลางของขาสัปคับ


ภาพที่ ๓ "ลายดอกกาละกับ" หน้าบันชั้นลด พระอุโบสถวัดสีสะเกด นครเวียงจันทน์


ภาพที่ ๔ "ลายดอกกาละกับ" หน้าบันชั้นลด หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

ดอกกาละกับ ลวดลายเอกลักษณ์ของงานช่างเวียงจันทน์
แผ่นไม้ประดับมุกลายพันธุ์พฤกษาซึ่งประดับตอนกลางของส่วนขาของสัปคับทั้งด้านหน้าและหลังมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นต้นไม้ที่ตอนปลายของทุกกิ่งมีดอกซึ่งมีใบขนาดเล็ก ๓ ใบอยู่ที่ส่วนบนของตัวดอก สำหรับส่วนตัวดอกมีรูปทรงคล้ายผลไม้ทรงกลมที่มีใบเลี้ยงหุ้มด้านข้าง และด้านล่างของดอกมีใบเลี้ยงขนาดเล็ก ๒ ใบ (ภาพที่ ๒)

ชาวลาวเรียกลายดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกกาละกับ” ที่วัดสีสะเกด นครเวียงจันทน์ พระอารามที่พระไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (เจ้าอนุวงศ์) ทรงสร้าง ได้ปรากฏลวดลายที่ใกล้เคียงกันนี้ประดับอยู่จำนวนมากทั้งที่หน้าบันของพระอุโบสถ และหน้าบันพระระเบียง และหากพิจารณาให้ดีจะพบว่าแผ่นไม้ประดับมุกนี้มีรูปนกแทรกอยู่ในภาพด้วย ซึ่งงานไม้แกะสลักที่วัดสีสะเกดก็ปรากฏรูปสัตว์ปีกในภาพสลักเช่นกัน (ภาพที่ ๓)

ดอกกาละกับเป็นลวดลายที่นิยมในแถบเวียงจันทน์ (หรือตอนกลางของสปป.ลาว) ต่างกับนครหลวงพระบางและตอนเหนือของลาว ที่จะนิยมลายก้านขดบัวเคือ (ก้านขดบัวเครือ) ลายดอกบัวบานที่เห็นไส้และเกสรดอกบัว หรือลายก้านขดดอกกะดันงา (ก้านขดดอกกระดังงา) มากกว่า

อนึ่ง ลายดอกกาละกับ ยังปรากฏในแถบเมืองอุบลราชธานีเป็นจำนวนมาก อาทิ หอพระพุทธบาท (อุโบสถ) และหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ทั้งนี้ จากประวัติวัดทุ่งศรีเมืองกล่าวกันว่า ญาครูช่าง ช่างพระชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างหอไตร (ดู ยุทธนาวรากร,๒๕๕๑: หน้า ๒๐-๒๒, และ ๕๒) (ภาพที่ ๔)



ภาพที่ ๕ มังกรไม้จำหลักหันหลังชนกัน


ภาพที่ ๖ ภาพสลักมังกรที่แผงซุ้มไม้จำหลักในพระอุโบสถวัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว)

 
ภาพที่ ๗ ภาพถ่ายเก่าของราวเทียน (ฮาวไต้เทียน) วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
(ที่มา : Parmentier,1988; V.2 Planche XLIII.and fig115H)


มังกรแบบเวียดนาม
จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่งานช่างที่คนไทยคุ้นเคย คือ ตอนล่างของช่องที่เว้นพนักซึ่งประดับไม้จำหลักรูปมังกร ๒ ตัว หันหลังชนกัน (ภาพที่ ๕)

มังกร ๒ ตัวนี้มีลักษณะที่แปลก กล่าวคือมีเครายาวเป็นแผงรอบศีรษะและขนเคราห้อยตกลงเบื้องล่าง มิได้ลู่ไปด้านหลังศีรษะอย่างมังกรจีนทั่วไป และเหนือศีรษะมีขนที่ซ้อนเป็นชั้นๆ ยาวขนานกับปาก มังกรที่มีขนคอเป็นแผงในลักษณะนี้ อาจเทียบเคียงกับภาพสลักมังกรที่แผงซุ้มไม้จำหลักในพระอุโบสถวัดสมณานัมบริหาร (วัดญวนสะพานขาว) (ภาพที่ ๖) แต่อย่างไรก็ดีมังกรที่วัดแห่งนี้ก็ไม่ปรากฏขนที่ซ้อนเป็นชั้นเหนือศีรษะ

