[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 08:39:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชมฮูปแต้ม "สิม" วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น  (อ่าน 2160 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 11 มีนาคม 2559 16:06:04 »

.


"ผู้พี่กลับเพศเพี้ยงคือฮูปยักษ์โข  สังข์ทองทำเพศเป็นตัวโม้
นำเขาเข้าในเมืองพร้อมเพื่อน  มันแหมบลี้บังไว้บ่เห็น"

จิตรกรรมช่างพื้นบ้าน เรื่อง สินไซ (สังข์ศิลปชัย) วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น
(ภาพ: ด้านนอก หน้าเสาต้นกลางทางขวาตรงบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก)

วัดไชยศรี
ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น


วัดไชยศรีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๗ ง วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๒๙.๗ ตารางวา

วัดไชยศรีอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๒๑ กิโลเมตร โดยกาารเดินทางใช้เส้นทางตามถนนมะลิวัลย์ สายขอนแก่น - ชุมแพ  

วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์ (ชาวอีสานเรียก "สิม") อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้แต่เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นแผ่นๆ  คล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ.๒๕๒๕ หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตนจึงทำหลังคาเป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนังทั้งด้านนอกและด้านในยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม)

ประวัติความเป็นมา
วัดไชยศรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๘ ไร่เศษ ตามหลักฐานทราบว่าตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๐๘ ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐    

ส่วนโบสถ์หรือสิมวัดไชยศรีนี้  ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่คงสร้างประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๔๓ ในสมัยหลวงปู่อ่อนสา เจ้าอาวาสรูปแรก เป็นการรวมศรัทธาสร้างของพระและชาวบ้าน หลวงปู่อ่อนสาเป็นผู้ที่กำหนดออกแบบควบคุมการก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ เพราะท่านมีฝีมือด้านช่างเป็นอย่างดี อีกทั้งจะต้องให้ถูกต้องตามพระวินัยกำหนด ถ้าไม่ถูกต้องก็ใช้ไม่ได้

ลักษณะสิมของวัดไชยศรี เป็นสิมอีสาน ชนิด "สิมทึบ" มีลักษณะมวลทึบ ทรวดทรงเรียบง่าย คือ เป็นสิมที่ทำผนังปิดทึบทั้ง ๔ ด้าน ยกเว้นช่องประตูและหน้าต่าง มีขนาดเล็ก พอให้พระสงฆ์นั่งหัสถบาสได้ราว ๒๑ รูป มีประตูขึ้นหรือเข้าได้ทางเดียว มีแอวขัน คือยกพื้นขึ้นสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคามุงไม้แป้นเกล็ด (ต่อมาเมื่อบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ) ผนังมีความหนาเพราะโครงสร้างที่ก่อขึ้นไม่มีเหล็กเสริมความแข็งแรง จึงต้องทำให้บึกบึนเพื่อความคงทน อีกทั้งจะทำให้เย็นสบายด้วย สำหรับฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวามทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก  ภายนอกและด้านในสิม มีภาพเขียนอันทรงคุณค่าที่ยังปรากฏเด่นชัดแม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้วมากกว่า ๑๐๐ ปี  โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมากเป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร  ภาพเทพ และภาพสัตว์ต่างๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก ๘ ขุม (หลุม) และภาพวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย  ลักษณะเด่นคือ เป็้นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ ส่วนผู้แต้มฮูบ (เขียนภาพ) ชื่อนายช่างทอง ทิพย์ชา มาจากอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และคณะช่างแต้มอีกหลายคน เช่น ช่างเคน นามตะ ฯลฯ
 
การซ่อมแซม
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซ่อมหลังคาใหม่โดยทางวัดและชาวบ้านร่วมกันบูรณะ ปี พ.ศ.๒๕๓๕ กรมศิลปากรได้จัดงบประมาณซ่อมแซม ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์ทั้งสองด้าน เพื่อป้องกันภาพจิตรกรรมฝาผนังจากแดดและฝน

การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสิมวัดไชยศรี(อุโบสถ) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๗ ง วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔




โบสถ์ หรือ "สิม" ในภาษาอีสาน วัดไชยศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
แต่เดิมหลังคามุงด้วยแป้นเกร็ดหรือแผ่นไม้ ต่อมาชำรุดทรุดโทรม
จึงได้บูรณะซ่อมแซมโดยเปลี่ยนเป็นมุงด้วยกระเบื้อง ศิลปะรัตนโกสินทร์

