[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 เมษายน 2567 02:24:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พรหมวิหาร ๔  (อ่าน 2412 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2318


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 25 พฤศจิกายน 2558 03:46:15 »

.



พรหมวิหาร ๔

ตอนที่ ๑ ลักษณะของพรหมวิหาร

ท่านพระโยคาจรทั้งหลาย และบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เวลานี้ท่านได้พากันสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปจงสำรวมใจตั้งใจสดับคำแนะนำใจการเจริญพระกรรมฐาน ขณะที่ท่านนั่งฟังอยู่ หูได้ยินเสียงทุกถ้อยคำ จิตมีความรู้สึกไปตามกระแสเสียง โดยไม่เอาจิตไปส่งในอารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ชื่อว่าอารมณ์ของท่านทรงสมาธิ การทรงสมาธิเพื่อการรับฟังเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

และอีกประการหนึ่ง ขณะใดที่ท่านตั้งใจฟังเสียงธรรมะซึ่งไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวน ขณะนั้นชื่อว่าจิตของท่านว่างจากกิเลส ถ้าบังเอิญจิตของท่านว่างจากกิเลสหู เนื่องจากหูฟังเสียงธรรมะอยู่เสมอ ๆ ต่อไปอารมณ์จิตจะชิน จะมีอารมณ์ว่างจากกิเลสจนชิน ในที่สุดกิเลสก็จะหมดไปจากจิตของท่านตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

" สุสสูสัง ละภะเต ปัญญัง " : การฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

ฉะนั้น เวลาที่ท่านฟังจงตั้งใจฟังด้วยความสงบ ถ้าบังเอิญจะให้มีกำไรยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ท่านฟังและก็คิดตามไปด้วย เอาจิตน้อมยอมรับเหตุผลในการรับฟัง แต่ทว่าอย่ารับฟังด้วยการไร้ปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วยว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าหากว่าทำได้อย่างนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงและภิกษุสามเณรทุกท่าน ถ้าหากว่าท่านมีกำลังของจิตพอและก็ไม่ละอารมณ์แบบนี้ ความเป็นพระอริยเจ้าย่อมง่ายสำหรับท่าน เพราะว่าการฟังทุกวันขณะที่ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ จงคิดว่าเสียงที่ฟังนี้เป็นเสียงที่นำเอาพระธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสอน และจงจำไว้ให้ดีว่าเมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าจะนิพพานทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า

" อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนไว้จะเป็นศาสดาสอนเธอ "

คำว่าศาสดา นี่แปลว่าครู เป็นอันว่าเสียงที่ฟังอยู่จงคิดว่านี่เป็นกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความเป็นจริง แล้วจงอย่านึกว่าอาตมาเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง เราอย่าคิดอย่างนั้น คิดว่านี่เป็นเสียงของพระพุทธเจ้า พระธรรมนี่เป็นธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังสอนเราโดยตรง โดยน้อมจิตเข้าไปนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เวลานี้กำลังประทับอยู่เฉพาะหน้าของเราและก็กำลังพูดกับเราโดยตรง จิตจะชื่นบาน และก็ตั้งใจสดับฟังเสียงนั้นและก็คิดตาม แล้วคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เกินวิสัยสำหรับเรา ถ้าเกินวิสัยแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วไม่สอนเรา สร้างธรรมปีติให้เกิดในใจ สร้างกำลังใจคิดว่า เราสามารถ สมเด็จพระบรมโลกนาถจึงโปรด ถ้าคิดไว้อย่างนี้เสมอ บรรดาพุทธบริษัทคิดไว้และฟังบ่อย ๆ ถ้ามีเทปสำหรับฟัง ฟังไปเรื่อย ๆ ขณะใดใจตั้งอยู่ในการฟัง ตั้งใจ จิตจะว่างจากกิเลส ถ้ามันว่างบ่อย ๆ เพราะจิตเราไม่คบกิเลส กิเลสมันก็ไม่อยากคบกับจิตใจของเรา ในที่สุดจิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ กลายเป็นผู้หมดกิเลสไป

เอาละ สำหรับวันนี้ก็จะขอนำเอ?พรหมวิหาร ๔มาแนะนำกับบรรดาท่านพุทธบริษัทตามกำลังปัญญา การแนะนำกันนี่ จงอย่าคิดว่าเป็นการแนะนำละเอียดลออ ความจริงใช้เวลาอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าจะใช้ได้ ท่านฟังตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย เรื่องพรหมวิหาร ๔ ก็ไม่จบ แต่ว่าการฟังนี่ถือว่าเป็นการให้รับฟังเพื่อใช้ปัญญาเท่านั้น คือว่าใช้ปัญญาพิจารณาไปด้วย ฟังด้วย ไม่ใช่ว่าจะอยู่ ๆ ก็จะมานั่งสอนกันซะจนจบอรหันต์กันในวันนี้ แต่ก็ว่าไม่ได้ คนที่รับฟังอยู่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนดีฟังแล้วเกิดปัญญาใช้ปัญญาพิฆาตเข่นฆ่ากิเลส ก็เป็นของไม่หนัก แต่ว่าสำหรับคนไม่ดี ฟังแล้วก็มีหูคล้ายกับหูกะทะ มีตาเหมือนกระทู้ ทั้งนี้เพราะอะไร ตากระทู้มองอะไรไม่เห็น หูกะทะฟังอะไรไม่ได้ยิน สำหรับคนที่ตามองเห็น หูฟังได้ยิน แต่ไม่สนใจกับเสียงที่ฟัง คนประเภทนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงโปรด เพราะว่าโปรดมากเท่าไร คนประเภทนี้ก็ลงนรกมากเท่านั้น

ฉะนั้น บรรดาท่านทั้งหลายจะพิสูจน์ตัวของท่านได้ว่า ท่านรับฟังกันทุกวันวันละหลายครั้ง ท่านละความเลวได้มากน้อยเพียงใด จิตใจของท่านดีหรือว่าจิตใจของท่านเลว ต่อไปนี้ ธรรมะในด้านของพรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องวัดจิตใจว่าดีมาก หรือว่าเลวมาก คำว่า พรหมวิหารวิหาร นี่ก็ แปลว่า ที่อยู่ พรหม นี่แปลว่า ประเสริฐ หมายความว่า?เอาใจจับอยู่ในอารมณ์แห่งความประเสริฐ หรือ เอาใจไปขังไว้ในความดีที่สุด?ที่เรียกกันว่าประเสริฐ ประเสริฐ นี่แปลว่า ดีที่สุด

