[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 16:00:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ของหายาก ๔ ประการ  (อ่าน 1843 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 48.0.2564.109 Chrome 48.0.2564.109


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 15:30:43 »

.



ของหายาก ๔ ประการ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ของหายาก ๔ ประการ มาบรรยายของหายาก ๔ ประการนั้น คือ

ประการที่ ๑ มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ การที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากนักยากหนา เพราะเหตุอะไรจึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุที่ว่า การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น ในภพก่อนชาติก่อน จะต้องได้บำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้ว จึงจะสามารถเกิดเป็นมนุษย์ในภพนี้ชาตินี้ได้ และขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ใส่ใจว่าคำว่า มนุษย์ กับคำว่า คน นั้นไม่เหมือนกัน

พอเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เขาก็เรียกว่า คน แล้ว คลอดออกมาเขาก็เรียกว่า คน เจริญเติบโตขึ้นมาเขาก็เรียกว่า คน ยังเรียกว่าเป็น มนุษย์ ไม่ได้ ต่อเมื่อใดเราได้บำเพ็ญมนุษยธรรม คือ สุจริตธรรม ๑๐ ประการ หรือศีล ๕ ประการให้สมบูรณ์แล้ว จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้ท่านทั้งหลายลองสังเกตดู ในวันที่เราอุปสมบท ท่านพระอาจารย์ได้สอบถามอันตรายิกธรรมบทหนึ่ง มีอยู่ว่า มนุสฺโสสิ เจ้าเป็นมนุษย์หรือ ทำไมท่านจึงถามคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ ท่านก็ถามว่า เป็นมนุษย์หรือ ถ้าเราตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต ข้าพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ ท่านก็ไม่บวชให้คำนี้ โบราณท่านกล่าวเอาไว้ว่า มีพญานาคมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงแปลงกายมาบวชในพระศาสนา วันหนึ่ง จำวัดตอนกลางวัน ขาดสติ ไม่ทันระวังตัว เพศจึงกลับมาเป็นพญานาคตามเดิม พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้สึก พญานาคก็ยอมสึกและขอพรว่า ผู้ใดมาบวช ขอให้ชื่อว่า นาค

ที่จริง ถ้าพูดตามหลักการ หรือพระไตรปิฎกแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านถามว่า มนุสฺโสสิ ท่านเป็นมนุษย์หรือ เราจะตอบว่า อาม ภนฺเต ขอรับ กระผมเป็นมนุษย์ ก็ต่อเมื่อเราบำเพ็ญมนุษยธรรม หรือมีมนุษยธรรมประจำจิตประจำใจเสียก่อน จึงจะตอบว่า อาม ภนฺเต ได้เหตุนั้น ก่อนจะมาอุปสมบท ท่านจึงให้มามอบตัวเป็นศิษย์วัดเสียก่อน ให้เรียนคำขอบวช ให้เรียนวิธีบวช ท่านเรียกว่า นาค ตอนนี้ นาคะ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้มาสู่ทางอันประเสริฐ ในขณะที่มาเป็นนาคนี้ ท่านต้องการที่จะให้เจ้านาคนั้นบำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์ จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้เหตุนั้น เวลาบรรพชาอุปสมบทนี้ หลวงพ่อเอาจริงเอาจัง ถ้าผู้ใดเข้าโบสถ์แล้วมีกลิ่นเหล้ามานี้ หลวงพ่อไม่บวชให้เลย ไล่ออกจากโบสถ์ไปเลย ต้องไปสมาทานศีลใหม่ หมดกลิ่นเหล้าแอลกอฮอล์ไปแล้ว สมาทานศีลใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่เสียก่อน เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว จึงจะบวชให้

เหตุนั้น ที่พวกเราทั้งหลาย ได้มานั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยอวัยวะทุกส่วน ไม่มีบรรพชาโทษ คือพระวินัยท่านไม่ห้าม เราสามารถบวชในพระศาสนา ทั้งจิตใจก็สมบูรณ์ อันนี้ก็หมายความว่าเราได้พบของหายากประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ พุทฺธภาโว จ ทุลฺลโภ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะได้พบพระพุทธศาสนา เป็นของหายากนักยากหนา เพราะเหตุไร เพราะพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ นั้น ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนแล้ว จึงจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว เป็นไปไม่ได้ เหตุนั้นท่านจึงแบ่งจึงจัดระยะการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้า ไว้ดังนี้คือถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าองค์ใด เป็นประเภท ปัญญาธิกะ คือมีปัญญามาก มีปัญญามากกว่าศรัทธาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป คือหมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๗ อสงขัย ออกปากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๙ อสงขัย นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้านามว่าอย่างนั้นๆ ตั้งแต่วันนั้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมด ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท สัทธาธิกะ คือมีศรัทธามากกว่าปัญญาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป หมายความว่า นึกอยู่ในใจอยู่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๔ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๘ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้ามีพระนามว่าอย่างนั้นๆ