สิม มีความหมายอย่างเดียวกับ โบสถ์ หรือ อุโบสถ ของทางภาคกลาง
เป็นเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า สีมา ซึ่งหมายถึงขอบเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ใน
กิจกรรมของสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ใช้ทำสังฆกรรม

สิม มี ๓ ชนิด คือ สิมที่ทำในหมู่บ้านเรียก คามสีมา
สิมที่ทำในป่าเรียก อัพภันตรสีมา สิมที่ทำในน้ำเรียก อุทกฺกเขปสีมา
สิมทั้ง ๓ ชนิดนี้ ถ้าสงฆ์ยังไม่ได้ผูกเรียก อพัทสีมา ถ้าผูกแล้วเรียก พัทธสีมา
ส่วนวิสุงคามสีมานั้น ก็คือ คามสีมา ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกที่ดินที่สร้างสิมให้



ฮูปแต้ม เขียนบอกเล่าเรื่องราวในวรรณกรรม เรื่อง "สินไซ" หรือ สังข์ศิลป์ชัย


ภาพชาดกในพระพุทธศาสนา ภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้ม
เป็นเรื่องพุทธประวัติและวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย)
ภาพเทพ ภาพบุคคล และสัตว์ ภาพนรก
ใช้สีฝุ่นวรรณเย็น คือ สีคราม สีเหลือง สีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และสีดำ


ภาพเล่าเรื่องนรกภูมิ สัตว์ในวรรณคดี








Mckaforce เจ้าของเว็บไซต์  
โชคดีได้ขึ้นไปชมภาพวาดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งด้านในโบสถ์
(ห้ามผู้หญิงเข้าโบสถ์ - ตั้งแต่บันไดขั้นแรก)
นายคนนี้เก็บภาพได้สวยๆ ทั้งนั้น ขอเอามาประกอบกระทู้สักสองสามภาพมันก็ไม่ให้
(ทำหูทวนลมซะงั้น)


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี เพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เป็นที่รวบรวมของใช้ในชีวิตประจำวัน โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ของท้องถิ่น
ไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา


หีบพระธรรมเก่าแก่ ในสมัยก่อนนิยมใช้สำหรับเก็บพระธรรมคัมภีร์


แบบจำลอง "สิม" วัดไชยศรี
จะเห็นได้ว่ามีการเขียนภาพเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ รอบสิมทั้งสี่ด้าน




กล่าวถึงเป็นมาของวัดไชยศรีพอสังเขปแล้ว
ต่อไปจักได้นำเสนอเรื่อง "สินไซ" (สังข์ศิลป์ชัย) วรรณกรรมนิทานดึกดำบรรพ์
อันเป็นคตินิยมต่อแนวคิด หรือความเชื่อของชาวอีสานโบราณอย่างแพร่หลาย
เช่น เชื่อในเรื่องของการทำนายทายทัก เรื่องลางสังหรณ์ เรื่องภูติผีวิญญาณ
เรื่องเวทมนต์คาถา ฯลฯ  ที่กวีได้สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องให้น่าสนใจยิ่งขึ้น


เรื่อง
สินไช (สังข์ศิลป์ชัย)

สินไซ (สังข์ศิลปชัย) เป็นวรรณกรรมนิทานชาดกในพระเจ้าห้าสิบชาติ ที่แพร่หลายมาก  มีปรากฏอยู่ใน ปัญญาสชาดก (พระเจ้าห้าสิบชาติ) ของภาคเหนือ ผู้ประพันธ์คือ ท้าวปรางค์คำ ประพันธ์เมื่อ จ.ศ.๑๐๒๗ ตรงกับ พ.ศ.๒๒๐๘  ในภาคอีสาน นิยมนำมาอ่านในบุญงันเฮือนดี (งานศพ) มากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องราวของการผจญภัย น่าตื่นเต้น  มีสำนวนไพเราะ เป็นแบบอย่างของการประพันธ์กลอนลำ โดยเฉพาะกลอนเดินดงของเรื่องสินไซ ครูหมอลำจะนำมาเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ฝึกลำอยู่เนืองๆ จนบรรดาหมอลำจะถือเสมือนว่า สินไซตอนเดินดง เป็นบทครู ฉะนั้น จึงมีการอนุรักษ์หรือคัดลอกเก็บรักษาเป็นอย่างดี ไม่ให้สูญหาย

ต้นฉบับที่ใช้เขียนเรื่องนี้ คือ ฉบับของกะซวงทัมกาน ประเทศลาว ตรวจชำระโดยมหาสีลา วีรวงศ์ และฉบับของโครงการสำรวจรวบรวมวรรณคดีอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ชำระโดยพระปริยัติโกศล (มหาถวัลย์) วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี


เริ่มเรื่องที่เมืองเป็งจาล มีท้าวกุศราชเป็นกษัตริย์ปกครอง มีมเหสีนามว่า นางจันทาเทวี มีพระขนิษฐาร่วมมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของท้าวกุศราช นามว่า สุมณฑา

มีพระยายักษ์เจ้าเมืองอโนราช ชื่อกุมภัณฑ์ คิดอยากมีมเหสีไว้แนบข้าง จึงเหาะไปบนสวรรค์ ทูลถามพระสุวัณราชเกี่ยวกับเรื่องเนื้อคู่ของตน  พระสุวัณราชตรัสว่า เนื้อคู่ของท้าวกุมภัณฑ์คือ นางสุมณฑา เป็นชาวมนุษย์ แต่พระสุวัณราชตรัสเตือนว่า อย่าไปยุ่งกับนางเลย นางจะนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง  เมื่อกลับมายังมนุษยโลก ท้าวกุมภัณฑ์จึงติดตามหานางสุมณฑาไปทุกหนทุกแห่ง แต่ไม่พบ จนกระทั่งไปถึงเมืองเป็งจาล จึงได้เข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในอุทยาน

ในคืนนั้นเอง ท้าวกุศราชนอนหลับฝันว่ามียักษ์มาเจรจาก้าวร้าว ทำให้ท้าวกุศราชเบี่ยงกายจะไปหยิบพระขรรค์ แต่ยักษ์ตนนั้นถือมีดดาบมาฟันแขนข้างขวาท้าวกุศราชจนขาด เลือดไหลท่วมแผ่นดิน ครั้นตื่นจากบรรทมจึงได้สั่งให้โหรมาทำนายฝัน โหรถวายคำทำนายว่าท้าวกุศราชจะต้องเสียเชื้อพระวงศ์อันเป็นที่รัก และในขณะเดียวกันพระองค์จะได้เดินทางออกจากเมืองไปนาน จนกว่าจะหมดเคราะห์กรรม

กล่าวถึงนางสุมณฑา เดินเที่ยวในอุทยานกับสาวใช้ ท้าวกุมภัณฑ์ซึ่งซุ่มรออยู่ ได้เข้าอุ้มนางสุมณฑา พาไปยังปราสาทของตน จนมีราชธิดาหนึ่งคน ชื่อ สีดาจันทร์  นางสุมณฑาอยู่กับท้าวกุมภัณฑ์อย่างมีความสุขจนลืมบ้านเกิดเมืองนอนของนางเอง  เมื่อนางสีดาจันทร์โตเป็นสาว  ท้าววรุณนาคได้มาสู่ขอไปเป็นคู่ครองยังนครบาดาล

ต่อมา ท้าวกุศราชกษัตริย์แห่งเมืองเป็งจาล ได้มอบให้ นางจันทาเทวี ดูแลบ้านเมือง ส่วนพระองค์ได้ออกบวชเดินป่าติดตามหานางสุมณฑา ผู้เป็นขนิษฐา จนถึงเมืองจำปานคร ซึ่งมีท้าวกามะทาปกครองเมือง ได้ทราบข่าวว่าผู้ที่ลักพาตัวนางสุมณฑาไปคือ ท้าวกุมภัณฑ์ผู้มีฤทธิ์มาก  ท้าวกุศราชได้เดินทางต่อไป พบลูกสาวทั้ง ๗ คนของเศรษฐีผู้มีนามว่า นันทะ พระองค์เกิดความเสน่หาต่อนางทั้ง ๗ ก็ไม่อาจทนอยู่ในเพศนักบวชได้ จึงเดินทางกลับเมืองเป็งจาลเพื่อลาสิกขาบท  ท้าวกุศราชได้สั่งให้นำเงิน ทองคำ ช้าง ม้า วัว ควาย และผู้คนจำนวนมาก เดินทางไปขอนางทั้ง ๗ คน แห่งเมืองจำปานคร ตามประเพณี  เศรษฐีนันทะไม่ขัดข้อง ยอมยกนางทั้ง ๗ คนให้ 