พรหมวิหาร มี ๔ อย่าง คือ
๑.เมตตา ความรัก
๒.กรุณา ความสงสาร
๓.มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร
๔. เบกขาวางเฉย

ความจริงพรหมวิหาร ๔ นี่เป็นธรรมะกลาง ที่ว่ากลางก็เพราะว่า ถ้าบุคคลใดมีอารมณ์ใจทรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ บุคคลนั้นจะมีศีลบริสุทธิ์ อยู่ตลอดเวลา จะมีจิตทรงฌานอยู่ตลอดเวลาและก็จะเป็นคนมีความฉลาดในด้านปัญญา สามารถตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้โดยง่าย?ถ้าจะกล่าวกรรมฐานบทนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ก็ว่าได้ นี่กล่าวกันโดยอีกนัยหนึ่งว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นอาหาร

อาหารเลี้ยงศีลให้อ้วนมีกำลัง
เป็นอาหารเลี้ยงสมาธิให้มีกำลัง
อาหารเลี้ยงปัญญาให้มีความคมกล้า สามารถจะฟันจะฟาดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานเมื่อใดก็ได้

ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านจะดีหรือว่าท่านจะเลว ท่านจะเป็นคนหรือท่านจะเป็นมนุษย์ ความจริงมนุษย์นี่เขาแยกไว้หลายอย่าง คำว่า มนุษย์ม นุสโสแปลว่า ผู้มีใจสูง มีศีลบริสุทธิ์ หรือว่ามีกรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์มนุสสเทโวร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ว่ากำลังใจเป็นเทวดา คือ มี หิริ และ โอตตัปปะ

มนุสสพรหมมาหมายความว่าร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ตายแล้วเป็นพรหม แล้วก็มนุสสติรัจฉาโนร่างกายเป็นมนุษย์ ใจไม่เคารพนับถือในสิทธิซึ่งกันและกัน ขาดความเมตตาปรานี ร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วเป็นสัตว์เดรัจฉาน

มนุสสนิรยโก มนุษย์สัตว์นรก หมายความว่า คนประเภทนี้หาความดีอะไรไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกตัว ไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ขาดความเมตตาปรานี คนประเภทนี้มีร่างกายเป็นมนุษย์ ใจเป็นสัตว์นรก ในหมู่คณะของเราจะพอมีอยู่บ้างไหม ที่อยู่กันมาแล้วหลาย ๆ ปี ยังไม่หมดความเลว ยังบูชาความเลวว่าเป็นความดี เข้ากับคนนั้นก็ไม่ได้ เข้ากับคนนี้ก็ไม่ได้ ถืออารมณ์ใจตัวเป็นสำคัญ ถ้าเรามีความเลวอย่างนี้ ก็ตั้งหน้าตั้งตาจำไว้ว่า ถ้าเราตายคราวนี้ อีกหลายแสนกัปที่จะได้กลับมาเป็นมนุษย์ แล้วก็เป็นมนุษย์อีกหลายแสนวาระที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์บริบูรณ์ จะต้องเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น มีแต่ความทุกข์กับโทมนัสตลอดเวลา ถ้าบังเอิญจะกลับเนื้อกลับตัวเสียจะได้เป็นคนกับเขาบ้าง ถ้าเป็นคนมันยังยุ่งเกิดมาในโลกก็รกโลก ถ้าเป็นมนุษย์ก็ยังสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่มีความดีอะไร ยังมีทุกข์ ไปเป็นเทวดาหรือพรหมก็พักทุกข์เล็กน้อย ไม่ช้าก็มาทุกข์ใหม่ ทุกคนเขาตั้งใจไปนิพพานกัน แต่เราทำไมตั้งใจเป็นสัตว์นรกหรือสัตว์เดรัจฉาน มันจะมีประโยชน์อะไร

ต่อนี้ก็ฟังกัน เพราะพรหมวิหาร ๔ นี่ความจริงไม่ต้องอธิบายมากก็ได้ แต่ทว่าเวลานี้ถือว่าเป็นการแนะนำกรรมฐานรวม อันดับแรกก่อนที่จะทรงพรหมวิหาร ๔ หรือว่าทำกรรมฐานทุกกองก็จงอย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐานกับพุทธานุสสติกรรมฐาน แม้แต่กำลังฟังอยู่นี่ก็เช่นเดียวกัน ควรจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย แล้วก็ตั้งใจฟัง เวลาฟังก็คิดว่าเวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังประทับอยู่ข้างหน้าของเรา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณมาหาเราถึงที่อยู่ และกระแสเสียงขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถยากที่เราจะบูชาให้ครบถ้วน ตั้งใจไว้อย่างนี้นะ ตั้งใจไว้อย่างนั้นนะ คิดว่าเสียงนี้เป็นเสียงของพระพุทธเจ้าแล้วก็พระองค์กำลังประทับอยู่ข้างหน้าของเรา ใจจะได้เป็นสุขจะได้มีอารมณ์ชุ่มชื้น คือไม่ใช่ว่าอาตมาจะมาอวดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการทำใจอย่างนี้ จิตใจมันสบายมีความสุข แล้วจิตจะหมดกิเลสได้ง่าย

ต่อไปก็มาฟังพรหมวิหาร ๔ คือ
๑.เมตตา ความรัก คำว่า ความรัก ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าความรักที่ประกอบไปด้วยกามคุณเหมือนกับหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม หรือหญิงรักชาย ชายรักหญิง ปรารถนาจะครองคู่ นั่นเป็นเรื่องความรักเกี่ยวกับราคะและอำนาจของกิเลส ไม่ใช่พรหมวิหาร ๔ ที่เรามีความรักก็เพราะใจของเราเป็นคนใจดี มีความเมตตาปรานี มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าคนและสัตว์ หรือว่าคนทุกคนในโลก แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่เกิดมานี่ มีความรู้สึกเหมือนกัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกันหมด เรามีความรักสุขฉันใด เขามีความรักสุขฉันนั้น