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท วิริยาธิกะ คือยิ่งด้วยความเพียร มีความเพียรมากกว่าศรัทธาและปัญญา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘๐ อสงขัย หมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๒๘ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๓๖ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า มีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๑๖ อสงขัย รวมทั้งหมดเป็น ๘๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ นิยตโพธิสัตว์ และอนิยตโพธิสัตว์อนิยตโพธิสัตว์นี้ ยังมีคติไม่แน่นอน คือยังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีคติไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนคำอธิษฐานได้ สามารถเปลี่ยนจิตใจได้แต่ถ้าเป็นประเภทนิยตโพธิสัตว์ จะมีคติอย่างมั่นคงแน่นอน โดยได้รับคำพยากรณ์จากสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระโพธิสัตว์ประเภทนี้เปลี่ยนจิตไม่ได้เพราะเหตุใดเพราะว่า พระวาจาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระวาจาสิทธิ์ ใครจะมาเปลี่ยนพระดำรัสของพระองค์ไม่ได้ เมื่อพระองค์ตรัสไว้อย่างไรแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพระองค์ตรัสว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า ผู้นี้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า ก็เป็นอย่างนั้นอย่างเช่นพระอานนท์ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันปฐมสังคายนา พระอานนท์บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่ง ก็นึกว่าพระองค์ทรงพยากรณ์ผิด อ่อนจิตอ่อนใจก็เอนหลังลงเพื่อจะนอน ในขณะที่เอนหลังลงนอน หัวยังไม่ทันถึงหมอน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อันนี้ก็หมายความว่า พระวาจาของพระองค์เป็นพระวาจาสิทธิ์ พระองค์ตรัสอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่นตรัสว่า พระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า จะถูกธรณีสูบที่เชิงบันไดปราสาท ๗ ชั้น นับตั้งแต่วันนี้ไป ๗ วัน เมื่อถึงวันที่พระองค์ตรัสไว้ แม้พระเจ้าสุปปพุทธะจะทำการป้องกันอย่างไรๆ ก็ไม่พ้น ต้องถูกธรณีสูบที่ตรงนั้นจนได้

นี่แหละท่านทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ประเภทนิยตะนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะได้บำเพ็ญบารมีจนครบสมบูรณ์แล้วจึงจะตรัสรู้ได้แต่บัดนี้ พวกเราทั้งหลาย มานั่งรวมกันอยู่ในที่นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเราได้พบพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เท่ากับว่าเราได้พบพระพุทธองค์ เพราะก่อนจะทรงปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็ดี พระวินัยก็ดี ที่เราตถาคตได้แสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายคือพระองค์ไม่ได้ให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่แทนพระองค์ แต่พระองค์เอาธรรมวินัยที่ทรงประกาศไว้แล้ว ที่ตรัสไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และบัดนี้ พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ก็ยังสมบูรณ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมเหล่าใด ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรคอริยผล เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็ยังสมบูรณ์อยู่ทุกประการเหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบรรพชาอุปสมบท บวชในพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้มาเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ก็ยากนักยากหนาเพราะเหตุใดเพราะผู้ที่จะมาบวชในพระศาสนานั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ที่ตนได้สั่งสมไว้ในภพก่อนชาติก่อน และก็ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันประกอบกันเข้า จึงจะมีโอกาสบวชได้ บางท่านมีความประสงค์อยากบวช แต่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยก็บวชไม่ได้ หรือบางท่าน สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเอื้ออำนวย ยินดีที่จะให้บวช แต่เราไม่มีปสาทะศรัทธาในการที่จะบวชในพระพุทธศาสนานี้ ก็บวชไม่ได้แต่พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้ นับว่าได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติจนล้นฟ้าล้นดิน จึงได้มีโอกาสมาบวชในพระศาสนา การมาบวชในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายในขณะนี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ก็เป็นของยากนักยากหนาท่านทั้งหลายลองนึกดูสิว่า รอบตัวของเรา ภายในหมู่บ้านของเรานั้นแหละ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าในวัดของเรา ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือภายในตำบลของเรา ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนามากน้อยแค่ไหนเพียงไรดังนั้น ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนา ท่านจึงอุปมาเหมือนเขาโค แต่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา อุปมาเหมือนกันกับขนโค ขนโคนั้นย่อมมากกว่าเขาโคฉันใด ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ย่อมมากกว่าผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนาฉันนั้นบัดนี้

พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และก็ได้มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนาอยู่นี้ ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญ ได้พบของหายากประการที่ ๔

การเจริญภาวนานั้น มีอยู่ ๒ ประการ คือ๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ ไม่เกี่ยวด้วยปัญญา เพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็นสมาธิเท่านั้นอารมณ์ของสมถภาวนา ตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

ก็แล ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่างนิมิต ๓ คือบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียงบริกรรมนิมิต กับอุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนาบริกรรมภาวนานั้น ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนา ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน(กัมมัฏฐาน ๑๐) เหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากัมมัฏฐานเหล่านี้เป็นกัมมัฏฐานที่สุขุม ละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฏชัดได้ จิตและเจตสิก ไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้นส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนาเพราะเหตุใดเพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ อารมณ์ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นานกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียงรูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภกัมมัฏฐาน หรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา

หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียว ก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌานเท่านั้นสำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกกนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)อุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌาน หรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียวอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกัมมัฏฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้รวมกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการ ที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้น ให้สำเร็จอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้นอานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา

เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่า ให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบัน ไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนาอารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนา คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้ว ก็ได้แก่ รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนาอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่น รู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้นการรู้สภาวธรรมของธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างไรมีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุด ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูง ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อกล่าวมาถึงนี้

ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่า บัดนี้ พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้ข้อนี้ ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่าปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติ ก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ ๑.อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ ๒.ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม ๓.นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวนิรุตติ์ ๔.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ

ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือ สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปแต่ทั้งนี้ ก็ต้องได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิตในวันอาสาฬหบูชานั้นว่าด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันอาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ

อย่างนี้เรียกว่า เราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อนเราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมไว้สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้

อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกุศโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอน คือ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ
บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ
บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า นะมะพะทะ หายใจออกภาวนาว่า นะมะพะทะ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆบางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ
บางสำนัก ท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ
บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนัก ยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนัก หายใจเข้าหายใจออก นั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไรส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน
บางสำนัก เวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
บางสำนัก กำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูกถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่า การภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนา หรือสมถกัมมัฏฐาน

แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม หรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่า ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กัมมัฏฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึกภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากัมมัฏฐาน


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กุมภาพันธ์ 2559 15:39:17 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 48.0.2564.109 Chrome 48.0.2564.109


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2559 15:39:47 »

.

(ต่อ)

การเจริญกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา

แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดินเราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่า เริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร เรากำหนดรู้ตามอาการของมัน

ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐานแต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหากอุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว ก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้น ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เท่านั้น

เมื่อสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรค ผล เอานิพพานต่างหากและขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไร การบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่า ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก คือมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ดังนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ ใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนด ได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงิน ผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงินหนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือ มรรค ผล นิพพานทั้งนั้น

แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกันดังนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติในพรรษานี้ ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิดหลา ๆ รูปที่มาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้ว ทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอมสมมติว่า เคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน ความจริง เราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะเสื่อม

ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตาม ก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญ ครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้นสมมติว่า เราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เคยเข้าอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิตแล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันหรือไม่อย่างนั้น เราจะใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว ทีนี้เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อนจึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ
๑.สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน
๒.สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือ สมมติว่าเราจะเขียนตัว ก เราก็ต้องรู้ว่าอักษร ก มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด
๓.อาตาปี มีความเพียร คือ มีความหมั่น ความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกัมมัฏฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกัมมัฏฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกัมมัฏฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกัมมัฏฐาน

เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่า ไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้เอาละ เท่าที่บรรยายมา ก็พอสมควรแก่เวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
มงคล 38 ประการ « 1 2 »
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
Sweet Jasmine 38 20695 กระทู้ล่าสุด 06 กรกฎาคม 2553 13:03:21
โดย Sweet Jasmine
บทสวดมงคล 38 ประการ
บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
Sweet Jasmine 0 13133 กระทู้ล่าสุด 06 กรกฎาคม 2553 13:05:16
โดย Sweet Jasmine
ฉัพพรรณรังสี ๗ ประการ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
sometime 0 4698 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2553 08:56:03
โดย sometime
ความประมาทของการนั่งสมาธิ ๑๑ ประการ
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
หมีงงในพงหญ้า 0 2282 กระทู้ล่าสุด 26 กรกฎาคม 2553 14:16:08
โดย หมีงงในพงหญ้า
พร ๔ ประการ
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
Kimleng 0 1572 กระทู้ล่าสุด 26 สิงหาคม 2555 17:55:05
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.595 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 11 มีนาคม 2567 02:39:06