ท้าวกุศราชอยู่กับนางจันทาเทวี และนางทั้งเจ็ดคนอย่างมีความสุข  อยู่ต่อมาท้าวกุศราชคิดอยากมีราชโอรสที่มีบุญญาธิการมาก เพื่อจะได้ติดตามหานางสุมณฑาผู้เป็นน้องสาวกลับคืนมา  จึงตรัสว่าถ้าใครตามนางสุมณฑามาได้ พระองค์จะมอบราชสมบัติให้กับโอรสองค์นั้น  ดังนั้น มเหสีทั้ง ๘ คน ต่างก็พากันจุดธูปเทียนบูชาทุกเช้าเย็น เพื่อขอให้ตนได้มีโอรสผู้มีบุญญาธิการมาเกิดกับนาง  โดยนางปทุมา ธิดาองค์สุดท้องของของเศรษฐนันทะได้รักษาศีลด้วย และด้วยอำนาจของศีลทำให้พระอินทร์ต้องประทานเทพที่เป็นโอรสของพระองค์จุติมาเกิดในท้องนางปทุมา และในท้องนางจันทาเทวีอีกหนึ่งองค์   ก่อนตั้งครรภ์นางปทุมาฝันว่า พระจันทร์ลอยมาเหนือศีรษะ อยู่ต่อมาไม่นานนางปทุมาฝันอีกครั้งหนึ่งว่า นางแบกอาวุธที่มีแสง ทำให้คนทั่วไปกลัวเกรง  ส่วนนางจันทาเทวีก็ฝันว่านางได้ขี่ช้างเผือกออกจากเมืองไป และท้าวกุศราชได้ฝันว่ามีสระใหญ่อยู่กลางคุ้ม มีดอกบัวสีแดงอยู่ท่ามกลางบัวทั้งหลาย  บัวสีแดงนี้มีแสงส่องไปถึงเมืองพรหม โดยมีบัวอื่นๆ ล้อมรอบอยู่  ท้าวกุศราชได้ให้โหรมาทำนายฝัน โหรได้ทำนายว่า ท้าวกุศราชจะได้โอรสที่มีบุญญาธิการจากนางปทุมาและนางจันทาเทวี 

คำทำนายของโหร ทำให้นางทั้งหกคนมีความอิจฉาริษยา ต่างก็ไปติดสินบนโหร ให้ใส่ร้ายนางปทุมาและนางจันทาเทวี และได้ไปหาหมอทำเสน่ห์ยาแฝด เพื่อให้ท้าวกุศราชหลงรักนางทั้งหกคน  เมื่อโหรได้รับสินบนจากนางทั้งหกคนแล้วได้กลับคำทำนายเสียใหม่ว่าโอรสของนางปทุมาและนางจันทาเทวีเป็นคนไม่ดีมาเกิด  เมื่อครบกำหนดคลอด นางปทุมาได้ให้กำเนิดโอรสน้อยน่ารักถือศรดาบและสังข์ออกมาด้วย  ได้ชื่อว่า “สินไซ” ส่วนนางจันทาเทวีคลอดลูกออกมาเป็นราชสีห์ มีงวงงาสวยงาม ได้ชื่อว่า  ชื่อว่า “สีโห”  ท้าวกุศราชรู้สึกผิดหวังเสียใจมาก ที่นางทั้งสองคลอดลูกออกมาไม่สมดังที่พระองค์อยากได้ จึงคิดกำจัดโอรสน้อยด้วยการลอยแพ นางทั้งสองไม่ยอม จึงได้พาลูกหนีออกจากเมืองไป  จนกระทั่งถึงปรางค์ที่พระอินทร์สั่งให้พระวิษณุกรรมเนรมิตให้นางทั้งสองคนได้อาศัยเลี้ยงดูโอรส คือ สินไซ หรือสีโห (แปลงร่างเป็นราชสีห์ได้)  ในปรางค์นั้นได้มีสัตว์ป่ามาคุ้มครองรักษา  เมื่อสินไซโตขึ้นได้ขอศรไปประลอง ทำให้สัตว์ทั้งหลายอันได้แก่ ครุฑ นาค ทราบจากฤทธิ์ของศรว่าเป็นผู้ทรงโพธิสมภารมาเกิด จึงผลัดกันมาอยู่เฝ้ารักษาโดยครุฑอารักขาตอนกลางวัน นาคอารักขาในตอนกลางคืน