สำหรับเมตตา ความรัก ต้องอยู่ในขอบเขตของความดีอย่ารักแบบโง่ ๆในคณะของเรานี่มีทั้งฆราวาสก็ดี พระก็ดี ที่มีเมตตาแบบโง่ ๆ นี่มีอยู่ ผมสลดใจมาก คือว่าบางทีเห็นพระบางองค์ เห็นฆราวาสบางคน พอฟังเสียงพูดในคำสงสัย ก็รู้สึกเสียดายแรงที่สั่งสอน เพราะอะไร เพราะว่าคนที่เขาได้ดีกันน่ะ เขาฟังแล้วก็คิด คิดแล้วจำ ไม่ใช่จะมาตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ปัญญามี เพียงแค่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่รู้จักคิด นี่น่าเสียดาย สงสารองค์พระสมเด็จพระธรรมสามิสรที่ทรงทรมานพระกายมาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป รวบรวมความดีมาเพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท แล้วผมเองก็เสียดายแรงงานของผมเหมือนกัน เพราะตัวผมเองไม่เคยจะได้เรียนแบบนี้ ฟังคำสอนจากอาจารย์นิดหนึ่งก็ไปปฏิบัติให้ได้ ถ้าไม่ได้ เกินวิสัย ก็มาถามหน่อยหนึ่ง แล้วก็กลับไปทำ ถ้าทำสิ่งนั้นยังไม่ได้จะไม่ยอมกลับมาหาครูบาอาจารย์ อย่างกับบรรดาท่านทั้งหลายที่สงสัยว่า จำภาพพระพุทธรูป ลืมตาแล้วก็หลับตานึกถึงภาพ ภาพมันเลือนไปแล้วก็ลืมตาขึ้นมาดูใหม่ แค่นี้ก็ยังสงสัยกันว่าทำไมภาพนั้นจึงนึกเห็นไม่ชัด มันก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะถาม ถ้าใช้คำถามอย่างนี้ก็แสดงว่าเป็นบรมโง่ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กอมมือก็พอจะรู้ การจะจำภาพจะนึกถึงอะไรก็ตาม อยู่ ๆ จะให้อารมณ์มันแจ่มใสจำได้ถนัดไม่ได้

ถ้าฝึกฝนเรื่อยไป อารมณ์นั้นมันก็ปรากฏ วันเวลาตั้งแต่ตื่นอยู่ถึงหลับจงอย่าทิ้งอารมณ์นั้น ทำอารมณ์ให้มันชิน คิดถึงภาพนึกว่าในสมัยที่เราเคยรักใคร่ที่ซึ่งเป็นคู่รัก เวลาหลับตาก็เห็น ลืมตาก็นึกเห็นภาพ หรือว่าถ้าเรามีบ้านอยู่ เราจากบ้านไปไหน เวลานึกถึงบ้านขึ้นมาเมื่อไหร่มันก็นึกเห็นภาพบ้านเมื่อนั้น จิตใจของเราไม่ลืมเลือน ไม่ปล่อยสติสตังให้มันพลั้งเผลอ นี่เขาทำกันอย่างนี้ มันเป็นของธรรมดา ๆ

สำหรับด้านอารมณ์เมตตานี่ก็เหมือนกัน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความเป็นจริง ไอ้เรื่องเมตตานี่มีความสำคัญ ถ้าเมตตาแบบโง่ ๆ มันมีภัยแก่ตัวเอง อย่าลืมว่าคนที่เราจะต้องมีความเมตตานะ

พระพุทธเจ้าแบ่งคนไว้เป็น ๔ จำพวก คือ
๑.อุคฆติตัญญู คนมีปัญญาดี
๒.วิปจิตัญญู ปัญญาต่ำมานิดหนึ่ง
๓.เนยยะ ท่านประเภทนี้พอสอนได้ แต่ต้องแนะนำบ่อย ๆ หน่อย นาน ๆ หน่อย อันนี้คน ๓ จำพวกนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ แต่พวก ปทปรมะ เอาดีไม่ได้ นี่องค์สมเด็จพระจอไตรเสด็จหลีก ไม่ทรงสั่งสอน จะถือว่าพระองค์ขาดเมตตาไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะสอนเขาเขาก็ไม่รับฟัง

สำหรับพวกเราก็เหมือนกัน ถ้าจะแสดงเมตตาจิต ก็ดูเสียก่อนว่าคนประเภทนั้นเราควรจะเมตตาไหม ถ้าเห็นว่าแนะนำแล้วไม่ได้ผล ก็จงอย่าสงเคราะห์คนประเภทนั้น หลีกไปเสีย อย่างพระพุทธเจ้าทรงหลีก ตัวอย่างก็มีอุปกาชีวก เป็นต้น เขาพบองค์สมเด็จพระบรมสุคต ไม่เชื่อพระสัพพัญญู สมเด็จพระบรมครูก็ไม่ทรงสั่งสอน นี่ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ใครไปใครมาก็เมตตาเสียดะ เมตตาโง่ ๆ แบบนั้นน่ะจะสร้างความเดือดร้อน เหมือนกับเราจะให้ของเขาเขาไม่รับ ไปให้เขาทำไม ไม่ต้องไปอ้อนวอน ไม่ต้องไปแค่นเขาให้รับ