ในงานศิลปกรรมล้านช้าง ปรากฏหลักฐานความนิยมผสมผสานอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากศิลปะเวียดนาม จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะในศิลปะลาว ตัวอย่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ราวเทียน (ฮาวไต้เทียน) ฉากไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก รูปเขาสัตบริภัณฑ์ ปลายของราวเทียนประดับรูปมังกรขนาดใหญ่ (ภาพที่ ๗) ซึ่งสันนิษฐานว่าพระไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (เจ้าอนุวงศ์) สร้างถวายไว้ที่หอพระ วัดพระพนม ปัจจุบันชิ้นส่วนของมังกรนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์รัตนโมลีศรีโคตรบูร วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร (ภาพที่ ๘)

ตามบันทึกของ เอเจียน แอมอนิเย นักสำรวจ ซึ่งเดินทางมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๒๖-๒๔๒๗ ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งวิหารที่พระธาตุพนมซึ่งเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างว่า “ที่ด้านตะวันออกมีกุฏิของพระภิกษุสงฆ์ และวิหารเป็นจำนวนมาก เสาทำด้วยอิฐ หลังคามุงด้วยดินขอ วิหารหลังหนึ่งในจำนวนที่มีนั้น อ้างว่าสร้างโดยเจ้าอนุจากนครเวียงจันทน์ซึ่งพังทลายไปครึ่งหนึ่งแล้ว วิหารลงรักปิดทอง มีจิตรกรรมและประติมากรรมที่ประตูวิหารทั้ง ๓ ด้าน...” (แอมอนิเย,๒๕๓๙: หน้า ๑๔๙)

ทั้งนี้ ในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ได้ระบุถึงการฉลองหอพระ ที่พระธาตุพนมของเจ้าอนุวงศ์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ไว้ว่า “ศักราชได้ ๑๗๔ ตัวปีเตาสัน (วอก) เจ้ามหาชีวิตเวียงจันทน์ ลงมาฉลองหอพระในพระมหาธาตุ...” (กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์,๒๕๔๖: หน้า ๑๗๗) และอีกฉบับระบุว่า “ศักราชได้ ๑๗๕ ปีเต่าสัน เดือนเจียง (อ้าย) แรม ๔ ค่ำวันอังคาร เจ้าเวียงจันทน์ไปฉลองวัดธาตุ คืนมาเมื่อเดือนยี่ ขึ้นสามค่ำวันพฤหัสบดีฮอด (ถึง) มื้อ (วัน) นั้น...” (เรื่องเดียวกัน: หน้า ๑๘๑)

แม้ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยันแต่น่าเชื่อว่าฉากราวเทียนปิดทองประดับกระจกรูปเขาสัตบริภัณฑ์นี้คงเป็นหนึ่งในสิ่งของที่เจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างถวายเป็นพุทธบูชาแก่วัดพระธาตุพนม ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุชิ้นเดียวกับ “ลับแลญวน” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน พุทธศักราช ๒๔๔๙ ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ได้ทอดพระเนตรพระธาตุพนม “...และมีลับแลญวนและของอื่นว่าเป็นของเจ้าอนุเวียงจันทน์ถวายไว้หลายอย่าง...” (ดำรงราชานุภาพ,๒๕๓๘: หน้า ๑๒๓) ด้วยก็เป็นได้

เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) และเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ (เจ้าหนู)
ตามประวัติของสัปคับประดับมุกนี้เป็นของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก ภายหลังจากที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๖ (ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, ๒๕๔๘: หน้า ๑๙๗) ตำแหน่งของสมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ซึ่งกำกับกรมมหาดไทย กรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยที่เมืองมุกดาหารก็เป็นหนึ่งบรรดาเมืองเหล่านั้น ทั้งนี้ตามประวัติของท่านในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะมีบรรดาศักดิ์ที่หลวงนายศักดิ์ นายเวรมหาดเล็ก ได้มีโอกาสไปราชการทัพเวียงจันทน์กับเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ผู้บิดา และเมื่อกลับจากราชการทัพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งยศเป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมตำรวจสนมทหารซ้าย (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕, ๒๔๒๑: หน้า ๗๖)

ส่วนเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ (เจ้าหนู) เจ้าเมืองมุกดาหาร ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๐๘-๒๔๑๒” เป็นโอรสของเจ้าอุปราช (ติสสะ) แห่งนครเวียงจันทน์ ซึ่งสวามิภักดิ์และรับพระราชทานดื่มน้ำพิพัฒนสัตยาต่อกรุงเทพฯ แล้วอพยพครอบครัวและไพร่พลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบางยี่ขัน บ้านสำหรับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ลงมาพักแต่ก่อน (ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, ๒๕๓๘: หน้า ๒๕ และ ๒๙-๓๐) นอกจากนี้เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ยังมีศักดิ์เป็นลุงของเจ้าจอมมารดาดวงคำ ในรัชกาลที่ ๔ ด้วยเจ้านางท่อนแก้ว มารดาของเจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นธิดาของเจ้าอุปราช (ติสสะ) (ดู ยุทธนาวรากร, ๒๕๕๖: หน้า ๘๙-๙๑)



ภาพที่ ๘ ชิ้นส่วนของมังกร พิพิธภัณฑ์รัตนโมลีศรีโคตรบูร

พุทธศักราช ๒๔๐๖ เจ้าหนูได้ดำรงตำแหน่งพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นถึงพุทธศักราช ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระนครศรีบริรักษ์ (เจ้าหนู) เป็นเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมามุกดาหาราธิบดี เจ้าเมืองมุกดาหาร พระราชทานเครื่องราชอิสริยยศเสมือนเจ้าเมืองประเทศราช (สุรจิตต์, ๒๕๔๓: หน้า ๑๖) และปรากฏธรรมเนียมการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองโดยเริ่มถวายครั้งแรกในพุทธศักราช ๒๔๑๐ (เรื่องเดียวกัน: หน้า ๒๐) ต่อมาในต้นรัชกาลที่ ๕ กรมการเมืองมุกดาหารได้ฟ้องกล่าวโทษเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม เบียดบังเงินหลวงและเบียดเบียนข่มเหงราษฎรจนได้รับความเดือดร้อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และเจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก ได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันให้นำความขึ้นถวายบังคมทูลพระกรุณา ให้ถอดเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ออกจากตำแหน่งเมืองมุกดาหาร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๒ (เรื่องเดียวกัน : หน้า ๒๐-๒๓)

อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ได้มอบสัปคับหลังนี้แก่เจ้าพระยาภูธราภัยเมื่อใด แต่ทั้งนี้ควรจะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่เจ้าพระยาภูธราภัยได้ดำรงตำแหน่งสมุหนายกแล้ว ในช่วงรัชกาลที่ ๔-๕

สรุป
จากลวดลายประดับมุกและมังกร เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสัปคับหลังนี้มิใช่งานช่างไทย แต่หากพิจารณาจากประวัติร่วมด้วยแล้วก็จะสันนิษฐานได้ว่าควรเป็นงานช่วงหลวงล้านช้าง สกุลช่างเวียงจันทน์ ดังนั้น งานประดับมุกที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ควรจะมีการทบทวนเสียใหม่ว่า มีงานประดับมุกชิ้นอื่นใดอีกบ้างที่เป็นงานช่างลาวเช่นเดียวกับสัปคับหลังนี้



เรื่อง-ภาพ : "สัปคับประดับมุก งานช่างล้านช้าง" หนังสือศิลปากร,  สำนักบริหารกลาง กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.397 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 26 เมษายน 2567 12:14:31