ต่อมานางทั้งหกได้ให้กำเนิดโอรสหกคน เมื่อโตเป็นหนุ่ม ท้าวกุศราชได้ใช้ให้โอรสทั้งหกคนไปตามหานางสุมณฑา โอรสทั้งหกขออนุญาตไปร่ำเรียนวิชาก่อน และได้เดินทางมาถึงที่อยู่ของสินไซ เห็นสินไซอยู่ท่ามกลางหมู่ครุฑและนาค เกิดความกลัว เมื่อไต่ถามได้ความว่าเป็นพี่น้องกัน  สินไซจึงพาโอรสทั้งหกไปพบมารดาที่ชานพระนคร โอรสทั้งหกคนโกหกสินไซว่าให้สินไซแผลงศรไปที่ชานพระนคร เพื่อถวายบังคมพระบิดา แล้วทั้งหกคนจะช่วยกันกราบทูลพระบิดาว่าสินไซเป็นผู้มีฤทธิ์  สินไซยอมแผลงศรตามคอขอของโอรสทั้งหกคน เมื่อโอรสทั้งหกคนเดินทางกลับถึงเมืองเป็งจาล ได้เข้ากราบทูลท้าวกุศราชว่า การแผลงศรนี้เป็นฤทธิ์ของพวกตน ท้าวกุศราชชื่นชมความสามารถของโอรสทั้งหกคนเป็นอย่างมาก จึงมีรับสั่งให้ทั้งหกคนเดินทางไปตามหานางสุมณฑา ทำให้โอรสทั้งหกคนจำใจต้องไปตามหานางสุมณฑา แต่ได้พากันไปหาสินไซและบอกว่าเป็นคำสั่งของพระบิดาให้สินไซไปตามหานางสุมณฑา  สินไซหลงเชื่อคิดว่าเป็นคำสั่งของท้าวกุศราช จึงรีบเดินทางไปตามหานางสุมณฑาทันที ระหว่างเดินทางได้ต่อสู้กับงูและได้ฆ่างูตาย เมื่อจะเดินทางต่อไปสินไซได้สั่งให้สังข์นำหน้าไปก่อนจนถึงห้วงน้ำใหญ่ สินไซได้บอกให้สีโหกับหกกุมารรออยู่ที่ฝั่งน้ำ ส่วนตนเองเดินทางข้ามแม่น้ำกว้างใหญ่ประมาณ ๑ โยชน์ ไปจนถึงเขามหาวงศ์และเขาล้าน ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงมากจนพระอินทร์ต้องมาพาข้าม ได้ต่อสู้กับยักษ์วรุณ และได้ฆ่ายักษ์วรุณตาย สินไซเดินทางต่อไปอีก ข้ามน้ำกว้าง ๒ โยชน์ ไปพบฝูงช้างเผือกนับแสนเชือก ได้ปราบช้างเผือกจนชนะ และได้ทราบว่าท้าวกุมภัณฑ์มียักษ์ที่มีฤทธิ์รักษาด่านอยู่ ๔ ตน  สินไซเดินทางด้วยการขี่สังข์ข้ามน้ำกว้าง ๓ โยชน์ ไปถึงเขามาศเงินยวง รบกับยักษ์จนตายหมด สินไซข้ามน้ำกว้าง ๔ โยชน์ ไปถึงเขาอินทนิล ซึ่งเป็นเขาที่มีอัญมณีเพชรนิลจินดามีค่ามากมาย ได้พบนางยักษ์พูดจาเกี้ยวตนแต่สินไซไม่สนใจ จึงเดินทางต่อไป ข้ามแม่น้ำกว้าง ๕ โยชน์ มาถึงป่าหิมพานต์ ได้รบกับวิทยาธรเพื่อแย่งชิงนารีผล เมื่อชนะวิทยาธรจึงเดินทางต่อไปจนถึงเขาเวละบาตร ที่มีวังน้ำใสไหลเย็น ได้สมสู่อยู่กินกับนางกินรีถึงเจ็ดคืน จึงลานางเดินทางต่อไป สินไซขี่สังข์ข้ามแม่น้ำกว้าง ๗ โยชน์ เมื่อถึงฝั่งแล้วจึงนั่งพักผ่อนด้วยความเหนื่อยอ่อนจนหลับไป ตื่นขึ้นมา พบสังข์ซึ่งได้กลับมาบอกถึงหนทางและการดูแลรักษาปราสาทของเมืองยักษ์ให้สินไซได้ทรงทราบ  เทวดาได้นำรถทิพย์มาพาเหาะเข้าไปในเขตปราสาทของท้าวกุมภัณฑ์ กษัตริย์ยักษ์ที่มีฤทธิ์เดช