และอีกประการหนึ่ง วัดเรากำหนดระเบียบวินัยเป็นของสำคัญ จงอย่าเมตตาคนเกินกว่าระเบียบวินัย ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดามีพระมหากรุณาไม่มีขอบเขต แต่องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ก็วางวินัยไว้ลงโทษพระลงโทษเณร ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าไม่มีระเบียบวินัย คนนั้นเราเมตตาไม่ได้ เพราะเป็นคนเลว พระพุทธเจ้าทรงวางวินัยไว้กี่พันข้อ ๒๒๗ ข้อนี่มันยังไม่หมด ยังมีส่วนอภิสมาจารบ้าง ยังมีส่วนธรรมะบ้าง ที่พระองค์ทรงห้าม นี่เป็นอันว่าพระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาธิคุณก็จริงแหล่ แต่ทว่าทรงเลือกเอาแต่เฉพาะคนดีเท่านั้น ไม่ใช่เลวก็ทำ นี่เมตตาของเราเหมือนกัน ใครจะมาจากไหนก็ช่าง จะมียศฐาน์บรรดาศักดิ์ฐานะเช่นใดก็ช่าง ถ้าผิดระเบียบวินัย อันนี้เราจงถือว่านั่นเขาเป็นคนเลว ไม่ควรแก่การเมตตา จำไว้ให้ดีนะ แม้แต่พระก็เหมือนกัน พระที่บวชอยู่พรรษานี้นะบางองค์ก็ลืมตัวไปก็มี จงระวังให้ดีนะว่าเราเป็นพระ ถ้าหากว่าผิดพระธรรมวินัยเกินไป ผมก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงขับพระวักกลิได้ฉันใด ผมก็จะขับทั้งพระทั้งคนที่ไม่รักระเบียบวินัยเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

นี่เป็นอันว่าเมตตาเราต้องมีขอบเขต คือ เมตตาเฉพาะคนดี ไม่ใช่ไปเมตตาคนเลว ไอ้คนเลวถ้าหากว่าจะดีได้เราเมตตาได้ ถ้าอย่างพวกเราที่อยู่ในที่นี้รับฟังกันอยู่ตลอดเวลายังเลวได้ละก็ ไม่ต้องเมตตาแล้ว คำสั่งคำเดียว คือ ไปจากที่นี่ แล้วก็ต้องไปทันที เพราะการที่จะติดตามคำสั่งสอนกันไม่มีแล้ว นี่เป็นอันว่าขอบเขตของการเมตตาปรานีนี่มีอยู่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเมตตา ใครจะมาจากไหนก็ช่างในเมื่อเข้ามาในขอบเขตนี้จะต้องอยู่ในระเบียบทุกอิริยาบท จะถือว่าเป็นแขกมาไม่รู้ไม่ได้ ถ้าคนดีนี่เขาต้องเคารพในระเบียบวินัยของสถานที่ จะถือว่าอยู่ที่บ้านฉัน ฉันไม่ได้ทำอย่างนี้ ที่โน่นไม่ได้ทำอย่างนั้น นั่นมันที่อื่นไม่ใช่ที่นี่ ถ้าคนไม่รักระเบียบวินัยจงอย่าปรานี ช่วยกันจัดการไปให้พ้นทันที โดยไม่ต้องบอกผมก็ได้ แล้วคนประเภทนี้เป็นคนเลว

และอีกประการหนึ่ง คนพูดมากปากพล่อยทำลายศรัทธาของคน พระก็มี คนก็เหมือนกัน มีบ้างไหมพระของเรา มีปากเลว ๆ ไม่ได้ใช้ปัญญา คือ พูดก่อนคิด ใครเขาทำอะไรผิด ใครเขาทำอะไรถูก?ต้องคิดว่าถ้าเขาทำด้วยเจตนาดีอันนี้เราควรให้อภัย การพลั้งพลาดเป็นของธรรมดา การมีความรู้สึกให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้สึกสงสารในการพลั้งพลาด ทั้ง ๆ ที่เขาทำด้วยเจตนาดี แต่ว่ามันผิดไปบ้าง อันนี้เราก็ต้องมีจิตให้อภัย อย่างดีที่สุดก็ควรจะปลอบกำลังใจว่าเราทำผิดไปแล้ว วันหน้าความดียังมีอยู่ เพราะเราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู เราก็ควรจะยับยั้งตนใช้ปัญญาเสียใหม่ สำหรับวันนี้เราก็คงจะได้กันแต่เพียงขอบเขตของการเมตตาเท่านั้น ความจริงแล้วละก็เรื่องเมตตานี่ไม่ต้องสอนกันก็ได้ แต่ว่าไม่สอนก็เห็นจะไม่ไหว เพราะว่าทั้งเก่าทั้งใหม่ มอง ๆ ดูแล้วบางท่านก็แสนดี แต่บางคนอยู่กับผมมาตั้ง ๑๐ ปี ก็ยังเอาดีไม่ได้ก็มี

นี่คนประเภทนี้เขาเรียกว่ามนุสสเปโต คือมนุษย์เปรต หรือมนุสสติรัจฉาโน มีร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเดรัจฉาน เราจะสังเกตได้ว่าการเลี้ยงสัตว์ ถ้าคนใดคิดว่าหมาไม่จำเป็นต้องกินดี คนประเภทนี้ขาดความเมตตาปรานี อย่างนี้เรียกว่ามนุสสติรัจฉาโน แค่มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน หรือมนุสสเปโต กายเป็นมนุษย์ใจเป็นเปรต หรือมนุสสนิรยโก ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์นรก

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัทและพระโยคาวจรทั้งหลาย วันนี้เราก็ได้แต่ขอบเขตของความเมตตาเท่านั้น แต่ยังไม่หมด แต่เวลามันหมด ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงกำหนดใจตั้งอยู่ในความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำรวจศีลให้บริสุทธิ์ว่าตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเวลานี้เรามีความบกพร่องในศีลบ้างหรือเปล่า

ประการที่ ๒ สำรวจกำลังใจของเรา ว่าเรามีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์หรือเปล่า

ประการที่ ๓ นึกถึงความตายหรือเปล่า

ประการที่ ๔ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ใจรักพระนิพพานหรือเปล่า ถ้าบกพร่องจุดใดจุดหนึ่ง รักษากำลังใจจุดนั้นให้สมบูรณ์ จะมีความสุข นั่นคือความเป็นอริยเจ้า

ต่อไปนี้ขอท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะเห็นว่าเวลานั้นสมควรจะยกเลิก

                                    สวัสดี



( จากเทปเรื่อง พรหมวิหาร ๔ ปี ๒๕๒๑ )
 ( ม้วน ๑ หน้า ก )

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2318


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 ธันวาคม 2558 19:52:57 »

.