กล่าวถึงยักษ์กุมภัณฑ์ เมื่อครบกำหนดที่จะต้องเดินป่าหาอาหารและตรวจดูความเรียบร้อยภายนอกเวียงวัง  นางสุมณฑานึกสังหรณ์ใจ จึงขอร้องไม่ให้ท้าวกุมภัณฑ์ออกไปป่า แต่ท้าวกุมภัณฑ์ไม่เชื่อ เมื่อไปถึงป่าเกิดอาหารหน้ามืดเดินหลงทาง เมื่อสินไซเห็นเป็นโอกาสดีขณะที่ยักษ์กุมภัณฑ์ไม่อยู่ จึงเข้าไปหานางสุมณฑา และได้แสดงตนให้นางรู้ว่าสินไซเป็นหลาน จะมาตามนางกลับนครเป็งจาล  ด้วยพระบิดาคือท้าวกุศราชคิดถึงและเป็นห่วงนางมาก  นางรู้สึกดีใจแต่ขณะเดียวกันนางก็รักและไม่อยากจากท้าวกุมภัณฑ์ไป เมื่อได้เวลาจวนท้าวกุมภัณฑ์จะกลับ นางจึงให้สินไซหลบซ่อนตัวไว้ ไม่ให้ยักษ์กุมภัณฑ์เห็น  ยักษ์กุมภัณฑ์มาถึงได้กลิ่นมนุษย์ จึงถามนางสุมณฑา นางแสร้งทำเป็นโกรธ ท้าวกุมภัณฑ์จึงเข้าปลอบประโลมนางแล้วหลับไป สินไซเห็นดังนั้นจึงชวนแกมบังคับให้นางออกเดินทาง ในที่สุดสินไซกับนางสุมณฑาได้เดินทางไปถึงเขาล้าน พักที่ถ้ำแอ่นที่พระอินทร์จัดเตรียมไว้ให้ สินไซใช้เวทมนต์ปิดปากถ้ำขังนางสุมณฑาไว้แล้วย้อนกลับไปเมืองอโนราธเพื่อฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ เมื่อสินไซฟันท้าวกุมภัณฑ์คอขาด ร่างของท้าวกุมภัณฑ์กลับกลายเป็นเจ็ดร่าง ฟันอีกครั้งหนึ่งคราวนี้เพิ่มเป็นสิบสี่ร่าง ฟังอีกร่างของยักษ์กุมภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้ฆ่าแม่ทัพยักษ์ตายหลายตน คงเหลือแต่ไวยุเวท หลานของยักษ์กุมภัณฑ์ เห็นท่าไม่ดีจึงยกทัพกลับเข้าเมือง

ท้าวกุมภัณฑ์ทราบข่าวว่าทัพของตนพ่ายแพ้ จึงได้จัดนำทัพออกไปรบด้วยตนเอง ในการรบครั้งนี้สีโหได้มาช่วยสินไซรบด้วย ทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธ เวทมนต์คาถา เพื่อประหัตประหารกัน นอกจากนี้ยังมีการแปลงร่างแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ฝ่ายพลยักษ์ถูกฆ่าตายหมด ท้าวกุมภัณฑ์แปลงร่างเป็นไก่นับแสนตัวบินไปมาให้สับสน แล้วชิงตัวนางมณฑาไป  สี
โหและสินไซจึงติดตามไปถึงแม่น้ำ ทหารยักษ์ได้แปลงร่างเป็นท้าวกุมภัณฑ์หมื่นตนอุ้มนางสุมณฑาไว้ เกิดการสู้รบกันอีกเป็นเหตุให้ลายตาย นางเมขลาจึงให้ไปรบกันที่อื่น  ในที่สุดสามารถแย่งตัวนางสุมณฑากลับมาได้  ท้าวกุมภัณฑ์พยายามจะชิงนางกลับไปอีก สังข์จึงเนรมิตพระลานหลวง บังอาวุธ ท้าวกุมภัณฑ์พยายามต่อสู้แต่กระเด็นไปถูกภูเขาถึงแก่ความตาย แต่ใจของท้าวกุมภัณฑ์ยังไม่ยอมตาย ตาเหลือกไปมา นางสุมณฑาจึงขอร้องให้สินไซตัดคอท้าวกุมภัณฑ์ เพื่อให้พ้นทุกข์ทรมาน  นางสุมณฑาได้อธิษฐานขอให้ได้พบท้าวกุมภัณฑ์อีกในชาติหน้า ต่อจากนั้นนางจึงขอร้องให้สินไซไปรับธิดาของนางที่อยู่เมืองนาคกลับนครเป็งจาลด้วย  สินไซจึงนำนางไปไว้ที่ปราสาทของท้าวกุมภัณฑ์ ส่วนสินไซและสังข์ได้ออกเดินทางไปเมืองนาค สีโหกลับไปอยู่ดูแลพวกโอรสทั้งหกคน