พรหมวิหาร ๔
ตอนที่ ๒ พรหมวิหารเป็นกรรมฐานเย็น

คำแนะนำเนื่องในการเจริญพระกรรมฐาน สำหรับการแนะนำในการเจริญพระกรรมฐานในวันนี้ ก็ขอนำเอาเรื่องของพรหมวิหาร ๔ มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท

สำหรับพรหมวิหาร ๔ นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เป็นพระกรรมฐานกลางจริงๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ย่อมเป็นกำลังของฌาน เป็นอาหารของศีล เป็นอาหารของฌาน และเป็นอาหารของวิปัสสนาญาณ ทั้งนี้ก็เพราะว่า พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานเย็น คือ ต้นเหตุของพรหมวิหาร ๔ ก็คือ
๑.ความรัก เมื่อเรามีความรักที่ไหน ต่างคนต่างรักกัน ใจก็เย็น และข้อที่ ๒.พรหมวิหาร ๔ ที่เรียกกันว่ากรุณา มีความสงสาร ถ้าทุกคนต่างสงสารเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ซึ่งกันและกันก็เป็น อารมณ์เย็น ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี  ประการที่ ๓.มุทิตา พรหมวิหาร ๔ มีปัจจัยให้เกิดความไม่อิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน มีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และก็มีใจดี คือ ยินดีในบุคคลอื่นได้ดี เมื่อเห็นใครเขาได้ดีแล้วเราก็ยินดีด้วย ดีใจด้วย พร้อมรับเอาความดีของผู้ที่ทรงความดีแล้วมาปฏิบัติเพื่อผลของความดีของตน อันนี้อีกประการหนึ่งเป็นปัจจัยให้มีความเยือกเย็น
และก็ประการที่ ๔.พรหมวิหาร ๔ มีอุเบกขา คำว่าอุเบกขาในที่นี้แบ่งเป็นหลายชั้น แต่จะขอพูดสั้นๆ ไว้ก่อน นั่นก็คือ มีอาหารวางเฉยต่ออารมณ์ ที่เข้ามากระทบใจ หมายความว่า ใครเขาจะด่า เขาจะว่า เขาจะนินทา เราก็เฉย จิตสบาย ใครจะชม ใครจะสรรเสริญ เราก็เฉย ไม่รู้สึก คำว่าไม่รู้สึกลอยไป ตามถ้อยคำของบุคคลนั้น จิตใจมีความเป็นปกติไม่ขึ้นไม่ลง ไม่หวั่นไหว อย่างนี้มันเป็นอาหารของความสุข

รวมคำว่าพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข นี่การบำเพ็ญบุญในพุทธศาสนา เราทำกันเพื่อความสุข คือ มีสุขทั้งที่มีชีวิตอยู่ ตายไปเกิดที่ไหนก็ตามมันก็มีความสุข ฉะนั้น พรหมวิหาร ๔ นี้จึงชื่อว่า เป็นอาหารใหญ่สำหรับใจในด้านของความดี

คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ย่อมมีศีลบริสุทธิ์
คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์ย่อมมีฌานสมาบัติตั้งมั่น
คนที่มีพรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์เพราะอาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด

เมื่อพูดเพียงเท่านี้ หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทที่มีกำลังใจใช้ปัญญา ก็จะได้ทราบชัดว่าพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพื้นฐานแห่งความเป็นพระอริยเจ้าแน่นอน แต่ว่าก่อนที่จะพูดอะไรอย่างอื่น ก็ขอเตือนพุทธบริษัทไว้ก่อนว่า การเจริญสมาธิ คำว่าสมาธิ ก็คือการตั้งใจ จงตั้งใจไว้ในเขตของความเป็นพระอริยเจ้า อย่าตั้งใจส่งเดช มันจะเสียเวลา ขาดทุนเปล่า การตั้งใจไว้ในเขตความเป็นพระอริยเจ้า ก็คือ

๑.คิดไว้เสมอว่าชีวิตของเราจะต้องตาย และความตายไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีวันเวลาแน่นอนคนเกิดก่อนตายทีหลัง คนเกิดที่หลังตายก่อน ก็ถมไป คนเขาเกิดก่อนเราเขาตายก่อนเราก็ถมไป จงคิดว่าความตายจะมีแก่เราในวันนี้ แล้วก็พยายามสั่งสมความดี นั่นคือ ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระอริยสงฆ์ พิจารณาดูว่าควรเคารพนับถือไหม แล้วก็ต่อไปตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

สำหรับศีล ๕ นี่เป็นศีลของพระโสดาบันกับสกิทาคามี สำหรับพระเณรต้องทรงศีลตามฐานะของตนให้บริสุทธิ์ แล้วก็มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ จุดที่เราจะรู้ว่าเราเป็นพระโสดาบันหรือไม่ ก็อยู่ที่กำลังใจทรงศีลหรือเปล่า ถ้าศีล ๕ ของเราไม่บกพร่อง ใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านเป็นพระโสดาบัน

ทีนี้การทรงสมาธิจิตนี่จะต้องทรงไว้ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าไปนั่งภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ อิติปิ โส ภควา ส่งเดช อย่างนั้นน่ะเป็นของดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่าดีไม่มาก หมายความว่าดีอย่างนั้น เราก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด จงเอาจิตจับจุดที่เราจะเกาะเข้าถึงพระนิพพานไว้

อันดับแรกอย่างน้อยที่สุดในชีวิตนี้ก็ควรจะได้พระโสดาบัน ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายคิดว่า การทรงความเป็นพระโสดาบันตามที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้มีอยู่ในกำลังใจของท่าน หลังจากนั้นก็ก้าวไปจับจุดอรหันต์เลย คือ มีกำลังใจคิดว่าเราจะตัดกามฉันทะ ความพอใจในเพศ ด้วยอสุภกรรมฐาน กับกายคตานุสสติ เราจะตัดความโกรธด้วยอำนาจพรหมวิหาร เราจะไม่ยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คือร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน และก็วัตถุธาตุต่างๆ  ว่าเราเป็นของเรา

เมื่อยังทรงชีวิตอยู่เราต้องหาเราต้องใช้ ตายไปแล้วก็เลิกกัน ไม่ต้องการอะไรกับมัน ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านตั้งใจไว้อย่างนี้ จึงจะสมกับเจตนาที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งใจบำเพ็ญบารมีมาเพื่อสอนเรา ต้องใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป

สำหรับวันนี้ก็จะได้พูดถึงพรหมวิหาร ๔ ความจริงสิ่งนี้เป็นของไม่ยาก พรหมวิหาร ๔ หรือว่าอะไรก็คามความจริงจิตของเรามันคบกับความเลวมามาก ที่ว่าคบกับความเลวมามากน่ะ มันไม่ได้หมายความว่าจะคบแต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดกันมานับชาติไม่ถ้วน ถ้าจะใช้เวลาเป็นอสงไขยกัป มันก็นับอสงไขยกัปไม่ได้แน่นอน เพราะเวลานี้การเกิดการตายเราผ่านมาแล้วทุกระยะ มันไม่มีการสิ้นสุด เกิดเป็นมนุษย์มันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิมันก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ยังมีอารมณ์ไม่หมดทุกข์ เพราะว่าถ้าสิ้นบุญวาสนาบารมีก็จะต้องกลับมาเกิดเป็นคน หรือไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน วนไปเวียนมา อย่างนี้มันก็ไม่มีอาการหมดทุกข์ นี่เราทุกข์กันมาหาที่สิ้นสุดมิได้แล้ว เวลานี้มาพบศาสนาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงชี้ทางให้เราหมดทุกข์ คือ ก้าวเข้าไปสู่พระนิพพาน แล้วก็เริ่มต้นอย่าลืม อย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการควบคุมอารมณ์ให้ทรงตัว แล้วก็อย่าลืมความตาย อย่าลืมเคารพในคุณพระรัตนตรัย อย่าลืมทรงศีลบริสุทธิ์ อย่าลืมนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ว่า เราจะตายคราวนี้เราจะไปนิพพาน ใครเขาจะหาว่าเราบ้าบอก็ช่าง การบ้าเพื่อแสวงหาความดีก็เป็นการสมควร ถ้าบ้าเพื่อแสวงหาความชั่วไม่ควรบ้า ถ้าจะบ้าไปนิพพาน นี่พยายามบ้าให้มาก มันจะได้มีความสุข

ทีนี้ดินแดนแห่งพระนิพพานที่เราจะไป จุดสำคัญจุดใหญ่อยู่ที่พรหมวิหาร ๔ ต้องฝืนกันหน่อยนะสำหรับกำลังใจเพราะใจเรามันชั่วมานาน ชั่วเพราะอำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลธรรม

กิเลส คืออารมณ์วุ่นวายที่ไม่ตั้งอยู่ในความดี

ตัณหามีความทะยานอยากแบบโง่ๆ อยากลักอยากขโมยเขา อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยากแย่งคนรัก อยากโกหกมดเท็จ อยากดื่มสุราเมรัย ตะเกียกตะกายหาที่สุดมิได้ด้วยความโลภ นี่มันอยากเลว ตัณหามีกิเลสเข้ามาช่วยมันก็เลยอยากแบบนั้น

อุปาทาน ยึดมั่นด้วยกำลังใจว่าทำอย่างนั้นเป็นของดี จึงเกิดการกระทำความชั่วขึ้น ที่เขาเรียกว่าอกุศลธรรม คือทำด้วยความไม่ฉลาดเราจึงมีความลำบาก มาถึงวันนี้

ต่อไปนี้เราตัดมันทิ้งเสียเถอะ อานาปานุสสติกรรมฐานพยายามทรงไว้ ให้จิตอยู่ในขอบเขตที่เราต้องการ มาพิจารณาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร นั่นก็คือเมตตา ความรัก ในพรหมวิหารข้อที่หนึ่ง ความจริงเป็นของง่ายนะ แต่ว่าการแผ่เมตตา ความรัก เรามีความรู้สึกนึกคิดอยู่เสมอว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใครในโลกนี้ โลกหน้า โลกผี โลกเทวดา โลกนรก โลกสวรรค์ โลกพรหม เราไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งหมด คิดเสียว่าอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นกับเราทั้งที่เราทำความดี แต่ว่าผลสนองให้กับเราเป็นปัจจัยแห่งความเร่าร้อน นั่นถือว่าเราใช้หนี้กรรมเขาไป ชาตินี้เราไม่ได้ทำเขา ชาติก่อนเราคงทำเขา เมื่อเขาจะมารับผลของเขาคืน ก็คืนให้เขาไปตามอัธยาศัย ใครเขาจะด่าเราก็เฉย  ยิ้ม  ว่าเราได้มีโอกาสใช้หนี้แล้ว ใครเขาจะนินทาเราก็ยิ้ม ใครเขาจะกลั่นแกล้งก็ช่าง ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี และนอกจากนั้นก็มีจิตน้อมไปในเมตตา ว่า โอหนอ คนทั้งหลายเหล่านี้ทำไมจึงได้โง่อย่างนี้ ถ้าเขาด่าเราแล้วเราก็ด่าตอบเขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ เราเป็นมิตรกับเขาเขามีความสุข เพราะเรากับเขารักกัน แต่ว่าถ้าเขาประกาศตนเป็นศัตรูกับเราเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู แต่ว่าตัวเขาเหล่านั้นเขาจะมีความสุขไหม เขาก็มีความทุกข์เพราะว่าเขาคิดว่าเราเป็นศัตรูกับเขา เขาจะต้องระแวงอันตรายที่เราจะทำกับเขา นั่นแสดงว่าเขาสร้างความทุกข์ของเขาเอง คนเลวกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะว่าการประกาศตนเป็นศัตรูกับคนอื่น บางทีคนอื่นยังไม่คิดว่าจะทำอันตรายเขา แต่เขาคิด เขาคิดว่าคนที่เขาด่าไว้ เขาว่าไว้ เขานินทาไว้ เขากลั่นแกล้งไว้ จะทำอันตรายกับเขา คนประเภทนี้ใจของเขาไม่มีความสุข ใจเรามีความรู้สึกอย่างไร เราไม่เกลียด เราถือว่าเขาเป็นทาสของความชั่ว ความชั่วเป็นนายของเขา คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม แทนที่เราจะเกลียด เราก็รัก เมตตา คือความรักมีอยู่ ในด้านของกรุณา สงสารเขาว่าเขากับเราเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เขาเกลียดทุกข์รักสุข แต่ว่าทำไมเขาจึงทำเหตุของความทุกข์ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนโง่ หรือดีไม่ดีเขาก็เป็นคนบ้า โบราณท่านบอกว่าอย่าถือคนบ้าอย่าว่าคนเมา ไม่ถือคนบ้าเราไม่ว่าคนเมา เราไม่โกรธเขาถึงแม้ว่าเขาจะโกรธ เราก็ยังมีความเมตตาปรานีเขา แต่ทว่าจงระวังในขณะใดที่เราไม่สามารถจะสงเคราะห์ให้เขาเข้าใจในความดีได้ ตอนนั้นเราต้องงดเว้นอย่าไปแนะนำ อย่าไปสรรเสริญ อย่าไปให้การช่วยเหลือ เพราะว่าอารมณ์ของเขาเศร้าหมอง ถ้าเราไปทำอย่างนั้นเขาจะคลั่งมาก เขาจะหาว่าเราประชดประชัน ตอนนี้ที่โอกาสที่เรายังช่วยเขาไม่ได้ เราก็วางตัวเฉยด้วยอำนาจของอุเบกขา ใจเราก็เป็นสุข ถ้าเขาด่ามา เขาแกล้งมาใจเราไม่โกรธ เราก็ควรจะภูมิใจว่าคุณธรรมสำคัญที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงให้กับเรา เราทรงได้แล้ว นั่นคือ เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร และก็อุเบกขา ตัวความวางเฉย นี่ด้านของอารมณ์