สังข์และสินไซเดินทางมาถึงเมืองนาค บอกพญานาคว่าต้องการมาเล่นสกาพนัน ท้าววรุณนาคตกลงยอมเล่นสกากับสินไซ โดยสินไซเอาสังข์ ศร ดาบ เป็นเดิมพัน  ท้าววรุณนาคเอาบ้านเมืองเป็นเดิมพัน  สินไซเล่นสกาชนะท้าววรุณนาค จึงกล่าวขอนางสีดาจันทร์แทนบ้านเมือง  ท้าววรุณนาคไม่ยอม จึงเกิดรบกันขึ้น  ท้าววรุณนาคแพ้ จึงยอมยกนางสีดาจันทร์ให้สินไซ และนางสีดาจันทร์เดินทางกลับไปเมืองอโนราช เมื่อจัดพิธีศพท้าวกุมภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว สินไซได้แต่งตั้งให้ไวยุเวทเป็นผู้ครองเมืองอโนราธแทนยักษ์กุมภัณฑ์ แล้วก็พากันเดินทางออกจากเมืองอโนราธ

การเดินทางครั้งนี้เร็วขึ้น เพราะว่าพระอินทร์ช่วยย่นระยะทางให้ เจ็ดวันก็เดินทางมาถึงฝั่งน้ำที่สีโห และโอรสทั้งหกคนรออยู่ สินไซเล่าเรื่องทั้งหมดให้โอรสทั้งหกฟังอย่างละเอียด และให้โอรสทั้งหกคนนำนางทั้งสองไปเข้าเฝ้าท้าวกุศราช ส่วนตนเองจะแยกไปเมืองอินทปัตถ์ แต่โอรสทั้งหกคนไม่ยอม ขอให้สินไซพาพวกตนทั้งหมดกลับเมืองด้วย เพราะกลัวภัยในป่า เมื่อถึงห้วยแห่งหนึ่ง ห้วยนี้มีน้ำไหลมารวมกันถึงห้าสาย มีเหวลึกและหินระเกะระกะเต็มไปหมด จึงพากันหยุดพักที่ริมห้วยแห่งนี้  โอรสทั้งหกคนคิดกำจัดสินไซ ก่อนที่สินไซจะพานางทั้งสองเข้าเฝ้าท้าวกุศราช ด้วยเกรงตนจะได้อาญาจากท้าวกุศราช จึงชวนสินไซไปเล่นน้ำ แล้วผลักสินไซตกเหว พระอินทร์ต้องมาช่วยชุบชีวิตให้สินไซ แล้วพาสินไซและสีโหกลับมายังอินทปัตถ์นคร

โอรสทั้งหกแสร้งทำเป็นโศกเศร้าเสียใจและกลับมาบอกนางสุมณฑา นางสีดาจันทร์ว่า สินไซตกเหวตาย ได้พากันเดินทางกลับไปเมืองเป็งจาล ระหว่างเดินทางนางสุมณฑาใช้สไบ ปิ่น ช้องผม แขวนไว้บนต้นไม้อธิษฐานว่า ถ้าสินไซยังมีชีวิตอยู่ ให้มีคนนำของทั้ง ๓ อย่างนี้เข้าไปถวายในเมืองเป็งจาล

ทางเมืองเป็งจาล ได้มีกาดำมาเกาะที่ช่อฟ้าและร้องว่า “นางมา นางมา” ท้าวกุศราชเขม่นตาข้างขวา ผึ้งบินมาเข้าตา และจิ้งจกตกลงบนบ่าขวาของพระองค์ คิดว่าคงเป็นลางบอกเหตุ จึงให้โหรมาทำนาย โหรทำนายว่า พระอินทร์มาบอกว่า นางเชื้อพระวงศ์จะมาถึงเมือง แต่เวรกรรมยังไม่หมดต้องพลัดพรากจากผู้ที่พามา ภายหลังจึงพบกัน เมื่อท้าวกุศราชทราบว่าว่าโอรสทั้งหกเดินทางมาถึงเมือง พระองค์ได้ออกมาต้อนรับ โอรสทั้งหกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเอาความดีใส่ตนหมดทุกอย่าง นางสุมณฑาและนางสีดาจันทร์เอาแต่ร้องไห้ด้วยคิดถึงสินไซ  เมื่อท้าวกุศราชถาม กุมารทั้งหกได้ตอบว่า นางคิดถึงท้าวกุมภัณฑ์ และแค้นพวกตนที่พานางจากสามีมา ท้าวกุศราชได้ถามนางสุมณฑาบ้าง นางจึงเล่าความจริงถวายให้ทรงทราบ จนถึงโอรสทั้งหกคิดกำจัดสินไซ และคำอธิษฐานของนางที่เสี่ยงของ ๓ สิ่ง ท้าวกุศราชกริ้วมากเมื่อรู้ความจริง แต่ท้าวกุศราชยังรอดูคำอธิษฐานของนางก่อน จึงจะคิดหาทางติดตามสินไซต่อไป