ทีนี้สำหรับตัวกรุณานี่ก็เหมือนกัน เมตตาตัวความรักที่เรามี แต่กรุณานี่ถ้าดีไม่ดีมันก็เกินขอบเขต เราจะสงสารเราจะเกื้อกูลเขา นี่ต้องดูให้เป็น การสมควรไม่ใช่เกินพอดี ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนที่พระเทวทัตรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ก็ทรงให้การแนะนำสั่งสอนด้วยความเมตตาปรานีอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อพระเทวทัตเกิดความหยิ่งยโส คิดทรยศจะกบฏต่อพระองค์ ตอนนี้พระพุทธเจ้าหยุดสอน เพราะว่าถ้าขืนสอนขืนสงเคราะห์ พระเทวทัตก็ไม่รับ พระองค์ก็ทรงอุเบกขาวางเฉยไว้ นี่ตัวกรุณานี่ต้องวางใจให้มันเหมาะสม คือความสงสารมีอยู่แต่โอกาสไม่สมควรนี่เราต้องเว้น

ข้อที่ ๓.มุทิตา การไม่อิจฉาริษยาเขาเป็นของดี จิตใจเราเป็นสุข เห็นใครเขาได้ดีก็ไปนั่งพิจารณาว่าฐานะเขาเสมอกับเรา ในขั้นเดิมมีความรู้เช่นเดียวกัน มีร่างกายมีอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่ทำไมกิจการงานเขาจึงก้าวหน้าไปไกล เขาดีมาได้เพราะอะไร เขาดีเพราะความขยันหมั่นเพียร
   ฉันทะ รักในงานนั้น
   วิริยะ มีความเพียร
   จิตตะ มีจิตใจจดจ่ออยู่ในการทำงาน
   วิมังสา ก่อนจะทำ ก่อนจะพูด ก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน

เมื่อเขาทรงคุณธรรม ๔ ประการอย่างนี้ ความดีพุ่งไปข้างหน้าของเรา เราก็ไม่อิจฉาเขา เราก็มานั่งมองว่า อ๋อ  เขาทำแบบนี้หรือ ในเมื่อเขาดีได้เราก็ดีได้ เขาเกิดมาเป็นคน มีอวัยวะมีอาการ ๓๒ เราก็มีเท่าเขา มีมือมีเท้าเหมือนกัน มีจิตมีใจเหมือนกัน ถ้าเขาดีได้ด้วยประการดังนี้ เราก็จะดีบ้าง ไม่ใช่อิจฉาเขา หรือไม่ใช่แข่งกับเขา เห็นว่าผลของความดีเป็นปัจจัยของความสุข เราก็ทำตามเขา นี่เราว่ากันถึงการฝึกในเบื้องต้น แล้วความเมตตากรุณา ทั้ง ๒ ประการนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอนว่า

ในอันดับแรก อย่าเพิ่งแผ่เมตตาไปในบุคคลที่เราคิดว่าเป็นศัตรู ต้องยับยั้งไว้ก่อน แผ่เมตตา คือความรัก กรุณา ความสงสาร ไปในบุคคลกลุ่มเดียวกันที่มีกำลังใจเสมอกัน เป็นกลุ่มคนที่เรารัก และกลุ่มคนที่เราไม่เกลียด ที่คิดว่าไม่เป็นศัตรู เพราะว่าอันดับแรก ถ้ามุ่งหน้าไปหาศัตรูละก็จิตมันจะหวั่นไหว จนเมื่อกำลังใจของเรามั่นคงดีแล้ว

ต่อไปเราก็มองดูองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไม่เลือกบุคคลใด เพราะกำลังใจเข้มแข็ง ความจริงพระเทวทัตเป็นศัตรูของพระองค์มานับแสนกัปหรือนับอสงไขยกัป พระพุทธเจ้าก็รู้ แต่ตอนที่พระเทวทัตเข้ามาขอบวชกับองค์สมเด็จพระบรมครู พระองค์ก็ไม่ทรงถือโกรธ กลับให้การอุปสมบท สอนให้ได้อภิญญาสมาบัติ  นี่น้ำพระทัยขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ เห็นศัตรูเป็นมิตร มีจิตประกอบไปด้วยความเมตตาปรานี สมเด็จพระชินสีห์ไม่ได้หวงไม่ได้ห้าม ไม่ได้กลั่นไม่ได้แกล้งเขา พระพุทธเจ้าทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ตอนนี้นะต้องขอให้ใจมันสูงเสียก่อนนะ กำลังใจเข้มแข็งเสียก่อน