เทวดาดลใจให้ขุนจีนเดินทางผ่านมาทางห้วยตาด ได้พบสไบ ปิ่น และช้องผม เห็นสวยงามมากจึงนำไปถวายท้าวกุศราช นางสุมณฑาจำของ ๓ สิ่งของนางได้  ท้าวกุศราชจึงสั่งให้จับตัวโอรสทั้งหกพร้อมทั้งมารดาอีกหกคน รวมทั้งโหรและหมอทำเสน่ห์ แล้วจึงออกติดตามนางปทุมา นางจันทาเทวี และโอรส  โดยนางสุมณฑาและนางสีดาจันทร์เป็นผู้นำทางมาจนถึงที่สินไซถูกโอรสผลักตกเหว ท้าวกุศราชได้สั่งให้ทำพิธีพลีกรรม เพื่อให้เทวดาช่วยหาสินไซให้พบ สินไซมีหูทริพย์ได้ยินเสียงกองทัพจำนวนมาก จึงให้นาคมาดูลาดเลา นาคแปลงร่างเป็นชาวเมืองมาสืบดูรู้ว่าท้าวกุศราชยกทัพมาตามหาสินไซ นาคจึงส่งข่าวให้สินไซทราบ ภายในเมืองอินทปัตถ์จึงมีการเนรมิตตกแต่งเมืองให้สวยงาม เพื่อต้อนรับท้าวกุศราช ท้าวกุศราชยอมรับผิดที่ขับลูกเมียออกจากเมืองตั้งแต่ลูกยังเล็ก และขอคืนดีกับนางปทุมาและนางจันทาเทวี ด้วยความเศร้าสลดใจทุกคนจึงสลบไป พระอินทร์ต้องเอาน้ำทิพย์มาประพรมให้จึงฟื้นคืนสติขึ้นมา ท้าวกุศราชยกเมืองเป็งจาลให้สินไซไปครองเมือง

สินไซได้สั่งสอนประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ส่วนนางทั้งหกคน และโอรสทั้งหกคนได้กลับไปอยู่กับเศรษฐีนันทะ ผู้เป็นตาของตน  และด้วยความรักและผูกพันที่วรุณนาคมีต่อนางสีดาจันทร์ หลังจากนางสีดาจันทร์จากวรุณนาคไป ทำให้วรุณนาคล้มป่วยลง รักษาอย่างไรก็ไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น พวกเสนาอำมาตย์ทนดูสภาพของวรุณนาคต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจมากราบทูลให้สินไซทรงทราบและทูลขอนางสีดาจันทร์กลับไปเป็นนางพญานาค สินไซเห็นว่าวรุณนาคเป็นผู้มีความดีจึงยอมยกนางสีดาจันทร์กลับคืนให้วรุณนาค วรุณนาคจึงหายจากอาการป่วย และได้แต่งตั้งให้นางสีดาจันทร์เป็นใหญ่เหนือนางใดในเมืองนาคอยู่เคียงคู่กับวรุณนาคอย่างมีความสุขภายใต้พื้นพิภพต่อไป




ฮูปแต้มหรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีทั้งด้านนอกและด้านใน
โดยส่วนมากเป็นเรื่องสินไซ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่นอย่างมากในสมัยนั้น
สันนิษฐาน ว่ามีการนำเรื่อง “สินไซ” มาเป็นฮูปแต้ม เนื่องจาก
๑.เป็นความนิยมของคนในท้องถิ่น
๒.เป็นความศรัทธาว่าเป็นเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้า (ชาดก)
และในเนื้อเรื่องก็ยังมีคติธรรมคำสอนสอดแทรกไว้ด้วย

ฮูปแต้มที่วัดไชยศรี จึงไม่ใช่ศิลปะที่สื่อเฉพาะความงามเพียงภายนอกเท่านั้น
แต่ยังเป็นสื่อนำธรรมะและคำสอนอันดีงามของวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน
ให้เกิดความงามในจิตใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ ให้มีรากแก้วแห่งคุณธรรม
เสริมรากฐานทางวัฒนธรรมของชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น




ศาลาการเปรียญวัดไชยศรีที่ก่อสร้างอย่างเรียบง่าย
ด้วยวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไม้ ไม้ไผ่ หญ้าแฝก




Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 มิถุนายน 2559 15:56:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 1542 กระทู้ล่าสุด 04 มีนาคม 2559 15:55:43
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.679 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 02 เมษายน 2567 19:11:21