ตอนนี้เราก็มาว่ากันถึงผลของพรหมวิหาร ๔ ถ้าความรักของเรามันทรงตัว ทรงจิตใจเห็นหน้าใครที่ไหนก็ตาม เราก็รักเหมือนกับรักตัวเรา จะเป็นชาติเดียวกัน ภาษาเดียวกัน คนในชาติ ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ ต่างลัทธิ ต่างศาสนา ต่างอะไรทั้งหมดก็ช่าง พอมองเห็นหน้าก็คิดว่าโอหนอ เขานี่เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย สำหรับเรา เรากับเขามีสภาวะความต้องการเหมือนกัน คือเกลียดทุกข์แล้วก็รักสุข จิตเราก็มีความเมตตาปรานีไม่คิดจะเป็นศัตรูกับเขา และนอกจากนั้น น้ำใจของเราก็คิดไว้เสมอว่าถ้าหากว่าเขามีทุกข์เมือไร ถ้าไม่เกินวิสัยสำหรับเรา เราจะสงเคราะห์ทันที นี่น้ำใจของเราเป็นอย่างนี้ แต่ว่าการสงเคราะห์ต้องดูว่า ควรหรือไม่ควร อย่าดีเกินไป เอาดีแค่พระพุทธเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน อย่างกับคนที่เราให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์ พึ่งพิงอาศัยในสถานที่ใกล้เคียง อาศัยมีอาชีพจากเราเป็นสำคัญ แต่ว่าเขาผู้นั้นยังประกาศตนเป็นศัตรู อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูบอกว่าอย่าเพิ่งเมตตาเขาแต่ว่าเราก็ไม่ประกาศตนเป็นศัตรู จิตสงสารแต่ยังเกื้อกูลอะไรไม่ได้ เพราะว่ากำลังใจของเขายังเลว เขายังไม่ยอมรับ เหมือนกับฝนที่ตกลงมา แต่ทว่าชาวบ้านนำตะกร้าไปรองน้ำฝน ฝนจะเมตตาปรานีกับเขาเพียงใดก็ตามทีตะกร้ามันรับน้ำฝนไม่อยู่ นี่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงคิดอย่างนี้

ทีนี้ถ้าหากว่าความรักความเมตตา ความกรุณา คือความสงสาร เมตตาได้แก่ความรัก กรุณาได้แก่ความสงสาร
มุทิตาได้แก่จิตอ่อนโยน อุเบกขาได้แก่ตัววางเฉย  

๔ ประการนี้ ถ้าทรงอยู่ในจิต สิ่งที่จะเกิดกับเราก็คือ ๑.ความเป็นพระโสดาบัน ๒.สกิทาคามี  ๓.อนาคามีจะมาอยู่กับเราได้ง่ายๆ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเมตตากับกรุณาทั้ง ๒ ประการ ถ้ามีประจำใจของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน
เรารักเราสงสาร เราฆ่าใครได้ไหม  เรารักเราสงสาร เราลักขโมยเขาได้ไหม  เรารักเราสงสาร เราแย่งคนรักเขาได้ไหม
เรารักเราสงสาร เราจะโกหกมดเท็จเขาได้ไหม ถ้าเรารักเราสงสารกับคนที่เราอยู่ เราจะทำลายสติสัมปชัญญะของเราให้ฟั่นเฟือนโดยการดื่มน้ำเมาได้หรือเปล่า ในที่สุด ๕ ประการนี้เราทำไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าเรารักเราสงสาร คนที่เรารัก สัตว์ที่เรารักที่เราสงสาร เราฆ่าเราก็ฆ่าไม่ได้ เราตั้งใจจะทรมานทำร้ายเราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสารเราขโมยก็ไม่ได้ ขโมยยังไงก็รักเขานี่ สงสารเขานี่ ขโมยมาเขาก็อด เราก็ทำไม่ได้ เรารักเราสงสารเขา เขารักกันอยู่เราจะไปแย่งคนรักเขาได้ยังไง รักสงสารแล้วต้องการให้เขามีความสุข ถ้าเราไปโกหกเขาเขาก็มีความทุกข์ เราทำไม่ได้ เป็นอันว่าการดื่มสุราเมรัยใช้ปัจจัยไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ทำ  เป็นอันว่าเมตตากับกรุณาทั้ง ๒ ประการ เป็นปัจจัยให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เป็นผู้ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้ากำลังใจสูงก็ทรงศีล ๘ บริสุทธิ์ เมื่อศีล ๕ บริสุทธิ์ไม่บกพร่อง จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรื่องความตายเราไม่ต้องพูดกันก็ได้ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ เพราะคนรู้ตัวว่าจะตายอาศัยความดีของศีล เป็นสำคัญ ถ้าจิตของท่านก้าวไปอีกนิดหนึ่งคิดว่า การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความสุขจริงๆ ก็คือนิพพาน จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์เพียงเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงตรัสว่าท่านเป็นพระโสดา หรือว่าสกิทาคามี เห็นหรือยังบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พรหมวิหาร ๔ โผล่ขึ้นมาแผล็บเดียวก็ปรากฏก้าวฉับเข้าไปเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระโสดาหรือสกิทาคา

แต่สำหรับวันนี้เวลามันหมดเสียแล้ว ขอสาวกขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว จงตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ใช้คำภาวน และพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้เวลาที่ท่านเห็นสมควร ... สวัสดี


(จากเทป หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เรื่อง พรหมวิหาร ๔ ปี ๒๕๒๑)
(ม้วน ๑ หน้า ข)
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พรหมวิหาร 4 - พระอาจารย์ภาสกร ภูริวฑฺฒโน ที่เนเธอร์แลนด์
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
มดเอ๊ก 0 1100 กระทู้ล่าสุด 05 กรกฎาคม 2559 03:22:20
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.526 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 29 มีนาคม 2567 00:53:02